โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

สนธิชี้ประชาธิปัตย์เกิดมาเพื่อเป็นฝ่ายค้าน เพราะค้านได้ดีค้านได้เก่ง

Posted: 11 May 2011 01:03 PM PDT

แนะถ้าอยากทำคุณต่อบ้านเมืองต้องเป็นฝ่ายค้านตลอดชีวิต เป็นฝ่ายค้านไปเรื่อยๆ จะได้เป็นบุญเป็นคุณต่อประเทศ ชี้ที่เป็นรัฐบาลตอนนี้เหมือนคนใจแตกที่ออกไปเที่ยวแล้วลุ่มหลงคลั่งไคล้แสงสี จึงถึงเวลาต้องกลับมาแล้ว

สนธิชี้ประเทศชาติจะขาดพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ แต่ต้องเป็นฝ่ายค้านเท่านั้น

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อคืนวานนี้ (11 พ.ค.) นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวปราศรัยที่เวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สะพานมัฆวานรังสรรค์ว่า เมื่อมองย้อนหลังไปถึงการชุมนุม 193 วัน (ปี 2551) และก่อนหน้านั้น ยังจำวันที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แวะไปเยี่ยมที่บ้านพระอาทิตย์และพูดคุยกันได้ ตอนนั้นนายอภิสิทธิ์พูดจาดูมีเหตุมีผล มีความเข้าใจ เห็นใจและเห็นด้วยกับการต่อสู้ของเรา เพราะต่อสู้ในแนวทางเดียวกัน รู้สึกว่านายอภิสิทธิ์มีความจริงใจมาก เป็นมิตรแท้ เวลาอยู่ในสภาและยกมือขึ้นพูดในฐานะหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านรู้สึกว่าเขาทำหน้าที่สะท้อนความคิดของพวกเราที่อยู่บนเวทีและอยู่ข้างถนนให้ไปปรากฏในสภา รู้สึกขอบคุณและชื่นชมที่คนหนุ่มอย่างเขากล้าพอที่จะแสดงออกถึงจุดยืนที่ชัดเจน หลังจากที่เขาเป็นนายกฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2551 ก็ยังชื่นชมเขา โดยเฉพาะวันที่เขาแถลงหลังจากรับตำแหน่ง รู้สึกภูมิใจมาก ที่คนอายุน้อยอย่างเขาขึ้นเป็นผู้นำประเทศได้

นายสนธิ กล่าวต่อว่า เมื่อย้อนกลับไป ตนชอบดูการปราศรัยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ การปราศรัยของนายสุวโรช พะลัง การปราศรัยของนายอลงกรณ์ พลบุตรในสภา ดูบทบาทของนายอลงกรณ์ที่เดินหน้าเช็กบิลคนขี้โกง ฟ้อง ป.ป.ช. ทำโน่นทำนี่ ดูแล้วรู้สึกว่าประเทศชาติจะขาดพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ แต่ต้องเป็นฝ่ายค้านเท่านั้น

 

แนะประชาธิปัตย์ทำหน้าที่เพื่อบ้านเมืองดีที่สุดคือเป็นฝ่ายค้าน

“อยากบอกผ่านไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วยความสัตย์จริง ด้วยความบริสุทธิ์ใจ คุณจะทำหน้าที่เพื่อบ้านเพื่อเมืองได้ดีที่สุด ก็คือให้คุณเป็นฝ่ายค้าน แล้วจับมือกับพวกเราที่เป็นภาคประชาชนขับไล่รัฐบาลชั่ว ประเทศนี้จะเป็นหนี้บุญคุณคุณถ้าคุณเป็นฝ่ายค้านไปตลอดชีวิต เพราะคุณเป็นฝ่ายค้านที่ฝีปากคุณคมกริบ กล้าเช็กบิลคน เราเป็นภาคประชาชนจะสนับสนุนคุณ เวลาคนมารังแกเรา อย่างน้อยๆ ก็จะมีนายอภิสิทธิ์เดินมาเยี่ยมพวกเรา ประเทศจะขาดฝ่ายค้านที่มีประสิทธิภาพไม่ได้ ถ้าประเทศจะเดินต่อไป ถึงคุณไม่ปฏิรูปการเมือง ก็ขอความกรุณาเป็นฝ่ายค้านไปตลอดชีวิต นั่นแหละคือการทำการเมืองให้ดีขึ้น นี่ไม่ได้ประชด แต่เราเอาข้อเท็จจริงมาว่ากัน”

 

ชี้คนบางคนเป็นลูกจ้างทำงานดี พอเป็นเถ้าแก่เองเจ๊งหมด

นายสนธิกล่าวต่อว่า พวกเราชื่นชมพรรคประชาธิปัตย์เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน เลยอยากบอกพรรคประชาธิปัตย์ว่า คนบางคนนั้นพอเป็นลูกจ้างเขาแล้วทำงานดี แต่พอมาเป็นเถ้าแก่เองก็เจ๊งหมด พรรคประชาธิปัตย์ก็แบบนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยอมรับ พวกคุณเป็นรัฐบาลไม่ได้ เพราะไม่เคยชินกับการเป็นรัฐบาล เมื่อไม่ชินพอมาเป็นก็เลยทำตัวเป็นคางคกขึ้นวอ มันไม่ใช่เอกลักษณ์ของคุณ เพราะเอกลักษณ์ของคุณต้องเป็นฝ่ายค้าน ยกมือค้านเขา เถียงเขา และบอกว่าประชาชนที่มาประท้วงเสียงเดียวรัฐบาลก็ต้องฟังนะ อยากบอกคนในพรรคประชาธิปัตย์ไม่ว่าจะเป็นนายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายชวน หลีกภัย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องยอมรับความจริงว่าศักยภาพของพวกคุณเป็นรัฐบาลไม่ได้ เป็นทีไรโกงทุกที เพราะเคยจนมาก่อน เมื่อเข้าไปแล้วเห็นเงินเห็นทองก็น้ำลายยืด จึงโกงหมด สปก.ก็โกง ปลากระป๋องก็โกง เงินช่วยน้ำท่วม น้ำมันปาล์มก็โกง จนเสียชื่อหมด จะโกงทั้งทีก็ไม่แนบเนียนแบบทักษิณ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะมาขึ้นเวทีเปิดโปงทักษิณ แล้วให้คุณเอาไปถล่มในสภา มันถึงจะลงตัว

 

ชี้ไม่อยากให้ ปชป. เหมือนคนติดยา-เสียผู้เสียคน ต้องให้เป็นฝ่ายค้าน

นายสนธิกล่าวต่อว่า เหมือนลูกหลานของพวกเราที่ออกไปเที่ยวแล้วติดยาเสียผู้เสียคน เราต้องดึงมันไว้ ไม่ให้ออกไป เราต้องทำแบบนี้กับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเรารักพรรคนี้ ไม่อยากให้เสียผู้เสียคน เราหวังดีต่อนายอภิสิทธิ์ ไม่อยากให้เสียผู้เสียคนอีก เพราะยังหนุ่ม อนาคตยังมี หน้าตายังหล่อ ชาติตระกูลดี แม้จะตอแหลไปหน่อย มาอยู่กับพวเราดีกว่า แต่อย่างน้อยที่สุดตอนเป็นฝ่ายค้านก็ตอแหลไม่ได้ พวกที่ลุ่มหลงพรรคประชาธิปัตย์ต้องเห็นด้วยกับพวกเรา ถ้ารักชาติต้องให้ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน เราจะได้กลับมาคืนดีกันเหมือนเดิม

 

ลั่น ปชป. เหมาะเป็นฝ่ายค้านที่สุด เกิดมาเพื่อเป็นฝ่ายค้าน

“พรรคประชาธิปัตย์เหมาะสมที่จะเป็นฝ่ายค้านที่สุด เกิดมาเพื่อเป็นฝ่ายค้าน เพราะค้านได้ดีค้านได้เก่ง ถ้าอยากทำคุณต่อบ้านเมืองต้องออกมาเป็นฝ่ายค้านตลอดชีวิต จนนายอภิสิทธิ์ตายไป ก็มีคนใหม่มาเป็นหัวหน้าและเป็นฝ่ายค้านไปเรื่อยๆ จะได้เป็นบุญเป็นคุณต่อประเทศ โดยมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นภาคประชาชนที่คัดค้านการโกงบ้านโกงเมืองมาช่วย เป็นส่วนผสมที่ลงตัวที่สุด”

นายสนธิ กล่าวต่อว่า การโหวตโนครั้งนี้เป็นการช่วยชาติ และช่วยประชาธิปัตย์ให้กลับไปอยู่บ้านตัวเองเสียที พรรคประชาธิปัตย์หมือนคนใจแตกที่ออกไปเที่ยวแล้วลุ่มหลงคลั่งไคล้แสงสี ถึงเวลาต้องกลับมาแล้ว และให้เขารับรู้ความเป็นจริงในความสามารถของเขา เนื่องจากเขาดีแต่พูด เพราะฉะนั้นก็ใช้ศักยภาพในการพูดในสภาเพื่อเป็นฝ่ายค้านจะดีที่สุด อย่าไปทำงานเลย งานบริหารชาติบ้านเมืองมันไม่ใช่งานที่เหมาะสมกับคุณ อยากให้นายอภิสิทธิ์ลองคิดถึงตอนเป็นหัวหน้าฝ่ายค้าน เวลาพูดในสภา สายตาทุกคู่จับจ้องดูอยู่ทั่วประเทศ มองแล้วน่าชื่นชมจนน้ำตาคลอด้วยความปลาบปลื้ม คนอะไรพูดเก่งเช่นนี้ แต่พอเป็นนายกฯ แล้ว คุณทำให้คนไทยไม่น้อยต้องสูญเสียทรัพย์สิน ต้องขว้างทีวีพัง ทำให้ภรรยาทะเลาะกับสามี ทำให้ครอบครัวและชาติบ้านเมืองแตกแยก ขอให้คุณกลับมาเสียเถอะ


"ประพันธ์" ท้า "สุเทพ-อภิสิทธิ์" ถ้าเลือกตั้งประชาธิปัตย์ได้ไม่ถึง 200 ที่นั่ง ขอ พธม.เหยียบหน้า

นอกจากนี้ นายประพันธ์ คูณมี แกนนำพันธมิตรฯ อีกคน ยังปราศรัยท้านายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่า ขอเดิมพัน ถ้าประชาธิปัตย์ได้มากกว่า 100 เสียง จะไปนอนให้เหยียบหน้าเลย "แต่ถ้าได้ไม่ถึง 200 เสียง ขอตีนพี่น้องเหยียบหน้าอภิสิทธิ์ และสุเทพ"

นายประพันธ์กล่าวด้วยว่า เอาเป็นว่าวันนี้มี 172 เสียง รักษาเสียงเอาไว้ให้เท่าเดิมยังไม่ได้เลย กล้ายืนยันอย่างนั้น เพราะขนาดมีพวกเราทุ่มเทคะแนนให้ยังไม่มีปัญญาชนะคู่แข่งเลย และยิ่งวันนี้ไม่มีเลยแม้แต่ปัจจัยเดียวที่จะชนะคู่แข่งได้ ต้องโกงถล่มทลายเท่านั้นถึงชนะได้ ไม่ได้ดูถูก หรือคาดเดามั่วๆ แต่วิเคราะห์จากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ทุกวันนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อูกันดาถอนร่าง กม.จำคุกเกย์ จากวาระพิจารณาแล้ว

Posted: 11 May 2011 12:19 PM PDT

รัฐสภาอูกันดาได้ยกเลิกการพิจารณากฎหมายจำคุกเกย์ตลอดชีวิตซึ่งเสนอโดยฝ่ายขวาแล้ว หลังกระแสคัดค้านทั่วโลก


ภาพโดย riekhavoc

เว็บไซต์สำนักข่าวการ์เดียนรายงานเมื่อวันที่ 11 พ.ค.ว่า รัฐสภาอูกันดาได้ยกเลิกกำหนดการพิจารณากฎหมายจำคุกเกย์ตลอดชีวิตแล้ว ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวเคยถูกเสนอโดยฝ่ายอนุรักษนิยมเมื่อปี 2552 ก่อนจะมีความพยายามเสนออีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยมีกำหนดพิจารณาในวันพุธนี้ (11 พ.ค.) อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ถูกถอดจากวาระการประชุมแล้ว และเนื่องจากกำลังจะมีการยุบสภา ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงถูกแขวนเอาไว้อย่างไม่มีกำหนด อย่างไรก็ตาม นักรณรงค์เตือนว่าอาจมีการเสนอร่างนี้อีกในสมัยหน้า

จอห์น อลิมาดิ ส.ส.อูกันดากล่าวว่า เป็นไปได้ที่การยกเลิกการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ เกิดจากการที่ทั่วโลกคัดค้านอย่างหนัก

ขณะที่คริสโตเฟอร์ เซนยอนโจ บิชอปชาวอูกันดา กล่าวว่า นี่เป็นข่าวดี พวกเราไม่อยากแม้แต่จะให้มีการพิจารณากฎหมายดังกล่าว มันจะอันตราย เพราะมีการให้ข้อมูลที่ผิดๆ และสิ่งเร้าจำนวนมาก เพียงแค่พิจารณากฎหมายนี้ อะไรๆ ก็อาจขึ้นกับกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน(LGBT) ได้ ทั้งนี้ เขายอมรับว่าเขาก็ไม่รู้ว่าร่างกฎหมายนี้จะตายไปหรือยัง หรือจะถูกนำกลับมาอีกหรือไม่

ริกเกน ปาเทล ผู้อำนวยการบริหาร Avaaz กลุ่มรณรงค์ออนไลน์ ซึ่งรวบรวมชื่อผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าวได้กว่า 1 ล้านรายชื่อ ระบุว่า เกิดแรงกดดันต่อรัฐบาลอูกันดาอย่างมหาศาลในวันนี้ ทำให้ประธานธิบดีมุเซเวนีต้องถอนร่างดังกล่าวออก แม้ว่ามันจะอยู่ในวาระมาหลายเดือนแล้วก็ตาม ทั้งนี้ หากการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวไม่อยู่ในวาระในสัปดาห์นี้ ร่างกฎหมายก็จะตายลง ซึ่งเขามองว่า นี่เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่สำหรับสิทธิมนุษยชน

