โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นักโทษนิรนามบันทึก: “ความหวังของนักโทษหมิ่นเบื้องสูง”

Posted: 08 Jun 2011 10:56 AM PDT

 ที่มา: สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์

 

ณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์ วัย 28 ปี ในครอบครัวฐานะปานกลาง เมื่อเรียนจบ ม.6 เขาเรียนต่อได้ 2 ปีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงก็ต้องหยุดเรียน ออกมาทำงานอิสระในอาชีพการตลาดอิเลคทรอนิค   (E-Marketing) เขาจึงมีความรู้ความชำนาญในโลกไซเบอร์ที่เป็นเวทีอิสระสำหรับเขาได้แสดงความคิดเห็นในโลกของการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต

ในปี 2552 ผู้คนในโลกไซเบอร์ตื่นรู้ที่จะถกเถียง แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย โดยมีเว็ปไซต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมากมายที่เป็นเวทีแสดงความคิดอย่างอิสระ

เขาจึงได้มีโอกาสอ่านเว็บไซต์เหล่านี้และมีส่วนร่วมต่อการแสดงความคิดเห็นเฉกเช่นเสรีชนทั่วไป โดยมีเว็บไซต์ (ฟ้าเดียวกัน) เป็นอีกเวทีหนึ่งที่เป็นชุมชนแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย เขาใช้เวลาว่างหลังจากเสร็จงานในอาชีพของเขา เข้ามาในเว็บบอร์ดแสดงความคิดเห็นและเชื่อมโยงข้อมูลด้านต่างๆที่หลั่งไหลไปมาในโลกไซเบอร์โดยไม่รู้ว่าเสรีภาพในด้านความคิดของเขาจะเป็นอันตรายที่มาถึงตัวเขาในข้อหาความผิดพรบ.คอมพิวเตอร์และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 ในข้อหาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เขารับสารภาพต่อตำรวจโดยไม่มีทนายความ วันที่ 14 ธันวาคม 2552ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี 18 เดือน ถูกจองจำอยู่แดน 4 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่มีญาติพี่น้องมาเยี่ยมเยียนเขา พ่อแม่ของเขาโศกเศร้าจนแทบจะเป็นบ้าที่ลูกชายต้องมาติดคุกในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนญาติพี่น้องของเขาก็ตั้งข้อรังเกียจในตัวเขา

เขาไม่รู้ว่าจะอธิบายเรื่องราวของเขาให้ครอบครัวได้เข้าใจได้อย่างไรแม้แต่ตัวเขาในวันนี้ยังงุนงงกับข้อกล่าวหาในคดี หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพียงเพราะเขาได้แนะนำเว็บไซต์ในลักษณะเชื่อมโยงจากเว็บบอร์ดไปสู่เว็บไซต์ที่มีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เขาเป็นนักโทษที่เก็บตัวเงียบ ไม่มีญาติมิตรมาเยี่ยมเยียน เขาเคยเป็นคนร่าเริงสนุกสนาน ชอบพูดคุยกับเพื่อนๆ แต่หลังจากที่เขาถูกจองจำเขากลายเป็นคนเงียบขรึม หลายครั้งพูดอยู่คนเดียว จนนักโทษด้วยกันเป็นห่วงว่าเขาเริ่มมีอาการรั่วหรืออาการเบื้องต้นที่อาจทำให้เขากลายเป็นคนบ้านั่นเอง

เขาหวังว่าจะได้รับการอภัยโทษจากพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ได้รับอิสรภาพและจะได้กลับไปใช้ชีวิตเป็นพลเมืองที่จงรักภักดีอีกคนหนึ่ง เขานั่งนับวันปฎิทินในทุกวันเวลาที่ผ่านไป เพื่อรอคอยวันแห่งอิสรภาพของเขา

ซึ่งเขาเองก็ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกนานแค่ไหน”

 

 บันทึกโดย…นักโทษนิรนาม

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ญาติชนกลุ่มน้อย-คนไร้รัฐ ภาพตัวอย่างผู้ตกหล่นจากระบบหลักประกันสุขภาพ

Posted: 08 Jun 2011 10:40 AM PDT

ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว Stateless Watch Review<1>                                                                      
ชื่อบทความเดิม: ชิชะพอ-ไหร่โผ่-รพ.อุ้มผาง กับก้าวที่ใกล้-ไกล ของหลักประกันสุขภาพของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล  

“เราเป็นหมอ มีคนป่วยมาเราก็ต้องรักษา ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ดีกว่าปล่อยให้เขาไปตายบ้าน และกลายเป็นรังโรค” ถ้อยคำของ “หมอตุ่ย” หรือนพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.รพ.อุ้มผาง<2> ที่แสดงเจตนารมณ์อันชัดเจนของบุคลากรสาธารณสุขจำนวนหนึ่งที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านในชุมชนที่ไม่ได้มีเพียงคนสัญชาติไทยเท่านั้น 

ขณะเดียวกัน จากความคืบหน้าล่าสุด(31 พฤษภาคม 2554) ของผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย 2 คน เป็นบุคคลอยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อจัดทำเบียนบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน(บัตรเลข 0) คือ กรณีนางชิชะพอ<3> ชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) อายุ 48 ปี ซึ่งเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน และอายุรแพทย์ประจำโรงพยาบาลอุ้มผาง ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2554 และถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลแม่สอด ในวันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2554 และได้ทำการเจาะหน้าท้องเพื่อทำการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง กับนายไหร่โผ่ ซึ่งรพ.แม่สอดแจ้งค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ของชิชะพอ 55,935 บาท ของไหร่โผ่ 25,174 บาท<4> ก็กำลังสะท้อนรูปธรรมปัญหาตัวเลขแดงๆ ทางบัญชีที่รพ.อุ้มผางต้องแบกรับกับภาระค่าใช้จ่ายของกลุ่มผู้ที่มีปัญหาสถานะบุคคล ซึ่งยังไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆ จากจำนวนประชากรอำเภออุ้มผาง 84,875 คน กว่าครึ่งคือผู้ไม่มีหลักประกันสุขภาพใดๆจำนวน 46,513 คน<5> 

23 มีนาคม 2553 สิทธิในหลักประกันสุขภาพของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ได้รับรองโดยมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้จัดตั้ง "กองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ" งบประมาณ ในปี 2553 สำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิจำนวนทั้งสิ้น 457,409 คน กลุ่มเป้าหมายได้แก่ (1) กลุ่มที่ ครม.มีมติรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวร (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 3,4,5,8 ) (2) กลุ่มที่ถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 6,7) และ (3) กลุ่มที่ถือบัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 0) ซึ่งเป็นนักเรียนในสถาบันการศึกษา,คนไร้รากเหง้า และบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ เป็นเงิน 472,823,683.30 บาท<6>

ทั้งนี้สิทธิในหลักประกันสุขภาพดังกล่าวยังเป็นเพียงกองทุนซึ่งแยกออกจาก หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของคนสัญชาติไทย ซึ่งมีค่ารายหัวต่ำกว่า แต่โดยรวมชุดสิทธิที่ครอบคลุมก็ใกล้เคียงกัน และครอบคลุมกรณีการล้างไตทางช่องท้อง เพียงแต่กรณีของนางชิชะพอ และนาไหร่โผ่ ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายตามมติครม. 23 มีนาคม 2553 

เนื่องจากนางชิชะพอ คือ กลุ่มที่ถือบัตรบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (เลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 0) ซึ่งเป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งตามยุทธศาสตร์ฯ คือกลุ่มคนที่เป็นญาติชนกลุ่มน้อย นั้น ซึ่งทางสมช. เห็นว่าจำเป็นต้องมีการคัดกรองเพื่อให้เห็นคนที่เป็นญาติชนกลุ่มน้อยจริงๆ ด้วยเพราะที่ผ่านมามีการปะปนจากคนที่ไม่ใช่ญาติชนกลุ่มน้อย คนที่เข้ามาใหม่ และมาถือบัตรด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  

ในขณะที่นายไหร่โผ่ ยังเป็นคนไร้รัฐหรือบุคคลที่ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ 

อย่างไรก็ตามองค์ความรู้ทางกฎหมายทำหน้าที่อย่างแข็งแรงในการสนับสนุนหลักคิดทางมนุษยธรรมของคุณหมอๆ อีกทั้งยังสอดคล้องกัน เพราะในทางกฎหมายแล้ว คนกลุ่มกลุ่มหนึ่งตามยุทธศาสตร์ฯ มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย ทั้งในฐานะคนไทย-ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการทางทะเบียนราษฎร, เป็นคนที่แม้จะเป็นคนต่างด้าวแต่ก็เป็นราษฎรของประเทศไทย ขณะที่สิทธิในการเข้าถึงและใช้บริการหลักประกันสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน<7> 

ขณะที่นางชิชะพอและนายไหร่โผ่ กำลังนับถอยหลังกับอาการเจ็บป่วยครั้งนี้ พร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และการขยับตัวอีกครั้งของแรงผลักเพื่อหลักประกันของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ไม่ว่าจะเป็น  หนึ่ง-การประสานงานเบื้องต้นของภาคเอกชนเพื่อขอการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากชมรมของนักธุรกิจที่ก่อนหน้านี้เคยสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลของกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาสถานะบุคคลในพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ 

สอง-เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.) <8> ได้สรุปแนวคิดร่วมในการแก้ไขปัญหาออกมา 7 แนวทาง เช่น ต้องหาเกณฑ์เพื่อให้สามารถจัดสรรกองทุนสุขภาพชายแดนซึ่งมีเงินเบื้องต้นแล้ว แนวทางการจัดตั้งมูลนิธิ “Health for Stateless” โดยหาทุนจากองค์กรต่างประเทศ ขอสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับชาติ และสร้างความเข้าใจต่อสังคม ให้ยอมรับว่า “สิทธิในการเข้าถึงบริการเมื่อเจ็บป่วยเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์”

สาม-การเตรียมทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพและชนพื้นเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในวันที่ 9 มิถุนายนนี้

ล่าสุดความคืบหน้าที่ได้รับการชี้แจงจากกรมการปกครองว่า การทบทวน-กลั่นกรอง คนกลุ่ม 1 ตามยุทธศาสตร์ฯ ที่อยู่มานานแล้วกับคนที่เพิ่งเข้ามา เริ่มต้นไปแล้วและน่าจะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้

นี่คืออีกครั้งที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรได้ตระหนักและทบทวนว่า หลักประกันสุขภาพนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจรอได้ กรณีของชิชะพอและไหร่โผ่เป็นเพียงภาพตัวแทนของกลุ่มผู้ที่ยังตกหล่นจากหลักประกันสุขภาพ<9> ติดตามอีกภารกิจสำคัญของรัฐไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในดำเนินการเพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาสถานะบุคคลสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในระหว่างการพิสูจน์สถานะ พิสูจน์สัญชาติ

อย่างไรก็ตามระหว่างการผลักดันหลักประกันสุขภาพของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล แน่นอนว่ายังคงมีหลายประเด็นที่ยังต้องรอความชัดเจน

สำหรับงานวิชาการของเราที่ผ่านมา บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้สอยสิทธินี้ได้ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างด้านสถานะบุคคล สัญชาติ ส่วนหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหาสถานะบุคคล (คนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติ) ในเบื้องต้น ควรต้องถูกพัฒนาขึ้น (และมันได้ถูกพัฒนาขึ้นแล้วในสังคมไทย !!) โดยคำนึงถึง ‘จุดเกาะเกี่ยว’ ที่บุคคลเหล่านี้มีอยู่กับสังคมไทย แต่สำหรับรูปแบบและเนื้อหาของสิทธิ รวมถึงการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อให้สิทธินี้เกิดขึ้นและเป็นจริงอย่างมีประสิทธิภาพ ยังเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาความรู้ความเข้าใจกันต่อไป

ยกตัวอย่างบางประเด็นคำถามที่สำคัญ อาทิ ที่มาของงบประมาณ ด้วยจำนวนเงินเท่าใด รูปแบบการจัดการ ยังไม่เป็นข้อยุติว่าต้องเป็นการร่วมจ่ายในอัตรา 30 บาท หรือ 0 บาท ณ จุดรับบริการ เสมอไป, ภายใต้คำอธิบายแบบใด-ที่อาจเท่ากับ หรือมากกว่าความเห็นใจและมนุษยธรรม ทั้งยังอาจต้องเติมด้วยเงิน(ในนามของ) มนุษยธรรมจากฝ่ายหรือภาคส่วนต่างๆ ฯลฯ

ที่สำคัญการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างคนในสังคมต่อไป

  

ร่วมแบ่งปันได้ที่

บัญชี "เงินบำรุงรพ.อุ้มผาง(กองทุนมูลนิธิโรคไต)"

เลขที่บัญชี 581-2-00951-4 ธนาคาร ธกส. สาขาอุ้มผาง

 

เชิงอรรถ

<1> เป็นงานสื่อสารสาธารณะ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ ศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch Information Center) ภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้า ระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) , www.statelesswatch.org  

<2> ภาสกร จำลองราช, “การพ้นแดนของ “หมอตุ่ย” กับปม “หลักประกันสุขภาพ” และขนาดใจของรัฐไทย” , 29 มกราคม 2553 http://padsakorn.multiply.com/journal/item/65/65

<3> อ่าน จันทราภา  จินดาทอง นักสังคมสงเคราะห์ รพ.อุ้มผาง ,แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ , วันที่ 25 พฤษภาคม 2554 http://www.statelesswatch.org/node/451

<4> ยอดค่ารักษาพยาบาลของชิชะพอกับไหร่โผ่จากรพ.แม่สอด ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2554 โดยไหร่โผ่จำหน่ายกลับมาฟอกเลือดต่อที่รพ.อุ้มผางแล้ว ส่วนชิชะพอยังรับการรักษาต่อ

<5> หนังสือที่ ตก ..27.301/237 ลว 24 พฤษภาคม 2554 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์พิจารณาให้ความช่วยเหลือ ถึง นพ.นิรันดร์ พิททักษ์วัชระ (ประธานอนุกรรมการด้านสิทธิและสถานะบุคคลของผู้ไร้สัญชาติ ไทยพลัดถิ่น ผู้อพยพและชนพื้นเมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)

<6> เมื่อตรวจสอบสิทธิแล้ว เหลือประมาณ 288,572 คน เนื่องจากบางส่วน มีสิทธิซ้ำซ้อนกับของบัตรทอง เช่น ใน กทม. ผู้ที่มีสิทธิมีบัตรทองที่ ร.พ.ศิริราช อยู่แล้ว สปสช. จึงยังไม่ถอนสิทธิ เพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบต่อประชาชน บางส่วนได้บัตรสัญชาติไทยแล้ว(มีบัตรทอง) และบางส่วนเสียชีวิต,ข้อมูลจาก สปสช.

