โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เสื้อแดงขอนแก่นบุกเรือนจำให้กำลังใจ 4 ผู้ต้องขังคดีเผา ลุ้นอัยการสูงสุดชี้ขาดยกฟ้อง 17 ม.ค.

Posted: 15 Jan 2011 01:19 PM PST

เสื้อแดงขอนแก่นบุกเรือนจำ เยี่ยม 4 ผู้ต้องขังคดีเผาศาลกลาง อัยการสูงสุดชี้ขาด 17 ม.ค. สั่งยกฟ้องหรือไม่ หลังอัยการจังหวัดยกฟ้องแล้วดีเอสไอทำหนังสือค้าน ผู้ต้องขังระบุแค่ร่วมชุมนุม ญาติโอดขังลืมกว่า 7 เดือนไม่ได้ประกัน 

 

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2554 คนเสื้อแดงขอนแก่น นำโดยเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุชุมชนขอนแก่นประมาณ20คน เข้าเยี่ยมผู้ถูกกุมขังที่เรือนจำกลางขอนแก่น ซึ่งยังเหลือผู้ถูกกุมขังอีก 4 ราย ในคดีวางเพลิงสถานที่ราชการ ได้แก่ 1.นายสุทัศน์ สิงห์บัวขาว อายุ 29 ปี   2.นายอดิศัย วิบูลย์เสริฐ อายุ 52 ปี 3.นายจิรัฐตระกูล สุมะหา อายุ 52 ปี 4.นายอุดม คำมูล อายุ 45ปี
 
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า อัยการขอนแก่นมีมติเห็นพ้องว่าควรยกฟ้องและถอนฟ้องทุกกรณีรวมแล้วประมาณ 40 คนรวมถึงคดีที่ไปบุกหน้าบ้าน สส. คดีเผาสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที คดีวางเพลิงศาลากลางจังหวัด เพราะไม่มีมูลและเป็นแค่ชาวบ้านที่ไปร่วมชุมนุม อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 พ.ย. 53 ศาลสั่งยกฟ้องคดี แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีหนังสือคัดค้านบางราย จึงต้องรอให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดวันที่ 17 ม.ค.นี้
 
นางสาวสิทธิพร สุมะหา พี่สาว นายจิรัฐตระกูล ผู้ต้องขังอดีตข้าราชการ เจ้าของธุรกิจเพาะพันธุ์สุนัข กล่าวว่า เหตุที่น้องยังคงอยู่ข้างในเพราะเป็นเรื่องของการเมือง อยากให้น้องได้รับการประกันตัวตามสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่ตอนนี้เหมือนมีเจตนาขังลืม ทำให้ตนลำบากเวลามาเยี่ยมเพราะบ้านอยู่ไกลถึงมหาสารคามต้องมาที่นี่ทุกวันเพื่อให้กำลังใจน้องชาย
 
นายจิรัฐตระกูล หนึ่งในผู้ต้องขังกล่าวกับทนายความว่า เหตุที่เขาเข้าร่วมการชุมนุมเพราะเห็นทหารยิงประชาชน มีการลอบยิงเสธ.แดง ซึ่งแม้คนเหล่านั้นไม่ใช่ญาติ แต่ก็คิดว่าไม่ควรทำกับประชาชนแบบนี้ ขณะที่นายอุดมผู้ต้องขังอีกคนหนึ่งกล่าวว่า เหตุที่เข้าร่วมชุมนุมเพราะต้องการเพียงแค่ให้รัฐบาลยุบสภา เลือกตั้งใหม่
 
นายชนะ คำมูล พี่ชายนายอุดม กล่าวว่า น้องชายมีอาชีพทำนา รับจ้างทั่วไป ปกติจะไปช่วยเหลืองานต่างๆ ที่วัด ชอบช่วยเหลือคนอื่น เพื่อนๆ รักใคร่ ตอนนี้อยู่ข้างในมา 7 เดือนแล้วตนเองมาเยี่ยมประจำหากได้หยุดงาน
 
ในส่วนของ”เหมียว”แฟนสาวของนายสุทัศน์ กล่าวพร้อมน้ำตาคลอว่า ตั้งแต่นายสุทัศน์อยู่ในเรือนจำได้ 2 เดือนตนก็ออกจากงานเพื่อจะได้มาเยี่ยมให้กำลังใจทุกวันไม่เคยขาดเพราะอยากให้กำลังใจและสัญญาว่าจะรอเขาออกมาเพื่อแต่งงานกัน ทราบว่าเขาเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำที่กรุงเทพว่าอยากตาย แต่ตนก็พยายามให้กำลังใจตลอด ไม่อยากได้อะไรแล้วนอกจากอยากให้เขาออกมาโดยเร็ว อยากให้ประกันตัวออกมา