ด้านกลุ่มนักกิจกรรมเกย์ระบุว่า คนรักเพศเดียวกันในอูกันดาเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกเสนอ มีเกย์ถูกคุกคามมากขึ้นเนื่องจากสื่อหันมาให้ความสนใจ และผู้นำศาสนาเทศนาสนับสนุนให้มีการผ่านร่างดังกล่าว

สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ เสนอโดย ส.ส.เดวิด บาฮาติ โดยกำหนดให้ผู้ใดก็ตามที่ถูกตัดสินว่ามีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันจะถูกจำคุกตลอดชีวิต ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน ให้คำแนะนำ จัดหา ให้ผู้ใดมีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันต้องโทษจำคุก 7 ปี ผู้ที่ให้คนรักเพศเดียวกันเช่าห้องหรือบ้านมีโทษจำคุก 7 ปี

นอกจากนี้ ในร่างแรกของกฎหมายดังกล่าว ระบุ คนรักเพศเดียวกันซึ่งมีเชื้อเอชไอวี หรือข่มขืนเพศเดียวกัน ต้องโทษประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม บาฮาติ เคยกล่าวเมื่อเดือนก่อนว่า ส่วนนี้ได้เอาออกไปแล้ว

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นักการเมืองและกลุ่มรณรงค์ด้นสิทธิพลเมืองทั่วโลกต่างวิจารณ์ร่างกฎหมายนี้ โดยบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่าร่างกฎหมายนี้ "น่ารังเกียจ"

ที่มา: Ugandan parliament drops bill that would jail gay people for life,  http://www.guardian.co.uk/world/2011/may/11/uganda-drops-bill-imprisonment-gay-people

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรีนพีชเรียกร้องไทยตามรอยญี่ปุ่น หยุดแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

Posted: 11 May 2011 11:29 AM PDT

กรุงเทพฯ, 11 พฤษภาคม 2554 — กรีนพีชเรียกร้องให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติปฏิบัติตามการตัดสินใจของประเทศญี่ปุ่นที่ถอนแผนการก่อสร้างโรงฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ทั้งหมด เพื่อปูทางไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน การเรียกร้องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่นายนาโอะโตะ คัง นายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศยกเลิกแผนการสร้างนิวเคลียร์ในประเทศทั้งหมด

“เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่ไม่ดี พลังงานนิวเคลียร์มีอันตราย ราคาแพงและหลอกลวง กรีนพีชยินดีกับการตัดสินใจของญี่ปุ่นที่ระงับแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยลงมือทำเช่นนั้นด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานควรถอนพลังงานนิวเคลียร์ออกจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเสีย แล้วก้าวสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่อย่างมหาศาลแทน” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนอย่างมากไปกับพลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์นิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในเมืองฟูกูชิมา ซึ่งเป็นวิกฤตนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในโลกต่อจากหายนะภัยเชอร์โนบิล เมื่อปี พ.ศ. 2529 ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าถึงแม้จะมีการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่พลังงงานนิวเคลียร์ยังคงเป็นอันตรายแก่มนุษย์

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลักดันนิวเคลียร์ในประเทศไทยได้เพิกเฉยต่อสัญญาณเตือนภัยดังกล่าวและไม่สนใจต่อความเสี่ยงที่อาจเป็นหายนะภัย แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับล่าสุด (PDP2010) ซึ่งถูกเรียกว่า “แผนพัฒนาไฟฟ้าสีเขียว” ได้บรรจุกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เข้าไปด้วย แผนนิวเคลียร์ของรัฐบาลซึ่งระบุพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใน 5 จังหวัด นำไปสู่การคัดค้านจากสาธารณชนเนื่องจากขาดความโปร่งใส

ประชาชนในจังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ จังหวัดอุบลราชธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ จังหวัดตราด จันทบุรี รวมถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชได้ออกมาต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ที่อันตรายนี้

ในวาระครบรอบ 25 ปี หายนะภัยเชอร์โนบิลเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรีนพีซร่วมกับนักวิชาการ สถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาสังคมและประชาชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จาก 17 จังหวัด รวมตัวกันเปิดตัว “เครือข่ายพลเมืองไทยปฏิรูปพลังงาน” เพื่อส่งข้อความถึงรัฐบาลไทยว่าชาวไทยไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ

“แทนที่จะรอให้เกิดอุบัติภัยทางนิวเคลียร์ขึ้นอีกครั้ง รัฐบาลทั่วโลกควรจะตัดสินใจเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายด้านพลังงานที่อยู่บนพื้นฐานของพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด การตัดสินใจของประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้เป็นประตูสำคัญสู่พลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และนับเป็นห้วงเวลาที่สำคัญของประเทศต่างๆในการก้าวไปสู่อนาคตพลังงานที่ยั่งยืน และประเทศไทยก็จะต้องไม่ล้าหลังในเรื่องนี้” จริยากล่าวเสริม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: แกนนำต้านเหมืองทองพิจิตรหวั่นโดนอุ้ม ร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มครอง

Posted: 11 May 2011 11:28 AM PDT

 
11 พ.ค.54 นางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง แกนนำกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทอง อัครา ไมนิ่ง จ.พิจิตร กล่าวว่า ขณะนี้ตนถูกคุกคามอย่างหนักในพื้นที่ ล่าสุดถึงขั้นยิงปืนข่มขู่เอาชีวิต จนได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคุ้มครองความปลอดภัย ล่าสุดสถานการณ์ไม่ปกติได้เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่ออดีตกำนันผู้มีอิทธิพลในหมู่บ้านสั่งลูกน้องให้โทรศัพท์มาหาตนเพื่อพูดคุยให้ยุติการเคลื่อนไหวเรื่องเรื่องต่อต้านบริษัทเหมืองทอง อัครา ไมนิ่ง หลังจากที่กำนันคนดังกล่าวได้ไปทำสัญญาเบื้องต้นในการซื้อขายที่กับบริษัทดังกล่าวไว้แล้ว
“คนของกำนันได้โทรศัพท์มานัดหมายให้ดิฉันไปคุยด้วยที่วัดยางสามต้น เพื่อตกลงกัน ให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบยุติการเคลื่อนไหว เนื่องจากกำนันต้องการจะขายที่เร็วที่สุด แต่บริษัทเหมืองมีข้อตกลงว่าจะต้องเคลียร์ปัญหาการต่อต้านของชาวบ้านในพื้นที่ให้ได้ก่อนถึงจะทำสัญญาซื้อขายอย่างถูกต้อง ซึ่งตอนนี้บริษัททำแค่เพียงจ่ายเงินมัดจำบางส่วนให้กำนันเท่านั้น” สื่อกัญญากล่าว
ในขณะทีนายเล็ก เจียมศรีไพร อดีตกำนัน อำเภอวังทรายพูน กล่าวว่า ขณะนี้การตกลงซื้อขายที่จำนวน 465 ไร่กับบริษัทเหมืองทองอัครา ไมนิ่ง ใกล้จะเรียบร้อยแล้ว และตนไม่ได้รู้จักกับพวกชาวบ้านที่คัดค้านเหมืองทองพิจิตรแต่อย่างใด ตนสนใจแค่เรื่องซื้อขายที่กับทางบริษัทเท่านั้น ซึ่งหลังจากเซ็นสัญญาขายที่เรียบร้อยกับบริษัทเหมืองทองก็จะเรียนให้ท่าน พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ทราบ
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า นายเล็กเป็นอดีตกำนันที่มีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะประเด็นการจัดการซื้อขายที่ดินในพื้นที่ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบกรณีปัญหาเหมืองแร่ทองคำ ภายหลังการเรียกร้องของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ที่ผ่านมา มีมติ ครม.ที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาในการชะลอให้มีสัมปทานเหมืองแร่ใหม่ และเข้าไปตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหมืองแร่เพียงจังหวัดเลยแห่งเดียวเท่านั้น ส่วน มติ ครม.กรณีในการแก้ไขผลกระทบกรณีการสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นั้น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสตร์ และ นายไพฑูรย์ แก้วทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ขอให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชะลอเรื่องเอาไว้ก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานเสวนาวันปรีดี: แนวคิด ‘ปรีดี พนมยงค์’ ข้อคิดต่อสังคมไทยปัจจุบัน

Posted: 11 May 2011 11:22 AM PDT

11 พ.ค.54 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานวันปรีดี ประจำปี 2554 โดยเวลา 10.00 น. มีการอภิปรายเรื่อง “แนวคิดของปรีดี พนมยงค์ กับการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และข้อคิดต่อสังคมไทยในปัจจุบัน” โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร และนายสันติสุข โสภณศิริ
 
ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวนำถึงบริบทโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีลักษณะเป็นสงครามเย็น เป็นการปะทะกันระหว่างขั้วสังคมนิยมและเสรีประชาธิปไตย ส่วนไทยนั้นบอบช้ำเล็กน้อย เพราะดีที่ไม่ต้องตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามจากคุณูปการของขบวนการเสรีไทยที่มีปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวขบวน การรัฐประหารเมื่อ 8 พ.ย. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งสำคัญที่สุดที่ส่งผลถึงสภาพการเมืองไทยปัจจุบัน ที่เป็นประชาธิปไตยที่ไม่มั่นคง เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยถูกยึดอำนาจมาตลอด รัฐประหาร 2490 เป็นเส้นแบ่งที่ทำลายทุกอย่าง เป็นมรดกของ 8 พ.ย. 2490 ที่ทหารบกยึดอำนาจรัฐของไทยตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้
 
ธเนศเล่าถึงจุดเริ่มต้นของตัวเองที่ได้มารู้จักกับชีวิตของปรีดี พนมยงค์ ว่าเริ่มตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนหนังสือซึ่งยังไม่มีอนุสาวรีย์ปรีดี หรือวันปรีดี ตัวเองกับกลุ่มได้ออกวารสารเล่มหนึ่งชื่อว่า “ตื่นเถิดลูกโดม” ซึ่งได้สกรีนหน้าปกเป็นรูปอาจารย์ปรีดี ต่อมาสันติบาลตามหากันให้วุ่น แต่นั้นจึงรู้ว่าสังคมในขณะนั้นห้ามพูดถึงปรีดี แล้วตัวเองก็ถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ก็เลยต้องออกใบปลิวสู้ ปะไปทั่วทั้งท่าพระจันทร์ อธิการบดีขณะนั้นคือกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์เรียกพบ ได้คุยกันท่านก็ยืนยันว่าปรีดีไม่ใช่คอมมิวนิสต์ นี่คือจุดเริ่มต้นที่รู้จักปรีดีในฐานะสัญลักษณ์ทางการเมืองที่รัฐบาลในขณะนั้นไม่ชอบ และสังคมไทยก็ใช้เวลาอีกนานนับจากนั้นกว่าจะมีอนุสาวรีย์ปรีดี และวันปรีดี พนมยงค์
 
เขาเล่าถึงปรีดี พนมยงค์ ด้วยแนวคิด 2 ด้าน ได้แก่ เศรษฐศาสตร์การเมือง และ การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย สำหรับความคิดด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองของปรีดีนั้นมีเนื้อหาที่ค่อนข้างละเอียด และเป็นโครงการที่มีลักษณะเป็นระบบพอสมควรมากกว่าความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง จึงนำไปสู่ความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ทั้งในกลุ่มผู้นำคณะราษฎรเอง และกับกลุ่มชนชั้นปกครองเก่า เค้าโครงการเศรษฐกิจถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงส่งผลใหปรีดีต้องลี้ภัยไปในเวลาต่อมา แต่ปรีดีได้กล่าวไว้ว่า “การเปลี่ยนแปลงคราวนี้ไม่ใช่ Coup de’ tat เป็น Revolution ทางเศรษฐกิจ ไม่มีในทางปกครองซึ่งเปลี่ยนจากพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายคนเท่านั้น”
 
กล่าวโดยสรุปเค้าโครงการเศรษฐกิจของคณะราษฎรมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การบำรุงสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ อันเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร โดยใช้หลักการจัดการสหกรณ์ครบรูปแบบ ที่มีแนวคิดให้รัฐบาลจัดการเศรษฐกิจเสียเอง ไม่ใช่ปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำดำเนินการเศรษฐกิจไป โดยรัฐบาลเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ส่วนแรงงานก็โดยการให้ราษฎรเป็นข้าราชการของรัฐเสีย เพราะปรีดีเชื่อว่านิสัยคนไทยชอบทำราชการ คือชอบเอาแรงงานของตนมาแลกกับเงินเดือนของรัฐบาล
 
แนวคิดของปรีดีเช่นนี้เมื่อผนวกกับลัทธิโซลิดาริสม์ ที่ถือว่ามนุษย์ต้องร่วมประกันภัยต่อกันและร่วมในการประกอบการเศรษฐกิจ และผนวกกับลัทธิสหกรณ์ที่ขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปถึงการสาธารณสุข ที่สุดจะปลดปล่อยคนออกไปสู่ความสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ และมีเสรีภาพโดยสมบูรณ์ด้วย เค้าโครงการเศรษฐกิจเชื่อว่าเสรีภาพและความเสมอภาคนั้นอยู่ที่ท้อง ไม่ได้อยู่ที่หัวหรือใจ ปรีดีกล่าวว่า “ราษฎรจะต้องการเสรีภาพโดยไม่มีอาหารรับประทานเช่นนั้นหรือ ทั้งนี้ไม่ใช่ความประสงค์ของราษฎรเลย”
 
