โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

สวรส. เตรียมจัดเวทีวิชาการช่วยปลดเงื่อนตายกระจายอำนาจด้านสุขภาพ

Posted: 29 Nov 2010 01:09 PM PST

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ร่วม ก.สาธารณสุข และภาคี เตรียมจัดเวทีวิชาการสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ครั้งที่ 1 “10 ปีกระจายอำนาจด้านสุขภาพ สังเคราะห์บทเรียนเพื่อหาทางออกร่วมกัน” เปิดพื้นที่ร่วมถกประเด็นคลายปมการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ

 
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันพระปกเกล้า คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนดจัดเวทีวิชาการสู่ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ครั้งที่ 1 ขึ้น ในหัวข้อ 10 ปี การกระจายอำนาจด้านสุขภาพ : สังเคราะห์บทเรียนเพื่อหาทางออกร่วมกัน ในวันพุธที่ 1 ธันวาคม 2553 เวลา 08:30 – 15:30 น. ณ ห้องอบรมสถาบันพระปกเกล้า ชั้น 5 อาคารจอดรถ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ โดย รศ.วุฒิสาร ตันไชย สถาบันพระปกเกล้า จะกล่าวปาฐกถาพิเศษ “กระจายอำนาจกับความเป็นธรรมด้านสุขภาพ” พร้อมการนำเสนอข้อมูลจากงานวิจัย กรณีศึกษา และข้อเสนอเชิงนโยบายจากฝ่ายวิชาการและเปิดอภิปรายรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และบุคลากรจากสถานีอนามัย 
 
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวถึงการจัดเวทีวิชาการในครั้งนี้ ว่าเป็นการเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้มีพื้นที่ในการสื่อสารสองทาง ได้พูดคุย ทำความเข้าใจ และหาทางออกร่วมกัน โดยนำข้อมูลทางวิชาการจากงานวิจัยมาเป็นจุดตั้งต้นในการพูดคุย ซึ่งผลงานวิจัยเหล่านี้มาจากศาสตร์และความรู้หลากหลายสาขา ทั้งรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สาธารณสุข จึงทำให้มองเห็นถึงความเชื่อมโยงกันในทุกมิติของสังคมที่จะได้รับผลจากการกระจายอำนาจ และหวังว่าข้อเสนอที่ได้มาจากการวิจัยเหล่านี้ จะเป็นวิถีทางที่สามารถปลดเงื่อนตายคลายปมคิดเกี่ยวกับการกระจายอำนาจด้านสุขภาพในสังคมไทยได้
 
ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทสรุปจากงานวิจัยเรื่อง “กระบวนการทางการเมืองในการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข: ศึกษากรณีการถ่ายโอนสถานีอนามัย” ที่ชี้ให้เห็นถึงโจทย์ใหญ่ที่ต้องทบทวนเกี่ยวกับการกระจายอำนาจด้านสุขภาพในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าอุปสรรคสำคัญเกี่ยวข้องกับหลายระดับด้วยกัน ประการแรกคือปัญหาความล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมาย ประการที่สอง คือการยึดถือความชำนาญเฉพาะด้านมากกว่าหลักการกระจายอำนาจซึ่งรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมแต่เมื่อใช้หลักเหตุผลด้านความชำนาญนำหน้าทำให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องถ่ายโอนอำนาจ อุปสรรคประการที่สาม คือความไม่เป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งได้รับงบประมาณจากการจัดสรรจากส่วนกลาง โดยพบว่าผลงานพัฒนาด้านสาธารณสุขสามารถใช้เป็นเครื่องมือสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองให้กับนักการเมืองท้องถิ่นได้ แต่ท้องถิ่นยังไม่สามารถตัดสินใจโดยอิสระว่าจะพัฒนางานสุขภาพไปในทางใด
 
ทางด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ นักวิชาการผู้ศึกษาทางเลือกการกระจายอำนาจ เสริมในประเด็นดังกล่าวว่า ผลจากงานวิจัยยังทำให้ทราบถึงความเข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจในสังคมไทย ที่ยังยึดติดอยู่แค่รูปแบบเดียว คือการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้ท้องถิ่น ทั้งๆ ที่การกระจายอำนาจนั้นยังมีอีกหลายรูปแบบที่สามารถทำได้
 
“วิธีคิด มุมมองและความเข้าใจของฝ่ายต่าง ๆต่อนิยาม ขอบเขต รูปแบบ ของการกระจายอำนาจ ที่คิดเพียงมิติของการยกสถานีอนามัยไปให้อยู่ในสังกัดหรือเป็นของท้องถิ่น กลายเป็นเงื่อนไขหลัก ที่ทำให้การกระจายอำนาจด้านสุขภาพกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากจะขยับทำอะไร ผมคิดว่า ข้อเสนอทางนโยบายที่จะเสนอในครั้งนี้ ต้องเป็นข้อเสนอที่สามารถปลดล็อคอันนี้ได้จึงจะเป็นข้อเสนอที่ทุกฝ่ายรับได้และเดินหน้าไปด้วยกัน” นพ.ปรีดา กล่าว
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: ค้านระเบียบใหม่กองทุนฯ รอบโรงไฟฟ้า ชี้ส่อแววทุจริต

Posted: 29 Nov 2010 12:54 PM PST

ภาคประชาชนค้านระเบียบใหม่กองทุนกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ชี้ขาดความโปร่งใส รวบอำนาจ ส่อแววทุจริต ขู่หากยังไม่มีการทบทวน เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง 

 
วานนี้ (29 พ.ย.53) เวลา 13.30 น.ณ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อาคารจามจุรีชั้น19 เขตปทุมวันตัวแทนเครือข่ายองค์กรประชาชน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า จากทั่วประเทศกว่า 300 คน เข้ายื่นหนังสือคัดค้านระเบียบใหม่กองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
 
ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการกำกับดูแลกิจการพลังงานออกระเบียบ หรือ ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาตรา97 (3) ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการยกร่างระเบียบของกองทุนขึ้นมาใหม่ เมื่อสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นแล้วผลปรากฏว่า สาระสำคัญของระเบียบไม่ได้เป็นไปตามที่ประชาชนส่วนใหญ่ได้เสนอไว้
 
นายเสด็จ เวชบุตร อดีตกรรมการกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจังหวัดชัยภูมิและเป็นหนึ่งในคณะทำงานยกร่าง 20 คน กล่าวว่า ในระเบียบที่จะออกมาใหม่นั้นผิดเพี้ยนไปเยอะเกินกว่าที่ประชาชนจะยอมรับได้ ดำเนินการแบบรวบอำนาจและอาจนำไปสู่การทุจริตได้ง่าย โดยเฉพาะประธานคณะกรรมการกองทุนและรองประธานคนที่ 1 มีการเขียนล็อคไว้ให้ราชการมาเป็นโดยตำแหน่ง ทั้งที่การประชุมรับฟังความคิดเห็นได้มีการเสนอไว้ว่าประธานหรือรองประธานต้องมาจากการคัดเลือกกันเอง ไม่ใช่มาโดยตำแหน่ง 
 
นายเสด็จกล่าวต่อมาว่า ประเด็นที่สองมีการเขียนล็อคไว้ให้พลังงานจังหวัดเป็นกรรมการโดยตำแหน่งสองที่นั่ง ประเด็นที่สามคณะกรรมการในระดับตำบลซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านกลับถูกตัดออกไป นอกจากนี้ยังมีการโอนอำนาจให้แก่ อบต.หรือ เทศบาล เป็นผู้บริหารจัดการสำหรับกองทุนไฟฟ้าขนาดเล็ก ซึ่งก็ผิดไปจากเจตนารมณ์เดิมที่ต้องการให้ชาวบ้านเป็นผู้ดูแลกันเอง และกองทุนขนาดใหญ่ก็ต้องไปช่วยกองทุนขนาดเล็ก เป็นเครือข่ายซึ่งกันและกัน จากร่างระเบียบใหม่ที่จะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ หากยังไม่มีการทบทวนทางเครือข่ายภาคประชาชนก็เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองต่อไป
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผลักดันผู้อพยพจากรัฐกะเหรี่ยงกลับแล้ว ขณะที่ทหารพม่าปะทะดีเคบีเอต่อเนื่อง

Posted: 29 Nov 2010 11:13 AM PST

ชาวบ้านจากรัฐกะเหรี่ยงหลายร้อยคนที่ข้ามเข้าฝั่งไทยด้าน อ.แม่สอด หลังการปะทะรอบใหม่ระหว่างดีเคบีเอและทหารพม่านั้น ล่าสุดเจ้าหน้าที่ไทยผลักดันกลับแล้ว โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์สงบแล้ว ขณะที่มีบางส่วนข้ามกลับมาอีกหลังเกิดการยิงปะทะกันรอบใหม่ ผู้อพยพหวั่นถูกจับไปเป็นลูกหาบ

ตามที่เมื่อวันที่ 27 พ.ย. มีชาวบ้านหลายร้อยคนจากบ้านผาลู (Palu) อำเภอกอกาเรก (Kawkareik) รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ได้อพยพข้ามแม่น้ำเมยมายังฝั่งบ้านแม่โกเกน ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก นั้น (อ่านข่าวย้อนหลัง)

ล่าสุดวันนี้ (29 พ.ย.) ผู้หนีภัยการสู้รบที่พักอยู่ในหมู่บ้านแม่โกเกน ได้กลับสู่หมู่บ้านผาลูแล้ว ขณะที่ยังมีชาวบ้านที่ป่วยและไม่สามารถกลับได้ประมาณ 100 คนที่พักอยู่ที่วัดห้วยมหาวงศ์ ในบ้านแม่โกเกน

โดยตั้งแต่เช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่ไทยประกาศว่าขณะนี้ไม่มีการต่อสู้ที่หมู่บ้านผาลูแล้ว ขอให้ชาวบ้านกลับไป โดยกระบวนการส่งกลับเริ่มขึ้นในช่วงเช้า และกลุ่มสุดท้ายที่เดินทางกลับได้ข้ามแม่น้ำเมยกลับฝั่งพม่าไปในเวลา 14.35 น. แต่หลังจากนั้นประมาณสิบนาทีก็เกิดการต่อสู้ขึ้นในฝั่งพม่า ระหว่างทหารกะเหรี่ยงดีเคบีเอกองพลน้อยที่ 5 และทหารฝ่ายรัฐบาลพม่า โดยเสียงปืนและปืนครก เริ่มดังขึ้นตั้งแต่เวลา 15.00 น. และกระทั่งสิ้นสุดลงในเวลา 16.00 น. มีการยิงกระสุนปืน ค. หลายสิบนัด และมีการยิงปืนหลายครั้ง

จากการสู้รบดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านประมาณ 50 คนที่เพิ่งเดินทางกลับไปฝั่งพม่า ได้ข้ามกลับมายังฝั่งไทยอีก ชาวบ้านบางคนอยากกลับไปพักที่วัดห้วยมหาวงศ์ ซึ่งเคยพักก่อนที่จะเดินทางกลับไป แต่เจ้าหน้าที่ไทยไม่อนุญาต ขณะนี้ชาวบ้านกลุ่มที่กลับเข้ามาใหม่นี้ บางส่วนพักอยู่ตามบ้านญาติ และบางส่วนก็พักตามเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านในฝั่งไทย

ทั้งนี้มีชาวบ้านหลายคนโดยเฉพาะผู้ชายไม่กล้ากลับไปเพราะกลัวถูกทหารพม่าจับไปเห็นลูกหาบ บางส่วนกลับไม่ได้เพราะทหารพม่ายึดบ้านเป็นที่พักอาศัย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"ทีดีอาร์ไอ" ชี้ช่องโหว่สวัสดิการสังคมแบบ "ไทยๆ" มองข้ามคนรายได้ต่ำ

Posted: 29 Nov 2010 10:27 AM PST

ทีดีอาร์ไอชี้ "เหลื่อมล้ำ" แก้ได้ด้วยโอกาสการศึกษา-ฝึกอบรม แนะจัดสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า ค่าใช้จ่ายไม่ใช่ปัญหา แต่อยู่ที่การจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม จวกรัฐกันผู้ประกันตนออมกองทุนชราภาพ จะเพิ่มความเสี่ยงของคนรายได้ต่ำ

(29 พ.ย.53) โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกล่าวในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 เรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า เศรษฐกิจไทยในระยะกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาได้รุดหน้าไปอย่างมาก โดยประเทศไทยมีความมั่งคั่งเพิ่มมากขึ้น และจำนวนคนยากจนก็ลดลงมากกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่เรื่องความยากจนอีกต่อไป แต่เป็นปัญหาด้านคุณภาพของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา และเป็นสาเหตุหลักหนึ่งของความขัดแย้งทางสังคมและการเมือง ซึ่งสั่นคลอนระบอบประชาธิปไตยไทยทุกวันนี้

เขากล่าวว่า ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ มีอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ หนึ่ง นโยบายภาครัฐในอดีต โดยเฉพาะสิทธิพิเศษหรือประโยชน์ที่มิควรได้ที่ให้แก่ภาคธุรกิจและการคอร์รัปชั่นทางการเมือง สอง การจ้างงานที่มีคุณภาพปริมาณไม่มากพอ ทำให้โครงสร้างแรงงานประกอบด้วยแรงงานนอกระบบจำนวนมาก ขณะที่การสร้างงานที่ใช้ความรู้และฝีมือซึ่งให้ผลตอบแทนสูงพอที่จะมีชีวิตในฐานะชนชั้นกลางได้เพิ่มขึ้นน้อย ส่งผลให้จำนวนผู้เสียภาษีน้อยและฐานภาษีแคบ นอกจากนี้ โครงสร้างภาษีปัจจุบันยังมีการเก็บภาษีหรือลดหย่อนยกเว้นภาษีที่ไม่เป็นธรรม