ดาวน์โหลดมติคณะรัฐมนตรีฉบับเต็ม และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ http://www.statelesswatch.org/node/323

<7> ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว,อีกก้าวของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ,รายงานสถานการณ์ด้านสถานะบุคคลและสิทธิของคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติประจำปี 2553,สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (Stateless Watch for Research and Development Institute of Thailand-SWIT) ,กุมภาพันธ์ 2554 อ่านรายงานฉบับเต็ม http://www.statelesswatch.org/node/399

<8> สรุปผลการเดินทางของผู้นำคศน. เดินทางลงพื้นที่ไปรวบรวมข้อมูลและถกอภิปรายเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินจากบริการสุขภาพของรพ.ชายแดน ระหว่างวันที่ 12-17 พฤษภาคม 2554 ในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง แม่สอด และอุ้มผาง จังหวัดตาก

<9> ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล,Fact Sheet No.3 คนที่ตกหล่น-หายไป จากระบบ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า”, 24 มีนาคม 2552, http://www.statelesswatch.org/sites/default/files/update2552-03-24-fact_sheet-by-swit-no3.pdf 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ใจ อึ๊งภากรณ์’ จวกกระทรวงต่างประเทศบิดเบือนคำพูดนักกฎหมายอังกฤษเรื่อง ม.112

Posted: 08 Jun 2011 09:48 AM PDT

8 มิ.ย.54 นายใจ อึ๊งภากรณ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนตอบโต้รายงานกระทรวงต่างประเทศไทยที่รายงานคำพูดของ Peter Leyland ศาสตราจารย์กฏหมายอังกฤษที่บรรยายในมหาวิทยาลัยที่กรุงลอนดอน ซึ่งปรากฏในเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย

http://www.thaireform.in.th/component/flexicontent/item/5944--112-qq.html และประชาไทนำมารายงาน http://prachatai.com/journal/2011/06/35321

โดยใจชี้แจงว่าบางย่อหน้ามีการบิดเบือนคำพูดของผู้บรรยายไปโดยสิ้นเชิงโดยที่ผู้บรรยายไม่เคยพูดเช่นนั้น เช่น ในข้อ 3. กระทรวงการต่างประเทศสรุปว่า Peter Leyland มีจุดยืนว่า“ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ นาย Leyland เห็นว่าด้วยบริบทเฉพาะของสังคมไทย โดยเฉพาะสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย การมีอยู่ของกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่รับได้”    

ใจหยิบยกต้นฉบับมาแปลเพื่อเทียบเคียงกับฉบับกับกระทรวงการต่างประเทศสรุป โดยนำมาจากบทความวิชาการชื่อเดียวกันกับหัวข้อบรรยาย “The struggle for freedom of expression in Thailand: Media Moguls, the King, Citizen Politics and the Law”ตีพิมพ์ไว้ใน Journal of Media Law (2010) 2(1) 115-137 ซึ่ง Peter Leyland  มีข้อสรุปดังนี้

"It was argued that the lèse-majesté law has been applied recently by certain sections of the Thai elite to re-establish their grip on political power. Obviously, such conduct by the Thai authorities in the name of the King is strongly at variance with a commitment to a democratic constitution guaranteeing the protection of individual human rights in Thailand, as well as a breach of the country’s international treaty obligations. This law must be abolished or radically reformed not simply because the right to free expression is integral to the recent 1997 and 2007 Constitutions, but because the law is placed beyond constitutional oversight.

"ในบทความนี้ ข้าพเจ้าเสนอว่ากฏหมายหมิ่นฯ ถูกใช้ในช่วงนี้โดยบางส่วนของอภิสิทธิ์ชนไทย เพื่อรื้อฟื้นอิทธิพลในอำนาจทางการเมือง มันเป็นเรื่องชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวโดยเจ้าหน้าที่ไทย ในนามของกษัตริย์ ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับจุดยืนของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยที่รับประกันและปกป้องสิทธิมนุษยชนของบุคคลในประเทศไทย และนอกจากนี้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับสัญญาสากลที่ประเทศไทยร่วมลงนามอีกด้วย กฏหมายนี้จะต้องถูกยกเลิกไป หรือไม่ก็ปฏิรูปอย่างถอนรากถอนโคน เพราะนอกจากสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี ๔๐ และปี ๕๐ แล้ว กฏหมายนี้ยังมีสถานภาพนอกรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ในอีกส่วนหนึ่งมีการเสนอว่า“In essence, it will be argued that the law (lèse-majesté law) as applied in its current form, which has included measures intended to close down internet sites and control use of the web, fundamentally undermines freedom of expression.”

 “โดยแก่นแท้แล้ว ข้าพเจ้าจะเสนอว่ากฏหมายหมิ่นฯ ในรูปแบบที่บังคับใช้ทุกวันนี้ ซึ่งรวมถึงมาตรการที่มีเจตนาในการปิดไซท์ทางอินเตอร์เน็ท และควบคุมการใช้เวป์ ทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสิ้นเชิง”

และในส่วนที่กล่าวถึง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 Leyland เสนอว่า

“There is increasing evidence that this law (Computer Crime Act) is being employed as a political weapon…..In other words, lèse-majesté, which has been shown in this article to be a thoroughly discredited law, is being used under this legislation as a pretext to intimidate any parties, groups or persons opposed to the government and thereby to stifle political debate.”

“มีหลักฐานมากขึ้นว่า พ.รบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง.... พูดง่ายๆ กฏหมายหมิ่นฯ ซึ่งในบทความนี้ได้อธิบายไปแล้วว่าเป็นกฏหมายที่ขาดความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง กำลังถูกใช้ภายใต้ (พรบ. คอมพิวเตอร์) เพื่อเป็นข้ออ้างในการข่มขู่ องค์กร กลุ่มคน หรือบุคคล ที่คัดค้านรัฐบาล ซึ่งมีผลในการปิดกั้นการโต้เถียงทางการเมือง

นอกจากนี้ Peter Leyland ยังฟันธงว่ากระบวนการยุติธรรมในกรณีคุณดาร์ ตอร์บิโด ขาดมาตรฐานยุติธรรมและมีปัญหามาก

ทั้งนี้ บทความภาษาอังกฤษของ Porfessor Peter Leyland อ่านได้ที่ http://www.mediafire.com/?vrlq19yhpwqa1jc

นอกจากนี้ใจยังระบุว่า Leyland ได้ส่งอีเมล์หาใจโดยตรง โดยยืนยันจุดยืนตามบทความดังกล่าวที่ได้หยิบยกมา และเชื่อว่าคำพูดของตัวเขาถูกบิดเบือนโดยเว็บไซต์ภาษาไทย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิเคราะห์นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง’54 : ข้อเสนอลดภาษีเงินได้นิติบุคคล

Posted: 08 Jun 2011 09:41 AM PDT

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การหาเสียงในยุคนี้ไม่ได้มีแค่การให้หัวคะแนนขนคนมาลงคะแนนอีกแล้ว แต่กลับกลายเป็นการต่อสู้กันด้วยนโยบายกันมากขึ้น บทความนี้ผู้เขียนจะวิเคราะห์นโยบายภาษีของพรรคเพื่อไทยที่ยังมีคนพูดถึงกันไม่มากนัก แต่เป็นนโยบายที่สำคัญมากต่อประเทศ นโยบายนี้คือการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปีหน้าและเหลือ 20% ในปี พ.ศ. 2556

ในเรื่องนี้ดูเหมือนว่าจะมีความเคลื่อนไหวในรัฐบาลอภิสิทธิ์อยู่ช่วงหนึ่งว่า กระทรวงการคลังเสนอให้ลดภาษีชนิดนี้ และจะยกเลิกสิทธิพิเศษทางด้านภาษีบีโอไอ แต่ในที่สุดดูเหมือนว่าจะมีเสียงทักท้วงถึงเรื่องการขาดรายได้ของรัฐ เรื่องจึงเงียบหายไป ทั้งที่ตอนนั้นผู้เขียนก็แอบเอาใจช่วยรัฐบาลประชาธิปัตย์ให้ออกนโยบายที่สำคัญครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทยให้สำเร็จ แต่สุดท้ายอาจจะเพราะแรงกดดันทางการเมือง รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงใส่เกียร์ถอยในเรื่องนี้

ส่วนคีย์แมนของประชาธิปัตย์อย่างกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า เรื่องนี้เป็นจุดยืนคนละจุด ที่ว่าเพื่อไทยทำ ประชาธิปัตย์ไม่ทำ ประชาธิปัตย์จะทำเพียงมาตรการเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล หากบริษัทใดขึ้นค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างพนักงานเท่านั้น

ส่วนเพื่อไทยหลังจากที่ทะเลาะกันในพรรคอยู่พักใหญ่ๆ แต่ตอนหลังก็เปิดนโยบายนี้ออกมา ซึ่งก็น่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ประชาชนอย่างพวกเราน่าจะพิจารณานโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในวันเลือกตั้งครับ

เพื่อความเข้าใจของผู้อ่านที่อาจจะไม่ใช่นักกฎหมายหรือนักธุรกิจ ภาษีเงินได้นิติบุคคลหมายถึง ภาษีที่บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนทุกแห่งในประเทศไทยที่ในทางกฎหมายถือว่าเป็นนิติบุคคลจะต้องจ่ายให้แก่รัฐทุกปี ในอัตราคงที่ (Flat rate) 30% ของกำไรในปีนั้น อย่างเช่น บริษัท A มีกำไรในปี 2553 เป็นเงิน 100 บาท จะต้องจ่าย 30 บาทเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่รัฐ

สำหรับประเด็นที่สำคัญของนโยบายนี้คือ หากมีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจริง รายได้ที่จะเข้าคลังจะลดลงหรือไม่ เพียงใด ซึ่งหากพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วรายได้ของรัฐจะลดลงจริง แต่เป็นการลดลงในช่วงระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากในช่วงแรกบริษัทที่อยู่ในประเทศไทยจะจ่ายภาษีน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เงินภาษีที่จัดเก็บเข้ารัฐนั้นจัดเก็บได้น้อยลง แต่ในระยะยาวการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่น้อยลงจะทำให้มีการลงทุนมากขึ้นทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

สิ่งที่เราต้องเข้าใจก่อนในโลกธุรกิจคือ เรื่องของกำไร เมื่อรัฐตอบสนองให้ภาคธุรกิจมีโอกาสที่จะได้กำไรมากขึ้นโดยการเก็บภาษีน้อยลง เรื่องนี้จะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญของภาคธุรกิจให้มีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นสำหรับธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่แล้ว และสำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ได้เข้ามาแข่งขันในตลาดเพราะก่อนหน้านี้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ก็จะกล้าลงทุนมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ จะมีบริษัทจำนวนมากขึ้น ทุกบริษัทแม้จะจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำลง แต่เมื่อจำนวนบริษัทมากขึ้น รายได้ภาษีโดยรวมของรัฐก็มากขึ้นตามไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ที่อัตราภาษี 30% มีบริษัทที่สามารถแข่งขันได้อยู่ในตลาด 10 บริษัท ทุกบริษัท มีรายได้ 10 หน่วย ทุกบริษัทจะเสียภาษีเป็นรายได้ของรัฐ 3 หน่วย รวมเป็นรายได้ทั้งหมด 30 หน่วย ขณะที่เมื่ออัตราภาษีที่ต่ำลง เช่น ที่อัตรา 20% อาจทำให้มีบริษัทที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดมากขึ้นเป็น 20 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทเสียภาษีลดลงเป็นบริษัทละ 2 หน่วย ซึ่งจะทำให้รายได้ของรัฐโดยรวมเป็น 40 หน่วย และเมื่อมีบริษัทแข่งขันกันมากขึ้น ผลิตภัณฑ์สินค้าก็มีราคาถูกลง คุณภาพดีขึ้น ทำให้ขายของได้มากขึ้น เศรษฐกิจขยายตัว กำไรของบริษัทก็เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

เราสามารถดูตัวอย่างได้จากประเทศหลายประเทศเช่นกัน ฮ่องกง และสิงคโปร์มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเพียงแค่ 16.5% และ 17% ตามลำดับ มาเลเซีย 25% เวียดนาม 25% อินโดนีเซีย 25% เกาหลีใต้ 22% ขณะที่ประเทศไทยเก็บอยู่ที่ 30% ซึ่งแทบจะเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลกแล้ว

เราจะเห็นได้ว่า ประเทศที่เก็บภาษีต่ำ กลับมีรายได้รวมมากกว่าประเทศที่เก็บภาษีสูง เช่น ในปี 2552 ในขณะที่ประเทศไทยเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% กลับมีรายได้เพียง 392,172 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียงแค่ 4.05% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (มูลค่าจีดีพีของประเทศไทยคือ 263,856 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 8,002,752.48 ล้านบาท) ขณะที่ฮ่องกงซึ่งเก็บภาษีเพียงแค่ 16.5% ซึ่งแม้จะมีขนาดจีดีพีที่เล็กกว่าประเทศไทยมาก (ฮ่องกงมีจีดีพี 215,355 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 6,531,717 ล้านบาท) แต่กลับมีรายได้รวมจากภาษีนิติบุคคลถึง 99,294 ล้านเหรียญดอลลาร์ฮ่องกงหรือประมาณ 387,198 ล้านบาทหรือ 5.92% ของจีดีพี ซึ่งหากดูเพียงแค่รายได้สุทธิอาจดูเหมือนว่าฮ่องกงเก็บภาษีได้น้อยกว่าเรา แต่เมื่อเราเทียบภาษีที่เก็บได้ต่อจีดีพีซึ่งก็คือมูลค่าเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ต้องถือว่าฮ่องกงเก็บภาษีได้มากกว่าประเทศไทยถึงเกือบ 2% ของจีดีพีของประเทศตน

นอกจากนี้หากมีการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 30% เหลือ 23% เงินลงทุนจากต่างประเทศจะไหลเข้าประเทศมากขึ้น จริงอยู่ว่า การที่บริษัทแต่ละบริษัทจะลงทุนที่ใดอาจมีปัจจัยหลายปัจจัย ทั้งเสถียรภาพทางการเมือง สาธารณูปโภคพื้นฐาน ลักษณะพื้นฐานของแต่ละประเทศ แต่อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลก็เป็นปัจจัยหลักๆ ที่บริษัทเหล่านี้ต้องคำนึง ซึ่งหากเราปรับอัตราลดอัตราภาษีลง จะทำให้มีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้บริษัทที่มีจำนวนมากขึ้นและขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น ก็ต้องการแรงงานเพิ่ม ส่งผลให้เกิดอุปสงค์ของแรงงานสูงขึ้น ค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นเองด้วยกลไกตลาด โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายกำหนดเรื่องการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่อย่างใด ประชาชนคนเดินถนนทุกคนในประเทศจะได้รับประโยชน์นี้อย่างทั่วถึง ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายนี้

 ในทางกลับกัน หากเราไม่ทำการปรับปรุงแก้ไขในเรื่องนี้ เงินลงทุนที่บริษัทหลายบริษัทอยากจะลงทุนในประเทศไทยอาจจะไหลไปยังประเทศที่มีสภาวะการลงทุนเหมาะแก่การลงทุนเหมือนเช่นประเทศไทยแต่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า อย่างเช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งเวียดนาม ซึ่งจะทำให้เราเสียประโยชน์ที่ควรจะได้ไปอย่างน่าเสียดาย

อย่างไรก็ตามมาตรการที่ผู้เขียนเห็นว่า พรรคการเมืองต้องกล้าที่จะทำควบคู่ไปกับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล คือการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีของบีโอไอ (คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ซึ่งโดยหลักแล้วจัดตั้งมาเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น โดยการให้สิทธิพิเศษทางภาษีซึ่งเป็นอัตราภาษีที่ต่ำมาก หรือไม่เสียเลยสำหรับประเภทธุรกิจที่เข้าหลักเกณฑ์ที่บีโอไอต้องการจะส่งเสริม โดยบ่อยครั้งที่ธุรกิจที่บีโอไอเลือกที่จะส่งเสริมนั้นไม่ใช่ธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ มีผลกำไรเหมาะกับประเทศไทย และหลักเกณฑ์ที่บีโอไอกำหนดก็มักจะเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นในทางธุรกิจ เช่น ต้องมีขนาดการลงทุนไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาทขึ้นไป มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 500 ไร่ขึ้นไป พื้นที่ที่ตั้งโรงงานต้องอยู่ในพื้นที่ที่บีโอไอต้องการ หรือใช้เทคโนโลยีที่บีโอไอกำหนด และเป็นประเภทธุรกิจที่บีโอไอมีความเห็นว่าสำคัญต่อประเทศไทย ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นมักจะเป็นความคิดที่ผิดพลาด ตลาดเท่านั้นที่จะตัดสินใจได้ดีที่สุด ผู้ประกอบการเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่า ลูกค้าต้องการสินค้าประเภทใด และจะต้องผลิตเท่าไร เช่นไร ใช้เงินลงทุนเท่าไร ไม่ใช่บุคคลากรของรัฐไม่กี่คนที่เป็นบอร์ดบีโอไอที่จะมากำหนดว่า ประเทศเราควรผลิตอะไร อย่างไร

