โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

ฝ่ายหนุน-ต้านแร่โปแตซอุดรฯ เกิดปะทะกัน

Posted: 31 Oct 2010 09:22 AM PDT

เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายหนุนและฝ่ายค้านโครงการเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมเหมืองแร่ฯ และฝ่ายสนับสนุน พยายามเข้ามาปักหมุดกำหนดพื้นที่โครงการ

เวลา 14.30 น. วันนี้ (31 ต.ค.) เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 300 คน  กับชาวบ้านผู้สนับสนุนโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี  ประมาณจำนวน 200 คน โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ปักหมุด รังวัด เพื่อกำหนดขอบเขตโครงการเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี  ในเขต ต.หนองไผ่ ต.โนนสูง อ.เมือง ต.ห้วยสามพาด และ ต.นาม่วง  อ.ประจักษ์ศิลปาคม  จ.อุดรธานี

การกระทบกระทั่งกันครั้งนี้ มีสาเหตุมาจากการพยายามที่จะเข้ามาปัดหมุดรังวัดเพื่อกำหนดขอบเขตพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตซ โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร. ซึ่งพยายามจะดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา

โดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวหาว่า ในวันนี้ กพร. และบริษัทได้มีการว่าจ้างชาวบ้านจำนวน 200 คน ให้มาเป็นกันชนต่อชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ  ที่มาร่วมกันตรึงพื้นที่แต่ละจุดที่คาดว่าจะมีการเข้ามาปักหมุดรังวัด

โดยการกระทบกันระหว่างชาวบ้านทั้งสองกลุ่มนั้น เกิดขึ้นสามครั้งในบริเวณที่จะมีการปักหมุดรังวัดในพื้นที่ โดยฝ่ายที่เห็นด้วยกับโครงการฯ ได้ร้องตะโกน ส่งเสียงยั่วยุชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ซึ่งส่วนใหญ่จัดตั้งกลุ่มผู้หญิง เด็ก และคนแก่ มาเป็นกันชนขัดขวางการปักหมุดรังวัด โดยให้เหตุผลในการขัดขวางว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการที่ไม่ชอบธรรมและชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ทำหน้าที่เพียงแค่อำนายความสะดวกให้กับการปักหมุดรังวัดในแต่ละจุดเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว

นางมณี บุญรอด แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  ได้กล่าวว่า  ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์จะยังคงยืนหยัดขัดขวางการรังวัดปักหมุดให้ถึงที่สุด  และจะไม่ยินยอมให้ใครมาแย่งชิงทรัพยากรของท้องถิ่นที่ตนเองและกลุ่มร่วมกันหวงแหนไว้ให้กับลูกหลาน

ส่วนนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน  กล่าวถึงการกระทบกระทั่งกันระหว่างกลุ่มชาวบ้านทั้งสองฝ่ายว่า การดำเนินการปักหมุดรังวัดขาดความชอบธรรม  และได้แสดงความกังวลใจต่อความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 “การปักหมุดรังวัดในครั้งนี้นั้นได้ขาดความชอบธรรมไปแล้ว เพราะชาวบ้านในพื้นที่ขาดการมีส่วนร่วม และ กพร. ไม่ได้ลงมาชี้แจงให้กับชาวบ้านในพื้นที่ก่อนว่า พื้นที่ๆ จะทำการปักหมุดรังวัดอยู่ในจุดไหนบ้าง  และผมมีความห่วงใยต่อการที่บริษัทใช้เงินขนคนมา  เพื่อที่จะเป็นกันชน และสร้างสถานการณ์ให้เกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างชาวบ้านทั้งสองฝ่าย  ถ้าหากสถานการณ์มันลุกลามบานปลายไปมากกว่านี้มันก็จะยากต่อการควบคุม  โดยเฉพาะความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น  เมื่อเหตุการณ์มาถึงขนาดนี้ผมจึงอยากตั้งคำถามต่อบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มว่าวางตัวเหมาะสมหรือไม่ และส่วนราชการน่าจะมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ให้มากกว่านี้ และสุดท้ายถ้าเหตุการปะทะกันจนถึงขั้นรุนแรงและมีคนบาดเจ็บถึงขั้นล้มตายใครจะเป็นผู้รับชอบต่อเหตุการรืที่เกิดขึ้น”  สุวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ในช่วงเย็น เมื่อ กพร. และชาวบ้านฝ่ายที่เห็นด้วยกับโครงการฯ  ได้ถอนตัวออกไปจากพื้นที่แล้ว  ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ  ยังคงปักหลักร่วมกันในการเฝ้าระวังพื้นที่ตามจุดต่างๆ กันอย่างหนาแน่น  และจัดเวรยามในในช่วงกลางคืน  และมีการนัดหมายกันให้มาอย่างพร้อมเพรียงในเช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553  เวลา 06.00  น.  สำหรับการตรึงพื้นที่ป้องกันการเข้ามาปักหมุดรังวัดต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: บทเติม “กษัตริย์ตามทัศนะของพุทธศาสนา”

Posted: 31 Oct 2010 04:54 AM PDT

สุรพศ ทวีศักดิ์” ส่งบทความอันเป็น “บทเติม” บทความก่อนหน้านี้ โดยเสนอว่าต้องซื่อสัตย์ต่อหลักการที่ว่าพุทธศาสนาปฏิเสธระบบชนชั้นอย่างชัดเจน ทั้งในแง่หลักการสำคัญของคำสอน

ในบทความ กษัตริย์ตามทัศนะของพุทธศาสนา” ผมอ้างถึงอัคคัญญสูตรว่า พุทธศาสนาปฏิเสธระบบชนชั้นแบบพราหมณ์ และเสนอว่าพุทธศาสนามองว่า “มนุษย์เท่าเทียมกับภายใต้กฎแห่งกรรม” ประเด็นที่ผมต้องการขยายความต่อ คือ

1. การปฏิเสธระบบวรรณะแบบพราหมณ์ หมายถึงการปฏิเสธความคิดหลักสำคัญสองเรื่อง คือ 1) ปฏิเสธอภิปรัชญาที่ว่าพระพรหมสร้างโลกสร้างมนุษย์ และกำหนดสถานะทางชนชั้นอย่างตายตัว เป็น กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร 2) ปฏิเสธสถานะทางศีลธรรมที่ตัดสินคุณค่าความเป็นคน ความดี ความเลว การได้รับการปฏิบัติ หรือยกเว้นการปฏิบัติ ฯลฯ โดยอ้างอิงสถานะทางชนชั้น