สาม โครงสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าความเจริญของไทยในอดีตไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นการพัฒนาที่จะเพิ่มงานประเภทที่มีชนชั้นกลางมากขึ้น  และสี่ การขาดระบบสวัสดิการพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ เช่น แรงงานไทยส่วนใหญ่ยังอยู่นอกระบบ ขณะที่รายจ่ายของรัฐยังไม่ถึงมือผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และผู้ที่ควรได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง โดยในอนาคตจะต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษาและฝึกอบรมที่ต้องปรับปรุงให้ได้ผล

 

ย้ำชัดคนไทยต้องการสวัสดิการถ้วนหน้า

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ "การสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐาน: ค่าใช้จ่ายระบบสวัสดิการสังคมที่คน ไทยต้องการ" ว่า จากการสำรวจ 2 วิธีการ ได้แก่ หนึ่ง สำรวจประชากรทั่วประเทศจำนวน 3,680 คนในเดือนเมษายน 2553 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชาชนทุกภาคเกินกว่าร้อยละ 60 ต้องการสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ขณะที่ภาคใต้ ประชาชนครึ่งหนึ่งต้องการสวัสดิการถ้วนหน้า อีกครึ่งหนึ่งต้องการให้ช่วยเฉพาะ คนจน ในสวัสดิการสองประเภทคือ การให้เงินช่วยเหลือเด็ก และการเรียนฟรีระดับมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ มีบริบทคือ ขณะทำสำรวจนี้ ราคายางในภาคใต้ กิโลกรัมละ 100 บาท เมื่อถามถึงสวัสดิการ 500 บาท เขาจึงมองว่าควรใช้ช่วยเหลือคนจนก่อน

ขณะที่การสำรวจวิธีที่สอง คือ การทำประชาเสวนาปี 2552-53 จำนวน 14 จังหวัด จากผู้เข้าร่วม 692 คน โดยความร่วมมือของ สสส. สช. และสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ส่วนใหญ่เห็นว่าการให้สวัสดิการสังคมตั้งแต่เกิดจนตายควรเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้าเช่นกัน โดยให้ความสำคัญกับสวัสดิการด้านการศึกษา (เรียนฟรีอนุบาล-มหาวิทยาลัย) เป็นอันดับแรก ตามด้วยสวัสดิการด้านการรักษา พยาบาล (รักษาฟรี-มีคุณภาพ) และสวัสดิการด้านอาชีพ (จัดฝึกอาชีพ-หางานให้คนจบใหม่ คนว่างงาน คนต้องการเปลี่ยนงาน) ตามลำดับ ด้านการดำเนินการจัดสวัสดิการ ส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐบาลกลางเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากเชื่อว่าจะมีมาตรฐานระดับเดียวกันทั้งประเทศ และยังไม่ค่อยไว้ใจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

วรวรรณ ระบุว่า สำหรับค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคมในปี 2552 ที่ไปถึงมือประชาชนเป็นจำนวน 3 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ไปกับเรื่องสุขภาพและผู้สูงอายุ ซึ่งหลักๆ เป็นเรื่องเบี้ยยังชีพ โดยแบ่งเป็นค่ารักษาพยาบาล บำเหน็จบำนาญข้าราชการและสมบทเข้า กบข.ร้อยละ 53 ค่ารักษาพยาบาลและเบี้ยยังชีพร้อยละ 36 และค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยให้กับลูกจ้างเอกชน ร้อยละ 11 โดยในอนาคต หากสามารถจัดสรรสัดส่วนให้กระจายได้กว่านี้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี

 

ชี้ระบบประกันสุขภาพไม่เสมอภาค

นอกจากนี้ วรวรรณกล่าวถึงระบบสวัสดิการสังคมของไทย 3 ระบบได้แก่ ระบบของข้าราชการ ลูกจ้าง และอาชีพอื่นๆ ว่ายังมีฐานที่ไม่สอดคล้องกัน โดยไม่มีใครกำกับความเสมอภาคของสวัสดิการทั้งสามระบบ และยกตัวอย่างความล้มเหลวในการเป็นผู้กำกับของกระทรวงสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพว่า กระทรวงสาธารณสุขที่ควรเป็นผู้กำกับกลไกสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน กลับเป็นเจ้าของสถานพยาบาล ซึ่งเป็นคู่ค้ากับ สปสช. สปส. และกรมบัญชีกลางเสียเอง ทำให้หน้าที่กำกับดูแลนั้นเบลอไป กลายเป็นเจรจาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสถานพยาบาล

ด้านหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ วรวรรณวิจารณ์ว่า การสนับสนุนจากรัฐสำหรับผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มนั้นขาดความโปร่งใสและความน่าไว้วางใจ โดยอ้างถึงการแก้มาตรา 46 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม ในปี 2542 ที่ปรับลดให้รัฐจ่ายสมทบกรณีสงเคราะห์ บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน น้อยกว่านายจ้างและลูกจ้าง จากเดิมที่สมทบฝ่ายละเท่าๆ กัน โดยชี้ว่า นอกจากรัฐจะจ่ายสมทบน้อยกว่าแล้ว ยังเป็นการแก้ลดสิทธิผู้ประกันตน ที่ไม่ชี้แจงเหตุผลที่ชัดเจน ทั้งนี้ แม้จะอ้างวิกฤตเศรษฐกิจ แต่พบว่า ในปีเดียวกัน มีการจ่ายสมทบเข้า กบข.ประมาณ 10,000 ล้านบาทด้วย

นักวิชาการทีดีอาร์ไอกล่าวต่อถึงประเด็นความไม่เป็นธรรมของรัฐ โดยยกกรณีร่าง พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งไม่ยอมให้ผู้ประกันตนเข้าร่วมการ ออมในกองทุนนี้ เพราะรัฐต้องสมทบด้วยว่า รัฐมองข้ามไปว่า ร้อยละ 77 ของลูกจ้างในระบบประกันสังคม มีค่าจ้างน้อยกว่า 10,000 บาท และเปลี่ยนงานอยู่เสมอ การตัดสิทธิออมเงินใน กอช. จะเพิ่มความเสี่ยงให้คนที่มีรายได้ต่ำเหล่านี้ เพราะหากเขาเกษียณอายุ อาจถูกตัดสิทธิบำนาญประกันสังคม เพราะการสมทบไม่คงที่ และจะไม่มีเงินออมใน กอช. อีก

นอกจากนี้ การสมทบของรัฐตามที่ระบุในร่าง พ.ร.บ.การออมแห่งชาติ จะทำให้การกระจายรายได้แย่ลงด้วย โดยเมื่อลองแบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่มตามรายได้ และสมทบแบบที่ระบุไว้ในร่าง คือ "ยิ่งออมมาก รัฐยิ่งสมทบมาก" จะพบว่า ช่องว่างระหว่างกลุ่มรวยสุดกับกลุ่มจนสุดห่างกันถึง 6.47 ต่อ 1 ขณะที่หากรัฐสมทบในสัดส่วนเท่ากันทั้งหมด ช่องว่างของรายได้จะอยู่ที่ 2.33 ต่อ 1

วรวรรณ สรุปว่าประเทศไทยยังขาดกลไกสำคัญที่จะให้หลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุเป็นระบบที่มีความเป็นธรรม และดูแลเรื่องบำนาญพื้นฐานว่าควรเป็นอย่างไร บำนาญของประชาชนกลุ่มต่างๆ ควรปรับตามอัตราเงินเฟ้อหรือไม่ อายุเกษียณสำหรับคนไทยควรเป็นเท่าใด กติกาการย้ายกองทุนควรเป็นอย่างไร จะติดตามความมั่นคงของกองทุนต่างๆ อย่างไร การบริหารจัดการบางอย่างร่วมกันของแต่ละกองทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบจะทำได้หรือไม่ และกองทุนต่างๆ จะต่อรองกับรัฐบาลเพื่ออกพันธบัตรผลตอบแทนสูงแก่ประชาชนได้หรือไม่

"สวัสดิการสังคมของไทยกำลังพัฒนาไปตามแบบไทยๆ" เธอกล่าวและว่า ค่าใช้จ่ายในอนาคตจะสูงมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับทางเลือกของสวัสดิการที่ต้องการ ทั้งนี้ ปัญหาจะไม่ได้อยู่ที่ค่าใช้จ่าย แต่จะเป็นปัญหาของการจัดการระบบให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม และเป็นระบบที่ประชาชนไว้ใจ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: เอฟทีเอไทย-อียู โอกาสหรือความเสี่ยง

Posted: 29 Nov 2010 04:58 AM PST

 
งวดเข้ามาทุกทีกับประเด็นการทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป หรือ อียู ซึ่งเป็นคู่ค้าและผู้ลงทุนรายสำคัญในประเทศไทย
 
ไม่กดดันก็เหมือนกดดัน เพราะอียูยักษ์ใหญ่เริ่มปรับตัวอย่างสำคัญ ดังที่ นายเดวิด ลิปแมน เอกอัครราชทูต หัวหน้าสำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อกลางเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาว่า ตามแผน 5 ปี (2553-2558) อียูจะเน้นการทำเอฟทีเอกับประเทศต่าง ๆ ควบคู่กับการผลักดันการเจรจาการค้าแบบพหุภาคีในเวทีองค์การการค้าโลก หรือ ดับบลิวทีโอ และจะเน้นเจรจาการค้ากับประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างกว้างขวาง โดยได้เริ่มเจรจากับสิงคโปร์ไปแล้ว จะเจรจารอบสุดท้ายกับอินเดียสิ้นเดือนหน้า ก่อนที่จะเริ่มเจรจากับมาเลเซียในเดือนนี้ และวางแผนจะเจรจากับเวียดนามในอนาคตอันใกล้ รวมไปถึงจะลดเงื่อนไขสำหรับประเทศด้อยพัฒนากว่าและเป็นคู่แข่งกับไทยในบางอุตสาหกรรม เช่น กัมพูชาและลาวทำให้ส่งออกเข้าตลาดอียูได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น
 
สำหรับไทย จักรชัย โฉมทองดี จากโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส)กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติตั้งแต่ต้นปี ให้กระทรวงพาณิชย์ตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นเรื่องการทำเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนส่วนต่างๆ รวมถึงภาคประชาสังคมที่ได้เข้าร่วมกระบวนการ"ทางการ" ของรัฐเป็นครั้งแรก คณะกรรมการดังกล่าวจัดรับฟังความคิดเห็น 20 ครั้งทั่วประเทศ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคส่วนต่างๆ
 
จนรายงานสรุปการรับฟังความเห็นเสร็จสมบูรณ์เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เมื่อส่งให้ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์จากค่ายภูมิใจไทยแล้ว เรื่องก็เงียบหายดองเค็มจนปัจจุบัน ขณะที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์จากค่ายประชาธิปัตย์ กลับดำเนินการรับฟังความคิดเห็นใหม่โดยไม่ผ่านคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้น และนำข้อสรุปพร้อมทั้ง "กรอบการเจรจา" เตรียมส่งกลับครม. ในคราวเดียวกัน ทั้งที่กรอบการเจรจานั้นควรสังเคราะห์จากผลการรับฟังความคิดเห็น
 
ผลสรุปที่ได้จากการระดมความคิดเห็นของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นชุดใหญ่ชุดแรก ที่สำคัญ คือ มีสินค้าพิเศษที่ต้องพิจารณาต่างหากไม่รวมอยู่ในรายการสินค้าปกติในข้อตกลง ได้แก่ สุรา ยาสูบ และยารักษาโรค
(รายละเอียดการสรุปการรับฟังความคิดเห็นดูในไฟล์แนบ)
 
ในงานสัมมนาสาธารณะ “ความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป: โอกาสหรือความเสี่ยงสำหรับไทยและอาเซียน” มีนักวิชาการและภาคประชาสังคมจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก โดยนำเสนอความวิตกกังวลในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ความหลากหลายทางชีวภาพ ภาคการเงิน ภาคบริการ ไม่แตกต่างกับเอฟทีเอฉบับสหรัฐอเมริกา และอาจร้ายยิ่งกว่าเพราะท่าทีที่อ่อนโยนกว่าของสหภาพยุโรป
 
สำหรับกรณีของไทยนั้น ประเด็นเกี่ยวกับการลดภาษีสุราเป็นประเด็นสำคัญ เพราะยุโรปส่งออกสุรามายังประเทศไทยติดอันดับต้นโดยไทยมีกำแพงภาษีค่อนข้างสูง การลดภาษีผ่านเอฟทีเอจึงทำให้เครือข่ายงดเหล้าและองค์กรที่ทำงานด้านนี้ผนึกกำลังค้านกันเสียงแข็ง เนื่องจากนอกเหนือจาแนวโน้มการนำเข้าเหล้านอกจะมากขึ้นแล้ว เอฟทีเอยังมีผลให้รัฐไม่สามารถผลิตนโยบายใดๆ เกี่ยวกับการงด ลด เลิก เหล้าออกมาได้อีก เนื่องจากอาจจัดให้เป็นการกีดกันทางการค้า
 
ขณะที่เรื่องยารักษาโรคนั้น เกี่ยวพันกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งในเอฟทีเอของชาติมหาอำนาจมักสร้างเงื่อนไขให้คู่เจรจาต้องปฏิบัติตามเรื่องนี้เกินกว่ามาตรฐานทั่วไปขององค์การการค้าโลก ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาพัฒนาการวิจัยยาได้ยากลำบาก ยามีราคาแพงเพราะการผูกขาดที่แน่นหนามากขึ้น และไม่สามารถใช้มาตรการจำเป็นอื่นๆ ที่เป็นข้อยืดหยุ่นได้ อีกทั้งยังบังคับให้คู่เจรจาต้องเป็นภาคีในสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต สิทธิบัตรการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งภาคประชาสังคมไม่เห็นด้วยเนื่องจากกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย และจะเปิดช่องให้ทุนหรือประเทศขนาดใหญ่สามารถเป็นเจ้าของพันธุกรรมต่างๆ ในประเทศไทยได้
AttachmentSize
รายงานผลการรับฟังความคิดเห็น เสนอรมต.-16-09-53.pdf105.06 KB
ตารางสรุปเนื้อหาในประเด็นต่างๆ.pdf160.94 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

