โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

นิธิ เอียวศรีวงศ์: ความจงรักภักดีอย่างล้นเกิน

Posted: 15 Jun 2011 02:55 PM PDT

เผยแพร่ครั้งแรก: มติชนรายวัน 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554 

 

คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ มีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์อย่างจริงใจหรือไม่? คงไม่มีใครตอบได้ แต่การกระทำในนามของความจงรักภักดีของเขา ล้วนให้อำนาจและประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่เขาอย่างมากทั้งสิ้น

การนำกองทหารฝรั่งเศสเข้ามาในราชอาณาจักร ก็เพื่อสร้างกองกำลังทันสมัยไว้ปกป้องคุ้มครองตัวเขาเอง แต่เขาโน้มน้าวให้พระเจ้าแผ่นดินเห็นด้วย โดยอ้างภยันตรายจากต่างชาติ และต่อต้านแผนกบฏของขุนนาง เช่นเดียวกับการหลอกลวงกษัตริย์ฝรั่งเศสให้หลงเชื่อว่า พระมหากษัตริย์อยุธยากำลังจะเปลี่ยนศาสนา จนกษัตริย์ฝรั่งเศสส่งบาทหลวงผู้รับสารภาพบาปประจำพระองค์มาเพื่อทำพิธีรับศีลจุ่มให้สมเด็จพระนารายณ์ ก็ฝีมือของฟอลคอนอีกเช่นกัน

เขาอาจทำด้วยความจงรักภักดีก็ได้ เพราะตัวเขาเองแสดงตนว่ามีศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อศาสนาคาทอลิก (หลังจากได้เปลี่ยนศาสนามา 2 ครั้งแล้ว) จึงต้องการให้ผู้ที่เขาจงรักภักดีได้รับพระเมตตาจากพระเจ้าองค์เดียวกัน นอกจากนี้หากไม่มีเรื่องอันกษัตริย์ฝรั่งเศสจะถือเป็นเกียรติยศยิ่งใหญ่ คือกลับใจกษัตริย์ในแดน "กึ่งอารยะ" ของเอเชียได้ หลุยส์ก็อาจไม่ส่งทหารมาประจำที่อยุธยา ก็สัมพันธ์เชื่อมโยงกับอำนาจและผลประโยชน์ของฟอลคอนเอง

การกระทำในนามของความจงรักภักดีเหล่านี้ เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ศัตรูของสมเด็จพระนารายณ์ ประสบความสำเร็จในการโค่นล้มพระนารายณ์ลงในที่สุด

หลักฐานของบาทหลวงฝรั่งเศสรูปหนึ่ง ที่ได้เห็นเหตุการณ์ที่ลพบุรีในวันเกิดจลาจลรายงานว่า ประชาชนพากันออกมาชุมนุม (หลักฐานใช้คำว่า "เดินขบวน" ซึ่งคงไม่มีการจัดองค์กรถึงขนาดนั้น) เพราะพระสงฆ์ยุยงปลุกปั่นให้ออกมาปกป้องพุทธศาสนา เนื่องจากพระเจ้าแผ่นดินกำลังจะเปลี่ยนศาสนาเป็นคาทอลิก การจลาจลในปลายรัชกาลเปิดโอกาสให้พระเพทราชา สามารถใช้สถานการณ์ความวุ่นวายนี้ยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งใกล้จะสวรรคตบนพระแท่นบรรทมได้สำเร็จ

ฟอลคอนจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์อย่างผิดๆ หรือฟอลคอนไม่เคยจงรักภักดีต่อใครเลย นอกจากตัวเขาเองกันแน่? คงไม่มีใครตอบได้

แต่การแสดงความจงรักภักดีมักเป็นดาบสองคมเสมอ ด้านหนึ่งก็ส่งเสริมพระบารมีให้ประจักษ์ แต่อีกด้านหนึ่งอาจก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ต่อพระมหากษัตริย์แรงขึ้น แสดงแค่ไหนจึงจะพอดีและงดงาม จึงเป็นสิ่งที่ผู้จงรักภักดีด้วยความจริงใจต้องไตร่ตรองพิจารณาอย่างรอบคอบ

ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่แยกไม่ออกระหว่างความจงรักภักดี กับอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว มักจะแสดงออกจนเลยเส้นของความพอดีและงดงาม เพราะความพอดีและงดงามมักจะไม่ช่วยผลักดันอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัว

ในแง่หนึ่ง คำสารภาพของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ในคดีที่อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ฟ้องหมิ่นประมาทนั้นน่าตกใจ

โฆษก ผอฉ.ยอมรับว่า ผังล้มเจ้าที่แจกจ่ายสื่อมวลชนในระหว่างการชุมนุมของเสื้อแดงนั้น ไม่ได้ระบุว่าบุคคลที่มีชื่ออยู่ในขบวนการล้มเจ้า เพียงแต่แสดงความสัมพันธ์ของบุคคลต่างๆ (ซึ่งบางคนอาจต้องคดีละเมิดสถาบันอย่างใดอย่างหนึ่ง) นับตั้งแต่ความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ ไปจนถึงความสัมพันธ์อื่นๆ

น่าตกใจอย่างแรกก็คือ เป็นครั้งแรกที่รัฐไทยยอมรับอย่างไม่อายว่า ประเทศนี้ถือว่า ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ซึ่งหลายกรณีเราเลือกไม่ได้ เช่น พ่อ-ลูก, ครู-ศิษย์, แพทย์-คนไข้, ผู้บังคับบัญชา-ผู้ใต้บังคับบัญชา, กองทัพบก-โฆษกกองทัพบก ฯลฯ อาจเป็นอาชญากรรมได้ หากคู่ความสัมพันธ์กระทำผิดกฎหมาย ฝรั่งเรียกว่า guilt by association

ในฐานะคนไม่เคยเรียนกฎหมาย ขออนุญาตได้อธิบายปัญหาของระบบกฎหมายที่ถือว่าความสัมพันธ์เป็นความผิดไว้หน่อยว่า ความผิดประเภทนี้เป็นความผิดที่ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าสัมพันธ์กับใคร อย่างไร จึงจะถือได้ว่าเป็นความผิด ดังนั้นรัฐจึงสามารถกล่าวโทษใครก็ได้ที่รัฐไม่ชอบหน้า ว่ามีความสัมพันธ์ผิด (ไม่ใช่มีการกระทำที่ผิด)

กฎหมายหรือแบบปฏิบัติอย่างนี้มีอันตรายอย่างยิ่งต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล เพราะให้อำนาจรัฐไว้อย่างไร้ขีดจำกัด จึงไม่มีใครกล้าใช้สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้อีกเลย

เช่นเดียวกับเรื่องห้ามใช้กฎหมายย้อนหลัง เพราะให้ใช้ย้อนหลังได้ ก็ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่ตัวทำนั้นผิดหรือไม่ ถึงไม่ผิดกฎหมายในตอนทำ แต่รัฐก็อาจออกกฎหมายมาเอาผิดในภายหลังได้ สิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยก็ไร้ความหมาย

ผมอยากเห็นนักเรียนกฎหมาย, ครูสอนกฎหมาย, และคนที่ใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับ วินิจฉัยกฎหมายโดยหลักสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย อย่างคนที่ไม่เคยเรียนกฎหมายเช่นผมบ้าง แทนที่จะใช้ "ความยุติธรรม" ลอยๆ เป็นหลักในการวินิจฉัยอย่างเดียว

อันที่จริง รัฐและสังคมไทยยอมรับความผิดจากความสัมพันธ์มานานแล้ว ทั้งในสมัยโบราณและในปัจจุบัน แต่ไม่กล้ารับอย่างไม่อายถึงเพียงนี้ นี่เป็นความรุนแรงอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในการต่อสู้ที่รุนแรงของทุกฝ่ายในสังคมไทย นั่นคือการปฏิเสธ "กติกาอารยะ" (civility) อย่างเปิดเผย... รุนแรง ไม่น้อยกว่าการยึดสี่แยกราชประสงค์ แต่ให้ผลร้ายแรงที่ยาวนานกว่า เพราะ "ตึก" (the establishment) ทุกตึกถูกเผาลงราพณาสูรหมด

ที่น่าตกใจอย่างที่สองก็คล้ายกับอย่างแรก "ผังล้มเจ้า" เมื่อตอนประกาศเปิดเผยครั้งนั้น ไม่ได้ระบุเงื่อนไขที่มาสารภาพกันในภายหลัง และเมื่อวิเคราะห์จากเงื่อนไขของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็เห็นได้ชัดว่ามุ่งประโยชน์ที่จะแย่งชิงมวลชน โดยนำภัยคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์ (ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าไม่มีอยู่จริง หรือถึงมีอยู่ก็ไม่ได้อยู่ในลักษณะที่แสดงด้วย "ผังล้มเจ้า") ออกมาโฆษณา เป็นการ "ใช้" สถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลและกองทัพ อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องปิดบังอำพรางเลย

จะว่าเป็นครั้งแรกก็ได้ ที่กล้าบอกกันตรงๆ เลยว่า "ใช้" สถาบันพระมหากษัตริย์ในการต่อสู้กันทางการเมือง

ในอีกแง่หนึ่ง คำสารภาพก็ไม่น่าตกใจอะไรนัก เพราะการ "ไล่ล่า" (persecute) ทั้งทางกฎหมายและนอกกฎหมาย เนื่องจากมีความสัมพันธ์กับบุคคลที่รัฐเห็นเป็นปฏิปักษ์ เกิดขึ้นเกือบเป็นปรกติธรรมดาในเมืองไทย ถึงไม่ประกาศออกมาอย่างโจ่งแจ้ง ก็รู้ๆ กันอยู่ ส่วนการ "ใช้" สถาบันพระมหากษัตริย์เพื่ออำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัวนั้น นอกจากฟอลคอนแล้ว ก็ทำกันเป็นปรกติสืบมาจนถึงปัจจุบัน

อย่าว่าอื่นไกลเลย คุณทักษิณ ชินวัตรเอง ซึ่งบัดนี้ไปมีชื่ออยู่ใน "ผังล้มเจ้า" ด้วย ในสมัยเป็นนายกฯ ก็อ้างความจงรักภักดีไม่ขาดปาก ไม่ต่างอะไรจาก คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในปัจจุบัน หากปฏิปักษ์ของคนเหล่านี้ยึดอำนาจได้เมื่อไร ข้ออ้างหนึ่งที่ใช้กันอยู่เสมอก็คือ "หมิ่นเหม่" ถึงจะแสดงความจงรักภักดีให้ล้นเกินขีดที่พอดีและพองามแค่ไหน ก็ "หมิ่นเหม่" ได้ทั้งนั้น

การแสดงความจงรักภักดี กลายเป็นความชอบธรรมเพียงประการเดียวที่จะถืออำนาจ หรือยึดอำนาจ ทำอะไรก็ได้หมดโดยไม่ต้องแสวงหาความชอบธรรมใดๆ แม้แต่สังหารหมู่คนกลางถนนเป็นร้อยก็ยังมีความชอบธรรมอยู่ เพราะแสดงความจงรักภักดี ฉีกรัฐธรรมนูญด้วยกำลังที่มาจากภาษีประชาชนก็ยังชอบธรรม เพราะได้แสดงความจงรักภักดี

การแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ อย่างล้นเกินพอดีและพองาม กลายเป็นใบอนุญาตให้ไม่ต้องยึดถือความชอบธรรมจากแหล่งอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง, ความสุจริตโปร่งใส, ความมีประสิทธิภาพ, ความมีสัจจะ, การใช้งบประมาณที่ตรวจสอบไม่ได้, การเที่ยวข่มขู่คุกคามปรปักษ์, การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฯลฯ

ผลที่เกิดแก่สถาบันพระมหากษัตริย์คืออะไร ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีคดี "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" ทั้งที่ศาลตัดสินแล้ว, อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี, หรือถูกจับกุมและอยู่ระหว่างกระบวนการทำคดี, และหนีคดี รวมกันทั้งหมดเกือบ 500 คดี ในขณะที่ประเทศไทยก่อนหน้านี้เคยมีคดีประเภทนี้เพียงปีละไม่เกิน 10 ราย

และใน 500 คดีนี้ ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหา, จำเลย, หรือนักโทษ ประกอบด้วยคนไทยหลายสาขาอาชีพและสถานภาพ มีตั้งแต่ทหารในราชการ, ชาวบ้านอายุกว่า 60 ปี, ผู้หญิงนักเคลื่อนไหว, ผู้หญิงชาวบ้านธรรมดา, นักวิชาการที่มีชื่อเสียง, นักการเมือง และผู้คนอีกนับไม่ถ้วน

