โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เตรียมขอเลื่อนนัดอัยการฟังคำสั่งฟ้องคดี 10 เอ็นจีโอปีนสภาหยุด สนช.ผ่านกฎหมาย

Posted: 01 Oct 2010 01:18 PM PDT

จากกรณีพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต นำสำนวนการสอบสวนและหลักฐาน พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กับพวกรวม 10 คนในคดีก่อเหตุปีนรั้วรัฐสภาเข้าไปเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุติบทบาทการพิจารณากฎหมาย เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.50 ส่งมอบให้ นายพีรยุทธ์ ประดิษฐ์กุล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เพื่อพิจารณาสั่งคดี เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นพนักงานอัยการนัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 5 มิ.ย.และมีการเลื่อนนัดโดยกำหนดนัดทนายเป็นตัวแทนรับทราบ
ล่าสุดวันที่ 6 ต.ค.นี้ เวลา 9.30 น.พนักงานอัยการนัดฟังคำสั่งฟ้อง โดยมีความเห็นสั่งฟ้องในข้อหาดังนี้ มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต (1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
 
มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
มาตรา362 ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
ทั้งนี้ ผู้ต้องหาทั้ง 10 คน ในคดีนี้ประกอบด้วย นายจอน อึ๊งภากรณ์ นายสาวิทย์ แก้วหวาน นายศิริชัย ไม้งาม นายพิชิต ไชยมงคล นายอนิรุทธ ขาวสนิท นายนัทเซอร์ ยีหมะ นายอำนาจ พละมี นายไพโรจน์ พลเพชร นางสาวสารี อ๋องสมหวัง และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ในฐานะเป็นแกนนำในการบุกรุกปีนเข้าไปในรัฐสภา
 
จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (คนส.) หนึ่งในคณะทนายความในคดีนี้กล่าวว่า ทางทนายความจะมีการยื่นหนังสือขอเลื่อนนัดเพื่อให้อัยการสามารถยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดได้ในคราวเดียว เนื่องจากในวันที่ 6 ต.ค.นี้ผู้ต้องหาบางคนไม่สามารถเข้าฟังคำตัดสินได้ และต้องรอว่าอัยการจะมีคำสั่งมาว่าจะมีกำหนดฟ้องวันไหนซึ่งอาจจะเป็นวันที่ 18 ต.ค.หรือในเดือน พ.ย.นี้
 
จันทร์จิรากล่าวด้วยว่าขณะนี้คณะทนายความเตรียมการในการยื่นประกันตัวโดยใช้ตำแหน่งประกัน เนื่องจากเมื่ออัยการเป็นโจทย์ยื่นฟ้อง ศาลสั่งฟ้อง จะได้ยื่นประกันตัวในวันเดียวกัน ในส่วนวงเงินประกันนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล เนื่องจาก ข้อหาตามมาตรา 116 ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ ที่ถูกพนักงานอัยการแจ้งข้อหาและสั่งให้พนักงานสอบสวนสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลังนั้นมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งตามกฎหมายการประกันตัวต้องมีหลักประกัน (โทษจำคุกเกิน 3 ปี) อย่างไรก็ตามศาลอาจใช้ดุลพินิจพิจารณาไม่เรียกหลักประกันก็ได้
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคดีนี้ในชั้นพนักงานสอบสวนและอัยการได้ให้ประกันตัวโดยไม่ได้เรียกหลักทรัพย์ค้ำประกัน เนื่องจากเล็งเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี
 
ด้านสุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) 1 ใน10 ผู้ต้องหา แสดงความเห็นว่าข้อหาตามมาตรา 116 ที่ระบุว่าเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล ซึ่งเพิ่มขึ้นมาในชั้นอัยการถือเป็นข้อกล่าวหาที่ค่อนข้างรุนแรง เป็นข้อหาที่ใช้ดำเนินคดีกับผู้ก่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ในส่วนการนิรโทษกรรมที่จะมีขึ้นอาจไม่รวมคดีนี้เข้าไปด้วย อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิฟ้องร้อง ซึ่งก็ต้องต่อสู้กันตามกระบวนการของกฎหมายที่มี
 
สุภิญญา กล่าวด้วยว่า ต้องยืนยันในเรื่องเจตนา เพราะคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัย สนช.ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งราว 2 สัปดาห์ ซึ่งก็เป็นการพยายามอย่างถึงที่สุดแล้ว เพื่อเป็นการยืนยันที่จะหยุดยั้งไม่ให้ สนช.เร่งผ่านกฎหมายสำคัญๆ ก่อนที่จะหมดวาระโดยไม่รอบคอบ อาทิ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กฎหมายเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ ทรัพยากร ฯลฯ ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีความพยายามในการคัดค้าน แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจึงต้องไปเพื่อร่วมกันกดดัน   
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

AREA เผย ราคาที่ดินกรุงเทพฯ เพิ่มสวนกระแส 4.4% แพงสุด ตรว.ละ 1.2 ล้านบาท

Posted: 01 Oct 2010 01:02 PM PDT

ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ระบุราคาที่ดินเพิ่มเฉลี่ย 4.4 % ราคาที่ดินที่แพงที่สุดอยู่ติดกับรถไฟฟ้าทั้ง 3 สถานีคือสยามสแควร์ ชิดลมและเพลินจิต ตารางวาละล้านสอง เพิ่มสูงกว่าปีที่แล้ว 20 %

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) เปิดเผยว่าราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครยังมีการเพิ่มขึ้นสวนกระแสอย่างน่าสนใจ โดยในรอบปี 2552-2553  ราคาเฉลี่ยทั่วเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพิ่มสูงขึ้นถึง 4.4%  สำหรับราคาที่ดินที่แพงที่สุดอยู่ที่บริเวณสยามสแควร์ทั้งสองฝั่ง บริเวณติดสถานีรถไฟฟ้าชิดลม และสถานีเพลินจิต โดยทั้งหมดมีราคาไร่ละ 480 ล้านบาทหรือตารางวาละ 1,200,000 บาท

ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลที่มีข้อมูลที่ใหญ่และต่อเนื่องที่สุดในประเทศไทย ได้ทำการสำรวจการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 ทุกปี และพบความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดิน

ราคาที่ดินที่แพงที่สุดอยู่ติดกับรถไฟฟ้าทั้ง 3 สถานีคือสยามสแควร์ ชิดลมและเพลินจิตนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของรถไฟฟ้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สอย ประกอบกันบริเวณเหล่านี้เป็นพื้นที่ศูนย์การค้า ซึ่งมีรายได้และอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการพัฒนาแบบอื่น จึงทำให้มีราคาสูง โดยราคาตารางวาละ 1,200,000 บาทนี้ ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ถึง 20%

ราคาที่ดินที่แพงรองลงมาคือถนนสีลม ถนนราชดำริ โดยตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าของทั้งสองถนนนี้มีราคาตารางวาละ 1,000,000 บาท หรือไร่ละ 400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่ประเมินไว้เมื่อปีที่แล้วในราคาตารางวาละ 850,000 บาท ทั้งนี้เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการพัฒนาในเชิงสำนักงาน หรือศูนย์การค้าในระดับหนึ่ง แต่มีความเข้มข้นและคึกคักน้อยกว่าบริเวณสยามสแควร์ ชิดลมและเพลินจิต

พื้นที่ที่ราคาที่ดินรองลงมาก็คือบริเวณถนนวิทยุ ราคาตารางวาละ 950,000 บาท หรือไร่ละ 380 ล้านบาท  ส่วนอีก 3 บริเวณที่ราคาตารางวาละ 900,000 บาท หรือไร่ละ 360 ล้านบาทนั้นได้แก่ บริเวณสุขุมวิทช่วงต้น ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้านานาถึงสถานีรถไฟฟ้าอโศก-สุขุมวิท (สุขุมวิท 21)

 สำหรับราคาที่ดินที่ถูกที่สุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในกรณีที่ดินขนาด 4 ไร่ ได้แก่ ที่ดินติดถนนถนนเลียบคลอง 13 ตารางวาละ 2,500 บาท หรือไร่ละ 1.0 ล้านบาท  หรือที่ถนนวงแหวนรอบนอกแถวบางขัน ตารางวาละ 3,000 บาท หรือไร่ละ 1.2 ล้านบาท  แต่ถ้าเป็นที่ดินขนาด 36 ไร่ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า ราคาที่ดินติดถนนเลียบคลอง 13 ราคาตารางวาละ 1,100 บาท หรือไร่ละ 440,000 บาทเท่านั้น

หากเป็นในกรณีที่ดินที่ติดถนนซอย ก็ยังถูกกว่านี้อีก  อาจกล่าวได้ว่า พื้นที่เขตรอบนอกของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะฝั่งเหนือและฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งยังไม่มีโครงการสาธารณูปโภคเช่นทางด่วนหรือรถไฟฟ้าที่ชัดเจน ยังมีราคาค่อนข้างต่ำ

ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาที่ดินในบริเวณที่เพิ่มขึ้นสูงสุดได้แก่ บริเวณถนนพหลโยธินช่วงต้น ก่อนถึงสะพานควาย โดยราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 25%-29% โดยเฉพาะบริเวณรถไฟฟ้าซอยอารีย์ ราคาเพิ่มขึ้นสูงสุดจากตารางวาละ 350,000 บาท เป็น 450,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 29%  ส่วนที่เพิ่มขึ้นประมาณ 25% ในรอบ 1 ปีได้แก่ บริเวณรถไฟฟ้าทองหล่อ รถไฟฟ้าใต้ดินพระราม 9 รถไฟฟ้าพหลโยธิน  และที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 20% ในรอบ 1 ปีได้แก่ ถนนพญาไท ถนนพระราม 1 สนามสแควร์ ถนนสุขุมวิทช่วงต้น และถนนสุขุมวิท 21

อย่างไรก็ตาม ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ยังกล่าวอีกว่า ราคาที่ดินบางแห่งก็กลับลดลงเล็กน้อย เช่น ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา บริเวณหนองจอก ราคาลดลงจากตารางวาละ 11,000 บาท เหลือเพียง 10,000 บาท  นอกนั้นบริเวณถนนประชาสำราญ ถนนราชอุทิศ กม. 6 ถนนประชาร่วมใจ ถนนสุวินทวงศ์ กม.42

