โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai.info

ประชาไท | Prachatai.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

รวมเรื่องเล่าจาก ‘แนวปะทะ’ (?)

Posted: 17 May 2010 02:23 PM PDT

<!--break-->

 
บางคนเรียกปะทะ บางคนเรียกล้อมปราบ บางคนสูญเสียญาติมิตรเพื่อนฝูง บางคนได้รับดวงตาคู่ใหม่ บางคนสู้ขอสุดใจ บางคนแค่ต้องการป้องกันตัว มีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากมายปรากฏในเครือข่ายทางสังคม facebook  ประชาไทขออนุญาตคัดลอกเรื่องราวและมุมมองอันน่าสนใจนำมาเผยแพร่ในที่นี้
 
0000000000000000
 
แด่สุรเฌอ
Panithita Kiatsupimon
16 พฤษภาคม 2553
 
หลายครั้งที่ฉันคิดว่า เขาเป็นเด็กที่ 'พ่อไม่สั่งสอน' ทำตัวน่ารำคาญ ไม่รู้จักกาละเทศะ กวนตีน และชอบเพ้อเจ้อ

ฉันเคยคิดว่าถ้าเขายังทำตัวแบบนี้ เขาคงได้ 'ตายก่อนโต'

นั่นเป็นเพราะ 'อคติ' และความ 'สองมาตรฐาน' ของตัวเองโดยแท้ (เพราะว่าเขาไม่ใช่เด็กผู้ชายที่หน้าตาดี เขาดำ เขาอ้วน เขาพูดจาตรงไปตรงมา เขาไม่ใช่เด็กเรียบร้อย มีสัมมาคาราวะ: น่าเศร้า ที่ฉันก็ติดอยู่ในมายาคติงี่เง่านั้น)
............................................................................................................................

เท่าที่จำได้ ฉันไม่เคยได้ทำอะไรดีๆ ให้น้องเลย เวลาเจอกันก็พูดจาประชดประชัน แทบจะไม่ชอบหน้าเด็กคนนี้เลยด้วยซ้ำ แต่เฌอก็ยังวนเวียนช่วยงานพี่ๆ อยู่เสมอ แม้จะไม่ชอบใจในความกวนตีนไม่รู้กาละเทศะของเขา แต่ฉันก็ได้รับความช่วยเหลือ ทำโน่นทำนี่จากน้องชายคนนี้เสมอ

ถึงวันนี้ฉันรู้แล้วว่าที่เขาเป็นแบบนั้น เพราะเขาโตเกินอายุ เพราะเขาถูกสอนให้มีความคิดเป็นของตัวเอง เพราะเขาเป็นเด็กชายคนหนึ่งที่ต้องการ 'พื้นที่' ของตัวเอง เขามีแบบอย่างคือพี่ๆ ตะกูล 'สุระ' ทั้งหลาย (พวกเรามีชื่อนำหน้าว่า สุร ตัวพ่อคือ สุรพงษ์แมนโคตร โคตร ตามด้วย สุรเดี่ยว สุรป่าน สุรวิทย์ สุรมั้ง สุรบอย สุรแจ๊ค สุรกิ๊ สุรจุ๋ม สุรตั๊ก สุรเอกฯลฯ)
'สุรเฌอ' เป็นน้องคนสุดท้อง เขาจึงเป็นที่รักและที่ชังของพี่ๆ สุระตะกูล

เขาไม่ใช่เด็กเกเร ไม่เคยคิดร้ายกับใคร เขาเป็นเด็กผู้ชายที่กำลังเรียนรู้ 'ชีวิต' และที่เขาเป็นแบบนั้น เพราะเขาอยู่ในบรรดาคนที่เชื่อใน ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เขาเชื่อว่าเขามีสิทธิเท่าพี่ๆ คนอื่นในการที่จะคิด จะพูด และนั่นเองที่เรามองว่าเขาไม่รู้กาลเทศะ

ฉันเจอหน้าเขาครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2553 เขามาร่วมงานรำลึกผู้เสียชีวิตในการ 'ขอพื้นที่คืน' ของรัฐบาล
เขาเป็นคนปืนเอา ถุงมือยางสีขาว สัญลักษณ์ของการหยุดฆ่าประชาชนไปแขวนตรงอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ก็ยังคงเป็นเขาที่ช่วยงานทุกอย่างโดยไม่เกี่ยง นั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของเขา
.............................................................................................................................

วันนี้เขาไม่รู้กาละเทศะจริงๆ เขาเข้าไปในพื้นที่อันตรายนั้น และเขาถูก ใครบางคนที่โหดเหี้ยมมาก ยิงจนล้มลง
รอยเลือดจากหัวของเขาเป็นทางยาว ซึ่งสันนิฐานได้ว่าเขาไม่ได้สิ้นใจในทันที เขาคงทรมานมาก ฉันไม่รู้ว่ามันจะรู้สึกอย่างไร หากเรายังหายใจและชีพจรยังเต้นอยู่ แต่หัวเราเละเหมือนแตงโมที่ตกพื้น

เขานอนอยู่ตรงนั้นเกือบ 1 ชั่วโมง กว่าหน่วยกู้ภัยจะไปช่วยเอาร่างที่มีลมหายใจรวยรินออกมา เพราะทหารไม่ยอมให้ใครเข้าไปช่วย ยิงใส่ทุกคนที่จะเข้าไปช่วย หน่วยกู้ภัยที่ช่วยเขาออกมาก็เกือบถูกยิงที่แขน

หมอบอกว่าเขามาสิ้นใจที่โรงพยาบาล นั่นทำให้ฉันตกใจมากและต้องร้องไห้ออกมา เพราะเป็นเวลานานมากทีเดียวที่เฌอต้องนอนรับรู้ว่าหัวของตัวเองเละเป็นแตงโมตกพื้น

ฉันเข้าไปหาเขาที่ห้องดับจิต เห็นเขานอนนิ่ง เปลือกตาหลับไม่สนิท เขาตัวใหญ่ขึ้นเล็กน้อย ลำตัวเริ่มมีสีคล้ำ ที่เท้าของเขามีรอยเลือด มือของเขาเกร็งมาก เหมือนกำลังกำอยู่ด้วยความเครียดแค้นเจ็บปวด ที่สำคัญหัวของเขามีสำลีอุดซับเลือดอยู่

ใช่เขาแน่แล้ว... ฉันบอกตัวเอง ก่อนหน้านี้ฉันเห็นภาพคนตายใส่เสื้อสีฟ้าที่ถูกถ่ายโดยคนที่อยู่บริเวณซอยรางน้ำ รอยเลือดเป็นทางยาว มีหมวกกันน็อกข้างๆ ตอนนั้นฉันยังไม่ยากจะเชื่อว่าเป็นเขา

ฉันเคยออกปากชมเขาอย่างลับๆ กับเพื่อนสุระคนหนึ่งตอนที่เขาไปเป็นการ์ดอาสาของพันธมิตร ว่า เขาเป็นเด็กที่น่านับถือคนหนึ่ง ใจเขาทำด้วยอะไรว่ะ ทำไมเด็กอายุ 16 ถึงออกจากบ้านไปนอนกลางถนน ออกไปเป็นการ์ดปกป้องคนอื่นๆ ในที่สุดเขาถูกทำร้ายจนฟันบิ่น และเกือบจะเรียนไม่จบ ม.3

เมื่อวานเขาออกจากบ้านไป ‘ดู’ ประชาธิปไตยบนท้องถนน ไปดูสงความกลางเมือง น่าเศร้าที่กระสุนปืนไม่ดูตาม้าตาเรือ น่าเศร้าที่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่เปิดโอกาสให้เขามีลมหายใจอีกแล้ว

ระหว่างรอรับศพ ฉันออกไปหาซื้อเสื้อผ้าให้เขา คิดว่านั่นอาจเป็นสิ่งเดียวและสิ่งสุดท้ายที่ฉันจะทำให้เขาได้ ฉันเลือกซื้อกางเกงยีนส์ เพราะพ่อเขาบอกว่า เฌอชอบใส่กางเกงยืน เลือกเสื้อตัวที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะหาได้เพราะตอนนั้นร้านที่อนุเสาวรีย์เปิดขายอยู่ไม่กี่ร้าน ตรงสามเหลี่ยมดินแดงยังยิงกันไม่หยุด

เขาได้ ‘เปลี่ยน’ เสื้อผ้าแล้ว แต่เหตุการณ์ยังคงเหมือนเดิม ฉันรออยู่จนเขาพร้อมกลับบ้าน เข้าไปจุดธูปบอกเขา ฉันจับตัวเขาด้วย เขาใส่กางเกงยีนส์ได้พอดีเลย ตอนนี้เขายิ้มมุมปากเล็กน้อย ฉันขออโหสิกรรมและบอกเขาว่า เขาคือ สรุเฌอ เขาเป็น สุระ ที่น่าภูมิใจที่สุด พวกเราภูมิใจในตัวเขา และให้เขาหลับให้สบาย

เขา คือ ‘สุรเฌอ’ หรือ น้องเฌอของพ่อเหน่ง ไอ้เหี้ยเฌอของพวกพี่ เขาคือ นายสมาพันธ์ ศรีเทพ อายุ 17 ปี ที่ได้ตายก่อนโต อย่างที่ฉันคิดไว้จริงๆ เพียงเพราะว่าเขาไม่รู้กาละเทศะ เพียงเพราะว่าเขาอยากรู้จักประชาธิปไตย
--------อยากรู้จักประชาธิปไตย ก็ออกไปทำความรู้จัก
--------อยากได้ประชาธิปไตย ก็ออกไปเรียกร้อง ออกไปเอามา

 
 
0000000000000
 
จดหมายถึงน้องเฌอ
Rood Thanarak
17 พฤษภาคม 2553
 
สวัสดีครับน้องเฌอ

แม้เราจะไม่เคยพบหน้าพูดคุยกันสักครั้ง แต่จากจุดเชื่อมโยงที่ร้านอาหารเล็กๆแห่งนั้น พี่เชื่อว่าเราน่าจะเคยเดินสวนกันบ้าง

พี่เพิ่งอ่านข้อเขียน

“แด่สุรเฌอ” จบลง อ่านแล้วอดไม่ได้ที่จะเขียนจดหมายฉบับนี้ถึงน้องบ้าง เพราะอยากบอกอะไรบางอย่างให้น้องได้รู้ไว้

ก่อนอื่น พี่ขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของน้องด้วยใจจริงนะครับ

พี่ทราบข่าวเรื่องนี้เมื่อเที่ยงวันที่ 15 พ.ค. - เพื่อนของพี่คนหนึ่งถ่ายภาพอันลือลั่นภาพนั้นในตอนเช้า เขาส่งให้พี่และสังคมได้เห็น

“ความจริง” ที่เกิดขึ้น ซึ่งหลังจากภาพนั้นแพร่ออกไป เพื่อนคนนั้นจึงได้รู้ว่าชายในภาพคือน้องเฌอ ซึ่งก็เป็นคนกันเองกับผู้ถ่ายภาพ

เหตุการณ์นี้ทำเอาใครที่รู้ข่าวอดช็อกและเศร้าไม่ได้

แต่ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น พี่เองก็พึ่งจะมารู้จากข้อเขียนข้างบนนี้ว่า ณ วินาทีนั้น น้องยังไม่ได้จากพวกเราไป แต่ต้องนอนอยู่เช่นนั้นกว่าชั่วโมง

พี่เสียใจด้วยจริงๆ

………………

สิ่งที่พี่อยากเล่าให้น้องฟัง มันเกี่ยวพันกับครอบครัวของพี่เล็กน้อย

เราเป็นครอบครัวเล็กๆ อยู่กันสี่คนพ่อ แม่ ลูกชาย และลูกสาว – โดยส่วนตัวพี่จัดว่าเราเป็น “ครอบครัวการเมือง” เพราะตั้งแต่พี่จำความได้ พ่อกับแม่ก็นั่งหน้าทีวีดู “เตมีย์ใบ้” ให้สัมภาษณ์สื่อแล้ว

บ้านเราจัดเป็นพวก “เหลืองบ้าง-แดง บ้าง” ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์แต่ละครั้ง แต่ละประเด็น ว่ากันไปตามหลักการและเหตุผล แต่ที่แน่ๆ บ้านเราทุกคนมองการเมืองไทยอย่าง “ตาสว่าง” และ “มุมกว้าง” กว่าที่เห็นในทีวี

กับเรื่องราวครั้งนี้ พ่อและแม่ของพี่ค่อนข้างอคติกับคนเสื้อแดง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจในเมื่อท่านทั้งสองไม่รู้จักสื่อทางเลือก ไม่รู้จักเฟซบุ๊ก ไม่รู้จักทวิตเตอร์ ไม่รู้จักยูทูป – สื่อเดียวที่ท่านมีโอกาสเสพคือโทรทัศน์ฟรีทีวีทั้งหลาย

พ่อมองว่าเหตุการณ์ปะทะรอบนี้มีความเกี่ยวโยงกับคราว 10 เม.ย. ค่อนข้างมาก พ่อมองว่าเหตุการณ์คราวก่อนที่มีทหารระดับสูงเสียชีวิตไปทำให้ค่อนข้าง แน่ชัดว่าฝ่ายเสื้อแดงไม่ได้มามือเปล่า และทำให้พ่อมองการปะทะรอบนี้เหมือนเป็นการ “ต่อสู้กันสองฝ่าย” ระหว่างกองกำลังติดอาวุธ

สารภาพตามตรง แรกเริ่มพี่ก็มีความเห็นไม่ต่างกับพ่อเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม แต่ตั้งแต่กลางวันของวันที่ 14 พ.ค.ล่วงเลยไปจนถึงกลางคืน พี่เฝ้านั่งติดตามข่าวสารจาก “สื่อทางเลือก” ทั้งหลายจึงได้พบว่านี่มันไม่ใช่การ “ต่อสู้” ของคนถือปืนสองฝ่ายเสียแล้ว แต่มันได้กลายเป็นสภาวะ “ล้อมปราบ” ของทหารรัฐบาลไทย กับผู้ชุมนุมมือเปล่า

สิ่งที่ยืนยันความคิดพี่คือ ในเวลานั้น ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 16 คน แทบทุกคนถูกยิงศีรษะ ไม่มีใครติดอาวุธ และไม่มีความสูญเสียกับฝ่ายทหารเลยสักนิด

คืนนั้น พี่เข้านอนโดยมีน้ำซึมอยู่รอบดวงตา

…………………………

หลังจากนอนน้ำตาซึมให้กับการ “ล้อมปราบ เรียงแถวฆ่า” ที่เกิดขึ้นทั้งคืน

เช้าวันที่ 15 พ.ค. พี่ตื่นขึ้นมาพบหน้าครอบครัว พวกเรายังคงดูข่าวอย่างปกติหน้าทีวี และมีมุมมองเหมือนเคยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการ “ปะทะกันสองฝ่าย”

ไม่กี่นาทีหลังจากนั้น พี่จึงได้พบภาพของเฌอในอินเตอร์เนตที่ส่งมาจากตัวผู้ถ่ายภาพโดยตรง

สิ่งแรกที่พี่ทำคือยกโน้ตบุ๊กทั้งเครื่องเดินลงมาชั้นล่างขณะที่ครอบครัวกำลังนั่งกินข้าวดูข่าวกันอยู่

พี่เรียกพ่อ แม่ น้องสาว มานั่งรวมกัน พร้อมกับเปิดภาพอันน่าเศร้าของน้องให้ทุกคนดูกันจากจอของโน้ตบุ๊ก

พี่พูดว่า

“พ่อดูสิ !! โลกมันไปไหนกันแล้ว แต่รัฐบาลแม่งก็ยังปิดสื่อเหมือนเมื่อสามสิบปีก่อน สื่อที่พึ่งพาได้วันนี้คือสื่อทางเลือก ไม่ใช่ไอ้ทีวีช่อง 11 หรือ TPBS เนี่ย

พ่อดูรูปนี้แล้วเห็นมั๊ย เห็นชัดๆว่านี่มันไม่ใช่การสู้กันระหว่างปืนกับปืน เห็นมั๊ย ไหนวะผู้ก่อการร้าย ไหนอ่ะกองกำลังติดอาวุธ

คนตายนี่มันคนธรรมดากันทั้งนั้นนะ นี่เพื่อนถ่ายส่งมาให้เองเลย มันคือของจริง เรื่องจริง มันคือการ “ล้อมปราบ เรียงแถวฆ่า” โดยทหาร สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคืน จนถึงตอนนี้ มันไม่ต่างอะไรกับ 14 ตุลา ที่พ่อก็เคยผ่านมา เห็นมั๊ย?”

พ่อเหลือบดูภาพของเฌอแล้วเงียบไปเกือบครึ่งนาที - สีหน้าพ่อเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด

“อือ ...”

พ่อพูดเพียงแค่นี้ ทำสีหน้าเหมือนได้เจอสิ่งคุ้นเคย

พ่อไม่พูดอะไรอีก

แม่ไม่พูดอะไรอีก

น้องสาวไม่พูดอะไรอีก

พี่เอง ก็ไม่ต้องพูดอะไรเพิ่มอีก

จากวินาทีนั้นที่ทุกคนได้เห็นภาพของเฌอ ครอบครัวเราก็เข้าใจแล้วว่าจริงๆมันเกิดอะไรขึ้นบนถนนข้างนอกนั่น

จนถึงวันนี้ พ่อดูทีวีด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไปมาก จากที่เคยฟังก็เลิกฟัง จากที่เคยด่าก็ไม่ด่า จากที่เคยเห็นด้วย หลายครั้งกลับด่า

เราเลิกด่าแล้วว่าเสื้อแดงมีปืนหรือไม่ หรือทำไมต้องเผายาง เพราะเมื่อเราเปลี่ยนมุมมองต่อเหตุการณ์ เราก็เข้าใจมันมากขึ้นทันที เป็นพี่ อย่าว่าแต่ปืนเลย โดนทหารล้อมปราบมีอะไรในมือพี่ก็ใช้ทั้งนั้นแหละ

ใช่ครับ

– ภาพอันน่าสลดของเฌอ ทำให้ครอบครัวเรา “ตื่น” ขึ้นมาโดยไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ

……………………

เพราะเราไม่รู้จักกัน พี่เลยไม่รู้ว่าโตขึ้นเฌอตั้งใจจะเป็นอะไร

เป็นนักข่าวเป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นตากล้อง เป็นฝ่ายศิลป์ หรือเป็นนักเขียน

น่าเสียดายที่เฌอไม่มีโอกาสจะเติบโตไปมากกว่านี้ ไปตามฝันของตนเองได้ไกลกว่านี้ แต่บอกตามตรง ในฐานะคนที่อยู่บนโลกนี้มานานกว่าเฌอ พี่อยากบอกว่าเฌอจงดีใจเถิดที่ได้จากโลกนี้ไปก่อนพวกเรา จากโลกอันโหดร้าย จากโลกอันป่าเถื่อน จากโลกอันไร้แก่นสารใบนี้ไปเสียได้

พูดตามตรง ยิ่งอยู่ไปนานๆ พี่กลับอยากอยูในโลกห่วยๆใบนี้น้อยลงเรื่อยๆ

พี่อยากบอกเฌอว่า - แม้เฌอจะจากไปแล้ว แต่การจากไปของเฌอได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอันสำคัญในครอบครัวเล็กๆของพี่ และพี่ก็เชื่อด้วยว่ามันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนอีกมาก ไม่เฉพาะแต่ครอบครัวพี่เท่านั้น

แม้ช่วงเวลา 17 ปีที่เฌออยู่บนโลกนี้ จะดูสั้นมากเมื่อเทียบกับใครหลายคน แต่โลกห่วยๆใบนี้ก็ยังมีอีกหลายคนที่ใช้ชีวิตนานกว่าเฌอหลายเท่า อยู่ไปเนิ่นนาน โดยไม่อาจสร้างสิ่งดีๆให้เกิดต่อมนุษย์ด้วยกันได้ ดังเช่นการจากไปของเฌอ

เฌอได้ทำให้พี่เห็นว่า การจากไปของหนุ่มอายุ 17 ปีนั้นสามารถสร้างสิ่งดีๆให้เกิดขึ้นได้ มากกว่าชีวิตของชายแก่หลายคน

เฌอได้จากไปอย่างยิ่งใหญ่แล้วครับ จากไปอย่างดีพร้อม เหมาะสมกับการที่ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งพึงทำได้

หลับให้สบายนะครับ
แล้วเจอกันใหม่ที่ฝั่งโน้น

ปล. พี่ชั่งใจอยู่นาน ว่าจะนำรูปอันน่าหดหู่ของเฌอมาแปะไว้อีกครั้งดีหรือไม่ ท้ายสุดแล้วพี่ตัดสินใจเอามาแปะไว้อีกครั้งนะครับ เผื่อใครผ่านมาเห็นจดหมายฉบับนี้ จะได้เห็นสิ่งสุดท้ายที่เฌอได้ทิ้งไว้เตือนสติกับพวกเราถึงสิ่งที่เกิดขึ้น พี่ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

 
000000000000000
 
เรื่องเล่าของลุงน้อย ดินแดง
สมบัติ บุญงามอนงค์
17 พฤษภาคม 2553
 
 
ลุงน้อยเป็นเจ้าของรถขายผลไม้ที่ถูกดัดแปลงมาเป็นเวทีชั่วคราว เพราะบนหลังคารถแกมีลำโพงขนาดเล็ก ถ้าเราเห็นรถผลไม้หรือรถกับข้าวที่วิ่งเข้าไปในซอยแล้วหมาชอบหอน นั้นแหละรถกระบะของลุงน้อย

วันนี้กระบะหลังรถของลุงน้อยไม่มีผลไม้หรือสินค้าอะไร ลุงมาที่ดินแดนเพราะลุงดูทีวีแล้วสื่อบอกว่า ประชาชนทำร้ายทหาร แต่ลุงได้ยินว่าประชาชนถูกฆ่าตาย ลุงน้อยมาที่ดินแดนได้สองวันแล้ว หน้าตาแกอ่อนเพลียรจนเห็นได้ชัด เสียงก็แหบแห้งจนแทบฟังไม่รุ้เรื่อง

ก่อนที่รถเครื่องหกล้อซึ่งเป็นรถเครื่องเสียงใหญ่จะมา รถของลุงเปรียบเสมือนเวทีปราศรัยทางการเมืองที่ตรึงคนที่กระจัดกระจายมารวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อมิให้ประชาชนวิ่งเข้าไปในแนวปะทะแล้วทำให้เกิดการล้มตายเหมือนสองสามวันที่ผ่านมา

เมื่อเวทีใหญ่และเครื่องเสียตั้งขึ้น ลุงแกบอกว่า แกจะวิ่งเข้าไปที่แนวปะทะ ผมดึงแกไว้ กอดแกว่า ลุงอย่าไปเลย ตรงนั้นมันอันตราย ลุงบอกลุงไม่กลัวตาย ลุงไปตะโกนด่าทหารมันสองวันแล้ว ลุงพร้อมให้มันยิงใส่ร่างของลุง

ผมและเพื่อนอีกคนเกลี่ยกล่อมแกสักระยะหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่าแกจะสงบลงได้ แล้วก็นิ่งไป แต่สักสิบนาทีรถผลไม้คู่ชีพของแกก็ขับแล่นผ่านสายตาของผม ตรงไปยังแนวปะทะ ตั้งแต่สี่โมงเย็น แล้วผมก็ไม่ได้เห็นลุงน้อยกลับออกมาอีกเลย

ผมไม่รู้หรอกว่า ชะตากรรมของแกเป็นอย่างหลังจากนั้น แต่มันทำให้ผมนึกถึงลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เท็กซี๋วีรชนที่ขับชนรถถังตอนรัฐประหาร 19 กย คนแก่คนหนึ่ง คงไม่มีปัญญาไปปรบมือสู้รบกับใคร เขาเพียงแต่พิจารณาตนเองแล้วว่า เขาพร้อมจะจัดการนำพาเวลาในชีวิตที่หลงเหลืออยู่เพื่อแลกหรือต้องการสื่อสารอะไร เขาอาจไม่ได้ต้องการคำตอบจากผู้หนึ่งผู้ใด แต่เขาต้องตอบคำถามตัวเองว่า เขาจะทำอย่างไรต่อความอยุติธรรมที่อยู่เบื้องหลังนี้

ผมกลับจากเวทีตอนเกือบตีสี่ อาบน้ำและตั้งใจจะเขียนบันทึกเรื่องที่สะเทือนใจที่สุดของผมในวันนี้
อยากบอกลุงน้อยว่า แม้คนอื่นอาจไม่เข้าใจสิ่งที่ลุงคิด แต่ผมเข้าใจสิ่งที่ลุงตัดสินใจ ขอให้ลุงโชคดีครับ

ตีสี่สิบห้านาที
วันที่ 17 พค 53

 
000000000000
 
ถึง 'ป้าคนนั้น' ที่ราชประสงค์
Kant Tassanaphak
16 พฤษภาคม 2553
 
ปลายเดือนที่แล้ว กลางดึกของคืนที่กลิ่นการล้อมปราบเข้มคาว ป้าอายุใกล้เจ็ดสิบเดินงกๆ เงิ่นๆ แหวกคนเข้ามานั่งชุมนุม ก่อนจะล้วงเอาถุงหนังสะติ๊กและลูกแก้วที่ซ่อนไว้ในอกเสื้อออกมาอวดเพื่อนซึ่งส่วนใหญ่วัยใกล้เคียงกันอย่างดีใจ

พอผมรีบเข้าไปห้าม - พร้อมสำทับด้วยถ้อยประกาศเกี่ยวกับ

'อาวุธ' ของแกนนำ - ป้าแกก็ละล่ำละลักบอกว่า

"แต่ป้าไม่ได้จะเอามายิงใครจริงๆ นะลูก ทหารมันจะบุกคืนนี้ ป้าไปหามาไว้ป้องกันพวกเรา"

ผมไม่รู้จะหัวเราะหรือร้องไห้ดี เพราะใครที่ไหนก็รู้ว่าถ้าทหารเข้ามา "ขอคืนพื้นที่" (ศัพท์ในตอนนั้น) จริงๆ หนังสะติ๊กกี่ร้อยกี่พันอันก็ป้องกันป้าและเพื่อนไม่ได้ เลยตัดสินใจโพล่งสวนอย่างเหลืออดออกไปว่า

"ไม่ต้องเลยป้า! ขนาดมีแต่มือเปล่าๆ เขายังว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ถ้าเขามาเห็นมีหนังสะติ๊กทีนี้ป้าจะเป็นอะไร"

ได้ผล ป้าหน้าซีดอ้าปากค้างเหมือนเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าตัวเองกำลังทำผิดมหันต์ ก่อนรีบทำตามคำเตือนอย่างเร่งรีบจนถุงที่หอบมาฉีกขาด ลูกแก้วเกลื่อนกระจาย....

