โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

งานวันเกิด “ออง ซาน ซูจี” ปีที่ 65 ที่เชียงใหม่

Posted: 19 Jun 2010 03:06 PM PDT

หลายองค์กรในเชียงใหม่จัดงานวันเกิดปีที่ 65 ให้กับ “ออง ซาน ซูจี” สันนิบาตสตรีพม่า (WLB) ออกแถลงการณ์ชื่นชม “ซูจี-เอ็นแอลดี” ถอนตัวจากการเลือกตั้งของทหารพม่า ด้าน “พิภพ อุดมอิทธิพงศ์” เชื่อหลัง 19 พ.ค. ชาวไทยเข้าใจชาวพม่ามากขึ้น

<!--break-->

เวลา 16.30 น. วานนี้ (19 มิ.ย.) ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ.นิมมานเหมินท์ หลายองค์กรใน จ.เชียงใหม่ ร่วมกันจัดงานวันเกิดปีที่ 65 ของนางออง ซาน ซูจี ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ และผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยของพม่า ซึ่งปัจจุบันถูกรัฐบาลทหารพม่าสั่งกักบริเวณในบ้านพัก โดยมีการจัดนิทรรศการ การแสดงศิลปวัฒนธรรม และการฉายภาพยนตร์สารคดี เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนพม่าและนางออง ซาน ซูจี และมีการกล่าวสุนทรพจน์และอ่านแถลงการณ์โดยกลุ่มต่างๆ

 

 
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
 
 
บรรยากาศการเสวนา
 
 
ช่วงเสวนา (จากซ้ายไปขวา) โดยอ่อง โม ซอ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองพม่า ติน ติน โย จากสหภาพสตรีพม่า (BWU) และคืนใส ใจเย็น บรรณาธิการสำนักข่าวฉาน มีอ่อง เมียว มิน อดีตนักศึกษาพม่าปี 1988 และนักสิทธิมนุษยชนเป็นผู้ดำเนินรายการ
 
 
ดนตรีโดย “โก พัต” และสมาชิก  

 

“พิภพ อุดมอิทธิพงศ์” เชื่อหลัง 19 พ.ค. ชาวไทยเข้าใจชาวพม่ามากขึ้น

ในช่วงหนึ่ง ผู้จัดงานได้เชิญนายพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักเขียนและนักแปล เป็นตัวแทนชาวไทย แสดงความเห็นทางการเมืองต่อบทบาทของนางออง ซาน ซูจีต่อขบวนการประชาธิปไตย โดยตอนหนึ่งนายพิภพกล่าวว่าสถานการณ์ในไทยและพม่าในวันนี้แทบจะอยู่ในระดับเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยได้เคยเกิดขึ้นแล้วในพม่า

ในมีการปิดกั้นเว็บไซต์ไปแล้วกว่า 40,000 เว็บ มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในประเทศพม่ามีสื่อมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยที่พยายามนำเสนอภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศให้ออกไปสู่การรับรู้ของชาวโลก อย่างที่ภาพยนตร์เรื่อง Burma VJ แสดงให้เห็น แต่สื่อกระแสหลักในประเทศไทยกลับเซ็นเซอร์ตัวเอง

ประเทศไทยซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ แต่ในรอบหลายเดือนมานี้รัฐบาลไทยใช้กฎหมายพิเศษเพื่อปกครองประเทศคือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และทำให้มีผู้ถูกควบคุมตัวในขณะนี้อย่างน้อย 400 คน เราไม่รู้ว่ามีผู้คนถูกจับจำนวนเท่าไหร่กันแน่ เพราะตัวอย่างที่ จ.อุบลราชธานี เจ้าหน้าที่รัฐออกหมายจับบุคคลใดก็ตามที่ปรากฏตัวอยู่ในวิดีโอที่เจ้าหน้าที่บันทึกภาพเหตุการณ์ขณะที่มีการเผาศาลากลาง สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร และภาคอีสานเรียนรู้ถึงความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าพวกเขามีความรู้สึกอย่างไร และเชื่อว่าความรู้สึกนี้น่าจะใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า

นายพิภพกล่าวว่าเชื่อว่าจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์วันที่ 19 พ.ค. ซึ่งครบรอบ 1 เดือนในวันนี้เช่นกัน จะทำให้ประชาชนไทยเข้าใจถึงผลกระทบและความลำบากของประชาชนชาวพม่าอันเนื่องมาจากรัฐบาลทหารพม่า และมีความหวังว่าประชาชนไทยจะยืนหยัดเคียงข้างเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนพม่าด้วย

 

องค์กรในเชียงใหม่สนับสนุนอองซานซูจีค้านเลือกตั้งทหาร

หลังจากนั้น โดยตัวแทนองค์กรที่ทำงานเชิงประเด็นพม่าใน จ.เชียงใหม่ ได้อ่านแถลงการณ์เนื่องในวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิดนางออง ซาน ซูจี 3 ภาษาคือภาษาพม่า ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย

“พวกเราให้ความเคารพนับถือแก่นางออง ซาน ซูจี ในฐานะเป็นผู้ใช้วิธีการต่อสู้แบบอหิงสาเพื่อปลดปล่อยประเทศและประชาชนชาวพม่าให้พ้นจากการกดขี่ข่มเหงโดยระบบการปกครองแบบเผด็จการ จากระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา นางออง ซาน ซูจี ถูกกักบริเวณเป็นเวลารวมกันถึง 14 ปี พวกเราเห็นพ้องร่วมกันว่ามีเพียงการมีส่วนร่วมจาก 3 ฝ่ายเท่านั้นที่จะสามารถแผ้วทางไปสู่วิถีประชาธิปไตยและความเป็นสหพันธรัฐในพม่า เราสนับสนุนนางออง ซาน ซูจีในการคัดค้านการเลือกตั้งปี 2010 ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้รัฐธรรมนูญปี 2008 ชอบด้วยกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้รับการกำหนดมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลทหารอันจะนำมาเพียงการขยายความทุกข์ทรมานของประชาชนในประเทศพม่าต่อไป”

“พวกเราขอคัดค้านการใช้การเลือกตั้งที่ปราศจากความยุติธรรมเพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจโดยรัฐบาลทหารพม่า และเพื่อกลบเกลื่อนเสียงอันแท้จริงของประชาชน ดังนั้นพวกเราจึงสนับสนุนพี่น้องทั้งหลายจากประเทศพม่าให้ถือเอาวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิด 65 ปีของนางอองซานซูจีในวันนี้ คัดค้านการเลือกตั้งปี 2010 ที่ประชาชนขาดอิสรเสรีในการเลือกคนที่พวกเขาอยากลงคะแนนเสียงให้อย่างแท้จริง และจะนำมาเพียงประชาธิปไตยจอมปลอม” แถลงการณ์ขององค์กรที่ทำงานเชิงประเด็นพม่าใน จ.เชียงใหม่

 

สันนิบาตสตรีพม่าชื่นชม “ออง ซาน ซูจี-เอ็นแอลดี” ถอนตัวจากการเลือกตั้งของทหารพม่า

ขณะที่ตัวแทนสันนิบาตสตรีพม่า หรือ WLB (Women’s League of Burma) ซึ่งเป็นองค์กรของสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในพม่า ได้อ่านแถลงการณ์เนื่องวันเกิดของนางออง ซาน ซูจี ปีที่ 65 ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ประณามรัฐบาลทหารพม่าที่ละเลยข้อเรียกร้องของประชาชนพม่าและประชาคมระหว่างประเทศที่ต้องการให้ฟื้นฟูประชาธิปไตย ด้วยการออกกฎหมายการเลือกตั้งที่มีข้อกำหนดตายตัวเพื่อให้นางออง ซาน ซูจีพ้นไปจากการเมืองพม่า โดย WLB ถือว่ากรณีเช่นนี้เป็นการลอบสังหารทางการเมือง

แถลงการณ์ของ WLB ยังเห็นว่าออง ซาน ซูจีมีความชอบธรรมที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการเลือกตั้งอัปยศของรัฐบาลทหารพม่า WLB เล็งเห็นถึงเกียรติยศและความเข้มแข็งในการตัดสินใจทางการเมืองของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่ง WLB ต้องการยกย่องการตัดสินใจนี้ว่านับเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าเชื่อถือในช่วงครบรอบ 65 ปี วันเกิดนางออง ซาน ซูจี อันเป็นฤกษ์ดี

WLB เรียกร้องต่อประชาชนพม่าให้เข้าร่วมการต่อสู้อันมีเกียรติสง่าและสันติวิธีเพื่อหยุดระบอบเผด็จการทหาร ด้วยการยึดข้อเรียกร้อง “ปลดปล่อยนาง ออง ซาน ซูจี” เพื่อ “ปลดปล่อยประชาชนพม่า” แถลงการณ์ของ WLB ยังเรียกร้องต่อประชาคมระหว่างประเทศรวมไปถึงองค์การสหประชาชาติให้กดดันต่อการเลือกตั้งในปีนี้ของรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งเป็นเพียงการสืบทอดอำนาจของระบอบเผด็จการทหาร และจะเพิ่มทวีการกดขี่ต่อประชาชนพม่า มากกว่าการเปิดพื้นที่ทางการเมืองและนำไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง แถลงการณ์ของสันนิบาตสตรีพม่าระบุ

นอกจากนี้ในงานยังมีการกล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ “บทบาทของนางออง ซาน ซูจี ต่อขบวนการประชาธิปไตย” โดยขุน มิ้นต์ ทุน สมาชิกคณะรัฐบาลพลัดถิ่นพม่า (NCGUB) “กรณีศึกษาทหารเด็ก (Child Soldier) ในพม่าและการละเมิดสิทธิมนุษยชน” โดยอ่อง เมียว มิน อดีตนักศึกษาพม่าปี 1988 และนักสิทธิมนุษยชน

ในช่วงท้ายมีการเสวนาในหัวข้อ “การจัดการเลือกตั้งของทหารพม่าและขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกประเทศ” โดย อ่อง โม ซอ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองพม่า “สถานการณ์ของกลุ่มหยุดยิงกลุ่มต่างๆ ที่ต้องเปลี่ยนสถานะเป็นกองกำลังอาสาสมัครพิทักษ์ชายแดน (BGF)” โดยคืนใส ใจเย็น บรรณาธิการสำนักข่าวฉาน และ “บทบาทของสตรีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับทหารพม่าและผลกระทบหลังการเลือกตั้ง” โดย ติน ติน โยว จากสหภาพสตรีพม่า (BWU) ด้วย โดยกิจกรรมเพื่อระลึกวันเกิดปีที่ 65 ของออง ซาน ซูจี ที่ จ.เชียงใหม่ สิ้นสุดในเวลาประมาณ 21.30 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สมศักดิ์ โกศัยสุข” เปิดสาขา "พรรคการเมืองใหม่" ที่เชียงใหม่

Posted: 19 Jun 2010 11:40 AM PDT

“สมศักดิ์ โกศัยสุข” เปิดสาขาพรรคการเมืองใหม่ ที่ จ.เชียงใหม่ พร้อมเลือกประธานสาขาและคณะกรรมการประจำเชียงใหม่ ก่อนประชุมแกนนำพรรคจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ ไร้ “เสื้อแดง” ต้าน ขณะที่ 3 ก.ค. นี้จะมีการประชุมวิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่แทน “สนธิ ลิ้มทองกุล” ที่ลาออก