บริเวณที่ราคาที่ดินไม่ขึ้นเลยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ยังมีบริเวณถนนสุขุมวิท กม.46 บางบ่อ และบริเวณบางปู เป็นต้น รวมทั้งบริเวณถนนปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว กม.16 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริเวณเหล่านี้มีความต้องการที่ดินเพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่มากนัก จะสังเกตได้จากผลการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า บริเวณเหล่านี้ส่วนมากไม่มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ใด ๆ เกิดขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2553 เลย

โดยสรุปแล้ว ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่าราคาที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพิ่มขึ้น 4.4% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงกว่าปีก่อน ๆ ทั้งนี้คงเป็นเพราะการปรับฐานทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากการส่งออกของประเทศ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคนี้โดยรวม

 ในช่วงปี 2551 และ 2552 ราคาที่ดินกลับเพิ่มขึ้นสูงในอัตราต่ำ คือเพียง 3.2 และ 2.6% ตามลำดับ ทั้งนี้คงเป็นผลพะวงจากภาวะความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยจะเห็นได้ว่านับแต่ พ.ศ. 2549 ที่มีรัฐประหารเป็นต้นมา แม้ราคาที่ดินจะเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงตามลำดับ ยิ่งเมื่อพบกับความผันผวนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทั่วโลกในปี 2551 ก็ยิ่งทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำลง  อย่างไรก็ตาม หากเทียบตั้งแต่ พ.ศ. 2528 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นถึง 40.2 เท่าแล้ว ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงก้าวกระโดดจากประเทศกึ่งเกษตรกรรมและกึ่งอุตสาหกรรมในช่วงปี 2519-2529 มาเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ตั้งแต่ปี 2529 แล้ว

สำหรับในปี พ.ศ.2554 คาดว่าราคาที่ดินจะเพิ่มขึ้นอีก โดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จะทำการสำรวจราคาที่ดินเกือบ 400 จุดทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในทุกรอบกลางปีเพื่อทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบทำเลเพื่อประกอบการลงทุนของนักพัฒนาที่ดิน ประกอบการวางแผนอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ตลอดจนประกอบการวางแผนสาธารณะของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ราคาที่ดินในกรุงเทพมหานครยังถือว่าถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง รวมทั้งนครโฮชิมินห์ซิตี้ของเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นกว่าไทยด้วยมีประชากรมากกว่าไทย และขนาดที่ดินน้อยกว่ามาก และอยู่ในภาวะที่กำลังเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กฟผ. ลงพื้นที่คุยชาวบ้าน แย้มผุด11โรงไฟฟ้าถ่านหินชายฝั่งทะเล

Posted: 01 Oct 2010 12:54 PM PDT

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงาน กฟผ.ลงพื้นที่นครศรีฯทำความเข้าใจชาวบ้านเรื่องไฟฟ้าถ่านหิน แย้มแผนผุด 11 โรงถ่านหินแห่งละ 6 หมื่นล้าน- 5 โรงนิวเคลียร์ ย้ำชัดจังหวัดชายฝั่งทะเลเหมาะสุด

นายสุมิต วงศ์แสงจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวที่ จ.นครศรีธรรมราช ถึงความเคลื่อนไหวในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่นครศรีธรรมราช ว่า ได้ลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนใน 2 อำเภอคือ อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร ถึงสถานการณ์พลังงานโดยเฉพาะวิกฤตที่เกิดขึ้นจะต้องเตรียมตัวรับเรื่องนี้อย่างไร

ทั้งนี้นายสุมิต กล่าวว่า ในพื้นที่ 2 อำเภอดังกล่าวมีศักยภาพสูงเพราะเป็นอำเภอที่อยู่ชายทะเลเหมาะแก่การสร้างโรงไฟฟ้าที่นำเชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้ามาได้ ถ้าประชาชนในพื้นที่ทั้งสองอำเภอให้การไฟฟ้าศึกษารายละเอียดเพื่อการก่อสร้าง การไฟฟ้าจะลงในรายละเอียดเวลานี้อยู่ในขั้นตอนของการชี้แจงเท่านั้น

“เราพยายามที่จะทำความเข้าใจในข้อเท็จจริง กฟผ.มีนโยบายที่จะต้องชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ข้อมูลที่ประชาชนรับทราบมาจากหลายแหล่งเราจะชี้แจงว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และจะต้องชี้แจงว่าหากมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นนั้น เราจะมีผลกระทบอย่างไร เราจะพูดในข้อเท็จจริงทั้งหมด ในส่วนของการจัดตั้งมวลชนเชิงลึกนั้นจริงๆที่เกิดขึ้นคือการให้ความรู้ประชาชนสามารถซักถามชี้แจงไม่มีสิ่งใดปกปิด เราจะทำอย่างนี้ต่อไป ประชาชนจะเป็นคนตัดสินว่าจะสร้างได้หรือไม่ได้ ประชาชนต้องมีความเข้าใจด้วย ซึ่งถ้าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเราจะทำขั้นต่อไปคือการประกาศหาพื้นที่ แต่ยังไม่ถึงขั้นนั้นข่าวลือที่ออกมาว่าเราซื้อพื้นที่ไว้หลานพันไร่นั้นไม่ได้เป็นเรื่องจริง”

นายสุมิต กล่าว ผู้ช่วยผู้ว่าการกฟผ.กล่าวอีกว่า โครงการลักษณะเช่นนี้ถ้าเกิดขึ้นนั้น โครงการนี้อยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยอยู่แล้ว ครม.ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ในแผนตัวนี้คือแผน 2010 แผนนี้จะให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด 11 โรง เป็นโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกกะวัตถ์ ซึ่งใน 11 โรงนี้จะต้องสร้างในพื้นที่ที่ติดกับทะเล เพราะต้องนำถ่านหินเข้ามา จังหวัดที่อยู่ชายทะเลทั้งหมดส่วนใหญ่จะอยู่ทางใต้แต่ละโครงการใน 1 โรงงานนั้นจะถึงประมาณ 6 หมื่นล้านบาทต่อ 800 เมกกะวัตถ์ อันนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่เท่าไหร่จะอยู่ที่ประชาชนจะให้การยอมรับหรือไม่นอกจากนี้ในอีกส่วน คือ เรื่องของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่อยู่ในแผนนี้เช่นกันมีประมาณ 5 โรงๆละประมาณ 1 พันเมกกะวัตถ์ แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าเป็นพื้นที่ไหน การไฟฟ้าได้จ้างที่ปรึกษามาประเมินว่าเป็นที่ไหนบ้าง จริงๆแล้วการสร้างนั้นต้องเจาะสำรวจถึงชั้นพื้นหินรองรับโครงสร้างขนาดใหญ่ประเมินทั่วไปคล้ายกับถ่านหินจะต้องอยู่ชายทะเลเพราะต้องขนส่งของหนักแต่ยังไม่ได้ปักธงว่าเป็นที่ไหน ต้องศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศว่าน่าจะเหมาะอาจมีการให้คะแนนในเบื้องต้นจริงๆแล้วต้องเจาะสำรวจแต่ยังไม่ได้ทำถึงขนาดนั้น

ที่มา: http://www.posttoday.com
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"อภิสิทธิ์" ยินดีพบม็อบมาบตาพุด ส่งสัญญาณคุมการขยายตัวอุตฯ

Posted: 01 Oct 2010 12:49 PM PDT

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เผย ยินดีลงพื้นที่ทำความเข้าใจประชาชนมาบตาพุด ส่งสัญญาณคุมการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมมาบตาพุด เตรียมนำข้อมูลสุขภาพประชาชนมาพิจารณาความสามารถของพื้นที่ในการรองรับมลพิษ

อภิสิทธิ์แจงรัฐบาลมอบหมายนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปเร่งรัดโครงการต่างๆ ดำเนินการเร่งบรรเทาความเดือดร้อนและนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชนมาใช้เป็นข้อมูลประกอบเรื่องความสามารถในการรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่มากกว่าการตัดประเภทกิจการรุนแรงจาก 18 ประเภท เหลือ 11 ประเภท

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ยินดีทำงานร่วมกับภาคประชาชน และพร้อมลงพื้นที่เจรจา “ผมยินดีจะทำงานร่วมกับภาคประชาชนในประเด็นที่จะไปกระทบกับชีวิตของประชาชนที่มาบตาพุดจริงๆ และเป็นไปได้ที่ผมจะลงพื้นที่ไปพบประชาชนหรือจะให้เขามาพบก็ได้” นายกฯ กล่าว

สำหรับกรณีที่จะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในส่วนของมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการประกาศประเภทโครงการรุนแรงที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน เพราะคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้รับรองการประชุม เรื่องนี้เป็นสิทธิตามกฎหมายของภาคประชาชนที่สามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาได้ แต่รัฐบาลมั่นใจว่า ดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมกับยอมรับว่าการชุมนุมที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ไม่ได้มีแต่เฉพาะเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกเท่านั้น

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ปัญหาอยู่ เช่น การประกาศให้โครงการลงทุนในพื้นที่อ่อนไหวเป็นโครงการรุนแรง ซึ่งตนได้สอบถามสำนักงานกฤษฎีกาไปแล้ว และได้รับคำตอบว่ากรณีเช่นนี้ต้องเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่อำนาจของกรรมการสิ่งแวดล้อมหรือของคณะผู้ชำนาญการ ที่จะประกาศ อีกทั้งการประกาศ ต้องประกาศในลักษณะที่เป็นประเภทหรือขนาดของกิจการด้วย ขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไร

ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังหารือกับเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกที่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดว่า เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและเครือข่ายประชาชนทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนอุตสาหกรรมได้ยื่นข้อเสนอและชี้แจงปัญหาที่กระทบกับชุมชนให้ภาครัฐรับทราบ ซึ่งภาคประชาชนชี้แจงว่า ไม่เห็นด้วยกับประกาศกิจการรุนแรง 11 กิจการ เพราะยังไม่ครอบคลุมบางอุตสาหกรรมที่ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยภาคประชาชนชี้แจงว่า มีหลายพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุน เช่น ผลกระทบจากเหมืองทองคำที่จังหวัดพิจิตร ผลกระทบจากโรงโม่หินที่จังหวัดพิษณุโลก