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ห้ามเด็กออกบ้าน มาตรการเป็นไข้ให้กินยาถ่าย

Posted: 15 Jan 2011 01:34 AM PST

กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น) ผุดไอเดียแก้ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากการกระทำของเด็กวัยรุ่นและเยาวชน โดยหวังแก้ปัญหาแบบตัดไฟแต่ต้นลม ด้วยการห้ามเด็กและเยาวชนที่อายุไม่ถึง 18 ปี ออกจากบ้านหลังเวลา 22.00 น. โดยไม่มีเหตุอันควร

มาตรการห้ามเด็กออกบ้าน โดยให้เหตุผลว่าที่ผ่านมาตำรวจลงพื้นที่ตรวจตามสถานที่ต่างๆ พบเด็กวัยรุ่นและเยาวชนมั่วสุม  เช่นไปซิ่งรถ ไปเล่นร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต เที่ยวสถานบันเทิง ผับ บาร์ เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นจับกุมนำตัวกลับไปที่สถานีตำรวจ ลงบันทึกพร้อมทำประวัติและเรียกให้ผู้ปกครองมารับตัวกลับบ้านจำนวนมาก หรืออาจจะมีความผิดในด้านอื่นๆ หากยังปล่อยให้เด็กและเยาวชนออกจากบ้าน เด็กเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นผู้ก่อเหตุเสียเอง 

การแก้ปัญหาเด็กแว้น เด็กแซป เด็กสก็อยตำรวจควรบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิง ผับ บาร์ ร้านอินเตอร์เน็ต ร้านอาหาร สถานที่เล่นการพนัน เส้นทางสัญจร ซึ่งมีกฎหมายเกี่ยวกับสถานประกอบการและสถานบริการที่ชัดเจนอยู่แล้ว การเลี่ยงมาออกมาตรการห้ามเด็กออกบ้านหลัง  22.00 น. เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุดและดูจะล้าหลัง อีกทั้งอาจต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่และงบประมาณจำนวนมาก 

โดยหลักการแห่ง “สิทธิ” แล้ว เด็กและเยาวชนมีสิทธิต่าง ๆ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่   

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ (The UN Convention on the Right of the Child) ซึ่งกำหนดอย่างชัดเจนว่าเด็ก ๆ ทุกคนมีสิทธิต่าง ๆ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ และยังรวมเอาสิทธิที่ชัดเจนซึ่งใช้กับมนุษย์ทุกคนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี คือ     1) การเตรียมการเติบโตและพัฒนาการโดยผ่านบริการด้านสุขภาพและการศึกษา 2) การคุ้มครองจากการถูกเอารัดเอาเปรียบและการกระทำทารุณและ 3) การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทำเพื่อ เด็ก ๆ เอง  

หลักการที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ ผู้ใหญ่ต้องคำนึง “ประโยชน์สูงสุด” สำหรับเด็ก ๆ โดยนำความคิดเห็นของเด็ก ๆ มาประกอบเพื่อพิจารณาในทุกเรื่องที่เป็นไปได้ (RWG-CL, 2548: 13-14) 

ดังนั้น โดยหลักแล้วเด็กมีเสรีภาพจะเดินทางไปไหนมาไหนก็ได้ แต่มีเพียงบางสถานเท่านั้นที่จำกัดห้ามไม่ให้เด็กเข้าไปเพราะเป็นสถานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งตำรวจต้องไปควบคุมสถานที่เหล่านั้นอย่างเข้มงวด เพราะกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว 

การห้ามเด็กออกบ้านอาจเป็นการจำกัดเสรีภาพควบคุมคนดีทั่วๆไป ให้อยู่แต่ในบ้าน แต่เด็กแว้น เด็กแซป เด็กสก็อย ที่ตั้งกลุ่มชอบความเร็ว สร้างความเดือดร้อนทางเสียงให้กับชาวบ้าน กลายเป็นแก๊งอันธพาล ยิงกัน ยกพวกตีกัน ปาหินใส่รถที่วิ่งผ่านไปมา ตำรวจควรเข้มงวดกับเด็กเหล่านี้มากกว่า เพราะเด็กเหล่านี้จะเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหายาเสพติด ปัญหาทางเพศ อุบัติเหตุ ปัญหาการพนันไปจนถึงการก่ออาชญากรรม บางแก๊งมีเป็นร้อยคนมีขาใหญ่คุม ตั้งแก๊งแข่งรถบนถนนสายใหญ่ และอาจกลายโจรกร่างกลางถนนท้ากฎหมาย 

ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่โดยไม่เกรงจะไปขัดผลประโยชน์ใคร หรือกลัวจะเข้าลักษณะลูบหน้าปะจมูกแล้วละก็ มาตรการดังที่ว่าก็ไม่ไม่เห็นมีความจำเป็นอะไร  กฎหมายที่ประกาศใช้อยู่ปัจจุบันมีอยู่ตั้งมากมาย ไหนจะกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 กฎกระทรวงกำหนดกำหนดเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด พ.ศ. 2549 ที่ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ซึ่งถือว่ามีอยู่มากมายอยู่แล้ว

พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) แถลงข่าวยืนยันว่า การออกมาตรการพิทักษ์ปกป้องเด็กและเยาวชนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลในการลดปัญหาอาชญากรรมร้อยละ 20 ภายใน 6 เดือน เป็นการดำเนินการเพื่อปกป้องและพิทักษ์เด็ก ไม่ใช่การละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนแต่อย่างใด 

พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่า หากพบว่าเด็กคนใดฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะนำตัว มาทำประวัติและเชิญผู้ปกครองมาพบเพื่อรับทราบและเป็นกระชับพื้นที่ระหว่างเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งหากผู้ปกครองของเด็กคนใด ถูกเชิญมาพบมากกว่า 1 ครั้ง แสดงว่าเป็นการยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือยินยอมโดยปริยาย ที่จะให้เด็กกระทำผิด มีโทษจำคุก 3 เดือนปรับ 2 หมื่นบาท

ทราบมาว่ามาตรการนี้ นอกจากบังคับใช้ในนครบาลแล้ว ยังมีแนวคิดขยายพื้นที่บังคับใช้ไปยังเขตปริมณฑล และอาจนำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดเขตเศรษฐกิจ ถึงตอนนั้นลองนึกภาพว่าหากบ้านใครที่มีเด็กต้องอยู่เฝ้าปู่ ตา ย่า ยายเพียงลำพัง ประเหมาะเคราะห์ร้าย หากท่านผู้สูงวัยเหล่านั้นไม่สบายหรือต้องการรับประทานอะไรสักอย่างขึ้น เด็กจำต้องออกบ้านไปซื้อหามาให้ เกิดไปถูกจับขึ้นมาจะว่ายังไง 

นี่ไม่รวมถึง เด็กดี ๆ ที่อาจกำลังกลับจากเรียนพิเศษ กลับจากบ้านเพื่อน บ้านญาติ เข้าบ้านไม่ทันก่อนเวลา 22.00 น. อาจต้องถูกจับ พ่อ แม่ ญาติ พี่น้องคงต้องเดือดร้อนวุ่นวายกันไปทั่ว 

ลองนึกดูนะครับ เด็กดีๆ ที่ต้องถูกจับขึ้นสถานีตำรวจ ต้องขวัญหนีดีฝ่อด้วยเรื่องไม่ใช่เรื่องกันก็คราวนี้แหละครับ  เด็กดีๆ ต้องขึ้นสถานีตำรวจ เรื่องเล็กน้อยซะเมื่อไหร่ 

อันที่จริงมาตรการนี้ คงมีความประสงค์ดีต่อเด็ก ต้องการควบคุมพฤติกรรมของเด็กที่ไม่ดี  เพราะจากผลการวิจัยของกรมพินิจฯ ที่ได้สืบเสาะประวัติเด็กที่กระทำผิดปีละกว่า 5 หมื่นคน พบว่าส่วนใหญ่จะมีพฤติการณ์ก่อนทำผิดเริ่มจากการคบเพื่อน ติดบุหรี่ สุรา หนีเที่ยวกลางคืนก่อนทำผิดกฎหมายจนถูกจับ อีกทั้งวัยเด็กวัยเวลาสี่ทุ่มควรพักผ่อนไม่ใช่ออกมาเที่ยวเตร่ หรือออกมาทำงาน เพราะกฎหมายห้ามเด็กอายุต่ำว่า 15 ปี ทำงาน และเด็กอายุระหว่าง 15-18 ปี จะทำได้งานบางประเภทและต้องได้รับอนุญาตจากผู้ตรวจกระทรวงแรงงาน ส่วนเด็กที่ต้องขายพวงมาลัย กรีดเก็บยาง หรือต้องออกมาทำงานรับจ้างหาเลี้ยงตัวเอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูแล 