สิทธิพิเศษเหล่านี้แทนที่จะเป็นการส่งเสริมการลงทุน กลับกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มธุรกิจส่วนน้อยที่บอร์ดบีโอไอมีความเห็นว่า ควรสนับสนุนเท่านั้นและเข้าหลักเกณฑ์ และบ่อยครั้งการสนับสนุนโดยให้สิทธิทางภาษีกับบริษัทเหล่านี้เป็นเพียงการอุ้มอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถจะยืนหยัดแข่งขันในตลาดได้ด้วยตนเองหรือที่เรียกว่าอุตสาหกรรมทารก (Infant industry) ด้วยเงินภาษีที่ประชาชนทั้งประเทศสมควรจะได้รับ

นอกจากนี้ยังทำให้กลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาด เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนจากอัตราภาษีที่สูงกว่า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การส่งเสริมการลงทุนในประเภทธุรกิจที่บีโอไอส่งเสริม ก็คือกีดกันการลงทุนที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ของบีโอไอนั่นเอง ซึ่งหากมีการลดภาษีนิติบุคคลลง สิทธิพิเศษทางภาษีก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป ทุกบริษัทได้ประโยชน์ทั้งหมด เป็นการส่งเสริมการลงทุนทุกบริษัทอยู่แล้ว บริษัททุกบริษัทจะอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน

การแข่งขันระหว่างธุรกิจจึงจะเป็นการแข่งขันอย่างเสรีที่แท้จริง

แต่นโยบายเหล่านี้จะถูกนำไปปฏิบัติหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับบัตรเลือกตั้ง ที่ท่านผู้อ่านจะกากากบาทในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ไปใช้สิทธิ์กันเยอะๆ นะครับ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีนโยบายที่น่าสนใจที่จะส่งผลต่อปากท้องพี่น้องประชาชนอีกมาก

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อย่าให้ผู้หญิง คณะรัฐประหาร และแก้วสรร มีเอกสิทธิ์ในการทำลายกฎหมาย

Posted: 08 Jun 2011 09:25 AM PDT

ในฐานะอดีตนักเรียนกฎหมายคนหนึ่ง ผมถึงกับขนลุกซู่ขึ้นมาทันทีเมื่อได้ยินอาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลในการเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการดำเนินคดีกับคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่าผู้หญิงไม่มีเอกสิทธิในการทำลายกฎหมาย (สามารถหาอ่านบทสัมภาษณ์ได้ในหนังสือพิมพ์หลายแห่งที่ตีพิมพ์วันที่ 7 มิถุนายน 2554) และยังให้เหตุผลต่อไปอีกว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย หากมีการกระทำความผิดขึ้นก็ต้องได้รับโทษอย่างเท่าเทียม หากคุณยิ่งลักษณ์เป็นผู้ชายตนเองก็จะต่อสู้เฉกเช่นเดียวกัน

ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงอย่างอาจารย์แก้วสรรออกมาป่าวประกาศถึงหลักการของตนเองต่อสาธารณะอย่างห้าวหาญ และหลักการดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นความคิดที่จะพยายามสร้างนิติรัฐให้บังเกิดขึ้น อันหมายถึงรัฐที่มีการปกครองโดยกฎหมายไม่ใช่โดยตัวบุคคล ดังนั้น จึงควรต้องให้ความสำคัญและไม่ให้ใครมารังแกกฎหมายไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ผู้ชายหรือผู้หญิง

ทั้งหมดนี้ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งแต่มีคำถามคาใจอยู่ว่า หลักการนี้ควรจะมีข้อยกเว้นให้กับคณะรัฐประหารด้วยหรือเปล่าครับ

 


แฟ้มภาพ

 
การรัฐประหารเป็นการรังแกกฎหมายหรือไม่ ในประเด็นนี้แม้แต่สามัญชนที่ไม่ได้เป็นผู้มีความรู้ทางด้านกฎหมายก็คงตระหนักได้ว่าไม่ใช่เพียงการรังแกเท่านั้น แต่การรัฐประหารเป็นการย่ำยีกฎหมายด้วยการใช้กำลัง ไม่ใช่แนวทางในการเปลี่ยนรัฐบาลอย่างที่ควรจะเป็นในแนวทางนิติรัฐอย่างแน่นอน ถ้าหากว่าบุคคลใดที่ยึดมั่นในหลักการว่าไม่มีใครอยู่เหนือกว่ากฎหมาย ไม่มีใครมีเอกสิทธิ์เหนือกฎหมาย บุคคลนั้นก็ควรต้องออกมาคัดค้านกับคณะรัฐประหารเช่นเดียวกันใช่หรือไม่ครับ

แต่ก็เป็นที่รับรู้กันว่าเมื่อเกิดการรัฐประหาร ไม่มีการออกมาป่าวประกาศเลยว่าไม่มีใครมีเอกสิทธิ์ทำลายกฎหมาย และจะต่อสู้คัดค้านอย่างถึงที่สุดไม่ว่าผู้ย่ำยีกฎหมายนั้นจะเป็นทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศหรือตำรวจ ผมมั่นใจว่าไม่ได้ยินประโยคนี้จากนักกฎหมายชื่อดังผู้ยึดมั่นหลักในหลักกฎหมายคนใดทั้งสิ้น

ลำพังเพียงการเงียบเป็นเป่าสากต่อการรัฐประหารยังอาจพอเข้าใจได้ แต่ที่อาจเข้าใจไม่ได้เลยก็คือว่าการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ถูกตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร (ซึ่งทำการย่ำยีรัฐธรรมนูญฉบับที่อาจารย์แก้วสรรเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญในการผลักดันในบังเกิดขึ้นนั่นแหละ) จะอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าอย่างไรดี ถ้าหากกล้าป่าวประกาศต่อสาธารณะอย่างขึงขังว่า ไม่ว่าหน้าใครก็ตามไม่มีเอกสิทธิ์ในการทำลายกฎหมาย

หรือจะอธิบายว่าคณะรัฐประหารไม่ได้ย่ำยีกฎหมาย บุคคลกลุ่มนี้เพียงแต่มาเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้ดีขึ้นด้วยการใช้รถถังเท่านั้น อย่าคิดมากไปเลยนักศึกษา มันไม่เหมือนกับนักการเมืองที่กำลังหาเสียงในการเลือกตั้งอยู่ขณะนี้หรอก ดังนั้น การเข้าไปรับตำแหน่งใน คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตั้งขึ้นโดย คมช.) จึงเป็นการสละอันสูงส่งในการปกป้องประเทศชาติ ไม่ใช่การรับใช้คณะรัฐประหารที่ย่ำยีกฎหมายแต่อย่างใด

ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ผมยังออกจะสงสัยว่าหากนักการเมืองประกาศแนวนโยบายการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในการหาเสียงมันจะเป็นความผิดอะไรหรือครับ ดีเสียอีกไม่ใช่หรือที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้นๆ พูดอย่างชัดเจนและหาเสียงในประเด็นดังกล่าว ถ้าหากประชาชนคนใดเห็นด้วยก็เดินไปกาบัตรลงคะแนนให้กับพรรคนั้นไปเลย ใครที่มีความคิดเห็นแตกต่างก็รณรงค์กันไปในทางสังคม ก็จะทำให้เกิดการวิวาทะ โต้แย้ง ถกเถียง ด้วยเหตุและผลอันจะทำให้ส่วนรวมเกิดการเรียนรู้และร่วมเข้าใจตัดสินใจในประเด็นเช่นนี้

หรือว่าจะให้กฎหมายนิรโทษกรรมในสังคมไทยถูกเขียนขึ้นมาได้ในรูปแบบเดียว คือด้วยอำนาจของคณะรัฐประหารที่นิรโทษกรรมให้แก่การกระทำของตนในการยึดอำนาจ โดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาความชอบใดๆ มารองรับเลยแม้แต่น้อย

การป่าวประกาศถึงการยึดมั่นในหลักการทางกฎหมายก็เป็นสิ่งที่สมควรจะให้ความชื่นชม แต่การกระทำอันนั้นก็ควรจะต้องดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ เท่าเทียมกันระหว่างทุกคนและทุกกลุ่มไม่ใช่หรือ หากคำประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นโดยการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลบางกลุ่มบางฝ่าย ก็คงไม่อาจมีความหมายเป็นอื่นไปได้นอกจากเป็นเพียงการพยายามอ้างอิงถึงหลักการที่สูงส่งเพื่อปกปิดการกระทำในลักษณะอันตรงกันข้ามของตนเท่านั้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภาทนายฯเสนอรัฐ แก้ปัญหาผู้ลี้ภัยต้องคำนึงหลักกลับถิ่นอย่างสมัครใจ

Posted: 08 Jun 2011 09:11 AM PDT

เสนอพิจารณาหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย ก่อนออกนโยบายปิดค่ายและส่งผู้ลี้ภัยกลับ เชื่อการเร่งผลักดันไม่ยั่งยืน

วันที่ 8 มิถุนายน 2554 คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ร่วมกับมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า (มรพ.) ได้จัดแถลงข่าวเรื่อง "แก้ปัญหาผู้ลี้ภัย: จากหลักการไปสู่การปฏิบัติ" นำเสนอสถานการณ์ผู้ลี้ภัยและการดำเนินการของรัฐต่อผู้ลี้ภัยในประเทศไทย พร้อมแสดงความไม่เห็นด้วยที่รัฐมีแนวโน้มจะส่งผู้ลี้ภัยทั้งหมดกลับในเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากเชื่อว่า ประชาธิปไตยและความสงบในพม่ายังไม่เกิดขึ้นจริง

คุณสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และ
ผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า “การที่รัฐอ้างว่า ขณะนี้สถานการณ์ในพม่ามีความปลอดภัยเพียงพอที่จะส่งผู้หนีภัยการสู้รบที่อพยพมาอยู่บริเวณชายแดนไทยในฐานะผู้ลี้ภัยกลับประเทศได้แล้วนั้น ตนมองว่าเป็นการพิจารณาเพียงด้านเดียว คือการยกเอาการจัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญมาตีความว่า พม่ามีความเป็นประชาธิปไตยและจะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มชนกลุ่มน้อยใดๆอีก ซึ่งในความเป็นจริงกลับยังพบว่า การต่อสู้กันระหว่างกองกำลังทหารพม่าและกองกำลังของชนกลุ่มน้อยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังไม่มีหลักฐานใดที่จะชี้ชัดได้ว่ารัฐบาลพม่าจะไม่คุกคามสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นอยู่ของกลุ่มคนเหล่านี้เมื่อเดินทางกลับไป”
 
“ทางออกที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จะต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย และจะต้องสามารถป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการลี้ภัยขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้น รัฐบาลไทยในฐานะประเทศภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี(CAT)จะต้องนำเอาหลักการไม่ผลักดันกลับ (Non-Refoulement) จากกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสองฉบับนี้มาพิจารณาเป็นแนวทาง เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามหลักการกลับคืนสู่ถิ่นฐานด้วยความสมัครใจ”
 
ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อลี้ภัยอย่างน้อย 140,000 คน ในค่ายพักพิงผู้ลี้ภัย 9 แห่งในประเทศไทย โดยห้วงระหว่างปลายปี 2553 ถึงเดือนพฤษภาคม 2554 ปรากฏว่ายังมีการปะทะกันระหว่างกองกำลังทหารพม่าและกองกำลังของชนกลุ่มน้อยอยู่เป็นระยะ ส่งผลให้มีกลุ่มผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงเพื่อลี้ภัยทะลักเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งยากต่อการควบคุมดูแลและบริหารจัดการให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามแนวชายแดน และส่งผลอย่างมากต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
 
ล่าสุด สภาทนายความจะยื่นข้อเสนอแนะตามหลักการดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และยังได้เสนอให้รัฐบาลเรียกร้องและสนับสนุนให้รัฐบาลพม่าออกกฎหมายคุ้มครองและคืนสิทธิต่างๆ ของผู้ลี้ภัย เช่น การได้คืนสถานะพลเมืองและการนิรโทษกรรมด้วย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ยื่นเอกสารให้ปากคำคดีหมิ่นฯ แล้ว

Posted: 08 Jun 2011 08:20 AM PDT

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ยื่นเอกสารให้ปากคำคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งกองทัพบกเป็นผู้ฟ้องแล้ว


แฟ้มภาพ: ประชาไท 

เมื่อเวลา 12.34 น. ของวันที่ 7 มิ.ย. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ความเห็นท้ายข่าวในเว็บไซต์นิวแมนดาลา เล่าความคืบหน้าของคดีที่เขาถูกกล่าวหาด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา เขาและทนายได้เดินทางไปยัง สน.นางเลิ้ง เพื่อยื่นเอกสารให้ปากคำความยาว 8 หน้ากระดาษพร้อมเอกสารประกอบ เพื่อตอบบันทึกข้อกล่าวหายาว 3 หน้าของตำรวจที่ได้รับเมื่อเดือนที่แล้ว (12 พ.ค.) โดยในตอนแรก ตำรวจนัดยื่นเอกสารให้ปากคำในวันที่ 26 พ.ค. แต่เขาไม่สะดวก เนื่องจากมีหน้าที่การงานของมหาวิทยาลัยซึ่งใกล้เปิดภาคเรียนแล้ว จึงขอเลื่อนมาเป็นวานนี้ (7 มิ.ย.)

