โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

9 วัน การชุมนุม – 7 แถลงการณ์ “สมัชชาคนจน” เขื่อนปากมูน ร้องแก้ปัญหา

Posted: 22 Jan 2011 11:44 AM PST

ชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูนชุมนุมต่อเนื่องหน้าศาลากลาง (ชั่วคราว) จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.53 ร้องรัฐเร่งเปิดเขื่อนปากมูล เหตุ กฟผ.ปิดเขื่อนฝืนมติกรรมการร่วมเพื่อแก้ปัญหาฯ

 
วานนี้ (22 ม.ค.54) นับเป็นวันที่ 11 ในการชุมนุมครั้งล่าสุดบริเวณศาลากลาง (ชั่วคราว) จ.อุบลราชธานี ของกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูน จาก อ.พิบูลมังสาหาร อ.โขงเจียม และ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล หน่วงงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อสรุปของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลโดยการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลจนสุดทั้ง 8 บาน อย่างถาวร และจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบ
 
การชุมนุมดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทำการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในวันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.53 รัฐบาลโดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และให้สัญญากับชาวบ้านว่าจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลโดยเร็ว
 
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 30 พ.ย.52 รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลขึ้น และในการประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 พ.ย.53 ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ด้วยการเปิดเขื่อนถาวรและฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกับการกำหนดกลไกการแก้ไขปัญหาขึ้นมาใหม่ คือ คณะอนุกรรมการเปิดเขื่อน และอนุกรรมการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ในการประชุมดังกล่าวมีตัวแทน กฟผ.และตัวแทนจังหวัดอุบลฯ เข้าร่วมประชุมด้วยโดยไม่ได้โต้แย้ง 
 
แต่หลังจากนั้นในวันที่ 18 ธ.ค.53 กฟผ.กลับทำการปิดเขื่อนปากมูลทั้งแปดบาน ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่ทำประมงในพื้นที่ แม้ว่าหนึ่งวันหลังจากนั้น (19 ธ.ค.53) เขื่อนปากมูลได้ยกบานประตูขึ้น จนขณะนี้ระดับน้ำด้านเขื่อนกับท้ายเขื่อนเท่ากัน แต่บานประตูก็ยกขึ้นในระดับปริ่มน้ำ ไม่ยกให้สุดบาน
 
วันเวลาของการชุมนุมยังถูกนับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยยังมองไม่เห็นวี่แววของการแก้ปัญหา ไม่ต่างจากห้วงเวลากว่า 20 ปี ที่ผ่านมา ของการต่อสู้ของชาวบ้านปากมูนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน  
 
 
วันที่ 20 ม.ค.54 วันที่ 9 ของการชุมนุม ชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูน ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 7 ของการชุมนุม ระบุถ้ารัฐมีความจริงใจแก้ไขปัญหา ต้องเปิดเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน จนกว่าข้อยุติใหม่จะเกิดขึ้น
 
 
 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน ฉบับที่ ๗ 
จริงใจแก้ไขปัญหา ต้องเปิดเขื่อนปากมูลทั้ง ๘ บาน จนกว่าข้อยุติใหม่จะเกิดขึ้น

เขื่อนปากมูลสร้างปัญหายืดเยื้อเรื้อรังมาหลายรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีแนวทางชัดเจนมากที่สุด และในระหว่างกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขปัญหา ภายใต้การดำเนินการของอนุกรรมการทั้ง ๒ คณะ ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น
 
ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจว่าแนวทางที่มีอยู่ จะถูกนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จังหวัดอุบลต้องเปิดประตูเขื่อนทั้ง ๘ บานไปก่อน จนกว่าจะมีข้อสรุปของอนุกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น จะดำเนินการแล้วเสร็จ
 
สมัชชาคนจน เห็นว่า ที่ผ่านมาจังหวัดอุบลราชธานี โดยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นตัวการที่ทำให้มีการปิดเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานความต้องการของชาวบ้าน และขาดข้อมูลรองรับ และนำมาสู่บรรยากาศที่ไม่สร้างสรรค์ในการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา อันเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่เงื่อนไขของการไม่ไว้วางใจต่อพวกเรา
 
ดังนั้น เพื่อลดเงื่อนไข และแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบล ต้องดำเนินการเปิดเขื่อนปากมูล ทั้ง ๘ บาน ในทันที
 
สมัชชาคนจน จะให้เวลาจังหวัดอุบล เพื่อดำเนินการเปิดประตูเขื่อนปากมูล ทั้ง ๘ บาน ภายใน ๓ วัน
 
สมัชชาคนจนหวังว่า จะเห็นความตั้งใจ และความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ของทางจังหวัดอุบลภายในระยะเวลาดังกล่าวนี้
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
ศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานี
๒๐ มกราคม ๒๕๕๔
 
 
000
 
วันที่ 18 ม.ค.54 เวลา 09.30 น.กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูน ซึ่งชุมนุมอยู่บริเวณศาลากลาง (ชั่วคราว) ได้จัดทำพิธีกรรมการขับไล่เสนียดจัญไร สิ่งชั่วร้ายให้ออกจากศาลากลาง และออกจากจิตใจผู้คนที่อยู่ในศาลากลาง เพื่อให้จิตใจของคนที่อยู่ในศาลากลางอุบล มีความเป็นธรรม เป็นกลาง กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง
 
จากนั้นเวลา 13.30 น. ชาวบ้านก็ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 6 เรียกร้องการเจรจาแก้ปัญหาร่วมระหว่างชาวบ้านและรัฐ โดยปราศจากการแทรกแซงของการไฟฟ้าฯ
 
 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน ฉบับที่ ๖
ยกระดับขั้นที่ ๑ ปฏิบัติการทวงคืนแม่น้ำมูน
ปลดเปลื้องอำนาจรัฐจากการครอบงำของการไฟฟ้าฯ 
 
เป็นที่ประจักษ์กันแล้วว่า อำนาจรัฐที่ผ่านมา อยู่ภายใต้การควบคุมบงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยการไฟฟ้าฯ จะเป็นผู้เสี้ยมให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐกับประชาชน และการไฟฟ้าฯ ก็ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ซึ่งสภาพการครอบงำอำนาจรัฐของการไฟฟ้าฯ ดำเนินมายาวนานนับตั้งแต่การไฟฟ้าฯ ได้นำเขื่อนปากมูล เข้ามาสู่ดินแดนแห่งนี้
 
หลายครั้งที่รัฐกับประชาชนได้หาข้อยุติเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่สุดท้ายการไฟฟ้าฯ ก็ใช้อิทธิพลเหนืออำนาจรัฐเข้าทำการแทรกแซง ขัดขวาง จนทำให้ปัญหายืดเยื้อ เรื้องรังมาจนถึงทุกวันนี้ สมัชชาคนจนเวทนาต่อสภาพการสิ้นอำนาจของรัฐไทย
 
แต่เหนืออื่นใด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และเพื่อให้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์ สมัชชาคนจนจำเป็นต้องดำเนินการใช้อำนาจที่ระบุตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด และเกิดรูปธรรม
 
เพื่อบรรลุแนวทาง ดังกล่าว สมัชชาคนจน ขอเรียกร้อง ดังนี้
 
๑.รัฐและกลไกรัฐต้องแสดงการหลุดพันการครอบงำของการไฟฟ้าฯ ด้วยการเร่งเปิดเจรจาอย่างเป็นทางการโดยเร็ว
 
๒.การแก้ไขปัญหาชาวบ้านปากมูน ต้องตั้งอยู่พื้นฐานของหลักวิชาการ ปราศจากการครอบงำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
 
สมัชชาคนจน ได้ให้เวลาสำหรับการประสานเพื่อเปิดการเจรจามาพอแล้ว นับจากนี้ไปเราจำเป็นต้องปฏิบัติการเพื่อสร้างรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาที่หมักหมนให้ลุล่วง
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
ศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานี
๑๗ มกราคม ๒๕๕๔
 
 
000
 
วันที่ 16 ม.ค.54 ชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูลยังชุมนุมต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวรหลังจากไม่มีสัญญาณจากหน่วยงานภาครัฐ โดยกิจกรรมของวันนี้ในช่วงบ่ายอาสาสมัครจากผู้ที่ร่วมชุมนุมหน้าศาลากลาง จ.อุบลราชธานี ได้เดินทางออกไปรณรงค์ แจกเอกสาร “ความจริงเขื่อนปากมูน” ที่บริเวณห้าง บิ๊ก C อุบล ซึ่งมีการให้ข้อมูลว่า กิจกรรมรณรงค์จะมีการย้ายสถานที่ในแต่ละวัน
 
ในวันเดียวกัน สมัชชาคนจนยังได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5 พร้อมเปิดเผยรายงานการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลของคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลงานวิจัย และข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลที่นำเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งมีรายละเอียดข้อสรุปออกมานานหลายเดือนแล้ว แต่กลับยังไม่มีการนำมาปฏิบัติ
 
 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน ฉบับที่ ๕
ปัญหาเขื่อนปากมูล ปัญหาระหว่างอำนาจการไฟฟ้าฯ กับอำนาจการบริหาร
 
ข้อสรุป ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขเขื่อนปากมูล ที่ผ่านมามีเป็นจำนวนมาก และเกิดขึ้นกับรัฐบาลมาแล้วหลายชุด แต่รัฐบาลชุดต่างๆ ที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถผลักดันข้อสรุปต่างๆ นั้น ให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ คือองค์กรที่มีอำนาจเหนือรัฐ
 
ปัจจุบัน ได้มีข้อสรุปอีกครั้ง จากการทำงานของกลไกที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น ซึ่งมีข้อสรุปมานานหลายเดือนแล้ว แต่ยังไร้วี่แววการนำมาปฏิบัติแต่อย่างใด ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ก็เป็นที่กังขาว่า รัฐบาลชุดปัจจุบัน กำลังเจอกับอำนาจเหนือรัฐของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เหมือนกับรัฐบาลชุดก่อนโดนมาหรือเปล่า
 
ปฏิกิริยาการปะทะกันของอำนาจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ กับอำนาจบริหารของรัฐบาลในหลายครั้งที่ผ่านมา มักจบลงด้วยการยื้อเวลา การชะลอเวลาตัดสินใจและจบลงด้วยการแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาของชาวบ้านปากมูนเลย
 
สมัชชาคนจนเห็นว่า การบริหารประเทศควรอย่างยิ่งที่ผู้ที่มีอำนาจบริหาร จะต้องแสดงความกล้าหาญ โดยต้องไม่สยบยอมต่ออำนาจหรืออิทธิพลที่อยู่เหนือรัฐ ดังเช่นอำนาจของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เราหวังว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะใช้อำนาจบริหารที่มีอยู่ในมือ ตัดสินปัญหาเขื่อนปากมูลโดยการยึดมั่นในหลักการและเหตุผล ดังที่ปรากฏในรายงานการทำงานของอนุกรรมการทั้ง ๒ คณะอย่างเคร่งครัด
 
เพื่อแสดงความกล้าหาญดังกล่าว รัฐบาลควรสร้างรูปธรรมให้เกิดขึ้นที่ปากมูน อันจะทำให้สังคมชื่นชม และมั่นใจในอำนาจบริหารที่มีของรัฐบาล
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
ศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานี
๑๖ มกราคม ๒๕๕๔
 
 
000
 
วันที่ 15 ม.ค.54 เวลา 09.00 น.ชาวบ้านปากมูนที่ชุมนุมกันที่สนามหน้าศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานีได้เดินเท้าไปยังศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เพื่อทำพิธีบวงสรวง และปฏิญาณตนและยืนยันเจตนารมณ์ในการต่อสู้ โดยในระหว่างระยะทางไปกลับกลุ่มชาวบ้านได้รณรงค์ทำความเข้าใจต่อคนในเมืองอุบลฯ
 
คำประกาศเจตนารมณ์ และแถลงการณ์ฉบับที่ 4 มีดังนี้
 
 
คำประกาศคนจน
เมื่อชีวิตล่มสลาย เมื่อสายน้ำไร้ฝูงปลา เมื่อที่นาจมใต้ท้องเขื่อน จึงขอประกาศสู้กู้แม่น้ำมูน
 
นี่คือคำประกาศความจริง ที่สั่งสมมาจากการเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม พวกข้าพเจ้าผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลมาเป็นเวลากว่า ๒ ทศวรรษ ตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกเราได้ใช้ความพยายามในการนำเสนอความจริง ความจริงอันเป็นวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำมูนที่พึ่งพาแม่น้ำมูนอย่างสมดุล ตราบจนกระทั่งมีการสร้างเขื่อนปากมูลได้มาทำลายวิถี อันเป็นชีวิตของพวกเราจนล่มสลายลง ชาวบ้านในพื้นที่ ๓ อำเภอ กว่า ๖,๐๐๐ ครอบครัว ต้องประสบชะตากรรมการพลัดพราก ความสูญเสียที่เกิดจากน้ำมือของรัฐ ที่อ้างว่าการพัฒนา การพัฒนาที่จะนำมาซึ่งความเจริญ การกินดีอยู่ดีมาสู่คนลุ่มน้ำมูน แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะมันคือการทำลายล้าง
 
นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ ที่กำลังมีการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ครั้งนั้นพวกเราได้บอกกล่าวแก่พวกท่านแล้ว ว่า กรุณาได้พิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านด้วย เพราะชาวบ้านมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการอาศัยทรัพยากรธรรมชาติธรรมชาติ เราบอกท่านว่าแม่น้ำมูนเป็นแหล่งดำรงชีวิตของพวกเรา ผืนดินริมตลิ่งอันเป็นดินตะกอนแม่น้ำมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการทำการเกษตร พรรณไม้ที่มีมากมายหลายชนิด เราได้ใช้เป็นสมุนไพรในการรักษาโรค เห็ดหลายชนิด เราได้ใช้เป็นอาหารและขายเป็นรายได้ให้ครอบครัว ที่พวกท่านเอาไปเป็นอ่างเก็บน้ำยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและ สัตว์ปีก รวมทั้งยังเป็นพื้นที่เลี้ยง วัว ควาย ของพวกเราอีกด้วย ปลาน้ำจืดที่เดิมมีอยู่หลากหลายพันธุ์ กระจายอยู่ตามแม่น้ำมูนก็ล้วนแต่เป็นอาหารและสร้างรายได้ให้กับพวกเราอย่างไม่ลำบากขัดสน สิ่งเหล่านี้หายไปพร้อมกับการเก็บกักน้ำของเขื่อนปากมูล
 
ทุกครั้งที่พวกเรามองดูน้ำในลำน้ำมูน เราได้ยินเสียงคร่ำครวญของวิญญาณบรรพบุรุษของเรา พวกเขาร่ำไห้ ตัดพ้อ ต่อว่า ต่อพวกเราที่เป็นลูกหลาน ว่า พวกเราที่ไม่ปกป้องและดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรมการหาปลาที่ควรจะสืบทอดต่อ เราต้องก้มหน้าเก็บงำความข่มขื่น พร้อมกับตั้งคำถามต่อตนเองว่า เราจะปล่อยให้ความข่มขื่นนี้ ซึมซับลงสู่ก้นบึ้งแห่งจิตวิญญาณ แล้วแปรเปลี่ยนเป็นพลังแห่งความการต่อสู้
 
ต่อเจ้าพ่อหลักเมือง ท้าวคำผง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองอุบล ข้าพเจ้าผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล พวกเราขอปฏิญาณว่า พวกเราไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการถูกกระทำย่ำยีจากการไฟฟ้าฯและเขื่อนปากมูลเลย พวกเราได้ทักท้วงและปกป้องแม่น้ำมูนมาตลอด พวกเราได้กู้ร้อง ป่าวประกาศต่อผู้คน ในสังคมไทยมาตลอดว่า เขื่อนปากมูลคือตัวเสนียดแห่งสายน้ำ เขื่อนปากมูลคือเครื่องมือแห่งการทำลายล้างแม่น้ำมูนและชีวิตของชุมชน เขื่อนปากมูลเป็นตัวการแห่งการสร้างความแตกแยก เขื่อนปากมูลเป็นตัวการแห่งการจำพรากของผู้คนในชุมชน
 
นับจากนี้เป็นต้นไป พวกเราขอบอกแก่นักสร้างเขื่อนทั้งหลายว่า แม่น้ำมูนที่ท่านทำลายนั้น คือผืนน้ำที่ฝั่งเถ้าถ่านบรรพบุรุษของพวกเรา เราขอบอกแก่พวกท่านนักสร้างเขื่อนทั้งหลายว่า พวกเราเพียรสั่งสอนบุตรหลานของพวกเราให้สำนึกตลอดเวลาว่า มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่งสายใยชีวิตของแม่น้ำมูน การกระทำใดที่ทำให้แม่น้ำมูนเสียหายย่อมเป็นการทำลายสายใยแห่งชีวิตลงด้วย พวกเราขอบอกต่อพวกท่านนักสร้างเขื่อนทั้งหลายว่า ได้โปรดสั่งสอนบุตรหลานของท่านให้สำนึกและหวงแหนที่ฝั่งเถ้าถ่านบรรพบุรุษของพวกเขา เช่นเดียวกับที่พวกเราสั่งสอนบุตรหลานของพวกเราด้วย เผื่อบุตรหลานของพวกท่านจะได้ตระหนักและยุติ ละ เลิก การกระทำดังเช่นพวกท่านนักสร้างเขื่อนได้กระทำไว้แก่พวกเรา
 
พวกเรามิอาจร้องขอให้พวกท่านนักสร้างเขื่อนทั้งหลายได้กรุณาปลดปล่อย หรือคืนวิถีชีวิตให้แก่พวกเราได้ แต่พวกเราขอบอกแก่พวกท่านนักสร้างเขื่อนทั้งหลายได้ทราบว่า เราจำเป็นต้องปกป้องและทวงคืนแม่น้ำมูน แม่น้ำมูนอันเป็นที่กลบเถ้าถ่านบรรพบุรุษของพวกเรา เยี่ยงท่านและบุตรหลานของพวกท่านพึงกระทำในการปกป้องเถ้าถ่านบรรพบุรุษของพวกท่าน
 