<!--break-->

นายสมศักดิ์ โกศัยสุข (แถวนั่งที่ 4 จากซ้าย) ถ่ายรูปคู่กับว่าที่ ร.ต.อิทธิพล มนะเกษตรธาร ประธานศูนย์ประสานงานพรรคการเมืองใหม่ จ.เชียงใหม่ (แถวนั่งที่ 5 จากซ้าย) พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ (แถวนั่งที่ 6 จากซ้าย) และสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ ระหว่างเปิดศูนย์ประสานงานพรรคการเมืองใหม่ ประจำ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: ASTVผู้จัดการออนไลน์)

พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ (ขวา) ระหว่างการประชุมของพรรคการเมืองใหม่ ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อ 19 มิ.ย. ที่ผ่านมา (ที่มาของภาพ: ASTVผู้จัดการออนไลน์)

 

เมื่อเวลา 9.30 น. วานนี้ (19 มิ.ย.) นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และรักษาการหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ เดินทางมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติ จ.เชียงใหม่ เพื่อเป็นประธานการประชุมเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการศูนย์ประสานงานพรรคการเมืองใหม่ จ.เชียงใหม่ ที่โรงแรม C.H. ถ.เจริญประเทศ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้นายสมศักดิ์นั่งรถเข็นวีลแชร์และมีผู้ช่วยคอยพยุงเวลาขึ้นรถที่สนามบินเชียงใหม่ ส่วนสถานที่จัดการประชุมของพรรคการเมืองใหม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหนึ่งคอยรักษาความเรียบร้อย

โดยช่วงเช้า มีการประชุมที่มีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นประธาน มีผู้ประสานงานสมาชิกพรรค 17 จังหวัดภาคเหนือ จังหวัดละ 2 คน เข้าร่วมประชุม โดยผลการประชุม ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ที่ประชุมได้เลือก ว่าที่ ร.ต.อิทธิพล มนะเกษตรธาร เป็นประธานศูนย์ประสานงานพรรคที่เชียงใหม่ นางบุหลัน ภู่เจริญ เป็นรองประธาน นายณัฐกิตติ์ สังข์มูล เป็นเลขาธิการ นางนที ลักษณ์ธนากุล เป็นเหรัญญิก และนายวิชัย ฤดีจรูญรุ่ง เป็นนายทะเบียน และเลือกตั้งคณะกรรมการ 9 คน ประกอบด้วยนายกรปาล ศุภมาตร์ นายคเชญ ฉายศรีสินธุ์ จ่าสิบเอกศิริ ศรีศิริ นางนิตยา ตั้งเจริญสถาพร นายอนันต์ เปรมปราโมช นางสมพร ศิลปะวิลาวัลย์ นางอมรรัตน์ อินทอง นายสุธน หลิ่มไพศาล และนายจรัญ บุตรพรหม

สำหรับว่าที่ ร.ต.อิทธิพล มนะเกษตรธาร ซึ่งเป็นประธานศูนย์ประสานงานพรรคการเมืองใหม่ จ.เชียงใหม่ เป็นอดีตข้าราชการครู สอนวิชาสังคมศึกษา ที่โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จ.เชียงใหม่ ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว ส่วนนางบุหลัน ภู่เจริญ รองประธานฯ เคยเป็นนายกสโมสรฝึกพูดเชียงใหม่ ระหว่างปี 2525-2526 ต่อมาในปี 2552 เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม “เฮาฮักพ่อหลวง” ซึ่งเป็นพันธมิตรฯ กลุ่มย่อยใน จ.เชียงใหม่

ต่อมาในช่วงกลางวัน นายสมศักดิ์ เดินทางไปเปิดศูนย์ประสานงานพรรคการเมืองใหม่ จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่เลขที่ 40/1 ถ.มหิดล ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งเดียวกับร้านอาหารมังสวิรัติของสำนักสันติอโศก

นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 19-20 มิ.ย. นี้ พรรคการเมืองใหม่ยังจัดประชุมเชิงปฏิบัติการและหารือเรื่องการเชื่อมประสานเครือข่ายในเขตพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือด้วย โดยมีการหารือทั้งการวิเคราะห์เรื่องสถานการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือ เรื่องการขยายการรับสมาชิกพรรค การขยายสาขาและศูนย์ประสานงานของพรรค และการระดมทุนของพรรค โดยมีวิทยากรได้แก่ พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ นพ.ระวี มาศฉมาดล อดีตเลขาธิการพรรคพลังธรรม ปัจจุบันเป็นประธานสาขาพรรคการเมืองใหม่ จ.สุราษฎร์ธานี และนายสุทิน ธราทิน รองผู้อำนวยการพรรคการเมืองใหม่

ขณะที่ในวันที่ 3 ก.ค. นี้ที่อาคารนิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ จะมีการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แทนนายสนธิ ลิ้มทองกุลที่ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอฟริกาใต้ 2010 : จรยุทธ์สาวในชุดสีส้ม

Posted: 19 Jun 2010 10:08 AM PDT

<!--break-->

สำหรับวัฒนธรรม “ดูบอล” แล้ว “จิบเบียร์” นั้นมีมาช้านานทั้งในยุโรปและประเทศต่างๆ ที่ “ฟุตบอล” แทรกซึมเข้าไปถึง ไม่ว่าจะเป็นการเอาเข้าไปจิบในสนาม ดูตามผับบาร์ ลานเบียร์ หรือนั่งจิบเบียร์เหงาๆ แกล้มกับการชมเกมส์จากการถ่ายทอดสดผ่านจอทีวี -- โดยบ้านเราเองก็มีการประการประเมินไว้ว่าในช่วงเทศกาลลูกหนังสำคัญๆ อย่างฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปหรือมหกรรมฟุตบอลโลกนั้นยอดขายเบียร์จะ เพิ่มขึ้น 20%

อีเวนท์สำคัญระดับโลกเช่นมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกนี้ หลายบริษัทหลายตราสินค้า (แบรนด์) ก็อยากที่จะเอาแบรนด์สินค้าของตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วม พวกแบรนด์ของบริษัทยักษ์ใหญ่นี่ง่ายหน่อย ก็ใช้กำลังเงินที่เหนือคู่แข่งอัดเข้าไปให้องค์กรจัดอย่าง FIFA, เจ้าภาพ หรือทำสัญญากับทีมชาติ หรือนักเตะแต่ละชาติก็ว่ากันไปแล้วว่ากระเป่าใครจะหนักก็ใคร เพื่อที่จะได้ตำแหน่งแห่งหนในการแปะแบรนด์ของตนให้คนทั่วโลกได้เห็น

ส่วนแบรนด์เบี้ยน้อยหอยน้อย ก็อาจจะต้องใช้สมองหน่อย อย่างที่เราจะพูดถึงกันวันนี้คือเบียร์ Bavaria ที่ใช้กลยุทธ์แผลงๆ จนได้เรื่อง

“นักรบจรยุทธ์สาวในชุดสีส้ม” กับยุทธวิธี Guerrilla marketing ในสนามบอลของเบียร์ Bavaria
(ที่มาภาพ: brookstonbeerbulletin.com)

ประเด็นเล็กๆ ที่ฮือฮาในเกมส์การแข่งขันระหว่างทีมชาติเนเธอร์แลนด์กับเดนมาร์กเมื่อวันที่ เมื่อ 14 มิ.ย. 53 ที่ผ่านมา เมื่อสาวในชุดสีส้ม 36 คน (ซึ่งก็เป็นสีประจำของกองเชียร์เนเธอร์แลนด์) ถูกเจ้าหน้าที่ FIFA เชิญตัวออกจากสนามในช่วงพักครึ่งของการแข่งขัน และนำไปสอบสวนที่สำนักงาน FIFA ก่อนที่จะส่ง 2 สาวชาวดัตช์ไปฟ้องต่อศาล Johannesburg ส่วนคนอื่นๆ ที่เป็นสาวเจ้าถิ่นศาลไม่ได้ดำเนินคดีและปล่อยตัวไป ศาลรับฟ้องยึดหนังสือเดินทาง และให้ 2 สาวประกันตัวด้วยเงินสดคนละ 10,000 Rand โดยให้ 2 สาวมาฟังคำตัดสินคดีในอีก 1 เดือนข้างหน้า

โดย FIFA ให้เหตุผลการเชิญ 36 สาวในชุดสีส้มออกจากสนามและมีการดำเนินคดีต่อเนื่องมานั้น ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎของ FIFA ว่าด้วยการใช้วิธีการตลาดที่ฉ้อฉล (ambush marketing) ด้วยการแอบเข้าไปโฆษณาแฝงและมีข่าวว่า FIFA เองก็เตรียมเล่นงานกับเบียร์ Bavaria ต้นสังกัดแบรนด์สินค้าที่ใช้วิธีการตลาดแบบจรยุทธ์นี้อีกด้วย

เรื่องนี้ร้อนถึง รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ที่ได้ออกมาตำหนิแอฟริกาใต้ที่จับกุมสองสาวชาวดัตช์ว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และหากจะจับกุมผู้ทำผิดต้องมีการสอบสวนตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ใช่มาทำกับประชาชนในชุดสีส้มแบบนี้ ส่วนบริษัท Bavaria ออกมากล่าวว่า FIFA ผูกขาดสีส้มไม่ได้และประชาชนมีเสรีภาพในการสวมใส่เสื้อผ้าอะไรก็ได้

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Bavaria เบียร์ ใช้แผนนักรบจรยุทธ์ชนกับ Budweiser และ FIFA เพราะเมื่อครั้งฟุตบอลโลกปี 2006 ที่เยอรมันเป็นเจ้าภาพ ในการแข่งขันระหว่างเนเธอร์แลนด์กับไอเวอรี่โคสต์นั้น แฟนบอลเนเธอร์แลนด์ร่วม 1,000 คนก็แอบเข้าไปโฆษณาแฝงให้ Bavaria เบียร์มาแล้ว

ทั้งนี้เบียร์ Budweiser ของบริษัท Anheuser-Busch InBevเป็นเบียร์ผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของการแข่งขันฟุตบอลโลกแอฟริกา 2010 ซึ่งตามข้อตกลงที่ทำไว้นี้ Budweiser จะเป็นเบียร์เจ้าเดียวที่มีสิทธิ์โฆษณาหรือแสดงสัญลักษณ์แบรนด์สินค้าในสนามการแข่งขัน โดยยังไม่มีตัวเลขที่เป็นทางการว่า Budweiser จ่ายเงินให้กับ FIFA เท่าใดในการเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของทัวร์นาเมนท์นี้ แต่เมื่อฟุตบอลโลกหนที่แล้ว Budweiser ได้จ่ายเงินให้กับ FIFA ถึง 40 ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ

นอกจากการลงมาลุยทำการตลาดในอีเวนท์ระดับโลกเพื่อส่งสารความมึนเมานี้ไปถึงคอบอลทั่วโลกแล้ว ในระดับท้องถิ่น Budweiser เองนั้นแทบจะไม่เป็นที่รู้จักในแอฟริกาใต้เลย ทั้งนี้เพราะในประเทศเจ้าภาพนี้ แบรนด์ที่ถูกใจของคนท้องถิ่นนั้นก็เป็นเบียร์ของบริษัท SABMiller และ Heineken

ความนิยมของแบรนด์ต่างๆ ในบอลโลก
 
 

