โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai.info

ประชาไท | Prachatai.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ความเคลื่อนไหว 27 พ.ค. 2553

Posted: 27 May 2010 09:51 AM PDT

<!--break-->

 

ไล่ "สุนัย" พ้นที่ประชุมสภา เหตุไม่ยอมถอนคำนายกสั่ง "ฆ่าประชาชน"

วันนี้ (27 พ.ค.) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554 จำนวน 2.07 ล้านล้านบาท ในช่วงบ่าย นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะ ประธานที่ประชุม ได้ไล่นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ออกจากห้องประชุม เนื่องจากกล่าวพาดพิง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไม่สั่งทหารจะออกมาฆ่าประชาชน และไม่ยอมถอนคำว่า "ฆ่าประชาชน" ส่งผลให้นายสามารถตัดสินใจไล่นายสุนัยออกจากห้องประชุม

ทั้งนี้ โพสต์ทูเดย์รายงานว่า ในช่วงบ่ายของการประชุมสภาฯ เริ่มมีบรรยากาศที่ตึงเครียดมากขึ้นหลังจาก ส.ส.ฝ่ายค้านได้มีการนำเหตุการณ์การสลายการชุมนุมมาอภิปรายถึงขั้น โดย พล.ต.ต.วิรุฬ พื้นแสน ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่าสองหน่วยงานนี้ไม่สมควรที่จะได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมาไม่มีการอำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาค อย่างคดีการยึดสนามบินและทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มคนบางกลุ่มจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินคดีอย่างเป็นรูปธรรมไม่มีความคืบหน้า

พล.ต.ต.วิรุฬ กล่าวว่า ตรงกันข้ามกลับมีการดำเนินคดีและใส่ร้ายผู้ที่มาชุมนุมทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญว่าเป็นผู้ก่อการร้ายอย่างไม่เป็นธรรมเพราะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน โดยเฉพาะดีเอสไอที่เข้ามาแทรกแซงการชันสูตรศพทั้งๆที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมายเพราะเป็นหน้าที่ของอัยการและทนายความของผู้เสียหายดำเนินการ รวมไปถึงการรับคดีพิเศษบางคดีมาดำเนินการที่ตัวเองไม่มีอำนาจในการสอบสวน ที่สำคัญการสลายการชุมนุมที่ผ่านมาได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากโดยเฉพาะการมีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 ศพ ภายในวัดปทุมวนาราม ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรต้องแสดงความรับผิดชอบ

จากนั้น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคนได้ลุกขึ้นมาประท้วงการอภิปรายของ พล.ต.ต.วิรุฬว่าไม่เข้าประเด็นเกี่ยวกับการพิจารณางบประมาณถือว่าผิดข้อบังคับการประชุมสภาฯข้อที่ 61 ขอให้นายสามารถ วินิจฉัยด้วย ซึ่งนายสามารถได้ขอให้ ส.ส.ทุกคนอยู่ในความสงบ และขอให้ พล.ต.ต.วิรุฬสรุปประเด็นที่จะอภิปรายได้แล้ว

ต่อมา นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย เป็นอีกคนที่อภิปรายพาดพิงไปถึงสถานการณ์สลายการชุมนุมว่า รู้สึกไม่สบายใจเมื่อทราบจากเพื่อนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศเล่าให้ฟังว่าในช่วงเหตุการณ์กระชับการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 พบว่าสื่อต่างประเทศมีการเผยแพร่ว่าทหารยิงประชาชนโดยสื่อต่างประเทศมีการเสนอข่าวซ้ำไปซ้ำมา เมื่อฟังเรื่องนี้แล้วจึงทำให้ไม่สบายใจ

การอภิปรายพาดพิงเหตุการณ์สลายการชุมนุมทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายคนลุกขึ้นประท้วง เช่น นายสุวโรช พะลัง ส.ส. สัดส่วน นางอาณิก อมรนันท์ ส.ส.สัดส่วน โดยขอร้องว่าหากต้องการพูดเรื่องเหตุการณ์ชุมนุมควรไปอภิปราย ในวันที่ 31 พ.ค.ระหว่างนั้นนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ก็ได้ขึ้นตอบโต้ว่า ประธานในที่ประชุมควรให้ ส.ส.สามารถอภิปรายเรื่องดังกล่าวได้เพราะเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากถ้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไม่สั่งแล้วทหารจะออกมาฆ่าประชาชนได้อย่างไร เป็นผลให้นายสามารถสั่งให้นายสุนัยถอนคำว่าฆ่าประชาชน แต่นายสุนัยไม่ถอนส่งผลให้นายสามารถตัดสินใจไล่นายสุนัยออกจากห้องประชุม

"อภิสิทธิ์" เลี่ยงตอบกรณีการเสียชีวิตประชาชน อ้างแจงในเวทีอภิปราย

ต่อมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าประเด็นเรื่องการชุมนุมที่ผู้อภิปรายบอกว่า ชีวิตมีค่ามากกว่าทรัพย์นั้น ตนก็เห็นด้วยว่าชีวิตเป็นสิ่งมีค่า ทั้งนี้ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าจะได้ใช้เวทีนั้นชี้แจงอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่ชาวต่างประเทศที่ถูกยิงในเขตวัดปทุมวนารามนั้น ตนขอเรียนว่าอยู่ในระหว่างการตรวจ สอบ และส่วนที่ตนรับรู้รับทราบ คือ มีชาวต่างประเทศที่ถูกยิง คือ นักข่าวของหนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนท์ กับผู้ที่ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งตนได้รับการติดต่อว่าจะทำอย่างไรเพื่อนำคนเจ็บออกจากวัดดังกล่าวได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เวลานั้นตนเองและรัฐมนตรีบางคน เช่น นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมช.ศึกษาธิการ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศ ได้ช่วยกันประสานงานในเรื่องนี้ แต่มีความยากลำบาก คือ รถพยาบาลและหน่วยกู้ชีพเข้าไปไม่ได้ เพราะมีการลอบยิงใส่รถ พยาบาลไม่หยุด แต่ใช้เวลาไม่นาน รถพยาบาลก็สามารถเข้าไปได้และนำผู้บาดเจ็บออกมา ตนขอยืนยันว่าในคืนวันดังกล่าว พวกตนพยามอย่างยิ่งที่จะประสานกับองค์เอกชนในการนำผู้บาดเจ็บออกมารับการรักษาพยาบาล

“สุนัย” โวยศอฉ.เลือกปฏิบัติสั่งปิด 4 นสพ.แดง แต่ปล่อยเอเอสทีวี

ในวันเดียวกันนี้ ที่รัฐสภา มติชนออนไลน์รายงานว่า นายสุนัย ในฐานะผู้ก่อตั้งนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ กล่าวถึงกรณีที่ ศอฉ.มีคำสั่งปิดสื่อสิ่งพิมพ์ของฝ่าย นปช.จำนวน 4 ฉบับ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสวนทางกับคำพูดเรื่องสร้างความปรองดองของนายกรัฐมนตรีและบุคคลในซีกรัฐบาล หากกล่าวอ้างเรื่องความสงบเรียบร้อยถามว่าเหตุใดจึงเลือกปิดเฉพาะหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งสิมพิมพ์ของคนเสื้อแดงและบรรณาธิการยังถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร แต่รัฐบาลกลับปล่อยให้สื่อในเครือเอเอสทีวีเผยแพร่โจมตีอยู่ได้ฝ่ายเดียว แต่ทั้งนี้หลังการยกเลิกเคอร์ฟิวเราคงจะมาหารือเพื่อดำเนินการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์อีกครั้ง อย่างไรก็ตามบรรยากาศการเมืองวันนี้มีสภาพเหมือน 6 ตุลา 2519 ที่มีการทำทุกวิถีทาง ใช้กฎหมายทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด


"ประวิตร" ชี้กองทัพไทยได้งบน้อยกว่าชาติอาเซียนขั้นต่ำ ด้านงบปี 54 ให้งานรักษาความมั่นคงกว่า 186 พันล.โดยการทหารได้เกิน 88%

เมื่อวันที่ 27 พ.ค.53 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมถึงงบประมาณประจำปี 2554 ในส่วนของกระทรวงกลาโหมว่า งบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่ได้มาไม่ได้มากมาย เนื่องจากกำลังพลของกระทรวงกลาโหมมีมาก ฉะนั้นงบประจำที่จ่ายรายเดือนก็จะต้องมี เช่น งบการฝึกศึกษา ก็จะต้องเป็นงบประจำที่จะต้องใช้ในเรื่องการปรับปรุงพัฒนาเกี่ยวกับในเรื่องของการซ่อมบำรุง ถือเป็นงบประจำประมาณ 70-80 % ในส่วนงบประมาณของการพัฒนากองทัพมีน้อยประมาณ 20 % เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กองทัพจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงกลาโหมได้เพียง 1.67 ของจีดีพี ถ้าเทียบกับในประเทศอาเซียนถือว่าต่ำมาก เรื่องงบประมาณไม่ได้เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอะไร

ทั้งนี้ จากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 ต่อสมาชิสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 พ.ค.53 ณ อาคารรัฐสภา รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ 2.07 ล้านล้านบาท ไว้ 8 ยุทธศาสตร์ และ 1 รายการค่าดำเนินการภาครัฐ โดยมีรายละเอียดการดำเนินงานในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ 2 จัดสรรงบประมาณ จำนวน 186,364.5 ล้านบาท แบ่งเป็น

1.การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ งบประมาณ จำนวน 10,635.7 ล้านบาท เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เทิดทูนและพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์มิให้มีการล่วงละเมิดได้

2.การเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศ งบประมาณ จำนวน 165,031.2 ล้านบาท โดยมุ่งพัฒนาทางการทหาร ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พัฒนาความร่วมมือทางทหารกับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ ส่งเสริมบทบาทในการรักษาสันติภาพของโลกภายใต้กรอบสหประชาชาติ ตลอดจนบริหารจัดการพื้นที่ชายแดน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพปัญหาในพื้นที่

3.การพัฒนาระบบแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองและแรงงานต่างด้าว งบประมาณ จำนวน 1,201.4 ล้านบาท โดยปรับปรุงระบบการตรวจคนเข้าเมือง จัดระเบียบชายแดน ดำเนินการป้องกันปราบปรามผู้หลบหนีเข้าเมืองและควบคุมแรงงานต่างด้าวทั้งที่ผิดกฎหมาย จับกุมและผลักดันคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ออกนอกราชอาณาจักร ไม่น้อยกว่า 3 แสนคน ตลอดจนดูแลตรวจสอบ ควบคุมการทำงานของแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่น้อยกว่า 7 แสนคน

4.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย และการรักษาผลประโยชน์ของชาติ งบประมาณ จำนวน 9,496.2 ล้านบาท เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และประชาคมโลกในการอำนวยความปลอดภัย การเตรียมความพร้อม และการจัดการวิกฤตการณ์ที่เกิดจากภัยก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และภัยคุกคามทุกรูปแบบ รวมทั้งการพัฒนาระบบงานด้านข่าวกรองและการสื่อสาร


"เพื่อไทย" เปิดรายชื่อทีมอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีชื่อ "จตุพร" ร่วมวงด้วย

(27 พ.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทย ได้จัดทีม ส.ส.ที่จะขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรี รวม 6 คน เบื้องต้นจะนำโดย

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นหัวหน้าทีมอภิปราย

ส่วนผู้ร่วมทีมทั้งสิ้นประมาณ 20 คนที่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้ ประกอบด้วย
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน แกนนำคนเสื้อแดง
นายไชยา พรหมมา ส.ส.หนองบัวลำภู
นายเจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน
นางธิติมา ฉายแสง ส.ส.ฉะเชิงเทรา
นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน
นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ไชกุล ส.ส.เชียงใหม่
นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน
นายไพจิตร ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.สัดส่วน
นายวิเชียร ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี
นางอรุณี ชำนาญยา ส.ส.พะเยา
นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน
พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ส.ส.นครราชสีมา
นายพงศ์พันธุ์ สนุทรชัย ส.ส.หนองคาย
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.
ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.สัดส่วน
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ และ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 2 ปี ปรับ 4 แสน "บก.นสพ.ผู้จัดการ" หมิ่นประมาท "หม่อมอุ๋ย"

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 27 พฤษภาคม ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก นายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการรายวัน จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เป็นเวลา 2 ปี ปรับ 400,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี ส่วนบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 ลงโทษปรับ 400,000 บาท

คดีนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการคลัง เป็นโจทก์ฟ้อง สรุปว่า ระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกัน ใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์โดยตีพิมพ์ข่าวลงใน นสพ.จัดการรายวัน ทำนองว่า ขณะโจทก์ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีการใส่เกียร์ว่างไม่ปรับย้ายข้าราชการกลุ่มอำนาจเก่าในกระทรวง และปกป้องกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่ขายที่ดินให้กับ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และยังกล่าวหาว่า โจทก์ตั้งคณะกรรมสอบสวน ผู้บริหารกรมสรรพากร ซ้ำซ้อน กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งไม่เป็นความจริงทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดจริงตามฟ้อง โดยลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 4 แสนบาท และสั่งลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 2 ปี ปรับ 4 แสนบาท ส่วนโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี จำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิจารณาโทษที่เหมาะสม

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลยพินิจนั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์ไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลง พิพากษายืน

