โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

รายงาน: ย้อนรอยจำแนกข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม 10 เมษา 53

Posted: 12 Apr 2011 01:09 PM PDT

หลังปฏิบัติการ 'ขอคืนพื้นที่' 10 เมษายน 2553 มีผู้เสียชีวิตทั้งเจ้าหน้าที่และพลเรือน 26 คน นับเป็นจุดเปลี่ยนความรุนแรงของสถานการณ์ที่สำคัญ ในบรรดาตัวเลขเหล่านั้น สามารถจำแนกตัวเลขในมิติต่างๆ ได้อีกหลายประการ อาทิ อาชีพ การศึกษา ลักษณะการถูกยิง

 

ทหารเสียชีวิต 5 นาย

ชื่อ
สาเหตุการเสียชีวิต
บาดแผล
สถานที่
พลทหารภูริวัฒน์ ประพันธ์ (25 ปี)
ถูกสะเก็ดระเบิด
กะโหลกเปิด ท้ายทอยขวาน่อง 2 ข้างฉีกขาดฟกช้ำ
สี่แยกคอกวัว
พลทหารอนุพงษ์ เมืองอำพัน (21 ปี)
ถูกสะเก็ดระเบิด
ทรวงอกฟกช้ำ น่อง 2 ข้างฉีกขาดฟกช้ำ
สี่แยกคอกวัว
พลทหารสิงหา อ่อนทรง (22 ปี)
ถูกสะเก็ดระเบิด
ที่ศีรษะ
สี่แยกคอกวัว
พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม (43 ปี)
ถูกสะเก็ดระเบิด
ท้ายทอยขวาฉีกขาดน่อง 2 ข้างฉีกขาด ฟกช้ำอกซ้ายและด้านหน้า ต้นขาซ้ายฉีกขาด
.ดินสอ หน้า ร..สตรีวิทยา
พลทหารอนุพงศ์ หอมมาลี (22 ปี)
ถูกสะเก็ดระเบิด
ที่ศีรษะ
สี่แยกคอกวัว

พลเรือนที่เสียชีวิต 21 ราย

อายุตั้งแต่ 23 - 55 ปี
เสียชีวิตในวันเกิดเหตุ 19 ราย
เสียชีวิตในภายหลัง 2 ราย คือ นายมนต์ชัย แซ่จอง วันที่ 14 เม.ย.53, นายอนันต์ สิริกุลวาณิชย์ วันที่ 15 พ.ค.53
 
สถานที่และเวลา
คอกวัว 9 ราย, ถนนดินสอ 7 ราย, กระทรวงศึกษาธิการ 1 ราย, อื่น 4 ราย
 
คอกวัว (ตะนาว)
 
โรงเรียนสตรีวิทยา (ดินสอ)
กระทรวงศึกษาฯ
อื่นๆ
เทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ (20.00 น. เศษ)
จรูญ ฉายแม้น
(20.00 น. เศษ)
เกรียงไกร คำน้อย
(15.00 น. เศษ)
ยุทธนา ทองเจริญพูลพร
(ไม่ทราบ)
อนันต์ สิริกุลวาณิชย์
(20.00 น. เศษ)
คนึง ฉัตรเท
(ไม่ทราบเวลาชัดเจน)
 
บุญจันทร์ ไหมประเสริฐ
(ไม่ทราบ)
สวาท วางาม
(20.00 น. เศษ)
ฮิโรยูกิ มูราโมโต หรือ ฮิโระ (ไม่ทราบเวลาชัดเจน)
 
นภพล เผ่าพนัส
(ไม่ทราบ)
อำพน ตติยรัตน์
(19.00 น. เศษ)
ทศชัย เมฆงามฟ้า
(20.00 น. เศษ)
 
มนต์ชัย แซ่จอง
(เสียชีวิตที่โรงพยาบาล)
ธวัฒนะชัย กลัดสุข
(เกือบ 19.00 น.)
วสันต์ ภู่ทอง
(20.00 น. เศษ)
 
มานะ อาจราญ
(เขาดิน 23.00 น.)
ไพรศล ทิพย์ลม
(19.00 น.)
สยาม วัฒนนุกูล
(ไม่ทราบเวลาแน่ชัด)
 
 
บุญธรรม ทองผุย
(20.00 น. เศษ)
 
 
 
สมิง แตงเพชร
 (ไม่ทราบเวลาแน่ชัด)
 
 
 
สมศักดิ์ แก้วสาร
(ไม่ทราบเวลาแน่ชัด)
 
 
 
รวม 9 ราย
รวม 6 ราย
รวม 1 ราย
รวม 5 ราย
 
ลักษณะการเสียชีวิต
กระสุนที่หัว 9 ราย, กระสุนที่อกและท้อง 9 ราย, กระสุนที่คอ 1 ราย, กระสุนที่หัวเหน่า 1 ราย, หัวใจวายเฉียบพลัน 1 ราย
 
กระสุนที่หัว
กระสุนที่อก-ท้อง
หัวใจวายเฉียบพลัน
อื่นๆ
สวาท
เทิดศักดิ์
มนต์ชัย
อนันต์ (กระสุนที่คอ)
อำพน
จรูญ
 
บุญจันทร์ (หัวเหน่า)
ยุทธนา
คนึง
 
 
ไพรศล
ธวัฒนะชัย
 
 
บุญธรรม
ฮิโรยูกิ
 
 
ทศชัย
เกรียงไกร
 
 
วสันต์
สยาม
 
 
สมิง
สมศักดิ์
 
 
มานะ
นพพล
 
 
รวม 9 ราย
รวม 9 ราย
รวม 1 ราย
รวม 2 ราย
 
อาชีพ
พนักงานบริษัท (3) เทิดศักดิ์, ไพรศล, ทศชัย          
ขับแท็กซี่ (4) จรูญ, บุญธรรม, สมศักดิ์, ธวัฒนะชัย
ขับรถตุ๊กตุ๊ก (1) เกรียงไกร
รปภ.จุฬา (1) คนึง
รับเหมาทำอลูมิเนียม (1) อนันต์
ขับรถส่งของ (1) สวาท
กำลังศึกษา (2) อำพน, ยุทธนา
ทำไร่อ้อย (1) บุญจันทร์
ค้าขาย (2) มนตร์ชัย, สมิง
ช่างเย็บผ้า (1) วสันต์
ช่างซ่อมรถโดยสาร (1) สยาม
นักข่าว (1) ฮิโรยูกิ
เจ้าหน้าห้องแล็บ มหาวิทยาลัย (1) นภพล
เจ้าหน้าที่เขาดิน (1) มานะ
 
 
จังหวัด (ที่อาศัยปัจจุบัน)
กรุงเทพ (13) จรูญ, คนึง, อนันต์, สวาท, อำพน, ไพรศล, บุญธรรม, ทศชัย, เกรียงไกร, สมิง, สยาม, สมศักดิ์, มานะ
ปทุมธานี (1) เทิดศักดิ์
นนทบุรี (1) ธวัฒนะชัย
สมุทรปราการ (2) มนต์ชัย, วสันต์
ราชบุรี (2) ยุทธนา, บุญจันทร์
ชลบุรี (1) นพพล
ญี่ปุ่น (1) ฮิโรยูกิ
 
การศึกษา
ปริญญาตรี (4) เทิดศักดิ์, นภพล, อนันต์, ยุทธนา
ปริญญาตรี เทอมสุดท้าย (1) อำพน
ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (1) ทศชัย
ม.6 (3) เกรียงไกร, วสันต์, ธวัฒนะชัย
ม.3 (2) บุญธรรม, สมศักดิ์
ป.6 (1) สวาท
ป.4 (3) จรูญ, บุญจันทร์, สมิง
อ่านเขียนหนังสือไม่ได้ (1) มนต์ชัย
ไม่ทราบ (5) คนึง, ไพรศล, สยาม, ฮิโรยูกิ, มานะ
 
ยานพาหนะที่เดินทางจากบ้าน/จากราชประสงค์ ไปสมทบที่สะพานผ่านฟ้าฯ
มอเตอร์ไซด์ (8) เทิดศักดิ์, สวาท, อำพน, ยุทธนา, ไพรศล, ทศชัย, สมิง, สยาม
แท็กซี่ (5) จรูญ, บุญธรรม, อนันต์, ธวัฒนะชัย, สมศักดิ์
รถกระบะผู้ชุมนุม (1) คนึง
อยู่ในที่ชุมนุม (4) บุญจันทร์, มนต์ชัย, ฮิโรยูกิ, นภพล
รถส่วนตัว (1) วสันต์
รถตุ๊กตุ๊ก (1) เกรียงไกร
อยู่ที่สวนสัตว์ดุสิต (1) มานะ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทนำจากรายงาน ICG - "ประเทศไทย: ความสงบก่อนพายุอีกลูกจะมาเยือน?"

Posted: 12 Apr 2011 11:06 AM PDT

หมายเหตุ: บทนำจากรายงานของ International Crisis Group ชิ้นนี้เผยแพร่เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2554 รายงานฉบับเต็มสามารถอ่านได้ที่ "Thailand:The Calm before Another Storm?")

 

ประเทศไทย: ความสงบก่อนพายุอีกลูกจะมาเยือน?

1. บทนำ

ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปภายหลังจากการสลายการชุมนุมขบวนการเคลื่อน ไหวต่อต้านชนชั้นนำเมื่อเกือบหนึ่งปีที่แล้ว แม้ว่ารัฐบาลจะได้พยายามสกัดกั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงแต่มวลชน ยังคงให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง และความแตกแยกทางการเมืองก็ยังคงดำรงอยู่ แผนปรองดองแห่งชาติที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะประกาศไว้มิได้นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ใดๆ ภายหลังการสลายการชุมนุมได้มีการก่อเหตุวางระเบิดซึ่งคาดว่าเป็นการกระทำของ คนเสื้อแดงที่โกรธแค้นและดูเหมือนว่าจะเป็นฝืมือของผู้ที่ไม่มีความเชี่ยว ชาญมากนัก การต่อสู้แบบใต้ดินมิได้ปรากฎขึ้นจริงอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มชาตินิยมเสื้อเหลืองได้หันมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ ทั้งที่การเคลื่อนไหวของพวกเขาก่อนหน้านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลชุด นี้ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจ กลุ่มเสื้อเหลืองอ้างว่าการเลือกตั้งไม่มีประโยชน์ในสภาวะที่การเมือง “สกปรก” และเรียกร้องให้คนไทยไม่ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคการเมืองใดๆ การทำให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย แม้ว่าการเลือกตั้งจะเสรี ยุติธรรมและสันติ การแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของกลุ่มชนชั้นนำจะเป็นประเด็นที่นำไปสู่การ ชุมนุมประท้วงรอบใหม่ของกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งอาจจะผลักให้เกิดการเผชิญหน้า ทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 ได้นำไปสู่การปะทะทางการเมืองระหว่างรัฐบาลและผู้ชุมนุมประท้วงที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่และมีผู้ที่ต้องสูญเสียชีวิตถึง 92 คนการใช้กำลังสลายการชุมนุมของรัฐบาลอาจจะทำให้คนเสื้อแดงอ่อนแอลง แต่ไม่อาจทำลายการเคลื่อนไหวที่ยังคงได้รับการสนับสนุนจากผู้คนหลายล้านคน โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสาน การจับกุมแกนนำและการปิดสื่อและช่องทางการสื่อสารยิ่งจะเป็นการตอกย้ำถึงความอยุติธรรม แม้คนเสื้อแดงบางกลุ่มจะเลือกตอบโต้ด้วยความรุนแรง แต่ว่าแกนนำได้ยืนยันในแนวทางสันติวิธี การต่อสู้ครั้งต่อไปจะเป็นการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งซึ่งคนเสื้อแดงจะสนับสนุนแนวร่วมพรรคการเมืองของพวกเขา คือ พรรคเพื่อไทย

การต่อสู้ที่ยืดเยื้อระหว่างกลุ่มชนชั้นนำและผู้สนับสนุนอันประกอบไปด้วยสถาบันกษัตริย์ กองทัพ และศาล กับกลุ่มที่เป็นแนวร่วมของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นขึ้นเมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ได้ก่อตัวขึ้นในปี 2549 ทักษิณถูกขับออกจากอำนาจด้วยการรัฐประหารในเดือนกันยายน2549 แต่เหตุการณ์นั้นก็ได้ผลักให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านอีกขั้วหนึ่ง คือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง การปิดสนามบินในกรุงเทพฯ ของ พธม. ในปี 2551 ได้ก่อให้เกิดสภาวะทางตันซึ่งยุติลงเมื่อศาลได้มีคำพิพากษายุบพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็น “หุ่นเชิด” ของทักษิณและนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งทหารให้การสนับสนุน สองปีต่อมา ขบวนการเคลื่อนไหวชาตินิยมสุดขั้วของคนเสื้อเหลืองก็เริ่มขัดแย้งกับพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยเป็นพันธมิตรของพวกเขา พธม. ได้ชุมนุมประท้วงที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อต่อต้านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ซึ่งพวกเขากล่าวหาว่าล้มเหลวในการปกป้อง “ดินแดนไทย” ในประเด็นความขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหารกับประเทศกัมพูชา ข้อเรียกร้องของกลุ่มพธม. ให้ผู้นำที่มี “คุณธรรม” มาทำหน้าที่แทนนายกฯ อภิสิทธิ์ได้ก่อให้เกิดคำถามว่า พธม. กำลังเรียกร้องการรัฐประหารเช่นนั้นหรือ

นายอภิสิทธิ์ได้ประกาศว่าจะยุบสภาในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมภายหลังจากรัฐสภาผ่านกฎหมายลูกอันเกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขกฎเกณฑ์ในการเลือกตั้ง เขาเร่งดำเนินการให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็วท่ามกลางกระแสข่าวลือเกี่ยวกับการรัฐประหาร พรรคประชาธิปัตย์คาดว่ากติกาการเลือกตั้งใหม่ รวมถึงโครงการแจกจ่ายเงินก่อนการเลือกตั้งจะสามารถทำให้พรรคได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) มากขึ้นและสามารถกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกสมัยหนึ่ง ในขณะที่ทักษิณยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนจำนวนมากและมีแนวโน้มสูงว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง การถกเถียงกันในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างเข้มข้น นปช. ได้ขู่ที่จะกลับคืนสู่ท้องถนนถ้าหากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งแต่ว่าไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ความพยายามใดๆ ของฝ่ายชนชั้นนำในการบิดเบือนผลการเลือกตั้งจะเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การประท้วงและความรุนแรงได้ แต่ถ้าสถานการณ์เกิดขึ้นในทางตรงกันข้าม ถ้าพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงเพียงพอและได้จัดตั้งรัฐบาล พธม. อาจจะกลับมามีพลังอีกครั้งขึ้นและพวกเขาก็คงจะไม่อดทนกับรัฐบาลที่เป็น “หุ่นเชิด” ของอดีตนายกฯ ทักษิณ