ธเนศ กล่าวสรุปว่า แนวคิดของปรีดีไม่ใช่ซ้าย ไม่ใช่คอมมิวนิสต์อย่างที่ถูกกล่าวหา แต่ปัญหาคือสิ่งที่ปรีดีเสนอมานั้นเป็นการนำเสนอที่ล้ำหน้าและราดิคัล (radical) อย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการยกระดับและนำราษฎรไทยพ้นจากระบบไพร่และแรงงานภายใต้พันธนาการรูปแบบหนึ่งแบบใด ไปสู่ระบบสหกรณ์และสังคมนิยมโดยรัฐ ที่ราษฎรหลุดจากพันธนาการและอยู่ใต้การอุปถัมภ์ของนาย กลายเป็นข้าราชการภายใต้รัฐโดยส่วนใหญ่ ในทางทฤษฎีกระบวนการดังกล่าวจึงเป็นการปฏิวัติอย่างแท้จริง และไม่น่าแปลกใจที่   เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือพูดให้เจาะจงก็คือความคิดราดิคัลและทันสมัยภายในเค้าโครงฯ ได้นำไปสู่การเผชิญหน้าและการปะทะกันทางการเมืองระหว่างกลุ่มพลังต่างๆ อย่างที่ไม่อาจประนีประนอมกันได้
 
ด้านการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ปรีดีให้ความสำคัญต่อการรักษาความต่อเนื่องของระบอบปกครองและสังคม คือปรีดีไม่ได้ต้องการล้มสถาบันเพราะเห็นว่าสมควรจะยังมีต่อไปตราบนาน สิ่งที่ปรีดีกล่าวย้ำอยู่เสมอได้แก่อำนาจในระบอบประชาธิปไตยนั้น มีความชอบธรรมและเด็ดขาดเช่นเดียวกับอำนาจในระบอบเก่า ต่างกันที่ว่าอำนาจใหม่นั้นวางอยู่บนกฎหมาย ซึ่งประชาชนให้ความยินยอมและรับรองโดยผ่านผู้แทนของพวกเขาในสภา ไม่ใช่อำนาจตามอำเภอใจและอัธยาศัยของผู้มีอำนาจเท่านั้น
 
ความต่อเนื่องที่สำคัญยิ่งในทรรศนะของปรีดี ได้แก่ความต่อเนื่องของระบบประชาธิปไตยในสังคมไทยสยาม เพราะประชาธิปไตยคือการถือมติปวงชนเป็นใหญ่ เกิดขึ้นตามธรรมชาติพร้อมกันกับการมีมนุษยชาติในโลกนี้ ต่อมาได้ถูกทำลายโดยระบบทาสและระบบศักดินา คนไทยก็เช่นเดียวกับคนชาติอารยะอื่น ๆ ที่รู้จักระบอบนี้มาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว แต่ระบบทาสและศักดินาทำลายไปเสื่อมไปชั่วหลายพันปี การยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้นแท้ที่จริงแล้วคือ "การที่ปวงชนชาวไทยได้รับพระราชทานสิทธิประชาธิปไตยคืนมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยคณะราษฎรเป็นผู้นำขอพระราชทาน"
 
ครั้นต่อมาในวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก 28 มิ.ย. ได้มีการอัญเชิญพระราชกระแสรับสั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯมาอ่านในที่ประชุม ซึ่งปรีดีอธิบายว่าพระราชกระแสรับสั่งนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานเอง ไม่ได้ขอหรือทำตามธรรมเนียม "ซึ่งแสดงว่าพระองค์เต็มพระทัยพระราชทานพระบรมราชานุมัติเป็นปฏิญญาแห่งระบอบปกครองประชาธิปไตย" อันถือว่าเป็นพันธะสัญญาระหว่างสถาบันกษัตริย์กับปวงชนและผูกพันสถาบันกษัตริย์ตลอดไป
 
นายสันติสุข โสภณศิริ กล่าวว่า ปีใน พ.ศ.2489 อยู่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านอยากแก้ปัญหาบ้านเมืองหลายอย่าง โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจ การเงินการคลัง ตามที่ได้แถลงเป็นนโยบาย 12 ข้อ ต่อที่ประชุมรัฐสภา ดังที่มีข้อที่ 4 ที่เกี่ยวกับการทหารมีสาระว่าจะปรับปรุงการทหารให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ทันได้แก้ปัญหาตามที่วางไว้ก็เกิดกรณีสวรรคตเสียก่อน
 
ที่สำคัญ ปรีดีต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นสถาบันที่สำคัญของชาติบ้านเมืองอีกสถาบันหนึ่ง แต่ว่าการเมืองช่วงนั้นมีความขัดแย้งมาก อาจจะมากกว่าเวลานี้เสียด้วยซ้ำถ้าเทียบกัน เพราะเกิดปัญหาคือการจะเอาระบอบประชาธิปไตยกับราชาธิปไตยเข้ามาอยู่รวมกันให้ได้ดีได้อย่างไร ทางยุโรปเขาทำได้เพราะประชาธิปไตยเขาเข้มแข็งมาก ประมุขต้องไม่ถูกดึงลงมายุ่งเกี่ยวหรือเป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ เป็นต้น ถ้าถูกดึงลงมาสถาบันจะไม่มั่นคง ปรีดีมองว่าประมุขจะต้องมีตลอดไปตามประเพณี คณะราษฎรหรือจอมพล ป. ก็เช่นกัน ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบที่ไม่มีกษัตริย์
 
โดยสรุป 2 ปีที่ปรีดีเป็นนายกฯ ต้องเผชิญกับปัญหาทั้งการเมือง เศรษฐกิจ แต่สิ่งที่ปรีดียึดถือมาตลอดคือ สร้างสามัคคีธรรม สันติสุข และยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ แต่ก็เผชิญความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับกลุ่มอำนาจเก่า ผนวกกับกรณีสวรรคต จึงทำให้ปรีดีประสบชะตากรรมอันไม่ราบรื่นอย่างที่ทราบกัน
 
ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร กล่าวถึงปรีดี พนมยงค์ โดยแยกดูเป็น 3 ช่วงของชีวิต คือ ช่วง 30 ปีแรกของชีวิตจนถึงกระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วง 15 ปีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมืองจนพ้นไปจากบ้านเมือง และช่วงราว 30 ปีท้ายของชีวิต โดยในช่วงชีวิตแรกนั้นปรีดีเติบโตเล่าเรียน มีความรู้ประสบการณ์จากบ้านเมืองอื่นที่พัฒนาแล้ว จึงเห็นว่าประเทศไทยยังมีการปกครองแบบล้าหลัง คือ absolutely monarchy หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ปรีดีเห็นว่าควรเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้เปลี่ยนมาก แค่เปลี่ยนจากคำ ‘absolutely’ มาเป็น ‘constutitional’ เท่านั้นเอง เพราะเห็นว่า monarchy อย่างไรก็จะต้องมีอยู่ต่อไป แล้วมาทำให้เป็น democratic มากขึ้นในทางกติกา เช่น มีการเลือกตั้ง แต่ต้องเป็น democratic ในกรอบ ดังที่กรอบคือหลัก 6 ประการของคณะราษฎรนั่นเอง
 
อีกเรื่องคือแม้จะมีการเลิกทาสไปแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็ยังมีไพร่ ปรีดีจึงได้ทำการเลิกไพร่โดยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองความรู้สึกไพร่มันหมดไป แต่เดี๋ยวนี้เห็นมีคนขุดเอามันกลับมาอีก อย่างไรก็ตาม นั่นนับเป็นความสำเร็จอันดับหนึ่งของคณะราษฎร ร.5 ใช้เวลา 40 ปี เลิกทาส แต่คณะราษฎรใช้เวลา 5 ปีเลิกไพร่
 
ด้านเศรษฐกิจ ปรีดีไม่ได้ปล่อยมันไปตามยถากรรม เพราะราษฎรที่ยากจนตามชนบทถ้ารัฐบาลไม่เข้าไปช่วยก็คงแย่ แม้ปัจจุบันเวลาล่วงเลยมา 70 กว่าปีแล้วก็ยังแย่อยู่อย่างนั้น ปรีดีจึงคิดแก้ปัญหา แล้วสเก็ตช์ความคิดออกมาเป็นเค้าโครงฯ แต่สมัยนั้นไม่เหมือนสมัยนี้ โทรทัศน์ก็ยังไม่มี ไมโครโฟนก็ไม่แน่ใจว่ามีหรือเปล่า ท่านก็ทำได้แค่นั้น ทั้งผู้คนก็ไม่ได้มีการศึกษามากมายเท่าสมัยนี้ มันก็เกิดความสับสน ก็เลยพูดกันเข้าใจยาก
 
ส่วนความคิดด้านการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ดร.วิชิตวงศ์ ยกเอาสุนทรพจน์ของปรีดีที่แสดงในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 7 พ.ค. 2489 มาตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีความจำเป็นที่จะต้องซ้อมความเข้าใจถึงหลักประชาธิปไตยตามหลักรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะราษฎรได้ขอพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ว่าระบอบประชาธิปไตยนั้น  เราหมายถึงประชาธิปไตยอันมีระเบียบตามกฎหมายและศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ใช่ประชาธิปไตยอันไม่มีระเบียบ หรือประชาธิปไตยที่ไร้ศีลธรรม เช่น การใช้สิทธิเสรีภาพอันมีแต่จะให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม ระบอบชนิดนี้เรียกว่า อนาธิปไตย  หาใช่ประชาธิปไตยไม่ ขอให้ระวัง อย่าปนประชาธิปไตยกับอนาธิปไตย  อนาธิปไตยเป็นภัยอย่างใหญ่หลวงแก่สังคมและประเทศชาติ  ระบอบประชาธิปไตยจะมั่นคงอยู่ได้ ต้องประกอบด้วยกฎหมาย ศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต...”
 
วิชิตวงศ์ กล่าวสรุปว่า ปรีดี พนมยงค์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยข้างถนนที่มาโกงกินกันอย่างในปัจจุบัน “ผมเห็นแต่พวกอ้างปรีดี แต่ไม่ได้ประพฤติอะไรอย่างปรีดีเลย ผมอยากสรุปจากปรีดีเป็นบทเรียนว่า ประชาธิปไตยทางการเมืองมีฐานรากคือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจะสร้างทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยจะไปสร้างการเมืองประชาธิปไตย อยากให้ยึดตรงนี้เป็นหลัก เราต้องทำเศรษฐกิจให้เป็นประชาธิปไตย เพื่อให้สังคมมีทัศนะประชาธิปไตย จึงจะเกิดการเมืองประชาธิปไตย” วิชิตวงศ์กล่าว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

งบประมาณแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

Posted: 11 May 2011 11:21 AM PDT

ชื่อบทความเดิม: งบประมาณแผ่นดินที่รัฐต้องจ่ายให้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ประจำปีงบประมาณ 2554 กับการทำแต้มอย่างบ้าคลั่งไล่ล่าผู้กระทำผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

 

สำรวจตาม พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 * มีงบประมาณที่ใช้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนี้

สำนักราชเลขาธิการ
มาตรา 25 ข้อ 1 : 474,124,500 บาท

สำนักพระราชวัง
มาตรา 25 ข้อ 2 : 2,606,293,900 บาท

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มาตรา 25 ข้อ 4 (1) แผนงานเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : 225,162,400 บาท

ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
มาตรา 4 (1) ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : 2,300,000,000 บาท
มาตรา 4 (2) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ : 600,000,000 บาท
มาตรา 4 (3) ค่าใช้จ่ายการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 : 300,000,000 บาท

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
มาตรา 5 ข้อ 1 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 51,426,200 บาท
มาตรา 5 ข้อ 1 (2) แผนงานเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจในระดับฐานรากตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง : 3,308,070,000 บาท

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
มาตรา 5 ข้อ 8 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 25,573,000 บาท

สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
มาตรา 6 ข้อ 1 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 10,422,800 บาท

กรมราชองครักษ์
มาตรา 6 ข้อ 2 : 541,205,000 บาท

กองทัพบก
มาตรา 6 ข้อ 4 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 30,000,000 บาท

กองทัพเรือ
มาตรา 6 ข้อ 5 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 10,000,000 บาท

กองทัพอากาศ
มาตรา 6 ข้อ 6 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 600,000 บาท

สำนักงานพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
มาตรา 11 ข้อ 16 (1) : 188,495,400 บาท

สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
มาตรา 17 ข้อ 1 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 11,250,000 บาท

กรมการปกครอง
มาตรา 17 ข้อ 2 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 40,330,000 บาท

สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม
มาตรา 18 ข้อ 1 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 4,500,000 บาท

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
มาตรา 25 ข้อ 7 (1) แผนงานสร้างค่านิยมในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเสริมสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติ : 53,896,800 บาท

รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น 10,781,350,000 บาท หรือ หนึ่งหมื่นเจ็ดร้อยแปดสิบเอ็ดล้านสามแสนห้าหมื่นบาท

ทั้งนี้ ยอดเงิน 10,781,350,000 บาท (หนึ่งหมื่นเจ็ดร้อยแปดสิบเอ็ดล้านสามแสนห้าหมื่นบาท) ยังไม่รวม ค่าเสียหาย/ราคาที่ต้องจ่ายซึ่งไม่สามารถนับไม่ได้เป็นตัวเงิน (ชีวิต , สิทธิเสรีภาพ , ความกลัว , ความทุกข์(ถ้ามี) ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ) คลอดจน รายได้ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่ครองหุ้นในบริษัทต่าง ๆ และเงินที่ประชาชนบางส่วนถวายให้ใช้ตามพระราชอัธยาศัยในโอกาสต่าง ๆ

เงินจำนวนหมื่นกว่าล้านบาท ที่ ส.ศิวรักษ์ เคยเขียนเมื่อหลายปีก่อนว่า สถาบันกษัตริย์ถูกกว่าประธานาธิบดี ส.ศิวรักษ์ อาจต้องทบทวนบทสรุปตาม "ราคา" ในแต่ละปีที่ต้องจ่ายตามจริงไว้บ้างนะครับ

นอกจากนี้ ขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ จะต้องทบทวนว่า การ “ทำแต้ม” คดีหมิ่นกษัตริย์ มันไม่สัมฤทธิ์ผล (ที่มุ่งให้คดีลดลง?) แต่อย่างใด ยิ่งจับยิ่งดำเนินคดี ผลก็คือ คนที่หมิ่นสถาบันกษัตริย์ก็ยิ่งมีมากขึ้นๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา คดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ถูกเทกระจาดเข้าสู่กระบวนการจับขังฟ้องร้องเป็นร้อยคดี ตามกราฟที่ผมได้ค้นข้อมูล รายงานสถิติคดีทั่วราชอาณาจักร (ตั้งแต่ปี 2548 – 2553 ) จัดทำโดยกระทรวงยุติธรรม ผมวานให้คุณอติเทพ ไชยสิทธิ์ ใช้ความสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและทำกราฟไว้ดังนี้ :

หากพิจารณาอย่างพิศดารยิ่งขึ้น การพิจารณาคดีความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ตามศาลแต่ละภาค ขอให้ท่านดูแผนที่ประเทศไทยชิ้นนี้ เพื่อดูกราฟการรับคดีในภาพถัด ๆ ไปจะได้มองภาพชัดขึ้น (ศาลภาคที่ 1 – 9)

เหล่านี้เป็นตัวเลขในปี 2548 – 2553 ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงในการบังคับใช้กฎหมาย มีผู้กระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ตามกราฟ)

หน่วยงานของรัฐทั้งหลายโดยเฉพาะทหาร ซึ่งปัจจุบันพยายามสถาปนาตนเอง เป็น “หัวโจก” ของกระบวนการล้มล้างสิทธิเสรีภาพของราษฎร คุณคิดว่าสถาบันกษัตริย์ที่ดำรงอยู่ได้ด้วยการ “ทำแต้ม” แบบนี้ ความผิดต่อสถาบันกษัตริย์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คดีดองอยู่ที่ศาลชั้นต้น แล้วคุณยังแข็งขันใช้ทุกวิถีทางกวาดจับ ข่มขู่บังคับทั้งในและนอกระบบ คุณคิดว่า ตัวเลขเหล่านี้ มัน “ไม่น่าอาย” แม้แต่น้อยบ้างเลยหรือ?