หากทุกคนมีญาติมิตรที่อาทรต่อชะตากรรมของเขาเพียง 4 คน ก็หมายความว่ามีผู้เดือดร้อนร่วม 2,000 คน รวมคนอื่นที่อาทรต่อผู้ตกทุกข์ได้ยากซึ่งอาจไม่เคยเห็นหน้าค่าตากันเลย, คนที่ยืนยันหลักการสิทธิและความเสมอภาค นับตั้งแต่อย่างเข้มข้นโดยไม่ยกเว้นใคร ไปจนถึงที่ยอมยกเว้นแต่ต้องด้วยเหตุผล คนที่เห็นภยันตรายจากความจงรักภักดีที่ล้นเกินอันจะเกิดต่อสถาบันเอง และคนที่เห็นภยันตรายต่อสังคมโดยรวม คนที่ไม่สนใจอะไรเลย นอกจากอาย ฯลฯ รวมกันทั้งหมดแล้วเป็นล้านหรือหลายล้าน

ถ้าคดีเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่ได้มุ่งจะขจัดคู่อริทางการเมืองของตน ก็ชี้ให้เห็นว่า ทรรศนะของคนไทยที่มีต่อสถาบันฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าคดีเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของผู้บังคับใช้กฎหมาย ก็แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจรัฐกำลังจงรักภักดี เพื่อ "ใช้" สถาบันฯ ปกป้องผลประโยชน์ตนเองอย่างหน้ามืดตามัว

ผมเชื่อว่า คนที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างจริงใจ โดยไม่หวังอำนาจหรือผลประโยชน์จากสถาบันฯ นั้นมีอยู่จริง จะมีมากน้อยแค่ไหนผมประเมินไม่ถูก

ที่ผมอยากทราบก็คือ ท่านเหล่านั้นไม่สะดุ้งสะเทือนต่อสภาวะที่เกิดขึ้นจากความจงรักภักดีอย่างล้นเกินซึ่งเกิดขึ้นในขณะนี้บ้างเลยหรือ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยุกติ มุกดาวิจิตร: เงินไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้ง: มานุษยวิทยาการเมืองของ 'การซื้อเสียง'

Posted: 15 Jun 2011 02:42 PM PDT

(เสนอครั้งแรกวันที่ 15 มิถุนายน 2554 ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอบคุณ ดร.วสันต์ ปัญญาแก้วและคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เชิญผู้เขียนไปบรรยาย)[1]

 
 
ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เรียกกันจนติดปากว่า “การซื้อเสียง” หรือ “การขายเสียง” หลายสิบปีที่ผ่านมา "โรคร้อยเอ็ด" (เกิดขึ้นในปี 2524) “ระบาด” และหลอกหลอนสังคมไทยมาโดยตลอด การสำรวจการใช้เงินในช่วงการเลือกตั้ง และการเบิกจ่ายธนบัตรขนาดในละร้อยในช่วงเลือกตั้งแต่ละครั้ง ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของการซื้อเสียง ผลที่สุดคือภาพนักการเมืองที่กลายเป็น "สัตว์" หิวเงิน (ในสำนวนของพรรคการเมืองที่ไม่ส่งสัตว์สักตัวลงเลือกตั้ง) หิ้วถุงเงินไปในชนบท ลงทุนเลือกตั้งเพื่อไปถอนทุนคืนในสภา
 
แต่มีใครจะสงสัยบ้างหรือไม่ว่า ประวัติศาสตร์ “การซื้อเสียง” ในสังคมไทยเป็นอย่างไร เมื่อสังคมประชาธิปไตยไทยผ่านการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองมากี่ยุคกี่สมัยแล้ว ผ่านเหตุการณ์พฤษภาคม 35 และพฤษภาคม 53 มาแล้ว ผ่านการกระจายอำนาจทางการเมืองมาแล้ว ผ่านการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองมาแล้ว การซื้อเสียงจะยังทำให้นักเลือกตั้งได้รับเลือกกันมาอย่างง่ายๆอย่างนั้นหรือ นอกเหนือจาก “กกต.” และที่กำลังจะมี “กกต. แดง” แล้ว ผู้ออกเสียงเลือกตั้ง หรือชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นเอง มีกลไกทางสังคมอย่างไรหรือไม่ที่กำกับการหว่านเงินของนักเลือกตั้ง เงินสามารถกำกับผลของการเลือกตั้งได้มากน้อยแค่ไหน เงื่อนไขใดที่เงินซื้อเวียงล้มเหลว เงื่อนไขใดที่เงินซื้อเสียงสำเร็จ
 
มานุษยวิทยาว่าด้วยระบอบประชาธิปไตย
แม้ว่านักมานุษยวิทยาในปัจจุบันจำนวนมากจะก้าวเข้ามาศึกษาสังคมสมัยใหม่อย่างเต็มที่ แต่ในการศึกษาด้านมานุษยวิทยาการเมือง การศึกษาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในเชิงมานุษยวิทยาายังนับว่าเพิ่งจะเริ่มต้น ข้อสรุปใหญ่ๆของการศึกษาพัฒนาการประชาธิปไตยในสังคมต่างๆ ในทางมานุษยวิทยาพบว่า ประชาธิปไตยในแต่ละท้องถิ่นมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะในสังคมตะวันตกหรือในสังคมนอกตะวันตก หากแต่การศึกษาในแนวทางนี้ไม่ได้หมายความว่า ความหลากหลายของประชาธิปไตยจะทำให้เราต้องมีท่าทีที่สัมพัทธ์จนอาจจะไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการละเมิดสิทธิ์ทางการเมืองของผู้คนในประเทศต่างๆ หากแต่เป็นการทำความเข้าใจว่า วิถีทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตย” นั้น มีความแตกต่างกันอย่างไรในแต่ละประเทศ แต่ละถิ่นมีกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งหรือเพื่อบั่นทอนซึ่งประชาธิปไตย มีเงื่อนไขทางสังคมและเงื่อนไขเฉพาะทางวัฒนธรรมใดบ้าง ที่อาจจะเป็นอุปสรรคหรือเป็นแรงส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในสังคมต่างๆ
 
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การศึกษาแนวนี้ไม่ได้มองว่า “ประชาธิปไตยแบบตะวันตก” คือประชาธิปไตยแบบในอุดมคติที่ใฝ่ฝันกัน กล่าวคือ แม้ในประเทศตะวันตกเอง ก็ใฝ่ฝันที่จะให้ประเทศเขาเป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่เป็นอยู่จริงในประเทศเขา ในแง่นี้ ประชาธิปไตยจึงเป็นอุดมการณ์สากลที่คนในโลกยุคปัจจุบันใฝ่ฝันหา ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก
 
การศึกษาวัฒนธรรมประชาธิปไตยแนวทางหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาทำกันมากได้แก่การพิจารณาว่า ประชาธิปไตยถูกให้ความหมายแตกต่างกันออกไปอย่างไรในแต่ละสังคม เป็นการหาความหมายของประชาธิปไตยที่นิยามโดยคนในสังคมต่างๆ เนื่องจากเงื่อนไขของพัฒนาการทางการเมืองและวัฒนธรรมของแต่ละสังคมแตกต่างกันออกไป สังคมต่างๆ จึงให้ความหมายประชาธิปไตยแตกต่างกัน (กรณีบูกานดาศึกษาโดย Karlström 1996; กรณีโยรูบางานของ Apter 1987; กรณีเซเนกัลศึกษาโดย Schaffer 1997 เป็นต้น)
 
อย่างไรก็ดี การศึกษาแนวนี้มีข้อจำกัดหลายประการ
 
ประการแรก การศึกษาแนวนี้มักมองว่า ประชาธิปไตยที่ถูกนำไปใช้ในประเทศนอกตะวันตกแตกต่างจากประชาธิปไตยต้นฉบับดั้งเดิม การศึกษาแนวนี้จึงทึกทักเอาว่า ประชาธิปไตยในโลกตะวันตกก้าวหน้ากว่า และยึดตามแบบฉบับที่ถูกต้องของประชาธิปไตย (Michelutti 2007)
 
ประการที่สอง การศึกษาแนวนี้อาจทำให้เราเห็นแต่เพียงว่า จะพัฒนาประชาธิปไตยให้เข้าใกล้ต้นแบบได้อย่างไร ทั้งๆที่กระบวนการประชาธิปไตยอาจจะไม่ได้ถูกใช้เพื่อเป็นเป้าหมายทางการเมืองที่จะต้องพัฒนาให้แต่ละสังคมกลายไปเป็นสังคมในอุดมคติแบบต้นแบบประชาธิปไตยเสมอไป
 
ประการที่สาม การศึกษาแนวนี้จึงไม่ได้ทำให้เราเข้าใจประชาธิปไตยที่เป็นปฏิบัติการจริงๆ ในโลกตะวันตก ว่าแท้จริงแล้วในโลกตะวันตกมีประชาธิปไตยแบบใด
 
แต่ในปัจจุบันการศึกษาประชาธิปไตยไม่ได้มุ่งที่จะพิจารณาภายใต้กรอบของกระบวนการทำให้ทันสมัยโดยมีประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอีกต่อไป หากแต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ กลุ่มสังคมในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในโลกตะวันตกหรือประเทศที่เกิดใหม่หลังยุคอาณานิคม ต่างอาศัย “กระบวนการสร้างประชาธิปไตย” ในการต่อรองอำนาจ ในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจกันอย่างไร ประชาธิปไตยจึงถูกมองว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการต่อรองอำนาจ ไม่ใช่เป็นเป้าหมายที่สมบูรณ์ในตัวเอง หรือเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วแต่อย่างใด (Paley 2002)
 
ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น ในตุรกี ประชาธิปไตยถูกชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งใช้เพื่อแสดงให้รัฐยอมรับการมีอยู่ของชุมชน มากกว่าเพียงการมีส่วนร่วมทางการเมือง ประชาธิปไตยที่นั่นจึงเป็น “การเมืองของการแสดงตน” (politics of presence) มากกว่าการเมืองของการนำเสนอตัวแทนของตนเอง (Brink-Danan 2009) หรือในอินเดีย การต่อสู้เพื่อมีส่วนมีเสียงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นมากกว่าการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่เป็นการแสดงถึงพลังทางการเมืองของคนกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาใหม่ ที่ต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่า (Michelutti 2007) ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านในอาเชี่ยนอย่างฟิลิปปินส์ การตื่นตัวทางการเมืองของชนชั้นล่าง เพื่อต่อสู้กับระบอบมาร์กอส วางอยู่บนความรู้สึกถึงความแตกต่างทางชนชั้น ความน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ถึงที่สุดแล้ว เมื่อความเปลี่ยนแปลงผ่านไป พวกเขาก็ต้องกลับไปอยู่ในพื้นที่ทางสังคมและการเมืองลักษณะเดิม ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการที่ดูเป็นประชาธิปไตย ในที่สุดแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนในประเทศที่ “เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” เลย (Pinches 1992)
 
ยิ่งกว่านั้น กรณีศึกษาจากประเทศตะวันตกเองก็ชี้ให้เห็นว่า แม้แต่ในประเทศที่เรายึดมั่นกันว่าเป็นตันแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย อย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปตะวันตก ก็ใช่ว่ารูปแบบทางการเมืองแบบประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยไม่ ทั้งนี้เนื่องจากเงื่อนไขทางสังคมของสังคม “ตะวันตก” เองก็มีความแตกต่างกัน และในหลายๆกรณีชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มคน มากกว่าเป็นการตัดสินใจทางการเมืองของปัจเจกเพื่อนโยบายของรัฐที่สนองต่ออุดมการณ์ของปัจเจกชน (กรณีที่น่าสนใจได้แก่ในสหรัฐอเมริกา ดู Clark 1984) นอกจากนั้น การจัดการเลือกตั้งเองอาจจะไม่ได้เป็นหลักประกันของการค้นหาตัวแทนทางการเมือง เท่ากับเป็นหลักประกันให้กับ “ความเป็นประชาธิปไตย” อย่างเที่ยงตรง เทคนิคการจัดการสิ่งต่างๆในคูหาเลือกตั้งจึงแสดงให้เห็นถึงการควบคุมการกระทำต่างๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการเลือกตั้ง (Coles 2004)
 
ในแง่นี้ การศึกษาวัฒนธรรมประชาธิปไตยในประเทศไทยจึงอาจต้องตั้งคำถามใหม่ กล่าวคือ แทนที่จะมองว่าประชาธิปไตยที่ผ่านมาของประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแบบต้นฉบับหรือเข้าใกล้ต้นแบบหรือยัง ซึ่งเป็นแนวการศึกษาแบบทฤษฎีการพัฒนาแบบเก่า ที่ล้าหลังเนื่องจากอาศัยกรอบของวัฒนธรรมอุดมคติของตะวันตกเป็นศูนย์กลาง การศึกษาในระยะหลังกลับมาเน้นการให้ความหมายเฉพาะต่อประชาธิปไตยของสังคมต่างๆ และที่ร่วมสมัยกว่านั้นคือ การพิจารณาว่าประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการต่อสู่เชิงอำนาจของคนกลุ่มต่างๆในสังคมอย่างไร
 