สมศักดิ์ ระบุว่า ตอนแรกที่ได้รับหมายเรียกเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนั้น เขาสงสัยว่าเหตุใด สน.นางเลิ้งจึงรับผิดชอบคดีนี้ แต่ภายหลังก็ได้ทราบว่า เพราะกองบัญชาการกองทัพบก ซึ่งเป็นผู้ฟ้อง อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ สน.ดังกล่าว

นอกจากนี้ สมศักดิ์ยังแจ้งต่อชุมชนเว็บไซต์นิวแมนดาลาถึงกระบวนการสืบสวนตามกฎหมายไทย พร้อมแสดงความเห็นด้วยว่า การสืบสวนในชั้นตำรวจคงใช้เวลานานหลายเดือน

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สมศักดิ์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 54 โดยได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า คดีดังกล่าว กองทัพบกเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ จากกรณีที่ตนเขียนบทความภาษาไทยเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ของเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ 2 ชิ้น ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ต่างๆ ราวปลายเดือนมีนาคม-เมษายน เบื้องต้นได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและพร้อมต่อสู้ในชั้นต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประมวลภาพ: เดินภาวนาเพื่อป่าเขาใหญ่ วันสิ่งแวดล้อมโลก 54

Posted: 08 Jun 2011 06:02 AM PDT

กิจกรรมเดินภาวนาเพื่อป่าเขาใหญ่ ร่วมกันสร้างพื้นที่ธรรม… ธรรมชาติในใจ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ปี 2554

 
โครงการเดินภาวนาเพื่อป่าเขาใหญ่ฯ มีขึ้นในระหว่างวันที่ 3–5 มิถุนายน 2554 เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2554 ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการตระหนักให้กับคนรุ่นใหม่ให้เห็นคุณค่าความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะที่ป่าเขาใหญ่ ซึ่งเปรียบเสมือนของป่าทั้งหลาย ที่มีอยู่ในประเทศไทย
 
กิจกรรมในครั้งนี้มีพระภิกษุสงฆ์ และผู้ปฏิบัติธรรมอื่นๆ รวมทั้งกลุ่ม เยาวชน ที่สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน โดยองค์กรที่ร่วมจัดกิจกรรมประกอบด้วย เครือข่ายคุ้มครองสัตว์ป่าไทย เครือข่ายพุทธิกา กลุ่มอนุรักษ์เขาแผงม้า โครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิง ตอนบน ชมรม เด็กรักษ์นกฯ กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ กลุ่มเพื่อนเดิน กลุ่มเด็กรักษ์ป่าสุรินทร์ กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มรักษ์กระทิงเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โครงการโรงเรียน บ้าน ป่า
 
ทั้งนี้ วันสิ่งแวดล้อมโลก ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี โดยในปี 2554 นี้ โครงการสิ่งแวดล้อม แห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้กำหนดจัดกิจกรรมฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลก ณ เมืองมุมไบ และเดลฮี ประเทศอินเดีย ภายใต้หัวข้อเรื่องและคำขวัญเป็นภาษาอังกฤษว่า “Forests : Nature at Your Service” โดยเน้นสื่อสารให้ทุกคนรู้ว่าแต่ละคนสามารถปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบต่อโลกได้ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย
 
 
 
 
เริ่มออกเดินเท้าจากด่านตรวจเขาใหญ่ ในเช้าวันแรกของการเดินภาวนาเพื่อป่าเขาใหญ่
 
คุณอ้วน นิคม ผู้ริเริ่มโครงการเดินครั้งนี้ ถือไมค์เชิญชวนให้น้องๆ นักเรียน เดินเพื่อฟังเสียงตัวเองและธรรมชาติ
 
โคทม อารียา นำทัพเพื่อนๆ จากกลุ่มเดินสันติปัตตานี
 
สามเณรจากหมู่บ้านพลัม กำลังร้องเพลงนำภาวนา
 
แถวเหยียดยาวร่วมกันเดินภาวนาเพื่อป่าเขาใหญ่
 
ก่อนจะถึงจุดหมายที่ค่ายเยาวชน ฝนก็เริ่มโปรยปราย เปียกปอนกันไปตามๆ กัน
 
 
กำลังสวดก่อนฉันท์เช้านี้ที่ศูนย์บริการอุทยานเขาใหญ่ อาหารในวันนี้ได้รับจากญาติโยมที่ทราบข่าวกิจกรรม
 
พระประจักษ์ นำสวดก่อนออกเดินในเช้าวันนี้
 
 
พระและเณรนำเคลื่อนขบวนเดินธรรมยาตรา วันสิ่งแวดล้อม
 
 
เวทีเล็กๆ บริเวณศูนย์วิจัยเขาใหญ่ ของคณะเดินเท้าเพื่่อผืนป่าเขาใหญ่ ในวันสิ่งแวดล้อมโลก
 
ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้เคยผ่านประสบการณ์ก้าวย่างเพื่อค้นหาความหมาย มาร่วมกิจกรรมเดินภาวนา
 
 สู่ปลายทางที่น้ำตกเหวนรก
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 2: กฎเหล็ก 9 ข้อ สู่บรรทัดฐานใหม่ทางการเมือง

Posted: 08 Jun 2011 05:13 AM PDT

จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 2

ก่อนที่จะเริ่มทำงานกับพรรคร่วม ผมบอกกับคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้ประสานทั้งหมดอย่างชัดเจนว่า ถ้าเราจะจัดตั้งรัฐบาลทุกคนต้องเข้าใจว่าจะเข้ามาบริหารในสถานการณ์อะไร กติกาการทำงานก็ต้องเป็นไปในแนวที่ผมสบายใจที่จะทำ คือ เน้นเรื่องความรับผิดชอบร่วมกัน และกำหนดภารกิจให้ชัดว่าจะมาทำอะไร

ผมรับรู้ตั้งแต่วันแรกของการประชุม ครม.ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่พรรคร่วมรัฐบาลจะปฏิบัติตามกติกาที่เราตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้น เพราะการต่อรองเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ผมก็มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่า โครงการไหนเป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่มีการทำผิดกฎหมาย ก็เดินหน้าไป เพราะเราจะเอาความกลัวการทุจริตมาหยุดพัฒนาประเทศไม่ได้ แต่เราต้องพัฒนาประเทศควบคู่กับตรวจสอบการทุจริตให้ดีที่สุด ผมจึงวางแนวทางการทำงาน 9 ข้อ ซึ่งสื่อมวลชนเรียกกันว่า กฎเหล็ก 9 ข้อเพื่อยกระดับบรรทัดฐานทางการเมือง. ให้ความรับผิดชอบทางการเมืองอยู่สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย

เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนเจ็บปวดกับรัฐบาลในอดีตว่า ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่ยอมรับการตรวจสอบ เมื่อมีโอกาสได้บริหารประเทศ ผมจึงพยายามพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นถึงความแตกต่างระหว่างรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ กับรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองอื่นเป็นแกนนำว่ามีความแตกต่างด้านจริยธรรมอย่างไร

ผมมุ่งมั่นที่จะแสดงให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับประชาชนทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง โดยไม่มีวันทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน และตั้งใจวางรากฐานยกระดับบรรทัดฐานทางการเมืองของประเทศไทย ให้นักการเมืองต้องมีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชน เฉกเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วไป ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการยุติการเมืองที่ล้มเหลวได้ในระดับหนึ่ง

แนวทาง 9 ข้อที่ผมขอให้ครม.ยึดถือ คือ

1.ให้ ครม.น้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้ ครม. เมื่อวันที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะที่พระองค์ทรงเน้นเรื่องการปฏิบัติงานให้เกิดความเรียบร้อย และเกิดความสุขในหมู่ประชาชน

2.เน้นกับ ครม.เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด เพราะเมื่อใดรัฐบาลไม่สามารถบริหารอยู่บนความซื่อสัตย์สุจริตได้ ก็จะเป็นปัญหาทางการเมืองและปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาล และบางครั้งนำไปสู่ความสูญเสียอธิปไตยด้วยซ้ำ ที่สำคัญจะต้องดูแลไปถึงผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคลากรที่มาช่วยงาน.

3.ยึดนโยบายที่ ครม.แถลงต่อสภาในการทำงาน ถ้ารัฐมนตรีที่จะไปกำหนดนโยบาย เพิ่มในระดับกระทรวง หรือแม้แต่การแสดงความคิดเห็นในเชิงนโยบาย ขอให้อ้างอิงนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ

4.การทำงานของรัฐบาลต้องรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและความเป็นเอกภาพ แม้เป็นรัฐบาลผสม แต่เราต้องไม่เป็นรัฐบาลที่แบ่งพรรค ต้องเป็นรัฐบาลที่รับผิดชอบร่วมกัน ปัญหาในประเทศหลายอย่างในขณะนี้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ดังนั้นการประสานงานระหว่างกระทรวงเป็นเรื่องสำคัญ หมายถึงบทบาทของการมีระบบคณะกรรมการ จึงขอให้ ครม.เห็นความสำคัญของระบบการทำงานแบบคณะกรรมการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะต้องแก้วิกฤติ

5.รัฐบาลนี้อยู่ในวิถีทางรัฐสภา รัฐมนตรีทุกคนต้องเข้าร่วมประชุมสภาอย่างสม่ำเสมอ ไปรับฟังความเห็นของ ส.ส. ทั้งการอภิปรายในสภา หรือพบปะพูดคุยกับ ส.ส.ในพื้นที่ต่างๆ ที่สำคัญที่สุดรัฐมนตรีต้องทราบเวลาที่ชัดเจนเรื่องกระทู้ถามสดคือ 13.30 น. ของทุกวันพฤหัสบดี จึงขอให้รัฐมนตรีไม่มีภารกิจนัดหมายใดๆ ยกเว้นกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ

6.รัฐมนตรีทุกคนถือเป็นบุคคลสาธารณะ ขอให้รัฐมนตรีปฏิบัติโดยคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน

7.ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม การดำเนินนโยบายหรือโครงการที่ยังไม่เป็นที่รับทราบของประชาชน ขอให้อดทนและอย่าตั้งแง่ต่อการเข้าไปรับฟังประชาชน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการประชาพิจารณ์ หรืออะไรก็ตาม.

8. รัฐบาลชุดนี้ต้องพร้อมรับการตรวจสอบ จะมีการตรวจสอบเชิงนโยบายหรือเรื่องอื่น ๆ รัฐมนตรีต้องไม่สร้างอุปสรรค ขัดขวางการตรวจสอบ อยากขอว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการตรวจสอบลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ หรือการสัมภาษณ์ขอให้ชี้แจงโดยใช้เหตุผล ข้อเท็จจริง หลีกเลี่ยงการนำรัฐบาลหรือตัวเองเข้าไปตอบโต้หรือทะเลาะ

9. รัฐมนตรีไม่มีสิทธิเหนือประชาชนคนอื่นในแง่ของการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้นจะต้องสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมายด้วย

จะเห็นได้ว่าผมปฏิบัติตามกฎ 9 ข้อของตัวเองอย่างเคร่งครัด ยกตัวอย่างเช่น การไม่เป็นชนวนความขัดแย้งหรือเป็นคู่กรณีกับใครที่ทำให้เกิดปัญหาการทะเลาะเบาะแว้ง ตั้งแต่เริ่มบริหารประเทศผมก็ถูกสกัดกั้นทุกทางไม่ให้ได้มีโอกาสสื่อสารกับประชาชนบางกลุ่ม แม้แต่วันแถลงนโยบายรัฐบาลผมก็ยังต้องไปแถลงที่กระทรวงการต่างประเทศแทนที่รัฐสภา เพราะมีคนเสื้อแดงไปล้อมอยู่

ไม่ใช่เพราะผมขี้ขลาดหรอกครับ แต่เป็นความพยายามทุกวิถีทางเพื่อลดความรุนแรงทางการเมือง ผมกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไปในบางพื้นที่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะผมทำผิดคิดร้าย แต่เพราะมีการปลุกปั่นจัดตั้งประชาชนอย่างเป็นระบบเพื่อขัดขวางทุกทางไม่ให้ผมทำงานและสื่อสารกับประชาชนบางกลุ่มได้ อาจจะเรียกได้ว่า 2 ปีกว่าของการเป็นนายกรัฐมนตรีคือช่วงที่โลดโผนที่สุดในชีวิตของผมเลยก็ว่าได้

มีนักข่าวถามผมว่า มาเป็นนายกรัฐมนตรีในสภาพทุลักทุเลต้องคอยหนีเสื้อแดง วิ่งรอกจากห้องประชุมคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อไปเป็นองค์ประชุมในสภา มันคุ้มค่าไหมที่เป็นนายกฯแล้วทำงานยากขนาดนี้

"ผมไม่ได้คิดถึงความคุ้มไม่คุ้ม เพราะการแก้ปัญหาประเทศชาติไม่ใช่เรื่องกำไร หรือขาดทุน และถ้าหากว่าผมต้องเป็นคนขาดทุนทางการเมือง แต่สามารถประคองสถานการณ์ท่ามกลางความทุกลักทุเลพาประเทศผ่านความยากลำบากไปได้ ผมพร้อมที่จะขาดทุนเพื่อให้ประเทศได้กำไร"

นี่คือคำตอบของผม และผมคิดว่าแม้คนไทยจะตะขิดตะขวงใจกับการที่ผมไปทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม แต่คนที่คิดอยู่ในระบบย่อมเข้าใจว่า เรามีผู้เล่นอยู่เท่านี้ไม่สามารถเปลี่ยนผู้เล่นได้ เพราะคนที่จะเปลี่ยนผู้เล่นคือประชาชน เมื่อเปลี่ยนผู้เล่นไม่ได้ ผมก็ต้องจัดทีมจากผู้เล่นที่มีและดูแลให้ผู้เล่นเหล่านั้นเดินตามกติกาที่ผมวางไว้

แม้ว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกไม่ชอบใจนักกับองค์ประกอบของรัฐบาล แต่ถ้าทุกท่านจะย้อนความทรงจำไปในวันที่มีการสลับขั้วทางการเมือง มีผลสำรวจยืนยันว่า ความสุขของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 6.55 คะแนน จากเดิม 4.84 คะแนน เพิ่มขึ้นถึง 2 คะแนน เพียงแค่มีการเปลี่ยนแปลงการนำจากพรรคพลังประชาชนมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยรู้ว่าบ้านเมืองในขณะนั้นเดินต่อไม่ได้ภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชนหรือเปลี่ยนชื่อเป็นเพื่อไทยในเวลาต่อมา และเข้าใจดีว่าเงื่อนไขการบริหารงานที่มีผลประโยชน์ของคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวตั้งคือต้นตอความขัดแย้งของชาติบ้านเมือง

ผมทราบว่าสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ความคาดหวังทั้งหมดของคนไทยมาอยู่ที่ผม และหลายคนรู้สึกผิดหวังในบางเรื่อง คิดว่าผมไม่เข้มแข็ง ไม่จัดการกับการทุจริต ซึ่งความจริงไม่ใช่เลย เพราะที่ผ่านมาผมต่อสู้เพื่อรักษาประโยชน์ประเทศ แต่ผมไม่ใช่วิธีการแบบหักด้ามพร้าด้วยเข่า หรือแสดงออกต่อสาธารณะให้เห็นว่าผมขวางในหลายโครงการ แต่ใช้วิธีพูดกันเป็นการภายในใช้เหตุใช้ผล ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ใช้จุดเปราะบางของคนอื่นมาสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองให้ตัวเอง เพราะผมถือว่าเมื่อเป็นรัฐบาลร่วมกันก็ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกันด้วย

เมื่อเกิดกรณีปัญหาปลากระป๋องเน่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คือ คุณวิฑูรย์ นามบุตร ก็พร้อมปฏิบัติตามกฏที่ผมวางไว้ในข้อที่ 8และ 9

คุณวิฑูรย์ลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงให้เห็นว่า ความรับผิดชอบทางการเมืองอยู่เหนือความรับผิดชอบทางกฎหมาย แม้ว่าในขณะนั้นจะไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าคุณวิฑูรย์กระทำผิด แต่เมื่อเกิดข้อสงสัยก็ต้องเปิดทางให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส ซึ่งในที่สุดผลการตรวจสอบก็ชี้แล้วว่า คุณวิฑูรย์ไม่ได้ทุจริต

นี่คือความพร้อมของคนพรรคประชาธิปัตย์ ที่เต็มใจเสียสละรับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชน โดยไม่ต้องรอกระบวนการทางกฎหมาย เช่นเดียวกับกรณีของคุณวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข เมื่อเริ่มมีข้อกังขาว่าอาจมีการทุจริตจากคนใกล้ชิด ผมก็ขอให้บรรดาเลขาที่ปรึกษาของคุณวิทยาลาออกทั้งชุด เพื่อเปิดทางให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส และเมื่อมีการพาดพิงไปถึงรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วย ผมก็ไม่ปล่อยปละละเลย แต่ได้ตั้งคุณหมอบรรลุ เป็นประธานตรวจสอบโดยฝ่ายการเมืองให้อิสระเต็มที่ไม่เข้าไปก้าวก่าย

เมื่อผลออกมาว่ารัฐมนตรีว่การกระทรวงสาธารณสุขควรรับผิดชอบแม้จะไม่มีอะไรชี้ชัดว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่คุณวิทยา ก็ไม่ยึดติดกับตำแหน่งลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทันที เพื่อย้ำให้เห็นแนวทางพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการยกระดับบรรทัดฐานทางการเมืองอย่างที่ผมเรียนไว้ในเบื้องต้น

