โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เผยรายงาน “คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง” เสนอเลื่อนโครงการเขื่อนบนลำน้ำสายหลักไปอีก 10 ปี

Posted: 08 Nov 2010 01:46 PM PST

รายงาน SEA ของ “คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง” ชี้ประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างควรชะลอการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำสายหลักออกไปอีก 10 ปี เผยไฟฟ้าร้อยละ 95 จากโครงการทั้งหมด ขายให้แค่ไทย-เวียดนาม แถมไฟฟ้าจากทุกโครงการรวมกัน ไม่ได้ประกันการเติบโตภาคพลังงานในภูมิภาค แต่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพอย่างถาวร

 
 
 
เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2553 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) เสนอผลรายงานสุดท้าย ของ “การเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” (Strategic Environmental Assessment [SEA]) เกี่ยวกับเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลักทางเว็บไซต์ โดยจากการที่การศึกษา SEA ดังกล่าวได้เสนอในท้ายที่สุดว่า ประเทศแม่น้ำโขงตอนล่างควรจะชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงสายหลักออกไปอีก 10 ปี (ดูรายงานฉบับสรุปย่อภาษาไทยที่ http://www.mrcmekong.org/ish/SEA/SEA-Summary-final-report-Thai-18-Oct-10.pdf)
 
เปรมฤดี ระบุด้วยว่า SEA เสนอข้อเท็จจริงหลายประการ รวมทั้งในประเด็นบทบาทของประเทศไทยในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดจากโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลัก ที่กำลังมีการผลักดันให้สร้างทั้ง 12 โครงการ โดยบริษัทเอกชนจากประเทศจีน ไทย เวียดนาม รัสเซีย ฝรั่งเศส และมาเลเซีย โดยจะสร้าง 8 โครงการในประเทศลาว มี 2 โครงการระหว่างไทยและลาว และอีก 2 โครงการในกัมพูชา โดยโครงการที่กำลังมีการผลักดันที่ชัดเจนที่สุดในปัจจุบัน คือโครงการเขื่อนไซยะบุรี ทางตอนเหนือของลาว ซึ่งทางรัฐบาลไทย โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีมติในวันที่ 13 มี.ค.2553 เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปดำเนินการเจรจาความตกลงซื้อ-ขายไฟฟ้า กับบริษัท ช.การช่าง ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานไปแล้ว
 
ขณะที่ประเทศลาว ในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลลาวได้ยื่นขอใช้กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement [PNPCA]) ในการเสนอสร้างเขื่อนไซยะบุรีไปแล้ว แม้ในขณะนั้นรายงาน SEA ที่ถือว่าเป็นข้อมูลหลักและข้อเสนอสุดท้ายของรายงาน ยังไม่มีการเสนอออกมาในสาธารณะ ซึ่งทำให้เกิดคำถามมากมายทั้งในเรื่องของขั้นตอน กระบวนการ และความจริงใจของรัฐบาลแต่ละประเทศกับการดำเนินโครงการในแม่น้ำโขง อีกทั้งมีองค์กรที่มาแสดงส่งเสียงตอบรับข้อเสนอของรายงาน SEA เช่นองค์การ World Wildlife Fund (WWF) และธนาคารโลก ที่ออกมาบอกว่าจะไม่ให้เงินทุนสนับสนุนโครงการในแม่น้ำโขงสายหลัก ก็ยิ่งทำให้เกิดการจับตามองท่าทีของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และรัฐบาลประเทศต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาลไทยและลาว
 
รายงาน SEA ระบุว่า เนื่องจากไฟฟ้าร้อยละ 95 จากโครงการบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้งหมด จะขายให้แก่ประเทศไทยและเวียดนามเท่านั้น หากไทยและเวียดนามไม่ซื้อ โครงการที่สร้างขึ้นเพื่อการส่งออกไฟฟ้าเหล่านี้ก็ย่อมไม่ได้รับการผลักดัน อีกทั้งยังให้ข้อมูลว่า โดยแท้จริงแล้ว ไฟฟ้าจากทุกโครงการรวมกัน ไม่อาจประกันการเติบโตของภาคพลังงานในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่างได้แต่อย่างใด เฉพาะประเทศไทย หากอ้างอิงจากความต้องการพลังงานของไทยถึงปี 2568 ไฟฟ้าจากโครงการทั้งหมดรวมกัน จะตอบสนองความต้องการพลังงานของไทยได้เพียงร้อยละ 11.6 เท่านั้น ในขณะที่ผลประโยชน์ร้อยละ 70 จากการสร้างเขื่อน จะตกอยู่กับบริษัทเอกชนที่ลงทุนอยู่ในประเทศลาว ซึ่งเป็นประเทศที่มีแผนโครงการสร้างเขื่อนถึง 8 โครงการ
 
สำหรับในประเด็นวิถีชีวิตของประชาชน รายงาน SEA ชี้ว่า เขื่อนทั้ง 12 โครงการ จะนำมาซึ่งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในแม่น้ำและบนบกที่มีความสำคัญในระดับโลกอย่างถาวร ทำให้เกิดความเสื่อมทางนิเวศต่อแม่น้ำโขงที่ไม่มีทางแก้ไขกลับคืน บรรเทา หรือจ่ายค่าทดแทน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงด้านอาหารเพิ่มขึ้นกับผู้คนหลายล้านคนที่อยู่ในชุมชนทั้งในชนบทและเมือง โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในรัศมี15 กิโลเมตรจากริมฝั่งแม่น้ำโขงที่จะจับปลาได้น้อยลง ในภาพรวม มูลค่าการประมงจะสูญเสียไปถึงปีละ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ15,000 ล้านบาท) และการประมงตามแนวแม่น้ำโขงที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำยาว 55 กิโลเมตร ก็จะสามารถทดแทนได้เพียงร้อยละ 10 ของการสูญเสียของการจับปลาตามธรรมชาติ ยังไม่นับการสูญเสียการเกษตรแบบยังชีพ และสวนริมฝั่งน้ำโขงอย่างถาวร และร้อยละ 17 ของพื้นที่ชุ่มน้ำตามลำน้ำโขงที่จะเสื่อมสูญไป 
 
รายงานนี้ชี้ชัดว่า โครงการเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงสายหลัก จะยิ่งซ้ำเติมความไม่เท่าเทียมกันในการใช้ทรัพยากรในภูมิภาคที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ สิ่งที่จะปรากฏในทันที คือจะทำให้ปัญหาความยากจนเลวร้ายลง
 
“สิ่งที่จำเป็นคือ คนไทยจะต้องได้โอกาสในการรับรู้ความจริงว่า เพราะฉะนั้น ที่เราได้รับการบอกกล่าวว่า บริษัทไทยไปลงทุนสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้เราได้ไฟ เขาได้พัฒนา หายยากจน เป็นเรื่องที่ต้องมองดูใหม่ ว่าแท้ที่จริงแล้ว เป็นเรื่องที่ประชาชนไทยต้องควักเงินจากกระเป๋าไปอุปการะบริษัทเอกชน และยังเป็นตัวการทำให้ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านของเราเองเดือดร้อนใช่หรือไม่”  ผู้อำนวยการโครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติกล่าว
 
ทั้งนี้ สำหรับในประเทศไทย ที่ผ่านมาคำถามส่วนใหญ่ในเรื่องการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงโดยภาคประชาสังคมถูกส่งผ่านไปยังรัฐบาลไทย เช่น เมื่อเดือนตุลาคม 2552 ประชาชน 23,110 คนจากทั่วโลก ได้ประกาศเจตนารมณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง โดยทางพันธมิตรปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างกลุ่มภาคประชาสังคมทั้งในภูมิภาคและนานาชาติเป็นผู้รวบรวมและส่งมอบให้กับนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่รัฐสภาไทย จนกระทั่งวันที่ 9 ก.ย.2553 เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง 50 องค์กร และเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ระงับการซื้อไฟฟ้า และยกเลิกเขื่อนไซยะบุรี เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนผู้ได้รับสัมปทานสร้างเขื่อน รวมทั้งบริษัท ช. การช่าง ยังคงไม่มีท่าทีสนองตอบต่อการเรียกร้องของภาคประชาชนแต่อย่างใด รวมทั้งในส่วนของทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ยังคงเดินหน้าทำสัญญาการซื้อไฟและลงทุนในฐานะบริษัทสร้างเขื่อนในโครงการทั้งในแม่น้ำโขงและสาละวินต่อไป
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“เพื่อนพม่า” รับบริจาคเพื่อช่วยเหลือ “ผู้อพยพ” จากการสู้รบในพม่าด่วน

Posted: 08 Nov 2010 12:30 PM PST

องค์กรเพื่อนพม่าส่งจดหมายเปิดผนึกขอรับบริจาคเป็นการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้อพยพ จากเหตุการณ์การสู้รบระหว่างกองกำลังทหารพม่า กับกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) เผยตัวเลขผู้อพยพล่าสุดกว่า 1,700 คน 

 
วานนี้ (8 พ.ย.53) องค์กรเพื่อนพม่าส่งจดหมายเปิดผนึกขอรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้อพยพชาวพม่าโดยระบุว่า จากช่วงเช้าของวันที่ 8 พ.ย.เป็นต้นมา ได้เกิดการสู้รบระหว่างกองกำลังทหารพม่ากับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (DKBA) ที่ อ.เมียวดี ประเทศพม่า ซึ่งอยู่ติดกับ อ.เม่สอด จ.ตาก ประเทศไทย ส่งผลให้มีประชาชนจากประเทศพม่าอพยพหนีภัยการสู้รบเข้ามายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดตัวเลขผู้อพยพโดยประมาณอยู่ 1,700 คน ซึ่งกระจายกันอยู่ที่ค่ายทหาร โรงเรียน และวัดใน อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีรัฐบาลไทย องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และประชาชนในพื้นที่ให้การช่วยเหลือ แต่เนื่องจากมีผู้อพยพเข้ามากะทันหันเป็นจำนวนมาก และคาดว่าตัวเลขผู้อพยพจะเพิ่มขึ้นอีก เพราะการสู้รบยังไม่ยุติ ส่งผลให้ขณะนี้อาหารและเครื่องกันหนาวมีไม่เพียงพอ
 
