โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

“สันติ-อหิงสา” บนเส้นทางการต่อสู้ของสองหญิงแห่งเอเซียเพื่อยุติความรุนแรง: อองซาน ซูจี และ อิรอม ชาร์มีลา ชานุ

Posted: 05 Nov 2010 07:15 AM PDT

เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ให้ยุติความรุนแรงต่อสตรีทั่วโลก อย่างไรก็ตาม บทความนี้มิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะเน้นย้ำถึงความรุนแรงต่อสตรีในวาระดังกล่าว หากแต่ต้องการเล่าถึง ความมุ่งมั่นและบทบาทของผู้หญิงสองคนในการที่จะยุติความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนในแผ่นดินเกิดของพวกเธอ

หญิงหนึ่งยอมถูกจองจำเสรีภาพนานกว่า 20 ปีเพื่อย้ำเตือนให้โลกไม่ลืม การไร้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการจับกุมคุมขังนักโทษการเมืองภายใต้ระบอบเผด็จการทหารในแผ่นดินพม่า

หญิงหนึ่งเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการประท้วงต่อต้านการใช้กฎหมายคุกคามเข่นฆ่าประชาชนต่างชาติพันธุ์ในอินเดีย


ที่มาภาพ: http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/burmamyanmar/5341187/Trial-of-Aung-San-Suu-Kyi-begins-amid-lockdown.html

 

อองซาน ซูจี อายุ 43 ปีเมื่อเธอเริ่มต้นชีวิตทางการเมืองในปี 1988 และเลือกใช้วิถีทางสันติ-อหิงสาในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารที่คุกคามสิทธิเสรีภาพและชีวิตประชาชนในพม่า แม้ไม่มีอาวุธสักชิ้นอยู่ในมือ แต่การต่อสู้ในวิถีทางของเธอตลอด 22 ปีที่ผ่านมาได้สร้างความหวั่นเกรงให้กับรัฐบาลทหารเสียยิ่งกว่าการที่ต้องต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

แม้จะอยู่ภายใต้การจองจำ แต่นามของ “อองซาน ซูจี” ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารพม่าในเวทีโลกกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมานั้นเปรอะเปื้อนมากขึ้นไปทุกที ประชาคมโลกต่างกังขากับ “Road Map to Democracy” ในแบบของเผด็จการทหารพม่า

ตราบที่อองซาน ซูจี ยังถูกจำกัดอิสรภาพในแผ่นดินเกิดของเธอเอง ไม่มีใครเชื่อว่า “การเลือกตั้งทั่วไป” ที่รัฐบาลทหารพม่ากำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 7 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ คือการเลือกตั้งที่เป็นการเปลี่ยนผ่านประเทศพม่าไปสู่ประชาธิปไตยตามที่รัฐบาลทหารประกาศไว้

อองซาน ซูจี กลายเป็นสัญญลักษณ์ของการต่อสู้แบบสันติวิธีที่ประชาคมโลกกล่าวขวัญถึง เช่นเดียวกับมหาตมะ คานธี แห่งอินเดีย และประธานาธิบดีเนลสัน เมนเดลลา แห่งแอฟริกาใต้

คนจำนวนมากเรียกอองซาน ซูจีว่า “สตรีเหล็กแห่งพม่า”
 

ห่างออกไปไม่ไกลนักจากเขตแดนพม่า

ที่รัฐมณีปูร์ ภาคตะวันออกฉียงเหนือของอินเดีย มีอีกหญิงหนึ่งที่ถูกเรียกขานว่า “สตรีเหล็กแห่งมณีปูร์”

ที่มาภาพ: http://word.world-citizenship.org/wp-archive/1626
 

 

อิรอม ชาร์มีลา ชานุ (Irom Sharmila Chanu) อายุเพียง 28 ปีเมื่อเธอประกาศแผนรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลอินเดียด้วยการอดอาหารในเดือนพฤศจิกายน ปี 2000

ชาร์มีลาเป็นทั้งนักเขียนและนักเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิมนุษยชน เธอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษกับกองทัพในการกดขี่ปราบปรามประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ใน 7 รัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย [2] รวมทั้งรัฐมณีปูร์ บ้านเกิดของเธอ

กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 1958 ให้อำนาจพิเศษกับกองทัพในการจับกุม คุมขัง หรือสังหารใครก็ตามที่ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาล ซึ่งมีการใช้อำนาจพิเศษของกองทัพภายใต้กฎหมายนี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน รวมทั้งการสังหารหมู่ประชาชนในเขตที่รัฐประกาศว่าเป็น “พื้นที่ที่ไม่สงบ” ของรัฐทั้งเจ็ดอยู่บ่อยครั้ง

เหตุการณ์ที่ทหารกราดยิงสังหารประชาชนที่ป้ายรถเมล์เมืองมาลอมในรัฐมณีปูร์เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2000 เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ชาร์มีลาประกาศอดอาหารเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกกฎหมายที่เปรียบเสมือนเป็น “ใบอนุญาตฆ่า” ฉบับนี้

แม้ว่าการต่อสู้ของชาร์มีลาจะยังไม่เป็นที่รับรู้กว้างไกลออกไปเท่ากับการต่อสู้ของอองซาน ซูจี แต่วิถีการต่อสู้ของชาร์มีลาโดยการอดอาหารยาวนานถึง 10 ปี ก็ทำให้โลกภายนอกได้รับรู้ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิมนุษชนที่รัฐบาลกระทำต่อประชาชนในรัฐมณีปูร์ของเธอ

นามของ “อิรอม ชาร์มีลา ชานุ” กระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลอินเดีย และรัฐบาลไม่สามารถปล่อยให้เธอตายได้

ตอนที่ชาร์มีลาเริ่มต้นอดอาหารนั้น ไม่เพียงแต่รัฐบาลเท่านั้นที่วางเฉย แต่แทบจะไม่มีใครสนใจเธอเลย รวมทั้งสื่อมวลชน ไม่มีใครเชื่อหรือคาดคิดเลยว่าชาร์มีลาจะอดอาหารประท้วงได้ยาวนานมาครบ 10 ปีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่เพิ่งผ่านมา และเธอยังมีชีวิตอยู่ด้วยการถูกบังคับให้รับสารอาหารผ่านท่อต่อเข้าไปในโพรงจมูกของเธอ

รัฐบาลอินเดียเริ่มต้นจัดการกับการประท้วงของชาร์มีลามาตั้งแต่ปี 2000 ด้วยการให้ตำรวจจับกุมเธอในข้อหา “พยายามฆ่าตัวตาย” โดยความผิดฐาน “พยายามฆ่าตัวตาย”นั้นมีโทษปรับและจำคุกสูงสุด 1 ปี ชาร์มีลาถูกนำตัวไปคุมขังไว้แต่เธอยังยืนยันที่จะอดอาหารจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกกฎหมาย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถทำอะไรเธอได้นอกจากการจองจำร่างกายที่ทรุดโทรมจากการอดอาหาร ชาร์มีลาจึงถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่โรงพยาบาลในกรุงนิวเดลฮีโดยที่เธอถูกบังคับให้รับสารอาหารผ่านท่อที่ต่อเข้าทางโพรงจมูกของเธอ
แต่เมื่อได้รับการปล่อยตัว ชาร์มีลายังคงอดอาหารต่อ

ชีวิตของชาร์มีลาวนเวียนอยู่ในวงจรของการถูกจับกุมในข้อหา “พยายามฆ่าตัวตาย” ต้องโทษจองจำ และได้รับอิสรภาพมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ครั้งใดที่ถูกจับกุมฐาน “พยายามฆ่าตัวตาย” เธอก็จะถูกนำตัวไปคุมขังในโรงพยาบาล ถูกบังคับให้รับสารอาหารผ่านท่อในระหว่างต้องโทษคุมขัง แต่เมื่อพ้นโทษ ชาร์มีลาจะดึงท่ออาหารออกทันที และอดอาหารประท้วงรอบใหม่ ชาร์มีลาถูกจับกุมและปล่อยตัวเป็นวงจรแบบนี้มานับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2000 จนถึงทุกวันนี้ และเธอยังยืนยันที่จะต่อสู้ด้วยวิธีนี้ต่อไปจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษกับกองทัพในการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเข่นฆ่าประชาชนต่างชาติพันธุ์

เมื่อได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจูในปี 2007 ชาร์มีลามอบเงินรางวัลทั้งหมดให้กับเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐมณีปูร์

ชาร์มีลาบอกว่าเธอไม่ต้องการชื่อเสียง เกียรติยศใด เธอเพียงต้องการยุติความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน และเธอกำลังใช้ร่างกายและจิตวิญญานของเธอเป็นอาวุธในการต่อสู้ความรุนแรง

ภูมิหลังทางครอบครัวของชาร์มีลานั้นแตกต่างจากอองซาน ซูจี มาก ชาร์มีลาเป็นลูกสาวคนสุดท้องในจำนวนลูก 9 คนของครอบครัวคนงานในโรงพยาบาลสัตว์ มีบิดาที่ไม่รู้หนังสือ ประวัติทางการศึกษาของเธอนั้นไม่ปรากฎชัด แต่ ดร.ทิพยติ ปรียา (Dr. Deepti Priya Mehrotra) ผู้บันทึกเรื่องของชาร์มีลาในหนังสือชื่อ “Burning Bright: Irom Sharmila and the Struggle for Peace in Manipur” [3] เล่าว่าในห้องของชาร์มีลานั้นมีหนังสือเกี่ยวกับนิยายพื้นบ้านญี่ปุ่น หนังสือโยคะ หนังสือเกี่ยวกับเนลสัน เมนดาลา, เช กูวาร่า และ คานธี

