โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

กัมพูชาจวกดีเอสไอเล่นสกปรกปูดเสื้อแดงใช้ที่ฝึกอาวุธ "มาร์ค" ยัน รบ.ไม่ได้กล่าวหา

Posted: 13 Oct 2010 12:22 PM PDT

"มาร์ค" มึน "ดีเอสไอ" ปูดข่าวคนเสื้อแดงฝึกอาวุธในกัมพูชา อ้อมแอ้มยังไม่เห็นสำนวน ยันรัฐบาลไทยไม่ได้กล่าวหา "ธาริต" ยันนักรบแดง 11 คนเป็นพยาน เสียงอ่อยหนุน"เมธี"แถลงซัด"จตุพร" ด้าน "จตุพร" เตรียมฟ้องแพ่ง-อาญา "เมธี"

กัมพูชาด่า"ดีเอสไอ"เลิกเล่นเกมส์สกปรกบอกเสื้อแดงใช้พื้นที่กัมพูชาฝึกอาวุธ

มติชนออนไลน์รายงานว่า สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 13 ต.ค.ว่า ทางการกัมพูชาได้ออกโรงโจมตีหน่วยงานไทยว่าเล่นสกปรกกรณีกล่าวหาว่า กลุ่มเสื้อแดงได้ใช้พื้นที่ของกัมพูชาเป็นสถานที่ฝึกอาวุธ โดยโฆษกประจำคณะรัฐบาลกัมพูชากล่าวว่า กัมพูชาไม่เคยอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาตั้งค่ายฝึกอาวุธ หรือตั้งค่ายทหารในประเทศ และรัฐบาลกัมพูชาต้องการให้หน่วยงานดีเอสไอของไทย ยุติเกมสกปรกกุหลักฐานเรื่องนี้ เพื่อพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของคนไทยต่อปัญหาการเมืองและปัญหาสังคมต่างๆ ในประเทศ

การออกโรงโจมตีนี้เกิดขึ้นหลังจากหน่วยสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ได้ระบุว่า มีสมาชิกเสื้อแดง 11 ราย ที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ สารภาพว่าได้รับการฝึกฝนด้านทหารและอาวุธในเมืองเสียมเรียบเพื่อลอบสังหาร นักการเมืองไทย

"มาร์ค" มึน "ดีเอสไอ" ปูดข่าวคนเสื้อแดงฝึกอาวุธในกัมพูชา อ้อมแอ้มยังไม่เห็นสำนวน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ที่อาคารรัฐสภา หลังที่นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าพบว่า นายถวิลมารายงานภาพรวมจากการประชุมศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พร้อมระบุว่าการดำเนินการสอบสวนเรื่องต่างๆ ก็ยังคงเดินหน้าดำเนินการต่อไป เพียงแต่ต้องระมัดระวังอย่าเพิ่งไปยืนยันข้อเท็จจริงอะไร ซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดระหว่างประเทศ เราต้องทำในสิ่งที่จำเป็นและถูกต้อง เพียงแต่การให้ข่าวขอให้ระมัดระวัง แต่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะปล่อยให้ใช้สถานที่ในการฝึกกำลังและกระทบกระเทือนต่อประเทศเราไม่ได้

“ความจริงสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยืนยันว่าไม่ทำ แต่เราก็ต้องไปดูและตรวจสอบข้อเท็จจริง หากมีอะไรก็จะไปพูดกันโดยตรง ก่อนที่จะมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศประสานไปทางรัฐบาลกัมพูชาเราต้องมีข้อมูลมาจากหน่วยงานที่ดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้ชัดเจนก่อน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า รัฐมนตรีข่าวสารของกัมพูชาออกมากล่าวหาว่ารัฐบาลไทยไปกล่าวหารัฐบาลกัมพูชา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มี รัฐบาลไทยยังไม่ได้ไปกล่าวหาใครเลย เป็นเรื่องการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ วันนี้คงต้องรอให้ผลการดำเนินการออกมาก่อน เมื่อถามว่า กลุ่มคนเสื้อแดงเข้าไปฝึกกำลังและอาวุธในกัมพูชามีความชัดเจนเพียงใด นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการไปก่อน เจ้าหน้าที่ยังไม่ได้สรุป ทั้งนี้กัมพูชาเองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

เมื่อถามว่าแสดงว่าข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่มีความชัดเจน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้พูดว่าข้อมูลกลุ่มคนเสื้อแดงเข้าไปฝึกอาวุธในกัมพูชาไม่ชัดเจน ตนบอกว่าวันนี้เจ้าหน้าที่เขาทำงานอยู่ การสืบสวนสอบสวนยังไม่เสร็จ ตนยังไม่ได้เข้าไปดูในตัวรายละเอียดการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่มีเรื่องของคำให้การต่างๆ ทาง ศอฉ.ก็รายงานแต่ภาพรวมไม่ได้เอาสำนวนว่ามีพยานหลักฐานอะไรมาให้ดู ยืนยันว่าตนยังไม่เห็นสำนวน

"ธาริต"ยันนักรบแดง11คนเป็นพยาน เสียงอ่อยหนุน"เมธี"แถลงซัด"จตุพร"
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีพล.ต.ท.ชัยยะ ศิริอำพันธุ์กุล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5(ผบช.ภ.5) ระบุไม่ได้จับกุมนักรบเสื้อแดง 11 คน ว่า สิ่งที่ พล.ต.ท.ชัยยะ ออกมาระบุ เป็นเรื่องถูกต้อง เพราะทั้ง 11 คน ไม่ใช่ผู้ต้องหา จึงไม่มีการจับกุมหรือคุมขัง หากเกิดการจับกุมเกิดขึ้น ต้องถูกแจ้งข้อหา แต่กลุ่มคนดังกล่าวยังไม่ได้ก่อเหตุ เมื่อตำรวจภาค 5 เห็นว่า ข้อมูลจากบุคคลในกลุ่ม มีประโยชน์ต่อความมั่นคง จึงประสานให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงต่าง ๆ เข้าไปสวนขยายผล และดีเอสไออีกหน่วยที่เข้าไปสอบถามข้อมูล เมื่อเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ก่อการร้ายที่ดีเอสไอรับผิดชอบ จึงพิจารณาให้ทั้งหมด เข้าสู่มาตรการคุ้มครองพยานอย่างเป็นระบบ

"ดีเอสไอพูดตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ไม่ได้แต่งแต้มให้เกิดสีสันแต่อย่างใด เมื่อทุกอย่างทราบข้อมูล จึงมอบหมาย พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน ซึ่งเป็นคนทำงานไปสอบถามข้อมูลโดยตรง เมื่อได้รับข้อมูลมาอย่างไรก็พูดไปอย่างนั้นไม่เสแสร้งแต่อย่างใด แต่ครั้งต่อไปคงต้องระมัดระวังการระบุชื่อประเทศที่เกี่ยวข้อง และคงไม่เหมาะสมที่จะนำพยานคดีสำคัญมานั่งแถลงข่าว" นายธาริต

นายธาริต ยังกล่าวถึงกรณีนายเมธี อมรวุฒิกุล พยานคดีก่อการร้าย ออกมาแถลงข่าวว่า ดีเอสไอไม่ได้สนับสนุนให้นายเมธีออกมาแถลงโจมตีนายจตุพร พรหมพันธุ์ เพราะตนไม่ใช่คู่ขัดแย้งของฝ่ายใด เหตุการณ์เมื่อวานนี้ (12 ต.ค.) นายเมธีต้องการมาพบตนในฐานะอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งนายเมธีอยู่ระหว่างมาตรการคุ้มครองพยาน และดีเอสไอเป็นดูแลนายเมธี เมื่อพยานในโครงการมาร้องว่าถูกข่มขู่ ก็ต้องรับฟัง ดังนั้นเพื่อเป็นการยืนยันว่านายเมธีพูดจริง จึงให้เจ้าหน้าที่บันทึกถ้อยคำนายเมธี หลังจากนั้นนายเมธี ได้ลงมาชั้นล่าง เพื่อแถลงข่าวกับสื่อมวลชนด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่ดีเอสไอไม่ได้เตรียมห้องให้นายเมธีแถลงข่าว

"จตุพร" เตรียมฟ้องแพ่ง-อาญา "เมธี"
ที่รัฐสภา นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่ม นปช.เปิดเผยเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมว่า จะยื่นฟ้องฐานหมิ่นประมาทกับ นายเมธี อมรวุฒิกุล อดีตแนวร่วมกลุ่มคนเสื้อแดง พร้อมทั้งฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างคำฟ้องของทนายความ คาดว่า จะดำเนินการได้ภายใน 2-3 วันนี้ สืบเนื่องจากกรณีที่ออกมาแถลงข่าวกล่าวหาตนทั้งเรื่องที่บอกว่าโทรศัพท์ไปข่มขู่ เรื่องเงินบริจาค 68 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นความจริง ยืนยันว่า ไม่เคยโทรข่มขู่ใคร หากนายเมธีมีหลักฐานให้นำคลิปออกมาแสดง นอกจากนี้ จะนำคำให้การของนายเมธีต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอจำนวน 3 ครั้งที่มีการซัดทอดคนอื่น เพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีออกเผยแพร่ในเร็วๆ นี้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใจ อึ๊งภากรณ์: ความสับสนซับซ้อนของเรื่อง “เสรีนิยม” ในโลกปัจจุบัน

Posted: 13 Oct 2010 11:51 AM PDT

"เมื่อไม่นานมานี้มีคนตั้งคำถามสำคัญท้าทายกับผมว่า “ทำไมถึงเสนอว่าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคอำมาตย์ เป็นพรรคเสรีนิยม?” ผมจะพยายามตอบในบทความนี้"

เมื่อไม่นานมานี้มีคนตั้งคำถามสำคัญท้าทายกับผมว่า “ทำไมถึงเสนอว่าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคอำมาตย์ เป็นพรรคเสรีนิยม?” ผมจะพยายามตอบในบทความนี้

แนวคิดเสรีนิยม (Liberalism) เป็นทั้งแนวคิดทางการเมืองและเศรษฐศาสตร์พร้อมกัน แยกออกจากกันไม่ได้ จุดเริ่มต้นของแนวนี้คือการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างชนชั้นนายทุน กับชนชั้นขุนนางอนุรักษ์นิยมในยุโรป ในสมัยปฏิวัติ อังกฤษ อเมริกา และฝรั่งเศส เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 17-18

ในยุคนั้นพวกขุนนางอนุรักษ์นิยมสามารถผูกขาดอำนาจเศรษฐกิจ ผ่านการถือตำแหน่งในรัฐ และสามารถควบคุมอำนาจทางการเมืองผ่านเผด็จการ ดังนั้นแนวคิดของชนชั้นนายทุน ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาและท้าทายขุนนางอนุรักษ์นิยม จะเสนอว่าต้องมีประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน และต้องทำลายการผูกขาดระบบเศรษฐกิจของรัฐโดยการใช้กลไกตลาดเสรีและการค้าเสรี

นักคิดสำคัญๆ ของแนวเสรีนิยมนี้มีอย่างเช่น John Locke, de Tocqueville, James Mill และเขามักจะเน้นเรื่อง “ประชาธิปไตย” เสรีภาพปัจเจกกับสิทธิในทรัพย์สินปัจเจก เพื่อเผชิญหน้ากับรัฐเผด็จการของขุนนาง ส่วน Adam Smith จะเน้นเรื่องความสำคัญของกลไกตลาดเสรีเพื่อต้านการผูกขาด แต่ “ประชาธิปไตย” ของเขาไม่ใช่ประชาธิปไตยที่พลเมืองชายหญิงทุกชนชั้นจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน อย่างที่เราเข้าใจในยุคนี้ มันเป็นการเน้นสิทธิเสรีภาพของนักธุรกิจและชนชั้นกลางเพศชายมากกว่า สิทธิในทรัพย์สินคือสิทธิของนายทุนที่จะจ้าง (และขูดรีด) แรงงาน และสำหรับ Smith การใช้กลไกตลาดมีเป้าหมายในการทำลายอำนาจผูกขาดของขุนนาง ในขณะเดียวกัน Smith เน้นว่าระบบเศรษฐกิจที่พึงปรารถนา จะมีความเป็นธรรมสำหรับคนจนด้วย ไม่ใช่ระบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” แต่ลูกศิษย์ Smith ในยุคนี้มักจะลืมประเด็นสำคัญอันนี้

เราต้องเข้าใจว่าคนที่ยึดถือแนวเสรีนิยมในยุคนั้นคือคนสมัยใหม่ก้าวหน้า ที่กำลังสู้กับระบบเก่า แต่พอชนชั้นนายทุนสถาปนาตนเองเป็นชนชั้นปกครอง และระบบทุนนิยมครอบงำโลกได้ กระแสคิดหลักของนายทุนก็เปลี่ยนไปเป็นการปกป้องอำนาจและผลประโยชน์ของเขา คือเขากลายเป็นคนอนุรักษ์นิยมนั้นเอง

ในปัจจุบัน แนวคิดเสรีนิยมกลายเป็นแนวที่ต่อต้านการใช้รัฐ เพื่อสร้างสวัสดิการและความเป็นธรรมสำหรับส่วนรวม ซึ่งเป็นกระแสหลักในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เสรีนิยมที่รื้อฟื้นขึ้นมานี้เป็นแนวคิดที่เน้นสิทธิปัจเจกของคนรวยและนายทุน เหนือสิทธิของคนธรรมดาที่มาจากการเน้นผลประโยชน์ส่วนรวม “เสรีนิยมใหม่” หรือ Neo-liberalism คือลัทธิของคนที่เน้นการค้าเสรี การขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน และการยกเลิกรัฐสวัสดิการ เช่นพรรคอนุรักษ์นิยมในอังกฤษและส่วนอื่นของยุโรปและในสหรัฐ ในทศวรรษ 1980 (ยุค Thatcher กับ Reagan) พวกนี้นอกจากจะเน้นความ “ศักดิ์สิทธิ์ของกลไกตลาด” และความ “จำเป็น” ที่จะลดบทบาทรัฐแล้ว เขาพร้อมจะรับแนวคิด “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” แล้วยังอ้างว่าการลดบทบาทรัฐในระบบเศรษฐกิจ จะทำให้มี “ประชาธิปไตย” มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงมันเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพของคนทำงานซึ่งต้องการให้รัฐปกป้องความเสมอภาคในสังคม