ที่มา: มติชนออนไลน์

วิปรัฐบาล-ฝ่ายค้าน จับมือตั้งกรรมการกลั่นกรองคลิป

ประธาน วิปรัฐบาล ระบุ ที่ประชุมมีข้อสรุปตรงกันให้ผู้นำคลิปต่างๆ มาประกอบการอภิปรายหรือการชี้แจง ทั้งฝ่ายค้านและ รมต.ต้องนำเอกสารหลักฐานภาพต่างๆ มาส่งคณะกรรมการภายในเวลา 14.00 น. 28 พ.ค.นี้

เมื่อเวลา 14.45 น. วันที่ 27 พ.ค. นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงถึงภาพรวมการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 ว่า เป็นการอภิปรายงบประมาณที่น้อยกว่าปกติ เนื่องจากผู้อภิปรายยังมีอารมณ์ค้างจากวันที่ 19 พ.ค. ซึ่งตรงนี้ควรจะอยู่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 31 พ.ค.-1 มิ.ย. อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้การอภิปรายฝ่ายค้าน ใช้เวลา 10 ชั่วโมง 5 นาที ฝ่ายรัฐบาลใช้เวลา 4 ชั่วโมง 6 นาที และครม. 2 ชั่วโมง 34 นาที ส่วนการหารือและประท้วง 1 ชั่วโมง 15 นาที โดยภาพรวมถือว่าอยู่ในกรอบและเรียบร้อย

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 พ.ค.-1มิ.ย.นั้น นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับแจ้งจากสภาว่ามีการกราบบังคับทูลฯ ปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 3 มิ.ย.นี้ และถ้ายังมีการประกาศเคอร์ฟิว การประชุมจะจบในเวลา 22.00 น. ดังนั้นในการอภิปรายทั้ง 2 วันจะเริ่มเวลา 09.00-23.00 น. และลงมติในวันที่ 2 มิ.ย. สำหรับเรื่องกรอบเวลานั้น ในช่วงสุดสัปดาห์นี้จะมีการหารือกับตัวแทนจากวิปฝ่ายค้าน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากฝ่ายค้านจะนำคลิปวิดีโอประกอบการอภิปรายมาเปิดในห้องประชุม จะอนุญาตหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า โดยธรรมเนียมที่ผ่านมา จะเป็นการอภิปรายโดยวาจา ช่วงหลังถึงจะเป็นการนำเอกสารและแผ่นชาร์ตเข้ามา ส่วนคลิปวิดีโอเพิ่งจะโผล่มาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งตามธรรมเนียมที่ผ่านมา ไม่สามารถเปิดคลิปได้ ทำได้เพียงส่งให้ประธานสภา แล้วให้ผู้ถูกกกล่าวหาเป็นผู้ตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นอำนาจของประธานที่ประชุมในการพิจารณาว่าจะให้ นำเสนอหรือไม่ แม้แต่กรณีภาพนิ่งก็ต้องมีการตรวจสอบก่อน

ต่อมาเวลา 15.30 น. ที่รัฐสภา นายวิทยา ประธานวิปรัฐบาล และนายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้แถลงข่าวร่วมกันภายหลังเข้าหารือกับนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ถึงการกำหนดกรอบในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 พ.ค.-1 มิ.ย.นี้

โดยประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ฝ่ายค้านจำเป็นต้องนำเสนอหลักฐาน ทั้งคลิปรูปภาพเพื่อประกอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐบาล ฝ่ายค้าน และประธานสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายละ 3 คน ขึ้นมาพิจารณาหลักฐานที่จะใช้ประกอบในการอภิปรายครั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการอภิปรายของฝ่ายค้าน

ด้านประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปตรงกัน ให้ผู้ที่ประสงค์จะนำเอกสารหลักฐานคลิปต่างๆ มาประกอบการอภิปรายหรือการชี้แจง ทั้งฝ่ายค้านและรัฐมนตรีจะต้องนำเอกสาร หลักฐานภาพต่างๆ มาส่งกับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นภายในวันที่ 28 พ.ค.นี้ เวลา 14.00 น. เพื่อลดปัญหาข้อโต้เถียงที่จะเกิดขึ้น

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

กระทรวงวัฒนธรรม หั่นงบฯ หนุนหนัง 'นเรศวร' เหลือ 46 ล้าน

เมื่อวันที่ 27 พ.ค.นายธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อประชุมหารือแก้ปัญหาข้อร้องเรียนจากหลายฝ่ายที่เสนอให้ทบทวนการอนุมัติงบฯ จากโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ในการสนับสนุนภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวร ภาค 3-4 จำนวน 100 ล้านบาท จากงบฯ สนับสนุนที่มีทั้งหมด 200 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าไม่โปร่งใสและไม่ยุติธรรม

โดยที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆ แล้วมีมติเห็นชอบปรับลดงบฯ สนับสนุนภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวร จากจำนวน 100 ล้านบาท และให้เหลือเพียง 46,096,902 บาท โดยมีสัดส่วนการปรับลงลงจำนวนถึง 53,903,098 บาท ซึ่ง รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า การปรับลดงบฯ ของภาพยนตร์ดังกล่าว ได้พิจารณาตามข้อเสนอของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เนื่องจากบางฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้ทับซ้อนกับฉากที่อยู่ในโครงการส่งเสริมการสร้าง ภาพยนตร์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของ พณ. จำนวน 330 ล้านบาท ดังนั้นที่ประชุมเห็นว่าเมื่อมีความทับซ้อนกัน ควรที่ตัดงบฯ ส่วนดังกล่าวออก

"และขอชี้แจงว่า การปรับลดงบฯ ครั้งนี้ไม่ได้ทำเพราะมีการร้องเรียนและลบข้อครหา แต่เป็นเพราะ วธ.ไม่ทราบมาก่อนว่าทาง พณ. ได้ให้งบสนับสนุนงบฯ แก่เรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตามส่วนภาพยนตร์และกิจกรรมอีก 48 โครงการที่ได้รับอนุมัติงบฯไปแล้วก็ยังคงยึดมติให้การสนับสนุนเท่าเดิม"

นายธีระ กล่าวอีกว่า สำหรับงบฯที่ปรับลดกว่า 53 ล้านบาทนั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้นายอภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัด วธ. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการสนับสนุนกิจกรรม หรือโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ดำเนินการคัดเลือกภาพยนตร์เรื่องยาว ภาพยนตร์สั้น และภาพยนตร์นอกกระแส รวมทั้งโครงการที่ขอสนับสนุนเข้ามาทั้งหมด 295 โครงการ อีกครั้ง เพราะเห็นว่าหนังหลายเรื่องมีคุณภาพ และควรได้รับการสนับสนุน

ด้านนายอภินันท์ กล่าวว่า ตนจะมีการประชุมคัดเลือกภาพยนตร์ ในวันที่ 31 พ.ค. นี้ เพื่อจัดสรรงบฯ 53 ล้านบาท โดยยังคงยึดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาเหมือนเดิมทุกอย่าง โดยจากนั้นจะเร่งเสนอให้คณะกรรมการภาพยนตร์ฯ เห็นชอบในเดือน มิ.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดสรรงบฯ สนับสนุนภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรนั้น มีการตั้งข้อสังเกตถึงระเบียบการพิจารณาให้การสนับสนุนงบฯ เนื่องจากที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์ฯ ได้มีการยืนยันถึงความโปร่งใสในการพิจารณาให้งบฯ 100 ล้านบาท แก่เรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด รวมทั้งยังให้เหตุผลถึงการจัดสรรงบให้ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว มากกว่าเรื่องอื่น ว่า เป็นภาพยนตร์ที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่เริ่มต้น อีกทั้งเนื้อหาภาพยนตร์เป็นการส่งเสริมประวัติศาสตร์ชาติไทย สอดคล้องกับเป้าหมายในการส่งเสริม ให้เกิดความรัก ความสามัคคี ของคนในชาติ สมควรที่จะได้รับงบประมาณ ถึง 100 ล้านบาท แต่การตัดงบฯครั้งนี้ เป็นเพราะมีการร้องเรียนของผู้เสียประโยชน์ และจะให้มีการพิจารณางบฯที่ตัดออกให้กับผู้ที่เสียประโยชน์แทน

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สรรเสริญ" ลั่นเป็นสิทธิของสุธาชัยอดอาหาร แต่ ศอฉ. มีอำนาจควบคุมตัว แนะกินเจเล่คงจะอิ่ม

Posted: 27 May 2010 07:48 AM PDT

พ.อ.สรรเสริญ ชี้กรณี "สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ" เป็นบุคคลตามหมายจับและมามอบตัวเอง อดอาหารเป็นสิทธิ และคงทำให้หิว แต่ ศอฉ. มีอำนาจควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศอฉ.ทำตามกรอบกฎหมาย แนะถ้าไม่ทานอาหารจริง กินเจเล่ก็คงจะอิ่ม

<!--break-->

หลังจากที่มีข่าวนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูก ศอฉ. ควบคุมตัวที่ค่ายอดิศร จ.สระบุรี ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. นั้น ล่าสุด ทนายความของนายสุธาชัยแจ้งว่า นายสุธาชัยประกาศอดอาหารเพื่อประท้วงตั้งแต่เมื่อเช้าวันนี้ (27 พ.ค.) เนื่องจากตั้งแต่ควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ หรือติดตามข่าวสารใดๆ แม้กระทั่ง หนังสือวิชาการที่เอาไปด้วยเพื่ออ่านเตรียมการสอนสำหรับปีการศึกษาที่กำลังจะเริ่มนี้เจ้าหน้าที่ก็ไม่ให้อ่าน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ล่าสุดมติชนออนไลน์ รายงานเมื่อเวลา 19.00 น. วันนี้ (27 พ.ค.) ว่า พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) กล่าวถึงกรณีนายสุธาชัยอดอาหารประท้วง ว่า ที่ผ่านมานักวิชาการรายอื่นที่วิจารณ์ ศอฉ. ก็ไม่ได้มีการควบคุมตัว แต่ ดร.สุธาชัยเป็นบุคคลที่มีหมายจับและมามอบตัวเอง การที่ไม่รับประทานอาหารก็คงทำให้หิว แต่ก็เป็นสิทธิของนายสุธาชัย อย่างไรก็ตาม ศอฉ.ควบคุมตัวตามอำนาจ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ต้องควบคุมตัวในสถานที่ไม่ใช่ทัณฑสถาน เรือนจำ แต่ให้ควบคุมในสถานที่ที่เป็นศูนย์ฝึกได้ ทั้งนี้ ศอฉ. ทำตามกรอบกฎหมาย แต่หากท่านไม่ทานอาหารจริง ท่านกินเจเล่ก็คงจะอิ่มอยู่แล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ผลิตคลิปล้อ 'เสธ.ไก่อู' ถอดคลิปออก หวั่นผลกระทบต่อนักแสดงหลังถูกวิจารณ์

Posted: 27 May 2010 06:07 AM PDT

<!--break-->

27 พ.ค. 2553 - เว็บไซต์ไทยรัฐ รายงานว่าเว็บไซต์ดังแห่งหนึ่งซึ่งเผยแพร่คลิปล้อเลียนการเมืองในชื่อ "เจาะข่าวตื้น ศอฮ. กับ เสธ.ไก่อบ" ที่มีการแสดงท่าทีล้อเลียน ศอฉ. จนทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสม ทำให้มีการถอดคลิปออกแล้ว

คลิปรายการดังกล่าวมีดีเจและนักแสดงชายคนหนึ่งออกมาแสดงลักษณะท่าทางล้อเลียน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขณะแถลงถึงสถานการณ์

โดยในวันนี้ (27) โดฟี่-จรรยา วงศ์สุรวัฒน์ ผู้ผลิตรายการทีวีบนอินเตอร์เน็ตที่เผยแพร่คลิปดังกล่าว เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ ว่า ได้ถอดคลิปล้อเลียนการเมืองดังกล่าว ที่ใช้ชื่อว่า "เจาะข่าวตื้น ศอฮ. กับ เสธ.ไก่อบ" ออกจากเว็บไซต์แล้ว โดยเป็นความตั้งใจของตน ดูจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเว็บบอร์ดต่างๆ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อนักแสดงในรายการดังกล่าว

โดฟี่ กล่าวว่า เหตุที่ผลิตรายการล้อเลียนการเมืองเป็นเจตนาที่ต้องการสร้างบรรยากาศคลายความตึงเครียดของสังคมไทย ไม่ได้ต้องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือแสดงตนว่าเป็นฝ่ายใด

"เรามีเจตนาคือ 1. ทำเรื่องความตลกขบขัน 2. เป็นการตั้งคำถามต่อสังคม และ 3 อยากให้มีการแชร์ความคิดเห็นกัน โดยไม่ได้เป็นฝ่ายไหน  และพิธีกรในรายการดังกล่าวเป็นบุคคลสาธารณะ เราเป็นห่วงมากหลังมีกระแสข่าวออกมาในเว็บบอร์ดมากมาย และตัดสินใจถอดคลิปรายการดังกล่าวออกเสีย และยืนยันว่าไม่มีใครแจ้งหรือเตือนมาเพื่อให้ถอดรายการดังกล่าว"

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พบกองกำลังติดอาวุธไม่แต่งเครื่องแบบร่วมปฏิบัติการกับทหารเมื่อ 19 พ.ค.