กฟผ.เตรียมทุ่มทุน 7 หมื่นล้าน ผุดโรงไฟฟ้าใหม่ตุนสำรองไฟ

Posted: 29 Nov 2010 04:28 AM PST

29 พ.ย. 53 - เว็บไซต์แนวหน้ารายงานว่านายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้เตรียม 3 แนวทางระยะสั้นเพื่อรองรับปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าต่ำที่จะเกิดขึ้นช่วงปี 2557 ให้เพิ่มขึ้นจาก 9% เป็น 15% หลังโรงไฟฟ้าเอกชนอย่างน้อย 2 แห่งต้องเลื่อนเข้าระบบ โดยจะเร่งลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ให้เร็วขึ้นจากแผนเดิม ใช้งบลงทุนกว่า 70,000 ล้านบาท โดยทั้ง 3 แนวทาง ประกอบด้วย

1.เร่งรัดโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าวังน้อย หน่วยที่ 4 โรงไฟฟ้าจะนะ หน่วยที่ 2 ของ กฟผ. ให้เสร็จเร็วขึ้นจากเดิม 3 เดือน เพื่อให้ทันกับช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2557

2.เร่งพัฒนาโรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 2 เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่เอื้อต่อการตั้งโรงไฟฟ้า ทั้งด้านเชื้อเพลิง ที่ดิน และโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ต้องลงทุนระบบสายส่งเพิ่มเติม และ3.ปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้ารองรับโครงการโรงไฟฟ้าผู้ผลิตขนาดเล็ก และพลังงานหมุนเวียน เพราะมีแผนขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กด้วยระบบผลิตไฟฟ้า ความร้อนร่วมกัน(เอสพีพี โคเจนเนอเรชั่น) เพิ่มอีก 1,500 เมกะวัตต์ จากเดิมจะรับซื้อ 2,000 เมกะวัตต์

สำหรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) ขณะนี้ กฟผ.มีภาระสะสมจากการตรึงค่าเอฟที 2,000 ล้านบาท รวมกับมาตรการชดเชยผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 750 ล้านบาท รวมเป็นภาระดูแลค่าไฟฟ้าเกือบ 3,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงต้นปีที่อยู่ในระดับ 20,000 ล้านบาท เพราะครึ่งหลังของปีนี้ราคาน้ำมันไม่สูงมาก และเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ให้ต้นทุนเชื้อเพลิงไม่เพิ่มขึ้น ดังนั้นค่าเอฟทีแต่ละงวดจึงไม่ปรับเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันบางช่วงปรับลดลงได้ แต่รัฐบาลมีนโยบายตรึงค่าเอฟทีจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 จึงหักลบภาระลดลงไป โดยประเมินว่าถ้ายังคงมาตรการตรึงค่าไฟฟ้าต่อไปจะช่วยให้ภาระค่าเอฟทีสะสม ที่มีอยู่หมดลงได้ช่วงต้นปี 2554

ที่มาข่าว:

กฟผ.เตรียมทุ่มทุน 7 หมื่นล้าน ผุดโรงไฟฟ้าใหม่ตุนสำรองไฟ (แนวหน้า, 29-11-2553)
http://www.naewna.com/news.asp?ID=238477

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวไทใหญ่ในไทยเตรียมจัดงานฉลองรับปีใหม่คึกคัก

Posted: 29 Nov 2010 03:50 AM PST

ปีใหม่ชาวไต (ไทใหญ่) ศักราชที่ 2105 จะก้าวเข้ามาถึงในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ ตามปฏิทินจันทรคติขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 หรือเดือนยี่ของทุกปี โดยชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยกำลังเตรียมจัดงานฉลองต้อนรับกันอย่างคึกคักในหลายพื้นที่

 
 
เริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ พี่น้องไทใหญ่หลายสาขาอาชีพนำโดยชมรมการศึกษาและศิลปวัฒนธรรมไทใหญ่ (เชียงใหม่) กำหนดจัดงานประเพณีต้อนรับปีใหม่ไตขึ้นที่วัดกู่เต้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 6 – 8 ธ.ค. 53 ในปีนี้เป็นปีที่ 7 ที่ชมรมการศึกษาและศิลปวัฒนธรรมฯ ได้จัดงานต้อนรับปีใหม่ไตที่วัดกู่เต้าต่อเนื่องกันมา 
 
งานนี้ทางคณะกรรมการได้เรียนเชิญนายทัศนัย บูรณูปกรณ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่เป็นประธานเปิดงานในเวลา 19.00 น. ของวันที่ 6ธ.ค. จากนั้นในเวลา 24.00 น. จะมีพิธีฉลองต้อนรับปีใหม่ โดยภายในงานตลอดทั้งสามคืนจะมีการแสดงคอนเสิร์ตของนักร้องดังจากรัฐฉานหลาย คน อาทิ นางนาง, นางหนุ่มมาว, นางหลาวหลาว, จายกาบแสง, จายหย่านยะ, จายก๋อนเคือแลง เป็นต้น นอกจากนี้ภายในงานจะการจัดแสดงนิทรรศการภาพประวัติศาสตร์ของไทใหญ่ และในช่วงกลางวันจะมีการแข่งขันกีฬาพื้นที่ต่างๆ 
 
ถัดมาคือที่บ้านหลักแต่ง ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ พี่น้องชาวไทใหญ่หลายหมู่บ้าน ร่วมกับคณะพระสงฆ์และองค์การบริหารส่วนตำบลเปียงหลวง มีกำหนดจัดงานต้อนรับปีใหม่ไตขึ้นที่ลานหน้าพระเจ้าหมายเมือง ของวัดฟ้าเวียงอินทร์ บนสันเขาชายแดนไทย – พม่า (รัฐฉาน) ในวันที่5 – 7 ธ.ค. 53 ภายใต้ชื่อ "ปอยยกย่องเจ้าครูหมอ และ ปีใหม่ไต" ภายในงานมีการแสดงซุ้มเชิดชูเกียรติเจ้าครูหมอ รวมถึงการร้องเพลงเก่าและสมัยใหม่ การละเล่นพื้นบ้านแบบไทใหญ่ ในช่วงค่ำของวันที่ 5 ธ.ค. จะมีพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพร โดยมีท่านนายอำเภอเวียงแหงเป็นประธานในพิธี 
 
อีกแห่งหนึ่งคือที่ สถานปฏิบัติธรรม (วัดใหม่) ถ.สาธุประดิษฐ์ เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ทางมูลนิธิพระธรรมแสง ร่วมกับพี่น้องไทใหญ่หลายสาขาอาชีพในกรุงเทพฯ จะร่วมกันจัดงานเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และงานประเพณีต้อนรับปีใหม่ไต 2105 ในวันที่ 5 ธ.ค. 53 โดยกิจกรรมในวันงานจะมีการจัดประกวดร้องเพลงไตสมัยใหม่ (ป๋านใหม่), ประกวดเล่นกีตาร์โปร่ง, กลอง, เบส ประกวดฟ้อนสมัยใหม่ การฟ้อนนก โต และประเพณีการร้องเพลงสมัยเก่า (ป๋านเก่า) ในเวลา 19.00 น. มีพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพร จากนั้นช่วงเที่ยงคืนจะมีพิธีส่งท้ายปีเก่า 2104 ต้อนรับปีใหม่ 2105
 
นอกจากนี้ ที่บ้านเทอดไทย (บ้านหินแตก) อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ก็มีกำหนดจัดงานประเพณีต้อนรับปีใหม่ไตเช่นเดียวกัน โดยชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงรายร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไท มีกำหนดจัดงาน "ปีใหม่ไตเทิดไท้มหาราชา" ขึ้นในวันที่ 5 – 7 ธ.ค. 53 ที่สนามกลางบ้านเทอดไท ซึ่งทางคณะผู้ดำเนินงานได้เรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายไปเป็นประธานเปิดงาน ในค่ำคืนของวันที่ 5 ธ.ค. มีกิจกรรมจุดเทียนถวายพระพรแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในงานมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวไทใหญ่มากมาย อาทิ การร้องเพลง การประกวดชุดเสื้อผ้าไทใหญ่ รวมถึงการละเล่นต่างๆ 
 
ผู้สนใจร่วมงานสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ดังนี้... 
งานปีใหม่ไตวัดกู่เต้า เมืองเชียงใหม่ 083-7669703
งานปีใหม่ไตบ้านหลักแต่ อ.เวียงแหง เชียงใหม่ 087-1764170
งานปีใหม่ไตวัดใหม่ ยานนาวา กรุงเทพฯ 081-8081743, 081-3982756
งานปีใหม่ไตบ้านเทอดไท อ.แม่ฟ้าหลวง เชียงราย 086-1923874
 
 
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/
________________________________________
"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 พ.ย. 2553

Posted: 29 Nov 2010 03:27 AM PST

เตรียมประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาวิธีคุมกำเนิดแรงงานต่างด้าว

22 พ.ย. 53 - นายสุธรรม นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เสนอแนวคิดในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวโดยให้มีการคุมกำเนิดแรงงานเพื่อ ควบคุมเด็กต่างชาติที่เกิดในประเทศไทยว่า ปัญหาการคลอดลูกของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยนั้นเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลเรื่องทะเบียนราษฎร์ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องภาพรวมของรัฐบาล แต่นายเฉลิมชัยเห็นว่าหากปล่อยปัญหานี้ไว้ จะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเด็กเหล่านี้อาจการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ เนื่องจากอยู่อย่างผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงควรรีบช่วยกันแก้ไข

นายสุธรรม กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงได้มีการหารือกันเพื่อร่วมกันหาทางออก โดยเฉพาะการจัดทำทะเบียน และการตรวจสุขภาพ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบเลยว่ามีเด็กๆ ที่เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติอยู่ในสังคมไทยเท่าไร และจะกลายเป็นปัญหาระยะยาว ทั้งนี้ อาจศึกษาระเบียบและวิธีการที่หลายประเทศนำมาใช้ เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ โดยพิจารณาว่าวิธีการไหนที่จะเหมาะสมกับสังคมไทยมากที่สุด ซึ่งนายเฉลิมชัยเองก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อหามาตรฐานที่เทียบเคียงกับสากลให้มากที่สุด

ขณะที่นายแสงเมือง มังกร กรรมการเลขานุการมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการคุมกำเนิดหรือส่งแรงงานต่างด้าวที่ท้องกลับ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของแรงงาน เนื่องจากการจะออกนโยบายใดๆ ก็แล้วแต่ ควรคำนึงถึงสิทธิในการมีครอบครัว หรือมีบุตรเช่นเดียวกับคนทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็สนับสนุนมาตลอดทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล หรือสิทธิในการศึกษา อีกทั้งจำนวนของเด็กที่เกิดใหม่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้

นโยบายของรัฐด้านการวางแผนครอบครัว เองก็มีอยู่แล้ว และยังมีความร่วมมือระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนและกระทรวงสาธารณสุขในการลง พื้นที่ชุมชน เพื่อให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดในรูปแบบต่าง ๆ ในพื้นที่ที่ผมทำงานอยู่ แรงงานก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี วิธีแก้ปัญหาจึงน่าจะอยู่ที่การสนับสนุนงบประมาณและความร่วมมือของหน่วยงาน ต่าง ๆ ในการเข้าถึงชุมชนแรงงานต่างด้าวมากกว่านายแสงเมืองกล่าว

(สำนักข่าวไทย, 22-11-2553)

จัดหางาน จ.บุรีรัมย์ ผวานายหน้าเถื่อนต้มแรงงาน

23 พ.ย. 53 - นายสุวรรณ์ ดวงตา จัดหางาน จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า  ขณะนี้มีแก๊งมิจฉาชีพและแก๊งนายหน้าเถื่อนหลอกลวงคนงานไปขายแรงงานทั้งใน และต่างประเทศ  อ้างว่าสามารถฝากเข้าทำงานในตำแหน่งต่างๆ ได้ ซึ่งจากการสำรวจสถิตินักศึกษาที่จบใหม่ๆ และแรงงานจากภาคเกษตรว่างงานมีกว่า  21,000  ราย  และคาดว่าจะสูงขึ้นอีกจากปัญหาน้ำท่วม  จึงขอให้ผู้ที่ต้องการหางานเข้าติดต่อลงทะเบียนที่ศูนย์ทะเบียนจังหวัดที่ สำนักจัดหางานได้ เพื่อป้องกันการถูกหลอก เนื่องจากในปี  2553 จ.บุรีรัมย์มีแรงงานที่ถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศจากสายนายหน้าเถื่อนกว่า  105 ราย สูญเงินไปกว่า  6  ล้านบาท  มีผู้เข้าแจ้งความ 67 เรื่อง

(ไทยโพสต์, 23-11-2553)

คนงานกู๊ดเยียร์รวมพลบุกแรงงานจังหวัดให้ไกล่เกลี่ยหาข้อยุติ

22 พ.ย. 53 - เวลาประมาณ 09.00 น. ทางกลุ่มสหภาพแรงงานคนทำยางแห่งประเทศไทย นำโดย นายอรรคพล  ทองดีเลิศ ประธานสหภาพแรงงานฯ ได้เคลื่อนขบวนจากหน้าบริษัท กู๊ดเยียร์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตั้งอยู่เลขที่ 50/9 หมู่ 3 ถ.พหลโยธิน กม. 36 ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานีไป กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี นำขบวนโดยรถจักรยานยนต์จำนวน 20 กว่าคัน รถกระบะและกลุ่มเพื่อนอ๊อฟโรด จำนวน 20 กว่าคัน พร้อมทั้งสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ประมาณ 200คน เพื่อไปให้กำลังกับตัวแทนเจรจา

ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. นายสมภพ  ปราณีแก้ว  เจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาท จากกระทรวงแรงงาน ได้มาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่าง ตัวแทนเจรจาฝ่ายนายจ้างนำโดย นายดนุพงศ์  นงภา   ผู้จัดการแรงงานสัมพันธ์ บริษัท กู๊ดเยียร์ กับ นายอรรคพล ทองดีเลิศ ประธานสหภาพแรงงานฯ ผลการเจรจา ข้อเรียกร้องทั้ง 15 ข้อ (ข้อเรียกร้องอ่านได้ที่ http://voicelabour.org/?p=1245) ยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ครั้งนี้บรรยากาศในห้องประชุมในการเจรจาเป็นไปด้วยดี ทางตัวแทนบริษัทฯและทางสหภาพแรงงานฯ มีความประสงค์จะขอเจรจาต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งกำหนดเจรจาต่อครั้งต่อไป วันที่ 24พฤศจิกายน 2553 เวลา 10.00 น. ณ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี

(นักสื่อสารแรงงาน, 23-11-2553)

คนงานมิตซูลิฟท์เดินรณรงค์หาข้อยุติทางการเจรจาร่วม

22 พ.ย. 53 - เวลา 17.00 น.สหภาพ แรงงานมิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์ เอเชีย (สร.มิตซู ลิฟท์) เป็นบริษัทผู้ผลิตบันไดเลื่อนและลิฟท์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร ต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.ชลบุรี เกาะกลุ่มรวมตัว หลังเลิกงาน แสดงได้ร่วมกันรณรงค์เพื่อต่อต้าน ผลการเจรจาที่ไม่เป็นธรรม จนกระทั้งเวลา 17.45 น. สมาชิกกว่า 600 คน เดินขบวนไปตามท้องถนนในนิคมฯอมตะนคร มุ่งหน้าสู่ถนนบางนา-ตราด ระยะทางกว่า 5กิโลเมตร ริ้วขบวนยาวกว่า 100เมตร มีทั้งเดินเท้าและขบวนรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ กว่า 150 คัน ส่งผลให้การจราจรขาออกของนิคมฯไม่สามารถใช้การได้ มากกว่า 1 ชั่วโมง ตลอดระยะทางการเคลื่อนขบวน

พนักงานหญิงฝ่ายผลิตคนหนึ่ง กล่าวว่า  การร่วมเดินขบวนเรียกร้องในครั้งนี้ มาด้วยความหวัง อยากให้ผู้บริหารบริษัทฯได้รับรู้ว่า พวกเราเดือดร้อนจริงๆ เราเข้าใจและติดตามการเจรจามาโดยตลอด ผู้บริหารบอกว่า ผลประกอบการในปีนี้ไม่ดี แต่เราอยู่ฝ่ายผลิต เรารู้ว่า ยอดผลผลิตยอดขายสูงขึ้นมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะขาดทุน อยากให้นายจ้างตอบแทนบ้าง หลังจากที่พวกเราเหน็ดเหนื่อยกันมาตลอดทั้งปี

การเคลื่อนพลเป็นไปด้วยความคึกคัก มีเสียงกระตุ้นจากแกนนำ ผ่านรถเครื่องขยายเสียงและเสียงตอบรับจากผู้ชุมนุมตลอดเวลา ทำให้การเดินขบวนครั้งนี้ มีแต่รอยยิ้ม แม้จะมีเหงื่อไคลไหลเต็มใบหน้าผู้ชุมนุมก็ตาม

นายวันชัย จันทร์เรือง กรรมการบริหารสหภาพฯ  กล่าวว่า  “เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ5 ปีการจัดตั้งสหภาพแรงงานฯ ทำให้พวกเรานึกถึงการต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ ที่ผ่านมาในครั้งนั้น ไม่คิดว่า เหตุการณ์อย่างวันนั้น จะเกิดขึ้นอีกในวันนี้ แสดงให้เห็นได้ว่า ที่สหภาพแรงงานฯต่อสู้ เพื่อเรียกหาความกินดีอยู่ดี ยังไม่บรรลุตามความปรารถนา

นายวันชัย กล่าวต่อว่า   บริษัทฯก่อตั้งมา 18 ปี พนักงานมีอายุงานฉลี่ย 5-6 ปี ฐานเงินเดือนเฉลี่ย 7,600 บาทต่อเดือน ปัญหาหลักของพนักงาน คือ การที่รายรับไม่เพียงพอต่อรายจ่ายจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตอุตสาหกรรม อย่างจังหวัดชลบุรี สหภาพแรงงานฯจึงร่วมกันผลักดันจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้นเพื่อช่วยลดราย จ่ายของพนักงานที่ไม่สมดุลกัน แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยได้เท่าที่คาดหวัง ทั้งที่พวกเราต้องทำงานล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 50 ชั่วโมงต่อเดือน ในวันนี้ผู้บริหาร บอกว่า ผลประกอบการไม่ดี ทั้งทีมีการขยายโรงงานเพิ่ม สร้างสายการผลิตใหม่ และเพิ่มการทำงานล่วงเวลาให้เป็น 60 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งสวนทางกับที่บริษัทฯชี้แจงว่าผลประกอบการไม่ดี เมื่อตรวจสอบ จึงรู้ว่าไม่เป็นความจริง ทำให้พนักงานขาดความเชื่อมั่นในคำพูดของฝ่ายบริหาร ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญในการหาข้อยุติ ทั้งนี้ในนาทีนี้ พวกเราขอเพียงแค่รายรับ-รายจ่ายต่อเดือน ไม่ติดลบก็เพียงพอแล้ว   นายวันชัย กล่าวทิ้งท้าย

เวลา 19.00 น. ขบวนแรงงานถึงลานเอนกประสงค์หน้านิคมฯที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ชุมนุม เพียงไม่กี่นาที พื้นที่มากกว่า 10ไร่ แน่นขนัดไปด้วยผู้ชุมนุม และผู้สังเกตการณ์ โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงาน จังหวัดชลบุรี ร่วมด้วย กิจกรรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีเสียงปราศัย แถลงการณ์จากผู้แทนลูกจ้าง ชี้แจงผลการเจรจา สลับกับการกล่าวทักทายให้กำลังใจจากพันธมิตรแรงงานที่ร่วมสังเกตการณ์การ ชุมนุม พร้อมทั้งมีเสียงโห่ร้องแสดงความผิดหวังเป็นช่วงๆ เมื่อทราบผลการเจรจาจากสิ่งที่ได้รับจากนายจ้างตลอดเวลา ประเด็นขัดแย้งหลัก เป็นเรื่องโบนัสที่ บริษัทฯเสนอเพียง 4.7 เดือน บวกพิเศษ 5,000 บาท ขณะที่สหภาพแรงงานฯต้องการ 5.5เดือน บวกพิเศษ 10,000บาทต่อคน จากยอดการผลิตบันไดเลื่อนและลิฟท์ที่เพิ่มขึ้น ถึง 9,700 ยูนิท

ทั้งนี้ บริษัทมิตซูบิชิ เอลเลเวเตอร์ เอเชีย จำกัดตั้งอยู่เลขที่ 700/86  นิคมฯ อมตะนคร หมู่ 6 ต.ดอนหัวฬ่อ อ.เมือง จ.ชลบุรี 20000ประเภทอุตสาหกรรมลิฟท์ บันไดเลื่อน และสินค้าที่เกี่ยวข้อง อุปกรณ์ในการประกอบลิฟท์และบันไดเลื่อนจัดตั้งมาด้วยเงินลงทุนเพียง 811 ล้านบาท เมื่อ 18ปีที่แล้ว มาปีนี้บริษัทฯมีทรัพย์สินรวมมากถึง 3,257ล้านบาท

(นักสื่อสารแรงงาน, 22-11-2553)

ปรับสูตรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใหม่บวกภาษีสังคม

วันนี้ 23 พ.ย. 53 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงแรงงาน นายสุนันท์ โพธิ์ทอง ประธานอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้าง เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯมีมติเห็นชอบในหลักการคำนวณอัตราค่าแรง ขั้นต่ำที่สะท้อนคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน โดยเพิ่มปัจจัยเรื่องค่าสันทนาการ เช่น ค่าทำบุญงานบวช งานศพ ค่าเช่าบ้านฯลฯ บวกเข้าไปกับอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่แต่ละจังหวัดเสนอเข้ามา ซึ่งจะทำให้แรงงานมีรายได้เพียงพอในการใช้จ่ายทำกิจกรรมสังคมอื่นๆจาก ปัจจุบันที่ได้รับค่าจ้างตามอัตภาพซึ่งเพียงพอสำหรับการดำรงชีพอย่างเดียว ส่วนค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตที่จะบวกเพิ่มขึ้นมานั้น ขณะนี้อนุกรรมการกำลังอยู่ระหว่างคำนวณหาค่ากลางและคาดว่าจะเสร็จภายใน สัปดาห์นี้ โดยมีหลักการคือแบ่งเขตการคำนวณออกเป็น 4 ภูมิภาคคือภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้และภาคกลาง โดยนำค่าจ้างเชิงคุณภาพชีวิตในแต่ละภาคมาตัดอัตราที่สูงที่สุดและต่ำที่สุด ออกไป จากนั้นนำตัวเลขอื่นๆมาเฉลี่ยหาค่ากลางแล้วหารด้วย 5

เหตุที่ต้องหารด้วย 5 เพราะเป็นตัวเลขเป้าหมายที่ต้องการปรับให้ทันกับค่าครองชีพที่แท้จริงภายใน 5 ปี หากปรับขึ้นครั้งเดียวจะส่งผลกับผู้ประกอบการและภาพรวมเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงต้องปรับเพิ่มในลักษณะขั้นบันไดแทนนายสุนันท์ กล่าว และว่า เมื่อได้ค่าเฉลี่ยสุดท้ายแล้วจึงจะนำมาบวกกับตัวเลขที่คณะอนุกรรมการค่าจ้าง แต่ละจังหวัดเสนอเข้ามา แล้วนำเสนอเข้าที่ประชุมค่าจ้างกลางชุดใหม่ซึ่งจะเสนอรายชื่อให้ครม.แต่ง ตั้งใน 2 สัปดาห์นี้ โดยกระบวนการทั้งหมดเชื่อว่าจะเสร็จก่อนสิ้นเดือน ธ.ค.อย่างแน่นอน

(เดลินิวส์, 23-11-2553)

สหภาพแรงงานมิชลินฯ สุดเซ็งนายจ้างยื้อต่อ:จ่ายค่าจ้างวันหยุด

เมื่อวันที่ 23 พย 53 เวลา 9.00 น. ณ ศาลแรงงาน 2 จังหวัดชลบุรี แกนนำสร.มิชลินฯ 17 คน มีความหวังกับคำสั่งของเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน ที่มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุด หลังจากที่เจ้าพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้บริษัทฯดังกล่าวจ่ายค่าทำงานใน วันหยุดแก่แกนนำ แต่บริษัทฯก็ใช้สิทธิอุทรณ์คำสั่งต่อศาลแรงงาน 2  จังหวัดชลบุรี และวันนี้ (23.. 53) เจ้าหน้าที่ไกล่เกลี่ยก็ได้ทำหน้าที่เพื่อหาข้อยุติ โดยฝ่ายบริษัทยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ คือให้สามารถสะสมวันหยุดได้เหมือนกับพนักงานทั่วๆไปดังเช่นที่ปฎิบัติกัน ส่วนฝ่ายแกนนำเองก็ได้ให้เหตุผลว่า ขอยืนตามคำสั่งเจ้าพนักงานตรวจแรงงาน การไกล่เกลี่ยไม่เป็นผลสำเร็จ โดยศาลนัดพิจารณาอีกทีในวันที่ 28 ธค 53

นายสมหมาย ประไว หนึ่งในผู้เสียหายคดีนี้ กล่าวว่า  จริงๆแล้วสำหรับวันนี้ทุกคนตั้งความหวังว่าบริษัทจะปฏิบัติตามคำสั่งเจ้า พนักงานตรวจ แต่เมื่อเรามาถึงปรากฎว่าเป็นการไกล่เกลี่ย ซึ่งประเด็นที่สรุปก็เป็นเรื่องเก่าที่เราเคยขอแล้ว ตั้งแต่หัวหน้างาน หรือผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งขอต่อหน้าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เมื่อสมัยที่เราเคยขอความช่วยเหลือ ว่าพวกเราก็เป็นพนักงานเหมือนกับคนอื่นๆทำไมไม่ให้เราสะสมวันพักร้อนได้ เหมือนเขา บริษัทเองที่ให้เราอยู่นอกโรงงานไม่ให้เข้าทำงานเราจึงไม่ได้ใช้สิทธิลาพัก ร้อนและหักพักร้อนเราหมดเลย พอถึงวันนี้วันที่เจ้าพนักงานมีคำสั่งว่าให้บริษัทฯจ่ายค่าเสียหายให้เรา ซึ่งทุกคนรวมกันแล้วเกือบสองแสน บริษัทกลับขอประนอมเป็น ให้สะสมวันพักร้อนได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เราเคยขอร้องเมื่อในอดีต มาถึงวันนี้พวกเราเลยขอยืนยันตามคำสั่งเจ้าพนักงานตรวจฯ พวกเราก็อยากจะรู้ความจริงเหมือนกันว่าศาลท่านจะตัดสินเช่นไร

(นักสื่อสารแรงงานศูนย์แรงงานภาคตะวันออก, 23-11-2553)