พวกเสรีนิยมใหม่ มักจะวิจารณ์สวัสดิการรัฐว่าเป็นการสร้าง “ระบบอุปถัมภ์” และ “ทำลายวินัยทางการคลัง” เพราะรัฐเก็บภาษีสูงและกู้เงินมาเพื่อสร้างสวัสดิการ แทนที่จะลดภาษีให้คนรวยและหลีกทางให้บริษัทเอกชนเป็นคนกู้เงินในตลาดการเงิน

ทุกวันนี้พรรคการเมือง “เสรีนิยม” ในญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อังกฤษ และส่วนอื่นของยุโรป เป็นแค่พรรคอนุรักษ์นิยมชนิดหนึ่งของนายทุนเท่านั้น กรณีพรรคประชาธิปัตย์ในไทยก็ไม่ต่างออกไป และพรรคนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “สากลเสรีนิยม” อีกด้วย

ที่น่าสนใจคือ พรรคประชาธิปัตย์ และนักวิชาการเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมในไทย มักจะโจมตีการที่รัฐบาล ไทยรักไทย ใช้รัฐในการสร้างสวัสดิการว่าเป็นการ “ทำลายวินัยทางการคลัง” และการสร้างวัฒนธรรมพึ่งพาอุปถัมภ์ และนักวิชาการรัฐศาสตร์เสรีนิยมในไทย ที่อ้างนักคิดเสรีนิยมต่างๆ เพื่ออธิบายประชาธิปไตย ก็หันไปต้อนรับรัฐประหาร 19 กันยา นี่คือสาเหตุที่ผมเรียกพวกนี้ว่า “เสรีนิยมรถถัง”

ประเด็นถกเถียงระหว่างพวกเสรีนิยมกับพวกสังคมนิยมในเรื่องประชาธิปไตยตะวันตกคือ สิทธิเสรีภาพของปัจเจก และระบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก จะถูกพัฒนาผ่านการปล่อยวางให้กลไกตลาดดำเนินไปโดยไร้อุปสรรค์ หรือจะถูกพัฒนาผ่านการใช้รัฐในการเพิ่มคุณภาพชีวิตของพลเมือง

ในไทย ทั้งรัฐบาลไทยรักไทย และรัฐบาลอำมาตย์อนุรักษ์นิยมของ คมช. กับประชาธิปัตย์ ชื่นชมในนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรี การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ถ้าศึกษารัฐธรรมนูญปี 2550 จะเห็นว่าอำมาตย์ส่งเสริมทั้งกลไกตลาดเสรี แบบเสรีนิยมโลกาภิวัตน์ กับเศรษฐกิจพอเพียงควบคู่กัน และมีการเน้นว่าทั้งสองไปด้วยกันได้และไม่ขัดแย้งกัน เราเข้าใจได้เพราะทั้งสองปฏิเสธการใช้รัฐเพื่อการกระจายรายได้และสร้างสวัสดิการ

ไทยรักไทย ต่างจากอำมาตย์อนุรักษ์นิยมและพรรคประชาธิปัตย์ ตรงที่มีการใช้เศรษฐกิจคู่ขนาน คือใช้เสรีนิยมกลไกตลาดในระดับชาติกับโลกาภิวัตน์ และงบประมาณรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าในระดับหมู่บ้านตามแนวเคนส์ (Keynesian) ไทยรักไทย ต่างจากพวกนั้นอีกในเรื่องการพัฒนาสวัสดิการ และการเชื่อมโยงเรื่องนี้กับชัยชนะในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

สรุปแล้วความขัดแย้งในวิกฤตการเมืองปัจจุบัน ไม่ใช่ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำที่ใช้เสรีนิยม กับกลุ่มชนชั้นนำที่อยากปิดประเทศและหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคก่อนโลกาภิวัตน์แต่อย่างใด แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างอำมาตย์อนุรักษ์นิยมที่ต้องการปกครองประชาชน โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอะไรเลย ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ กับนักการเมืองนายทุนที่ทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับพลเมืองส่วนใหญ่ผ่านการพัฒนาสังคม

พรรคประชาธิปัตย์ จึงเป็นทั้งพรรคเสรีนิยม และพรรคอนุรักษ์นิยมได้ และนักวิชาการเสรีนิยมในไทยเป็นพวกที่สนับสนุนอำมาตย์กับเผด็จการ

แต่ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เป็น “นิยามทางวิชาการ” เพราะถ้าคุณใบตองแห้งและคนอื่นจะเรียกตัวเองด้วยภาษาชาวบ้านว่าเป็น “เสรีนิยม” ในความหมายที่ชื่นชมสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย เขาก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกตัวเองแบบนั้น และผมก็จะสนับสนุนความรักในเสรีภาพของเขาเต็มที่

ส่วนผมจะขอเรียกตัวเองว่าเป็น “เสื้อแดงสังคมนิยม” ที่ต้องการเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการ ผ่านการทำลายเผด็จการของอำมาตย์ และเผด็จการทางเศรษฐกิจของทุนนิยมกลไกตลาดเสรี
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อดีต อบจ.สตูล ใจป้ำควักตังค์สำรวจความเห็น หนุนท่าเรือปากบารา

Posted: 13 Oct 2010 11:01 AM PDT

อดีตประธานสภา อบจ.สตูล ใจป้ำ ใช้เงินส่วนตัว  8 แสน สำรวจความเห็นท่าเรือปากบารา ด้านผู้ใหญ่บ้านชี้ข้อมูลเรื่องที่ตั้งอุตสาหกรรมและคลังน้ำมันไม่ตรงกับของกรรมการสิทธิฯ

 

นายนาวี พรหมทรัพย์ อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูล เปิดเผยว่า ตนได้จัดทำเอกสารแผ่นพับขนาดกระดาษA4 เรื่อง “ชาวสตูลอย่าเงียบแสดงความคิดเห็นรู้ทันท่าเรือน้ำลึก” จำนวน 50,000 ชุด เผยแพร่ทั่วจังหวัดสตูล เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล โดยมาจากการสรุปมาจากเอกสารและข้อมูลของทางราชการจำนวน 170 ชุด

นายนาวี เปิดเผยต่อว่า ตนยังทำแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยขอความร่วมมือจากที่ว่าการอำเภอต่างๆในจังหวัดสตูล เพื่อขอความอนุเคราะห์จากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ช่วยนำแบบสำรวจความเห็นดังกล่าว ไปให้ระชาชนในหมู่บ้านที่รับผิดชอบกรอกข้อความ

นายนาวี เปิดเผยอีกว่า การสำรวจดังกล่าว เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลส่วนตัวในเชิงยุทธศาสตร์และเพื่อประเมินความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยใช้งบประมาณส่วนตัวกว่า 800,000 บาท เนื่องจากตนริเริ่มผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารามาตั้งแต่ปี 2545

“ตอนนี้ชาวบ้านเกิดความไม่เข้าใจ ผมจึงต้องออกมาแสดงรับผิดชอบโดยการออกมาสำรวจความคิดเห็น โดยไม่มีอะไรแอบแฝง แต่ลึกๆแล้ว ผมอยากผลักดันท่าเรือน้ำลึกปากบาราเพื่อจังหวัดสตูล” นายนาวี กล่าว

นายนาวี เปิดเผยต่ออีกว่า ขณะนี้สามารถเก็บรวบรวมแบบสำรวจที่แจกจ่ายให้ประชาชนไปแล้ว ได้ 10,000 ใบ

นายนาวี กล่าวว่า การระเบิดหินภูเขาเพื่อนำมาถมทะเลเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารานั้น จะต้องขอสัมปทาน ส่วนการขุดทรายในพื้นที่สาธารณะก็ต้องขออนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัด แต่ถ้าเป็นที่ดินของประชาชน เป็นสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินที่จะขุดทรายขาย

นายนาวี กล่าวต่อไปว่า ส่วนนิคมอุตสาหกรรมที่จะตั้งขึ้น คือโรงงานอุตสาหกรรมยางพารา โรงงานอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โรงงานผลิตน้ำแข็ง ฯลฯ

“การประกาศเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 150,000 ไร่ ทับพื้นที่เอกสารสิทธิ์ของประชาชน ถ้าประชาชนขายที่ดิน ก็ไม่สามารถตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้ ถ้าประชาชนไม่ต้องการนิคมอุตสาหกรรม สามารถยื่นเรื่องไปกรมโยธาธิการและผังเมืองให้ถอนการกำหนดเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมได้”

“ผมยืนยันว่า ในอำเภอละงู ไม่มีการสร้างโรงกลั่นน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทั้งนี้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67(2) หากจะมีการก่อสร้างดังกล่าว จะต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม” นายนาวี กล่าว

นายอารีย์ ติงหวัง ผู้ใหญ่บ้านบ้านหลอมปืน ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เปิดเผยว่า ในการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอำเภอละงู เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2553 นายนาวี ได้ขอความร่วมมือจากนายสมควร ขันเงิน นายอำเภอละงู เพื่อให้ข้อมูลโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา พร้อมแจกแบบสำรวจดังกล่าวให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เข้าร่วมประชุม

นายอารีย์ เปิดเผยต่อว่า จากนั้นนายนาวีได้ขอให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำไปให้ลูกบ้านของตนกรอกสำรวจ โดยจะมารับคืนในวันที่ 4 ตุลาคม 2553 ในการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านอำเภอละงู ประจำเดือนตุลาคม

นายอารีย์ เปิดเผยอีกว่า ตนและนายวิรัตน์ โอมณี ผู้ใหญ่บ้านบ้านโกตา ตำบลกำแพง อำเภอละงู ได้สอบถามนายนาวีถึงที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม 150,000 ไร่ การตั้งคลังน้ำมัน 5,000 ไร่ในอำเภอละงู แต่คำตอบที่ได้ไม่ตรงกับข้อมูลที่ทราบมาจากนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนนำมาชี้แจงกับชาวบ้าน ระหว่างเดินทางลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ โซรยา จามจุรี: “เยียวยาความบาดหมางยังไม่มีใครทำ”

Posted: 13 Oct 2010 09:59 AM PDT

 


โซรยา จามจุรี

 

“โซรยา จามจุรี” นักวิชาการสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ผู้มีบทบาททำงานด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่เริ่มต้นสถานการณ์เมื่อปี 2547 เล่าถึงพัฒนาการของงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและมองอนาคตการเยียวยา ด้วยมุมมองที่น่าสนใจ ดังนี้

..........................

พัฒนาการของงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
Step1 มีบทบาทตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในลักษณะองค์กรสงเคราะห์ช่วยเหลือตามความต้องการหรือความจำเป็นเร่งด่วนของผู้ได้รับผลกระทบ โดยทำงานร่วมกับคุณโสภณ สุภาพงษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานเครือข่ายครอบครัว และทำงานร่วมกับนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ชื่อกลุ่มเยาวชนใจอาสา

เป็นการทำงานก่อนที่รัฐจะมีกลไกการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเราเข้าไปช่วยก่อน แบบไปช่วยเหลือกันถึงบ้าน ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือ ให้ทุนการศึกษา

คุณโสภณ ได้ตั้งกองทุนโดยระดมเงินจากคนที่มีน้ำใจทั่วประเทศ มอบให้ผู้ได้รับผลกระทบ แล้วเราก็ดูความจำเป็นและความต้องการเร่งด่วนของเขาว่ามีแค่ไหน เช่น ไม่มีนมก็ให้นม อยากได้จักรเย็บผ้าทำงานอยู่กับบ้าน เราก็ให้จักรเย็บผ้า

หรือตกหล่นในสิทธิการได้รับการเยียวยา เพราะฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังไม่ลงความเห็นว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบ เราก็จัดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับสิทธิเหล่านั้น ทำให้เขาได้รับความช่วยเหลือ

Step2 หลังจากการเยี่ยมบ้านตาม Step1 แล้ว เมื่อเขารู้จักเรา ไว้ใจเราแล้ว เราก็เชิญเขามาพบปะกัน เชิญเขารวมกลุ่ม เชิญเขาให้มาบำบัดรวมกัน คนที่มีบทบาทสำคัญคือคุณนารี เจริญผลพิริยะ นักสันติวิธี อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นคนที่สอง โดยมาเป็นวิทยากร

Step3 คือ ให้เขาตั้งกลุ่มขึ้นมา หลังจากได้พบปะรู้จักกันแล้วในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบด้วยกัน ให้เขาได้ทำกิจกรรมด้วยกัน เป็นการจัดตั้งกลุ่มเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือกันเองได้ ใช้กลุ่มในการขับเคลื่อนงาน เพื่อให้มีการช่วยเหลือในเรื่องการส่งเสริมอาชีพ เช่น มีการของบสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.