ตอนนี้ คืนนี้ ผมไม่รู้จริงๆ ว่าป้ากำลังอยู่ตรงไหน ได้แต่ภาวนาว่า หนังสะติ๊กและลูกแก้วพวกนั้น - ถ้าป้ายังไม่ทิ้งมันไป - จะช่วยป้าให้ปลอดภัยจากความโหดร้ายของมนุษย์อีกพวกหนึ่งได้

.....

ตีสี่ครึ่ง-ย่ำรุ่งวันที่สามของการล้อมปราบ

เครียด ประสาทกิน รู้สึกหมดปัญญาจะทำอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้นอีก

ใครนึกออกช่วยบอกเอาบุญที

 
00000000000000000
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ-โกศแปดเหลี่ยม พร้อมเครื่องประกอบเกียรติยศ เสธ.แดง

Posted: 17 May 2010 02:23 PM PDT

<!--break-->

(17 พ.ค.53) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เครื่องประกอบเกียรติยศ ประกอบด้วย โกศ 8 เหลี่ยม ฉัตรเบญจา ตั้งประดับ ปี่กลองชนะประโคม ตอนพระราชทานน้ำอาบศพ ในเวลา 17.30 น. และพระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก กำหนดเวลา 3 คืน ระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 18.30 น.

เวลา 16.00 น.ได้มีการเคลื่อนศพ พล.ต.ขัตติยะ จากวชิรพยาบาล มาที่ศาลา 9 วัดโสมนัสราชวรวิหาร โดยศพของเสธ.แดง ได้แต่งชุดทหารลายพราง ซึ่งเป็นชุดที่ใส่ประจำ โดยขณะที่รถขบวนศพได้เคลื่อนเข้ามาภายในวัดนั้นก็ได้มีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือคนเสื้อแดงจำนวนมากร้องตะโกนว่า “เสธ.แดงวีรบุรุษสู้ๆ” ผู้ที่มารอรับศพเสธ.แดงต่างแสดงความโศกเศร้าและร้องไห้เสียใจ

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในวัดโสมนัสราชวรวิหาร มีผู้ส่งพวงหรีดมาร่วมงานกว่า 100 พวง อาทิ จากกองทัพน้อยที่ 1 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่น 22 กลุ่มเพื่อน ตท.22 บ้านเลขที่ 111 ไทยรักไทย และท่านผู้หญิงวิระยา ชวกุล อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ส่งหรีดมาร่วมงานด้วย นอกจากนี้ บรรดาการ์ด นปช.จากหลายสายทยอยเข้าร่วมงาน ทั้งการ์ดส่วนกลาง กลุ่มเชียงใหม่ 51 กลุ่มนักรบพระเจ้าตาก 

ส่วนบุคคลที่มีชื่อเสียงที่มาร่วมงาน อาทิ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรอง ผอ.รมน.มาเป็นประธานในพิธีสงฆ์ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ผบ.นทพ. ประธาน ตท.11 เป็นเจ้าภาพงานสวดอภิธรรมศพ พล.อ.สาธร สุวรรณนาภา อดีตผู้บังคับบัญชาที่ เสธ.แดง ให้ความเคารพ เป็นประธานร่วม และพล.ท.เรืองศักดิ์ ทองดี อดีต ผบ.พล.ปตอ. ตท.10 เป็นผู้ประสานงานขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และยังมีเพื่อน ตท.11 มาร่วมงานประมาณ 30 คน หนึ่งในนั้น คือ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผช.ผบ.ทบ.

 

เอเอสทีวีฯ ส่งหรีด “ดอกไม้เหลือง” ทำเสื้อแดงไม่พอใจรุมกระทืบ โยนทิ้งกลางถนน

เวลาประมาณ 15.12 น. ก่อนขบวนศพจะเคลื่อนมาถึงกลุ่มคนเสื้อแดงและญาติพี่น้องเสธ.แดง มาร่วมไว้อาลัยและรอรับศพกันอย่างสงบภายในศาลาวัด ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย เมื่อมีผู้ส่งพวงหรีดของสถานีโทรทัศน์ "เอเอสทีวี ผู้จัดการ" ซึ่งเป็นดอกไม้สีเหลือง เข้ามาภายในงาน สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มคนเสื้อแดง โดยได้ลุกขึ้นมาตะโกนขับไล่ให้ออกไปจากงาน ขณะที่บางส่วนลุกขึ้นมาจากเก้าอี้มุ่งตรงเข้าไปทุบทำลายพวงหรีดดังกล่าวอย่างโกรธแค้น ก่อนจะนำไปโยนทิ้งที่กลางถนน

 

แพทย์วชิระฯ แจงพยายามยื้อชีวิตผู้ป่วยอย่างเต็มที่

ก่อนหน้าเวลา 10.00 น. ที่โรงพยาบาลวชิระ นพ.ชัยวัน เจริญโชคทวี ผู้อำนวยการวิทยาลัยแพทยศาสตร์ กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล(รพ.วชิระ) พร้อมคณะแพทย์ประกอบด้วยด้วยนพ.สมเกียรติ วงศ์สุริยนันท์ หัวหน้าภาควิชาประสาทศัลยแพทย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ หัวหน้าคณะผ่าตัด และนพ.จรูญศักดิ์ นวลแจ่ม หัวหน้าภาควิชานิติเวช วชิรพยาบาล ได้ร่วมกันแถลงข่าวว่า

หลังจาก เสธ.แดง ถูกยิงที่ศีรษะ ตั้งแต่ค่ำวันที่ 13 พฤษภาคม มีอาการทรุดลง จากภาวะไตวายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม คณะแพทย์ได้ทำการรักษาอย่างเต็มที่ โดยพบว่า ผู้ป่วยไม่สามารถขับปัสสาวะได้ ทำให้ภาวะของเสียในร่างกายเพิ่มขึ้น จนเข้าสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน คณะแพทย์ได้ทำการล้างไต

ในขณะที่ความดันยังไม่คงที่ตลอดทั้งคืน ทำให้ต้องใช้ยากระตุ้นความดันไปทั้งสิ้น 700 หลอด ถือว่าเป็นปริมาณสูงมาก จนกระทั่งเช้าวันที่ 17 พฤษภาคม แพทย์ไม่สามารถวัดความดันผู้ป่วยได้ และเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น แพทย์จึงช่วยเหลือด้วยการปั๊มหัวใจ 55 นาที ร่วมกับการใช้ยากระตุ้นความดัน 17 หลอด จนเมื่อเวลา 09.20 น. พล.ต.ขัตติยะ ได้เสียชีวิตลง

“คณะแพทย์ได้ใช้ความพยายามยื้อชีวิตผู้ป่วยอย่างเต็มที่ แต่ผลจากกระสุนได้ทำลายสมองทั้งหมด ทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลงเรื่อยๆ รวมเวลาอยู่ในวชิรพยาบาลทั้งสิ้น 82 ชั่วโมง 30 นาที หลังจากนี้แพทย์จะทำการชันสูตรศพตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยญาติจะเคลื่อนย้ายศพ ในเวลา 13.30 น. ไปยังวัดโสมนัสวรวิหาร เพื่อบำเพ็ญกุศลต่อไป ซึ่งตลอดทั้งการรักษาญาติได้รับทราบความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและร่วมตัดสินใจด้วยตลอดเวลา โดยแพทย์สรุปสาเหตุการตายว่า เสียชีวิตจากอาวุธปืน” นพ.ชัยวัน กล่าว

 

 

ประวัติ

พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล เป็นชาวอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2494 เป็นบุตรชายคนสุดท้องของ ร.อ.สนิท สวัสดิผล และนางสอิ้ง สวัสดิผล จากจำนวนพี่น้อง 4 คนซึ่งเป็นหญิง 3 คนและชาย 1 คน

การศึกษา

- จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนศรีวิกรม์ การศึกษาด้านการทหาร

- จบโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 11, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 22 และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 63 

- เรียนต่อปริญญาตรี ครุศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาปี 2528 

- ปริญญาโท คณะพัฒนาสังคมและส่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สำเร็จการศึกษาปี 2539 

- ปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม สำเร็จการศึกษาปี 2545 

- ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง สำเร็จการศึกษาปี 2547 

- จบปริญญาเอก สาขาบริหารรัฐกิจ UNIVERSITY OF NORTHERN PHILLIPINES สำเร็จการศึกษาปี 2551

ผลงาน

- พล.ต.ขัตติยะ เข้ารับราชการครั้งแรกในกองพันทหารราบที่ 4 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี และเติบโตมาในสายทหารม้า เคยได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายทหารพิเศษ ประจำกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ เมื่อปี 2543 เคยเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในช่วงปี 2529 เป็นนายทหารติดตามของ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก รองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ และเคยเป็นนายทหารคนสนิทของนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก ไทยรัฐ มติชน 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิวยอร์คไทม์ : วิกฤต หลังปิดฉากชีวิตนายพลนอกแถว

Posted: 17 May 2010 01:50 PM PDT

<!--break-->

แปลจาก
New York Times: Asia Pacific
Renegade Thai General Dies as Chaos Continues
http://www.nytimes.com/2010/05/17/world/asia/17thai.html?ref=global-home
By SETH MYDANS and THOMAS FULLER
Published: May 16, 2010 

โดย เซ็ธ มายแดนส์ และโทมัส ฟุลเลอร์
พิมพ์เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2010

 

 

 

กรุงเทพฯ—  การต่อสู้อย่างหนักหน่วง และการระเบิดตอนย่ำรุ่งของวันจันทร์ ถือเป็นการการต่อสู้ที่ยาวนานและสาหัสที่สุดครั้งนี้ในรอบหลายปีที่ผ่านมาของประเทศไทย

ชาวบ้านติดอยู่ในที่พักของตน นักท่องเที่ยวโรงแรมห้าดาวอย่างดุสิตธานีต้องหลบภัยอยู่ชั้นใต้ดินเพื่อรักษาชีวิต “ไม่มีทางรู้ว่าระเบิดและกระสุนมาจากทิศไหน” ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์คนหนึ่งที่ติดอยู่ในโรงแรมให้การ

ช่วงเช้า เสียงปืนดังหนาหู เฮลิคอปเตอร์ครางกระหึ่ม บินวนเวียนอยู่บริเวณเหนือจุดปะทะ ไร้วี่แววว่าความรุนแรงนี้จะยุติลงเมื่อใด

เมื่อการต่อสู้บนท้องถนนที่ดำเนินมาถึงสี่วันได้ลุกลามไปสู่บริเวณอื่น สถานฑูตอังกฤษแจ้งบนเว็บไซต์ของตนว่า “ท่านควรระวังการกระทำรุนแรง การก่อวินาศกรรม ที่อาจเกิดขึ้นบริเวณรอบนอกพื้นที่ชุมนุม” ข้อมูลในเว็บแจ้งต่อไปว่า “กลุ่มเสื้อแดงขู่ว่าจะมีการวางระเบิดห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในกรุงเทพฯ”

กลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดง ซึ่งใช้ความพยามในการเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ ยึดพื้นที่ใจกลางเมืองเป็นฐานที่มั่นในการชุมนุมประท้วงมานานกว่าหกสัปดาห์ ศูนย์เอราวัณรายว่า ยอดผู้เสียชีวิตที่มีการแจ้งอย่างเป็นทางการพุ่งสูงถึง 35 ศพ และยังมีผู้บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนถึง 244 ราย

พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล นายทหารนอกแถว หนึ่งในแกนนำสำคัญของกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดง ตกเป็นเหยื่อของเหตุลอบยิงเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา การถูกลอบทำร้ายของพลตรีขัตติยะ ที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงดังที่ดำเนินอยู่

ผู้สื่อข่าวไทยรายงานว่า พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล ได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันจันทร์ และเมื่อนำไปทบกับยอดการสูญเสีย ตั้งแต่เริ่มมีการประท้วง ซึ่งบัดนี้มีไม่ต่ำกว่า 60 ชีวิต

การประท้วงนี้เป็นเสมือนสัญญลักษณ์การแสดงออกถึงการต่อสู้ดิ้นรนของคนยากไร้ที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในประเทศไทย คนจนเหล่านี้เป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ต้องทนอยู่ภายใต้ลักษณะสังคมแบบชนชั้น และอำนาจการปกครองภายใต้กำมือชนชั้นสูงในเมืองมาอย่างยาวนาน

ความสูญเสียล่าสุดมาจากการเสียชีวิตของทหาร ซึ่งเป็นศพแรกหลังเกิดจากการปะทะกันรุนแรงต่อเนื่องเป็นเวลาถึงสี่วัน ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินรายงานว่า การเสียชีวิตเป็นผลมาจากการถูกยิงด้วยกระสุน ใกล้ๆ บริเวณโรงแรมดุสิตธานี

สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรอบพื้นที่ชุมนุมหลัก เริ่มขึ้นหลังแกนนำผู้ประท้วงปฏิเสธข้อเสนอการจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนเวลา ซึ่งอันที่จริงเป็นสิ่งที่ผู้ชุมนุมได้เรียกร้องมาแต่ต้น เมื่อเป็นเช่นนั้น นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะจึงถอนข้อเสนอ ยุติการเจรจา และออกคำสั่งให้กองทหารเข้าล้อมพื้นที่ชุมนุมโดยมิให้มีการบุกเข้าไปแต่อย่างใด เมื่อกองทหารเคลื่อนตัวเข้าไปเมื่อวันพฤหัสบดี ก็ถูกท้าทายโดยกลุ่มการ์ดที่อยู่รายล้อมผู้ชุมนุมส่วนกลาง นับจากนั้นท้องถนนในบริเวณ ก็ก้องไปด้วยเสียงของระเบิด เสียงรัวของปืน และการต่อสู้ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งคืน

เมื่อเจ้าหน้าที่โรงแรมประกาศเตือนว่า โรงแรมกำลังถูกจู่โจม บรรดาแขกที่มาพักโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางธุรกิจการค้าของกรุงเทพฯ ต้องรีบหนีจากห้องเพื่อไปหาที่กำบังในบริเวณชั้นใต้ถุน โดยนายเปโดร อูการ์ท ช่างภาพของ Argence France-Presse ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมยังอยู่ที่เตียง ตอนระเบิดลงใกล้ๆ ห้องพัก   ผมออกจากห้องไป คนอื่นๆก็เหมือนกัน แล้วตอนนั้นเองผนังด้านนอกห้องผมก็โดนยิงใส่”“คนที่หลบอยู่ด้วยกันที่ชั้นใต้ถุนมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดประมาณ 100 คน”เขากล่าวเสริม

วันจันทร์นี้ เป็นวันครบรอบ 18 ปีเหตุความรุนแรงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วง 17 ถึง 20 พฤษภาคม 1992/2535หรือที่เป็นที่รู้จักกันดีในนาม “พฤษภาทมิฬ” ในครั้งนั้นมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ 52 คน กับทั้งผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้มีการบันทึกไว้

สถานทูตญี่ปุ่นประกาศย้ายไปอยู่ที่ทำการชั่วคราวเมื่อวันอาทิตย์ โดยให้เหตุผลว่า สถานการณ์ด้านหน้าสถานฑูตถดถอยลงเรื่อยๆ ทั้งถนนทางเข้าหลักได้กลายสภาพเป็นจุดตรวจของทหารไปอีกด้วย สถานทูตอเมริกันซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนักก็ได้ประกาศปิดทำการไปก่อนหน้านี้ ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากสถานทูตอื่นๆ ที่อยู่ในย่านเดียวกัน

วันอาทิตย์ วันแห่งการประจันบาญบนท้องถนน ผู้ประท้วงระดมระเบิดเพลิง จรวดทำเอง ยิงใส่เจ้าหน้าที่ ซึ่งก็ได้การตอบรับจากทหารด้วยการใช้ทั้ง กระสุนยาง และกระสุนจริง ยิงสวนกลับมา

การสังหารที่เกิดขึ้น ดูเหมือนจะเป็นฝีมือของนักแม่นปืน และคนในเครื่องแบบทหารที่มีปืนไรเฟิลและกล้องส่องพร้อม ซึ่งมีผู้พบเห็นประจำการอยู่บนตึกต่างๆ ยังมีรายงานการพบเห็นกลุ่มชายในชุดดำไม่ทราบสังกัดที่คอยก่อความรุนแรงในลักษณะเดียวกับเหตุนองเลือดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน ขณะที่ทางการพยายามกดดันให้ผู้ชุมนุมออกจากที่พื้นที่ชุมนุมอีกแห่งหนึ่ง โดยในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 24 ราย และบาดเจ็บอีกเกือบ 900 ราย

ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ รัฐบาลเสนอให้ความคุ้มครองผู้ชุมนุมที่ต้องการออกจากจุดประท้วง ซึ่งชาวบ้านได้ปักหลักและใช้เป็นที่พักแรมมากว่าหกสัปดาห์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าวแสดงความเข้าใจ หากผู้ร่วมประท้วงต้องการออกไปจากจุดชุมนุม นอกจากนี้เขายังยื่นข้อเสนอให้กับรัฐบาลที่จะถอนการ์ด นปช.ออกจากท้องถนน และพร้อมเข้าสู่กระบวนการเจรจา หากว่ารัฐบาลสั่งหยุดยิง ถอนทหารออก อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้มีนัยยะที่ชี้ให้เห็นถึงสายใยอันแนบแน่น ระหว่างนายณัฐวุฒิ และกลุ่มผู้ชุมนุมหัวรุนแรง

แต่แล้วนายณัฐวุฒิก็เพิ่มข้อเสนอที่รัฐบาลปฏิเสธทันที นั่นก็คือการเรียกร้องให้องค์กรสหประชาชาติเข้าร่วมการเจรจาไกล่เกลี่ยในฐานะคนกลาง หากเป็นจริงก็ย่อมเท่ากับรัฐบาลยอมรับว่า ในการเจรจานี้กลุ่มผู้ประท้วงถือเป็นกลุ่มที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

โฆษกกองทัพแถลง รัฐบาลยินดีช่วยอพยพ ผู้หญิง เด็ก และคนชรา รวมถึงผู้ใดก็ตามที่ต้องการออกจากพื้นที่ชุมนุม กลุ่มเอ็นจีโอต่างพร้อมยื่นมือช่วยเหลือ “ผมอยากจะบอกผู้ปกครองที่พาเด็กมาร่วมชุมนุมให้ออกจากพื้นที่ทันที หากท่านมีความต้องการที่จะออกไป” นายณัฐวุฒิกล่าว “แต่ผมจะอยู่ที่นี่” เขาเสริม“แต่ถ้าท่านอยากจะอยู่สู้ต่อไป ขอให้ท่านพาเด็กๆไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย”

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำผู้ประท้วงอีกคนหนึ่งกล่าวว่า พร้อมยินดีสู้จนตัวตาย จนถึงคืนวันอาทิตย์ ผู้ประท้วงจำนวนมากที่อยู่ ณ บริเวณนั้นยังยืนกรานไม่ออกจากพื้นที่ชุมนุม แม้ว่าจะได้รับการเตือนแล้วว่า อาจเกิดการต่อสู้ที่รุนแรงเกิดขึ้นหากถูกทหารเข้าจู่โจม

ในวันอาทิตย์นั้นเอง รัฐบาลขยายเขตประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีกห้าจังหวัด จากที่มีการบังคับใช้อยู่แล้วก่อนหน้านี้ในกรุงเทพฯ และอีก 17 จังหวัดทั่วประเทศ

“พวกท่านถูกใช้เป็นเครื่องมือ” นายกรัฐมนตรีพยายามให้เหตุผลกับผู้ชุมนุม ขณะแถลงทางโทรทัศน์ ซึ่งเป็นการกล่าวอย่างมีนัยยะว่า เหล่าผู้ประท้วงกำลังถูกปั่นหัว และหลอกใช้โดยผู้ต้องการบ่มเพาะความรุนแรง อย่างไรก็ดี แถลงการณ์เช่นนี้ก็ไม่สามารถเข้าแทรกคลื่นที่ออกอากาศในพื้นที่ชุมนุมได้

การก่อวินาศกรรม โครงสร้างพื้นฐาน เช่น เสาไฟฟ้าแรงสูง โรงเก็บเครื่องบิน คลังน้ำมัน ธนาคาร และจุดยุทธศาสตร์ของทหาร ต่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน สอดรับกับการประท้วงที่ยืดเยื้อมากว่าสองเดือน นักวิเคราะห์บางคนมองว่า เหตุการณ์เหล่านี้เป็นกลยุทธในการในการบั่นทอนความมั่นคงของประเทศ ที่เกิดจากการวางแผนของผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังการประท้วงนี้

คำกล่าวอ้างนี้เป็นสิ่งที่หาข้อพิสูจน์ไม่ได้ แต่เราก็ยังไม่มีคำอธิบายที่เหมาะสมถึงความพยามในการสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศโดยการใช้อาวุธสงคราม

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Herald Sun : เหยื่อกระสุน...เสื้อแดง

Posted: 17 May 2010 01:32 PM PDT

<!--break-->

แปลจาก: Herald Sun
Red Shirt demonstrators shot in Bangkok street clash
http://www.heraldsun.com.au/news/world/australians-trapped-amid-bangkok-violence/story-e6frf7lf-1225867413680

โดย ซารา โวเกลอ และ เอเอฟพี
ที่มา นิวส์คอร์
วันที่ 16 พฤษภาคม 2010 เวลา 16:59 น.
 

