โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

พีมูฟโอด 500 ครัวถูกคดี ไม่มีทางออก

Posted: 03 Mar 2011 10:26 AM PST

พีมูฟร้องทุกข์ศาลฎีกาให้แก้ปัญหาคดีคนจน ชวนสังคมร่วมปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ล่าสุดคดีลำพูนติดคุก 10 ราย ฆ่าตัวตายแล้ว 1 คน

สืบเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากร ระหว่างภาครัฐ กลุ่มบริษัทเอกชนกับชาวบ้านชุมชนท้องถิ่น ได้ส่งผลให้เกิดข้อพิพาทเป็นคดีความจำนวนมาก ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และการใช้อำนาจทางปกครองของหน่วยงานของรัฐ โดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ เป็นคนจนกลุ่มหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว โดยมีถูกดำเนินคดีอาญาและแพ่ง ในชั้นศาล จำนวน 106 คดี 358 ราย ในจำนวนนี้กำลังติดคุก 13 ราย ถูกดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวนและอัยการ 14 กรณี 30 ราย และกำลังจะถูกดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวนประมาณ 100 ราย รวมผู้เดือดร้อนประมาณ 500 ครัวเรือน

วันนี้ (3 มี.ค.53) ตัวแทนขบวนพีมูฟ ได้ไปยื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกา โดยระบุว่า ได้ยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี ให้แก้ไขเรื่องเร่งด่วน 28 กรณีปัญหา นายกฯ ได้รับหลักการ พร้อมทั้งมอบหมายให้แต่ละกระทรวงดำเนินการ มีประเด็นเกี่ยวกับกระทรวงยุติธรรมในข้อพิพาทเรื่องที่ดินและความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากร และชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งมีผู้เดือดร้อนจากการถูกดำเนินคดีจำนวนมาก อาทิเช่น มีกระบวนการออกเอกสารสิทธิมิชอบและฟ้องขับไล่ชุมชน การประกาศเขตที่ดินของรัฐทับที่ดินของชุมชน การให้สัมปทานเหมืองแร่เกิดมลพิษส่งผลต่อสุขภาพ ตลอดจนการข่มขู่คุกคามจากผู้มีอิทธิพล ฯลฯ  ดังนั้น จึงขอให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย การฟ้องร้อง การบังคับคดี การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

นายพงษ์ศักดิ์ สายวรรณ ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง และที่ปรึกษาพีมูฟ กล่าวว่า ประเทศไทยมี 3 เสาหลัก ได้แก่ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ขณะนี้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติกำลังถูกแทรกแซงด้วยกลุ่มผลประโยชน์ หากฝ่ายตุลาการถูกแทรกแซงด้วยจะเกิดความวุ่นวายในสังคม จะเกิดแย่งชิงทรัพยากร และความแตกแยกในสังคมมากขึ้น สังคมไทยจะไปไม่รอด
“พีมูฟออกมาพูดเรื่องนี้ เพื่อให้คนในสังคมร่วมมือกัน ช่วยกันดูแล ประคับประคอง อย่าให้เสาหลักนี้พังลงไปด้วย ตอนนี้กำลังจะเกิดวิกฤติ หลายครอบครัวล่มสลาย หัวหน้าครอบครัวถูกคดี ทั้งที่เขามีสิทธิที่จะทำมาหากินตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมีการประกาศเขตอนุรักษ์ทับซ้อนพื้นที่ทำกินของชุมชน และออกเอกสารสิทธิมิชอบ เขาก็กลายเป็นคนผิด ถ้าพ่อถูกคดี ครอบครัวจะล่มสลาย เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้า หลายครอบครัวต้องฆ่าตัวตาย เพราะมันตัน ไม่มีทางออก” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (2 มี.ค.) คนถูกคดีในขบวนพีมูฟจำนวนประมาณ 500 คนได้ไปอ่านจดหมายเปิดผนึก “จองจำคนจน เพื่อผลประโยชน์ใคร ชนชั้นใดเขียนกฎหมาย ย่อมรับใช้ชนชั้นนั้น” โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 24 ก.พ. สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย บ้านแพะใต้ ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จำนวน 10 ราย ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา แต่เนื่องจาก นายบุญผาย ซางเล็ง หนึ่งในจำเลยได้ฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถทำใจให้ยอมรับกับปัญหาได้ จึงเหลือจำเลย 9 ราย ซึ่งมีความประสงค์จะต่อสู้ในชั้นฎีกา เนื่องจากโฉนดที่ดินที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยนั้นเป็นโฉนดที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่กระบวนการยุติธรรมยังปกป้องระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล แม้ว่าที่ดินนั้นจะมิได้ใช้ทำประโยชน์

นอกจากนี้ ยังมีกรณีบ้านพรสวรรค์ ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ฟ้องดำเนินคดีแพ่ง หลังจากศาลพิพากษาให้ชาวบ้านต้องชดใช้เงินตามฟ้อง ซึ่งเป็นยอดเงินจำนวนที่สูงเกินกว่าชาวบ้านจะชำระได้ แต่ทางราชการยังคงใช้วิธีอันเลวร้ายและไม่เป็นธรรม กลับให้ชาวบ้านใช้แรงงานเสมือนโค กระบือ แทนค่าปรับ ซึ่งทั้งสองกรณีจะให้เห็นได้ว่าประชาชนคนจนไม่มีสิทธิเข้าถึงความเป็นธรรมทางกระบวนการยุติธรรม เช่นนี้แล้วการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม ไม่มีวันสิ้นสุด

ขบวนพีมูฟมีข้อเสนอให้แก้ปัญหาเรื่องนี้โดยเร่งด่วน ดังนี้ 1. กรณีข้อพิพาทเรื่องที่ดิน การจัดการทรัพยากรและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ที่เป็นคดีอาญาอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติคดีมีคำสั่งไม่ฟ้องโดยเร็ว 2.กรณีข้อพิพาทเรื่องที่ดิน การจัดการทรัพยากรและสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ ที่เป็นคดีแพ่งอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลหรือศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการถอนฟ้อง งดการบังคับคดี หรือถอนการบังคับคดีแล้วแต่กรณี 3. กรณีข้อพิพาทที่ยังไม่มีการดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมและกรณีการใช้อำนาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบงดการดำเนินคดีหรือเพิกถอนคำสั่งทางปกครองไว้จนกว่ากระบวนการในการแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐบาลจะแล้วเสร็จ ส่วนในระยะยาว ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในทุกระดับอย่างเร่งด่วน โดยประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมและกำหนด

ทั้งนี้ พีมูฟเป็นการรวมตัวของเกษตรกรและคนจนเมืองที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและได้รับผลกระทบอันเลวร้ายจากนโยบายการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มคนจน 4 เครือข่าย 3 กรณีปัญหา คือ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล, และเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากจากโรงไฟฟ้าชีวมวลและคัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อุบลราชธานี มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคม มีนโยบาย ได้แก่ 1.ปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม 2. รับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 3. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โฉนดชุมชน หมอประเวศ-อานันท์ และรัฐบาลอภิสิทธิ์

Posted: 03 Mar 2011 09:09 AM PST

ไกรก้อง กูนอรลัคขณ์ ชวนประเวศ วะสี อานันท์ ปันยารชุณ และชนชั้นนำทั้งหลายที่พูดถึงนโยบายโฉนดชุมชนอย่างสวยหรูให้เริ่มต้นโดยการนำที่ดินที่ตัวเองและเครือญาติ หรือคนในส่วนแวดวงตนเองมีอยู่มาปฏิรูปเป็นตัวอย่าง


การเคลื่อนไหวของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย เพื่อให้มีการกระจายการถือครองไม่ให้มีการกระจุกตัวของที่ดินทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด และได้เสนอทางเลือกในการจัดการที่ดินในรูปแบบใหม่”โฉนดชุมชน” ซึ่งไม่เน้นความเป็นกรรมสิทธิ์ของปัจเจกชนและกรรมสิทธิ์ของรัฐแต่ให้ความสำคัญกับการจัดการที่ดินโดยกลุ่ม โดยชุมชน

ประเวศ วะสี และอานันท์ ปันยารชุณ หัวหน้าคณะกรรมการปฏิรูปฯ ก็ได้เสนอให้มีการจำกัดการถือครองที่ดิน

นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เองก็เคยประกาศนโยบายที่จะเก็บภาษีที่ดินที่ก้าวหน้า และโฆษณาประชาสัมพันธ์ในการทำโฉนดชุมชนที่มี สื่อทีพีบีเอส เป็นกระบอกเสียง เสมือนว่า มีการทำโฉนดชุมชนเกิดทั่วขอบเขตประเทศไทย ทั้งๆทำได้น้อยนิดมาก เป็นการหลอกลวงคนดูโดยสื่อเสรีก็ว่าได้

เนื่องเพราะไม่พูดข้อเท็จจริงทั้งหมดตามแบบอย่างที่สื่อมักทำเป็นประจำ หรือพูดเพียงน้อยนิดให้เป็นน้ำจิ้มมากกว่าเจาะลึก หรือแฉการโกหกมดเท็จของรัฐบาล

ดูเหมือนทุกอย่างลงตัว ดูเหมือนใครๆก็เห็นด้วยกับการปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดิน จำกัดการถือครองที่ดิน

แต่ทำไม เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ร่วมแรมเดือน อดตาหลับขับตานอน ตากแดดตากฝน อดทนกับความยากลำบาก เพื่อต่อสู้ให้บรรลุเป้าหมาย

ในด้านหนึ่ง อาจบอกได้ว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยทวงสัญญาที่นายกรัฐมนตรีรับปาก แต่ไม่กระทำการณ์

หรือนายกรัฐมนตรีก็ใช้สำนวนโวหารเหมือนที่เป็นมาในหลายเรื่องหลายราวแต่ไม่ปฏิบัติจริงสักที

หรือนายกฯใช้ภาษาที่นิ่มนวล บุคคลิกที่ดูดี แต่ธาตุแท้อาจจะคนละเรื่องก็ได้ ต้องพิสูจน์การที่ปฏิบัติจริงรูปธรรมที่เป็นจริง

เหมือนดั่งป้ายประท้วงของเครือข่ายปฎิรุปที่ดินแห่งประเทศไทยที่ว่า

‘โฉนดชุมชน เพื่อคนจน รัฐบาลตอแหลไม่แน่จริง”

“ประชาธิปโฉด อภิชั่ว รับปากมั่ว ทำไม่ได้จริง”

“แก้ปัญหาที่ดิน โดยจับชาวนาเข้าคุก”

ใครหลายคนก็เคยเห็น ประเวศ วะสี และอานันท์ ปันยารชุณ เสนออะไรดีๆ เพ้อๆ ฝันๆต่อสังคมในการแถลงข่าว ในห้องสัมนนา ณโรงแรมหรูๆ ใช้งบประมาณไม่พอเพียงเป็นแน่

ครั้งนี้ประเวศ และอานันท์ ก็มีข้อเสนอให้มีการจำกัดการถือครองที่ดินต่อรัฐบาลที่ทั้งสองหนุนช่วยหนุนหลังอยู่ แม้จะเพิ่งผ่านโศกนาฎกรรมสังหารหมู่ประชาชนคนเสื้อแดงก็ตาม และไม่เคยเคลื่อนไหวเลยให้หาคนฆ่าคนสั่งฆ่ามาดำเนินการตามกฎหมายให้เกิดความยุติธรรมที่เขาทั้งสองชอบท่องเอ่ยต่อสังคมเป็นประจำ

แต่ข้อเสนอก็คงว่างเปล่า รัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเสนอ และ ประเวศ วะสี และอานันท์ ปันยารชุณ ก็คงหาเรื่องใหม่ๆมาทำ พร้อมเสนอต่อรัฐบาลอีกครา และแน่นอนว่า งบประมาณทั้งหลายนั้นต้องมาจากรัฐบาลเป็นแน่แท้ในการกระทำการ

อันที่จริง ประเวศ วะสี อานันท์ ปันยารชุณ ก็น่าจะเริ่มต้นเป็นตัวอย่างให้ใครต่อใคร โดยการนำที่ดินที่ตัวเองและเครือญาติ หรือคนในส่วนแวดวงตนเอง ที่มีใกล้ชิดอยู่ มาปฏิรูปเป็นแบบอย่างให้ใครต่อใครจะดีไหมละ ?

