โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

กอ.รมน.เชียงใหม่เร่งรัดชุมชนไทใหญ่ “บ้านใหม่หนองผึ้ง” รื้อถอนภายใน 120 วัน

Posted: 10 Jun 2011 12:28 PM PDT

เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงสนธิกำลังกว่า 300 นายปิดล้อม “บ้านใหม่หนองผึ้ง” ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ในที่ดิน สปก. โดยแจ้งให้สมาชิกชุมชนย้ายออกไปภายใน 120 วัน หากไม่ย้ายออกไปเจ้าหน้าที่จะมารื้อเอง 

ตั้งแต่เช้ามืดของวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ความมั่นคง จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จ.เชียงใหม่ นำโดย พ.อ.อัครวัฒน์ วุฒิเดชโชติโภคิน หัวหน้ากลุ่ม งานข่าว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงใหม่สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ราว 300 นายตำรวจ สภ.แม่แตง ตำรวจ ตชด. ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ปปส. เจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดิน จ.เชียงใหม่ และ เจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงาน จ.เชียงใหม่ โดยเข้าปิดล้อมพื้นที่บ้านใหม่หนองผึ้งหมู่ 18 ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดิน สปก. 4-01 โดยผู้อาศัยส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ถือบัตรสถานะบุคคลบนพื้นที่สูง (สีเขียวขอบแดง) และส่วนหนึ่งถือบัตรอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าว

เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิแรงงาน ขององค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ ระุบุว่า ในการปิดล้อมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ซึ่งสนธิกำลังมากว่า 300 นาย ได้ทำการสำรวจชุมชน พบมีผู้อาศัยทั้งหมด 63 หลังคาเรือน รวม 162 คน ขณะที่บ้านที่เหลือ 100 กว่าหลังคาเรือนถูกทิ้งร้าง โดยเจ้าหน้าที่ได้บันทึกข้อมูลสมาชิกทั้งหมดและทำประวัติ และชี้แจงว่าการถือครองที่ดินเป็นการทำผิดกฎหมาย และขอให้ชาวชุมชนลงบันทึกถ้อยคำยินยอมว่าจะย้ายออกจากพื้นที่ในเวลา 120 วัน หรือภายใน 1 ต.ค. นี้ โดยให้รื้อถอนวัสดุไปสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่อื่น แต่หากไม่มีการรื้อถอน เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงจะมาดำเนินการรื้อถอนเอง

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้ให้ครอบครัวที่มีบุตรหลานเรียนอยู่ในพื้นที่ มาลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่ เขต 2 เพื่อหาสถานที่เรียนใหม่ หากต้องย้ายตามผู้ปกครองไปอยู่ในพื้นที่อื่น ขณะที่เจ้าหน้าที่จากสำนักงานแรงงาน จ.เชียงใหม่ ได้เชิญนายจ้างของคนในชุมชนมาพูดคุย เพื่อขอให้นายจ้างจัดหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับแรงงานในชุมชนดังกล่าวด้วย

ในวันเดียวกัน พ.อ.โอม สิทธิสาน รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จ.เชียงใหม่ ได้ให้สัมภาษณ์วิทยุ อสมท.เชียงใหม่ ในวันที่ 9 มิ.ย. ว่ามีข้อมูลว่าแรงงานข้ามชาติ อาศัยในพื้นที่หมู่ที่ 18 ต.อินทขิล ในพื้นที่ 70 ไร่ และตั้งแต่ปี 2551 มีความพยายามรื้อถอน แต่คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ชะลอการรื้อถอน เพื่อให้ชาวบ้านมีโอกาสหาสถานที่อยู่ใหม่ การดำเนินการผลักดันจึงไม่คืบหน้า มีคนมาอาศัยเพิ่มขึ้น กอ.รมน.เชียงใหม่ ร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง พิจารณาแล้วเห็นว่ากระทบความมั่นคงจังหวัด ยาเสพย์ติด การค้ามนุษย์เกี่ยวข้อง ทำให้เจ้าหน้าที่จึงปิดล้อมพื้นที่ดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับชุมชนบ้านใหม่หนองผึ้งดังกล่าวตั้งขึ้นในปี 2547 เมื่อเจ้าของที่ดิน สปก. เดิมที่มีที่ดินแปลงติดกันรวม 3 ราย พื้นที่กว่า 70 ไร่ ต้องการขายสิทธิที่ดิน คนเฝ้าสวนซึ่งเป็นชาวไทใหญ่ ถือบัตรสถานะบุคคลบนพื้นที่สูง (เขียวขอบแดง) จึงขอซื้อต่อ แต่เงินไม่พอจึงพากันชักชวนครอบครัวและญาติพี่น้องช่วยกันซื้อที่ดินคนละ แปลงๆ ละประมาณ 80-100 ตารางวา ราคาแปลงละ 20,000 บาท โดยไม่รู้ว่าที่ดิน สปก. ตามกฎหมายข้ามซื้อขาย แบ่งแยก โอนสิทธิ์ และต้องใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมเท่านั้น

และจากเดิมที่มีชาวบ้านไทใหญ่เข้ามาอาศัยไม่กี่สิบราย ต่อมาก็มีการชักชวนญาติพี่น้องที่เป็นชาวไทใหญ่ด้วยกันซึ่งอาศัยอยู่แถบ ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือบัตรสถานะบุคคลบนพื้นที่สูง (สีเขียวขอบแดง) และส่วนหนึ่งถือบัตรอนุญาตทำงานแรงงานแต่งด้าวมาร่วมซื้อที่ดินเพื่อสร้าง ที่พักอาศัย

ในปี 2551 ชุมชนบ้านใหม่หนองผึ้งมีบ้านกว่า 150 หลังคาเรือน ประชากรกว่า 1,000 คน ส่วนใหญ่ชาวบ้านรับจ้างทำเกษตรกรรมตามฤดูกาล โดยเมื่อปี 2547 ชุมชนแห่งนี้เคยได้รับการแต่งตั้งจากนายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ในขณะนั้น ให้เป็นหมู่บ้านชุมชนเข้มแข็งด้วย ต่อมา เมื่อเดือนเมษายนปี 2551 เคยถูกเจ้าหน้าที่ สปก. และเจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังเข้าตรวจสอบและจับกุม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ขอให้หน่วยงานราชการในพื้นที่ชะลอการรื้อถอนชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านมีโอกาสหาที่อยู่ใหม่ ทำให้หลังจากนั้นสมาชิกในชุมชนบางส่วนย้ายออกไป เหลือเพียง 63 หลังคาเรือน และล่าสุดมีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงจาก กอ.รมน. จ.เชียงใหม่ ได้เข้ามาเร่งรัดการรื้อถอนดังกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'มุราคามิ' วิพากษ์วิกฤตนิวเคลียร์ "ความผิดพลาดจากน้ำมือของเราเอง"

Posted: 10 Jun 2011 11:40 AM PDT

 

เว็บไซต์สำนักข่าวเดอะเจแปนไทมส์รายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (9 มิ.ย.54) ฮารูกิ มุราคามิ นักเขียนร่วมสมัยชาวญี่ปุ่น วิจารณ์ถึงการดำเนินนโยบายพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ในสุนทรพจน์รับรางวัล International Catalunya Prize ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยระบุว่า วิกฤตการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมา ไดอิชิ ซึ่งเสียหายจากแผ่นดินไหว เป็น "ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของพวกเราเอง"

มุราคามิ กล่าวว่า ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่ประสบกับความเสียหายและความทุกข์ทรมานจากการแผ่กัมมันตภาพรังสีของระเบิดปรมาณูในสงครามโลกครั้งที่สอง ควรจะปฏิเสธพลังงานนิวเคลียร์


ระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา
ที่มาภาพ:
schriste (CC BY-NC-SA 2.0)

 

มุราคามิ ระบุว่า จะบริจาคเงินรางวัลจำนวน 80,000 ยูโร (ราว 3.5 ล้านบาท) แก่ผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ด้วย

"อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมา(ไดอิจิ)เป็นความเสียหายจากนิวเคลียร์ครั้งใหญ่เป็นลำดับสองที่คนญี่ปุ่นประสบมา" เขากล่าวด้วยภาษาญี่ปุ่น และว่า "อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดเพราะมีการทิ้งระเบิดใส่เรา แต่เป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของพวกเราเอง"

มุราคามิ กล่าวด้วยว่า คนญี่ปุ่นซึ่งได้เรียนรู้ผ่านการสังเวยที่ฮิบากุชะ (จุดที่ระเบิดถูกทิ้งลงที่ฮิโรชิมา) แล้วว่าการแผ่ของรังสีได้ทิ้งบาดแผลต่อโลกและมนุษยชาติไว้เลวร้ายอย่างไร ควรจะยืนหยัดในการปฏิเสธพลังงานนิวเคลียร์อย่างหนักแน่น

เขากล่าวเสริมว่า กระนั้นก็ตาม ผู้ที่ตั้งคำถามกับความปลอดภัยของพลังงานนิวเคลียร์กลับถูกขับไปอยู่ชายขอบ ถูกเรียกว่าเป็นพวกฝันเฟื่อง ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นและผู้ให้บริการสาธารณูปโภคให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและความสะดวกสบายเป็นอันดับแรก และเปลี่ยนประเทศที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวเป็นประเทศที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์มากเป็นอันดับสามของโลก

มุราคามิ แนะว่าญี่ปุ่นควรดำเนินการระดับชาติในการพัฒนาแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อทดแทนพลังงานนิวเคลียร์ โดยการกระทำเช่นนี้จะเป็นการแสดงความรับผิดชอบร่วมกันต่อเหยื่อระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิด้วย

อย่างไรก็ตาม มุราคามิ เชื่อว่าญี่ปุ่นจะฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง เพื่อกลับสู่ภาวะปกติหลังปรับสภาพกายและใจได้ เช่นเดียวกับที่เคยผ่านเหตุการณ์หลายครั้งในอดีตมาได้

อนึ่ง รางวัล International Catalunya Prize จัดขึ้นทุกปีโดยรัฐบาลแคว้นคาตาลัน มอบรางวัลแด่บุคคลที่มีผลงานซึ่งมีผลต่อการพัฒนาคุณค่าทางวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และมนุษยชาติอย่างมีนัยสำคัญ โดยมุราคามิเป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้


แปลและเรียบเรียงจาก
Novelist Murakami slams nuclear policy http://search.japantimes.co.jp/cgi-bin/nn20110610x2.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พุทธศาสนา/เหตุผล/การเมือง

Posted: 10 Jun 2011 11:22 AM PDT

 

ผมติดใจวาทกรรม “ธรรมนิยม” ที่อ้างคำพูดของท่านพุทธทาสว่า “หากสังคมมีธรรมะแล้วไม่ต้องมีการเมืองก็ได้” เพราะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ในพระไตรปิฎกเอง แม้แต่สังคมของผู้บรรลุธรรมอย่างสังคมของพระอรหันต์ ก็ยังมีการเมืองเช่นกัน

เช่น ในคราวปฐมสังคายนา พระอรหันต์ที่ประชุมร่วมสังคายนาพระธรรมวินัยจำนวน 500 รูป ก่อนการสังคายนาได้มีการประชุมพิจารณาความผิดของพระอานนท์ 5 ข้อ 1 ใน 5 ข้อนั้นมีว่า “พระอานนท์มีความผิด เพราะขวนขวาย (เรียกในภาษาปัจจุบันว่า “ล็อบบี้”) ให้สตรีบวชภิกษุณี”

เรื่องของเรื่องก็คือว่า นางปชาบดีน้องสาวมารดาของพระพุทธเจ้าออกจากวังพร้อมบริวาร 500 คน โกนผม ห่มผ้าคล้ายนักบวช ไปขอบวชเป็นพระผู้หญิงกับพระพุทธเจ้า แต่ถูกปฏิเสธถึง 3 ครั้ง นางจึงไปขอร้องพระอานนท์ช่วยไปพูดกับพระพุทธเจ้า หรือช่วย “ล็อบบี้” ให้หน่อย