ภาคแรงงานยื่นร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม

24 พ.ย.53 - คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และกลุ่มเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เข้ายื่นร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ พ.ศ.(ฉบับบูรณาการแรงงาน) พร้อมนำรายชื่อผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกันตน จำนวน 14,500 รายชื่อ ต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยสาระของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีความเป็นอิสระ และการบริหารงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ การขยายสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตน และขยายการคุ้มครองไปสู่แรงงานทุกกลุ่ม รวมทั้งการบริการที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการผลักดันให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ กรรมการมาจากการเลือกตั้ง และประธานกรรมการต้องมาจากการสรรหา รวมทั้งให้มีคณะกรรมการตรวจสอบคณะกรรมการการลงทุน และคณะกรรมการการแพทย์ ทั้งนี้ เป็นการยื่นร่างกฎหมาย เพื่อเข้าไปประกบกับร่างของรัฐบาลที่มีอยู่ในวาระการพิจารณาของสภาแล้ว

(เดลินิวส์, 24-11-2553)

เตรียมเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวรอบใหม่ จี้นายจ้างซื้อประกันสุขภาพรายละ 500 บาท

25 พ.ย. 53 - นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับรายละเอียดในการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนี เข้าเมืองที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน แต่ยังคงลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีการเปิดให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องภายในช่วง กลางปี 2554 ภายใต้หลักการ 3 ข้อ ประกอบด้วย

1.การขึ้นทะเบียนในครั้งนี้จะต้อง แยกแยะตัวบุคคลได้ชัดเจนถูกต้อง เช่น มีลายนิ้วมือ รูปถ่าย สามารถเป็นหลักฐานติดตามตัวได้ 2.นายจ้างจะต้องร่วมรับผิดชอบในการดูแลแรงงานต่างด้าว และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบภายใน 15 วัน หากมีการหลบหนี หากไม่ปฏิบัติตามก็จะลดโควตาในการจ้างแรงงานต่างด้าว และ 3. ต้องมีการดูแลสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของแรงงานต่างด้าว โดยอาจใช้วิธีเก็บเงินคนต่างด้าว เพื่อทำประกัน กรณีเกิดอุบัติเหตุ สูญเสียชีวิต หรือร่างกาย มีอัตราการจ่ายเทียบเคียงกับกองทุนเงินทดแทนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เบื้องต้นอาจจัดเก็บคนละ 500 บาท

สำหรับผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวนั้น ที่ประชุมวันนี้ไม่ได้มีการพูดถึง เพราะเป็นเรื่องนอกเหนือของกระทรวงแรงงาน ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะรายงานเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว หลบหนีเข้าเมือง (กบร.) เพื่อพิจารณาอีกครั้ง

(สำนักข่าวไทย, 25-11-2553)

นายกระบุขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 54 อีก 10 บาท

26 พ.ย. 53 - ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัว ข้อ "ประเทศไทย 2554 : พลิกความท้า ทายสู่โอกาส" ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการเร่งกำลังซื้อในประ เทศ และจากแผนงานที่รัฐบาลได้วางไว้คือ การเพิ่มเงินเดือนให้แก่ข้าราชการและรัฐ วิสาหกิจ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่เดือน เม.ย.54 รวมทั้งมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ โดย เห็นว่าการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจจากนี้ไป จะต้องไม่ใช่รูปแบบของการกดค่าแรงแล้วไปให้ความสำคัญกับด้านการส่งออกอีก แล้ว

"ในการปรับค่าแรงขั้นต่ำนั้น ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ขึ้นเพียง 2-3 บาท แต่นโยบายรัฐบาลปีนี้จำเป็นต้องเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมากกว่าที่ทำมาในช่วง 1-2 ปี ซึ่งหากเป็นไปได้ต้องการจะให้เป็นตัวเลข 2 หลักในระดับ 10-11 บาท" นายกฯ ระบุ

นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้ได้ให้ทางกระทรวงแรงงานดำเนินการอยู่ โดยต้องผ่านคณะกรรมการไตรภาคี (คณะกรรมการค่าจ้างกลาง) ก่อน แต่ในส่วนของนโยบายรัฐบาลเห็นว่าจะต้องเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ซึ่งขึ้นเพียง 2-3 บาท ถ้านโยบายผ่านจะพยายามบังคับใช้ให้ทันช่วงปีใหม่ เพราะจะทำให้พร้อมๆ กับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมที่จะขยายวงเงินในการรักษาพยาบาล ทำฟัน และอื่นๆ สำหรับคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม

เมื่อถามว่า การขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดจะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อในปีหน้าหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ถือว่ากระโดดมาก เพราะว่าขึ้นอยู่แค่ประมาณ 10 บาทเท่านั้น ยังไม่ได้ขึ้นเป็น 100 บาทหรืออะไร สำหรับความกังวลภาวะเงินเฟ้อจะต้องดู เพราะว่าเรื่องปัญหาเงินเฟ้อยังมีมาตรการอื่นๆ อีก และขณะเดียวกันเรายังมีอีกขาหนึ่งในเรื่องค่าครองชีพ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยลดแรงกดดันลงไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะถูกมองว่าเป็นนโยบายการหาเสียงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ไม่หรอกครับ เพราะเรื่องดังกล่าวผมได้ประกาศมานานแล้ว ทั้งเรื่องค่าแรงและประกันสังคม เพราะควรจะต้องมีการเพิ่ม อีกทั้งเรื่องนี้เป็นเรื่องของความเป็นธรรม ซึ่งผมได้พยายามแก้ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจทั้งหมด"

ด้านนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนัก งานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของนายกฯ จะส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นนโยบายดูแลสวัสดิ การสังคม ขณะเดียวกันจะกระทบทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ สศค.ได้เคยศึกษาไว้ พบว่าหากมีการปรับค่าแรงเพิ่ม 1% จะทำให้จีดีพีปรับลดลง 0.04% หรือค่าแรงปัจจุบันที่ประมาณ 200 บาท หากปรับเพิ่มเป็น 210 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ก็จะกระทบการขยายตัวจีดีพีลดลง 0.2%

นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า เป็นเพียงแนวคิดของนายกฯ เท่านั้น และไม่ว่าใครจะเสนอตัวเลขเท่าใดก็ตาม แต่ตามกฎหมายผู้ที่มีอำนาจในการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คือคณะกรรมการไตรภาคี อย่างไรก็ตามตัวเลขที่นายกฯ เสนอ 10-11 บาทนั้น น่าจะรับฟังได้มากกว่า 250 บาท เพราะพอจะมีความเป็นไปได้มากกว่า

ทั้งนี้  อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราค่าจ้างสำหรับแรงงานที่ไร้ฝีมือที่เดินเข้า สู่ตลาดแรงงาน แต่วันนี้ผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแทบจะหาไม่ได้ เพราะไม่มีใครยอมรับค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้ ในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละครั้ง ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือราคาสินค้ามักจะขึ้นรอการปรับค่าจ้าง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าได้ การที่นายกฯ ออกมาพูดว่าจะขึ้นค่าจ้างนั้น จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนในภาพรวม โดยเฉพาะลูกจ้างที่ค่าจ้างยังไม่ได้ขึ้นกลับต้องซื้อของแพงขึ้น.

(ไทยโพสต์, 26-11-2553)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วงเสวนาแรงงานชี้กลไก "สหภาพแรงงาน" คุ้มครองสิทธิ "แรงงานข้ามชาติ"

Posted: 29 Nov 2010 02:57 AM PST

เมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2553 ที่ สีดา รีสอร์ท จ.นครนายก โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยได้จัดเวทีเสวนา “ยุทธศาสตร์เรื่องแรงงานต่างชาติ ของขบวนการแรงงานไทย” โดยมีผู้นำแรงงานไทย และนักพัฒนาเอกชนประเด็นแรงงานข้ามชาติเข้าร่วมงาน โดยวัตถุประสงค์ของการจัดงานนั้นก็ เพื่อทบทวนสถานการณ์และกรอบการทำงานเรื่องแรงงานต่างชาติที่ผ่านมา, จัดทำยุทธศาสตร์ร่วม ต่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานต่างชาติ และเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เข้าใจ และเกิดความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานไทยแรงงานต่างชาติ

เสถียร ทันพรม มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ชุติมา บุญจ่าย รองประธานสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF)

ในการเสวนาหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติผ่านกลไกสหภาพแรงงาน” ซึ่งนำเสวนาโดยเสถียร ทันพรม มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ชุติมา บุญจ่าย รองประธานสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ดำเนินรายการโดย ศรีโพธิ์ วายุภักดิ์ ที่ปรึกษากลุ่มสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมเบอร์ล่า

เสถียร ทันพรม มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ชี้ว่าผู้นำขบวนการแรงงานต้องรู้เรื่องนโยบายที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ โดยต้องเข้าใจในบริบทของประเทศไทยที่ทั้งส่งออกและรับเข้าแรงงานเข้ามา

โดยในการทำงานระหว่างสหภาพแรงงานไทยกับประเด็นแรงงานข้ามชาตินั้น เสถียรเห็นว่าการใช้แนวคิดกรรมกรทั้งผองพี่น้องกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำงานเชิงปรับทัศนคติเรื่องแรงงานข้ามชาติ กับสมาชิกสหภาพแรงงานที่ยังมีความหลากหลายอยู่ ชี้ให้เห็นว่าเรา (แรงงานไทย-ข้ามชาติ) เป็นแรงงานเหมือนกัน ถูกกดขี่ขูดรีดพอกัน

ส่วนการคุ้มครองสิทธิแก่แรงงานข้ามชาตินั้น สหภาพแรงงานจะต้องผลักดันเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติให้เท่าเทียมกับแรงงานไทย สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา สหภาพแรงงานต้องเปิดใจรับแรงงานข้ามชาติเป็นสมาชิกสหภาพ

สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อธิบายว่ากรณีของการขูดรีดแรงงานข้ามชาติกับการค้ามนุษย์นั้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายเรื่องการค้ามนุษย์ที่ดีพอสมควร แต่รัฐเองก็พยายามตีความให้เป็นคนละเรื่องกัน เพราะมองว่าแรงงานข้ามชาตินั้นสมัครใจที่จะเข้าไปทำงานยังสถานประกอบการณ์ต่างๆ แต่เรื่องการค้ามนุษย์นั้นรัฐพยายามให้ภาพว่าจะต้องเป็นเรื่องของการหลอกลวง เช่น การหลอกลวงในธุรกิจค้าประเวณี เป็นต้น จึงไม่สามารถใช้กฎหมายการค้ามนุษย์มาปกป้องแรงงานข้ามชาติเมื่อถูกกดขี่ได้

ในเรื่องของกลไกสหภาพแรงงานกับการช่วยคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติเมื่อเกิดปัญหานั้นนั้น ในหลายที่ยังไม่มีการใส่ใจ อย่างกรณีของคนงานที่โรงงานทออวลเดชา ที่ จ.ขอนแก่นนั้น บทบาทความช่วยเหลือส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชน ไม่ค่อยมีกลุ่มสหภาพแรงงาน ซึ่งเข้าใจว่าในแถบ จ.ขอนแก่นนั้นอาจจะมีสหภาพแรงงานน้อย แต่เมื่อดูตัวอย่างจากต่างประเทศก็พบว่าเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ เป็นหน้าที่ของสหภาพแรงงานโดยตรง เช่น สหภาพแรงงานภาคเกษตรในสหรัฐอเมริกา ที่มีคนไทยไปทำงาน สหภาพแรงงานก็รับคนไทยเหล่านั้นเป็นสมาชิกและช่วยเหลือปกป้องสิทธิต่างๆ ให้

ชุติมา บุญจ่าย รองประธานสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) เล่าว่าจากประสบการณ์การทำงานร่วมกับเครือข่ายแรงงานข้ามชาตินั้นก็ได้เห็นปัญหาในขบวนการแรงงานของไทยเอง เหมือนกับว่าเราขาดการเชื่อมโยงระหว่างแรงงานข้ามชาติกับสหภาพแรงงาน โดยที่ผ่านมามักจะมีคำพูดทำนองที่ว่าทำไมต้องเข้าไปยุ่ง  ทำไมไม่ช่วยคนไทยก่อน ทั้งนี้ในการทำงานก็จะต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องสมาชิกสหภาพแรงงานของไทยก่อนว่า แรงงานข้ามชาติก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจ ต้องปรับทัศนคติตรงนี้ก่อน และถ้าถามว่าระยะเวลาในการปรับทัศนคติตรงนี้จะใช้เวลามากไหม ชุติมาให้ความเห็นว่าน่าจะนานพอสมควร แต่ก็ไม่น่าจะเกินความสามารถของพวกเราที่จะช่วยกันทำได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตัดสินจำคุก 'สุชาติ นาคบางไทร' 3 ปี ข้อหาหมิ่นสถาบัน

Posted: 29 Nov 2010 12:36 AM PST

29 พ.ย.53  รายงานข่าวแจ้งว่า ศาลอาญา ถนนรัชดา ได้ตัดสินคดีของนายสุชาติ นาคบางไทร หรือ วราวุธ ฐานังกรณ์ หมายเลขแดงที่ อ.3964/2553 เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากอัยการส่งฟ้องในวันที่ 23 พ.ย. โดยพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา78 คงจำคุก 3 ปี

ในคำฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 เวลาประมาณ 18.05 น.-18.15 น. จำเลยได้ขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวที แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ท้องสนามหลวง ด้วยการกระจายเสียงทางเครื่องขยายเสียง  ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังการปราศรัยจำนวนหลายคน ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม จำเลยพูดจาบจ้วง พูดเปรียบเทียบและเปรียบเปรย ล่วงเกิน ด้วยถ้อยคำหยาบคาย พูดใส่ความหมิ่นประมาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบัน ทำให้พระองค์ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ และยังกล่าวแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสมเด็จพระบรมราชินีนาถองค์ปัจจุบันด้วย เหตุเกิดที่ แขวงพระบรมมหาราชวัง  เขตพระนคร  กรุงเทพมหานคร  ขอให้ลงโทษตาม  ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 112