 

ข่าวล่า : 8:15 น. ชาวออสเตรเลียจำต้องหาที่หลบภัย ขณะที่โรงแรมหรูกลางกรุงตกเป็นเป้ากระสุน และสถานฑูต (ออสเตรเลีย) ปิดทำการ 

“เสื้อแดง” วอนยูเอ็น เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยสถานการณ์ แต่รัฐบาลไทยปักใจที่จะใช้กำลังทหารและความรุนแรงในการแก้ปัญหา หลังจากที่ยื่นเส้นตายให้ผู้ประท้วงออกจากพื้นที่ชุมนุมหลักภายใน 18:00 น.(เวลาเมลเบิร์น)

ใกล้พื้นที่ชุมนุม ซึ่งตอนนี้ได้กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โรงแรมหรูในบริเวณ ตกเป็นเป้ากระสุนและระเบิดตั้งแต่รุ่งสาง ทำให้แขกที่มาพักต้องหาที่กำบังเพื่อหนีตาย อาคารพาณิชย์สามแห่ง ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงถูกเผาวอด

แกนนำผู้ชุมนุมร้องขอให้พระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย เข้าบรรเทาวิกฤตการณ์ที่ได้กลายสภาพพื้นที่อาศัยของคน 12 ล้านคนเป็นแดนสังหาร มีกองทหารยิงใส่ผู้ประท้วงด้วยกระสุนจริง โดยผู้ประท้วงเหล่านี้บ้างก็มีอาวุธติดกาย

ขณะที่ฐานที่มั่นหลักของกลุ่มเสื้อแดงซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯถูกยึดได้โดยกองทหาร แกนนำประกาศ พร้อมเข้าสู่การเจรจาสงบศึกหากมียูเอ็นเข้าร่วมในฐานะคนกลาง

ข้อเสนอที่ว่าถูกปัด โดยคำประกาศกร้าวของคณะรัฐบาล ต่างชาติไม่ควรยุ่งเรื่องภายในของประเทศไทย

นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลง “ไม่มีรัฐบาลของประเทศใด ยอมให้องค์กรอื่นๆ เข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในของตน”

ก่อนหน้านี้ความพยายามในการเจรจาของรัฐบาลและกลุ่มผู้ประท้วงคว้าน้ำเหลว เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ แม้ว่าจะได้มีการหยิบยื่นข้อเสนอ ที่ได้ถูกถอนไปแล้ว จากนายกรัฐมนตรีที่บัญชาการรบอยู่ในขณะนี้ ให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนหากผู้ประท้วงยอมยุติการชุมนุม

ที่โรงแรมดุสิตธานี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ที่มั่นของกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดง หลังจากที่ทางโรงแรมเตือนให้บรรดาแขกเหรื่อที่มาพักทราบว่า โรงแรมถูกจู่โจม ต่างวิ่งเอาตัวรอดออกจากห้องพัก ไปหลบยังชั้นใต้ดินเพื่อความปลอดภัย

“ผมยังอยู่ที่เตียง ตอนระเบิดลงใกล้ๆ ห้องพัก ผมออกจากห้องไป คนอื่นๆ ก็เหมือนกัน แล้วตอนนั้นเองผนังด้านนอกห้องผมก็โดนยิงใส่” เปโดร อูการ์ท ช่างภาพ เอเอฟพี ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

จากนั้นแขกของโรงแรมดุสิตธานีกว่า 100 ชีวิตที่หลบอยู่ด้วยกันที่ชั้นใต้ดิน พากันย้ายไปหลบต่อที่ล็อบบี้ เพื่อให้ไกลออกไปจากถนนมากยิ่งขึ้น

ไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัดว่ากระสุนและระเบิดเหล่านี้มาจากฝ่ายใด

เจ้าหน้าทางการไทยกล่าวว่า จะส่งเจ้าหน้าที่กาชาดเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ประท้วง โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก และคนชรา ที่อยากอพยพออกจากที่ชุมนุมหลักก่อนเวลาบ่ายสาม (6 pm AEST)

“หากผู้ชุมนุมชายอยากจะออกมาก็ได้ แต่ต้องแสดงให้เจ้าหน้าที่เห็นว่า ไม่ได้พกอาวุธ” พันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศ.อ.ฉ. กล่าวต่อผู้สื่อข่าว

ผู้บาดเจ็บชาวต่างชาติขณะนี้มีด้วยกันทั้งสิ้นหกคน ประกอบด้วยชาว แคนาดา อิตาลี ไลบีเรีย พม่า นิวซีแลนด์ และ โปแลนด์

เจ้าหน้าที่ออสเตรเลียเตือนสื่อ อย่าเข้าใกล้จุดชุมนุม
เจ้าหน้าที่ทางการออสเตรเลียเตือนผู้สื่อข่าวให้อยู่ห่างจากบริเวณจุดชุมนุมหลัก เพราะจะเกรงเป็นเป้าให้ “ผู้ก่อการร้าย” โดยตั้งแต่เริ่มความไม่สงบกลางกรุงเทพฯในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้สื่อมวลชนถูกยิงบาดเจ็บสี่คน และเสียชีวิตหนึ่งคน

ขณะที่ชาวออสเตรเลียที่อยู่ในกรุงเทพฯต้องจ้าละหวั่นหาที่หลบภัย หาหนทางเอาชีวิตรอดจากเหตุรุนแรงที่แผ่มาถึงโรงแรมกลางเมือง กระทรวงการต่างประเทศและการค้า (Department of Foreign Affairs and Trade—DFAT) ของออสเตรเลียเตือนประชาชนที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยถึงโอกาสเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งในกรุงเทพฯทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ

ที่เว็บไซท์ ‘สมาร์ท แทรเวลเลอร์’ ของออสเตรเลีย มีโพสท์แจ้งว่า สถานฑูตออสเตรเลียยังทำการอยู่ แต่ปิดรับการทำธุรกรรมใดๆ กับนักท่องเที่ยว จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง เนื่องจากว่า เหตุปะทะและความรุนแรงที่เกิดอยู่ขึ้นไม่ไกลจากด้านหน้าสถานฑูตนั่นเอง

ข้อความในเว็บระบุ “อาจมีการใช้อาวุธร้ายแรงในการต่อสู้ และการปะทะกันอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา”

“ชาวออสเตรเลียควรหลีกเลี่ยงการสัญจรเข้าใกล้บริเวณใดก็ตามที่มีการประท้วง หรือแนวรบของทหาร และขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการเดินทาง เพราะเหตุการณ์อาจทวีความรุนแรงได้ทุกขณะ”

กลุ่มเสื้อแดงผู้ต่อต้านรัฐบาล ซึ่งรวมตัวอยู่บริเวณราชประสงค์ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ ประกาศพร้อมเจรจาสันติภาพ หากองค์การสหประชาชาติเข้าร่วมเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย

แขกโรงแรมห้าดาว จำต้องซ่อนตัวอยู่ชั้นใต้ดินหลังจากได้ยินเสียงระเบิด ขณะที่ด้านนอกมีอาคารพาณิชย์สามหลังตกอยู่ในกองเพลิง

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย (DFAT) แจ้ง หากมีชาวออสเตรเลียต้องการความช่วยเหลือ หรือตกอยู่ในเหตุคับขัน ให้ติดต่อศูนย์อำนวยการฉุกเฉินของสถานกงสุลที่แคนเบอร์รา ซึ่งเปิดรับเรื่องตลอด 24 ชั่วโมงทางโทรศัพท์

ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินรายงานผลจากการปะทะกันตามท้องถนนที่ผ่านมา รวมยอดผู้เสียชีวิต 33 ราย ผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 232 ราย โดยตัวเลขนี้เป็นผลจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเวลารวมสี่วัน เริ่มตั้งแต่วันพฤหัสบดี

ศูนย์เอราวัณแจ้ง ผู้เสียชีวิตทั้งหมดเป็นพลเรือน

กลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงเริ่มชุมนุมตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม โดยมีข้อเรียกร้องหลักให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลาออกจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และให้มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่

ขณะนี้ยอดผู้ตายขึ้นถึง 59 คนแล้ว หากนำไปรวมกับจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากกรณีความรุนแรงวันที่ 10 เมษายน

ผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมด คือพลเรือน

รัฐบาลยืนยัน เป้าหลัก คือ “ผู้ก่อการร้าย” ที่แฝงตัวอยู่กับกลุ่มเสื้อแดง

เร็วๆ นี้ ปรากฏเหตุ ผู้ประท้วงเสื้อแดงสองคนถูกทหารยิงดับระหว่างการต่อสู้กลางเมือง

“ใกล้จุดชุมนุมหลัก มีชายสองคนนอนบาดจ็บสาหัสอยู่บนถนน ในขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงหลายร้อยคนกำลังประจันหน้ากับกองทหาร” ช่างภาพเอเอฟพีผู้หนึ่งเล่า

ขณะที่ถูกยิง ชายทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ประท้วง “เสื้อแดง” ที่ขว้างปาหิน ระเบิดเพลิงทำเอง และประทัดยักษ์ อยู่ด้านใต้ทางด่วน ร่างของชายทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่กู้ภัยนำออกจากบริเวณทันทีหลังเกิดเหตุ

นับตั้งแต่วันศุกร์ ซึ่งมีการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและผู้ประท้วง ในบริเวณจุดชุมนุมหลักกลางเมืองซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญ ส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตจำนวน 24ศพและผู้บาดเจ็บอีกกว่า 200 ราย

กลุ่มชาวออสเตรเลียติดอยู่ในโรงแรม กลางสมรภูมิรบ
เชน แฮนค็อค ครูสอนการศึกษาทางไกล เดินทางท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับคณะพรรค เพื่อพักผ่อนในช่วงหยุดพักร้อน เข้าพักที่โรงแรม แพน แปซิฟิค เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา พบว่าตนและเพื่อนไม่สามารถออกไปไหนได้ เนื่องจากที่พักตั้งอยู่ตรงข้ามจุดชุมนุมหลักของผู้ประท้วงเสื้อแดง

นายแฮนค็อค เล่าว่า เสียงปืนดังอยู่เป็นระยะตลอดทั้งวัน แต่เพื่อนร่วมเดินทางกล่าวว่า เขายังสามารถรักษาอารมณ์ขัน และฝึกซ้อมท่า ‘หมอบกลิ้ง’ เพื่อป้องกันตนเองจากการเป็นเป้ากระสุน

มีชาวออสเตรเลียน ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3 คน นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ที่เริ่มมีการประท้วงเกิดขึ้น

สถานการณ์ความรุนแรงล่าสุด การวางระเบิด และการต่อสู้บนถนนใจกลางกรุง ซึ่งคร่า 24 ชีวิต และทำให้มีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 200 ราย เกิดขึ้นเมื่อกองทัพตัดสินใจใช้ยุทธวิธีจัดกวาดล้างพื้นที่ชุมนุมที่ผู้ประท้วงเหล่านี้ได้มาปักหลักตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน

กระทรวงการต่างประเทศและการค้า (DFAT) ของออสเตรเลียยังคงเตือนชาวออสเตรเลีย ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าประเทศไทยหากไม่มีเหตุจำเป็น ทั้งนี้เพราะสถานการณ์ที่กำลังบานปลายของความขัดแย้งทางการเมือง และเหตุไม่สงบที่ประชาชนก่อขึ้น

หลังจากเกิดสงครามกลางเมือง ทั้งหน่วยทหารและพลเมืองติดกับอยู่ในสถานการณ์การประจันหน้ากันที่ไร้ทางออก

วานนี้ มียอดผู้เสียชีวิต 8 ศพ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากความพยามของทหารที่จะปิดล้อมเส้นทางลำเลียง รอบพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มเสื้อตามจุดต่างๆ ในย่านธุรกิจกลางเมือง วันนี้ ศูนย์เอราวัณยังไม่มีรายงานถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น

ควันไฟคละคลุ้ง จากทั้งตะเข็บด้านเหนือและด้านใต้ ของที่ชุมนุม ไฟยังกรุ่นจากบริเวณที่เคยเป็นจุดปะทะระหว่างผู้ประท้วงและทหาร เมื่อวันเสาร์

เปลวเพลิงพวยพุ่ง จากบริเวณสะพาน สลับกับระเบิดที่ก้องขึ้นเป็นระยะ ซึ่งเป็นผลมาจากการยิงประทัดยักษ์ของผู้ประท้วง เสียงของความปรักหักพังอึงอลทั่วท้องถนน

เย็นวันเสาร์ นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาให้คำมั่นว่า รัฐบาลจะไม่มีนโยบายที่จะกลับลำ โดยเฉพาะการกระชับพื้นที่ชุมนุมหลักของผู้ประท้วง

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วอชิงตันโพสต์: ผู้ประท้วงไทยขอยูเอ็นเจรจา แต่รัฐบาลปฏิเสธ

Posted: 17 May 2010 01:02 PM PDT

<!--break-->

โตเกียว – ผู้ประท้วงในไทยกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า พวกเขายินดีจะร่วมเจรจากับรัฐบาลโดยมียูเอ็นเป็นตัวกลาง หากทหารยุติการสลายการชุมนุมยาวนานสี่วัน ซึ่งได้เปลี่ยนย่านใจกลางเมืองบางส่วนของกรุงเทพฯเป็นเขตสงคราม

เจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งบอกว่าข้อเสนอนี้เป็น “สัญญาณที่ดี” และถามถึงรายละเอียดเพิ่มเติม ขณะที่รัฐบาลยกเลิกคำขู่ที่จะประกาศเคอร์ฟิวในกรุงเทพฯ เมืองที่มีชื่อเรื่องชีวิตกลางคืนอันอึกทึก

แต่รัฐบาลรีบปฏิเสธการ ไกล่เกลี่ยโดยองค์การสหประชาชาติ และกล่าวว่าถ้าผู้ประท้วง “เสื้อแดง” จริงจังกับการเจรจา พวกเขาไม่ควรจะตั้งข้อแม้

“ถ้าพวกเขาอยากเจรจา พวกเขาไม่ควรตั้งเงื่อนไขอย่างการขอให้เราถอนกำลังทหารออก” กอปรศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าว รอยเตอร์รายงานเช่นนี้ โฆษกรัฐบาลอีกคนบอกผู้สื่อข่าวว่า ผู้ประท้วงต้องหยุดใช้อาวุธและเลิกขู่กอง กำลังรักษาความปลอดภัย

ไม่เป็นที่แน่ชัดในคืนวันอาทิตย์ว่า ข้อเสนอของเสื้อแดง – ซึ่งมาท่ามกลางความพยายามอันมุ่งมั่นของทหารที่จะกระชับพื้นที่ชุมนุม – จะหยุดความวุ่นวายนานสองเดือนบนท้องถนนเมืองหลวงของไทยได้หรือไม่ มีคนอย่างน้อย 29 คนเสียชีวิตที่นั่นตั้งแต่วันพฤหัสบดี ตามรายงานข่าวของไทย พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล นายพลกองทัพบกผู้อยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล สนับสนุนผู้ประท้วงเสื้อแดง เสียชีวิตวันจันทร์ สี่วันหลังการถูกปืนสไนเปอร์ยิงเข้าที่ศีรษะ

การเจรจาระหว่างรัฐบาลและผู้ประท้วงมีประวัติความล้มเหลวมาแล้ว เมื่อสัปดาห์ก่อน ข้อตกลงที่จะยุติความรุนแรงใกล้สำเร็จจนแกนนำผู้ประท้วงบางคนเริ่มเตรียมตัวจะกลับบ้าน

ดูเหมือนว่าผู้ชุมนุมเสื้อแดงจะบีบให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งใหม่ก่อนเวลา แต่ข้อเสนอนั้นอับปาง เพราะข้อเรียกร้องในนาทีสุดท้ายจากแกนนำเสื้อแดง

ความแตกต่างระหว่างแกนนำผู้ประท้วงและรัฐบาลตอนนี้ดูแทบจะปรองดองกันไม่ได้ นักการทูตและนักวิชาการบางคนในกรุงเทพฯให้ความเห็น

“เราถอยไม่ได้” นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พูดถึงชาติในโทรทัศน์เมื่อสุดสัปดาห์ สุนทรพจน์นั้นดูจะปูทางไปสู่การลงมือของทหารที่รุนแรงมากขึ้นกับคนเสื้อแดง

อย่างไรก็ตาม จน ถึงตอนนี้ รัฐบาลของเขายังไม่ได้โจมตีด้วยรถถัง รถหุ้มเกราะลำเลียงพล หรือปืนที่ใช้กระสุนขนาดใหญ่ ไม่มีหลักฐานในวันอาทิตย์ว่า รัฐบาลนำยุทโธปกรณ์เหล่านั้นเข้าไปในพื้นที่ นักการทูตคนหนึ่งกล่าว

สถานการณ์งัดง้างในกรุงเทพฯ มีที่มาจากความขัดแย้งของคนชนบทกับคนเมืองที่ทำให้การเมืองไทยปั่นป่วนมาตั้งแต่ปี 2549 เมื่อเศรษฐีพันล้าน นายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ถูกขับออกไปเพราะรัฐประหารที่ไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากชนชั้นสูงชาวกรุงในกรุงเทพฯ

ชนชั้นสูงเหล่านี้ หลายคนมองทักษิณที่ตอนนี้ถูกเนรเทศและช่วยสนับสนุนเงินทุนให้เสื้อแดงว่า เป็นวายร้ายขี้โกง แต่นโยบายประชานิยมของทักษิณที่ส่งผลกระทบทางการเมืองในไทยมายาวนาน กระตุ้นคนเสื้อแดงและปลุกให้ชาวชนบทส่วนใหญ่คิดว่าพวกเขาสามารถและควรจะกำหนดวิถีการเมืองในประเทศ

เสื้อแดงมองผู้นำไทยคนปัจจุบันเป็นผลพวงที่ผิดหลักการ จากรัฐประหารในปี 2549 ด้วยการสนับสนุนอย่างเงียบๆ จากผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ (ข้อความนี้เปลี่ยนจากต้นฉบับโดย กอง บก.ประชาไท) ได้ทำให้คนชนบทมากมายรู้สึกขุ่นเคือง

พระมหากษัตริย์ของไทยที่มีพระชนมายุ 80 พรรษา มีบทบาทที่น่าเชื่อถือและมั่นคงมาอย่างยาวนานในประเทศซึ่งเกิดรัฐประหารมา 18 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2475 (ข้อความเซ็นเซอร์ โดย กอง บก. เพื่อไม่ผิดกฎหมายอาญา ม.112)

เมื่อเสื้อแดงเดินขบวนเข้ากรุงเทพฯในเดือนมีนาคม ข้อเรียกร้องเดียวของพวกเขา คือจัดการเลือกตั้งใหม่โดยไว สำหรับความยุ่งเหยิงที่พวกเขาสร้างขึ้นมานับจากตอนนั้น ส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยว ขัดขวางการจราจรใจกลางเมือง และจุดความรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 54 คนและมีผู้บาดเจ็บประมาณ 1,640 คน เสื้อแดงยังคงมุ่งมั่น พวกเขาบีบให้รัฐบาลต้องเจรจาจริงจังเรื่องวันเลือกตั้งใหม่

เมื่อสัปดาห์ก่อน แกนนำผู้ประท้วงดูเหมือนเกือบจะยอมรับคำสัญญาของรัฐบาลที่จะจัดการเลือกตั้ง ใหม่ในเดือนพฤศจิกายน นักวิเคราะห์หลายคนคาดว่า เสื้อแดงน่าจะได้รับการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

แต่จุดอับจนของการเจรจาเพื่อการเลือกตั้ง คือชะตากรรมของแกนนำเสื้อแดง ซึ่งรัฐบาลตัดสินว่ามีพฤติกรรมที่เป็นอาชญากร

“แกนนำหัวรุนแรงเชื่อว่าถ้าการประท้วงยุติลง พวกเขาต้องถูกรัฐบาลฆ่าแน่นอน” เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ผู้สนับสนุนเสื้อแดง และเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ กล่าว “นี่คือสาเหตุที่พวกเขาคิดว่าจะต้องสู้ ตอนนี้พวกหัวรุนแรงเข้าคุมแล้ว”

แกนนำเสื้อแดงส่วนใหญ่ออกเสียงเมื่อสัปดาห์ก่อนที่จะยอมรับข้อตกลงของรัฐบาล ออกจากถนน และกลับบ้านไปเตรียมตัวเลือกตั้งตอนปลายปี นักการทูตที่รู้เห็นเรื่องการเจรจาบอก

แต่แกนนำเสื้อแดงไม่ได้ตัดสินตามเสียงส่วนมาก นักการทูตคนนี้กล่าว มีผู้ขัดขวางที่มีอิทธิพลหลายคนเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกข้อกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรทั้งหมด รัฐบาลปฏิเสธข้อเรียกร้อง และข้อตกลงที่จะเลือกตั้งใหม่ก็ยกเลิกไป

ตั้งแต่นั้นมา มีการแตกคอในกลุ่มแกนนำเสื้อแดง และข้อเรียกร้องของพวกเขาเริ่มสะเปะสะปะมากขึ้น สัปดาห์ก่อนบางคนเรียกร้องให้จับนายกรัฐมนตรีสำหรับการสลายการชุมนุม

หลายวันมานี้ พื้นที่ในกรุงเทพฯที่กำลังเกิดเหตุรุนแรงขยายตัวขึ้น เมื่อผู้ประท้วงพยายามปักหลักสร้างที่ชุมนุมใหม่ๆ และทหารพยายามสลายพื้นที่ ผู้ประท้วงตอบโต้ด้วยระเบิดทำเอง ระเบิดมือ และปืนไรเฟิล

ท่ามกลางความโกลาหลที่กำลังขยายตัว มีการยิงเฉียดสถานทูตสหรัฐอเมริกาเป็นระยะ สัปดาห์ก่อนสถานทูตปิด แต่เจ้าหน้าที่อเมริกันยังไม่ได้สั่งการอพยพเจ้าหน้าที่สถานทูตหรือผู้ติดตาม

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยโพสต์แทบลอยด์สัมภาษณ์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร: รูปธรรมคือความสูญเสีย

Posted: 17 May 2010 11:11 AM PDT

<!--break-->

 

 
“ใช่-เราต้องมองในภาพใหญ่ว่าความขัดแย้งทางการเมืองนั้นมีความสำคัญ 
ทั้งสองฝ่ายก็มีเหตุผล ทั้งสองฝ่ายก็ต้องยืนยันความคิดและอุดมการณ์ของตัวเอง 
แต่ก็อยากให้คิดเป็นรูปธรรมด้วย รูปธรรมคือเลือดที่กระฉูดออกมาจากศีรษะของคน 
จากหน้าอกของคน รูปธรรมคือน้ำตาของคุณพ่อคุณแม่ ของสามีภรรยา ของลูกผู้ที่สูญเสีย
รูปธรรมคือความเป็นเด็กกำพร้าของคนที่สูญเสียพ่อแม่ 
รูปธรรมคือความเคียดแค้นที่เกิดขึ้น ความเสียใจที่เกิดขึ้น อารมณ์ที่เกิดขึ้น 
หลังจากที่เกิดความสูญเสีย สิ่งเหล่านี้คือรูปธรรมทั้งสิ้น”
“ชีวิตเราไม่เหมือนรถไฟที่สับรางไม่ได้ เปลี่ยนทิศทางไม่ได้ 
ที่พอเริ่มแล่นแล้วมันต้องแล่นต่อไป ไม่ใช่ 
เราสามารถกำหนดชะตาชีวิตของเราได้ถ้าเรารู้ทั้งรู้
รู้เต็มอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราทำอย่างนี้ต่อไป
ทำไมไม่หยุดกัน หยุดกันดีกว่า เราเป็นคนไทยทุกคนนะ”
 
"ต้องตายอีกกี่ศพ ต้องตายกันทั้งประเทศเลยไหมจึงจะยอมจบ..."
    