Posted: 27 May 2010 05:56 AM PDT

เผยคลิปกองกำลังติดอาวุธแต่งกายแบบพลเรือนปะปนอยู่กับทหารขณะสลายการชุมนุมเมื่อ 19 พ.ค. พร้อมร่วมกับทหารใช้ปืนเอ็ม 16 ยิงใส่เป้าหมาย

<!--break-->

ภาพต่อเนื่องจากคลิปข่าวของช่อง 9 อสมท. ที่รายงานเมื่อ 19 พ.ค. เวลา 14.30 น.

ภาพพลแม่นปืนหรือสไนเปอร์ เมื่อ 17 พ.ค. บริเวณถนนพระราม 4 ใกล้กับสนามมวยลุมพินี

คลิปข่าวช่อง 9 อสมท. เมื่อ 19 พ.ค. รายงานเวลา 14.30 น. ในคลิปตั้งแต่นาทีที่ 1.57 จะเห็นกองกำลังติดอาวุธไม่แต่งเครื่องแบบอยู่ปะปนและร่วมปฏิบัติการกับทหาร ย่าน ถ.พระราม 4 โดยในคลิปจะเห็นการใช้ปืนยิงเข้าใส่เป้าหมายด้วย อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวไม่ได้บรรยายภาพดังกล่าว

คลิปพลแม่นปืนที่ปฏิบัติการเมื่อ 17 พ.ค. คลิปนี้เป็นคลิปเดียวกับที่ ศอฉ. นำไปใช้แถลง อย่างไรก็ตาม พ.อ.สรรเสริญ ไม่ได้เปิดคลิปนี้ทั้งหมด และแถลงส่วนหนึ่งไม่ตรงกับภาพในคลิป

 

วันนี้ (27 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวประชาไท ตรวจสอบคลิปข่าวของช่อง 9 อสมท. ที่รายงานเมื่อวันที่ 19 พ.ค. เวลาประมาณ 14.30 น. ซึ่งมีนักข่าวพลเมืองส่งมาให้ ตรวจสอบ โดยพบว่าในหน่วยทหารที่ปฏิบัติการบริเวณ ถ.พระราม 4 นอกจากจะสวมเครื่องแบบทหารแล้ว ยังมีกองกำลังสวมเสื้อยืดสีขาว ถือปืน M16 อยู่ปะปนกับทหารที่มาปฏิบัติการ และในภาพข่าวประมาณนาทีที่ 2.19 ยังเห็นได้ชัดว่ากองกำลังที่สวมเสื้อยืดสีขาวและทหารในเครื่องแบบ ยังได้ร่วมกันใช้ปืนยิงไปยังเป้าหมายแห่งหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวช่อง 9 อสมท. ไม่ได้บรรยายภาพดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีภาพทหาร สวมเสื้อยืดลายพราง ถือปืน M16 อยู่ปะปนและร่วมปฏิบัติการกับทหารด้วย โดยลักษณะการแต่งกายคล้ายกับทหารในคลิปซึ่งถูกเผยแพร่เมื่อ 17 พ.ค. ซึ่งเป็นหน่วยแม่นปืนที่เข้ามาปฏิบัติการกระชับวงล้อมของทหาร

โดยก่อนหน้านี้เมื่อ 17 พ.ค. ได้ปรากฏคลิปทหารแม่นปืนหรือสไนเปอร์ของกองทัพที่มาปฏิบัติการกระชับวงล้อม แต่งกายแบบกึ่งนอกเครื่องแบบ ท่อนบนสวมเสื้อยืดลายพราง โดย พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ชี้แจงคลิปดังกล่าวเมื่อ 17 พ.ค. ว่า "เป็นภาพที่เจ้าหน้าที่ชุดระวังป้องกันใช้ M16 ติดกล้องเล็ง ตนเคยชี้แจงว่าเราจำเป็นที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่ระวังป้องกัน ที่เราเรียกว่าคนแม่นปืนระวังป้องกัน เพื่อที่จะคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ ของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ต่ำ หรือตามถนนหนทางโดยทั่วไป เจ้าหน้าที่เหล่านี้จะมีหน้าที่ในการตรวจสอบว่ามีบุคคลผู้ ใดถืออาวุธหรือจะเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ และจะใช้การยิงคุ้มครอง โดยใช้ปืนทราโว่และปืน M16 โดยในภาพนี้เป็นการใช้ปืน M 16 สังเกตได้จาก ตรงปลายปากกระบอกปืนมีศูนย์หน้าเป็นรูปสามเหลี่ยมที่เป็นสัญลักษณ์โดยชัดเจนของปืน M 16 และมีการติดกล้องเล็ง และมีเจ้าหน้าที่อีก 1 คน ทำหน้าที่ในการตรวจสอบพื้นที่มุมกว้างให้ แต่ในพื้นที่รายละเอียดของเป้าหมาย เจ้าหน้าที่ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ระวังป้องกันผู้นี้จะดูผ่านกล้องเล็ง ในภาพบ่งบอกได้ชัดเจนว่าเขาตรวจพบเป้าหมาย คนถือระเบิดกำลังจะเข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ แล้วมีการยิงออกไป และบอกว่าล้มแล้ว รู้แล้ว ตรงนี้ เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าไม่ได้ยิงตามอำเภอใจ แต่ยิงเมื่อเห็นเป้าหมายแล้วเท่านั้นและมีผู้ควบคุมกำกับ มีการแต่งกายที่บอกชัดเจนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร"

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าว พ.อ.สรรเสริญ ไม่ได้เปิดคลิปนี้ทั้งหมด และบรรยายไม่ตรงกับคลิป เนื่องจากในคลิปดังกล่าว พลแม่นปืนได้ยิงเป้าหมายซ้ำแม้จะมีทหารชี้เป้าบอกว่าล้มแล้ว ทำให้ทหารชี้เป้าต้องป้องมือห้ามปราม นอกจากนี้พลแม่นปืนก็ไม่ได้แต่งกายแบบเจ้าหน้าที่ทหาร

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ไอซีที" รอฟังคำสั่ง ศอฉ.บล็อกทวิตเตอร์ "ทักษิณ"

Posted: 27 May 2010 05:31 AM PDT

<!--break-->

 

 


Thaksin Shinawatra

 

27 พ.ค. 2553 - จากกรณีที่มีข้อความโพสท์ในทวิตเตอร์ของนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุให้ ศอฉ.จับตาเว็บปลุกระดม และบล็อกทวิตเตอร์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น

ล่าสุดไทยรัฐรายงานว่า นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำสั่งจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. หากมีคำสั่งลงมา กระทรวงไอซีทีต้องรีบดำเนินการทันที อย่างไรก็ตาม กระทรวงไอซีทีมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคอยู่แล้ว

ปลัดกระทรวงไอซีที กล่าวต่อว่า การกระทำดังกล่าวตามข้อกฎหมายแล้ว ถ้ามี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศอฉ.สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องแจ้งกระทรวงไอซีที แต่ถ้าไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องฟ้องศาลก่อน แล้วค่อยแจ้งไอเอสพี ส่วนกรณีที่เกรงว่าทวิตเตอร์เป็นโซเชียลเน็คเวิร์ค และสามารถแสดงความคิดเห็นได้นั้น ขอชี้แจงว่าสามารถปิดได้ แต่ต้องดูเนื้อหาประกอบด้วย

ด้านแหล่งข่าวจาก ศอฉ.ระบุว่า การดำเนินการปิดทวิตเตอร์ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องรอคำสั่งจาก ศอฉ.แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับแจ้ง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการปิดเว็บปลุกระดมแต่ละครั้ง ดำเนินการอย่างรวดเร็ว ส่วนโซเชียลเน็ตเวิร์คที่เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นนั้น ถ้ามีเนื้อหาเข้าข่ายปลุกระดมและก่อให้เกิดความแตกแยกก็ต้องปิด แต่ล่าสุดทวิตเตอร์ดังกล่าวยังไม่ได้ถูกปิด

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า สาเหตุบางครั้งที่เว็บไซต์และทวิตเตอร์บางรายไม่สามารถเข้าได้นั้น เนื่องจากมีผู้เข้าใช้งานจำนวนมาก แต่กลับลิงค์มาว่าเป็นคำสั่งปิดของ ศอฉ. ด้วยเหตุนี้จึงมีคำสั่งไปยังไอเอสพีว่า อย่าให้ลิงค์มาจุดนี้ เพราะจะเกิดความเข้าใจผิดว่า ศอฉ.เป็นผู้สั่งการปิด

ล่าสุดเมื่อเวลา 13.30 น.ผู้สื่อข่าวเข้าไปที่ทวิตเตอร์ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ใช้ชื่อ ทักษิณไลว์ฟ ยังสามารถเข้าอ่านได้ แต่ทวิตเตอร์ในชื่อทักษิณ ชินวัตร ไม่สามารถเข้าไปอ่านได้ โดย ขึ้น http://58.97.5.29/www.capothai.org/ และหน้าเว็บไซต์ปรากฎข้อความว่า

"การเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวนี้ ถูกระงับเป็นการชั่วคราว โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน"

ทั้งนี้ ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 19 พ.ค.มีการรายงานข่าว ศอฉ.ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บล็อกเว็บไซต์ทวิตเตอร์ส่วนตัว "ทักษิณ" www.twitter.com/thaksinlive ทำให้ไม่สามารถเข้าแสดงความคิดเห็นหรือโพสต์ข้อความได้ โดยหน้าเว็บไซต์ดังกล่าวมีข้อความข้างต้นเช่นกัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐบาลขวางหญิงพม่าสมรสต่างชาติ อ้างกันค้ามนุษย์

Posted: 27 May 2010 04:40 AM PDT

รัฐบาลพม่าสั่งการให้เจ้าหน้าที่ระงับไม่ให้มีการจัดพิธีแต่งงานระหว่างหญิงชาวพม่าต่างกับชาวต่างชาติ ขณะที่ก่อนหน้านี้กฎหมายพม่าอนุญาตให้ชาวพม่าแต่งงานกับชาวต่างชาติได้ แต่ต้องแจ้งให้ศาลทราบล่วงหน้า 21 วัน แต่พบว่าขณะนี้ กฎหมายดังกล่าวถูกรัฐบาลสั่งระงับใช้ชั่วคราวแล้ว

<!--break-->

อ่องติ่น  ผู้ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายระบุว่า การที่รัฐบาลสั่งระงับกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งงานกับชาวต่างชาติไว้ชั่วคราว อาจจะมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้หญิงสาวตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ แต่เขาเห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของคู่รักที่จริงจังและต้องการจัดงานแต่งงานอย่างเป็นทางการ

ด้านนิตยสาร Flower News Journal รายงานว่า มีหน้านายหน้าซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นเกี่ยวข้องกับขบวนการค้าผู้หญิงชาวพม่าของคนต่างชาติ

นายจ่อโอ นักกฎหมายชาวพม่าระบุว่า เมื่อ 5 ปีก่อนมีหญิงพม่ารายหนึ่งฆ่าตัวตายเพราะถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงานกับชาวต่างชาติ หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ ทางการพม่าไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดงานแต่งงาน หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจัดงานแต่งให้กับชาวต่างชาติและหญิงพม่าได้

นักเขียนเกี่ยวกับประเด็นในสังคม ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในภาคมัณฑะเลย์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Irrawaddy โดยไม่เปิดเผยชื่อว่า “ชาวพม่าควรมีเสรีภาพในการแต่งงานกับคนที่ต้องการ และฉันไม่มีอะไรคัดค้าน ถ้ามันไม่ใช่การค้ามนุษย์”

ตัวแทนจากสมาคมนักวิสาหกิจหญิง (Women Entrepreneurs' Association) ในกรุงย่างกุ้งกล่าวว่า หญิงชาวพม่าในต่างประเทศมีสิทธิที่จะแต่งงานกับใครก็ได้ เช่นเดียวกับหญิงชาวพม่าคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยและแต่งงานกับชาวต่างชาติเมื่อ 11 ปีก่อนระบุว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการใช้ชีวิตคู่คือความเข้าใจและความซื่อสัตย์ต่อกัน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนาหรือเชื้อชาติแต่อย่างใด (Irrawaddy 25 พ.ค.53)

 
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ Mark Mackinnon ผู้สื่อข่าว The Globe and Mail ผู้อยู่ในเหตุการณ์วัดปทุมฯ

Posted: 27 May 2010 04:26 AM PDT

Mark Mackinnon ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์แคนาดา The Globe and Mail ให้สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์การต้องเดินทางเข้าออกวัดปทุมฯ เพื่อรายงานข่าวในช่วงที่มีการปราบปรามผู้ชุมนุมของรัฐบาล

<!--break-->

Q: ผมเข้าใจว่าคุณคงได้เล่าเรื่องนี้ซ้ำหลายรอบแล้ว แต่ผมก็คงจะต้องขอถามอีกหนหนึ่งว่า วันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างครับ

