โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

อำนาจอำมหิตกับข้อสรุปประเทศไทย

Posted: 27 Jun 2010 12:41 PM PDT

<!--break-->

 
 
 
ได้ข้อสรุปกันเสียทีว่าวิกฤตของประเทศวันนี้เป็นผลมาจากการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเมื่อ 19 กันยายน 2549
 
ข้อสรุปข้างต้นเป็นผลจากคำแถลงของนางเฮเลน คลาร์ค ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นดีพี) ที่กล่าวว่า“ความปั่นป่วนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาพไร้เสถียรภาพทางการเมืองต่อเนื่องมายาวนานกว่า 3 ปี”(มติชน พฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน 2553)
 
ที่สำคัญที่สุดที่ผมให้น้ำหนักกับคำพูดของนางเฮเลน คลาร์ค ซึ่งเคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีประเทศนิวซีแลนด์นี้ก็เพราะไม่เคยมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือฝ่ายคณะรัฐประหาร และที่สำคัญและน่าเชื่อถือข้อสรุปนี้ที่สุดคือไม่มีคนในพรรคประชาธิปัตย์ แม้แต่คนเดียวออกมาโต้แย้งประเด็นนี้ รวมทั้งตัวนายกฯอภิสิทธิ์เอง ก็ออกมาให้สัมภาษณ์กล้อมแกล้มๆว่า “ก็คงมีส่วนเกี่ยวข้องกัน” (มติชน 18 มิถุนายน 2553)
 
ประเด็นปฐมเหตุของมหาวิกฤตของประเทศไทยวันนี้ได้ถกเถียงกันมานานตลอดระยะเวลา 3 ปีเศษ ซึ่งฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตร และเครือข่ายของคณะรัฐประหารฝ่ายหนึ่ง กับพรรคเพื่อไทย และกลุ่ม นปช. และเครือข่ายมวลชนเสื้อแดงอีกฝ่ายหนึ่ง ถกเถียงไม่ยอมรับกัน คล้ายๆ กับประเด็นทหารฆ่าประชาชนที่ผู้คนก็เห็นกันทั่วโลกไม่เฉพาะประเทศไทยว่าทหารยิงประชาชน แต่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตร และเครือข่ายของคณะรัฐประหารก็เถียงคอเป็นเอ็นว่าทหารไม่ได้ฆ่าประชาชนตายแม้แต่คนเดียว และดูจะเสียงดังกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐ กุมสื่อ และที่สำคัญคือ อยู่ในอ้อมกอดของอำนาจอำมหิต(ขอใช้สำนวน อ.นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ ในมติชน วันที่ 14 มิถุนายน 2553 เพื่อความปลอดภัย)
 
อำนาจอำมหิต เป็นใครผมก็ไม่รู้แต่คงไม่ใช่ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหารแน่นอน เพราะได้หลุดจากอำนาจ ผบ.ทบ.ไปเป็นหัวหน้าพรรคมาตุภูมิที่มี ส.ส.อยู่ในมือแค่ 3 เสียง
 
หลังจากที่มีการสังหารประชาชนจากราชดำเนินถึงราชประสงค์ ประชาชนเสียชีวิตและสาบสูญนับ 100 คน บาดเจ็บร่วม 2 พันคน รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง กลับอยู่ได้อย่างไม่สะทกสะท้านก็ไม่รู้ว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอำนาจอำมหิตหรือไม่?
 
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์รู้อยู่แก่ใจดีว่าโลกนี้เขายอมรับการสั่งให้ทหารฆ่าประชาชนอย่างเลือดเย็นเช่นนี้ไม่ได้ แต่นายอภิสิทธิ์กลับพยายามเบี่ยงเบนทั้งในสภาและนอกสภาที่จะไม่พูดถึงเรื่องคนตาย แต่พยายามจะพูดถึงเรื่องความปรองดอง การปฏิรูปประเทศ และการแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 แทน ทั้งๆที่พรรคประชาธิปัตย์อยู่ในอำนาจมาปีกว่าแล้วไม่เคยพูดหรือแสดงท่าทีว่ามีความมุ่งหมายในสิ่งเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย
 
พอมาดูแกนนำของคณะกรรมการชุดต่างๆก็ยิ่งชัดเจนว่าล้วนแล้วแต่เป็นคนใกล้ชิดกับคณะรัฐประหาร กลุ่มพันธมิตร และพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยร่วมหัวจมท้ายกันตั้งแต่สนับสนุนการรัฐประหาร โค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อ 19 กันยายน 2549 และร่วมกันโค่นล้มรัฐบาลนายสมัคร และนายสมชาย ถึงขั้นลงทุนยึดทำเนียบรัฐบาล และยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ซึ่งโด่งดังไปทั้งโลก
 
ตลอดระยะเวลาวิกฤต 3 ปีกว่ามานี้ ผู้คนในคณะกรรมการต่างๆที่คุณอภิสิทธิ์อวดอ้างว่าเป็นกลางก็ทำตัวเป็นคนหูหนวกตาบอดโดยไม่เคยออกมาตำหนิการกระทำผิดของพวกเสื้อเหลืองที่กระทำผิดขั้นอุกฤษแม้แต่ครั้งเดียว
 
กรรมการที่แกล้งทำตัวเป็นคนหูหนวกตาบอดที่กล่าวถึง อาทิเช่น นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์,นายสมคิด เลิศไพฑูรย์,นายจรัส สุวรรณมาลา, นายเจษฏ์ โทนะวณิก เป็นต้น
 
ส่วนแกนนำคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยดูจะเป็นบอร์ดใหญ่สุดในบรรดาบอร์ดทั้งหมดที่ตาบอดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน,นายแพทย์ประเวศ วะสี และนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งถือเป็นมวยรุ่นใหญ่ก็เป็นผู้อยู่ในเครือข่ายการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 เช่นนายไพบูลย์ได้เข้ารับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีของคณะรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน ส่วนนายอานันท์ก็เป็นอดีตนายกฯในคณะรัฐประหารของ รสช.ที่มีส่วนในการฆ่าประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 แม้นายอานันท์กลับมาเป็นนายกฯอีกรอบหนึ่ง หลังเกิดเหตุการณ์สังหารประชาชนแล้วนายอานันท์ก็ไม่มีผลงานที่จะกล่าวอ้างได้ถึงการให้ความเป็นธรรมแค่ประชาชนที่เสียชีวิตจากการเรียกร้องหาประชาธิปไตยด้วย 2 มือเปล่าเลย ส่วน นพ.ประเวส วะสี แม้จะไม่เคยดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีของคณะรัฐประหาร แต่บทบาทคุณหมอท่านนี้ก็ไม่เคยแสดงท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการรัฐประหาร และการสังหารประชาชนทั้งในอดีตและในปัจจุบันเลย ดูเหมือนว่าทำตัวเป็นคนความจำเสื่อมโดยเฉพาะการทำลายประชาธิปไตยและการสังหารประชาชน
 
ที่ร้ายไปกว่านั้นนายอานันท์และนพ.ประเวศได้กล่าวอ้างอย่างเต็มปากเต็มคำว่าท่านได้รับเลือกมาจากภาคประชาชน
 
ผมเป็นเด็กกว่าท่านทั้งสองนี้มาก และมิกล้าที่จะเอาคุณธรรมในตัวเองไปเทียบกับท่านได้ แต่ผมอายแทนท่านจริงๆ ที่ท่านกล่าวอ้างเป็นตัวแทนประชาชนอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจกับภูมิหลังของท่านที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย และไม่เคยตำหนิผู้สั่งการสังหารประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย
 
เมื่อข้อสรุปของนางเฮเลน คลาร์ค ผอ.โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติที่ว่าวิกฤตของไทยวันนี้มาจากการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 จนมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศไทย ก็แสดงว่าบุคคลที่กล่าวถึงข้างต้นทั้งหมดที่เป็นแกนนำองค์กรสำคัญที่นายอภิสิทธิ์หวังว่าจะมาช่วยวิกฤตของชาติเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับผู้ที่สร้างวิกฤตของชาติรวมทั้งตัวคุณอภิสิทธิ์ด้วยนั่นเอง
 
ผมจะสรุปว่านายอภิสิทธิ์ในฐานะผู้แต่งตั้งและบุคคลที่กล่าวถึงข้างต้นและพวกในฐานะผู้ถูกแต่งตั้ง เป็นผู้ใกล้ชิดกับพลเอกสนธิ และในวันนี้ยังมีบทบาททางการเมืองก็เพราะพลเอกสนธิก็น่าจะเป็นข้อสรุปที่ผิดอย่างยิ่ง
 
ถ้าเช่นนั้นบุคคลเหล่านี้เข้ามามีบทบาททางการเมืองได้เพราะใคร? จะอ้างชื่อนายอภิสิทธิ์ก็เป็นไปไม่ได้เพราะคุณอานันท์ก็อ้างหลายครั้งว่าผมไม่ใช่ตัวแทนรัฐบาล
 
ถ้าเช่นนั้นพวกเขามาจากอำนาจส่วนไหนกัน? เป็นเรื่องชวนคิดจริงๆ สำหรับสังคมไทย
 
จะโยนให้ว่ามาจากอ้อมกอดของอำนาจอำมหิตก็เกรงใจอาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ เดี๋ยวจะหาว่าอ้างท่านเรื่อย
 
รู้แต่ก็พูดกันไม่สะดวกครับ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การชุมนุมของเสื้อแดงไม่ใช่ผลกระทบเดียวต่อการท่องเที่ยว

Posted: 27 Jun 2010 12:18 PM PDT

<!--break-->

 
 
 
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน นับเป็นเวลา 1 เดือนหลังจากการสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ที่ย่านไนท์พลาซ่า เชียงใหม่ ยังคงเต็มเงียบเหงา ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเคยอ้างว่านักท่องเที่ยวไม่เข้ามาเพราะการชุมนุมของคนเสื้อแดง เมื่อการชุมนุมสิ้นลงไปแล้ว นักท่องเที่ยวควรกลับมาเหมือนเดิม
 
เมื่อสอบถามผู้ค้าที่ว่านักท่องเที่ยวน้อยตั้งแต่เมื่อไร พวกเขาบอกว่า ตั้งแต่เสื้อแดงชุมนุม เมื่อเดือนมีนาคม ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภูเก็ตบอกว่าอัตราเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 30 เท่านั้น
 
จากการเปิดเผยนายบัณฑิต นิจถาวร ของธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวว่า นักเที่ยวช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ลดเหลือ 1,500 คนต่อวัน เดือนมิถุนายน มีจำนวน 2,500 คนต่อวัน หากคำนวณจากนักท่องเที่ยวปีละ 14.5 ล้านคน จำนวนเฉลี่ยประมาณ 40,000 คนต่อวัน พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน [1]
 
ข้อมูลนี้จึงชี้ว่า การชุมนุมของเสื้อแดงไม่ได้เป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากประกาศนี้แสดงถึงความไม่สงบที่เกิดขึ้นจนไม่สามารถใช้กลไกรักษาความสงบเรียบร้อยปกติได้ ทำให้สถานทูตต่างออกให้คำแนะนำหลีกเลี่ยงการมาประเทศอย่างหลีกเลี่ยง ทั้งที่สถานการณ์ตั้งแต่เกิดการชุมนุมไม่มีความจำเป็นต่อการประกาศ จึงเป็นเหตุผลที่นายบัณฑิต ต้องออกมาขอให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
 
คำถามที่มีอยู่คือ ทำไมการชุมนุมจึงมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ทั้งที่การชุมนุมเป็นเรื่องปกติในประเทศประชาธิปไตย แต่อะไรจึงทำให้การชุมนุมในประเทศไทยเป็นเรื่องน่ากลัว
 
จากข้อย้อนหลังของอัลจาซีเราะ ที่รายงานสถานการณ์ท่องเที่ยวไทยในเดือนตุลาคม 2552 กล่าวว่า รอบๆ พระบรมมหาราชวัง หนึ่งในสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว รถตุ๊กตุ๊กที่มีชื่อเสียงจอดว่าง จินตนา ผู้นำเที่ยวทางเรือบอกว่า “ปีนี้ (พ.ศ.2552) แย่มาก นี่เป็นความแย่ที่สุดของความแย่ ตามปกติฉันมีนักท่องเที่ยวมากมาย จำนวนมากจนฉันไม่มีเวลากินข้าว” ความตกต่ำนี้มีต้นทุน 1.4 แสนล้านบาท
 
คนจำนวนมากตำหนิความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 4.8 แสนล้านบาทร้อนรน ความยุ่งยากทางการเมืองมองเห็นได้ เสื้อแดง ผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ จัดการชุมนุมภายนอกสถานที่ท่องเที่ยวมีชื่อเสียงเสมอ ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากต้องระวัง การปิดสนามบินกรุงเทพฯ เมื่อปีที่แล้วของเสื้อเหลือง ผู้ต่อต้านทักษิณ ยังคงอยู่ในใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ [2]
 
ในการยึดสนามบินครั้งนั้น ผู้ติดค้างรายหนึ่งคือ เจมี่ พีค๊อก หัวหน้าทีมรับบี้อังกฤษที่สื่ออังกฤษทุกช่องทางพาดหัวข่าว เดอะการ์เดียน รายงานว่า พีค๊อก มีความทุกข์ใจรุนแรงจากการแข่งขันชิงแชมป์โลกรับบี้ของทีมอังกฤษด้วยวิกฤติส่วนบุคคลที่ภรรยาครรก์แก่กับลูกวัย 4 ปีและมารดาของเธอที่ติดค้างในกรุงเทพฯ เฟย์ พีค๊อก กำลังบินกลับอังกฤษหลังจากเดินทางไปให้กำลังใจ พีค๊อก หัวหน้าทีมอังกฤษ ที่การแข่งขันชิงแชมป์โลก เธอและครอบครัวกำลังรอต่อเครื่องอยู่นั้น สนามบินนานาชาติของเมืองหลวงกรุงเทพฯ ถูกปิดลงโดยผู้ประท้วง คณะจัดการสามฝ่ายพยายามหาที่สะดวกสบายในกรุงเทพฯ แต่ พีค๊อก กังวลในการเห็นครอบครัวของเขาและชาวอังกฤษอื่นติดกับดักในกรุงเทพฯ ที่ต้องทำให้กลับบ้านเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
 
“พวกเขาถูกจับเป็นตัวประกันมานานสามวัน” พีค๊อก กล่าวจากบ้านของเขาในลีดส์ “ภรรยาของผมจำเป็นต้องกลับอังกฤษเพื่อฉีดยาทันที ซึ่งพลาดนัดหมายเมื่อวานนี้ในอังกฤษไปแล้ว ผู้ประท้วงเหล่านี้กำลังล้อเล่นกับตัวเอง ถ้าพวกเขารู้สึกว่าการประท้วงนี้สันติและไม่มีอันตราย ครอบครัวของผมเกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองของไทย? ผู้ประท้วงเหล่านี้จับประชาชนผู้บริสุทธิ์หลายหมื่นคนเป็นตัวประกัน ผมกังวลกับความตึงเคียดนี้ที่สามารถนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด เพียงแต่เราจัดการรับการรักษา IVF ครั้งที่สอง ภรรยาของเขาต้องคลอดลูกในกรุงเทพฯหรือ?” [3]
 
จากรายงานอัลจาซีเราะบอกว่า การชุมนุมไม่ได้เป็นปัญหา แต่ปัญหามาจากการปิดสนามบิน ซึ่งได้สร้างภาพลักษณ์อันเลวร้าย พร้อมกับการไม่มีการดำเนินคดีต่อการกระทำนี้ จึงยากที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถรักษาสถานการณ์ที่อำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวได้
 
เหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่ราชดำเนินและราชประสงค์สร้างความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายหนึ่งในภูเก็ตบอกว่า ข่าวการสลายการชุมนุมที่เผยแพร่ออกไปทั่วโลก เป็นการล้อมปราบด้วยกำลังทหารติดอาวุธสงครามนั้น เป็นภาพลบอย่างยิ่ง ทำให้ความรู้สึกต่อความปลอดภัยน้อยลง ความรู้สึกต่อรัฐไทยเลวร้าย เพราะการชุมนุมเป็นสิทธิปกติของประชาชนในประเทศตะวันตก การใช้ความรุนแรงจึงไม่อาจยอมรับได้
 
ผู้ประกอบการด้านนี้อีกรายเห็นว่า การยิงคนกลางเมืองที่ราชประสงค์นั้น นักท่องเที่ยวต่างชาติเห็นว่าเป็นการกระทำของพวกมาเฟีย เรื่องนี้ย่อมทำให้พวกเขาไม่มีมั่นใจต่อความปลอดภัยเพราะกำลังอยู่ประเทศที่ไม่มีกฎหมาย ผู้ประกาบการรายนี้เชื่อว่าการลบภาพเลวร้ายคงไม่ง่าย เขาไม่มั่นใจการท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะสถานที่ท่องเที่ยวในโลกก็เหมือนกัน ความต่างที่อยู่ความรู้สึกสะดวกสบายและปลอดภัย ชายหาดในมาเลย์เซียและอินโดนีเซียมีมากมายเพียงแต่ไม่เป็นที่นิยม เขาเห็นว่า การท่องเที่ยวไทยจะกลับมาได้ต้องกลับหาจุดเริ่มต้นในอดีตคือ เซ็กทัวร์และสวรรค์ยาเสพติด จึงจะมีโอกาสฟื้นตัวในระยะยาว
 
การปิดสนามบิน การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงกฎหมายความมั่นคงล้วนส่งผลต่อการท่องเที่ยว ประกอบกับการใช้กำลังทหารที่ราชประสงค์เป็นอีกผลกระทบอันเลวร้ายต่อการท่องเที่ยวมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรโยนความผิดให้กับการชุมนุมของเสื้อแดง อย่างไรก็ตาม การเยียวยาอุตสาหกรรมนี้ดูเหมือนว่าทำได้ยากยิ่งในระยะสั้น อนาคตของการท่องเที่ยวจึงดูเหมือนว่าห่างไกลจากการฟื้นตัว
           
 
 
อ้างอิง
  1. มติชนออนไลน์, ธปท.ส่งซิกท่องเที่ยวฟื้นเร็วเกินคาด "ถนนข้าวสาร"ฝรั่งเริ่มคึกคัก จี้เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินรับทัวร์นอก, 25 มิถุนายน 2553
  2. Al Jazeera, Focus 2009: Thai tourism hit by instability, 25 October 2009
  3. Andy Wilson, The Guardian UK, Peacock's pregnant wife trapped by Bangkok airport demonstrators, 29 November 2008
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ บก.ลายจุด: จิตวิญญาณผู้ก่อการ (ร้าย?) ทางสังคม

Posted: 27 Jun 2010 11:52 AM PDT

<!--break-->

 
 

 

 

เป็นยุคที่ความดีเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เป็นยุคที่ความดีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ
เมื่อไรก็ตามที่ความดีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกระทำกับอีกฝ่าย
ไอ้ธรรมาธิปไตยส้นตีน คำพวกนี้น่ารังเกียจ คุณเป็นพวกเผด็จการความดี หยาบกว่านั้นคือคุณเป็นความชั่ว
คุณไม่ได้เชื่อเรื่องความดี แล้วคุณพูดความดีได้ยังไง คุณพูดปรองดองได้ยังไง มันไม่จริง
อ้างคำพระ น่าสะอิดสะเอียน คุณจะอ้างทำไม ในเมื่อมันไม่จริงอย่างที่คุณเชื่อ แล้วคุณละเว้นด้วย
 
ในแวดวงคนทำงานเพื่อสังคม น้อยคนที่จะไม่รู้จัก “หนูหริ่ง” สมบัติ บุญงามอนงค์ หลายคนรู้จักเขาในนาม บก.ลายจุด ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานมูลนิธิกระจกเงา และอโชก้าเฟลโลว์หรือนักประกอบการทางสังคมดีเด่นปี ๒๕๔๓
หลังจากที่คร่ำหวอดในแวดวงคนทำงานเพื่อสังคมมากว่ายี่สิบปี หนูหริ่งเลือกที่จะเดินเข้าสู่เส้นทางสายการเมือง อย่างไม่สนใจคำครหาที่ว่า “หนูหริ่งเปลี่ยนไป” โดยเข้าร่วมต่อสู้กับแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) โดยที่เขาเป็นแกนนำรุ่นที่ ๒ ภายหลังที่แกนนำ นปก.รุ่นแรกถูกคุมขัง จากนั้น นปก.ก็พัฒนากลายมาเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งหนูหริ่งก็ยังคงเป็นกำลังสำคัญในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงมาจนถึงปัจจุบัน
จากโลกอุดมคติของงานเพื่อสังคมมาสู่โลกของการต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง ที่ไม่ได้หอมหวนชวนโรแมนติก เช่นเคยที่หนูหริ่งเลือกที่จะเดินเข้าปะทะกับความขัดแย้ง เพราะสำหรับเขาแล้ว นั่นดูจะเป็นสถานที่ที่การปลดปล่อยทางจิตวิญญาณสามารถเกิดขึ้นได้อย่างทรงพลังที่สุด
การพูดคุยกับหนูหริ่งในครั้งนี้มีขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๓ และในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๓ เพียงหนึ่งวันก่อนที่บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะถูกนำออกเผยแพร่ หนูหริ่งได้ถูกตำรวจสน.ลุมพินี เข้าจับกุมตัว ข้อหาฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน ขณะที่เขากำลังเตรียมงาน “วันอาทิตย์สีแดง” บริเวณสี่แยกราชประสงค์
 