หากพิจารณาเฉพาะในเรื่องของการซื้อเสียง เราจึงต้องพิจารณาว่า สังคมการเมืองไทยมีเงื่อนไขเชิงโครงสร้างและเงื่อนไขทางวัฒนธรรมอย่างไรที่ก่อให้เกิดการซื้อเสียงขึ้นมา เราจะเข้าใจการซื้อเสียงจากเงื่อนไขเหล่านี้ได้อย่างไร หากประเทศไทยไม่ได้ต่างจากหลายๆประเทศที่ “เงื่อนไขเชิงสังคม” (collective conditions ไม่ว่าจะนิยามตามชาติพันธ์ุ ถิ่นกำเนิด ภาษาพูด สายตระกูล พรรคพวก เครือญาติก็ตาม) มีบทบาทสำคัญในกระบวนการทางการเมือง “หน่วยของผู้ลงคะแนน” จึงอาจจะไม่ใช่ปัจเจกชนโดดๆ และ “เงินซื้อเสียง” จึงมีความหมายลึกซึ้ง
 
ทวิลักษณ์การเมืองไทย
ในสองทศวรรษที่ผ่านมา ทฤษฎี "ทวิลักษณ์การเมืองไทย" (อันมี "สองนคราประชาธิปไตย" ของเอนก เหล่าธรรมทัศน์เป็นตัวอย่่างที่สำคัญ) ถือได้ว่าเป็นแนวคิดหลักที่วางกรอบความเข้าใจประชาธิปไตยและกำหนดแนวทางการเข้าใจการเลือกตั้งให้สังคมไทยมายาวนาน กรอบใหญ่ของทฤษฎีทวิลักษณ์การเมืองไทยคือการแบ่งสังคมไทยเป็นสองส่วน
 
ส่วนที่หนึ่งคือเขตเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพฯ ถูกมองว่ามีแนวคิดประชาธิปไตยแบบก้าวหน้า มีพื้นฐานสังคมแบบปัจเจกชนนิยม พฤติกรรมการเมืองและการเลือกตั้งของคนเมืองถูกมองว่าวางอยู่บนหลักเหตุผล คำนึงถึงนโยบายคือผลประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตนเฉพาะหน้า
 
ส่วนในเขตชนบท คนเหล่านี้ถูกมองว่ายากจน พวกเขาพึ่งตนเองไม่ได้ จึงจมปลักอยู่ในเครือข่ายของระบบอุปถัมภ์ พึ่งพิงผู้มีอิทธิพลเรื่อยไป ต้องยอมแลกคะแนนเสียงกับการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจและการเมืองจากผู้มีอิทธิพล ที่หากไม่อุปถัมภ์นักการเมือง ก็กลายมาเป็นนักการเมืองเสียเอง
 
ภาพตรงข้ามระหว่างนักประชาธิปไตยในเมือง ที่มีประวัติศาสตร์อันโรแมนติกของขบวนการนักศึกษาและปัญญาชน ที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างบริสุทธิ์ใจ ขัดแย้งตรงข้ามกับชาวบ้านที่ถูกซื้อเสียง ถ้าไม่ถูกชักจูงให้ชักแถวมาสนับสนุนนักเลือกตั้ง ก็ถูกจ้างมาเลือกตั้ง จ้างมาชุมนุม หรือไม่ก็เสพติดประชานิยมจนงอมแงม
 
แต่คำถามแย้ง (ที่เอนก เหล่าธรรมทัศน์เองก็สงสัย) คือ หากคนกรุงเทพฯ รักสิทธิการเลือกตั้งและประชาธิปไตยขนาดนั้น ทำไมคนกรุงเทพฯ จำนวนมากจึงสนับสนุนการรัฐประหารระบอบประชาธิปไตยโดยทหาร ในปี 2534 และปี 2549 ส่วนในชนบทนั้นเล่า ทุกวันนี้ภาพการพึ่งพิงในสังคมชนบทเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ การกระจายอำนาจในชนบทก่อให้เกิดกระบวนการทางการเมืองใหม่ๆ อย่างไร เงินมีอิทธิพลแค่ไหนหรือมีอิทธิพลอย่างไรกันแน่ในการเลือกตั้ง การตัดสินใจเลือกตั้งมีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างไรบ้าง
 
“การซื้อเสียง” ในพลวัตทางการเมือง
หากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยคือการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจกับประชาชน ว่าให้ประชาชนสามารถตรวจสอบ กำกับนักการเมืองได้ผ่านอำนาจของการเลือกหรือไม่เลือก “การซื้อเสียง” จึงกลับขั้วความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้ แทนที่ผู้ลงคะแนนจะเป็นผู้มีอำนาจ ผู้รับการเลือกตั้งกลับมีอำนาจในการกำหนดผลของการเลือกตั้ง
 
แต่เหตุใด “อำนาจอธิปไตย” จึงราคาถูก หรือมีค่าเพียง 200, 300 หรืออย่างดี 500 บาท ชาวบ้านเห็นว่าอำนาจประชาธิปไตยมีค่าเพียงนั้นจริงหรือ หรือเพราะเงื่อนไขกลไกใดในระบอบประชาธิปไตยไทย ที่ทำให้อำนาจอธิปไตยราคาถูกเพียงนั้น
 
ผู้เขียนเห็นว่า แทนที่จะเป็นความมักง่ายอยากได้โภคทรัพย์เฉพาะหน้าของชาวบ้าน การซื้อเสียงเกิดจากการที่ชนชั้นนำในสังคมไทยจงใจบิดเบือนบั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตยต่างหาก กล่าวคือ
 
ประการแรก ผู้เขียนคิดว่า ในอดีตที่ผ่านมา ชาวบ้านเข้าใจดีว่าคะแนนเสียงของตนไม่เท่ากับอำนาจในการมีส่วนตัดสินใจเชิงนโยบาย หากชาวบ้านคิดว่า ในเมื่อ “เลือกไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมา” “เลือกไม่เลือกก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอะไรกับชาวบ้าน” ดังนั้นการรับเงินแล้วไปลงคะแนนเสียงให้ยังจะได้ประโยชน์มากกว่า ในแง่นี้ แม้ว่าประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยตามรูปแบบ คือมีการเลือกตั้ง แต่เจ้าของอำนาจก็ไม่สามารถแสดงอำนาจของเขาผ่านการเลือกตั้งได้ ชาวบ้านมองไม่เห็นว่าจะได้อะไรจากการเลือกตั้ง การหว่านเงินจึงเป็นเพียงการจูงใจให้คนที่ตัดสินใจไปแล้วว่าจะ “โหวตโน” หรือเลือกที่จะไม่เลือก ต้องออกมาเลือกตั้งเท่านั้นเอง
 
ประการที่สอง เหตุผลที่ลึกซึ้งกว่านั้นคือเหตุผลเชิงโครงสร้าง การเมืองไทยหลังอำนาจเผด็จการสฤษดิ์ ถนอม ประภาส มีการเลือกตั้งเพียงไม่กี่ครั้ง เมื่อมีรัฐธรรมนูญหลัง 14 ตุลา 16 แล้ว การเมืองไทยก็ตกอยู่ในอำนาจแทรกแซงของทหารสืบต่อมาอีกกว่า 20 ปี ในสมัยสุดท้ายของการเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นรู้กันดีว่า แม้ว่าพรรคการเมืองใหญ่ในสมัยนั้นคือพรรคประชาธิปัตย์จะได้รับการเลือกตั้งอย่างล้นหลาม และสามารถจัดตั้งรัฐบาลตลอดจนให้หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ในที่สุดนักการเมืองก็ต้องยอมถอยให้กับอำนาจนอกระบบ การต่อสู้ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งในทศวรรษต่อมาจนถึงพฤษภา 35 จึงมีความหมายสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากในสองทศวรรษก่อนหน้านั้น การเลือกตั้งเป็นเพียงองค์ประกอบที่จำเป็น แต่ไม่มีความหมายแต่อย่างใดต่อกระบวนการพัฒนาทางการเมืองของไทย และดังนั้น “โรคร้อยเอ็ด” จึงเป็นเพียงอาการของโรค มากกว่าจะเป็นตัวต้นเหตุแห่งโรคอย่างแท้จริง
 
ประการที่สาม ยุคที่ผ่านมาอยู่ในยุคที่ การเลือกตั้งในระบอบรัฐสภาจึงแทบจะไม่มีความหมายสำหรับประชาชน เนื่องจากการเมืองไม่ได้ให้โภคผลอย่างใดแก่ชาวบ้าน จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในหลายพื้นที่ ว่าสามารถจดจำนโยบายใดที่มีประโยชน์ต่อชาวบ้านในทศวรรษ 2510-2530 ได้หรือไม่ ชาวบ้านจำนโยบายที่นักการเมืองหาเสียงแล้วส่งผลดีกับพวกเขาได้อย่างจำกัด มีเพียงนโยบายเงินผันของพรรคกิจสังคมสมัยมรว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์เท่านั้นที่จับใจชาวบ้าน
 
ความทรงจำของชาวบ้านดังกล่าวไม่ใช่ไม่มีมูล ในเชิงนโยบายเศรษฐกิจ เรารู้กันดีว่ารัฐไทยภายใต้กรอบกำหนดที่ใหญ่กว่านโยบายของรัฐบาลที่ผลัดเวียนเปลี่ยนวนกันไปมานั้น ได้กำหนด “ชะตา” ให้ประเทศเอาไว้แล้ว ชะตาที่ว่าคือกรอบของการพัฒนาประเทศไปในทิศทางหนึ่งที่ไม่สามารถหันหลังได้ นั่นคือการพัฒนาไปเป็นประเทศอุตสาหกรรม เดินหน้าเข้าสู่ทุนนิยมสมัยใหม่ด้วยการถ่ายโอนทรัพยากรจากชนบทสู่เมือง หากจะไม่ถึงกับทำลายก็จะมุ่งให้ผู้คนทิ้งชนบท หันหลังให้ชนบทสู่เมือง ทิ้งภาคการเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม กลายเป็นแรงงานรับจ้าง ภายใต้กรอบกำหนดชะตาของชาวบ้านเช่นนี้ ไม่ว่านักการเมืองจะผลัดเปลี่ยนวนเวียนกันมาเท่าใด ก็ไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตให้ชาวบ้านดีขึ้นมาได้
 
ฉะนั้น ความล้มเหลวของการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ที่ความไม่รู้ ความไม่พร้อม หรือการตกอยู่ใต้อิทธิพลท้องถิ่นของชาวบ้าน แต่ที่ผ่านมาหลายสิบปีที่มีการเลือกตั้งในประเทศไทย ความไม่พร้อมของชนชั้นนำ ความไม่พร้อมของอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยอย่างทหาร ข้าราชการ และอาจจะรวมถึงสถาบันกษัตริย์ต่างหาก ที่ยังไม่เอื้อให้การเลือกตั้งกลายเป็นเครื่องมือในแสดงอำนาจอธิปไตยของชาวบ้านได้อย่างเต็มที่
 
ดังนั้นเงินที่ชาวบ้านรับไปลงคะแนนจึงไม่ใช่ “เงินซื้อเสียง” ไม่ใช่เงินที่ชาวบ้านรับเพื่อการขายอำนาจอธิปไตย แต่เป็น “เงินชดเชยค่าเสียโอกาส” ค่าเสียเวลาทำมาหากินของชาวบ้าน ก็เท่านั้นเอง
 
ชนชั้นใหม่กับเศรษฐกิจไทยหลังทศวรรษ 2530
อย่างไรก็ดี ในกระบวนการของการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองในสามทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ดึงดูดคนออกมาจากท้องถิ่น ตลอดจนการเกษตรเชิงพานิชย์ ที่ไม่เพียงสร้างความเสี่ยง แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ๆให้ชาวบ้าน และการเติบโตของเขตเมืองในจังหวัดต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในท้องถิ่นหลายๆ ประการ ดังนี้้
 
(1) ในทศวรรษ 2540-50 การผูกขาดอำนาจนำทางเศรษฐกิจและที่ต่อเนื่องมาคืออำนาจนำทางการเมืองเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากขึ้น ในหลายๆ พื้นที่ที่ผู้เขียนไปเก็บข้อมูล พบการเปลี่ยนแปลงของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น และจากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ปัจจุบัน เราเห็นได้ชัดว่าบรรดา “พ่อเลี้ยง” “แม่เลี้ยง” บรรดา “เสี่ย” ต่างๆ ล้วนห่างหายไปจากพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าเจ้าพ่อจะยังไม่หมดไปโดยสิ้นเชิง แต่นั่นขึ้นกับเงื่อนไขในท้องถิ่น เช่นโครงสร้างของธุรกิจที่เอื้อต่อการผูกขาดอย่างธุรกิจผิดกฎหมายตามชายแดน
 