ทั้งนี้ สุชาติถูกออกหมายจับเมื่อวันที่ 14 ต.ค.51 และได้หายตัวไปจนกระทั่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 1 พ.ย. บริเวณประตูน้ำ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มติ 4-2 ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องยุบประชาธิปัตย์

Posted: 28 Nov 2010 11:48 PM PST

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 4 ต่อ 2 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ ชี้กระบวนการยื่นคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องล่าช้ากว่ากำหนด ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ศาลจึงวินิจฉัยยกคำร้อง เปิด 2 ชื่อเสียงข้างน้อย ชัช ชลวร - อุดมศักดิ์ นิติมนตรี

วันนี้ (29 พ.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่ช่วงเช้าวันนี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์เพื่อให้คู่กรณีแถลงปิดคดีด้วยวาจา ในกรณีที่นายทะเบียนพรรคการเมืองร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จำนวน 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์

โดยล่าสุดเมื่อเวลา 14.45 น. ภายหลังจากการอ่านคำวินิจฉัยเป็นเวลา 40 นาทีโดยประมาณ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 4 ต่อ 2 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากกระบวนการยื่นขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยจาก 5 ประเด็นที่สองฝ่ายชี้แจงคือ 1.กระบวนการยื่นขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2.การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 2541 หรือ พ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 2550 3.พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการ พัฒนาพรรคการเมือง ในปี 2548 ตามโครงการที่ได้รับที่ได้รับอนุมัติหรือไม่ 4.พรรคประชาธิปัตย์จัดทำรายการใช้จ่าย อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ และ 5.กรณีที่มีเหตุให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าและกรรมการพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องถูกตัดสิทธิหรือไม่ ดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเพียง 1 ข้อ

โดยศาลวินิจฉัยว่าเห็นชอบว่า กกต.ทำตามกระบวนการ โดยให้นายทะเบียนพรรคการเมืองได้พิจารณาและยื่นคำร้องนั้นถูกต้อง แต่โดยระยะเวลานั้นไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งนับจากวันที่รับทราบถึงการกระทำผิด ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน แต่ว่า กกต.ยื่นล่าช้ากว่ากำหนด โดยรับทราบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2553 เมื่อมีการไต่สวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง นับตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 จึงเท่ากับว่า กกต.ยื่นล่าช้ากว่ากำหนด

ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยยกคำร้องของ กกต. กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยมติ 4 ต่อ 2 เสียง โดยไม่ได้พิจารณาใน 4 ประเด็นที่เหลือ

สำหรับรายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  4 คน ที่มีเสียงข้างมากวินิจฉัยยกคำร้องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่  นายบุญส่ง กุลบุปผา, นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายนุรักษ์ มาประณีต ขณะที่ อีก 2 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อย คือ   นายชัช ชลวร  และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เพ็ญ ภัคตะ: เราควรก้าวไปไกลเกินกว่าหนึ่ง

Posted: 28 Nov 2010 11:29 PM PST

เราควรก้าวไปไกลเกินกว่าหนึ่ง
หากไม่ถูกทมิฬทึ้งดึงกลับศูนย์
เสียเวลากอบซากศพบนกองกูณฑ์
แทนที่จักเพิ่มพูนพลังไท

เราเคยนับหลักสิบถึงร้อยแสน
กลับถูกแผนอุบาทว์ฉุดสะดุดไหว
จากเมืองแมนแดนสยามศิวิไล
ถอยหลังเริ่มต้นใหม่ไกลความจริง

มีรัฐถ่อยเถื่อนสถุลสมุนชาติ
ใครฉลาดถูกฟาดคว่ำริยำยิ่ง
เอากฎหมายสามานย์มาอ้างอิง
ปรุงแต่งสิ่งโสมมอัประมาณ

มีนายกอัปยศรันทดเทวษ
เมืองอาเพศเหตุภัยจัญไรผลาญ
มือเปื้อนเลือดเด่นลอยคอยประจาน
ได้นายกเผด็จการต้องจารจำ

คณะราษฎร์เคยทวงทักท้วงสิทธิ์
ถูกเบือนบิดอ้างระบอบครอบอุปถัมภ์
เป็นประชาธิปไตยใต้เงาดำ
แปดสิบปียังก้าวย่ำมิยาตรา

ทำท่าจักก้าวเดินถูกดึงกลับ
กี่ครั้งนับเมื่อไหร่ถึงทางข้างหน้า
อ้างว่าไทยยังไม่พร้อมน้อมพึ่งพา
ปวงเทวาปารมีวิษณุวงศ์

เราแอบเดินใต้ดินไม่ยินเสียง
ร่วมร้อยเรียงตะเกียงใจไม่พลัดหลง
ระวีแสงแดงวับนับล้านวง
กระหวัดธงกระเหวี่ยงทาส กระวาดไทย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรรมการสิทธิฯลงตรวจ ‘โนนป่าก่อ’ ผู้ว่าฯรับแผนรองรับชาวบ้านออกจากป่าไม่พร้อม

Posted: 28 Nov 2010 10:04 PM PST

คณะอนุกรรมการป่าไม้-ที่ดิน ในกรรมการสิทธิฯ ลงตรวจสอบกรณีจังหวัดมุกดาหารออกคำสั่งให้ชาวบ้านโนนป่าก่ออพยพออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน ผู้ว่าฯ รับแผนรองรับยังไม่พร้อมจริง กรณีคุกคามชาวบ้านจะไม่เกิดอีก

24 พ.ย.53 คณะอนุกรรมการป่าไม้-ที่ดิน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีจังหวัดมุกดาหารออกคำสั่งให้ชาวบ้านโนนป่าก่อ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร อพยพออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน หลังจากได้รับจดหมายร้องเรียนจากชาวบ้าน
นายจำรัส สุวรรณวงษ์ ตัวแทนชาวบ้านโนนป่าก่อได้แจ้งแก่คณะอนุกรรมการป่าไม้-ที่ดินว่า นับแต่พื้นที่บริเวณดังกล่าวถูกประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน เมื่อปีพ.ศ. 2533  ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้และทางจังหวัดมุกดาหารได้มีความพยายามที่จะโยกย้ายชาวบ้านโนนป่าก่อออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯหลายครั้ง แม้ว่าบ้านโนนป่าก่อจะตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2496 ก่อนหน้าการประกาศเขตฯ ก็ตาม  โดยที่ผ่านมาการอพยพชาวบ้านอยู่บนฐานของความสมัครใจ แต่ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 นี้ ทางจังหวัดมุกดาหารได้มีคำสั่งให้ชาวบ้านโนนป่าก่อย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่รองรับที่จัดไว้บริเวณบ้านด่านช้าง อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  หากไม่ยินยอมโยกย้ายจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
จำรัสกล่าวเพิ่มเติมว่า บริเวณพื้นที่รองรับที่บ้านด่านช้างนั้นไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพ ชาวบ้านโนนป่าก่อซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ในพื้นที่อีก 24 ครอบครัว จึงร้องเรียนว่าหากจำเป็นต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิมจริงๆ ก็ขอให้มีการจัดพื้นที่รองรับที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตและสามารถที่จะเลี้ยงชีพได้ดีเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างทางจังหวัดกับทางชาวบ้าน เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกัน
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 ทางจังหวัดมุกดาหารได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน กองอาสารักษาดินแดน (อส.) จำนวนรวมประมาณ 300 คน เข้าไปชี้แจงและชักจูงให้ชาวบ้านอพยพไปพื้นที่รองรับ และได้จัด อส.ผลัดเปลี่ยนมาประจำอยู่ที่หมู่บ้านครั้งละ 10-20 นาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ชาวบ้านให้ข้อมูลแก่อนุกรรมการฯ ว่านอกจาก อส.ซึ่งติดอาวุธปืนยาวจะเดินตรวจตราหมู่บ้านเป็นประจำแล้ว ยังได้ข่มขู่ชาวบ้านหลายครั้งว่า จะใช้กำลังเข้ารื้อถอนบ้านเรือนและทำร้ายร่างกาย  อีกทั้งยังมีการเก็บพืชผักผลไม้ที่ชาวบ้านปลูกไว้ไปกินโดยไม่ขออนุญาต รวมทั้งมีการทำลายสายยางที่ชาวบ้านใช้สูบน้ำออกจากนาอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน อส.ได้เข้ามาตั้งแคมป์พักแรมในบริเวณโรงเรียนและบริเวณวัดโนนป่าก่อ โดยได้ตั้งวิทยุสื่อสารไว้ในโรงเรียนซึ่งเป็นศาลาโล่ง  และมีการใช้วิทยุส่งเสียงดังแม้ในระหว่างมีการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังได้เข้าไปพักในศาลาวัด ทำให้หลวงพ่อที่วัดต้องออกไปกางกลดจำวัดที่เถียงนานอกหมู่บ้าน
“เราไม่อยากให้ทางจังหวัดเอาโครงการพระราชดำริมาข่มขู่ชาวบ้าน  ผมเชื่อว่า ถ้าเป็นโครงการพระราชดำริจะต้องทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี แต่นี่เป็นการทำให้ชาวบ้านลำบาก” ตัวแทนชาวโนนป่าก่อสรุป
หลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงที่บ้านโนนป่าก่อ คณะอนุกรรมการป่าไม้-ที่ดินได้เดินทางไปยังบ้านด่านช้าง ซึ่งถูกจัดเป็นพื้นที่รองรับการอพยพ และพบว่าชาวบ้านที่อพยพลงมาได้รับจัดสรรที่ดินครัวเรือนละ 3 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกบ้านหลังเล็กๆ 2 งาน และเป็นพื้นที่การเกษตรอีก 2.5 ไร่ และไม่มีการจัดสรรพื้นที่ให้ครอบครัวที่ไม่ได้รับการสำรวจรายชื่อโดยทางจังหวัดเมื่อปี 2549 อีก 20 กว่าครอบครัว
แม้พื้นที่รองรับจะไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรเลี้ยงชีพ ชาวบ้านหลายคนได้แจ้งแก่คณะกรรมการสิทธิฯ ว่า “จำยอม” ตัดสินใจย้ายลงมาด้วยความกลัวว่าจะถูกทางการจับดำเนินคดี 
ปัจจุบันบริเวณบ้านด่านช้างประสบปัญหาน้ำขาดแคลน น้ำไหลบ้างหยุดบ้าง ทำให้ไม่ค่อยพอกิน ชาวบ้านต้องไปตักน้ำจากบ้านแก่งนางที่อยู่ใกล้เคียงมาใช้  พืชผักที่ปลูกไว้ประสบความเสียหาย
นายคำลน อินไชยา หนึ่งในชาวบ้านที่ย้ายออกมาเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2553 กล่าวว่า จะรอดูความช่วยเหลือจากทางการ ซึ่งแจ้งกับชาวบ้านว่าจะมีโครงการพัฒนาอาชีพหลังการอพยพต่อเนื่องไปอีกสามปี หากไม่สามารถอยู่ทำกินได้ก็คงจะกลับไปทำกินที่เดิม “เพราะถ้าอยู่อย่างนี้เราก็อยู่ไม่ได้”
จากนั้น คณะอนุกรรมการป่าไม้-ที่ดิน ได้เดินทางเข้าประชุมร่วมกับหน่วยราชการที่รับผิดชอบโครงการฯ ที่ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ในวันที่ 25 พ.ย. เพื่อรับฟังคำชี้แจง และพิจารณาหาทางดำเนินการโดย ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวบ้านโนนป่าก่อประมาณ 20 คนได้เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดมุกดาหารเพื่อเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการฯ และร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิฯ  แต่เมื่อจะเข้าประชุม ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ อส. ซึ่งทางจังหวัดจัดวางกำลัง ไว้บริเวณหน้าห้องประชุม และทางขึ้นศาลากลางกว่า 30 นาย ไม่ให้ชาวบ้านและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องผ่านเข้าออก โดยอ้างเหตุผลว่าห้องประชุมมีขนาดเล็ก และอ้างความสงบเรียบร้อยของการประชุม ซึ่งเป็นประเด็นทางการเมือง  หลังจากทางกรรมการสิทธิฯ เข้าเจรจา ชาวบ้านโนนป่าก่อจึงได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมด้วยเพียงสามคน ส่วนที่เหลือต้องนั่งรออยู่นอกอาคารศาลากลาง
สำหรับการประชุมที่ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ทางจังหวัดได้ชี้แจงต่ออนุกรรมการป่าไม้ที่ดินในประเด็นวัตถุประสงค์ของโครงการอพยพราษฎรออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน และความพร้อมในการจัดเตรียมพื้นที่รองรับ 
เมื่อจังหวัดชี้แจงเสร็จ ทางอนุกรรมการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องหลักประกันในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของราษฎรที่อพยพออกมาแล้ว เนื่องจากมีบทเรียนของการอพยพราษฎรเมื่อปี 2543 ซึ่งผ่านมา 10 ปี ราษฎรก็ยังไม่มีความมั่นคงในชีวิต ไม่มีสิทธิในที่ทำกิน ข้อมูลของทางจังหวัดเองก็ระบุว่า ราษฎรอยู่ไม่ได้ต้องกลับไปอยู่บ้านเดิมถึง 10 ครอบครัว จากที่อพยพออกมา 14 ครอบครัว
นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตในเรื่องการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการจัดทำโครงการฯ เนื่องจากมีข้อพิพาทในเรื่องแผนงานในการอพยพซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน ทั้งในเรื่องแนวคิด การจัดการ และพื้นที่รองรับ, การปฏิบัติตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 ซึ่งกำหนดให้กรมป่าไม้สำรวจพื้นที่ที่มีการครอบครองให้ชัดเจน และขึ้นทะเบียนผู้ครอบครอง   ตลอดจนประเด็นการข่มขู่คุกคามที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลักดันให้ราษฎรอพยพออกจากพื้นที่
จากนั้น ทางจังหวัดได้ชี้แจงในประเด็นต่างๆ ในประเด็นหลักประกัน ผวจ.ยืนยันว่าจะมีแผนพัฒนาต่อเนื่อง 3 ปี แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นแผนชัดเจน เมื่อแผนเสร็จจะเชิญชาวบ้านมาร่วมพิจารณา ถ้าเห็นด้วยก็อพยพออกมา ถ้าไม่เห็นด้วยก็สามารถจับเข่าคุยกันได้ 
ส่วนการสำรวจและกันแนวเขตพื้นที่ป่าตามมติ 30 มิ.ย.41 ป่าไม้จังหวัดอ้างว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากชาวบ้านไม่นำชี้ที่ดิน ซึ่งทางอนุฯ แย้งว่าในพื้นที่พิพาทอื่นๆ จะกันแนวเขตป่าออกจากพื้นที่ทำกินทั้งหมดก่อน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีราษฎรนำชี้ ประเด็นนี้มีความเห็นขัดแย้งกัน ทางอนุฯ จะกลับไปดูรายละเอียดของมติอีกครั้ง และอาจต้องเชิญป่าไม้ไปคุยที่กรุงเทพฯ
ในประเด็นการข่มขู่คุกคามให้ชาวบ้านอพยพออกมา ซึ่งมีการร้องเรียนจากชาวบ้าน ทางป้องกันจังหวัดชี้แจงว่า เป็นการลงไปประชาสัมพันธ์เท่านั้น ไม่มีเจตนาข่มขู่คุกคาม การถือปืนก็เป็นเพียงการลาดตระเวน เก็บข้อมูลการทำการเกษตร การเก็บผลผลิตก็ได้รับอนุญาตจากเจ้าของซึ่งย้ายออกไปพื้นที่รองรับแล้ว การไปตั้งหน่วยปฏิบัติงานที่โรงเรียนก็เนื่องจากเห็นว่าไม่มีคนอยู่   ซึ่งผู้ว่าฯ ก็ยืนยันว่าการวางกำลัง อส.มีเหตุผลเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ถ้าจังหวัดเจตนาจะข่มขู่คุกคามที่รุนแรง สามารถทำได้มากกว่านี้มาก แต่ก็ยอมรับว่าต่อจากนี้ไปจะกำชับให้ อส.ปฏิบัติหน้าที่ให้รอบคอบ ถ้ามีการข่มขู่คุกคามให้แจ้งมา ทางจังหวัดจะดำเนินคดี ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการป่าไม้ที่ดิน ไม่ติดใจเรื่องการคุกคาม เนื่องจากผู้ว่าฯ รับปากว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก
นายดำเนิน อุทโท ตัวแทนชาวบ้านได้ลุกขึ้นให้ความเห็นว่า วัตถุประสงค์ในการอพยพโยกย้ายราษฎรเน้นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าจะให้ความสำคัญกับคนซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคล ชาวโนนป่าก่อที่อยู่อาศัยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่ได้ทำลายป่าไม้ ชาวบ้านมีประเพณีที่จะช่วยกันดูแล อนุรักษ์ป่า เช่น การบวชป่า เรื่องนี้หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ รู้ดี เนื่องจากมีการออกสำรวจพื้นที่ทุกปี
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แถลงปิดคดียุบประชาธิปัตย์ "ชวน" เชื่อ กกต.ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง แค่โยนให้พ้นตัว

