โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ผอ.สน.สารสนเทศฯ กระทรวงวิทย์ เตือนสกัดน้ำเหนือ ก่อนทุกจว.สองฝั่งเจ้าพระยาจมบาดาล

Posted: 26 Oct 2010 01:04 PM PDT

เตือนรบ.สกัดน้ำเหนือ มิฉะนั้นทุกจังหวัดสองฝั่งเจ้าพระยาจมบาดาล
นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีรับสั่งผ่านนายดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จลงมาทอดพระเนตรปริมาณน้ำที่ท่าน้ำ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมผ่านมา ว่า ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์เร่งหามาตรการเตรียมรับมือน้ำท่วมใหญ่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งจะหนักกว่ากรุงเทพฯ เพราะปริมาณน้ำจากลำน้ำชี ลำน้ำมูล และลำน้ำปาว จะไหลมาสมทบเข้าท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จะหนักว่า จ.นครรราชสีมา และกรุงเทพฯ รัฐบาลควรตั้งทีมเฉพาะกิจระดับชาติที่มีทุกหน่วยงานมาบูรณาการเรื่องการตั้งรับและระบายน้ำออกจากพื้นที่หลักให้ทันท่วงทีมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำจำนวนมาก ต้องมีเจ้าภาพหลักในการสั่งการตลอดเวลา

"หากไม่หยุดน้ำเหนือไว้จะทำให้จังหวัดสองฝั่งเจ้าพระยาจมเป็นเมืองบาดาลทุกจังหวัด เพราะปริมาณน้ำเหนือหลายพันล้านลูกบาศก์เมตร ผนวกกับปริมาณน้ำฝนที่ค้างอยู่ในทุ่งต่างๆ และได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงสุดจะยิ่งทำให้ปริมาณน้ำในบางพื้นที่ยกระดับสูงขึ้นจากปกติ 5-6 เมตร รวมทั้งวันที่ 8 – 9 พฤศจิกายนนี้ ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงสุดเกือบ 2 เมตร"

ครม.อนุมัติช่วยน้ำท่วม5,000บาท/ครัวเรือน คาดใช้งบ3พันล้าน รวม5-6แสนครัวเรือน
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนายการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) กล่าวว่า ครม.เห็นชอบในหลักการการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยจะให้เงินชดเชยเยียวยาครัวเรือนละ 5,000 บาท คาดว่าจะใช้งบประมาณ 3พันล้านบาท มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนประมาณ 500,000- 600,000 ครัวเรือน โดยประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือต้องเป็นบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมฉับพลันและบ้านเรือนโดนน้ำท่วมเกิน 7 วัน ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือผ่านธนาคารธกส.และธนาคารออมสิน ยืนยันว่าจะมีความโปร่งใสเนื่องจากจะให้ความช่วยเหลือโดยดูจากภาพถ่ายทางอากาศและสำเนาทะเบียน ว่าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนจริง ทั้งนี้ต้องนำข้อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 เพื่อเสนอครม.อีกครั้งหนึ่ง

นายสาทิตย์ กล่าวต่อว่า นายกฯให้ความเป็นห่วงเรื่องหนี้สินเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย จึงมอบหมายให้นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์รวบรวมและศึกษาแนวทางในการพักหนี้เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ธนาคาร ธกส. สหกรณ์ และกองทุนหมู่บ้านว่าจะมีแนวทางอย่างไร ตลอดจนจำนวนพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย เพื่อเสนอให้ครม.เศรษฐกิจพิจารณาหามาตรการเยียวยา นอกจากนี้นายกฯได้กำชับทุกหน่วยงานที่อยู่ใน คชอ. ขอให้ส่งบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจเข้าร่วมประชุม คชอ.ทุกครั้ง ไม่ให้ส่งตัวแทนเข้ามา เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว

กทม.พ้นวิกฤตน้ำท่วมสูงสุด26ต.ค.ระดับ2.10เมตรต่ำกว่าที่คาด
เมื่อเช้าวันที่ 26 ตุลาคม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมคณะผู้บริหาร กทม.ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำรวจสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา

ผู้ว่ากทม.กล่าวหลังการตรวจพื้นที่ว่า นอกจากพื้นที่ กทม.แล้ว ยังบินสำรวจไปไปยังพื้นที่ จ.นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา และสมุทรปราการด้วย ถือว่ามีน้ำปริมาณน้ำสูงมากและกินบริเวณกว้าง คาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งถึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ในส่วนของ กทม.วันนี้ระดับน้ำขึ้นสูงสุดเมื่อเวลา 09.09 น.ที่ระดับ 2.10 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนปริมาณน้ำเหนือที่ไหลจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 อยู่ที่ 4,652 ลบ.ม./วินาที และฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้ 1.17 เมตร ถือว่าเป็นระดับสูงสุดในรอบเดือนนี้ และจากนั้นจะค่อยลดลงเรื่อย ๆ จะขึ้นสูงสุดอีกครั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ระดับ 1-1.30 เมตร

"วันนี้ถือว่าได้ผ่านพ้นวิกฤติที่ระดับน้ำสูงสุดไปแล้ว หลังจากนี้จะต้องเฝ้าระวังกันต่อไปจนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่จะมีน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้ง ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบปีนี้ ทั้งนี้ ยังคงมาตรการป้องกันสถานการณ์น้ำท่วมของ กทม.ไว้จนถึงกว่าระดับน้ำเหนือจะเข้าสู่ปกติ ส่วนพื้นที่นอกคันกั้นน้ำที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำขึ้นสูงในช่วงสัปดาห์ นี้ กทม.ได้เตรียมสถานที่รองรับไว้แล้วกว่า 26 แห่ง ล่าสุดยังไม่มีชุมชนใดติดต่อเข้ามา หากติดต่อเข้ามา กทม.พร้อมจัดหาให้ภายใน 24 ชั่วโมง"

สำหรับพื้นที่น้ำท่วมในต่างจังหวัด กทม.พร้อมพร้อมให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย หากจังหวัดใดต้องการความช่วยเหลือให้ติดต่อมาที่ กทม.ได้ทันที

เจ้าพระยาทะลักท่วมเมืองนนท์ระดับสูง บางกรวยหลายหมู่บ้านจมน้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 26 ตุลาคม ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขต จ.นนทบุรี เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำได้ทะลักแนวป้องกันน้ำท่วมของเทศบาลนครนนทบุรี เข้าท่วมถนนนนทบุรี 1 บริเวณโค้งข้างกรมราชทัณฑ์ ไปจนถึงหน้าเรือนจำกลางบางขวาง สูง 20-30 เซนติเมตร ระยะทางกว่า 500 เมตร และถ.นนทบุรี 1 บริเวณโครงตลาดจิตเทวัญ น้ำท่วมสูง 20 เซนติเมตร บ้านพักทหารกรมพลาธิการ ทหารบก และบ้านเรือนประชาชน วัดตำหนักใต้ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณดังกล่าวถูกน้ำท่วมสูง 30-50 เซนติเมตร

ต่อมา นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรี เทศบาลนครนนทบุรี ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปเสริมแนวกระสอบทรายบริเวณดังกล่าว เพื่อให้ให้ท่วมท่วมข้ามถนนนนทบุรี 1 เข้ามาในเขตเมืองได้

ด้าน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี แนวป้องกันน้ำท่วมของเทศบาลเมืองบางกรวย และริมแม่น้ำเจ้าพระยา และริมคลองบางกรวย ได้พังหลายจุด ส่งผลให้น้ำทะลักเข้าท่วมกระจายในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะหมู่บ้านศรีบัณฑิต หมู่บ้านเทพประทาน ชุมชนวัดลุ่ม ชุมชนวัดจันทร์ น้ำท่วมสูง 30-50 เซนติเมตร บ้านเรือนกว่า 3,000 หลังได้รับความเดือดร้อน ส่วนถนนบางกรวย-ไทรน้อย รถยังสามารถวิ่งได้อยู่ ซึ่งนายสุรศักดิ์ วิชินโรจน์จรัล นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองบางกรวย ได้ระดมเจ้าหน้าที่ออกช่วยเหลือประชาชน และเสริมแนวป้องกันน้ำท่วมเพื่อไม่ให้ท่วมถนนบางกรวย-ไทรน้อย ซึ่งเป็นเส้นทางหลักของเทศบาลเมืองบางกรวย

สถาบันการแพทย์แห่งชาติแจ้งตายสังเวยน้ำท่วม 56 ราย
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รายงานสรุปตัวเลขผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่จนถึงขณะนี้ (10-26ต.ค.) ว่า มีรายงานยอดผู้เสียชีวิตวันนี้เพิ่มเข้ามา 15 ราย รวมทั้งสิ้น 56 ราย แบ่งเป็นเพศชาย 44 ราย หญิง 12 ราย แยกตามรายจังหวัด ที่มีผู้เสียชีวิตจากจำนวน 17 จังหวัด ประกอบด้วย

1. นครราชสีมา 9 ราย
2. บุรีรัมย์ 6 ราย
3. ลพบุรี 10 ราย
4. ขอนแก่น 3 ราย
5. เพชรบูรณ์ 3 ราย
6. ระยอง 2 ราย
7. ชัยภูมิ 2 ราย
8. ตราด 1ราย
9. สระแก้ว 1 ราย
10.สระบุรี 2 ราย
11.พระนครศรีอยุธยา 1 ราย
12.นนทบุรี 1 ราย
13.อุทัยธานี 1 ราย
14.ชัยนาท 1 ราย
15.กำแพงเพชร 3 ราย
16.นครสวรรค์ 8 ราย
17.สิงห์บุรี 2 ราย

คชอ.เสนอครม.ของบ 280 ล้านบาทช่วยน้ำท่วม
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณา 3 เรื่อง คือ 1.การดูแลการใช้จ่ายเงินช่วยน้ำท่วม ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส 2.มาตรการเฉพาะหน้า เรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย และ3.การเตรียมเครื่องมือ และอุปกรณ์ ที่ต้องของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อนำไปซื้อ เต็นท์ กระสอบทราย และเรือท้องแบน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยจะเสนอของบประมาณ 280 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินการดังกล่าว

นายสาทิตย์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะเสนอครม. ให้อนุมัติการแก้ไขร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยให้สามารถนำเงินบริจาคของประชาชนมาใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์ที่มีความจำเป็นได้อย่างรวดเร็ว และโปร่งใส ซึ่งขณะนี้มีเงินบริจาคคงเหลืออยู่ในบัญชีของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) 30 ล้านบาท และมีการบริจาคเข้ามาล่าสุดอีก 60 ล้านบาท ซึ่งภายหลังครม. อนุมัติให้มีการแก้ไขระเบียบดังกล่าว จะเรียกประชุมคชอ. เพื่อพิจารณาจัดลำดับความจำเป็นในการจัดซื้อและส่งลงพื้นที่ที่ประสบภัย

สธ. ขอ 50 ล.ซ่อม 4 รพ.-สั่งดูแล 6 โรคหลังน้ำลด
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จะเสนอของบประมาณจากครม. จำนวน 80 ล้านบาท โดยแบ่งงบ 50 ล้านบาทสำหรับบูรณะโรงพยาบาล 4 แห่งที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ประกอบด้วย โรงพยาบาลมหาราช โรงพยายาบาลจิตเวชนครราชสีมา โรงพยาบาลพิมาย จ. นครราชสีมา และโรงพยาบาลชัยภูมิ และอีก 30 ล้านบาทสำหรับการจัดซื้อยาและเครื่องเวชภัณฑ์ ซึ่งภายหลังน้ำลดลงแล้ว สธ. ได้เน้นย้ำให้ดูแลและป้องกันโรคที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมจำนวน 6 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไต และโรคเครียด