องค์กรเพื่อนพม่าจึงใคร่ขอรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้อพยพเป็นการเร่งด่วน การรับบริจาคเป็นอาหารและเสื้อผ้าจะยากต่อการจัดการและเสียเวลาในการขนส่ง ดังนั้นเพื่อนพม่าซึ่งมีเจ้าหน้าที่ประจำใน อ.แม่สอด จึงใคร่ขอรับบริจาคเป็นเงินสดเพื่อซื้ออาหารและของใช้ที่จำเป็นใน อ.แม่สอดและพื้นที่ใกล้เพื่อมอบให้ผู้อพยพ โดยท่านสามารถโอนเงินบริจาคมาได้ที่ชื่อบัญชี CM Friends for Nargis Recoery เลขบัญชี 456-0-048541 ธ.กรุงไทย ย่อยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
กลุ่มเพื่อนพม่าจะเปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. - 16 พ.ย.2553 หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และการจัดการช่วยเหลือจะเพียงพอต่อความจำเป็นของผู้อพยพ สำหรับผู้ที่ร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพหนีภัยการสู้รบกรุณาส่งข้อความเพื่อแจ้งยอดและรายชื่อผู้บริจาคผ่านมือถือที่ 085-525-7875, 084-117- 5850, 082-621-0800 หรือ ผ่านอีเมลมาได้ที่ yunzaka@hotmail.com, fobteam2009@gmail.com, laotian999@gmail.com
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความเงียบที่อึกทึกของรัฐบาลไทยต่อการเลือกตั้งพม่า

Posted: 08 Nov 2010 12:03 PM PST

 
ที่มา: Thailand’s Silence on Burma Poll is Deafening โดย Emily Hong & Kriangsak Teerakowitkajorn ใน Bangkok Post วันที่ 8 พ.ย.2553
 

 
สื่อไทยและต่างประเทศต่างจับตามองแบบตาแทบไม่กระพริบเมื่อนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบยี่สิบปีของพม่า การเดินทางครั้งนั้นกลับไม่ได้เป็นอะไรนอกไปจากการคุยธุรกิจที่นายกฯ สนใจเพียงการเซ็นสัญญาโครงการท่าเรือน้ำลึกในดาเวย (หรือชื่อเดิมว่าตาวอย) ที่มีมูลค่า 13 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (390 ล้านล้านบาท) มากกว่าที่จะถกเรื่องการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น
 
การไม่พูดเรื่องเลือกตั้งของคุณอภิสิทธิ์ในช่วงเวลาที่สำคัญเช่นนี้มีแต่จะส่งผลดีต่อแผนการของผู้นำเผด็จการทหารที่ต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบของตนภายใต้เปลือกนอกจอมปลอมของพลเรือน คงจะไร้เดียงสาเกินไปหากจะคิดว่ารัฐบาลไทยนั้นไม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบของนโยบายรูปแบบนี้ อันที่จริง ไม่ใช่รัฐบาลไทยเท่านั้นที่ใช้นโยบายนิ่งเงียบ จีน อินเดียและบางประเทศสมาชิกของอาเซียนที่ไม่สนใจว่าการเลือกตั้งจะเป็นการจัดฉากต่างก็เล็งเห็นว่าการเลือกตั้งจะเป็นโอกาสทองที่แต่ละประเทศจะทำให้การค้าและการลงทุนของตนที่เพิ่มขึ้นในพม่านั้นดูถูกต้องชอบธรรม
 
ทั้งนี้ อาจมีเหตุผลที่เป็นไปได้ 2 เรื่องที่ทำให้อภิสิทธิ์นิ่งเงียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพม่า เรื่องแรกคือสถานะของรัฐบาลอภิสิทธิ์เองที่ระส่ำระส่ายมาตั้งแต่การล้อมปราบผู้ชุมนุมเสื้อแดงเมื่อช่วงต้นปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาอภิสิทธิ์ต้องเจอกับคำวิจารณ์อย่างรุนแรงเรื่องการตาย 92 ศพ ซึ่งทั้งหมดเป็นประชาชนมือเปล่าปราศจากอาวุธ เหตุการณ์นี้คงทำให้อภิสิทธิ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่บ้างที่จะพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพในการแสดงออกและการปล่อยนักโทษการเมืองในพม่า อีกเหตุผลที่น่าจะสำคัญต่ออภิสิทธิ์มากกว่าก็คือ ผลประโยชน์ของไทยในพม่าที่เข้าทำนอง “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” เพราะไทยนั้นยังถือเป็นคู่ค้าทั้งด้านการค้าและการลงทุนอันดับหนึ่งของพม่าอยู่
 
การให้ความสำคัญกับประโยชน์ทางธุรกิจเป็นอันดับแรกของรัฐบาลไทยนั้น ไม่เพียงแต่ก่อปัญหาให้กับประชาชนในพม่าเท่านั้น แต่ยังเป็นผลเสียกับประเทศไทยเองด้วย อันที่จริง เป็นที่ยอมรับกันว่าโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติยาดานา (Yadana) ที่ ปตท.สผ.เข้าไปมีส่วนอย่างสำคัญนั้น ถือว่าเป็นแหล่งรายได้ที่ใหญ่ที่สุดอันหนึ่งของรัฐบาลทหารพม่า นอกจากนี้ โครงการนี้ยังสามารถเชื่อมโยงไปยังกรณีการสังหารประชาชนและบังคับใช้แรงงานโดยทหารของพม่าที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับท่อก๊าซ ประชาชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงที่อยู่รอบท่อส่งก๊าซเองต้องอพยพย้ายถิ่นฐานและเพิ่มจำนวนให้กับผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่กว่า 2-3 ล้านคนในประเทศไทย นอกจากนี้ ชาวบ้านในพื้นที่มักไม่ได้รับประโยชน์จากสิ่งที่ถูกเรียกว่าโครงการพัฒาเหล่านี้ และในหลายกรณี ชาวบ้านที่เดือดร้อนแสดงออกถึงความไม่พอใจโดยพุ่งเป้าโจมตีโครงการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ตัวอย่างของระเบิดที่เกิดขึ้นหลายครั้งบริเวณเขื่อนของจีนในรัฐคะฉิ่นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา 
 
การเผชิญหน้าที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทหารพม่าและกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ปฏิเสธจะวางอาวุธก่อนหน้าการเลือกตั้งจึงอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพตามแนวชายแดนในอนาคต ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ทางธุรกิจก่อนการเมืองนั้น นอกจากจะทำให้ช่วยซ้ำเติมปัญหาพม่าต่อเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคแล้ว ยังสร้างความเสี่ยงให้กับโครงการลงทุนของไทยเอง
 
ก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้ตอบสนองต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ของพม่าใน 2 รูปแบบใหญ่ๆ กลุ่มหนึ่งแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าการเลือกตั้งนี้จะไม่มีทางขาวสะอาดและยุติธรรมได้ ขณะที่อีกกลุ่มเลือกวิธีการรอดูไปก่อน ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยเองกลับส่งสัญญาณที่ชัดเจนโดยผ่านการเดินทางเยือนพม่าของอภิสิทธิ์ว่าไทยยินดีที่จะรับการเลือกตั้งว่าเป็นก้าวขยับของประชาธิปไตย ถึงแม้มันจะห่างไกลจากความเป็นจริงก็ตาม
 
ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ฮานอยเมื่อเดือนที่ผ่านมา มีเพียงรัฐบาลอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เท่านั้นที่กล้าวิจารณ์ปัญหาการเลือกตั้งที่เห็นกันอยู่ตรงหน้า ขณะที่นายกอภิสิทธิ์เลือกที่จะไม่พูดเรื่องนี้ ทั้งที่เพื่อนบ้านที่เป็นประชาธิปไตยทั้งสองทำ แน่นอนว่ามันเป็นประจักษ์พยานถึงความตกต่ำของประชาธิปไตยของไทยและพิสูจน์ว่าไทยกำลังสูญเสียจุดยืนในฐานะแรงขับเคลื่อนที่ก้าวหน้าในภูมิภาคไป
 
ถ้าหากรัฐบาลไทยต้องการจะพิสูจน์ว่าต้องการข้ามให้พ้นนโยบายแบบสายตาสั้นต่อพม่าแล้ว มีสองเรื่องที่รัฐบาลไทยสามาถทำได้และควรจะทำ ข้อแรก รัฐบาลไทยสามารถสนับสนุนกลุ่มต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกพม่าที่ได้วิจารณ์การเลือกตั้งครั้งนี้มาตั้งแต่ต้นว่า เพียงการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยปราศจากกระบวนการสมานฉันท์ภายในประเทศนั้น จะไม่มีทางนำไปสู่สันติภาพและความมั่นคงอย่างแท้จริงในพม่าได้ ข้อสอง ในฐานะที่ไทยกำลังรั้งตำแหน่งประธานของสภาสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council) รัฐบาลไทยอาจสนับสนุนข้อเรียกร้องจากนานาชาติให้จัดตั้งคณะกรรมการของสหประชาชาติเพื่อไต่สวนอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (UN Commission of Inquiry into war crimes and crimes against humanity) ซึ่งอาชญากรรมเหล่านี้น่าจะเพิ่มขึ้นหลังการเลือกตั้งเพราะรัฐบาลทหารมีแนวโน้มที่จะกระชับอำนาจของตนโดยจัดการกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ
 
ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่สามารถเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและรัฐบาลไทยไม่อาจปฏิเสธอิทธิพลของตนในทางธุรกิจกับพม่าได้ แต่เราก็เชื่อว่ารัฐบาลไทยจะปฏิเสธที่จะทำทุกอย่างที่ได้เสนอไปข้างต้น
 
 
หมายเหตุ: Emily Hong เป็นนักเขียนอิสระและนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไต ยและขบวนการของกลุ่มชาติพันธุ์ เธอมีส่วนร่วมในหนังสือ Nowhere to Be Home: Narrators from Survivors of Burma's Military Regime ที่กำลังจะเผยแพร่ในอนาคต ส่วน Kriangsak Teerakowitkajorn (เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร) เป็นอาจารย์ประจำของวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน-สมาคมสื่อพม่า ร้องปล่อยตัว 1 นักข่าวญี่ปุ่นพร้อม 2 นักข่าวพม่า

Posted: 08 Nov 2010 11:38 AM PST

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน และสมาคมสื่อพม่า เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักข่าวญี่ปุ่น และนักข่าวพม่าที่ถูกทางการพม่าจับกุมตัว จากการที่พวกเขาทำข่าวการเลือกตั้งในพม่า 7 พ.ย.ที่ผ่านมา

 
วานนี้ (8 พ.ย. 2553) องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน และสมาคมสื่อพม่า เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักข่าวชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ โทรุ ยามาจิ ผู้อำนวยการสำนักข่าว AFP สาขากรุงโตเกียว ที่ถูกทางการพม่าจับกุมตัวที่เมืองชายแดนทางฝั่งตะวันออกของเมียวดี ในช่วงที่มีการเลือกตั้งวานนี้ หลังจากที่เขาเข้าประเทศพม่าผ่านไทย มีรายงานว่าเขาถูกส่งตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังเมืองหลวงใหม่ของพม่า กรุงเนปิดอว์ เพื่อรับการไต่สวนโดยหน่วยข่าวทหารพม่า
 
ทั้ง 2 องค์กรกล่าวว่า จากการที่รัฐบาลทหารห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้าไปในพม่า จึงเป็นเรื่องปกติที่มีบางคนพยายามเข้าไปโดยไม่มีวีซ่านักข่าว นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่าพวกเขาสนับสนุนโทรุ ยามาจิ จากการที่พยายามเข้าไปรายงานข่าวแม้จะมีการปิดกั้น โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เน้นให้เห็นถึงความยากลำบากในการที่สื่อนานาชาติจะเข้าไปรายงานข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพม่า
 
หลังจากถูกตำรวจจับกุมตัวที่เมียวดีเช้าวานนี้ (7 พ.ย.) แล้ว ยามาจิ ถูกส่งตัวไปเนปิดอว์เนื่องจากมีเหตุปะทะเกิดขึ้นในเมียวดีระหว่างกองทัพกับกลุ่มกองกำลังกะเหรี่ยง โดยเชื่อว่าเขาจะไม่ถูกปฏิบัติอย่างทารุณ
 
ยามาจิเคยโพสท์ในทวิตเตอร์เมื่อวานซืน (6 พ.ย.) ว่าเขาวางแผนจะข้ามชายแดนไปในพม่าเนื่องจากนักข่าวควรมีหน้าที่รายงานสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่นั่น หลังจากเข้าไปในเขตเมียวดี มีรายงานว่าเขาได้ถ่ายรูปโรงเรียนซึ่งถูกใช้เป็นสถานีเลือกตั้ง
 
รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นได้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับยามาจิ โดยก่อนหน้านี้มีช่างภาพข่าววิดิโอที่อยู่สำนักข่าวเดียวกับยามาจิชื่อ เคนจิ นากาอิ ถูกทหารพม่ายิงเสียชีวิตในการประท้วงบนท้องถนนที่กรุงย่างกุ้งในปี 2550 ไม่มีทหารรายใดเลยถูกดำเนินคดีหรือลงโทษ และรัฐบาลพม่าก็ไม่เคยคืนกล้องวิดิโอให้กับครอบครัวเขา
 
นอกจากนี้ยังมี นักข่าวหญิงอีก 2 รายจากสื่อเอกชนของพม่า True News ที่ถูกจับกุมตัววานนี้ โดยผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในเมืองใกล้กับย่างกุ้ง ที่มีนายกเทศมนตรีรายหนึ่งของย่างกุ้ง ออง เทียน ลินน์ สมัครเป็น ส.ส. ทางผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนและสมาคมสื่อพม่าขอเรียกร้องให้ปล่อยตัวเธอทั้ง 2 คน
 
ผู้สื่อข่าวชาวพม่าที่ถูกสื่อต่างชาติจ้างวานก็ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดโดยทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบในช่วงที่มีการลงคะแนนเลือกตั้งและช่วงที่มีการหาเสียงก่อนหน้านี้
 
"เพื่อนร่วมงานฉันถูกติดตามตัวและบางครั้งก็ถูกค้นตัว ขณะที่ตำรวจใช้เวลาถ่ายภาพพวกเราในทันทีที่พวกเราพยายามทำข่าวที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง" ผู้สื่อข่าวชาวพม่าที่ได้รับการจ้างวานโดยสื่อญี่ปุ่นกล่าวกับผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนและสมาคมสื่อพม่า "พวกเขาติดตามฉันไปทุกที่" ผู้สื่อข่าวที่ทำงานให้สื่อต่างประเทศอีกรายกล่าว
 
มีกรณีหนึ่งที่เมืองทามแว (Tamwe) ผู้สื่อข่าวชาวพม่า 2 รายที่ทำงานให้สื่อต่างชาติถูกข่มขู่โดยกลุ่มผู้สนับสนุน ส.ส. พรรค USDP ของรัฐบาลทหาร 
 
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้สั่งการไม่ให้สื่อเอกชนอย่าง Eleven Media รายงานความเคลื่อนไหวในส่วน"การเลือกตั้ง" ทั้งบนเว็บไซต์และหน้าเฟสบุ๊ค
 
 
http://en.rsf.org/birmanie-japanese-journalist-two-burmese-08-11-2010,38772.html
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘แม่น้องเกด’จี้ธาริตเผยผลชันสูตรเท่าที่ได้–เตรียมรับขวัญเสื้อแดงคนแรกออกคุก

Posted: 08 Nov 2010 10:58 AM PST

 
 
 
 
 
 
8 พ.ย.53 เวลาประมาณ 13.00 น. นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนารามวันที่ 19 พ.ค.53 เดินทางมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อติดตามขอทราบผลชันสูตรศพผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง และประท้วงนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอที่แจ้งว่ามีการขยายเวลาการแถลงผลการชันสูตรไปโดยไม่มีกำหนด
 
นางพะเยาว์ กล่าวว่ารู้สึกผิดหวังที่ดีเอสไอขยายเวลาการแถลงผลชันสูตรออกไปไม่มีกำหนด เนื่องจากเชื่อว่าได้หลักฐานไปเป็นจำนวนมากแล้ว อีกทั้งเจ้าหน้าที่ดีเอสไอยังเรียกพยานมาสอบสวนแล้วหลายคน เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างกระตือรือร้น เหลือแต่ผู้ใหญ่ที่จะไม่ยอมแถลงข่าวให้ประชาชนและญาติผู้เสียชีวิตได้ทราบ แม้ยังไม่ทราบผลทั้งหมดก็น่าจะแถลงความคืบหน้าว่าทำไปถึงไหนตามที่เคยให้สัญญาว่าจะแล้วเสร็จภายใน 45 วัน
 
“เอาสากกับครกมา แปลว่าหมายได้ว่า ดีเอสไอเป็นครก เครื่องมีครบหมดแล้ว ลูกน้องทำให้ เราเอาสากมาให้เพื่อบอกว่าคุณโขลกสักที่เถอะ จะได้ตักออกมาให้รู้ว่าตรงไหนเป็นยังไง กระสุนจากหน่วยไหน รสชาติเป็นยังไงจะได้รู้บ้าง คุณไม่ให้เขาออกเขาจะกล้าไหม ลูกน้องคุณเขาก็เก็บหลักฐานไว้หมดแล้ว  ฝากให้ธาริตว่าโขลกซักที” แม่กมนเกดกล่าว
 
เมื่อถามถึงกรณีบทบาทของ คอป. นางพะเยาว์กล่าวว่า วันนี้ไปเยี่ยม คอป. ไม่ทัน ตอนแรกไม่ได้ใส่ใจว่าเขาตั้งคณะนี้มาทำไม แต่ในเมื่อตั้งแล้วก็น่าจะมีผลงานให้ประชาชนรู้บ้าง ที่ผ่านมาไม่เคยรู้ข่าวเขาเลย หน้าตากรรมการเป็นยังไงไม่เคยรู้จัก
 
“โทรศัพท์ซักกริ๊งจดหมายซักฉบับยังไม่เคยมีมาเลย แต่พอไปถึงต่างจังหวัด คนต่างจังหวัดกลับเคยได้รับจดหมายจากเขาโดยจ่าหน้าซองถึงคนตาย ตกลงเรียกคนตายไปสอบปากคำหรือ กรรมการก็คงอายุมากแล้ว คงหลงๆ ลืมๆ เขาบอกจะติดต่อไปอย่างนั้นอย่างนี้ เวลา 3 ปีที่รัฐบาลกำหนดให้กลุ่มที่ตั้งขึ้นมามันมากเกินไป ผ่านมาแล้วหลายเดือนยังไม่มีผลงานอะไรเลย” นางพะเยาว์กล่าว
 
ด้านเจ้าหน้าที่ของดีเอสไอยืนยันกับนางพะเยาว์ว่า การสอบมีความคืบหน้าแน่นอน หากต้องการทราบข้อมูลอะไรสามารถโทรถามได้ ขณะนี้ก็ใกล้จะได้เวลาแถลงข่าวแล้ว เพราะสื่อมวลชนก็ติดตามอยู่โดยตลอด  
 