มิใช่วันๆด่า เอาแต่พวกนักการเมือง และควรเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะเหมือนเช่นนักการเมือง น่าจะตรงไปตรงมาดี ?ในฐานะนักการเมืองที่ไม่ชอบลงเลือกตั้ง

 

ส่วนกระผมคิดเห็นว่า การกระจายการถือครองที่ดิน ย่อมแยกไม่ออกกับการพัฒนาประชาธิปไตยในบ้านเรา สังคมยิ่งเป็นประชาธิปไตย การกระจายการถือครองที่ดินย่อมมีมากขึ้น

เนื่องเพราะว่า “ความเป็นประชาธิปไตย” ย่อมต้องเปิดเผยข้อมูล ย่อมต้องไม่ปกปิด ย่อมทำให้เห็นความแตกต่างความเหลือ่มล้ำของผู้มีอำนาจกับผู้ไร้อำนาจ ย่อมทำให้มีการตรวจสอบ ย่อมทำให้ไม่ปิดบัง ย่อมทำให้ไม่มีอภิสิทธิ์ชนใดๆ

“ความเป็นประชาธิปไตย” จึงเป็นอนาคตในการปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินเหมือนเฉกเช่นการจำกัดการถือครองที่ดินที่เกิดขึ้นจริงในประเทศต่างๆ บนโลกใบนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ: ความท้าทายใหม่ของรัฐบาลต่อการผลักดันชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง

Posted: 03 Mar 2011 04:54 AM PST

สุนทรพจน์จากนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 .ในประชุมวิชาการเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ผมรู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมประชุมวิชาการหัวข้อฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติได้ประสานให้มีการร่วมมือขององค์กรท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องโดยเฉพาะท่านประธาน คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รวมทั้งได้สะท้อนปัญหาและอุปสรรคที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เผชิญอนู่นำมาสู่การแก้ไขปัญหาและแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นต่อไปในอนาคต ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคตเช่นเดียวกัน

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้เครือข่ายชุมชนและท้องถิ่นในการผลักดันการแก้ปัญหาและนโยบายหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย เช่น โครงการบ้านมั่นคงซึ่งไม่อาจจจะก้าวหน้าได้หากไม่มีความร่วมมือของท้องถิ่นนั้นๆ หรือกรณีของสวัสดิการซึ่งรัฐบาลได้มีการสนับสนุนเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นทั้งหลายทั่วประเทศ นับพันกองทุนในขณะนี้ และมีการเจริญเติบโตขึ้นเป็นการสร้างคุณูปการกับพี่น้องในชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น

นอกจากนี้มีอีกหลายมาตรการที่เราได้ใช้กระบวนการกฎหมายและสะท้อนข้อมูลต่างๆ และผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าถึงวันนี้เป็นความท้าทายต่อท้องถิ่นในการผลักดันแนวคิดชุมชนเข้มแข็งในการพัฒนาชาติ ก็มีอยูมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหา 4 ประการสำคัญคือ

ปัญหาแรก คือโครงสร้างและกฎหมาย ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายเพราะแม้รัฐธรรมนูญและกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการกระจายอำนาจจะส่งเสริมความเข้มแข็งวชุมชน แต่ก็ยอมรับว่ายังมีกฎหมายและกฎระเบียบมากมายที่ทำให้ส่วนราชการยังมีอำนาจ และเป็นอุปสรรคต่อการที่องค์กรท้องถิ่นจะสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้เต็มที่ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีความพยายามแก้ไขมาตลอด แต่อย่างไรก็ตามปัญหานี้ก็ตอกย้ำความคิดของผู้บริหารราชการส่วนภูมิภาคว่ายังมีอำนาจ และกังวลว่าหากมีการถ่ายโอนอำนาจแล้วจะมีปัญหาในการปฏิบัติภารกิจ ซึ่งการปฏิรูปกกฎหมายก็มีหลายฝ่ายพยายามผลักดัน รวมถึงสมัชชาปฏิรูปแห่งชาติด้วย

ประการที่สอง การบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คือการที่ให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการสร้างความยุติธรรมทางเลือก แม้จะมีการดำเนินบ้างแล้วในรูปยุติธรรมชุมชน ที่ส่วนเสริมเรื่องการไกล่เกลี่ย แต่ขอบเขตก็ยังจำกัด ซึ่งนี่เป็นอีกส่วนหนึ่งของงานการปฏิรูปที่เราจะผลักดันเพื่อให้ชุมชนมีส่วนอย่างแท้จริงของกระบวนการยุติธรรม
ประการที่สาม เป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างมากคือ การปฏิรูประบบการเรียนรู้และการศึกษา ซึ่งต้องเชื่อมโยงสิ่งที่เป็นเป้าหมายสำคัญของชาติ คือโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาให้เท่าเทียม ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดให้ท้องถิ่นมีความอิสระในการจัดการการศึกษาให้สอดคล้องกับพื้นที่

รัฐบาลเน้นเป็นพิเศษในเรื่องการเชื่อมโยง คือ โครงการหนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด เพื่อให้สถาบันการศึกษาเชื่อมโยงชัดเจนกับท้องถิ่น

การตั้ง สสส. ทางด้านการศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เปิดให้ภาคประชาชนได้รับการสนับสนุนโดยเฉพาะการสร้างดอกาสให้เด็กที่อยู่นอกสถาบันการศึกษาได้รับโอกาส และเกิดการกระตุ้นการเรียนรู้ที่ดีที่สอดคล้องกับชุมชนท้องถิ่น
สุดท้ายคือ เรื่องการจัดการระบบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นความขัดแย้งในหลายพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ที่ทำกิน การบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานซึ่งถือว่าตนเองมีความรับผิดชอบในการดูแลที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ยังมีงานที่ปรากฏว่าหากไม่ดำเนินการตามกฎหมายก็จะถูกหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ นำไปสู่การเผชิญหน้าและความขัดแย่งกับประชาชน ซึ่งเป็นความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด มีการตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานมาติดตามแล้วแต่ก็พบว่ายังมีความขัดแย้งทั่วประเทศ

สิ่งเหล่านี้ผมอยากเน้นย้ำว่าเป็นปัญหาอุปสรรคและท้าทาย ซึ่งในอนาคตเราต้องเผชิญความท้าทายอีกมาก โดยเฉพาะเรื่อง สิ่งแวดล้อม ล้วนต้องพึ่งพาความเข้มแข็งของชุมชนและขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือของชุมชนในการเดินไปในทิศทางเดียวกัน นี่เป็นกรอบคิดที่จะกำหนดว่าการทำงานท้องถิ่นจะประสบความสำเร็จมากเพียงใด
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณและระบบบริหารจัดการ ซึ่งทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องการได้ทรัพยากรไปใช้จ่ายและดูและได้อย่างทั่วถึง มีประเด็นเรื่องธรรมาภิบาล การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนที่ต้องทำงานร่วมกับท้องถิ่น และมีความจำเป็นที่ต้องให้องค์กรท้องถิ่นมีศักยภาพในการบริหารมากขึ้น

ทุกท่านที่ได้มาร่วมกระบวนการนี้ได้ตระหนักดีและสามารถรสะท้อนปัญหาและอุปสรรคได้อย่างดี แต่ความสำเร็จจะมากน้อยแค่ไหนอยู่ที่ควาสามารถในการสร้างเครือข่าย ความร่วมมือระหว่างรัฐ ท้องถิ่น ประชาชน ซึ่งขอยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี่ยึดมั่นในแนวทางที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น บางครั้งอาจจะเป็นการใช้เครือข่ายที่มีอยู่เช่น สหกรณ์ หรือการรวมตัวเฉพาะเรื่อง ซึ่งสามรรถใช้เป็นพลังในการขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต

ผมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านในการผลักดันด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ด้วยความยั่งยืนและพอเพียง ขอแสดงความชื่นชมอีกครั้งครับ ขอบคุณครับ
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา:ร่วมอภิวัฒน์ประเทศไทยสวัสดิการสังคมเต็มชุมชน

Posted: 03 Mar 2011 04:27 AM PST

นักเศรษฐศาสตร์เตือนชุมชนอย่าจัดสวัสดิการเกินตัว ระวังปัจจัยที่คุมไม่ได้ เช่น อัตราผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ด้านจันทบุรี อวดโมเดลกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เน้นบริการแข่งทุนนิยม ใช้มาตรการสังคมกดดันให้สมาชิกส่งดอกฯ ทุกเดือน

(3 มี.ค.54) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา ในประชุมวิชาการเวมีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 มี.ค. โดยคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ คณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาติแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีการเสวนา หัวข้อ ร่วมอภิวัฒน์ประเทศไทย: สวัสดิการสังคมเต็มชุมชน 
 
นายวรเวศน์ สุวรรณระดา รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สวัสดิการสังคมมีหน้าที่บรรเทาเยียวยาความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย อาทิ เจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือแก่ตัวแล้วความสามารถทำงานหาเงินลดลง สำหรับการจัดสวัสดิการโดยชุมชน โดยโครงสร้างแล้วไม่ต่างจากที่รัฐทำ อาจมีรายละเอียดปลีกย่อย หรือสิทธิประโยชน์บางอย่างที่ทำมากว่ารัฐ โดยพิจารณาจากความต้องการของสมาชิกในชุมชน ในขนาดที่เล็กกว่า
 
อย่างไรก็ตาม นายวรเวศน์ เตือนว่า การจัดสวัสดิการชุมชนจะยั่งยืนได้ต้องไม่ทำสิ่งที่เกินศักยภาพของชุมชน และระวังปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ โดยการจ่ายสวัสดิการเฉพาะทำได้ภายใต้เงื่อนไขบางอย่างเช่น กรณีเกิด เจ็บ ตาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉลี่ยกันไป แต่กรณีบำนาญ อาจมีปัญหาเนื่องจากความสมดุลระหว่างผู้สูงอายุและสมาชิกคุมไม่ได้ หากมีผู้สูงอายุในชุมชนมาก คนหนุ่มสาวก็ต้องภาระจำนวนมากด้วย 
 
พระครูสังฆรักษ์มนัส ขนฺติธมฺโม ประธานเครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ จ.จันทบุรี กล่าวว่า ในอดีต ชาวบ้านมีเงินแต่ไม่สามารถออมได้ โดยต้องเสียดอกเบี้ยเงินกู้ให้ธนาคารปีละจำนวนมาก แต่ละหมู่บ้าน เป็นหนี้ปีละ 100 ล้านบาท เสียดอกเบี้ยปีละ 10 ล้านบาท ทำอย่างไรก็ไม่รวย เพราะไม่สามารถจัดการการเงินได้ ในปี 2539 จึงได้ชวนชาวบ้านรวมกลุ่มออมเงินกันในชุมชน โดยสามารถกู้เงินด้วยอัตราดอกเบี้ยถูก นำกำไรมาปันผลและจัดสวัสดิการ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ใหญ่ต้องนำเงินมาออมทุกเดือนๆ ละ 100 บาท เด็ก 50 บาท ปัจจุบัน มีสมาชิก 60,000 คน กองทุนมีเงิน 700 ล้านบาท กองทุนสวัสดิการ 400 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่มีบำนาญ เพราะอยู่ระหว่างสะสมเงินในกองทุน
 
ประธานเครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ จ.จันทบุรี กล่าวถึงปัจจัยซึ่งทำให้กลุ่มออมทรัพย์ประสบความสำเร็จว่า เพราะกลุ่มฯ มีนโยบายว่าต้องสามารถแข่งขันกับทุนนิยมได้ โดยมีขั้นตอนฝาก-กู้เงินที่ง่ายและรวดเร็วกว่าองค์กรการเงินอื่นๆ พร้อมยกตัวอย่างว่า เดือนหนึ่ง สมาชิก 3,000 คน ใช้เวลาฝาก-กู้เงินเพียง 2 ชม. 
 
นอกจากนี้ ยังมีกลไกส่งเสริมให้คนเป็นคนดีด้วย โดยรับจำนองที่ดิน  คิดดอกเบี้ยต่ำกว่าที่อ่ืน และจะลดต่ำลงอีกหากสมาชิกรับว่าจะเลิกเหล้าและการพนัน
 
ส่วนมาตรการส่งเงินคืนนั้น พระครูสังฆรักษ์มนัส ขนฺติธมฺโม กล่าวว่า  กลุ่มฯ กำหนดให้ผ่อนส่งคืนทุกเดือน อย่างน้อยเดือนละ 500 บาทพร้อมค่าดอกเบี้ย หากมีใครขาดส่งแม้แต่คนเดียว จะก็ไม่ปล่อยเงินกู้ให้สมาชิกทั้งหมดในเดือนนั้น ส่งผลให้ชาวบ้านที่ต้องการกู้เงินไปกดดันคนที่ไม่จ่ายและคนค้ำประกัน จนกว่าจะมีการจ่ายเงิน แม้ว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ปล่อยเงินกู้ได้ทุกเดือน โดยไม่มีหนี้สูญแม้แต่บาทเดียว
 
ด้านนายสุจินต์ ดึงย์ไตรภพ รัฐมนตรีสวัสดิการชุมชน อบต.ปากพูน กล่าวว่า การจัดสวัสดิการของปากพูน เอาความดีเป็นตัวตั้ง โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ อย่างครอบครัว มี 4 ส่วนคือ กองทุนสวัสดิการสังคม ธนาคารความดี ธนาคารเวลา และร้านค้าเวลาดี ซึ่งสินค้าในร้าน ร้อยละ 90 ได้จากการบริจาค โดยมีสมุดธนาคารความดีสำหรับสะสมคะแนนจากการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม หรือการตั้งเป้าบางอย่างเช่น เลิกบุหรี่ โดยจะมีผู้บันทึกคอยสอดส่องดูแล หากทำไม่ได้ตามที่ตั้งไว้จะถูกหักคะแนน
 
เมื่อครบเทอมการศึกษาจะรวมคะแนน ส่วนหนึ่งแบ่งให้ผู้ด้อยโอกาส เป็นการเอื้ออาทรและไม่ทอดทิ้งกัน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง อีกส่วนนำไปแลกสินค้าที่จำเป็น อาทิ ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ที่ร้านค้าเวลาดี หรือใช้ชำระค่าอาหารกลางวันได้ ส่วนคะแนนที่เหลือจะตัดไปรวมกับภาคเรียนถัดไป
 
ส่วนนายไพบูลย์ นุ้ยพิน รองนายก อบต.บ้านควน เล่าว่า ในพื้นที่ประกอบด้วย 18 หมู่บ้าน โดยกองทุนหมู่บ้านถือว่าประสบความสำเร็จในการจัดการ ไม่ค่อยมีหนี้เสีย และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วทั้ง 18 หมู่บ้าน โดยต่อมาบูรณาการเป็นกองทุนสวัสดิการ นอกจากนี้ยังมีธนาคารต้นไม้ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ชุมชนมีจิตสาธารณะ
 