ด้านนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผอ.ศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย กล่าวว่า วันนี้เวลา 09.00 น.เป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงซึ่งจากการประชุมของคชอ.คาดการณ์ที่ระดับ 2.50 เมตร ซึ่งพื้นที่ประชาชนนอกคันกันน้ำ เช่นบริเวณ พระนคร บางซื่อ บางพลัด ได้เตรียมเฝ้าระวังในจุดน่าห่วงซึ่งกทม.ได้วางกระสอบทรายเสริม ระดมจนท.และเครื่องสูบน้ำแล้ว นอกจากนี้กรมชลประทานพยายามลดการผันน้ำที่ผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่บางไทร และน้ำป่าสักลง เพื่อรักษาระดับน้ำทะเลหนุนสูงให้กระทบน้อยสุด หากฝนตกหนักก็เป็นอีกเรื่องและมีความเสี่ยงในการระบายน้ำเพราะเป็นการเติมน้ำลงไปอีกทั้งนี้ช่วงน้ำทะเลหนุนจะมีผลกระทบกับนนทบุรีและปทุมธานีเช่นกัน

ที่มา: มติชนออนไลน์  

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยติดอันดับ 78 ดัชนีคอร์รัปชั่นโลก- ที่ 9 ในเอเชีย

Posted: 26 Oct 2010 12:43 PM PDT

เปิดดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น ปี 53 ไทยดีขึ้นเล็กน้อยได้ 3.5 เท่ากับจีน จัดอยู่ในอันดับที่ 78 จาก 178 ประเทศทั่วโลก ส่วนสหรัฐฯ แย่ลงเพราะวิกฤตการเงิน

องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand) เปิดเผยผลการจัดอันดับดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันประจำปี พ.ศ. 2553 พบว่า ประเทศไทยได้ 3.5 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน อยู่อันดับที่ 78 จากการจัดอันดับทั้งหมด 178 ประเทศทั่วโลก และอยู่อันดับที่ 9 จาก 23 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นคะแนนและอันดับที่ดีขึ้นกว่าเมื่อปีที่แล้ว

CPI (Corruption Perceptions Index) คือ ดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มีค่าคะแนนตั้งแต่ 0 (คอร์รัปชันมากที่สุด) – 10 (คอร์รัปชันน้อยที่สุด) จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระนานาชาติที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาคอร์รัปชันและมีเครือข่ายใน 120 ประเทศทั่วโลกและได้จัดทำดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศต่างๆเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ พ.ศ.2538 ซึ่งในปี พ.ศ. 2553 นี้ ได้จัดอันดับจากประเทศต่างๆ จำนวน 178 ประเทศ โดยจัดอันดับจากผลสำรวจของสำนักโพลล์ต่างๆ จำนวน 13 แห่ง ในช่วงปี พ.ศ.2552 ถึง 2553

ผลการจัดอันดับประจำปี พ.ศ. 2553 พบว่า ประเทศไทยได้ 3.5 คะแนน จัดเป็นอันดับที่ 78 เท่ากับประเทศจีน โคลัมเบีย กรีซ เลโซโท เปรู เซอร์เบีย ขณะที่ เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เป็นกลุ่มประเทศที่ครองตำแหน่งที่หนึ่งร่วมกัน (9.3 คะแนน) ตามมาด้วย ฟินแลนด์ และสวีเดน (9.2 คะแนน)

ขณะที่เมื่อปีก่อน (2552) ประเทศไทยได้ 3.4 คะแนน จัดเป็นอันดับที่ 84 เท่ากับประเทศเอลซาวาดอร์ กัวเตมาลา อินเดีย และปานามา และจัดเป็นอันดับที่ 10 ในเอเชีย

นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศที่มีคะแนนต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ สาธารณรัฐเชค กรีซ ฮังการี อิตาลี มาดากัสการ์ ไนเจอร์ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งบรรดาประเทศเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน คะแนนที่ต่ำลงอาจบ่งชี้ได้ว่าภาพลักษณ์ของปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาของภาคธุรกิจเอกชน

ส่วนประเทศที่มีคะแนนต่ำสุดในการจัดอันดับครั้งนี้ ได้แก่โซมาเลีย (1.1 คะแนน) พม่า (1.4 คะแนน) อัฟกานิสถาน (1.4 คะแนน) และอิรัก (1.5 คะแนน) ซึ่งประเทศที่มีคะแนนน้อยเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังอยู่ในภาวะสงครามหรือมีความขัดแย้งภายในประเทศ จึงถูกมองว่าขาดความโปร่งใสในการบริหารบ้านเมือง

เมื่อพิจารณาเฉพาะการจัดอันดับของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย พบว่า ประเทศที่มีคะแนนเป็นอันดับที่ 1 คือ สิงคโปร์ (9.3 คะแนน) ส่วนประเทศที่มีคะแนนต่ำที่สุดคือ พม่า (1.4 คะแนน)ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันจึงเป็นปัญหาร่วมกันของทุกฝ่ายและทุกประเทศที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง

โดยในปีนี้ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 14 ในหัวข้อ “Restoring Trust: Global Action for Transparency” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 10 – 13 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แผ่นดินไหว-สึนามิในอินโดฯ คร่าอย่างน้อย 40 ชีวิต คนหาย 380 ราย

Posted: 26 Oct 2010 11:59 AM PDT

(26 ต.ค. 53) ไทยรัฐออนไลน์ รายงานความคืบหน้าเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ใต้ท้องทะเลลึกประมาณ 20 ก.ม. ห่างชายฝั่งของกลุ่มหมู่เกาะเมนตาไว แหล่งท่องเที่ยวเล่นกระดานโต้คลื่น (เซิร์ฟ) ยอดนิยม ทางตะวันตกเกาะสุมาตรา ของอินโดนีเซีย ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 78 ก.ม. เมื่อเวลา 21.42น.วันที่ 25ต.ค.ตามเวลาท้องถิ่นหรือตรงกับช่วงเวลาเดียวกันตามเวลาในไทย จนต้องแจ้งเตือนภัยสึนามิก่อนยกเลิกในอีก 1 ช.ม.ต่อมา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานล่าสุด เมื่อ 26 ต.ค.ว่า เหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว ทำให้เกิดคลื่นสึนามิ ขนาดย่อมสูง 3 เมตร ซัดกระจายหลายพื้นที่ ก่อความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง และยังเกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องหรืออาฟเตอร์ช็อคขนาด 6.1และ 6.2 ตามมาด้วย ประมาณ 5 และ 8 ช.ม. หลังแผ่นดินไหวครั้งแรก

ส่วนรายงานความเสียหาย ข่าวระบุว่า พบมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 40 คน สูญหายอย่างน้อย 380 คน รวมนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย 9 คนและญี่ปุ่น1คน หลังเหตุแผ่นดินไหวก่อนเกิดคลื่นสึนามิซัดถล่มชายฝั่ง ทำลายบ้านเรือนหลายร้อยหลังคาในหลายหมู่บ้านแถบชายฝั่งของเกาะแก่งต่างๆ ของหมู่เกาะเมนตาไว

ด้านเจ้าหน้าที่หน่วยรับมือภัยพิบัติของอินโดฯ เผยว่ามีหมู่บ้านนับ 10 แห่ง บริเวณหมู่เกาะเมนตาไว ได้รับผลกระทบถูกคลื่นสึนามิซัดเสียหาย และว่าบางพื้นที่ คลื่นสึนามิ ซัดพากระแสน้ำท่วมสูงถึงหลังคาบ้าน ส่วนหมู่บ้านมุนเต บารู บาเกาะซิลาบู บ้านเรือนได้รับความเสียหายกว่า 80% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้เสียชีวิตและสูญหายของสำนักข่าวต่างประเทศต่างๆ ยังไม่ตรงกัน เนื่องจากยังไม่มีการแถลงสรุปข้อมูลแน่ชัดนายมุดจิฮาร์โต

ผู้อำนวยการศูนย์รับมือวิกฤติการณ์ กระทรวงสาธารณสุขของอินโดนีเซีย ว่า ยอดผู้เสียชีวิต และสูญหายอาจมีการปรับเปลี่ยนได้อีก เนื่องจากเพิ่งเริ่มตรวจนับ เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ ซึ่งต้องใช้เวลา 12 ช.ม.กว่าจะเข้าถึง เพราะหมู่เกาะเมนตาไวอยู่ห่างชายฝั่งถึง 280 ก.ม.และเข้าถึงได้เฉพาะทางเรือ ส่วนยอดผู้สูญหายดังกล่าว ไม่ทราบแน่ชัดว่า ถูกคลื่นซัดต้อนตกทะเลหรือแค่หลบหนีภัยไปอยู่บนหุบเขา เนื่องจากช่วงเกิดเหตุมีผู้คนหลายพัน พากันวิ่งหนีไปอยู่ตามพื้นที่สูงและอาจยังไม่กลับลงมา ขณะนี้ยังมีชาวบ้านประมาณ 3,000 คน หลบภัยอยู่ตามค่ายพักฉุกเฉิน

กระทรวงต่างประเทศและการค้าของออสเตรเลีย เผยว่า เรือลำหนึ่งที่ขนพานักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียประมาณ 8-10 คน สูญหายไปตั้งแต่เมื่อคืนวันเกิดแผ่นดินไหว และ เช่นเดียวกับลูกเรือของเรืออีกหลายลำในมหาสมุทรอินเดีย ยังไม่ทราบชะตากรรมเช่นกัน ข่าวระบุต่อไปว่า เหตุคลื่นทะเลบ้าคลั่ง ยังยกตัวโหมซัดเรือนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย ที่จอดลอยลำนอกชายฝั่งจนพุ่งชนกัน นักท่องเที่ยวประมาณ 10 กว่าคน ต้องโยนทุกอย่างที่ลอยน้ำได้ลงทะเลและโดดลงน้ำหนีตาย ก่อนถูกคลื่นซัดพาเข้าชายฝั่ง แต่สามารถคว้าจับยึดต้นไม้และอื่นๆ หลบภัยเอาตัวรอดได้

ขณะที่นักเล่นเซิร์ฟคนหนึ่ง รายงานผ่านเว็บไซต์ “เฟซบุ๊ค” ระบุว่า รีสอร์ทพักผ่อนสำหรับผู้นิยมเล่นกระดานโต้คลื่น “มาคาโรนิส” บนเกาะนอร์ธ พาไก ถูกคลื่นสึนามิพัดเข้าถล่มเสียหายจนไม่เหลือสภาพเดิมแผ่นดินไหวข้างต้น เกิดจากการแตกร้าวของรอยเลื่อนเปลือกโลกที่ทอดยาวตามชายฝั่งตะวันตกเกาะสุมาตรา ซึ่งยังเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 9.1 ริกเตอร์มาแล้วในปี 2547 ก่อเกิดคลื่นยักษ์สึนามซัดถล่มนับสิบประเทศรวมไทย คร่าชีวิตผู้คนรวม 230,000 คน อินโดนีเซีย ที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะแก่งมากสุดของโลก ยังตั้งอยู่บน “วงแหวนแห่งอัคคี” (Ring of Fire) แห่งแปซิฟิกหรือแนวเหลื่อมซ้อนเปลือกโลก ทำให้เผชิญเหตุแผ่นดินไหวและภูเขาไฟ กระหน่ำบ่อยครั้ง

ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียยังอยู่ระหว่างเฝ้าระวังและรับมือเหตุภูเขาไฟ “เมราปี” ใกล้เมืองย็อกยาการ์ตา บนเกาะชะวา ที่กำลังส่งสัญญาณระเบิดปะทุรุนแรงอีกระลอก มีการเตือนภัยระดับสูงสุด และ สั่งอพยพผู้คนที่อยู่ภายในรัศมี 10 ก.ม. ตามแนวเชิงเขาภูเขาไฟ ออกไปอยู่ค่ายพักพิงชั่วคราวแล้วนับหมื่นคน ส่วนสถานการณ์ล่าสุดเมื่อเช้าตรู่วันอังคาร ภูเขาไฟเมราปี เริ่มเขย่าสั่นสะเทือนส่งเสียงคำรามกึกก้อง ทำให้มีกลุ่มก้อนหินตกลงมาตามเชิงเขา และควันเถ้าถ่านร้อนขึ้นสู่ท้องฟ้าระดับ 50 เมตร นอกจากเมราปีแล้ว อินโดนีเซีย ยังต้องเฝ้าจับตาภูเขาไฟสุ่มเสี่ยงเกิดระเบิดปะทุ อีกมากกว่า129 ลูก กระจายทั่ว17,500 เกาะของประเทศ

 

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศิลปิน 6 ประเทศลุ่มน้ำโขงจัดมหกรรมละครรณรงค์ต้านการค้ามนุษย์-การอพยพย้ายถิ่นในเด็ก

Posted: 26 Oct 2010 11:22 AM PDT

ที่โรงละครภัทราวดีเธียเตอร์ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2553 โครงการปกป้องคุ้มครองเด็กจากการแสวงประโยชน์และการค้ามนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง Save the Children UK’s สถาบันการละครศึกษาแห่งประเทศฟิลิปปินส์ the Philippine Educational Theater Association’s (PETA) ร่วมกันจัดงานการแสดงศิลปะละครระดับภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์และการอพยพย้ายถิ่นในเด็กระดับภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือ The Mekong Performing Arts Laboratory โดยมีคณะละครจาก 6 ประเทศลุ่มน้ำโขงอาทิ พม่า กัมพูชา ลาว และไทย เข้าร่วมเปิดการแสดงละครในครั้งนี้

นายจักรกริสน์ จันทร์แสง ผู้ประสานงานเผยแพร่และรณรงค์โครงการระดับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโครงการปกป้องคุ้มครองเด็กจากการแสวงประโยชน์และการค้ามนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง Save the Children UK’s กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า การจัดงานในครั้งนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเพราะประเทศไทยเราได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานเพื่อร่วมเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่สะท้อนถึงสภาพปัญหาที่เด็กๆ ในแต่ละภูมิภาคประเทศลุ่มน้ำโขงจะต้องพบเจอและจะต้องเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ ได้เตรียมกระบวนการก่อนที่จะถ่ายทอดเรื่องราวในแต่ละประเทศมาอย่างละเอียด โดยได้เชิญหัวหน้าคณะศิลปิน ผู้อำนวยการ และผู้เขียนบทจากคณะศิลปินจำนวน 8 กลุ่ม จากประเทศต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง  มาพัฒนาเพิ่มทักษะในบทละครและงานศิลปะในประเด็นการปกป้องคุ้มครองเด็กและสิทธิเด็กในลุ่มแม่น้ำโขง

“การที่ศิลปินจากหลายหลายประเทศมาร่วมกันเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กๆในรูปแบบของการแสดงละครในครั้งนี้นั้นก็เพื่อจะมุ่งเน้นในการรณรงค์ในเรื่องการอพยพย้ายถิ่น และการค้ามนุษย์ในเด็กอย่างจริงจังเพื่อให้เด็ก ๆ ที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์และการอพยพย้ายถิ่นได้รับการคุ้มครองปกป้องอย่างจริงจัง” ผู้ประสานงานเผยแพร่และรณรงค์โครงการระดับภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโครงการปกป้องคุ้มครองเด็กจากการแสวงประโยชน์และการค้ามนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง Save the Children UK’s กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มศิลปินที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้นั้นได้เปิดการแสดงชุดใหม่จำนวน 7 ชุดเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและปัญหาในประเด็นต่างๆที่เด็ก ๆ ต้องเผชิญอยู่ในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเข้าสู่กระบวนค้ามนุษย์และการอพยพย้ายถิ่น โดยประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ได้มีการแสดงที่น่าสนใจดังนี้ คณะละคร "ฟาร์บันลือศิลปะ” ซึ่งเป็นคณะละครที่จัดตั้งขึ้นโดยเยาวชนในค่ายผู้ลี้ภัยของประเทศกัมพูชา มาแสดงละครในชื่อเรื่อง “Shine But Dim”“ส่องแสงแต่ว่าหม่นมัว” โดยมีเนื้อหาในการถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กหญิงคนหนึ่งในกัมพูชาที่ต้องเอาชนะความกลัวที่เกิดขึ้นจากภัยสงครามที่ตามติดตัวเธอมาตลอด โดยการช่วยเหลือจากครอบครัวบุญธรรม

 


การแสดงจากประเทศกัมพูชา
 


การแสดงจากประเทศลาวชุดฝันสลาย 
 

 

และคณะละครจาก “ข้าวเหนียวและกระบองลาว” จากประเทศลาวได้แสดงละคร ที่ใช้เทคนิคการแสดงจากหุ่นที่ผลิตด้วยเศษวัสดุเหลือใช้ผสมผสานกับแสงและเงา ภายใต้ชื่อเรื่อง “Broken Dream หรือ ฝันสลาย” ที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กหญิงชาวลาวชื่อดำและเพื่อน ที่ถูกหลอกให้มาขายบริการในประเทศไทย ละครเรื่องนี้สะท้อนภาพชีวิตจริงและการต่อสู้ของเด็กสาวจากประเทศลาวที่ต้องใช้ชีวิตในประเทศไทยได้


คณะละคระหุ่นสายของพม่าเล่าเรื่องของเด็กๆ ที่้ต้องต่อาสู้ดิ้นรนหลบหนีจากพายุนาร์กีส

 

 

พร้อมกันนี้ยังมีการแสดงหุ่นสายจาก “คณะหุ่นสายมัณฑะเลย์” ประเทศพม่า ภายใต้ชื่อเรื่อง Raindrops from the Sky หยดน้ำตาจากฟากฟ้า ที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กหญิงที่ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของครอบครัว และการตามหาแม่ที่หายไปจากพายุนาร์กีส และการแสดงของศิลปินจากประเทศไทยอาทิ กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละครที่แสดงในชื่อเรื่อง “The Rice Child ต้นกล้าน้อย” ที่บอกเล่าเรื่องราวมิตรภาพของเด็กไทยและเด็กพม่าและการแสดงในชุด “เด็กเทวดา” จากกลุ่มเสาสูงการละคร และการแสดงในชุดอื่น ๆ จากประเทศไทยอีกมากมาย

โดยการแสดงในแต่ละชุดจะถูกนำไปจัดแสดงและรณรงค์ในสถานที่ต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดความตระหนักรับรู้ในเรื่องการคุ้มครองปกป้องเด็กในสังคมของตัวเองต่อไปอีกด้วย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: วิญญาณวิวัฒน์

Posted: 26 Oct 2010 10:54 AM PDT

ประชาธิปไตยไม่ใช่พระพุทธรูป
กระถางธูปไม่ได้หมายถึงศรัทธา
ต้นไม้ใหญ่หน้าศาสนสถานแผ่กิ่งสง่า
โค้งฟ้าไม่เคยกดครอบมนุษย์
ดวงอาทิตย์กว้างแค่เพียงฝ่าตีน*
เวิ้งน้ำทุกแห่งมีจุดสิ้นสุด
ไม่ผลักไส ไม่ยื้อยุด
บาทพระพุทธไม่นิ่งหยุดแต่หยุดนิ่ง !

* จากบทกวี “ดวงอาทิตย์” ของคิมชีฮา แปลโดยจิระนันท์ พิตรปรีชา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารรุ่นใหม่กับความคิดที่ดูเหมือนก้าวหน้า

Posted: 26 Oct 2010 10:34 AM PDT

ผมรู้สึกยินดีที่ คุณประวิตร โรจนพฤกษ์ นำเสนอบทสัมภาษณ์ พ.อ.ธีรนันท์ นันทขว้าง รองผู้อำนวยการกองการเมือง วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (ประชาไท,26 ต.ค.53) เพราะน้อยครั้งมากที่เราจะได้เห็นสื่อนำเสนอความคิดความอ่านของทหารต่อบทบาทของกองทัพ และสถานการณ์บ้านเมืองอย่างเป็นเหตุเป็นผล หรือค่อนข้างเป็นวิชาการ

ส่วนใหญ่เราจะเห็นแต่สื่อเอาไมค์ไปจ่อปากผู้นำเหล่าทัพ แล้วก็ถามความเห็นเกี่ยวกับการเมือง และสื่อเองนั่นแหละที่มักตั้งคำถามว่า เมื่อไรทหารจะเลิกยุ่งกับการเมืองเสียที พร้อมกับการตั้งคำถามนั้นสื่อเองก็เสนอข่าวการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารตั้งแต่ระดับ ผบ.ทบ.ลงไปจนถึงระดับ ผบ.พัน แล้วก็เกิดแฟชั่นเสนอข่าวการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงอื่นๆ ตามมา เช่น กระทรวงศึกษาธิการ สื่อรายงานการแต่งตั้งโยกย้ายตั้งแต่ปลัดกระทรวงลงไปถึงผู้อำนวยการโรงเรียนเลยทีเดียว แถมยังรายงานการเลื่อนสมศักดิ์ของพระราชาคณะชั้นต่างๆ อีกด้วย

ผมมีบางประเด็นที่อยากขอแลกเปลี่ยนกับบทสัมภาษณ์ของ พ.อ.ธีรนันท์ แต่ขอแวะสนทนากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ก่อน คือเขาบอกว่า “ศอฉ.ได้ลงมติว่าห้าม (คนเสื้อแดง) ไม่ให้มีการชุมนุมโดยเด็ดขาด หากมีปัญหาขัดข้องใจในเรื่องใดให้ส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือหรือเอกสารให้กับเลขาฯยูเอ็นได้ เรื่องนี้ขอร้องว่ามันเป็นหน้าตาของประเทศไทย จะทำอะไรก็ตามต้องทำแบบผู้ที่เจริญแล้ว ไม่ใช่ว่ามาชุมนุมเป็นกลุ่มใหญ่แล้วก็สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ให้คนต่างชาติเขาเห็น มันน่าอับอาย ก็ขอเตือนไว้ว่าอย่าทำเลยดีกว่า เพราะไม่เกิดประโยชน์” (มติชนออนไลน์, 25 ต.ค.53)

ผมขอถามเขากลับว่า ทหารทำรัฐประหาร และสลายการชุมนุมของประชาชนที่มาเรียกร้องประชาธิปไตยจนทำให้คนตาย 91 ศพ บาดเจ็บร่วม 2,000 คน มันทำให้ประเทศไทยได้หน้าได้ตาใช่ไหม? เป็นการกระทำแบบผู้ที่เจริญแล้วใช่ไหม? มันไม่น่าอับอายแม้แต่นิดเดียวใช่ไหม? และมันเกิดประโยชน์มหาศาลแก่ประเทศชาติใช่ไหม?