“การตอบโต้ด้วยอาวุธไม่อาจยุติความรุนแรงได้ ร่างกายของฉันคืออาวุธ การอดอาหารคืออาวุธเดียวที่ฉันมี ฉันจะไม่ยุติการอดอาหารจนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกกฎหมายนี้” เธอประกาศ


ที่มาภาพ: http://www.thehindu.com/news/national/article627268.ece
 

เวลา 10 ปีของชาร์มีลา และ 22 ปีของอองซาน ซูจี บนวิถีทางการต่อสู้ที่พวกเธอเชื่อมั่นนั้นผ่านไปพร้อมๆ กับความรับรู้ที่เพิ่มขึ้นของโลกภายนอกต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่าและรัฐมณีปูร์

ปัจจุบัน อองซาน ซูจี อายุ 65 ปี และชาร์มีลา อายุ 38 ปี

สตรีทั้งสองต่างยังคงมีความมุ่งมั่นเดียวกันที่จะต่อสู้ต่อไปบนวิถีทาง“สันติ-อหิงสา” เพื่อยุติความรุนแรงที่อำนาจรัฐกระทำต่อประชาชน

 

แหล่งข้อมูล
http://www.bbc.co.uk/news/world-south-asia-11685044
http://www.imow.org/wpp/stories/viewStory?storyId=1084
http://www.independent.co.uk/news/world/asia/one-womans-silent-quest-for-peace-on-indias-wild-frontier-1962571.html
http://www.youtube.com/watch?v=5xw5vSrRkjE
http://www.tehelka.com/story_main23.asp?filename=Ne120906The_unlikely_CS.asp

[1] นักเขียนอิสระ/ ปัจจุบันได้รับทุน “ปัญญาชนสาธารณะแห่งเอเซีย” จากมูลนิธินิปปอน กำลังทำวิจัยหัวข้อ “ผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่สาธารณะ..จากบันทึกประวัติศาสตร์ถึงบทบาทในศตวรรษที่ 21” ที่ประเทศอินโดนิเซีย
[2] เจ็ดรัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่เป็นเขตปกครองตัวเอง คือ อัสสัม, อรุณราจาลประเทศ, มณีปูร์, มิโซรัม, เมฆขลา, นากาแลนด์ และตรีปุระ (Assam, Arunachal Pradesh, Manipur, Mizoram, Meghalaya, Nagaland and Tripura).
[3] พิมพ์เดือนกรกฎาคม 2009 (Penguin Books)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวพม่าในไทย ชุมนุมคว่ำบาตรเลือกตั้งวันอาทิตย์นี้

Posted: 05 Nov 2010 06:47 AM PDT

ผู้ชุมนุมชาวพม่าและชาวต่างชาติกว่า 30 คน ภายใต้ชื่อกลุ่ม "Free Burma" ชุมนุมข้างสถานทูตพม่า เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในพม่าในวันที่ 7 พ.ย.ที่จะถึงนี้

(5 พ.ย.53) เมื่อเวลา 10.30น. บริเวณถนนปั้น ข้างสถานทูตพม่า ผู้ชุมนุมชาวพม่าและชาวต่างชาติกว่า 30 คน ภายใต้ชื่อกลุ่ม "Free Burma" ชุมนุมเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในพม่าในวันที่ 7 พ.ย.ที่จะถึงนี้ โดยเวลา 11.00น. พ.ต.ท.สินสวัสดิ์ วรภัทร์ รอง ผกก.5 บก.ส.3 ได้รับมอบหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุม โดยรับปากว่าจะนำส่งให้สถานทูตพม่าต่อไป

ทั้งนี้ แถลงการณ์ของกลุ่ม Free Burma เรียกร้องให้สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council: SPDC) เลิกล้มการเลือกตั้งหรือผลการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ปล่อยนักโทษการเมืองกว่า 2,100 คน เปิดการเจรจาสามฝ่ายกับฝ่ายค้านและตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงให้หลักประกันว่าจะบังคับใช้กฎหมายและคำสั่งตามมาตรฐานสากล อย่างน้อยสามเดือนหลังการเลือกตั้ง

ตัมเป ชาวพม่าซึ่งอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 12 ปี กล่าวว่า การมาชุมนุมในวันนี้ (5 พ.ย.) สำคัญมาก เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของทหารพม่ามานานหลายสิบปี มาถึงวันนี้ อยากบอกว่าให้พอได้แล้ว ให้ปล่อยนักโทษการเมือง รวมถึงนางอองซาน ซูจี และให้คืนอำนาจให้ประชาชนเสียที

ตัมเป กล่าวว่า เขาจะไม่กลับไปลงคะแนนเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ โดยระบุว่า การเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะเกิดจากการจัดการของคณะทหาร รวมถึงไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่ร่างเมื่อปี 2550 ด้วย เพราะไม่ได้มาจากประชาชน

กูนัย ชาวพม่าจากรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 15 ปีแล้ว กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้น เป็นเพียงบการทำให้โลกเห็นว่าพม่ามีการเลือกตั้งเท่านั้น ขณะที่กลุ่มที่ปกครองจะยังคงเป็นกลุ่มเดิม แค่เปลี่ยนจากชุดทหารเป็นชุดพลเรือน นอกจากนี้ยังวิจารณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยว่าไม่มีความโปร่งใส เพราะไม่อนุญาตให้สื่อเข้าไปทำข่าวในประเทศ

กูนัยกล่าวถึงสถานทูตพม่า ประจำประเทศไทยด้วยว่า ที่ผ่านมา เมื่อประชาชนพม่ามีปัญหาด้านต่างๆ อาทิ พาสปอร์ต หรือการถูกละเมิดสิทธิ กลับไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากสถานทูต แต่เมื่อเร็วๆ นี้ หลังกำหนดวันเลือกตั้ง สถานทูตได้ประกาศว่ายินดีจะช่วยเหลือคนงานพม่าที่ประสบปัญหา โดยจะส่งกลับประเทศ ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องหาคะแนนเสียง 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทวิพากษ์ศาลยุติธรรม: ตอนที่ 3 บทสรุปโครงสร้างผู้พิพากษา

Posted: 05 Nov 2010 02:10 AM PDT

ชื่อบทความเดิม: ศาลยุติธรรม : ยุติอย่างเป็นธรรม หรือ ยุติความเป็นธรรม; ตอนที่ 3 บทสรุปโครงสร้างผู้พิพากษา
 
 
 
อย่างที่กล่าวแล้ว ระบบของศาลได้สร้างเครือข่ายที่ทำให้ผู้พิพากษาระดับสูงมีสายใยต่อผู้พิพากษาระดับล่างสายใยเหล่านี้ไม่เพียงผู้พิพากษาที่ยังทำงานอยู่ ผู้พิพากษาที่เกษียรแล้วก็ยังเคยเป็นอาจารย์ผู้อบรมเคยเป็นอาจารย์ฝึกงานภาคปฏิบัติ เคยเป็นหัวหน้าศาล nเคยเป็นผู้พิพากษาระดับบริหารของผู้พิพากษาที่ยังปฏิบัติงานอยู่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สายใยที่ยังส่งต่อถึงผู้พิพากษา? หากผู้พิพากษาที่เกษียณแล้วไปเป็นที่ปรึกษาบริษัทหรือเปิดสำนักงานทนายความคดีความของบริษัทที่มีอดีตผู้พิพากษาเป็นที่ปรึกษาหรือที่จ้างสำนักงานทนายความของอดีตผู้พิพากษาคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะเชื่อมั่นในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลได้?
 
หากอดีตผู้พิพากษาที่เกษียณเป็นอาจารย์บรรยายกฎหมายของเนติบัณฑยสภาเป็นอาจารย์ที่ได้รับการยกย่องมีผลงานทางวิชาการมากมายบุคคลเช่นนี้ย่อมมีสายใยมากถึงขั้นเป็น "บารมี"หากรับเป็นที่ปรึกษาของผู้ประกอบการธุรกิจการค้าที่มีคดีความขึ้นสู่ศาลเป็นประจำจะมีผลต่อคดีที่บริษัทนั้นมีอยู่หรือไม่?
 
กรณีที่เป็นรูปธรรมนาย ป.ซึ่งคนรุ่นผมรุ่นอายุ 50 ปี ลงมาและเคยเรียนเนติน่าจะรู้จักเป็นอย่างดี เขาเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เกษียรแล้วปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับบริษัทที่ประกอบการค้าแห่งหนึ่งรวมถึงธนาคาร ก. ซึ่งมีคดีความในศาลเป็นปกติตามสภาพการประกอบธุรกิจการค้า(ประชาไทพิจารณาใช้ชื่อย่อบุคคลเนื่องจากปัญหาทางกฎหมาย)
 
ได้ยินมาว่าปัจจุบัน นายป.ยังคงเป็นอาจารย์บรรยายกฎหมายเนติอยู่คำถามคือ
 
มีผู้พิพากษาที่ยังปฏิบัติงานอยู่กี่คนเคยเป็นนักศึกษาเนติที่ฟังการบรรยายของนาย ป.
 
