โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

มอบรางวัลช่างภาพอเมริกันเสี่ยงชีวิตถ่ายภาพสลายม็อบในกรุงเทพฯ

Posted: 27 Nov 2010 12:28 PM PST

องค์กรโรรี เพค ทรัสต์ มอบรางวัลโรรี เพค ประเภทข่าว ให้แก่ช่างภาพอิสระที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปถ่ายภาพในพื้นที่อันตราย โดยในปีนี้ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ โรเจอร์ อาร์โนลด์ ชาวอเมริกันที่เข้ามาถ่ายภาพในกรุงเทพฯ ระหว่างการเผชิญหน้าของกองกำลังทหารไทยและผู้ชุมนุมเสื้อแดงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยผลงานของเขาเป็นงานที่ทำให้กับเว็บไซต์วอลล์สตรีทเจอร์นัลด์ ขณะที่รางวัลในประเภทสารคดี มอบให้แก่ นาจิบอัลเลาะห์ คูไลชิ (Najibullah Quraishi) ชาวอัฟกัน ซึ่งถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีในอัฟกานิสถาน ในช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน 2552

โดยพิธีมอบรางวัลดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ในเว็บไซต์ขององค์กรโรรีเพคทรัสต์ http://rorypecktrust.org กล่าวถึงคลิปวิดีโอหนึ่งของโรเจอร์ว่าเป็นบันทึกของเหตุการณ์ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการชุมนุมประท้วงรัฐบาลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ที่เต็มไปด้วยรายละเอียด โดยภาพในระยะประชิด ทันเหตุการณ์และเร้าอารมณ์  ทำให้เห็นภาพความขัดแย้งทั้งจากมุมมองของฝั่งผู้ชุมนุมและกองทัพไทย

เว็บไซต์ดังกล่าวระบุว่า ผลงานคลิปวิดีโอของเขาแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของการประท้วงที่สร้างความเสียหายอย่างมาก รวมถึงนำมาซึ่งผลลัพธ์อันน่าสลดใจ โดยในผู้คนจำนวนมากที่บาดเจ็บระหว่างความขัดแย้งครั้งนี้ ในจำนวนนั้นมีเพื่อนผู้สื่อข่าวของโรเจอร์รวมอยู่ด้วย โดยหนึ่งในนั้นเสียชีวิต
 
คณะกรรมการระบุว่า นี่เป็นงานที่ทรงพลังและหลากมุมมอง กรรมการคนหนึ่งบอกว่า โรเจอร์แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความกล้าหาญของเขา เขาเก็บภาพจากทุกมุมและทุกสถานที่ ชนิดที่คุณไม่ต้องขอเพิ่มอีก

ทั้งนี้ โรเจอร์ อาร์โนลด์เป็นช่างภาพอิสระและผู้สื่อข่าว ซึ่งเดินทางถ่ายภาพไปมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก งานของเขาเผยแพร่ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต อาทิ วอลล์สตรีทเจอร์นัล อัลจาซีร่า บีบีซี ซีเอ็นเอ็น เอบีซี เดอสปีเกล ไฟแนนเชียลไทมส์ แอล เพนท์เฮาส์ แอมนาสตีอินเตอร์เนชั่นแนล คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ สหประชาชาติ ฯลฯ

สำหรับองค์กรโรรี เพค ทรัสต์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2538 โดยจูเลียต เพค ภรรยาของช่างภาพอิสระ โรรี เพค และเพื่อนๆ ของเขา ภายหลังจากการเสียชีวิตของโรรี เพค ช่างภาพอิสระซึ่งถูกสังหารขณะเข้าไปถ่ายภาพในมอสโคว์ ในปี 2536 โดยองค์กรดังกล่าวได้ตั้งกองทุนขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้สื่อข่าวอิสระที่ได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงมีการมอบรางวัลโรรี เพค เพื่อเป็นเกียรติแก่ผลงานของช่างภาพข่าวอิสระด้วย

ชมคลิปวิดีโอของโรเจอร์ได้ที่
http://online.wsj.com/video/reporter-firsthand-account-of-thailand-turmoil/1C7D8EA4-3E09-4BE0-B8D5-D86B626D2A89.html

แปลและเรียบเรียงจาก
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-pacific-11845231
http://rorypecktrust.org/page/3201/Roger+Arnold
http://www.rorypecktrust.org/page/3209/Rory+Peck+Awards+2010

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปราโมทย์ แสนสวาสดิ์: ดอกไม้บูรพา

Posted: 27 Nov 2010 12:02 PM PST

 
โซ่ตรวนอำมหิต..
จองจำเธอแต่หนไหน..แม่ดอกไม้บูรพา
นานเท่าไหร่แล้วที่เงามืดปกคลุมแผ่นดินเธอ
ดวงตาร้าวรานย่อมสะท้อนความจริง
กี่ครั้ง..ที่โลหิตอาบทา
กี่ครั้ง..ที่น้ำตาร่วงหล่น
กี่ครั้ง..ที่คนโดนเข่นฆ่า
น้ำตาจึงเหือดแห้งดั่งทะเลทราย
พายุร้ายพัดพาแต่ฝนสีเลือด
ขบวนคนทุกข์แผ่นดินเธอ..คนแล้วคนเล่า
เดินเข้าสู่ลานประหารแห่งยุคสมัย
คนแล้วคนเล่าแน่นิ่งไหลลงอิรวดี
นานเท่าไหร่แล้วที่ความหวาดกลัวเกาะกุมแผ่นดิน
โอ้..แม่ดอกไม้บูรพา
รอยยิ้มแห่งเธอเผยถึงอิสรภาพอันยิ่งใหญ่
การให้อภัยคือฝันร้ายของเผด็จการ
มันเสียดแทงลึกไปถึงหัวใจสีดำ
จงทำลายลวดหนาม..จงทลายกำแพง
สันติภาพอีกไม่นานสันติภาพ
บัดนี้..รุ่งอรุณกลับมาเยือนเธออีกครั้งแล้ว
แม่ดอกไม้..บูรพา
 
                                                                                               
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม้หนึ่ง ก.กุนที: สถาปนาสถาบันประชาชน

Posted: 27 Nov 2010 11:54 AM PST

 
1
 
เราไม่ปกป้องการอภิวัฒน์
สายลมปฏิปักษ์จึงพัดหวน
การรื้อสร้างไม่อาจทำอย่างนุ่มนวล
ทุกชิ้นส่วน ต้องกล้านับ 1 ใหม่
 