มันน่าจะลง “หนังสือแปลก” นะครับ ที่การชุมนุมประท้วงเรียกร้องสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ยกเลิกการปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน ให้ปล่อยนักโทษการเมือง ซึ่งประเทศเจริญแล้วเขาทำกันเป็นปกติ แต่ ผบ.ทบ.เห็นว่า “มันน่าอับอาย”

วกมาที่เรื่องที่ผมอยากแลกเปลี่ยนกันดีกว่า คุณประวิตรถามว่า “ทำไมคุณจึงคิดว่าอาจมีรัฐประหารอีกครั้งในอนาคตอันใกล้” พ.อ.ธีรนันท์ ตอบ (ตัดมาเฉพาะประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยน) ว่า “...ในการทำรัฐประหารครั้งที่แล้ว กองทัพได้เข้ามาใกล้กับการเมืองในระยะใกล้เกินไป ทำให้ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหรือกลไกของนักการเมือง แทนที่จะเป็นกลไกของรัฐในการทำงานเรื่องความมั่นคง...” ตรงนี้ผมมีคำถามว่า รัฐประหารครั้งที่แล้ว (19 กันยา 49) กองทัพเป็นเครื่องมือหรือกลไกของนักการเมืองอย่างไรครับ? เพราะรัฐประหารไม่ได้ถูกริเริ่มโดยนักการเมือง แต่ริเริ่มโดยใคร? หรือกลุ่มใด? แน่นอนอาจมีพรรคการเมืองบางพรรคนำประชาชนมาร่วมชุมนุมกับพันธมิตรซึ่งเรียกร้องรัฐประหาร แต่พรรคการเมืองนั้นไม่น่าจะเป็นฝ่ายริเริ่ม หรือบงการให้ทำรัฐประหาร (ใครๆ ก็ได้ทราบจากคำให้สัมภาษณ์ของ สุริยะใส กตะศิลา ว่า มีผู้นั่งบัญชาการอยู่บ้านสี่เสาฯ)

แม้เมื่อมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ สังคมก็ตั้งคำถามว่า รัฐบาลคุมกองทัพหรือกองทัพคุมรัฐบาลกันแน่? การสลายการชุมนุมที่ผ่านมาเป็นความประสงค์ของกองทัพหรือรัฐบาลกันแน่ หรือว่าสมประโยชน์กัน แล้วที่สมประโยชน์กันนั้นใครคือผู้มีอำนาจสั่งการที่แท้จริง!

ประเด็นจากคำตอบข้างบนคือ แม้ พ.อ.ธีรนันท์ จะไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ก็ดูเหมือนโทษว่ารัฐประหารเป็นความผิดของฝ่ายการเมือง คือ “กองทัพเป็นเครื่องมือหรือกลไกของนักการเมือง” จะต่างอะไรกับทหารฝ่ายที่ทำ หรือสนับสนุนรัฐประหาร ซึ่งอ้างว่า เพราะนักการเมืองโกง และ/หรือจาบจ้วง ล้มล้างสถาบัน

มันกลายเป็นว่า สำหรับมุมมองของทหารแล้ว ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยกับรัฐประหารหรือไม่ แต่สาเหตุของรัฐประหารก็มาจากนักการเมืองอยู่ดี เป็นความผิดของฝ่ายการเมืองอยู่วันยันค่ำ! ดังคำตอบต่อมาของผู้ให้สัมภาษณ์ที่ว่า “...ต้องยอมรับว่าช่วงพฤษภาทมิฬ กองทัพได้ห่างจากวงจรอุบาทว์ไปพักหนึ่ง ออกไปยืนในจุดที่ดี แต่อาจเพราะกลุ่มการเมืองดึงเข้ามาหรือผู้นำทหารในยุคหนึ่ง ดึงเข้ามา ทำให้วันนี้กองทัพจะถอยตัวออกไป ก็ไม่ง่าย…”

เป็นคำตอบที่คลุมเครือครับ กลุ่มการเมืองที่ดึงเข้ามาคือกลุ่มไหน? ใช่ “นักการเมือง” ตามที่พูดตอนแรกไหม? แต่ข้อความ “ผู้นำทหารในยุคหนึ่ง ดึงเข้ามา” ไม่ควรเอามาไว้หลังคำว่า “หรือ” นะครับ ถ้าจะเอาไว้หลังคำว่า “หรือ” ต้องระบุให้ชัดว่า “กลุ่มการเมือง” หน้าคำว่า “หรือ” คือ “กลุ่มอำนาจนอกระบบการเลือกตั้ง!”

คือคำตอบที่ว่า ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ดูเหมือนจะแสดงถึงความเป็นทหารรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้า แต่พอพูดถึงสาเหตุและรายละเอียดของรัฐประหาร กลับออกมาในท่วงทำนองโบ้ยความผิดไปให้นักการเมือง หรือพูดอย่างคลุมเครือ

ลองเทียบคำตอบข้างต้นกับคำตอบของคำถามที่ว่า คุณคิดว่าทหารต้องมีส่วนรับผิดชอบกับกรณีที่มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ หรือไม่ อย่างไร? เขาตอบว่า “วันนี้เราเป็นจำเลยของสังคม ผมเคยพูดในหลายที่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่สั่งใช้ทหาร เราจะเป็นจำเลยของสังคมทันทีไม่ว่าจะมีการสูญเสียเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม เพราะต้องไม่ลืมว่าทหารถูกฝึกมาเพื่อบริหารจัดการความรุนแรงโดยใช้ความรุนแรง พูดง่ายๆ ก็คือว่าเราเป็นคนที่ใช้กำลังในการจัดการอริราชศัตรู เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการสั่งให้ทหารเข้าปฏิบัติการ ก็อาจมีโอกาสเกิดความสูญเสียขึ้นได้ ผมไม่ได้ป้องกันหรือแก้ตัวให้ใครแต่ผมมองว่าทั้งหลายทั้งมวล คือความรับผิดชอบของผู้สั่งการ เพราะทหารทำตามที่ได้รับคำสั่ง อยากให้เห็นใจผู้ปฏิบัติงาน”

คือไม่ว่าเราจะมองจากมุมไหน ทหารก็คือ “ผู้ที่น่าเห็นใจ” การที่ทหารเข้ามาใกล้กับการเมืองมากเกินไป หรือมาทำรัฐประหารก็เป็นเพราะว่านักการเมืองหรือกลุ่มการเมืองดึงเข้ามา (หรือเพราะนักการเมืองโกง ฯลฯ) ทหารฆ่าประชาชน (14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 เมษา-พฤษภา 35?) มันก็เป็นเรื่องจำเป็นเพราะธรรมชาติของทหาร (ไทย) เป็นอย่างนี้ (จัดการความรุนแรงโดยใช้ความรุนแรง...อย่างไม่ต้องแยกแยะหรือ?) ต้องเป็นความรับผิดชอบของ “ผู้สั่งการ” และ พ.อ.ธีรนันท์ ก็บอกว่าผู้สั่งการในเหตุการณ์ที่สลายการชุมนุมที่ผ่านมา ก็คือ “ฝ่ายการเมือง”

ขณะที่สังคมกังขาว่า ฝ่ายการเมืองคือผู้มีอำนาจจริงหรือไม่? ถ้าสังคมเรามาถึงยุคที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือทหารจริง ทำไม ผบ.ทบ.ที่รัฐบาลทักษิณตั้งมากับมือจึงทำรัฐประหารรัฐบาลนั้นได้ ทำไมรัฐบาลสมัคร สมชาย สั่งใช้กำลังทหารไม่ได้เลย ถ้าเป็นความจริงว่า “ทหารทำตามที่ได้รับคำสั่ง”

นอกจากจะไม่ทำตามคำสั่งแล้วยังมาออกทีวีไล่รัฐบาลอีก แสดงให้เห็นว่าทหารก็มีอิสระที่จะปฏิเสธคำสั่งที่ไม่ชอบใช่ไหม? เช่น ถ้าฝ่ายการเมืองสั่งให้ทหารฆ่าประชาชน ทหารก็ปฏิเสธได้ใช่ไหม? โอเค ถ้า (สมมติ) ว่า รัฐบาลสมัคร สมชายสั่งทหารสลายการชุมนุมของคนเสื้อเหลือง แล้วทหารตัดสินใจไม่ทำตามคำสั่ง เพราะรู้ดีว่าธรรมชาติของทหารคือการใช้กำลังรุนแรง (ปราบอริราชศัตรู) ถ้าใช้กำลังทหารกับประชาชนย่อมเกิดความสูญเสียอย่างไม่ต้องสงสัย ตรงนี้ผมเห็นด้วยล้านเปอร์เซ็น แต่ทำไมเมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์สั่งสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่คาดการณ์ถึงความสูญเสียได้เช่นกัน แล้วทหารจึงต้องทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด หรือว่าชีวิตคนเสื้อเหลืองเสื้อแดงมีค่าไม่เท่ากัน?!!!

ทั้งหมดนี้ผมเอามาแลกเปลี่ยนเพียงบางส่วนของสองคำตอบจากสองคำถามเท่านั้น คือเอามาเฉพาะประเด็น “ทหารกับรัฐประหาร” และ “ทหารกับการใช้ความรุนแรงปราบประชาชน” ถ้าดูคำตอบสองเรื่องนี้เชื่อมโยงกับบริบทของเนื้อหาการสัมภาษณ์ทั้งหมด จะเห็นว่าผู้ให้สัมภาษณ์เป็นนายทหารรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้าในหลายๆ เรื่อง

แต่ถ้าวิเคราะห์เนื้อหาจริงๆ ของคำตอบเรื่องสาเหตุที่ทหารทำรัฐประหาร กับทหารใช้ความรุนแรงกับประชาชน คำตอบของนายทหารรุ่นใหม่คนนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับคำตอบที่เราได้รับจาก เสธ.ไก่อู หรือทหารสายอนุรักษ์นิยมอื่นๆ!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสื้อแดงรวมตัวหน้ายูเอ็น ยื่นจม.-หลักฐานสลายการชุมนุมให้ ‘บัน คี มุน’

Posted: 26 Oct 2010 10:29 AM PDT

 
 
 

 
 