ต่อเจ้าพ่อหลักเมือง ท้าวคำผง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายแห่งเมืองอุบล ได้โปรดเป็นพยานในการกระทำ และความมุ่งมั่นของพวกเราด้วย เราจะทวงคืนแม่น้ำมูน ทวงคืนวิถีชีวิตของพวกเรา เราขอยืนยันว่า เราจะดำเนินวิธีการตามครรลองแห่งแนวทาง สันติ โดยยึดมั่นหลัก ๓ ประการ คือ
 
๑.สัจจะ คือความจริง
 
๒.ตบะ คือความอดทน
 
๓.อหิงสา คือ ยอมรับในความทุกข์ยาก โดยไม่เบียดเบียนต่อผู้อื่น
 
ข้าฯ แด่เจ้าพ่อหลักเมือง ท้าวคำผง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายแห่งเมืองอุบล ได้โปรดเป็นพยาน และดลบันดาลอำนวยชัยชนะในการทวงคืนแม่น้ำมูน ให้แก่พวกข้าพเจ้าด้วย เพื่อให้พวกเราได้กล้าสู้หน้าต่อวิญญาณบรรพบุรุษของพวกเรา และวิญญาณบรรพบุรุษของพวกข้าพเจ้าจะได้เลิกคร่ำครวญ ร่ำไห้เสียที
 
ต่อเจ้าพ่อหลักเมือง ท้าวคำผง และสิ่งศักดิ์แห่งเมืองอุบล พวกข้าพเจ้าทั้งของตั้งจิตปฏิญาณ ปฏิบัติการการกู้คืนแม่น้ำมูนให้จงได้
 
จะยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี
สมัชชาคนจน
๑๕ มกราคม ๒๕๕๔
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอุบล
 
---------------------------------------------------------------------------------------------
 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน ฉบับที่ ๔
๒ ทศวรรษปัญหาที่หมักหมน
และ ๔ วัน ของการชุมนุมรอการเจรจา เพื่อแก้ไขปัญหาปากมูน
 
เขื่อนปากมูลได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ต่อระบบนิเวศแม่น้ำมูนและวิถีชีวิตชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำมูน ความเดือดร้อนนี้พวกเราได้เรียกร้องมายาวนานนับกว่า ๒ ทศวรรษแล้ว
 
วันนี้เป็นวันที่ ๔ ที่ชาวบ้านปากมูนได้มาปักหลักรอคอยการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากเขื่อนปากมูล การชุมนุมของพวกเราดำเนินมาอย่างสงบตามแนวทางสันติวิธี
 
การชุมนุมอย่างสงบควรอย่างยิ่งที่ทางจังหวัดอุบลราชธานี จะต้องเร่งดำเนินการประสานงานเพื่อให้เกิดการเจรจา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโดยเร็ว แต่จนถึงวันนี้พวกเรายังไม่เห็นสัญญาณหรือคำยืนยันใดที่จะสร้างความมั่นใจได้ว่า การเจรจาจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นานมากนัก
 
ความเฉื่อยชา และนิ่งเงียบของจังหวัดอุบล นับเป็นวิถีทางที่ไม่สร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่การไม่ไว้วางใจต่อความจริงใจ การใส่ใจต่อปัญหาความเดือดร้อนของพวกเรา
 
เรายืนยันว่า พวกเรายึดมั่นในแนวทางการชุมนุมอย่างสงบ แต่การกระทำที่เฉยชานี้ บ่งชี้ถึงทัศนะที่ล้าหลัง หรือจังหวัดอุบลราชธานีจัดวางท่าทีเพื่อสร้างเงื่อนไขอย่างหนึ่ง อย่างใด เราไม่สบายใจต่อท่าทีเฉื่อยชาเช่นนี้
 
สมัชชาคนจนขอแสดงความเสียใจต่อท่าทีเช่นนี้ของจังหวัดอุบลราชธานี และหวังว่าทางรัฐบาลจะตระหนักถึงสภาพที่กำลังเกิดขึ้นต่อพวกเรา แล้วเร่งดำเนินการเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปากมูนอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
ศาลากลาง (ชั่วคราว)จังหวัดอุบลราชธานี
๑๕ มกราคม ๒๕๕๔
 
 
000
 

วันที่ 14 ม.ค.54 เวลา 09.00 น.ตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูลที่ชุมนุมอยู่หน้าศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานี นำโดยนายทองปน ชัยคำ และคณะ รวม 5 คน ได้เข้าไปติดต่อกับทางจังหวัดอุบลเพื่อขอเปิดการเจรจา ซึ่งทางจังหวัดอุบลก็ตอบตกลง และมีการมอบหมายให้รองผู้ว่าฯ เป็นหัวหน้าทีมเจรจาฝ่ายจังหวัดอุบล ส่วนทีมเจรจาตัวแทนชาวบ้านปากมูลนำประกอบด้วย นางสมปอง เวียงจันทร์ นายประหวี จันพิรักษ์ และคณะรวม 10 คน
 
การเจรจาเริ่มขึ้นโดยฝ่ายชาวบ้านได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.ให้ประสานงานกับรัฐบาลเพื่อเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการและเสมอหน้า โดยจะต้องมีคำตอบภายในวันจันทร์ที่ 17 ม.ค.54 2.การเจรจาที่จะเกิดขึ้นให้มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร่วมด้วยรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ตัวแทนการไฟฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบล และสมัชชาคนจน 3.กรอบการเจรจาประกอบไปด้วย การเร่งดำเนินการเปิดประตูเขื่อนปากมูลอย่างถาวร และเร่งดำเนินการฟื้นฟูชีวิตชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเจรจาเริ่มต้นเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.และใช้เวลาประมาณ 35 นาที โดยข้อสรุปรองผู้ว่าฯ จะให้คำตอบภายในวันจันทร์ที่ 17 ม.ค.นี้ จากนั้นเวลา 13.00 น.กลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
 
 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน
เจรจาเสมอหน้าเท่านั้น จึงจะแก้ไขปัญหาปากมูนได้
 
วันนี้ (๑๔ มกราคม ๒๕๕๔) ได้มีการเจรจากันระหว่างตัวแทนชาวบ้านปากมูล และตัวแทนจังหวัดอุบลราชธานี โดยตัวแทนชาวบ้านได้มีข้อเสนอ ดังนี้
 
๑.ให้เร่งเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลกับสมัชชาคนจน
๒.ในการเจรจาให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการเจรจา
๓.กรอบการเจรจา ดังนี้
 ๓.๑ ให้ดำเนินการเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร
 ๓.๒ ให้ดำเนินการฟื้นฟูชีวิตชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล
 
การเจรจาดำเนินไปและสิ้นสุดลงด้วยคำสัญญาจากตัวแทนจังหวัดอุบล ว่าจะเร่งประสานการเจรจาให้เกิดขึ้นโดยเร็ว อันเป็นสัญญาที่พวกเราเคยได้รับมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เพื่อเป็นการให้โอกาส และสร้างบรรยากาศความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานานร่วมกัน อีกครั้ง
 
อย่างไรก็ตามพวกเรายืนยันว่า ปัญหาเขื่อนปากมูลจะแก้ไขได้นั้น รัฐบาลก็จะต้องเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร และฟื้นฟูชีวิตผู้ได้รับผลกระทบนับแต่เขื่อนปากมูลเปิดใช้งานมา เท่านั้น
 
พวกเรายืนยันว่า เราจะชุมนุมอย่างสงบ ณ ศาลากลาง (ชั่วคราว) ตราบจนกว่าปัญหาที่มีอยู่จะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
 
พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จักต้องไม่รีรอการแก้ไขปัญหา และลงมือปฏิบัติให้เป็นไปรูปธรรมโดยเร็ว
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
ศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานี
๑๔ มกราคม ๒๕๕๔
 
 
000
 
วันที่ 13 ม.ค.54 ณ ห้องประชุมคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการจัดการที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและน้ำ ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูป จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 และสรุปผลการลงพื้นที่ของอนุกรรมการฯ เรื่องระบบการจัดการน้ำ (ครั้งที่ 1) พื้นที่ภาคอีสานระหว่างวันที่ 11 – 13 ม.ค. 2554 (ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี)
 
เวทีดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อรับฟังปัญหา ความเดือดร้อนของชาวบ้านจากโครงการจัดการน้ำ เช่น โครงการโขง-ชี-มูล บทเรียนการแก้ปัญหา และการต่อสู้ของชุมชน และรับฟังข้อเสนอจากชาวบ้านทั้งในเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ปัญหาด้านนโยบาย เพื่อนำไปประมวลเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการจัดการน้ำ (ร่วมกับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ) ตลอดจนร่วมแสวงหาแนวทางการเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปฐานทรัพยากรน้ำ
 
ทั้งนี้่ ในช่วงท้ายของเวที ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อให้มีการเปิดเขื่อนปากมูลถาวร หลังจากที่ชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูลได้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการเปิดเขื่อนปากมูลถาวรอยู่ที่ศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.54 เป็นต้นมา และยังไม่ได้รับคำตอบจากหน่วยงานของรัฐ จึงได้ชุมนุมต่อจนกว่าจะได้รับคำตอบที่พอใจ โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า
 
 
แถลงการณ์
เปิดเขื่อนปากมูลถาวร เพื่อชีวิตของคนอีสานทุกลุ่มน้ำ
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน
วันที่ 13 มกราคม 2554
 
พวกเราเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนในทุกลุ่มน้ำในอีสาน ได้มาประชุมกันในเวทีระดมความคิดเพื่อปฏิรูปฐานทรัพยากรน้ำ ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการปฏิรูปฐานทรัพยากร ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูป พวกเรามาระดมความคิดถึงสาเหตุ ปัญหา และข้อเสนอต่อการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ที่หอประชุมคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
 
พวกเรามีข้อสรุปร่วมกันว่า
 
1) ปัญหาการจัดการน้ำทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมอย่างผิดปกติ การขาดแคลนน้ำ มาจากโครงการจัดการน้ำของรัฐ เช่น โครงการโขง-ชี-มูล ที่สร้างปัญหากับระบบนิเวศอีสาน และวิถีชีวิตของชุมชน เนื่องจากหน่วยงานเจ้าของโครงการไม่เข้าใจระบบนิเวศ และไม่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แม้เมื่อเกิดผลกระทบแล้วก็ไม่ดำเนินการแก้ไข ฟื้นฟู และชดเชยให้กับประชาชนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
 
2) พวกเราเห็นว่า ต้องเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร เนื่องจากปัญหาเรื่องการเปิดเขื่อนปากมูลขณะนี้ได้ข้อสรุปตรงกันแล้ว ทั้งคณะกรรมการหลายฝ่ายที่รัฐบาลตั้งขึ้น และประชาชนในลุ่มน้ำมูนและลุ่มน้ำต่างๆ ว่า จะต้องเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของชุมชนให้กลับคืนมา ไม่เพียงแต่เฉพาะลุ่มน้ำมูนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลุ่มน้ำอื่นๆ ในภาคอีสาน
 
3) พวกเราเห็นว่า รัฐจะต้องยุติโครงการโขง-ชี-มูล และโครงการผันน้ำต่างๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศโดยทันที ชดเชยผลกระทบทั้งหมด และฟื้นฟูระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชน
 
พวกเราตกลงว่าจะรวมตัวเป็นสภาประชาชนลุ่มน้ำอีสานเพื่อผลักดันข้อเสนอดังกล่าวให้บรรลุอย่างรวดเร็ว และติดตามตรวจสอบนโยบายและโครงการจัดการน้ำของรัฐ สร้างข้อเสนอนโยบายที่ประชาชนในลุ่มน้ำอีสานจะจัดการร่วมกัน และสร้างความเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากรและการพัฒนาของตนเอง
 
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน 12 องค์กร
 
 
000
 
วันที่ 12 ม.ค.53 ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ในสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล กว่า 2,000 คน ได้ออกมาชุมชนหน้าศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานี และได้ออกแถลงการณ์สมัชชาคนจน “ปฏิบัติการทวงคืนแม่น้ำมูน ครั้งที่ 3”

 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน 
“ปฏิบัติการทวงคืนแม่น้ำมูน ครั้งที่ ๓”
 
นับจากมีการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากมูล วิถีชีวิตที่ราบเรียบยาวนาน วัฒนธรรมชุมชนที่สั่งสมบ่มเพาะส่งทอดสู่ลูกหลานหลายร้อยปี ได้จบสิ้นลงอย่างสิ้นเชิง ครอบครัวต้องแตกแยกล่มสลาย บ้านแตกสาแหรกขาด เสมือนหนึ่งรากเหง้าแห่งเผ่าพันธุ์ขาดสะบั้นลง นำไปสู่การอพยพโยกย้าย ต้องเผชิญกับชะตากรรมในที่แห่งใหม่ด้วยความยากลำเค็ญ 

พวกเราได้รวมตัวกันต่อสู้คัดค้านมาโดยตลอด ก่อนสร้างเขื่อนเราเสนอข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชน ระบบนิเวศสองฝั่งน้ำ เกาะแก่งแหล่งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ต้องสูญสลายไป บนพื้นฐานของความจริง แต่ไม่เคยได้รับความสนใจจากภาครัฐ จนกระทั่งบานประตูเขื่อนปากมูลทั้ง ๘ บานได้ปิดลง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกเหยียบย่ำ ความสูญเสียต่างๆ ก็เกิดขึ้นตามมา 

การต่อสู้ของชาวบ้านอย่างยาวนานกว่า ๒๐ ปี ผ่านการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของชาวบ้านปากมูน แต่เรากลับถูกเหยียบย่ำ ถูกกระทำด้วยนิยามว่า พวกขัดขวางการพัฒนา คนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนมาก เราต้องจำทนด้วยความอดกลั้น สุดท้ายคือสัญญาลมๆ แล้งๆ และแนวทางการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด ล้มเหลว เช่น การสร้างบันไดปลาโจน รวมทั้งการปิดๆ เปิดๆ เขื่อน 

รัฐบาลปัจจุบัน ได้แต่งขึ้น โดยมีอนุกรรมการสองชุดคือ ชุตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลขึ้นมา ๒ ชุด คือ ๑.)ชุดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ๒.)ชุดรวบรวมผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูล และเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลได้มีการประชุมครั้งที่ ๒ และในการประชุมครั้งดังกล่าวที่ประชุมก็ได้ข้อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือ 

๑.เปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร 
๒.ต้องฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล 
๓.ตั้งอนุกรรมการ ๒ คณะ เพื่อดำเนินการตามข้อสรุป ๒ ข้อข้างต้น 

ข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ทั้ง ๒ ข้อ นับเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม สำหรับการแก้ไขเขื่อนปากมูล การเคลื่อนไหวของชาวบ้านกว่า ๒๐ ปี ที่ก่อให้เกิดข้อยุติทั้งข้อเท็จจริงและความรู้ทางวิชาการที่ไร้ข้อโต้แย้ง ซึ่งข้อสรุปจะเกิดเป็นรูปธรรมได้ต้องใช้ความกล้าของรัฐบาลในการตัดสินใจ

 
ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการดังนี้
 
๑.เปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ เพื่อนำข้อสรุปของอนุกรรมการทั้ง ๒ คณะ และผลการประชุมของคณะกรรมการฯ มาปฏิบัติให้เกิดรูปธรรม 
๒.เราให้เวลารัฐบาลในการเตรียมการเจรจาภายในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๔ นี้ 
พวกเราจะรอคำตอบจากรัฐบาลอย่างสันติ ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลฯ 
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน 
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล 
ศาลากลาง (ชั่วคราว)จังหวัดอุบลราชธานี 
๑๒ มกราคม ๒๕๕๔
 
 
000
 
วันที่ 11 ม.ค.53 สมัชชาคนจนร่วมกับเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบล ออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล หลังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทำการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในวันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.53 รัฐบาลโดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และให้สัญญากับชาวบ้านว่าจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลโดยเร็ว
 
 
แถลงการณ์ร่วม
เปิดการเจรจาอย่างเสมอหน้า แก้ไขปัญหาปากมูน
 
พวกเราประกอบไปด้วยผู้เดือดร้อนจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ในนามของสมัชชาคนจน ร่วมกับผู้เดือดร้อนจากนโยบายโครงการพัฒนาของรัฐ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบล ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อสถานการณ์การแก้ไขปัญหาของรัฐบาล
 
พวกเราเห็นพ้องร่วมกัน ดังนี้
 
๑. ปัญหาเขื่อนปากมูล ได้มีข้อสรุปจากการดำเนินงานของอนุกรรมการมาแล้วทั้ง ๒ คณะที่รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งขึ้น ชัดเจนแล้ว ดังนี้
๑.๑ ผลสรุปของอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ๒ ข้อคือ
๑.๑.๑ ให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล อย่างถาวร
๑.๑.๒ ให้จัดหาที่ดินทำกินครอบครัวละ ๑๕ ไร่
๑.๒ ผลสรุปของอนุกรรมการรวบรวมงานวิจัย ฯ ๒ ข้อ คือ
๑.๒.๑ ให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลอย่างถาวร
๑.๒.๒ รัฐบาลจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบนับตั้งแต่เปิดใช้งานเขื่อนปากมูลเป็นต้นมา
๒. ปัญหาเขื่อนปากมูลยืดเยื้อมายาวนาน สมควรที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาได้แล้ว
 
นอกจากความชัดเจนในแนวทางการแก้ไขปัญหาแล้ว เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๓ รัฐบาลโดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้ให้สัญญาแก่พวกเราว่าจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลโดยเร็ว แต่หลังจากรัฐมนตรีสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เดินทางกลับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ได้ทำการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๓ จนถึงปัจจุบัน
 
ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ว่าปัญหาของพวกเราจะได้รับการแก้ไข อย่างเป็นรูปธรรม พวกเราจึงขอแจ้งให้ทราบว่า พวกเราจำเป็นต้องชุมนุม เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาของพวกเรา โดยพวกเรายืนยันว่า การชุมนุมของพวกเราจะดำเนินไปอย่างสันติ ภายใต้หลักปฏิบัติ ๓ ประการ คือ สัจจะ ตบะ อหิงสา
 
ในการชุมนุมในครั้งนี้ พวกเรามีข้อเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการดังนี้
๑. รัฐบาลต้องเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลอย่างถาวร พร้อมกับฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านที่ผ่านมา ๒๐ ปี
๒. ให้เปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการเพื่อหาข้อยุติการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ภายใน ๓ วัน
 
พวกเรายืนยันว่า เราจะชุมนุมอย่างสงบ จนกว่าปัญหาของพวกเราจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยในระหว่างนี้ รัฐบาลต้องเร่งเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลโดยทันที จนกว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปร่วมกัน
 
ด้วยจิตคารวะ
สมัชชาคนจน
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบล
๑๑ มกราคม ๒๕๕๔
ณ.ห้องประชุมดอกจาน ๔ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
 
 

เรียบเรียงข้อมูลจาก: เสียงคนอีสาน และ ประชาธรรม
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วีดีโอคลิป: เสวนา “สื่อออนไลน์ : Born To Be Democracy” ตอน 2

Posted: 22 Jan 2011 10:42 AM PST

งานเสวนา “สื่อออนไลน์ : Born To Be Democracy” ตอน 2

21 มกราคม 2554 เวลา 12.30-16.00 น.
ห้อง 221 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วิทยากร:
ปิยบุตร แสงกนกกุล กลุ่มนิติราษฎร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.
ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ.