จากผลการสำรวจแบรนด์ยอดนิยมของ Hitwise Intelligenceจากผู้เล่นอินเตอร์เน็ตในอังกฤษ เกี่ยวกับแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันฟุตบอลโลกที่แอฟริกาใต้ ทั้งแบรนด์ผู้สนับสนุนการแข่งขันและแบรนด์ผู้สนับสนุนทีมชาติต่างๆ

เมื่อเทียบกันระหว่างสุดสัปดาห์ที่ 5 มิ.ย. 2010 กับสุดสัปดาห์ที่ 12 มิ.ย. 2010 พบว่าแบรนด์ที่มีความนิยมพุ่งสูงที่สุดคือสายการบิน South African Airways พุ่งสูงขึ้น 129.2% ส่วนลำดับ 2-5 เป็นสินค้าในหมวดเดียวกันก็คือสินค้าหมวดเบียร์ Heineken: 75.0%, Carlsberg: 50.0%, Corona: 50.0% และ Budweiser: 33.3%

ทั้งนี้ Heineken เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนทีมชาติเนเธอร์แลนด์, Carlsberg เป็นผู้สนับสนุนทีมชาติอังกฤษ, Corona เป็นผู้สนับสนุนทีมชาติเม็กซิโก ส่วน Budweiser นั้นนอกจากจะเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันนี้อย่างเป็นทางการแล้ว ยังเป็นผู้สนับสนุนทีมชาติสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

 

ใครเป็นใครในอุตสาหกรรมเบียร์โลก

เบียร์เป็นอุตสาหกรรมระดับโลกที่มีทั้งบริษัทข้ามชาติและบริษัทท้องถิ่นแข่งขันกันในตลาดมากมายหลายพันแบรนด์ ทั้งนี้ปริมาณการณ์ว่าในแต่ละปีมีการขายเบียร์ให้แก่คอเบียร์ถึง 133 พันล้านลิตร โดยมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมนี้ในปี 2006 มีสูงถึง 294.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับยักษ์ใหญ่ของโลกในอุตสาหกรรมนี้คือ บริษัท SABMiller, บริษัท Anheuser-Busch InBev และ บริษัท Heineken International

SABMiller นอกจากที่จะผลิตเบียร์และเครื่องดื่มแล้ว ก็ยังเป็นผู้ผลิตขวดบรรจุรายใหญ่ให้กับ Coca-Cola โดยในปี 2009 บริษัทมีรายได้ถึง 18.703 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแบรนด์ต่างๆ ของบริษัท SABMiller มีดังนี้

ขายในแอฟริกาใต้ ได้แก่ Castle Lager, Grolsch, Castle Milk Stout, Hansa Marzen Gold, Hansa Pilsener, Carling Black Label, Castle Lite, Redd’s, Skelters, Brutal Fruit, Blakes & Doyle และ Sarita

ขายในแอฟริกาและเอเซีย ได้แก่ 2M, Castle Lager, Castle Milk Stout, Eagle, Fosters, Kilimanjaro, Haywards 5000, Royal Challenge, Knock out, Indus Pride, Snow และ Zorok

ขายในยุโรป ได้แก่ Pilsner Urquell, Nastro Azzurro, Peroni, Tyskie, Ursus, Dreher, Grolsch และ Lech

ขายในลาตินอเมริกา ได้แก่ Aguila, Club Colombia, Costeña, Poker (โคลัมเบีย), Cristal, Pilsen Callao, Pilsen Trujillo, Cusqueña, Arequipeña (เปรู), Pilsener, Club (เอกวาดอร์), Pilsener (เอล ซัลวาดอร์), Golden Light, Port Royal, Salva Vida, Imperial (ฮอนดุรัส), Atlas และ Balboa (ปานามา)

ขายในอเมริกาเหนือ ได้แก่ Miller Lite, Miller Genuine Draft, Olde English 800, Milwaukee’s Best, Miller Chill, Blue Moon, และ Leinenkugel

Anheuser-Busch InBev ผู้ผลิตเบียร์และเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลก ในปี 2009 บริษัทมีรายได้ 36.76 พันล้าน ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับแบรนด์ของ Anheuser-Busch InBev ก็มีอาทิเช่น Stella Artois, Beck's, Budweiser Quilmes, Brahma, Labatt,Alexander Keith's, Bass, Natural Ice, Busch, Guaraná Antarctica, Rolling Rock, Jupiler, Leffe, Hoegaarden, Staropramen, Michelob, Spaten, Franziskaner, Löwenbräu, Kokanee, Tinkoff และอื่นๆ

Heineken International บริษัทดัทซ์ที่อาจจะคุ้นหูคนไทยมากที่สุด ในปี 2009 บริษัทมีรายได้ 14.70 พันล้านยูโร สำหรับแบรนด์ของบริษัท ก็ได้แก่ Heineken, Amstel, Cruzcampo, Affligem, Żywiec, Starobrno, Zagorka, Birra Moretti และอื่นๆ

ส่วนเบียร์ Bavaria ที่แอบมาตีท้ายครัวยักษ์อย่าง Anheuser-Busch InBev นั้นเป็นเบียร์เล็กๆ จากเนเธอร์แลนด์ (แต่รายได้อาจจะไม่เล็กเท่าไรเพราะในปี 2005 มีรายได้ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ปัจจุบันมีเจ้าของคือตระกูล Swinkels นอกจากเบียร์ Bavaria จะมีขายในเนเธอร์แลนด์แล้ว ยังมีขายในอังกฤษและประเทศอื่นๆ อีกด้วย

ประเทศไหนดื่มเบียร์มากสุด-ยี่ห้อไหนขายได้มากสุด

 

ตลาดเบียร์ 5 อันดับแรกของโลกในปี 2008 (ที่มาภาพ: platologic.co.uk)

 

แบรนด์เบียร์ที่มีปริมาณขายสูงสุดในปี 2008 (ที่มาภาพ: platologic.co.uk)

จากการสำรวจของ Plato Logic Limited ผู้จัดทำ World Beer Report พบว่าตลาดจีนเป็นประเทศผู้บริโภคเบียร์ใหญ่ที่สุดในปี 2008 รองลงมาเป็นสหรัฐอเมริกา, รัสเซีย, บราซิล และเยอรมันตามลำดับ โดยแบรนด์ที่มีปริมาณขายมากที่สุดคือ Snow (range) เบียร์ท้องถิ่นของจีน ตามมาด้วย Bud Light, Budweiser, Skol เบียร์ท้องถิ่นของบราซิล, Corona, Heineken, Brahma, Coors Light, Tsingtao เบียร์ท้องถิ่นของจีน และ Miller Lite

แหล่งข้อมูล:
South African Airways and beer companies biggest beneficiaries of World Cup sponsorship so far in the UK (football-marketing.com, 15-6-2010)
FIFA World Cup 2010: Money Makes the World Cup Go Round (Swiss Rambler, bleacherreport.com, 16-6-2010)
Dutch ministry gives Fifa a dressing down (iol.co.za, 17-06-2010)
http://www.platologic.co.uk/pr_world_beer_report_2009.htm (เข้าดูเมื่อ 19-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Beer (เข้าดูเมื่อ 19-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/SABMiller (เข้าดูเมื่อ 19-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Anheuser-Busch_InBev (เข้าดูเมื่อ 19-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/Heineken_International (เข้าดูเมื่อ 19-6-2010)
http://en.wikipedia.org/wiki/2006_FIFA_World_Cup_sponsorship (เข้าดูเมื่อ 19-6-2010)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประมวลภาพ: “สำรวจร่องรอยราชประสงค์หลัง 19 พ.ค. ผ่านไป 1 เดือน”

Posted: 19 Jun 2010 09:23 AM PDT

<!--break-->

ในโอกาสครบ 1 เดือน (19 มิ.ย.2553) การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของ นปช.ที่บริเวณแยกราชประสงค์ ประชาไทได้ทำการสำรวจบริเวณพื้นที่ดัง กล่าวโดยรอบ เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงและบันทึกร่องรอยที่ยังหลงเหลือ อยู่จากเหตุการณ์ที่ทหารใช้อาวุธเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อวันที่ 19-20 พ.ค.ที่ผ่านมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประมวลภาพ: “พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลครบ 1 เดือนผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม นปช.”

Posted: 19 Jun 2010 09:06 AM PDT

<!--break-->

ตอนสายของวัน 19 มิ.ย. 2553 ที่วัดปทุมวนาราม ใกล้แยกราชประสงค์ มีการจัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลครบ 1 เดือนแก่ผู้เสียชีวิตที่เข้ามาหลบภัยภายในบริเวณวัดปทุมวนาราม จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมระหว่างวันที่ 19-20 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตภายในบริเวณวัดจำนวน 6 ราย

พิธีในวันนี้มีการทำบุญเลี้ยงพระ การบริจาคปัจจัยให้กับวัด รวมทั้งมีการนำดอกกุหลาบสีแดงและพวงมาลัยมาแสดงความเคารพและไว้อาลัยผู้เสียชีวิตทั้ง 6 รายด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐเร่งเจรจาเอกชนเปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าบางคล้า

Posted: 19 Jun 2010 08:34 AM PDT

เอกชนเสนอหลักการและเหตุผลในการขอย้ายพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าออกจาก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ด้านคณะทำงานมีเงื่อนไขระบุโรงไฟฟ้าที่จะย้ายจะต้องตั้งอยู่ในแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
<!--break-->

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 53 ที่ผ่านมานายพีระพล สาครินทร์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ในฐานะประธานคณะทำงานเจรจาการย้ายพื้นที่โรงไฟฟ้าบางคล้า เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เปิดการเจรจากับผู้บริหารของบริษัท สยามเอ็นเนอยี่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ขนาด 1,600 เมกะวัตต์ โดยบริษัทได้เสนอหลักการและเหตุผลในการขอย้ายพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าออกจาก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา

ขณะที่คณะทำงานมีเงื่อนไขในการเจรจาว่า โรงไฟฟ้าที่จะย้ายจะต้องตั้งอยู่ในแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพราะเป็นโครงการที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง หากตั้งอยู่นอกแนวท่อส่งก๊าซฯ ก็จะทำให้ไม่สามารถจัดหาก๊าซฯ มาป้อนโรงไฟฟ้าได้ ซึ่งขณะนี้บริษัทก็ได้เสนอพื้นที่มาหลายแห่ง

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาในเรื่องของสายส่งไฟฟ้าที่จะรองรับการแก้ปัญหามวลชนในพื้นที่ไม่ให้เกิดการต่อต้านโครงการ เพื่อให้โรงไฟฟ้าเกิดขึ้นได้ และพื้นที่นั้นจะต้องมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในโรงไฟฟ้า เพราะโครงการโรงไฟฟ้าต้องใช้เป็นจำนวนมากในระบบหล่อเย็น หากมีการย้ายพื้นที่ไปจะต้องมีแหล่งน้ำซึ่งเมื่อนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าแล้ว ยังต้องไม่แย่งแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ด้วย และประการสุดท้ายค่าไฟฟ้าจะต้องไม่แพงขึ้นด้วย และเป็นอัตราที่กระทรวงพลังงานรับได้

ทั้งนี้ เหตุผลทั้งหมดนี้จะต้องชัดเจน เนื่องจากทางคณะทำงานเมื่อตอบตกลงรับข้อเสนอทั้งหมดแล้วจะต้องสามารถอธิบายกับประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องได้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเรื่องนี้จะเจรจาเสร็จเมื่อไร โดยในส่วนของคณะทำงานได้มีการเจรจากับบริษัทมาแล้ว 3 รอบ และคาดว่าจะต้องมีการเจราอีกครั้งหนึ่งก่อนสรุปให้คณะอนุกรรมการเจรจาแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าบางคล้า ที่มีนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่าคณะอนุกรรมการฯ จะเวลาในการพิจารณานานแค่ไหน

