โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นักข่าวพลเมือง: ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว "โรงไฟฟ้าหนองแซง" ชี้ไม่ใช้เหตุฉุกเฉิน

Posted: 19 Jan 2011 12:41 PM PST

ศาลยกคำร้องชาวบ้านหนองแซง-ภาชี ขอไต่สวนคุ้มครองฉุกเฉิน ระงับก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง ไม่ปฏิบัติตาม EIA – ขัดร่างผังเมือง

 
 
 
วันที่ 18 มกราคม 2554 เวลา 10.30 น. ชาวบ้าน อ.หนองแซง จ.สระบุรี และ อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ในนาม “เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรม” ประมาณ 20 คน  เดินทางมายังศาลปกครองกลางเพื่อยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน  ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการดำเนินการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ในพื้นที่ อ.หนองแซงและอ.ภาชี ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีที่ชาวบ้านยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐละเลยล่าช้าในการประกาศใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรี และคดีฟ้องขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานโรงไฟฟ้าหนองแซงที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
 
เหตุความจำเป็นในการขอไต่สวนฉุกเฉิน สืบเนื่องจากระหว่างวันที่ 10-14 มกราคม ที่ผ่านมา บริษัทเพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง ได้เริ่มเข้าดำเนินการปรับพื้นที่เตรียมก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยมีการขนย้ายรถแบ็คโฮ เครื่องจักร พร้อมคนงานกว่า 200 คนเข้ามาในพื้นที่โครงการและทำการตัดโค่นตัดไม้ไปบางส่วนแล้ว ซึ่งกลุ่มชาวบ้านผู้คัดค้านโรงไฟฟ้า เห็นว่า บริษัทฯ ดำเนินการไปโดยฝ่าฝืนต่อเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันผลกระทบที่กำหนดไว้ในรายงาน EIA ทั้งการนำแผงเหล็กมาปิดกั้นเส้นทางสาธารณะ และการตัดโค่นต้นไม้ที่อยู่อาศัยของนกปากห่างในช่วงฤดูผสมพันธุ์วางไข่ 
 
ดังนั้น หากปล่อยให้บริษัทฯ เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่อไปได้เรื่อยๆ ในระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษา นอกจากจะขัดต่อร่างผังเมืองรวมจังหวัดสระบุรีที่กำหนดให้พื้นที่อำเภอหนองแซงเป็นเขตอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมห้ามก่อสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว ยังอาจทำให้ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชนที่เคยสงบสุข ต้องถูกทำลายไปอย่างยากที่จะเยียวยาให้กลับฟื้นคืนดีดังเดิม
 
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากศาลทำการไต่สวนรับฟังข้อเท็จจริงและเหตุผลในการขอคุ้มครองชั่วคราวโดยฉุกเฉินจากชาวบ้านผู้ฟ้องคดีและทีมทนายความแล้ว ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่เข้าลักษณะเหตุฉุกเฉิน 
 
ทั้งนี้ การยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินในทั้งสองคดี ไม่เป็นการตัดสิทธิชาวบ้านผู้ฟ้องคดีในการยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินโดยอ้างเหตุฉุกเฉินเข้ามาใหม่  และไม่กระทบต่อคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งและการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีได้ยื่นไว้ต่อศาลพร้อมกับคำฟ้อง ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล 
 
ชาวบ้านผู้ฟ้องคดีรายหนึ่งกล่าวว่า “เราไม่มีที่พึ่งอื่นแล้ว เราหวังว่าศาลจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของเรา” ท่ามกลางความหวังของชาวบ้านและชุมชนที่กำลังถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นพวกขัดขวางความเจริญ
 
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซง เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ขนาดกำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และเป็นหนึ่งในโครงการที่ชนะการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (IPP) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งยังมีข้อโต้แย้งเรื่องการคาดการณ์ปริมาณความต้องการไฟฟ้าสูงเกินความเป็นจริง
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เอกาลิเต้ : ร้านหนังสือ “พื้นที่ใหม่” ในเมืองลำปาง

Posted: 19 Jan 2011 12:22 PM PST

คุยกับคนทำร้าน ‘เอกาลิเต้’ ร้านหนังสือแห่งเมืองลำปาง ที่มีแนวคิดเป็น “พื้นที่กลาง” ระหว่างผู้อ่าน นักเขียน และคนทำหนังสือ และเป็น “พื้นที่เปิด” ให้ทุกคนเข้ามาเลือกสรรสิ่งที่อยากรู้และหยิบไป

 
 
20101231_egalite_001
ร้านหนังสือ “เอกาลิเต้” ในอาคารเก่าสร้างเมื่อปี 2474 ตั้งอยู่บนถนนทิพย์ช้างตัดกับถนนไปรษณีย์

20101231_egalite_002
สติ๊กเกอร์ที่กระจกหน้าร้าน กับสโลแกน “คนอ่าน คนเขียน เราเท่าเทียมกัน”

20101231_egalite_003
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์ (วอร์ม)

20101231_egalite_004
เกรียงไกร เกิดศิริ (กอล์ฟ)

20101231_egalite_005
บรรยากาศในร้าน “เอกาลิเต้”

20101231_egalite_006
ในร้านมีการจัดแสดงนิทรรศการ “โปสการ์ด” กิจกรรมร่วมสนุกด้วยการส่งโปสการ์ดมายังร้าน โดยแฟนเพจในเฟซบุคของร้าน โดยมีการส่งโปสการ์ดมาจากหลายเมืองในประเทศไทย และหลายเมืองทั่วโลก
 
 
เมื่อพูดถึงลำปาง ผู้อ่านอาจจะนึกไปถึงชามตราไก่ วัดวาอารามที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ หรือไม่ก็รถม้าโดยสารที่เป็นเอกลักษณ์ จะมีใครรู้ล่ะว่ามีชายหนุ่ม 2 คนผู้มีความฝัน ที่เคยคลุกคลีอยู่ในวงการวิชาการและงานเกี่ยวกับหนังสือมาเปิดร้านหนังสือที่มี “สไตล์” ของตนเองในเมืองนี้
 
เราเดินทางตามแผนที่ตัวเมืองลำปางไปจนถึงถนนไปรษณีย์ ตัดกับ ถนนทิพย์ช้าง แลเห็นอาคาร “เสาจินดารัตน์” ที่มีลักษณะเก่าแก่ ยอดอาคารมีอักษรสลักว่า “พ.ศ.2474” ที่บ่งบอกถึงอายุขัย ขณะที่ชั้นล่างสุดเป็นร้านติดกระจกขนาด 2 คูหา มีหนังสือ โปสการ์ด และสินค้าอีกจำนวนหนึ่งวางเรียงราย กระจกหน้าใต้สัญลักษณ์และชื่อร้านมีสโลแกนเขียนว่า “คนอ่าน คนเขียน เราเท่าเทียมกัน”
 
เรามีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของร้านทั้ง 2 ท่านภายในร้าน แกล้มบรรยากาศที่มีเพลงบรรเลงคลอเบาๆ และกาแฟมอคค่าเย็น กับกองหนังสืออีกบางส่วนซึ่งกำลังจะจัดขึ้นชั้นหนังสือ ก่อนวันติดริบบิ้นเปิดร้าน 1 วัน 
 
 
ร้านหนังสือของท้องถิ่นลำปาง
 
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัลย์ หรือ “วอร์ม” เป็นคนลำปางโดยกำเนิด เขาร่วมหุ้นกับ เกรียงไกร เกิดศิริ หรือ “กอล์ฟ” ชาวประจวบคีรีขันธ์ ผู้ที่ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งสองได้มาพบเจอกันขณะที่กอล์ฟมาทำงานวิจัยสถาปัตยกรรมวัดปงสนุกที่ลำปาง 
 
“พวกเรามีงานวิจัยที่คาบเกี่ยวกันอยู่ พี่วอร์มแกทำงานวิจัยเรื่องเมืองในโครงการชีวิตสาธารณะ ผมเข้ามาทำเรื่องอนุรักษ์” เกรียงไกรกล่าว
 
วอร์ม มีอาคารเก่าซึ่งบรรพบุรุษเป็นเจ้าของก่อนตกทอดมาสู่รุ่นของเขา จึงคิดว่าอยากจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนี้เปลี่ยนให้เป็นร้านหนังสือเพราะอยากเป็นพื้นที่ของความรู้สำหรับคนในท้องถิ่น
“คือผมเป็นคนลำปาง อยากสร้างพื้นที่ตรงนี้ รู้สึกตะหงิดๆ ทุกทีที่มีคนบอกว่า เฮ้ย! ลำปางไม่น่าอยู่เลย บอกว่าอยากไปอยู่เชียงใหม่ อยากไปอยู่ปาย แล้วทำไมเราไม่อยากจะสร้างพื้นที่ของเราเอง”
 
 
ในความหมายของ "พื้นที่"
 
ร้านหนังสือเล็กๆ ที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่ใช่เรื่องใหม่โดยเฉพาะกับเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ที่มีร้านหนังสือเดินทาง ร้านก็องดิด หรือในเชียงใหม่ก็มีร้าน ‘เล่า’ ขณะเดียวกันก็มีความน่าสนใจเรื่องรูปแบบธุรกิจของร้านว่าต้องอาศัยแบบแผนลักษณะเดียวกันหรือไม่ 
กอล์ฟบอกว่าเขาวางแผนจะให้นักศึกษาใช้ร้านหนังสือเป็นที่ทำงาน พร้อมๆ กับดูแลร้านแบบพาร์ทไทม์  “เหมือนกับสมัยที่ผมทำงานร้านหนังสือเดินทาง คือร้านหนังสือมันจะเงียบ จะมีลูกค้าแต่ช่วงเย็นๆ ช่วงกลางวันหลังจากเตรียมอะไรเสร็จมันก็จะเงียบๆ เหมาะจะนั่งอ่านหนังสือ” 
 
“อย่างเช่นนักศึกษา ป.โท ศิลปากรพอเขาเข้าไปทำงานอยู่ในระบบออฟฟิศ เขาก็จะไม่มีเวลาให้กับการเรียน เพราะต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย แต่พอเรามีพื้นที่อย่างนี้ให้เขาทำงานพิเศษกันเองมันทำให้เขาไม่ต้องไปทำงานในระบบออฟฟิศ พวกเขาก็จะจัดการพื้นที่กันเอง แบ่งงานกันเอง” กอล์ฟกล่าว
 
เมื่อพูดถึงการที่ให้พนักงานจัดการร้านกันเอง กอล์ฟก็อธิบายเพิ่มเติมว่า คนเฝ้าร้านแต่ละคนก็เสมือนเป็นเจ้าของร้านของตัวเองในแต่ละวัน รวมถึงบุคลิกอย่างเช่นการชงกาแฟก็จะมีรสชาติเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน แต่ผู้ที่จะเข้ามาช่วยงานร้านควรจะมีคุณสมบัติบางอย่างด้วยเช่นกัน “จะต้องเป็นคนที่รักหนังสือ รักความเงียบ แต่ก็ต้องยินดีที่จะพูดคุยเวลาคนเข้ามา คล้าย ๆ ต้องจัดการทั้ง 2 บุคลิกของตัวเอง เพราะร้านหนังสือมันก็มีช่วงเวลาเงียบๆ ที่ต้องอยู่กับตัวเองให้ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักหนังสือ”
 
“...เพราะคาแรกเตอร์ของร้านขนาดเล็ก คนที่เข้ามาในร้านเหมือนเป็นเพื่อนฝูงกัน ไม่เหมือนร้านหนังสือใหญ่ๆ ที่หนังสือมันจะจมเข้าไปในทะเลหนังสือหมดเลย” กอล์ฟกล่าว “เราก็เลยพยายามจะคัดหนังสือที่คิดว่ามันไม่มีพื้นที่ในร้านขนาดใหญ่มาด้วยเพราะสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เขาจะจับจองพื้นที่ในร้านใหญ่ๆ ได้ทั้งหมด”
 
กอล์ฟยังได้กล่าวถึงการที่ตนได้เรียนรู้ระบบของสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้พบว่า "สมมุติว่าเขาเป็นสายส่งเองแล้วเขามีหน้าร้านหนังสือของตัวเอง ถ้าเราไปฝากเขาขายหนังสือของเราก็จะไปอยู่ไกล ๆ หนังสือที่อยู่ในชั้นวางด้านหน้าก็จะเป็นหนังสือของสายส่งหรือสำนักพิมพ์เขาเอง" 
 
“เราก็เลยคิดว่าหนังสือเล็กๆ ของคนตัวเล็กๆ ที่เขามีกัน มันไม่ค่อยได้มีพื้นที่หน้าร้าน เราก็เลยทำร้านขึ้นมาด้วย ส่วนหนึ่งเพื่อให้หนังสือมันมีความหลากหลายมากขึ้น ที่พี่วอร์มแกตั้งชื่อว่า 'เอกาลิเต้' (Egalite) ที่แปลว่าเท่าเทียมกัน ในส่วนหนึ่งก็มองว่าหนังสือมันเป็นความรู้ ก็อยากให้ทุกคนได้อ่านหนังสือ แล้วหนังสือมันก็มีหลากหลายแนว” กอล์ฟกล่าว
 
“ก็อยากลองพิสูจน์ดูว่าจะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองหรือเปล่า อย่างน้อยหนังสือนี้ ไม่ใช่รายได้ทั้งหมดของร้านอยู่แล้ว รายได้ส่วนใหญ่ที่มาน่าจะมาจากขายเครื่องดื่ม เดี๋ยวจะมีขายของว่างเพิ่มมา” วอร์ม กล่าว
 
กอล์ฟเสริมว่า ร้านกาแฟกับร้านหนังสือมันก็เป็นของคู่กัน “บุคลิกของเครื่องดื่มมันไม่ได้ขัดกับความเป็นร้านหนังสือ แต่คราวนี้เครื่องดื่มต้องมาช่วยเลี้ยงร้าน เพราะส่วนต่างที่เราได้รับจากการขายหนังสือมันน้อยมาก”
 
ลักษณะของร้านหนังสือเล็กๆ จึงไม่ใช่แค่เพียงการซื้อมาขายไปของหนังสือ แต่ยังเป็นพื้นที่เสวนาแลกเปลี่ยน เป็นสภากาแฟของคนรู้ใจ เป็นพื้นที่ทำงาน-อ่านหนังสือของนักศึกษา และมีความหมายอื่นๆ เสริมตามบริบททางพื้นที่และเวลาของมัน
 
 
จากคนรักหนังสือ คนทำหนังสือ มาเป็นร้านหนังสือ
 
กอล์ฟ เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับหนังสือมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก เนื่องจากเขามีแม่เป็นครู และครูก็ต้องมีภาระดูแลนักเรียนตั้งแต่เช้ายันเย็น เวลาเขาจะไปรอแม่ก็ต้องไปรอที่ห้องสมุดตั้งแต่สมัยประถม เนื่องจากสุขภาพไม่ค่อยดี เป็นโรคหอบ ทำให้ต้องอยู่กับหนังสือมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เขาก็เริ่มต้นเข้าเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เรียนอยู่ 1 ปีแล้วรู้สึกไม่สนุกจึงมาเรียนในสาขาอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ภูมิศาสตร์
 
เมื่อช่วงราวเกือบ 10 ปีที่แล้วซึ่งเป็นยุคที่หนังสือทำมือกำลังบูม ตัวกอล์ฟเองก็มีโอกาสร่วมยุคสมัย จากการที่เป็นคนทำหนังสือทำมือคนหนึ่ง “ตอนนั้นเป็นช่วงที่เรากำลังเรียน มันมีพื้นที่ใหม่ๆ ออกมามาก มีพื้นที่สาธารณะที่ให้คนเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่มากขึ้น”
 
“ตอนนั้นมีรุ่นพี่ที่สนิทอยู่ในหอเดียวกัน เรียนคณะเดียวกันมาแล้วก็มาเรียนอักษรฯ ด้วยกันต่อ ซึ่งตอนนี้เขาก็เป็นอาจารย์สอนปรัชญาอยู่ที่ศิลปากร ชอบอ่านหนังสือเหมือนกัน เลยชวนกันทำแล้วก็มีประเด็นหลายประเด็นในมหาวิทยาลัยที่มันน่าสนใจแต่ถูกมองข้าม ถูกทำให้ลืม เช่นประเด็นเรื่องรับน้อง เราก็รู้สึกอยากจะตั้งคำถามแล้วพอตั้งคำถามแล้วก็อยากจะผลิตมันออกมา ก็ได้เริ่มเรียนรู้การจัดอาร์ตเวิร์ก ทำให้ได้ความรู้มาทำสำนักพิมพ์อุษาคเนย์...”
 
กอล์ฟ กล่าวถึง “สำนักพิมพ์อุษาคเนย์” ว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือเกี่ยวกันศิลปะ สถาปัตยกรรม ซึ่งเขาทำอาร์ตเวิร์กเอง จากนั้นจึงนำ “พุกาม: การก่อรูปของสถาปัตยกรรมจากก้อนอิฐแห่งศรัทธา” หนังสือปกแข็งเล่มใหญ่ที่เกี่ยวกับการวิจัยในพุกามออกมาให้ดู และพูดคุยเรื่องวัด เจดีย์ กับผู้สื่อข่าวอีกคนที่สนใจอย่างออกรส ก่อนที่เขาจะพูดคุยเรื่องหนังสือทำมือต่อ
 
“ตอนนั้นผมใช้วิธีการระดมทุน มีการถ่ายเอกสารออกมาก่อน แล้วจึงมีสปอนเซอร์ที่เป็นกลุ่มเพื่อนด้วยกันเอง เผยแพร่ด้วยการไปตั้งไว้หน้าห้องเรียนให้หยิบ ใครหยิบก็ใส่เงินไว้ให้สำรองไว้พิมพ์เล่มหน้า มีการเผยแพร่ไปในวงกว้างเหมือนกัน แล้วอีกอย่างเราก็มีต้นฉบับวางไว้ร้านถ่ายเอกสาร ใครจะถ่ายเอกสารเอาไปอ่านก็เอาไป แม้เรามีทุนจำกัดแต่เราก็อยากเผยแพร่ความคิด” กอล์ฟเล่า
 
เมื่อถามถึงช่องทางเรื่องหนังสือทำมือในปัจจุบันที่ซบเซาลงไปมากกอล์ฟก็พูดถึงลักษณะการจัดพิมพ์แบบปรินท์ ออน ดีมานด์ คือการพิมพ์ตามจำนวนที่มีคนสั่งไว้ ซึ่งอาจจะมีเพียง 10-20 เล่ม 
 
 
ทำไมต้องร้านหนังสือเล็กๆ
 
จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่างหนังสือทำมือ บวกกับชั่วโมงบินทั้งจากงานสำนักพิมพ์และช่วยงานในร้านหนังสือ กลายมาเป็นหนึ่งแรงที่ช่วยสร้างร้านหนังสือเล็ก ๆ อีกแห่งขึ้นมา “ถามว่าทำไมถึงทำร้านหนังสือเล็กๆ คือในวงจรธุรกิจหนังสือมันก็มีหลายส่วน ทั้งคนทำร้านหนังสือ สายส่ง สำนักพิมพ์ ผู้เขียน สัก 4-5 กลุ่มหลัก ร้านหนังสือเป็นส่วนที่อยู่ปลายน้ำที่สุด คือเป็นสื่อกลางระหว่างส่วนอื่นๆ กับผู้อ่าน ก็เลยพยายามหาพื้นที่ในแบบที่ร้านขนาดใหญ่ไม่มี”
กอล์ฟสารภาพถึงแรงบันดาลใจอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาเลือกเส้นทางตรงนี้ว่ามาจากภาพยนตร์โรแมนติกอย่าง Notting Hill “อิทธิพลจากตอนที่เราตั้งแต่เด็กๆ รวมถึงการได้ทำหนังสือทำมือก็มีผลกับวิธีคิดเรา อีกอย่างหนึ่งคือการได้ดูหนังเรื่อง Notting Hill เป็นหนังที่มีร้านหนังสือขนาดเล็กอยู่ในชุมชน มันก็มีอิทธิพลกับเราเหมือนกันในแง่หนึ่งที่ว่าเราอยากให้ในชุมชนเล็กๆ อาจจะเป็นพื้นที่ในชุมชนเมือง มันมีพื้นที่ที่คนจะเข้ามาเลือกหยิบหนังสืออยากที่อยากจะอ่านได้...เราอยากให้เป็นอย่างนั้น”
 