ดำเนินรายการโดย:
ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ.

สนับสนุนโดย มูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: นักวิชาการถกบทบาท 'นิวมีเดีย' ชี้ 'ปฏิรูปสังคม' ต้องเชื่อม ออนไลน์-ออฟไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วีดีโอคลิป: เสวนา “สื่อออนไลน์ : Born To Be Democracy” ตอน 1

Posted: 22 Jan 2011 10:13 AM PST

งานเสวนา “สื่อออนไลน์ : Born To Be Democracy” ตอน 1

21 มกราคม 2554 เวลา 12.30-16.00 น.
ห้อง 221 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วิทยากร:
ปิยบุตร แสงกนกกุล กลุ่มนิติราษฎร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.
ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ.

ดำเนินรายการโดย:
ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ.

สนับสนุนโดย มูลนิธิไฮน์ริคเบิลล์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: นักวิชาการถกบทบาท 'นิวมีเดีย' ชี้ 'ปฏิรูปสังคม' ต้องเชื่อม ออนไลน์-ออฟไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ตานฉ่วย’ ใช้โควตา 25% ตาม รธน. ตั้งนายทหารระดับล่าง 338 นาย นั่งผู้แทนสภา

Posted: 22 Jan 2011 09:51 AM PST

พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ผู้นำพม่า ในนามผู้บัญชาการกองทัพพม่าลงนามแต่งตั้งนายทหารซึ่งส่วนใหญ่ติดยศร้อยเอกและพันตรี เป็นสมาชิกรัฐสภาและสภาท้องถิ่น ตามที่ รธน. กำหนดให้ผู้แทน 1 ใน 4 ของสภามาจากกองทัพ ขณะที่พม่าจะมีการเปิดประชุมสภาครั้งแรกในรอบ 22 ปี วันที่ 31 ม.ค. นี้

ประกาศฉบับที่ 1/2011 ลงวันที่ 20 ม.ค. 54 เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลในกองทัพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนประชาชน (Announcement of Defence Services Personnel Pyithu Hluttaw representatives) โดยเป็นการแต่งตั้งนายทหารจำนวน 110 คน ประกาศนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับวันที่ 21 ม.ค. 54 หน้า 7

 

ประกาศฉบับที่ 2/2011 ลงวันที่ 20 ม.ค. 54 เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลในกองทัพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนแห่งชาติ (Announcement of Defence Services Personnel Amyotha Hluttaw representatives) โดยเป็นการแต่งตั้งนายทหารจำนวน 56 คน ประกาศนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับวันที่ 21 ม.ค. 54 หน้า 8

 

  

ประกาศฉบับที่ 3/2011 ลงวันที่ 20 ม.ค. 54 เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลในกองทัพเป็นสมาชิกสภาแห่งรัฐและภูมิภาค (Announcement of Defence Services Personnel Region or State Hluttaw representatives) เป็นการแต่งตั้งนายทหารจำนวน 222 คน สำหรับสภาท้องถิ่นใน 7 ภาค และ 7 รัฐชนกลุ่มน้อย ประกาศนี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับวันที่ 21 ม.ค. 54 หน้า 8 และ 9

 

ตานฉ่วย’ ตั้งนายทหารระดับล่าง 388 นาย นั่งสภา

(22 ม.ค. 54) มีรายงานว่า พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย (Than Shwe) ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า ในนามผู้บัญชาการกองทัพพม่าได้ลงนามแต่งตั้ง นายทหารระดับล่างจำนวน 388 นาย ดำรงตำแหน่งในรัฐสภาแล้ว

ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญพม่าปี 2551 ที่ระบุว่า สัดส่วนร้อยละ 25 ของที่นั่งทั้งหมดในสภาทั้งสาม ต้องจัดไว้ให้กับกองทัพพม่า โดยผู้แต่งตั้งคือผู้บัญชาการกองทัพพม่า โดยสภาทั้งสามได้แก่ สภาผู้แทนประชาชน (Pyithu Hluttaw) หรือสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนแห่งชาติ (Amyotha Hluttaw) หรือวุฒิสภา และสภาแห่งรัฐและภูมิภาค ซึ่งเป็นสภาบริหารท้องถิ่นในพื้นที่ 7 ภาคและ 7 รัฐชนกลุ่มน้อยของพม่า

โดยหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของรัฐบาลทหารพม่า ฉบับเมื่อวานนี้ (21 ม.ค.) เผยแพร่ประกาศของคณะกรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ 3 ฉบับ โดยทั้งหมดลงนามท้ายคำสั่งโดยนายเถ่ง ซอว์ (Thein Soe) ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  

โดยประกาศฉบับที่ 1/2011 ลงวันที่ 20 ม.ค. 54 เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลในกองทัพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนประชาชน (Announcement of Defence Services Personnel Pyithu Hluttaw representatives) โดยเป็นการแต่งตั้งนายทหารจำนวน 110 คน

ประกาศฉบับที่ 2/2011 ลงวันที่ 20 ม.ค. 54 เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลในกองทัพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนแห่งชาติ (Announcement of Defence Services Personnel Amyotha Hluttaw representatives) โดยเป็นการแต่งตั้งนายทหารจำนวน 56 คน

และประกาศฉบับที่ 3/2011 ลงวันที่ 20 ม.ค. 54 เรื่อง การแต่งตั้งบุคคลในกองทัพเป็นสมาชิกสภาแห่งรัฐและภูมิภาค (Announcement of Defence Services Personnel Region or State Hluttaw representatives) เป็นการแต่งตั้งนายทหารจำนวน 222 คน สำหรับสภาท้องถิ่นใน 7 ภาค และ 7 รัฐ

ในประกาศดังกล่าว ส่วนใหญ่ของนายทหารที่ได้รับการแต่งตั้ง เป็นนายทหารยศพันตรี หรือร้อยเอก มีเพียงทหารยศพันเอกเพียง 19 นาย และนายทหารยศที่สูงสุดคือ พลจัตวา ซอว์ มิน (Brig.Gen Zaw Min) เป็นทางยศนายพลเพียง 1 นาย จากจำนวนที่แต่งตั้งทั้งหมด 388 นาย โดย พลจัตวา ซอว์ มิน ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาแห่งรัฐกะเหรี่ยง

การประกาศนี้ เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมสภาในวันที่ 31 ม.ค. ที่จะถึงนี้ นับเป็นการเปิดประชุมสภาครั้งแรกในรอบ 22 ปีของสหภาพพม่า ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะมีผลให้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันดังกล่าว

 

อิระวดี’ วิเคราะห์โควตาทหาร 1 ใน 4 กันแก้ รธน. แถมเอื้อทหารคุมสภาเบ็ดเสร็จ

ในเว็บไซต์อิระวดี ซึ่งเป็นนิตยสารข่าวรายเดือน ภาคภาษาอังกฤษ ดำเนินการโดยสื่อมวลชนพลัดถิ่นของพม่า อธิบายว่า การที่รัฐธรรมนูญพม่าออกแบบให้กันโควตาในสภาร้อยละ 25 สำหรับทหาร เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้จะต้องใช้เสียงในสภาผู้แทนประชาชน และสภาผู้แทนแห่งชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 จึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ของพม่าได้

นอกจากนี้ โควตาร้อยละ 25 ของทหาร ยังทำให้ทหารพม่าสามารถเสนอแก้ไขกฎหมายได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาที่มาจากพลเรือน ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญพม่า กำหนดให้การเสนอแก้ไขกฎหมายในสภาใช้เสียงอย่างน้อยร้อยละ 20 ในสภา

และผลจากการแต่งตั้งทหารเข้าไปในสภาดังกล่าว จะเสริมให้ฝ่ายสนับสนุนกองทัพพม่า ครองเสียงในรัฐสภาได้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ มีพรรคการเมืองที่สนับสนุนโดยรัฐบาลทหารพม่า คือ พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party - USDP) ได้รับการเลือกตั้งคิดเป็นร้อยละ 77 จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ในจำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งจากพรรค USDP ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีพม่าคนปัจจุบันคือ เตงเส่ง ผู้นำพม่าอันดับสามได้แก่ ฉ่วย มาน (Shwe Mann) และ ผู้นำพม่าอันดับสี่คือ ติน อ่อง มิน อู (Tin Aung Myint Oo)

ทั้งนี้ จะมีการประชุมรัฐสภาวันที่ 31 ม.ค. ที่เมืองเนปยิดอว์ เพื่อเลือกประธานสภา 1 ราย และรองประธานรัฐสภาอีก 2 ราย และเลือกรองประธานาธิบดีในวันเดียวกัน และในวันเดียวกันนี้ จะมีการประชุมสภาแห่งรัฐ 7 รัฐชนกลุ่มน้อย และสภาภูมิภาค 7 ภาค ทั่วสหภาพพม่าด้วย

ทั้งนี้ กองทัพจะแต่งตั้งรองประธานาธิบดี 1 คน ขณะที่รองประธานาธิบดีอีก 2 คน จะเลือกโดยใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนประชาชน และสภาผู้แทนแห่งชาติ

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ในบรรดารองประธานาธิบดีทั้งสามคน จะมีผู้หนึ่งซึ่งมี “ความเชี่ยวชาญทางการเมือง การบริหาร เศรษฐกิจ และกิจการทางทหาร” ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี โดยในรัฐธรรมนูญพม่าไม่ได้กำหนดว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีจะต้องเป็นสมาชิกสภา โดยมีกำหนดดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี ไม่เกิน 2 วาระ

ทั้งนี้ เว็บไซต์อิระวดี อ้างอิงจากรายงานซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันว่า พลเอกอาวุโสตานฉ่วย ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีสำหรับรัฐบาลใหม่แล้ว

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก

THE NEW LIGHT OF MYANMAR, Friday, 21 January, 2011 p.7-9

Low-ranking Military Officers Appointed to Parliament, Irrawaddy, By BA KAUNG. Friday, January 21, 2011 http://www.irrawaddy.org/article.php?art_id=20579

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเสนอให้รัฐบาลเคารพสิทธิผู้ลี้ภัยจากปากีสถาน

Posted: 22 Jan 2011 09:41 AM PST

เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี หวังร้องเรียนหลังเกิดกรณี ตม. จับกุมผู้ลี้ภัยด้านศาสนา จากปากีสถานกว่า 86 คน และมีการผลักดันกลับแล้วกว่า 36 คน ชี้ขัดต่อหลักการไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญการคุกคาม

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Refugee Rights Network หรือ APRRN) ได้ยื่นหนังสือขอเข้าพบ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอเรียนปรึกษาประเด็นเรื่องความห่วงใยอย่างยิ่งของเครือข่ายฯ หากรัฐบาลยังคงปฏิเสธสิทธิมนุษยชนของผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัยต่อไป

เครือข่ายดังกล่าวแถลงว่า ทั้งนี้ เนื่องจากวันที่ 14 ธ.ค. ปี 53 ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้เข้าจับกุมกลุ่มผู้ขอลี้ภัยและผู้ลี้ภัยชาวปากีสถานซึ่ง นับถือศาสนาอิสลามนิกายอะห์มาดี จำนวนกว่า 86 คน ผู้ซึ่งได้เข้ามาในประเทศไทยเพื่อเพื่อแสวงหาความคุ้มครองจาก การประหัตประหารในประเทศปากีสถาน ภัยประหัตประหารต่อผู้เชื่อนิกายอะห์มาดีในประเทศปากีสถานนั้นรุนแรงอย่างยิ่งและก่อการอย่างเป็นระบบตลอดมา

โดยประเทศปากีสถานเป็นเพียงรัฐเดียวที่มีประกาศอย่างเป็นทางการว่าผู้เชื่อนิกายอะห์มาดีมิใช่ชาวมุสลิมและสามารถถูกประหัตประหารได้ ดังนั้น บุคคลเหล่านี้จึงถูกคาดโทษจากการปฏิบัติตามศาสนาของตนซึ่งเป็นการขัดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง บุคคลเหล่านี้ได้เข้ามาในประเทศไทยเพื่อเพื่อแสวงหาความคุ้มครองจากการประหัตประหารในประเทศปากีสถาน และ ได้ลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการพิสูจน์สถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ในประเทศไทย

โดยในกลุ่มของผู้ที่ถูกกักกันตัวมีผู้เยาว์ประมาณ 30 ราย จำแนกเป็น ผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 10 ปี จำนวน 14 ราย นอกจากนี้ ยังมีหญิงตั้งครรภ์ 9 เดือน จำนวน 1 คน รวมถึงบุคคลอื่นๆ ซึ่งมีโรคประจำตัว อาทิเช่น โรคความดันสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และ โรคระบบทางเดินหายใจ

เอกสารของเครือข่าย ยังระบุว่า จากรายงานล่าสุด ทางเครือข่ายได้รับรายงานมาว่า ผู้ถูกกักกันจำนวนประมาณ 36 คน ได้ถูกผลักดันกลับไปยังประเทศปากีสถานแล้ว ซึ่งขัดต่อหลักการไม่ผลักดันกลับตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งมีใจความสำคัญว่า รัฐจะไม่ขับไล่หรือผลักดันผู้ลี้ภัย ไม่ว่าจะโดยลักษณะใดๆ ไปยังชายเขตแห่งดินแดน ซึ่ง ณ ที่นั้น ชีวิตหรืออิสรภาพของผู้ลี้ภัยอาจได้รับการคุกคาม ด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพของกลุ่มสังคมเฉพาะหรือความคิดเห็นทางการเมือง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การจัดระเบียบแรงงานนอกระบบไทยในโครงการประชาวิวัฒน์

Posted: 22 Jan 2011 09:17 AM PST

ในปริมณฑลของแรงงานและการจ้างงานนั้น แรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานอย่างเป็นทางการจะอยู่ในระบบของการจ้างงานภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน มีสวัสดิการและความมั่นคงในการทำงานและมีอำนาจการต่อรอง ส่วนแรงงานอีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่ได้เข้าสู่กระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม แต่เป็นแรงงานนอกภาคอุตสาหกรรมที่ทำงานอยู่ในภาคส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจเป็นแรงงานนอกระบบในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ (Informal sector) เข้าถึงสวัสดิการได้น้อย ไม่มีความมั่นคงในการทำงานและมีความเสี่ยงต่อการขาดความต่อเนื่องของรายได้ การขยายตัวของเศรษฐกิจในภาคเมือง การเกิดขึ้นและการดำรงอยู่ของแรงงานนอกระบบมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยในแต่ละรูปแบบของแรงงานนอกระบบนั้นมีความแตกต่างกัน ในเศรษฐกิจของภาคเมือง แรงงานนอกระบบประกอบด้วยกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย เช่น หาบเร่ แผงลอย กลุ่มที่ทำงานภาคบริการ คนขับรถแท็กซี่ เป็นต้น ส่วนในเศรษฐกิจภาคชนบท แรงงานจำนวนมากยังอยู่ในภาคเกษตรและอยู่ภายใต้การจ้างงานแบบเกษตรพันธสัญญา แรงงานนอกระบบจึงประกอบไปด้วยกลุ่มอาชีพที่หลากหลายทั้งในเมืองและชนบท การดำรงอยู่และการเปลี่ยนแปลงของแรงงานนอกระบบจึงสัมพันธ์กับเศรษฐกิจภาคที่เป็นทางการและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม

 

โครงการประชาวิวัฒน์กับการจัดระเบียบแรงงานนอกระบบ

ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดทำโครงการที่เรียกว่าประชาวิวัฒน์ 9 ข้อ เพื่อเป็นของขวัญให้กับกลุ่มประชาชน ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลกำหนดให้ มีส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแรงงานนอกระบบ 4 ข้อ คือ

1.ระบบประกันสังคมแบบสมัครใจ ให้แรงงานนอกระบบ โดยผู้ประกันตนจ่ายเงิน 100/150 บาทต่อเดือน ได้รับสิทธิประโยชน์เจ็บป่วย เสียชีวิตรวมถึงเบี้ยชราภาพ โดยประชาชนจ่าย 70 บาท รัฐบาลสมทบ 30 บาท หรือแรงงานจ่าย 100 บาท รัฐสมทบ 50 บาท กรณีหลังจะประกันชราภาพด้วย ซึ่งประมาณการว่าเป็นประโยชน์ต่อแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน

