โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

กวีตีนแดง: โอ้...รัชนี

Posted: 25 Nov 2010 12:32 PM PST

เธอแน่วแน่แล้วหนอ...รัชนี                                  

ชาติกำเนิดเป็นสตรีที่สูงศักดิ์

เลือดน้ำเงินสายนั้นเข้มข้นนัก                            

แต่มิอาจกักขังใจไว้ในกรง  

เธอรักกับชายหนุ่มลูกชาวนา                            

และที่สุดหาญกล้าถอดปีกหงส์

ลงเดินดินท่ามอาทิตย์อัสดง                              

แต่ละก้าวมั่นคงและงดงาม

หลังปีศาจได้หยัดยืนขึ้นทายท้า        

สายสีมาประจันหน้าขึ้นทวงถาม

สะเทือนใครในโลกใบเก่าทราม                        

หยุดโมงยามนั่นไว้...ให้ข้าที

ใครบังอาจหยุดรถพระอาทิตย์          

เอามือปิดแผ่นฟ้าฉาบทาสี

เธอแน่วแน่แล้วนั่นรัชนี                                        

โลกใบนี้มีเพียงเราที่เท่ากัน

ทิ้งโลกเก่าเอาไว้ในความโศก                            

สายลมโบกสู่โลกใหม่เธอใฝ่ฝัน

ใครฝืนต้านทวนชะตาอยู่อย่างนั้น                    

ก็กอดเก็บความร้าวรานอยู่นั่นแล้ว

ไม่มีแล้วสตรีที่สูงศักดิ์                        

ทิ้งปิ่นปักวอทองรองเท้าแก้ว

หยัดตีนเหยียบบนดินด้านอันเหยียดแนว        

เต็มค่าแล้วได้ยืนยันสิ่งที่รัก

เธอแน่วแน่ยิ่งหนอ...รัชนี                    

มิปรารถนาเป็นสตรีที่สูงศักดิ์

ขอเป็นเพียงหญิงที่มั่นในความรัก                    

และเชื่อในศักดิ์และศรีที่เท่าเทียม

 

หมายเหตุ : บทกวีนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก บทกวีชื่อ "ไอ้บ้า นี่ใช่ไอ้สาย" ของ อานนท์ นำภา
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวเชียงรายค้านโรงไฟฟ้าถูกบริษัทฟ้องค่าเสียหาย 1 ล้าน

Posted: 25 Nov 2010 12:10 PM PST

ชาวบ้านเชียงรายค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล 9 คน ถูกบริษัทฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1,120,000 บาท  นักสิทธิเผยชาวบ้านบอกจะสู้คดีถึงที่สุด ด้านคณะผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอชาวบ้านทำประชามติโรงไฟฟ้าฯ ภายในสิ้นปีนี้

ภายหลังชาวบ้านจาก อ.เวียงชัย อ.เวียงเชียงรุ้ง และ อ.เมือง จ.เชียงราย รวม 9 คน ถูกบริษัท พลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ฟ้องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 1,120,000 บาท กรณีคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา โดยศาลจังหวัดเชียงรายได้นัดพิจารณาในวันที่ 31 มกราคม 2554 นี้

นายพนม  บุตะเขียว ทนายความเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เผยว่าจากการลงพื้นที่พร้อมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมประชุมกับชาวบ้าน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 จำเลยทั้ง 9 คนพร้อมสู้คดีจนถึงที่สุด และร่วมเดินหน้าคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต่อไปจนกว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าแก้ปัญหาอย่างเป็นธรรม

นายพนมกล่าวว่า  คณะผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างชาวบ้านกับบริษัทฯ จัดให้ชาวบ้านลงประชามติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลภายในเดือนธันวาคมนี้ ฝ่ายบริษัทฯ รับหน้าที่เชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายให้ความรู้เรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลแก่ชาวบ้านก่อนลงประชามติ

นายพนมยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของผลบังคับหลังลงประชามตินั้นยังไม่มีการกำหนดข้อตกลงแน่ชัด ชาวบ้านอยู่ระหว่างทำความเข้าใจขั้นตอนการลงประชามติ  เพื่อยื่นข้อตกลงกับบริษัทฯ เรื่องผลบังคับว่า  หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย บริษัทฯ จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลต่อไปหรือไม่ ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการก่อสร้างชาวบ้านพร้อมยุติการคัดค้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ชาวบ้านเริ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นปี 2551 เนื่องจากบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเป็นพื้นที่เกษตรกรรม  โรงไฟฟ้าชีวมวลจะต้องเผาแกลบในปริมาณ 250 ตันต่อวัน และผันน้ำจากลำน้ำหลายสายที่ชาวบ้านใช้ทำการเกษตรเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า  ชาวบ้านคาดว่าหากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลแล้วเสร็จอาจมีผลกระทบต่อชุมชน  จึงรวมกลุ่มกันคัดค้านการก่อสร้างมาโดยตลอด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จี้ราชทัณฑ์แจง ผู้ต้องหาหมิ่นเบื้องสูงถูกซ้อม

Posted: 25 Nov 2010 07:50 AM PST

 
25 พ.ย.53 น.ส.ขวัญระวี วังอุดม นักสิทธิมนุษยชนให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการร้องเรียนจากทนายผู้ต้องขังคดีหมิ่นเบื้องสูงรายหนึ่งเกี่ยวกับการซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีนี้ในเรือนจำ โดยผู้ต้องขังคนดังกล่าวแสดงความกังวลถึงกรณีนายสุชาติ นาคบางไทร ซึ่งเป็นผู้ต้องหาหมิ่นเบื้องสูงคนล่าสุดที่ถูกคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่าอาจจะถูกซ้อมดังกรณีของนายสุริยันต์ กกเปือย ผู้ต้องหากรณีขู่วางระเบิดรพ.ศิริราช ที่ถูกบ้องหูจนอาจมีปัญหาการได้ยิน
 
“นักโทษ/ผู้ต้องหาที่โดนคดีหมิ่นส่วนใหญ่แล้วเราจะทราบว่าเมื่อเข้าไปในเรือนจำพวกเขาเหล่านั้นมักจะถูกทำร้าย (ศาลเตี้ย) ภาษาคุกเรียกว่า “เก็บยอด”  ธันย์ฐวุฒิ [ทวีวโรดมกุล], สุริยันต์ [กกเปือย] ต่างยืนยันได้ว่าเกิดขึ้นจริง ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นเป็นเพียงแค่ “ผู้ต้องหา” ศาลยังไม่ตัดสิน แค่ถูกกล่าวหา แต่ก็ไม่พ้นการถูกเก็บยอดโดยเจ้าหน้าที่บางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แดน 8 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ได้ชื่อว่าถ้ามีคดีแบบนี้มาละก็ หัวหน้าฝ่ายจะจองตัวไว้คอยต้อนรับเลย ซึ่งแน่นอนเค้าจะไม่ลงมือเอง ไม่สั่งเอง แต่เค้าจะรู้เห็นเป็นใจ และพูดจาทำนองที่จะให้มีการลงมือกับนักโทษโดยอ้อมๆ และเขาทำเป็นประจำ ... และครั้งนี้เขาจะทำกับคุณสุชาติอีกมั้ย?” ข้อร้องเรียนจากผู้ต้องหาม.112 คนหนึ่ง
 
ขวัญระวี กล่าวว่า หากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ต้องตรวจสอบและชี้แจง รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเองก็ควรเข้าไปมีบทบาทตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
 
ขวัญระวีตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูง ตาม ม.112 ของกฎหมายอาญา และพรบ.คอมพิวเตอร์มีความเป็นไปได้ที่จะมีการกระทำอย่างเป็นระบบ การกระทำอย่างเป็นระบบหมายความว่าไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่มีเหตุให้ทำอย่างจงใจ เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง และเป็นการกระทำในลักษณะซ้ำๆกับบุคคลที่โดนข้อหาในลักษณะเดียวกัน อาจไม่จำเป็นต้องเป็นลงมือซ้อมโดยเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่เป็นการสั่งการโดยเจ้าหน้าที่รัฐให้บุคคลอื่นกระทำการแทนได้ “ที่น่าสังเกตคือ ไม่ว่าการซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีหมิ่นเบื้องสูงจะกระทำโดยเจ้าหน้าที่หรือผู้ต้องหาด้วยกัน เพื่อให้ผู้คุมเรือนจำเห็นว่าตนเองกระทำตัวดีโดยการปกป้องสถาบัน ล้วนสะท้อนทัศนคติที่มีปัญหาของสังคมไทยโดยรวม ซึ่งละเลยการให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่ได้รับการรับรองทั้งในหลักสากลและรัฐธรรมนูญไทย”
 
