โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมชาวชุมชนพระราม 6 ร้อง ตร.ใช้ความรุนแรง ไล่รื้อชุมชน

Posted: 05 Apr 2011 02:37 PM PDT

เครือข่ายสลัม 4 ภาค ประณาม ตร.ใช้กำลังไล่รื้อชุมชนพระราม 6 ชี้ชาวบ้านเรียกร้องสิทธิของชุมชน พร้อมจี้ ผบ.ตร.สอบสวนเหตุการณ์ ขณะที่การจัดหาพื้นที่ใหม่ให้ชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟฟ้าสายสีแดงยังไม่ได้ข้อสรุป ชาวบ้านโดนตัดขาดทั้งน้ำ-ไฟ

 
 
 
 
 
วานนี้ (5 เม.ย.54) เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เครือข่ายสลัม 4 ภาค พร้อมด้วยชาวชุมชนพระราม 6 กว่า 100 คน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีการนำกำลังเข้าไล่รื้อชุมชนพระราม 6 เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ในที่ดินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อที่จะนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง จนเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจคอมมานโดกับชาวชุมชน ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายรายและชาวบ้านส่วนหนึ่งถูกจับกุมขุมขัง
 
นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ กรรมการบริหารเครือข่ายสลัม 4 ภาคกล่าวว่า การใช้กำลังไล่รื้อชุมชนควรหมดไปได้แล้วในสังคมไทย และการมายื่นหนังสือครั้งนี้เพื่อให้ทาง ผบ.ตร.สั่งการกับทุกหน่วยงานของกรมตำรวจ ไม่ให้ใช้กำลังเข้าดำเนินการกับชาวชุมชนอื่นๆ อีกในอนาคต
 
ส่วนนายถวัลย์ บุญธรรม ตัวแทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านชุมชนพระราม 6 ได้มีการเจรจากับร.ฟ.ท.มาตลอด จนได้ข้อยุติและทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันว่า ทาง ร.ฟ.ท.จะจัดหาพื้นที่ 5 ไร่ ให้ชาวบ้านเช่าอาศัยแทนพื้นที่เดิมที่จะมีการรื้อถอน แต่กลับยังไม่มีการทำสัญญาเช่าที่ และชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวได้เพราะมีชาวชุมชนเดิมอาศัยก่อนอยู่ก่อนแล้ว ทำให้ชาวบ้านชุมชนพระราม 6 ยังไม่ย้ายออกจากพื้นที่ จนมีการยื่นฟ้องต่อศาลขับไล่ชาวบ้าน ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่ และมีการบังคับคดี โดยมีการประสานให้ตำรวจเขามาดูแลการรื้อถอน
 
นายถวัลย์ กล่าวด้วยว่า ชาวบ้านชุมชนพระราม 6 ถูกทางตำรวจนำกำลังเข้ามาไล่รื้อชุมชน ได้รับผลกระทบกว่า 372 ครัวเรือน ซึ่งไม่ใช่ผลกระทบเล็กๆ และสายรถไฟยาวตลอดสาย ซึ่งจะมีชุมชนอีกหลายชุมชนต้องรับผลกระทบ หากมีการกระทำเช่นเดียวกันนี้จากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ
 
ขณะที่นางสิริพร สายเที่ยงแท้ อายุ 43 ปี ชาวชุมชนพระราม 6 ที่เดินทางมาร่วมพร้อมกับหลานสาววัย 4 ขวบ กล่าวให้ข้อมูลว่า หลังจากที่ได้มีการเดินเท้าไปที่พรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันศุกร์ที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้ชาวชุมชนยังประสบปัญหาเรื่องน้ำ ไฟ ที่โดนตัดไปแล้ว และรถสุขา โดยรถน้ำก็มาส่งน้ำให้หลังจากที่ได้เดินทางไปร้องเรียนแต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครเข้ามาให้ความช่วยเหลืออีก ถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบสัปดาห์แล้วที่ชาวชุมชนกว่าร้อยคนในชุมชนต้องอาศัยหลับนอนในเต็นท์ที่ได้รับการช่วยเหลือจากชาวบ้านชุมชนใกล้เคียงโดยไม่มีใครยื่นมือมาให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง
 
ส่วนเรื่องที่พื้นที่ใหม่ที่ชาวชุมชนจะย้ายไปพักอาศัยนั้น นางสิริพรกล่าวว่าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตัวแทนของชุมชนได้เข้าร่วมพูดคุกับตัวแทนของ ร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคม ได้ข้อสรุปให้ชาวชุมชนย้ายไปอาศัยในพื้นที่ชุมชนสีน้ำเงินซึ่งอยู่ตรงข้ามฝั่งคลอง ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโรงไม้แต่ได้มีการรื้อถอนไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่เมื่อชาวบ้านเข้าไปรังวัดที่เพื่อจัดสรรกลับมีปัญหาไม่ให้เข้าพื้นที่ เนื่องจากกรมโยธาจะทำการขุดลอกคลองและใช้พื้นที่ดังกล่าวทำแก้มลิง ในขณะที่กระทรวงคมนาคมก็บอกให้ชาวบ้านเข้าไปจัดสรรพื้นที่โดยระบุว่าไม่จำเป็นต้องทำสัญญาเพื่อเช่าที่ ทำให้ชาวชุมชนหวั่นเกรงว่าหากเขาไปตั้งบ้านเรือนแล้วในที่สุดก็จะถูกบังคับไล่รื้ออีก
 
“ที่ผ่านมาเหมือนเราถูกปิดกั้นจากความรับรู้ของผู้คนภายนอก ไม่มีใครมองเห็นเรา ไม่มีใครรับรู้ถึงความเดือดร้อนของเรา” นางสิริพรกล่าว            
 
ด้าน พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นตัวแทนรับเรื่อง กล่าวกับชาวชุมชนที่มาร้องเรียนว่า จะดูแลไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตามในกรณีนี้หากต่างฝ่ายต่างไม่ใช่ความรุนแรงก็จะไม่เกิดปัญหาการปะทะขึ้น ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จึงไม่สามารถบอกได้ว่าใครถูกผิด พร้อมให้ชาวชุมชนนำภาพเหตุการณ์มามอบให้เพื่อดูว่าการกระทำไหนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกินเหตุ และมีการปฏิบัติการอย่างไร
 
ทั้งนี้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ยังได้ออกแถลงการณ์ “หยุด! ใช้ความรุนแรงต่อการเรียกร้องสิทธิชุมชน” โดยระบุความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เนื่องจากการคัดค้านของชุมชนพระราม 6 เป็นการเรียกร้องเพื่อให้เกิดการเจรจาตามสิทธิชุมชนที่มีอยู่ และก่อนหน้านี้ได้ชาวบ้านมีข้อตกลงไว้เบื้องต้นที่จะย้ายออกจากที่อยู่อาศัยในวันที่ 3 เม.ย.54 แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้าดำเนินการใช้ความรุนแรงในการรื้อที่อยู่อาศัยของชาวชุมชนมือเปล่า อีกทั้งยังมีการใช้แก๊สน้ำตาจัดการกับชาวชุมชนที่ขัดขวางด้วย
 
แถลงการณ์ดังกล่าวประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิในการเรียกร้องด้านที่อยู่อาศัยของผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ซึ่งทางสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นประเด็นที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา อีกทั้งรัฐบาลเองได้มีนโยบายบ้านมั่นคงเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องใช้ความรุนแรงในการไล่รื้อชุมชน พร้อมเรียกร้องให้ พล.ต.อ.วิเชียร ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว และให้มีนโยบายว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงต่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยต่อไปในอนาคต
 
“เครือข่ายสลัม 4 ภาค จะขอติดตาม ตรวจสอบ ในการสอบสวนผู้สั่งการให้เกิดการกระทำในเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด” แถลงการณ์ระบุ
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศึกสองประธานาธิบดีในไอวอรี่โคสต์ ส่อแววยุติหลังฝรั่งเศสและยูเอ็นใช้กำลังเข้าแทรกแซง

Posted: 05 Apr 2011 01:34 PM PDT

ความรุนแรงทางการเมืองของไอวอรี่ โคสต์ซึ่งดำเนินมาเกือบปีอันเนื่องจากการอดีตประธานาธิบดีไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และใช้กำลังกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองเป็นเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตไปหลายร้อยคนกำลังจะสิ้นสุดลง โดยฝ่ายอดีตประธานาธิบดีขอเจรจายอมแพ้หลังถูกฝรั่งเศสและกองกำลังรักษาสันติภาพโจมตีวานนี้ 

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ทหารฝรั่งเศสร่วมกับกองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติได้ร่วมกันโจมตีฐานที่มั่นทางทหารของฝ่ายประธานาธิบดีบากโบ (Laurent Gbagbo) ขณะเดียวกัน กองกำลังฝ่ายของนายอลัสซาน อูอัตทารา ผู้นำซึ่งเป็นคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิดีของนายบากโบก็เปิดฉากโจมตีกรุงอาบิดจัน เมืองหลวงขอไอวอรี่โคสต์อีกระลอกหนึ่ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส นายอแลง จูปเป้ กล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสว่า การเจรจาเพื่อให้นายบากโบลงจากอำนาจนั้นกำลังจะสำเร็จ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่สอดคล้องกับโฆษกส่วนตัวของนายบากโบที่ยอมรับว่ามีการเจรจาเกิดขึ้น โดยอยู่บนพื้นฐานของการยอมรับว่านายอูอัตทาราเป็นประธานธิบดี

โฆษกส่วนตัวของนายบากโบกล่าวด้วยว่า ข้อต่อรองเพื่อแลกกับการยุติการใช้กำลังของฝ่ายอดีตประธานาธิบดีบากโบคือการรับประกันความปลอดภัยของตัวเขาและผู้เกี่ยวข้อง

องค์การสหประชาชาติเผยว่าผู้บัญชาการทหาร ผู้บัญชาการตำรวจ และผู้บัญชาการหน่วยรักษาความปลอดภัยแห่งสาธารณรัฐได้ยอมเปิดการเจรจาแล้ว

ทั้งนี้ นายบากโบเป็นอดีตประธานาธิบดีของสาธารณรัฐไอวอรี่ โคสต์ ซึ่งแพ้การเลือกตั้งให้กับนายอลัสซาน อูอัตทารา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม อดีตประธานาธิบดีผู้นี้ปฏิเสธที่จะลงจากอำนาจและไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง พร้อมทั้งใช้กำลังทางทหารปราบปราบฝ่ายต่อต้านซึ่งสนับสนุนผลการเลือกตั้ง และสนับสนุนผู้นำคนใหม่คือนายอลัสซาน อูอัตทารา (Alassane Ouattara) อย่างรุนแรง

องค์การสหประชาชาติระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามโดยใช้กองกำลังทหารไปจำนวนมากกว่า 500 คน และประชาชนอีกราว 1 ล้านคนต้องละทิ้งบ้านเรือน

ผู้สื่อข่าวบีบีซีตั้งข้อสังเกตว่าบรรยากาศภายในเมืองหลวงผ่อนคลายลงอย่างมากภายหลังข่าวการเจรจายุติการต่อสู้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนกว่า 4 ล้านคนยังคงต้องหลบอยู่ภายในที่พักอาศัยและเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร น้ำ และไฟฟ้า อันเป็นผลมาจากการการปะทะกันตลอดวันที่ผ่านมา

นายนิโคลัส ซาร์โกซี ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสกล่าวว่า ฝรั่งเศสในฐานะอดีตเจ้าอาณานิคมจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงสถานการณ์ในไอวอรี่ โคสต์ซึ่งกำลังเลวร้ายถึงขีดสุดเพื่อปกป้องชีวิตของพลเรือนผู้บริสุทธิ์และทำลายศักยภาพของกองกำลังฝ่ายที่สวามิภักดิ์ต่อบากโบให้หมดสิ้น

เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุว่ามีคนไทยอยู่ในไอวอรี่ โคสต์ 2 ราย และกำลังตรวจสอบว่าต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยหรือไม่