เราไม่ปกป้องการอภิวัฒน์
ทรรศนะทางชนชั้นไม่ขยาย
'475 พริบตาเป็นอาชาไนย
แล้วก็กลับเป็นงัวควาย เหมือนๆ เดิม
 
เราไม่ปกป้องการอภิวัฒน์
สิทธิ์หน้าที่แจ่มชัดไม่ทันเริ่ม
ลงหมุดแล้วไม่ตอกต่อเสาเติม
เอาเครื่องเรือนไปปลูกเสริมสร้างเวียงวัง
 
เราไม่ปกป้องการอภิวัฒน์
ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ จึงล้าหลัง
กรรมกรชาวนาเงินน้อยจัง
แต่สะพรั่งแน่นซองขาวในพานทอง
 
2
 
คณะราษฎร คือเด็กสาว
มีความรักเยาวัยได้ตั้งท้อง
ถ้าพวกคุณเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง
เลือกทำแท้งหรือจะบำรุงครรภ์
 
เด็กในท้อง อาจคลอดเป็นผู้แทนถ่อย
ชั่วหรือดีอยู่ที่เลี้ยงอย่างสร้างสรรค์
อดทนคอยให้เราพัฒนาการ
ย่อมเติบใหญ่สมบูรณ์งามตามเวลา
 
ยุทธศาสตร์ "ราษฎรยังไม่พร้อม"
คุณไม่เคยยินยอมให้เราก้าวหน้า
เฝ้าแทรกแซงแบ่งแซะเสมอมา
เป็นประชาธิปไตยใจพิการ
 
ใจพิการ เพราะประชาไร้อำนาจ
ความเป็นชาติอยู่ในกำมือทหาร
การตัดสินของหมู่ตุลาการ
ไม่พิพากษาในนามมหาชน
 
วางระเบิดระบบการศึกษา
ถึงเวลามืดบอดไม่เห็นหน
ทัศนวิสัยใบ้จำนน
ปัญญาชนบื้อพันหลักสนตะพาย
 
ชนชั้นกลาง กลวงว่างเปล่าสมอง
บกพร่องทำปัญญาเสื่อมสูญหาย
ชีวิตไหว เบาหวิว ปลิวสะบาย
แย่กว่าควาย..ไม่มีใครยอมไถนา !
 
 
3
 
เขารวมตัวคืนอำนาจให้บางคน ?
ยืนเดินนั่ง ตะโกนกันคลั่งบ้า
กู่ปาวๆ เอาประเทศไทยคืนมา
คืนมาจากกำมือประชาไทย !
 
ความก้าวหน้าปรากฏในชนชั้นล่าง
การเลือกตั้ง ปี 50 ยืนยันได้
กองทัพยึดเบ็ดเสร็จกุมกลไกล
ไม่สามารถบล็อกโหวตทหารเกณฑ์
 
เพราะว่าคุณ ประมาทราษฎร
ทุกครั้งเคยเขย่า คลอนหัวเล่น
เราเอียนรสคุณธรรม ทนลำเค็ญ
เลือกประชาธิปไตยเส้นทางทุน
 
เหนื่อยอาภัพ หยาบกร้านมานานนัก
ข้าวปลาผักเธอว์ปรุงกินกันหอมกรุ่น
แต่ตอบแทนเราด้วยเนรคุณ
กินไม่อิ่ม นอนไม่อุ่นเสมอมา !!!
 
 
4
 
การเมืองไทยก้าวหน้าไปมาก
แม้แต่ นายสมัครฯ ก็ยังมีความก้าวหน้า
แสงแห่งทุนกระตุ้นเหล่าศักดินา
เร่งผูกขาดค้าขายขยายคลัง
 
การเมืองไทยก้าวหน้าไปมาก
คนรากหญ้ายิ่งไม่ยอมอยู่ล้าหลัง
ชัดเจนสิทธิ์หน้าที่มีกำลัง
เริ่มก่อสร้างยุคศรีอาริย์ด้วยมือตัว !
 
5
 
เสรีชน แพร่ลามเหมือนแบคทีเรีย
แทะนรกสวรรค์กัดดีชั่ว
เหลือเพียงพุทธปรัชญาขับมืดมัว
บัว 4 เหล่ารกทุกชั้นฐานันดร
 
6
 
นับปีผ่าน จาก 17 สู่ 40
รัฐธรรมนูญพัฒนาครึ่งมาค่อน
แม้หมกเม็ดแทรกซึมบางบทตอน
เช่นองค์กรอิสระของบางใคร ?
 
แต่ก็ถือว่าเกือบจะเต็มใบอยู่
ถ้าสังคมเติมความคิดที่สดใหม่
ล้างงมงาย ชนชั้นนำโบราณภัย
ฝ่าตีนใหญ่สุมหัวเลอะฝุ่นละออง
 
การรุกคืบของอำนาจประชาชน
ปฏิปักษ์ สานเล่ห์กลขึ้นปกป้อง
สามัคคีให้คนดีรุมปกครอง
สมองหวาน ปรองดองเพื่อแผ่นดิน
 
7
 
แผ่นดินหรือแท้คือประชารัฐ
ทับถมร่างเปื่อยเป็นชาติคลอบคลุมสิ้น
เลี้ยงพืชพันธุ์ธัญญาก่อชีวิน
เกิดฟอสซิ่ล ทอง เพชร นิล จินดา
 
ธาตุกระดูกสามัญชนซึมรากข้าว
สร้างข้าวเจ้า ข้าวเหนียวอุดมค่า
สุกทิพย์ทองผ่องทุ่งปรุงท้องนา
เลี้ยงขุนศึกศักดินาเนรคุณ !!!
 