แม้ว่าการเลือกตั้งจะไม่สามารถยุติความแตกแยกทางการเมืองและสถานการณ์หลังการเลือกตั้งดูเหมือนจะมืดมนประเทศไทยยังควรที่จะเดินหน้าอย่างเต็มที่ไปสู่การเลือกตั้ง ข้อตกลงในเรื่องกฎกติกาการเลือกตั้งและการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั้งจากองค์กรภายในและนอกประเทศอาจจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและลดความรุนแรงในการเลือกตั้งลงได้ ถ้าหากว่าการจัดตั้งรัฐบาลดำเนินไปได้สำเร็จลุล่วง รัฐบาลที่มาจากเสียงประชาชนจะมีความชอบธรรมมากขึ้นในการริเริ่มสร้างความปรองดองทางการเมืองในระยะยาวให้เกิดขึ้นได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยกระดับความรุนแรงอุบัติภัยนิวเคลียร์สู่ระดับสูงสุด

Posted: 12 Apr 2011 10:05 AM PDT

หน่วยงานด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ของรัฐบาลญี่ปุ่นยกระดับความรุยแรงสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลัยร์ฟูกูชิมะสู่ระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด และเป็นระดับเดียวกับเหตุการณ์เชอร์โนบิลแล้ว แต่ยังยืนยัน ระดับกัมมันตรังสีที่รั่วไหลต่ำกว่าเชอร์โนบิล 10 เท่า

12 เม.ย. 2554 เว็บไซต์เอ็นเอชเค รายงานว่า หน่วยงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของรัฐบาลญี่ปุ่นได้ยกระดับความรุนแรงของสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะจากระดับ 5 สู่ระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดแล้ว โดยระบุว่าสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมานั้นจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเป็นบริเวณกว้าง

ทั้งนี้ ความรุนแรงระดับ 7 คือระดับสูงสุดตามมาตรฐานระหว่างประเทศและเทียบเท่ากับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านความปลอดภัยฯ ระบุว่ารังสีที่แพร่กระจายออกมาจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะนั้นมีปริมาณเพียง 1 ใน 10 ของเชอร์โนบิลเท่านั้น โดยประมาณการว่ารังสีไอโอดีน 131 และรังสีซีเซียมจะรั่วไหลออกมาจากโรงไฟฟ้าประมาณ 370,000 เทราเบ็กเกอแรล (tera becquerels หน่วยวัดการสลายตัวของกัมมันตรังสี 1 เทราเบ็กแรล = หนึ่งล้านล้านอะตอม: วินาที)

นายฮิเดฮิโกะ นิชิยาม่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานความปลอดภัยกล่าวว่า ในกรณีของเชอร์โนบิลนั้น มีคนตายจากการสัมผัสรังสีโดยตรง 29 คน แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากกรณีของฟูกูชิมะ

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการความปลอดภัยนิวเคลียร์ซึ่งร่วมประชุมกับหน่วยงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ประมาณการไว้สูงกว่านั้นคือ ราว 630,000 เทราเบ็กเกอแรล

ด้านเว็บไซต์บีบีซีรายงาน รัฐบาลญี่ปุ่นชี้ว่า เมื่อเปรียบเทียบระดับความรุนแรงกับโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลแล้ว การรั่วไหลของกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลนั้นคือ 5.2 ล้าน เทราเบ็กเกอเรล

อุบัติภัยโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล (ตั้งอยู่ในนิคมเชอร์โนบิล สหภาพโซเวียตขณะนั้น ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศยูเครน) เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2529   เมื่อเตาปฏิกรณ์เกิดระเบิดในกลางดึกและเกิดเพลิงไหม้ติดต่อกันอยู่เป็นเวลา 10 วัน กัมมันตรังสีแพร่กระจายไปในบริเวณกว้างนับพันตารางไมล์ จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว 29 คน (บางแห่งระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 28 คน บางแห่งระบุ 31 คน) ประชาชนราว 250,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่

รายงานขององค์การสหประชาชาติประมาณการว่ามีประชาชนราว 4,000 คนต้องเสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากอุบัติภัยครั้งนั้น ขณะที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมประณามรายงานฉบับดังกล่าวว่าเป็นการฟอกตัวให้กับโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล โดยโต้แย้งว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีถึงราว 100,000 คน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ต้องขังผูกคอตายในคุกปัตตานี ญาติไม่เชื่อฆ่าตัวตาย

Posted: 12 Apr 2011 10:01 AM PDT

เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. วันที่ 12 เมษายน 2554 เจ้าหน้าที่เรือนจำกลางปัตตานีได้แจ้งไปยังศูนย์วิทยุสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี ว่ามีผู้ต้องขังเสียชีวิตในเรือนจำหนึ่งราย จากนั้น ร.ต.ท.ดำเนิน แสงหิรัญ ร้อยเวร สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี จึงได้เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในที่เกิดเหตุ โดยในที่เกิดเหตุได้มีเจ้าหน้าที่ทางราชการร่วมตรวจสอบคือ ปลัดอำเภอเมืองปัตตานี พนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี แพทย์จากโรงพยาบาลปัตตานี เจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์ และญาติผู้ตาย

จากการตรวจสอบในที่เกิดเหตุพบศพ นายอนันต์ กาหลง อายุ 27 ปี อยู่บ้านเลขที่ 123/1 หมู่ที่ 3 ตำบลเมาะมาวี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างศาลฝากขังในคดีชิงทรัพย์โดยมีอาวุธ โดยสภาพศพ พบศพแขวนคอที่ลูกกรงเหล็กด้วยผ้า ในเรือนนอนห้อง215 โดยคาดว่าน่าจะเสียชีวิตตั้งแต่เวลาประมาณ 07.00น.

จากการตรวจสอบสภาพศพเบื้องต้น พบรอยช้ำที่คอเป็นยาวประมาณ 24 เซนติเมตร กว้าง 4 เซนติเมตร ส่วนสาเหตุการตายที่แท้จริงนั้นต้อง รอผลการตรวจสอบจากแพทย์อีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนี้ทางเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ให้การว่า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานายอนันต์ได้ก่อเหตุชกต่อยกับเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกัน เจ้าหน้าที่เรือนจำจึงได้ลงโทษให้มีการแยกขังเดี่ยวพร้อมใส่โซ่ตรวน แต่เมื่อคืนทางเจ้าที่เรือนจำได้ให้นายอนันต์ มาอยู่ที่ห้องขังรวม เพราะเกรงว่านายอนันต์จะทำร้ายตัวเอง เพราะนายอนันต์มีอาการทางประสาทร่วมด้วย

นายมะรุสดี กาหลง พี่ชายของผู้ตายกล่าวว่า ตนเองเพิ่งมาเยี่ยมนายอนันต์เมื่อวานนี้ ก็ยังพบน้องชายมีอาการปกติ ไม่มีอาการส่อเค้าว่าจะฆ่าตัวตาย โดยเมื่อวานน้องชายยังได้พูดถึงคดีที่ต้องมีการขึ้นศาลในเดือนมิถุนายนนี้ว่า จะรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา น้ำเสียงที่พูดก็พูดด้วยความปกติ ไม่มีอาการกังวลใดๆเลยเพราะน้องชายเคยถูกต้องขังมาหลายครั้งแล้วเลยมีความเคยชินกับเรือนจำเป็นอย่างดี

“ผมไม่เชื่อว่าน้องชายผมจะผูกคอตายเพราะการฆ่าตัวตายนั้นต้องมีเหตุผล เมื่อวานน้องชายผมยังคุยกันอยู่ดีเลยไม่มีอาการเศร้าซึมหรืออาการที่ส่อเค้าว่าจะฆ่าตัวตาย น้องชายผมเคยชินจากาการจำคุกจึงเป็นไปไม่ได้ที่น้องชายผมจะกังวลเรื่องการโดนจำคุกจนฆ่าตัวตาย ผมจึงไม่เชื่ออย่างหนักแน่นว่าน้องชายผมจะฆ่าตัวตาย” นายมะรุสดี กล่าว

สภาพศพของนายนายอนันต์ กาหลง ที่มีรอยช้ำที่คอจากการผูกคอตายในเรือนจำหลางปัตตานี
สภาพศพของนายนายอนันต์ กาหลง ที่มีรอยช้ำที่คอจากการผูกคอตายในเรือนจำหลางปัตตานี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มานิต วัฒนเสน หลุด ส.ว.สรรหา กับสนามการเมืองสตูล และเมกะโปรเจ๊กส์แสนล้าน

Posted: 12 Apr 2011 09:52 AM PDT

มติ 43 ต่อ 8 เสียง ส่งผลให้ “มานิต วัฒนเสน” อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นตัวแทนภาคราชการจังหวัดสตูล เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)

เป็นมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ที่มีนายวินัย คุรุวรรณพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานการประชุมกรรมการจังหวัดสตูล เพื่อพิจารณาบุคคลเป็นตัวแทนภาคราชการจังหวัดสตูล เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ที่ห้องประชุมโต๊ะพญาวัง ศาลากลางจังหวัดสตูล

แม้ล่าสุดไม่ปรากฏชื่อนายมานิต วัฒนเสน เป็น 1 ใน ส.ว.สรรหา 73 คนที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณารับรองก็ตาม แต่เป็นสิ่งยืนยันถึงเสียงซุบซิบนินทาในจังหวัดมาตั้งแต่ต้นปี 2553 ว่า นายมานิต วัฒนเสน จะลงสนามการเมืองในนามจังหวัดสตูล แม้ครั้งนี้เป็นสรรหาก็ตาม

แต่การไม่ได้รับการรับรอง ก็ไม่ได้หมายความว่า โอกาสปิดไปแล้ว เพราะยังมีสนาม ส.ว.เลือกตั้ง หรือ ส.ส.(สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร)ของจังหวัดสตูลอยู่อีก

การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัดสตูล ก่อนหน้านี้มี นายสุเมธ ชัยเลิศวณิชกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และนายอารีย์ ดุลยาภรณ์ อดีต พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด(พมมจ.)สตูล ลงสมัครเพื่อชิงตำแหน่งด้วย

แต่เมื่อทั้งคู่ทราบว่านายมานิต วัฒนเสน ลงชิงเป็นตัวแทนภาคราชการจังหวัดสตูลในครั้งนี้ด้วย ทั้งคู่จึงสละสิทธิ์เพื่อเปิดทางให้ โดยเห็นว่านายมานิต วัฒนเสน มีความเหมาะสม

มานิต วัฒนเสน
มานิต วัฒนเสน
(ภาพจาก prcmu.cmu.ac.th)

ทำไมนายมานิต วัฒนเสน จึงสำคัญกับจังหวัดสตูล

มานิต วัฒนเสน ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นคนอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง จบศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนบริหารศาสตร์มหาบัณฑิต ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

การที่นายมานิต ได้ไปเรียนหนังสืออยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่หลายปี จึงทำให้มีเครือข่ายคนรู้จักที่นั่นมากพอที่จะชักนำให้ได้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายคะแนน สุภา พ่อตาของ นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งถูกเว้นวรรคทางการเมืองอยู่ในขณะนี้

ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2547 นายเนวิน ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงไปดูแลทุกโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะนั้นนายมานิต วัฒนเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้ให้การดูแลนายเนวินอย่างดี จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ในวันที่ 1 ตุลาคม 2547

ซึ่งเป็นช่วงใกล้เคียงกับนโยบายขึ้นบัญชีดำผู้มีอิทธิพลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังผลิดอกออกผล

ส่งผลให้นายเนวิน ชิดชอบ และนายมานิต วัฒนเสน ในฐานะพ่อเมืองสตูล มีโอกาสเข้าไปดูแลสารทุกข์สุกดิบของนายสมเกียรติ เลียงประสิทธิ์ ผู้มากน้ำใจแห่งจังหวัดสตูลอย่างใกล้ชิด

ขณะเดียวกันนั้น “นายวัฒนา อัศวเหม” กำลังเจอสารพัดคดีรุมเร้า ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ พลอยกระทบไปด้วย ไม่เว้นกระทั่งธุรกิจทางทะเล โดยเฉพาะธุรกิจค้าน้ำมัน ในนาม “ปักษ์ใต้เชื้อเพลิง” ที่มีคลังน้ำมันอยู่ที่ภาคใต้ถึง 3 คลังด้วย

แต่น้ำมันส่วนใหญ่ส่งไปขายแถวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“นายวัฒนา อัศวเหม” จึงได้ ฝากฝังหุ้นส่วนธุรกิจทางทะเลในจังหวัดสตูล แห่งตระกูลรัชกิจประการกับเพื่อนรัก “นายชัย ชิดชอบ” บิดาของนายเนวิน ชิดชอบ ที่ได้เข้ามาดูแลพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่งผลให้บทบาทของนายเนวิน ชิดชอบ ในจังหวัดสตูลมีสีสันขึ้นมา แถมยังแผ่ขยายไปถึงจังหวัดพัทลุง ผ่านนางนาที รัชกิจประการ ภรรยาของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ

พร้อมกับดึงนายปัจจุบัน อังโชติพันธ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ผู้มีสายสัมพันธ์อันดีกับตระกูลรัชกิจประการ มาร่วมก๊วนด้วย

บทบาทของนายเนวิน ชิดชอบ ในจังหวัดสตูลและจังหวัดพัทลุง จึงสูงมาก จนกระทั่งได้รับมอบหมายจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ให้รับผิดชอบการเลือกตั้งในจังหวัดสตูลกับจังหวัดพัทลุง

ถึงแม้จะไม่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก 2 จังหวัดนี้ แต่ทั้ง 2 พื้นที่ นายเนวิน ชิดชอบ ก็มีบารมีมากขึ้นทุกวัน เพราะเครือข่ายที่วางไว้ สามารถกุมฐานสำคัญทั้งทางการเมืองและธุรกิจไว้ได้

เห็นได้ชัดจากการคืบคลานเข้าไปรับสัมปทานรังนกในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดสตูล พัทลุง สุราษฎร์ธานี เป็นต้น โดยมีนายปัจจุบัน อังโชติพันธ์ เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการจัดการธุรกิจรังนก

ด้วยสายสัมพันธ์ดังกล่าว จึงไม่แปลกที่จะมีข่าวออกมาว่านายเนวิน ชิดชอบ กับนายมานิต วัฒนเสน มีบทบาทสำคัญในการจัดวางฐานกำลังการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดสตูล

ที่ปัจจุบันมี “นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์” พี่ชายนายสมเกียรติ เลียงประสิทธิ์ แห่ง “เกียรติเจริญชัยการโยธา” ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่สุดของจังหวัด เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล

มี “นายพิบูลย์ รัชกิจประการ” เป็นนายกเทศมนตรีเมืองสตูล ที่แม้จะมีปัญหาด้านสุขภาพ แต่ตัดสินใจยังไม่ลงจากเวทีการเมือง เพราะมีภารกิจต้องดูแลนายมานิต วัฒนเสน ที่จะกลับมาเล่นการเมืองที่จังหวัดสตูลในอนาคต

และยังมีนางนาที รัชกิจประการ เข้าไปนั่งเป็นเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชัย ชิดชอบ)

ขณะที่ “นายสุเมธ ชัยเลิศวนิชกุล” อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ก็ถูกมองว่าถูกพรรคภูมิใจไทยส่งเข้ามาดูแลจังหวัดสตูลโดยเฉพาะก่อนหน้านี้ด้วย

นี่คือ การจัดวางกำลังในภาวะที่จังหวัดสตูลจะมีเมกะโปรเจ็กต์มูลค่านับแสนล้าน วางรออยู่เบื้องหน้า ซึ่งเป็นโครงการยักษ์ ที่ได้รับการผลักดันอย่างเต็มที่จากรัฐบาล ภายใต้แรงสนับสนุนสุดเหวี่ยง จากทั้งหอการค้าจังหวัดสตูล หอการค้าจังหวัดสงขลา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และคนในพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดสตูล จึงมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้สำเร็จค่อนข้างแน่นอน

จึงไม่น่าจะแปลกใจ ถ้านายมานิต วัฒนเสน จะกลับมาลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสีเสื้อพรรคภูมิใจไทย คู่กับนายปัจจุบัน อังโชติพันธ์ ในสมัยหน้าที่คาดว่าจะมีขึ้นอีกไม่นาน

 

ประวัติ นายมานิต วัฒนเสน

เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2493 ที่จังหวัดสตูล

การศึกษา

  • ศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต ทางรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
  • หลักสูตรโรงเรียนนายอำเภอ รุ่นที่ 32
  • หลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับ 8 กระทรวงมหาดไทย
  • หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 45 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

การทำงาน

  • เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 3 (อักษรเลข) สำนักงานจังหวัดอุตรดิตถ์ ปี 2521
  • หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ (เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 6) สำนักงานจังหวัดตรัง ปี 2528 หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ (เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 7) สำนักงานจังหวัดสงขลา ปี 253ภ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา ปี 2536
  • ผู้อำนวยการกองตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ ปี 2538
  • ผู้อำนวยการสำนักงานทะเบียนพรรคการเมือง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ปี 2540
  • รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา วันที่ 11 ตุลาคม 2542
  • รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต วันที่ 1 ตุลาคม 2544
  • องผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี วันที่ 17 มิถุนายน 2546
  • ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล วันที่ 1 ตุลาคม 2547
  • ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย (ผู้ตรวจราชการ 10) วันที่ 14 ธันวาคม 2549
  • ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร วันที่ 1 ตุลาคม 2550
  • ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น วันที่ 28 พฤศจิกายน 2551
  • อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น วันที่ 7 เมษายน 2552
  • ปลัดกระทรวงมหาดไทย วันที่ 1 ตุลาคม 2552
  • เกษียณอายุราชการ วันที่ 30 กันยายน 2553

 

โฉมหน้าแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล
สารพัดโครงการยักษ์มูลค่าแสนล้าน

ความพยายามในการผลักดันการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์ เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน (แลนด์บริดจ์สงขลา – สตูล) ค่อยๆ เริ่มปรากฏเป็นรูปธรรมขึ้นมาทีละโครงการเหมือนจิ๊กซอว์ที่ค่อยๆ เติมให้เต็มทีละช่อง

โดยเริ่มจากโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่มีการศึกษาออกแบบเรียบร้อยแล้ว และรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว

ระยะแรกเป็นท่าเรือขนาดกว้าง 430 เมตร ยาว 1,100 เมตร ห่างจากฝั่ง 4.3 กิโลเมตร มีการถมทะเลทำลานจอดรถและอาคารที่ไม่เกี่ยวกับปฏิบัติการหน้าที่ประมาณ 600 ไร่ ถมทะเลเป็นพื้นที่ปฏิบัติการหน้าท่าและลานวางกองสินค้าอีก 165 ไร่ รวมมูลค่าโครงการประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการประเทศไทย (กบส.) ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 มีมติสั่งทบทวนโครงการทางรถไฟเชื่อมโยงการ ขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและ ฝั่งอันดามัน (แลนด์บริดจ์) พร้อมกับปรับขนาดการลงทุนท่าเรือน้ำลึกปากบาราให้เป็นเพียงท่าเรือเพื่อส่งออกสินค้าสำหรับ ภาคใต้ และเพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น

ต่อมาวันที่ 7 ธันวาคม 2553 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงคมนาคมปรับแผนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราใหม่ โดยให้ลดขนาดการก่อสร้างจากท่าเรือน้ำลึก เป็นท่าเรืออเนกประสงค์ รองรับการขนส่งในเขตภาคใต้ และสนับสนุนการท่องเที่ยวเท่านั้น

ส่วนท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่จะมีการก่อสร้างบริเวณชายฝั่งทะเลบ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แม้กรมเจ้าท่า ได้ศึกษาออกแบบแล้วเช่นกัน แต่มีเสียงคัดค้านจากคนในพื้นที่ ท่าเรือแห่งนี้ มีขนาดพื้นที่รวม 103,440 ตารางเมตร ยังไม่รวมพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง อยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 4 กิโลเมตร มีพื้นที่หลังท่าซึ่งอยู่บนที่ดินสาธารณะอีกเกือบ 700 ไร่ รวมมูลค่าโครงการประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

พร้อมกับผุดโครงการขนาดใหญ่ ขึ้นมารองรับท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่ง เช่น โครงการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมันเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ของกระทวงพลังงาน

โครงการก่อสร้างทางรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกปากบารากับท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 พร้อมศูนย์ซ่อมบำรุง และสถานีบรรจุและแยกสินค้า (Inland Container Depot, ICD)

โครงการนิคมอุตสาหกรรมรองรับท่าเรือน้ำลึก โดยมีพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมในอำเภอละงูประมาณ 150,000 ไร่ เป็นต้น

เมื่อนำมูลค่าของแต่ละโครงการยักษ์มาบวกรวมเข้าด้วยกันพบว่า โครงการพัฒนาแลนด์บริดจ์สงขลา – สตูล ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนนับแสนล้านบาท

แถมยังมีอีกหนึ่งโครงการที่จังหวัดสตูลได้พยายามผลักดันขึ้นมา และกำลังพิจารณาเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจสงขลา – สตูลด้วย คือ โครงการอุโมงค์เชื่อมทางหลวงระหว่างจังหวัดสตูล – รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย

 

ยุทธศาสตร์ท่าเรือน้ำลึกปากบารา

โครงการสำรวจออกแบบเพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี หรือกรมเจ้าท่าในปัจจุบัน ศึกษาโดยบริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัท แปซิฟิค คอนซัลแทนส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เมื่อปี 2550 ระบุว่า การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบาราให้ประสบความสำเร็จ รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม

วัตถุประสงค์ในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบาราให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมคือ ลดต้นทุนการผลิต และส่งเสริมการส่งออก มีองค์ประกอบดังนี้

1. ท่าเรือน้ำลึกสำหรับการส่งสินค้าออกและนำเข้า ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ควรพัฒนาเป็นท่าเรืออเนกประสงค์ (Multi – Purpose Port) คือ เป็นท่าเรือขนส่งสินแบบใส่ตู้สินค้า แบบเทกองและสินค้าเหลวทางท่อ ได้แก่ น้ำมัน แก๊ส และสารเคมี

2. นิคมอุตสาหกรรม ต้องพัฒนานิคมอุตสาหกรรมควบคู่กับท่าเรือน้ำลึก มีพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมอยู่ประมาณ 150,000 ไร่ ในอำเภอละงู จังหวัดสตูล แบ่งเป็น 3 เขต คือ

เขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Export Processing Zone) ไม่ต้องผ่านพิธีการศุลกากร ทั้งกรณีนำวัตถุดิบเข้าและส่งออกสินค้าสำเร็จรูป เพื่อความรวดเร็วและลดต้นทุนการผลิตกับต้นทุนโลจิสติกส์

เขตอุตสาหกรรมหนักใช้เทคโนโลยีละอาดปราศจากมลพิษ อุตสาหกรรมหนักหมายถึง อุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงไปข้างหน้า (Backward Linkage) สูง เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น

เขตอุตสาหกรรมเบาเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงไปข้างหน้าและข้างหลังต่ำ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหารทะเลกระป๋อง เป็นต้น

เขตอุตสาหกรรมสนับสนุนและต่อเนื่องกับท่าเรือ ได้แก่ อู่ซ่อมหรือต่อเรือ อุตสาหกรรมซ่อมและล้างตู้ขนสินค้า เขตนี้อยู่ติดหรือใกล้ท่าเรือน้ำลึกปากบารา

บ่อบำบัดน้ำเสียและโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรมร่วมของโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม

คลังสินค้าทัณฑ์บนของกรมศุลกากรในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและบริหารคลังสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรม ที่นำวัตถุดิบเข้าจากต่างประเทศ

3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ได้แก่ สถานีย่อยไฟฟ้า น้ำประปา/น้ำสำหรับอุตสาหกรรม โทรคมนาคม โครงข่ายถนนและทางรถไฟจากนิคมอุตสาหกรรมเชื่อมต่อภายนอกนิคมฯ

ยุทธศาสตร์พัฒนาสะพานเศรษฐกิจสายสตูล–สงขลา

การสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นการเปิดประตูการค้าสู่ทะเลด้านตะวันตกของไทย เพื่อประโยชน์สูงสุด รัฐบาลจะต้องสร้างสะพานเศรษฐกิจเชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกปากบารากับท่าเรือสงขลา โดยขยายหรือปรับปรุงโครงข่ายการคมนาคม ดังนี้

  1. การขนส่งทางถนน - รัฐบาลควรพัฒนาโครงข่ายถนนรอบท่าเรือปากบารา และโครงข่ายถนนเชื่อมสตูลไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะการขยายและปรับปรุงทางเชื่อมระหว่างสามแยกคูหา อำเภอรัตภูมิ ทางหลวงหมายเลข 408 เพื่อขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือ หรือสร้างถนนจากอำเภอละงู จังหวัดสตูล ไปท่าเรือสงขลา และทางรถไฟรางคู่ควบคู่กัน
  2. การขนส่งทางรถไฟ - การขนส่งทางรถไฟ ควรใช้เป็นวิธีการขนส่งหลัก (Transportation Mode) ในการขนส่งระหว่างท่าเรือทั้งสองโดยสร้างทางรถไฟรางคู่ เพื่อให้การขนส่งรวดเร็ว
  3. การขนส่งทางท่อ - รัฐบาลควรสร้างการขนส่งทางท่อ เพื่อขนส่งสินค้าเหลว ได้แก่ น้ำมัน แก๊ส และสารเคมี เพื่อลดต้นทุนและความรวดเร็วในการขนส่งส้นค้าเหลว
  4. สร้างสถานีรวบรวมตู้สินค้า (Inland Container Depot : LCD) และรวบรวมสินค้าเหลว - สถานีดังกล่าวในฝั่งจังหวัดสงขลาใช้พื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ส่วนฝั่งจังหวัดสตูลให้สร้างสถานีรวบรวมสินค้าในนิคมอุตสาหกรรมสตูล

ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม

แบ่งออกเป็นประเภทอุตสาหกรรมดังนี้

  1. เป็นอุตสาหกรรม ที่มีวัตถุดิบจากภาคเกษตรกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้ อุตสาหกรรมแปรรูปปศุสัตว์ การพัฒนาโรงฆ่าสัตว์มาตรฐานเพื่อการส่งออก ทั้งที่เป็นการแปรรูปอาหารกระป๋อง เยือกแข็ง ปรุงรสสำเร็จรูป ตามความต้องการของตลาด อุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมน้ำมันพืช อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราและอื่นๆ
  2. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศมาเข้ารูปเลื่อมที่สวยงาม
  3. อุตสาหกรรมเวชกรรมและเภสัชกรรม โดยซื้อสารเคมีจากอินเดียและยุโรป
  4. อุตสาหกรรมต่อเรือ ซ่อมเรือ ล้างและซ่อมตู้สินค้า ควรอยู่ติดหรือใกล้ท่าเรือมากที่สุด
  5. โรงงานเหล็กและเหล็กกล้า
  6. โรงผลิตไฟฟ้าใช้เทคโนโลยีสะอาด
  7. โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก
  8. สถานีรวบรวมและขนส่งสินค้าทั่วไป ควบคู่กับการขนส่งสินค้าเหลว

ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงข่ายโลจิสติกส์

การพัฒนาท่าเรือปากบารา เป็นการสร้างโอกาสให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ได้หลายพื้นที่ โดยเฉพาะตอนใต้ของสถานีรถไฟหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และสถานีรถไฟทุ่งโพธิ์ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎรธานี การพัฒนาเป็นศูนย์โลจิสติกส์ของประเทศ ประกอบด้วยระบบการขนส่ง คลังเก็บสินค้า และโครงข่ายสารสนเทศออนไลน์ เชื่อมโยงทั้งประเทศ โดยมีข้อมูลเกี่ยวกับตารางดำเนินการการขนส่งทั้งทางน้ำ ทางถนน ทางรถไฟ และทางอากาศผ่านดาวเทียม

 

นิคมอุตสาหกรรมละงู 150,000 ไร่

จากการลงสำรวจแนวเขตพื้นที่ที่มีศักยภาพจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมละงู 150,000 ไร่ พบว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ฝั่งตะวันออกของถนนสายปะเหลียน – สตูล กินอาณาบริเวณ 4 อำเภอคือ อำเภอละงู เกือบเต็มพื้นที่ยกเว้นบ้านวังสายทอง ตำบลน้ำผุด, ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนังบางส่วน, ตำบลอุไดเจริญ อำเภอควนกาหลงบางส่วน และบ้านสวนเทศ อำเภอท่าแพ