ปัญหาอยู่ที่คุณมานิตย์ นพอมรบดี รมช.สาธารณสุข ซึ่งผมก็เข้าใจวิธีคิดและเห็นใจ เพราะคุณมานิตย์ ก็มั่นใจว่าตัวเองบริสุทธิ์ การลาออกเท่ากับยอมรับว่าทำผิด แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะการลาออกไม่ใช่การยอมรับว่าได้กระทำความผิด แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่านักการเมืองพร้อมรับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชนและยอมรับการตรวจสอบ

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ กว่าที่ผมจะทำความเข้าใจกับ คุณมานิตย์ ซึ่งอยู่ในสังกัดของพรรคภูมิใจไทยจนได้ข้อยุติว่าคุณมานิตย์จะยอมลาออก ก็มีกระบวนการกดดันผมทุกทางสุดท้ายก็ต่อรองให้ผมประนีประนอมเปลี่ยนจากการลาออกจากตำแหน่งมาเป็นการลาพักแทน แต่ผมก็แสดงจุดยืนชัดเจนว่า คุณมานิตย์ต้องปฏิบัติตามกฎ 9 ข้อที่ผมวางไว้ เหมือนกับรัฐมนตรีคนอื่น พร้อมกับอธิบายว่าแม้คุณมานิตย์จะเป็นรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย แต่เมื่อมาร่วมเป็นคณะรัฐมนตรีที่มีผมเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เท่ากับอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผมไม่ใช่ของพรรคภูมิใจไทย

เมื่อมีเหตุที่ทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ และถ้าไม่ทำ ก็เป็นหน้าที่ของผมในฐานะผู้บังคับบัญชาที่ต้องรักษากติกาที่ตัวเองวางไว้ ในขณะนั้นมีคนเตือนผมว่าทำอย่างนี้รัฐบาลจะไปไม่รอดพรรคภูมิใจไทยอาจจะถอนตัว แต่ผมยืนยันชัดเจนครับว่า "ความอยู่รอดของรัฐบาลไม่สำคัญเท่ากับการรักษาบรรทัดฐานทางการเมืองและความรับผิดชอบต่อความรู้สึกของประชาชน"

ในที่สุดเมื่อพูดคุยด้วยเหตุด้วยผล ผมก็ต้องขอขอบคุณ คุณมานิตย์ ที่เข้าใจและให้ความร่วมมือ ช่วยกันยกระดับบรรทัดฐานทางการเมืองให้ประชาชนรู้สึกว่านักการเมืองเป็นที่พึ่งที่หวังของเขาได้ ไม่ใช่ทุกคนจะเข้ามาแสวงหาประโยชน์เพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ผมกำหนดวิธีปฏิบัติไม่ให้ถูกครหาว่าใช้อำนาจรัฐหาความได้เปรียบทางการเมือง ด้วยการให้ คุณสุเทพ รมต.เกื้อกูล และ รมต.บุญจง ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อไปลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม และอีกเรื่องหนึ่ง ไม่นานมานี้คือ กรณีกระทรวงพาณิชย์ ที่ปลด นายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผช.รมว.พาณิชย์ ให้พ้นจากตำแหน่ง เพราะปปช.ได้รายงานใน ครม.ว่าเป็นนายหน้าค้ำประกันสัญญาให้กับบริษัทเอกชนรายหนึ่ง

ที่ประมูลข้าวได้ไปโดยไม่มีการวางเงินสดค้ำประกันร้อยละ 5 หรือประมาณ 1 พันล้านบาท และยังตรวจสอบพบว่า นายวีระศักดิ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว เนื่องจากต้นขั้วเช็คที่บริษัทนำมาวางค้ำประกันในการประมูล ปรากฏชื่อ นายวีระศักดิ์ เป็นผู้เซ็นค้ำประกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายวีระศักดิ์ ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกียวข้องมาโดยตลอด

เมื่อปรากฏพยานหลักฐานเช่นนี้ ผมไม่ลังเลที่จะดำเนินการตามกฏ 9 ข้อที่ผมวางไว้ ซึ่งในขณะนั้นผมทราบดีว่าการตัดสินใจครั้งนี้อาจจะสร้างความไม่พอใจกับ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ไม่มากก็น้อย เพราะเป็นคำสั่งเด็ดขาดให้ดำเนินการทันทีโดยไม่เปิดโอกาสให้ใครมีสิทธิ์ต่อรองทั้งสิ้น

ผมให้ความเชื่อมั่นกับคนไทยทุกคนในฐานะที่ทำงานการเมืองมาตลอดเกือบ 20 ปีว่า ผมไม่มีวันทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน ผมยอมรับครับว่าไม่สามารถสกัดกั้นการทุจริตได้ 100 % แต่สิ่งที่ผมให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้คือ ผมไม่ละเลยที่จะจัดการกับปัญหาการทุจริตและขอให้เชื่อมั่นในตัวผมว่า ทุกการตัดสินใจล้วนเป็นไปเพื่อส่วนรวมไม่เคยมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง

ความผิดของผมอาจจะอยู่ตรงที่ว่า ผมไม่ใช้การตลาดนำการเมือง แต่ให้ความจริงเป็นบทพิสูจน์การกระทำ ก็เลยกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามบิดเบือนข้อมูลการทำงานของผมอย่างต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยการสร้างกระแสผ่านสื่อบางฉบับ ทำให้ประชาชนไม่น้อยเข้าใจผิดคิดว่าผมตกเป็นเบี้ยล่างยอมจำนนต่อพรรคร่วมรัฐบาลเพียงเพื่อรักษาอำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งผมก็ไม่อยากไปต่อล้อต่อเถียง เพราะพฤติกรรมของผมชัดเจนว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น และ ตอนต่อไปผมจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับข้อครหาทุจริตในโครงการต่าง ๆ ที่ผมนำเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ ก็เพื่อยืนยันว่า แม้ผมอาจไม่สามารถสกัดกั้นปัญหาทุจริตได้เต็มร้อย แต่ก็ได้พยายามอย่างเต็มที่ ไม่เคยเกรงกลัวเรื่องผลกระทบทางการเมือง และถ้าหากประชาชนให้โอกาสผมและพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป พลังของมวลชนจะเพิ่มความเข้มแข็งให้ผมต่อสู้เพื่อสร้างบ้านเมืองของเราให้เป็นไทยที่เข้มแข็ง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฟ้องศาลแรงงาน "การเมืองใหม่-สมศักดิ์ โกศัยสุข" เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

Posted: 08 Jun 2011 03:38 AM PDT

"นัสเซอร์ ยีหมะ" อดีตหัวหน้า สนง.พรรคการเมืองใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่พรรค รวม 9 คนเข้าฟ้องศาลแรงงานถูก "สมศักดิ์ โกศัยสุข" เลิกจ้างไม่เป็นธรรม อ้างขาดงานโดยไม่ยื่นใบลา เชื่อสาเหตุมาจากรณรงค์ "โหวตโน" ตามมติพันธมิตรฯ

เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ศาลแรงงานกลาง นายนัสเซอร์ ยีหมะ อดีตหัวหน้าสำนักงานพรรคการเมืองใหม่ กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองใหม่ รวม 9 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพรรคการเมืองใหม่ และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ เป็นจำเลยที่ 1-2 เรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์กับพวกโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า อ้างว่าขาดงานโดยไม่มีการยื่นใบลานั้นไม่เป็นความจริง ที่จริงแล้วโจทก์ยื่นใบลาต่อผู้อำนวยการพรรคเป็นที่เรียบร้อย ดังนั้นการที่จำเลยทั้ง 2 เลิกจ้าง ทำให้ได้รับความเสียหาย เป็นเหตุให้โจทก์ตกงาน ขาดรายได้ประจำ และในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้เป็นการยากที่จะหางานใหม่ได้ อีกทั้งยังค้างค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โจทก์ได้ทวงถามหลายครั้ง แต่จำเลยกลับนิ่งเฉย โจทก์จึงนำความมาฟ้องร้องขอให้ศาลสั่งให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายด้วย

ทั้งนี้ ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณา และนัดพร้อมคู่ความในวันที่ 28 มิ.ย. เวลา 09.00 น.

นายนัสเซอร์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า สาเหตุการเลิกจ้างน่าจะมาจากการที่พวกตนสนับสนุนรณรงค์ "โหวตโน" ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางของนายสมศักดิ์ หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ที่สนับสนุนให้มีการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง นายสมศักดิ์ เป็นถึงผู้นำแรงงานน่าจะทราบดีว่าการเลิกจ้างดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย
 

 

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เวทีโลกว่าด้วยเอดส์ระอุ ตัวแทนไทยยันสิทธิเข้าถึงยา งัดข้อประเทศใหญ่เจ้าของสิทธิบัตร

Posted: 08 Jun 2011 02:28 AM PDT

 

ในเวทีประชุมผู้บริหารสูงสุดของประเทศสมาชิกสหประชาติว่าด้วยเอชไอวีและโรคเอดส์ ภาคประชาสังคมไทย ร่วมลงนามจดหมายเปิดผนึก “ปฏิญญากรุงเทพฯ” รวมใจค้านความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาที่ขวางการเข้าถึงยาของประชาชน ขณะที่ประเทศมหาอำนาจเจ้าของสิทธิบัตรต้องการผูกขาดตลาดทำกำไร

8 มิ.ย. 54 ในขณะที่การประชุมผู้บริหารสูงสุดของแต่ละประเทศสมาชิกสหประชาชาติว่าด้วยเอชไอวีและโรคเอดส์ ซึ่งกำลังมีขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 มิ.ย.นี้ ณ สหประชาชาติ นครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อติดตามและกำหนดเจตจำนงร่วมกันตามที่ประเทศต่างๆ ได้ตกลงตามปฏิญญาว่าด้วยพันธกรณีเรื่องเอชไอวีและโรคเอดส์ เมื่อปี ค.ศ.2001 และปฏิญญาการเมืองว่าด้วยเรื่องโรคเอดส์เมื่อปี ค.ศ. 2006 กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น เพราะประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์ พยายามใช้การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีที่จะเพิ่มการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา แต่ไม่ต้องการรับปากที่จะให้เงินช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น ภาคประชาสังคมไทยกว่า 10 องค์กร อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ได้ร่วมกับภาคประชาสังคมทั่วโลก ส่งจดหมายเปิดผนึก “ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยความตกลงเขตการค้าเสรีและการเข้าถึงยา” และบางส่วนยังได้จัดการรณรงค์ส่งโทรสารไปยังสถานฑูตประเทศพัฒนาแล้วในภูมิภาคต่างๆ เพื่อคัดค้านความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และความพยายามในรูปแบบต่างๆ ของรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วและอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ ที่ต้องการผูกขาดทำกำไรด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเข้าถึงยาของประชาชนทั่วโลก

นายสุริยา วิงวอน ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ในการประชุมที่สหประชาชาติขณะนี้ ตัวแทนประเทศไทยมีจุดยืนที่ดีมาก คือ ต้องการให้กำหนดเป้าหมายการเข้าถึงการรักษาที่ 15 ล้านคนภายในปี 2030 ซึ่งจะครอบคลุม ร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องใช้ยา และยืนยันให้คงสิทธิและสนับสนุนให้ทุกประเทศใช้มาตรการยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์เพื่อการเข้าถึงยา รวมทั้งคัดค้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ที่ผ่านช่องทางการเจรจาเอฟทีเอต่างๆ ซึ่งจุดยืนนี้มาจากการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนฝ่ายไทยและภาคประชาสังคมไทยที่ทำงานด้านเอดส์

“เชื่อว่า การเจรจาครั้งนี้จะดุเดือด เพราะประเทศพัฒนาแล้วคัดค้านสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เนื่องจากต้องการทำกำไรจากการขายยาให้ได้สูงสุด แต่ภาคประชาสังคมทั่วโลกจะร่วมกับรัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาเช่น ไทย บราซิล และอินเดีย คัดค้านเรื่องนี้อย่างที่สุดเช่นเดียวกัน”

 

00000000

 

ปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยความตกลงเขตการค้าเสรีและการเข้าถึงยา

องค์กรและบุคคลที่ลงนามในปฏิญญาฉบับนี้ ขอประกาศคัดค้านความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่คำนึงถึงแต่กำไรของบรรษัทยาข้ามชาติมากกว่าสิทธิของประชาชนทั่วโลกในเรื่องสุขภาพและกำลังแพร่ระบาดไปทั่วอย่างรวดเร็ว ความตกลงเหล่านี้เป็นภัยและบ่อนทำลายการเข้าถึงยาของประชาชนนับล้านคนอย่างใหญ่หลวงและถาวร ยาจำเป็นใหม่ๆ สำหรับรักษาเอชไอวีและเอดส์ วัณโรค โรคไวรัสตับอักเสบซี มะเร็ง และโรคเรื้อรังอื่นๆ ทั้งหมดนี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง แต่เดิมคนนับล้านๆ คนในประเทศซีกโลกใต้เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนยาจำเป็นอยู่แล้ว อุปสรรคทางการค้าแบบใหม่จะยิ่งทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงยาได้ยากขึ้นไปอีก

ในปี 2001 (พ.ศ. 2544) ประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกลงนามตกลงร่วมกันในปฏิญญาโดฮา ซึ่งยืนยันว่าความตกลงการค้าที่เกี่ยวกับสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา (ทริปส์) “สามารถและควรตีความและนำไปปฏิบัติในทางที่สนับสนุนสิทธิของประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลกที่จะคุ้มครองการสาธารณสุข และโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งเสริมการเข้าถึงยาแก่ประชาชนทุกคน” แต่ชาติต่างๆ กำลังถูกบังคับให้ละทิ้งสิทธินั้นของตนเองโดยผ่านการทำความตกลงเขตการค้าเสรี

รัฐบาลที่ดำเนินการเจรจากำลังให้สัญญาเท็จว่าความตกลงเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อเรื่องสุขภาพของประชาชน แต่พวกเรารู้ว่าสัญญานั้นไม่เป็นความจริง การปฏิบัติตามความตกลงทริปส์ถือเป็นการจำกัดการเข้าถึงยาใหม่ของคนในซีกโลกใต้ในตัวของมันเองอยู่แล้ว การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีจะเป็นภัยคุกคามทำให้สถานการณ์เลวร้ายและยิ่งย่ำแย่หนักขึ้นไปอีก หลักฐานจากความตกลงการค้าเสรีต่างๆ ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ความตกลงนั้นจะริดรอนสิทธิของประเทศต่างๆ ในอันที่จะนำนโยบายภายในประเทศเพื่อส่งเสริมสิทธิด้านสุขภาพมาใช้ การศึกษาหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าความตกลงเขตการค้าเสรีที่สหรัฐฯ ได้ทำกับจอร์แดน ส่งผลให้ร้อยละ 79 ของยาที่สิทธิบัตรหมดอายุในจอร์แดนไม่มียาชื่อสามัญที่ให้ผลการรักษาที่เทียบเท่าเข้ามาในตลาดได้ และทำให้ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาโรคชนิดเดียวกันในประเทศกัวเตมาลามีราคาแพงกว่าถึงร้อยละ 850,000

ในความตกลงเขตการค้าเสรีของสหภาพยุโรป (Free Trade Agreement) ความตกลงความร่วมมือแถบแปซิฟิคของสหรัฐฯ (Trans Pacific Partnership Agreement) และการเจรจาแบบทวิภาคีในรูปแบบอื่นๆ พวกเรารู้ว่าบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและการลงทุนถูกกำหนดไว้เป็นเรื่องที่จะต้องเจรจา ซึ่งจะส่งผลบังคับให้ประเทศคู่เจรจาต้องเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายในประเทศขนานใหญ่และจะทำให้ยามีราคาแพงและเข้าไม่ถึงในอนาคต ความสามารถของอินเดียและประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพการผลิตยาต้นทุนต่ำภายในประเทศ เป็นตัวกำหนดสำคัญต่อจำนวนคนที่จะเข้าถึงยาจำเป็นที่ช่วยรักษาชีวิตได้ การกีดกันการผลิตยาชื่อสามัญจึงเป็นเรื่องความเป็นความตาย