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในการหารือครั้งนี้ ภาครัฐได้รับข้อเสนอของภาคประชาชนที่ต้องการให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลของการแก้ปัญหามาบตาพุด โดยต้องการให้นายกรัฐมนตรี มาชี้แจงและรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการออกประเภทกิจการรุนแรง ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับทราบเบื้องต้นแล้วว่าภาคประชาชนต้องการให้จัดเวทีสาธารณะรับฟังข้อมูล นายกรัฐมนตรียังไม่ตอบรับหรือปฏิเสธข้อเสนอของภาคประชาชน เพราะต้องตรวจสอบกำหนดการของนายกรัฐมนตรีในช่วงนี้ เนื่องจากมีกำหนดเข้าร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรป ที่ประเทศเบลเยียม ในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ คาดว่าการจัดเวทีรับฟังความเห็นจะดำเนินการได้ภายใน 3 สัปดาห์ โดยภาคประชาชนเสนอ 2 สัปดาห์ แต่ไม่น่าจะมีปัญหาหากดำเนินการได้ภายใน 3 สัปดาห์ เพราะนายกรัฐมนตรีต้องเดินทางไปต่างประเทศ

ทั้งนี้ ภาครัฐรับพิจารณาข้อเสนอที่ต้องการให้มีการเผยแพร่เวทีสาธารณะ โดยอาจมีการพิจารณาถ่ายทอดทางโทรทัศน์หรือให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังด้วย ซึ่งการจัดเวทีดังกล่าวอาจไม่ทำให้ปัญหาความขัดแย้งจบลงได้เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน แต่ภาครัฐเชื่อว่าจะเป็นเวทีที่ทุกฝ่ายมีโอกาสร่วมเสนอแนวทางการแก้ปัญหา โดยเวทีดังกล่าวจะหารือเกี่ยวกับกิจการรุนแรง 11 กิจการ และหากไม่สามารถแก้ประกาศดังกล่าวได้จะดำเนินการอย่างไร รวมทั้งหารือว่าปัญหาที่ชุมชนได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมทั่วประเทศจะแก้ไขอย่างไร

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์การเรียกร้องของภาคประชาชน เพราะไม่ได้จำกัดปัญหาเฉพาะมาบตาพุดแต่ได้ชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศที่ภาครัฐต้องเข้าไปดูแล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเห็นว่า ปัญหามาบตาพุดจบแล้ว เพราะมีทางออกที่ชัดเจน จึงช่วยให้ความเชื่อมั่นการลงทุนกลับคืนมา รวมทั้งการชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม

ด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อยและเมื่อภาคประชาชนได้รับคำตอบจากการหารือได้มีการแยกย้าย ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้มีภาคประชาชนจากจังหวัดอื่นที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมชุมนุมด้วยและบางส่วนก็ได้ทยอยเดินทางกลับ โดย กนอ.เชื่อว่าสถานการณ์การชุมนุมได้คลี่คลายไปในทางที่ดี แต่ กนอ.ยังคงมาตรการรับมือการชุมนุมไว้ ซึ่งได้ประสานเจ้าหน้าที่ในจังหวัดระยองเพื่อเฝ้าระวังไปอีกระยะจนกว่าจะมั่นใจว่าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว

ที่มาบางส่วน: http://www.bangkokbiznews.com

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นายกรัฐมนตรีเผยลงนามยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดแล้ว ส่วน 4 จังหวัดที่เหลือครม.จะพิจารณาต่อไป

Posted: 01 Oct 2010 12:34 PM PDT

นายกรัฐมนตรีเผยลงนามยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และนครราชสีมาแล้ว ส่วน 4 จังหวัดที่เหลือคือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ครม.จะพิจารณาต่อไป

เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2553 เวลา 16.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังที่ได้มีการเชิญนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หน่วยงานฝ่ายความมั่นคง กระทรวงยุติธรรม มาหารือเพื่อที่จะเตรียมการสำหรับการบริหารงานที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านความมั่นคงว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาตนได้ลงนามยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และนครราชสีมา ซึ่งจะทำให้ขณะนี้มีพระราชกำหนด( พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินยู่ 4 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี โดยในส่วนที่เหลือดังกล่าวคณะรัฐมนตรี(ครม.)จะมีการประชุมในวันที่ 5 ตุลาคม 2553 เพื่อพิจารณาว่าจะมีการประกาศใช้ต่อหรือไม่อย่างไร ซึ่งตรงนี้ทางศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และหน่วยงานความมั่นคงจะได้มีการเสนอข้อมูลประกอบการพิจารณาให้กับ ครม.ด้วย ซึ่งในการประชุมครม.ในวันดังกล่าวนั้น นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะทำหน้าที่ประธานการในที่ประชุมฯ

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่ได้ให้มีการสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการใช้ พ.ร.ก. ว่ามีการใช้อำนาจในเรื่องใดบ้างว่า ได้รับทราบในแง่ของการดำเนินคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุม จะมีประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งถูกดำเนินคดีหลังจากเกิดเหตการณ์หรือในระหว่างเหตุการณ์บางส่วนและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอยู่ในระหว่างการถูกคุมขังอยู่ในที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนั้น ตนได้มีการขอข้อมูลจากทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งได้มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีการพูดถึงเรื่องของปัญหาการจับกุมคุมขังบุคคลต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเรื่องของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและดำเนินการตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญารวมอยู่ด้วย และอาจจะมีบางส่วนที่เป็นเรื่องของการจับกุมในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก.โดยตรง ซึ่งตรงนี้ก็ได้มอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ ของกระทรวงยุติธรรม ไปตรวจสอบรายละเอียดของคนที่ถูกคุมขังทั้งหมดที่มีอยู่จำนวน 184 คน ว่ามีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการใช้อำนาจ พ.ร.ก.หรือไม่ พร้อมให้ขอข้อมูลและขอความร่วมมือจากคณะกรรมการสิทธิฯ ในการที่จะช่วยให้ข้อมูลอีกทางหนึ่ง เพื่อที่จะได้พิจารณาในกรณีที่เห็นว่า การดำเนินการที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.ก. อาจจะมีความเหมาะสมที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรนั้น ก็จะได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อที่จะไม่ให้เกิดปัญหาว่ายังมีความเข้าใจว่ามีการไปคุมขังใคร โดยที่ไม่สมควรหรือไม่ ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ได้ข้อยุติเมื่อเช้านี้

ส่วนกรณีที่มีเรื่องของข้อมูลขององค์กรเอกชน ที่ระบุว่ายังมีบุคคลสูญหายแต่ยังไม่พบทั้งหมด 25 คน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากทำความเข้าใจว่าใน จำนวน 25 คน ดังกล่าว จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการชุมนุมยังไม่สามารถทราบได้ จึงได้ขอให้ทางตำรวจได้เร่งติดตามกลุ่มบุคคลเหล่านี้ต่อไป รวมไปถึงจะให้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องถึงกรณีที่มีข่าวมีการระบุมีนักเรียนถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำ ซึ่งความจริงแล้วไม่มี ส่วนจะมีอยู่ที่สถานพินิจฯหรือไม่ ก็กำลังที่จะให้มีการตรวจสอบพร้อม ๆ กันไปด้วย ทั้งนี้เพื่อที่จะให้ทุกฝ่ายได้มีความสบายใจในเรื่องของการที่มีการใช้กฎหมายพิเศษ

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่จะมีการคงหรือไม่คงไว้ในเรื่องของ พ.ร.ก.ว่า จะมีการให้ ครม.พิจารณา แต่อย่างไรก็ตามความจำเป็นในเบื้องต้นขณะนี้ที่มีการรายงานมาก็จะเป็นในเรื่องของปัญหาการก่อวินาศกรรมเป็นหลัก ซึ่งเราก็มีความจำเป็นในการที่จะต้องหามาตรการและใช้อำนาจตาม พ.ร.ก. เพื่อที่จะไม่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ให้ไปพิจารณาดูว่าในกรณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จะมีทางใช้ช่องทางใดตามกฎหมายปกติได้หรือไม่ ซึ่งหากมีก็จะสามารถที่จะลดการใช้ พ.ร.ก.ลงไปได้ในอนาคต

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องที่ได้มีการหารือถึงภารกิจของนายสุเทพฯ นอกจากเรื่องด้านความมั่งคงดังกล่าวที่รับผิดชอบแล้วก็จะมีเรื่องของคณะกรรมการซึ่งนายสุเทพฯ รับผิดชอบอยู่จำนวน 30 กว่า คณะนั้น ก็ได้มีการสรุปมาทั้งหมดว่าจะมีเรื่องใดบ้างที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องมีการพิจารณา เพื่อที่ตนจะได้รับทราบว่าจะเร่งดำเนินการในรื่องใดอย่างไรก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของ ผอ.ศอฉ.ได้มีการว่างไว้อย่างไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะให้ทางที่ประชุมครม.พิจารณาไปพร้อมกับประเด็นที่จะมีการต่อ พ.ร.ก.หรือไม่อย่างไรใน 4 จังหวัดที่เหลือดังกล่าว ส่วนเหตุผลที่จะให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มานั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอก ประวิตรฯ ก็มีความเหมาะสมตรงที่เป็นรองผอ.ศอฉ.อยู่แล้วในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามทั้งนี้ก็จะเป็นเรื่องที่ครม.จะได้พิจารณาในวันที่ 5 ตุลาคม 2553 เนื่องจาก พ.ร.ก.จะไปสิ้นสุดวันที่ 6 ตุลาคม 2553 และนายสุเทพฯ ก็ยังจะคงทำหน้าที่ตรงนี้อยู่ เพราะเท่าที่ทราบวันที่ 6-7ก็คงยังไม่สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 จังหวัดสุราษร์ธานี โดยนายสุเทพฯ จะลาออกจากการตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี คาดว่าไม่เป็นวันที่ 7ก็วันที่ 8 ตุลาคมนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประเมินสถานการณ์ของ ศอฉ.ว่า รูปแบบที่ติดตามกันอยู่ก็เป็นความต่อเนื่องจากเรื่องของระเบิดและการก่อวินาศกรรมหรือการทำให้เกิดสถานการณ์ความวุ่นวาย โดยเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ทางศอฉ.ก็ได้มีการประชุมในเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้มีการรายงานให้รับทราบว่ามีการเตรียมการอย่างไร นอกจากนี้ในวันพรุ่งนี้(2ต.ค.)ตนก็จะนัดพบผบ.ตร. ครั้งหนึ่งด้วย