(2) การเคลื่อนย้ายแรงงานของคนในชนบทมาสู่เมือง ไม่ได้แยกขาดพื้นที่เมืองออกจากชนบท ไม่ใช่ว่าการเคลื่อนย้ายในปัจจุบันนี้จะเป็นภาพการเคลื่อนย้ายแรงงานแบบตามฤดูกาล แต่การเข้ามาใช้แรงงานในเมืองของคนจากชนบทจำนวนมาก ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็น “คนเมืองที่มีรากในชนบท” คนเหล่านี้เชื่อมโยงเมืองกับชนบท ผลก็คือ พื้นที่ทางการเมืองของพวกเขากว้างขึ้น คนเหล่านี้มีบทบาททางการเมืองในส่วนกลางมากขึ้น แต่ด้วยพื้นฐานความเป็นคนชนบท คนต่างจังหวัดของเขา ทำให้ “วาระทางการเมือง” ของคนเมืองที่มีรากในชนบทเหล่านี้ แตกต่างจากคนเมืองที่ไม่มีรากในชนบท
 
(3) การเกษตรพานิชย์ (ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้) และกึ่งพึ่งตนเองกึ่งเกษตรพานิชย์ (ในภาคอีสาน) ทั้งเพิ่มความเสี่ยงและเปิดโอกาสให้มีการขูดรีดอย่างใหม่ๆ ในสังคมเกษตร แต่อย่างไรก็ดี โอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ก็ได้สร้าง “ความมั่นคง” ในระดับหนึ่งให้กับผู้คนในท้องถิ่นชนบท ที่เห็นได้ชัดคือ การทำสวนยางในอีสานใต้ การทำไร่พืชผลต่างๆ หมุนเวียนไปตามราคาพืชผลในอีสานตอนกลาง และการทำเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือ โอกาสใหม่ๆ เหล่านี้ทำให้ชาวบ้านมี “ความหวัง” ใหม่ๆกับชีวิตทางการเกษตร แม้ว่ามูลค่าจากการผลิตการเกษตรจะต่ำมากเมื่อเทียบกับรายได้จากการรับจ้าง แต่ผู้เขียนอยากตั้งเป็นสมมุติฐานที่ต้องการการพิสูจน์ต่อไปว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมอขงไทยยังไม่สามารถดูดซับแรงงานได้ดี โอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจการเกษตรเหล่านี้ ประกอบกับการปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือนในบางถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอีสาน ได้หล่อเลี้ยงให้คนยังอยู่ในภาคการเกษตรได้
 
(4) การตั้งกองทุนให้ชาวบ้านสามารถบริหารจัดการเองได้ตั้งแต่ก่อนนโยบายกองทุนหมู่บ้านของไทยรักไทย ได้แก่กองทุน Social Investment Project ช่วยแบกรับความเสี่ยงของชุมชน หรือกระทั่งช่วยสะสมทุนให้หมู่บ้าน ดังที่ผู้เขียนสำรวจพบว่าบางหมู่บ้านในอีสานประสบความสำเร็จในการบริหารกองทุน จนมีสินทรัพย์และกำไรต่อปีนับล้าน จากการทำธุรกิจของหมู่บ้านเอง ทุนในลักษณะดังกล่าวจึงเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่สังคมชนบทสามารถ “พึ่งตนเอง” ในการแข่งขันในเศรษฐกิจทุนนิยมได้มากขึ้น
 
(5) การเติบโตของเขตเมืองในจังหวัดต่างๆ ได้สร้าง “ชนชั้นกลางกลุ่มใหม่” ขึ้นมาในสังคมไทย คนเหล่านี้อาจจะมีรากในชนบท แต่ชีวิตประจำวันเขาไม่ได้ต้องพึ่งพิงเครือข่ายในท้องถิ่นอีกต่อไป คนเหล่านี้เป็น “เสรีชน” เป็นปัจเจกชนในเมือง ที่ประกอบอาชีพอิสระบ้าง รับจ้างบ้าง เป็นเจ้าของกิจการขนาดย่อมบ้าง ใหญ่บ้าง แม้ว่าฐานทางเศรษฐกิจของคนเหล่านี้จะไม่กว้างเท่าปัจเจกชนในกรุงเทพฯ ไม่มีรายได้มากเท่าคนกรุงเทพฯ แต่ในทางการเมือง พวกเขามีความเป็นตัวของตัวเอง ตัดสินใจทางการเมืองอย่างอิสระ และรวมกลุ่มทางการเมืองทำกิจกรรมอย่างแข็งขันโดยอิสระ ในแง่วิถีชีวิต คนเหล่านี้แทบจะไม่แตกต่างจากคนเมืองระดับกลางถึงล่างในกรุงเทพฯ ที่ชอบเดินห้างวันหยุด ไปทำบุญที่วัดในวันเกิด ไปเที่ยวตากอากาศในต่างจังหวัดในวันหยุด ชอบกินข้าวนอกบ้านเมื่อมีโอกาส นิยมของ “แบรนด์เนม” คอยดูแลเสื้อผ้าหน้าผม ช่างแต่งตัว ดูแล้วไม่แตกต่างอะไรกับคนกรุงเทพฯ
 
นี่ยังไม่นับว่ายังมีชาวบ้านที่รู้สึกถึงผลเชิงบวกเชิงนโยบายของนโยบายพรรคไทยรักไทยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา คนเหล่านี้ทั้งหมดรวมกันอาจจะเรียกได้ว่าเป็น “ชนชั้นใหม่” ที่เกิดและเติบโตขึ้นมาจากความเปลี่ยนแปลงอย่างใหม่ คนเหล่านี้จำนวนหนึ่งรวมตัวกันเป็นแนวร่วม “แนวนอน” ผ่านสื่อกลางที่สำคัญคือวิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม สื่ออินเทอร์เน็ต สื่อดิจิทัล และการชุมนุมทางการเมือง
 
ที่สำคัญคือ ชนช้ันใหม่เหล่านี้ไม่ได้มองการเมืองแบบเดิมอีกต่อไป พวกเขาเป็นพลเมืองผู้ตื่นตัวทางการเมือง พวกเขาจำนวนมากเริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง ไม่ว่าพวกเขาจะมีแนวโน้มเอียงทางการเมืองแบบ “เหลือง” “แดง” หรือ “ฟ้า” กับ “น้ำเงิน” ก็ตาม
 
การเมืองของชนชั้นใหม่ 
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดพร้อมกันกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจข้างต้นคือความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การที่รัฐธรรมนูญ 2540 ได้ออกแบบให้พรรคการเมืองหนึ่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ และมีผู้นำดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเต็มภาคภูมิ ทำให้พรรคการเมืองสามารถนำนโยบายไปปฏิบัติได้จริง พรรคการเมือง (และนักการเมือง) สามารถกำหนดทิศทางของประเทศได้มากขึ้น
 
แต่ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและให้ผู้ใหญ่อยู่ตามวาระ การเกิดขึ้นมาขององค์กรการบริหารส่วนท้องถิ่น ได้แก่ อบต. อบท. และสจ. ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีสองประการสำคัญคือ (1) ชาวบ้านมีความคุ้นเคยกับการเลือกตั้ง เพราะในรอบหนึ่งปีชาวบ้านเหล่านี้มีโอกาสเลือกคนไปทำหน้าที่แทนเขาได้มากขึ้น (2) ประชาธิปไตยในระดับของการเมืองท้องถิ่นเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ เนื่องจากมีงบประมาณเป็นของตนเองให้บริหารเพื่อท้องถิ่น
 
ดังนั้นชาวบ้านจึงหวงแหนสิทธิ์เลือกตั้ง ต่อคำถามที่ว่า “หากให้คนเลือกตั้งต้องจบปริญญาตรีจะว่าอย่างไรกัน” ชาวบ้านที่อุบลราชธานีที่ผู้เขียนสัมภาษณ์ถามสวนกลับมาทันทีว่า “แล้วคนจบปริญญาตรีทุกวันนี้ไปเลือกตั้งหรือเปล่า พวกผมที่ไม่ได้เรียนปริญญาตรีต่างหากที่ไปเลือกตั้ง”
 
ในอีกพื้นที่ศึกษาหนึ่ง ชาวบ้านได้เล่าถึงกระบวนการถอดถอนผู้ใหญ่บ้านคนเก่าผ่านประชามติของหมู่บ้าน และชาวบ้านจัดหาผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ ก็อยู่ในมือของชาวบ้านเองทั้งสิ้น กระทั่งเคยมีนายอำเภอจากต่างจังหวัดคนหนึ่ง มาดุว่าการแต่งกายไม่เรียบร้อยในสายตาข้าราชการของเจ้าหน้าที่คนนั้น ผลคือชาวบ้านไม่พอใจ ทำเรื่องร้องเรียนถึงระดับจังหวัด จนกระทั่งนายอำเภอคนนั้นต้องมาขอโทษ ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวว่า “ฉันไปพูดกับเขาเลยว่า มาว่าคนที่ชาวบ้านเลือกตั้งมาได้ยังไง”
 
มีการศึกษาของนักรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งให้ข้อมูลสอดคล้องกับที่ผู้เขียนพบว่า กระบวนการทางการเมืองในท้องถิ่นไม่ใช่เป็นกระบวนการของเครือข่ายผู้มีอิทธิพลที่จะหมุนเวียนกันเข้ามาหาผลประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อพวกพ้อง (เท่านั้น) แต่นักการเมืองท้องถิ่นอ่างสอบต. สอบท. หรือแม้แต่ผู้ใหญ่บ้าน หากแต่เป็นกระบวนการที่มีความเป็นองค์กรสมัยใหม่ และมีความเป็นประชาธิปไตย เช่น มีการสำรวจความต้องการของคนในชุมชน มีการกำหนดกรอบแผนงานจากชาวบ้าน มีพัฒนาการของการจัดเก็บภาษี เนื่องจากชาวบ้านเห็นแล้วงบประมาณถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์ของเขา
 
กระบวนการทางการเมืองใหม่ๆเหล่านี้ หล่อหลอมให้ชาวบ้านเรียนรู้ประชาธิปไตยในระดับชีวิตประจำวันของเขาเอง การถกเถียงการทางเมืองระดับท้องถิ่นมีอยู่สม่ำเสมอ เรียกได้ว่า “ประชาธิปไตย” กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของชาวบ้าน
 
อย่างไรก็ดี การที่ชาวบ้านตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าชาวบ้านจะต้องกลายไปเป็นปัจเจกชนผู้เป็นอิสระจากเครือข่ายทางสังคมและการเมืองใดๆ ทั้งมวล หากแต่เราจะต้องวิเคราะห์ดูว่า เงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่กว้างกว่าเครือข่ายทางสังคมและการเมืองในท้องถิ่น ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้นหรือไม่ ด้วยเหตุที่เงื่อนไขนั้นทำให้ชาวบ้านรับรู้และได้รับดอกผลของการแสดงสิทธิ์และเสียงของตนเองต่างหาก ที่ทำให้ประชาธิปไตยในข่ายใยของชุมชนสามารถประกันสิทธิเสรีภาพของชาวบ้านได้ ไม่ใช่ว่าชาวบ้านรู้จักหรือไม่รู้จักสิทธิ์ทางการเมืองของตนเองหรือไม่
 
ทำความเข้าใจ “เงินซื้อเสียง”
ทุกกันนี้มีคนสองกลุ่มที่ไม่ไปเลือกตั้ง กลุ่มหนึ่งคือคนในเมือง โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ อีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่ถูกจัดว่าอยู่ “ชายขอบ” ของสังคมการเมือง สำหรับคนกรุงเทพฯ การเลือกตั้งไม่ได้ใีความหมายใดๆ ต่อพวกเขามากนัก ไม่ว่าพวกเขาจะไปคูหาหรือไม่ไป ชีวิตพวกเขาก็ยังคงมั่นคง สุขสบาย มีสวัสดิการครบครัน มีเลินเดือน เปลี่ยนงานได้ตามใจชอบ กินข้าวนอกบ้านได้ทุกวัน รัฐบาลจะมีนโยบายอะไรหรือไม่ ไม่ทำให้เขาตื่นตระหนกได้เท่ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตล่ม หรือคำทำนายน้ำท่วมโลก ส่วนคนชายขอบของสังคมการเมือง พวกเขาแม้อาจจะมีสิทธิ์ แต่ไม่มีเสียง พวกเขาไม่ได้ถูกสดับตรับฟัง บางกลุ่มจึงต้องตีฆ้องร้องป่าวด้วยการก่อวินาศกรรม จึงจะได้รับการเหลียวแลจากสังคม
 
แต่กลุ่มคนที่เป็นเดือดเป็นร้อนกับการเลือกตั้งอย่างน้อยตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมาคือ กลุ่มคนช้ันกลางระดับล่าง ที่เสียงของพวกเขามีความหมายมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
 
แล้วเราจะเข้าใจเงินซื้อเสียงหรือการซื้อเสียงในปัจจุบันได้อย่างไร ในเมื่อโครงสร้างทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทำไมยังคงมีการซื้อเสียงอยู่ แล้วการซื้อเสียงนั้น จะขัดกับการที่ผู้เขียนสรุปไว้ว่า ชนชั้นใหม่เป็นผู้ตื่นตัวทางการเมืองหรือไม่
 