นายไพบูลย์ เล่าว่า กองทุนหมู่บ้านมีดอกผลทุกปลายปี ตัดเงินปันผลเข้ากองทุนสวัสดิการ โดยตั้งเป้าว่า ภายใน 5 ปีจะต้องมีสวัสดิการให้สมาชิกทั้ง 8,000 กว่าคน ทั้งนี้ เขาวิพากษ์ว่า การตั้งกองทุนสวัสดิการโดยใช้เงินจากรัฐ ไม่มีความยั่งยืน เพราะไม่เกิดจากฐานคิดของประชาชนในหมู่บ้าน
 
นายไพบูลย์ กล่าวว่า รูปแบบการทำงานนั้นมีขั้นตอนไม่มาก แต่การออกแบบต้องใช้เวลา โดยมีการประชุมสรุปปัญหาต่อเนื่องเป็นระยะๆ เริ่มจากการประชุม สภา อบต. ทุกสัปดาห์แรกของเดือน ตามด้วยประชุม 18 หมู่บ้านและเวทีสาธารณะ ซึ่งประกอบด้วยสภาเด็ก องค์กรการเงิน ผู้นำชุมชนต่างๆ และเวทีสัญจรซึ่งสรุปปัญหาสามเวทีหมุนเวียนทุกหมู่บ้าน ทำให้เห็นปัญหาของตำบลทั้งหมด
 
  
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อภิปราย: นโยบายพรรคการเมืองต่อการคืนอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่น

Posted: 03 Mar 2011 04:15 AM PST

ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไทยและภูมิใจไทยโชว์วิสัยทัศน์ นโยบายกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่น อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ระบุ ประชาชนพร้อมดูแลตัวเอง ขณะตัวแทน ปชป. ขอโอกาสบริหารประเทศต่อเนื่อง ด้านศุภชัย ใจสมุทร วิพากษ์ไทยถูกออกแบบมาให้รวมศูนย์

3 มี.ค. 2554 ที่ศูนย์การประชุมและนิทรรศการไบเทค น.ส. ผ่องศรี ธาราภูมิ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย และ นายศุภชัย ใจสมุทร ตัวแทนพรรคูมิใจไทย ร่วมเสวนาเรื่อง นโยบายพรรคการเมืองต่อการคืนอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่น ดำเนินรายการโดยนายเฉลียว คงสุข

น.ส.ผ่องศรีกล่าวถึงแนวทางการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นให้ประชาชนมีบทบาทในการบริหารจัดการตัวเองของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ปชป.เป็นพรรคการเมืองที่มีความเป็นสถาบันทางการเมืองและเป็นพรรคที่มีอายุยืนยาวก้าวสู่ปีที่ 65 โดยอุดมการณ์ที่ชัดเจนข้อหนึ่งคือ การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นแนวทางที่ประกาศตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค และเชื่อมั่นว่าชุมชนท้องถิ่นจะเป็นคำตอบในการทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งและก้าวไปสู่เป้าหมายร่วมกันเพราะประเทศไทยใหญ่และซับซ้อนเกินกว่าจะให้ส่วนกลางหรือคนใดคนหนึ่งที่จะแก้ปัญหาได้ และที่ผ่านมา พรรคได้ผลักดันการตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ทั้งนี้ ท้องถิ่นมีพลังอยู่ในตัว แต่ที่ผ่านมาการพัฒนาหรือการบริหารประเทศไม่ได้จุดประกายให้ท้องถิ่นได้จัดการดูแลตนเองอย่างเต็มที่ โดยอนาคตต้องประสานความร่วมมือในการสร้างเครือข่าย บางเรื่องท้องถิ่นถนัดก็ต้องให้ท้องถิ่นเป็นผู้ผลักดัน แต่บางประเด็นชุมชนอาจจะเข้มแข็งกว่า ก็ควรผลักดันให้ทำงานร่วมกัน

ส่วนนโยบายที่พรรคสนับสนุนให้ท้องถิ่นดูแลจัดการตัวเอง มีรูปธรรมที่เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งเป็นปัญหาซับซ้อนของประเทศ คือ ที่ดินซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และอมตะของประเทศ เช่น ปัญหาเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน มีการประกาศพื้นที่ราชการทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน รวมถึงที่ดินที่มีอยู่จำกัดทำให้เกิดการขยายตัวเป็นชุมชนในเขตหวงห้าม หรือการกระจายการถือครองที่ดิน ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ ปชป. มีนโยบายชัดเจน เพื่อแก้ปัญหา เช่น โฉนดชุมชน ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับชุมชนที่เข้มแข็ง ขณะนี้มีการจัดตั้งสำนักงานโฉนดชุมชนที่สำนักนายกรัฐมนตรี
ส่วนเรื่องที่ดินรกร้างว่างเปล่าในมือนายทุนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ขณะที่คนที่ต้องการทำการเกษตรเข้าไม่ถึงที่ดิน โดยนโยบายการจัดตั้งธนาคารที่ดินจะช่วยจัดสรรและกระจายการถือครองที่ดิน นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการปรับโครงสร้างภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่น

สำหรับการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนนั้น พรรคประชาธิปัตย์เคยเริ่มกองทุนเพื่อการจัดการทางสังคม หรือกองทุนซิป ที่ตั้งขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายกองทุนหมู่บ้าน นอกจากนี้มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนตั้งแต่ระดับฐานราก

นางผ่องศรี กล่าวในฐานะคณะกรรมการติดตามนโยบายและคณะทำงานสมัชชาประชาชนของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ที่ผ่านมา ปชป. รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อพัฒนานโยบายอย่างมีส่วนร่วม

ตัวอย่างสุดท้ายคือการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งเป็นการเอาบทเรียนจากภาคประชาชนจริงๆ มาผลักดันนโยบาย โดยชุมชนเป็นผู้ริเริ่ม ต่อมาเมื่อชุมชนร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐบาลก็จะเข้าร่วมสนับสนุนด้วย เป็นการประสาน 3 ส่วน คือ ชุมชน ท้องถิ่น และรัฐบาล และผลักดันร่าง พ.ร.บ. กองทุนสวัสดิการแห่งชาติ เพื่อให้เกิดบำเหน็จชาวบ้าน บำนาญประชาชน

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ก่อตั้งมาไม่นาน แต่รากเหง้ามาจากพรรคไทยรักไทย และพลังประชาชน ซึ่งสิ่งที่พรรคดำเนินการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างได้ผลคือการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แม้จะไม่มีรูปแบบที่สมบูรณ์และเป็นไปตามความต้องการของท้องถิ่นอย่างเต็มที่ และพยายามสืบทอดและเดินตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 ก็ตาม การถ่ายโอนอำนาจเป็นนโยบายพื้นฐานของรัฐอยู่แล้ว ใครที่ขึ้นมาบริหารก็ต้องทำให้การถ่ายโอนอำนาจสมบูรณ์เป็นรูปธรรมและคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างแท้จริง

หลักการและจุดยืนของพรรคเพื่อไทยคือ การถ่ายโอนอำนาจไม่ใช่การถ่ายโอนจากส่วนกลางไปสู่ผู้บริหารท้องถิ่นจากการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องกำหนดหลักการและกฎหมายให้ย้อนคืนกลับไปให้ถึงเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยซึ่งก็คือประชาชน

หลักการแบบนี้ ประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นปรากฏอยู่ในประเทศที่เจริญแล้วทั้งสิ้น และหากดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ต้องมุ่งไปสู่ความสำเร็จในการกระจายอำนาจและคืนอำนาจให้กับท้องถิ่นได้อย่างแน่นอน

แต่ปัญหาคือระหว่างทางของการถ่ายโอนอำนาจเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีอุปสรรค ซึ่งได้มองจากผู้บริหารพื้นที่ 5 กรอบด้วยกัน ได้แก่
หนึ่ง กำหนดการปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อให้การถ่ายโอนอำนาจเป็นไปอย่างครบถ้วน

สอง ต้องตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างผู้บริหารท้องถิ่นกับประชาชน เพราะแม้แต่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการปกครองพิเศษ และมีรูปธรรมความสำเร็จในการกระจายอำนาจ งบประมาณกรุงเทพฯ จัดเก็บงบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพียง 10,000 กว่าล้าน แต่ก็ยังมีจุดอ่อนคือ ยังติดยึดกับระบบเลือกตั้งการได้มาและการตอบแทนจากภาครัฐ ยังมีผู้นำชุมชนยึดโยงกับนักการเมืองท้องถิ่นและแยกแยะจากกันไม่ได้เลย และเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเงินที่นักการเมืองท้องถิ่นนำมาสร้างความสมบูรณ์ให้กับชุมชนเป็นเรื่องของบุญคุณ ถ้านักการเมืองท้องถิ่นมาทำถนนให้ เอาของมาแจก พี่น้องประชาชนต้องเข้าใจว่าการเมืองเป็นภาคอาสา สิ่งที่ทำคือการตอบแทนกับชุมชน

สาม การพัฒนาบุคลากร ซึ่งไม่ใช่พัฒนาแต่ส่วนกลางเท่านั้น แต่ต้องติดอาวุธทางปัญญาหรือใส่องค์ความรู้ให้กับประชาชนในชุมชน นั่นคือพัฒนาทั้ง ‘ผู้ใช้’ คือประชาชน และ ‘ผู้รับใช้’ คือนักการเมือง มีปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการบิดเบือนในการถ่ายโอนอำนาจ คืองบประมาณ ถ้าหากยังไม่มีการถ่ายโอนที่ชัดเจน ยังยึดโยงกับส่วนกลางของรัฐแล้วปล่อยให้ชุมชนบริหารเอง จะเกิดลักษณะของการเชื่อมโยงผลประโยชน์ แล้วประชาชนจะเสียประโยชน์ นโยบายดีๆ หลายอย่างไม่สำเร็จเพราะการใช้งบประมาณที่ยังติดและยึดโยงกับระเบียบที่ส่วนกลางเป็นผู้กำหนด

สี่ การได้มาของผู้บริหาร การจัดการเลือกตั้งแต่ละครั้งส่วนกลางยังเข้าไปควบคุม ควรปลีกตัวออกมาเป็นพี่เลี้ยงได้แล้ว ผู้บริหารชุมชนควรมาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมโดยชุมชนของตนเอง จะทำให้ผู้นำท้องถิ่นมีประสิทธิภาพและไม่ยึดโยงกับการเมืองส่วนกลาง

ห้า ต้องมีพี่เลี้ยง ซึ่งพี่เลี้ยงที่ยังติดยึดกับโครงสร้างราชการโดยตรง จะลำบากโดยเฉพาะส่วนที่ห่างไกลโครงสร้างอำนาจ เช่น จังหวัดที่ผู้แทนเป็นฝ่ายค้าน ผลักดันให้ท้องถิ่นเข้าถึงงบประมาณได้ลำบากกว่าทำให้ต้องใช้วิธีการส่วนตัว ไม่เกิดความเท่าเทียม ต้องคิดใหม่ทำใหม่ ให้เกิดองค์กรอิสระที่สามารถเชื่อมโยงทุกเรื่องให้ผู้บริหารชุมชน

การขับเคลื่อนการกระจายอำนาจทั้งห้าเรื่อง พรรคเพื่อไทยพยายามปรับปรุงและพัฒนาแนวทางมาตลอด เช่น โครงการเอสเอ็มแอล เป็นหลักการหรือหลักคิดในการมองหาความสำเร็จในการกระจายอำนาจ เพราะส่วนกลางมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงอนุมัติงบประมาณตามโครงการที่ชุมชนคิดเองทำเอง มีการทำประชาคมคิดโครงการที่เหมาะสมกับตนเอง และบริหารจัดการเอง ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชน ใช้ทรัพยากรในชุมชน จ้างบุคคลในชุมชน ซึ่งสะท้อนความสำเร็จมาระดับหนึ่ง

นายศุภชัย กล่าวว่าดูเหมือนว่าขณะที่รัฐบาลทุกรัฐบาลกำลังพูดถึงการกระจายอำนาจ คือ รัฐคิดว่าตนเองมีอำนาจ แต่ชุมชนคิดว่าอำนาจเป็นของตนเอง สำหรับความเห็นส่วนตัวคิดว่า อำนาจคือสิทธิอันชอบธรรม เมื่อถามว่าสิทธินี้เริ่มจากรัฐธรรมนุญ 2540 แต่ก็พบว่าบรรทัดสุดท้ายของรัฐธรรมนูญก็กำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนด ซึ่งจะพบว่าสิทธิชอบธรรมก็อยู่ที่รัฐกำหนด และความจริงที่ต้องยอมรับว่าประเทศไทยถูกออกแบบให้รวมศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ มานานพอสมควร และเป็นคนกำหนดว่าท้องถิ่นควรมีสิทธิมากน้อยเพียงใด แล้วจึงมาออกแบบกัน

การกระจายอำนาจเป็นคำที่เลื่อนลอย การรวบอำนาจที่ส่วนกลางยังคงต้องดำรงอยู่และต้องดำเนินต่อไป เพราะประเทศไทยออกแบบไว้เช่นนี้ นายศุภชัยกล่าวว่าประเทศที่ปกครองโดยชุมชนมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการปกครองนั้นเป็นการออกแบบมาตั้งแต่ต้น แต่เรื่องการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นของไทยยังเป็นปัญหาที่ยังต้องถกเถียง และยังต้องตั้งคำถามว่าท้องถิ่นมีความพร้อมแค่ไหนในการดำเนินการ เช่น การโอนเรื่องการศึกษาให้ท้องถิ่นทำ จะทำได้ทุกที่จริงหรือ กระทรวงศึกษาธิการก็ไม่ยอม

เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นต้องมาร่วมกันออกแบบประเทศใหม่ เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ให้ส่วนกลางมีอำนาจน้อยลง เช่นญี่ปุ่นไม่มีกระทรวงมหาดไทย

