โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai.info

ประชาไท | Prachatai.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

“ครูหยุย - ครูแดง – หมอตุลย์ - แทนคุณ” นำทีมวอนรัฐสภาระงับเอกสิทธิ์ “จตุพร” ชี้ทำบ้านเมืองวุ่นวาย โทษถึงประหารชีวิต

Posted: 22 May 2010 10:52 AM PDT

“ครูหยุย - ครูแดง – หมอตุลย์ - แทนคุณ” นำทีม ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกรัฐสภา ให้ยับยั้งการใช้เอกสิทธิ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายจตุพร พรหมพันธ์ โดยไม่มีเงื่อนไข เพราะทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย โทษถึงประหารชีวิต
<!--break-->

23 พฤกษภาคม 2553

เรียน สมาชิกรัฐสภา
เรื่อง การใช้เอกสิทธิ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายจตุพร พรหมพันธ์

จากกรณีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ซึ่งได้กระทำการอันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 11 (1) ตามหมายจับที่ ฉฉ 8-24/2553 ลงวันที่ 8 เมษายน 2553 โดยมีผู้ต้องหาทั้งหมด 17 ราย

ปรากฏว่าในหมายจับดังกล่าวกลับไม่มีชื่อของนายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำ นปช. คนสำคัญ โดยเหตุที่นายจตุพรดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคเพื่อไทย มีสถานะเป็นสมาชิกรัฐสภา และได้ใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา131 ด้วยเหตุว่ามีการประกาศจัดให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2554 ทำให้ไม่สามารถออกหมายจับและควบคุมตัวนายจตุพรได้นั้น ในการนี้ พวกเราซึ่งประกอบด้วยอดีตสมาชิกรัฐสภา พลเมืองผู้ที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการในวุฒิสภา นักกิจกรรมทางสังคม กลุ่มองค์กรเยาวชนที่ปรารถนาความเป็นธรรมในสังคม ได้เล็งเห็นว่าการใช้เอกสิทธิ์พิเศษดังกล่าวของนายจตุพร พรหมพันธ์ เป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าเป็นการกระทำความผิดขั้นร้ายแรงตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อีกทั้งยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 135/1 และ135/2ซึ่งเป็นความผิดฐานก่อการร้าย มีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต อีกทั้งการกระทำความผิดของนายจตุพร พรหมพันธ์ นั้นยังได้ปรากฏชัดเจนต่อสาธารณะชนในประเทศและในระดับนานาชาติว่า เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศไทย ทั้งในด้านความปลอดภัย ชีวิตของประชาชน ทรัพย์สินของประชาชน ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติ คุกคามความสงบสุขของบ้านเมืองจนทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะของการเกิดสงครามกลางเมือง เกิดการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของประเทศในระดับนานาชาติ อีกทั้งยังปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกในสังคมขั้นรุนแรง อันเป็นชนวนเหตุความรุนแรงในสังคมในระยะยาว พวกเราจึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. เราขอเรียกร้องให้ที่ประชุมรัฐสภาได้มีการหารือเพื่อลงมติยับยั้งการใช้เอกสิทธิ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายจตุพร พรหมพันธ์ โดยไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดที่สร้างความเสียหายร้ายแรงต่อบ้านเมืองที่ปรากฏความผิดอย่างเด่นชัด เพื่อเป็นการรักษามาตรฐานของสถาบันนิติบัญญัติที่ไม่สมควรมีสมาชิกที่จะสร้างความมัวหมอง และทำให้เกิดบรรทัดฐาน ค่านิยมที่ไม่ดีในการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมือง

2. เราขอเรียกร้องนายจตุพร พรหมพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะสมาชิกรัฐสภา ให้พึงสำนึกว่า การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น คือการดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรติจากการเลือกตั้งของประชาชนและได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ มีอำนาจในการพิจารณากฎหมายของประเทศ ได้รับสิทธิพิเศษ ผลตอบแทนจากภาษีของประชาชนอย่างมากมาย ดังนั้นการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีสถานะเป็นสมาชิกรัฐสภาจึงควรมีความหมายถึงการมีความรับผิดชอบที่สูงกว่าประชาชนทั่วไป