A: เรื่องเวลานี่ผมไม่แน่ใจเท่าไรนัก คุณสามารถไปดูได้จากทวิตเตอร์ของผมได้นะ น่าจะแม่นยำกว่าความจำของผม เริ่มด้วยผมกับแอนดรูว์ (แอนดรูว์ บันคอมบ์ / Andrew Buncombe) นักข่าวชาวอังกฤษจากหนังสือพิมพ์ The Independent เดินไปตามถนนอังรีดูนังต์เพื่อเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม เป็นเวลาประมาณเที่ยง ๆ ได้ที่พวกเราไปถึงบริเวณเวที แล้วก็เดินต่อไปจนถึง FCCT ซึ่งกลายเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาเพราะว่าจากบน FCCT นั้น เราสามารถเห็นภาพการปะทะด้านล่าง และเรายังเห็นระเบิดตามจุดต่าง ๆ จากนั้นเราก็ได้ SMS ซึ่งไม่แน่ใจว่าจาก ศอฉ. หรือเนชั่น หรือว่าเว็บ ThaiVisa.com บอกว่าทหารกำลังพักการปฏิบัติการ แอนดรูว์กับผมเลยคิดว่าน่าจะปลอดภัยที่จะลงไปดูเหตุการณ์ข้างล่างและที่วัดปทุมฯ

เราเดินลงไปที่แยกราชประสงค์ ซึ่งแทบไม่เหลือใครแล้ว เห็นแต่ผู้หญิงคนหนึ่งถือธงอยู่ แล้วเราก็เดินไปถึงวัดประมาณบ่ายโมงหรือบ่ายสองโมง ตอนนั้นน่าจะมีคนอยู่ประมาณ 1,500 คน โดยหลังจากนั้นข่าวก็ออกว่ามีอยู่ 3,000 คน ซึ่งก็เป็นไปได้เพราะผมก็ไม่ได้เดินดูอย่างละเอียด ในวัดนั่นเราก็สัมภาษณ์ผู้คนว่ามา ถึงวัดได้อย่างไร เมื่อเช้าเป็นอย่างไรบ้าง อยู่ในวัดรู้สึกปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งบางคนก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย บางคนเชื่อว่าจะไม่มีใครโจมตีเข้ามาในวัด บางคนคิดว่าทหารนั้นเชื่อไม่ได้ พอประมาณห้าโมงเย็น เนื่องจากเคอร์ฟิวและเราต้องการหาที่ที่ปลอดภัยไว้เขียนข่าว เราก็เดินออกมาที่ถนนไปตามถนนพระราม 1 กลับไปราชประสงค์ แล้วตอนนั้นเราก็คิดว่าต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของคนที่อยู่ในวัดไว้บ้าง เผื่อว่าถ้าสถานการณ์อันตรายมากขึ้นจะได้โทรไปถามข่าวคราวได้

เราเลยเดินกลับมาที่วัด เมื่อถามได้หมายเลขโทรศัพท์บ้างแล้วก็เดินกลับมาด้านหน้า ตอนนั้นเองที่ผมเห็นด้วยตาตนเองว่าที่นอกกำแพงวัดมีคนยิงดอกไม้ไฟสองลูกไป ทางราชประสงค์ ซึ่งเวลานั้นเอง เพื่อนของผม นิค เพทัน วอลช์ (Nick Paton Walsh) จาก Channel 4 อยู่ที่ราชประสงค์ เขาบอกว่ามีทหารอยู่แถวนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือมีการยิงเข้ามาอย่างหนักที่บริเวณด้านหน้าของวัด ระหว่างโบสถ์กับประตูหน้า เราหมอบอยู่หลังรถกระบะสีน้ำเงินคันหนึ่ง กระสุนส่วนมากดูเหมือนจะมาจากด้านบน อาจจะเป็นจากรถไฟฟ้าหรือว่าอาคาร ผมก็ได้แค่เดา ภาพนี้คล้ายกับที่ผมคิดไว้ [ชี้ภาพทหารบนรางรถไฟฟ้า จาก นสพ. ข่าวสด ฉบับวันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม 2553] คือผมไม่รู้แน่ชัดว่ามันมาจากข้างบนเพราะมันเริ่มมืดแล้ว แต่ความรู้สึกคือมันมาจากด้านบน และผมทำงานในพื้นที่สงครามมาหลายแห่ง ผมฟังความแตกต่างได้ระหว่างเสียงกระสุนกระทบวัตถุกับเสียงกระสุนวิ่งผ่านไป และตอนนั้นมันเป็นเสียงกระสุนวิ่ง

เราหมอบหลบอยู่หลังรถกระบะสักพักหนึ่ง แล้วก็เริ่มมีการยิงใกล้เข้ามามากจนได้ยินเสียงมันยิงโดนบริเวณรอบ ๆ ตอนนั้นผมกับคนจำนวนมากรอบ ๆ ก็รีบวิ่งไปยังด้านหลังของวัด แต่แอนดรูว์ไม่ได้วิ่งไป เขาคิดว่าหมอบหลบตรงนั้นจะปลอดภัยกว่า คุณสามารถไปตามอ่านที่แอนดรูว์เล่าว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาได้ แต่สิ่งที่เขาบอกผมก็คือหลังจากหลบอยู่ตรงนั้นสักครู่ เขาก็เห็นผู้ชายคนหนึ่งวิ่งมาตามถนนพระราม 1 แล้วโดนยิงเข้าที่หลัง เขาพยายามเข้าไปถ่ายรูปแล้วก็โดนยิงเข้าที่ขา

หลังจากนั้น ผมและร็อบ ดอนเนลลัน (Rob Donnellan ล่าม) ก็วิ่งไปที่กุฏิ ตอนที่อยู่ในนั้นเองที่แอนดรูว์โทรมาบอกว่าเขาถูกยิง เราจึงกลับไปที่ด้านหน้า พยายามเข้าไปถึงตัวแอนดรูว์แต่ทำไม่ได้ แต่ก็มีกลุ่มหน่วยกู้ชีพที่นำตัวแอนดรูว์และคนอื่น ๆ ที่ได้รับบาดเจ็บมาที่ด้านหลังซึ่งมีสถานพยาบาลแบบชั่วคราวอยู่ เราถามพวกเขาถึงจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และได้รับคำตอบว่ามีผู้เสียชีวิต 7 รายและบาดเจ็บ 10 คน หลังจากนั้นผมก็เห็นผู้เสียชีวิตอีกรายตรงหน้า จึงคิดว่าจำนวนทั้งหมดคือ 8 ราย แต่จำนวนในข่าวคือ 6 ราย ผมมีภาพหนึ่งที่ร็อบถ่ายได้ที่ดูเหมือนมีศพ 7 ศพ ทั้ง ๆ ที่น่าจะมีแค่ 6 แต่อาจจะเป็นเรื่องของรูปทรงของผ้าที่ห่อไว้ทำให้ไม่แน่ใจนัก

ตอนนั้นก็มืดแล้ว ประมาณหนึ่งทุ่มหรือสองทุ่ม ผมพยายามโทรศัพท์หากองบรรณาธิการ สถานทูต ผมโทรไปเล่าเหตุการณ์ให้ภรรยาฟัง ซึ่งเธอก็ติดต่อสภากาชาดสากล ผมพยายามโทรหาทุกคน แต่ก็ต้องอยู่ในนั้นอีกราว 3 ชั่วโมงกับผู้คนที่หวาดกลัวมากกับเสียงกระสุนปืนและระเบิดและรอคอยให้เกิดอะไรบางอย่าง จนในที่สุดก็มีหน่วยกาชาดหรือใครก็ไม่ทราบที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัว คือทุกคนอยากได้รับการกล่าวถึงยกเว้นคนที่มาช่วยจริง ๆ ทั้งรัฐบาล สถานทูต และหนังสือพิมพ์ผม แต่คนที่มาช่วยจริง ๆ ไม่ต้องการถูกกล่าวถึง เขาโทรศัพท์มาหาผมแล้วบอกว่าจะส่งรถพยาบาลมาที่หน้าประตูและพวกเราต้องพาคนออกไป ตอนนั้นทุกคนในวัดรู้สึกกลัวว่ามันจะเป็นกับดัก ผมจึงเดินออกไปพร้อมกับยกมือ บอกรถพยาบาลว่าผมจะกลับมาอีกรอบ และผมก็แบกเปลพยาบาลเปลแรกไปที่รถด้วยตัวเอง แล้วก็ต้องช่วยแบกเปลทุกอัน มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่กล้าหาญมาก เขาตัวใหญ่ ใส่เสื้อสีขาวมีสัญลักษณ์กาชาด ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าเป็นอันตรายเท่าไร

พอขนผู้บาดเจ็บไปหมดแล้ว ผมเห็นว่าเหลือรถพยาบาลว่างอยู่หนึ่งคันก็เลยถามเจ้าหน้าที่ว่าผมกลับไปพาเด็กมาขึ้นรถออกไปได้ไหม เขาตอบว่าไม่ได้ เพราะจะผิดข้อตกลงเรื่องหยุดยิง ซึ่งให้นำแค่เปลและคนบาดเจ็บออกไปเท่านั้น ผมเถียงกับเขาแต่เขาก็บอกว่าไม่ และจะนำรถออกไปแล้ว ผมจึงกลับไปบอกคนในวัดว่าพวกเจ้าหน้าที่สัญญาว่าจะกลับมารับเด็กและผู้หญิงในตอนเช้าถ้ายังมีการต่อสู้กันอยู่ คือให้ร็อบช่วยแปลให้ แต่ผู้คนฟังแล้วก็ไม่ค่อยดีใจเท่าไรนัก จากนั้นเราก็แบกแอนดรูว์ออกไปเป็นคนสุดท้าย ซึ่งรถพยาบาลคันนั้นก็เกือบขับออกไปแล้วแต่พวกเราก็ขึ้นไป จริง ๆ ผมควรอยู่ที่นั่นต่อในคืนนั้นและผมก็รู้สึกแย่ที่ไม่ได้อยู่ แต่ผมก็ต้องออกมาเขียนข่าว

ผมไม่รู้ว่าคันอื่นขับไปที่ไหนแต่คันที่ผมนั่งนั้นมาส่งแอนดรูว์กับชายอีกหนึ่งคนที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เขาทำการผ่าตัดให้แอนดรูว์ในคืนนั้นเลยและผ่าตัดอีกครั้งในวันศุกร์เพราะยังเหลือเศษกระสุนอยู่ ซึ่งตอนนี้ก็ยังเหลืออยู่นิดหน่อย เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์มาที่โรงพยาบาลและตรวจดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา เจ้าหน้าที่บอกเราว่ามันดูเหมือนแผลจากกระสุนความเร็วสูงกระทบใกล้ ๆ เขาและแตกกระจายออก ทำให้มีรอยแผล 6 รอย และมีเศษทองแดงกับเศษตะกั่วอยู่ข้างในแผล หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็พยายามบอกว่ามันอาจจะเป็นแผลจากระเบิด ซึ่งไม่ได้น่าเชื่อถือเท่าไรนักเพราะพวกเขามีหลักฐานอยู่แล้ว ทำไมจะระบุไม่ได้

Q: คุณรู้สึกอย่างไรบ้างที่เป็นหนึ่งในนักข่าวไม่กี่คนที่ติดอยู่ในเหตุการณ์นั้น

A: ผมประหลาดใจเล็กน้อย คือนึกว่าใคร ๆ ก็จะไปที่นั่นเสียอีก แต่ที่นั่นมันน่ากลัวผมเลยเข้าใจว่าทำไมคนถึงออกไปจากที่นั่น ผมรู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่แย่มาก ผมคิดว่าถ้ามีการช่วยเหลือมากกว่านั้น สถานการณ์คงจะจบลงดีขึ้นกว่าที่เห็น เพราะว่ามีการหยุดยิง ความรุนแรงจึงหยุดลง ผมเคยทำงานในมาเลเซีย 4 ปี เคยไปที่อิรัก ฉนวนกาซ่า เลบานอน แต่คืนนั้นเป็นคืนหนึ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตของผม

Q: ในฐานะสื่อมวลชนในเหตุการณ์นี้ คุณพบความลำบากหรืออุปสรรคอะไรบ้าง

A: ผมไม่ค่อยมีปัญหากับการรายงานข่าวจากสถานที่อันตราย ผมคิดว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งก็คือประเด็นบางอย่างที่คุณไม่สามารถพูดได้อย่างอิสระ หรือผู้คนกลัวที่จะพูดถึง แล้วก็เรื่องสื่อไทย คือเวลาคุณไปที่ไหนคุณก็จะต้องอาศัยสื่อท้องถิ่นในการรับข้อมูลข่าวสาร แล้วสื่อไทยดูเหมือนจะแบ่งพรรคแบ่งพวกกันอย่างมาก แล้วก็เล่าเรื่องด้านเดียว เหตุการณ์เลยกลายเป็นว่าสื่อต่างประเทศมีความเป็นกลางและน่าเชื่อถือมากกว่า และในขณะเดียวกันสื่อใหม่ก็มีบทบาทมากขึ้นอย่างมาก เช่นคนก็จะละทิ้งช่องทางปกติมาหาข้อมูลในทวิตเตอร์และเฟซบุคแทน น่าประทับใจทีเดียว

รัฐบาลก็ตั้งข้อสงสัยกับพวกเราบ้างอย่างมีเหตุผล พวกเขาให้เราเข้าถึงถ้าเราขอ ทหารก็เป็นมิตรดี กลุ่มคนเสื้อแดงก็เป็นมิตรดี ทุกคนดูเหมือนจะเข้าใจว่านักข่าวต่างชาติไปอยู่ที่นั่นทำไม ดังนั้นเรื่องที่มีเพื่อนของผมถูกยิงเสียชีวิตก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องหาความจริงต่อไปว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

สิ่งที่แปลกที่สุดสำหรับผมก็คือความเข้มงวดในการพูดถึงเรื่องบางเรื่อง และเรื่องที่การหลบในที่หลบภัยที่เป็นกลางนั้นไม่ได้ช่วยป้องกันอะไร