2.การเข้าถึงสินเชื่อของคนขับแท็กซี่-ผู้ค้าแผงลอย

มีโครงการนำร่องสินเชื่อพิเศษ เปิดโอกาสให้กลุ่มแท็กซี่มืออาชีพที่มีประสบการณ์มากกว่า 3 ปี เป็นเจ้าของรถ โดยผ่อนเงินดาวน์ต่ำสุดเพียง ร้อยละ 5 โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 1,600 ล้านบาท ทำให้แท็กซี่สามารถผ่อนรถได้ถูกกว่าเช่า ซึ่งโครงการในลักษณะเดียวกันนี้จะเริ่มทำกับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในจุดผ่อนผันได้ในกทม. ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในอัตราที่มีความเป็นธรรม มีความผ่อนปรน

3.จัดระเบียบมอเตอร์ไซด์รับจ้าง

ให้มีการจัดระเบียบมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ให้มีการขึ้นทะเบียน จัดระบบ ออกบัตรประจำตัว ให้เลขทะเบียน เสื้อวิน หมวกนิรภัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ในอนาคต นอกจากนี้ยังจะจัดการกับสภาพแวดล้อมในการทำงานหรือความปลอดภัยในการขับขี่ด้วย

4.เพิ่มจุดผ่อนปรน จัดโซนหาบเร่แผงลอย

เพิ่มจุดผ่อนปรนการขาย และมีการจัดระเบียบเพื่อเพื่อพัฒนาและส่งเสริมในจุดที่เป็นจุดท่องเที่ยวเดิม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกทม. โดยเพิ่มจุดผ่อนผันได้ประมาณ 20,000 ราย

 

โครงการประชาวิวัฒน์เหล่านี้เป็น 4 ใน 9 ข้อที่รัฐบาลเสนอ ภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศให้ของขวัญปีใหม่ภายใต้นโยบาย 9 ข้อ มีทั้งเสียงตอบรับและคำถาม ประเด็นที่อยู่ในความสนใจและเป็นที่จับตามองมีเรื่องที่เกี่ยวกับแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว และเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการทำโครงการประชาวิวัฒน์นั้นในฝ่ายรัฐบาลเสนอว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยวางอยู่บนฐานแนวคิด 3 ประการ คือ

1.เป็นการจัดระบบกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งรัฐบาลมองว่าทำให้ถูกต้อง

2.ทำให้เกิดความเข้มแข็ง

3.ให้มีความยั่งยืน (โดยการจัดสวัสดิการ เข้าระบบประกันภัย)

 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นประเด็นที่ได้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยมุ่งเน้นที่กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นฐานสำคัญในโครงสร้างของปัญหานับว่าเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาโดยเนื้อหาโครงการประชาวิวัฒน์แล้วก็ไม่ได้แตกต่างไปจากสิ่งที่เคยมีการเรียกร้องและเตรียมจัดทำมาในแนวนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ ดังจะเห็นว่า การจัดระเบียบมอเตอร์ไซด์รับจ้างและการนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคม เป็นการจัดสรรสัวสดิการที่ในแรงงานหลายกลุ่มได้มีการเรียกร้องมานานแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานนอกระบบ ที่ยังไม่มีสวัสดิการและการคุ้มครองและสิทธิในด้านแรงงาน

หลักการในเรื่องแรงงานนอกระบบในโครงการประชาวิวัฒน์ คือการพยายามจัดระเบียบแรงงานนอกระบบ ทำสิ่งที่ไม่เป็นทางการให้เป็นทางการ เป็นการสร้างระบบในการเข้าถึงสวัสดิการให้กับแรงงานนอกระบบ ทั้งการขยายระบบประกันสังคม การให้สินเชื่อแก่กลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่ การขึ้นทะเบียนมอเตอร์ไซด์รับจ้าง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นจริงของสถานการณ์ของแรงงานนอกระบบในปัจจุบันจะพบว่า การปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในภาคปฏิบัติหลายประการที่ทำให้เกิดคำถามว่าจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เช่น การขยายประกันสังคมที่รัฐต้องสมทบเงินจำนวนมาก ในระยะยาวแล้วจะเกิดปัญหาหรือไม่อย่างไร หรือในส่วนของแรงงานนอกระบบเอง ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มที่หลากหลายทั้งในเมืองและชนบท ควรจะมีการกำหนดแนวทางในการจัดระเบียบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทืเป็นจริงในแต่ละพื้นที่หรือไม่ เป็นต้น

 

การจัดระเบียบแรงงานนอกระบบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ประเด็นสำคัญที่อ้างถึงในการทำโครงการประชาวิวัฒน์คือการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามหากมองในเรื่องของภูมิศาสตร์ในเชิงพื่นที่ของการทำโครงการประชาวิวัฒน์แล้ว การจะระเบียบแรงงานนอกระบบเกิดขึ้นในพื้นที่ทางเศรษฐกิจของภาคเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานคร โดยกลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ที่ผู้ประกอบอาชีพอิสระในภาคเมือง และแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบการจ้างงานในเศรษฐกิจภาคเป็นทางการ เช่นคนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง หาบเร่แผงลอย แรงงานในภาคบริการ ฯลฯ เมื่อมองภาพรวมของแรงงานนอกระบบแล้ว จากการประมาณการตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในปี 2553 มีจำนวนแรงงานนอกระบบถึง 24 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62.3 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดที่มีอยู่ 38.7 ล้านคน โดยในจำนวนเป็นแรงงานภาคเกษตร 14.5 ล้านคน หรือร้อยละ 60 อยู่ในภาคการค้าและการบริการ ร้อยละ 31.4 ภาคการผลิตร้อยละ 8.6 เมื่อพิจารณาตามรายภาคแล้ว ภาคตะวันนอกกเฉียงเหนือมีแรงงานนอกระบบมากที่สุด คือร้อยละ 41.6 ภาคเหนือร้อยละ 21.3 ภาคใต้ร้อยละ 12.9 ภาคกลางร้อยละ 18.8 ในภาคกลางมีแรงงานนอกระบบน้อยที่สุด คือร้อยละ 5.4

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำนวนแรงงานนอกระบบกระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆมากกว่าในเขตกรุงเทพมหานคร บางส่วนอาจเข้าถึงสวัสดิการได้บางอย่าง เช่นประกันสังคม ซึ่งแรงงานนอกระบบสามารถเลือกจ่ายสมทบได้ อย่างไรก็ตาม มีแรงงานนอกระบบอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดซึ่งอยู่ในชุมชน มีรายได้ไม่สูงมากและมีภาระการจ่ายในระบบของการออมประเภทอื่นในชุมชนด้วย ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีแรงงานนอกระบบแตกต่างกันไปตามการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ ดังนั้นการกำหนดในเรื่องของการจ่ายจึงอาจจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการได้แก่ รายได้ การออม ประเภทอื่นที่มีอยู่แล้ว หรือความต้องการอันจำเป็นของแรงงานนอกระบบเอง เป็นต้น

การสร้างนโยบายประชาวิวัฒน์ผ่านแรงงานนอกระบบ ในเชิงของพื้นที่ดำเนินการที่อยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นหลักจึงขาดมิติที่เชื่อมโยงให้เห็นสภาพการณ์ที่เป็นจริงในภาพรวมของแรงงานนอกระบบ ซึ่งยังมีอีกหลายกลุ่มและมีความซับซ้อนของปัญหาที่แตกต่างกัน เช่น ความสัมพันธ์ในการจ้างงาน อำนาจการต่อรอง ความลื่นไหลในสถานะของแรงงานนอกระบบที่อยู่ในชุมชน ซึ่งมีความคาบเกี่ยวกับแรงงานภาคเกษตร รวมทั้งความสัมพันธ์ในชุมชน เป็นต้น ดังนั้นในการปฏิบัติตามนโยบายประชาวิวัฒน์จึงต้องแยกแยะให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและข้อเท็จจริงของแต่ละกลุ่มเอง นอกจากนั้นสำหรับกลุ่มรถแท็กซี่ ในกรณีแท็กซี่ส่วนบุคคลต้องคำนึงถึงรายได้ ศักยภาพในการจ่ายและการลงทุนของแต่ละคน ซึ่งสัมพันธ์กับเศรษฐกิจโดยภาพรวม

แน่นอนว่าการจัดระเบียบแรงงานนอกระบบของรัฐบาลเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อแรงงานแต่การดำเนินการที่เร่งรีบ ขาดการฉายภาพให้เห็นในภาคปฏิบัติและการคำนึงลักษณะความสัมพันธ์ในเชิงพื้นที่ของแต่ละแห่งจึงอาจเป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและเป็นปัญหาในระยะยาวที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ในการจัดการด้านสวัสดิการสำหรับประชาชน ในด้านหนึ่งการจัดระเบียบแรงงานนอกระบบอาจเป็นการเสริมประสิทธิภาพการผลิตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าการที่แรงงานจะได้ประโยชน์ ทำให้แรงงานต้องทำงานมากขึ้นภายใต้โครงสร้างค่าจ้างและค่าตอบแทนที่ต่ำ การจัดระเบียบแรงงานนอกระบบจึงต้องควบคู่ไปกับการปรับปรุงรายได้และสวัสดิการ

คำถามสำคัญจึงมีอยู่ว่า แท้ที่จริงการจัดระเบียบแรงงานนอกระบบนำไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่? แรงงานนอกระบบได้อะไรมากน้อยแค่ไหนในของขวัญจากรัฐบาล อันที่จริง ในการจัดระดับชั้นของความสัมพันธ์ทางสังคมในสังคมไทยนั้น มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ปรากฎออกมาผ่านการปฏิสังสรรค์ในชีวิตประจำวัน มีงานวิจัยหลายเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มที่ถือว่าอยู่ในรากฐานของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นต้องผ่านขั้นตอน "การจ่าย" ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางสังคมทั้งในรูปแบบที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินซึ่งเป็นระบบที่มีอยู่แล้วในสังคมไทย การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยการจัดระเบียบดังกล่าวจึงไม่อาจประกันได้ว่าจะสามารถแก้ปัญหา

เชิงโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดผลอย่างแท้จริงควรต้องเสริมศักยภาพในการประกอบการและอำนาจต่อรองของแรงงาน ปรับโครงสร้างทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางวัฒนธรรม การสร้างค่านิยมใหม่ที่ยมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคล เป็นต้น การจัดระเบียบแรงงานนอกระบบที่มีการกล่าวว่าเพื่อทำให้ถูกต้องนั้นจึงมิใช่เรื่องที่จะ’เท่ากับ’ หรือนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เนื่องจากพื้นฐานที่มาของปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นมีความซับซ้อนหลายมิติ

ในยุคโลกไร้พรมแดน และภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจที่แข่งขันกันในแต่ละภูมิภาค และการพัฒนาอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เศรษฐกิจในแต่ละภาคล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ในเศรษฐกิจภาคที่เป็นทางการในอุตสาหกรรมการผลิตมีการซ้อนกันของการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ นอกจากในวิถีชีวิตประจำวันของกลุ่มคนบางกลุ่มทั้งในภาคเมืองและชนบทก็ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจภาคที่ไม่เป็นทางการ เช่นเรื่องอาหาร การซื้อเสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในด้านหนึ่งจึงมีแรงงานนอกระบบเป็นองค์ประกอบสำคัญ การจัดระเบียบของแรงงานนอกระบบจึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่ต้องมีการพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน รวมทั้งคาดการณ์ความเป็นไปได้ในอนาคต

 

เอกสารอ้างอิง

1. Rothsein, Frances A. (1992). Conclusion: New Waves and Old-Industrialization, labour and the struggle for a new world order. Anthropology and the global factory. New York: Bergin & Gravey.

2. The Nation, 11-01-2011

3. แรงงานปริทัศน์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 236 มีนาคม 2550

4. แรงงานปริทัศน์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 257 ธันวาคม 2551

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: “นักวิชาการ” ชี้ “สื่อมวลชน” เป็นเครื่องเพาะความรุนแรงในสังคม

Posted: 22 Jan 2011 09:06 AM PST

วงเสวนาที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ แนะให้สื่อมวลชนเสนอข่าวเชิงให้ความรู้มากกว่าใส่อารมณ์  “สาธิต ปิตุเตชะ” ชี้คดีสาวซีวิค ตำรวจไม่กลัวอิทธิใหญ่ จึงได้ผลน่าพอใจ

เมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (23 ม.ค.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันอิศรา และมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้จัดเวทีวิพากษ์การทำหน้าที่สื่อมวลชนปัจจุบัน ในหัวข้อ“เจาะลึก หรือ ละเมิด: จริยธรรมบนเส้นขนานสื่อมวลชน” โดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) รุ่น 2 กลุ่ม 5 ซึ่งมีนายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.ระยอง และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เป็นวิทยากรร่วมสัมมนา

โดยนายไพโรจน์  กล่าวว่าการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในปัจจุบันถือว่า มีความเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่ผ่านมาอย่างมาก คือ มีรายการของการเล่าข่าวเพิ่มขึ้นมาจากการอ่านข่าว หรือทำงานข่าวภาคสนาม นอกจากนั้นแล้วยังองค์กรสื่อยังเปลี่ยนเป็นองค์กรด้านธุรกิจ และถือว่าข้อเท็จจริงเป็นสินค้าที่ผู้อ่านข่าวต้องใส่อารมณ์เข้าไปในเนื้อหา ให้ประชาชนได้สนใจและติดตาม เพื่อเรียกเรตติ้งของสถานี  

 “การนำเสนอข่าวของสื่อปัจจุบันจะเน้นในเรื่องการนำเสนอข้อเท็จจริงบวกกับอารมณ์ โดยไม่ได้สอดแทรกสิ่งที่เป็นความรู้ หรือปัญญาให้กับผู้รับชม ผมจึงเป็นห่วงว่าหากสื่อฯ สื่อสารข้อมูลไปพร้อมๆ กับบ่มเพาะความเคียดแค้น ชิงชัง ก็อาจจะทำให้กลายเป็นละเมิดสิทธิของประชาชนในระยะยาว ที่สื่อเป็นส่วนสนับสนุนความรุนแรงที่เกิดจากความเกลียดชัด” นายไพโรจน์ กล่าว

นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่าในข่าวที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตนมีข้อสังเกตว่าทำไมเจ้าหน้าที่ถึงได้นำบุคคลที่ถูกจับในคดีต่างๆ มาแถลงข่าวกับสื่อมวลชน ซึ่งตนได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับเจ้าหน้าที่ก็ได้รับคำตอบว่า เพื่อไม่ให้คนทำตาม หรือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง แต่หลักการแล้วตนไม่เห็นว่าเปอร์เซ็นต์การก่ออาชญากรรมหรือค้ายาจะลดน้อยลงจากเดิม หรือแม้แต่นำเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาร่วมแถลงข่าว ทั้งนี้ตนมองด้วยว่าไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเด็กคือผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกระทำ ทั้งนี้อยากฝากไปยังผู้ที่เป็นสื่อมวลชนหากไม่ยึดหลักกฎหมายแล้วควรใช้มโนธรรมสำนึก ในการนำเสนอข่าวประเด็นที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ด้านนายสาธิต กล่าวว่าตนมองการนำเสนอข่าวในปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีการนำเสนอข้อมูลที่ผิดพลาด หรือต้องการนำเสนอประเด็นให้เป็นไปตามความคิดหรือความรู้สึกของตนเอง  ในแง่ของการทำหน้าที่สื่อมวลชนเช่นการทำข่าวเจาะในประเด็นอาชญากรรมหรือสืบสวนสอบสวน ซึ่งยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยไม่มีมาตรฐานมานานแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากข้อจำกัดบางอย่าง เช่น  เทคโนโลยี ความเป็นมืออาชีพ จำนวนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนประชากร ดังนั้นบุคคลที่ทำหน้าที่สื่อควรจะทำหน้าที่เพื่อตรวจสอบ แต่สำคัญไม่ควรตั้งธง หรือมีอคติต่อการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“การเจาะลึกข้อมูลของสื่อเพื่อนำเสนอให้กับสาธารณะรับทราบ มีเส้นแบ่งที่มีปัญหา ว่ามีส่วนกดดันการทำงานเจ้าหน้าที่ให้ตรงไปตรงมา หรือสร้างกระแส เพราะเท่าที่ติดตามข่าวคดีต่างๆ สื่อส่วนใหญ่มักตัดสินว่า คุณนั่นแหละผิด ซึ่งผมอยากให้สื่อยึดผลหรือคำตัดสินของศาลเป็นหลักเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด

นายสาธิต กล่าวอีกว่าก่อนหน้านี้ทางกมธ.การตำรวจได้เชิญเจ้าหน้าที่ที่ทำคดีสาวซีวิคชนรถตู้มาชี้แจง เบื้องต้นได้รับรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้สอบสวนพยานแวดล้อม ผู้เสียหายแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย  ซึ่งถือว่าการทำหน้าที่น่าพอใจ เพราะไม่ได้กลัวเรื่องอิทธิพลใหญ่ใดๆ

ทั้งนี้ช่วงสัมมนาได้เปิดให้ผู้ที่เข้าร่วมซักถาม โดยผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย กล่าวว่าเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และองค์กรที่เกี่ยวกับสิทธิ์เด็กในเรื่องการประกาศเคอร์ฟิวเยาวชน ปรากฏว่ามีก้อนหินหลายก้อนเข้ามาทางสื่อ ซึ่งต้องยอมรับว่าองค์กรสื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเด็กอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนยืนว่าจะนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด

ด้านผู้สื่อข่าวประจำหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจถามว่า หากสื่อยึดตัวกฎหมายมากเกินไป อาจกลายเป็นว่าเข้าข้างเด็กที่ทำผิด โดยนายไพโรจน์ กล่าวว่าในความเข้าใจของสังคมทั่วไป สื่อฯได้ตอกย้ำคือ คนที่ทำผิดนั้นผิด อย่างเช่นบางสถานีที่ต้องการเพิ่มเรตติ้ง ก็พยายามสร้างอารมณ์ร่วมให้กับสังคม ซึ่งในวันนี้ตนอยากเห็นสื่อมวลชน ทำอะไรที่แตกต่างจากการนำเสนอข่าวแบบสร้างอารมณ์ ด้วยการให้ความรู้ ให้เกิดการเรียนรู้กับสังคม

สำหรับนายสาธิต กล่าวว่า ในตัวอย่างของสาวซีวิค ที่ขับรถชนรถตู้บนโทรลเวย์ แล้วมีผู้เสียชีวิต สื่อทำให้คนเข้าใจว่าสาวซีวิคเป็นฆาตกร แต่หลักที่แท้จริงเป็นการขับรถโดยประมาท ทำให้มีคนตาย และสื่อพยายามโยงว่าคนที่ตายนั้นเป็นคนดี เป็นมันสมองของประเทศ จนทำให้สังคมเกลียดชังสาวซีวิคทั้งนี้เหตุการณ์นั้นเป็นความประมาท ซึ่งต่างจากความหมายของคำว่าฆาตกร

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนธิชี้สลายแดงปี 53 คือปราบจลาจล ต้องมีการเสียชีวิต เป็นเรื่องช่วยไม่ได้

Posted: 22 Jan 2011 08:51 AM PST

สนธิ” อัดอภิสิทธิ์ ปล่อยให้ พ.อ.ร่มเกล้าเสียชีวิตช่วงเสื้อแดงชุมนุมปี 53 แถมบ้านเมืองลุกเป็นไฟ ตัวเองหลบในราบ 11 แล้วให้ทหารออกมารับมือ แล้ววันนี้ให้ดีเอสไอส่งฟ้องทหาร โวยคดีลอบยิงตนเงียบ เพราะคนสั่งการอยู่ในรัฐบาล ชี้ พธม. ชุมนุม 25 ม.ค. ไม่มีครั้งไหนยิ่งใหญ่เท่าครั้งนี้ สู้ทักษิณเรื่องเล็กไปแล้ว ลั่นถึงไหนถึงกัน เอาทหารมายิงก็จะให้ยิง

 

ในรายการ "เมืองไทยรายสัปดาห์" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ASTV เมื่อคืนวานนี้ (21 ม.ค.) นางจินดารัตน์ เจริญชัยชนะ ผู้ดำเนินรายการ กล่าวถึงกรณีที่โจรใต้ยิงถล่มฐานทหารที่ นราธิวาส ทำให้ ร.อ.กฤช คัมภีรญาณ และทหารอีก 3 นายเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บอีก 6 นาย ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เดือนเมษายน 2553 ที่มีทหารเสียชีวิต “ถามว่าวันนี้ คุณอภิสิทธิ์คุณเป็นผู้บริหารประเทศ คุณดูแลทหารกล้าอย่างผู้กองบอย หรืออีกหลายๆ คนที่เสียชีวิตไปอย่างไร ที่สำคัญมันอดคิดไม่ได้ว่า ย้อนกลับไปถึงเดือนเมษายนที่แดงเผาบ้านเผาเมือง เรามีทหารกล้าต้องเสียชีวิตไปกี่นาย คุณอภิสิทธิ์ ทหารออกไปรับมือกับเสื้อแดงที่มีอาวุธครบมือ” นางจินดารัตน์ ตั้งคำถาม

 

สนธิอัดอภิสิทธิ์ให้คนอื่นตายได้ ขอให้ภาพกูดี

นายสนธิ ตอบว่า “ถือ กระบองไป ถือโล่ไป สั่งไม่ให้ติดอาวุธ ถือกระบอง ถือโล่ โดนเสื้อแดงไล่ยิงจนกระทั่ง พ.อ.ร่มเกล้า เสียชีวิต เสร็จเรียบร้อยตัวเองขี้ขลาดตาขาวหลบไปอยู่ในราบ 11 นอนอยู่กับศิริโชค โสภา สองคน หลบอยู่ที่นั่น แล้วปล่อยให้คนซึ่งมีอาวุธร้าย อาวุธหนักไล่ยิง จนกระทั่งบ้านเมืองลุกเป็นไฟ”

ไม่อยากให้คนอื่นมอง หรือต่างชาติมองว่าตัวเองไม่รักสันติ ตัวเองนั้นต้องการแก้ปัญหา คือคนอื่นตายได้ขอให้ภาพกูดี”

นางจินดารัตน์ กล่าวเสริมว่า “ที่มันน่าเศร้า เมื่อวานนี้ DSI คุณธาริต หอบเอกสารหลักฐานไปให้ตำรวจนครบาล กรณีที่เสื้อแดงร้องเรียนไปว่า ตำรวจ ทหารฆ่าประชาชน ในการชุมนุมของคนเสื้อแดง คุณธาริตหอบหลักฐานไปให้ตำรวจนครบาล ดูซิว่าตำรวจจะว่าอย่างไรเราต้องรอดูกันต่อเรื่องนี้”

 

ชี้สลายเสื้อแดงคือการปราบจลาจล ต้องมีการเสียชีวิต เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้

นายสนธิ กล่าวว่า “อภิสิทธิ์ไม่ใช่ลูกผู้ชาย ถ้าคุณอภิสิทธิ์เป็นลูกผู้ชาย มีภาวะผู้นำ คุณอภิสิทธิ์จะต้องไม่มีการตรวจสอบว่าใครตาย ทหารยิงใครบ้าง เพราะว่าเหตุการณ์วันนั้นเป็นเหตุจลาจล การเข้าปราบปรามจลาจลโดยที่มีเสียงปืน มีระเบิด มีไฟ มันต้องมีการเสียชีวิต ภาษาอังกฤษเขาเรียก Collateral damage ก็คือมันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ต้องมีการเสียชีวิตอย่างแน่นอนที่สุด คุณอภิสิทธิ์ต้องออกมาแล้วแอ่นอกรับ บอกเสื้อแดงเลย บอกก็เพราะวันนั้นมีการยิงกัน มีกลุ่มคนเสื้อแดงใช้อาวุธ มีภาพให้เห็นชัดเจน เพราะฉะนั้นการปราบปรามย่อมมีการเสียชีวิต ลูกปืนย่อมหลงได้ของธรรมดา เพราะว่า พ.อ.ร่มเกล้า ยังตายเลย เพราะฉะนั้นการตายครั้งนี้ตายเพราะว่าความวุ่นวายในการปราบจลาจลนั้นย่อมมี การพลั้งพลาดได้ เพราะฉะนั้นแล้วไม่ต้องสอบอะไรทั้งสิ้น ผมขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว แต่คุณอภิสิทธิ์ไม่กล้ารับผิดชอบ คุณอภิสิทธิ์ต้องการให้โลกเห็นว่าผมแฟร์ ตรวจสอบเลยถ้าทหารทำก็ทหาร แต่เวลาคุณใช้ทหารไปตาย คุณเคยไหมออกมารับผิดชอบ คุณใช้เขาไปด้วยมือเปล่า พ.อ.ร่มเกล้า โดนยิงเข้าหัวตาย อีกหลายคนพิการ เพราะความขี้ขลาดตาขาวของคุณ เพราะความที่คุณอยากจะโด่งดัง”

 

อัดอภิสิทธิ์เอาใจฮุน เซน มอบอำนาจอธิปไตยผ่านศาลกัมพูชา

นายสนธิ กล่าวต่อว่า “เหมือนคุณกับฮุน เซน คุณเอาใจฮุน เซน เพราะคุณต้องการให้นานาชาติเห็นว่า คุณรักสันติ ทั้งๆ ที่คุณกำลังมอบอำนาจอธิปไตยบนพื้นที่ประเทศให้เขมร โดยเขมรใช้ผ่านทางศาล ซึ่งคุณทำผิดมาตรา 120 อยู่แล้ว ซึ่งโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษประหารชีวิต และพรรคพวกคุณก็ออกมาดาหน้า พูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่าคนไทยล้ำแดน คนไทยล้ำแดน คนไทยล้ำแดน คนไทยล้ำแดน ทั้งๆ ที่ประชาชนชาวบ้านเขามายืนยันว่าที่นั้นเป็นที่ของคนไทย เอาล่ะ ถึงแม้ว่าจะเป็นที่ของใครก็ตาม ในเมื่อมันเป็นที่ที่ยังตกลงกันไม่ได้ มันเป็นที่ๆ ยังทับซ้อนกันอยู่ คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะเอาคนไทย 7 คน ไปขึ้นศาลเขมร เพราะเป็นการยกอำนาจอธิปไตยของแผ่นดินไทยไปให้เขมร เข้าข่ายมาตรา 120 ไม่ว่าคุณอภิสิทธิ์ คุณสุเทพ คุณกษิต คุณชวนนท์ คุณศิริโชค โสภา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดนทั้งนั้น แล้วคุณเพียงต้องการที่จะเอาใจฮุน เซน คุณเอาใจฮุน เซน เรื่องอะไร คุณไม่ได้รักประเทศไทยเลยเหรอ คุณไม่ได้รักคนไทยเหรอ คุณไม่รักคนไทย 7 คน เพราะคุณเกลียดวีระ สมความคิด ใช่ไหม พวกคุณเกลียดวีระ ใช่ไหม พวกคุณก็เลยสมรู้ร่วมคิดให้จัดการซะ แล้วเวลาประกันตัว คุณก็เอาคนของคุณออกมาก่อน คือพนิช แล้วหลังจากนั้นค่อยเอาออกมาทีหลัง วันนี้คุณได้ยกอธิปไตยของประเทศไทยมอบให้กับเขมรไปเรียบร้อยแล้ว แล้วก็เป็นตัวอย่างที่พิสูจน์ให้ชัด ผมยังไม่รู้ว่าการกระทำแบบนี้เป็นการกระทำแบบขายชาติหรือเปล่า แต่ว่าเข้าข่ายมาตรา 120 แน่นอนที่สุด ผมหวังว่าผลกรรมอันนี้จะต้องกลับเข้ามาหาพวกคุณ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เหมือนผลกรรมที่กลับมาหาทักษิณ ชินวัตร อีกหน่อยผลกรรมมันต้องกลับมาหาพวกคุณ” นายสนธิกล่าว

 

อัดอภิสิทธิ์ให้ทหารสลายการชุมนุม ตัวเองหลบในราบ 11 ถึงวันนี้ให้ดีเอสไอดำเนินคดีทหาร

 

ใครก็ตามที่เชียร์คุณอภิสิทธิ์ ขอให้รู้ นี่คือตัวตนที่แท้จริงของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัวตนที่แท้จริง สั่งทหารไป ดูแลการจลาจลที่ราชประสงค์ ไม่ให้ติดอาวุธ กลัวว่าเดี๋ยวจะหาว่านายกรัฐมนตรีสั่งฆ่าประชาชน แล้วฝ่ายที่ก่อจลาจล ยิงทหารตาย ตัวเองนอนหลบอยู่ในราบ 11 หายเงียบไปเลย ไม่โผล่หน้ามาเลย กลัวจนตัวสั่นงันงก แล้วพอมาวันนี้ทำเป็นเก่งกล้า สาหัสสากรรจ์ แสดงออกว่าตัวเองนั้นยุติธรรม ตัวเองนั้นแฟร์ เอ้า ดีเอสไอตรวจสอบ ดีเอสไอก็บอกว่าทหารยิงคนตาย 13 คน เอ้า จัดการดำเนินคดีซะ คุณบ้าหรือเปล่า มีนายกฯ อย่างนี้อย่ามีเลยดีกว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีนักการเมือง นักการเมืองไม่ว่าจะเป็นทักษิณ ชินวัตร สมชาย วงศ์สวัสดิ์ สมัคร สุนทรเวช หรืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น ประเทศไทยฉิบหายมาเพราะนักการเมือง ไม่ว่าหน้าไหนก็ตาม ไม่ว่าจะจบจากแซม ฮูสตัน หรือจะจบจากออกซ์ฟอร์ด เหมือนกันหมด เอาตัวรอด เอาหน้าเอาตาตัวเอง เอาภาพลักษณ์ตัวเอง

แล้ววันที่ 16 มกราคม คุณออกรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ คุณก็ยังพูดชัดเจน คุณพูดชัดเจนว่าเอกสารสิทธิ์พี่น้องประชาชนมาแสดงให้ดูนั้น ถ้าดูจากแผนที่ลากเส้นนี้ๆ แสดงว่ายังมีลากเส้นปัจจุบัน แสดงว่าที่เหล่านั้นเป็นที่อยู่ในประเทศไทยทั้งสิ้น ก็คุณเองทำไมมายอมรับว่าที่เหล่านั้นอยู่ในที่ประเทศไทย แล้วคุณไปยกอำนาจอธิปไตยของเราให้กับศาลเขมร คำพูดอันนี้ของคุณนี่ละ จะล็อกคุณตายสักวันหนึ่ง ผมภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใครก็ตามทำอะไรผิดต่อดินแดนไทย ขอให้มันจงมีอันเป็นไป”

 

แนะอภิสิทธิ์ลาออกไปสอนหนังสือ ต่อสู้เพื่อสันติภาพโลก

นางจินดารัตน์กล่าวด้วยว่า “นอกจากทหารที่เสียชีวิตแล้ว คุณอภิสิทธิ์เคยรู้บ้างไหมว่า ทหารที่ทำหน้าที่อยู่ชายแดนไทย-กัมพูชา เขาโดนเหยียบย่ำมากๆ เลยนะคะ จากทหารโจรใส่รองเท้าแตะของฮุน เซน เขา ถึงขั้นกระทั่งว่า สลักชื่อเอาไว้ สลักเอาไว้เลยว่า ทหารเขมร 1 ต่อทหารไทย 3 คน มันยังแพ้เรา คุณรู้ไหมว่าทหารที่ทำหน้าที่นั้นเขารู้สึกอย่างไรกันบ้าง”

นายสนธิตอบว่า “เขาพูดไม่ออก เพราะเขามีผู้บังคับบัญชา” และกล่าวต่อไปว่า “ผู้บังคับบัญชาก็พูดไม่ออก เพราะว่าดันทะลึ่งมีรัฐมนตรีกลาโหมแบบนี้ แล้วก็ทะลึ่งมีนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีแบบนี้ เขาพูดไม่ออก เขาจะกระอักเลือดตายกันอยู่แล้ว ทหารไทยวันนี้ศักดิ์ศรีอยู่ที่ไหน โดนเขมรเอารองเท้าแตะลูบหน้า”

ทางใต้ โดนบุกเข้ามาฆ่าหน้าตาเฉย ทางตะวันตก พม่าจับตัว พม่าจับตัวไปพอเราเรียกตัวคืน พม่าสั่งปิดพรมแดนเลย เห็นไหม คุณจะรักษาหน้าคุณไปถึงไหน ถ้าคุณต้องการที่จะได้รางวัลโนเบล ในสาขาสันติภาพ คุณลาออกจากการเป็นนักการเมือง นายกฯ แล้วคุณไปสอนหนังสือดีกว่า แล้วคุณมาเป็น NGO ต่อสู้เพื่อสันติภาพของโลก”

 

ปัญหาใต้เกิดจากทักษิณเลิก ศอ.บต. ปัญหาไทยกัมพูชาเกิดเพราะนักการเมือง

นายสนธิกล่าวด้วยว่า “ศพแล้วศพเล่าเกิดจากความไม่สงบในบ้านเมือง แต่ที่น่าสนใจอย่างไม่มีใครรู้ ปัญหาภาคใต้ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากนักการเมืองทั้งหมดเลย ครั้งแรกสุดเกิดจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่สั่งยุบ ศอ.บต. โดยไปเชื่อคำพูดของ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ แล้วจากวันนั้นมาภาคใต้พินาศฉิบหายมาตลอด ฝีมือนักการเมืองทั้งสิ้น พอมีการเมืองมาทีไร มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โครงการไปลงภาคใต้ สร้างความขัดแย้งเพิ่มเติม ไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่มันถูกต้อง ตรงจุดได้ นักการเมืองเพียงต้องการงบประมาณ ต้องการโครงการลงไป โครงสร้างของความปลอดภัยเป็นอย่างไรไม่สนใจ ขอให้เงินไปถึงที่นั่น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หลุดปากออกมาว่า ปัญหาทางใต้ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดเพราะนักการเมือง

ปัญหาพรมแดนทางไทย-เขมร เกิดขึ้นเพราะนักการเมือง ปัญหาไทยที่รบกับลาวที่สมรภูมิร่มเกล้า เกิดเพราะนักธุรกิจการเมือง ที่ต้องการไปตัดไม้ในลาว การเมืองทั้งสิ้น วันนี้การเมืองไม่ได้คิดอะไร คิดแต่สูตรของการรวมกัน ผสมพันธุ์กัน สูตรเพื่อไทย ภูมิใจไทย+ชาติไทย+ประชาธิปัตย์ หรือว่าสูตรประชาธิปัตย์+เพื่อไทย สูตรไหนก็ได้ขอให้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ได้ทั้งนั้น”

 

โวยคดีลอบยิงตนเงียบ เพราะคนสั่งการอยู่ในรัฐบาลอภิสิทธิ์

นายสนธิกล่าวถึงกรณีที่ตนถูกลอบยิงว่า ตอนนี้คนที่สั่งการก็อยู่ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ อยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดอภิสิทธิ์ การดำเนินคดีถึงได้เงียบไป มีการออกหมายจับผู้ต้องสงสัย 2 คน แต่ตอนนี้ก็ยังลอยนวลอยู่ ไม่มีการดำเนินคดีต่อแต่อย่างใด เพราะคดีนี้ถือเป็นคดีการเมือง