พระอานนท์ก็ไปล็อบบี้พระพุทธเจ้า ชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อโน้มน้าวให้ท่าน (ไม่ใช้คำ “ราชาศัพท์” กับท่านได้ก็น่าจะดี เพราะท่านสละสถานะทางชนชั้นตั้งแต่ออกบวชแล้ว) อนุญาต แต่ท่านก็ไม่ยอม ในที่สุดพระอานนท์ยิงคำถามว่า “ถ้าสตรีบวชเป็นภิกษุณีแล้วจะสามารถบรรลุธรรมได้เหมือนบุรุษหรือไม่” พระพุทธเจ้าตอบว่า “ได้” เมื่อได้คำตอบเช่นนี้ปุ๊ป พระอานนท์ก็ขี่แพะไล่ทันที “ถ้าเช่นนั้นจะมีเหตุผลอะไรที่จะห้ามสตรีบวชด้วยเล่า” โดยยอมรับต่อเหตุผลของพระอานนท์ พระพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้สตรีบวชภิกษุณีได้

จะเห็นได้ว่าการตัดสินใจของพระพุทธเจ้าอยู่บนการเคารพ “เหตุผล” ที่ว่า “เมื่อสตรีบวชภิกษุณีแล้วสามารถบรรลุธรรมได้ดุจดังบุรุษ ฉะนั้น จึงสมควรอนุญาตให้สตรีบวชได้”

อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้สตรีบวชดูเหมือนอนุญาตบนเหตุผล “ความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์” คือ “ความเท่าเทียมในศักยภาพบรรลุธรรมที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคนไม่ว่าเพศใดๆ ก็ตาม” แต่ทว่าเงื่อนไขของการอนุญาตให้สตรีบวชกลับเป็นการยอมรับ “ความไม่เท่าเทียมทางเพศ” คือผู้หญิงที่บวชภิกษุณีต้องยอมรับเงื่อนไข 8 ข้อ ที่ปฏิบัติได้ยากยิ่ง เรียกว่า “ครุธรรม 8 ข้อ” หนึ่งในนั้นคือภิกษุณีแม้บวชนานร้อยพรรษาก็ต้องทำความเคารพกราบไหว้พระภิกษุแม้เพิ่งบวชได้วันเดียว ภิกษุณีต้องรับฟังคำสั่งสอนจากภิกษุเท่านั้นจะสอนภิกษุไม่ได้เลย เป็นต้น

ปัญหาคือ ตรรกะของการอนุญาตให้บวชกับตรรกะของเงื่อนไขในการบวชขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้เห็นว่าพุทธศาสนาไม่มี “ความสอดคล้อง” (consistency) หรือความคงเส้นคงวาในการใช้เหตุผล  

ย้อนไปที่เรื่องพระอรหันต์ประชุมกันพิจาณาความผิดของพระอานนท์ก่อนเริ่มทำสังคายนา การประชุมพิจารณาเรื่องนี้ถือเป็น “กิจกรรมทางการเมือง” อย่างหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องของการร่วมกันแสวงหาข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิและอำนาจจัดการความเป็นธรรมในการอยู่ร่วมกัน

ประเด็นคือ ทำไมพระอรหันต์เหล่านั้นจึงเห็นว่า การที่พระอานนท์ล็อบบี้ให้สตรีบวชภิกษุณีเป็นความผิด และหากเห็นว่าการกระทำของพระอานนท์เป็นความผิด ก็หมายความว่าการบวชภิกษุณีเป็นสิงที่ผิด และการอนุญาตให้บวชภิกษุณี (โดยพระพุทธเจ้า) ก็ต้องผิดด้วย

นัยทางการเมืองที่น่าสนใจก็คือ หากเห็นว่าทั้งหมดนั้นผิด ทำไมไม่คัดค้านกับพระพุทธเจ้าโดยตรง หรือเสนอต่อพระพุทธเจ้าให้ดำเนินการวินิจฉัยความผิดของพระอานนท์ในการล็อบบี้นั้น ตั้งแต่ตอนที่ท่านยังไม่ปรินิพพาน

ฉะนั้น การที่พระอรหันต์ประชุมมีมติให้ปรับอาบัติพระอานนท์ เพราะอ้างความผิดฐานล็อบบี้ให้สตรีบวช จึงเป็นมติที่ไม่มีเหตุผล เพราะ (1) ถ้าการกระทำของพระอานนท์ผิด และการบวชภิกษุณีเป็นสิ่งที่ผิดพระพุทธเจ้าจะอนุญาตทำไม (เพราะพระพุทธเจ้ามีอำนาจสูงสุดในการชี้ขาดถูก-ผิดในเรื่องพระธรรมวินัยอยู่แล้ว) หรือ (2) ถ้าการกระทำของพระอานนท์ผิด การบวชภิกษุณีผิด ผู้ต้องรับผิดชอบสูงสุดต้องเป็นพระพุทธเจ้า เหตุใดพระอรหันต์เหล่านั้นจึงไม่คัดค้านโดยตรงกับพระพุทธเจ้า หรือไม่ฟ้องเอาผิดพระอานนท์ต่อพระพุทธเจ้า  การมาเอาผิดพระอานนท์หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 3 เดือน แสดงให้เห็นว่าแม้แต่สังคมของพระอรหันต์ก็ทำสิ่งที่ไม่มีเหตุผลได้ และกระทำโดยมี “นัยทางการเมือง” (ไม่ทำในเวลาที่พระพุทธเจ้ามีอำนาจคุ้มครองพระอานนท์ และเป็นการแสดงท่าทีปฏิเสธการบวชภิกษุณี แม้ในการประชุมกันทำสังคายนาก็ไม่มีภิกษุณีเข้าร่วมด้วย เป็นต้น) อยู่ด้วยอย่างน่าสังเกต

แต่ความน่าสนใจยังมีว่า เมื่อพระอานนท์ชี้แจงเหตุผลต่างๆ แล้ว ยืนยันว่าสิ่งที่ท่านทำนั้นไม่ใช่ความผิด แต่หากสงฆ์ต้องการให้ท่าน “แสดงอาบัติ” ท่านก็ยินดีทำตาม เพราะเมื่อ “เสียงส่วนใหญ่” เห็นอย่างนั้น เพื่อเห็นแก่ส่วนรวมที่ยึดหลัก “เยภุยยสิกา” (การตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่) ในการอยู่ร่วมกันของสังคมสงฆ์ท่านก็ยินดีปฏิบัติตามมติของสงฆ์ 

พูดง่ายๆ คือหากตีความตามทัศนะของพระอานนท์ สังคมจะเป็นสังคมที่ดีได้ได้เราต้องเคารพ “กติกาที่ชอบธรรม” แม้บางครั้งโดยการตัดสินผ่านกติกานั้นอาจออกมาผิดกับข้อเท็จจริงและเหตุผลก็ตาม

ตัวอย่างของเรื่องนี้ ทำให้เรามองเห็นว่า แม้ในสังคมพระอรหันต์ก็มีการเมือง และบางครั้งการตัดสินใจทางการเมืองของพระอรหันต์ที่ดำเนินไปตามหลักการตัดสินด้วย “เสียงส่วนใหญ่” ก็ไม่มีเหตุผล หรือไม่สมเหตุสมผลเอามากๆ

ทว่าภายใต้ความเป็นจริงดังกล่าวนั้น ยังมีสมาชิกของสังคมที่เห็นค่าของการปกป้อง “กติกาที่ชอบธรรม” แม้บางครั้งโดยการใช้กติกานั้นตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ตาม นี่ก็เป็นลักษณะ “ย้อนแย้ง” (paradox) อีกอย่างหนึ่ง (ในอีกจำนวนมากอย่าง) ในพุทธศาสนาเช่นกัน

ที่ผมยกตัวอย่างมายืดยาว เพียงต้องการชี้ประเด็นว่า ในที่สุดเรื่องการเมืองมันเป็นเรื่องของการยืนยัน “เหตุผล”และการเคารพ “กติกาที่ชอบธรรม” มันไม่ใช่เรื่องของการยืนยันคนดี-คนเลว หรือการละ-ไม่ละตัวกู-ของกู หมายความว่าคุณภาพของการเมืองขึ้นอยู่กับคุณภาพของ “กติกาที่ชอบธรรม” และคุณภาพของการใช้เหตุผล และการเคารพกติกาของสมาชิกแห่งสังคมการเมือง

พูดอีกอย่างการเรียกร้อง “คนดี” ไม่ใช่หลักประกันของการเมืองที่ดีเสมอไป เพราะแม้แต่พระอรหันต์ยังตัดสินใจอย่างไม่มีเหตุผลได้ ฉะนั้น ข้อเรียกร้องทางการเมืองไม่ใช่ข้อเรียกร้องเรื่องคนดี แต่เป็นข้อเรียกร้องการสร้างกติกาที่ดี การเคารพกติกา และการใช้เหตุผลอย่างเที่ยงธรรมในการอยู่ร่วมกัน

แต่ปัญหาของบ้านเรา จากจดหมายเปิดผนึกของนายกฯ อภิสิทธิ์ “จากใจอภิสิทธิ์ถึงประชาชน” ทั้งสองตอน สะท้องให้เห็นการพยายามแสดงว่าตนเองเป็นคนดี ซื่อสัตย์ ไม่ทุจริต มีความรับผิดชอบสูงยิ่งต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน จนยอมสละตัวเองเป็นนายกฯ ในยามวิกฤต

ทว่าพร้อมกับการอ้างดังกล่าวนั้นกลับเผยให้เห็นถึง “ความไม่คงเส้นคงวา” ในความมีเหตุผลและการเคารพกติกาที่ชอบธรรม เช่น ที่อ้างว่าตนเองเป็นนายกฯที่มีความชอบธรรมเพราะผ่าน “กระบวนการรัฐสภา” แต่กลับปฏิเสธการออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ต้องผ่าน “กระบวนการรัฐสภา” เช่นเดียวกัน ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารแต่ยอมรับกระบวนการเอาผิดที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ไม่ต่อต้านการนิรโทษกรรมแก่ตัวเองของคณะรัฐประหาร แต่ต่อต้านการนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองที่ถูกทำรัฐประหาร

หรือต่อสู้เพื่อให้พรรคการเมืองของตนเองไม่ถูกยุบ โดยอ้างการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายบกพร่อง แต่กลับยืนยันการเอาผิดนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วยกระบวนการสืบเนื่องจากรัฐประหารว่าเป็นไปตามหลักนิติธรรม การนิโทษกรรมจากการเอาผิดเช่นนั้นเป็นการทำลายระบบนิติธรรมและนิติรัฐ

นี่คือความไม่คงเส้นคงวา หรือพูดให้ตรงที่สุดคือความไร้เหตุผลและไม่เคารพกติกาของคนที่อ้างว่าตนเองเป็นคนดี รับผิดชอบต่อบ้านเมือง ยึดหลักการ ยึดหลักกฎหมายมาโดยตลอด

เปรียบกับเรื่องที่ยกมาเป็นตัวอย่าง พระอรหันต์ใช้ “กติกาการตัดสินด้วยเสียงส่วนใหญ่” เพื่อออกมติที่ไม่มีเหตุผล (เสียงส่วนใหญ่ก็บกพร่องในความมีเหตุผลได้ แม้จะเป็นเสียงพระอรหันต์ก็ตาม) แต่พระอานนท์ยอมปฏิบัติตามมตินั้น เพราะเคารพ “กติกา” ฉะนั้น ความเห็นต่างจึงไม่นำไปสู่คามขัดแย้งแตกแยก

แต่ในกรณีอภิสิทธิ์ ผมงงมากเลยว่า ตกลงเขายึดความเป็นคนดี (ซื่อสัตย์ เสียสละเพื่อส่วนรวมฯลฯ) ความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ความมีเหตุผลที่คงเส้นคงวา การเคารพกติกา หลักการ หลักนิติธรรม นิติรัฐ หรือหลักอะไรกันแน่!