ต่อข้อถามว่า เป้าหมายการก่อวินาศกรรมเป้าประสงค์คืออะไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ต้องการจะทำ จะเรียกว่าในพื้นที่ที่ชอบใช้คำสัญลักษณ์และต้องการที่จะทำให้เกิดความปั่นปวนวุ่นวาย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทางตำรวจ ทหารและศอฉ.ที่ขณะนี้ได้วางมาตรการต่าง ๆ "ก็ดูจะเข้มข้นขึ้นในช่วงนี้ และคิดว่าจะปรับแนวทางบางอย่างซึ่งคิดว่าน่าจะช่วยให้เหตุการณ์ดีขึ้น"

นายกรัฐมนตรีปฏิเสธคำถามผู้สื่อข่าวซึ่งถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีจะมาดูแลด้านความมั่นคงจะเป็นความท้าทายให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น โดยระบุว่าความจริงก็ไม่ได้เป็นปัญหาเพราะอย่างไรตนก็ต้องมีความรับผิดชอบในภาพรวมอยู่แล้ว ซึ่งกลไกส่วนใหญ่ที่ทำงานอยู่ตอนนี้ก็มีการปรับปรุงในแง่ของวิธีการต่าง ๆ อยู่ซึ่งตนก็ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้อย่างที่เรียนคือเราจะมีการติดตามและมีการขยายผลจากการจับกุมหรือจากข้อมูลที่เราได้ก่อนหน้านี้ รวมถึงมาตรการในเรื่องของการระวังป้องกันต่าง ๆ และการฝึกซ้อมต่าง ๆ ก็มีความเข้มข้นมากขึ้น

ต่อข้อถามว่า คิดว่าตอนนี้ใกล้ที่จะได้ตัวคนร้ายหรือยัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อมูลในเชิงของการเชื่อมโยงเครือข่ายและนำไปสู่ผู้ต้องสงสัยนั้นก็มีความชัดเจนมากขึ้นโดยลำดับแล้ว แต่การที่จะให้ได้ถึงตัวก็คงจะต้องมีพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อความหนักแน่น ส่วนมาตรการที่นายกรัฐมนตรีระบุเป็นอย่างไรนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการซึ่งก็อยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่มีอะไรตื่นเต้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่าเหตุที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับ ศอฉ. นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่ทางฝ่ายของบ้านเมือง จะไปก่อเหตุความวุ่นวาย ไม่ได้อะไร เพราะว่าเราคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมือง และอยากเชิญชวนให้คุณชัจจ์ช่วยประณามคนที่ก่อความรุนแรง มากกว่าที่จะเอามาเป็นประเด็นการเมือง

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.ต.ท.ชัจจ์ ต้องการให้ ศอฉ. ชี้แจงงบประมาณของ ศอฉ.ที่ใช้ไปแล้วกว่า 100 ล้านบาท นายกรัฐมนตรีย้อนถามว่า 100 ล้านไหน ต้องขอทราบว่าเขาหมายถึงอะไร ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นเบี้ยเลี้ยงตามเกณฑ์ตามสิทธิ

เรียบเรียงจาก กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข่าวพม่ารอบสัปดาห์

Posted: 01 Oct 2010 11:36 AM PDT

ศิลปินไทใหญ่สร้างการ์ตูนอนิเมชั่นล้อเลียนตานฉ่วยและภรรยา, พม่าห้ามพรรคการเมืองชนกลุ่มน้อยพูดถึงการปกครองแบบสหพันธรัฐ, ลือ ซูจี จะได้รับการปล่อยตัวหลังเลือกตั้ง, โรคแอนแทรกซ์ระบาด กระทบราคาวัวชายแดนบังกลาเทศ – พม่า, เกิดเหตุระเบิดที่สำนักงานของรัฐ ในเขตพะโค

27 ก.ย.53
ศิลปินไทใหญ่สร้างการ์ตูนอนิเมชั่นล้อเลียนตานฉ่วยและภรรยา

จายสายแหลด หรือที่รู้จักกันในชื่อหาญเล ศิลปินนักวาดการ์ตูนชาวไทใหญ่ได้ร่วมกับนายจ่อข่ายสร้างการ์ตูนอนิเมชั่นล้อเลียนนายพลอาวุโสตานฉ่วยและภรรยา นางดอว์ไข่ไข่ เป็นครั้งแรก โดยได้โพสต์ลงในเว็บไซต์ยูทูป ซึ่งจนถึงขณะนี้มีผู้เข้าชมกว่า 900 คนแล้ว

ขณะที่การ์ตูนอนิเมชั่นดังกล่าวมีความยาว 3 นาที โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ได้ล้อเลียนตานฉ่วยว่า ถึงแม้จะเป็นพุทธศาสนิกชนแต่ก็ปราบปรามและฆ่าพระสงฆ์อย่างเหี้ยมโหด เพื่อรักษาและสืบทอดอำนาจทางการเมืองของตัวเองต่อไป ด้านจายสายแหลดกล่าวว่า การสร้างการ์ตูนอนิเมชั่นครั้งนี้ก็เพื่อสื่อถึงความเหี้ยมโหดของตานฉ่วยและรัฐบาลพม่าที่ปราบปรามพระสงฆ์เมื่อปี 2550 ซึ่งครบรอบ 3 ปีในวันที่ 27 ก.ย.53 ที่ผ่านมา

(Irrawaddy/ เว็บไซต์ข่าวไทใหญ่ )
 

30 ก.ย.53
พม่าห้ามพรรคการเมืองชนกลุ่มน้อยพูดถึงการปกครองแบบสหพันธรัฐ

แม้ทางการพม่าจะอนุญาตให้พรรคการเมืองต่างๆรณรงค์หาเสียงออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุ แต่ผู้นำพรรคการเมืองชนกลุ่มน้อยหลายพรรคต่างออกมาเปิดเผยว่า คณะกรรมการเลือกตั้งพม่า ซึ่งแต่งตั้งจากรัฐบาลได้ห้ามพรรคการเมืองชนกลุ่มน้อยพูดถึงการรณรงค์หาเสียงที่เกี่ยวข้องกับการปกครองแบบสหพันธรัฐ

ไนหง่วยติน ผู้อำนวยการพรรค All Mon Regions Democracy Party – AMRDP ซึ่งเป็นพรรคของชาวมอญเปิดเผยว่า คณะกรรมการเลือกตั้งได้ลบคำว่า “สหภาพที่แท้จริง” หรือแม้กระทั่งคำว่า “ชาตินิยมใจแคบ”ออกจากสคริปที่เขียนไว้สำหรับใช้หาเสียงของทางพรรคAMRDP ก่อนออกอากาศ เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ (Shan Nationals Democratic Party- SNDP)ได้ออกมาเปิดเผยเช่นกันว่า คณะกรรมการเลือกตั้งได้ลบบางประโยคที่เกี่ยวโยงกับสัญญาป๋างโหลง ในสคริปของทางพรรค SNDP ก่อนที่จะออกอากาศด้วยเช่นกัน

“พวกเขาลบคำว่า สัญญาป๋างโหลงออก เราแค่ต้องการบอกให้ประชาชนทั่วไปรับรู้เกี่ยวกับสัญญาป๋างโหลงเท่านั้น แต่รัฐบาลก็ไม่อนุญาต” จายหล้าจ่อ เลขาธิการของพรรค SNDP กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้คณะกรรมการเลือกตั้งพม่าจะอนุญาตให้พรรคการเมืองทั้ง 37 พรรค ที่จะลงชิงชัยเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้สามารถรณรงค์หาเสียงออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุได้นาน 15 นาที แต่มีรายงานว่า พรรคการเมืองต่างๆจะต้องนำสคริปที่จะพูดออกอากาศส่งให้คณะกรรมการในกรุงเนปีดอว์ตรวจดูก่อน 7 วัน โดยหากไม่ผ่าน ก็จะต้องยื่นใหม่ต่อคณะกรรมการเลือกตั้งอีกครั้ง ซึ่งหลายพรรคชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในรัฐต่างๆออกมาร้องเรียนว่า การเดินทางไปเนปีดอว์ทำให้ต้องเสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณของพรรค
(Irrawaddy)

1 ต.ค. 2553
ลือ ซูจี จะได้รับการปล่อยตัวหลังเลือกตั้ง

มีข่าวลือออกมาว่า ทางการพม่าเตรียมปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ขณะที่นางซูจีมีกำหนดการพ้นโทษกักบริเวณในวันที่ 13 พฤศจิกายน 53 ที่จะถึงนี้ มีรายงานด้วยเช่นกันว่า เจ้าหน้าที่จากทางการพม่ากล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ น่าจะเป็นเดือนที่สำคัญและยุ่งสำหรับทางการพม่า เพราะจะมีการจัดการเลือกตั้ง พร้อมกับมีการปล่อยตัวนางซูจี

ทั้งนี้ นางซูจีถูกกักบริเวณเข้าปีที่ 20 แล้ว ขณะที่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐสภาคองเกรสของสหรัฐเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนางซูจีอย่างเร่งด่วน เช่นเดียวกับยูเอ็นที่ออกมากล่าวว่า หากนางซูจีไม่ได้มีบทบาทในการเลือกตั้งครั้งนี้ การเลือกตั้งที่รัฐบาลจัดขึ้นก็จะไม่มีความน่าเชื่อถือ
(AFP)