พวกเราขอยืนหยัดคัดค้านข้อเสนอใดๆ ในความตกลงเขตการค้าเสรี ไม่ว่าจะมีเนื้อหาบางส่วนหรือทั้งหมดที่จะส่งผลกระทบร้ายต่อการเข้าถึงยา ข้อเสนอเหล่านั้นได้แก่:

การผูกขาดข้อมูลยา (DATA EXCLUSIVITY) ที่จะกีดกันไม่ให้รัฐบาลใช้ข้อมูลทดลองทางคลินิค (clinical trial) เพื่อขึ้นทะเบียนยาให้กับยาชื่อสามัญ แม้ว่ายานั้นจะไม่ได้จดสิทธิบัตรในประเทศนั้น หรือสิทธิบัตรหมดอายุลงหรือถูกเพิกถอน ทั้งนี้ ยังจะทำให้การนำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (ซีแอล) เกิดความยุ่งยากและไม่ได้ผล

การขยายอายุสิทธิบัตร (PATENT TERM EXTENSIONS) ซึ่งจะทำให้สิทธิบัตรมีอายุเกินกว่า 20 ปี

การเพิ่มกรอบการคุ้มครองสิทธิบัตร (INCREASING PATENT SCOPE) ที่ทำให้รัฐบาลต้องยอมให้มีการผูกขาดตลาดอีก 20 ปี ยาที่มีสิทธิบัตรอยู่เดิมจะสามารถจดสิทธิบัตรใหม่เพิ่มเติมได้ถ้านำไปใช้รักษาแบบใหม่หรือผลิตออกมาในรูปแบบใหม่ ด้วยวิธีการนี้ ยาที่จะขอจดสิทธิบัตรทำนองนี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล การกระทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการอนุญาตให้ยาเหล่านั้นผูกขาดตลาดได้ยาวนานเพิ่มขึ้นอีกเป็นสิบปีหรือยาวนานกว่านั้น เพียงแต่ดัดแปลงสูตรยาหรือกระบวนการผลิตเล็กน้อย

การเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา (PATENT LINGKAGE) ที่กีดกันไม่ให้ยาชื่อสามัญดำเนินการล่วงหน้าเพื่อทำวิจัยและเตรียมขึ้นทะเบียนยาได้ทันทีที่สิทธิบัตรของยาต้นฉบับหมออายุลง มาตรการเช่นนี้เป็นการประวิงเวลาทำให้มียาชื่อสามัญในตลาดได้ช้าลง แม้ว่าจะมีการนำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรมาให้ หรือสิทธิบัตรหมดอายุลงแล้วหรือถูกเพิกถอนก็ตาม

ข้อจำกัดในการใช้มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (RESTRICTIONS ON COMPULSORY LICENCES) ซึ่งจะจำกัดสิทธิที่ทุกประเทศพึงมีในการนำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรมาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะเข้าถึงยาได้ทุกคน แม้ว่าสิทธินี้จะถูกยืนยันซ้ำในปฏิญญาและสนธิสัญญาหลายฉบับก็ตาม

ข้อจำกัดในเรื่องการนำเข้าคู่ขนาน (RESTRICTIONS ON PARALLEL IMPORTS) ที่จะทำให้การนำเข้ายาที่จดสิทธิบัตรในประเทศอื่นแต่มีราคาถูกกว่าไม่สามารถกระทำได้

กฎเกณฑ์ว่าด้วยการลงทุน (INVESTMENT RULES) ซึ่งจะอนุญาตให้บริษัทต่างชาติดำเนินคดีกับรัฐบาลโดยอาศัยกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศถ้าผลประโยชน์ของบริษัทเหล่านั้นถูกกระทบกระเทือนจากนโยบายด้านสุขภาพภายในประเทศที่รัฐบาลนำมาใช้ เช่น มาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร มาตรการคุ้มครองสาธารณสุขที่ระบุไว้ในกฎหมายสิทธิบัตร มาตรการควบคุมราคายา นอกจากนี้ มาตรการนี้ยังอาจกีดกันไม่ให้รัฐบาลส่งเสริมการผลิตภายในประเทศอีกด้วย

มาตรการชายแดน (BORDER MEASURES) ที่จะทำให้ผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถเข้าไม่ถึงยาได้ เพราะเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะมีอำนาจยึดจับยาชื่อสามัญที่นำเข้าหรืออยู่ระหว่างขนส่งเพียงต้องสงสัยว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

การจำกัดการออกคำสั่งศาล (INJUNCTIONS) ซึ่งจะเป็นการลดอำนาจศาลของประเทศกำลังพัฒนาลง และทำให้ศาลไม่สามารถตัดสินคดีโดยคำนึงถึงเรื่องสุขภาพของผู้ป่วยมาก่อนกำไรบรรษัทข้ามชาติได้

มาตรการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ (OTHER IP ENFORCEMENT MEASURES) ที่จะทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ให้การรักษา ต้องเสี่ยงถูกตำรวจจับหรือถูกดำเนินคดีในศาล และยังรวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในระบบห่วงโซ่อุปสงค์และการจัดส่งยาชื่อสามัญทั้งหมด นับตั้งแต่การผลิต การกระจายและจัดส่งสินค้า อาจถูกฟ้องดำเนินคดีด้วย

นอกจากนี้ พวกเรายังยืนหยัดคัดค้านการใช้กลวิธีข่มเหงในทุกรูปแบบ ที่ประเทศพัฒนาแล้วและบรรษัทยาข้ามชาติใช้กดดันประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ให้ยอมรับนโยบายและกฎหมายที่เป็นภัย ซึ่งรวมถึงรายงานพิเศษ 301 ของประเทศสหรัฐฯ การอบรมผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ของรัฐ การฟ้องดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง และการกดดันและการล็อบบี้ในรูปแบบอื่นๆ

เราเรียกร้องให้:รัฐบาลของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป สวิสเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ถอนมาตรการทริปส์ผนวกออกจากบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและการลงทุนที่อยู่ในการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีทันที ขอให้ประเทศเหล่านี้หยุดกดดันและล็อบบี้ประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดทันที และล้มเลิกการเจรจาความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง (ACTA)

รัฐบาลประเทศซีกโลกใต้ค้ดค้านและปฏิเสธไม่ยอมข้อจำกัดใดๆ ในเรื่องการผลิต การขึ้นทะเบียน การจัดส่ง การนำเข้าและส่งออกของยาชื่อสามัญ และสร้างความร่วมมือในโลกซีกใต้อย่างเร่งด่วนเพื่อให้มียาชื่อสามัญราคายุติธรรมที่ยั่งยืนสำหรับในอนาคต รัฐบาลประเทศเหล่านี้ควรเรียกร้องให้มีการทบทวนความตกลงทริปส์และผลกระทบต่อการเข้าถึงยาในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดโดยทันที

รัฐบาลประเทศซีกโลกใต้ที่ได้ลงนามในความตกลงเขตการค้าเสรีแล้ว ซึ่งจำกัดการเข้าถึงยาในราคายุติธรรม เร่งทบทวนและแก้ไขมาตรการเหล่านั้นในความตกลงเขตการค้าเสรีในทันที และแก้ไขนโยบายและกฎหมายต่างๆ ที่เป็นภัยทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาในราคายุติธรรมได้

รัฐบาลทุกประเทศควรทำให้การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีไม่เป็นความลับอีกต่อไป เนื้อหาการเจรจาต้องปรากฎต่อสาธารณะและสามารถตรวจสอบได้ รัฐบาลทุกประเทศควรสนับสนุนให้มีการประเมินผลกระทบของการเจราจาการค้าที่กล่าวมาต่อสิทธิด้านสุขภาพและสิทธิอื่นๆ และการประเมินนั้นต้องเปิดกว้าง โปร่งใส และสาธารณชนมีส่วนร่วม 

รัฐสภาและองค์กรรัฐธรรมนูญของประเทศควรเรียกร้องให้เปิดเผยเนื้อหาการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี ทบทวนผลกระทบที่มีต่อสิทธิด้านสุขภาพและการเข้าถึงยา ปฏิเสธที่จะเห็นชอบหรือให้สัตยาบันกับความตกลงเขตการค้าเสรีที่ได้ลงนามไปแล้วและมีมาตรการต่างๆ ที่ริดรอนสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงการรักษาในราคาที่เป็นธรรม และทบทวนกฎหมายภายในประเทศทั้งหมด รวมถึงนโยบายและกฎหมายสิทธิบัตรและกฎระเบียบเรื่องยา เพื่อทำให้มั่นใจว่าสาระของปฎิญญาโดฮาได้รวมอยู่ในกฎหมายเหล่านั้นอย่างครบถ้วน

องค์การเอดส์แห่งสหประชาชาติ และองค์กรอื่นของสหประชาชาติ ควรมีการกระทำที่มากไปกว่าเพียงการออกแถลงการณ์ และควรกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกที่สนับสนุนสิทธิด้านสุขภาพในเรื่องที่เกี่ยวกับความตกลงเขตการค้าเสรี องค์กรของสหประชาชาติควรทำให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญในการประชุมระดับสูงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นและต้องมีตัวแทนชุมชนและกลุ่มที่ทำงานด้านสุขภาพเข้าร่วมอย่างครบถ้วนในการประชุมเหล่านั้นด้วย องค์กรภายใต้สหประชาชาติควรวิเคราะห์ผลกระทบของความตกลงการค้าต่างๆ ต่อการเข้าถึงยา และนำเสอนผลการวิเคราะห์นั้นต่อสาธารณะและให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการกับรัฐบาลและองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความมั่นใจว่าความตกลงเขตการค้าเสรีจะไม่เป็นภัยคุกคามต่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าองค์การเอดส์แห่งสหประชาชาติต้องการขยายการเข้าถึงการรักษาและป้องกันการติดเชื้อรายใหม่ให้ได้จำนวนหนึ่งล้านคนต่อปีจริง และถ้าเป้าหมาย Treatment 2.0 นี้จะบรรลุผลได้จริง องค์การเอดส์แห่งสหประชาชาติต้องประณามการเจรจาความตกลงเขตการเสรีอย่างชัดเจน และเร่งทำงานเพื่อป้องกันไม่มีการลงนามในความตกลงเขตการค้าเสรีที่มีมาตรการทริปส์ผนวก

คณะกรรมการกองทุนโลก ควรให้ความสนใจและประณามการเจรจากความตกลงเขตการค้าเสรีที่มีมาตรการทริปส์ผนวก สั่งให้เลขาธิการกองทุนโลกประเมินผลกระทบด้านการเงินที่เกิดจากความตกลงการค้าต่างๆ เปิดเผยผลการวิเคราะห์นั้นสู่สาธารณะ และต้องทำให้มั่นใจว่าได้นำระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่นำมาตการยืดหยุ่นทริปส์มาใช้อย่างเต็มที่มาใช้ รวมถึงสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ นำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรมาใช้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเงินจากโครงการกองทุนโลกเพื่อต่อสู้กับเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียไม่ใช้ไปซื้อยาที่ติดสิทธิบัตรและมีราคาแพงจนเกินความจำเป็น

องค์การอนามัยโลกไม่ควรปลีกตัวออกจากงานด้านนโยบายของตนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา และต้องสร้างความมั่นใจว่าองค์การอนามัยโลกจะไม่เปลี่ยนจุดยืนมาเป็นฝ่ายสนับสนุนมาตรการทริปส์ผนวก แต่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจังให้ประเทศต่างๆ ใช้สิทธิของตนในความตกลงทริปส์เพื่อคุ้มครองการสาธารณสุขและส่งเสริมการเข้าถึงยาสำหรับทุกคน

กลุ่มภาคประชาสังคม เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี และชุมชนที่กำลังเผชิญกับปัญหาโรคติดต่อและไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศซีกโลกเหนือและใต้ ควรรวมพลังกันเพื่อหยุดยั้งความตกลงเขตการค้าเสรีในทุกรูปแบบที่จะจำกัดการเข้าถึงยาชื่อสามัญ

พวกเราขอยืนหยัดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเคียงข้างกลุ่มเคลื่อนไหวและประชาชน ที่ถูกริดรอนสิทธิด้านสุขภาพ การดำรงชีวิต ความเสมอภาค ความเท่าเทียม อาหาร สิ่งแวดล้อม ความรู้ และการดำรงชีวิตตามวิถีชีวิตดั่งเดิม จากผลกระทบทางลบอันเกิดแต่ความตกลงเขตการค้าเสรีเหล่านี้ซึ่งทำให้ช่องว่างคนจนและคนรวยในประเทศเองและระหว่างประเทศด้วยมีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มเลี้ยวซ้าย: เราใช้อินเตอร์เน็ตล้มอำมาตย์ได้หรือไม่

Posted: 08 Jun 2011 12:45 AM PDT

 

ท่ามกลางการปฏิวัติล้มเผด็จการในอียิปต์หรือตูนีเซีย มีการคลั่งเห่อ ทวิตเตอร์ และเครื่องสื่อสารอื่นๆ ทางอินเตอร์เน็ต และพูดกันในแวดวงสื่อว่าเครื่องมือเหล่านี้ใช้เพื่อล้มเผด็จการได้ จนมีการเสนอว่าการปฏิวัติในตะวันออกกลางเป็น “การปฏิวัติทวิตเตอร์” ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนเสื้อแดงที่ประเทศไทยด้วย

แนวคิดหนึ่งในหมู่คนที่พูดเกินเหตุและเห่อ เฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ คือการเสนอว่า “การต่อสู้แบบเก่า” ที่อาศัยการจัดตั้งคนในองค์กรทางการเมืองจริงๆ และอาศัยการฝึกฝนการต่อสู้ และการนัดหยุดงาน “ล้าสมัยไปแล้ว” เพราะการใช้ เฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ ทำให้คนลุกฮือเองในรูปแบบอนาธิปไตยได้ โดยไม่มีองค์กร และการนำ แต่พวกนี้จะลืมไปว่าแม้แต่คนที่เสนอให้ทำอะไรในเวลาใดเวลาหนึ่ง ก็เป็นผู้นำ

แน่นอนในบรรยากาศของการเซ็นเซอร์สื่อทางเลือกเกือบทุกชนิดและปิดสถานีวิทยุชุมชน เครื่องมืออินเตอร์เน็ต เช่นเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ สไกพ์ หรือการตั้งเวปไซท์ กลายเป็นพื้นที่สำคัญของคนเสื้อแดงที่จะสื่อสารกัน นี่คือสาเหตุที่ฝ่ายกระทรวง ICT (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)ของรัฐบาลอำมาตย์พยายามไล่ปิดหรือปิดกั้นเวปต่างๆ และไล่จับคนที่วิจารณ์อำมาตย์ โดยใช้กฏหมาย 112 กฏหมายคอมพิวเตอร์ และกฏหมายความมั่นคงเป็นเครื่องมือ และนี่คือสาเหตุที่คนเสื้อแดงจำนวนมากพยายามทะลวงและหลบการปิดกั้นต่างๆ จนประชาชนจำนวนมากเริ่มมีทักษะพิเศษทางด้านคอมพิวเตอร์มากขึ้น

แต่เราต้องมาวิเคราะห์พิจารณาว่าเครื่องมือทางอินเตอร์เน็ตใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน และใช้อย่างไรถึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเปลี่ยนสังคม