แผ่นดินหรือคือสมบัติไทยทั้งชาติ
เลี้ยงเจ้าทาสมูลนายมาทุกรุ่น
อภิวัฒน์แล้วสิ้นฤทธิ์สิทธิ์สมบูรณ์
คุณเกิดด้วยราษฎรการรุณ นะภูมี
 
8
 
แต่คุณแทบเป็นหุ้นส่วนทุกบริษัท
ผลกำไร ไม่จำกัดทุนวิถี
กินล้นเหลือเจริญเกินอ้วนพี
ขณะผองคนมากมายไม่มีกิน
 
เหงื่อทั้งปวงที่คุณเปลืองพลัง
แค่ละอองชนชั้นล่างทั่วท้องถิ่น
เรายากจน ทนทุกข์ ขลุกโคลนดิน
คือตัวจริงผลิตสินสมบัติเมือง
 
9
 
ประชาชนของคุณคือคนไหน ???
คนสมบูรณ์หน้าใส ใส่เสื้อเหลือง ?
คนเสื้อแดงมอมแมม แสนฝืดเคือง ?
คนเซื่องซึมจรจัดขาดอาภรณ์ ?
 
 
ความเป็นชาติของคุณอยู่ที่ไหน ???
สิเนรุอำไพเผือกสิงขร ?
เราคือฐานพีระมิดประชากร !
กัดกร่อนเราเร่งคุณล้มลงระยำ !!!
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โพสต์ทูเดย์สัมภาษณ์ สุริยะใส กตะศิลา: วันหนึ่งพี่น้องจะเข้าใจ พธม.ขาลง?

Posted: 27 Nov 2010 02:35 AM PST

หงอยเกินคาด สำหรับการชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 23-25 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประเมินกันว่าม็อบ พธม.มาชุมนุม 5,000 คนที่สุดอยู่ที่ไม่เกินพัน เป็นตัวเลขที่ตำรวจนั่งนับนิ้วเอง

เกิดอะไรขึ้นกับ พธม. "โพสต์ทูเดย์" พูดคุยกับ"สุริยะใส กตะศิลา" ผู้ประสานงาน พธม. เขาออกตัวว่า การชุมนุมครั้งนี้เรื่องกำลังคนไม่ใช่ประเด็น เพราะวัตถุประสงค์ คือการตีแผ่วาระซ่อนเร้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะจุดยืนที่กลับไปกลับมาของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ต้องเป็นแกนนำในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียเอง พธม. ต้องการชี้ให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลแบบนี้ คงฝากผีฝากไข้ไม่ได้
         
"ที่เจ็บใจที่สุด คือสังคมไทย ได้วางมาตรฐานว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำในนามสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ ปชป.กลับมาทำลายมาตรฐานนี้ ต่อไปหากพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากอยากนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ใหม่ก็ทำแบบรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยตั้งนักวิชาการขึ้นมา จากนั้นให้สภาเสียงข้างมากอนุมัติ หากถึงเวลานั้น ปชป.จะไปด่าพท.ไม่ได้ เพราะตัวเองสร้างมาตรฐานแบบนี้ไว้"
         
นอกจากนี้ เหตุที่คนมาน้อยเพราะการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่ใช่สงครามแตกหักเพื่อขับไล่รัฐบาลและการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ดึงดูดมวลชนเท่ากับเรื่องขับไล่ระบอบทักษิณ การที่ไม่มีเรื่องนิรโทษกรรมแรงต้านจึงลดลงไปเยอะ ที่สำคัญมันเป็นภาวะทับซ้อนกันระหว่างพธม.กับ ปชป.ที่มีมวลชนกลุ่มเดียวกัน เห็นได้ว่านอกจากเรื่องนี้ไม่เกี่ยวโยงกับเรื่องทักษิณแล้วยังเกี่ยวข้องกับ ปชป.โดยตรง ทำให้แฟน พธม.รู้สึกลังเลเพราะอยากให้โอกาสกับ ปชป.
         
เขายอมรับว่าบทเรียนที่เกิดขึ้นอาจเป็นการจัดระเบียบใน พธม.ด้วยซ้ำว่ากำลังที่แท้จริงมีอยู่แค่ไหนเพื่อที่จะนำไปสร้างการเมืองใหม่โดยพรรคการเมืองใหม่ (กมม.) ของ พธม.ตอนนี้มีสมาชิก 1.5 หมื่นคนกำลังอยู่ในช่วงพิสูจน์ตัวเองกับมวลชนว่า เราสามารถเป็นบ้านหลังใหม่ของประชาชนได้ เพราะ กมม.ต่างจาก ปชป.อย่างชัดเจน แน่นอนว่าเราอาจจะมีจุดยืนเรื่องต่อต้านระบอบทักษิณเหมือนกัน แต่ยุคหลังทักษิณเราต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะถ้าไม่เห็นต่างกันจริงๆ เราคงรวมกับพรรคประชาธิปัตย์ไปนานแล้ว
         
"วันนี้แม่ยก พธม.หรือใครหลายคนอาจจะลังเลและไม่สบายใจว่าทำไมต้องมาทะเลาะกันเอง บางคนบอกว่าฉันขออยู่กับนายกฯ ไม่ขอไปกับเรา ผมไม่ซีเรียส แต่วันหนึ่งถ้าเขารู้ว่าสิ่งที่เขาเกาะไว้มันไม่ใช่ของจริง เราเชื่อว่าเขาจะกลับมาหาเราเอง"สุริยะใส ระบุย้ำด้วยเวลาที่มีจำกัดกับอีกหลายประเด็นที่เราอยากรู้อีกมาก เช่น พธม.และ กมม.จะวางบทบาทตัวเองอย่างไร ภารกิจจะจบเมื่อไร ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไร ประเด็นที่ขายได้แค่เรื่องต่อต้านระบอบทักษิณหรือเปล่า ทิศทางการเมืองไทยในทัศนะ พธม.
         
"สุริยะใส" ตอบด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า แกนนำ พธม.เคยคุยกันและตกผลึกว่า สถานการณ์ มันบีบให้เราต้องรวมตัวกันเข้าไว้ เลิกไม่ได้ไม่รู้ว่าจะเป็นเวลากี่ปี โดยเฉพาะตราบใดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังเคลื่อนไหวที่จะกลับเข้ามาเรืองอำนาจและ พท.ยังพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำทักษิณกลับมา เราก็มีสิทธิเคลื่อนไหว ที่สำคัญสุดคือ ถ้าสถาบันถูกคุกคามเราก็วางมือไม่ได้ พธม.จะสู้เรื่องนี้ให้ถึงที่สุดเพราะมีจุดยืนเรื่องนี้ชัดเจนมาแต่ต้น
         