วิจักขณ์: พี่รู้สึกมั๊ยว่า ในสังคมไทยตอนนี้ช่องว่างระหว่างศาสนากับชีวิตคนมันห่างกันมาก
สมบัติ: อือ ใช่ เพราะศาสนาชอบพาไปหลีก...หลีกเร้นออกจากปัญหาของมนุษย์ไง มันก็เลยหลุด ใช้เทคนิคการหลุดออกไปทีละคน ทีละคน ใช่มะ เหมือนกับว่าพอคนจะเข้าสู่ศาสนาได้ ก็ต่อเมื่อมันทุกข์จนแบบหมดสภาพ จนต้องเลือกที่จะหลีกหนีออกจากสังคมไป ก็มักจะเป็นไปในทางนั้น แต่ว่ามันก็เป็นแค่การพ้นทุกข์ในระดับปัจเจก
วิจักขณ์: หรือแม้แต่กระทั่งท่าทีของศาสนาเพื่อสังคม เช่น ไปช่วย ไปสอน ไปดึงเค้าให้ออกมาจากความทุกข์ใจที่กำลังเจออยู่ ดูเหมือนจะเกี่ยวกับสังคม แต่ผมว่ามันก็ยังเป็นมิติแบบปัจเจกนิยมอยู่ ออกแนวสังคมสงเคราะห์มากกว่า แทนที่จะลงไปทำความเข้าใจความทุกข์ในมิติที่ลึกกว่านั้น
สมบัติ: อย่างงี้ ต้องไปอยู่ในคุกซักพัก
วิจักขณ์: (ยิ้ม)
สมบัติ: ชีวิตของคนในนั้น มันจริงและมันก็ซับซ้อนมาก ทำไมคนมันถึงมีวิญญาณแบบนั้น ความทุกข์ที่อยู่ตรงนั้นจะทำให้มุมมองเราจะเปลี่ยนเลยล่ะ มันจริงมาก
ริน (เพื่อนร่วมสนทนา): มันไม่น่ากลัวเหรอพี่
สมบัติ: ความน่ากลัวมันไม่ได้อยู่ตอนที่อยู่ในคุก ความน่ากลัวของคุกเนี่ย มันน่ากลัวตรงที่เราไม่สามารถเอาตัวเองออกจากมันได้ แต่ว่าลำพังแค่ในคุกเองไม่น่ากลัว อย่างคราวที่แล้วผมเข้าไป ผมไปในภาวะที่สามารถจะออกเมื่อไหร่ก็ได้ เพียงแต่ผมไม่ประกันตัว อยากจะเข้าไปดูว่าเป็นยังไง ก็...มีแรงกดดันพอสมควรนะ แต่มันก็ไม่ถึงขนาด...คือผมไม่ได้อยู่ในสถานะเดียวกับพวกนักโทษคนอื่น ยังไงผมก็สามารถจะกำหนดตัวเองได้ว่าจะออกเมื่อไหร่ ในคุกเนี่ย คนที่ดิ้นรนจะออกจะทุกข์มาก ยิ่งดิ้นรนจะออกเท่าไหร่ ก็ยิ่งทุกข์มาก แต่ใครที่ยอมรับได้ และปรับตัวได้กับตรงนั้น ...ก็ทุกข์เหมือนกัน เพราะยังโดนกดอยู่ แต่ก็ไม่ทุกข์เท่าพวกที่ดิ้นรน 
เพราะฉะนั้น ลองหาเรื่องติดคุกดูสิ แล้วหาทางออกมา (หัวเราะ)
วิจักขณ์: (หัวเราะ)
สมบัติ: ดีกว่าพวกไปดูงาน ตอนที่นักศึกษามาดูงานนะ โคตรตลกเลย จัดฉากทุกอย่าง ไม่มีอะไรจริง ไม่มีอะไรเลย คนละเรื่อง
วิจักขณ์: เคยได้ยินเรื่องนี้จากเพื่อนที่เข้าไปทำงานในคุกเหมือนกัน แต่ถึงจะลงไปในบทบาทผู้รับฟัง ผู้เยียวยา สอนภาวนา ทำอบรมให้คนในคุกเนี่ย มันก็ไม่เหมือนกัน คือเราก็ได้เรียนรู้จริง อะไรจริง แต่เราก็ยังอยู่ในโลกของเราอยู่ดี มันจินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าเราไปอยู่ในคุกจริงๆ ธรรมะที่เราเรียนๆมามันจะยังใช้อะไรได้บ้าง ถ้าจิตไม่แข็งจริง มันก็หลุดเอาได้ง่ายๆ
สมบัติ: รั่วใช่มั๊ย  มี [วิจักขณ์: ใช่ ใช่]  พวกรั่ว มี 
แต่ยังไงมันก็ต้องอยู่ให้ได้ แต่ที่มันจะเกิดขึ้นก็คือ ชีวิตมันจะกร้าน มันจะตายด้าน มันจะแห้ง คุกมันจะดูดความชุ่มชื้น ความมีชีวิตชีวาของเราไป ก็ไม่ถึงกับไม่มีความอารีอะไรกันเลยนะ แต่บางสิ่งบางอย่างมันจะหายไป
ภาวะตรงนั้นมันเป็นภาวะที่ซับซ้อนมาก เราจะเรียนรู้จิตวิญญาณของเราในอีกมิติหนึ่ง มิติทางศาสนาก็ว่ากันไปนะ   แต่อีกมิติหนึ่งก็คือ ความทุกข์มันกดคุณจน... มันจะรีดไอ้ความดิบข้างในคุณออกมา อย่างเช่น วันที่ผมโดนย้ายห้องขัง จากห้องรวมไปห้องแยก คือเราอยู่ได้สองสามวันแล้วก็จะต้องถูกแยกห้อง ห้องแรกนี่ก็ใหญ่ๆดูแลดีหน่อย พอถูกแยกไป อยู่กันประมาณ ๖๐ คน แทบพลิกตัวไม่ได้ มั่นแน่นมาก คนป่วยไอ ไม่สบาย พัดลมเป่า หัวหน้าห้องที่เป็นแบบอาชญากรอะไรงี้ พัดลมเป่า ก็เสนอขอให้ปิดพัดลมบางตัว เพื่อนอีกคนก็เอาผ้าห่มไปให้ ไอ้หัวหน้าก็ตะโกนบอกว่าไม่ต้อง ให้มันตายไปซะ ไอ้คนป่วยคนนั้นเป็นคนลาว ไม่ค่อยพูด ถูกจับเพราะเป็นคนเร่รอน มันเข้าไปนอนในจุฬาฯ ตรงระเบียงชั้นหนึ่ง ก็ถูกยามจับ พร้อมข้อหาพยายามลักทรัพย์ ในคุกเจ้าหน้าที่ไม่ใช่เป็นใครที่มาคอยดูแลจิตใจหรอก เป็นยังไงบ้าง อะไรแบบนี้ไม่มีหรอก ไม่มีซักแอะ บางคนอยู่ๆไปก็รั่ว วันๆเอาแต่ร้องไห้ไม่ทำอะไร ว่างก็ร้องไห้ ว่างก็ร้องไห้ มีสารพัดเลย อีกคนก็คนแก่เป็นอัลไซเมอร์ ถูกจับเพราะว่าไปขโมยรถ จริงๆที่บ้านก็มีฐานะนะ แต่อยู่ๆก็ไปเจอรถคันนึง แล้วไปขับ แล้วไม่รู้จะเอาไปคืนที่ไหน ที่มูลนิธิกระจกเงา ผมก็ทำเรื่องอัลไซเมอร์นะ ผมเข้าใจเรื่องแบบนี้เลย อ้าวแล้วไอ้ขบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทางการแพทย์ที่จะมายืนยันล่ะไปไหน นี่เค้าทำอะไรไม่ได้เลย สภาพของเค้าเหมือนคนจะตายแล้ว พูดจาไม่รู้เรื่อง เหมือนคนที่เดินข้างถนนแบบนี้แหละ นึกดูสิ มีคนแบบนี้เข้าไปอยู่ 
คุกเป็นที่ที่ว่า ถ้าจะทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาทางสังคม ลงไปที่นี่เลย ศึกษากันให้ลึก แล้วโยงปัญหาพวกนี้ขึ้นมา มันจะโยงขึ้นไปข้างบนหมดเลย ไอ้ปัญหาสังคมไทยที่เราเห็นทำๆกัน แตะๆกัน มันทำไปในเชิงป้องกัน สร้างคนดีอะไรกัน มันก็ส่วนนึงนะ แต่ถ้าจะไปแก้กันจริงๆ ต้องลงไปที่นี่เลย มันเป็นท่อระบายน้ำ ทุกอย่างมันจะไปรวมกันที่นั่น แล้วคุณก็สังเคราะห์ ไล่ขึ้นมา เหมือนโครงการแยกขยะน่ะ คุณต้องศึกษาก่อนว่าในขยะมันมีอะไรบ้าง มันเป็นปลายท่อของระบบระบายน้ำ คุณจะรู้เลยว่าอะไรถูกทิ้งลงมาบ้าง
วิจักขณ์: ในแวดวงจิตจิต น้อยคนที่จะสนใจมองไปยังคนเหล่านั้น
สมบัติ: ใช่ พวกจิตนิยมก็มักจะไปสนใจที่เรื่องภายในของบุคคลว่าทำไมเค้าถึงเป็นแบบนั้น แต่ในสายสังคมมันต้องการกระบวนการการจัดการทางสังคม ไม่ใช่แก้ปัญหาทางจิตใจได้แค่นั้นแล้วจบ ความยากจนมันจะไม่จบลงง่ายๆตรงนั้น คนที่ไปอยู่ในคุกไม่ได้เป็นคนเลวในแง่ของจิตใจทั้งหมด แต่เค้าขาดโอกาส ขาดระบบการช่วยเหลือ การพัฒนามันต้องการกลไกทางสังคม คุณแก้ไม่ได้โดยการนั่งสมาธิ เยียวยา หรือทำจิตใจให้บริสุทธิ์ แค่นั้นมันแก้ไม่ได้หรอก (หัวเราะ)
วิจักขณ์: ในสถานการณ์แบบนั้นมันชัด เพราะเป็นภาวะที่คนเราถูกกด ถูกต้อนจนมุม ภาวะบีบคั้นได้รีดเอาจิตวิญญาณทั้งหมด ทุกสิ่งที่แอบซุกไว้ใต้พรม
สมบัติ:  มันจะปรากฏทั้งหมด มันจะเอาตัวตนของคุณข้างในออกมา ทุกอย่าง ทั้งความดิบ หรือแม้แต่สติปัญญา มันจะบีบเอาทุกสิ่งทุกอย่างออกมาหมด ทุกอย่างที่มี ที่คุณเก็บซ่อนมันไว้
วิจักขณ์: ที่พี่ชอบเอาตัวเองไปลองตรงนั้นตรงนี้ ลงไปปะทะกับปัญหาทางสังคม พี่หลงเสน่ห์ภาวะบีบคั้นตรงนั้นด้วยรึเปล่า
สมบัติ: เป็นไปได้ ตอนแรกไม่เป็น แต่พอใช้ชีวิตไปแล้วมันไปปะทะกับความทุกข์จำนวนมาก ระดับนึงนะ ไม่ถึงกับว่าหนักมากนะ พอถึงระดับนึงเนี่ย มันหลงเสน่ห์ความจริงตรงนั้น เวลาเผชิญความทุกข์ ผมไม่มีกระบวนการมาก ผมก็ซึมซับเข้ามา รับมาเลย พอเห็นปัญหาปุ๊บ ก็รับมันเข้ามา ดูดรับเลย พอรับเข้ามาแล้วก็ใคร่ครวญขบคิด ดูว่าเราจะตอบโต้กับปัญหานั้นยังไง
อย่างคุณจะเห็นว่า งานของกระจกเงาเนี่ย มาจากสภาวะแบบนี้ทั้งนั้น คือเราไม่สนใจเลยว่ามันเป็นเรื่องเหี้ยอะไร ขอให้มันเป็นปัญหา ถึงขนาดที่เราประกาศปรัชญาว่า “เราทำทุกอย่างที่เราอยากทำ และเราทำได้” เพราะฉะนั้นไม่ต้องถามว่ากระจกเงาทำอะไร เพราะเป็นเรื่องที่อธิบายยากมาก (หัวเราะ) หนึ่งเราทำทุกอย่างที่เราอยากทำ และเราทำได้ คือ ถ้าคุณอยาก ก็ในเมื่อคุณมีแรงบันดาลใจ เราก็จะส่งเสริมให้คุณได้ทำ ซึ่งก็ต้องทำได้ด้วยนะ ถ้าเสือกทำไม่ได้ก็ต้องใจเย็นนิดนึง เพราะว่ามันต้อง realistic ด้วย อยากทำนี่มันเป็นเรื่องอัตวิสัยใช่มั๊ย แต่การทำได้นี่มันจะต้องตั้งอยู่พื้นฐานของความเป็นจริง คุณจึงต้องคิดมากกว่าการอยากทำ เอ็นจีโอส่วนใหญ่มักจะมาจากการอยากทำ เอ็นจีโอกับพวกศิลปินนี่ใกล้กันมาก ผมเคยทำละครมาก่อน ผมจึงเข้าใจพวกเพื่อนที่เป็นศิลปิน เค้าจะคิดใหญ่ จะอะไรต่ออะไร เค้าไม่ได้คิดผิดนะ แต่เค้าขาดวิธีการบริหารจัดการความรู้ นี่คือสิ่งที่ขาดไปของพวกactivist คือมันใช้ใจแต่ไม่ค่อยมีความรู้ในการจัดการ หรือมีความรู้ในการจัดการ พอทำไประดับนึงปุ๊บ ก็จะทำเล็ก แล้วก็จะไปเกาะกับวาทกรรมเรื่อง “small is beautiful” พอไปเกาะมันมาก ก็เป็นปัญหา เพราะมันจะกลายเป็นกำแพง กลายเป็นว่าคุณบอก small is beautiful ก็เพราะว่า ที่คุณต้องเล็กเนี่ย เพราะคุณใหญ่กว่านี้ไม่ได้ใช่มั๊ย คุณไม่สามารถสร้าง impact กว่านี้ได้ใช่มั๊ย คุณเลยกำหนดตัวเอง เพื่อป้องกันอะไร? เพื่อป้องกันความเจ็บปวด เพราะคุณกลัวเจ็บ คุณเลยไปไกลกว่านั้นไม่ได้ ทั้งๆที่คุณมองเห็นปัญหาใหญ่กว่านั้นเยอะ แต่คุณก็เลือกที่จะลดลิมิตของตัวเองลงมา เพื่อลดความเจ็บปวด แล้วคุณก็สร้างความสุข มันก็กลับไปสนองตัวคุณอีก พอคุณบล็อกว่าคุณทำแค่นี้ เพื่อสนองสิ่งที่คุณต้องการได้แล้ว คุณก็บอกตัวเองว่าคุณทำได้แล้ว อย่างน้อยที่สุดชั้นก็ได้ทำแล้ว และชั้นก็ทำได้แล้ว
วิจักขณ์: อะไรที่ทำให้พี่หลงใหลในการเข้าปะทะกับปัญหา
สมบัติ: เรื่องจิตวิญญาณสำหรับผม มันไม่ใช่เพื่อการหลีกเร้นออกจากสังคม ผมยังมีแรง แม้ผมจะอยู่ในวัย ๔๐ แต่ผมคิดว่าผมยังมีพลังความเป็นหนุ่มสาวอยู่ ผมคิดว่าในวัยนี้ ผมต้องเป็น “ผู้กระทำการ” หรือผู้ขับเคลื่อนต่อสังคม  ในขณะเดียวกันก็อาจมีภารกิจในแง่ปัจเจก ที่มันจะต้องไปจัดการเรื่องจิตวิญญาณภายใน แต่การดูแลจิตวิญญาณภายใน ก็มีสภาวะที่เป็นไปได้อยู่หลายสภาวะ สภาวะหนึ่งก็อาจจะเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นในขณะที่เราเข้าสู่แนวปะทะ คือเข้าไปอยู่ในปัญหา แล้วให้ปัญหามันสอนเรา แล้วเราก็ได้ดูตัวเราเอง อย่างในสถานการณ์ช่วงนี้ ผมก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองเยอะนะ ใช่มะ ผมก็ต้องถามตัวเอง คนที่ต้องถามมากและตอบมาก ก็คือต้องถามตัวเองและตอบตัวเองให้ได้ ไอ้สังคมจะแคร์ไม่แคร์ผมเนี่ยไม่สำคัญ เนื่องจากผมใช้ชีวิตสายนี้มายี่สิบกว่าปี ดังนั้นผมได้ตอบคำถามสังคมไปเยอะมาก แล้วไม่ว่าจะยังไง คุณจะเห็นผมเป็นคนแบบไหน ผมไม่ค่อยแคร์ ไม่ใช่ว่าจะไม่แคร์เลยทีเดียว แต่คนที่แคร์ที่สุดคือ ตัวผมเอง เพราะผมต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า เมื่อวันนึงในอนาคต เรื่องราวเหล่านี้มันผ่านไป ผมต้องตอบตัวเอง ณ วันนั้นให้ได้ ว่าเมื่อมองย้อนกลับมาวันนี้ ผมทำอะไร และผมจะเคารพตัวเองได้มั๊ย
วิจักขณ์: คือมองย้อนกลับมาแล้ว ไม่รู้สึกเสียดาย หรือเสียใจกับสิ่งที่ตัวเองทำ
สมบัติ: ถูก ถูก การก้าวเดินมันเป็นเรื่องของการเลือก และความรับผิดชอบใช่มั๊ย เมื่อเราตัดสินใจเลือก เราเป็นผู้เลือกนะ เลือก และผมเป็นผู้กระทำ ผมเป็นคนเขียนบทละคร ผมมีปรัชญาในเรื่องละครกับชีวิตอยู่ว่า ในการเขียนบทละครชีวิต เราเขียนบทได้ครึ่งหนึ่งของละครเรื่องนี้ ผมจะไม่ยอมให้ชีวิตผมเดินไปตามใครไม่รู้มาเขียนบทละครให้ผมเดิน ผมไม่ยอม ผมจะต้องเขียนบทละครนี้อย่างน้อยที่สุดครึ่งเรื่อง นี่เป็นบทละครของผมนะ ซึ่งพอจริงๆเรื่องของผมมันก็จะมีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่อย่างน้อย ครึ่งนึงผมต้องเป็นคนกำหนด วันนึงในอนาคตผมจะต้องย้อนกลับมาวันนี้ให้ได้ว่า ผมทำสิ่งที่ผมเลือกแล้ว ส่วนผลกระทบทั้งหลายที่มีคนกังวล มันเป็นเรื่องเฉพาะหน้านิดหน่อย เอาจริงๆแล้วมันไม่ตายหรอก ถ้าตายนั่นก็อีกเรื่องนึงนะ คือ เราก็รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ความยากลำบาก การใช้ชีวิตแปลกๆ หรือชีวิตที่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา แต่ผมเคยเหวี่ยงแล้วไง ชีวิตผมก็เหวี่ยงมาจนไม่รู้จะเหวี่ยงยังไงแล้ว
วิจักขณ์: ถึงแม้มันจะเหวี่ยง พี่ก็ยังพอใจที่ได้ขีดเส้นของตัวเอง ได้ทำอะไรออกมาที่เป็นรูปธรรม เป็นประสบการณ์ตรง
สมบัติ: ได้ครึ่งหนึ่ง ในบทละครเรื่องนี้ผมเขียนบทได้ครึ่งหนึ่ง
วิจักขณ์: ชีวิตที่พี่เลือกแบบนี้ เป็นที่ที่พี่ค้นพบจิตวิญญาณของตัวเอง ไม่ใช่ที่วัด หรือสถานปฏิบัติธรรม?
สมบัติ: ผมไม่ได้คิดเรื่องที่จะออกจากความทุกข์ ออกจากประเด็นปัญหาทางสังคม ไม่ได้คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่วันนึง ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นเรื่องศาสนาหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ผมสนใจเรื่องจิตวิญญาณ เรื่องภายใน ผมเชื่อว่าในสภาวะบางสภาวะจำเป็นที่จะต้องมีความเงียบพอสมควร เพื่อจะได้คุยกับตัวเอง
วิจักขณ์: พี่ยังมองว่า ช่วงวัยหนุ่มสาวยังเป็นช่วงของการเก็บทุนอยู่หรือเปล่า
สมบัติ: ไม่ใช่เก็บทุน ผมใช้ทุนที่ผมมี พลังงาน เงื่อนไขทางสังคม มันเป็นทรัพยากรที่เราใช้ได้ในเวลานี้
วิจักขณ์: แล้วมันถือว่าเป็นการเก็บต้นทุนทางจิตวิญญาณรึเปล่า
สมบัติ: ไม่ใช่เลย ผมไม่คิดแบบนั้น หนุ่มสาวเป็นช่วงเวลาทองของชีวิต  มันจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ที่มันแร๊งงส์ มันจะมีพลัง ความแรงของผมตอนนี้ก็ลดลงไปมากนะ ถ้าเทียบกับสมัยสิบ ยี่สิบปีก่อน ที่ผมสุดโต่งมาก เรียกได้ว่า hardcore เลยแหละ แรงส์เลยฮะ (หัวเราะ)
วิจักขณ์: แต่ถึงพี่จะบอกว่าเป็นช่วงของการใช้ทุนที่มี ใช้พลังหนุ่มสาวกระทำต่อสังคม แต่เท่าที่ฟังดูมันก็เหมือนจะมีอะไรที่เชื่อมโยงกับเรื่องทางจิตวิญญาณอยู่
สมบัติ: ผมอธิบายอย่างนี้ ผมคิดว่าผมเติบโต และเรียนรู้เรื่องจิตวิญญาณภายในจากสถานการณ์ที่เป็นสถานการณ์วิกฤต หรือการเดินเข้าสู่การปะทะกับปัญหาทางสังคม หรือปัญหาของผู้อื่น ...ซึ่งมันก็ทำให้ตัวเองก็มีปัญหาไปด้วย แต่ถ้าเราสามารถที่จะอยู่ตรงนั้นได้ สำหรับผมมันจะเป็นโอกาสของการเติบโตทางจิตวิญญาณมาก
มนุษย์มันมีช่องทางทางจิตวิญญาณที่ไม่ต้องใช้ภาษา มีอยู่จริงเลย คุณใช้สมองสั่งไม่ได้เลย มันอธิบายไม่ได้ มันไม่ใช่การสื่อสารกันในระดับคำพูด คุณอาจจะฟังดนตรี หรือเข้าถึงงานศิลปะ มันเป็นการเชื่อมต่อกันทางจิตวิญญาณ ที่ก้าวข้ามข้อจำกัดทุกอย่าง เหมือนกัน ในทางสังคม ในบางสภาวะ เหมือนเวลาคุณเข้าไปในป่าดงดิบ ไม่เคยมาที่นี่นะ แต่ทำไมเราขนลุกวะ มันแปลกๆ มีคนอธิบายว่ามันเป็นการสื่อสารของธรรมชาติกับเซลล์ มันเคยเป็นของประเภทเดียวกัน มันเคยกลมกลืนกันอย่างที่สุด มันไม่ใช่ความคิด แต่เป็นความรู้สึก ภาวะแบบนี้มันมีอยู่จริง คือตัวจิตวิญญาณมันทำงาน
วิจักขณ์: พี่เคยรู้สึกอย่างนี้ เวลาที่ทำกิจกรรม พูดคุย หรือปฏิสัมพันธ์กับคนมั๊ย
สมบัติ: ผมพยายามทำให้มิติทางจิตวิญญาณกับสิ่งที่ผมทำเป็นสิ่งเดียวกัน คือถ้าผมพบว่าจิตวิญญาณของผมเป็นเช่นนี้ ผมก็จะพยายามใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงกับสิ่งสิ่งนั้น เพื่อที่ผมจะได้มีชีวิตไม่ขัดแย้งกับตัวเอง ถ้าเรามีชีวิตที่ไม่ขัดแย้งกับจิตวิญญาณของเรา เราจะปลดปล่อยพลังของตัวเองได้อย่างมหาศาล คนที่สามารถเข้าถึงตัวเองได้ เข้าถึงจิตวิญญาณของตัวเองได้ มันจะมีพลังมหาศาล
มันเป็นเรื่องของคุณค่า เป็นการตอบคำถามตัวเองได้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร เรื่องเกิดมาทำไมผมไม่สงสัยแล้ว คำถามก็คือเมื่อตอนนี้เราเกิดมาแล้ว แล้วเราจะใช้วันนี้ให้มีคุณค่าสูงสุด จนถึงวันที่เราไม่มีได้อย่างไร เราจะดำรงอยู่อย่างไร อันนั้นเป็นโจทย์สำคัญ
วิจักขณ์: ซึ่งการตอบคำถามนั้นมันเหมือนเป็นสัญญาณของการเริ่มต้น
สมบัติ: มันทำให้ทิศทาง หรือเข็มมุ่งนี้มันชัด มีทิศ มีทาง มีเข็มมุ่งก่อน ทำได้ไม่ได้นี้อีกเรื่องนึง พอโตขึ้น เราก็ได้เรียนรู้ว่า แค่ความตั้งใจดีอย่างเดียวนั้นไม่พอ มันต้องการความสามารถ มันต้องการการวางแผน การเตรียมการ ทรัพยากร เพื่อเข้าสู่เป้าหมายนั้น ซึ่งตรงนั้นก็เป็นเรื่องของความรู้ ความเฉลียวฉลาดที่จะเรียนรู้ระหว่างทาง สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างผลกระทบ หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
พอเราได้ค้นพบคุณค่าบางอย่างของเรา มันเป็นการยอมรับว่าเราจะตายยังไง คนที่มีทัศนะของนักปฏิวัติ คนที่มองเรื่องของการปลดแอก การเปลี่ยนแปลงทางสังคม มันจะต้องยึด เกาะเกี่ยวกับอะไรบางอย่าง ไม่งั้นเราจะตอบคำถามตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมเราจะต้องเอาตัวเองไปใกล้ความเจ็บปวด หรือความเสี่ยงตาย ทำไมต้องเอาตัวเราเข้าไปใกล้กับความทุกข์ที่หนักหนา มันจะต้องมีอะไรที่มีความหมายมากกว่าความตายใช่มั๊ย เราถึงจะเอาตัวเองเข้าไป แล้วถ้าความตายมันเป็นที่สุด มันมีอะไรที่มีความหมายมากกว่าความตาย? ตัวอัตตามันก็ต้องอธิบายว่าอะไรที่จะมีความหมายมากกว่าความตาย อย่างเช่น โอเค บอกว่าเพื่อความรักเนี่ยเราตายได้ ฉันรักเธอนะ ฉันสามารถตายแทนเธอได้ สำหรับคนที่มีความกตัญญู ก็อาจจะบอกว่าฉันตายได้เพื่อพ่อแม่ เพื่อครอบครัว
วิจักขณ์: แล้วจุดที่ความบ้าของพี่เพิ่มสูงขึ้น จนไปถึงการเป็นนักปฏิวัติ จู่ๆมันคงไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใดใช่มั๊ย
สมบัติ: ใช่ คือ ผมเห็นโครงสร้างทางสังคม โครงสร้างทางการเมือง ก็เรียนรู้สั่งสมมาเรื่อยๆ ถามคำถาม มีประสบการณ์มากขึ้น วันๆมันก็เอาแต่ตั้งคำถาม แล้วเราก็ใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงที่มีการตีโจทย์เรื่องเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา งานของผมก็ค่อนข้างว่าง ไม่ยุ่งกับเอกสาร เราก็ใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องของความคิดหรือตัวที่เป็นประเด็นปัญหา เป็นข้อเท็จจริงมาก มันก็มีโอกาสสั่งสม เห็นเรื่องพวกนี้ ผมก็เคยนะที่คิดว่า คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน ขลุกอยู่ ๕ ปี ๗ ปี จนมีพี่คนนึงมาเคาะประตูบ้านผม ไปนอนคุยกัน “หนูหริ่ง สิ่งที่เธอทำน่ะดีนะ ชาวบ้านแถวนี้ได้สัญชาติ” ผมแม่งโคตรภูมิใจ ตอนนั้นผมทำงานตำบลเดียว เอ็นจีโอต่างจังหวัดแม่งทั้งภาคเหนือ ของผมตำบลเดียว ตำบลเดียวจริงๆ ผมช่วยให้ชาวบ้านที่ไม่มีสัญชาติเข้าสู่กระบวนการสัญชาติ แล้วได้สัญชาติ ผมตั้งเป้าไว้สามถึงสี่พันคน มันเป็นความภูมิใจในชีวิตได้แล้ว จากวันแรกที่คิดว่าจะทำยังไงให้เด็กคนนึงได้สัญชาติ พอทำงานแล้วยกกำลังเป็นพันนะ แต่คำถามก็คือว่า ไอ้ความรู้ที่เรามีอยู่ทั้งหมดกับปัญหาสังคมที่มันกว้าง ทำยังไงเราถึงจากสร้าง impact ที่มากขึ้นได้ ถ้าเรายังคงอยู่แต่ในหมู่บ้าน เราก็จะไม่สามารถสร้างผลกระทบเหล่านั้นได้
วิจักขณ์: ช่วงชีวิตที่กระจกเงาทำให้พี่ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
สมบัติ: การทำกระจกเงาทำให้ผมเรียนรู้ว่า ปัญหาในระดับจุลภาคนั้นมันเชื่อมโยงไปในระดับมหภาค  ตอนแรกเราคิดว่าไปทำการจัดการพื้นที่เล็กๆที่นึงได้ก็จบ แต่ความจริงมันไม่ใช่ ปัญหามันเชื่อมโยงกัน ไม่มีชุมชนใดที่สามารถหลีกเร้นจากโลกาภิวัตน์ แล้วไม่ต้องสัมพันธ์กับสังคมภายนอก ไม่มีเลย คุณจะไปหาชุมชนที่ว่านี้ที่ไหน เผ่าตองเหลืองอะไรงี้ เค้าจะวิวัฒนาการไป มึงยังต้องไปบอกเค้า อย่าเปลี่ยนนะ อย่าไปเปลี่ยน ซึ่งมันก็ไปกระทบเค้าอยู่ดี คือ คนเหล่านั้นถูกค้นพบหมดแล้ว ถูกกระทำหมดแล้ว แล้วเรื่องนโยบายมันก็ตามมาหมด เรื่องสัญชาติแต่ก่อนไม่สำคัญ แต่วันนึงมันสำคัญ เรื่องที่ดินทำกิน แต่ก่อนสำหรับชาวเขาไม่สำคัญ แต่วันนี้สำคัญ
วิจักขณ์: มันเริ่มไม่โรแมนติคอย่างที่คิดไว้ตอนแรกหรือเปล่า
สมบัติ: มันได้ไปค้นพบความจริง  เช่น ตอนอยู่เชียงรายตอนแรกนี่ชอบมาก มันหนาว ชาวบ้านเค้าบอกว่ามันเย็น ซึ่งในความรู้สึกผมตอนฟังเค้าดูแล้วความเย็นของเค้านี่มันยิ่งกว่าหนาว แล้วความเย็นของเค้ามันไม่ใช่แบบคนกรุงเทพฯที่ในปีนึงจะมีช่วงเวลาหนาวๆซักสองสามวัน เราก็หยิบเอาเสื้อหนาวที่มีฮู้ดมาใส่ ตอนผมเป็นนักเรียนก็จะเก็บเสื้อตัวนี้เอาไว้ ดีใจมากเวลาหนาว เราจะได้เอาเสื้อตัวโปรดออกมาใส่ ...มันไม่จริงน่ะ  
ความงามมันมีอยู่ แต่ขณะเดียวกันมันก็มีความจริง และความจริงบางทีมันก็ท้าทาย ขมขื่น ยากลำบาก พอเป็นความจริงนั้นเราจะปัดได้ยังไง เราจะอยู่ได้ยังไงในโลกที่ไม่มีความจริง เราจะใช้ชีวิตแบบไหน โอเคเราอาจจะอยู่ได้ บางคนอาจจะสามารถเลือกสร้างเงื่อนไขของตัวเองให้ไปอยู่ในภาวะที่ไม่ต้องไปเผชิญความจริงที่เจ็บปวดได้
ความทุกข์นี่เป็นความจริงแบบนึงหรือเปล่า หรือไม่ใช่ความจริง?
วิจักขณ์: (หัวเราะ) เป็นดิพี่ ความทุกข์นะ
สมบัติ: เป็นใช่มั๊ย? (ทำหน้าใสซื่อ)
วิจักขณ์: (หัวเราะ) นี่มุขป่าวเนี่ย (หัวเราะ)
สมบัติ: ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ บางคนเค้าบอกเอาทุกข์ออกได้ แล้วมันเป็นความจริง สัจจะอะไรบางอย่าง ผมก็งงๆ  แต่คำถามของผมก็คือว่า มีคนอีกกี่คนล่ะที่ออกไปไม่ได้ แม่งเยอะมากกก... คนจำนวนมากเลยที่อยู่ในความทุกข์
อย่างอาสาสมัครของผมที่ทำงานอยู่ที่เชียงราย ทำงานไปซักพักก็เดินมาบอกผม หนูประทับใจพี่มาก งานที่พี่ทำน่ะค่ะ แต่หนูไม่สามารถมาทำอย่างพี่ได้ เพราะหนูต้องกลับไปอยู่ในโลกของความเป็นจริง (หัวเราะ) แม่ง กูอยู่นี่หลายปี มึงจะกลับแล้วมาบอกกูว่า กูไม่ได้อยู่ในโลกของความเป็นจริง แล้วนี่กูอยู่ที่ไหนวะเนี่ย (หัวเราะก๊าก)
เมื่อว่ากันด้วยโลกของความเป็นจริงเนี่ย ผมก็สงสัยว่าอะไรคือโลกของความเป็นจริง เวลาผมเจอคำพวกนี้นะ แม่ง..มันชิบหายเลย มันก็จะนำไปสู่การขบคิด ตั้งคำถาม อะไร ยังไง มันจริง ไม่จริงยังไง หรือมันจริงทั้งนั้น อ้าวถ้ามึงจริง กูไม่จริง หรือจริงเหมือนกันยังไง แล้วเราก็คิดไปเรื่อยว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เป็นจริงขึ้นมาได้ยังไง
ที่กระจกเงาผมค้นพบเรื่องงานอาสาสมัคร พบว่ามันเป็นเครื่องมือหนึ่ง ตอนนั้นผมตีโจทย์ออกแล้ว ว่าเราไม่มีทางไปได้สุดทาง มันเป็นเรื่องของกระบวนการ วิวัฒนาการทางสังคม และสิ่งที่เราต้องทำคือ “ส่งไม้ต่อ” แต่เวลาส่งไม้ต่อ อย่าไปส่งหนึ่งต่อหนึ่ง มันต้องส่งทีนึงแบบแจกไม้ไปเลย แจกไม้แล้ววิ่งกันออกไป อันนี้แหละคือสิ่งที่ต้องทำ ชวนคนให้เข้ามามีส่วนร่วม เป็นอาสาสมัคร หรือมีวิธีคิดที่อยากจะเห็นบางสิ่งบางอย่างเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องทุกอย่างหรอก ไม่ต้องเรื่องใหญ่ๆก็ได้ เท่าที่เค้าพอจะมีศักยภาพ หรือมีการปลดปล่อยอะไรบางอย่างในตัวเอง ณ ขณะนั้น แล้วเราก็เชื่อมกับเค้าเท่านั้นเอง เพียงแต่ว่า ถ้าเราผ่านกระบวนการปลดปล่อยตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง เราก็อาจจะทำเรื่องอะไรที่ซับซ้อนขึ้นได้ หรือมี impact ที่มากขึ้นได้
วิจักขณ์: ดูเหมือนแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของพี่ พี่ไม่ได้เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ลักษณะของการส่งไม้ต่อก็ไม่ใช่ว่าชั้นต้องเก่ง มีเพื่อนเยอะ เป็นที่ยอมรับ มีชื่อเสียง แต่พี่ได้สร้างตัวงานของพี่ให้มันเป็นที่เชื่อมต่อกับคนได้
สมบัติ: ใช่ คือถ้าทัศนะของเราเป็นทัศนะของคนที่อยากมีชื่อเสียง คุณต้องวาง positioning ของคุณอีกแบบนึง คุณต้องขาย คุณต้องโชว์ ชิบหายวายป่วงหมด แต่มันก็จะซ้อนทับกันระหว่างประโยชน์ของตัวเองกับประโยชน์สาธารณะ ถ้าทัศนะของเราเป็นทัศนะของคนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม คุณก็จะต้องเลยจากตัวเองให้ได้ แต่คุณต้องใช้ตัวเองเป็นทุนนะ คือถ้าคุณไม่มีทุนของตัวเอง คุณจะทำสิ่งนั้นลำบาก [วิจักขณ์: จะไปยืมมือคนอื่น มันก็ไม่ได้]  ใช่ คืออย่างผมเนี่ยก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอด กับเพื่อนผมหลายคนเวลาทำงานมากๆเข้าก็จะถูกพูดถึงว่า ไอ้ที่ทำเยอะๆเนี่ยอยากเอาหน้า อย่างผมก็โดนมาก หลังจากรัฐประหาร ๓๕ ผมเดินเข้ามาทำงานการเมือง ก็จะโดนวิพากษ์วิจารณ์มาก คือมันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เพื่อนหรือคนในสังคมจะตั้งคำถามว่า เฮ้ย ไอ้หนูหริ่งมันเตรียมสร้างตัวเองเข้าสู้เส้นทางทางการเมือง มันง่ายที่จะถูกอธิบายไปแบบนั้น แต่เมื่อเป็นแบบนั้น คุณต้องกลับมาถามตัวคุณเองก่อนว่า คุณกำลังเดินเข้าสู่เส้นทางทางการเมืองแบบไหน ใช่มะ คุณอาจจะถูกกล่าวหาว่า มึงถูกซื้อไปแล้ว เปลี่ยนไปแล้ว ...มันง่ายน่ะที่จะพูดเรื่องแบบนี้ แต่ว่าผมอยู่ยาวพอที่จะพิสูจน์สิ่งที่คนพูดได้ ผมคิดว่าผมอยู่ยาวได้และผมมั่นคงพอที่ผมจะบอกได้ว่าสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่ออะไร