นอกจากนี้ความเป็นชุมชนท้องถิ่นก็กำลังถุกรุกล้ำ ซึ่งเป็นปัญหา เช่น กรณี อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งรัฐกำลังสำรวจทรัพยากรน้ำมันในพื้นที่ โดยนายศุภชัยกล่าวว่า ต่อไปปัญหาจะสลับซับซ้อนขึ้นในแง่การแย่งชิงทรัพยากรซึ่เงป็นปัญหาพื้นฐานของมนุษย์และจะรุนแรงขึ้น

ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยมี ส.ส. ประมาณ 58 คน สะท้อนปัญหาชุมชนท้องถิ่นมาก และประเทศไทยต้องกล้าหาญชาญชัยในการออกแบบประเทศใหม่ ความเป็นรัฐชาติที่เป็นอยู่แล้วบอกว่านี่คือนิติรัฐ ถ้าจะออกแบบประเทศไทยใหม่ เรื่องการเลือกตั้งเขตเล็กเขตใหญ่ควรแก้ไขใหม่ หรืออาจจะเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ในความเป็นจริง เมื่อถึงเวลาก็อาจจะมีหัวคะแนนพรรรคใหญ่ หรือประชาชนเลือกตามนโยบายพรรคการเมืองใหญ่

ทั้งนี้พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคเล็ก ต่อให้คิดก็ไม่อาจจะทำให้เป็นจริงได้ แต่ทำได้ในแง่การผลักดันให้กับพรรคการเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตามพรรคฯ มีแนวคิดเรื่องการคืนอำนาจให้ประชาชน พร้อมเสนอแนวคิดทดลองจากท้องถิ่นที่พร้อมในการบริหารจัดการตนเอง เช่น พัทยา ภูเก็ต

การกระจายให้เงินหรือให้งาน อาจจะไม่ใช่แนวคิดที่ท้องถิ่นอยากได้ ท้องถิ่นอาจเรียกร้องเรื่องการดูแลตัวเอง แต่ก็ต้องถามตัวเองให้ดีว่าสามารถต่อยอดได้จริงหรือไม่ ปกครองตัวเองโดยมีอำนาจในการบริหารจัดการจริงหรือไม่ สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือการให้การศึกษากับประชาชนอย่างเพียงพอ กฎหมายที่เอื้อต่อการใช้สิทธิของชุมชน

ผู้ดำเนินรายการถามถึงโครงสร้างในการกระจายอำนาจ ว่าแต่ละพรรคมีแนวคิดอย่างไร นางผ่องศรีตอบว่า ปชป. ไม่เคยเปลี่ยนจุดยืน โดยเน้นเรื่องการให้ท้องถิ่นมีการจัดการตัวเองในรูปแบบต่างๆ แต่ในโบกความเป็นจริง ปชป. มักบริหารประเทศในช่วงวิกฤตและขาดความต่อเนื่องในการบริหาร แต่วันนี้มีโอกาสอีกครั้งและท้องถิ่นมีการตื่นตัว และมีพัฒนาการ โดยพรรคประชาธิปัตย์อยากให้มีเขตปกครอง เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะเมืองชายแดน ต้องมีรูปแบบการปกครองที่ท้องถิ่นสามรถดูแลแก้ปัญหาของท้องถิ่นตัวเองได้ แต่ก็ต้องใช้เวลา ที่ผ่านมาได้ลงมือปฏิบีติแล้วมีการสรุปบทเรียน ในส่วนของท้องถิ่นนั้นซึ่งยังไม่มีอิสระในการบริหาร ก็ได้รับฟังว่าอยากให้มีสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นางผ่องศรีกล่าวว่า ท้องถิ่นต้องเป็นตัวของตัวเองและเชื่อมโยงกันซึ่งจะทำให้ประเทศมีความมั่นคงเข้มแข็งด้วย แต่ท้องถิ่นจะเข้มแข็ง คนของท้องถิ่นก็ต้องมีคุณภาพ โดยท้องถิ่น หน่วยงานราชการต้องร่วมมือกัน โรงเรียนในชุมชนก็ต้องเป็นที่พึ่งของชุมชนได้ ทำให้เกิดความรักถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอน และอยากเรียกร้องให้ท้องถิ่นดูแลคนในท้องถิ่นมีคุณภาพ และเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการด้วย โดยพรรคสามารถหนุนเสริมในแง่นโยบาย เพราะหากประชาชนเข้มแข็ง ก็จะรู้เท่าทันทางการเมือง พร้อมสรุปว่าถ้าท้องถิ่นไม่เข้มแข็งก็อย่าหวังว่าการเมืองระดับชาติจะเข้มแข็ง แล้วนโยบายที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยกจะกลับคืนสู่ท้องถิ่น ส่วนเรื่องงบประมาณนั้นรัฐบาลกำลังจัดทำงบประมาณ และได้รับทราบปัญหา และคิดว่าภารกิจหลายเรื่องที่ถ่ายโอนให้ท้องถิ่น ก็พยายามจัดสรรให้ปิดปีงบประมาณให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายส่งเสริมความเข้มแข็งของท้องถิ่นอย่างชัดเจน โดยส่วนตัวอยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดด้วยซ้ำ แต่คงไม่สามารถทำได้ทันที แต่อาจทำได้ในพื้นที่ที่มีความพร้อม รวมถึงความพร้อมในแง่รายได้และงบประมาณที่สามารถดูแลตนเองได้

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่าเมื่อกรุงเทพมหานคร เปลี่ยนจากการเป็นจังหวัดมาสู่เป็นเขตการปกครองพิเศษเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในการเลือกผู้ว่าฯ การพัฒนาก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็สะท้อนเรื่องการกระจายอำนาจสู่ชุมชนได้เป็นอย่างดี ในเบื้องต้นการคืนอำนาจให้ประชาชนจึงเป็นเรื่องที่ทำได้และจะสำเร็จด้วย เพราะว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยทุกประเทศ

เมื่อมีการคืนอำนาจในระดับที่สมบูรณ์แล้วประชาชนจะได้สิ่งที่ตนต้องการอย่างแท้จริง กรุงเทพฯ มีทั้งโรงพยาบาล โรงเรียน ที่สังกัดกรุงเทพฯ ไม่ได้ใช้เงินอดหนุนจากรัฐบาลมาก ใช้การเก็บภาษีและรายได้จากคนในกรุงเทพฯ มาใช้ประโยชน์ให้กับพื้นที่ แต่ทุกอย่างไม่ได้สวยหรู ก็ยังมีข้อบกพร่อง มีปัญหาบางอย่าง เช่น การทำถนนโดยใช้งบประมาณกว่าเก้าร้อยล้าน ซึ่งหากเอาไปซ่อมแซมถนนย่อย จะมีถนนเพิ่มมากขึ้น แต่กลับถูกทำบนถนนสายหลักที่ยังไม่ชำรุดแต่อย่างใด ทำให้เห็นว่าการใช้งบประมาณอาจจะยังไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์และเป็นตามความพอใจของประชาชน การกระจายอำนาจจะไม่เริ่มต้นเป็นบ้องไม้ไผ่แต่เหลาไปเป็นบ้องกัญชา แต่มันจะกลายเป็นยอดไผ่ และสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ แต่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างให้เข้ากับท้องถิ่น ก็ต้องดูในเรื่องข้อเท็จจริง และเห็นว่าการปรับเปลี่ยนนั้นเราอาจค่อยปรับเปลี่ยนในสิ่งที่ค่อยเป็นค่อยไปและเป็นไปได้และขยับตัวไปเรื่อยๆ การคืนอำนาจให้กับประชาชนจะเกิดได้จริง

อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขสองข้อ คือ หนึ่ง การพัฒนาบุคลากรของท้องถิ่นเอง ซึ่งรากเหง้าคือประชาชน ผู้ที่มาเป็นตัวแทนท้องถิ่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องรู้และเข้าใจงวิถีท้องถิ่นอย่างแท้จริง และสอง การใช้อำนาจ หรือมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ รวมถึงอำนาจในการใช้งบประมาณด้วย

และแม้การพูดเรื่องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจะเหมือนเป็นการพูดเชิงอุดมคติ แต่การจะพิจารณาว่าท้องถิ่นพร้อมจะรับการกระจายอำนาจหรือไม่นั้น ต้องบอกว่าความพร้อมนั้นอยู่ที่ประชาชน และความพร้อมของประชาชนในวันนี้ โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าดีกว่าประชาชนในกรุงเทพฯ เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วที่ จ.กรุงเทพฯ เปลี่ยนมาสู่การเป็นกรุงเทพมหานครด้วยซ้ำไป ทุกวันนี้เป็นโลกภิวัตน์ คนสื่อสารกันได้รวดเร็ว โลกพัฒนาไปแล้ว ทุกสิ่งเข้าสู่การเป็นประชาธปไตย อำนาจมาจากประชาชน แต่ต้องปรับให้ผู้ที่มีอำนาจได้เข้าใจได้อย่างไร อำนาจอยู่ที่ประชาชน ถ้าเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจน ซึ่งอาจจะพิจารณาได้จากการทำงานในสิบหรือยี่สิบปีที่ผ่านหลักการกระจายอำนาจยึดโยงอยู่ที่ประชาชน และขอให้ประชาชนสู้ต่อไป และพรรคเพื่อไทยจะร่วมต่อสู้กับประชาชน

ในช่วงท้ายของการเสวนา ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จาก จ.อุทัยธานี แสดงความเห็นต่อผู้ร่วมเสวนาหลักว่า ไม่อยากให้มองว่าท้องถิ่นไม่มีความพร้อม ซึ่งถือเป็นทัศนคติที่เป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ไม่สามารถกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้ เช่น โรงเรียนไม่อยากอยู่ภายใต้การดูแลของท้องถิ่น และไม่ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการในบางครั้ง เพราะยึดติดกับระเบียบและงบประมาณ อีกทั้งองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น กับราชการท้องที่เช่น กำนัน ซึ่งไม่อาจทำงานประสานกันหรือขัดแย้งกัน ขณะที่กำนันมีอำนาจหน้าที่ตามระบบราชการ ขณะที่องค์กรบริหารท้องถิ่นไม่มี

นายก อบต. บางระกำ จ.นครปฐม กล่าวว่า พรรคการเมืองบางพรรคอาจจะไม่เข้าใจเรื่องชุมชนท้องถิ่น และยืนยันว่าขณะนี้ชุมชนท้องถิ่นพร้อมแล้วที่จะดูแลตนเอง ทั้งเสนอว่า นโยบาย เอส เอ็ม แอล ของพรรคพลังประชาชนนั้นดี แต่มีปัญหาที่ยังคงให้งบประมาณผ่านระบบราชการ ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินโครงการได้ตามที่ต้องการอย่างแท้จริง

ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกรายหนึ่งเสนอว่า นักการเมืองควรเปิดใจรับฟังและยอมรับว่าท้องถิ่นมีความพร้อมและมีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง แต่ก็ไม่ได้เหมือนกันทั่วประเทศ ก็ต้องค่อยๆ พัฒนา ขณะเดียวกันก็ควรมีการสับสนุนงบประมาณให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ในท้องถิ่น ไม่จำกัดอยู่แค่เป็นแนวคิดของผู้นำชุมชน แต่ควรให้เกิดการปรึกษาหารือและศึกษาวิจัย และย้ำว่า ต้องพัฒนาคน และอย่ากลัวว่าประชาชนจะฉลาดขึ้น

นางผ่องศรีกล่าวว่า ได้รับฟังความเห็นแล้วจะพยายามนำไปพัฒนา และสำหรับนโยบายที่เป็นรูปธรรมนั้น ก็มีตัวอย่างรูปธรรมเช่น โฉนดชุมชนที่พูดไปแล้ว แต่ชุมชนต้องเข้มแข็งและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ร่วมฟังแต่มีการตัดสินใจมากจาระดับบนแล้ว ในส่วนงบประมาณก็พยายามจะจัดสรรให้และพยายามไม่ปรับลด ส่วนเรื่องสภาการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องน่าสนใจ และเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพ โดยส่วนตัวเชื่อมั่น เชื่อมือ และเชื่อถือตัวแทนท้องถิ่น และท้องถิ่นทั่วไทยจะให้โอกาส ปชป. ทำงานต่อเนื่อง ซึ่งได้ดำเนินการวางรากฐานไปหลายเรื่อง เช่น สวัสดิการชุมชน โฉนดชุมชน

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่าการนำเสนอเชิงนโยบายนั้นไม่อาจจะเสนอได้ชัดเจนในเวลาอันสั้น แต่จุดยืนและหลักการคือการคืนอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย และก็จะนำเสนอนโยบายหลักก่อนการเลือกตั้งอีกครั้งให้ประชาชนได้ศึกษานโยบายก่อนการตัดสินใจ โดยพรรคมีจุดเด่นคือ การกำหนดนโยบายที่ไม่ขายฝันและนำไปปฏิบัติได้ทุกเรื่อง และเชื่อว่าสำหรับนโยบายการกระจายอำนาจจะนำเสนอให้เห็นชัดเจนและจับต้องได้

นายศุภชัยกล่าวว่า เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้สนับสนุนแนวคิดเรื่องชุมชนท้องถิ่น ก็เป็นหน้าที่ที่ชุมชนท้องถิ่นต้องทำให้รัฐและชุมชนท้องถิ่นได้รับรู้เรื่องท้องถิ่นให้กว้างขวางหลากหลายขึ้น และอาศัยรัฐธรรมนูญขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่จะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกระทันหันฉับไว ก็ทำได้ลำบาก

การเสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการจัดประชุมวิชาการเวมีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 มี.ค. โดยคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ คณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาติแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ใบตองแห้ง..ออนไลน์: อุดมการณ์สื่อ SAGA: สื่อสร้างสรรค์ กรณีศึกษา: สถาบันอิศรา

Posted: 03 Mar 2011 03:58 AM PST

 
 
“กองทุนพัฒนาสื่อ” ขจัดสื่อตัวร้ายให้เป็นสื่อสร้างสรรค์
 
ปลุกรัฐหันมอง “กองทุนสื่อสร้างสรรค์” ฝันอันยาวนานของเด็กไทย
 
ระดมสมอง “อยากเห็น อยากให้” กองทุนสื่อฯ เป็นอย่างไร
 
เสนอ 4 ประเด็นผลักดันกองทุนสื่อสร้างสรรค์
 
กองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ
 
ฯลฯ
 
ที่ยกมาข้างต้นคือหัวข้อเอกสารเผยแพร่ของ “โครงการจับตากองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ” ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ซึ่งหลายคนคงเคยเห็นเคยอ่านผ่านตากันบ้างแล้ว ฟังชื่อโครงการอาจจะงงว่าเป็นใครมาจากไหน แต่พอเห็นชื่อผู้เกี่ยวข้องก็ถึงบางอ้อ อาทิเช่น ผู้จัดการ สสส.หมอโนบิตะ ณ ฟิตเนส (อิอิ หัวร่ออย่างลี้ลับ) หรือว่า รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส.ที่ยังไปเป็นประธานคณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ภายใต้คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ของหมอประเวศนั่นเอง
 
อ่านเอกสารทั้งหมดแล้ว สรุปความได้ว่า สสส. เครือข่ายลัทธิประเวศ ร่วมกับคนดีเรื่องดีทั้งหลายในสังคม ผู้ผลิตรายการเด็ก NGO ด้านการพัฒนาเด็ก ที่ล้วนมองว่าสื่อทุกวันนี้มีแต่ “ตัวร้าย” หนังสือพิมพ์ถ้าไม่ลงข่าวฆ่ากันตายก็ลงรูปดาราในชุดว่ายน้ำ ทีวีก็มีแต่ละครน้ำเน่าตบตีกัน ไม่มีที่ว่างให้สื่อดีมีคุณค่า สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก จึงช่วยกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งมีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ จนผ่านความเห็นชอบของ ครม.ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา และขั้นตอนของการตีฆ้องร้องป่าว เปิดเวทีสาธารณะ
 
ในความคาดหวังของคนดีเรื่องดีทั้งหลาย กองทุนนี้จะนำไปสนับสนุนการผลิตสื่อสร้างสรรค์ รายการสำหรับเด็ก วรรณกรรมสำหรับเด็ก สื่อทางเลือก สื่อพื้นบ้าน โดยไม่ใช่สนับสนุนการผลิตอย่างเดียว แต่ยังช่วยพัฒนาสื่อ พัฒนาศักยภาพผู้ผลิต จัดฝึกอบรม จัดกิจกรรม และที่ขาดไม่ได้คือ ให้ชุมชนมีส่วนร่วม สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง (คาถาประจำ)
 
นอกจากนี้ กองทุนสื่อสร้างสรรค์ยังควรจะเป็นกองทุนที่บริหารจัดการโดยภาคสังคม ซึ่งจะ “เปิดกว้าง” กว่าภาคราชการ ไม่ควรอยู่ในระบบราชการ
 
ตีความได้อย่างตรงไปตรงมาว่า ต้องบริหารจัดการโดยเครือข่ายลัทธิประเวศ ไม่ใช่โดยกระทรวงวัฒนธรรม
 
ซึ่งฟังแล้วดูเหมือนจะเข้าที ให้ “ภาคประชาสังคม” บริหารจัดการ ดีกว่าให้นักการเมืองหรือข้าราชการเข้ามายุ่มย่าม (แต่ “ภาคประชาสังคม” นี้ไม่ใช่หรือ ที่ “เปิดกว้าง” กับคนในเครือข่ายตัวเอง แต่ไม่ “เปิดกว้าง” กับคนที่มีความเห็นต่าง - อย่าง “ประชาไท” โดนมาแล้ว)
 
ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 ก็มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ สาระสำคัญคือจะจัดตั้ง “กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)” ขึ้นมาดูแลปฏิรูปการศึกษา โดยใช้เงินทุนจาก “ภาษีบาป” เหล้า บุหรี่ อภิสิทธิ์พูดไว้ในรายการเชื่อมั่นประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 ว่าจะให้หมอศุภกร บัวสาย อดีตผู้จัดการ สสส.มาดูแล กองทุนนี้จึงเรียกกันง่ายๆ ว่า “สสส.การศึกษา”
 
ถ้าอภิมหาโปรเจกท์นี้สำเร็จ เราจะได้เห็นว่า เครือข่ายลัทธิประเวศ นอกจากคุม 4 ส.ในกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังจะมี สสส.การศึกษา ไทยพีบีเอส (ปัจจุบันหมอพลเดช ปิ่นประทีป เป็นประธานบอร์ด) กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (ที่มองไปมองมาก็คงจะหาบุคลากรโดดเด่นเท่า รศ.วิลาสินีเป็นไม่มี) ถือเงินรวมกันร่วมหมื่นล้านบาทต่อปี (ไม่นับ สปสช.ที่รับเงินค่ารักษาพยาบาลรายหัวมาจากรัฐบาล) เพื่อทำงานรณรงค์ด้านการศึกษา สาธารณสุข ความคิด วัฒนธรรม ผ่านสื่อสารมวลชน
 
แถมยังเป็นเงินที่รัฐบาลไหนก็แตะต้องไม่ได้ สภาผู้แทนราษฎรก็ตัดทอนไม่ได้ เพราะกำหนดไว้ชัดเจนในกฎหมาย งบ สสส.สสค.ไทยพีบีเอส มาจาก “ภาษีบาป” ส่วนกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้ กสทช.จัดสรรรายได้ให้ทุกปี
 
นี่คืออภิมหาโปรเจกท์ ว่าด้วยการสร้างรัฐซ้อนรัฐ นอกจากมีรัฐทหารซ้อนรัฐ รัฐตุลาการซ้อนรัฐ เรายังมีรัฐหมอประเวศซ้อนอยู่ในองค์กรทางสังคม
 
อันที่จริงก็น่าจะเป็นเรื่องดี ที่หมอประเวศดึงเงินเป็นหมื่นๆ ล้านมาใช้งาน “ภาคประชาสังคม” ถ้าไม่ใช่เพราะเครือข่ายของท่านเป็นเครือข่ายคนดีที่คับแคบ มองเห็นแต่พวกตัวเอง จำกัดความคิด อยู่กับลัทธิชุมชนนิยม หน่อมแน้มนิยม ภาพสะท้อนจึงออกมา 2 ด้านคือ สสส.ให้เงินซ้ำซากกับ NGO หน้าเดิมๆ ไม่ทุจริตคดโกง-แต่สิ้นเปลือง งานไม่ขยาย ไม่มีอะไรใหม่ ขณะที่คนทำงาน NGO นอกเครือข่าย เลือดตาแทบกระเด็นกว่าจะหาเงินได้
 
การที่เครือข่ายหมอประเวศผลักดันให้ตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ จึงมีคำถามว่า จะเข้าอีหรอบเดิมหรือไม่ คือให้เงินไป 10 ล้านเพื่อสร้างสรรค์สื่อปลอดภัยที่ไม่มีใครดู เด็กไม่อยากดู มีแต่ผู้ใหญ่คนดีเรื่องดีบอกว่านี่แหละสิ่งที่เด็กควรดู ถามว่ามันจะต่างอะไรกับ TPBS “ทีวีของคนชายขอบ” (ที่คนทั่วไปเขาไม่ดูกัน) เออ แล้วทำไมไม่เอา “สื่อสร้างสรรค์” ไปออก TPBS เสียเลยจะได้สร้างเองดูกันเอง
 
 
 
สสส.สร้างสรรค์
สถาบันอิศรา
 
เนื่องในวโรกาสที่ใกล้จะถึงวันนักข่าว 5 มีนาคม ก็ใคร่ขอยกสถาบันอิศรามาเป็นกรณีศึกษา ว่าเมื่อ สสส.เข้าไปที่ไหน บ่อนแตกที่นั่น (ก็ สสส.ไม่สนับสนุนการพนัน-ฮา)
 
ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ทั้งหลายคงพอรู้เห็นว่า สสส.เป็นสปอนเซอร์รายใหญ่รายหนึ่ง ซื้อโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งโฆษณาตรง โฆษณาแฝง แต่โฆษณาแฝงของ สสส.ไม่มีใครด่าเหมือนที่นิตยสารสารคดีโดนด่าฐานรับโฆษณาแฝง ปตท.เพราะ สสส.ลงโฆษณาแฝงในรูปของข้อเขียน บทความ รายงานพิเศษ เกี่ยวกับเรื่องดีๆ คนดีๆ ทั้งหลาย เช่น การรวมตัวของชุมชน กิจกรรมชุมชน การส่งเสริมคุณภาพชีวิต กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ฯลฯ โดยบางครั้งก็ไม่พะโลโก้ สสส.ทำเหมือนกับหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเขียนเอง
 
ถามว่าผิดตรงไหน ไม่ผิดหรอกครับ เพราะเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริม เพียงมีข้อพึงสังวรณ์ว่า ในภาพรวมมันก็คือการนำเสนอแนวคิดลัทธิประเวศ มาครอบงำชี้นำสังคมในเรื่องแนวทางการพัฒนาประเทศแต่ผู้เดียว ในแง่ของสื่อ มันสร้างความเคยชินว่า จากเมื่อก่อนที่เราเคยเสนอข่าวเรื่องดีคนดีอย่างมีอิสระ ไม่หวังผลตอบแทน ตอนนี้เราได้ค่าโฆษณาด้วย ในแง่ของ สสส.มันก็คือการ “ซื้อสื่อ” จนทำให้ไม่มีสื่อหน้าไหนกล้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สสส.(ลองพูดสิว่า สสส.ใช้เงินสิ้นเปลือง จะได้ลดงบโฆษณา)
 
แต่ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย หรือแม้แต่คนในวงการสื่อที่ไม่ค่อยได้ร่วมกิจกรรมสมาคมนักข่าว คงไม่รู้หรอกว่า สสส.ยังเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ โดยผ่านการให้ทุนสถาบันอิศรา ทำโครงการที่ชื่อว่า “ปฏิรูประบบสื่อสารเพื่อสุขภาวะ” ให้ทุนกันมาแล้ว 14 ล้านบาทเศษ ตั้งแต่ต้นปี 2551 ถึงกลางปี 2552 เป็นเวลาปีครึ่ง รอบสองก็ต่ออีกปีครึง เข้าใจว่าได้งบประมาณใกล้เคียงกัน (เพราะผู้จัดการ สสส.มีอำนาจอนุมัติงบไม่เกิน 20 ล้าน เกินนั้นต้องเข้าบอร์ด)
 
14 ล้าน อุแม่เจ้า ถ้าอิศรา อมันตกุล ฟื้นคืนชีพขึ้นมาคงร้องอุทาน
 
สมาคมนักข่าวก่อตั้งขึ้นในปี 2498 โดยมีอิศรา อมันตกุล เป็นนายกสมาคมคนแรก แน่นอนว่าภารกิจสำคัญในยุคนั้นต่อเนื่องมาจนถึงยุคสฤษดิ์ ถนอม ประภาส จนรัฐบาลหอย และรัฐบาลครึ่งใบ ก็คือต่อสู้เผด็จการ
 
แต่ล่วงมาถึงสมัยเมื่อ 20 กว่าปีก่อนที่ผมเข้ามาทำหนังสือพิมพ์ สมาคมนักข่าวไม่ได้มีกิจกรรมอะไรมาก นอกจากออกคำแถลงเวลาสื่อถูกคุกคามละเมิดสิทธิ กับให้สวัสดิการสมาชิก เช่นให้ทุนการศึกษาบุตร ให้พวงหรีดและเงินช่วยงานศพ เชื่อมความสัมพันธ์กับสื่อต่างประเทศ (แบบว่าเขามาเยือนมั่ง เขาเชิญไปเยือนมั่ง นักข่าวบางคนที่เป็นกรรมการสมาคมต่อเนื่อง และชอบเสนอตัวเอง สะสมไมล์กระทั่งได้ตั๋วฟรีพาลูกเมียไปเที่ยวเมืองนอก)
 
นอกนั้นก็มีจัดประกวดภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี กับจัดทำหนังสือรายงานประจำปี (ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ปัจจุบันได้สปอนเซอร์เข้าสมาคมปีละ 2-3 ล้านบาท ไม่ใช่อี้ๆ นะครับ โดยค่ายมติชนผูกขาดเป็นผู้หาโฆษณา จัดทำ และตัดพิมพ์ มานานปีดีดัก มติชนได้ไปเท่าไหร่ไม่รู้ รู้แต่ว่าหักกลบลบแล้วส่งเงินให้สมาคมปีละ 2-3 ล้าน)
 
สมาคมนักข่าวไม่เคยทำงานด้านการฝึกอบรม ในปี 2527 เคยมีผู้ก่อตั้งสถาบันพัฒนาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แต่ก็ไปไม่รอด มีปัญหาทั้งเงินทุน การบริหารจัดการ (ทั้งยังมีข่าวลืออื้อฉาวระหว่างผู้บริหารกับบัณฑิตสาวนิเทศศาสตร์ไฟแรงที่มาทำงาน ฮิฮิ)
 