มีผู้พิพากษาปัจจุบันกี่คนที่เคยเป็นลูกศิษย์อบรมภาคทฤษฎีของนาย ป.
 
มีผู้พิพากษาปัจจุบันกี่คนที่เคยเป็นลูกศิษย์การฝึกงานของนาย ป.
 
มีผู้พิพากษาปัจจุบันกี่คนที่เคยเป็นผู้พิพากษาภายใต้การบริหารงานของนาย ป.
 
เช่นนี้การที่ธนาคาร ก. มีนาย ป. เป็นที่ปรึกษาไม่มีผลต่อคดีความในศาลที่มีธนาคารก. เกี่ยวข้องหรือเป็นคู่ความ???
 
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ตอนที่ 1 คงพอเห็นภาพได้ว่าศาลไทยมีความเป็นอิสระจริงหรือไม่เป็นกลางจริงหรือไม่ไม่สามารถแทรกแซงจริงหรือไม่
 
แน่นอนว่าไม่มีระบบที่สมบูรณ์แบบในโลกนี้มีแต่ระบบที่ดีพอดีพอในระยะเวลาหนึ่ง เท่านั้นแต่คำถามคือระบบนี้ดีพอในระยะเวลานี้หรือไม่
 
ปัญหาของระบบนี้อยู่ตรงไหน
 
กล่าวโดยสรุปปัญหาของระบบนี้มาจากกระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นผู้พิพากษาและการเลื่อนตำแหน่ง
 
กระบวนการคัดเลือกคนที่ขึ้นอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มเดียวเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในระบบอยู่แล้วระบบที่คัดคนที่มีความเห็นต่างออกไป
 
ที่สำคัญคือการเลื่อนตำแหน่งตราบใดที่มีการเลื่อนตำแหน่งก็ย่อมมีคนปราถนาตำแหน่งสูงขึ้นมีคนที่มีอำนาจตัดสินให้ใครได้เลื่อนตำแหน่งไม่มีทางทำให้ทุกคนที่อาวุโสถึงได้เลื่อนตำแหน่งครบทุกคนไม่มีทางสร้างระบบการเลื่อนตำแหน่งที่ "ไม่ต้องมีคนตัดสินใจ"
 
ถึงเวลาปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้พิพากษาหรือยัง
 
ถึงเวลาหรือยังที่ต้องยกเลิกการเลื่อนตำแหน่ง
 
ถึงเวลาหรือยังที่การเข้าดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาต้องเชื่อมโยงกับประชาชนและให้อยู่ในตำแหน่งตามวาระโดยไม่มีการเลื่อนตำแหน่ง
 
ถึงเวลาหรือยังที่ต้องมีการถ่วงดุลผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดีด้วยการนำระบบลูกขุนมาใช้
 
ถึงเวลาหรือยังที่ศาลต้องเชื่อมโยงกับประชาชนด้วยการนำระบบลูกขุนมาใช้
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้งออนไลน์: ตุลาการขี้เหม็น

Posted: 05 Nov 2010 01:49 AM PDT

 
 
ขอยกสองจั๊กกะแร้ชูสนับสนุนคำกล่าวของท่านอาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล “ตุลาการไม่ใช่โสเภณี” ถูกต้องแล้วคร้าบ! เพราะตุลาการท่านมีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีอำนาจ มียศฐาบรรดาศักดิ์ มีเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งรถประจำตำแหน่ง ท่านคงจะไม่ “ขายตัว” เพื่อแลกกับเงิน
 
แต่ถ้ามองมุมกลับกัน โสเภณีที่มาจากครอบครัวยากจน ชาวนาชาวไร่ที่ล้มละลาย จนแทบไม่มีกิน ต้องเข้ามา “ขายตัว” ในเมืองหลวง หรือพัทยา ภูเก็ต แลกกับเศษเงินเลี้ยงดูพ่อแม่แก่ชรา ก็ใช่ว่าจะเลวทรามต่ำช้าตรงไหน ฉะนั้น ถ้ามีโสเภณีซักคนลุกขึ้นมาบอกว่า “โสเภณีไม่ใช่ตุลาการ” ก็ถูกต้องเหมือนกันใช่ไหมคร้าบ อาจารย์จรัญ
 
โชคดีนะที่เมืองไทยไม่มีสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพโสเภณี ไม่งั้น โสเภณีคงลุกขึ้นมาสวนว่า อย่าเอาสถาบันโสเภณีไปเปรียบเทียบกับสถาบันตุลาการ
 
สิ่งที่อาจารย์จรัญพยายามจะพูดจึงผิดประเด็นทั้งเพ เพราะกระบวนการที่สังคมกำลังตรวจสอบศาล ไม่ใช่จะบอกว่า “ตุลาการเป็นโสเภณี” แต่ต้องการบอกว่า ตุลาการก็เป็นมนุษย์ธรรมดา “มนุษย์ขี้เหม็น” เหมือนเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายตะหาก
 
พูดอย่างนี้ไม่ดูหมิ่นตุลาการที่ไหนเลยนะครับ เพราะถ้าท่านฟ้องผมขึ้นเป็นคดีในศาล ผมก็ต้องท้าพิสูจน์โดยให้ท่านขี้ออกมาให้องค์คณะดมว่าหอมหรือไม่ ฮิฮิ ถ้าท่านสามารถหาพยานหลักฐานมายืนกรานว่าขี้ท่านหอม ก็แล้วไป
 
แต่ความจริงคือเราทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์ขี้เหม็น นี่เป็นวิทยาศาสตร์ เราทุกคนต่างก็ไม่หลุดพ้นจากความเป็นมนุษย์ที่ยังมีโลภะ โทสะ โมหะ กิเลส ตัณหา ราคะ นี่เป็นหลักธรรมดาและธรรมชาติของพุทธ เราทุกคนไม่มีใครเป็นเทพเทวา ที่ถูกต้องเสมอ ไม่มีผิดไม่มีพลาด ไม่มีอคติ ไม่มีรักเกลียด โทสะโมหะ ไม่ว่าจะเป็นตุลาการหรือโสเภณี ต่างก็ไม่ใช่นักบุญหรืออรหันต์
 
นี่คือหลักการประชาธิปไตย ที่ใครมีอำนาจก็ต้องถูกตรวจสอบ ไม่ใช่ปั้นหน้าเป็นเปาบุ้นจิ้นแล้วจะหลบเลี่ยงการตรวจสอบได้
 
เราทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์ขี้เหม็น ไม่ใช่ว่าสวมเสื้อครุยขึ้นนั่งบัลลังก์แล้วจะกลายเป็นโสดาบัน เพื่อนคุณเพื่อนผมที่เรียนมหาลัยด้วยกันมา กินเหล้าสูบบุหรี่ตีปี๊บมาด้วยกัน ใช่ว่าจบนิติสอบเป็นผู้พิพากษาแล้วจะแปลงร่างเป็นผู้ทรงศีล จริงไหม
 
ตุลาการก็เป็นมนุษย์ขี้เหม็น เพียงแต่มีข้อห้ามข้อจำกัดในการประพฤติปฏิบัติมากกว่าข้าราชการทั่วไป จึงไม่ต้องแปลกใจที่หลายคนเวลาอยู่ในรั้วตุลาการดูภูมิฐานน่านับถือ แต่พอข้ามรั้วออกนอกกรอบมาเป็นองค์กรอิสระหรือมีอำนาจทางการเมืองแล้ว “ลอกคราบ” ให้เห็นตัวตน บ้างก็ดี บ้างก็เลอะ บ้างก็เอียงกะเท่เร่ บ้างก็เป๋ไปเป๋มา บ้างก็กะเปิ๊บกะป๊าบเป็นเห็ดสด ฯลฯ ไม่ได้สูงส่งดีเด่กว่าผู้ที่มาจากสาขาอาชีพอื่น
 
แต่ซ้ำร้ายที่พวกท่านมักจะมีโมหะ คิดว่าตนเองสูงส่งกว่าคนอื่น มีความชอบธรรมที่จะตัดสินผู้อื่น กระทั่งก้าวล่วงไปตัดสินประเทศแทนอำนาจอธิปไตยของปวงชน
 
กระบวนการที่สังคมกำลังตรวจสอบศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนหนึ่งอาจเป็นข้อครหาที่พิสูจน์ไม่ได้ เช่น ข้อครหาว่าช่วยเหลือพรรคประชาธิปัตย์ หรือเป็นข้อกล่าวหาที่พิสูจน์ยาก เช่น ข้อกล่าวหาว่าทุจริตข้อสอบ
 
แต่สาระสำคัญมันก็คือกระบวนการตรวจสอบพฤติกรรม ความเหมาะสม จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่ง-อย่างที่พวกท่านตุลาการทั้งหลายเคยว่าเขาไว้ ว่านักการเมืองไว้นั่นแหละ
 
ในขณะที่สังคมกำลังตรวจสอบการตั้ง “กิ๊ก” หรือคนใกล้ชิด พรรคพวก ญาติพี่น้อง มาเป็นที่ปรึกษาหรือนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร “คลิปลับ” คดียุบพรรค ก็เผยความจริงอีกด้านว่า พสิษฐ์ ศักดาณรงค์ “น้องปอย” (เรียกน้องเพราะคงอายุน้อยกว่าผม และเรียกแบบนี้น่ารักดี) เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ มีที่มาอันพิสดารคือเป็นนักกายวิภาคจาก ร.พ.บำรุงราษฎร์ ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวกันเลยกับงานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ได้รับแต่งตั้งมากินเงินเดือนจากภาษีอากรประชาชน 47,100 บาท
 
ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์และตุลาการพยายามโบ้ยความผิดให้ “น้องปอย” เป็นผู้ร้าย วางแผนจัดฉากอัดเทปคลิปลับ โดยชี้ไปทำนองว่าได้ค่าจ้างจากทักษิณหรือพรรคเพื่อไทย “ตามสูตร”
 
แต่เราก็ได้รับทราบว่า ประธานและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจแต่งตั้งที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ กระทั่งคนขับรถ โดยไม่ต้องมีหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง หรือพูดง่ายๆ ว่าตั้งได้ตามอำเภอใจของท่าน
 
กระทั่งฝ่ายค้านเอาข้อมูลมาแฉว่า มีตุลาการ 4 ท่านตั้งลูกตั้งหลานตัวเองเป็นเลขาฯ ผู้ช่วยเลขาฯ ผมก็ยังไม่เห็นมีใครปฏิเสธ หรือออกมาชี้แจง ทั้งที่จริง ตุลาการทั้ง 9 ท่านควรจะเปิดแถลงข่าว ชี้แจงต่อสาธารณชนว่า ท่านตั้งใครเป็นที่ปรึกษา เป็นเลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ หรือผู้เชี่ยวชาญ แต่ละคนมีความรู้ความสามารถความเหมาะสมอย่างไรบ้าง (และสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ก็ควรเปิดเผยข้อมูลย้อนหลังว่าตุลาการชุดก่อนๆ ตั้งใครบ้างมากินเงินเดือน)
 
แน่นอนครับ การตั้งลูกตั้งหลานไม่ผิดกฎหมายข้อห้ามที่ไหนหรอก เพราะ ส.ส.มันก็ยังเถียงคอเป็นเอ็นว่าตั้งกิ๊กไม่ผิด แต่เรื่องของจริยธรรมความเหมาะสม ผมคงไม่ต้องสอนตุลาการว่ายน้ำ
 
เรื่องการทุจริตข้อสอบก็เหมือนกัน ถามหน่อยว่ากรณีลูกสาวทักษิณต้องพิสูจน์กันให้แจ่มแจ้งแดงแจ๋ไหม แค่มีเงื่อนงำไม่ชอบมาพากล สังคมก็ไม่ไว้วางใจแล้ว
 
ฉะนั้นในกรณีนี้ ตุลาการทุกคนควรทำอย่างอาจารย์จรัญ คือออกมาแถลงให้ทราบว่ามีลูกกี่คนมีหลานกี่คนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสอบเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ (และไม่ได้เป็นเลขา ผู้ช่วยเลขา) ขณะที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องเปิดเผยว่าผู้ที่สอบได้มี่กี่คน เป็นลูกหลานตุลาการกี่คน แม้จะเป็นลูกหลานตุลาการศาลอื่น แต่ก็มีความเกี่ยวข้องสนิทใกล้ชิดได้ในแวดวงภิวัตน์
 
คือถ้าตัวเลขลูกหลานตุลาการสอบได้ถึงสิบกว่าคนจริงๆ สังคมก็ต้องกังขาละครับ ยิ่งถ้าเป็นลูกหลานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ท่านอาจจะบอกว่าเด็กสอบได้เอง ไม่มีใครบอกข้อสอบ โอเค ไม่มีใครพิสูจน์ได้หรอกว่าทุจริต แต่ถามว่ามันต่างกันตรงไหนกับ “อุ๊งอิ๊งโมเดล”
 
นี่ยังไม่อยากพูดข้ามไปถึงการที่เราวิพากษ์วิจารณ์ ส.ส. สว.ใช้งบทัวร์นอก แล้วปรากฏว่าสำนักงานศาลยุติธรรมก็มีงบดูงานต่างประเทศเหมือนกัน ตั้งแต่เดือน ก.พ.ถึง ก.ย.17 ครั้ง 37.5 ล้านบาท มิบังอาจกล่าวหาว่าใช้งบทัวร์นอก แต่กรณีเช่นนี้ สำนักงานศาลยุติธรรมควรแจกแจงขึ้นเว็บไซต์ว่าแต่ละคณะมีใครไปบ้าง ไปดูงานกี่วัน ท่องเที่ยวกี่วัน ช็อปกี่วัน
 
 
ฟ้อง พรบ.คอม!
 
แทนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะทำความกระจ่างเรื่องการแต่งตั้งเลขา ผู้ช่วยเลขา เรื่องการสอบเข้ารับราชการดังกล่าว ว่าไม่มีลูกหลานว่านเครือของท่านเกี่ยวข้อง ท่านกลับไปแจ้งความเอาผิดคนปล่อยคลิป ถามว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของศาลรัฐธรรมนูญแล้วหรือครับ
 
นี่ยังไม่นับตุลาการบางคนที่อยากให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยเป็นที่สุด มีผลผูกพันทุกองค์กร ไปแอบอยู่ข้างหลังศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง โดยเหตุที่ว่าสองศาลนั้นมีกฎหมายละเมิดอำนาจศาลคุ้มครอง
 
โจ๊กสุดๆ เลยครับ ศาลที่มีศักดิ์สูงสุดจะยอมลดศักดิ์ลงเพื่อหนีคำวิจารณ์ ทั้งที่การเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องพร้อมรับคำวิจารณ์เพราะการตัดสินคดีมหาชนไม่ว่าเรื่องใดๆ ต้องมีผลกระทบต่อสาธารณะ ถ้าไม่กล้ารับคำวิจารณ์ก็อย่ามาเป็นสิครับ มีอย่างที่ไหนจะให้ตัดสินแล้วมีแต่คนยกย่องสดุดีแซ่ซ้องสรรเสริญ
 
คลิปที่ปล่อยออกมาทั้งหมด 8 คลิป นอกเสียจากคลิปแรกที่ผมวิจารณ์ไปแล้วว่าไม่สมควร ทำให้ประเด็นสับสน ถามว่าคลิป 2 ที่พสิษฐ์คุยกับวิรัช ซึ่งส่อความไม่ชอบมาพากล แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างยิ่งของเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ กับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทีมทนายคดียุบพรรค ที่ลักลอบมาพบปะหารือกัน
 
คนปล่อยคลิปเอาพฤติกรรมเช่นนี้ออกมาแฉ มีความผิดด้วยหรือ ใครควรมีความผิดกันแน่ ระหว่างคนในคลิปกับคนปล่อยคลิป
 
ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยเป็นที่สุด มีผลผูกพันทุกองค์กร เห็นว่าคนปล่อยคลิปผิด ต่อไป ถ้ามีคนดักถ่ายคลิปหลอกล่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ หรือผู้พิพากษา ทุจริตรับสินบน คนถ่ายคลิปและคนปล่อยคลิปก็ผิดหมดใช่หรือไม่ (นักข่าวซันเดย์ไทม์ที่หลอกล่อกรรมการฟีฟ่าถ้ามาอยู่เมืองไทยคงติดคุกหัวโต)
 
คลิป 2 เมื่อเผยแพร่ออกมา ศาลรัฐธรรมนูญทำถูกแล้วที่ปลดพสิษฐ์ออกจากตำแหน่ง แต่สิ่งที่สังคมทวงถาม ก็คือความรับผิดชอบของผู้เป็น “นาย” โดยตรง ผู้ที่แต่งตั้งพสิษฐ์ ใช้งานพสิษฐ์ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดใดเลย
 
คลิปที่ 3-4-5 ที่บันทึกการหารือของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีแนวโน้มจะเข้าข่ายความผิด แต่เป็นความผิดฐานใด ยังเป็นเรื่องที่ต้องตีความกันสนุก สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกล่าวโทษ (เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม) ว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157,164,323 สรุปก็คือเป็นเจ้าพนักงานเผยแพร่ความลับทางราชการหรือเปิดเผยความลับให้ผู้อื่นเสียหาย ต่อมาตำรวจไปตีความว่าผิดมาตรา 198 หมิ่นศาล ขัดขวางการพิจารณาของศาล
 
ที่ว่าต้องตีความสนุกเพราะมันมีหลายมุมครับ เช่นที่ท่านคุยกันในคลิปนั่น ถือเป็นการพิจารณาคดี หรือเป็นแค่การประชุมหารือ ถ้าไม่ใช่การพิจารณาคดีก็ไม่เข้ามาตรา 198 แล้วถ้าใช้มาตรา 157,164 ผู้กระทำผิดก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ศาล แต่ถามว่าใครแอบถ่ายและเผยแพร่กันแน่ ถ้าพสิษฐ์แอบถ่ายและเผยแพร่ ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจต้องตีความว่า เลขานุการประธานศาลเป็นเจ้าพนักงานหรือเปล่า (เพราะไม่ได้เป็นข้าราชการประจำ)
 
อย่างไรก็ดี ให้สังเกตไว้ว่าคำแถลงวันที่ 27 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญพยายามเลี่ยงจะเจาะจงถึงคลิป 2 เพียงพูดคลุมๆ ว่า 3 คลิปหลังเป็นความลับทางราชการ
 