มาตรการที่ต้องการควบคุมเด็กที่มีพฤติกรรมไม่ดี หากต้องไปกระทบสิทธิเสรีภาพของเด็กดีและผู้ปกครองอีกจำนวนมาก คุ้มกันหรือไม่ 

ตามสถิติของกระทรวงแรงงานเมื่อปี 2550 มีเด็กกว่า 104,253 คน อายุระหว่าง 15-17 ปีขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานเด็ก ตามสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2549 มีแรงงานผู้เยาว์อายุ 15-19 ปีจำนวน 1.5 ล้านคน สองในสามของจำนวนนี้ทำงานในเศรษฐกิจนอกระบบ เช่น ทำงานกับครอบครัวหรือประกอบอาชีพอิสระ หรือทำงานเป็นลูกจ้างในกิจการขนาดย่อม 

จากการสำรวจแรงงานเด็ก 2,744 คน เพื่อเตรียมจัดทำโครงการร่วมมือระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และ (International Labour Organization-ILO)รัฐบาลไทยพบว่าร้อยละ 35 เป็นเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี และร้อยละ 63 ต้องทำงานมากกว่าแปดชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีแรงงานเด็กต่างชาติอย่างน้อย 100,000 คนซึ่งทำงานใน 43 จังหวัด  เด็กเหล่านี้หลังเลิกงาน 22.00 น. บางคนก็ต้องเดินทางกลับบ้าน 

หากผู้ใหญ่ทั้งหลายห่วงใยเด็ก แทนการประกาศมาตรการห้ามเด็กออกบ้าน ผมว่าเราควรบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มงวด และควรหันมาใส่ใจเด็กอย่างจริงจัง เช่น การจ้างแรงงานเด็กห้ามใช้แรงงานเด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปีทำงานโดยเด็ดขาด ห้ามใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในกิจการบางประเภท และทำงานระหว่างเวลา 22.00 น. - 06.00 น. ทำงานวันหยุดและทำงานล่วงเวลา   ห้ามใช้แรงงานเด็กในสถานที่ เต้นรำ รำวง หรือรองเง็ง และตามที่กำหนดในกฎหมาย ให้ลูกจ้างเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี มีสิทธิลาเพื่อรับการอบรม สัมมนา ที่จัดโดยสถานศึกษา หรือหน่วยงานของรัฐ โดยได้รับค่าจ้างแต่ไม่เกิน 30 วันต่อปี 

บังคับใช้ไม่ให้ลูกจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ สถานที่เล่นการพนัน สถานเต้นรำ รำวงหรือรองเง็ง  สถานที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่าย และบริการโดยมีผู้บำเรอสำหรับปรนนิบัติลูกค้า หรือโดยมีที่สำหรับพักผ่อนหลับนอนหรือมีบริการนวดให้แก่ลูกค้า และสถานที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

รวมถึงปัญหาเด็กที่ถูกทารุณกรรมถูกล่วงเกินทางเพศถูกทำทารุณทางเพศ เด็กถูกทอดทิ้ง พลัดหลง เร่ร่อน ขอทาน ทำความผิดแต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และมีปัญหาครอบครัว ที่ต้องเร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 

หลักอนุสัญญาว่าสิทธิเด็กกำหนด ต้องให้เด็กทุกคนอยู่รอดปลอดภัย มีสุขอนามัยที่ดี เด็กต้องได้รับการพัฒนาตามวัยอันควร เด็กต้องได้รับความคุ้มครอง เด็กต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย 

การออกมาตรการห้ามเด็กออกนอกบ้าน เป็นการให้ความคุ้มครองเด็ก  แม้ไม่ถึงขั้นที่จะต้องเรียกร้องให้ถามเด็กก่อน ตามอนุสัญญาเรื่องการให้เด็กมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เพราะอย่างไรเสียยังเป็นเรื่องที่ทำได้น้อยมาก  แต่ถึงอย่างไรมาตรการนี้ก็ควรสนใจความรู้สึกของสังคมไว้บ้าง 