วิจักขณ์: พี่ช่วยขยายความอีกนิด ตรงที่บอกว่าเราเริ่มต้นด้วยการเอาตัวเองเป็นทุน
สมบัติ: ในการประกอบการทางสังคมนี่ เราต้องเอาตัวเองเป็นทุนด้วย คุณต้องสะสมทุนในเรื่องของความรู้ สติปัญญา ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ คุณทำอะไรไปคุณต้องสะสมทุนตลอด เวลาคุณคิดอะไรขึ้นมาอย่างนึง คุณก็ต้องดูทุนที่มี อย่างเช่นตอนนี้ผมไม่มีเงิน คนคิดว่าผมแม่งรับเงินทักษิณ แต่เรื่องจริงคือผมไม่มีเงิน ประเด็นก็คือผมไม่มีทุน  ผมไม่มีห่าอะไร ผมไม่มีคนมาช่วยอะไร แค่ตอนนี้จะเอาเสื้อไปส่งต่อ ยังไม่มีมือไม้เลย แต่ถ้าผมมีทุน ผมมีอะไรล่ะ ผมมีเฟซบุ๊คในฐานะช่องทางการสื่อสาร ผมมีเครดิตบางอย่าง เครดิตก็เป็นทุนอย่างหนึ่ง ผมก็บริหารทุนที่ผมมีจากตรงนี้ แล้วก็สร้างimpact ที่นี้ในแง่การจัดการ การเป็นผู้ประกอบการทางสังคมนั้นไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นผู้ประกอบการคนเดียว โจทย์ของผมก็คือว่า ผมอยากจะทำเป็นตลาด เหมือนตลาดมอเตอร์โชว์ ผมชอบมากเลย ไอ้คนทำมอเตอร์โชว์เนี่ย มันไม่ได้เอารถมาขายนะ มันทำแค่ตลาด เหมือนทำตลาดไทเงี้ยะ คุณเปิดพื้นที่ พื้นที่ตลาด แล้วคุณให้ผู้ประกอบการมาทำ โจทย์ผมก็คือว่าทำยังไงมันถึงจะมีผู้ประกอบการทางสังคมจำนวนมากที่ไปใช้พื้นที่ตรงนั้น  คุณเห็นคนอื่นทำ คุณก็อยากทำด้วย ผมกำลังพยายามตีโจทย์นี้อยู่ ว่าทำยังไงให้คนเล็กคนน้อย ที่แม่งวันๆเอาแต่ไปนั่งฟังเค้าปราศรัย นี่เลยคือจุดที่แย่ที่สุดจุดหนึ่งในขบวน คือ ช่วงเวลาสามสี่ปีในการต่อสู้เนี่ย มันไม่ได้ส่งสัญญาณหรือสร้างความรู้ในการเป็นผู้นำของตัวเอง ในการสร้างกิจกรรมของตัวเองขึ้นมา ผมพยายามจะบอกว่า คนเล็กคนน้อยต้องสร้างกิจกรรมของตัวเอง ผมจะเชียร์ให้คนตั้งวงแชร์ ส่งเสริมให้คนคิดทำโน่นทำนี่ ผมกำลังจุดประกายให้เกิดสิ่งนี้อยู่ แล้วก็ทำตลาด สร้างตลาดนัดของการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือเพื่อประชาธิปไตย ให้คนได้มาปะทะสังสรรค์กัน
ในมุมมองของผู้ประกอบการทางสังคม คุณจะต้องจัดการตัวเอง ทุกคนต้องฝึกที่จะเป็นผู้นำของตัวเอง ผมเพียงแค่จุดประกาย แล้วคนก็รับเอาไปต่อยอด
วิจักขณ์: ทุนที่พี่มี ทุกอย่างที่มี สามารถให้คนเอาไปใช้ต่อได้ ให้เค้าเอาไปเป็นทำทุนได้ โดยที่เราไม่ได้ผูกมัดเค้าไว้
สมบัติ: ใช่ ผู้ประกอบการทางสังคม กับผู้ประกอบการทางธุรกิจต่างกันตรงนี้ ผู้ประกอบการทางธุรกิจจะคิดเรื่องที่ว่าตัวเองจะครอบ จะมีทัศนะเรื่องการครอบตลาดสูง แต่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคมมันกลับตาลปัตรเลย เรามีทัศนะของการให้ คุณต้องปลดปล่อย ทัศนะของเราเป็นทัศนะของการปลดปล่อย คุณต้องปลดปล่อยคน จากมวลชนคนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าเขียน ไม่กล้าแสดงตัว ไม่กล้าไปเข้าร่วมทางการเมือง ไม่เคยไปร่วมชุมนุมเลยแม้แต่ครั้งเดียว คุณจะทำยังไงที่จะยกระดับ ส่งเสริมศักยภาพของเค้าให้เค้าได้ปลดปล่อยพลังในตัวเองออกมา
วิจักขณ์: การส่งไม้ของพี่ มันเป็นการถ่ายทอดเรื่องจิตวิญญาณอย่างหนึ่งด้วยมั๊ย
สมบัติ: โอ แน่นอน ส่วนหนึ่งผมก็จะสื่อสารสิ่งที่อยู่ข้างในออกมาด้วย
วิจักขณ์: ซึ่งนั่นก็คือทุนของพี่ ที่คนสามารถเอาไปต่อยอดได้
สมบัติ: ถูก ถูก ส่วนใหญ่คนก็จะก็อปปี้ข่าว นอกจากก็อปปี้ข่าว ผมก็จะมีเขียนเรื่องทัศนะต่อข่าว ปรากฏการณ์ทางสังคม หรือบางทีก็สื่อสารภาวะข้างใน ผมนั่งอยู่นิ่งๆ จู่ๆมันก็ปรากฏ ผมก็เล่าเป็นเรื่องราวออกมา ถ่ายทอดให้คนได้ร่วมรับรู้ไปกับผม
วิจักขณ์: แล้วในทัศนะของผู้ประกอบการทางสังคม คนรับไม้อาจจะถูกจุดประกาย หรือได้รับแรงบันดาลใจจากพี่ไป แล้วพอเค้าออกไปทำด้วยตัวเอง เค้าก็อาจหลงลืมจิตวิญญาณตรงนั้นไป หรือเค้าอาจจะเอาไปต่อยอดคนละทิศคนละทาง ไม่ได้เคารพที่มาคือตัวพี่ซักเท่าไหร่ ถ้าเป็นอย่างนั้นพี่จะรู้สึกอะไรมั๊ย
สมบัติ: คือ มันก็มีสิทธิ์ที่เค้าจะไปตกผลึกในภาวะของตัวเค้าเองได้ เราต้องเข้าใจว่าความคิดของเรามันไม่ได้เป็นของเรา ความคิดของเราเกิดจากความคิดของคนจำนวนมากที่เรารับเข้ามา และมันมาตกผลึกเป็นความคิดของเราในภาวะนั้นๆ สิ่งที่เป็นตัวผมเองจริงๆมันก็ไม่ได้มาจากตัวผม เท่านั้นเอง ผมเพียงแค่รับอิทธิพลทางความคิดของผู้อื่นมา แล้วมันก็มาตกผลึกในตัวผม แล้วผมก็ตอบโต้ออกไปในสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน ในบริบทแบบนี้  เท่านั้นเอง
วิจักขณ์: ตัวคนจุดประกายก็ยังคงพัฒนาต่อไป คือเราไม่ต้องไปนั่งกอดความคิดแจ๋วๆของเราไว้ หวงว่าคนอื่นจะเอาไปใช้ เพราะตัวของนักประกอบการทางสังคมก็ยังคงพัฒนาตัวเองต่อไปท่ามกลางเหตุปัจจัยที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
สมบัติ: อันนี้เป็นความมันส์ส่วนตัวเลยนะ ในฐานะเป็นคนที่ชอบแข่งขันกับตัวเอง ผมไม่แคร์หรอกว่าใครจะเอาความคิดของผมไปทำอะไร หรือว่าเก็ทไอเดียอะไรจากผม เพราะผมก็เชื่อว่าผมก็เก็ทไอเดียมาจากคนอื่น มันไม่ได้เกิดจากเราโดยลำพัง นวัตกรรมที่ว่า มันมีได้สองอย่างคือ ใหม่เลย ซึ่งผมไม่เชื่อ แต่ผมเชื่อว่ามันจะเกิดจากการต่อยอด แล้วก็จัดวางในพื้นที่ที่เหมาะสม ถ้าคุณวางผิด ก็จบ ขณะเดียวกัน อย่างที่คุณพูดก็คือว่า เราก็ยังสนุกกับการต่อยอด คือ ผมไม่สนใจหรอก (หัวเราะ) เดี๋ยวผมก็จะไปทำสิ่งใหม่ มันก็เป็นความสนุกส่วนตัว แต่มันก็ไม่ได้ทำเพื่อความสนุกอ่ะนะ ความสนุกเป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่เป้าหมาย เป้าหมายคือเป้าหมาย
วิจักขณ์: สิ่งที่ทำให้สนใจ คือสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากกว่า
สมบัติ: ....จดจ่อ ผู้ประกอบการสังคมข้อแรกคือคุณต้องจดจ่อ คุณล็อคเป้าเลย ปัญหาของผมก็คือ ผมดันมีเป้าเยอะ มันเลยล็อคลำบากหน่อย (หัวเราะ) แต่พอมาช่วงหลังผมเรียนรู้ว่า ถ้าผมจะสร้างimpact ผมต้องสร้างคนที่ทำ ผมไม่ใช่คนทำแล้วต่อไปนี้ ผมสร้างคนที่ทำ แต่ถ้าถึงจุดหนึ่งผมต้องทำ ผมจะพิสูจน์ให้ได้ว่าผมทำได้ ผมพิสูจน์กับการทำองค์กรมาหลายรอบ คือผมออกมาตัวเปล่าๆได้เลย ต้นทุนที่ผมมีอยู่ผมเชื่อว่าผมมาตัวเปล่าๆพอ ก็อาจจะใช้เวลานิดนึง แต่ถ้าผมจะทำการทดสอบอีกครั้ง ผมจะทำให้ดูว่าผมทำได้ แล้วมันจำเป็นมากเลย เพื่อจะดูว่าเรายังเป็นสิ่งนั้นอยู่รึเปล่า
วิจักขณ์: แต่ตอนนี้ก็เหมือนเป็นบททดสอบใหม่ ที่อยากจะลอง อาจจะไม่ได้เป็นการสร้างองค์กร แต่เป็นการสร้างคน
สมบัติ: สร้างขบวน ผมวิเคราะห์แล้วว่า การชุมนุมครั้งนี้มันจำเป็นต้องมีองค์กรอยู่หลายองค์กรนะ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ขาดไปมากที่สุดในการต่อสู้รอบนี้ก็คือ การบริหารจัดการขบวน การบริหารจัดการวัฒนธรรมของขบวน มันไม่มีการคิดเชิงขบวน คือมันเกิดขบวนแต่ไม่มีการบริหาร เมื่อเราไม่มีการบริหารปุ๊บ ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่สามารถปรากฏศักยภาพที่มีอยู่ภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คือถ้าเราคิดตีโจทย์นี้แตกนะ คุณจะเห็นว่าดีไซน์ที่ผมทำกิจกรรมที่ผมทำในสองสามปีนี้ ไม่ใช่กิจกรรมทางการเมืองอย่างเดียว ไม่เลย เพราะผมจดจ่ออยู่กับเรื่องพวกนี้ ผมจดจ่ออยู่กับเรื่องขบวน ถ้าผมสนใจจะเอาชนะทางการเมือง วันนั้นผมต้องเข้าไปแล้ว เข้าไปชาร์จ เข้าไปตีแล้ว โจทย์ของผมที่ขบคิดมาโดยตลอด คือการปรับจากข้างล่างขึ้นมา ถ้าโจทย์นี้ถูกตีแตก ผมเชื่อว่ามันจะมีพลังมหาศาล  
วิจักขณ์: เหมือนพี่กำลังปลุกอะไรบางอย่างในตัวคนที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้สร้างอะไรใหม่ขึ้นมายัดเยียดให้เค้า
สมบัติ: มันคือการปลดปล่อยตัวเอง ถ้าคุณไม่กลัว ไม่กลัวตาย ไม่กลัวจน ไม่กลัวคนอื่นดูถูก คุณลองนึกดู ถ้าคุณกล้าเปิดเผยตัวเอง โดยที่คุณไม่กลัวคนอื่นเค้าจะตำหนิคุณ เพื่อนฝูงจะตำหนิคุณ คุณไม่ได้อดตายหรอก ไปหาข้าวกินเอายังพอได้อยู่ คุณไม่มีที่นอน ไม่จริงหรอก คุณยังหาที่นอนได้อยู่ จริงๆเราเป็นอย่างนั้นน่ะ เราไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกขนาดนั้น แต่ถ้าคุณไม่กลัวที่จะสูญเสียสถานะ หรือสภาพการณ์บางอย่าง คุณลองคิดดู พลังของคุณจะขนาดไหน คุณแค่ปลดปล่อยกรอบ กำแพง เพดาน เอามันออกไป แล้วคุณก็แสดงพลังที่คุณมี คุณปล่อยไปได้อีกชั้นนึง คุณก็โตขึ้นได้อีก
วิจักขณ์: ฟังดูไม่ต่างกับมิติทางศาสนาเท่าไหร่ แต่ที่เราเห็นอยู่บ่อยๆศาสนากลับพยายามไปสร้างกรอบเรื่องความดี การปลดปล่อยศักยภาพก็เลยถูกจำกัดแค่ตรงที่ภาพของความดีนั้น มันไม่ได้ไปต่อถึงสิ่งที่เป็นเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรม แล้วข้ามพ้นไปสู่ความจริงบางอย่างที่เป็นพื้นฐานกว่า ฟังดูแล้วพี่ทำงานกับอะไรที่มันพื้นฐานกว่านั้นเยอะ ...มันคือความดีมั๊ย (หัวเราะ)
สมบัติ: ไม่ใช่ มันคือภารกิจ เมื่อเราพบว่าเราเป็นใคร เราเป็นมนุษย์ เราเป็นสิ่งมีชีวิต ต้นไม้ก็เหมือนกัน คือ มันมีหน้าที่ มันมีภารกิจ มันมีภารกิจตายด้วยนะ การเกิดมาแปลว่าอะไร ผู้มาใหม่คือคือผู้รับไม้ และผู้ต่อยอด แล้วคุณจะต้องดำรงอยู่ถึงจุดหนึ่ง แล้วคุณต้องตายนะ การตายเป็นภารกิจอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นความผิดพลาดของธรรมชาติไม่ใช่ เพราะถ้าคุณไม่ตาย โลกหรือสังคมไม่สามารถที่จะมีผู้มาใหม่ได้ [วิจักขณ์: หรือถ้ามีมันก็ไม่โต] ใช่ ไม่โต คุณต้องรู้จักตาย รู้จักถอยออกมา เปิดทางให้เกิดการงอกใหม่ อย่างในป่าเนี่ย เราดูไม่ออกเลย มีไม้ใหญ่ล้ม ก็มีไม้อื่นโผล่ขึ้นมาเป็นไม้ใหญ่ต่อได้เลย คุณต้องตาย คุณต้องตาย มันถึงจะมีพื้นที่ให้คนข้างหลังได้ คนมักจะบอกว่าเรามีภารกิจแค่การมีชีวิตอยู่ ถูก เราใช้พลังชีวิตกระทำในภารกิจนี้จนถึงที่สุดเลย ทุกคนดิ้นรนเพื่อที่จะมีชีวิตรอด คนส่วนใหญ่แล้วใช้ทัศนะนี้ ทำภารกิจนี้ คือทำเพื่อให้ตัวตนมีชีวิตรอด ทำภารกิจนี้เพื่อจะมีชีวิตรอด แต่ว่าภายใต้การมีชีวิตรอดนั้น มันมีภารกิจการส่งต่อ คุณต้องไม่ลืม ซึ่งภารกิจส่งต่อนี้คนมักจะคิดออกตอนแก่
วิจักขณ์: ก็จริงนะที่เป็นภารกิจของคนแก่ แต่สำหรับคนหนุ่มสาวที่ทำอะไรบางอย่างถึงขนาดที่ยอมตายเพื่อสิ่งนั้นได้ มันก็ส่งไม้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว
สมบัติ:  ถูก ถูก ถูก ไอ้ภารกิจนี้มันถูกฝังไว้ในตัวคนทุกคนเลยนะ ผมเคยเจอชาวบ้านคนนึงที่สึนามิ เค้าเล่าให้ฟังว่า วันนั้นเค้าวิ่งหนีน้ำนะ คลื่นแม่งมา ก็วิ่งหนีน้ำไปไกลมากตอนคลื่นลูกแรก พอมีคนบอกว่าคลื่นลูกสองกำลังจะมา แต่ว่ามีคนเจ็บอยู่ตรงนั้น เค้าเล่าให้ผมฟังนะ พี่ หนูนะแม่ค้าคนนึง ชีวิตเกิดมานะไม่เค้ยคิดเรื่องงานที่จะไปช่วยเหลือชีวิตคนอื่น ทัศนะของหนูนะคือทำยังไงให้เลี้ยงผัวเลี้ยงลูกเนี่ยให้รอด หนูนะไม่เคยคิดจะไปช่วยเหลืออะไรสังคมเล้ย ทั้งชีวิตนี้เอาแค่ชีวิตตัวเองรอดเท่านั้นแหละ แต่วันนั้นหลังจากลูกแรกแล้ว หนูวิ่งหนีตาย แต่พอหันหลังกลับไป แม่งเห็นคนเจ็บอยู่ แล้วมีข่าวลือว่าจะมีลูกสอง ไม่น่าเชื่อ ไม่รู้หนูทำไปได้ไง หนูวิ่งกลับไป ไปเอามันออกมา
คุณจะวิเคราะห์ว่ายังไง คนที่ไม่ได้ผ่านกิจกรรมทางสังคม ผ่านกิจกรรมทางการเมือง ผ่านการศึกษาทางปรัชญา ศึกษาทางพุทธศาสนา คุณที่ใช้ชีวิตอีกแบบนึง เอาแค่ตัวเองรอด สถานการณ์แบบนั้น คือภาวะที่ปะทะ มันเข้าตีความเป็นมนุษย์ที่อยู่ข้างในที่สุด มันเกิดการต่อสู้กันข้างใน ว่ากูกับไอ้นั่นคนเดียวกันรึเปล่า เมื่อไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้น มันเกิดความเป็นร่วม ความเป็นเรา ภาวะร่วม นี่คือสาระสำคัญ เราเกิดภาวะนี้ขึ้น ภาวะร่วม เมื่อไรก็ตามที่มันเกิดภาวะร่วมนี้ขึ้นได้ คุณค้นพบว่ามันเป็นสิ่งที่ร่วมกันได้ มีความเป็นเรา เราต่างเป็นกันและกัน
เมื่อมันมีแรงกดดันถึงจุดนึง อย่างตอนนี้เนี่ย ความทุกข์ที่เกิดขึ้นคุณไม่ควรไปเสียใจที่มันเกิดขึ้น หรือบอกว่าเลิกคิดเถอะ ถ้าคิดแบบนั้นงี่เง่ามาก
วิจักขณ์: ในช่วงเวลาปะทะ หรือวิกฤต ผมว่ามันก็เป็นช่วงของการช่วงชิงด้วย ถ้าเราสัมผัสถึงจุดที่ว่าเรากับเค้าเป็นคนเหมือนกันแล้วรู้สึกร่วมได้ มันก็มีพลังบางอย่างเกิดขึ้น แต่ถ้าในจุดที่วิกฤตแล้วเราถูกทำให้คิดไปอีกแบบ ว่ามันต่าง มันไม่เหมือนเรา จนถึงกับว่ามันไม่ใช่คนเหมือนเรา จนกลายเป็น เกลียดมัน ฆ่ามันเลย ปราบมันซะ วินาทีของการปะทะนั้นมันก็เป็นจุดของการช่วงชิง
สมบัติ: ถูก ผมจะมีขีดจำกัด เรื่องของการรักษาไว้ซึ่งความแตกต่าง หรือการปะทะ เพราะว่ามันเป็นการต่อสู้ มันก็ต้องมีการปะทะกันเป็นธรรมดา ผมเชื่ออย่างที่ปริญญา (ปริญญา เทวานฤมิตรกุล)เค้าพูดไว้นะ เค้าบอกว่าเหลืองแดงเป็นคุณูปการต่อสังคม ถ้าดำรงอยู่ต่อไปโดยที่ไม่ฆ่ากันจะเป็นคุณูปการอย่างสูง เราต้องใช้ทั้งเหลืองทั้งแดง ผมว่าจริง ความขัดแย้งนี่ก็จริง เสียดายที่มันมีการสูญเสีย ถ้าไม่สูญเสียแล้วเนี่ย ผมคิดว่าถ้ามองระยะยาว มันมีประโยชน์มาก ผมพร้อมที่จะชวนคนทะเลาะ ผมว่าเราต้องชวนกันทะเลาะ แต่ว่าเราจะทะเลาะกันยังไง นี่ก็หาทางทะเลาะอยู่ (หัวเราะ)
ส่วนพวกแนวร่วมเดียวกัน ก็ต้องมีการปะทะให้เกิดการเรียนรู้ หรือการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ฝึกหลักการ ความรู้ ความคิดให้แหลมคม อันนี้มันต้องปะทะกัน งานที่ผมทำก็คือทำในมิติแบบนี้
วิจักขณ์: คือชวนคนทะเลาะยังไง ให้มันสร้างสรรค์ มองความขัดแย้งเป็นเรื่องดี โดยที่ยังสามารถมองกันเป็นมนุษย์ ไม่เกลียดกันจนถึงต้องฆ่ากัน
สมบัติ: ใช่
วิจักขณ์: แต่คนที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจ ก็ต้องมองการชวนทะเลาะแบบนี้ว่าเป็นการคุกคามถูกมั๊ย [สมบัติ: ถูก] เป็นการก่อความไม่สงบ ก่อการร้ายอะไรก็ว่าไป ซึ่งมันก็จริงของเค้า แต่ในมุมมองของผู้ประกอบการทางสังคม ก็คือการปะทะกันทางความคิดนั้นก็เป็นสิ่งที่พี่ต้องการอยู่แล้ว เพราะพี่ต้องการความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับความตื่นของคน
สมบัติ: ถูก เค้าก็ต้องคิดอย่างนั้นแหละ คือทั้งสองฝ่ายก็มีพวกสุดโต่ง และพวกที่ล้าหลังอยู่ด้วย คุณต้องฉุดดึงเค้าให้กลับมาให้ได้ แม้แต่ในปีกของเสื้อแดงเอง ผมก็พยายามดึงเค้ากลับมา แต่ผมยอมรับเลยว่าคราวนี้ผมโกรธชิบหายเลย ผมป่วยเลย ความมั่นคงทางจิตวิญญาณภายใน กับการตอบคำถามในสถานการณ์แบบนี้ ผมเขวเลย แม่ง เหี้ยมจริงๆ อย่างตอนนี้ก็ไล่ฆ่า ไล่เก็บ แบบนี้มันเกินไป มันไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมืองแล้ว คือความสกปรกทางการเมืองมันเรื่องนึง ถ้าคุณจะเล่นกันทางกฎหมาย คุณจะจับ มันก็ยังพอรับได้ คุณใช้คำบิดเบือน ปกปิด โกหก ใส่ร้ายอะไรกัน นั่นก็ยังพอทน แต่นี่มันถึงฆ่ากัน ไล่ล่ากันแบบนี้ มันเป็นขีดที่ผมรับไม่ได้
วิจักขณ์: เวลาเห็นพี่ในเฟซบุ๊คสื่อสารกับคนเสื้อแดง ผมชอบอย่างนึงคือ การสอนให้คนคิดเอง ไม่ได้ให้เชื่อในความดีของพี่หรือของใครนะ ที่สำคัญคือตัวละครที่เล่นอยู่ตอนนี้ก็ไม่ได้ดูดีเท่าไหร่ ไม่มีใครที่มีภาพของความดีความงามอยู่แล้ว แล้วภาพที่สื่อออกมาของเสื้อแดงก็เสียดสีด้วยความต่ำต้อยทางสังคมในทุกๆทาง แต่ผลก็คือมันได้ปลุกให้คนที่มาร่วมชุมนุมกลับมาตระหนักถึงศักดิ์ศรีของตัวเอง ในสิทธิเสรีภาพของคนธรรมดาๆคนหนึ่งมากขึ้น
สมบัติ: โดยหลักการแล้ว ผมคิดว่ามีความชอบธรรมอย่างไม่ต้องสงสัยเลย กับการที่คนจะลุกขึ้นมาเรียกร้องและต่อสู้  อันนี้หมายถึงของคนทุกคนนะ ถึงแม้ขบวนเสื้อแดงจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะ และมีความจริงอยู่ไม่น้อยทีเดียวเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในบางเรื่อง เช่น เรื่องการมีอาวุธอยู่ การที่มีโครงข่ายอำนาจที่เข้าไปจัดการ อาศัยเจตนาดี ความมีอุดมการณ์ของผู้คน เอาไปร่วมกับผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง แต่ว่าบวกลบแล้วผมก็ยังคิดว่ามีความชอบธรรม แต่ถึงยังไงก็แล้วแต่ผมก็คิดว่าต้องมีการปรับขบวน
วิจักขณ์: คืออย่างน้อยให้รูปขบวนมันนำไปสู่การเรียนรู้ พัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ไหลไปตามความดำมืด
สมบัติ: ถูกๆ
วิจักขณ์: ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ค้างคาใจกับพวกผมที่ทำงานเพื่อสังคม หรืองานด้านการศึกษามาก คืออย่างพวกผมเนี่ย จะเลือกทำงานอะไร เราก็จะต้องดูว่างานนี้มันเป็นงานที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคมจริง คนที่ทำเป็นคนที่ต้องมีจิตใจที่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาผลประโยชน์เข้าตัวเอง ทำเพื่อคนอื่นจริง ผู้นำเราก็ต้องเป็นแบบอย่างการอุทิศตน เป็นแรงบันดาลใจแบบพระไพศาล หมอประเวศ อ.สุลักษณ์ ประมาณนี้
แต่อย่างพี่ที่มาต่อสู้ทางการเมืองเนี่ย [สมบัติ: มีคนได้ประโยชน์ สู้ไป เราไม่ได้อะไรมาก คนอื่นเอาไปกิน] เออ เออ...คือมันไม่ pure นะ ทัศนะเรื่องการเป็นแนวร่วม การต่อรองผลประโยชน์อะไรต่อมิอะไร รับได้ยังไงตรงนี้ จากที่ทำงานกระจกเงา งานอุดมคติมา พี่ปรับทัศนคติตรงนี้ยังไง
สมบัติ: เวลาเจอเรื่องแบบนี้ คุณต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ คุณต้องตอบคำถามตัวเองก่อน ว่าคุณทำเพื่ออะไร คือเราขัดเกลาตัวเองก่อน เราบริสุทธิ์ใจพอมั๊ยที่จะเข้าไปร่วม กลับมาคำถามแรกเลยว่า ตกลงมึงไปทำเพื่อมึงจะไปตอบสนองให้กับนายใหญ่ หรือพวกต้องการป้อนอำนาจให้นักการเมืองหรือพวกอยู่ในอำนาจหรือยังไง อย่างตอนที่ผมกา ผมก็ต้องกาเพื่อไทย ถูกมั๊ย จะไปกาไม่ออกเสียงอะไรก็ไม่ได้ ผมต้องไปกาเพื่อไทย ผมก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าผมกาไปเพื่ออะไรวะ กาไปเพื่อให้มันไปมีอำนาจหรือยังไง แต่อย่าลืมว่าระหว่างทางนี้คือขบวน สิ่งที่มันขาดจริงๆก็คือเรื่องของขบวน มันก็มีการเติบโตอยู่นะ กระบวนการทางความคิดอะไรก็เติบโต แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่เป็นเป้าหมายจริงๆ เป็นประโยชน์จริงๆ ก็คือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง คุณก็ใส่ฟืนไปเรื่อยๆ เติมไปเรื่อยๆ แล้วรอบนี้นะ ผมเชื่อว่ามันจะเปลี่ยนหมดเลย เรื่องซื้อเสียง ที่ชนชั้นกลางรังเกียจ และก็เป็นข้อเท็จจริงด้วย มันถึงพร้อมที่จะเปลี่ยน เรื่องทัศนะว่าอำนาจสูงสุดเป็นของใคร รอบนี้จะเปลี่ยน เรื่องการคิดเชิงยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับอำนาจส่วนบน มันมีโอกาสที่จะโยงกันได้หมด การถกเถียงรอบนี้ มันเป็นโอกาสของการเข้าห้องเรียนครั้งใหญ่ เราไม่เคยดีเบตเรื่องนี้กันอย่างจริงจังเลยในประวัติศาสตร์ชาติไทย นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้ดีเบตในระดับชาติ ก่อนหน้านี้มันจบแล้วจบกัน รบกันทียิงกันตายแล้วก็เลิก แต่นี่ไม่ใช่ มันยืดเยื้อยาวนานพอที่จะทำให้เกิดการศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย มันยืดเยื้อยาวนานจนทำให้เกิดความรู้หรือทัศนะ ซึ่งอาจจะถูกอาจจะผิดบ้างไปตามเรื่อง เนื่องจากมันซับซ้อนมาก แต่มันก็ทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มันเป็นการดีเบตครั้งใหญ่ในสังคมไทยว่าอะไรคือประชาธิปไตย อ.สุลักษณ์เคยเล่าให้ฟังว่า ทั่วโลกเคยผ่านช่วงนี้หมด ช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มันต้องผ่านช่วงนี้ ผมถึงถือหางปริญญาเรื่องการดำรงไว้ซึ่งเหลืองแดง และเรื่องการคงความขัดแย้ง (หัวเราะ)
ความขัดแย้งสำหรับผมไม่ใช่ปัญหา ตราบใดที่คุณยังไม่ฆ่ากัน และถ้ามีกติกา ถ้าเห็นต่างไม่เป็นไร ก็ว่ากันไป
วิจักขณ์: ในภาวะความขัดแย้งมันอุดมสมบูรณ์ด้วย
สมบัติ: (หัวเราะ) ใช่มั๊ย มันไหล ข้อมูลมันไหล มีแง่มุม ได้มาถกเถียงกัน ผมก็เติบโตมาในภาวะแบบนี้ มันจริงดี
วิจักขณ์: ต่อสู้มาถึงตรงนี้ ผ่านความสูญเสีย ความเจ็บปวดมา พี่เยียวยาตัวเองยังไง ธรรมะหรือศาสนาจะช่วยเยียวยาพี่หรือคนเสื้อแดงได้ยังไงบ้าง
สมบัติ: ศาสนาต้องเป็นเรื่องอะไรที่คนยึดเหนี่ยวได้ ที่นี้ชีวิตผมไม่ได้มีคัมภีร์แบบนั้น คือผมไม่ได้มาจากพวกอ่านหนังสือธรรมะ ผมยึดหลักการของผม ไม่รู้ว่ามันตรงกับอะไรนะ มันเป็นหลักการเรื่องการเคารพความเป็นมนุษย์ ศาสนา คำสอนใด หรือหนังสือเล่มไหน ที่พูดถึงการเยียวยาคนที่อยู่ในฝ่ายที่เจ็บปวดนี้ได้ จะต้องสะท้อนถึงความเคารพในความเป็นมนุษย์ของทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายคนที่ได้รับผลกระทบ คนชั้นกลางที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย แล้วได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของเสื้อแดง แล้วก็ละเลยต่อการมีอยู่ การดำรงอยู่ หรือการจะมีชีวิตต่อไป หรือจะสู้ต่อไป ธรรมะที่ไม่เปิดให้เราสู้เลยผมคิดว่านั่นไม่ใช่ธรรมะ ไม่น่าจะเป็นหลักการที่เรายอมรับได้ แค่นี้แหละ ถ้าเคารพความเป็นมนุษย์ได้ก็จบ ผมเคารพถึงความสูญเสียของทหาร ผมเคารพถึงความสูญเสียของเจ้าของห้าง เจ้าของธุรกิจ ผมฟังได้ ปัญหาของผมตอนนี้ก็คือเสียงพวกนี้มันไม่ได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเท่านั้นเอง ถ้าคุณครอบคลุมทุกกลุ่มเมื่อไหร่ปุ๊บเนี่ย โอเค แต่สิ่งที่ถูกเอามาใช้ในตอนนี้ มันได้ถูกเว้นวรรค หรือไม่ถูกนำมาพูดในบางเรื่อง ด้วยเหตุผลว่าต้องปรองดอง แต่จริงๆมันเป็นการกดขี่ กดทับ บอกให้เราเห็นความมนุษย์ของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เขาไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเราเลย นั่นไม่ใช่การปรองดอง เมื่อคุณไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเรา คุณพูดกับเราในฐานะอะไร แล้วเราอยู่ในฐานะอะไร ในการที่จะต้องยอมรับหลักการของคุณ จำเลยหรือ?
วิจักขณ์: อันนี้เป็นสาเหตุนึงที่ทำให้คำว่าความสงบสุข หรือความดีมันใช้ไม่ได้เลยกับคนเสื้อแดงในตอนนี้
สมบัติ: เป็นยุคที่ความดีเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เป็นยุคที่ความดีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เมื่อไรก็ตามที่ความดีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกระทำกับอีกฝ่าย ไอ้ธรรมาธิปไตยส้นตีน คำพวกนี้น่ารังเกียจ คุณเป็นพวกเผด็จการความดี หยาบกว่านั้นคือคุณเป็นความชั่ว คุณไม่ได้เชื่อเรื่องความดี แล้วคุณพูดความดีได้ยังไง คุณพูดปรองดองได้ยังไง มันไม่จริง อ้างคำพระ น่าสะอิดสะเอียน คุณจะอ้างทำไม ในเมื่อมันไม่จริงอย่างที่คุณเชื่อ แล้วคุณละเว้นด้วย คุณกำลังทำลายสิ่งที่เรียกว่าความดี อย่าใช้เลย พูดมาตรงๆดีกว่า ให้หยุด มิฉะนั้นราชการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการปราบปราม อย่างนี้ซะยังจะน่าสะอิดสะเอียนน้อยกว่า
วิจักขณ์: สุดท้ายนี้อยากให้พี่หนูหริ่งฝากธรรมะทิ้งท้ายจากใจคนเสื้อแดงหน่อย
สมบัติ: เราไม่ได้แกล้งที่จะมีความทุกข์โศก ความเจ็บปวด เราไม่ได้แกล้งและเราไม่ได้ปัด เรามีสิ่งนั้นอยู่เป็นเพื่อน คือ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่ความเจ็บปวดของคุณ คุณก็อย่าได้มาขโมยความเจ็บปวดของเราทิ้ง คือเรายังมีสิทธิ์ที่จะเจ็บปวด คุณเคยเห็นแม่ตีลูกมั๊ย ตีแม่งแตกเป็นแนว “หยุดร้องเดี๋ยวนี้ มึงไม่หยุดกูจะตีมึงอีก” จะทำกันอย่างนี้รึ... คุณไม่มีสิทธิ์เอาไม้ออกมาหวดใคร คุณไม่เข้าใจความเจ็บปวดของเรา แล้วคุณยังจะขโมยความเจ็บปวดของเราไปทิ้งส้วมอีก
 