โรคแอนแทรกซ์ระบาด กระทบราคาวัวชายแดนบังกลาเทศ – พม่า
การค้าขายวัวตรงชายแดนบังกลาเทศ – พม่า ซบเซาอย่างหนัก และราคาซื้อขายวัวก็ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง หลังโรคแอนแทรกซ์ระบาดหนักในบังกลาเทศ มีวัวและประชาชนติดเชื้อ และทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจในความปล่อยภัยและไม่กล้าบริโภคเนื้อวัว ขณะที่ในช่วงเวลานี้ทุกปี ราคาซื้อขายวัวจะสูงที่สุด เนื่องจากตรงกับเทศกาลสำคัญของศาสนาอิสลาม ด้านสื่อของบังกลาเทศออกมารายงานว่า จนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อแอนแทรกซ์มากกว่า 600 คน ใน 12 อำเภอแล้ว ซึ่งรัฐบาลบังกลาเทศกำลังเป็นห่วงว่า โรคจะระบาดไปทั่วประเทศในอนาคต (Narinjara)
 

เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่สำนักงานของทางการพม่าในเขตพะโค

เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่สำนักงานของทางการพม่าในเขตพะโค เมื่อเวลาสามทุ่มกว่าของคืนที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้กับอาคารสำนักงานของทางการพม่า แต่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่อย่างใด ขณะที่พบว่า สำนักงานดังกล่าวยังถูกใช้เป็นสถานที่ทำงานของคณะกรรมการเลือกตั้ง ด้านหนังสือพิมพ์เดอะนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ระบุว่า เหตุระเบิดครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มติดอาวุธและนักการเมืองที่ชอบฉวยโอกาส และมีความพยายามจะขัดขวางการเลือกตั้ง 2010 ที่ใกล้จะถึงนี้
(DVB)

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost , ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รุมแจกพันธุ์ปลาชายแดนใต้ ชาวบ้านขาดทุนยับล้นตลาด

Posted: 01 Oct 2010 11:08 AM PDT

บุหงารายานิวส์รายงานผู้เลี้ยงปลาชายแดนใต้โวยขาดทุนยับ ปลาดุกล้นตลาด เลี้ยงแล้วขายไม่ออก ประมงบ่นอุบ สารพัดหน่วยงานไล่แจกพันธุ์ปลาชาวบ้าน แจกซ้ำแจกซ้อน หมดสิทธิ์คุมปริมาณผลผลิต

นายบัง เจ๊ะเละ กลุ่มผู้เลี้ยงปลาดุกตำบลมะนังดาลำ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงปลาดุกพบปัญหาเลี้ยงแล้วขายไม่ได้ ไม่มีตลาดรองรับ เนื่องจากมีหน่วยงานรัฐหลายหน่วยลงมาแจกพันธุ์ปลาดุกให้ชาวบ้านเลี้ยงจนเกิน ความต้องการของตลาด หลังแจกจ่ายพันธุ์ปลาให้ชาวบ้านนำไปเลี้ยงแล้ว แต่ละหน่วยงานไม่ได้ลงมาช่วยหาตลาดให้กับผู้เลี้ยง ชาวบ้านต้องร่วมกันหาพ่อค้าคนกลางจากต่างอำเภอมาช่วยรับซื้อ

“ตอนนี้เกือบทุกบ้านมีบ่อเลี้ยงปลาดุกอยู่หลังบ้าน จนพูดกันว่าจะเอาปลาดุกหัวโตไปขายที่ไหน” นายบังกล่าว
นายซอบรี ดาหะแม กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า พบปัญหาปลาที่เลี้ยงในกระชังตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ชาวบ้านขาดทุนจากการเลี้ยงปลาจำนวนมาก ปกติรายได้จากการขายปลาแต่ละครั้งมากกว่า 50,000 บาทต่อกระชัง โดยเฉพาะปลากระพงขาวจะขายได้ราคาดี ผมอยากให้ภาครัฐสนใจแก้ปัญหาปลาในกระชังตายด้วย ไม่ใช่แค่มาแจกพันธุ์อย่างเดียว

นายอรรสิทธิ ฉัตรชัยชาญ หัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการด้านการประมง จังหวัดปัตตานี กล่าวถึงกรณีผลผลิตปลาดุกล้นตลาดว่า เป็นเพราะมีหน่วยงานราชการหลายหน่วย ทั้งศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาคใต้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างคนต่างทำโครงการแจกพันธุ์ปลาซ้ำซ้อน โดยไม่มาแจ้งหรือปรึกษากับประมงจังหวัด ทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณผลผลิตได้ เมื่อเกิดปัญหาปลาล้นตลาด ต่างก็โยนปัญหามาให้ประมงแก้

นายสุนันท์ ศิริมากุล หัวหน้าสำนักงานประมงจังหวัดปัตตานี ชี้แจงว่า ปัญหาปลาในกระชังตายเกิดจากแบคทีเรียในเหงือกปลาที่มาจากกระแสน้ำขุ่นตอนน้ำ ท่วม ทำให้ปลาไม่กินอาหาร ขณะนี้ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ประมงลงไปช่วยผู้เลี้ยงปลาในกระชังแล้ว แต่อาจช่วยไม่ได้ทั้งหมด เพราะงบประมาณมีจำกัด
“ขณะนี้มีผู้เลี้ยงปลาในกระชังจังหวัดปัตตานีมากถึง 2,318 กระชัง กระชังละ 500 ตัว นี่เฉพาะที่มาลงทะเบียนเท่านั้น ส่วนที่ยังไม่ได้มาลงทะเบียนยังมีอีกมาก โดยอำเภอสายบุรีเป็นอำเภอที่เลี้ยงปลาในกระชังมากที่สุดของจังหวัดปัตตานี คือ 1,056 กระชัง” นายสุนันท์ กล่าว

นายสุนันท์ เปิดเผยว่า ในการแจกจ่ายพันธุ์ปลาในปี 2553 จากตรวจสอบพบว่า รายชื่อชาวบ้านที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจากฝ่ายปกครอง มีชื่อผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย จึงส่งกลับไปให้ฝ่ายปกครองตรวจสอบข้อเท็จจริง
ขณะที่นายวัชรินทร์ ลักษ์ยอดจิตร หัวหน้าสำนักงานประมงจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องของปลาดุกล้นตลาด เพราะกำลังดำเนินการแก้ไข และสามารถควบคุมปริมาณการผลิตเพื่อให้ประชาชนบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น

เจ้าหน้าที่สำนักงานประมงจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ปริมาณปลาดุกที่ล้นตลาดในยะลา ทางศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะจัดประชุมในวันที่ 30 กันยายน 2553 เวลา 9.00 น. ที่ ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา เพื่อหาตลาดรองรับ คาดว่าจะส่งให้เรือนจำรับซื้อเพื่อระบายปริมาณปลาดุกที่ล้นตลาด

อย่างไรก็ตามนายเวทมนต์ บุญผ่องศรี หัวหน้าสำนักงานประมงจังหวัดยะลา ปฏิเสธว่า ในยะลาไม่มีปัญหาเรื่องปลาดุกล้นตลาด

นางสอบารียะ เจะแว แม่ค้าขายปลาในตลาสดเทศบาลเมืองปัตตานี เปิดเผยว่า ปลาในกระชังที่มีราคาสูงในท้องตลาดคือ ปลากะพงขาว กิโลกรัมละ 150 บาท ขณะที่ปลาดุกราคาเพียง 30 บาทต่อกิโลกรัม ราคารับซื้อที่บ่อเลี้ยงแค่ 23–25 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

หมายเหตุ
*ผลงานของผู้เข้าร่วมอบรมการเขียนข่าวเบื้องต้น ศูนย์อบรมผู้ผลิตสื่อ INTERNEWS
ร่วมกับ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.bungarayanews.com/news/view_news.php?id=516

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สหภาพแรงงานยุโรปประท้วงใหญ่ นโยบายรัดเข็มขัดรัฐบาล

Posted: 01 Oct 2010 05:51 AM PDT


กลุ่มสหภาพแรงงานกว่า 100,000 คน จาก 50 องค์กรใน 30 ประเทศทั่วยุโรป
ประท้วงใหญ่ที่เบลเยียม ไม่ยอมรับแผนการรัดเข็มขัดของรัฐบาลชาติยุโรป

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 53 ที่ผ่านมาสื่อต่างประเทศรายงานว่าเมื่อวันพุธที่ผ่านมากลุ่มสหภาพแรงงานกว่า 100,000 คน จาก 50 ใน 30 ประเทศทั่วยุโรป นำโดยองค์กร สมาพันธ์สหภาพแรงงานยุโรป (European Trade Union Confederation: ETUC) ร่วมรณรงค์ประท้วงที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

การประท้วงนี้อยู่ภายใต้กิจกรรมรณรงค์ European Day of Action ของ ETUC ซึ่งเป็นการชุมนุมบนท้องถนนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีในกรุงบรัสเซลส์

ETUC ได้ระบุว่าจะรณรงค์เพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลหลายประเทศในยุโรป และข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานคือ ให้มีการใช้แผนฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เพิ่มการจ้างงานและการจ้างงานที่มีคุณภาพ

John Monks เลขาธิการทั่วไปของ ETUC กล่าวเมื่อช่วงต้นกันยายนที่ผ่านมาว่า "การปลดแรงงานในช่วงเศรษฐกิจถดถอยเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และสหภาพแรงงานต้องออกมาเรียกร้อง ต้องมีการใช้พันธบัตรยูโร ในการช่วยประคองเศรษฐกิจในช่วงขาลง รวมถึงต้องใช้มาตรการเก็บภาษีธุรกรรมทางการเงินใหม่ เพื่อไม่ให้พวกนักเก็งกำฉกฉวยโอกาส นอกจากนั้นกลุ่มสหภาพแรงงานยังต้องการมาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือแรงงานหนุ่มสาว ซึ่งไม่สามารถหางานทำหรือเรียนต่อได้ในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

ทั้งนี้นอกจากที่กรุงบรัสเซลส์ ที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรปแล้ว ETUC ยังมีแผนการที่จะจัดการรณรงค์ประท้วงในอีกหลายประเทศของยุโรป เช่น สเปน กรีซ อิตาลี ลัตเวีย โปแลนด์ โปรตุเกสและเซอร์เบีย
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความเห็นในห้องน้ำ

Posted: 01 Oct 2010 02:51 AM PDT

บทวิพากษ์จากห้องส้วม ว่าด้วยการแสดงความคิดเห็นในห้องน้ำตามปั๊ม โดยเสนอประเด็นถกเถียงสำคัญ 2 เรื่องคือ ทำไมความอัดอั้นตันใจทางความคิดเห็นจึงไปปรากฏอยู่ในส้วมและทำไมส้วมในปั๊มน้ำมันของเอกชนจึงกลายเป็นพื้นที่สาธารณะ


*คำเตือน : บทความนี้เหม็นมาก [i]

ส้วมมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า...ห้องปลดทุกข์

ห้องน้ำสาธารณะเช่นในปั๊มน้ำมันเป็นส่วนผสมของสถานที่แบบ “ความเป็นส่วนตัวในที่สาธารณะ” เราสามารถประกอบกิจอันเป็นส่วนตัวได้ในชั่วขณะเวลาหนึ่ง แต่ทันใดที่เราสละกรรมสิทธิ์สถานะส่วนตัวจากไป ร่องรอยที่เหลือทิ้งไว้ก็จะเป็นของสาธารณะไปในทันใด ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งในทางรังเกียจสยดสยองหรือขบขัน และจากข่าวล่าสุด[ii]...ของเหลือเหล่านี้อาจทำให้ท่านติดคุกได้!