26 ต.ค.53 ที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถนนราชดำเนินนอก มีคนเสื้อแดงหลายร้อยคนทยอยเดินทางมาชุมนุมด้านหน้าตั้งแต่ช่วงสาย และมีตัวแทนกลุ่มต่างๆ ยื่นหนังสือถึงนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติซึ่งเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเจรจาทำงาน (working visit) ตามคำเชิญของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในช่วงที่พบหารือระหว่างการเข้าร่วมงานเปิดนิทรรศการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ (ELFI) เมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ เลขาธิการสหประชาชาติจะเดินทางต่อไปยังกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ครั้งที่ 3 ในวันที่ 29 ต.ค.นี้
สำหรับกลุ่มที่ยื่นหนังสือถึงนายบัน คี มุน ผ่านเจ้าหน้าที่ยูเอ็น ได้แก่ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข  ตัวแทนกลุ่ม 24มิถุนาประชาธิปไตยและกลุ่มอื่นๆ มีเนื้อหาระบุถึงความผิดหวังที่นายบัน คี มูน พบปะจับมือกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรงกับการสั่งสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนในหลายทาง พร้อมกันนี้ได้เรียกร้องให้ยูเอ็นสนับสนุนให้แกนนำ นปช.ได้สิทธิผู้ลี้ภัยทางการเมือง เรียกร้องนานาชาติร่วมกดดันต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน รวมถึงการนำฆาตกรแห่งรัฐมาลงโทษ
ส่วนศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกรณีสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ซึ่งรวมรวบข้อมูลผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต ผู้ถูกจับกุมและผู้สูญหาย ได้นำรายงานทั้งหมดยื่นให้แก่เจ้าหน้าที่ยูเอ็น นอกจากนั้นยังช่วยเตรียมป้ายรณรงค์ เช่น "We want independent and impartial investigation" และ "Thai govt must respect human rights. “ACCEPT requests from SRs!" ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ ศปช. ระบุว่า จากการมีโอกาสร่วมพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับผู้แทนพิเศษยูเอ็นด้านการต่อต้านการก่อการร้ายพบว่าทางยูเอ็นได้ยื่นคำร้องขอเดินทางเข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ต้นปีมกราคม แต่รัฐบาลยังไม่ตอบรับ ดังนั้นภาคประชาชนจึงต้องนำประเด็นนี้มากดดันต่อไป การที่ไทยมีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รัฐบาลไทยต้องเคารพสิทธิมนุษยชนโดยเอื้อให้กลไกระหว่างประเทศเหล่านี้ทำงานได้จริง
นอกจากนี้ยังนำส่งรายชื่อเกือบ 9,000 ชื่อทั่วโลกที่ร่วมลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึงนายบัน คี มุน เรียกร้องให้สหประชาชาติยุติความรุนแรงในประเทศไทย โดยเป็นองค์กรกลางในการนำทุกฝ่ายมาสู่โต๊ะเจรจา ดำเนินจัดการเลือกตั้งในประเทศไทยที่โปร่งใสและยุติธรรม รวมทั้งขอให้มีการตั้งทีมสอบสวนจากนานาชาติ เพื่อสอบสวนกรณีการสังหารพลเรือนที่บริสุทธิ์โดยกองกำลังของทหารไทย
จากนั้นในเวลาประมาณ 14.00 น. จึงมีคณะซึ่งได้ติดต่อขอเข้าพบนายบัน คี มูน ไว้ก่อนแล้วเดินทางมาตามนัดหมาย ได้แก่ นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของนางสาวกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุม , นายจตุพร พรหมพันธ์ แกนนำ นปช.และส.ส.เพื่อไทย, จารุพรรณ กุลดิลก นักวิชาการ และนายรุ่งโรจน์ วรรณศูทร นักเขียน/นักกิจกรรมซึ่งเป็นผู้ล่ารายชื่อจดหมายเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุมในประเทศไทย
ภายหลังตัวแทนทั้ง 4 คน กลับออกมายังภายนอกอาคารสหประชาชาติ ดร.จารุพรรณ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่รอทำข่าวจำนวนมากว่า นายบัน คี มุน ติดธุระสำคัญ แต่ได้ส่งเลขาฯ ส่วนตัวพร้อมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติมารับหนังสือ มีการพูดคุยกันประมาณ 15-20 นาที โดยเจ้าหน้าที่ยูเอ็นยืนยันว่าจะนำหนังสือดังกล่าวส่งต่อถึงมือนายกบัน คี มุน โดยตรงไม่ผ่านรัฐบาลไทย และทางยูเอ็นนั้นเข้าใจสถานการณ์และสภาพจิตใจของประชาชนไทยเป็นอย่างดี
“สถานการณ์ของเราตอนนี้ก็เหมือนกับที่เคยเกิดที่กวางจู ประเทศเกาหลีใต้ของท่านบัน คี มูน และเราไม่อยากให้ต้องใช้เวลายาวนานหลายสิบปีกว่าความจริงจะปรากฏและผู้กระทำผิดจะถูกลงโทษ” จารุพรรณกล่าว
นายจตุพร กล่าวว่า ในการยื่นหนังสือครั้งนี้ได้มีการรวบรวมหลักฐานโดยละเอียดรวมทั้งวีดีซีคลิปวิดีโอต่างๆ เพื่อยื่นให้ทางยูเอ็นอีกครั้งหนึ่ง ให้ยูเอ็นเข้าใจว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายอย่างที่นายอภิสิทธิ์กล่าวหาที่นิวยอร์กและไม่ได้ฆ่าพวกเดียวกันเองอย่างที่นายชวน หลีกภัย อ้างโดยไม่มีหลักฐาน และคาดหวังว่าจะได้ความยุติธรรม ความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ยูเอ็นจะได้เห็นกระบวนการที่มีปัญหาของไทย และเข้ามาแก้ปัญหาเหมือนกับที่เคยมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศต่างๆ
จตุพรกล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญอีกประการคือ ปัจจุบันผู้ถูกคุมขังไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัว คนเสื้อแดงที่เสียชีวิตยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อหาคนร้ายมาลงโทษ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทางสำนักทนายความของนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ได้ยื่นเรื่องต่อศาลโลกแล้วอีกช่องทางหนึ่ง และกำลังเข้าสู่การเริ่มต้นของชั้นอัยการ
ส่วนคำถามถึงความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงนั้น นายจตุพรระบุว่า ช่วงนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินสายตามต่างจังหวัด ส่วนในกรุงเทพนั้นคาดว่าในวาระครบรอบ 6 เดือนการสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พ.ย.จะมีคนเสื้อแดงมารวมตัวนับแสนคน นอกจากนี้จตุพรยังฝากถึงพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ว่า ควรเคารพประชาชน อย่ามาข่มขู่ประชาชนที่จะแสดงสิทธิเสรีภาพ และควรแสดงท่วงทำนองที่เป็นประชาธิปไตย การเคารพประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ของผู้ปกครอง
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ยังมีกลุ่มและบุคคลต่างๆ ที่ฝากยื่นจดหมายถึงนายบัน คี บุน กับคณะของนายจตุพรด้วย ไม่ว่าจะเป็นนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นเบื้องสูงจากการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญในโรงภาพยนต์ ซึ่งหนังสือของเขาเรียกร้องให้ยูเอ็นตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดย “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” อย่างจริงจัง เนื่องจากมีการใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อกลั่นแกล้งหรือทำลายศัตรูทางการเมือง จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยการตีความกฎหมายอย่างกว้างขวางจนมีผู้ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก ถึง 430 คดีในช่วง 5 ปีที่ผ่าน, กรณีกลุ่มโรฮิงยาห์ในประเทศไทยซึ่งเรียกร้องให้สหประชาชาติให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในพม่าเนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าควบคุมทุกอย่างอย่างเข้มงวดและขาดความโปร่งใส รวมทั้งยังห้ามการรายงานข่าวเลือกตั้งด้วย, กรณีการปิดวิทยุชุมชนคนเสื้อแดงที่ขอนแก่น, จดหมายจากนายคอนเนอร์ เดวิด เพอร์แชล ซึ่งเคยขึ้นเวทีนปช.หลังเหตุการณ์ 10 เม.ย.และถูกจับกุมคุมขังหลังการสลายการชุมนุมนานหลายเดือนก่อนถูกปล่อยตัวกลับประเทศออสเตรเลีย โดยจดหมายเล่าถึงประสบการณ์ตรงของเขา และเรียกร้องให้องค์กรสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติต้องแสดงความเกี่ยวข้องต่อเรื่องดังกล่าวด้วยการกดดันให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน รวมถึงทบทวนสถานะประเทศไทยที่เป็นพันธมิตรนอกสนธิสัญญานาโต เนื่องจากมีหลักฐานภาพถ่ายและวีดิโอจำนวนมากที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่ากองทัพไทยใช้อาวุธหนักจำนวนมากเข้าสังหารประชาชนที่ชุมนุมด้วยมือเปล่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวลาประมาณ 15.30 น. หลังสิ้นสุดการยื่นหนังสือ คนเสื้อแดงบางส่วนยังไม่กลับและเดินไปประตูด้านข้างตึกยูเอ็นเพื่อดักพบนายบัน คี มุน แต่โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าทำการผลักดันจนกระทั่งเกิดการกระทบกระทั่งกันเล็กน้อย มีการผลักหญิงวัยกลางคนคนหนึ่งล้มลง ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดความโกรธแค้นต่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่อีกพักใหญ่
ด้านนายบัน คี มุน ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทยที่ทำเนียบรัฐบาล และได้แถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรี ว่า ยินดีที่ได้กลับมาเมืองไทยอีกครั้ง ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและประชาชนไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ขอแสดงความเสียใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตคนไทยจำนวนมาก เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ย้ำเตือนถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หลังจากนี้เราจะร่วมมือกันให้แข็งแกร่งขึ้นระหว่างไทยและอาเซียน ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ขอชื่มชมประเทศไทยที่แสดงความเป็นผู้นำที่ดีในการปกป้องสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้นำในการรักษาสันติภาพ เพราะไทยเป็นประเทศแรกที่ไม่ใช่อัฟริกาที่ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปยังเมืองดาร์ฟู ประเทศซูดาน และยูเอ็นยินดีหากไทยจะส่งตำรวจหญิงไปทำหน้าที่ยับยั้งอาชญากรรมทางเพศที่กระทำกับผู้หญิงกับเด็กในหลายประเทศ โดยเฉพาะ เฮติ
นายบัน คี มุน กล่าวว่า ตนได้หารือกับนายกฯไทยเรื่องการเมืองในพม่า ถึงเรื่องที่อาเซียนจะทำอย่างไรเพื่อช่วยเหลือพม่าให้มีกระบวนการประชาธิปไตยที่เป็นความโปร่งใส ความยุติธรรม น่าเชื่อถือ สามารถรวมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตามความคาดหวังของประชาคมโลก หากพม่ามีกระบวนการที่ชัดเจนในการสร้างประชาธิปไตยจะสามารถพาตัวเองออกจากระบบเดิมๆ และสร้างความน่าเชื่อถือให้พม่าได้ดีขึ้น ยูเอ็นเสนอความช่วยเหลือด้านการขนส่ง ด้านเทคนิค และการประสานกับพม่า แต่การหารือกับผู้นำพม่า ทราบว่าเขาไม่ประสงค์จะรับความช่วยเหลือจากภายนอก แต่ยูเอ็นก็ยังประสงค์ที่จะติดต่อปฏิสัมพันธ์กับพม่าอย่างใกล้ชิด เพราะถือว่าการเปลี่ยนแปลงในพม่าส่งผลต่อการรวมตัวเป็นประชาคมของอาเซียน ซึ่งอาเซียนกับไทยอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมที่จะให้ความช่วยเหลือให้พม่าไปสู่ประชาธิปไตยได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีของยูเอ็นต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในประเทศในเดือนเม.ย.-พ.ค. 53 นายบัน คี มุน กล่าวว่า ได้มีการหารือกับนายกรัฐมนตรีไทยเช่นกันถึงเหตุการณ์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องภายในประเทศไทย ควรจะได้รับการแก้ไขระหว่างคนไทยกันเองทั้งเรื่องการเมืองและสังคม ขณะนี้คณะกรรมการปรองดองและกรรมการหาข้อเท็จจริงก็ได้เริ่มทำงานแล้ว คณะกรรมการก็ได้แสดงออกถึงการเปิดรับข้อมูลต่างๆและพร้อมที่จะทำงานร่วมกับประชาคมโลก ที่ผ่านมาได้ขอความช่วยเหลือด้านเทคนิคกับยูเอ็น ซึ่งยูเอ็นก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคต่อคณะกรรมการนี้ เราควรจะเรียนรู้จากเหตุการณ์ต่างๆว่าเกิดอะไรขึ้นหวังว่าเหตุการณ์ทั้งหมดจะได้รับการสอบสวนอย่างโปร่งใส โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทุกกรณีควรได้รับการตรวจสอบโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
ที่มาบางส่วนเรียบเรียงจากเว็บไซต์คมชัดลึก และเว็บไซต์เดลินิวส์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยอดผู้เสียชีวิตจากไซโคลน “กิริ” ในพม่าเพิ่มเป็น 84 คน