สำหรับแนวเขตเริ่มจากพื้นที่อำเภอละงู ตรงบริเวณสามแยกเขาขาว บ้านโกตา ตำบลกำแพง, บ้านดาหลำ บ้านหาญ ตำบลเขาขาว, บ้านหนองสร้อย บ้านหัวควน บ้านทุ่งไหม้ บ้านคลองหอยโข่ง บ้านนางแก้ว ตำบลน้ำผุด จากสามแยกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำผุด ตรงไปยังบ้านวังสายทอง

ถึงแยกวังสายทองเข้าพื้นที่อำเภอมะนัง ที่บ้านมะนัง บ้านผังปาล์ม 1 บ้านไทรทอง บ้านผัง 1 บ้านผัง 17 ตำบลปาล์มพัฒนา, บ้านผัง 12 บ้านผัง 13 ตำบลนิคมพัฒนา

จากนั้นเข้าพื้นที่อำเภอควนกาหลง ที่บ้านอุไดเจริญเหนือ บ้านอุไดเจริญใต้ บ้านผัง 35 ตำบลอุไดเจริญ เข้าพื้นที่อำเภอท่าแพ ตรงบ้านสวนเทศวกกลับเข้าพื้นที่อำเภอละงู มาตามถนนสาย 416 ปะเหลียน – สตูลฝั่งตะวันออก เข้าบ้านห้วยไทร บ้านคลองน้ำเค็ม บ้านทุ่ง บ้านคลองขุดตำบลละงู มาจนถึงสามแยกเขาขาว ตรงบ้านโกตา ตำบลกำแพง

 

โครงข่ายถนนรอบท่าเรือปากบารา

  1. ขยายถนนสาย สต. 3003 จากแยกทางหลวง 416 ปะเหลียน – สตูล ถึงบ้นหัวทาง เป็น 4 เลน เชื่อมกับทางหลวง 4052 เพื่อใช้เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเข้าท่าเรือน้ำลึกปากบารา
  2. ปรับปรุงทางหลวง 4052 ละงู – ปากบารา เป็น 4 จราจรตลอดสาย
  3. ขยายทางหลวง 416 ฉลุง – ละงู เป็น 4 ช่องจราจร
  4. ขยายทางหลวง 408 สี่แยกน้ำกระจาย – เกาะยอ เป็น 4 จราจร เชื่อมสงขลา หาดใหญ่ กับท่าเรือน้ำลึกปากบารา
  5. ขยายทางหลวงสามแยกคูหา รัตภูมิ – ควนเนียง จุดบรรจบกับทางหลวง 408 เป็น 4 ช่องจราจร เพื่อช่วยให้การขนส่งในส่วนของท่าเรือน้ำลึกปากบารา มายังท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งแรก ที่อำเภอสิงหนครรวดเร็วขึ้น
  6. ปรับปรุงทางหลวง 4 ช่วงหาดใหญ่ – เขตแดนมาเลเซีย เพื่อสนับสนุนการขนส่งทางบกระหว่างไทย – มาเลเซีย
  7. ขยายเส้นทางบ้านคลองแงะ – ทุ่งตำเสา เชื่อมอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา กับจังหวัดสตูล ห้ามไม่ให้รถบรรทุกวิ่งผ่าน เป็นเพียงเส้นทางลดปริมาณรถการจราจรบนทางหลวง 406

 

รถไฟรางคู่

เส้นทางรถไฟเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน หรือระหว่างท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล กับท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสะพานเศรษฐกิจสงขลา – สตูล หรือ แลนด์บริดจ์สงขลา – สตูล ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกระหว่างสองฝั่งทะเล ท่อขนส่งน้ำมัน ถนน ทางรถไฟและนิคมอุตสาหกรรม

สำหรับทางรถไฟ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ว่าจ้างบริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท พีซีบีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท โชติจินดา มูเชล คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท พีทีแอล คอนซัลแทนส์ จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม และว่าจ้างบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน

กำหนดระยะเวลาศึกษา ระหว่างเดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนกันยายน 2553 ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการประชุมกลุ่มย่อย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟ

ล่าสุด คณะที่ปรึกษาได้เสนอแนวเส้นทางการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้แล้วคือ แนวเส้นทางที่ 2A จากการทั้งหมดที่มีการนำเสนอ 4 แนวเส้นทาง โดยให้เหตุผลว่ามีความเหมาะสมทั้งทางวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมและด้านสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ เนื่องจากมีความเหมาะสมในหลายปัจจัย เช่น ลักษณะรูปแบบของแนวเส้นทาง การก่อสร้าง ความปลอดภัย ประสิทธิภาพ การขนส่ง การเดินรถและระยะเวลา คุณภาพการให้บริการ ค่าก่อสร้าง ค่าเวนคืนที่ดิน การพัฒนาพื้นที่ย่านชุมชน และเป็นแนวทางเลือกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

แนวเส้นทางที่ 2A จะตัดผ่านพื้นที่ตำบลต่างๆ จากท่าเรือน้ำลึกปากบารา ไปยังท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 ได้แก่ ตำบลปากน้ำและละงู อำเภอละงู ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ ตำบลควนกาหลงและทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ตำบลเขาพระ ท่าชะมวง และกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ ตำบลฉลุง ทุ่งตำเสา บ้านพรุ คอหงส์และทุ่งใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ ตำบลพิจิตร อำเภอนาหม่อม ตำบลจะโหนง ตลิ่งชัน และนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

ทั้งหมดเป็นเขตแนวใหม่ตลอดสาย ตัดผ่านทางรถไฟสายหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ บริเวณตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และตัดผ่านทางรถไฟสายหาดใหญ่ – สุไหงโกลก บริเวณตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไปยังท่าเทียบเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 รวมระยะทาง 142 กิโลเมตร

แนวเส้นทางที่เลือกนี้ ประกอบด้วย แนวเขตทางกว้าง 40 เมตร มีสถานีรับ – ส่งผู้โดยสาร 2 แห่ง คือ สถานีละงู และสถานีควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล โดยแนวเขตทางบริเวณย่านสถานีจะมีความกว้าง 80 เมตร ในเบื้องต้นกำหนดให้มีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) 2 แห่งคือ ศูนย์ซ่อมบำรุงควนกาหลง และศูนย์ซ่อมบำรุงบ้านคลองทิง อำเภอจะนะ และสถานีบรรจุและแยกสินค้า (Inland Container Depot, ICD) 1 แห่ง บริเวณบ้านนายสี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะทำการพิจารณาความเหมาะสมในขั้นต่อไป

สำหรับการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ (Landbridge) ออกเป็น 4 ระยะ

ระยะที่ 1 ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา และระบบรถไฟเพื่อการส่งอออกและนำเข้า เป็นระบบรถไฟรางเดี่ยวแบบ Meter Gauge เชื่อมกับโครงข่ายเส้นทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่

ระยะที่ 2 ขยายทางรถไฟจากระยะที่ 1 ไปเชื่อมต่อกับท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2

ระยะที่ 3 ขยายขีดความสมารถของระยะที่ 1 โดยก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นรถไฟทางคู่ ระบบ Meter Gauge ตลอดแนว

ระยะที่ 4 อาจจะมีการก่อสร้างแบบ Meter Gauge หรือ Standard เป็นเส้นทางอิสระ โดยไม่เชื่อมโยงกับโครงข่ายเส้นทางรถไฟเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด ในการเป็นสะพานเศรษฐกิจ

สำหรับเหตุที่ต้องมีการดำเนินการระบบรถไฟในระยะที่ 1 ถึงอำเภอหาดใหญ่ก่อน เนื่องจากมีการต่อต้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2

 

ท่อน้ำมันแลนด์บริดจ์

ปี 2551 กระทรวงพลังงานได้ศึกษาเบื้องต้นโครงการท่อส่งน้ำมันดิบและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของสะพานเศรษฐกิจ หรือแลนด์บริดจ์สงขลา – สตูล

ผลการศึกษาพบว่า แนวเส้นทางเชื่อมระหว่างสงขลา – สตูล ที่เหมาะสมกับการวางท่อส่งน้ำมัน จะเริ่มจากทุ่นขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลฝั่งอันดามัน ห่างจากชายฝั่งอำเภอละงูประมาณ 37 กิโลเมตร ที่ระดับร่องน้ำลึก 25 เมตร ขนถ่ายน้ำมันจากเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 300,000 ตัน

จะมีการก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันที่บริเวณบ้านปากบาง อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยออกแบบเป็นคลังขนาดกลาง ใช้พื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่ เนื่องจากบ้านปากบาง เป็นพื้นที่การเกษตร มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง

ส่วนฝั่งอ่าวไทย จะมีการวางทุ่นขนถ่ายน้ำมันกลางทะเลห่างฝั่งออกไปในระยะพอๆ กับด้านฝั่งทะเลอันดามัน แต่การก่อสร้างคลังเก็บน้ำมัน ออกแบบให้มีขนาดใหญ่กว่า โดยจะใช้พื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ตรงบริเวณติดกับบ้านวัดขนุน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เนื่องจากเป็นที่ราบกว้างใหญ่ เป็นพื้นที่เพาะปลูก ทำนากุ้ง มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง

มูลค่าโครงการก่อสร้างทั้งหมดเบื้องต้น 51,500 กว่าล้านบาท

 

อุโมงค์เชื่อมทางหลวงสตูล–เปอร์ลิส

เมื่อปี 2535 กระทรวงมหาดไทยเสนอให้มีการก่อสร้างถนนสตูล – เปอร์ลิส โดยให้กรมทางหลวงไปศึกษารายละเอียดความเหมาะสมเสนอคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2537

ต่อมา ปี 2538 มีการเสนอให้โครงการถนนสตูล – เปอร์ลิส อยู่ในโครงการความร่วมมือเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย หรือ IMT – GT ต่อที่ประชุม IMT – GT ที่อำเภอสุไหงโก – ลก จังหวัดนราธิวาส

ปี 2539 กรมทางหลวงได้ว่าจ้างบริษัท เทสโก้ จำกัด ศึกษา การศึกษาแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2540 โดยเลือกเส้นทางผ่าตำบลปูยู ระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร

ต่อมาปี 2540 ไทยได้เปลี่ยนให้ไปพัฒนาสายสตูล – วังประจัน – วังเกลียน – เปอร์ลิส เนื่องจากเส้นเดิมผ่าป่าชายเลน มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่มาเลเซียยังต้องการให้สร้างถนนในแนวเดิม จึงไม่สามารถตกลงกันได้

จนปี 2552 ไทยจึงอนุมัติงบประมาณก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง ถนนหมายเลข 4148 ควนสะตอ – วังประจัน ขนาด 2 ช่องจราจร วงเงิน 240 ล้านบาท

ต่อมา วันที่ 11 มิถุนายน 2552 จังหวัดสตูล ได้เสนอโครงการเจาะอุโมงค์สตูล – เปอร์ลิส ต่อมุขมนตรีประเทศมาเลเซีย โดยเจาะผ่านเขาสันกาลาคีรี ระหว่างไทย – มาเลเซีย ระยะทาง 4 กิโลเมตร โดยหอการค้าจังหวัดสตูลออกมาช่วยผลักดัน

จนในการประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 4 ระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 นายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ประเทศ แสดงความสนใจโครงการก่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าว เนื่องจากจะช่วยอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ระหว่างไทยกับมาเลเซีย และสนับสนุนการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค

กระทั่ง วันที่ 5 มกราคม 2553 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้ศึกษาความเหมาะสมในโครงการอุโมงค์เชื่อมทางหลวงระหว่างจังหวัดสตูล – เปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย โดยมอบหมายให้จังหวัดสตูล ร่วมกับกรมทางหลวง และสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาความเชื่อมโยงกับโครงการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจสงขลา – สตูล

ทั้งนี้ในส่วนของงบประมาณในการศึกษาความเหมาะสมโครงการ ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาปรับแผนการใช้จ่ายปี 2553 โดยให้จังหวัดสตูลจัดสรรงบประมาณของจังหวัดสมทบด้วย หากไม่เพียงพอให้เสนอขอใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นตามขั้นตอนต่อไป

 

ผุดแนวเหนือ–ใต้เชื่อมจีน

สำหรับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา รัฐบาลประกาศเดินหน้าชัดเจนแล้ว โดยอ้างว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการ ในขณะที่ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจ เนื่องจากมีเสียงคัดค้านของคนในพื้นที่ ถ้าท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่าเรือน้ำลึกปากบารา รวมทั้งโครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะล้มตามไปด้วย เพราะรัฐบาลมีแผนรองรับไว้แล้ว

นั่นคือ การพัฒนาเป็นแลนด์บริดจ์แนวเหนือ – ใต้ ซึ่งปัจจุบันมีการเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว ในส่งออกการขนส่งสินค้าที่ผลิตในภาคใต้ของจีน จากท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ลงมายังท่าเรือแหลมฉบัง ไปยังกลุ่มประเทศตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และท่าเรืออเนกประสงค์จังหวัดระนอง กลุ่มประเทศเอเชียใต้ แอฟริกา และยุโรป

รวมทั้งขนส่งสินค้าที่จีนมีความต้องการจากภาคใต้ ไปขึ้นเรือเพื่อขนส่งไปยังจีน ที่ท่าเรือเชียงแสน

ปัจจุบันไทยมีท่าเรือที่จะรองรับการขนส่งสินค้าจากจีนไปยังประเทศทางด้านตะวันตกแล้ว คือ ท่าเรือระนอง แต่ท่าเรือระนองไม่สามารถตอบสนองได้มากนัก เนื่องจากเป็นท่าเรืออเนกประสงค์ขนาดกลาง เรือสินค้าขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าเทียบท่าได้

ด้วยเหตุดังกล่าว แม้ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ท่าเรือน้ำลึกปากบาราก็ยังมีบทบาทในการขนส่งสินค้าได้ โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศจีน เนื่องประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมแล้วทั้งถนนและทางรถไฟ แต่หากประเทศจีนต้องการขนส่งสินค้าผ่านประเทศพม่า ซึ่งน่าจะมีระยะทางออกทะเลใกล้กว่า แต่ก็อาจต้องลงทุนเองโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด

นายจุฬา สุขมานพ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ระบุว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมระหว่างท่าเรือน้ำลึกปากบารากับท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่ง โดยคิดว่าท่าเรือน้ำลึกปากบาราน่าจะเกิดขึ้นก่อนท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2