เธอกล่าวด้วยว่า ไม่ว่าจะเป็นหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากลหรือรัฐธรรมนูญไทย การซ้อมทรมานเป็นสิทธิที่ไม่สามารถผ่อนปรนได้ หมายความว่าไม่ว่าจะเป็นเหตุการฉุกเฉินหรือกระทบความมั่นคงของรัฐแค่ไหนก็ไม่สามารถจะกระทำการซ้อมทรมานบุคคลได้ การที่ไทยเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี หมายความว่ารัฐบาลมีพันธะที่จะปรับกฏหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับหลักสากลด้วย
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ป.ป.ช.อ้างประกาศ คปค.โยนคืนให้ตร.เอาผิดคนแพร่คลิปตุลาการฯ เอง

Posted: 25 Nov 2010 07:13 AM PST

ผู้สื่อข่าว "มติชนออนไลน์" รายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วันที่ 25 พ.ย.2553 ได้มีมติส่งสำนวนคดีนายพสิษฐ์  ศักดาณรงค์  เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ  กรณีลักลอบบันทึกภาพและเสียง (คลิปวิดีโอ) การประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่งคืนให้พนักงานสอบสวนโดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาเข้าข่ายกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูล คอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ  กล่าวคือ
 
ตามที่ นายเชาวนะ  ไตรมาศ  เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ให้ดำเนินคดีอาญากับ นายพสิษฐ์  ศักดาณรงค์  เลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ  กรณี ลักลอบบันทึกภาพและเสียง (คลิปวิดีโอ) การประชุมของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  ซึ่งเป็นความลับของทางราชการ  ออกเผยแพร่ให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ความลับในการประชุมดังกล่าว  ซึ่งเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน  ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และฐานเป็นเจ้าพนักงาน รู้หรืออาจรู้ความลับในราชการ กระทำการโดยประการใด ๆ  อันมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับ ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 157 และมาตรา 164  และจากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้นของพนักงานสอบสวน ปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรเพิ่มเติมว่า นางสาวชุติมา  หรือพิมพิจญ์  แสนสินรังษี  เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ๓  กลุ่มงานคดี 8  สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ  น่าจะได้ร่วมกระทำความผิดในกรณีดังกล่าวกับนายพสิษฐ์  ศักดาณรงค์ และการกระทำของบุคคลทั้งสอง  ยังเป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์  ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ  โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ซึ่งพนักงานสอบสวนพิจารณาแล้วเห็นว่า บุคคลทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง ตามมาตรา ๘๙  แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 จึงได้ส่งคำร้องทุกข์และสำนวนการสอบสวนคดีอาญาดังกล่าวมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนก่อนหน้านี้แล้วนั้น

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาคำร้องทุกข์และสำนวนการสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวน แล้วเห็นว่า  แม้สำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่พนักงานสอบสวนส่งมา  จะเป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542  มาตรา 89  ประกอบมาตรา 88  ก็ตาม  แต่เนื่องจากสำนวนการสอบสวนคดีอาญานี้ จากการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง  ได้กระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ  โดยประการที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ซึ่งอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินคดีต่อไปรวมอยู่ด้วย  ประกอบกับพนักงานสอบสวน ได้ขออนุมัติจับกุมบุคคลทั้งสองต่อศาลอาญา และศาลอาญาได้ออกหมายจับบุคคลทั้งสองไว้แล้ว

ดังนั้น  เพื่อให้มีการสอบสวนและดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองในการกระทำความผิดเหล่านี้ในคราวเดียวกัน  คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึง มีมติให้ส่งเรื่องคืนให้พนักงานสอบสวน  ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป ทั้งนี้ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549  ข้อ 6  
 

ทั้งนี้ ประกาศ คปค.ฉบับที่ 31 เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ข้อ 6 ระบุว่ากรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เห็นสมควรอาจส่งเรื่องที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งไม่ใช่บุคคลตามมาตรา 66 ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ดำเนินการทางวินัย หรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วแต่กรณี หรือส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปก็ได้
 

ที่มา - มติชนออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โหวตผ่านร่าง รธน. ฉบับ ครม. 330 ต่อ 156

Posted: 25 Nov 2010 05:39 AM PST

มติชนออนไลน์ รายงานข่าวพร้อมแสดงตารางเปรียบเทียบ การลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 จำนวน 3 ฉบับ ที่ประชุมรัฐสภา มีนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีการลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ ที่ 3 มาตรา 93-98 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยการขานชื่อทีละคนเพื่อลงมติผลการลงมติออกมาว่า

รับหลักการ 330  เสียง
ไม่รับหลักการ  156 เสียง
งดออกเสียง  34  เสียง

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ประชุมรัฐสภา มีนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม มีการลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 102 คนเป็นผู้เสนอ โดยการขานชื่อทีละคนเพื่อลงมติ ล่าสุด

ผลการลงมติออกมาว่า

รับหลักการ 148 เสียง
ไม่รับหลักการ 177 เสียง และ
งดออกเสียง 212 เสียง

 

ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 10.50 น. มีการลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.ซึ่งกลุ่มนายแพทย์เหวง โตจิราการ เป็นผู้เสนอ) โดยการขานชื่อที่ละคนเพื่อลงมติ

ผลการลงคะแนนออกมาว่า

รับหลักการ 222 เสียง
ไม่รับหลักการ 235 เสียง และ
งดออกเสียง 123 เสียง

ก่อนหน้านี้ ในการร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1.) ฉบับที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 71,543 คน เป็นผู้เสนอในนามคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ที่แก้ไขเนื้อหากลับไปเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 2.) ฉบับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 102 คน ประเด็นระบบเลือกตั้ง ส.ส.และมาตรา 190 ว่าด้วยการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ 3.) ฉบับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาตรา 93-98 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ส.ส. และ 4.) ฉบับ ครม. มาตรา 190 หลังจากอภิปรายเป็นระยะเวลา 2 วัน เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 25 พฤศจิกายนโดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุม
 

ที่มา - มติชนออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ต้องขังเสื้อแดงมุกดาหารดื่มน้ำยาปรับผ้านุ่มหวังฆ่าตัวตาย-ก่อนหามส่งไอซียู

Posted: 25 Nov 2010 03:52 AM PST

25 พ.ย. 53 เวลาประมาณ 15.20 น. เจ้าหน้าที่จากเรือนจำจังหวัดมุกดาหาร ได้นำ นายวินัย ปิ่นศิลปชัย ผู้ต้องขังวัย 30 ปี ส่งโรงพยาบาลจังหวัดมุกดาหารในสภาพไม่ได้สติ โดยผู้ต้องขังรายนี้เป็น 1 ใน 20 ผู้ต้องหาคดีบุกรุกสถานที่ราชการและร่วมกันวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 จากกรณีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) ที่ศาลากลาง จ.มุกดาหาร 

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าล่าสุดในช่วงค่ำว่า อาการของผู้ต้องขังรายนี้พ้นขีดอันตรายแล้ว แพทย์ให้ย้ายออกมาพักฟื้นที่ห้องปกติ ลูกและภรรยาสามารถเยี่ยมได้ โดยผู้ต้องขังถูกล่ามตรวนไว้กับเตียงคนไข้

ด้านภรรยาของผู้ต้องขังรายดังกล่าว ให้ข้อมูลว่า ในเวลาประมาณ 14.00 น.ได้เข้าไปเยี่ยมสามีที่เรือนจำจังหวัดตามปกติ หลังการพูดคุยเรื่องทั่วไปได้ระยะหนึ่ง จากนั้นสามีได้กล่าวว่าตอนนี้เขาหมดหวังที่จะได้รับการประกันตัวหรือได้รับการปล่อยตัวออกมาสู่โลกภายนอกแล้ว  พร้อมทั้งยืนยันว่าจะไม่ยอมเป็นแพะ แล้วก็ได้หยิบขวดน้ำผลไม้ขึ้นมาดื่ม  หลังจากนั้นเมื่อลุกขึ้นยืน ก็เซและล้มลงกับพื้นห้องเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ ตนตกใจจึงรีบร้องเรียกให้ผู้คุมมาช่วย

ภรรยาของผู้ต้องขังรายนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะหลังสามีมีอาการเครียดเพิ่มมากขึ้นและมักพูดถึงเรื่องการฆ่าตัวตายด้วย

ผู้คุมเรือนจำที่นำผู้ต้องขังรายนี้ส่งแผนกฉุกเฉินที่โรงพยายาลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องขังรายนี้ได้นำน้ำยาปรับผ้านุ่มใส่ในขวดน้ำผลไม้เข้ามาดื่มภายในห้องเยี่ยมหลังที่ได้บอกลาภรรยา