เมื่อได้งบประมาณมาก้อนหนึ่งเพื่อมาทำเป็นเงินยืม ช่วยเหลือเรื่องอาชีพกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ทำงานด้วยกันนอกจากกลุ่มตากใบ ก็มี 28เมษา กลุ่มรายวัน

Step4 เป็นการสร้างศักยภาพ ทั้งกลุ่มและแกนนำ พัฒนาทักษะความรู้ให้พวกเขา คนที่มีแววหน่วยก้านดี ก็ให้เป็นแกนนำ ทำให้เราเริ่มมองเห็นตัวแกนนำขึ้นมา และเป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นที่รู้จักไม่เฉพาะแค่ในแวดวงผู้ได้รับผลกระทบเท่านั้น เช่น กะแยนะตากใบ หรือนางแยนะ สะแลแม ซึ่งเคยได้รับรางวัลมาแล้ว นั่นคือตัวอย่างที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในสังคม

การทำให้สังคมได้รู้จักกับคนเหล่านี้ จะมีประโยชน์ตรงที่ทำให้เขาปลอดภัย เพราะเขาจะอยู่ในสายตาของสังคม ใครจะทำอะไรก็ต้องคิดหนัก ซึ่งการสร้างศักยภาพในคนเหล่านี้เป็นกลอุบายอย่างหนึ่ง ส่วนรางวัลที่เขาได้รับก็จะเป็นความภาคภูมิใจของเขา การทำให้เขารู้สึกปลอดภัย ทำให้เขามั่นใจที่จะขับเคลื่อนงานมากขึ้น ตรงนี้สำคัญมาก

Step5 เราก็เอาเขามาสื่อสารกับสังคม โดยมาบอกเล่าถึงผลกระทบที่ได้รับ เขาสามารถก้าวผ่านมาได้อย่างไร มุมมองต่อสถานการณ์ เรื่องการคลี่คลายคดี ทัศนะต่อการยุติเหตุการณ์ เพราะไม่อยากให้คนอื่นได้รับผลกระทบอีก

รูปแบบสื่อสารกับสังคมมีหลายรูปแบบ เช่น การทำดีวีดี โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธนาคารโลก ซึ่งมีเนื้อหายาวประมาณครึ่งชั่วโมง จำนวน 500 ชุด แจกจ่ายให้กับเครือข่าย

ส่วนรูปแบบการสื่อสารที่เป็นวงกว้างมากขึ้น ก็จะเป็นรายการวิทยุ เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ ทางสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยนครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

งานเยียวยาของเราตอนนี้อยู่ในขั้นนี้อยู่ เป็นการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน แล้วก็ยกระดับงานขึ้นมาเรื่อยๆ แล้วถ้างานอะไรที่คนอื่นทำแล้วหรือรัฐทำแล้ว เราก็จะหลีกไป เราจะทำงานให้เฉพาะคนที่จำเป็นหรือรัฐไม่ทำ คนอื่นก็ไม่ทำ

เมื่อเราตั้งกลุ่มช่วยเหลือกันเอง เราก็เสริมที่เป็นความต้องการของเขา ที่พบความต้องการมีสองเรื่องหลักๆ คือการศึกษาของลูก ซึ่งความต้องการตรงนี้รัฐเข้ามาตอบสนองในหลักเกณฑ์การเยียวยาแล้ว

ความต้องการที่สองคืออาชีพเสริม เพราะรายได้ที่ทำงานประจำอย่างเดียวไม่พอ เป็นอาชีพเสริมที่สอดรับกับความเป็นแม่และอยู่บ้านเลี้ยงลูกได้ ความต้องการที่เราเจอ เช่น เขาต้องการตัดเย็บอยู่กับบ้าน แต่ขาดจักร เราก็ไปประสานติดต่อเอาจักรเย็บผ้ามาให้ เขาขาดตลาดเราก็ช่วยหาตลาดให้

ตัวอย่างเช่น กระเป๋าผ้าที่เย็บจากผ้าถุง เหมือนที่กะแยนะ ตากใบทำ เราก็ริเริ่มโดยให้หาวัตถุดิบบางอย่างในพื้นที่ที่เราอาจมองข้ามไป เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ผ้าโสร่งที่ชาวบ้านใช้กัน ถ้าเอามาทำกระเป๋า มันก็ใช้ได้กว้างขึ้นและมีตลาด เป็นสินค้าที่มีสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นท้องถิ่น

ตอนแรกให้ทำง่ายๆ ไม่ใช้ทักษะฝึกมือมาก ไม่ซับซ้อน เพื่อให้ขายได้ง่ายๆ ได้เงินไวๆ ต้นทุนก็ไม่เยอะ เราช่วยหาทุนและตลาด เพราะไปที่นั้นไปที่นี่บ่อย เริ่มมีคนรู้จักและมีสั่งเยอะซื้อเยอะขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอด

ประกอบกับดาราก็ใช้ในละครโทรทัศน์ทางช่อง 9 เรื่อง “อุมมี” เรารู้จักกับผู้กำกับก็ให้เอาไปให้นางเอกถือในละคร เอาไปแจกนักข่าว ก็มีคนรู้จัก หลายหน่วยงานก็สั่งซื้อ เช่น ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หลายคนก็ช่วยกัน ทำให้ชาวบ้านมีการมีงานทำ

จากนั้นเราก็เอาเงินบริจาคมาตั้งเป็นกองทุน เพื่อใช้เป็นทุนรอน เพิ่งเริ่มต้นยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน จะนำมาส่งเสริมอาชีพ โดยให้ชาวบ้านมาบริหารจัดการเอง

อนาคตการเยียวยา
ถ้าเป็นการเยียวยาจากภาครัฐต้องเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ เพราะยังมีเสียงซุปซิบนินทาเรื่องพวกนี้อยู่

การเลือกปฏิบัติ เช่น ถ้าผู้ได้รับผลกระทบเป็นชาวพุทธก็จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแบบหนึ่ง คนที่นับถือศาสนาอิสลามก็แบบหนึ่ง เจ้าหน้าที่ก็อีกแบบหนึ่ง ประชาชนก็อีกแบบหนึ่ง

ภาครัฐต้องทบทวนเรื่องการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ใหม่ เพราะช่วยช่วยเหลือก้อนใหญ่ที่ให้ชาวบ้านที่เสียชีวิตเพียง 100,000 บาท แต่ถ้าเป็นฝ่ายรัฐตายให้ 500,000 บาท ทำไมไม่เท่าเทียมกัน เป็นธรรมหรือไม่ เพราะฝ่ายรัฐมีเงินช่วยเหลือส่วนอื่นอยู่ ทำให้ได้รับมากกว่าชาวบ้านอยู่แล้ว

เงินช่วยเหลือก้อนนี้ เป็นเงินช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน จึงน่าจะเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกัน ตอนนี้ความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบไม่ได้อยู่ที่เจ้าหน้าที่ แต่มาอยู่ที่ประชาชน ซึ่งจากสถิติการเสียชีวิตในสถานการณ์ความไม่สงบ สถิติผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือประชาชน

ผู้เสียชีวิตอันดับสองคือทหาร อันดับสามคือตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่พวกนี้ยังมีโอกาสป้องกันตนเอง เพราะมีอาวุธอยู่ในมือ มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม แต่ประชาชนไม่มีโอกาสป้องกันตัวเอง ผู้ก่อความไม่สงบที่เกลียดรัฐ แต่โจมตีรัฐไม่ได้ ก็มาทำร้ายประชาชน ประชาชนต้องกลายเป็นเหยื่อ โดยไม่มีโอกาสป้องกันตัวเอง จึงทำให้ตายกันมากขึ้น

ในเมื่อรัฐต้องดูแลประชาชน ชีวิตก็มีค่าเท่ากัน ดังนั้นก็ต้องช่วยเหลือเท่ากัน หลักเกณฑ์การช่วยเหลือก็ต้องปรับเปลี่ยนได้แล้ว เพราะหลักเกณฑ์ปัจจุบันมาจากฐานคิดที่เจ้าหน้าที่รัฐเสี่ยงกว่า แต่เมื่อดูตัวเลขผู้เสียชีวิตตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว

ประเด็นที่สอง คือต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ทำไมชาวบ้านที่ตายโดยรีบสรุปว่าเป็นเรื่องส่วนตัว จึงไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา

มีอยู่กรณีหนึ่งที่เราลงไปทำวิจัย มีอุสตาซ (ครูสอนศาสนาอิสลาม) สองคนมาจากปอเนาะ (โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม) เดียวกัน ถูกยิงตาย คนหนึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่า เป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ต่อมาอีกคนหนึ่งก็ตาย เจ้าหน้าที่บอกว่า ตายจากสถานการณ์ความไม่สงบ ครอบครัวจึงได้รับการช่วยเหลือ

สำหรับคนแรกนั้น เจ้าหน้าที่ต้องบอกครอบครัวให้ได้ว่า ตายเพราะอะไร ไม่ใช่ปล่อยให้คลุมเครือ ซึ่งต่างจากรายที่สอง ทั้งที่ยังจับคนก่อเหตุทั้งสองคนไม่ได้ แจกแจงปัญหาที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ จึงทำให้คนคับแค้นใจและรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม

กรณีแบบนี้มีอยู่ประมาณ 500 กรณีที่ไม่ยังเคลียร์และไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ ข้อมูลนี้มาจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กำลังตรวจสอบอยู่ บางกรณีพิจารณากันข้ามปีเลยกว่าจะเคลียร์และให้การช่วยเหลือได้ ซึ่งการแก้ปัญหานี้ ต่อให้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

บทบาทของภาคประชาชนต่ออนาคตการเยียวยา
อะไรที่รัฐทำแล้วก็อย่าไปทำ อะไรที่คิดว่ารัฐบกพร่องอยู่ ก็ต้องเสนอแนะ ผลักดันให้รัฐทำให้ถูกต้องตามที่เราเห็น

ทั้งนี้ มองว่างานด้านการเยียวยา ต้องเป็นงานด้านสันติวิธี เพราะเป็นเรื่องที่มองไม่เห็นและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เวลาคิดก็ต้องคิดละเอียด ซึ่งต้องใช้เวลาและความไว้วางใจ ทำงานกับผู้สูญเสียในเชิงลึกมากขึ้น

ถ้าเราสามารถคลายความโกรธเกลียด คับแค้น อยากจะล้างแค้นเอาคืน ซึ่งมีอยู่ในกลุ่มที่ถูกดำเนินคดี ถ้าลดเรื่องพวกนี้ได้และหาทางออกที่ถูกต้องเหมาะสม ในรูปแบบสันติวิธี เป็นอะไรที่สังคมควรทำ เพราะจะช่วยยุติหรือช่วยยับยั้งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งกรณีนี้มีเยอะ

ในชุมชนที่เราทำวิจัยอยู่ มีคนตายมากกว่า 10 คน การตายแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือคนที่อยู่ฝ่ายรัฐกับฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบ

เราเห็นการตายในลักษณะที่เป็นการตอบโต้ไปมาระหว่างสองฝ่าย โดยบางครอบครัวเหลือแต่ผู้หญิง ถ้าบ้านไหนยังมีผู้ชายอยู่ ก็ต้องให้ไปอยู่ที่อื่น เพราะถ้ายังอยู่ จะไม่ปลอดภัย

นี่คือสิ่งที่ท้าทายสำหรับนักประชาสังคม เพราะความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจ ความโกรธเกลียดของกลุ่มคนเป็นทายาท ซึ่งเราจะเขาไปเพื่อลดความหวาดระแวง ความโกรธเกลียดชิงชัง โดยพยายามหาทางเชื่อมร้อยระหว่างคนที่มีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นเครือญาติกัน แต่ต้องแตกหักกับเรื่องแบบนี้

ท้ายที่สุดแล้วก็สูญเสียกันทั้งสองฝ่าย เป็นแบบนี้ไปไม่จบไม่สิ้น และจะมีคนตายมากขึ้นเรื่อยๆ มันอเนจอนาถมา นี่เป็นงานที่ภาคประชาสังคมต้องทำ แต่ก็เสี่ยงอันตราย รัฐมาทำไม่ได้หรอก

มันเป็นงานที่ต้องทำในระดับชุมชน ซึ่งแนวความคิดนี้ เคยเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. ที่ให้ทำเป็นชุมชนบำบัด แต่ยังไม่มีใครทำจริงๆ จังๆ ยังไม่มีตัวอย่าง

ชุมชนที่ทำวิจัยอยู่ เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงที่เป็นมุสลิมและพุทธ ที่บาดหมางและหวาดระแวงกัน ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ปัญหาเริ่มจากคนกันเองที่เป็นญาติพี่น้อง แล้วขยายไปสู่ชุมชนต่อชุมชน ตอนนี้มีความหวาดระแวงกันไปทั่วในระดับชุมชน ทั้งระดับครอบครัว หรือชุมชนต่อชุมชน เช่น ชุมชนพุทธกับมุสลิม

เพราะฉะนั้นงานเยียวยาต้องไปให้ถึงระดับนั้นให้ได้ นี่คืองานที่ท้าทายของเรา แต่ยังไม่มีใครทำ เพราะมีความเสี่ยง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทอล์กออฟเดอะทาวน์อันเนื่องมาจาก...เส้นทาง พ.ร.บ.สัญชาติ กับดาราดัง อนันดา เอเวอริ่งแฮม

Posted: 13 Oct 2010 08:57 AM PDT

 


อยู่เมืองไทยมาตลอดทั้งชีวิต แต่พระเอกหนุ่มเลือดออสเตรเลียน-ลาว 'อนันดา เอเวอริ่งแฮม' เพิ่งจะได้สัญชาติไทยมาไม่นานนี้
 
โดยทุกปีที่ผ่านมาเขาต้องต่อวีซ่าเพื่อทำงานในไทย และเมื่อ 7 ปี ก่อนได้เปิดบริษัท เฮโล โปรดักชั่น จำกัด เพื่ออยู่เมืองไทย
 
- เห็นว่าเพิ่งได้ทำบัตรประชาชน?
 
อนันดา - "ครับ จริงๆ ผมเกิดที่เมืองไทย แต่พอดีทั้งพ่อและแม่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยตอนผมเกิด พ่อผมเป็นออสเตรเลียน แม่เป็นลาว แต่ก็ถือพาสปอร์ตออสเตรเลียนทั้งคู่ เขาเลยไม่ได้ให้สัญชาติ พอผมอายุ 20 ปี ผมจะขอวีซ่าตามพ่อไม่ได้แล้ว เพราะถือว่าเป็นผู้ใหญ่ ผมเลยต้องเปิดบริษัทคือเฮโล โปรดักชั่น"
 
- แล้วถ้าไม่เปิดบริษัทล่ะ จะทำอย่างไร?
 
อนันดา - "ก็ให้ค่ายหนังทำวีซ่าให้ เพราะผมไม่มีบัตรประชาชน ต้องทำเป็นวีซ่าออกจากประเทศทุก 4 เดือน คือตั้งแต่เกิดจนถึงปีนี้ ก่อนที่จะได้บัตรประชาชน ผมทำวีซ่ามาตลอด วุ่นวายมาก เลยเปิดบริษัทเหมือนเป็นลูกจ้างบริษัทตัวเอง ทำงานอะไรก็เข้าบริษัท ทำมา 7 ปีแล้ว"
 
- แล้วทำยังไงถึงได้เป็นคนไทยแล้ว?
 