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี ๒๕๕๑ เปิดเผยว่าจากจำนวนประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไปประมาณ 59.97 ล้านคน พบว่า มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์ 16.99 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 28.2 และมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 10.96 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.2 ตรงนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่าสถานภาพที่จะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตไม่ได้ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่เข้าถึงได้ และคนเหล่านั้นอาจส่งต่อข้อมูลให้คนอื่นได้

สำหรับการปฏิวัติในตะวันออกกลาง เช่นในอียิปต์ เราต้องพิจารณาว่าในช่วงที่มีการลุกฮือที่นำไปสู่การล้มมูบารัก เผด็จการอียิปต์สั่งปิดอินเตอร์เน็ตทั้งหมดและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือด้วย แต่ประชาชนก็สามารถรวมตัวกันและสื่อสารได้ ทั้งนี้เพราะมีการจัดตั้งกลุ่มและเครือข่ายต่างๆ มาก่อนหน้านั้นหลายปี และมีการลุกฮือนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานในปีก่อนๆ อีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการ “ซ้อมรบ” และประเด็นสำคัญที่สุดคือ ทหารอียิปต์ตัดสินใจเขี่ยมูบารักออกจากตำแหน่ง เมื่อมีการนัดหยุดงานลามไปทั่วประเทศ เพราะเขากลัวพลังเศรษฐกิจของการนัดหยุดงาน และกลัวว่าทหารเกณฑ์ระดับล่างจะเริ่มกบฏต่อผู้บังคับบัญชา

บ่อยครั้งการสื่อสารระหว่างเครือข่ายต่างๆ ในการปฏิวัติอียิปต์ เกิดขึ้นปากต่อปาก ตาต่อตา ในจตุรัสทาห์เรีย หรือในมัสยิด หรือในสถานที่ทำงาน และในปีก่อนๆ เวลามีการพยายามปลุกระดมให้คนออกมาไล่รัฐบาลทาง เฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ ก็มีคนมาน้อย เพราะคนยังกลัวอยู่และสถานการณ์ยังไม่สุกงอม

นักวิชาการบางคนเตือนเราให้ระวัง “การสร้างภาพการเคลื่อนไหว” ทางอินเตอร์เน็ต ที่ไม่เกิดในโลกจริง Jodi Dean (ในวารสาร Cultural Politicsปี 2005) เขียนว่าการ “กดคลิก” หรือการกด “ชอบ” หรือการลงชื่อในแถลงการณ์หรือจดหมายเปิดผนึกผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้คนรู้สึกดีที่ “ได้ร่วมเคลื่อนไหว” แต่มันไม่ใช่การเคลื่อนไหวจริงที่มีพลัง ส่วน Slavoj Žižek (สลาโวช ซีเซค) นักมาร์คซิสต์ชาวสโลวีเนีย ที่ชอบท้าทายความคิดคนอื่นๆ เพื่อกระตุ้นความคิด พูดว่าการเคลื่อนไหวผ่านอินเตอร์เน็ตกลายเป็นการ “ร่วมกันงอมืองอเท้า” มันเป็นกระบวนการที่ลดระดับการเมืองและการเคลื่อนไหวในโลกจริง เพราะเปิดทางให้เราหลอกตัวเองว่าเราทำอะไร ในขณะที่เราอาจขี้เกียจออกมาทำอะไรในโลกจริง

Malcolm Gladwell นักเขียนชาวคานาดา ในบทความว่า “ทำไมการปฏิวัติจะไม่ถูกทวิตเตอร์” (New Yorker 2010)เสนอว่า “เพื่อน” หรือเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ต ระหว่างคนที่ไม่รู้จักกัน ไม่เคยเจอหน้ากันหรือคุยกันโดยตรง เป็นเครือข่ายที่อ่อนแอมาก แต่ในมุมกลับ ถ้าคนที่รู้จักกันมาก่อน เคยสู้บนท้องถนนหรือในที่ทำงานร่วมกัน และเป็นสมาชิกองค์กรร่วมกันมากก่อน ใช้เครื่องมืออย่าง เฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ เขาสามารถประสานการต่อสู้ได้ด้วยประสิทธิภาพจริง เพราะเครือข่ายสายสัมพันธ์ของเขาจะเข้มแข็งและเป็นจริง

ในกรณี “นักรบไซเบอร์” ไทย มีโรคระบาดแห่งการ “ร่วมกันงอมืองอเท้า” โดยเฉพาะในกลุ่มคนเสื้อแดงที่อยู่นอกประเทศไทย หรือในหมู่คนภายในประเทศที่ไม่สามารถหรือไม่ยอมออกมาเคลื่อนไหว คนเหล่านี้จะใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันในการ “เล่นเน็ต” หรือคุยกันเป็นกลุ่มทางสไกพ์หรือแคมฟร้อค แต่สาระการคุยกันมีน้อยเหลือเกิน เพราะเนื้อหาหลักจะเป็นการผลิตซ้ำข่าวลือ เช่นเรื่องรัฐประหาร หรือเรื่องส่วนตัวของอำมาตย์เป็นต้น และที่แย่กว่านั้นมีการป้ายร้ายผู้เคลื่อนไหวจริงด้วยข่าวเท็จ โดยเฉพาะแกนนำนปช.ในประเทศไทย ตรงนี้ผู้เขียนไม่ได้เสนอว่าเราไม่ควรวิจารณ์เสื้อแดงกันเอง เราต้องวิจารณ์แนวทางเสมอ แต่ต้องวิจารณ์บนพื้นฐานความจริงและในลักษณะที่จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการต่อสู้

นักรบไซเบอร์ประเภท “งอมืองอเท้า” มักจะไม่รู้เรื่องว่าในพื้นที่และชุมชนต่างๆ ของไทยมีการจัดตั้งเสื้อแดงและเคลื่อนไหวกันอย่างไร เพราะเขามักจะไม่ไปร่วมงานเคลื่อนไหวในโลกจริง ไม่ว่าจะที่ไทยหรือแม้แต่ในต่างประเทศ เขาจะหดหู่กับความเป็นไปได้ที่จะล้มอำมาตย์ เขามักจะพูดว่า “สหภาพแรงงานไทยนัดหยุดงานไม่ได้” ทั้งๆ ที่ขบวนการแรงงานไทยในโลกจริงมีประวัติการนัดหยุดงานและการต่อสู้มานาน เขาจะเสนอว่า “ไทยเป็นกรณีพิเศษไม่เหมือนอียิปต์หรือประเทศอื่นในตะวันออกกลาง” ทั้งๆ ที่เผด็จการซิเรียยิงประชาชนตายเกือบ 500 คน และเผด็จการอียิปต์ฆ่าและทรมานฝ่ายตรงข้ามมากว่า 30 ปี สรุปแล้วนักรบไซเบอร์ประเภทนี้นั่งฟังแต่รายการวิทยุของ อ.ชูพงษ์กับคนอื่นที่มีมุมมองคล้ายๆ กัน ฟังเพื่อให้ตนรู้สึกดี แต่ไม่นำไปสู่การปฏิบัติการอะไรเลย เหมือนกินยาชา และได้แต่แก้ตัวว่าการพูดทางอินเตอร์เน็ตให้คน “ตาสว่าง” จะ “ล้มระบอบ” ได้ แต่การล้มระบอบต้องอาศัยมวลชนจำนวนมากที่ออกมาต่อสู้บนท้องถนนและนัดหยุดงานในสถานที่ทำงาน และต้องอาศัยมวลชนที่มีตัวตนและคุยต่อหน้าต่อตากัน โดยเฉพาะมวลชนที่จะคุยกับทหารระดับล่าง ผ่านการล้อมรถถังและชวนให้ทหารเหล่านั้นกบฏต่อผู้บังคับบัญชา

ในโลกสมัยใหม่แห่งอินเตอร์เน็ต บ่อยครั้งจะมีการตั้งคำถามว่า “ทำไมยังต้องไปขายหนังสือพิมพ์ของฝ่ายซ้ายที่เป็นกระดาษ อย่างเช่นหนังสือพิมพ์ เลี้ยวซ้าย ? ทำไมไม่เอามาขึ้นอินเตอร์เน็ตหรือสร้างเวปไซท์ให้คนอ่านเอง? คำตอบคือ เวลาเรามีหนังสือพิมพ์กระดาษที่นำมาขายในการชุมนุมหรือในสถานที่ทำงาน มันเป็นโอกาสที่เราจะคุยกับคนอื่นต่อหน้าต่อตา เป็นโอกาสที่จะถกเถียงแลกเปลี่ยน และเป็นโอกาสที่จะทำความรู้จักและสร้างความสนิทสนมจริง เพื่อจัดตั้งองค์กรเข้มแข็งที่จัดการประชุมได้ ไม่ใช่องค์กรในโลกไซเบอร์ที่อาจมีสมาชิกจริงหรือไม่จริงก็ได้

ผู้ที่ต่อสู้ในโลกจริง ด้วยการจัดตั้งองค์กรหรือเครือข่ายในโลกจริง สามารถใช้ เฟสบุ๊ค หรือ ทวิตเตอร์ และเครื่องมืออื่นๆ ทางอินเตอร์เน็ตเพื่อพัฒนาการต่อสู้ได้ ถ้าสิ่งเหล่านั้นไม่ถูกปิดกั้น แต่ผู้ที่มองว่าเราสามารถใช้ เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือสไกพ์ แทนการเคลื่อนไหวในโลกจริงได้จะประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

 

[การเขียนบทความนี้อาศัยข้อมูลจากบทความของ Jonny Jones (2011) “Social Media and Social Movements” International Socialism Journal 130]

 

ที่มา: facebook-TurnleftThailand เลี้ยวซ้าย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "วาทะ+กรรม"

Posted: 08 Jun 2011 12:24 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "วาทะ+กรรม"

นักวิเคราะห์ต่างชาติคาดหากเพื่อไทยชนะ อาจมีการนองเลือดอีกครั้ง

Posted: 08 Jun 2011 12:06 AM PDT

นิโคลัส ฟาเรลลี นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ตั้งคำถาม เพื่อไทยชนะแล้วจะเกิดอะไรขึ้น และผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารกันยายน 2549 จะสามารถอยู่เฉยได้หรือหากน้องสาวของทักษิณขึ้นสู่อำนาจ

นักวิเคราะห์ต่างชาติคาดหากเพื่อไทยชนะ อาจมีการนองเลือดอีกครั้ง

บทความ A Pheua Thai win? But then what? ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ นิวมันดาลา ระบุว่า แม้ที่ผ่านมา ทักษิณจะล้มเหลวในหลายเรื่อง และความผิดพลาดของทักษิณก็มีอยู่จำนวนมาก อีกทั้งนโยบายหลายประการของเขาในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีก็เป็นสิ่งที่ถกเถียงได้หลากหลาย แต่เมื่อมาถึงฤดูกาลเลือกตั้ง ทักษิณกลับพิสูจน์ตัวได้อีกครั้งว่าเขาคือ The best ของประเทศไทย

ขณะที่ยังไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าผลการเลือกตั้งของไทยจะเป็นอย่างไร แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คือ พรรคเพื่อไทยได้รับเสียงสนับสนุนอย่างแข็งขันจากบางพื้นที่ของประเทศ ซึ่งนั่นก็น่าตั้งคำถามว่า เป็นพลังเสียงที่เพียงพอที่จะทำให้ทักษิณ และยิ่งลักษณ์ได้รับเสียงข้างมาก หรือมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมและก้าวเข้าสู่อำนาจอีกครั้งหรือไม่ อีกทั้ง หากเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง สิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมากก็คือ การที่ทักษิณจะได้กลับประเทศไทยภายในปลายปีนี้

ภายใต้บริบทเช่นนี้ นิโคลัส ฟาเรลลีระบุว่าเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดอย่างจริงจังว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง

โดยเขาตั้งคำถามว่า ผู้มีอำนาจที่จัดการโค่นทักษิณในปี 2549 ทำลายรัฐบาลนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงษ์สวัสดิ์ จะสามารถอยู่เฉยได้หรือหากน้องสาวของทักษิณก้าวขึ้นสู่อำนาจ

นักวิจัยผู้นี้ตั้งคำถามด้วยว่า ความเสี่ยงของบรรดานายหน้าที่ทำการรัฐประหาร และผู้มีส่วนในการตัดสินใจก่อการรัฐประหารนั้นมีอยู่สูงมาก พวกเขาจะสามารถเผชิญกับความเสี่ยงเช่นนั้นได้หรือ และแม้การประนีประนอมและปรองดองไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้แต่ที่เราท่านพึงเรียนรู้นับจากรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมาก็คือทักษิณนั้นมีลักษณะเฉพาะอันไม่พึงประสงค์สำหรับผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศไทย

ท้ายที่สุด ฟาเรลลี คาดว่าหากการตัดสินใจของผู้มีอำนาจเป็นไปเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2006 ซึ่งต้องการทำให้ทักษิณออกจากอำนาจในระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในราชสำนัก ดังนั้นแล้ว อย่างดีที่สุดสำหรับพรรคเพื่อไทยก็คือ ได้รับชัยชนะในระยะสั้นๆ เท่านั้น แต่ทรัพย์สินมหาศาลจะถูกนำมาออกมาใช้ เช่นเดียวกับหยาดเลือดที่จะต้องหลั่งไหล เพื่อแลกกับการทำให้แน่ใจว่าทักษิณไม่ได้มีอำนาจอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านนั้น

ที่มา: A Pheua Thai win? But then what?

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คำถามถึงอภิสิทธิ์ ทำไมทะเลาะกับเขมรแทบตาย เพื่อกลับไปที่เดิม?