เพราะเพียงบางตัวอย่างที่ว่ามา มันเห็น “ความขัดแย้งในตัวเอง” ชัดเจนมากทั้งในคุณลักษณะของคนดี ความรับผิดชอบ ความมีเหตุผล การเคารพกติกา หลักการ ฯลฯ (จบข่าว)

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การใช้อำนาจข่มเหงเสรีภาพของคนหนุ่มสาว

Posted: 10 Jun 2011 10:50 AM PDT

 

ว้ากน้อง ร้องเพลงเชียร์ เต้นรำสนุกสนาน สั่งน้องให้เข้าแถว ยืนตรง นิ่ง นับจำนวนคนที่มาและคนที่ขาด สั่งให้วิ่ง หันซ้ายหันขวาอย่างพร้อมเพรียงกัน สั่งให้นั่งประชุมนิ่งๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมง สั่งให้ร้องเพลงดังๆ ที่สุด ตบมือให้ดัง ร้องเพลงหลายๆ รอบให้พร้อมกัน (ทำตามคำสั่ง order) ห้ามคุยกัน ห้ามแสดงความคิดเห็น หรือโต้ตอบการกระทำของรุ่นพี่ ห้ามมองหน้าพี่ ห้ามยิ้ม ห้ามเกา ถ้าไม่ทำตามก็จะมีมาตรการลงโทษเช่น นำตัวไปที่ห้องเรียน ปิดประตูหน้าต่าง ปิดพัดลมให้หมด เพื่อไม่ให้คนภายนอกรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในห้อง จากนั้นก็ด่าทอ ตะโกนใส่อย่างบ้าคลั่ง กักตัวไม่ให้ไปไหน กลับบ้านยังไม่ได้จนกว่าจะถึงเวลาสมควร หรือจนกว่าพี่จะพอใจ กลั่นแกล้งสารพัด โดยอ้างว่าเพื่อส่งเสริมความสามัคคี (unity) ในหมู่คณะและความภาคภูมิใจในสถาบัน กิจกรรมระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง (seniority) ข้างต้นจัดขึ้นในช่วงที่กำลังจะเปิดเรียนปีการศึกษาใหม่ถึงการสอบกลางภาคในรั้วมหาวิทยาลัย วิทยาลัยทุกปีจนเป็นประเพณี (tradition) ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นฤดูล่าหัวมนุษย์ (ธเนศวร์ เจริญเมือง 2543)

เบื้องหน้าและเบื้องหลังของกิจกรรมรับน้อง-เข้าห้องเชียร์

เมื่อมองดูกิจกรรมเหล่านี้อย่างผิวเผินและไม่คิดอะไรมาก จะรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่คอยดูแลห่วงใย ให้ความช่วยเหลือ (spirit) แก่รุ่นน้องที่จะเข้ามาศึกษาในสถาบันใหม่ให้เกิดความรู้สึกมั่นคง มั่นใจ อบอุ่นที่มีคนมาให้ความสำคัญแก่เขา ไม่รู้สึกเป็นตัวประหลาดมากนักท่ามกลางคนแปลกหน้ามากมาย และรู้สึกเป็นพวกเดียวกันในที่สุด ตรงนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ความมั่นคงในจิตใจของนิสิตใหม่หรือความมั่นใจในตัวเองเป็นสิ่งที่ได้มาจากปัจจัยภายนอกหรือได้รับจากบุคคลภายนอก แต่ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาจากภายในตัวเองอย่างแท้จริง ดังนั้นขั้นต่อไปจะเป็นอย่างไร รุ่นพี่จะทำอะไรกับนิสิตใหม่เพื่อแลกเปลี่ยนกับการให้ความมั่นคงและความอบอุ่นที่ลงทุนลงแรงไปอย่างมหาศาล และรุ่นน้องจะสูญเสียอะไรไปบ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงและความมั่นใจที่ให้โดยบุคคลอื่น

เรามาลองพิจารณาและวิพากษ์วิจารณ์กิจกรรมรับน้อง-เข้าห้องเชียร์นี้ซิว่า มันเป็นสิ่งที่มีเจตนาดีหรือซ่อนเจตนาอื่นเอาไว้ ที่ทำให้มันต้องถูกตั้งคำถามไว้มากมาย ถ้ามันเป็นสิ่งที่ดีทำไมถึงมีอะไรชอบกลที่น่าเคลือบแคลงสงสัยด้วย คำถามที่เกี่ยวกับเบื้องหลังของกิจกรรม มีดังนี้

1.     ทำไมนักศึกษามหาวิทยาลัยถึงหลงใหลคลั่งไคล้กิจกรรมรับน้อง ที่ทำให้กิจกรรมนี้เป็นสิ่งที่ดูพิเศษกว่ากิจกรรมของชมรมอื่นๆ ไปได้

2.     การรับน้อง-เข้าเชียร์ เป็นการสร้างวงจรของการใช้อำนาจเผด็จการใช่ไหม แล้วใครได้ประโยชน์จากกิจกรรม

3.     ทำไมถึงมีการสังเวยชีวิตนิสิตให้กับกิจกรรมนี้ รวมทั้งความเจ็บปวด ความกดดันและความเครียด เช่น สอบตก เป็นลมหมดสติ นอนเป็นเจ้าหญิงนิทรา เสียชีวิตกลางคัน และไม่สามารถเป็นเหตุผลให้ยกเลิกกิจกรรมดังกล่าวอย่างเด็ดขาด ?

4.     ความตายของคน 1 คนคุ้มค่าแล้วหรือที่จะแลกกับความสนุกสนานของคนเป็นพันคน แลกกับความสะใจในการใช้อำนาจกลั่นแกล้งผู้อื่นสารพัด และแลกกับความสามัคคีอันจอมปลอม

5.     การอ้างว่ากิจกรรมเป็นไปเพื่อสร้างความสมานฉันท์ในหมู่คณะ ความรักที่ให้ต่อกัน การเกื้อกูลกันเป็นการอ้างที่สมเหตุสมผลจริงหรือไม่ เนื่องจากขัดต่อหลักการสิทธิเสรีภาพ

ผู้เขียนจะขอวิเคราะห์เบื้องหลังที่ทำให้กิจกรรมรับน้องดำรงอยู่มาได้ ในระดับจิตวิทยาเชื่อมโยงกับระดับวัฒนธรรม กล่าวคือการพิสูจน์ว่า อิทธิพลของวัฒนธรรมอำนาจนิยมและสถาบันนิยม (หรือเรียกว่าระบบโซตัส) <1> ที่อยู่เบื้องหลังของกิจกรรมรับน้อง ส่งผลต่อการสร้างบุคลิกภาพของเด็กเยาวชนให้เป็นผู้นิยมอำนาจเผด็จการ อันเป็นพฤติกรรมที่ช่วยให้โครงสร้างทางชนชั้นสูง-ต่ำยังคงอยู่ และทำให้การยึดถือในคุณค่าของเสรีภาพ ความเสมอภาค ความเป็นปัจเจกภาพของคนหนุ่มสาวหดหายไป

การวิเคราะห์ในระดับจิตวิทยา

อีริค ฟรอมม์ (Erich Fromm) นักจิตวิทยาสังคมชาวเยอรมัน อธิบายบุคลิกภาพของมนุษย์ว่า การที่สมาชิกในสังคมจะมีบุคลิกภาพบางประการที่เหมือนกันนั้น (บุคลิกภาพเชิงสังคม) เกิดจากพลังทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและพลังทางประวัติศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของปัจเจกชน ดังทฤษฎีของคาร์ล มาร์กซ์ (สมบัติ พิศสะอาด 2539) รวมทั้งทฤษฎีทางจิตวิทยาพื้นฐานเรื่องความโน้มเอียงแบบซาดิสต์ (Sadist) และมาโซคิสต์ (Masochist) ที่แฝงอยู่ในคนๆ เดียวกัน และแนวคิดของฟรอยด์เรื่องจิตใต้สำนึก(Unconsciousness)ว่า คนสามารถกระทำบางสิ่งบางอย่างได้โดยไม่รู้ตัว และอ้างเหตุผลขึ้นมาบังหน้าการกระทำนั้นเสมอ (rationalization)

นับจากชัยชนะของเผด็จการทหารที่ทำลายขบวนการนักศึกษา ประชาชนระดับล่างเมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลามหาวิปโยค (ล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วันที่ 6 ตุลาคม 2519) ทำให้ระบบการเมืองไทยขับเคลื่อนด้วยพลังของฝ่ายเผด็จการทหาร ออกนโยบายการศึกษา นโยบายทางวัฒนธรรม การอบรมบ่มเพาะค่านิยมชนชั้น เชื่อฟังผู้มีอำนาจ รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ผ่านสื่อและสถาบันต่างๆ ผู้เขียนขอวิเคราะห์ลักษณะทางจิตของผู้ที่นิยม/ฝักใฝ่อำนาจเผด็จการ ดังต่อไปนี้

ความต้องการอยู่ใต้อำนาจ (มาโซคิสต์) และความต้องการมีอำนาจเหนือผู้อื่น (ซาดิสต์) เป็นกลไกที่คนใช้ละทิ้งเสรีภาพและความเป็นตัวของตัวเอง เพื่อไปหลอมรวมเข้ากับคนบางคน เข้ากับกลุ่ม หรือสิ่งที่อยู่นอกตัว เช่น สถาบันกองทัพ เพื่อที่จะรู้สึกถึงความมั่นคง มีอำนาจเข้มแข็งเวลาที่รวมกันเป็นกลุ่ม กลไกการหลีกหนีเสรีภาพของตัวเองนี้ทำให้ตัวเขามีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม (Authoritarian personality) และกลไกนี้มีอยู่ในกระบวนการอบรมกล่อมเกลาในสังคมไทย เช่น ในสถาบันการศึกษา สถาบันกองทัพ

ความต้องการแบบมาโซคิสต์พูดให้ชัดก็คือ ความต้องการพึ่งพิงผู้อื่น ยอมก้มหัวให้กับอำนาจที่เหนือกว่าหรือกับคนที่เหนือกว่าอย่างราบคาบ ทั้งนี้เพราะมองตัวเองว่าเป็นคนต่ำต้อย ด้อยค่า ไร้พลัง หาความสำคัญอะไรไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ไร้เหตุผลเป็นพยาธิสภาพหรือโรคจิต (Pathological) แต่คนที่กระทำก็มักหาเหตุผลมาบังหน้าเพื่อกลบเกลื่อนปัญหาของตนเอง เช่น อ้างว่าการพึ่งพิงในแบบมาโซคิสต์ คือความรัก ความจงรักภักดีต่อผู้เหนือกว่า หรืออ้างว่าความรู้สึกต่ำต้อยเกิดจากความบกพร่องของตัวเองอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วมีอะไรมากกว่านั้นคือ ในจิตใต้สำนึกมีแรงขับบางอย่างในตัวเขาคอยผลักดันให้เขาดูถูกและตำหนิตัวเอง ทำให้ตัวเองอ่อนแอ ไร้ค่า บางคนถึงขนาดทำร้ายตัวเอง

นอกจากนี้ภายในคนๆ เดียวกันยังมีแนวโน้มแบบซาดิสต์ปรากฎอยู่ด้วยเสมอ ไม่มากก็น้อยและแสดงออกชัดเจนบ้างไม่ชัดเจนบ้างในคนปกติ กล่าวคือ มีความโน้มเอียงหรือความต้องการให้คนอื่นมาพึ่งตัวเอง และอยากมีอำนาจเหนืออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนคนอื่นนั้นกลายเป็นเพียงเครื่องมือของตนเอง เช่น เป็นเครื่องมือสำหรับใช้ วาน ขูดรีด ฉกฉวยสิ่งของ หรือให้ความบันเทิงเริงรมย์แก่ตน ที่สำคัญแนวโน้มแบบซาดิสต์นี้มีเป้าหมายเพื่อทำร้ายทางกายและ/หรือทางจิตใจ และต้องการให้คนอื่นรู้สึกอับอายขายหน้า ถูกลบหลู่ดูหมิ่นอย่างที่สุด การแสดงออกถึงความบ้าอำนาจซาดิสต์นี้จะคลี่คลายลงเมื่อมีปัจจัยพิเศษมาช่วยคือ มีเป้ารองรับการกระทำเสมอ ซึ่งไม่เหมือนมาโซคิสต์ที่ใช้ตัวเองเป็นเป้ารองรับ