Posted: 26 Oct 2010 10:19 AM PDT

(Irrawaddy 27 ต.ค.53) ชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัยเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากพายุไซโคลนกิริ (Giri) ที่พัดขึ้นชายฝั่งของรัฐอาระกัน ทางภาคตะวันตกของพม่าเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะสูงถึง 84 คนแล้ว ด้านสื่อพม่าออกมารายงานเมื่อวานนี้ว่า มีผู้เสียชีวิตจำนวน 27 คน และสูญหายอีก 15 คน อย่างไรก็ตาม องค์กรเอ็นจีโอในย่างกุ้งระบุว่า ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายบนเกาะเล็กๆ ที่อยู่นอกชายฝั่งของรัฐอาระกันได้ แต่เชื่อว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นเป็น 100 คน

มีรายงานว่า ร่างของผู้เสียชีวิตจำนวน 48 คน ถูกพบในเมืองมีโบน หนึ่งในพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากไซโคลนกิริในครั้งนี้ ขณะที่ร่างผู้เสียชีวิตอีก 10 คน ถูกพบในเมืองเพาก์ทอ ไซโคลนกิริที่ความรุนแรงระดับ 4 นี้ ทำให้คลื่นสูงถึง 7 เมตรและทำให้ฝนตกหนัก ถนน สะพานและสายโทรศัพท์ได้รับความเสียหาย

ด้านสื่อพม่ารายงานว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตน่าจะสูงกว่านี้ หากรัฐบาลไม่แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าและอพยพประชาชนไปในพื้นที่ปลอดภัย

มีรายงานว่า รัฐบาลอนุญาตให้เจ้าหน้าที่เอ็นจีโอท้องถิ่นที่ทำงานกับองค์กรเอ็นจีโอสากลในย่างกุ้งเท่านั้นที่สามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่ประสบภัย ส่วนเจ้าหน้าที่เอ็นจีโอต่างชาติที่ทำงานในเมืองชิตต่วย เมืองหลวงของรัฐอาระกัน ขณะนี้ถูกจับตามองและถูกจำกัดจากทางการพม่าอย่างหนัก

 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์
www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักกีฏเผย “ยุงยักษ์” แท้จริงคือ “แมลงวันขายาว”

Posted: 26 Oct 2010 09:33 AM PDT

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า นางสำเนียง แกล้วกสิกิจอายุ 64 ปี ชาวบ้าน ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก เจอยุงลายยักษ์ ขนาดใหญ่ มีลักษณะปีกใสมีลายจุด ขายาวมีลายขาวดำเป็นปล้อง ๆ เหมือนยุงลาย ขณะเดียวกันชาวบ้านที่เชียงใหม่ พบแมลงที่มีลักษณะคล้ายยุงยักษ์ ลำตัวมีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร มีขาแปดขา ขาหน้ายาว 6 เซนติเมตร ขาหลังยาว 9 เซนติเมตร เช่นเดียวกัน จึงสร้างความวิตกกังวลให้ชาวบ้านอย่างมาก ด้านนักกีฏวิทยาได้ออกมาตรวจสอบพบว่าไม่ใช่ยุงยักษ์ แต่เป็น “แมลงวันขายาว”

รศ.โกศล เจริญสม ภาควิชากีฎวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความรู้ว่า แมลงวันขายาว หรือ เครนฟลาย (crane fly) อยู่ในวงศ์ธิปูลิดี (Family Tipulidae) เป็นแมลง 2 ปีก ที่มีลักษณะคล้ายยุง มี 6 ขา ทั่วโลกมีประมาณ 12,000 ชนิด

“ลักษณะเด่นของแมลงวันขายาว คือ ลำตัวสูงชะลูด ขายาวมาก ในตัวเต็มวัยปากจะเล็กมากๆ จนไม่ทำงาน หรือกล่าวได้ว่าแทบไม่กินอาหารในตัวเต็มวัย กินบ้างก็เพียงแค่น้ำเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งแมลงหลายชนิดมีลักษณะเดียวกันนี้ ฉะนั้นไม่ต้องกังวล ไม่เป็นอันตรายต่อคนหรือสัตว์แน่นอน นอกจากนี้เอกลักษณ์อีกประการหนึ่งคือ เป็นแมลงที่ขาหลุดง่ายมากจากในบรรดาแมลงทั้งหมด เพราะขาที่ยาว ทำให้เวลาจับตัวแมลงขาจะหลุดร่วงได้ง่าย เป็นที่ทราบดีในบรรดานักกีฏวิทยา สำหรับวงจรชีวิตในเบื้องต้นคือ เป็นแมลงที่วางไข่ในที่ชื้นแฉะหรือแหล่งน้ำ มีระยะตัวอ่อนเป็นหนอน และเข้าสู่ตัวเต็มวัยที่เป็นแมลง มักจะปรากฏให้เห็นในช่วงปลายฝนต้นหนาว แต่ปกติจะพบเจอได้ยากมาก


ตัวอ่อนแมลงวันขายาว
ที่มา: bugguide http://bugguide.net/node/view/183



ตัวเต็มวัยแมลงวันขายาว
ที่มา: วิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org



ระยะตัวอ่อนยุงยักษ์
ที่มา: วิชาการ.คอม http://www.vcharkarn.com/vcafe/85760



ตัวเต็มวัยยุงยักษ์
ที่มา: วิชาการ.คอม http://www.vcharkarn.com/vcafe/85760

ขณะที่ยุงยักษ์จริงๆ จะเป็นยุงขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ลักษณะเด่นคือปากยาวแต่พับลง หรือ มีปลายปากโค้งงอ ทำให้เจาะดูดเลือดกินเหมือนยุงทั่วไปไม่ได้ กินได้เพียงแต่น้ำหรือน้ำหวานเท่านั้น จึงไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ นอกจากนี้ลักษณะเด่นของยุงยักษ์ คือ บนเส้นปีกจะมีเกล็ดเล็กๆ เป็นเกล็ดที่มีเม็ดสีเหมือนเกล็ดผีเสื้อเรียงตัวไปตามความยาวของเส้นปีก”

รศ.โกศล กล่าวว่า เหตุการณ์ความเข้าใจผิดว่าแมลงวันขายาว หรือแมลงวันแมงมุม เป็นยุงยักษ์ นั้นเคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ดีทั้งแมลงวันขายาว หรือ ยุงยักษ์ ต่างก็เป็นแมลงที่ไม่มีพิษภัยหรืออันตรายใดๆ ชาวบ้านจึงไม่ต้องวิตกกังวล และต่อให้เป็นยุงยักษ์จริงๆ ก็จะยิ่งมีประโยชน์ เนื่องจากไม่เพียงเป็นยุงที่ไม่ดูดกินเลือดคนแล้ว ระยะลูกน้ำของยุงยักษ์ยังมีศักยภาพในการกินลูกน้ำยุงลายดีมาก ถือเป็น “ยุงปราบยุง” ที่นับว่าน่าสนใจมากทีเดียว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รำลึก 6 ปีตากใบ 25 ตุลาคม 2547 วันแรกที่ “เหยื่อแดนใต้... เริ่มกำพร้า”

Posted: 26 Oct 2010 09:05 AM PDT

NO truth ! NO justice! NO PEACE! วาทกรรมที่กลุ่มนักศึกษาชายแดนใต้รณรงค์เพื่อทวงคืนความยุติธรรมแก่ “เหยื่อ” ผู้ชุมนุมโดยสงบ สันติวิธีและปราศจากอาวุธ ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ผ่านคำมั่นสัญญาว่า “เราจะดูแล จะพิทักษ์ จะเยียวยาทุกคนที่เป็น “เหยื่อความรุนแรง” ในฐานะนักศึกษาปัญญาชน ตราบใดที่ความยุติธรรมไม่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินนี้ ”

ไฮไลท์ของงานประกอบด้วยกิจกรรมเดินรณรงค์ ตู้ไปรษณีย์ขยะ ปิดหู ปิดตา ปิดปากและปิดใจ ตลอดจนกิจกรรมเขียนจดหมายถึงฟ้า เพื่อตามหาความยุติธรรมที่เอื้อมไปไม่ถึงผ่านวาทกรรมต่างๆ เช่น

• ฉันเห็นคนตายที่ตากใบ /

• 25 ตุลาฯ คนตายเพราะขาดอากาศหายใจ /

• เมื่อไหร่ความยุติธรรมจะกลับมา /

• สวัสดีฟ้า! รู้จักประชาชนไหม รู้จักตากใบไหม! /

• ความจำสั้น แต่เจ็บฉันนาน..... ฯลฯ

ปิดท้ายกิจกรรมด้วยการกล่าวสดุดีเพื่อไว้อาลัยแก่ “เหยื่อ /วีรชนเรียกร้องประชาธิปไตยจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) โดยมีใจความสำคัญว่า “การเลือกปฏิบัติอย่างหวาดระแวงของผู้ปกครองที่อธรรม ถูกยื่นมาและตอบแทนด้วยการสวามิภักดิ์ พี่น้องตากใบผู้รักความยุติธรรม ลุกขึ้นสู้ประกาศก้อง ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย มากันเป็นร้อยเป็นพัน ไอ้พวกบ้าอำนาจ มันยังหาว่าเป็น “โจรก่อการร้าย” ทันทีที่ความจริงใกล้จะปรากฏ ผู้ถือกฎเหล็ก ดิ้นรนทุรนทุราย ปราบพวกมันให้กำราบซะ อย่าได้อาจหาญอีกต่อไป กระสุนมฤตยูถูกรัวจากนิ้วมือของปีศาจ เจาะเข้าไปในร่างกายอันเปลือยเปล่าตายเท่าไหร่ ข้อมูลที่ชัดเจนไม่ปรากฎ พลันที่เสียงปืนเงียบ กองกำลังที่ได้ชื่อว่า “ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” เดินเท้าเข้ามาตบ ต่อย เตะ ตี สารพัดกระบวนท่าตามความพอใจ ยังไม่พอ....ที่ยังมีชีวิตอยู่ ถูกมัดมือไขว้หลังแล้วจับโยนใส่ในรถบรรทุก ทับซ้อนกันเกือบสิบชั้น แล้วยังเอาผ้ายางมาปิดอีก ประมาณ 4 ชั่วโมงหลังจากนั้น พวกเขาก็ถึงที่ “ค่ายอิงคยุทธบริหาร” จังหวัดปัตตานี แต่โชคร้ายสำหรับพวกเขาที่อยู่ชั้นล่างนั้นกลายเป็นศพเสียส่วนใหญ่ 78 ศพขาดอากาศหายใจ

ถึงแม้นว่าพวกเขาจะตาย แต่วีรกรรมของพวกเขา จะไม่มีวันตาย อย่างเช่นในวันนี้ 25 ตุลาคม 2553 ครบรอบ 6 ปีเหตุการณ์ตากใบนองเลือด พวกข้าคนรุ่นหลัง ผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้หนุ่มผู้สาว ขอสดุดีถึงวีรชนตากใบผู้เสียสละชีวิตเพื่อพิทักษ์ เทิด....ความยุติธรรม”

ความจริงที่สวนทางระหว่างรัฐและประชาชน

1. ศาลจังหวัดสงขลาอ่านคำสั่งคดี ช.16/2548 (คดีไต่สวนการตาย) “ ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่และพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฎพยานหลักฐานว่า ผู้ใดทำให้เสียชีวิต! และผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเห็นพ้องกับอัยการ จึงไม่มีการดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ทหารที่ขนย้ายผู้ชุมนุมจาก สภอ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส ถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี..... (ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้)

2. ญาดา หัตถธรรมนูญ เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน “มันไม่มีอะไรสำคัญเท่าที่ญาติรู้สึกว่า คนที่ทำให้คนที่เขารักเสียชีวิตนั้น ได้รับผิดชอบกับสิ่งที่ตนได้กระทำ”

3. นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี (ขณะเกิดเหตุฯ เป็นปลัดจังหวัดนราธิวาส) “ถึงแม้เงินซื้อชีวิตคนไม่ได้ แต่เงินที่รัฐบาลให้มันก็เพียงพอแล้ว จนกระทั่งได้รับทุนเรียนฟรี รัฐก็ช่วยเหลือทุกอย่างแม้กระทั่งเด็กกำพร้า”

4. อ.ศรีสมภพ จิตภิรมณ์ศรี ผอ.สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ “เหตุการณ์ตากใบสะท้อนถึงความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการเกินเลย ไม่รับผิดชอบต่อชีวิตและสิทธิของประชาชน ความเสียหายที่เกิดขึ้นในแง่ของชีวิตหรือทรัพย์สิน รัฐเองก็พยายามชดเชย เยียวยาเพียงพอแล้ว....... หากแต่ความเสียหายทางความรู้สึกนั้น ต้องแก้ความยุติธรรมด้วยกระบวนการยุติธรรม”

5. ลีโอ เจ๊ะกือลี หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมกล่าวว่า “การแก้ปัญหาด้วยกองกำลัง อาวุธและความรุนแรง หรือการเยียวยาด้วย “เงินตราและความสงสาร” ไม่สามารถตอบโจทก์ปัญหา 3 จังหวัดได้ ตราบใดที่ไม่สามารถทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของตนเอง ผ่านการสร้างพื้นที่ในการสะท้อนสภาพปัญหาและความต้องการของพวกเขาได้อย่างแท้จริง

คำกล่าวอ้างที่ว่า “ผู้ชุมนุมตายเพราะขาดอากาศหายใจ” ไม่สามารถลบล้างภาพความทรงจำอันเจ็บปวดของเหยื่อชายแดนใต้ได้ ดังนั้น “การทำความจริงให้ปรากฎ” “ยอมรับความผิดพลาด” และ “นำฆาตกรที่เป็นต้นเหตุให้ประชาชนต้องตาย.....มาลงโทษ” น่าจะเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ด้ามขวานของไทยได้อีกทางหนึ่ง

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

200 นักศึกษาใต้รำลึกตากใบ ‘ตะโกนบอกฟ้า’ - ยื่นจดหมายลงตู้ไปรษณีย์ขยะ

Posted: 26 Oct 2010 04:06 AM PDT

สหพันธ์ฯนักศึกษาใต้ 200 คน รำลึก 6 ปีตากใบ “ตะโกนบอกฟ้า” เรียกร้องความเป็นธรรม เพราะไม่รู้จะทำอย่างไรแล้วประชดส่งจดหมายลงตู้ไปรษณีย์ถังขยะ เพราะยื่นหนังสือถึงหลายหน่วยงานแต่ไม่มีความคืบหน้า

วันที่ 25 ต.ค. 2553 เวลา 15.00 น. สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) ประมาณ 200 คนได้รวมตัวกันที่วงเวียนหน้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) เพื่อร่วมรำลึก 6 ปี เหตุการณ์ตากใบ ที่มีผู้เสียชีวิตในเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าว 85 ศพ และมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพออกแถลงการณ์ 6 ปีตากใบ : ความล้มเหลวกระบวนการยุติธรรมไทยกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

งานรำลึก 6 ปีตากใบเป็นการทำกิจกรรมในเชิงสัญลักษณ์ นำโดยนายกริยา มูซอ เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.) กิจกรรมในงานรำลึก 6 ปีตากใบ เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 15.00 น. หลังจากการรวมตัวกันละหมาดฮายัตในตึกองค์การบริหารองค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานี ของนักศึกษาจากหลายสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 200 คน ก็เริ่มทยอยกันเดินมายังวงเวียนหน้ามหาวิทยาลัย

กิจกรรมแรก “ปิดหู ปิดตา” เพื่อแสดงให้เห็นถึงการปิดหู และปิดตาชาวบ้านโดยเจ้าหน้าที่ เพื่อไม่ให้สามารถฟัง พูด และมองในสิ่งที่เป็นความจริง และสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้ง กิจกรรมนี้ใช้นักศึกษาประมาณ 30 คน ยืนรอบวงเวียน และใช้ผ้าปิด พร้อมกับยกป้ายที่มีข้อความต่างๆ เช่น “ 6 ปีกับความทรงจำ 6 ปีกับการรำลึก อีกกี่ครั้งกับน้ำตา” “ฉันเห็นคนตายที่ตากใบ” “แด่วีรชนคนตากใบ” “ความทรงจำที่มิอาจลืม กับแผล...ที่ปวดร้าว” เป็นการส่งสัญญาแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ทั้งในผู้นำระดับประเทศและระดับนานาชาติ

“ตะโกนให้ถึงฟ้า” เป็นกิจกรรมที่สอง เป็นการตะโกนที่ต้องการบอกให้ทราบ เพราะไม่รู้ว่าจะใช้วิธีการใดแล้ว ในการที่จะให้ส่งเสียงให้แก่คนระดับผู้นำได้รับทราบถึงความลำบาก ผลกระทบที่ได้รับจากความอยุติธรรม โดยใช้นักศึกษาประมาณ 10 คน ในการร้องตะโกนด้วยเสียงที่ดัง เสียงตะโกนดังขึ้น อย่าง “วีรชนของฉันหายไปไหน ฉันจะไม่ลืมวีรชนของฉัน”

“ตู้ไปรษณีย์ขยะ” กิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงหนังสือร้องเรียน จดหมายเปิดผนึก ข้อเสนอต่างๆ ที่ทางชาวบ้าน องค์กรหรือหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน และนิสิตนักศึกษา ได้ยื่นให้แก่รัฐบาลในระยะเวลาที่ผ่าน ไม่มีความเคลื่อนไหวใดเลยที่คืบหน้าและสามารถช่วยเหลือคนในพื้นที่ด้านความยุติธรรมได้ หนังสือต่างๆ ที่ได้ส่งไปแล้ว ถูกโยนทิ้งลงไปในถังขยะ และยิ่งนานวันขยะก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ในกิจกรรมนี้มีการทำจดหมายขนาดใหญ่จำนวน 10 แผ่น จ่าหน้าซองส่งถึงผู้มีอำนาจในสังคมไทยและนานาชาติ อย่าง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครอบครัวผู้เสียหาย ประชาชนชาวอาเซียน เลขาธิการสหประชาชาติ นายบัน คี มุน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา กระทรวงยุติธรรม จุฬาราชมนตรี คณะรัฐมนตรี องค์การประชุมมุสลิมโลก (OIC) และสหประชาชาติ

กิจกรรมต่อมาสามเหลี่ยม echo เป็นการยืนเรียงกัน 3 แถว เป็นรูปสามเหลี่ยม มีคนนำที่เป็นคนอ่านบทกวี แล้วคนที่อยู่ในแถวจะกล่าวตามคนนำกวี เสียงที่ออกเป็นเสียงสะท้อนสามชั้น แสดงให้เห็นถึงการพูดซ้ำๆ ถึงเรื่องเดิมๆ ที่พูดมาแล้ว 6 ปี แต่ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมออกมาจากผู้ที่เกี่ยวข้องสักที และเป็นการสะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของระบบยุติธรรมไทย

กิจกรรมสุดท้ายอ่านบทกวี พร้อมกับปล่อยลูกโป่ง หรือการส่งจดหมายถึงฟ้า หลังจากที่มีการตะโกนให้ถึงฟ้าแล้ว ไม่ได้ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ การนำลูกโป่งจำนวน 200 ใบ พร้อมกับเขียนข้อความแล้วปล่อยขึ้นสู่ฟ้า เป็นการส่งสัญญาให้ถึงฟ้าว่า ตอนนี้ประชาชนคนในพื้นที่มีความอัดอั้นตันใจในเรื่องใด

ส่วนองค์กรด้านทางสิทธิมนุษยชน อย่างมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้ออกแถลงการณ์ 6 ปีตากใบ: ความล้มเหลวกระบวนการยุติธรรมไทยกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในหนังสือแถลงการณ์ดังกล่าวทางมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย และองค์กรอิสระซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามกระบวนการยุติธรรม ดังนี้

1. ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดทบทวนความเห็นในการสั่งไม่ฟ้องคดีกรณีตากใบ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางศาลในการหาความเป็นธรรมได้อย่างเต็มที่
2. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ควรเพิ่มบทบาทในการช่วยเหลือผู้เสียหายกรณีตากใบและครอบครัวให้เข้าถึงความยุติธรรมโดยการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 257(4)

3. รัฐบาลต้องมีมาตรการในการให้ความคุ้มครองพยานซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตให้มีความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อสามารถให้การเป็นพยานในชั้นศาล และสามารถนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้

4. สังคมไทยต้องนำบทเรียนของเหตุการณ์การละเมิดสิทธิต่อประชาชน รวมทั้งการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมชนของประชาชน โดยไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในทุกกรณี และร่วมกันเฝ้าติดตามการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมของกรณีการละเมิดสิทธิฯในเหตุการณ์ตากใบ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ฮิวแมนไรท์วอทช์" จี้ "บันคีมุน" ใส่ใจปัญหารัฐบาลไทยละเมิดสิทธิฯ

Posted: 26 Oct 2010 01:50 AM PDT

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2553 องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกจดหมายเปิดผนึกถึงบันคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย กัมพูชา เวียดนาม และจีน จากการที่เขามีแผนจะเดินทางเยือนประเทศเหล่านี้ และเรียกร้องให้บันคีมูนเข้าพบนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ เหล่านี้ด้วย

ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวถึงประเทศไทยว่า พวกเขาเห็นชอบกับการพยายามสร้างความปรองดองทางการเมืองและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของสหประชาชาติ แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ยังคงใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนพื้นฐานและเป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้ผู้มีอำนาจถูกตรวจสอบ

องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ยังแสดงความเป็นห่วงจากการได้รับรายงานว่า ศอฉ. ไม่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการไต่สวนของรัฐบาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมถึงคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ

นอกจากนี้แล้วฮิวแมนไรท์วอทช์ยังได้กล่าวถึงการไม่เคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ที่อยู่แถบชายแดน มีการส่งตัวผู้อพยพกลับประเทศซึ่งจะทำให้พวกเขาถูกดำเนินคดี

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลจึงมีการเรียกร้องให้เลขาธิการสหประชาชาติดำเนินการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ในช่วงที่มาเยือนประเทศไทย
- ขอให้นายกฯ อภิสิทธิ์อธิบายถึงสาเหตุที่มีการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อีกครั้ง และการใช้อำนาจของ พ.ร.ก. อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการจับกุม การปราบปรามสื่อฝ่ายตรงข้าม ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ-โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์
- เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดรับคณะกรรมการพิเศษของสหประชาชาติที่ต้องการเยือนไทย
- กดดันให้อภิสิทธิ์สร้างความคืบหน้าในการไต่สวนหาความจริงกรณีความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะจากฝ่ายใด โดยดำเนินการภายใต้ความรับผิดชอบในการตรวจสอบของเขา
- เรียกร้องให้รัฐบาลอย่าใช้การเลือกตั้งของพม่าในวันที่ 7 พ.ย. เป็นข้ออ้างในการส่งตัวผู้อพยพกลับประเทศ ซึ่งทำให้เกิดความเป็นห่วงในเรื่องนโยบายและวิธีการปฏิบัติต่อผู้อพยพในประเทศไทย การขับไล่ชาวโรฮิงยาและการส่งตัวชาวม้งกลับ