 

เชิงอรรถ

  • พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 : ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนที่ 60 ก ลงวันที่ 28 กันยายน 2553 [ ดูฉบับออนไลน์ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/A/060/1.PDF ]
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: คดีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G: ประโยชน์สาธารณะอยู่ที่ไหนและใครถ่วงความเจริญ?

Posted: 11 May 2011 11:00 AM PDT

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมามีข่าวบริษัท ดีแทค ฟ้องร้อง กสท โทรคมนาคม ต่อศาลปกครอง เพื่อให้ยกเลิกสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ระหว่าง กสท.และบริษัทในเครือของ ทรู คอร์ปอเรชั่น และขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการดำเนินการต่างๆ ตามสัญญาดังกล่าวเป็นการชั่วคราว ในช่วงที่หน่วยงานรัฐต่างๆ กำลังพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของสัญญา คดีนี้ถือเป็นคดีเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G คดีที่สอง ที่มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง โดยในครั้งแรกนั้น กสท ได้ฟ้องร้อง กทช ที่กำลังจะประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G จำนวน 3 ใบ เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา

การตั้งข้อสังเกตต่อความไม่ชอบมาพากลต่อกระบวนการและเนื้อหาของสัญญา ทำให้ผู้เขียนถูกผู้เสียผลประโยชน์บางรายกล่าวหาว่า พยายาม “ถ่วงความเจริญ” ไม่ให้ประเทศไทยมีบริการโทรศัพท์ 3G ใช้ จุดประสงค์ของบทความนี้ก็เพื่ออธิบายว่า สัญญาต่างๆ และคดีที่เกิดขึ้นนี้เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนอย่างไร? และทำไม ผู้เขียน ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ไม่ได้มีผลประโยชน์โดยตรง จึงต้องออกมาแสดงความคิดเห็น?

แม้ว่าการฟ้องร้องในคดีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ทั้งสองคดี น่าจะเกิดจากแรงจูงใจในการรักษาผลประโยชน์ส่วนตนของผู้ฟ้องเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจคือ กสท. หรือเอกชนคือ ดีแทค ก็ตาม การที่ผู้เขียนต้องออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ก็เพราะเชื่อว่า มีประโยชน์สาธารณะ (public interest) ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ของประชาชนเกี่ยวข้องกับคดีทั้งสองอย่างมีนัยสำคัญ

วิธีหนึ่งที่เราจะสามารถพิจารณาประโยชน์สาธารณะที่เกี่ยวข้องในคดีทั้งสองได้ก็คือ การตั้งคำถามว่า หากไม่มีการฟ้องร้องกัน ซึ่งทำให้การดำเนินการต่างๆ เกิดขึ้นต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นกับประชาชน ทั้งนี้ ในกรณีนี้ ประชาชนอาจมีได้ 3 ฐานะคือ หนึ่ง การเป็นผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคของบริการโทรศัพท์ 3G สอง การเป็นผู้เสียภาษีให้รัฐ และ สาม การเป็นพลเมืองเจ้าของประเทศ

ในคดีที่ กสท. ฟ้องร้อง หากไม่มีการฟ้องร้องโดย กสท. และให้การคุ้มครองชั่วคราวโดยศาลปกครอง สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในความเห็นของผู้เขียนก็คือ

  1. ประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นอีก 3 ราย แข่งขันกันให้บริการ 3G นอกเหนือจาก ทีโอที ซึ่งให้บริการอยู่แล้ว โดยการแข่งขันจะมีความเสมอภาค ซึ่งจะทำให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด
  2. รัฐจะได้ค่าประมูลคลื่นความถี่ไม่ต่ำกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท จากการออกใบอนุญาต 3 ใบ ใบละไม่ต่ำกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถลดภาระภาษีที่รัฐต้องจัดเก็บจากประชาชน หรือสามารถเพิ่มบริการสาธารณะต่างๆ เช่น การศึกษา หรือสวัสดิการแก่ประชาชนได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีได้รับประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ดังกล่าวจะไม่ทำให้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้น เพราะเป็นเงินที่ถูกเก็บมาจากกำไรส่วนเกินของผู้ประกอบการ ไม่ใช่ส่วนที่ไปเพิ่มต้นทุน อย่างที่มักมีความเข้าใจผิดกัน
  3. ระบบใบอนุญาตโดยหน่วยงานกำกับดูแลอิสระคือ กสทช. เป็นระบบมีความโปร่งใสมากกว่าและไม่เลือกปฏิบัติ จะมาทดแทนระบบสัมปทานของรัฐวิสาหกิจที่เต็มไปด้วยความไม่โปร่งใส และการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง ซึ่งทำให้เกิด “อภิมหาเศรษฐี” ขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งภายหลังก้าวเข้าสู่การเมือง และเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมในปัจจุบัน ระบบใหม่นี้จะมีผลในการลด “ธนกิจการเมือง” (money politics) และทำให้ประชาธิปไตยของไทยตอบสนองความต้องการของประชาชนในฐานะพลเมืองมากขึ้น

ดังนั้น หากมองว่า ประโยชน์สาธารณะคือ ประโยชน์ของประชาชน ถ้ามีการประมูลคลื่น 3G ตั้งแต่ปีที่แล้ว ผู้เขียนเห็นว่า ประชาชนทั้งในฐานะผู้บริโภค ผู้เสียภาษีและพลเมือง จะได้ประโยชน์สูงสุดด้วยเหตุผล 3 ประการข้างต้น

น่าเสียดายที่ การประมูลดังกล่าวไม่เกิดขึ้น เนื่องจากศาลปกครองรับฟ้องและให้การคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของ กสท. โดยอ้างเหตุผล 3 ประการโดยสรุปคือ หนึ่ง ยังไม่มีการจัดทำแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ซึ่งทำให้การประมูลของ กทช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สอง การให้การคุ้มครองของศาลจะกระทบเฉพาะต่อผู้ประกอบการเพียง 3 รายเท่านั้น และสาม การยังไม่มีบริการ 3G ไม่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการสาธารณะ โดยส่วนตัว ผู้เขียนเห็นแตกต่างจากศาล เนื่องจากคำสั่งให้การคุ้มครองดังกล่าวของศาลกระทบต่อบริการสาธารณะอย่างชัดเจน และกระทบต่อผู้ที่รอใช้บริการจำนวนมาก ไม่ใช่ผู้ให้บริการเพียงสามรายเท่านั้น

ส่วนในข้อแรก แม้การพิจารณาว่า การดำเนินการของ กทช ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะมีน้ำหนักก็ตาม ผู้เขียนก็เห็นสอดคล้องกับนักกฎหมายมหาชนบางคนที่เชื่อว่า กสท. ไม่น่าจะมีสิทธิฟ้องในฐานะผู้เสียหาย ในการฟ้องคดีนั้น กสท. อ้างว่า การประมูลคลื่น 3G ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ของ กทช. จะทำให้ตนสูญเสียรายได้จากสัมปทานที่มีอยู่ ผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวอ้างดังกล่าว เพราะแม้ กทช. หรือ กสทช. ที่จะตั้งขึ้นจะดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอน เช่น จัดทำแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่แล้วก็ตาม กสท ก็ยังจะเสียหายจากรายได้จากสัมปทานที่จะลดลง จากการออกใบอนุญาต 3G อยู่นั่นเอง ความเสียหายของ กสท จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในการดำเนินการของ กทช. กสท จึงน่าจะไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครอง

ส่วนในคดีล่าสุดที่ ดีแทค ฟ้องร้องต่อศาลปกครองนั้น หากไม่มีการฟ้องร้องเพื่อระงับกระบวนการที่เป็นอยู่ สิ่งที่ผู้เขียนคาดว่าจะเกิดขึ้นก็คือ

  1. นอกเหนือจาก ทีโอทีแล้ว ประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการ 3G อีกเพียงรายเดียว คือ ทรู ซึ่งจะให้บริการ 3G ก่อนรายอื่น โดยไม่แน่ชัดว่า เอไอเอส และดีแทค ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญจะสามารถเริ่มให้บริการได้เมื่อใด และภายใต้เงื่อนไขที่เสมอภาคกันหรือไม่ โดยเฉพาะกรณีของดีแทค ซึ่งประสบปัญหาในการได้รับอนุญาตเปิดบริการ 3G จาก กสท. นั้นก็ยิ่งไม่แน่ชัดว่าจะได้รับอนุญาตเมื่อใด เพราะถูก กสท. ปฏิเสธมาแล้ว ทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อันจะนำไปสู่การผูกขาดตลาด ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์จากค่าบริการที่แพงและคุณภาพบริการที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งยากจะแก้ไขโครงสร้างตลาดให้กลับมาเป็นตลาดที่แข่งขันกันได้ในภายหลัง
  2. รัฐจะเสียหายจากการไม่ได้รับค่าประมูลคลื่นความถี่ไม่ต่ำกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก กสท. นำคลื่นของตนไปให้ทรูใช้โดยไม่ได้คิดต้นทุน ซึ่งภายหลังจะเป็นเหตุให้เอไอเอส และดีแทค นำไปเป็นข้ออ้างไม่ยอมจ่ายค่าคลื่นความถี่ให้แก่รัฐได้ในอนาคต ซึ่งก็เป็นความเสียหายที่ยากจะแก้ไขกลับคืนมาได้เช่นกัน
  3. สัญญาที่มีลักษณะคล้ายสัมปทานระหว่าง กสท. และทรู จะทำให้เกิดความไม่โปร่งใส และการแสวงหาผลประโยชน์ในตลาดโทรคมนาคมของฝ่ายการเมืองคงอยู่ต่อไปอีก 14-15 ปี ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อทั้งตลาดโทรคมนาคมเอง และเกิดปัญหา “ธนกิจการเมือง” ที่ทำให้ประชาธิปไตยของไทยไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน จากอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาแทรกแซงไปอีกนาน

มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ประโยชน์สาธารณะในคดี 3G ทั้งสองคดีดังกล่าวอยู่ที่ไหน? และใครกันแน่ที่เป็นผู้ถ่วงความเจริญของประเทศไทย?