คำพูดของภรรยาผู้สูญเสียสามีในสงครามกลางกรุงเทพฯ คือความรู้สึกเดียวกับคนไทยในเวลานี้ ...มันจะต้องสังเวยกันอีกสักกี่ชีวิต ในที่สุดเราก็ได้เดินมาสู่สงครามกลางเมืองกันจริงๆ แล้วใช่ไหม แม้รัฐบาลจะพยายามใช้คำว่าปฏิบัติการกระชับวงล้อมพื้นที่การชุมนุมก็ตามที แต่จนถึงนาทีนี้ตัวเลขคนเจ็บ-ตายก็ยังไม่นิ่ง ยากเกินจะประเมินว่าเราจะไปสิ้นสุด ณ จุดไหนของความหายนะ 
 
โศกนาฏกรรม..เหนือกว่านามธรรม
"ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปมันไม่ดีแน่ๆ มีคนพูดแล้วว่าเป็นสงครามกลางเมืองแต่ผมไม่อยากคิดอย่างนั้นนะ แต่ดูภาพแล้วมันก็อดคิดไม่ได้ ผมคิดว่ามันไม่ห่างไกลแล้ว เราต้องผ่านช่วงนี้ให้ได้ก่อน ผมคิดว่าเราต้องหันหน้าเข้ามาเพื่อดูกันอีกทีว่าเราจะเริ่มต้นใหม่อย่างไร ไม่ให้สถานการณ์มันลากไปอย่างนี้ คือถ้าเรากังวลเรากลัวว่าเรากำลังจะก้าวไปสู่ภาวะสงครามกลางเมือง ทำไมเรายอมล่ะครับ ชีวิตเราไม่เหมือนรถไฟนะครับที่สับรางไม่ได้ เปลี่ยนทิศทางไม่ได้ พอเริ่มแล่นแล้วมันต้องแล่นต่อไป ไม่ใช่ เราสามารถกำหนดชะตาชีวิตของเราได้ถ้าเรารู้ทั้งรู้ รู้เต็มอกว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราทำอย่างนี้ต่อไป ทำไมไม่หยุดกันล่ะครับ หยุดกันดีกว่าครับ เราเป็นคนไทยทุกคนนะครับ ผมบังเอิญมีงานที่โรงพยาบาลวชิระฯ ก็เลยไปเยี่ยมเสธ.แดง เพราะผมก็เห็นใจลูกสาวเขา อยู่กับพ่อสองคน แม่เสียมา 6 ปีแล้ว เด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เวลาเราพูดเราวิเคราะห์ความขัดแย้งทางการเมือง วิเคราะห์วิกฤตการณ์ทางการเมือง มันมีความเป็นนามธรรมเยอะ แต่พอความขัดแย้งหรือวิกฤตการณ์นั้นมันนำไปสู่ความสูญเสีย มันเป็นรูปธรรมแล้ว มันเป็นโศกนาฏกรรมสำหรับบุคคล เป็นโศกนาฏกรรมสำหรับครอบครัวของผู้ที่ได้รับความสูญเสีย ผู้ที่เสียชีวิต ในที่สุดแล้วพวกเราเป็นคนไทยกันทุกคน ดังนั้นผมคิดว่า ใช่ เราต้องมองในภาพใหญ่ว่าความขัดแย้งทางการเมืองนั้นมีความสำคัญ ทั้งสองฝ่ายก็มีเหตุผล ทั้งสองฝ่ายก็ต้องยืนยันความคิดและอุดมการณ์ของตัวเอง แต่ผมก็อยากให้คิดเป็นรูปธรรมด้วย รูปธรรมคือเลือดที่กระฉูดออกมาจากศีรษะของคน จากหน้าอกของคน รูปธรรมคือน้ำตาของคุณพ่อคุณแม่ ของสามีภรรยา ของลูกผู้ที่สูญเสีย รูปธรรมคือความเป็นเด็กกำพร้าของคนที่สูญเสียพ่อแม่ รูปธรรมคือความเคียดแค้นที่เกิดขึ้น ความเสียใจที่เกิดขึ้น อารมณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากที่เกิดความสูญเสีย สิ่งเหล่านี้คือรูปธรรมทั้งสิ้น"
 
นี่คือความรู้สึกหลังกลับจากปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลวชิระฯ และได้ใช้โอกาสนี้แวะถามไถ่อาการเสธ.แดงจากแพทย์ พยาบาล
 
"ดังนั้นผมคิดว่าเรามองภาพใหญ่ได้ ผมก็เป็นนักรัฐศาสตร์ผมก็ต้องมองภาพใหญ่ได้ แต่ว่าอย่ามองภาพใหญ่แล้วลืมรูปธรรม รูปธรรมคือโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับคน คนที่เป็นคนไทยด้วยกัน บางทีถ้าเราเริ่มด้วยรูปธรรมมันอาจจะหาข้อยุติได้นะครับ ผมมีความรู้สึกเหมือนกันไม่ว่าผมจะเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเข้มข้นอย่างใด ไม่ว่าผมจะมีความรู้สึกไม่สบายใจต่อเสธ.แดงแค่ไหนอย่างไร ความรู้สึกที่ผมมีในวันนี้เหมือนกับความรู้สึกที่ผมมีในวันที่ผมไปพบภรรยาของ พ.อ.ร่มเกล้า ไปรดน้ำศพ พ.อ.ร่มเกล้า ความรู้สึกเหมือนกันครับ ภรรยาของ พ.อ.ร่มเกล้าเป็นลูกศิษย์ผม ต้องเป็นผู้ที่สูญเสียสามีที่เพิ่งแต่งงานไม่นาน วันนี้พบลูกสาวของเสธ.แดง ลูกสาวที่เพิ่งสูญเสียแม่ไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว และก็อยู่กับพ่อสองคน ความรู้สึกไม่ได้แตกต่างกันครับ เพราะความรู้สึกเสียใจ เศร้าสลดใจ มันมาจากรูปธรรมครับ รูปธรรมคือน้ำตาของภรรยา พ.อ.ร่มเกล้า รูปธรรมของน้ำตาของน้องเดียร์ ลูกเสธ.แดง ดังนั้นมองภาพใหญ่ได้ แต่อย่าลืมรูปธรรมครับ"
 
นี่คือสิ่งที่จับต้องได้ของคนที่สูญเสียจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์-ความเชื่อ
"อุดมการณ์ก็สำคัญผม เป็นนักรัฐศาสตร์จะพูดได้อย่างไรว่าอุดมการณ์ไม่สำคัญ แต่คนที่มองภาพใหญ่ต้องอย่าลืมรูปธรรม และอย่าลืมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราเป็นไทยด้วยกันทั้งนั้น"
 
แต่ความเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามก็ทำให้คนส่วนหนึ่งรู้สึกสะใจในความสูญเสียของอีกฝ่าย
"ผมไปเยี่ยมเสธ.แดงไม่ได้ไปเพราะความชื่นชมในตัวเสธ.แดง ผมไปเพราะความเสียใจแทนลูกสาวเขา ลูกสาวที่อยู่กับพ่อมาโดยตลอด ผมไปวันนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าในที่สุดแล้วพวกเราก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น จะผิดจะถูกอะไรยังไงพวกเราก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งหมด ความสูญเสียที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นกับพวกเราได้ทุกคน ถึงได้บอกว่าความรู้สึกที่มีในวันนี้ไม่ได้ต่างจากวันที่ผมรดน้ำศพ พ.อ.ร่มเกล้าเลย คือคนตายไปแล้วก็ตายไปแล้ว แต่คนที่อยู่ต้องทุกข์ทรมาน และนี่คือผลของความสูญเสีย ผมถึงอยากให้มองอะไรที่เป็นรูปธรรมด้วย อุดมการณ์สำคัญครับ ผลประโยชน์ของประเทศชาติในสายตาของเราสำคัญครับ แต่อย่าลืมรูปธรรม เราลืมรูปธรรมเมื่อไหร่สังคมมีปัญหานะครับ อ้อคนตายร้อยคน สองร้อยคน พันคน ไม่สำคัญ แต่คิดไปคิดมาตายเป็นล้านคนได้นะครับ เราจะขีดเส้นที่ไหนครับ โอ้ยตายแค่นี้ไม่เท่าไหร่หรอกเพื่อความก้าวหน้าของสังคม เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ตายแค่นี้ไม่เป็นไรหรอก คิดได้ครับ แต่คุณขีดเส้นที่ไหนครับ ร้อยคน พันคน หมื่นคน หรือในที่สุดมันต้องกลายเป็นล้านคนหรือเปล่า คนที่เป็นผู้นำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ก็คิดเหมือนกันแหละครับ ต้องมีคนตายเพื่อที่เรียกว่าสันติภาพที่ยั่งยืน สันติภาพชั่วนิรันดร์ แต่ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ตาย 30 ล้านคน ต่อมาจนวันนี้ก็ยังไม่เห็นมีสันติภาพชั่วนิรันดร์ นามธรรมและรูปธรรมต้องไปด้วยกันครับ"
 
รัฐบาลเองก็มีบทเรียนจากวันที่ 10 เม.ย.มาแล้วว่าการสลายการชุมนุมเสี่ยงต่อความสูญเสีย เจ็บตายอีกมาก การโอบล้อมพื้นที่ครั้งนี้รัฐบาลก็รู้อยู่แล้วว่าหลีกเลี่ยงการสูญเสียไม่ได้
"ผมเข้าใจความลำบากใจของท่านายกรัฐมนตรีนะครับ ผมเห็นใจท่านนายกรัฐมนตรีอย่างมากเลย ผมก็ไม่แน่ใจว่าถ้าเป็นคนอื่นจะทำดีกว่านี้หรือไม่อย่างไร ท่านอยู่ภายใต้การกดดันเยอะมาก แต่สิ่งหนึ่งซึ่งต้องทำคือถ้าประกาศจุดยืนที่เข้มข้น ประกาศจุดยืนที่แข็งขัน มันจะต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลัง ถ้าประกาศออกมาว่าจะมีมาตรการอย่างเข้มข้น โดยที่ไม่มีอะไรอยู่ข้างหลัง ยังไม่ได้ทำการบ้าน ในที่สุดแล้วมันก็เป็นเพียงคำพูด จำได้ไหมครับรัฐบาลประกาศว่าจะตัดน้ำตัดไฟคืนวันที่ 12 พ.ค.แต่ต่อมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือประปากับไฟฟ้าบอกว่าทำไม่ได้ คือทำได้หรือไม่ได้ต้องมีเป็นข้อยุติก่อนที่รัฐบาลจะประกาศออกมา นี่ผมถึงได้บอกว่าผมเข้าใจเจตนาของท่านายกรัฐมนตรี ไม่อยากรุนแรงไม่อยากทำอะไรที่ก่อให้เกิดความสูญเสียในทางไหนทั้งสิ้น แต่ว่าเวลาแสดงความเข้มออกมาถ้ารัฐบาลแสดงความเข้มออกมามันต้องมีอะไรอยู่ข้างหลัง มิฉะนั้นแล้วมันจะกลายเป็นเพียงคำพูด ถ้าเราจะวาดเสือให้วัวกลัว ถ้าวัวไม่กลัวคุณต้องเอาเสือจริงมาให้วัวดูนะ ถ้าไม่อย่างนั้นก็เป็นเพียงกระดาษ"
 
"มีใครให้คำปรึกษากับท่านดีพอหรือเปล่าว่าถ้าจะประกาศออกไปทุกอย่างมันต้องลงตัวก่อนแล้ว ไม่ใช่มาบอกว่าขีดเส้นตายตรงนี้แล้วก็กลับไปปรึกษา พอเส้นตายนั้นผ่านไปแล้วต้องกลับไปปรึกษาคนอื่นว่าทำได้หรือไม่ เส้นตายก็คือเส้นตายครับ พอเส้นตายบ่อยๆ แล้วไม่ทำอะไรตัวเองตายนะครับ ถ้าจะพูดอะไรต้องมีอะไรอยู่ข้างหลัง มีสนับสนุนอยู่ข้างหลังมีอะไรอยู่ในมือ มิฉะนั้นก็เป็นเพียงคำพูด จะวาดเสือให้วัวกลัวถ้าวัวไม่กลัวก็ต้องเอาเสือตัวจริงมาให้ดูนะ ไม่ใช่ว่าวาดเสือให้วัวกลัวแล้ววัวไม่กลัวคุณต้องวิ่งเข้าป่าไปหาเสือมาให้วัวดู ผมว่าคนที่ให้คำปรึกษากับท่านต้องพิจารณาตนเองให้ดีแล้วนะครับ"
 
"ตอนนี้เหตุการณ์มันไม่ได้ต่างจาก 10 เม.ย.ผมก็ติดตามข่าวในคืนแรกวันที่ 12 พ.ค.รูปแบบมันก็คล้ายกับวันที่ 10 เม.ย. พอเกิดความสูญเสียให้ถอน แต่การถอนในวันที่ 10 เม.ย.ก็ไม่ได้เป็นขบวนทัพเลยโดนหนัก ก็เลยมีปัญหา คราวนี้ก็เหมือนกันพอเหตุร้ายเกิดกับเสธ.แดงคืนวันพุธทหารก็ถอน ตอนนั้นผมว่าท่านนายกรัฐมนตรีก็มีความห่วงใยไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย แต่ว่ามันก็สามารถที่จะมีคำถามได้ว่าการชักเข้าชักออกอย่างนี้จะทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปอีกนานแค่ไหน ผมเข้าใจท่านนายกรัฐมนตรีครับ ผมรู้จักท่านมาสิบกว่าปีแล้ว ผมยังรักท่านเคารพท่านทุกอย่างเหมือนเดิม และผมก็เชื่อครับเชื่อด้วยความจริงใจบริสุทธิ์ใจว่าท่านไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย ท่านรักพี่น้องประชาชนและเป็นนักการเมืองตั้งแต่อายุนิดเดียว ยี่สิบกว่า แต่ว่ามันก็เป็นคำถามว่าตอนนี้มันจะทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปอีกหรือเปล่า ซึ่งมันก็ไม่ดีสำหรับใครทั้งสิ้น"
 
ยังทันไหมที่จะเลือกทางออกด้วยการยุบสภาทันที
"ผมเข้าใจท่านายกรัฐมนตรีว่าจะยุบสภาทันทีก็ไม่ได้ ก็มีข้อกังวลหลายข้อด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องของกระบวนการหาเสียงเท่านั้นว่าจะปลอดภัยแค่ไหน เรื่องของงบประมาณ มันหลายเรื่องด้วยกัน ผมอาจจะไม่มีคำตอบอะไรที่ดีกว่านายกรัฐมนตรี ในหลายเรื่องด้วยกันผมคิดว่าท่านก็ต้องตัดสินใจ ถ้าไม่เจรจาหรือยุติด้วยการเจรจาไม่ได้จะทำอย่างไร ถ้าจะต้องแสดงความเข้มข้นบางทีก็ต้องเข้มข้นจริง ถ้าไม่อยากให้เกิดความสูญเสียมันก็มีทางเลือกครับ ยุบสภาเลยหรือว่าเปลี่ยนรัฐบาล มันก็มีทางออกอยู่ไม่กี่ทางหรอกครับ"
 
ตอนนี้ไม่เหมือนตอน 10 เม.ย.มันเป็นเหมือนสงครามกองโจร ถึงรัฐบาลจะเจรจากับแกนนำ นปช.แต่แนวร่วมเสื้อแดงก็อาจจะไม่ฟังแล้ว
"ถ้าใจอยากเจรจาอีกทีมันก็ทำได้ ไม่รู้จะเจรจากับใครก็หาคนเจรจาให้ได้สิครับ เราเป็นฝ่ายรัฐบาล ในที่สุดแล้วก็ต้องหาคนเจรจาให้ได้ครับ"
    
นานาชาติเป็นกังวลกับสถานการณ์มากขึ้น (เลขาฯ ยูเอ็นออกแถลงการณ์) มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะเข้ามาแทรกแซง
"นานาชาติจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองประเทศอื่นได้มันต้องเป็นปัญหาอย่างที่ติมอร์ตะวันออก ถึงจะเข้ามามีบทบาท ติมอร์ตะวันออกกว่าที่ยูเอ็นจะตัดสินใจนั้นตายกันไปเท่าไหร่แล้ว อาจจะหลักหมื่นก็ได้ ดังนั้นมันยังไม่ใช่ ไม่มีต่างชาติเข้ามาหรอกครับ อย่างคณะทูตต่างประเทศเขาตั้งใจที่จะไม่เข้ามาแทรกแซงในกิจการภายในของเรา เพียงแต่เขาก็ขอความเห็นใจบ้าง รัฐบาลน่าจะมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิดปกติอะไรที่เขาจะคุยกับฝ่ายเสื้อแดง หรือกับพรรคเพื่อไทย เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อรับทราบข้อมูล ผมคิดว่าเขาก็กังวลในเรื่องนี้ว่ารัฐบาลมองเขาในแง่ที่ไม่ดีหรือเปล่า ที่ไปพูดกับเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทย เจตนาเขาไม่ได้ต้องการที่จะเป็นผู้แทรกแซง หรือเป็นผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล เขาทำหน้าที่ของเขา ทุกสถานทูตต้องรายงานกลับไปที่รัฐบาลของเขาเองว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร แล้วจะให้เขาทำอย่างไรครับ ให้เขานั่งดูข่าว NBT เท่านั้นเหรอครับ อ่านบางกอกโพสต์-เนชั่นเท่านั้นเหรอครับ มันก็ไม่ถูก"
 
ตอน ปชป.เป็นฝ่ายค้านก็มีกรณีนี้อยู่ออกบ่อย
"ตอนเราเป็นฝ่ายค้านเราก็มีกรณีที่ทูตอื่นมาพบเรา หรือว่ารัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยของประเทศอื่นมาพบเรา ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติอะไร ทูตหลายคนตอนสมัยนั้นท่านหัวหน้าชวน เวลาทูตมารับตำแหน่งใหม่ก็จะมาเยี่ยมคารวะหัวหน้าพรรคของเรา ก็ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไร เราก็ต้องเข้าใจหัวอกเขา"
 
คงพอจะเดาได้ว่าคนที่ออกมาตำหนิเรื่องมารยาทการทูตมากที่สุดก็คือ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ
"ผู้นั้นก็ถือว่าเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการต่างประเทศ จะบอกว่าเป็นคนคนเดียวคงไม่ได้"
 
รวมทั้งกรณีผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐพบกับจาตุรนต์-นพดล
"ผมก็ถือว่าปกติ"
 
'โรดแม็พ'รีบร้อน
แม้จะเป็นคนของประชาธิปัตย์ แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ก็ให้สัมภาษณ์หลังโรดแม็พของนายกฯ อภิสิทธิ์ออกมาได้เพียงไม่กี่วันว่าความขัดแย้งไม่มีทางยุติโดยเร็ว-และก็เป็นดังคาด    
 
"ผมไม่เคยคิดนะครับว่าจะมีข้อยุติโดยเร็วหลังจากการประกาศโรดแม็พ และผมคิดมาโดยตลอดว่ามันหาข้อยุติโดยเร็วไม่ได้ โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงอีกครั้งหนึ่งมันมีอยู่เสมอ ผมก็คิดมาโดยตลอด ไม่ได้แช่งให้ล้มเหลวไม่ได้หวังให้ล้มเหลว ไม่ใช่ ผมมีเหตุผลตั้งแต่ต้นแล้ว คงไม่ยุติในวันสองวัน เพราะทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ทำการบ้าน ต้องกลับไปทำการบ้านก่อน ยังไม่มีความตกลงเบื้องต้น และท่านนายกฯ ประกาศออกมาด้วยความหวังดี ใช่ แต่ว่ามันไม่ใช่เป็นการต่อรองที่จะหาข้อยุติโดยเร็วได้ ในเมื่อมันยืดเยื้อออกไปโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงมันก็มีอยู่เสมอ ผมไม่เคยคิดเป็นอย่างอื่นเลย หลังจากที่แกนนำเสื้อแดงประกาศว่ารับหลักการของโรดแม็พแล้ว ทีมงานของผมก็บอกว่าพรุ่งนี้ท่านผู้ว่าฯ จะไปดูเรื่องการรับมอบพื้นที่คืนไหม จะไปดูเรื่องการทำความสะอาดสี่แยกราชประสงค์ไหม ผมบอกว่าเวลานั้นยังมาไม่ถึง ยังไม่ถึงเวลานั้น ผมก็มีเหตุผลตรงนี้ว่ามันยังหาข้อยุติโดยเร็วไม่ได้ ผมพูดด้วยความเสียใจนะครับว่าคำทำนายของผมเป็นจริง ผมก็อยากให้ยุติโดยเร็ว แต่มองรูปการณ์แล้วมันไม่มีทางยุติได้โดยเร็ว และในเมื่อมันยืดเยื้อออกไปความรุนแรงมันก็เกิดขึ้นทุกเวลา และก็เป็นจริงตามนั้น"