วอร์มก็แสดงความรู้สึกต่อเรื่อง Notting Hill ในแบบเดียวกัน “ผมเองก็รู้สึกว่าทำไมแต่ละชุมชน ก็มีร้านหนังสือของมัน ทำไมมันมีธุรกิจที่หลากหลาย มันทำเพื่อคนตรงนี้ในพื้นที่ มีร้านต่างๆ ในชุมชนของเราเอง มีให้มันครบทุกรูปแบบ” 
 
“แล้วพอดีพี่วอร์มเขาก็มีตึกเก่าอยู่ เราก็ได้มาใช้ ส่วนหนึ่งเราก็ทำเรื่องอนุรักษ์อาคาร อนุรักษ์เมือง พื้นที่สาธารณะด้วย ทั้งหมดนี้มันก็หล่อหลอมให้เกิดก้อนความคิดก้อนหนึ่งว่าอะไรที่เราจะทำได้ แล้วมันก็เป็นเหมือนธุรกิจด้วย เป็นอาชีพที่มันไม่ได้เอาเปรียบคนอื่น ไม่ได้เอาเปรียบสังคม แล้วมันยังเป็นพื้นที่สื่อกลางด้วย ให้เขาได้อ่านก่อน แล้วถึงจะเลือกสิ่งที่ดีสำหรับเขาไป” กอล์ฟเล่าต่อ
 
“อีกอย่างหนึ่งผมเคยเป็นอาจารย์สอนหนังสือ สิ่งที่อยากทำก็จะเป็น ไม่ให้ขัดแย้งกับสิ่งที่เราเป็น” กอล์ฟกล่าว “มันหล่อหลอมเรามา กระบวนความคิดของเรา มันทำให้เราต้องไปทำงาน ต้องเดินทางไปนู่นไปนี่ มันกลายมาเป็นสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้”
 
กอล์ฟบอกว่า เขาจะคอยดูแลในช่วงแรกๆ ก่อนจนกระทั่งทางร้านลงตัวจะเปิดให้ผู้ช่วย เข้ามาทำ โดยอาจถึงขั้นต้องเดินทางกลับมาช่วงเสาร์-อาทิตย์ “ถ้ามันกลายเป็นเรื่องที่ทำให้เราเหนื่อย กลายเป็นเรื่องที่เราไม่ชอบ เราไม่รัก มันจะกลายเป็นภาระ แต่ตรงนี้มันก็สนุกอีกแบบ”
 
กอล์ฟพูดถึงประสบการณ์จากการเป็นผู้ช่วยดูแลร้านหนังสือเดินทาง ว่ามันเป็นพื้นที่ที่คนเป็นคอหนังสือจะได้มาพบปะสังสรรค์กัน 
 
“ตอนแรกเดิมทีพี่หนุ่ม (อำนาจ รัตนมณี) เจ้าของร้านจะปิดร้านนี้ แต่มันก็เป็นร้านที่ผมกับพี่หนุ่มและน้องคนอื่นๆ มีส่วนร่วมกันมา ก็ทำร้านกันมานาน 5-6 ปี ก็จะต้องพักเบรกช่วงหนึ่งแล้วจะปิดร้าน ตัวผมอยู่ศิลปากร อยู่ตรงแถวเกาะรัตนโกสินทร์ สมัยนั้นเดินผ่านข้าวสารจะไม่เจอร้านแบบนี้ เลยกลัวว่าร้านแบบนี้จะหายไป พื้นที่เรียนรู้ก็จะหายไปอีกที่หนึ่ง พื้นที่ที่จะไปเจอคนใหม่ได้ ไปเจอเพื่อนใหม่ ไปเจอคนชอบอ่านด้วยกัน เพราะบางทีเราก็เหนื่อยเหมือนกันในการจะคุยกับคนอื่น แต่ถ้าได้คุยกับคนในร้านหนังสือด้วยกัน มันก็อีกแบบหนึ่ง มันก็เห็นมุมที่เห็นคนอ่านหนังสือแบบเดียวกับเรา แล้วก็ชวนกันคุยได้ต่อ เราเลยอาสาเขาไปช่วยรันร้านหนังสือนั้นให้อยู่ให้ได้ แต่ผมทำงานประจำเลยไปทำเองก็ไม่ได้ เลยนึกถึงโมเดลให้นักศึกษามาทำงานพิเศษ”
 
 
สื่อออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยโปรโมทร้าน
 
หลายคนคงเคยผ่านหูผ่านตาร้านนี้บ้างแล้วจากการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์อย่าง Facebook (http://www.facebook.com/egalite.bookshop) รวมถึงเว็บบล็อก Exteen (http://egalite.exteen.com/) ซึ่งมีภาพตั้งแต่กระบวนการทำงาน การจัดร้าน มาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 มาจนถึงช่วงเปิดร้านในปัจจุบันพื้นที่โฆษณาออนไลน์ยังคงใช้ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรม รวมถึงเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ของตัวร้านที่แสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์กับผู้มาเยี่ยมชม 
 
“การก่อรูปของร้านมันมาหลายทาง หนึ่งคือ ทางกายภาพ กับอีกทางหนึ่งคือการเกิดขึ้นของเฟสบุ๊ค” วอร์มแซวว่า ถ้าให้เขียนกิตติกรรมประกาศ คงต้องมีเขียนขอบคุณ มาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก “เพราะว่าหลายคนมากรู้จักร้านจากเฟสบุ๊ค แล้วหลายคนมากที่ไม่รู้มาก่อนเลยว่าลำปางคืออะไร ไม่เคยมาลำปางเลย บางคนบอกอยากจะมาลำปางครั้งแรกเพราะร้านนี้ อันนี้ดีใจมาก”
 
“ร้านมันเกิดขึ้นในจังหวะที่เหมาะสม มีหุ้นส่วนที่เข้าใจกัน มีสภาพสังคมเศรษฐกิจที่ดีในระดับหนึ่ง” วอร์มกล่าว “มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเปิดร้านแบบนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ร้านรูปแบบที่ให้คนมากินกาแฟ มาอ่านหนังสือ ยังไม่มีใครรู้จักฟิลล์นี้ แต่ลำปางมันผ่านประสบการณ์ที่มีคนมาใช้สเปซแบบสาธารณะเยอะแล้ว”
 
วอร์มกลับมาพูดถึงเรื่อง “พื้นที่” ว่านอกจากเฟสบุ๊คแล้วก็จะมีเรื่องของ “โปสการ์ด” มีแผนการจัดนิทรรศการโปสการ์ดโดยจะมีส่งมาทั้งจากทางเฟสบุ๊คและจากทางคนที่รู้จักด้วย “ส่งมาจากทุกทวีปทั่วโลกยกเว้นแอฟริกา ที่ส่งมาแล้วมีทั้งจากฝรั่งเศส ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แล้วก็มีจากจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาค ทั้งจากนครศรีธรรมราช, ภูเก็ต, มหาสารคาม, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, กรุงเทพมหานคร ฯลฯ” 
 
“ส่วนหนึ่งมันก็เกิดจากเฟสบุ๊คด้วยที่มันสานให้คนเข้ามาใกล้กันมากขึ้น” วอร์มกล่าว “ขณะเดียวกันร้านเรามันก็กลายเป็นหมุดหมายอะไรบางอย่างของคนที่มีความรู้สึกใกล้ๆ กัน เช่นที่กอล์ฟบอกว่าคนที่มาร้านหนังสือมันก็มีเคมีบางอย่างที่มันเข้าถึงเรื่องแบบนี้”
 
วอร์มพูดถึงกระบวนการเริ่มจัดร้านว่า ร้านของพวกเขามีข้อดีตรงเป็นร้านกระจก พอระบบไฟเสร็จ ก็มีการเปิดหน้าร้าน คนที่ผ่านไปมาก็จะสงสัยว่าเป็นร้านอะไรเพราะในช่วงแรกๆ ขณะกำลังจัดร้านยังดูโล่งๆ “คนก็จะคิดว่าเป็นร้านเหล้าบ้าง ร้านอะไรบ้าง คนเขาจะคุ้นเคยกับสเปซ (พื้นที่) ที่คิดว่าไม่น่าจะเป็นร้านอย่างอื่นได้ พอหลังจากนั้นจึงเริ่มมีหนังสือจัดวางในร้าน ก็มีคนมาซื้อบ้าง จึงค่อนข้างอุ่นใจว่าร้านจะอยู่ได้”
 
หลังจากที่มีของเข้ามาในร้านมากขึ้น วอร์มบอกว่ามีกลุ่มลูกค้าเข้ามาในร้านหลากหลายมากขึ้น ซึ่งรวมถึงกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง “ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของร้านเราคืออยู่ติดกับถนนคนเดินทุกวันอาทิตย์ ก็จะมีคนทุกประเภทมาเดิน แต่ตรงนี้จะเป็นต้นทาง...” อย่างไรก็ตามวอร์มคิดว่ากลุ่มลูกค้าที่เป็นกลุ่มนักศึกษาธรรมศาสตร์น่าจะเยอะกว่ากลุ่มอื่นและพวกเขาคาดการณ์ในเรื่องนี้ไว้แล้ว
 
“หรือบางทีก็มีนักศึกษาแพทย์จากที่อื่นที่มาฝึกงานที่โรงพยาบาลลำปาง เขาก็มาดูร้าน พอเห็นว่ามีกาแฟขายเขาก็มาสั่งกาแฟแล้วเอางานมาทำ ซึ่งเราคาดหวังอยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างนั้น แล้วพอคนอื่นเห็นคนนั่งอยู่ก็กล้าที่จะเข้ามาด้วย” วอร์มเล่าให้ฟัง
 
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือเวลาเปิดร้าน “ตรงข้างๆ นี้เป็นร้านยำ ร้านขายลูกชิ้น เปิดตั้งแต่ 4 โมงถึง 5 ทุ่ม-เที่ยงคืน ตรงข้ามนี้ก็เป็นร้านขายยา ก็จะมีคนมาซื้อของตั้งแต่ 7 โมงเช้า ทำให้คนเห็นร้านนี้ผ่านตา เริ่มรับรู้ เช่นนักศึกษาธรรมศาสตร์บางคนมาซื้อยาแล้วเห็นร้านก็เลยแวะมา”
 
“ฉะนั้นในฐานะที่เป็นสเปซ เป็นพื้นที่กลางก็ถือว่าพอใจในระดับหนึ่ง”
 
 
หากเปรียบร้าน 'เอกาลิเต้' เป็นหนังสือ ก็จะเป็นหนังสือเรื่อง 'สัญญาประชาคม'
 
ที่กระจกหน้าร้านนี้มีคำขวัญที่หยิบยืมมาจากหลัก 6 ประการของคณะราษฎร คือ “เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา” และมีข้อหนึ่งที่เป็นตัวเน้นอยู่ตรงกระจกหน้าร้าน ก็คือหนึ่งในคำขวัญข้อ “เสมอภาค” 
 
วอร์มอธิบายในจุดนี้ว่า ในมุมแรก คือการที่คนเรามีบุคลิกทางการเมืองในคนละแบบ แต่ต้องหาทางอยู่ร่วมกันได้ “คนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองมันไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ ผมเชื่อว่าอุดมคติเรื่องการเคารพในความเป็นมนุษย์ผมถือว่ามันต้องมีคอนเซปท์ ต้องมีอุดมการณ์อะไรบางอย่างซึ่งผมเลือกที่จะใช้ความเท่าเทียมกันของมนุษย์ คือความเสมอภาค คือความหมายของชื่อร้าน 'เอกาลิเต้' นั่นแหละ”
 
“ถ้าเปรียบร้านก็องดิดเป็นหนังสือก็คงเป็นหนังสือเรื่อง 'ก็องดิด' แต่ถ้าเปรียบร้านผมเป็นหนังสือก็จะเป็นเรื่อง 'สัญญาประชาคม' (Social Contract) ของ ฌอง ชาค รุสโซ ซึ่งเป็นต้นธารของคณะราษฎร แล้วการที่เรามีคำขวัญของคณะราษฎรก็เพราะว่ามันเป็นหลักสากลที่คิดว่ามนุษย์มีคุณค่าเท่าเทียมกัน”
 
“อีกอย่างหนึ่งคือมีนัยยะที่จะสะท้อนกลับไปด้วยว่าสิ่งเหล่านี้มันมีเกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย ไม่ใช่ว่าร้านผมอยากจะทำก็ทำ” อย่างไรก็ตามวอร์มก็บอกว่าไม่ได้หมายความว่าร้านนี้เป็นกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หนังสือที่วางอยู่ในร้านก็ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นของกลุ่มเสื้อสีใด “เราก็มีหนังสือของทั้งแดงทั้งเหลือง หรือที่ถูกเรียกว่าเป็นสลิ่มหรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นพื้นที่ที่เราพยายามจะเปิด แต่ในสังคมไทยตอนนี้มันกลายเป็นปฏิเสธกัน แต่เราจะพยายามมองในมุมที่ผสมผสานกัน”
 
“มันอาจจะตรงกับคำขวัญที่พี่วอร์มเขียนไว้ว่ามันเป็นพื้นที่ของความเท่าเทียม เป็นพื้นที่ที่อยากเปิดให้ทุกคนเข้ามาเลือกสรรสิ่งที่อยากจะรู้ อยากจะหยิบไป ซึ่งเราก็เสนอให้เป็นพื้นที่ทางเลือกอีกทางหนึ่ง เพราะพื้นที่กระแสหลักอย่างร้านหนังสือใหญ่ๆ ในลำปางก็มีเยอะมาก ซึ่งร้านอย่างเราก็ยังไม่รู้ว่าจะอยู่ได้หรือเปล่าจริง ๆ เพราะหนังสือทำเงินไม่มากนัก เปอร์เซ็นต์น้อย แล้วก็ร้านใหญ่ๆ เขามีหนังสือทุกประเภท แต่ของเราที่คัดมาก็เฉพาะทางพอสมควร แต่ก็ลองดูละ” กอล์ฟกล่าว
 
ชายหนุ่มทั้ง 2 บอกว่าตนทุ่มทุนในการสร้างร้านนี้จนถึงขั้นว่าจะไม่มีเงินเก็บเหลือ 
 
“แต่ขณะเดียวกัน ผมก็มองว่ามันมีโอกาสเป็นไปได้ทางธุรกิจนะ คือมันเป็นธุรกิจ เพียงแต่เป็นธุรกิจที่ไม่ได้เอาเปรียบคนอื่น” กอล์ฟกล่าว
 
“ได้กำไรหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่ขอให้อย่างน้อยมันอยู่ด้วยตัวเองได้ คือไม่ใช่ว่าเป็นการกุศล” วอร์มเสริม
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานพิเศษ: 50 ชุมชนบนแนวรางคู่สายใต้ กับพัฒนาการต่อสู้บนที่ดินรถไฟ

Posted: 19 Jan 2011 10:33 AM PST

สำรวจชุมชนบนที่ดินรถไฟสายใต้ 172 ชุมชนบุกรุกอาจต้องหลีกทางให้รถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูงต้นทางประเทศจีน สอช.จับมือ พอช.เร่งสำรวจ เสนอ รฟท.แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยบนที่ดินรถไฟ ทั้งขอเช่าและย้ายที่ เปิดข้อเสนอใหม่ตัวแทนชุมชน ขอหักจากโครงการ 1% เอามาแก้ปัญหากันเอง

 
ชุมชนริมทางรถไฟในเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาแห่งนี้ จะต้องรื้อย้ายออกไปเพื่อหลีกทางให้กับโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ในอนาคต (ภาพจาก: รถไฟไทยดอทคอม)


บ้านเรือนที่อยู่อาศัยบนเส้นทางรถไฟสายเก่าหาดใหญ่ – สงขลาในเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาอย่างที่เห็นนี้ก็จะต้องถูกรื้อย้ายออกไปเช่นกัน เพื่อหลีกทางให้กับโครงการรื้อฟื้นที่ทางรถไฟสายนี้อีกครั้ง ซึ่งตลอดแนวทางรถไฟระยะประมาณ 30 กิโลเมตร เต็มไปด้วยชุมชนแออัดที่มีการสร้างบ้านเรือนคร่อมรางจำนวนมาก (ภาพจาก: รถไฟไทยดอทคอม)
 
 
คนที่เดินทางด้วยรถไฟตามต่างจังหวัด คงรู้สึกดีไม่น้อยที่ได้ชมบรรยากาศสองข้างทางที่เป็นธรรมชาติ แต่เมื่อขบวนรถแล่นเข้าสู่เขตเมือง ความรู้สึกคงเริ่มเปลี่ยนไป เพราะสองข้างทางกลายเป็นชุมชนแออัด เสื่อมโทรมและกลิ่นเหม็น
 
สภาพเช่นนี้อาจถูกขจัดออกไปในเร็ววัน เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. มีแผนที่จะก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ทั่วประเทศ และอาจแถมด้วยทางรถไฟความเร็วสูงสายยาวต้นทางจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาขนาบข้าง
 
การมาของทั้งรางคู่และทางรถไฟความเร็วสูง ย่อมสร้างความวิตกกังวลให้กับชาวบ้านที่ยึดที่ดินริมทางรถไฟเป็นที่อยู่อาศัยหรือทำมาหากินไม่มากก็น้อย เพราะไม่รู้ว่าทางรถไฟจะพาดผ่านหลังคาบ้านใคร หากยังไม่มีที่ทางหลับนอนแห่งใหม่มารองรับ โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อย
 
แม้ความพยายามแก้ปัญหาให้กับคนจนในเขตเมืองเหล่านี้ มีมาอย่างต่อเนื่องหลายปีแล้ว แต่เหมือนยิ่งแก้ ปัญหาก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นและสะสมมาเรื่อยๆ ในขณะที่มีผู้เข้าไปบุกรุกในเขตที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยจนกลายเป็นชุมชนก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน 
 
เมื่อมีมหาโครงการมูลค่าแสนล้านอย่างทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงที่จะมาถึงในไม่ช้า ก็ย่อมสร้างความกังวลให้กับชุมชนบนที่ดินรถไฟมากขึ้น จึงเริ่มมีการรวมตัวเคลื่อนไหวเพื่อหาทางออกให้กับชุมชนเหล่านี้อีกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มตัวแทนชุมชนในที่ดินรถไฟในภาคใต้ เมื่อไม่นานมานี้
 
3 องค์กรจับมือแก้ปัญหา
ความร่วมมือกันระหว่างตัวแทนชุมชนบนที่ดินรถไฟกับ 3 องค์กร ได้แก่ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.ที่จะให้ชุมชนเหล่านั้นเข้าร่วมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามโครงการบ้านมั่นคง สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) ที่ต้องการให้แก้ปัญหาชุมชนบนที่ดินรถไฟทั่วประเทศ และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีนายประกิจ พลเดช ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน 
 
ที่ผ่านมาตัวแทนชุมชนในภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงนราธิวาส มีการจัดประชุมร่วมกับ พอช.และสอช.กันถึง 2 ครั้ง ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช 
 
การประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2553 มีตัวแทนของการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้าร่วมด้วยและมีการนำเสนอแผนพัฒนารถไฟรางคู่ทั่วประเทศและรถไฟความเร็วสูง
 
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 เพื่อรวมรวมข้อมูลชุมชนบนที่ดินรถไฟทั่วทั้งภาคใต้จากสำรวจของแกนนำในแต่ละจังหวัด ตามที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมครั้งแรก ก่อนที่ตัวแทน แต่ข้อมูลที่ได้ก็ยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน แต่อย่างน้อยก็พอได้เห็นว่า มีกี่ชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากทางรถไฟรางคู่ ก่อนที่จะนำข้อสรุปที่ได้ ไปนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
 
ทั้ง 2 ครั้งเป็นการประชุมในส่วนของแกนนำชุมชนในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยในภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงนราธิวาส ทั้งในพื้นที่ที่มีเส้นทางรถไฟผ่านและไม่มีทางรถไฟผ่านอย่างจังหวัดพังงาและภูเก็ต
 
แผนพัฒนารางคู่ของ รฟท.
สำหรับโครงการรถไฟรางคู่ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้วางแผนการก่อสร้างรางคู่ทั่วประเทศออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก เริ่มตั้งแต่ปี 2553 – 2558 ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2558 – 2563 และระยะที่ 3 ซึ่งจะทำให้มีทางรถไฟรางคู่ครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2563 – 2568
 