อนันดา - "มันบังเอิญมาก จ้างบริษัททนายมาดูเรื่องวีซ่าโน่นนี่นั่น แล้วเขาไปเจอกฎหมายอะไรสักอย่างไม่รู้ เหมือนเป็นกฎหมายอย่างถ้ามีพวกกะเหรี่ยงข้ามเผ่ามาไม่มีสัญชาติกัน แล้วเขามีลูกในไทย ลูกเกิดที่นี่ แต่พ่อแม่ไม่มีสัญชาติ แต่ลูกเนี่ยต้องได้สัญชาติ เขามีกฎหมายรองรับ ผมเลยไปเช็กดูว่าผมเข้าข่ายมั้ย ปรากฏผมขอได้"
 
"แล้วมันง่ายมากด้วย ใน 1 อาทิตย์ได้สัญชาติไทยเลย (หยิบบัตรประชาชนอวดด้วยความ ภูมิใจ) นี่ไง ใหม่เอี่ยม ก็เลยไม่ได้เป็นกะเหรี่ยง ต่อไป"
 
"เชื่อมั้ยขอวีซ่าแค่ 1 ปีเนี่ยซับซ้อนมาก แค่ขอวีซ่าเวิร์กเพอร์มิต ต้องมีเอกสารเป็นกะตั้ก พอผมเจอกฎหมายนี้ ผมไปทำสัญชาติไทยมีเอกสารอยู่แค่ 10 แผ่น เขียนนี่เซ็นนั่นกรอกนี่จบ เดี๋ยวอาทิตย์หน้ามารับบัตรประชาชน"
 
- รู้สึกอย่างไรเป็นคนไทย 100% แล้ว?
 
อนันดา - "ก็สบายใจนะ จริงๆ เราทำอะไรอะไรให้ประเทศมาเยอะแล้ว เราก็อยากเป็นคนไทยเต็มตัวมานานแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาผมคิดว่าผมเป็นคนไทยมาตลอด ตอนนี้เป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นเจ้าของบ้านตัวเองแล้ว โดยเขาออกบัตรประชาชนให้วันที่ 9 เม.ย.2553 ที่ผ่านมา"
 
บางส่วนจาก 'อนันดา'ปฏิวัติมายา โละดารา'แท็บลอยด์' โดย สมรัก บรรลังก์ นสพ.ข่าวสดรายวัน ฉบับวันที่ 3 ต.ค.53
 

.......................................................

 
ดาราดัง อนันดา เอเวอริงแฮม เป็นดาราคนหนึ่งที่พี่น้องชาติพันธุ์หลายคนชื่นชอบ เพราะนิสัยความตรงไปตรงมาและความหล่อ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีฉันหนึ่งคนแล้วล่ะ แต่ตอนนี้กลายเป็นเคยชอบแล้วล่ะ (อดีต) น่ายินดีที่เขาได้สัญชาติไทยไปเรียบร้อยแล้ว
 
แต่น่าเศร้าใจที่รู้ว่า คนคนหนึ่งซึ่งมีฐานะเป็นคนสาธารณะและเป็นคนที่เคยร่วมเผชิญกับความรู้สึกจากการไม่มีสัญชาติไทย แต่กลับไม่ได้ขอบคุณหรือสนใจต่อความทุกข์ยากของผู้คนอีกจำนวนมากมาย
 
นายอนันดา ได้บรรยายถึงความง่ายของการได้สัญชาติไทย แต่ไม่รู้เลยว่า ได้สัญชาติโดยกฎหมายอะไรและได้มาอย่างไร โดยเฉพาะที่บอกว่า “แล้วมันง่ายมากด้วยใน 1 อาทิตย์ได้สัญชาติไทยเลย...” นั้น ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงได้ง่ายอย่างนั้น ในขณะที่ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนนับหมื่นคนที่ยื่นคำร้องไปแล้วรอเป็นเดือน เป็นปี บางคนรอจนตายก็ยังไม่ได้
 
นอกจากนี้ยังได้พูดถึงพี่น้องชาติพันธ์เผ่ากะเหรี่ยงว่า “เหมือนเป็นกฎหมาย อย่างถ้ามีพวกกะเหรี่ยงข้ามเผ่ามาไม่มีสัญชาติกัน แล้วเขามีลูกในไทย ลูกเกิดที่นี่ แต่พ่อแม่ไม่มีสัญชาติ แต่ลูกเนี่ยต้องได้สัญชาติ เขามีกฎหมายรองรับ ผมเลยไปเช็กดูว่า ผมเข้าข่ายมั้ย ปรากฏผมขอได้” ซึ่งอันที่จริงเขาต้องขอบคุณพี่น้องชาติพันธ์กระเหรี่ยง ซึ่งเป็นเป็นเผ่าที่ได้ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยก่อนที่นายอนันดาจะเกิดด้วย ซ้ำ ที่ทำให้เขาได้รับอานิสงส์ด้วย
 
แต่ก็ต้องบอกอีกครั้งว่าคนกะเหรี่ยงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจำนวนคนไร้ สัญชาตินับล้านคนเท่านั้น แล้วนายอนันดาจะรู้ไหมนะ????ว่า...ที่เขาได้สัญชาติไทยมาโดยง่ายนั้น อยู่บนความยากลำบากของใครบ้าง??? อย่างไร???
 
เขาสรุปสถานะบุคคลของตนเองว่า“ก็เลยไม่ได้เป็นกะเหรี่ยง ต่อไป” พี่น้อง เพื่อนมนุษยชาติจะดูถูกเหยียดกันไปถึงไหน??? เราจะยอมรับได้ไหมถ้าเราเป็นฝ่ายที่ถูกกระทำ???
 
บางส่วนจาก เส้นทาง พ.ร.บ.สัญชาติ กับดาราดัง อนันดา เอเวอริ่งแฮม โดย ดอกหญ้า สาละวิน, มติชนออนไลน์, 11 ตุลาคม 53
 

 

หลังจากที่มีบทสัมภาษณ์ของคุณอนันดา เอเวอริ่งแฮม ภายหลังจากได้รับสัญชาติไทย (คลิกเพื่ออ่านบทสัมภาษณ์) และได้มีบทความถ่ายถอดความรู้สึกโดย ดอกหญ้า สาละวิน อดีตคนไร้สัญชาติ (คลิกเพื่ออ่านบทความ) ออกมาแสดงความเห็นต่อคำพูด ความเห็นในบทสัมภาษณ์ นอกจากนี้ในแวดวงของคนทำงานด้านสถานะบุคคลและสิทธิก็ยังเป็นประเด็นที่มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างต่อเนื่องในเฟซบุ๊ก

ในฐานะของคนที่ทำงานด้านสถานะบุคคลและสิทธิและทำงานด้านการสื่อสารสาธารณะคนหนึ่งเห็นว่าการแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นยังมีประเด็นที่ชวนพูดคุยต่อดังนี้

สื่อกับอคติทางชาติพันธุ์ ความเป็นอื่นที่ไม่ได้ตั้งใจ (หรือการถูกมองข้าม)
ถ้ามองย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ การนำเสนอทางสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ โฆษณา ในบ้านเรามักจะมีภาพของการนำเสนอภาพลักษณ์ เรื่องราวของของกลุ่มชาติพันธุ์ ออกมาในลักษณะของคนที่มีความแตกต่างจากคนเมือง เช่น การแต่งกาย ที่มักจะมีการดัดแปลง โดยอาจจะทำให้ดูสวยงาม น่าสนใจ สะดุดตา ซึ่งอันนี้ก็พอจะมองอย่างเข้าใจได้ว่าการแสดงเป็นเพียงการสมมติ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็แน่นอนว่ามันได้สื่อสารออกไปสู่คนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจถึงแง่มุมที่เป็นจริง ดังนั้นหากไม่ใช่ความตั้งใจที่จะทำให้เกิดการรับรู้ที่ผิดๆ ผู้จัดควรจะใส่ใจสักนิด เช่น มีการระบุข้อความให้ชัดเจนว่าการแต่งกายเป็นลักษณะการดัดแปลง หากไม่มีเจตนาดังกล่าวก็จะดีไม่น้อย

หรือการพูดจา ภาพลักษณ์อีกอย่างหนึ่งที่มักมีการนำเสนอในลักษณะที่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์มักจะพูดจาไม่ชัด พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือออกไปในลักษณะคนด้อยพัฒนา เจตนาที่สื่อเป็นไปเพื่อสร้างความขบขันนั้น ในประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่าเจตนาเช่นนี้เป็นแง่มุมที่ควรตำหนิ เพราะนี่คือการตีตราให้คนกลุ่มหนึ่งเป็นอื่น และด้อยกว่าอย่างชัดเจน ซึ่งควรจะมีการสื่อสารถึงสื่อต่างๆ ที่ยังมีการผลิตสื่อลักษณะนี้ออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ล่าสุดกรณีของคำสัมภาษณ์ของคุณอนันดา จึงเป็นอีกครั้งที่คำพูดที่ว่า... “ก็เลยไม่ได้เป็นกะเหรี่ยงต่อไป” จึงอาจไปกระแทกใจอย่างแรง สำหรับคนที่เป็นชาติพันธุ์ เพราะคุณอนันดานั้นเป็นดาราดัง เป็นบุคคลสาธารณะ มีคนที่คอยติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหว ซึ่งผู้เขียนเองเห็นว่าคุณอนันดาคงไม่ได้มีเจตนาที่จะดูถูกเหยียดหยามพี่น้องชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพราะหากอ่านการให้สัมภาษณ์นี่คือความเข้าใจที่เขาได้รับ (อาจจะมาจากทนายความ) ที่ให้ข้อมูลถึงที่มาของการได้สัญชาติของเขาเปรียบเทียบตัวเขาเป็นเหมือนกะเหรี่ยง ความเข้าใจที่เขาสื่อออกมาก็คือสภาพที่ตกอยู่ในความเป็นคนสัญชาติอื่น ความยุ่งยากในการดำเนินชีวิตที่ไม่มีสัญชาติไทย ซึ่ง ณ ตอนนี้เขาพ้นจากสภาพนั้นแล้ว

ในกรณีนี้หากมองแบบไม่ใจร้ายกับคุณอนันดามากนัก ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับความเห็นของอาจารย์แหวว (รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ที่ว่าคุณดอกหญ้า (หรือท่านอื่นๆ) น่าจะเขียนจดหมายหรือส่งข้อความถึงสื่อมวลชนรวมทั้งคุณอนันดาให้มีความเข้าใจในรายละเอียดที่ตกหล่นไป และหากเขามีความรับรู้มากขึ้นในอนาคตในฐานะที่เคยยุ่งยากกับการใช้ชีวิตในประเทศไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทย ก็คงจะดีไม่น้อยที่คนสาธารณะจะมีส่วนในการเป็นกระบอกเสียงให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติ แม้จะเป็นเพียงความคาดหวังก็ตามเพราะการเรียกร้องในประเด็นนี้ก็ดูเหมือนจะมากมายเกินไป

แต่ในครั้งนี้ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตามสิ่งที่คุณอนันดาควรรับรู้คือนี่เป็นอีกครั้งที่ความไม่ตั้งใจ (หรือการถูกมองข้าม) ของคนสาธารณะในบ้านเราได้สร้างบาดแผลลงในใจให้เป็นอื่นอีกครั้งอย่างน้อยก็ในความรู้สึกของใครต่อใครหลายคนที่เป็นชาติพันธุ์ซึ่งเป็นพี่น้องที่อยู่ร่วมกับเราในบ้านเมืองนี้

การได้สัญชาติ...สองมาตรฐาน อยู่ที่ใด (อยู่ที่ใคร)
อีกประเด็นที่ดูเหมือนว่าจะมีการตั้งคำถามต่อการได้มาซึ่งสัญชาติไทยของคุณอนันดา คือการบอกเล่าของคุณอนันดาที่ว่า “แล้วมันง่ายมากด้วยใน 1 อาทิตย์ได้สัญชาติไทยเลย...” นั้น จากประสบการณ์ในด้านสถานะบุคคลมาอย่างน้อยช่วงระยะเวลาหนึ่งหลายปีมานี้ ข้าพเจ้าก็พอจะรับรู้ว่ามีคนอีกนับหมื่นที่ยังประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ และจำนวนไม่น้อยที่ต้องอยู่ในภาวะเช่นนี้ยาวนานหลายปี หรือกระทั่งไม่มีคำตอบด้วยซ้ำว่าต้องรอคอยอีกนานเท่าใด การได้รับสัญชาติไทยอย่างรวดเร็ว (นับจากไปดำเนินการ) ก็ย่อมสะเทือนความรู้สึกใครหลายคนอีก

แต่หากมองอย่างไม่อคตินักและพิจารณารายละเอียดสักนิด ก็ดูเหมือนว่าคุณอนันดาก็ไม่ต่างจากคนไร้รัฐไร้สัญชาติอีกจำนวนไม่น้อยที่มีสิทธิได้รับสัญชาติไทยแต่ไม่ทราบไม่รับรู้ช่องทาง แต่คุณอนันดาโชคดีตรงที่มีเงินจ้างทนายความ ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่น่าจะเป็นความผิดของเขา หากข้อเท็จจริงคุณอนันดามีคุณสมบัติตามมาตรา 23 มีเอกสารครบถ้วน ไปดำเนินการในเขตท้องที่ที่มีผู้ประสบปัญหาจำนวนน้อยก็ไม่แปลกหากจะได้รับการดำเนินการโดยรวดเร็ว

จากข้อเท็จจริงที่สื่อสารเพียงน้อยนิดผ่านสื่อในประเด็นนี้ การตั้งคำถามในเชิงต่อว่าคุณอนันดา (แม้ว่าความเป็นดาราคนดัง อาจจะมีผลอยู่ด้วย) ก็ดูจะใจร้ายไปสักนิด และที่หลงลืมไป คนที่ทำงานด้านสถานะฯรวมทั้งคนที่ประสบปัญหาด้านนี้หลายๆคน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า กลไก หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในการดำเนินการคือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องก็ควรจะถูกตั้งคำถามต่อประเด็นนี้ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติยังค้างคาเนิ่นนานอยู่จำนวนมาก

ที่สำคัญในการเขียนบทความนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าการตั้งคำถามหรือแลกเปลี่ยนความเห็นที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหวังให้สังคมมีความเข้าใจในประเด็นปัญหาชีวิตของคนไร้รัฐไร้สัญชาตินั้นมีความจำเป็นมากมายและคาดหวังว่าจะเป็นแรงผลักดันหนึ่งที่มีส่วนในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ

แต่ที่เราอาจจะหลงลืมกันไปสักนิดคือ หากเราเองก็กล่าวถึงคนอื่นด้วยท่าทีแห่งความไม่เข้าใจ ตัดสินเรื่องราวจากข้อมูลเพียงส่วนหนึ่ง แม้ว่าจะไม่เจตนาก็ตาม มันก็จะเป็นอีกครั้งที่ทำให้ความเป็นอื่นและความแตกต่างเกิดขึ้น และความเข้าใจที่คาดหวังก็จะยิ่งถอยห่างออกไป (อีกครั้ง)

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในมัณฑะเลย์ยังต้องการน้ำดื่มสะอาด

Posted: 13 Oct 2010 07:53 AM PDT

(DVB/Irrawaddy/Mizzima 13 ต.ค.53) แม้ระดับน้ำในเขตมัณฑะเลย์จะลดลงแล้ว แต่เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์รายงานว่า ผู้ประสบภัยน้ำท่วมยังคงต้องการน้ำดื่มสะอาดและอาหารอย่างต่อเนื่อง ด้านสื่อพม่าเปิดเผยว่า มีผู้บาดเจ็บจากเหตุน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแล้วกว่า 2 พันคน ขณะที่สำนักข่าวอิรวดีรายงานว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้ราว 2 หมื่นคน เช่นเดียวกับที่ชาวบ้านบางส่วนยังคงไร้บ้าน

“ระดับน้ำลดลงมากแล้ว แต่ก็ยังพบว่ามีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ราบต่ำ”นายโกจี สมาชิกพรรคเอ็นแอลดีกล่าวและว่า ผู้ประสบภัยน้ำท่วมยังคงต้องการความช่วยเหลือด้านอาหารและน้ำดื่มสะอาดอย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานบรรเทาทุกข์ท้องถิ่นและจากพระสงฆ์ก็ตาม อย่างไรก็ตาม เย็นวานนี้ได้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายโกลาหลขึ้นในหมู่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม หลังมีการประกาศผ่านทางเครื่องขยายเสียงว่า จะมีการเปิดประตูระบายน้ำจากเขื่อนกีเวซี กั่น ในเมืองพยีจีตาโก่น ในเขตมัณฑะเลย์

ในอีกด้านหนึ่ง มีรายงานเช่นกันว่า ไร่นาของชาวบ้านทางภาคใต้ของเขตอิรวดีและในรัฐอาระกันถูกน้ำท่วมอย่างหนัก โดยชาวนาต่างแสดงความกังวลว่านาข้าวของตนที่กำลังอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

ขณะที่สวนผลไม้ของชาวบ้านในรัฐชินเองก็ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเช่นเดียวกัน หลังจากที่ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน นอกจากนี้ยังมีบ้านเรือนอีกกว่า 1, 200 หลังได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมครั้งนี้ด้วย ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาของพม่าได้ออกมาเตือนก่อนหน้านี้ว่า ในหลายพื้นที่ของประเทศจะยังมีฝนตกชุกต่อไป

 

............................................
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน" อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์
www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สวรส. เผยงานวิจัย 6 ประเทศ หนุนระบบชดเชยความเสียหายผู้ป่วย

Posted: 13 Oct 2010 07:41 AM PDT

เผยผลวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ศึกษาตัวอย่าง 6 ประเทศ พบต้องนำระบบชดเชยฯ มาใช้ เพราะระบบฟ้องศาลระบบเดียวไม่เพียงพอ และเป็นสาเหตุของวิกฤติในระบบสุขภาพ

รศ.ลือชัย ศรีเงินยวง นักวิจัยที่เกาะติดกับการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับระบบการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขมาโดยตลอด กล่าวว่า แม้หลายฝ่ายจะเห็นตรงกันว่า หลักการของระบบชดเชยความเสียหายโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูก - ผิด เป็นเรื่องที่ดี แต่จากระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา มีความเห็นต่างและมีการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่คิดต่างกัน ทำให้ภาพรวมของระบบสุขภาพมีความปั่นป่วนพอสมควร ซึ่งก็สอดคล้องกับผลการวิจัยของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่ได้ทบทวนประสบการณ์ใน 6 ประเทศ ที่มีการใช้ระบบชดเชยความเสียหายฯ มาก่อน พบว่า หลายประเทศประสบความยากลำบากในตอนเริ่มต้น

รศ.ลือชัย เผยผลวิจัยกรณีตัวอย่างที่ศึกษาใน 6 ประเทศ ได้แก่ สวีเดน อังกฤษ นิวซีแลนด์ อเมริกา นอร์เวย์ และออสเตรเลีย ชี้ชัดว่า สาเหตุที่ทุกประเทศต้องนำระบบชดเชยฯ มาใช้ เพราะประจักษ์ชัดเจนว่า การมีระบบฟ้องศาลระบบเดียวนั้นไม่เพียงพอ และเป็นสาเหตุของวิกฤติในระบบสุขภาพ เช่น คนไข้ที่เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรม แพทย์ถูกฟ้องและต้องรับภาระคนเดียวทั้งๆ ที่ความผิดพลาดเกิดจากหลายปัจจัย เมื่อแพทย์หันไปซื้อประกันเอกชนเพื่อคุ้มครองตนเอง ก็ทำให้ค่าประกันสูงขึ้น สุดท้ายก็มาเพิ่มภาระค่ารักษาจนผลตกแก่ประชาชน เป็นต้น

“นอกจากนั้น สิ่งที่เป็นประเด็นห่วงใยต่างๆ ของกลุ่มผู้คัดค้าน ร่างกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เป็นประเด็นที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศที่มีดำเนินการแล้ว และมีเครื่องมือหรือมาตรการต่างๆ ที่สามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้ได้ โดยทุกประเทศเห็นตรงกันที่จะไม่ใช้มาตรการทางศาลในการแก้ไขปัญหาทั้งหมด และในหลายประเทศ ต้องอาศัยการทำโครงการนำร่อง เพื่อพัฒนาในรายละเอียดของกลไกการทำงานที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศตนเอง” รศ.ลือชัย กล่าว

ทั้งนี้ ผลการศึกษายังพบอีกว่า หลายประเทศที่เริ่มจะทดลองใช้ระบบชดเชยฯ มักถูกโจมตีเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจมีแนวโน้มว่า หากใช้ระบบชดเชยฯ ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเริ่มมีกองทุน เพราะอาจเกิดจากกรณีเสียหายสะสมมาก่อน ทั้งยังมีประเด็นเรื่องมาตรฐานวิชาชีพที่เกรงว่าจะตกต่ำลง เพราะมีกองทุนมาชดเชยแทน แต่จากประสบการณ์หลายประเทศ การที่ไม่นำข้อมูลที่พบในกระบวนการพิจารณาชดเชยฯ ไปใช้หากจะมีการฟ้องศาล หรือมีการสอบสวนขององค์กรวิชาชีพ มีผลดีคือ ช่วยผ่อนคลายความกดดันให้กับแพทย์ให้ร่วมมือเปิดเผยข้อมูลและขอโทษผู้เสียหายอย่างจริงใจ อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปสู่การป้องกันเหตุซ้ำซ้อนในอนาคต ซึ่งทำให้เกิดมาตรฐานการบริการที่ดีขึ้นจริงอย่างเป็นระบบ

รศ.ลือชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เกือบทุกประเทศใช้การผสมผสานระบบฟ้องศาลและระบบชดเชยฯ กล่าวคือ ไม่ปิดทางที่ผู้เสียหายจะใช้สิทธิพื้นฐานในการเข้าสู่ระบบศาล แต่ขณะเดียวกันก็จ่ายชดเชยอย่างเป็นธรรมและจูงใจให้เลือกใช้ระบบชดเชยฯ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นในงานวิจัย ที่ผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ควรทำความเข้าใจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายเป็นสำคัญ ผู้สนใจงานวิจัยประสบการณ์ต่างประเทศดังกล่าว สามารถดาวน์โหลดได้ที่ ห้องสมุดดิจิตัล สวรส.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสียงคนงาน: เส้นทางคนไทยไปเก็บผลไม้ป่าสวีเดน 2553

Posted: 13 Oct 2010 07:30 AM PDT

13 .. 53 – นางพรพรรณ สุขล้ำ แรงงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนที่ได้เดินทางกลับมาเมื่อวันที่ 4 .. 53 ได้เข้าร้องเรียนกับโครงการณรงค์เพื่อแรงงานไทย เรื่องการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนแล้วถูกนายจ้างลอยแพ

พรพรรณเล่าว่าก่อนเดินทางไปสวีเดนนั้น ได้ทราบข่าวการประชาสัมพันธ์เรื่องการไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดนจากรายการวิทยุท้องถิ่น ว่าหากใครสนใจไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่ประเทศสวีเดน รายได้ดี ให้ติดต่อกับนายหน้าซึ่งอยู่ที่บ้านหนองคอนไท อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ

โดยทางนายหน้าระบุว่ามีงานที่ประเทศสวีเดน รายได้มีเงินการรันตีไม่มีการขาดทุน (16,372 kronor ต่อเดือน) และยังระบุอีกว่าผลไม้ปีนี้ดกมาก ซึ่งทางบริษัทจะมีเงินออกให้ 50,000 บาท ให้คนงานวางคนละ 25,000 บาท 

จากนั้นในวันที่ 30 เม.ย 53 ตนได้นำเงินมาให้กับนายหน้า 25,000 บาท พร้อมกับทำสัญญาจ้าง ต่อมานายหน้าได้เรียกเงินอีกเป็นจำนวน 2,300 บาท โดยอ้างเป็นค่าประกันอุบัติเหตุ 

 

ค่าใช้จ่ายของพรพรรณในการไปทำงานที่สวีเดน

จ่ายค่าวีซ่า 25,000 บาท 

ค่าเดินทาง+ค่าประกันอุบัติเหตุ 3,000 บาท

ค่าพาสปอร์ต 1,050 บาท

ค่าเครื่องบินไปกลับ 50,000  บาท

รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด 79,050  บาท

(ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายที่สวีเดน)

 

ในวันที่ 19 ก.. 53 ตนได้เข้าอบรมที่กระทรวงแรงงาน นายหน้าได้นัดคนหางานประชุม และได้แจ้งกับคนงานว่าทางบริษัทนายจ้างที่สวีเดนคือบริษัท ลุมเคอร์แบร์ (Lömsjö Bär AB) ไม่สามารถหาเงิน 50,000 บาทได้ และให้คนงานจ่ายเองและต้องจ่ายเป็นสดเท่านั้น ซึ่งพรพรรณได้นำโฉนดที่ดินไปวางกับนายทุนเงินกู้เพื่อนำเงินมาเป้นค่าใช้จ่ายดังกล่าว และได้นำเงินไปจ่ายให้กับนายหน้าก่อนเดินทาง 3 วันโดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน   

จากนั้นในวันที่ 29 ก.. 53 จึงได้เดินไปที่ประเทศสวีเดน พร้อมกันกับคนงานทั้งหมด 39 คน  ถึงสวีเดนวันที่ 30 ก.. 53  โดยมีนายอารี ฮาลิคาเน่น (Ari Hallikanen) ซึ่งเป็นนายจ้างได้เดินทางมารับที่สนามบิน  โดยทางบริษัทได้พาคนงานไปรอเพื่อทำงานอยู่ที่ภาคใต้ของประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นบ้านนายจ้างก่อน จากนั้นถัดมาอีก 2 วัน จึงได้พาคนงานเดินทางไปที่แคมป์ซึ่งอยู่ที่เมืองโอสเลอ (Åsele) ซึ่งอยู่ภาคกลางของประเทศสวีเดน ซึ่งคนงานต้องรอถึงวันที่ 7 ส.. จึงได้เริ่มทำงาน    

ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายที่สวีเดน คนงานต้องเสียค่าที่พัก, ค่าอาหาร, ค่าเช่ารถ, ค่าน้ำมัน  รวมเป็นเงิน 190 kronor ต่อวัน   ซึ่งทางบริษัทจะหักค่าจากเงินเดือน (ออกทุกวันที่ 25 ของเดือน) และคนงานต้องจ่ายค่าภาษีร้อยละ 25 รวมถึงคนงานต้องซื้ออุปกรณ์การเก็บผลไม้ซึ่งประกอบด้วย ที่ตักผลไม้และถังสำหรับใส่ผลไม้อีก 150 kronor    

ที่พักที่นายจ้างจัดคนงานทั้งหมดนั้นเป็นโรงเรียน ส่วนอาหารทางบริษัทจะเป็นผู้จัดทำให้คนงาน ทั้งนี้พรพรรณระบุว่าในส่วนของห้องพักไม่ค่อยสะอาดเท่าไรนัก คนงานต้องตื่นตอนตี 3 เพื่อไปทำงาน โดยจะเดินทางโดยรถที่เช่ามา โดยมีคนงาน 10 คน ต่อรถหนึ่งคันและคนงานเป็นคนขับกันเอง

ทั้งนี้คนงานเก็บผลไม้ต้องเดินทางประมาณวันละ 300 – 400 กิโลเมตร โดยในการทำสัญญากับนายจ้าง มีการระบุว่าบริษัทกำหนดขั้นต่ำในการเก็บผลไม้ไว้ที่ 24 กิโลกรัม ซึ่งถ้าเกินกว่านั้นก็จะเป็นรายได้ของคนงานโดยตรง ทั้งนี้คนงานเก็บได้วัน 30-40 กิโลกรัม (กิโลกรัมละ 23 kronor) โดยในแต่วันคนงานจะกลับจากการทำงานเวลา 3 ทุ่ม   สร้างความเหนื่อยล้าให้กับคนงานเป็นอย่างมาก กับชั่วโมงการทำงาน และสภาพการทำงานที่ต้องแบกผลไม้กว่าคนละ 30 กิโลกรัม เกินทางไกลถึง 3 - 4 กิโลเมตร รวมถึงได้พักผ่อนวันละ 5 ชั่วโมงเท่านั้น

บริษัทตกลงจะจ่ายเงินคนงานทุกวันที่ 25 ของเดือน แต่พอถึงกำหนดบริษัทไม่ได้จ่ายเงินเดือนแต่กลับให้เบิกค่าใช้จ่ายคนละ 6,000 kronor (จากที่เคยตกลงไว้ว่าจะได้รับเงินเดือน 16,372 kronor ต่อเดือน) และได้รับเพียงเดือนแรกเท่านั้น  ซึ่งคนงานจะต้องนำเงินเหล่านี้ไปเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยนายจ้างได้สัญญาว่าจะจ่ายรวมทั้งหมด  2 เดือน ในวันที่ 25 ก.. 53 แต่พอถึงวันครบกำหนด ทางบริษัทได้แจ้งกับคนงานว่าขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 28 ก.. 53 แต่นายจ้างก็หายตัวไปพร้อมเงินเดือนที่ต้องจ่ายให้คนงานในวันที่ 29 ก.. 53 