สำหรับการอ้างเหตุผลมาบังหน้าของคนแบบซาดิสต์คือ มักพูดว่า "ที่ผมต้องมีอำนาจเหนือคุณ ก็เพราะผมรู้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณคืออะไร ดังนั้นเพื่อประโยชน์ของตัวคุณเอง คุณก็ควรจะตามผมโดยไม่ต้องโต้แย้ง" หรือพูดว่า "ผมทำอะไรให้คุณมามากแล้ว ตอนนี้ถึงทีที่ผมจะเอาจากคุณบ้างล่ะ" หรือแบบที่ก้าวร้าวกว่าจะอ้างว่า "ฉันถูกคนอื่นทำร้ายก่อนนี่ ฉะนั้นการที่ฉันจะคิดทำร้ายเขาบ้างก็เป็นการแก้แค้นและป้องกันไม่ให้เขามาทำร้ายฉันก่อน" และคนประเภทซาดิสต์จะมีความรักให้ต่อผู้ที่เขารู้สึกว่ามีอำนาจเหนือกว่า เป้าทั้งหลายที่รองรับอำนาจของเขาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภรรยา ลูก ลูกน้อง คนรับใช้หรือขอทาน พูดง่ายๆ คือ เขามีอำนาจเหนือคนเหล่านั้นจึงทำให้เขารักคนเหล่านั้น และเขาอาจติดสินบนคนเหล่านั้นด้วยวัตถุสิ่งของ คำสรรเสริญเยินยอ แสดงความสนใจไยดี สัญญาว่าจะพาไปเลี้ยงดูปูเสื่อ ให้ผลประโยชน์ในแบบต่างๆ ยกเว้นเพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ จะไม่ยอมให้สิทธิที่จะเป็นอิสระแก่คนเหล่านั้น

จากข้างต้น คำอธิบายเรื่องกลไกการละทิ้งความเป็นปัจเจกภาพที่แสดงออกมาทั้งแบบซาดิสต์และมาโซคิสต์ ที่เรียกรวมกันได้ว่า เป็นลักษณะอำนาจนิยม แม้ว่าเรื่องธรรมชาติของมนุษย์มีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่กล่าวมา แต่จะไม่ขอเพิ่มเติมในที่นี้ เพราะคำอธิบายตามหลักจิตวิทยาข้างต้นเพียงพอสำหรับใช้วิเคราะห์สถานการณ์ได้ชัดเจนว่า ทำไมพวกเขาจึงหลงใหลและสนุกสนานไปกับการทำกิจกรรมรับน้องจนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก่อนกิจกรรมอื่น ฉะนั้นจึงไม่ควรแปลกใจอีกต่อไปว่า เพราะนั่นคือการสนองตอบต่อแรงขับแบบซาดิสต์ที่อยู่ในจิตไร้สำนึกของตัวเอง โดยไม่รู้ตัว อันสืบเนื่องมาจากการที่เคยถูกกระทำให้เป็นคนที่ไร้พลังแบบมาโซคิสต์มาแล้วตอนปี 1 จึงต้องแก้แค้น และอ้างเหตุผลบังหน้าตลอดเวลา ทั้งไม่สามารถตระหนักรู้ได้เลยว่า ตนเองกำลังทำสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ คือ การละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น และทำให้การละเมิดเสรีภาพนี้เป็นเรื่องปกติและไม่ผิดสังเกต จนกลายเป็นนิสัยที่จะละเมิด ใช้ความรุนแรงกับผู้อื่นต่อไปเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ผู้เขียนจึงขอสรุปบนพื้นฐานทฤษฎีทางจิตวิทยานี้ว่า ระบบอาวุโสในมหาวิทยาลัย คือวงจรของการใช้อำนาจเผด็จการ ที่มีแรงผลักดันมาจากจิตใต้สำนึกของคนที่เคยถูกใช้อำนาจมาก่อนแล้ว และจะเป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการต่อผู้ที่มีสถานะต่ำกว่าทันทีที่ตนเองมีโอกาสใช้มัน พร้อมกับจะอ้างเหตุผลเชิงเป้าหมายมาปกป้องการใช้อำนาจของตนเองให้กลายเป็นเรื่องชอบธรรมที่ผู้ถูกกระทำจะยอมรับการกระทำของเขาได้ และผู้ที่ได้ประโยชน์จากกิจกรรมนี้คือ ผู้บริหาร ผู้ปกครองฝ่ายเผด็จการที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจของรัฐไทย โดยพยายามทำให้คนตัวเล็กๆ ปกครองง่าย

การวิเคราะห์ในระดับวัฒนธรรม   

เราลองย้อนกลับไปนึกถึงเมื่อครั้งเป็นเด็ก จะทำให้มองเห็นว่าเราถูกรัฐปลูกฝังให้ยอมรับอำนาจของผู้ใหญ่ ทั้งในครอบครัว ในโรงเรียน และสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเราต้องทำตามคำสั่งจากคุณครูอยู่เสมอ เพราะครูคือผู้ป้อนทุกสิ่งให้ ครูคือผู้ที่ได้รับความเคารพอย่างยิ่ง การเรียนการสอนจึงมีลักษณะที่ไม่มีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์หรือถามคำถามใดๆ เด็กนักเรียนจึงไม่กล้าแสดงความเป็นตัวของตัวเองหรือแสดงความเป็นปฏิปักษ์ออกมาต่อหน้าผู้มีอำนาจ แล้วเด็กจะมีอิสระ เป็นตัวของตัวเองได้อย่างไร เพราะครูที่อบรมเขาก็ผ่านการศึกษามาในลักษณะที่เป็นอยู่นี้เหมือนกัน สังคมไทยจึงวนเวียนอยู่กับการใช้อำนาจที่คอยทำลายเสรีภาพในการคิดของเด็ก จึงเป็นเหตุให้เกิดปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำจนถึงขีดสุด ไม่สามารถผลิตพลเมืองที่มีคุณภาพได้ เห็นได้จากการสะท้อนปัญหาการศึกษาในโรงเรียนโดยเด็กนักเรียนเองว่า โรงเรียนก็คือคุกดีๆ นี่เองที่ทำลายการแสดงออกของเขา

เราอาจเริ่มต้นวิเคราะห์ด้วยการพิจารณาจากโครงสร้างของสังคมไทยแล้วลงไปสู่ระดับจิตวิทยาและวัฒนธรรมได้ สังคมไทยมีโครงสร้างสังคมแบบชนชั้น สั่งการจากบนลงล่าง ซึ่งเป็นผลิตผลที่มาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบอบเผด็จการทหาร ที่ชนชั้นผู้มีอำนาจปลูกฝังให้แก่พลเมืองมายาวนานผ่านสถาบันการศึกษาและสื่อสารมวลชน ค่านิยมและทัศนคติที่แสดงออกถึงลักษณะแบบอำนาจนิยม ได้แก่ ค่านิยมเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโสหรือผู้มีอำนาจ ค่านิยมยอมรับและพึ่งพาผู้ใหญ่ การนับถือผู้มียศตำแหน่งสูงหรืออยู่ในชนชั้นสูงกว่า ค่านิยมกดขี่ผู้หญิง คนรักร่วมเพศ ค่านิยมเหล่านี้เป็นเงื่อนไขปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมีบุคลิกภาพแบบอำนาจนิยม ที่ทำให้แรงขับแบบซาดิสต์และมาโซคิสต์ในตัวคนมีระดับเข้มข้นก้าวร้าวมากขึ้น และถูกกดทับไว้ในจิตใต้สำนึก จนทำลายเสรีภาพและความเป็นปัจเจกภาพของตัวเอง กลายเป็นคนไม่เติบโตทางความคิด จนทำให้ไม่รู้ว่าอะไรคือ ความเป็นธรรม ยกเว้นแต่เรื่องอาวุโส การพึ่งพา การใช้อำนาจ การยอมรับอำนาจและรับใช้ระบบเผด็จการบ้าอำนาจที่ทหารกำลังครองเมือง สิ่งเหล่านี้คือ การทำลายพลังจิตสำนึกทางการเมืองของคนหนุ่มสาว


สรุป

เมื่อเป้าหมายของวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมคือการดำรงอำนาจอันชั่วร้ายที่ทำให้พลเมืองอ่อนแอ จึงเป็นสิทธิของเราที่จะตั้งคำถามกับมัน แม้กระทั่งศีลธรรมของสังคมไทยที่ยึดถือกันอยู่ เรามีสิทธิที่ค้นหาความจริงได้ด้วยตัวเราเอง แต่ไม่ใช่รับเอาความจริงที่ถูกยัดเยียดให้มาโดยผู้มีอำนาจรัฐ ที่ใช้ข้ออ้างว่าเป็นสิ่งดีงามที่คนส่วนใหญ่ยึดถือมาช้านาน เพราะสิ่งที่คนส่วนใหญ่ยึดถือกันมักโน้มนำไปสู่ความอยุติธรรมในสังคมได้โดยง่าย เช่น การแย่งชิงทรัพยากรจากท้องถิ่นมาหล่อเลี้ยงกรุงเทพฯ (ศูนย์กลางแห่งอำนาจ) กรณีการสร้างเขื่อนที่เป็นการละเมิดสิทธิทำกินของคนส่วนน้อย เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพราะศีลธรรมสังคมไทยแบ่งคนออกเป็นระดับชั้นตามระดับของอำนาจในการให้คุณให้โทษ อำนาจในการดูแลปกป้องและให้ผลประโยชน์ โดยผู้ที่อยู่ในชนชั้นสูงกว่าจะปกป้องดูแลผู้ที่อยู่ในชนชั้นต่ำกว่าที่หวังพึ่งพิง ภายใต้ข้อแม้ที่ว่าผู้ที่พึ่งพิงต้องยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจบังคับของผู้ที่ปกป้องตน และต้องยอมรับการเอาเปรียบขูดรีดจากผู้มีอำนาจเหนือตนด้วยเพื่อแลกกับความมั่นคงและสิทธิพิเศษต่างๆ นานา เรื่องศีลธรรมเรื่องความกตัญญูรู้คุณ ความเมตตากรุณา หรือเลือกที่รักมักที่ชังได้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 2 ชนชั้นนี้

สิ่งที่เราต้องการเรียกร้องคือ การตระหนักถึงการใช้อำนาจอย่างจริงจังว่าเป็นโทษต่อผู้ถูกกระทำเพียงใด ท่านจะยอมแลกเสรีภาพ ความเป็นตัวของตัวเอง และศักยภาพในการเรียนรู้ของท่านซึ่งเรียกรวมกันได้ว่า ความเป็นมนุษย์ของท่าน เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคง ความเป็นหมู่คณะ เส้นสายของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างนั้นหรือ ถ้าไม่ จะมีหนทางอื่นใดที่จะทำให้เราในฐานะเป็นมนุษย์ผู้มีเสรีภาพ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสังคม ฟรอมม์เสนอว่า เราต้องมีเสรีภาพทางบวกเพื่อป้องกันความกลัวโดดเดี่ยว กล่าวคือ เราต้องดำรงปัจเจกภาพของตัวเองเอาไว้ และเข้าไปสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยการทำงานแบบสร้างสรรค์ ช่วยเหลือสังคมและให้ความรักความจริงใจแก่ผู้อื่น ที่จะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองมีค่าและภูมิใจตัวเองขึ้นมา พูดสั้นๆ ก็คือ การหาความหมายของชีวิตและสร้างสรรค์สิ่งที่ดีโดยให้เกียรติ เคารพในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันของผู้อื่น