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าบางคล้า สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตีความข้อกฎหมายในประเด็นที่ว่า การย้ายโรงไฟฟ้าบางคล้าไปอยู่พื้นที่อื่นไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์การประมูลไอพีพี เพราะถือเป็นเหตุสุดวิสัยโรงไฟฟ้าไม่สามารถที่จะเข้าไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เพื่อทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมได้ จึงให้ทางบริษัทหารือร่วมกับกระทรวงพลังงานเพื่อย้ายพื้นที่โรงไฟฟ้า โดยมีกรอบว่าจะต้องไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น และโครงการจะต้องสามารถดำเนินการได้ตามแผน

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าบางคล้าเป็น 1 ใน 4 โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนที่ชนะการประมูลไอพีพี ประกอบด้วย บริษัท จีโค-วัน จำกัด ในกลุ่มของบริษัท โกวล์ พลังงาน จำกัด(มหาชน) ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ก่อสร้างในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง กำลังการผลิต 660 เมกะวัตต์ เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือน พ.ย.54,

โครงการของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด กับกลุ่มเกษตรรุ่งเรืองพืชผล ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ก่อสร้างในพื้นที่ อ.พนมสารคราม จ.ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2555-2556,บริษัท สยาม เอ็นเนอยี่ จำกัด ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ก่อสร้างในพื้นที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2555

และบริษัท เพาเวอร์เจนเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ก่อสร้างในพื้นที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี กำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2557

ในส่วนของบริษัท สยามเอ็นเนอยี่ และบริษัท เพาเวอร์เจเนอเรชั่น เบื้องต้นได้เลื่อนการจ่ายไฟฟ้าออกไปจากแผนเดิม 1 ปีแล้ว และไม่แน่ใจว่าจะต้องเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟฟ้าออกไปอีกหรือไม่

ที่มาข่าว: อินโฟเควส

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลนราธิวาสนัดฟัง 'ฟ้อง-ไม่ฟ้อง' คดีเจ้าหน้าที่ซ้อมชาวบ้านตาย 2 ก.ย. 53

Posted: 19 Jun 2010 08:24 AM PDT

<!--break-->

เมื่อวันที่ 18 มิ.ยใ 53 ที่ผ่านมาศาลจังหวัดนราธิวาสนัดไต่สวนมูลฟ้องนัดสุดท้าย โดยนัดสืบพยานผู้เชี่ยวชาญเรื่องอนุสัญญาต่อต้านการซ้อมทรมาน  ในคดีอาญา หมายเลขดำที่ 1611/2552 ระหว่าง นางนิม๊ะ  กาเซ็ง โจทก์ ฟ้องพันตรีวิชา  ภู่ทอง  ที่ 1 ร้อยตรีสิริเขตต์  วาณิชบำรุง  ที่ 2    จ่าสิบเอกเริงณรงค์  บัวงาม  ที่ 3 สิบเอกณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช ที่ 4     สิบเอกบัณฑิต  ถิ่นสุข  ที่ 5 และพันตำรวจเอกทนงศักดิ์ วังสุภา ที่ 6 ข้อหา ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด  กักขังหน่วงเหนี่ยว เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย  โดยศาลนัดฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องของโจทก์ ในวันที่ 2 กันยายน 2553  เวลา 09.00 น. ซึ่งเป็นคดีแรกในจังหวัดชายแดนใต้ที่ผู้เสียหายที่เป็นประชาชนได้ใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมฟ้องเอาผิดเอาโทษเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคดีอาญาในคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการซ้อมทรมานจนเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัว

คดีนี้นางนิม๊ะ กาเซ็ง  ใช้สิทธิฟ้องคดีเอง เนื่องจากมีฐานะเป็นผู้เสียหายคือภรรยาของนายยะผา กาเซ็ง อิหม่ามประจำมัสยิดหมู่บ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ถูกเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ปิดล้อมตรวจค้น ควบคุมตัวไปแถลงข่าวว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ และซ้อมทรมานอิหม่ามยะผา   กาเซ็ง จนเสียชีวิตภายใน หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 39 ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม อ.รือเสาะ  จ.นราธิวาส เหตุเกิดระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2551 จึงนำมาซึ่งเหตุในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีนี้

เนื่องจากเหตุคดีนี้ ศาลจังหวัดนราธิวาส ได้มีการไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายยะผา  กาเซ็ง  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  150  เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อช.9/2551 และมีคำสั่งเมื่อวันที่  25  ธันวาคม  2551  ว่าผู้ตายคือ  นายยะผา  กาเซ็ง  ตายที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส  39  ตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม  หมู่ที่  2  ตำบลรือเสาะออก  อำเภอรือเสาะ  จังหวัดนราธิวาส  เมื่อวันที่  21 มีนาคม  2551  เนื่องจากผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย  ทำให้กระดูกซี่โครงหัก  ลมรั่วในช่องอกด้านขวา  ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่  ซึ่งผู้เสียหายได้เคยร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนแล้ว  แต่พนักงานสอบสวนทำหน้าที่ล่าช้า ผู้เสียหายคือนางนิม๊ะ กาเซ็ง จึงนำคดีมาฟ้องเอง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กอ.รมน. ระบุคนร้ายแต่งกายคล้ายทหารก่อเหตุยิงราษฎรพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี

Posted: 19 Jun 2010 08:11 AM PDT

<!--break-->

พันเอก บรรพต พูลเพียร โฆษก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ส่วนหน้า เปิดเผยว่า วันนี้ (๑๘ มิ.ย.๕๓) เวลา ๑๒.๒๐ น. คนร้ายจำนวน ๔ คน แต่งกายคล้ายทหาร ใช้รถยนต์กระบะ ยี่ห้อฟอร์ด สีบร์อนเงิน หมายเลขทะเบียน บห ๙๐๙๐ สงขลา (จากการตรวจสอบป้ายทะเบียนปลอม) เป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนสงครามไม่ทราบชนิดและขนาด ยิงนายอับดุลฮาดี มะนุแซ อายุ ๒๓ ปี (มีหมาย พ.ร.ก.ฯ ได้เข้ามารายงานตัวแล้ว) อยู่บ้านเลขที่ ๔๐/๑ บ้านแลแวะ หมู่ที่ ๒ ตำบลตะโละแมะนา อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี กระสุนปืนถูกบริเวณลำตัวจำนวนหลายนัด เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

จากการสอบสวนทราบว่ากลุ่มคนร้ายได้เข้าไปพูดคุยกับนายอับดุลฮาดีฯ ที่บ้านพัก และเรียกให้ออกมาข้างนอกบ้าน อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารมาจากหน่วยเฉพาะกิจปัตตานีที่ ๒๕ พูดคุยลักษณะเชิญให้ไปเข้ารับการอบรม พอสบโอกาสคนร้ายได้ใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่ ทำให้เสียชีวิตดังกล่าว หลังก่อเหตุคนร้ายได้ทิ้งรถยนต์กระบะที่ใช้ในการก่อเหตุไว้ ก่อนหลบหนีไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวสะเอียบ เผาหุ่นเสธ.หนั่น ประท้วงฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้น

Posted: 19 Jun 2010 08:04 AM PDT

ชาวสะเอียบ เผาหุ่นเสธ.หนั่น ประท้วงฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้น หนุนนโยบายผู้ว่าแพร่ สร้างฝายทดน้ำล้านฝายแทนเขื่อน ยื่นจดหมายถึงนายก แจงเหตุที่ไม่ควรสร้างเขื่อน และทางเลือกในการจัดการน้ำ
<!--break-->

 
 
19 มิ.ย. 53 - ชาวบ้านกว่าพันคนตำบลสะเอียบ ได้ร่วมกันเผาหุ่นพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ ผาอิง ริมแม่น้ำยม ต.สะเอียบ จ.แพร่ จากนั้นทำพิธีเรียกวิญญาณเข้าหม้อถ่วงน้ำ เพื่อเป็นการตอบโต้ที่พลตรีสนั่นได้ออกมาให้สัมภาษณ์ที่จะฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้น
จากการที่พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าจะต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ได้ ภายในสมัยที่ตนเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องน้ำในสมัยรัฐบาลนี้ ชาวบ้านตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ออกมาประกาศเจตนารมณ์ในการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นร่วมกันในวันนี้ และได้ทำการเผาหุ่นเรียกวิญญาณถ่วงน้ำ ซึ่งเป็นพิธีกรรมตามความเชื่อของชาวบ้าน
นายอุดม ศรีคำภา แกนนำชาวบ้านคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมเผาหุ่นเสธ.หนั่นว่า “ในช่วงสองสามวันที่ผ่านมาเสธ.หนั่นได้ประกาศที่จะรื้อฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาสร้างให้ได้ ตนและชาวบ้านตำบลสะเอียบเห็นว่าเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง เมื่อชาวบ้านได้ทราบข่าวต่างเป็นเดือดเป็นร้อนและเห็นว่าต้องมีมาตรการตอบโต้ เมื่อคิดไม่ดีมาเราก็ต้องเผาต้องสาปแช่งซึ่งเป็นการตอบโต้ให้เสธ.หนั่นได้รับรู้และเข้าใจว่าชาวบ้านจะต่อสู้จนถึงที่สุด จะไม่ยอมให้เขื่อนแก่งเสือเต้นเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เรามีทั้งทางออกทางเลือกในการจัดการน้ำหลายแนวทางแต่ฝ่ายการเมืองก็จะสร้างแต่เขื่อนทั้งที่เขื่อนทั้งประเทศก็กำลังเกิดวิกฤตแทบจะไม่มีน้ำอยู่แล้ว”
น.ส.กัลยานี โสมแจง ตัวแทนชาวบ้านตำบลสะเอียบ ได้อ่านคำประกาศเจตนารมณ์ ว่าชาวบ้านตำบลสะเอียบยืนยันที่จะปกป้องป่าสักทองกว่า 40,000 ไร่ ไว้ไห้ลูกหลานและคนทั้งประเทศ และจะต่อสู้คัดค้านโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นให้ถึงที่สุด และยังเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด โดยให้รัฐบาลสนับสนุนนโยบายจังหวัดแพร่ในการสร้างฝายทดน้ำล้านฝายแทนเขื่อนแก่งเสือเต้น “เราเห็นว่าการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมนั้นต้องร่วมกันดูแลรักษาและฟื้นฟูป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์ไม่ใช่จะมาทำลายป่าสักทองเพื่อสร้างเขื่อน เมื่อฝนไม่ตกเขื่อนก็แห้งดั่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เราเห็นด้วยกับผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ที่มีนโยบายในการผลักดันโครงการฝายทดน้ำล้านฝายแทนเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นโครงการที่จะสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าเมื่อป่ามีความอุดมสมบูรณ์ฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล” น.ส.กัลยานี กล่าว
จากนั้นตัวแทนชาวบ้านได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านนายอำเภอสอง จังหวัดแพร่ โดยหนังสือระบุถึง เหตุผลที่ไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และทางเลือกทางออกในการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่นการจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา เน้นแนวทางการจัดการน้ำที่ยั่งยืนทั้งระบบ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม การขุดลอกตะกอนแม่น้ำอันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำ การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สามารถทำได้โดย ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การปรับปรุงประสิทธิภาพ การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก การพัฒนาระบบประปา ผลัดดันนโยบายจังหวัดแพร่ในการสร้างฝายทดน้ำหนึ่งล้านฝายเท่ากับเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งจะทำให้สภาพป่าเกิดความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์มากขึ้น อีกทั้งยังไม่กระทบกับป่าและสิ่งแวดล้อม
นายศรชัย อยู่สุข ชาวบ้านบ้านดอนชัยสักทอง ตำบลสะเอียบ กล่าวถึงความเป็นมาของชุมชนสะเอียบ ว่า “กว่า 200 ปี ที่ชาวบ้านตำบลสะเอียบ ได้ตั้งถิ่นฐานสร้างบ้าน สร้างเมือง มาจนถึงทุกวันนี้ มีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับป่าอย่างสอดคล้องและสมดุล ป่าเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตของพวกเรา เป็นแหล่งหากิน เก็บเห็ด เก็บหน่อไม้ เก็บผัก สมุนไพร หาอยู่หากินกันตามอัตภาพ มีความสุข ความเจริญสืบเนื่องมา ยังมีผู้คิดทำลายป่าสักทองธรรมชาติ ทำลายชุมชน ทำลายวิถีชีวิต ชุมชนของชาวบ้าน ทั้งที่ชาวบ้านได้พยายามเสนอทางเลือกทางออก ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง มาหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง อีกทั้งทางเลือก ทางออกต่างๆ ใช้งบประมาณน้อยกว่า และกระทบกับป่า กระทบกับชุมชน น้อยกว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น”
การประกาศเจตนารมชองชาวสะเอียบในครั้งนี้ ยังจะได้มีการรื้อฟื้นกฎของชุมชนขึ้นมาใช้อีกครั้งหนึ่ง คือ การประกาศห้ามกรมชลประทาน เจ้าหน้าที่บริษัทปัญญา และนักการเมืองที่ไม่หวังดีต่อป่าสักทองเข้าพื้นที่ โดยชุมชนสะเอียบจะไม่รับรองความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น จากนั้นชาวบ้านจึงได้แยกย้ายกันกลับด้วยความเรียบร้อย