2. เมื่อปฏิเสธเช่นนั้นพระพุทธองค์เสนอว่า “...เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกันก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม...” ฉะนั้น เกณฑ์ตัดสินดีเลวของมนุษย์ คือ “ธรรม” ซึ่งได้แก่ กุศลธรรม กับอกุศลธรรม ใครประพฤติกุศลธรรมก็คือทำกรรมดี ได้รับผลดี ประพฤติอกุศลธรรมก็คือทำกรรมชั่ว ได้รับผลชั่ว หรือทำดี ก็เป็นคนดี ทำชั่ว ก็เป็นคนชั่ว นี่คือความหมายตรงๆ ของคำว่า “ธรรม หรือกรรมจำแนกคนให้ต่างกันหรือเหมือนกัน” ซึ่งเจาะจงที่เรื่องทางศีลธรรม ไม่ใช่เรื่องสถานะทางสังคม (แน่นอนว่า ตามคำสอนเรื่องกรรมระบุว่าคนทำดี ทำชั่วแล้วทำให้เกิดมามีสถานะทางสังคมที่ต่างกัน แต่นั่นคือ “ทำให้เกิด” ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเกิดมาในชนชั้นใดๆ แล้วเขาควรจะได้รับข้อยกเว้นเป็นพิเศษ เช่น เกิดในชนชั้นกษัตริย์แล้ว สั่งฆ่าคนต้องได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องรับผิดทางศีลธรรม ฯลฯ ในทศชาติชาดก “พระเตมีใบ้” ทำตัวเป็นคนใบ้เพราะไม่ต้องการเป็นกษัตริย์ เนื่องจากเห็นว่าถ้าเป็นกษัตริย์อาจหลีกเลี่ยงการทำบาปไม่ได้ เช่น ต้องสั่งประหารชีวิตนักโทษ เป็นต้น)

3. ประเด็นสำคัญคือหลักคิดเรื่องกรรมบ่งบอก “ความเป็นมนุษย์” อย่างไร พุทธศาสนาระบุว่า “กรรมคือเจตนา” (เจตนาหัง กัมมัง วทามิ - ภิกษุทั้งหลายเรากล่าเจตนาว่าเป็นกรรม) หมายความว่า กรรมหรือการกระทำเกิดจากความจงใจ เมื่อมีความจงใจก็หมายถึงมี “การเลือก” (ว่าจะทำอะไร จะทำหรือไม่ทำ ฯลฯ) เมื่อมีการเลือกก็หมายความว่ามี “เสรีภาพ” และเพราะใช้เสรีภาพในการเลือกกระทำจึงต้องรับผิดชอบต่อผลกรรมหรือผลของการกระทำ ฉะนั้น หลักคิดเรื่องกรรมหรือการกระทำทางศีลธรรมตามทัศนะของพุทธศาสนา จึงแสดงให้เห็น “ความเป็นมนุษย์” ว่าคือ “ความมีเสรีภาพและความรับผิดชอบ”

4. ประเด็นที่ว่า “ความเป็นมนุษย์คือเสรีภาพ” นี้ ผมคิดว่าพุทธศาสนามองในระดับเดียวกับทัศนะของ existentialism (แม้จะมีรายละเอียดอื่นๆ ต่างกันมาก) คือมองว่า “เสรีภาพ เป็น essence หรือเป็นธรรมชาติอันเป็นแก่นแท้ของมนุษย์” ในความหมายที่ว่า ถ้าปราศจากเสรีภาพมนุษย์ก็ไม่เหลือความเป็นมนุษย์ พุทธศาสนาอาจไม่มีคำศัพท์ freedom เหมือนที่ใช้กันในปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ แต่คำสำคัญที่ยืนยันว่า “เสรีภาพ เป็น essence หรือเป็นธรรมชาติอันเป็นแก่นแท้ของมนุษย์” คือคำว่า “วิมุติ” (พจนานุกรมพุทธศาสน์ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “วิมุติ” ว่า freedom) หมายถึงความหลุดพ้น ความมีเสรี หรือความเป็นอิสระจากพันธนาการของกิเลส สาระสำคัญก็คือว่า สัญชาตญาณ อารมณ์ความรู้สึก ความโลภ โกรธ หลง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แม้จะเป็นคุณลักษณะด้านหนึ่งของมนุษย์ แต่ก็ไม่ใช่ essence ของมนุษย์ในความหมายที่ว่าเมื่อเอาสิ่งเหล่านี้ออกไป หรือขจัดสิ่งเหล่านี้ออกไปจากความเป็นมนุษย์ได้หมดสิ้น (เช่นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์) ความเป็นมนุษย์ก็ไม่ได้หมดไป [มีพุทธพจน์ยืนยันว่ากิเลสต่างๆเป็นเหมือนอาคันตุกะที่จรมาในจิตเรา] แต่พุทธศาสนากลับมองว่าเมื่อขจัดสิ่งเหล่านั้นออกไป เสรีภาพที่สมบูรณ์ของมนุษย์ปรากฏขึ้น ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ปรากฏขึ้น!

5. เรื่อง “เสรีภาพ (ทางจิต) ที่สมบูรณ์ = ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์” เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ (เพราะเกี่ยวข้องกับความหมาย/คุณค่าของ “สมบูรณ์” ว่าคืออะไร น่าพึงปรารถนาหรือไม่ ฯลฯ) แต่ความหมายสำคัญคือว่า ถ้ามนุษย์ไม่มี “เสรีภาพ เป็น essence หรือเป็นธรรมชาติอันเป็นแก่นแท้” มนุษย์จะสามารถพัฒนาตนให้สามารถบรรลุถึงวิมุติหรือความมีเสรีภาพที่สมบูรณ์ได้อย่างไร

สรุปตรงนี้ว่า เพราะมนุษย์มีเสรีภาพเป็นแก่นสาร ฉะนั้น มนุษย์จึงสามารถเลือกกระทำกรรมต่างๆ และหากมนุษย์เลือกกระทำกรรมดี จนถึงเลือกปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 ได้สมบูรณ์ มนุษย์ก็จะหลุดพ้นจากอำนาจของสัญชาตญาณหรือกิเลสต่างๆ กลายเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพสมบูรณ์ หรือเสรีภาพที่เป็นแก่นสารซึ่งอยู่ในสภาพแฝง (potentiality) คลี่คลายกลายเป็นสภาพจริง (actuality)