อย่างไรก็ตาม "สุริยะใส" วิเคราะห์ว่าประเด็นเรื่องทักษิณกลับมาเรืองอำนาจนั้นคงแทบจะปิดประตูสนิทแล้ว เพราะการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาทักษิณทำลายตัวเองมาก ทั้งเรื่องเผาบ้านเผาเมืองก่อจลาจล ป่วนไม่หยุด จนสังคมไทยมีภูมิต้านทานเชื้อโรคนี้และรู้ทันทักษิณมากขึ้น ขณะที่ พท.เองก็คงไม่สามารถเป็นรัฐบาลพรรคเดียวเบ็ดเสร็จได้ ดังนั้น ทั้งในและนอกสภาภูมิคุ้มกันระบอบทักษิณทำงานมากทีเดียว
         
"แต่สุดท้ายเราอาจได้ระบอบเนวิน (เน้นเสียง) ซึ่งเป็นกลุ่มนักการเมืองฉวยโอกาสกลุ่มใหม่ที่ใช้ทฤษฎีเหลืองแดงเผชิญหน้ากัน สร้างกระแสไม่เอาทั้งเหลืองและแดง ประกาศตัวเองเป็นสีน้ำเงิน เสแสร้งว่ากลาง แต่กลับเป็นฝ่ายเดียวที่ได้ประโยชน์ สถาปนากองกำลังขึ้นมายึดอำนาจรัฐ จนพี่น้อง พธม.ถามว่าระบอบทักษิณกับระบอบเนวินต่างกันตรงไหน น่ากลัวกว่ามั้ย หรือยังพออะลุ่มอล่วยได้ระบอบทักษิณทุจริตเชิงนโยบายกินรวบ ขณะที่ระบอบเนวินฮั้วโดยหมู่คณะ แต่มูลค่าเม็ดเงินไม่ต่างกัน อาจจะมากด้วยซ้ำ
        
 ...ดังนั้น ระบอบเนวิน ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทาย พธม.มากว่าจะต้องจัดการอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป พธม.และ กมม.ต้องทำงานให้หนักในการสร้างชาติสร้างประชาธิปไตยที่สังคมจะสมดุลมากที่สุด เพราะความขัดแย้งทางสังคมสลับซับซ้อนมากขึ้น ไม่ใช่แค่เอาหรือไม่เอาระบอบทักษิณเท่านั้น โดยเฉพาะในปีหน้าเชื่อว่าจะเป็นการต่อสู้ทางความคิดว่าเราจะอยู่กันในระบอบประชาธิปไตยแบบไหนเพราะอีกฝ่ายก็ผลักดันประชาธิปไตยที่แท้จริงโดยประชาชนสู้กับประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ผู้ประสานพธม.ระบุ
         
เขาบอกว่า ยุทธศาสตร์การเจาะพื้นที่ของ กมม.จะเน้นกลุ่มคนตรงกลางของสังคมที่ไม่ได้เป็นทั้งเหลืองและแดง เป็นคนที่ไม่ได้ค้าน พธม.ในการตั้งพรรค และยังไม่ได้เป็นพวก ปชป.เต็มตัว น่ามีอยู่ประมาณ 40% กมม.ต้องพิสูจน์ให้คนเห็นว่า เราไม่ใช่แค่พรรคของคนเสื้อเหลืองและเมื่อเป็นพรรคการเมืองก็ต้องคิดมากกว่าการจัดการทักษิณ แต่ต้องเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้สังคม โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
         
ขณะนี้พรรคกำลังทาบทามบุคคลต่างๆ เข้ามาร่วมงานอยู่ แต่เป็นไปด้วยความยากลำบากเพราะการเมืองไทยไม่ดึงดูดให้คนดีๆ มาทำงานการเมือง กลัวเปลืองตัวหันหลังให้กับการเมืองส่วนความแข็งแกร่งของคนเสื้อแดงในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานนั้น ต้องโทษรัฐบาลชุดนี้ที่ไม่ทำการบ้านคิดแต่จะชิงกระแสทักษิณ แต่ไม่เสนอสิ่งใหม่ๆ ให้ชาวบ้านในพื้นที่ ดังนั้นเพื่อไทยคงได้ชัยชนะในพื้นที่ แต่คงไม่มากกว่าตอนนี้แล้ว

 

คนละมาตรฐาน

"สุริยะใส" ถือเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่น่าจับตา เขาบอกว่าการเข้ามาทำงานตรงนี้กลับทำให้เสียโอกาสสำคัญที่สุดในชีวิตอย่างหนึ่ง คือการเรียนต่อปริญญาเอกในต่างประเทศตามที่เคยฝัน ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยฮาวายมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่เจ้าตัวสมัครไว้และมีโอกาสเดินทางไปดูมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งมาแล้วตอนช่วงปี 2548 ก่อนเกิดวิกฤตไล่ระบอบทักษิณในปี 2549 ทำให้ทุกอย่างสะดุดหมด
         
"หมดสิทธิเรียนเมืองนอกแล้ว เพราะมีคดีติดตัวถึง 16 คดีตั้งแต่คดีหมิ่นประมาทถึงคดีก่อการร้าย เรียกว่าได้รับโทษทุกประเภทในกฎหมายไทย ตอนนี้เดินทางไปต่างประเทศไม่ได้แล้ว"เขากล่าวด้วยน้ำเสียงรับสภาพ พลางว่า ตอนนี้ตั้งใจทำปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยรังสิตอยู่
         
ยิงคำถามว่า แกนนำเสื้อเหลืองอยู่ดีกว่าแกนนำเสื้อแดง เพราะส่วนหนึ่งถูกคุมขังคดีก่อการร้าย แต่คนเสื้อเหลืองยังไม่มีใครเข้าตะราง เป็นสองมาตรฐานอย่างที่พูดกันหรือไม่
         
สุริยะใส คิดนาน... "ผมไม่รู้" ก่อนขยายความว่า อยากบอกคนที่วิจารณ์เรื่องนี้ว่า ข้อเท็จจริงพวกผมก็โดนคดี ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วย เอาเป็นว่าถ้าพูดกันตรงไปตรงมา พฤติกรรมการเคลื่อนไหวมันคนละมาตรฐานกัน สิ่งที่เสื้อแดงทำเมื่อเทียบกับพธม.มันหนักกว่ากันมาก เราไม่เคยใช้อาวุธมายิงเจ้าหน้าที่ แค่ยิงขึ้นฟ้าก็หนักแล้ว ลองคิดดูว่าถ้าเสื้อแดงไปยึดสนามบินวันนั้นสุวรรณภูมิจะเหลือหรือไม่ แต่ พธม.ชุมนุมไม่มีอะไรเสียหายเพราะ 3 ชั่วโมงหลังการสลายตัวสนามบินเปิดใช้ได้ทันที
         