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จาตุรนต์วิพากษ์รัฐบาล อ้างปรองดอง แต่กลับเข่นฆ่าประชาชน

Posted: 27 May 2010 03:49 AM PDT

<!--break-->

 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวถึงการแสดงความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆเพื่อให้ประเทศผ่านวิกฤตทางการเมืองในขณะนี้ว่า

"ผมเห็นด้วยที่หลายฝ่ายได้เสนอความเห็นสนับสนุนการปรองดอง  เพราะการปรองดองสมานฉันท์เท่านั้น ที่จะป้องกันไม่ให้สังคมมีความขัดแย้งรุนแรงบานปลายต่อไป และสามารถกลับคืนสู่ความสงบสุขได้

แต่ปัญหาขณะนี้  คำว่าปรองดองได้ถูกทำให้สูญเสียความหมายไปหมดแล้วจากการกระทำของรัฐบาลทั้งในระหว่างการชุมนุมและในปัจจุบัน สังคมไทยจึงจำเป็นต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่าปรองดองกันใหม่เสียก่อน

นายกรัฐมนตรีได้ยกเรื่องปรองดองขึ้นมาหลังการสลายการชุมนุมที่ผ่านฟ้าที่ทำให้มีคนตาย 20 กว่าคนและบาดเจ็บ 900 กว่าคน แต่หลังจากนายกฯเสนอแผนปรองดองเป็นต้นมา กลับทำให้มีคนตายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 70 คนและบาดเจ็บมากกว่าเดิม  ทำให้การปรองดองมีความหมายเป็นการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนไป

และหลังจากการชุมนุมยุติลงแล้ว รัฐบาลก็พร่ำพูดแต่คำว่าปรองดอง แต่กลับมุ่งทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง  ทำให้ผู้คนจำนวนมากอยู่ในสภาพหวาดกลัว หวาดระแวง โกรธแค้น เกลียดชัง  ทำให้สังคมมีแนวโน้มที่จะแตกแยกมากขึ้นทุกที  หากรัฐบาลยังมุ่งทำลายล้างประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาลต่อไป สังคมไทยอาจจะก้าวไปสู่ความรุนแรงยิ่งกว่าที่เคยมีมาแล้วในอดีต

ขณะนี้รัฐบาลและศอฉ.กำลังใช้พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯอย่างเกินขอบเขต ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน การปิดกั้นเสรีภาพในการสื่อสาร เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการ  รวมทั้งการปิดกั้นแทรกแซงสื่อมวลชนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้ไม่ได้อาศัยข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายมาเป็นสาเหตุ แต่กลับใช้ดุลยพินิจบนพื้นฐานความคิดความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างหรือตรงข้ามกับรัฐบาล ที่สำคัญการบัญชาการสั่งการทั้งหมด ทำไปโดยผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคการเมืองที่เป็นคู่กรณีกับประชาชนที่มาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล  

การสั่งให้จับกุมดำเนินคดี รวมทั้งการระงับธุรกรรมการเงินของบุคคลและบริษัทเป็นไปแบบตามอำเภอใจและเห็นได้ชัดว่าเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล ทั้งในการสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง แก้ต่างข้อหาที่รัฐบาลถูกกล่าวหาว่าสั่งฆ่าประชาชนและทำลายเครือข่ายของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อพรรครัฐบาลในการเลือกตั้งในอนาคต

ขณะนี้รัฐบาลและศอฉ.กำลังข่มขู่ประชาชนผู้ร่วมชุมนุมโดยเฉพาะผู้ที่บาดเจ็บจำนวนมาก ต้องให้ปากคำในทางที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล โดยขู่ว่าหากไม่ให้ความร่วมมือก็อาจจะตั้งข้อหาดำเนินคดี เพราะผู้ร่วมชุมนุมทุกคนอาจถูกข้อหาฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉินฯเสียเมื่อไหร่ก็ได้ ขึ้นกับดุลยพินิจของศอฉ.จะสั่งดำเนินคดีหรือไม่ การข่มขู่ลักษณะนี้ จะทำให้การที่จะให้ทุกฝ่ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นไปไม่ได้เลย

รัฐบาลกำลังตกที่นั่งลำบาก โดยเฉพาะในสายตาของสื่อต่างประเทศและชาวต่างประเทศ ในกรณีการสังหารประชาชนในวัดปทุมวนาราม  ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์  ซึ่งอยู่กับผู้ถูกยิงเสียชีวิตและเฝ้าศพตลอดทั้งคืน เล่าให้ฟังว่า ผู้ที่อยู่ในวัดปทุมวนารามส่วนใหญ่จะปักใจเชื่อว่าทหารยิงประชาชน และในกรณีนี้หากรัฐบาลยังแก้ตัวให้ทหารอย่างออกนอกหน้าอย่างที่ทำอยู่ ความโกรธแค้นเกลียดชังจะรุนแรงยิ่งขึ้น รัฐบาลอาจต้องประสบกับวิกฤตความชอบธรรมเร็วกว่าที่คาดไว้ แม้ว่าจะควบคุมสื่อทั้งหมดได้จนคนส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ความจริงแล้วก็ตาม" 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'สุธาชัย' อดข้าวประท้วง ศอฉ.คุมตัว ไม่ให้อ่านหนังสือเตรียมสอน

Posted: 27 May 2010 03:16 AM PDT

<!--break-->

27 พ.ค.53  นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยหลังเข้าเยี่ยมสุธาชัยที่ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรีในวันนี้ว่า สุธาชัยประกาศอดอาหารเพื่อประท้วงตั้งแต่เมื่อเช้าวันนี้ เนื่องจากตั้งแต่ควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ หรือติดตามข่าวสารใดๆ แม้กระทั่ง หนังสือวิชาการที่เอาไปด้วยเพื่ออ่านเตรียมการสอนสำหรับปีการศึกษาที่กำลังจะเริ่มนี้เจ้าหน้าที่ก็ไม่ให้อ่าน

กฤษฎางค์ กล่าวว่า สุธาชัยประกาศจะอดข้าวเพื่อประท้วง จนกว่าจะได้อ่านหนังสือเพื่อเตรียมการสอน การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ถือว่าผิดกฎหมายเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขึ้นพื้นฐาน แม้แต่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ระบุห้ามควบคุมตัวหรือประพฤติกับผู้ต้องสงสัยเสมือนนักโทษ ห้ามขังในเรือนจำ ทำได้เสมือนแค่การกักบริเวณเพื่อจำกัดเสรีภาพเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

นอกจากนี้ในวันอาทิตย์ที่ 30 พ.ค. นี้จะครบกำหนดควบคุมตัวสุธาชัย 7 วัน แต่เนื่องจากเป็นวันหยุด ในวันนี้เจ้าหน้าที่จึงยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอฝากขังต่ออีก 7 วันแล้ว สำหรับความเป็นอยู่ภายในค่ายนเรศวรนั้น สภาพความเป็นอยู่ไม่มีปัญหาและอนุญาตให้เข้าเยี่ยมเฉพาะภรรยาและทนายความเท่านั้น

ทั้งนี้  เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างอำนาจ ศอฉ.บุกค้นบ้านพักสุธาชัย และแจ้งว่ามีคำสั่งจาก ศอฉ. ให้จับกุมตัว นายสุธาชัย  ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้กระทำการหรือร่วมกระทำการอันจะทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงหรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรง (อำนาจตามมาตรา 11 (1) ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ต่อมาวันที่ 24 พ.ค.เวลา 10.00 น. สุธาชัย พร้อมด้วยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข  แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Red News ได้เดินทางเข้ามอบตัวที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) และถูกควบคุมตัวไปที่ศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จ.สระบุรี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“เสียง” ที่ส่งไปไม่ถึง

Posted: 27 May 2010 02:38 AM PDT

<!--break-->

 

หากจะมีการจัดอันดับรัฐบาลพลเรือนที่มีความเป็นเผด็จการสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย ณ เวลานี้ รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ครองอำนาจระหว่างเดือนตุลา 2519 –  เดือนตุลา 2520 คงจะเจอคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

การปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรง, ลิดรอนเสรีภาพในหลายมิติ, จับกุมประชาชนและนักวิชาการที่เห็นต่าง บิดเบือนข้อเท็จจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น, ขาดความรับผิดชอบ, ยึดหลัก 2 มาตรฐานอย่างชัดเจน ฯลฯ ของรัฐบาลชุดนี้ คงไม่ต้องมาอภิปรายซ้ำกันอีก แต่ที่น่าตกใจอย่างยิ่งคือ การที่พันเอกบางคนที่ชื่อคล้ายไก่พันธุ์พื้นบ้านของไทย ผู้มีบทบาทอย่างมากในการบิดเบือนข่าวสารและปราบปรามประชาชน (ขอสงวนนาม) กลับกลายเป็นขวัญใจคนใหม่ของสาวๆ ในโลกไซเบอร์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าตระหนกกว่า คือปฏิกิริยาของชนชั้นกลางส่วนใหญ่ ที่ให้ความชอบธรรมกับการปราบปรามเป็นอย่างสูง และมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแค่ความวุ่นวายระหว่างเดือนมีนาคม- พฤษภาคม 2553 เท่านั้น โดยมิได้ตระหนักว่า กระบวนการดังกล่าว เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของกระบวนการอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากยุทธการยึดอำนาจจากประชาชนในปี 2549 และปี 2551 ซึ่งใครอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไรก็คงเป็นที่ทราบกันดีจนไม่ต้องแจกแจงกันอีกแล้ว

อาจจะด้วยบริบททางประวัติศาสตร์, รากทางศาสนา และรากทางวัฒนธรรม ทำให้ชนชั้นกลางไทยแตกต่างจากชนชั้นกลางในอีกหลายประเทศ (ผมใช้คำ ชนชั้นกลาง ในความหมายกว้างอันเป็นที่เข้าใจกันนะครับ และจะไม่อภิปรายเชิงทฤษฎีเรื่อง Class ในที่นี้) ตรงที่มีความพยายามน้อยมากที่จะสลัดแอกของชนชั้นสูงออกไป อันที่จริง พวกเขาอาจไม่ได้มองว่าเป็นแอก แต่มองเป็นเกียรติยศเสียด้วยซ้ำที่ได้รับใช้อะไรบางอย่างอย่างสุดจิตใจโดยไม่คำนึงว่าจะไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในเชิงปัจเจกอันเป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตยก็ตาม เอาเข้าจริงแล้ว กรอบการมองโลกและวิธีคิดของชนชั้นกลางไทย อาจจะมีลักษณะอนุรักษนิยมและกลัวการเปลี่ยนแปลงมากกว่าชนชั้นกลางของตะวันตกอย่างเทียบกันไม่ได้ (ซึ่งก็มีบริบททางประวัติศาสตร์เฉพาะอีกชุดหนึ่ง) และหลายคนอาจจะพอใจกับลักษณะ “ไทยๆ” เช่นนี้

สำหรับชนชั้นกลางไทยส่วนใหญ่ สิทธิเสรีภาพของเพื่อนร่วมชาติที่ถูกละเมิด มีค่าต่ำกว่าความสงบ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ และยิ่งมีค่าต่ำกว่าบางอย่างที่สูงส่งเกินจะเอื้อมถึง

เป็นไปได้หรือไม่ว่า คำว่า “ประเทศ”, “ชาติ” หรือของชนชั้นกลางไทย ไม่เคยรวมสิ่งที่เรียกว่า “เพื่อนร่วมชาติ” เข้าไปด้วย (หรือถ้ามี ก็คงมีค่าน้อยมากๆ อาจจะอยู่อันดับต่ำกว่าประเด็นเรื่องสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวหรือเรื่องโลกร้อน)

ด้วยกรอบคิดนี้ คำว่า “สามัคคี”, “ปรองดอง”, “สมานฉันท์” จึงเป็นเพียงแค่หน้ากากที่สวมลงบนใบหน้าอันเต็มไปด้วยแผลเน่าเฟะ โดยไม่แม้แต่จะคิดถึงวิธีที่จะเยียวยาบาดแผลนั้นอย่างจริงจัง อันที่จริง พวกเขาอาจมองไม่เห็นบาดแผลเสียด้วยซ้ำ เพราะยาหลอนประสาที่พวกเขาเสพอยู่เรื่อยๆ ได้ทำให้เห็นเลือดและหนองเป็นดอกไม้หลากสี

ทุกวันนี้ สื่อ, รัฐ และชนชั้นกลางส่วนใหญ่ต่างพุ่งลูกศรแห่งความเกลียดชังไปยังเป้าที่ชื่อ นปช. ซึ่งแน่นอน ผมไม่ปฏิเสธว่า นปช. เองก็ใช้สิทธิเสรีภาพบางอย่างจนเกินขอบเขตจนล้ำเส้นเข้าไปอยู่ในกรอบของการ “คุกคาม” และควรต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในเชิงหลักการและยุทธวิธี แต่อะไรเล่าที่ผลักพวกเขามาถึงจุดนี้ แค่การชุมนุมที่เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม?  หรือแค่ตัวแกนนำบนเวทีเท่านั้นหรือ?