แต่พอคลิปที่ 6-7-8 โผล่ออกมา มีบทสนทนาชัดแจ๋วของ “น้องปอย” กับใครไม่รู้ นี่ไม่ใช่ความลับทางราชการแล้วนะครับ ไม่ใช่การประชุมตุลาการ ไม่เข้าข่ายมาตรา 157,164,323 หรือแม้แต่ 198 เพราะถ้าจะเป็นเรื่องเสียหายก็เสียหายเฉพาะตุลาการบางคน ไม่ใช่เรื่องขององค์กร (และเมื่อสงสัยว่าจะมีทุจริต ก็ถือเป็นการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ดำรงตำแหน่ง)
 
ถามว่าศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยถือเป็นที่สุดมีผลผูกพันทุกองค์กร ท่านไปพลิกตำรากฎหมายฉบับไหนมาใช้
 
ท่านใช้ พรบ.คอมพิวเตอร์ครับ! ท่านแจ้งความให้ดำเนินคดีอาญากับผู้ “นำข้อความอันเป็นเท็จ” เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ผ่านการตัดต่อเสียงและภาพ และถอดเทปคำพูดมาเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(2) และ (5)
 
คราวนี้ใช้ทั้งคลิปชุดแรกและชุดที่สองเลยด้วย
 
ศาลรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย ควรจะมีอำนาจหน้าที่ตีความกฎหมายให้ “ภิวัตน์” เปิดกว้างให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพมากที่สุด กฎหมายใดที่ปิดกั้นสิทธิประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญสามารถตีความให้เป็นโมฆะ
 
แต่คราวนี้ ศาลรัฐธรรมนูญกลับไปใช้กฎหมายเผด็จการอย่าง พรบ.คอมพิวเตอร์มาปกป้องตัวเอง
 
นักวิชาการท่านใดเก่งกฎหมายลองแปลข่าวนี้ส่งไปให้วงการกฎหมายสากลทราบหน่อยสิครับ พร้อมกับตัวบท พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้ชาวโลกเขารู้ ไม่ต้องต่อเติมเสริมความเห็นใดใดเลย นักกฎหมายทั่วโลกจะเห็นเอง
 
ถามว่าอะไรคือ “ข้อความอันเป็นเท็จ” พิสูจน์กันตรงไหนล่ะ ในเมื่อมันเป็นข้อความที่ทำให้คนเกิดข้อกังขา อาจารย์จรัญฉวยโอกาสที่ข้อความในคลิปพูดถึงตุลาการชื่อ “จรัญ” แล้วบอกว่าไม่ใช่ท่าน เป็นความเท็จ แต่แน่ใจได้อย่างไรว่าไม่มีตุลาการอื่นชื่อ “จรัญ” (ผมแน่ใจได้อย่างเดียวว่าไม่ใช่พี่จรัล ดิษฐาอภิชัย)
 
ทำไมจึงต้องใช้กฎหมายเผด็จการมาปิดปากคนละครับ แล้วท่านแน่ใจหรือว่าปิดได้ ถ้ามีคลิปอีก ท่านแน่ใจหรือว่ากั้นอยู่ ทำไมท่านไม่ทำให้ทุกอย่างแจ่มกระจ่างเสีย เช่น ใครที่ถูกสงสัยว่าอยู่ในคลิป ก็ต้องออกมาชี้แจงว่าเป็นตัวท่านจริงไหม พูดอะไรไว้ และต้องรับผิดชอบคำพูด รับผิดชอบการกระทำ เพื่อปกป้ององค์กรและสถาบัน ซึ่งไม่ใช่แค่สถาบันศาลรัฐธรรมนูญแล้วตอนนี้ แต่มันกระทบไปทั้งสถาบันตุลาการ (น่าแปลกใจที่ตุลาการส่วนอื่นยังเฉยอยู่ได้)
 
เอ้า ถ้าอาจารย์จรัญท่านแอ่นอกออกมายืนยันว่าไม่ได้ตั้งลูกตั้งญาติเป็นเลขา ไม่มีวงศ์วานว่านเครือมาสอบเป็นข้าราชการ ไม่ได้อยู่ในคลิปลับ ท่านก็พิสูจน์ตัวเองแล้ว แต่คนอื่นๆล่ะ จะแอบบังหลังอาจารย์จรัญอยู่อย่างนี้หรือ
 
ข่าวอื้อฉาวในศาลรัฐธรรมนูญยังไม่หยุดแค่นี้ เพราะเท่าที่อ่านบทวิเคราะห์ในมติชนออนไลน์ ยังพาดพิงถึงการต่อรองช่วงชิงตำแหน่ง ว่าอาจเป็นสาเหตุให้มีการบันทึกคลิปไว้ต่อรองกัน
 
นี่ยังไม่นับวิกฤติศรัทธาที่จะเกิดขึ้นกับคดียุบพรรค ซึ่งคนจำนวนมากไม่เชื่อถืออยู่แล้วตั้งแต่แรก
 
เอาแค่คดีที่ท่านวินิจฉัยให้ 6 ส.ส.ถือหุ้นพ้นจากตำแหน่งก็พอ ส.ส.ถือหุ้นบริษัทมหาชนที่รับสัมปทานรัฐและเป็นกิจการสื่อ เขาซื้อหุ้นในตลาด ถือครองจำนวนน้อยนิด ไม่มีอำนาจตัดสินใจในบริษัท แต่ท่านตัดสินว่าเขาทำผิดข้อห้ามทางจริยธรรมซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องพ้นสภาพ
 
ถามว่าในขณะที่ท่านต้องข้อครหาว่าตั้งลูกหลานมากินเงินเดือนครองตำแหน่ง หรือช่วยเหลือในการสอบ โดยที่ท่านยังไม่สามารถเคลียร์ให้สาธารณชนหายข้องใจ แล้วท่านจะไปตัดสิน “ความผิดทางจริยธรรม” ของนักการเมืองได้อย่างไรละครับ
 
มันก็ไม่ต่างกับการที่ท่านเปิดพจนานุกรมวินิจฉัยว่าทำกับข้าวออกทีวีเป็น “ลูกจ้าง” แต่ตัวเองไปรับจ็อบบรรยายตามมหาวิทยาลัยไม่ใช่ “รับจ้าง” ทั้งที่ได้ค่าตอบแทนเหมือนกัน
 
                                                            “ใบตองแห้ง 95”
                                                                5 พ.ย.53
 
...........................................
ป.ล.ขอฝากเรียนอาจารย์จรัญว่า คำว่าผลประโยชน์ ไม่ได้หมายถึงเงินทองแต่อย่างเดียว หากยังหมายถึงลาภยศสรรเสริญ เกียรติยศชื่อเสียง อำนาจ ตำแหน่ง
 
ตัวอย่างเช่นอาจารย์จรัญ ผมเชื่อว่าท่านไม่ได้รับทรัพย์สินศฤงคารจากใคร แต่ถามว่าจากปี 49 ที่ท่านออกมาแสดงบทบาทตุลาการภิวัตน์ เรียกร้องให้ กกต.ลาออก (พอไม่ออกเลยติดคุก) จนถึงวันนี้ ท่านได้รับสิ่งตอบแทนหรือไม่
 
ถ้าไม่เกิดวิกฤติ หรือถ้าไม่ออกมาแสดงบทบาท อาจารย์จรัญก็ยังเป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรม โดยตำแหน่งสูงสุดไปไม่ถึงผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เพราะท่านเป็นผู้พิพากษาช้า (เป็นอาจารย์มาก่อน) และมีเสียงร่ำลือว่าคนดีๆ อย่างท่านก็เคยโดน “การเมืองในสำนักงาน” เล่นงานจนแป๊กไปช่วงหนึ่ง
 
แต่หลังรัฐประหาร อาจารย์จรัญที่กระโดดออกมาเป็นแถวหน้าของตุลาการ ได้เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (ซึ่งตำแหน่งเงินเดือนศักดิ์ศรีเทียบเท่ารองประธานศาลฎีกา) ตลอดจนเป็นฮีโร่ยี่ห้อ “เปาบุ้นจิ้น” ได้รับเชิญไปบรรยาย ไปปราศรัยตามที่ต่างๆ
 
สิ่งเหล่านี้คือลาภยศ สรรเสริญ ซึ่งท่านได้มาจากการเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของสถาบันตุลาการเข้าร่วมกับขั้วอำนาจรัฐประหาร
............................................
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จับชายต้องสงสัยหวั่นลอบยิงขบวนจักรยานเส้นทางสีแดง

Posted: 04 Nov 2010 11:49 PM PDT

ความคืบหน้ากรณีคนเสื้อแดงจับตัวชายพกอาวุธเข้าใกล้ขบวนจักรยานของคนเสื้อแดง ที่ จ.นครราชสีมา "อุ๋ย Thai delphi" ให้สัมภาษณ์ประชาไทเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมาว่า ล่าสุดทราบชื่อชายคนดังกล่าวคือ พ.ต.ท.ฐาปนฤทธิ์ อุทัยวงษ์ สว.กก.2 บก.ปคม ทั้งนี้ตำรวจยังไม่มีการแจ้งข้อหาใดๆ กับชายคนดังกล่าว

ทั้งนี้ เขาแสดงความกังวลต่อความปลอดภัยของขบวนจักรยาน เนื่องจากเส้นทางบางช่วงไม่มีรถตำรวจปิดหัว-ท้ายขบวน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้พยายามประสานกับตำรวจท้องที่ต่างๆ เพื่อดูแลความปลอดภัยแล้ว