"ผมเชื่อว่าการประกาศโรดแม็พก็เป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ มันสะท้อนถึงความตั้งใจของท่านายกรัฐมนตรีที่จะหาข้อยุติที่ไม่ใช่เป็นข้อยุติชั่วคราว ไม่ใช่เป็นข้อยุติเพียงเพื่อให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมเท่านั้น แต่เป็นข้อยุติที่ยั่งยืน ที่จะเป็นการแก้ไขปัญหาครบวงจร ไม่ว่าจะเป้นปัญทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม แต่ที่สำคัญคือเป็นเพียงการประกาศเจตนารมณ์ ซึ่งมันไม่เหมือนกับการนำข้อเสนอเพื่อการเจรจาต่อรอง การที่ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศออกมาผมคิดว่ามันก่อให้เกิดแรงกดดันในหลายทางด้วยกัน ซึ่งมันจะทำให้เกิดข้อยุติยาก การยุติการยกเลิกการชุมนุมยาก ประการแรกตามที่ท่านนายกฯ ประกาศ ซึ่งผมเชื่อว่าด้วยความหวังดีได้ประกาศว่าจะยุบสภาวันที่ 14 พ.ย.ในที่สุดแล้วท่านก็ต้องอธิบาย ต้องกลับไปอธิบายกับคนที่เคยสนับสนุนท่าน ไม่ว่าจะเป็นนอกพรรคซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มเสื้อเหลืองก็ได้ หรือภายในพรรค จะเป็น ส.ส.สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ท่านก็ต้องอธิบายว่าทำไมยอมต่อข้อเรียกร้องให้มีการยุบสภาก่อนกำหนด ท่านก็ต้องอธิบายว่าทำไมจู่ๆ จะต้องมาสัญญาตรงนี้ว่าการที่จะพยามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสภาหมดอายุ ทำไมท่านจะต้องยุบสภาตอนนี้ ทำไมเป็น 5 เดือน ไม่เป็น 6 เดือน 7 เดือน 8 เดือน ต้องอธิบายสิ่งเหล่านี้ซึ่งในขณะนั้นท่านเองไม่ได้อธิบาย ดังนั้นท่านก็ต้องกลับไปทำการบ้าน ในส่วนหนึ่งคือผู้ที่สนับสนุนท่าน ก็เป็นจริงตามนี้ กลุ่มเสื้อแดงก็ออกมาทันที ท่านประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่เห็นด้วย และผมก็เชื่อว่า ส.ส.ในพรรคจำนวนมากก็ยังมีข้อกังขา ประกาศออกมาแล้วก็ชัดเจนว่าท่านต้องกลับไปทำการบ้านในส่วนที่พรรคพวกที่เคยสนับสนุนท่านหรือคนของพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นผมจึงบอกว่าอย่างน้อยที่สุดมันต้องใช้เวลาหลายวัน"
 
"ในส่วนของผู้ชุมนุมเสื้อแดง ผมคิดว่าการที่เขาตอบรับโดยเร็วว่ารับโรดแม็พโดยหลักต่างๆ มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะนำไปสู่ข้อยุติโดยเร็วได้ ประการแรกผู้ชุมนุมจะพูดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากบอกว่าเขายอมรับในหลักการ ไม่รับพิจารณาเลยไม่ได้ เพราะหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลจุฬาฯ แล้ว ทางกระแสสังคมกดดันผู้ชุมนุมค่อนข้างเยอะ ถ้าปฏิเสธข้อเสนอของท่านายกรัฐมนตรีทันทีมันก็จะยิ่งมีกระแสสังคมกดดันเพิ่มขึ้น ดังนั้นอย่างไรก็ต้องรับ แต่ว่าจะรับโดยไม่มีเงื่อนไขก็ไม่ได้เหมือนกัน เพราะรับแค่ยุบสภาเลือกตั้งอีก 7 เดือนก็ต้องกลับไปอธิบายกับพลพรรคของตัวเอง แกนนำเสื้อแดงก็ต้องไปอธิบายกับคนเสื้อแดงว่าทำไมเคยเรียกร้องให้ยุบสภาเดี๋ยวนี้ หรืออย่างมากที่สุด 30 วัน กลับยอมให้ยุบสภาในเดือน ก.ย.และเลือกตั้งเดือน พ.ย. เขาก็ต้องไปอธิบายกับคนของเขา ฝ่ายเขาก็ต้องทำการบ้านเหมือนกัน ดังนั้นการที่เขาประกาศออกมาทันทีว่ารับในหลักการ จึงไม่ได้บ่งชี้ว่าจะยุติ เพราะเขาเองก็ต้องกลับไปทำการบ้าน ไม่ใช่ว่ารับปากเลย แกนนำรับปากเลยโอเค ไม่ได้ เพราะว่าในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา แกนนำเสื้อแดงปราศรัยบนเวทีเรียกร้องให้ยุบสภาทันที หรือไม่อย่างมากที่สุด 30 วัน ขอให้พี่น้องชาวเสื้อแดงตรากตรำ ตากแดดตากฝน เพื่อกดดันรัฐบาลในเรื่องนี้ แต่จู่ๆ มาปรับท่าทียอมรับยุบสภาเดือน ก.ย.ก็ต้องอธิบาย ดังนั้นการที่เขารับในหลักการตอนต้นไม่ได้บ่งชี้ว่าจะต้องการยุติโดยเร็ว นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมเห็นว่าไม่น่าจะเกิดข้อยุติโดยเร็ว"
 
"ประการต่อมาข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีจริงๆ แล้วไม่มีอะไรผูกมัดนะครับว่าจะยุบสภาเมื่อไหร่ และฝ่ายเสื้อแดงเขาก็ต้องมีความกังวลในเรื่องนี้ สมมติยอมรับโรดแม็พของท่านนายกรัฐมนตรี สลายตัวแล้วถ้ามีการเปลี่ยนรัฐบาล รัฐบาลใหม่ขึ้นมาโดยไม่มีการยุบสภานะ บอกผมไม่ได้รับรู้เรื่องนี้ มันจบแล้วไม่ใช่เหรอ"
 
เลือกตั้ง 14 พ.ย.จึงไม่มีความหมาย
"ผมคิดว่าไม่มีความหมายเท่ากับประกาศชัดเจนว่ายุบสภาวันไหน ดังนั้นในวันนั้นที่มีการประกาศโรดแม็พและต่อมาแกนนำเสื้อแดงรับในหลักการ มันไม่ใช่เป็นหลักว่าจะมีข้อยุติโดยเร็ว ทั้งสองฝ่าย ทั้งท่านนายกรัฐมนตรีและก็ทางแกนนำเสื้อแดงก็ต้องกลับไปอธิบาย ไปทำการบ้านต่อ ซึ่งกรณีเสื้อแดงก็มีปัญหาเหมือนกัน กลุ่มของเขาก็ไม่ยอมรับเหมือนกัน เป็นสาเหตุที่ผมวิเคราะห์แล้วว่าไม่น่าจะยุติได้โดยเร็ว ในที่สุดที่ผมคิดมันก็เป็นจริง ตอนนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติได้"
 
เงื่อนไขที่เปลี่ยนไปทุกวันของ นปช.ก็เป็นแค่เกมมากกว่าตั้งใจจะปรองดอง
"จะว่าเป็นเกมก็เกม แต่บอกว่ามันก็เป็นสิ่งที่ย่อมคาดคะเนได้ตั้งแต่ต้นแล้ว อย่างที่ผมได้คิดไว้ตั้งแต่ต้นแล้วเขารับในหลักการ แต่เขายอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขไม่ได้ เขาไม่มีทางจะอธิบายกับพลพรรคเขาได้ ดังนั้นเขาจึงได้มีเงื่อนไขตามมา และก็ประกอบกับชัดเจนว่าแกนนำเสื้อแดงเองก็ไม่มีเอกภาพ มันก็ยิ่งมีปัญหามากในการเจรจา ผมคิดว่าการจะยุติปัญหานี้ทั้งสองฝ่ายไม่ควรประกาศออกมาก่อนว่าจะเสนออะไรหรือไม่เสนออะไร ผมคิดว่าควรจะเจรจาเงียบๆ กันก่อน หาข้อยุติเบื้องต้น ค่อยๆ ประกาศออกมา โรดแม็พที่ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศออกมาโดยผมคิดว่าไม่มีข้อยุติเบื้องต้น หรือไม่มีข้อยุติเบื้องต้นที่แท้จริง มันก็เป็นปัญหาอย่างนี้"
 
ขณะนั้นเป็น timing ที่รัฐบาลฉวยจังหวะเสื้อแดงเสียเปรียบ จึงประเมินว่าข้อเสนอจะได้รับการตอบรับโดยไม่มีเงื่อนไข
"ผมเชื่อว่าเจตนาของท่านนายกฯ อยากหาทางออก และผมว่าตอนนั้นเสื้อแดงก็ยากหาทางลงเหมือนกัน แต่ด้วยกระบวนการของมันมันเป็นเช่นนั้น ผมจึงตอบได้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ผมไม่ได้บอกว่าแต่ละฝ่ายมีเจตนาที่ไม่ดี ทั้งสองฝ่ายอยากจะลงแล้ว"
 
ที่จริงก่อนนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ เรียกว่าคุ้นเคยกับบรรยากาศหลังเวที นปช.อยู่พอสมควรในฐานะผู้ว่าฯ  กทม.ก็ส่วนหนึ่ง แต่สำคัญกว่านั้นคือได้รับความไว้วางใจจากทั้งนายกฯ และแกนนำ นปช.ให้ทำหน้าที่เสมือนตัวกลางนำสาร
"ผมเข้าไปตอนที่ย้ายไปราชประสงค์ ผมไม่ได้เข้าไปเจรจาเรื่องนี้ ผมเข้าไปเรื่อง กทม. ตอนที่เข้าไปอยู่ราชประสงค์ผู้ชุมนุมมีปัญหาบางประการที่ผมต้องขอความร่วมมือจากผู้ชุมนุม เรื่องแรกคือเรื่องลาน ร.6 มีผู้ชุมนุมไปอยู่จำนวนมาก ผมไม่อยากให้มีการทำในสิ่งไม่ถูกไม่ควร ทั้งตากผ้าอะไรอย่างนี้ ซึ่งเป็นลานที่มีความหมายมากทางประวัติศาสตร์ของเรา เขาก็ให้ความร่วมมือ อีกเรื่องหนึ่งก็คือเสียงที่ดังเข้าไปในวังสระปทุม ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประทับอยู่ ผมก็ขอความร่วมมือในเรื่องนี้ ลดเสียงผ่านลำโพงอะไรก็ตาม เรื่องที่สามคือจัดระเบียบสวนลุมพินี ดีที่สุดคือไม่มีคนอยู่ในสวนลุมเลย แต่ว่าถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ขอให้มีความเป็นระเบียบ ที่รับปากร่วมมือก็มีอยู่ 3 เรื่อง ทางคุณณัฐวุฒิก็ได้ใช้โอกาสนั้นคุยกับผมเรื่องอื่นด้วย ซึ่งผมก็ได้ความไปกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรีว่าทางเขามีความคิดอะไร มีความกังวลอะไร แล้วผมก็ถามท่านนายกรัฐมนตรีว่าแล้วจะให้ผมทำอย่างไรต่อไป ท่านก็บอกว่าคุยๆ ต่อไป ผมก็ไปคุย แต่ไม่ได้เป็นการเจรจาต่อรอง ผมไม่ได้นำข้อเสนอของท่านนายกรัฐมนตรีไปบอกว่าท่านนายกฯ เสนอ 5 เดือน 7 เดือนอะไรก็ตามท่านจะเอาไหม ไม่ใช่ แต่ไปรับฟังว่าเขาคิดเห็นอย่างไร และผมก็ไปกราบเรียนท่านนายกฯ ท่านนายกฯ มีความคิดเห็นอย่างไรผมก็ไปบอกเขา ดังนั้นอาจจะเรียกว่าเป็นแม่สื่อก็ได้มั้ง เพราะผมมองว่าบางทีคนเราต้องแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าว นายกรัฐมนตรีก็ต้องแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าว เพราะท่านมองว่าพวกนี้ทำผิดกฎหมาย พวกเสื้อแดงทำผิดกฎหมาย พวกเสื้อแดงออกปราศรัยก็ต้องพูดอะไรที่มันแข็งกร้าว พอพูดอะไรที่มันแข็งกร้าวแล้วโดยไม่มีการอธิบายเหตุผล มันจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยิ่งรู้สึกโกรธแค้น ดังนั้นผมมองว่าถ้ามีใครไปช่วยคุยหน่อย ไปรับฟัง ช่วยอธิบาย อธิบายกับเสื้อแดงว่าท่านนายกรัฐมนตรีมีข้อกังวลเรื่องนี้นะ เช่น ถ้าตกลงกันแล้วแล้วรู้ได้อย่างไรว่าการหาเสียงจะออกมาเป็นแบบไหน ท่านอาจจะกังวลว่าจะไปหาเสียงในอีสานได้หรือเปล่า ในภาคเหนือได้หรือเปล่า หรือถ้าจะมีข้อยุติกันเสื้อแดงก็ต้องทำให้ท่านหายกังวลในเรื่องนี้ และผมก็กราบเรียนท่านว่าเสื้อแดงมีข้อกังวลอะไรด้วยเหตุผลใด ท่านก็รับทราบ ซึ่งผมคิดว่าอาจจะไมใช่เป็นการดำเนินการที่จะหาข้อยุติโดยเร็ว แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดสร้างความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น ก็ได้เข้าไปคุยกับณัฐวุฒิ 3 ครั้งด้วยกัน และก็คืนวันที่ 22 เม.ย.เหตุการณ์ที่สีลม ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้มอบหมายให้ผมเข้าไปคุยเรื่องการถอนตัวออกจากสี่แยกศาลาแดง ซึ่งในชั้นแรกเขาก็ยอมถอน 200 เมตร ผมก็บอกว่าไม่พอ ท่านนายกรัฐมนตรีขอให้ถอยไปแนวถนนสารสิน เขาก็รับปากในหลักการ แต่ขอเข้าไปดูพื้นที่จริงก่อนว่าจะเคลื่อนย้ายได้แค่ไหน อย่างไร เพราะว่าเขากลัวคนของเขาไม่มีที่นอน หลังจากนั้นผมก็ไปติดตามเรื่องนี้ เขาก็รับปากโดยดี ทางเสื้อแดงเขาก็ให้สิ่งที่ผมไม่ได้ขอ คือยืดเวลาแทนที่จะเรียกร้องให้ยุบสภาทันทีก็ยืดเป็น 30 วัน ซึ่งหลังจากนั้นณัฐวุฒิก็ประกาศบนเวทีประมาณ 4 โมงเย็น ของวันที่ 23 เม.ย. หลังจากนั้นผมก็ไปเรียนท่านนายกรัฐมนตรี วันเสาร์ผมก็ถามท่านนายกฯ ว่าจะให้ทำอะไรต่อ ท่านบอกให้คุยต่อ ผมก็เลยนัดคุณณัฐวุฒิบ่ายสองครึ่ง วันที่ 24 เม.ย แต่พอบ่ายสองโมง ท่านนายกฯ ก็ส่งข้อความมาว่าขอให้ชะลอการเจรจา ผมเลยกลับไปหาคุณณัฐวุฒิและบอกว่าผมมาวันนี้ไม่ได้มาพูดคุยด้วยนะ มาเรียนท่านว่าผมคงไม่สามารถพบท่านได้อย่างน้อยสักพักหนึ่ง ผมก็ยุติตรงแค่นั้น"
 
ศิลปะการเจรจาแบบนักการทูตช่วยให้พูดกับเสื้อแดงง่ายขึ้น
"ถ้าจะให้ผมเดาก็คงต้องตอบว่าผมเป็นคนที่พูดคำไหนคำนั้น ผมพูดมาโดยตลอดตั้งแต่ผมรับตำแหน่งแล้วว่าหน้าที่ของผมไม่ใช่มาเลือกว่าจะอำนวยความสะดวกให้แก่สีใดกลุ่มใดพรรคใด ถ้ามีการชุมนุมและมีการร้องขอสิ่งอำนวยความสะดวก ผมมีหน้าที่ต้องอำนวยความสะดวกเท่าที่จะทำได้ ผมไม่เลือกสี และผมก็ได้มอบนโยบายกับท่านปลัดฯ แล้วว่าในกรณีที่มีการชุมนุมว่าจะให้หรือไม่ให้ห้องสุขาเคลื่อนที่ จะเก็บขยะหรือไม่เก็บขยะ จะให้รถน้ำหรือไม่ให้รดน้ำ ไม่ต้องมาถาม ให้ตามสมควร ไม่ว่าจะเป็นสีไหน เพราะผมไม่อยากให้เป็นเรื่องการเมือง อยากให้เป็นเรื่องของฝ่ายประจำ และผมก็ปฏิบัติมาโดยตลอด ในช่วงแรกของการชุมนุมเมื่อเดือน มี.ค. ที่เสียงสะท้อนจากเสื้อแดงว่า กทม.ไม่ช่วยอะไรเลย ผมก็ไม่ได้สะทกสะท้านอะไร ผมก็ทำเหมือนเดิม ต่อมาเขาก็รู้เองว่าผมทำจริง ผมไม่เคยเลือกสีเลือกปฏิบัติ ใครมีปัญหา ใครอยากชุมนุมขออำนวยความสะดวก ผมก็อำนวยความสะดวก ผมก็เปิดทางไม่เคยเป็นอย่างอื่น ความที่ผมเป็นคนพูดคำไหนคำนั้น และไม่เลือกปฏิบัติ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจในระดับหนึ่ง ไม่ได้เป็นคนที่หวังร้ายอะไรกับใคร"
 
อย่างนี้คงต้องสัมผัสได้ว่ามีทั้งสายเหยี่ยวและพิราบ
ผมคุยกับคุณณัฐวุฒิคนเดียว และผมคิดว่าคุยกับคุณณัฐวุฒิได้ เป็นคนที่พูดตรงไปตรงมา อะไรคิดว่าทำไม่ได้เป็นไปไม่ได้ก็พูดออกมา ก็ง่ายดี ไม่ได้หมายความว่าท่านเป็นคนที่ยอมเรื่องโน้นเรื่องนี้ง่าย ไม่ใช่ผมเข้าไป ผมก็ไม่เคยยอมเรื่องอะไรอยู่แล้ว ต่างคนต่างก็ไม่ได้ยอมอะไรกัน แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดมันมีบทสนทนาที่สร้างสรรค์ ไม่มีการชี้หน้าด่ากัน อย่างน้อยที่สุดมีความพยายามที่จะทำความเข้าใจต่อกันและกัน  ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญครับในสภาวะที่มีความขัดแย้งอย่างสูงเช่นนี้ การเจรจาจะเป็นการเจรจาม้วนเดียวจบไม่ได้ มันต้องเป็นเรื่องที่ต่อเนื่อง เริ่มต้นด้วยการสร้างความมั่นใจต่อกันและกันก่อน ก่อนที่จะนำไปสู่การหารือในสาระ มันไม่มีการเจรจาใดหรอกครับที่มันม้วนเดียวจบ ถ้าสภาวะนั้นเป็นสภาวะของความขัดแย้งเช่นนี้ ดังนั้นผมก็ถือว่าได้คุยกันอะไรที่เป็นประโยชน์ และคุณณัฐวุฒิก็พร้อมที่จะรับฟังข้อคิดเห็น ข้อคิดเห็นใดที่คุณณัฐวุฒิรับไม่ได้เขาก็บอกว่าด้วยเหตุผลใดที่รับไม่ได้ ไม่ใช่เอาอารมณ์นำ เอาอคตินำ ไม่เคยพูดแม้แต่ครั้งเดียวว่ารับไม่ได้ ผมไม่เชื่อนายกรัฐมนตรี หรือรับไม่ได้เพราะว่าท่านนายกรัฐมนตรีทำให้ผมโกรธมาก่อน ไม่เคย ซึ่งผมก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี"
 
การปรองดองจะสำเร็จต่อเมื่อต้องเจรจาก่อนเปิดเผยต่อสาธารณะ
"ผมไม่ทราบว่าที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวขึ้นมา ประกาศออกมานั้นมีการทำความตกลงเบื้องต้นหรือเปล่า เพราะว่าอย่างที่ผมได้พูดไว้ ผมไม่ได้เข้าไปเจรจาต่อรอง ผมเข้าไปช่วยสื่อสารช่วยอำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่าง 2 ฝ่ายเท่านั้น ไม่เหมือนกัน"
    
มีเสียงจากฝ่ายที่ต้องการความรุนแรงเคลมว่าแกนนำบางส่วนของ นปช.เกี้ยเซี้ยกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาล
"ไม่มี ผมไม่เคยทำความตกลงอะไรกับฝ่ายคุณณัฐวุฒิ ยกเว้นในเรื่องของ กทม.ในวันแรกที่ผมเข้าไป และก็ในเรื่องของการถอยห่างจากสี่แยกศาลาแดง"
 
ในแผนโรดแม็พ 5 ข้อดูเหมือนจะมีเพียงสิ่งเดียวที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม คือการปฏิรูปโครงสร้างสังคมไทย ด้วยฐานะและชาติกำเนิด ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ยากที่จะหลีกเลี่ยงการเป็นสัญลักษณ์ชนชั้นสูง ซึ่งเป็นชนชั้นในสังคมที่ต้องเสียประโยชน์จากความพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
"โครงสร้างของสังคมไทยคืออะไรครับ โครงสร้างของสังคมไทยเป็นโครงสร้างที่ไม่เหมือนสังคมในหลายๆ ประเทศนะครับ การเคลื่อนไหวการที่คนที่มาจากภูมิหลังที่เป็นชาวบ้านจริงๆ ขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตมันมีอยู่เสมอ แม้แต่คนจีนที่มาจากประเทศเขา ฝรั่งก็มา สมัยก่อนมาก็ได้เป็นใหญ่เป็นโตที่นี่ สังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้างจริงๆ คุณชวนก็ไม่ได้มาจากครอบครัวที่เป็นอำมาตย์ คุณทักษิณก็ไม่ได้มาจากครอบครัวอำมาตย์ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เดิมก็มาจากครอบครัวคนจีน มีนายกรัฐมนตรีที่เป็น ม.ร.ว.กี่คนครับ ในยี่สิบกว่าคน เป็นนายกรัฐมนตรีที่เป็น ม.ร.ว.กี่คนครับ ผมคิดว่าคนผู้น้อยมีโอกาสขึ้นมาเยอะมาก และยิ่งสมัยเผด็จการยิ่งมีโอกาสมาก คุมกำลังอยู่ในมือ ชาวบ้านชาวขอนแก่นขึ้นมาเป็นจอมพลได้ กุมชะตากรรมของประเทศอยู่ในเงื้อมมือคนเดียว โอ้โหสังคมของเราเป็นสังคมที่มีการเคลื่อนไหวสูงมาก เคลื่อนไหวจากล่างไปบนสูงมาก ดังนั้นผมไม่เคยเป็นห่วงเรื่องนี้ คนต่างชาติสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฝรั่งสมัยอยุธยาก็ได้เป็นใหญ่เป็นโต มีขุนนางเป็นฝรั่ง บรรพบุรุษของ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ก็เป็นฝรั่ง พวกบุนนาคก็เป็นคนเปอร์เซีย คนจีนเยอะแยะเลยสมัยนี้นักการเมืองไทยที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีเชื้อสายจีน เสื่อผืนหมอนใบ แต่ได้ดีในสังคมไทย ผมไม่เป็นห่วงเลยว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่แบ่งชั้นวรรณะถึงขั้นที่ยอมรับไม่ได้ ไม่จริงเลยครับ ตรงกันข้ามเลย"
 