หนึ่งในผู้ต้องขังได้ให้ปากคำกับนายอานนท์ นำภา ทนายความที่ได้ขอเข้าเยี่ยมว่า ผู้ต้องขังรายนี้ได้ซื้อน้ำยาปรับผ้านุ่มเตรียมตั้งแต่ตอนเช้าและได้ขอขวดน้ำส้มเปล่าจากเพื่อนผู้ต้องขังเตรียมเอาไว้เพื่อการดังกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ต้องขังรายนี้ มีบุตรสาวสองคน อายุ 7 และ 11 ปี ปัจจุบันผู้เป็นภรรยาต้องรับภาระครอบครัวแต่เพียงผู้เดียว โดยประกอบอาชีพขายกล้วยทอดอยู่ในเมืองมุกดาหาร

เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์คนหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่าขณะนี้เรือนจำกำลังจับตาผู้ต้องขังเสื้อแดงอีก 2 คนเป็นพิเศษ ได้แก่ นาย ค. (นามสมมมติ) และ นาย ง. (นามสมมติ) เพราะมีผู้ต้องขังในเรือนจำแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าผู้ต้องขังทั้งสองได้เตรียมเชือกซ่อนไว้แล้ว ทางเจ้าหน้าที่จึงต้องคอยจัดกำลังพร้อมทั้งจัดนักจิตวิทยาคอยสอดส่องดูและให้การพูดคุยปรึกษา

ในขณะเดียวกัน นายอานนท์ นำภา ทนายจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังเสื้อแดงในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพจำนวน 4 ราย ได้แก่ นายวิชิต อินตะ ซึ่งมีอาการปวดบริเวณแผ่นหลังโดยไม่ทราบสาเหตุ นายทองมาก คนยืน เป็นนิ่วในไต นายสมคิด บางทราย มีโรคทางตับ และนายแก่น  หนองพุดสา มีอาการทางประสาท แต่ศาล จ.มุกดาหารได้วินิจฉัยยกคำร้องเนื่องจากเห็นว่าเป็นอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย ในเรือนจำมีแพทย์ดูแอยู่แล้วและผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานใดๆ มาแสดง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาครัฐได้ใช้กลไกกองทุนยุติธรรมประกันตัวผู้ต้องขังไปแล้ว 2 คน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษากับแนวโน้มของค่าจ้างในประเทศไทย

Posted: 25 Nov 2010 01:37 AM PST

มูลเหตุสำคัญประการหนึ่งของความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองในปัจจุบันมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรวมทั้งความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา  งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจถึงสภาพและมูลเหตุของความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาที่เกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบที่สืบเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำดังกล่าว โดยเน้นเฉพาะผลกระทบในตลาดแรงงาน การศึกษานี้ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกเป็นการศึกษาสภาพความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาในประเทศไทย และศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลือกเข้ารับการศึกษาระดับต่างๆ เพื่อนำมาสังเคราะห์หาสาเหตุและนำเสนอนโยบายเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในอนาคต การศึกษาในส่วนที่สองศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษากับค่าจ้างในประเทศไทยและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของช่องว่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานกลุ่มที่จบการศึกษาระดับต่างๆ ในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา

การศึกษาในส่วนแรกพบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่า ระดับการศึกษาของพ่อแม่มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับการศึกษาของลูก กล่าวคือ โดยเฉลี่ยแล้ว แรงงานในครอบครัวที่พ่อแม่มีการศึกษาสูงมักจะได้รับการศึกษาสูงกว่าแรงงานในครอบครัวที่พ่อแม่มีการศึกษาต่ำกว่า  ปัจจัยสำคัญอีกปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาคือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น ถิ่นที่อยู่อาศัยและรายได้ของครัวเรือน  อย่างไรก็ดีความสำคัญของถิ่นที่อยู่อาศัยได้ลดน้อยลงตามกาลเวลา โดยในปี 2531 เด็กที่อาศัยอยู่ในชนบทมีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาต่ำกว่าเด็กที่อยู่อาศัยในเมืองมาก แต่ในสองทศวรรษถัดมากลับพบว่าโอกาสในการศึกษาของเด็กในชนบทแทบจะไม่ได้แตกต่างจากเด็กในเมืองเลย การเพิ่มขึ้นของโอกาสทางการศึกษาของเด็กในชนบทดังกล่าวส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐในการสนับสนุนให้มีโรงเรียนอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ในส่วนของรายได้ของครัวเรือน การศึกษานี้พบว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีมักได้รับการศึกษาสูงกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะต่ำกว่า โดยครัวเรือนของนักเรียนที่ศึกษาระดับปริญญามีรายได้ต่อหัวของครัวเรือนสูงกว่าครัวเรือนของนักเรียนที่มีการศึกษาสูงสุดคือระดับมัธยมประมาณสองเท่า

โดยทั่วไปแล้ว เด็กจากครอบครัวที่มีความเสียเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมมีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษาน้อยกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่ได้เปรียบกว่า เด็กเหล่านี้ไม่เพียงเสียเปรียบทางด้านการศึกษาแต่ยังเสียเปรียบในเรื่องค่าจ้างที่จะได้รับในอนาคตเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วย ผลการศึกษาในส่วนหลังสนับสนุนความคิดข้างต้น โดยพบว่า สัดส่วนของอุปสงค์ของแรงงานที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ออุปสงค์ของแรงงานที่จบมัธยม (อุปสงค์โดยเปรียบเทียบ) ได้มีแนวโน้มเพื่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนดังกล่าวส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในภาคการผลิตและบริการของไทยในลักษณะที่ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาเพิ่มขึ้นมากกว่าประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานที่จบการศึกษาระดับต่ำกว่า  (skill-biased technological change) 

งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษาอาจนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางรายได้จากค่าจ้างที่แรงงานได้รับในอนาคต ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้วิจัยเสนอนโยบายด้านการศึกษาซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้แก่ นโยบายสำหรับผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษา และนโยบายสำหรับผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงาน นโยบายกลุ่มแรกได้แก่  การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพแก่ผู้เสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้นระหว่างโรงเรียนที่มีทรัพยากรมากกับโรงเรียนที่มีทรัพยากรน้อย เพื่อทำให้นักเรียนมีพื้นฐานของระดับความรู้ในระดับที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น และสามารถสอบแข่งขันเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้โดยไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก สุดท้าย รัฐบาลควรทบทวนความเหมาะสมของการอุดหนุนค่าเล่าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย (tuition fee subsidy) ซึ่งเป็นการให้แบบถ้วนหน้า เราได้เห็นแล้วว่านักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีความได้เปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมมีโอกาสเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยมากกว่านักเรียนกลุ่มอื่นมาก  ในส่วนของนโยบายสำหรับผู้ที่อยู่ในตลาดแรงงาน รัฐบาลควรสนับสนุนการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมกับความต้องการในตลาดแรงงานให้แก่แรงงานที่มีการศึกษาต่ำ เพื่อให้แรงงานดังกล่าวมีโอกาสที่จะได้งานที่ดีกว่า เลื่อนตำแหน่ง หรือได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น

ทั้งนี้จะมีการนำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวอีกครั้งในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 เรื่อง “การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ (Reducing Inequality and Creating Economic Opportunity)”   ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) จะจัดขึ้น ในวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2553    ณ ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ บี ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักโทษเรือนจำกลางลพบุรีกว่า 200 ราย ก่อจลาจลในเรือนจำ

Posted: 25 Nov 2010 12:23 AM PST

 

เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 25 พ.ย. 2553 ได้เกิดเหตุนักโทษ จำนวน 200 คน ในเรือนจำกลาง จ.ลพบุรี ได้ก่อเหตุประท้วงเจ้าหน้าที่เรือนจำกลาง จ.ลพบุรี โดยยึดเรือนนอนและโรงอาหารของเรือนจำกลาง จ.ลพบุรี พร้อมกับมีการเผาเศษไม้ และเสื้อผ้าที่อยู่ในเรือนอาหาร ขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และทาง ผู้ว่าฯ ลพบุรี กำลังระดมกำลังเพื่อเข้าเคลียร์พื้นที่

รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รุดตรวจสอบเรือนจำกลางลพบุรี หลังนักโทษก่อจลาจล ทราบเหตุนักโทษยาเสพติดทำผิดกฎเรือนจำ

นายฐานิส ศรียะพันธ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เดินทางไปเรือนจำกลางจังหวัดลพบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และคลี่คลายสถานการณ์ นักโทษรวมตัวกันก่อเหตุจราจล นายฐานิส กล่าวว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า ผู้ต้องขังที่ลักลอบนำยาเสพติด และโทรศัพท์มือถือเข้าไปใช้ในเรือนจำ ซึ่งถูกย้ายจากเรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 50 คน รวมตัวกันก่อเหตุจลาจล โดยรวบรวมเศษไม้เศษหญ้าและข่มขู่จะเผาเรือนจำ แต่ผู้บัญชาการเรือนจำ และผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ได้เข้าเจรจาทำให้กลุ่มนักโทษยังไม่เผาทำลายทรัพย์สินของทางราชการ
 