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาคปชช.จี้จัด 'ระบบประกันสุขภาพ' บัตรทอง-ประกันสังคม-ข้าราชการ มาตรฐานเดียว

Posted: 11 May 2011 10:59 AM PDT

 

(11 พ.ค.54) ณ ห้องประชุม 5กันยา สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน 9 ด้าน ได้แก่ ผู้ใช้แรงงาน เด็ก/เยาวชน สตรี คนพิการ เกษตรกร ชนกลุ่มน้อย ชุมชนแออัด ผู้ติดเชื้อHIV/ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้สูงอายุ แถลงจุดยืนเรื่องนโยบายสาธารณะด้านหลักประกันสุขภาพที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ วิพากษ์รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไม่จริงใจส่งเสริมนโยบาย "บัตรทอง" เพราะเห็นเป็นผลงานพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ย้ำจุดยืน "ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ที่มีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งบัตรทอง-ประกันสังคม-ข้าราชการ ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า แพทย์ที่ออกมาคัดค้านการสร้างให้ระบบบัตรทอง-ประกันสังคม มีคุณภาพ-มาตรฐานเดียวกัน มีผลประโยชน์ทับซ้อน


เนื้อหาการแถลงมีดังนี้

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงแม้จะมีบทบาทในการเพิ่มงบประมาณในการดำเนินการบัตรทอง แต่ไม่ได้มีความจริงใจในการดำเนินนโยบายสร้างสวัสดิการด้านสุขภาพอย่างแท้จริง แม้จะได้พยายามแถลงผลงานว่าเป็นรัฐบาลที่มุ่งเน้นไปสู่รัฐสวัสดิการ เบื้องหลังคือเพราะรัฐบาลเห็นว่านโยบายนี้เป็นผลงานของพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามจึงไม่พยายามจะทำให้ดีขึ้น

ดังกรณีรัฐมนตรีสาธารณสุขซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ไม่ทำหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจให้กับหมอ พยาบาล บุคคลากรของโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ให้ตระหนักว่าตนเองมีหน้าที่ตามจรรยาบรรณในการดูแลรักษาประชาชนพลเมืองทุกคน ไม่ใช่มีหน้าที่ออกมาบอกว่าระบบบัตรทองไม่ดี และแสดงท่าทีจะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งการออกมาให้ข้อมูลผิดๆ กับผู้ประกันตนในประกันสังคมว่าควรยอมรับบริการรักษาพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมจัดให้ โดยยอมจ่ายเงินสมทบ ทั้งที่ การรับบริการสาธารณสุขเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐดำเนินการให้ประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม ด้วยระบบภาษีของประชาชน อย่างมีมาตรฐาน คุณภาพเดียวกัน โดยไม่ต้องร่วมจ่ายที่จุดบริการ (จ่ายผ่านภาษีทางตรง ทางอ้อมแล้ว)

กระทรวงสาธารณสุขคงเลี่ยงที่จะไม่พูดความจริงเกี่ยวกับภาวะขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็มาจากการประกาศของกระทรวงฯ เองเพื่อเพิ่มค่าตอบแทนแก่บุคลากรการแพทย์ ไม่ใช่ขาดทุนเพราะนำไปใช้ในการรักษาพยาบาล 

เครือข่ายประชาชน  9 ด้านขอยืนยันว่าเราคือผู้ร่วมลงชื่อ 9 หมื่นชื่อเพื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.2545 และต้องต่อสู้กับอคติของกลุ่มแพทย์ที่ออกมาคัดค้านกฎหมาย รวมถึง สว.บางท่านที่เป็นนักกฎหมายที่มองว่าภาคพลเมืองเหล่านี้ทำตัวเป็นขอทาน ทั้งที่สิทธิการได้รับบริการสาธารณสุขเป็นสิทธิตามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน และท่านเหล่านั้นพึงต้องระลึกไว้ว่าประชาชนไทยทุกคนที่ใช้สิทธิในระบบบัตรทองทุกคนหรือแม้แต่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมก็คือเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เงินทุกบาทที่นำมาใช้จ่ายคือภาษีของราษฎร ส่วนการออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าว เราพอรู้อยู่บ้างว่า สว. สส. หลายคนมีผลประโยชน์จากบริษัทยาข้ามชาติ ที่ไม่อยากให้เกิดระบบนี้ในประเทศไทย

จุดยืนสำคัญของรัฐบาลที่ต้องดำเนินการในเรื่องนี้คือ จัดให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างแท้จริง มีมาตรฐานและคุณภาพบริการเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดบริการให้พลเมืองในบัตรทอง บัตรประกันสังคม และข้าราชการ  และดำเนินการให้บุคคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ของโรงพยาบาลเอกชน ทำหน้าที่รักษาทุกคนด้วยมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่อ้างแต่ว่าได้เงินไม่เท่ากัน หรือมีระบบควบคุมการจ่ายเงินต่างกัน ก็จะไม่รักษาให้เหมือนกัน ซึ่งถือเป็นการไร้จรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างยิ่ง  รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับหมอ พยาบาล ในหน่วยบริการของกระทรวง และตามต่างจังหวัดที่ทำหน้าที่ตามจรรยาบรรณดูแลรักษาพ่อแม่พี่น้องของเราอยู่ทั่วประเทศอย่างจริงจัง รวมถึงควบคุมดูแลหมอที่ออกมาคัดค้านความพยายามของระบบบัตรทอง กับประกันสังคม ที่จะสร้างมาตรฐานและคุณภาพบริการร่วมกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าหมอที่ออกมาคัดค้านเหล่านี้มีผลประโยชน์ทั้งในการทำคลีนิกส่วนตัว หรือมีส่วนเกี่ยวข้องได้ผลประโยชน์จากโรงพยาบาลเอกชน

บุคลากรการแพทย์ทื่ออกมาให้ข้อมูลตอกย้ำความไม่เท่าเทียมของการให้บริการ หากพูดเพื่อให้มีการพัฒนาให้ทุกระบบเกิดการพัฒนาให้มีมาตรฐานการให้บริการที่เท่าเทียม ก็นับว่าท่านมีเจตนาดีที่จะตอบแทนคุณแผ่นดิน แต่หากเจตนาเป็นอื่น ก็น่าจะได้ทบทวนความคิดและการกระทำเสียใหม่

พรรคการเมืองต่างๆ ควรมีนโยบายที่จะปกป้องคุ้มครองระบบบัตรทองให้กับประชาชน ไม่ใช่พูดดูดีแต่ไม่ยอมทำอะไร ควรมีรัฐมนตรีสาธารณสุขที่เชื่อมั่นในระบบนี้และพร้อมจะดำเนินการให้เกิดมาตรฐานและบริการที่ดีกับประชาชนมากยิ่งขึ้น และควรให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานที่ไม่อยู่ในประกันสังคม ไม่ควรปล่อยให้สำนักงานประกันสังคมทำหน้าที่ซื้อบริการสุขภาพให้ผู้ประกันตนทั้งที่ไม่มีความเชี่ยวชาญ ควรให้ระบบหลักประกันสุขภาพดำเนินการดีกว่าเพื่อสร้างพลังการต่อรองกับโรงพยาบาลเอกชนได้ สำนักงานประกันสังคมควรมุ่งเน้นสร้างหลักประกันสังคมอื่นมากขึ้นโดยเฉพาะประกันว่างงาน สร้างฝีมือแรงงาน และบำนาญชราภาพ เพราะตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาเมื่อมีระบบบัตรทองทำให้ประชาชนไม่ต้องล้มละลายจากความเจ็บป่วยอีกเลย งานวิจัยของทีดีอาร์ไอ ยืนยันไว้ตลอดมารวมถึงผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติด้วย ต่อจากนี้ไปเครือข่าย 9 ด้านของเราจะรณรงค์ให้สมาชิกเครือข่ายทั่วประเทศสอบถามนักการเมืองทุกพรรคที่ลงสมัครว่ามีนโยบายนี้อย่างไร เราจะเลือกคนที่จริงใจกับเราเท่านั้น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข่าวดีของลุงสุจิต: มวลชนไม่ทิ้งกัน พรรคอย่าทิ้งมวลชน

Posted: 11 May 2011 08:40 AM PDT

หน้าห้องพิจารณาคดีที่ 7 ชั้น 2 ตึกศาลยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่ มีคนกลุ่มหนึ่งมาเจอกัน โดยแทบจะไม่มีใครรู้จักกันมาก่อน พวกเขามาเพราะเชื่อมั่นว่า “เราไม่ทอดทิ้งกัน”

ลุงสุจิต อินทชัยและป้าศรีบุตร์ผู้เป็นภรรยานั่งรออยู่หน้าห้องด้วยสีหน้าวิตกกังวล ลุงกำลังจะเข้าฟังศาลอ่านคำพิพากษา นิกรเพื่อนของลุงสุจิต ผู้ถูกดำเนินคดีเสื้อแดงอีกคนนั่งหน้าหม่นไม่ต่างกัน เขาขี่มอเตอร์ไซค์มาจาก อ.แม่ออนเพื่อมาให้กำลังใจลุง ทนายอาสาสองคนจากกลุ่มยุติธรรมล้านนาปรึกษาหารือกันเรื่องจะหาเงินประกันตัวจากไหนหากลุงถูกตัดสินจำคุก อาสาสมัครจากศปช. (ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53) และนักกิจกรรมหญิงซึ่งพยายามจัดตั้งกลุ่มครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมืองยืนลุ้นตัวโก่งอยู่หน้าห้อง เกือบได้เวลาอ่านคำพิพากษา ทนายของลุงคือคุณกิตติไกร ไกรคุ้ม ซึ่งไม่มีใครเคยเจอมาก่อนก็เดินทางมาถึง

ทนายและลุงสุจิตเข้าไปฟังคำพิพากษาแล้วกลับออกมาบอกข่าวดีด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม สรุปว่าศาลสั่งปล่อยตัว
ลุงสุจิต อินทชัย อายุ 57 ปี เรียนจบ ป.4 ประกอบอาชีพรับจ้างขนของที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ เข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงตั้งแต่ปี 2552 โดยสมัครเป็นการ์ดให้กับกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 ลุงสุจิตถูกจับกุมตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2553และถูกคุมขังเป็นเวลา 6 เดือน ก่อนที่จะมีโอกาสได้ขึ้นศาลไต่สวนในเดือนธันวาคม 2553และได้รับการประกันตัวออกมาพร้อมกับนิกรด้วยเงินกองทุนยุติธรรม  พร้อมเงื่อนไขปรองดองที่รัฐบาลคู่กรณีวางให้เดิน
           
ระหว่างที่ลุงอยู่ในคุก ภรรยาและลูกชายจะไปเยี่ยมสัปดาห์ละครั้ง ฝากเงินให้ลุงไว้ใช้จ่ายครั้งละ 500-1,000 บาท ป้าเล่าว่า “ตำรวจมาจับตัวลุงไปตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. 53 มาตอน 7 โมงเช้า ลุงยังไม่ตื่น ป้าขึ้นไปปลุก แล้วเขาก็เอาตัวลุงซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ไป ลุงเขาชอบไปชุมนุม ใส่เสื้อแดง โพกผ้าแดง เอาธงแดงติดรถมอเตอร์ไซค์ ป้าห้ามก็ไม่ฟัง ลุงว่าทำเพื่อลูกเพื่อหลาน ช่วงวันที่ 10 มีนาก็ไปชุมนุมที่กรุงเทพด้วยสิบกว่าวัน ลุงขอเงินป้าไป เราเป็นห่วงแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ลุงมีโรคประจำตัวต้องกินยาจากโรงพยาบาลสวนปรุงทุกวัน ไม่กินจะเพี้ยน”
           
โชคดีที่ทนายกิตติไกร เพื่อนบ้านของลุงเข้ามาช่วยเหลือว่าความให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
            “
ผมรู้จักกับลุงมาก่อน ลุงนิสัยดี ป้าเขามาขอให้ผมช่วย ไปเยี่ยมผมยังต้องเอามาม่าไปฝากเป็นลัง มาศาลก็เลี้ยงข้าว และให้ค่าน้ำมันลุงด้วย ลุงเขามีอาชีพรับจ้าง รายได้น้อย”
 
ทนายสรุปคำพิพากษาให้ฟังว่า ลุงสุจิตไปร่วมชุมนุมตั้งแต่ต้นที่โรงแรมแกรนด์วโรรส ย้ายมาที่สถานีรถไฟ และวันเกิดเหตุที่มีการเผาจวนผู้ว่า ตู้สัญญาณจราจร และรถดับเพลิง 2 คัน ลุงก็ตามไปด้วย ลุงรับสารภาพว่าไปจริง และก็ผิดจริง เพราะมีประกาศ พรก.ฉุกเฉินอยู่แล้ว แกจึงผิดฐานร่วมชุมนุม ก่อความวุ่นวาย และเผายาง ซึ่งแกก็เผายางจริง ส่วนข้อหาอื่นที่ลุงไม่ได้ทำ ลุงก็ต่อสู้ คือข้อหาทำลายตู้สัญญาณไฟจราจร เผารถดับเพลิง ซึ่งค่าเสียหายตามที่ฟ้องมาคือ 10.8 ล้าน แต่ศาลยกฟ้องเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ  คดีที่ลุงรับสารภาพ ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาท ลุงรับสารภาพลดโทษเหลือ 1 ปี ปรับ 10,000 แต่จำคุก 6 เดือนให้รอลงอาญาไว้ก่อน เพราะศาลเห็นว่าลุงอายุมากแล้วและไม่เคยมีประวัติ ประกอบกับพฤติการณ์ตอนเกิดเหตุคือการชักจูงกันมาจึงได้มาร่วมด้วย ส่วนค่าปรับลุงไม่ต้องเสียอีก เพราะแกติดคุกมาหกเดือน การอยู่ในเรือนจำ เขาจะหักชดเชยให้วันละ 200 บาท มันก็เกินจากที่ลุงจะต้องเสียค่าปรับ แต่ก็ต้องดูว่าอัยการจะอุทธรณ์ต่อหรือไม่

กลับบ้านเย็นนี้ลุงสุจิตต้องทำกับข้าวเลี้ยงทนายกิตติไกรเป็นการตอบแทนที่ช่วยว่าความให้ (แต่ทนายเป็นคนซื้อและออกค่ากับข้าว ส่วนแกเป็นคนทำ-ฮา) “ผมเสียพระเครื่องไปสององค์ให้ทนาย แกไม่คิดเงินผม” ลุงยังยิ้มไม่หุบ ลุงบอกว่า “รู้สึกดีใจมาก โล่งใจ ตอนอยู่ในคุก เครียดมาก อยากออกมาลุย รัฐบาลมันสองมาตรฐาน มันไม่เป็นธรรม อยากต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม” 

เมื่อถูกถามว่าคุ้มหรือที่ต้องถูกจำคุก ลุงตอบอย่างมั่นใจว่า “ผมคิดว่าผมคุ้ม เราได้ประชาธิปไตยคืนมาแล้ว ยุบสภาแล้ว ลองดูกันอีกครั้ง จะไปเลือกตั้งแน่นอน เลือกพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว” 
ลุงฝากถึงพรรคเพื่อไทยว่า “ขอให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงเกินสามร้อย ขอให้มีนโยบายที่ช่วยคนรากหญ้าคนที่มีรายได้ต่ำให้พอมีพอกิน ถ้าได้เป็นรัฐบาลแล้วก็อยากให้ช่วยดูแลให้กระบวนการยุติธรรมมีความเป็นธรรม ไม่เป็นสองมาตรฐานเช่นที่ผ่านมา” ส่วนคนเสื้อแดงที่ยังอยู่ในคุก ลุงฝากว่า “ขอให้เพื่อนเสื้อแดงทุกคนสบายใจ รักษาสุขภาพให้ดี อย่าได้ห่วงเรื่องข้างนอก จะหาทางช่วยกันเอง อดทนเอาไว้” 
ชีวิตวันข้างหน้า ลุงสุจิตฝันอยากได้รถพ่วงสักคันเอาไว้ประกอบอาชีพค้าขาย เพราะตนแก่มากแล้ว ไม่สามารถเป็นกรรมกรรับจ้างได้ตลอดไป ถ้าทางนปช.ช่วยเยียวยาเรื่องนี้ได้ ลุงจะดีใจมาก หลังพิจารณาคดีเสร็จสิ้นนิกรพาลุงไปเปิดบัญชีธนาคารและเอาแบบฟอร์มรับการช่วยเหลือเยียวยาให้ลุงกรอก เขายิ้มแย้มยินดีกับอิสรภาพของลุงสุจิต แม้ยังไม่รู้ชะตาชีวิตของตนเอง นิกรเป็นคน อ.แม่ออน ถูกฟ้องคดีเดียวกับลุงสุจิต เขารับสารภาพ ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี ลดโทษเหลือ 1 ปี ปรับ 3,000 บาท ให้ไปรายงานตัวสำนักงานคุมประพฤติ 1 ปี 4 ครั้ง แต่อัยการยังคงยื่นอุทธรณ์ต่อ แม้ว่าศาลชั้นต้นจะอ่านคำพิพากษาไปตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