--------------

(5 พ.ย.53)  "อุ๋ย Thai delphi" หนึ่งในสมาชิกนักปั่น ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเวลาประมาณ 12.00น. ที่ผ่านมา ระหว่างที่ขบวนจักรยานปั่นมาถึงบริเวณบ้านเขาน้อย ใกล้เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา สังเกตเห็นชายถืออาวุธปืน อยู่ในท่าประทับเล็งยิง เมื่อเขาและทีมงานเดินเข้าไปตรวจสอบ ชายคนดังกล่าวได้เดินหนี จึงได้เข้าชาร์จตัวชายคนดังกล่าว ระหว่างนั้นมีปืนลั่นหนึ่งนัด แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ ชายดังกล่าวแต่งกายด้วยเสื้อสีน้ำเงิน กางเกงตำรวจสีกากี

แหล่งข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบ ชายดังกล่าวเป็นนายตำรวจระดับพันตำรวจโท

ด้าน พ.ต.ท.เฉลิมพล คงสกุล สารวัตรใหญ่ สภ.อ.หนองสาหร่าย กล่าวว่า เบื้องต้นได้คุมตัวชายคนดังกล่าวไปโรงพักเพื่อสอบสวนต่อไป ทั้งนี้ ยังไม่ทราบชื่อของชายดังกล่าว เนื่องจากไม่พบบัตรหรือเอกสารใดที่จะระบุตัวตนได้

พ.ต.ท.เฉลิมพล กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดูแลความปลอดภัยตลอดเส้นทาง แต่ระหว่างเกิดเหตุ เป็นช่วงที่ตำรวจไปสำรวจเส้นทางล่วงหน้า ด้านผู้ต้องสงสัยทราบว่านั่งรถบัสตามขบวนมา เมื่อทันกันจึงลงจากรถเพื่อดักก่อเหตุ

สำหรับโครงการเส้นทางสีแดง เป็นการปั่นจักรยานจากราชประสงค์ กรุงเทพฯ ไปยัง สปป.ลาว ผ่าน 18 จังหวัด 22 จุดแวะพัก ระยะทาง 1,700 กม. เพื่อแวะเยี่ยมผู้ต้องขัง ร่วมทำกิจกรรมผูกผ้าแดง วางดอกไม้แดงหน้าเรือนจำ บริจาคสิ่งของให้คนเสื้อแดง โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวแกนนำ นปช.และผู้ต้องขังในคดีทั่วประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการปฏิบัติ 2 มาตรฐานทางกฏหมาย และเรียกร้องให้นานาชาติได้หันมาตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการละเมิด สิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดยขบวนดังกล่าวออกเดินทางจากแยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิชาการยกยุติธรรมแบบไทย‘ลืม มึน งง’-คอป.ชี้ทำงานยาก ‘ความจริง’ อาจไม่นำสู่ปรองดอง

Posted: 04 Nov 2010 10:49 PM PDT

นักวิชาการนำเสนอการศึกษาการจัดการความจริงและการปรองดองจากตัวอย่างหลายประเทศ ชี้หากไม่เปลี่ยนระบอบเป็นประชาธิปไตยแท้แก้ปัญหาไม่ได้ ยกไทยโมเดล ‘ลืม มึน งง’ คอป.ส่งกิตติพงษ์ร่วมแจงความยุติธรรมมีมากกว่าเรื่องกฎหมาย ‘ความจริง’ต้องมาก่อน แต่อาจไม่นำไปสู่การปรองดอง เร่งดูประเด็นผู้ถูกจับกุม ด้าน ‘พ่อน้องเฌอ’ เขียน ‘บาป 7 ประการของรัฐบาลอภิสิทธิ์’

 
 
4 พ.ย.53 ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) จัดสัมมนาเรื่อง“ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านหลังกรณี เม.ย.–พ.ค. 53:การแสวงหาความจริง-การรับผิด-ความยุติธรรม-ความปรองดอง ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ไฟล์เสียงสามารถดาวน์โหลดได้จากลิงก์ด้านล่าง) โดยในช่วงเช้ามีการนำเสนอบทความนำการสัมมนาเรื่อง ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับกรณีของประเทศไทยของ ธงชัย วินิจจะกูล และมีการอภิปรายเรื่อง “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน: กรณีศึกษาจากต่างประเทศ” ได้แก่ กรณีเกาหลีใต้ นำเสนอโดย พิชญ์ พงศ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กรณีอาร์เมเนีย นำเสนอโดย แดนทอง บรีน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กรณีอาร์เจนตินา โดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนอิสระ กรณีกัมพูชา ชิลี แอฟริกาใต้ และกรณีเปรียบเทียบ โดย อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มธ. (กรณีศึกษาของประเทศต่างๆ ฉบับเต็ม ประชาไทจะทยอยนำเสนอเป็นลำดับต่อไป)

 
ยุติธรรมแบบไทย ยุติธรรมแบบ “ลืม มึน งง”
ประจักษ์ กล่าวว่า ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านคือการทำให้สังคมประชาธิปไตยมีกลไกที่จะป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมที่รัฐได้ใช้ความรุนแรงละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนของตนเองซ้ำอีก ซึ่งบทเรียนจากประเทศต่างๆ ทำให้ได้เรียนรู้ว่าแต่ละประเทศมีรูปแบบเฉพาะตัว แต่ที่เหมือนกันคือไม่มีรัฐบาลที่เป็นผู้ลงมือใช้ความรุนแรงที่ใดในโลกลงโทษตัวเอง หรือสถาปนาความจริงได้อย่างเที่ยงตรง และจากประสบการณ์ทั่วโลก ความจริงและความยุติธรรมจะเกิดได้ต้องมีการเปลี่ยนผ่านก่อน คือ เปลี่ยนระบอบการเมือง หรือเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนตัวผู้นำที่สั่งการใช้ความรุนแรงเป็นอย่างน้อย ถ้ายังไม่เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแท้จริง แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีความยุติธรรม รวมถึงความปรองดอง 
ส่วนกลไกนั้นมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีผ่านศาล การตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริง การชดเชยและเยียวยาทั้งในรูปเงิน สิ่งของ คำขอโทษ การยอมรับผิด การปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคง ขณะที่การปลดคนที่เคยทำงานกับระบอบเก่าออกจากระบบราชการซึ่งใช้ในยุโรปตะวันออกนั้นมีปัญหาการเหวี่ยงแห ส่วนการนิรโทษกรรมนั้นแอฟริกาใต้ใช้อย่างมีเงื่อนไขเพื่อแลกกับความจริง แต่ไทยใช้อย่างไม่มีเงื่อนไขทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิด ทั้งยังมีปัญหาถกเถียงกันว่าการนิรโทษกรรมไม่ได้ทำให้เกิดความยุติธรรม เป็นการพรากสิทธิของเหยื่อในการฟ้องคดี
สำหรับโมเดลที่เห็นว่าน่าศึกษาและค่อนข้างสมบูรณ์ ประจักษ์เห็นว่า คือกรณีของอาร์เจนตินา ส่วนโมเดลไทยนั้นเขาขนานนามว่า “ลืม มึน งง” คือ ทำให้คนในสังคมลืมเรื่องนี้เสีย และสร้างวาทกรรมผ่านช่องทางต่างๆ หลายอย่างทำให้คนในสังคมเริ่มมึนงง จนสังคมจะรู้สึกความจริงมีหลายด้าน ซับซ้อน และสุดท้ายจึงสรุปว่า ช่างมันฉันไม่แคร์ ส่วนกลไกหลักที่ไทยใช้คือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งในระยะหลังก้าวหน้าขึ้นมากเพราะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นิรโทษกรรมล่วงหน้า
กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวสรุปกรณีศึกษาประเทศต่างๆ ว่าจุดที่น่าสนใจของเกาหลีคือ การยอมรับอำนาจของประชาชนในการต่อสู้กับรัฐ ประชาชนสามารถใช้อาวุธได้เมื่อรัฐใช้ความรุนแรงก่อน เป็นสิทธิตามความจำเป็นของประชาชน, การยอมรับสิทธิในการรื้อฟื้นการเอาผิดในอดีต ทำให้เกิดการลงโทษประธานาธิบดีอย่างน้อย 2 คน แม้ว่าไม่ได้ถูกลงโทษด้วยข้อหาฆ่าประชาชน แต่ก็ถูกลงโทษด้วยเหตุผลการละเมิดรัฐธรรมนูญ
 
กรณีอัลเมเนีย กระบวนการยุติธรรมยังมาไม่ถึง แต่มีความพยายาม มีบทบาทของสภายุโรปที่เข้ามาแทรกแซง แนะนำให้ตั้ง fact finding group ได้ กรณีอาร์เจนตินามีประสบการณ์กว่า 20 ปีในการทำให้เกิดความยุติธรรมกับเหยื่อที่สูญหาย 9,000 คน และสามารถปฏิรูปสถาบันหลักๆ ที่เป็นต้นตอของ “ภัยสยอง” หรือการอุ้มหายได้ จนท้ายที่สุด สามารถปลดนายทหารระดับสูงออกไปได้ถึง 3 ใน 4 มีการทำให้การตัดสินใจให้การใช้กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นโมฆะ
 