โครงการก่อสร้างรางคู่ระยะแรก มี 5 เส้นทาง ภายในวงเงิน 66,110 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ลพบุรี – ปากน้ำโพ ระยะทาง 118 กิโลเมตร 2.สายมาบกระเบา – นครราชสีมา ระยะทาง 132 กิโลเมตร 3.สายชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร และ 4.สายนครปฐม – หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร และ 5.สายประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร
 
เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย มีแผนชัดเจนและได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลแล้ว นั่นก็หมายความว่า ชุมชนในที่ดินรถไฟทั่วประเทศ จำนวนกว่า 32,000 ครัวเรือน ตามที่นายประกิจเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ ก็ต้องหลีกทางให้แน่นอน 
 
และอาจยิ่งเร็วขึ้นไปอีก เมื่อล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทยจะปรับแผนการประกวดราคา โดยแบ่งย่อยสัญญาก่อสร้างในระยะแรกออกเป็นสัญญาละ 30 – 40 กิโลเมตร เพื่อให้ก่อสร้างเร็วขึ้น ภายใน 3 ปี คือระหว่างปี 2554 – 2556
 
ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ในที่ดินรถไฟที่รถไฟไม่วิ่งแล้ว อย่างเช่น ทางรถไฟสายเก่าสายหาดใหญ่ – สงขลา ซึ่งเต็มไปด้วยบ้านเรือนของผู้บุกรุก ถึงขนาดมีการสร้างบ้านคร่อมรางรถไฟ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยก็มีแผนที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาด้วยเช่นกัน
 
ที่ผ่านมาสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีข้อสรุปผลการศึกษา เรื่องแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยงเมืองหาดใหญ่กับเมืองสงขลาแล้ว โดยพบว่าระบบรถไฟชานเมืองที่วิ่งบนทางรถไฟเดิมมีความเหมาะสมมากที่สุด ซึ่งตามแผนระบุว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2556 
 
นางละออ ชาญกาญจน์ ประธานกลุ่มออมทรัพย์ดินรถไฟชุมชนกุโบร์ ในเขตเทศบาลเมืองสงขลา ในฐานะตัวแทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และหนึ่งในกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ตอนนี้สำรวจทุกภาคแล้ว ซึ่งในภาคใต้มีหลายจังหวัดที่มีชุมชนบนที่ดินรถไฟ ถ้ารถไฟรางคู่เข้ามาถึงแล้วค่อยทำ จะไม่ทันการ
 
“เราต้องไปอยู่ที่ไหนรถไฟไม่รับผิดชอบ ทาง สอช.จึงทำเรื่องนี้ โดยรวบรวมข้อมูลส่งให้ พอช. เพื่อจะขอเช่าพื้นที่จากการรถไฟฯ” นางละออ กล่าว
 
50 ชุมชน บนแนวรางคู่สายใต้
จากการรวมรวบรวมข้อมูลในการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 พบว่า ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป จะมีชุมชนบนที่ดินรถไฟที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ 50 ชุมชน จำนวน 5,354 ครัวเรือน โดยเป็นครัวเรือนที่อยู่ในระยะ 40 เมตรจากรางรถไฟ ตามเงื่อนไขเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่ก็ยังมีชุมชนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้สำรวจ
 
ชุมชนเหล่านี้ แม้จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากทางรถไฟรางคู่ในระยะแรกก็ตาม แต่ที่ประชุมก็ต้องการให้มีการแก้ปัญหาในภาพรวมทั้งหมดทั่วประเทศ โดยต้องการให้การรถไฟแห่งประเทศไทยรับรองชุมชนเหล่านั้นทั้งหมด จากเดิม 128 ชุมชน ตามที่ พอช.เคยสำรวจและเสนอขอเช่าต่อจากการรถไฟแห่งประเทศมาแล้ว เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาต่อไป ในจำนวน 128 ชุมชน เป็นชุมชนที่อยู่ในภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป 32 ชุมชน
 
ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินรถไฟของไทยมีมายาวนานกว่า 20 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่เขตเมืองใหญ่ แม้มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยมาแล้วหลายราย แต่นับวันการบุกรุกก็มีเพิ่มมากขึ้น บางแห่งมีสภาพเป็นชุมชนแออัด บางแห่งมีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเป็นอาคารคอนกรีตอย่างมั่นคงแข็งแรง บางแห่งเป็นพื้นที่เกษตร
 
เชื่อว่า ในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั่วประเทศ มีชุมชนประมาณ 300 ถึง 400 ชุมชน เฉพาะข้อมูลที่รวบรวมโดย พอช.พบว่า ทั่วประเทศมี 346 ชุมชน
 
พัฒนาการต่อสู้ชุมชนบนที่ดินรถไฟ
การแก้ปัญหาชุมชนบนที่ดินรถไฟเริ่มจากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพื่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเชิงนโยบายในช่วงปี พ.ศ.2545 โดยผลักดันนโยบายการใช้ที่ดินรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน เนื่องจากก่อนหน้านั้น กระทรวงคมนาคม มีนโยบายจะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย นำที่ดินออกให้เอกชนเช่า เพื่อลดปัญหาการขาดทุน โดยเฉพาะที่ดินในเมืองซึ่งมีชุมชนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ 
 
จากนั้นจึงเริ่มมีการประชุมชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันการขอเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ 30 ปี เพื่อความมั่นคงในที่อยู่อาศัย มีการประชุมเจรจากันหลายครั้ง มีการชุมนุมกดดันรัฐบาลให้แก้ปัญหาเรื่องนี้กันหลายรอบ 
 
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นชอบข้อสรุปการสำรวจชุมชนบนที่ดินรถไฟขณะนั้นว่า มี 61 ชุมชนใน 13 จังหวัด และมีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดในที่ดินรถไฟ หลักๆ 2 ข้อ สรุปได้ดังนี้ 
 
1.ราษฎรที่อาศัยในที่ดินรถไฟห่างจากรางรถไฟเกิน 40 เมตร และยังไม่อยู่ในแผนแม่บทที่จะใช้ประโยชน์ ให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยได้ 30 ปี และ 2.ส่วนที่อาศัยในในรัศมี 40 เมตรให้เช่าเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ครั้งละ 3 ปี จนกว่าจะมีโครงการใช้พื้นที่เพื่อประโยชน์ในการเดินรถและการรถไฟจะหาที่รองรับที่อยู่ห่างจากเดิมภายในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร
 
ต่อมาเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ยื่นเรื่องเสนอเช่าที่ดินการรถไฟฯ รวม 15 ชุมชน แต่มีเพียง 4 ชุมชนที่ผ่านอนุมัติจากคณะกรรมการรถไฟฯ โดยมีชุมชนทับแก้ว ซึ่งต้องรื้อย้ายจากโครงการตัดถนนของกรุงเทพมหานคร และผลักดันการรถไฟฯ ให้จัดที่ดินรองรับ ชาวชุมชน 126 ครอบครัว ได้เช่าที่ดินย่านสถานีรถไฟคลองตัน พื้นที่ 5 ไร่ 88 ตารางวา ราคาตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี ถือเป็นชุมชนแออัดแห่งแรกที่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟฯ เป็นเวลา 30 ปี
 
หลังจากนั้นการแก้ไขปัญหาก็หยุดชะงักลงตั้งแต่ช่วงที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทวงคมนาคม ซึ่งมีนโยบายที่จะฟื้นฟูกิจการรถไฟฯ
 
จนกระทั่งล่าสุดในรัฐบาลชุดปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยขึ้นมาอีกชุด เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ที่มีนายประกิจ เป็นประธาน และมีตัวแทนของชุมชนบนที่ดินการรถไฟฯ เป็นกรรมการอยู่ด้วย 8 คน จากคณะกรรมการทั้งหมด 23 คน หนึ่งในนั้น คือ ป้าแต๋ว หรือ นางละออ ชาญกาญจน์ นั่นเอง
 
ชุมชนเดินหน้าขอเช่าเป็นที่อาศัย
ในการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการชุดนี้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ที่กระทรวงคมนาคม ได้ข้อยุติที่เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟ โดยมีเงื่อนไขให้ พอช.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ยื่นคำขอเช่าและเป็นคู่สัญญาเช่ากับการรถไฟแห่งประเทศไทยแทนชุมชนที่อยู่ในเครือข่าย สอช.
 
ขณะเดียวกันคณะกรรมการชุดนี้ ยังให้ใช้เงื่อนไขรายละเอียดการเช่าที่ดินในกรณีเดียวกับชุมชนที่อยู่ในกลุ่มเครือข่ายสลัม 4 ภาค เช่น กำหนดพื้นที่ให้เช่าขนาดหลังละไม่เกิน 5 x 10 เมตร หรือ 4 x 8 เมตร ระยะเวลาเช่า 3 ปี ต่อสัญญาได้คราวละไม่เกิน 3 ปี
 
อัตราค่าเช่า 7 – 20 บาทต่อตารางเมตรต่อปี โดยไม่รวมค่าเช่าเชิงพาณิชย์ อัตราค่าเช่าเพิ่มคิดร้อยละ 5 ในทุก 5 ปี ถ้ามีการรื้อย้ายและสร้างชุมชนใหม่ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะลดค่าเช่าช่วงใน 2 ปีแรกให้ร้อยละ 50 ให้พอช.เป็นคู่สัญญากับการรถไฟฯ และให้ พอช.ดำเนินการให้ชุมชนเช่าต่อ
 
พื้นที่ขอเช่าต้องอยู่ห่างจากศูนย์กลางทางประธานไม่น้อยกว่า 20 เมตร จะต้องยื่นแบบอาคารที่จะปลูกสร้างให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและการรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาก่อน หากการรถไฟแห่งประเทศไทยมีโครงการ ชุมชนยินดีย้ายออกจากพื้นที่เช่า โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและชุมชนจัดหาพื้นที่รองรับร่วมกัน ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากที่อยู่เดิมก่อน
 
นอกจากนี้ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ยังมีมติให้ชะลอการดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ในชุมชนในเขตอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชและชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่ม 128 ชุมชน ตามที่ พอช.เคยสำรวจและเสนอขอเช่าต่อจากการรถไฟแห่งประเทศมาแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของการรถไฟถูกมองว่า ล่าช้า ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องการรอดำเนินการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit: BU) 3 หน่วย คือหน่วยการเดินรถ หน่วยบริหารทรัพย์สินและหน่วยอำนวยการ ตามแผนการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยก่อน ซึ่งหน่วยบริหารทรัพย์สิน จะเข้ามาดูแลที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั่วประเทศ
 
รถไฟตั้งสำนักงานลุยฟ้องผู้บุกรุก
ขณะเดียวกัน เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เสนอขอจัดตั้งสำนักงานกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ต่อนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเห็นชอบ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทยที่มีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเพื่อพิจารณาอนุมัติการจัดตั้งได้
 
นายประกิจ พลเดช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า สำนักงานกรรมสิทธิ์ที่ดินจะช่วยให้การรถไฟแห่งประเทศไทยบริหารงานได้คล่องตัวมากขึ้น เพราะสำนักงานจะมีอำนาจฟ้องร้องผู้บุกรุกได้ทันที 
 
"ตอนนี้ปัญหาการบุกรุกยังมีอยู่เรื่อยๆ การสำรวจข้อมูลพบว่า ตอนนี้มีผู้ที่บุกรุกที่ดินการรถไฟฯ กว่า 3.2 หมื่นครัวเรือนทั่วประเทศ ขณะแก้ไขไปแล้วกว่า 40 %" นายประกิจ กล่าว
 
แต่การแก้ปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ไม่ใช่จะง่ายดาย อย่างที่นางลออ บอกไว้ว่า ในการขอเช่าที่ดินรถไฟมีข้อติดขัดอยู่ที่ทุกชุมชนไม่มีสมาชิกต้องการเช่าทุกคน เพราะบางคนอยู่มาหลายสิบปีแล้ว ไม่เคยจ่ายค่าเช่าซักบาท แล้วอยู่ๆ จะไปทำเรื่องเช่าได้อย่างไร จึงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น
 
นางลออ เล่าว่า เขาบอกว่า อยู่เฉยๆ มาตั้งนานแล้ว ไม่ต้องเสียเงิน ทำไมต้องมาเสียเงิน บ้านบางหลังต้องเสียค่าเช่า 3,000 บาทต่อปี เพราะบุกรุกพื้นที่หลายตารางเมตร แต่ถ้าเป็นคนจนก็สร้างบ้านหลังเล็กๆ แต่บางหลังมีเงินเยอะ มีกำลังซื้อที่ดินเป็นของตัวเองได้ แต่ไม่อยากไป เพราะที่ดินรถไฟเป็นทำเลดีที่ขายของได้
 
ส่วนในการแก้ปัญหาที่เป็นของเสนอของ สอช.ต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น นางละออ บอกว่า มีอยู่ 4 ข้อ คือ 1.การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องจัดหาที่ดินแห่งใหม่ให้เพื่อหลีกทางให้กับโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย 2.การขนย้ายออกจากที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการขนย้ายตั้งแต่ 3,000 บาท จนถึง 30,000 บาท แล้วแต่สภาพของแต่ละครัวเรือน 3.การไปอยู่ที่ใหม่หากประกอบอาชีพไม่ได้หรือเป็นทำเลที่หากินไม่ได้ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องช่วยเหลือเยียวยาแต่ละครอบครัวเบื้องต้น และ 4.ด้านสิ่งแวดล้อม การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องดูแลสภาพแวดล้อมให้ชุมชนต่อเนื่องด้วย แต่ทุกข้อ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากการรถไฟแห่งประเทศไทย
 
ข้อเสนอใหม่ สอช.หักโครงการ 1% ให้ชุมชน
ยังมีอีกแนวทางหนึ่ง ที่กำลังจะเป็นข้อเสนอของ สอช. คือ การหักจากมูลค่าโครงการ 1 % มาเป็นกองทุนให้กับชุมชนบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยบริหารจัดการเอาเอง เช่น การซื้อที่ดินแห่งใหม่หรือสร้างบ้านใหม่ให้สมาชิกที่ย้ายออกจากที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย
 
ส่วนข้อเสนอของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีขึ้นระหว่างการจัดเวทีประชุมกับเครือข่ายชุมชนในภาคอีสาน คือ ให้เฉพาะค่าขนย้าย เริ่มจาก 3,000 - 30,000 บาท แต่ตัวแทนภาคอีสานเสนอเป็นตัวเลขตายตัวคือ 30,000 บาทต่อครัวเรือน จากนั้นนำเงินที่ได้ตั้งเป็นกองทุนให้สมาชิกกู้ไปซื้อที่ดินโดยไม่คิดดอกเบี้ย ส่วนการสร้างบ้านให้เข้าโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.
 
ข้อเสนอนี้ดูเสมือนว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจะยอม แต่แกนนำหลักๆ ของ สอช.มาวิเคราะห์กันอีกครั้งว่า ถ้าในภาคใต้เงิน 30,000 บาทต่อครัวเรือน อาจจะไม่พอกับการขนย้าย เพราะในภาคใต้บ้านหลังใหญ่กว่า
 
นางละออ บอกว่า อย่างที่ชุมชนกุโกร์ ในเขตเทศบาลนครสงขลา บ้านแต่ละหลังที่อยู่ในเขตที่ต้องย้ายออกราคาสูงถึงหลังละ 500,000 – 700,000 บาท ถ้าให้แค่ 30,000 บาท เขาจะยอมรับไหมแน่นอน 
 
“แต่ตอนนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องการให้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดประชุมโดยให้มีวาระการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลกองทุน 30,000 บาทต่อครัวเรือน แล้ว ในขณะที่ไม่ชัดเจนว่า ชุมชนในภาคใต้จะยอมรับกติกานี้หรือไม่” นางละออ กล่าว
 
กว่าที่รถไฟรางคู่จะมาถึง เวทีการต่อสู้เพื่อแก้ปัญหาชุมชนบนที่ดินรถไฟ ก็คงยังมีอีกหลายยกแน่นอน
 
......
 
 
ตรวจรายชื่อตามแนวราง 172ชุมชนบนที่ดินรถไฟสายใต้
 
ต่อไปนี้เป็นรายชื่อชุมชนบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยในพื้นที่ภาคใต้ที่จะต้องหลีกทางให้กับรถไฟรางคู่ในอนาคต และการรื้อฟื้นที่เส้นทางรถไฟสายเก่าหาดใหญ่ – สงขลา จากการรวบรวมของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช.และสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ(สอช.)พบว่า มีจำนวน 172 ชุมชน โดยบางแห่งมีการสำรวจจำนวนครัวเรือนแล้ว
 
จังหวัดชุมพร มี 9 ชุมชน ดังนี้
อำเภอเมืองชุมพร ได้แก่ ชุมชนดอนยาง (มาบอำมฤต) 40 ครัวเรือน ชุมชนสวี 50 ครัวเรือน ชุมชนทุ่งตะโก 30 ครัวเรือน ชุมชนห้าแยกธีระ 390 ครัวเรือน ชุมชนวัดประสานนิกร
 
อำเภอหลังสวน ได้แก่ ชุมชนเขาเสก 25 ครัวเรือน ชุมชนวัดประสาทนิกร 139 ครัวเรือน อำเภอละแม ได้แก่ ชุมชนบ้านดวด 50 ครัวเรือน
 
จังหวัดสุราษฎร์ธานี มี 35 ชุมชน ดังนี้
ในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระ ได้แก่ ชุมชนหน้าสถานีรถไฟ 13 ครัวเรือน ชุมชนยุพราช 128 ครัวเรือน ชุมชนตลาดบ้านส้อง 200 ครัวเรือน ชุมชนตลาดใหม่ (ยังไม่ได้สำรวจ)
 
ในเขตเทศบาลตำบลนาสาร ได้แก่ ชุมชนหน้าสถานีรถไฟ 240 ครัวเรือน ชุมชนสะพานหนึ่ง 227 ครัวเรือน ชุมชนท่าพลา 162 ครัวเรือน ชุมชนคีรีรัตน์นิคม 200 ครัวเรือน ชุมชนนาสาร 250 ครัวเรือน ชุมชนห้วยมุด1 ชุมชนห้วยมุด2 ชุมชนห้วยมุด3 ชุมชนเหมืองแกะ ชุมชนคลองฉวาง ชุมชนประธาน1 ชุมชนพูนศิริ7 400 ครัวเรือน
 
ในเขตเทศบาลตำบลท่าข้าม ได้แก่ ชุมชนราษฎร์บำรุง 1-7 จำนวน 360 ครัวเรือน ชุมชนตลาดล่าง 30 ครัวเรือน ชุมชนท้ายควน1 จำนวน 197 ครัวเรือน ชุมชนท้ายควน2 จำนวน 197 ครัวเรือน ชุมชนธีรศรม 128 ครัวเรือน ชุมชนบ้านบน (ยังไม่ได้สำรวจ) 7.ชุมชนบนควน 191 ครัวเรือน
 
จังหวัดนครศรีธรรมราช มี 21 ชุมชน ดังนี้
ในอำเภอเมือง ได้แก่ ชุมชนสะพานยาว 250 ครัวเรือน ชุมชนริมทางรถไฟ 534 ครัวเรือน ชุมชนสะพานเหล็ก 16 ครัวเรือน อำเภอร่อนพิบูลย์ ได้แก่ ชุมชนโคกยาง 52 ครัวเรือน
 
อำเภอทุ่งสง ได้แก่ ชุมชนสะพานเหล็กเมืองใหม่ 45 ครัวเรือน ชุมชนหลังโรงพยาบาล 75 ครัวเรือน ชุมชนตะวันออกวัดชัยชุมพล 61 ครัวเรือน ชุมชนสะพานเหล็ก 14 ครัวเรือน ชุมชนประชาอุทิศ 54 ครัวเรือน ชุมชนหมู่บ้านพัฒนา ชุมชนบ้านพักรถไฟ ชุมชนบ้านนาเหนือ ชุมชนตลาดบนหมู่3-11 ชุมชนตลาดล่าง ชุมชนบ้านตก ชุมชนถนนรถไฟสาย 3 ชุมชนตลาดสด ชุมชนฟาร์มไก่ ชุมชนบ้านชายคลอง หมู่ 1 ชุมชนศรีอาชาพัฒนาและ ชุมชนบ้านตลาดใหม่
 