ไอวอรี่ โคสต์ เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา มีพรมแดนทิศตะวันตกติดกับประเทศกินี และประเทศไลบีเรีย ทิศเหนือติดกับประเทศมาลี และประเทศบูร์กินาฟาโซ ทิศตะวันออกติดกับประเทศกานา ทิศใต้ติดกับอ่าวกินี และเคยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในระหว่างปี ค.ศ. 1889-1944

อดีตประธานาธิบดีบากโบ ปัจจุบันอายุ 65 ปี เข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2543



เล่าปูมหลังวิกฤตการณ์ในไอวอรี่ โคสต์ (Côte d’ivoire) โดยปิยบุตร แสงกนกกุล

Côte d’ivoire จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม และ 28 พฤศจิกายน ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดี ลอกมาจากฝรั่งเศส คือ มีการเลือกตั้งสองรอบ รอบแรก หากผู้สมัครคนใดได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ก็ให้คนนั้นได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่ถ้าไม่มีรายใดได้เกินกึ่งหนึ่ง ก็ต้องมีการเลือกตั้งรอบที่สอง โดยนำผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 1 และ 2 มาชิงกัน

การเลือกตั้งรอบที่สองเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน เป็นการชิงดำระหว่าง Laurent Gbagbo ประธานาธิบดี กับ Alassane Ouattara

ระหว่างการหาเสียง มีการก่อการจลาจลกันหลายจุด มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ กลุ่มนักศึกษาที่สนับสนุน Alassane Ouattara ออกมาชุมนุมและช่วยรณรงค์หาเสียง ก็ถูกกองกำลังเข้าทำร้าย บาดเจ็บ ล้มตาย วันที่ 27 พฤศจิกายน ก่อนการลงคะแนนเสียงรอบที่ 2 ได้หนึ่งวัน ประธานาธิบดี Laurent Gbagbo ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ก็ยิ่งทำให้ฝ่ายสนับสนุน Alassane Ouattara ออกมาคัดค้าน เพราะมองว่า เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน Laurent Gbagbo ก็ยิ่งสามารถใช้กลไกรัฐให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองเองในการเลือกตั้งได้

วันที่ 2 ธันวาคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศผลให้ Alassane Ouattara ชนะ ด้วยคะแนน ร้อยละ 54.1 ในขณะที่ Laurent Gbagbo ได้ไปร้อยละ 45.9

Alassane Ouattara รู้ดีว่า Laurent Gbagbo มีกองกำลังหนุนหลังจำนวนมาก ทั้งกองทัพ และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญอีกด้วย จึงรีบชิงประกาศชัยชนะตัดหน้า พร้อมกับตั้ง Guillaume Soro เป็นนายกรัฐมนตรีทันที

นอกจากนี้ Alassane Ouattara ยังรีบหาแนวร่มจากประชาคมระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหประชาชาติที่ส่ง เข้าไปเป็นผู้แทนเพื่อสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ต่างยอมรับว่า Alassane Ouattara ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม เป็นไปดังที่ Alassane Ouattara คาดเดาไว้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (ซึ่งเป็นพวกของ Laurent Gbagbo เสียส่วนใหญ่) โดย Paul Yao N’Dré ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญออกมาประกาศเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ให้ Laurent Gbagbo เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนร้อยละ 51.45 ส่วน Alassane Ouattara ได้ไปร้อยละ 48.55

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้เพิกถอนผลคะแนนการเลือกตั้งใน 7 จังหวัดทางตอนเหนือของประเทศ (ซึ่งกลุ่ม Forces nouvelles อดีตกบฏ เมื่อปี 2002 ยึดครองอยู่ และกลุ่มนี้ให้การสนับสนุน Alassane Ouattara ) โดยให้เหตุผลว่า การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างร้ายแรงและจำนวนมากที่ทำให้ผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามปกติและไม่เป็นไปตามความเป็นจริง อันขัดกับหลักการเลือกตั้งโดยเสรี ทั่วไป และลับ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังอ้างอีกด้วยว่า ผู้ลงคะแนนเสียงถูกข่มขู่บังคับให้ลงคะแนนเสียงให้กับ Alassane Ouattara

Laurent Gbagbo รีบแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งทันที พร้อมทั้งให้กองทัพออกมาหนุนตนเอง ในขณะที่ Alassane Ouattara ก็สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเหมือนกันในวันที่ 4 ธันวาคม โดยทำเป็นหนังสือ

ในขณะที่ประชาคมระหว่างประเทศก็ออกมาเรียกร้องให้ Laurent Gbagbo ยอมรับผลการเลือกตั้งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้ Alassane Ouattara ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี เพื่อให้ประเทศได้เดินหน้าต่อได้

สถานการณ์ใน Côte d’ivoire จึงตึงเครียดเป็นอย่างมาก ด้วยเกรงว่า หากทั้งสองฝ่ายยังไม่ยอมกัน กองทัพจะถือโอกาสออกมารัฐประหาร สหภาพแอฟริกาจึงส่งตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่คนกลางช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย

Côte d’ivoire เป็นประเทศที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่สามารมีการเลือกตั้งที่โปร่งใสได้เสียที การเลือกตั้งประชาธิปไตยมีครั้งแรกเมื่อปี 1990 ปรากฏ ครั้งนั้น Félix Houphouët-Boigny แข่งกับ Laurent Gbagbo ซึ่งได้ไป ร้อยละ 18.5 ก็สงสัยกันว่า มีการทุจริตการเลือกตั้งเพื่อให้ Félix Houphouët-Boigny ได้เป็นประธานาธิบดี

ปี 1995 Alassane Ouattara ลงสมัคร แต่ก็ถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่มีคุณสมบัติเพราะพ่อและแม่ไม่ได้มีสัญชาติไอวอเรียน Ouattara กับ Gbagbo รวมหัวกัน ตัดสินใจบอยคอตต์ไม่ลงสมัคร ทำให้ Henri Konan Bédié ได้เป็นประธานาธิบดีไปด้วยคะแนนร้อยละ 95

ตุลาคม 2000 Alassane Ouattara ถูกห้ามลงสมัครอีกตามเคย เพราะขาดคุณสมบัติเนื่องจากพ่อเป็นคนไอวอรี่โคสต์ที่เกิดที่บูร์กินาฟาโซ ในขณะที่ Henri Konan Bédié ก็หมดสิทธิรับสมัคร เพราะ ลี้ภัยอยู่ฝรั่งเศส ไม่ได้เข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนสมัคร ผลสุดท้าย Laurent Gbagbo ชนะการเลือกตั้งไป

ในปี 2002 มีการกบฏในภาคเหนือโดยกลุ่ม Forces nouvelles แม้ Laurent Gbagbo ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครบวาระ แต่ก็อาศัยรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งต่อไปเรื่อยๆ เพราะมีเหตุการณ์ไม่สงบ อันไม่อาจทำให้มีการเลือกตั้งตามปกติได้ สุดท้าย มีการลงนามข้อตกลงกันเมื่อปี 2007 แต่งตั้ง Guillaume Soro หัวหน้ากลุ่มกบฏเป็นนายกรัฐมนตรี และกำหนดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งโปร่งใส ยุติธรรม ในปี 2010

การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้งบประมาณมหาศาล ประชาคมระหว่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์จำนวนมาก แต่แล้ว... ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ ไปๆมาๆ ได้ประธานาธิบดีมาสองคน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: ชาวบ้านหลั่งน้ำตา ราชการออกใบอนุญาต ทิ้งผลกระทบการสร้างโรงไฟฟ้าให้ ปชช.

Posted: 05 Apr 2011 11:17 AM PDT

เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมหนองแซง-ภาชี พ้อหน่วยราชการออกใบอนุญาตแล้วทิ้งประชาชนเผชิญชะตากรรม รับผลกระทบโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ จวกอุตสาหกรรมจังหวัดทำได้แค่รับเรื่อง บริษัทฯ ไม่ส่งคนเข้าร่วม สรุปนัดตัวแทนทุกหน่วยงานลงพื้นที่ 8 เม.ย.นี้

 
1 เม.ย.54 เวลา 14.00 น.ห้องประชุมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมกรุงเทพฯ นั่งเป็นประธาน เปิดการประชุม รับเรื่องร้องเรียนจากเครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมหนองแซง-ภาชี ที่ร้องเรียนว่า บริษัทเจ้าของโรงไฟฟ้าหนองแซง กำลังการผลิต 1600 เมกกะวัตต์ คือ บริษัทเพาเวอร์เจเนอเรชั่นซัพพลาย จำกัด ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กัลฟ์ เจพี เอนพีเอส ได้ว่าจ้างผู้รับเหมา ทำการปรับถมที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซงตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2554 ตามที่ได้รับใบอนุญาตเมื่อปี 2553 จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามการพิจารณาเบื้องต้นของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้สร้างผลกระทบต่อชาวบ้าน
 
ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เครือข่ายอนุรักษ์วิถีเกษตรกรรมนำโดยนายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี และนางปฐมมน กัณหา พร้อมชาวบ้านประมาณ 20 คน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ตัวแทนจากกรมโรงงาน กรุงเทพฯ ตัวแทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ หรือ สผ.(ผู้อนุมัติ อีไอเอ) ผู้อำนวยการฝ่ายออกใบอนุญาตสำนักงานคณะกรรมกำกับกิจการพลังงาน และตัวแทนจากสำนักงานกำกับกิจการพลังงานเขตสระบุรี
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ไม่ใช่การประชุมตรวจการปฏิบัติตามอีไอเอ เพราะบริษัทผู้ปฏิบัติไม่มาร่วมประชุมด้วยจึงไม่สามารถตรวจการปฏิบัติตามอีไอเอได้ เพราะต้องฟังบริษัทชี้แจงด้วย
 
ด้านอุตสาหกรรมจังหวัดระบุว่าการประชุมครั้งนี้สืบเนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่ราชการทั้งหมดไปประชุมตรวจการปฏิบัติตาม อีไอเอ ของโรงฟ้า 2 โรงในเครือบริษัทกัลฟ์ฯ คือที่โรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 อ.แก่งคอย มาเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ และได้ทำจดหมายเชิญตัวแทนชาวบ้านหนองแซงไปตรวจอีไอเอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซงซึ่งมีเจ้าของเดียวกัน ที่ห้องประชุมโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 แต่เครือข่ายชาวบ้านไม่ไป โดยให้เหตุผลว่าสถานที่ไม่เป็นกลาง และเกรงบริษัทถ่ายรูปชาวบ้านไปลงจุลสารของบริษัทเหมือนที่บริษัทเคยทำมาแล้วตอนที่ตุลาการศาลปกครองลงเผชิญสืบในพื้นที่เมื่อปีที่แล้ว เพื่อโฆษณาว่าบริษัทสามารถทำความเข้าใจกับกลุ่มคัดค้านได้แล้ว อุตสาหกรรมจังหวัดจึงยินยอมมาเปิดประชุมที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด
 
ชั่วโมงแรกของการประชุมเริ่มต้นด้วยการปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมรวมทั้งเจ้าหน้าที่ทรัพยากรจังหวัด และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และตัวแทนจากกำกับกิจการพลังงานเขตสระบุรี ต่อข้อร้องเรียนของชาวบ้าน
 
ในส่วนหนังสือของสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน กทม.ตอบการร้องเรียนของชาวบ้านว่า ให้อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติตาม อีไอเอ แต่เมื่อชาวบ้านสรุปปัญหาความเดือดร้อน และผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างถึงรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้ถูกกำหนดไว้ให้ผู้ก่อสร้างปฏิบัติ แต่ไม่มีการติดตามตรวจสอบได้เพราะไม่มีใครมาตรวจและไม่มีบทลงโทษถ้าไม่ปฏิบัติตาม อีไอเอ
 