___________________________________________
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: ถ้าพี่ถูกจับ...ใส่เสื้อแดงไปเยี่ยมด้วยนะ

Posted: 27 Jun 2010 10:37 AM PDT

<!--break-->

 

ถ้าพี่ถูกจับ...ใส่เสื้อแดงไปเยี่ยมด้วยนะ                      แล้ววาระ...นี้ก็เดินทางมาถึง

ท่ามกลางกระแสลมอึงคะนึง                                    เสรีภาพพี่ถูกขึงตรึงโซ่ตรวน

 

แม้รู้ว่าจะปวดเจ็บและเหน็บหนาว                  กัดกลืนก้อนขื่นคาวร้าวลมหวน

อุดมการณ์พี่มั่นคงไม่เรรวน                         ดาวแสงนวลไม่ได้เห็นไม่เป็นไร

 

ขอหยัดยืนขึ้นท้าท้องฟ้ามืด                         จันทร์แสงจืดชืดชาลาลับหาย

อยู่ที่นั่นนอนหลับบ้าง...นะพี่ชาย                  ฟูกแข็งไหมไหนผ้าห่มกันลมแรง

 

บนดินแดนที่แร้นแค้นเสรีภาพ                      คนเปื้อนบาปซ่อนกายในคราบแฝง

คุกคือที่ขังคนกล้ามิเปลี่ยนแปลง                  รู้ว่าพี่เข้มแข็งแกร่งเพียงพอ

 

แล้วจะใส่เสื้อแดงไปเยี่ยมนะ                                   เสรีภาพอาจไม่ได้มา...ด้วยร้องขอ

แต่อย่างไรผองเราจะเฝ้ารอ                         ให้ บก. กลับมา... “อาทิตย์สีแดง”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา: แนวโน้มสถานะประชาธิปไตยไทยท่ามกลางความขัดแย้ง "ฐิตินันท์" ท้าตรวจสอบการใช้งบ ศอฉ.