6. ทีนี้เราจะมอง “ความเป็นคนที่เท่าเทียม” ในมุมไหน สำหรับผมเราจะบอกว่า “ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมคือความมีเสรีภาพ เป็น essence  เหมือนกัน” ก็ได้ และเนื่องจากความคิดเรื่องเสรีภาพในพุทธศาสนาแยกไม่ออกจากความคิดเรื่องกฎแห่งกรรมหรือกฎแห่งการกระทำทางศีลธรรม ในความหมายที่ว่าเสรีภาพในการเลือกกระทำเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของ “กรรม” หรือการกระทำทางศีลธรรม

คือถ้ามนุษย์ไม่มีเสรีภาพในการเลือก กรรมหรือการกระทำและความรับผิดชอบก็มีไม่ได้ การพัฒนาตนไปสู่ความหลุดพ้นก็เป็นไปไม่ได้ และภายใต้กฎแห่งกรรมมนุษย์ย่อมมีความเสมอภาคทางศีลธรรม คือ “ทุกคนใช้เสรีภาพเลือกกระทำสิ่งเดียวกันด้วยคุณภาพจิต (เช่น โกรธ เมตตา ฯลฯ) แบบเดียวกันย่อมได้รับผลแบบเดียวกัน” หรือ “เมื่อใช้เสรีภาพเลือกทำสิ่งที่ถูกก็ถูก เลือกทำสิ่งที่ผิดก็ผิด ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม”

7. ฉะนั้น ความเสมอภาคภายใต้กฎแห่งกรรม หรือ “ความเท่าเทียมทางศีลธรรม” บ่งบอกถึง “ความเสมอภาคในความเป็นคน” คือ “ความมีเสรีภาพ-ความรับผิดขอบ-อิสรภาพที่จะลิขิตชีวิตตนเองที่มนุษย์มีอย่างเท่าเทียมกัน” ถ้า apply หลักการนี้กับหลักการทางสังคมการเมือง จะเห็นได้ชัดว่าขัดแย้งกับระบบสังคมการการเมืองที่ยอมรับระบบชนชั้น แต่เข้ากันได้กับระบบสังคมการเมืองที่ยืนยัน “ความเท่าเทียมในความเป็นคน"

 

บทส่งท้าย

ที่ผมเขียนมานี้ ไม่ได้ต้องการเสนอว่าพุทธศาสนาเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตย พุทธศาสนาย่อมเป็นพุทธศาสนาที่ให้คำตอบแน่นอนเฉพาะเพาะเรื่อง (ไม่ใช่ให้คำตอบได้ทุกเรื่อง) แต่ต้องการเสนอว่า พุทธศาสนาปฏิเสธระบบชนชั้นอย่างชัดเจน ทั้งในแง่หลักการสำคัญของคำสอน (เช่น ดังอภิปรายมา เป็นต้น) และความพยายามสร้างความเท่าเทียมทางสังคม เช่น สร้างสังคมสงฆ์ อนุญาตให้สตรีบวช เป็นต้น (แม้จะทำได้อย่างจำกัดในบริบทสังคมเมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว แต่ก็เห็นได้ว่าพยายามทำ)

การตีความพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนระบบชนชั้น (หรือ apply พุทธเพื่อรับใช้การเมือง) อาจพิจารณาได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเราต้องยอมรับอย่างซื่อสัตย์ว่านั่นเป็น “การบิดเบือน” เมื่อประวัติศาสตร์เปลี่ยนไป หรือผู้เขียน (ที่มีอำนาจอันชอบธรรมในการเขียน) ประวัติศาสตร์เปลี่ยนมาเป็นประชาชนของประเทศ เราย่อมไม่อาจยอมรับการบิดเบือนแบบอดีตอีกต่อไป

ซึ่งทำได้ง่ายๆ คือ ต้องซื่อสัตย์ต่อหลักการที่แท้จริง!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อัตตาลักษณ์แห่งชาติพันธุ์กับการเมืองเรื่อง "ความเป็นชาตินิยม"

Posted: 30 Oct 2010 09:17 PM PDT

อัตลักษณ์ (identity) เป็นความรู้สึกของบุคคลมีต่อตนเองว่า “ฉันคือใคร” การระบุได้ว่าเรามีอัตลักษณ์เหมือนในกลุ่มหนึ่งและมีความแตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างไร และ “ฉันคือใคร” ในสายตาคนอื่น อัตลักษณ์นั้นเป็นลักษณะที่มีความสลับซับซ้อน และไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจงไปในเรื่องใด หรือในลักษณะใดในร่างกายอย่างรัดกุม สำหรับคนๆ หนึ่งแล้วสามารถระบุได้ว่าเป็นมีหลายอัตลักษณ์ภายในคนๆ เดียว

แต่สำหรับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์แล้วเป็นลักษณะทางชีวภาพไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งในส่วนของแนวคิดเรื่องชาติ ได้ก่อตัวเป็นแนวคิดชาตินิยม ชาตินิยมเป็นกระบวนการในการสร้างอุดมการณ์ให้เกิดการหวงแหน และสำนึกในการรักชาติ เป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของมนุษย์ ลักษณะของชาตินิยมจากตัวอย่างที่ปรากฏอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี 2 ลักษณะที่เด่น คือ

1. ชาตินิยมแบบพรมแดน หรือ ชาตินิยมพลเมือง โดยชาตินิยมประเภทได้ให้ความสำคัญต่อประชาชนทุกชาติพันธุ์ภายในประเทศประเทศของตน โดยไม่มีการเน้นถึงกลุ่มชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศนั้นๆ ตัวอย่างชาตินิยมประเภทนี้คือ ประเทศอินโดนีเซีย ตัวอย่างเช่น ได้มีการสร้างภาษาขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นภาษากลางที่ใช้ภายในประเทศ

2. ชาตินิยมแบบเน้นชาติพันธุ์ เป็นแนวคิดชาตินิยมที่ให้ความสำคัญเฉพาะกลุ่มของตนเองอย่างเช่น มาเลเซีย พม่า เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ มีความพยายามผลักดันวัฒนธรรมของตนเองให้เป็นวัฒนธรรมกระแสหลักแห่งชาติ

 