สำหรับระบบอาวุโส รุ่นพี่-รุ่นน้อง เราขอเรียกร้องให้ยกเลิก เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่ถ้าจะให้มีกิจกรรมรับน้องนี้ต่อไป ก็ขอให้เป็นกิจกรรมที่นักศึกษาใหม่สามารถเลือกที่เข้าร่วมด้วยตนเอง และเข้าไปกำหนดรูปแบบของกิจกรรมด้วย โดยไม่มีการใช้วิธีการบังคับ หรือใช้ความกดดันของเพื่อนๆ (Peer pressure) ให้เขาต้องเข้าร่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ท้ายสุด ผู้เขียนขอชื่นชมการออกมาคัดค้านกิจกรรมรับน้องของนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคามในปีการศึกษา 2554 เพื่อปกป้องตัวเองจากอำนาจเผด็จการ โดยที่คนหนุ่มสาวไม่จำเป็นต้องไปหวังพึ่งผู้ใหญ่ที่เป็นผู้บริหาร หรืออาจารย์มาคอยปกป้อง เพราะไม่มีประโยชน์อันใดที่จะไปขอความเมตตา เนื่องจากย่อมมีบางส่วนของคนเหล่านั้นที่ต้องการให้ระบบอาวุโสดำรงอยู่ เห็นได้จากมีการเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพแบบเงียบๆ เพื่อที่เขาผู้ใหญ่คนนั้นจะปกครองนิสิตได้โดยง่าย ไม่มีการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์มากนัก นั่นคืออาศัยประโยชน์จากความอ่อนแอของนิสิตนักศึกษาเพื่อไต้เต้าหาตำแหน่งและผลประโยชน์ต่างๆ นั่นเอง

-------------------------------------------

แหล่งอ้างอิง

ธเนศวร์ เจริญเมือง. ว้ากน้อง การสร้างและสืบทอดระบบเผด็จการในมหาวิทยาลัย. เชียงใหม่ : โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่น คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2543

สมบัติ พิศสะอาด, ผู้แปล. หนีไปจากเสรีภาพ. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : มูลนิธิเด็ก, 2539

 

 <1> SOTUS ย่อมาจาก Seniority=S, Order=O, Tradition=T, Unity=U, Spirit=S

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"แทนคุณ" หาเสียงกับกลุ่มสตรี เสนอให้ติดรูปภรรยาในบัตรประชาชนสามี

Posted: 10 Jun 2011 10:42 AM PDT

"แทนคุณ จิตต์อิสระ" เสนอให้ไทยมีบัตรประชาชนประเภทที่ผู้ชายที่มีภรรยาแล้วจะมีรูปภรรยาติดอยู่ เพื่อลดปัญหาการมีกิ๊ก ชี้สังคมเริ่มชินชากับความชั่ว ละครตบตี และหากมีโอกาสจะจัดเรตติ้งละครที่รุนแรงให้อยู่หลัง 22.00 น.

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า เมื่อ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 12 ปชป. ได้เดินทางไปหาเสียงที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี (บ้านพักฉุกเฉินวีเทรน) เขตดอนเมือง โดยเป็นการลงพื้นที่พร้อมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อพบปะเครือข่ายที่ทำงานด้านสังคม เยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ

ตอนหนึ่งนายแทนคุณ กล่าวว่า อยากเห็นหลักสูตรครอบครัวที่หลายประเทศมี รวมทั้งอยากให้ไทยมีบัตรประชาชนเหมือนลาว ที่ผู้ชายที่มีภรรยาแล้วในบัตรจะมีรูปภรรยาติดอยู่ด้วย ถ้าทำได้จะช่วยลดปัญหามีกิ๊กได้ ในส่วนของสื่อสังคมเราเริ่มชินชากับความชั่ว ละครมีบทตบตี มีความรุนแรงแย่งคนรัก สื่อสิ่งพิมพ์มีรูปโป๊ หากตนมีโอกาสจะจัดเรตติ้งละครที่มีความรุนแรงให้อยู่หลังเวลา 22.00 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง:Spot Death Spot/ชี้จุดตาย

Posted: 10 Jun 2011 09:57 AM PDT

ความพยายามของคนธรรมดาบนโลกออนไลน์ในการสืบค้นสถานที่เกิดเหตุ จากคลิปวีดีโอนิรนามที่แสดงให้เห็นภาพการเสียชีวิตของ นรินทร์ ศรีชมภู คนเสื้อแดงในเหตุการสลายการชุมนุมจากที่ได้ถูกเผยแพร่ออกไป

หมายเหตุ:บันทึกวิดีโอนี้ได้จัดทำขึ้นในวันที่ 1 มิถุนายน 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: เรื่องราวของ 3 นักเคลื่อนไหวชาวจีนในเหตุการณ์ปฏิวัติดอกมะลิ

Posted: 10 Jun 2011 07:44 AM PDT

 

ผู้วิพากษ์วิจารณ์การเมืองจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น ทนายความ นักเคลื่อนไหว ศิลปิน บล็อกเกอร์ หรือพลเมืองเน็ต ถูกจับกุมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากความกลัวของรัฐบาลจีนต่อการปฏิวัติดอกมะลิ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเมื่อไม่นานมานี้ และนี่คือรายชื่อของนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ที่ถูกจับกุมในช่วงเวลาดังกล่าว ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รวบรวมไว้

 

เหลียง ไห่ หยี (Liang Haiyi) หรือ Tiny: เหยื่อที่ถูกจับเป็นรายแรกๆ ในปฏิบัติการกวาดล้างการปฏิวัติดอกมะลิของรัฐบาล

สถานะ: ถูกควบคุมตัวด้วยเนื่องจากตกเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาล้มล้างอำนาจรัฐ

เธอกล่าวไว้ว่า “ถ้าหากประเทศยังไม่สามารถที่จะช่วยเหลือขอทานได้ นับประสาอะไรกับการปกป้องพระจักรพรรดิ”

มีการรายงานว่า เหลียง ไห่ หยี ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาในเมืองฮาบินทางตอนเหนือของจีน

เนื่องมาจากการแชร์วิดีโอและข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิวัติดอกมะลิบนอินเทอร์เน็ต ทนายของเธอยืนยันว่า เธอถูกถูกควบคุมตัวด้วยเนื่องจากตกเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อหาล้มล้างอำนาจรัฐ

พลเมืองเน็ตชาวจีนหลายคนตั้งฉายาให้เธอว่า “Southern Woman Martyr: หญิงชาวใต้ผู้เสียสละ” เนื่องจากเป็นนักเคลื่อนไหวคนแรกที่ถูกจับกุมเนื่องในกรณีดังกล่าว

เธอเป็นพลเมืองเน็ตที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองอยู่เสมอ เธอโพสท์ข้อความเรื่องการเมืองจีนบนทวิตเตอร์และไมโครบล็อค QQ ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ของจีนอย่างเปิดเผยในชื่อของ Miaoxiao ซึ่งมีความหมายในภาษาจีนว่า “ตัวเล็ก”

หนังสือพิมพ์แอปเปิลเดลี่รายงานว่า เธอมีความสนใจในด้านการเมืองและสังคมมาตั้งแต่ต้น เธอเข้าร่วมแกนนำเยาวชนคอมมิวนิสต์ เธอเป็นผู้นำสหพันธ์นักศึกษาในมณฑลกวางตุ้งบ้านเกิด และได้รับรางวัลระดับท้องถิ่นจากการทุ่มเททำงานให้ชุมชน

ในปี 2554 เหลียง ไห่ หยี แต่งงานและย้ายมาอยู่ที่เมืองฮาบินทางตอนเหนือของจีน เธอได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติดอกมะลิในตูนีเซียและโพสท์ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจากเว็บไซต์ต่อต้านรัฐบาลที่ดำเนินงานอยู่ภายนอกประเทศ www.boxun.com เกี่ยวกับแผนการจัดตั้งการปฏิวัติดอกมะลิตามเมืองต่างๆ ในประเทศจีน

Wang Dan แกนนำเยาวชนในปี 2532 จากเหตุการณ์ประท้วง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งปัจจุบันลี้ภัยอยู่ต่างประเทศกล่าวสรรเสริญยกย่อง เหลียง ไห่ หยี บนหน้าเฟซบุ๊กของเขาเองว่า “เธอมีความกล้าหาญมากกว่าพวกเราอีกครับ” และยังได้บอกอีกด้วยว่า การปราบปรามของรัฐบาลในปัจจุบันนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าในสมัยเขาอย่างมาก

ทวิตเตอร์ของ เหลียง ไห่ หยี ในตอนนี้ได้ถูกยกเลิกแล้ว แต่หน้าไมโครบล็อก QQ นั้นยังคงสามารถเยี่ยมชมได้อยู่ โดยภายในบล็อกนั้นจะมีลิงก์ไปยังวิดีโอและบทความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการโค่นล้มอำนาจอดีตประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัคแห่งอียิปต์ และประเด็นเกี่ยวกับการเมืองที่เป็นที่โต้เถียงกันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงข้อคิดเห็นและบทวิจารณ์ต่างๆ ของเธอเอง

คำกล่าวของ เหลียง ไห่ หยี

“ผู้หญิงราศีธนู เรียบง่าย เปิดเผย ตรงไปตรงมาและวางใจได้ แต่ก็สามารถทำให้ใครหลายคนไม่พอใจในความคิดของเธอได้ง่ายเช่นกัน ตอนนี้ผู้หญิงคนนี้ต้องการการให้เกียรติ ความเข้าใจ และกำลังใจอย่างมากเพื่อสนับสนุนค่านิยมของเธอและเพื่อต่อสู้กับสังคมที่เต็มไปด้วยการเยาะเย้ยถากถาง”

บล็อกของ เหลียง ไห่ หยี ไม่ได้รับการอัพเดทอีกเลย นับตั้งแต่ข้อความสุดท้ายถูกโพสท์เมื่อเวลา 00.51 น. ของวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งเขียนว่า “นาซีกับเราต่างกันอย่างไร ระบบเผด็จการจะเกิดขึ้นอีกครั้งไหมในเยอรมนี คุณครูโรงเรียนมัธยมของเราทดสอบบทเรียนนี้และได้รับคำตอบว่า ประวัติศาสตร์นั้นง่ายมากที่ซ้ำรอย ก่อเกิดเป็นบทเรียนที่ราคาแพงและเจ็บปวด”



หลัน หยุน เฟย (Ran Yunfei): นักเคลื่อนไหวและบล็อกเกอร์ชาวเสฉวน

สถานะ: ถูกจับกุมตัวในข้อหา “ส่งเสริมให้มีการล้มอำนาจรัฐ”

เขาเคยกล่าวไว้ว่า “ยิ่งเว็บบล็อกของคุณถูกระงับการเข้าถึงมากเท่าไหร่ ก็ต้องพยายามมากขึ้นเท่านั้นในการหาทางบอกเล่าความจริงออกไป”

หลัน หยุน เฟย เป็นนักวิจารณ์วรรณกรรม นักวิชาการและนักวิจารณ์การเมือง จากเมืองเฉินตูทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และมาจากชนกลุ่มน้อยชาวถู่

การปฏิวัติของสื่อสังคมออนไลน์ทำให้ หลัน หยุน เฟย กลายเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นบนอินเทอร์เน็ต บล็อกที่เขาเขียนมีจำนวนมาก และถูกระงับการใช้อยู่บ่อยครั้งเนื่องจากการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตของทางการจีน

หลัน หยุน เฟย มีชื่อเสียงในด้านการใช้กลยุทธ์แบบ “กองโจร” บนอินเทอร์เน็ต เขาใช้ชื่อแอคเคานท์ที่หลากหลายเพื่อให้เจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์เกิดความสับสน

