โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นปช.เตรียมรำลึก 1 ปีสลายชุมนุม ประกาศปฏิญญา 10 เมษาฯ-ทำซีดีใครเผาเซ็นทรัลเวิลด์

Posted: 06 Apr 2011 11:35 AM PDT

 
6 เม.ย.54 นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ในวันที่ 10 เมษายนนี้ เป็นวันครบรอบ 1 ปี ที่รัฐบาลสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. บริเวณแยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งจะมีการชุมนุมใหญ่เริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งนี้ การชุมนุมจะเป็นการสะสมกำลังพลคนเสื้อแดงตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน ที่มีการเปิดโรงเรียน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ที่ห้องประชุมชั้น 6 ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว โดยมีการอบรมตลอดวัน และช่วงเวลา 14.00 น.เป็นต้นไป จะมีไฮไลต์ของการเสวนา เรื่อง นปช.กับการเมืองไทย โดย นางธิดา ถาวรเศรษฐ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และตน ร่วมเสวนา ทิศทางการเมืองของ นปช.หลังการเลือกตั้งด้วย
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ส่วนวันที่ 10 เมษายน จะนำนักเรียน นปช.แดงทั้งแผ่นดินไปร่วมชุมนุม ซึ่งเวลา 11.00 น. จะมีการประกาศ ปฏิญญา 10 เมษายน เพื่อแสดงทิศทางทางการเมืองของ นปช.หลังการเลือกตั้ง ส่วนไฮไลต์ในเวลา 18.00 น. นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ปรากฏตัวอยู่ในคลิปศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปีแล้ว จะร่วมขึ้นเวทีคนเสื้อแดงด้วย
 
 "เหวง"ปูดตำราเรียนโรงเรียนใส่ร้ายนปช.เผาบ้านเผาเมือง
นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กล่าวว่าวันนี้มีผู้ปกครองนำหนังสือเสริมการพัฒนาผู้เรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ชั้น ม.3” มาให้ตน ซึ่งในหนังสือมีเนื้อหาเขียนถึงกลุ่ม นปช.เผาบ้านเผาเมือง ตนอ่านแล้วรับไม่ได้ ที่กระทรวงศึกษาฯเอาหนังสือแบบนี้มาให้เยาวชนศึกษา เป็นการใส่ร้ายกลุ่ม นปช. และขอประณาม นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และขอให้ผู้ปกครองตรวจสอบเนื้อหาตำราเรียนเล่มนี้กับลูกหลานของท่านด้วย เพราะเป็นการให้ข้อมูลเท็จ
  
นปช.เตรียมทำซีดี-หนังสือ"ใครเผาเซ็นทรัลเวิลด์"ตอบโต้"สุเทพ" จัดทำโดยนักผจญเพลิงของห้าง
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีผู้บัญชาการเหล่าทัพออกมาแถลงข่าวว่าจะไม่มีการปฏิวัติว่า ตั้งแต่ตนเกิดมาได้ยินทหารพูดอย่างนี้หลายรอบ และยังจำภาพทหารรุ่น 0143 รอบแรกบอกไม่ปฏิวัติ รอบที่สองตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2534 ฉะนั้น แม้ว่าวันนี้บรรดาแม่ทัพนายกองจะออกมาแถลงไม่ปฏิวัติ กลุ่ม นปช.ก็จะสมมุติว่าเชื่อว่าจะไม่ปฏิวัติ
นายจตุพรกล่าวถึงการออกหนังสือฉบับพิเศษ ชื่อ ประเทศไทยของเรา อย่าให้ใครเผาอีกของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ นายสุเทพถึงได้ออกหนังสือด่าคนอื่นเรื่องเผาบ้านเผาเมืองเพื่อให้ประชาชนลืม ซึ่งความจริงนายสุเทพน่าจะเขียนหนังสือเรื่อง ประเทศของเรา อย่าให้รัฐบาลชุดนี้มาเผามากกว่า อย่างไรก็ตาม ตนกำลังรวบรวมข้อมูลที่อภิปรายเรื่องใครเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ร่วมกับนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล ส.ส แพร่ พรรคเพื่อไทย (พท.) เพื่อทำเป็นซีดีและหนังสือ เขียนโดยชุดผจญเพลิงของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็นผู้ทำข้อมูลเป็นลำดับขั้นตอนให้นายวรวัจน์ใช้ในการอภิปรายว่าชายชุดดำเป็นใครและจะนำหนังสือถวายสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัคราชกุมารีเพื่อให้พระองค์ทรงทราบว่าใครเป็นคนเผาตึกดังกล่าว
ทั้งนี้ รายได้จากการขายหนังสือและซีดีจะนำเข้าสมทบช่วยเหลือมูลนิธิคนปัญญาอ่อนแห่งประเทศไทย
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นายกเทศมนตรีเมือง “มินามิ-โซมะ” ประกาศขอความช่วยเหลือจากทั่วโลก

Posted: 06 Apr 2011 11:26 AM PDT

"คัตสุโนบุ ซากุระอิ" นายกเทศมนตรีเมืองมินามิ-โซมะ ได้แจ้งขอความช่วยเหลือลงในยูทิวป์ เผยสถานการณ์ในเมืองวิกฤตหลังกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะรั่ว ชี้มาตรการให้อยู่ในเคหะสถานของรัฐบาลกลาง กำลังทำให้ชาวเมืองขาดแคลนอาหารและสิ่งของจำเป็น ในเมืองขาดเชื้อเพลิงอย่างหนัก ธนาคาร ร้านค้าปิดตัว ทำให้ออกไปซื้อสิ่งของจำเป็นไม่ได้

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา นายคัตสุโนบุ ซากุระอิ (Katsunobu Sakurai) นายกเทศมนตรีเมืองมินามิ-โซมะ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมาซึ่งประสบเหตุสารกัมมันภาพรังสีรั่วไหลราว 25 กิโลเมตร ได้แจ้งขอความช่วยเหลือจากอาสาสมัครและประชาชนทั่วโลก โดยคลิปซึ่งบันทึกในวันที่ 24 มี.ค. ได้รับการเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทิวป์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม

ในคลิปนายกเทศมนตรีผู้นี้กล่าวถึงมาตรการของรัฐบาลที่ให้ประชาชนในรัศมี 20-30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า อยู่ในเคหะสถาน และ “ข้อมูลที่น่าหวาดวิตก” ที่ได้รับจากรัฐบาลหรือบริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียวหรือ (TEPCO) ทำให้เมืองอยู่ในสภาพโดดเดี่ยว ประชาชนกำลังขาดแคลนเสบียงอาหารและสิ่งของจำเป็น เนื่องจากมาตรการดังกล่าวทำให้ร้านค้าปิดตัวลงทั้งหมด ในเมืองขาดแคลนเชื้อเพลิงและประชาชนออกไปไหนไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถหาสิ่งของจำเป็นได้

โดยในคลิปนายกเทศมนตรีได้ร้องขอให้อาสาสมัครส่งน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยเหลือประชาชนในเมือง

เขายังกล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนด้วยว่า “สื่อมวลชนส่วนมากก็เช่นกัน ที่ติดตามข้อมูลข่าวสารจากโทรศัพท์ ถ้าพวกคุณไม่เข้ามาเดินในบริเวณนี้เพื่อติดตามข้อมูลที่ถูกต้อง พวกคุณจะไม่ได้รับการบอกเล่าจากประชาชนถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เราขอกระตุ้นเตือนให้พวกเขามาที่นี่ และมาเป็นพยานเฝ้าจับตาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่นี่”

ผมต้องการร้องขอต่อสื่อมวลชนทั่วโลกในการสนับสนุน โดยเฉพาะการรายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวและเหตุสึนามิ ว่าพวกเรากำลังต่อสู้กับภัยคุกคามที่มองไม่เห็นจากการรั่วไหลของกัมมันภาพรังสี” นายคัตสึโนบุกล่าว

นี่คือความจริงใจของข้าพเจ้าที่ร้องขอต่อท่านที่อยู่ทั่วโลก ข้าพเจ้าร้องขอท่านในนามของนายกเทศมนตรีเมืองมินามิ-โซมะ ในการช่วยเหลือพวกเรา การช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำให้พวกเรามีความเป็นมนุษย์ ผมต้องการร้องขอความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากพวกท่าน ขอขอบคุณ”

ในท้ายคลิปยังเรียกร้องให้รัฐบาลกลางของญี่ปุ่น "ควรมีมาตรการเร่งด่วนในการแจ้งคำสั่งที่มีความชัดเจน เพื่อรักษาชีวิตของประชาชนเมืองมินามิ-โซมะ และหยุดทำให้พวกเขาสับสน" ทั้งนี้สามารถติดตามข่าวล่าสุดจากเทศบาลเมืองมินามิ-โซมะได้จากเว็บไซต์ของเมืองดังกล่าว

000

รายละเอียดการแถลงของนายคัตสุโนบุ ซากุระอิ (Katsunobu Sakurai)
นายกเทศมนตรีเมืองมินามิ-โซมะ (Minami-Soma)

(หมายเหตุ: คำแปลอย่างไม่เป็นทางการโดยประชาไท)

 

ผมชื่อคัตซุโนบุ ซากุราอิ (Katsunobu Sakurai) นายกเทศมนตรีเมืองมินามิ-โซมะ (Minami-Soma) แผ่นดินไหวและเหตุสึนามิเมื่อวันที่ 3 มีนาคม และอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมา ซึ่งดำเนินมาถึงทุกวันนี้ ได้ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักกับเมือง ผมขอขอบคุณทุกท่านที่ได้พยายามให้ความช่วยเหลือ รวมไปถึงสื่อมวลชนต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ซึ่งอยู่ในรัศมี 20-30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า ยังคงอยู่ในสภาพขาดแคลนอาหาร อันเนื่องมาจาก มาตรการให้อยู่ในเคหะสถานของรัฐบาล และข้อมูลที่น่าหวาดวิตกที่ได้รับจากรัฐบาลหรือบริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ทำให้เราอยู่ในสภาพโดดเดี่ยว

ประชาชนเมืองมินามิ-โซมะ และอาสาสมัครที่รับมือการอพยพ และผู้บริหารเมือง พยายามเข้าให้การสนับสนุนการเคลื่อนย้ายนี้ อย่างไรก็ตาม ประชากรที่ยังคงอยู่ในเมืองตกราว 20,000 คน เราแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนด้านชีวิตความเป็นอยู่สำหรับประชาชน ผมเสียใจที่จะกล่าวว่า แม้ว่าเราจะมีความพยายาม แต่เราก็เผชิญกับความยากลำบากแม้แต่การส่งกระจายสิ่งของที่จำเป็น

กรุณาให้การสนับสนุนพวกเรา มาตรการป้องกันซึ่งกำหนดมาจากรัฐบาลที่ให้ประชาชนอยู่ภายในเคหะสถาน เป็นการจำกัดการส่งสิ่งของของพวกเรา

เราร้องขอความช่วยเหลือจากพวกท่าน บรรดาอาสาสมัคร พวกเรามีความจำเป็นในการได้รับความช่วยเหลือด้านการขนส่งสิ่งของ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของอาสาสมัครเอง เนื่องจากรัฐบาลยังคงกำหนดมาตรการให้อยู่ภายในเคหะสถาน

สื่อมวลชนส่วนมากก็เช่นกัน ที่ติดตามข้อมูลข่าวสารจากโทรศัพท์ ถ้าพวกคุณไม่เข้ามาเดินในบริเวณนี้เพื่อติดตามข้อมูลที่ถูกต้อง พวกคุณจะไม่ได้รับการบอกเล่าจากประชาชนถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เราขอกระตุ้นเตือนให้พวกเขามาที่นี่ และมาเป็นพยานเฝ้าจับตาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่นี่

นับตั้งแต่มาตรการให้อยู่แต่ในเคหะสถานดำเนินมา ร้านค้าและร้านสรรพสินค้าในเมืองต่างปิดตัวลง ธนาคารปิดตัวลง ประชาชนแทบจะไม่มีอะไรกิน ราวกับพวกเขาอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่แร้นแค้น และเชื้อเพลิงยังไม่เพียงพอ ทำให้เป็นการยากสำหรับพวกเราที่จะอพยพ เราจึงร้องขอก๊าซและปิโตรเลียมเช่นกัน

นับตั้งแต่ 14 วันจากเหตุแผ่นดินไหว สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในบ้านของประชาชนที่ยังคงอาศัยในเมืองกำลังจะหมดลง แต่พวกเราไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงพอที่จะเข้าถึงสิ่งของเครื่องใช้เหล่านั้น เราจึงร้องขอต่ออาสาสมัครที่สามารถนำน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาได้

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกำลังสู้กับภัยจากกัมมันตภาพรังสี พวกเขาได้ทำงานอย่างหนักและเหน็ดเหนื่อยเพื่อปกป้องพลเมือง พวกเขาส่วนหนึ่งสูญเสียสมาชิกครอบครัวเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหว พวกเขาส่วนหนึ่งสูญเสียบ้านเรือน พวกเขาเป็นกระดูกสันหลังแห่งชีวิตของพลเมือง ผมหวังว่าอาสาสมัครจะสามารถแบ่งเบาภาระอันนี้ โปรดมอบความสนับสนุนจากท่านเพื่อให้เราผ่านพ้นความยากลำบากแสนเข็ญนี้ด้วยกัน

เมืองมินามิ-โซมะ เป็นเมืองที่รักษาขนมธรรมเนียมซามูไรอันยิ่งใหญ่ที่สืบทอดมานับพันปี เราเรียกว่าเทศบาล โซมะ-โนมาโออิ (Soma-Nomaoi) นี่เป็นเรื่องเหนือจินตนาการมาก ที่คลื่นสึนามิสูงกว่า 20 เมตรได้กวาดล้างทุกสิ่งในระยะ 2.5 กิโลเมตร ถึง 20 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ประชาชนในพื้นที่ทั้งหมดได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง

เป็นการยากมากที่เราจะค้นหาผู้สูญหาย ขณะนี้เราพบร่างผู้เสียชีวิตแล้ว 253 ราย และอีกกว่า 1,260 คนยังคงสูญหาย และขณะนี้เรากำลังเผชิญกับอุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ประชาชนในระยะ 10 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าต้องอพยพ และประชาชนในระยะ 20 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าก็ต้องอพยพ และที่นี่ซึ่งอยู่ในระยะ 30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าได้รับการแจ้งให้อาศัยในเคหะสถาน

ประชาชนจำนวนมากที่นี้อยู่ในเมืองโดยปราศจากพาหนะ เป็นการยากที่พวกเขาจะได้เสบียงอาหารที่จะส่งมายังบ้านเรือนของพวกเขา พวกเรารู้สึกเสียใจที่ต้องกล่าวเช่นนี้ แต่พวกเราต้องการร้องขออาสาสมัครให้รับภาระความเสี่ยงนี้ด้วยตัวของเขาเอง

เพราะว่าพวกเราถูกห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมภายนอกเคหะสถาน ภายใต้มาตรการของรัฐบาลที่ให้พวกเราอยู่แต่ในบ้าน โชคดีที่เมืองมินามิ-โซมะ มีระดับกัมมันตรังสีที่อยู่ในระดับต่ำ หากพิจารณาถึงระยะทางเพียง 25 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า โดยขณะนี้มีระดับรังสีอยู่ที่ 1.5 ถึง 3.0 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง

ขณะที่ในบางพื้นที่ ซึ่งอยู่ไกลจากโรงไฟ้ามากกว่าที่นี่ กลับมีระดับรังสีสูงกว่าถึง 3 เท่า หรือบางครั้งมากกว่าถึง 10 เท่า ระดับกัมมันตภาพรังสีในน้ำประปามีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ เรียกว่ายังห่างไกลจาก "การปนเปื้อน"

ก่อนที่การปนเปื้อนจะขยายตัวมากกว่านี้ กรุณายื่นมือของท่านเพื่อช่วยเหลือประชาชนเหล่านี้ ข้าพเจ้าและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอยู่ที่เมืองแห่งนี้เพื่อปกป้องชีวิตของพลเมือง โปรดช่วยพวกเราด้วย

มากไปกว่านั้น มีพลเมืองประมาณ 50,000 คนได้อพยพออกจากเมืองนี้ไปยังพื้นที่อื่นของประเทศ ขณะนี้พวกเราสามารถติดต่อประชาชนเหล่านี้ได้ไม่มากนัก เราต้องการกระจายความสนับสนุนไปยังประชาชนเหล่านี้เช่นกัน แต่ในเวลานี้พวกเราขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลท้องถิ่น ในข้อเท็จจริง เราไม่มีข้อมูลว่ามีประชากรจำนวนเท่าไหร่ที่ได้อพยพออกไปและไปอยู่ที่ไหน ซึ่งน่าจะมีเป็นร้อยสถานที่

โปรดให้ความช่วยเหลือด้วยการให้กำลังใจพวกเขา และให้พวกเขาได้รับข้อมูลข่าวสารว่าพวกเราได้รวมกันและพยายามทำทุกวิถีทางที่เป็นไปได้เพื่อช่วยเหลือพลเมืองของพวกเรา และเพื่อฟื้นฟูเมือง

ผมต้องการร้องขอต่อสื่อมวลชนทั่วโลกในการสนับสนุน โดยเฉพาะการรายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวและเหตุสึนามิ ว่าพวกเรากำลังต่อสู้กับภัยคุกคามที่มองไม่เห็นจากการรั่วไหลของกัมมันภาพรังสี

นี่คือความจริงใจของข้าพเจ้าที่ร้องขอต่อท่าน ที่อยู่ทั่วโลก ข้าพเจ้าร้องขอท่านในนามของนายกเทศมนตรีเมืองมินามิ-โซมะ ในการช่วยเหลือพวกเรา การช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำให้พวกเรามีความเป็นมนุษย์ ผมต้องการร้องขอความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องจากพวกท่าน ขอขอบคุณ

 

(หมายเหตุที่ระบุท้ายคลิป) ในวันที่ 25 มีนาคม รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศว่าจะมอบความสนับสนุนให้กับประชาชนที่ต้องการอพยพ อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่เต็มใจที่จะแจ้ง "คำสั่งอพยพ" อย่างเฉพาะเจาะจงให้กับประชาชนในเมืองมินามิ-โซมะ ก่อนหน้านี้ ประชาชนในเมืองมินามิ-โซมะ ถูกบังคับให้ตัดสินใจในเรื่องสำคัญโดยไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ รัฐบาลควรจะมีมาตรการเร่งด่วนในการแจ้งคำสั่งที่มีความชัดเจน เพื่อรักษาชีวิตของประชาชนเมืองมินามิ-โซมะ และหยุดทำให้พวกเขาสับสน

 

000

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก SOS from Mayor of Minami Soma City, next to the crippled Fukushima nuclear power plant, Japan, by p4minamisoma, Mar 26, 2011 http://www.youtube.com/watch?v=70ZHQ--cK40

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข่าวสารประชาชนรอบสัปดาห์ (28 มี.ค.-3 เม.ย.54)

Posted: 06 Apr 2011 11:01 AM PDT

ภาคประชาชนเสนอรัฐสร้างความเสมอภาคผู้ติดเชื้อเอดส์
เมืองทองธานี 29 มี.ค.- ในงานสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 13 ที่อิมแพค คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เมืองทองธานี เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน เตรียมยื่นข้อเสนอ 3 ประเด็น จากภาคประชาชนเกี่ยวกับนโยบายปัญหาโรคเอดส์ในประเทศ ต่อนายกรัฐมนตรี โดย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานคณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ กล่าวถึง ข้อเสนอดังกล่าวว่า ภาคประชาชนจะเสนอมุมมองใหม่ไปยังนักการเมืองและผู้เกี่ยวข้องในการทำงานเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเอดส์ในประเทศไทย ให้มองว่าเรื่องโรคเอดส์ไม่ใช่เรื่องของกลุ่มเสี่ยงเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของทุกคนในสังคม จึงต้องกำหนดมาตรการที่เหมาะสม จึงจะเสนอให้สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ของผู้ติดเชื้อเอดส์ ต้องการเห็นการปฏิรูปสังคมและการเมือง โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณ, การลดจำนวนผู้ติดเชื้อ โดยการให้โอกาสการเข้าถึงการรักษาในมาตรฐานเดียวกัน ไม่แบ่งแยก และทบทวน กลไกการขับเคลื่อนงานด้านเอดส์ อย่างเป็นจริง มีประสิทธิภาพ แนะให้นำสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเอดส์ชาติ ไปอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมเพิ่มสัดส่วนภาคประชาสังคมให้มากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายวันนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิด การสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 13 สิทธิด้านเอดส์ คือสิทธิมนุษยชน ร่วมพิทักษ์สิทธิ ร่วมรับผิดชอบ จัดขึ้น ณ อิมแพค คอนเวนชั่นเซนเตอร์ เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม

 
รมว.สธ.ย้ำไทยให้ความสำคัญโรคเอดส์เป็น 1 ใน 5 โรคสำคัญ
เมืองทองธานี 29 มี.ค.- นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 13 พร้อมกล่าวว่า จากข้อมูลจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์สะสมถึงปี 2553 ไทยมีผู้ติดเชื้อรวม 1,161,244 ราย เสียชีวิต 644,128 ราย และยังมีชีวิตอยู่ 522,548 ราย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปีละ 10,853 ราย สาเหตุของการติดเชื้อจากกลุ่มชายรักชาย ร้อยละ 33  แม่บ้านติดจากสามี ร้อยละ 28 ผู้ชายติดจากหญิงขายบริการร้อยละ 10  สามีติดจากภรรยา ร้อยละ 10 และ ติดจากเข็มฉีดยา ร้อยละ 9 กระทรวงฯ จึงจัดความสำคัญของโรคเอดส์ เป็น 1 ใน 5 โรคสำคัญที่ต้องเร่วรัดดำเนินการป้องกันและแก้ไข ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยมีการกำหนดเป้าหมายและวิสัยทัศน์การดำเนินงานสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ใหม่ของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) คือ Zero new infection, Zero AIDS relates deaths, Zero discrimination หรือ Getting to Zero ซึ่งหมายถึง 1.การเร่งรัดการป้องกันติดเชื้อรายใหม่ในกลุ่มประชากรเฉพาะ ได้แก่ กลุ่มเยาวชน กลุ่มประชากรเปราะบาง 2.ลดการเสียชีวิตเนื่องจากการติดเชื้อ HIV เช่น ปรับเกณฑ์การเริ่มให้ยาต้านไวรัสเร็วขึ้น ทำให้ผู้ติดเชื้อมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้บริการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีปีละ 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลสังกัด สธ.และ 3.ไม่เลือกปฏิบัติกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยการส่งเสริมให้เคารพสิทธิ์ผู้ติดเชื้อ ไม่บังคับให้ตรวจเลือดก่อนเข้าทำงาน เป็นต้น ทั้งนี้ นายจุรินทร์ ได้มอบโล่ให้กับโรงพยาบาลที่ให้บริการแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางมาประชุมร่วมกับคณะกรรมการเอดส์แห่งชาติ ร่วมถ่ายภาพแสดงความยินดีด้วย
 
สธ. คาดปี 54 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 10,097 ราย ภาคประชาชนยื่นวาระ 3 ข้อต่อรัฐบาล ปลุกผีโครงการถุงยาง 100%
29 มี.ค.ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี นพ.เฉวตสรร นามวาท หัวหน้ากลุ่มระบาดวิทยาโรคเอดส์ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 มี.ค.ว่า ในปี 2553 คาดการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์สะสม 1,161,244 ราย เสียชีวิต 644,128 ราย ยังมีชีวิตอยู่ 522,548 ราย และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,853 ราย หรือวันละ 27 ราย  ในปี 2554 คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 10,097 ราย กลุ่มที่มีการติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุดคาดว่าคงจะเป็นกลุ่มชายรักชายติดเชื้อประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด รองลงมาคือ แม่บ้านที่ติดเชื้อจากสามีหรือคู่นอน กลุ่มชายที่ติดจากหญิงบริการ กลุ่มสามีที่ติดจากภรรยา กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด อย่างไรก็ตามจากการวิจัยพบว่า ตัวเลขชายรักชายที่ติดเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่ยังอยู่ในกรุงเทพฯ คิดเป็นประมาณ 30% ต่างจังหวัดประมาณ 5%
ด้าน นพ.ชัยยศ คุณาสนธิ์ ผู้เชี่ยวชาญโรคเอดส์ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวถึงก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการป้องกันโรคเอดส์ว่า แม้จะมีถุงยางอนามัย แต่ก็มีความพยายามในการวิจัยวัคซีนป้องกัน  วิจัยสารทำลายเชื้อเอชไอวี ที่เรียกว่าไมโครบีไซด์ ที่มีส่วนผสมของยาทีโนโฟเวีย 1% ใช้ทาช่องคลอด โดยผลการวิจัยที่ออกมาในปี 2553 พบว่า สามารถทำลายเชื้อเอชไอวีได้ 39%  แต่ทั้งวัคซีนและเจลฆ่าเชื้อก็ยังไม่ผลิตออกสู่ตลาด ส่วนการรับประทานยาต้านไวรัสพบว่า ผู้ที่ติดเชื้อจะมีปริมาณเชื้อลดลงเมื่อกินยาต้านไวรัสดังนั้นโอกาสจะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นก็น้อย แต่ก็ยังเป็นกลไกในการป้องกันที่ไม่ดีนัก  ตนเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลควรสนับสนุนคือการเข้าถึงถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะเป็นการแจกฟรี หรือการผลิตถุงยางอนามัยราคาถูกออกจำหน่าย 5-10 บาท ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดโอกาสให้เอกชนผลิตถุงยางอนามัยแฟนซีราคาสูงออกมาจำหน่ายได้เช่นกัน.
   
 
สธ.แฉเยาวชนเกย์ติดเอดส์อื้อ ทนไม่ไหวเปิด“คอนดอม พ้อยท์”แจกถุงยาง3ขนาด พร้อมสารหล่อลื่นฟรีใน30จังหวัด 
30 มี.ค. นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายกิตตินันท์ ธรมธัช   นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และประธานเดอะบีช กรุ๊ป แถลงข่าวเปิดตัวจุดบริการถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่นหรือคอนดอม พ้อยท์  ในงานสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ครั้งที่ 13 ที่ อิมแพ็ค คอนเวนชั่น เมืองทองธานี
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายรักชายมีแนวโน้มสูงขึ้น  โดยขณะนี้มีประชากรกลุ่มนี้ประมาณร้อยละ 3 ของเยาวชนชายไทย  และมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีจากพฤติกรรมเสี่ยง สาเหตุหนึ่งเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเรื่องการป้องกันโรคเอดส์ รวมทั้งการเข้าถึงบริการ การป้องกัน และการตรวจรักษา ในปี 2553  คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ประมาณ 10,853 ราย  ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มชายรักชายมากถึงร้อยละ 33  หรือเกือบ 1 ใน 3 ชี้ให้เห็นจะเป็นกลุ่มหลักของการระบาดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยในอนาคต หากยังมีพฤติกรรมเสี่ยงคือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย มีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่กว่าร้อยละ 50 จะเป็นกลุ่มชายรักชาย
กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย ได้มีนโยบายเชิงรุกเร่งแก้ไขป้องกัน จัดทำโครงการส่งเสริมการเข้าถึงถุงยางอนามัยและสุขอนามัยในกลุ่มชายรักชาย ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเพื่อป้องกันโรค  โดยจัดจุดบริการถุงยางอนามัยและสารหล่อลื่นฟรี หรือคอนดอม พ้อยท์   กระจายลงในสถานที่ที่กลุ่มชายรักชาย นิยมไปเที่ยวหรือพบปะกัน เช่น ดิสโก้เธค คาราโอเกะ ฟิตเนส ซาวน่า และร้านเสริมสวย เป็นต้น  ในปี 2553 นำร่องใน 30 จังหวัด มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการ 188 แห่ง  ในปี 2554 ตั้งเป้าขยายพื้นที่อีก 18 จังหวัด รวมเป็น 48 จังหวัด 
 
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ยังได้จัดทำโครงการป้องกันในรูปแบบเพื่อนช่วยเพื่อน  และการให้บริการที่เป็นมิตรในพื้นที่ที่มีสถานการณ์การติดเชื้อสูง ได้แก่ กทม. ภูเก็ต เชียงใหม่ อุดรธานี ขอนแก่นและชลบุรี  โดยพัฒนาแกนนำกลุ่มชายรักชายในระดับอุดมศึกษาและจัดทำหลักสูตรการสอนทักษะชีวิตให้กับกลุ่มชายรักชาย ให้แก่ครูที่สอนในระดับมัธยมศึกษา  และดึงภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมป้องกันมากขึ้น โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลกใน 43 จังหวัด ผลการดำเนินการตั้งแต่กรกฏาคน 2552-มิถุนายน 2553  สามารถข้าถึงกลุ่มเกย์ในพื้นที่เป้าหมาย 13,000 คน สาวประเภทสอง 10,000 คน แจกถุงยางอนามัย 500,000 ชิ้น และสารหล่อลื่น 270,000 ชิ้น โดยร้อยละ 50 ของกลุ่มที่เข้าถึงเป็นเยาวชนอายุ 16-25 ปี
สำหรับคอนดอมพ้อยท์ จะสังเกตได้ง่าย คือ กล่องบรรจุถุงยางและสารหล่อลื่น จะใช้สีม่วง  มีรูปร่มสีรุ้ง และตัวอักษรเขียนว่า  Condom Point   มีถุงยางอนามัย 3 ขนาด คือ 49, 52 , 54 และสารหล่อลื่น  สามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการ แต่ละกล่องบรรจุถุงยางได้ประมาณ 300 ชิ้น  สถานประกอบการที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการ สอบถามรายละเอียดและสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป้าหมาย 48 จังหวัด  และที่ สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-3216  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขพร้อมสนับสนุนเต็มที่
 
กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าเชียงราย ดึงนักวิชาการลงพื้นที่ตรวจสอบ
กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าที่ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ยันโรงไฟฟ้าจะเกิดปัญหาฝุ่นละออง แย่งน้ำกับชุมชน พบบริษัทที่จะก่อสร้างเชื่อมโยงกับบริษัทโรงไฟฟ้าที่ประจวบคีรีขันธ์ซึ่งถูกศาลปกครองสั่งระงับโครงการ
 
30 มี.ค. กลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ที่อำเภอเวียงชัย ซึ่งเตรียมก่อสร้างโดยบริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด ได้จัดเวทีสัมมนาร่วมกับ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ นำโดยนายศุภกิจ นันทะวรการ บริเวณโบราณสถานพระเจ้ากือนา บ้านไตรแก้ว เพื่อรับฟังข้อมูลจากชาวบ้านและเตรียมศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน
 
นายศุภกิจ กล่าวว่าปัจจุบันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ได้สร้างปัญหาให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก มีประชาชนทั่วทุกจังหวัดรวมตัวกันออกมาคัดค้าน โครงการ ทั้งนี้โดยส่วนมากมาจากปัญหาการจัดทำประชาคม ที่ชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วมและได้รับฟังข้อมูลเพียงด้านเดียว อีกทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งปัญหาฝุ่นละออง และการแย่งชิงแหล่งน้ำในชุมชน เป็นต้น ซึ่งตนมองว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลในปัจจุบันที่มีขนาดเกิน 1 เมกกะวัตต์ ขึ้นไปไม่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืน และสร้างปัญหามากกว่า
 
ในขณะชาวบ้านในพื้นที่ร่วมให้ข้อมูลความเป็นมาตั้งแต่ตนจนนำมาสู่การคัดค้าน โดยระบุการจัดทำประชาคม โดยวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวรนั้น มีการนำรายชื่อชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมมาแอบอ้างว่าเป็นผู้สนับสนุนโครงการ ทั้งที่เจ้าตัวไม่ได้เห็นชอบ ตลอดจนคดีความต่างๆที่ถูกบริษัทฟ้องร้องก็ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะคดีหมิ่นประมาท ที่นายก อบต.ฯ นำเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ไปยื่นต่อ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อยากถามศาลว่าลักษณะเช่นนี้เป็นการหมิ่นประมาทตรงไหนกัน
 
ด้านแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้ากล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทพลังงานสะอาดดี 2 จำกัด เป็นกลุ่มทุนเดียวกัน กับโรงไฟฟ้าของ บริษัท พลังงานสะอาดทับสะแก ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มี นายชัยณรงค์ มหาวีรวัฒน์ นายสุเทพ เหล่าสายเชื้อ นายสุทรรศน์ สืบวงศ์ เป็นกรรมการบริษัท ที่ถูกชาวบ้านฟ้องศาลปกครอง และศาลปกครองรับฟ้องและมีคำสั่งให้ระงับโครงการ ซึ่งจากการตรวจสอบพบการทำผิดหลายประเด็น โดยเฉพาะการปลอมแปลงเอกสาร เพื่อขอเพิ่มกำลังวัตต์
 
แกนนำกล่าวเพิ่มเติม ข้อมูลตรงนี้อยากย้อนถาม บริษัทฯ ที่ขอให้ศาลไกล่เกลี่ยให้ยอมสร้าง แล้วจะสร้างให้เหมืองโรงไฟฟ้ามุ่งเจริญ ที่สุรินทร์ จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อโรงไฟฟ้าที่ประจวบคีรีขันธ์ยังถูกฟ้อง
 
หลังจากสัมมนาและรับฟังข้อมูลจากชาวบ้าน นายศุภกิจ ได้เดินทางตรวจสอบพื้นที่ การก่อสร้างโรงไฟฟ้า และพื้นที่โดยรอบ เพื่อนำไปศึกษาผลกระทบ และใช้เป็นข้อมูลในการนำเสนอต่อ คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่แต่งตั้งโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มี นาย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธานกรรมการต่อไป
 
ชาวนาจาก22จังหวัดภาคกลางกว่า 1 พันคน เคลื่อนกำลังปิดถนนบางปลาม้า เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาข้าวตกต่ำ
ชาวนา10อำเภอในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และชาวนาภาคกลาง 22 จังหวัด  ออกเดินทางพร้อมด้วยรถยนต์ส่วนตัวและรถบัส รวมตัวกว่า 1,000 คน ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หลังระบาดหนักในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ชาวนาได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
นายประภัตร โพธสุธน อดีตรมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันนี้พี่น้องชาวนาเดินทางมารวมตัวกันที่หน้าศาลากลาง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาราคาข้าวที่กำลังตกต่ำจนถึงขีดสุดแบบที่ไม่เคยมาก่อน วันนี้จึงมายืนเคียงข้างกับพี่น้องชาวนาเพราะรัฐบาลไม่จริงใจที่จะแก้ปัญหาเรื่องของราคาข้าวและเรื่องเพลี้ยกระโดดซึ่งมีเพียง 2 เรื่องที่ต้องการให้มีผู้มารับเรื่องและให้คำตอบคือกระทรวงพานิชย์ และกระทรวงเกษตร ที่ต้องให้คำตอบ
 
"ถ้าไม่ให้คำตอบจะนำชาวนาเดินทางไปปิดถนนที่ต.สาลี อ.บางปลาม้า เพราะบริเวณจุดดังกล่าวเป็นเส้นทางหลักที่หลายจังหวัดจะมาเจอกันเราจะดำเนินการเคลื่อนไหวถ้าไม่ได้รับคำตอบ"นายประภัตร
ขณะที่นายเสมียน หงส์โต ประธานชมรมชาวนาภาคกลาง 22 จังหวัด กล่าวว่า ขณะนี้ทางชาวนาทั้งหมดเตรียมเคลื่อนตัวเตรียมเดินทางไปปิดถนนดังกล่าว ถ้ายังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนในวันนี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่จริงใจสนใจแก้ปัญหาเรื่องของราคาข้าวอย่างจริงจังเรื่องนี้เองถูกมองข้ามมาตลอด
http://www.posttoday.com/%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%A1.-%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84/%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%A2%E0%B9%8C/%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2/81642/%E0%B8%A1%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%96%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%B2
 
ไล่รื้อชุมชนพระราม 6 ชาวบ้านเดินหน้าขอความชัดเจนสัญญาที่อยู่ใหม่
1 เม.ย.54 เวลา 10.30 น.มีรายงานข่าวว่ากลุ่มชาวบ้านชุมชนพระราม 6 และชุมชนใกล้เคียงที่อีก 9 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน พร้อมกับกลุ่มคนจนเมืองในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศภายใต้เครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวนหลายร้อยคนได้รวมตัวเดินทางจากที่ตั้งชุมชนโดยมีเป้าหมายจะเดินทางไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องการแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
 
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดีเข้ารื้อถอนบ้านเรือนในชุมชนพระราม 6 ถนนประชาราษฎร์สาย 1 แขวง-เขตบางซื่อ ตามที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ฐานะโจทก์ยื่นฟ้องผู้อาศัยอยู่ภายในชุมชนประมาณ 40 หลัง ฐานะจำเลย และศาลแพ่งได้มีคำสั่งให้รื้อถอนเมื่อวันที่ 19 ก.ค.53 แต่ชาวบ้านภายในชุมชนกว่า 100 คน ได้รวมตัวประท้วง กระทั่งเกิดเหตุปะทะกันทำให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยการไล่รื้อดังกล่าวเป็นไปตามการเร่งรัดก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน
 
วานนี้ (31 มี.ค.54) แม้จะมีการเจรจาระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่และตัวแทนบริษัทฯ ซึ่งเข้ามาควบคุมการรื้อถอน เพื่อให้เวลากับชาวบ้านอีกระยะหนึ่งในการหาที่อยู่ใหม่ และมีการระดมกำลังชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงเพื่อมาร่วมผลักดันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่การรื้อถอนยังคงดำเนินต่อเนื่องถึงช่วงเย็นจนแล้วเสร็จเกือบทั้งหมด โดยเจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดีชี้แจงว่าการรื้อถอนเริ่มต้นจากบ้านที่เจ้าของเซ็นรับทราบแล้ว อย่างไรก็ตาม ตามคำสั่งศาลเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บังคับคดีในการรื้อถอน ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอข้อสรุปในส่วนการจ่ายค่าชดเชยเรื่องค่าขนย้าย ค่าที่อยู่อาศัยหลังคาเรือน ที่ชาวบ้านต้องเจรจากับทางบริษัทฯ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการรื้อถอน กลุ่มชาวบ้านเฝ้าดูการทำงานของเจ้าหน้าที่และคนงานรื้อถอนอย่างใกล้ชิด บ้างก็นั่งน้ำตาซึม บ้างก็บ่นว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพยามยามเข้าไปปกป้องบ้านหนึ่งหนึ่งจากการรื้อถอน โดยยืนประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพยายามร้องเพลงปลอบขวัญและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน แต่เมื่อบ้านหลังอื่นๆ ถูกรื้อถอนจนเกือบหมด กลุ่มชาวบ้านจึงถอนตัวออกมา เพราะไม่สามารถผลักดันเจ้าหน้าที่ต่อไปได้เนื่องจากกำลังคนน้อยกว่า
 
อย่างไรก็ตามในวันเดียวกันนั้น ได้มีชาวบ้านเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จากพื้นที่จังหวัดต่างๆ อาทิ ราชบุรี นครปฐม ขอนแก่น อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี ฯลฯ ทยอยเดินทางเข้ามาร่วมชุมนุมกับชาวบ้านชุมชนพระราม 6 ด้วย  
 
“ทีนี้คนจนก็ไม่มีที่ไป ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่รู้จะช่วยกันอย่างไร แต่ก็ต้องต่อสู้กันเอง” นายโรติ อายุ 51 ปี ชาวชุมชนโชติวัต ซึ่งเป็นชุมชนในเขตโครงการรถไฟสายสีแดงที่ถูกรื้อถอนก่อนหน้านี้ กล่าวหลังมาเฝ้าสังเกตการณ์
 