หลายคนอาจจะตอบว่าทักษิณ ซึ่งก็ไม่ผิดเสียทีเดียว แต่ก็เป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งเท่า นั้น เพราะนอกจากทักษิณ, แกนนำ, หลักการที่ไม่มั่นคง, ยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด (ในความเห็นผม ซึ่งไม่ตรงกับหลายคน) ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก เริ่มจากการที่ “เสียง” ของพวกเขาถูกปฏิเสธในปี 2549 และหลังจากนั้นไม่นาน “เสียง” ของพวกเขาก็ถูกปฏิเสธเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งชนชั้นกลางรวมถึงสื่อเองต่างก็กระทำราวกับรู้เห็นเป็นใจกับการปล้นชิงครั้งนั้น ยังไม่นับถึงการกระทำต่างๆ ที่อาจพูดถึงรวมๆ ได้ด้วยคำว่า “2 มาตรฐาน”

ผมคงไม่สามารถพูดแทนประชาชนผู้ร่วมชุมนุมได้ ว่าพวกเขาไร้เดียงสาและซื่อจนถูกหลอกลวง หรือก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตยโดยแท้ (อย่างที่หลายคนชอบอ้าง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง) และคงไม่อ้าง “อำนาจ” จากการที่ผมได้พูดคุยกับผู้ชุมนุมบางส่วน เพราะการชุมนุมที่รวมปัจเจกไว้เป็น จำนวนมากเช่นนี้ ต่างก็มีบุคคลหลายประเภท หลากหลายความคิด และหลากหลายวัตถุประสงค์ แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า การกระทำของรัฐ, สื่อ และชนชั้นกลางส่วนใหญ่หลังปี 2549 (และอาจจะก่อนหน้านั้น) ทำให้พวกเขาจำนวนมาก “เข้าถึง” สิ่งที่แกนนำพูดบนเวที และค่อยๆ ผลักให้พวกเขามาถึงจุดนี้

เพราะแม้แต่การเดินทางมารวมตัวกัน ...เผื่อว่า “เสียง” ของพวกเขาจะดังไปถึงผู้เกี่ยวข้อง ก็ยังถูกตีความว่าเป็นเพียงเสียงผู้ไร้การศึกษาที่ถูกหลอก เสียงของคนโลภที่เห็นแก่เงิน เสียงของลิ่วล้อทักษิณ เสียงของผู้ทำลายความสงบและเศรษฐกิจ กระทั่งเป็นเสียงของ “ผู้ก่อการร้าย”

ผมไม่แน่ใจว่า ต้องรอถึงเมื่อไร เสียงของพวกเขาจะกลายเป็นเสียงของ “ประชาชนเพื่อนร่วมชาติ”

ความเรียงสั้นๆ นี้ คงไม่ได้เสนออะไรใหม่ และไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้เกิดความสมานฉันท์ ผมเชื่อว่ารอยร้าวยังคงอยู่ และจะค่อยๆ แตกลึกไปเรื่อยๆ เพราะตราบใดที่เรายังไม่สามารถพูดถึงสิ่งที่เป็น “ต้นเหตุ” จริงๆ ได้ ตราบนั้น ประเทศนี้ก็ยังคงอยู่ในวังวนของยาหลอนประสาทแห่งความสงบสุขร่มเย็นต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีเสียดสีผู้นำพม่าได้รับอิสรภาพแล้ว

Posted: 27 May 2010 02:17 AM PDT

“เซาเว” ผู้แต่งกลอนวันวาเลนไทน์เสียดสี พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า เมื่อปลายมกราคมปี 2551 ได้รับการปล่อยตัวแล้วหลังถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 4 เดือนข้อหาทำลายความสงบของสาธารณะ ขณะที่บล็อกเกอร์ชาวพม่าอีกรายที่ถูกจับช่วงเดียวกันยังต้องโทษ 20 ปี 6 เดือน

<!--break-->

เซา เว กับการแสดงศิลปินของเขา (ที่มา: http://sawwai.blogspot.com/)

บทกวีของเซาเว 7 บรรทัด ที่ทำให้ถูกตัดสินจำคุก กลอนนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Love Journal หากอ่านเฉพาะคำแรก และแนวตั้งจะได้ความหมายว่า “ตานฉ่วยโง่แถมมีอำนาจ” (ที่มา: http://sawwai.blogspot.com/)

“เซาเว” กวีชาวพม่าที่ถูกจำคุกกว่า 2 ปี 4 เดือน หลังเสียดสีผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ได้รับการปล่อยตัวแล้วเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (26 พ.ค.) โดยเว็บไซต์อิระวดี รายงานเมื่อ 26 พ.ค. ว่า เซาเว (ေစာေ၀)  อายุ 50 ปี ถูกจับตั้งแต่ปี 2551 หลังเขาตีพิมพ์กลอน “14 กุมภา” ความยาว 7 บรรทัด เมื่ออ่านแนวนอนจะเป็นกลอนรักทั่วไป แต่คำแรกของกลอนเมื่ออ่านแนวตั้งเรียงลงมาจะได้ความหมายว่า “ตานฉ่วยโง่แถมมีอำนาจ” กลอนดังกล่าวตีพิมพ์ในนิตยสาร Love Journal รายสัปดาห์ของย่างกุ้ง เมื่อเดือนมกราคมปีนั้น

เซาเว ถูกตั้งข้อหาทำลายความสงบของสาธารณะ โดยถูกตัดสินจำคุก 2 ปี แต่เขาเพิ่งได้รับการปล่อยตัว โดยล่าช้ากว่ากำหนดที่จะต้องปล่อยตั้งแต่เดือนมกราคม 

ภรรยาของเซาเวกล่าวว่า “สามีของฉันอยู่ระหว่างทางกลับบ้าน จะถึงบ้านคืนนี้” ทั้งนี้ เซาเว ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำยาเมติน ในภาคมัณฑะเลย์ 

ระหว่างที่เขาต้องโทษ ได้มีการอ่านกลอนของเขา ในงานมอบรางวัลสิทธิมนุษยชน Hellman/Hammett ของสหรัฐอเมริกา เพื่อชื่นชมความกล้าหาญของเขา

ในการประท้วงรัฐบาลทหารพม่าในปี 2531 เซาเว เป็นเจ้าหน้าที่ในสถานีการสื่อสารที่ภาคพะโค ต่อมาถูกไล่ออกหลังจากเขาเข้าร่วมการประท้วง ก่อนหน้าที่เขาจะถูกจับกุมในปี 2551 เขาเป็นผู้นำกลุ่มรุ้งสีขาว (White Rainbow) กลุ่มทางสังคมที่ก่อตั้งโดยศิลปินและนักเขียนเพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตจากเชื้อเอชไอวี 

ขณะเดียวกัน บล็อกเกอร์วัย 30 ปี เนย์โฟนลัต ซึ่งถูกจับในเดือนเดียวกับเซา เว ยังคงถูกจำคุก โดยเขาถูกตัดสินฐานความผิด “สร้างความตื่นตกใจแก่สาธารณะ” โทษจำคุก 20 ปี 6 เดือน 

ทั้งนี้ทั้ง 2 คนถูกจับหลังการประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่ที่นำโดยพระสงฆ์ในปี 2550 นอกจากนี้มีนักข่าวพม่าจำนวนมากที่ทำงานให้กับสื่อพม่าในต่างประเทศก็ถูกจับกุมเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ทั้งนี้จากข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า ซึ่งมีสำนักงานในประเทศไทย ระบุว่า มีนักโทษการเมืองมากกว่า 2,000 คนในพม่า ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 30 รายเป็นกวี นักเขียน ผู้สื่อข่าว และบล็อกเกอร์

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก Jailed Poet Released, By BA KAUNG, Irrawaddy, Wednesday, May 26, 2010 http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=18558 และ http://sawwai.blogspot.com/

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรนิรโทษกรรมสากลฯ : ช่องว่างความยุติธรรมระดับโลกทำให้คนหลายล้านต้องเผชิญการละเมิดสิทธิ

Posted: 27 May 2010 01:57 AM PDT

(ลอนดอน) ช่องว่างความยุติธรรมระดับโลกกำลังเลวร้ายลงเนื่องจากการเมืองของอำนาจ แม้ปีที่ผ่านมาจะเป็นปีแห่งความยุติธรรมสากลก็ตาม แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าวในวันนี้ ในรายงานประจำปีเพื่อประเมินการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนระดับโลก

<!--break-->

รายงานแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลประจำปี 2553: สภาวะสิทธิมนุษยชนทั่วโลก (Amnesty International Report 2010: State of the World’s Human Rights) รวบรวมข้อมูลการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นใน 159 ประเทศ โดยทางองค์กรระบุว่า รัฐบาลที่ทรงอำนาจกำลังขัดขวางความก้าวหน้าของความยุติธรรมสากล โดยทำตัวมีอำนาจเหนือกฎหมายสิทธิมนุษยชน มีการปกป้องพวกพ้องจากการวิพากษ์วิจารณ์ และปฏิบัติหน้าที่ก็ต่อเมื่อสบประโยชน์ทางการเมืองของตนเท่านั้น

“การกดขี่และความอยุติธรรมแผ่ขยายตัวท่ามกลางช่องว่างความยุติธรรมระดับโลก เป็นเหตุให้คนหลายล้านคนต้องเผชิญการละเมิดสิทธิ การกดขี่และความยากจน” เคลาดิโอ คอร์ดอน (Claudio Cordone) เลขาธิการชั่วคราว แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าว

“รัฐบาลต้องประกันว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย และทุกคนสามารถเข้าถึงระบบยุติธรรมเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิทุกประเภทได้  ตราบใดที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญต่อความยุติธรรมเหนือผลประโยชน์ทางการเมืองของตน เสรีภาพจากความหวาดกลัว และเสรีภาพจากความต้องการก็จะยังไม่เกิดขึ้นสำหรับมนุษยชาติส่วนใหญ่ในโลก”

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลเรียกร้องรัฐบาลให้ประกันว่าจะรับผิดต่อการกระทำของตนเอง ให้รัฐบาลทุกแห่งลงนามเพื่อรับรองศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ICC) และประกันว่าอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ จะได้รับการฟ้องร้องคดีในทุกแห่งหนทั่วโลก รัฐต่าง ๆ ต้องแสดงความเป็นผู้นำระดับโลก รวมทั้งกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 20 ประเทศ (G20) ซึ่งมีภาระสำคัญที่จะทำให้เป็นแบบอย่าง

การออกหมายจับนายโอมาร์ ฮัสซัน อัล บาเชียร์ (Omar Hassan Al Bashir) ประธานาธิบดีซูดานในปี 2552 โดยศาลอาญาระหว่างประเทศ สำหรับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้แต่ประมุขของประเทศก็ไม่อาจอยู่เหนือกฎหมายได้แม้ในยามที่ดำรงตำแหน่งนั้นอยู่ อย่างไรก็ตาม การที่สหภาพแอฟริกา (African Union) ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ แม้ว่าที่ผ่านมาจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายแสนคนในเขตดาร์ฟูร์ แสดงถึงความล้มเหลวของรัฐบาลที่จะให้ความสำคัญต่อความยุติธรรมเหนือการเมือง

การไม่ดำเนินการใด ๆ ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติต่อกรณีศรีลังกา แม้ว่าจะเกิดการละเมิดอย่างรุนแรง ทั้งในแง่การก่ออาชญากรรมสงคราม ทั้งจากฝ่ายกองกำลังรัฐบาลและกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม เป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของประชาคมสากลที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในกรณีที่จำเป็น ในขณะเดียวกัน ข้อเสนอแนะในรายงานของนายโกลด์สโตน (Goldstone report) ที่จัดทำขึ้นตามมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ เรียกร้องให้มีความรับผิดต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในเขตกาซา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งประเทศอิสราเอลและกลุ่มฮามัสยังไม่ได้ปฏิบัติตาม

ในระดับโลก ช่องว่างความยุติธรรมเป็นพื้นฐานให้เกิดโครงข่ายการกดขี่ที่ร้ายแรง งานวิจัยของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล สามารถรวบรวมกรณีการทรมานหรือการปฏิบัติอย่างโหดร้ายในอย่างน้อย 111 ประเทศ การไต่สวนคดีอย่างไม่เป็นธรรมในอย่างน้อย 55 ประเทศ การจำกัดเสรีภาพในการพูดในอย่างน้อย 96 ประเทศ และการคุมขังนักโทษมโนธรรมสำนึกในอย่างน้อย 48 ประเทศ

องค์กรสิทธิมนุษยชนและผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนในหลายประเทศถูกโจมตีทำร้าย รัฐบาลขัดขวางการทำงานของพวกเขา หรือไม่ก็ไม่สามารถคุ้มครองพวกเขาได้

ในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ รัฐบาลแสดงความไม่อดทนอย่างเป็นระบบต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในซาอุดิอาระเบีย ซีเรีย และตูนีเซีย และมีการกดขี่ปราบปรามมากขึ้นในอิหร่าน ในเอเชีย รัฐบาลจีนเพิ่มแรงกดดันต่อผู้ท้าทายอำนาจรัฐ มีการควบคุมตัวและปฏิบัติการที่ดูหมิ่นผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ส่วนในเกาหลีเหนือและพม่า ประชาชนหลายพันคนหลบหนีออกจากประเทศ เนื่องจากการกดขี่ปราบปรามที่รุนแรงและปัญหาด้านเศรษฐกิจ