จนกระทั่งหลังปี 35 หลังไล่สุจินดา เข้าสู่ยุคทองของหนังสือพิมพ์ ปราโมทย์ ฝ่ายอุประ เป็นนายกฯ ดึงคนรุ่นใหม่ที่เรียกกันว่า “ดรีมทีม” เช่น ภัทระ คำพิทักษ์, ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี (และอีกหลายๆ คนที่ตอนนี้ไปทำอาชีพอื่นแล้ว) เข้ามามีบทบาทเสนอโครงการต่างๆ เช่น ฝึกอบรมนักข่าวใหม่ ฝึกอบรมนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน ที่เรียกว่าโครงการ “พิราบน้อย” (ซึ่งต่อมาได้ทุนสนับสนุนจากซีพี และซีพียังให้เงินสมาคมนักข่าวราว 3-4 ล้านมาปรับปรุงอาคารสถานที่) รวมถึงจัดเพรสคลับให้นักข่าวพบปะชุมนุมกัน มีการแตกตัวตั้งองค์กรต่างๆ เช่น ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ชมรมนักข่าวไอที สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ ซึ่งก็ตั้งอยู่ในสมาคมนักข่าว กล่าวได้ว่าเป็นยุคที่มีกิจกรรมคึกคัก แต่งานสมาคมนักข่าวยุคนั้นก็ยังเป็นงานอาสา คือทำด้วยใจรัก มีแต่พนักงานประจำ 4-5 คนคือผู้จัดการสำนักงาน พนักงานบัญชี แม่บ้าน ที่ได้รับเงินเดือน
 
กระนั้นก็ต้องเข้าใจว่า คนที่เข้ามาเป็นกรรมการสมาคมแต่ละรายมีฐานะเป็นตัวแทนองค์กรของตนด้วย จึงมีความขัดแย้งภายในอยู่เนืองๆ แม้ไม่ปรากฏออกภายนอก (แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน) บางรายก็มาทำงานให้สมาคมเพราะองค์กรต้นสังกัดเปิดไฟเขียวเต็มที่ โดยหวังให้คอยช่วยปกป้องเวลานักข่าวของตนถูกสอบสวนเรื่องจริยธรรม
 
ความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่สุดก็คือตอนข่าวยันตระของหนังสือพิมพ์ข่าวสดไม่ได้รางวัลข่าวยอดเยี่ยม ทำให้ข่าวสดตบเท้าออกจากสมาคม ไม่มาเหยียบอีกเลยจนวันนี้ ทั้งที่มีประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ จากค่ายมติชนเป็นนายกสมาคม
 
นอกจากนี้ก็มีค่ายหนังสือพิมพ์กีฬา ที่ยัวะสุดขีดตอนสภาการหนังสือพิมพ์ออกแนวปฏิบัติเรื่องการเสนอข่าวกีฬา ว่า “ต้องไม่ชักจูงไปเกี่ยวข้องกับการพนัน” ทั้งที่ก่อนหน้านั้น สภาฯ เพิ่งไปขอกะตังค์มาทำกิจกรรม 2 แสน เจ้าพ่อกีฬาจึงประกาศไม่ให้นักข่าวในสังกัดร่วมสังฆกรรมกับสมาคมนักข่าว และสภาการหนังสือพิมพ์
 
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ได้จัดตั้งมูลนิธิสถาบันพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ขึ้นในปี 2547 เพื่อเป็นหน่วยงานจัดการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพ ในปีเดียวกันนั้นเกิดปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ สมาคมก็ได้จัดตั้งศูนย์ข่าวอิศราขึ้น ส่งนักข่าวส่วนกลางลงไปร่วมกับนักข่าวภาคใต้ ตั้งศูนย์รายงานสถานการณ์ขึ้นโดยเฉพาะ
 
ศูนย์อิศราตอนแรกได้เงินทุนที่ อ.โคทม อารียา หามาให้ แต่เป็นช่วงสั้นๆ กระเป๋าเงินตัวจริงคือพระเอกหวีผมเปิดของเรา หมอประเวศ ซึ่งควักมาจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ที่ตัวเองเป็นประธาน (หมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นเลขาธิการ) เนื่องจากภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมในขณะนั้น มักจะไปเสวนากับหมอประเวศอยู่เนืองๆ ศูนย์อิศราจึงมีเงินให้ใช้จ่ายไม่อั้น หัวหน้าศูนย์ข่าวซึ่งตั้งอยู่ มอ.ปัตตานี ได้เงินเดือนสามหมื่น (นอกเหนือที่ได้จากต้นสังกัด) คนอื่นๆ ได้เบี้ยเลี้ยง เท่านั้นไม่พอ มสช.ยังได้บิลค่าใช้จ่ายตั้งแต่ค่าสบู่ ยาสีฟัน ค่าซักรีด ไปจนค่าอาหารอันครื้นเครงยามเย็นย่ำ
 
อย่างไรก็ดี เมื่อภัทระกระโดดเข้าไปเป็น สนช.หลังรัฐประหาร ซึ่งคนในวงการสื่อฮือค้านไม่เห็นด้วย ภัทระลาออก ก็เกิดการ “เปลี่ยนขั้วอำนาจ” ในสมาคม และมีการสะสางเรื่องศูนย์อิศรา ปัจจุบันสมาคมก็ยังมีศูนย์ข่าวภาคใต้ มี บก.ข่าว 1 คนกินเงินเดือน (นอกเหนือที่ได้จากต้นสังกัด) แต่ยุบศูนย์ที่ มอ.ปัตตานี มีนักข่าวท้องถิ่นทำข่าวส่งให้โดยได้ค่าตอบแทนรายชิ้น
 
 
 
ยุคอู้ฟู่
 
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์ และมูลนิธิสถาบันพัฒนาสื่อมวลชน ได้ตัดสินใจยุบรวมสถาบันกับศูนย์ข่าวอิศรา ใช้ชื่อใหม่ว่า “สถาบันอิศรา” หน้าที่หลักคืองานฝึกอบรม งานสำนักข่าวเหลืออยู่ 2 อย่างคือ โต๊ะข่าวภาคใต้ กับโต๊ะข่าว “เพื่อชุมชน”
 
ในช่วงที่ทักษิณเรืองอำนาจและแทรกแซงสื่อ สสส.ยังให้ทุนสมาคมนักข่าวทำโครงการสำรวจวิจัยว่าจะปฏิรูปสื่ออย่างไร โครงการนี้มีกำหนด 1 ปี โดย รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ อ.นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ผู้มุ่งมั่นกับการพัฒนาสื่อ ซึ่งลาออกไปเป็นผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส.เป็นตัวเชื่อมผลักดัน โครงการนี้ได้งานวิจัยมา 1 ชุด เป็นพื้นฐานของการตัดสินใจให้ทุนก้อนใหญ่กับสมาคมนักข่าว โดยผ่านทางมูลนิธิและสถาบันอิศรา
 
ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อนว่า สมาคม และสถาบันอิศรา เป็น 2 องค์กรที่แยกกัน สมาคมมีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิก ปัจจุบันคือประสงค์ จะครบวาระและมีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 4 มี.ค.นี้ ส่วนสถาบันอิศรามีคณะกรรมการบริหารที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งมี 13 คน เป็นผู้แทนสมาคมนักข่าว 3 คน สภาการหนังสือพิมพ์ 3 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสายวิชาชีพ 3 คน ผู้ทรงคุณวุฒิอื่นอีก 4 คน ส่วนกรรมการสถาบันมี 7 คน เป็นผู้แทนสมาคม 2 ผู้แทนสภา 1 ผู้ทรงคุณวุฒิ 3 และ ผอ.ซึ่งปัจจุบันชวรงค์เป็น ผอ.
 
นายกสมาคมฯ เป็นงานอาสา ไม่มีเงินเดือน ขณะที่ ผอ.สถาบันอิศราอันที่จริงต้องการคนทำงานเต็มเวลา อัตราเงินเดือน 60,000 บาท แต่ยังหาไม่ได้ เลยให้ชวรงค์มาทำงานกึ่งอาสา รับเงินเดือนครึ่งเดียวโดยยังทำไทยรัฐอยู่ด้วย
 
พูดง่ายๆ ว่าเงินทุนทั้งหมดเข้ามาทางศูนย์อิศรา สมาคมไม่มีกะตังค์ (มีแค่รายได้จากหนังสือรายงานประจำปี) ฉะนั้นเวลาจัดกิจกรรมต่างๆ ช่วงหลังก็จะจัดในนามศูนย์อิศรา
 
ศูนย์อิศรายุคเริ่มแรก มีเงินทุนระยะสั้นๆ เข้ามา เช่น ทุนจากยูนิเซฟ ให้จัดกิจกรรมอบรมด้านสิทธิเด็กและประกวดการทำข่าวด้านสิทธิเด็ก ผู้มอบรางวัลคือ อานันท์ ปันยารชุน (พ่ออานันท์เป็นนายกฯสมาคมหนังสือพิมพ์คนแรก ที่ก่อตั้งโดยกุหลาบ สายประดิษฐ์) ทุนจาก มสช.ที่ให้ทำข่าวเชิงสืบสวน 10 ทุนๆ ละ 2 หมื่นบาท ทำเสร็จก็รวมเล่มชื่อ เจาะข่าวนโยบายสาธารณะ
 
แต่ทุนก้อนใหญ่ยิ่งกว่าถูกหวยก็คือ เงินทุน สสส.ดังกล่าว ภายใต้ชื่อโครงการ “ปฏิรูประบบสื่อสารเพื่อสุขภาวะ” งบประมาณ 14 ล้านกว่าบาท ต่อช่วงเวลาดำเนินการปีครึ่ง โดยมีโครงการย่อยๆ รวม 5 โครงการ มีผอ.สถาบันเป็นผอ.โครงการ รองลงมามีผู้จัดการโครงการ 2 คน ผู้ประสานงานโครงการ 4 คน มีคณะที่ปรึกษาด้านวิชาชีพ ด้านวิชาการ
 
โครงการเหล่านี้เขียนไว้สวยหรูตามแบบฉบับ สสส. เช่น โครงการสร้างระบบการพัฒนาองค์ความรู้และฐานข้อมูล โดยผ่านกระบวนการส่งเสริมงานวิจัยทางด้านสื่อสารมวลชนในลักษณะของงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ผู้บริหารองค์กรสื่อมวลชน และผู้ปฏิบัติงานในองค์กรสื่อมวลชน, โครงการพัฒนาศักยภาพด้านองค์ความรู้ในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและกฎหมายที่จำเป็นแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง, โครงการสร้างระบบการเข้าถึงและนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างธรรมาภิบาลโดยใช้กระบวนการส่งเสริมการสื่อข่าวเชิงสืบสวน (Investigative Reporting) โครงการสร้างศักยภาพด้านการสื่อสารแก่สื่อภาคประชาชนและสื่อท้องถิ่น, โครงการสร้างเครือข่ายการประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นักสื่อสารภาคประชาชน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
 
อธิบายง่ายๆ ดีกว่าว่า เช่นโครงการที่ 5 มีการเดินสายไปจัดประชุมบรรณาธิการสื่อท้องถิ่น 4 ภาคให้มีการรวมตัวกันทำกิจกรรม ในส่วนกลางก็มีการจัดเวทีราชดำเนินเสวนา เชิญบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์ร้อนแต่ละสัปดาห์มานั่งคุยกับนักข่าว
 
โครงการแรกก็มีการทำวิจัยสื่อท้องถิ่น สำรวจหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและวิทยุท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศ ว่ามีอยู่เท่าไหร่ เลี้ยงตัวเองได้ หรือเลี้ยงตัวเองไม่ได้ เพราะอะไร โดยจ้างคณะวิจัยทั้งที่เป็นคนในและคนนอก นักวิชาการที่เคยทำงานร่วมกับสมาคมนักข่าว มาทำวิจัยแล้วก็จัดประชุมประจำปี
 
โครงการที่ 3 ก็มีการให้ทุนนักข่าวท้องถิ่น 20 ทุนๆ ละ 2 หมื่นบาท และเบิกค่าพาหนะได้อีก 2 หมื่นบาท ทำข่าวสืบสวนมารวมเล่มเป็นหนังสือเจาะข่าวเล่ม 2 มีบรรณาธิการ 1 คนจากส่วนกลาง ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน 10 เดือนๆ ละ 25,000 บาท โดยไม่ใช่ว่านักข่าวเขียนข่าวเสร็จส่งมาได้เลยนะครับ ตามแบบ สสส.เขาต้องจัดเวทีสาธารณะ มีบรรณาธิการและวิทยากรมารับฟัง แล้วร่างเรื่องที่เขียนขึ้นมาให้ที่ปรึกษาดูก่อน เขียนเสร็จจึงส่งมาพิมพ์
 
โครงการที่ 2 มีการจัดอบรมนักข่าว 3 รุ่น เรียกว่า หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) หลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง (บสก.) และหลักสูตรการสื่อสารมวลชนระดับต้น (กสต.) โครงการนี้ได้งบไปราว 3 ล้าน
 
หลักสูตร บสส.บสก.นี่เองที่เกิดเรื่องครื้นเครงหึ่งวงการ (แต่สาธารณชนไม่รับรู้) โดยหลักสูตร บสส.ก๊อปปี้มาจากหลักสูตร บยส.ของกระทรวงยุติธรรม นำเอาผู้บริหารสื่อต่างๆ ซึงส่วนใหญ่เป็นระดับบรรณาธิการข่าวและเจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น มาอบรมร่วมกับผู้บริหารจากภาคเอกชน ซึ่งก็คือพวก PR บริษัททั้งหลาย เชิญวิทยากรดังๆ มาบรรยาย มีการไปดูงานหนังสือพิมพ์ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ไปดูงาน PR ของบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น ซีพี ปูนซีเมนต์ไทย
 