จึงเป็นแค่วาทกรรม    
"ผมก็คิดว่าแค่วาทกรรมในการต่อสู้ ที่บอกว่าเสื้อแดงชอบผม อาจจะชอบในแง่ที่ว่าผมฟังเขา แต่ผมไม่ได้เห็นด้วยกับเขา ผมพูดกับคุณณัฐวุฒิว่าผมไม่ได้เห็นด้วยกับหลายๆ สิ่งที่คุณทำคุณพูด แต่ผมพร้อมที่จะรับฟัง รับฟังด้วยใจที่เป็นธรรม ผมคิดว่าแค่นี้ก็พอแล้ว และผมไม่ได้เห็นด้วยกับที่มาของทฤษฎีอำมาตย์กับไพร่ ที่มาคือลูกศิษย์ผม จักรภพ เพ็ญแข ผมไม่เคยสอนไปเอาตำรามาจากไหนไม่ทราบ ผมไม่เห็นด้วยอยู่แล้วในเรื่องนี้ การปรับสังคมการปรับโครงสร้างในสังคมน่าจะหมายถึงการเปิดโอกาสให้ผู้น้อยให้คนที่มีโอกาสน้อยมีโอกาสมากขึ้นเท่านั้น ตอนนี้ก็มีโอกาสอยู่แล้วครับ คนที่เป็นชาวบ้านธรรมดา อย่าง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เมื่อก่อนยังไม่มีรองเท้าใส่เลย ขี่จักรยานไปโรงเรียนไม่มีรองเท้าใส่ ขี่จักรยานผ่านป้ายหาเสียงมีชื่อคุณสุรินทร์ มาศดิตถ์ พ่อคุณหญิงสุพัตรา ชอบใจมากเลยเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นสุรินทร์ ถ้านั่งรถอาจจะไม่เห็นป้ายก็ได้ แต่นี่ขี่จักรยานไง คนอย่างนี้ไง แต่เป็นเลขาธิการอาเซียนนะครับ จบฮาร์วาร์ด ดังนั้นผมไม่เป็นห่วงเลย เพียงแต่ว่าสังคมไทยต้องให้โอกาสต่อคนด้อยโอกาสมากขึ้น โครงสร้างของสังคมไทยมีความยืดหยุ่นมีการหมุนเวียนอยู่แล้ว ก็ดูนักการเมืองเดี๋ยวนี้สิครับ มีสักกี่คนที่ครอบครัวเป็นอำมาตย์ คุณบรรหารเหรอครับ ไม่ใช่ใช่ไหม ในพรรคประชาธิปัตย์มีสักกี่คน ท่านนายกรัฐมนตรีอาจจะมาจากครอบครัวที่เป็นอำมาตย์หรือเป็นขุนนางเดิม แต่ลองดูสิครับสักกี่คน ฉะนั้นไม่ใช่นะครับ เดิมอาจจะใช่ผู้ก่อตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นอำมาตย์ แต่เป็นชาวบ้านเยอะมากนะครับ ชาวบ้านที่เป็นคนอีสานคนเหนือ คนธรรมดาสามัญชน"  
 
แต่ก็มีอำมาตย์ที่ยังต้องการเกาะกุมอำนาจต่อไป
"ผมพูดอย่างนี้ก็แล้วกัน คนที่เสื้อแดงไม่ชอบมากที่สุดถามว่ามาจากครอบครัวที่เป็นอำมาตย์หรือเปล่า เคยเป็นแม่ทัพภาค 2 ก่อนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะเป็นองคมนตรี ครอบครัวเป็นอำมาตย์หรือเปล่า ไม่ใช่นะ ฉะนั้นผมจึงไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวลอะไร หรือปิดกั้นอะไร คนเหล่านี้ก็ไม่ใช่อำมาตย์โดยพื้นฐาน"
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสื้อแดงนปช.เชียงใหม่ประท้วงคัดค้านพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เข่นฆ่าประชาชน

Posted: 17 May 2010 09:59 AM PDT

<!--break-->

เมื่อ 16 พ.ค. กลุ่มเสื้อแดง นปช.เชียงใหม่ ประมาณ 100 คน รวมตัวกันที่หน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ เคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือแต่อสถานกงสุลอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และจีน มีการเคลื่อนขบวนโดยรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ ไปรอบคูเมืองเชียงใหม่ และไปยื่นหนังสือและประท้วงผู้ว่าราชการจังหวัดที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่

นางพรรณี จตุพร ตัวแทน นปช.แดงเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่การชุมนุมแยกราชประสงค์มีผู้หญิง เด็ก คนแก่ชุมนุมนั้น ก็เพราะพวกเขามีสำนึกทางการเมือง มีความล้ำหน้าทางการเมืองไม่น้อยกว่าชาย ผู้ชายก็ออกไปต่อสู้ปกป้องผู้หญิง เด็ก เช่นกัน หากให้ผู้หญิงออกมาอยู่แนวหน้าก็จะได้รับอันตราย และขอยืนยันว่าผู้หญิงแถวหน้าไม่กลัวตาย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จำคุกผู้จะร่วมชุมนุมเพิ่มหลายราย ‘สรรเสริญ’ โชว์คลิป ชี้ผู้ก่อการร้ายทำร้ายประชาชน

Posted: 17 May 2010 08:09 AM PDT

<!--break-->

 
เวลา 20.45 น. พ.ต.อ.ทรงพล วัฒนะชัย รองผบก.น.1 ได้แถลงภายใน ศอฉ.ระบุว่า ศอฉ.เป็นห่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและได้เชิญผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยเฉพาะ สน. ในพื้นที่ท่าเรือ บ่อนไก่ สามเหลี่ยมดินแดง มากำชับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจและการสนธิกำลังกันระหว่างตำรวจทหาร และให้ไปแผนในการขอพื้นที่คืนจากผู้ชุมนุมที่กระจายอยู่โดยรอบ โดยกำชับว่าการปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของกฎหมายแต่ต้องมีความเฉียบขาด
นอกจากนี้ พ.ต.อ.ทรงพล ได้กล่าว รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินคดีรอบ 2 วันที่ผ่านมา ซึ่งมีการจับกุมผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่น สน.พญาไท จับกุมชายรายหนึ่งได้ที่ทางด่วนเพชรบุรี ศาลลงโทษจำคุก 10 เดือน , จับกุมชายคนหนึ่งพกพาไม้ ลูกแก้ว หนังสติ๊ก หน้ากากกันแก๊ส โทศัพท์มือถือ ที่บริเวณปั๊มเอสโซ่ปากซอยรางน้ำ ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี , จับกุมชายคนหนึ่งที่ปั๊มเอซโซ่ ซอยรางน้ำ ศาลพิพากษาจำคุก 6 เดือน, จับกุมจับสี่ราย ที่แยกราชเทวี พร้อมรถยนต์วีโก้ โตโยต้า ศาลพิพากษาจำคุก 6 เดือน, จับกุมชายพร้อม ลูกแก้ว น็อต หนักสติ๊ก บัตร นปช. หมวกนิรภัย หมวกไหมพรม ศาลพิพาษาจำคุก 1 ปี ทั้งหมดศาลพิพากษาไม่รอลงอาญา และเมื่อเช้ายังจับกุมผู้พกพา กระสุนปืน วิทยุสื่อสาร กล้องถ่ายรูป แต่อยู่ระหว่างการสอบสวน  
นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างที่น่าสนใจว่า สน.ปทุมวัน ได้จับกุมกรณีที่มีการกระทำความผิดในข้อหาร่วมกันใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะเข้าออกพื้นที่กำหนด ศาลแขวงปทุมวันพิพากษาระบุว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามคำฟ้อง สั่งจำคุก 2 ปี เรียกกว่าเต็มพิกัดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รับสารภาพลดลงเหลือกึ่งหนึ่งคือ 1 ปี โดยให้เหตุผลว่า “บ้านเมืองเกิดเหตุความวุ่นวาย จำเลยทั้งสองไม่ร่วมมือช่วยเหลือ แต่กลับกระทำกระหน่ำซ้ำเติมจึงไม่รอลงอาญา”
พ.ต.อ.ทรงพล กล่าวอีกว่า สำหรับร้านจำหน่ายยาง ถ้าทางการทราบว่าท่านมีส่วนรู้เห็นก็มีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน ขณะนี้ ตำรวจจับกุมผู้ลำเลียงยางรถยนต์ได้หลายคดี ยึดได้ 600 กว่าเส้นแล้ว นอกจากนี้ สตช. โดย ศอฉ.ได้วางแนวนโยบายให้ประกาศให้ สตช.ร่วมกับสภากาชาด และหน่วยแพทย์เข้าไปทำการดูแลสุขภาพผู้เข้านร่วมชุมนุม เด็ก สตรี คนชราแล้วส่วนหนึ่ง
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ.กล่าวว่า ศอฉ. มีความเป็นห่วงต่อความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป เพราะมีข้อมูลข่าวสารว่า กลุ่มก่อการร้ายที่ชุมนุมที่ราชประสงค์มีความพยายมมสร้างสถานการณ์ทำร้ายประชาชนให้บาดเจ็บเ สียชีวิต เป้าหมายคือประชาชนทั่วไป ผู้ที่ร่วมชุมนุม หน่วยกู้ภัย และสื่อมวลชน วันนี้ชัดเจนว่า บริเวณตึกชีวาทัยใกล้กับตึกเซ็นจูรี่ มีกลุ่มชายฉกรรจ์ประมาณห้าถึงสิบคน แต่งกายคล้ายทหารขึ้นไปซุ่มยิงชั้น 24 ถึง 27 ขึ้นไปซุ่มยิงอย่างนี้ส่งผลให้ประชาชนที่ผ่านไปมาอาจได้รับอันตรายได้ แม้กระทั่งทหารเอง ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น คุณกำปั้น (คริชนะ พาณิชย์พงษ์ หรือกำปั้น วงบาซู) และญาติที่เสียชีวิตก็มีความเป็นไปได้สูงว่าซุ่มยิงมาจากตึกชีวาทัย ขณะนี้เจ้าหน้าที่พยายามเข้าไปกดดันตรวจสอบพื้นที่ แต่เป็นตึกกำลังก่อสร้างมีผ้าใบคลุมอยู่จึงตรวจสอบยาก
“นอกจากนี้ยังมีความพยายาทำลายทรัพย์สิน ปล้นสดมภ์ ทำร้ายประชาชนให้บาดเจ็บ เสียชีวิต การจุดไฟเผายาง อาคารบ้านเรือน ทำลายรถน้ำมัน กลุ่มก่อการร้ายที่ใช้ชื่อว่า “เสื้อแดง” ไม่สามารถปฏิเสธการรับผิดชอบดังกล่าว เพราะเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีใครเข้าไปในนั้นเลย” พ.อ.สรรเสริญกล่าว
จากนั้น พ.อ.สรรเสริญ เปิดคลิปแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ชุนนุมใช้เด็กเป็นโล่มนุษย์ อยู่เหนือยางรถยนต์ ขณะที่คนอื่นอยู่ต่ำกว่ายางรถยนต์ และภายหลังกองยางมีทั้งระเบิดเพลิง การเผายาง รวมไปถึงแสดงภาพผู้ชุมนุมคนหนึ่งถืออาวุธปืนสั้น นอกจากนี้ยังฉายคลิปบริเวณชุมชนบ่อนไก่ซึ่งปรากฏชายโม่งดำลักษณะถือปืนเอ็มสิบหก โดยพ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า แสดงว่ามีอาวุธสงครามอยู่จริง โดยพยายามทำร้ายประชาชนด้วย เดิมเป้าหมายหลักคือทหาร แต่ตอนนี้เป้าหมายหลักของผู้ก่อการร้านเปลี่ยนไปเพื่อให้ท่านเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ท้ายที่สุด คือคลิปภาพเมื่อ 3-4 วันก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปเอารถน้ำแล้วโดนรุมทำร้าย พร้อมทั้งมีผู้นำปืนเอ็มสิบหกไป
“มีการปล้นสดมภ์ ขโมยน้ำมันจากรถทหารที่ถูกยึด แล้วเอาไปทำระเบิดเพลิง ทั้งยังมีการทุบทำลายตู้เอทีเอ็ม ขโมยเงินไป ภายในร้านสะดวกซื้อเอาไปทุกอย่างอาหารการกิน ยกเว้นหนังสือ ไม่ได้เอาไปเพราะรับข้อมูลด้านเดียวจากแกนนำ” พ.อ.สรรเสริญกล่าว
เขากล่าวทิ้งท้ายว่า กลุ่มคนกลุ่มนี้พยายามใช้คำพูดว่าให้ทหารหยุดฆ่าประชาชน พยายามบิดเบือนข้อมูล เพราะทหารไม่ได้ประสงค์ทำร้ายประชาชนเลย เพียงแค่กระชับวงล้อม และตั้งด่านเท่านั้น ความสูญเสียทั้งการบาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนหนึ่งเกิดจากกลุ่มก่อการร้ายกดดันเจ้าหน้ที่ตามด่านต่างๆ รวมถึงใช้กล่มคนจำนวนมากเคลื่อนหาทหาร
“ถ้าท่านไม่เคลื่อนที่เข้ามาก็ไม่เกิดการสูญเสีย ถ้าเราปล่อยให้ผู้ก่อการร้ายถึงตัว ผู้เสียชีวตจะเพิ่มทบเท่าทวี แต่ไม่ใช่กลุ่มก่อการร้าย แต่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ทุกฝ่ายที่ช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง”  
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิดีโอคลิป: อาสาสมัครกู้ชีพกลางสนามรบ มีอะไรในสมรภูมิ?

Posted: 17 May 2010 07:43 AM PDT

<!--break-->

บทสัมภาษณ์อาสาสมัครจากมูลนิธิร่วมกตัญญูคนหนึ่ง ในคืนวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา บริเวณแยกสะพานเหลือง ใกล้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเวทีที่เพิ่งตั้งขึ้น หลังมีผู้ชุมนุมสองสามร้อยคนมาร่วมนั่งฟัง เจ้าหน้าที่มูลนิธิก็นำรถเข้ามาประจำซอกหลืบบริเวณดังกล่าว ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่เช่นพวกเขาโดนยิงเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 2 ราย ต้นสังกัดต่างก็บอกให้ยุติการปฏิบัติการแล้วเพื่อความปลอดภัย ที่สำคัญพวกเขาทราบดีว่าสภาพของสมรภูมิรบเป็นเช่นไร มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ในทีมของอาสาสมัครคนนี้ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเด็กหนุ่ม คนรุ่นใหม่ พวกเขานิยามก๊วนเด็กดื้อของตนเองว่า "สะพานเหลืองฮ้าวเป้ง" และเป็นส่วนหนึ่งในทีมอาสาสมัครอีกมาก มายหลายทีมที่ทำงานอย่างหนักหน่วง สำหรับคนตาย 35 คน บาดเจ็บหลายร้อยคน พวกเขาคอยซุ่มเฝ้าอยู่ในมุมมืดใกล้จุดอันตรายที่กระจายอยู่หลายจุด และพวกเขาเรียกมันว่า "ตะเข็บชายแดน"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิดีโอคลิป: การปะทะที่บ่อนไก่ 16 พ.ค.2553

Posted: 17 May 2010 04:43 AM PDT

<!--break-->

ดูรายละเอียดความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้แทนไทยใน กมธ.สิทธิอาเซียน จี้ รบ.หยุดใช้ความรุนแรงปราบผู้ชุมนุม เตือนความจำมาร์ค พูดเอง ไม่เคารพสิทธิ ปัญหาไม่จบ

Posted: 17 May 2010 04:19 AM PDT

ศรีประภา เพชรมีศรี ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลและ นปช. ขอให้รัฐบาลหยุดใช้ความรุนแรงและกองกำลังติดอาวุธในการปราบปรามประชาชน เตือนความจำ "มาร์ค" เคยบอกหากรัฐบาลหรือ จนท.ของรัฐไม่เรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนเสียเอง ปัญหาก็ไม่มีวันยุติ

<!--break-->

เขียนที่ York University, Toronto, Canada
วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓

เรื่อง ขอให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุม
หนังสือเปิดผนึกถึงรัฐบาลและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ

ทันทีที่ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสิบสี่ประเทศซึ่งเป็นจำนวนที่นั่งว่างในฐานะผู้แทนในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด ๔๗ ประเทศ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น คือ ๑๘๒ เสียงจากจำนวนสมาชิกสหประชาชาติ ๑๙๒ ประเทศ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ รัฐบาลไทยก็ละเมิดคำมั่นสัญญา (Thailand’s Human Rights Commitments and Pledges) ซึ่งให้ไว้กับนานาประเทศ และสหประชาชาติในช่วงที่รณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง ในช่วงหาเสียง นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้คำมั่นสัญญาว่า “ ข้าพเจ้าขอยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้จะแก้ใขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เสรีภาพและอิสรภาพด้วยการยอมรับว่าปัญหาเหล่านั้นมีอยู่จริง นี่เป็นก้าวแรกที่สำคัญเพื่อที่ว่าทุกหน่วยงานซึ่งหมายรวมถึงภาคประชาสังคมด้วย ยอมรับว่ามีความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ....หากรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนเสียเองปัญหาก็ไม่มีวันยุติ สิ่งที่ผมต้องการเห็นต่อจากนี้ไปคือความเข้าใจที่ถูกต้องและมีทัศนะที่ถูกต้องและการผลักดันการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน”

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังให้คำมั่นต่อไปว่า “ถึงแม้จะยังเชื่อว่าอุปสรรคหลายประการไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองหรือปัญหาทางกฏหมายจะยังคงมีต่อไป แต่ถ้าประชาชนพร้อมที่จะช่วยเหลือและเอื้ออาทรกันฉันท์เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นั่นจะเป็นการเริ่มต้นของความสำเร็จในการคุ้มครองและทำให้ทุกคนได้เข้าถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพอย่างแท้จริง”

ถึงแม้จะเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่งว่า การกระทำบางประการของกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดงจะเกินเลยขอบเขตของการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมและแม้จะยอมรับว่าผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งอาจมีอาวุธในครอบครองและมีการปราศรัยโดยใช้ถ้อยคำรุนแรงและอาจยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ซึ่งขัดแย้งกับการชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธเป็นครั้งคราว แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการใช้ความรุนแรงด้วยการใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมจนกระทั่งก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายอย่างในปัจจุบัน

การตัดสินใจให้ทหารใช้อาวุธในการสลายการชุมนุม ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดซึ่งนอกจากจะสวนทางกับคำมั่นสัญญาของรัฐบาลที่ให้ใว้กับสหประชาชาติแล้ว ยังเป็นการละเมิดพันธกรณีของรัฐไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่รัฐไทยเป็นภาคี ในกติกาฯฉบับดังกล่าวนี้ ระบุไว้ในมาตรา ๔ ว่าไม่ว่าในภาวะฉุกเฉินหรือในภาวะความขัดแย้งใดๆ สิทธิที่ไม่อาจละเมิดได้ คือสิทธิในชีวิต สิทธิในการไม่ถูกทรมานหรือสิทธิที่จะไม่ถูกปฏิบัติต่อราวกับไม่ใช่มนุษย์ นอกจากนั้น กติกาฯ ข้อนี้ยังระบุใว้ชัดเจนว่า มาตรการใดๆ ที่นำมาใช้อันจะเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนจะต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งเฉพาะที่สถานการณ์บังคับและจะต้องไม่ขัดแย้งกับพันธกรณีที่มีต่อกฏหมายระหว่างประเทศ มาตรการที่รัฐบาลใช้อยู่ในขณะนี้เกินความเหมาะสมและเกินกว่าเหตุ

ดิฉัน ในฐานะผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขอเรียกร้อง

๑. ให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงและกองทหารติดอาวุธในการปราบปรามเพื่อสลายการชุมนุมโดยทันที เหตุการณ์ที่ผ่านมาตลอดสามวันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมนอกจากทำให้เกิดการสูญเสียและถูกประนามจากนานาประเทศแล้ว ยังทำให้เหตุการณ์บานปลายจนยากที่จะควบคุม และทำให้ปัญหายิ่งร้าวลึกยากแก่การแก้ใข

๒. ข้อเรียกร้องหลายประเด็นของฝ่ายผู้ชุมนุมเป็นข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนและความไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย วิธีการที่จะแก้ไขต้องไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่ต้องใช้วิธีจัดการปัญหาบนพื้นฐานสิทธิมนุษยชนตามที่รัฐฯให้คำมั่นสัญญาไว้

๓. ในขณะเดียวกัน ขอเรียกร้องให้แกนนำการชุมนุมหยุดการใช้ชีวิตของพี่น้องที่เข้าร่วมชุมนุม (แม้หลายคนอาจทำด้วยความสมัครใจ) เป็นเครื่องต่อรองกับภาครัฐ กว่า ๕๐ ชีวิตที่สูญเสียทั้งจากกลุ่มผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มากเกินกว่าที่จะยอมให้มีการสูญเสียต่อไป

๔. ขอให้รัฐบาลเร่งให้มีการตรวจสอบการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยยอมให้คณะผู้ตรวจสอบจากภูมิภาคหรือนานาชาติเข้าร่วมดำเนินการ เนื่องจากคณะผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แต่งตั้งโดยรัฐจะไม่ได้รับการยอมรับหรือความเชื่อถือเชื่อมั่นอีกต่อไป

ขอให้รัฐบาลระลึกอยู่เสมอว่า “หากรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิมนุษยชนเสียเองปัญหาก็ไม่มีวันยุติ” และความสำเร็จในการคุ้มครองและทำให้ทุกคนได้เข้าถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพอย่างแท้จริงจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐเคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชน

ประเทศไทยจะต้องเสนอรายงานที่เรียกว่า Universal Periodic Review ต่อสหประชาชาติในปี ๒๕๕๔ คงเป็นการยากที่จะอธิบายว่า รัฐไทยซึ่งยืนยันที่จะยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของประชาชนกลายเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง

ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี
ผู้แทนไทย ในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หลายองค์กรแถลงการณ์ ยุติรุนแรง กลับโต๊ะเจรจา

Posted: 17 May 2010 04:02 AM PDT

<!--break-->

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เรียกร้องให้รัฐบาลและ นปช. ยุติการใช้ความรุนแรงและเข้าสู่กระบวนการเจรจา ประณามการใช้กองกำลังและอาวุธผู้ที่เอาชีวิตมนุษย์มาแลก เพื่อบรรลุผลประโยชน์และเป้าหมายทางการเมือง ย้ำทุกฝ่ายต้องปฏิบัติในทุกวิถีทางเพื่อปกป้องชีวิตและสวัสดิภาพของผู้ชุมนุมและประชาชน นอกจากนี้ เรียกร้องต่อสื่อมวลชน ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก ในการลดความขัดแย้ง ลดความเกลียดชัง และเปิดพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย ตลอดจนผลักดันการปฎิรูปประเทศไทยร่วมกันในอนาคต

แถลงการณ์
ขอให้รัฐบาลและ นปช. ยุติการใช้ความรุนแรงและเข้าสู่กระบวนการเจรจา

จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจนถึงวันนี้ ชี้ชัดว่าการใช้ความรุนแรงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และนำพาสังคมออกจากวิกฤตได้

กป. อพช. ขอประณามการใช้กองกำลังและอาวุธผู้ที่เอาชีวิต มนุษย์มาแลก เพื่อบรรลุผลประโยชน์และเป้าหมายทางการเมือง และทุกฝ่ายต้องปฏิบัติในทุกวิถีทางเพื่อปกป้องชีวิตและสวัส ดิภาพของผู้ชุมนุมและประชาชน

นอกจากนี้ กป. อพช. ยังมีข้อเรียกร้องต่อสื่อมวลชน ทั้งสื่อกระแสหลักอันได้แก่ วิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ รวมถึงสื่อทางเลือก อันได้แก่ วิทยุชุมชน เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ในการความขัดแย้ง ลดความเกลียดชัง และเปิดพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย ตลอดจนผลักดันการปฎิรูปประเทศไทยร่วมกันในอนาคต

กป.อพช. เห็นว่าการเจรจาและแนวทางสันติวิธีเป็นวิถีเดียวใน อันจะแก้ไขวิกฤตความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ และมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ให้รัฐบาล และ นปช. ยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบโดยทันที หยุดสร้างความเกลียดชัง และเข้าสู่กระบวนการเจรจาโดยเร็วที่สุด โดยยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง พร้อมทั้งประกาศผลการเจรจาต่อสาธารณะ และยึดเป็นสัญญาประชาคมที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
2. ให้รัฐบาลและแกนนำ นปช. ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความรุนแรง และความสูญเสียที่เกิดขึ้น และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
3. ให้ทุกฝ่ายในสังคมหยุดสร้างความเกลียดชัง พร้อมทั้งยึดมั่นแนวทางสันติวิธี ในการแก้ไขความขัดแย้งโดยการมีส่วน ร่วมจากทุกฝ่าย

กป.อพช. เห็นว่ากระบวนการปฏิรูปทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ ก็ต่อเมื่อสถานการณ์การใช้ความรุนแรงในปัจจุบันยุติลง ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีการปะทะและประหัตประหารชีวิตมนุษย์ กป.อพช. ย่อมไม่สามารถเข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปตามโรดแม็พใดๆ ของรัฐบาลได้

17 พ.ค. 2553
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)

000000

ครส.วอนสองฝ่ายหยุดยิง หยุดเผชิญหน้า ขอทักษิณ-พท.หยุดสั่งการ-ปลุกปั่นผู้ชุมนุม

บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ส่งแถลงการณ์ของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ขอให้คู่ความขัดแย้งทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ รัฐบาล และผู้นำ นปช. หยุดเผชิญหน้าโดยทันที และให้หันหน้าเข้าสู่การเจรจา ขอให้กองกำลังติดอาวุธทั้งสองฝ่ายทั้งภาครัฐ และ กลุ่มต่อต้านรัฐ ได้หยุดยิง หยุดการก่อวินาศกรรม หยุดการสร้างความหวาดกลัวกับสาธารณชน โดยทันที รวมถึงขอให้อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความใกล้ชิดและมีอิทธิพล กับแกนนำ นปช. และสนับสนุนการชุมนุมของ นปช. ดำเนินการให้ นปช. ยุติการชุมนุมโดยทันที ตลอดจนยุติการกระทำในลักษณะสั่งการ ยั่วยุ ปลุกปั่น ผู้ชุมนุมของ นปช.