Posted: 07 Jun 2011 10:54 PM PDT

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 มิ.ย.) มีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่รายงานโดยเว็บไซต์ thaiinsider ว่านายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “ยันสู้คดีเพื่อปกป้องอธิปไตย บี้พรรคอื่น ต้องยืนยันท่าทีเรื่องปัญหาไทย-เขมรให้ชัดเจน เพราะจุดยืน ปชป.ชัดแล้ว” และในข่าวมติชนวันที่ 5 มิ.ย. นายอภิสิทธิ์ยังบอกว่ากัมพูชาต้องแสดงความจริงใจ “ด้วยการชะลอการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโก โดยเริ่มต้นร่างแผนบริหารจัดการร่วมกันระหว่างไทยกับกัมพูชา” นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่นายอภิสิทธิ์ใช้ชาตินิยมเพื่อหวังผลทางการเมือง

ผู้เขียนเชื่อว่าประชาชนไทยทุกกลุ่มทุกสีล้วนเอาใจช่วยให้ทีมกฎหมายของไทยประสบความสำเร็จในการต่อสู้คดีกับกัมพูชาในขณะนี้ เพราะถ้าศาลตีความว่า “พื้นที่โดยรอบ” ที่ไทยจะต้องถอนทหารออกไปให้หมดนั้น คือพื้นที่ตามเส้นเขตแดนบนแผนที่ 1:200,000 จะส่งผลให้ไทยต้องสูญเสียพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม.โดยรอบพระวิหาร การสูญเสียครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มพูนความเกลียดชังระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่อาจกลายเป็นเงื่อนไขที่จะนำไปสู่วิกฤติการเมืองไทยที่รุนแรงกว่าทุกครั้งที่พระวิหารเคยเป็นปัญหามา การต่อสู้ครั้งนี้จึงมีความเสี่ยงสูงมาก

ปัญหาคือ ประเทศไทยไม่ควรต้องเดินมาสู่ความเสี่ยงนี้เลย หากนายอภิสิทธิ์ไม่ไหลไปกับกระแสแสชาตินิยมและมุ่งเอาชนะทางการเมืองภายในมากจนเกินไป

สิ่งที่บทความชิ้นนี้ต้องการแสดงให้เห็นคือ สาระสำคัญที่ทีมกฎหมายไทยที่นำโดยนายวีรชัย พลาศรัย แถลงด้วยวาจา (Oral hearing) ในนามของรัฐบาลไทยต่อศาลโลกเมื่อวันที่ 30 และ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชได้กระทำไว้ แต่นายสมัครและนายนพดล ปัทมะ กลับถูกกลุ่มชาตินิยมและนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น โจมตีว่าทำให้ไทยเสียดินแดน

ว่าด้วยเส้นเขตแดนตามมติ ครม.2505 และการสงวนสิทธิ์
นายวีรชัยแถลงว่า “ประเทศไทยมีความสม่ำเสมอในจุดยืนของตนที่ยอมรับคำตัดสิน ของศาลเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2505 และได้ปฏิบัติตามคำตัดสินดังกล่าวอย่างสมบูรณ์” ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากศาลมีคำตัดสินออกมา คณะรัฐมนตรี (ของสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ได้จัดให้มีการประชุมเมื่อวันที่ 10 ก.ค. เพื่อกำหนดพื้นที่ของพระวิหารให้เป็นไปตามคำตัดสินของศาล ต่อมาในวันที่ 19 ก.ค. ฝ่ายไทยได้จัดทำรั้วลวดหนวมขึ้นตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 ก.ค. เพื่อเป็นเครื่องหมายเขตแดนของพระวิหาร และฝ่ายกัมพูชาก็ยอมรับเส้นเขตแดนดังกล่าวตลอด 40 ปีที่ผ่านมา

ผู้เขียนเห็นว่าข้อโต้แย้งของฝ่ายกฎหมายไทยเป็นสิ่งที่ชาญฉลาด โดยใช้การประพฤติปฏิบัติของกัมพูชาเป็นเครื่องผูกมัดทางกฎหมายต่อกัมพูชาเอง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตสองประการ

(1) คำแถลงของฝ่ายไทยชี้ว่านับแต่ปี 2505 เป็นต้นมา ฝ่ายไทยได้ยึดรั้วลวดหนวมที่ตั้งขึ้นในสมัย รบ.สฤษดิ์ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในบริเวณพระวิหาร ข้อเท็จจริงก็คือ ในยุคของ รบ.นายสมัคร สุนทรเวช กระทรวงการต่างประเทศภายใต้การนำของนายนพดล ปัทมะได้พยายามเจรจาจนกระทั่งกัมพูชายินยอมตัดพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ออกจากเอกสารยื่นขอจดทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกในปี 2551 ได้สำเร็จ โดยกัมพูชาเอาเฉพาะพื้นที่ที่ถูกล้อมรั้วตามมติ ครม. 2505 ไปขึ้นทะเบียน (โปรดดูรูปแผนผังประกอบ)

 


แผนผังแสดงพื้นที่ (1) คือทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียน และพื้นที (2) คือเขตกันชน จาก The Kingdom of Cambodia,
The Temple of Preah Vihear Inscribed on the World Heritage List (UNESCO) since 2008.

จากแผนผังข้างต้น ส่วนสีเหลืองคือพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตร.กม. ในเอกสารยื่นจดทะเบียน กัมพูชาระบุชัดเจนว่ามีเพียงพื้นที่หมายเลข 1 คือตัวปราสาท และหมายเลข 2 (พื้นที่สีเขียวทั้งหมด) ซึ่งอยู่ในเขตพื้นราบฝั่งกัมพูชา เราจะเห็นได้ว่าไม่มีพื้นที่ฝั่งตะวันตกถูกนำไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก จึงเท่ากับกัมพูชาเอาเฉพาะตัวปราสาทและพื้นที่ภายในรั้วลวดหนามนั่นเอง

แต่เมื่อนายนพดลชี้แจงต่อสภาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2551 ว่าพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของพระวิหารที่กัมพูชานำไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ไม่มีส่วนใดรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ที่ไทยอ้างสิทธิ์อยู่ (4.6 ตร.กม.) เพราะเป็นไปตามเส้นเขตแดนที่กำหนดตามมติครม. 2505 นายอภิสิทธิ์ตอบโต้ว่า:

“ผมฟังท่านรัฐมตรี (นพดล) ชี้แจงหลายเวทีแล้วครับ ไปบอกว่าศาลตัดอย่างนั้น เราก็เลยไปกำหนดเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรี 2505 ท่านประธานครับ ไม่มีที่ไหนเขาขีดเขตแดนโดยมติคณะรัฐมนตรีครับ มติคณะรัฐมนตรีสัปดาห์นี้เป็นอย่าง สัปดาห์หน้าก็เปลี่ยนได้...ไม่มีหลักสากลที่ไหนเลยครับเขาไปปล่อยให้คณะรัฐมนตรี หรือมติของฝ่ายบริหารกำหนดเขตแดนระหว่างประเทศ”

“ศาลตัดสินให้เฉพาะ Temple ตามมติ ครม.2505 นั้นเป็นเรื่องของ Area เพื่อจะปฏิบัติ เพราะแน่นอนครับ การดำเนินการของรัฐบาลไทยในขณะนั้นต้องกังวลแน่นอนว่า ถ้าไปขีดเส้นแล้ว เกิดการเผชิญหน้า เกิดการปะทะกัน ก็ไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใด ก็ต้องกำหนดแนวปฏิบัติไว้อย่างนี้ครับ ที่ท่านรัฐมตรีมักจะมาขีดเส้นอยู่นี่ แล้วก็บอกว่าเป็นเขตแดนนั้น ไม่ใช่ครับ เป็นเขตแนวปฏิบัติกำหนดโดยคณะรัฐมนตรีเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติให้เห็นว่าเราไม่ได้ฝ่าฝืนสิ่งที่เป็นศาลโลกสั่ง แต่ไม่ได้มีสถานะของการเป็นเขตแดน กัมพูชาก็ไม่ได้ยอมรับ นี่คือข้อเท็จจริงครับ”

คำถามคือ นายอภิสิทธิ์ยอมรับหรือไม่ว่า ณ วันนี้ ตนเห็นด้วยกับ รบ.นายสมัคร ที่ให้ยึดเส้นรั้วตามมติ ครม. 2505 เป็นเส้นเขตแดนในบริเวณนี้ หากเป็นเช่นนั้นจริง นายอภิสิทธิ์ควรกล่าวคำขอโทษต่อนายสมัคร ที่แม้จะเสียชีวิตไปแล้ว และต่อนายนพดลหรือไม่?

(2) นี่เป็นการประกาศอย่างเป็นทางการครั้งแรกในนามของรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่าไทยยอมรับคำตัดสินของศาลโลก โดยไม่มีประโยคต่อท้ายว่า “ไทยยังสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเอาปราสาทพระวิหารคืนมาเป็นของไทย” อันเป็นประโยคที่นายอภิสิทธิ์กล่าวย้ำบ่อยครั้งตั้งแต่สมัยที่เป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านจนถึงปัจจุบัน เป็นประโยคที่ใช้โจมตี รบ.สมัครว่าได้สละสิทธิ์ดังกล่าวไป

ประโยคดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดและความหวังลมๆ แล้งๆ ให้กับประชาชนทั่วไปว่าไทยยังมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเอาปราสาทพระวิหารมาเป็นของไทย ทั้งๆ ที่ธรรมนูญของศาลโลกกระบุไว้ชัดเจนว่า คำตัดสินของศาลโลก “ถือเป็นที่สุด” ไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา แต่หากจะขอให้ศาลทบทวนคำพิพากษาจะต้องกระทำภายใน 10 ปีนับแต่มีคำพิพากษา

คำถามคือ ถ้านายอภิสิทธิ์เชื่อมั่นว่าไทยยังมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องปราสาทพระวิหารคืนมาจริง ทำไมจึงไม่ให้ทีมกฎหมายไทยประกาศข้อสงวนสิทธิ์ดังกล่าวในเวทีศาลโลก เพราะการประกาศว่า “ไทยยอมรับคำตัดสินของศาลโลก” โดยไม่มีเงื่อนไขต่อท้าย ก็เท่ากับรัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังสละสิทธิ์ที่จะทวงคืนพระวิหาร หรือเพราะนายอภิสิทธิ์รู้ว่าประโยคแบบนี้ใช้หากินได้แต่ในเมืองไทยเท่านั้น? แต่ไม่มีความหมายในทางกฎหมายใดๆ ในเวทีนานาชาติเลย ซ้ำร้ายจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตัวตลกเสียอีก

คำพูดเรื่อง “สงวนสิทธิ์” ที่จะเอาพระวิหารคืนมานั้น มีที่มาจากจอมพลสฤษดิ์ และจดหมายที่นายถนัด คอมันตร์ รมต.กต. มีถึงเลขาธิการยูเอ็น แต่การพูดแบบนี้เมื่อปี 2505 ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพราะยังมีอายุความอยู่ แต่เมื่ออายุความหมดไปตั้งเกือบ 40 ปีแล้ว โดยที่ไทยไม่เคยพยายามรื้อฟื้นคดีในช่วงที่ผ่านมาเลย มันย่อมเป็นได้แค่เครื่องมือหากินทางการเมืองที่ไร้ความรับผิดชอบ

การบริหารจัดการพระวิหารและพื้นที่ทับซ้อน
ผู้เขียนเห็นด้วยกับถ้อยแถลงต่อศาลโลกของนายวีรชัย เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ว่า เมื่อปี 2546 รัฐบาลไทยและกัมพูชาเคยตกลงจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระดับรัฐมนตรีเพื่อพัฒนาพื้นที่ปราสาทพระวิหารร่วมกัน และได้หารือเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกร่วมกันตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยว “สองอาณาจักร หนึ่งเป้าหมาย” มีการจัดตั้งอนุกรรมการร่วมสองคณะ คณะหนึ่งเพื่อดูแลการฟื้นฟูและรักษาพระวิหาร อีกคณะหนึ่งเพื่อวางแผนและพัฒนาพื้นที่รอบปราสาท โครงการดังกล่าวชี้ว่ารัฐบาลไทยในขณะนั้น พร้อมที่จะเปิดหน้าใหม่ของปราสาทพระวิหารให้เป็นความร่วมมือและมิตรภาพกับกัมพูชา แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อกัมพูชากลับยื่นขอขึ้นทะเบียนแต่ฝ่ายเดียวในปี 2547 ฝ่ายไทย (ในสมัย รบ.สุรยุทธ์) จึงได้คัดค้านการขึ้นทะเบียนของกัมพูชาเพราะเอาดินแดนที่ไทยอ้างสิทธิ์ไปขึ้นทะเบียนด้วย ได้มีความพยายามเจรจาแก้ไขในส่วนนี้ และในที่สุด รบ.ไทย (สมัยสมัคร) ก็สนับสนุนการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลกในปี 2551

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่ามีความจำเป็นต้องทำความกระจ่างในบางประเด็น:

  1. เมื่อกัมพูชายืนยันที่จะยื่นจดทะเบียนตามลำพัง และบอกให้ไทยแยกยื่นส่วนที่อยู่ในเขตแดนไทย รัฐบาลสุรยุทธ์ยังคงสนับสนุนการขึ้นทะเบียนพระวิหารของกัมพูชาต่อไป บนเงื่อนไขว่ากัมพูชาต้องร่วมมือแก้ไขและป้องกันปัญหาที่จะกระทบต่อเขตแดนที่ไทยอ้างสิทธิ์
     
  2. การเจรจาเพื่อให้กัมพูชาแก้ไขแผนผังแนบขอขึ้นทะเบียนพระวิหารจึงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึง รบ.สมัคร จนในที่สุดกัมพูชายินยอมตัดพื้นที่ส่วนที่ไทยอ้างสิทธิออกจากแผนผัง โดยจำกัดพื้นที่เขตกันชน (buffer zone) ให้เหลือเพียงตัวปราสาท, ฝั่งตะวันออกและด้านใต้ของตัวปราสาท ดังแผนที่ข้างต้น
     
  3. หน่วยงานของไทยในสมัย รบ.สมัครยังทำให้กัมพูชาตกลงว่าจะร่วมกับไทยจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของปราสาท โดยแผนดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการปราสาทฯ และพื้นที่โดยรอบทั้งหมด
  4. หน่วยงานของไทยในสมัย รบ.สมัครยังสามารถเกลี้ยกล่อมให้กัมพูชายอมตกลงในหลักการว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันพัฒนาร่วมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนด้วย (ตรวจสอบข้อมูลในข้อ 1-4 ได้ใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, แฉเอกสารลับที่สุด ปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505-2551, น.280-302)

ประเด็นในที่นี้คือ ความร่วมมือผลักดันให้พระวิหารเป็นมรดกโลกมาจากความพยายามของ รบ.ไทยที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน ทั้งสองฝ่ายมีเจตจำนงที่จะทำให้พระวิหารเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพและความร่วมมือยุคใหม่ แต่แน่นอนว่าความหวาดระแวงไม่ไว้วางใจระหว่างกันอย่างคงมีอยู่ ฝ่ายกัมพูชาหวาดระแวงว่าไทยคงอยากได้พระวิหาร และหวงแหนในสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นสิทธิตามกฎหมายของเขาแล้ว ไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนร่วมกับไทย กระนั้น เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างกันยังดีอยู่ การเจรจาแก้ปัญหาก็สามารถเดินต่อไปได้ จนกระทั่งไทยสามารถเกลี้ยกล่อมให้กัมพูชาตัดพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ออกจากเอกสารขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก ทั้งๆ ที่ 4.6 ตร.กม. ก็เป็นพื้นที่ที่กัมพูชาอ้างสิทธิอยู่ด้วยเช่นกัน แต่เขาก็ตัดทิ้ง เพราะเขามั่นใจว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ไม่มีผลต่อการปักปันเขตแดน แต่สิ่งสำคัญกว่าในที่นี้คือ ปรากฏการณ์ที่ชี้ว่าเมื่อความสัมพันธ์ดี การเจรจาและยืดหยุ่นก็เป็นไปได้ แต่สังคมไทยก็หลงอยู่กับข้อมูลบิดเบือนว่าไทยกำลังจะเสียดินแดนนับล้านไร่หากกัมพูชาขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก

นอกจากนี้ สิ่งน่าเสียดายอย่างยิ่งก็คือ ข้อตกลงที่ให้มีการพัฒนาร่วมในพื้นที่ทับซ้อน อันเป็นแนวทางสร้างสันติภาพและความเจริญให้กับผู้คนสองประเทศที่ดีที่สุด ก็ได้ถูกทำลายลงไปด้วย กัมพูชาก็ไม่ยอมรับแนวทางนี้อีกต่อไปเช่นกัน ฉะนั้น ในวันนี้ การที่นายอภิสิทธิ์เรียกร้องให้กัมพูชาหันมาบริหารจัดการร่วมพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร จึงสายเกินการณ์ไปเสียแล้ว น่าเสียดายที่นายอภิสิทธิ์อยู่ในสถานะที่ได้เปรียบกว่านายสมัครและนายนพดลที่จะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้อง และหาทางยุติปัญหากับกัมพูชาด้วยสันติวิธี แต่เรากลับไม่ได้เห็นสิ่งเหล่านี้เลย ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องตลกที่ขำไม่ออกที่ถ้อยแถลงต่างๆ ของ รบ.อภิสิทธิ์ในวันนี้เป็นสิ่งที่ รบ.สมัครได้พยายามทำไว้แล้วทั้งสิ้น

เมื่อกระแสชาตินิยมขยายอวิชชา เพิ่มพูนมิจฉาทิฐิของทั้งไทยและกัมพูชา จนเหลือแต่ความเกลียดชังและมุ่งเอาชนะกันอย่างเด็ดขาด การเจรจาทุกปิดประตู การสูญเสียที่ชายแดนเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน เราจึงต้องเผชิญกับความเสี่ยง ณ ศาลโลกอีกครั้ง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น