ทางด้าน มติชนออนไลน์รายงานเหตุการณ์ว่า ที่ประตูทางเข้ามีเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางลพบุรี เฝ้าอยู่จำนวนมาก โดยภายในเรือนจำมีเสียงนักโทษผู้ชาย ส่งเสียงโห่ร้องดังเป็นระยะ พร้อมกับเสียงทุบทำลายสิ่งของดังลั่น นอกจากนี้ยังพบว่ามีกลุ่มควันสีดำซึ่งเกิดจากการเผายางรถยนต์ลอยขึ้นเหลือ บริเวณเรือนจำ สร้างความตกใจให้กับชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่บริเวณรอบเรือนจำกลางลพบุรีเป็น อย่างมาก นายจำเริญ สละชีพ นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี สั่งการให้นำรถดับเพลิงทั้งของเทศบาลเมืองลพบุรี เทศบาลเมืองเขาสามยอด เทศบาลตำบลท่าศาลา พร้อมทั้งรถกระเช้ากว่า 10 คัน มาเตรียมพร้อมรอบบริเวณเรือนจำกลางลพบุรี

จากนั้นนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ผวจ.ลพบุรี นายประเสริฐ ป้ำกระโทก ผบ.เรือนจำกลางลพบุรี นายจำเริญ สละชีพ นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และกำลังตำรวจปราบจลาจล เจ้าหน้าที่ อส. สารวัตรทหาร อาวุธปืนครบมือทั้งลูกซอง 5 นัดปืนกลอูซี่ เดินทางเข้าไปในเรือนจำ เพื่อเจรจากับนักโทษที่ก่อเหตุประท้วง โดยห้ามผู้สื่อข่าวไม่ให้ติดตามไปทำข่าว และขณะที่คณะของผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เดินอยู่ภายในเรือนจำ นักโทษจำนวนกว่า 100 คน ซึ่งอยู่ในอาการคล้ายเมากาวน้ำหรือทินเนอร์ได้ส่งเสียงโห่ฮาใส่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงใช้ลูกกระสุนปืนซึ่งเป็นลูกแบงค์ยิงขู่ขึ้นฟ้าเป็นระยะๆ ทำให้นักโทษส่งเสียงโห่ฮาพร้อมทั้งทุบทำลายสิ่งของ และเผายางรถยนต์หนักยิ่งขึ้นอีก นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ผวจ.ลพบุรี จึงสั่งให้หยุดยิง พร้อมสั่งเก็บอาวุธปืนที่พกติดตัวไป นอกจากนี้นักโทษยังได้ขอร้องให้กำลังเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ที่ขึ้นไปบน กระเช้าอยู่เหนือเรือนจำกลางลพบุรี และมีอาวุธปืนกลอูซี่ถืออยู่ในมือลงมาด้วย เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย


เจ้าหน้าที่ระบุ นักโทษนำก่อจลาจลเหตุจากการห้ามใช้มือถือ

จากนั้นนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ผวจ.ลพบุรี นายจำเริญ สละชีพ นายกเทศมนตรีเมืองลพบุรี จึงได้พูดเจรจากับนักโทษถึงสาเหตุของการประท้วง โดยพูดคุยกันเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง จากนั้นออกมาเปิดเผยรายละเอียดกับสื่อมวลชนที่รออยู่หน้าเรือนจำกลางลพบุรี

เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางลพบุรีกล่าวว่า สำหรับขาใหญ่ที่เป็นผู้ริเริ่มในการก่อเหตุครั้งนี้ชื่อนายไพโรจน์ พานพบ หรือฉายา “กบ คอลาย” อายุประมาณ 35 ปี บ้านอยู่ตำบลบางขันหมาก อ.เมือง จ.ลพบุรี นักโทษคดีจำหน่ายยาเสพติด เข้าออกคุกอยู่บ่อย ๆ โดยล่าสุดเพิ่งถูกส่งเข้ามาอยู่ในเรือนจำได้ประมาณ 3 เดือน และมาก่อเหตุประท้วงเพราะไม่พอใจถูกห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในเรือนจำดังกล่าว

ตำรวจชุดปราบปรามยาเสพติดกล่าวว่า นายไพโรจน์ พานพบ หรือ กบ คอลาย มีประวัติในเรื่องของการค้ายาเสพติด พกอาวุธปืนติดตัวตลอดเวลา โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างประกันตัวในคดีจำหน่ายยาเสพติด 4 คดี มีนิสัยใจถึงไม่กลัวใคร จึงทำให้ขณะอยู่ในเรือนจำจึงมีลูกน้องจำนวนมากดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวจากมติชน รายงานข่าวต่อว่า ขณะกำลังรายงานข่าวสถานการณ์ถึงแม้ว่าจะไม่รุนแรงเหมือนช่วงเกิดเหตุใหม่ๆ แต่สถานการณ์ก็ยังไม่สงบ โดยมีการเสริมกำลังทหาร ตำรวจ และของกรมราชทัณฑ์เข้าไปในเรือนจำอย่างต่อเนื่อง

 

ที่มา Inn news , มติชนออนไลน์
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนเสพสื่อหลักลดหันใช้สื่อใหม่มากขึ้น สื่ออาวุโสฟันธงไม่มีใครคุมสื่อใหม่ได้

Posted: 25 Nov 2010 12:17 AM PST

บุญเลิศ คชายุทธเดช ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มติชนระบุ สื่อหลักถูกท้าทายโดยสื่อใหม่ ฟันธงที่ผ่านมาสื่อไม่คุมกันเอง และจะไม่มีใครควบคุมความเห็นในสื่อออนไลน์ได้ ด้านนักวิชาการวิทยาลัยนวัตกรรม มธ. เผยตัวเลขในอเมริกาชี้ คนเสพสื่อหลักลดลงหลังเข้าถึงสื่อใหม่

(25 พ.ย. 53) วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการเสวนาเรื่อง “นวัตกรรมการบริหารสื่อสมัยใหม่กับจริยธรรมทางสังคม” โดยมี ดร.วรัญญู สุจิรวรพันธ์พงศ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายบุญเลิศ คชายุทธเดช ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มติชน ร่วมเสวนา

ดร.วรัญญูกล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อสารก้าวมาสู่การสื่อสารสองทางที่เรียกว่าเป็นเว็บแบบ 2.0 ทำให้เกิดปรากฏการณ์ Water Cooler Effect คือการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารแบบไม่เป็นทางการในโลกจริงนั้นหายไป เพราะว่า แต่ละคนไปใช้เวลาเสพสื่อที่ตัวเองอยากจะอ่าน อยากจะรู้อยากจะฟังมากกว่า

จากผลสำรวจข้อมูลในอเมริกา ในเดือนมีนาคมปีนี้ พบว่า หนังสือพิมพ์ในอเมริกายอดขายลดลง 9 เปอร์เซ็นต์เพราะคนไปอ่านบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

นอกจากนี้พบว่าคนอเมริกันดูฟรีทีวีน้อยลง รายการยอดฮิตในประเทศอเมริกาซึ่งมีเรตติ้งที่สูงมากแต่กลับมีผู้ชมลดลง แม้ว่าจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น เพราะคนดูทีวีผ่านเคเบิลทีวี และอินเทอร์เน็ตเพื่อดูรายการตามที่ตัวเองชอบมากขึ้น

ดร.วรัญญูกล่าวต่อไปว่า ลักษณะของสื่อ 2.0 คือการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้งานด้วยกันมีอิทธิพลทางความคิดสูง 

สำหรับประเด็นทางจริยธรรมนั้น ดร.วรัญญูกล่าวว่ามีหลายประเด็นต้องพิจารณา ได้แก่ ประเด็นด้านจริยธรรม การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การแสดงความคิดเห็นน่าเชื่อถือได้แค่ไหน การเผยแพร่และการส่งต่อ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา และปัญหาที่พบล่าสุดคือการเอาเวลางานไปทำอย่างอื่น ในปี 2550 บริษัทในอังกฤษรวมกันสูญเสียประมาณวันละ 130 ล้านปอนด์ กับการเสพสื่อ Social Media ของพนักงาน

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มติชน กล่าวว่าคอมพิวเตอร์มาช่วยเพิ่มการใช้งานเพื่อสื่อสารของคนไทยมากเป็นลำดับ และความแตกแยกทางการเมืองไทยที่ผ่านมาก็ใช้พื้นที่ออนไลน์ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของฝั่งตน

ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์มติชนกล่าวว่ามีเว็บไซต์เปรียบเหมือนมีหมอที่จะอธิบายวิธีวินิจฉัยโรค เป็นร้อยคนพันคน ซึ่งปกติอาจจะไม่สามารถไปหาหมอที่รู้ใจและอธิบายด้วยความเอาใจใส่ในสุขภาพ และไปหาหมอก็อาจจะวินิจฉัยคร่าวๆ รักษาไม่หายในบางโรค แต่ถ้าเข้าไปในเว็บไซต์ มีสารพัดข้อมูล ซึ่งน่าตื่นตาตื่นใจ สำหรับเว็บไซต์ที่น่าสนใจคือเว็บไซต์ที่ทำโดยสื่อกระแสหลัก เช่น มติชนออนไลน์  ข่าวสดออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์ ผู้จัดการออนไลน์ ฯลฯ เป็นเว็บไซต์ข่าวสาร สำหรับติดตามข่าวสารแทบจะตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม นายบุญเลิศเห็นว่าเว็บไซต์ออนไลน์ไม่สามารถควบคุมกันเองได้ในทางจริยธรรม เช่นเดียวกับหลักการควบคุมกันเองในสื่อหลักของไทยนั้นล้มลุกคลุกคลานและลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ไปถึงไหนพอๆ กับการเมือง

“แม้แต่ผมจะตายไป ก็คงจะตายด้วยตาไม่หลับกับการเมืองระบอบรัฐสภา ที่ไม่มีการถ่วงดุลของอำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ และจะนอนตายตาไม่หลับ สื่อมวลชนกระแสหลัก หนังสือพิมพ์ ควบคุมกันเองโดยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติเมื่อปี 2541 มีคนนอกเข้ามาเป็นกรรมการ เวลานี้ผ่านมา 12 ปี ในความรู้สึกของผมคุมกันเองไม่ได้เท่าที่ควร หรือพูดอย่างทุบโต๊ะ คือคุมกันไม่ได้ ไม่กล้าที่จะควบคุมตรวจสอบกันเองในเรื่องหลักๆ เรื่องใหญ่ๆ และบางเรื่องเถียงกันไม่จบไม่สิ้นว่าพฤติกรรมแบบนี้ของหนังสือพิมพ์ สิ่งที่เรียกว่าความดีงาม เหมาะควรของสื่อหนังสือพิมพ์และสื่อสาธารณะมันอยู่ตรงไหน สื่อเลือกข้าง ก็อธิบายว่าไม่ทำหน้าที่เป็นกระจกต้องทำหน้าที่เป็นตะเกียงเพราะเวลานี้บ้านเมืองมืดมิด ต้องยืนอยู่ข้างความถูกต้องโดยเขากำหนดเองว่าความถูกต้องต้องเป็นอย่างนี้ ก็ไม่เห็นใครว่าอะไรนี่”

นายบุญเลิศกล่าวต่อไปว่าเวลานี้ มีสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ เมื่อไม่กี่เดือนมานี้คณะกรรมการสภาพวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยที่เลียนแบบมาจากสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ช่องเจ็ดไม่ได้เข้ามาร่วม และมีนักวิชาการข้างนอกเข้ามาร่วมเป็นกรรมการ ประกาศข้องบังคับว่าด้วยการนำเสนอข่าวของวิทยุและโทรทัศน์เป็นข้อๆ ก็คุมกันเองไม่ได้

นายบุญเลิศกล่าวด้วยว่า ปัญหาในปัจจุบันเมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงเครื่องมือการสื่อสารได้เอง ก็อาจะมีปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย ซึ่งถูกใช้และตีความโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเขาเห็นว่าการตีความและบังคับใช้กฎหมายของรัฐนั้นก็เป็นปัญหาหนึ่งในวงจรความแตกแยกของสังคมไทย

“นักข่าวพลเมืองไม่ได้เรียนนิเทศศาสตร์สื่อสารมวลชนในการเขียนข่าว ก็ต้องย้อนกลับมาอีกว่ามนุษย์จำเป็นต้องเรียนด้วยหรือว่าต้องสื่อสารกันอย่างไร โลกนี้มีมานานทำไมอยู่กันมาได้ในการสื่อสารถึงกัน ทำไมต้องให้มาเรียนตอนนี้ นี่ก็เป็นประเด็นที่ต้องมาจับตาดูว่า สังคมไทยที่ไม่เหมือนบ้านอื่นเมืองอื่น การใช้สิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หากว่ามันล้ำเส้นเป็นการละเมิดบุคคลอื่น เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หมิ่นกษัตริย์ต่างประเทศ คนที่เข้าไปใช้งานถ้าไม่รู้ก็ซวย กับกฎหมายทีถูกตีความโดยเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งก็รู้อยู่แล้วว่าหวังพึ่งพาอาศัยและผดุงความยุติธรรมไม่ได้ จึงหาเส้นแบ่งลำบาก ตราบเท่าที่สังคมไทยยังอยู่ในหลุมดำวิกฤตการณ์ความขัดแย้งแตกแยกมาสี่ปีกว่าแล้ว แล้วก็ไม่รู้ว่าจะก้าวพ้นจากหลุมดำนำความปรองดองที่แท้จริง จะใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ไม่รู้ รู้แต่ว่าที่ผ่านมาเสียหายยับเยินไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว รัฐพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาด้วย คนที่เข้าไปสื่อสารและสื่อประเภทหนึ่งก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมืองด้วย จึงเกิดการปะปนมั่วไปหมด นี่เป็นสภาวการณ์ของมนุษย์ที่ต้องการสื่อสาร เราไปควบคุมกำกับไม่ได้”

นายบุญเลิศกล่าวด้วยว่า ในอนาคตภายใน 5-10 ปี สื่อกระแสหลักหรือสื่อดั้งเดิมจะอยู่แบบเดิมอีกต่อไปไม่ได้ เพราะทัศนคติเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว

“สื่อสมัยเก่า สื่อดั้งเดิมมีอิทธิพล มีบทบาทต่อสังคมอย่างมากและกำลังถูกท้าท้ายด้วยสื่อใหม่ และสื่อใหม่เป็นสิ่งที่ใครที่ว่าเก่งที่ว่าแน่ไม่สามารถจะมากำกับควบคุมอะไรได้เลย การออกกฎหมายก็ไม่สามารถจะมาควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้ เพียงแต่ว่า แต่ละผู้แต่ละนาม จะใช้เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตเรา สมองต้องได้รับสิ่งดีๆ จะทำอย่างไร เราไปหวังข้าราชการไม่ได้ นักการเมืองก็ไม่ได้ ครูบาอาจารย์ก็ไม่ได้สอนสิ่งเหล่านี้”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้านบางจะเกร็งผิดหวัง ศาลพิพากษาอนุญาตสร้างโรงก๊าซ

Posted: 24 Nov 2010 11:35 PM PST

Consumerthai – 25 พ.ย. ศาลปกครองกลางนั่งบัลลังก์ พิพากษาให้การออกใบอนุญาตก่อสร้างและเปิดใช้อาคารโรงก๊าซชอบด้วยกฎหมาย กรณีชาวบ้านบางจะเกร็งยื่นฟ้องศาลขอให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างและใบอนุญาตเปิดใช้อาคาร หลังใช้เวลาสืบกว่า 2 ปี 9 เดือน

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก และประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวนรวม 23 คน ได้ยื่นฟ้องนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางจะเกร็งกับพวกรวม 7 คน อันประกอบด้วยกรมโยธาธิการและผังเมืองกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงมหาดไทย, กรมธุรกิจพลังงาน, กระทรวงพลังงาน,  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ต่อศาลปกครองกลาง ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมาย พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่ได้ทำการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ให้กับบริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อ เป็นสถานที่จัดเก็บ จำหน่ายและบรรจุก๊าซ บนที่ดินโฉนดเลขที่ 19693 , 17557, 13685, 19694 , 21424 และ 25736 หมู่ 1 ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม อันเป็นที่ดินที่อยู่ภายในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลกในลำดับทะเบียนเลขที่ 1099  ซึ่งถูกจัดอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติที่สำคัญอย่างยิ่งต่อระบบสิ่งแวดล้อมที่จะต้องได้รับการอนุรักษ์ไว้ตามสัญญาแรมซาร์และตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543

โดยให้เหตุผลว่าการออกใบอนุญาต ให้ก่อสร้างอาคาร ในพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด จังหวัดสมุทรสงครามดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎอนุสัญญาแรมซาร์ และมติคณะรัฐมนตรี อันทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สมบูรณ์ที่สุดในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำภาคตะวันตก และเป็นแหล่งชุ่มน้ำมรดกโลกที่ควรอนุรักษ์ ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันและความไม่ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของชาวชุมชนที่ อาศัยอยู่รอบบริเวณดอนหอยหลอดและพื้นที่ใกล้เคียง 

ซึ่งที่ผ่านมาชาวชุมชนในพื้นที่ฯ ได้มีการคัดค้านการก่อสร้างมาตลอด แต่ไม่เป็นผล จึงได้รวมตัวกันฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างและใบอนุญาตเปิดใช้อาคาร รวมถึงให้ทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากบริเวณดังกล่าว อีกทั้งให้ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงมีคำพิพากษาเพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิของประชาชนพลเมืองของประเทศไทยและของโลกไว้ว่าจะได้รับการคุ้มครองให้มีพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดไว้ตลอดไป