โดยส่วนชาติพันธุ์ได้กลายเป็นปัญหาที่บั่นทอนความมั่นคงภายในประเทศต่างๆ ที่มีความหลากหลายภายในประเทศนั้นๆ สำหรับภาพรวมองปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาทางชาติพันธุ์เกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น

1. โลกาภิวัตน์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความเป็นชาติอ่อนแอลง

2. ทุนนิยม ความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของเศรษฐกิจ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนชาติพันธุ์หลักของประเทศ

3. ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร เป็นการผูกขาดในการใช้ทรัพยากร ได้นำทรัพยากรตามภูมิภาคต่างๆ มาใช้ประโยชน์ สำหรับผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้กลับไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ แต่เป็นนายทุน และรัฐบาลนำไปพัฒนาเมืองหลวงเป็นส่วนใหญ่ เช่นในกรณีของอาเจะห์ ที่ทางรัฐบาลอินโดนีเซีย ได้นำทรัพยากรที่มีในพื้นที่ตรงนี้ แต่กลับนำไปพัฒนาในอาเจะห์เพียงเล็กน้อย

 

จึงทำให้เรื่องของชาติพันธุ์ได้กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความมั่นคงต่อรัฐบาลในหลายประเทศ โดยปัญหาชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่เป็นความขัดแย้ง ตัวอย่างในกรณีของประเทศรวันดา  เหตุความขัดแย้งก็เกิดขึ้นจากกลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่มที่อาศัยอยู่ภายในประเทศเดียวกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ทุทซี่ กับฮูตู ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนนับล้าน หรือแม้แต่สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาอย่างช้านานเช่น สงครามระหว่างอิสราเอล กับปาเลสไตน์ ก็มีสาเหตุหนึ่งจากความแตกต่างของชาติพันธุ์ปรากฏอยู่ด้วย คือความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวอาหรับ

นอกจากนี้ปัญหาชาติพันธุ์ภายในประเทศมาเลเซีย จากกรณีของเหตุการณ์ฮินดาฟ ที่มีการประท้วงเรียกร้องการปกครองอย่างเป็นธรรม โดยชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ภายในประเทศ  การประท้วงครั้งนี้ได้มีการนำเอาสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย รวมถึงมหาตมะ คานธี นับว่าเป็นปรากฏการณ์ทางชาติพันธุ์ ที่มีการเชื่อมโยงสู่ประเทศเดิมของบรรพบุรุษตน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสำนึกในการเป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน แม้นว่าจะอาศัยอยู่นอกพื้นที่ประเทศของตนเองก็ตาม

สำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเฉพาะความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวันภายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมองย้อนไปตั้งแต่ยุคที่สังคมไทย เริ่มสร้างแนวคิดใหม่เพื่อการสร้างความเป็นไทยขึ้นมา ความเป็นไทยที่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นวัฒนธรรมของคนในชาติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจเป็น ความเป็นกรุงเทพฯ ที่นำมาใช้นิยามในลักษณะเช่นนี้ และการสร้างสิ่งที่ใหม่สำหรับกลุ่มอื่นๆ ที่มีวัฒนธรรมเดิมของตนเอง แต่จำต้องรับและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นไทยตามการกำหนดขึ้นของทางรัฐบาล ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นกระบวนการหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในรัฐสมัยใหม่ ที่บรรจุคนที่มีความหลากหลายเข้าไว้ในเส้นพรมแดนที่เรียกกันว่า รัฐชาติ

โดยเฉพาะในสมัยของ นายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างความเป็นไทยขึ้นมาใหม่ ด้วยการกำหนดนโยบายที่มีความเป็นชาตินิยม และใช้ในการสร้างวัฒนธรรมไทยให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเชิดชูในความเป็นไทย รวมถึงการการสร้างความเป็นสมัยใหม่ กระตุ้นให้เกิดกระแสความรักชาติเป็นและได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย ซึ่งได้แสดงออกถึงว่าเป็นประเทศของชาวไทย ได้สร้างวัฒนธรรมไทยขึ้นมาตามรูปแบบตะวันตก นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ประเด็นอัตลักษณ์ได้กลายมาเป็นข้ออ้างในการก่อการความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการต่อต้านอำนาจจากส่วนกลางมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ในกรณีของชาตินิยมกลับกลายเป็นเรื่องที่ลื่นไหลได้ตลอดเวลาตามการนิยามของผู้คนในช่วงเวลานั้น และได้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างทัศนคติที่เหยียดหยาม เช่น ในกรณีจาก การสร้างกระแสชาตินิยมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เป็นปัญหาความขัดแย้งในเรื่องของปราสาทเขาพระวิหาร รวมถึงการระบุถึงกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ว่าเป็นคนขายชาติ เพราะมีพฤติกรรมที่ฝักใฝ่กับรัฐบาลกัมพูชา

จากสาเหตุที่ได้กล่าวไปแล้วทั้งหมด จึงเห็นได้ว่าชาตินิยมจึงสัมพันธ์กับกลุ่มความคิดของผู้คนจำนวนมากที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่กลับไปกดทับผู้คนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยทำให้ชาตินิยมได้กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกดขี่และการบังคับให้ผู้อื่นกระทำตามในสิ่งที่ตนต้องการให้เป็น รวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับคนในกลุ่มของตนเองเท่านั้น และชาตินิยมเป็นเครื่องมือในการอำนวยประโยชน์ในทางการเมืองการปกครองเป็นสำคัญ

ดังนั้นแม้ว่าอัตลักษณ์เป็นลักษณะที่ระบุถึงความเป็นคนๆ หนึ่งและนำไปสู่การระบุถึงความเป็นตัวตนว่าตัวเองเป็นใคร ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน ลักษณะดังกล่าวได้สร้างความสูญเสีย เกิดความพยายามที่จะกลายกลืนอัตลักษณ์ของผู้อื่น เพื่อเชิดชูกลุ่มตัวเองให้เหนือกว่า

รากฐานของปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยและสังคมโลกทุกระดับ มีข้อพึงระวัง คือ หากมนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของตัวเอง ขาดการเคารพอัตลักษณ์ของผู้อื่น จนเกิดการสร้างกระแสความเป็นชาตินิยม เพื่อผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเกินเลยและเกิดความเหลื่อมล้ำ มักจะนำสู่ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงในการสร้างกระแสต่อต้านจนเกิดความสูญเสียถึงชีวิตในหลายกรณีดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศต่างๆในโลกตลอดมา