“หากท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ไม่เกิดขึ้น สะพานเศรษฐกิจก็จะเปลี่ยนจากการเชื่อมชายฝั่งทะเลอันดามันกับอ่าวไทย เป็นสะพานเศรษฐกิจในแนวเหนือ – ใต้ โดยการขนส่งสินค้าจากภาคกลางและภาคเหนือลงมาภาคใต้ผ่านท่าเรือน้ำลึกปากบาราแทน”

เป็นคำยืนยันจากภาครัฐ ระดับรองผู้อำนวยการ สนข.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีตีนแดง: จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า

Posted: 12 Apr 2011 09:17 AM PDT

จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง
บุญคุณข้าวแดง ราดหัวใครหนอ
มิปรารถนา แหงนหน้าเฝ้ารอ
เบื่อทานสงเคราะห์ ขอสิทธิความเป็นคน

จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า แผ่นดินเราขอแบ่งปัน
ให้ข้าวปลาอาหาร ไถหว่านเต็มดอกผล
ชาวนาชาวไร่ ไม่พิสูจน์ความยากจน
ต้นข้าวคอยฝน แต่คนไม่คอยฟ้า

จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า คืนข้าวคืนแกง
ถอดแหวนทองแดง ปลดปล่อยตนพ้นข้า
ขอใช้สิทธิไม่รัก ไม่รับทานเวทนา
จงคืนเนื้อคืนปลา แก่...ประชาชน

จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า เขาอ้างบุญคุณทุกค่ำคืน
ทั้งที่เราหยัดยืน ด้วยสองตีนมาแต่ต้น
โอบกอดความยากไร้ ในเขตแดนแห่งความจน
ไม่ยากแค้นทุกข์ทน ประชาชนไม่ลุกฮือ

ผ้าห่มหนึ่งผืน แลกบุญคุณใช้ไม่หมด
เหงื่อหนึ่งหยด รดได้ทั่วแผ่นดินหรือ
ฝันอันยากไร้ เราคว้าไขว่ด้วยสองมือ
ข้าวใส่ปากทุกมื้อ ใช่หาซื้อด้วยเหงื่อใคร

จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอเราลืมตาอ้าปาก
ผ้าห่มบริจาค ไม่ต้องลำบากหามาให้
ถุงยังชีพให้ทาน มันร้าวรานถึงทรวงใน
หน้าที่รัฐจัดให้ เราขอใช้สิทธิพลเมือง

จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า จงหยุดเฝ้าเป็นกาฝาก
รับและให้บริจาค แต่เราอดอยากอย่างต่อเนื่อง
หยุดเบียดเบียนภาษีรัฐ มาจัดพิธีเปล่าเปลือง
หยุดขูดรีดพลเมือง สร้างความรุ่งเรืองไม่เพียงพอ

จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า คว่ำหม้อข้าวหม้อแกง
บุญคุณข้าวแดง แท้จริงของใครหนอ
นั่น...น้ำท่วมเมฆ เทวดาลอยคอ
ไม่ต้องมาสงเคราะห์ ขอคืนทรัพยากร

นั่น...น้ำท่วมเมฆ เทวดาลอยคอ
ไม่ต้องมาสงเคราะห์ ขอปฏิรูปที่ดิน

นั่น...น้ำท่วมเมฆ เทวดาลอยคอ
ไม่ต้องมาสงเคราะห์ ขอรัฐสวัสดิการ

นั่น...น้ำท่วมเมฆ เทวดาลอยคอ
ไม่ต้องมาสงเคราะห์ ขอพร “เจียม 8 ประการ”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนนท.ยื่นหนังสือกลาโหม เผากงเต็ก “อุทิศส่วนกุศลให้ไม่ต้องใช้เงินประชาชน”

Posted: 12 Apr 2011 07:49 AM PDT

 
 
 
 
 

12 เม.ย.54 เมื่อเวลา 13.30 น. ตัวแทนกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษา (สนนท.) ประมาณ 10 คนได้รวมตัวทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเผากงเต็กรูปอาวุธ เครื่องแบบ และรถถังของทหาร เพื่อต่อต้านการใช้งบประมาณทางการทหารที่ฟุ่มเฟือย "อุทิศส่วนกุศลให้ไม่ต้องใช้เงินประชาชน" บริเวณด้านหน้ากระทรวงกลาโหม ถนนหลักเมือง

หลังจากนั้น ตัวแทนจากสนนท. ได้ยื่นจดหมายแถลงการณ์ปฏิรูปกองทัพลดงบประมาณ โดยมีตัวแทนจากกระทรวงกลาโหม คือ พลเอก คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมมารับหนังสือ ทั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมกำลังตำรวจรักษาความปลอดภัยประมาณ 100 นายด้วย

อติเทพ ไชยสิทธิ์ นักศึกษาคณะวิทยาศาตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในสมาชิกกลุ่มสนนท. กล่าวว่า เราประสานงานกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวทั่วโลกที่มีจุดประสงค์ปฏิรูปกองทัพและสถาบันทางการเมืองอื่นๆ วันนี้เลยเป็นโอกาสอันดีที่จะร่วมกันแสดงพลังทั่วโลก ให้กองทัพและรัฐบาลตระหนักถึงการลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณต่างๆ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่ผ่านมา กองทัพได้มีการใช้งบประมาณจำนวนมาก

เราจะเห็นได้ชัดเจนมากว่างบประมาณของทหารมีมากกว่างบประมาณของการพัฒนาในด้านการศึกษา ไม่นับรวมเงินที่ใช้กับข้าราชการครู งบประมาณการสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็น้อย เราควรจะมีการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาอาวุธภายในประเทศมากกว่าจะไปพึ่งพาประเทศอื่น

เขากล่าวด้วยว่า การที่จะทำให้นักศึกษามาสนใจเรื่องนี้เป็นเรื่องยากเหมือนเรื่องการเมือง แต่ขอให้สังเกตว่าแทนที่รัฐบาลจะเอาเงินมาส่งเสริมการศึกษาให้มีคุณภาพ กลับเอาไปใช้ซื้ออาวุธหรืออุปกรณ์ที่ใช้ไม่ได้ อย่างเช่น GT200

 

แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
“ลดงบประมาณทหาร อย่าใช้ภาษีเข่นฆ่าประชาชน”

 

เป็นที่น่าสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ในขณะที่ประชาชนในหลายประเทศทั่วโลกจมอยู่กับความแร้นแค้นความยากจน เผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ และวิกฤติในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลในหลายประเทศกลับให้ความสนใจกับความทุกข์ยากเหล่านั้นเป็นเรื่องรอง และตัดลดงบประมาณในการช่วยเหลือ เพื่อเพิ่มงบประมาณทางทหาร ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์เหล่านี้แต่อย่างใด

ข้อมูลงบประมาณทางทหารของโลกประจำปี 2553 จากสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอล์กโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute) เปิดเผยว่า ในปี 2553 งบประมาณทางการทหารรวมของทั้งโลกได้พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1 ล้าน 6 แสน 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 50 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากปีที่ผ่านมา โดยประเทศที่มีงบประมาณทางทหารสูงที่สุด 10 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย ญี่ปุ่น ซาอุดิอาระเบีย เยอรมนี อินเดีย และอิตาลี

สำหรับประเทศไทย งบประมาณกลาโหมประจำปี 2551 มีจำนวนถึง 4,336,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทษ (จีดีพี) เป็นประเทศที่มีงบประมาณทหารสูงสุดเป็นอันดับ 39 ของโลก และสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์และอินโดนีเซีย หรือเป็นรองเพียงแค่ประเทศเวียดนามหากคิดจากงบประมาณทหารต่อสัดส่วนของจีดีพี

ถึงแม้ในปี 2554 งบประมาณกลาโหมของประเทศไทยจะถูกตัดลดเหลือเพียง 1.51 แสนล้านบาท จากที่กองทัพยื่นขอไปทั้งสิ้น 1.7 แสนล้านบาท แต่จำนวนดังกล่าวนี้ก็ยังมากเกินไป เมื่อคิดถึงว่ากองทัพได้นำไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์อย่างไม่โปร่งใส เช่น ในกรณีเครื่องบินกริพเพน จีที 200 หรือเรือเหาะตรวจการ และยิ่งกว่านั้น กองทัพยังใช้อาวุธที่มาจากภาษีประชาชนเหล่านี้ หันกลับเข้าเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธ์ในประเทศ

ด้วยเหตุนี้ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาอีสาน (สนนอ.) และองค์กรนิสิตนักศึกษาที่เป็นสมาชิกทั่วประเทศ จึงได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ Global Day of Action on Military Spending (GDAMS) พร้อมกับอีกกว่า 35 ประเทศทั่วโลก เพื่อต่อต้านการใช้จ่ายทางทหารที่ฟุ่มเฟือย ในวันนี้ ประชาชนทั่วโลกจะมาร่วมกันแสดงพลังผ่านกิจกรรมต่อต้านงบประมาณทหาร และส่งเสริมให้เกิดการพิจารณาลำดับความสำคัญของการจัดแบ่งงบประมาณเสียใหม่ สนนท. ขอเรียกร้องให้กองทัพมีความโปร่งใส่ในการจัดสรรงบประมาณมากยิ่งขึ้น

สุดท้ายนี้ สนนท. ยังขอย้ำจุดยืนเดิมที่ได้สืบทอดมาแต่ในอดีตต่อการปฏิรูปกองทัพไทย จากการเป็นเครื่องมือของเครือข่ายจารีตนิยมอำนาจนิยม เพื่อใช้ในการปราบปรามประชาชน รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการปลุกกระแสชาตินิยมอย่างล้าหลัง ให้กลายมาเป็นกองทัพที่มีจุดเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกับประชาชน โดยการคัดสรรผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในการทัพต้องมาจากการสรรหาของสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่โดยคณะกรรมาธิการทหารของกองทัพ หรือบุคคลผู้มีบารมีนอกกองทัพ รวมถึงระบบการศึกษาของทหารต้องปลูกฝังให้เห็นคุณค่าในการพิทักษ์สิทธิ เสรีภาพของประชาชนไว้เป็นอันดับหนึ่ง และส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในกองทัพ

ตัดงบประมาณทหาร หยุดใช้ภาษีเพื่อการเข่นฆ่าประชาชน

 

ด้วยความสมานฉันท์
12 เมษายน 2554
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
และองค์กรสมาชิก

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลไม่ให้ประกัน ‘หนุ่ม เรดนนท์’ ผู้ต้องโทษหมิ่นฯ 13 ปี

Posted: 12 Apr 2011 07:11 AM PDT

12 เม.ย.54 นายอานนท์ นำภา ทนายความของนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ผู้ต้องขังในคดีหมิ่นเบื้องสูง ม.112 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากได้ยื่นประกันตัวนายธันย์ฐวุฒิอีกครั้งเมื่อวันที่ 7 เม.ย.โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 1.5 ล้านบาท ศาลมีคำสั่งในวันนี้ให้ยกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าจำเลยโดนฟ้องในความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคง มีอัตราโทษสูง ประกอบกับศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุกแล้วถึง 13 ปี หากอนุญาตปล่อยชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนี

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กกต. มีมติประกาศผลการสรรหา ส.ว. 73 ราย

Posted: 12 Apr 2011 04:52 AM PDT

กกต. ประกาศรายชื่อ ส.ว. สรรหาจากหลากหลายวิชาชีพ พบอดีตข้าราชการพลเรือนมากสุด 18 คน อดีตข้าราชการทหาร 11 คน  นักกฎหมาย 11 คน และอดีตข้าราชการตำรวจ 6 คน , สมชาย แสวงการ คำนูณ สิทธิสมาน เดชอุดม ไกรฤทธิ์ ติดโผด้วย

เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 เวลา 13.00 น. นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงข่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ครั้งที่ 34/2554 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้มีมติให้ประกาศผลการสรรหาและแจ้งประกาศผลการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อทราบและประกาศผลการสรรหาในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 73 คน มีรายนามดังต่อไปนี้

1. องค์กรภาควิชาการ จำนวน 14 คน ดังนี้

1. รองศาสตราจารย์กอบกุล พันธ์เจริญวรกุล

2. นายคำนูณ สิทธิสมาน

3. นายเจตน์ ศิรธรานนท์

4. พลอากาศตรีเฉลิมชัย เครืองาม

5. นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์

6. ศาสตราจารย์เกียรติคุณตรึงใจ บูรณสมภพ

7. นายถาวร ลีนุตพงษ์

8. รองศาสตราจารย์นรีวรรณ จินตกานนท์

9. นายปรเทพ สุจริตกุล

10. นายพิเชต สุนทรพิพิธ

11. นายมหรรณพ เดชวิทักษ์

12. รองศาสตราจารย์วิชุดา รัตนเพียร

13. นายวิทวัส บุญญสถิตย์

14. หม่อมราชวงศ์วุฒิเลิศ เทวกุล

2. องค์กรภาครัฐ จำนวน 14 คน ดังนี้

1. พลอากาศเอกชาลี จันทร์เรือง

2. พลเอกชูชาติ สุขสงวน

3. พลเอกธีรเดช มีเพียร

4. นายประจิตต์ โรจนพฤกษ์

5. นายประสงค์ ตันมณีรัตนา

6. นายประสงค์ศักดิ์ บุญเดช

7. นายปิยพันธุ์ นิมมานเหมินท์

8. นายพิสิฐ เกตุผาสุข

9. พลเอกเลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์

10. นายวิชัย ไพรสงบ

11. พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม

12. นายสมบูรณ์ งามลักษณ์

13. นายสมพล พันธุ์มณี

14. นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล

3. องค์กรภาคเอกชน จำนวน 15 คน ดังนี้

1. นายธวัช บวรวนิชยกูร

2. นายธีระ สุวรรณกุล

3. นางนิลวรรณ เพชระบูรณิน

4. นายบุญชัย โชควัฒนา

5. นายประวิทย์ จันทราประภาวัฒน์

6. หม่อมหลวงปรียพรรณ ศรีธวัช

7. นางเพ็ญพักตร์ ศรีทอง

8. นางยุวดี นิ่มสมบุญ

9. นายวัชระ ตันตรานนท์

10. นายวันชัย สอนศิริ

11. นายวิบูลย์ คูหิรัญ

12. พันตำรวจเอกสนธยา แสงเภา

13. ศาสตราจารย์สม จาตุศรีพิทักษ์

14. นางสาวสุนันท์ สิงห์สมบุญ

15. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย

4. องค์กรภาควิชาชีพ จำนวน 15 คน ดังนี้

1. นางกีระณา สุมาวงศ์

2. พลตำรวจเอกจงรัก จุฑานนท์

3. นายจารุพงศ์ จีนาพันธ์

4. นายตวง อันทะไชย

5. รองศาสตราจารย์ทัศนา บุญทอง

6. รองศาสตราจารย์พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์

7. พลตำรวจเอกวงกต มณีรินทร์

8. นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

9. ศาสตราจารย์วิรัติ พาณิชย์พงษ์

10. พลอากาศเอกวีรวิท คงศักดิ์

11. พลเรือเอกศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ

12.นายสมชาย แสวงการ

13. นายสัก กอแสงเรือง

14. พลเรือเอกสุรศักดิ์ ศรีอรุณ

15. นายอนุรักษ์ นิยมเวช

5. องค์กรภาคอื่น จำนวน 15 คน ดังนี้

1. พลเอกเกษมศักดิ์ ปลูกสวัสดิ์

2. นายจักรธรรม ธรรมศักดิ์

3. นายธานี อ่อนละเอียด

4. นายประสงค์ นุรักษ์

5. นายปัญญา เบ็ญจศิริวรรณ

6. พลตำรวจเอกพิชิต ควรเดชะคุปต์

7. นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ

8. นายมณเฑียร บุญตัน

9. พลตำรวจโทยุทธนา ไทยภักดี

10. พลเอกรัชกฤต กาญจนวัฒน์

11. นายศรีสุข รุ่งวิสัย

12. พลตำรวจโทสมยศ ดีมาก

13. นายสมัคร เชาวภานันท์

14. นายสุธรรม พันธุศักดิ์

15. นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์

ส่วนขั้นตอนหลังจากการประกาศผลการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ในวันนี้แล้ว สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจะได้แจ้งให้ผู้ที่ได้รับการสรรหามารับใบรับรองได้ตั้งวันที่ 12 เมษายน 2554 เวลา 15.00-19.00 น และในวันที่ 13 เมษายน 2554 ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. หากไม่สะดวกสามารถมาขอรับใบรับรองได้อีก ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2554 ภายในเวลาราชการ ที่ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง สำนักบริหารงานเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง อาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