ประเด็นแรกคือ ประเทศไทยอาจเป็นที่เดียวหรือไม่ ที่ส้วมสาธารณะไปสังกัดอยู่กับสถานที่ของเอกชนเช่นปั๊มน้ำมันเสียเป็นส่วนใหญ่ ผู้เขียนลองนึกว่าเมื่อเราปวดส้วมนอกสถานที่ในประเทศอื่น สถานที่ที่เรามองหามันได้คือ ร้านอาหาร fast food, ในพิพิธภัณฑ์, สวนสาธารณะ, ห้างสรรพสินค้า, สถานีรถไฟ-บัส....หรืออาคารสาธารณะ และส้วมสาธารณะที่รัฐจัดหาให้เมือง แต่ไม่ใช่ปั๊มน้ำมันทั่วไปแน่ๆ หากเราลองใช้สัญชาติญานแบบไทยๆนี้ก็จะต้องพบกับความผิดหวังอย่างรุนแรงเพราะไม่ทันการ (Rest Area บนถนน high wayของอเมริกันที่ให้บริการทั้งปั๊มน้ำมัน, Fast food, ร้านขายของที่ระลึกและจิปาถะเพื่อการเดินทางต่อไป อาจเป็นต้นแบบของมัน แต่มันก็ให้บริการเฉพาะกับพฤติกรรมเดินทางในแบบวัฒนธรรมรถยนต์ของอเมริกัน)

ส้วมน่าจะเป็นจุดขายของปั๊มน้ำมันมาก่อนร้านกาแฟสดจัดรสเคลือบลำคอ(คอกาแฟ) ที่ตามมาภายหลังเพื่อยื้อผู้ใช้บริการให้อยู่กับแหล่งบริการค้าขายให้นานที่สุดเพื่อการบริโภคที่มากันแบบดาบหน้า การไม่มีบริการสาธารณะจากรัฐในเรื่องนี้ให้พอเพียงหรือพอทำใจเข้าใช้บริการได้จึงกลับเป็นประโยชน์ส่งเสริมการขายแก่ปั๊มน้ำมันชาวไทย

ประเด็นที่สองคือ ความอัดอั้นคับข้องใจของชาวไทย ไฉนเลยจึงไปพรั่งพรูอยู่ในห้องน้ำ  เหตุใดความอัดอั้นแบบฝรั่งที่ถูกพัฒนาต่อมาเป็นงานศิลปะข้างถนน หรือGraffiti Art จึงปรากฏตัวอย่างฉูดฉาดทะนงตนตามสองฝั่งถนนอย่างไม่เกรงสายตา และออกจะเป็นความประสงค์เสียด้วยซ้ำที่จะให้สะดุดแก่สายตาสาธารณะ แม้จะไม่ท้าทายขนาดไปเขียนบนผนังห้างดังย่านในเมือง (เว้นแต่ถ้าได้รับเชิญเมื่อถูกยกสถานะเป็นArtแล้ว) มันมักจะเลือกถิ่นสักหน่อย คือเป็นถนนท้องถิ่นย่านเสื่อมโทรมของเหล่าผู้เขียนนั่นเอง และผนังเหล่านั้นก็ดูจะไม่ได้รับการเหลียวแลมาก่อนหน้าการบรรเลงสีของเขาอยู่แล้ว... ผู้เขียนไม่ขอกล่าวถึงGraffiti แบบไทย เพราะมันถูกนำเข้าและบริโภคด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ผู้เขียนขอกล่าวถึงคำว่า”ขี้” ไม่เลือกคำว่า“อึ”ที่สุภาพกว่าเล็กน้อย เพราะ”ขี้”ให้ความเชื่อมโยงกับประเด็นคำถามที่กล่าวข้างต้นนี้ได้มากกว่า ...คำว่า ขี้เกียจ  ขี้เบื่อ ขี้เหงา ขี้เมา ขี้หึง นอกจากมันทำตัวเป็น “คำนำหน้า” (prefix )ของพฤติกรรมต่างๆที่ไม่ค่อยดีแล้ว คำว่า”ขี้” คือการเน้นความหมายว่าเป็นคนทำอะไร(ที่ไม่ดี)ซ้ำๆจนเป็นนิสัย เราอาจอุปโลมได้ว่าเนื่องมาจากการเข้าส้วมไปขี้ เป็นกิจกรรมที่มนุษย์มีความจำเป็นต้องทำอยู่ให้เป็นนิสัยแม้สิ่งที่ผลิตออกมาจะน่ารังเกียจก็ตาม การเป็นคนขี้...อะไรซักอย่างก็คือเป็นคนแบบนั้นจนเป็นนิสัย

การเลือกกิจกรรมขี้(และฉี่)มาเป็นจุดขายของปั๊มน้ำมันจึงนับเป็นความฉลาดไม่น้อย เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์ที่อยู่บนรถนานๆต้องการแน่ๆ และต้องทำซ้ำจนเกิดการซื้อขายในสถานที่นี้จนกลายเป็นนิสัยที่ดี(ต่อเจ้าของบริการ) กิจการก็ย่อมรุ่งเรือง

กิจกรรมประกอบระหว่างการขี้ก็กล่าวได้ว่า คงทำกันจนเป็นนิสัยเช่นกัน เมื่อมาบวกรวมกับบรรยากาศส่วนตัว มันจึงมักเป็นกิจกรรมในที่ลับ ถ้าเป็นส้วมที่บ้านก็อาจเป็นหนังสือโป๊ แต่พอเป็นส้วมสาธารณะ มันจึงกลายเป็นเรื่องลับที่ประสงค์จะเปิดเผยแต่ไม่อาจบอกกันตรงๆได้นั่นเอง... มันจึงเป็นความอัดอั้นคนละแบบกับGraffiti Art  กิจกรรมประกอบเช่นความลับในที่แจ้งในส้วมสาธารณะที่ทำกันจนเป็นนิสัยเหล่านี้ เอาเข้าจริงไม่เคยมีใครถือสาหาความเอากับมัน ตลอดชีวิตของผู้เขียนได้รับรู้มามากมายจากผนังส้วมว่าใครเป็นพ่อของใครเต็มไปหมด มาจนถึงยุคสมัยที่ผู้คนอยากรู้เสียเหลือเกินว่าใครเป็นพ่อใครกันแน่จนต้องไปขุดคุ้ยให้เปลืองเวลาทางทีวี ทั้งๆที่เราชาวไทยก็รู้กันทางทีวีอยู่แล้วว่าใครเป็นพ่อของใคร

จะว่าไปแล้ววรรณกรรมในส้วมน่าจะเป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่จริงใจที่สุด เพราะมันสดกว่ากลอนสด จะมีอะไรให้ผู้เขียนหมกมุ่นปรุงแต่งได้อีกเล่า ในเมื่อการเขียนยามปลดปล่อยนั้นสมาธิย่อมเพ่งไปที่แหล่งระบายทางกายภาพเป็นลำดับสำคัญ ผู้เขียนเชื่อว่าความคิด ความเห็นน่าจะก่อตัวในช่วงสะสมพลังเบ่ง ไปจนถึงช่วงคลายตัวเพื่อเฮือกถัดไป การได้ระบายทั้งทางความคิดและทางกายภาพนี่คือความหมายในการมีอยู่ของห้องปลดทุกข์ ที่ไม่น่าจะมีช่องว่างให้วัตถุประสงค์ทางการเมืองแฝงเข้ามาในตอนไหน...ถ้าเพิ่งจะมี...พลังทางการเมืองแบบใดกันที่ถึงกับต้องหนีมาแสดงออกกันในส้วม?...สังคมไม่เหลือพื้นที่ปกติที่ปลอดภัยกันแล้วหรือ?  อะไรทำให้พื้นที่ในส้วมสาธารณะในปี 2553จึงดูเหมือนจะมี free speech มากกว่าพื้นที่แจ้ง?