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ ตั้งด่านเฝ้าระวังเจ้าหน้าที่รังวัดเขตเหมืองโปแตซ

Posted: 30 Oct 2010 07:50 PM PDT

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีสับ กพร. เละ จวกแหกตาชาวบ้าน ฉวยโอกาสปักหมุดรังวัดพื้นที่เหมืองเอื้อประโยชน์บริษัทโปแตซ ทั้งที่ช่วงชี้แจงจะให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม

เวลา 8.00 น. วานนี้ (30 ต.ค.) กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ประมาณ 200 คน ได้ร่วมกันเฝ้าระวังและป้องกัน การเข้ามาปักหมุดรังวัดเพื่อสำรวจขอบเขตพื้นที่เหมืองแร่โปแตซซึ่งดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ในเขตพื้นที่ตำบลห้วยสามพาด ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม ตำบลหนองไผ่ และตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซ จังหวัดอุดรธานี

ทั้งนี้ เมื่อ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา กรมอุตสาหกรรมฯ ได้มีการประชุมชี้แจงเรื่องการขออนุญาตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ภายใต้กรอบมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  ณ โรงแรมเซ็นทารา โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี  โดยมีวิทยากรมาบรรยายให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับ ประเด็นสิทธิชุมชน  แนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์โครงการเหมืองแร่โปแตซ และขั้นตอนการขอประทานบัตรการทำเหมืองใต้ดิน  อีกทั้งเปิดให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีชี้แจงให้ซักถาม แลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นต่างๆ ที่บรรยายโดยวิทยากร

หลังจากเวทีชี้แจงฯ เพียงหนึ่งวัน ชาวบ้านในพื้นที่กลับได้รับหนังสือจากหน่วยงานราชการต่อการเข้ามาในพื้นที่เพื่อทำการปักหมุดรังวัดโดยเจ้าหน้าที่จากกรมอุตสาหกรรมฯ ในช่วงระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ทำให้ลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าภายในเวทีชี้แจงที่ผ่านมานั้น ได้มีการกล่าวถึงขั้นตอนของการปักหมุดรังวัดว่าต้องเปิดเวทีประชาคมให้ข้อมูลให้กับชาวบ้านในพื้นที่อย่างทั่วถึงและรอบด้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น  อีกทั้ง ความพยายามผลักดันการปักหมุดรังวัดในช่วงระยะที่ผ่านมาได้สร้างความขัดแย้งแตกแยกให้เกิดขึ้นในพื้นที่  อันเนื่องมาจากกระบวนการที่ไม่ชอบธรรมและขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน

นายบุญเลิศ เหล็กเขียว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  ได้กล่าวถึงการเข้ามาปักหมุดรังวัดของ กรมอุตสาหกรรมฯ ในครั้งนี้ว่า เป็นการดำเนินการที่ลัดขั้นตอน และขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่  เพราะในเวทีชี้แจงที่ผ่านมา  อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่  หรือ กพร.  ได้พูดไว้ว่าถ้าหากจะมีการรังวัดปักหมุดเพื่อหาขอบเขตพื้นที่การทำเหมืองนั้น  จะทำการเปิดประชุมกับชาวบ้านเพื่อถามความคิดเห็นก่อนที่จะการดำเนินการ แต่ในครั้งนี้ กพร. กลับมาลงมือปักหมุดรังวัดทันทีที่เสร็จสิ้นจากเวทีชี้แจง  ซึ่งถือว่าพฤติกรรมของ กพร. นั้นได้สวนทางกับสิ่งที่ อธิบดี กพร. ได้พูดไว้  และการจัดเวทีของ กพร.นั้น บริษัทได้มีการเกณฑ์คนเข้ามาร่วมโดยใช้เงินจ้างมาเป็นจำนวนมาก   ตนจึงมีข้อสังเกตว่า การกระทำของ กพร. เอื้อประโยชน์หรือมีการสมรู้ร่วมคิดในการผลักดันโครงการเหมืองโปแตซ กับบริษัทรึเปล่า นายบุญเลิศ กล่าว

บุญเลิศ กล่าวด้วยว่า ทางกลุ่มจะไม่มีทางให้มีการปักหมุดรังวัดขึ้นในพื้นที่โดยเด็ดขาด เพราะทางกลุ่มยังยืนยันในจุดยืนถึงการคัดค้านโครงการเหมืองโปแตซว่าจะต้องมีการดำเนินต่อไป เพราะเป็นสิทธิอันชอบธรรมของชาวบ้านที่จะปกป้องรักษาทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง

ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์  ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน  ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่า ที่ผ่านมา อธิบดี กพร. ได้มีการพูดคุยร่วมกับนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน กว่าสิบคน  ซึ่งเบื้องต้นได้มีความเห็นร่วมกันที่จะทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ หรือ เอสอีเอ ต่อการพัฒนาเหมืองแร่โปแตซในภาคอีสาน แต่ยังมิได้มีการวางกรอบประเด็นสำหรับการศึกษาร่วมกัน โดย อธิบดี กพร. จะทำหน้าที่ในการเปิดเวทีชี้แจงให้ข้อมูลในทุกจังหวัดที่เหมืองแร่โปแตซ  ในประเด็นประเภทโครงการรุนแรง  ตามมาตรา 67 วรรค 2และการทำเอสอีเอ ซึ่งทางเราเห็นด้วยต่อสิ่งที่อธิบดี กพร. ได้พูดไว้  และในช่วงระหว่างการทำเอสอีเอนั้น อธิบดี กพร. ก็เห็นด้วยและรับหน้าที่ในการประสานงานกับผู้ประกอบการการลงทุนด้านเหมืองแร่โปแตซ  ให้หยุดกระบวนการทุกขั้นตอนในการผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตซ

แต่หลังจากเวทีชี้แจงเมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา  อธิบดี กพร.  ได้มีการทำหนังสือไปยังส่วนราชการในจังหวัดอุดร  เพื่อขอเข้าไปทำการปักหมุดรังวัดขอบเขตพื้นที่เหมืองโปแตซจังหวัดอุดร โดยอ้างว่าต้องการทราบถึงขอบเขตพื้นที่เหมืองแล้วนำไปใช้ในการทำ เอสอีเอ  การกระทำของ กพร.  ได้แสดงออกถึงความไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตซที่มีมาตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