ขณะที่อุตสาหกรรมจังหวัดบอกในที่ประชุมว่า ตัวเองไม่มีอำนาจในการตรวจสอบเรื่องที่บริษัททำรั้วปิดกั้นทางเดินคันคูน้ำสาธารณะและทางสาธารณะในที่ดินของโรงไฟฟ้า และแนะให้ชาวบ้านไปแจ้งความกับตำรวจและไปที่กรมที่ดิน หรือ อบต.ร้องเรียนเพราะเป็นหน่วยงานดูแลเรื่องที่ดินสาธารณะ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านได้ตั้งตำถามถึง สผ.ว่าหากไม่มีการทำการสำรวจเรื่องคูน้ำสาธารณะใน อีไอ เอ ถือว่า อีไอเอ เท็จหรือไม่ พร้อมกับท้าให้เจ้าหน้าที่ราชการทั้งหมดไปดูที่พื้นที่ในวันนี้เพื่อให้เห็นกับตาว่า บริษัทล้อมรั้วปิดกั้นทางสาธารณะจริง เจ้าหน้าที่ สผ.จึงได้แย้งชาวบ้านว่าที่ทางสาธารณะนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยยกกรณีนิคมอุสาหกรรมสมุทรสาครซึ่งเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมได้จ่ายเงินเพื่อเปลี่ยนทางเดินหรือลำน้ำสาธารณะโดยชาวบ้านยินยอมรับค่าชดเชย
 
จากนั้น ในเวลาประมาณ 16.30 น.ประธานในที่ประชุมสรุปเรื่องร้องเรียน 8 เรื่อง และนัดให้หน่วยราชการที่มาประชุมในวันนี้มาลงดูพื้นที่ ในวันที่ 8 เมษายน 2554 โดยนัดพบชาวบ้านเวลา 10.00 ที่วัดธรรมสินธุ์โสภา ฝั่ง ต.หนองน้ำใส อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่ริคลองระพีพัฒน์ติดกับที่ดินที่บริษัทกำลังทำบ่อน้ำขนาดใหญ่
 
ก่อนปิดการประชุม นางปฐมมน กัณหา กล่าวทั้งน้ำตาว่าไม่นึกว่าชาวบ้านจะต้องมาอยู่ในสภาพถูกทอดทิ้งเช่นนี้
พวกชาวบ้านพยายามรักษาแผ่นดินของปู่ย่าตายายแต่ก็ต้องมาเผชิญกับการไม่ได้รับการคุ้มครองจากข้าราชการที่กินเงินเดือนจากภาษีของชาวบ้าน วันนี้แทนที่จะมีการแก้ไขปัญหา พวกหน่วยราชการกลับโยนความรับผิดชอบกันไปมา ไล่ชาวบ้านไปแจ้งความใหม่
 
“ขอให้พี่น้องพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศอย่ายินยอมให้มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงฟ้าได้เป็นอันขาด เพราะหน่วยงานออกใบอนุญาตไม่มีความรับผิดชอบแม้แต่น้อย โยนให้หน่วยงานอื่น” นางปฐมมน กล่าวทิ้งท้าย 
 
สรุปเบื้องต้น 8 เรื่องที่ บริษัทก่อผลกระทบต่อชุมชน คือ 1.บริษัทรับเหมา ปรับพื้นที่ของบริษัทเพาเวอร์เจเนอเรชั่น ตัดต้นไม้ที่เป็นพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งในที่ดินบริษัท ออกทั้งหมด ตั้งแต่เดือน มกราคม ต่อ กุมภาพันธ์ 2554 ผิดจากอีไอเอของบริษัทเองที่ระบุว่าจะตัดต้นไม้ใหญ่ที่เป็นที่ทำรังวางไข่ของนกปากห่างในช่วงหน้าแล้งคือตั้งแต่เมษายนไป การตัดต้นไม้ที่เป็นที่อยู่ของนกปากห่างตั้งแต่มกราคม ทำให้นกไม่มีที่ทำรังวางไข่ 2.บริษัทใช้รถแบคโฮหลายคัน และรถสิบล้อหลายคัน ทำงานตั้งแต่ ตี 4 ถึง 4 ทุ่ม สร้างความรบกวนทางเสียงและฝุ่นควันให้กับชาวบ้านที่อยู่โดยรอบ ซึ่งในอีไอเอ บริษัทเขียนไว้ว่า จะทำงานเฉพาะช่วงกลางวัน
 
3.รถบรรทุกดินของบริษัทที่บรรทุกดินเข้า-ออก จากพื้นที่ ไม่มีการปิดคลุมมิดชิด กันดินร่วงหล่นหรือฟุ้งกระจาย ผิดจากที่ในอีไอเอเขียนไว้ 4.การก่อสร้างบ่อน้ำขนาดใหญ่สำหรับสำรองน้ำไว้ใช้ในพื้นที่ฝั่งอำเภอภาชี มีการล้อมรั้วปิดกั้นทางเดินบนคันคูน้ำที่ชาวบ้านเรียกว่าร่องหนูสำหรับส่งน้ำเข้านาชาวบ้าน ปิดกั้นทางเดินสาธารณะที่ชาวบ้านใช้ร่วมกัน และยื่นขอเปลี่ยนทางเดินสาธารณะ และคลองร่องหนู โดยไม่สนใจสำรวจความคิดเห็นจากชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์จริง 5.สูบน้ำจากบ่อในพื้นที่ของบริษัทฯ ออกมาใส่คลองชลประทานโดยไม่รู้ว่าเป็นน้ำกร่อย และไม่บอกชาวบ้าน ทำให้ชาวนาบางรายสูบน้ำจากคลองที่บริษัททิ้งน้ำใส่นาข้าวทำให้ข้าวตายเพราะโดนน้ำกร่อย
 
6.ในอีไอเอ ระบุว่า บริษัทรับเหมาจะควบคุมคนงานก่อสร้างไม่ให้ออกมา จับสัตว์น้ำ หรือขโมย ผัก ผลไม้ชาวบ้าน แต่มีการว่ายน้ำมาขโมยสายบัว, ขโมยมะม่วง, ตกปลาในคลองสาธารณะทุกวันซึ่งเป็นการแย่งใช้ทรัพยากรของชุมชนจากคนงาน (ในอีไอเอ ระบุว่าช่วงก่อสร้างจะมีคนงานสูงสุด 4000 คน) 7.คนงานก่อสร้างร้านค้าริมถนนบนคันคลองชลประทาน ทำให้ถนนแคบลง การสัญจรของชาวบ้านลำบากขึ้น
 
8.อบต.หนองกบ เจ้าของพื้นที่และเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ตามที่บริษัทฯ ระบุไว้ใน อีไอเอ ชาวบ้านไม่ไว้วางใจเพราะคนในครอบครัว นายก อบต.เป็นคู่กรณีคดีทำร้ายร่างกายที่สมาชิกเครือข่ายอนุรักษ์ถูกกล่าวหาต้องขึ้นศาลอยู่ในขณะนี้ (คดีฟ้องพยายามฆ่า) และ อบต.หนองกบ ไม่เปิดเผยข้อมูลเอกสารที่ได้อนุญาตให้ บริษัทรับหมาขุดดินถมดินในพื้นที่ที่เครือข่ายอนุรักษ์ร้องขอ
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กฎหมาย "ป.ป.ช." ใหม่ อำนาจล้นฟ้า สั่งแสดงธุรกรรมการเงิน-หยุดนับอายุความ

Posted: 05 Apr 2011 09:45 AM PDT

เมื่อวันที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2554 มติชนออนไลน์ เผยแพร่รายงานข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า นายกรัฐมนตรีได้นำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .. ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อลงพระปรมาภิไธยไปตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ซึ่งตามปกติจะใช้เวลาราว 10 วัน ถึงจะมีการโปรดเกล้าฯ จึงคาดว่าน่าจะประกาศใช้ไม่เกินกลางเดือนเมษายนนี้ โดยร่างกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ มีเนื้อหาหลายส่วนน่าสนใจ อาทิ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบธุรกรรมการเงินผู้ถูกกล่าวหาได้ สั่งให้แสดงบัญชีทรัพย์สินในต่างประเทศและที่อยู่ในการครอบครองของผู้อื่น กำหนดให้การมีผลประโยชน์ทับซ้อนถือเป็นความผิดฐานทุจริต ให้หยุดนับอายุความในคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี ฯลฯ

มติชนออนไลน์ รายงานว่า เนื้อหาในร่างกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ได้ปิดจุดอ่อนจากการปฏิบัติงานของ ป.ป.ช.ในอดีตทั้งกรณีคดีของ นายศักดาพินิจ ณรงค์ชาติโสภณ อดีตผู้ช่วยและรองกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่ปล่อยให้เจ้าตัวหลบหนีจนคดีขาดอายุความ นอกจากนี้ ยังได้รับอิทธิพลจากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานร่ำรวยผิดปกติ รวมถึงคำพิพากษาคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ จึงมีการเพิ่มอำนาจหน้าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไว้หลายประการ เริ่มตั้งแต่แก้ไขนิยามคำว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองŽ ให้ครอบคลุมถึงผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

"มีการให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการในระดับต่ำกว่าที่ร่วมกระทำผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (มาตรา 19) เข้าถึงข้อมูลทางการเงินของผู้ถูกกล่าวหา (มาตรา 25/1) ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยให้รวมถึงทรัพย์สินและหนี้สินที่อยู่ในต่างประเทศ และมอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม (มาตรา 32) ให้ตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินหรือการได้มาซึ่งทรัพย์สินและหนี้สินที่ปรากฏพฤติการณ์ว่ามีการถือครองทรัพย์สินแทน (มาตรา 37/2) มีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติไว้ชั่วคราวได้ (มาตรา 38) หยุดนับอายุความหากผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีระหว่างถูกดำเนินคดี (มาตรา 74/1) ขยายเวลายื่นคำร้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐร่ำรวยผิดปกติ จากเดิมพ้นจากตำแหน่งไม่เกิน 2 ปีเพิ่มเป็น 5 ปี (มาตรา 75) กำหนดให้การฝ่าฝืนบทบัญญัติในหมวด 9 การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม เป็นความผิดฐานทุจริต (มาตรา 103/1) นอกจากนี้ ยังเพิ่มบทกำหนดโทษ กรณีเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 123/1)Ž แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวต่อว่า ยังมีบทบัญญัติใหม่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่เคยมีมาก่อน อาทิ อำนาจในการออกมาตรการคุ้มครองผู้กล่าว ผู้เสียหาย ผู้ทำคำร้อง ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ให้ถ้อยคำ หรือผู้แจ้งเบาะแส โดยให้บุคคลเหล่านั้นสามารถยื่นคำร้องเพื่อขอรับค่าตอบแทนเท่าที่จำเป็น (มาตรา 103/2) ให้สินบนแก่ผู้แจ้งเบาะแส (มาตรา 103/3) อำนาจในการกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด แต่ให้ถ้อยคำ แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยชี้มูลคดีไว้เป็นพยานได้ (มาตรา 103/4) ซึ่งคล้ายกับอำนาจที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มี นอกจากนี้ ยังเพิ่มหมวด 9/2 ว่าด้วยการแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช.จังหวัด เพื่อมาช่วยงานกรรมการ ป.ป.ช.ส่วนกลางด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: อิตัลไทยฯ เปิดฉากปะทะกับชาวบ้าน รับเวทีเข็น ‘อีเอชไอเอ’ เหมืองโปแตชอุดรฯ

Posted: 05 Apr 2011 09:37 AM PDT

รายงานสถานการณ์ เวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เหมืองโปแตชอุดรฯ เอา อพปร.กันชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีไม่ให้เข้าร่วม จนเกิดปะทะทำชาวบ้านหมดสติ 1 ราย ก่อนย้ายเวทีจากหอประชุมไปกลางสวน

วันนี้ (5 เม.ย.54) เวลาประมาณ 7.00 น.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีราว 30 คน ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี และมีจุดยืนคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตซอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี ได้เดินทางมาเพื่อเข้าร่วมเวทีจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Scoping) เพื่อกำหนดขอบเขตงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ที่บริษัทเอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัท อิตตาเลี่ยนไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัดจัดขึ้น ณ หอประชุมสำนักงานเทศบาลโนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี แต่ถูกหน่วยอาสาสมัครรักษาความปลอดภัย (อพปร.) พร้อมด้วยกลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 50 คนพร้อมโล่และกระบองตั้งแถวกันไม่ให้เข้าโดยอ้างว่าไม่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมไว้ล่วงหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดการยื้อยุดกัน โดยกลุ่มชาวบ้านพยายามที่จะเข้าร่วมเวทีดังกล่าวให้ได้ จนเกิดการปะทะกันรุนแรงมากขึ้น ในระหว่างชุลมุนได้มีชายฉกรรจ์คนหนึ่งซึ่งคาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของบริษัทอิตาเลียนไทย ใช้ไม้ยาวฟาดลงมาท่ามกลางกลุ่มชาวบ้านอย่างแรงโดนศีรษะของนางหนูพิณ อันสา อายุ 42 ปีชาวบ้านจากบ้านสังคม หมู่ 11 เข้าอย่างจังจนเป็นลมหมดสติ ต้องเรียกหน่วยกู้ภัยนำตัวส่งโรงพยาบาลกุมภวาปีอย่างเร่งด่วน
 