ทั้งนี้ พวกเรามีความเห็นร่วมกันว่าในอนาคตควรจะมีการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยกเลิกการมีสิทธิพิเศษที่ไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมการใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้เกิดบรรทัดฐานการเลือกปฏิบัติและการคาดหวังผลประโยชน์ทางการเมืองในทางที่มิชอบ อันจะนำความมัวหมองมาสู่สถาบันนิติบัญญัติของชาติ

ผู้ร่วมลงนาม
 

1. นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะอดีตสมาชิกรัฐสภา
2. นางเตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะอดีตสมาชิกรัฐสภา
3. นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ อดีตเลขานุการคณะทำงานส่งเสริมประชาชนในการศึกษาการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา
4. นายแสงธรรม ชุนชฎาธาร เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนมีส่วนร่วมป้องกันการทุจริตและตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
5. น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนมีส่วนร่วมป้องกันการทุจริตและตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ ในคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
6. นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตอนุกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุ วุฒิสภา
7. นาย จิรายุ เเสงเล็ก ผู้ประสานกลุ่ม social action leader for thailand (salt)
8. นางจิรา ปานมณี
9. เครือข่ายเยาวชนฮักถิ่นลำปาง
10. เครือข่ายเยาวชนฮักถิ่นอุตรดิตถ์
11. กลุ่มเทียนส่องทาง
12. กลุ่มน้ำตาเทียน
13. กลุ่มกล้าธรรมม์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คู่ค้าอาวุธไทยในเบลเยี่ยมระงับส่งอาวุธให้ไทยจนกว่าเหตุการณ์ปกติ

Posted: 22 May 2010 10:48 AM PDT

รูดี เดอมอตต์ ประธานมนตรีวัลลูน (Walloon) ประเทศเบลเยี่ยม ตัดสินใจระงับใบอนุญาตส่งออกอาวุธไปยังประเทศไทย
<!--break-->

สำนักข่าวเบลกาของเบลเยี่ยมรายงานว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค. คณะมนตรีของประธานมนตรีวัลลูน (Walloon) เบลเยี่ยม ยืนยันข่าวที่ถูกเสนอในเว็บไซต์ของ RTBF ว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 พ.ค. 2553) นายรูดี เดอมอตต์ ประธานมนตรีตัดสินใจระงับใบอนุญาตส่งออกอาวุธไปยังประเทศไทย หลังจากที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้วิกฤตทางการเมืองที่ร้ายแรง

หน่วยงานของวัลลูนได้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งที่เป็นอันตรายถึงขีดสุดซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่มาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ พวกเขาได้ทำการติดต่อบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและบริษัทเหล่านี้ได้มีท่าทีระมัดระวังมาระยะหนึ่งแล้ว การส่งออกได้ถูกระงับจนกว่าสถานการณ์ในไทยจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

บริษัท FN Herstal ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอาวุธและเป็นคู่ค้ากับประเทศไทยได้รับแจ้งการตัดสินใจของภาครัฐวัลลูนอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคาร

"เราเคารพการตัดสินใจครั้งนี้และอยู่ระหว่างการรอ" คุณโรเบิร์ต โซวาช โฆษกของบริษัทกล่าว

ที่มา สำนักข่าวเบลกา
http://www.lesoir.be/actualite/belgique/2010-05-18/suspension-des-ventes-d-armes-wallonnes-vers-la-thailande-770822.php

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทวิเคราะห์: ประเทศไทยกับนโยบายของสหรัฐอเมริกา

Posted: 22 May 2010 08:20 AM PDT

<!--break-->

แปลจาก Thailand and U.S. Policy โดย Joshua Kurlantzick
ที่มา 
http://blogs.cfr.org/asia/2010/05/18/thailand-and-us-policy/

 

ถึงขณะนี้ วิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ดำเนินมาเกือบจะถึงขั้นสงครามกลางเมืองและคุกคามต่อหลายสิ่งหลายอย่างรวมถึง 1. ผลพวงในแง่บวกด้านประชาธิปไตยที่ได้ถูกสร้างขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา 2. สถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงการครองราชย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ 3. เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ทั้ง 2 ฝ่ายมองหาตัวกลางที่จะช่วยแก้วิกฤตการณ์นี้ ยังมีโอกาสที่สหรัฐอเมริกาจะเข้ามามีบทบาทอย่างสร้างสรรค์