นัดรับขวัญเสื้อแดงคนแรกพ้นคุก
เวลา 17.00 น. ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ กลุ่มคนเสื้อแดงร่วม 200 คน นำโดยนายนที สรวารี แกนนำกลุ่มอาทิตย์ซาบซึ้ง และแนวร่วมกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ได้นัดรวมตัวทำกิจกรรม วางกุหลาบแดงเพื่อสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมทั้งอ่านบทกวี และผูกผ้าแดงโดยรอบพระบรมราชานุสาวรีย์ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ตำราจ บก.น.8 และสน.บุปผารามกว่า 100 นาย ทั้งนี้ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักพอสมควรมีการนำเสื้อ และวีซีดีเหตุการณ์สลายการ ชุมนุมมาวางขายด้วย นอกจากนี้ยังมีการแจกใบปลิว และประกาศเชิญชวนคนเสื้อเดงไปรวมตัวกันที่เรือนจำคลองเปรม ในวันที่ 11 พ.ย. เวลา 10.00 น. เพื่อร่วมกันต้อนรับ นายวิษณุ กมลแมน หรือ เล้ง อายุ 19 ปี ผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ซอยรางน้ำ ได้รับการปล่อยตัว หลังถูกขังครบกำหนด 6 เดือน ทั้งนี้ นายวิษณุถือเป็นคนเสื้อแดงคนแรกที่ถูกปล่อยตัว
 
นายนทีกล่าวว่า การจัดกิจกรรมของคนเสื้อแดงในฝั่งธนฯ ถือเป็นครั้งแรกหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม ประกอบกับวันที่ 7 พ.ย.ถือเป็นวันดี ครบรอบ 413 ปีที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงกอบกู้เอกราช เราจึงได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้น ซึ่งต่อไปจะจัดกิจกรรมในลักษณะเช่นนี้ทุกวันอาทิตย์ เพื่อแสดงตัวตน และพูดคุยปรับทุกข์ระหว่างคนเสื้อแดงด้วยกันหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม
 
 
ที่มาบางส่วนจากเว็บไซต์มติชน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาชาติธุรกิจ: เปิดใจผ่านลูกกรง-กุญแจมือ สุชาติ นาคบางไทร ผู้ต้องหาคนล่าสุด "คดีหมิ่น-ม.112"

Posted: 08 Nov 2010 09:34 AM PST

อดีตนักไฮด์ปาร์กผู้เปลี่ยนฐานะเป็นจำเลยในข้อหาฉกรรจ์ เขาเปิดใจสนทนา กับ "ประชาชาติธุรกิจ" ขณะที่ถูกพันธนาการกุญแจมือ ก่อนถูกนำขึ้นรถตำรวจไปยังห้องฝากขังของศาลอาญา และนำตัวไปยังเรือนจำ

 
 
หมายเหตุ: วันที่ 8 พ.ย.53 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ นายวราวุฒิ ฐานังกรณ์ หรือ สุชาติ นาคบางไทร ประชาไทขอนำรายรายละเอียดมาเสนอต่อ ดังนี้
 

 000

ช่วงสายของวันที่ 1 พ.ย. 2553 ข่าวสำคัญอีก 1 ข่าวสำหรับ คอการเมือง คือตำรวจกองปราบปรามรวบตัว นายวราวุฒิ ฐานังกรณ์ หรือ สุชาติ นาคบางไทร ผู้ต้องหาคดี หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผู้ปราศรัย บนเวทีสนามหลวงของฝ่ายแดง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 
 
โดยการปราศรัยครั้งนั้น มีเนื้อหาที่ถึงขนาดทำให้นักการเมืองหลังเวทีไฮด์ปาร์ก รีบสตาร์ตรถเผ่นหนีออกจากจุดชุมนุม แทบไม่ทัน เพราะทุกคนที่เติบโตใน สังคมไทยย่อมเข้าใจว่า เนื้อหาเช่นนั้น เข้าข่ายผิดกฎหมายอย่างแน่นอน
 
วราวุฒิ หรือสุชาติ เป็น 1 ในกลุ่มคนจากโลกไซเบอร์สเปซ ที่นัดหมายกันปรากฏตัว ณ สนามหลวง เพื่อต้านรัฐประหาร 2549 ในนามกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ก่อนที่นักการเมืองจะจัดตั้ง PTV ขึ้นมาใช้เฉพาะกิจแล้ว ยกเลิกไป เมื่อหมดประโยชน์
 
ต่อมากลุ่มคนวันเสาร์ฯแตกตัวเป็น คลับทักษิณ, นิวสกายไทยแลนด์ และสุดท้ายคือกลุ่มมดคันไฟ 
 
การจับกุมตัวขณะที่วราวุฒิ นัดหมาย กินข้าวกับลูกสาว ในห้างย่านประตูน้ำ ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่เขาไม่ปรากฏ ตัวมาเป็นเวลา 2 ปี 
 
เช้าวันที่ 2 พ.ย.2553 หลังนอนคุก โรงพักคืนแรกและคืนเดียว ณ ห้องขัง ของสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม เจ้าของพื้นที่สนามหลวง จุดเกิดเหตุ...
 
อดีตนักไฮด์ปาร์กผู้เปลี่ยนฐานะเป็นจำเลยในข้อหาฉกรรจ์ เขาเปิดใจสนทนา กับ "ประชาชาติธุรกิจ" ขณะที่ถูกพันธนาการกุญแจมือ ก่อนถูกนำขึ้นรถตำรวจไปยังห้องฝากขังของศาลอาญา และนำตัวไปยังเรือนจำ 
 
ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพบอกว่า "ผมปฏิเสธให้สัมภาษณ์นักข่าวหลายคน เนื่องจากไม่อยากให้ใครสนใจ ผมไม่ได้ต้องการเป็นข่าว ไม่อยากดัง ไม่อยากจะมีสื่อที่ไม่เข้าใจเจตนาของ ผมมาทำข่าว เพราะมันจะยุ่งยากและ ทำให้ครอบครัวของผมวุ่นวาย เพราะฉะนั้นผมมีความรู้สึกว่า ควรจะ ซอฟต์ ๆ และจบลง ดี ๆ..." 
 
ก่อนการตั้งคำถามเรื่องอนาคตหลังลูกกรง เขาบอกสถานภาพของเขาชัดเจน ไม่มีเป้าหมายเป็นนักการเมือง ไม่ได้เป็น นปช. และไม่เกี่ยวข้องกับ "ทักษิณ" 
 
- มีแนวทางในการต่อสู้คดีอย่างไร 
 
รับสารภาพ เพื่อให้โทษลดลงครึ่งหนึ่ง และหากทำความดี โทษก็จะเหลือน้อยลง 
 
- ได้ติดต่อกับแกนนำเสื้อแดง นปช. ที่อยู่ทั้งในคุกและนอกคุกหรือไม่ 
 
ผมเป็นคนละกลุ่มกับพวกเขา ...ไม่มีใครเอาผม ผมไม่ได้มีค่าอะไรสำหรับพวกเขา ...ผมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ได้ต่อสู้เพื่อเลือกตั้ง 
 
- การต่อสู้ที่ผ่านมา ทำเพื่อคุณทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ 
 
ไม่เกี่ยวข้อง 
 
- มองคุณทักษิณอย่างไร
 
เป็นเหยื่อ...
 
- ที่ผ่านมาได้รับการติดต่อจากนักการเมือง หรือพรรคการเมืองหรือไม่
 
ไม่มีใครติดต่อผม และผมไม่ติดต่อใคร ผมอยู่คนเดียวมาตลอด 
 
- เหตุผลที่ไม่แก้ต่างในคดี แต่เลือกวิธีรับสารภาพเพราะอะไร
 
เป็นวิธีที่ดีที่สุด...ผมเห็นแนวทางที่ คุณสุวิชา ท่าค้อ และแม่หมอ (นางบุญยืน ประเสริฐยิ่ง) ปฏิบัติแล้ว เห็นว่าเป็นแนว ทางที่ดี ติดคุกประมาณ 2 ปี หรือไม่ถึง 2 ปี ...คิดว่าอยากไปช่วยครอบครัว เพราะฉะนั้นสรุปคือ เรายอมรับผิดดีกว่า...สั้น ง่าย สะดวก แล้วเราก็มาทำมาหากินเพื่อครอบครัว อันนี้น่าจะเป็นทางตรง เราอยู่...เราก็ไม่ใช่คนของใคร เราไม่ได้ทำงานเพื่อใคร ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะต้องไปลำบาก นี่เป็นเหตุผลที่แท้จริง และอีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่เราพูด ที่เราทำ ถูกบันทึกวิดีโอไว้หมดแล้ว มันไปเปลี่ยนก็ไม่ได้ จะบอกว่าไม่พูด เป็นไปไม่ได้ ก็รับสารภาพไป 
 
แล้วผมเชื่อว่าศาลก็คงจะพิจารณาไปตามรูปคดีที่เกิดจริง ผมเชื่อตรงนั้นนะ ไม่งั้นผมจะเข้ามาทำไม ถ้าเข้ามาแล้วไม่ เชื่อก็... จริง ๆ ผมจะไม่ถูกจับก็ได้ ถ้าพูดตรง ๆ แต่ผมเลือกนะ อันนี้ผมพูดอีกครั้ง...โอเค ตำรวจเก่ง อันนี้ต้องยอมรับ... แต่อีกส่วนหนึ่งเราก็มาดูแลครอบครัว พอครอบครัวเราเข้าที่เข้าทางแล้ว เราก็รู้สึกว่าเราน่าจะถึงเวลาแล้ว เราก็เริ่มลดความเคร่งครัดของตัวเองลง เมื่อเริ่มลดความเคร่งครัดของตัวเองลง ก็ไม่ยาก ที่จะถูกจับได้
 
- ถ้าพ้นโทษแล้วจะกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกหรือไม่
 
ผมไม่เรียกว่าเคลื่อนไหวนะ ผมคงไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะว่าการเมืองกับผมก็ไม่ได้เกี่ยวกันเลยนะ ตั้งแต่ในอดีตจนมาถึงวันนี้ ผมก็ไม่ได้เรียกว่าเคลื่อนไหวเพื่อการเมือง
 
- สิ่งที่ทำนั้นเพื่ออะไร
 
เพื่อประเทศชาติ ประชาชน และเพื่อตัวผมเอง ไม่ได้เพื่อการเมืองของใคร ผมไม่ได้อยากเป็นนักการเมือง ผมไม่ได้อยากเป็น ส.ส. ผมไม่ได้อยากเป็นนายกฯ ผมอยากทำหน้าที่ต่อครอบครัว ดูแลครอบครัวผม... แต่เมื่อเราเห็นความไม่ถูกต้อง เราก็ออกมาแสดงความคิดเห็น แต่เมื่อเราทำแล้ว เราสรุปว่าเราทำไม่ได้ ในฐานะประชาชน เราทำมากไปกว่านี้ ไม่ได้หรอก
 
- ก่อนหน้านี้เคยลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. 
 