เวลาต่อมาชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ซึ่งสวมเสื้อเขียวเป็นส่วนใหญ่ได้ทยอยเดินทางมายังที่ประชุมอย่างต่อเนื่องจนสามารถรวมตัวกันได้กว่า 700 คนและเริ่มตั้งขบวนเพื่อต่อรองขอเข้าไปในที่ประชุมให้ได้จนเวลาประมาณ 08.30 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ทยอยกันมาเพิ่มขึ้นจนสามารถผ่านด่านรักษาความปลอดภัยของ อปพร. และชายฉกรรจ์ดังกล่าวเข้าไปในห้องประชุมได้จนเต็มห้องประชุม ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งรุดมาควบคุมสถานการณ์เกรงว่าความขัดแย้งจะบานปลาย
 
จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.กลุ่มอนุรักษ์ฯ เข้าไปนั่งในห้องประชุมจนล้นห้องประชุมออกมา เป็นเหตุบริษัทตัดสินใจเคลื่อนย้ายผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนหนึ่งประมาณ 100 คน เข้าไปในสวนย่อมในเกาะที่มีสระน้ำล้อมรอบทั้งสามด้านมีถนนทางเข้าด้านเดียว และ ให้เจ้าหน้าที่ อปพร.กว่า 50 คนตั้งแถวกันไม่ให้กลุ่มคัดค้านเข้าไปได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกประมาณ 50 นายตั้งแถวป้องกันไว้ในแนวถนนอีกด้านหนึ่ง กลุ่มอนุรักษ์ฯ พยายามต่อรองเพื่อจะเข้าไปร่วม และเคลื่อนขบวนไปประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ระหว่างมีการเจรจาต่อรองขอเข้าร่วมของกลุ่มอนุรักษ์ บริเวณสวนหย่อมกลางน้ำ ดร.สิรินิมิตร บุญยืน กรรมการบริหารของบริษัททีมฯ ได้นำเสนอขั้นตอนและระยะเวลาในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพซึ่งจะใช้เวลาดำเนินการศึกษา 10 เดือนซึ่งได้มีการคัดกรองข้อมูลเบื้องต้นแล้ว อย่างไรก็ตามบรรยากาศการประชุมในสวนหย่อมกลางน้ำนั้นชาวบ้านที่เข้าร่วมนั่งพื้นที่ยืนและมีอาการละล้าละลังและทยอยกลับออกไปเรื่อยๆ
 
จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น.กลุ่มชาวบ้านที่อยู่รอบๆ ได้พยายามต่อรองกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอเข้าไปแต่ไม่เป็นผลสำเร็จจึงพยายามจะยื้อกันอีกครั้งแต่ไม่เกิดเหตุรุนแรงใดๆ ส่วนผู้เข้าร่วมประชุมภายในเกาะได้สลายตัวไปในที่สุดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามกันไม่ให้ทั้งสองกลุ่มปะทะกันจึงไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอีกแต่อย่างใด
           
นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเปิดเผยว่า เวทีครั้งนี้เป็นเรื่องการสร้างภาพของบริษัทตามปกติซึ่งทำเช่นนี้มาตลอดสิบปีที่ผ่านมา และบริษัททีมฯ ซึ่งรับจ้างบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ทำอีเอชไอเอ ครั้งนี้ก็เป็นบริษัทเดียวกันที่เคยทำรายงาน อีไอเอ ฉบับเก่าที่ผ่านความเห็นชอบของ คณะกรรมการชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไปแล้วเมื่อปี 2543 ซึ่งต่อมาได้ รมต. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แต่งตั้งกรรมการทบทวน รายงานดังกล่าวและพบว่ามีข้อบกพร่องจนไม่อาจจะยอมรับได้ 26 ประเด็น และทำให้เดือดร้อนขัดแย้งมาจนปัจจุบัน ใช่ว่าเวลาผ่านไปสิบปีแล้วชาวบ้านจะลืมถึงต้นเหตุของความรุนแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้น วันนี้บริษัทก็เริ่มต้นอีเอชไอเอครั้งใหม่โดยการทำให้ชาวบ้านบาดเจ็บไปคนหนึ่ง และวันนี้ผู้เสียหายได้ไปแจ้งความดำเนินคดีที่ สภอ.เมือง อุดรธานี เพื่อเอาผิดกับผู้ก่อเหตุให้ถึงที่สุด นางมณีกล่าว
 
ด้านนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เรื่องเหมืองโปแตซอุดรธานีนั้นมันแดงขึ้นมาจากการทำรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ทำโดยบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการไปเมื่อปี 2543 แต่ต่อมาได้มีการแต่ตั้งคณะกรรมการทบทวนอีไอเอดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีข้อบกพร่องจนต้องประกาศยกเลิกไป และมีการทำเพิ่มเติมหลายครั้งโดยหลายบริษัท รวมทั้งสถาบันวิชาการ
 
นายเลิศศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ครั้งนี้เป็นความพยายามครั้งที่ 4 ในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยบริษัทอิตาเลียนไทยฯ อ้างว่าเป็นการดำเนินการตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 แต่ในความเป็นจริงแล้วขณะนี้โครงการเหมืองแร่โปแตซอุดรธานี ไม่ได้จัดเป็นโครงการรุนแรงที่จะต้องทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ การทำอีเอชไอเอครั้งนี้จึงเป็นการยอมรับว่าโครงการนี้มีความรุนแรง และตนเห็นว่า บริษัทไม่ได้ยอมรับเช่นนั้นแต่ต้องการอาศัยหลักการรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างความชอบธรรมในการจัดเวทีสาธารณะซึ่งบริษัทไม่เคยจัดได้ หรือได้รับการยอมรับตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา       
 
“มันเหมือนวนอยู่ในวงเวียนของความขัดแย้ง การรังวัดที่ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่กล้าจะปิดประกาศ ดังนั้นจึงยังไม่ใช่ขอบเขตเหมือง แต่จ้างบริษัทที่ปรึกษาทำอีเอชไอเอ ซึ่งทำโดยบริษัทเอกชนซึ่งมีกรณีขัดแย้งกับชาวบ้านมานาน” นายเลิศศักดิ์ กล่าว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายนักศึกษา จี้ล้ม “เวทีรับฟังความเห็น” โครงการเหมืองโปแตซอุดรฯ

Posted: 05 Apr 2011 08:48 AM PDT

เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทย ออกแถลงการณ์จวกรัฐร่วมทุนช่วงชิงทรัพยากรชุมชน บังคับใช้กฎหมายเสมือน “โจรปล้นแผ่นดินของประชาชน” ประกาศจุดยืนล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการเหมือง

 
วันนี้ (5 เม.ย.54) ที่เทศบาลตำบลโนนสูง จ.อุดรธานี เครือข่ายนักศึกษาเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยุติการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยสาธารณะ (Public Scoping) โครงการเหมืองแร่โปแตซ ของบริษัทเอเชียแปซิกฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ร่วมกับบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด ซึ่งมีขึ้นในวันเดียวกันนี้ พร้อมระบุให้หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องหยุดการดำเนินงานใดๆ ในพื้นที่ จนกว่าจะกลับไปทบทวนถึงผลดีผลเสียของการสร้างเหมืองผ่านกระบวนของสิทธิชุมชนอย่างแท้จริง และให้หยุดการสร้างความแตกแย้งในชุมชนผ่านการใช้อำนาจเงิน
 
นายวงศกร สารปรัง นักศึกษาในเครือข่ายนักศึกษาเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทยกล่าวว่า เวทีครั้งนี้ไม่มีความชอบธรรม อีกทั้งกระบวนการยังไม่ชอบมาพากลตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 ต.ค.53 จ.อุดรธานี เคยมีการเวทีประชุมเรื่องการขออนุญาตประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 และการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ภายใต้รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรค 2 เพื่อเป็นการชี้แจงการจัดทำรายงานศึกษาสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) โครงการเหมืองแร่โปแตซในภาคอีสาน ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่ถัดจากเวทีนั้นก็มีการเร่งรีบทำการปักหมุดรังวัดขอบเขตเหมืองแร่ในพื้นที่ขอสัมปทานโครงการฯ
 
นายวงศกรกล่าวต่อมาว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้คัดค้านโครงการมาโดยตลอด โดยระบุว่าต้องมีการชี้แจงก่อนจะมีการดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ ซึ่งทางบริษัทฯ กลับอ้างถึงเวทีเพื่อชี้แจงการจัดทำรายงานศึกษาสิ่งแวดล้อมฯ ว่าเป็นเวทีเพื่อปักหมุดรังวัดขอบเขตเหมืองแร่ในพื้นที่ขอสัมปทานโครงการฯ ดังนั้น จึงไม่ต้องการให้จัดเวทีที่ไม่ชอบธรรม และไม่มีการชี้แจงที่เป็นจริงเช่นนี้
 
นายวงศกร ให้ข้อมูลด้วยว่าโดยข้อเท็จจริงตามกฎหมายแร่ หรือตามประกาศโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 67 วรรค 2 ไม่จำเป็นต้องจัดเวทีรับฟังความเห็นในเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เนื่องจากว่ากรณีเหมืองใต้ดินที่มีเสาค้ำยัน (โครงการเหมืองแร่โปแตซ) ไม่จัดอยู่ในโครงการรุนแรงตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงมองได้ว่าทางบริษัทฯ กำลังสอดแทรกการทำประชาคม โดยใช้วิธีให้ชาวบ้านไปร่วมรับฟัง และยกมือสนับสนุนเพื่ออ้างความชอบธรรม ต่อตัวโครงการฯ 
 
 
 
 
 
 
แถลงการณ์เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทย
วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๔  ณ เทศบาลตำบลโนนสูง จ.อุดรธานี
 
ตามที่เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทย ได้มีการสรุปบทเรียน และนำเสนอปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ต่างในประเทศไทยในพื้นที่ต่างๆ มาระยะเวลาหนึ่ง เช่น พื้นที่เหมืองทองคำ จ.เลย พื้นที่เหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้เกิดผลกระทบขึ้นแล้ว และยังมีพื้นที่ที่ยังมีการที่จะดำเนินการในการก่อสร้างอีกมากมาย ทั้งพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม หรือแม้แต่ จ.สกลนคร ที่ผ่านมา ได้พบปัญหาผลกระทบที่รุนแรงอย่างกว้างขวางในพื้นที่ต่างๆ จากการสะท้อนสภาพการณ์ปัญหาและบทเรียนการต่อสู้คัดค้านโครงการสำรวจและทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกัน จึงมีคำถามที่สำคัญคำถามหนึ่งว่า
 
“รัฐ โดยเฉพาะกรมทรัพยากรธรณี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นผู้มีส่วนร่วมกับผู้ประกอบการเหมืองแร่ ได้ทำร้ายทำลายช่วงชิงทรัพยากรซึ่งควรเป็นสิทธิของคนในชุมชนพื้นที่ที่จะตัดสินใจดูแลและปกป้องด้วยคนในชุมชนเองและยังนำพาซึ่งโรคภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการหายใจ กินข้าวและสัมผัสกับสารพิษในอุตสาหกรรมเหมืองที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
 
อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศไทยที่ภาครัฐคาดหวังถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศแต่เพียงด้านเดียว แท้จริงแล้วอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่มีการขุดเจาะทั้งแบบเปิดทำลายหน้าดิน หรือเป็นโพรงใต้ดิน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ สังคม และสุขภาพในหลายมิติ นำมาซึ่งการทำลายแหล่งอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ทำมาหากิน ที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนท้องถิ่นให้เสื่อมโทรม โดยไม่มีหน่วยงานหรือผู้ประกอบการใดแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบ รัฐยังได้บังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่เปรียบเสมือน “โจรปล้นแผ่นดินของประชาชน” เพราะได้นำสินแร่ที่อยู่ใต้ถุนบ้านเรือน แหล่งทำมาหากินของประชาชน และชุมชน แปรเป็นผลประโยชน์ตอบแทนในรูปของภาษี อัตราค่าภาคหลวงแร่ และผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษอื่นๆ เข้าสู่คลัง ทั้งๆ ที่รายได้เหล่านั้นคือ “ผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ไม่สอดคล้องกับผลกระทบในระยะยาวที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชน สังคม และสุขภาพของประชาชน”
 
มิหนำซ้ำรัฐยังได้กระทำย่ำยีเพิ่มเติมต่อประชาชนด้วยการผลักดันร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่ โดยวางหลักการ “โจรปล้นแผ่นดินของประชาชน” ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการระบุว่า “แร่เป็นของรัฐ” และ “ไม่ให้อำนาจตัดสินใจแก่ประชาชนและชุมชนท้องถิ่น” ปัญหาดังกล่าวได้พัฒนาไปสู่ปัญหาสังคม ความขัดแย้ง ละเมิดสิทธิบุคคล และชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลจากการกำหนดนโยบาย บังคับใช้กฎหมายกฎระเบียบและการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ที่ไม่เป็นธรรม
 
จากความทุกข์ทนของคนในชุมชนท้องถิ่นที่เกิดขึ้น จากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบทำร้ายทำลาย ทั้งทรัพยากร วิถีชีวิต สุขภาพโดยไร้ซึ่งความเมตตาและเป็นธรรมโดยเฉพาะความเป็นธรรมต่อชุมชนอีสาน เราในนามกลุ่มนักศึกษาไม่เอาเหมืองแร่ จึงมีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการเหมืองแร่และต้องการสื่อสารในเจตจำนงของทางกลุ่มให้สังคมในวงกว้างได้รับรู้ดังนี้
 
.ต้องยุติและไม่เกิดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการทำเหมืองแร่โปแตซ จ.อุดรธานี ในวันที่ ๕ เม.ย.๒๕๕๔ ซึ่งจัดโดยบริษัทผู้ประกอบการเหมืองแร่ ซึ่งเป็นเวทีที่ไม่มีความชอบธรรมในการดำเนินการเหมืองแร่ ซึ่งจะนำสู่การเกิดขึ้นของเหมืองแร่ที่ทำร้ายทำลายวิถีชีวิตผู้คนในชุมชน
 
๒.หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องต้องหยุดการดำเนินงานใดๆ ในพื้นที่เพื่อนำพาสู่การเปิดเหมือง จนกว่าจะกลับไปทบทวนถึงผลดีผลเสียของการสร้างเหมืองผ่านกระบวนของสิทธิชุมชนอย่างแท้จริง
 
๓.หยุดการสร้างความแตกแย้งให้เกิดขึ้นในชุมชนผ่านอำนาจของเงินตรา เช่น การจ่ายค่าลอดใต้ถุนเพื่อแบ่งชาวบ้านเป็นสองฝ่ายให้ขัดแย้งกัน
 
ทั้งนี้ เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทยขอยืนหยัด ต่อสู้ ด้วยเจตนารมณ์ที่ศรัทธาอย่างมั่นคง จะขอต่อสู้กับผู้ใดก็ตามที่ จับจ้อง มุ่งหวัง ล้างผลาญ ทำร้าย ทำลาย ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ชีวิต และความเป็นชุมชนท้องถิ่น อย่างถึงที่สุดและตลอดไป
 
ศรัทธาในชีวิต ธรรมชาติ และความเท่าเทียม
เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทย
๕ เมษายน ๒๕๕๔
 
เครือข่ายนักศึกษาเฝ้าระวังผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศไทย
-                     ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
-                     กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชน (ดาวดิน)
-                     กลุ่มอาศรมบ่มเพาะแนวคิดและจิตวิญญาณ
-                     กลุ่มนักศึกษานกกระจอก มหาวิทยาลัยราชราชราชภัฏนครศรีธรรมราช
-                     กลุ่มนักศึกษาแสงดาว มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
-                     กลุ่มนักศึกษาระบายฝัน
-                     คนรุ่นใหม่ภาคอีสาน
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนงานชี้ "ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม" ฉบับ 'หล่อไม่เสร็จ' กองทุนฯยังไม่อิสระจริง

Posted: 05 Apr 2011 08:06 AM PDT

คนงานชำแหละ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม เตรียมเข้าสภา 7 เม.ย.นี้ เป็นฉบับ "หล่อไม่เสร็จ" เพราะกองทุนประกันสังคมยังไม่เป็นอิสระอย่างแท้จริง แนะวางระบบรับแรงงานข้ามชาติอีกมากเข้าระบบประกันสังคม เสนอเร่งออกกฎกระทรวงให้ "คกก.ประกันสังคม" มาจากการเลือกตั้ง ชวนจับตา กม.แรงงาน 3 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาก่อนยุบสภา

(5 เม.ย.54) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน แถลงข่าวจุดยืนต่อร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. … ซึ่งจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2 ในวันที่ 7 เมษายนที่จะถึงนี้ โดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย หนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม  และรองประธาน คสรท. กล่าวว่า ประเด็นที่แรงงานเสนอไปและได้มาบางส่วน ได้แก่ โครงสร้างของคณะกรรมการประกันสังคมที่ต้องการให้ประธานและเลขาฯ มาจากการสรรหา เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาบริหารจัดการกองทุน ซึ่งปรากฎว่า ประธานยังคงมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานตามเดิม ขณะที่คณะกรรมการ 8 คนนั้นมาจากการเลือกตั้งโดยผู้ประกันตน 1 คน 1 เสียง และมีอำนาจสรรหาคณะกรรมการตรวจสอบ และผู้ทรงคุณวุฒิในการให้คำปรึกษาในการบริหารกองทุน

ด้านสิทธิประโยชน์ ได้เงินทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ เงินสงเคราะห์บุตร ขอปรับเพิ่มจาก 6 ปี เป็น 20 ปี ได้ที่ 15 ปี การรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย เรียกร้องให้ผู้ประกันตนสามารถรักษาได้ทุกโรงพยาบาลในเครือข่าย แต่ที่ได้มาคือ สปส.จะทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ ก่อนจะขยายการทำ MOU กับโรงพยาบาลเอกชนต่อไปในอนาคต มีการแก้ไขให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์กรณีที่ฆ่าตัวตาย และแก้ไขให้นายจ้างและลูกจ้างไม่ต้องจ่ายสมทบ กรณีประสบภัยพิบัติ คราวละ 6 เดือนด้วย

นางสาววิไลวรรณ กล่าวว่า แม้ว่าในอนาคตร่าง พ.ร.บ.นี้จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่แรงงานก็ยังไม่ได้ตามที่ต้องการ ยังคงต้องขับเคลื่อนในประเด็นสำคัญ นั่นคือ การทำให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระต่อไป รวมถึงจะทำนโยบายเสนอต่อพรรคการเมืองด้วย


ชี้ยังกังวลอีก 8 ประเด็น

ด้านนายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ กรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม และรองประธาน คสรท.  กล่าวว่า จากที่เสนอไปได้รับการพิจารณามา 5 ข้อถือว่าไม่ขี้เหร่จนเกินไป โดยต่อไปจะสามารถตรวจสอบสำนักงานประกันสังคมได้ และมีกรรมการลูกจ้างที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ทราบมาว่าในวันที่ 7 เม.ย.นี้ มีการบรรจุการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในวาระที่ 4 ต่อจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องพรรคการเมือง ทำให้ไม่มั่นใจว่าจะพิจารณาทันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ฝากถึง ส.ส.ที่ขาดประชุมว่าหากยังมีจิตสำนึกและไม่ต้องการให้เริ่มต้นกันใหม่ ก็ขอให้เข้าประชุมด้วย

ทั้งนี้ นายชัยสิทธิ์ระบุว่า แรงงานยังมีข้อกังวลซึ่งได้ทำเป็นบันทึกท้ายรายงานการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว 8 ข้อได้แก่ 1.ผลกระทบในเชิงโครงสร้างที่จะเกิดขึ้น เพราะกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นมีอัตราการเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งจะครอบคลุมทุกมิติของประชากร เช่น การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค แต่ในส่วนของกองทุนประกันสังคมจะดูแลเฉพาะเรื่องการเจ็บป่วย ดังนั้นในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคควรจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างชัดเจน นอกจากนี้ หากจำนวนของผู้ประกันตนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จะทำให้มีจำนวนคู่สมรสและบุตรเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งกรณีนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามไปด้วย

2.กองทุนประกันสังคมควรมีแนวทางการบริหารจัดการกองทุนที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกันตน 3.ระบบการประกันสังคมเป็นเรื่องของการเยียวยาและการแก้ปัญหาด้านสุขภาพแก่ผู้ประกันตนในเบื้องต้น ซึ่งยังไม่ครอบคลุมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังนั้น กองทุนประกันสังคมจึงควรคำนึงถึงหรือพิจารณาให้การสนับสนุนการส่งเสริมด้านสุขภาพและป้องกันโรคด้วย

4.กรณีที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินในกองทุนไปลงทุนให้เกิดประโยชน์ เช่น นำไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์อันมีข้อจำกัดในข้อกฎหมายและการครอบครอง ดังนั้น เห็นควรให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้กองทุนสามารถบริหารจัดการเรื่องนี้ได้อย่างคล่องตัว 5.ให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาแนวทางให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 โดยเร็ว

6.ในอนาคตสำนักงานประกันสังคมควรเป็นองค์กรที่เป็นอิสระที่สามารถกำหนดระเบียบ วิธีการ ในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้เองเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและผู้จ่ายเงินสมทบมีสิทธิกำหนดนโยบายการปฏิบัติ สิทธิประโยชน์ มีส่วนร่วมในการบริหารองค์กร ตรวจสอบ รับรู้ข้อมูลข่าวสารและการตัดสินใจ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง

7.สำนักงานประกันสังคมต้องจัดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลของรัฐที่สำนักงานประกันสังคมประกาศรายชื่อทุกแห่งโดยเร็ว และให้หาทางขยายบริการลักษณะนี้ไปถึงโรงพยาบาลเอกชนด้วย และ 8.เพื่อให้การบริหารกองทุนมีการบริหารเป็นไปอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส คณะกรรมการตรวจสอบการบริหารกองทุน จึงควรตรวจสอบกองทุนทุกขั้นตอน


แรงงานนอกระบบโอด 'งาน' เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน

ด้านนางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ยังไม่ได้ตามที่เรียกร้องทั้งหมด อาทิ การส่งเงินสมทบ ซึ่งแรงงานนอกระบบเสนอให้รัฐสมทบคนละครึ่งหนึ่งร่วมกับแรงงานนอกระบบ แต่ก็ได้มาเพียงไม่เกินกึ่งหนึ่งเท่านั้น กรณีนิยามของ "ผู้ประกันตน" ปรากฎว่า แม้ผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งทำงานชิ้นเดียวกับแรงงานในโรงงาน มีนายจ้างชัดเจน แต่กลับไม่สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมเช่นเดียวกับคนในโรงงานได้

นอกจากนี้ นางสุจินยังได้วิจารณ์การจะใช้งบประมาณของกระทรวงแรงงานในการจัดประกวดเทพธิดาแรงงานด้วยว่า ควรนำเงินมาจัดการศึกษาให้กับแรงงานนอกระบบ เกี่ยวกับการเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะดีกว่า

แนะวางระบบรับแรงงานข้ามชาติอีกมากเข้าระบบประกันสังคม
ด้านนายบัณฑิต แป้นวิเศษ ประธานเครือข่ายผู้ปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติกล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติ 8 หมื่นคนในระบบประกันสังคม และจะเพิ่มขึ้นอีกมากหลังจากการพิสูจน์สัญชาติภายในสองปีนี้เสร็จสิ้น แต่ระบบที่จะรองรับให้แรงงานข้ามชาติเข้ามามีส่วนร่วมนั้นยังไม่ดีพอ เสนอว่าควรมีเวทีพูดคุยเพื่อเตรียมรองรับเรื่องนี้ด้วย

