โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai.info

ประชาไท | Prachatai.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เลขา 'กษิต' ชี้ผิดหวัง ผช.รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ นัดหารือกับ 'จาตุรนต์-นพดล'

Posted: 09 May 2010 08:05 AM PDT

<!--break-->

9 พ.ค.53 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ทางสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ประสานให้มีการพบปะพูดคุยกันระหว่างนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับนาย Kurt Campbell ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 9 พ.ค.ว่า กระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความผิดหวังที่สถานทูตสหรัฐฯจัดให้มีการพบปะกับ บุคคลที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มที่ต้องการล้มรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย ใช้ความรุนแรง โดย นายนพดล เองก็เป็นที่ทราบกันดีว่า มีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่อยู่เบื้องหลังในการสนับสนุนในกลุ่มก่อกำลังติดอาวุธ สะสมอาวุธ ซึ่งทางสถานทูตสหรัฐฯเอ งก็ทราบแต่ทำไมจึงมีนัดหมายเพื่อพบปะกับบุคคลเหล่านี้

“เราเองได้ตั้งข้อสงสัยว่า เมื่อสหรัฐฯสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย ทำไมถึงไปพบกับบุคคลที่ต้องการล้มรัฐบาลที่มาโดยถูกต้อง เหมือนกับว่า ไปรับรองการกระทำของกลุ่มผู้ก่อการร้าย อยากเรียกร้องให้สหรัฐฯประณามการก่อการร้ายในไทย เพราะแน่ชัดแล้วว่า มีกลุ่มติดอาวุธอยู่ในประเทศไทย และสหรัฐฯ ก็มีนโยบายต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งอยากให้สหรัฐฯเข้าใจตรงนี้ด้วย การล้มล้างรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยสหรัฐฯควรประณาม และเรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องความมั่นคงภายในประเทศ” นายชวนนท์ กล่าว

นายชวนนท์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทางกระทรวงการต่างประเทศ โดย นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้เดินสายชี้แจงกับผู้นำประเทศต่างๆ กับเรื่องที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศมาเลเซีย และประเทศเวียดนาม เองก็แสดงความเข้าใจ ว่า เราเองไม่มีเจตนารังแกประชาชน ในเมื่อมีกองกำลังติดอาวุธ รัฐบาลก็ต้องดำเนินการจัดการโดยเร็ว และถือเป็นหน้าที่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'จตุพร' ระบุหากให้ยุติม็อบ ต้องนำคนสั่งสลายชุมนุมเข้ากระบวนการยุติธรรม

Posted: 09 May 2010 07:44 AM PDT

<!--break-->

9 พ.ค. 53 ในช่วงค่ำของการตอบคำถามสื่อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับแกนนำและแนวร่วม นปช. ประมาณ 30 คนว่า ในที่ประชุมมีข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับการเข้าสู่มาตรการ

ปรองดองกับรัฐบาลว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องแสดงความจริงใจกับผู้ชุมนุม เกี่ยวกับเรื่องการดำเนินคดีกับบุคคลที่สั่งฆ่าประชาชนและสั่งทำร้ายประชาชน โดยก่อนหน้านี้ แกนนำ และผู้ชุมนุม ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคง ไว้แล้ว ดังนั้นหากต้องการให้การชุมนุมยุติโดยเร็ว นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาให้ ทั้งข้อหาก่อการร้าย ล้มล้างสถาบัน ก็พร้อมที่จะไปพบพนักงานสอบสวนและต่อสู้คดี แต่ในทางกลับกัน นายสุเทพ ที่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมแจ้งความร้องทุกข์ไว้ ก็ต้องเดินทางเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเช่นกัน และให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับผู้ชุมนุม ขณะที่ ที่ประชุม นปช.ในขณะนี้ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะยังติดขัดอีก 1 เรื่อง คือ กรณีที่ใครสั่งฆ่าประชาชน และแกนนำจะมีข้อสรุปออกมาในคืนนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ณัฐวุฒิ' ขอเวลาปรึกษาแผนปรองดองอีก 1-2 วัน

Posted: 09 May 2010 05:06 AM PDT

'ณัฐวุฒิ'  ระบุแกนนำ นปช.ต้องประชุมกันอีกรอบเพื่อหารือแผนปรองดองให้สอดรับกับโรดแมพของ 'อภิสิทธิ์' ระบุแกนนำต้องใช้เวลาในการพูดคุยรายละเอียด เพราะปัญหาที่ยากที่สุดคือ ทำอย่างไรให้ประเทศอยู่รอดปลอดภัยไปจนถึงวันเลือกตั้ง

<!--break-->

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ชี้แจงก่อนการประชุมถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีอยากให้ยุติการชุมนุมใน 1-2 วันนี้ว่า ทันทีที่ผู้ชุมนุมมีมติตอบรับกระบวนการปรองดองของนายกรัฐมนตรีก็อยากยุติการ ชุมนุมโดยเร็วที่สุด แต่ต้องใช้เวลาปรึกษาหารือพูดคุยกันในรายละเอียด เหมือนที่นายกรัฐมนตรีต้องใช้เวลาเดินสายพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และการสร้างความปรองดองไม่ใช่แค่เรื่องการประกาศยุบสภา หรือการยุติการชุมนุม ทั้งสองเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือ สถานการณ์หลังจากยุติการชุมนุมไปแล้ว และเป็นช่วงระหว่างที่ประเทศกำลังเดินไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาทางให้ประเทศเดินไปได้อย่างปลอดภัยไม่เกิด อุบัติเหตุทางการเมือง เพราะต้องยอมรับความจริงว่า มีคนบางกลุ่มไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง

ส่วนที่นายก รัฐมนตรีบอกว่า พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร กับ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล ไม่ต้องการให้เกิดกระบวนการปรองดองนั้น นายณัฐวุฒิเห็นว่า เป็นการทำลายบรรยากาศการสร้างความปรองดอง และหากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า กลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลืองเองก็ไม่ต้องการให้เกิดกระบวนการปรองดอง ที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ดังนั้นจึงไม่อยากให้กล่าวหากันไปมา ซึ่งในส่วนของเสธ.แดงนั้น เคลื่อนไหวโดยอิสระไม่เกี่ยวข้องกับ นปช.หากไปทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง เจ้าตัวก็ต้องรับผิดชอบทางกฎหมายเอง 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนอุบลรุกปฏิรูปประเทศไทย ชี้ที่ผ่านมาลุกขึ้นทำแล้วส่งต่อนักการเมืองเหลวตลอด

Posted: 09 May 2010 04:57 AM PDT

<!--break-->

วานนี้(8 พ.ค. 53) ที่บ้านของ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีต สว.อุบลราชธานี ผู้ที่ทำงานภาคประชาสังคมของจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 40 คน ได้ร่วมระดมสมองหาทางออกให้กับวิกฤติของประเทศไทยในขณะนี้

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อดีต สว.อุบลราชธานี กล่าวว่า ปัญหาของบ้านเมืองที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เกิดจากกลุ่มทุนใหม่ กับกลุ่มทุนเก่า แย่งชิงอำนาจ แย่งชิงผลประโยชน์กัน

ผลก็คือประชาชนกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ผู้ที่มาร่วมประชุมในวันนี้ล้วนเป็นภาคประชาชนที่ทำงานมายาวนาน น่าที่จะรวบรวมประเด็นปัญหา หาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม จัดให้เป็นระบบเพื่อนำสู่การแก้ปัญหาของประชาชนที่เสนอโดยประชาชน มองให้ข้ามรัฐบาล,นปช.ไปถึงความไม่ชอบธรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมจึงจะสามารถแก้ปัญหาชาติได้ อีกจุดหนึ่งคือการทำงานครั้งนี้จะเป็นอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาล ไม่เช่นนั้นอาจจะกลายเป็นไม้ประดับให้รัฐแล้วไม่ก่อประโยชน์ให้ประชาชนเหมือนเดิม

แม่สมปอง เวียงจันทร์ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูนชี้ กลุ่มเสื้อแดงส่วนใหญ่มอง ๆ ไปก็คือชาวบ้านที่เดือดร้อนทุกข์ยากไม่มีทางออก ทำอย่างไรจึงจะสามารถดึงคนเหล่านี้มาปฏิรูปประเทศไทย โดยประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร เสนอให้เริ่มตั้งคณะทำงานรวบรวมปัญหาและทางแก้ระยะสั้น ระยะยาว แล้วเริ่มแก้ที่ระยะสั้นก่อน

จำนง จิตนิรัตน์ องค์กรเข้าถึงสิทธิ์เผยความจริงภาคประชาชนนี่เคลื่อนใหญ่มาหลายครั้ง เช่น ธงเขียว จนได้รัฐธรรมนูญ 40 , กรณีสึนามิ ฯลฯ แต่พวกเราเคลื่อนเสร็จก็กลับบ้านส่งภารกิจต่อไปให้นักการเมือง เพราะถือว่าเขาคือตัวแทนประชาชน ผลก็คือล้มเหลวทุกครั้ง ต้องใช้กรณีเหล่านี้เป็นบทเรียนในเคลื่อนต่อ

ที่ประชุมได้เห็นสอดคล้องกันว่าประเด็น “การแก้ไขปัญหาความยากจน” เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรขับเคลื่อนก่อน และตั้งคณะทำงาน ฝ่ายวิชาการ รวบรวมปัญหาและแนวทางการแก้ไข ฝ่ายสื่อ ร่วมเผยแพร่สู่สาธารณะ และเครือข่ายภาคประชาชนแต่ละกลุ่มที่จะร่วมระดมความคิด ให้เสร็จก่อนวันที่ 16 พฤษภาคม 2553 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"เครือข่ายสันติประชาธรรม" วอนรัฐหยุด พรก.ฉุกเฉิน-ปิดกั้นข่าวสาร ให้ นปช. ยุติการชุมนุม แกนนำมอบตัว

Posted: 09 May 2010 04:44 AM PDT

<!--break-->

9 พ.ค. 53 - เครือข่ายสันติประชาธรรมออกแถลงการณ์ ให้รัฐยุติประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยุติการปิดกั้นข่าวสาร และให้ นปช.ยุติการชุมนุมและแกนนำมอบตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ของเครือข่ายสันติประชาธรรม

ยุติประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ยุติการปิดกั้นข่าวสาร

ยุติการชุมนุมและแกนนำมอบตัว

การที่รัฐบาลและนปช.มีท่าทีรอมชอมในการกำหนดวันยุบสภา และเจรจาถึงกระบวนการที่จะนำสังคมกลับสู่การดำเนินการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่น่ายินดียิ่ง อย่างไรก็ดี แผนการปรองดองที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรีประกาศนั้น ยังไม่ได้ให้หลักประกันต่อสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ในขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมนปช.ก็ยังไม่แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าจะยุติการชุมนุมเมื่อใด จึงยังมีการเผชิญหน้าที่อาจจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง

เพื่อให้สังคมไทยกลับมาสู่สภาวะปกติ เพื่อเป็นหลักประกันต่อสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย และเพื่อลดเงื่อนไขที่กลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อระบอบประชาธิปไตยจะใช้ความรุนแรง เครือข่ายสันติประชาธรรมขอแสดงท่าทีทางการเมืองในขณะนี้ดังนี้

1. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลทันที

ขณะนี้ปรากฏชัดเจนว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในระยะหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ไม่เพียงให้อำนาจแก่รัฐบาลในการจำกัดเสรีภาพของประชาชน แต่ยังเป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้รัฐใช้ความรุนแรงอย่างปราศจากการไตร่ตรอง จนก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่จำนวนมากในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน

ในขณะที่รัฐบาลเรียกร้องให้ นปช. ยุติการชุมนุมและเคารพต่อกฎหมายของประเทศ การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะเป็นหลักประกันพื้นฐานว่ารัฐบาลจะต้องปฏิบัติตามหลักนิติรัฐของสังคมประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน และจะไม่ใช้อำนาจเผด็จการเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของตนในภายหลัง 

2. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการปิดกั้นข่าวสารทันที

กระบวนการปรองดองทางการเมืองย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้การลิดรอนเสรีภาพในการสื่อสารอย่างรุนแรงในขณะนี้ การสื่อสารทางเดียวโดยรัฐได้ปิดกั้นมุมมองที่แตกต่าง ทำลายการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริงเพื่อโต้แย้งกัน ฉะนั้น เพื่อให้เกิดการปรองดองอย่างแท้จริงบนเส้นทางของประชาธิปไตย ประชาชนทุกฝ่ายต้องมีโอกาสได้เรียนรู้ข่าวสารและทัศนะที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่รับข่าวสารจากการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐด้านเดียว สื่อในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณดาวเทียม เว็บไซต์ สื่ออินเทอร์เน็ต วิทยุชุมชน หรือสื่ออื่นใดก็ตาม จะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิในการสื่อสารตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน หากสื่อใดหรือผู้ใดใช้สื่อในการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมปกติได้   

3. หลังรัฐบาลประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน กลุ่มนปช. จะต้องยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด และแกนนำต้องมอบตัวเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ขณะนี้เมื่อทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะให้มีการยุบสภาภายในระยะเวลาประมาณ 5 เดือนนับจากนี้ไป ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายได้พยายามประนีประนอมเพื่อยุติความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งสองฝ่ายต้องแสดงท่าทีที่จริงใจต่อการเดินหน้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด หากทอดระยะเวลาเนิ่นนานไป ก็จะยิ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่หวังดีต่อการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการประชาธิปไตยใช้ความรุนแรง 

หากรัฐบาลและนปช.แถลงร่วมกันว่าวันยุบสภาจะเป็นเมื่อใด และหากรัฐบาลและนปช.ระบุวันร่วมกันว่ารัฐบาลจะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันทีที่นปช.ยุติการชุมนุมในวันใด พร้อมๆกับการมอบตัวเพื่อต่อสู้คดีของแกนนำการชุมนุมในวันใด ทั้งสองฝ่ายและสังคมโดยรวมก็จะคลายความคลางแคลงใจ

หนทางเดียวที่จะทำให้ผู้ไม่หวังดีต่อกระบวนการประชาธิปไตยยุติการใช้ความรุนแรงได้ คือการลดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลและนปช. และคืนภาวะปกติสุขแก่สังคมโดยเร็ว 

 

เครือข่ายสันติประชาธรรม

9 พฤษภาคม 2553

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘สภากอบกู้รัฐฉาน’ ประณามทัพรัฐฉานเหนือยอมร่วมมือกับพม่า

Posted: 09 May 2010 04:38 AM PDT

สภากอบกู้รัฐฉานประณามกองทัพรัฐฉานภาคเหนือกองพลน้อยที่ 3 และกองพลน้อยที่ 7 ที่ตัดสินใจเปลี่ยนสถานะไปเป็นกองกำลังรักษาดินแดน (HGF) ภายใต้กองทัพพม่า ชี้เป็นการตัดสินใจผิดพลาดอย่างมหันต์ เอาพี่น้องประชาชนไปมอบให้ศัตรู ขณะที่ชื่นชมกองพลน้อยที่ 1 ที่ยังไม่ยอมมอบตัว

<!--break-->

 

หลังจากที่เมื่อ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา กองทัพรัฐฉานภาคเหนือ (Shan State Army-North หรือ SSA-N) ซึ่งเป็นกลุ่มหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่ามาตั้งแต่ปี 2532 ได้ตกลงกับรัฐบาลทหารพม่าและเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังรักษาดินแดน (Home Guard Force - HGF) ภายใต้กองทัพพม่า 