แอนดูนี่ซิ เกือบ 200 นัด วันที่ 17 เมษายน อภิสิทธิ์ เป็นคนพูดว่าจะดำเนินคดีไปถึงที่สุด รับรองจะจับตัวผู้ต้องหาได้ ออกหมายจับ 2 ใบแล้วเงียบหาย เพราะอะไร เพราะคนทำมันอยู่ในรัฐบาลอภิสิทธิ์” นายสนธิกล่าว นางจินดารัตน์ ถามว่า “อะไรมันท่วมปากอยู่รึเปล่าคะ”

นายสนธิกล่าวต่อว่า “อะไร มันท่วมปากอยู่รึเปล่า คุณหยุดพูดถึงความยุติธรรมกับผมซะทีได้ไหมเหม็นขี้ฟัน คุณหยุดพูดถึงภาพลักษณ์ที่ดีของคุณได้ไหม คุณเอาคนยิงผมกลับมาก่อนซิ คุณก็รู้อยู่แล้ว นั่งอยู่ใน ครม.คุณนั่นแหละ ใครๆ เขาก็รู้กัน คุณก็รู้ ทุกคนก็รู้ เรื่องผมถึงเงียบไง แหมมันน่าจะตายนะไอ้สนธิเสือกไม่ตาย แล้วจะไงพอไม่ตายแล้วทำไงดี ไม่แน่จริงนี่ คนถ้ารักความยุติธรรม ถ้าจริงจัง นิติรัฐ จะเป็นหน้าไหนใครไหนถ้าสืบคดีถึงก็ลากคอเข้ามาให้เข้าตาราง แล้วไอ้ 2 คนที่ถูกหมายจับก็ยังลอยนวลอยู่ เหมือนเดิม นี่หรอ จำได้ไหมที่ให้สัมภาษณ์ ทันทีที่ถูกยิง ตั้งธานี สมบูรณ์ทรัพย์ มาดำเนินการ พอหมดธานีไปแล้วเงียบสนิท ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นคดีที่น่าเกลียดที่สุด เงียบสนิทไปเลย เห็นชัดคดีการเมืองงานนี้”

แล้วคุณมาโม้อะไรเรื่องเกี่ยวกับ แหมอย่างโน้นอย่างนี้ ผมต้องทำบ้านเมืองให้โปร่งใส คุณโปร่งใสเรื่องคนยิงผมก่อนดีกว่า คุณแน่จริง เขาโกงกันโครมๆ ทุกกระทรวง คุณนั่งเฉย แล้วคุณไปจ้างโพลล์ออกมา แอบตั้งคำถามถามประชาชน ถามว่าคุณนี่ซื่อสัตย์สุจริต รัฐบาลคุณซื่อสัตย์สุจริต ซื่อสัตย์สุจริตอะไร กระทรวงการคลังส่งอีเมล์พิเศษสุดไปหาสรรพากรทุกจังหวัดให้รีดภาษีประชาชนเพิ่ม”

เพราะว่ารัฐบาลถังแตกแล้ว ทำไมรัฐบาลถังแตก เอาเงินภาษีเราไปทุ่มประชานิยมเหมือนทักษิณทำ มากกว่าทักษิณอีก เพื่ออะไร เพื่อหาเสียง ไม่ใช่เพื่ออะไรเลยเพื่อหาเสียงอย่างเดียว”

 

ลั่นพันธมิตรฯ วันที่ 25 นี้ต้องถึงไหนถึงกัน เอาทหารมายิงก็จะให้ยิง

โดยนายสนธิ ยังได้กล่าวเชิญชวนให้ผู้สนับสนุนออกมาชุมนุมในวันที่ 25 ม.ค. นี้ด้วย โดยกล่าวว่า “พี่น้องต้องออกมาทำหน้าที่ ผมทราบจากพี่ลองแล้วว่า อย่างไรก็ไม่เลิก พี่ลองพูดชัดเลยตายเป็นตายถ้าไม่ไล่รัฐบาลชุดนี้ออกไปให้ได้แกไม่ยอม ถึงไหนถึงกันเลยงานนี้ ถ้าจะเอาตำรวจ ทหารมายิงก็มาพร้อมจะให้ยิง”

นางจินดารัตน์ ถามนายสนธิว่า “มี วลีหนึ่งที่คนในสังคมบางกลุ่มที่บอก ธุระไม่ใช่ มักจะถามว่า ถ้าไม่ใช่อภิสิทธิ์แล้วเอาใครล่ะ ก็มีคนตอบแล้วนะคะว่า นี่มันเป็นวลีของโลกใต้กะลา ของคนที่อยู่โลกใต้กะลา” นายสนธิกล่าวต่อว่า “คนเขาถามผม คุณสนธิจะสู้ไปทำไมเรื่องเขมร ผมตอบเขาสั้นๆ สู้เพื่อไม่ให้เสียชาติเกิด พี่น้อง 25 ม.ค.นี้ ต่อเนื่องไปเราสู้เพื่อไม่ให้เสียชาติเกิด พวกที่นั่งอยู่ในสภาส่วนใหญ่เสียชาติเกิดทั้งนั้น ไม่ได้สู้เพื่อประเทศไทย มันสู้เพื่อตัวมันเอง บางคนสู้เพื่อภาพลักษณ์ตัวเองดูดี ใครจะตาย ใครจะฉิบหายกูไม่ว่า ปากก็บอกว่าอยากจะอย่างโน้นอย่างนี้ ลึกๆ แอบไปจับมือกัน เหยียบเท้ากัน มีตัวกลางเดินประสานงานระหว่างทักษิณกับพรรคประชาธิปัตย์ คุยกันเรียบร้อยแล้ว โธ่ไอ้พรรคของปลอม”

โดยนางจินดารัตน์ ได้นัดหมายให้มาชุมนุมในวันที่ 25 วันอังคาร ที่สะพานมัฆวานฯ ตั้งแต่บ่ายสองเป็นต้นไป โดยนายสนธิ กล่าวว่า “ไม่ให้เสียชาติเกิด สู้เพื่อไม่ให้เสียชาติเกิด”

 

ยกกรณีชาติอาเซียนและจีนเสือแย่งเกาะสแปรตลีย์เพราะมีทรัพยากร ไม่เหมือนรัฐบาลไทย

นอกจากนี้ นายสนธิ ได้กล่าวถึง หมู่เกาะสแปรตลีย์ ว่า เป็นหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ เป็นเกาะเล็กเกาะน้อย มีปะการัง ไม่มีอะไรน่าท่องเที่ยว ไม่มีอะไรเลย เป็นเกาะเล็กๆ ประมาณ 190 เกาะ ไม่มีมนุษย์อยู่ แต่เข้าใจว่ามีแหล่งพลังงานธรรมชาติ ทรัพยากรธรรมชาติสูงมาก จีนสำรวจแล้วว่าน่าจะมีปิโตรเลียมถึง 17.7 ล้านล้านตัน สูงมาก มี 6 ประเทศที่อ้างสิทธิในหมู่เกาะนี้ ไม่ว่าจะเป็นบรูไน ก็เอากับเขาด้วยนะ

ประเทศ เล็กๆ มาเลเซีย จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เพราะฉะนั้นทุกคนอ้างสิทธิ์หมดเลย แล้วเวียดนามเคยเข้าไปสร้างป้อมทหาร จีนในปี 2517 ยกกองทัพไปขับไล่ออก ขับไล่เวียดนามออกไปเลย แต่ตัวป้อมตังอยู่ เวียดนามแก้เผ็ดด้วยการจัดทัวร์ มาทุกๆ 8 วัน พาทัวร์มาดูป้อม ฟิลิปปินส์ก็ต้องการ จีนก็ไปไล่ทหารฟิลิปปินส์ออก ฟิลิปปินส์ก็ประกาศ บอกถ้าล้ำเขตเข้ามาฟิลิปปินส์สู้ ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นประเทศที่มีแสนยานุภาพที่ใหญ่ที่สุดหนึ่งในโลก และฟิลิปปินส์มีแสนยานุภาพที่อ่อนแอที่สุด เราก็จะสู้ ฟิลิปปินส์ใจใช้ได้นะหัน หน้าไปพึ่งพาสหรัฐฯ เวียดนามไปพึ่งพาสหรัฐฯ เวียดนามถึงเปิดซ้อมรบกับสหรัฐฯ แล้วฮิลลารี คลินตัน ถึงกับออกมาประกาศว่า ทะเลจีนตอนใต้ ไม่ใช่พื้นที่ของใครคนใดคนหนึ่ง จีนก็สวนกลับเหมือนกัน ว่า คุณไม่ได้อยู่ทะเลจีนตอนใต้ อย่า ส ใส่ เกือก เพราะฉะนั้นแล้ว พูดถึงพรมแดนที่ดินแล้ว ทุกคนใจเสือ มีประเทศไทยใจหมา รัฐบาลใจสุนัข ใจหมาจริงๆ นี่ผมพูดอย่างลูกผู้ชาย อย่างนักเลงเลย รัฐบาลชุดนี้ใจหมา หมาขี้เรื้อนด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว ผมคิดว่าใช้ไม่ได้ ขนาดหมู่เกาะสแปรตลีย์ 6 ประเทศนี่เขาฟัดกัน จนกระทั่งไม่หยุดไม่หย่อน

นายสนธิกล่าวต่อว่า รัฐบาลจีน ไม่มีใครยอมใคร ญี่ปุ่นจับลูกเรือจีน 16 คน พร้อมกัปตัน ข้อหาขับเรือไปชนเรือญี่ปุ่น ในเรื่องกรณีพิพาทหมู่เกาะสแปรตลีย์ จะเอาขึ้นศาล จีนยื่นโนติสเลยว่า ถ้าเอาลูกเรือจีนขึ้นศาล มีเรื่องทันที ญี่ปุ่นปล่อยทันทีเลย ปล่อยลูกเรือหมด ยกเว้นกัปตัน จีนบอก ถ้าไม่ปล่อยกัปตันก็มีเรื่อง หลังจากนั้น ญี่ปุ่นปล่อยกัปตัน เพราะจีนเขาไม่ยอม เพราะว่าถ้าญี่ปุ่นเอาลูกเรือเขาไปขึ้นศาลที่ญี่ปุ่น แสดงว่า ญี่ปุ่นมีอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะ เขายังคิดเป็นเลย แล้วพื้นที่หมู่เกาะสแปรตลีย์ มีบริษัทเชฟรอน ไปได้สัมปทานกับประเทศไหนไม่รู้ กำลังขุดเจาะน้ำมัน จีนเอาเรือรบไล่เลยนะ มาจอด แล้วบอกว่า ให้ออกจากแท่นขุดเจาะเดี๋ยวนี้ เพราะนี่คือพื้นที่ของจีน ถ้าไม่งั้น เรือปืนจะยิงถล่มแท่นเจาะ ฝรั่งเก็บข้าวของไปหมดเลย แล้วฝรั่งก็บอกว่า ให้มันตกลงกันเสร็จเรียบร้อยก่อน ทั้ง 6 ประเทศแล้วกูค่อยมาขุดเจาะน้ำมัน

 

ฉุนนักวิชาการโปรข้ามพรมแดนเป็นพวกหลงเงิน กราบตีนฝรั่ง รับเงินมาอัด พธม. ว่าคลั่งชาติ

นายสนธิกล่าวต่อไปว่า “แล้วใครบอกว่า พื้นที่ประเทศไม่สำคัญ ใครบอก ไอ้นักวิชาการซังกะบ๊วย ที่รับจ้างกระทรวงการต่างประเทศ มาบอกว่า มาพูดทำนอง ที่เรียกว่า ข้ามชาติ ไม่มีพรมแดนแล้ว ไร้พรมแดนแล้ว มีพวกนี้ รับเงินเขามา 7 ล้านกว่า หาว่าพวกเราคลั่งชาติ”

นางจินดารัตน์ กล่าวว่า “อ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ก็ออกมาตอบโต้ว่า มันเป็นวลีที่จ้าวล่าอาณานิคมทั้งหลายพยายามปั้

สนธิ กล่าวต่อไปว่า “ไอ้พวกอาจารย์ที่ใช้คำพูดว่า คลั่งชาติ และก็โลกไร้พรมแดน คือไอ้พวกที่หลงฝรั่ง พวกนี้พวกกราบตีนฝรั่ง หลงเงินแน่นอนที่สุด รับเงินรับทองมา ไอ้ที่น่าเจ็บใจที่สุด คือกระทรวงการต่างประเทศ ซังกะบ๊วย”

นายสนธิกล่าวด้วยว่า ผมนี่อยากให้พวกเราเดินขบวน และเอาป้ายไปปิดหน้ากระทรวงการต่างประเทศ และเขียนเป็นภาษาเขมร กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา มันไม่เคยคิดอะไรเลย ที่จะปกป้องอธิปไตยไทย มันเล่นเป็นดนตรีวงเดียวกันหมดเลยนะ บอกนี่เป็นของเขมร เปลี่ยนป้ายซะเลยดีกว่าว่าเป็นกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา ไล่มันตั้งแต่ปลัดเลย นอกจากนี้ นายสนธิยังโจมตีข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศรายหนึ่งว่า "หน้าหม้อ"

 

เปรียบพิพาทดินแดน เหมือนเข้าไปสร้างส้วมในที่คนอื่น ย้ำชุมนุม 25 ม.ค. ไม่ต้องใส่สีเหลือง

นายสนธิ ยังเปรียบเทียบเรื่องข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา โดยนางจินดารัตน์ ตั้งต้นว่า มีคนบอกว่าข้อพิพาทมันเป็นเรื่องยาก และไกลตัว เสียดินแดนนิดหน่อยเป็นไรไป โดยนายสนธิตอบว่า “ไอ้คนที่พูด มาพูดให้ผมฟังหน่อยนะ แล้วบอกว่า บ้านคุณอยู่ที่ไหน” นางจินดารัตน์ ถามว่า “ทำไมคะ จะไปทำไรเขาคะ”

นายสนธิตอบว่า “ไม่ ผมจะไปสร้างบ้านไปในพื้นที่บ้านมันไง นิดหน่อย ไม่ต้องมาก ปลูกส้วมอันหนึ่งก็พอ นิดหน่อยไง เสียดินแดนนิดหน่อย เข้าใจยัง”

โดยนายสนธิกล่าวถึงการชุมนุมวันที่ 25 นี้ว่า งานนี้ไม่มีแกนนำ งานนี้คนรักชาติมาเพื่อไม่ให้เสียชาติเกิด ทุกคนเจ้าภาพหมด ไม่มีแกนนำ ไม่รู้นะส่วนตัวผมคิดอย่างนี้ ทุกคนเป็นแกนนำหมด ชาติบ้านเมืองไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ ทุกคนเป็นเจ้าของหมด

นางจินดารัตน์ กล่าวว่า “ไม่มีสีเสื้อนะคะ คุณผู้ชม” นายสนธิตอบว่า “ไม่มีสีเสื้อ มาเลย”

นางจินดารัตน์ กล่าวว่า “จะใส่เสื้อสีอะไรมาก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสีเหลือง อยากเป็นเสื้อสีอะไรก็ใส่มา วันนั้น จะเป็นวันที่คนไทยทั้งชาติจะออกมาร่วมปกป้องแผ่นดิน เพราะว่า รัฐบาล และคนที่รับผิดชอบเขาไม่ทำ เป็นหน้าที่ของเราแล้ว ออกมากันเยอะๆ คะ แสดงพลังให้คนที่ชอบรักษาหน้าให้รู้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับบ้านนี้เมืองนี้ จะอยู่ในตำแหน่งกันไปอีกนานแค่ไหน เพื่อประโยชน์คนกลุ่มเดียว”

 

เผยสู้กับอภิสิทธิ์เป็นเรื่องเหน็ดเหนื่อย เพราะรูปหล่อหน้าตาดี แม่ยกพ่อหลายคนยังเชื่อ

ในช่วงท้ายรายการ นายสนธิ กล่าวถึงการที่เขาเคยสนับสนุนรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลสุรยุทธ์ และรัฐบาลอภิสิทธิ์ และต่อมาเปลี่ยนเป็นคัดค้านว่า

พล.อ.สุรยุทธ์ ผมก็สนับสนุนเขาตอนแรก จนตอนหลัง ผมเห็นว่าเขามีวาระซ่อนเร้นเรื่องเกี่ยวกับกรณีที่แอบประนีประนอมกับทักษิณ ผมก็เลยสู้เขา คุณอภิสิทธิ์ แรกๆ หลายคน พวกคุณก็ว่าผม คุณประพันธ์ คุณมี ยังว่าผมเลย พี่เชียร์อภิสิทธิ์อยู่เรื่อย บอกผมไม่ได้เชียร์เขา แต่ผมให้โอกาสเขาทำงาน ผมยังเคยพบเขาตั้ง 3-4 ครั้งเป็นการส่วนตัว แล้วแนะนำเขา ตอนหลังถึงรู้ว่าเขาไม่ฟังคำแนะนำเลย เขาเพียงแต่ต้องการแสดงออกว่าเขาคุยกับผมได้เท่านั้นเอง เรื่องอื่นเขาไม่สนใจ เมื่อเรื่องอื่นเขาไม่สนใจแล้วจะทำอย่างไรได้ ผมเห็นว่าไม่ไหวแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลายกรณี การคอร์รัปชั่นของเขา การที่เขาปราบเสื้อแดงที่ราชประสงค์โดยเขาไม่แสดงความกล้าหาญ การที่เขาให้ทหารไปตายแล้วเขาหันกลับมาเล่นงานทหารอีกครั้ง การที่เขาเห็นฮุน เซนเป็นพ่อ แล้วการซึ่ง ส่วนตัวผมยังไม่ถือที่มีคนยิงผมแล้วเขาไม่ทำอะไร ผมยังเฉยๆ ยังเก็บเอาไว้ในใจ