Posted: 28 Nov 2010 09:11 PM PST

นัดฟังแถลงปิดคดียุบพรรคประชาธิปัตย์แล้ว อัยการเสนอให้ยุบพรรค เพิกถอนสิทธิ์กรรมการบริหาร 5 ปี "ชวน หลีกภัย" แถลงปิดคดี เชื่อ กกต.ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง แค่โยนให้พ้นตัว ขณะที่มาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มตัดสัญญาณมือถือรอบศาล

ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ  เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 พ.ย. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์เพื่อให้คู่กรณีแถลงปิดคดีด้วยวาจา ในกรณีที่ นายทะเบียนพรรคการเมืองร้องให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จำนวน 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์

โดยในส่วนของนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้มอบให้นายกิตตินันท์ ธัชประมุข อัยการคดีพิเศษ ฝ่ายสำนักคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้แถลงปิดคดี ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ได้มอบหมายให้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายของพรรค เป็นผู้แถลงปิดคดี

สำหรับประเด็นหลักๆ ที่ทั้งสองฝ่ายจะชี้แจงในวันนี้จะประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก คือ 1.กระบวนการยื่นขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2.การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 2541 หรือ พ.ร.บ.พรรคการเมืองปี 2550 3.พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการ พัฒนาพรรคการเมือง ในปี 2548 ตามโครงการที่ได้รับที่ได้รับอนุมัติหรือไม่ 4.พรรคประชาธิปัตย์จัดทำรายการใช้จ่าย อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ 5.กรณีที่มีเหตุให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าและกรรมการพรรคประชาธิปัตย์ จะต้องถูกตัดสิทธิหรือไม่

ทั้งนี้นายกิตตินันท์ ธัชประมุข อัยการคดีพิเศษ ฝ่ายสำนักคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้แถลงปิดคดี  ในส่วนของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งได้อ่านสรุปว่าการทำของกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคของผู้ถูกร้อง มีคำสั่งห้ามกรรมการบริหารพรรคจัดตั้งพรรคใหม่เป็นเวลา 5 ปี และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ได้มอบหมายให้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายของพรรค เป็นผู้แถลงปิดคดี

 

อัยการแจงเหตุยุบ ปชป.

นายกิตินันท์ได้ระบุถึงที่มาของคำ ร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ ที่สืบเนื่องมาจากการทำคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 2 ข้อหา คือ กรณีพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการบริจาคเงินจากบริษัท ทีพีไอ ผ่านบริษัท เมซไซอะ และพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาการเมือง และไม่ได้จัดทำรายงานตามความเป็นจริง เสนอต่อ กกต. ซึ่งทั้งสองข้อหายังได้ถูกร้องจากนายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์

หลังจากที่ กกต.ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน และนายทะเบียนพรรคการเมืองยังได้ตั้งคณะทำงานซึ่งตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้มีมติของ กกต.ในวันที่ 12 เมษายน 2553 ให้ส่งเรื่องถึงอัยการสูงสุด ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบทั้งสองข้อกล่าวหา

ทั้งนี้ ในข้อกล่าวหาการใช้เงิน 29 ล้านบาทนั้น กกต.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้มีการตั้งประเด็นพิจารณาใน 5 ประเด็นด้วยกัน

ในการชี้แจงในการแถลงปิดคดีของฝ่าย ผู้ร้อง กกต.ได้ยืนยันว่า การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์นั้น อยู่ในการบังคับใช้กฎหมายพรรคการเมืองทั้งสองฉบับ คือในปี 2541 และ 2550 เนื่องจากจะต้องพิจารณาตามกฎหมายปี 2541 ก่อนว่าพรรคประชาธิปัตย์มีการกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ ส่วนกฎหมายในปี 2550 จะต้องใช้กับองค์กรผู้บังคับใช้กฎหมายในการตัดสิน เพราะแม้คดีจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น แต่ดีเอสไอไม่ใช่พนักงานตามกฎหมายของพรรคการเมือง

จากนั้น ได้แถลงยืนยันว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจในการที่จะร้องในกรณีดังกล่าว เพราะตามกฎหมายแม้จะเป็นเพียงหนังสือแจ้งโดยยังไม่มีหลักฐาน กกต.ก็สามารถที่จะสอบสวน และคดีดังกล่าวซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับการใช้เงินกองทุน ไม่มีกำหนดในเรื่องของการหมดอายุความ พร้อมกับยืนยันขั้นตอนการพิจารณาของ กกต. โดยเฉพาะนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่เสนอต่อที่ประชุม กกต.และศาลรัฐธรรมนูญนั้น ถูกต้องตามกฎหมาย

 

"ชวน" แถลงปิดคดี เชื่อ กกต.ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง แค่โยนให้พ้นตัว

ต่อมาเมื่อเวลา 10.15 น. นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และหัวหน้าทีมกฎหมายกรณีนายทะเบียนพรรคการเมืองร้องให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จำนวน 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ กล่าวปิดคดีว่า มีความพยายามมานานแล้วในการยุบพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) โดยมีความพิรุธว่ามีการล็อคตัวคนทำคดีนี้ไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว และมีอิทธิพลเข้าเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนปราศรัยหน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผาโลงศพหน้า กกต. ระบุถ้าไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ จะยุบชีวิต กกต. รวมทั้งเตือนนายอภิชาต สุขขัคคานนท์ ประธาน กกต. ระวังเดินถนนไม่ได้ ซึ่งตนไม่ได้ว่ากกต.ขี้ขลาด แต่ถ้าไม่กลัวก็เป็นเรื่องแปลก

"เชื่อว่า กกต.ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้ง แต่เป็นการโยนเรื่องให้พ้นตัว" นายชวนกล่าว

ตัดสัญญาณมือถือ 9 โมง

ด้านการรักษาความปลอดภัย มีรายงานด้วยว่า สำหรับบริเวณห้องโถงกลางลานชั้น 2 ภายในตัวอาคารศูนย์ราชการ ยังมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลอีกจำนวนหนึ่ง ตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยพื้นที่ในส่วนชั้นในศูนย์ราชการ ขณะที่บริเวณลานจอดรถชั้น 2 ภายนอกอาคารซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กับศูนย์ราชการ ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงเช้ายังไม่มีการรวมกลุ่มของคนเสื้อแดงเพื่อร่วมรับฟังการแถลงปิดคดี ยุบพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด คงมีเพียงกองทัพสื่อมวลชนจำนวนมากที่มารอปักหลักรายงานสถานการณ์ข่าวอย่าง ใกล้ชิด ในส่วนของพรรคเพื่อไทยในช่วงเช้ามีเพียงนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส.แพร่ ซึ่งเดินทางมาถึงศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนแรก

นอกจากนี้ในช่วงเวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่จะนำเครื่องมือมาตัดสัญญาณโทรศัพท์เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัย จนกว่าจะแถลงปิดคดีเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ เวลา 14.00 น. โดยขณะนี้ (14.30 น.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกำลังเริ่มการอ่่านคำวินิจฉัย

ที่มา: เรียบเรียงจากมติชนออนไลน์ และผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักศึกษา-เอ็นจีโอ ร่วมทำศิลปะจัดวาง จี้รัฐบาลคุ้มครองผู้ลี้ภัยสงครามจากพม่า

Posted: 28 Nov 2010 08:14 PM PST

 

 
 
 
 
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 53 เวลา 11.00 น. นักศึกษาร่วมกับภาคประชาสังคมไทย ร่วมแสดงศิลปะจัดวางด้วยแต่งกายเป็นผู้ลี้ภัยที่หน้ารัฐสภา ต่อมาเวลา 11.30 น. องค์กรเอกชนที่ทำงานประเด็นพม่าในพื้นที่อ.แม่สอดร่วมกับนักศึกษาและภาคประชาสังคมไทยได้เข้าพบคุณประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อรายงานสถานการณ์ลี้ภัยการสู้รบจากประเทศพม่าพร้อมทั้งยื่นจดหมายเพื่อขอให้รัฐบาลไทยให้การคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ประสบภัยจากสงครามและความขัดแย้งทางอาวุธ โดยยึดหลักปฏิบัติตามกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเเทศและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน
 

จดหมายเปิดผนึก ถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
เรื่อง การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสงครามและความขัดแย้งทางอาวุธ
โดยยึดหลักปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และหลักการด้านสิทธิมนุษยชน
วันศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
 
ในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปในประเทศพม่า กองพันที่ ๕ ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (Democratic Karen Buddhist Army หรือ DKBA) เคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญต่างๆ ในอำเภอเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ทำให้เกิดการปะทะกับกองทัพของรัฐบาลพม่า (The State Peace and Development Council หรือ SPDC) ในเมืองเมียวดีและบ้านวาเล่ย์ รัฐกะเหรี่ยง ต่อมาวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ การสู้รบดังกล่าวเกิดขึ้นใกล้กับชายแดนไทย – พม่า ตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด และอำเภอพบพระ จังหวัดตาก นอกจากนี้ยังมีการปะทะระหว่าง SPDC กับ DKBA ในเมืองพญาตองซู รัฐมอญ ซึ่งอยู่ใกล้กับชายแดนไทย-พม่า ณ บ้านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

การสู้รบในพื้นที่ดังกล่าวส่งผลให้ พลเรือนรวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๕,๐๐๐ คน อพยพหนีภัยการสู้รบจากประเทศพม่าเข้ามาในประเทศไทย ในเช้าของวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ซึ่งทางการไทยได้จัดพื้นที่ให้พักพิงชั่วคราวในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ส่วนองค์กรระหว่างประเทศและประชาชนไทยในพื้นที่ได้ร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและสาธารณสุข ต่อมาเช้าวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เจ้าหน้าที่ไทยได้แจ้งกับผู้หนีภัยการสู้รบเป็นภาษาท้องถิ่นความว่า “ขณะนี้การสู้รบได้สงบแล้ว ทุกคนสามารถเดินทางกลับบ้านได้โดยปลอดภัย” และเริ่มส่งผู้หนีภัยการสู้รบกลับในเช้าวันดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผู้หนีภัยการสู้รบถูกส่งกลับไป ปรากฏว่าว่ายังมีการปะทะระหว่าง SPDC และ DKBA ในบางพื้นที่  และมีผู้หนีภัยการสู้รบส่วนหนึ่งเดินทางกลับเข้ามาหลบซ่อนตัวอยู่ในฝั่งไทยอีกครั้ง
 