 

นอกจากลุงสุจิตและนิกรแล้ว กลุ่มยุติธรรมล้านนายังมีคดีของคนเสื้อแดงอยู่ในมืออีกกว่า 40 คดี และมีทนายอาสาสมัครอีก 25 คนที่อาสาทำคดีให้กับผู้ต้องหาเสื้อแดงโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

...เช้านี้ที่ศาลยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับข่าวดีของลุงสุจิต ความหมายของข้อความ “เราไม่ทอดทิ้งกัน” ได้ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดผ่านภาพการมารวมตัวกันของมวลชนคนธรรมดา ทั้งผู้ต้องขัง ผู้ต้องหา ญาติ ทนายอาสาและนักกิจกรรม

วันที่ 3 ก.ค. ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วัน ในฐานะมวลชนผู้ตื่นตัวทางการเมืองและผ่านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาอย่างโชกโชน พวกเขาจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้หายอยาก อย่างไม่จำเป็นต้องถาม แน่นอนว่าพวกเขาเลือกพรรคเพื่อไทย คำถามที่เหลือจึงมีเพียงว่า เมื่อมวลชนไม่ทอดทิ้งกันและไม่ทอดทิ้งพรรค สุดท้ายพรรคจะทอดทิ้งมวลชนหรือไม่   

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ค้านกรมอุทยานฯ เดินหน้าตัดถนนกันแนวเขตป่าเทือกเขาบรรทัด ผ่าสวนยางชาวบ้าน

Posted: 11 May 2011 03:45 AM PDT

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด เคลื่อนยื่นหนังสือหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด-ผู้ว่าฯ ตรัง ค้านโครงการตัดถนนเพื่อตรวจป่าห่วงกระทบทรัพยากรและวิถีชีวิตของชุมชน ทั้งยังผ่านพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนตามนโยบายรัฐบาล

 
 
 
 
ภาพ: Bandita Hari 
จากกรณีกรมอุทยานฯ เดินหน้าตัดถนนกันแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ในพื้นที่สวนยาง และป่าหัวสวน (หย่อมป่าในพื้นที่ชุมชน) ในพื้นที่บ้านยูงงาม หมู่ 1 ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว บ้านลำพิกุล บ้านลำขนุน หมู่ 4 และหมู่ 8 ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว และ ต.ช่อง อ.นาโยง ระยะทาง 15 กม.กว้างประมาณ 5 เมตร ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วในระยะทางประมาณ 5 กม.โดยเจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผยข้อมูลวัตถุประสงค์และรายละเอียดของโครงการ เพียงบอกชาวบ้านว่าตัดถนนเพื่อตรวจป่า ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ขณะที่ตัดผ่ากลางสวนยางของชาวบ้าน
 
เมื่อวันที่ 10 พ.ค.54 ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดพร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่ ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวต่อ นายคม ไชยภักดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด เนื่องจากห่วงว่าการกระทำดังกล่าวจะกระทบต่อทรัพยากรและวิถีชีวิตของชุมชน และก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือต่อนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 6 พ.ค.54 ขอให้ผู้ว่าฯ มีคำสั่งเป็นหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ยุติการก่อสร้างถนนหรือกระทำการใดๆ ในพื้นที่ทันที  พร้อมให้ชี้แจงวัตถุประสงค์ รวมทั้งรายละเอียดโครงการแก่เครือข่ายฯ เป็นหนังสือภายใน 15 วัน เพื่อให้ชุมชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และสามารถกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน
 
ทั้งนี้ ข้อมูลของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ระบุว่า การดำเนินการของกรมอุทยานฯ ไม่มีการชี้แจง หรือเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และรายละเอียดของโครงการ ขณะที่ตัดถนนผ่านที่ดินทำกินดั้งเดิมของชุมชน โดยพื้นที่โครงการส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านยูงงาม, บ้านลำพิกุุล และบ้านลำขนุน ซึ่งคณะกรรมการประสานงานโฉนดชุมชน ได้คัดเลือกให้พื้นที่โฉนดชุมชนบ้านลำขนุน เป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนตามนโยบายรัฐบาล และทางเครือข่ายได้เสนอให้สำนักงานโฉนดชุมชนคัดเลือกพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านลำพิกุลและบ้านลำขนุน เป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนด้วย
 
นอกจากนี้ การไถดันปรับพื้นที่บนเชิงเขาและเนินเขา ซึ่งเป็นพื้นที่สูงจึงจะส่งผลต่อระบบนิเวศน์ของดิน สายน้ำ และพื้นที่ป่า หากมีฝนตกหนักดินและหินที่ถูกไถจะไหลลงสู่ลำห้วยทำให้ลำห้วยตื้นเขิน ทิศทางน้ำจะเปลี่ยนและอาจทำให้เกิดดินถล่ม น้ำป่าไหลหลากลงมา จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านหลายสิบชุมชน ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว และอ.ปะเหลียน รวมทั้งตัวเมืองตรังซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มด้านล่าง
 
การตัดถนนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ อีกทั้ง ยังทำให้ชาวบ้านหลายรายต้องสูญเสียพื้นที่สวนยาง อีกทั้งยังมีข้อกังวลด้วยว่า หากเป็นการตัดถนนเพื่อกันแนวเขตป่าแล้ว ชาวบ้านจะยังสามารถเข้าไปทำกินในพื้นที่สวนยาง ซึ่งถูกกันแนวเขตเป็นป่าได้อีกหรือไม่
 
ล่าสุดวันนี้ (11 พ.ค.54) ข่าวสดออนไลน์ รายงานข่าวว่า นายคม ชัยภัคดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ได้ลงพื้นพบปะกลุ่มชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหว พร้อมชี้แจงว่า กรณีนี้เกิดมาจากความเข้าใจผิด ซึ่งโครงการตัดถนนในครั้งนี้ ดำเนินการโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีขนาดกว้าง 4 เมตร ระยะทาง 15 กิโลเมตร เป็นลักษณะเส้นทางลำลอง ด้วยการใช้รถแทรกเตอร์เปิดหน้าดิน เพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าไปได้ และตัดขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างเขตป่าไม้กับเขตชาวบ้าน จึงมีต้นไม้ใหญ่น้อยมาก และส่วนใหญ่จะมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม
 
นายคม กล่าวด้วยว่าการตัดถนนสายนี้เพื่อเป็นการแบ่งเขตพื้นที่ให้ชัดเจน และเพื่อความสะดวกในการเดินทางของชาวบ้าน หรือการทำงานของเจ้าหน้าที่ ล่าสุดสามารถตัดถนนได้แล้ว 5 กิโลเมตร ในพื้นที่ ต.โพรงจรเข้ แต่เมื่อตัดเพิ่มมาได้แค่ 200 เมตร ในพื้นที่ ต.นาชุมเห็ด และเตรียมจะตัดต่อไปในพื้นที่ ต.ช่อง อีก 5 กิโลเมตร กลับถูกกลุ่มชาวบ้านร้องเรียนไปถึง ผวจ.ตรัง จึงจำเป็นต้องชะลอโครงการ และเข้าไปทำความเข้าใจในพื้นที่ ทั้งๆ ที่ก่อนเริ่มดำเนินการ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เข้าใจกันดีแล้ว
 
ส่วนข้อกังวลว่าการตัดถนนจะสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมนั้น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดขอยืนยันว่า ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่วิศวกร กรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นอย่างดี โดยเลือกดำเนินการเฉพาะในเส้นทางที่จำเป็น และมีผลกระทบน้อยที่สุด ฉะนั้นขอให้กลุ่มอนุรักษ์เกิดความสบายใจได้  ขณะที่เรื่องสิทธิ์ในการทำกินของชาวบ้านก็ยังเป็นปกติ ไม่มีการนำเรื่องนี้มาอ้างเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งใด พร้อมเชื่อว่าหลังจากทำความเข้าใจในครั้งใหม่แล้ว ทุกอย่างคงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรรมการสิทธิฯ เยี่ยม ‘สมยศ’ ในเรือนจำ เตรียมเรียก ‘สมศักดิ์ ’ให้ข้อมูล ถกการใช้ ม.112

Posted: 11 May 2011 03:43 AM PDT

 
ภาพ: น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
10 พ.ค.54 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เวลาประมาณ 14.00 น. น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองได้เดินทางเข้าเยี่ยมนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บก.นิตยสารเรด พาวเวอร์ ที่ถูกจับกุมและคุมขังในข้อหาหมิ่นสถาบัน (รายละเอียดในข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ
น.พ.นิรันดร์ให้สัมภาษณ์ว่า อนุกรรมการเดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังจากมีกลุ่มนักวิชาการและกลุ่มรณรงค์ทางการเมืองยื่นเรื่องร้องเรียนว่ามีการใช้มาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรมในกรณีนายสมยศ และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์จากศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีของสมศักดิ์นั้นจะมีการเชิญมาให้ข้อมูลในสัปดาห์หน้า สำหรับการเข้าเยี่ยมสมยศนั้นได้มีการหารือถึงสิทธิในการประกันตัว ซึ่งอนุกรรมการเห็นว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหา อย่างไรก็ตาม ต้องใช้เวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับข้อมูลกระบวนการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ด้วย รวมทั้งระดมสมองหลายๆ ฝ่ายเพื่อหาทางออก คาดว่าคงใช้เวลาไม่นานนัก รวมถึงอาจต้องมีการจัดเวทีสาธารณะอภิปรายในประเด็นนี้
ส่วนสภาพความเป็นอยู่ของสมยศนั้น ขณะนี้เริ่มปรับตัวได้ หลังจากก่อนหน้านี้มีความเครียดสูง นอกจากนี้อนุกรรมการฯ ยังได้เยี่ยมนายอำพล ตั้งนพกุล หรือ “อากง” วัย 61 ปีที่มีโรคประจำตัว เขาถูกตั้งข้อหาหมิ่นฯ จากการส่งเอสเอ็มเอส ซึ่งเคยได้ประกันตัวในชั้นสอบสวนและถูกคุมตัวอีกครั้งในชั้นพิจารณาคดี
ผู้สื่อข่าวถามว่าอนุกรรมการฯ มองการใช้กฎหมายมาตรา 112 ในภาพรวมอย่างไร น.พ.นิรันดร์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวและง่ายที่จะนำไปสู่ความรุนแรงโดยเฉพาะในสถานการณ์ใกล้เลือกตั้ง ที่ไม่ว่าการใช้มาตรา 112 การรัฐประหาร การใช้อำนาจนอกระบบ ล้วนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงทั้งสิ้น
เมื่อถามถึงรายงานกรณีที่อนุกรรมการฯ เคยตรวจสอบกรณีคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังด้วยข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวนหลายร้อยคนในเรือนจำทั่วประเทศนั้น น.พ.นิรันดร์กล่าวว่า อนุกรรมการฯ ได้เดินทางเก็บข้อมูลในเรือนจำ 14-15 แห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม รายงานนั้นไม่สำคัญเท่ากับกระบวนการที่อนุกรรมการฯ ทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามว่าผู้ต้องหาทั้งหมดได้รับการประกันตัว หรือยังติดขัดในส่วนไหน
 ทั้งนี้ นอกจากการหารือกันระหว่างคณะอนุฯ และสมยศแล้ว สมยศยังได้เขียนหนังสือด้วยลายมือเตรียมไว้เพื่อมอบให้ น.พ.นิรันดร์ด้วย เป็นหนังสือร้องเรียนที่บอกเล่าเรื่องราวก่อนและหลังการถูกดำเนินคดี และความเห็นว่ามีการใช้มาตรานี้อย่างไม่เป็นธรรม ในตอนท้ายของจดหมายังระบุว่าขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้คณกรรมการสิทธิมนุษยชนมีความกล้าหาญทางจริยธรรมเพื่อทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย นอกจากนี้ตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตยที่รออยู่ด้านนอกก็ได้ยื่นหนังสือกับ น.พ.นิรันดร์เพื่อร้องเรียนและชี้แจงกรณีการใช้มาตรา 112 เช่นเดียวกัน
 
 
 
 
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยบนทางแยก

Posted: 11 May 2011 02:17 AM PDT

 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ครั้งที่ 6 เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่เคยขึ้นทะเบียนจากกัมพูชา ลาว และพม่า ที่ทำงานในประเทศไทยได้เข้าสู่การจดทะเบียน คาดว่าประมาณร้อยละ 85 ของแรงงานจะเป็นแรงงานจากประเทศพม่า

หน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมกันวาง แผนการจดทะเบียนรงงานข้ามชาติครั้งนี้ ควรวาง แผนเพื่อให้ แน่ใจว่ามีการให้ข้อมูลและประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงให้แรงงานข้ามชาติและนายจ้างปฏิบัติตามอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับการจดทะเบียนครั้งก่อนๆ หากรัฐบาลไทย ล้มเหลวในการจัดลำดับความสำคัญการเพิ่มความรับรู้ของประชาชน หรือการลงทะเบียนเปิดให้ดำเนินการด้วยระยะเวลาที่สั้นเกินไป สับสน ไม่โปร่งใส และมีราคา แพง ประสิทธิภาพของการจดทะเบียนจะถูกลดทอน ดังนั้นจึงผู้ขอแนะนำอย่างยิ่งให้ดึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม

แรงงานข้ามชาติที่จะจดทะเบียนใหม่ในรอบนี้จะเปลี่ยนจากสถานะ 'ไม่มีเอกสารและผิดกฎหมาย' เป็นสถานะ “มีเอกสารและกึ่งถูกกฎหมาย' บางที ขณะนี้อาจมีการลักลอบนำพาคนผ่านพรมแดนและมีกระ แสคนไหลออกจากค่ายผู้ลี้ภัยชายแดน เป็นที่ยอมรับโดยไม่มีข้อสงสัยว่า แรงงานข้ามชาติจำนวนมากในประเทศไทยยังคงที่ไม่มีเอกสารพิสูจน์บุคคล กลุ่มที่มีเอกสารพิสูจน์บุคคล มีทั้ง กลุ่ม 'กึ่งถูกกฎหมาย' ที่รอการพิสูจน์สัญชาติ (350,000 คน) และกลุ่ม ‘ถูกกฎหมาย’ ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ แล้ว (400,000 คน) และ กลุ่ม 'ถูกกฎหมาย แต่มีข้อผิดพลาด' (แรงงาน 150,000 คนที่ ได้ผ่านการพอสูจน์สัญชาติ แต่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน)

แรงงานข้ามชาติที่เพิ่งจดทะเบียนจะยังไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติทันที กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ คือกระบวนการที่ทำให้ แรงงานข้ามชาติ เป็น แรงงานที่ ‘มีเอกสาร และถูกกฎหมายเต็มที่’ การพิสูจน์สัญชาติ และการนำเข้า แรงงานเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายการควบคุมแรงงานข้ามชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ดังนั้นการตัดสินใจครั้งนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง เหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลไทยเปิดให้มีการจดทะเบียนเนื่องจากได้รับการร้องขอจากพม่า ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดจำนวน แรงงาน ข้ามชาติชุดใหม่ที่จะจดทะเบียนจะมีจำนวนเท่าใด ที่จะกลายเป็นแรงงาน ‘ถูกกฎหมายเต็มที่’ บางทีอาจจะต้องพิสูจน์สัญชาติ บางทีอาจจะไม่ต้อง รัฐบาลไทยยังคงใช้นโยบายการจัดการระยะสั้นกับแรงงานข้ามชาติ และเป็นการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของนายจ้าง แต่ดูเหมือนทางพม่าจะมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้น

ปัจจัยที่มีนัยสำคัญของมติคณะรัฐมนตรีคือการผลักดันการนำเข้า แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ตั้ง แต่ปลายปี พ.ศ. 2553 กระทรวงแรงงานประกาศ แผนนำเข้า แรงงานจากประเทศบังคลาเทศ และอินโดนีเซีย เพื่อทดแทนแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายที่จะถูกกวาดล้าง และผลักดันออกนอกประเทศ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี แต่กระบวนการนี้ไม่โปร่งใส และทำให้ทั้งนายจ้าง และนักสิทธิมนุษยชนออกมาประท้วง

ขณะนี้มีแรงงานนำเข้าเพียง 50,000 คน ตลอดเวลา 8 ปี จากประเทศเพื่อนบ้าน (และมีแรงงานจากประเทศพม่าเพียง 1,000 คน) รัฐบาลไทยอ้างว่า ภาวะขาดแคลนแรงงานกำลังคุกคามความมั่นคงของชาติ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างหนัก จึงต้องหาทางออกใหม่ๆ ฉีกออกไปจากเดิม มติคณะรัฐมนตรีกล่าวถึงการนำเข้า แรงงานจากกัมพูชา ลาว และพม่าเท่านั้น ทว่าภาคธุรกิจที่ต้องเสียค่าเดินทางทางอากาศเพื่อนำแรงงานจากประเทศรอบนอก และยังต้องรับมือกับความ แตกต่างทางวัฒนธรรมและปรับตัวกับแรงงานบังคลาเทศ และอินโดนีเซียที่ต้องเผชิญ อาจทำให้การนำเข้าแรงงานเหล่านี้ดูเป็นไปไม่ได้ แรงงานพม่ายังเป็นเป้าหมายพื้นฐานสำหรับปัญหาการขาด แคลน แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

ผู้ประกอบการไทยต้องการข้าง แรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือโดยด่วน แม้กระทั่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ยังยอมผ่อนปรนกฎเกณฑ์สำหรับบริษัทที่รับการส่งเสริม เพื่อให้จ้างแรงงานข้ามชาติได้ จากเดิมที่ต้องจ้างเฉพาะ แรงงานไทยเท่านั้น ประเทศพม่ายังไม่สามารถผลิต แรงงานรองรับความต้องการจากไทยได้ และเป็นไปไม่ได้ที่พม่าจะนำแรงงานถูกกฎหมายเข้าระบบได้พอเพียง ไม่มีใครสามารถคาดหวังว่าประเทศที่มีสถานภาพการพัฒนาต่ำ และไม่มีศักยภาพการพัฒนาการจัดการการย้ายถิ่นฐานจะสามารถส่ง แรงงานข้ามชาติ ‘ถูกกฎหมาย’ เข้ามาโดยเร็ว

หากแรงงานข้ามชาติจากพม่าไม่ได้รับสถานะการเข้าเมืองถูกกฎหมายเมื่อเดินทางเข้าประเทศไทย รัฐบาลไทยก็มักอ้างว่าจะไม่สามารถ แก้ปัญหาที่ตามมาได้ จากมุมองสิทธิมนุษยชนนานาชาติ เมื่อคนงานเข้ามาประเทศใด คนงานก็คือคนงาน ระบบราชการไทย และมุมมองด้านความมั่นคงของชาติที่ดู แลนโยบายเกี่ยวกับ แรงงานข้ามชาติไม่ได้มองอย่างนั้น แน่นอนว่าแรงงานข้ามชาติจะประสบการละเมิดสิทธิจากมุมมองดังกล่าว

ลำดับเหตุการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นวงจร ความสับสนด้านนโยบายการจัดการแรงงานที่ย่ำแย่ ไม่มีแผนระยะยาว และสอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ แรงงานข้ามชาติ 2-3 ล้านคน ประชาคมนานาชาติเริ่มตระหนักถึงสถานการณ์เหล่านี้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านการค้ามนุษย์ และบังคับใช้ แรงงาน นายจ้างที่ประพฤติชอบ และพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงของมนุษย์สำหรับประเทศ และประชาชนไทย ย่อมถูกสั่นคลอนไปด้วย นิติรัฐถูกบั่นทอนให้อ่อน แอ และการทุจริตเป็นปัญหาเรื้องรังสำหรับการนายจ้างหลายคนชอบวิธีนี้มากกว่าความยุ่งยาก และซับซ้อนในการจดทะเบียน แรงงาน การจับกุม ผลักดันแรงงานต่างด้าวออกนอกประเทศมักพัวพันกับเครือข่ายที่รีดไถเงินจากแรงงานข้ามชาติ ที่ไม่มีเอกสาร และวงจรส่งแรงงานข้ามชาติให้ผู้ค้ามนุษย์หรือผู้ลักลอบนำเข้า แรงงานผิดกฎหมาย ไม่นานแรงงานข้ามชาติก็เดินทางกลับสู่ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับแรงงานข้ามชาติ การจดทะเบียน โดยเฉพาะหลังการพิสูจน์สัญชาติ เพิ่มความมั่นใจให้แรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อแรงงานต้องการเรียกร้องสิทธิ ตามหลักการแรงงานข้ามชาติจะได้รับความคุ้มครองจากการถูกจับกุม และรีดไถ รวมทั้งได้รับการคุ้มครองว่าจะเข้าถึงประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพด้วย อย่างไรก็ตาม การประท้วงหมู่ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่เพิ่มขึ้น เพราะแรงงานถือว่าตนเองเข้ามาอย่าถูกกฎหมายทุกประการ เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องดำเนินการอย่างดี เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น จากการที่แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ และนายจ้างที่ละเมิดสิทธิของแรงงานในอนาคต

การเข้าไม่ถึงสิทธิที่ปรากฏในทางปฏิบัติ ไม่ว่า แรงงานข้ามชาติจะมีสถานะอย่างไรก็ตาม และข้อกำหนดที่แรงงานจะต้องขึ้นทะเบียนกับนายจ้างรายเดียวโดยไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ ไม่สร้าง แรงจูงใจให้จดทะเบียน แรงาน สำหรับ แรงงาน และนายจ้าง ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนที่สูง การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการที่ซับซ้อน และการขาดการบังคับใช้กฎหมายเพื่อเอาผิดนายจ้าง และลูกจ้างที่ไม่จดทะเบียน และที่สำคัญที่สุดคือในทางปฏิบัติการขึ้นทะเบียนไม่สามารถป้องกันการรีดไถของเจ้าหน้าที่รัฐทำให้แรงจูงใจในการจดทะเบียนมีน้อย นายจ้างบางรายเท่านั้นที่ยินดีนำ แรงงานไปจดทะเบียน แทนการจ่ายเงินใต้โต๊ะ และการทุจริตหากไม่พาแรงงานไปจดทะเบียน

การกลับลำและเปิดให้มีการจดทะเบียน แรงงานสำหรับแรงงานที่ไม่มีเอกสารเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ในฐานะวิธีการที่จะจัดการการเอารัดเอาเปรียบ แรงงานข้ามชาติ รัฐบาลไทยเริ่มก้าวต่อไปในด้านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และการนำเข้า แรงงานข้ามชาติใหม่ เป็นที่น่าสรรเสริญเช่นกัน เพราะอาจเป็นการเปิดโอกาสให้มีการจัดระบบการย้ายถิ่นฐานตามปกติ และพัฒนาสถานะที่ดีขึ้นสำหรับ แรงงานข้ามชาติ ทำให้พวกเขาสามารถเรียกร้องสิทธิ และได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าเดิมจากนายจ้าง แต่โดยรวม แล้วระบบการจัดการการย้ายถิ่นในประเทศไทยยังดำเนินไปด้วยความผิดพลาด

ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายการอพยพย้ายถิ่นฐานระยะยาว ที่สามารถผนวกปัจจัยด้านความมั่นคงของมนุษย์ ความมั่นคงของชาติ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจไว้ด้วยกันได้ คณะกรรมการบริหาร แรงงานต่างด้าว (กบร.) ซึ่งเป็นองค์กรร่มของ 22 หน่วยงาน นับว่าทำงานได้อย่างน่าผิดหวัง และยังมีประสิทธิภาพต่ำเกินกว่าที่จะจัดการความท้าทายในประเด็นการย้ายถิ่นต่างๆ ได้ ดังนั้น การที่มติคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ปฏิรูปโครงสร้าง กบร. และให้ตั้งสำนักงานในระดับจังหวัด จึงเป็นโยบายที่แก้ปัญหาได้ทันเวลา และน่ายินดีอย่างยิ่ง แต่ผลจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการนำไปปฏิบัติ

องค์การะหว่างประเทศและสถานทูตควรสนับสนุนให้รัฐบาลไทยพัฒนานโยบายการย้ายถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอาเซียนควรพิจารณาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นพม่า เพื่อให้มีการจัดการการย้ายถิ่นจากประเทศต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ ทดแทนการลักลอบนำและการค้ามนุษย์ที่เราเห็นทุกวันนี้ ผู้มีบทบาทด้านการย้ายถิ่นควรจะสนับสนุนให้พม่าเพิ่มบทบาทของตนเอง ในการช่วยพัฒนานโยบายการย้ายถิ่นในประเทศไทยด้วยหรือไม่ คำถามนี้เป็นประเด็นอ่อนไหว และคำตอบย่อมอ่อนไหวยิ่งกว่า

สิ่งที่น่าจะสร้างความตกลงได้ง่ายกว่านั้น คือการที่อาเซียนต้องมีบทบาทเป็น แกนกลางในการอภิปรายเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย แม้ว่ากรอบการดำเนินการเรื่องการย้ายถิ่นในอาเซียนยังอยู่ในภาวะชะงักงัน และมีประเด็นที่อ่อนไหวเกี่ยวกับสมาชิกประเทศที่เป็นปัญหา องค์การสหประชาชาติ และ สถานทูตต่างประเทศ ที่สนับสนุนนโยบายการย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย ควรขยายกรอบการอภิปรายว่าอะไรเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพื่อแสวงหาวิธีที่จะช่วยเหลือใหม่ๆ ต่อไป สถานทูตของ แรงงานข้ามชาติจากประเทศต้นทางควรมีบทบาทในการช่วยเหลือ แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

นี่คือความท้าทายแท้จริงสำหรับรัฐบาลไทยในก้าวไปข้างหน้ากับนโยบายการย้ายถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการกับเป้าหมายคือเจ้าหน้าที่พม่า แต่ผลประโยชน์ของแรงงานต้นทุนต่ำที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยมาพร้อมกับความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนงานดังกล่าวมาจากประเทศพม่า รัฐบาลไทยต้องเพิ่มความพยายามมากขึ้น หากต้องการให้สถานการณ์แรงงานข้ามชาติที่ตกต่ำดีขึ้น รัฐบาลไทยต้องเริ่มการปรับปรุงที่นี่ การแก้ปัญหานี้ควรจะมีมุมมองสิทธิมนุษยชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้แรงงานข้ามชาติพม่า ผู้อยู่เบื้องหลังการอภิปรายที่ซับซ้อน ณ ที่นี้ ไม่ถูกลืม

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

อานดี้ โฮลล์ ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ สถาบันวิจัยประชากร และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมช. ห้ามนักเคลื่อนไหวพม่าจัดกิจกรรมในเชียงใหม่ - เล็งเบรคงานวันเกิดออง ซาน ซูจี