ตอนที่อบรมในประเทศก็ไม่เท่าไหร่ แต่พอจบแล้วสิ มีจัดไปดูงานต่างประเทศด้วย โดยพวกที่มาจากภาคเอกชนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เสนอจัดแข่งกอล์ฟหาทุน แม้พวกนักข่าวและ NGO บางคนไม่เห็นด้วยเพราะมันไม่ค่อยสวย ที่จะเอาเครดิตสื่อไปเร่ขอเงินบริษัทห้างร้างหาทุนดูงานเมืองนอก แต่สุดท้ายก็มีการจัดงานจนได้กะตังค์มา 3 ล้านกว่าบาท ยกทีมไปดูงานญี่ปุ่น โดยนักข่าวสายคมนาคมติดต่อการบินไทยได้ตั๋วลดราคาพิเศษ นักข่าวสายตำรวจติดต่อ ตม.ขอห้องรับรองสุดหรูที่สนามบินสุวรรณภูมิ เดินทางไปดูงานที่ NHK ครึ่งวัน จากโปรแกรมทัวร์ทั้งหมด 7 วัน ตอนนั้นเป็นช่วงม็อบเสื้อแดงลุกฮือวันสงกรานต์ 2552 พอดี
 
หลักสูตร บสก.ก็เหมือนกัน ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นระดับหัวหน้าข่าว หลายคนไม่เห็นด้วย ที่จะจัดหาทุนไปดูงานต่างประเทศ แต่สุดท้ายก็จัดไปเกาหลีใต้ 5 วัน กระนั้นยังมีหลายคนที่ต่อต้าน ไม่ยอมไป
 
หลักสูตร บสส. รุ่น 2 ได้เงินมากกว่ารุ่นแรกเสียอีก 5 ล้านกว่า บินไปยุโรปเลย ออสเตรีย เยอรมัน สาธารณรัฐเช็ก แต่ก็เริ่มมีกระแสต่อต้าน มีคนไม่ไปหลายคน จนเรื่องมันแรง วสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พูดในที่ประชุมเครือข่ายสภาวิชาชีพ ว่าหลักสูตรนี้ถูกวิจารณ์มากเรื่องจัดกอล์ฟไปดูงานต่างประเทศ ต่อไปถ้าสถาบันอิศราจะจัดอบรมอีก ก็ขอร้องว่าอย่าจัดกอล์ฟหาทุน
 
หลังจากนั้น หลักสูตร บสก.รุ่น 2 ก็เลยไม่มีการไปดูงานเมืองนอกอีก
 
หลักสูตร บสส.เนี่ยยังกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพฯ มาพระราชทานประกาศนียบัตรด้วยนะครับ ทั้งที่มีบางคนค้าน โดยสถาบันอิศรามอบให้ “พี่ติ๋ม” วิมลพรรณ ปิตะธวัชชัย เป็นผู้จัดการเดินเรื่อง กระนั้นก็ยังมีผู้เข้าอบรม 2-3 รายไม่ไปรับ ทำเอา “พี่ติ๋ม” ยัวะ ตั้งคำถามว่าไอ้พวกนี้เอียงซ้ายหรือเปล่า แต่บางคนให้เหตุผลว่า พระเทพท่านเหนื่อยมาเยอะแล้ว ทำไมจะต้องขอให้พระองค์ท่านมามอบประกาศฯ ให้เรา
 
 
 
ใช้เงินทำเรื่องดีๆ
 
สสส.ให้ทุนสถาบันอิศรา 14 ล้าน ในช่วงเวลาปีครึ่ง แล้วก็อีกปีครึ่ง น่าจะไม่น้อยกว่าเดิมเพราะยังเพิ่มโครงการ “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารการปฏิรูปประเทศไทย” (http://www.thaireform.in.th/) ตามแนวคิดของหมอประเวศ ที่ผลักดันให้ สสส.ทำ แต่ สสส.ส่งมาให้สมาคมนักข่าวทำ ในนามสำนักข่าวสถาบันอิศรา ปัจจุบันมีที่ตั้งอยู่บนชั้นสองของสมาคมนักข่าว มี บก.ข่าว 1 คน นักข่าว 5 คน ทำข่าวเกี่ยวกับหัวข้อปฏิรูปประเทศไทย 10 เรื่อง
 
สนอง need ต่างตอบแทนกันเห็นๆ อิอิ
 
อย่างไรก็ดี ที่เขียนมาทั้งหมดเนี่ย ผมไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องเลวร้ายนะครับ และไม่ได้มีการทุจริตประพฤติมิชอบ แม้มีเรื่องไม่เหมาะไม่ควรบ้าง ก็เป็นเรื่องเฉพาะส่วน เช่นการอบรม บสส.บสก.ก็เป็นเรื่องของผู้เข้าอบรม ไม่ใช่สมาคมหรือสถาบันเป็นตัวตั้งตัวตี คนที่เอ่ยชื่ออย่างประสงค์ ภัทระ ชวรงค์ ก็เป็นคนที่ทำงานอาสาให้ส่วนรวม ทำงานให้สมาคมมาร่วม 20 ปี
 
แต่สิ่งที่ผมตั้งข้อสังเกต คือเงินทุนก้อนมหึมาของ สสส.แม้จะเอามาทำเรื่องดีๆ แต่ก็เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของสมาคมนักข่าว ที่เคยเป็นสมาคมจนๆ ทุกคนทำงานด้วยใจรัก ไม่มีค่าตอบแทน ให้กลายมาเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่ง ที่ถ้าเปลี่ยนตัวบุคคลจากนักข่าวไปเป็นนักการเมือง มันก็คือการทำงานแบบกรรมาธิการ
 
เมื่อก่อน หนังสือพิมพ์ฉบับไหนมีนักข่าวมาทำงานให้สมาคม เรามักถือว่าเขามาอาสาช่วยงานส่วนรวม –พี่ วันนี้ขอลาไปงานสมาคมนะ โอเค ได้เลย ไม่มีปัญหา เพราะหัวหน้าข่าว บก.ข่าว หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์คิดว่ามาทำงานฟรี ไม่มีค่าตอบแทน อย่างมากก็ได้เบี้ยประชุมเล็กๆ น้อยๆ
 
แต่ตอนหลังมันชักจะยังไงละครับ เพราะนักข่าวที่มาทำงานให้สถาบันอิศรา มีเงินเดือนเพิ่ม ถ้าคุณลางาน เลี่ยงงาน มาทำงานให้สถาบัน เพื่อนฝูงรู้ก็เริ่มเขม่น หัวหน้าก็อึดอัด เช่นนักข่าวบางคน ค่ายยักษ์ใหญ่เขาซื้อตัวมาจากอีกค่ายหนึ่งด้วยอัตราเงินเดือนสูงลิบ เขาห้ามรับจ็อบ แต่เธอยังมาทำงานสถาบันอิศรา ต้นสังกัดก็พูดไม่ออก
 
นักข่าวบางคนไม่ได้เงินเดือน แต่เข้าไปเป็นกรรมการ อนุกรรมการ ที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งต้องเข้าประชุมบ่อยๆ อัตราค่าประชุมมาตรฐานโครงการ สสส.คือคนละ 1,000 บาท บางคนตอนเช้าประชุมอนุฯ ของสมาคมได้เบี้ยประชุม 500 เข้าประชุมยังไม่เลิกขอออกมาก่อน แล้ววกขึ้นไปประชุมที่สถาบันอิศรา ได้อีก 1,000 สบายไป
 
พูดในภาพรวมก็คือมันเกิดความสับสนระหว่างงานอาสาด้วยใจรัก กับการรับจ็อบหารายได้พิเศษ ซึ่งถ้าไม่ระวัง มันก็จะพัฒนาไปอีก เช่นการเล่นพรรคเล่นพวก ดึงเอาคนนั้นคนนี้เข้ามาทำงานที่ได้ค่าตอบแทนสูง
 
นี่คือปัญหาในการสนับสนุนเรื่องดีคนดีของลัทธิประเวศ ซึ่งผมสันนิษฐานว่าหมอประเวศแกเชื่อภาษิตจีนโบราณที่ว่า เงินทองใช้ภูตผีโม่แป้งได้ แกก็เลยเอาเงินเป็นตัวตั้ง มาจ้างคนทำความดี
 
ถ้าให้พูดแบบ extreme เชิงล้อเลียนหน่อยๆ ผมก็มองการทำงานของ สสส.ว่า สมมติมีสามล้อหรือแมงกะไซค์รับจ้างตั้งวงเตะตะกร้อออกกำลังกายกันปากซอย สนุกสนานเฮฮาตามอัตภาพ สสส.มาเห็นเข้า ก็จะกระโดดเข้าไปส่งเสริมสนับสนุน ทำโครงการ ให้งบประมาณไปซื้อลูกตะกร้อ ซื้อน้ำซื้อน้ำแข็งใส่กระติก ให้เงินบำรุงทีม แจกเสื้อทีม กางเกง รองเท้า จัดหานักวิชาการมาอบรมคุณค่าของการออกกำลังกาย จากนั้นก็ติดป้าย “ห้ามสูบบุหรี่”
 
จากการออกกำลังกายสนุกสนานเฮฮา มันก็กลายเป็นจ้างออกกำลังกาย และอาจจะวงแตก เพราะความเบื่อ พวกกรูเตะตะกร้อเล่นของกรูอยู่ดีๆ เมริงจะมาทำให้ยุ่งยากอะไรนักหนา เดี๋ยวก็อบรม เดี๋ยวก็วิจัย เดี๋ยวก็จัดเวทีสาธารณะ ฯลฯ หรือไม่ก็วงแตกเพราะผลประโยชน์ จากที่เคยเรี่ยไรกันบาทสองบาทซื้อลูกตะกร้อ พอมีเงินบำรุงทีมกลับทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ใครเอาเงินไปทำอะไรบ้าง จ้องจับผิดจนผิดใจกัน
 
เหมือนอย่างสถาบินอิศราก็เลยถูกผมจ้องจับผิดอยู่นี่ไง ฮิฮิ (ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ได้เป็นสมาชิก ไม่เคยไปช่วยงานสมาคมนักข่าวซักนิด)
 
ก็ฝากไว้ให้สังวรณ์ สำหรับสมาคมนักข่าวที่จะเลือกกรรมการชุดใหม่ โดยเชื่อว่า สสส.คงไม่ถึงกับมีส่วนกำหนดว่าใครจะเป็นนายกสมาคม แต่ไม่แน่เหมือนกัน สมมติผมสมัครสมาชิก หาเสียงชิงตำแหน่งนายกฯ สมัยหน้า สสส.คงยอมไม่ได้ที่จะให้นายกสมาคมนักข่าวสูบบุหรี่ปุ๋ยๆ แถมยังชอบวิจารณ์หมอประเวศวันละ 3 เวลาหลังอาหาร
 
                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    3 มี.ค.54
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มติชนสัมภาษณ์ "สมชาย หอมลออ" ย้ำ "การให้อภัยโดยบอกว่าลืมกันเสียเถิด มันเป็นไปไม่ได้"

Posted: 03 Mar 2011 12:14 AM PST

"ผมเชื่อว่าที่สุดก็อาจต้องให้อภัยกัน แต่ทุกฝ่ายต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ ความขัดแย้งไม่ใช่จะแก้กันได้ง่ายๆ แต่จากนี้ไปความรุนแรงเหล่านี้จะเริ่มน้อยลง เพราะทุกฝ่ายรู้แล้วว่าความรุนแรงเป็นต้นเหตุความเจ็บปวด"

เมื่อแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 7 คน ถูกปล่อย หลายคนคิดว่า "ฝันร้าย" จากเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ใกล้มาถึงจุดสิ้นสุด

และแม้บทบาทของ "คณิต ณ นคร" ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อความสมานฉันท์ (คอป.) ทั้งบนดิน-ใต้ดิน จะมีส่วนสำคัญ ทำให้แกนนำคนเสื้อแดงได้รับการประกันตัว

ทว่าภารกิจของ คอป. เหมือนเพิ่งเริ่มต้น..

"สมชาย หอมลออ" กรรมการและเลขานุการ คอป. อธิบายวิธีชำระความคับแค้น-คลุ้มคลั่ง-และคดีฆาตกรรม ในเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผู้เสียชีวิต 91 ศพ และบาดเจ็บอีกราว 2 พันคน ว่าจะต้องใช้ "ความจริง" เยียวยาผู้เสียหาย พร้อมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างไม่มีละเว้น

เขาเริ่มกล่าวว่า ขณะนี้สังคมเริ่มไขว้เขว เพราะผู้นำบางคนชักจูงให้ทุกฝ่ายลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แลกกับความสมานฉันท์ในบ้านเมือง แต่ขอยืนยันว่าทำแบบนั้นไม่ได้!