จังหวัดพัทลุง มีชุมชนเดียว คือ ชุมชนตลาดบางแก้ว
 
จังหวัดสงขลา มี 63 ชุมชน ดังนี้
ในเขตอำเภอหาดใหญ่ ได้แก่ ชุมชนนอกสวน ชุมชนเขต7 ชุมชนเขต9 ชุมชนทรายทอง ชุมชนเทศบาลน้ำน้อย หมู่ที่1 ชุมชนจันทร์วิโรจน์ ชุมชนถัดอุทิศ ชุมชนรัตนวิบูลย์ ชุมชนมัสยิด ชุมชนสำราญสุข ชุมชนบางม่วง ชุมชนคลองเปล ชุมชนสัจจกุล ชุมชนสะพานดำ ชุมชนเมืองใหม่ ชุมชนป่ายาง ชุมชนหลังสถานีรถไฟบ้านพรุ160 ครัวเรือน
 
ชุมชนหมู่ที่ 9 เขาไดนาง ชุมชนน้ำน้อยหมู่ 1 ชุมชนคู่ญี่ปุ่น ชุมชนทุ่งเสา ชุมชนมัสยิดบ้านโปะหมอ ชุมชนเขต 7 ชุมชนหลัก 19 พัฒนา ชุมชนเขต 9 ชุมชนแสนสุข ชุมชนต้นลุง ชุมชนริมทางรถไฟ ชุมชนซอยต้นข่อย ชุมชนประธานคีรีวัฒน์ 200 ครัวเรือน ชุมชนหลบมุม(โสสะ) 64 ครัวเรือน คลองแปล/คลองควาย 98 ครัวเรือน ชุมชนเกาะเสือ 38 ครัวเรือน
 
อำเภอเมือง ได้แก่ ชุมชนหน้าสถานีรถไฟ ชุมชนบ้านบน(สะพานเหล็ก) ชุมชนหน้าวัดอุทัย ชุมชนวังเขียว-วังขาว ชุมชนบ้านน้ำกระจาย ชุมชนวัดเกาะพะวง ชุมชนริมคลอง ชุมชนคลองขวัญ ชุมชนควนหิน ชุมชนหมู่ 1 บางดาน ชุมชนหมู่ 2 ศรีวรา ชุมชนสวนมะพร้าว
 
ชุมชนกุโบร์ (มิตรเมืองลุง) 300 ครัวเรือน ชุมชนร่วมใจพัฒนา ชุมชนบ่อนวัวเก่า ชุมชนกุโบร์ (ภราดร) 376 ครัวเรือน ชุมชนพาณิชย์สำโรง 100 ครัวเรือน ชุมชนร่วมใจพัฒนา 480 ครัวเรือน ชุมชนกุโบร์ (สมหวัง) 150 ครัวเรือน ชุมชนหลังอาชีวะ 65 ครัวเรือน ชุมชนศาลาหัวยาง 30 ครัวเรือน ชุมชนบ่อนวัวเก่า 550 ครัวเรือนชุมชนหัวป้อม (โซน1-5) 150 ครัวเรือน
 
ชุมชนเขารูปช้าง 1-5 จำนวน 820 ครัวเรือน ชุมชนเขารูปช้าง (การะเกด 1) 328 ครัวเรือน ชุมชนเขารูปช้าง (การะเกด 2) สวนสน 53 ครัวเรือน ชุมชนหัวป้อม (โซน 6) ชุมชนโซน3 การะเกด 73 ครัวเรือน ชุมชนโซน4ที่รองรับ 323 ครัวเรือน ชุมชนโซน5คลองบางดาน 43 ครัวเรือน
 
จังหวัดปัตตานี มี 4 ชุมชน ได้แก่ชุมชนโคกโพธิ์ 20 ครัวเรือน ชุมชนนาประดู่ 20 ครัวเรือน ชุมชนป่าไร่ 15 ครัวเรือน และชุมชนคลองทราย 30 ครัวเรือน
 
จังหวัดยะลา มี 4 ชุมชน ได้แก่ชุมชนสะเตงนอก 120 ครัวเรือน ชุมชนหมู่สี่ 130 ครัวเรือน ชุมชนอุตสาหกรรมสามหมอ และชุมชนไม้แก่น 50 ครัวเรือน
 
จังหวัดนราธิวาส มี 12 ชุมชน ดังนี้
ในอำเภอ สุไหงโก-ลก ได้แก่ ชุมชนโก-ลกวิลเลจ 330 ครัวเรือน ชุมชนซารายอ 100 ครัวเรือน ชุมชนดงงูเห่า 300 ครัวเรือน ในเขตเทศบาลตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี ได้แก่ ชุมชนตลาดบน 100 ครัวเรือน ชุมชนตลาดล่าง 100 ครัวเรือน ชุมชนโต๊ะเดง 50 ครัวเรือน
 
ในเขตอำเภอระแงะ ได้แก่ ชุมชนตันหยงมัส 80 ครัวเรือน ชุมชนป่าไผ่ 40 ครัวเรือน ชุมชนมะรือโบ 15 ครัวเรือน ในอำเภอรือเสาะ ได้แก่ ชุมชนลาโล๊ะ 17 ครัวเรือน ชุมชนรือเสาะ 71 ครัวเรือน ชุมชนหลังรถไฟ 44 ครัวเรือน
 
จังหวัดตรัง มี 2 ชุมชน ได้แก่1.ชุมชนหนองยวน 250 ครัวเรือน 2.ชุมชนริมทางรถไฟ 150 ครัวเรือน
 
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มี 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนสามแยก – บ้านสวน ชุมชนบ่อฝ้าย ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน
 
เพชรบุรี มี 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนริมทางรถไฟ อบต.หนองโสน ชุมชนริมถนนเพชรบุรี-เขาทโมน
 
ราชบุรี มี 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนริมทางรถไฟ ชุมชนโรงธูป ชุมชนหลังวัดดอนตูม
 
 
.......
 
 
เปิดแผนรถไฟรางคู่ทั่วประเทศเร่งด่วน 5 เส้นทาง
 
กระทรวงคมนาคม มีแผนที่จะก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ให้ครบทั่วประเทศ ในระยะ 15 ปี ตั้งแต่ปี 2553 – 2568 โดยระยะแรกเริ่มตั้งแต่ ปี 2553 – 2558 ระยะที่ 2 ปี 2558 – 2563 และระยะที่ 3 ซึ่งจะทำให้มีทางรถไฟรางคู่ครบทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2563 – 2568
 
สำหรับระยะแรก เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 สำนักงานคณะกรรมการการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) มีมติให้กระทรวงคมนาคมศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นระบบรถไฟรางคู่เพื่อการขนส่งและการจัดการโลจิสติกส์ (ระยะที่ 1)
 
ต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จึงศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น
 
จากนั้น วันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการพัฒนาระไฟรางคู่ระยะเร่งด่วน 767 กิโลเมตร ในเส้นทางสำคัญ 5 เส้นทาง คือ
 
1.รถไฟทางคู่สายลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 118 กิโลเมตร
2.สายมาบกระเบา-นครราชสีมา ระยะทาง 132 กิโลเมตร
3.สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร
4.สายนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร
5.สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร
 
วันที่ 27 เมษายน 2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเป็นแผนงานการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553 – 2558 มีวงเงิน 176,808 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นงานพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางดังกล่าว โดยมีวงเงินรวม 66,110 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.สายลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 7,860 ล้านบาท 2.สายมาบกระเบา-นครราชสีมา 11,640 ล้านบาท 3.สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น 13,010 ล้านบาท 4.สายนครปฐม-หัวหิน 16,600 ล้านบาท และ5.สายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 17,000 ล้านบาท
 
ในโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นระบบรถไฟรางคู่ดังกล่าว ระบุถึงการแก้ปัญหาชุมชนบนทีดินทางแนวโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ประกอบด้วย
 
การอพยพโยกย้ายชุมชน โดยการประชาสัมพันธ์แนวทางในการให้ความช่วยเหลือด้านการอพยพโยกย้ายสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สำรวจทรัพย์สินที่จะต้องรื้อย้ายอย่างละเอียด จ่ายค่ารื้อย้ายและให้ความช่วยเหลือด้านการอพยพโยกย้ายตามกระบวนการที่เหมาะสมและเป็นธรรม
 
การแบ่งแยกชุมชน โดยการออกแบบรั้วกั้นตลอดแนวทางเพื่อป้องกันอันตรายและลดอุบัติเหตุ ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกชุมชน ทำให้คนในบริเวณนั้นสัญจรลำบากขึ้น มาตรการคือจัดให้มีทางเชื่อมหรือทางลอดในระยะที่เหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรให้แก่คนในชุมชน
 
วันที่ 4 มกราคม 2554 นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยจะปรับแผนการประกวดราคา โดยแบ่งย่อยสัญญาก่อสร้างออกเป็นสัญญาละ 30 – 40 กิโลเมตร และแยกการประมูลก่อสร้าง และงานวางรางระบบอาณัติสัญญาณออกจากกัน เพื่อให้งานก่อสร้างเสร็จเร็วขึ้นภายในระยะเวลา 3 ปี (2554-2556)
 
 
.....
 
 
โครงการฟื้นรถไฟสายเก่าหาดใหญ่ – สงขลา
 
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ยกเลิกเดินรถไฟสายหาดใหญ่ – สงขลา เมื่อราวปี 2521 เมื่อไม่มีการเดินรถ ทำให้มีผู้เข้าบุกรุกตามแนวทางรถไฟสายนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปัจจุบัน ถึงขนาดมีการสร้างที่อยู่อาศัยคร่อมราง จนไม่เหลือสภาพความเป็นทางรถไฟต่อไปอีกแล้ว
 
ปัจจุบันมกระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะรื้อฟื้นเส้นทางรถไฟสายนี้ขึ้นมาอีกครั้ง ตามความต้องการของประชาชนในจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะจากผู้ที่ต้องเดินทางสัญจรไปมาระหว่างตัวเมืองสงขลากับตัวเมืองหาดใหญ่ เนื่องจากไม่อยากทนกับสภาพการจราจรที่แออัดบนถนนสายหลักที่เชื่อมสองเมืองใหญ่แห่งนี้
 
ในการรื้อฟื้นที่เส้นทางรถไฟสายนี้ เริ่มต้นเมื่อสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรงคมนาคม ได้จัดทำแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเชื่อมโยงเมืองหาดใหญ่กับเมืองสงขลาขึ้น ซึ่งผลจากการคัดเลือกของคณะที่ปรึกษา พบว่า ระบบรถไฟชานเมืองที่วิ่งบนทางรถไฟเดิมมีความเหมาะสมมากที่สุด
 
ที่ปรึกษาได้ออกแบบแนวคิดในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟใหม่ ตามเส้นทางรถไฟเดิม มีระยะทางทั้งสิ้น 29.087 กิโลเมตร เริ่มจาก สถานีหาดใหญ่ สิ้นสุดที่สถานีสงขลา โดยปรับปรุงเส้นทางรวมรางรถไฟและไม้หมอน ระยะ 30 กิโลเมตร
 
สร้างสถานี 12 แห่ง ได้แก่ สถานีหาดใหญ่ สถานีตลาดเทศบาล สถานีคลองแห สถานีคลองเปล สถานีเกาะหมี สถานีตลาดน้ำน้อย สถานีกลางนา สถานีพะวง สถานีน้ำกระจาย สถานีบางดาน สถานีวัดอุทัย และสถานีสงขลา
 
โดยระยะแรกสร้างก่อน 4 สถานี คือ สถานีหาดใหญ่ สถานีตลาดน้ำน้อย สถานีน้ำกระจายและสถานีสงขลา ทุกสถานีสามารถให้ขบวนรถไฟสับหลีกกันได้
 
นอกจากนี้ยังจะสร้างสะพานใหม่ 11 แห่ง ติดตั้งเครื่องกั้นถนน 9 แห่ง สร้างสะพานข้ามทางรถไฟ 5 แห่ง
 
อีกทั้งยังจะสร้างถนนคู่ขนานเลียบทางรถไฟทั้ง 2 ฝั่งใน 2 แห่ง แห่งแรก ตั้งแต่บริเวณถนนนิพัทธ์สงเคราะห์กับลพบุรีรามเมศวร์ หรือแยกโรงปูน อำเภอหาดใหญ่ ไปจนถึงถนนกาญจนวนิชใกล้กับเขาบันไดนาง ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร แห่งที่สองตั้งแต่จุดตัดถนนกาญจนวนิช อำเภอเมืองสงขลา ไปจนถึงที่ตั้งสถานีสงขลา ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร
 
ปัจจุบันบริเวณที่จะสร้างถนนเลียบทางรถไฟทั้ง 2 แห่ง เป็นที่ตั้งของชุมชนบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยอย่างหนาแน่น
 
สำหรับสถานีสงขลา ซึ่งยังมีอาคารสถานีเดิมอยู่ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ การออกแบบจึงเน้นการปรับปรุงตัวสถานีเดิม โดยปรับปรุงภายนอกของอาคารและจัดการพื้นที่ภายในให้เป็นสัดส่วน ส่วนสถานีหาดใหญ่ จะมีการออกแบบใหม่เป็นโครงสร้างเหล็ก หลังคาที่ผ้าใบ ตัวอาคารสถานีเป็นศูนย์กลางของพื้นที่และพัฒนาพื้นที่โดยรอบในเชิงพาณิชย์
 
รูปแบบและเทคโนโลยีของรถรถไฟ 2 ประเภทที่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นขบวนรถไฟหาดใหญ่ - สงขลา ได้แก่ ระบบรถไฟดีเซลราง และรถไฟราง ซึ่งคณะที่ปรึกษาเห็นว่า ควรใช้ระบบรถไฟดีเซลราง เนื่องจากใช้งบประมาณการลงทุนไม่สูงมากนัก และเหมาะสมกับการเดินทางในพื้นที่
 
ในแผนฉบับนี้ ระบุว่า ได้กำหนดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การสำรวจและออกแบบรายละเอียด ชดเชยสิ่งปลูกสร้างและดำเนินการก่อสร้าง หากเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2554 คาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานได้ในปี 2559
 
 
................
 

 
คณะกรรมการแก้ปัญหาชุมชนบนที่ดินรถไฟ
 
กลไกลการแก้ปัญหาชุมชนบุกรุกบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีมาหลายชุดแล้ว ในทุกรัฐบาล นับตั้งแต่การรถไฟแห่งประเทศไทยเริ่มมีนโยบายที่จะนำที่ดินให้เอกชนเช่า เมื่อประมาณ ปี 2541
 
คณะกรรมการชุดล่าสุดที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลชุดปัจจุบันเพื่อการแก้ปัญหาชุมชนบุกรุกบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย คือคณะกรรมการที่มีนายประกิจ พลเดช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม (นายโสภณ ซารัมย์) เป็นประธานกรรมการ
 
คณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นตามคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 221/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย สั่ง ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2552
 
คำสั่งดังกล่าวระบุว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร โดยพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรเป็นกรณีเร่งด่วนนั้น
 
เพื่อให้การแก้ไขปัญหาชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เป็นปัญหามานาน เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสมานฉันท์ เป็นผลดีต่อทุกภาคส่วน จึงแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยขึ้น
 
องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ มีดังนี้
 
คณะกรรมการ ประกอบด้วย
1.   นายประกิจ พลเดช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เป็นประธานกรรมการ            
2.   ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมที่รับผิดชอบการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นรองประธานกรรมการ
 
ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย
3.   นายอิทธิพล ปภาวสิทธิ์ รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
4.   นายเสรี จิตต์โสภา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้คำปรึกษากฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
5.   หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี
6.   ผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม     
7.   ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
8.   นางสาวฐิติรัตน์ น้อยอรุณ
9.   นายสามารถ วีระกุล
10.นายสมชาย นาดเทียม
11.นางอังคณา ขาวเผือก
12.นางสมศรี สายทอง
13.นางละออ ชาญกาญจน์
14.นายปราโมทย์ ดำวงษ์
15.นายรุ่งโรจน์ เปรมจิราพงศ์
16.นายสุเทพ โตเจิม
17.นางมะลิอร คงแก่นท้าว
18.นายศิริศักดิ์ หล้ากาวิน
19.นางกาญจนา ศรีสำอาง
20.นายทวีศักดิ์ สุทธิเสริม รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย กรรมการและเลขานุการ
21.นายสมคิด ดีชัย หัวหน้างานตรวจสอบพื้นที่บริหารทรัพย์สิน กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการการรถไฟแห่งประเทศไทย
22.เจ้าหน้าที่สำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
23.เจ้าหน้าที่สำนักตรวจราชการ ปลัดกระทรวงคมนาคม กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
 
อำนาจหน้าที่
1.พิจารณา และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เป็นรูปธรรมต่อการรถไฟแห่งประเทศไทย
2.รายงานผลการดำเนินการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบเป็นระยะ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้นำจีนเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ

Posted: 19 Jan 2011 10:31 AM PST

"หู จิ่นเทา" ประธานาธิบดีจีนเดินทางถึงกรุงวอชิงตัน ดีซี อันเป็นการเริ่มการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการตามคำเชิญของ "บารัค โอบามา" พร้อมให้สัมภาษณ์วอลสตรีท เจอร์นัล และเดอะวอชิงตัน โพสต์ ในเรื่องมาตรการของจีนในการรับมือกับวิกฤตการเงินโลก และสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี โดยหวังว่าทุกฝ่ายจะประสานงานเพื่อเริ่มกระบวนการเจรจาครั้งใหม่โดยเร็ว

ที่มาของภาพ: news.cn

เมื่อคืนวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา สถานีวิทยุสากลแห่งประเทศจีน ภาคภาษาไทย รายงานว่า เมื่อบ่ายวันที่ 18 มกราคม นายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีนออกเดินทางจากกรุงปักกิ่งไปเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายบารัค โอบามา

นายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีนเดินทางถึงกรุงวอชิงตัน เมืองหลวงสหรัฐอเมริกา เมื่อบ่ายวันที่ 18 มกราคมนี้ตามเวลาท้องถิ่น เริ่มการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยมีรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน ให้การต้อนรับ

ที่ท่าอากาศยาน นายหู จิ่นเทาประเดิมด้วยการกล่าวสวัสดีปีใหม่กับประชาชนอเมริกัน อีกทั้งฝากความปรารถนาดีของประชาชนจีนมายังประชาชนอเมริกัน นายหู จิ่นเทายังระบุว่า การเยือนสหรัฐฯ ในครั้งนี้ วัตถุประสงค์ก็เพื่อเพิ่มพูนความเชื่อถือซึ่งกันและกัน กระชับมิตรภาพให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และขยายความร่วมมือสู่ระดับลึก ตลอดจนผลักดันความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่มุ่งร่วมมือกันทุกด้านอย่างจริงจังในศตวรรษที่ 21 ให้ก้าวคืบหน้าต่อไป จีนยินดีร่วมกับสหรัฐฯ ส่งเสริมความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ให้มั่นคงบนพื้นฐานแห่งการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน อำนวยประโยชน์แก่กันและได้ชัยชนะด้วยกัน ร่วมกับทุกประเทศเดินหน้าสร้างโลกแห่งความสมานฉันท์ที่มีสันติสุขที่ยั่งยืน และมีความเจริญรุ่งเรืองด้วยกัน

โดยกระทรวงการต่างประเทศจีนระบุว่า ในการเยือนเป็นเวลา 4 วันครั้งนี้ นายหู จิ่นเทาจะเยือนกรุงวอชิงตันก่อน โดยผู้นำจีนและสหรัฐฯ จะจัดการเจรจาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ตลอดจนปัญหาระหว่างประเทศและส่วนภูมิภาคที่ต่างก็สนใจ นายหู จิ่นเทายังจะพบปะกับสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯบางคน และพบปะกับบุคคลในวงการต่างๆอย่างกว้างขวาง หลังจากนั้น จะเดินทางต่อไปยังชิคาโก

โดยปีนี้เป็นปีครบรอบ 40 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และเป็นปีแรกของทศวรรษที่ 2 ศตวรรษที่ 21 จีนกับสหรัฐฯต่างมีความปรารถนาอย่างสูงต่อการเยือนครั้งนี้