สุวิทย์ กล่าวด้วยว่า ได้ทำการปรึกษาหารือร่วมกับ นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน  ที่เคยร่วมคุยกับ อธิบดี กพร. ในช่วงที่ผ่านมาในเรื่องการทำเอสอีเอ  ซึ่งทุกคนได้มีความเห็นต่อ การกระทำของ กพร.  ว่าไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่โปแตซ และเป็น หน่วยงานราชการ แต่กลับวางตัวไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น  จึงไม่ขอเข้าร่วมกระบวนการทำทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ หรือ เอสอีเอ  ต่อการพัฒนาเหมืองแร่โปแตซในภาคอีสาน  ตามที่ได้คุยกันไว้มาก่อนหน้านี้

สำหรับสถานการณ์ภายในพื้นที่นั้น ล่าสุดได้รับการรายงานจากผู้สื่อข่าวว่า ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ  ยังคงร่วมกันเฝ้าระวังการเข้ามาปักหมุดรังวัดของเจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมฯ ซึ่งสมาชิกกลุ่มทุกคนต่างได้ชักชวนกันมาประจำจุดต่างๆ ที่คาดว่าจะมีการเข้ามาปักหมุดรังวัด  และแบ่งบทบาทหน้าที่กันในการสำรวจตรวจตราความผิดสังเกตและคนแปลกหน้าที่เข้ามาในพื้นที่กันอย่างแข่งขันทั้งกลางวันและกลางคืน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปาฐกถานำ: 80 ปี “จิตร ภูมิศักดิ์”

Posted: 30 Oct 2010 05:15 PM PDT

 
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ปาฐกถานำ ในการสัมมนา 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ จัดโดย ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์และกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
 
80 ปี “จิตร ภูมิศักดิ์”
พ.ศ.2473-2553 ค.ศ.1930-2010
(ปาฐกถานำ โดยชาญวิทย์ เกษตรศิริ 
29 ตุลาคม 2553/2010)
 
ท่านสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี และสุภาพชน
 
ในฐานะประธานมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ และกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะของ “ผู้คนใฝ่ฝันอยากเรียน” ขอกล่าวสวัสดี และด้วยความเชื่อมั่นว่าคนที่ “เขาตายในชายป่า เลือดแดงทาดินอิสาน” นั้น มีจิตใจที่กว้างขวางใหญ่โตครอบคลุมไปทั่วทุกสัดส่วนของ “สยามประเทศไทย” แล้ว ก็ยังก้าวข้ามพรมแดนไปไกลพอที่จะกล่าวทักทาย “ผู้คนร่วมภูมิภาคอุษาคเนย์” ด้วยภาษาอื่นว่า “สบายดี-จุมเรียบซัว-ซินจ่าว-มิงกลาบา-และสลามัตเซียง” ฯลฯ
 
ในฐานะประธานมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ และกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะของ “ผู้คนใฝ่ฝันอยากเรียน” ที่ได้ร่วมการ “ขุดค้น-สร้างสรรค์-จด-และ-จำ” และล่าสุด คือ ผลัก-ดันให้เกิดทั้ง “อนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์” กับ “อนุสาวรีย์” หรือรูปปั้น-รูปสลักของมหาบุรุษที่ “เขาตายในชายป่า” ณ บ้านหนองกุง จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้าก็มีความวิตกกังวล เหมือนๆ กับที่ได้เคยมีส่วนในความผิดพลาด ในการกระทำสิ่งเดียวกันนี้ให้กับ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี พ.ศ.2526 
 
นั่นคือทำให้ท่านปรีดีกลายเป็น “รูปปั้น” ที่ “นั่งนิ่งๆ” ไร้พลังอยู่ที่ริม “เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์” และนี่ก็คือปัญหาทางด้านงานศิลปะ ปัญหางานด้านประติมากรรมปัจจุบันของประเทศเรา ที่ขาดพลัง ขาดชีวิต และขาดความเคลื่อนไหว ไม่สามารถจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อๆ ไปได้ แม้จะมีข้อยกเว้นในบางกรณีของรูปปั้นและอนุสาวรีย์ในบ้านเมืองของเรา
 
แต่ข้าพเจ้าก็ยังอุ่นใจอยู่บ้าง เมื่อได้รับคำปลอบประโลมจากมิตรต่างชาติผู้หนึ่ง ที่บอกว่า “ความสำคัญของจิตร หาใช่ว่า เขาตายที่ไหน หรืออนุสาวรีย์ของเขาจะเป็นอย่างไร” แต่อยู่ที่ความเป็น “นักคิด-นักเขียน” หรือพูดให้ชัดก็คือ “หนังสือ” ของเขานั่นแหละ นั่นคือมรดกที่แท้จริงที่จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ทิ้งไว้ให้กับผู้คนและสังคม “สยามประเทศไทย”
 
เมื่อได้โจทย์เช่นนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ข้อคิดเพิ่มเติมอีกว่า ในรอบ 100 ปี ที่ผ่านมา หากเราจะเสนอนามหรือพระนามของ “นักคิด-นักเขียน” ที่สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างความสั่นสะเทือนในแง่ของ “ภูมิปัญญา” ของ “สยามประเทศไทย” สัก 10 ท่านแล้ว จะมีใครกันบ้างเล่า ข้าพเจ้าเชื่อว่า 1 ใน 10 นั้น จะต้องมีจิตร ภูมิศักดิ์ติดอยู่ด้วย 
 
ครับ ข้าพเจ้าเชื่อว่าในแต่ละรอบของ 100 ปี อาจจะมี “มันสมอง” (ขอไม่ใช้คำว่า “อัจฉริยะ”) อย่าง “จิตร ภูมิศักดิ์” นี้ผ่านมาใน “แผนที่สยามประเทศไทย” บนโลกใบนี้เพียงไม่กี่มันสมอง/คนเท่านั้นเอง
 
เมื่อได้ทั้งโจทย์และข้อคิดข้างต้น ข้าพเจ้าก็เริ่มเสาะแสวงหาต่อ และก็ได้คำตอบจากมิตรต่างวัยว่า “เป็นการยากที่จะระบุว่าจิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ.2473-2509 ค.ศ.1930-1966 เขาตายเมื่ออายุได้เพียง 36 ปี) ได้เขียนหนังสือออกมากี่เล่ม บทความกี่ชิ้น บทกวีกี่บท หรือแต่งเพลงจำนวนเท่าไหร่ เพราะงานของจิตร ภูมิศักดิ์ ได้เกิด “ภายใต้วันคืนอันอัปลักษณ์” โดยเฉพาะการถูกคุมขังในคุกลาดยาว (2501-2507) ภายใต้ “เผด็จการระบอบทหารสฤษดิ์-ถนอม” 
 