เมื่อผมเห็นอย่างนี้แล้ว เขาไปไม่ได้แล้วงานนี้ เขาจะมาหลอกคนไทยอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ แล้วการสู้กับเขานี่เหน็ดเหนื่อย เพราะภาพเขาดี เขารูปหล่อ เขาหน้าตาดี แม่ยกพ่อยกหลายคนยังเชื่อเขาอยู่โดยไม่ดูเนื้อหาสาระที่แท้จริง แรกๆ ทุกคนบอกว่า แหมเห็นใจเขานะเขาต้องอยู่พรรคร่วม ไปๆ มาๆ ผมเห็นการกระทำของเขา การกระทำของคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ แล้วผมมีความรู้สึกว่า 2 คนนี้จับมือกัน แบ่งกันเล่นคนละบท สุเทพเล่นบทผู้ร้าย อภิสิทธิ์เล่นบทผู้ดี แต่จบลงที่จุดเดียวกัน เหมือนกันหมด ผมเห็นเขาเริ่มโกหก แล้วจับได้ทีละข้อ จริงๆ แล้วเร็วๆ นี้ผมจะออกคำถาม 30 ข้อให้เขาตอบ เหมือนกับที่ผมออกให้กับคุณทักษิณตอบ แล้วคุณทักษิณไม่กล้าตอบ ผมว่าจะทำเร็วๆ นี้ ผมว่า จะถามคุณประพันธ์เลย ว่าคุณเจิมศักดิ์ เขาทำเรื่องรู้ทันทักษิณได้ แล้วคุณเจิมศักดิ์จะไม่มีวันที่จะทำรู้ทันอภิสิทธิ์หรอก งั้นคุณประพันธ์ กับคุณปานเทพ ช่วยทำให้หน่อยได้ไหม รู้ทันอภิสิทธิ์ ใช่ไหม”

ประเด็นสำคัญที่สุดที่ผมเห็นคือ ไม่มีใครหรอกที่เป็นที่ คือ รู้จักคน รู้จักหน้า ไม่รู้จักใจ เห็นคนหน้าตาดี พูดเพราะ การศึกษาดี ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้เป็นคนชั่วร้าย ต้องดูการกระทำของเขา ใช่ไหม ผมพูดตั้งนานแล้วว่า นักการเมือง คือประเทศไทย ปัญหาทุกปัญหาแก้ได้หมด ถ้าเอาส่วนรวมตั้ง เขมร ถ้าเอาประเทศชาติเป็นตัวตั้งแก้ได้หมด เพราะถ้าเรายกเลิก MOU2543 เหตุผลเพราะว่า การจับคนไทย 7 คนนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็ดำเนินนโยบายยกเลิก MOU2543 เขมรก็จดทะเบียนมรดกโลกไม่ได้ เมื่อจดทะเบียนมรดกโลกไม่ได้ เราก็บอกให้ชุมชนเขมรที่อยู่ออกไปซะ”

 

สนธิชี้การชุมนุม 25 ม.ค. ไม่มีครั้งไหนยิ่งใหญ่เท่าครั้งนี้ สู้ทักษิณเรื่องเล็กไปแล้ว

โดยนายสนธิ กล่าวท้ายรายการว่า “ก็ 25 นี้ เป็นวันที่ สำหรับผมแล้ว คือการไม่ให้เสียชาติเกิด ผมคิดว่า พี่ลองพูดถูก การต่อสู้ของพวกเรา หลายๆ เรื่อง ลูกเจ๊กลูกจีน คนหัวเกรียนอย่างพี่ลองมาสู้ทำไม แต่ในที่สุดแล้วมันทนไม่ไหว เพราะมันเกิดเป็นคนไทย แต่การต่อสู้ตลอดเวลา ตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้ ไม่มีครั้งไหนยิ่งใหญ่เท่าครั้งนี้ สู้กับทักษิณ ยังไม่ยิ่งใหญ่เท่าสู้เรื่องดินแดนประเทศไทย สู้กับทักษิณเรื่องเล็กไปแล้วนะ สู้วันที่ 25 เป็นการสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตการต่อสู้ เพราะว่าเราสู้เพื่อประเทศจริงๆ เราสู้เพื่อไม่ให้เสียชาติเกิด เราสู้เพราะเราไม่ยอม ที่จะสยบภายใต้สถุนอย่างฮุน เซน และเราสู้เพื่อไม่ให้คนในรัฐบาลของเราไปสมรู้ร่วมคิดกับกุ๊ยอย่างฮุน เซน ไปแอบขายชาติให้ฮุน เซน เราสู้เพื่อชาติจริงๆ งวดนี้ เลยอยากให้พ่อแม่พี่น้องออกมากันเยอะๆ สู้กันนานๆ งานนี้ ถึงไหนถึงกัน”

โดย นางจินดารัตน์ กล่าวเสริมว่า เราก็จะไปพบกันตอนบ่ายสองที่สะพานมัฆวาน พบกับคุณลุงจำลอง ที่ประกาศแล้วว่า ไม่ถอย ไม่เลิก งานนี้อยู่กันยาว เตรียมตัวมาให้พร้อม อย่าลืมกระเป๋ายังชีพของเราด้วยนะคะ ที่เราเคยมาร่วมชุมนุม โดยนายสนธิ ตอบว่า “แต่ละคนมีประสบการณ์อยู่แล้ว” ส่วนนางจินดารัตน์ ทิ้งท้ายว่า “ใช่ค่ะ คงไม่ต้องบอกว่าต้องเตรียมอะไรมาบ้าง”

 

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คน “คลองโยง” เตรียมรับมอบ “โฉนดชุมชน” แห่งแรกของประเทศ 11 ก.พ.นี้

Posted: 22 Jan 2011 02:39 AM PST

ประธานสหกรณ์เช่าที่ดินคลองโยง เผยขณะนี้ “โฉนดชุมชน” อยู่ในกระบวนการโอนที่จากกรมธนารักษ์มาเป็นของสหกรณ์ฯ ก่อนนายกฯ ลงพื้นที่ ต.คลองโยง จ.นครปฐม มอบโฉนดชุมชน ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ พร้อมเตรียมปรับวิถีการผลิต-บริโภคให้ชุมชนอยู่ได้อย่างมั่นคง

 
วานนี้ (21 ม.ค.54) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) กล่าวในการสัมมนาเรื่อง “โฉนดชุมชน: ก้าวแรกสู่การแก้ปัญหาที่ดินอย่างยั่งยืน” ว่า ตามแผนงานโฉนดชุมชนเมื่อทำงานไประยะหนึ่งพบว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และเกี่ยวข้องกับที่ดินที่หลายกระทรวงดูแลอยู่ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) อนุมัติโฉนดชุมชนแปลงใด ก็ให้ส่งเรื่องกลับไปยังกระทรวงนั้น เพื่อที่จะอนุญาตให้คณะกรรมการ ปจช.เอาไปจัดโฉนดชุมชุนตามหมายเฉพาะของกระทรวงนั้นๆ 
 
นายสาทิตย์ กล่าด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการโฉนดชุมชน มีชุมชนเสนอขอรับโฉนดทั้งสิ้น 121 ชุมชน จากนำร่องเริ่มต้นที่ 88 ชุมชน โดยรัฐอนุมัติไปแล้ว 35 แปลง และในจำนวนนี้มีหน่วยงานเจ้าของพื้นที่อนุมัติมาแล้ว 11 แปลง ซึ่งในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ นายกรัฐมนตรี จะมอบโฉนดชุมชนใบแรกให้กับชาวชุมชนคลองโยง ต.คลองโยง จ.นครปฐม และจะเร่งเดินหน้าแจกโฉนดชุมนุมให้ครบถ้วนโดยเร็ว
 
ด้านนายบุญลือ เจริญมีประธานสหกรณ์เช่าที่ดินคลองโยง กล่าวว่า การทำโฉนดชุมชนสอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านในการที่จะคงรักษาพื้นที่เกษตรกรรมไว้ให้ลูกหลาน ไม่ให้มีการขายพื้นที่ อีกทั้งกรอบของกฎหมายที่บังคับใช้ก็ไม่ได้แตกต่างหรือขัดแย้งกับกฎระเบียนของสหกรณ์ฯ ที่มีอยู่เดิม จึงพร้อมปฏิบัติตาม แต่ที่ผ่านมากระบวนการจัดทำโฉนดชุมชนในพื้นที่ล่าช้า เพราะติดขัดเรื่องข้อกฎหมายและการรวบรวมเอกสารหลักฐานจากกรมส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ และกรมธนารักษ์
 
นายบุญลือ กล่าวถึงกระบวนการการทำโฉนดชุมชนในพื้นที่ว่า ก่อนวันที่ 11 ก.พ.นี้ ที่จะมีการรับมอบโฉนดชุมชน สหกรณ์ฯ ต้องนำเงินที่ได้จากรัฐบาลไปจ่ายค่าส่วนต่างราว 2 ล้านบาท ที่เหลืออยู่ในการเช่าซื้อที่ดิน เนื้อที่ 1,803 ไร่เศษ ตั้งแต่ปี 2519 ตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง จากจำนวนเต็ม 6.9 ล้านบาท ซึ่งชาวบ้านได้จ่ายไปแล้ว 5.7 ล้านบาท เพื่อรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากกรมธนารักษ์มาเป็นของสหกรณ์ฯ ในฐานะเจ้าของ เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ฯ เป็นผู้ใช้ประโยชน์ จากนั้นก็จะมอบให้สำนักนายกฯ เพื่อจัดทำโฉนดชุมชนโดยรัฐนำมามอบให้ชาวบ้านอีกครั้งหนึ่ง
 
นายบุญลือ กล่าวด้วยว่า ภายหลังรับมอบโฉนดชุมชน สิ่งที่คนในชุมชนต้องทำร่วมกันคือการปรับปรุงเกี่ยวกับการทำกิน โดยจะมีการร่วมพูดคุยกันให้มากขึ้นเรื่องวิถีเกษตรแนวทางใหม่ และการไม่ใช้สารเคมีในการทำการเกษตร รวมทั้งปรับปรุงให้เกิดการบริโภคผลผลิตที่ผลิตได้จากในชุมชน เพราะต้องยอมรับว่าพื้นที่ครองโยงเป็นพื้นที่เกษตรในตัวเมือง ต่อไปข้างหน้าอาจมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมจากมลพิษ ปัญหารอบด้านที่รุกเข้ามา ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องต่อสู้ร่วมกันต่อไปเพื่อความมั่นคงในการอยู่อาศัยในพื้นที่ 
 
ส่วนกรณีการจำกัดเวลาการทำโฉนดชุมชนไว้ที่ 30 ปี ซึ่งทำให้เกิดคำถามถึงความไม่ยังยืนในหลายพื้นที่ นายบุญลือกล่าวว่า สำหรับที่คลองโยงไม่เป็นปัญหา เพราะกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของสหกรณ์ฯ ซึ่งถือเป็นเอกชนโดยตรง ทั้งนี้ จากเดิมที่ชาวบ้านต่อสู้ให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินของแต่ละคนเนื่องจากได้ทำการเช่าซื้อกันมา แต่ตกลงที่จะมาทำโฉนดชุมชนร่วมกันในตอนนี้ หายต่อไปอีก 30 ปี หมดเงื่อนไขของการทำโฉนดชุมชน ที่ดินของสหกรณ์ฯ ก็อาจไม่ต้องเข้าร่วมทำโฉนดชุมชน แต่ไปจัดการในรูปแบบอื่นๆ ก็ได้ ซึ่งการกำหนดระยะเวลาตรงนี้อาจไม่ใช่ปัญหาของทุกพื้นที่
 
นายบุญลือ กล่าวถึงข้อเสนอด้วยว่า รัฐบาลควรทำความเข้าใจเรื่องโฉนดชุมชนให้กับชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ รวมไปถึงข้าราชการระดับท้องถิ่น เนื่องจากตอนนี้ยังมีความเข้าใจที่ว่าการจัดทำโฉนดชุมชนคือการมีโฉนด 2 ใบ ทับซ้อนในที่ดินผืนเดียวกัน ซึ่งความจริงนั้นโฉนดชุมชนเป็นกฎระเบียบข้อบังคับของชุมชน ไม่ใช่โฉนดกรรมสิทธิ์ที่รัฐจะมาออกให้ซ้ำซ้อน พร้อมยอมรับว่าก่อนหน้านี้เขาและชาวบ้านหลายๆ คนก็เคยมีความเข้าใจผิดในเรื่องนี้ ซึ่งตรงนี้มีผลทำให้การจัดทำโฉนดชุมชนในหลายพื้นที่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาเรื่องที่ดินของสหกรณ์เช่าที่ดินคลองโยง สืบเนื่องจาก กรณีที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการโครงการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง โดยนำเงินทุนช่วยเหลือเกษตรกรไปจัดซื้อที่ดิน เพื่อนำมาให้เกษตรกรสมาชิกได้เช่าซื้อที่ดิน แต่เนื่องพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพที่ราชพัสดุตามกฎหมาย ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2544 ระบุให้กระทรวงการคลังถือเป็นแนวปฏิบัติว่าที่ดินราชพัสดุไม่ควรโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่สหกรณ์นิคมหรือองค์กรอื่นใด ควรดำเนินการจัดทำสัญญาเช่า ทำให้ที่ดินดังกล่าวไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้ชาวบ้านแม้จะทำการเช่าซื้อก่อนหน้านี้มาหลายสิบปีได้
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2553 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กรมธนารักษ์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินราชพัสดุ ต.คลองโยง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม เนื้อที่ 1,803 ไร่เศษ ให้สหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยง และที่ดินราชพัสดุ ต.ไร่อ้อย อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เนื้อที่ 1,090 ไร่เศษ ให้สหกรณ์การเช่าที่ดินพิชัยภูเบนทร์จำกัด เพื่อนำไปบริหารจัดการเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรสมาชิก ตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ ซึ่งสหกรณ์เช่าที่ดินคลองโยงมีความประสงค์นำที่ดินดังกล่าวเข้าสู่โครงการโฉนดชุมชน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การจัดทำโฉนดชุมชนในพื้นที่คลองโยง กระทรวงการคลังถือเป็นหน่วยงานต้นสังกัดสุดท้ายที่จะตรวจสอบข้อมูลและหลักฐานในพื้นที่ก่อนประสานกับคณะกรรมการ ปจช.ยินยอมให้ออกโฉนดชุมชนต่อไป ทั้งนี้ ที่ดินดังกล่าวเคยเป็นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ที่หน่วยงานต้นสังกัดยินดีจะมอบที่ดินนี้ให้เป็นของสหกรณ์การเช่าที่ดินคลองโยง จึงถือว่าไม่ใช่ที่ดินของรัฐ แต่ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีข้อ 14 ได้เอื้ออำนวยให้ที่ดินอื่นที่ไม่ใช่ที่ดินของรัฐยังมีสิทธิจัดทำเป็นโฉนดชุมชนได้ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ปจช.
 
ทั้งนี้ โฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน มีสาระสำคัญคือ การออกหนังสืออนุญาตให้ชุมชนได้สิทธิในการใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐ ทั้งเรื่องการอยู่อาศัย และการทำเกษตรกรรม โดยชุมชนจะต้องร่วมกันบริหารจัดการที่ดิน และต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกัน เพราะที่ดินเป็นของชุมชน ไม่ได้ให้กรรมสิทธิ์เป็นรายบุคคล และห้ามจำหน่าย หรือโอนให้บุคคลอื่น หากทำผิดเงื่อนไขรัฐมีสิทธิยึดคืนได้ทันที
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“อภิสิทธิ์” จี้ข้าราชการเร่งผลักดัน “โฉนดชุมชน” หลังมอบนโยบายไม่คืบ

Posted: 21 Jan 2011 10:59 PM PST

“อภิสิทธิ์” ระบุ ประชาชนแจ้งความประสงค์ทำ “โฉนดชุมชน” แล้ว 121 พื้นที่ รับที่ผ่านมาติดขัด เหตุราชการลังเลไม่กล้าทำ แนะมีปัญหาให้รายงานพร้อมแก้ไข-รับผิดชอบ ส่วน “สาทิตย์” เผยจ่อลงนามเอ็มโอยูร่วม 6 กระทรวง เดินหน้าโฉนดชุมชน ชี้เป็นนโยบายนายกฯ ที่ทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตาม

 
นับจากการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี โดยการนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2551ที่ระบุถึงการจัดทำโฉนดชุมชน เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินแก่กลุ่มเกษตรกรผู้ไร้ที่ทำกิน นำมาซึ่งความหวังในการมีที่ดินทำอยู่ทำกินโดยการสนับสนุนทางนโยบายจากรัฐบาล แต่การจัดทำโฉนดชุมชนโดยรัฐยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม ขณะที่คดีฟ้องคนจนบุกรุกที่ยังคงมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสาเหตุหลักที่ว่านโยบายโฉนดชุมชนยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่
 
วานนี้ (21 ม.ค.54) คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ซึ่งมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธาน ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดการสัมมนาเรื่อง “โฉนดชุมชน เพื่อการทำกิน รักษาที่ดินอย่างยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงแนวคิดเรื่องโฉนดชุมชน และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานโฉนดชุมชนตามภารกิจที่ระเบียบกำหนดไว้ให้กับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐและประชาชน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการ เกษตรกร และผู้สนใจร่วมรับฟัง ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
 