ประเด็นสองมาตรฐานพูดทีไรก็จุดติดเมื่อนั้น เพราะมันเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากระหว่างคนรวยกับคนจน ที่สันดานรัฐราชการไทยจะปฏิบัติแตกต่างกัน แต่ถ้าจะโยงเรื่องนี้กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองและเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย คนเสื้อแดงต้องดูด้วยว่า สิ่งที่ตัวเองทำมีมาตรฐานหรือไม่ ทั้งเรื่องแกนนำที่ไม่มีเอกภาพ มีการใช้ความรุนแรงมากมายพกพาอาวุธฆ่าเจ้าหน้าที่อย่างเปิดเผยจนเกิดเหตุการณ์ราชประสงค์ที่มีคนตาย 89 ศพที่แกนนำคนเสื้อแดงจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ นี่คือมาตรฐานของคนเสื้อแดงที่ต่างกับ พธม.มาก ก็สมควรที่จะโดนกฎหมายคนละฐานความผิดกัน
         
"คนเสื้อแดงชอบพาดพิงว่า พธม.เส้นใหญ่ แต่เหตุที่เป็นแบบนี้เพราะคนที่สนับสนุน เราเห็นว่า เราจงรักภักดีไม่เคยท้าตีท้าต่อยกับอำมาตย์ เหมือนที่คนเสื้อแดงทำ ไม่ว่าจะเป็นการเอาหินปาบ้าน ดูถูกเรื่องเพศสภาพ ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนอื่นอย่างโหดเหี้ยม มาตรฐานแบบไหนล่ะที่ต้องทำร้ายคนอื่นแบบนี้ เมื่อคิดที่จะสร้างศัตรูก็ต้องคิดว่า สักวันอำมาตย์ก็จะมารบกับคุณบ้าง เพราะทุกคนต้องป้องกันตัวเอง ไม่ว่าคนรวยคนจน คนข้างล่างหรือคนข้างบน ไพร่หรืออำมาตย์ เพราะมันเป็นสัญชาตญาณมนุษย์"
         
"สุริยะใส" บอกว่า เราจงรักภักดีแบบมีจุดยืนไม่ใช่งมงาย เพราะไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือสถาบันใด ถ้าต้องปรับหรือปฏิรูปให้ดีขึ้นก็ต้องทำเพื่อให้ทันสมัยตลอดเวลา และเรื่องสองมาตรฐานสังคมไทยต้องช่วยกันแก้ไขด้วยการลดความเหลื่อมล้ำลงมาบ้าง ชนชั้นนำจะอยู่แบบเดิมไม่ได้ ตอนนี้กระแสปฏิรูปแรงมาก

      
เหลืองตั้งพรรค แดงจะกล้าไหม

หลังจากพลาดเรื่องเรียนปริญญาเอกในต่างประเทศไปแล้ว "สุริยะใส กตะศิลา"บอกว่าตอนที่ร่วมต่อสู้กับ พธม. ในปี 2549 ก็ไม่รู้ว่า หลักกิโลเมตรสุดท้ายอยู่ตรงไหน และไม่รู้ว่า5 ปีที่ต่อสู้กันมา ผ่านมาถึงครึ่งทางหรือยัง รู้แต่ว่าสงครามครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่ง และปวารณาตัวเองว่าจะต่อสู้กับพี่น้องต่อไป
         
สำหรับมุมเล็กๆ ในช่วงชีวิต หนุ่มใหญ่วัย 38 แอบเปิดเผยความลับด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า อีก2 ปีจะแต่งงานแล้วกับผู้หญิงนอกวงการ(การเมือง) เพราะเดิมทีตั้งใจไว้ว่าอายุ 40 จะได้ฤกษ์กับชีวิต อีกทั้งมีคนทักว่าถ้าจะทำงานการเมือง ก็ควรแต่งงานให้เป็นเรื่องเป็นราวเพราะต้องโชว์ครอบครัว ซึ่งถือว่าทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว
         
นั่นเป็นสีสันของนักเคลื่อนไหวที่เป็นมือใหม่ในเวทีการเมือง ย้อนกลับมาที่เรื่องหนักๆ อีกครั้งโดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง"สุริยะใส" มองว่า เคลื่อนไหวคนละมาตรฐานกับ พธม. แต่เรื่องเสื้อแดงคงต้องผูกติดกับสังคมไทยไปตลอด เช่นเดียวกับเรื่องเสื้อเหลือง เพราะเสื้อแดงส่วนใหญ่ผูกกับความเป็นไปของทักษิณเว้นแต่ว่า วันหนึ่งจะมีแดงแท้ที่คิดเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความเป็นธรรมในสังคมจริงๆ
         
มาถึงบรรทัดนี้ "สุริยะใส" บอกว่า อยากให้คนเสื้อแดงตั้งพรรคการเมือง เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อทักษิณ แต่สู้เพื่อความเป็นธรรมจริงๆ ใครที่เป็นแดงแท้ออกมาเลยปลดแอกจากทักษิณและพรรคเพื่อไทยให้ได้เหมือนกับ พธม.ที่ออกมาตั้งพรรคเอง ทั้งที่ พธม.เคยถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือของ ปชป.แต่ตอนนี้ พธม.ก็รบกับประชาธิปัตย์ แต่เราไม่เคยเห็น นปช.รบกับเพื่อไทยตรงกันข้าม นปช.กลับทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์พรรคเพื่อไทยโดยไม่มีการตรวจสอบแม้แต่ครั้งเดียว หากเสื้อแดงยังเดินแบบนี้ต่อไปสุดท้ายก็จะถูกหลอกใช้เท่านั้น
         