เราคงไม่ควรถึงกับต้องมาเรียกร้องสิทธิ์ของผู้ปลดทุกข์ แต่หากเรามองหาความหมายทางสังคมจากเรื่องที่ดูเหลวไหลเป็นขี้เหล่านี้ แทนที่จะหมกมุ่นอยู่กับการจับคนผิดเข้าตะรางข้อหาหมิ่นให้ได้ เช่น เหตุใดวลีที่ล่อแหลมไปในทางหมิ่นสถาบันเหล่านี้ จึงได้เป็นเนื้อหาใหม่ที่กระจายตัวเข้ามาถึงปริมณฑลส้วมสาธารณะกันเล่า? ถ้ามันไม่เคยมีมาก่อน เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยในเวลานี้ที่ผู้คนมาระบายทุกข์ในเรื่องที่ไม่เคยกล่าวถึงมาก่อน? แล้วต้องมากล่าวกันอย่างเป็นเรื่องลับที่ประสงค์จะเปิดเผย? หรือเคยมี? แต่สังคมในช่วงเวลานั้นไม่เคยถือสาหาความเอากับมัน ไม่ต่างกับการรับรู้ว่าช่างกลสถาบันไหนจะเป็นพ่อใคร คนระบายทุกข์ในที่ลับอาจจะป่วยใจ แต่คนที่จ้องจับคนป่วยใจเข้าคุกนั้นน่าจะมีอาการป่วยทางจิตมากกว่า

อาจกล่าวได้ว่ากฏหมายหมิ่นมีแนวโน้มจะถูกบังคับใช้โดยตำรวจพลเมืองอาสาเอากับส้วมในสถานบริการน้ำมันโดยเฉพาะ อันดูจะเป็นการเลือกปฏิบัติของกฏหมายที่เนื่องมาแต่พฤติกรรมขายส้วมสาธารณะและข้อจำกัดในการแสดงความเห็นแบบไทยๆนี้เอง ส้วมอาจไม่พึงเป็นจุดขายในการค้าของปั๊มน้ำมันอีกต่อไป หากการเข้าส้วมของผู้ใช้บริการ”ขี้หมิ่น”อาจทำให้ผู้ให้บริการเข้าคุกในลำดับถัดไป หรือผู้ใช้บริการเองก็อาจเกรงว่าวรรณกรรมในส้วมเช่น “กูxxx...พ่อของ yyy...” อาจไปเข้าข่ายหมิ่นสถาบันใดๆโดยรู้เท่าไม่ถึงการ ส้วมสาธารณะจึงไม่อาจตอบสนองหน้าที่”ห้องปลดทุกข์” ได้สมประโยชน์ต่อไป เนื่องด้วยต่างก็จะมีอาการ”ขี้หดตดหาย”ไปตามๆกัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มนตรี อุมารี“บาบอ”ในค่ายทหาร กับงานเยียวยาและศาสนาดับไฟใต้

Posted: 01 Oct 2010 02:32 AM PDT

สัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.มนตรี อุมารี เจ้าของฉายา“บาบอ”ในค่ายทหาร กับบทบาททหารในงานเยียวยาและศาสนาในชายแดนใต้ เผยพลทหารนอกพื้นที่เข้าไม่ถึงการเยียวยา ชี้อนาคตการเยียวยาต้องเยี่ยมให้บ่อย ได้ใจมวลชน

 

พล.ต.มนตรี อุมารี

พล.ต.มนตรี อุมารี ตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก คือนายพลมุสลิมที่ชาวบ้านในชายแดนใต้เรียกกันติดปากว่า “บาบอ” หมายถึงคำเรียกแทนโต๊ะครูผู้สอนวิชาศาสนาอิสลามใน “ปอเนาะ” อย่างให้เกียรติในฐานะผู้ทรงความรู้หรือเป็นเจ้าของสถาบันสอนศาสนาชื่อดังกล่าว

ด้วยบทบาทการเป็นหัวหน้าคณะทำงานเยียวยาและศาสนา ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ทำให้มีโอกาสไปพบปะกับประชาชนในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง ทำให้ในห้วง 2 ปีที่ผ่านมาที่รับงานด้านนี้ พบประเด็นปัญหามากมาย

ต่อไปนี้เป็นบทสัมภาษณ์ พล.ต.มนตรี อุมารี ในบทบาททหารกับการเยียวยาและศาสนาในชายแดนใต้ พร้อมข้อเสนอแนะถึงอนาคตการเยียวยาอย่างยั่งยืน

..............................

 

บทบาทของคณะทำงานเยียวยาและศาสนา

คณะทำงานเยียวยาและศาสนา ตั้งขึ้นมาเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยไม่ใช่หน่วยหลักในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่มองว่างานไหน ใครมาเป็นมือไม้ที่ช่วยเหลือได้ ก็ทำโดยไม่มีกำหนดเวลา ถ้าภายใน 1 - 2 ปีนี้ งานเยียวยามีความสมบูรณ์เรียบร้อยก็อาจจะยุบคณะทำงานนี้ไป แล้วตั้งคณะทำงานอื่นขึ้นมา

คณะทำงานชุดนี้ เป็น 1 ใน 6 คณะทำงานที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าตั้งขึ้นมา คณะทำงานชุดอื่นๆ เช่น คณะทำงานเกี่ยวครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะทำงานเกี่ยวกับพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคณะทำงานทั้งหมดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชน บางคณะที่หมดความจำเป็นก็จะยุบ ปีหน้าอาจเหลือ 4 คณะ แต่ปีนี้ก็มีคณะใหม่ขึ้นมา คือคณะทำงานวิทยุชุมชน

บทบาทหน้าที่ของคณะทำงานเยียวยาและศาสนา มี 2 เรื่อง คือ เรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไป และเรื่องศาสนา

บทบาทหน้าที่ในเรื่องการเยียวยา คือ เป็นหน่วยประสานความช่วยเหลือจากภาครัฐให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการช่วยเหลืออย่างเต็มรูปแบบตามสิทธิที่ควรจะได้ การเยี่ยมเยือนและรับทราบข้อมูลของผู้ได้รับผลกรทบ หรือให้คำแนะนำทั้งแก่ผู้ได้รับผลกระทบหรือเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง เช่น จากอำเภอ จังหวัด จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ต้องทำงานช่วยเหลือเยียวยา เช่นในเรื่องเอกสารหลักฐาน เป็นต้น

ส่วนบทบาทเรื่องศาสนา เช่น พยายามผลักดันให้องค์กรศาสนาเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ ไม่ว่าศาสนาพุทธ คริตส์ อิสลาม โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม เพราะประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นับถือศาสนาอิสลามจำนวนมาก มีความยึดมั่นสูง ซึ่งต้องยอมรับว่า การแก้ปัญหาต้องเอาศาสนามาเกี่ยวข้องด้วย

ยกตัวอย่าง งานทางด้านศาสนาที่เกี่ยวข้องกับคนในพื้นที่ คือ เรื่องการประกอบพิธีฮัจย์ ซึ่งคณะทำงานตั้งเป้าว่า จะทำอย่างไรที่จะให้ผู้ที่จะเดินทางไปร่วมพิธี ได้รับการบริการที่เต็มรูปแบบหรือเหมาะสมในราคาที่ถูกกว่าราคาของผู้ประกอบการทั่วไป

เรื่องนี้ได้พยายามอยู่ 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ เนื่องจากเรายังขอโควตาผู้ประกอบพิธีฮัจย์จากกรมศาสนาเพื่อมาดำเนินโครงการนี้ไม่ได้ วิธีการคือ ถ้าเราได้โควตามา 1,000 คน เราก็จะแบ่งให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดแต่ละจังหวัดจัดการ โดยให้หาบริษัทไหนก็ได้เก็บค่าบริการได้ถูกกว่า เช่นราคาปกติ 150,000 บาท ลดเหลือ 130,000 บาท โดยที่เราจะช่วยในเรื่องของราคาและเรื่องการอำนวยความสะดวก

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่เข้าโครงการก็ต้องยอมรับว่า กำไรจะลดลงบ้าง แต่ทางกรมการศาสนาก็ไม่ให้โควตานั้นมา เพราะกลัวว่าไม่มีความเป็นธรรมทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวกัน ส่วนทางบริษัทเองก็ไม่อยากให้เกิดโครงการนี้ เพราะจะทำให้ประชาชนต้องการไปประกอบพิธีฮัจย์ด้วยวิธีนี้หมด

ทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือในเรื่องการไปประกอบพิธีฮัจย์ตามโครงการนี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ

ประเด็นปัญหาที่พบในงานเยียวยา

ในการลงไปเยี่ยมเยือนผู้ได้รับผลกระทบแต่ละครั้ง คณะทำงานจะใช้งบประมาณของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

ที่ผ่านมา จากการลงไปเยี่ยม ก็มีการเก็บข้อมูลด้วย ตัวอย่างเช่น ได้ข้อมูลมาว่า ผู้ได้รับผลกระทบรายนี้ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่เมื่อลงพื้นที่จริง พบว่ากลายเป็นคนพิการไปแล้ว ซึ่งต้องได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 200,000 บาท ตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาของรัฐ เราก็จะดำเนินการประสานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เหมือนกับเราเข้าไปเติมเต็มในส่วนที่เขาควรจะได้รับ

ในปีหน้าคณะทำงานจะเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัดที่มีพลทหารที่ปลดประจำการแล้วกลับไปอยู่บ้าน โดยได้รับบาดเจ็บจากระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะพลทหาร คือทหารเกณฑ์ ไม่เหมือนข้าราชการทหารที่ได้รับบาดเจ็บก็ยังอยู่ในกองทัพต่อและได้รับเงินเดือน แต่พลทหารเมื่อปลดประจำการแล้ว ก็ไม่ได้รับเงินเดือน พลทหารบางคนมีลูก เราก็จะช่วยเรื่องการศึกษาของลูก

พลทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนมากมาจากนอกพื้นที่ เช่น มาจากกองทัพภาคที่ 1 เมื่อได้รับบาดเจ็บแล้วกลับไปอยู่ที่บ้าน ระบบการช่วยเหลือเยียวยาก็ไปไม่ถึง เนื่องจากการจัดระบบการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่นอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลายังไม่เรียบร้อย

เนื่องจากขณะนี้ศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำอำเภอและจังหวัด มีอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและสงขลาเท่านั้น ในขณะภาพรวมของการช่วยเหลือเยียวยาทั้งหมด ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนขึ้นอยู่กับศูนย์นี้เท่านั้น

ส่วนหน่วยงานส่วนกลาง ที่ทำงานด้านการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่มาตั้งสำนักงานช่วยเหลือเยียวยาในพื้นที่ เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังส่งต่อการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่นอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กับหน่วยงานส่วนกลางหรือในท้องถิ่นที่มีผู้ได้รับผลกระทบอาศัยอยู่ไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่นอกพื้นที่ยังต้องประสานหรือเดินทางกลับมายังศูนย์เยียวยาฯหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขอรับการช่วยเหลือ เพราะหน่วยงานในพื้นที่ภูมิลำเนาไม่สามารถดำเนินการให้ได้ตรงนี้ยังเป็นจุดบอดอยู่

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กยต. ซึ่งผมเป็นตัวแทนของแม่ทัพภาคที่ 4 เพราะแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นกรรมการชุดนี้ด้วย พยายามแก้ปัญหาตรงนี้อยู่