Posted: 27 Jun 2010 09:55 AM PDT

"ฐิตินันท์" ชี้ประชาธิปไตยถึงทางตันเกิดเผด็จการพันธุ์ใหม่ วอนรัฐเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ท้าตรวจสอบการใช้งบของ ศอฉ. "นครินทร์" ระบุมูลเหตุ พ.ค. 53 เพราะไม่มีการกระจายอำนาจ  
<!--break-->

27 มิ.ย. 53 - เวลา 10.00 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเวทีราชดำเนินเสวนา โครงการร่วมปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 8/2553 เรื่อง “แนวโน้มสถานะประชาธิปไตยไทยท่ามกลางความขัดแย้ง” ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร มี รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,รศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสุนทร ทาซ้าย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ดำเนินรายการโดย นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ ที่ปรึกษา ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ กล่าวว่าผมไม่ค่อยชอบพูดเรื่อง เมืองไทย ผมว่ามันเป็นยุคที่พูดยากเขียนลำบาก วันก่อนอ่านคำสัมภาษณ์ของคุณประจวบ ไชยสาส์น พูดว่าอย่างนั้น ผมขอเติมนิดหนึ่งว่าเป็นยุคพูดยาก เขียนลำบาก และน้ำท่วมปาก เพราะฉะนั้นจึงพูดยากเข้าไปใหญ่
วันนี้ต่างชาติมองการเมืองไทย หลากหลาย แต่รวมๆแล้วเขาคิดว่าประเทศไทยมีปัญหา ประชาธิปไตยไทยมีปัญหา แต่ที่ผมสังเกตบางครั้งต่างชาติก็มองในแง่ดี สมมติว่ามีคนมองว่าดี ทางการหรือรัฐบาลจะออกมาตีข่าวเป็นข่าวใหญ่ เช่น ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนโลกของสหประชาชาติ ( สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว)
ขณะที่สื่อต่างชาติตอนนี้กำลังโดนโจมตีอย่างหนักภายในประเทศไทย ซีเอ็นเอ็น บีบีซี ผมก็มีข้อสังเกตว่าในวันเกิดเหตุการณ์และช่วงพฤกษาคม ผมไม่ได้ดูซีเอ็นเอ็น ไม่รู้เขารายการกันอย่างไร เป็นได้อาจเอียง และสังเกตว่า พวกสื่อต่างชาติที่รายงานช่วงนั้นจะไม่พูด ไม่ระบุว่าที่แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เริ่มชุมนุม เนื่องจากคุณทักษิณโดนยึดทรัพย์ตรงๆ 2 อาทิตย์หลังโดนยึดทรัพย์ นปช.เริ่มเคลื่อนไหวบนท้องถนน เขาจะพูดถึง นปช. มาเรียกร้องประชาธิปไตย ก็โดนโจมตีหนัก
แต่ผมสังเกตว่าสื่อต่างประเทศ ถ้ารายงานอะไรที่รัฐบาลชอบ คนที่สนับสนุนรัฐบาลชอบ เขาไม่ปฏิเสธ เช่น เรื่องเสื้อดำ ข่าวครั้งแรกที่จำได้ รายงานโดยไฟแนนเชียลไทม์ พวกผู้ประท้วงเสื้อแดงมีกองกำลังติดอาวุธเป็นเสื้อดำ ก็เป็นข่าวที่รัฐบาลนำมาขยายความ เรื่องอัลจาซีราห์ สัมภาษณ์ทนายความคนใหม่ของคุณทักษิณ นายโรเบิร์ต อัมเตอร์ดัม สัมภาษณ์อย่างเข้มข้นเรียกว่า นายอัมเตอร์ดัมหงุดหงิดเลย เป็นข่าวใหญ่ในแวดวงการของไทย เพราะนายอัมเตอร์ดัมโดนอัด และข่าวนี้เป็นที่ชอบของทางการและผู้สนับสนุนรัฐบาลทั้งหลาย
ดร. ฐิตินันท์ กล่าวต่อว่า อีกข่าวใน AP ประมาณอาทิตย์ที่มีความตึงเครียด รายงานราชประสงค์ไม่ใช่เทียนอันเหมิน ข่าวนี้ก็ได้รับการขยายความ ผมจึงไปดูภาคส่วนอื่นๆ นักลงทุน นักท่องเที่ยว ทูตานุทูตที่มาสังเกตการณ์เสื้อแดงและต่างประเทศ นักข่าวต่างประเทศ นักธุรกิจระหว่างประเทศ มูลนิธิต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ ถ้ามีมุมมองที่ไม่สอดคล้องกับทางการ จะมีข้อสรุปที่ตามมาว่าไม่เข้าใจประเทศไทย หวังร้าย ดีไม่ดีอาจเพราะคุณทักษิณจ้างมา ไปรับสตางค์ มีความอคติ ลำเอียง และกระแสโทษต่างชาติ หรือไม่ไว้ใจ ยิ่งจะแรงขึ้นเข้มขึ้นไปอีก กระแสเมินและต่อต้านโลกของข้างนอก เหมือนประเทศไทยโดนปิดล้อม ด้วยทักษิณด้วย โลกาภิวัตน์ด้วย เหมารวมเลยในเชิงคลุมเครือ ว่ามีพลังขับเคลื่อนจากข้างนอกที่มาหวังร้ายปองร้ายกับไทยโดยมีอคติ
เป็นมุมมอง ปรากฎการณ์ที่ไม่น่าแปลก เพราะเรามีอย่างนี้มาตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจ มีแอนตี้โลกาภิวัตน์ ข้าวแกงIMF มีกระแสชาตินิยม ตั้งแต่สมัยคุณทักษิณ จนกระทั่งไล่IMF ออกไป ถ้าเรามีปัญหาหนักๆ กระแสต่อต้านข้างนอกจะมาเร็วขึ้น และจะมีกระแสแรงขึ้นไปอีกและต่อเนื่อง ในหมู่คนไทยเองที่มีปฏิสัมพันธ์กับข้างนอก ต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น คนศึกษาเมืองนอกมานานๆ คนไทยบริโภคข่าวต่างประเทศ มีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างประเทศ ถ้ามีมุมมองสอดคล้องกับรัฐบาลก็แล้วไป ยิ่งไปกันได้ดี กระแสไปอย่างนั้น ถ้าไปตามกระแสก็แล้วไป
ถ้าทวนกระแส มีผลตามมา อาจถูกมองมีอคติ ได้รับการจ้างวาง หรือไปอยู่เมืองนอกนานไม่เข้าใจเมืองไทย แต่ถ้าคนในซีกรัฐบาล หรือท่านนายกฯเอง ไปอยู่เมืองนอกมาแต่เข้าใจเมืองไทยดี จะเป็นกระแสเข้มขึ้นเรื่อยๆ ผมก็ค่อนข้างปลงแล้วที่จะเป็นแบบนี้ กระแสต่อต้านและเมินต่างประเทศ ไม่เป็นไร ปลงแล้ว ผมก็ทำใจ เหมือนกับว่าสังคมไทยเวลานี้ มีความสองจิตสองใจ ถ้าดีเอา ถ้าไม่เห็นด้วยบอกว่าไม่เข้าใจ มีอคติต่างๆ นานา และเป็นยุคที่แปลก เป็นยุคที่แปลกมากขึ้น ใครเสนอต่างจะมีกระแสมาป้ายสี กดดัน ข่มขู่ กวาดล้าง ถึงบอกว่าต้องปลง
ประเด็นที่2 เรื่องสถานะประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไทยถึงทางตัน สังเกตได้ว่าทางตันไม่ต้องการเข้าสู่การเลือกตั้งเร็ว ผมคิดว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์อาจอยู่เกือบครบเทอม นายกฯเคยกล่าวไว้อยู่ไม่ครบเทอม ผมคิดว่าคงอยู่ไปเหลือเวลาอีก 2 อาทิตย์ก่อนครบเทอมไม่กี่วัน ทางเทคนิคถือว่าไม่ครบเทอม แต่กว่าเลือกตั้งก็เหมือนอยู่ครบเทอม
ทางตันคือผู้สนับสนุนของรัฐบาลไม่ต้องการให้เลือกตั้งเร็วๆ นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ไม่สามารถทำให้ปรองดองกันได้ในช่วงประท้วง พวกนปช.ต้องโทษตัวเอง เขาเสนอ 14 พ.ย.มาให้แต่ก็ไม่รับ จะทะเลาะกันเอง คุณทักษิณ หรือผู้ชุมนุมไม่รับหลังจาก 10 เม.ย.ก็ว่าไป เมื่อไม่รับแล้ว ซีกนายกฯ ก็ถอนข้อเสนอนี้ เราต้องถามว่าเขาไม่รับ เราพอจะเห็นได้ว่าคุณทักษิณอาจต้องการเร็วกว่านั้น พวก นปช.อาจทะเลาะกัน คนที่มาประชุมอาจรับไม่ได้ แต่นายกฯถอน ผมก็ตั้งคำถามว่าถอนทำไม เพราะถ้าเกิดจะเสนอเพื่อหาทางออกให้เขาลง ก็ควรเสนอไว้ รับก็รับ ไม่รับก็ยังอยู่ เหมือนซีกของ นปช. ความผิดอยู่กับเขา พอถอนก็เลยพลิกผัน รัฐบาลของอภิสิทธิ์ ผู้สนับสนุนข้างหลังก็ไม่อยากมีการเลือกตั้ง ถ้าไม่เลือกตั้งแล้วไม่ชนะจะทำอย่างไร ปชป.ยังแพ้
ถ้าตัวต่อตัว ปชป.กับเพื่อไทยยังสูสี ดีไม่ดีอาจแพ้ เพราะเป็นพรรคร่วม เลือกตั้งเป็นทีม พรรคเพื่อไทยกึ่งโดดเดี่ยว อาจชนะได้ นี่คือแผนที่ปฏิบัติอยู่ พยายามมีงบประมาณออกมา มีการเยียวยา มีการอัดฉีด มีการเด็ดหัว สูบเลือดท่อน้ำเลี้ยงออก กดแกนนำ กวาดล้างฮาร์ดคอร์บ้าง ขู่บ้าง หวังว่าขบวนการเสื้อแดงอ่อนกำลังลง ดีไม่ดีหากมีการเยียวยาเพียงพอ อาจหมดไปก็เป็นได้
คิดว่าจะทำให้เลือกตั้งเร็วไม่ได้ เขาจะต้องใช้เวลาให้มากที่สุด ทั้งแจกจ่ายเยียวยา กดแกนนำ กวาดล้างเพื่อเอาขบวนการเสื้อแดงให้อยู่ แต่จะถึงทางตัน เมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว มีกลุ่มนักการเมือง กลุ่มผลประโยชน์จะชนะ หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีรัฐธรรมนูญ เขียนโดยคณะที่ตั้งโดยผู้ยึดอำนาจ ทางฝั่งนั้นก็ชนะเลือกตั้ง ธ.ค.2550 อยู่ดี เพราะฉะนั้นรัฐบาลที่ขึ้นมาอยู่ไม่ได้ ในที่สุดโดนยุบพรรค มีการตั้งพรรคนี้ขึ้นมา
ตอนนี้ผ่านไปนานๆ สังเกตความโจ๋งครึ่มยิ่งมากขึ้น ไม่ต้องพูดเป็นนัยยะ แอบๆ เลียบๆเคียงๆ แล้ว คือรัฐบาลนี้เป็นที่รู้กันแล้วว่า ตั้งออกมาจากค่ายทหาร มีทหารเป็นสปอนเซอร์ และเรียกกลุ่มนักการเมืองที่แปรพักตร์ออกมา ไม่งั้นไม่มีอนาคต จึงตั้งรัฐบาลผสม แต่บางครั้งต้องระบุว่ายอมรับการแล้ว สมัยก่อนต้องเรียบๆ เคียงๆ
รัฐบาลก็อยู่มา สงกรานต์ปี 2552 ก็ประท้วงกันมาแล้ว สงกรานต์เดือด หลังสงกรานต์นายกฯก็พูดอย่างนี้ มีปฏิรูปและสมานฉันท์ พูดไปทำไป1ปี แต่มีพ.ค.2553ขึ้นมา แสดงว่าล้มเหลว เพราะมีเหตุการณ์ที่เป็นหลักฐาน ถ้าสมานฉันท์สำเร็จจะไม่มีเหตุการณ์เมษายน พฤษภาคม มิถุนายนที่ผ่านมา
ถ้าเลือกตั้งอีก คนสนับสนุน ประชาธิปัตย์ ก็คิดว่าเลือกตั้งแล้ว ถ้าแพ้จะลำบาก ผมเลยคิดว่าเลือกตั้งจะไม่เร็ว และคิดว่ากลไกจาก ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)จะมีอย่างต่อเนื่อง อาจเลื้อยไปเรื่อยๆ ถึงปลายปีหรือต้นปีหน้า หรือไม่มีกำหนด อ้างเหตุผลจำเป็นบอกต้องมีอยู่
การเลือกตั้งจะเป็นตัวพลิก ปีหน้าจะถึงเวลาอยู่ดี จะทำอย่างไรถ้าเลือกตั้งแล้วแพ้ จะทำให้เรากลับไปในปี 2551 เพระามีเงื่อนไขคล้ายกัน หรือ ถ้าชนะเลือกตั้งเป็นทีมก็มีแนวโน้มสูงขึ้นที่เป็นไปได้ ต้องมีพรรคร่วมเป็นทีม แต่ปชป.ต้องเสียต้นทุนมากขึ้น ตอนนี้เห็นว่ากระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม มีความสุขกันดี สนุกเลย พรรคเล็กแต่แรงต่อรองเยอะ ก็ถึงทางตัน ถ้ามีประชาธิปไตย แต่เลือกตั้งไม่เป็นที่ยอมรับ จะผ่าทางตันนี้อย่างไร
ประการที่ 3 เกรงว่า ประชาธิปไตยไทยจะมีความเป็นเผด็จการพันธุ์ใหม่มากขึ้น รู้สึก ศอฉ.มีพฤติกรรมคล้ายคณะปฏิวัติ เขาจะเรียกใครไปสอบก็ได้ ไปแช่แข็งบัญชีใครก็ได้ เขากักขังคนได้7วัน และต่อเวลาได้ อำนาจของศอฉ.น่าเป็นห่วง และไม่มีใครตรวจสอบเลย
ได้ยินว่า ศอฉ.ใช้เงินมือเปิบเลยตอนนี้ ใช้ไปเท่าไรแล้ว ได้ข่าวสมาชิกศอฉ.ได้สตางค์พิเศษนอกเหนือเงินเดือน เป็นรายวัน โฆษกศอฉ.ได้เงินพิเศษเป็นรายวันหรือไม่ ขอให้ตรวจสอบบอกมาว่าได้เท่าไร ไม่งั้นใครจะไปตรวจสอบศอฉ.
บางครั้ง ตั้งคำถามว่าถ้าไม่มีกองทัพ ปัจจุบันรัฐบาลอภิสิทธิ์จะเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีรัฐบาลนายกฯชื่ออภิสิทธิ์ กองทัพจะเป็นอย่างไร 2 คำถามนี้ทำให้เห็นว่าเขาเอื้อกัน พึ่งพาพึ่งพิงกันอย่างแน่นแฟ้นและด้วยดีพอสมควร
หลัง 10 เม.ย. ทหารต้องการทำรัฐประหาร ด้วยรู้สึกเจ็บแค้นมีกลุ่มติดอาวุธมายิงทหารออกไปปราบที่มีแต่โล่กระบอง เท่าที่สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องยืนยันได้ว่าทหารกระสับกระส่ายมากคืนนั้น ถ้าทำแล้วจะทำอย่างไรต่อ เขาจะลำบาก ขณะเดียวกันรัฐบาลถ้าไม่มีกองทัพหนุนหลังก็ไปไม่รอด ทั้งเมษายน52 และเมษายน-พฤษภาคม53 และเป็นการอิงกันลักษณะมีความเผด็จการมากขึ้น มีการบงการ การสั่งที่นอกเหนือกฎหมาย ละเมิดสิทธิ์เสรีภาพ เช่นการเรียกคนเข้าไปสอบเฉยๆ ไปเคาะประตู เอาบัญชีขึ้นมาเป็นบัญชีดำ
สังเกตบัญชีดำ 83 บัญชี ต้องมีท่อน้ำเลี้ยงแดงแน่นอน แต่ไม่ใช่ทุกคน ใครจะไปติดแหบ้าง ขึ้นอยู่กับศอฉ.ตัดสินอย่างไร ตอนนี้ไม่ต้องมีรัฐประหารแล้วคิดว่าเขาไปด้วยกันได้ดี และหลังเปลี่ยนผบ.ทบ. ก็ยิ่งจะแน่นแฟ้นขึ้นอีกหน่อย เพราะแบ็กเขาแบ็กเดียวกัน เป็นปรากฎการณ์เผด็จการพันธุ์ใหม่ ไม่ใช่เผด็จการทหาร แต่เป็นเผด็จการพลเรือน
เรื่องการซื้ออาวุธ การเลื่อนขั้น การเปลี่ยนตำแหน่งหมุนเวียน งบประมาณ ภาคใต้ บางเรื่องกองทัพเป็นเอกเทศเลย รัฐบาลไม่แตะ กองทัพได้โดยที่ไม่ต้องรัฐประหาร แต่มีข้อจำกัดที่เขาต้องทนอยู่กับรัฐบาลพลเรือน กองทัพมีความชอบธรรม เป็นประชาธิปไตย เอกเทศโดยไม่ต้องรัฐประหาร ขณะเดียวกัน รัฐบาลพลเรือนต้องพึ่งกองทัพ ต้องพึ่งกำลัง เขาต้องพึ่งกองทัพในการกดคู่ต่อสู้ ต้องพึ่งหลายหน่วยงานกดคู่ต่อสู้ เพื่ออยู่ต่อไป และกลับมาหลังการเลือกตั้ง
หาทางออกยาก วิธีหนึ่งต้องปล่อยนักการเมืองที่ถูกห้ามออกมา ไม่งั้นเสื้อแดงไม่มีแกนนำเป็นทางเลือกใหม่ ถ้าคิดว่าเขามีตัวตน มีความรู้สึกนึกคิด เขาอาจมีแนวทางมีตัวเลือกใหม่ ถ้าปล่อยพวกนั้นเร็วก่อนกำหนด สนามเลือกตั้งจะเข้มข้น พรรคเพื่อไทยจะไม่ชอบ ปชป.ยิ่งไม่ชอบใหญ่ คนบอกถ้าไม่ใช่อภิสิทธิ์แล้วใครจะเป็นนายกฯ ผมบอกว่าก็คุณไปห้ามเขาหมด ต้องปล่อยพวกนี้ออกมาจะมีตัวเลือก ไม่งั้นจะเป็นทางตันอย่างต่อเนื่อง
รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ กล่าวว่า ประชาธิปไตยในมิติประวัติศาสตร์ อธิบายได้ว่า ช่วง 25 ปีแรก ประชาธิปไตยประเทศไทย เป็นรูปแบบกึ่งประชาธิปไตย มีรัฐบาลกึ่งผสมผสานระหว่างพลังของสังคมและพลังคณะราษฎร มีความขัดแย้งที่สืบทอดมาจากประวัติศาสตร์การเมืองหลายๆครั้งให้เห็น อาทิ มีนายกรัฐมนตรีคู่ 2 คน รวมถึงการเนรเทศนายกรัฐมนตรีออกนอกประเทศ ก็เคยเกิดขึ้นในสมัยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกฯ เพียง 1 เดือน และอยู่นอกประเทศถึง 14 ปี ซึ่งหลังจากนั้นในพ.ศ. 2516 ได้ก้าวเข้าสู่ยุคทหารปกครองประเทศ เป็นเผด็จการเต็มรูปที่เป็นประชาธิปไตยแบบไทย โดยมีจุดพลิกผัน คือ ประเทศไทยก้าวไปสู่เป็นอำนาจแบ่งปันหลายฝ่าย มีรัฐบาลผสมหลายพรรค
 “สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ ปี 2540 ที่ส่งผลให้การเมืองไทยเป็นเช่นปัจจุบัน คือ มีการพยายามทำ รัฐบาล 2 พรรค แต่สุดท้ายเกิดเป็นพรรคเดียว เป็นอำนาจไม่กระจาย กระจุกอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น และมีการเอาหลักตรวจสอบการใช้อำนาจเข้ามาด้วย เกิดการจัดตั้งองค์กรอิสระมากมาย ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ ในการเปลี่ยนระบบการเมืองไทย”?
รศ.ดร.นครินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนมิติทางสังคม ของคนไทยมีลักษณะพิเศษ มีการเคลื่อนไหวมีแต่รูป ไม่มีเนื้อหาสาระ ไม่มีรากฐานที่ยาวนาน ทำให้มีโครงสร้างการรวมกลุ่มเพื่อสาธารณะอ่อนแอ มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่มากนัก เกิดเป็นการเมืองที่มีแต่รูป ไม่มีเนื้อหาสาระอยู่ข้างใน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต้องฝ่าฟันอีกมาก ในการสร้างค่านิยมใหม่ๆขึ้นเพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ ?
“อย่างเหตุการณ์ หลัง พ.ค. 2553 ก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีโครงสร้างเดียวกัน แต่การต่อสู้ทางการเมือง แต่ยังเป็นฉากละครเดียวกันกับปี 2540 ในสภาพสังคมไทยมีความหลากหลาย แตกแยก ซึ่งการมองสังคมว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นเพียงการจินตนาการที่เข้าใจความแตกแยกไม่ชัดเจน โดยอย่าคาดหวังว่าประเทศไทยจะศิวิไลซ์ เพราะไม่ได้มีความเป็นเสรีนิยม มาก่อนโดยพื้นฐาน แต่มีแนวโน้มเป็นอำนาจนิยมเสียมากกว่า”
สุนทร ทาซ้าย กล่าวว่า ประเทศไทยยังเป็นประชาธิปไตยที่ยังไม่โต มองได้ 3 ปัญหา คือ ระยะแรก จากการเปลี่ยนแปลงปี 2475 คือ มีการเปลี่ยนแปลงรัฐประหาร แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอำนาจ 2. มีการเลือกตั้งมากขึ้นจนเกิดปัญหาใหม่ คือ การเมืองไทย ไม่ตอบสนองการแก้ไขปัญหา มีนักธุรกิจ สู่การเมืองมากขึ้น มีการซื้อเสียง ซื้อพรรคการเมือง และองค์กรอิสระ ถูกครอบงำจากทุกส่วน และ 3.ประชาธิปไตยไทยไม่สามารถขจัดความขัดแย้ง โดยใช้วิธีการอย่างสันติ อาจมีแนวโน้มไปถึงความรุนแรง ซึ่งหากไม่สามารถเอาชนะในสภา จะมีการลงไปเอาชนะกันข้างถนน เกิดเป็นปัญหาที่ใหญ่ระดับประเทศ
“ปัจจุบัน คนมักคิดว่า หากไม่มีการตายเกิดขึ้น การชุมนุมจะไม่ชนะ ซึ่งเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตยของประเทศมาก ซึ่งหากยังแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยสันติไม่ได้ แผนปรองดองหรือแม้กระทั่งการแก้รัฐธรรมนูญจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จากวัฒนธรรมคนไทยไม่เป็นประชาธิปไตย จนในที่สุดก็จะไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งว่าต้องพยายามเอาการเมืองจากท้องถนนขึ้นมาต่อสู้กันบน สภาให้ได้เช่นเดิม”
รศ.สุริชัย หวันแก้ว กล่าวว่า วิกฤตประชาธิปไตยไทย ไม่ใช่วิกฤตระบอบเท่านั้น แต่ทุกคนรู้สึกได้ ว่าเกิดอะไรขึ้น เพียง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งกำลังมาถึงจุดที่เกิดการเกลียดชังกันและรุนแรงแบบที่คนที่ไม่รู้จักกัน สามารถฆ่ากันได้ จากประสบการณ์ของประเทศที่ไม่เคยมี ซึ่งในครั้งนี้ เกิดเป็นความรุนแรงไกลไปจนถึงต่างจังหวัดด้วย?
“ประชาธิปไตยที่ลอกกันมา จากต่างประเทศ หลายฝ่ายเข้าใจว่าสำคัญที่สุด แต่การเลือกตั้งแบบตัวแทน ไม่ได้เชื่อมต่อความจำเป็นของประชาธิปไตยแบบประเทศไทย ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เสื้อเหลือง เสื้อแดง ที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ และชนชั้นกลางมีบทบาททางการเมืองมาก แสดงให้เห็นว่าหมดยุคแล้วว่า จะมองสังคมไทยโดยไม่จำแนก เพราะคนที่เสียสละก็เป็นคนในสังคมไทย คนไทยมีจิตสำนึก แต่ไม่ใช่ข้อยกเว้น และหมดยุคมองวัฒนธรรมไทยแบบเหมารวม ต้องทำความเข้าใจใหม่กับสังคม ปัญหาใหญ่คือ ข้อเสนอการปรองดองแห่งชาติ การให้เรามีการปฏิรูป ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในสังคมไทยแค่ไหน มีโอกาส การใช้รัฐบาลจากกาเรลือกตั้ง การใช้เครื่องมือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงเป็นเรื่องอนาคตไม่ตายตัว ต้องเปิดกว้างให้เราคิดร่วมกัน ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่ปรับท่าทีต่อสถานการณ์ กังวลว่าอนาคตจะไม่สามารถเดินต่อไปได้"
รศ.สุริชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญ ขอเพียงอย่ามี ความระแวง โกรธ และเกลียดกัน ขณะที่ รัฐบาลประกาศเรื่องปรองดอง ควรสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกัน เปิดใจร่วมคิดร่วมทำ ยังหวังพึ่งพิงเชิงเครื่องมือ ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่การปฏิรูปการเมือง ต้องปฏิรูปการทำงานของรัฐบาลด้วย ในสิ่งที่เรียกว่า อำนาจนิยมถึงเวลาที่รัฐบาลต้องทบทวน และมีความรับผิดชอบต่อความสร้างความรุนแรงทางการเมือง โดยที่รัฐบาลต้องใจกว้าง ปรับปรุงการทำงานตนเอง ปฏิรูปราชการก็ต้องเร่งดำเนินการ?
 