ทั้งนี้ นายบัณฑิต วิจารณ์ด้วยว่า แม้จะมีการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ให้คณะกรรมการมาจากการเลือกตั้ง โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ยังไม่มีความเป็นอิสระ ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเป็น "ฉบับหล่อไม่เสร็จ"


เสนอออกกฎกระทรวงให้ "คกก.ประกันสังคม" มาจากการเลือกตั้ง
ขณะที่นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า คณะกรรมการประกันสังคมชุดปัจจุบันจะพ้นวาระในเดือนมิถุนายนนี้ ในช่วงที่ร่าง พ.ร.บ.ยังไม่เสร็จ จึงอยากเสนอให้ รมว.แรงงานออกกฎกระทรวงว่าด้วยการเลือกตั้งก่อน เพื่อให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการโดยตรงแทนวิธีเดิม ด้าน พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่แรงงานเข้าชื่อ 15,000 ชื่อเพื่อเสนอนั้น ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบ ซึ่งคาดว่าจะทันการเข้าสู่การพิจารณาในรัฐบาลชุดต่อไป


ชวนจับตา กม.แรงงาน 3 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาก่อนยุบสภา

อนึ่ง วันที่ 7 เม.ย.ที่จะถึงนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีการนำกฎหมายแรงงาน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่...) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ….เข้าสู่การพิจารณาก่อนยุบสภา

โดย บุญยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักกิจกรรมด้านแรงงาน ตั้งข้อสังเกตในเว็บไซต์ http://voicelabour.org  ว่า แม้ว่าร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับจะเกี่ยวข้องกับพี่น้องแรงงานที่มีกว่า 36 ล้านคนในประเทศไทย ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ และข้ามชาติ แต่นั่นมิได้หมายความว่ากฎหมายดังกล่าวจะเอื้อหรือเป็นประโยชน์กับพี่น้องโดยทั้งหมด ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่ปรากฏในร่างรายงานทั้ง 3 ฉบับ โดยหลายประเด็นที่ยังคลุมเครือเอาเข้าจริงแล้ว ควรที่จะปรากฏในแต่ละมาตราได้เลย มิจำเป็นต้องตั้งเป็นข้อสังเกตหรือแขวนไว้หรือรอแปรญัตติ

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เรียนถามฟ้าหญิงจุฬาภรณ์: ตาย 91 เจ็บ 2 พัน ไม่น่าสะเทือนใจกว่าการ"เผาบ้านเผาเมือง"หรือครับ? และเหตุใดไม่ทรงวิจารณ์พันธมิตรครับ?

Posted: 05 Apr 2011 05:33 AM PDT

ดังที่ผมชี้ให้เห็นก่อนหน้านี้( https://www.facebook.com/note.php?note_id=189909174385653 ) การพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในรายการ "วู้ดดี้ เกิดมาคุย" เกิดขึ้นในปริบทที่ "ไม่ยุติธรรม" เพราะแม้พระองค์จะไม่ทรงอยู่ในความคุ้มครองของกฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" แต่ทรงพาดพิงถึงในหลวงและพระราชินี ซึ่งอยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายนั้น และในทางปฏิบัติ สังคมไทยอยุ่ภายใต้ระบบการประชาสัมพันธ์และอบรมบ่มเพาะแบบด้านเดียว ในเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์ ทำให้การวิพากษ์วิจารณ์พระราชวงศ์ไม่ว่าพระองค์ใด ก็ทำได้ลำบากอย่างยิ่ง (ซึ่งไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง)  

แต่ข้อความบางตอนในคำสัมภาษณ์ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (3 เมษายน 2554) ได้กล่าวถึงประเด็นที่มีความสำคัญเกี่ยวกับการเมืองไทยปัจจุบัน ในลักษณะที่ผมเห็นว่า ถ้าไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้ง ก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมความไม่ยุติธรรมที่มีอยู่แล้วให้หนักขึ้นอีก ผมหมายถึงข้อความต่อไปนี้ ในคำให้สัมภาษณ์ (เริ่มจากนาทีที่ 3.23 เป็นต้นไป ในคลิป YouTube นี้ ขอบคุณ CiNNtv1 สำหรับการอัพโหลด http://www.youtube.com/watch?v=BBpqpjHrqk4 )

 

จะเล่าไป ข้าพเจ้าเป็นคนไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ไม่อยากพูดถึงใครว่าใครดีใครเลว ไม่รู้ เพราะไม่เคยคบนักการเมือง แต่ว่า รู้แต่ว่า เหตุการณ์ปีที่แล้ว ที่มีการเผาบ้านเผาเมืองกัน อันนั้นนำความทุกข์มาสู่พระเจ้าอยู่หัว [และ]สมเด็จฯเหลือเกิน พระเจ้าอยู่หัวนี่ จากที่ทรงหัดเดินได้น่ะ ตอนนั้นน่ะ ทรงทรุดเลย เป็นไข้ต้องให้น้ำเกลือ นอนแบ่บเลย สมเด็จฯก็เสียพระทัยมากเหลือเกิน ท่านรับสั่งว่า 'คราวที่เราถูกเผาเมืองนั้น คือสมัยเสียกรุงต่อพม่า กรุงศรีอยุธยา แต่คราวนี้ สะเทือนใจยิ่งกว่า เพราะเป็นการที่คนไทยเผาเมืองไทยเอง'

 

ก่อนอื่น จะเห็นว่า แม้จะทรง "ออกตัว" ว่า "ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง" แต่คำสัมภาษณ์ตอนนี้ มีลักษณะการเมืองอย่างชัดเจนและมากด้วย (อันที่จริง ถ้าพูดถึง "การเมือง" ในความหมายกว้าง อย่างที่ยอมรับทั่วไปในวงการศึกษาวิชาการปัจจุบัน การสัมภาษณ์ทั้งหมดก็เป็นเรื่อง "การเมือง" ในตัวเองอยู่แล้ว) ผมขอย้ำว่า การที่ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ หรือมีพระราชดำรัสทางการเมืองแบบนี้ ในสภาพแวดล้อมทางกฎหมายและสังคมปัจจุบัน เป็นเรื่อง "ไม่แฟร์" เลย มีหนังสือพิมพ์หรือทีวีใด จะกล้าแสดงความเห็นโต้แย้งด้วยตัวเองหรือเผยแพร่ความเห็นโต้แย้ง ไม่ว่า นสพ.หรือทีวีนั้น หรือคนอื่นๆ จะไม่เห็นด้วยอย่างไร หรือไม่ว่าคำสัมภาษณ์หรือพระราชดำรัสนั้นจะสามารถโต้แย้งได้เพียงใดก็ตาม ทั้งในแง่ข้อมูลหรือเหตุผล?

 

ประการต่อมา ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงอ้างอิงถึงพระสุขภาพกายและใจของทั้งในหลวงและพระราชินีว่าทรุดโทรมลงอย่างหนัก จากการที่มีการ "เผาบ้านเผาเมือง" เกิดขึ้นเมื่อปีกลาย 

 

ในกรณีในหลวงนั้น เนื่องจากมีส่วนเกียวข้องกับพระพลานามัยในแง่ธรรมชาติ จึงยากจะประเมินว่า การที่ทรง "ทรุด" ถึงขั้น "นอนแบ่บ" นั้น เกิดจากที่ทรงเห็นการ "เผาบ้านเผาเมือง" หรือเกิดจากโรคาพยาธิอื่น ผมจึงขอละเว้นที่จะแสดงความเห็นต่อปัญหาพระพลานามัยของในหลวงโดยตรง และต้องถือว่าเรื่องที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงเล่าในส่วนนี้ เป็นการตีความเชิงการเมือง (political interpretation) หรือแสดงความเห็นทางการเมือง ของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ พูดง่ายๆคือ ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์เองทรงเห็นว่า การ "เผาบ้านเผาเมือง" ทำให้ในหลวง "ทรงทรุด" ถึงขั้น "เป็นไข้ต้องให้น้ำเกลือ นอนแบ่บเลย"

 

ในกรณ๊พระราชินีนั้น แม้คงเชื่อได้ว่า ทรง "เสียพระทัย" และทรงมีรับสั่งเปรียบเทียบการ "เผาบ้านเผาเมือง" ปีกลาย กับการ "เสียกรุง" จริงดังที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงเล่า เพราะเรามีหลักฐานแวดล้อมอื่น ที่ทำให้ทราบว่า พระราชินีทรงสนับสนุนผู้ที่มีความเห็นวิจารณ์การชุมนุมของเสื้อแดง ดูภาพ พระราชหัตถเลขา ที่มีถึงคุณนภัส ณ ป้อมเพ็ชร์ ข้างล่าง (ในจดหมายคุณนภัส ถึง CNN มีข้อความโจมตีการชุมนุมของเสื้อแดงหลายตอน การแสดงความไม่พอใจ CNN ของคุณนภัส อยู่บนพื้นฐานของการแสดงความไม่พอใจการชุมนุมของเสื้อแดง ดูจดหมายคุณนภัส ที่นี่ http://202.183.165.22/view/48815/45 )

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระราชินีทรงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" และในเมื่อการอ้างพระราชดำรัสพระราชินีโดยฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ เป็นไปในลักษณะที่ทรงเห็นชอบด้วย (endorse) กับพระราชดำรัสดังกล่าวอยู่แล้ว ในที่นี้ ผมจึงแสดงความเห็นต่อ คำให้สัมภาษณ์ของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ข้างต้นทั้งหมด ในฐานะที่เป็นความเห็นของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์เอง

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงแสดงทัศนะของพระองค์ต่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปีกลายในลักษณะนี้ เพียง 2 สัปดาห์เศษหลังการชุมนุมยุติลงจากการปราบปรามของรัฐบาล (วันที่ 6 มิถุนายน 2553) ทรงมีพระราชดำรัสต่อคนไทยในนิวยอร์คว่า (ดูรายงานข่าวที่นี่ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9530000078685 ข้อความจากพระราชดำรัสข้างล่างนี้ ผมถอดจากคลิปประกอบรายงานข่าว เริ่มที่นาทีที่ 1.07)

 

เรื่องการเมือง ข้าพเจ้าไม่รู้ด้วยหรอก ว่า ใครจะเกลียดใคร ใครอยากจะชิงดีชิงเด่นกับใคร แต่ว่า ทำไปนี่ อย่างน้อยน่าจะมีจรรยาบรรณซักนิดนึง สงสารประชาชนตาดำๆ ซักนิดนึงว่าจะเดือดร้อนกันแค่ไหน อันนี้ที่ผ่านมา นอกจากจะเดือดร้อนเรื่องความเจ็บ ความป่วยแล้ว ก็ยังเดือดร้อนทางด้านธุรกิจ คือว่าการที่มีประท้วงนานๆ มีความรุนแรงเกิดขึ้นทำให้ภาคธุรกิจของเราเดือดร้อน ซึ่งก็กระทบเศรษฐกิจของประเทศไทย

 

จะเห็นว่าเนื้อหาของพระราชดำรัสที่นิวยอร์คกับพระราชดำรัสในรายการ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" เป็นไปในทางเดียวกัน คือทรงวิจารณ์การชุมนุมของเสื้อแดง โดยเฉพาะในส่วนที่เกียวกับผลกระทบต่อ "ภาคธุรกิจ" แม้แต่เรื่องการ "เผาบ้านเผาเมือง" นั้น ความจริง ก็ดังที่รู้กันว่า ไม่ใช่ "บ้านเมือง" ของประชาชนธรรมดาจริงๆ  ไม่ใช่แม้แต่ตลาดหรือร้านค้าบ้านช่องธรรมดา แต่คือ ศูนย์การค้าย่านธุรกิจระดับสูง แน่นอน เป็นสิทธิของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ที่จะหยิบยกเอาประเด็นผลกระทบต่อ "ภาคธุรกิจ" หรือการเผาศูนย์การค้าย่านธุรกิจระดับสูงขึ้นมาวิจารณ์

 

แต่สิ่งแรกที่น่าจะสะดุดใจผู้ติดตามการเมืองในระยะไม่กี่ปีนี้ ก็คือ เหตุใดในระหว่างหรือหลังการ "ประท้วงนานๆ" (คำของฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ข้างต้น) ในกรณีของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี 2551 ซึ่งรวมถึงการยึดครองสถานที่ราชการสำคัญที่สุดคือทำเนียบรัฐบาล และสถานที่ที่เป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งยวดของ "ภาคธุรกิจ" ของประเทศ (และมากยิ่งกว่าภาคธุรกิจ) คือสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์จึงไม่ได้ทรงมีพระราชดำรัสในลักษณะเดียวกัน? อันที่จริง เราทราบกันดีว่า ทรงโดยเสด็จพระราชินีในงานพระราชทานเพลิงศพของผู้ประท้วงชาวพันธมิตรคนหนึ่ง เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2551 ในระหว่างที่การชุมนุมของพันธมิตรยังไม่ยุติด้วย (และถ้าข้อมูลจากโทรเลขวิกิลีกส์ ฉบับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 ถูกต้อง ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ และนายแพทย์ชัยชน โลว์เจริญกุล เป็นผู้ขอให้พระราชินีเสด็จด้วยพระองค์เองด้วยซ้ำ)

 

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ทั้งในพระราชดำรัสที่นิวยอร์คและการสัมภาษณ์ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" เหตุใดจึงไม่ทรงเอ่ยถึงเลย ถึงการที่มีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของรัฐบาลถึงเกือบ 100 คน และพิการบาดเจ็บอีกเกือบ 2 พันคน? ถ้าอะไรจะน่า "สะเทือนใจ" ที่สุดจากเหตุการณ์พฤษภาคมปีกลาย ก็ควรจะเป็นเรื่องนี้ไม่ใช่หรือ? ยิ่งกว่าเรื่องที่มีการเผาย่านธุรกิจระดับสูง (ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าฝีมือใคร แต่ต่อให้สมมุติว่าเป็นฝีมือของผู้ชุมนุมก็ตาม)?