นอกจากนี้ นายหู จิ่นเทา ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์วอลสตรีท เจอร์นัล และเดอะวอชิงตัน โพสต์ของสหรัฐฯ โดยได้ตอบข้อถามที่เป็นลายลักษณ์อักษรของหนังสือพิมพ์สองฉบับนี้เกี่ยวกับ ประเด็นต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ภาวะแวดล้อมการลงทุนของบริษัทต่างชาติในจีน มาตรการของจีนในการรับมือกับวิกฤตการเงินโลก และสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี เป็นต้น

เกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา กล่าวว่า หากจีนและสหรัฐฯมีความปรองดองกัน ก็จะเป็นผลดีต่อทั้งสองประเทศ แต่หากต่อต้านกัน ก็จะสร้างความเสียหายกับทั้งสองฝ่าย ดังนั้น จีนและสหรัฐฯต้องถือผลประโยชน์ขั้นพื้นฐานของประชาชนทั้งสองประเทศเป็นที่ ตั้ง ถือแนวทางสันติภาพและการพัฒนาของโลกเป็นที่ตั้ง ขจัดอุปสรรค และรับมือกับการท้าทายต่างๆ หันหน้าเข้าหากัน เพื่อร่วมกันส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพัฒนาสถาวร

ขณะกล่าวถึงบทบาทของดอลลาร์สหรัฐฯ ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา กล่าวว่า ดอลลาร์สหรัฐฯเป็นตระกูลเงินสำรองระหว่างประเทศที่สำคัญ การค้าสินค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ล้วนชำระด้วยดอลลาร์สหรัฐฯ การลงทุนและการดำเนินการในตลาดการเงินส่วนใหญ่ก็ใช้ดอลลาร์สหรัฐฯเช่นกัน ดังนั้น นโยบายการเงินของสหรัฐฯ จึงมีผลกระทบอย่างมากต่อความคล่องตัวทางการเงินและการหมุนเวียนของเงินทุน ระหว่างประเทศ จึงต้องรักษาความคล่องตัวของดอลลาร์สหรัฐฯให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และมีเสถียรภาพ

เกี่ยวกับสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา กล่าวว่า ด้วยความพยายามของจีนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีมีวี่แววที่จะผ่อนคลายลง จีนหวังว่าทุกฝ่ายจะใช้โอกาสนี้พยายามติดต่อประสานงานกัน เพื่อเริ่มกระบวนการเจรจาครั้งใหม่โดยเร็ว ส่งเสริมให้สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีพัฒนาสู่ทิศทางที่ถูกต้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุดเมื่อเวลา 9.07 น. ของวันที่ 19 ม.ค. ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา มีการจัดพิธีต้อนรับนายหู จิ่นเทา ที่ทำเนียบขาว โดยนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ให้การต้อนรับ โดยในโอกาสนี้ทั้งนายหู จิ่นเทา และนายโอบามา ได้ร่วมกันเดินตรวจแถวทหารเกียรติยศด้วย
 

ที่มาของข่าว: เรียบจาก สถานีวิทยุสากลแห่งประเทศจีน [1], [2], [3]

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนต้นน้ำสตูลต้าน “ทีมที่ปรึกษา” ลงพื้นที่ตรวจโครงการ “เขื่อนคลองช้าง”

Posted: 19 Jan 2011 09:52 AM PST

เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองช้าง ร่วมชาวบ้าน กว่า 300 คน ประท้วงค้านทีมที่ปรึกษาลงพื้นที่ตรวจโครงการเขื่อนคลองช้าง หารือคนปลายน้ำร่วมเคลื่อน ด้านบริษัทกลับไปหารือกรมชลฯ

 
เมื่อวันที่ 18 มกราคม  2554 ที่สำนักงานชลประทานจังหวัดสตูล เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองช้างและชาวบ้านตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล กว่า 300 คน ประท้วงคัดค้านแผนการตรวจเยี่ยมพื้นที่โครงการครั้งที่ 1 โครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำคลองช้าง จังหวัดสตูล ของบริษัท พรีดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอ กรุ๊ป คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ร้อจ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด ที่ปรึกษาโครงการ หลังจากที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553
 
นายสุกรี เศษระนำ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองช้าง กล่าวว่า ตอนนี้ชาวบ้านตำบลทุ่งนุ้ย ตลอดไปจนชาวบ้านเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ยืนยันคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำคลองช้างอย่างเต็มที่ เพราะทางกรมชลประทานไม่จริงใจจากการที่ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือกับนายจอมพร เจริญวัฒน์ ผู้อำนวยการชลประทานจังหวัดสตูล ให้ยุติการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 ที่โรงแรมพินนาเคิลวังใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
 
นายสุกรี กล่าวว่า กรมชลประทานและบริษัทศึกษาฯไม่พูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลทุ่งนุ้ย แต่กลับไปประชุมกับกลุ่มกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่อำเภอท่าแพ,อำเภอควนกาหลงและอำเภอเมืองสตูล ประมาณ 20 คน และในวันที่ 19 มกราคม 2554 จะประชุมกับผู้นำท้องถิ่นโดยไม่พบปะชาวบ้านในพื้นที่โครงการที่ได้รับผลกระทบเลย
 
“ชาวบ้านยื่นข้อเสนอให้ยุติการศึกษาก่อนโดยให้ชาวบ้านป่าต้นน้ำตำบลทุ่งนุ้ย คุยกับพื้นที่ใช้น้ำและผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่จัดเวทีพูดคุยเพื่อหาทางเลือกในการจัดการน้ำร่วมกันในจังหวัดสตูลและให้ทางกรมชลประทานชี้แจงมาทางหนังสือถึงข้อเสนอของชุมชนในพื้นที่” นายสุกรี กล่าว
 
นายจอมพร เจริญวัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสตูล กล่าวว่า วันที่ 18-19 มกราคม 2554 บริษัทศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอ่างเก็บน้ำคลองช้างจังหวัดสตูล เพื่อสอบถามความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรของกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่โครงการชลประทานคลองดุสน และโครงการชลประทานคลองการะเกต รวมทั้งสอบถามสภาพปัญหาเรื่องน้ำจากผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่โครงการฯ
 
“ปรากฏว่าวันนี้ทางผู้นำชุมชน ชาวบ้านตำบลทุ่งนุ้ยและเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูลมาคัดค้านจนต้องยกเลิกกำหนดการของวันที่ 19 มกราคม 2554 โดยทางบริษัทที่ปรึกษาต้องกลับไปหารือกับกรมชลประทานถ้าหากชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการอ่างเก็บน้ำก็จะดำเนินการอย่างไรต่อไป” นายจอมพร กล่าว
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ท้วงเวทีรับฟังความเห็น “เขื่อนไซยะบุรี” กระบวนการเร่งรัด-ไม่ให้ข้อมูล

Posted: 19 Jan 2011 09:33 AM PST

“เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง” เขียนจดหมายท้วงเวทีรับฟังความคิดเห็น “โครงการเขื่อนไซยะบุรี” ปลายเดือน ม.ค.นี้ ร้องระงับการเร่งรัดกระบวนการใดๆ ก็ตาม ที่จะนำไปสู่ความเห็นชอบให้ก่อสร้างเขื่อน ย้ำต้องโปร่งใส มีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง

เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง เขียนจดหมายเพื่อแสดงความเห็นและข้อเรียกร้องต่อการจัด “เวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียกรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี” ที่กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะสำนักเลขานุการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงของประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ส่งถึงเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พร้อมสำเนาถึงคณะมนตรีกรรมาธิการแม่น้ำโขง คณะกรรมการร่วมกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตัวแทนรัฐบาลไทย รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ช.การช่าง และธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 4 แห่งของไทย ที่บริษัท ช.การช่างประกาศว่าจะกู้เงินเพื่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี

ทั้งนี้ เวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการบนแม่น้ำโขงสายหลักดังกล่าวจะจัดขึ้นใน 3 พื้นที่ริมแม่น้ำโขง ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย, อ.เชียงคาน จ.เลย และ จ.นครพนม ติดต่อกัน ในวันที่ 22, 29 และ 31 มกราคม ตามลำดับ
 
จดหมายของเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงระบุว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นฯ มีกระบวนการที่เร่งรัด ไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ และไม่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง โดยขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่ากรมทรัพยากรน้ำได้เปิดเผยขั้นตอนและรายละเอียดของเวทีที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและเอกสารที่จำเป็น เช่น รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งได้สรุปว่าโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักที่กำลังมีการเสนออยู่ในขณะนี้ จะก่อผลกระทบด้านนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และสังคม ที่ร้ายแรง ทั้งในระดับภายประเทศ และข้ามพรมแดน
 
จดหมายระบุด้วยว่า การพิจารณาโครงการเขื่อนไซยะบุรี ควรต้องทำหลังจากผลกระทบของเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้งหมดได้รับการพิจารณา และรับรู้รับฟังโดยกว้างขวางเสียก่อน ส่วนการที่กรมทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำเท่านั้นเข้ามาทำกระบวนการจัดเวทีสาธารณะ ทำให้มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ประเด็นสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะประเด็นด้านพลังงานถูกละเลย
 
อีกทั้ง จนถึงขณะนี้หน่วยงาน และสถาบันอื่นๆ ในประเทศไทย ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการเขื่อนไซยะบุรี ได้แก่ รัฐบาล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ช. การช่าง และธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 4 แห่งที่กำลังพิจารณาเงินกู้แก่โครงการนี้ ยังไม่เคยชี้แจงข้อมูลหรือให้คำอธิบายที่สังคมไทยควรรับรู้ โดยเฉพาะในเรื่องความจำเป็นของโครงการเขื่อนไซยะบุรี และมาตรฐานด้านจริยธรรมหรือความรับผิดชอบทางสังคมของนักลงทุนและสถาบันการเงิน
 
ในตอนท้ายของจดหมาย เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ระบุข้อเรียกร้องให้ระงับการเร่งรัดกระบวนการใดๆ ก็ตาม ที่จะนำไปสู่ความเห็นชอบให้ก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี รวมทั้งกระบวนการภายใต้การ “ประกาศเจตนา การรับฟังความคิดเห็น และข้อตกลงล่วงหน้า” ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 ซึ่งประเทศไทยลงนามร่วมกับประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม ไว้จนกว่ากระบวนการจะดำเนินการภายใต้หลักการความโปร่งใส มีส่วนร่วมที่แท้จริงของภาคประชาชน
 
รายละเอียดของจดหมายมีดังนี้
 
 
จดหมายเปิดผนึก
 
 
เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง
 
19 มกราคม 2554
 
เรื่อง      กระบวนการพิจารณาเขื่อนไซยะบุรีที่เป็นไปอย่างเร่งรัด และปราศจากการ
             แสดงความรับผิดชอบที่แท้จริงของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
 
เรียน     ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
 
สำเนาถึง ตามรายนามแนบท้าย
 
 
ตามที่ ทาง สปป.ลาว ได้แสดงเจตนาที่จะสร้าง เขื่อนไซยะบุรี ทางตอนเหนือของประเทศลาว โดยขอให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) นำโครงการดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการ ประกาศเจตนา การรับฟังความคิดเห็น และข้อตกลงล่วงหน้า” (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement – PNPCA) ภายใต้ข้อตกลงแม่น้ำโขง (Mekong Agreement) ปี 2538 ซึ่งประเทศไทยลงนามร่วมกันกับประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม นั้น
 
เรา เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง มีข้อเป็นห่วง ความเห็น และข้อเรียกร้อง ต่อกระบวนการการจัด “เวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียกรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี” ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะสำนักเลขานุการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงของประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นใน 3 พื้นที่ริมแม่น้ำโขง ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย, อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และจังหวัดนครพนม ติดต่อกันในช่วงเวลาสั้น ๆ คือในวันที่ 22, 29 และ 31 มกราคมตามลำดับ ดังนี้
 
1. กระบวนการจัดเวทีสาธารณะเป็นไปอย่างเร่งรัด ไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ และไม่มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง คือจนถึงขณะนี้ ยังไม่ปรากฏว่ากรมทรัพยากรน้ำ ผู้จัดเวทีสาธารณะ ได้เปิดเผยขั้นตอนและรายละเอียดของเวทีที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมทั้งไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและเอกสารที่จำเป็น ซึ่งได้แก่ รายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของเขื่อนไซยะบุรี และรายงาน “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” (Strategic Environmental Assessment - SEA) ฉบับเต็ม ที่แปลเป็นภาษาไทยต่อประชาชนไทย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวแม่น้ำโขงที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว
 
2. การพิจารณาโครงการเขื่อนไซยะบุรี ควรต้องทำหลังจากผลกระทบของเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้งหมดได้รับการพิจารณา และรับรู้รับฟังโดยกว้างขวางเสียก่อน ดังที่รายงาน “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” (SEA) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเอง ได้ชี้ให้เห็นว่า โครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักที่กำลังมีการเสนออยู่ในขณะนี้ จะก่อผลกระทบด้านนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และสังคม ที่ร้ายแรง ทั้งที่เป็นผลกระทบภายในประเทศ และผลกระทบข้ามพรมแดน ดังนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและรัฐบาลในประเทศแม่น้ำโขงทุกประเทศที่จะต้องเปิดเผบข้อมูลทั้งหมดของโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทุกโครงการ และจัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้แสดงความเห็นต่อโครงการเหล่านี้ในภาพรวม และโดยเฉพาะประชาชนผู้จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากแต่ละโครงการด้วย
 
3. กระบวนการจัดเวทีสาธารณะ ซึ่งดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำเท่านั้น ทำให้มีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่ประเด็นสำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะประเด็นด้านพลังงานจะถูกละเลย ทั้งนี้ โครงการเขื่อนไซยะบุรี ตลอดจนเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้งหมด ได้รับการโต้แย้งมาโดยตลอดว่า จะไม่เป็นประโยชน์ต่อระบบไฟฟ้าของไทย ซึ่งยังมีการคาดการณ์ความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มที่สูงเกินจริงมาโดยตลอด ดังเห็นได้จากการที่ไฟฟ้าสำรองของไทยยังอยู่ในระดับสูง โดยเขื่อนเหล่านี้จะกลายเป็นภาระที่ไม่จำเป็นต่อผู้บริโภค เนื่องจากเป็นเขื่อนที่มีกำลังผลิตพึ่งพาได้ ต่ำกว่ากำลังผลิตติดตั้งที่ระบุไว้อย่างมาก การพึ่งพาเขื่อนเหล่านี้จึงน่าจะเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับระบบไฟฟ้าของไทย มากกว่าการสร้างความมั่นคง ทั้งนี้ ไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรีมีแนวโน้มที่จะมีราคาแพงกว่าพลังงานทางเลือกอื่น ๆ ด้วย
 
เราเห็นว่า กระบวนการจัดเวทีรับฟังความเห็นใด ๆ ก็ตามที่มีความหมาย ไม่อาจละเลยข้อถกเถียงด้านพลังงานเหล่านี้ได้
 
4. จนถึงขณะนี้ หน่วยงาน และสถาบันอื่น ๆ ในประเทศไทย ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งได้แก่ รัฐบาล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ช. การช่าง และธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 4 แห่งที่กำลังพิจารณาเงินกู้แก่โครงการนี้ ยังไม่เคยชี้แจงข้อมูลหรือให้คำอธิบายที่สังคมไทยควรรับรู้ โดยเฉพาะในเรื่องความจำเป็นของโครงการเขื่อนไซยะบุรี และมาตรฐานด้านจริยธรรมหรือความรับผิดชอบทางสังคม (Corporate Social Responsibility) ของนักลงทุนและสถาบันการเงิน
 
เรา เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง ตามรายนามข้างล่างนี้ จึงเห็นว่า กระบวนการผลักดันให้เกิดการพิจารณาสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี ที่กำลังดำเนินไปอย่างเร่งรัด มีลักษณะไม่โปร่งใส ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และปราศจากการแสดงความรับผิดชอบที่แท้จริงของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงขอเรียกร้องให้ระงับการเร่งรัดกระบวนการใด ๆ ก็ตาม ที่จะนำไปสู่ความเห็นชอบให้ก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี รวมทั้งกระบวนการภายใต้การประกาศเจตนา การรับฟังความคิดเห็น และข้อตกลงล่วงหน้า” (Procedures for Notification, Prior Consultation and Agreement – PNPCA) ไว้ จนกว่ากระบวนการนั้น ๆ จะดำเนินการภายใต้หลักการความโปร่งใส มีส่วนร่วมที่แท้จริงของภาคประชาชน มิฉะนั้นแล้ว โครงการย่อมขาดความชอบธรรม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันโครงการ ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม
 
 
                                                            ขอแสดงความนับถือ
 
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กปอพช.)
กป.อพช. ภาคเหนือ
กป.อพช. ภาคเหนือล่าง/กลาง
กป.อพช. ภาคใต้
โครงการฟิ้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง
เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง
สมัชชาคนจน
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค                   
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
โครงการพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต
มูลนิธิบูรณะนิเวศ
โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
สถาบันสันติประชาธรรม
คณะทำงานวาระทางสังคม
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบกรณีเหมืองแร่ทองคำสามจังหวัด (พิจิตร-พิษณุโลก-
โครงการพัฒนาความเป็นธรรมเพื่อสังคมสุขภาวะ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพชรบูรณ์)
มูลนิธิพัฒนาแรงงานนอกระบบ
มูลนิธิพัฒนาอีสาน จังหวัดสุรินทร์
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ภาคตะวันออก
เครือข่ายพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์
เครือข่ายผู้หญิงภาคอีสาน
ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร จังหวัดสุรินทร์
เครือข่ายทรัพยากรดินน้ำป่าภาคเหนือตอนล่าง
โรงเรียนแม่น้ำโขง จังหวัดเชียงใหม่
เครือข่ายผู้หญิงกับสุขภาพ จังหวัดเชียงใหม่
Rainbow Dream Group จังหวัดเชียงใหม่
สำนักข่าวประชาธรรม จังหวัดเชียงใหม่
จากเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง (คชส.) จังหวัดเชียงราย
มูลนิธิศักยภาพเยาวชน จังหวัดเชียงใหม่
สมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เครือข่ายองค์กรชุมชนการจัดการทรัพยากร ลุ่มน้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน
เครือข่ายการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน
กลุ่มดอยหมอกเพื่อการพัฒนา จังหวัดแม่ฮ่องสอน
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินจังหวัดแพร่
มูลนิธิพะเยาเพื่อพัฒนา
ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.ชาติ)
โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา จังหวัดตรัง
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคใต้
ศูนย์กฏหมายและสิทธิชุมชน พื้นที่อันดามัน
 
สำเนาถึง:
นายสาธิต วงศ์หนองเตย
รัฐมนตรีว่าการสำนักนายกรัฐมนตรี ประเทศไทย
 
คณะมนตรี (Council Committee) กรรมาธิการแม่น้ำโขง
นายลิม เคียน เฮา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำและอุตุนิยมวิทยา
ประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ กัมพูชา
 
นายสุวิทย์ คุณกิตติ 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย
 
นางเข็มแพง พลเสนา
หัวหน้าสำนักงานทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม (WREA)
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ สปป.ลาว
 
ดร.ฟาม โก่ย เหวียน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ เวียดนาม
 
คณะกรรมการร่วม (Joint Committee) กรรมาธิการแม่น้ำโขง
นายซิน นินี รองประธานคณะมนตรี/สมาชิกคณะกรรมการร่วม กรรมาธิการแม่น้ำโขง กัมพูชา
นายโชติ ตราชู รองประธานคณะมนตรี/สมาชิกคณะกรรมการร่วม กรรมาธิการแม่น้ำโขง ประเทศไทย
นางมอนมะนี น้อยบัวกอง เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม สำนักนายกรัฐมนตรี
สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ สปป.ลาว
ดร.เลอ ดัก จุง ผู้อำนวยการสมาชิกคณะกรรมการร่วม คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติ เวียดนาม
 
กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ
นางผกาวรรณ จุฟ้ามาณี ผู้อำนวยการส่วนงานคณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขง
 