ที่มาข่าว:
ถกแนวโน้มสถานะปชต.ท่ามกลางความขัดแย้ง
http://www.thairath.co.th/content/pol/92284
"ฐิตินันท์ "ฟันธง การเมืองถึงทางตัน เลือกตั้งปีหน้า ลอกคราบเผด็จการพันธุ์ใหม่ ท้าตรวจสอบ ศอฉ.ใช้งบ?
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1277631695&grpid=00&catid=
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้งออนไลน์: ยุทธศาสตร์ประชาธิปไตย

Posted: 27 Jun 2010 09:49 AM PDT

<!--break-->

 
 
 
และแล้วพรรคการเมืองใหม่ก็แสดงหัวจิตหัวใจเท่าอวัยวะมด เมื่อประกาศส่งสมัครรับเลือกตั้งซ่อมชั่วข้ามคืนก็ประกาศถอนตัว ด้วยข้ออ้างไม่ต้องการให้ผู้ก่อการร้ายเข้าสภา
 
จะอ้างอย่างไรก็แล้วแต่ แบบนี้เขาเรียกว่า “ฮั้ว” กันครับ และถ้าเป็น “การเมืองเก่า” ฮั้วกันแบบนี้ร้อยทั้งร้อยมีผลประโยชน์ต่างตอบแทน สมมติเช่นเขตเลือกตั้งในภาคอีสาน เค้าจ่ายกัน 5-10 ล้าน แต่ในเมื่อเป็น “การเมืองใหม่” ก็คงมิบังอาจไปกล่าวหาท่านผู้มีเกียรติมีคุณธรรมจริยธรรม เพียงขอบอกว่าสะใจที่ไพศาล พืชมงคล พูดว่าถ้าถอนตัวเพราะกลัวตัดคะแนน ปชป.ก็อัปยศ และควรฝังพรรคการเมืองใหม่ไปได้เลย
 
เอ๊ะ แล้วถ้าไม่กลัวตัดคะแนน ปชป.จะถอนตัวหาพระแสงอันใด สมัยหน้าก็คงกลัวตัดคะแนน ปชป.ถอนตัวอีก เอาไว้ให้พรรคเพื่อไทยแพ้ราบคาบกลายเป็นพรรคต่ำสิบเมื่อไหร่ พรรคการเมืองใหม่ค่อยมาลงสมัครก็แล้วกัน เอิ๊กเอิ๊ก
 
นี่แสดงว่าพันธมิตรและพรรคการเมืองใหม่ ไม่มีเป้าหมายไม่มียุทธศาสตร์ไม่มีแนวทางนโยบายอะไรทั้งสิ้น นอกจากไล่ทักษิณสถานเดียว ทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้ทักษิณและพรรคเพื่อไทยชนะ ไอ้ที่คิดจะสร้างสรรค์สังคมให้บริสุทธิ์สะอาดปราศจากคอรัปชั่นอย่างที่พูดไว้บนเวที ก็ฝากความหวังไว้กับ “ระบอบอภิสิทธิ์” ผ่านคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองของอานันท์-หมอประเวศ ก็พอ
 
ข่าววงในเค้ากระซิบด้วยนะว่า พล.อ.กิตติศักดิ์ยังเป็นแค่ตัวเลือกที่สอง ตัวเลือกแรกที่ พรรคจะส่งสมัครขอเวลาออกนอกห้องประชุมไปคิด 15 นาที ที่ไหนได้ ขับรถหายไปเลย เอิ๊กเอิ๊ก
 
ไว้เจอหน้า “สหายเก่า” เมื่อไหร่ใบตองแห้งจะแซวซะให้เจ็บ อีแบบนี้มันน่าเลือกวีระ สมความคิด ลงสมัครซะดีกว่า (แถมกล่องบริจาคให้หนึ่งใบ)
 
ฝั่งพรรคเพื่อไทยแม้จะเสียรังวัดที่ณัฐวุฒิไม่ลง ต้องเอาตัวสำรองเบอร์ 23 มาลงแทน (ข่าวบางกระแสว่าณัฐวุฒิไม่อยากตกเป็นเครื่องมือของจตุพร แต่ฝั่งเพื่อไทยอ้างว่ากลัวณัฐวุฒิโดนเล่นงานถึงชีวิต) ในภาพรวมก็ถือเป็นเกมเหนือชั้นคือไม่ต้องหวังผลแพ้ชนะ แต่ใช้การหาเสียงเลือกตั้งเล่นกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน ซึ่งฟังดูน่าสนุก มีปัจจัยเอื้อให้เล่นได้เยอะ เช่นที่ว่าจะเอาหุ่นยนต์มาหาเสียงแทน ขณะที่รัฐบาลยังดึงดันไม่ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่มีข้อยกเว้นให้หาเสียงได้ เอ้า ก็คอยดูไปสิครับ ปราศรัยหาเสียงด่ารัฐบาลได้ไหม ด่า ปชป.ได้ไหม ด่า ศอฉ.ได้ไหม นักข่าวฝรั่งคงงานเข้าอีกแล้ว เพราะสุเมธ ชุมสาย จะบอกว่าไม่เข้าใจประชาธิปไตยแบบไทยๆ เราเป็นประชาธิปไตยได้ภายใต้ ศอฉ.
 
ดีครับ ผมก็ไม่อยากให้ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินเร็ว อ้างกันเข้าไป ว่าเสื้อแดงยังลงใต้ดิน (อ้าว ก็มึงห้ามเขาขึ้นบนดิน) ว่าเสื้อแดงลอบวางระเบิดพรรคภูมิใจไทย (น่าสงสารนะ ไอ้พวกผู้ก่อการร้ายเสื้อแดงเนี่ยทำอะไรไม่สำเร็จซักอย่าง เอาอาร์พีจียิงวัดพระแก้วก็โดนกระทรวงกลาโหม เอาปืนติดกล้องยิงทหารก็ไพล่ไปโดนพวกกันเองตายเกลื่อน) ยืดไปอีกซักครึ่งปีก็ได้ จนจบคดียุบพรรค ปชป. หรืออ้างว่ายังมีคนคิดจะยิงหัวอภิสิทธิ์ล้างแค้นแทนเสธแดง แบบนั้นก็ประกาศภาวะฉุกเฉินไปจนอภิสิทธิ์แก่ตายเหอะ
 
แต่พูดจริงๆ ก็ยังมองไม่เห็นว่ายกเลิก พรก.ฉุกเฉินแล้ว ขบวนประชาธิปไตยที่มีเสื้อแดงเป็น subset จะสามารถปรับตัวและเริ่มการต่อสู้รอบใหม่ได้อย่างไร เผลอๆ ยกเลิก พรก.ฉุกเฉินแล้วก็จะไปทำอะไรทะเล่อทะล่าเข้าทาง Teen ระบอบอภิสิทธิ์อีก เพื่อนพ้องน้องพี่บางคนที่คุยกันก็ห่วงว่าจตุพรยังลอยนวลอยู่ ถ้าปล่อยให้จตุพรหรือทักษิณนำการเคลื่อนไหวอีก ก็อาจนำไปสู่ความพ่ายแพ้รอบที่สาม เพราะพวกนี้คิดแต่จะทำอะไรสุ่มเสี่ยง ไม่มีความอดทนพอ
 
สู้ทางความคิดต้องอดทน
 
ก่อนอื่นต้องยกย่องว่าการต่อสู้ของเสื้อแดงแม้จะสุ่มเสี่ยงล้ำหน้าจนเสียหาย แต่ก็มีคุณูปการส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะการปลุกให้มวลชนจำนวนมหาศาลตื่นขึ้นมามองเห็นความไม่เป็นประชาธิปไตยและความยุติธรรมสองมาตรฐานของระบอบอภิสิทธิ์ชน มวลชนเสื้อแดง ณ วันนี้ไปไกลลิบและไม่มีวันถอยกลับ ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อว่าเกิดขึ้นได้ในเวลาเพียง 3-4 ปี เพื่อนพ้องฝ่ายซ้ายเก่าของผมยังหัวร่องอหงายที่นักการเมืองทุนท้องถิ่นอย่างบรรดา ส.ส.พรรคเพื่อไทย อย่างไชยา สะสมทรัพย์ อย่างสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ซึ่งไม่เค้ยไม่เคยคิดฝันว่าจะ “โค่นอำมาตย์” ยังต้องพลอยโจนไปกับมวลชนด้วย
 
พลังของเสื้อแดงที่ร้อนแรงรวดเร็วเพียงนี้ ก็เพราะมาจากการเคลื่อนไหวมวลชนผ่านสื่อ คือทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน ซี่งมีอิทธิพลเร้าอารมณ์ความรู้สึกคน ไม่ต่างจากพันธมิตรสร้างสาวกขึ้นจาก ASTV แต่มีจุดแข็งก็ต้องมีจุดอ่อน จุดอ่อนก็คือมันเป็นพลังที่วูบวาบ ใจร้อน อยากชนะเร็ว การเผยแพร่ความคิดยังไม่ลึกซึ้งพอ
 
พลังที่ใจร้อน อยากชนะเร็ว มักไม่อดทนกับการต่อสู้ทางความคิดที่ต้องใช้เวลา และเมื่อลุกฮือขึ้นมาแล้วแพ้ ก็เป็นอันตรายที่จะท้อแท้ หักศึก หรือโกรธแค้นแล้วแสดงออกอย่างสะเปะสะปะไม่มีเป้า
 
นั่นจึงเป็นคำถามตัวเบ้อเร่อว่า การต่อสู้รอบใหม่จะเริ่มขึ้นได้อย่างไร ภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน ไม่มีสื่อ ไม่มีพีเพิลแชนเนล ไม่มีวิทยุชุมชน มีแต่มวลชนที่อารมณ์ค้าง แล้วก็พูดกันถึงแต่จะลงใต้ดิน ไม่มีอารมณ์จะมาเคลื่อนไหวมวลชนแบบเดิมๆ อีกแล้ว
 
ไอ้ที่เคยคิดจะไประบายพลังใส่การเลือกตั้งก็เลิกหวังได้แล้วครับ ถ้าเลือกตั้งต้นปีหน้า พรรคเพื่อไทยแพ้แหงๆ เพราะระบอบอภิสิทธิ์จะใช้ช่วงเวลาที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี่แหละไล่บี้สลายเครือข่ายการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ทั้งเครือข่ายทางการเงิน เครือข่ายกลไกราชการ เครือข่ายหัวคะแนน
 
พูดอย่างนี้ไม่ใช่จะมองแต่ด้านที่เลวร้าย เพราะด้านบวกก็มีอยู่ ระบอบอภิสิทธิ์ภาพลักษณ์ตกต่ำถึงขีดสุดในสายตาต่างประเทศ รวมทั้งเป็นปรปักษ์กับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ (เพราะรากฐานของระบอบนี้คือความคิดอนุรักษ์นิยม ชาตินิยมสุดขั้วดูถูกพม่า ลาว เขมร ญวน) ภายในเองก็เป็นรัฐบาลการเมืองเก่าโคตร ดำรงอยู่ด้วยการตอบแทนผลประโยชน์ รวมหัว ส.ส.มาขอเก้าอี้เสนาบดี
 
ขณะที่มวลชนเสื้อแดง แม้จะถูกตีแตกกระจัดกระจาย แต่ก็อย่างที่บอกว่าไปไกลลิบ ไม่มีวันถอยกลับไปล้าหลังอีกแล้ว มวลชนเสื้อแดงที่เราพูดถึงวันนี้ไม่ใช่แค่คนจนคนชนบท แท็กซี่ สามล้อ เพราะคนที่ไปราชประสงค์มีไม่น้อยที่เป็นคนมีเงินระดับร้อยล้าน เป็นนายพลเกษียณ เป็นอดีตข้าราชการระดับสูง พร้อมกันนั้นก็ยังมีพลังของคนชั้นกลางที่รักประชาธิปไตย ที่ไม่ใช่เสื้อแดง เครือข่ายนักเคลื่อนไหว นักวิชาการ ที่แสดงบทบาทอย่างโดดเด่น
 
ปัญหาก็คือจะรวมพลังคนทั้งหลายอย่างไร จะสร้างการนำใหม่ที่ไม่ขึ้นกับจตุพร-ทักษิณ แต่ถ่ายเดียวได้อย่างไร จะวางยุทธศาสตร์การต่อสู้ที่เป็นจริงได้อย่างไร ที่ไม่ใช่แค่การเอามวลชนมาสุ่มเสี่ยงและหวังให้เกิดรัฐประหารหรือหวังพึ่งการเปลี่ยนขั้วอำนาจในชนชั้นนำ อย่างที่ทักษิณทำ
 
แล้วก็ไม่ใช่ยุทธศาสตร์เพ้อเจ้อที่ไปคิดเรื่องการลงใต้ดิน เอาชนะโดยการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ เพราะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องเอาชนะกันด้วยความคิด เอาชนะกันทางการเมือง แล้วจึงจะนำไปสู่การโค่นล้มอำนาจเผด็จการที่ครอบงำอยู่ ซึ่งถ้าศึกษาตัวอย่างของหลายประเทศ เช่น รัสเซียยุคเยลต์ซิน ฟิลิปปินส์ยุคอาควิโน เขาไม่ได้มีกองกำลังติดอาวุธนะครับ แต่ต่อสู้กันทางการเมืองจนถึงจุดหนึ่งระบอบมันพังทลาย พ่ายแพ้ทางการเมืองไปแล้ว รัฐมีกำลังทหารมากมายแต่สั่งทหารไม่ได้ ทหารไม่เอาด้วย มวลชนลุกฮือขึ้นมาโค่นล้ม
 
โอเค เราอาจจะแตกต่างตรงที่มีคนชั้นกลาง สื่อ นักวิชาการ ผู้ขายวิญญาณประชาธิปไตย แต่นั่นแหละที่ต้องต่อสู้ทางความคิดกันอย่างจริงจัง และคนเหล่านี้ก็กำลังเสื่อมลงไปเรื่อยๆ กับบทบาทการรับใช้ระบอบอภิสิทธิ์ (แม้จะทำกระบิดกระบวนไม่อยากให้รัฐบาลตั้งเป็นประธานปฏิรูปประเทศ ต้องใช้หน้าม้าในนามภาคประชาสังคมล่ารายชื่อกันเข้ามา)
 
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทย อยู่ที่การต่อสู้ทางความคิดและทางการเมืองเป็นสำคัญ เพราะเผด็จการครึ่งใบของชนชั้นนำที่ดำรงอยู่ ก็ดำรงอยู่ได้ด้วยการครอบงำทางความคิด ทางวัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ ในเรื่องคุณธรรมความดีงามนอกระบบ การต่อสู้ทางความคิดนี้จึงต้องใช้เวลา และต้องใช้การเอาชนะกันทางเหตุผล ไม่ใช่เอาชนะกันด้วยการโค่นล้มตัวบุคคลหรือองค์กรสถาบัน เหมือนโค่นล้มมาร์กอสหรือซูฮาร์โต หรือเยลต์ซินโค่นพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย การต่อสู้ของเราจำเป็นต้องขีดเส้นว่าตัวบุคคลหรือองค์กรสถาบันยังอยู่ แต่ความคิดของสังคมต้องก้าวไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ เหมือนเช่นสถาบันกองทัพยังต้องดำรงอยู่ แต่ต้องปฏิรูปให้เป็นอย่างอเมริกา ให้อยู่ภายใต้อำนาจการเมืองที่ชอบธรรม บังอาจปากบอนแบบ ผบ.อัฟกานิสถานก็ต้องตกเก้าอี้
 
การต่อสู้ทางความคิดจึงต้องใช้เวลา ใช้เหตุผลโน้มน้าวให้คนส่วนใหญ่คล้อยตาม และต้องอดทน สร้างความเข้าใจที่แข็งแรงให้กับสังคม รุ่นพี่ผมคนหนึ่งเปรียบเทียบว่า เหมือนสู้กับโจรลักควาย ออกไปตามควายหายกันไม่กี่คนก็โดนโจรไล่ทุบกลับมา ต้องรอให้คนเกือบทั้งหมู่บ้านเหลืออด ออกไปตามควายพร้อมกันถึงจะชนะโจรได้
 
ในทางความคิดของคนเสื้อแดงก็เช่นกัน ดังกล่าวแล้วว่าคนเสื้อแดงลุกฮือขึ้นมาเพราะความไม่เป็นประชาธิปไตยและความยุติธรรมสองมาตรฐาน แต่พื้นฐานความคิดที่ได้จากทีวีดาวเทียมและวิทยุชุมชนยังไม่ลึกซึ้ง เพราะปลุกอารมณ์กันเสียมากกว่า เวทีเสื้อแดงก็ดูจะให้สาระเรื่องประชาธิปไตยน้อยมาก ทำอย่างไรที่จะให้พวกเขามีความคิดที่มีหลักการและเหตุผลมากขึ้น เข้าใจเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการต่อสู้ เพื่อจะก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมีพลัง
 
ผมยังคิดว่าปมเงื่อนสำคัญประการหนึ่งคือ การประสานระหว่างพลังของเสื้อแดงกับพลังของคนชั้นกลางที่รักประชาธิปไตย สื่อ นักวิชาการ ฝ่าย 2 ไม่เอา ซึ่งที่ผ่านมาก็ตะขิดตะขวงใจที่จะร่วมกับแกนนำเสื้อแดงและทักษิณ หลายคนอาจจะเดินไปดูเวทีราชประสงค์ แต่ไม่รู้ว่ากูจะไปนั่งตรงไหนและมีความหมายอะไร ณ วันนี้ความพ่ายแพ้ของแกนนำเสื้อแดงฮาร์ดคอร์และทักษิณ อาจจะเป็นโอกาสที่ทำให้เกิดขบวนใหม่ คือขบวนประชาธิปไตยที่แท้จริงที่มีเสื้อแดงเป็น subset อาจจะมีทักษิณเป็น subset แต่ไม่ใช่เป็นผู้ชี้นำจนนำไปสู่หายนะ
 
มันจะเป็นจริงได้หรือไม่ เมื่อไหร่ ยังตอบไม่ได้ เพราะมันจะต้องเป็นไปตามธรรมชาติ แต่ถ้าไม่สามารถสร้างการนำใหม่ ที่ไม่ผูกติดกับทักษิณ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ไม่มีวันได้ชัยชนะ
 
ปฏิญญาประชาธิปไตย
 
แม้ยังตอบไม่ได้ว่าเราจะก้าวข้ามทักษิณอย่างไร แต่การต่อสู้ทางความคิด การต่อสู้ด้วยเหตุผล การต่อสู้อย่างอดทน ก็คือคำตอบกว้างๆ แล้วจากนั้นก็จะเกิดการนำใหม่อย่างเป็นธรรมชาติ
 
ฉะนั้นก่อนอื่น เราจะต้องสร้างการนำทางความคิด โดยปัญญาชน นักวิชาการ คนชั้นกลาง ที่รักประชาธิปไตยและมีเหตุผล ซึ่งคนเสื้อแดงยอมรับได้และคนเสื้อสีอื่นก็ยอมรับได้ (ยกเว้นพวกปทปรมะ)
 
เป็นไปได้ไหมที่นักวิชาการ สมมติเช่น อ.นิธิ อ.ชาญวิทย์ อ.เกษียร อ.สมศักดิ์ กลุ่มสันติประชาธรรม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กลุ่ม อ.วรเจตน์ ฯลฯ จะร่วมกันสร้าง “ปฏิญญาประชาธิปไตย” สรุปแนวคิดที่จะเป็นแม่บทของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยเต็มใบ 5 ข้อ 7 ข้อ หรือ 9 ข้อ ที่มีความชัดเจนครอบคลุม เป็นเป้าหมาย เข็มมุ่ง เพื่อนำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องที่มีจังหวะก้าวพร้อมกันทั่วประเทศ ทำให้ขบวนประชาธิปไตยเข้มแข็งมีพลัง
 
ซึ่งอันที่จริงมันก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ ไม่มีอะไรพิสดาร ไม่ใช่ต้องนำเสนอทฤษฎีใหม่ที่จะปฏิวัติสังคม แต่เป็นทฤษฎีประชาธิปไตยปกติ ที่ต่อสู้กันมาเป็นร้อยปีแล้ว เป็นสิ่งที่นักวิชาการเหล่านี้ท่านพูดท่านเขียนไว้แล้ว แต่มันคือการรวบรวมให้ชัดเจน ขีดเส้นให้รัดกุม แต่แหลมคม สมมติเช่นข้อหนึ่ง เฮ้ย ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนี่ไม่ใช่ล้มเจ้านะ เราขีดเส้นว่าสถาบันจะต้องอยู่คู่สังคมไทย แต่ต้องไม่ถูกดึงมาเกี่ยวข้องกับการเมืองอีก และอย่าตีความพระราชอำนาจจนทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องผิดเพี้ยน ข้อสอง การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ได้แปลว่าจะต้องได้ทักษิณกลับมามีอำนาจหรือได้พ่อไอ้ปื๊ดเป็นนายกฯ แต่จะต้องยอมรับอำนาจอธิปไตยของเสียงข้างมากที่เลือกตั้งรัฐบาลเข้ามา ส่วนจะมีอำนาจตรวจสอบอะไรก็อย่าให้มันผูกขาดอยู่ในมืออภิสิทธิ์ชน ซึ่งใช้ความยุติธรรมสองมาตรฐาน ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น
 
คือในโอกาสอันดีที่อานันท์ หมอประเวศ เค้าจะตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศกัน ผมคิดว่านักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยก็ควรจะร่างเค้าโครงการปฏิรูปประชาธิปไตยแข่ง ให้เห็นว่าเฮ้ย ต้องทำอย่างนี้ๆๆ 5 ข้อ 7 ข้อ 9 ข้อก่อนนะ ต้องแก้ปัญหาโครงสร้างแล้วถึงจะไปปฏิรูปประเทศได้
 
หรืออย่างที่ 18+1 อรหันต์ของสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ จะปฏิรูปการเมืองแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่ม อ.วรเจตน์กับ อ.สมชาย และอาจารย์กฎหมายอีกหลายๆ ท่านที่มีแนวคิดเดียวกัน ก็น่าจะรวมตัวกันร่างรัฐธรรมนูญแข่ง ซึ่งผมเชื่อว่าพวกท่านทำได้ไม่ยากหรอกครับ แนวคิดสมบูรณ์ชัดเจนอยู่แล้ว ใช้เวลาไม่กี่วันก็อาจจะออกมาตัดหน้าได้เลย
 