นายสุเทพ โตเจิม ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เขตบางซื่อ และเป็นหนึ่งในผู้ถูกไล่รื้อในครั้งนี้ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายน 2553 ชาวชุมชนได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ ร.ฟ.ท.จัดหาพื้นที่ใหม่ให้ชาวบ้านจาก 10 ชุมชนในพื้นที่เขตบางซื่อ ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ ซึ่งตรงนี้ชาวบ้านยินยอมออกจากพื้นที่ ไม่ได้ขัดขืน แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านรอคอยสัญญาเช่าที่แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากปัญหาการจัดหาพื้นที่
 
นายสุเทพ กล่าวต่อมาว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านพูดตลอดเรื่องข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ 1.เรื่องที่ดิน โดยชาวบ้านเสนอให้แบ่งปันพื้นที่ส่วนที่เหลือจากการก่อสร้างมาจัดสรรให้ชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านยินยอมที่จะเช่าอยู่ไม่ใช่การอยู่ฟรีเหมือนที่ผ่านมา 2.เรื่องค่าชดเชย ซึ่งเงินยังไม่มีการจ่าย แต่ใช้วิธีฟ้องบังคับให้ชาวบ้านต้องออกจากพื้นที่ หากไม่ยอมก็จะถูกจับ หรือถูกปรับ ทั้งที่ทางบริษัทฯ ได้รับงบประมาณรื้อย้ายถึง 300 ล้านบาท ซึ่งส่วนตัวคิดว่าน่าจะต้องเอางบในส่วนนี้มาบริหารจัดการเป็นค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้านที่ต้องไร้ที่อยู่อาศัย
 
นายสุเทพให้ข้อมูลด้วยว่า ขณะนี้ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งจ้างกลุ่มยูนิค-ซุนวู จอยท์เวนเจอร์ ให้ก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เนื่องจากการประมูลไม่โปร่งใส โดยขณะนี้ ทาง ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างทำเรื่องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และยังคงให้บริษัทฯ ดำเนินการโครงการต่อ
 
อ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/33824
 
ม็อบชาวนา บุกพาณิชย์ ร้องแก้ราคาข้าวตกต่ำ ด้านพรทิวา ยันพร้อมเปิดจุดรับซื้อ 2 เม.ย.นี้ ทั่วประเทศ  เตรียมชง ครม. จันทร์นี้ รับซื้อข้าวราคานำตลาด 200-300 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มชาวนาภาคกลางจาก 8 จังหวัดกว่า 1 พันคน นำโดยนายประภัตร โพธสุธน อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาชุมนุมประท้วงบริเวณลานเอนกประสงค์กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเรียกร้องให้ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เร่งช่วยแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ หลังจากราคาข้าวเปลือกเจ้า 25% ลดเหลือตันละ 5,000-6,000 บาท โดยกลุ่มชาวนาเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก 25% ราคาตันละ 8,500 บาท ทันทีในวันที่ 2 เม.ย.นี้ทั่วทั้งประเทศ และให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ 1 ก.พ.54 
ต่อมานางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เดินทางพบชาวนาเพื่อรับฟังข้อเสนอและชี้แจงว่า รัฐบาลพร้อมเปิดจุดรับซื้อข้าวนาปรังทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. นี้เป็นต้นไป ในราคารับซื้อเท่ากับราคาอ้างอิง หรือราคาตลาด ผ่านองค์การคลังสินค้า (อคส.) 50 จุด และอีกส่วนผ่านองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) สำหรับข้อเรียกร้องของเกษตรกร กระทรวงพาณิชย์ได้รับไว้และจะนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาอย่างเร่งด่วนในวันที่ 4 เม.ย.นี้  เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ไม่มีอำนาจอนุมัติ ต้องรอมติจาก ครม. และคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)
สำหรับแนวทางที่เสนอจะให้พิจารณาจ่ายเงินส่วนต่างราคาขาย ให้ชาวนาย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.54 รวมทั้งให้รัฐบาลเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือกโดยใช้ราคานำตลาดตันละ 200-300 บาท ซึ่งจะทำให้ราคารับซื้อเพิ่มเป็นตันละ 8,300-8,400 บาท เพิ่มจากเดิมที่ให้ซื้อตามราคาตลาด เพื่อช่วยดึงราคาข้าวเปลือกขึ้น
 
"เมืองนครฯ" ยังระทม ส่ง ฮ.อพยพคน-ย้ายศพ ตะลึง!! พบรอยปริบนเขายาว 1กม.
"ในหลวง-ราชินี" พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยซับน้ำตาชาวใต้ โดยผู้ว่าฯเมืองนครเผย ส่งเฮลิคอปเตอร์บินอพยพผู้ประสบภัยแล้ว พร้อมปูพรมช่วยเหลือส่งเสบียงและใช้เครื่องปั่นไฟบรรเทาความเดือดร้อน ด้านเฮลิคอปเตอร์ทำงานหนัก บินรับส่งผู้ประสบภัยและศพผู้เสียชีวิต ขณะที่ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ลงพื้นที่พบชาวอำเภอนบพิตำป่วยจำนวนมาก นอกจากนี้ เจอศพเด็กหญิงวัย 12 จมน้ำลอยคลองข้ามอำเภอ
       
2 เม.ย. นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วม ว่า มีความรุนแรงและมีผลกระทบกับพี่น้องประชาชนเป็นวงกว้าง และยังมีประชาชนบางส่วนยังติดค้างอยู่ในพื้นที่ เนื่องจากมีสภาพของเส้นทางถูกตัดขาดจากโลกภายนอก มีความจำเป็นที่จะต้องระดมกำลังจากทุกภาคส่วน เข้าให้ความช่วยเหลือในทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือให้มีความปลอดภัยรวมทั้งมีเสบียงอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ของอำเภอนบพิตำ และอำเภอสิชล ที่ยังพบว่ามีประชาชนยังตกค้างอยู่ ในวันนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพภาค 4 และตำรวจตระเวนชายแดน กองบินตำรวจ พร้อมกำลังพลบูรณาการกับอาสาสมัครภาคเอกชน เข้าให้การช่วยเหลือในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
       
ทั้งนี้ เฮลิคอปเตอร์ที่ลงพื้นที่ ประกอบด้วยแบบฮิวอี้ 212 แบล๊คฮอร์ค และเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ ชีนุคจำนวน 2 ลำจากกองทัพบก และแบบฮิวอี้ 214 อีก 2 ลำจากกองบินตำรวจ และตำรวจตระเวนชายแดน ติดเครื่องหมายสัญลักษณ์ RESCUE ออกบินส่งเสบียงให้กับพื้นที่ต่างๆที่ถูกตัดขาด และเนื่องจากที่สภาพอากาศเปิดและแจ่มใสขึ้นในวันนี้ หลังจากที่ได้บินให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องหลายสิบเที่ยวต่อวัน
       
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยที่มีประชาชนได้รับผลกระทบทั้ง 23 อำเภอ ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว ราว 20 ราย ประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้วกว่า 200,000 ครัวเรือน จำนวนกว่า 900,000 คน มีมีการอพยพ 20,000 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 17 หลัง และเสียหายบางส่วน 804 กว่าหลัง พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 280,000 ไร่ ถนนเสียหายกว่า 1,700 กว่าสาย ตลอดถึงสิ่งสาธารณประโยชน์ ความเสียหายด้านปศุสัตว์และประมงอีกจำนวนมาก ซึ่งมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นกว่า 1,500 ล้านบาท ขณะที่ทางจังหวัดตลอดถึงอำเภอ องค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ ได้ออกตระเวนออกมอบถุงยังชีพให้กับประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนในทุกจุด ถึงขณะนี้ได้มีการแจกจ่ายไปแล้วกว่าแสนชุด
       
ในหลวง-ราชินี” พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทาน พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย จากสถานการณ์ เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2554 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน โดยผ่านผู้บัญชาการกองทัพบก และที่หน้ากองบัญชาการกองทัพภาคที่ 4 ค่ายวชิราวุธ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช พลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 รับมอบเงินพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อที่จะนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่อไป
       
ตะลึงพบรอยปริบนเขานบพิตำยาวกว่า 1กม.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในพื้นที่ บ้านเขาเหล็ก ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ได้มีความพยายามในการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดนั้นมีรายงานว่าเกิดรอยปริแยกบนภูเขาในพื้นที่ดังกล่าวมีความกว้างประมาณ 1 เมตรยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ทำให้เกิดความหวาดหวั่นว่าหากฝนตกลงมาแนวปริแยกนี้จะพังถล่มเลื่อนไหลลงมาเกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง และยังมีประชาชนอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวหลายครอบครัว
       
นายเดชา กังสะนันท์ ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ในพื้นที่ อ.นบตำ จ.นครศรีธรรมราช การอพยพเคลื่อนย้ายประชาชนในพื้นที่ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขนส่งอาหาร เวชภัณฑ์เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ เข้าในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันโดยส่งไปถึงบ้านสำนักเนียน อ.สิชล ซึ่งในเรื่องเครื่องอุปโภคบริโภค อาหารต่างๆไม่น่าห่วงนัก โดยได้จัดลำดับความสำคัญในการเคลื่อนย้ายโดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ คนชรา และผู้หญิงตั้งครรภ์ ลงมาจากพื้นที่ก่อน และได้ช่วยเหลือประชาชนที่ติดค้างอยู่ด้วยเฮลิคอปเตอร์แบบฮิวอี้ 212 หย่อนตาข่ายลงไปรับหิ้วขึ้นเครื่อง เนื่องจากเครื่องไม่สามารถร่อนลงจอดได้ อีกราว 20 คนได้อย่างปลอดภัย
       
อ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000041735
 
คนกรมทรัพย์ฯเตือนหินสตูลผุ ติง ‘ชลประทาน’ ระวังเขื่อนแตก
นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สภาพพื้นที่ทั่วไปของจังหวัดสตูลเป็นชั้นหินปูนเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีอายุประมาณ 400 ล้านปี คุณสมบัติหินผุกร่อน สามามารถละลายน้ำง่าย เมื่อชั้นหินผุและเกิดการละลายน้ำ ลักษณะใต้ดินจึงเป็นโพลงถ้ำ เมื่อชั้นหินพังแผ่นดินจะเกิดการยุบตัว
 
นายเลิศสิน กล่าวว่า สำหรับพื้นที่อำเภอควนโดนไปจนถึงตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ซึ่งจะเป็นพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนทุ่งนุ้ย เป็นชั้นหินแกรนิต ทนทานกว่าหินปูนพอสมควร ถ้าจะสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ บริเวณตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง ควรศึกษาพื้นที่โครงการและอาณาบริเวณให้รอบคอบว่า มีหินปูนอยู่มากน้อยเพียงไร มีโพรงถ้ำใต้ดินหรือไม่ สิ่งสำคัญหินปูนมีคุณสมบัติละลายน้ำง่าย เขื่อนมีโอกาสแตกสูง ทั้งนี้ควรศึกษาอย่างละเอียด
 
นายจอมพร เจริญวัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสตูล เปิดเผยว่า บริษัทที่ปรึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) อ่างเก็บน้ำคลองช้าง ตำบลทุ่งนุ้ย จะต้องศึกษาข้อมูลทุกด้าน ไม่ว่าด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพฯลฯ ซึ่งจะประเมินหมด เพราะมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านอยู่แล้ว
 
นายจอมพร กล่าวต่อไปว่า ถ้าจังหวัดสตูลมีชั้นหินผุจริง จะมีทางเลือก 3 ทางคือ ไม่สร้าง หรือต้องใช้เทคนิคการก่อสร้างเข้ามาทำให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นฝายทดน้ำ สิ่งที่ต้องคิดก็คือ ถ้าสร้างอ่างเก็บน้ำ 30 กว่าล้านคิวไม่ได้ จะมีหนทางในการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำใช้สำหรับอุปโภค บริโภค และน้ำใช้ในการเกษตรช่วงหน้าแล้ง ของจังหวัดสตูลในอนาคตอย่างไร กระบวนการศึกษาจึงต้องนำเหตุและผลมาประเมินเชิงประจักษ์ว่า จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร
 
กลุ่มอนุรักษ์อุดรฯ ฮึ่ม! ค้านเวทีสร้างภาพหนุนเหมืองโปแตช
ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 300 คน ร่วมกันรณรงค์ให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ชี้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยสาธารณะ (Public Scoping) โครงการเหมืองแร่โปแตชเป็นการสร้างภาพเพื่อหวังผลผลักดันโครงการเหมือง
วันนี้ (2 เม.ย.) เวลา 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 300 คน ร่วมกันรณรงค์ให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ในเขต ต.หนองไผ่ และ ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี ต่อการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโดยสาธารณะ (Public Scoping) โครงการเหมืองแร่โปแตช ของบริษัทเอเชียแปซิกฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ร่วมกับบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ จำกัด ในวันที่ 5 เมษายน 2554 ณ เทศบาลเมืองโนนสูง โดยกลุ่มชาวบ้านมองว่า การจัดเวทีดังกล่าวนี้ เป็นการสร้างภาพเพื่อหวังผลผลักดันโครงการเหมืองฯ จึงระดมพลเพื่อการรณรงค์ให้ข้อมูลต่อชาวบ้านในพื้นที่ในครั้งนี้
 
บรรยากาศการรณรงค์ของชาวบ้านในวันนี้ ชาวบ้านได้มารวมตัวกันอย่างพร้อมเพรียง ณ วัดอรุณธรรมรังษี บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ฯ แล้วเคลื่อนขบวนไปตามหมู่บ้านในพื้นที่ โดยเริ่มตั้งแต่ บ้านแม่นนท์ บ้านหนองไผ่ ต.หนองไผ่ และชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาล ต.โนนสูง ก่อนปิดท้ายที่บ้านหนองตะไก้ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์ของบริษัทเอพีพีซี
การรณรงค์ของชาวบ้านในครั้งนี้ได้ใช้รถติดเครื่องขยายเสียง และมีแกนนำปราศรัยให้ข้อมูล นอกจากนี้ยังให้ข้อมูล ผ่านใบปลิว โดยเดินเคาะตามประตูบ้านของแต่ละครัวเรือน ทั้ง เด็ก/เยาวชน ผู้ใหญ่ และคนแก่ต่างช่วยกัน อธิบายให้ข้อมูล ตอบคำถามที่ชาวบ้านสงสัยต่อโครงการเหมืองแร่โปแตชฯ ถึงแม้วันนี้แสงแดดจะร้อนอบอ้าวก็มิได้เป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมของชาวบ้านในวันนี้
 
โดย นางมณี บุญรอด แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อุดรธานี ได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์ของชาวบ้านในวันนี้ว่า
 
“วันนี้กลุ่มอนุรักษ์ ต้องพากันออกมา เพื่อให้ข้อมูลกับพี่น้องในพื้นที่ไม่ให้หลงเชื่อ และตกเป็นเครื่องมือของบริษัทโปแตช ที่จะหลอกให้ชาวบ้านออกไปลงชื่อและยกมือให้กับบริษัทในการสร้างเหมืองโปแตช ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้ใช้เงินเป็นเครื่องมือในการจ้างชาวบ้านที่ยังไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริงหลงเชื่อบริษัท กลุ่มจึงต้องพากันออกมาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับพี่น้องให้เกิดการรับรู้ถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงถึงการจัดเวทีในวันที่ 5 เมษา ว่าบริษัทกำลังจะจัดฉากสร้างภาพให้สาธารณะเห็นว่ามีชาวบ้านในพื้นที่เห็นด้วยกับโครงการเหมือง ทั้งที่ในความเป็นจริงการจัดเวทีในวันที่ 5 ไม่ได้อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการทางกฎหมาย แต่บริษัทก็ยังดึงดันในการจัดซึ่งอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่เพิ่มขึ้นมาอีก” นางมณี กล่าว
 
ทางด้านนายเพชร องค์กลาง ตัวแทนชาวชุมชนโนนสูง ที่ติดตามสถานการณ์โครงการเหมืองโปแตชมาอย่างต่อเนื่อง ได้แสดงความคิดเห็นว่า
 
“ผมไม่เห็นด้วยกับโครงการเหมืองแร่โปแตชอยู่แล้ว เพราะผลกระทบจากดินทรุด น้ำเค็มที่เกิดขึ้น ยิ่งในปัจจุบันมีสถานการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นมาอีก และที่ผ่านมาได้ไปเห็นปัญหาจากเหมืองเกลือที่อำเภอบ้านดุง ชาวบ้านก็ทำนาไม่ได้ ต้นไม้ก็ปลูกไม่ได้ และที่บริษัทฯ จะมาจัดเวทีในวันที่ 5 เมษา นั้น ผมว่ามาโฆษณาชวนเชื่อให้กับชาวบ้านในพื้นที่มากกว่า ไม่มีทางหรอกที่บริษัทจะมาพูดถึงปัญหาผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตช และเวทีในวันนั้น ผมและชาวบ้านในชุมชนโนนสูง ก็จะไปร่วมกิจกรรมกับอนุรักษ์ฯ ในการขัดขวางการจัดเวทีของบริษัท” นายเพชร กล่าว
 
ด้านนายมานิต แสงศีลา นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองโนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี ได้กล่าวถึง สถานการณ์โครงการเหมืองโปแตช จังหวัดอุดรธานี และการจัดเวทีที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 เมษายนนี้ว่า
 
“ตัวผมก็เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้เพียงสองเดือนเศษก็ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองแร่โปแตชมาบ้าง ซึ่งก็จะต้องศึกษารายระเอียดอีกต่อไป สำหรับเวทีในวันที่ 5 เมษานั้น ก็ได้รับคำสั่งมาจากจังหวัด ว่าให้มีการจัดเวทีขึ้น ผมและเจ้าหน้าที่ในเทศบาลทุกคนนั้น ผมได้กำชับให้ทุกคนวางตัวให้เหมาะสมในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น” นายมานิต กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมรณรงค์ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ชาวบ้านได้ร่วมกันประเมินผลและสรุปกิจกรรมที่ร่วมกันในครั้งนี้ ซึ่งตัวแทนชาวบ้านต่างได้สลับกันออกมาสะท้อนความคิดเห็น ซึ่งผลปรากฏว่า กิจกกรมรณรงค์ของชาวบ้านในครั้งนี้ ได้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ โดยชาวบ้านในพื้นที่ได้ให้ความสนใจในข้อมูลที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ นำออกมาเผยแพร่ ทำให้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงต่อสถานการณ์เหมืองแร่โปแตช และชาวบ้านบางกลุ่มมีความสนใจที่จะเข้ามาร่วมกิจกรรมกับอนุรักษ์ฯ ในวันที่ 5 เมษายน เพื่อยับยั้งการจัดเวทีที่ขาดความชอบธรรม
 
http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/33861
 
หาดใหญ่โพลชี้คนใต้ไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เหตุกลัวบทเรียนจากญี่ปุ่น
หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ เกี่ยวกับการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน จำนวน 897 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28-31 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา
 
รศ.ทัศนีย์ ประธาน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยถึงผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนภาคใต้ร้อยละ 45.8 รู้สึกวิตกกังวลต่อข่าวการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น และร้อยละ 40.4 ไม่วิตกกังวลต่อข่าวการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีเพียงร้อยละ 13.8 ไม่แสดงความคิดเห็น
 
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 60.3 ไม่เห็นด้วยในการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย มีเพียงร้อยละ 15.7 ที่เห็นด้วยในการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และร้อยละ 24.0 ไม่แสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 50.5 หากเกิดสถานการณ์แบบญี่ปุ่น ประเทศไทยจะไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีได้
 
ร้อยละ 26.6 เห็นว่าสามารถควบคุมสถานการณ์การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีได้
ในส่วนของความมั่นใจในมาตรการรักษาความปลอดภัยในการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พบว่า ประชาชนร้อยละ 47.4 มั่นใจในมาตรการรักษาความปลอดภัยในการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด และร้อยละ 34.5 มั่นใจในมาตรการรักษาความปลอดภัยในระดับปานกลาง มีเพียงร้อยละ 18.1 มั่นใจในมาตรการรักษาความปลอดภัยในระดับมากถึงมากที่สุด
ประชาชนร้อยละ 58.4 เห็นว่า การคอร์รัปชันส่งผลต่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีเพียงร้อยละ 19.0 ที่เห็นว่าการคอร์รัปชั่นไม่ส่งผลต่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และร้อยละ 22.6 ไม่แสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 34.2 มีความวิตกกังวลการรั่วไหลของสารพิษในการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มากที่สุด รองลงมา คือ การกำจัดกากนิวเคลียร์ คิดเป็นร้อยละ 20.1
 