 

การที่ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ทรงแสดงออกซึ่งความสะเทือนใจกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมพันธมิตร 1 คนในปี 2551 ถึงกับโดยเสด็จในงานพระราชทานเพลิงศพ เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้อยู่ (ผมเองก็สะเทือนใจ) แต่กับผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน ที่ไม่ทรงเอ่ยถึงเลย แต่กลับทรงเอ่ยเฉพาะเรื่องการเผาตึกราม ที่ไม่ใช่ "บ้านเรือน" ด้วยซ้ำ แต่เป็นศูนย์การค้าชั้นสูง ออกจะเป็นอะไรที่ผมเข้าใจยากอยู่สักหน่อย

 

 

 

ปล. ในระหว่างเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สมเด็จพระเทพ ได้ทรงให้สัมภาษณ์ว่า "การฆ่าฟันหรือทำรุนแรงเป็นเรื่องไม่ดี การเสียทรัพย์สินไม่สำคัญเท่ากับชีวิตคน อยากให้เลิกฆ่าฟัน เลิกรุนแรงเพราะว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน" ในขณะที่บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในส่วนที่เกี่ยวกับวิกฤติเดือนพฤษภาคม 2535 มีความซับซ้อนมากกว่าที่มักจะนำมาโฆษณาประชาสัมพันธ์กัน เฉพาะข้อความพระราชดำรัสของพระเทพที่ว่า "การเสียทรัพย์สินไม่สำคัญเท่ากับชีวิตคน" นี้ ต้องถือว่าถูกต้องและเหมาะสมกว่าการยกประเด็น "เผาบ้านเผาเมือง" ขึ้นมาไฮไลต์ แน่นอนในระหว่างเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ที่เพิ่งผ่านมา ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายว่า สมเด็จพระเทพเองก็ไม่ได้ทรงให้สัมภาษณ์ในลักษณะเดียวกันนี้อีก

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รถโดยสารแรงงานพม่าถูกรถสิบล้อชนเสียชีวิต 9 ราย เจ็บอีกกว่า 50

Posted: 05 Apr 2011 05:11 AM PDT

รถโดยสารรับส่งแรงงานพม่าที่สมุทรสาคร ถูกรถสิบล้อเสยลงข้างทาง จนมีผู้เสียชีวิต 9 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 50 ราย ขณะที่คนขับรถสิบล้ออาศัยเหตุชุลมุนหนีไปได้

(4 เม.ย. 54) เกิดอุบัติเหตุรถ 10 ล้อ ชนเข้ากับรถ 6 ล้อรับส่งคนงานชาวพม่า ตรงทางหลวงหมายเลข 35 ต.ท่าทราย อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร เมื่อช่วงเช้าของวันจันทร์ (4 เม.ย. 54) ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้แรงงานชาวพม่าจำนวน 6 คนเสียชีวิตคาที่ และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีก 1 คน ต่อมาได้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนอีกครั้งในบริเวณจุดเดียวกัน สาเหตุมาจากรถฝั่งตรงข้ามชะลอดูเหตุการณ์ เกิดอุบัติเหตุชนซ้ำ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 คน รวมผู้เสียชีวิตเป็น 9 ศพ และในเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 50 คน ซึ่งทั้งหมดถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้วและในเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 50 คน ซึ่งทั้งหมดถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว

ส่วนสาเหตุอุบัติเหตุครั้งนี้ทราบว่า เป็นเพราะรถรับส่งแรงงานชาวพม่า ซึ่งเป็นของบริษัท กาลลันท์ โอเชี่ยนไทยแลนด์ จำกัด ผู้ผลิตอาหารแปรรูปจอดแวะรับคนงานในจุดห้ามจอด จึงถูกรถ 10 ล้อเสยเข้าอย่างจังและตกลงไปข้างทาง ซึ่งสภาพรถได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยคนขับรถ 6 ล้อถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวสอบสวน ด้านคนขับรถ 10 ล้อ มีรายงานว่า ได้ทิ้งรถและหลบหนีในระหว่างช่วงชุลมุน

ในอีกด้านหนึ่ง ได้เกิดกระแสข่าวลือในหมู่แรงงานชาวพม่าในมหาชัย จ.สมุทรสาครว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตน่าจะไม่ต่ำกว่า 30 คนเนื่องจากผู้ที่ได้รับบาดเจ็บกว่า 30 คนนั้น พบว่ามีอาการสาหัส  แรงงานพม่ารายหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า รถคันที่เกิดอุบัติเหตุกำลังไปส่งแรงงานไปทำงาน ซึ่งคาดว่ามีแรงงานชาวพม่าโดยสารมาด้วยอย่างน้อย 90 คน

(Irrawaddy / ข่าวสด 5 เมษายน 54)


แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

SPDC โอนทรัพย์สินของรัฐให้ตานฉ่วยและครอบครัว

Posted: 05 Apr 2011 05:05 AM PDT

คณะรัฐบาลทหารพม่าทิ้งทวนถ่ายโอนทรัพย์สินของรัฐ ทั้งสวนยาง เหมืองแร่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างให้กับ พล.อ.อาวุโสตานฉ่วยและครอบครัวเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ตานฉ่วยจะลงจากอำนาจ และมีประธานาธิบดี "เตงเส่ง" สาบานตนรับตำแหน่ง

สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council - SPDC) ได้ถ่ายโอนทรัพย์สินซึ่งเคยเป็นของรัฐอย่าง สวนยางพารา เหมืองหยก เหมืองทอง รวมไปถึงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับนายพลอาวุโสตานฉ่วยและครอบครัวเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งการถ่ายโอนทรัพย์สินต่างๆให้กับตานฉ่วยและครอบครัวนั้นมีขึ้นก่อนที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะสาบานเข้ารับตำแหน่ง

นักธุรกิจผู้ซึ่งมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลพม่าเปิดเผยว่า สวนยางพาราเนื้อที่กว่า 1 พันเอเคอร์ ถูกถ่ายโอนเป็นชื่อของนายพลอาวุโสตานฉ่วย รวมทั้งเหมืองหยกและเหมืองทองที่อยู่ในรัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งเคยอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเหมืองแร่พม่า (Ministry of Mines) ก็ถูกถ่ายโอนเป็นชื่อของบุตรสาวนายพลอาวุโสตานฉ่วยด้วยเช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้ ครอบครัวของตานฉ่วยยังได้รับที่ดิน สิ่งปลูกสร้างสำคัญๆในกรุงย่างกุ้ง เนปีดอว์และเมืองเหม่เมี้ยว ในมัณฑะเลย์ รวมถึงรถยนต์อีกว่า 30 คัน โดยก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่าจะสาบานเข้ารับตำแหน่ง นายพลตานฉ่วยและนายพลหม่องเอได้ประกาศยุติบทบาทผู้นำและยุบ SPDC โดยนายพลตานฉ่วยได้ส่งมอบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของตัวเองให้กับนายพลมิ้นอ่องหล่าย อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์พม่าเชื่อว่า ตานฉ่วยจะยังมีบทบาทสำคัญและอยู่เบื้องหลังการเมืองพม่าต่อไป (Irrawaddy 4 เมษายน 54)

 
 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"จายหมอกคำ" รองประธานาธิบดีพม่ามอบเงินช่วยผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวในรัฐฉาน

Posted: 05 Apr 2011 04:43 AM PDT

นพ.จายหมอกคำ รองประธานาธิบดีคนที่ 2 รัฐบาลพม่า ตรวจพื้นที่เสียหายหลังแผ่นดินไหวในรัฐฉาน พร้อมมอบเงินช่วยผู้ประสบภัยนับสิบล้านจั๊ตในนามตัวแทนรัฐบาล 

(แฟ้มภาพ) นพ.จายหมอกคำ รองประธานาธิบดีคนที่ 2 ของรัฐบาลพม่าชุดใหม่ (ที่มา: S.H.A.N.)

สำนักข่่าวฉาน รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวชายแดนซึ่งระบุว่า เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา นพ.จายหมอกคำ รองประธานาธิบดีคนที่ 2 ของรัฐบาลทหารชุดใหม่พม่า ได้เดินทางมาจังหวัดท่าขี้เหล็ก ในภาคตะวันออกรัฐฉาน และลงพื้นที่ตรวจสภาพความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในเมืองท่าเดื่อ เมืองเลน ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 24 มี.ค. โดย นายแพทย์ จายหมอกคำ ทำหน้าที่ตัวแทนรัฐบาลมอบเงินเยียวยาผู้ประสบภัยนับสิบล้านจั๊ต

ชาวบ้านป่าแดง ในกิ่งอำเภอท่าเดื่อ จังหวัดท่าขี้เหล็ก รายหนึ่งเผยว่า หมู่บ้านป่าแดงมีบ้านเรือน 45 หลัง มีพังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว 10 หลัง ได้รับเงินช่วยเหลือจากนายแพทย์ จายหมอกคำ หลังละ 2 แสนจั๊ต (ราว 7,000 พันบาท) ส่วนบ้านที่เสียบางส่วนได้รับเงินช่วยเหลือหลังละ 1 แสนจั๊ต (ราว 3,500 บาท) ในกิ่งอำเภอท่าเดื่อ มีบ้านเรือนเสียหายและได้รับเงินช่วยเหลือรวมกว่า 400 หลัง

จากเหตุแผ่นดินไหว ในพื้นที่กิ่งอำเภอท่าเดื่อได้รับความเสียหายมากที่สุด หมู่บ้านได้รับความเสียหายอย่างหนักได้แก่ บ้านท่าเดื่อ, เมืองเลน, บ้านจากูหนี่, บ้านหลวง, บ้านหมากตาน, บ้านหมากเขือ, บ้านล้านตอง, บ้านโต้ง, บ้านหัวนา, บ้านหมากอ๋างขาง, บ้านนายาว, บ้านป่าแดง, บ้านนาไฮ, บ้านกองแก

ด้านหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ สื่อกระบอกเสียงรัฐบาลทหารพม่ารายงานว่า นพ.จายหมอกคำ ในนามประธานาธิบดีคนที่ 2 และในนามตัวแทนรัฐบาลได้มอบเงินช่วยเหลือเหยื่อผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวในกิ่งอำเภอท่าเดื่อจำนวน 10.7 ล้านจั๊ต สำหรับความช่วยเหลือบ้านที่ได้รับความเสียหาย 214 หลัง และ 7.5 ล้านจั๊ต สำหรับความเสียหายของบ้านเรือน 150 หลัง ในตำบลนายาว นอกจากนี้เขาได้มอบเงินสำหรับบูรณะซ่อมแซมวัดในกิ่งอำเภอท่าเดื่อ 30 ล้านจั๊ต และอีก 30 ล้านจั๊ต สำรับซ่อมแซมโรงพยาบาล