อย่างไรก็ตามมีเพียง 2 กองพลน้อยของ SSA-N ที่ยอมเปลี่ยนสถานะ คือกองพลน้อยที่ 3 นำโดย พล.ต.หลอยมาว และกองพลน้อยที่ 7 นำโดย พล.ต.อ่องตานตุด แต่ พล.ต.หลอยมาว ไม่สามารถสั่งให้กองพลน้อยที่ 1 ของ พล.ต.ปางฟ้า ซึ่งมีกำลังประมาณ 2,500 นาย เปลี่ยนสถานะด้วย 

โดยกองพลน้อยที่ 1 ตั้งฐานที่อำเภอเกซี รัฐฉานภาคใต้ ส่วนกองพลน้อยที่ 3 ตั้งฐานที่อำเภอเมืองไหย๋ กองพลน้อยที่ 7 ตั้งฐานที่อำเภอสี่ป้อ รัฐฉานภาคเหนือ 

ทั้งนี้รัฐบาลทหารพม่าพยายามกดดันให้กลุ่มหยุดยิงเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) หรือกองกำลังรักษาดินแดน (HGF) ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้ โดยมีเป้าหมายต่อกองกำลัง SSA-N กองกำลังสหรัฐว้า (UWSA) องค์กรคะฉิ่นอิสระ (KIO) กองกำลังโกก้าง (MNDAA) และกองกำลังเมืองลา (NDAA) ฯลฯ 

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 53 สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) องค์กรทางการเมืองของกองทัพรัฐฉานใต้ (SSA – S) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ยังต่อสู้กับทหารพม่า ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีที่ SSA-N เปลี่ยนสถานะจากกลุ่มหยุดยิงเป็นกองกำลังรักษาดินแดน โดยรายละเอียดของแถลงการณ์ มีดังนี้

 

000

 

แถลงการณ์
สภากอบกู้รัฐฉาน
วันที่ 30 เมษายน 2553

 

ได้รับทราบข่าวมาว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา พล.ต.หลอยมาว ผู้นำสูงสุด กองทัพรัฐฉาน – กลุ่มหยุดยิง (S.S.A. – กลุ่มหยุดยิง) พร้อมด้วยคณะนายทหารบางส่วน ได้เข้าร่วมเจรจากับแม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกองทัพรัฐบาลเผด็จการ ทหารพม่า และยินยอมที่จะแปรเปลี่ยนสถานะกองกำลังไปเป็นหน่วยอาสารักษาดินแดน (HGF) หรือ ปิตูจิ๊ด ต่อมาในวันที่ 28 เมษายน 2553 แม่ทัพภาควันออกเฉียงเหนือ (ล่าเสี้ยว) กองทัพรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ได้เดินทางมาอำนวยการจัดกำลังหน่วยอาสารักษาดินแดน (HGF) ใน พื้นที่ บก.แสงแก้ว อ.สี่ป้อ จำนวน 105 นาย พื้นที่ ต.เมืองเคอ อ.สี่ป้อ จำนวน 120 นาย ส่วนในกองพลน้อยที่ 7 นั้น แม่ทัพภาคตะวันออก (ตองจี) กองทัพรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ได้เดินทางมาอำนวยการจัดกำลังหน่วยอาสารักษาดินแดน จำนวน 290 นาย โดยหน่วยนี้ มี พ.อ.หลาวกอน เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วย และเรียกร้องที่จะควบคุมพื้นที่ 13 แห่ง ในเขตพื้นที่ก่าลี่ อ.กุ๋นฮิ ง – เมืองจ๋าง อ.เมืองสู้ โดยมีกำลังพลที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ถึง 15 นาย ส่วนอาวุธประจำกายในหน่วยนั้นจะทำการจัดหาให้ในโอกาสต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังมีกองพลน้อยที่ 1 ที่ไม่ยอมมอบบัญชีรายชื่อกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ต่อกองทัพรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า และแสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะยึดมั่นในเส้นทางภารกิจเพื่อชาติบ้านเมือง จะไม่ยอมหันหลังให้ประชาชนอย่างเด็ดขาด ได้ทราบอย่างนี้แล้ว มีความรู้สึกยินดีและชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

ตามพฤติกรรมที่ พล.ต.เจ้าหลอยมาว ผู้นำสูงสุด กองทัพรัฐฉาน – กลุ่มหยุดยิง (S.S.A. – กลุ่มหยุดยิง) หันไปเจรจาตกลงกับกองทัพรัฐบาลเผด็จการทหารพม่านั้น ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมหันต์ เปรียบได้ดั่งหันหลังให้กับชาติพันธุ์บ้านเมือง เหมือนกับนำเอาบุตรหลานของพี่น้องประชาชน ไปสวามิภักดิ์ มอบให้กับศัตรู อย่างนี้แล้ว นอกจากจะนำพาลูกหลานของพี่น้องประชาชน ตลอดจนพี่น้องประชาชนชาติพันธุ์ไตเอง ต้องพบกับความทุกข์ยาก ลำบากอย่างแสนสาหัสแล้ว ยังอาจนำพาประเทศชาติบ้านเมืองของเราไปสู่ความล่มจมในที่สุด

ภายหลังกองทัพเมืองไต (MTA) ภายใต้การนำของขุนส่า ยอมวางอาวุธ สวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าแล้ว ประชาชนชาติพันธุ์ไต ต่างก็คาดหวังว่า กองกำลังกองทัพรัฐฉาน (S.S.A.) ภายใต้การนำของ พล.ต.เจ้าหลอยมาว และ พล.ต.เจ้าก่ายฟ้า ว่า จะยอมทุ่มเทสรรพสิ่งทุกอย่าง ในการสะสางภารกิจเพื่อชาติพันธุ์บ้านเมืองสืบไป แต่ที่ผ่านมา เวลาผู้ใต้บังคับบัญชาเรียนถามว่า เมื่อไรเราจะเปิดศึกกับกองทัพรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ก็จะได้รับคำตอบเพียงว่ายังไม่ถึงเวลาอยู่เสมอมา ตอนที่ พ.อ.เจ้ากานยอด ผละออกจาก กองทัพเมืองไต (MTA) ท่านก็ได้เดินทางเข้าสมทบกับ S.S.A. หรือแม้แต่สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (R.C.S.S.) ก็ตั้งความหวังรอคอยอยู่เสมอว่า ท่านเหล่านี้ จะมาเป็นผู้นำในการดำเนินงานสืบไปในภายภาคหน้า พอได้มารับทราบข่าวว่า พวกท่านเหล่านั้น ได้เจรจาตกลงกับกองทัพรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ในการแปรเปลี่ยนสถานะกองกำลัง ไปเป็นหน่วยอาสารักษาดินแดน (HGF) ก็ รู้สึกตกใจเป็นอย่างยิ่ง และรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจต่อชะตากรรมของชาติพันธุ์บ้านเมืองอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพวกท่านเหล่านี้ จะมีแผนกลยุทธยังไงก็ตาม แต่ก็ยังมองไม่เห็นทางสว่างว่า พวกท่านจะสามารถหลุดพ้นจากหลุมพรางของกองทัพรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้อย่างไร? ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ทำสัญญาหยุดยิงกับกองทัพรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า พวกท่านสามารถดำเนินงานต่างๆ ได้โดยที่กองทัพรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือกุมบังคับ ก็ยังไม่เห็นว่าจะสามารถทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน แต่เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนไปเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ถ้าจะมาแก้ตัวว่า จะขอติดตามดูสถานการณ์ก่อน อย่างนี้ แสดงว่า เป็นการโกหกหลอกลวงประชาชนและผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อเอาตัวรอดเท่านั้น คำพูดที่ว่าทำเพื่อประชาชนนั้น มันสูญสิ้นแล้ว

ดังนี้แล้ว พี่น้องประชาชนและเหล่าทหารกล้าทั้งหลาย ควรจดจำสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นบทเรียนสอนใจสำหรับในอนาคต อย่าหลงเชื่อกับคำโกหกพกลม ที่ฟังดูเพราะพริ้งเสนาะหู ไม่อย่างนั้นแล้ว พี่น้องประชาชนก็อาจเปรียบดั่ง “นกกระทาหวังหาง กระต่ายหวังโหนก” คือเฝ้าหวังแต่ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ยังไงก็ตาม เรื่องเวรกรรมนั้นมีจริง ที่ผ่านมา ได้อาศัยเสบียงข้าวปลาอาหารจากพี่น้องประชาชน แต่กลับต้องหวนคืนมาสูบกินเลือดเนื้อประชาชนนั้น ไม่มีทางที่จะสบายใจได้หรอก และมีความเชื่ออยู่เสมอว่า สัจจะเป็นเรี่ยวแรง สัจจะเป็นความชอบธรรม สัจจะเป็นสิ่งที่มั่นคงถาวร

 

คณะกรรมการบริหาร
สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (R.C.S.S.) 

 

 

ที่มาของข่าว: Taifreedom และ สำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมาชิก NLD บางส่วน ตั้งพรรคการเมืองลงเลือกตั้ง

Posted: 09 May 2010 04:34 AM PDT

แกนนำระดับสูงของพรรคเอ็นแอลดีหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับมติของพรรคที่ต่อต้านการเลือกตั้ง เตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองของตัวเองขึ้นมาใหม่ โดยใช้ชื่อว่า พรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Force) และจะลงเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้

<!--break-->

มีรายงานว่า พรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติเตรียมจดทะเบียนพรรคการเมืองกับคณะกรรมการเลือกตั้งกลางเดือนนี้ ทั้งนี้ ดร. ตาน เหญ่ง  สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีอดีตนักโทษทางการเมือง เปิดเผยว่า พรรค NDF จะมีแกนนำ 7 คน โดยมีการคาดการณ์กันดร. ตาน เหญ่ง น่าจะเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น 

อย่างไรก็ตาม  ดร.ตาน เหญ่ง  เปิดเผยว่า การจัดตั้งพรรคการเพื่อลงเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้ต้องการยืนตรงข้ามกับนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปเท่านั้น ดร.ตาน เหญ่ง  ย้ำว่า หากไม่ทำเช่นนี้ ก็จะไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้ 

ขณะที่พรรคเอ็นแอลดีจะปิดตัวลงในวันที่ 7 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่รัฐบาลกำหนดให้พรรคการเมืองทุกพรรคจดทะเบียนภายใต้กฎหมายเลือกตั้งพม่า   หลังมติเสียงส่วนใหญ่ในพรรคเอ็นแอลดีเห็นด้วยที่จะไม่ลงเลือกตั้ง และบอยคอตกฎหมายเลือกตั้งที่ประกาศออกมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับนางซูจีที่ระบุว่า กฎหมายเลือกตั้งของรัฐบาลพม่าไม่มีความยุติธรรมและไม่เป็นธรรม 

ดร. ตาน เหญ่ง เปิดเผยว่า ดร.วินหน่าย นายติ่นยุ้น นายเส่งลาอู และสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีคนอื่นๆ จะเข้าร่วมกับพรรค NDF ขณะที่สมาชิกคณะกรรมการกลางของเอ็นแอลดีอีกจำนวน 20 คนจะเป็นที่ปรึกษาของพรรค NDF แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีกี่คนที่จะเข้าร่วมพรรคการเมืองใหม่ที่ว่านี้ 

เมื่อถามถึงความคาดหวังและเสียงสนับสนุนจากประชาชนของพรรค NDF ว่าจะได้รับมากน้อยแค่ไหน หากไม่มีชื่อของนางซูจีรวมอยู่ด้วย  ดร.ตาน เหญ่ง เชื่อว่าพรรคน่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นอย่างดี โดยทางแกนนำพรรคจะร่วมกันหารืออีกครั้งถึงจำนวนเขตเลือกตั้งใดบ้างที่ทางพรรคจะส่งผู้สมัครลงชิงชัย

ก่อนหน้านี้พล.ท.เต็งเส่ง นายกรัฐมนตรีพม่าและผู้นำพม่าระดับสูงอีก 22 คนได้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง ภายใต้พรรคการเมือง พรรคสหภาพสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity Development Party - USDP) ขณะที่ชาวพม่าจำนวนมากหวั่นวิตกว่า การลาออกของนายกพม่าเพื่อลงชิงชัยเลือกตั้งนี้จะยิ่งตอกย้ำว่า รัฐบาลทหารจะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อไปในคราบของรัฐบาลพลเรือนในอนาคต 

ด้านดร.ตาน เหญ่ง กล่าวว่า “พรรค USDP ของรัฐบาล จะเป็นพรรคการเมืองหลักในการเลือกตั้งที่จะมาถึงอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลทหารจะเล่นเกมกับพรรคการเมืองอื่นๆในระดับไหนเท่านั้นเอง” (Irrawaddy 6 พ.ค.53) 

เกิดระเบิด 2 ครั้งซ้อนในมิตจีนา 

เกิดเหตุระเบิด 2 ครั้งซ้อนเมื่อเวลา 11.00 น. บริเวณสถานีรถประจำทางในเขตเอ็นแจงควอง (N-Jang Kawng) เมืองมิตจีนา รัฐคะฉิ่น ใกล้กับสถานีตำรวจ แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาเจ็บหรือได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เนื่องจากแรงระเบิดไม่รุนแรง ซึ่งทางการพม่ากำลังเร่งสอบสวนเหตุระเบิดดังกล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ได้เกิดเหตุระเบิดหลายครั้งในเขตก่อสร้างเขื่อนมิตซง เป็นเหตุให้แรงงานชาวจีนเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 12 ราย โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่มีกลุ่มใดออกมาแสดงความรับผิดชอบ ขณะที่ ชาวบ้านเชื่อว่า อาจจะเป็นการสร้างสถานการณ์ของรัฐบาลพม่า 

ขณะที่ชาวบ้านจากหมู่บ้านตังเพร ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่สร้างเขื่อนมิตซง ถูกทางการพม่าสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่ภายในเดือนนี้ ซึ่งหมู่บ้านดังกล่าวมีชาวบ้านอาศัยอยู่จำนวนกว่า 1,100 คน ทั้งนี้ทางการพม่าเตรียมให้หมู่บ้านใกล้พื้นที่สร้างเขื่อนจำนวน 60 หมู่บ้านออกจากในพื้นที่ในเร็วๆ นี้ด้วยเช่นกัน โดยโครงการเขื่อนมิตซงเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างทางการพม่าและจีน (KNG/Mizzima 5 พ.ค.53)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชัยชนะก้าวแรกของคนเสื้อแดง

Posted: 09 May 2010 04:10 AM PDT

<!--break-->

หากพิจารณาจากการระดมสรรพกำลังมหาศาล ทั้งด้านกำลังคนและงบประมาณ รวมถึงยุทธปัจจัยอื่นๆ เช่น รถกระบะ มอเตอร์ไซค์ สามล้อ ไม้รวก พริก เขือ เกลือ ปลาร้า และ ฯลฯ ในการต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่ใช้เวลาเกือบจะครบ 3 เดือน ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุปนเปื้อนมลพิษในเมืองหลวง และการเสี่ยงชีวิตจากทั้งกองกำลังทหาร ตำรวจ (และกองกำลังไม่ทราบฝ่าย)

ทั้งนับรวมกับ 27 ชีวิตที่สูญเสียไป เกือบ 1,000 คนที่บาดเจ็บ และอาจมีบางคนที่พิการ รวมทั้งการผลิตสร้างภาพลักษณ์ของมวลชนเสื้อแดงที่ดูป่าเถื่อน นิยมความรุนแรง น่าเกลียดน่ากลัวราวกับ “เชื้อโรคแดง” (สำนวนของ ธงชัย วินิจจะกูล) ที่คุกคามความสงบสุขและเศรษฐกิจของคนกรุงเทพฯ แทบจะเรียกได้ว่าผลอันเป็นรูปธรรมแห่งการต่อสู้ของคนเสื้อแดงคือความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง

ไม่ใช่พ่ายแพ้เพราะว่า สังคมไม่เอาด้วยกับวาระ “ไพร่ล้มอำมาตย์” หรือข้อเสนอ “ยุบสภาเลือกตั้งใหม่” หรือ การเรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรม หรือการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทุกด้านในสังคม แต่พ่ายแพ้เพราะไม่อาจอธิบายให้สังคมเข้าใจได้อย่างสมเหตุสมผลว่า ทำไมการต่อสู้ครั้งนี้จึงนำไปสู่ “สงครามที่ไม่จำเป็น” และ “การสูญเสียที่ไม่จำเป็น” 

แม้สงครามที่ไม่จำเป็นและการสูญเสียที่ไม่จำเป็นจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลก็อธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ว่า ทำไมจึงปล่อย หรือเสมือนจงใจให้เกิดขึ้น แต่ในฐานะผู้เริ่ม “เปิดเกม” คุณทักษิณและแกนนำเสื้อแดงย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อยุทธวิธีที่ผิดพลาดครั้งประวัติศาสตร์นี้ได้

แต่จะอย่างไรก็ตาม ในความพ่ายแพ้เชิงยุทธวิธีนั้น ไม่ได้หมายความว่า “ยุทธศาสตร์”ของคนเสื้อแดงต้องพ่ายแพ้ไปด้วย จะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยที่พ้นไปจากการครอบงำของระบบอำมาตย์ และการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น ไม่มีฝ่ายใดปฏิเสธ

แม้แต่แผนปรองดอง 5 ข้อ ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยังมีวาระการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ด้วย เขาจะจริงใจหรือไม่ รายละเอียดจะตรงกับความคิดของคนเสื้อแดงทั้งหมดหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องถือว่านี่เป็น “ชัยชนะทางความคิดก้าวแรก” ของคนเสื้อแดง

การที่คนเสื้อแดงสามารถทำให้รัฐบาล คนทุกสี ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนของสังคม มองเห็นตรงกันว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมเป็น “วาระ” ที่จำเป็นในการแก้ปัญหาของประเทศ ต้องถือว่าเป็นชัยชนะของคนเสื้อแดง แม้จะเป็นชัยชนะที่เป็นนามธรรม แต่ก็เป็นนามธรรมที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการทำให้คนทั้งสังคมยอมรับความคิดดังกล่าว ส่วนรายละเอียดเชิงความคิดและแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้กันต่อไป

ฉะนั้น เมื่อพิจารณาจาก “ชัยชนะทางความคิดก้าวแรก” ดังกล่าว สิ่งที่แกนนำเสื้อแดงควรตัดสินใจเดินต่อไป คือการทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องยุทธศาสตร์ความต้องการประชาธิปไตยและการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมให้บรรลุผลเป็นรูปธรรมต่อไป ด้วยการ...

1. อย่าเดินตามพันธมิตรฯ ด้วยการปฏิเสธแผนปรองดองของอภิสิทธิ์ เพราะจะเท่ากับเป็นการสกัดยุทธศาสตร์แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ไม่ให้เข้าไปสู่กระบวนการถกเถียง และการหาทางออกร่วมกันของคนทั้งสังคม พันธมิตรฯ ต้องการทำลายเครดิตในยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ของคนเสื้อแดง เขาจึงประณามแผนปรองดอง และยกเรื่องล้มเจ้า การก่อการร้ายขึ้นมาเป็นจุดเน้นเพื่อทำลายยุทธศาสตร์ของคนเสื้อแดง

วิธีคิดของพันธมิตรฯ คือ เขาต้องการ “ผูกขาด” การกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศ เพราะถือว่าเสียสละตัวเองต่อสู้กับทักษิณมามากเหลือเกิน เขาจึงควรได้เป็น “พระเอก” ในการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงสังคม ดังจะเห็นได้จากท่าทีของพวกเขาต่อภาคส่วนต่างๆ ของสังคมที่ออกมาเสนอทางออกต่างๆ ว่า พวกเหล่านั้นมักเป็น “พวกตีกิน”

คนเสื้อแดงไม่จำเป็นต้องเดินตามวิธีคิดแบบ “ผูกขาด” ของพันธมิตรฯ ในเมื่อยุทธศาสตร์คือต้องการประชาธิปไตยและสังคมที่มีความเป็นธรรม/ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ การที่เราทำให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้กลายเป็น “วาระ” ที่ทุกภาคส่วนของสังคมเห็นความสำคัญ และต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำให้เป็นจริง ย่อมถือว่าเป็นชัยชนะก้าวแรก ที่ก้าวต่อไปคนเสื้อแดงต้องผลักดัน “แนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม” ให้สังคมร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ

2. คนเสื้อแดงต้องปรับยุทธวิธีเน้นชัยชนะทางความคิดด้วยการใช้เหตุผลมากขึ้น วิธีประณามฝ่ายตรงข้าม เพื่อกระตุ้นความสะใจ ความเกลียดชัง น่าจะถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ต้องให้มวลชนได้หยุดพัก แต่ยังมั่นคงด้วยอุดมการณ์ที่ต้องการประชาธิปไตยและสังคมที่เป็นธรรม มีสติเก็บรับความผิดพลาดที่ผ่านมาเป็นบทเรียน ต้องให้แกนนำระดับชุมชนหมู่บ้านดำรงเป้าหมายในการต่อสู้และเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง

3. พรรคการเมืองของคนเสื้อแดงต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งทั้งในเรื่องนโยบายและตัวบุคคล โดยเฉพาะนโยบายต้องแสดงให้เห็นรูปธรรมของการออกแบบกติกาประชาธิปไตย และการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของความไม่เป็นธรรม ต้องให้สัญญาประชาคมว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะทำเรื่องการออกแบบกติกาประชาธิปไตยและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมก่อน (เมื่อทำ 2 เรื่องนี้สำเร็จและสังคมยอมรับ การแก้ปัญหาคุณทักษิณอาจง่ายขึ้น)

กล่าวโดยสรุป แม้ยุทธวิธีจะพ่ายแพ้ แต่ยุทธศาตร์ที่ต้องการประชาธิปไตยและสังคมที่เป็นธรรม/ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ชนะใจคนทุกภาคส่วนของสังคม คนเสื้อแดงจึงมีสิทธิ์จะประกาศชัยชนะเชิงยุทธศาสตร์ และยุติการชุมนุมอย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อสู้ต่อให้ยุทธศาสตร์ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมกลายเป็นชัยชนะของคนทั้งประเทศต่อไป! 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน-ฮิวแมนไรท์ยูเอสเอ ไม่พอใจไทยตามสอบสวนคดีหมิ่นฯ พลเมืองสหรัฐ

Posted: 09 May 2010 04:06 AM PDT

<!--break-->

7 พ.ค. 2010 - องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน และองค์กรสิทธิมนุษยชนโลกประจำสหรัฐฯ (ฮิวแมนไรท์ยูเอสเอ) แสดงความรู้สึกไม่พอใจจากการที่ แอนโธนี่ ชัย ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐฯ ถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ในประเทศไทย และต่อมามีการเดินทางมาสอบสวนถึงในสหรัฐฯ ด้วยข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปี 2549 แม้แต่เดิมชัยอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ได้รับสัญชาติเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ ในช่วงราวปลายคริสตศตวรรษที่ 1970 เขาเสี่ยงที่จะถูกจับกุม หากเขากลับมายังประเทศไทย

ในปี 2549 เจ้าหน้าที่ของไทยยังได้ติดต่อกับบริษัทเว็บโฮสติ้งผู้ให้บริการเว็บไซต์ http://www.manusaya.com เว็บไซต์ที่พบว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย ซึ่งตรวจสอบพบว่ามีที่มาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของชัย ซึ่งเข้าใจว่ารหัสที่อยู่ไอพี (IP address) ของชัยนั้นถูกเผยแพร่จากบริษัทผู้ให้บริการดังกล่าวโดยที่เขาเองไม่ได้รับรู้ และบริษัทนี้ก็ได้ทำการปิดเว็บไซต์ไป

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน และองค์กรสิทธิมนุษยชนโลกประจำสหรัฐฯ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า พวกเขารู้สึกเป็นห่วงเรื่องผลกระทบของกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่แพร่ไปทั่ว รวมถึงความเกี่ยวพันโดยตรงกับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดทางการเมืองภายในประเทศ ส่วนในกรณีของชัยนั้นทางสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้แสดงการคัดค้านใดๆ กับการที่เจ้าหน้าที่ต่างประเทศดำเนินการไต่สวนคดีกับพลเมืองชาวสหรัฐฯ ในถิ่นของสหรัฐฯ เอง และที่น่าอื้อฉาวกว่านั้นคือเจ้าหน้าที่ของไทยสามารถทำให้ชาวอเมริกันต้องปฏิบัติตามกฏหมายของไทย แม้ว่าจะกระทำการต่างๆ ในสหรัฐฯ ก็ตาม ซึ่งนี่ถือเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับกฏหมายของสหรัฐฯ และการปกป้องกิจการของชาติ ทั้ง 2 องค์กรประกาศอีกว่า พวกเขาเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการบางอย่างเกี่ยวกับคดีนี้

แอนโธนี่ ชัย บอกกับองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนและฮิวแมนไรท์ยูเอ็สเอว่า "เจ้าหน้าที่ที่ทำการสิบสวนผมบอกว่าเขาต้องการทำรายงานของเขาให้เสร็จและเก็บเอกสาร แผ่นพิมพ์ต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ของไทยไว้ เพราะเขากลัวว่าผมจะไม่สามารถกลับไปยังประเทศไทยได้ ซึ่งผมก็ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ยุติธรรมรวมถึงตัวแทนสำนักพระราชวังอย่างเต็มที่ พวกเขามีอยู่ 3 คน ผมตอบคำถามอะไรก็ตามที่พวกเขาต้องการเขียนบันทึกรายงานของตำรวจ ให้สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับระบอบกษัตริย์ไทยไปจำนวนหนึ่ง ซึ่งผมและผู้ช่วยของผมได้รับจากจดหมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมก็ตกใจเมื่อเจ้าหน้าที่ของไทยตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับผม"

บทแก้ไขฯ ข้อที่ 4 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ระบุว่า "ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะได้รับการคุ้มครองในตัวบุคคล, ที่อยู่อาศัย, สิ่งพิมพ์และทรัพย์สินส่วนบุคคล จากการถูกตรวจค้นและยึดทรัพย์อย่างไม่มีเหตุอันควร อันมิอาจละเมิดได้ แม้จะมีหมายค้น เว้นแต่บางกรณีที่มีเหตุอันควรซึ่งต้องมีการรับรองจากคำปฏิญาณหรือการยืนยัน และต้องมีการระบุถึงสถานที่ บุคคล และสิ่งที่ต้องการตรวจค้นอย่างจำเพาะเจาะจง"

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเป็นองค์กรเพื่อเสรีภาพสื่อนานาชาติ ที่ปกป้องสิทธิ์ในการสื่อสารทั้งการเผยแพร่และรับข้อมูล ขณะที่องค์กรสิทธิมนุษยชนโลกประจำสหรัฐฯ (ฮิวแมนไรท์ยูเอสเอ) เป็นองค์กรภาคประชาชนของสหรัฐอเมริกาที่ปฏิบัติงานเรื่องผลกระทบจากการฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อทำให้กฏหมายของสหรัฐฯ เป็นไปอย่างสอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมานฉันท์แรงงานไทยจี้ รมว.แรงงานผลักดัน พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย และสร้างอนุสรณ์เคเดอร์

Posted: 09 May 2010 03:51 AM PDT

<!--break-->

9 พ.ค. 53 - คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ยื่นหนังสือถึงนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ผลักดันร่างพรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวะอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานและการตั้งอนุสรณ์เตือนใจความปลอดภัยในการทำงาน โดยรายละเอียดมีดังนี้

.........

ที่ คสรท. ๕๑/๒๕๕๓

๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓

เรื่อง ยื่นหนังสือผลักดัน ร่างพรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวะอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

และการตั้งอนุสรณ์เตือนใจความปลอดภัยในการทำงาน

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

จากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ผ่านมา เรื่องสุขภาพความปลอดภัยกับชีวิตของผู้ใช้แรงงานยังไม่มีใครพูดถึงมากนัก แต่หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ไฟไหม้ตึกถล่มคนงานต้องสังเวยด้วยชีวิต 188 ศพ บาดเจ็บ 469 ราย ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 นับเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญไปทั่วโลก  หลังจากนั้นขบวนการแรงงาน นักวิชาการ  องค์กรพัฒนาเอกชน ได้รณรงค์มาโดยตลอด  จากวันนั้นถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 17 ปีแล้ว  แต่คนงานก็ยังไม่มีความปลอดภัยในการทำงาน ในแต่ละปีมีคนงานประมาณ 200,000 กว่าราย ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน มีคนงานเจ็บป่วยและเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงานเป็นจำนวนมาก หลายรายสูญเสียอวัยวะและชีวิต 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว องค์กรแรงงานต่างๆ จึงได้ร่วมกันผลักดันร่าง พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวะอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน  ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาแปรญัติในชั้นสภาผู้แทนราษฎร  ร่วมกับ พรบ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับกระทรวงแรงงาน)  และกำลังจะเสร็จสิ้น  เพื่อเตรียมนำเข้าการพิจารณาของวุฒิสภาในวาระที่ 2 ต่อไป

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ สภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง  จึงขอยื่นข้อเสนอต่อกระทรวงแรงงาน   ให้เห็นชอบและผลักดันร่างพรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวะอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ฉบับผู้ใช้แรงงาน) ดังนี้

1. บรรจุร่าง พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวะอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานไว้ในหมวดหนึ่งหมวดใดของร่าง พรบ.ความปลอดภัยของกระทรวงแรงงาน  พร้อมทั้งมีเนื้อหาโครงสร้างอำนาจหน้าที่  คณะกรรมการ งบประมาณ  ของ พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ฯ ที่จะจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระ ไว้ครบถ้วน เพื่อจะได้จัดตั้ง สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ในโอกาสต่อไป  เพื่อมีองค์อรอิสระทำหน้าที่ส่งเสริมป้องกันเรื่องสุขภาพความปลอดภัย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน 

2. ให้มีการจัดตั้งอนุสรณ์เตือนใจความปลอดภัยในการทำงาน และมีการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อปรึกษาหารือแนวทางในการจัดตั้งอนุสรณ์เตือนใจความปลอดภัยของคนงาน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนแรงงาน ผู้แทนภาครัฐ นักวิชาการ  องค์กรพัฒนาเอกชน  

และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนข้อเสนอของขบวนการแรงงาน จึงเรียนมาเพื่อพิจารณาอย่างเร่งด่วน  และขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้

 

ขอแสดงความนับถือ

 

 

           (นางสาววิไลวรรณ    แซ่เตีย) (นางสาวสมบูรณ์   สีคำดอกแค)

 ประธานคณะกรรมสมานฉันท์แรงงานไทย                                                  ประธานเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานฯ

 

 

 

 

                   (นางสาวสงวน    ขุนทรง)       (นายจะเด็จ    เชาวน์วิไล)

ผู้ประสานงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่)                                             ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รพ.จุฬาฯ ออกแถลงการณ์รับผู้ป่วยจากเหตุระเบิดบริเวณแยกศาลาแดงและหน้าสวนลุมฯ