มาตรการการแก้ไขปัญหา และการสื่อสารมีความสำคัญมากในบริบทต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเด็ก การสร้างกลยุทธ์ในการสื่อสารที่ดีทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้รับสารซึ่งเป็นเด็กและสถาบันครอบครัว 

 ถึงแม้ภายใต้สภาวะของความเป็นจริงคงห้ามไม่ให้เกิดเด็กแว้น เด็กแซป เด็กสก็อย และปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากการกระทำของเด็กวัยรุ่นและเยาวชนได้ในเร็ววัน แต่การสื่อสารสามารถเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการต่าง ๆ ในวงจรการแก้ปัญหาที่เกิดจากเด็กและเยาวชนเพื่อบริบทในภาพรวมที่ดีขึ้น 

มาตรการนี้ อาจเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพ หรือตำรวจนอกแถว (ซึ่งอาจจะมี) บังคับจับกุมเด็กดี ๆ ที่บังเอิญออกไปทำธุระนอกบ้าน หรือมีเหตุจำเป็นบางประการเข้าบ้านไม่ทันก่อน 22.00 น. เรียกร้องหรือกระทำการบังคับข่มขู่เด็กด้วยพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อแลกกับการไม่ต้องรับโทษ 

แหม...วินิจฉัยโรคให้ดีหน่อย อย่าให้ยาแรงเกินไป นอกจากจะเป็นการเกาไม่ถูกที่คันแล้ว ยังจะเป็นการสร้างความกระอักกระอ่วนน่ารำคาญ เป็นการใช้กำลังพลและงบประมาณสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ใบตองแห้ง' ออนไลน์: เป้าหมายการเคลื่อนไหว

Posted: 14 Jan 2011 11:15 PM PST

รุ่นน้องผมที่ไม่ใช่เสื้อแดงแต่เอาใจช่วยการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย (มิกล้าเรียกว่าสองไม่เอา อิอิ) บ่นทันทีที่เจอหน้ากันวันจันทร์ว่า “เสียของ” เพราะมวลชนเสื้อแดงมาชุมนุมกันล้นหลามถึง 3 หมื่นกว่าคน แต่กลับลงเอยด้วยการโฟนอินของทักษิณ

โอเค ผมเข้าใจดีว่ามวลชนเสื้อแดงไม่ได้เจตนาจะมาฟังทักษิณโฟนอิน มีทักษิณหรือไม่มีเขาก็มา ในทางตรงข้าม น่าจะเป็นทักษิณต่างหากที่กลัวตกกระแส จนต้องต่อสายมาโฟนอิน

แต่เรื่องนี้ต้องตำหนิแกนนำ ที่ไม่มีความชัดเจนในแง่เป้าหมายของการเคลื่อนไหว การนำยังไม่เป็นเอกภาพ และยังไร้ทิศทางเช่นเคย แบบใครใคร่พูดพูด ไม่คิดว่าจะได้อานิสงส์ส่งผลดีผลเสียอย่างไร

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้ปฏิเสธทักษิณ ต้องห้ามยุ่งห้ามเกี่ยว เราไม่อาจปฏิเสธว่าทักษิณเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ต่างฝ่ายต่างต้องจัดบทบาทที่เหมาะสม ทักษิณควรอยู่ในบทบาทผู้สนับสนุน หรือเดินสายรณรงค์ต่างประเทศ ปล่อยให้เสื้อแดงเคลื่อนไหวอย่างเป็นตัวของตัวเอง ภายใต้เป้าหมายร่วมกัน ถ้ามัวแต่เลอะเทอะปนเปื้อนกันไปมาก็มีแต่ผลลบ

ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดคือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องทักษิณไม่ทักษิณ แต่มันเป็นเรื่องที่ขบวนเสื้อแดงยังไม่รู้ว่ากรูมีเป้าหมายอะไร มาชุมนุมเพื่ออะไร รู้แต่ว่านัดกันมาชุมนุม เดือนละ 2 ครั้ง

แน่นอน เราต้องแยกแยะทีละด้าน ในส่วนของมวลชน เราได้เห็นความเข้มแข็ง พร้อมเพรียง “ใจถึง” แบบกรูไม่กลัวเมริง แสดงพลังว่าพร้อมจะสู้กับ “ระบอบอภิสิทธิ์ชน” ถึงที่สุด