การจะเข้าใจการซื้อเสียง ต้องเข้าใจ “วิถีประชาธิปไตยในชุมชน” อันเป็นเสรีนิยมที่วางอยู่บนพื้นฐานของทุนทางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างรูปแบบต่างๆ ของการให้ความหมายต่อเงิน “ซื้อเสียง” และความเชื่อมโยงกันระหว่างเงินซื้อเสียงกับวิถีประชาธิปไตยชุมชนกรณีต่างๆ ดังนี้
 
(1) “เงินคือสินน้ำใจ” ชาวอีสานหลายพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นตัวแทนของอีสานส่วนมาก ตั้งหน้าตั้งตารอเงินจากหัวคะแนนของผู้สมัคร เนื่องจากชาวบ้านถือว่าเงินแจกเป็น “สินน้ำใจ” ที่คนมีแก่กันการที่เขาได้เงินจึงเป็นเหมือนการได้รับการยอมรับ การเห็นความสำคัญของพวกเขา กระนั้นก็ตาม ไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่เข้าใจ ไม่สนใจนโยบายของผู้สมัคร ถึงแม้ว่าชาวบ้านจะรอเงิน แต่เงินที่เขารอก็มักจะเป็นเงินที่พวกเขาคิดว่าเขาควรจะต้องได้รับ เนื่องจากเขาอยู่ในเครือข่ายเดียวกันกับผู้สมัครที่จะเอาเงินมาให้เขาอยู่แล้ว ในแง่นี้ เงินที่ผู้สมัครให้แก่ผู้ลวคพแนนจึงเป็นการแลกเปลี่ยนเชิงสัญลักษณ์ หาใช่การซื้อเสียงไม่
 
(2) “ยิงกระสุนให้ถูกเป้า” วิธีแจกเงินของหัวคะแนนก็บอกให้รู้ได้เหมือนกันว่า เงินอย่างเดียวไม่ทำให้คนได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากหัวคะแนนจะต้องรู้ว่าควรจะแจกใคร ใครที่มีแนวโน้มที่จะไปเลือกเขามากที่สุด เขาจึงแจก หากรู้แน่ๆว่าใครจะไม่เลือก เขาก็จะไม่แจก ฉะนั้นคนในพื้นที่มักจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า คะแนนเสียงน่าจะออกมาเช่นไร ใครเลือกใคร ไม่ใช่ว่าอำนาจของเงินซื้อเสียงจะเข้าไป “ซื้อเสียง” ได้จริงๆ
 
(3) “ชุมชนคือผู้ออกเสียงเลือกตั้ง” การเลือกตั้งไม่ได้จำเป็นต้องมีหน่วยของการตัดสินใจเป็นปัจเจก การแบ่งคนในครอบครัวไปลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครสองคนที่มาให้เงินที่บ้าน เป็นลักษณะหนึ่งของการตัดสินใจในระดับครอบครัวและเครือญาติ การลงคะแนนในระดับชุมชน ในการเลือกตั้งในท้องถิ่น ที่มีการต่อรองกันสูงเนื่องจากผลประโยชน์ใกล้ตัว ทำให้ชาวบ้านบางแห่งรวมตัวกัน ต่อรองว่าหากทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้ชุมชน พวกเขาจะเทคะแนนเสียงให้ นั่นคือการมีข้อแลกเปลี่ยนเชิงนโยบายกับคะแนนเสียง
 
(4) “เงินซื้อไม่ได้” ชาวบ้านที่ผู้เขียนสัมภาษณ์บางพื้นที่ยืนยันว่าเงินซื้อไม่ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องหมายความว่า ชาวบ้านตัดสินใจอย่างเป็นปัจเจก แต่อาจเป็นเพราะชาวบ้านยืนยันความเป็นอิสระของกลุ่มการเมืองในชุมชน กับกลุ่มการเมืองจากภายนอก เช่นกรณีที่จะมีคน “เลือกเพื่อไทย แต่ไม่ได้เป็นเสื้อแดง” การตัดสินใจทางการเมืองในท้องถิ่นอาจแยกขาดเป็นอิสระจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับประเทศ การรวมตัวเป็นชุมชนทางการเมืองของคนในชนบทไม่จำเป็นต้องเป็นเนื้อเดียวกันกับการรวมตัว “แนวนอน” ของเสรีชนในเขตเมืองในต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม บางทีพวกเขาเป็นแนวร่วมกันได้ ในแง่นี้การปลุกกระแสของคนเสื้อแดงจึงไม่จำเป็นต้องเป็นผลดีต่อการเลือกต้งในชุมชนหลายๆ แห่งเสมอไป เนื่องจากคำว่า “พี่น้องเสื้อแดง” มีนัยทางการเมืองและสังคมวิทยาที่ลึกซึ้ง และแยกแยะกลุ่มคนที่มีใจให้กับ “คนเสื้อแดง” แตกต่างกัน
 
(5) “การเลือกตั้งมีค่าด้อยกว่าสายใยในชุมชน” แม้ว่าคูหาจะเป็นเทคโนโลยีแห่งอำนาจที่อ้างว่าสามารถสร้างการตัดสินใจอย่างเป็นปัจเจกได้ แต่ข่ายใยทางสังคมที่ผู้คนพกพามาเลือกตั้งด้วย ทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถเลือกโดยไม่คำนึงถึงความผูกพันที่เขามีกับครอบครัว เครือญาติ พรรคพวก ชุมชนได้ ในแง่นี้ เพื่อรักษาสายใยทางสังคม ซึ่งมีค่ามากกว่าการลงคะแนนเสียงในระดับชุมชน ชาวบ้านบางคนจึง “เลือก” ที่จะไม่ไปเลือกตั้ง ด้วยการหลบหน้าไปจากหมู่บ้านในวันเลือกตั้ง
 
ประชาธิปไตยชุมชนไม่จำเป็นต้องวางอยู่บนการตัดสินใจของปัจเจกเสมอไป แต่การตัดสินใจของ “ชุมชน” ที่หมายถึงได้ตั้งแต่ครอบครัว เครือญาติ พรรคพวก เครือข่ายทางการเมือง “ชุมชนแนวนอนแบบคนเสื้อแดง” ไปจนถึงเครือข่ายทางการเมืองระดับชาติ มีส่วนต่อการลงคะแนนของปัจเจก
 
อย่างไรก็ดี เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้นช่วยวางเงื่อนไขให้การตัดสินใจของเครือข่ายย่อยๆเหล่านี้เป็นอิสระจากกันมากขึ้น ทำให้ประชาธิปไตยในชุมชนไม่จำเป็นต้องเป็นปัจเจกชนนิยม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหน่วยเชิงสังคมเหล่านี้จะถูกครอบงำโดยเบ็ดเสร็จจากอำนาจอิทธิพลในท้องถิ่น
 
สรุป
การซื้อเสียงที่ผ่านมาในอดีต เกิดขึ้นในบริบททางการเมืองที่ชนชั้นนำยังหวงอำนาจ การกระจายอำนาจยังไม่เกิดขึ้น ทำให้อำนาจอธิปไตยของชาวบ้านมีราคาถูก แต่เมื่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองเปลี่ยนไป ชาวบ้านตระหนักถึงอำนาจอธิปไตยของตนเองมากขึ้น การตัดสินใจทางการเมืองในกระบวนการเลือกตั้งจึงมีความหมายขึ้น การต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง เพื่อเรียกร้องอำนาจของการกำหนดชะตาของประเทศ เพื่อเรียกร้องให้นักการเมืองที่เป็นตัวแทนของชาวบ้านมีอำนาจจัดตั้งรัฐบาลด้วตนเอง เพื่อให้การเลือกตั้งของเขาแสดงถึงความต้องการผู้นำทางการเมืองในแบบที่เขาต้องการ จึงมีส่วนทำให้การเลือกตั้งมีค่ามากขึ้น
 
เมื่อเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเมืองเปลี่ยนไป เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับท้องถิ่นและชนชั้นใหม่ทั้งในเมืองและชนบทมากขึ้น การใช้เงินเพื่อชักจูงให้คนมาเลือกตั้งจึงมีความสลับซับซ้อน เนื่องจากการเลือกตั้งมีความหมายมากขึ้น และการเลือกตั้งมักเป็การตัดสินใจทางการเมืองของกลุ่ม ของชุมชน เป็น “วิถีประชาธิปไตยในชุมชน” หรือเสรีนิยมที่วางอยู่บนพื้นฐานของทุนทางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่น
 
ประชาธิปไตยในประเทศไหนๆ ก็ไม่ได้เป็นอิสระจากทุนทางสังคมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมนั้นๆ
วิถีประชาธิปไตยชุมชนอาศัยทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละชุมชน มาเป็นหน่วยของการต่อสู้ทางการเมืองในชุมชนประชาธิปไตย ทั้งในระดับเล็กๆในหมู่บ้าน ในตำบล จนถึงระดับใหญ่ๆ ระดับชาติทั้งสิ้น ประชาธิปไตยของชาวบ้านในประเทศไทยปัจจุบันจึงไม่ได้แตกต่างไปจากประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ หลายประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศ “ตะวันตก” และประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต่างก็วางอยู่บนเงื่อนไขเชิงโครงสร้าง
 
หากเราไม่เฟ้อฝันที่จะมุ่งสร้างสังคมของปัจเจกชนที่เปลือยเปล่าปราศจากพันธนาการทางสังคมใดๆ แล้วจึงค่อยให้คนเหล่านั้นเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง เราก็ต้องยอมรับการตัดสินใจทางการเมืองที่อยู่ภายใต้โยงใยทางสังคมในชุมชนท้องถิ่น ในการรวมตัวแนวนอน ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองภายใต้อุดมการณ์และข้อเรียกร้องทางการเมืองที่ชนชั้นนำไม่คุ้นเคยหรือไม่อยากให้เกิดการปรับเปลี่ยน
 
 
 
เอกสารอ้างอิง
 
Apter, Andrew
            1987     Things Fell Apart? Yoruba Responses to the 1983 Elections in Ondo State,                         Nigeria. The Journal of Modern African Studies 25(3):489-503.
Brink-Danan, Marcy                                                                                                                        
              2009    “I vote, therefore I am:” Rituals of Democracy and the Turkish Chief Rabbi. PoLAR:                       Political and Legal Anthropology Review 32(1):5-27.
Clark, Terry Nichols
            1994     Clientelism, U.S.A.: The Dynamics of Change. In Democracy, Clientelism and                   Civil Society. L. Roniger and A. Gunes-Ayata, eds. Pp. 121-144. Boulder,              Colorado: Lynne Rienner Publishers.
Coles, Kimberley A.
            2004     Election Day: The Construction of Democracy through Technique. Cultural                        Anthropology 19(4):551-80.
Karlström, Mikael
            1996     Imagining Democracy: Political Culture and Democratisation in Buganda.              Africa: Journal of the International African Institute 66(4):485-505.
Michelutti, Lucia
            2007     The Vernacularization of Democracy: Political Participation and Popular                 Politics in North India. Journal of the Royal Anthropological Institute 13(3):                    639-656.
Paley, Julia
            2002     Toward an Anthropology of Democracy. Annual Review of Anthropology               31:469–96.
Pinches, Michael
            1992     The Working Class Experience of Shame, Inequality, and People Power in                         Tatalon, Manila. In From Marcos to Aquino: Local Perspectives on Political                Transtion in the Philippines. B.J. Kerkvliet and R.B. Mojares., eds. Pp.                        166-186. Honolulu, Hawaii: University of Hawaii Press.
Schaffer, Frederic C.
            1997    Political Concepts and the Study of Democracy: The Case of Demokaraasi                        in Senegal. PoLAR: Political and Legal Anthropology Review 20(1):40-49.
                        Zappala, Gianni
            1998     “Clientelism, Political Culture and Ethnic Politics in Australia”. Australian                 Journal of Political Science 33(3): 381-397.
         