 
คำประกาศเจตนารมณ์
สะเอียบ ยืนหยัดปกป้องป่าสักทอง ดงสักงาม แก่งเสือเต้น
ใช้มาตรการเข้ม ฟื้นกฎชุมชน ห้าม กรมชล บริษัทปัญญา นักการเมืองขี้ฉ้อ เข้าพื้นที่
 
พวกเราชาวบ้านตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ได้ร่วมกันตั้งกลุ่มราษฎรรักษ์ป่ามายาวนานเกือบยี่สิบปี ทำหน้าที่ ปกป้อง รักษา ป่าสักทอง ดงสักงาม แก่งเสือเต้น ณ อุทยานแห่งชาติแม่ยมแห่งนี้ มาอย่างต่อเนื่อง การสำรวจป่า ราดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานในการปกป้องรักษาป่า การบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การปลูกป่าชุมชน อีกทั้งการสร้างฝายทดน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าสักทอง ดงสักงาม แก่งเสือเต้น ก็ได้สร้างอาหาร ผัก เห็ด หน่อไม้ พืชสมุนไพร ตอบแทนพวกเราตลอดมา เปรียบดังซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชน
มาบัดนี้ มีผู้คิดร้าย หวังทำลายป่าสักทอง ดงสักงาม แก่งเสือเต้น เพื่อสร้างเขื่อน ทั้งที่เขื่อนทั้งประเทศก็ไม่มีน้ำ เพราะไม่มีป่า ยังมีคนมืดบอดคิดทำลายป่าเพื่อสร้างเขื่อนอีก พวกเราจึงขอประณาม สาปแช่งผู้คิดร้ายต่อป่าสักทอง ดงสักงาม แก่งเสือเต้น ให้มีอันเป็นไป อย่าได้ผุดได้เกิด
ปัจจุบัน จังหวัดแพร่มีนโยบายในการผลักดันโครงการฝายทดน้ำล้านฝายแทนเขื่อนแก่งเสือเต้น และในปีนี้ได้ดำเนินการมาแล้วกว่าสามหมื่นฝาย พวกเราขอสนับสนุนนโยบายของจังหวัดแพร่ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า และขอเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด รวมทั้งให้รัฐบาลหันมาสนับสนุนโครงการฝายทดน้ำล้านฝายแทนเขื่อนแก่งเสือเต้น อย่างเต็มที่ต่อไป
พวกเราขอยืนยันว่า พวกเราจะปกป้องป่าสักทอง ดงสักงาม แก่งเสือเต้นตลอดไป ไม่ยอมให้ผู้ใดมาทำลายเป็นเด็ดขาด พวกเราจึงมีความจำเป็นต้องนำมาตรการกฎของชุมชนมาใช้อย่างเข้มข้นนับต่อจากนี้ไป เราขอประกาศว่า ห้ามกรมชลประทาน เจ้าหน้าที่บริษัทปัญญา และนักการเมืองผู้ไม่หวังดีต่อป่าสักทองเข้ามาในพื้นที่ชุมชนของพวกเราอีกต่อไป โดยเราจะไม่รับรองความปลอดภัยใดๆ ทั้งสิ้น
ด้วยจิตคารวะ
คณะกรรมการชาวบ้าน กลุ่มราษฎรรักป่า ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่
19 มิถุนายน 2553 ณ ผาอิง ริมน้ำยม ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่

 

 
ศูนย์ประสานงานชุมชน บ้านดอนชัย หมู่ 1
ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ 54120
วันที่ 19 มิถุนายน 2553
เรื่อง ขอให้ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยการยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด
 
 
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายอำเภอสอง จังหวัดแพร่
ตามที่รองนายกรัฐมนตรี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ได้มีแนวคิดในการรื้อฟื้นโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งนั้น ขณะที่เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเขื่อนทุกเขื่อนกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ อีกทั้งนโยบายของจังหวัดแพร่กำลังเร่งสร้างฝายทดน้ำหนึ่งล้านฝายเท่ากับเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ทดแทนการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ที่ได้ประโยชน์จริงในพื้นที่ อีกทั้งไม่ทำลายป่าและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เห็นว่าการใช้สถานการณ์น้ำแล้งมาเป็นข้ออ้างและเร่งผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น เป็นแนวความคิดที่ผิดพลาดและควรจะสรุปบทเรียนจากการสร้างเขื่อนต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตต่อไป คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยย่อ ดังนี้
1.การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา เน้นแนวทางการจัดการน้ำที่ยั่งยืนทั้งระบบ
2.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม
3.การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำ
4.การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สามารถทำได้โดย ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ
5.การปรับปรุงประสิทธิภาพ ในปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง ให้มีประสิทธิภาพตามที่โครงการกล่าวอ้างไว้
6.การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ตามแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น
7.การพัฒนาระบบประปา ซึ่งมีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น
8.ผลัดดันนโยบายจังหวัดแพร่ในการสร้างฝายทดน้ำหนึ่งล้านฝายเท่ากับเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งจะทำให้สภาพป่าเกิดความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์มากขึ้น อีกทั้งยังไม่กระทบกับป่าและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษา การวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ออกมามีความชัดเจนแล้วว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อาทิ
1.จากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของตัวเอง
2.จากการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์
3.จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน
4.จากการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก
5.จากการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ
6.จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
7.จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
ดังนั้นคณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอเรียกร้อง ดังนี้
1.ให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น อย่างเด็ดขาด เพื่อความผาสุกของชุมชนและคนทั้งชาติ
2.การดำเนินการ โครงการพัฒนาใดๆ ในลุ่มน้ำยม จะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการพัฒนา บนทิศทางความยั่งยืนของทรัพยากรและความมั่นคงในวิถีชีวิตของประชาชน
3.ให้รัฐบาลสนับสนุน และส่งเสริมให้มีการดูแลรักษาป่า เพื่อให้เป็นป่าชุมชนของชาวบ้าน และให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดูแลรักษาป่า
เพี่อความสงบสุขของชุมชนและประเทศชาติ เราขอยืนยันเรียกร้องให้ ฯพณฯ ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยการยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณายกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นอย่างเด็ดขาด
 
ขอแสดงความนับถือ
คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
 

 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“อำมาตย์-ไพร่” เป็นเพียงศัพท์ที่ไร้ความหมาย?

Posted: 19 Jun 2010 07:14 AM PDT

<!--break-->

เมื่อถูกถามว่า เป้าหมายของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย คือการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม คิดว่าจะลดช่องว่างระหว่างคำว่า “ไพร่” กับ “อำมาตย์” ที่ถูกบัญญัติขึ้นในช่วงที่ผ่านมาได้หรือไม่อย่างไร นายอานันท์ ปันยารชุน กล่าวว่า
 
 คณะกรรมการผมจะไม่สนใจเรื่องแบบนี้ ถ้ายกคำว่าไพร่ หรืออำมาตย์ขึ้นมา ผมคิดว่าเป็นศัพท์ที่ไม่มีความหมาย คณะกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้จะไม่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่เป็นปัญหาในอดีต แต่แน่นอนความเหลื่อมล้ำในสังคม ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเงินทอง เรื่องสิทธิ เรื่องโอกาส อันนั้นต้องทำแน่ แต่เราจะไม่ทำในบริบทของสิ่งที่คุณพูด มันคนละเรื่องกัน”
(มติชนออนไลน์,18 มิถุนายน 2553)
 
โดยปกติ “คำ” หรือ “ศัพท์” ที่ไม่มีความหมาย คือคำหรือศัพท์ที่ไม่ได้สื่อถึง “ความจริง” (truth) หรือ “ข้อเท็จจริง” (fact) อะไรเลย แต่คำว่า “อำมาตย์” และ “ไพร่” เป็นคำที่สื่อถึงความจริงและข้อเท็จจริงบางอย่างชัดแจ้งเกินกว่าที่ใครจะบอกว่า “ไม่สนใจ” รับรู้ หากมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมไทยจริงๆ
 
ผมคงไม่อธิบายประวัติความเป็นมาของคำสองคำนี้ (เพราะเห็นอธิบายกันไว้มากแล้ว) ขออธิบาย (ตามความเข้าใจของตนเอง) ว่า คำว่า “อำมาตย์-ไพร่” ที่ นปช.นำมาใช้กันในปัจจุบันนั้นเป็นคำที่สื่อถึงความจริงที่ว่า ในสังคมประชาธิปไตยของไทยนั้นมีสถานะแห่ง “ความเป็นมนุษย์” ที่ไม่เท่าเทียมกัน
 
เราต้องเข้าใจก่อนว่า “ความเป็นมนุษย์ที่ไม่เท่าเทียม” ไม่ใช่ “ข้อเท็จจริง” ในธรรมชาติ แต่เป็น “ความจริง” ที่ถูกสร้างขึ้นในจารีตของสังคมไทยที่มีมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วก็ตกทอดมาถึงปัจจุบันที่เป็นสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่
 
กล่าวคือ ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับหลัก “เสรีภาพ” และ “ความเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์” นั้น สังคมไทยยังยึดถือความจริง (สมัยเก่า)ที่ว่า “ความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน” โดยชาติกำเนิดและฐานันดร
 