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
 
คณะกรรมการบริษัท ช. การช่างจำกัด (มหาชน)
นายอัศวิน คงสิริ   - ประธานกรรมการบริษัท
นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ - ประธานกรรมการบริหาร
นายวิฑูร เตชะทัศนสุนทร
นายดอน ปรมัตถ์วินัย
นายถวัลย์ศักดิ์ สุขะวรรณ
ดร.ภาวิช ทองโรจน์
นายณรงค์ แสงสุริยะ
นายประเสริฐ มริตตนะพร
นายรัฐ สันตอรรณพ
นายกำธร ตรีวิศวเวทย์
ดร.อนุกูล ตันติมาสน์
 
ธนาคารพาณิชย์ของไทย
นางกรรณิการ์ ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย        
 
กลุ่มผู้ให้ทุน (Development Partners) ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank [ADB])
ธนาคารโลก (World Bank)
ออสเตรเลีย
เบลเยียม
เดนมาร์ก
สหภาพยุโรป
ฟินแลนด์
ฝรั่งเศส
เยอรมันนี
ญี่ปุ่น
เนเธอร์แลนด์
นิวซีแลนด์
สวีเดน
สหรัฐอเมริกา
 
 
 

 

AttachmentSize
ข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์131.5 KB
เขื่อนไซยะบุรี: ข้อเท็จจริงและข้อวิพากษ์วิจารณ์193.5 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

เกร็ดเรื่อง “วันกองทัพไทย” และ .. สู่อนาคต “ทหารไทยนี้รักสงบ”

Posted: 19 Jan 2011 03:46 AM PST

 
เนื่องจากวันกองทัพไทย [*] นั้นมีความสลับซับซ้อนกับความสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์ไม่น้อย จากวันที่ 28 กรกฎาคม 2484 อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ชัยชนะในสงครามอินโดจีน [1] และต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงมาเป็นวันที่ 25 มกราคม ที่เชื่อมโยงกับวันยุทธหัตถีของพระนเรศวร ต่อมาในสมัยจอมพล สฤษดิ์  ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก ในปี พ.ศ.2502 กระทรวงกลาโหมเห็นสมควรรวมวันที่ระลึกถึงกองทัพบก,กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ มาเป็นวันเดียวกัน คือ วันที่ระลึกกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 8 เมษายน และให้เรียกว่า “วันกองทัพไทย”
 
จนกระทั่งต่อมาก็กลับมาใช้วันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทยอีกครั้งในสมัยพลเอกเปรม จากนั้นสมัยของรัฐบาลทักษิณ ก็มาเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 18 มกราคม ผู้เขียนเห็นว่า การเมืองทำหน้าที่เชื่อมโยงวีรกรรมของพระนเรศวรในอดีตนั้นเอง แตกต่างจากวีรกรรมของชนชั้น ในคนธรรมดา สามัญ ซึ่งเราสามารถเข้าใจประเด็นชนชั้นจากวันดังกล่าว มาสู่ประเด็นทางการเมืองช่วง เปลี่ยนผ่านโครงสร้าง ความเชื่อ อุดมการณ์ ลัทธิทหารนิยม และสภาพแวดล้อมของกองทัพ ที่เหมือนมีบ้าน พ่อ แม่ พี่น้อง แล้วทหารเป็นคนดูแลรั้วบ้าน
 
 
ก่อนและหลัง 24 มิถุนา 2475 ถึงกองทัพภายใต้อิทธิพลอเมริกา
 
ยุคสมัยที่ทหารเปลี่ยนรากฐานจากการเป็นกองทัพของราชา จากเมื่อก่อนใช้โครงสร้างกองทัพจากอินเดียตามความเชื่อและอุดมการณ์ดังกล่าว เปลี่ยนมาเป็นแบบยุโรป ในสมัย ร.5 สู่การปรับโครงสร้างของกองทัพเป็นแบบอเมริกาหลัง 2475 ในสมัยการสร้างชาติ และกองทัพ ของจอมพล ป. โดยปี พ.ศ. 2482 "ประเทศสยาม" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ประเทศไทย" รัฐบาลจึงได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติไทยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์อยู่เช่นเดิม แต่กำหนดให้มีเนื้อร้องความยาวเพียง 8 วรรคเท่านั้น และปรากฏคำว่า "ไทย" ซึ่งเป็นชื่อประเทศอยู่ในเพลงด้วย ผลการประกวดปรากฏว่าเนื้อร้องของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกได้รับรางวัลชนะเลิศ รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศรับรองให้ใช้เป็นเนื้อร้องเพลงชาติไทย โดยแก้ไขคำร้องจากต้นฉบับที่ส่งประกวดเล็กน้อย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
 
จากนั้นนับตั้งแต่การเมืองหลังปี 2500 ที่จอมพลสฤษดิ์ได้เปลี่ยนวันกองทัพดังที่ได้กล่าวไป ซึ่งกองทัพพยายามทำการปรับเปลี่ยนจากระบบโครงสร้างตามอเมริกา ภายใต้การต่อสู้กับกองกำลังคอมมิวนิสต์ สมัยรัฐบาลทหารในช่วงปี2514-19 จนกระทั่งช่วงที่มีรัฐบาลพลเรือนขึ้นมา คือ มรว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม (27 สิงหาคม พ.ศ. 2519-23 กันยายน พ.ศ. 2519) โดยพลเรือนคนแรกที่ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมกองทัพได้
 
ต่อมา คือยุคสมัย 6 ตุลา ที่มีการสร้างวาทกรรม ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป สร้างอุดมการณ์รัก ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อย่างเข้มข้น มีการปลุกระดมให้เกิดการฆ่า “คนอื่น” (เป็นญวน หรือเวียดนาม) ในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา ซึ่งรัฐทหาร ฆ่าคนไม่ใช่ประชาชนไทย จนกระทั่ง การเปลี่ยนผ่านมาสู่ช่วงสมัย หลังพลเอก เปรม เป็นนายก ก็มาถึงยุคของชาติชาย ซึ่งแสดงความสามารถผ่านแบรนด์ที่ว่าสามารถควบคุมกองทัพได้ หลังจากผ่านช่วงประชาธิปไตยครึ่งใบ และเราได้นายกฯ จากการเลือกตั้ง ซึ่งสมัยนั้น พล.อ.ชวลิต เป็น ผบ.ทบ. ก็ไม่มีการปฏิวัติ หรือ รัฐประหารขึ้นมา และชวลิต ก็แสดงออกถึงความเป็นทหารอาชีพ และลดบทบาทกองทัพจำกัด ภายใต้กรอบประชาธิปไตย
 
ข้อเสนอการปรับโครงสร้างกองทัพก่อนและหลังพฤษภา 2535
 
ภายใต้การนำของนายกชาติชาย ที่ชูนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ที่สอดคล้องกับการพยายามดึงทหารกลับกรมกอง เพื่อให้ทหารเป็นทหารอาชีพไม่ยุ่งกับการปฏิวัติและรัฐประหาร ซึ่งนโยบายดังกล่าว เกี่ยวโยงกองทัพ และการปรับตัวภายใต้เศรษฐกิจโลกและไทย ความพยายามจะเป็นนิกส์ เป็นเสือตัวที่ 5 ภายใต้โมเดลนิกส์ เป็นประเทศอุตสาหกรรมตามเกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน ซึ่งประเทศเหล่านี้ เป็นโมเดลหรือตัวแบบของการพัฒนา เศรษฐกิจ ในช่วงเวลานั้น กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองก็เคยเชิญพวกพันศักดิ์ และไกรศักดิ์ มาวิเคราะห์เศรษฐกิจในช่วงนั้น ก็มีประเด็นถกเถียงเรื่องโมเดลดังกล่าว ซึ่งน่าสังเกตว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมนั้น จะต้องไม่มีทหารมายุ่งเกี่ยวทางการเมืองอีกแล้ว แต่ก็ไม่เป็นดังที่วาดฝันไว้เมื่อเกิดการรัฐประหาร รสช. ในกาลต่อมา
 
จากช่วงเหตุการณ์ก่อนพฤษภา 2535 ที่พรรคพลังธรรม พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกร้องประชาธิปไตยและหาเสียงลดอำนาจทหาร เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่มีความชอบธรรม และให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
 
ต่อมาไทยก็ได้รับบทเรียนจากวิกฤติการณ์ทางการเมืองในช่วงพฤษภาปี 2535 ซึ่งในตอนนั้นไม่อาจสามารถอ้างว่าฆ่าคนญวนได้อีกต่อไป เพราะเราก็รู้ว่าในโลกหลังสงครามเย็นทางการเมืองระหว่างประเทศอินโดจีน ซึ่งเราได้เคยเรียนรู้มาจากประวัติศาสตร์เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ทำให้เรารู้ว่า ชนชั้นกลาง และแรงงาน ต่างๆนานา รับไม่ได้กับการย้อนกลับสู่ระบบอำนาจนิยมโดยทหาร ทำให้เผด็จการครองประเทศอีกต่อไป
 
จากนั้นเริ่มมีไอเดียนำเสนอปฏิรูปกองทัพ เช่น แนวคิดนโยบายจิ๋วแต่แจ๋ว [2] โดยชวลิต สมัยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ผู้มีความซับซ้อนทางการเมืองจากฝ่ายกองทัพเกี่ยวพันพลเอกเปรม มาเป็นฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในช่วงเหตุการณ์พฤษภา ทั้งนี้ไอเดียของชวลิตบางด้านก็น่าสนใจ โดยเฉพาะแนวคิดการลดขนาดกองทัพ ลดงบประมาณ และงดซื้ออาวุธ ยุทโธปกรณ์ ซึ่งได้รับอิทธิพลของชูมากเกอร์ และความน่าสนใจของเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธด้วย ในลักษณะของเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ คือไม่ได้เน้นความรุนแรง ซึ่งตรรกะไม่เน้นความรุนแรง ก็ย่อมไม่สนับสนุนการซื้ออาวุธ สำหรับประหารคน และเรือรบ ก็ทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาตินั่นเอง
 
แม้ว่าการปรับโครงสร้างของกองทัพจะยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยเราอาจจะเห็นในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลชวลิต ซึ่งเกิดการเติบโตทางพัฒนาเศรษฐกิจเรื่อยมาจากยุคชาติชาย ที่ไทยไม่น่าจะย้อนกลับไปสู่ระบบเผด็จการ จากเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่มีทหารแทรกแซง จนกระทั่งวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2539 และการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 รวมทั้งแนวคิดกระจายอำนาจ อบต.ต่างๆ ซึ่งรอยต่อ ทางการเปลี่ยนแปลงการเมืองของยุคโลกาภิวัตน์ กำลังเข้ามา ในการแก้ไขเรื่องที่ดิน ความยากจน และประชาธิปไตย โดยวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้กองทัพต้องปรับลดงบประมาณของกองทัพ ตามวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และกองทัพ ก็เป็นปัญหาของการจัดการงบประมาณของประเทศ ทั้งกรณีทหารกับหุ้นของทีวี ททบ.5 ที่ดิน ทำสนามกอลฟ์ และธนาคาร ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ทหารมากกว่าประชาชนทั่วไป
 
ผู้เขียนใช้ข้อมูลยกตัวอย่างง่ายๆ ในโครงการเออร์ลี่รีไทร์ จากนายพลจำนวนนับพันคน มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ยอมเข้าโครงการ เมื่อนโยบาย เพื่อรีดไขมันล้มเหลวต่อเนื่องเรื่อยมา กองทัพต่างๆ ก็ไม่สามารถนำส่วนที่ปรับลดได้จากงบฯบุคลากรไปโปะในงบฯเสริมสร้างกำลังกองทัพ โดยปีไหนภาวะเศรษฐกิจดี หรือปีไหนกองทัพมีอำนาจเหนือฝ่ายการเมือง งบฯเสริมสร้างกำลังกองทัพจึงอู้ฟู่ตามปกติ อยากจัดซื้อจัดหาอย่างไรก็ง่ายดาย แต่เมื่อปีไหนเศรษฐกิจฝืดเคือง ไปจนถึงขั้นวิกฤต ถึงกองทัพจะมีอำนาจเหนือฝ่ายการเมืองอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้งบฯเสริมสร้างกำลังกองทัพอู้ฟู่เหมือนเดิม [3]
 
รัฐประหารโดยกองทัพ นำมาสู่อิทธิพลของทหาร และความเชื่อต่ออนาคต
 
การเมืองไทยได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในสมัยรัฐบาลทักษิณ มีความพยายามการปรับโครงสร้างกองทัพ ซึ่งทหาร เป็นเครือญาติของทักษิณ คือ ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ก็ได้ดำรงตำแหน่งทั้ง ผบ.ทบ. และ ผบ.สูงสุด รวมทั้งไอเดียการพยายามเปลี่ยนโครงสร้างกองทัพเพื่อทันสมัย และดับไฟใต้ กรณีการตั้งสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผบ.ทบ.เพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ต่อจากประวิตร (ปัจจุบันเป็น รมต.กลาโหม) แล้วเหตุการณ์ก็พลิกกลับ เมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 .. ที่เกิดขึ้นหลังการปั่นกระแสของสนธิ ลิ้มทองกุล มวลชนประชาชนของพันธมิตร ทำให้รัฐบาลของทักษิณล้มลง
 
มาถึงในสมัยของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่มีการลุกฮือขึ้นของมวลชนเสื้อแดง เริ่มมีการตรวจสอบกองทัพอีกครั้งทั้งจากฝ่ายคนเสื้อแดงในกรณีต่างๆ เช่น การอนุมัติงบประมาณทหารจำนวนมาก และกรณีที่มีประเด็นคอรัปชั่นเชิงนโยบาย หรือข้อโต้แย้งเรื่อง ซื้ออุปกรณ์ไม่มีคุณภาพ (จีที 200) เป็นต้น
 
รวมถึงการต่อสู้ทางสภา ของนักการเมืองฝั่งพรรคเพื่อไทย เช่น มีการเรียกร้องปรับลดงบประมาณในกระทรวงกลาโหมจำนวน 170,285,022,900 ล้านบาท โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย อภิปรายขอปรับลดร้อยละ 10 จากงบทั้งหมด 1.7 แสนล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าเป็นงบประมาณที่มากเกินไปทั้งที่สังคมยุคโลกาภิวัตน์ที่เน้นเรื่องการทำสงครามการค้า นี่เป็นประเด็นหนึ่งซึ่งมีหลายประเด็นซับซ้อนในยุคสมัย ที่กองทัพ กลับมามีอำนาจจัดซื้ออาวุธ เกี่ยวพันข่าวทั้งพลเอกเปรม และกองทัพต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเราอยู่ในโลก ยุคโลกาภิวัตน์ โดยน่าจะปรับโครงสร้าง แต่ผบ.ทบ.คนล่าสุด กับข้อเสนอโครงสร้างกองทัพ รับมือสู้ภัยพิบัติโลก เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.มีแนวคิดที่จะปรับโครงสร้างกองทัพใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจเฉพาะหน้า อย่างเช่น ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งใกล้ปี 2012 ที่ภัยพิบัติทวีความรุนแรงมากขึ้น และเป็นไปตามคำทำนายของโหราศาสตร์ที่ทำนายไว้ว่าจะเกิดน้ำท่วมหนักในช่วงเดือน ต.ค.และจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น [4]
 
อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างของกองทัพเคยมีการปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในยุคใหม่ที่เรียกว่า ยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุกอย่างจะต้องปรับให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปฏิบัติภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพของกองทัพ ทำให้กองทัพจำเป็นต้องทบทวนและปรับตัวเองพร้อมทั้งเหตุและผลเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
 
แน่นอนว่าประเด็นใหญ่ ในความซับซ้อนของกองทัพและทหาร ที่มีตั้งแต่เรื่องรัฐธรรมนูญและทหาร ภายใต้โครงสร้างซึ่งปรับตามอเมริกา โดยรูปแบบการบังคับบัญชาแบบเสนาธิการเหล่าทัพ ลดอำนาจกองทัพ ในเรื่องงบลับ และสร้างปฏิทินแห่งความหวังจากรัฐสวัสดิการ โดยลดงบประมาณของกองทัพ มาเพิ่มงบจัดทำรัฐสวัสดิการให้ประชาชน เพราะยุคสมัยของการไม่มีสงครามภายนอก และบทบาทของการควบคุมทหารโดยพลเรือน จึงมีความหมายโดยตรงในงานด้านนโยบายในระดับทางยุทธศาสตร์ (Strategy) และในระดับยุทธ์ศิลป์ (Operational art) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการจัดทำนโยบายและกระบวนการทางด้านงบประมาณ ซึ่งพลเรือนได้เข้ามามีส่วนร่วมนั่นเอง
 
ดังนั้นยุคโลกาภิวัตน์ของข้อมูลข่าวสารนั้น ประชาชนจะต้องรู้เรื่องทหาร และต้องร่วมกันกำกับและสร้างกลไกผ่านระบบประชาธิปไตย ให้ทหารปรับตัวเป็นมิตรต่อประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้วลีที่ว่า “ทหารไทยนี้รักสงบ” เป็นจริง ไม่มีการเข่นฆ่าประชาชนโดยทหารในอนาคตอีกต่อไป
 
 
 
 ………………
 
*หมายเหตุ
 
ผู้เขียนเลือกเขียนเรื่องวันกองทัพไทย โดยปรับปรุงแนวคิด และข้อมูล ที่นำเสนอ ที่สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ในการสนทนาชุด "เราจะก้าวต่อไปอย่างไรกัน" ครั้งที่ ๕ เรื่อง "สภาวะแวดล้อมสำหรับปรับโครงสร้างกองทัพไทย"สรุปความจากหนังสือ "ยกเครื่องเรื่องทหาร: ข้อคิดสำหรับกองทัพไทย ในศตวรรษที่ 21" เขียนโดย สุรชาติ บำรุงสุข เมื่อวันพุธที่ 15 ธันวาคม 2553 เวลา 13.30 น. โดยก่อนผ่านพ้นปี2010อย่างที่หนังสืออ้างไว้ในปี 2540 สู่ 2011 แล้ว
 
ดังนั้นผู้เขียน จึงเรียบเรียงเขียนบทความ ที่ได้อ่านหนังสือของสุรชาติ บำรุงสุข เพิ่มเติม คือ สังคมต้องรู้เรื่องทหาร : ทำไม - อย่างไร และ รัฐและกองทัพในประเทศโลกที่สาม : ข้อพิจารณาทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ส่วนประกอบเพิ่มเติมของแนวคิด คือ หนังสือของ Roger Kershaw “Monarchy in South East Asia: The Faces of Tradition in Transition”และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล รำลึก "วันปฏิวัติ 24 มิถุนา" : ความเป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบัน http://www.prachatai.com/journal/2008/06/17161 และผู้เขียนยังทบทวนดูนิตยสารสารคดีฉบับพิเศษรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยข้อมูลช่วงพฤษภา 35 (ดูเพิ่มเติมวิกีพีเดียและหนังสือฯลฯ) และ พล..ชวลิต หรือบิ๊กจิ๋วถูกวิจารณ์ถึงบทบาทความซับซ้อนทางการเมือง และบทบาทไม่ประสบความสำเร็จด้านลดบทบาทกองทัพ ซึ่งบริบทและรายละเอียดต้องขยายความมากกว่าจะอธิบายเป็นบทความสั้นๆ
 
อ้างอิง
 
[1] ๒๕  มกราคม วันกองทัพบก http://www.rta.mi.th/history/jan_25.htm และวันกองทัพไทย
http://www.rta.mi.th/21100u/collum/kongtap/kongtap.htm และอรรคพล สาตุ้ม"24มิถุนา,28กรกฏา,4ธันวา,10ธันวา"และYoungPADผ่านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมไทย
 
[2] แนวคิดนโยบายจิ๋วแต่แจ๋ว มาจากหนังสือ Small Is Beautiful: Economics As If People Mattered ที่มีแปลภาษาไทยว่า"จิ๋วแต่แจ๋ว : เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ"หรือ"เล็กนั้นงาม : การศึกษาเศรษฐศาสตร์โดยให้ความสำคัญกับผู้คน"
 
[3] เผยงบกองทัพปี53 ติดลบสูงสุดรอบ 10 ปีกว่าหมื่นล้าน ชี้จะรักษาสถานะต้องรีดไขมัน-หนุนรบ.อยู่ครบวาระ มติชน 13 มิ.ย. 52 22.45 น.
 