ทั้งนี้ ผู้ที่เห็นด้วยสามารถร่วมลงชื่อได้ที่ http://www.petitiononline.com/peacemay/petition.html

เนื้อหามีดังนี้

คำแถลง คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
ในสถานการณ์วิกฤตด้านสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม ฉบับที่ 7
หยุดยิง หยุดก่อวินาศกรรม หยุดเข่นฆ่าชีวิต
หยุดการชุมนุม หยุดเอาประชาชนเป็นตัวประกัน
คืนความสงบให้สังคม ยึดมั่นหลักนิติธรรมโดยเคร่งครัด

ย่างเข้าวันที่ 4 ของการเผชิญหน้าระลอกใหม่ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมภายใต้การนำของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ก่อตัวขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นมา ยังผลให้มีผู้บาดเจ็บนับพันคน เสียชีวิตแล้วกว่า 60 ศพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ปะทะเมื่อวันที่ 10 เมษายน 22 เมษายน 28 เมษายน และ ล่าสุด 13-15 พฤษภาคม (ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้ว 24 ราย) เป็นที่น่าเสียใจที่เหตุโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นความเสียหายครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยและน่าจะหลีกเลี่ยงมิให้เกิดขึ้นได้

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าคู่ขัดแย้ง คือชนชั้นนำต่างยึดมั่นผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ โดยเฉพาะแกนนำของการชุมนุม แทนที่จะคำนึงถึงชีวิตของผู้ชุมนุมเป็นสำคัญและยึดถือแนวทางการต่อสู้แบบสันติตามที่ได้ประกาศไว้แต้ต้น กลับแสดงความไม่เป็นตัวของตัวเอง และตกอยู่ในอำนาจครอบงำของกลุ่มชนชั้นนำที่สูญเสียอำนาจ กระทั่งยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้กองกำลังติดอาวุธเข้ามาเป็นตัวประกอบสำคัญในสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างไม่ต้องสงสัย นับแต่เหตุการณ์การปะทะที่ถนนราชดำเนินเมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐเป็นจำนวนมาก และกำลังพัฒนาเข้าสู่สถานการณ์ความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ และสงครามกลางเมือง เป็นลำดับ ที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ ประชาชนได้ตกอยู่ในสถานะที่เสมือนถูกจับเป็นตัวประกันโดยคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน ได้เรียกร้องให้คู่ความขัดแย้งได้ใช้แนวทางสันติวิธีมาโดยตลอด ระหว่างนั้นเมื่อได้เห็นว่า การเจรจาระหว่างคู่ความขัดแย้งมีอันต้องสะดุดหยุดลง ด้วยเหตุต่าง ๆ ทำให้การเผชิญหน้าได้ทวีความเข้มข้นขึ้นจนถึงการยึดพื้นที่ชุมนุมใจกลางเมือง เกิดการเผชิญหน้าหลายครั้ง เกิดเหตุวินาศกรรมหลายหน ส่งผลกระทบต่อสังคมและชุมชนอย่างถ้วนทั่ว ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล กับ นปช. ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และในที่สุดได้แปรสภาพไปเป็นความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธระหว่างหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ กับ กองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนการชุมนุมของ “คนเสื้อแดง” ไปแล้ว ดังนั้น ครส. และองค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชน จึงมีข้อเสนอแนะ และเรียกร้อง ดังต่อไปนี้

1. ขอให้คู่ความขัดแย้งทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ รัฐบาล และผู้นำ นปช. หยุดเผชิญหน้าโดยทันที และให้หันหน้าเข้าสู่การเจรจา โดยไม่มีการตั้งเงื่อนไขอันเป็นอุปสรรคต่อการเจรจา ทั้งนี้การเจรจาพึงหวังผลที่การลดความสูญเสียจากการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ และให้ประชาชน และสังคมได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ไม่ให้มีผู้เสียชีวิตอีกแม้แต่รายเดียว ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองชีวิตของผู้นำ นปช. ด้วย

ทุกฝ่ายพึงตระหนักว่า สิทธิในการมีชีวิตเป็นสิทธิพื้นฐานและมีความสำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใดที่จะต้องได้รับการเคารพโดยผู้ถืออาวุธทั้งสองฝ่าย

2. ขอให้กองกำลังติดอาวุธทั้งสองฝ่ายทั้งภาครัฐ และ กลุ่มต่อต้านรัฐ ได้หยุดยิง หยุดการก่อวินาศกรรม หยุดการสร้างความหวาดกลัวกับสาธารณชน โดยทันที การใช้อาวุธสงครามกราดยิงใส่กลุ่มประชาชนที่ไร้อาวุธเป็นสิ่งที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้นในสังคมของเรา การก่อวินาศกรรมยิงระเบิดและปล้นสดมภ์ต่อสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ ธนาคาร บริการสาธารณูปโภค โทรคมนาคม และกิจการพลังงาน การคุกคามผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างจากตน และการบุกรุก คุกคาม สถานพยาบาล หรือ การทำร้ายบุคลากรด้านการแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครสันติ มนุษยธรรม และผู้สื่อข่าว เป็นสิ่งที่มิอาจยอมรับได้ในสายตาประชาคมโลก

ทุกฝ่ายพึงตระหนักว่า สิทธิที่ปลอดจาความหวาดกลัว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะต้องได้รับการเคารพ ประชาชนจำนวนมากตกอยู่ในสภาวะหวาดกลัว หวาดระแวงตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือนที่ผ่านมาว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นกับตน ความหวาดกลัวนำมาซึ่งการขาดสติยั้งคิด ทั้งผู้นำการชุมนุม และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ดังนั้นทุกฝ่ายพึงมีสติสัมปชัญญะในการแสดงออกอย่างอารยะ มีเหตุมีผล ต้องไม่ให้ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว เข้าครอบงำจนตัดสินใจด้วยโทสะจริต และโมหะจริต นำมาซึ่งความผิดพลาดอันส่งผลร้ายต่อสังคมโดยรวม

3. ขอให้คู่ความขัดแย้งทุกฝ่าย เปิดโอกาสให้ เด็ก สตรี และคนชราที่มาเข้าร่วมการชุมนุม ได้ออกจากพื้นที่ความขัดแย้งโดยทันที โดยอาจขอลี้ภัยในเขตอภัยทานบริเวณที่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวัด โรงเรียน หรือ โรงพยาบาล ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย ของผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อของการปะทะกันด้วยความรุนแรง หรืออาวุธสงคราม

4. ขอให้คู่ความขัดแย้งทุกฝ่าย อำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และสถานพยาบาลตลอดจนอาสาสมัครด้านสันติและมนุษยธรรม สามารถปฏิบัติงานตามภารกิจของตนได้อย่างอิสระ โดยไม่ถูกรบกวน ปิดกั้น หรือถูกคุกคามด้วยวิธีการใด ๆ การปฏิบัติภารกิจของบุคคลากรทางการแพทย์ และพยาบาลได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Laws) หรือ Geneva Convention ซึ่งจะล่วงละเมิดมิได้ ไม่ว่าจะอยู่สถานการณ์ใด

5. ขอให้คู่ความขัดแย้งทุกฝ่าย เปิดโอกาสให้สื่อมวลชน นักข่าว สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพได้อย่างเป็นอิสระ มีหลักประกันในด้านความปลอดภัยสำหรับเจ้าหน้าที่สื่อมวลชนทุกประเภท ทุกแขนง ปลอดจากการถูกคุกคามในการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร หรือนำเสนอข้อมูลข่าวสารไม่ว่ากรณีใด ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นจริงได้โดยรวดเร็ว

6. ขอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญต่อกระบวนการปรองดองเพื่อความสงบสุขของบ้านเมือง ปัญหารากฐานในเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาความยากจน ปัญหาของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เช่นเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน คนจนเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ คนไร้รัฐ เหยื่อจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เด็ก สตรี คนพิการ และผู้สูงวัย จะต้องได้รับการแก้ไข กระบวนการยุติธรรมต้องมีการปฏิรูป ระบบรัฐสวัสดิการจะต้องมีการพิจารณาทบทวนและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกชั้นชน

7. ขอให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความจริงใจด้วยการเดินหน้าแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยทันที กล่าวคือ

ในระยะสั้น ให้ตั้งคณะกรรมการอิสระจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับความยอมรับ มีความเป็นกลาง ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบและแสวงหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ 10 เมษายน และ 13-15 พฤษภาคม 2553 โดยมิชักช้า

ระยะกลาง ตามที่ได้ให้คำมั่นกับสาธารณชนในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หาใช่เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองเพียงฝ่ายเดียว หากแต่ต้องเป็นการเอื้อให้เกิดกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจากภาคประชาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหมายรวมถึงกระบวนการสรรหากรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งประชาชนต้องมีส่วนร่วม อาทิ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น การดำเนินการในขั้นตอนนี้ไม่ควรยาวนานเกินกว่า 6 เดือน

ระยะยาว การปฏิรูปประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่ความผาสุกของประชาชนทุกผู้คน ทั้งในด้านการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่มีความสมดุล พัฒนาคุณภาพชีวิต ลดปัญหาการเหลือมล้ำในสังคม ขจัดปัญหาความยากจน และสร้างความเป็นธรรมให้ปรากฏ การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ต้องเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลในทุกยุคทุกสมัยจากนี้ไป

8. ขอให้อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความใกล้ชิดและมีอิทธิพล กับแกนนำ นปช. และสนับสนุนการชุมนุมของ นปช. ดำเนินการให้ นปช. ยุติการชุมนุมโดยทันที ตลอดจนยุติการกระทำในลักษณะสั่งการ ยั่วยุ ปลุกปั่น ผู้ชุมนุมของ นปช. หยุดวีดีโอ-โฟนลิ้งค์ หยุดทวิตเตอร์ นอกจากนี้การแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมของท่าน ด้วยการยอมก้าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและกระบวนการปรองดองแห่งชาติโดยทันที ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้ความเคารพต่อระบบนิติธรรม จะถือเป็นความเสียสละที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง และเชื่อว่าน่าจะมีส่วนทำให้บ้านเมืองสงบลงได้

9. ขอให้รัฐบาลสอบสวนผู้ก่อเหตุและอยู่เบื้องหลังของความรุนแรง ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นผู้มีอำนาจและอิทธิพลเพียงใดก็ตามเพื่อนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งสอบสวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่กระทำเกินสมควรแก่เหตุ โดยดำเนินการกับผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย ตลอดจนชดเชย เยียวยาแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการกระทำดังกล่าวด้วยความเป็นธรรม

องค์กรสิทธิมนุษยชน มีความเห็นใจทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงชั้นผู้น้อยที่ต้องปฏิบัติภารกิจอันหนักหน่วงซึ่งมีความสำคัญ เช่นเดียวกับประชาชนรากหญ้าที่มาร่วมชุมนุมด้วยการแสดงออกทางการเมือง ทั้งที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง บัดนี้ข้อเรียกร้องของท่านได้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมแล้ว เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องนำไปวางแผน และนำสู่การปฏิบัติโดยพลัน นอกจากนี้เราขอแสดงความอาลัยและห่วงใยต่อญาติมิตรผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้สูญเสียชีวิต บาดเจ็บ และทุพพลภาพ ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุม ตลอดจนสามัญชนผู้ห่วงใยในสังคมซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุการณ์ความตึงเครียดทางการเมือง จะสงบลงโดยเร็วหากทุกฝ่ายใช้ขันติธรรม ปัญญาธรรม และ จริยธรรมในการแก้ไข และจัดการกับปัญหาให้เกิดสันติสุขของบ้านเมืองอย่างมีสติ

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)

0000000

 
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิ-สสส.-โครงการเข้าถึงความยุติธรรม จี้รัฐหยุดใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม

แถลงการณ์ ฉบับที่ 4
ขอให้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติการสลายการชุมนุม ใ
ห้กลุ่มผู้ชุมนุมยึดมั่นในแนวทางสันติ อหิงสา ปราศจากอาวุธ
และขอให้เปิดการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งโดยสันติวิธี

จากการปฏิบัติการกดดันเพื่อให้แนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) ยุติการชุมนุมโดยกองกำลังทหารติดอาวุธสงครามและกระสุนจริง ซึ่งได้เริ่มปฏิบัติการมาแล้วตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 ไม่ว่าจะเป็นมาตรการจำกัดบริการสาธารณะ การตัดการลำเลียงสาธารณูปโภค เสบียงอาหาร การจำกัดการเดินทาง อีกทั้งยังมีการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อีก 15 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน เพื่อควบคุมไม่ให้ผู้ชุมนุมซึ่งอยู่นอกพื้นที่และต่างจังหวัดเดินทางเข้ามาร่วมสบทบการชุมนุมในกรุงเทพฯ และทำให้เกิดการตอบโต้จากผู้ชุมนุมและจากกองกำลังติดอาวุธ จนนำไปสู่ความรุนแรงและการสูญเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้ประเทศไปสู่หายนะ

นับจากเหตุการณ์ลอบสังหาร พล.ตรี ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดงในคืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 และตามมาด้วยการปะทะระหว่างทหารและผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสวนลุมพินี มีผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิต 1 คน และการปะทะดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง มีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ กระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสามเหลี่ยมดินแดง อนุสาวรีชัยสมรภูมิ ซอยรางน้ำ แยกราชปรารภ ชุมชนบ่อนไก่ และ ถนนพระราม 4 ส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิต 33 ราย ซึ่งมีเจ้าหน้าอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพและเด็กรวมอยู่ด้วย โดยที่หลายรายเสียชีวิตจากการถูกยิงบริเวณลำตัว หน้าอก และศรีษะ และมีผู้บาดเจ็บกว่า 230 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนผู้ชุมนุม ประชาชนทั่วไป นักข่าวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ดังที่ปรากฎตามรายงานข่าว

องค์กรที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้มีความเห็นว่า ปฏิบัติการปิดล้อมพื้นที่การชุมนุม โดยใช้กำลังพลและกำลังอาวุธสงครามร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้กำลังต่อพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ จนเกิดอันตรายต่อ บุคคลากรวิชาชีพต่าง ๆ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งจะต้องได้รับความคุ้มครองจากความรุนแรงและจากการตกเป้าหมายของการโจมตี จึงเป็นการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ อีกทั้งสถานการณ์ความรุนแรงที่มีแนวโนมที่จะทวีความรุนแรงขึ้น โดยปัจจุบันสถิติผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บับแต่มีการชุมนุมเกิดขึ้น รวมทั้งเหตุการณ์เข้าสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน 2553 นั้นมีผู้บาดเจ็บกว่า 1,000 ราย และเสียชีวิตเป็นจำนวนถึง 58 ราย ซึ่งหากยังไม่สามารถยุติลงได้โดยเร็ว จึงมีความน่าห่วงกังวลอย่างยิ่ง ว่าสถานการณ์อาจลุกลามกลายเป็นการจลาจลโดยใช้กำลังอาวุธ เป็นการสู้รบระหว่างรัฐกับกลุ่มบุคคลที่รุนแรงและขยายวงกว้างออกไปถึงขั้นสงครามกลางเมือง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

จากเหตุผลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า เจตนาของรัฐบาลในการคืนความเป็นปกติสุขและความสงบเรียบร้อยสู่บ้านเมือง โดยการใช้กองกำลังทหารและใช้อาวุธเพื่อยุติการชุมนุมเป็นมาตรการที่ไม่สามารถบรรลุผลได้ เพราะได้ก่อให้เกิดการความสูญเสียชีวิตของประชาชน และมีความรุนแรงที่มีการขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อชีวิตร่างกายของประชาชนก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ ไม่ว่าความรุนแรงหรือการสูญเสียจะเกิดจากการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม

ดังนั้น องค์กรที่มีรายชื่อข้างท้ายจึงมีข้อเรียกร้องทั้งต่อรัฐบาลและต่อกลุ่มผู้ชุมนุมดังต่อไปนี้

1. ขอให้รัฐบาลยุติการใช้กองกำลังทหารและอาวุธเข้าสลายการชุมนุมโดยทันที และหันกลับมาใช้วิธีการเจรจา เพื่อยุติไม่ให้เกิดการสูญเสียเพิ่ม ขึ้นและป้องกันความรุนแรงที่อาจขยายตัวกลายเป็นสงครามกลางเมืองได้

2. ขอให้แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ยุติการยั่วยุเพื่อให้เกิดความรุนแรงหรือตอบโต้กองกำลังฝ่ายรัฐโดยวิธีการรุนแรง ให้ดำเนินกิจกรรมโดยยึดมั่นในแนวทางสันติ อหิงสา และปราศจากอาวุธอย่างแท้จริง และหันกลับมาเข้าสู่การเจรจา ตลอดจนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบกองกำลังอาวุธที่ปะปนอยู่ในหมู่ผู้ชุมนุม เพื่อแสดงความรับผิดชอบในการปกป้องชีวิตของผู้ชุมนุม

3. ขอให้ทั้งสองฝ่ายเปิดให้มีการเจรจาอีกครั้ง ด้วยการลดเงื่อนไขที่อาจส่งผลให้การเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพื่อหาทางออกร่วมกันในการยุติความรุนแรง และเข้าสู่การร่วมกันแก้ปัญหาของประชาชนในระยะยาวต่อไป

4. ขอให้รัฐบาลดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระโดยเร่งด่วน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงและความสูญเสียทั้งหมดจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและการชุมนุมของ นปช. เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง และหาผู้รับผิดชอบทั้งทางการเมืองและทางกฎหมายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่าย

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
โครงการเข้าถึงความยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

0000000

YPD จี้รัฐหยุดใช้อาวุธสงครามกับปชช.ทันที
แนะถอนทหาร-เลิก พรก. แลกกับ นปช.หยุดชุมนุม

แถลงการณ์
ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย
“รัฐบาลต้องหยุดยิงและนำไปสู่การเจรจา”

แผนความปรองดองแห่งชาติโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องเป็นอันโมฆะ และ กลับกลายมาเป็นมาตรการขั้นเด็ดขาดต่อผู้ชุมนุม หลังจากที่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าไม่ได้รับการตอบรับจากกลุ่ม นปช. ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวนี้เองเป็นต้นเหตุให้เกิดความสูญเสียอย่างร้ายแรงในช่วงเวลาต่อมา

ประกาศของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกฉิน (ศอฉ.) เมื่อวันที่ ๑๓-๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลมีแผนการที่จะตัดระบบสาธารณูปโภค การติดต่อสื่อสารและ การคมนาคมทั้งหมดในบริเวณ เพื่อล้อมปราบผู้ชุมนุม โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการกระชับพื้นที่ นอกจากนั้นยังมีการประกาศอยางชัดเจนในช่วงเวลาต่อมาว่าปฏิบัติการครั้งนี้จะใช้กระสุนจริง

การสูญเสียเพิ่มขึ้นเป็นรายชั่วโมงหลังจากเหตุการณ์ลอบยิง พลเอก ขัตติยะ สวัสดิผล เมื่อช่วงเย็นวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ยิ่งไปกว่านั้นผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งเป็นเพียงสื่อมวลชนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๕.๓๐ น. มียอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ ๓๓ คน ในจำนวนนี้มีทั้งเยาวชน ผู้หญิง และอาสาสมัครรักษาพยาบาล บาดเจ็บประมาณ ๒๓๙ คน รวมถึงสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติ ในขณะที่รัฐบาลยังไม่มีท่าทีว่าจะประกาศยกเลิกคำสั่งกระชับพื้นที่ และมีแนวโน้มจะประกาศใช้กฎอัยการศึกเพื่อควบคุมสถานการณ์

ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตยมีข้อเรียกร้องต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้

1.รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องหยุดการใช้อาวุธสงครามกับประชาชนทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข ยกเลิกมาตรการกดดันทุกชนิด หยุดการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ และประกาศยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อนำประเทศเข้าสู่สภาวะปกติอีกครั้ง แลกกับการตกลงหยุดชุมนุมของกลุ่ม นปช. เพื่อกลับมาสู่การเจรจา

2.หลังจากนั้น รัฐบาลต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็วเพื่อยุติความขัดแย้งด้วยวิถีทางประชาธิปไตย จะต้องมีการดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างอิสระและโปร่งใส และทุกฝ่ายต้องให้สัตยาบันว่าจะยอมรับผลการเลือกตั้งที่ปรากฏ

3.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องแสดงความรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เช่นเดียวกับแกนนำกลุ่มนปช.