ซึ่งความแตกต่างทางชาติกำเนิดและฐานันดรนั้นเป็นผลแห่ง “ศีลธรรมที่แตกต่างกัน” ในความหมายที่ว่า คนที่มีชาติกำเนิดสูงและฐานันดรสูงนั้นคือคนที่บำเพ็ญบุญบารมีมามากแต่ชาติปางก่อน ฉะนั้น สมุฏฐานของการจำแนกความแตกต่างทางชนชั้นจึงมาจากการจำแนกความแตกต่างทางศีลธรรม คือการทำความดีมาไม่เท่ากันจึงทำให้สถานะความเป็นมนุษย์ไม่เท่ากัน
 
การยึดถือความจริงดังกล่าวนี้จึงทำให้เกิด “ข้อเท็จจริง” ในสังคมไทยคือการมีชนชั้น “อภิสิทธิชน” หรือที่ นปช.เรียกรวมๆว่า “อำมาตย์” และชนชั้นสามัญชนที่เรียกรวมๆว่า “ไพร่”
 
ซึ่งชนนั้นแรกอยู่ในสถานะที่ตั้งคำถาม วิพากษ์ วิจารณ์ ตรวจสอบการกระทำหรือการใช้อำนาจใดๆ อย่างตรงไปตรงมาไม่ได้เลย และเครือข่ายบริวารก็พลอยได้รับสิทธิพิเศษนั้นโดยปริยาย ส่วนชนชั้นหลังที่เป็นสามัญชน (ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางระดับสูง ระดับกลาง ระดับล่าง และชนชั้นล่าง) คือ “ไพร่” ที่ไม่อาจมีอภิสิทธิ์เช่นนั้นไม่ว่าในทางจารีตหรือทางกฎหมายก็ตาม
 
ฉะนั้น การจะตัดสินว่า “อำมาตย์-ไพร่” เป็นคำที่มีความหมายหรือไม่ วิธีที่ต้องทำอย่างตรงไปตรงมาคือ
 
1. ต้องตรวจสอบดูว่าสังคมไทยปัจจุบันยังยึดถือความจริงที่ว่า “ความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน” อยู่จริงหรือไม่?
 
2. ต้องไปดูข้อเท็จจริงว่า สังคมไทยมีระบบอภิสิทธิชนที่ตรวจสอบไม่ได้อยู่จริงหรือไม่? มีระบบอภิสิทธิชนที่พยายามผูกขาดอำนาจการคิดแทน การตัดสินใจแทนประชาชนในเรื่องการเมืองการปกครอง รวมถึงการตัดสินว่าใครเป็นคนดี คนไม่ดี การกำหนดความถูก-ผิดทางศีลธรรม ฯลฯ อยู่จริงหรือไม่?
 
ถ้าพบว่า 1 และ 2 มีอยู่จริง ก็ต้องถามต่อไปว่า 1 และ 2 สอดคล้องหรือขัดแย้งกับ “อุดมการณ์รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่” ที่ถือว่าเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์คือคุณค่าสูงสุด
 
หรือถามตรงๆว่า 1 และ 2 เป็นสาเหตุของ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่มีอยู่จริงต่อไปนี้หรือไม่?
 
1. ความเหลื่อมล้ำในการมีเสรีภาพ ฝ่ายอภิสิทธิชนและเครือข่ายสนับสนุน เช่น รัฐบาล สื่อ นักวิชาการ ชนชั้นกลางในเมืองที่ประกาศตัวปกป้องระบบอภิสิทธิชนมีเสรีภาพเหนือกว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่? (เช่น สื่อของคนส่วนใหญ่ถูกปิด และพวกเขาเหล่านั้นก็ถูกจำกัดเสรีภาพในการพูดความจริง การแสดงออกทางการเมือง ด้วย กฎหมายหมิ่นฯ พรก.ฉุกเฉิน ฯลฯ)
 
2. เสรีภาพที่สำคัญคือ “เสรีภาพที่จะเป็นมนุษย์” (ความคิดของเปาโล แฟร์) ความหมายง่ายๆ คือมนุษย์ควรมีเสรีภาพจากความโง่ จน เจ็บ เขาจึงจะสามารถพัฒนาความเป็นมนุษย์ เช่น ความสามารถในการใช้เหตุผล การเข้าใจความจริง สัมผัสความดี ความงาม และใช้ศักยภาพสร้างสรรค์สิ่งที่เขารัก หรือที่เขาเห็นว่ามีคุณค่าแก่ชีวิตและโลก สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นอภิสิทธิชน-ไพร่ เอื้อต่อเสรีภาพที่จะเป็นมนุษย์ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมหรือไม่?
 
3. ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจต่อรองในทางการเมือง เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสการศึกษา การมีงานทำ การได้รับบริการทางสาธารณสุข การได้รับการปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ฯลฯ เกี่ยวข้องกับการผูกขาดอำนาจทางการเมืองการปกครอง อำนาจทางศีลธรรม ฯลฯ ของระบบอภิสิทธิชนหรือไม่?
 
หากสามารถอธิบายได้อย่าง “แจ่มกระจ่างหมดจด” ว่า สังคมไทยปัจจุบันไม่ได้ยึดถือความจริงที่ว่า “ความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน” และไม่มีข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมไทยปัจจุบันมีระบบอภิสิทธิชนที่เป็นสาเหตุของ “ความเหลื่อมล้ำ” ต่างๆจริง จึงจะสรุปได้ว่า “อำมาตย์-ไพร่” เป็นเพียงศัพท์ที่ไร้ความหมาย!
 
แต่หากยังมีความจริงและข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ แล้วไม่สนใจ ไม่พูดถึง การปฏิรูปประเทศที่ต้องการให้เกิดประชาธิปไตยที่ประชาชนมีเสรีภาพอย่างเท่าเทียม และมีความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ เพื่อเป็นฐานของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาอื่นๆก็เป็นเพียง “ละครฉากสุดท้าย” ของระบบอภิสิทธิชนเท่านั้นเอง!
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ขอความสุขคืนกลับมา?

Posted: 19 Jun 2010 07:07 AM PDT

“เราเคยมีรอยยิ้ม ยิ้มให้กัน ยังจำได้ไหม เจอคนไทยที่ไหน ก็ยิ้มให้กัน
เราเคยมีน้ำใจ บ้านเราเหมือนเมืองในฝัน อยู่ตรงไหนสุขใจทั้งนั้น บ้านคนไทย”
<!--break-->

ผมเริ่มต้นบทความนี้ด้วยเนื้อหาของบทเพลงปลอบประโลมจิตใจ “คนไทย” ที่กระหน่ำออกอากาศในทุกสื่อภายหลังจากเหตุการณ์ “กระชับวงล้อม” ในวาระพฤษภาอำมหิตจบลง

ในขณะที่เปลวเพลิงและควันไฟที่ลุกลามไหม้ศูนย์การค้าและอาคารต่างๆ ..อาจดับมอดลงหมดสิ้นแล้วในวันนี้ แต่เปลวไฟแห่งความคับแค้นและเกลียดชังกำลังลุกลามไหม้ในใจของบางคนบางกลุ่ม อย่างที่เมื่อได้ฟังบทเพลงนี้แล้วอาจอดใจไม่ไหวที่จะต้องถ่มถุยน้ำลาย แล้วถามออกมาดัง ๆ ว่า “ขอความสุขของใครคืนกลับมา?”

วันนี้ ผมเห็นหลายๆ คนเริ่มยิ้มได้เพราะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุขอีกครั้งในเมืองใหญ่ “ของตน” โดยไม่ต้องทนทุกข์กับมาชุมนุมประท้วงของพวก “ไพร่เสื้อแดง” ที่ทำให้รถราติดขัด ทำมาค้าขายไม่ได้ ได้ความสุขคืนกลับมากันอย่างถ้วนทั่ว พร้อมกับการเริ่มแผนปฏิบัติการ “ปรองดองฝ่ายเดียว” ของรัฐบาลนี้

วันก่อน..รอยยิ้มที่ “เรา” เคยมีให้แก่กันนั้น อาจเป็นรอยยิ้มของความสุข ความซื่อ ความไร้เดียงสา รอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความเชื่อมั่นในความดีงามของเพื่อนมนุษย์

แต่วันนี้..รอยยิ้มนี้อาจไม่ใช่รอยยิ้มของ “เรา” เหมือนเดิม ดูไปมันคล้ายการแสยะยิ้มหยามเหยียดบนริมฝีปากของปีศาจที่ดูไปแล้วน่าขนลุก

บ้านเมืองเราเหมือนเมืองในฝันที่แสนสุขใจสำหรับทุกคนจริงหรือครับ...

บ้านเมืองที่สั่งให้ชาวไร่ชาวนาหยุดทำนาเพราะเขื่อนอาจไม่มีน้ำจะปล่อยให้ แต่ไม่ได้ห้ามภาคอุตสาหกรรมให้ลดกำลังการผลิตเพื่อลดการใช้น้ำ ไม่ได้บอกให้ “พวกเรา” ชาวเมืองหลวงเมืองใหญ่ลดการใช้น้ำที่แสนจะฟุ่มเฟือยลงบ้าง

บ้านเมืองที่ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสร้างโรงไฟฟ้าต้องสูญเสียที่ทำกิน สูญเสียวิถีชีวิต แม้กระทั่งอาจสูญสิ้นจิตวิญญาณไป กลับกลายเป็นผู้คนที่เห็นแก่ตัวไม่เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มัวแต่มาชุมนุมเรียกร้องอยู่นั่นไม่ยอมไปทำมาหากิน

บ้านเมืองผู้คนล้วนมีจิตสำนึกรักธรรมชาติ ตื่นเต้นกับหมีแพนด้า ตื่นตัวกับขยายถนนขึ้นเขาใหญ่ (ซึ่งยาวตั้งแปดกิโลเมตร) แต่ไม่เคยแม้แต่คิดที่จะลดการใช้กล่องโฟมหรือลดการใช้ถุงพลาสติกเพราะมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ในการช้อปปิ้ง...โอ้วววว..