สำหรับสถิติผู้ที่ถูกเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. ในครั้งนี้มีจำนวน 671 ราย แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 586 คน เพศหญิง จำนวน 85 คน คิดเป็นสัดส่วนเพศหญิงร้อยละ 12.6 จากจำนวนผู้ที่เข้ารับการสรรหา ซึ่งปรากฏว่าเพศหญิง ได้รับการคัดเลือกในการสรรหาครั้งนี้มีจำนวน 13 คน คิดเป็นร้อยละ 17.8 ซึ่งสูงกว่าร้อยละของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาที่เป็นเพศหญิง และในการสรรหาครั้งนี้มีผู้ที่ได้รับการสรรหาอายุมากสุดคืออายุ 75 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุน้อยสุดคือ 46 ปี มีจำนวน 3 คน นอกจากนี้สัดส่วนที่น่าสนใจของการสรรหา ส.ว.ในครั้งนี้คือสัดส่วนของผู้ด้อยโอกาสทางสังคมซึ่งมีการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเพียง 2 คน ปรากฏว่าได้รับการสรรหา 1 คน สำหรับวุฒิการศึกษาของผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็น ส.ว. สรรหา แบ่งเป็น วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 17 คน ปริญญาโท จำนวน 47 คน ปริญญาเอก จำนวน 9 คน อนึ่ง ส.ว. สรรหาชุดใหม่นี้มีอดีตข้าราชการตำรวจ 6 คน อดีตข้าราชการทหาร 11 คน อดีตข้าราชการพลเรือน 18 คน และนักกฎหมาย 11 คน รวมอยู่ด้วย ทั้งประกอบบุคคลที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานครส่วนหนึ่งและอยู่กระจายตามภูมิภาคต่างๆ อีกด้วย

นายสุทธิพล ทวีชัยการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ได้รับการสรรหาในครั้งนี้ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของ ส.ว.ทั้งทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม ความมั่นคง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ศิลปวัฒนธรรม การแพทย์และสาธารณสุข การปกครอง การต่างประเทศ การเงินการคลัง การเกษตร เศรษฐกิจและสังคม การประมง อุตสาหกรรม วิศวกรรม สถาปัตยกรรมศาสตร์ สื่อสารมวลชน แรงงาน สังคมสงเคราะห์เด็กและเยาวชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนพิการ ศาสนา และการกีฬา

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผบ.ทบ. เผยคนจน-คนต่างจังหวัดน่าสงสาร ขอให้ทบทวนมาชุมนุมแล้วได้ประชาธิปไตยหรือไม่

Posted: 12 Apr 2011 02:18 AM PDT

ชี้ประชาธิปไตยมีอยู่แล้ว ลั่นรัฐบาลไม่เคยสั่งฆ่าคน หรือให้ทหารไปฆ่าใคร แต่นั่นเป็นจลาจล ขอให้ไปดูในภาพว่าใครเป็นเริ่ม พร้อมโต้กลุ่มต้าน ม.112 ลั่นมาตรานี้ไปทำความเสียหายให้ใคร ถ้าไม่ไปยุ่งหรือแตะต้องสถาบันจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ นอกจากนี้เตรียมส่งกำลังพลตั้งจุดตรวจช่วงสงกรานต์ ห่วงผู้ขับขี่รถอย่าดื่มสุรา มิฉะนั้นจะเกิดสูญเสียชีวิต

ผบ.ทบ. ชี้ถ้าไม่เกิดเหตุสูญเสีย ก็ไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ไปฏิบัติการ

เช้าวันนี้ (12 เม.ย.) ที่กองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ว่าขอพรให้คนไทยด้วยกัน ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เดินตามแนวทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรื่องเดิมขอให้ยุติกันไป ว่ากันด้วยกฎหมาย และต้องกลับมารักกันเหมือนเดิม ขอให้ทุกภาคส่วนดูแลสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ผ่านมาถือว่ามีบางกลุ่มพยายามนำสถาบันมาเกี่ยวข้อง ขอไว้ตั้งแต่สงกรานต์ปีนี้เป็นต้นไป เพราะพระองค์ท่านไม่มีโอกาสมารับสั่งกับพวกเรา

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า “การที่ทุกคนกล่าวอ้าง นำเรื่องนั้นไปผูกโยงกับเรื่องนี้ ทำให้สถาบันเสื่อมเสีย ผมขอรับประกันด้วยชีวิตของผมว่า สถาบันไม่เกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง ไม่ว่าใครจะทำอะไรก็ตาม เพราะฉะนั้นขอให้ผู้มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ก็จงไม่ประสบความสำเร็จ ผมคิดว่าในปีนี้เป็นปีมหามงคล สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ทำให้บ้านเมืองปลอดภัย สงบสุข อย่าเป็นเหมือนเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ใครที่เป็นคนทำให้เกิดเรื่อง ในการใช้ความรุนแรง นำคนเข้ามาทำให้เกิดความเดือดร้อน บาดเจ็บ สูญเสีย น่าจะต้องรับผิดชอบ ผมว่าไม่น่าจะใช่เจ้าหน้าที่ เพราะถ้าไม่เกิดเหตุก็คงไม่ต้องใช้เจ้าหน้าที่ออกไปปฏิบัติตามกฎหมาย” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

อัดจตุพรพูดจาไม่ชัดเจน ลั่นระวังตัวไว้ให้ดี

มีผู้ถามกรณีการปราศรัยของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ออกมาระบุถึงที่มากระสุนของทหารที่ฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ เม.ย.- พ.ค. 53 นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คนทั้งประเทศต้องช่วยดูแล และขัดขวางไม่ให้คนกลุ่มน้อยพวกนี้ออกมาพูดจาให้ร้ายอีก ซึ่งพูดถึงทุกกลุ่มไม่ว่าใครก็แล้วแต่ สิ่งที่ทำไปนั้นจะสนองกลับโดยเร็ววัน พระองค์ท่านเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเราเคารพนับถือ การที่ท่านพูดจาไม่ชัดเจน แต่รู้ว่าท่านมุ่งหวังอะไร ถือว่าได้ทำลายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนเคารพนับถือ คิดว่าคนพวกนี้ไม่มีวันเจริญอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็ให้ระวังตัวไว้ให้ดี ทั้งความผิดตามกฎหมาย และประชาชนจะต่อต้าน คนพวกนี้จะไม่ได้เป็นอย่างที่เขาอยากจะเป็น ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิด ตราบใดที่ยังมีความคิดแบบนี้อยู่ การต่อสู้ทางการเมืองอยากจะว่าใครก็ว่าไป แต่อย่าเอาสถาบันมาเกี่ยวข้อง พวกผมเป็นทหาร รับไม่ได้

 

ซัดกลุ่มเดินขบวนให้ยกเลิก มาตราโน่นมาตรานี้” เวลาทำไม่กลัว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมา ยังไม่มีใครที่ปราศรัยถูกตั้งข้อหาชัดเจนในประเด็นดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กำลังตรวจสอบอยู่ ที่ผ่านมา มีกลุ่มหนึ่งถูกจับกุม มีการเดินขบวน ฟ้องร้องกันอยู่ เวลาทำไม่กลัว แต่พอโดนดำเนินคดีก็มีการเดินขบวนให้ยกเลิก มาตราโน่นมาตรานี้ หาคนหมู่มากมา ทำให้เกิดปัญหา ถามว่าประชาชนกี่หมื่นกี่แสนคนที่เข้ามาตั้งแต่ปีที่แล้ว ถึงปีนี้ มีแกนนำคนไหนที่บาดเจ็บ สูญเสีย แต่คนที่บาดเจ็บ สูญเสีย คือคนที่มาชุมนุม ทั้งนี้ ไม่อยากทะเลาะเบาะแว้งกับใคร ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ แต่จำเป็นต้องพูดเตือนใจคนไทยที่เหลืออยู่ว่าทำอย่างไรให้บ้านเมืองสงบ ถ้าท่านจะเรียกร้องเจ้าหน้าที่อย่างเดียวก็คงไม่ได้ทั้งหมด

 

เผยสงสารคนต่างจังหวัด คนจน ถามว่ามีอะไรดีขึ้นกว่าเดิม

คนที่น่าสงสารคือคนต่างจังหวัด เป็นคนจน ที่เขามาเพราะเชื่อว่าอะไรจะดีขึ้น แต่ถามว่ามีอะไรดีขึ้นกว่าเดิม ผมว่าแย่กว่าเดิม เพราะชาวบ้านไม่ได้ทำไร่ทำนา ลูกเต้าไม่รู้ไปไหน ลองไปทบทวนว่าได้ประชาธิปไตยอย่างที่เรียกร้องหรือไม่ จริงๆ ประชาธิปไตยมีอยู่แล้ว มีการเลือกตั้ง จะถูกหรือไม่ถูก ใช่หรือไม่ใช่ ท่านก็พยายามเลือกกันไป เพราะมีตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เหมือนต่างประเทศ ที่เขามีความเจริญเติบโตเป็นประชาธิปไตยเป็นร้อยๆ ปี จนถึงวันนี้คนของเขาไม่มีทะเลาะกัน เดินประท้วงอยู่ในจุดที่ประท้วง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น คนเราต้องมีทั้งสิทธิ และ หน้าที่ ท่านมีสิทธิเดินขบวนได้ แต่กลับไม่ทำหน้าที่ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผมคิดว่าไม่น่าจะมองด้านเดียว” ผบ.ทบ.กล่าว

 

ยันรัฐบาลไม่เคยสั่งฆ่าคน หรือให้ทหารไปฆ่าใคร

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า อยากให้ทุกคนกลับไปดูเหตุการณ์เมื่อปี 2552-2553 จะเห็นว่ากลุ่มใดเป็นคนเริ่มก่อน ทำให้บ้านเมืองเป็นทะเลเพลิง ตนไม่กลัวคนที่บอกว่าจะมาสู้รบ เพราะไม่ว่าใครก็ตาม จะมาสู้รบไม่ได้ ตนถือกฎหมายอยู่ อย่าผิดกฎหมายก็แล้วกัน ตนเป็นผู้บัญชาการทหารบก มีหน้าที่ดูแลกำลังพลในกองทัพบก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ท่านก็พยายามลากทหารไปเกี่ยวกับการเมืองมาโดยตลอด ทหารจำเป็นต้องทำงานกับรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ถ้ารัฐบาลสั่งการชอบโดยกฎหมาย และมีกฎหมายคุ้มครองก็ต้องทำ รัฐบาลไม่เคยสั่งให้ไปฆ่าคน หรือให้ทหารไปฆ่าใคร แต่เป็นการจลาจล ขอให้ท่านไปทบทวน ตนไม่โทษใคร ไปดูในภาพว่าใครเป็นคนเริ่ม เพราะฉะนั้นต้องมีกระบวนการยุติธรรมเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหา

 

เผยทำเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แนะคนไทยอย่ากลัวคนไม่ดี

เมื่อถามว่า ไม่รู้สึกเปลืองตัวหรือที่ออกแบบนี้และกลายเป็นเป้าโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถือว่าทำเพื่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพราะเป็นหน้าที่ เป็นทหารกลัวไม่ได้ ตนเองก็ไม่กลัว แต่ก็ไม่ได้ละเมิดสิทธิประชาชน ไม่เคยดูถูกความคิดของประชาชน หรือ ดูถูกราษฎร ดังนั้นประชาชนทุกคนต้องเป็นผู้มีเกียรติ มีสติ เพราะฉะนั้น ใครที่มาพูดอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ก็ต้องพิเคราะห์ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ อย่าให้ใครดูถูกภูมิปัญญาของท่าน ทั้งนี้ ทุกคนมุ่งเน้นแต่สิทธิ อยากได้อะไรก็บีบบังคับกัน โดยปิดถนน ปิดเส้นทาง แล้วบ้านเมืองจะไปอย่างไร ทุกอย่างต้องแก้ด้วยกฎหมาย คนไทยอย่ากลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว อย่าไปกลัวคนไม่ดี

 

ลั่นคนไทยต้องออกมาเลือกตั้งให้หมดจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ

คนอีก 60 กว่าล้านคนอยู่ที่ไหน อย่างน้อยท่านต้องออกมาเลือกตั้ง คนมิสิทธิเลือกตั้งอย่างน้อยก็น่าจะ 30-40 ล้านคน ต้องออกมาเลือกตั้งให้หมด จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ เห็นระบอบประชาธิปไตยที่ท่านต้องการ ถ้าไม่แก้ที่ประชาชน ไม่มีวันแก้ได้สำเร็จ ไม่ใช่แค่ 12 ล้าน หรือ 14 ล้านคน ต้องออกมาซัก 30 ล้านคน คิดว่าคนมีสิทธิเลือกตั้งน่าจะถึง ถ้าเป็นอย่างนี้น่าจะเปลี่ยนแปลงแน่นอน ทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้อะไรดีขึ้น ผมไม่ได้ชี้นำพรรคไหน เอนเอียงให้ใคร ท่านต้องดูแลประเทศชาติด้วยตัวเอง ต้องตัดสินใจเอง ผมขอร้องว่าอย่าปล่อยให้ ทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ ต้องเป็นจำเลยสังคมอีก เพราะท่านดูแลกันไม่ได้ ใช้กลไกประชาธิปไตยกันไม่ได้ จนต้องมาใช้กลไกกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็ต้องออกมา เดือดร้อนกันไปหมด พันกันอยู่อย่างนี้ ประเทศก้าวไปไหนไม่ได้ สถาบันที่เคารพนับถือทั้งหมด พระมหากษัตริย์กี่พระองค์ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ทำอยู่” ผบ.ทบ.กล่าว

 

โต้กลุ่มต้าน ม.112 ลั่นมาตรานี้ไปทำความเสียหายให้ใคร

เมื่อถามว่า ทำไม ผบ.ทบ.ไม่ระบุให้ชัดเจนว่าคนใด หรือ กลุ่มใด พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้ ตนพูดอะไรต้องมีหลักฐาน เมื่อมีหลักฐานก็ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ ฝ่ายกฎหมายกำลังตรวจสอบกันอยู่ ที่ผ่านมาก็จับไปหลายคนแล้ว เป็นเรื่องของการดำเนินคดี ทุกคนบอกว่ามีสิทธิ์ และก็มาคัดค้าน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน มาตรา 112 คนไทยยอมรับมาโดยตลอด ถ้าใครไม่ไปยุ่ง หรือแตะต้องท่าน แล้วจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ อยากถามว่า มาตรานี้ไปทำความเสียหายให้กับใคร

ไปกล่าวอ้าง พาดพิงสถาบันทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้ต่างชาติดูถูก หลายประเทศเขาถวายพระเกียรติ ในประเทศไทยก็มีอยู่ไม่กี่คนที่ทำเรื่องพวกนี้ ขอร้อง 60 กว่าล้านว่าขอให้ดูแล ไม่ให้คนกลุ่มนี้ออกมาทำร้ายประเทศไทย หรือ สถาบันได้อีกขอร้องในนามผู้บัญชาการทหารบกว่า คนไทยต้องออกมาปฏิเสธ และไม่เห็นด้วยเรื่องความรุนแรง อย่าออกมาในสีไหน แต่ออกมาปกป้องบ้านเมือง เคียงคู่กับทหาร ที่พร้อมดูแลประชาชน

 

เผยอยากให้ทุกคนกลับบ้านปลอดภัย เตรียมส่งกำลังพลตั้งจุดตรวจช่วงสงกรานต์

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้สัมภาษณ์ด้วยว่า เป็นห่วงการสัญจรการเดินทาง และอยากให้ทุกคนเดินทางกลับบ้านด้วยความปลอดภัย ตนจึงสั่งการไปยังทุกกองทัพภาคและทุกหน่วยทหารที่มีที่ตั้งหน่วยอยู่ริมถนน สายหลักหรือสายรอง ให้ออกมาตั้งจุดตรวจและเตรียมความพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือประชาชนที่สัญจร ไปมาแล้วเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบว่าสามารถแวะพักผ่อนหรือสอบถามเส้นทางได้

ส่วนการเตรียมการอื่นๆคงเป็นเรื่องของการดูแลพื้นที่ต่างๆ ให้เกิดความ ปลอดภัย ให้ประชาชนสามารถออกมาทำกิจกรรมต่างๆหรือท่องเที่ยวได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตนได้สั่งการให้กองทัพภาคที่ 4 ดูแลเป็นพิเศษเพราะมีการประกอบพิธีสงฆ์และพิธีมงคลต่างๆด้วย คงต้องทุ่มเทกำลังพลที่เรามีอยู่ลงไปดูแล ส่วนภาคอื่นๆก็ไม่น่าห่วงอะไร แต่เป็นห่วงเพียงเรื่องการสัญจรไปมา นอกจากนี้ ตนขอให้ผู้ที่ขับรถอย่าดื่มสุรา มิฉะนั้นจะเกิดอันตรายและเกิดการสูญเสียชีวิต

 
ที่มา: เรียบเรียงจาก เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ [1] และ เดลินิวส์ [2]
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ดีเอสไอยื่นถอนประกัน-กองทัพบกฟ้องหมิ่นฯ แกนนำ นปช.

Posted: 12 Apr 2011 01:34 AM PDT

ธาริต เพ็งดิษฐ์ ยื่นถอนประกันแกนนำ นปช. อ้างปราศรัยหมิ่นสถาบันเบื้องสูงอย่างรุนแรง เกรงประชาชนเข้าใจไม่ถูกต้อง ด้านสรรเสริญ แก้วกำเนิดแถลงกองทัพส่งทีมกฎหมายฟ้อง จตุพร – วิเชียร – แรมโบ้อีสาน ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้วที่ สน.สำราญราษฎร์
 
ดีเอสไอยื่นถอนประกันแกนนำ นปช. อ้างปราศรัยหมิ่นสถาบันกษัตริย์
วันนี้ (12 เม.ย.) หนังสือพิมพ์โลกวันนี้ รายงานว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ถอดเทปคำปราศรัยของแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้าน เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในการชุมนุมวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมาบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเฉพาะนายจตุพร พรหมพันธ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย พบถ้อยคำส่อไปในทางดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูงอย่างรุนแรง อาจทำให้ประชาชนเข้าใจไม่ถูกต้อง
 
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวต่อว่า ทางดีเอสไอจะดำเนินคดีกับแกนนำ นปช.ที่ปราศรัยสอดรับไปกับนายจตุพรในข้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง และจะนำหลักฐานคำปราศรัยทั้งหมดยื่นให้พนักงานอัยการพิจารณาถอนประกันแกนนำ นปช.ต่อไป โดยในรายละเอียดทั้งหมดจะแถลงข่าวในเวลา 14.00 น. วันนี้
 
 
กองทัพบกฟ้องแกนนำ นปช. ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. วิทยุ อสมท. รายงานว่า พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบกแถลงข่าวว่า กองทัพบกจะส่งทีมกฎหมายฟ้องแกนนำคนเสื้อแดง ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายวิเชียร ขาวขำ และนายสุพร อัตถาวงศ์ หรือ แรมโบ้อีสาน ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
 
โดยมีรายงานว่าในเวลา 13.30 น. ฝ่ายกฎหมายของสำนักพระธรรมนูญ กองทัพบก ได้นำแผ่นซีดีบันทึกการปราศรัยและเอกสารถอดความ ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สน.สำราญราษฎร์ เพื่อเอาผิดต่อบุคคลทั้งสาม
 
พ.อ.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า กองทัพบกขอยืนยันว่าไม่ยอมให้ใครมาบั่นทอนความมั่นคงและสถาบันหลักของชาติ อีกทั้งเราขอประณามการกระทำของทั้ง 3 คนนี้ รวมถึงขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันสอดส่องเป็นหูตาไม่ให้มีบุคคลใดจาบ จ้วงสถาบันอันเป็นที่รักของคนไทยทั้งแผ่นดินด้วย
 
ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานว่า การฟ้องของกองทัพบกดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการปราศรัยของแกนนำ นปช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“จิตรา” เมิน ปชป. โต้ผ่านเว็บ พร้อมทวงจักรเย็บผ้ากว่า 150 หลังที่ยังไม่ได้รับมอบ

Posted: 12 Apr 2011 01:10 AM PDT

จิตรา คชเดชแจงชูป้ายในงานวันสตรีสากลทำให้มาร์คพูดไม่ได้และคนฟังสัมมนาฟังไม่ได้อย่างไร พร้อมเผยเปลี่ยน รมต.แรงงานมา 2 คน ยังมีจักรเย็บผ้าอีกกว่า 150 หลังที่ยังไม่ได้รับมอบ บางส่วนถูกขนไปไว้มูลนิธิที่พิจิตร เชื่ออภิสิทธิ์รู้เรื่องแต่ทำเป็นเฉย

กรณีที่ น.ส.จิตรา คชเดช ผู้นำแรงงาน ‘Try Arm’ อดีตผู้นำแรงงานไทรอัมพ์ พร้อมเพื่อนแรงงานร่วมกันชูป้าย “มือใครเปื้อนเลือด” และ “ดีแต่พูด” เพื่อประท้วงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ระหว่างนายอภิสิทธิ์เดินทางมาร่วมการเฉลิมฉลอง 100 ปี วันสตรีสากล 8 มีนาคม เมื่อ 6 มี.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น

และเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ได้ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า “ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า คนเรียกร้องมีจิตวิญญาณ มีรากเหง้าแห่งความเป็นประชาธิปไตยหรือมีวิถีชีวิตประชาธิปไตยสักแค่ไหน” และว่า “การยกป้ายในที่สัมมนาวันสตรีสากลที่ธรรมศาสตร์ ก็คือการละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่ที่เขาต้องการจะฟัง นายกรัฐมนตรี แล้วคิดว่าคนงานหญิงนี้กระทำเหมาะสมหรือเปล่า ถูกกาลเทศะหรือไม่” [อ่านข่าวก่อนหน้านี้]

ล่าสุดในเฟซบุ๊กของ น.ส.จิตรา ได้ชี้แจงว่า ““ชูป้ายเงียบๆ มันทำให้มาร์คพูดไม่ได้คนฟังฟังไม่ได้ยังไงวะ พรรคประชาธิปัตย์ต้องมีปัญหาเรื่องประชาธิปไตยอย่างแรง แล้ว ส.ส.ประชาธิปัตย์อมจักรเขาไปจะตอบยังไงวะ”

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อ น.ส.จิตรา เพื่อสัมภาษณ์เพิ่มเติมโดยกล่าวว่า ไม่เพียงแค่จะถูกพรรคประชาธิปัตย์ตอบโต้ผ่านเว็บไซต์แล้ว ขณะนี้จักรเย็บผ้าซึ่งอดีตคนงานบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หรืออดีตคนงานไทรอัมพ์ ซึ่งได้ทำบันทึกข้อตกลงความช่วยเหลือกับกระทรวงแรงงานเมื่อ 19 ก.พ. 53 โดยบริษัท บอดี้แฟชั่น ได้มอบจักรเย็นผ้าให้กระทรวงแรงงาน 400 หลัง อย่างไรก็ตามจนถึงทุกวันนี้ คนงานยังไม่ได้รับมอบจักรทั้งหมด โดยเมื่อ 17 มี.ค. 53 กระทรวงได้มอบจักรให้คนงาน 250 ตัว แต่อีก 150 หลัง กระทรวงได้เก็บเอาไว้

โดยที่ผ่านมา คนงานได้ติดตามสอบถามขอจักรเพิ่มจากนายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง ที่ปรึกษาของนายไพฑูรย์ แก้วทอง ส.ส.ประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวต้องให้รัฐมนตรีตัดสินใจ และให้รอสถานการณ์ทางการเมืองสงบ แต่ต่อมาพอสถานการณ์สงบ นายไพฑูรย์ก็พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี เรื่องก็เงียบไป

โดยคนงานพบว่าจักรอีก 150 หลัง กล่าว ถูกนำไปเก็บไว้ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ภาค 1 และจากการทวงถามครั้งล่าสุด นายชีวะเวช เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารัฐมนตรี แจ้งว่า จักรดังกล่าวถูกส่งมอบให้มูลนิธิไพฑูรย์ แก้วทอง ทั้งนี้นายพงศักดิ์เคยกล่าวว่า จักรที่เหลือเป็นสิทธิของมูลนิธิในการบริหารจัดการ เพราะเป็นผู้รับมอบและออกค่าใช้จ่ายซ่อมแซมประมาณ 1 แสนบาท

โดยผู้สื่อข่าวมติชน เคยรายงานเมื่อ ต.ค. 53 ว่า จักรจำนวน 150 หลัง ถูกขนไปยังมูลนิธิแห่งหนึ่ง ใน จ.พิจิตร และแจกจ่ายกลุ่มแม่บ้านในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 3-4 แห่ง สมาคมแม่บ้านที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ประมาณ 50 ตัว ส่วนที่เหลือยังคงถูกเก็บไว้ในมูลนิธิ

น.ส.จิตรา กล่าวว่า เคยไปทวงกับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ แต่เขาก็แจ้งมาว่าอยู่ที่มูลนิธิให้ตามกันเองไม่เกี่ยวกับทางกระทรวง โดยคนงานเคยให้ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กทม. ติดตามให้สภา แต่นายไพฑูรย์ตอบว่าให้หมดแล้ว โดย น.ส.จิตรา เชื่อว่านายอภิสิทธิ์ก็รู้เรื่องดังกล่าวแต่ทำเป็นเฉย

น.ส.จิตรา ให้ข้อมูลด้วยว่า จักรเย็บผ้าที่ไม่ได้ส่งมอบเกือบ 150 หลัง เป็นจักรลา ยี่ห้อยามาโต้ ซึ่งมีราคาแพงหลังหนึ่งตกราว 3-4 หมื่นบาท เหมาะสำหรับเย็บผ้ายืด ส่วนจักรที่เคยได้รับมอบเกือบทั้งหมดเป็น จักรเข็มเดี่ยวกับแบบเข็มซิกแซ็ก ซึ่งมีราคาถูกกว่า ขณะที่ได้รับมอบจักรลาเพียงหลังเดียวเท่านั้น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วัน​แรกของ​การรณรงค์สงกรานต์ มี​ผู้​เสียชีวิต 29 ​เจ็บ 400 คน

Posted: 11 Apr 2011 11:12 PM PDT

12 เม.ย. 54 - นายถาวร ​เสน​เนียม รมช.มหาด​ไทย ​เปิด​เผยว่า ศูนย์อำนวย​การป้องกัน​และลดอุบัติ​เหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วง​เทศกาลสงกรานต์ปี 2554 ​โดยกรมป้องกัน​และบรร​เทาสาธารณภัย ​ได้รวบรวมสถิติอุบัติ​เหตุทางถนนประจำวันที่ 11 ​เมษายน 2554 ​ซึ่ง​เป็นวัน​แรกของ​การรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย 100%" ​เกิดอุบัติ​เหตุ 365 ครั้ง ลดลงจากปี 2553 (557 ครั้ง) 192 ครั้ง ร้อยละ 34.47 ​ผู้​เสียชีวิต 29 คน ลดลงจากปี 2553 (45 คน) 16 คน ร้อยละ 35.56 ​ผู้บาด​เจ็บ 400 คน ลดลงจากปี 2553 (607 คน) 207 คน ร้อยละ 34.10