แต่ในส่วนของแกนนำ เห็นชัดเจนว่ายังไม่รู้เลยว่าจะนำมวลชนไปทางไหน การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งต้องการอะไร และจะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดอย่างไร

การชุมนุมครั้งหน้า 23 ม.ค.เชื่อได้ว่า มวลชนจะมาอีก และมาเยอะกว่านี้ แต่ถ้ามีความก้าวหน้าแค่ทักษิณโฟนอินในระบบ 3D ก็เสียของ เสียแรง และนานไปจะมีแต่ผลเสียมากกว่าผลดี

หลังการชุมนุมเสื้อแดง วันถัดมาก็มีสมาคมผู้ค้าราชประสงค์ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหาพื้นที่ให้ชุมนุม โดยไม่สร้างความเสียหายกับผู้ค้า (ซึ่งมีความ “ก้าวหน้า” อย่างน่าประหลาดใจ รู้จักเร่งรัดให้มี พ.ร.บ.ชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ)

ดูข่าวแล้วอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับข่าวชาวสระแก้วออกมาคัดค้าน “เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ” ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นสาขาพันธมิตรฯ แปลงร่าง จะไปประท้วงเขมรให้ปล่อย 7 คนไทยและยกเลิก MOU ปี 43

เปล่า ผมไม่ได้บอกว่าอย่ามาม็อบอีกเลย เดี๋ยวคนกรุงคนชั้นกลางเดือดร้อนแล้วจะถูกต่อต้าน แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันสะท้อนว่า ระบอบอภิสิทธิ์ชนกำลังขี่กระแสรักสงบแบบไทยๆ โดดเดี่ยวทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลืองออกไปอยู่ด้านข้าง

ภายหลังจาก “นวด” กันมา 5 ปีเศษ ระบอบอภิสิทธิ์ชนใช้รัฐประหารตุลาการภิวัตน์ ความไม่เป็นประชาธิปไตยและความยุติธรรม 2 มาตรฐาน รวมทั้ง “ลูกเสือชาวบ้านยุคใหม่” เป็นเครื่องมือ ให้ท้ายยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ยั่วยุให้เกิดการตอบโต้ด้วยอารมณ์จากเสื้อแดง ยึดอนุสาวรีย์ชัย ยึดราชประสงค์ พันธมิตรตายไปสิบกว่าศพ เสื้อแดงตายไปเกือบแปดสิบ

สุดท้าย ระบอบอภิสิทธิ์ชนก็ฉวยกระแสความเบื่อหน่าย “อยากให้จบๆ เสียที จะได้ทำมาหากิน” ของคนส่วนใหญ่ในสังคมโดยเฉพาะคนกรุงคนชั้นกลาง ถีบหัวส่งทั้ง “การเมืองใหม่ใสสะอาด” ของเสื้อเหลือง และ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ของเสื้อแดง ให้สังคมไทยจำยอมรับการเมืองเก่าเน่าโคตร และประชาธิปไตยพิกลพิการที่พวกเขามอบให้

คนกรุงคนชั้นกลางจึงไม่แยแสสนใจ ไม่ว่ารัฐบาลนี้จะบริหารงานห่วยแตกไร้ประสิทธิภาพเพียงไร ทุจริตคอรัปชั่นเพียงไร หรือเอาเงินภาษีของตัวเอง (คนชั้นกลางคิดว่าตัวเองจ่ายภาษี คนจนไม่ได้จ่าย) ไปถลุง 7 หมื่นล้านเพื่อตั้งกองพลทหารม้าที่ 3 เพราะพวกเขาคิดเพียงว่าให้บ้านเมืองสงบ แล้วจะได้ทำมาหากิน กรูเอาตัวรอดได้ ไม่ว่ามันจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็น ไม่ว่าจะทุจริตคอรัปชั่นกันอย่างไร กรูก็ทำมาหากินได้ มีความสุขกับการชอปปิ้ง เที่ยวห้าง เที่ยวเมืองปาย กอดเมืองไทย หันไปต่อสู้ดิ้นรนด้วยการส่งลูกกวดวิชา เรียนอินเตอร์ สองภาษา เรียนจบมาถ้าไม่อยากอยู่เมืองไทยก็ไปทำงานเมืองนอก