บ้านเมืองที่รัฐบาลสั่งให้ทหารใช้อาวุธจริงเพื่อสลายการชุมนุม จนมีประชาชนบาดเจ็บเกือบ 2,000 คน ล้มตายเกือบร้อยชีวิต กลายเป็นปฏิบัติการขอคืนพื้นที่หรือกระชับพื้นที่ที่นุ่มนวล อ่อนโยน ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างที่สุดแล้ว และไม่ต้องมีคำขอโทษหรือแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ต่อพ่อแม่ญาติพี่น้องของผู้ที่ต้องสูญเสียไป

ถ้ายังยิ้มกันได้..ผมว่ามันคือรอยยิ้มจากใจของปีศาจที่น่าสยดสยองเสียจริง ๆ

จนไม่นานมานี้ เหมือนมีลมแห่งความขัดแย้ง คอยพัดความแห้งแล้งเข้ากลางใจ
ลมยังคงพัดพา ความสุขและความสดใส กับรอยยิ้มจากใจคนไทยไม่มีเหลือ

เราอาจเคยเห็นภาพของผู้คนในชนบทที่สดใส บรรยากาศดีน่าอยู่ ใบหน้าที่ยิ้มแย้มกับทุ่งข้าวเรือกสวนไร่นาเขียวชอุ่ม น่าประทับใจเหลือเกิน

แต่..เราเคยเห็นใบหน้าทุกข์ทนของชาวไร่ชาวนาที่ไร้ที่ทำกิน หนี้สินค่าปุ๋ยค่ายา ค่าเช่านา ท่วมตัว เพราะนายทุนไปจับจองที่ สปก. แทนซะหมด
ใบหน้าที่เต็มใบด้วยคราบน้ำตาเพราะรัฐผันน้ำเข้าไปท่วมไร่นาที่ทำกินของเขาเพื่อปกป้องคนในเมืองหลวงให้อยู่กันอย่างสุขสบายบ้างรึเปล่า?
ใบหน้าที่เต็มไปด้วยหยาดเหงื่อของกรรมกรผู้ใช้แรงงานที่ได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ โดยไร้ซึ่งสวัสดิการใด ๆ อย่างที่พึงสมควรจะได้รับอย่างเสมอกัน

สายลมไม่ได้พัดพาความขัดแย้งมาหรอกครับ แต่สายลมได้พัดพาเอาฝุ่นที่เคลือบฉาบปัญหาและความขัดแย้งที่มันดำรงอยู่แล้วออกไปต่างหาก
 
ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากความไม่เท่าเทียม ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากร       การพัฒนาของเมืองและชนบท หรือแม้กระทั่งสิทธิและเสรีภาพระหว่างชนชั้นที่มันเหลื่อมล้ำกัน มันดำรงอยู่เสมอมา และสายลมนี้เองที่ได้พัดสิ่งที่คอยบดบังและลวงหลอกตาออกไปจนทำให้เห็นภาพและทำให้ให้มันปรากฏชัดขึ้นในสังคมของเราอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แค่เพียงรอยยิ้มที่เคยมีให้ อาจไม่ช่วยได้ช่วยให้ฝ่ายที่ถูกเอาเปรียบพึงพอใจได้อีกต่อไป และยิ่งเมื่อสิทธิพื้นฐานอย่างสิทธิในการเลือกคนเข้าไปเป็นผู้แทนตนเพื่อเป็นรัฐบาลยังถูกปล้นไปทั้งจากการรัฐประหารและกลไก (หรือกลโกง) ทางการเมือง จึงทำให้อีกฝ่ายต้องทิ้งบ้านช่องออกมาเรียกร้องทวงสิทธิของพวกตนนอนบนถนนคอนกรีต  เพียงหวังจะได้รับความเห็นใจและความเข้าใจจากคนในเมืองใหญ่บ้าง

กลับกลายเป็นว่า สายลมนั้นได้พัดพาเอาความแห้งแล้งมา และพัดพาเอาความสุข             ความสดใส ไปจากกลางใจของผู้คนในเมืองใหญ่อย่างนั้นหรือครับ?

เราจึงได้เห็น สายลมแห่งความแห้งแล้งน้ำใจในเมืองหลวง ถึงขนาดที่มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายไปมากมาย ก็ยังไม่มีใครคิดเรียกร้องอะไรจากรัฐบาลนี้ให้แสดงความรับผิดชอบ อย่างดีที่สุดก็เพียงแค่บอกว่า เรามาดีกันเถอะนะ เรามาเริ่มต้นกันใหม่ เรายังปรองดองกันได้  โดยไม่ได้พยายามสักนิดที่จะทำความเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือแม้กระทั่งการร่วมกันร้องเรียกความเป็นธรรมให้แก่ชีวิตของผู้สูญเสีย
  
ความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่อย่างที่มันเคยเป็น..

 แต่..ความตายบนท้องถนน ก็ได้ถูกพัดพาหายไปกับสายลมแห้งแล้ง พร้อมบทเพลงสวดส่งวิญญาณนั่นเอง

ขอความสุข ของเราจงคืนกลับมา ขอความสุข รอยยิ้มที่เคยเหลือเฟือ
คืนน้ำใจที่แน่นหนัก คืนความรักที่จุนเจือ กลับมาเป็น เมืองไทยสงบดังเดิม

ผมได้พูดหลายครั้งแล้วว่า ในสังคมประชาธิปไตยนั้นความขัดแย้งและความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งสวยงาม เพราะนั่นจะนำไปสู่การพัฒนาที่ทุกคนทุกฝ่ายสามารถต่อรองผลประโยชน์กันได้บนพื้นฐานของความเท่าเทียม ไม่เอารัดเอาเปรียบกันจนเกินไปนัก

ไม่มีหรอกครับ สังคมที่ปราศจากความขัดแย้ง ยกเว้นเสียแต่ว่าสังคมนั้นจะไม่มีผู้คนแล้ว

ผู้คนไม่ใช่หมูหมา ที่ไม่พอใจก็จะไล่ออกจากบ้าน หรือไม่ใช่แมลงสาบที่ไม่พอใจก็เอารองเท้าเหยียบกระทืบบี้แบน  

การจัดการกับความขัดแย้ง โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองหรืออุดมการณ์ จึงต้องไม่ใช่การจัดการด้วยการใช้ความความรุนแรงเข้าปราบปรามหรือทำลายล้างผู้ที่คิดไม่เหมือนตนให้สูญสิ้นไปจากโลกนี้และเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าการใช้ความรุนแรงในการจัดการย่อมนำไปสู่ความพินาศเสียหายมากเพียงใด

แต่ผ่านมาเกือบหนึ่งเดือน ผู้ครองอำนาจรัฐก็ยังคงไว้ซึ่งอำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ายังความประสงค์ที่จะใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาดอยู่

มือถือปืนเหยียบหัวอยู่ แต่ปากจะพร่ำบอกว่าปรองดองกันเถอะ..ผมว่านั่นมันน่าตลก

ผมเชื่อว่า สถานการณ์ที่สงบลงจน “เสมือน” เป็นปกตินี้ ไม่ได้เป็นความสงบอย่างแท้จริง เพียงแต่หลายๆ ฝ่ายยังคง “เกรง” ที่จะเคลื่อนไหวภายใต้กฎหมายเผด็จการอำนาจนิยมที่สิทธิและเสรีภาพถูกลิดรอนไปจนแทบจะไม่เหลือแล้วในตอนนี้

การปกครองด้วยความ “เกรง” แบบนี้ ไม่ได้นำไปสู่ความ “กลัว” หรอกนะครับ แต่จะนำไปสู่ความ “เกลียด” ซึ่งผมคิดว่าตอนนี้มันมีมากพอแล้วในบ้านเมืองของเรา และหากยิ่งรีรอเนิ่นช้าไปจะยิ่งบ่มเพาะให้มันความเกลียดชังมันสุกงอมเกินกว่าจะเยียวยาได้
 
ความสุขและสงบที่จะขอกลับคืนนั้น จึงมีประเด็นที่อยู่ที่ว่า ใครที่ขอและขอจากใคร

คนที่ถูกเผาร้านอาคารบ้านเรือน ตอนนี้อาจได้ขอรับการเยียวยาบ้างแล้ว นั่นเป็นเรื่องที่น่ายินดีด้วย

คนเมืองหลวงอาจไม่ต้องรถติด ได้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติสุขของตน ส่งลูกเต้าเข้าโรงเรียนดีๆ ได้สะดวกปลอดภัย  มีเวลาไปเดินเล่นที่จับจ่ายสินค้าในห้างหรู ๆ ได้ความสุขคืนกลับมากันบ้างแล้ว

แต่ความเป็นธรรมและความเท่าเทียมทางสังคมที่หล่นหายไปของบรรดาผู้คนที่ทุกข์ยากทั้งหลายในแผ่นดินนี้มาร้องขอนั้น ได้คืนกลับมาบ้างหรือยัง? แล้วสิทธิเสรีภาพที่ถูกลิดรอนไป อีกนานเท่าไหร่จึงจะได้คืนกลับมาสู่ประชาชน?  

แล้ว...ชีวิตผู้คนที่สูญเสียไป..ใครจะขอคืนกลับมาให้ญาติพี่น้องพวกเขาได้บ้าง?
   

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท : "ปรองดองแฝงปองร้าย"

Posted: 19 Jun 2010 07:01 AM PDT

<!--break-->

ปรองดองต้องปรีดี ใช่กดขี่ชี้นิ้วชัง
เกรี้ยวกราดประกาศดัง ออกคำสั่งให้คืนดี

ปรองดองต้องปรีดา มือยื่นมาหมดไมตรี
หัตถาฆ่าหัตถี มือคุณนี้มีค่าไฉน

ปรองดองต้องปรองธรรม ก่อเวรกรรมคร่ำแค้นใด
กรงขังยังบ่ไข ปรองดองไปเพื่อใครกัน

ปรองดองต้องปรองใจ บาดแผลใหญ่ไยลงทัณฑ์
ห่วงภาพไทยสร้างสรรค์ ชาติคงมั่น คนสั่นคลอน

ปรองดองต้องเท่าเทียม หยุดเล่ห์เหลี่ยมเลิกเสี้ยมสอน
ใส่ร้ายป้ายข่าวร้อน เสรีรอนถูกล่วงล้ำ

ปรองดองลองตรองดู ใครคือผู้ถูกกระทำ
คิดคิดแล้วก็ขำ ทั้งเช้าค่ำพร่ำ “ปรองดอง”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ลูกเหยื่อสลายชุมนุมที่ราชปรารภพบ "นิค นอตสติทซ์" ฟังนาทีพ่อถูกยิง

Posted: 19 Jun 2010 01:24 AM PDT

ลูกสาวเหยื่อ "ในเขตสังหาร" พบนิค นอสติทซ์ ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน ผู้เห็นเหตุการณ์ยิงสลายการชุมนุมที่ราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. จนเป็นเหตุให้พ่อของเธอเสียชีวิต

<!--break-->


มนชยา พลศรีลา ลูกของชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้เสียชีวิตจากการเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53

  


นิค นอสติทซ์ เล่าเหตุการณ์วันสลายการชุมนุม ให้มนชยา พลศรีลา ลูกสาวของชาญณรงค์ พลศรีลา ผู้เสียชีวิตจากการเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 ฟัง

 

(18 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง นิค นอสติทซ์ ช่างภาพอิสระชาวเยอรมัน ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ที่ราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ยังคงตามหาผู้ชายที่เขาช่วยขึ้นมาจากสระในวันนั้นอยู่ตลอด เพราะอยากทราบว่าเขาเป็นอย่างไร ล่าสุด เมื่อนิคเข้าให้ปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พญาไท ในฐานะพยานผู้เห็นเหตุการณ์วันที่ 15 พ.ค. และได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวไทยจึงได้ทราบว่า ชายในภาพคือ นายชาญณรงค์ พลศรีลา อายุ 45 ปี ซึ่งเสียชีวิตแล้ว โดยผู้สื่อข่าวไทยจึงได้ช่วยติดต่อไปที่นางสาวมนชยา พลศรีลา ลูกสาวของนายชาญณรงค์ เพื่อติดต่อให้ทั้งสองได้พบกัน