หลังจากนั้นคนงานทั้งหมด 155 คน ในแคมป์ก็ได้รู้ว่าถูกนายจ้างโกงแล้วจึงตัดสินใจไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ  โดยทางทางการท้องถิ่นของสวีเดนแจ้งว่าจะเข้าไปเจรจากับลูกชายของนายจ้างให้ และคนงานก็ได้ติดต่อไปยังสถานทูตไทย ซึ่งทางสถานทูตได้เดินทางมาไกล่เกลี่ยกับทางลูกชายของนายจ้างแต่ไม่สำเร็จเนื่องจากลูกชายของนายจ้างระบุว่าเงินทั้งหมดอยู่ที่นายจ้าง ไม่มีเงินจ่ายให้กับคนงาน  

จากนั้นคนงานทั้งหมด 155 คน ได้ตัดสินรวมตัวกันเรียกร้องกับทางคอมมูนและสถานทูตไทย  ในการดำเนินคดีกับนายจ้างเพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าแรงให้คนงาน แต่คนงานกลับได้รับการแนะนำจากสถานทูตไทยว่าจะดำเนินการฟ้องร้องให้ และขอให้คนงานเดินทางกลับประเทศไทยก่อน

จากนั้นคนงานบางส่วนจึงได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยในวันที่ 3 ต.. 53 และถึงประเทศไทย ในวันที่ 4 ต.. 53 แต่ทั้งนี้ยังมีคนงานไทยอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ยอมกลับ เพราะต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมที่สวีเดนต่อ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฉันมีรองเท้าเป็นอาวุธ

Posted: 13 Oct 2010 07:20 AM PDT

 

 

เมื่อเย็นวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ชวนคิด แม่ค้าขายสินค้าเกี่ยวกับกลุ่มคนเสื้อแดงคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ที่จังหวัดอยุธยาขณะขายสินค้าในกิจกรรมวันอาทิตย์สีแดง เธอถูกตั้งข้อหาว่ารองเท้าแตะพื้นลายคล้ายหน้านายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงพร้อมข้อความ “ราชประสงค์มีคนตาย” ที่เธอขายฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (แม้ไม่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ในจังหวัดอยุธยา) เธอถูกควบคุมตัวไปดำเนินคดีที่โรงพักก่อนจะได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี เดิมทีเธอประสงค์ไม่ขอประกันตัว เพราะเห็นว่าการขายรองเท้าที่มีรูปคล้ายหน้าบุคคลทั้งสองดังกล่าวไม่ได้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ข้อความที่ว่าราชประสงค์มีคนตายก็ไม่ได้เป็นเท็จ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเธอแย้งว่ารองเท้าเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาวุธแต่อย่างใด

ข้อโต้แย้งของแม่ค้าเสื้อแดงที่ว่ารองเท้าที่มีพื้นเป็นรูปคล้ายหน้านายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ ไม่ได้เป็นอาวุธทำให้ผมนึกถึงหนังสือขึ้นหิ้งเล่มหนึ่งในแวดวงที่ศึกษา เรื่องอำนาจ คือ Weapons of the Weak: Everyday Forms of Peasant Resistance (อาวุธของผู้อ่อนแอ: รูปแบบการต่อต้านในชีวิตประจำวันของชาวนา) ของ James C. Scott ซึ่งโต้แย้งกับกลุ่มที่เห็นว่าไม่มีการเคลื่อนไหวของชาวนาในระดับที่กว้างขวางพอที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้ โดยเขาเสนอว่า การอู้งาน การแกล้งโง่ การแสร้งจำนน การนินทาด่าว่า รวมไปถึงการเล็กเล็กขโมยน้อย และการก่อวินาศกรรม ฯลฯ ของคนจนโดยเฉพาะชาวนา ที่มักถูกมองว่าไม่ใช่การต่อต้านที่แท้จริง เพราะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนบุคคลและมีนัยเพียงเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในลักษณะรวมหมู่ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐและกฎหมายได้ ทว่าในความเป็นจริงการกระทำเหล่านี้คือการต่อต้านในชีวิตประจำวันของผู้อ่อนแอ เพราะภายใต้ความสัมพันธ์ทางชนชั้นที่มีลักษณะกดขี่ครอบงำ การต่อต้านโครงสร้างอำนาจอย่างเปิดเผยมีต้นทุนสูงและมีโอกาสสำเร็จน้อย การแปรโครงสร้างอำนาจที่กดขี่ครอบงำให้อยู่ในรูปของบุคคลเช่นเจ้าที่นาเปิดโอกาสให้ผู้อ่อนแอสามารถท้าทายได้มากกว่า และหากสามารถเชื่อมโยงกันได้ การต่อต้านในชีวิตประจำวันของผู้อ่อนแอแต่ละคนจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างและกฎหมายได้ในที่สุด

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 และได้รับความสนใจจากคนในแวดวงอย่างล้นหลาม เพราะเป็นการชี้ชวนให้พิจารณาวิธีการเผชิญกับอำนาจของผู้คนส่วนใหญ่ในแง่มุม ที่ถูกละเลยโดยทฤษฎีมาร์กซิสม์จารีตและทฤษฎีอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาแม้แวดวงการศึกษาอำนาจจะพัฒนาไปในระดับที่ทำให้ต้องพิจารณาอำนาจ ในลักษณะที่ซับซ้อนกว่าตรรกะการกดขี่ครอบงำและการต่อต้านขัดขืนที่ Scott เสนอ รวมทั้ง Scott เองในตอนหลังก็เขียนงานที่ให้ความสำคัญกับชีวิตและการทำงานของรัฐมากกว่าการต่อสู้ดิ้นรนของคนธรรมดา (เช่น Seeing Like a State หรือแม้แต่ในหนังสือเล่มล่าสุดของเขา The Art of Not Being Governed ที่พิจารณาว่าผู้คนบนที่สูงกลุ่มต่างๆ หลีกหนีการควบคุมของรัฐอย่างไรก็เป็นการประมวลผลการศึกษามากกว่าการศึกษาภาคสนาม) แต่หนังสือเล่มนี้ของเขาก็ยังคงเป็นหลักหมายสำคัญของแวดวงการศึกษาอำนาจ รวมทั้งแนวทางในการพิจารณาอำนาจของเขาในหนังสือเล่มนี้ก็ยังคงมีคุณูปการในการทำความเข้าใจการเผชิญกับอำนาจในบางแง่มุมของผู้อ่อนแอในสังคมร่วมสมัย รองเท้าแตะพื้นลายใบหน้าคล้ายนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ รวมทั้งกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อื่นๆ ของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นตัวอย่างของการเผชิญหน้ากับอำนาจในลักษณะเช่นนี้

การล้อมปราบที่ราชประสงค์เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2553 รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายต่างๆ ที่ต่อเนื่องตามมาส่งผลให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงต้องปรับเปลี่ยนไป ในแง่หนึ่งเกิดการทบทวนว่าการปักหลักชุมนุมขนาดใหญ่อย่างยืดเยื้อในลักษณะเผชิญหน้ามีราคาแพงและมีโอกาสสำเร็จต่ำภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองปัจจุบัน ขณะเดียวกันมาตรการทางกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไม่เปิดโอกาสให้กับการเคลื่อนไหวในลักษณะเดิมได้ การฟื้นตัวของขบวนการเสื้อแดงในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาจึงไม่ได้มีลักษณะเผชิญหน้าหรือท้าทายอย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นการอาศัยการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่การบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถกระทำได้โดยง่าย แต่สามารถสื่อความหมายทางการเมืองชนิดเดียวกันไปยังผู้ที่อยู่ในอำนาจและ สังคมโดยรวมได้ เช่น การผูกผ้าแดงที่ป้ายราชประสงค์ การรำลึกผู้เสียชีวิตจากการล้อมปราบ การร่วมรับประทานอาหารและปั่นจักรยานในสวนสาธารณะ ฯลฯ สร้างความยุ่งยากให้กับการตีความและการบังคับใช้กฎหมาย เพราะไม่ใช่กิจกรรมหรือการชุมนุมทางการเมืองในความหมายปกติ แต่ขณะเดียวกันกิจกรรมเหล่านี้ก็มีนัยทางการเมืองอย่างสำคัญ อีกทั้งยังสามารถสื่อความหมายไปยังสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมในลักษณะเช่นนี้จึงขยายตัวมากขึ้นและมีผู้เข้าร่วมที่หลากหลายและกว้างขวางยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี “การต่อต้านในชีวิตประจำวัน” ของกลุ่มคนเสื้อแดงมีลักษณะต่างจากชาวนาในหมู่บ้าน Sedaka ในมาเลเซียที่ Scott ศึกษา เพราะการต่อต้านของชาวนาเหล่านั้นหลายกรณีเกิดขึ้นในที่ลับตาหรือข้างหลัง จึงไม่เป็นที่รับรู้ของผู้ถูกต่อต้าน หรือบางกรณีแม้จะเป็นที่รับรู้แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ต่อต้านคือใคร และบางกรณีผู้ต่อต้านและผู้ถูกต่อต้านให้ความหมายกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ตรงกัน แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เกิดในที่สาธารณะและเป็นที่จับตามองของผู้อยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ต้น เพราะพวกเขาเข้าใจดีว่ากิจกรรมเหล่านี้มีความหมายอะไร การเคลื่อนไหวจึงไม่เป็นเพียงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่ก่อให้เกิดผลสะเทือนในอีกชั้น แต่เป็นการเจรจาต่อรองที่ส่งผลต่อการจัดความสัมพันธ์ระหว่างกันในทันที โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงกับผู้บังคับใช้กฎหมาย นอกจากนี้ การที่กิจกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เกิดขึ้นในลักษณะรวมหมู่ก็ยังผลให้นัยของกิจกรรมมีผลในวงกว้างมาตั้งแต่ต้น ไม่จำเป็นต้องรอให้กิจกรรมของคนเสื้อแดงแต่ละคนมาเชื่อมโยงกันเพื่อก่อให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเช่นในกรณีของชาวนาใน Sedaka

นอกจากนี้ ข้อโต้แย้งของแม่ค้าเสื้อแดงที่ว่ารองเท้าแตะพื้นลายใบหน้าคล้ายนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ ไม่ได้เป็นอาวุธ เป็นการขยับ “การต่อต้านในชีวิตประจำวัน” ขึ้นไปอีกขั้น เพราะแม่ค้าเสื้อแดงอาศัยความกำกวมของสัญลักษณ์บนรองเท้าแตะเป็นทั้งอาวุธ และเกราะกำบังในเวลาเดียวกัน เธอใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นอาวุธเมื่อต้องการท้าทายผู้อยู่ในอำนาจในสภาวะที่การเผชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมาไม่สามารถกระทำได้ การเหยียบใบหน้าบุคคลเป็นรูปแบบการดูถูกเหยียดหยามอย่างที่สุดรูปแบบหนึ่งในบริบทวัฒนธรรมไทย แต่เมื่อสถานะความเป็นอาวุธของสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นที่ตระหนักและผู้อยู่ในอำนาจไม่สามารถอดทนได้จนต้องออกคำสั่งให้จับกุมและดำเนินคดีกับเธอ เธอก็ทำให้มันกลายเป็นเกราะกำบังโดยตัดความหมายดังกล่าวทิ้งเสียให้เหลือเพียงแค่คุณสมบัติทางกายกาพของรองเท้าซึ่งไม่สามารถจะใช้เป็นอาวุธอะไรได้

ทั้งนี้ ไม่ว่าผลการต่อสู้ทางคดีจะออกมาในรูปใด แม่ค้าเสื้อแดงท่านนี้ได้แสดงให้เห็นว่า “การต่อต้านในชีวิตประจำวัน” อย่างเปิดเผยและมีพลังสามารถกระทำได้ เพียงแต่ต้องมีทักษะและความเชี่ยวชาญในการใช้ “อาวุธ” ในเชิงสัญลักษณ์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมีความกล้าหาญที่จะทำให้ “อาวุธ” นั้นเป็นที่ประจักษ์ ไม่ว่าสิ่งที่กำลังต่อต้านอยู่นั้นจะมีอำนาจเพียงใดก็ตาม

 

....................................................
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ คิดอย่างคน ในหนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ปีที่ 1 ฉบับที่ 6 (8-14 ตุลาคม 2553)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ทักษิณ" เปิด 3 นโยบายหาเสียง ด้าน "อภิสิทธิ์" ชี้แค่ต่อยอดงานรัฐบาล แถมเกทับยังมีอีก 3 เรื่องต้องทำต่อ

Posted: 13 Oct 2010 03:51 AM PDT

"ทักษิณ" ชู3นโยบาย "ประชานิยม" ค่าแรง 300 บ.ต่อวัน จบ ป.ตรีรับ 15,000 บ. จำนำข้าวจับผูกราคาน้ำมัน เผยเชื่อการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน "อภิสิทธิ์" บลัฟกลับ การเสนอนโยบายใหม่แค่ต่อยอดจากสิ่งที่ตนทำอยู่
 
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พรรคเพื่อไทยประชุม ส.ส.ของพรรค เพื่อพิจารณาวาระที่ ส.ส.กลุ่มนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน เสนอให้พรรคเปิดโหวตชื่อผู้ที่จะชูเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อประชุมดำเนินไปไม่นาน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้วิดีโอลิงก์มายังที่ประชุมเป็นเวลากว่า 1.30 ชั่วโมง
 
ข่าวแจ้งว่า พ.ต.ท.ทักษิณระบุว่า พท.มีศักยภาพ เพราะแคนดิเดตทั้งหมด 6 คน ซึ่งทั้ง 6 คนล้วนแล้วแต่มีความสามารถ และตอนนี้ตนยังไม่ปิดรับสมัคร แต่ถ้าใครอยากเป็นนายกฯ จะถามว่าเป็นนายกฯแล้วบ้านเมืองจะดีอย่างไร การเลือกนายกฯของพรรคนั้นควรที่จะรอมีการยุบสภาก่อน หรือให้นายกรัฐมนตรีประกาศลาออกและมีการโหวตนายกฯในสภา เวลานั้น พท.ค่อยเสนอว่าที่นายกฯของพรรคไป ต้องขอบคุณนายมิ่งขวัญ ที่กล้าเสนอตัว ซึ่งการแสดงความคิดเห็นถือเป็นสิ่งที่ดีของพรรคการเมือง แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะโหวตนายกฯของพรรคกัน เพราะจะกลายเป็นปัญหา หากได้คัดเลือกไป 1 คน อีก 5 คน จะถามว่าตัวเองไม่ดีตรงไหน
 