 


[1] บทความชิ้นนี้เป็นผลส่วนหนึ่งของการ “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” ซึ่งสำรวจความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสังคมไทยในปัจจุบัน งานวิจัยเสนอเบื้องต้นว่า การเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยในช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ความขัดแย้งในปัจจุบันยืดเยื้อ และไม่สามารถทำความเข้าใจได้ด้วยกรอบความเข้าใจการเมืองไทยแบบเดิมอีกต่อไป เนื่องจากแกนกลางของผู้กระทำการในกระบวนการของความเปลี่ยนแปลงนี้อยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางระดับล่าง คนในต่างจังหวัด และคนในชนบท ความสนใจของงานวิชาการที่ศึกษาสังคมไทยในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องหันไปสู่การศึกษาชนบทกันอีกครั้งหนึ่ง ด้วยทุนวิจัยของสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียนร่วมกับอภิชาต สถิตนิรามัย, นิติ ภวัครพันธ์ุ, วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์, ประภาส ปิ่นตบแต่ง, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, เวียงรัฐ เนติโพธิ์, จักรกริช สังขมณี และอนุสรณ์ อุณโณ เก็บข้อมูลทั้งในพื้นที่เฉพาะ และเปรียบเทียบข้ามพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจความขัดแย้งทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยดังกล่าว
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"คำตา" เตือนระวังเจอ "นายใหญ่" หลอกใช้

Posted: 15 Jun 2011 02:19 PM PDT

"คำตา แคนบุญจันทร์" เตือนอย่าเสียเวลาทำงานให้ "นายใหญ่ในต่างแดน" โอดถูกหลอกใช้ไปเรียกร้องเพื่อคนรวยจนถูกตัดสินติดคุกติดตาราง พร้อมอัด “คนจนไม่เคยทิ้งทักษิณ แต่ทักษิณต่างหากที่ทิ้งพวกเรา” ด้าน "ป้าสะอิ้ง" นำภูมิใจไทยหาเสียงที่สุรินทร์ เตรียมประกาศนโยบายปลดหนี้กองทุนหมู่บ้าน 16 มิ.ย.

"คำตา" เตือนระวังถูกทักษิณหลอกใช้

เมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) เว็บไซต์พรรคภูมิใจไทย รายงานว่า นายคำตา แคนบุญจันทร์ อดีตแกนนำคาราวานคนจน ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีราย ชื่อ พรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่าอยากจะเตือนผู้ที่กำลังหลงผิดทำงานให้กับนายใหญ่ในต่างแดนว่า อย่ามัวเสียเวลาทำเช่นนั้นเลยท้ายที่สุดแล้วประชาชนก็จะรู้ว่าสิ่งที่พวกท่านทั้งหลายทำไปเพียงเพื่อที่จะได้ผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้นเอง

ทั้งนี้ในที่สุดแล้วก็จะรู้ว่าตัวเองถูกหลอกใช้ ซึ่งตนเองก็เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน เคยไปช่วยเรียกร้องเพื่อคนรวย ถึงกับถูกตัดสินติดคุกติดตารางมาแล้ว ทำงานมาให้ก็มากแต่วันนี้กลับถูกทอดทิ้ง ซึ่งอยากกล่าวย้ำให้ชัด ๆ เลยว่า “คนจนไม่เคยทิ้งทักษิณ แต่ทักษิณต่างหากที่ทิ้งพวกเรา” นายคำตากล่าว

 

คาราวานคนจนช่วย "ภูมิใจไทย" หาเสียง เจอ "พันธมิตร" ต้านโหวตโน

ขณะที่บรรยากาศการหาเสียงของพรรคภูมิใจไทยเมื่อ 14 มิ.ย. ขบวนการปาร์ตี้ลิสต์คนจน ได้นำคาราวานมุ่งหน้า จ.สุรินทร์ ร่วมกับผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย ทำกิจกรรมล้างหนี้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง โดยนำกระดานไวท์บอร์ดเขียนข้อความ “หนี้” เป็นสัญลักษณ์ ก่อนผู้สมัครจะร่วมกันถอดเสื้อเบอร์ 16 เช็ดออกไปจนเกลี้ยง โดยมีนางศุภาธินันท์ ไถวสินธุ์ หรือ "ป้าสะอิ้ง" นายคำตา แคนบุญจันทร์ ผู้สมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยเกษตรกร กว่า 100 คน ลงพื้นที่จูงกระบือ แสนรู้ชื่อ ถุงเงิน และโคพันธุ์โกเบ พ่นเบอร์ 16 ลากเกวียนติดข้อความ สนับสนุนข้าวเกวียนละ 20,000 บาท ชูป้ายพรรคภูมิใจไทย ช่วยหาเสียง ส.ส. แบบแบ่งเขต จังหวัดสุรินทร์

โดยการเดินรณรงค์ให้เลือก ส.ส. พรรคของคนอีสาน พรรคของคนสุรินทร์ หมายเลข 16 ทั้งพรรคทั้งคน ซึ่งจังหวัดสุรินทร์ มี 8 เขต เลือกตั้ง ส.ส. 8 คน มาสิ้นสุดที่อนุสาวรีย์ พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์ เพื่อกราบไหว้ขอพรให้ได้ชัยชนะการเลือกตั้ง

จากนั้นคาราวานคนจนยังได้จัดกิจกรรม “ล้างหนี้กองทุนหมู่บ้าน” ซึ่งพรรคพรรคภูมิใจไทยจะแถลงรายละเอียดอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 มิถุนายน โดยกิจกรรมดังกล่าวได้มีการนำกระดานสีขาว เขียนข้อความว่า “หนี้ กองทุนหมู่บ้าน ... ดอกเบี้ย.....หนี้นอกระบบ......อพยพแรงงานนอกถิ่น....... เขียนไว้เต็มกระดาน โดยมีการนำทินเนอร์ ราดลงบนกระดานที่เขียนข้อความ หลังจากนั้น นายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 นายยรรยง ร่วมพัฒนา ผู้สมัคร ส.ส.เขต 5 ถอดเสื้อพรรคภูมิใจไทย มาเช็ดที่ป้ายที่เขียนข้อความต่าง ๆ ไว้จนหมดเกลี้ยงไปจากกระดาน เพื่อจะสื่อให้เห็นถึงพิธีกรรม “ล้างหนี้กองทุนหมู่บ้าน” ซึ่งเป็นแคมเปญในช่วงโค้งสุดท้ายของพรรคภูมิใจไทย

นอกจากนี้ แกนนำกลุ่มปาร์ตี้ลิสต์คนจน ได้ให้สัมภาษณ์ ว่าจะแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกรไทย โดยเฉพาะเรื่องการขายข้าวให้ได้ราคา 20,000 บาท มีทางน้ำเข้าไร่นา มีสิทธิทำกิน โดยจะแก้ปัญหาให้หลุดจากวงจรความจน

มีการรายงานว่า ระหว่างการทำกิจกรรมรณรงค์หาเสียงดังกล่าว ได้มีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เข้ามารณรงค์ “โหวตโน” พร้อมกับชูป้ายและตะโกนเชิญชวนไม่ให้ประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมลงคะแนนเสียงสนับสนุนพรรคการเมืองใด ๆ ในบริเวณเดียวกัน แต่ไม่มีการกระทบกระทั่งกันแต่อย่างใด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวเน็ตตั้งข้อสังเกตบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ

Posted: 15 Jun 2011 01:01 PM PDT

มีผู้ตั้งข้อสังเกตในกระดานสนทนาว่าในบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ เครื่องหมายของพรรคเพื่อไทยมีลักษณะเล็กผิดปกติ นอกจากนี้ยังพบว่าเครื่องหมายพรรคมีรูปร่างต่างจากเครื่องหมายที่แสดงในเว็บ กกต.

ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 ก.ค. 54 แบบแบ่งเขต

ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 ก.ค. 54 แบบบัญชีรายชื่อ โดยมีการตั้งข้อสังเกตในกระดานสนทนาต่างๆ ว่า ตรงช่องแสดงสัญลักษณ์พรรคการเมือง ตรงช่องของพรรคเพื่อไทย (ซ้ายบนสุด) มีลักษณะเล็กผิดปกติ

ในเว็บไซต์ กกต. เข้าชมเมื่อ 16 มิ.ย. 54 แสดงข้อมูลของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ลงรับสมัครเลือกตั้ง โดยสัญลักษณ์ของพรรคเพื่อไทยที่ใช้ มีลักษณะต่างจากที่ใช้ในบัตรเลือกตั้ง (ที่มา: เว็บไซต์ กกต.)

 

ตั้งข้อสังเกตตัวอย่างบัตรเลือกตั้งใช้โลโก้เพื่อไทยอีกแบบ ต่างจากที่ลงในเว็บ กกต.

16 มิ.ย. 54 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเว็บบอร์ดหรือกระดานสนทนาการเมือง มีผู้เผยแพร่ตัวอย่างบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะใช้ในวันที่ 3 ก.ค. แล้ว ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต อย่างไรก็ตามมีผู้ตั้งข้อสังเกตตามเว็บบอร์ดว่าในบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ตรงเครื่องหมายของพรรคการเมืองของพรรคเพื่อไทย มีลักษณะเล็กผิดปกติ

เมื่อตรวจสอบตัวอย่างบัตรเลือกตั้งในส่วนที่เป็นแบบบัญชีรายชื่อ พบว่าตรงเครื่องหมายของพรรคเพื่อไทยมีลักษณะเล็ก ทำให้ดูมีพื้นที่ว่างเกือบคล้ายกับเป็นช่องว่าง ขณะที่เมื่อผู้สื่อข่าวเปรียบเทียบกับเครื่องหมายของพรรคเพื่อไทยในเว็บไซต์ของ กกต. พบว่ามีการแสดงเครื่องหมายต่างกัน

นอกจากนั้น ความแตกต่างของบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ยังอยู่ที่การออกแบบก็มีความต่างกัน โดยแบบแบ่งเขต แบ่งออกเป็น 4 สดมภ์ 15 แถว มี 60 หมายเลข ส่วนแบบบัญชีรายชื่อแบ่งเป็น 2 สดมภ์ 20 แถว มี 40 หมายเลข ตามจำนวนพรรคที่ส่งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ

ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวระหว่างแถลงข่าวเมื่อ 15 มิ.ย. ว่าขณะนี้ ตนได้รับการร้องเรียนจากคนไทย ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งนอกประเทศ ว่า บัตรเลือกตั้งนั้น มีช่องลงคะแนนที่เล็กมาก และยังไม่มีตราสัญลักษณ์ของพรรค ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจว่า สามารถกากบาทได้ 2 ช่อง ดังนั้น พรรคเพื่อไทย จึงจะเตรียมส่งหนังสือสอบถามไปยังทาง กกต. ต่อไป

สดศรีย้อนถามถ้า "เพื่อไทย" ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย จะร้องให้เลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่

ขณะที่วานนี้ (15 มิ.ย.) ในรายงานของ เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ อ้างอิงคำพูดของนางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยออกมาร้องเรียนว่า กรณีบัตรเลือกตั้งตอบตามตรงว่า ตนเองและกกต.ก็ยังไม่เคยเห็นบัตรเลือกตั้งเลย ส่วนที่มีการออกมาร้องว่า ผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 7 ของพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นคณะกรรมการของกองสลาก ในช่วงที่กกต.สั่งให้กองสลากพิมพ์บัตรเลือกตั้งนั้น เรื่องนี้ตนก็ยังไม่ทราบจริง ๆ ขอบอกตรงๆ ว่า ตอนนี้เราไม่ควรที่จะทำอะไรให้เกิดเรื่องวุนวายกัน หากวุ่นวายกันมากๆ ทหารก็รออยู่แล้ว และยิ่งตอนนี้ก็ออกมาฮึ้มๆส่งสัญญาณหลายครั้งแล้ว เพราะฉะนั้นเราควรที่จะทำบรรยากาศให้เป็นไปด้วยดี

เมื่อถามว่า กรณีบัตรเลือกตั้งนี้เป็นไปได้หรือไม่ อาจจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ นางสดศรี กล่าวว่า ตนขอถามหน่อยว่าหากผลการเลือกตั้งออกมาแ้้ล้วพรรคเพื่อไทยได้คะแนนแบบถล่มทลาย แล้วจะมาร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ ทำไม่ถึงมาตั้งป้อมกันไม่เข้าใจ อย่างไำรก็ตามตนก็ได้ถามฝ่ายบริหารงานเลือกตั้งแล้วว่า บัตรเลือกตั้งเป็นแบบไหน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ตอบว่าเ่ท่ากับกระดาษเอ 4 และความจริงตนเห็นว่าบัตรเลือกตั้งก็น่าที่จะเอามาโชว์ให้เห็นได้ อย่างไรก็ตามตนยังไม่เห็นว่าได้มีบัตรเลือกตั้งออกไปเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา: ประชันนโยบายจัดการปัญหาไฟใต้

Posted: 15 Jun 2011 10:54 AM PDT

6 พรรคการเมืองประชันนโยบายแก้ปัญหาภาคใต้ เห็นต่างรูปแบบเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม/กระจายอำนาจ หมอแว เสนอ เอาทหารกลับกรมกอง แล้วให้ชาวบ้านดูแลกันเอง ประหยัดงบประมาณ หลังที่ผ่านมาพิสูจน์แล้ว ทหารอยู่ในพื้นที่ไม่ช่วยให้ปลอดภัยขึ้น

วันที่ 15 มิ.ย. 2554 ที่ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Siam Intelligence Unit ร่วมกับ มูลนิธิสันติชน และ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ Deep South Watch ได้ร่วมกันจัดงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับแนวทางแก้ปัญหาไฟใต้” โดยตัวแทนจาก 6 พรรคการเมือง คือ นายถาวร เสนเนียม จากประชาธิปัตย์ น.พ.แวมาฮาดี แวดาโอะ จากพรรคแทนคุณแผ่นดิน นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ พรรคมาตุภูมิ พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ พรรคเพื่อไทย และนายมูฮำมัดซูลอัน ลามะทา จากพรรคชาติไทยพัฒนา