และศาลได้มีคำพิพากษาว่า ให้ยกฟ้อง และถือว่าการออกใบอนุญาตก่อสร้างและใบอนุญาตเปิดใช้อาคารของ
องค์การบริหารส่วนตำบลบางจะเกร็งนั้นชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังมีความคิดเห็นแย้งของคณะตุลาการ 1 เสียง

ด้านนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ในผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก หลังฟังคำพิพากษาแล้วกล่าวว่าตนรู้สึกผิดหวังต่อคำพิพากษาของศาล เพราะนี่ถือเป็นการฟ้องให้เกิดบรรทัดฐานเพื่อให้เป็นไปตามสัญญาแรมซาร์และตามมติคณะรัฐมนตรี ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นป่าชุ่มน้ำของประเทศไทย

“เราเกรงว่ามันจะมีการระเบิดขึ้นด้วย ซึ่งมันอยู่ในที่ชุมชนและการก่อสร้างของคลังก๊าซที่มีพื้นที่ 14 ไร่ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่เป็นชาวประมงกว่า 10,000 คนที่ต้องออกทำมาหากิน และรถที่ขนส่งก๊าซก็ส่งผลต่อบ้านเรือนริมถนนทำให้บ้านชาวบ้านร้าวแตก  และรู้สึกผิดหวังมากที่เรานำเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วคดีแบบนี้หากใช้พลังชุมชนในการเคลื่อนไหวน่าจะมีพลังได้มากกว่า อย่างกรณี โครงการโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ที่ ต.บางแก้ว จ. สมุทรสงคราม ชาวบ้านได้รวมตัวกันต่อสู้ก็ชนะมาแล้ว” นางสาวบุญยืนกล่าว  พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่าคำพิพากษาที่ออกมานั้นทำให้รู้สึกท้อบ้างแต่ก็จะดำเนินเรื่องอุทธรณ์ในชั้นศาลต่อไป
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เตือนคนอุดรฯ ระวัง! เหมืองโปแตชเดินตามรอยมาบตาพุด

Posted: 24 Nov 2010 10:42 PM PST

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2553 เวลา 13.00 น  คณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุดรธานี ได้จัดเวทีสาธารณะภายใต้หัวข้อ
“ทิศทางการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพ จังหวัดอุดรธานี กรณีเหมืองแร่โปแตซ ” ณ ห้องประชุม คณะวิทยาการการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยมีผู้เข้าร่วมเวที ที่มาจากหลายภาคส่วน อาทิ ข้าราชการ ผู้แทนจากเอกชน นักศึกษา และประชาชนชาวอุดรธานี จำนวนกว่า 200 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศว่าเวทีดังกล่าวเป็นไปอย่างคึกคัก โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมากและหน้างานมีการจัดแสดงนิทรรศการกรณีเกลือและโปแตชภาคอีสานเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป ผู้คนเริ่มทยอยเดินทางมาเข้าร่วมตั้งแต่เวลา 12.00 น  เมื่อถึงเวลาตามกำหนดการห้องประชุมแน่นถนัด ที่นั่งในห้องประชุมไม่พอ ทำให้ฝ่ายจัดงานต้องจัดหาเก้าอี้มาเพิ่มเติม สำหรับเนื้อหาในเวทีก็เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นกันอย่างกว้างขวาง จนเวทีสิ้นสุดเมื่อเวลา 16.00 น. เศษ

โดยคณะผู้จัดงานได้เชิญวิทยากรมาร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยน ซึ่งประกอบด้วย นายสันติภาพ  ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี , นายรังษี จุ้ยมณี กรรมการหอการค้าจังหวัดระยอง และนางวัชราพร  วัฒนขำ นักวิจัยชุมชนจังหวัดเลย

ทั้งนี้ นายรังษี จุ้ยมณี กรรมการหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวว่า  เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ได้มีการขุดเจาะพบก๊าซธรรมชาติ แล้วรัฐบาลขณะนั้นก็บอกว่าประเทศไทยจะโชติช่วงชัชวาล ต่อมาจึงเกิดโรงแยกก๊าซและนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นที่มาบตาพุด พร้อมบอกว่าชาวระยองจะสบาย เจริญ และได้ประโยชน์ ในช่วงนั้นก็เกิดการเข้ามาลงทุนของต่างชาติเป็นจำนวนมาก ตัวเลขรายได้มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP ก็เติบโตเป็นอย่างมาก แต่พอมา ณ วันนี้กลับพบว่าที่มาบตาพุดเกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพ และสังคม ตามมา จนยากแก่การแก้ไข

“อยากบอกว่ากรณีเหมืองแร่โปแตซเกี่ยวข้องกับมาบตาพุดร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ถ้าเหมืองแร่โปแตซที่อุดรฯ เกิดได้ ที่มาบตาพุดก็งานเข้าด้วย เพราะว่าโปแตซเข้าก็ต้องขนไปที่ท่าเรือมาบตาพุด และเหมือนเรากำลังเดินเข้าสู่วัฏจักรเดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งถ้าเหมืองเกิดขึ้นหางเกลือที่มันเป็นมลภาวะ ปัญหาทางสุขภาพความเจ็บป่วยก็จะตามมา ในชุมชนเกิดความแยกแตกประชาชนมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน ส่วนภาครัฐก็ทำได้แค่การเยียวยา เช่น หาน้ำประปา หรือเพิ่มเตียงรักษาคนไข้ตามโรงพยาบาลให้เท่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เกิดขึ้นแล้วกับคนระยอง” นายรังสีกล่าว

นายรังษี ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่พวกเราควรทำก็คือ เราลองมามองดูว่าเราจะทำอะไรกับพื้นที่ของเราเป็นอันดับแรก ซึ่งเราควรเอาสุขภาพของเราเป็นที่ตั้ง ส่วนอาชีพการงาน หากเราบอกว่าไม่อยากทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเราก็ต้องปฏิเสธ โดยใช้สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ

ขณะที่นายจักรพันธุ์ สาพุด ชาวอุดรธานี หนึ่งในผู้เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ได้แสดงความคิดเห็นว่า ตนได้ติดตามและรับรู้ข้อมูลเรื่องเหมืองแร่โปแตช มาโดยตลอด ก็ยอมรับว่ามันคงค้านยากเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล แต่ถึงอย่างไร ตนก็อยากให้มีการจัดเวทีอย่างนี้บ่อยขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารและจะนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันของคนอุดร นายจักรพันธ์กล่าว

ด้าน น.ส.สมพร เพ็งค่ำ จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และคณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า การจัดเวทีสมัชชาสุขภาพ เป้าหมายของการพัฒนาจะต้องดูเรื่องความอยู่ดีเป็นสุข ต้องดูเรื่องสุขภาวะด้วย หากเราเอาสุขภาพเป็นตัวตั้งว่าควรพัฒนาไปแบบไหน ไม่ได้มาคิดว่าการพัฒนาจะได้เท่าใด จะทำให้เราคุยกันแล้วเห็นภาพรวมกันมากขึ้น

“เรื่องโปแตชเราขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 43 - 44 จัด เวทีพูดคุยกันเยอะ มีการศึกษาข้อมูลกันมากมาย มีนักวิชาการ นักสิ่งแวดล้อม นักกฎหมาย นักพัฒนา มาช่วยกัน และในส่วนของเราก็กำลังสนับสนุนไปสู่การพูดคุยเพื่อนำไปสู่การประเมินยุทธศาสตร์ หรือที่เรียกว่า SEA เพื่อให้คนอุดรเกิดการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร กำหนดประเด็นนำไปสู่การศึกษา เอาข้อมูลเหล่านั้นมาประเมินว่าเราสมควรจะเดินไปในทิศทางใดในกรณีของเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี” น.ส.สมพรกล่าว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

งานยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีลำพูน หวังสร้างเครือข่าย “คนงาน-ชุมชน” งดเหล้า ยุติความรุนแรง

Posted: 24 Nov 2010 09:58 PM PST

มูลนิธิเพื่อนหญิงและองค์กรเครือข่ายร่วมจัดงาน ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ที่ จ.ลำพุน สร้างเครือข่ายคนงาน-ชุมชน ลด ละ เลิกเหล้า สร้างครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนมีสุข

 

25 .. 53 – เวลา 09.00 น. ที่วัดศรีบุญยืน ต.เหมืองง่า อ.เมือง จ.ลำพูน มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิรักษ์ไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เทศบาลตำบลเหมืองง่า เครือข่ายประชาคมงดเหล้า จ.ลำพูน และองค์กรเครือข่าย ร่วมกันจัดงาน “แถลงผลการดำเนินงาน โครงการ ชุมชนต้นแบบ ลด ละ เลิกเหล้า: ครอบครัวเข้มแข้ง ชุมชนมีสุข ตำบลเหมืองง่า และ รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี”