"ขอให้ ส.ส.ทุกคนอย่าห่วงว่าจะไม่มีใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ และไม่ต้องห่วงว่าจะถูกกล่าวหาว่าเป็นนอมินีของผม อย่าไปเล่นเกมตาม ปชป. เพราะ พท.ใครก็รู้ตั้งอยู่ตึกนี้ แต่บอกว่าไม่เกี่ยวกับผม พูดไปก็อายเขาเปล่าๆ ดังนั้น อย่าห่วงเรื่องนอมินี แต่ควรห่วงอย่างเดียวคือ การเลือกตั้งที่จะมาถึง ซึ่งนโยบายของพรรคยังไงของแท้ ก็ต้องมีนายห้างตราใบห่อ รับรองได้เลยว่านโยบายของผมจะไม่แพ้ใครตอนออกจากประเทศไทยมีหลวงพ่อรูปหนึ่งบอกให้ไปเมืองนอกเถอะลูก ไม่ต้องวิตก ทุกข์ใจอะไร ไปทำมาหากินที่เมืองนอกแล้วเงินที่จะได้ในต่างประเทศจะทำให้เงินที่อยู่ในไทยเป็นเพียงเศษสตางค์เท่านั้น วันนี้ คำพูดของหลวงพ่อชักแม่น ที่ผมพูดวันนี้เพื่อบอกกันว่าไม่ต้องกังวลใจอะไร แน่นอนว่า ผมจะต้องมีความห่วงใย คิดถึงครอบครัว คิดถึงพรรค คิดถึงประเทศ รวมไปกองเชียร์ของผมที่ลำบาก แต่ถามว่าผมทุกข์ไหม ไม่ทุกข์หรอกเพราะไม่ได้ทำผิดอะไร ความจริงจะกระจ่างขึ้นเรื่อยๆ" แหล่งข่าวอ้างคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ"
 
พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ขอให้ทุกคนช่วยไปเยี่ยมเยียนครอบครัวของคนเสื้อแดงที่เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ หรือถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียตังค์เพราะคนเสื้อแดงไม่ใช่คนที่เห็นแก่ได้ พท.กับคนเสื้อแดงต้องแยกให้ชัดเจนว่า เป็นคนละองค์กรกัน แต่ควรที่จะต้องเชื่อมโยงให้มีความใกล้ชิดกัน เพราะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คนเหล่านี้เวลาเลือกตั้งต้องเชียร์ พท. เพราะคนเสื้อแดงอยากให้ตนกลับประเทศ เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นอีกไม่นานนี้ ความจริงแล้วรัฐบาลชุดนี้มีโอกาสที่จะชนะในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากรัฐบาลนี้สามารถขจัดกลุ่มคนที่คอร์รัปชั่นออกจากรัฐบาลได้ แต่ถ้ารัฐบาลยังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ใจเย็นได้เลยว่าชนะง่าย แต่เชื่อว่าคงไม่ทำ เพราะยังติดเรื่องบุญคุณกันอยู่
 
"วันนี้โกงกันแหลก ล่าสุดเรื่องโรงเรียนนายอำเภอ และเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย เลยต้องมีการอุ้มกัน ไม่ใช่อุ้มสมนะ แต่เป็นอุ้มผี ที่เขาทำกันอยู่ ขณะนี้เราไม่สามารถทำได้เพราะเราไม่มีเส้น เมื่อมีการทุจริตขึ้นเรื่อยๆ เราก็ชี้ให้ประชาชนได้เห็นพร้อมเสนอนโยบาย และตอนนี้ผมก็กำลังเขียนนโยบายอยู่ แต่จะไม่เปิดเผยหมด เพราะกลัวเขาลอกการบ้าน แต่ขอเปิดก่อน 3 ข้อคือ 1.ค่าแรงขั้นต่ำอย่างต่ำวันละ 300 บาท 2.บุคคลที่จบปริญญาตรีมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาท รวมไปถึงการปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการ และ 3.รับจำนำราคาข้าวที่ 15,000 บาทต่อเกวียน โดยจำนำราคาข้าวไปผูกติดกับราคาน้ำมัน"
 
พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวว่า ที่มีการคุยกันว่า มีคนในพรรคมีน้ำใจที่จะให้น้องๆ กลัวว่าน้องๆ ในพรรคจะไม่มีตังค์ใช้ น้องบางคนน่ารักมีพี่ดูแล บางคนไม่น่ารักไม่มีคนสนใจ ท้ายที่สุดมาว่ากล่าวพี่ ดังนั้น ขอร้องว่าควรเลี้ยงน้องเท่าๆ กัน และเลี้ยงให้เหมือนๆ กันทุกคน ขณะนี้ใกล้เลือกตั้งแล้วพรรคจะดูแลใกล้ชิดให้เป็นพิเศษ เขตเลือกตั้งใดยังไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ส่งแกนนำคนเสื้อแดงลงไปเลย เพราะคนเหล่านี้เป็นคนที่มีอุดมการณ์
 
พ.ต.ท.ทักษิณยังกล่าวถึงคดียุบ ปชป.ว่า มีการวิเคราะห์กันว่าจะยุบหรือไม่ยุบ เท่าที่ตนเห็นพยานหลักฐานน่าจะถูกยุบ แต่กระบวนการมีการเล่นว่า พวกกูไม่ผิดก็จะไม่ถูกยุบ ยังได้ข่าวว่าผู้เกี่ยวข้องบางคนเดินเต็มที่ว่าจะช่วย ฉะนั้นอะไรก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ต้องติดตามสถานการณ์หลังวันที่ 18 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นพยานผู้ถูกร้องปากสุดท้าย ต้องดูว่าจะเลือกไปทางไหนระหว่างการสร้างความชิงชังให้กับประชาชนกับการคืนประชาธิปไตยให้ประเทศ
 
 
"มาร์ค" บลัฟกลับ "แม้ว" เสนอนโยบายใหม่ แค่ต่อยอดงานรัฐบาล
 
ที่อาคารรัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอนโยบายใหม่โดยประกาศจะทำให้ข้าวมีราคาสูงถึงเกวียนละ 15,000 บาท คนจบใหม่ได้เงินเดือน 15,000  บาท ว่า เป็นธรรมดาของการจะหาเสียง แต่ดีใจว่าเริ่มมาดูประเด็นที่ต่อยอดจากสิ่งที่ตนทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประกันรายได้หรือการยกระดับเงินเดือนแรกเข้ากับข้าราชการ แสดงว่าทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าปัญหาต่างๆ เหล่านี้มีความสำคัญ ส่วนตัวเลขนั้นเป็นรายละเอียดเดี๋ยวค่อยไปว่ากัน
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบายของพ.ต.ท.ทักษิณสามารถทำได้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องดูเงื่อนไขกรอบเวลาต่างๆ ส่วนเรื่องค่าแรงวันเดียวกันนี้ ตนได้หารือกับนายเฉลิม ศรีอ่อน รมว.แรงงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมการฯ เมื่อถามว่า ตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องถามกลับด้วยว่าวันนี้เราจะดูเฉพาะเรื่องค่าแรงหรือเราจะดูเรื่องการจ้างงานด้วย คือแค่ไหนก็ทำได้ทั้งนั้น แต่ถ้าค่าแรงสูงเกินไปก็ไม่มีจ้างงานเท่านั้น 
 
"ในส่วนของรัฐบาลเรามีนโยบายที่จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตัวเลขอยู่ ซึ่งความชัดเจนคงจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ เพราะตอนนี้จะทำควบคู่ไปกับเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านประกันสังคม จะนำเอาสองเรื่องมาดูร่วมกัน ยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลทำนั้นไม่ได้เป็นการเกทับทางการเมือง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว 
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากเรื่องค่าแรงแล้ว ตนจะดูอย่างน้อยอีก 3 เรื่องคือ 1.เรื่องของสิทธิประโยชน์อื่นๆ ในประกันสังคม 2.ทำอย่างไรที่คนไม่ได้อยู่ในระบบค่าแรงที่เป็นทางการจะมีรายได้ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากที่ถือว่าอยู่นอกระบบของการจ้างงาน เป็นการทำอาชีพอิสระบ้าง 3.ถ้าค่าแรงสูงแล้วคนตกงานจำนวนมากตนก็ไม่เอา ตนจะยึดเอาค่าแรงที่สมเหตุสมผลและมีการจ้างงานโดยไม่ให้คนตกงาน ซึ่งตัวกลไกตลาดจะเป็นตัวที่จะให้คำตอบอยู่แล้ว ถ้าเราไปบังคับให้ค่าแรงสูงมากก็จ้างงานคนไม่ได้
 
เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวหาว่ารัฐบาลอุ้มผีอยู่ นายอภิสิทิ์ กล่าวว่า ตนไม่ได้สนใจ เมื่อถามว่า นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศเดินทางไปประเทศมอนเตเนโกร จะมีมาตราการดำเนินการอย่างไรกับพ.ต.ท.ทักษิณ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีแต่รายงานการเดินทางของนายกษิตเมื่อหลายเดือนมาแล้ว  ซึ่งก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เป็นเรื่องปกติ เมื่อถามว่า มีข่าวว่ามอนเตเนโกรจะไม่ถอนวีซ่า พ.ต.ท.ทักษิณ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า บางประเทศถือว่าเข้าได้แต่อย่าไปเคลื่อนไหวทางการเมือง
 
 
"เทพไท" ชี้ "แม้ว" วีดีโอลิงก์บอกแคนดิเดตนายกฯ มี 6 คน หวังแข่งกันดูแล ส.ส.
 
ที่รัฐสภา นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงว่า กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วีดีโอลิงก์ระหว่างการประชุมส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งเบรกไม่ให้เลือกแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค การเปิดเผยนโยบายบางส่วน การสั่งให้ส.ส.พท.ดูแลเพื่อนส.ส.ด้วยกันและคนเสื้อแดง เป็นการแสดงให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังคงเป็นผู้บงการพท.ตัวจริง ขัดกับความพยายามลบบทบาทและความเชื่อมโยงก่อนหน้า ที่พ.ต.ท.ทักษิณระบุว่าในพท.มีบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นนายกฯถึง 6 คน อาทิ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ฯลฯ เชื่อว่าเป็นการส่งสัญญาณให้ทั้ง 6 คน จ่ายเงินและดูแลส.ส.แข่งกัน เพื่อจะดูว่าใครดูแลได้ดีที่สุด
 
นายเทพไท ตอบโต้กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณระบุว่ารัฐบาลมีการทุจริตอย่างมหาศาล โดยชี้แจงว่าการทุจริตของรัฐมนตรีในครม.ชุดนี้ ยังเป็นเพียงข้อกล่าวหาเท่านั้น ยังไม่มีการพิสูจน์เหมือนรัฐมนตรีใน ครม.ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ศาลตัดสิน จนมีคนต้องถูกติดคุก ที่อดีตนายกฯ ระบุว่า เลือกตั้งครั้งต่อไปพท.จะชู ค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาทต่อวัน เด็กจบใหม่ได้เงินเดือน 15,000 บาท และจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ใครจะเสนออะไรก็ได้ แต่ต้องดูว่าทำได้จริงแค่ไหน และถ้าทำได้จริงทำไมเป็นรัฐบาลอยู่ 6 ปีถึงไม่ทำ ที่บอกว่าได้ดูสำนวนแล้ว ปชป.ถูกยุบแน่ อยากขอพ.ต.ท.ทักษิณว่าอย่าทำตัวเป็นศาล และคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ จะถูกแทรกแซงได้เหมือนชุดก่อน ที่ทำให้ตัวเองหลุดคดีซุกหุ้น และที่บอกให้ดูแลครอบครัวคนเสื้อแดง ตนอยากให้ไปดูแลครอบครัวนายสมัย วงศ์สุวรรณ ผู้เสียชีวิตจากระเบิดที่ตัวเองประกอบด้วย
 
 
 
ที่มา: มติชนออนไลน์ 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลยกคำร้องขอถอนหมายจับ "ปฐมพงษ์-จอย" คดีร่วม พธม.บุกสนามบิน

Posted: 13 Oct 2010 03:10 AM PDT

ศาลยกคำร้อง “พล.อ.ปฐมพงษ์-จอย ศิริลักษณ์” ขอเพิกถอนหมายจับคดีร่วมชุมนุม พธม.สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง ระบุ หมายจับออกถูกต้องตาม ป.วิอาญา 66 ด้าน ทนายจ่ออุทธรณ์อีกรอบพรุ่งนี้ 

 
วันนี้ (13 ต.ค.53) เมื่อเวลา 15.30 น. ศาลอาญารัชดาภิเษกมีคำสั่งยกคำร้องที่ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ อดีตประธานที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย และ น.ส.ศิริลักษณ์ หรือจอย ผ่องโชค แนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ผู้ต้องหาคดีมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเข้าไปกระทำการใดๆ ที่รบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควรเข้าไป หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่ ซึ่งได้ร่วมแกนนำ พันธมิตรฯ บุกชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองเมื่อปี 2551 ขอเพิกถอนหมายจับที่พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ยื่นขออนุมัติและศาลอาญาให้ออกหมายจับเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา
 
โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการขออนุมัติหมายจับถูกต้องตามขั้นตอนที่ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 บัญญัติแล้ว
 
ขณะที่นายณฐพร โตประยูร ทนายความของ พล.อ.ปฐมพงษ์ กล่าวภายหลังฟังคำสั่งว่า ในวันพรุ่งนี้จะเดินทางมายื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับต่อไป ส่วนคำร้องที่ตนขอให้ศาลระงับการบังคับใช้หมายจับของพนักงานสอบสวนนั้น ศาลได้มีคำสั่งยกเช่นกัน 
 
 
 