ผู้ประสานงาน พธม. บอกว่า เชื่อว่าแดงแท้ในแดงทั้งหมดมีประมาณ 10% ที่เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมจริง แต่คนเหล่านี้ไม่สามารถจัดองค์กรของตัวเองได้ เพราะถูกปกคลุมไปด้วยคนที่เคลื่อนไหวเพื่อทักษิณถึง 90% รวมถึง"สมบัติ บุญงามอนงค์" หรือ บก.ลายจุด ที่เขามองว่าไม่ใช่ของแท้ แต่เป็นพวกสร้างกระแสแบบไม่ลงทุน คอยแต่หยิบชิ้นปลามันไปกินเพราะการเคลื่อนไหวของ "สมบัติ" ยังผูกกับ"จตุพร พรหมพันธุ์ " และ พท. อยู่ ดังนั้นถ้าจะเป็นแดงแท้ "สมบัติ" ต้องทำงานหนักกว่านี้
         
"ถ้าแดงแท้ประกาศปลดแอกจากทักษิณได้ตรงนี้อาจจะเป็นการเกิดใหม่ของ นปช. และสุดท้ายอาจโคจรไปจับมือกับ พธม.ก็ได้ ทั้ง 5 แกนนำ พธม.มีความคิดนี้เสมอ คุณสนธิก็เคยสัมภาษณ์ไม่รู้กี่รอบว่าไม่เคยมองเสื้อแดงเป็นศัตรู ลุงจำลอง (ศรีเมือง) ก็พูดเช่นกัน หลายเรื่องคิดเหมือนกันโดยเฉพาะเรื่องสองมาตรฐานความไม่เป็นธรรม"
        
 เขาวิเคราะห์ว่า คนเสื้อแดงจะเติบโตไม่ได้ตราบใดที่เสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยยังเป็นความสัมพันธ์ที่ขึ้นกับทักษิณ แม้ว่าจะชนะเลือกตั้งได้อำนาจรัฐก็ไม่สามารถปกครองได้ เพราะจะมีแรงต้านตามมาแน่นอน ทางที่ดีหากคิดจะเล่นเกมยาว ต้องทบทวนปลดแอกจากทักษิณ อย่าใช้ความรุนแรงจนเกิดราชประสงค์ 2 เพราะอำนาจรัฐไทยจะไม่ยอมให้เรื่องแบบนั้นเกิดขึ้นอีก จนทำให้เชื่อว่าสังคมการเมืองไทยยังไม่พ้นกระแสรัฐประหารที่มีโอกาสเกิดขึ้นตลอดเวลาการจัดการจะหนักกว่าเดิม ไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อบานปลายแน่นอน

 

ที่มา: เว็บไซต์โพสต์ทูเด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ค่าปฎิรูปไทย' ชุดอานันท์-ประเวศ ราว 1.2 พันล้าน นายกฯ หวั่นถูกครหาเงิน สสส.

Posted: 27 Nov 2010 02:10 AM PST

เมื่อวันที่ 25 พ.ย.53 นพ.มารุต มัสยวณิช  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม. เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนองบประมาณในการทำงานของของคณะกรรมการปฎิรูป(คปร.)ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) ที่มีนพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน  โดยเป็นแผนการใช้งบประมาณปี 2554-2556 โดยงบประมาณจะมาจาก 2 ส่วนคือ ส่วนแรกจากการสนับสนุนจากภาครัฐ  565,470,000 บาท อีกส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนจากภาคีต่างเป็นเงิน 622,000,000 บาท รวมเป็นเงิน  1,187,470,000 บาท  ส่วนในปี 2554 ครม.ได้เห็นชอบกรอบวงเงิน 187,470,000 บาท

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับแผนการใช้งบประมาณจำนวน  187,470,000 บาท ในปี 2554 นั้นแบ่งเป็นของ คปร. 57,780,000 บาท มาจาก 1.กิจกรรมสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูป 26,100,000 บาท 2สสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นวิชาการและนโยบายภายใต้ คปร. 10,000,000 บาท 3.งานสนับสื่อสารสังคมของคปร. 14,480,000 บาท 4.ประชุม 80 ครั้งๆ ละ 90,000 บาท รวม 7,200,000 บาท    

ขณะที่คสป.มีแผนการใช้งบประมาณ ทั้งหมด 110,880,000 บาท  ประกอบด้วย 1.กิจกรรมสนับสนุนการดำเนินงานของคสป.ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการปฏิรูป 18,000,000 บาท 2.กิจกรรมสมัชชาปฏิรูประดับชาติปีละ 1 ครั้ง 23,520,000 บาท 3.งานสนับสนุนการดำเนินการของเครือข่ายต่างๆ 25,000,000 บาท  4.งานสนับสนุนเครือข่ายภายใต้คสป. 25,000,000 บาท 5.งานสนับสนุนการขับเคลื่อนเฉพาะประเด็น 2,000,000 บาท 6.งานสนับสนุนการสื่อสารสังคมของคสป.14,480,000 บาท 7.การประชุมคสป.2,880,000 บาท

งบกลางจำนวน 18,810,000 บาทประกอบด้วย 1.งานนโยบาย แผน และการประเมินผล 2,000,000 บาท 2.งานบริหารทั่วไป 10,000,000 บาท 3.งานสารสนเทศ และการจัดการเครือข่าย 4,310,000 บาท  4.งานสนับสนุนกิจการพิเศษ 2,500,000 บาท
 

มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในการเสนอแผนการใช้จ่ายงบประมาณของ ครป.และ คสป. ดังกล่าว ได้ทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความไม่พอใจ เนื่องจากคิดว่าคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด จะใช้เงินเพียง 600 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปครั้งแรกเท่านั้น แต่ในแผนการใช้จ่ายงบฯ ล่าสุด กลับระบุว่าจะหาเงินจากแหล่งอื่นด้วย ทั้งนี้ แม้ท้ายสุด ครม.จะอนุมัติแผนการการใช้จ่ายงบฯ แต่ก็มีความกังวลเรื่องเสียงวิจารณ์ เนื่องจาก นพ.ประเวศ เคยเป็นเลขาธิการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาก่อน

 

ที่มา: เว็บไซต์สำนักข่าวไทย เว็บไซต์ข่าวสด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปราบต์ บุนปาน: ความเปลี่ยนแปลง

Posted: 27 Nov 2010 12:53 AM PST

ข่าวการพบศพทารกนับพันถูกทำแท้ง ตลอดจน "ความจริง" อันหลากหลาย และ "เรื่องเล่า" อันมากมายในสื่อยุคปัจจุบัน

ทำให้บางคนวิตกกังวลถึงภาวะสังคมเสื่อมศีลธรรม และสื่อเสื่อมมาตรฐานจริยธรรมหรือบรรทัดฐานวารสารศาสตร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาด "หลักยึดเหนี่ยว" สัมบูรณ์เพียงหนึ่งเดียว