สา​เหตุที่​ทำ​ให้​เกิดอุบัติ​เหตุสูงสุด ​ได้​แก่ ​เมาสุรา ร้อยละ 30.14  ขับรถ​เร็ว​เกินกำหนด ร้อยละ 20  ยานพาหนะที่​เกิดอุบัติ​เหตุสูงสุด ​ได้​แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ  83.24 ส่วน​ใหญ่​เกิด​ใน​เส้นทางตรง ร้อยละ 55.07 บนทางหลวง​แผ่นดิน  ร้อยละ 36.99 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 33.42 ช่วง​เวลาที่​เกิดอุบัติ​เหตุสูงสุด ​ได้​แก่ ช่วง​เวลา 16.01 — 20.00 น. ร้อยละ 29.86  ​ผู้บาด​เจ็บ​และ​ผู้​เสียชีวิตส่วน​ใหญ่อยู่​ในกลุ่มวัย​แรงงานร้อยละ 49.18

จังหวัดที่​เกิดอุบัติ​เหตุสูงสุด ​ได้​แก่ นครศรีธรรมราช 22 ครั้ง รองลงมา ​ได้​แก่ ​เชียงราย 20 ครั้ง ​และสุรินทร์ 18 ครั้ง

จังหวัดที่มี​ผู้​เสียชีวิตสูงสุด ​ได้​แก่ นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ​และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 3 ราย จังหวัดที่มี​ผู้บาด​เจ็บสูงสุด ​ได้​แก่ ​เชียงราย 22 ราย

จังหวัดที่​ไม่​เกิดอุบัติ​เหตุ​และ​ไม่มี​ผู้บาด​เจ็บ มี 9 จังหวัด ​ได้​แก่ กำ​แพง​เพชร ฉะ​เชิง​เทรา ตราด ปทุมธานี ย​โสธร สุ​โขทัย หนองคาย อำนาจ​เจริญ ​และอุบลราชธานีจังหวัดที่​ไม่มี​ผู้​เสียชีวิตมี 58  จังหวัด

​ทั้งนี้ ​ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,507 จุด ​เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 67,779 คน ​เรียกตรวจยานพาหนะ 601,211 คัน มี​ผู้ถูกดำ​เนินคดี รวม 69,740 ราย ​โดยมี​ความผิดฐาน​ไม่สวมหมวกนิรภัยมากที่สุด  22,581 ราย รองลงมา ​ไม่มี​ใบขับขี่ 21,987 ราย

นายถาวร คาดว่าวันนี้ประชาชนจะ​เดินทางกลับภูมิลำ​เนา​และท่อง​เที่ยว​ในช่วง​เทศกาลสงกรานต์​เป็นจำนวน​เนื่องจาก​เป็นวันสุดท้ายของ​การ​ทำงาน ส่งผล​ให้มีปริมาณรถบนถนนสายหลักหนา​แน่น ​จึง​เพิ่ม​ความ​เสี่ยงต่อ​การ​เกิดอุบัติ​เหตุทางถนน ศปถ.​ได้กำชับจังหวัดที่มี​เส้นทางสายหลักประสาน​เจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง​และตำรวจท้องที่บริหารจัด​การสภาพ​การจราจร ​โดยจัด​ให้มีช่องทางจราจรพิ​เศษ ​เพื่ออำนวย​ความสะดวก​และสร้าง​ความปลอดภัย​ใน​การ​เดินทาง

​ทั้งนี้ คาดว่า​ในวันนี้จะมี​ผู้​ใช้บริ​การรถ​โดยสารสาธารณะ​เป็นจำนวนมาก ​จึงขอ​ให้​เจ้าหน้าที่ตำรวจตามจุดตรวจต่างๆ ​เข้มงวดรถ​โดยสารสาธารณะ​ในช่วงขาออกจากกรุง​เทพฯ ที่มีระยะทาง​เกิน 400 กิ​โล​เมตร​เป็นพิ​เศษ ​โดย​เฉพาะ​การตรวจสาร​เสพติด​และสุราของพนักงานขับรถจากจุดตรวจของกรม​การขนส่งทางบก

นอกจากนี้ ยัง​ได้​เน้นย้ำ​ให้จังหวัดตรวจสอบ​และวิ​เคราะห์อุบัติ​เหตุทางถนน​ในช่วง 7 วันของ​การรณรงค์ (11 — 17 ​เมษายน 2554) กรณี​ผู้ประสบ​เหตุ อายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มีสา​เหตุจาก​การ​เมา​แล้วขับ ​โดย​ให้สอบสวน​เอาผิดกับร้านค้า​และสถานประกอบ​การที่จำหน่าย​เครื่องดื่ม​แอลกอฮอล์

สำหรับพื้นที่ภาค​ใต้​แม้จะสามารถ​เปิด​การจราจร​ได้ทุก​เส้นทาง​แล้ว ​แต่ถนนหลายสายยังอยู่​ในสภาพชำรุด ขอ​ให้​เจ้าหน้าที่ติดตั้งป้าย​เตือน​หรือสัญญาณ​เตือน ​เพื่อประชาสัมพันธ์​ให้​ผู้​ใช้​เส้นทางดังกล่าว​เพิ่ม​ความระมัดระวัง​ใน​การ​เดินทาง​เพื่อป้องกัน​และลดอุบัติ​เหตุทางถนน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิภพ อุดมอิทธิพงศ์:ว่าด้วยระบบรีไซเคิลคนดีของสังคมไทย

Posted: 11 Apr 2011 08:39 PM PDT

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่งว่าด้วยการประกาศผลการสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ โดยหลัก ๆ ก็เพื่อ “ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย” และเสนอแนะหรือให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ใครเป็นใครบ้างลองอ่านดูได้  สรุปว่ามีกรรมการแบบเต็มเวลา 6 คน ไม่เต็ม 5 

และตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2553  มาตรา 12 กำหนดให้ “กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้แต่ต้องไม่เกินสองวาระติดต่อกัน” พูดง่าย ๆ ว่าถ้าไม่ตาย ไม่ลาออก หรือขาดคุณสมบัติไปเอง ก็อาจดำรงตำแหน่งได้ถึง 8 ปี 

ที่น่าสนใจคือในบรรดาผู้ได้รับเลือกเข้ามามีอยู่สองคนที่มาจากหน่วยงานเดียวกันคือ ศ.ดร.คณิต ณ นครกับนายสมชาย หอมลออ ซึ่งนอกเหนือจากบรรดาภารกิจานุกิจทั้งหลายแล้ว ทั้งสองท่านก็ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ทั้งที่เป็นประธานกรรมการและกรรมการ หน่วยงานนี้แต่ตั้งขึ้นมาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อกรกฎาคม 2553 สองเดือนหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.นั่นเอง 

ถ้าความจำไม่เสื่อม เราคงจำกันได้ว่าทั้งก่อนเข้าดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ และระหว่างการทำงาน ประธานและกรรมการก็แสดงท่าทางขึงขังว่าจะเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาปัญหาประเทศ มีการเดินสายไปพบผู้นำกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในกรุงและต่างจังหวัด จัดประชุมตามโรงแรม เลี้ยงอาหารอย่างเปรมปรีดิ์ แจกตั๋วเรือบินให้นักวิชาการจากต่างจังหวัดไปเข้าร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ จัดประชุมเรียกพยานในเหตุการณ์มาชี้แจง ฯลฯ 

และอันที่จริงตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. 2553  ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 กำหนดว่า “ข้อ 6 ประธานกรรมการและกรรมการ มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับระยะเวลาการใช้บังคับระเบียบนี้” และ “ข้อ 17 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับมีกำหนดระยะเวลาสองปี นับแต่วันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ” 

หมายความว่าคนที่เป็นกรรมการคอป. ก็สามารถและควรดำรงตำแหน่งได้อย่างน้อยสองปีตามระเบียบนี้ ด้วยสมองอันน้อยนิดของผม คณะกรรมการ คอป.ก็น่าจะดำรงตำแหน่งได้อย่างน้อยจนถึงเดือนกรกฎาคมปีหน้า (2555) ว่ากันความผลงานของคณะกรรมการที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะน้อยนิดแล้ว ยังเชื่องช้าเหลือเกิน ต่อให้ทำงานจนถึงปีหน้า ก็ยังไม่แน่ว่าจะเกิดมรรคผลใด ๆ ขึ้นมาให้สอดคล้องกับชื่อ “ปรองดอง” ที่ฟังดูใหญ่โตมาก 

นี่ยังไม่นับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคอป. ที่จะต้อง “จัดทำรายงานความคืบหน้าของการทำงานทุกรอบหกเดือน รวมทั้งรายงานสรุปผลและข้อเสนอแนะเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและสาธารณชน” (ข้อ 9) ถ้านับจากกรกฎาคมที่แล้ว คอป.ควรจะเสนอรายงานการทำงานของตนเองได้ตั้งแต่เดือนกพ.ที่ผ่านมา งานแค่นี้ยังไม่เห็นจะทำได้เลย

แต่คราวนี้ ในเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการอิสระตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายที่ใหญ่กว่าระเบียบสำนักนายกฯ ไม่แปลกที่ทั้งท่านประธานและกรรมคอป.คงสละเรือน้อยไปลงเรือใหญ่เพื่อประกอบคุณงามความดีที่มีโภคผลสูงส่งยิ่งขึ้น

แสดงว่าในสังคมไทยเรา “คนดี” ที่มีอยู่ คงมีอยู่ไม่กี่คนนี่เอง (บรรดากรรมการคนอื่นๆ ที่ได้รับการสรรหาในคณะกรรมปฏิรูปกฎหมาย ก็ล้วนเคยรับใช้ชาติในช่วง “ผิดปรกติ” มาแล้วเป็นส่วนใหญ่) เราก็คงต้องรีไซเคิลคนดีเหล่านี้ต่อ ๆ ไป

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ยังไม่พูดถึงความชอบธรรมและโปร่งใสของกระบวนการสรรหาที่มี นายกิติพงษ์ กิตติยารัตน์ เป็นประธาน และนายกิตติพงษ์ก็ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการ คอป.เองอีกด้วยเช่นกัน ความจริงนายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ที่ได้รับการสรรหาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายแบบเต็มเวลาครั้งนี้ ก็เคยได้รับเสนอชื่อเป็นคณะกรรมคอป.ด้วยเช่นกัน แต่ตามรายงานข่าวระบุว่า ได้ถอนตัวออกจากคณะกรรมการ คอป. เพราะ “ต้องการทำงานเป็นอิสระจาก คอป. โดยจะตรวจสอบ คอป. แทน” แต่ได้ตรวจสอบยังไงบ้างก็ยังไม่เห็น 

และความจริงหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาที่เลือกนายไพโรจน์ พลเพชร ก็คือประธาน กป.อพช.คนก่อนนั่นเอง (นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข) 

คำถามต่อมาคือ คนดีเหล่านี้ทำให้บ้านเมืองผ่านพ้นวิกฤตได้หรือไม่ ความแบ่งแยกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของพลเรือน การเมืองและการมุ้งทั้งหลาย “เกียร์ว่าง” ของข้าราชการน่าจะเป็นคำตอบที่ดีอย่างหนึ่ง อย่างน้อยผู้ดีรัตนโกสินทร์อย่างนายอานันท์ ปันยารชุน ยังประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานคณะปฏิรูปประเทศหรือ คปร. โดยให้เหตุผลว่าต้องการเปิดทางให้ผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่มีทางเลือกว่าจะให้มีคณะกรรมการชุดนี้ต่อไปหรือจะให้ใครเข้ามาทำหน้าที่แทน แต่เชื่อว่า ”คนดี” บางคนก็คงคิดว่าความดีของตนนั้นแก้ปัญหาได้ หาใช่การปฏิบัติอย่างที่พูด หรือ walk one’s talk ไม่

 

ปล. เขียนในวาระที่จะมีการประกาศรายชื่อ สว.สรรหาอีก 73 คน คนดี ๆ ทั้งนั้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท:บนฝ่ามือมหาบุรุษ

Posted: 11 Apr 2011 08:03 PM PDT

 

ตอนนี้ฉันนั่งอยู่ที่นี่

บนฝ่ามือมหาบุรุษ

แต่จะว่าไป

จริงจริงฉันก็อยู่ตรงนี้ตั้งแต่ลืมตาดูโลก

โลกที่จริงจริงแล้วก็แค่กำมือมหาบุรุษ

เขาบอกฉันว่าดาวเคราะห์ทั้งจักรวาลหมุนรอบข้อมือ

และเขาคือแสงสว่าง

แต่ฉันรู้ว่ามันไม่จริง

มันไม่เคยจริงและจะไม่มีวันเป็นจริง

แสงสว่างของเขาสร้างเพียงภาพลวง

เคลิบเคลิ้ม

ไม่จริง!

ฉันรู้ดี

แต่ฉันไม่อาจพูดออกไป

ฉันพูดออกไปไม่ได้

ความหวาดกลัวเย็บริมฝีปากของฉัน

และปิดมันจนสนิทด้วยการลงทัณฑ์

ความหวาดกลัวและการลงทัณฑ์

สองสิ่งนี้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง

ฉันไม่มีอะไรหลงเหลือ!

ไม่มีห่าเหวอะไรสักอย่าง!

ไม่มีปาก! 

หู!

จมูก!

ดวงตา!

ใบหน้า!

แขนขา!

นี่แหละชีวิตของอสุจิ!

อสุจิบนฝ่ามือมหาบุรุษ

ความทรงจำของเขากลืนกินความทรงจำของฉัน

เรื่องเล่าของเขากลืนกินเรื่องเล่าของฉัน

ความจริงของเขากลืนกินความจริงของฉัน

ความฝันของเขากลืนกินความฝันของฉัน

ลมหายใจของเขากลืนกินลมหายใจของฉัน

ฉันไม่มีอะไรหลงเหลือ!

ไม่มีห่าเหวอะไรสักอย่าง!

นี่แหละชีวิตของอสุจิ!

อสุจิบนฝ่ามือมหาบุรุษ

...

 

ได้โปรด

บอกฉัน

ตัวคุณเองหลงเหลืออะไร

 

 

* อ่านในงาน DUCKOCRACY at TOOT YUING GALLERY 10/4/11

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น