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับพลังงานทดแทน พบว่า พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานที่เหมาะสมกับประเทศไทย มากที่สุด (ร้อยละ 38.4) รองลงมา ก๊าซธรรมชาติ, พลังงานน้ำ และแก๊สโซฮอล์/ไบโอดีเซล คิดเป็นร้อยละ 12.3, 11.2 และ 11.1 ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 8.6 ที่เห็นว่าพลังงานนิวเคลียร์ เป็นพลังงาน ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ทั้งนี้ ประชาชนร้อยละ 45.7 ไม่เชื่อหากมีการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะทำให้ได้ใช้ไฟฟ้าถูกกว่าปัจจุบัน มีเพียงร้อยละ 24.8 เชื่อว่าจะได้ใช้ไฟฟ้าถูกกว่าเดิม
 
 
พลิกผังเมืองเปิด 3 พื้นที่อุตสาหกรรม รองรับโครงการยักษ์ท่าเรือปากบารา
 
พลิกผังเมืองรวมชนกำแพง ละงู เปิด 3 พื้นที่อุตสาหกรรม รองรับโครงการยักษ์ท่าเรือปากบารา อนุกรรมการผังเมืองสั่งให้เพิ่มข้อมูลโครงการ ด้านนักวิชาการยันต้องฟังเสียงชาวบ้านด้วย
อ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.prachatai3.info/journal/2011/04/33868
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รอบโลกแรงงานประจำเดือนมีนาคม 2554

Posted: 06 Apr 2011 10:40 AM PDT

ผู้นำคิวบาชะลอแผนลอยแพพนักงานของรัฐครึ่งล้านคน
1 มี.ค. 54 - ประธานาธิบดีราอูล คาสโตร ของคิวบา ยอมรับว่าแผนปลดพนักงานภาครัฐ 500,000 คน ภายในเดือนมีนาคมล่าช้ากว่ากำหนด และจะต้องชะลอออกไปเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปลดคนจำนวนมาก สถานีโทรทัศน์ของรัฐรายงานว่า คาสโตรบอกกับคณะรัฐมนตรีว่าโครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากเช่นนี้ ไม่สามารถตีกรอบในช่วงเวลาตายตัวได้ เขาแนะนำให้ปรับกรอบเวลาในการดำเนินงาน พร้อมกับย้ำว่าทางการจะไม่ปล่อยให้ใครถูกทอดทิ้ง ประธานาธิบดีคาสโตรขอให้รัฐบาลปลดพนักงานที่ไม่มีประสิทธิภาพลง 500,000 คน ภายในสิ้นเดือนมีนาคม และอีก 500,000 คนในอีก 2-3 ปี คิดเป็นร้อยละ 20 ของแรงงานทั้งประเทศ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและกระตุ้นประสิทธิภาพในการทำงาน เขาระบุว่าการปฏิรูปนี้จำเป็นต่อการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ชาวคิวบาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปลดพนักงานของรัฐ โดยเห็นว่าควรทำมานานแล้ว ขณะที่หลายคนเกรงจะตกงาน ชาวคิวบามีเงินเดือนเฉลี่ยคนละ 20 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 600 บาท) มีข่าวว่าแผนนี้ล่าช้าเพราะการสื่อสารบกพร่องและคณะกรรมการคัดเลือกคนออกยัง ไม่พร้อมทำงาน รัฐบาลเผยว่าจะเสนองานในภาคที่ขาดแคลนแรงงานแก่คนที่ถูกปลด เช่น การเกษตร ก่อสร้าง การศึกษา ขณะเดียวกันกำลังออกใบอนุญาตจ้างงานตนเอง 250,000 ใบ ทำให้ธุรกิจรายย่อยเฟื่องฟู

ปูตินขึ้นเงินเดือนขรก. ก่อนเลือกตั้งหลายสนาม
5 มีค. 54 - สำนักข่าวอินเตอร์แฟ็กส์ของรัสเซียรายงานวานนี้ว่า นายกรัฐมนตรีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียให้คำมั่นจะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ผู้รับเงินบำนาญและทหารในกองทัพ ในช่วงที่รัสเซียกำลังเตรียมการเลือกตั้งหลายสนามปีนี้และปีหน้า ผู้นำรัสเซียประกาศระหว่างการประชุมพรรคยูไนเต็ด รัสเซีย พรรครัฐบาลว่า เงินเดือนข้าราชการจะปรับขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกปรับขึ้นร้อยละ 6.5 ในวันที่ 1 มิถุนายนและครั้งที่ 2 ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง พร้อมบอกว่า คนที่เข้าใจความรู้สึกของประชาชนเท่านั้น ที่จะสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังและมีชัยชนะได้ในที่สุด ปูตินย้ำว่า พรรคจะต้องทำงานด้านการพัฒนาระดับภูมิภาคให้มากขึ้นรวมถึงส่งเสริมผลผลิตของ แรงงานมีฝีมือและกลุ่มชนชั้นกลาง ในวันที่ 13 มีนาคม จะมีการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นของรัสเซีย จากนั้นเดือนธันวาคม จะเลือกตั้งรัฐสภา ซึ่งมีความสำคัญมาก ตามมาด้วย การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า ซึ่งหลายฝ่ายจับจ้องว่า ปูตินจะลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งหรือไม่

สหพันธ์ครูแห่งประเทศสวาซิแลนด์ประท้วงรัฐ หลังรัฐบาลไม่ปรับขึ้นเงินเดือนมากกว่า 3 ปี
 5 มี.ค. 54 - สปิ วี มาซิบูโค ประธานสหพันธ์ครูแห่งสวาซิแลนด์ ประเทศในแถบแอฟริกาใต้ กล่าวว่า ครูกำลังใช้การประท้วงที่มีต้นแบบมาจากประเทศอียิปต์ ลิเบีย และตูนิเชีย มาเป็นแรงผลักดันในการเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลในการตัดลดเงินเดือนครู โดยมีแม่พิมพ์ของชาติราว 2,000 คน ได้รวมตัวกันเพื่อหารือวิถีทางในการต่อสู้กับรัฐบาล ซึ่งทางสหพันธ์เชื่อว่าเป็นผู้ที่นำพาเศรษฐกิจของประเทศล้มจม อย่างไรก็ตาม ทางสหพันธ์ยังคงไม่มีการระบุว่าการประท้วงจะเกิดขึ้นเมื่อใด และจะเกิดขึ้นที่ไหน สวาซิแลนด์เป็นประเทศในแถบแอฟริกาใต้ ที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเต็มไปด้วยปัญหาคอร์รัปชั่น กลุ่มฟรีดอม เฮ้าส์ รายงานว่า สวาซิแลนด์เป็นหนึ่งใน 25 ประเทศในโลกที่ปฏิเสธระบบประชาธิปไตยในปี 2010

แรงงานเวียดหลายพันคนผละงานประท้วงโรงงานยามาฮ่า
8 มี.ค. 54 - เจ้าหน้าที่ของบริษัท ยามาฮ่า กล่าวว่า แรงงานหลายพันคนของโรงงานรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าในเวียดนาม ผละงานประท้วงต่อเนื่องในวันนี้ (8 มี.ค.) เรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการต่างๆ เพิ่มขึ้น ในช่วงที่บรรดาผู้บริโภคต่างต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่แตะเลขสองหลักแล้ว เจ้าหน้าที่รายเดิม ระบุว่า พนักงานโรงงานกว่า 3,000 คน จากโรงงานของบริษัท ยามาฮ่ามอเตอร์ ในกรุงฮานอย ผละงานประท้วงตั้งแต่เมื่อวาน (7 มี.ค.) และพนักงานอีก 2,000 คน หยุดงานอยู่กับบ้านในวันนี้ (8 มี.ค.) ระหว่างที่การเจรจากับสหภาพแรงงานยังคงดำเนินต่อไป พนักงานพยายามเรียกร้องขอเพิ่มเงินเดือนจาก 1.65 ล้านด่ง (ประมาณ 2,400 บาท) เป็น 2.03 ล้านด่ง ตามการปรับเพิ่มขึ้นของราคาค่าเช่าบ้านและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งทางบริษัทเห็นชอบที่จะมีการปรับเพิ่มค่าแรงให้กับพนักงานบางส่วน แต่การตัดสินใจของบริษัทมีขึ้นก่อนที่รัฐบาลจะประกาศปรับเพิ่มราคาน้ำมันอีก 18% ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ และปรับเพิ่มค่าไฟอีก 15% ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม

ไต้หวันยอมรับไมตรีฟิลิปปินส์ ยกเลิกมาตรการเข้มงวดแรงงาน
10 มี.ค. 54 - ไต้หวันยอมรับมิตรไมตรีของฟิลิปปินส์ และพร้อมยกเลิกมาตรการกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดสำหรับแรงงานฟิลิปปินส์ นายทิโมธี หยาง รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน กล่าวว่า ฟิลิปินส์ได้แสดงถึงมิตรไมตรีที่ดีทั้งการกระทำและลายลักษณ์อักษร ไต้หวันจึงพร้อมที่จะยกเลิกการกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดสำหรับการออกใบอนุญาต เข้าทำงานในไต้หวันสำหรับแรงงานฟิลิปปินส์ในทันที และว่าไต้หวันพร้อมที่จะกระชับความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ก่อนหน้านี้ไต้หวันแสดงความไม่พอใจฟิลิปปินส์ที่ตัดสินใจส่งตัวชาวไต้หวัน 14 คน ที่ถูกจับกุมเนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นแก๊งต้มตุ๋นฉ้อโกงชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ไปดำเนินคดีที่จีน และขู่ว่าจะทบทวนความสัมพันธ์หากฟิลิปปินส์ไม่ขอโทษ ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว โดยจะไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน เว้นเพียงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม

สหภาพแรงงานกัมพูชาขู่จะผละงานประท้วงร่างกฎหมายใหม่
15 มี.ค. 54 - แกนนำสหภาพและนักเคลื่อนไหวเผยว่า ข้อเสนอของพวกเขาไม่ได้รับความใส่ใจ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะเอื้อให้รัฐบาลขัดขวางการประท้วง จำคุกแกนนำ ยุบสหภาพ และสกัดไม่ให้ตั้งสหภาพขึ้นใหม่ ขณะที่รัฐบาลแย้งว่า ร่างกฎหมายนี้คุ้มครองผลประโยชน์และสิทธิของแรงงาน เนื้อหาของร่างกฎหมายองค์กรนอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ) และสหภาพแรงงานระบุว่า สหภาพแรงงานหรือสมาคมจะถูกศาลสั่งยุบหรือระงับได้หากมีบุคคลที่สามหรือรัฐบาลร้องเรียน แกนนำสหภาพแรงงานจะถูกจำคุกหากจัดการประท้วงหรือผละงานผิดกฎหมาย สมาพันธ์สหภาพแรงงานกัมพูชาเตือนว่า ร้อยละ 70 ของแรงงานสิ่งทอ 300,000 คน จะผละงานหากไม่มีการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว อุตสาหกรรมสิ่งทอสร้างรายได้ให้กัมพูชามากเป็นอันดับ 3 รองจากเกษตรกรรมและการท่องเที่ยว เศรษฐกิจของกัมพูชาทั้งประเทศมีขนาด 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 300,000 ล้านบาท)

บริษัทญี่ปุ่นยืนยันยังคงปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีแก่พนักงาน
16 มี.ค. 54 - บริษัทผู้ผลิต ขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นหลายรายเปิดเผยว่า บริษัทจะยังคงปรับขึ้นเงินประจำปีในปีนี้ โดยโตโยต้า มอเตอร์ ตกลงจ่ายโบนัสเต็มจำนวนตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ส่วนบริษัทด้านอิเล็คทรอนิค เช่น พานาโซนิค ฟูจิตสึ ชาร์ป และ เอ็นอีซี กล่าวต่อสหภาพแรงงานว่า บริษัทจะยังคงปรับเงินเดือนประจำปีตามข้อเรียกร้องของสหภาพ ในการเจรจาต่อรองเงินเดือนระหว่างผู้บริหารและแรงงานประจำฤดูใบไม้ผลินี้ สหภาพแรงงานหลายแห่งได้ลดข้อเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือนลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ ผลการเจรจาเรื่องค่าจ้างของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิ เล็คทรอนิคนั้นถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีอิทพลต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ โดยในบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ โตโยต้าตกลงจ่ายโบนัสจำนวน 5 เดือน บวก 70,000 เยน สำหรับปีงบการเงินซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเพิ่มขึ้น 10,000 เยนจากโบนัสเฉลี่ยที่ระดับ 1,800,000 เยนในปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน นิสสัน มอเตอร์ และ ฮอนด้า มอเตอร์ ได้เลื่อนการตัดสินใจออกไป เนื่องจากการเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและ ภาคตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

คนงานผลิตชิ้นส่วนไอแพดเหยื่อสารพิษ ขอค่ารักษาพยาบาลจากสตีฟ จ็อบส์
17 มี.ค. 54 - คนงานชาวจีน ซึ่งเป็นแรงงานอพยพจากชนบทกว่า 100 คนของโรงงาน ยูไนเต็ต วิน เทคโนโลยี (United Win Technology) ในเมืองซูโจว, มณฑลเจียงซู ซึ่งเป็นของบริษัทวินเท็ก (Wintek) ของไต้หวัน ล้มป่วยด้วยอาการกล้ามเนื้อลีบ และระบบประสาทถูกทำลายในระหว่างปี 2551-2552 หลังจากทางโรงงานมีการใช้สารเฮกซิล ไฮไดรด์ (hexyl hydride) หรือที่รู้จักกันว่า เอ็น-เฮกเซน (n-hexane) เป็นตัวทำละลายในกระบวนการผลิต คนงานเหล่านี้กำลังเรียกร้องให้บริษัทแอปเปิ้ลออกมากล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการ และจ่ายค่ารักษาพยาบาลตลอดชีพ ตลอดจนค่าชดเชยอย่างยุติธรรมสำหรับความเสียหายที่พวกตนได้รับจากการใช้สารเคมีดังกล่าว โดยระบุว่า จนถึงขณะนี้พวกตนยังไม่หายจากอาการเจ็บป่วย และบางคนต้องพิการไปตลอดชีวิต

คนงานผู้หนึ่งระบุว่าตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากคนงาน ได้ออกเดินทางไปกรุงปักกิ่งแล้วเมื่อต้นสัปดาห์ และคนงานจะเขียนจดหมายถึงสตีฟ จ็อบส์ เพื่อให้รับผิดชอบเรื่องที่คนงานต้องล้มป่วยลง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ปีที่แล้ว คนงานหลายร้อยคนพากันมาชุมนุมประท้วงที่หน้าโรงงานของวินเท็กในนิคมอุตสาหกรรมซูโจว ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตใหญ่ที่สุดบนเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี โดยระบุว่า พวกตนไม่เคยได้รับคำแนะนำด้านความปลอดภัย หรือคำเตือนเกี่ยวกับอันตรายของสารเอ็น-เฮกเซนเลย นอกจากนั้น ยังทำงานกันภายในห้อง ซึ่งไม่มีหน้าต่าง และปิดสนิท เป็นเวลานานกว่า 10 ชั่วโมงในแต่ละวัน โดยไม่ได้รับแว่นตา หรือหน้ากากสวมใส่ป้องกัน นอกจากถุงมือผ้าฝ้ายเท่านั้น ผู้ประท้วงยังระบุด้วยว่า พวกหัวหน้าชาวไต้หวันไม่เคยอยู่ข้างในห้อง ขณะกำลังมีการใช้สารเคมีดังกล่าวเลย มีคนงานหลายคนได้ลาออก หลังจากได้รับเงินชดเชยราว 80,000 หยวน หรือราว 4 แสนบาท โดยลงนามในข้อตกลง ซึ่งระบุว่า บริษัทไม่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หากคนงานสุขภาพเสื่อมโทรมลงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม วั่น ฉิวอิ้ง คนงานวัย 24 ปี ที่กำลังยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายครั้งล่าสุดนี้ระบุว่า เงินจำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอสำหรับการรักษาพยาบาลในอนาคต ขณะที่เวลานี้แขนขาของตนก็อ่อนแรง มือไม่สามารถจับแม้แต่ตะเกียบ หรือแปรงสีฟันได้ สูญเสียความสามารถในการทำงาน และหางานอื่น ซึ่งใช้แรงงานไม่ได้อีกแล้ว แต่หากตนยื่นใบลาออกในตอนนี้ ก็มีแต่นอนรอความตายจากสารพิษนี้เท่านั้น ขณะที่คนงานอีกรายระบุว่า ทางบริษัทปฏิเสธจ่ายค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ทุกวันนี้คนงานมีสภาพร่างกายอ่อนแอ จนไม่สามารถทำงานได้ แต่ทางฝ่ายบริหารได้ขู่จะไล่คนงานออก โดยอ้างว่าขาดงาน ด้านบริษัทวินเท็กในไต้หวันออกมาชี้แจง (16 มี.ค.) ว่า การจ่ายค่าชดเชยและค่ารักษาพยาบาลของบริษัทดำเนินไปตามกฎหมายแรงงานของจีน นอกจากนั้น ทางบริษัทเป็นผู้ออกค่ารักษาพยาบาลให้เป็นเวลาหลายเดือนแก่คนงาน และทางโรงพยาบาล ซึ่งเป็นผู้รักษาก็ระบุว่า คนงานส่วนใหญ่หายป่วยแล้ว ฉะนั้น ผู้ที่เรียกร้องการจ่ายค่าชดเชยและค่ารักษาพยาบาลเพิ่ม จำเป็นต้องไปให้แพทย์ตรวจเสียก่อนว่า อาการได้กำเริบขึ้นมาอีก อย่างไรก็ตาม ฝ่ายคนงานกล่าวว่า โรงพยาบาลประชาชนหมายเลข 5 ในเมืองซูโจว ซึ่งเป็นผู้รักษาคนงานในปี 2552 ไม่ยอมประเมินสุขภาพของพวกตนอีกครั้ง ขณะที่ทางฝ่ายโรงพยาบาลเองมิได้ออกมาชี้แจงใด ๆ เกี่ยวกับข้อกล่าวหานี้

ฟิลิปปินส์ห้ามแรงงานไปบาห์เรน
18 มี.ค. 54 - นายโรซาลินดา บัลโดซ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์สั่งห้ามแรงงานชุดใหม่ไปบาห์เรน ขณะที่บาห์เรนยังคงปราบปรามผู้ประท้วงอย่างหนักคำสั่งห้ามดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมถึงชาวฟิลิปปินส์ที่ได้รับการจ้างงานในบาห์เรนอยู่แล้ว หลังจากเจ้าหน้าที่ขอให้แรงงานชาวฟิลิปปินส์ราว 31,000 คนเดินทางออกจากบาห์เรนท่ามกลางเหตุปะทะกันระหว่างกองกำลังรักษาความมั่นคงกับผู้ประท้วง ทางการฟิลิปปินส์ได้อพยพพลเมืองหลายพันคนออกจากประเทศต่างๆในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นทั้งนี้ แรงงานชาวฟิลิปปินส์ในต่างแดนราว9 ล้านคนส่งเงินกลับบ้านหลายพันล้านดอลลาร์ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

ตำรวจอียิปต์เผากระทรวงมหาดไทยเรียกร้องให้เพิ่มเงินเดือนและปรับปรุงสวัสดิการ
23 มี.ค. 54 - สถานีโทรทัศน์แห่งชาติอียิปต์รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยที่ก่อการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้เพิ่มเงินเดือนและปรับปรุงสวัสดิการได้จุดไฟเผาอาคารของกระทรวงมหาดไทยในกรุงไคโร ก่อนที่เพลิงจะลุกลามไปยังอาคารใกล้เคียง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานความเสียหายหรือผู้ได้รับบาดเจ็บ การประท้วงของตำรวจทำให้คิดถึงการประท้วงของแรงงานที่เรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งบานปลายกลายเป็นการขับไล่อดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา.