แต่หากไม่มองโลกแบบ "เซลส์ (วู) แมนขายวิกฤต" จนเกินไป และไม่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นกลียุค เราก็อาจได้ค้นพบโอกาสท่ามกลางวิกฤตดังกล่าว

ในเมื่อสังคมสมัยใหม่เต็มไปด้วยเหลี่ยมมุมซับซ้อน ผู้คนมีโอกาสเข้าถึง "ความรู้" และมีช่องทางในการสื่อสารและแสดงความเห็นของตนเองเพิ่มมากขึ้น

การปะทะกันของ "ความจริง" หลายชุด และ "เรื่องเล่า" หลากมุม ตลอดจนภาวะไร้ "สัจจะ" สูงสุดเพียงหนึ่งเดียว จึงย่อมเกิดขึ้นตามมา

เราไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวว่าภาวะเช่นนี้จะส่งผลให้ "หลักยึดเหนี่ยว" ที่เราเคยยึดถือต้องเสื่อมทรุดลง เพราะสิ่งต่างๆ ล้วนหลีกเลี่ยงภาวะอนิจจังไปไม่พ้น

สิ่งที่พวกเราต้องทำก็คือ การเปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมไทยได้รู้จักแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ถกเถียงร่วมกัน ในภาวะแตกต่างหลากหลายที่ถือกำเนิดขึ้น

เพื่อพวกเราจะได้เสาะแสวงหากฎกติกาอันยืดหยุ่นจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ เราไม่ควรหวั่นวิตกว่าภาวะเช่นนั้น  จะนำไปสู่การบังเกิดขึ้นของ  ศาสดาออนไลน์ หรือ กลุ่มล่าแม่มด ที่มีแนวคิดฮาร์ดคอร์ เพราะแต่ไหนแต่ไรมา คนกลุ่มดังกล่าวก็มิใช่เสียงส่วนใหญ่ของทั้งสังคมออนไลน์และออฟไลน์อยู่แล้ว

ในทางกลับกัน การไม่หมกมุ่นอยู่กับหลักการใดหลักการหนึ่ง หรือ "ความจริง" หนึ่งเดียว เสียอีก ที่อาจส่งผลดีบางประการตามมา

อย่างน้อย เราคงไม่ต้องลงมือเข่นฆ่าใคร เนื่องจากเขาได้ล่วงละเมิด "ความจริง" ที่เรายึดถือว่าเป็นหลักการสูงสุด

เพราะต้องไม่ลืมว่า หลักยึดเหนี่ยวทางศีลธรรม-จริยธรรมบางอย่าง ก็อาจมิได้มีหน้าที่สร้างความปรองดองทางสังคมเท่านั้น แต่หลักการดังกล่าวยังสามารถฆ่าคนที่เห็นต่างได้ด้วย

นอกจากเปิดพื้นที่ให้ "ความจริง" หรือ "เรื่องเล่า" อันหลากหลายแล้ว หากเราพบเห็นแนวโน้มว่ารัฐมีแนวโน้มจะควบคุมจำกัดเสรีภาพของสื่อทุกชนิด และสถาปนา "ความจริง" หนึ่งเดียว เพื่อกำจัดความเห็นต่างจากรัฐบาล

เรายิ่งต้องตั้งคำถามและพยายามขัดขวางไม่ให้แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นจริง มิใช่คอยตั้งข้อสังเกตและจับตาดูอยู่ห่างๆ

ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะตื่นตระหนกตกใจเกินเหตุ หรือโหยหาอดีตอันไม่อาจย้อนคืน เราจึงควรค่อยๆ เรียนรู้ร่วมกัน ถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

สังคมไทยที่ไม่มีฉันทามติในเรื่องใด เรื่องหนึ่ง แม้เพียงเรื่องเดียว อีกต่อไป

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอีกอย่างก็ได้แก่ การคิดแทนคนอื่น

เราไม่ต้องคิดแทนปรมาจารย์ผู้ล่วงลับว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรยามเผชิญสภาพการณ์เช่นนี้ เพราะคนต่างยุคสมัยล้วนพานพบสถานการณ์และปัญหาที่แตกต่างกัน คนต่างรุ่นจึงต้องคิดค้นหาหนทางแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยวิถีทางของตนเอง

เราไม่ต้องดีใจแทนคนที่ตายไปแล้ว ว่าจะได้ไม่ต้องเห็นภาวะโกลาหลเช่นนี้ เพราะพวกเขาอาจมีมุมมองที่แตกต่างจากเรา

เช่น พวกเขาอาจเสียใจ ที่ไม่ได้อยู่เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยก็เป็นได้

ดังนั้น สิ่งสำคัญประการสุดท้าย จึงได้แก่ กรุณาอย่าทำแท้ง "ความเปลี่ยนแปลง" ที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทย

 

ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทีดีอาร์ไอ: เศรษฐศาสตร์การเมืองของระบบสวัสดิการ

Posted: 27 Nov 2010 12:01 AM PST

 
 
 
ทีมสื่อสารสาธารณะทีดีอาร์ไอเผยแพร่บทความเรื่อง เศรษฐศาสตร์การเมืองของระบบสวัสดิการ เขียนโดย นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอและ นายคุปต์ พันธ์หินกอง ซึ่งจะมีการนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เรื่อง “การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ” ซึ่งจะนำเสนอในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 ที่ รร.เซ็นทาราแกรนด์ฯ
 
 
 
สวัสดิการสังคมมีผลในการกระจายรายได้จากคนกลุ่มหนึ่งไปยังคนอีกกลุ่มหนึ่ง โดยการเลือกจะกระจายรายได้อย่างไรนั้นเกิดขึ้นในกระบวนการกำหนดนโยบาย การทำความเข้าใจต่อลักษณะของระบบสวัสดิการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจึงต้องอาศัยการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์การเมือง บทความนี้มุ่งทำความเข้าใจต่อลักษณะเฉพาะของระบบสวัสดิการในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบระบบสวัสดิการต่างๆ ในอนาคต จากการศึกษา ผู้เขียนพบประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
           