ประชาธิปัตย์: ตั้ง ศอ.บต. เปิดโอกาสประชาชนมีส่วนร่วม-ทยอยเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินในพื้นที่ที่มีความพร้อม
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และในฐานะผู้สมัคร ส.ส.เขต 6 จังหวัด สงขลา ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคฯ เสนอให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพราะปัญหาเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ

ทั้งนี้ นายถาวร เสนอให้ทยอยเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ที่มีความพร้อม ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลประชาธิปัตย์ได้ริเริ่มพื้นที่นำร่องไปบ้างแล้ว

นายถาวร กล่าวว่า การยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินนั้น เป็นสิ่งที่ประชาธิปัตย์ต้องการดำเนินการ แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มทยอยจากพื้นที่ที่มีความพร้อม ประชาสังคมในพื้นที่มีความพร้อม และที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วในพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปแล้ว และไม่มีเหตุความไม่สงบเกิดขึ้นประมาณเกือบ 1 ปีแล้ว

“ถ้าผมรับผิดชอบ จะยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินใน อ. กะบัง อ. เบตง จ. ยะลา, อ. แม่ลาน และอ. สุคีริน จ. ปัตตานี และตั้งแต่ยกเลิก พ.ร.ก. ที่ อ.แม่ลาน ก็ไม่มีเหตุระเบิดเกิดขึ้น”

นอกจากนี้นายถาวร ยังเสนออีกว่า ต้องถอนกำลังทหารตั้งแต่รองแม่ทัพลงมา โดยให้มีการจัดตั้งกองกำลังประจำถิ่น หรือ อาสาสมัครประจำถิ่น เพราะคนที่มาจากต่างถิ่น จะไม่รู้ประเพณีวัฒนธรรม

เรื่องกองกำลังทหาร หลายต่อหลายคนพยายามต่อต้านทหาร แต่ทหารก็มีส่วนรดีเยอะมาก แต่ทหารต้องมีเอกภาพในเชิงวินัยและยุทธวิธี ต้องมีเอกภพคือแม่ทัพสี่คนเดียวรับผิดชอบ”

ในเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม นายถาวรแสดงความเห็นด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือการปฏิเสธความยุติธรรม ซึ่งต้องแก้ไข และเสนอแนวทางเปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์แม้แต่กรณีการวางระเบิดหรือเผาโรงเรียนต้องได้เข้าถึงการฝึกอบรม และเห็นว่าปัญหาความยุติธรรมในพื้นที่นั้น ส่วนหนึ่งมีปัญหาเพราะโยงอำนาจให้ฝ่ายตุลาการ ควรเปลี่ยนมาให้นักการเมืองแก้ไข

ส่วนการเจรจานั้น เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่เมื่อรัฐบาลทำไม่ต้องบอกทุกเรื่อง ไม่เช่นนั้นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็จะออกมาต่อต้าน เขากล่าวในตอนท้ายของการเสวนาว่า “พรรคการเมืองที่จะตั้งรัฐบาลก็มีอยู่แค่ 2 พรรคเท่านั้น คือพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อสองพรรคเข้าไปมีอำนาจแล้ว ขอให้ทำตามที่พูดแล้วพี่น้องประชาชนจะเชื่อถือพวกเรานักการเมืองมากขึ้น”

มาตุภูมิ เสนอ ตั้งทบวง ดูแลสามจังหวัด รัฐมนตรีเป็นคนในพื้นที่ แก้ปัญหาอย่างเป็นองค์รวม
อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ระบุว่าการกระจายอำนาจอาจไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะมีกรณีของการกระจายอำนาจในมินดาเนา ฟิลิปปินส์ ซึ่งกระจายอำนาจแล้ว ไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตามที่สามจังหวัดชายแดนใต้ต้องมีการปกครองพิเศษ คือการปกครองทีแตกต่างจากที่อื่น

โดยเขากล่าวว่า การดำเนินการแก้ไฟใต้ต้อง อยู่บนฐานของความจริงใจ มีความเป็นไปได้ และประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

นายอารีเพ็ญกล่าวถึงกรณีที่มีการลงพื้นที่ปราศรัยของพรรคการเมืองเรื่องการปกครองพิเศษเมื่อไม่กี่วันก่อน แต่สมัยที่พรรคการเมืองนั้นรัฐบาลกลับปฏิเสธที่จะดำเนินการ ตอนที่มีอำนาจ คิดอย่างหนึ่ง แต่พอมีอำนาจทำอีกอย่างหนึ่ง เหมือนแนวทางประชานิยม

ทั้งนี้ พรรคมาตุภูมิไม่มีความคิดเรื่องนี้ แต่ต้องแก้ที่ระบบ สิ่งที่พรรคมาตุภูมิ จะทำ คือ ต้องประกาศให้มีการพูดคุยกัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่การเจรจา เพราะทหารไม่ยอม

“ประเด็นความยุติธรรมและความรุนแรงในพื้นที่ ไม่มีประเทศไหนที่จะแก้ปัญหาโดยไม่พูดคุย บานเราถือเรื่องศักดิ์ศรี ยังมีการพูดว่า ไม่อยากคุยกบโจร แบบนี้แก้ปัญหาไม่ได้”

เขากล่าวด้วยว่า เมื่อจะต้องเจรจาก็ต้องต้องเอาตัวจริงมาพูดคุย หมายถึงเอาคนที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจตัดสินใจ และนำไปปฏิบัติได้จริง เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีที่ฝ่ายรัฐอ้างว่าเจรจากับผู้นำในพื้นที่สามจังหวัด แต่ข้อเท็จจริงคือไปชักชวนพ่อค้าขายปลามาพูดคุย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับการตัดสินใจในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ถ้าประกาศชักชวนให้มาพูดคุยกันแล้วแต่ไม่มีใครพูดคุยเลย พรรคมาตุภูมิจะทำตามความต้องการของประชาชนมีสี่เรื่อง คือ ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความยุติธรรม คุณภาพชีวิตที่ดี และดำเนินชีวิตตามวิถีอิสลามและธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์

แต่ปัจจัยที่จะทำให้สี่เรื่องใหญ่บรรลุ คือ นโยบาย คน และงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมา มีการดำเนินการหลายประทรวง หายนโยบาย สั่งการไม่ได้ งบประมาณกระจัดกระจาย ไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้นต้องทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ ด้วยเหตุนี้ พรรคมาตุภูมิจึงเสนอให้ตั้งทบวงเพื่อดูแลภารกิจในสามจังหวัดกับสี่อำเภออย่างเป็นองค์รวม โดยรัฐมนตรีอาจจะต้องเป็นคนในพื้นที่ โดยเขาเชื่อว่าการนำเสนอให้แก้ปัญหาโดยตั้งทบวงขึ้นจัดการปัญหาภาคใต้เป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างคนที่คิดแบบล้าหลังว่าการกระจายอำนาจจะทำให้เกิดการแบ่งแยก

พรรคความหวังใหม่: กระจายอำนาจ เลือกผู้ว่าฯ มหานครปัตตานี
ศ.พล.โท. ดร. สมชาย วิรุฬผล จากพรรคความหวังใหม่ กล่าวว่าควรเริ่มจากดำเนินแนวทางแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีจะทำอย่างไร เพราะถ้าไม่สามารถสร้างความสงบสันติสุขให้เกิดขึ้นได้ ปัญหาอื่นๆ ก็แก้ไม่ได้

ตัวแทนพรรคความหวังใหม่กล่าวถึงการการกระจายอำนาจว่า จริงๆ แล้วรูปแบบของการปกครองระบบประชาธิปไตยนั้น ประกอบด้วยส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก ส่วนอื่นๆ เป็นแค่รูปแบการถ่ายโอนอำนาจมาเท่านั้น การกระจายอำนาจจริงๆ คือส่วนกลางต้องลดบทบาทของตัวเองให้น้อยที่สุด เหลือแค่บทบาทหลัก คือ ทหาร คลัง และต่างประเทศ

"มีการสำรวจและยืนยันได้ โดยมูลนิธิเอเชีย พบว่าเจ็ดสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ของประชาชนไทยอยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะไม่ว่าจะเป็นรูปแบบกระทรวง ทบวง อะไรก็ตาม ก็เป็นการทำงานจากส่วนกลางทั้งนั้น เพราฉะนั้นไม่ใช่แค่ตั้งทบวงแล้วลอยไว้ การกระจายอำนาจต้องให้ท้องถิ่นนั้นมีอำนาจในการจัดการปัญหาของตนเอง ซึ่งไม่ใช่แค่ภาคใต้ แต่รวมถึงภาคอื่นๆ เช่น จ. เชียงใหม่ ประชาชนก็อยากได้มหานครเชียงใหม่ การที่พล.เอกชวลิต ยงใจยุทธ เคยเสนอเรื่องมหานครปัตตานีนั้น เป็นข้อเสนอที่สะท้อนมาจากความต้องการของประชาชน คือการกระจายอำนาจ"

“การสร้างมหานครปัตตานี ไม่ใช่นครรัฐ เป็นการสร้างรูปแบบการปกครองคล้ายกรุงเทพฯ ซึ่งภาคอื่นๆ ก็นำไปใช้ได้ คนกรุงเทพฯ เลือกผู้ว่าฯ ได้ ทำไมคนที่อื่นเลือกไม่ได้ ถ้าไม่ได้ ก็แปลว่าสิทธิไม่เท่าเทียมกัน”

อย่างไรก็ตามเขากล่าวด้วยว่าปัญหาภาคใต้ไม่ใช่แค่เรื่องกระจายอำนาจแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีปัญหาสะสม ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ศาสนา ปัญหายาเสพติด และเสพติดงบประมาณ ถ้ายังดำเนินการกันแบบเดิมต่อไปเรื่อยๆ ความรุนแรงจะมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะดำเนินนโยบายผิดพลาดมาโดยตลอด และสิงที่้ต้องทำก่อนการกระจายอำนาจก็คือการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่

“ต้องยุติความขัดแย้งให้ได้ และสร้างความสงบสันติให้ได้ และต้องมีการเจรจาถ้าไม่เจรจามันก็ไม่มีทางแก้ปัญหา เลิกดถูถูกประชาชนเสียที เรามีประชาธิปไตยมาแปดสิบกว่าปีแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ส่วนกลางมากำกับดูแล เวลานี้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มีแค่สองประเทศคือไทยกับฝรั่งเศสเท่านั้นที่ยังแบ่งการปกครองเป็นส่วนกลางกับภูมิภาค แต่ฝรั่งเศสยกเลิกอำนาจส่วนกลางในการกำกับดูแลพื้นที่แล้ว”

พรรคเพื่อไทย: เสนอเขตปกครองพิเศษเหมือนกรุงเทพฯ
พล.ต.ท. ฉลอง สมใจ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มีคณะทำงานที่มีทหารตำรวจและประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้ ติดตามสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้อยู่ตลอด แนวทางแก้ไขคือ การน้อมนำเอาพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเอยู่หัวมาใช้ในการดำเนินงาน คือ เข้าถึง เขาใจ พัฒนา และจากการทำงานในพื้นที่พบว่าสิ่งที่ประชาชนในสามจังหวัดต้องการ คือ หนึ่ง ต้องการอยู่ภายนใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ไม่แบ่งแยกดินแดน แก้ปัญหาโดยสันติวิธี

สอง ขอสิทธิดูแลตัวเองภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ

สาม รักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ ภาษา วัฒนธรรม

พรรคเพื่อไทยจึงกำหนดนโยบายการกระจายอำนาจสี่ท้องถิ่น ในลักษณะคล้ายกรุงเทพฯ เป็นเขตปกครองพิเศษ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วแต่ว่าประชาชนในสามจังหวัดต้องการอย่างไร เพราะประชาชนในนะลาก็ไม่อยากมารวมเป็นมหานครปัตตานี อยากจะแยกไปเป็นนครยะลา ประชาชนใน จ. นราธิวาส ก็อาจจะต้องการให้มีการปกครองนครนราธิวาส อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยก็ได้เตรียมร่างกฎหมายไว้รองรับแล้ว

แต่แม้ว่าจะมีการนำเสนอแนวทางการดูแลสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ถ้ายังมีสถานการณ์เกิดขึ้นรายวัน ซึ่งขณะนี้เจ็บและตายไปแล้วกว่าหมื่นคน โดยยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ จะกระจายอำนาจอย่างไรก็ทำไม่ได้ เพราะยังยิงกันอยู่รบกันอยู่