สำหรับ นพ.จายหมอกคำ ปัจจุบันอายุ 61 ปี เป็นชาวไทใหญ่ มีภูมิลำเนาอยู่เมืองหมู่แจ้ รัฐฉานภาคเหนือ จบการศึกษาด้านแพทย์ศาสตร์ จากเมืองมัณฑะเลย์ ระหว่างปีค.ศ.1978–1996 รับราชการและเป็นประธานชมรมการศึกษาและวัฒนธรรมไทใหญ่ เมืองล่าเสี้ยว จายหมอกคำ เป็นเจ้าของโรงพยาบาลอยู่หลีข้า เมืองล่าเสี้ยว รัฐฉานภาคเหนือ

ก่อนการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 20 ปี เมื่อ 7 พ.ย. 53 จายหมอกคำ ถูกทาบทามจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลทหารพม่าให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรค USDP กระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 2 จายหมอกคำ ถือเป็นผู้กว้างขวางในในสังคมไทใหญ่ โดยมีความสนิทสนมทั้งผู้นำการเมืองและกลุ่มติดอาวุธ กับการที่ทางการพม่าให้ความสำคัญแก่เขานี้ หลายฝ่ายเชื่อว่า อาจเป็นเพราะรัฐบาลทหารพม่าหวังให้เขาช่วยไกล่เกลี่ยกลุ่มชาติพันธุ์หันหน้าร่วมมือรัฐบาล

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บันทึกทนายความ ฉบับที่ 1 : เสียงกระซิบจากแดนตาราง

Posted: 04 Apr 2011 11:30 PM PDT

ที่มา: http://rli.in.th/2011/04/05/บันทึกทนายความ-ฉบับที่-๑/
 
 
เดิมผมชั่งน้ำหนักการเขียนบันทึกในฐานะทนายความว่าควรเขียนดีหรือไม่ด้วยเหตุผลอยู่ 2-3 ประการ คือ บางทีอาจทำให้มองว่าเป็นการพรีเซนท์ตัวเอง หรืออาจถูกข้อหาอยากดังเป็นต้น แต่ภายหลังจากที่เข้าเยี่ยมจำเลยคดีหมิ่นล่าสุด(4 เมษายน 2554) ผมจึงตัดสินใจว่า งานของทนายความคงไม่สามารถจำกัดตัวเองอยู่เพียงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือคดีความเท่านั้น แต่ต้องเป็นกระบอกเสียงให้จำเลยที่กระซิบผ่านจากแดนตารางด้วย
มันมีเรื่องหลายเรื่องที่อยากเล่าผ่านผู้อ่าน ซึ่งจริงๆแล้วผมได้ทยอยเขียนเป็นข้อความสั้นๆผ่านทางเฟซบุ๊ค ของผมแล้ว แต่นั่นอาจสื่อความหมายหรือข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน และบางครั้งก็กลับกลายเป็นปัญหาให้ตีความไปเสียหลายทาง ผมจึงขออนุญาตเขียนเป็นชิ้นงานขนาดกลางเพื่อเป็นการสื่อสารข้างต้น และในฉบับหลังๆ อาจขออนุญาตเล่าย้อนไปในเหตุการณ์ที่ประทับใจ หรือน่าสนใจในการทำงานช่วยเหลือทางกฎหมาย และแน่นอนว่ามันอาจไม่ได้เป็นงานเขียนระดับนักเขียนมืออาชีพ แต่น่าจะเป็นงานเขียนที่บอกเล่าสิ่งที่ผมในฐานะทนายความอยากเล่า และเป็นเสียงที่ผู้ต้องขังอยากบอกเช่นกัน
…ประตูบานใหญ่ทะมึนหลังลูกกรงค่อยๆเปิิดออก ถาพที่ผมเห็น คือชายสามคนที่พยุงกันอออกมาหาทนายความ และหนึ่งในสามคนนั้นเป็นชายแก่ที่เดินเองไม่สะดวกด้วยอาการเท้าชาไม่มีแรง ทั้งอาการมะเร็งยังกำเริบอีก เขาชื่ออำพล ตั้งนพกุลหรือที่ผมเรียกว่า “อากง” ส่วนชายวัยหนุ่มอีกสองคนที่ทำหน้าที่บุรุษพยาบาล(จำเป็น) ที่คอยพยุงร่างของอากงออกมาคือ คุณหมี สุริยันต์ กกเปือย และ คุณหนุ่ม ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ทั้งสามเป็นจำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และติดคุกมาร่วมปีแล้ว
เรามีเพียงกระจกกั้นเราไว้เป็นสองโลก คือโลกแห่งความจริงที่มีผมเป็นทนายความ และโลกแห่งแดนตาราง ที่มีทั้งสามคนกำลังอาศัยอยู่ เจ้าหน้าที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำในโลกของผม ส่วนอีกโลกเป็นพัดลมเพดานเล็กๆ ซึ่งคอยขับไล่เหงื่อของทั้งสามคนไม่ให้เปียกจนเกินไป
อากงจะยกมือไหว้ผมและร้องไห้เสมอที่เจอหน้ากัน ด้วยอาการมะเร็งทำให้แกพูดไม่ค่อยชัดสักเท่าไหร่ แต่ที่จับใจความได้คือแกอยากให้ช่วยเรื่องประกันตัว ซึ่งทางทีมทนายความก็ได้ยื่นประกันตัวแล้วถึงสามครั้ง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากศาลสถิตยุติธรรม ผมได้แต่ปลอบใจและให้กำลังใจว่าเราจะพยายามพาอากงกลับบ้านให้ได้ ซึ่งคดีของอากงจะสืบพยานอีกทีในเดือนกันยายนนี้ โดยมีทนายเมย์ และพี่ทนายธีรพันธุ์ เป็นทีมทนายความสู้คดี โดยหากคดีนี้ศาลรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดจริง อากงอาจถูกตัดสินให้จำคุกถึง 60 ปี ( ตามกฎหมายอนุญาตให้จำคุกได้ 20 ปี) ซึ่งนี่อาจทำให้เสรีภาพในบั้นปลายถูกปล้นไปจากชีวิตเลยทีเดียว
ตอนเช้า ป้าอุ๊ ภรรยาอากงมาเยี่ยมและแจ้งว่า ลูกสาวของอากงต้องออกจากงานเพราะลามาทำเรื่องประกันอากงบ่อยไป และถูกนายจ้างบีบให้ออกในที่สุด (ความจริงผมทราบว่านายจ้างไม่ปลื้มที่ลูกน้องมีพ่อเป็นจำเลยคดีหมิ่นฯ๑๑๒ สักเท่าไหร่) ตอนนี้กำลังหางานทำอยู่ ส่วนป้าอุ๊ ก็ต้องดูแลหลานอีกสามคน ไม่สะดวกที่จะมาเยี่ยม แต่ด้วยความเห็นก่วง ป้าอุก็พยายามมาเยี่ยมให้ได้เดือนละ 2-3 ครั้ง และอากงแจ้งผมว่าให้ช่วยทำเรื่องขอให้หมอมารักษาด้วยเพราะแกมีอาการปวดและขากเสลดออกมาเป็นเลือดแล้ว…
ส่วนพี่หมี สุริยันต์ กกเปือย รายนี้ไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แกเป็นห่วงก็แต่พ่อกับแม่เท่านั้น ด้วยอาการโรคเบาหวานทำให้พ่อของพี่หมีไม่สามารถทำงานนานๆได้ ต้องพักอยู่บ่อยๆ ส่วนแม่ก็ต้องมาช่วยทำงาน ความลำบากของทั้งสองคนถูกสะกัดกั้นไม่ให้ผมบอกกับพี่หมีเพราะกลัวแกจะคิดมาก แต่ผมทราบว่าแกน่าจะรู้เพราะดูจากอาการที่ผมไปเยี่ยมทุกครั้งแแกจะฝากให้ไปเยี่ยมพ่อแม่แกด้วย
คดีของพี่หมีอยู่ในระหว่างการขอรับพระราชทานอภัยโทษ เพราะในคดี แกรับสารภาพว่าได้โทรศัพท์ไปกล่าวข้อความที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจริง ซึ่งศาลได้ตัดสินจำคุก 6 ปี กับ 30 วัน แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพจึงได้รับการลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงต้องรอความเมตตาจากในหลวงเท่านั้นจึงจะทำให้พี่หมีได้กลับไปสู่อ้อมกอดของครอบครัวโดยเร็ว…
ผมหอบสำเนาสำนวนคดีหมิ่นฯของพี่หนุ่มไปฝากให้แกช่วยดูด้วย เพราะคดีของแกอยู่ในระหว่างเขียนอุทธรณ์ ซึ่งจะครบกำหนดยื่นในวันที่ 15 เมษายนนี้ แต่ทราบว่าทางศาลยังพิมพ์คำพิพากษายังไม่เสร็จ คงต้องขอขยายระยะเวลายื่นออกไปอีกสักพัก เพราะคดีนี้มีรายละเอียดเยอะมาก แต่โชคดีที่ได้ทีมงาน iLaw มาช่วยคดี และแน่นอนว่าแม้ผลของคดีจะออกมาไม่เป็นไปตามที่เราคาดไว้ แต่พี่หนุ่มก็ฝากขอบคุณทีมทนายทุกคน และให้กำลังใจในการทำงานต่อสู้กับคดีเหล่านนี้ต่อไป แกบอกว่าอยากให้ใช้เคสแกรณรงค์ถึงความอยุติธรรมของกฎหมายหมิ่นฯ และอยากให้สังคมเราก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
“วันที่ผมไปฟังคำพิพากษา พอเริ่มอ่านผมก็รู้แล้วว่าเขาลงโทษแน่ แต่ผมดีใจที่เพื่อนๆไปให้กำลังใจ โดยเฉพาะกลุ่มเรดนนท์ , ป้าอุษา, ทีมทนาย และเพื่อนๆของโลกไวเบอร์อีกหลายคนที่บางคนผมไม่เคยเห็นหน้าด้วยซ้ำ”
ผมแจ้งเรื่องเงินช่วยเหลือน้องเวป ลูกชายวัย 10 ขวบของแกให้ทราบ แกร้องไห้และฝากขอบทุกคุณท่านที่ช่วยดูแลน้องเวปมาด้วย
เจ้าหน้าที่ตะโกนบอกว่าอีก 5 นาทีหมดเวลาเยี่ยม เราร่ำลากันด้วยถ้อยคำอันคุ้นเคย ผมซื้อของฝากเข้าให้ทั้งสามคนโดยใช้เงินบริจาคจากบัญชีสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ ผมเดาเอาว่าท่านที่บริจาคด้วยยอด 1,112 บาท คงประสงค์เพื่อการนี้ และแน่นอนผมไม่รู้หรอกว่าทั้งสามอยากได้อะไรเพราะทั้งสามคนไม่เคยเรียกร้องอะไรจากทนายความเลย … ผมได้แต่คิดเอาเองว่าผมอยากกินอะไรก็ซื้ออันนั้น และไม่ลืมนมและเครื่องดื่มประเภทบำรุงรังนกสำหรับกำลังของอากง…
ภาพที่พี่หนุ่มกับพี่หมี พยุงร่างอากงกลับเข้าสู่แดนตารางทำให้ผมคิดถึงใครบางคน… ใครบางคนที่ไม่อาจเห็นภาพเหล่านี้ได้ นี่คือความไม่เท่าเทียมกันของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน …
ผมกลับออกจากเรือนจำตอนบ่ายสามโมง มารวมกับน้องทนายอีกสี่คนที่ไปเยี่ยมคดีเสื้อแดงและกำลังทำประสานเรื่องประกันตัวกับกรมคุ้มครองสิทธิ์อยู่ ทั้งสี่คนดูหัวยุ่งกันนิดหน่อย เราเดินคุยกันมาจนแว็ปเจอรถเข็ญขายส้มตำ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของอาการจู๊ดๆ ในขณะกำลังเขียนบันทึกฉบับนี้ !
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น