"เชื่อ หรือไม่ว่าในเหตุจลาจลปี 2553 แม้แต่ผู้ที่เคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บางคน ก็ยังมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างความขัดแย้งครั้งนี้ เพราะบาดแผลที่เขาได้รับ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้เขาเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์ ดังนั้น การให้อภัย โดยบอกว่าลืมกันเสียเถิด มันเป็นไปไม่ได้"

เพราะ 35 ปีผ่านไป เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังไม่ได้รับการ "ชำระ" ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และใครควรรับผิดชอบ

วาทกรรม "ให้ลืมๆ กันไป" จึงไม่ใช่แค่การ "ซุกขยะไว้ใต้พรม" แต่เหมือนกับ "กอดระเบิดเวลาไว้กับตัว"

ในมุมมองของ "สมชาย" ยารักษาแผลใจที่เต็มไปด้วยความคับแค้นของทุกฝ่าย จึงไม่มีอะไรที่ดีไปกว่า "ความจริง"

อนุกรรม การตรวจสอบและค้นหาความจริงที่เขาเป็นประธาน จึงกำหนดวันรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริง (Hearing) ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์-19 เมษายน 2554 เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ไม่ว่าฝ่ายทหาร ผู้ชุมนุม และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ มานั่ง "เปิดใจ" พูดถึงสิ่งที่ได้เห็น-ได้ทำ-ได้คิด ระหว่างเหตุการณ์รุนแรงเหล่านั้น

การเปิดเวทีรับฟังข้อมูลที่ผ่านมา ไม่เพียงพบสิ่งที่น่าสนใจ เช่น นายทหารยศ "พันเอก" ผู้คุมกำลังในเหตุการณ์ที่สี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 กล่าว "ขอโทษ" ผู้ชุมนุม ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความสูญเสีย ยังทำให้ "คู่ขัดแย้ง" ได้มาร่วมโต๊ะเจรจา-ปรับทุกข์

ภาพความเอื้ออาทรระหว่างคนเสื้อเขียว-เสื้อแดง จึงปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกบนเวทีแห่งนี้

"สมชาย" มองว่าสิ่งที่ต้องทำควบคู่กับการค้นหาความจริง คือการเยียวยาผู้สูญเสียทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งไม่ใช่เพียงการให้เงินชดเชยเท่านั้น

"การเยียวยาที่ผู้เสีย หายได้รับปัจจุบัน เป็นเพียงมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายปกติเท่านั้น ทั้งที่ความสูญเสียดังกล่าว เกิดขึ้นในเหตุการณ์ไม่ปกติ ทำให้คน 500-600 คน ถูกกีดกันไม่ได้รับเงินชดเชย ดังนั้น คอป.จะทำเรื่องให้รัฐบาลเข้าไปแก้ปัญหานี้"

เขาพบว่า 1 ในวิธีเยียวยาที่สุดคือ "ท่าที" ของอีกฝ่าย ทั้งการแสดงความเสียใจ หรือการเอ่ยคำขอโทษ ซึ่งถึงวันนี้ยังไม่เคยได้เห็นพฤติกรรมดังกล่าวทั้งจากแกนนำผู้ชุมนุม หรือคนในรัฐบาล!

ซึ่งอาจเป็นเพราะคนที่จะกล่าวคำขอโทษได้ต้องรู้สึกว่าตัวเองรู้สึกผิดก่อน?

"เรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ความถูกหรือผิด ขาวหรือดำเท่านั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทุกคนมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อย ความรู้สึกร่วมต้องมี ความเสียใจต้องมี แต่นักการเมืองจะต่างจากชาวบ้าน ที่จะทำอะไรมักคิดถึงผลทางการเมืองก่อน เชื่อไหมว่าถ้าปิดห้อง คนพวกนี้จะคุยกันอีกแบบ คุยกันเหมือนเพื่อน เพราะเขารู้จักกันหมด แต่พอไมค์จ่อปากจะพูด เพราะคิดว่าทุกอย่างเป็นคะแนนเสียงได้"

แน่นอนว่าภารกิจสำคัญที่สุดของ คอป.ยังได้แก่การหาคำตอบ-คลายปริศนา "91 ศพ" เกิดขึ้นได้อย่างไร

แม้ด้านหนึ่ง คอป.จะดูเหมือนทำงานคู่ขนานไปกับการสืบสวนสอบสวนหาคนผิดมาลงโทษของ "กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)"

แต่อีกด้าน คอป.จะลงลึกกว่าดีเอสไอ เพราะดูไปถึง "มูลเหตุจูงใจ" ว่าการ "เหนี่ยวไก" เป็นเพราะอะไร คิดว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรู? สถานการณ์บีบคั้น? ลั่นกระสุนเพื่อป้องกันตัว?

แม้ระบบกฎหมายของไทยดีพอสมควร แต่การนำไปใช้ยังเป็นปัญหา เป็นเหตุให้หลายๆ คดี "คนผิด ลอยนวล"

"ปัญหาส่วนใหญ่คือกฎหมายของเราถูกบิดเบือน ผมทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมา พบปัญหาการบังคับใช้กฎหมายบ้านเราคือ แนวคิดที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำผิดไม่ต้องรับโทษ ดังนั้นเรื่องกระบวนการยุติธรรม เราก็จะตรวจสอบด้วย เหมือนกรณีที่ดีเอสไอส่งสำนวนให้ตำรวจชันสูตรพลิกศพ 13 ศพ แต่ไม่มีความคืบหน้า คอป.ก็จะเข้าไปตรวจสอบ"

ส่วนถ้า "ชุดความจริง" ของ คอป.ออกมาไม่ตรงกับดีเอสไอ สังคมจะเชื่อข้อมูลฝ่ายใด เป็นเรื่องที่เขาตอบแทนไม่ได้

ส่วนท่าที คอป.ที่ดูเหมือน "แอบแดง" เข้าข้างผู้ชุมนุม ทำให้หน่วยงานรัฐบางหน่วยยึกยักในการให้ข้อมูล เขาเผยว่าที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากดีเอสไอในระดับ "ดี" จากทหาร "พอสมควร" แต่ "ไม่ได้รับ" จากตำรวจเลย

เป็นเหตุให้ คอป.ต้องฟ้องรัฐบาลให้ "กระตุ้น" ผู้ใต้บังคับบัญชา

ที่น่าแปลกคือผู้ชุมนุมบางส่วนก็ไม่ให้ความร่วมมือ เพราะถูก "กีดกัน" จากผู้มีอิทธิพล-นักการเมืองบางคน?

เมื่อถามว่าถึงนาทีนี้ คอป.สรุปได้หรือยังว่าความรุนแรงเกิดจากอะไร?

"บางคนเชื่อว่ามีการวางแผน แต่หลายคนเชื่อว่าเป็นปฏิกิริยาปิงปอง แต่ผมคิดว่าอาจเป็นได้ทั้งปฏิกิริยาปิงปอง และมีความตั้งใจผสมอยู่ด้วย" เขาตอบ

เขายกว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีความคับแค้นอยู่ในใจ ฝ่ายเสื้อแดงเคยถูกปราบช่วงสงกรานต์เลือดเมื่อปี 2552 จึงมาแก้แค้น ฝ่ายทหารก็เจ็บใจที่ถูกหยามศักดิ์ศรี ถูกบังคับให้กราบในเหตุการณ์ที่สถานีดาวเทียมไทยคม เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2553 ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่-กระชับวงล้อม มีคนเจ็บตายจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากภารกิจ "บนดิน" คอป.ยังมีภารกิจ "ใต้ดิน" ซึ่งน้อยคนจะรู้ โดยอาศัย "คอนเน็คชั่นพิเศษ" ของกรรมการบางคน เดินสายเจรจาให้ทุกฝ่ายเดินเข้าสู่การเลือกตั้ง

แม้ "สมชาย" จะปฏิเสธให้รายละเอียด "คณะทำงานลับ" โดยบอกเพียงว่า "วงเจรจามีหลายวง" แต่ก็ฉายให้เห็นว่าการทำงานของ คอป.นั้น "ไม่ธรรมดา"

ทว่า ด้วยอำนาจที่มีเพียง "ค้นหาความจริง" ตามเป้าหมาย "เพื่อความสมานฉันท์" หลายฝ่ายจึงปรามาสว่า คอป. เป็นเพียงองค์กรปาหี่-ที่ตั้งมาเพื่อฟอกความผิดให้รัฐบาล?

เขาชี้แจง "ข้อครหาฉกรรจ์" ว่าแม้ คอป.จะไม่มีอำนาจสั่งลงโทษใคร แต่กระบวนการค้นหาความจริงที่ทำอย่างเปิดเผย จะทำให้สังคมไทยเกิดการเรียนรู้

"ผม เชื่อว่าที่สุดก็อาจต้องให้อภัยกัน แต่ทุกฝ่ายต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ และยอมรับความจริงก่อน ความขัดแย้งในเมืองไทยเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่จะแก้กันได้ง่ายๆ อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี แต่จากนี้ไปความรุนแรงเหล่านี้จะเริ่มน้อยลง เพราะทุกฝ่ายรู้แล้วว่าความรุนแรงเป็นต้นเหตุความเจ็บปวดของทุกฝ่าย"

ถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของ "9 อรหันต์ คอป." ที่จะไม่ให้เหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอีก!!!
 

ที่มา: มติชนออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลมุกดาหารให้ประกันคนเสื้อแดง6คนสุดท้าย หลังขังยาว9เดือน

Posted: 02 Mar 2011 09:37 PM PST

ศาลจังหวัดมุกให้ประกันผู้ต้องหาเสื้อแดงยกคุก หลังขังยาวโดยไม่ให้ประกันกว่า9เดือน ขณะที่ญาติผู้ต้องขังเรือนจำอื่นในอีสานอีกกว่าห้าสิบครอบครัวยังรอความหวังการให้สิทธิประกันตัวจากศาล

เมื่อเวลา 11.50 น. วันที่ 3 มีนาคม 2554 ศาลจังหวัดมุกดาหาร  ได้มีคำสั่งให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางมุกดาหาร ที่ยังคงเหลืออยู่ในเรือนจำจำนวน 6 คนสุดท้ายจากเดิมที่เคยมีผู้ต้องขังเสื้อแดงทั้งหมด 29 คน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การให้ประกันดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์การสลาย การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่บริเวณแยกราชประสงค์และเหตุการเผาศาลากลางในภาคอีสานจำนวน 4 จังหวัด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 หรือนับเป็นเวลากว่า 9เดือนหลังการจับกุม

ในขณะเดียวกันผู้ต้องขังในคดีเคียวกันในจังหวัดอื่นเช่น ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรและอุบล จำนวนกว่าห้าสิบคนซึ่งยังไม่ได้รับคำสั่งให้ประกันตัวจากศาลจังหวัดแต่อย่างใด ทั้งนี้แทบทั้งหมดของผู้ต้องขังที่ถูกจับกุมล้วนแต่เป็นผู้มีฐนะยากจนและมีปัญหาสุขภาพทางกายและทางจิตหลังจากถูกจับขังไว้โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวเป็นระยะเวลานาน


รายชื่อและสภาพปัญหาของผู้ต้องขังในเรือนจำมุกดาหารที่ได้รับอนุมัติการประกันตัว 6รายสุดท้าย    

1. นายจันที แสนลา อายุ 36 ปี ตำบลนาสีนวน อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร มีบุตร-ธิดารวม ๓ คน โดยบุตรอาศัยอยู่กับบิดาของชื่อ นายฟอง   แสนลา   อายุ 80 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง และมารดาอายุ 72 ปี ซึ่งต้องหาของป่า(เช่น หน่อไม้ ใบย่านาง มะกอก) ไปขายที่ตลาดพรเพ็ชร เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงดูหลานทั้ง 3 คน สภาพบ้านเป็นเพียงบ้านไม้มุงสังกะสีที่ผุพัง ปกติมีนายจันที แสนลา เป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว ปัจจุบันครอบครัวจึงมีความลำบากมากในการดำเนินชีวิต
2. นายณัฐวุฒิ   พิกุลศรี อายุ 34 ปี อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร มีบุตร ๑ คน คือเด็กชายเกรียงศักดิ์ พิกุลศรี กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 นางบุญมี พิกุลศรี ผู้เป็นย่าเลี้ยงดูเพียงลำพัง ย่าที่อยู่ในวัยชราจึงต้องออกเก็บของเก่าหารายได้ประทังชีวิต และเลี้ยงดูหลาน  ต้องประสบกับความยากลำบาก บ้านที่อยู่อาศัยก็เป็นบ้านของญาติ
3. นายไมตรี พันธุ์คูณ อายุ 24 ปี อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร บิดามารดาอยู่ในวัยแก่ชรา สุขภาพไม่แข็งแรง ฐานะยากจน เมื่อนายจันทีถูกจับ บิดามารดาต้องทำงานในไร่นาทั้งหมดด้วยตัวเอง บ้านที่อยู่ก็ตั้งอยู่ห่างไกลชุมชน การสัญจรไปมาลำบาก
4. นายวิชัย อุสุพันธ์   อายุ 40 ปี อาชีพ คนขับสามล้อเครื่องรับจ้าง อยู่อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร บิดาในวัยชราต้องอยู่คนเดียว ขาดคนดูแล และต้องทำงานหนักด้วยการขี่สามล้อเครื่องรับจ้าง เพื่อหาเงินเลี้ยงตัวเอง และดูแลลูกชายที่อยู่ในเรือนจำ
5. นายทินวัฒน์ เมืองโคตร อายุ 24 ปี ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร กำลังศึกษาอยู่ ปวส.2 สาขาไฟฟ้ากำลัง ที่โรงเรียนเทคโนโลยีรักไทย จังหวัดมุกดาหาร เมื่อถูกจับกุมทำให้ไม่สามารถไปสอบในภาคเรียนที่ 1 และเรียนต่อในภาคเรียนที่ 2 ได้ บิดามารดาแก่ชรา และมีฐานะยากจน หาเลี้ยงชีพด้วยการทำไร่ถั่ว-ข้าวโพด และนำไปเร่ขาย  เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงดูหลานกำพร้า
6. นายไพรวัลย์ พรเพชร อายุ 39 ปี อาชีพรับจ้าง เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร มีฐานะยากจน หาเช้ากินค่ำ มีบุตร 2 คน แต่งงานมีครอบครัวแล้ว มีพี่ชายป่วยเป็นโรคตับ และมีอาการทางประสาทต้องดูแล แต่เมื่อนายไพรวัลย์ถูกจับกุมตัวไม่มีคนดูแลพี่ชาย ทิ้งเป็นภาระของเพื่อนบ้าน ญาติที่ไปทำงานอยู่ทางกรุงเทพฯ ต้องมารับตัวไปดูแล
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น