กฤตยากล่าวว่า อย่างไรก็ตามการจัดเวทีครั้งนี้ตระหนักดีว่าสังคมไทยยังไม่อยู่ในสภาวะเปลี่ยนผ่าน แม้การเปลี่ยนระบอบจะเป็นสิ่งพื้นฐานอยู่ในเอกสารการศึกษาของวันนี้ทุกฉบับ ทั้งนี้ การเปลี่ยนระบอบโดยทั่วไปหมายถึงการเปลี่ยนจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย แต่แม้ยังไม่เปลี่ยนผ่านเราก็สามารถสร้างเวทีวิชาการเพื่อให้เข้าใจกระบวนการเปลี่ยนผ่านของประเทศอื่นๆ ได้
 
ในช่วงบ่ายมีการเสวนาเรื่อง “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านแบบไทยๆ” โดยมีวิทยากร ได้แก่ ศรีประภา เพชรมีศรี ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนา ม.มหิดล, พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์กรณี เม.ย.-พ.ค. 2553 อนุดิษฐ์ นาครทรรพ พรรคเพื่อไทย, กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ขณะที่ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ได้เข้าร่วมตามคำเชิญ

กิตติพงษ์ชี้ปรองดองเริ่มต้นที่คลี่ความจริง รับ คอป.เจอคำถามความชอบธรรม
กิตติพงษ์ ตัวแทนคอป. กล่าวว่าความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านหรือ “Transitional Justice” ไม่ใช่แนวคิดที่เน้นการลงโทษอย่างเดียวมาใช้ได้เพราะถึงที่สุดทุกฝ่ายก็ยังต้องอยู่ร่วมกันในสังคม จึงไม่ใช่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว แต่รวมถึงมาตรการอื่นๆ เช่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ผลักดันประชาธิปไตข เพื่อจัดการปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนาดใหญ่ที่กระบวนการยุติธรรมปกติไม่สามารถจัดการได้
ส่วนมาตรการที่ใช้มี 4-5 เรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องไม่ได้แยกจากกันเด็ดขาดได้ นั่นคือ การฟ้องคดีผู้ละเมิด, การแสวงหาความจริงโดยคณะกรรมการอิสระ ซึ่งเข้าไปหาความจริงในช่วงเวลาที่กว้างกว่าการดุว่าเกิดอะไรขึ้น แต่หาความจริงว่าทำไมเหตุการณ์แบบนี้จึงเกิด, การเยียวยาทั้งทรัพย์สินและจิตใจ, การนำเสนอทางออกเพื่อนำสู่การอยู่ร่วมกันได้, การปฏิรูปสถาบันความมั่นคง ซึ่งอาจรวมถึงศาลด้วย, กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย
กิตติพงษ์ยังกล่าวถึงเรื่องคณะกรรมการไต่สวนหรือ Truth Commission ด้วยว่าต้องค้นหาความที่กว้างและมีกระบวนการนำไปสู่ความยุติธรรม อย่างไรก็ตามความจริงอาจไม่นำไปสู่สันติภาพ เพราะมันนำไปสู่การฟ้องคดีการแก้แค้น ถ้าเป็นความขัดแย้งในความคิดทางการเมืองแล้วนำไปสู่การเข่นฆ่า ต้องทำความเข้าใจว่าคนทั้งสองฝ่ายโดยพื้นฐานไม่ได้เป็นอาชญากรแต่ต้น แต่สถานการณ์ต่างๆ มันทำให้เขาเป็น แน่นอนว่าเขาต้องรับผิดชอบ แต่รับผิดชอบแบบไหนจึงจะเหมาะสม ดังนั้นแนวทางแบบยุติธรรมสมานฉันท์อาจนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนว่า
“อย่างไรก็ตาม กระบวนการทั้งหมดไม่มีทางลัด ถ้าเริ่มต้นว่ามาปรองดองกันไหม คนที่ตายไปแล้วอาจถามว่าคุณมีสิทธิอะไร ประเทศนี้เป็นของคุณหรือ” กิตติพงษ์กล่าวและยอมรับด้วย่วา ไม่แน่ใจว่า รัฐบาลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา จะตั้งคณะกรรมการไต่สวนได้หรือเปล่า อย่างไรก็ดี คณะกรรมการชุดของนายคณิต ณ นคร นั้นไม่ต้องการไต่สวนชี้นิ้วว่าใครผิดใครถูกเท่านั้น แต่การทำงานนั้นยาก ความไว้วางใจติดลบแต่ต้นเพราะคณะกรรมการตั้งโดยคู่ขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม ตนพยายามจะทำให้เดินหน้าไปได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดการฆ่ากันให้ได้มากที่สุด เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้ไม่มีโอกาสพูดได้พูด เพราะเชื่อว่าไม่ต้องรอให้เปลี่ยนระบบก็สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมได้
 
ศรีประภาชี้รัฐสอบตกทุกข้อสร้างยุติธรรม
ศรีประภา ม.มหิดล กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าจะพูดเรื่องนี้ได้เพราะไทยไม่ได้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน อย่างไรก็ตามม เวลาพูดถึงเรื่องนี้ต้องยอมรับก่อนว่ามี “เหยื่อ” เกิดขึ้นแน่นอน แต่สังคมไทยยังไม่ยอมรับเรื่องนี้ และต้องอยู่บนความเชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐมีพันธกรณีอย่างน้อย 4 ประการ 1. หามาตรการในการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ให้เกิดขึ้นอีก 2.ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน 3. ลงโทษผู้กระทำผิด ที่ผ่านมารัฐไทยไม่ว่ารัฐบาลไหนไม่มีความพยายามจะลงโทษผู้กระทำผิด 4.หาทางเยียวยาความเสียหายให้เหยื่อของการละเมิด โดยเหยื่อมีสิทธิอย่างน้อย 3 ประการ คือ สิทธิที่จะเข้าถึงความจริง  สิทธิที่จะเข้าถึงความ สิทธิที่จะเข้าถึงการเยียวยา
 
ศรีประภากล่าวว่า เวลาพูดถึงความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมีเป้าหมายในหลายเรื่อง 1.พยายามเยียวยาความแตกแยกในสังคม 2.เพื่อปิดฉากความขัดแย้ง สมานบาดแผลในความรู้สึกคนและสังคม โดยผ่านการบอกกล่าวความจริง 3.ให้ความยุติธรรมแก่เหยื่อและให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบ 4.บันทึกประวัติศาสตร์ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงให้สังคมได้รับรู้ 5.ฟื้นฟูความเป็นนิติรัฐ 6.ปฏิรูปสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน 7.ให้หลักประกันว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะไม่เกิดขึ้นอีก 8.ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันและสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน (เรสเทอเรทีฟ จัสติส) ความยุติธรรมสมานฉันท์ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างปัจเจกแต่ละคนและสังคม ซึ่งแม้มีความพยายามแต่รัฐดูเหมือนจะล้มเหลวทุกข้อ
สำหรับข้อเสนอทางออกคือ แก้ไขปัญหาที่รากเหง้า, ให้ทุกฝ่ายมีโอกาสกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ, การป้องกันการกระทำผิดโดยชุมชนมีโอกาสมีส่วนร่วม, การให้ข้อเท็จจริงที่จะนำมาซึ่งความจริง มีการสนทนากันระหว่างเหยื่อและผู้กระทำผิด
 