4.ขอให้ทุกฝ่ายให้ความคุ้มครองกับสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์พยาบาล ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเขตจลาจลอย่างเต็มกำลังความสามารถ การสังหารเจ้าที่หน่วยแพทย์พยาบาลเป็นการกระทำที่สมควรถูกประณามจากทุกฝ่าย

5.ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบเหตุการณ์จลาจลและความรุนแรง ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจะต้องมีผู้รับผิดชอบ และต้องมีมาตรการในการเยียวยาผู้เสียหายอย่างเป็นรูปธรรม

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แจ้งเขตหลบภัยใกล้ที่ชุมนุม ศูนย์สันติฯ วอนขอช่วงเวลาพักยิงเพื่ออพยพ ส่งเสบียง

Posted: 17 May 2010 03:45 AM PDT

<!--break-->

ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล เรียกร้องผ่านทางเฟซบุ๊คของเครือข่ายสันติวิธี http://bit.ly/aqgy6a ขอให้มีการประกาศเวลาพักยิง และระงับไม่ให้มีการยิงโต้ตอบกัน ในระยะที่นานพอสำหรับการสัญจร เคลื่อนย้าย อพยพ และขนส่งอาหาร ในแต่ละวัน เนื่องจากการปะทะกันอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ประชาชนในพื้นที่ที่มีการปะทะไม่สามารถสัญจรเพื่อซื้อหาอาหาร หรือเยี่ยมเยียนให้กำลังใจญาติมิตรผู้สูญเสียได้ หรือแม้กระทั่งเคลื่อนย้ายไปอาศัยในพื้นที่ปลอดภัยเป็นการชั่วคราวได้
 

นอกจากนี้ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล แจ้งสถานที่พักพิง ดังนี้

ราชประสงค์
1. วัดปทุมวนาราม 02-2516479

ย่านคลองเตย บ่อนไก่
1. ศูนย์เมอร์ซี่ ล็อก 6 เขต 70 ไร่ 02-671-5313
2. โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ (รับเฉพาะ เด็ก สตรี และคนชรา เท่านั้น และจะให้มีการลงทะเบียนหน้าโรงเรียนก่อน)
ซิสเตอร์ อรัญญา 089-926-3100
ซิสเตอร์กาญจนา 081-7549577

ย่านดินแดง อนุสาวรีย์
1. วัดทัศนารุณสุนทริการาม (วัดตะพานดินแดง)
02-245-6477
02-245-0237
02-642-4893
2. โบสถ์แม่พระฟาติมา ดินแดง
คุณพ่อ สุรชัย กิจสวัสดิ์ 089-8365661
3. บ้านเซเวียร์ อนุสารีย์ชัย
คุณพ่อวิชัย โภคทวี 081-924-0102
เบอร์กลางบ้านเซเวียร์ 02-3549091-3
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รวมคลิปสลายการชุมนุม 13-17 พฤษภาคม 2553

Posted: 17 May 2010 03:28 AM PDT

รวมคลิปสลายการชุมนุม 13-17 พฤษภาคม 2553 เสธ.แดง ถูกลอบยิง, ประชาชนย่านราชปรารภขอร้องทหารอย่าใช้กำลัง, พระสงฆ์ขอบิณฑบาตชีวิตผู้ชุมนุมจากทหาร, ทหารใช้ปืนกระสุนยาง ปืนเอ็ม 16 และพลแม่นปิดติดลำกล้องสลายการชุมนุม และสถานการณ์ไทย รายงานโดยบีบีซีเมื่อ 17 พ.ค. 53

(13 พ.ค. 53) คลิปของ CNN ผู้ชุมนุมช่วยกันนำ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ "เสธ.แดง" ส่งโรงพยาบาล หลังถูกลอบยิงล้มลง เมื่อ 13 พ.ค. 53 บริเวณด่านหน้าของ นปช. ที่แยกศาลาแดง ล่าสุดวันนี้ พล.ต.ขัตติยะ เสียชีวิตแล้ว

(คลิป 1)

(คลิป 2)

(14 พ.ค. 53) เมื่อ 14 พ.ค. 53 ผู้ชุมนุมและประชาชนย่าน ถ.ราชปรารภ ขอร้องให้ทหารอย่าปราบผู้ชุมนุม ขณะที่ทหารเริ่มเปิดฉากโจมตีผู้ชุมนุมบริเวณนั้น ขณะที่เวทีแยกราชประสงค์ พระสงฆ์ของบิณฑบาตชีวิตมนุษย์จากการใช้ปืนสลายการชุมนุม

(15 พ.ค. 53) ทหารใช้ปืนกระสุนยาง ปืนเอ็ม 16 และพลแม่นปืนติดลำกล้อง ยิงโจมตีผู้ชุมนุม ในคลิปทหารอ้างว่าเห็นประชาชนถือระเบิดเพลิงจะเข้ามาขว้าง จะสั่งให้ทหารแม่นปืนยิงใส่ ทหารอีกรายกล่าวว่าล้มแล้ว อย่าซ้ำ แต่พลแม่นปืนก็ยิงซ้ำอีก

(16 พ.ค. 53) ประชาชนรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตรงด้าน ถ.ราชวิถี หน้าห้างเซ็นเตอร์วัน ประท้วงรัฐบาล

 

(17 พ.ค. 53) ข่าวสถานการณ์ในไทย จากบีบีซี เมื่อ 17 พ.ค. 53 (เครดิต: บันทึกโดย คุณ TheRedsiam)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: เสียงเรียกร้องยุติการฆ่าฟัน และสร้างสันติภาพที่ไทยอาจสร้างไม่ได้ด้วยตัวเอง

Posted: 17 May 2010 03:24 AM PDT

16 พ.ค. 2553 ที่ประตูทางเข้าหอประชุมขององค์การสหประชาชาติ นักศึกษาและแรงงานกลุ่มนี้ร่วมกันตะโกนว่า “Abhisit stop killing”

<!--break-->

ช่วงสายของวันที่ 16 พ.ค. กลุ่มคนราว 30 มารวมตัวกันที่หน้าตึกองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถนนราชดำเนิน เป้าหมายของพวกเขาคือ มายื่นหนังสือเรียกร้องต่อยูเอ็นให้เข้ามาดูแลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ พวกเขามาพร้อมเอกสารจดหมายทั้งไทยและอังกฤษที่จะนำเสนอต่อเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน ของยูเอ็น
“เราติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนเอาไว้แล้วว่าเราจะยื่นหนังสือเรียกร้อง แต่วันนี้เราอยากมาก่อน เพราะรู้สึกอยากทำกิจกรรมเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเร็วที่สุด” ฝ้าย นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวกับประชาไท เธอรู้มาว่ามีการพยายามประสานงานในลักษณะเดียวกันจากนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งขอเข้าพบเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนในวันอังคารที่จะถึงนี้
“เรารู้สึกว่าช้าไปหน่อย อีกตั้ง 2 วัน ป่านนั้น คนจะตายไปอีกเท่าไหร่ไม่รู้ แต่ถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากได้โอกาสเข้าพบเจ้าหน้าที่ด้วย และอาจจะมาที่นี่อีกทีวันอังคาร” ฝ้าย กล่าวก่อนจะปลีตัวออกไปแจกสติกเกอร์ที่เขียนว่า “หยุดฆ่า” และ “Stop Kill” ให้กับบรรดายวดยานที่ยอดติดไฟแดงอยู่บริเวณแยกมัฆวาน และมีเสียงหนึ่งตะโกนออกมาจากในรถว่า “ต้องฆ่าพวกมันให้หมด” ขณะเดียวกัน ก็มีรถแท็กซี่ปราดเข้ามาจอด พร้อมลงมาไถ่ถามอย่างกระตือรือร้นว่า พวกเขามาทำอะไรกัน เมื่อได้คำตอบว่ามาเรียกร้องยูเอ็นให้มาดูแลสถานการณ์ปราบปรามประชาชนที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนไทยจำนวนหนึ่งอยู่ขณะนี้ แท็กซี่รายนั้นก็กุลีกุจอ เอาสติกเกอร์ไปติดที่กระจกรถด้านหลัง พร้อมขอธงชาติที่มีข้อความ “หยุดฆ่า” และ “Stop Kill” แปะอยู่ที่ก้านธงไปอีก 2-3 อัน
ภายใต้สถานการณ์ปิดกั้นสื่อและมีการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชน ประชาไทพยายามหลีกเลี่ยงที่จะถ่ายภาพใบหน้าของผู้คน แต่คนขับแท็กซี่รายนี้ระบุว่า เปิดเผยใบหน้าและชื่อของเขาได้ พร้อมเปิดประเด็นการพูดคุยก่อนนักกิจกรรมรายอื่นๆ
“ผมอยากให้ออกมาใช้เหตุผลน่ะครับ เอาเหตุผลเข้าหากันว่ากลุ่มหนึ่งต้องการอะไร ถ้าจะหยุดไม่ให้ม็อบไม่ประท้วงก็ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งหมด แล้วมาเจรจากัน ไม่ใช่ว่าเอาเหตุผลของตัวเองมาใส่ แล้วมันเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ได้ เขาเอาแต่เหตุผลข้างเดียวแล้วเหตุผลของเสื้อแดงไม่มีเลย กลายเป็นผู้ก่อการร้ายไปทันทีเลย เหตุผลมันฟังไม่ได้เลย มีแต่ฆ่ามีแต่ยิง พอเจรจาก็มีฆ่า แต่สั่งทหารเพิ่มๆๆๆ นี่หรือความจริงใจ การจะเจรจาต้องหยุดตีหยุดฆ่าก่อนสิ ไม่ใช่ตีเขาๆ แล้วก็ให้เจรจา มันไม่มีโอกาสที่จะเงยหน้าอะไรขึ้นมาเจรจาเลย ต้องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วถอนทหารออกไปให้เสื้อแดงมาเจรจา ถ้าหากเสื้อแดงไม่เจรจาก็จะหมดความชอบธรรมไปโดยปริยายเลย ถ้าให้เสื้อแดงหยุดอย่างเดียวแล้วทหารไม่หยุดเลย ฆ่าอย่างเดียวเลย แล้วคนบริสุทธิ์ที่นั่งฟังคำปราศรัยอยู่ข้างในล่ะ ที่กองกันอยู่นั่นน่ะ หาวิธีเข้าไปฆ่าอย่างเดียวเลย คนที่ไปฟังปราศรัยเขาก็ไปฟังพวกนักการเมืองเขาปราศรัย มันก็แค่ความคิดไม่ตรงกันเฉยๆ มันก็ฆ่ากันเลย แล้วก็ไปใส่ร้ายว่าพวกนี้เป็นผู้ก่อการร้าย แล้วพวกโจรภาคใต้เป็นอะไรล่ะ เป็นพวกก่อกวนเฉยๆ เหรอ แล้วพวกคนที่ถือธง คนที่เดินไปเดินมากลับบอกว่าเขาเป็นผู้ก่อการร้าย ไปยิงหัวยิงขา มันเกินไปแล้ว”
เราถามต่อไปว่าอยากบอกอะไรกับกลุ่มอื่นๆ ทางสังคม
“พวกน้องๆ นักศึกษาต้องออกมาตั้งเวที มาปราศรัยให้ชาวบ้านฟังแล้วก็เรียกร้องพวกระดับชาติ นักศึกษาต้องออกมา อย่างสมัยสุจินดาปฏิวัตินักศึกษายังออกมาเลย นี่ชาวบ้านเขาโดนยิงไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็โดนยิงโดนฆ่าไปหมด ผมก็ยังนึกว่าเอ๊ ทำไมนักศึกษา ปัญญาชนไม่ออกมาบ้าง นักศึกษาต้องเป้นกลาง เพราะว่านักศึกษาเป็นบัณฑิต เป็นปัญญาชนไง ต่อไปพวกนักศึกษาก็ต้องไปเป็นผู้บริหาร ไปเป็นนายก เป็นรัฐมนตรี แล้วพวกปัญญาชนนิ่งเฉย แล้วชาวบ้านจะไปพึ่งใครละทีนี้ ตาสีตาสาอย่างผมเนี่ย การศึกษาก็ไม่มี ความรู้ก็น้อย แล้วพวกประชาชนที่เขาโดนนักการเมืองปั่นหัว ไม่มีใครไปช่วยเขาเลย ไม่มีใครไปให้ปัญญาเขาเลย แล้วจะทำยังไงละทีนี้ นักศึกษาเรียนนิติ เรียนปกครอง เรียนบริหารมา ไม่ออกไปช่วยเขาเลย แล้วเขาก็งมงายอยู่กับนักการเมืองสองฝ่าย เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ ไม่ออกมาเลย ไม่ออกมาช่วย มันต้องมีคนกลาง มีแสงสว่างให้เขาว่าการปกครองของเราคืออะไร นี่นักศึกษานิ่ง ปล่อยให้นักการเมืองสองฝั่งห้ำกั่นกันไม่ออกมาเลย คนที่เป็นบัณฑิตไม่ยอมออกมาช่วยเลย อย่างพวกน้องออกมาพี่ก็ชื่นใจนะ อย่างผมก็ไม่เคยได้อะไรจากม็อบเลย ผมก็ไปทั้งสองฝั่งแหละ มันก็เป็นเรื่องผลประโยชน์เขาแหละ แต่ถ้านักศึกษาออกมา ผมจะอยู่ข้างด้วย” เขากล่าวอย่างกระตือรือร้น ก่อนจะขับรถแท็กซี่คู่ใจออกไป
 
ประชาไทจึงหันมาสอบถามเจตจำนงของนักศึกษาอีก 2 คนจากกลุ่มเสรีปัญญาชน
“อยากให้ใช้กฎหมายที่ถูกวิธี หยุดเข่นฆ่าผู้คน ที่บอกว่าใช้กระสุนเบาไปหาหนัก มันไม่ถูกต้อง ยังไม่มีเหตุผลที่จะเหมาะสมที่จะใช้กระสุนจริงและเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนด้วย” กัส หนุ่มน้อยวัย 17 ที่เพิ่งเข้าเป็นเฟรชชี่ในรั้วมหาวิทยาลัยหมาดๆ กล่าว
“ บางพื้นที่ติดป้ายชัดเจนว่าพื้นที่ใช้กระสุนจริงมันหมายความว่ายังไง เราต้องเรียกร้องให้รัฐหยุดเข่นฆ่าประชาชน หลังจากนี้เราอยากรวมกลุ่มกันเยอะๆ ไปกดดันตาหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงกลาโหม” เพชร บอกความตั้งใจของเขา
พิมพ์สิริ เพ็ชรน้ำรอบ จากกลุ่ม วายพีดี ข้อเรียกร้องเบื้องต้นคืออยากให้รัฐบาลหยุดใช้กำลังกับผู้ชุมนุมในทุกกรณีก่อนค่ะ เพราะนอกจากจะเป็นการใช้อาวุธสงครามกับผู้ชุมนุมแล้วมันยังสามารถทำให้เกิดเงื่อนไขอะไรต่างๆ ตามมาหลายอย่างที่รัฐบาลอาจจะควบคุมไม่ได้ต่อไป อาจจะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร รัฐไม่อาจจะหยุด
“การฆ่า การที่รัฐบาลใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมมันไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น มีแต่เลวร้ายลง การแสดงความสะใจไร้สาระว่าฆ่ากันเลยๆ มีแต่ทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปเรื่อยๆ ฆ่าให้หมดหมายความว่าอย่างไร ฆ่าให้หมดที่อยู่ในราชประสงค์ที่มีทั้งเด็กผู้หญิงคนแก่เต็มไปหมด อยากให้คิดสักนิดหนึ่งก่อนที่จะพูดอะไรที่จะเป็นแนวสะใจอย่างเดียว”
ระหว่างพูดคุยกัน ทีมของประชาไทได้รับข้อความจากไทยรัฐว่า รัฐบาลเตรียมประชุมกันเพื่อประกาศเคอร์ฟิวส์ในบางพื้นที่ เราจึงเอ่ยถามเธอว่ากลัวหรือไม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มก้อนแบบนี้ แม้จะเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนก็เถอะ
“ไม่กลัว คิดว่าหน้ายูเอ็นคงไม่มีใครทำอะไร”
ชวธีร์ ศรีแก้ว หรือเติ้ง นักกิจกรรมจากกลุ่ม Son Right ซึ่งยืนอยู่ข้างๆ กล่าวเสริมว่า “เบื้องต้นอยากให้ยูเอ็นมาแทรกแซงเพราะรัฐบาลใช้กฎหมายไม่ถูกวิธี เขาใช้กำลังโดยไม่ได้คิดหลักการกฎหมายเลย จากที่มีคนไม่เห็นด้วย ให้ฆ่าให้หมด ถ้าเราเรียกร้องกันเยอะๆ ก็อาจจะเป็นการเพิ่มกำลังคนฝ่ายสันติภาพให้ชนะฝ่ายที่ประกาศใช้ความรุนแรงได้”
ประชาไทถามคำถามเดิม “กลัวไหม”
“ไม่กลัวครับ ผมลงพื้นที่มาแล้ว สองคืนที่ผ่านมาผมก็อยู่ในพื้นที่ตลอด ก่อนที่จะเกิดเหตุรุนแรง ทราบเหตุการณ์ตลอด บรรยากาศที่ผมเห็นมันเงียบเหมือนเมืองร้าง ได้ยินข่าวลือบอกว่ามีสไนเปอร์ซุ่มอยู่ทุกตึกเลย ผมอยู่ตรงนั้น ที่ศาลาแดง ผมอยากเรียกร้องว่าต้องหยุดก่อนที่มันจะลามขยายวงกว้างไป และใครที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง อย่ากลัวครับ อย่างน้อยผมก็ออกมาแล้ว เรามีกลุ่มมีพวกพ้อง คือถ้าเราพยายามออกมาเยอะๆ เขาก็ไม่กล้าออกมาหรอก”
พนม บาลี จากลุ่มคนงานสตรี บอกว่า เธอมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกไปเพราะบริหารประเทศชาติไม่ชอบธรรมแล้วจากเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์
“อยากให้คนในสังคมอย่ามองว่าคนเสื้อแดงว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ให้มองวาเสื้อแดงเหมือนพวกเราทุกคน เขามาเรียกร้องสิทธิของพวกเขา อยากให้มองว่าเขาเป็นคนเหมือนเรา อย่ามองว่าพวกแดงไม่ใช้พวกเรา ไม่ใช่นะ เราเป็นคนไทยเหมือนกัน เราต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน” ประชาไทถามเธอว่ากลัวหรือไม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดยิงในสถานการณ์ที่รัฐบาลเองกำลังมีแนวคิดจะประกาศเคอร์ฟิวส์
“ไม่กลัวค่ะ ถ้ากลัวคงไม่มา”
เอกราช ซาบูร์ นักเคลื่อนไหวด้านสันติวิธีบอกว่า เขาพยายามแจกสติกเกอร์รณรงค์ให้กับคนทั่วไป ให้ยุติการฆ่า และยูเอ็นเป็นองค์กรที่ต้องรักษาปฏิญญาสากลสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
“หรือว่าจะรอให้เกิดการฆ่ากันตายเป็นพันๆ ศพ ถึงจะลงมาดูแล เหมือนกรณีซูดานหรือรวันดา สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องการเมืองแต่เป็นหน้าที่ของสหประชาชาติที่จะต้องเข้ามาดูแลเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักอยู่แล้ว อยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วนสิทธิมนุษยชน อยู่ในหัวข้อของ responsibility to protect ว่าหากรัฐชาติ รัฐบาลไม่สามารถจะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้เป็นหน้าที่ของประชาคมโลกที่ต้องลงมา
“ผมอยากจะเรียกร้องให้ยูเอ็นทำงานเชิงป้องกันมากกว่ารอให้เกิดความสูญเสีย และหากเกิดมิคสัญญี เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นมาจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 20 ปี ในการเยียวยา ผ่านกระบวนการสูญเสีย และต้องใช้เวลาอีกหลายรุ่นคนในการทำให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้น ฉะนั้นขอร้องเถอะครับ ทำบทบาทของท่านในการปองกันการสังหารหมู่ อย่าให้เมืองไทยเป็นแบบรวันดา
“สำหรับประชาชนทั่วไปทุกคนออกมาแสดงบทบาทเจ้าของแผ่นดิน ว่าเราสามารถยุติความรุนแรงได้ ขอให้ออกมาร่วมรณรงค์กันครับ เพราะทุกคนก็เป็นพี่น้องร่วมกันหมด และอย่ามีความดีออกดีใจตอความสูญเสีย”
เอกราชกล่าวเรียกร้องต่อรัฐบางด้วยว่ารัฐบาลต้องสร้างบรรยากาศสันติภาพ คือต้องไม่มีสัญลักษณ์ของความรุนแรง เช่น กฎหมายซึ่งเป็นภัยต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างเช่น พรก. ฉุกเฉิน หรือการมีทหารซึ่งไม่มีหน้าที่เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอยู่แล้ว และเมื่อสามารถจัดการสัญลักษณ์ของความรุนแรงไปได้ บรรยากาศของสันติภาพก็จะเกิดขึ้น และจากนั้นก็ขอให้ นปช. ก็ต้องยุติการชุมนุม
“ต่อข้อเรียกร้องของรัฐบาลให้ นปช.ยุติก่อนนั้น การที่เราจะเกี่ยวข้องกับสันติภาพ ทุกคนต้องมีความเสมอภาคทางอำนาจ สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้มีความเหลื่อมล้ำทางอำนาจในระหว่างผู้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง สิ่งที่รัฐบาลเสนออกมาเป็นสิ่งที่ดีนะครับ ก็คือข้อปรองดองทั้ง 5 ข้อ แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้เปิดช่องทางให้อีกฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจร่วมในการเจรจาเพื่อเสนอสิ่งที่ตัวเองต้องการร่วมกัน รวมถึงการที่ยังใช้อำนาจในการปิดสื่อ ก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง หรือการที่รัฐไม่ฟังข้อเรียกร้องของอีกฝ่ายหนึ่งก็ถือเป็นการปิดกั้นความร่วมมือทางการเมือง การสร้างความไว้วางใจต้องมีความจริงใจและต้องไม่มีบรรยากาศของความหวาดระแวง ซึ่งตรงนี่รัฐสามารถทำได้นะครับ” เอกราชกล่าว
แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก และรถยนต์ส่วนบุคคลอีกหลายรายมาจอดแวะรับสติกเกอร์รณรงค์และจดหมายร้องเรียน ขณะเดียวกันรถเข็นขายเฉาก๊วยเข็นมาหยุด หนึ่งในบรรดาคนหนุ่มสาวเหล่านี้เข้าไปซื้อเฉาก๊วยมาแจกเพื่อนๆ เพื่อบรรเทาความกระหาย และจ่ายเงินไปสำหรับเฉาก๊วยจำนวน 10 แก้ว ประชาไทถ่ายภาพกิจกรรมของพวกเขาอีกสักครู่ และเดินตามขบวนของพวกเขาที่เคลื่อนไปยังอีกประตูหนึ่งของสำนักงานองค์การสหประชาชาติ
คนขายเฉาก๊วยยังคงตักสิ้นค้าของเขาใส่แก้วต่อไป มันเป็นแก้วที่ 12 แล้ว และตะโกนถาม “ใครยังไม่ได้กินอีกบ้าง ส่งต่อๆ” พร้อมยื่นแก้วให้กับทีมข่าวของเรา
ที่ประตูทางเข้าห้องประชุมขององค์การสหประชาชาติ นักศึกษาและแรงงานกลุ่มนี้ร่วมกันตะโกนข้อเรียกร้องหลักของวันนี้ว่า “Abhisit stop killing”
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น