 
ประการที่หนึ่ง สวัสดิการสำคัญต่างๆ มักเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยมีการปกครองในระบบประชาธิปไตยซึ่งในที่นี้หมายถึงการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น การเริ่มโครงการสงเคราะห์ประชาชนผู้มีรายได้น้อย (สปน.) ในสมัยรัฐบาลคึกฤทธิ์ การประกันสังคมในสมัยรัฐบาลชาติชาย โครงการ “30 บาทรักษาทุกโรค” ในสมัยรัฐบาลทักษิณ หรือโครงการ “เรียนฟรี 12 ปี” ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็นต้น มีเพียงกรณีส่วนน้อยที่รัฐบาลและรัฐสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ออกกฎหมายเพิ่มการคุ้มครองหรือให้สวัสดิการให้แก่ประชาชน เช่น การออกกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ในสมัยรัฐบาลอานันท์ ตรงกันข้าม รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมักขัดขวางการนำเอาระบบสวัสดิการมาใช้อย่างชัดแจ้ง เช่น การชะลอการใช้กฎหมายประกันสังคมในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์เมื่อปี 2534 เพื่อลดความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน
 
 
การแข่งขันในการเลือกตั้งซึ่งกดดันให้นักการเมืองต้องทำประโยชน์แก่ประชาชนจึงเป็นหัวใจของการสร้างระบบสวัสดิการ อย่างไรก็ตาม ในหลายกรณี การเลือกตั้งก็ไม่เพียงพอต่อการสร้างระบบสวัสดิการ เนื่องจาก การกำหนดนโยบายด้านสวัสดิการ มักถูกแทรกแซงด้วยกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เช่น ธุรกิจและราชการ ซึ่งมีพลังทางการเมืองสูง
 
 
ประการที่สอง สวัสดิการต่างๆ มีความยากง่ายในการเกิดขึ้นที่แตกต่างกัน สวัสดิการที่เกิดได้ง่ายและมักเกิดขึ้นก่อนก็คือ สวัสดิการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ เช่นการศึกษา การให้เงินทดแทนลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ทุพพลภาพหรือตายจากการทำงาน ส่วนสวัสดิการที่เกิดได้ยากและมักเกิดขึ้นหลังจากสวัสดิการอื่นคือ สวัสดิการที่มีลักษณะการกระจายรายได้สูงและอาจลดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ เช่น การประกันการว่างงาน เป็นต้น ในขณะที่สวัสดิการอื่นๆ ที่เพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจแต่มีการกระจายรายได้ จะมีความยากในการเกิดปานกลาง
 
 
ประการที่สาม ประโยชน์จากสวัสดิการจะตกต่อกลุ่มต่างๆ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองของคนกลุ่มนั้น ที่ผ่านมา นโยบายของไทยถูกชี้นำโดยรัฐราชการมาเป็นเวลานาน จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่ข้าราชการเป็นกลุ่มที่ได้สวัสดิการมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการการรักษาพยาบาล บำเหน็จบำนาญและสวัสดิการสำหรับครอบครัว กลุ่มที่ได้สวัสดิการรองลงมาคือ แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ ผู้ด้อยโอกาสและแรงงานต่างด้าว ตามลำดับ ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำแทนการสร้างความเสมอภาคในสังคม
 
 
ประการที่สี่ ประเทศไทยเน้นลงทุนด้านการศึกษามาก แต่ระบบการศึกษาของไทยมีคุณภาพต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และยังมีความไม่เท่าเทียมกันในการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยผู้มีรายได้สูงได้ประโยชน์มากกว่าผู้มีรายได้ต่ำ ความคาดหวังว่า การศึกษาจะช่วยสร้างโอกาสที่เท่าเทียม (equality of opportunities) แทนการให้สวัสดิการอื่น ซึ่งมุ่งสร้างผลลัพธ์ที่เท่าเทียม (equality of outcomes) และทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีความสามารถเผชิญความเสี่ยงทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น จึงน่าจะไม่เป็นความจริง
 
 
ประการที่ห้า ปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองในการเพิ่มและลดรายจ่ายด้านสวัสดิการแตกต่างกันอย่างมาก โดยการลดสิทธิประโยชน์ในสวัสดิการ มักจะทำได้ยากกว่าการเพิ่มสิทธิประโยชน์หรือการเพิ่มสวัสดิการใหม่ๆ ข้อเท็จจริงดังกล่าวชี้ว่า การปรับลดสวัสดิการบางอย่างที่ไม่เหมาะสมอาจไม่สามารถทำได้ง่ายนัก ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลาออกจากงานโดยสมัครใจ การให้เงินกู้ กยศ. ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก และสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการที่ได้สิทธิประโยชน์มาก
 
 
จากข้อสังเกตดังกล่าว ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะ 2 ประการ ประการที่หนึ่ง การออกแบบระบบสวัสดิการโดยเฉพาะสวัสดิการที่มีลักษณะกระจายรายได้มาก ควรทำโดยคำนึงถึงการสร้างความรู้สึกยอมรับของประชาชนในวงกว้างให้มากที่สุด โดยอาจใช้แนวทางดังต่อไปนี้
 
·         ควรออกแบบสวัสดิการให้มีลักษณะที่เอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจให้มากที่สุดควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ด้วย เช่น การไม่ลดแรงจูงใจในการทำงาน เป็นต้น
 
·         ควรพิจารณาปฏิรูปภาษีให้เกิดความเป็นธรรมและลดภาระทางภาษีระดับสูงของคนบางกลุ่มเช่น ควรเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งเสริมการลงทุนของ BOI ซึ่งมีผลทำให้เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรม และหันมาลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงทั้งระบบแทน
 
 
·         ควรกำหนดให้ผู้ได้รับสวัสดิการทำประโยชน์กลับคืนสู่สังคมเท่าที่ทำได้เช่น ผู้ได้สวัสดิการที่ไม่ใช่คนพิการ เจ็บป่วยหรือสูงอายุ ควรต้องทำงานแลกกับสวัสดิการ ตามแนวความคิด “งานเพื่อสวัสดิการ” (workfare) เช่นให้ทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์
 
 
ประการที่สอง ควรออกแบบระบบสวัสดิการให้เหมาะสมตั้งแต่เริ่มต้น เพราะการปรับลดสวัสดิการที่ไม่เหมาะสมในภายหลังจะทำได้ยากเนื่องจากผู้ได้รับสวัสดิการกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ขัดขวางการปฏิรูป.
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น