บทความที่มีชื่อเสียงของ หลัน หยุน เฟย เรื่อง “Domestic microblogs live to die in battle” เป็นบทวิเคราะห์และประวัติศาสตร์พัฒนาการของการใช้ไมโครบล็อกสัญชาติจีนกับทวิตเตอร์ และกลยุทธ์การใช้สื่อทั้งสองแบบในการทำลาย “หอคอยแห่งความหลอกลวง”

คำพูดของ หลัน หยุน เฟย (แปลจากภาษาอังกฤษจากเว็บไซต์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งแปลมาจากภาษาจีนอีกทอดหนึ่ง จากเว็บไซต์ www.chinageeks.org)

จาก “Domestic microblogs exist to die in battle”:

“ในความคิดของผม ทวิตเตอร์เป็นที่ซึ่งใช้เผยแพร่ความจริงและเป็นเหมือนโกดังเก็บความจริง ไมโครบล็อกในประเทศก็มีอยู่เพื่อเผยแพร่ความจริงนั้น และเพื่อตายในสนามรบ ยิ่งเว็บบล็อกของคุณถูกระงับการเข้าถึงมากเท่าไหร่ ก็ต้องพยายามมากขึ้นเท่านั้นในการหาทางบอกเล่าความจริงออกไป”

จาก "ผมทำอะไรบ้างในปี 2553", โพสท์บนบล็อกก่อนถูกจับกุมตัว

“ความรักครั้งแรกในชีวิตของผมคงไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรอกครับ ในประเทศที่มีอิสระเสรีผมคงได้ใช้เวลาทำงานค้นคว้าวิจัยในห้องสมุด

แต่ผมไม่ได้เกิดมาในประเทศที่สามารถใช้ชีวิตอย่างสงบแบบนั้นได้ มันไม่มีทางออกครับ ถ้าเกิดผมไม่วิพากษ์วิจารณ์สังคมอันเลวร้ายของเราว่าความจริงเป็นอย่างไร จิตวิญญาณผมคงอยู่ไม่เป็นสุข ผมคงนอนไม่หลับแน่นอน ผมคงทุกข์ทรมานจากความรู้สึกผิดที่ไม่ทำอะไรเลย”


หลัน หยุน เฟย ทวีตล่าสุดเมื่อ 13 มี.ค.54


หวัง หลี่ หง (Wang Lihong): นักเคลื่อนไหวยุคการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี พ.ศ. 2532 และผันตัวเองมาเป็นพลเมืองเน็ต

สถานะ: ถูกจับกุมตัวในข้อหาเป็นระดมผู้คนเพื่อกีดขวางการจราจร

คำกล่าวของเธอ “ถ้าฉันเงียบ ทนดูความทุกข์ทรมานและปีศาจร้ายที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่ทำอะไรเลย ปีศาจตัวต่อไปที่ควรจะกำจัดทิ้งก็คงเป็นตัวฉันเอง”

ไม่ต่างจากชาวจีนหลายคนในช่วงวัยเดียวกัน หวัง หลี่ หง มีประสบการณ์ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยโดยนักเรียนนักศึกษาในกรุงปักกิ่งในปี พ.ศ. 2532

การลงโทษต่อผู้ต่อต้านรัฐบาลส่งผลให้เธอลาออกจากงานราชการในฐานะแพทย์จบใหม่ แล้วมาเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมแทน

ขณะนี้เธออายุ 55 ปี โครงการที่เธอกำลังทำอยู่คือ โครงการช่วยเหลือคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่บนถนนรอบจัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งเธอทำงานร่วมกับทนายความและนักสิทธิคนอื่นๆ เช่น "Laohumiao" รวมถึงกรณีอื่นๆ เช่น การช่วยเหลือเหยาจิงซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทางการทำร้ายจนต้องเข้าโรงพยาบาล

หวัง หลี่ หง เป็นผู้ใช้ทวิตเตอร์เป็นประจำ และเป็นพลเมืองเน็ตที่ร่วมประท้วงในเดือนเมษายน 2553 ในกรณีที่พลเมืองเน็ตชาวฟูเจี้ยน 3 คน ที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการข่มขืนและฆ่าหญิงสาวคนหนึ่งโดยกลุ่มชายผู้มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ในช่วงปี 2553 หวัง หลี่ หง โดนควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นระยะเวลาแปดวัน และกักบริเวณภายในบ้านหลังจากนั้นเป็นระยะเวลากว่าสามเดือนแล้ว เพื่อลงโทษที่เธอเฉลิมฉลองการได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของหลิวเสี่ยวโป โดยพยายามนัดพบกับเพื่อนๆ ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง

ในช่วงเวลานี้เอง หวัง หลี่ หง โดนบังคับให้เขียนคำรับสารภาพในสิ่งที่เธอทำเพื่อแลกกับอิสรภาพ ซึ่งเธอปฏิเสธ เป็นผลเธอถูกควบคุมตัวต่อเนื่องในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

คำกล่าวของ หวัง หลี่ หง จากจดหมายเปิดผนึก ที่เธอเขียน

“ถ้ามองในมุมของกฎหมายแล้ว การทำให้บุคคลหนึ่งยอมรับว่าจะไม่ทำผิดกฎหมายอีกเพื่อที่จะแลกกับอิสรภาพนั้น เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย มันเป็นการลบหลู่กฎหมาย”

“ฉันเป็นพลเมืองจีน ฉันมีสิทธิที่จะใช้ชีวิต สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระในประเทศของตัวเอง”

“ฉันเป็นคนมีสติ ฉันไม่สามารถสงบปากสงบคำเมื่อรับรู้ถึงความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นตรงหน้า ฉันไม่สามารถเสแสร้งแกล้งมองไม่เห็นเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านี้ได้”

“ถ้าฉันเงียบ ทนดูความทุกข์ทรมานและปีศาจร้ายที่อยู่ตรงหน้าโดยไม่ทำอะไรเลย ปีศาจตัวต่อไปที่ควรจะกำจัดทิ้งก็คงเป็นตัวฉันเอง”

“ในฐานะที่เป็นผู้รักษากฎหมาย การกระทำของพวกเขาในการกำจัดอิสรภาพของฉันเป็นสิ่งที่ผิดอย่างมาก ผิดกฎหมายและมีผลกระทบที่เลวร้ายต่อชีวิตของฉัน ฉันหวังว่าหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจะจัดการกับการละเมิดสิทธิในครั้งนี้โดยเร็วที่สุด และทำให้ฉันได้รับอิสรภาพอีกครั้ง”


ทวิตเตอร์ของ หวัง หลี่ หง ทวีตครั้งล่าสุดเมื่อ 21 มี.ค.54

 

 

 

ที่มา: http://www.amnesty.org/en/news-and-updates/china%E2%80%99s-jasmine-activists-2011-05-05

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักศึกษาและเยาวชน “ตบเท้า” เยี่ยมนักโทษคดีหมิ่น พร้อมเผยความรู้สึกแรกเยือนเรือนจำ

Posted: 10 Jun 2011 05:40 AM PDT

นักศึกษาและเยาวชนกว่า 20 คน เดินทางเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

9 มิ.ย. 53 – เมื่อเวลา 10.30 น. กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเยาวชน กว่า 20 คน เข้าเยี่ยมนักโทษการเมืองที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยพูดคุยกับแกนนำนปช. และผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเรือนจำพิเศษหลายคน เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข, สุรชัย แซ่ด่าน, ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล หรือ หนุ่ม เว็บมาสเตอร์นปช.ยูเอสเอ และนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ผู้ต้องหาส่งsms หมิ่นให้เลขาฯ นายกฯ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้กำลังใจและสอบถามพูดคุยกับนักโทษการเมือง

กลุ่มนักศึกษาดังกล่าว นำโดยไท พฤกษาเกษมสุข บุตรชายของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ร่วมกับกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นนักศึกษาจากหลายคณะและชั้นปีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำกิจกรรมร่วมกันเยี่ยมผู้ต้องหาคดีกฎหมายอาญามาตรา 112

“ก็รวมตัวจากเพื่อนๆที่สนิทกัน และก็นัดรวมกลุ่มกันจากอีเวนท์ในเฟซบุ๊ก” ไท นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ปี 2 กล่าวถึงที่มาในวันนี้ “ครั้งนี้เป็นครั้งที่สี่ที่ผมมาเยี่ยมพ่อที่เรือนจำ ก่อนหน้านี้มาเยี่ยมพ่ออย่างเดียว แต่วันนี้ได้มาเยี่ยมนักโทษการเมืองคนอื่นๆด้วย”

เมื่อเวลานัดที่ทางเรือนจำจัดไว้ให้การเยี่ยมแกนนำ นปช.มาถึงในเวลา 11.20 น. คนเสื้อแดงจำนวนกว่า 50 คน ก็รอต่อแถวหน้าห้องอย่างคึกคักพร้อมโบกสะบัดบัตรคิวสีแดง พร้อมเข้าไปเยี่ยมและส่งกำลังใจให้แก่แกนนำทีอยู่ในคุก เหล่านักศึกษาจัดแจงฝากกระเป๋าและของติดตัวต่างๆไว้บริเวณหน้าห้องเยี่ยม นักศึกษาส่วนใหญ่ นอกจากไท ไม่เคยมาเรือนจำ และได้มีโอกาสมาครั้งนี้พร้อมกับเพื่อนๆเป็นครั้งแรก

ปีย์ เจนณรงค์ นักศึกษาจากกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยกล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มาเรือนจำ แต่ก่อนหน้านี้ก็ตั้งใจจะมาเยี่ยมอยู่แล้ว

“ที่เข้าไปเยี่ยม ก็ได้คุยกับอาจารย์สมยศว่ามากับไท ลูกชายเขา และได้ร่วมเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆทางการเมืองด้วยกัน ก็ได้ให้กำลังใจอาจารย์ และบอกอาจารย์ว่าจะสู้ต่อไป” นักศึกษาปี 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว “นักศึกษาก็ยังอยู่ และมีแรงช่วยเหลือกันอยู่ จะทำกิจกรรมกันต่อไป”

จากการเยี่ยมนักศึกษาในครั้งนี้ ทำให้นักศึกษาได้รับรู้ความเป็นไปของนักโทษการเมืองโดยเฉพาะนักโทษที่ถูกตัดสินคดีจากมาตรา 112 ว่ามีสภาพความเป็นอยู่เป็นอย่างไร นักศึกษาบอกกับผู้สื่อข่าวว่า ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการซ้อมทรมานนักโทษคดีหมิ่นฯในเรือนจำ ทั้งจากนักโทษด้วยกันเองและจากผู้คุม ส่วนสภาพความเป็นอยู่ภายในคุก สำหรับแกนนำดูเหมือนว่าจะพออยู่ได้ เนื่องจากมีคนมาให้กำลังใจอยู่บ่อยๆ แต่นักโทษการเมืองที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก จะยากลำบากมาก เพราะส่วนใหญ่ครอบครัวจะตัดขาด ไม่ยอมมาเยี่ยม และก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไรจากใครมากนัก

น้องใหม่ปี 1 จากคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย เธอไม่ขอเปิดเผยชื่อจริงเนื่องด้วยในอดีตเคยเป็นเหยื่อการ “ล่าแม่มด” ทางอินเตอร์เน็ตมาก่อน การคิดต่างทางการเมืองของเธอส่งผลให้เธอถูกปฏิเสธการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร และถูกขู่ทำร้ายและทำให้ไม่สามารถไปสอบสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถึงแม้ว่าเธอได้เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่นี่ก็เป็นการมาเยือนเรือนจำครั้งแรกของเธอ