พื้นที่ของการแสดงความเห็นอย่างเป็นอิสระและพื้นที่ของภาคประชาสังคมได้หดตัวลงในบางส่วนของยุโรปและเอเชียกลาง มีการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นอย่างไม่เป็นธรรมในรัสเซีย ตุรกี เติร์กเมนิสถาน อาเซอร์ไบจัน เบลารุส และอุเบกิสถาน ในทวีปอเมริกา มีเหตุการณ์สังหารนอกกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลายร้อยครั้ง ทั้งที่เกิดขึ้นในบราซิล จาไมก้า โคลัมเบีย และเม็กซิโก ส่วนในสหรัฐอเมริกา ผู้ละเมิดสิทธิจากมาตรการต่อต้านการก่อการร้ายยังลอยนวลพ้นผิด รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา อย่างเช่น กินีและมาดากัสการ์ ใช้กำลังที่รุนแรงและการสังหารนอกกฎหมายเพื่อปราบปรามฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ส่วนในเอธิโอเปียและอูกันดาก็มีการปราบปรามเสียงวิพากษ์วิจารณ์

การไม่เคารพต่อสิทธิพลเรือนเป็นองค์ประกอบสำคัญของความขัดแย้ง กลุ่มติดอาวุธและกองกำลังของรัฐละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ศรีลังกา และเยเมน ในระหว่างความขัดแย้งที่เขตกาซาและตอนใต้ของอิสราเอล กองกำลังอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ ต่างใช้วิธีการนอกกฎหมายเพื่อสังหารและทำให้พลเรือนบาดเจ็บ พลเรือนหลายพันคนต้องเผชิญการละเมิดสิทธิในขณะที่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นทั้งที่กระทำโดยกลุ่มฏอลีบันในอัฟกานิสถานและปากีสถาน หรือต้องได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในอิรักและโซมาเลีย ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงต้องเผชิญการข่มขืนกระทำชำเราและความรุนแรงอย่างอื่นจากกองกำลังของรัฐและกลุ่มติดอาวุธในช่วงที่เกิดสงครามเกือบทั้งหมด

แนวโน้มอื่น ๆ ได้แก่:

§        การบังคับให้ประชาชนโยกย้ายถิ่นฐานขนานใหญ่ในแอฟริกา อย่างเช่นใน อังโกลา กานา เคนยาและไนจีเรีย ทำให้คนยากจนยิ่งขึ้น

§        มีรายงานเพิ่มขึ้นถึงความรุนแรงในครอบครัวที่กระทำต่อผู้หญิง การข่มขืนกระทำชำเรา การละเมิดทางเพศ การสังหารและการทำลายซากศพภายหลังการข่มขืน ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในเม็กซิโก กัวเตมาลา เอล ซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส และจาไมก้า

§        ผู้พลัดถิ่นหลายล้านคนในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียแปซิฟิก ทั้งในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ต้องเผชิญการเอารัดเอาเปรียบ ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิ

§        มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากของการเหยียดผิว การรังเกียจชาวต่างชาติ และการไม่อดทนอดออมต่อกันในยุโรปและเอเชียกลาง

§         ในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ มีการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธ ในรัฐต่าง ๆ อย่างเช่น อิรักและเยเมน ทำให้เกิดสภาพที่ไม่มั่นคงปลอดภัยยิ่งขึ้น และบางกลุ่มมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออีดะห์อย่างเห็นได้ชัด

 

ในระดับโลก ประชาชนหลายล้านคนต้องยากจนลงเนื่องจากภาวะวิกฤตด้านอาหาร พลังงาน และการเงิน สภาพการณ์เหล่านี้สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิซึ่งส่งผลกระทบต่อความยากจน

“รัฐบาลควรจะต้องรับผิดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เป็นสาเหตุของความยากจนและทำให้ปัญหาร้ายแรงขึ้น การประชุมขององค์การสหประชาชาติเพื่อทบทวนเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ที่กรุงนิวยอร์ก สหรัฐฯ ในเดือนกันยายนนี้ เป็นโอกาสที่ผู้นำโลกจะสามารถเปลี่ยนจากคำสัญญาเป็นการแสดงเจตจำนงที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย” เคลาดิโอ คอร์ดอน กล่าว

ผู้หญิง โดยเฉพาะคนยากจน ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายเหล่านี้ อาการแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เป็นเหตุให้ผู้หญิงประมาณ 350,000 คนเสียชีวิต โดยส่วนใหญ่แล้วมีสาเหตุมาจากการเลือกปฏิบัติทางเพศ การละเมิดสิทธิทางเพศ และสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ และการปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงการดูแลสุขภาพ

“รัฐบาลจะต้องส่งเสริมความเท่าเทียมของผู้หญิง แก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ” เคลาดิโอ คอร์ดอน กล่าว

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลยังเรียกร้องกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 20 ประเทศ (G20) ซึ่งยังไม่ได้ลงนามสนับสนุนศาลอาญาระหว่างประเทศให้ลงนามเสีย ประเทศเหล่านี้ได้แก่ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย ตุรกี อินเดีย อินโดนีเซียและซาอุดิอาระเบีย การประชุมระหว่างประเทศเพื่อทบทวนระบบศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม ที่กรุงคัมพาลา ประเทศอูกันดา เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะแสดงเจตจำนงที่มีต่อศาลแห่งนี้

แม้จะมีความล้มเหลวร้ายแรงในการประกันความยุติธรรมหลายครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ก็มีเหตุการณ์ที่แสดงถึงความก้าวหน้าอยู่บ้าง ในละตินอเมริกา มีรายงานการสอบสวนอาชญากรรมที่ผู้กระทำผิดได้รับนิรโทษกรรมตามกฎหมาย และศาลมีคำตัดสินครั้งสำคัญต่ออดีตผู้นำประเทศ อย่างเช่น การลงโทษนายอัลแบร์โต ฟูจิมูริ (Alberto Fujimori) อดีตประธานาธิบดีแห่งเปรูในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการลงโทษนายเรย์นัลโด บียอง (Reynaldo Bignone) อดีตผู้บัญชาการทหารแห่งอาร์เจนตินาในข้อหาลักพาตัวและทรมาน การไต่สวนคดีของศาลพิเศษเพื่อเซียราลีโอนก็ได้ข้อสรุปนอกเหนือไปจากการไต่สวนคดีนายชาลส์ เทเลอร์ (Charles Taylor) อดีตประธานาธิบดีประเทศไลบีเรียที่ยังดำเนินอยู่

“ความจำเป็นที่จะต้องมีความยุติธรรมระดับโลกที่เป็นผล เป็นบทเรียนสำคัญของปีที่ผ่านมา ความยุติธรรมอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมและความจริงสำหรับผู้ที่ถูกละเมิด ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิขึ้นอีก และสุดท้ายยังทำให้เกิดโลกที่มีเสถียรภาพและมั่นคงยิ่งขึ้น” เคลาดิโอ คอร์ดอน กล่าว

หมายเหตุ

1.       Amnesty International Report 2010: State of the World’s Human Rights ครอบคลุมช่วงระยะเวลาตั้งแต่มกราคม-ธันวาคม 2552

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทักษิณให้สัมภาษณ์รายการวิเคราะห์ข่าวของ ABC ปฏิเสธข้อกล่าวหาก่อการร้าย

Posted: 27 May 2010 01:26 AM PDT

<!--break-->

 

26 พ.ค. 2553 - รายการ Lateline ซึ่งเป็นรายการวิเคราะห์ข่าวของ ABC ออสเตรเลีย ได้รับเชิญให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ร่วมรายการด้วยการสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ และมีการนำเสนอถอดเทปสัมภาษณ์ฉบับตัวอักษรทางเว็บไซต์ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
 

000

โทนี่ โจนส์ ผู้ดำเนินรายการ
ทักษิณ ชินวัตร ผู้ร่วมรายการ

โทนี่ โจนส์ : นี่คือการสัมภาษณ์อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ทักษิณ ชินวัตร ครั้งแรกสุดของโลกหลังเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ

คุณทักษิณ ถูกกองทัพรัฐประหารล้มอำนาจไปเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา และกำลังอพยพหนีทางการไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ซึ่งทางการไทยได้ออกหมายจับเขาในข้อหาการก่อการร้ายเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงซึ่งสนับสนุนเขา

ทางรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้เรียกร้องให้ตำรวจสากลจับกุมตัวและส่งมอบตัวเขาไปยังประเทศไทย

ในคืนนี้ทักษิณเป็นผู้ร่วมรายการที่จะมาพูดคุยกับเราเป็นเวลาสั้นทางโทรศัพท์

ขอบคุณคุณทักษิณ ชินวัตรที่มาร่วมพูดคุยกับเราครับ

ทักษิณ : ขอบคุณครับ ขอบคุณที่ชวนมาร่วมรายการ

โทนี่ : คุณเตรียมตัวพร้อมหรือยังที่จะกลับไปยังประเทศไทยเพื่อเผชิญหน้ากับข้อหาก่อการร้าย ซึ่งพวกเขายกระดับข้อหาให้กับคุณ

ทักษิณ : ก่อนอื่น ขอผมแสดงความเห็นใจต่อการจับกุมตัวชาวออสเตรเลียที่เคยขึ้นเวทีเสื้อแดงก่อน จากการใช้ พรก. ฉุกเฉิน ที่ไม่โปร่งใสของพวกเรา ทำให้ผมเห็นใจเขามาก

แต่อย่างไรก็ตามการจะกลับไปหรือไม่นั้นยังไม่ใช่เหตุที่ต้องพิจารณาโดยเร่งด่วน

สิ่งที่เร่งด่วนในตอนนี้คือเราจะเห็นประเทศไทยกลับมาปรองดอง ซึ่งหมายถึงการปรองดองกันจริง ๆ ได้อย่างไร ถ้าหากผม หากว่าอะไรก็ตาม หากการเผชิญหน้ายังคงดำเนินต่อไป มันไม่เป็นเรื่องดีเลยสำหรับประเทศนี้ พวกเราต้องการเห็นความปรองดองกันเพราะว่ารัฐบาลมักจะพูดเรื่องการปรองดองอยู่เสมอ แต่พวกเขากลับใช้มาตรการเบ็ดเสร็จ (ironfist -- แปลตรงตัวว่ากำปั้นเหล็ก) พวกเขาไม่ได้ใช้วิธีการละมุนละม่อม (velvet glove -- แปลตรงตัวว่าถุงมืออ่อน ๆ ) ซึ่งหมายความว่าพวกเขาใช้วิธีการเผชิญหน้ามากกว่าการปรองดอง

โทนี่ : แต่คุณทักษิณ มันมีข้อกล่าวหารุนแรง เรื่องการก่อการร้าย พวกเขาอาจใช้วิธีการประหารชีวิต คุณเป็นห่วงเรื่องตำรวจสากลจะ...

ทักษิณ
: ครับ...

โทนี่ : ...จะ ตามตัวคุณ และจับตัวคุณไหม

ทักษิณ : ไม่ ผม...ผม...

โทนี่ : แล้วก็ส่งตัวคุณกลับไปไทยเพื่อดำเนินคดีในศาล?

ทักษิณ : ผมมั่นใจว่านี่ต้องเป็นคดีและข้อกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมืองอย่างแน่นอน มันไม่มีพื้นอะไรเลย ในใจของผมสละให้กับการชุมนุมอย่างสงบ เท่านั้น ผมสนับสนุนประชาชนของผม ที่พวกเรา ประเทศไทย ต้องการปรองดอง ผมบอกเสมอมาว่าผมต้องการเช่นนี้ คือมีความปรารถนาที่จะให้เกิดการปรองดอง

ผมไม่เคย ไม่เคยที่จะสนับสนุนความรุนแรง และทุกคนที่รู้จักผม และประเทศต่าง ๆ พวกเขาก็รู้ดีว่าไม่มีใคร ที่ไหนเลย ที่อดีตนายกฯ ผู้นี้จะกลายเป็นผู้ก่อการร้ายและทำร้ายประเทศของตนเอง ไม่มีทาง

โทนี่ : ข้อหล่าวหาที่มีอยู่จำเพาะเจาะจงมากว่า คุณเป็นคนจัดตั้งให้เกิดความวุ่นวายนี้ และคุณก็ให้เงินสนับสนุนเป็นไปได้ว่าจะมีการกำกับปฏิบัติการหรือมีลูกน้องที่คอยเป็นตัวแทนทำงานให้

ทักษิณ : หากกระบวนการนี้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ข้อกล่าวหานี้ก็ไม่เป็นจริงเลย เพราะว่าไม่มีหลักฐานใด ๆ เลยในเรื่องนี้ มันเป็นแค่ข้อกล่าวหาจากฝ่ายเดียว และในวันนี้ทางศาลก็ยอมรับข้อเสนอจากทนายของผมให้มีการระงับหมายจับเพื่อทบทวนในเรื่องนี้อีกครั้ง

โทนี่ : คุณเป็นห่วงเรื่องตำรวจสากลไหม หลังจากที่กระทรวงต่างประเทศของไทยเรียกร้องให้จับตัวคุณ พวกขาจะทำตามไหม

ทักษิณ : พวกเขาจะปฏิบัติตามอย่างแน่นอน แต่ตำรวจสากลมีบรรทัดฐานการตัดสินใจของตนเอง นั่นคือจะไม่ปฏิบัติตามอะไรที่มาจากแรงจูงใจทางการเมือง เรื่องนี้มีแรงจูงใจทางการเมืองอย่างชัดเจน และเป็นการอ้างที่ไม่มีอะไรรองรับ คุณรู้ไหมว่าบางครั้งรัฐบาลไทยก็เรียกร้องให้ตำรวจสากลออกหมายจับผม และตำรวจสากลก็พบทุกครั้งว่าข้อมูลของรัฐบาลไทยนั้นไว้ใจไม่ได้ และมีแรงจูงใจทางการเมือง

โทนี่ : อย่างน้อยก็มีนายพลคนหนึ่ง ที่อยู่ในหมูเสื้อแดงคอยสนับสนุนตุณอยู่ แล้วเขาถูกยิงเสียชีวิตในช่วงที่เกิดความวุ่นวาย คุณยังคงมีคนที่สนับสนุนคุณอยู่ในหมู่ทหารอยู่ไหม

ทักษิณ : คุณรู้ไหมว่ากองทัพนั้นอยู่ภายใต้ระเบียบเคร่งครัด พวกเขาจึงแค่ทำตามคำสั่งของเจ้านาย อย่างไรก็ตามหลายคนก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่กองทัพสังหารประชาชนของตนเอง

สิ่งที่คุณควรเป็นห่วงคือชีวิตของผู้บริสุทธิ์ 88 รายที่เสียชีวิตไป และอีกร้อยแปด อีกพันแปดคนที่ได้รับบาดเจ็บ  คุณควรตรวจสอบในเรื่องนี้และการตรวจสอบจะต้องเป็นไปอย่างยุติธรรมด้วย แล้วตอนนี้ผู้ประท้วงที่บริสุทธิ์กว่า 300 รายก็ถูกจับกุมตัวภายใต้ พรก. ฉุกเฉิน ดังนั้น...ดังนั้น...