ถ้าสามารถร่าง “ปฏิญญาประชาธิปไตย” ออกมา ชัดเจน รัดกุม แหลมคม 5 ข้อ 7 ข้อ 9 ข้อ แล้วตั้งคณะทำงานสักชุดหนึ่ง จัดทำเอกสารเผยแพร่ “แบบเรียนเร็วใหม่” แนวคิดที่เป็นประชาธิปไตยและถูกกฎหมาย แนวคิดเสรีประชาธิปไตยไม่มีตรงไหนผิดกฎหมายนะครับ ทำให้ก้าวหน้า เป็นระบบระเบียบ มีความสมบูรณ์ในตัวเอง เข้าใจง่าย ปัญญาชนอ่านได้ ผู้นำชุมชนอ่านได้ เผยแพร่ไปทั่วประเทศ เปิดให้ดาวน์โหลดทางเว็บไซต์ ใครจะเอาไปซีรอกซ์แจกกันก็ได้ไม่ว่าเสื้อสีแดงหรือเสื้อสีไหน ไม่จำเป็นต้องรอยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินด้วยซ้ำ เพราะถูกกฎหมาย ทหารก็อ่านได้ ศอฉ.มึงก็ห้ามไม่ได้
 
ผมเชื่อว่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งกว้างขวางมีพลัง เพราะเมื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และการนำใหม่ก็จะเกิดตามมา
 
ทำงานความคิดกันให้พร้อม แล้วจึงนำไปสู่การเคลื่อนไหว “บนดิน” เมื่อยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเริ่มจากเคลื่อนไหวอย่างมีเหตุผล มีประโยชน์ รู้ประมาณ เหมือนอย่างเช่นการเคลื่อนไหวเรื่องเขายายเที่ยง ซึ่งสร้างเครดิตให้เสื้อแดง ไม่ต้องห่วงหรอกครับ รัฐบาลการเมืองเก่าโคตร เดี๋ยวก็มีเรื่องเน่าๆ โผล่ออกมาเพียบ
 
อย่าหวังพึ่งความรุนแรง อย่าถลำไปคิดเรื่องการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ มันอาจจะเกิดขึ้น จากคนส่วนหนึ่งที่คิดเช่นนั้น จากพวกตำรวจมะเขือเทศหรือทหารแตงโม ซึ่งเราห้ามไม่ได้ แต่ถ้าใครห้ามได้ก็ควรห้าม เพราะการใช้ความรุนแรงถ้าไม่อยู่ภายใต้เป้าหมายเข็มมุ่งทางการเมืองก็มีแต่จะทำให้เสียหาย เหมือนชายชุดดำที่คิดว่าตัวเองจะเป็นตัวช่วย แต่กลับกลายเป็นทำให้ม็อบเสื้อแดงพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างย่อยยับ
 
ลองเทียบกับม็อบพันธมิตรสิครับ เขาสันติ อหิงสา อาวุธครบมือ แต่ควบคุมการใช้อาวุธได้อย่างมีวินัยเข้มงวด การเคลื่อนไหวของพันธมิตรเป็นการเคลื่อนไหวแบบหนัง Thriller คือจ่อๆ ล่อแหลมให้เกิดความรุนแรงอยู่ตลอด แต่เขาคุมไว้ได้ให้อยู่แค่จ่อๆ โอเค อาจจะมีสื่อมีเส้นมีกระแสช่วย แต่ข้อสำคัญคือพันธมิตรเอาการเมืองนำการทหารได้ตลอด
 
ยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่สามารถยึดเอาการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเป็นสรณะ เพราะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต้องต่อสู้กันทางความคิด ต่อสู้ด้วยเหตุผล ไม่ใช่ใช้กำลังบังคับ คุณจะเอาชนะทางความคิดก็ต้องหาทางเผยแพร่ โฆษณา สู้กันด้วยสื่อ ด้วยหลักการ ด้วยวาทะ การเคลื่อนไหวมวลชน การแสดงพลังมวลชน ก็คือการเผยแพร่ความคิด มีแต่จะต้องเคลื่อนไหวมากๆ สู้ทางความคิดกันมากๆ ใช้ชุดความคิดที่เหนือกว่า มีเหตุผลกว่า ขณะที่การต่อสู้ด้วยอาวุธคือการใช้คนจำนวนน้อย ปิดลับ ลอบยิง ลอบวางระเบิด ซึ่งไม่ได้เผยแพร่ความคิดอะไรเลย แค่อาจจะแสดงออกซึ่งความคับแค้นเท่านั้น
 
ผมก็ยังตอบไม่ได้ชัดหรอกว่ายุทธศาสตร์การต่อสู้รอบใหม่ควรเป็นเช่นไร แต่นำเสนอเพื่อกระตุ้นให้ช่วยกันคิด และจำเป็นต้องขบคิด เพื่อหาทางออกให้ผู้รักประชาธิปไตยทั้งเสื้อแดงและไม่แดงที่อารมณ์ค้างคากันอยู่ (ก่อนที่จตุพรกับทักษิณจะพาไปพังรอบใหม่)
 
                                                                        ใบตองแห้ง
                                                                        27 มิ.ย.53
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 21-27 มิ.ย. 2553