ถึงแม้ว่าประเทศจีนได้มีส่วนเอื้อประโยชน์ต่างๆ ในประเทศไทยตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาก็ยังคงเป็นผู้มีบทบาทจากประเทศภายนอกที่เป็นที่นับถือและสำคัญที่สุด ในปี ค.ศ. 2006 การตัดสินใจของสหรัฐอเมริกาที่จะไม่ประณามการทำรัฐประหาร เป็นการทำให้กองกำลังทหารเข้ามามีอำนาจได้ง่ายขึ้น และได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นข้อผิดพลาดอันใหญ่หลวง เนื่องจากคณะรัฐประหารมิได้ทำการแก้ไขสิ่งใดทั้งสิ้นและได้แต่ทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม

ในตอนนี้ คณะรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้เลือกใช้วิธีการแสดงท่าทีอย่างสุขุมและไม่แสดงความแตกต่างมากนัก นายเคิร์ท แคมป์เบลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตัดสินใจอย่างชาญฉลาดในระหว่างการเยี่ยมเยือนประเทศไทย ที่ไม่เพียงแต่จะพบฝ่ายรัฐบาล แต่ได้พบกับแกนนำบางคนของผู้ชุมนุมเสื้อแดง ถึงแม้ว่าการทำเช่นนี้จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากรัฐบาลไทย การตัดสินใจดังกล่าวเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่ากลุ่มเสื้อแดงบางกลุ่มได้เลือกใช้วิธีการที่รุนแรงและรัฐบาลก็มีสิทธิ์ที่จะนำความสงบกลับมาและสลายการชุมนุมประท้วง แต่ข้อเรียกร้องต่างๆ ทางสังคมซึ่งสะท้อนจากกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง (ต้องไม่ลืมว่า ผู้ชุมนุมกว่าหนึ่งแสนคนได้ออกมาเรียกร้องในกรุงเทพฯ เมื่อไม่นานมานี้) จะต้องไม่ถูกละเลย และยังจะต้องได้รับการทำความเข้าใจโดยสหรัฐอเมริกาและองค์กรหรือประเทศที่มีอิทธิพลจากประเทศอื่นๆ

ทางการของสหรัฐอเมริกาจำเป็นที่จะต้องขยายกรอบของการติดต่อเชื่อมโยงและหาข้อมูลออกไปเพื่อที่จะทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และยังจำเป็นต้องขยายออกไปนอกกรอบของการรายงานเกี่ยวกับประเทศไทยจากสื่อไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษ (สื่อมวลชนจากต่างประเทศมีแนวโน้มจะทำหน้าที่ได้ดีกว่าในการสะท้อนเสียงจากคนไทยในขอบเขตที่กว้างกว่า เนื่องจากนักข่าวจากต่างประเทศจะออกไปนอกกรุงเทพฯ มากกว่า และได้สัมภาษณ์ประชาชนในต่างจังหวัด) การตามค้นหาข้อมูลในวงกว้างนี้จะแสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงไม่ได้เพียงแต่เป็นเครื่องมือของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น

นโยบายการมีปฎิสัมพันธ์เพียงกับกลุ่มชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ เท่านั้น จะไม่เป็นประโยชน์กับสหรัฐอเมริกา และในระยะยาวอาจจะทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะเกิดผู้นำกลุ่มคนยากจนดังเช่นกรณีนายชาเวซ ผู้ซึ่งจะก้าวเข้ามาสู่อำนาจและมีนโยบายต่อต้านอเมริกันอย่างรุนแรง