ชาวอังกฤษกว่า 2 แสน ร่วมประท้วงมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล
26 มี.ค. 54 - ผู้นำสหภาพแรงงานอังกฤษคาดว่าจะมีประชาชนนับแสน ออกมาประท้วงเพื่อต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลในวันนี้ (26 มี.ค.) ซึ่งนับเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในกรุงลอนดอน นับแต่การประท้วงการทำสงครามในอิรักเมื่อปี 2003 โดยผู้นำสหภาพแรงงานกล่าวว่า ประชาชนมากกว่า 2 แสนคน ซึ่งไม่พอใจต่อนโยบายการตัดลดค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลของรัฐบาล ระดับการว่างงานที่เพิ่มขึ้น การขึ้นภาษี และการปฏิรูประบบเบี้ยบำนาญ จะเข้าร่วมการประท้วงในวันนี้ ตำรวจเกรงว่า ความไม่พอใจที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นเรื่อยๆนี้ อาจก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง นับตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่นักศึกษาต่างออกมาเดินขบวนประท้วงคัดค้านการขึ้นค่าหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยในประเทศ ซึ่งถือเป็นเหตุความรุนแรงครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในรอบทศวรรษ โดยมีการเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 4,500 นาย เพื่อรักษาความเรียบร้อย ขณะที่ีสหภาพแรงงานแจ้งว่า ตนได้เตรียมเจ้าหน้ากว่า 1,000 คน เพื่อดูแลให้กลุ่มผู้ประท้วงร่วมชุมนุมด้วยความสงบ "อย่างเป็นครอบครัว"

รัฐบาลผสมอังกฤษภายใต้การนำของพรรคอนุรักษ์นิยม กำลังพยายามผลักดันโครงการลดหนี้สินเพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันพุ่งขึ้นไปถึงร้อยละ 10 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยมีเป้าหมายภายในปี 2015 เพื่อรักษาอันดับเครดิตของอังกฤษไว้ที่ AAA แต่บรรดาสหภาพแรงงานกล่าวแย้งว่า รัฐบาลนำมาตรการดังกล่าวออกมาบังคับใช้เร็วเกินไป อีกทั้งยังก่อให้เกิดความความเดือดร้อนให้ประชาชนนับล้านคน ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานมีระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 "ประชาชนรู้ดีว่ารัฐบาลจำเป็นต้องลดการขาดดุลงบประมาณลง แต่การนำนโยบายเช่นนี้มาใช้เร็วและแรงเกินไป ยิ่งทำให้การเมืองและเศรษฐกิจของประเทศขาดความมั่นคงยิ่งขึ้นไปอีก ผลักดันให้ระดับการว่างงานเพิ่มขึ้น และสร้างความกังวลให้กับประชาชนอย่างยิ่ง" นายเอ็ด บอลส์ ผู้นำพรรคแรงงานกล่าว นายเบรนดัน บาร์เบอร์ เลขาธิการทั่วไปองค์กรสหภาพการค้า (ทียูซี) กล่าวว่า การประท้วงครั้งนี้จะได้รับการสนับสนุนจากผู้คนจำนวนมาก และคาดว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในกรุงลอนดอน นับตั้งแต่มีผู้คนนับล้านออกมาประท้วงต่อต้านการรุกรานอิรักเมื่อปี 2003 ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายประเทศในยุโรปเผชิญการประท้วงครั้งใหญ่ ขณะที่รัฐบาลพยายามลดทอนรายจ่ายภาครัฐ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังเผชิญวิกฤตการเงินครั้งใหญ่

พนง."บริติช แอร์เวย์" เตรียมนัดหยุดงานประท้วง
29 มี.ค. 54  - แผนการเดินทางไปพักผ่อนในช่วงวันหยุดเทศกาลอีสเตอร์ และแบงค์ ฮอลิเดย์ หรือ วันหยุดยาวของหน่วยงานราชการ , ธนาคารและโรงเรียน ของนักท่องเที่ยวหลายแสนคน อาจเผชิญอุปสรรคหลังจากบรรดาลูกเรือของสายการบินบริติช แอร์เวย์ส หรือ BA ลงมติด้วยคะแนนเสียงกว่า 8 ต่อ 1 สนับสนุนการนัดหยุดงานประท้วง การประท้วงใด ๆ ในช่วงนี้ อาจสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในช่วงที่ได้รับการคาดหมายว่า จะมีผู้ใช้บริการสนามบินหลายแห่งในอังกฤษกันอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว ที่มีทั้งแบงค์ ฮอลิเดย์ , เทศกาลอีสเตอร์ , วันเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลียมและนางสาวเคท มิดเดิลตันและวันแรงงาน ซึ่งช่วงนี้ของแต่ละปี จะมีผู้โดยสารเดินทางเข้าและออกจากสนามบินฮีทโธรว์ราว 550,000 คน BA ยังไม่ได้กำหนดวันนัดหยุดงานประท้วง แต่ถ้ามีการประท้วงเกิดขึ้น ก็นับเป็นข่าวร้ายล่าสุดบนความขัดแย้งอันยาวนาน ระหว่าง BA กับพนักงาน ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว พนักงานได้นัดหยุดงานประท้วงนาน 22 วัน ทำให้ BA ได้รับความเสียหายเป็นมูลค่า 150 ล้านปอนด์ และต้องยกเลิกเที่ยวบินหลายร้อยเที่ยว

ความขัดแย้งระหว่าง BA กับพนักงาน ได้เริ่มเมื่อ 2 ปีก่อน เมื่อ BA ใช้มาตรการรัดเข็มขัด และนำไปสู่การตัดสิทธิ์ต่าง ๆ ของผู้เข้าร่วมการประท้วง ซึ่งในปีนี้ สหภาพแรงงาน ระบุว่า สมาชิกได้ร่วมลงมติสนับสนุนการนัดหยุดงานประท้วงถึง 60 เปอร์เซ็นต์ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าพวกลูกเรือยังคงคิดว่า พวกเขาจะได้รับความยุติธรรม การที่ยังไม่มีการประกาศกำหนดวันนัดหยุดงานประท้วง ก็เพราะสหภาพแรงงานยังหวังว่าจะมีการเจรจากับ BA และคนวงในอุตสาหกรรมการบิน ชี้ว่า นายคีธ วิลเลียมส์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO คนใหม่ของ BA มีประวัติที่ดีในการแก้ปัญหาข้อพิพาทเขาเป็นฝ่ายนำทีมเจรจาของ BA ในช่วงที่ประสบความสำเร็จ แต่ที่ยังตกลงกันไม่ได้คือเรื่องของเงินบำนาญ.
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ร้อง ก.อุตฯ และ กนอ. เพิกถอนใบอนุญาต รง.ไบเออร์และโกลว์

Posted: 06 Apr 2011 10:26 AM PDT

สมาคมฯต่อต้านโลกร้อนเอาจริง รุกฆาตโครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หลังเกิดกรณีก๊าซพิษรั่วไหลจนทำให้ชาวบ้านล้มป่วยกันนับ 100 ราย จี้ ก.อุตสาหกรรม และ กนอ.เพิกถอนใบอนุญาตภายใน 90 วัน เร่งให้เรียกค่าสินไหมให้ชาวบ้าน และใช้มาตรา 97 เรียกค่าเสียหายต่อการทำให้โลกร้อนเพิ่มขึ้น

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่าตามที่เกิดเหตุการณ์เกิดเหตุกลิ่นสารเคมีหรือสารพิษฟีนอล ฟุ้งกระจายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น.ของคืนวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2554 จนเป็นเหตุให้คนงาน และชาวบ้านใกล้เคียงได้รับผลกระทบจนต้องหามส่งโรงพยาบาลกันนับ 100 รายโดยต้นเหตุสำคัญมาจากกิจกรรมการดำเนินงานที่จงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการของโครงการของบริษัท โกลว์ จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ถนนไอ 5 และบริษัท ไบเออร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่อยู่เลขที่ 4-4/1 ถนนไอ 8 ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมผ่านสื่อสารมวลชนโดยทั่วไปแล้วนั้น

กรณีดังกล่าว เมื่อวันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้ทำคำร้องถึงศาลปกครองกลาง เพราะเกี่ยวพันกับการฟ้องร้องในคดีหมายเลขดำที่ 908/2552 และคดีที่ 422/2553 ตามลำดับ เนื่องจากทั้ง 2 โรงงานอยู่ในรายชื่อแนบท้ายที่สมาคมฯฟ้องคดีอยู่ในศาล เพื่อรายงานรายละเอียดพร้อมพยานหลักฐานต่าง ๆ ให้ศาลทราบถึงการละเมิดกฎหมาย และการละเมิดอำนาจศาล

วันนี้ สมาคมฯยังได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อขอให้เพิกถอนใบอนุญาตโครงการที่ละเมิดกฎหมายและชดใช้ค่าเสียหายต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก.งานดังกล่าวมฯยังได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้ทั้ง 2 หเหตุการณ์ดังกล่าวมักเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในโครงการและพื้นที่ดังกล่าว อันเนื่องมาจากมาตรการการติดตาม ตรวจสอบที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงอุตสาหกรรม และเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต มิได้ถูกนำมาบังคับใช้ หรือติดตาม ตรวจสอบอย่างรัดกุม ทำให้ผู้ประกอบการย่ามใจ และหย่อนยานการปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย ยังผลให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายให้เกิดขึ้นกับคนงาน และประชาชนอยู่เนือง ๆ

เหตุดังกล่าวมีน้ำหนักเพียงพอแล้วที่กระทรวงอุตสาหกรรม และ กนอ. ฐานะหน่วยงานสูงสุดทางปกครองและหรือผู้กำกับดูแลโรงงานตามกฎหมาย ต้องเร่งใช้อำนาจที่เด็ดขาดในการเพิกถอนใบอนุญาตโครงการทั้ง 2 โรงงานดังกล่าวของทั้ง 2 บริษัท เพราะถือว่ากระทำผิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง และขอให้สั่งการให้ทำการตรวจสอบว่ามีคนงานและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบที่ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล และที่ไม่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล มีจำนวนข้อเท็จจริงเป็นเท่าใด พร้อมกับสั่งการให้ทั้ง 2 บริษัทชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นสูงสุด พร้อมค่าเสียหายทางจิตใจหรือค่าปลอบขวัญบุคคลเหล่านั้น รวมทั้งต้องเป็นตัวแทนของสาธารณะในการเรียกค่าเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาติ ที่ต้องเสียหายไปตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 และตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ด้วย ทั้งนี้สมาคมฯ ได้แจ้งให้ทั้ง 2 หน่วยงานเร่งตรวจสอบและดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน

หากไม่ดำเนินการ และละเว้นเพิกเฉย มัวลูบหน้าปะจมูกกันอยู่ สมาคมฯ ต้องยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลเป็นอีกคดีแน่นอน นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายชุมชนฯจี้ติดแก้ปัญหาเขาคูหา รองผู้ว่าฯลงสุ่มตรวจบ้านพังจากเหมืองหิน

Posted: 06 Apr 2011 10:19 AM PDT

เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจี้ติดแก้ปัญหาเขาคูหา รองผู้ว่าฯสงขลา ลงสุ่มตรวจบ้านพังจากเหมืองหิน ประธานสภาพัฒนาการเมืองลงพื้นที่เรียนรู้การต่อสู้ตามสิทธิชุมชนของชาวคูหาใต้

ว่าที่ร้อยตรีหญิงนฤมล จันทสุวรรณ คณะทำงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 เมษายน 2554 นายพิศาล ทองเลิศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนของการทำเหมืองระเบิดหินทำให้บ้านร้าวเสียหายจำนวน 326 หลังคาเรือน จะลงพื้นที่สุ่มตรวจบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากทำเหมืองหิน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2554 ที่โรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหา นายจำนงค์ จิตรพิวัตน์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) พร้อมคณะ ประกอบด้วยนางพิชยา แก้วขาว นางปรีดา คงแป้น ที่ปรึกษา คปสม. และนายไมตรี จงไกรจักร ผู้ประสานงาน คปสม.ลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองหินเขาคูหา มีชาวบ้านเข้าร่วมให้ข้อมูลประมาณ 50 คน

นายจำนงค์ เปิดเผยว่า การเดินทางมาครั้งนี้ เพื่อตนและคณะลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้า กรณีเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหาและคปสม.เข้าร่วมขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ชุมนุมเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาของภาคประชาชน โดยกรณีเหมืองหินเขาคูหา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง

นายจำนงค์ เปิดเผยต่อไปว่า ล่าสุดวันที่ 29 มีนาคม 2554 นายภูเบศ จันทนิมิ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงค์หนองเตย) ลงพื้นที่เก็บข้อมูลแล้ว เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาต่อไป

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2554 ที่โรงเรียนสิทธิชุมชนเขาคูหา หมู่ที่ 9 บ้านหัวยาง ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ศาสตราจารย์สุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง และคณะจำนวน 4 คนลงพื้นที่โดยมีชาวบ้าน 20 คนร่วมพูดคุย

ศาสตราจารย์สุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง เปิดเผยว่า ตนและคณะสนใจลงมาศึกษา เรียนรู้กระบวนการปกป้องสิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2540 และ2550 และเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากการสัมปทานเหมือนหิน

ศาสตราจารย์สุจิต กล่าวว่า สภาพัฒนาการเมืองส่งเสริมการเสริมสร้างการเมืองภาคประชาชน ประชาธิปไตยรากหญ้า ให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตนเอง เสริมสร้างความเข้มแข็งของพื้นที่ สร้างฐานประชาธิปไตยโดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน แสดงสิทธิพลเมือง มีการรวมตัวกันก่อให้เกิดพลัง และแสดงศักยภาพของชุมชน รวมถึงการกำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนาของชุมชนบนพื้นฐานทรัพยากรของท้องถิ่น

“เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา เป็นชุมชนหนึ่งที่เข้มแข็ง ควรได้รับการส่งเสริมยกให้เป็นแบบอย่างในการรักษาสิทธิของชุมชน สิทธิภาคพลเมือง ปัญหาเป็นการทดสอบชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ ว่าสามารถแก้ปัญหาของชุมชนได้หรือไม่ มีการรวมตัวกันอย่างไร นำมาซึ่งรากฐานของประชาธิปไตยรากหญ้า อาจทำให้เกิดการตื่นตัวในชุมชนอื่น เราจะผลักดันชุมชนเขาคูหา ซึ่งมีความเข้มแข็งให้เป็นแม่แบบชุมชนจัดการตัวเองให้ภาครัฐเห็นปัญหา นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ และไม่เป็นธรรมของสังคม” ศาสตราจารย์สุจิต กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

A Missing Link:คือใยที่ขาดหาย

Posted: 06 Apr 2011 09:42 AM PDT

แม้ว่าฉันจะเติบโตขึ้นในพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม  ที่มีคนต่างชาติพันธุ์  ทั้งไทยพุทธ  ไทยมุสลิม  และไทยจีน เพื่อนๆ ของฉัน ของครอบครัวฉันก็ล้วนอยู่ใน 3 กลุ่มนี้ทั้งนั้น  ตลอดเวลาที่ผ่านมาฉันไม่เคยรู้สึกถึงความแตกต่าง การแบ่งแยก หรือ เส้นขีดคั่น ระหว่างคนทั้ง 3 ชาติพันธุ์เลย   ทำให้ฉันไม่เคยเข้าใจว่า  มันจะมีรอยแยก รอยบาดหมาง ท่ามกลางคนต่างชาติพันธุ์เหล่านี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร 

“ฉันคุ้นเคยกับคนจีน  เพราะเพื่อนบ้านสมัยเด็กล้วนเป็นคนจีน  พูดภาษาจีนกลาง และจีนอื่นๆ เช่น  แต้จิ๋ว กว้างตุ้ง ไหหลำ  จีนแคะ  บ้านฉันพูดภาษาฮกเกี้ยน  นอกจากภาษาจีน 2 ภาษา และภาษาไทย แล้ว  ผู้ใหญ่ที่บ้านฉันก็ยังพูดภาษามลายูได้อีกด้วย  เรามี “เจ๊ะซอ”  เพื่อนชาวมุสลิมของอาม่าที่อยู่ที่ตำบลท่าสาบ  เจ๊ะซอ มักเอาผลไม้มาฝากที่บ้านบ่อยๆ   มี “กะนิ”  ที่เดินขายไก่กอและ  ไข่มดแดง  ข้าวหลาม  ผ่านหน้าบ้าน  หรือ แม้แต่ “กะนิ" คนสวย ที่มาขายเครื่องประดับให้ถึงบ้าน  ยังมีแม่ชีสุธรรม วัดพุทธภูมิ ที่เข้ามาคุยกับอาม่าเสมอๆ  ที่บ้านฉันมีคนเข้ามาบ้านมากมาย  และเราต้อนรับทุกคนไม่แตกต่างกัน  

เมื่อขึ้นชั้นประถม  ฉันเรียนโรงเรียนจีน  มีเพื่อนเป็นลูกหลานคนจีน เรามีชื่อภาษาจีน ชื่อเล่นเพื่อนๆ ก็มาจากภาษาจีน เช่น ชุ่ยหลิน ปิงปิง  รี่รี่  เซี๊ยะ  หลำ เคี้ยง จินหรือจิง  เมื่อขึ้นชั้นมัธยม  ฉันมีเพื่อนหลากหลายขึ้น ทั้งเพื่อนคนไทย และเพื่อนคนมุสลิม   เราเรียนห้องเดียวกัน เล่นด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน ไม่เคยเกิดความรู้สึกแตกต่างกันแต่อย่างใด  เพียงแต่เพื่อนมุสลิมไม่กินหมู และต้องละหมาด ก็แค่นั้นเอง นอกนั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับเพื่อนคนไทย หรือ เพื่อนคนจีน    สมัยนั้น  นักเรียนยังไม่ต้องมีผ้าคลุมผม  เพื่อนมุสลิมบางคน เช่น จุ๋ม อัญชลี  เพื่อนที่เรียนด้วยกันตอน ม.4  หน้าของเธอออกจะคล้ายคนจีนด้วยซ้ำ “  

....จากเรื่อง ขอปาฏิหาริย์แห่งความรักมนุษย์ด้วยกันเกิดขึ้นใน 3 จชต

ส่วนตัวฉันแล้ว คงเป็นเพราะ ฉันไม่เคยถูก “เลือกปฏิบัติ”     ฉันจึงไม่ทราบว่า การเลือกปฏิบัติมีอยู่จริงในกลุ่มคนต่างชาติพันธุ์       

เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว   ฉันเคยเข้าไปในธนาคารแห่งหนึ่ง  ระหว่างที่นั่งรอ   ฉันหันไปมองผู้หญิงมุสลิม  ท่าทางเป็น “ชาวบ้าน”  ที่ยืนรออยู่ที่มุมหนึ่ง 

คำคำนี้  ฉันเคยถามเพื่อนคนหนึ่งว่า  แล้วอย่างเราๆ เรียกว่าอะไร  เรียก “ชาวบ้าน” ด้วยหรือเปล่า  เพื่อนฉันบอกว่า  อย่างเราๆ ไม่เรียกว่าชาวบ้าน  เราไม่ใช่ชาวบ้าน    แต่ก็ไม่ได้บอกว่า เรียกว่าอะไร 

ผู้หญิงมุสลิม“ชาวบ้าน” คนนั้นยืนรอโดยไม่มีใครสนใจ  จนกระทั่งเก้าอี้หน้าโต๊ะที่เปิดบัญชีใหม่ทั้งหมดว่างลง  จึงมีเสียงดังขึ้น  “มาทำอะไร”  ผู้หญิงมุสลิม ”ชาวบ้าน” คนนั้น  บอกว่า ”มาทำบัตรกดเงิน”   เสียงเดิมดังขึ้นอีกว่า  “เอ้า นั่งลง กรอกแบบฟอร์ม ”   เธอนั่งอยู่หน้าโต๊ะที่เปิดบัญชี  ด้วยท่าทีเงอะๆ งะๆ   หน้าตาออกอาการงงๆ  มือจับปากกาค้างไว้  ขณะที่เจ้าหน้าที่ธนาคาร พูดเสียงห้วนกับเธอว่า  “เขียนหนังสือไม่ได้ เซ็นต์ชื่อไม่ได้ ก็เปิดบัญชีไม่ได้  ทำบัตรเอทีเอ็มไม่ได้“