Posted: 11 May 2011 01:55 AM PDT

สภาความมั่นคงแห่งชาติสั่งห้ามนักเคลื่อนไหวพม่าจัดกิจกรรมในเชียงใหม่ โดยคำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังรัฐบาลพม่าที่เนปิดอว์ร้องขอมายังรัฐบาลไทยโดยตรง ขณะที่การจัดงานวันเกิดออง ซาน ซูจีวันที่ 19 มิ.ย. นี้ก็จะถูกสั่งห้ามเช่นกัน

สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า ขณะนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้สั่งห้ามนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวพม่าจัดกิจกรรมการเมืองในจังหวัดเชียงใหม่ โดยคำสั่งห้ามดังกล่าวออกมาบังคับใช้หลังจากที่รัฐบาลเนปีดอว์ได้ขอร้องมายังทางการไทยโดยตรง

นอกจากนี้ ยังมีจากสาเหตุที่รัฐบาลพม่าได้รับข้อมูลว่า กองกำลังชนกลุ่มน้อยมีแผนจะจัดประชุมที่โรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ระหว่างวันที่ 3 – 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลพม่าได้ส่งจดหมายคัดค้านมายังรัฐบาลไทยทันที

ด้านเจ้าหน้าที่ไทยซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “คำสั่งดังกล่าวออกมาจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นเพราะรัฐบาลพม่าได้รับข้อมูลมาว่า กลุ่มสภาสหพันธรัฐแห่งชาติสหภาพ หรือกลุ่ม UNFC (United Nationalities Federal Council) มีแผนจะจัดการประชุมในเชียงใหม่ เราไม่รู้ว่าใครให้ข้อมูลนี้แก่รัฐบาลพม่า แต่ดูเหมือนว่า น่าจะมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มแจ้งเรื่องนี้ให้กับรัฐบาลพม่าทราบ

ขณะที่กลุ่ม UNFC หรือ สภาสหพันธรัฐแห่งชาติสหภาพ ประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ 12 กลุ่ม มีทั้งกลุ่มที่ทำและไม่ทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า เช่น กองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independent Army) พรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party - NMSP) กองทัพรัฐฉานเหนือ (Shan State Army – SSA-N) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี (Karenni National Progressive Party) กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติชิน (Chin National Front - CNF) และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) เป็นต้นมีรายงานด้วยว่า การจัดงานวันเกิดของนางอองซาน ซูจี ในวันที่ 19 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ก็ถูกสั่งห้ามด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมไปถึงการจัดประชุมต่างๆ ของนักเคลื่อนไหวจากพม่า เช่นเดียวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในจังหวัดเชียงใหม่ก็มีคำสั่งให้ทางโรงแรมต่างๆในเชียงใหม่แจ้งให้ทราบ หากพบว่ามีการจัดประชุมที่น่าสงสัยจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวพม่าเช่นเดียวกัน (Irrawaddy 9 พ.ค.54)

 
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'สมศักดิ์ เจียมฯ' รับทราบข้อกล่าวหา 112 เบื้องต้นปฏิเสธ-พร้อมสู้คดี

Posted: 10 May 2011 10:43 PM PDT

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล รับทราบข้อกล่าวหา 112 ที่ สน.นางเลิ้ง ท่ามกลางประชาชน-สื่อไทย-เทศรอทำข่าว เบื้องต้นปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมสู้คดี ฝากติดตามผู้ต้องหาที่ไม่ได้สิทธิประกันตัวด้วย ด้านทหารอากาศที่โดนข้อหาโพสต์หมิ่นในเฟซบุ๊ก ดอดให้กำลังใจ

(11 พ.ค.54) เวลาประมาณ 09.30น. ที่ สน.นางเลิ้ง สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ตามที่ได้รับหมายเรียก โดยมีอาจารย์จากกลุ่มนิติราษฎร์ คือ สาวตรี สุขศรี และปิยบุตร แสงกนกกุล ร่วมเป็นพยานในการรับทราบข้อกล่าวหา นอกจากนี้ มีประชาชนซึ่งส่วนใหญ่สวมเสื้อสีแดงมาร่วมให้กำลังใจราว 50-60 คน พร้อมทั้งนักข่าวไทยและต่างประเทศที่มารอทำข่าวจำนวนมาก

สำหรับกิจกรรมในบริเวณ สน. มีการชูป้ายให้กำลังใจนายสมศักดิ์ รวมทั้งตะโกน "No Lese Majeste Law" ด้วย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการร้องเพลงหมู่ ที่นำโดย จิ้น กรรมาชน

จากนั้น เวลาประมาณ 11.00น. สมศักดิ์ได้เดินออกมาจากห้องพนักงานสอบสวนพร้อมทั้งชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวว่า วันนี้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา มาตรา 112 ซึ่งกองทัพบกเป็นผู้รองทุกข์กล่าวโทษ จากกรณีที่ตนได้เขียนบทความภาษาไทยเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ของเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ 2 ชิ้น ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ต่างๆ ราวปลายเดือนมีนาคม-เมษายน โดยในชั้นนี้ยังไม่ต้องมีการประกันตัว เบื้องต้นได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและพร้อมต่อสู้ในชั้นต่อไป โดยจะทำคำให้การอย่างเป็นทางการส่งให้เจ้าหน้าที่ภายในสองสัปดาห์นี้ เบื้องต้นมีศรัทธา หุ่นพยนต์ เป็นทนายความเฉพาะหน้า

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความมั่นใจในการสู้คดีมากน้อยเพียงใด สมศักดิ์ตอบว่า ค่อนข้างมั่นใจมากในต่อสู้คดี เพราะมาตรา 112 ไม่ได้ครอบคลุมถึงกรณีบทความของตน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่กองทัพบกเป้นผู้ฟ้องคดีเอง ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป สะท้อนสภาวะการเมืองอย่างไรหรือไม่ สมศักดิ์กล่าวว่า อยากให้ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่ากองทัพมีหน้าที่ปกป้องประเทศตามนโยบายรัฐบาล แล้วการฟ้องคดีนี้เป็นหน้าที่ของกองทัพหรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า การถูกดำเนินคดีนี้จะทำให้ลดบทบาทตนเองในการแสดงความเห็นหรือบรรยายสาธารณะเกี่ยวกับบทบาทสถาบันฯ หรือไม่ สมศักดิ์บอกว่า การฟ้องคดีนี้อย่างครอบจักรวาลในหลายกรณีทำให้ผู้คนหวาดกลัวที่จะพูด ในกรณีของตนนั้น ต้องทบทวนดูก่อน ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่ามีแนวโน้มในระยะหลังว่ารัฐใช้กฎหมายนี้อย่างพร่ำเพรื่อ ทั้งที่บางทีก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่พูดหรือแสดงความเห็น

ต่อคำถามว่า คิดว่าจะได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดีหรือไม่ สมศักดิ์กล่าวว่า ยังไม่ค่อยแน่ใจ อย่างการเอ็กเซอร์ไซส์ของกองทัพทุกวันในระยะนี้ก็เป็นเรื่องที่นอกเหนือกฎหมาย

ทั้งนี้ สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "อยากฝากให้ช่วยกันติดตามคดีของหลายๆ ท่าน อย่างคุณสมยศ อากง หรือใครก็ตามที่ไม่ได้รับการประกันตัวเลย ทั้งที่เป็นกระบวนการเริ่มแรก สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในทางสากล อยากให้ทุกท่านช่วยกันติดตามกรณีเหล่านี้ด้วย"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่สมศักดิ์เดินทางกลับ ประชาชนที่มาให้กำลังใจได้มอบดอกกุหลาบสีแดงให้กำลังใจพร้อมทั้งตะโกนว่า "อาจารย์เป็นตัวแทนของพวกเรา เป็นสัญลักษณ์ของพวกเรา ที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" "พวกเราจะอยู่เคียงข้างอาจารย์สมศักดิ์ๆ" ซึ่งสมศักดิ์ได้กล่าวขอบคุณผู้มาให้กำลังใจพร้อมย้ำอีกครั้งว่าให้ช่วยติดตามกรณีของคนอื่นๆ ที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวด้วยเช่นกัน



ทหารอากาศที่โดนข้อหาโพสต์หมิ่นในเฟซบุ๊ก ร่วมให้กำลังใจด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทหารอากาศนายหนึ่ง ยศนาวาอากาศตรี ซึ่งถูกกองทัพอากาศแจ้งความดำเนินคดีเมื่อวันที่ 4 พ.ย.53 กรณีที่มีการร้องเรียนจากนายทหารเรือนายหนึ่งว่าทหารอากาศผู้นี้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กที่อาจเข้าข่ายหมิ่นสถาบัน ได้เดินทางมาให้กำลังใจสมศักดิ์ด้วย โดยผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้ความสนใจกับคดีของเขาอย่างมาก

เขาให้สัมภาษณ์ว่า คดีของตนเอง ศาลทหารได้ให้พิจารณาเป็นการลับ และจะมีการสืบพยานโจทก์นัดแรก 14 ก.ค. ขณะนี้ ตนเองถูกสั่งพักราชการแล้วตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. หลังจากถูกสำรองราชการกว่า 6 เดือน

เขาแสดงความเห็นว่า มาตรา 112 เป็นการนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการนำมาจัดการกับผู้ที่มีความเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ เขายอมรับว่ากรณีของเขามีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในเฟซบุ๊กจริง แม้ว่าในแง่ของทหารแล้ว การวิจารณ์รัฐบาลเป็นการผิดระเบียบเพราะเป็นการวิจารณ์ผู้บังคับบัญชา แต่เขาวิจารณ์ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ส่วนการเชื่อมโยงไปถึงมาตรา 112 ค่อนข้างมั่นใจว่าจะสู้คดีได้ โดยยกตัวอย่างว่าเพราะเพียงแต่โพสต์เพลงถั่งโถมโหมแรงไฟ ก็ถูกนำไปเชื่อมโยงเป็นความผิดแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองก่อนหน้านี้หรือไม่ เขาตอบว่าไม่เคยเข้าร่วม เมื่อถูกถามว่า อะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้หันมาคานผู้มีอำนาจ เป็นเพราะรัฐประหารหรือไม่ เขาตอบว่า รู้สึกเฉยๆ กับการรัฐประหาร เพราะรู้อยู่แล้วว่าต้องเกิดขึ้น ส่วนจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทนไม่ได้ คือการฆ่าประชาชนของรัฐบาลเมื่อเม.ย.ปีที่แล้ว เพราะตนเป็นทหารประชาธิปไตย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผอ. ประชาไทรับรางวัลสื่อมวลชนสตรีประจำปี 2011

Posted: 10 May 2011 10:03 PM PDT

จีรนุช เปรมชัยพร ได้รับรางวัล The Courage in Journalism Award (ความกล้าหาญในการทำหน้าที่สื่อมวลชน) จาก International Women Media Foundation (IWMF-มูลนิธิสื่อสตรีนานาชาติ) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่สื่อมวลชนผู้หญิง ผู้มีความกล้าหาญและมุ่งมั่นในการประกอบวิชาชีพ

Adela Navarro Bello
Adela Navarro Bello

โดยผู้ได้รับรางวัลสื่อมวลชนสตรีที่มีความกล้าหาญประจำปี 2011 มีทั้งสิ้น 3 คนได้แก่ อเดลา นาวาโร เบลโล วัย 42 ปี เป็นผู้อำนวยการทั่วไปและคอลัมนิสต์ของนิตยสาร ซีต้านิวส์ ประเทศแมกซิโก ซึ่งเปิดโปงเรื่องความรุนแรงและคอร์รัปชั่นในบริวเณชายแดนของเมืองติฮวนนา (Tijuana) ซึ่งการนำเสนอรายงานดังกล่าวทำให้เธอกลายเป็นเป้าหมายของเครือข่ายค้ายาเสพติด

Parisa Hafezi
Parisa Hafezi

ปาริสา เฮเฟซี (Parisa Hafezi) วัย 41 ปี หัวหน้าฝ่ายข่าวรอยเตอร์ สาขาอิหร่าน ซึ่งถูกทำร้าย ล่วงละเมิดและคุกคาม รวมถึงถูกจับกุมคุมขังโดยเจ้าหน้าที่รัฐเนื่องจากการติดตามนำเสนอข่าวการคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล

Chiranuch Premchaiporn
Chiranuch Premchaiporn

จีรนุช เปรมชัยพร วัย 43 ปี ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท, ประเทศไทย เผชิญกับโทษจำคุกสูงถึง 70 ปี เนื่องจากมีการโพสต์ข้อความต่อต้านรัฐบาลลงในเว็บไซต์ประชาไท จีรนุชถูกจับกุม และออฟฟิศถูกตำรวเข้าบุกค้น รวมถึงเว็บไซต์ประชาไทถูกบล็อกโดยรัฐบาลไทยหลายครั้ง

Kate Adie
Kate Adie

ในปีนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award ได้แก่ เคท เอดี (Kate Adie) ผู้จัดรายการ “From Our Own Correspondent” ของ วิทยุประจำสถานีบีบีซี 4 อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 40 ปี เคยผ่านการรายงานข่าวเหตุการณ์จากเทียนอันเหมิน เซียรา ลีโอน และเบลเกรด เป็นต้น

รางวัล The Courage in Journalism Awards เป็นรางวัลที่มอบแก่สื่อมวลชนสตรีที่มีความกล้าหาญในการทำหน้าที่สื่อมวลชนภายใต้สถานการณ์ที่อันตราย และรางวัล Lifetime Achievement Award เป็นรางวัลสำหรับสื่อมวลชนที่เป็นผู้บุกเบิกทั้งด้านจิตสำนึกและการทำงานด้านสื่อสารมวลชน โดยที่ผ่านมาจนถึงปีล่าสุดนี้ มีสื่อมวลชนสตรีที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 72 คน

พิธีมอบรางวัลแก่สื่อมวลชนสตรีทั้ง 4 รายจะจัดขึ้นในลอสแองเจลิส ในวันที่ 24 ตุลาคม และที่นิวยอร์กในวันที่ 27 ตุลาคมที่จะถึงนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น