พ่อน้องเฌอเขียน ‘บาป 7 ประการของรัฐบาลอภิสิทธิ์’
พันธ์ศักดิ์ พ่อผู้สูญเสียลูกชายในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกล่าวว่าหลังสูญเสียลูกชายก็ไม่สามารถพึ่งใครได้ในการหาความจริงและความยุติธรรม จึงได้เรียบเรียบเป็นบันทึกบาป 7 ประการของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ดังนี้  
1.    การใช้ความกลัวครอบงำสังคมผ่าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แม้จะบอกว่าคงพรก.ไว้สุจริตคนดำเนินชีวิตได้ตามปกติ นอกจากเอาไว้คุกคามคนเสื้อแดงแล้ว ยังเห็นทหารตามที่สาธารณะพร้อมการปล่อยข่าวระเบิด ทำให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดงรู้สึกอบอุ่นเมื่ออยู่ใกล้ทหาร ถือเป็น “มาตรการการสร้างความกลัวแห่งชาติ”
2.    การเลือกปฏิบัติในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการชุมนุม ผู้ชุมนุมนั้นมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าคนชุมนุมที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตนั้นเกี่ยวพันกับความรุนแรงหรือไม่ แต่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดูง่ายๆ ว่าเป็นเสื้อแดงหรือเปล่า ถ้าใช่ก็รอไว้ก่อน ทำให้หลายคนไม่ได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด เรื่องน่าตกใจคือ ผอ.สำนักงานให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายทางคดีอาญาเล่าอย่างดูถูก ขำขันถึงกรณีหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บว่าทั้งหูหนวกและโดนยิงอัณฑะจึงให้ไปหมื่นห้าพันบาท
3.    การสร้างความเคียดแค้นชิงชิงผ่านแคมเปญต่างๆ ขอความสุขคืนกลับมา , together we can ทั้งที่ต่างประเทศเป็นการรณรงค์เรื่องสิทธิที่เขียนว่า together we care มาตรการหลายอย่างก็เหมือนชำเราซ้ำจุดเดิมที่ญาติตัวเองเคยโดน เช่น กรณีกรุงเทพมหานครมอบเงินช่วยเหลือญาติในงานเปิดมหกรรมช็อบปิ้งที่ราชประสงค์
4.    การผลักไสให้เป็นอื่น ผ่านคณะกรรมการ ช่วงช่วง หลินหุ้ย และหลินปิง ซึ่งแยกแยะความแตกต่างทั้ง 3 ชุดได้ และกรรมการทั้งหมดไม่เคยมีการติดต่อกลุ่มญาติเลยมีแต่เพียงรับปากว่าจะติดต่อ นอกจากนี้ยังมีความเข้าใจผิดอีก เช่น เวลาแสดงความคิดเห็นกันในหมู่กรรมการก็จะบอกว่าญาติผู้เสียหายยังมีความทุกข์อยู่ เคียดแค้นชิงชังอยู่ แม้แต่พระก็พูดแต่เรื่อง “ทุกข์” โดยไม่เคยพูดถึง สมุทัย นิโรธ มรรค เช่นเดียวกันกับนักสันติวิธีก็มีลักษณเดียวกัน
5.     มีการกระทำทารุณกรรม ข่มขู่ ไล่ล่า คนเสื้อแดงตามต่างจังหวัดอยู่จนปัจจุบัน ทำให้หลายคนเกิดอาการทางจิต หวาดระแวงคนภายนอกหมดแล้ว
6.    การสมคบคิด สร้างหลักฐานเท็จ และเลือกละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีเสื้อหลากสี การสมคบคิดให้ประชาชนที่ไม่รู้เรื่องมาร่วมทำลายหลักฐาน ทำความสะอาดพื้นที่หลังเหตุการณ์ ขณะที่ดีเอสไอก็ลอยหน้าลอยตาและขยันปล่อยข่าวที่ไม่มีการพิสูจน์ความจริงใดๆ ต่อมา เช่นกรณีการฝึกอาวุธในกัมพูชา  
7.    การปฏิเสธความรับผิดของรัฐบาล ยังไงคุณก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะคุณเป็นรัฐบาล ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำความรุนแรง ข้อนี้ยังไม่เคยได้ยินคำขอโทษจากรัฐบาล
 
เพื่อไทยเชื่อหลักฐานหลั่งไหลหลังเปลี่ยนรัฐบาล
อนุดิษฐ์ จากพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ความยุติธรรมในประเทศนี้ไม่เคยมี และคงไม่มีอีกต่อไป จนกว่าจะมีการปรับเปลี่ยนปัจจัย องค์ประกอบในระดับโครงสร้าง รัฐบาลใช้กฎหมายที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง และใช้ช่องว่างของกฎหมายกลับคนทำถูกกฎหมายให้เป็นผิด และกลับคนทำผิดกฎหมายให้เป็นถูก หลังเหตุการณ์ 10 เมษามีความสูญเสีย แต่กระบวนการในการชันสูตรพลิกศพ การตรวจสอบที่เกิดเหตุไม่เคยเกิดขึ้น กระบวนการตรวจสอบภายหลังก็ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ล้วนแล้วแต่สร้างประโยชน์ให้ฝ่ายรัฐ
หลังเหตุการณ์หลายหน่วยงานพยายามรวบรวมข้อมูลไว้เพื่อนำไปสู่ความพิสูจน์ในอนาคต เป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว ในส่วนพรรคเพื่อไทยมีการเก็บข้อมูลหลักฐานในที่เกิดเหตุ รวมถึงสืบพยานไว้แล้ว ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่ตรงกับที่รัฐบาลชี้แจง สิ่งเหล่านี้จะไม่ปรากฏในวันสองวันนี้ แต่วันหนึ่งข้างหน้า กระบวนการเก็บข้อมูล รวบรวมตรวจสอบ จะถูกนำมาใช้ได้จริงเหมือนกับหลายประเทศที่ผ่านมาแล้ว
 
คำถามกระหน่ำ คอป. ลั่นทำดีที่สุดแล้ว
ในแลกเปลี่ยนและตอบคำถาม ผู้ที่ได้รับคำถามมากที่สุดคือ ตัวแทนจากคอป. ทั้งคำถามเกี่ยวกับนิยามความยุติธรรม ข้อแนะนำสำหรับความยุติธรรมด้านกฎหมาย ทำไมไม่เปิดชื่อผู้ถูกออกหมายจับทั้งหมด การบอกว่าจะเปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีพื้นที่ได้พูดรูปธรรมคืออะไร การค้นหาความจริงท้ายที่สุดจะชี้ผิดถูกหรือไม่ว่าใครควรต้องรับผิดชอบอย่างไร จะพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันความมั่นคง รวมไปถึงการอภิปรายเรื่องที่ทางสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยหรือไม่ เท่าที่เก็บข้อมูลมาทราบหรือไม่ว่าใครเป็นฆาตรกรในวันที่ 10 เมษายน
กิตติพงษ์ตอบว่า ความจริงไม่ใช่คำถามใหม่ และคอป.ก็ถูกคาดหวังจากคนหลายๆ กลุ่ม ประการแรก การนิรโทษกรรมโดยไม่มีข้อเท็จจริงหรือ ‘เกี๊ยะเซียะ’ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และคนกลัวว่าอาชญากรรมนี้อาจถูกลืมอีก แต่เวลาเราประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งลักษณะนี้ เรานิยามความยุติธรรมว่าอะไร กฎหมายอย่างเดียวพอไหม การให้ผู้ ผู้กระทำมารับผิดชอบในวิธีไหนต้องคุยกันยาว แต่ทั้งหมดต้องเริ่มจาก “ความจริง” ถามว่าความจริงใครฆ่าตนก็อยากทราบ ถ้ามีข้อมูลควรนำไปให้คณะกรรมการชุดสมชาย หอมลออ
ที่ผ่านมาเราไม่เคยคุยกันว่าจะสรุปอย่างไร ถ้าได้ข้อเท็จจริงสรุปอย่างไรก็เสนออย่างนั้น แต่ได้ข้อเท็จจริงแล้วสังคมจะเดินอย่างไรต่อเป็นเรื่องที่ทั้งสังคม
คอป. ทำอะไรไม่ได้มากนัก ต้องยอมรับ ชุดที่ผมทำ เราไม่อยากจะได้เพียงรายงาน มันช้าและไม่ทันเหตุการณ์ อยากให้คนไม่ตีกันเป็นไปได้ สิ่งที่ผมทำคือการไปคุยกับทุกฝ่าย ไม่เว้นที่เป็นผู้นำ แม้กระทั่งการคุยร่วมกันพร้อมๆ กันก็เป็นสิ่งที่เราคาดหวัง และหวังว่ากระบวนการพูดคุย มีคนไปรับฟังความต้องการแต่ละฝ่ายอย่างเป็นระบบน่าจะเป็นทางออก
รูปธรรมที่ทำอยู่ และทำไปบ้างแล้วจะเห็นได้จากจดหมายฉบับแรกที่มีถึงนายกฯ เราเรียกว่า การเสริมสร้างบรรยากาศการปรองดองซึ่งเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก. ไม่กล่าวหาทางอาญาเกินกว่าเหตุ ไม่กล่าวหาคนโดยไม่หลักฐาน ปฏิบัติต่อผู้คนอย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เปิดเผยรายชื่อผู้ถูกควบคุม และกำหนดมาตรการเยียวยาอย่างชัดเจน ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่สิ่งที่ไปสั่งได้ทั้งหมด สิ่งที่คิดต่อคือ คนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ ถ้าคนมีความเห็นต่างถูกมองว่าก่อการร้าย ล้มล้างสถาบันทั้งหมดจะเหลือพื้นที่คุยได้อย่างไร มาตรฐานการประกันตัว การเปิดโอกาสให้พูดจาเป็นเรื่องสำคัญ และคอป.จะนำเสนอข้อเสนอแนะต่อไป
 
สามารถดาวน์โหลดได้ที่ (ที่มา: คุณม้าเร็วและทีมงาน)
 
http://www.mediafire.com/?2fy1zt18c5in1
ftp://baygon4.no-ip.org/savefiles/speedhorse/4-11-2010_TU/1_TU_4-11-2010.wmv
ftp://baygon4.no-ip.org/savefiles/speedhorse/4-11-2010_TU/2_TU_4-11-2010.wmv
ftp://baygon4.no-ip.org/savefiles/speedhorse/4-11-2010_TU/3_TU_4-11-2010.wmv
ftp://baygon4.no-ip.org/savefiles/speedhorse/4-11-2010_TU/4_TU_4-11-2010.wmv
ftp://baygon4.no-ip.org/savefiles/speedhorse/4-11-2010_TU/5_TU_4-11-2010.wmvftp://baygon4.no-ip.org/savefiles/speedhorse/4-11-2010_TU/6_TU_4-11-2010.wmv
ftp://baygon4.no-ip.org/savefiles/speedhorse/4-11-2010_TU/7_TU_4-11-2010.wmv
ftp://baygon4.no-ip.org/savefiles/speedhorse/4-11-2010_TU/8_TU_4-11-2010.wmv
http://www.tfn3.info/board/index.php?topic=16680.0
http://www.19-may.com/forum/forum.php?mod=viewthread&tid=374&extra=page%3D1
http://www.thaivoice.org/community/showthread.php?tid=151
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น