จิตร (ซึ่งถูกกระทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อจากสมจิตร ดังเช่น “นางพิม” เปลี่ยนเป็น “นางวันทอง” “สมบูรณ์” เปลี่ยนเป็น “ชาติชาย” หรือเหมือนๆกับที่ “สยาม” ต้องถูกจับเปลี่ยนเป็น “ไทย” “พระสยามเทวาธิราช” กลายเป็น “พระไทยเทวาธิราช” (ชั่วคราว) และ “แม่น้ำของ” ถูกเปลี่ยนเป็น “แม่น้ำโขง” นั้น) ได้ผลิตผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก หลายชิ้นเพิ่งพิสูจน์ว่าเป็นผลงานของจิตร หลายชิ้นที่ยังไม่ทราบแน่ชัด ขณะที่อีกหลายชิ้นรอการตีพิมพ์”
 
ถึงแม้ว่าจิตรจะผลิตผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ทว่าจิตร กลับมีหนังสือเพียงเล่มเดียวเท่านั้น ที่เป็นผลงานที่ตีพิมพ์ออกมาในช่วงที่เขายังชีวิตอยู่ นั่นคือ “ศิลปเพื่อชีวิต” ซึ่งเขียนในนามปากกา “ทีปกร” หนังสือเล่มนี้ถูกนำมาตีพิมพ์ในชื่อ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” และเป็นผลงานของการเคลื่อนไหวทาง “ภูมิปัญญา” ของนักศึกษากลุ่ม “แสวงหาความหมาย” ยุคก่อน “วันมหาปิติ 14 ตุลา 2516 ” ที่ตีพิมพ์อย่างงดงามเตะตา (แม้จะขายไม่ออกเท่าไรนัก)
 
ส่วนผลงานอื่นๆ ที่เรารับรู้กันในปัจจุบันนั้น เขียนออกมาในรูปแบบของบทความตามวารสาร วิชาการ หนังสือนักศึกษา และหน้าหนังสือพิมพ์ ในวาระต่าง ๆกัน และที่มีมากที่สุดในปัจจุบันคือผลงานที่ “เพิ่งค้นพบ” ภายหลังที่จิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิตไปแล้ว...
 
หลัง “14 ตุลา 2516” ทุกท่านก็คงทราบดีว่าได้เกิดกระแสของความเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนหนุ่มคนสาว ในหมู่ของนักเรียน-นิสิต-นักศึกษา ที่เราอาจจะเรียกให้ “เป็นบวก” ว่าเป็น “ปัญญาชน-คนรุ่นใหม่-ซ้ายใหม่-ความคิดก้าวหน้า” ฯ หรือให้ “เป็นลบ” ว่า “เอียงซ้าย-หัวรุนแรง-เด็กหัวแดง-คอมมิวนิสต์-หนักแผ่นดิน” ที่มาพร้อมๆกับความเปลี่ยนแปลงในระดับสากลของ “ยุค 60s-70s” ซึ่งนักสังเกตการณ์ “สังคมสยามประเทศไทย” ท่านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ที่กลับตาลปัตร แทนที่เราๆท่านๆ จะเชื่อว่า “ดวงอาทิตย์หมุนรอบโลก” กลับกลายเป็น “โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์” 
 
ไม่มีครั้งใดที่คนหนุ่มคนสาวของเรา จะมองหาวีรชน (heroes-heroines) ที่ไม่ใช่บุคคลที่ประสบความสำเร็จประเภท “มหาบุรุษ-มหาสตรี” ที่เป็นบุคคล-เจ้านายที่รัฐให้การยกย่องเชิดชูบูชา แต่วีรชน “ใหม่” ของ “คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่” นี้ กลับกลายเป็นบุคคลที่เป็นผู้แพ้ เป็นผู้ประสบเคราะห์กรรม พลัดพราก ถูกทำลายชีวิต เป็นสามัญชน และที่สำคัญ คือ ไม่ได้รับการรับรองจากรัฐ จากแบบเรียนกระทรวงศึกษาฯ หรือจากสื่อมวลชนกระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็น นสพ. วิทยุหรือทีวี และหลายต่อหลาย “วีรชนใหม่” นี้ถ้าไม่ถูกทำให้ “ลืม” ก็ no names หรือ “ไร้ชื่อ-ไร้เสียง” อย่างเช่นกรณีของปรีดี พนมยงค์ – กุหลาบ สายประดิษฐ์ – นายผี – เสนีย์ เสาวพงศ์ และจิตร ภูมิศักดิ์ 
 
ยุค 60s และ 70s นี้แหละที่เป็นยุคสมัยของการ “ขุด-แต่ง-ฟื้นฟู- บูรณะ-จด-และจำ” วีรชน “นอกคอก-นอกกรอบ-นอกทะเบียน” เหล่านี้
 
ในบริบทและบรรยากาศเช่นนี้แหละ ที่จิตร ภูมิศักดิ์ที่ดูเสมือน “ตายอย่างไร้ค่า แต่ต่อมาก้องนาม ผู้คนไถ่ถามอยากเรียน” ที่ทำให้งานคิด-งานเขียน” ของเขา “ถูกขุด-ถูกค้น” ขึ้นมาโดย “เยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่” จนกล่าวได้ว่า จิตรได้ถือกำเนิดใหม่เป็นครั้งที่ 2 
 
หลัง “14 ตุลา 2516” เพียง 2-3 ปี มีผลงานของจิตร ก็ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นจำนวมาก เช่น กวีการเมือง (2517) บทวิพากษ์ว่าด้วยศิลปวัฒนธรรม (2517) นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา (2518) งานแปล เช่น ความเรียงว่าด้วยศาสนา (2519) คาร์ล มากซ์ ประวัติย่อ (2518) ด้วยเลือดและชีวิต : รวมเรื่องสั้นเวียดนาม (2518)
 