ที่มา: เนชั่นทันข่าว 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลยกคำร้องขอถอนหมายจับ "ปฐมพงษ์-จอย" คดีร่วม พธม.บุกสนามบิน

Posted: 13 Oct 2010 03:10 AM PDT

ศาลยกคำร้อง พล.อ.ปฐมพงษ์ และจอย ศิริลักษณ์ ขอเพิกถอนหมายจับคดีร่วมชุมนุม พธม.สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง ระบุ หมายจับออกถูกต้องตาม ป.วิอาญา 66 ด้าน ทนายจ่ออุทธรณ์อีกรอบพรุ่งนี้ 

 
วันนี้ (13 ต.ค.53) เมื่อเวลา 15.30 น. ศาลอาญารัชดาภิเษกมีคำสั่งยกคำร้องที่ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ อดีตประธานที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย และ น.ส.ศิริลักษณ์ หรือจอย ผ่องโชค แนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ผู้ต้องหาคดีมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเข้าไปกระทำการใดๆ ที่รบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันควรเข้าไป หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่ ซึ่งได้ร่วมแกนนำ พันธมิตรฯ บุกชุมนุมที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองเมื่อปี 2551 ขอเพิกถอนหมายจับที่พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ยื่นขออนุมัติและศาลอาญาให้ออกหมายจับเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา
 
โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการขออนุมัติหมายจับถูกต้องตามขั้นตอนที่ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 บัญญัติแล้ว
 
ขณะที่นายณฐพร โตประยูร ทนายความของ พล.อ.ปฐมพงษ์ กล่าวภายหลังฟังคำสั่งว่า ในวันพรุ่งนี้จะเดินทางมายื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับต่อไป ส่วนคำร้องที่ตนขอให้ศาลระงับการบังคับใช้หมายจับของพนักงานสอบสวนนั้น ศาลได้มีคำสั่งยกเช่นกัน 
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ลุ้น! ปฏิบัติการช่วยเหลือ คนงานเหมืองชิลี 33 ราย

Posted: 12 Oct 2010 10:34 PM PDT

อัพเดตสถานการณ์ล่าสุด

(เวลาที่ระบุเป็นเวลาประเทศไทย ซึ่งไวกว่าชิลี 10 ชั่วโมง)

สถานการณ์ล่าสุด (13.15) - คาร์ลอส มามานี ได้รับการช่วยเหลือแล้ว เขากล่าว "ขอบคุณทุก ๆ คน" เข้าสวมกอดภรรยา ขณะนี้กำลังทำการช่วยเหลือรายที่ 5 ซึ่งเป็นคนงานเหมืองที่อายุน้อยที่สุดในนั้น

(14.12) - จิมมี่ ซานเชส ชาวเหมืองรายที่ 5 ได้รับการช่วยเหลือแล้ว เขาเคยบอกว่าเขาคิดถึงลูกสาวอายุ 2 เดือน ที่ชื่อบาร์บาร่าเวลาที่ติดอยู่ในเหมือง และนั่นช่วยให้เขาพยายามมีชีวิตรอดอยู่ใต้เหมืองได้ถึง 69 วัน

(14.55) - ขณะนี้เฮลิคอปเตอร์รับชาวเหมือง 4 รายแรกที่ได้รับการช่วยเหลือไปส่งถึงโรงพยาบาลโคปิอาโปแล้ว

(15.35) - ออสแมน อรายา ชาวเหมืองอายุ 30 ปี ได้รับการช่วยเหลือแล้วเป็นรายที่ 6

(16.22) - โฮเซ่ โอเจดา เป็นผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และเคยเขียนข้อความบอกว่า "พวกเราสบายดี" จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ได้รับการช่วยเหลือเป็นรายที่ 7 เขารักการทำงานเหมือง และเป็นชาวเหมืองมากว่า 27 ปีแล้ว

โฮเซ่ โอเจดา เป็นผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและเคยเขียนข้อความบอกว่า "พวกเราสบายดี" จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลกได้รับการช่วยเหลือเป็นรายที่ 7 เขารักการทำงานเหมืองและเป็นชาวเหมืองมากว่า 27 ปีแล้ว

(17.04) - ชาวเหมืองที่ติดอยู่ทั้ง 33 รายได้รับการชวยเหลือแล้ว 8 ราย โดยเคลาอิโด ยาเนซ เป็นผู้ได้รับการช่วยเหลือรายที่ 8

(20.00) มาริโอ โกเมซ (Mario Gomez) อายุ 63 ปี เป็นชาวเหมืองคนที่ 9 ที่ได้รับการช่วยเหลือ เมื่อขึ้นมาถึงเขาชูสองนิ้ว และถือธงชาติชิลี

(20.54) แคปซูลได้นำอเล็ก เวกา (Alex Vega) วัย 31 ปี เป็นคนที่ 10 ขึ้นมาจากเหมือง

(21.32) จอร์จ กาเลอจิยอส (Jorge Galleguillos) ได้รับการช่วยเหลือออกมาจากเหมืองเป็นรายที่ 11

(22.00) เอดิสัน เปนา (Edison Pena) ได้รับการช่วยเหลือจากเหมือง

(20.30) มีผู้ได้รับการช่วยเหลือจากเหมืองที่ชิลีแล้ว 12 ราย ขณะนี้คาลอส บาริออส (Carlos Barrios) กำลังเป็นผู้ำได้รับการช่วยเหลือรายที่ 13

(20.43) คาลอส บาริออส ได้รับการช่วยเหลือเป็นรายที่ 13 เมื่อพบกับแม่ เขาบ่นกับแม่ของเขาว่านักจิตวิทยาที่ถูกส่งลงไปทำงานกับชาวเหมืองสร้างความกดดันให้กับชาวเหมือง


13 ต.ค. 2553 - คนงานเหมืองในชีลีจำนวน 33 ราย  กำลังได้รับการช่วยเหลือ หลังจากติดอยู่ใต้พื้นดินมากว่า 2 เดือน

ปฏิบัติการช่วยชีวิตคนงานเหมืองเริ่มต้นขึ้นเมื่อเวลา 23.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยผู้ที่ลงไปช่วยคือ มานูเอล กอนซาเลซ ซึ่งเดิมทีกอนซาเลซจะทำหน้าที่เป็นผู้ที่ขึ้นมารายงานสภาพอุโมงค์ที่จะลงไปช่วยเหลือก่อนจะมอบหน้าที่ให้กับหน่วยแพทย์พยาบาล

อย่างไรก็ตามภาพวิดิโอจากแหล่งพำนักที่ชาวเหมืองมารวมตัวกันแสดงให้เห็นคนงานเหมืองที่ชื่ออวาลอสพร้อมขึ้นมาบนพื้นดินโดนทันที เขาเลือกนำขึ้นมาคนแรกเนื่องจากเขาเป็นหนึ่งในคนงานเหมืองที่มีความพร้อมทางสภาพร่างกาย

เมื่อเวลา 00.10 น. ตามเวลาท้องถิ่น แคปซูลที่ชื่อ "ฟินิกซ์" ก็เคลื่อนตัวขึ้นมาบนพื้นโลก โดยเมื่ออวาลอสออกมาจากแคปซูลแล้ว เขาก็ได้รับการต้อนรับจากครอบครัว หน่วยกู้ภัย ประธานาธิบดีและภริยา ทำให้เขายิ้มกว้าง ขณะที่ผู้ชมโดยรอบต่างปรบมือส่งเสียงเชียร์ ตะโกนร้องคำว่า "ชิลี" นักข่าวบีบีซีรายงานว่าบรรยากาศของผู้ชมการกู้ชีพราวกับการเฉลิมฉลอง

อวาลอส ชูนิ้วโป้งก่อนถูกนำตัวไปยังศูนย์พยาบาล เมื่อพบหมอแล้วเขาจะได้ใช้เวลาร่วมกับครอบครัวต่อไป

แคปซูลที่สองนำหน่วยแพทย์พยาบาลโรเบอร์โต รอส โดยสารลงไปพร้อมกับหน่วยพิเศษนาวีของชิลี และได้ช่วยชีวิต มาริโอ เซพูลเวดา ขึ้นมา

เมื่อช่วยเหลือเซพูลเวดา ขึ้นมาได้สำเร็จแล้วในชั่วโมงต่อมา เขาก็สวมกอดกับภรรยาและประธานาธิบดีปิเนรา และได้มอบหินเป็นที่ระลึกแด่หน่วยกู้ภัย

คนงานรายที่ 3 ที่ได้รับการช่วยเหลือคือ ฮวน อิลาเนส เขาบอกว่าการเดินทางขึ้นมาของเขาให้ความรู้สึกเหมือนได้ล่องเรือ

เจ้าหน้าที่กล่าวว่าจะสามารถช่วยเหลือคนงานเหมืองได้หนึ่งรายต่อหนึ่งชั่วโมง และทำให้ต้องใช้เวลาราว 48 ชั่วโมงในการปฏิบัติการให้สำเร็จ

โดยคนงานเหมืองรายที่ 4 ที่จะได้รับการช่วยเหลือคือ คาร์ลอส มามานี คนงานเหมืองคนเดียวที่ไม่ใช่ชาวชิลี มามานีเป็นชาวโบลิเวีย ซึ่งมีการคาดกันว่าประธานาธิบดีอิโว โมราเลสของโบลิเวียจะมาเยี่ยมคนงานเหมืองรายนี้ด้วย

หลังจากที่มามานี ได้รับการช่วยเหลือออกมาแล้ว เขากล่าว "ขอบคุณทุก ๆ คน" แล้วเข้าสวมกอดภรรยา ก่อนหน้านี้นักข่าวบีบีซี Tweet ว่า พ่อตาและแม่ยายของคาร์ลอส มามานี กำลังยืนรอเขาอยู่ที่ปากอุโมงค์พร้อมถือธงโบลีัเวีย ขณะที่ภรรยาของเขายืนรออยู่อย่างวิตกกังวล

ในเวลาต่อมา จิมมี่ ซานเชส ชาวเหมืองรายที่ 5 ก็ได้รับการช่วยเหลือ เขาเคยบอกว่าเขาคิดถึงลูกสาวอายุ 2 เดือน ที่ชื่อบาร์บาร่าเวลาที่ติดอยู่ในเหมือง และนั่นช่วยให้เขาพยายามมีชีวิตรอดอยู่ใต้เหมืองได้ถึง 69 วัน บีบีซีรางานว่าซานเชสดูอ่อนเพลีย หลังจากที่ถูกช่วยเหลือขึ้นมา

โดยหลังจากที่เจ้าหน้าที่ทำการซ่อมบำรุงเพื่อเตรียมความพร้อมแคปซูล จึงทำการช่วยเหลือออสแมน อรายา เป็นรายที่ 6 ผู้เชี่ยวชาญด้านเหมืองกล่าวกับบีบีซีว่า ปฏิบัติการกู้ชีพของชิลีมีทักษะความเป็นมืออาชีพมาก

โฮเซ่ โอเจดา เป็นผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน และเคยเขียนข้อความบอกว่า "พวกเราสบายดี" จนมีชื่อเสียงไปทั่วโลก ได้รับการช่วยเหลือเป็นรายที่ 7 เขารักการทำงานเหมือง และเป็นชาวเหมืองมากว่า 27 ปีแล้ว

เอมิลิโอ ซาน เปโดร จากบีบีซีกล่าวว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีปิเนรา จัดการกับวิกฤติครั้งนี้ได้ดีมาก และความนิยมในตัวประธานาธิบดีก็เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 70

กระบวนการกู้ชีพ

ในระหว่างที่เดินทางจากใต้ผืนโลกขึ้นมาบนพื้นดิน คนงานเหมืองได้สวมชุด "ควบคุมชีวภาพ" (Bio-harness) ซึ่งใช้กับนักบินอวกาศ โดยชุดนี้จะตรวจสอบอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ อุณหภูมิ และการใช้อ็อกซีเจนของผู้สวมใส่

ตรงปากบ่อของช่องทางช่วยเหลือจะมีชนวนเหล็กเพื่อป้องกันไม่ให้พื้นผิวดินแตกทรุดลงไปในช่วงที่มีการช่วยเหลือ โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่าช่องทางช่วยเหลือส่วนอื่น ๆ อาศัยการขุดผ่านพื้นที่หินแข็งจึงไม่แตกง่าย ๆ

เจ้าหน้าที่กล่าวว่าคนที่จะได้รับการช่วยเหลือรายแรก ๆ จะเป็นผู้ที่มีสภาพจิตใจมั่นคง และเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานเหมืองมาก่อน เผื่อว่าอาจจะเกิดความผิดพลาดในการช่วยเหลือครั้งแรก ๆ

จากนั้นจึงจะทำการช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอหรือป่วยเป็นลำดับต่อมา มีชาวเหมืองรายหนึ่งป่วยเป็นความดันโลหิตสูง อีกรายหนึ่งเป็นโรคเบาหวาน รายอื่น ๆ มีอาการติดเชื้อทางช่องปาก และทางเดินหายใจ หรือบางคนก็เกิดรอยแผลทางผิวหนังจากความชื้นในเหมือง

ดร.เจนนิเฟอร์ ไวล์ด จากสถาบันจิตเวชคิงส์คอลเลจ กล่าวว่า แม้ชาวเหมืองที่ได้รับการช่วยเหลือจะแสดงท่าทีปลอดโปร่ง แต่พวกเขาก็ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้พวกเขากลับไปใช้ชีวิตปกติได้

นักจิตวิทยา เจมส์ ทอมป์สัน กล่าวกับบีบีซีเวิร์ลว่า ความรู้สึกสนุกสนานในตอนนี้อาจจางหายไปในเวลาต่อมาและกลายเป็นความซึมเศร้ากับโรควิตกกังวล หลังจากที่พวกเขากลับสู่โลกความจริง พวกเขาต้องจัดการกับความสัมพันธ์ในครอบครัวและสถานะของฮีโร่ รวมถึงความทรงจำในช่วงที่พวกเขาติดอยู่ใต้ดิน

โดยหลังจากได้พบกับครอบครัวแล้วคนงานเหมืองจะถูกส่งตัวไปเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใกล้กับเมืองโคปิอาโปต่อไป

ทางรัฐบาลชิลีได้เผยแพร่ภาพการช่วยเหลือไว้ใน Flickr

ที่มา
Joy as first Chile miners freed, BBC , 13-10-2010
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น