นายแคมป์เบลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา จะเดินทางกลับไปเอเชียในอีกไม่กี่วันนี้ และแน่นอนว่าประเทศไทยจะเป็นหัวข้อสำคัญในการพิจารณาหารือ นายแคมป์เบลล์ควรจะรับรองความจำเป็นของรัฐบาลไทยในการนำความสงบกลับมาสู่บ้านเมือง (ทั้งนี้เช่นกัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ไม่สามารถปล่อยให้กลุ่มคนติดอาวุธออกมาเดินอยู่ตามท้องถนนของวอชิงตัน ดี.ซี. โดยไม่ได้มีการตรวจสอบได้) และในขณะเดียวกันนายแคมเบลล์ก็ควรจะเพิกเฉยต่อคำเรียกร้องของรัฐบาลไทยที่จะให้นายแคมป์เบลล์ติดต่อกับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลไทยเท่านั้น นายแคมป์เบลล์ควรจะสืบหาและฟังความคิดเห็นที่เป็นกลางจากกลุ่มเสื้อแดง และจากกลุ่มผู้นำที่ค่อนข้างมีความเป็นกลางและเป็นที่นับถือ ซึ่งเป็นผู้ที่เคยใกล้ชิดกับนายทักษิณ อย่างเช่น อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายจาตุรนต์ ฉายแสง

นายแคมป์เบลล์ควรจะส่งสารถึงรัฐบาลไทยว่า สหรัฐอเมริกาจะดำเนินการต่างจากในปี ค.ศ. 2006 โดยที่สหรัฐอเมริกาจะประณามอย่างแข็งกร้าวมากขึ้นต่อการแทรกแซงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น การทำรัฐประหาร การพิพากษาจากศาล หรือ การกระทำอื่นๆ ที่คล้ายกัน ดังเช่นที่รัฐบาลประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ทำการประณามต่อรัฐประหารในประเทศฮอนดูรัส และการเลือกตั้งที่อาจจะถูกจัดขึ้นอย่างไม่โปร่งใสในประเทศอิหร่าน การประณามนี้อาจจะรวมไปถึงการขู่จะยกเลิกการฝึกรบร่วมคอบร้า โกลด์ การประณามอย่างเป็นทางการต่อสาธารณชน และการทบทวนความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยเสียใหม่ ประเทศไทยย่อมไม่ต้องการที่จะถูกมองว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศทั้งสองที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้น การยึดหลักการสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งอย่างเสรีเท่านั้น จึงจะเปิดโอกาสให้สหรัฐอเมริกาสามารถปกป้องสถานภาพของประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น

หมายเหตุ: Joshua Kurlantzick ได้รับทุนวิจัยในประเด็นเอเชียตะวันเฉียงใต้ ที่สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (The Council on Foreign Relations: CFR) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร สัญชาติอเมริกัน รวมถึงเป็นคอลัมนิสต์ให้กับนิตยสารไทม์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิดีโอคลิป: 20 พ.ค. 'กลับบ้าน'

Posted: 21 May 2010 10:16 PM PDT

<!--break-->

หลังหลบอยู่ในวัดปทุมฯ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาตลอดคืนวันที่ 19 พ.ค. 2553 ท่ามกลางเสียงปืนที่ดังไม่ขาดสาย และผู้คนที่ปลิดปลิวไป 6 ชีวิตต่อหน้าต่อตา ในที่สุด หลังจากตำรวจเจรจาอยู่นาน รวมทั้งพา ส.ส.เพื่อไทยเข้ามาร่วมยืนยันความปลอดภัยในการส่งกลับภูมิลำเนา ชาวบ้านผู้ขวัญหนีดีฝ่อก็ยอมทยอยกันออกมารวมตัวกันที่ลานหน้า สตช.จนแน่นขนัด พวกเขาอิดโรยและเหนื่อยล้า หลายคนมีเพียงตัวเปล่าๆ บางคนพอจะหอบข้าวหอบของติดตัวมาด้วยได้บ้าง เช่น กระสอบข้าวสาร ลังสิ่งของ พัดลม เป็นอาทิ ขณะที่บางคนรองเท้า ก็ไม่ทันได้ใส่เพราะใส่ตีนหมาโกยอ้าวสถานเดียวจากลูกหลงและ ความตายอันอลหม่าน หลังแกนนำประกาศมอบตัว