 
จี้ข้าราชการเร่งผลักดันโฉนดชุมชน
 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการสัมมนา และมอบนโยบายโฉนดชุมชน ว่า โฉนดชุมชนเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการจัดประชุมมอบนโยบายและตัดสินใจหลายเรื่องเพื่อแก้ปัญหาที่ทำกินให้ยั่งยืน ด้วยแนวคิดการมีสวนร่วมของประชาชน ช่วยผู้ด้อยโอกาสให้มีสิทธิทำกินตามความเหมาะสม โดยการมอบให้ชุมชนบริหารจัดการพื้นที่ไม่ให้มีการเปลี่ยนมือ เพราะไม่ต้องการเพียงการแก้ข้อพิพาทระหว่างชุมชนและรัฐเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่สุดท้ายแล้วสิทธิ์กลับถูกโอนขายให้คนมีเงิน นำมาสู่การบุกรุกที่ทำกินใหม่ ทำให้การแก้ปัญหาไม่รู้จบสิ้นและทรัพยากรถูกทำลายลงเรื่อยๆ ซึ่งการแก้ปัญหาต้องอาศัยการทำงานของชุมชน ที่รวมตัวอย่างเข้มแข็งและมีธรรมมาภิบาล 
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อมาว่า การมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนถือเป็นการเริ่มต้น เพื่อที่จะมีการออกกฎหมายต่อไป และขณะนี้สิ่งที่ต้องทำให้ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมคือมีการออกเอกสารโฉนดชุมชนจริง มีชุมชนที่เข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ โดยมุ่งหวังความสำเร็จในการติดตามและส่งเสริมให้เป็นพื้นที่เกษตรที่มีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาเฉพาะหน้าของการออกเอกสารดังกล่าว พบสภาพความเป็นจริงคือความไม่เข้าใจและการไม่ดำเนินการในทางปฏิบัติในหลายหน่วยงาน จึงต้องเน้นย้ำว่าเราต้องการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีชุมชนที่แจ้งความประสงค์เข้ามาร่วมจัดทำโฉนดชุมชนแล้ว 121 ชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงความประสงค์ของชุมชนในการดูแลพื้นที่ และในระดับนโยบายและกลไกต่างๆ มีข้อยุติแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของหน่วยงานราชการต้องปฏิบัติและรายงานว่าถ้ามีปัญหาอุปสรรคใด เพื่อจะได้แก้ไขให้ เมื่อรัฐบาลตัดสินใจแล้วรัฐบาลจะรับผิดชอบ ที่ผ่านมาในเรื่องนโยบายภาคราชการไม่กล้าปฏิเสธแต่ก็ไม่มีการผลักดันให้เดินหน้าต่อเพราะเป็นเรื่องใหม่ แต่ถ้าไม่เดินตรงนี้ให้สำเร็จ ก็จะย้อนกลับไปเป็นปัญหานับพันพื้นที่ แม้ว่าอาจทำไม่สำเร็จใน 121 ชุมชน แต่ต้องเริ่มทำให้สำเร็จบ้าง 
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงปัญหาในส่วนฝ่ายปฏิบัติอีกว่า บางพื้นที่ติดขัดเรื่องงบประมาณ ก็โอนงบไปให้ แต่บางหน่วยงานยังลังเลไม่ทำก็คืนเงิน ทำแบบนี้ไม่ได้ ตนยืนยันว่านี่คือนโยบายของรัฐบาลที่หน่วยงานต้องปฏิบัติเพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้น เพราะหัวใจเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องที่ทำกิน แต่จะเป็นรูปธรรมในการสร้างความเชื่อใจในการร่วมมือกันทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชน
 
 
จ่อลงนามเอ็มโอยู หวังสร้างกลไกทำงานร่วมหน่วยราชการ
 
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาเมื่อมีการเปิดสำนักงานโฉนดชุมชน ในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ได้มีชุมชนยื่นขอโฉนดชุมชนมา 88 แปลง ซึ่งจากตัวเลขล่าสุดได้เพิ่มขึ้นเป็น 121 แปลง ได้อนุมัติไปแล้ว 35 แปลง  ประกอบด้วย ที่ดินของกระทรวงมหาดไทย 9 แปลง ซึ่งได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่แล้ว ส่วนที่เหลือที่ยังไม่ได้มีอากอนุญาติให้ใช้พื้นที่ก็จะเป็นที่ดินของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยาน และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และที่ดินของกระทรวงการคลัง รวมทั้งที่ดินในความดูแลของ กทม.อีก 4 แปลง 
 
นายสาทิตย์กล่าวถึงการจัดทำโฉนดชุมชนด้วยว่า เป็นการให้กรรมสิทธิ์ในการจัดการที่ดินแก่ชุมชน โดยต้องใช้ประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัยและทำการเกษตรเท่านั้น ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนได้ เพราะกรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของรัฐ และจะมีคณะกรรมการโฉนดชุมชน สำนักนายกรัฐมนตรีไปตรวจสอบว่า ใช้ที่ดินเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ หากใช้ผิดวัตถุประสงค์สามารถเพิกถอนสิทธิได้
 
นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า การทำเอ็มโอยูจะมีการลงนามร่วมกันระหว่างสำนักงานโฉนดชุมชน สำนักนายกรัฐมนตรีกับแต่ละกระทรวงที่เป็นเจ้าของพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง 6 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อกำหนดข้อตกลงวิธีการทำงานร่วมกันในการใช้พื้นที่ ส่วนที่มีข่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่มอบที่ดินให้นั้น ยืนยัน ไม่มีปัญหาเรื่องไม่มอบพื้นที่ให้ เพราะเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตาม
 
ส่วนความคืบหน้าการทำเอ็มโอยู นายสาทิตย์ กล่าวว่า หลังจากนี้ไปในสัปดาห์หน้าจะมีการนัดกันระหว่างสำนักงานโฉนดชุมชนและทางปลัดกระทวงต่างๆ เพื่อมาพูดคุยกัน หลังจากนั้นจะมีการยกร่างเอ็มโอยูและลงนาม ซึ่งที่ต้องทำแบบนี้เพราะนโยบายนี้เป็นนโยบายใหม่ และการจัดส่วนงานขึ้นมารับรองโดยเฉพาะยังไม่มี ทำให้ทุกอย่างต้องเดินไปตามขั้นตอนปกติซึ่งล่าช้ามาก แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องระหว่างรัฐกับรัฐ เช่น คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนอยากได้ที่ที่กรมอุทยานดูแล แต่ไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์มารองรับชัดเจนการทำงานก็ล่าช้า เราจึงใช้วิธีการทำเอ็มโอยูเพื่อให้มีกลไกการทำงานร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น 
 
 
รับแก้ปัญหาโครงสร้างที่ดิน แก้ความเหลื่อมล้ำ 
 
นายสาทิตย์ กล่าว ในการเสวนา “โฉนดชุมชน: ก้าวแรกสู่การแก้ปัญหาที่ดินอย่างยั่งยืน” ให้ความเชื่อมั่นว่า เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินพูดได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ ซึ่งยอมรับว่าโครงสร้างการถือครองที่ดินในประเทศก็มีความเหลื่อมล้ำอยู่สูง และจากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ เพราะฉะนั้นเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินรัฐบาลชุดนี้จะเดินหน้าเต็มที่ ในเรื่องโฉนดชุมชนก็ขอความมั่นใจว่าแนวทางที่วางไว้ทั้งหมดจะมีความยังยืนและสามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างเต็มที่ 
 
นอกจากนั้นยังมีเรื่องธนาคารที่ดินซึ่งตอนนี้ ครม.ได้อนุมัติในหลักการแล้ว และมีการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชน คาดว่าจะเสร็จภายในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งธนาคารที่ดินจะเข้ามาเสริมในการเก็บข้อมูลเรื่องคนยากจนไร้ที่ทำกิน และหาที่ดินที่อาจอยู่ในการดูแลของหน่วยงานต่างๆ เพื่อมาจัดให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัย รวมทั้งเป็นแหล่งทุนให้คนที่อยู่อาศัยของรัฐประเภทต่างๆ เรื่องกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อนำเงินมาให้กับธนาคารที่ดิน และในสภาก็มีการเตรียมออกกฎหมาย  พ.ร.บ.การบริหารจัดการที่ดินที่สงวนหวงห้ามของรัฐเพื่อแก้ปัญหาการประกาศเขตพื้นที่ของรัฐทับที่ประชาชน    
 
นายสาทิตย์ ให้ข้อมูลด้วยว่า วันที่ 11 กุมภาพันธ์ จะมีพิธีมอบโฉนดชุมชนแปลงแรก ที่ อ.คลองโยง จ.นครปฐม ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่มีความต้องการรักษาพื้นที่เกษตรกรรมไว้ให้ลูกหลานในรูปแบบการจัดทำโฉนดชุมชน
 
 
 
วันที่ 7 มิ.ย.2553 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน ได้รับการลงนามโดยนายกรัฐมนตรี โดยให้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2553 
 
วันที่ 5 ก.ค.2553 มีการเปิดสำนักงานโฉนดชุมชน ในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล มีชุมชนที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ปจช.ว่ามีความพร้อมที่จะประกาศให้เป็นพื้นที่โฉนดชุมชนจำนวน 35 แห่งทั่วประเทศ
 
วันที่ 14 ธ.ค.2553 ครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์กรมหาชน) ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญจัดทำนโยบายและมาตรการเพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมรวมทั้งจัดทำร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งธนาคารที่ดิน
 
วันที่ 15 ม.ค.2554 สำนักงานโฉนดชุมชน ได้ดำเนินการรวบรวมพื้นที่ เพื่อจัดทำโฉนดชุมชนในพื้นที่นำร่อง โดยได้รับข้อเสนอจากเครือข่าย ภาคประชาชน ทั้งองค์กรเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย องค์กรเครือข่ายปฏิรูปสังคม และการเมือง ฯ จำนวน 121 ชุมชน
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: ชาวปากบาราล้อมกรอบนักศึกษา ประชาสัมพันธ์โครงการท่าเรือน้ำลึก

Posted: 21 Jan 2011 10:34 PM PST

ชาวบ้านกลุ่มต่อต้าน ล้อมกรอบนักศึกษาประชาสัมพันธ์โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา อาจารย์แจงแค่ทดลองแจกแบบสอบถาม ยังไม่สำรวจจริง 

เวลาประมาณ 11.00 น. เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554 ที่หมู่บ้านตะโล๊ะใส ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ชาวบ้านกว่า 30 คน ได้กักตัวนางสาววาสนา ประสมศรี และนางสาวอัจราพร ทรปุ่น 2 นักศึกษาคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ประมาณ 15 นาที ต่อมานักศึกษาดังกล่าว พยายามติดต่อเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ซึ่งเป็นญาติกัน เพื่อขอให้ชาวบ้านปล่อยตัว

เหตุเกิดขึ้นหลังจากนักศึกษาทั้ง 2 คน ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล และแจกแบบสอบถามสำรวจทัศนคติต่อการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยเป็นทีมงานของ รศ.ดร.วันชัย ธรรมสัจการ อาจารย์คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมและพัฒนาสังคม และเป็นที่ปรึกษาโครงการงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและประชาสัมพันธ์การมีส่วนร่วมของประชาชน ระยะก่อนก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราระยะที่ 1
 
นางสาววาสนา ประสมศรี นักศึกษาปริญญาตรีปีที่ 1 คณะศิลปะศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า ตนกับนางสาวอัจราพร ได้รับมอบมายจาก รศ.ดร.วันชัย ให้ลงพื้นที่ตำบลปากน้ำเพื่อสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคมและชุมชน รวมทั้งทัศนคติต่อการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราของชาวบ้าน
“ฉันและเพื่อนได้รับแบบสำรวจคนละ 5 ชุด ให้ไปสำรวจทัศนคติของชาวบ้าน กระทั่งได้มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้เข้าไปล้อมไว้ไม่ให้ไปไหน” นางสาววาสนา กล่าว
 
รศ.ดร.วันชัย เปิดเผยว่า ตนและคณะนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ 9 คนได้ลงพื้นที่ตำบลปากน้ำ ตำบลแหลมสน ตำบลกำแพงและตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล เพื่อสำรวจทัศนคติต่อการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา โดยให้ชาวบ้านกรอกแบบสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคมและชุมชน
 
“เหตุที่นักศึกษา 2 คนถูกชาวบ้านกักตัว คงเกิดจากความเข้าใจผิดว่า เราพยายามผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่จริงเราแค่ลงมาสำรวจข้อมูลของชาวบ้านเท่านั้น” รศ.ดร.วันชัย กล่าว
 
รศ.ดร.วันชัย กล่าวว่า การลงพื้นที่สำรวจทัศนคติดังกล่าว เป็นการทดลองสำรวจก่อนในเบื้องต้นจำนวน 30 ชุด เพื่อดูว่าคำถามแต่ละข้อเป็นอย่างไร สามารถใช้ได้จริงหรือไม่ หรือควรต้องแก้ไขปรับเปลี่ยน จากนั้นจะนำกลับไปประมวลผลดูก่อนลงสำรวจจริง เพื่อให้ได้แบบสอบถามที่สมบูรณ์ ขณะนี้การทดลองสำรวจดังกล่าวเสร็จแล้ว
ผศ.ดร.ธนิยา เกาศล ผู้จัดการโครงการงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และประชาสัมพันธ์การมีส่วนร่วมของประชาชน ระยะก่อนก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราระยะที่ 1 เปิดเผยว่า ข้อมูลที่ได้จากแบบสำรวจทั้ง 30 ชุด ได้นำไปมอบให้นายพิเชษฐ์ สุดเดือน หัวหน้าสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขาสตูลแล้ว เพื่อให้ส่งต่อให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการพิจารณา
 
ผศ.ดร.ธนิยา เปิดเผยว่า สำหรับการจัดเวทีประชาสัมพันธ์โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่โรงเรียนบ้านตะโล๊ะใส ตำบลปากน้ำ และโรงเรียนบ้านปากบาง ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ในวันที่ 22 - 23 มกราคม 2554 กรมเจ้าท่าแจ้งให้เลื่อนไปก่อน ส่วนสำนักงานศูนย์ข้อมูลและการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา ตั้งอยู่ที่ 796 หมู่ที่ 4 ถนนเทศบาล 3 ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล” ผศ.ดร.ธนิยา กล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลมุกดาหารให้ประกันเสื้อแดงเพิ่ม

Posted: 21 Jan 2011 10:18 PM PST

ผู้ต้องขังเสื้อแดงที่เรือนจำมุกดาหารซึ่งป่วยทางจิตได้ประกันอีกสอง รวมเป็นสามในสัปดาห์นี้ รายหนึ่งได้ปล่อยตัวชั่วคราวหลังลูกลืมตาดูโลกไม่กี่ชั่วโมง สำรวจพบยังเหลือผู้ป่วยที่ตกค้างยังไม่ได้ประกันตัวอีกห้าราย

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 54 ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางมุกดาหารอีก 2 ราย คือ นายดวง คนยืน และนายพระนม กันนอก หลังทั้งสองถูกคุมขังมานาน 8 เดือน จนมีอาการทางประสาทอย่างหนัก และถูกส่งตัวมาตรวจรักษาที่โรงพยาบาลมุกดาหาร ศาลจังหวัดมุกดาหารมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ท่ามกลางความดีใจของญาติพี่น้องที่มารอฟังคำตัดสินของศาล

นางอ้อยทิพย์ กันนอก ภรรยานายพระนม กันนอก คนเสื้อแดงซึ่งตกเป็นผู้ต้องขังเรือนจำจังหวัดมุกดาหาร

 

นางอ้อยทิพย์ กันนอก ภรรยาของนายพระนม และบุตรชายซึ่งเพิ่งคลอดในคืนก่อนนายพระนมได้รับการปล่อยตัว

 

 

บุตรชายของนายพระนม ซึ่งเพิ่งคลอดในคืนก่อนนายพระนมได้รับการปล่อยตัว

 

โดยเฉพาะญาติของนายพระนม เนื่องจากคืนก่อนหน้านี้ ลูกชายคนที่สองของนายพระนมกับนางอ้อยทิพย์เพิ่งลืมตาดูโลก ทุกคนจึงตั้งความหวังให้พ่อได้ออกมาอุ้มลูกในวันนี้

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 มกราคม ศาลจังหวัดมุกดาหารได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายวิชิต อินตะ ที่ป่วยเป็นโรคประสาทเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ ตำรวจมุกดาหารได้จับกุมประชาชนอันเนื่องมาจากเหตุการณ์เผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหารในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนถึงปัจจุบันจับกุมรวมทั้งสิ้น 29 ราย อัยการไม่สั่งฟ้อง 1 ราย โดยมีผู้ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น 7 ราย ซึ่งศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งหมดเมื่อ 16 สิงหาคม 2553 และถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาศาลากลาง 21 ราย ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วทั้งสิ้น 9 ราย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผู้ที่มีอาการป่วยทั้งทางร่างกายและทางจิต

สำหรับผู้ต้องขังที่ยังถูกคุมขังอยู่อีก 12 ราย จากการสอบถามจากญาติและทนายพบว่า ยังมีผู้ที่มีอาการป่วยแต่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอีก 5 รายแบ่งเป็นโรคทางกาย 3 ราย และโรคทางจิตหรือประสาท 2 ราย ทั้งนี้ มี 3 ราย ที่มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ จะให้ความช่วยเหลือด้านหลักทรัพย์ในการประกันตัว

ในจำนวนผู้ต้องขัง 12 รายดังกล่าว ถูกควบคุมตัวมานาน 8 เดือน จำนวน 7 ราย, 7 เดือน 2 ราย และ 2-4 เดือน จำนวน 3 ราย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ต้องขังพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เขียนจม.ถึงกรรมการสิทธิฯ ร้องถูกทหารซ้อมขณะจับกุม

Posted: 21 Jan 2011 08:23 PM PST

 
22 ม.ค.54 นายอานนท์ นำภา ตัวแทนทนายความจากสำนักทนายราษฎรประสงค์ กล่าวว่า ได้รับจดหมายเขียนด้วยลายมือ จากนายกฤษณะ ธันยชัยพงษ์ และนายสุรชัย พริ้งพงษ์ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำคลองเปรม ด้วยความผิดฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินช่วงที่มีการสลายการชุมนุมเมื่อเดือนพ.ค.53 โดยผู้ต้องขังทั้งสองได้ร้องขอให้ทางสำนักงานเป็นตัวกลางในการนำจดหมายร้องเรียนนี้ไปยื่นให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งก็ได้นำไปยื่นเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้ (21 ม.ค.)
 
จดหมายดังกล่าวระบุว่าผู้ต้องขังทั้งสองคนถูกจับกุม ขู่บังคับ และทำร้ายร่างกายโดยทหารซึ่งตั้งด่านอยู่บริเวณถนนบรรทัดทองระหว่างที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อเดือนพ.ค.53 และเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิฯ เข้ามาตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น