ผู้ชายที่อยู่ข้างๆเธอ ยื่นบัตรประชาชนไปให้เจ้าหน้าที่    ฉันได้ยินเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งบอกว่า “เซ็นต์ชื่อไม่ได้ ก็ปั๊มลายนิ้วมือแทน”  แล้วบอกให้ผู้ชายข้างๆ เธอไปช่วยจัดการ   ฉันไม่ทราบว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไรต่อไป  เพราะถึงลำดับเรียกของฉันพอดี  

นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันเจอเหตุการณ์การเลือกปฏิบัติด้วยตาของตัวเอง 

ตอนนั้น  ฉันคิดแต่เพียงว่า สงสารผู้หญิงมุสลิม ”ชาวบ้าน” คนนั้น  ที่ถูกพนักงานธนาคาร “ข่ม”  และเธอไม่สามารถต่อกรกับพนักงานได้เลย    แต่ทว่าเหตุการณ์นี้   เป็นเหตุการณ์ที่ฉันหยิบยกขึ้นมาทุกครั้งเมื่อมีใครถามฉันว่า จริงหรือ ที่คนมุสลิมถูกเลือกปฏิบัติ 

นี่เป็นการ"ปฏิบัติ" ของธนาคาร ของหน่วยงานเอกชนที่ลูกค้าทุกคนคือพระเจ้า คือเจ้านาย  คือคนที่นำกำไรมาให้  แต่ก็ยังมีลูกค้าบางกลุ่มที่ถูกเลือกปฏิบัติ   

แล้ว...ถ้า เป็นหน่วยงานราชการไทยล่ะ  หน่วยงานที่ผู้รับบริการเกือบทุกคนมีหน้าที่รอไป เรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับบริการ และเป็นบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ประชาชนผู้เสียภาษีพึงได้รับ  ประชาชนที่เสียภาษีเป็นเงินเดือนของข้าราชการ ผู้มีหน้าที่ให้บริการเหล่านั้นได้รับทุกเดือน  ฉันไม่อยากนึกเลยว่า ผู้รับบริการกลุ่มนี้จะถูกปฏิบัติอย่างไรเมื่อไปติดต่อกับหน่วยงานราชการ 

ฉันรู้ว่าสถานที่ราชการทุกแห่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ล้วนแต่มีกลุ่มของคนต่างชาติพันธุ์  ทั้งไทยพุทธ  ไทยมุสลิม  และไทยจีน ทำงานอยู่ด้วยกันทั้งนั้น    แต่ฉันไม่อาจทราบได้ว่า  ในหน่วยงานราชการนั้น  ระหว่างข้าราชการ และลูกจ้างด้วยกัน  มีการเลือกปฏิบัติกับเพื่อนร่วมงานที่ต่างชาติพันธุ์กันหรือไม่  อย่างไร   มีการวางตัวเป็น "เจ้าคน นายคน" ของคนบางกลุ่ม หรือไม่   และมีวัฒนธรรมองค์การที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น  ถ่ายทอดไปสู่คนในครอบครัวหรือไม่   เพราะฉันไม่ค่อยได้เข้าไปในสถานที่ราชการ  หรือถ้าต้องไป ก็มักจะเจอคนรู้จัก  ได้รับการต้อนรับอย่างดี และใช้เวลาไม่นานนัก  จนไม่สามารถสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวในสถานที่ราชการได้ 

น้องฉันเล่าเรื่อง คนไทยพุทธ  ไทยจีน  และไทยมุสลิม ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ฉันฟังอยู่บ่อยๆ   ทั้งเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน  ทั้งเรื่องความคิดเห็น  ความรู้สึก  โดยเฉพาะคนไทยมุสลิม  ท่ามกลางบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และจากปัจจัยต่างๆ  ทั้งภายนอกและภายใน    ฉันได้แต่รับฟัง  เพราะรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้  มันอยู่รอบๆ ตัวก็จริง  แต่มันไกลจากตัวฉัน  ฉันไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย  วงกลมของฉันห่างไกลจากเรื่องเหล่านี้นัก

สำหรับฉันแล้ว  ถึงแม้ว่าหน้าที่การงานบางช่วงของฉันต้องติดต่อ ประสานงานกับคนมุสลิมบ้าง  แต่ฉันก็ “ปฏิบัติ”  กับทุกคนเฉกเช่นเดียวกัน  ไม่ต่างจากที่ฉัน “ปฏิบัติ” กับ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ  เจ้าหน้าที่เทศบาล  เจ้าของร้านขายวัสดุก่อสร้างและทหาร

ที่บ้านฉัน  เรามักจะพูดกันเอง และบอกกับใครๆ ว่า เราเป็นคนจีน  ลูกคนจีน  หลานคนจีน  แต่ขณะเดียวกัน  เราไม่ชอบให้ใครมาเรียกเราว่า “เจ๊ก”  เพราะสำหรับเราแล้ว  “จีน”  กับ “เจ๊ก”  มีความหมายแตกต่างกัน  ถ้าคนจีน  คือ “อย่างเราๆ”  “เจ๊ก” ก็น่าจะเป็น “ชาวบ้าน”  ที่พูดจาเสียงดัง เอะอะ  โหวกเหวก โวยวาย  ขากถุยไม่เลือกที่

ขณะเดียวกัน  เราก็ไม่ชอบที่จะเป็นคนไทย (แท้)  เพราะ หนึ่ง เราไม่ใช่  เรายังภูมิใจในความเป็นจีนของเรา  สอง  เรารู้สึกว่า  คนไทย (แท้) ไม่ขยันเท่าคนจีน

แม้แต่ในบ้านของฉันเอง  เรายังมีเส้นแบ่งระหว่างคนไทย  และคนจีนกันเองเลย   ฉันไม่ได้ติดใจในเรื่องนี้  เพียงแต่ว่า ฉันก็รู้สึกไม่ชอบเหมือนกัน ถ้าไปเดินตลาด และมีคนไม่รู้จัก มาเรียกฉันว่า “เจ๊”  แทนที่จะเรียกว่า "พี่"  แม้ว่าหน้าตาของฉัน จะบ่งบอกไปในทางเดียวกันกับสรรพนามที่เรียกก็ตาม  แต่ถ้าคนรู้จักกัน  เรียกชื่อฉันและมีเจ๊นำหน้า  ฉันกลับไม่รู้สึกอะไร

จน กระทั่งวันหนึ่ง  ระหว่างที่นั่งกินข้าว กินขนม และพูดคุยกันในกลุ่มเพื่อนๆ  มีเด็กผิวขาว หน้าตาออกแนวตี๋ หมวย 3-4 คน มาวิ่งเล่นใกล้ๆ โต๊ะที่เรานั่ง  เพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า  “พวกเด็กลูกคนจีน ในตลาด”  ฉันถึงกับนิ่งไปครู่หนึ่ง  อาจจะไม่มีนัยยะใดๆ แอบแฝงอยู่ในคำพูดนั้น  แต่เป็นครั้งแรก ที่คำว่า “พวกลูกคนจีน”  ทำให้ฉันรู้สึกได้ถึงเส้นแบ่ง  ที่ขีด ฉันและเพื่อน “ลูกคนจีน”  ออกจาก เพื่อน"ลูกคนไทย"  เพื่อน"ลูกคนมุสลิม"  หรือแม้แต่ เพื่อน"ลูกแขกปาทาน" 

ทำให้ฉันหวนนึกกลับไปว่า  ที่ผ่านมา ที่ฉันบอกว่า ฉัน “ไม่เลือกปฏิบัติ”  ไม่ว่ากับใครทั้งนั้น  แท้จริงแล้วฉันได้ "ข่ม"  ใคร ผ่านภาษาพูด- ภาษากาย  ผ่าน กิริยา วาจา ท่าทาง  น้ำเสียง และคำพูดที่เลือกใช้ ไปบ้างหรือไม่ โดยไม่รู้ตัว 

เพราะ ฉันรู้สึก (ไปเอง) ว่า ระหว่างตัวอักษรและคำแต่ละคำ ของคำว่า “พวกลูกคนจีน”  มันแฝงไว้ด้วย การถือเขา-ถือเรา การถือตัว และการแบ่งแยก ที่ “ลูกคนจีน” กลายเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง  ทั้งๆ ที่เราเป็นเพื่อนกัน ไม่ว่าจะเป็นไทย จีน มุสลิม หรือปาทาน  และทั้งๆที่ “ลูกคนจีน”  เป็นคำที่ที่บ้านฉันใช้กันอย่างแสนภาคภูมิใจ 

แค่คำพูดประโยคเดียว  ยังทำให้ฉันรู้สึกได้  แล้วคนที่ "ถูกเลือกปฏิบัติ"  ทั้งคำพูดและการกระทำ มานานนับปี  จากคนที่อยู่ด้วยกันในสังคมเดียวกันมา  จะรู้สึกอย่างไร

และแล้ว....ฉันก็เข้าใจถึงความรู้สึกของคนมลายู  ของคนไทยมุสลิม 

เข้าใจดีกว่าตอนที่เขียนข้อความด้านล่างในเรื่อง ขอปาฏิหาริย์แห่งความรักมนุษย์ด้วยกันเกิดขึ้นใน 3 จชต 

"ขณะที่ ความรู้สึกของความไม่แตกต่างระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ถูกทำลายลงไปใกล้หมดสิ้น และเกิด “ความเป็นฉัน” “ความเป็นเธอ” มากขึ้นถึงขีดสุด  ขณะที่ “ความเป็นเรา” น้อยลงจนแทบจะไม่มีเหลือ"   

ฉันเล่าเรื่องนี้ให้น้องฟัง  และบอกว่า  “ถ้าไม่เจอด้วยตัวเอง ก็คงไม่รู้”  

น้องฉันบอกว่า “นี่เป็นสิ่งที่คนมลายูอยากให้ “คนอื่น” ได้รู้บ้าง”

 

*****


ขอบคุณความรู้เพิ่มเติมจากบั
งอายุบ

ไทยมุสลิม เป็นคำที่ รัฐเรียก

มลายูมุสลิม หมายถึง คนมลายู ที่นับถือศาสนาอิสลาม

มลายู หมายถึง คนมลายูมุสลิม ในความหมายที่คนมักเรียกกันแบบง่ายๆ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สบท. ร้อง กสทช. สั่งบริษัทมือถือเลิกกำหนดวันใช้งานพรีเพด หลังพบผู้ประกอบการดื้อทุกราย

Posted: 06 Apr 2011 09:18 AM PDT

สบท. จี้ เลขาฯ กสทช. สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับบริษัทมือถือเลิกกำหนดวันใช้งานโทรศัพท์มือถือระบบเติม หลังตรวจพบบริษัทมือถือทุกรายยังทำผิดกฎหมาย ระบุ เรื่องนี้เป็นประเด็นฮิตฮิตที่ สบท. ได้รับการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง ด้าน ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนใชสิทธิ์แจ้งความคดีอาญากับบริษัทมือถือ ร้องเรียนวุฒิสภา และเตรียมฟ้อง กสทช. แล้วส่วนองค์กรผู้บริโภคขีดเส้นตาย 30 วัน ถ้าบริษัทยังนิ่ง จะยื่นฟ้องพร้อมกันทั่วประเทศ
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า หลังจากสำนักงาน กสทช. ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกรายที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือประเภทเรียกเก็บค่าบริการเป็นการล่วงหน้า (พรีเพด) เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ครั้งที่ 32/2553 เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2553 โดยห้ามมิให้กำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงิน เพื่อให้เป็นไปตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 11 แต่ปรากฎว่าจนถึงขณะนี้ผู้ให้บริการทุกรายยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว
ทั้งนี้ สบท. ได้เข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ของผู้ให้บริการทุกรายและจากผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงิน พบว่าผู้ให้บริการยังคงกำหนดระยะเวลาการใช้งานโดยแต่ละรายได้กำหนดจำนวนเงินที่ต้องเติมและระยะเวลาการใช้งานใกล้เคียงกันคือ ผู้บริโภคจะต้องเติมเงินจำนวน 300 บาทต่อเดือน เพื่อที่จะสามารถใช้งานโทรศัพท์มือถือได้นาน 30 วัน
นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า ในวันนี้ (5 เม.ย.) สบท.ได้ทำหนังสือเสนอต่อปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ กสทช. เพื่อให้สั่งการสำนักที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการบังคับทางปกครองตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 เพื่อให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกรายปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป
“เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง และ สบท. ยังคงได้รับเรื่องร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง โดยหลักแล้วผู้ให้บริการมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย หากเห็นว่าประกาศนี้ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ก็ให้กำหนดมาว่าเวลาการใช้งานที่เหมาะสมที่ผู้ประกอบการอยู่ได้ และเป็นธรรมต่อผู้บริโภคควรจะเป็นเท่าใด และทำเรื่องเสนอเข้ามาเพื่อให้  กสทช. พิจารณา แต่ถ้าไม่ขอความเห็นเข้ามา แล้วฝ่าฝืนกฎหมายไปเรื่อยๆ เหมือนในช่วง 3  ปีที่ผ่านมา คงจะต้องมีการบังคับตามกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยก็มีแนวทางตามกฎหมายให้เดินอยู่” นายประวิทย์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ในการเสวนาเรื่อง  “กำหนดวันหมดอายุมือถือระบบเติมเงินยังนิ่ง..เรื่องจริงเป็นอย่างไร?” ที่ สบท. จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา นายสิทธิชัย แม้นเจริญ ผู้บริโภคที่ร้องเรียนต่อ สบท. กรณีโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินถูกกำหนดวันหมดอายุ กล่าวว่า การกำหนดระยะเวลาใช้งานของผู้ให้บริการถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเป็นการใช้อำนาจทางตลาดที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังนั้น ในฐานะที่ตนเป็นผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการทำผิดกฎหมายในกรณีดังกล่าว จึงได้ไปแจ้งความ เพื่อดำเนินคดีกับบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมซึ่งเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 309 และมาตรา 337 ตามประมวลกฎหมายอาญา ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
นอกจากนี้ ในวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนยังได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ผ่านทางอีเมล และกำลังเตรียมที่จะดำเนินคดีกับ กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. และผู้ที่เกี่ยวข้องในสำนักงาน กสทช. ด้วย หากยังไม่มีการกำกับดูแลให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมปฏิบัติตามกฎหมาย
ขณะที่ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ทางองค์กรผู้บริโภคจะให้เวลาผู้ให้บริการอีก 30 วัน หากผู้ให้บริการยังไม่เลิกกำหนดอายุการใช้งานโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงิน หรือยังไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนในเรื่องนี้  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจะดำเนินการฟ้องร้องผู้ให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศ และยังแสดงความเห็นว่าการที่ผู้ให้บริการสามารถประกอบกิจการโดยขาดธรรมาภิบาลและฝ่าฝืนกฎหมายมาตลอดเวลาหลายปี เป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ให้บริการมีพลังเหนือกว่ากฎหมาย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมผัส Dream Keeper แห่งอาเซียน “สันติภาพต้องมาจากคนพื้นที่เอง”

Posted: 06 Apr 2011 09:14 AM PDT

สัมภาษณ์พิเศษ ดร.กามารุซซามาน อัสกันดาร หรือ ดร.แซม แห่งเครือข่ายศึกษาความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยไซน์มาเลเซีย ผู้มีบทบาทในกระบวนการสร้างสันติภาพใน 3 พื้นที่ความขัดแย้งในอาเซียน คือ อาเจะห์ของอินโดนีเซีย เกาะมินดาเนาทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์และชายแดนใต้ของไทย ในนาม “Dream Keeper” หรือคนเฝ้าฝันสันติภาพแห่งอาเซียน


ดร.กามารุซซามาน อัสกันดาร (ขวา) หรือ ดร.แซม แห่งเครือข่ายศึกษาความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยไซน์มาเลเซีย กับภรรยาชาวเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้เรียกตัวเองว่า Dream Keeper หรือคนเฝ้าฝันสันติภาพแห่งอาเซียน 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

 

3 พื้นที่ขัดแย้งแห่งอาเซียน

เครือข่ายศึกษาความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยไซน์มาเลเซีย ซึ่งตั้งอยู่ที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1999 เพื่อทำงานด้านการสร้างสันติภาพ ปัจจุบันเรามีพื้นที่ทำงานสามพื้นที่คือ จังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

ผมเป็นผู้ประสานงานศูนย์วิจัยและศึกษาเพื่อสันติภาพ ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยไซน์มาเลเซีย การทำงานวิจัยและศึกษานี่แหละจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพให้ทั้งสามพื้นที่ได้

โดยพื้นที่แรกที่เราเริ่มทำงานคือ อาเจะห์ เราเข้าไปในอาเจะห์เป็นครั้งแรกในปี 2001 ต่อมาในปี 2004 สันติภาพในอาเจะห์ก็เกิดขึ้น และภารกิจในอาเจะห์ของเราก็สิ้นสุดลงในปีเดียวกันนั้นเอง ตอนนี้เรายังเหลือพื้นที่ทำงานอีกสองแห่ง คือ มินดาเนาของฟิลิปปินส์ กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เราเริ่มเข้ามาศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี 2004 คือหลังจากมีเหตุปล้นปืนของกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547

รูปแบบการทำงานของเรา คือ การเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งไปสู่สันติภาพ ซึ่งอันที่จริงแล้วความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งมันคงยากที่จะให้ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นและจบลงง่ายๆ แต่เราก็พยายามศึกษาถึงสาเหตุของความขัดแย้ง เพื่อนำไปใช้ในการสร้างสันติภาพ

การแก้ปัญหานั้นของเรามี 2 ขั้นตอนหลัก คือ1.เปลี่ยนจากการแก้ปัญหาโดยยาก ไปสู่การแก้ปัญหาโดยง่าย 2.สร้างให้คนในพื้นที่เกิดจิตสำนึกในการสร้างสันติภาพ

ที่มินดาเนา เราได้ศึกษาวิจัยร่วมกับภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ซึ่งเราไม่ยึดข้อมูลของคู่ขัดแย้งอย่างเดียว นั่นคือรัฐบาลฟิลิปปินส์กับขบวนการMILF (....) เพราะข้อมูลที่ดีที่สุด คือข้อมูลที่มาจากฝ่ายที่อยู่ตรงกลางระหว่างคู่ขัดแย้ง

นอกจากนี้ เราได้ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานเพื่อสร้างสันติภาพ เช่น องค์กรที่มาจากประเทศญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่าเราร่วมกันทำงานกันหลายฝ่าย

เราเริ่มเข้าไปทำงานการสร้างสันติภาพในมินดาเนาตั้งแต่ปี 2003 ซึ่งเกี่ยวเนื่องจากการที่รัฐบาลมาเลเซียเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับขบวนการMILF

 

บทบาทในชายแดนใต้ของไทย

เราได้สร้างเครือข่ายเพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียนของเรา มีหลายพื้นที่ยังมีความขัดแย้งอยู่ การศึกษาวิจัยจะไม่เกิดประโยชน์เลย ถ้าเราไม่นำองค์ความรู้ที่ได้มา นำไปปฏิบัติจริง

ศูนย์วิจัยและศึกษาเพื่อสันติภาพ ซึ่งเราตั้งอยู่ที่มาเลเซีย เพราะความเหมาะสมทางด้านภูมิศาสตร์ คือตั้งอยู่ท่ามกลางประเทศที่มีความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย ระหว่างที่ยังมีความไม่สงบอยู่ มีชาวอาเจะห์จำนวนมากที่หลบหนีเข้ามาเลเซีย

หรือกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ก็มีคนในพื้นที่ไม่น้อยที่หลบหนีความขัดแย้งเข้ามาทางรัฐทางภาคเหนือของมาเลเซีย

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้รัฐบาลมาเลเซียอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างสันติภาพให้ประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นเราจึงมีโครงการที่จะสร้างสันติภาพให้กับพื้นที่อาเจะห์ มินดาเนาและชายแดนภาคใต้ของไทยขึ้นมา