Posted: 09 May 2010 01:20 AM PDT

<!--break-->

9 พ.ค. 53 - ศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยถึง กรณีที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 7 เนื่องจากมีเหตุการณ์ยิงอาวุธสงคราม และระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ซึ่งเกิดขึ้นที่บริเวณแยกศาลาแดง และหน้าสวนลุมพินีโดยโรงพยาบาลจุฬาฯ ได้รับผู้ป่วยจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7พฤษภาคม เข้ารักษา 8 ราย เสียชีวิต 2 ราย เข้ารับการรักษาตัว ณ ตึกปัจมราชินี 3 ราย และให้กลับบ้านจำนวน 3 ราย โดยผู้เสียชีวิต 2นาย คือ สิบตำรวจโทกานต์นุภัทร เลิศจันทร์เพ็ญ และ จ่าสิบตำรวจวิทยา พรมสำลี

สำหรับผู้ป่วยที่ยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้แก่ จ่าสิบตำรวจเกษม แก้วกุล, สิบตำรวจโทณัฐกานต์ โพธิ์น้อย ซึ่งอาการปลอดภัยแล้ว คาดว่าจะกลับบ้านได้ในวันนี้ ส่วนดาบตำรวจเกียรติศักดิ์ อัญชรินทร์ อาการสาหัส ต้องเข้ารับการผ่าตัดล้างสะเก็ดระเบิดที่สมองอีกครั้ง ขณะที่ สิบตำรวจเอกวิสุทธิ์ บุญยังมาก ได้ย้ายไปรักษาตัวที่ โรงพยาบาลตำรวจ สำหรับผู้ที่กลับบ้านไปแล้วมี 2 คน คือ นายศุภชีพ เกตุมณี และดาบตำรวจบรรจบ โยมา ทั้งนี้ หากผู้ใดสงสัยว่าจะเป็นญาติผู้ป่วย สามารถสอบถามรายชื่อได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-256-4898 และ 02-256-4899

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘เทพไท’ จัด ‘ครม.เสื้อแดง’ ชู ‘จตุพร’ นั่ง มท.1 ‘วีระ’ ประธานสภา

Posted: 09 May 2010 01:06 AM PDT

'เทพไท' บอกให้เสื้อแดงกลับบ้านอยู่นานประเทศเสียหาย จี้ให้ปรองดองกับมาร์ค พร้อมจัด ครม.เสื้อแดง ‘ตู่’ นั่ง มท.1 มีพายัพกับแรมโบ้เป็น มท. ผู้ช่วย ‘อริสมันต์’ นั่งยุติธรรม ‘หมอเหวง’ สาธารณสุข ‘ขวัญชัย’ ชอบดาวกระจายให้อยู่กระทรวงท่องเที่ยว ‘วิสา’ ชอบร้องเพลงอยู่วัฒนธรรม ‘ชินวัตร หาบุนพาด’ อยู่คมนาคม ‘วีระ’ เป็นประธานสภาเพราะอาวุโส ส่วน ‘ณัฐวุฒิ’ เป็นรมต.สำนักนายกฯ

<!--break-->

 

เทพไท เสนพงศ์ (ที่มา: พรรคประชาธิปัตย์)

 

เทพไทบอกให้เสื้อแดงกลับบ้านอยู่นานประเทศเสียหาย

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่า วันนี้ (9 พ.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของ นปช. ที่พยายามยื้อเวลาออกไปจนถึงวันที่ 15 พ.ค. และเสนอแผนโรดแม็ปของกลุ่มคนเสื้อแดงด้วยนั้น อยากเรียกร้องแกนนำว่าไม่ควรซื้อเวลาอีกต่อไป เพราะยิ่งช้าประเทศจะยิ่งเสียหายมากขึ้น

โดยนายเทพไทอธิบายว่า ยิ่งชุมนุมยืดเยื้อจะมี 3 กลุ่มที่ได้รับความเสียหาย คือ 1.กลุ่มนักธุรกิจแยกราชประสงค์ 2.กลุ่มตำรวจทหาร และผู้ชุมนุม ที่เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และอาจเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์สร้างสถานการณ์ทำร้ายแกนนำ นปช. ยิงระเบิดลงกลุ่มผู้ชุมนุม และ 3.ประเทศชาติ

 

เชื่อแกนนำสับสนเพราะทักษิณอยู่เบื้องหลัง

ทั้งนี้การตัดสินใจของแกนนำที่ยังสร้างความสับสน มีการแสดงความเห็นหลากหลาย เชื่อได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง โดยมีการขนคนเข้ามาเติมม็อบ เพราะเจ้าของพรรคไม่ยอมเลิก สั่งให้ ส.ส.แข่งกันโชว์ศักยภาพ ส่งคนเข้ามาชุมนุมเพิ่มเติม โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 2 จังหวัด รอบแรกคือ จ.ขอนแก่น พอหมดคน ก็จะเป็น จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นการแข่งขันในหมู่ ส.ส.ด้วยกันเอง

นายเทพไท กล่าวอีกว่า ส่วนที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่า ตนใส่ร้ายพ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เบื้องหลังการชุมนุม นั้น ขอยืนยันว่าพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นมนุษย์สองหน้า คนสองอารมณ์ และมีพฤติกรรมอยู่เบื้องหลังกลุ่ม นปช. และไม่เคยปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก หรือเสธ.แดง ซึ่งที่ผ่านมา พล.ต.ขัตติยะ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารวอลสตรีท เจอร์นัล บอกว่าการชุมนุมจะไม่เลิก ยกเว้นมีคำสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ การกระทำของ เสธ.แดงในการใช้ความรุนแรง ปักหลักสู้ต่อไป จึงได้รับคำสั่งจากพ.ต.ท.ทักษิณ ผู้เดียว ดังนั้นนายนพดล ไม่ควรแก้ต่างให้ทักษิณ นายนพดล จะปิดฟ้าด้วยฝ่ามือคงไม่มิด เพราะพฤติกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ปรากฏชัดว่าเป็นอย่างไร

 

อัดเพื่อไทยไม่ชัดเรื่องปรองดอง เริ่มแย่งเก้าอี้นายกฯ เหมือนหวยไม่ได้ซื้อแต่รีบแบ่งรางวัล

โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย ที่ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนในการเข้าร่วมแผนปรองดองของนายกรัฐมนตรีแต่กลับกำหนดแผนการเลือกตั้ง และมีการแย่งเก้าอี้นายกฯ ตั้งแต่ไก่โห่ เหมือนยังไม่ได้ซื้อล็อตเตอร์รี่ก็แบ่งรางวัลกันแล้ว มีการเสนอนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน และนายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกฯ ซึ่งเป็นเป้าหลอก ดังนั้นพรรคเพื่อไทยควรไปถามหัวหน้าพรรคตัวจริงว่าจะส่งใครมาแข่งกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และถ้าจะเป็นพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย หรือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทาง ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็บอกว่าบุคคลทั้งสองเหมาะสมกับตำแหน่ง รมว.มหาดไทยและ กลาโหมมากกว่า ซึ่งการพูดอย่างนี้เหมือนกับไม่เกรงใจ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก หรือ เสธ.แดง

 

เทพไทจัด ‘ครม.เสื้อแดง’ ‘ตู่’ มท.1 ‘กี้’ รมว.ยุติธรรม ‘หมอเหวง’ สาธารณสุข

นายเทพไท กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ส.ส.ที่มาจัดตำแหน่งต่างๆ ไม่เคยมาอยู่แนวหน้า อยู่แต่เบื้องหลัง ซึ่งนายจตุพร พรหมพันธุ์ เคยยกคำพูดของประธานเหมา เจ๋อตุง ที่ว่าคนทำงานหนักเท่านั้นที่มีสิทธิอิ่มหนำ ดังนั้น นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง น่าจะได้เป็น รมว.ยุติธรรม

ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็น รมต.สำนักนายกฯ เพื่อคุมสื่อ นพ.เหวง โตจิราการ เป็น รมว.สาธารณสุข ส่วนนายจตุพร เป็น รมว.มหาดไทย โดยมีนายพายัพ ปั้นเกตุ และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ นาจะเป็น มท.2 และมท.3

 

‘ขวัญชัย’ ชอบดาวกระจายให้นั่งท่องเที่ยวและกีฬา ‘ชินวัตร หาบุญพาด’ นั่งคมนาคม

ส่วนนายขวัญชัย ไพรพนา ที่ชอบดาวกระจายม็อบ ก็น่าจะไปเป็นรมว.ท่องเที่ยวและการกีฬา ส่วนนายวิสา คัญทัพ ที่ถนัดร้องเพลงบนเวที ให้ไปเป็นรมว.วัฒนธรรม ขณะที่นายชินวัตร หาบุญพาด ประธานชมรมแท็กซี่คนรักทักษิณ ควรเป็นรมว.คมนาคม ส่วนนายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นประธานสภา ในฐานะผู้อาวุโส

“ปัญหาใหญ่ในพรรคเพื่อไทยที่จะเกิดขึ้นคือ ควรจะนิรโทษกรรมสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 หรือไม่ โดยมีความเห็นแตกแยกกันมาก ซึ่ง ส.ส.ปัจจุบันคัดค้านการนิรโทษ เคลื่อนไหวปิดกั้นไม่ให้กลุ่มคนเหล่านี้คืนสู่เวที เพราะทำให้ ส.ส.นกแลอาจเสียโอกาส เพราะถ้ารวมแล้วจะมีถึง 220 คน ที่ทำให้ที่นั่งในพรรคเพื่อไทยหายไปจำนวนมาก ยังไม่รวมแกนนำ นปช.ที่ต้องเข้ามาอยู่ใน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 20-30 คน ดังนั้นพรรคเพื่อไทยต้องจัดระบบในพรรคเป็นขนานใหญ่ หากนายใหญ่ที่ดูไบไม่จัดการ เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะวุ่นวายและแตกแยกกันมากที่สุด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แถลงการณ์ 30 องค์กรสืบทอดเจตนารมณ์วีรชน 10 เมษายน

Posted: 09 May 2010 01:04 AM PDT

<!--break-->

9 พ.ค. 53 - 30 องค์กรออกแถลงการณ์สืบทอดเจตนารมณ์วีรชน 10 เมษายน อย่าปล่อยให้ฆาตรกรลอยนวล  คนผิดต้องถูกลงโทษ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ต้องสัตยาบันยุบสภาให้ชัดเจน

 

แถลงการณ์สืบทอดเจตนารมณ์วีรชน 10 เมษายน

อย่าปล่อยให้ฆาตรกรลอยนวล  คนผิดต้องถูกลงโทษ

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ พรรคประชาธิปัตย์ต้องสัตยาบันยุบสภาให้ชัดเจน

ปฏิรูปประเทศไทย ประชาชนทุกส่วนต้องมีส่วนร่วม

โอกาสครบรอบหนึ่งเดือนการล้อมปราบปรามประชาชนคนเสื้อแดงที่ได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โค่นล้มระบอบอำมาตยาธิปไตยด้วยสองมือเปล่า(ที่มีเพียงตีนตบและหัวใจตบ)โดยยึดมั่นแนวทางสันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธ เพื่อสร้างประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ เริ่มต้นโดยการเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์หุ่นเชิดของระบอบอำมาตย์ คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนโดยการยุบสภา แต่กลับถูกสังหารด้วยจิตใจอำมหิตของผู้ครองอำนาจภายใต้คำสั่งพระราชบัญญัติฉุกเฉินขั้นร้ายแรงของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ

 เราในนาม กลุ่มองค์กร เครือข่าย ที่มีจุดยืนเพื่อประชาธิปไตย มีความคิดเห็นและข้อเรียกร้อง ดังนี้ คือ

1.เราขอให้ผู้รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม รักชาติรักประเทศทั้งหลาย ร่วมกันรำลึกสืบทอดถึงเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่ของวีรชนผู้เสียสละชีวิต และประกาศให้วันที่ 10 เมษายน เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยของประชาชน เป็น วันรำลึกการต่อสู้ของวีรชนคนเสื้อแดง เป็น “วันวีรชนไพร่ลุกขึ้นสู้กอบกู้ประชาธิปไตย”

2. เรามีความคิดเห็นว่า ฆาตกรมือเปื้อนเลือดในการสังหารประชาชนวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมาจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนสากล  เราขอเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ องค์กรสิทธิมนุษยชนสากลร่วมดำเนินการฟ้องร้องเพื่อมิให้เหตุการณ์สังหารประชาชนเกิดขึ้นอีก และเพื่อไม่ให้ “ฆาตกรมือปื้นเลือดลอยนวล  คนผิดต้องถูกลงโทษ”

3.เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์แสดงความจริงใจในแนวทางปรองดอง โดยการยกเลิกพระราชบัญญัติฉุกเฉิน และยุติการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อเวปไซค์ วิทยุชุมชนและพีเพิลแชลแนล โดยทันที  มิใช่กระทำตัว “ปากปราศรัย น้ำใจเชือดคอ” และ”ตีสองหน้า” โดยการอ้างว่าต้องการปรองดอง แต่ก็ยังคงมีการกระทำการข่มขู่คุกคามอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

4.เราขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ คณะรัฐมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์  ทำสัตยาบันประกาศวันยุบสภาให้ชัดเจน และหากแม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบตามอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญนั้น  ไม่ว่าใครขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็จะดำเนินการยุบสภาตามที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ให้สัตยาบันไว้ด้วยเช่นกัน

5.ท่ามกลางกระแสการปฏิรูปประเทศไทย เราขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ทุกเครือข่าย จัดตั้งตนเองขึ้นมา ระดมความคิดเห็น เสนอข้อเรียกร้องในการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อมิให้เพียงเครือข่ายรัฐบาล เครือข่ายอำมาตย์เท่านั้นในการมีส่วนร่วมปฏิรูปประเทศไทย 

6.และข้อเสนอการปฏิรูปประเทศซึ่งต้องมีกระบวนการแก้ไขกฎหมาย เปลี่ยนแปลงนโยบาย และกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะเป็นวาระสำคัญในการผลักดันให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีส่วนสำคัญในการแก้ไขกฎหมาย  พรรคการเมืองที่จะขึ้นมาบริหารประเทศเพื่อดำเนินนโยบายของประเทศ ภายหลังยุบสภา และการปฏิรูปประเทศไทยก็คงมิใช่เพียงการปฏิรูปประเทศตามแนวทางของนายกรัฐอภิสิทธิ์ ตลอดทั้งเครือข่ายอำมาตย์ เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น 

1. เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ปัญหาที่ดินภาคอีสาน (คอป.อ.)

2. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์น้ำเซิน (คอซ.)

3. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำปาว (คอป.)

4. เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูค้อ-ภูกระแต จังหวัดเลย

5. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน (คอส.)

6. แนวร่วมเกษตรกรภาคอีสาน (นกส.)

7. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำโขง จังหวัดอุบลราชธานี

8. กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.)

9. กลุ่มดงมูลเพื่อการพัฒนา จังหวัดกาฬสินธุ์

10. เครือข่ายอนุรักษ์ภูผาเหล็ก จังหวัดอุดรธานี

11. กลุ่มภูพานเพื่อการพัฒนา จังหวัดสกลนคร

12. เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยภูมิ

13. กลุ่มประชาชนไทยแวงน้อย-แวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น

14. กลุ่มเยาวชนมิตรภาพ จังหวัดขอนแก่น

15. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์น้ำพรมตอนต้น จังหวัดชัยภูมิ

16. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำบัง จังหวัดนครพนม

17. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ยโสธร จังหวัดยโสธร

18. สหพันธ์เยาวชนอีสาน (สยส.)

19. แนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.)

20. ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง

21. เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู จังหวัดพิษณุโลก

22. เครือข่ายส่งเสริมสิทธิการจัดการทรัพยากรภาคเหนือตอนล่าง (คสปล.)

23. สหพันธ์เยาวชนคลองเตย (สยค.)

24. เครือข่ายองค์กรชุมชนคลองเตย

25. เครือข่ายชุมชนเมืองบ่อนไก่ กทม.

26. กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ

27. เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนเขลาโคก จังหวัดร้อยเอ็ด

28. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ 

29.กลุ่มคนรุ่นใหม่ภาคใต้

30.กลุ่มนักศึกษาภาคเหนือเพื่อประชาธิปไตย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'มาร์ค' จี้ 'นปช.' ขอคำตอบชัดเจนวันนี้พรุ่งนี้ รอ15พ.ค.ช้าเกินไป

Posted: 09 May 2010 12:15 AM PDT

'มาร์ค' กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ขอคำตอบ 'นปช.' ชัดเจนวันนี้พรุ่งนี้ ไม่รอ15พ.ค. บอกช้าเกินไป

<!--break-->

9 พ.ค. 53 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ว่า เมื่อคืนวันที่ 7 พ.ค. เกิดเหตุยิงเจ้าหน้าที่ ทำให้หลายคนพูดว่าคือความล้มเหลวของแผนสร้างความปรองดอง(โรดแมป) 5 ข้อ ดังนั้นต้องยกเลิก แต่ตนเชื่อว่าพวกเราทุกคนต่างรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขอคำตอบ 'นปช.' ชัดเจนวันนี้พรุ่งนี้ ไม่รอ15พ.ค. บอกช้าเกินไป

 

รายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2553

ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์


สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่เคารพทุกท่านครับ สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเชื่อว่าพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนในฐานะพสกนิกรชาวไทย ก็คงจะมีความรู้สึกปลาบปลื้มที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จออกเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีในวันฉัตรมงคลที่ในบริเวณพระบรมมหาราช วังครับ วันนั้นพสกนิกรชาวไทยจำนวนมากได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดระยะเส้นทางจากโรงพยาบาลศิริราช มาจนถึงบริเวณพระบรมมหาราชวัง ทั้งเส้นทางที่เสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีและเสด็จฯ กลับนะครับ ซึ่งผมเชื่อครับว่าจากที่พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ได้มีโอกาสชมทางโทรทัศน์ และได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงนั้น ก็เป็นสิ่งที่เป็นกำลังใจและความปลาบปลื้มใจสำหรับพี่น้องประชาชนคนไทยทั้ง ชาติ

ในค่ำวันเดียวกัน ครับเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม วันฉัตรมงคลนั้น รัฐบาลก็ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานสโมสรสันนิบาต ซึ่งปีนี้ก็เป็นปีที่พิเศษนะครับ เพราะว่าเป็นการครบรอบ 60 ปีบรมราชาภิเษก ซึ่งก็มีการจัดนิทรรศการและก็มีการเชิญแขกซึ่งเป็นผู้ที่มีความสำคัญทั้งใน วงการทางการเมือง ทางธุรกิจ และวงการอื่น ๆ นะครับ มาร่วมในงาน ตลอดจนทูตานุทูต เช่นเดียวกันครับ บรรยากาศในงานนั้นก็ทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ได้ติดตามงานนั้นมีความ รู้สึกมีความสุขกับการที่รัฐบาลได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานเพื่อถวายความจง รักภักดี พร้อมๆ กันไปครับในบริเวณตั้งแต่ลานพระราชวังดุสิต หรือลานพระบรมรูปทรงม้า ยาวไปตลอดเส้นทางถนนราชดำเนินนั้นก็มีการจัดงาน เพื่อเฉลิมฉลองนะครับ หรือเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันฉัตรมงคลเช่นเดียวกัน ซึ่งแต่ละคืนที่ผ่านมานั้นก็มีพี่น้องประชาชนจำนวนมากครับได้ไปร่วมงาน ก็อยากจะขอเรียนครับว่างานนี้ก็จะจัดขึ้นจนถึงคืนนี้นะครับเป็นคืนสุดท้าย เพราะฉะนั้นก็ยังอยากจะเชิญชวนพี่น้องประชาชนได้ร่วมกันถวายความจงรักภักดี และก็ชมงานที่รัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือหน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดขึ้น ซึ่งผมขอถือโอกาสนี้ขอบคุณหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งได้ทุ่มเทในการจัดงานนี้ให้สมพระเกียรติและเป็นงานที่มีความยิ่งใหญ่นะ ครับ ทำให้พี่น้องประชาชนแต่ละคืนนั้นก็คงจะเป็นนับแสนคนที่ได้มีโอกาสมาเที่ยว และมาชมงานนี้

พี่น้องประชาชน ที่เคารพครับ สัปดาห์ที่ผ่านมานั้นเป็นสัปดาห์ที่ผมได้นำเสนอสิ่งที่เรียกว่าแผนปรองดอง หรือกระบวนการปรองดองเพื่อแก้ไขปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ สำหรับรายการในวันนี้ในช่วงแรกผมคงจะได้อธิบายอีกครั้งหนึ่งว่าแผนดังกล่าว นั้นมีหลักคิดที่มาและมีรายละเอียดอย่างไร มีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง ส่วนในช่วงที่ 2 นั้นคงจะได้มาพูดถึงประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับแผนนี้ ก็คือเรื่องปัญหาของการยุบสภาหรือไม่ยุบสภา และในช่วงท้ายคงจะได้มีโอกาสตอบข้อซักถามต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นมากมายตลอดระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือปฏิกิริยาจากกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมต่อแผนดังกล่าว

พี่น้องครับแผน การปรองดองนั้นเป็นแผนที่ผมได้สดับตรับฟังมาจากพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม พยายามที่จะคิดค้นหาคำตอบว่าบ้านเมืองของเราที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ มีความแตกแยกนั้นมีสาเหตุมาจากตรงไหนอย่างไรบ้าง และพยายามที่จะดูว่าอะไรที่จะทำให้สังคมไทยนั้น กลับมามีความสมัครสมานสามัคคีปรองดองสมานฉันท์เหมือนเดิม แผนนี้อย่างที่ผมได้กล่าวไปครับเป็นสิ่งที่ผมต้องใช้เวลาในการคิดทั้งในช่วง ระยะเวลาของวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น และก็รวมไปถึงการสะสมความคิดความเห็นจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่บ้านเมืองของเรานั้นมีความขัดแย้ง แผนนี้ผมได้นำเสนอไปเมื่อวันจันทร์ครับและก็บอกว่าเป็นแผนที่ผมได้มองดูว่า อะไรบ้างคือปัจจัยที่จะช่วยทำให้บ้านเมืองกลับมามีความสงบสุข อะไรบ้างคือสาเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ความแตกแยกที่ร้าวลึกจนถึงในปัจจุบัน แล้วเราจะแก้ไขกันอย่างไร

แผนนี้มี 5 องค์ประกอบครับ องค์ประกอบที่ 1 ผมมาคิดถึงเรื่องของการที่เรามีสถาบันหลักของชาติ ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจหลอมรวมพี่น้องประชาชนคนไทยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผมถือว่าประเทศไทย คนไทยโชคดีครับ มีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ได้เป็นหลักชัยให้กับพี่น้องประชาชนคนทั้งประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงทุ่มเทพระวรกาย กำลังพระราชทรัพย์ และทรงอุทิศเวลาในการที่จะแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด และที่สำคัญก็คือได้พระราชทานแนวพระราชดำริที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความรู้รักสามัคคีและความพอเพียง ตรงนี้ครับคือจุดที่เป็นที่มาในส่วนองค์ประกอบแรกของแผน ที่ผมได้เรียนว่าถึงเวลาแล้วครับที่พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศจะต้องมา ร่วมกันทำอย่างไรไม่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพเทิดทูนของพี่ น้องประชาชนนั้นถูกล่วงละเมิด และให้พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักได้เข้าใจถึงบทบาทอัน สำคัญยิ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์

จริงอยู่ครับขณะ นี้มีขบวนการซึ่งเข้ามาล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังที่ได้มีการบอกกล่าวให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ และขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ก็ได้รับเรื่องของคดีที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนี้เข้าไปไว้ในการดูแลของกรม สอบสวนคดีพิเศษ เมื่อมีการจับกุมบุคคลที่กระทำความผิด และได้มีการดำเนินการไปตามกฎหมายครับ ขณะเดียวกันเครือข่ายที่เราค้นพบที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนี้ก็เริ่มมีความ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หลายคนสอบถามครับว่าการดำเนินการไปตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้ว เหตุใดจะต้องมีเรื่องนี้เข้ามาในส่วนของกระบวนการของการปรองดอง เหตุใดจะต้องมีเรื่องนี้เข้ามาเป็นกระบวนการซึ่งน่าจะเป็นหน้าที่ของฝ่าย กฎหมายของบ้านเมือง ผมอยากทำความเข้าใจอย่างนี้ครับ กระบวนการตามกฎหมายก็ต้องเดินไปครับ แต่กระบวนการตามกฎหมายนั้นจะเดินไปโดยหวังพึ่งเฉพาะเจ้าหน้าที่อย่างเดียว นี่ ผมคิดว่าไม่เพียงพอ

วันนี้สิ่งที่ผม อยากจะเห็นเกิดขึ้นก็คือว่าพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม กลุ่มการเมืองทุกกลุ่มไม่ว่าจะบอกว่าตัวเองสีอะไรนั้น ต้องเข้ามามีบทบาทในเชิงรุกต่อเรื่องนี้ เชิงรุกทั้งสองด้านครับ ด้านที่ 1 ก็คือช่วยกันทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวข้องกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ใน สังคมของเรา ซึ่งที่ผ่านมาเรามีขบวนการที่จะล่วงละเมิด และมักจะแพร่ขยายไปยังต่างประเทศบ้าง หรือที่อื่นบ้าง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบางครั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ เท่าที่ควร ตรงนี้ครับสิ่งที่ผมอยากจะเรียกร้องคือว่าทุกฝ่ายต้องมาช่วยกันทำหน้าที่ใน การเผยแพร่นะครับและทำความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อม ๆ กันนั้นครับการบังคับใช้กฎหมายที่ได้ผลนั้น วันนี้เราจะต้องไม่ให้ใครมาบอกเพียงแค่ว่าปัญหาการล่วงละเมิดกฎหมายในเรื่อง นี้ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับผม ไม่เกี่ยวข้องกับฉัน ไม่ได้ครับ เราจะได้เอาข้อมูลซึ่งปัจจุบันนั้นทางการมีอยู่แล้ว และกรมสอบสวนคดีพิเศษมีอยู่เกี่ยวกับเครือข่ายต่าง ๆ แล้วใครก็ตามซึ่งมีความคุ้นเคย มีความสัมพันธ์กับบุคคลที่อยู่ในเครือข่ายนี้ต้องมาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ของรัฐ เพื่อที่จะทำให้กระบวนการในเรื่องนี้นั้นสามารถดำเนินการได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ผมคิดว่าถ้าเราได้แสดงออกตรงนี้ร่วมกันนี่ พี่น้องประชาชนจะสบายใจครับ เพราะส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหาของความแตกแยกคือว่าพี่น้องประชาชนคนส่วนใหญ่ของ ประเทศยอมไม่ได้ที่จะเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นถูกล่วงละเมิด เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็มีการพูดกันและก็นำมาสู่ประเด็นที่เป็นส่วนหนึ่งของ ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งผมไม่ประสงค์จะให้เป็นเช่นนั้น จึงจะต้องมีกระบวนการพิเศษที่ดึงทุกฝ่ายมาร่วมกันทำงานในเรื่องนี้ เพื่อปรากฏต่อสาธารณะให้เห็นชัดเจนครับว่าพวกเราทุกคนนั้น ไม่ว่าจะมีความคิดความอ่านความเชื่อในทางการเมือง หรือในเรื่องอื่น ๆ อย่างไรนั้น ก็จะมาทำงานนี้ด้วยกัน นั่นคือองค์ประกอบที่ 1 ของแผนของการปรองดอง

องค์ประกอบที่ 2 ครับ เป็นเรื่องของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน โครงสร้างของสังคมครับที่ทำให้พี่น้องประชาชนจำนวนมากมักจะรู้สึกน้อยเนื้อ ต่ำใจมีความรู้สึกว่าตัวเองด้อยโอกาส และประชาชนกลุ่มนี้ล่ะครับ เมื่อไหร่ก็ตามซึ่งมีการเคลื่อนไหว มีการชุมนุมทางการเมือง ก็จะถูกดึงเข้าไปร่วมกระบวนการต่าง ๆ

เพราะมีความ รู้สึกว่าจะเป็นการได้โอกาสในการที่จะแสดงออกถึงการมีสิทธิมีเสียง ถึงจะได้มีบุคคลที่จะได้ยินข้อเรียกร้องความเดือดร้อน ความทุกข์ร้อนต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชน ตรงนี้ครับผมอยากจะย้ำครับว่าแม้ว่ารัฐบาลทุกชุดพยายามแก้ไขปัญหาในเรื่อง ของความยากจน ทุกรัฐบาลจะมีโครงการครับ รัฐบาลนี้ก็มีครับที่เราทำตั้งแต่เด็กเล็กมาจนถึงพูดง่าย ๆ ตั้งแต่เกิดจนตายเลย นะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศูนย์เด็กเล็ก การเรียนฟรี การฝึกอาชีพ การเข้ามาดูแลในเรื่องของสวัสดิการของผู้สูงอายุ นะครับ ไปจนถึงการช่วยเหลือในเรื่องของภัยพิบัติต่าง ๆ รวมไปถึงการมีกลไกพิเศษมาดูแลเรื่องที่ทำกิน เรื่องหนี้สิน นะครับ ไปจนถึงการที่จะพยายามดูแลพี่น้องเกษตรกรในชนบทว่าด้วยโครงการประกันรายได้ เราทำสิ่งเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แต่กระนั้นก็ตามครับความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจนที่ยังมีอยู่ นะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางเรื่องอาจจะไม่ใช่ในเรื่องของรายได้อย่างเดียว แต่ความรู้สึกว่าการได้รับการปฏิบัติจากทางการ จากราชการ กฎระเบียบ การใช้อำนาจนั้นทำให้พี่น้องประชาชนมีความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ตรงนี้ครับต้องสะสางแบบเป็นระบบ

สิ่งที่เราจะ ดำเนินการในองค์ประกอบที่ 2 ของแผนการปรองดอง ก็คือการปฏิรูป สิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งหลายหน่วยงานภาคประชาสังคมเขาทำอยู่แล้วนะครับ ผมได้มีโอกาสเชิญองค์กรต่าง ๆ เข้ามาเพื่อปรึกษาหารือในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปก็คือในวันที่ 12 และวันที่ 13 พฤษภาคมครับ คณะกรรมการซึ่งทำงานที่ดูแลในเรื่องของการพัฒนาชุมชนนั้น จะมีการประชุมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรต่าง ๆ ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อแผนในส่วนนี้ และในวันที่ 13 พฤษภาคมนะครับ ก็จะได้มีการนำข้อเสนอเบื้องต้นยื่นให้กับผม และหลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ครับ คือวันที่ 20 พฤษภาคมก็จะได้มีการจัดประชุมสมัชชาเพื่อเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนในภาคส่วน ต่าง ๆ นั้นได้มาระดมความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง

แต่ปัญหานี้เป็น ปัญหาซึ่งผมอยากจะเรียนว่า ต้องใช้เวลาในการแก้ไข อย่าว่าแต่ 4 เดือน 6 เดือนหรือ 1 ปี 8 เดือน 9 เดือนเลยครับ เวลาเหล่านั้นไม่พอหรอกครับ แต่สิ่งที่เราจะทำหลังวันที่ 20 ก็คือเราควรจะมีข้อยุติในเรื่องของการมีกลไกพิเศษขึ้นมา เป็นกลไกซึ่งจะอยู่และก็ทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องข้ามรัฐบาลหลังจากที่ มีการเลือกตั้งไปแล้ว ซึ่งบุคคลที่จะเข้ามานั้นก็จะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากสังคม มีความหลากหลายนะครับ ไม่ถูกชี้นำโดยภาคราชการ ขณะเดียวกันกลไกนี้ก็จะเป็นกลไกที่ราชการนั้นจะต้องให้การสนับสนุนอย่างเต็ม ที่นะครับ นั่นก็คือเป็นกลไกที่รัฐบาลให้การรับรองจะโดยคำสั่ง ซึ่งออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีหรืออะไรก็แล้วแต่ พร้อม ๆ กันนั้นหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานกลางของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ หรือกระทรวงการคลัง นั้นก็ต้องเข้ามาช่วยทั้งในงานทางด้านธุรการ ทั้งในการสนับสนุนทางด้านงบประมาณ ซึ่งจะได้มีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป นะครับ

ตรงนี้ก็เป็นสิ่ง ที่ผมอยากให้ความมั่นใจนะครับ ว่าแผนในส่วนที่ 2 นี้เริ่มต้นเดินแล้ว มีความชัดเจนตามสมควร และก็ภายในระยะเวลาประมาณ 10 วันข้างหน้า ก็จะมีความชัดเจนครับว่าจะสามารถเดินบรรลุวัตถุประสงค์เป้าหมายตรงนี้ได้ อย่างไร ปัญหาทั้งหมดนะครับ จะต้องถูกนำมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในแง่ของโครงสร้างความยากจน ความไม่เป็นธรรมโดยทั่ว ๆ ไป หรือปัญหาที่เป็นปัญหาเฉพาะนะครับของคนชายขอบ ของคนไร้ที่ทำกิน ของคนหนี้สินท่วมตัวนะครับ และกลุ่มอื่น ๆ ทั้งหมดนี้จะต้องเข้ามาสู่กระบวนการตรงนี้ เพื่อมิให้พี่น้องประชาชนคนไทยคนใดเลยนะครับ มีความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการเหลียวแล ไม่ได้รับความเป็นธรรม และในที่สุดก็จะต้องเข้ามาชุมนุมเคลื่อนไหวเรียกร้อง จะเป็นทางการเมือง หรือทางอื่นก็ตามนะครับ อันนี้ก็คือส่วนที่ 2 ครับที่เราจำเป็นจะต้องแก้ไขเพื่อนำไปสู่ความปรองดอง

องค์ประกอบที่ 3 เป็นเรื่องของสื่อสารมวลชนครับ ตรงนี้ก็อยากจะบอกตรงไปตรงมาล่ะครับว่าประเทศไทยนั้นที่จริงแล้วเราก็ให้ สิทธิเสรีภาพกับสื่อสารมวลชนมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ว่าในระยะหลังต้องยอมรับครับว่าการต่อสู้ในทางการเมืองนั้น เรื่องของข่าวสารเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นเครื่องมือที่ใช้ต่อสู้ในทางการเมืองนั้น ก็จะก้าวล่วงเข้ามาสู่เรื่องของสื่อต่าง ๆ ค่อนข้างชัดเจน มีการใช้สื่อ ด้านหนึ่งก็บอกว่าเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่พึงจะกระทำได้ แต่อีกด้านหนึ่งนั้นสื่อหลายส่วนก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ทางการ เมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นในโลกปัจจุบันครับที่เทคโนโลยีก้าวไกลไป ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโทรทัศน์ดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวิทยุชุมชนนะครับ และรูปแบบอื่น ๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ๆ เราปฏิเสธไม่ได้ครับว่ามีการใช้สื่อหลายประเภททำให้เกิดความเกลียดชัง ทำให้เกิดความรู้สึกที่มีความรุนแรง และบางครั้งก็มีการใช้สื่อเหล่านี้ พูดง่าย ๆ เหมือนกับเป็นศูนย์บัญชาการการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เป็นการยั่วยุเป็นการปลุกระดม ซึ่งตรงนี้ต้องแก้ไข

ผมจึงได้นำเสนอว่า การปฏิรูปสื่อเพื่อที่จะให้สื่อสารมวลชนต่าง ๆ นั้นมามีบทบาทในลักษณะที่สร้างสรรค์มากขึ้นนั้นมีความจำเป็นเร่งด่วน การดำเนินการนั้นจะประกอบไปด้วย 2-3 แนวทางครับ แนวทางแรกนั้นคงจะต้องเป็นเรื่องของกฎหมายครับ ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนั้นในภาวะปกติ กฎหมายที่จะเอื้อมเข้าไปดูแลจัดการตรงนี้นั้นยังมีข้อจำกัดมาก เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าการที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้จะทำได้เป็นใน ลักษณะของชั่วครู่ชั่วยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือช่วงที่มีการประกาศฉุกเฉิน หรือภาวะฉุกเฉินร้ายแรง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองสงบลง เราคงไม่ประสงค์จะให้มีการประกาศภาวะฉุกเฉินหรือภาวะฉุกเฉินร้ายแรงต่อ เนื่องไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นขณะนี้ครับ ผมได้ให้มีการยกร่างกฎหมาย ซึ่งก็จะต้องนำไปสู่การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่าจะทำอย่างไรที่จะให้ เราสามารถที่จะมีการเข้าไปควบคุมดูแลในเรื่องของสื่อต่าง ๆ ไม่ให้มีบทบาทในการยั่วยุ ปลุกระดม หรือนำไปสู่การสร้างความเกลียดชัง และความรุนแรงในสังคม

ตรงนี้ก็จะเชื่อม โยงมาในส่วนที่ 2 ครับ คือบทบาทขององค์กรที่จะต้องเข้ามาทำงานในเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้ในเบื้องต้นผมมองเห็นว่าคณะกรรมการซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระกำกับ ดูแลในเรื่องนี้ ก็คือ กทช. ในปัจจุบัน และจะเป็น กสทช. ในอนาคต น่าจะต้องมีบทบาทเป็นหลักในเรื่องนี้ที่จะเข้ามากำกับดูแลเป็นกลไกในการที่ จะไม่ให้สื่อต่าง ๆ นั้นถูกนำไปใช้ในลักษณะที่ทำให้เกิดความแตกแยกและความรุนแรงในสังคม หน่วยงานนี้คงจะต้องทำงานใกล้ชิดด้วยกับบรรดาองค์กรวิชาชีพของสื่อครับ ซึ่งปัจจุบันนั้นก็เริ่มมีการพัฒนาเพื่อที่จะดูแลตัวเองอยู่แล้วนะครับ แต่ขณะเดียวกันนั้นก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมาทำงานร่วมกับภาครัฐส่วนใด ส่วนหนึ่ง เพื่อที่จะสามารถที่จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ และก็ในส่วนสุดท้ายนะครับ ก็ควรจะต้องมีองค์กรอิสระที่ประกอบไปด้วยภาคประชาชนนะครับ ที่จะมาเป็นกลไกในการติดตามเพื่อตรวจสอบการทำงานของสื่ออย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งหมดนี้ผมยืนยันครับว่าจะต้องเดินไปสู่จุดที่ไม่ใช่เปิดโอกาสให้รัฐ หรือฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงสื่อ แต่จะต้องมีกติกาของสังคมที่ดี ที่ขีดขอบเขตที่จำกัดนะครับ สำหรับการที่จะมีการนำสื่อไปใช้ในทางที่ผิดนะครับ ซึ่งกระบวนการนี้ก็เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญมาก เพราะว่าเราต้องยอมรับว่าระยะหลังความรุนแรงที่เกิดขึ้น ความขัดแย้งที่ดูจะบานปลายได้ง่ายนั้น บทบาทของการใช้สื่อมีไม่น้อยเลยครับในการนำสังคมมาสู่จุดที่เป็นอยู่ใน ปัจจุบันนี้นะครับ

องค์ประกอบที่ 4 ครับ ก็เข้ามาสู่ตัวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากตัวเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤตการณ์ใน ช่วงระยะเวลาประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมานี้เอง ตรงนี้ครับก็เป็นปัญหาในเรื่องของความคลางแคลงใจต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ที่ทำให้มีการสูญเสียชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น 10 เมษายน ไม่ว่าจะเป็น 22 เมษายน 28 เมษายนนะครับ หรือล่าสุดก็คือคืนเมื่อวานซืนนะครับ ที่มีการสูญเสียอีก ขณะนี้ครับรัฐบาลเองได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาประมวลเหตุการณ์ เพื่อทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อเท็จจริงต่าง ๆ นะครับ เพื่อให้สามารถใช้ในการอ้างอิงได้ ขณะเดียวกันครับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่เป็นองค์กรอิสระก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อ เริ่มต้นในการที่จะสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านี้ ตรงนี้ครับจะต้องมีการหารือว่าถ้ามีความเชื่อมั่นในองค์กรอิสระ คือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินการอยู่ ผมก็คิดว่าก็เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบข้อเท็จ จริงอย่างตรงไปตรงมากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าหากเห็นว่ากลไกนี้จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุง ยังไม่ครบถ้วน ยังไม่รอบด้าน ยังไม่สมดุล ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมาปรึกษาหารือเพื่อเดินหน้าในการทำเรื่องนี้ให้เป็น ที่ยอมรับของสังคมต่อไป

ผมเพียงแต่ให้ข้อ เท็จจริงอย่างหนึ่งครับว่า ในส่วนของภาครัฐเองนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลและกองทัพ สิ่งหนึ่งที่เราได้ยืนยันครับก็คือ เราพร้อมที่จะให้การร่วมมือกับการตรวจสอบทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเวลาเกิดเหตุการณ์ของการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในอดีตนั้น มักจะมีการนิรโทษกรรม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ชุมนุมหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง แต่ครั้งนี้รัฐบาลและกองทัพนั้น มีความมั่นใจครับว่า สิ่งที่ได้ปฏิบัติไปทั้งหมดนั้นเป็นไปตามระเบียบแบบแผนและกฎหมายทั้งสิ้น และเราไม่ต้องการที่จะให้มีการนิรโทษกรรมกลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งเป็นชนวนและเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดความสูญเสียอย่างต่อ เนื่อง เพราะฉะนั้นตรงนี้ ก็เป็นการบ่งบอกถึงความบริสุทธิ์ใจของรัฐบาลเองนะครับ พร้อมที่จะให้ความร่วมมือและก็ทำให้ความจริงในเรื่องนี้มีความกระจ่างชัดออก มา

ประเด็นสุดท้าย องค์ประกอบสุดท้ายข้อที่ 5 ครับ ผมอยากจะเรียนว่าเป็นเรื่องซึ่งหลายคนก็ตั้งคำถาม ซึ่งผมอาจจะได้พูดในรายละเอียดในช่วงท้ายของรายการ คือเป็นเรื่องของการเมืองล้วน ๆ ครับ หลายคนอาจจะบอกประเด็นนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนมากนัก แต่ผมก็อยากจะเรียนครับว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว นักการเมืองแม้จะถูกมองว่าเป็นคนกลุ่มเล็ก ๆ แต่ก็เป็นคนซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในกระบวนการของการเลือกตั้ง ที่สำคัญคือว่านักการเมืองทุกคนล่ะครับ มีมวลชนที่มีความผูกพันกับตัวเองอยู่ไม่มากก็น้อย ความขัดแย้งที่บานปลายมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากความขัดแย้งในหมู่นักการเมืองด้วยกันเอง เกี่ยวข้องกับกติกา เกี่ยวข้องกับความไม่เป็นธรรมที่เขามองว่าเกิดขึ้นจากหลายเหตุการณ์ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถ้าเราจะบอกว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ต้องหยิบยกมาพูดกัน ผมคิดว่าเราไม่อยู่กับความไม่เป็นจริง ดังนั้นข้อขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับกติกาทางการเมือง ความไม่เป็นธรรมทางการเมืองนั้น สมควรที่จะได้ถูกหยิบยกขึ้นมา เพื่อหาข้อยุติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนี่ ผมตอบไม่ได้หรอกครับว่าจะต้องนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร

แต่สิ่งหนึ่งซึ่ง ผมขอยืนยันก็คือว่า ในกระบวนการในแผนในองค์ประกอบที่ 5 นี้ ซึ่งผมจะได้มีการปรึกษาหารือกับหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งที่เป็นองค์กรกลาง ทั้งที่เป็นกลุ่ม ส.ว. หรือแม้กระทั่งท่านประธานกรรมาธิการสมานฉันท์ฯ ซึ่งถูกตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว หรือกรรมการสมานฉันท์ที่ถูกตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้วนะครับ ตั้งใจจะพบกับท่านอยู่ในวันอังคารนี้ ก็คือกระบวนการที่จะหาข้อยุติตรงนี้ต้องไม่ใช่เรื่องที่นักการเมืองตกลงกัน เอง ต้องมีรูปแบบวิธีการที่จะฟังความคิดเห็นจากคนที่ไม่ใช่นักการเมือง และในส่วนตัวของผมของรัฐบาลหรือพรรคที่ผมสังกัด ผมขอยืนยันว่าจะไม่มีการแก้กติกาอะไรใด ๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง อันนี้เป็นสิ่งซึ่งผมอยากให้ความมั่นใจนะครับ 5 ข้อนี้ล่ะครับคือองค์ประกอบของแผนของการปรองดอง ซึ่งตรงนี้หลายคนก็เอาไปผูกกับเรื่องยุบสภา ไม่ยุบสภา ผมขอย้ำครับเฉพาะแผนปรองดอง 5 ข้อนี้ครับ ไม่ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันจะคลี่คลายไปในทางใด เป็นงานซึ่งผมยืนยันว่าพวกเราทุกคนควรจะทำ รัฐบาลจะเป็นผู้นำในเรื่องนี้ และได้เริ่มต้นแล้ว และขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มให้เข้ามาร่วมในกระบวนการปรองดองนี้ อันนี้คือสาระสำคัญของ 5 ข้อที่ผมมั่นใจว่าคือคำตอบของประเทศไทยในปัจจุบัน เดี๋ยวเราพักกันสักครู่นะครับ และผมจะมาพูดต่อว่าแผนนี้กับเรื่องของการยุบสภามันเกี่ยวข้องกันอย่างไร และนำไปสู่การตอบคำถามหลายคำถามและข้อสงสัยของอีกหลายกลุ่มบุคคลที่ได้มาพบ กับผมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ

ครับพี่น้องครับ ที่ผมเล่าไปในช่วงต้นรายการนั้นเพื่อที่จะให้เห็นครับว่า แก่นสารของแผนของการปรองดองจริง ๆ นั้นอยู่ที่กระบวนการ 5 ข้อ แต่ว่าตั้งแต่วันที่ผมประกาศแผนนี้ไปนั้นนะครับ และก็พูดถึงเรื่องของการยุบสภาไปด้วยนี้ แน่นอนครับความสนใจของสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะคอการเมือง และก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของพี่น้องประชาชนนั้น ก็อยู่ที่เรื่องของการกำหนดวันเลือกตั้ง ก็ทำให้มีคำถามต่าง ๆ มากมายมากครับว่า กระบวนการปรองดองนี้มันเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วหรือ มันเป็นเรื่องซึ่งไปขัดกับสิ่งที่ผมเคยพูดก่อนหน้านี้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของนิติรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่เราจะต้องดูคำตอบทางการเมืองโดยไม่กระทบกับ เรื่องของการบังคับใช้กฎหมายและความมั่นคง

ผมขอเริ่มต้น อย่างนี้ก่อนนะครับว่า มีหลายคนสอบถามมามากว่า ในเมื่อรัฐบาลบอกว่าในขณะนี้มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายอยู่ เหตุใดจึงจะไปปรองดองกับผู้ก่อการร้าย ขอเรียนให้ชัดนะครับว่า แผนทั้ง 5 ข้อซึ่งผมได้เล่าให้ฟังไปเมื่อสักครู่นี้ ไม่มีตรงไหนเลยครับที่เราจะไปปรองดองกับผู้ก่อการร้ายหรือผู้ที่กระทำการที่ ผิดกฎหมาย เพราะในแผนทั้ง 5 ข้อนั้นไม่มีส่วนใดทั้งสิ้นครับ ที่จะไปเป็นการนิรโทษกรรมในคดีอาญาต่าง ๆ ผู้ที่กระทำความผิดมีความผิดเหมือนเดิม จะต้องถูกดำเนินคดีเหมือนเดิม เป้าหมายของเราก็คือการจับกุมดำเนินคดี ซึ่งในขณะนี้ก็จะเห็นครับว่าหน่วยงานต่าง ๆ ก็ทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอนั้นสามารถที่จะดำเนิน การหรือดำเนินคดีในเรื่องนี้ มีความก้าวหน้าไปมาก เพราะว่าได้มีการจับกุมทั้งคน ทั้งมีการยึดอาวุธ มีการสอบสวนแล้วสามารถที่จะขยายผลมองเห็นภาพของเครือข่ายของการก่อการร้าย ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นตรงนี้ขอย้ำนะครับ ไม่มีตรงไหนเลยในแผนของการปรองดองที่บอกว่า เราไปจับมือไปสมยอมไปปรองดองกับผู้ก่อการร้าย พี่น้องประชาชนจะได้มีความมั่นใจ

ก็มีคำถามต่อไป ครับว่า แล้วมีการพูดถึงเรื่องการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายนนั้น เพราะอะไร ผมก็ได้เรียนกับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอดนะครับว่า การแก้ไขปัญหาความแตกแยกในสังคมนั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาในทางการเมืองด้วย ก่อนหน้านี้ผมใช้คำว่าเราจะต้องมีคำตอบทางการเมือง ซึ่งเดินคู่ขนานและแยกออกจากการทำงานทางด้านกฎหมายและความมั่นคง ตั้งแต่ไหนแต่ไรครับ ตั้งแต่ผมมาเป็นนายกรัฐมนตรี ผมไม่เคยปฏิเสธแนวคิดในเรื่องของการยุบสภา เพราะทราบว่ามันมีความขัดแย้งทางการเมือง มีการวิพากษ์วิจารณ์ที่บอกว่า อยากจะเห็นประชาชนนั้นมีโอกาสที่จะตัดสินใจในการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ปลายปีที่แล้ว ตั้งแต่กลางปีที่แล้วครับ ผมได้พูดว่าการยุบสภาน่าจะเกิดขึ้นได้ถ้าเรามีเงื่อนไข 3 เงื่อนไข 1. เศรษฐกิจฟื้น 2. เราตกลงกันเรื่องกติกาได้ และ 3. บรรยากาศของบ้านเมืองนั้นเอื้ออำนวยให้มีความสงบสุข ทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งที่เสรีเป็นธรรม และไม่มีความรุนแรง หรือปราศจากความรุนแรง ปลายปีประมาณเดือนธันวาคมครับ ผมยังเคยตกลงกับวิปฝ่ายค้าน วิปวุฒิสภาผ่านวิปรัฐบาลว่า ถ้านำเอา 6 ประเด็นซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์พูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาทำประชามติ และรัฐสภาเคารพผลของการทำประชามตินั้น เสร็จสิ้นเรียบร้อยเมื่อไร ก็จะจัดให้มีการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นการที่ผมพูดถึงเรื่องของการที่จะมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายนนั้น ยังอยู่บนพื้นฐานหลักคิดเดิม ไม่ใช่เป็นเรื่องของการจำนนต่อการเรียกร้องโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเขาเรียกร้องหมายถึงว่า ยุบสภากันวันนี้ พรุ่งนี้ 15 วัน 30 วัน ไม่ใช่ครับ แต่สิ่งที่ผมพูดว่าจะมีการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤศจิกายน ผมได้บอกว่าจะมีการเลือกตั้งก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมในการ เข้ามาร่วมในกระบวนการปรองดอง และรูปธรรมที่เราต้องการจะเห็นก็คือ 1. การชุมนุมเคลื่อนไหวในทางการเมืองซึ่งผิดกฎหมายในขณะนี้ต้องยุติลง นอกจากนั้นในระยะเวลาจากวันนี้ไปจนถึงการยุบสภาหรือการเลือกตั้งนั้น จะต้องมีรูปธรรมชัดเจนของการร่วมกันทำงาน ให้รัฐบาล ให้รัฐสภา ให้พรรคการเมือง ให้กลุ่มการเมืองต่าง ๆ นั้นสามารถทำหน้าที่ของตัวเองตามกฎหมายได้โดยไม่มีการขัดขวาง คงไม่ใช่เรื่องที่จะมาพูดกันลอย ๆ ครับ แต่ความหมายก็คือว่าการไปลงพื้นที่ของนักการเมืองต่อจากนี้ไป นักการเมืองทุกฝ่ายต้องมาประสานกัน ว่าไปลงพื้นที่ได้ไม่มีการขัดขวาง ไม่มีความรุนแรง ถ้าทำได้ ผมก็บอกว่ารัฐบาลก็พร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน แต่ว่าถ้าทำไม่ได้ นั่นก็หมายความว่าการเลือกตั้งก็เกิดขึ้นไม่ได้ครับ

เพราะฉะนั้นหลายคน ที่ทักท้วงมา นอกจากจะบอกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจุดยืนหรือไม่ หรือที่บอกว่าเป็นการจำนนต่อกลุ่มที่ทำผิดกฎหมาย ไม่ใช่ และหลายคนที่ห่วงใยบอกว่าจะเลือกตั้งได้หรือ ถ้าบ้านเมืองไม่สงบ แผนที่ผมเสนอก็ชัดเจนครับว่าถ้าไม่สงบก็เลือกตั้งไม่ได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า น่าจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นพูดง่าย ๆ 5 ข้อนี้ครับ ถ้าสมมติว่ามีการยุติการชุมนุม และมาทำกันอย่างจริงจัง และมีความราบรื่น มีความสงบนี้นะครับ ผมอยากจะเรียนว่าจะเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองของเราสงบมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ซึ่งก็น่าจะเป็นบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเลือกตั้งได้ แต่ว่าถ้าหากว่ามันไม่เป็นอย่างนี้ แน่นอนครับ 5 ข้อนั้นผมก็จะร่วมทำกับทุกคน ทุกกลุ่มที่เข้ามาช่วยกันทำงาน แต่ก็จะไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งหรือให้มีการยุบสภาได้ ซึ่งตรงนี้น่าจะทำให้พี่น้องประชาชนชัดเจนมากยิ่งขึ้นนะครับว่า แผนปรองดองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการยุบสภานั้นมันเป็นอย่างไร ซึ่งตรงนี้ครับผมอยากจะถือโอกาสได้ทำความเข้าใจอย่างต่อเนื่องต่อไปว่า นับตั้งแต่มีการประกาศแผนการปรองดองนั้น ปฏิกิริยาจากกลุ่มต่าง ๆ และความพยายามในการทำความเข้าใจกับกลุ่มต่าง ๆ นั้นเป็นอย่างไร

ผมอยากจะเรียน ครับว่าสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นผมเปิดโอกาสให้กลุ่มต่าง ๆ ซึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแผนของการปรองดองหรือการประกาศแผน ปรองดองนั้นได้เข้ามาพบ กลุ่มแรกคือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และก็มีตัวแทน เข้าใจว่าเป็นของพรรคการเมืองใหม่ด้วยครับ กลุ่มนี้เขาบอกว่า 1. ไม่ค่อยแน่ใจว่าที่มาที่ไปของแผนปรองดองเป็นอย่างไร เป็นการสมคบ บางทีก็ใช้คำว่าเป็นการซูเอี๋ยของนักการเมืองหรือไม่ เป็นการทรยศต่อพี่น้องประชาชน ประเทศชาติ หลักการและสถาบันหลักของชาติบ้านเมืองหรือไม่ ตรงนี้ได้คุยกันยาวครับ และผมก็ยืนยันครับว่า แผนทั้งหมดนั้นมาจากหลักคิดอย่างที่ผมได้บอกกับพี่น้องประชาชนไปแล้ว ผมคิดและเขียนด้วยตัวเองครับ ผ่านกระบวนการของการรับฟังทุกฝ่าย ไม่ใช่เรื่องไปเจรจาต่อรอง และแผนนี้ที่ผมวางลงไปนั้นก็ไม่มีการต่อรองแล้วครับ เพราะฉะนั้นจะมามีการตั้งเงื่อนไขอะไรจากกลุ่มใดอีกไม่ได้ แผนนี้เป็นแผนซึ่งประกาศไปแล้ว และถ้าหากว่าใครขานรับก็มาช่วยกันทำงาน ใครไม่ขานรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นกลุ่มคนที่ทำผิดกฎหมายอยู่ เราก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งก็จะต้องพับไป เกิดขึ้นไม่ได้ อันนี้ทำความเข้าใจนะครับ ส่วนกลุ่มพันธมิตรจะเชื่อมากน้อยแค่ไหนนั้นก็สุดแล้วแต่ แต่ผมได้ตอบข้อซักถามที่เป็นความคลางแคลงใจว่า วัตถุประสงค์หรือเจตนาแอบแฝงมีหรือไม่นี้ หมดครับ ได้ชี้แจงพูดคุยกันอย่างละเอียด แต่ความคิดเห็นที่ยังแตกต่างกันอยู่นั้นก็ย่อมมีได้ ในแง่ของจุดยืนของแต่ละกลุ่มนะครับ ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องซึ่งเป็นสิทธิของแต่ละฝ่าย ผมเพียงแต่บอกว่า ไม่ควรจะมีการกล่าวหากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรจะมีการกล่าวหาผมว่าไม่มีความคิดในการที่จะทำเพื่อ ประโยชน์ของส่วนรวม เพราะแผนนี้ครับ ผมโดยส่วนตัวไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ทำงานก็ต้องทำหนักขึ้นครับ และถ้ามีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน นั่นก็หมายความว่าตัดวาระการดำรงตำแหน่งของตัวเองให้สั้นลง ต้องทำงานแข่งขันกับเวลา ต้องเตรียมในการที่จะต่อสู้แข่งขันทางการเมือง ส่วนตัวไม่ได้อะไรเลยครับ แต่เป็นแนวคิดและเป็นแผนที่ผมคิดว่าจะช่วยทำให้บ้านเมืองมีความสงบสุข ซึ่งความสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดทั้งสิ้นนะครับ อันนี้ก็คือสิ่งที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับกลุ่มพันธมิตร

ขณะเดียวกันครับ กลุ่มของคนที่ใช้ชื่อว่าเสื้อหลากสีก็ได้มาพบเช่นเดียวกัน กลุ่มนี้ผมเข้าใจความรู้สึกดีครับ เขาคือกลุ่มซึ่งออกมาแสดงออกในการสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ของทหาร ของเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญก็คือว่าอยากจะเห็นความถูกต้องในบ้านเมือง ต้องการที่จะเห็นบ้านเมืองสงบ มีความรู้สึกว่าแผนนี้เป็นการถอยหรือเป็นการไปจำนน เป็นการไปยอมกับสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ เขาก็รู้สึกผิดหวังถ้าพูดกันแรงหน่อยก็อาจจะบอกว่าเหมือนกับอกหัก ว่าทำไมรัฐบาลไม่ยืนหยัดประกาศให้อยู่ครบวาระนะครับ และเดินหน้าในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว ก็พูดคุยกันครับ ในส่วนของแผนปรองดอง 5 ข้อนั้น กลุ่มนี้ก็เห็นด้วยครับ แต่บอกว่าขอดูการกระทำ ก็คือการทำงานในช่วงเดือนถึงสองเดือนจากนี้ไปว่ามีผลเป็นรูปธรรมมากน้อยแค่ ไหน แล้วนำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริงหรือไม่ ผู้นำกลุ่มนั้นก็บอกว่าความจริงก็บอกว่าแม้แต่เรื่องของการเลือกตั้งนั้นก็ บอกว่าสามารถเลือกตั้งก่อนกำหนดได้ เพียงแต่มองว่าวันที่ 14 พฤศจิกายนนั้นเร็วเกินไป อันนี้ก็เป็นสิ่งซึ่งผมคิดว่าก็เป็นความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย และการแลกเปลี่ยนพูดคุยก็จะต้องมีการดำเนินต่อไป อย่างไรก็ตามครับผมอยากจะเรียนครับว่า จากที่ได้มีการสดับตรับฟังแล้วก็มีการประเมินโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีโพลหรือ สำนักต่าง ๆ ที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ทำให้ผมมั่นใจตามสมควรครับว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นกระบวนการปรองดอง และก็สนับสนุนแผนนี้ มีบางกลุ่มคัดค้าน มีบางกลุ่มยังไม่แน่ใจ แต่ผมเรียนว่าถ้าระดับการสนับสนุนเป็นอย่างที่โพลบ่งบอก ผมคิดว่าเราสามารถที่จะเดินหน้าได้ และก็ตอบคำถามให้กับคนทุกกลุ่มได้

ก็มาถึงประเด็นที่ เกี่ยวข้องกับผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์ และกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 คืนก่อนครับ เอาในส่วนของเหตุการณ์ 2 คืนก่อน ผมอยากจะเรียนว่ามีหลายคนพอเกิดเหตุการณ์ขึ้น ก็มาพูดหรือสื่อสารมาถึงผมว่านี่หละคือความล้มเหลวของแผนปรองดอง นี่หละคือสิ่งที่ทำให้เราต้องยกเลิกแผนของการปรองดอง ผมอยากจะเรียนนะครับว่าผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่ เกิดขึ้น แต่ผมยืนยันได้เลยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นตัวบ่งบอกครับว่า ผู้ที่ไม่สนับสนุนแผนการปรองดองที่ชัดเจนที่สุดกลุ่มหนึ่ง ก็คือกลุ่มผู้ก่อการร้ายครับ เพราะเขารู้ว่าถ้าเมื่อไรก็ตามการชุมนุมยุติลง และแผนปรองดองเดินหน้าได้แบบเต็มที่ กลุ่มเขาจะเป็นกลุ่มคนซึ่งแปลกแยกอยู่ในสังคม ถูกโดดเดี่ยว และจะต้องมีการดำเนินการถูกจับกุมดำเนินคดี เพราะเขาจะไม่สามารถเอามวลชนมาเป็นโล่มนุษย์ มาเป็นกลุ่มที่ล้อมเขาได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นอย่าได้แปลกใจนะครับว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย แล้วก็จะต้องมีความพยายามในการที่จะสร้างความรุนแรง เพื่อที่จะล้มแผนของการปรองดอง