“การที่เห็นคนมาเยี่ยมและให้กำลังใจนักโทษการเมือง ทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งใจมาก เพราะช่วงหนึ่งในชีวิตเราก็รู้สึกสิ้นหวัง หมดหวังท้อแท้ และเหนื่อย ถึงแม้ว่าเราไม่เคยเข้าไปอยู่ในนั้น แต่คิดว่าเราเข้าใจความรู้สึกของเขา ในการไม่ได้รับอิสรภาพ ไม่ได้รับความเป็นธรรม” หญิงสาวเล่าความรู้สึก “สำหรับเราในฐานะเคยเป็นผู้ถูกกระทำและไม่ได้รับความยุติธรรม เราคิดว่าการให้กำลังใจเป็นสิ่งทีสำคัญมาก เพราะมันมีความหมายมากในช่วงระยะเวลาที่เราไม่มีใคร มันเป็นพลังที่ทำให้เราลุกขึ้นมาและสู้ต่อไป จนสามารถลุกมายืนจนถึงจุดนี้ได้ และอยากจะส่งต่อกำลังใจนี้ไปให้คนทุกคน ไม่ว่าเป็นแกนนำหรือใครก็ตามที่กำลังต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ยุติธรรม”

อนึ่ง ในงานวิจัยเรื่อง “Truth on Trial in Thailand: Defamation, treason, and lese-majeste” เขียนโดยเดวิด เสตร็คฟัส นักวิชาการอเมริกันอิสระผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ เปิดเผยว่า การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มสูงขึ้น 1,500 % นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยมีคดีที่ถูกดำเนินการเฉลี่ยแล้วปีละเกือบร้อยคดี และมีอัตราตัดสินคดีว่าผิดสูงถึง 94% โดยผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯรายล่าสุด คือ นายโจ กอร์ดอน ชาวไทย-อเมริกัน ผู้ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ลิงค์ของหนังสือ The King never smiles ไว้หน้าบล็อกของตนเอง และถูกจับกุมในข้อหากระทำผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งหากตัดสินว่าผิด อาจได้รับโทษสูงสุด 22 ปี

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลือกตั้ง... คนงานเสนอนโยบายพรรคการเมือง

Posted: 10 Jun 2011 05:05 AM PDT


Published under a Creative Commons License By attribution, non-commercial

เด้ง ผกก.แม่ริม บกพร่องปล่อย "เสื้อแดงเชียงใหม่" ประชิดตัว "อภิสิทธิ์"

Posted: 10 Jun 2011 04:17 AM PDT

"วิเชียร" ระบุสั่งย้าย"พ.ต.อ.สมชัย อินทโสตถิ" ผกก.สภ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ฐานบกพร่องไม่เฉพาะปล่อยเสื้อแดงประชิด "อภิสิทธิ์" ตะโกนไล่ ยังไม่จัดกำลังรปภ.ผู้สมัคร ส.ส.หาเสียงด้วย

10 มิ.ย. 54 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่าเมื่อเวลา 14.00 น. ที่โรงพยาบาลตำรวจ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณี พล.ต.ต.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ มีคำสั่งให้ พ.ต.อ.สมชัย อินทโสตถิ ผกก.สภ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ มาช่วยราชการ สภ.แม่ออน

โดยระบุว่า สอบเบื้องต้นพบข้อบกพร่องหลายอย่างชัดเจน ในการจัดกำลังดูแลความปลอดภัยผู้สมัคร ส.ส. ลงพื้นที่หาเสียงในพื้นที่ สภ.แม่ริม ไม่ใช่เฉพาะกรณีกลุ่มคนเสื้อแดงบุกประชิดตัวตะโกนด่าขับไล่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ   หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขณะลงพื้นที่หาเสียงเมื่อ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา เท่านั้น แต่พบว่าหย่อนยานในการปฏิบัติหน้าที่หลายครั้งในการดูแลผู้สมัครส.ส. รวมทั้งไม่จัดกำลังรักษาความปลอดภัยตามแผนวางไว้ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นการพิจารณาของผู้บังคับการในพื้นที่ จึงมีคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่อื่นชั่วคราวและหาคนอื่นมาทำหน้าที่แทน 

พล.ต.อ.วิเชียร กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีหมู่บ้านเสื้อแดง ยังไม่ทราบรายละเอียดแต่เชื่อว่ามีจริง จะต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งได้มอบหมายให้ตำรวจดูแลแล้ว หากเป็นการประชุมปราศรัยหาเสียงเพื่อเตรียมการเลือกตั้งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่หากพบกระทำผิดกฎหมายก็จะต้องดำเนินการจับกุมทันที ส่วนความคืบหน้าเหตุคนร้ายยิงนายประชา ประสพดี อดีต ส.ส.สมุทรปราการ เพื่อไทย ยืนยันว่าทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการติดตามจับกุมคนร้ายให้ได้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยแพร่แล้ว คำวินิจฉัยส่วนตัว 7 ตุลาการ กรณีไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์

Posted: 10 Jun 2011 04:00 AM PDT

กรณีการตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ผ่านไปกว่า 6 เดือน คำวินิจฉัยส่วนตัว 7 ตุลาการ เพิ่งได้รับการเผยแพร่ในวันนี้ (10 มิ.ย. 54)

10 มิ.ย. 54 - มติชนออนไลน์รายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยที่ 16 /2553 เรื่องนายทะเบียนพรรคการเมืองขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 ผ่านไปกว่า 6 เดือน  คำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่งได้รับการเผยแพร่ในเว็บราชกิจจานุเบกษา
 
ล่าสุดวันที่ 10 มิถุนายน  คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่ 16 / 2553  เรื่อง อัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ (ส่วนตัว) ของ 7 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่งได้รับเผยแพร่
 
คำวินิจฉัยส่วนตัว ที่เพิ่งได้รับการเผยแพร่ ประกอบด้วย คำวินิจฉัยส่วนตัวของ  นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ   และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 6 คนได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล  นายจรูญ อินทจาร  นายนุรักษ์ มาประณีต  นายบุญส่ง กุลบุปผา นายสุพจน์ ไข่มุกด์  และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี

เปิดอ่านคำนิจฉัยส่วนตัว 7 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ที่
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/A/047/1.PDF

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตม. อุทธรณ์ศาล อ้างคุมตัว "ชาลี ดีอยู่" ชอบด้วยกฏหมาย

Posted: 10 Jun 2011 02:35 AM PDT

ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง อุทธรณ์ต่อศาล อ้างคุมขังนายชาลี  ดีอยู่แรงงานข้ามชาติบาดเจ็บจากการทำงานจนไส้แตก ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

10 มิ.ย. 54 - เวลา 15.00 น. วันนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ยื่นแก้อุทธรณ์ ยืนยันสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ควบคุมตัวนายชาลี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากใบอนุญาตทำงานยังไม่หมดอายุ และการล่ามโซ่เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลังสำนัำงานตรวจคนเข้าเมืองอุทธรณ์โต้คำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ให้ปล่อยตัวนายชาลี ดีอยู่ และให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจ่ายค่าเสียหาย อ้าง สตม. ไม่มีหน้าที่ต้องตรวจสอบสิทธิอาศัยของนายชาลี และมีอำนาจกักตัวไว้ได้นานเท่าใดก็ได้โดยไม่ต้องขอศาล โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และเคารพสิทธินายชาลีแล้ว
 
หลังจากศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ให้ สตม. ปล่อยตัวนายชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า เหยื่ออุบัติเหตุจาการทำงานบาดเจ็บสาหัส แต่กลับถูกตำรวจควบคุมตัวเพื่อส่งกลับประเทศพม่า และถูกล่ามโซ่ไว้กับเตียงผู้ป่วย อีกทั้งศาลยังให้ สตม. จ่ายค่าเสียหายให้นายชาลี เนื่องจากเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบและเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนายชาลี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 ปรากฏว่า สตม. ได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาล และขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้เป็นการควบคุมตัวที่ชอบด้วยกฎหมาย ในการอุทธรณ์นี้ สตม. อ้างว่ามีอำนาจควบคุมตัวนายชาลีได้ตามกฎหมาย และไม่มีหน้าที่ต้องตรวจสอบสิทธิอาศัยของนายชาลี เนื่องจากสถานีตำรวจภูธรเมืองปทุมธานีที่ได้ทำการสอบสวนนายชาลีจนเสร็จสิ้นแล้ว และ สตม. รับตัวมากักไว้เพื่อรอการส่งกลับเท่านั้น จึงมีอำนาจที่จะกักตัวนายชาลีไว้นานเท่าใดก็ได้ โดยไม่ต้องร้องขอต่อศาล อีกทั้งได้ส่งตัวนายชาลีไปรักษาพยาบาล  ได้ประสานงานให้มีการปลดโซ่ล่ามนายชาลีออก และได้ประสานงานกับกรมการจัดหางานจนตรวจสอบได้ว่านายชาลียังมีสิทธิอาศัย จึงได้ปล่อยตัวนายชาลี ถือว่าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองปฏิบัติต่อนายชาลีโดยเคารพสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแล้ว และไม่ได้ทำให้นายชาลีเสียหาย

มสพ. จึงยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลในวันนี้ ยืนยัน สตม.ควบคุมตัวนายชาลีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดเสรีภาพของนายชาลีตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการกักตัวนายชาลีเพื่ฟอรอการส่งกลับขณะที่ใบอนุญาตทำงานของนายชาลียังไม่หมดอายุ อีกทั้งนายชาลียังถูกล่ามโซ่ขาติดกับเตียงขณะรับการรักษาการบาดเจ็บจากการทำงานที่ รพ.ตำรวจ ในฐานะผู้ป่วยในอายัดของ สตม. โดยตลอดเวลา 16 วันของกักตัว สตม. ไม่ได้ตรวจสอบสิทธิอาศัยของนายชาลี แม้ภายหลังสภาทนายความได้มีหนังสือทวงถามขอให้ปล่อยตัวนายชาลี แต่ สตม. กลับยังเพิกเฉย จน มสพ. ต้องยื่นคำร้องต่อศาล อีกทั้งการที่ สตม. อ้างว่ามีอำนาจกักตัวนายชาลีได้นานเท่าใดก็ได้ โดยไม่ต้องดำเนินคดี และไม่ได้ผ่านการตรวจสอบโดยศาลนั้น ย่อมเป็นการใช้อำนาจเกินกว่า พ.ร.บ. คนเข้าเมืองให้อำนาจไว้ ขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งห้ามการจับและการคุมขังบุคคลโดยอำเภอใจ สิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวและผู้ต้องหาในคดีอาญา ที่ต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งยังขัดต่อพันธกรณีของประเทศไทยตามกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งห้ามการควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจและโดยปราศจากการควบคุมตรวจสอบโดยศาล

นายสมชาย หอมลออ เลขานุการ มสพ. กล่าวว่า “หวังว่าศาล ในฐานะเป็นองค์กรตุลาการมีอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐ จะได้วินิจฉัยเพื่อเป็นแนวทางวางหลักกฎหมายเกี่ยวกับการใช้อำนาจกักตัวบุคคลตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็นแนวทางให้เจ้าพนักงานได้ทราบถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของบุคคล เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังเช่นกรณีนายชาลีซ้ำอีก”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สลัม 4 ภาค เปิดข้อเสนอนโยบายต่อพรรคการเมือง

Posted: 10 Jun 2011 02:20 AM PDT

แนะปฏิรูปที่ดิน เก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เร่งจัดตั้งธนาคารที่ดิน-ออกกฎหมายโฉนดชุมชน สานนโยบายต่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสวัสดิการ ออกมาตรการเรียนฟรีอย่างมีคุณภาพเลิก พร้อมให้ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ

 
 
วันนี้ (10 มิ.ย. 54) เฟซบุ๊กเครือข่ายสลัม 4 ภาค เผยแพร่ข้อเสนอนโยบายจากการจัดประชุมของเครือข่ายฯ ต่อพรรคการเมืองทุกพรรค ที่จะมาบริหารประเทศภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554 โดยข้อเสนอดังกล่าวจะถูกนำไปรวมกับข้อเสนอขององค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ แล้วนำเสนอในเวทีใหญ่ในวันที่ 24 มิ.ย.54 ที่มหาวิทยาลัยรังสิต
 