สำหรับแนวทางการสร้างสันติภาพนั้น ไม่มีทฤษฏีตายตัว เพราะในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ดังนั้นการดึงคนในพื้นที่กระบวนการสร้างสันติภาพนั้น เป็นกุญแจที่สำคัญมาก เพราะคนในพื้นที่เท่านั้นที่จะเข้าใจปัญหาต้นตอของความขัดแย้งได้ดีที่สุด

ข้อมูลของคนในพื้นที่จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาในพื้นที่ ทำให้เราทำงานง่ายขึ้นมาก การสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนในพื้นที่ มีส่วนช่วยในการทำงานง่ายขึ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นมุสลิมด้วยกัน ซึ่งจะมีความลึกซึ้งมากกว่าคนที่มาจากต่างศาสนา

ความเป็นจุดร่วมของเรา จะต่างจากจุดร่วมขององค์กรที่มาจากชาติตะวันตก

แนวทางการทำงานของเราคือ เข้าไปช่วยเหลือคนในท้องถิ่นที่ต้องการสร้างสันติภาพ

สำหรับการทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2004 นั้น เริ่มจากการพูดคุยกับนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่เข้าไปศึกษาเล่าเรียนในประเทศมาเลเซีย จากนั้นเราได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

นอกจากนี้ เรายังได้ศึกษาจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เราได้สร้างความสัมพันธ์กับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อร่วมกันสร้างกระบวนการสร้างสันติภาพขึ้นมา โดยเราได้สร้างหลักสูตรที่เรียกว่า “สันติศึกษา”

ตอนนี้เราได้ทำงานร่วมกับนักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งวิทยาเขตหาดใหญ่และวิยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และเราได้ดึงนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

หลักสูตรสันติศึกษา ประกอบด้วย วิชาว่าด้วยทางออกของความขัดแย้ง วิชาว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน

 

กำเนิด Dream Keeper คนเฝ้าฝันสันติภาพ

ในปี 2008 เราได้เริ่มโครงการ Dream Keeper หรือคนเฝ้าฝัน ทำไมเราถึงใช้คำนี้ เพราะเราเชื่อว่า ทุกคนทุกฝ่ายต่างก็มีความฝันที่จะเห็นสันติภาพที่ยั่งยืน

ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันนี้เรากำลังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรง เราทุกคนต่างมีฝันที่จะเห็นสันติภาพ ความยุติธรรม ความเท่าเทียม ทุกคนมีบทบาทในการปกปักรักษาความสงบ ถึงแม้ในความจริงวันนี้สันติภาพยังไม่เกิดขึ้น วันนี้เราจึงต้องเริ่มต้นด้วยความฝัน จากนั้น ขั้นต่อไปก็ต้องคิดถึงว่า ใครจะเป็นคนที่ดำเนินความฝันที่มีนั้นให้เป็นจริง

ดังนั้นเป้าหมายของเราคือคนรุ่นหนุ่มสาว เยาวชน นักศึกษา เพราะเราคาดการณ์ว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ต้องใช้เวลานานพอสมควร ถึงแม้ในช่วงชีวิตของคนรุ่นผม อาจจะไม่เกิดสันติภาพตามที่ได้ตั้งใจไว้ แต่เราคาดหวังว่า เด็กรุ่นใหม่ในยุคต่อไป จะทำให้สันติภาพเกิดขึ้นจริง

เราเข้าไปสนับสนุนในด้านกระบวนการสร้างสันติภาพมากกว่า เพราะไม่ใช่ภาระหน้าที่ที่เราจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง คนที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง จะต้องเป็นผู้ที่ทำให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ด้วยตัวของเขาเอง

เราเข้าใจว่า โดยลำพังคนในพื้นที่เองนั้น ทำงานด้วยความยากลำบากมาก เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ศักยภาพของคนทำงาน การสร้างกระบวนการสร้างสันติภาพเองก็ยังมีน้อย อาจเป็นเพราะคนทำงานขาดประสบการณ์

เราสามารถช่วยเหลือในสิ่งที่คนในพื้นที่ยังขาด เราก็จะเข้าไปเติมเต็ม อะไรที่คนทำงานในพื้นที่ไม่มี เราก็จะเข้าไปสร้าง หากคนทำงานขาดประสบการณ์เราก็จะจัดอบรมให้ โดยเราเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เขาไปศึกษาในเรื่องสันติศึกษาในประเทศมาเลเซีย จากนั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เราก็ส่งกลับไปทำงานในพื้นที่ของเขา

จากนั้น เมื่อพวกเขากลับมาทำงานในพื้นที่ เราก็จะช่วยเชื่อมความสัมพันธ์กับคนทำงานในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความขัดแย้งเหมือนกัน เพื่อที่พวกเขาจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลในการทำงานร่วมกัน

นอกจากนี้ หากกลับมาทำงานในพื้นที่แล้วเกิดปัญหาด้านเงินทุน เราก็จะช่วยเหลือหางบประมาณให้ แต่หากเขามีศักยภาพพร้อมทุกด้าน เขาก็สามารถถอนตัวออกจากคณะทำงานของเราได้ เราทำในลักษณะนี้เหมือนกันทุกพื้นที่ เราไม่ได้ทำงานเพื่อหวังชื่อเสียง แต่เราเห็นว่า ผลสำเร็จของการปฏิบัติงานนั้น เป็นฝีมือของคนในพื้นที่เอง เราเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือเท่านั้น

ในโครงการ Dream Keeper นี้ เราจะส่งวิทยากรมาให้ความรู้ จากนั้นคนในพื้นที่ก็จะทำงานกันเอง เราจะไม่ลงมาประจำยังพื้นที่เอง

 

สันติภาพต้องมาจากคนพื้นที่

ทั้ง 3 พื้นที่ที่เราทำงานนั้น มีข้อจำกัดในการทำงานแตกต่างกัน ซึ่งก่อนที่จะลงมือทำงาน เราต้องศึกษาความเป็นพื้นที่ก่อน เพื่อหาแนวทางในการวางบทบาทของเราและต้องสอดคล้องกับพื้นที่ เช่น ในมินดาเนา ซึ่งมีแผนสันติภาพเกิดขึ้นมานานแล้ว เราเข้าไปเป็นเพียงผู้หนุนเสริมให้เกิดสันติภาพจริงอย่างไร เราต้องเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยเจรจากันระหว่างฝ่ายที่มีความขัดแย้งกัน

แต่สำหรับในชายแดนภาคใต้ยังไม่มีกระบวนการสร้างสันติภาพจริงๆ ความหวาดระแวง ความหวาดกลัวยังคงเกิดขึ้นมาก ดังนั้นเราจึงเลือกการดำเนินงานโดยผ่านมหาวิทยาลัย ซึ่งการทำงานผ่านมหาวิทยาลัยจะมีความชอบธรรมมากที่สุด เพราะเป็นการดำเนินงานภายใต้ร่มของการศึกษา

ที่ผ่านมาเราได้จัดอบรม เพื่อให้เกิดแนวคิดการสร้างสันติภาพกับคนในพื้นที่ เราได้ร่วมงานกับคณาจารย์และนักศึกษา เรามีความเชื่อมั่นในพลังของคนหนุ่มสาวที่มีแนวคิดในการต่อสู้แบบสันติ

เรารู้ตัวว่า บางครั้งมุมมองของคนอื่นบางคน มักมองว่าเราเป็นกลุ่มที่มาแทรกแซงกิจการภายใน เป็นพวกยุยงบ้าง บางครั้งก็ถูกมองว่า เข้าข้างขบวนการ เราคิดว่า การต่อสู้นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่การต่อสู้นั้นมันมีหลากหลายรูปแบบ การต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงนั้น มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย มันกลับเป็นวัฏจักรของความโกรธแค้น

การต่อสู้ตามกระบวนการของเรา เป็นทางเลือกเพื่อให้เกิดสันติภาพอย่างถาวร แต่คนที่จะทำให้เกิดสันติภาพนี้ได้ ต้องมาจากคนในพื้นที่เอง ฝ่ายเราเป็นเพียงผู้สนับสนุนด้านองค์ความรู้และงบประมาณในงานสร้างสันติภาพเท่านั้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายผู้บริโภค เบรก สธ.เรื่องฉลากขนม เรียกร้องเปิดรับฟังความเห็น

Posted: 06 Apr 2011 08:56 AM PDT

 
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะเสนอคณะกรรมการอาหาร พิจารณาร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันทีบางชนิด (ฉบับที่ 2) จากเดิมมีลักษณะเป็นตารางโภชนาการทั่วไป เป็นฉลาก "จีดีเอ" (GDA=Guideline Daily Amounts) โดยไม่เอาฉลากสัญญาณไฟจราจร ในวันพรุ่งนี้ (7 เม.ย.) ก่อนเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ภายในกลางปี 2554 นั้น

นายอิสราวุธ ทองคำ ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร 10 จังหวัด กล่าวว่า ในวันที่ 7 เม.ย.นี้  ตัวแทนเครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร 10 จังหวัดจะไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการอาหาร, นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขอให้ชะลอร่างประกาศกระทรวงฉลากจีดีเอออกไปก่อน เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนผู้บริโภคตามมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริงและหน่วยงานที่จะตราและบังคับใช้กฎหมายและกฎใดๆต้องรับฟังความคิดเห็น
 
“แม้จนถึงขณะนี้ยังไม่มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่ อย.และคณะกรรมการอาหารต้องรับฟังความคิดเห็น มิเช่นนั้นจะเสี่ยงกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับคดีมาบตาพุด นอกจากนี้
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดการปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ให้ใช้มาตรการลักษณะสีสัญญาณพร้อมคำเตือนในอาหารที่มีไขมัน หรือน้ำตาล หรือโซเดียม แต่สิ่งที่ อย.กำลังดำเนินการอยู่ถือว่าขัดกับมติ ครม.อย่างชัดเจน
 
“ใน วันที่ 7 นี้เราจะไปขอพบรัฐมนตรีสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์เพื่อสอบถามว่า เป็นความจริงหรือไม่ที่ขณะนี้มีข่าวลือหนาหูในสำนักงาน อย.ว่า งานนี้ เจ้ากระทรวงสั่งมาเพราะใกล้เลือกตั้งและยังมีคำสั่งปรามให้หน่วยราชการและ ทีมวิชาการในกระทรวงฯหยุดเคลื่อนไหวเรื่องนี้ จนถึงขณะนี้เรายังไม่อยากเชื่อข่าว เพราะคุณจุรินทร์ให้ความสนใจงานคุ้มครองผู้บริโภคมาโดยตลอด แต่กลุ่มทุนอุตสาหกรรมอาหารค้านการติดฉลากสัญญาณไฟจราจรอย่างมาก เพราะจะทำให้ผู้บริโภครู้จักเลือกซื้อ ดังนั้นอาจกำลังพยายามทำทุกทางเพื่อล็อบบี้เรื่องนี้ให้ผ่านในปลายรัฐบาล อย่างนี้ โดยมีทุนสำรองสำหรับการเลือกตั้งเป็นข้อแลกเปลี่ยน
 
ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร 10 จังหวัดยังกล่าวเพิ่มเติมว่า อยากขอให้คณะกรรมการอาหารอย่าเพิ่งเร่งรีบอนุมัติ แม้ว่าขณะนี้กรรมการอาหารทุกท่านกำลังถูกโทรล็อบบี้ให้สนับสนุนอย่างหนักก็ตาม และขอให้สำนักอาหาร อย.หยุดการให้ข้อมูลที่สับสนแก่ประชาชน แต่ควรเปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเรื่องนี้ในเชิงวิชาการอย่างชัดเจน และรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
 
“รัฐธรรมนูญมาตรา 61 คุ้มครองสิทธิในการได้รับข้อมูลที่เป็นจริง หน่วยงานรัฐจะตรากฎอะไรต้องรับฟังความคิดเห็น ไม่ใช่มาบอกเราว่าฉลาก GDA ดีอย่างเดียว ทั้งที่การใส่สีสัญญาณไฟจราจรและข้อความ สูง ปานกลาง และต่ำ ลงในฉลาก จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการเลือกบริโภคอาหารได้รวดเร็วและเหมาะสม ต่างกับการใช้เพียง GDA อย่างเดียว ที่ไม่มีการแยกระดับปริมาณสารอาหารระหว่าง สูง ปานกลาง และต่ำ ทำให้ผู้บริโภคพบปัญหาไม่สามารถเลือกอาหารเพื่อสุขภาพอย่างง่ายและรวดเร็วได้ อีกทั้งฉลากแบบ GDA ที่มีสีเดียว ทำให้เห็นฉลากนี้ชัดเจนน้อยกว่าฉลากแบบอื่น จนบางครั้งกลืนไปกับบรรจุภัณฑ์ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงมักใช้ฉลากแบบ GDA ที่มีสีเดียวเพื่อหลบเลี่ยงความสนใจจากผู้บริโภคในค่าสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์แต่มีมากจนทำลายสุขภาพ”
 
ทั้งนี้ เครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร 10 จังหวัด ประกอบไปด้วยตัวแทนจากเชียงใหม่, พะเยา, ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, สุราษฎร์ธานี, สงขลา, กาญจนบุรี, สมุทรสงคราม, สตูล และกรุงเทพฯ เป็นสมาชิกของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรีนพีซ อ็อกซ์แฟม WWF ดันอาเซียนเป็นผู้นำในเวทีเจรจาโลกร้อน ที่กรุงเทพฯ

Posted: 06 Apr 2011 08:38 AM PDT

 
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 54นักกิจกรรมรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศสวมชุดกันหนาว ชุดกันฝน และชุดชายหาดเพื่อแสดงถึงความโกลาหลของสภาพภูมิอากาศที่กำลังสร้างผลกระทบอันรุนแรงไปทั่วทั้งภูมิภาคในขณะนี้ ได้พบปะกับนางคริสเตียน่า ฟิกูเอเรส เลขาธิการบริหารของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณประตูทางเข้าของศูนย์การประชุมสหประชาชาติที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้เกิดข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศที่มุ่งมั่นจากรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก ในนามของประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความล่อแหลมมากที่สุดและมีการรับมือน้อยที่สุดจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยแนวร่วมแห่งอาเซียนเพื่อข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรม มุ่งมั่นและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย หรือ A-FAB ซึ่งประกอบด้วยกรีนพีซ อ็อกซ์แฟม และ WWF ที่เรียกร้องให้ผู้นำประเทศในอาเซียนมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรอบล่าสุดที่เริ่มขึ้นที่กรุงเทพฯ
“เราต้องการส่งสาส์นถึงผู้นำประเทศ โดยเฉพาะผู้แทนจากประเทศในกลุ่มอาเซียน ว่าข้อตกลงที่เป็นธรรม มุ่งมั่นและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นต่อความอยู่รอดของประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในสัปดาห์นี้ รัฐบาลจะสานต่อข้อสรุปร่วมกันที่ได้จากการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แคนคูนเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และจะหารือเกี่ยวกับการปรับตัว การจัดสรรเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศ การบรรเทารวมถึงการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และเพื่อผลประโยชน์ของภูมิภาค จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่อาเซียนควรมีจุดยืนร่วมที่เข้มแข็งและเป็นหนึ่งเดียวเพื่อยกระดับการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เร่งรัดและจริงจังมากขึ้น” เซลดา โซริยาโน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา อากาศในฤดูร้อนของประเทศไทยกลับมีอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ อุทกภัยและดินถล่มในภาคใต้เมื่อสัปดาห์ก่อนได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่าสองล้านคน  ช่วงเดือนเดียวกันนี้ได้เกิดภัยพิบัติเช่นเดียวกันในทางตอนกลางและตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนนับหมื่นคน ในประเทศอินโดนีเซีย ปัญหาอุทกภัยยังส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน ระหว่างการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรุงเทพฯเมื่อปี 2552 ประเทศฟิลิปปินส์ก็ประสบกับพายุไต้ฝุ่น ทำให้ร้อยละ 80 ของกรุงมะนิลาต้องจมอยู่ใต้น้ำและคร่าชีวิตผู้คนกว่าหนึ่งพันคน
“โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เป็นการอภิปรายแต่เป็นความจริงที่โหดร้าย ภูมิภาคนี้ต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วม ดินถล่มไปจนถึงความแห้งแล้งอยู่บ่อยครั้ง ความจริงแล้วการประชุมที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่มักได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สุดขั้ว และมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ผู้แทนอาเซียนจะต้องรับประกันด้วยว่าจะต้องมีการให้การสนับสนุนด้านทรัพยากรทั้งหลายที่จำเป็นต่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพราะนี่เป็นเรื่องเร่งด่วน และต้องเรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้วลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด” ชาลิมาร์ ไวทัน ผู้ประสานงานด้านนโยบายและงานรณรงค์เอเชียตะวันออก จากอ็อกซ์แฟม กล่าว
“A-FAB ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่ออาเซียนระหว่างการประชุมที่กรุงเทพฯ หนึ่งในข้อเสนอต่างๆ คือการรับประกันว่าคณะกรรมการกองทุนเพื่อการปรับตัวที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ (Adaptation Committee) นั้นจะต้องประกอบด้วยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นหลัก ส่วนการจัดทำนโยบายการปรับตัวในระดับประเทศนั้นต้องเป็นไปตามแนวทางของแต่ละประเทศและพิจารณาถึงความสัมพันธ์และเพศวิถี  และในการจัดทำนโยบายจะต้องเชื่อมโยงกลไกการสนับสนุนทางการเงินอีกด้วย อาเซียนจะต้องรับประกันด้วยว่าการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะได้รับการสนับสนุนทางทรัพยากรจากกองทุนกู้สภาพภูมิอากาศ (Green Climate Fund) ที่ตั้งขึ้นที่แคนคูน ให้มากที่สุด เพราะว่าคนยากจนส่วนใหญ่คือคนที่ต้องการสิ่งนี้อย่างเร่งด่วน" ซันดีฟ จามริงไร จากกองทุนสัตว์ป่าโลกหรือ WWF กล่าว
A-FAB ยังเรียกร้องให้อาเซียนผลักดันในเรื่องเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกโดยที่การปล่อยก๊าซจะเพิ่มสูงสุดในปี 2558 และลดลงหลังจากนั้น และเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี 2563 และจะต้องลดลงอย่างน้อยร้อยละ 95 ภายในปี 2593 ให้ได้ต่ำกว่าระดับในช่วงปีฐาน 2533 ภารกิจอีกประการหนึ่งคือการตัดสินใจหาเครื่องมือหรือกลไกตรวจสอบระดับก๊าซที่ลดได้แม่นยำและเหมาะสมที่สุด โดยต้องแสดงผลที่วัดได้ รายงานได้ และตรวจสอบได้ เพื่อใช้ยืนยันการลดก๊าซ
A-FAB หรือแนวร่วมแห่งอาเซียนเพื่อข้อตกลงที่เป็นธรรม มุ่งมั่นและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย (Asean for a Fair, Ambitious and Binding Global Climate Deal) จัดตั้งขึ้นโดยกรีนพีซ อ็อกซ์แฟม และ WWF มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันบทบาทของอาเซียนในฐานะตัวแทนของกลุ่มประเทศในภูมิภาคในการประชุมเจรจาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และในฐานะประชาคมที่ต้องต่อสู้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ยังมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันให้อาเซียนบรรลุเป้าประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ "ประชาคมอาเซียนในประชาคมโลก" ที่เป็นไปตามกระบวนการที่เพิ่มขึ้นซึ่งทำให้กฎบัตรอาเซียนมีผลในเชิงรูปธรรม
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้านริมโขงจัดเวทีเขื่อนไซยะบุรี เผยเตรียมยื่น 2 หมื่นชื่อค้านเขื่อน 18 เม.ย.นี้

Posted: 06 Apr 2011 08:15 AM PDT

กรรมการร่วม MRC เลื่อนกำหนดพิจารณาแสดงจุดยืนยอมรับ-ไม่รับ โครงการเขื่อนไซยะบุรี จาก 21 เป็น 19 เม.ย.นี้ ด้านชาวบ้านรวบรวม 2 หมื่นรายชื่อไปยื่นกับนายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี

วานนี้ (5 เม.ย.54) เวลา 10.00 น. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน ร่วมเครือข่ายแม่น้ำโขงภาคเหนือ กว่า 400 คน รวมตัวกันหน้าวัดหาปทุม เขตเทศบาลเมือง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย จัดเวทีเสวนาและแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขง ซึ่งตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ห่างจากพรมแดนไทยที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ประมาณ 200 กิโลเมตร โดยจะผลิตไฟฟ้า 1,260 เมกะวัตต์ และ 95% ของไฟฟ้าผลิตเพื่อส่งขายมายังประเทศไทย
 
นายนิวัต ร้อยแก้ว เครือข่ายรักษ์เชียงของ กล่าวในการจัดงานครั้งนี้ว่า “พวกเรากำลังรวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับเขื่อน โดยในวันที่ 18 เม.ย.นี้ ภาคประชาชนลุ่มน้ำโขงจากทุกจังหวัดจะนำรายชื่อกว่า 2 หมื่นรายชื่อไปยื่นกับนายกรัฐมนตรี ให้รัฐบาลระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และภาคประชาชนไทยคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่จะส่งผลกระทบกับคนลุ่มน้ำโขงตลอดทั้งสายน้ำ ตอนนี้ในพื้นที่สร้างเขื่อนไซยะบุรีมีการเร่งสร้างโดยระเบิดหินและนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปทำงาน นี่สะท้อนให้เห็นว่าการเร่งสร้างเขื่อนไซยะบุรีเป็นการกระทำที่ไม่ชอบมาพากล ทั้งที่กระบวนการต่างๆ ร่วมในประเทศลุ่มน้ำโขงยังไม่เห็นชอบด้วย”
 
นายมนัส ปานขาว ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย กล่าวเรียกร้องให้ธนาคารไทยทั้ง 4 แห่งที่ให้กู้เงินสร้างเขื่อนทบทวนการให้กู้เงินครั้งนี้ พร้อมขอเรียกร้องให้ ช.การช่าง ที่เป็นบริษัทไทยหยุดการก่อสร้างและยุติโครงการ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการลงนามกับรัฐบาลลาวในการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และสุดท้ายขอเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นปากเป็นเสียงทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของพลเมืองไทยและพลเมืองลุ่มน้ำโขงที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง
 
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งท่าทีของรัฐบาลเวียดนาม เขมรมีความชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อนไซยะบุรี แต่ท่าทีรัฐบาลไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะไม่นำความเห็นของภาคประชาชนที่เสนอในที่ประชุมการรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง คือทุกเวทีไม่ต้องการให้มีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนอื่นในลุ่มน้ำโขง เพราะผลกระทบตอนนี้จาก 4 เขื่อนในจีนมีปรากฏให้เห็นชัดเจนแล้ว รวมถึงการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาขามีมากพอแล้ว แต่ละประเทศจึงไม่สมควรมายุ่งเกี่ยวกับแม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำโขง
 
“ที่สำคัญคือการรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีที่รัฐบาลไทยจะไปลงนามในครั้งนี้ไม่มีความจำเป็นเพราะไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนาพลังงานของประเทศไทย อีกทั้งการสร้างเขื่อนไซยะบุรีไม่มีการเปิดเผยผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้กับแต่ละประเทศได้รับทราบ”
 
ต่อมาในเวลา 13.30 น. ชาวบ้านได้ร่วมกับชูป้าย ประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโครงการเขื่อนไซยะบุรี โดยหันป้ายไปทางสำนักงานใหญ่กองเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง (MRC) ซึ่งเจ้าหน้าที่MRC ต่างวิ่งลงจากอาคารสำนักงานเพื่อมาดูการชุมนุม และจับกลุ่มวิจารณ์ ผู้สื่อข่าวแจ้งว่าการประชุมกรรมการร่วมMRC เพื่อพิจารณาโครงการเขื่อนไซยะบุรีเลื่อนกำหนดเป็นวันที่ 19 เมษายน โดยแต่ละประเทศต้องแสดงจุดยืนว่ายอมรับโครงการดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งกำหนดเดิมคือวันที่ 21 เมษายน
 
นายหาญณรงค์ กล่าวว่าการเลื่อนประชุมให้เร็วขึ้นอาจมีเหตุผลเอื้อประโยชน์แก่บริษัท ช.การช่าง เนื่องจากการประชุมสามัญประจำปีของบริษัทจะจัดขึ้นในวันที่ 22 เมษายน "การที่เลื่อนประชุมตัดสินใจเขื่อนไซยะบุรีให้เร็วขึ้นมีเลศนัย อาจทำให้บริษัทได้กำไรจากราคาหุ้นที่สูงขึ้นเนื่องจากมีโครงการใหม่มูลค่านับแสนล้าน เป็นการเร่งรัดกระบวนการทั้งที่ประชาชนคัดค้านมาโดยตลอด
 
"หากรัฐบาลยังไม่หยุดโครงการก็จะหาช่องทางพึ่งกระบวนการศาลเพื่อระงับโครงการต่อไป เนื่องจากโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ" นายหาญณรงค์กล่าว

 
ที่มา: INN
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สอบคดีสังหารนักข่าวอิตาลี ทหารปฏิเสธ ดีเอสไอบอกไม่มีพยาน

Posted: 06 Apr 2011 02:52 AM PDT

คอป.สอบคดีฟาบิโอผู้สื่อข่าวอิตาลี ดีเอสไอแจงไม่มีประจักษ์พยานว่ากระสุนยิงมาจากไหน แต่ไม่มีเหตุน่าเชื่อว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ด้านทหารบอกยังเคลื่อนไม่ถึงจุดที่ฟาบิโอถูกยิง และยังไม่ได้ใช้อาวุธ ค้านกับนิค นอสติทซ์ ช่างภาพทีอยู่ในเหตุการณ์  ผู้แทนสถานทูตอิตาลีจี้เมื่อไหร่ผลสอบจะเสร็จ

5 เมษายน 2554 คณะอนุกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ(คปอ.) เปิดรับฟังข้อเท็จจริงจากผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์การเสียชีวิตของนายฟาลิโอ โปเลนกิ ช่างภาพอิสระชาวอิตาลี ที่ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 บริเวณเกาะกลางถนนหน้าศูนย์วิจัยโรคเอดส์ ถนนราชดำริ โดยมีตัวแทนจากดีเอสไอ กองทัพภาคที่ 1 เข้าให้ข้อมูล และมีตัวแทนจากสถานทูตอิตาลีร่วมรับฟังการชี้แจงข้อเท็จจริง

พ.ต.ท.วีรวัชร์ เดชบุญภา กรมสอบสวนคดีพิเศษชี้แจงว่า กรณีดีเอสไอได้สอบพยานหลายสิบปาก ทั้งทหาร ผู้สื่อข่าวไทยและต่างประเทศ ผู้เห็นเหตุการณ์ใกล้ชิด เช่น คนขับมอเตอร์ไซค์ที่รับนายฟาบิโอไปส่งโรงพยาบาล ตลอดจนแพทย์ แต่ไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นว่ากระสุนยิงมาจากไหน วัตถุพยานที่อยู่ในตัวศพก็ไม่มี  สน.ปทุมวันได้ทำสำนวนชันสูตรมารวมกับสำนวนคดีอาญาของดีเอสไอแล้ว  ผู้ตายถูกกระสุนความเร็วสูงเข้าที่ด้านหลังต่ำจากบ่า 27 ซ.ม. บาดแผลทางเข้าขนาด 0.5 ซ.ม. กระสุนตัดขั้วหัวใจ ทะลุออกทางหน้าอกด้านซ้าย แนวกระสุนล่างขึ้นบนเล็กน้อย  วิถีกระสุนอาจมาจากแยกสารสิน จนถึงศาลาแดง กรณีนี้ไม่มีเหตุน่าเชื่อว่าเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ได้ส่งกลับไปให้ท้องที่อีก

ส่วนชายที่ปรากฏเห็นหน้าชัดเจนในคลิป แต่งกายคล้ายสื่อมวลชน วิ่งตามหลังฟาบิโอมา และเมื่อฟาบิโอถูกยิงล้มลง ชายคนดังกล่าวได้เก็บกล้องของฟาบิโอมาไว้กับตัวและร่วมกับคนอื่นลากนายฟาบิโอมาที่ฟุตบาท ซึ่งมีพฤติกรรมน่าสงสัย เนื่องจากมีพยานให้การกับ คอป.ไว้ว่า ก่อนหน้านายฟาบิโอถูกยิง 15 นาที ก็มีคนถูกยิงบาดเจ็บในบริเวณใกล้เคียงกัน แต่ชายคนนี้ก็ไม่ได้ถ่ายรูปไว้ ผิดวิสัยของสื่อมวลชนทั่วไป และกล้องวิดีโอที่ชายคนดังกล่าวเก็บไปก็ยังหาไม่เจอ  ดีเอสไอได้ชี้แจงว่า ได้ติดตามหาตัวมาตลอด ทั้งสอบถามไปยังสมาคมผู้สื่อข่าว และสอบจากนักข่าวคนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์ ไม่มีคนรู้จัก รวมทั้งได้ประกาศในเว็บไซต์ของดีเอสไอ และทางทีวีไทย  แต่ยังไม่ได้เบาะแส  การตรวจสอบกับกองทะเบียนราษฎร์ อาจจะได้ข้อมูล แต่ทางดีเอสไอยังไม่ได้ดำเนินการ

ด้าน พันเอกไตรเทพ ศรีพันธุ์วงศ์ รองผู้บังคับการกองพลทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งชี้แจงการเคลื่อนกำลังพลในวันที่ 19 พ.ค. กล่าวว่าในช่วงเวลาที่ นายฟาบิโอ เสียชีวิต ซึ่งเป็นเวลา 10.59 น. กำลังพลน่าจะยังเคลื่อนเข้าไปไม่ถึงจุดที่นายฟาบิโอถูกยิง เพราะเวลา 12.30 น. เพิ่งจะถึงแยกสารสิน และยืนยันว่าการเข้าควบคุมเหตุการณ์ทหารใช้ปืนลูกซอง ซึ่งมีทั้งกระสุนจริง และกระสุนยาง และปืนเล็กยาวซึ่งใช้แต่ลูกแบล็งค์  ทั้งนี้ ในช่วงที่เคลื่อนจากศาลาแดงถึงแยกสารสิน ทหารไม่ได้ใช้อาวุธเลย รวมทั้งไม่มีทหารหน่วยใดขึ้นไปบนรางรถไฟฟ้าและตึกสูง จะอยู่แค่สกายวอล์คที่แยกศาลาแดงเท่านั้น  รวมทั้ง กองทัพและ ศอฉ.ไม่ได้มีคำสั่งให้จัดการกับชายชุดดำ(ฟาบิโอใส่ชุดดำ) เพียงแต่มีคำสั่งให้ใช้อาวุธป้องกันตนเองในเหตุที่น่าจะทำให้สูญเสียชีวิต และป้องกันประชาชน

นิค นอสติทซ์ นักข่าวอิสระ ที่อยู่ในเหตุการณ์ ให้ข้อมูลค้านกับทหารว่า ในช่วงนั้นตนเองยืนอยู่หลังแนวของทหารตั้งแต่แยกศาลาแดง ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่มีการใช้อาวุธความเร็วสูงยิงไปทางราชดำริอย่างหนักก่อนที่จะถึงแยกสารสิน  ไม่ใช่อย่างที่ทหารบอก  และหลังจากนั้น 15-20 นาที ก็ได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนมามีนักข่าวอิตาลีเสียชีวิต

ตัวแทนจากสถานทูตอิตาลี ได้ตั้งคำถามในช่วงท้ายของเวทีว่า การสืบสวนสอบสวนนี้มีกำหนดว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่  ซึ่ง คอป.ชี้แจงว่ามีเวลาทำงาน 2 ปี และชี้แจงกระบวนการทำงานของ คอป.ให้ผู้แทนสถานทูตเข้าใจ

ก่อนจบเวที พ.อ.ไตรเทพ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "ฝากถึงสื่อมวลชนที่มา บางทีด่าผมหยาบๆ คายๆ ในเว็บ อ่านแล้วไม่สบายใจ ทหารไม่ต้องการให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายในการปฏิบัติหน้าที่ของเรา... ก็ต้องขอความกรุณาตรงนี้ด้วย ทหารหรือเจ้าหน้าที่ก็คือลูกหลานของประชาชนทุกคน เราคนไทยด้วยกัน ตรงนี้คือคณะกรรมการปรองดอง ถ้าทำแล้วไม่ปรองดองผมก็ไม่รู้จะหันไปหาใคร"

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"รุ่งโรจน์ วรรณศูทร" แจงถูกแอบอ้างอีเมล ส่งเสี้ยมเสื้อแดง

Posted: 06 Apr 2011 01:49 AM PDT

(6 เม.ย.54) "อริน" หรือ "รุ่งโรจน์ วรรณศูทร" คอลัมนิสต์อิสระ ให้สัมภาษณ์ว่า วานนี้ ทราบมาว่ามีผู้ใช้อีเมลที่ตั้งชื่อคล้ายอีเมลของตนส่งฟอร์เวิร์ดเมลข้อความเท็จไปในหมู่คนเสื้อแดงก่อให้เกิดความสับสนแตกแยก ทั้งนี้ อีเมลดังกล่าวใช้ชื่อว่า arinvvan@gmail.com เป็นการใช้อักษร v 2 ตัวติดกัน ดูเผินๆ อาจคล้ายอีเมลของตนซึ่งสะกดด้วยตัว w (arinwan@gmail.com)

อรินระบุว่า รูปแบบการเขียน วิธีคิด และการนำเสนอนั้นแตกต่างจากการทำงานของตนอย่างเห็นได้ชัด เพราะตนจะใช้ชื่อว่า รุ่งโรจน์ วรรณศูทร เท่านั้น ทั้งนี้ หากผู้ใดมีข้อสงสัยในข่าวสารที่ได้รับจากตนเอง ขอให้แจ้งกลับ arinwan@gmail.com จะเป็นการช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างความพยายามค้นหาต้นตอและหนทางแก้ไข

สำหรับเนื้อหาของฟอร์เวิร์ดเมลดังกล่าว เป็นการกล่าวหา พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่าอภิปรายหมิ่นสถาบันฯ ที่อุดรธานี และเรียกร้องให้คนเสื้อแดงถอยห่างจาก ส.ส.รายนี้เสีย โดยลงชื่อว่า "แดงนนท์นอกคอก" ขณะที่ฟอร์เวิร์ดเมลอีกฉบับกล่าวหา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการสายประวัติศาสตร์ ว่าโหนกระแสโจมตีสถาบันฯ รวมถึงหลอกใช้คนเสื้อแดง ลงชื่อ "สมชาย ณ ซิดนีย์"

อรินมองว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการดิสเครดิตอย่างร้ายแรง ทำให้คนเสื้อแดงเกลียดชังตนเอง รวมถึงเสี้ยมให้คนเสื้อแดงที่ต่างความคิดกันเกลียดกันด้วย โดยตนเองเพิ่งทราบว่ามีการกระทำเช่นนี้หลายครั้ง ส่งผลให้ผู้ที่รู้จักตนเข้าใจผิด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้พยายามชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นผ่านทางสื่อต่างๆ แล้ว รวมถึงวันนี้จะเดินทางไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่ามีการกระทำแอบอ้างเกิดขึ้นด้วย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรแรงงานจี้รัฐเยียวยาผู้เสียหายกรณีรถโดยสารคนงานพม่าถูกสิบล้อชน

Posted: 06 Apr 2011 01:06 AM PDT

องค์กรด้านแรงงานเรียกร้องให้ภาครัฐจัดระเบียบความปลอดภัย ตรวจสอบ และเยียวยาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถบรรทุกแรงงานข้ามชาติชนพลิกคว่ำ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายสิบคน


ที่มาของภาพ: sakhononline/ Youtube

เนื้อหาแถลงการณ์มีดังนี้

เมื่อเช้าวันที่ 4 เมษายน ได้เกิดเหตุการณ์รถสองแถวที่บรรทุกแรงงานพม่ากว่า 70 คน ถูกรถบรรทุกสิบล้อชนพลิกคว่ำ บริเวณตลาดกุ้ง ต.มหาชัย จ.สมุทรสาคร จนมีผู้เสียชีวิตจนถึงปัจจุบันรวม 16 คน และได้รับบาดเจ็บเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีกเป็นจำนวนมาก

ในช่วงเช้าและเย็นของทุกวัน ภาพรถสองแถวขนาดใหญ่ที่บรรทุกแรงงานพม่าอัดแน่นเต็มคันรถเพื่อเดินทางไปทำงานและกลับที่พัก จอดรับส่งบริเวณริมถนนเป็นภาพที่เห็นได้อย่างชินตาในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร รถสองแถวเหล่านี้บางส่วนเป็นสวัสดิการที่ทางโรงงานจัดไว้เพื่อรับส่งคนงานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ในหลายๆ โรงงาน แรงงานจะถูกหักค่าจ้างส่วนหนึ่งสำหรับเป็นค่ารถรับส่ง แต่รถที่ทางโรงงานจัดไว้รับส่งก็ไม่เพียงพอต่อจำนวนคนงาน ทำให้รถรับส่งแต่ละคันต้องบรรทุกคนงานไว้มากกว่า 60 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงเกินปกติและก่อให้เกิดความสูญเสียเกินควรเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แม้ว่ารถสองแถวจะมีคนอัดแน่นเพียงใด แรงงานพม่าเหล่านี้ก็ต้องพยายามเบียดเสียดกันอยู่ในรถดังกล่าวเพื่อไปทำงานให้ทันเวลา เพราะหากไปไม่ทันพวกเขาก็ต้องถูกหักค่าจ้าง ซึ่งนั่นหมายถึงรายได้ที่ต้องลดลง อีกทั้งรายได้ของพวกเขาก็ไม่มากพอที่จะใช้การเดินทางโดยวิธีอื่นที่มีราคาสูงกว่าและนโยบายของภาครัฐยังไม่อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ทำใบขับขี่ได้

ความสูญเสียในอุบัติเหตุครั้งนี้และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารที่พบเห็นได้ในหลายๆ ครั้งนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดการเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายกับรถโดยสาร ดังเช่นรถสองแถวคันที่เกิดอุบัติเหตุนี้ ตามกฎหมายเป็นรถประเภทที่มีที่นั่งกำหนดไว้ไม่เกิน 24 ที่นั่ง แต่กลับมีการบรรทุกผู้โดยสารไว้มากกว่า 70 คนรวมทั้งจอดรับส่งผู้โดยสารในเขตห้ามจอด ซึ่งตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกได้กำหนดไว้ว่า “ในการขนส่งประจำทางหรือการขนส่งไม่ประจำทางระหว่างจังหวัดหรือระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถ รับบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่นั่งผู้โดยสารที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต”

จากหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งเหตุการณ์ในครั้งนี้ องค์กรตามรายนามด้านล่างมีข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะ ดังนี้

-รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด ควรบังคับใช้กฎหมายกับรถโดยสารอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเรื่องจำนวนผู้โดยสารสำหรับรถโดยสารแต่ละประเภท และจัดระเบียบในการรับส่งคนโดยสารอย่างเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยสาธารณะและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

-ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนและเยียวยาความเสียหายให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และทายาทของผู้เสียชีวิตอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้เสียหายที่เป็นแรงงานพม่าที่อาจมีอุปสรรคในการได้รับค่าเสียหาย รวมทั้งสถานทูตพม่าควรเข้ามาช่วยเหลือคนพม่าที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุครั้งนี้

-หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องควรเข้ามามีส่วนในการกำหนดมาตรฐานในการจัดสวัสดิการให้กับคนงาน โดยเฉพาะสวัสดิการเรื่องการเดินทางให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการเดินทาง

องค์กรลงนาม
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
เครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งเเวดล้อมเเห่งประเทศไทย
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
มูลนิธิรักษ์ไทย
มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน
มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย
โครงการประสานชาติพันธุ์อันดามัน มูลนิธิเสฐียรโกเศศ นาคะประทีป
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น