ข้าพเจ้าจำได้ว่า ที่แผงหนังสือที่ท่าพระจันทร์นั้น วันหนึ่งข้าพเจ้าเห็นหนังสือหน้าปกแปลกๆ และชื่อเรื่องประหลาดๆ ที่ทำให้ข้าพเจ้าแม้จะจบปริญญาเอก เขียนงานวิทยานิพนธ์ทางประวัติศาสตร์อยุธยามาแล้ว ต้องควักเงินซื้อมาในทันที และก็อ่านจบอย่างรวดเร็วด้วยความรู้สึกที่ “พูดไม่ออกบอกไม่ได้”
 
หนังสือเล่มนั้น ก็คือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” (2517) ที่เคยตีพิมพ์มาแล้วในรูปของบทความในหนังสือ “นิติศาสตร์ฉบับรับศตวรรษใหม่ “ (2500 ซึ่งก็คงไม่ค่อยจะมีคนได้อ่าน หรือแม้แต่รับรู้) งานเล่มนี้ของจิตร แม้จะได้รับการโต้-แย้ง-ปฏิเสธในแง่ของทฤษฏี (มาร์กซีสม์) อย่างรุนแรงจากนักรัฐศาสตร์-นักประวัติศาสตร์ “กระแสหลัก” แต่ก็สร้างความสั่นสะเทือนให้กับ “ภูมิปัญญา” และแนวความคิดเดิมๆ ของ “สยามประเทศไทย” อย่างไม่เคยมีมากก่อน
 
ในขณะเดียวกัน งานหนังสือวิชาการที่หนักแน่นและรัดกุมมากกว่า คือ “ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ที่ถูกฝาก-ฝังและเก็บรักษาต้นฉบับไว้เป็นอย่างดี (โดยสุภา ศิริมานนท์ และประสานงานขุดค้นออกมาให้ได้รับการตีพิมพ์ (2519) โดยชลธิรา สัตยาวัฒนา) ก็เริ่มปรากฏสู่บรรณพิภพหลังจากที่จิตรเสียชีวิตแล้วถึง 10 ปี (2509-2519) 
 
หนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นเล่มท้ายๆ ที่ตีพิมพ์ออกมาได้ก่อนเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค ̉6 ตุลา 2519” (ที่สังคมสยามประเทศไทยไม่เพียงแต่เห็น “อาชญากรรมโดยรัฐ” ใช้กำลังอาวุธทหารและตำรวจ ประหัตประหาร “ประชาชน” กลางกรุงเทพมหานครอีกหนึ่งครั้งในหลายๆ ครั้ง ที่มีมาก่อน และเกิดขึ้นตามหลังมาอีกนั้น ก็ได้เห็นการ “ยึด-ทำลาย-เผา-และคำสั่งห้าม” ทั้ง “หนังสือ-การอ่าน-การคิด-และการเขียน” เราต้องไม่ลืมว่าสมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพ์มือถือ/ไอโฟน ไม่มีอีเมล์ ไม่มีอินเตอร์เน็ท ไม่มี facebook-twitter)
 
ความพยายามในครั้งนั้น ที่จะฟื้นฟู “ระบอบทหาร” และ “การปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้น แม้จะยับยั้ง “กระบวนการประชาธิปไตย” ได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่เพียงไม่กี่ปี ก็ไม่สามารถสกัดกั้น “ผู้คน (ที่) ไถ่ถามอยากเรียน” ได้ ดังนั้นผลงานที่ตามกันออกมาก็มีเช่น “โองการแช่งน้ำ และ ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา” (2524) หรือ “ตำนานแห่งนครวัด” (2525) หรือ “สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา” (2526) 
 
ในขณะที่บทกวีซึ่งเป็นอาวุธที่สำคัญ (pen is mightier than sword) ตามแนวทางการต่อสู้ทางความคิดของจิตรนั้น ก็ได้รับการตีพิมพ์อย่างสมบูรณ์ อันเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการสรรพนิพนธ์ จิตร ภูมิศักดิ์” ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน นั่นคือ “ด้นดั้นดุ่มเดียวคนเดียวแด” (2550) หรือ “ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง” (2551) หรือ “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” (2552)
 
ถึงแม้เราจะไม่อาจจะบอกได้ว่าผลงานของจิตร มีกี่ชิ้นกันแน่ แต่ก็อาจสรุปเป็นเบื้องต้นได้ดังต่อไปนี้ คือ
 
1. ประวัติศาสตร์ เช่น โองการแช่งน้ำ และ ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา
 
2. นิรุกติศาสตร์ เช่น ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมชองชื่อชนชาติ ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย 
 
3. งานแปล เช่น แม่, โคทาน, คนขี่เสือ
 
4. รวมบทกวี ด้นดั้นดุ่มเดี่ยวคนเดียวแด, ถึงร้อยดาวพราวพรายกระจายแสง, คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย (2552) 
 
5. รวมบทความด้านวิจารณ์สังคม
 
6. บันทึกส่วนตัว
 
อาจกล่าวได้ว่าความพยายามของ “ผู้คน (ที่) ใฝ่ฝันอยากเรียน” ที่มาจากหลายฝ่ายหลายกลุ่ม ที่ต่างวัยต่างประสบการณ์ (ที่ควรจะได้รับการบันทึกและจดจำไว้) ด้วยกันนั้น ทำให้จิตร ภูมิศักดิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่วาระการครบรอบ 72 ปีของเขาเมื่อปี พ.ศ.2545 (2002) ได้ทำให้ความเป็น “นักคิด-นักเขียน” ของเขาดูจะยิ่งหนักและแน่นยิ่งขึ้น ถึงกับมีการกล่าวว่าจิตร “เกิดครั้งที่ 3” แล้วกระนั้น 
 
ครับ งานอนุสรณ์สถาน งานอนุสาวรีย์ของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่บ้านหนองกุง จังหวัดสกลนคร ก็คงจะสำเร็จลุล่วงไปได้ ไม่ช้าก็เร็ว แต่ “งานปฏิวัติสังคมสยามประเทศไทย” ที่จิตรใฝ่ฝัน ที่จิตรกระทำมาให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว จับทั้งปากกาและจับทั้งปืน เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่า ที่เป็น “ประชาธิปไตย” ที่เต็มไปด้วย “ภราดรภาพ เสมอภาค และเสรีภาพ” (Fraternity-Equality-Liiberty) นั้นยังไม่จบ และจักต้องดำเนินไปด้วย “คนรุ่นใหม่” ที่จะมีตามติดกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า และนี่ก็เป็นสัจธรรมของสังคมทุกสังคม
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น