[4] ปรับโครงสร้างกองทัพ รับมือสู้ภัยพิบัติโลก  เดลินิวส์ วันอังคาร ที่ 26 ตุลาคม 2553 เวลา 19:46
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“สื่อเด็กอีสาน” ผนึกกำลังทีมหนุนเสริมหอบ 9 โครงการถอดบทเรียน “เสริมพลัง” ที่โขงเจียม

Posted: 19 Jan 2011 02:54 AM PST

เมื่อวันที่ 18 ม.ค.53 ทีสำนักงานสาธารณสุขอำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ศูนย์ประสานงานสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน (ศสอ.) ร่วมกับโครงการติดตามหนุนเสริมฯ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนและการประเมินผลแบบเสริมพลัง เพื่อสรุปผลการดำเนินงานของโครงการทั้ง 9 ที่ ศสอ.รับผิดชอบอยู่ว่าตลอด 6 เดือนแรกของการทำงานว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง และแต่ละโครงการสามารถทำงานได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ซึ่งในปี2553 ศสอ.ตั้งเป้าว่าจะมีการขับเคลื่อนประเด็นร่วมเรื่องสุขภาวะทางเพศในวัยรุ่นที่กำลังมีปัญหาการตั้งท้องก่อนวัยอันควรจนนำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมาย เพื่อลดปัญหานี้แต่ละโครงการจะต้องนำประเด็นปัญหานี้เข้าไปบูรณาการกับโครงการเดิมด้วย 

สำหรับวิทยากรกระบวนการที่มาดำเนินการอบรมครั้งนี้ได้มือโปรอย่าง ผศ.ดร.ธีรเดช ฉายอรุณ จากคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาช่วยให้เครื่องมือและโจทย์เพื่อสังเคราะห์ข้อมูล โดย อ.ธีรเดช ใช้วิธี EE (Empowerment Evaluation) หรือการประเมินแบบเสริมพลังเป็นกลยุทธ์ในการประเมิน ส่วนโครงการที่เข้าร่วมมีทั้งหมด 8 โครงการจากทั้งหมด 9 เพราะติดภารกิจสำคัญ 1 โครงการแต่ก็ยังมีสมาชิกเข้าร่วมทั้งหมดถึง 50 คน
 
การอบรมใช้เวลาทั้งหมด 2 วัน คือในวันที่ 17-18 มกราคม 2554 ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยหากเปรียบเทียบกับกิจกรรมที่จะต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่อย่างไรก็ตามเมื่อผ่านพ้นระยะเวลา 2 วันไปแล้วหลายโครงการสามารถถอดบทเรียนของตัวเองได้ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งนั่นจะมีผลในการนำไปใช้วางแผนการดำเนินงานในระยะที่ 2 ต่อไป 
 
ผศ.ชื่น ศรีสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ผู้คร่ำหวอดในวงการด้านงานพัฒนาชุมชน และนั่งแท่นเป็นที่ปรึกษาโครงการ และมานั่งฟังพร้อมกับวิเคราะห์การถอดบทเรียนร่วมกับโครงการย่อยตลอด 2 วัน ให้ความเห็นว่า งานของโครงการทั้งหมดนี้เป็นงานสร้างสรรค์ ซึ่งต้องอาศัยผู้มีจิตอาสาอย่างสูงมาทำงานนี้จึงจะสำเร็จ และเป็นงานที่ยาก เพราะต้องขับเคลื่อนท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมจึงเป็นเรื่องลำบากที่จะเปลี่ยนแนวคิดของคน ฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดในตอนนี้ก็คือการให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมาย และหากจะทำให้ได้อย่างยั่งยืน เราจะต้องไม่เดินคนเดียว แต่จะต้องอาศัยบุคคลจากหลายส่วนมาร่วมกันทำงานโดยมีเป้าหมายเดียวกัน
 
สำหรับบรรยากาศการอบรมท่ามกลางบรรยากาศอันหนาวเหน็บของจุดบรรจบแม่น้ำสองสาย ทุกโครงการต่างช่วยกันขุด ช่วยกันค้น และเค้นข้อมูลจากการทำงานจริงในพื้นที่มาใส่ในเครื่องมือที่วิทยากรจากกรุงเทพฯ ให้ไว้ เพื่อทำการวิเคราะห์หาผลต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น ถึงแม้จะทำได้ไม่ละเอียดมากนักด้วยข้อจำกัดของเวลา แต่ก็พอจะรู้วิธีการแล้วซึ่งแต่ละโครงการก็จะต้องกลับไปทำให้สมบูรณ์ในภายหลัง ซึ่งข้อมูลใหม่ที่เกิดจากการสังเคราะห์นี้เป็นวัตถุดิบสำคัญที่จะใช้ในการวางแผนการดำเนินงานในเฟดที่สองของปี 2554 นี้
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สบท.ชี้ปัญหาหลักผู้บริโภคโทรคมนาคม คิดเงินผิด-โดนเร่งเติมเงิน

Posted: 19 Jan 2011 01:41 AM PST

สบท. เผยยอดร้องเรียนโทรคมนาคมปี 53 เอไอเอสและฮัทช์ ถูกชาวพรีเพดร้อง “ตัด ยึด ทวง” มากที่สุด ขณะที่ดีแทคและทรูมูฟ คว้าแชมป์คิดเงินผิด

 
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยถึงสถิติการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์บ้าน และโทรศัพท์สาธารณะว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2553 มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 2,753 เรื่อง โดยปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดมาจากการใช้บริการโทรศัพท์มือถือจำนวน 1,751 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 63 รองลงมาคือ การร้องเรียนจากผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตจำนวน 557 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 20 และการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการโทรศัพท์บ้านจำนวน 353 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 12 ส่วนประเด็นที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดคือ การคิดค่าบริการผิดพลาดจำนวน 686 เรื่อง หรือร้อยละ 25 รองลงมาคือ การกำหนดวันหมดอายุโทรศัพท์ระบบเติมเงินจำนวน 602 เรื่องหรือ ร้อยละ 21 และมาตรฐานการให้บริการจำนวน 536 เรื่อง หรือร้อยละ 19.5 
 
“สำหรับการคิดค่าบริการผิดพลาดมีรายหนึ่งร้องเรียนว่า ถูกคิดค่าบริการ 170,000 บาท ซึ่งเรื่องยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งนี้โดยทั่วไปของการถูกคิดค่าบริการผิดพลาดมาจากค่า GPRS หรือ EDGE จากการใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ การระงับบริการแต่ยังถูกเรียกเก็บค่าบริการ การถูกคิดค่าโทรทางไกลต่างประเทศ หรือการถูกหักค่า sms บริการเสริมต่างๆ มีบางรายถูกคิดค่าดาวน์โหลดข้อมูลไป 2,500 บาท ทั้งที่การโหลดไม่สำเร็จแต่ถูกคิดเงินเต็มจำนวน จึงร้องเรียน จนในที่สุดบริษัทคืนเงินให้มาจำนวน 1500 บาท ปีที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกหักค่าบริการเสริม 272 ราย ผู้บริโภคจึงควรตรวจสอบการใช้บริการเป็นระยะ หากสงสัยเกี่ยวกับการใช้บริการ ต้องสอบถามกับเครือข่ายผู้ให้บริการ โดยบริษัทมีหน้าที่ต้องชี้แจง หรือแสดงรายละเอียดการใช้บริการกับผู้บริโภค” ผอ.สบท.กล่าว
 
นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า ในการใช้บริการโทรศัพท์มือถือนั้น ประเด็นที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดของผู้ให้บริการแต่ละเครือข่ายนั้นพบว่า เอไอเอส ถูกร้องเรียนมากที่สุดในประเด็นการกำหนดอายุโทรศัพท์ระบบเติมเงินโดยมีจำนวนเรื่องร้องเรียน 200 เรื่อง ด้านดีแทค และทรูมูฟ ถูกร้องเรียนมากที่สุดในประเด็นการคิดค่าบริการผิดพลาด โดยมีเรื่องร้องเรียนจำนวน 100 และ 167 เรื่องตามลำดับ ขณะที่ฮัทช์ถูกร้องเรียนมากที่สุดจากเรื่องการถูกยึดเงินในโทรศัพท์ระบบเติมเงินจำนวน 106 เรื่อง ส่วนการใช้บริการอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์บ้าน ประเด็นที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ มาตรฐานการให้บริการ 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โบลีเวียตีตลาดเครื่องดื่มจาก “ใบโคคา” หวังยูเอ็นเลิกสั่งห้าม

Posted: 19 Jan 2011 01:04 AM PST

ขณะที่โบลิเวียกำลังพยายามต่อรองกับสหประชาชาติให้พืชท้องถิ่นที่ใช้ระงับอาการป่วยอย่างใบโคคากลายเป็นพืชถูกกฎหมาย ก็มีการเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นเครื่องดื่มชูกำลังสัญชาติโบลิเวียที่มีวัตถุดิบเป็นใบโคคา

18 ม.ค.2554 - ขณะที่ประธานาธิบดี อีโว โมราเลส ของโบลิเวียพยายามต่อรองกับสหประชาชาติให้ยกเลิกการแบนใบโคคาซึ่งเป็นพืชตามประเพณีที่ชาวเทือกเขาแอนดีสนำมาเคี้ยว ล่าสุดก็มีการออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังสีเขียวจางๆ ที่ทำมาจากใบโคคา
 
เป็นที่ทราบกันว่าใบโคคาเป็นวัตถุดิบในการทำยาเสพติดโคเคน แต่ชาวโบลีเวียเคี้ยวใบโคคานี้มากว่าหลายศตวรรษแล้วในฐานะที่เป็นยากระตุ้นอ่อนๆ ที่ช่วยลดอาการหิวและโรคจากการอยู่ในพื้นที่สูง
 
ในปี ค.ศ.1961 ตามอนุสัญญาเดียวว่าด้วยยาเสพย์ติดของสหประชาชาติระบุว่าว่าใบโคคาเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย รวมไปถึงโคเคน, เฮโรอีน, ฝิ่น และมอร์ฟีน รวมถึงตัวพืชที่ใช้นำมาทำเป็นยาเหล่านี้
 
ขณะที่ในวันอังคาร (18 ม.ค.) ที่ผ่านมาก็มีการออกสินค้าเครื่องดื่มชื่อ โคคา บรินโค (Coca Brynco) ซึ่งทางรัฐบาลโบลีเวียชื่นชมว่าเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนให้เห็นคุณค่าของใบโคคาต่อสุขภาพ และพัฒนาไปสู่การเปิดให้มีการใช้ใบโคคาได้อย่างถูกกฎหมายในประเทศที่ผลิตโคเคนรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก
 
“พวกเราต้องการทำให้เห็นจากผลิตภัณฑ์นี้ว่า ใบโคคามีประโยชน์ต่อสุขภาพ” เนเมเซีย อคาโคโล รัฐมนตรีด้านการพัฒนาชนบทกล่าว “พวกเราต้องปกป้องใบโคคาของพวกเรา และแสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่ยาเสพติด”
 
โมราเลส ผู้ที่ผลักดันตัวเองมาจากการเป็นผู้นำการปลูกใบโคคาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของโบลิเวียที่เป็นชาวชาติพันธุ์ เขาเคยเรียกร้องให้สหประชาชาติยกเลิกการทำให้การเคี้ยวใบโคคาผิดกฎหมาย ซึ่งกลุ่มประเทศสมาชิกภาพมีเวลาในการตัดสินใจในข้อเรียกร้องเรื่องนี้ไปจนถึงปลายเดือนมกราคมนี้
 
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว กลุ่มเจ้าของกิจการในโบลิเวียก็เคยสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังจากใบโคคาในชื่อ โคคา คอลลา (Coca Colla) แต่ไม่ได้รับความสนใจมากพอในตลาดท้องถิ่น
 
จอห์นนี่ วาร์กัส ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ โคคา บรินโค มองในแง่บวกว่าแผนการลงทุน 1 ล้านดอลลาร์ (ราว 30 ล้านบาท) จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดี
 
“เรามีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวโบลิเวียทั่วประเทศ และมีเป้าหมายในการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน” จอห์นนี่กล่าว เสริมอีกว่าจะมีการใช้พืชวัตถุดิบในการผลิตถึง 227 กิโลกรัม ต่อเดือน
 
 
ที่มา: Coca puts fizz in new Bolivian energy drink, Reuters
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แรงงาน/เอ็นจีโอเผยประเด็นสุขภาพ “สหภาพแรงงาน” ต้องขับเคลื่อน แนะให้บรรจุในข้อเรียกร้อง

Posted: 19 Jan 2011 12:57 AM PST

 
15 .. ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อสรุปบทเรียนการทำงานด้านสุขภาพความปลอดภัยของคนงาน จัดโดยโครงการวิจัย “บทบาทสหภาพแรงงานในการทำงานด้านสุขภาพความปลอดภัย” * มีผู้เข้าร่วมประชุมคือ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง, อรุณี ศรีโต อดีตแกนนำสหภาพแรงงานไทยเกรียง, ทวีป กาญจนวงศ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสพรั่ง มีประดิษฐ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย ดำเนินการเสวนาโดยวรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยในโครงการฯ  
 
จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง ก่อนหน้านี้เมื่อกล่าวถึงความสนใจต่อประเด็นสุขภาพความปลอดภัยของขบวนการแรงงาน พบว่าความสนใจและการเรียกร้องส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเฉพาะหน้า แต่ไม่ค่อยมีการเรียกปัญหาเชิงโครงสร้างมากเท่าไร
 
สืบเนื่องมาจากกรณีโรงงานเคเดอร์และกรณีโศกนาฏกรรมอื่นๆ ที่คนงานต้องบาดเจ็บ ล้มตาย ทุพพลภาพ ในปี 2537 ขบวนการแรงงานก็ได้เสนอกันให้ขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพความปลอดภัยอย่างเป็นระบบ ใช้ชื่อว่า “คณะกรรมการรณรงค์สุขภาพความปลอดภัยของคนงาน” ซึ่งโครงสร้างประกอบไปด้วย สหพันธ์แรงงาน, กลุ่มย่าน, กลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน, องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน และนักวิชาการ
 
โดยมีประเด็นข้อเรียกร้องคือ 1.มีการเรียกต่อ BOI ให้สนใจเรื่องสุขภาพคนงานด้วย ไม่ใช่ว่าให้ความสำคัญต่อผู้ลงทุนเพียงอย่างเดียว 2.เรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน เน้นประสิทธิภาพเรื่องการตรวจสอบ โดยให้คนงานมีส่วนร่วมต่อการตรวจสอบในโรงงาน ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยในโรงงาน โดยลูกจ้างมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ให้แก้ไขประกาศกระทรวงมหาดไทย 3.ข้อเรียกร้องต่อกระทรวงสาธารณะสุข ให้มีการตั้งคลินิกอาชีวะเวชศาสตร์ให้หมอที่เชี่ยวชาญโรคจากการทำงานมารักษา
 
ซึ่งถือว่าครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ขบวนการแรงงานเริ่มเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบในเรื่องของสุขภาพความปลอดภัย ซึ่งก่อนหน้านั้นขบวนการแรงงานมักจะให้ความสนใจไปที่เรื่องค่าแรงและรายได้จากการทำงานเสียมากกว่า
 
อรุณี ศรีโต อดีตแกนนำสหภาพแรงงานไทยเกรียง ช่วงก่อนปี 2537 นั้นปัญหาของแรงงานมีหลายเรื่อง เช่นกรณีการเรียกร้องเรื่องลาคลอด 90 วันโดยกลุ่มแรงงานหญิงที่มีการเคลื่อนไหวหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยก่อนเหตุการณ์เคเดอร์นั้น คนงานยังไม่รู้เรื่องและละเลยเรื่องความปลอดภัย พอเกิดเหตุโศกนาฏกรรมนี้ คนงานจึงเพิ่งมาตื่นตัวเรื่องความปลอดภัย กระแสสังคมเองก็เริ่มมีการเห็นอกเห็นใจคนงานมากขึ้น โดยหลังจากการรณรงค์เคลื่อนไหวกรณีเคเดอร์จบแล้ว ขบวนการแรงงานก็เริ่มมีการขยับมาถึงเรื่องระยะยาว เริ่มหยิบประเด็นของผู้ป่วยจากการทำงาน เริ่มหยิบประเด็นเรื่องความปลอดภัยมาเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง
 
อรุณีเห็นว่า สิ่งที่ขบวนการแรงงานต่อสู้มาได้ คือการมีคณะกรรมการความปลอดภัยระดับโรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่ประสบการณ์ที่เจอคือ มีการตั้งคนงานเป็นคณะกรรมการฯ ตามกฎหมายจริง แต่ปัญหาคือ เราไม่มีความรู้พอ เสียงดังไม่เกิน 90 เดซิเบลมันคือเท่าไร ไม่รู้ก็เจรจากับนายจ้างไม่ได้ ถ้าไม่อบรม ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญก็ไม่ได้อะไรเลย และแม้กระทั่งองค์กรที่ต้องชี้เป็นชี้ตาย เช่น ศาลแรงงาน เวลาสู้คดีเหมือนเอาคนมานั่งเถียงกัน ฝั่งแรงงานก็มีหมอซึ่งมีภาพลักษณ์ดีมีแค่ไม่กี่คน ดังนั้นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเป็นคณะกรรมการร่วม หรือเป็นที่ปรึกษาคนงานด้วย
 
สพรั่ง มีประดิษฐ์ ที่ปรึกษาสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย ในส่วนของสหพันธ์ฯ ได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2529 - 2530 มีการอบรม จัดทำคู่มือ ในส่วนของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมนั้นส่วนใหญ่บริษัทจะเน้นเรื่อง “ความปลอดภัยในการทำงาน” เรื่องอุปกรณ์เครื่องมือป้องกันต่างๆ แต่ยังไม่เน้นเรื่องสุขภาพของคนงาน เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องมีการสัมผัสกับสารเคมีต่างๆ ความเจ็บป่วยต่อคนงานอาจไม่เกิดขึ้นได้ทันที แต่จะสะสมในระยะยาว
 
ทวีป กาญจนวงศ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กรณีสหภาพการท่าเรือ คนตื่นตัวมากกว่า เป็นมาก่อนเคเดอร์ สภาพการทำงานมันบังคับไปในตัว เพราะสินค้าอันตรายมาผ่านการท่าเรือทั้งนั้น (ในปี 2534 เคยเกิดไฟไหม้สารเคมีระเบิด) สหภาพแรงงานได้เสนอให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยแก่คนงาน เช่น การติดป้ายสัญลักษณ์สินค้าอันตรายให้ชัดเจน คนที่ต้องแบกสินค้าต่างๆ ต้องมีการให้อุปกรณ์ที่เหมาะสม เป็นต้น
 
จะเด็จกล่าวถึงคำถามที่ว่าสหภาพแรงงานเป็นปัจจัยของการขับเคลื่อนนโยบายเรื่องสุขภาพความปลอดภัยที่กล่าวมาใช่หรือไม่นั้น พบว่าแท้จริงแล้วส่วนใหญ่มักจะเป็นแกนนำแรงงานระดับหัว ในระดับสหภาพในสถานประกอบการณ์นั้นยังคงให้ความสนใจและมุ่งประเด็นไปที่การเจรจาต่อรองเรื่องค่าแรงมากกว่า ด้านอรุณีเห็นว่าก่อนหน้ากรณีเคเดอร์ตนเองก็ยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องความปลอดภัย ยังไม่รู้ว่าในโรงงานควรมีมาตรการเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย ต้องมีทางหนีไฟ ต้องมีไฟส่งสัญญาณ หรือไม่ แต่หลังเหตุการณ์นั้นพบได้ว่าสหภาพเริ่มไปพูดคุยเรื่องความปลอดภัยกับนายจ้าง เมื่อระยะเวลาการทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ สหภาพแรงงานก็เริ่มมีข้อเสนอ มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพความปลอดภัย แต่ก็ยังไม่มากเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับการยื่นข้อเรียกร้องเรื่องโบนัสค่าแรงต่างๆ
 