อ้อ ลืมไป เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตัวเองสามานย์ คนชั้นกลางก็จะท่องคุณธรรมจริยธรรม “รักในหลวง” อ่านหนังสือท่านพุทธทาส ท่านปยุตต์ ท่าน ว.วชิรเมธี เห่อดอกเตอร์ไฮโซที่เขียนหนังสือขายโดยเอาภาษาท่านพุทธทาสท่านปัญญามาแปลงใหม่ให้สวยๆ เห่อสำนักสงฆ์ที่ไปสร้างรีสอร์ทอยู่ในป่า แล้วตอนนี้ก็มีศัพท์ใหม่คือ “จิตสาธารณะ” ช่วยกันทำสังคมรอบตัวให้ดีขึ้น แต่ระบบสังคมช่างหัวมัน

ในสภาพเช่นนี้เราคงไม่ต้องพูดถึงพันธมิตร ซึ่งหมดอนาคตโดยสิ้นเชิงแล้ว พันธมิตรจะมีราคาก็ต่อเมื่อออกมาต่อต้านเสื้อแดง ออกมาด่าทักษิณ ถึงจะเป็นหัวข่าว แต่ถ้าพันธมิตรไล่รัฐบาล ลำเลิกบุญคุณ หรือหันไปเล่นเรื่องเขมร เรื่อง MOU ปี 43 ก็กลายเป็นหมาหัวเน่า กระบอกเสียงของคนชั้นกลางทั้งสื่อ นักวิชาการ ไม่เพียงตีจากแต่ยังทุบหัวเอา (เถ้าแก่เปลวก็ทุบไปเปรี้ยงสองเปรี้ยง เลยโดนด่า “ขายชาติ” อิอิ)

พลังที่จะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงระบบ จึงเหลือแต่มวลชนเสื้อแดง กับนักคิดนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งได้กล่าวไปแล้วว่าคนเสื้อแดงหยุดการเติบโตทางปริมาณ แต่ขยายนิวเคลียสจนเข้มข้น นั่นแปลว่า นปช.พร้อมจะระดมมวลชนเป็นแสนๆ มาปิดราชประสงค์อีกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จะเอาชนะ “กระแสสังคม” ได้อย่างไรนี่สิ เป็นปัญหา

ผมไม่ใช่ทั้งนักวิชาการนักทฤษฎีหรือนักเคลื่อนไหว มีคนเก่งกว่าผมเยอะ แต่คนอยู่วงในอาจจะ in จนบังตา จึงต้องเสนอความเห็นจากวงนอก เพื่อให้ช่วยกันขบคิด หาลู่ทาง กำหนดแนวทาง

ในแง่หนึ่ง ฝ่ายประชาธิปไตยอาจจำเป็นต้อง “รอ” ให้ระบอบอภิสิทธิ์ชนเน่าเฟะ เสื่อมทราม ไร้ประสิทธิภาพจนถึงจุดล่มสลาย ไปไม่รอด หรือสังคมเหลืออด โดยใช้การเคลื่อนไหวระหว่างนี้รักษามวลชน หล่อหลอมมวลชน ขยายมวลชนเท่าที่จะทำได้

ในอีกแง่หนึ่ง ฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องแปรการเคลื่อนไหวให้ “แสวงจุดร่วม” กับผู้คนส่วนอื่นๆ ในสังคมให้มากขึ้น พร้อมกับไปการเคลื่อนไหวในประเด็นของตน เช่น การเรียกร้องให้ประกันตัวคนเสื้อแดง การวิพากษ์วิจารณ์ความยุติธรรมสองมาตรฐาน

แสวงจุดร่วมอย่างไร ต้องช่วยกันคิด และกำหนดประเด็นการเคลื่อนไหวในแต่ละครั้ง ให้เชื่อมโยงประโยชน์สาธารณะมากขึ้น

เอ้า สมมติเช่นเวลามาม็อบ คุณก็เพิ่มเนื้อหาโจมตีรัฐบาลเรื่องสินค้าแพง ให้แม่ค้ากล้วยแขก แม่ค้าลูกชิ้นที่เป็นเสื้อแดง สลับกันขึ้นเวทีมาด่าเรื่องราคาน้ำมันปาล์มมั่ง ให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างขึ้นมาวิพากษ์นโยบายประชาวิวัฒน์ มันจะเป็นจริงได้ไงในเมื่อตำรวจตั้งด่านรีดไถมอเตอร์ไซค์แทบทุกหัวถนน ยุคทักษิณที่ว่าตำรวจมีอำนาจ ยังไม่เก็บส่วยกันมากขนาดนี้