โทนี่ : คุณปฏิเสธเรื่องนี้หรือไม่ เรื่องที่ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นกระทำไปในนามของคุณด้วย

ทักษิณ : ไม่มีทาง พวกเรา....

โทนี่ : ความรุนแรงกระทำโดยทหาร

ทักษิณ : พวกเราไม่เคย ไม่เคยเลยที่จะก่อความรุนแรง หากคุณมองในวิธีการที่ทหารกดดัน พวกเขาใช้รถถัง ใช้สไนเปอร์ พวกเขายิงทหารนายพลด้วยสไนเปอร์ พวกเขายิงประชาชนจำนวนมากด้วยสไนเปอร์ แม้กระทั่งที่วัดในวันสุดท้ายก่อนพวกเขาจะกลับบ้าน มีการสังหารหมู่ในวัด นี่คือสิ่งที่นานาชาติควรให้ความสำคัญ

โทนี่ : ในหมู๋ผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่สันติ มีพวกหน่วยติดอาวุธฮาร์ดคอร์รวมอยู่ด้วย เป็นคนกลุ่มเดียวกับที่โจมตีสิ่งก่อสร้างหลาย ๆ จุดในกรุงเทพฯ ...

ทักษิณ : ไม่...ผมคิดว่า...

โทนี่ : ...และที่อื่น ๆ หลังจากที่ทหารเข้าสลายการชุมนุม คนพวกนี้เป็นใคร คุณจะบอกว่าคนพวกนี้เป็นใคร

ทักษิณ : ถ้าคุณลองดูคุณจะรู้ว่าทำไมเสื้อแดงถึงเผาเซ็นทรัล ทำไมไม่เผาที่อื่น ต้องเป็นที่เซ็นทรัล ถ้าคุณดูการวิเคราะห์ในไทยคุณจะเข้าใจว่าเสื้อแดงนั้น พวกเขาไม่ได้มีความสามารถมากพอจะเผาสิ่งก่อสร้างทั้งหมดลงได้

พวกเขาอาจจุดไฟขึ้นมาด้วยความโกรธตามที่ต่าง ๆ แต่ก็เป็นแค่ไฟกองเล็ก ๆ ไม่ใช่ไฟกองใหญ่ ๆ การจุดไฟกองใหญ่ขนาดนั้นได้ต้องเป็นผลงานของคนที่เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งมันไม่ใช่ฝีมือเสื้อแดงแน่และมันต้องมีการวางแผนไว้ก่อนล่วงหน้า ผมบอกคุณได้เลยว่าในฐานะที่เคยบวชมาก่อน (ในต้นฉบับใช้คำว่า as an ex-priest) ผมบอกเลยว่ามันวางแผนมาก่อนแล้วและกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญ ผมบอกได้เลยว่ามันเป็นการสร้างสถานการณ์

แม้แต่อาวุธที่พวกเขาเอามาแสดงให้ดู ก็เป็นอาวุธใหม่เอี่ยมที่ไม่ให้ใครแตะต้อง ความจริงคือไม่มีใครใช้อาวุธพวกนี้เลย หากเสื้อแดงมีอาวุธจริงทำไมไม่มีใครในฝ่ายทหารที่ได้รับบาดเจ็บเลยล่ะ (หัวเราะ)

โทนี่ : ดังนั้นคุณก็เข้าใจแล้วว่าข้อกล่าวหาคือบอกว่าคุณเป็นคนให้งบจำนวนมากให้พวกเขาซื้ออาวุธเพื่อจัดตั้งกลุ่มเสื้อแดง นี่จะกลายเป็นข้อกล่าวหาของคุณ

ทักษิณ : ไม่มีทาง พวกเราจะซื้ออาวุธพวกนี้มาจากไหนล่ะ พวกเราไม่ใช่กองทัพ แล้วเราจะซื้อได้อย่างไร แล้วก็ หากพวกเขามีอาวุธจริง ๆ ทำไมพวกเขาถึงยอมแพ้อย่างง่ายดาย ทำไมพวกเขาถึงไม่ยิงตอบทหาร ทำไมไม่มีการเสียชีวิตจากฝ่ายทหารเลย ดังนั้นคุณจะต้องมีเหตุผลมาก ๆ ในการเข้าใจสถานการณ์

โทนี่ : การประท้วงของกลุ่มเสื้อแดงจบลงแล้ว มันถือว่าเสร็จสิ้นไปหรือยัง มันจะเกิดขึ้นอีกไหม

ทักษิณ : ผมไม่ทราบ ไม่ทราบ พวกเขาถูกกลบไปแล้วตอนนี้ พวกเขาถูกตามล่าไปทั่วประเทศไทย พวกเขากำลังลำบาก พวกเขาถูกล่า นี่คือวิธีการที่รัฐบาลเรียกว่าปรองดอง โอเค ขอบคุณมาก ขอบคุณ

โทนี่ : ทักษิณ ชินวัตร ผมคิดว่าการคุยกันของเราจะจบลงตรงนี้ เอ่อยังไงก็ดูเหมือนคุณไปก่อนแล้ว ขอบคุณมากที่ร่วมรายการ

ที่มา
Thaksin Shinawatra speaks to Lateline, ABC

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรุงเทพโพลล์ : คน กทม. ส่วนใหญ่ให้ยึดหลักศาสนาเยียวยาความขัดแย้ง

Posted: 27 May 2010 01:07 AM PDT

<!--break-->

27 พ.ค. 2553 - ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  (กรุงเทพโพลล์)  นำเสนอผลการสำรวจเรื่อง "วิสาขบูชา" กับการเยียวยาประเทศไทย พบว่า ร้อยละ 80.6 ระบุเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเกิดความกลัว เครียด วิตกกังวล รู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัย และต้องระวังตัวมากขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่ามีรายได้ลดลงและเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง และโดนจำกัดเวลาจากการประกาศเคอร์ฟิว

ร้อยละ 79.0 เชื่อว่าหากทุกฝ่ายยึดหลักคำสอนศาสนามาเป็นแนวทางในการทำงานและดำเนินชีวิต จะช่วยเยียวยาแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้

โดยร้อยละ 22.3 เชื่อว่าหลักธรรมะที่ควรยึดถือในการบริหารประเทศมากที่สุดคือ ยุติธรรม โปร่งใส ขณะที่หลักเมตตา กรุณา อยู่ที่ร้อยละ 3.6 และอีกร้อยละ 37.1 เชื่อว่าหลักธรรมะที่ต้องการให้ประชาชนคนไทยยึดถือเป็นแนวทางดำเนินชีวิตมากที่สุดคือ สามัคคีปรองดอง ขณะที่หลักขันติ อดทน อดกลั้น น้อยที่สุดคือร้อยละ 7.5

ทั้งนี้การสำรวจของกรุงเทพโพลล์อาศัยการสุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในทุกสาขาอาชีพที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ

 

000

รายละเอียดผลการสำรวจทั้งหมด

สำหรับสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ตั้งใจจะอธิษฐานขอพรเนื่องในวันวิสาขบูชาปีนี้
อันดับแรกคือ ขอให้ประเทศไทยมีความสงบสุข ผ่านพ้นวิกฤติโดยเร็ว และไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้อีก   

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.   เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ อย่างไร พบว่า

- ร้อยละ 80.6 ระบุว่า ส่งผลกระทบ โดยเรื่องที่ส่งผลกระทบคือ

                           - ทำให้เกิดความกลัว เครียด และวิตกกังวล  ร้อยละ 21.3

                           - ทำให้รู้สึกว่าชีวิตไม่ปลอดภัย ต้องระวังตัวมากขึ้น ร้อยละ 21.3

                           - ทำให้มีรายได้ลดลง  เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง  ร้อยละ 20.9

                           - ทำให้ไม่อยากอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ   ร้อยละ 7.7

                           - อื่นๆ อาทิ  รถติด เดินทางไม่สะดวก และ โดนจำกัดเวลาจากการประกาศเคอร์ฟิว ร้อยละ 9.4

- ร้อยละ 19.4 ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบ 

2. หากทุกฝ่ายยึดถือหลักธรรมคำสอนของศาสนามาเป็นแนวทางในการทำงานและดำเนินชีวิต จะช่วยเยียวยาแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้หรือไม่  

            - เชื่อว่าสามารถช่วยเยียวยาแก้ปัญหาได้  ร้อยละ 79.0

            - เชื่อว่าไม่สามารถช่วยเยียวยาแก้ปัญหาได้  ร้อยละ   7.0

            - ไม่แน่ใจ      ร้อยละ 14.0

3.   แนวทางที่เหมาะสมในการนำหลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธมาใช้เยียวยาแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น พบว่าคนกรุงเทพฯ เสนอแนวทางดังต่อไปนี้

          - ให้ครอบครัวปลูกฝังธรรมะให้กับลูกหลาน      ร้อยละ 22.8

          - ให้โรงเรียนเน้นการเรียนการสอนที่สอดแทรกธรรมะให้มากขึ้น   ร้อยละ 18.3

          - ให้รัฐบาลบริหารประเทศโดยยึดหลักธรรมาภิบาล    ร้อยละ 17.5

          - ให้เครือข่ายชุมชนเพิ่มกิจกรรมทางศาสนาให้เข้าถึงคนในชุมชน   ร้อยละ 16.7

          - ให้สื่อมวลชนเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมะและปรับวิธีการนำเสนอให้น่าสนใจ ร้อยละ 15.0

          - ให้พระสงฆ์ปรับวิธีเผยแผ่หลักธรรมคำสอนให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น   ร้อยละ 9.7

4. หลักธรรมะที่ต้องการให้รัฐบาลยึดถือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศมากที่สุดในขณะนี้ คือ

            - ยุติธรรม โปร่งใส   ร้อยละ 22.3

            - ซื่อสัตย์  สุจริต    ร้อยละ 19.3

            - สามัคคีปรองดอง   ร้อยละ 17.5

            - มีสติ  รอบคอบ    ร้อยละ 12.2

            - แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ   ร้อยละ 11.2

            - ขันติ  อดทน อดกลั้น   ร้อยละ 8.9

            - ให้อภัย ไม่จองเวร   ร้อยละ 5.0

            - เมตตา  กรุณา    ร้อยละ 3.6

5. หลักธรรมะที่ต้องการให้ประชาชนคนไทยยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตมากที่สุดในขณะนี้ คือ 

            - สามัคคีปรองดอง   ร้อยละ 37.1

            - ยึดทางสายกลาง   ร้อยละ 17.1

            - มีสติ  รอบคอบ    ร้อยละ 16.8

            - ให้อภัย  ไม่จองเวร   ร้อยละ 12.1

            - เมตตา  กรุณา    ร้อยละ 9.4

            - ขันติ  อดทน อดกลั้น   ร้อยละ 7.5
            

6. สิ่งที่คนกรุงเทพฯ  ตั้งใจจะอธิษฐานขอพรเนื่องในวันวิสาขบูชาในปีนี้ (มากที่สุด 5 อันดับแรก) คือ

(เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)

อันดับ 1   ขอให้ประเทศไทยมีความสงบสุข ผ่านพ้นวิกฤติโดยเร็วและไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงแบบนี้อีก         ร้อยละ 67.8

อันดับ 2  ขอให้คนไทยกลับมารักกัน ให้อภัยกันเป็นพี่เป็นน้องกันเหมือนเดิม   ร้อยละ 10.5

อันดับ 3  ขอให้ตนเองและครอบครัวมีความสุข และมีสุขภาพแข็งแรง      ร้อยละ 6.3

อันดับ 4  ขอให้พระเจ้าอยู่หัวทรงหายประชวร         ร้อยละ 5.3

อันดับ 5  ขอให้เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น      ร้อยละ 4.5 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น