ผู้หนีภัยการสู้รบให้เหตุผลในการกลับมาฝั่งไทยว่าพวกเขาไม่มีความปลอดภัยในการดำรงชีวิตในประเทศพม่า ทั้งนี้ มีรายงานที่จัดทำโดยองค์กรท้องถิ่นระบุว่ามีพลเรือนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการปะทะ และทหารพม่าได้บังคับใช้แรงงานชายให้เป็นลูกหาบ (อ่านในบทสัมภาษณ์ข้างท้าย) ผู้หนีภัยการสู้รบที่กลับเข้ามาในฝั่งไทยอีกครั้งต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เพราะหากถูกทางการไทยพบจะถูกส่งตัวกลับไปฝั่งพม่าทันที โดยขณะนี้ องค์กรท้องถิ่นได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและสาธารณสุข แก่ผู้ลี้ภัยกลุ่มเล็ก ๗ กลุ่ม จำนวนรวม ๒,๑๗๗ คนในอำเภอพบพระ และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
 
ปัจจุบันพลเรือนในอำเภอเมียวดี  รัฐกะเหรี่ยง และอำเภอพญาตองซู รัฐมอญ ยังไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพราะการสู้รบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวได้ยังไม่ยุติ  และนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบอื่น เช่น สิทธิความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การบังคับใช้แรงงานเป็นลูกหาบ และการข่มขืนทารุณกรรมทางเพศต่อพลเรือนกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ยังคงมีพลเรือนบางส่วนที่หลบซ่อนอยู่บริเวณชายแดนประเทศไทย
 
ด้วยความห่วงใยต่อชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ และด้วยความตระหนักในการปฏิบัติตามพันธกรณีต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน   องค์กรและบุคคลตามรายชื่อข้างท้าย จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านผู้ลี้ภัยได้ดำเนินการมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบดังนี้
 
๑.        ให้การคุ้มครองผู้หนีภัยการสู้รบที่หลบซ่อนอยู่ในประเทศไทยตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและหลักการด้านสิทธิมนุษยชนโดยจัดหาที่พักพิงชั่วคราว  และให้หลักประกันว่าการส่งกลับจะเกิดขึ้นตามมติร่วมของคณะทำงานประเมินสถานการณ์ซึ่งประกอบด้วยทางการไทย องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรท้องถิ่น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตเป็นสำคัญ
๒.       เมื่อได้รับการแจ้งเตือนทางการทหารว่าจะเกิดสู้รบให้ประสานองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์และเตรียมการช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบ
๓.       ที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบต้องมีความปลอดภัยและมีความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต มีถนนเข้าถึงสะดวก สามารถกันแดด ลม ฝนได้  มีห้องน้ำ มีน้ำใช้ และมีเครื่องกันหนาวเพียงพอต่อจำนวนคน โดยตลอดระยะที่อยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้จัดอาหารและน้ำดื่มแจกจ่ายให้อย่างเพียงพอ และควรเตรียมการให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่เด็ก สตรี และผู้สูงอายุ
๔.       ในขั้นตอนการส่งกลับควรจัดสรรอาหาร น้ำดื่ม และยารักษาโรคที่จำเป็นให้แก่ผู้หนีภัยการสู้รบในจำนวนเพียงพอสำหรับการเดินทางและการใช้ชีวิตในระยะแรก เนื่องจากผู้หนีภัยการสู้รบย่อมไม่สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติในทันที
๕.       ในระยะยาว ควรจัดตั้งคณะทำงานด้านผู้ลี้ภัยที่ประกอบด้วยภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรท้องถิ่น โดยการดำเนินการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยควรเป็นไปตามมติของคณะทำงาน
 
ขอแสดงความนับถือ
 
List of organizations and individuals (รายชื่อองค์กรและบุคคลแนบท้าย)
 
ASEAN Youth Movement
B with us (Burma with us)
Forum of Burma’s Community-Based Organizations (FCBOs)
Friends of Burma (เพื่อนพม่า)
Young Progressives for Social Democracy (ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย)
Youth Partnership for Human Rights
The Regional Center for Social Science and Sustainable Development (RCSD), Faculty of Social Science, Chiang Mai University (ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
Towards Ecological Recovery and Regional Alliance: TERRA (โครงการฟื้นฟูนิเวศในอินโดจีนและพม่า)
Thai Action Committee for Democracy in Burma (คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า: กรพ.)
Democratic Movement for Welfare State
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช ภาคเหนือ)
 
ชนรดา นราวศินชัย
ปิริญญา ยังกองแก้ว
พงศพชร  อยู่สุข
แสงวรรณ ปาลี
ศิวรัฐ หาญพานิช
เอกรินทร์ ต่วนศิริ
อารยา สุวรรณคำ
สุพัตรา ธิมาคำ
จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว          เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
ศิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์        นักศึกษาปริญญาโท โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

 
 

บทสัมภาษณ์ผู้หนีภัยการสู้รบฉบับเต็ม
 
ส่วนที่ 1: การสัมภาษณ์ไฟล์เสียง
 
การสัมภาษณ์คนที่ 1
สถานที่: หมู่บ้านวาเล่ย์
เวลา:07.00 น.
ผู้ให้สัมภาษณ์: ซอ
 
ผู้สัมภาษณ์:คุณเคยได้ยินไหมว่าคุณจะถูกส่งกลับไปวันนี้และคุณเต็มใจที่จะกลับไปไหม?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ ถ้าคนส่วนใหญ่กลับ ฉันก็จำเป็นต้องกลับไปด้วย แต่สำหรับตอนนี้ฉันไม่แน่ใจเกี่ยวกับความปลอดภัยถ้ามีการยิงขึ้นอีก ฉันไม่รู้จะไปที่ไหนอีกแล้ว
 
ผู้สัมภาษณ์: ที่ไหนที่คุณคิดว่าคุณจะไปถ้าทางการไทยไม่อนุญาตให้คุณอยู่ที่นี่อีกต่อไป?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์ : ฉันต้องหาที่ที่จะมีความปลอดภัยมากกว่านี้และซ่อน เพราะฉันไม่กล้าที่จะไปยังหมู่บ้านของฉัน ฉันรู้สึกฉันอยากจะตายจริงๆเพราะการสู้รบนี้และความยากลำบากมากมาย ถ้าทหารเห็นพวกเรา พวกเขายิงเราโดยไม่ถามอะไรเลย ในขณะที่เราวิ่งหนี เราต้องทิ้งสัมภาระทุกอย่าง
 
การสัมภาษณ์คนที่ 2
สถานที่:หมู่บ้านวาเล่ย์
เวลา:7 นาฬิกา
ผู้ให้สัมภาษณ์: นอ......
 
ผู้สัมภาษณ์: มันปลอดภัยสำหรับคุณที่จะกลับไปยังหมู่บ้านของคุณตอนนี้หรือเปล่า?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์ : ยังไม่มีความมั่นคงในหมู่บ้านของเรา ยังคงมีกองกำลังและกลุ่มทหารมากมายที่วัดวาอาราม
ถ้ามันปลอดภัย พวกเราก็จะกลับไป แต่ตอนนี้ไม่ปลอดภัย พวกเราต้องคอยหวาดกลัวกระสุนและทหาร หลังจากพวกเราได้มาที่นี้ พวกเราได้ข่าวว่า ทหารของรัฐบาลพม่า ฆ่าข่มขืนเด็กผู้หญิงสองคน
 
 
 
 
 
ส่วนที่ 2: การสัมภาษณ์โดยวิดีทัศน์
 
การสัมภาษณ์คนที่ 1
สถานที่: หมู่บ้านวาเล่ย์
เวลา:07.00 น.
ผู้ให้สัมภาษณ์:นอ…
อายุ:ประมาณ 30 ปี
ผู้สัมภาษณ์: คุณอยู่ที่ไหนและสถานการณ์ที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: ฉันอยู่ที่หมู่บ้านวาเล่ย์ฝั่งพม่า ฉันหนีมาฝั่งไทยเพราะการสู้รบ ลูกปืนครกได้ตกในหมู่บ้านเรา และชาวบ้านคนหนึ่งบาดเจ็บ เขาได้ถูกส่งไปโรงพยาบาล
 
ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมถึงหลบหนีมายังฝั่งไทย?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์ : คนจำนวนมากได้หนีไปบ้านวาเล่ย์ในฝั่งไทย เพราะเรากลัวลูกปืนครกและการสู้รบ เราได้ข่าวว่าทหารไทยยอมให้เราเข้ามาหลบภัย ฉันจึงมานี้
ครั้งสุดท้ายที่เราหนีมานี่ พวกเราได้รับอนุญาตให้อยุ่เพียงหนึ่งคืนและเราก็ถูกขอให้กลับไป แล้วเราก็อยู่ในหมู่บ้านพวกเราเพียงหนึ่งคืนและหนีมานี่อีก
 
ผู้สัมภาษณ์ : คุณเคยได้ยินไหมว่าคุณจะถูกส่งกลับไปวันนี้?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: ตอนนี้ฉันเพิ่งจะรู้ว่าพวกเราจะถูกส่งกลับหรือไม่ก็ย้ายไปอีกที่หนึ่ง
 
ผู้สัมภาษณ์ : คุณอยากจะกลับไปไหม ? ถ้ามันปลอดภัยพอสำหรับคุณที่จะกลับ ?
 
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: ฉันไม่กล้าที่จะกลับไปเพราะว่ากองกำลัง SPDC ยังคงปักหลักอยู่ที่หมู่บ้านของเรา ฉันไม่รู้ว่ามีทหาร SPDC กี่คน แต่พวกเขามีเยอะ ฉันนับไม่ได้
 
ฉันไม่กล้าที่จะกลับไป แต่ครั้งล่าสุดพวกเราถูกทหารไทยบอกว่า “ไป ไป ไป” และพวกเราก็ต้องกลับไปเพราะพวกเราก็กลัวเขาและเขาก็มีปืนอยู่ในมือ พวกเรากลับไปและคุณก็เห็นว่าเราก็ต้องกลับมาอีก ดังนั้นมันจะไม่มีความปลอดภัยเลยถ้าเรากลับไปอีก
 
 
 
การสัมภาษณ์คนที่ 2
สถานที่: หมู่บ้านวาเล่ย์
เวลา:07.00 น.
ผู้ให้สัมภาษณ์: ซอ......
อายุ:ไม่ทราบอายุ
ผู้สัมภาษณ์ : คุณอยู่ที่ไหนและสถานการณ์ที่นั้นเป็นอย่างไรบ้าง?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์:พวกเราอยู่ในหมู่บ้านวาเล่ย์พวกเราเป็นชาวนา
 
ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมถึงหลบหนีมายังฝั่งไทย?

ผู้ให้สัมภาษณ์ : เหตุผลที่เราหนีมาที่นี้เพราะว่ามีการสู้รบ มันเคยมีการสู้รบและพวกเราก็หนีมาที่นี่เช่นกัน ฉันคิดว่ามันจะมีการสู้รบอีกเพราะว่ากองกำลัง SPDC กำลังเพิ่มขึ้น และฉันคิดว่าพวกเขาอยู่ปักหลักเพื่อโจมตี มีประมาณ 2-3 พันกองกำลังของ SPDC กำลังมาและปฏิบัติการในที่ต่างๆ
 
ผู้สัมภาษณ์: คุณเคยได้ยินไหมว่าคุณจะถูกส่งกลับไปวันนี้และคุณเต็มใจที่จะกลับไปไหม?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: ฉันไม่ได้ข่าวอะไรเกี่ยวกับการส่งพวกเรากลับไปวันนี้
 
ผู้สัมภาษณ์: คุณอยากจะกลับไปไหม? ถ้ามันปลอดภัยพอสำหรับคุณที่จะกลับ ?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: ถ้าพวกเราถูกขอให้กลับไป พวกเราคงต้องขอคิด ฉันอกยากจะรอดูสถานการณ์สัก 2-3 วันแล้วค่อยกลับไป ฉันไม่กล้าที่จะกลับไปตอนนี้เพราะถ้าเราไปกลับไปตอนนี้ สถานการณ์ยังไม่มั่นคงและพวกเราก็ต้องหนีอีก
แต่ถ้าพวกเราถูกบังคับให้ออกไปจากที่นี่ เราก็คงต้องเคลื่อนย้าย ฉันไม่รู้ว่าที่ไหนที่เราควรจะไป แต่เราต้องหาที่ที่จะซ่อน
 
 
  
 
การสัมภาษณ์คนที่ 3
สถานที่ : หมู่บ้านวาเล่ย์
เวลา:07.00 น.
ผู้ให้สัมภาษณ์ : ซอ.....
อายุ:ไม่ทราบอายุ
ผู้สัมภาษณ์: คุณอยู่ที่ไหนและสถานการณ์ที่นั้นเป็นอย่างไรบ้าง
 
ผู้ให้สัมภาษณ์:ฉันอยู่ในหมู่บ้านวาเล่ย์ ฉันเป็นช่างไม้ ฉันถูกเกณฑ์ให้เป็นลูกหาบของทหาร SPDC โดยไม่ได้สมัครใจที่ Wa Li Khi และเหยียบกับระเบิดที่ Law Kaw
 
ผู้สัมภาษณ์: ทำไมถึงหลบหนีมายังฝั่งไทย?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: เหตุผลที่พวกเราหนีมานี้เพราะการสู้รบระหว่าง SPDC และ DKBA ลูกปืนใหญ่ได้ตกใกล้บ้านพวกเรา
 
ผู้สัมภาษณ์: คุณอยากจะกลับไปไหม? ถ้ามันปลอดภัยพอสำหรับคุณที่จะกลับ ?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: พวกเราไม่กล้าที่จะกลับไปตอนนี้ เพราะพวกเราไม่รู้สึกปลอดภัยในประเทศพม่า ครั้งล่าสุดหน่วยงานทหารไทยบังคับเราให้กลับไป พวกเขาไม่ให้เราอยู่ที่นี่ หลังจากการสู้รบเกิดขึ้นอีกครั้ง พวกเราก็กลับมาเป็นครั้งที่สอง พวกเราพบความยากลำบากมากมาย
 
 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น