หรือไม่ก็รู้จักด่า ปตท.มั่ง เรื่องราคาหน้าโรงกลั่น ไม่ใช่ไม่แตะเรื่องนี้เลย จนถูกกล่าวหาอยู่ซ้ำซากว่าทักษิณแอบถือหุ้น ปตท. (ตอนนี้โอกาสดี รสนาหมดมุขแล้ว ไม่ยักออกมาโวย ปตท.อีก) บางครั้งบางโอกาส ก็สามารถเอามาเป็นประเด็นเรียกร้องได้ด้วย

หรือถ้าจะมาม็อบวันที่ 23 คุณก็อาจจะกำหนดประเด็น ทวงคำมั่นรัฐบาลที่ว่าจะรีบแก้รัฐธรรมนูญแล้วยุบสภา เพราะตอนนี้เริ่มมีทีท่าว่า พวก สว.ลากตั้งกำลังจะลาออกก่อนครบวาระ เพื่อให้ตัวเองมีสิทธิ์ได้รับการสรรหาอีก จนอาจทำให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ นี่เป็นเรื่องน่าเกลียดที่ต้องประณาม เพราะเสวยอำนาจจนอยากงอกราก ทอดทิ้งหน้าที่ เพียงเพื่อให้ตัวเองมีสิทธิลากตั้งอีกครั้ง

อันที่จริงควรจะฉวยโอกาสนี้ เคลื่อนไหวต่อต้าน สว.จากการลากตั้ง ถ้าทำได้ก็ไปให้ถึงการเข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญ ให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ถ้าไปไม่ถึงอย่างน้อยก็ทำให้การสรรหาโดยตุลาการอำมาตย์ กลายเป็นเรื่องเน่าเหม็นไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ถามว่าเรื่องนี้มีจุดร่วมกับคนที่ไม่ใช่เสื้อแดงไหม มีสิ เพราะถ้าเลือกตั้ง ก็ได้ สว.เพิ่มทั้งคนกรุงเทพฯ คนอีสาน คนเหนือ คนใต้ และเป็นชัยชนะของ “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ในขั้นหนึ่ง

การคิดประเด็นเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับผลประโยชน์สาธารณะไปพร้อมๆ กัน เป็นภารกิจที่ผู้นำการเคลื่อนไหวต้องใช้สติปัญญามากกว่าการนำเย้วๆ แล้วก็ต้องระดมสมอง มีฐานข้อมูล มีนโยบาย มีแนวคิดทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ไม่ใช่คิดแต่เอาคนมาให้มากๆ เพราะแม้คนมากจะสามารถ “คุกคาม” หรือ “เขย่า” อภิสิทธิ์ชน แต่ในเชิงคุณภาพยังไม่สามารถนำไปสู่ชัยชนะ

เว้นแต่จะคิดเอาม็อบมาสู้แตกหักแบบครั้งที่แล้วอีก

ผมชื่นชมข้อเขียนล่าสุดของ อ.ใจ “ข้อถกเถียงที่สร้างสรรค์ในขบวนการเสื้อแดง” คือถึงเวลาที่จะต้องถกเถียงกันเพื่อกำหนดแนวทางอย่างมีวุฒิภาวะ กำหนดเป้าหมายอุดมการณ์ปฏิรูปประชาธิปไตยว่าจะทำอย่างไร เสนอให้ชัดเจนว่า ต้องการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างไร ปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาล และองค์กรอิสระ อย่างไร เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจว่านี่คืออุดมการณ์ที่จะปฏิรูปสังคมไทยไปสู่คุณภาพใหม่ และไม่ “เลยธง” อย่างที่คนบางส่วนเกรงกลัว

เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้วก็ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธี ซึ่งถ้ามองว่า “ชัยชนะ” คือการปฏิรูปประชาธิปไตยให้สำเร็จ โดยดึงหลายฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่ชัยชนะของเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทย ยุทธศาสตร์ก็จะไม่ใช่การแตกหัก แต่ก็ไม่ใช่การประนีประนอม หากเป็นการใช้พล้งมวลชน พลังสาธารณชน ปิดล้อมกดดันไปสู่การเปลี่ยนแปลง

มันอาจจะไม่สะใจเสื้อแดงบางส่วน แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงและความเป็นไปได้

 

                                                                                    ใบตองแห้ง

                                                                                    15 ม.ค.54

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น