จากข้อมูลของผู้จัดงาน พบว่าสถิติงานสาธารณะสุข จ.ลำพูน ในปี พ.. 2548 อันดับโรคผู้ป่วยนอก 5 อันดับแรกนั้น ปัญหาจากการบริโภคแอลกอฮอล์อยู่ในอันดับที่ 3 และจากการสำรวจข้อมูลการดื่มสุราในชุมชนตำบลเหมืองง่า ในปี พ.. 2551 พบว่ามีผู้ดื่มสุราสูงถึง 9,627 คนจากจำนวนประชากร 14,631 คน คิดเป็นร้อยละ 65.80

การสำรวจร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใน ต.เหมืองง่า อ.เมืองลำพูน (ซึ่งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมลำพูน) พบว่ามีร้านจำหน่ายสุราจำนวน 134 ร้าน ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับจำนวนหลังคาเรือน 6,990 หลังคาเรือน เฉลี่ยแล้วทุก 52 หลังคาเรือน จะมีร้านค้าสุราปลีก 1 ร้าน

ทั้งนี้ปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน เช่นต่อตัวผู้ดื่มเอง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว การว่างงาน การตกงาน ปัญหาสุขภาพเกิดโรคแทรกซ้อนทางร่างกายและจิตใจที่เรื้อรังและรุนแรง ผลกระทบต่อครอบครัวเช่น เกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การหย่าร้าง ครอบครัวแตกแยก ทะเลาะวิวาท ปัญหาสังคมละเศรษฐกิจ ได้แก่ การว่างงาน การทะเลาะวิวาทในชุมชน

โดยในปี พ..2549 – 2552 มีผู้ติดสุราที่มีภาวะซึมเศร้าและพยายามฆ่าตัวตายจำนวน 56 ราย คิดเป็นอัตรา 382.75 ต่อแสนประชากร ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการพยายามฆ่าตัวตายและฆ่าตัวตายสำเร็จของตำบลเหมืองง่า และ จ.ลำพูน สูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี

จากปัญหาที่กล่าวมา มูลนิเพื่อนหญิง ร่วมกับสถานีอนามัยบ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการท้องถิ่นที่ให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน และทำหน้าที่ส่งเสริมและสร้างความเข็มแข็งด้านสุขภาพแก่ชุมชนในพื้นที่ ได้เล้งเห็นความสำคัญของผลกระทบอันเนื่องมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงได้จัดทำโครงการชุมชนต้นแบบลด ละ เลิกเหล้า : ครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนมีสุข ตำบลเหมืองง่าขึ้น โดยดำเนินงานในหมู่บ้านที่ 3 บ้านศรีบุญยืน และหมู่ที่ 8 บ้านหลุก เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบด้วยกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่ติดสุราและผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการในพื้นที่ให้เป็นบุคคลต้นแบบเลิกเหล้า ครอบครัวเข้มแข็ง ลดความรุนแรงในครอบครัว เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของคนในชุมชนและขยายผลจากคนต้นแบบไปสู่การสร้างชุมชนมีสุข ลด ละ เลิก เหล้า ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลเหมืองง่า

วิสุทธิ์ มโนวงศ์ มูลนิธิเพื่อนหญิงกล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นความพยายามสร้างเครือข่ายระหว่างคนงานและชุมชน ในการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการดื่มสุรา ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาต่างๆ ที่ตามมาในชุมชน โดยกิจกรรมในวันนี้วิสุทธิ์กล่าวว่ามีความคาดหวังที่จะเป็นการร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้หันมารณรงค์ลด ละเลิก เหล้า ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกับแรงงานโดยตรง เพราะว่าในชุมชน ต.เหมืองง่านั้นมีประชากรแฝงที่เป็นคนงานโรงงาน ในนิคมอุตสาหกรรม จ.ลำพูน เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้วิสุทธิ์เห็นว่าในการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตนิคมสำคัญๆ ต่างๆ ควรมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนควบคู่กันไปด้วย

 

ผลการดำเนินงานของโครงการชุมชนต้นแบบ ลด ละ เลิกเหล้า : ครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนมีสุข ตำบลเหมืองง่า

 

สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ดังนี้

 

1.     ผู้เข้าร่วมโครงการ 11 ราย สามารถหยุดการดื่มเหล้าลงได้ และจำนวน 22 รายสามารถลดการดื่มเหล้าลงอยู่ในระดับที่ปลอดภัย {โดยการตรวจทางพยาธิวิทยา (ระดับฮอร์โมนและสมรรถภาพตับ) และจากการประเมินผลของกลุ่มแกนนำ}

2.     ครอบครัวของผู้ที่เข้าร่วมโครงการ สามารถหยุดการดื่มเหล้าลงได้จำนวน 11 ราย มีความสุข และความอบอุ่นภายในครอบครัวมากขึ้นจากเดิม เช่น กรณีของลุงกองเงิน สุรินธรรม ครอบครัวเล่าให้ฟังว่า “เมื่อก่อนคนในครอบครัวไม่เคยกินข้าวเย็นกันพร้อมหน้า พอคุณพ่อเข้าร่วมโครงการก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น กลับบ้านตรงเวลา ได้กินข้าวเย็นพร้อมหน้ากัน ไม่มีเสียงเอะอะเอ็ดตะโร ถ้วยโถโอชามอยู่ปกติดี” ลุงกองเงินบอกว่า “ผมไม่ดื่มเหล้าแล้วครับ ชีวิตที่ผ่านมาเสียดายจริงๆ” กรณีลุงอินสม สินธุศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า “หลังจากที่เข้าโครงการสักระยะหนึ่งตนรู้สึกดีขึ้นมาก ได้รับการตอบรับจากครอบครัวดีมากขึ้น เช่นภรรยากลับมาหุงหาอาหารให้รับประทาน พูดคุยด้วย ลูกสาวซื้อเสื้อให้ใหม่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ตรงกันข้ามกับที่ตอนตนเองดื่มเหล้า ที่ต้องนอนโดดเดี่ยว มีลูกเหมือนไม่มี ไม่กล้าออกงานสังคม ไม่กล้าไปช่วยเหลือใคร แต่พอมาเข้าร่วมกิจกรรมกับโครงการ ทุกอย่างในชีวิตเริ่มดีขึ้น มีแกนนำมาพูดให้กำลังใจ มีคุณหมอจากสถานีอนามัยมาให้กำลังใจ จนสามารถชนะใจตนเองและเลิกเหล้าได้” กรณีคุณภากร ยะมณี บอกว่า “หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการ ทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น ภรรยากลับมาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ยอมซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซต์ ยอมไปไหนมาไหนด้วย ครอบครัวอบอุ่นขึ้นจริงๆ สุขภาพก็ดีขึ้นด้วย” กรณีลุงแสง สันโรงพิน บอกว่า “ขณะนี้มีความสุขมาก ไปไหนมาไหนไม่อายใครอีกแล้ว ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ ได้รับการตอบรับจากลูกๆ หลานๆ หากับข้าวมาส่งให้ ดูแลเรื่องความสะอาดเสื้อผ้าให้” กรณีคุณตาถวิล สุริยวงศ์ เล่าให้ฟังว่า “กว่าจะรู้ตัวก็เกือบสายเสียแล้ว สุขภาพไม่ค่อยดี ผิวพรรณไม่แจ่มใส ขณะนี้อายุ 74 ปีแล้ว ยังไม่ได้ทำอะไรที่เป็นความดีเลย เมื่อสมัครใจเข้าร่วมโครงการจึงรู้สึกว่ายังไม่สายเกินแก้ จึงตั้งใจพยายามอดทนเพื่อสุขภาพ เพื่อจะได้เป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกหลาน และพร้อมที่จะบอกว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกอย่างทำลายสุขภาพ บั่นทอนเศรษฐกิจของครอบครัวตัวจริง หลังจากเลิกดื่มได้ ก็ได้ชีวิตใหม่ เพื่อนใหม่และมีความสุขขึ้นจริงๆ” นี่คือตัวอย่างเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมโครงการ

3.     ทำให้สถิติผู้ติดสุราที่มีภาวะซึมเศร้าและผู้พยายามฆ่าตัวตายในตำบลเหมืองง่าลดลงจากเดิม โดยในปีงบประมาณ 2553 จำนวนผู้พยายามฆ่าตัวตายลดลงเหลือ 4 ราย จำนวนผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเหลือเพียง 1 ราย และที่สำคัญ ในหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ ไม่มีผู้ติดสุราที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าและมีการพยายามฆ่าตัวตายแม้แต่รายเดียว