ทั้งนี้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ก่อตั้งเมื่อปี 2541 เป็นภาคองค์กรประชาชน ที่เคลื่อนไหวในฐานะขบวนการของคนจนในเขตเมือง ซึ่งรณรงค์ในประเด็นการปฏิรูปที่ดินในเมือง เพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเมือง รวมทั้งผลักดันในเชิงนโยบายเพื่อการแสวงหาความเป็นธรรมทางสังคมโดยร่วมกับขบวนการประชาชนและภาคประชาสังคมกลุ่มอื่นๆ ปัจจุบันเครือข่ายสลัม 4 ภาค มีองค์กรสมาชิก 10 เครือข่าย 110 ชุมชน ประชากรราว 7,000 ครอบครัว
 
ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าว มีดังนี้ 
 
ข้อเสนอของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ต่อพรรคการเมือง
 
หมวดที่ดิน ที่อยู่อาศัย
 
1.ให้มีการเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า
 
2.ให้เร่งจัดตั้งธนาคารที่ดิน สานนโยบายดำเนินการต่อ
 
3.ออกนโยบายจำกัดการถือครองที่ดิน
 
4.เร่งออกกฎหมายโฉนดชุมชน
 
5.ให้ยกเว้นการเก็บค่าบริการติดตั้งและขยายพื้นที่สาธารณูปโภค น้ำประปา-ไฟฟ้าสำหรับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของรัฐและคนจน
 
 
หมวดคุณภาพชีวิตและสวัสดิการ
 
1.ให้มีมาตรการรักษาพยาบาลมาตรฐานเดียว
 
2.ให้มีกฎหมายบำนาญชราภาพ
 
3.ให้ออกมาตรการการศึกษาที่ฟรีจริง และมีคุณภาพ
 
 
หมวดกฎหมายและนโยบาย
 
1.เก็บภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า
 
2.เก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่ม
 
3.ยกเลิก พ.ร.บ.การชุมนุมโดยทันที

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์: ว่าด้วยโครงสร้างส่วนบน (ที่มองไม่เห็น) ของระบบโซตัส

Posted: 10 Jun 2011 02:18 AM PDT

ระบบโซตัส (SOTUS) ถือเป็นหนึ่งในแบบแผนปฏิบัติของชีวิตในมหาวิทยาลัย โดยทั่วไปเป็นการกล่าวถึงระบบที่เป็นตัวย่อมาจากการนับถืออาวุโส (Seniority) ยึดมั่นระเบียบ (Order) ประเพณี (Tradition) ความสามัคคี (Unity) และน้ำใจ (Spirit) ซึ่งระบบนี้ขับเคลื่อนผ่านการปกครองดูแลกันเองระหว่าง "รุ่นพี่" และ "รุ่นน้อง" และผ่านการหล่อหลอมผ่านระบบการ "รับน้อง" และ "ห้องเชียร์"

ในทุกๆ ปีนั้นเรื่องนี้จะมีการพูดกันเสมอๆ ในช่วงเปิดเทอมต้น โดยเฉพาะในหน้าสื่อ ทั้งการตีพิมพ์ทัศนะต่างๆ และอาจจะมีข่าวว่ามีรุ่นน้องตาย หรือฟ้องร้องถึงการรับน้องที่ป่าเถื่อน และโหดร้าย และข่าวดังกล่าวก็จะเงียบหายไปหลังจากห้องเชียร์ปิดตัวลงในช่วงสักประมาณกรกฎาคม

เดิมนั้น เรามักอธิบายกันว่า เรื่องของระบบโซตัสนั้นดำรงอยู่ได้เพราะว่าสังคมไทยนั้นมีวัฒนธรรมแบบระบบอุปถัมภ์ ดังนั้นระบบโซตัสก็คือ "ผลสะท้อน" ของโครงสร้างของวัฒนธรรมในสังคมใหญ่ที่ "เตรียมคนรุ่นใหม่" ให้ออกไปอยู่ในระบบที่ยอมรับว่าสังคมไม่เท่าเทียมกัน

ขณะที่ผู้ที่สนับสนุนระบบนี้ ก็มักจะอธิบายว่าระบบโซตัสนั้นมีคุณประโยชน์เป็นอย่างมาก เพราะทำให้เกิดการขัดเกลาและช่วยเหลือกันในหมู่สมาชิกของสังคม เพราะเด็กที่เข้าสู่มหาวิทยาลัยนั้นไม่มีใครดูแล เหมือนในระบบมัธยม ดังนั้นการมีรุ่นพี่รุ่นน้องก็เป็นเรื่องที่ดีอยู่ เหมือนกับระบบอาวุโส-อุปถัมภ์ในสังคมนั้นก็ดีอยู่ ที่ไม่ดีนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของรุ่นพี่บางคน หรือคนบางคนเท่านั้น

ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายนั้นก็ตาม เดิมนั้นเรามองว่าระบบโซตัสนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับรุ่นพี่และรุ่นน้อง ไม่เชื่อมโยงกับอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย ภาพของการมองและการพยายามแก้ปัญหาจึงมักวนเวียนอยู่กับเรื่องของการกวดขันให้ทางผู้บริหารดูแลระบบนี้ให้ดี ไม่ว่าจะยกเลิก หรือกวดขันไม่ให้เกิดอันตรายกับเด็กๆ

สิ่งที่ผมค้นพบที่เกี่ยวข้องกับระบบโซตัสนั้นมีด้วยกันสองเรื่อง เรื่องแรกคือคำถามที่ว่าทำไมรุ่นน้องหรือเด็กเข้าใหม่ถึงยอมรับระบบนี้ (รับน้องแล้วทำไมน้องไม่ร้องจ๊าก) กับเรื่องที่สอง (ค้นพบใหม่) ว่าทำไมผู้บริหารจึงยอมรับหรือไม่ยอมมองเห็นปัญหาเรื่องระบบโซตัส

ระบบโซตัสนั้นดำเนินไปได้ เพราะระบบดังกล่าวนั้นเป็นการลงทุนที่คุ้มมาก เพราะการยอมถูกแสดงอำนาจหนึ่งปีในฐานะน้องใหม่ทำให้สามารถได้รับการเคารพยอมรับกลับในฐานะรุ่นพี่ถึงสามเท่าเป็นอย่างน้อย (ในกรณีหลักสูตรสี่ปี) หมายถึงยอมเขาหนึ่งปีก็ได้คืนในฐานะการเป็นรุ่นพี่ถึงสามเท่า รวมทั้งการให้หลักประกันความมั่นคงในการสมัครงานและการทำงานในอนาคตเพราะรุ่นน้องก็คาดว่ารุ่นพี่จะช่วย และรุ่นพี่ก็มีรุ่นน้องเป็นพวก

ส่วนทำไมผู้บริหารถึงยอมให้เรื่องนี้เกิดได้นั้น ก็เพราะว่าประธานของระบบโซตัสตัวจริงก็คืออธิการบดีและคณบดีของแต่ละคณะนั่นแหละครับ และรอยต่อของระบบโซตัสที่ปรากฏตัวและถูกวิพากษ์วิจารณ์ กับระบบที่ซ่อนตัวอยู่นั้นไม่ค่อยมีคนค้นพบต่างหาก

การยินยอมให้มีการซ้อมเชียร์และรับน้องอย่างเข้มข้น อย่างน้อยในแง่ของการปล่อยให้ใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยในการจัดกิจกรรมที่ขัดกับหลักการสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น สามารถเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ยาก นอกจากการมีผลประโยชน์บางประการที่ระบบบริหารของมหาวิทยาลัยปล่อยให้เกิดขึ้น ซึ่งหัวใจสำคัญก็คือ การรับน้องอย่างเข้มข้นนี้ไม่ใช่ดีในแง่ของผลประโยชน์ในอนาคตของรุ่นพี่รุ่นน้องที่จะจบออกไปเท่านั้น แต่หมายถึงการสร้างหลักประกันของผู้บริหารในการเกณฑ์นักศึกษามาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้ เพราะถ้าไม่มีระบบโซตัสแล้ว มหาวิทยาลัยคงไม่สามารถเกณฑ์นักศึกษามาทำพิธีกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัยได้ และทำให้ศิษย์เก่ากลับมาให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยในอนาคต ซึ่งพิธีกรรมต่างๆ นี้ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนสำคัญของการทำให้มหาวิทยาลัยเป็นที่รู้จักและมีอันดับในสังคม และในบางกรณีอาจจะมากกว่าเกณฑ์สากลอื่นๆ อาทิ งานวิจัย เสียอีก

เขียนเรื่องนี้ในตอนนี้เพราะต้องการให้จับตามองว่า แม้ว่าห้องเชียร์และการรับน้องจะจบไปแล้ว แต่นักศึกษาไม่ใช่แค่กลับเข้าห้องเรียน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ แต่พวกเขากำลังถูกเกณฑ์โดยระบบบริหารในพิธีกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย หรืออาจรวมไปถึงการถูกเกณฑ์หรือขอความร่วมมือจากหน่วยงาน "นอก" และ "เหนือ" มหาวิทยาลัยด้วยครับ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพม่า – คะฉิ่นปะทะรอบใหม่ ทหารพม่าตาย 3

Posted: 10 Jun 2011 01:49 AM PDT

เกิดเหตุปะทะกันรอบใหม่ระหว่างทหารพม่าและทหารจากกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army – KIA) เมื่อเวลา 07.00 น.ของเช้าวันพฤหัสบดี (9 มิถุนายน) ที่ผ่านมา ในเมืองอือเมาก์ ในอำเภอบาหม่อ เบื้องต้นมีรายงานว่า ทหารพม่าเสียชีวิต 3 นาย

เจ้าหน้าที่ KIA เปิดเผยว่า เหตุปะทะรุนแรงขึ้น เมื่อทหารพม่ามากว่า 200 นาย ได้ข้ามมายังเขตควบคุมของ KIA และโจมตีฐานที่มั่น KIA ใกล้หมู่บ้านปราง กาดัง ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ปะทะกันนานเป็นเวลา 3 ชั่วโมง จนทหารพม่าเสียชีวิตจากเหตุปะทะกันครั้งนี้ 3 นายและบาดเจ็บอีก 6 นาย ขณะที่ทหาร KIA ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย มีรายงานด้วยว่า แม้การปะทะจะยุติลง แต่ตลอดทั้งวันยังคงมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะ ๆ เจ้าหน้าที่ทหาร KIA เปิดเผยว่า สามารถจับกุมทหารพม่าได้ 3 นาย ที่ข้ามมายังเขตควบคุมของ KIA

ในอีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านในเมืองไลซา ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ KIA เปิดเผยว่า การปะทะกันครั้งนี้ เป็นเพราะรัฐบาลพม่าต้องการข่มขู่และทดสอบกองทัพ KIA เพราะก่อนหน้านี้ KIA ได้ประกาศเตือนห้ามทหารพม่าเข้ามาในเขตควบคุมของตน

ทั้งนี้ กองทัพ KIA ได้ทำสัญญาหยุดยิงกับกองทัพพม่าตั้งแต่ปี 2537 อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายนับตั้งแต่ปีทีแล้ว หลัง KIA ปฏิเสธเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (Border guard force - BGF) ตามคำสั่งของกองทัพพม่า

ในขณะที่สถานการณ์รัฐกะเหรี่ยงเอง มีรายงานว่า กองทัพพม่าได้เพิ่มกำลังทหารอีก 3 กองพันเข้าไปใกล้กับเมืองกอกาเร็ก ทางตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยง หวังโจมตีกองพลที่ 6 ของกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (The Karen National Liberation Army – KNLA) 

ด้านกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army - SSA) ได้ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า กองทัพพม่าได้ใช้อาวุธเคมีโจมตีฐานที่มั่นของตนใกล้กับเมืองสู้ ทางภาคกลางของรัฐฉานเมื่อเช้าตรูของวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ทหารไทใหญ่ SSA หลายนายมีอาการเวียนหัวและคลื่นไส้ อาเจียน และถอนกำลังออกจากฐานที่มั่นดังกล่าว (KNG /Irrawaddy /DVB 9 มิถุนายน 54)

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น