แน่นอนครับขณะ เดียวกันมีคนเขาบอกว่า พอเราทำแผนปรองดอง ก็เลยไม่ดูแลเรื่องความมั่นคงใช่ไหม เหตุการณ์จึงเกิดขึ้น ก็ต้องตอบว่าไม่ใช่ครับ จุดเกิดเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 คืนก่อนนั้นก็คือ ด่านของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกำลังกระชับกำลังเข้าไปเพื่อที่จะทำการในการที่จะปิดล้อมการชุมนุม เพื่อที่จะสามารถที่จะดำเนินการเพื่อดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยได้ ถ้าตำรวจ ทหาร ไม่ทำอะไร คงไม่ไปอยู่ตรงนั้นละครับ และก็ไม่ไปเป็นเป้าไปเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้ที่ใช้ความรุนแรงตรงนั้น เพราะฉะนั้นตรงนี้ครับเป็นสิ่งที่ผมอยากจะเรียนว่า ต้องวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนว่า แผนการปรองดองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 2 คืนก่อนนั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ผมเอ่ยชื่อบุคคลก็ได้ครับ คนที่แสดงตัวชัดเจนไม่เอาแผนปรองดองก็คือเสธ.แดงครับ แล้วก็มีความพยายามอย่างยิ่งยวดในขณะนี้ที่จะไม่ให้การชุมนุมยุติลง และที่สำคัญก็คือว่า เสธ.แดง ก็พูดอย่างชัดเจนด้วยว่าขณะนี้ ก็พยายามที่จะไปติดต่อประสานงานกับแกนนำในภูมิภาค เพื่อมาคัดค้านแกนนำในส่วนกลาง ซึ่งในเบื้องต้นบอกว่าตอบรับกระบวนการของการปรองดอง และที่สำคัญก็คือเสธ.แดงบอกด้วยครับว่า เขาก็จะฟังจากคุณทักษิณ ซึ่งผมก็กล้าพูดได้เช่นเดียวกันครับว่า คุณทักษิณนั้นไม่พอใจแผนปรองดองครับ เพราะในแผนปรองดองนั้นไม่มีอะไรที่เป็นคำตอบในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ส่วน ตัวของคุณทักษิณเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคดีความและเรื่องอื่น ๆ

เพราะฉะนั้นตรง นี้ครับคือจุดที่ผมอยากจะเรียนยืนยันนะครับว่า แผนปรองดองต้องเดินหน้าครับ แต่เมื่อต้องเดินหน้า วันนี้ผมก็ต้องพูดกับกลุ่มที่ยังชุมนุมอยู่อย่างชัดเจน ทุกวันเวลาที่ผ่านไปในขณะนี้ เมื่อตอบรับกระบวนการปรองดองแล้ว แต่กลับยังไม่ยุติการชุมนุมนี้ครับ ความเสี่ยงจะมีสูงมาก กลุ่มผู้ก่อการร้ายนั่นแหละครับ เขาอาจจะใช้ความรุนแรงอีก และที่สำคัญก็คืออาจจะใช้ความรุนแรงกับตัวผู้ชุมนุมหรือแกนนำผู้ชุมนุม อย่าลังเลเลยครับ ถ้ายืนยันว่าจะเข้าร่วมกระบวนการปรองดอง รีบยุติการชุมนุมเสีย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องจะต้องเอาชนะ อย่าไปคิดเป็นเรื่องว่าจะเสียหน้า อย่าไปคิดถึงประโยชน์ของส่วนตัวเลยครับ ถ้าเป็นผู้ที่จะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในครั้งนี้ บ้านเมืองเสียหายมามากแล้ว รัฐบาลเองเสนอแผนนี้ก็ถูกต่อว่าต่อขานจากผู้สนับสนุนเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นผมคิดว่าถ้ามีความจริงใจ ต้องสามารถที่จะประกาศยกเลิกการชุมนุมได้โดยเร็ว ที่พูดมาวันที่ 15 พฤษภาคม ช้าไปครับ เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงในเรื่องของความปลอดภัยของชีวิตของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นของผู้ชุมนุมเอง ของเจ้าหน้าที่หรือประชาชนบริสุทธิ์ทั่วไป อย่าลืมว่าการชุมนุมในปัจจุบันทำให้เกิดความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางเศรษฐกิจ และยิ่งไปกว่านั้นครับ โรงเรียนก็กำลังจะเปิดเทอมครับ พ่อแม่ผู้ปกครองนั้นไม่มีใครหรอกครับที่จะไม่รักลูก ห่วงลูก ถ้าบรรยากาศการชุมนุมยังอยู่ ความเสี่ยงต่อความรุนแรงยังอยู่ พ่อแม่จำนวนมากเขาจะทุกข์มากครับ กับการที่จะให้ลูกต้องไปโรงเรียนในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความจริงใจ และอยากจะมาร่วมในกระบวนการปรองดอง อย่ารอช้าครับ อย่ารอช้า ถ้าช้าไปมีแต่ความเสียหาย และมีแต่ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และแน่นอนครับถ้ายิ่งช้าไปครับ รัฐบาลเองก็ไม่สามารถที่จะตอบคำถามกับสังคมได้ว่า จะสามารถจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายนได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ พรุ่งนี้ครับ ควรจะมีคำตอบที่ชัดเจน เพื่อที่เราจะได้ทำงานร่วมกันต่อไป เดินหน้าในการบังคับใช้กฎหมาย แยกผู้ก่อการร้ายดำเนินดคี แล้วก็ร่วมกันสร้างคำคอบทางการเมืองและบรรยากาศของบ้านเมืองที่นำไปสู่การ ปรองดองอย่างแท้จริง

พี่น้องที่เคารพ ครับ ผมคิดว่าผมได้พยายามที่จะอธิบาย เรื่องของแผนปรองดองอย่างครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ช่วงสุดท้ายนี้ครับที่ขอถือโอกาสนี้ได้ตอบหรือได้สะท้อนกลับไปยังพี่น้อง ประชาชนที่สะท้อนความคิดเห็นความรู้สึก อารมณ์ต่าง ๆ มาที่ผม ส่วนใหญ่ก็จะผ่านทางโทรศัพท์บ้าง SMS บ้าง ความจริงต้องบอกนะครับว่าบรรดารายการวิทยุโทรทัศน์ที่เอาเบอร์โทรศัพท์ผมไป ประกาศนั้น ไม่ค่อยจะถูกต้องหรอกครับ เป็นการละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล แต่ว่ามีพี่น้องประชาชนทั้งที่โทรศัพท์ ทั้ง SMS เข้ามามาก ก่อนอื่นก็ต้องขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่งสำหรับทุก ๆ คน ซึ่งเป็นส่วนใหญ่นะครับที่ให้กำลังใจสนับสนุนผม ทั้งที่เข้าใจแผนปรองดอง สนับสนุนให้กำลังใจอย่างเต็มที่ ทั้งที่ไม่เคยเป็นผู้สนับสนุนผม เห็นแผนปรองดองแล้วให้กำลังใจในการที่จะทำแผนนี้ให้สำเร็จ ไปจนถึงคนที่ให้กำลังใจแม้ไม่เห็นด้วยกับแผนปรองดอง แต่ยังมีความเชื่อว่าผมนั้นทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ผมกราบขอบพระคุณทุกคนด้วยความจริงใจ และทุกกำลังใจนั้นก็มีความหมายมากสำหรับผมและเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติ งานอยู่ในขณะนี้

สำหรับที่ต่อว่า ต่อขานมานี้ครับ ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ครับ หลายคนเข้าใจผิด ไปเชื่อข้อมูลข่าวสารที่บอกว่า มีการไปแอบทำข้อตกลง มีการไปฮั้ว มีการไปซูเอี๋ย ไม่มีหรอกครับ ไม่มีเลยครับ และที่แปลกประหลาดที่สุดก็คือว่า พอรู้อย่างนี้ก็บอกว่าให้ผมลาออกไปเสีย รวมไปถึงบอกว่าที่สะท้อนเข้ามาบอกว่า ผมเป็นคนขี้ขลาดอ่อนแอ ไม่กล้าจัดการอะไร ลาออกไปเสีย ผมบอกเลยครับ คนที่ไม่ปรารถนาดีต่อบ้านเมืองในขณะนี้ต้องการเห็นมากที่สุดคือการเปลี่ยน แปลงรัฐบาลทันที คือการให้ผมลาออก คือการเอาคนอื่นเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นคนซึ่งอาจจะตัดสินใจแล้วทำให้เกิดความรุนแรงบานปลายไปสู่การ เป็นสงครามประชาชน หรือคนที่เข้ามาแล้วมีการพลิกขั้วทางการเมืองแล้วไปเอื้ออำนวยต่อกลุ่มที่ กระทำการผิดกฎหมาย ผมยืนยันครับ ผมไม่ตกลงอะไรกับใครในเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวแน่นอน ผมได้ย้ำไปแล้วว่าไม่มีประโยชน์ส่วนตัวอะไรเลยที่ผมได้รับจากการปรองดองใน ครั้งนี้ หลายคนบอกว่าผมเอาตัวรอด ผมคงอยู่สบาย แต่ประชาชนเดือดร้อน ผมเรียนด้วยความสัตย์จริงครับ ไม่จริงหรอกครับ ชีวิตผมก็ถูกคุกคามอยู่ตลอดจนถึงทุกวันนี้ และก็รู้ว่าจะต้องถูกคุกคามต่อไปในระยะเวลาที่เหลืออยู่ในการทำงานทางการ เมือง หรือแม้กระทั่งเกินเลยไปกว่านั้น แต่ผมยืนยันครับว่าเมื่อผมอาสามาแล้ว ผมทำหน้าที่เต็มที่ ถ้าผมกลัว ผมลาออกไปแล้วครับ ถ้าผมอยากอยู่สบายผมลาออกไปแล้วครับ แต่ผมอยู่แล้วก็ต้องตัดสินใจแม้จะขัดใจ บางครั้งอย่างที่ผมบอก ขัดใจคนทุกกลุ่มในบางเรื่อง เพื่อประโยชน์ส่วนรวมผมถือว่านั่นไม่ใช่ความอ่อนแอ ผมถือว่านั่นไม่ใช่การขี้ขลาด ไม่ใช่การหนีปัญหา แต่เป็นการเผชิญปัญหา โดยพยายามเอาผลประโยชน์ของตัวเอง ของพรรค ของกลุ่ม เอาไปวางไว้ข้างนอก และยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ข้อกล่าวหาบางครั้งก็ไปพูดถึงสิ่งที่ไม่เป็นความจริงนะครับว่า มีการให้คนนั้นคนนี้ไปพบกันเพื่อตกลง ไม่มีครับ อย่างที่ผมย้ำแล้วครับ ขณะนี้แผนปรองดองนั้น คนที่ต้องการที่จะล้มล้างมากที่สุดก็คือผู้ที่ก่อการร้าย และคนที่อยู่ในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมอยากจะทำความเข้าใจนะครับ กับเสียงสะท้อนที่ผ่านมา ผมตอบ SMS ผมตอบโทรศัพท์ได้ไม่หมดทุกสายหรอกครับ แต่ผมยืนยันข้อเท็จจริงและความรู้สึกอย่างนี้

พี่น้องที่เคารพ ครับ การทำงานในเรื่องนี้เป็นการทำงานซึ่งผมอยากจะขอยืนยันว่า ผมและบรรดาผู้นำเหล่าทัพ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้นยังทำงานอย่างต่อเนื่อง ต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ จะยุติหรือไม่ยุติการชุมนุม เราก็มีแผนรองรับที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของสังคม เราจะพยายามทำอย่างดีที่สุดครับ และผมทราบคำว่าท่านผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพ ของตำรวจ และหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และทุกหน่วยงานทางด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกคนทำงานเต็มที่ครับ ไม่หนีปัญหาครับ สนับสนุนแผนปรองดองเป็นทางออกทางการเมือง แต่จะทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็งต่อไปครับ เพราะว่าเรานั่งทำงาน เรานั่งประชุมกันอยู่ทุกวัน เฉพาะผู้นำเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หลายคนนั้นเรียกว่านั่งทำงานด้วยกันอยู่ วันหนึ่งอยู่ด้วยกันไม่ต่ำกว่าเป็น 10 ชั่วโมงละครับ ความเป็นเอกภาพมี ไม่มีใครอยากเห็นความสูญเสียกับพี่น้องประชาชน ผู้บังคับบัญชาทุกคนเจ็บปวดกับการสูญเสียของผู้ใต้บังคับบัญชา เราไม่เคยเพิกเฉยต่อความรู้สึกต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชนตรงนี้ ผมขอยืนยันครับ พวกเราทุกคนจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดต่อไป วิกฤตครั้งนี้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ แม้กระทั่งชาวโลกเห็นแล้วว่าหนักหน่วงมาก แต่ผมตั้งใจที่จะฝ่าวงล้อมของวิกฤตตรงนี้ออกไปให้ได้ และพร้อมที่จะรับผิดชอบกับทุกการตัดสินใจที่เกิดขึ้นครับ ขอขอบคุณและสวัสดีครับ

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สื่อต่างชาติบัญญัติศัพท์ใหม่ เรียกภาวะการเมืองไทยปัจจุบันว่า "ประชาธิปไตยแบบพอเพียง"

Posted: 08 May 2010 08:45 PM PDT

<!--break-->

ในนิตยสาร "ดิ อีโคโนมิสต์" ฉบับล่าสุด ได้วิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย รวมทั้งมีการเชื่อมโยงคำและความหมายของแนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง" เข้ากับแนวคิด "ประชาธิปไตยพอเพียง" โดยระบุว่าทั้งสองแนวคิดดังกล่าวพยายามทำให้ชาวบ้านผู้ยากจนต้องยอมรับกับความสัมพันธ์ตามลำดับชั้นที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย

หลังจากนั้นไม่นาน เว็บล็อก "ช็อตต์′ส โวแค็บ" ซึ่งเป็นบล็อกในเว็บไซต์ของ "นิวยอร์ค ไทม์ส" ก็ได้นำประเด็นดังกล่าวไปขยายความต่อ โดยบล็อกดังกล่าวได้นิยามความหมายของคำว่า "ประชาธิปไตยพอเพียง" เอาไว้ว่า

"นี่คือชื่อเล่นของระบบการเมืองปัจจุบันในประเทศไทย ซึ่งบางคนระบุว่าเป็นระบบการเมืองที่สนับสนุนการมีลำดับชั้นภายในสังคม"

นอกจากนี้ ช็อตต์′ส โวแค็บ ยังได้อ้างอิงถึงบทความของ "แอนดรูว์ วอล์คเกอร์" ที่เผยแพร่ในเว็บล็อก "นิว แมนดาลา" (นวมณฑล) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

"ไม่ใช่แค่ผู้คนในชนบทจะถูกป้องกัน (หรือกีดกั้น) ออกจากการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นและเต็มที่ในเศรษฐกิจระดับชาติเท่านั้น แต่การมีส่วนร่วมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและแข็งขันในการปกครองระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งของพวกเขาก็ยังถูกผลักไสออกไปโดยผู้นำของชาติซึ่งรู้แจ้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประชาธิปไตยแบบพอเพียงจึงไม่ต่างอะไรกันกับเศรษฐกิจพอเพียง ที่พยายามจะควบคุมความทะเยอทะยานของชาวชนบทให้ยึดแน่นอยู่ตรงตำแหน่งแห่งที่ดั้งเดิมของพวกเขาต่อไป"

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น