4.     ชุมชนมีความสุขมากขึ้น ปัญหาการทะเลาะวิวาท ความรุนแรงในครอบครัวลดลงจากเดิมเป็นอันมาก จากการสำรวจดัชนีความสุขของคนในหมู่บ้านที่ 3 บ้านศรีบุญยืนและหมูที่ 8 บ้านหลุก พบว่าชาวบ้านมีความสุขมากกว่าคนทั่วไป 40.27 มีความสุขเท่ากับคนทั่วไป ร้อยละ 38.34 มีความสุขน้อยกว่าคนทั่วไปร้อยละ 21.39

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานจากTDRI:น้ำท่วม-น้ำแล้ง-ดินถล่ม...“ป่าไม้” ช่วยได้

Posted: 24 Nov 2010 05:15 PM PST

TDRI เสนอการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยการควบคุมฟื้นฟูพื้นที่ป่า มองการสร้างเขื่อน แก้มลิง ไม่ใช่คำตอบ การแบ่งพื้นที่ผลกระทบเป็นการนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้ง ย้ำ...ต้องมีพระเอกขี่ม้าขาวมาดูภาพรวม

ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าใครจะยกเหตุผลใดมาอ้างก็ล้วนมีส่วนถูก เช่น เกิดจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก การมีสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำไหล ฯลฯ แต่สิ่งที่ขาดหายไปท่ามกลางภาพการช่วยเหลือแจกของ แจกเงิน เยียวยาผู้ประสบภัย คือการมองภาพใหญ่ของประเทศและการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ แหล่งดูดซับน้ำธรรมชาติที่จะสามารถช่วยลดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และดินถล่มได้ส่วนหนึ่ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สาเหตุของปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ที่เกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุปนกันอยู่ โดยสภาพการใช้น้ำในปัจจุบันมีลักษณะทั้งการใช้น้ำข้ามสาขาการผลิต การขยายพื้นที่ทำเกษตรเพิ่มขึ้นและบางส่วนก็ขยายไปในพื้นที่อนุรักษ์การทำเกษตรเพิ่มขึ้นยอมต้องใช้น้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็เข้ามาใช้พื้นที่และต้องการใช้น้ำเช่นกัน

ที่ผ่านมามีผู้ให้ข้อเสนอแนะหลายประการ แม้สำคัญแต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เช่น การเตรียมความพร้อมชุมชน เฝ้าระวังปัญหาน้ำหลาก เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญและมีประโยชน์ในบางลักษณะ เช่น กรณีมีน้ำปริมาณมากหลากมาคืนเดียวถึงหลังคา คงไม่สามารถกั้นไม่ให้ท่วมได้ แต่สามารถแจ้งเตือน อพยพได้ทันก็ช่วยลดความสูญเสียได้ ส่วนการมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางไหลของน้ำ หากระดับน้ำท่วมประมาณครึ่งเข่าหรือ ราว 50 เซนติเมตร ปัญหานี้มีส่วนถูก เพราะทำให้น้ำไม่มีทางไป ระบายออกได้ช้า จึงท่วมขัง แต่กรณีน้ำมันหลากมาแค่ข้ามคืนท่วมถึง 2-3 เมตร น่าจะอยู่ที่สาเหตุอื่นด้วย

จากงานศึกษาวิจัยมีข้อมูลที่สะท้อนออกมาซ้ำซาก คือ เรื่องความสามารถในการรองรับน้ำของพื้นที่ป่าต้นน้ำแทบไม่มีแล้ว จากสภาพป่าที่เหลือน้อยเต็มที และในช่วง 2-3 เดือนที่เกิดปัญหาน้ำท่วม ยังมีการพูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก ทั้งที่มีสัญญาณเตือนจากธรรมชาติ เช่น ช่วงนี้น้ำท่วมแล้วอีกไม่นานจะมีปัญหาน้ำแล้ง การที่ปัญหาสองอย่างมันเกิดขึ้นในเวลาห่างกันไม่นาน ผิดปกติ ย่อมฟ้องถึงปัญหาการขาดความสามารถในการรองรับน้ำของพื้นที่ป่าต้นน้ำ ฉะนั้นการดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำ จะมีส่วนที่จะช่วยควบคุมการไหลของน้ำและน่าจะช่วยป้องกัน ทั้งปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งด้วย แต่คงไม่ช่วยทั้งหมด ต้องทำควบคู่กับมาตรการอื่นด้วย

ดร.อดิศร์ กล่าว่า หัวใจน่าจะอยู่ที่การให้ความสำคัญกับการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติบ้าง เช่น รักษาพื้นที่ต้นน้ำไว้ ซึ่งจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่การลงทุนในระบบชลประทานยังมีความจำเป็น เช่น การทำทางไหลของน้ำคงต้องทำบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าเอาเงินงบประมาณนับแสนล้านไปทำระบบชลประทานอย่างเดียว ไม่น่าจะเป็นคำตอบ หรือถ้าปล่อยให้พื้นที่ต้นน้ำโล่งเตียนแล้วมัวแต่ลงทุนทำแก้มลิง ก็คงพรุนไปทั้งประเทศหรือ จึงอยากเสนอให้มีการหาแนวทางที่ครบวงจร ดูสาเหตุแท้จริง แล้วทำการป้องกันในหลาย ๆ จุด ไม่ใช่ทำเฉพาะการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับเฉพาะงบสิ่งก่อสร้างเท่านั้น การสร้างธรรมชาติกลับคืนมาก็น่าจะใช่ด้วย เพราะป่าไม้มีความสำคัญ เกี่ยวข้องกับการไหลของน้ำ ทั้งน้ำหลาก น้ำแล้ง รวมทั้งดินถล่ม ซึ่งป่าธรรมชาติมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำดีที่สุด สัญญาณเตือนของธรรมชาติครั้งนี้เรียกร้องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สมดุล

ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสนใจเรื่องนี้น้อยเกินไป ควรให้ความสำคัญมากกว่านี้ กล่าวคือ 1) ควรมีการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและดูแลการทำการเกษตรในพื้นที่ป่าสงวนให้เข้มข้น 2) การสร้างเขื่อนอาจยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นตอจากจำนวนประชาการที่เพิ่มขึ้นและต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะคนในพื้นที่ต้นน้ำซึ่งทำการเกษตรที่ต้องการใช้น้ำมากขึ้น ในฤดูแล้งจึงไม่มีน้ำเหลือเพียงพอสำหรับคนพื้นราบ 3)การมองการบริหารจัดการน้ำเป็นจังหวัด แล้วปล่อยให้แต่ละจังหวัดสร้างเขื่อนกั้นสองฟากแม่น้ำตามอำเภอใจเพื่อไม่ให้จังหวัดตัวเองน้ำท่วม การแบ่งพื้นที่อย่างเลือกปฏิบัติ เช่น ปกป้องบางพื้นที่ไม่ให้ท่วมแต่ให้น้ำไปท่วมในพื้นที่อื่นแทน ในที่สุดก็จะเกิดความขัดแย้งขึ้น ทำให้เกิดคำถามกินใจว่า “สิทธิในการป้องกันพื้นที่ตัวเองมีมากน้อยแค่ไหน” นโยบายการกั้นน้ำไม่ให้ท่วมจึงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ปัญหาน้ำท่วมเป็นเรื่องกินใจและท้าทาย คำตอบจึงต้องดูระบบใหญ่ ๆ ทั้งหมด

ดร.อดิศร์ กล่าวว่า การแก้เรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง น่าจะใช้เวลาอย่างน้อยอีก 4-5 ปี ถ้าไม่มีพระเอกขี่ม้าขาวออกมาช่วย หรือคนที่สามารถเชิญชวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันดูภาพใหญ่ ให้เห็นเป็นเรื่องเดียวกันไม่ใช่ต่างคนต่างทำอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งบทบาทนี้นายกรัฐมนตรีควรเป็นหัวหน้าทีมด้วยตัวเอง หากปล่อยให้หน่วยงานทำเองไม่มีทางเจอคำตอบ เพราะแต่ละหน่วยงานถูกจำกัดด้วย พรบ.จัดตั้งหน่วยงาน จึงไม่สามารถทำอะไรเกินกรอบกฎหมายได้ การที่กรุงเทพฯจะเอาเงินไปช่วยอยุธยา อ่างทองจึงเป็นไปได้ยาก ต้องทำในรูปแบบอื่น นอกจากนี้การที่รัฐบาลเร่งจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือผู้ประสบภัยนับเป็นเรื่องดี แต่อยากเสนอรัฐบาลให้เจียดงบประมาณส่วนหนึ่งที่นำไปแจกได้อย่างถูกกฎหมายนั้นถูกนำไปใช้เพื่อการไขปัญหาพื้นฐานบ้าง เช่น การฟื้นฟูสภาพป่า ซึ่งจะช่วยลดปัญหาผลกระทบทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และดินถล่มได้.
 

 

เผยแพร่โดย :ทีมสื่อสารสาธาารณะ-ทีดีอาร์ไอ โทร.0-22701350 ต่อ 113

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น