Posted: 27 Jun 2010 07:58 AM PDT

<!--break-->

คณบดีเศรษฐศาสตร์ มธ.ชี้รัฐบาลแก้ค่าครองชีพไม่ตรงจุด
ครอบครัวข่าว (27 มิ.ย. 53)
- นักวิชาการ ชี้รัฐบาลต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพด้วยการตรึงค่าไฟ ค่าก๊าซหุงต้ม และ เอ็นจีวี ไปถึงปีหน้า เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องลดค่าครองชีพให้ประชาชน
นางปัทมาวดี ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมต่ออายุมาตรการ ตรึงค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซหุงต้ม หรือ แอลพีจี และราคาก๊าซธรรมชาติ หรือ เอ็นจีวี ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าว่า มาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาค่าครองชีพได้ตรงจุด โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า เพราะกลุ่มที่มีปัญหาค่าครองชีพส่วนใหญ่ มักจะเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่อยู่อาศัยในห้องพัก ซึ่งไม่ต้องจ่ายค่าไฟตามมิเตอร์ แต่จะจ่ายค่าไฟคงที่กับเจ้าของห้องพัก โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์มีเพียงกลุ่มคนชั้นกลาง ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่กลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาค่าครองชีพ ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติ หรือ เอ็นจีวี จะมีผู้ได้ประโยชน์เฉพาะกลุ่ม คือกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนน และกลุ่มที่ให้บริการด้านขนส่ง เช่น กลุ่มแท็กซี่ และรถตู้ เท่านั้น ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำ เช่น กลุ่มแรงงาน และเกษตรกรที่ยากไร้ กลับไม่ค่อยได้ประโยชน์จากการต่ออายุมาตรการชุดนี้ ทั้งนี้มองว่าการตรึงราคาก๊าซหุงต้มต่อไป ถือเป็นมาตรการที่มีประโยชน์ที่สุด เพราะมีประชาชนที่ได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง
ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่าการที่รัฐบาลส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตถึง 6 % แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังสามารถแบกรับภาระได้ ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาขยับราคาต้นทุนต่างๆ ให้สะท้อนต้นทุนตลาดโลกก่อน แต่หากเห็นว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็ควรเข้าไปแบกรับภาระแทนประชาชน เพราะแม้การต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากทำให้ประชาชนมีค่าครองชีพที่ถูกลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมสามารถการแข่งขันด้านส่งออกได้ ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว และยังมีความเปราะบาง แต่ก็จะทำให้สูญเสียรายได้เป็นจำนวนมหาศาล
ศปคม.แห่งชาติ ตั้งทีมสางปัญหาแรงงาน "กานดา" แนะขจัดเรื่องใต้โต๊ะ หากไม่เร่งแก้ปัญหาเราอาจจะตกอันดับไปอีกในปีหน้า
ไทยรัฐ (
26 มิ.ย. 53) - จากกรณีที่รายงานประจำปี 2010 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุถึงประเทศไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องถูกจับตามองเรื่องการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะกรณีไทยเป็นทั้งแหล่งที่มา จุดหมายปลายทาง และเป็นจุดส่งผ่านการค้ามนุษย์ มีชนกลุ่มน้อยและเหยื่อในประเทศเพื่อนบ้านที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เรื่องการบังคับใช้แรงงานหรือล่วงละเมิดทางเพศนั้น นางกานดา วัชราภัย รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีดำการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะจุดอ่อนคือเรื่องแรงงานข้ามชาติ ที่ยังไม่มีระบบจัดการปัญหาที่ชัดเจน เนื่องจากมี ความไม่โปร่งใส ทั้งกระบวนการจ้างงาน การนำแรงงานมาใช้ โดยไม่ดูแลสิทธิพื้นฐานที่แรงงานควรได้รับ การเอารัดเอาเปรียบโดยมีกระบวนการนายหน้าที่เป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ (ศปคม.แห่งชาติ) กำลังหาแนวทางแก้ปัญหา โดยตั้งคณะอนุกรรมการดูแลแก้ปัญหาแรงงานทั้งแรงงานไทยที่ไปทำงานนอกประเทศ และแรงงานต่างด้าวที่เข้าทำงานในไทย อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าการแก้ปัญหาของเรายังไม่มีความชัดเจน เพราะมีบางอย่างที่ยังอยู่ใต้โต๊ะ
ด้าน ดร.สายสุรี จุติกุล ประธานอนุกรรมการติดตามแก้ไขปัญหาการค้าเด็กและหญิงของสหประชาชาติ กล่าวว่า ปีที่แล้วไทยก็ตกอันดับ เพราะเราพยายามทำความสะอาดประเทศ รับการประชุมเอเปค ด้วยการนำเครื่องบินขนแรงงานเขมรกลับประเทศ โดยไม่ได้มีการ ตรวจสอบว่าคนเหล่านั้นเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือไม่ และปีนี้ก็มีการเนรเทศคนเขมรกลับไปอีกโดยไม่ได้ตรวจสอบเช่นเดิม นอกจากนี้ ยังมีปัญหานายหน้าที่เอาแรงงานออกนอกประเทศ โดยมีการเก็บค่านายหน้าที่ไม่เป็นธรรม อย่างเช่น กำหนด 6 หมื่นบาท แต่เก็บถึง 3 แสนบาท เมื่อแรงงานเหล่านี้เดินทางเข้าต่างประเทศจะถูกสอบถาม จึงถูกมองว่าเป็นการค้ามนุษย์ ขณะที่กระทรวงแรงงานไทยกลับอ้างไม่พบหลักฐานจึงไม่สามารถเอาผิดได้ 2 ประเด็นนี้ทำให้ประเทศไทยโด่งดังมากเรื่องค้ามนุษย์ หากไม่เร่งแก้ปัญหาเราอาจจะตกอันดับไปอีกในปีหน้า นอกจากนี้ ยังพบปัญหาแรงงานประมงเป็นปัญหาใหญ่มาก
อีสานแชมป์ว่างงานเดือน เม.ย.
เดลินิวส์ (
26 มิ.ย. 53) - นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า จำนวนผู้ว่างงานล่าสุดในเดือน เม.ย. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 4.51 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.2% ลดลงจากปีก่อน3.66 แสนคนและอัตราว่างงานลดลง 0.9%แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าคือ มี.ค. 53 พบว่ามีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 83,000 คน โดยผู้ว่างงานส่วนใหญ่มาจากภาคการผลิตถึง 1.14 แสนคน ภาคการบริการและการค้า 90,000 คน และภาคเกษตรกรรม 79,000 คน
ทั้งนี้จำนวนผู้ว่างงานส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อน มีจำนวน 2.83 แสนคนซึ่งลดลงจากปีก่อน 3.19 แสนคน ขณะที่ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 1.68 แสนคน และเมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานเป็นรายภาคพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดเท่ากันคือ 1.6% รองลงมาเป็นภาคกลาง 1% กรุงเทพฯ 0.8% ส่วนภาคเหนือมีอัตราว่างงาน0.6% และทุกภาคมีอัตราว่างงานลดลงจากปีก่อน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงมากที่สุด 1.3% รองลงมาเป็นกรุงเทพฯ 1.0%ภาคเหนือลดลง 0.9% ภาคกลาง 0.8%และภาคใต้ 0.7%
นางจีราวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่าอัตราว่างงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนที่มีอายุ15-24 ปี ประมาณ 4.7% ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่คนในกลุ่มนี้จะมีอัตราการว่างงานสูงแต่ลดลงจากปีก่อน 3.4% ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป มีอัตราว่างงาน0.6% ลดลง 0.6%
ส่วนจำนวนผู้มีงานทำมีทั้งสิ้น 37.26 ล้านคนและยังมีผู้รอฤดูกาลอีก 4.20 ล้านคนส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานมี 15.21 ล้านคน รวมกับผู้ว่างงาน 4.51 แสนคนแล้วทำให้มีผู้อยู่ในวัยทำงานหรือมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 53.34 ล้านคน ซึ่งผู้มีงานทั้งหมดเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2 แสนคนหรือเพิ่มขึ้น 0.5% โดยเพิ่มขึ้นในภาคเกษตรกรรมมากที่สุด 1.5 แสนคน จาก 12.33 ล้านคน เป็น 12.48 ล้านคน
นายกฯชงเอกชนปรับค่าแรงขั้นต่ำ แลกรัฐลด"ภาษี"
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ (
26 มิ.ย. 53) - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งในการประชุมใหญ่คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาค 5 ภาค ในหัวข้อ "บทบาทของภาคเอกชนกับการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการปรองดองแห่งชาติ" วานนี้ (25 มิ.ย.) จัดโดย หอการค้าไทย ว่า อยากฝากข้อคิดบางประการให้ภาคเอกชนช่วยกันคิด เรื่องแรกคือ หากบอกว่าสังคมของเรายังมีความแตกต่างทางความคิด แต่บางครั้งเรื่องนี้อยู่ใกล้ตัวเราเกิน และเรามองข้ามมานาน เช่น กรณีความสัมพันธ์ของลูกจ้างกับนายจ้าง ที่มีมุมมองหลายอย่างต่างกัน และกรณีค้าปลีกระหว่างรายใหญ่กับรายย่อย แบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ที่แตกต่างกัน แต่ไม่เคยทำเรื่องนี้ให้เป็นระบบที่จะอยู่ร่วมกันเพื่อให้เกิดความราบรื่น
นอกจากนี้ที่ไกลออกไป เราอาจต้องมีความพยายามที่จะหาแนวทางแก้จุดที่นำสู่ไปความแตกแยกในภาคธุรกิจ ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับสิ่งแวดล้อม และภาคธุรกิจกับชุมชน กรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นบทเรียนสำคัญที่ชี้ว่า ปัญหาที่คิดว่าแก้ทีละเรื่องนั้นนำมาสู่ความขัดแย้งอย่างเป็นระบบมากขึ้น แต่ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันแก้ปัญหา ก็จะสามารถแก้ไขได้ เพราะจุดร่วมมีมากกว่าจุดต่าง เหมือนที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายดำเนินการ และจะเสร็จอีก 2-3 วันข้างหน้า
ประเด็นที่ 2 คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ในสังคม บางคนว่าเรื่องนี้พูดเกินเลย เพราะความจริงตัวเลขกระจายรายได้ การแก้ไขปัญหาความยากจน ต้องถือว่าประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง ยกระดับคุณภาพชีวิตคนจน แม้จะมีความเหลื่อมล้ำมาก แต่ก็ไม่มากกว่าหลายประเทศที่พัฒนาในระดับเดียวกัน อีกมุมหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำ บางเรื่องที่ชัดเจน เช่น การถือครองทรัพย์สิน ที่ดิน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นโจทก์ใหญ่ที่ต้องสร้างระบบสวัสดิการที่มั่นคง และแก้ไขความไม่เป็นธรรมของภาษี เช่น ที่ดิน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากให้ภาคธุรกิจคิดจริงจังในบางแง่มุม ประการแรก คือให้ความสำคัญกับภาคเกษตร และจะแสวงหาโอกาสความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานได้อย่างไร โดยต้องดูว่ามีโครงสร้างใดที่จะเอื้อให้คนต้องการทำงานภาคเกษตร ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่เติบโต แต่ทำไมคนที่อยู่ในภาคการผลิตและอยู่ในระบบประกันสังคมมีน้อยกว่าคนอยู่นอกระบบประกันสังคม ทั้งๆ ที่กลุ่มคนเหล่านั้นมีอาชีพค้าขาย ถือเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจเช่นกัน
นอกจากนี้หลายเรื่องที่มีมุมมองว่า จะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น กลัวค่าแรงขั้นต่ำสูงเกินไป หรือ ทำไมจึงพึ่งพาการส่งออกต่างประเทศ เพราะบางครั้งอาจเกิดจากเศรษฐกิจภายในไม่เข้มแข็ง เนื่องจากค่าแรงงานต่ำ เช่นเดียวกับความสามารถแข่งขัน คนของเราขาดทักษะ เพราะไม่ยกระดับความสามารถแข่งขันต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
"ผมได้มอบให้กระทรวงการคลังไปคิดแก้ปัญหาเรื่องค่าแรงขั้นต่ำและยกระดับขีดความสามารถแข่งขัน โดยคิดเป็นตุ๊กตาๆ ว่าจะปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดแลกกับการลดภาษีได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีความเห็นหลากหลาย และต้องฟังเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน แต่ระยะสั้นภาคเอกชนต้องมีบทบาทฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วย เพราะอัตราขยายตัวไปดี แต่ 2-3 เดือนข้างหน้ารายได้จะหดหายจากภาคท่องเที่ยว ซึ่งหวังว่าท่านจะมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ "
ส่วนปัญหาคอร์รัปชัน ที่นักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจ ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบปัญหากัดกร่อนทุกวงการ เพราะวิกฤติการเมืองที่ลุกลามเกิดจากปัญหาคอร์รัปชันด้วยซ้ำ เพราะการทุจริตที่มากับอำนาจมีผลประโยชน์เพิ่มพูนมหาศาล
คนงานฮึ่มขอขึ้นค่าแรงค่าครองชีพสูงของแพงสู้ไม่ไหว
เว็บไซต์คมชัดลึก (
24 มิ.ย. 53) - น.ส.วิไลวรรณแซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลเตรียมปรับเงินเดือนราชการ 4-5 % ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับข้าราชการ แต่จริงๆแล้วคนภาคแรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็สมควรที่จะได้รับการขึ้นค่าจ้างด้วย เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้น อีกไม่นานเมื่อมีข่าวอย่างนี้สินค้าหลายอย่างก็จะแพงขึ้นไปด้วย ดังนั้นอัตราเงินเดือนที่ได้รับอยู่ปัจจุบันใน กทม.วันละ 200 บาทนั้นไม่เพียงพอ ไหนจะค่าเดินทางไปทำงาน ค่าเช่าห้อง ค่านมลูก ค่าโรงเรียนลูก กินอยู่จะไม่เพียงพอ ทำให้บางคนก็กู้หนี้ ยืมสิน มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานพิจารณาด้วย
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า อัตราค่าจ้างของลูกจ้างปัจจุบันถือว่าเหมาะสมแล้ว และเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่มีรายได้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ส่วนการจะปรับขึ้นนั้นกระทรวงแรงงานมีคณะกรรมการทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัดในการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง (บอร์ดค่าจ้าง) โดยจะดูจากสภาวะทางเศรษฐกิจ ความสามารถการจ่ายเงินของนายจ้างด้วย
ส่วนกรณีที่นายกรณ์ จาติกณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมหารือกับเพื่อขอให้พิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างให้แรงงานใหม่ทั้งระบบนั้น นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานก่อน ก่อนที่จะประสานไปยังกระทรวงการคลังเพื่อพูดคุยอย่างเป็นทางการอีกครั้ง แต่ขณะนี้ตนยังไม่ได้รับการติดต่อจากทางกระทรวงการคลังแต่อย่างใด เพราะการขึ้นค่าแรงมันต้องดูในหลายปัจจัย ไม่ใช่อยากจะขึ้นก็ขึ้นได้ทันที
กมธ.แรงงานเบรก สปส.ใช้เงิน200ล.พิมพ์หนังสือ
แนวหน้า (24 มิ.ย. 53) -
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน คณะกรรมาธิการการแรงงาน (กมธ.แรงงาน) สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุเมธ ฤทธาคนี เป็นประธาน ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจัดพิมพ์หนังสือรวมผลงานของคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ที่ใช้งบถึง 210 ล้านบาท จนถูกคนงานคัดค้านอย่างหนัก เนื่องจากมองว่าเป็นการใช้เงินไม่เหมาะสม โดยนายสถาพร มณีรัตน์ รองประธาน กมธ.แรงงาน กล่าวว่า ที่ประชุมกรรมาธิการมีมติไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากบอร์ด สปส.ไม่มีความจำเป็นต้องจัดพิมพ์หนังสือผลงาน และเป็นการใช้เงินที่ผิดวัตถุประสงค์ เพราะมองว่าเงินจำนวนนี้สามารถนำไปใช้เพิ่มสวัสดิการให้กับผู้ประกันตนได้อีกมาก
"กรรมาธิการจะทำหนังสือถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน เพื่อแจ้งให้ทราบถึงแนวคิดที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และจะแจ้งไปยังบอร์ดประกันสังคมให้ทบทวนโครงการดังกล่าว โดยเสนอให้เปลี่ยนวิธีการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบอื่นๆ ที่มีต้นทุนต่ำกว่า เช่น การบันทึกข้อมูลเป็นซีดี ซึ่งใช้ต้นทุนต่ำกว่า และสามารถแจกจ่ายให้ผู้ประกันตนได้ทุกคน"นายสถาพร กล่าว
รง.ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บึ้มคนงานเจ็บ 20
เว็บไซต์คมชัดลึก (24 มิ.ย. 53) -
ตู้อบโรงงานผลิตชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ชลบุรี เกิดระเบิด สารเคมีรั่วไหล ไฟไหม้ คนงานหนีตายอลหม่าน บาดเจ็บกว่า 20 คน คนงานเผยแรงดันขึ้นสูงผิดปกติ ขณะไปตามช่างมาดูเกิดบึ้มขึ้นก่อน เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 23 มิถุนายน พ.ต.ท.กันตพัฒน์ เนติพิชยาพงศ์ สวญ.สภ.หนองขาม รับแจ้งเหตุตู้อบโรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัท พีซีบีเซ็นเตอร์ จำกัด ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์หนองขาม เลขที่ 684-685 ซอยสุขาภิบาล 8 หมู่ 11 ต.หนองขาม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เกิดระเบิดขึ้น ทำให้ผู้ได้รับบาดเจ็บจากถูกเพลิงไหม้หลายสิบคน หลังรับแจ้งจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงทราบ แล้วเดินทางไปตรวจสอบ
ที่เกิดเหตุเป็นอาคารอยู่ด้านหลังบริษัท พีซีบีเซ็นเตอร์ จำกัด เป็นห้องเก็บสารซัลฟูริกซึ่งเป็นสารเคมีที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ พบเพลิงลุกไหม้โหมกระหน่ำอย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากเทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลตำบลเจ้าพระยาสุรศักดิ์ เทศบาลเมืองศรีราชา เทศบาลตำบลบางละมุง นำรถน้ำกว่า 30 คัน ระดมฉีดน้ำเพื่อสกัดกั้นเพลิงและสารเคมีที่ ฟุ้งกระจายส่งกลิ่นเหม็นจนแสบตา แสบจมูก
เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หนองขาม และเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยสว่างประทีปศรีราชา ช่วยกันกระจายข่าวและอพยพพนักงานออกจากโรงงานกันอลหม่าน รวมทั้งพนักงานโรงงานใกล้เคียง เนื่องจากสารเคมีดังกล่าวมีอันตรายถึงกับทำให้ตาบอดได้ เบื้องต้นมีผู้บาดเจ็บกว่า 20 คน หน่วยกู้ภัยสว่างประทีปศรีราชาได้กระจายกันนำส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา 16 ราย คือ น.ส.สายพิณ คุณธรรม อายุ 28 ปี น.ส.ณัฐนิชา อินทร์ภิวาส นายสีนวน ตันสิริ น.ส.ยุพา พุ่มพวง อายุ 34 ปี น.ส.ศันสนีย์ มะโนศรี น.ส.คนึงนิตย์ แซ่ซึง นายชินกร คอกไทสง น.ส.วรรณา ชูกลิ่น น.ส.พรนิภา จันทิชัย น.ส.อุมาลี ศรรักษา นางอัมพิกา นัยทอง จำนวนนี้บาดเจ็บสาหัส 5 คน คือน.ส.สายฝน แป้นเหมือน นายสมคิด แสนสะอาด นายสมบัติ เรืองฤทธิ์ นายสันทัด บุญมา นายสุรชัย ชื่นสำโรง และที่โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา 4 คน คือ นายวีรวัฒน์ กวินยรรยง อายุ 28 ปี นายกิตติพงษ์ ตาเขียว อายุ 35 ปี นางหนึ่งนุช เกตุงาม อายุ 32 ปี น.ส.ประไพ กระโทกกลาง อายุ 30 ปี
พนักงานที่อยู่ในเหตุการณ์ กล่าวว่า ตู้อบงานแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เกิดแรงดันขึ้นสูงผิดปกติ พนักงานได้ไปตามช่างมาดู แต่ตู้อบเกิดระเบิดขึ้นเสียก่อน ทำให้พนักงานที่อยู่ใกล้เคียงได้รับบาดเจ็บถูกไฟไหม้และไฟลวกตามร่างกายกว่า 20 คน นอนร้องครวญครางอยู่ภายในห้องที่เกิดระเบิด และยังเกิดสารเคมีรั่วไหล ซึ่งเป็นสารซัลฟูริกออกมาอีก พนักงานต่างพากันหนีตายอลหม่าน เนื่องจากมีอาการคลื่นเหียนอาเจียน รวมทั้งผู้บาดเจ็บต่างก็พากันวิ่งออกมาจากห้องเกิดเหตุ ซึ่งเพลิงได้ลุกไหม้อย่างรวดเร็ว เบื้องต้นคาดว่ามูลค่าความเสียหายในครั้งนี้กว่า 10 ล้านบาท
ไฟใหม้ โรงงานกระดาษย่านเอกชัย
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ (
22 มิ.ย. 53) - เจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตบางบอน ระดมรถน้ำกว่า 20 คัน ฉีดน้ำสกัดเพลิงที่โหมลุกไหม้โรงงานผลิตกล่องกระดาษของ บริษัท รุ่งทวีเกษตรกร จำกัด และบริษัท วินเนอร์แพ็ค จำกัด เลขที่ 143/365 หมู่ 3 ซอยเอกชัย 124 ถนนเอกชัย แขวงและเขตบางบอน แต่การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากเป็นซอยแคบและห่างจากถนนใหญ่ถึงครึ่งกิโลเมตร นายโชคชัย แซ่โล้ว เจ้าของโรงงาน ระบุว่า ทั้ง 2 บริษัท เป็นของตน ขณะเกิดเหตุไม่มีคนงานอยู่ภายใน ส่วนสาเหตุเชื่อว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร เนื่องจากตัวอาคารและสายไฟมีอายุการใช้งานมานานกว่า 7 ปี ประกอบกับตนไม่เคยมีปัญหากับคนงานหรือชาวบ้าน จึงไม่น่าเป็นเรื่องการวางเพลิง ส่วนความเสียหายมากกว่า 5 ล้านบาท เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจกันอาคารทั้ง 2 คูหา เป็นพื้นที่อันตราย ห้ามเข้า เพราะเกรงว่า ตัวอาคารจะถล่มลงมา
ธนาคารเจ้าหนี้บริษัท วงศ์ไพฑูรย์ อ่วมเจอลูกจ้างร่วม 600 คน ประท้วงขอเงินชดเชยเลิกกิจการ
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ (
22 มิ.ย. 53) - ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรองเท้ากีฬา ได้ขาดสภาพคล่องอย่างหนักตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ธนาคารเจ้าหนี้ทั้งหลายจึงเข้าไปแปลงหนี้เป็นทุนและฟื้นฟูกิจการ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับชำระหนี้กลับมา ทางผู้ถือหุ้นจึงมีมติปิดกิจการ
"ในที่ประชุมกรรมการ ธนาคารโหวตคัดค้านเรื่องปิดกิจการ แต่เสียงสู้ผู้ถือหุ้นรายอื่นไม่ได้" นายสงคราม กล่าว
บริษัท วงศ์ไพฑูรย์ มีเจ้าหนี้ประกอบด้วย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาธนาคารกรุงเทพ ซีไอเอ็มบีไทยนครหลวงไทย บริษัท สินทรัพย์กรุงเทพพานิชย์การ และธนาคารเครดิตอะกริกอล อินโดสุเอซ
ทั้งนี้ ลูกจ้างบริษัท วงศ์ไพฑูรย์กรุ๊ป กว่า 600 คน ซึ่งถูกบริษัทบอกเลิกจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย ได้รวมตัวกันเดินทางไปประท้วงที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ เมื่อวานนี้ ในฐานะเจ้าหนี้บริษัทซึ่งได้แปลงมาเป็นผู้ถือหุ้นเพื่อเรียกร้องให้ชี้แจงสาเหตุการปิดกิจการทำให้คนตกงาน และขอให้จ่ายเงินชดเชยโดยเร่งด่วน
นางนันทา ภู่เณร ตัวแทนลูกจ้างบริษัท วงศ์ไพฑูรย์ กรุ๊ป กล่าวว่าบริษัทแจ้งปิดกิจการวันที่ 20 พ.ค.โดยให้มีผลเลิกจ้างทันทีวันที่ 20 พ.ค. เป็นต้นไป โดยนายจ้างไม่ได้จ่ายค่าชดเชย และยังค้างจ่ายค่าจ้างวันที่ 1-7 พ.ค. และไม่ได้จ่ายค่าจ้าง75% ของค่าจ้างช่วงที่สั่งให้หยุดงานตั้งแต่วันที่ 1-19 พ.ค. ซึ่งการปิดกิจการทำให้มีคนตกงานทันที793 คน ซึ่งทุกคนต้องการเดินทางมาเรียกร้องแต่มีรถไม่พอ จึงมาได้กว่า 600 คน
"คนงานทำงานด้วยความซื่อสัตย์มากว่า 30 ปี ถูกลดค่าจ้างคนละ 10% ก็ไม่เคยออกมาเรียกร้อง ค่าจ้างเฉลี่ยคนละ 206 บาทไม่มีสวัสดิการ ถูกสั่งหยุดงานบ้างผิดนัดจ่ายค่าจ้างบ้าง อ้างว่าบริษัทขาดทุน ลูกค้า Reebok กำลังถอนออร์เดอร์ ได้แบงก์มาเป็นผู้ถือหุ้นนึกว่าบริษัทจะมั่นคง คิดว่าจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น" นางนันทา กล่าว
สำหรับสาเหตุที่ไปประท้วงธนาคารกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 และธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ส่วนผู้ถือหุ้นอันดับ 2 คือ นายวิจักษ์ สิริสิงห์ เจ้าของโรงงาน โดยเชื่อว่าธนาคารซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นต้องมีส่วนรู้เห็นเรื่องการปิดกิจการ ซึ่งธนาคารทั้งสองแห่งนัดเจรจาอีกครั้งวันที่ 22 มิ.ย. ที่กระทรวงแรงงาน
ทั้งนี้ พนักงานตรวจสอบแรงงานมีคำสั่งให้บริษัท วงศ์ไพฑูรย์จ่ายค่าชดเชยให้จ่ายค่าจ้างค้างจ่ายจ่ายชดเชยวันหยุดงาน จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า รวม793 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 59 ล้านบาทแต่พนักงานก็ยังไม่ได้รับการชดเชยเงินแต่อย่างใด
เตือนภัยมิจฉาชีพตุ๋นไปทำงานที่เฮติ
พิมพ์ไทย (
22 มิ.ย. 53) - นายเกษม สุทธิรักษ์ จัดหางานจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ได้รับแจ้งเตือนว่า มีกลุ่มบุคคลที่รับสมัครงานเพื่อเดินทางไปทำงาน ที่ ประเทศเฮติ โดยอ้างว่ากองทัพได้รับการประสานจากสหประชาชาติ ให้จัดบุคลากรเข้าไปช่วยฟื้นฟูประเทศเฮติ ผู้ที่ไปทำงานจะได้รับรายได้คนละ 5,280 บาทต่อวันแต่ต้องเสียค่าบริการ และค่าใช้จ่ายเป็นเงินคนละประมาณ 30,000 บาท และเมื่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดเชียงราย ตรวจสอบแล้ว กองทัพไทย แจ้งว่า กองทัพไทย ยังไม่ได้รับมอบหมายและไม่เคยจัดหาบุคคล หรือ เกี่ยวข้องกับบริษัทจัดหาคนงาน เข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศเฮติ รวมทั้งสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ยังแจ้งว่า ไม่มีบริษัทจัดหางาน หรือบุคคล กลุ่มบุคคลใด ขออนุญาตจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศเฮติ จึงแจ้งเตือนประชาชน อย่าหลงกลของมิจฉาชีพเหล่านี้
ไทย-พม่าจับมือตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติ
เว็บไซต์ข่าวสด (
22 มิ.ย. 53) - ระนอง - นายสุภัท กุขุน รองอธิบดีกรมการจัดหางาน นายอู อ่องเตียน เอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย และนายนิรวัชช์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมเห็นชอบให้มีการจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติและออกหนังสือเดินทางชั่วคราวให้กับแรงงานพม่าที่จังหวัดระนอง บริเวณแพปลาโกฟุก อยู่ในซอยชาวประมง ย่านสะพานปลาระนอง ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง ซึ่งจะทำให้แรงงานสัญชาติพม่าที่ได้ยื่นเอกสารการพิสูจน์สัญชาติแล้วได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและประหยัดค่าใช้จ่าย
รองอธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า ที่จังหวัดระนอง เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมที่เมืองพุกาม ประเทศพม่า ทางฝ่ายไทยมีความเป็นห่วงในเรื่องของความปลอดภัยของแรงงานที่ต้องเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติฝั่งพม่าในช่วงฤดูมรสุม จึงเสนอให้ทางการพม่าส่งเจ้าหน้าที่มายังฝั่งไทย ทางการพม่าได้รับข้อเสนอ ส่งเจ้าหน้าที่มาดูสถานที่และประชุมร่วมกัน คาดว่าศูนย์ดังกล่าวจะเริ่มเปิดบริการในต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ไปสิ้นสุดประมาณเดือนตุลาคม จะส่งเจ้าหน้าที่มาประจำที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติที่จังหวัดระนองประมาณ 20 คน สามารถพิสูจน์สัญชาติได้วันละ 800 คน ส่วนในอนาคตจะมีการขยายเวลาหรือไม่ต้องมีการหารือกันต่อไป และอาจจะเป็นการนำไปสู่การตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และอ.แม่สาย จ.เชียงราย ในอนาคต
รองอธิบดีกรมการจัดหางานกล่าวด้วยว่า แรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่าที่ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 2552 จำนวนทั้งสิ้น 1,079,991 คน มีแรงงานขอรับใบอนุญาตทำงาน และยื่นแบบพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 833,013 คน ได้รับหนังสือเดินทางแล้ว จำนวน 94,000 คน ยังไม่ได้รับหนังสือเดินทางประมาณ 739,900 คน ส่วนมีแรงงานที่ยังไม่เข้าระบบการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 246,978 คน ทางมหาดไทยกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองต้องเข้าไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
เลขาฯ หอการค้าอีสาน แฉโคราชวิกฤตแรงงานขาดแคลน ต้นตอโรงงานอุตฯ เลี่ยงรับพนักงานโดยตรงโพสต์ทูเดย์ (22 มิ.ย. 53) - นายทวิสันต์ โลณานุลักษณ์ เลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานกว่าหมื่นตำแหน่ง เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ยอมรับพนักงานโดยตรงแต่หันไปจ้างผ่านบริษัทรับเหมาซึ่งเลี่ยงรับผิดชอบสวัสดิการตามกฎหมายแรงงานส่งผลให้แรงงานไม่สนใจรับจ้าง
นายทวิสันต์ กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงแล้วจากข้อมูลของหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงพบว่าปัจจุบันมีนักศึกษาที่จบใหม่ซึ่งอยู่ในภาวะว่างงานและตกงานไม่ต่ำกว่า 3 แสนคนต่อปี นอกจากนี้ยังมีแรงงานอีกส่วนหนึ่งที่แย่งกันเข้าสมัครงานในตำแหน่งเดียวกันหลายพันคนต่อตำแหน่ง หรือไม่กี่ตำแหน่ง
"การขาดแคลนแรงงานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นอยู่ขณะนี้ไม่ได้เกิดจากปัญหาที่ไม่มีแรงงานรองรับ แต่กลับเป็นปัญหาที่แรงงานไม่สามารถทนรับกับการเอารัดเอาเปรียบของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ เพราะทางสถานประกอบการหลีกเลี่ยงที่จะรับพนักงานตรงแต่หันไปรับภาคแรงงานผ่านผู้รับเหมา ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ไม่มีหลักประกันในการทำงาน จึงไม่สนใจที่จะขายแรงงานให้กับโรงงานต่างๆ ในรูปแบบดังกล่าว" นายทวิสันต์ กล่าว
เลขาธิการหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวอีกว่า หากผู้ประกอบการมีหลักประกันให้กับแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการ หรือมีรายได้ที่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย และไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการแล้ว อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่าปัญหาการว่างงานหรือปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
"เฉลิมชัย" เผยเวที ILO เข้มห้ามใช้แรงงานเด็ก เตรียมชงนำเข้าแรงงานพม่าแบบรัฐต่อรัฐ
เว็บไซต์แนวหน้า (21 มิ.ย. 53) -
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลการเดินทางไปประชุมรัฐมนตรีแรงงานโลก ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ตนไปในนามตัวแทนประเทศไทย ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้เน้นในเรื่องสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานในการทำงานและการสร้างสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญเรื่องการใช้แรงงานเด็ก ว่าต่อไปจะต้องมีมาตรการกวดขันไม่ให้มีการใช้แรงงานเด็กในประเทศต่างๆอย่างผิดกฎหมาย และแนวโน้มสถานการณ์โรคเอดส์ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานโลก โดยจะต้องให้ความรู้และวิธีป้องกันโรคเอดส์ เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของโรคมากไปกว่าเดิม รวมถึงต้องมีขั้นตอนการตรวจสุขภาพมากขึ้น
นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ตนได้หารือกับ รมช.แรงงานของประเทศสหภาพพม่าในการลดขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติ การตรวจคนเข้าเมือง การนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย โดยใช้วิธีการแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล จะช่วยแก้ไขปัญหาแรงงานเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดนได้ดี เพราะที่ผ่านมาแรงงานเถื่อนมักจะทำให้เกิดปัญหา หากทำแบบถูกกฎหมายจะช่วยให้สามารถตรวจสอบประวัติของแรงงานได้ ไม่ใช่เป็นแรงงานเถื่อนเข้ามาพอมีปัญหาก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นใครมาจากไหน โดยตนจะนำผลการประชุมรมว.แรงงานโลกครั้งนี้ไปรายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์นี้
ศรีไทยฯไฟไหม้เสียหายกว่า 400ล. ยันไม่มีการปลดพนักงานออกแถมยังต้องการเพิ่มอีกกว่า 100 คน
ฐานเศรษฐกิจ (21 มิ.ย. 53) -
บอสใหญ่ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ประเมินผลกระทบจากไฟไหม้เบื้องต้นเสียหายกว่า 300 ล้านบาท ย้ำไม่มีการปลดแรงงานออกแม้แต่คนเดียว และยังมีความต้องการพนักงานใหม่เพิ่มอีกกว่า 100 คน ประกาศชัด ไม่กระทบแผนจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติก มั่นใจการจำหน่ายปีนี้ยังเป็นยอด 5,600 ล้านบาท
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ได้ประเมินผลกระทบจากไฟไหม้ที่โรงงานอมตะนคร ชลบุรี เมื่อเช้าวันที่ 15 มิถุนายน 2553 เวลาประมาณ 03.00 น.ที่ผ่านมาว่าในเบื้องต้นคาดว่าจะเสียหายมากกว่า300 ล้านบาท โดยเพลิงไหม้เกิดในบริเวณที่เป็นคลังสินค้าและส่วนน้อยที่เป็นพื้นที่การผลิต ซึ่งเครื่องจักรกว่า 90% ยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติ โดยบริษัทมีทีมวิศวกรที่มีความชำนาญด้านเครื่องจักร โครงสร้างอาคารโรงงาน และระบบไฟฟ้าและน้ำ เข้าไปตรวจสอบและแก้ไขจนโรงงานอมตะนคร ชลบุรี สามารถแยกส่วนพื้นที่ปลอดภัยและเริ่มการผลิตได้แล้ว ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ส่วนพื้นที่ที่เสียหายหนัก ก็ได้กำหนดและกันบริเวณไว้เพื่อความปลอดภัย และจะต้องฟื้นฟูสภาพภายในโรงงานให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้า
ทั้งนี้ ในส่วนมูลค่าความเสียหายของวัตถุดิบ สินค้าสำเร็จรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต ตลอดจนอาคารโรงงาน ก็อยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องทั้งการสอบสวนสาเหตุ ตลอดจนการประเมินความเสียหายรวม ทำให้ตัวเลขความเสียหายยังไม่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความมั่นใจว่า มูลค่าความคุ้มครองในทรัพย์สินที่บริษัททำประกันภัยไว้สำหรับโรงงานอมตะนคร ชลบุรี จำนวน 3,200 ล้านบาท จะสามารถครอบคลุมมูลค่าความเสียหายได้ทั้งหมด
นายสนั่นกล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงงานอมตะนคร ชลบุรี มีพนักงานทั้งหมด 1,400 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ของพนักงานทั้งหมดของบริษัท โดยจำนวนพนักงานดังกล่าวแบ่งเป็นพนักงานรายเดือนจำนวน 400 คน และพนักงานรายวันจำนวน 1,000 คน   พนักงานทั้งหมดของโรงงานอมตะนคร ชลบุรี ได้กลับเข้ามาเริ่มทำงานแล้วตั้งแต่วันนี้ ซึ่งบริษัทใช้เวลาเพียง 2 วัน โรงงานก็สามารถเปิดให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานตามปกติได้แล้ว โดยพนักงานดังกล่าวได้รับค่าแรงและสวัสดิการเต็มตามปกติในช่วงเวลาหยุดทำการ 2 วันดังกล่าว และบริษัทขอเรียนแจ้งว่า บริษัทจะไม่มีการปลดพนักงานแม้แต่คนเดียว   ทั้งนี้ บริษัทยังมีความต้องการพนักงานเพิ่มเติมอีกร่วม 100 กว่าคนด้วย
ส่วนแผนจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกจะไม่กระทบและมั่นใจว่าการจำหน่ายปีนี้ยังเป็นยอด 5,600 ล้านบาท   เนื่องจากเพลิงไหม้ไม่ได้อยู่ในจุดพื้นที่ที่เป็นการผลิตหลัก และคุณภาพของสินค้าที่เป็นที่ยอมรับและมีจุดแข็งในเรื่องเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนความไว้วางใจและการให้การสนับสนุนของลูกค้าที่มีต่อบริษัทและบริษัทก็ความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน ขณะเดียวกันถึงแม้บริษัทจะมีรายได้หลักจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่องานอุตสาหกรรม แต่บริษัทก็ยังมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำมาจากเมลามีนและธุรกิจซื้อมาขายไป (Trading) ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด
นอกจากนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 บริษัทก็มียอดขายสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่แล้ว และถึงแม้ว่าครึ่งเดือนแรกของเดือนมิถุนายนคาดว่ายอดขายจะหายไปประมาณ 150 ล้านบาท แต่เมื่อรวมยอดขาย 2 ไตรมาสแรกของปี ก็จะยังมียอดขายบรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนในครึ่งปีหลัง ก็จะสามารถเร่งยอดขายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของปีนี้ที่จำนวน 5,600 ล้านบาท ซึ่งจะเติบโตจากยอดขายปี 2552 ที่มียอดขาย 4,793 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17%
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมเมลามีนและ ผลิตภัณฑ์พลาสติกในครึ่งปีหลังปี 2553 นั้นผลิตภัณฑ์เมลามีน ยังมีความต้องการในตัวสินค้าสูงเกินกว่ากำลังการผลิตของบริษัท และแนวโน้มในอีก 5 ข้างหน้า ความต้องการในตัวสินค้าก็ยังมีการขยายตัวได้อีกมาก   ส่วนผลิตภัณฑ์พลาสติก บริษัทจะยังคงมีการสั่งซื้อและนำเข้าเครื่องจักรใหม่เข้ามาเพื่อให้บริษัทมีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการในตัวสินค้าที่ยังสูงอยู่
อนึ่งโรงงานอมตะนคร ชลบุรี เป็นสาขาโรงงานแห่งหนึ่งของบริษัทที่ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่องานอุตสาหกรรมนอกเหนือจากโรงงานสาขาบางปูและโรงงานสุขสวัสดิ์ ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือนที่ทำมาจากเมลามีนจะผลิตโดยโรงงานสาขาโคราชที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมสุรนารี   จังหวัดนครราชสีมา ดังนั้น วัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปที่เสียหายจากเหตุเพลิงไหม้จึงเป็นของสินค้าพลาสติกและเฉพาะที่สาขาอมตะนครเท่านั้น ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ประเภทชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม พัลเลต ลังบรรจุขวด ถังสี และถังขยะ
ส.อ.ท.กุมขมับแรงงานขาดล้านคน
เว็บไซต์ข่าวสด (
21 มิ.ย. 53) - นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.เตรียมเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงานคนใหม่ เพื่อหารือปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากขณะนี้คำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) จากต่างประเทศไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น แต่ผู้ผลิตไม่สามารถรับออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้นได้ เพราะแรงงานในภาคผลิตมีไม่เพียงพอทั้งในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ สิ่งทอ รองเท้า พบว่ายังมีความต้องการแรงงาน 5-6 แสนคน และมีแนวโน้มว่าหากไม่เร่งแก้ปัญหาปล่อยทิ้งไว้ถึงปี"54 ภาวะการขาดแคลนแรงงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคน
ทั้งนี้ ต้องการให้กระทรวงแรงงานเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่างเร่งด่วนด้วยการเปิดรับแรงงานต่างด้าวแบบถูกกฎหมายเพิ่มขึ้น ซึ่งโรงงานบางแห่งจ่ายค่าจ้างมากกว่าแรงงานขั้นต่ำ แต่ไม่มีคนมาสมัครงาน ทำให้ต้องปฏิเสธออร์เดอร์ไปจึงเป็นที่น่าเสียดาย เพราะออร์เดอร์ที่กำลังเข้ามาในไทยนั้นจะเป็นออร์เดอร์ระยะยาวซื้อขายระหว่างกันไม่ต่ำกว่า 1-3 ปี หากแก้ปัญหาแรงงานได้ภาคส่งออกอีก 1-3 ปีข้างหน้าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง
.แรงงานอนุมัติงบเพิ่มอีก 2 ล้านเร่งช่วย'ผู้ประสบภัยแล้ง'โคราช
พิมพ์ไทย (21 มิ.ย. 53) -
สำนักงานแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เร่งจัดประชุมคณะกรรมการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติกระทรวงแรงงานประจำจังหวัด โดยมี นายวิทยา กามนต์รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุม และนายเพทาย คมขำ แรงงานจังหวัดเป็นคณะกรรมการและเลขานุการ
จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ประสบภัยแล้งครอบคลุมทั่วทุกอำเภอ ทำให้ราษฎรประสบปัญหาภัยแล้งเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดนครราชสีมา (เพิ่มเติมอีก) เป็นเงิน 2,000,000 บาท สำนักงานแรงงานจังหวัดจึงได้ให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ จังหวัดนครราชสีมาเพื่อพิจารณาปรับแผนงาน โครงการให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับโดย "เน้นโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนและเป็นกิจกรรมพัฒนาแหล่งน้ำ" เพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้งในปีต่อไปโดยมีโครงการที่คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ จำนวน 45 โครงการ ราษฎรได้รับการจ้างงาน 1,428 คนซึ่งสำนักงานแรงงานจังหวัดนครราชสีมา จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินงานตามโครงการที่ได้รับอนุมัติต่อไป
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น