สิ่งที่ผมจะบอกก็คือ เราทำมาหมดแล้ว ที่ประชาชนคนหนึ่ง มือเปล่า ตัวคนเดียว จะทำได้ นอกจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของคนอื่นแล้ว
 
ทางสุดท้าย ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง บวก ลบ คูณ หารแล้ว ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ มีแต่เสีย เราไม่ได้สู้เพื่อเสีย เราไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อตาย เราไม่ได้อยากเป็นวีรชน เราไม่ได้อยากเป็นวีรบุรุษ... เหมือนอย่างเราเจอผัวเมียตีกัน อย่างน้อยเราก็แค่ห้ามไม่ให้ตีกัน พอเขาไม่ตีกันแล้วเราก็ จากไป เขาอาจจะมาตีกันอีกเรื่องของเขา แต่เราได้ทำหน้าที่ ณ เวลานั้นแล้วว่า เราเห็นมันไม่ถูกต้อง แต่เราคงไปห้ามเขาไม่ให้ตีกันตลอด เป็นไปไม่ได้หรอก เขาเป็นผัวเมียกัน เดี๋ยวเขาก็กลับมาตีกัน 
 
- ช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ประเทศกัมพูชาหรือไม่ 
 
ไม่ได้อยู่ที่กัมพูชา 
 
- ได้ติดต่อกับคุณจักรภพ เพ็ญแข หรือไม่
 
ไม่ได้ติดต่อ
 
- ทราบข่าวหรือไม่ว่าคุณจักรภพ ไปไหนมาไหนอย่างไร
 
ไม่ทราบ ไม่รู้
 
- ช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางมากัมพูชา เคยได้พบปะกันหรือไม่ 
 
ไม่ได้พบ คือผมพยายามจะไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ทั้งเจตนาเดิม ปัจจุบัน และอนาคต และถ้าจะพูดให้ตรงเลยนะ นักการเมืองเขาก็ไม่ค่อยชอบผมหรอก (หัวเราะ) นี่ก็ต้องพูดตรงๆ เลย เพราะผมไม่ใช่คนที่สั่งได้ ไม่ใช่คนที่จะมีนาย ไม่พร้อมที่จะเป็นลูกน้องใคร เรียกใครว่านาย เรียกใครว่าท่านแล้วผมทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่วิสัยเลย
 
ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใครหลายคนพยายามจะไปผูกโยงให้ผมเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งโดยบังเอิญ ทั้งโดยเจตนา อะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าคุยกันตรง ๆ แล้ว เราไม่ต้องการ ผมกล้าพูดว่าเราไม่ต้องการ (การติดต่อ) ในขณะเดียวกัน ผมก็ยืนยันว่า เขา (นักการเมือง) ก็พูดคำเดียวกัน ... เขาก็ไม่ต้องการเราเหมือนกัน เพราะว่า เราไม่ได้ทำงานเพื่อเป้าหมายของคนอื่น (นักการเมือง) แต่เราทำงานเพื่อตัวเรา ประเทศชาติของเรา ส่วนประเทศชาติ ของคนอื่นเขาเป็นยังไง มันคนละภาพ กับของผม มันก็ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเขา 
 
- มองการเคลื่อนไหวของ นปช. อย่างไร ขณะนี้แกนนำก็อยู่ในคุก
 
ผมไม่รู้... เขาไม่เคยให้ผมรู้ สรุป ผมให้เกียรติกลุ่มอื่นที่จะทำงาน ใครจะเคลื่อนไหวยังไงเป็นสิทธิของเขา เขารับผิดชอบชีวิตเขา เขาเอาชีวิตมาแลกคุกตะราง แลกกระสุน ก็เป็นสิ่งที่น่าขอบคุณ แต่ เป้าหมายที่แท้จริง วิธีการเป็นยังไง ผมไม่รู้ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รู้ เราก็ไปพูดไม่ได้ 
 
- ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะปราศรัยอย่างที่พูดในคืนวันที่ 14 ตุลาคม 2551 หรือไม่ 
 
คงไม่พูดหรอก เราคงไม่พูดเพื่อจะให้มาติดคุก ไม่พูดแน่...
 
 
วันที่ 08 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4260  ประชาชาติธุรกิจ หน้า 35
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรพิทักษ์สัตว์อังกฤษบอก เนื้อไก่ไทยคุณภาพดีกว่าของอังกฤษ

Posted: 08 Nov 2010 08:46 AM PST

สมาคมต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ (RSPCA) ของอังกฤษระบุว่า การเลี้ยงไก่ในไทยในหลายปัจจัย ทำให้ไก่ไทยมีคุณภาพดีกว่าไก่อังกฤษ เช่น พันธุ์ไก่, การเติบโต, พื้นที่เพาะเลี้ยง การพักผ่อนของไก่

 
4 พ.ย. 2553 - สมาคมต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์ (RSPCA) ของอังกฤษระบุว่า ผู้บริโภคที่มีความเป็นห่วงในด้านสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อไก่ในอังกฤษ และควรหันมาบริโภคไก่นำเข้าจากไทยแทน
 
สำนักข่าว The Independent ของอังกฤษระบุว่าองค์กร RSPCA ซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านทารุณกรรมสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษออกมาบอกว่า คุณภาพของเนื้อไก่ที่นำเข้าจากผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างไทยและบราซิล มีมาตรฐานการผลิตสูงกว่าของอังกฤษเอง
 
ในวันเดียวกันนั้นเองทางองค์กรพิทักษ์สัตว์ก็เผยแพร่วิดิโอขั้นตอนการผลิตเนื้อไก่ "จากสายพานสู่การสังหาร" ซึ่งเป็นภาพของลูกเจี๊ยบเพศผู้ที่อุตสาหกรรมไข่ไก่คัดแยกออกมา โดยองค์กรมังสะวิรัส Viva! กล่าวว่า มีลูกเจี๊ยบราว 30-40 ล้านตัวต่อปี ที่ถูกสังหารด้วยการรมแก๊ส หรือโดยการโยนเข้าไปในเครื่องบดไฟฟ้า
 
RSPCA กล่าวอีกว่า การเลี้ยงไก่ในไทยให้พื้นที่กับไก่มากกว่า โดยไก่เลี้ยงของไทยจะมีเนื้อที่เพาะเลี้ยง 13 ตัวต่อตารางเมตร ขณะที่ในอังกฤษจะใช้เนื้อที่เพาะเลี้ยง 20 ตัวต่อตารางเมตร นอกจากนี้ไก่ไทยยังมีการเลี้ยงยืดอายุมากกว่าไก่อังกฤษคือให้มีอายุถึง 42 วัน เทียบกับไก่อังกฤษที่มีอายุเพียง 35 วัน นอกจากนี้ยังมีเลาให้ไก่ได้พักมากกว่า โดยจะให้อยู่ในความมืด 6 ชั่วโมง ขณะที่ในอังกฤษให้อยู่ในความมืด 4 ชั่วโมง
 
ดร.มาร์ค คูปเปอร์ นักวิทยาศาสตร์จาก RSPCA ได้ไปสำรวจฟาร์มเลี้ยงไก่ในไทยเมื่อปีที่แล้ว (2552) และในปีนี้ (2553) ก็ได้ไปสำรวจฟาร์มในบราซิล เขาให้สัมภาษณ์กับ The Independent ว่า มาตรฐานเนื้อไก่ในบราซิลมีบางด้านที่ดีกว่าด้วยซ้ำ และผู้บริโภคก็คิดผิดเรื่องที่ว่าไก่ในอังกฤษถูกเลี้ยงมาด้วยมาตรฐานที่ดีกว่าสัตว์ปีกราคาถูกจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีค่าแรงและอสังหาริมทรัพย์ถูกกว่า
 
"จากที่ผมพบเห็นมา ทำให้ควรประเมินในทางตรงกันข้ามคือไก่ที่มาจากไทยมีมาตรฐานที่ดีกว่าอุตสาหกรรมเนื้อไก่ที่คุณซื้อหากันที่นี่" ดร.คูปเปอร์ กล่าว
 
"บราซิลก็เช่นเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ที่นี่มีหลากหลายคุณภาพ แต่ก็เป็นเรื่องผิดที่จะอนุมานว่าเนื้อไก่ที่ข้ามทะเลมาจากประเทศอย่างบราซิลหรือไทยอยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน"
 
จากการไปสำรวจในไทยของ คูปเปอร์ เขาพบว่าสภาพความเป็นอยู่ของไก่ไทยดีกว่าไก่ของอังกฤษอย่างเห็นได้ชัด "พวกมันมีความแออัดน้อยมาก พวกเขามักจะเลี้ยงโดยอาศัยแสงธรรมชาติ ใช้ไก่พันธุ์ที่โตช้ากว่า และมีความปลอดภัยทางชีวภาพในอีกระดับหนึ่งเลย" ดร. คูปเปอร์กล่าว
 
ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เสาะหาแหล่งผลิตภัณฑ์ราคาถูกกว่าก็เริ่มนำเข้าเนื้อไก่เข้ามาในอังกฤษเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเนื้อไก่ของอังกฤษมีมูลค่าสูงขึ้นมากเป็น 10 เท่า ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา จาก 36 ล้านปอนด์ (ราว 1,725 ล้านบาท จากอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ในปี 2539 เป็น 510 ล้านปอนด์ (ราว 24,433 ล้านบาท จากอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) เมื่อปี 2552
 
หากไม่นับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) แล้ว อังกฤษได้นำเข้าจากประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งเมื่อปีที่แล้วขายได้ราว 292 ล้านปอนด์ (ราว 13,990 ล้านบาท จากอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ขณะที่บราซิลได้ราว 30 ล้านปอนด์ (ราว 1,436 ล้านบาท จากอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) แต่ไก่ที่มีารบริโภคมากที่สุดก็ยังเป็นไก่ที่ผลิตเองในอังกฤษอยู่ดี
 
แม้ว่าฟาร์มอุตสาหกรรมของที่นี่จะถูกมองในแง่ลบจนทำให้คนหันไปบริโภคผลิตภัณฑ์ทางเลือกมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ออร์แกนนิก ผลิตภัณฑ์ที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระ และไก่ที่มีคุณภาพชีวิตดีกว่า เช่น ผลิตภัณฑ์จากไร่โอ๊คแฮมของ 'มาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ส' แต่ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในอังกฤษกว่าร้อยละ 80 ยังเป็นไก่ที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มแออัดซึ่งจุสัตว์ปีกชนิดนี้ไว้ถึง 50,000 ตัว
 
ดร. คูปเปอร์ กล่าวในเรื่องนี้ว่า "อุตสาหกรรมของอังกฤษมักจะบอกว่าเราไม่สามารถเลี้ยงไก่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ เนื่องจากพวกเขาถูกกดดันจากสินค้านำเข้า และสินค้านำเข้าก็มีคุณภาพแย่กว่ามาตรฐาน ซึ่งข้อโต้แย้งนี้ไม่เป็นความจริงเลย"
 
ปีเตอร์ แบรดน็อค ผู้อำนวยการสภาปศุสัตว์ด้านสัตว์ปีกของอังกฤษบอกไม่เห็นด้วยกับมาร์ค คูปเปอร์ โดยเขาบอกว่าไก่เลี้ยงในประเทศไทยไม่ได้มีอัตราการเติบโตช้ากว่า แต่ที่พวกเขาต้องเลี้ยงให้โตช้ากว่าเพราะต้องการให้มันมีพื้นที่มากกว่าเนื่องจากมีการใช้ระบบระบายอากาศแบบธรรมชาติ และอุณหภูมิภายนอกก็ร้อน
 
แบรดน็อค ย้ำว่า "ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่าไก่ของไทยคุณภาพแย่ แต่ก็ไม่ได้บอกว่ามันดีกว่า"
 
RSPCA ยังได้สรุปข้อมูลเปรียบเทียบไก่ไทย-ไก่อังกฤษไว้ดังนี้
 
เนื้อที่:   ไก่อังกฤษใช้เนื้อที่เพาะเลี้ยง 20 ตัวต่อตารางเมตร ไก่ไทยใช้เนื้อที่เพาะเลี้ยง 14 ตัวต่อตารางเมตร
พันธุ์:     ไก่อังกฤษใช้พันธุ์โตเร็วเช่น Ross 308 ที่มีมวลช่วงตัวใหญ่กว่าขาจะรับน้ำหนักไหว ทำให้บางตัวพิการ ไก่ไทยมีลักษณะตามพันธุกรรมที่หลากหลาย ซึ่งจะใช้ทำตลาดในอังกฤษโดยบอกว่าเป็น "พันธุ์โตช้า"
การพักผ่อน:    ไก่อังกฤษได้อยู่ในที่มืด 4 ชั่วโมงต่อคืน ไก่ไทยได้อยู่ในที่มืด 6 ชั่วโมงต่อคืน
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กะเหรี่ยงดีเคบีเอบุกยึดด่านเจดีย์สามองค์

Posted: 08 Nov 2010 08:31 AM PST

กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธดีเคบีเอ กองพัน 907 โจมตีทหารพม่าที่เมืองพญาตองซู ด่านเจดีย์สามองค์ ตรงข้ามสังขละบุรี พร้อมเผาสถานที่ราชการหลายแห่ง ขณะที่การปะทะที่เมียวดีในช่วงกลางคืนยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุศพทหารกว่า 30 ร่างเกลื่อนเมียวดี 

พ.อ.ซอว์ ลา เพว ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 5 ของกองกำลังกะเหรี่ยงดีเคบีเอ นายทหารผู้นี้เป็นผู้สั่งการทหารกะเหรี่ยงดีเคบีเอยึดเมืองเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา และล่าสุดวันนี้ (8 พ.ย.) มีรายงานการปะทะของทหารกะเหรี่ยงดีเคบีเอที่เมืองพญาตองซู ใกล้ด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรีด้วย (ที่มาของภาพ: เว็บไซต์นิตยสารอิระวดี)

 

ปะทะทั่วเมียวดี ผู้อพยพทะลักเข้าแม่สอด

เช้าวันนี้ มีรายงานว่า เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกองทัพรัฐบาลพม่า กับ กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ

ประชาธิปไตย (Democratic Keren Buddhist Army - DKBA) หรือดีเคบีเอ กองพลน้อยที่ 5 บัญชาการโดย พ.อ.ซอว์ ลา เพว (Saw Lah Pwe) หรือ นะคะมวย (Na Kham Mwe) โดยการปะทะเกิดขึ้นหลายจุดรอบเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ในเช้าวันนี้ (8 พ.ย.)

ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้รวม 7 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 20 คนแล้ว นอกจากนี้ กระสุนปืน ค.60 ได้ข้ามตกมายังฝั่งไทย ทำให้มีชาวบ้านบาดเจ็บ 3 ราย มีรายงานว่า ทั้งสองฝ่ายยังปะทะกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มีการเสริมกำลังเข้ามาในพื้นที่จากทั้งสองฝ่าย และขณะนี้ ฝ่ายกองพลน้อยที่ 5 กะเหรี่ยงดีเคบีเอ ได้ยึดสำนักงานสำคัญของทางการพม่าในเมืองเมียวดีไว้ได้หมดแล้ว

ด้าน พ.อ.ซอว์ ลา เพว ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 5 กล่าวว่า “การปะทะกันเกิดขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. ของเช้าวันนี้ ฝ่ายทหารพม่าเป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีก่อน ดังนั้นเราจึงออกคำสั่งให้ทหารของเราต้องตอบโต้กลับบ้าง โดยทางพม่าได้ส่งกำลังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่า พวกเขาไม่อยากจะเจรจาแล้วในตอนนี้”

ทั้งนี้ เหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายเริ่มตึงเครียดตั้งแต่กลางดึกเมื่อวันอาทิตย์ (7 พ.ย.53) ที่ผ่านมา หลังจากเมื่อช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ กองกำลังกะเหรี่ยงดีเคบีเอ กองพลน้อยที่ 5 ได้เคลื่อนเข้าประจำในหลายพื้นที่สำคัญในเมืองเมียวดีและตรึงกำลังรอบเมือง มีรายงานด้วยว่า ตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายได้ยายามเจรจากันแล้ว ในช่วงเช้าของวันนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ด้านแหล่งข่าวตรงชายแดน ระบุว่า กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army- KNLA) ปีกทางการทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) หรือ เคเอ็นยูเองพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือกองพลน้อยที่ 5 ดีเคบีเอ ทุกเมื่อ

ด้านสถานีโทรทัศน์ทีวีไทยรายงานว่า มีชาวบ้านจากฝั่งพม่าอพยพเข้ามายังฝั่งไทยแล้วกว่า 5 พันคน สอดคล้องกับสำนักข่าวดีวีบีที่รายงานว่า ขณะนี้ชาวบ้านเริ่มทยอยหนีมายังฝั่งไทย เนื่องจากเกิดกระแสข่าวลือว่า ทหารพม่าเริ่มเกณฑ์ชาวบ้านในเมืองเมียวดีไปต่อสู้กับกลุ่มดีเคบีเอ กองพลน้อยที่ 5 ขณะที่ชาวบ้านรายหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าวดีวีบีว่า ทหารพม่าเริ่มเกณฑ์ชาวบ้านในหมู่บ้านของเธอไปเป็นลูกหาบ นอกจากนี้ ชาวบ้านอีกรายหนึ่งเปิดเผยว่า เขาได้เห็นกระสุนปืนตกอยู่ใกล้กับสถานีตำรวจในเมืองเมียวดี

 

ยอดผู้อพยพพุ่ง เผยปะทะกันตลอดคืน ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุศพเกลื่อนเมียวดี

ทั้งนี้ สำนักข่าว DVB รายงานว่า จากเหตุปะทะในเขตเมียวดีของพม่าหลังการเลือกตั้ง ทำให้ตอนนี้มีประชาชนชาวพม่าจำนวนมากพากันอพยพมาที่ชายแดนไทย โดยเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติใน อ.แม่สอด รายงานตัวเลขผู้อพยพว่ามีราว 1,000 ราย ขณะที่ผู้พบเห็นระบุว่ามีผู้อพยพราว 5,000 โดยมีราว 400 คนที่อพยพเข้ามาอาศัยในวัดแถวแม่สอดใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แหล่งข่าวจากชายแดนระบุวามีประชาชนอีกหลายคนกำลังข้ามจุดผ่านแดนไม่เห็นทางการที่ติดอยู่กับเมียวดี

เหตุปะทะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งในพม่าครั้งแรกในรอบ 20 ปี หลังจากเกิดเหตุหลายชั่วโมงเหตุการณ์ก็ดูจะสงบลง ขณะเดียวกันก็ได้รับรายงานว่าผู้อยู่อาศัยในเมียวดีได้รับคำเตือนให้ออกจากเมืองก่อนการปะทะเกิดขึ้น

เว็บไซต์อิระวดี ยังรายงานเพิ่มเติมว่า ตลอดคืนนี้การปะทะกันระหว่างทหารกะเหรี่ยงดีเคบีเอ กองพลน้อยที่ 5 กับทหารพม่ายังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง พยานในเมืองเมียวดีระบุว่าพบเห็นศพทหารของทั้งสองฝ่ายไม่น้อยกว่า 30 ศพภายในเมือง

 

กะเหรี่ยงดีเคบีเอบุกเมืองพญาตองซู ด่านเจดีย์สามองค์

อย่างไรก็ตามเหตุปะทะตอนนี้ลามจากตอนใต้ของเมียวดีไปถึงเมืองพญาตองซู ใกล้ชายแดนไทยด้านด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี โดย พ.ต.โม แช กองกำลังดีเคบีเอ กองพัน 907 กล่าวว่ากองกำลังของเขาจับตัวทหารของรัฐบาลพม่าได้ 9 ราย สังกัดกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ของรัฐบาลพม่า

ขณะที่ นาย หงสา เลขาธิการพรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party - NMSP) ซึ่งเป็นกลุ่มหยุดยิงของชาวมอญ ระบุว่าขณะนี้มีประชาชนกำลังอพยพออกจากเมืองพญาตองซู

โดยอิระวดี ยังรายงานว่า เช้าวันนี้ ที่เมืองพญาตองซู รัฐกะเหรี่ยง บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ ตรงข้าม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี กะเหรี่ยงดีเคบีเอ กองพัน 907 ได้เข้าโจมตีเมืองพญาตองซู ที่ด่านเจดีย์สามองค์ ตั้งแต่เช้า และเข้ายึดได้แล้วตั้งแต่ช่วงกลางวัน โดยกองกำลังกะเหรี่ยงดีเคบีเอ ได้เผาสำนักงานกรมการไฟฟ้าพม่า, กรมป่าไม้พม่า สำนักงานตำรวจสันติบาลพม่า และสำนักงานไปรษณีย์โทรเลขพม่า นอกจากนี้กองกำลังกะเหรี่ยงดีเคบีเอได้เผาปั๊มน้ำมัน และส่งกำลังเข้าควบคุมโรงพยาบาลของรัฐบาลด้วย

ทั้งนี้ไม่มีรายงานพลเรือนได้รับบาดเจ็บ แต่มีทหารไทยสามนายได้รับบาดเจ็บและเข้าโรงพยาบาลสังขละบุรีหลังมีจรวดตกบริเวณฐานปฏิบัติการของทหารไทยซึ่งใกล้พื้นที่ปะทะของทหารพม่ากับกะเหรี่ยงดีเคบีเอ

ตูเรน ชาวเมืองพญาตองซู แจ้งกับผู้สื่อข่าวอิระวดีว่า ทหารทั้งสองฝ่ายประจำการอยู่คนละด้านของเมือง แต่ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับชาวเมืองระหว่างที่มีการปะทะกันหนัก

ทั้งนี้ด่านเจดีย์สามองค์เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่โดดเดี่ยว และยากต่อการส่งกำลังบำรุงของกองทัพพม่า ขณะที่บริเวณดังกล่าวล้อมรอบด้วยฐานที่มั่นของกองกำลังชนกลุ่มน้อย ขณะที่มีรายงานว่ากองกำลังกะเหรี่ยงพุทธดีเคบีเอยึดเส้นทางลำเลียงเสบียงได้ด้วย

ละวิ มอญ ชาวเมืองพญาตองซูกล่าวกับผู้สื่อข่าวอิระวดีด้วยว่า ทหารดีเคบีเอไม่ได้มีท่าทางหวาดกลัว ไม่ได้หลบซ่อนอยู่ภายในฐานที่มั่นแบบทหารฝ่ายรัฐบาลพม่า ขณะที่ทหารรัฐบาลพม่าได้แต่ประจำการอยู่ในฐานปล่อยให้กองกำลังดีเคบีเอเผาทรัพย์สินของรัฐบาล

ทั้งนี้ มีแรงงานจากพม่ากว่า 3,000 คนข้ามเข้ามาทำงานที่ อ.สังขละบุรีทุกวันและกลับไปพักที่เมืองพญาตองซูในช่วงเย็น อย่างไรก็ตามเนื่องจากหวั่นเกรงการปะทะกันในช่วงกลางคืน ทำให้พวกเขาข้ามเข้าไปลี้ภัยในเขตควบคุมของพรรครัฐมอญใหม่ หรือ NMSP

แหล่งข่าวยังระบุว่า กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (the Karen National Liberation Army – KNLA) ปีกทางการทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (the Karen National Union - KNU) ได้วางกำลังใกล้กับเมืองพญาตองซูและพร้อมเสริมกำลังหากดีเคบีเอต้องการ

ก่อนหน้าการปะทะกันรอบล่าสุดนี้ ได้เกิดเหตุตึงเครียดระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงดีเคบีเอ กองพลน้อยที่ 5 กับทหารพม่าตลอดมา เนื่องจากกองกำลังกะเหรี่ยงดึเคบีเอ กองพลน้อยที่ 5 ซึ่งเดิมมีสถานะเป็นกลุ่มหยุดยิง ไม่ยอมรับข้อเสนอเป็นสถานะเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force - BGF) ภายใต้กองทัพพม่า

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก ศูนย์ข่าวสาละวิน , ดีวีบี, และ อิระวดี [1], [2], [3]

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คปท.เตรียมเข้าให้ข้อมูลกรรมการสิทธิฯ ร้องถูกฟ้องข้อหาทำโลกร้อน

Posted: 08 Nov 2010 08:30 AM PST

วันนี้ (9 พ.ย.53) เวลา 10.00 น.เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) และสมาชิกเกษตรกรที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งในข้อหาโลกร้อน จำนวนประมาณ 40 คน มีกำหนดการเข้าพบและให้ข้อมูลต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ 

จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบและฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรณีกรมอุทยานฯ ดำเนินคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายโลกร้อนกับเกษตรกร โดยมีสมาชิก เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ จำนวน 30 ราย ที่ถูกฟ้องร้องทางแพ่งด้วยข้อหาทำให้โลกร้อน เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้นกว่า 17 ล้านบาท และปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติฯ ยังคงบังคับใช้หลักเกณฑ์การคิดค่าเสียหายกับเกษตรกรสมาชิก เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ และชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
 
ทั้งนี้ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ระบุด้วยว่า การกระทำดังกล่าวของกรมอุทยานฯ ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรรายย่อย และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เป็นการกระทำของหน่วยงานของรัฐที่สร้างความไม่เป็นธรรม มุ่งบังคับใช้เฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ไม่ตั้งอยู่บนฐานของข้อเท็จจริง ขาดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ว่าด้วยการมีส่วนร่วมของบุคคลและชุมชนในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
 
“คปท.เห็นว่าการฟ้องศาลปกครองเพื่ออาศัยอำนาจศาลให้ยกเลิกเพิกถอนหลักเกณฑ์การคิดค่าเสียหายเป็นช่องทางหนึ่งที่จะสามารถยุติการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐได้ และจะมีผลในทางนโยบายให้หน่วยงานของรัฐที่ใช้อำนาจปกครองทบทวนการดำเนินการของตนต่อไปได้” ข้อมูลจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ ระบุ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คลิปฉาวหลุดระลอกสาม ศอฉ. บล็อกด่วน

Posted: 08 Nov 2010 08:17 AM PST

นามแฝง Ohmygod3009 ปล่อยคลิปหลุดที่อ้างว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตสอบเข้าเป็นพนักงานในศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 8 พ.ย. 2553 ผ่านเว็บไซต์ยูทูปว์ เป็นบทสนทนาระหว่างชายไม่ระบุชื่อ กับ “เบิร์ด” และ “เต้”

ภาพบางส่วนจากคลิป

คลิปดังกล่าวเป็นบทสนทนาของชาย สามคน โดยชายในคลิป 2 รายถูกระบุชื่อ ว่าเบิร์ด และ เต้ แต่ไม่ระบุชื่อชายอีกรายหนึ่งซึ่งนั่งหันหลังให้กล้อง

เสียงและภาพที่ปรากฏในคลิปนี้ไม่ชัดเจน และฟังชัดเป็นระยะๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีซับไตเติ้ลกำกับเหมือนที่เคยปรากฏในคลิปก่อนหน้านี้

โดยตอนหนึ่ง ชายที่ชื่อเบิร์ด รับว่า ท่านจรูญเอาข้อสอบมาให้ที่บ้าน ซึ่งพ่อแม่ของเบิร์ดอยู่ด้วย ขณะที่ชายชื่อ เต้กล่าวว่าได้รับข้อสอบจากท่านเฉลิมพลที่ทำงานศาล รธน.ตึกเก่า

ชายที่ไม่ระบุชื่อในคลิปได้กำชับกับชายที่ชื่อเบิร์ดและเต้ว่าให้ 2 คนยืนยันว่าไม่รู้เรื่อง

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า คลิปดังกล่าวนั้น ผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตเครือข่ายบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ทีโอที) ไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยเมื่อคลิกลิงก์ http://www.youtube.com/watch?v=XevVB92xO1E&feature=player_embedded แล้วปรากฏข้อความว่า “การเข้าถึงข้อมูลในเว็บไซต์ดังกล่าวนี้ถูกระงับการเข้าถึงเป็นการชั่วคราว โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน” อย่างไรก็ตามผู้ใช้งานผ่านผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตรายอื่นๆ และผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในต่างประเทศยังคงเข้าถึงคลิปดังกล่าวได้ตามปกติ