โดยเมื่อพบกัน นิคได้เล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นก่อนจะมีการยิงว่า พ่อของเธอซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมยังพูดเล่นกับผู้สื่อข่าว-ช่างภาพบริเวณนั้นว่า พวกเขามีมือเปล่า มีแค่หนังสติ๊ก สู้กับปืนและอาวุธ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นไม่กี่นาที ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะขยับยางรถยนต์ออกไปอีก 20-50 เมตร พ่อของเธอก็ถูกยิงเป็นคนแรกที่บริเวณท้อง จากนั้น มีผู้ตะโกนขอให้หยุดยิงก่อน เพราะมีคนบาดเจ็บ แต่ทหารอาจไม่ได้ยิน หรือไม่สนใจ ก็มีการยิงตลอด โดยพ่อของเธอโดนยิงที่แขนด้วย จากนั้น เขาและผู้ชุมนุมได้วิ่งหนีไปที่ห้องน้ำหลังปั๊มน้ำมัน และข้ามกำแพงไปที่บ้านอีกหลัง เพราะทหารได้ประชิดเข้ามา โดยที่เขาเห็นผู้ชุมนุมสองคนช่วยพาพ่อของเธอออกมา และพยายามนำร่างของนายชาญณรงค์ข้ามไปด้วย อย่างไรก็ตาม สักพักก็ได้ยินเสียงตกน้ำ เมื่อหันไปดูจึงพบว่าเป็นพ่อของเธอ ซึ่งไม่แน่ใจว่าตั้งใจลงไปเองหรือไหลลงมา จากนั้น ทหารที่ตามมาทันได้บอกให้เขานำคนเจ็บขึ้นจากน้ำ แต่เขาดึงคนเดียวไม่ไหวจึงขอให้ทหารช่วย โดยที่มีทหารที่ปีนข้ามกำแพงมาได้ด่าทอนายชาญณรงค์ว่าน่าจะตายไปเสีย จากนั้น ทหารได้วิทยุเรียกแพทย์ เมื่อเปลมาแล้ว ทหารได้ใช้ปืนจี้ให้พวกเขาออกมาจากจุดนั้น นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่เห็นนายชาญณรงค์

นิคเล่าต่อว่า จากนั้นยังเป็นห่วงตลอดเวลา ไม่รู้ว่าตายหรือเป็นอย่างไร จนวานนี้ (17 มิ.ย.) จึงได้ทราบว่านายชาญณรงค์เสียชีวิตแล้ว เมื่อทราบข่าวก็บอกได้เลยว่า ไม่มีอะไรที่สบายใจ แต่เหตุการณ์นี้จะติดตาตลอดชีวิต เพราะชีวิตเอาคืนไม่ได้ ลืมไม่ได้

 

ภาพนายชาญณรงค์ ที่นิคถ่ายไว้

 

ด้านนางสาวมนชยา พลศรีลา พนักงานราชการ กองทัพอากาศ อายุ 25 ปี ลูกสาวของนายชาญณรงค์ พลศรีลา เล่าว่า ที่บ้านพยายามติดต่อพ่อตั้งแต่วันที่ 15 โดยตั้งแต่บ่ายสามโมงก็ติดต่อไม่ได้ ไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อ จนเช้าวันที่ 16 พ.ค. แม่ถือหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 17 กลับมาบ้าน โดยมีภาพข่าวมีผู้ชายสองคนหิ้วปีกพ่อ ในข่าวบอกว่าพ่อถูกยิงที่ปั๊มเชลล์ถนนราชปรารภ มีเพื่อนนำส่งโรงพยาบาล ตอนนั้นก็ยังคิดว่าพ่อยังมีชีวิตอยู่

เธอเล่าต่อว่า จากนั้น ได้ติดต่อไปที่ศูนย์นเรนทร ศูนย์เอราวัณ ซึ่งเขาบอกว่า ถ้ารับผู้บาดเจ็บมา จะส่งโรงพยาบาลเลย แต่ไม่มีข้อมูลว่ามีใครบ้าง จึงโทรเช็คโรงพยาบาลใกล้เคียง ก็ไม่เจอ ต่อมาโพสต์ในเฟซบุ๊ค รวมถึงประกาศผ่านทางโทรทัศน์และ สวพ.91 แต่ก็ไม่มีใครติดต่อมา ต่อมาวันที่ 17 พ.ค. จึงได้เปลี่ยนวิธีค้นหาเป็น "ชายไม่ทราบชื่อ" เพราะคิดว่าเอกสารของพ่ออาจจะหาย หรืออาจจะทิ้งของไว้ที่รถ โดยเมื่อไปที่โรงพยาบาลพญาไท1 เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีศพชายไม่ทราบชื่อ เสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาล เป็นผู้ชายลักษณะท้วม แต่ตำรวจมารับศพไปแล้วไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ตอนนั้นก็ยังไม่ฟันธงว่าพ่อตายแล้ว จึงตามหาตามแผนกฉุกเฉิน ก็ยังไม่เจอ

จนวันที่ 18 พ.ค. ไปที่แผนกนิติเวช โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีศพชายไม่ทราบชื่อ 2 ราย รายแรกผอม รายที่สอง ลักษณะศพอืด แทบไม่เหลือเค้าโครงเดิม เพราะไม่ได้ฉีดฟอร์เมอลีน แต่จำแผลเป็นที่อกของพ่อได้ ดูโครงหน้าและหนวดแล้ว คิดว่าน่าจะใช่พ่อ เมื่อขอดูศพจริงก็จำเสื้อพ่อได้ทันที โดยที่ศพมีแต่เสื้อกับกางเกงใน ซึ่งตรงกับภาพในคลิปยูทูปที่เธอได้ดูเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ว่ามีการถอดกางเกงนายชาญณรงค์ออก ทั้งนี้ หลังพบศพนายชาญณรงค์ ครอบครัวจึงจึงได้ทำเรื่องรับศพ นำมาสวดพระอภิธรรมหนึ่งคืน ก่อนจะทำพิธีฌาปนกิจในวันที่ 20 พ.ค.


http://www.youtube.com/watch?v=vi6-OP0fxPo

มนชยาให้ข้อมูลว่า ผลชันสูตรศพระบุว่า มีกระสุนฝังในที่หน้าท้องด้านขวา ทำให้อวัยวะด้านในฉีกขาด เป็นแผลหลายตำแหน่ง และแขนหัก แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นกระสุนชนิดใด ในส่วนของคดี เธอบอกว่า สน. พญาไท เรียกไปสอบแล้วครั้งหนึ่ง แต่เธอยังตั้งคำถามว่าจะเอาความผิดกับใครได้ ในเมื่อข้อความบอกว่าไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ

เธอเล่าว่า ที่ผ่านมา ได้พบภาพและคลิปในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับพ่อจึงอยากรู้มากว่าใครเป็นคนถ่ายพ่อ อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เธอเองรู้จากแค่คลิป รู้ถึงแค่ว่า พ่อไปนอนอยู่ตรงนั้น ถูกถอดกางเกงออก แล้วหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้เลย อยากรู้จากคนที่อยู่ในเหตุการณ์จริงๆ ว่ามันเป็นยังไง แต่ไม่รู้จักใคร จนเมื่อวานได้รับการติดต่อมา

เธอเล่าว่า พื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดสกลนคร โดยพ่อเข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ ก่อน พอเธอขึ้นชั้นประถม พ่อกับแม่ก็พามาอยู่ที่กรุงเทพฯ ย่านสายไหม โดยมีพี่สาวอีกหนึ่งคน เธอบอกว่าพ่อเป็นคนขับรถแท็กซี่ ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน ตอนเย็นพ่อจะขับรถไปส่งแม่ที่เวทีชุมนุม เพราะแม่มองว่า ตอนกลางคืนคนน้อยจึงไปอยู่ที่นั่น ส่วนพ่อก็ไปทำงานตามปกติ พอเช้าก็ไปรับแม่กลับบ้าน เป็นอย่างนี้เกือบทุกวัน โดยเริ่มออกไปบ่อยๆ ช่วงเดือนเมษายน (ก่อนเหตุการณ์ 10 เมษายน)

"ทุกคนมองแค่ว่าคนเสื้อแดงออกไปเรียกร้องประชาธิปไตย แต่คิดว่ายังไงมันต้องมีมากกว่านั้น สังคมไทยความแตกต่างทางชนชั้นมันเยอะ รวยก็รวย จนก็จน คนจนก็ยังจนอยู่ทุกวัน เขามองว่าคนจนออกมาเรียกร้องบ้างไม่ได้เหรอ" มนชยากล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ไม่เคยเห็นด้วยที่พ่อกับแม่ออกไปแบบนี้ เพราะเป็นห่วง

"เราอ่านข่าว เขาบอกว่ามีการใช้ความรุนแรง กระสุนจริง 'เขายิงปืนกันทุกวันนะแม่' ไม่อยากให้ออก แต่แม่ก็บอกว่าถ้าไม่ออกไปเรียกร้อง ใครจะมาเรียกร้องให้เรา ถ้าเราไม่สู้เอง ใครจะสู้ให้เรา" เธอเล่าและว่า หลังจากนั้น เธอเองก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะมองว่าเป็นสิทธิของพ่อและแม่ อย่างไรก็ตามยังห่วงว่า ถ้าวันหนึ่งไม่ใช่แค่นี้จะเป็นอย่างไร

"เราก็ไม่คิดหรอกว่ามันจะไม่ใช่แค่นี้จริงๆ เราไม่ได้คิดหรอกว่า จะใช้กระสุนปืนจริง" เธอบอกและว่า "พ่อมีหนังสติ๊กอันเดียว ติดหลังรถแท็กซี่แกไว้"

"คำพูดที่เจ็บปวดที่สุด 'ผู้ก่อการร้าย' คือเราไม่เข้าใจว่าประชาชนที่เขาออกมาเรียกร้องสิทธิ อาวุธคือหนังสติ๊กอันนึง โอเค คนอาจจะบอกว่า หนังสติ๊กมันฆ่าคนได้นะ ถ้าใช้ลูกแก้ว หรือหัวน็อต แต่ถามจริงเหอะ มันสู้ปืนได้ไหม"

"...ยิงเหมือนชีวิตไม่มีค่า... มันเกินไปไหม เรารับไม่ได้ แต่ถามว่าเราทำอะไรได้ เราทำอะไรไม่ได้เลย ในเมื่อเขาบอกว่าพ่อเราคือผู้ก่อการร้าย เราจะไปเรียกร้องจากใครได้ ในเมื่อคนที่ตั้งข้อหาให้พ่อของเราเป็นคนที่เราสู้อะไรไม่ได้อยู่แล้ว"

"ขนาดคนที่ก่อคดีรุนแรง ฆ่าข่มขืน ฆ่าคนตาย ยังเข้าสู่ชั้นศาล มีการพิพากษา มีศาลมาตัดสิน แต่พ่อเราไม่มีใครมาตัดสินเลย ยิงเลย
พ่อไปฆ่าใคร ข่มขืนใคร ทำอะไรผิดกฎหมายหรือ แค่ออกไปชุมนุม ... จับไปสิ จับไปก็ได้ แล้วก็ไปสู้กันในชั้นศาลก็ได้ ไม่ใช่เจอใครก็ยิงอย่างนี้"

"บางทีเราใส่เครื่องแบบ บางคนแอนตี้เรา คนขับแท็กซี่บางคนไม่ยอมให้เราขึ้นรถแท็กซี่ บางคนมองเราแปลกๆ คนทั่วไปมองภาพรวมว่าทหารใช้ความรุนแรง แต่ตัวหนูมองว่า มันไม่เกี่ยวกันนะ ทหารอากาศก็คือทหารอากาศ ทหารบกก็คือทหารบก ... ถามว่าเรารู้สึกยังไงกับเครื่องแบบที่เราสวมใส่ เราก็ยังภูมิใจในเครื่องแบบที่เราสวมใส่ มันจะเป็นแค่คนในเครื่องแบบคนนั้นมากกว่าที่เขามองคนไม่ใช่คน"

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น