รวมทั้งศอ.บต.และกระทวงที่เกี่ยวข้องก็พยายามแก้ไขอยู่ แต่หน่วยงานในสังกัดที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ นอกเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ บางทีก็ไม่เข้าใจหรือยังไม่รู้เรื่อง รับลูกกันไม่ได้ เมื่อไม่เข้าใจก็เลยไม่รับเรื่องจากผู้ได้รับผลกระทบ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น

ยกตัวอย่าง เช่น ทหารเกณฑ์คนหนึ่ง ประสบเหตุที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ได้รับบาด จากนั้นก็ยื่นเรื่องขอรับการเยียวยาที่ศูนย์เยียวยาฯ อำเภอยะหา แล้วตัวเองก็กลับไปอยู่บ้านที่จังหวัดขอนแก่น ทางศูนย์เยียวยาฯอำเภอยะหาก็ไม่สามารถจัดการให้ได้ เป็นต้น

 

กรณีที่มีปัญหาอย่างนี้มีกี่ราย

เรายังไม่มีข้อมูล แต่ในปีที่ผ่านมาทางคณะอนุกรรมการโครงการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา เป็นอนุกรรมการ มีการเก็บข้อมูลไว้ โดยเน้นทางด้านสุขภาพจิต ซึ่งพบปัญหาในกรณีนี้ด้วย ส่วนใหญ่ก็เป็นทหาร

ดังนั้น คณะทำงานชุดนี้จึงต้องการที่จะออกไปเยี่ยมพลทหารกลุ่มนี้ คาดว่าภายในปีนี้จะไปที่จังหวัดกาญจนบุรี ไปดูว่าจะประสานการช่วยเหลืออะไรได้บ้าง

 

ที่ผ่านมาได้ไปเยี่ยมที่ไหนบ้างแล้ว

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปทุกจังหวัดนะ ส่วนมากเน้นไปที่อำเภอบังนังสตา กรงปินัง ธารโต จังหวัดยะลา เป็นการสุ่มลงไปเยี่ยม โดยเน้นผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนคนที่บาดเจ็บเล็กน้อยรักษาตัวก็เรียบร้อย หรือเสียชีวิตให้เงินชดเชยไปก็จบ ถ้ามีบุตรหลานก็ช่วยเหลือเรื่องการศึกษา ถ้าไม่มีบุตรหลานก็หมดปัญหา การเข้านั้นก็ไปแบบเงียบๆ ไม่อึกทึก ซึ่งเป็นแบบที่ชาวบ้านชอบ

ในส่วนนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเร็วๆ นี้ก็ไปที่จังหวัดกระบี่และนครศรีธรรมราช ไปบ้านทหารที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดแถวอำเภอยะหา จังหวัดยะลา โดยไปเยี่ยมครอบครัว สอบถามว่าได้รับความช่วยเหลือบ้างแล้วและยังขาดอะไรอีก ส่วนมากได้รับการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์แล้ว นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือเฉพาะของทหาร เช่น เงินบำเหน็จ บำนาญ เงินสวัสดิการ

รายที่น่าสนใจ ส่วนมากเป็นความเดือดร้อนที่ไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ เช่น ครอบครัวทหารที่กระบี่ พ่อมีลูก 7 คน ลูกชายที่เสียชีวิตเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัวที่ต้องส่งเสียน้องเรียนหนังสือ ตามหลักเกณฑ์คือช่วยเหลือบุตร แต่ไม่ได้ช่วยน้อง แต่พ่ออยากให้น้องได้รับราชการแทนลูกชาย เราก็รับเรื่องมาพิจารณาว่าจะช่วยอย่างไร เพราะมันนอกเหนือหลักเกณฑ์

 

การทำงานเยียวยาในพื้นที่ของทหาร โดยการตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมาทำให้ได้มวลชนหรือไม่

ในพื้นที่ได้อยู่แล้ว เพราะไม่มีใครทำอย่างนี้มา 2 - 3 ปีแล้ว ชาวบ้านบางคนเราไม่ได้เยี่ยมแค่ครั้งเดียว ซึ่งการไปครั้งที่ 2 นั้น เขาไม่รู้ว่าเราไปทำไมอีก แต่เมื่อรู้แล้ว่าเราไปเยี่ยม ก็มีพ่อแม่พี่น้องเข้ามานั่งพูดคุยกันเต็มเลย

บางรายที่เราไปเจอ พ่อแม่เขาก็ร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย คือ ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครอง ยังไม่รับรองว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ จึงทำให้ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา บางรายได้เงินช่วยเหลือก่อน 25% แต่พอผลสรุปออกมาว่า ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ เงินช่วยเหลือที่เหลืออีกก็จะไม่ได้ เขาก็มาขอให้เราช่วย

บางรายเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เรื่องขัดแย้งกันเอง แต่อาศัยสถานการณ์ อ้างว่าเกิดจากความไม่สงบ แต่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รู้ ก็เลยมีการพูดกันว่า เป็นโจรก็ได้เงิน ตำรวจมีข้อมูลรู้พฤติกรรมว่าเป็นเช่นไร ก็เลยไม่รับรอง

 

กรณีฝ่ายตรงข้ามที่ปะทะกับเจ้าหน้าที่คณะทำงานได้ลงไปเยี่ยมด้วยหรือไม่

มีเจ้าหน้าที่ลงไปเยี่ยม แต่ไม่ใช่คณะของผม แต่ถ้าผู้บังคับบัญชาสั่งให้ไปเราก็ไป เพราะเราเป็นผู้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่ถ้าเป็นฝ่ายโจรหรือไม่ใช่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ ในฐานะเพื่อนมนุษย์บางทีเราก็ไปเยี่ยมไปดูแล

 

คิดงานคณะทำงานชุดนี้มีความสำคัญ มีส่วนในการช่วยต่อสถานการณ์อย่างไร

อันนี้แน่นอนเพราะแม่ทัพภาคที่ 4 เห็นว่า เรื่องเยียวยาเป็นเรื่องสำคัญ เรียกว่า ระบบเมตตาธรรม คือเราจะไม่มองว่าเป็นโจรหรือไม่ แต่ถ้าช่วยเหลือกันได้ก็ช่วยเหลือกันก่อน ซึ่งตามแนวการเมืองนำการทหาร ถ้าเป็นไปได้เราไม่อยากออกไปยิงต่อสู้ อยากให้มาคุยกันมากกว่า

การต่อสู้ลักษณะนี้ นอกจากทหารเสียชีวิตแล้ว ประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อนด้วย เราจะทำอย่างไรเพื่อจะให้มีการพูดคุยกัน เพราะการต่อสู้อย่างนี้ นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้ว คนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน

คณะทำงานชุดนี้ทำงานหลายเรื่องในพื้นที่ อย่างตอนนี้กรณีการตายของนายสุไลมาน แนซา ที่เสียชีวิตในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เราก็เข้าไปดูแล ก็ได้มีตั้งคณะกรรมการพิจารณาการตายในหลายส่วน ผลจะออกมาในช่วงปลายเดือนนี้ โดยทางคณะกรรมการให้กรรมการแต่ละเขียนความเห็นเป็นรายคน แล้วเอาไปประมวลอีกที

ส่วนผมซึ่งเป็นกรรมการชุดนี้ด้วย ก็คงต้องเขียนความเห็นที่สอดคล้องกับแพทย์ที่ชันสูตรขั้นต้น เนื่องจากเราไม่มีความชำนาญในเรื่องการชันสูตรศพ ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่ก็คงสรุปความเห็นไปในทำนองเดียวกับการชันสูตรของแพทย

 

แล้วอนาคตการเยียวยาควรจะเป็นอย่างไร

การให้ค่าชดเชยด้วยเงินก็เป็นการเยียวยาก็จริง แต่การเยียวยาต้องมีความต่อเนื่อง หมายความว่า ต้องดูแลด้านจิตใจตลอด ที่สำคัญต้องมีความเห็นอกเห็นใจ บางครั้งเราลงไปเยี่ยม เขาก็จะรู้สึกดี อย่างพลทหารที่ปลดไปแล้ว2 ปี จู่ๆ ก็มีคณะไปเยี่ยม ถามว่า เขาจะมีความรู้สึกภาคภูมิใจหรือไม่

ส่วนคนที่ตายแล้ว เราไปเยี่ยมที่บ้าน พ่อแม่เขาจะรู้สึกอย่างไร ที่รัฐยังนึกถึงเขา รัฐยังนึกถึงว่าเขาได้ช่วยรัฐ ประชาชนก็เหมือนกัน เขาจะนึกว่ารัฐมีความห่วงใยต่อเขา

จุดนี้เราให้ความสำคัญมากในเรื่องการเยียวยา รวมทั้งในที่ประชุม กยต. ที่มีนายสาทิต วงห์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็ให้เน้นเรื่องการเยี่ยมเยือน การเยียวยาไม่ใช่ให้แต่เงิน ต้องให้ความเห็นอกเห็นใจ ก็คิดว่าเป็นแนวทางที่น่าทำ

ในปีหน้าก็จะมีงบประมาณในส่วนนี้ โดยทางแพทย์หญิงเพชรดาว จะลงไปเยี่ยมไปดูแลเรื่องสุขภาพจิต เพราะครอบครัวที่ยังเครียดอยู่ สามีตายเหลือเมียกับลูก ก็เอานักจิตวิทยาหรือหมอไปพูดคุย

 

สรุปก็คืองานเยียวยาต้องต่อเนื่อง ต้องลงไปเยี่ยมให้บ่อย ยิ่งบ่อยยิ่งดี

ถูกต้อง เพราะคนที่สูญเสียบางคนเป็นตัวหลักของครอบครัว เมื่อขาดเขาไปแล้วครอบครัวก็ลำบาก บางคนพิการ ทำให้ภรรยาแทนที่จะไปทำมาหากินได้ก็ต้องออกจากงานมานั่งเฝ้าสามี มีอยู่รายหนึ่งที่จังหวัดนราธิวาส คือสามีพิการ เขาต้องเลิกค้าขายเพื่อมาคอยดูแล รายก็ได้ก็ขาด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น