ที่ประชุมอภิปรายถึงสถานการณ์เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา พบว่าโดยทั่วไป เรื่องสุขภาพความปลอดภัย ปัญหาไม่ได้น้อยลง แต่รูปแบบซับซ้อนขึ้น เช่น กรณีโรงงานทอผ้าห่ม คนงานเกิดอุบัติเหตุจากเครื่องจักร บริษัทให้คนงานหยุดงานไปแต่ไม่ให้แจ้งว่าเป็นอุบัติเหตุ ให้แจ้งว่าได้รับอุบัติเหตุนอกโรงงานเพื่อให้ไปใช้สิทธิประกันสังคม แทนที่จะใช้สิทธิกองทุนทดแทน ซึ่งการปกปิดข้อมูลโดยนายจ้างแบบนี้ทำให้สถิติเรื่องอุบัติเหตุความปลอดภัยในโรงงานคลาดเคลื่อน และเมื่อไปดูตามโรงพยาบาลต่างจะเห็นว่ามีคนป่วยเรื่องสารเคมี สุขภาพหนาแน่น จนบางโรงพยาบาลย่านโรงงานถอนตัวจากประกันสังคมเพราะคนงานมาใช้สิทธิเยอะจนเขาไม่มีกำไร และมันขาดหลักฐานทางการแพทย์ที่จะยืนยันด้วย
 
รวมทั้งเทคนิคที่นายจ้างพยายามลดต้นทุน ใช้เครื่องจักรเก่าๆ สภาพการทำงานยังเหมือนเดิม แพทย์ในหน่วยอาชีวะเวชศาสตร์ยังน้อยอยู่เช่นเดิม ส่วนใหญ่ที่ไปอยู่ตามหน่วยต่างๆ แค่ผ่านการอบรม ไม่ได้เรียนมาโดยตรง นอกจากนี้การลงโทษก็น้อย ไม่มีใครกลัว แม้มีโทษทั้งแพ่งและอาญาส่วนใหญ่ก็พิจารณาทางแพ่งอย่างเดียว “นายจ้างไม่มีทางเป็นอาชญากร”
 
ทั้งนี้มันอาจเป็นเรื่องนโยบายการลงทุนของประเทศด้วย BOI ไม่ตอบสนองข้อเสนอของแรงงานเลย เพราะคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ จึงยังเน้นเหมือนเดิมคือโรงงานไหนก็มาลงทุนได้ เอาเปรียบคนงานไม่เป็นไร กระทรวงแรงงานก็ไม่สนใจรายงานจำนวนคนป่วยและผลักภาระให้ประกันสังคม
 
ถึงแม้วาระแห่งชาติที่รัฐบาลประกาศ ถ้าจริง ก็ไม่ควรปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย ให้ลูกจ้างควรเข้าถึงข้อมูลได้  และเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ควรต้องได้รับการอบรมให้มีความรู้เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญให้เพียงพอ เพราะโรงงานปัจจุบันมีกว่า 4 แสนแห่ง แต่เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยทั่วประเทศมีประมาณ 200 คน ไม่เพียงพอ ก่อนตรวจบางทีก็แจ้งนายจ้างทราบก่อน ทำให้ง่ายต่อการจัดฉาก
 
ส่วนกลุ่มผู้ลงทุนให้ความสำคัญกับสุขภาพ ความปลอดภัยคนงานน้อยมาก ถึงแม้เราสร้างกลไกให้แรงงานมีส่วนร่วมได้ แต่ถ้าบุคลากรของแรงงานไม่มีความรู้ ไม่อิสระจากนายจ้าง มันก็ไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจกับนายจ้างได้ กลไกอย่างคณะกรรมการความปลอดภัย มันต้องมีมาตรการพิเศษที่จะไม่ถูกกลั่นแกล้งหรือเลิกจ้าง อยากให้มองฝ่ายคนงาน มันต้องมีกระบวนการทำให้เขาให้ความสำคัญ
 
ทั้งนี้เรื่องสุขภาพความปลอดภัยสามารถนำมาเป็นเครื่องมือจัดตั้งสหภาพให้เข้มแข็งได้ โดยวิธีการคือเราต้องจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ให้คนงานตระหนัก เข้าใจ ใครยังไม่เป็นสมาชิกสหภาพก็ชวนเข้าสหภาพโดยใช้ประเด็นสุขภาพความปลอดภัยนี้ เพราะนายจ้างจะไม่ค่อยขัดขวาง และควรมีการจัดการศึกษาอย่างสม่ำเสมอ
 
โดยที่ประชุมมีข้อเสนอแนะว่าสหภาพแรงงานควรผลักดันเรื่องสุขภาพความปลอดภัยดังนี้
 
-     ต้องผลักดันให้มีการกำหนดในกฎหมายว่า การตรวจสอบด้านความปลอดภัยในโรงงานนั้น ต้องให้สหภาพแรงงานเป็นผู้ร่วมตรวจด้วย
-     สหภาพแรงงานต้องมีนโยบายเรื่องความปลอดภัยอยู่ในแผนงานของสหภาพ เก็บข้อมูลของโรงงานตนเอง เพื่อนำมาสู่การจัดทำข้อเรียกร้องเพื่อปรับปรุงสภาพการจ้าง
-    สหภาพแรงงานต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการบริหาร เช่น ในสมาพันธ์รัฐวิสากิจสัมพันธ์เสนอให้สหภาพเป็นบอร์ดด้วย อย่างน้อยได้เข้าไปนั่งฟังและเสนอความเห็นได้
-    ถ้าบริษัทสนใจในเรื่องนี้ จะให้ทุกแผนกมาร่วมประชุมทุกเช้าตรวจเรื่องความปลอดภัยแล้วแก้ไข แต่ตามกฎหมายกำหนดว่าเดือนละ 1 ครั้ง
-    จัดงานสัปดาห์ความปลอดภัยในโรงงาน เปิดเผยข้อมูลทั้งปี เพื่อกระตุ้นให้คนคำนึงถึงเรื่องนี้ โดยนายจ้างกับลูกจ้างร่วมกันเป็นเจ้าภาพ
-   สหภาพแรงงานควรอบรมเรื่องความปลอดภัยให้คนงานอย่างจริงจัง นอกเหนือจากเรื่องสิทธิแรงงาน
-  สหภาพแรงงานควรบรรจุเรื่องสุขภาพความปลอดภัยเข้าไปในข้อเรียกร้องประจำปี โดยให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าการเรียกร้องโบนัส และค่าตอบแทนจากการทำงานต่างๆ
 
ทั้งนี้ ในการประชุมมีการหยิบยกประเด็นปัญหาผลกระทบในด้านสุขภาพความปลอดภัยของคนงาน โดยสหภาพแรงงานควรเข้ามามีบทบาทเรียกร้องให้บริษัทเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบในภาระค่าใช้จ่ายต่อคนงานที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและความปลอดภัยมากขึ้นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น กรณีข้อเรียกร้องหนึ่งของสหภาพแรงงานคนทำยางที่ยื่นต่อบริษัทกู๊ดเยียร์จำกัด (มหาชน) ในปีที่แล้ว ให้บริษัทจ่ายค่ารักษาพยาบาลคนงานที่เกษียณอายุแล้วต่อไปอีก 5 ปี เนื่องจาก พบว่าคนงานในอุตสาหกรรมนี้เป็นผู้ที่ทำงานหนักอย่างยาวนาน และหลังเกษียณอายุจะเกิดความเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพอันเนื่องมาจากการทำงาน ซึ่งบริษัทน่าจะช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ด้วย ไม่เพียงปล่อยให้เป็นภาระของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว
 
หมายเหตุ *โครงการวิจัย “บทบาทสหภาพแรงงานในการทำงานด้านสุขภาพความปลอดภัย” อยู่ภายใต้ “แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พม่าออกกฎห้าม ส.ส.ใหม่พกกล้องถ่ายรูป เครื่องอัดเสียงและมือถือเข้าสภา

Posted: 19 Jan 2011 12:44 AM PST

พม่าออกกฎหมายใหม่ ห้ามว่าที่ ส.ส. นำกล้องถ่ายรูป เครื่องอัดเสียงทุกชนิด เครื่องเล่นเทป วิทยุวิทยุสื่อสาร โน๊ตบุ๊ค มือถือ กระเป๋าสะพาย และอาวุธเข้าสภา และต้องแต่งกายสุภาพ โดยรัฐบาลทหารเตรียมนัด ส.ส. ใหม่รายงานตัวที่เนปิดอว์ 27 ม.ค. นี้

พม่าออกกฎหมายใหม่ ห้ามว่าที่ ส.ส.ใหม่ นำกล้องถ่ายรูป เครื่องอัดเสียงทุกชนิด เครื่องเล่นเทป วิทยุวิทยุสื่อสาร โน๊ตบุ๊ค มือถือ กระเป๋าสะพาย และอาวุธเข้าสภา มีรายงานด้วยว่า รัฐบาลทหารส่งจดหมายเชิญไปยังว่าที่ ส.ส.ใหม่ให้เข้ารายงานตัวที่กรุงเนปีดอว์ ภายในวันที่ 27 ม.ค. นี้

และในวันที่ 28 ม.ค. นั้น ส.ส.ใหม่ทั้งหมดจะได้รับการรับรองจากคณะกรรมการเลือกตั้งในฐานะสมาชิกรัฐสภา โดยในวันดังกล่าว จะมีการจัดทำบัตรสมาชิกรัฐสภาและประวัติย่อๆ ของ ส.ส.แต่ละคนนอกจากนี้ ยังมีกฎให้ ส.ส.ต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย

ทั้งนี้ ส.ส.ชายจะต้องสวมเสื้อเชิ้ตคอปกและโสร่งพร้อมทั้งผ้าโพกหัวแบบพม่า ส่วนหญิงต้องสวมเชิ้ตแขนยาวและผ้าพันคอ ขณะที่ ส.ส.ที่เป็นผู้แทนของชนกลุ่มน้อยนั้นสามารถสวมใส่เครื่องแต่งกายประจำชาติของตัวเองได้ มีรายงานเพิ่มเติมว่า กระทรวงกลาโหมได้เตรียมเครื่องแต่งกายไว้ให้กับสมาชิกรัฐสภาที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหารเช่นเดียวกัน

ในส่วนของเจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่ในสภาโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งนั้น ยังสามารถมีส่วนร่วมในการเลือกประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีอีก 3 คน รวมทั้งมีส่วนร่วมในการเลือกประธานรัฐสภา ซึ่งการเลือกประธานสภาและประธานาธิบดีจะอยู่ในวาระการประชุมรัฐสภาครั้งแรกที่จะมีขึ้นในวันที่ 31 ที่จะถึงนี้ด้วย 

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า พรรครัฐบาลที่สามารถกวาดที่นั่งในสภาได้มากถึงเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์นั้น ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า รัฐบาลพม่าชุดใหม่จะยังไม่ใช่รัฐบาลพลเรือนอย่างแท้จริง (DVB 18 ม.ค.53)

 

-----------------------------------------------------

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน" อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ต้องขังเสื้อแดงมุกดาหารหลายคนคิดสั้น ส่งจิตเวช บางส่วนติดค้างอ้างไม่มีคิว

Posted: 18 Jan 2011 11:16 PM PST

นักโทษเสื้อแดงมุกดาหารเครียดจัด พยายามฆ่าตัวตายอีก หมอในเรือนจำต้องส่งจิตเวชดูอาการ ส่วนอีกคนซัดผงซักฟอก เจ้าหน้าที่ห้ามไว้ทัน อีกหนึ่งก็อาการน่าเป็นห่วง แต่ยังไม่ถึงคิว อ้างเจ้าหน้าที่ยังไม่ว่าง

 
18 ม.ค.54 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าในการให้ประกันตัวผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร หลังจากญาติเดินทางไปร้องเรียนต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.53 ซึ่งทนายอาสาจากศูนย์ข้อมูลประชาชนฯ (ศปช.) ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องขังที่ป่วยหนัก 2 คน เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. และผู้ต้องขังที่เหลือทั้งหมดอีก 17 คน เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ทั้งสองครั้งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพียง 4 คนซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ป่วยหนัก  แม้ว่าก่อนหน้านั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังที่มุกดาหาร 15 คน อีกทั้งกองทุนยุติธรรมก็อนุมัติเงินช่วยเหลือในการประกันตัว 8 ราย เป็นเหตุให้ญาติต้องเดินทางไปทวงถามความคืบหน้ากับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เมื่อ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา
 
ล่าสุด ทีมทนายอาสาเดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องขังเมื่อ 14 ม.ค. ได้รับการเปิดเผยจากญาติว่า เจ้าหน้าที่จากกองทุนยุติธรรม จังหวัดมุกดาหาร ได้ยื่นประกันตัวผู้ต้องขังไปแล้ว 3 ราย โดยวางเงินประกันจำนวน 45,000 บาท จากวงเงินประกันที่ศาลกำหนด 500,000 บาท ศาลจึงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน เมื่อสอบถามไปยังกองทุนยุติธรรม จังหวัดมุกดาหาร เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ แจ้งว่ากำลังดำเนินการเพื่อขอซื้อประกันอิสรภาพจากบริษัทประกันจากนั้นจะยื่นขอประกันตัวอีกครั้งแต่ยังไม่ระบุกำหนดเวลาที่ชัดเจน
 
ส่วนทางด้านผู้ต้องขัง เมื่อวันที่ 17 ม.ค. ทางเรือนจำมุกดาหารได้ส่งตัวนายวิชิต อินตะ หนึ่งในผู้ต้องขังเสื้อแดงเข้ารับการรักษาทางจิตเวชที่ รพ.มุกดาหาร เนื่องจากนายวิชิตมีอาการนอนไม่หลับ อยากฆ่าตัวตาย แพทย์ให้นอนพักรักษาตัวที่ รพ. เพื่อดูอาการ ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ม.ค.54 แพทย์แผนกจิตเวชมีความเห็นว่าวิชิตมีอาการทางประสาท และให้ส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจิตเวช จังหวัดนครพนม ซึ่งญาติเตรียมยื่นขอประกันตัวในวันนี้เพื่อให้เป็นผลดีต่อการรักษาตัว ทั้งนี้ วิชิตเป็นหนึ่งในผู้ต้องขังที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.และกองทุนยุติธรรมให้ได้รับสิทธิในการประกันตัวด้วยแต่ยังไม่มีความคืบหน้า
 
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้รับการแจ้งจากนางอ้อยทิพย์ คล่องแคล่ว ภรรยาของนายพระนม กันนอก ผู้ต้องขังเสื้อแดงอีกรายว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายพระนมพยายามที่จะกินผงซักฟอก แต่ขณะที่กินไปแล้ว 1 ช้อนกาแฟ เจ้าหน้าที่เรือนจำได้ไปพบเห็นและห้ามไว้  แต่ไม่มีการส่งตัวออกมา รพ.แต่อย่างใด นางอ้อยทิพย์ยังเปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้นายพระนมมีอาการเครียดมาก เนื่องจากตนเองท้องแก่ใกล้คลอดโดยมีกำหนดคลอดในเดือนนี้ อีกทั้งพ่อนายพระนมก็ล้มป่วยจากโรคหัวใจและหอบหืด ต้องนอนโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ทางพยาบาลวิชาชีพที่ประจำอยู่ในเรือนจำได้ให้ยาจิตเวชแก่นายพระนมมาระยะหนึ่งแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น นางอ้อยทิพย์จึงได้ขอร้องให้นำตัวนายพระนมมาทำการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล แต่พยาบาลแจ้งว่าได้ให้ยาทานแล้ว ไม่น่าวิตก และจะนำออกมาตรวจเมื่อมีคิว จนกระทั่งนายพระนมมากินผงซักฟอก แต่ทางเรือนจำก็ยังไม่ส่งออกมาตรวจรักษา
 
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังนายสำราญ เมืองโคตร พยาบาลวิชาชีพประจำเรือนจำจังหวัดมุกดาหาร ถึงกรณีนายพระนมและผู้ต้องขังเสื้อแดงรายอื่นๆ นายสำราญชี้แจงว่า นอกจากนายวิชิตที่ส่งตัวออกมาโรงพยาบาลแล้ว ก็มีอีก 2 ราย ที่มีอาการป่วยทางจิตเวชอย่างหนัก คือ นายพระนม กันนอก และนายดวง คนยืน ทั้งสองคนมีพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย ตนเองได้ให้ยาจิตเวชตามที่ทั้งสองมีประวัติรับยามาก่อนหน้านี้ และเปลี่ยนยาให้นายดวงไปแล้วหลังจากที่นายดวงยังไม่ดีขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องส่งตัวทั้งสองคนมารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล แต่เนื่องจากมียาทานอยู่แล้ว ประกอบกับมีคิวต้องส่งผู้ต้องขังรายอื่นๆ ในเรือนจำมารักษาตัวก่อน จึงต้องรอจนกว่าผู้คุมที่ทำหน้าที่มาเฝ้าที่โรงพยาบาลจะมีคิวว่าง จึงจะนำทั้งสองออกมาตรวจรักษาได้ 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อิหร่านสั่งแบนผลิตภัณฑ์วาเลนไทน์ ต้านวัฒนธรรมตะวันตก

Posted: 18 Jan 2011 11:07 PM PST

18 ม.ค. 2554 - สื่ออิหร่านรายงานว่าทางการอิหร่านมีคำสั่งแบนผลิตภัณฑ์ที่เป็นของขวัญวันวาเลนไทน์ และโปรโมชั่นใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับวันแห่งความรักนี้ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตกที่กำลังลุกลามไปทั่ว

การเฉลิมฉลองวันที่ 14 ก.พ. ซึ่งมีชื่อตั้งตามนักบุญชาวคริสต์องค์หนึ่งไม่ได้ถูกแบนอย่างเป็นทางการ แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมเคร่งครัดมักจะคอยเตือนเรื่องความเสื่อมของค่านิยมตะวันตกที่ลุกลามเสมอมา ซึ่งกฏหมายทางศาสนาของอิหร่านก็ห้ามไม่ให้คู่รักที่ยังไม่ได้แต่งงานมีเพศสัมพันธ์กัน

ทางสหภาพเจ้าของกิจการสิ่งพิมพ์ได้นำเสนอข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการแบนที่ออกโดยรัฐบาลอิหร่าน ซึ่งรวมถึงการแบนสินค้าจำพวกของขวัญเช่น การ์ด หรือกล่องที่มีสัญลักษณ์รูปหัวใจและกุหลาบสีแดง

หัวหน้าสหภาพ Ali Nikou Sokhan จากสำนักข่าว ILNA ของอิหร่าน กล่าวว่า การให้ความสำคัญกับงานเฉลิมฉลองของต่างชาติเป็นการลุกลามของวัฒนธรรมตะวันตก เขากล่าวอีกว่า "ประเทศของพวกเรามีอารยธรรมเก่าแก่และมีวันสำคัญหลายวันที่ให้ความสำคัญกับความรักใคร่และน้ำจิตน้ำใจ"

ในทุกวันนี้วันวาเลนไทน์เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่หนุ่มสาวชาวอิหร่านมากขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นหนทางแสวงหากำไรของธุรกิจภายในประเทศที่มีประชากรอายุต่ำกว่า 30 ปี ถึงร้อยละ 30 และไม่มีความทรงจำช่วงการปฏิวัติอิสลามสมัยปี ค.ศ. 1979 ที่ล้มล้างชาห์ (พระราชาของอิหร่าน) ซึ่งมีสหรัฐฯ หนุนหลังอยู่เลย

ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการแบนระบุว่า "การตีพิมพ์หรือผลิตตัวสินค้าใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับวันวาเลนไทน์ รวมถึงโปสเตอร์, โบรชัวร์, การ์ดโฆษณา, กล่องของขวัญที่มีรูปหัวใจ หัวใจครึ่งซีก หรือดอกกุหลาบ รวมถึงกิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่เป็นการโปรโมทวันนี้จะต้องถูกแบน ... และทางการจะใช้มาตรการทางกฏหมายกับคนที่เมินเฉยต่อคำสั่งแบน"

กลุ่มชาตินิยมบางคนเสนอให้มีการเฉลิมฉลองวัน "Mehregan" ซึ่งเป็นวันที่เฉลิมฉลองกันมาตั้งแต่ช่วงก่อนยุคสมัยอิสลาม ซึ่งคำว่า Mehr หมายถึง มิตรภาพ, ความรักหรือความชอบพอ

ที่มา: Iran bans production of Valentine's Day gifts, Reuters

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น