ผู้สื่อข่าวทดลองคลิกเข้าไปดูคลิปที่โพสต์โดย Ohmygod3009 ก่อนหน้านี้ทั้ง 8 คลิป ผ่านการให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของทีโอที พบว่าถูกบล็อกหมดทั้ง 8 คลิปโดยระบุข้อความของเดียวกันว่าอาศัยอำนาจในการระงับการเข้าถึงตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นกัน
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

15 ปีคดีฝุ่นฝ้าย ศาลฎีกาพิพากษายืน ให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายคนงาน

Posted: 08 Nov 2010 04:20 AM PST

ศาลฎีกาพิพากษายืนชดเชยค่าเสียหายให้อดีตคนงานที่เจ็บป่วยจากฝุ่นฝ้ายรายละ 6 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อราย หลังสู้คดีมาราธอน สมบุญ สีคำดอกแค ระบุแม้จะเงินที่ชดเชยที่ได้จะไม่ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมด แต่จะเป็นคดีตัวอย่างของผู้ใช้แรงงานคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานให้ลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง

สืบเนื่องจากคดีที่นางสมบุญ สีคำดอกแค ร่วมกับผู้เสียหายอีก 37 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ กรณีที่ลูกจ้างได้รับฝุ่นฝ้ายจากการทำงานจนเป็นโรคบิสซิโน ซิส หรือโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย ตั้งแต่ปี 2538 โดยเรียกค่าเสียหายรายละ 1-2 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 50 ศาลได้วินิจฉัยตัดสินให้จำเลยชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 6 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อราย และต่อมา จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางต่อศาลฎีกา

อดีตคนงานแสดงความดีใจหลังชนะคดี

วันนี้ (8 พ.ย.) ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่ได้เป็นโรคบิสซิโนซิสทุกคน ผ้าปิดจมูกและปากที่จำเลยจัดให้ได้มาตรฐานแล้วและจำเลยมิได้ฝ่าฝืนกฎหมายเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับภาวะแวดล้อม ฯลฯ นั้น เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 และวินิจฉัยว่า แม้ฝุ่นฝ้ายซึ่งเป็นวัตถุอันตรายและเป็นมลพิษจะรั่วไหลหรือแพร่กระจายภายในโรงงานของจำเลย ไม่จำต้องรั่วไหลหรือแพร่กระจายออกไปนอกโรงงาน ก็ถือว่าเป็นการแพร่กระจายของมลพิษตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว จำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโรงงานซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษจึงมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

สำหรับคดีนี้ ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ รายละ 60,000-110,000 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,670,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (9 พ.ค. 2538) จนกว่าจะชำระเสร็จ

นางสมบุญ สีคำดอกแค อดีตคนงานบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพ ในฐานะโจทก์ที่ 1 กล่าวแสดงความดีใจที่มีการพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และว่า แม้จำนวนเงินที่จะได้รับจะไม่สามารถชดเชยความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด แต่ก็ดีใจที่คดีนี้จะเป็นคดีตัวอย่างของผู้ใช้แรงงานคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานให้ลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง

ทั้งนี้ นางสมบุญ เสนอด้วยว่า ในการสืบคดีของคนงานที่เป็นโรคจากการทำงาน ควรมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษเรื่องสารเคมีและสารพิษโดยเฉพาะ เพื่อทำให้กระบวนการสืบเป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังเสนอให้สืบคดีประเภทนี้แยกจากคดีแรงงานปกติอย่างการลาออกหรือเลิกจ้าง เพราะเรื่องความเจ็บป่วยเป็นเรื่องความเป็นความตาย จึงควรมีกระบวนการที่รวดเร็ว เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมเร็วขึ้น

พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล แพทย์ประจำโรงพยาบาลราชวิถี ในฐานะแพทย์ผู้วินิจฉัยโรคของคนงานกลุ่มนี้ กล่าวยืนยันในผลการวินิจฉัยโรคของคนงานและชื่นชมที่ศาลแรงงานรับฟังข้อเท็จจริงทางการแพทย์อย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ มองว่า คำพิพากษาคดีนี้จะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ทำให้คนที่ถูกละเมิดเห็นว่าหากเอาข้อเท็จจริงเข้ามาต่อสู้ในศาลก็จะสามารถยุติความไม่เป็นธรรมได้

นายบุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก กล่าวว่า แม้จะใช้เวลายาวนานถึง 15 ปี แต่อย่างน้อยคำพิพากษานี้ก็ทำให้เห็นว่า มีคนที่ไม่ยอมจำนนกับอุปสรรคหรือปัญหาที่เข้ามาบั่นทอน ทั้งนี้ มองว่า การรวมตัวกันเป็นสภาเครือข่ายผู้ป่วยฯ ของคนงานกลุ่มนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การต่อสู้ประสบความสำเร็จ

ทั้งนี้ เขาระบุว่า ปัจจุบัน คนงานที่ป่วยด้วยโรคจากการทำงานมีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะคนงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ พออายุงานถึงปีที่ 5 ก็เริ่มเป็นโรคเกี่ยวกับหมองรองกระดูก หรือกล้ามเนื้อ เพราะต้องทำงานในท่าทางเดียวและจังหวะเดียวกันเป็นเวลานาน และทำงานกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ค่าชดเชยที่ได้จากกองทุนเงินทดแทนนั้นไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง โดยเขาเสนอว่า นอกจากค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนแล้ว ควรมีกระบวนการทางแพ่งให้คนงานสามารถฟ้องร้องต่อนายจ้างได้โดยปรับให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีน้อยลง มีกระบวนการที่รวบรัด รวดเร็วขึ้น

สำหรับบรรยากาศในการรับฟังคำพิพากษาในวันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเป็นไปด้วยความคึกคักโดยนอกจากอดีตคนงานกว่า 30 คนที่มารับฟังคำพิพากษาในฐานะโจทก์แล้ว ยังมีแพทย์ผู้วินิจฉัยโรค ผู้นำแรงงาน นักกิจกรรมและสื่อมวลชน ให้ความสนใจเข้ารับฟังคำพิพากษาจำนวนมาก
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปะทะกองทัพพม่าที่เมียวดี คาดอพยพหนีตายเข้าไทยแล้ว 5 พัน

Posted: 08 Nov 2010 03:23 AM PST

เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกองพลที่ 5 กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ หรือดีเคบีเอ ภายใต้การนำของนาคามวยและทหารพม่าแล้วหลายจุดในเมืองเมียวดี ตายแล้ว 7 อพยพเข้าไทยกว่า 5 พัน

ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้รวม 7 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 20 คนแล้ว นอกจากนี้ กระสุนปืน ค.60 ได้ข้ามตกมายังฝั่งไทย ทำให้มีชาวบ้านบาดเจ็บ 3 ราย มีรายงานว่า ทั้งสองฝ่ายยังปะทะกันอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้มีการเสริมกำลังเข้ามาในพื้นที่จากทั้งสองฝ่าย และขณะนี้ กลุ่มนาคามวยได้ยึดสำนักงานสำคัญของทางการพม่าในเมืองเมียวดีไว้ได้หมดแล้ว

ด้านนาคามวย ผู้บัญชาการกองพลที่ 5 ออกมาเปิดเผยว่า “การปะทะกันเกิดขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น. ของเช้าวันนี้ ฝ่ายทหารพม่าเป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีก่อน ดังนั้นเราจึงออกคำสั่งให้ทหารของเราต้องตอบโต้กลับบ้าง โดยทางพม่าได้ส่งกำลังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่า พวกเขาไม่อยากจะเจรจาแล้วในตอนนี้”
 
ทั้งนี้ เหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายเริ่มตึงเครียดตั้งแต่กลางดึกเมื่อวัน อาทิตย์ (7 พ.ย.53) ที่ผ่านมา หลังกลุ่มนาคามวยได้เข้าประจำในหลายพื้นที่สำคัญในเมืองเมียวดีและตรึงกำลัง โดยรอบเมือง มีรายงานด้วยว่า ตัวแทนจากทั้งสองฝ่ายได้ยายามเจรจากันแล้ว ในช่วงเช้าของวันนี้ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
 
ด้านแหล่งข่าวตรงชายแดนรายงานเช่นกันว่า กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army- KNLA) กองกำลังในสังกัดของ KNU เองได้เตรียมพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือกลุ่มนาคามวยทุกเมื่อ
 
ขณะที่สถานีโทรทัศน์ทีวีไทยรายงานว่า มีชาวบ้านจากฝั่งพม่าอพยพเข้ามายังฝั่งไทยแล้วกว่า 5 พันคน สอดคล้องกับสำนักข่าวดีวีบีที่รายงานว่า ขณะนี้ชาวบ้านเริ่มทยอยหนีมายังฝั่งไทย เนื่องจากเกิดกระแสข่าวลือว่า ทหารพม่าเริ่มเกณฑ์ชาวบ้านในเมืองเมียวดีไปต่อสู้กับกลุ่มนาคามวย ขณะที่ชาวบ้านรายหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าวดีวีบีว่า ทหารพม่าเริ่มเกณฑ์ชาวบ้านในหมู่บ้านของเธอไปเป็นลูกหาบ นอกจากนี้ ชาวบ้านอีกรายหนึ่งเปิดเผยว่า เขาได้เห็นกระสุนปืนตกอยู่ใกล้กับสถานีตำรวจในเมืองเมียวดี
 
ทั้งนี้ ได้เกิดเหตุตึงเครียดระหว่างทั้งสองกลุ่มตลอดมา นับตั้งแต่กลุ่มนาคามวยไม่ยอมรับข้อเสนอเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border Guard Force) ภายใต้กองทัพพม่า (Irrawaddy/DVB/ภาพ รอยเตอร์ 8 พ.ย.53)
 
..........................................................................................
 
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost  
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น