รถเมล์ที่แปะป้าย บริการประชาชน ได้เข้ามาบริการประชาชนจำนวนมากในที่นี้ ในเบื้องต้นพวกเขาต้องนั่งแบ่งโซนตามภาคต่างๆ และเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อลงทะเบียน จากนั้นรถเมล์จะมารับที่ประตูด้านอังรีดูนัง เพราะจนนาทีนั้นก็ยังไม่มีใครรับประกันความปลอดภัยบนถนนเส้นมรณะได้ จากนั้นต้องไปลงทะเบียน ถ่ายบัตรประชาชน และกรอกเอกสาร เซ็นชื่ออะไรต่อมิอะไรอีกมากมายที่เต๊นท์ของทหารและกระทรวง มหาดไทยบริเวณสนามศุภฯ ก่อนที่รถจะไปส่งที่สถานีขนส่งหมอชิต และสถานีรถไฟบางซื่อ เมื่อถึงที่นั่นก็จะได้เงินจากกระทรวงพัฒนาสังคมฯ อีกคนละ 200 บาท เผื่อใครไม่มีเงินต่อรถในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็แนวโน้มเช่นนั้น

ดูไปแล้วสภาพมันเหมือนค่ายผู้อพยพ ซึ่งรอบตัวเต็มไปด้วยซากปรักหักพัง ผู้คนสะบักสะบอม อิดโรย เพราะเพิ่งผ่านสมรภูมิสงครามกลางเมือง คนส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่นี้เป็นคนต่างจังหวัด หน้าเกรียมแดด แต่งตัวสกปรกและหอบของพะรุงพะรัง การเข้ามาและการจากไปของพวกเขาต่างกันลิบลับ

ทหารหน่วยจิตวิทยา ประกาศส่งพวกเขากลับบ้านอย่างดี ลุงคนหนึ่งวิ่งไปกระซิบข้างหู ทหารพูดออกไมโครโฟน "เอ้า ใครเอาพัดลมสีเทาของลุงไป" "หาดีหรือยังลุง" "อะไรนะ วางไว้แป๊บเดียวไม่รู้หายไปไหนเหรอ ใครกันน้าเอาพัดลมของแกไปได้ โถๆ" เจ้า หน้าที่หน่วยต่างๆ และผู้สื่อข่าวจำนวนมากที่อยู่ละแวกนั้นพากัน หัวเราะแกมเอ็นดูลุงบ้านนอกผู้ตามหา "พัดลม" ... นั่นสิ ใครเอา "พัดลม" ของแกไป ...

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ด่วน...!!! ศูนย์ ‘ประชาไท’ (เฉพาะกิจ) รับข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม

Posted: 21 May 2010 06:19 PM PDT

"ประชาไท" ตั้งศูนย์เฉพาะกิจรวบรวมติดตามข้อมูล คนตาย-คนหาย-ผู้บาดเจ็บ-ผู้ถูกจับกุม-ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ

<!--break-->

นับตั้งแต่ปฏิบัติ การ ‘กระชับพื้นที่’ ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อกดดันให้ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. ยุติการชุมนุม เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 เป็นต้นมา ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหาย และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จำนวนมาก

‘ประชาไท’ จึงได้จัดตั้งศูนย์ รับข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เพื่อเป็นหนึ่งในเวทีให้ประชาชนได้ แจ้งข้อมูลข่าวสาร และร่วมกันติดตามตรวจสอบ"การใช้อำนาจรัฐที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน" โดยจะประสานความร่วมมือ ส่งต่อเครือข่ายผู้รักความเป็นธรรมทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่อไป

ประชาไทจึงใคร่ขอประชาสัมพันธ์ถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือประสบพบเห็นความรุนแรงที่มีต่อเพื่อนมนุษย์จากกรณีดังกล่าวให้ติดต่อกับประชาไทโดยเราจะปกปิดข้อมูลของท่านเป็นความลับ

เนื่องจากเป็นการเตรียมการอย่างเร่งด่วน โดยเบื้องต้นโปรดให้ข้อมูลเบื้องต้นและช่องทางสำหรับการติดต่อประสานงานไว้ที่่ช่องแสดงความคิดเห็นท้ายข่าวนี้  โดยข้อมูลที่ท่านได้โพสต์จะไม่แสดงให้เห็นในที่สาธารณะ

 

» ศูนย์ "ประชาไท" แบบบันทึกข้อมูลเบื้องต้นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 14 พ.ค. 2553 - ปัจจุบัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น