 

แปลจาก: Asia: Freedom of Expression, Justice, Human Rights Defenders Under Threat, Human Rights Watch, 25-10-2553
http://www.hrw.org/node/93880

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรสิทธิมนุษยชน-แรงงานร้อง "เลขาฯ ยูเอ็น" สอบการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ

Posted: 26 Oct 2010 12:08 AM PDT

องค์กรแรงงาน-สิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ "บัน คี มุน" ร้องยูเอ็นตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติพม่าที่ถูกผลักดันออกจากประเทศไทยโดยด่วนที่สุด แฉเจ้าหน้าที่ไทยร่วมขบวนการค้ามนุษย์ ซื้อ-ขายบนเรือระหว่างผลักดันกลับ ซัดรัฐบาลเมินแก้ปัญหา พร้อมแนะปรับนโยบาย 6 ข้อ 
 
วานนี้ (25 ต.ค.53) เครือข่ายองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน อาทิ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกแถลงการณ์ในโอกาสการมาเยือนประเทศไทยของนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในวันนี้ (26 ต.ค.) เพื่อให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติพม่าที่ถูกผลักดันออกจากประเทศไทยเป็นการด่วน พร้อมกับมีข้อเสนอเเนะรัฐบาลไทยในการพัฒนานโยบายแรงงานข้ามชาติบนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
นอกจากนั้นยังมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการกวาดล้าง แรงงานข้ามชาติโดยเร่งด่วน ตลอดจนดำเนินการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเมิดกฎหมาย เเละขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาทบทวนนโยบายการ จัดการแรงงานข้ามชาติ ให้อยู่บนพื้นฐานของการ เคารพสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ
 
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุถึงการรายงานข่าวจากสื่อมวลชนว่าสื่อมวลชนต่างประเทศได้รายงานข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นผลจากนโยบายกวาดล้าง เเละผลักดันแรงงานข้ามชาติ ที่ไม่แสดงความประสงค์ที่จะพิสูจน์สัญชาติ หรือแรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างต่อเนื่อง สำนักข่าว อัล จาซีรา (Al Jazeera) รายงาน ว่าแรงงานที่ถูกจับกุมเเละผลักดันออกนอกประเทศไทยถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นไทยบางรายนำไปยังพื้นที่กักกันที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลัง ทหารกะเหรี่ยงพุทธ ตรงข้ามแม่น้ำเมยฝั่งไทย ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 
 
ล่าสุดหนังสือพิมพ์เซาท์ ไชนา มอร์นิงโพสท์ (South China Morning Post) เสนอข่าวแรงงานข้ามชาติพม่าที่ถูกจับโดยเจ้าหน้าที่ไทยบางรายถูกผลักดันออกนอกประเทศไทยทางเรือ ที่น่านน้ำระหว่างจังหวัดระนอง เเละเกาะสอง ประเทศพม่า และถูก "ขาย" ให้นายหน้าค้ามนุษย์ ก่อนจะถูกลักลอบนำพากลับประเทศไทยอีกครั้ง องค์กรด้านสิทธิแรงงาน องค์กรสิทธิมนุษยชน ทั้งในประเทศเเละนานาชาติ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าว ตั้งเเต่เดือน กรกฏาคม 2553 ซึ่งรัฐบาลไทยยังมิได้มีการดำเนินการใดๆ อย่างชัดเจน 
 
แถลงการณ์ระบุต่อมาว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 รัฐบาลไทยเริ่มนโยบายการปราบปรามแรงงานข้ามชาติ เข้าเมืองผิดกฎหมายและแรงงานที่ไม่แสดง ความประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 125/2553 เรื่อง “การจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจปราบปราม จับกุม เเละดำเนินคดีแรงงานข้ามชาติที่ไม่เเสดงความประสงค์จะพิสูจน์สัญชาติ ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553” เพื่อกวาดล้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียนเเละแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เเสดงความประสงค์ในการพิสูจน์สัญชาติภายในเวลาที่กำหนด ศูนย์เฉพาะกิจฯ ดำเนินการโดยการสนธิกำลังตำรวจ ทหารบก ทหารเรือ เเละเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการทั่วทั้ง 5 ภาค 
 
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังประกาศโครงการหักเงินเข้ากองทุนเพื่อการส่งกลับแรงงานข้ามชาติ จากแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่งผลกระทบกับแรงงานข้ามชาติที่มีรายได้น้อย ซึ่งการปรับสถานะแรงงานข้ามชาติให้ถูกกฎหมายและการกวาดล้างแรงงานข้ามชาติ เป็นการเปิดโอกาสให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ ทั้งยังไม่สามารถแก้ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิอันพึงได้รับ 
 
แถลงการณ์ระบุถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยว่า 1.รัฐบาลควรเชิญผู้รายงานพิเศษเเห่งสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพ ผู้รายงานพิเศษเเห่งสหประชาชาติด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ ผู้รายงานพิเศษเเห่งสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน มาเยือนไทยเพื่อให้คำเเนะนำต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เเละให้ข้อเสนอเเนะปรับปรุงนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติเพื่อให้เคารพสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติมากขึ้น
 
2.รัฐบาลควรระงับการผลักดันเเละจับกุมแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีทันที จนกว่าจะมีการตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิดังกล่าวอย่างรอบคอบ เพื่อยุติการค้ามนุษย์ การแสวงประโยชน์โดยมิชอบ และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมดังกล่าวต้องถูกดำเนินคดีเเละลงโทษโดยผ่านกระบวนการที่โปร่งใส
 
3.เมื่อรัฐบาลประกาศว่านโยบายเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติครั้งใหม่เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ ดังนั้น การยกเลิกการกวาดล้างจะสร้างแรงจูงใจเเก่นายจ้างเเละเเรงงานข้ามชาติให้กล้าแสดงตัวเพื่อเข้าจดทะเบียนตามกฎหมาย
 
4.รัฐบาลควรจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่โดยเร็วด้วยวิธีการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ยึดหลักนิติธรรมในการบริหารจัดการเเรงงานข้ามชาติ เเละหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนถึงผู้ติดตามเเละครอบครัว
 
5.รัฐบาลไทยควรทบทวนนโยบายการนำเข้าแรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่แรงงานข้ามชาติพึงได้รับ เเละป้องกันการเเสวงประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานข้ามชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจเเละด้านอื่นๆ
 
6.รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายระยะยาว ให้มีหน่วยงานเฉพาะเพียงหน่วยงานเดียวทำหน้าที่บริหารการอพยพย้ายถิ่น เปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวเเรงงานข้ามชาติเอง นายจ้าง และภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย
 
"สรส. คสรท. และ มสพ. เชื่อว่าข้อเสนอแนะข้างต้นจะช่วยให้รัฐบาลไทยสามารถจัดการกับความท้าทายด้านการย้ายถิ่นอย่างผิดปกตินี้ได้ โดยการเคารพสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ควบคู่กับการรักษาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ" แถลงการณ์ระบุ
 
AttachmentSize
แถลงการณ์: องค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องเลขาธิการองค์การสหประชาชาติตรวจสอบการ ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติพม่าที่ถูกผลักดันออกจากประเทศไทยโดยด่วนที่สุด79 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

สรุปยอดน้ำท่วม 32 จังหวัด 977,340 ครัวเรือน เสียชีวิตแล้ว 38 ราย

Posted: 25 Oct 2010 02:57 PM PDT

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถานการณ์อุทกภัยล่าสุด มีจังหวัดประสบภัยเพิ่มรวม 32 จังหวัด ราษฎรเดือดร้อน 977,340 ครัวเรือน เสียชีวิตทั้งสิ้น 38 ราย คาดใช้เวลาระบายน้ำอีกครึ่งเดือน เตือน กทม.ระวังน้ำทะเลหนุนช่วง 26-28 ต.ค.และ 8 พ.ย.นี้

   
วานนี้ (25 ต.ค.53) นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยปัจจุบัน โดยจังหวัดที่มีสถานการณ์อุทกภัยมีทั้งสิ้น 27 จังหวัด 225 อำเภอ 1,646 ตำบล 12,414 หมู่บ้าน 940,673 ครัวเรือน 2,651,944 คน พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย 2,878,598 ไร่ ได้แก่ จังหวัดพิจิตร ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระแก้ว นครราชสีมา ปราจีนบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยภูมิ สระบุรี เพชรบูรณ์ นครนายก ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นนทบุรี ปทุมธานี กำแพงเพชร นครปฐม อุทัยธานี เชียงใหม่ ลำพูน และจังหวัดสมุทรปราการ และมีจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ตาก และจังหวัดชลบุรี
 
สำหรับสถานการณ์ระหว่าง 10 - 24 ต.ค.ที่ผ่านมา มีจังหวัดประสบภัยทั้งสิ้น 32 จังหวัด 249 อำเภอ 1,757 ตำบล 13,019 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 977,340 ครัวเรือน 2,765,228 คน โดยมีผู้เสียชีวิตมี 38 ราย แบ่งเป็น จ.ระยอง 1 ราย จ.ตราด 1 ราย จ.สระแก้ว 1 ราย จ.นครราชสีมา 9 ราย จ.ลพบุรี 10 ราย จ.นครสวรรค์ 4 ราย จ.ชัยภูมิ 1 ราย จ.สระบุรี 1 ราย จ.บุรีรัมย์ 6 ราย ขอนแก่น 3 ราย จ.อุทัยธานี 1 ราย เป็นบุคคลสัญชาติไทย 37 ราย กัมพูชา 1 ราย
 
นายวิบูลย์กล่าวด้วยว่า ในส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัย ได้ประสานความร่วมมือกับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
 
ด้าน นายนพพร ชัยพิชิต ผอ.สำนักชลประทานที่ 10 กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำไหลที่จังหวัดนครสวรค์ 2,799 ลบ.ม.ต่อวินาที และระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา 3,281 ลบ.ม.ถือว่าเพิ่มไม่มากจากวานนี้ น้ำจำนวนนี้จะระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยา และมาถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดได้ประมาณ 1,152 ลบ.ม.ต่อวินาที สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 5 เมตร ขณะที่การระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักลดลงเหลือ 1,100 ลบ.ม.เมื่อรวมกับน้ำเจ้าป่าสัก ที่บางไทร มีปริมาณทั้งหมด 3,275 ลบ.ม.และจะไหลเข้า กทม.ประมาณ 1 วัน ซึ่งน้ำจำนวนนี้ถือว่ายังรับมือไหว ขณะนี้ระดับน้ำทะเลในช่วงดังกล่าวน่าจะอยู่ที่ระดับ 2.60-2.70 เมตร โดยประมาณหรือปริ่มคันกั้นน้ำของ กทม.
    
อย่างไรก็ตาม เขื่อนต่างๆ เช่น ป่าสัก และเขื่อนเจ้าพระยา ได้เริ่มลดการระบายน้ำลงแล้ว ประกอบกับร่องมรสุมได้พัดผ่านไปใต้แล้ว ตอนนี้ปริมาณฝนภาคเหนือและภาคกลางลดลงเหลือเพียงกระจาย ไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำไหลหลากในลุ่มน้ำเจ้าพะยา ทั้งนี้ เราเร่งระบายน้ำเต็มที่ให้อยู่ในระดับตลิ่ง คาดว่า จะใช้เวลาประมาณครึ่งเดือน แต่อาจล้นตลิ่งบ้างในพื้นที่ลุ่ม อย่างไรก็ตาม กทม.ยังต้องระวังน้ำทะเลหนุนช่วง 26-28 ต.ค.และ 8 พ.ย.
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น