ส่วนการแก้ปัญหารายวัน พรรคเพื่อไทยมีวิธีและได้ทดลองทำมาแล้ว คือ มีพื้นที่สันติสุขนำร่องให้เกิดสันติสุข คือ อ. กะพ้อ อ. รามัญ และ อ. รือเสาะ ซึ่งขณะนี้ครบ 1 เดือนแล้ว ไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้เห็นว่าเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ซึ่งการจัดสัมมนาองค์กรสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้ทางพรรคคิดจะใช้โมเดลนี้ในการแก้ปัญหา ทั้งนี้การพูดคุยกับกลุ่มองค์กรร้อยกว่าองค์กรในพื้นที่สามจังหวัดนั้น ต้องพูดคุยกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่หน้าเลือกตั้งทีก็ลงพื้นที่คุยทีหนึ่ง

พรรคแทนคุณแผ่นดิน: เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เลิกนโยบายนิคมอุตสาหกรรม
น.พ. แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ หรือหมอแว จากพรรคแทนคุณแผ่นดิน กล่าวว่าสิ่งที่น่าหนักใจคือเริ่มมีการพูดคุยกับพรรคเล็กเพื่อให้เข้าร่วมรัฐบาล แต่หนักใจว่าจะร่วมรัฐบาลกับใครดี เพราะทั้งสองพรรคต่างล้มเหวในการแก้ปัญหาภาคใต้ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย หมดสิทธิที่จะแก้ปัญหาภาคใต้ เพราะสีแดงของพรรคเพื่อไทย คือคราบเลือดจากตากใบ

น.พ.แวมาฮาดี กล่าวว่า รัฐบาลต้องให้ของขวัญกับคนสามจังหวัดโดยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยทหารที่เหลืออยู่ในพื้นที่ต้องกลับเข้าไปอยู่ในกรมกอง และเสนอยกนโยบายเลิกนิคมอุตสาหกรรมแห่งความมั่นคง ที่อ้างความมั่นคงเพื่อผลประโยชน์ ทั้งที่เป็นผลประโยชน์ของทหาร ตำรวจ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนในพื้นที่

นอกจากนี้ยังเสนอหลักพึ่งตนเอง โดยมุสลิมมีหลักคำสอนที่ว่า พระเจ้าไม่ทรงเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใดของชุมชนใดเว้นแต่เขาต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง ดังนั้น ประชาชนต้องมีอำนาจในการจัดการพื้นที่ ไม่มีเหตุผลใดที่จะคงไว้ซึ่งการปกครองส่วนภูมิภาค

น.พ.แวมาฮาดี วิจารณ์ว่า แนวทางจัดตั้ง ศอ.บต. ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์การพึ่งตนเอง

“เราไม่อาจะเห็นด้วยกับทบวง และไม่เห็นด้วยกับปชป. เรื่องศอ.บต. เพราะเป็นตัวแทนของราชการส่วนกลาง”

ทั้งนี้ เขาเสนอในช่วงท้ายของการเสวนาว่า การยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อาจจะไม่ได้รับประกันความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ แต่ถ้ามองมุมกลับกัน การมีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีทหารอยู่เต็มพื้นที่ ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่ปลอดภัยและล้มเหลวเช่นกัน รวมถึงใช้งบประมาณเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท เขาเสนอให้ชาวบ้านดูแลกันเอง โดยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบหลัก พร้อมกับมีอาสาสมัครประมาณ 30 คนต่อหนึ่งหมู่บ้าน โดยคาดว่าโมเดลนี้ จะใช้งบประมาณเพียง 6,000 ล้านบาท เท่านั้น

เขากล่าวย้ำว่า ถ้าหากแนวทางที่เขาเสนอไม่ประสบความสำเร็จ ก็เพียงแต่เสมอตัวเมื่อเทียบกับความล้มเหลวของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและมีทหารอยู่ในพื้นที่มายาวนานกว่า 6-7 ปี

ชาติไทยพัฒนา: คนไทยต้องยอมรับประวัติศาสตร์
นายมูฮำมัด ซูลฮัน ลามะทา ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า นโยบายของพรรคจะรวม 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ จังหวัดสงขลาบางพื้นที่ และ อยากเพิ่มอำนาจในการวางนโยบายและวางงบประมาณแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งบางโครงการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และ จะผลักดันภารกิจกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้สมบูรณ์อย่างเร็ว และ มากที่สุด นายมูฮำมัดซูลฮัน กล่าวทิ้งท้ายว่า คนไทยทุกคนต้องยอมรับในเรื่องประวัติศาสตร์ให้ได้

 

เนื้อหาบางส่วนจากเว็บไซต์ Thai PBS

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพานักข่าวต่างประเทศลงพื้นที่ “หมู่บ้านเสื้อแดง” พร้อมส่งมอบบ้าน 2 หลังตามโครงการซ่อมบ้าน

Posted: 15 Jun 2011 10:35 AM PDT

กอ.รมน.พานักข่าวเอเอฟพีลงพื้นที่บ้านหนองหูลิง หรือบ้านคนเสื้อแดงแห่งแรก พร้อมมอบบ้านที่ทหารและชาวบ้านร่วมกันสร้าง 2 หลังให้กับคนในชุมชนตามโครงการเทิดพระเกียรติฯ ด้าน "พล.ท.ตรัญ ยุทธวงษ์สุข" ยันกองทัพไม่เลือกข้าง ส่วนประชาชนก็แสดงออกกันไปอย่าให้ผิดกฎหมาย ส่วนผู้ใหญ่บ้านแดงยันมาหาเสียงได้ทุกพรรค ไม่มีพังป้าย

สำนักข่าวไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา พล.ท.ดรัญ ยุทธวงษ์สุข ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 6 (ศปป.6) กอ.รมน.พร้อมคณะและผู้สื่อข่าวต่างประเทศ จากสถานีโทรทัศน์ AFP เดินทางมาที่บ้านหนองหูลิง ต.หนองไฮ อ.เมือง อุดรธานี หรือหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งแรกของประเทศ เพื่อมอบบ้านที่กำลังทหารจาก กอ.รมน.ภาค 2 ส่วนแยก 1 ทหาร และชาวบ้าน ร่วมกับซ่อมแซม 2 หลัง ให้นางทองใบ วัลพัฒน์ อายุ 76 ปี และนายสุดใจ คำเวบุญ อายุ 50 ปี เนื่องจากชำรุดทรุดโทรม และยากจนไม่สามารถที่จะซ่อมแซมได้ ตามโครงการ “ซ่อมแซมบ้านประชาชน สร้างกุศลถวายพ่อของแผ่นดิน” เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554

พล.ท.ดรัญ ให้สัมภาษณ์ว่า การดำเนินการโครงการฯ และถูกมองว่าเข้ามาทำในหมู่บ้านเสื้อแดง โดยเฉพาะจากสื่อต่างประเทศ มีการเผยแพร่ข่าว วันนี้นำผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เข้ามาดูในพื้นที่ว่าเป็นจริงตามข่าวหรือไม่ ซึ่งความจริงไม่มี ตนไม่เชื่อว่าในประเทศนี้จะมีใครที่จะล้มล้างสถาบัน เพราะว่าในทางการเมืองที่มีการเลือกตั้ง เลือกคนไปเป็นนักการเมือง เราคงไม่ได้เลือกไปเป็นประมุขของประเทศ ส่วนการเลือกพรรคใด สีใด ทหารคงไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องของการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ก็แสดงออกกันไป ขออย่าไปทำผิดกฎหมาย กองทัพจะไปเลือกข้างไม่ได้

นายกองชัย กันชัย ผู้ใหญ่บ้านหนองหูลิง หรือผู้ก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง เปิดเผยว่า บ้านนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 212 คน แต่มีคนอยู่บ้านขณะนี้ 180 คน ที่เหลือไปทำงานต่างถิ่น ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง โดยที่ผ่านมาก็มีนักการเมืองมาปิดป้ายโฆษณาตามจุดต่างๆ ก็ไม่มีป้ายไหนถูกทำลายแม้แต่ป้ายเดียว รวมทั้งการเดินทางมาหาเสียงของนักการเมืองก็ปกติ.-สำนักข่าวไทย

ด้านมติชนออนไลน์ รายงานว่า นายสุทิน คลังแสง ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มหาสารคาม กล่าวเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. กรณีการพาสื่อมวลชนลงพื้นที่หมู่บ้านเสื้อแดงโดย กอ.รมน. ดังกล่าวว่าวันนี้แกนนำ นปช. และกลุ่มคนเสื้อแดง ต้องขอขอบคุณกองทัพที่เปิดใจกว้าง เข้าใจบทบาทหน้าที่ของประชาชนที่ต่อสู้และแสดงออกตามวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ข่มขู่ คุกคาม หรือปิดกั้นการแสดงออก ซึ่งการประกาศตัวเป็นหมู่บ้านเสื้อแดงที่ จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น รวมถึงที่ จ.มหาสารคาม ขอยืนยันอีกครั้งว่า การกำเนิดเกิดขึ้นของหมู่บ้านเสื้อแดงไม่ได้มีเจตนาอื่น เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มคนหรือชาวบ้านที่มีอุดมการณ์ทาง การเมืองเหมือนกัน โดยใช้ธงสีแดงติดไว้หน้าบ้านเป็นสัญลักษณ์ ไม่มีการฝึกอาวุธหรือซ่องสุมกำลังอย่างที่หลายฝ่ายกังวลสงสัย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชำนาญ จันทร์เรือง: ต้องออกไปเลือกตั้ง เพื่อยับยั้งอำนาจที่ไม่พึงประสงค์

Posted: 15 Jun 2011 09:42 AM PDT

ท่ามกลางฝุ่นควันของการรณรงค์เลือกตั้งที่คลุ้งตลบไปทั่วทุกหัวระแหงของเมืองไทยในขณะนี้ ใครที่ไม่พูดถึงการเลือกตั้งก็จะกลายเป็นคนตกยุคตกสมัยไปในทันที หัวข้อที่สนทนากันก็แล้วแต่ว่าจะอยู่ในวงสนทนาของกลุ่มชนใด บ้างก็ Vote No บ้างก็ No Vote บ้างก็ Vote Yes บ้างก็ Vote Now บ้างก็เชียร์เบอร์ 1 บ้างก็เชียร์เบอร์ 10 ฯลฯ บ้างก็บอกไม่ชอบเพื่อไทยและไม่พอใจประชาธิปัตย์แต่ไม่อยาก Vote No เพราะกลัวจะเข้าทางพันธมิตรฯ ก็ยังเลยไม่ตัดสินใจ

แต่จากข้อความที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะโพสต์ลงในเฟซบุ๊กด้วยการไปเปิดประเด็นพาดพิงถึงนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ อดีตเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อบอกเล่าเหตุการณ์เมื่อตอนยุบพรรคพลังประชาชน จนเหตุการณ์บานปลายทำให้นายชุมพล ศิลปอาชา ในฐานะคนสำคัญของพรรคชาติไทยที่ถูกยุบตามไปด้วย เลยต้องออกมาเปิดข้อมูลสำคัญในการพลิกขั้วการจัดตั้งรัฐบาลให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ โดยบอกว่ามี “พลังที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” มาบีบบังคับ จนต้องมีการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร

ที่สำคัญก็คือการที่นายพสิษฐ์ออกมาขยายความการพบปะกับนายอภิสิทธิ์ในครั้งนั้นที่ยังเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านและคดียุบพรรคพลังประชาชนกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม โดยนายพิสิษฐ์บอกกับนายอภิสิทธิ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญคงไม่มีทางอื่นนอกจากยุบพรรคพลังประชาชนตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์

ซึ่งนายอภิสิทธิ์บอกนายพสิษฐ์ว่ายุบพรรคเดียวก็คงไม่มีประโยชน์อะไร เพราะพรรคที่เหลือก็คงจับมือกับขั้วเดิม ซึ่งนายพสิษฐ์ได้ฟังดังนั้นก็ขอตัวลากลับ โดยกล่าวว่า “แล้วจะรีบนำความของท่านไปบอกผู้ใหญ่” (ข่าวสด/คอลัมน์ชกไม่มีมุม 13 มิ.ย. 2554)

เราไม่รู้ว่าใครพูดจริง ใครพูดเท็จ แต่ที่แน่ๆทำให้เรารู้ว่าการเมืองไทยนั้นคำว่า “พลังที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงใด้” นั้นมีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็น “พลังพิเศษ” “พลังทหาร” “พลังอำมาตย์” “พลังตุลาการ” หรือ “พลังนายทุน” ฯลฯ ที่คอยบงการ ชี้ชะตาการเมืองไทย จนทำให้วิวัฒนาการของการเมืองไทยนั้นบิดเบี้ยว และนำความยุ่งยากและความแตกแยกมาจนถึงปัจจุบัน

จริงอยู่การเลือกตั้งมิใช่เป็นทั้งหมดของประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง จริงอยู่การเลือกตั้งมิใช่ยาวิเศษที่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือความแตกแยกของสังคมได้ในพริบตา แต่ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเป็นประตูที่สำคัญที่จะสามารถทำให้ปัญหาความขัดแย้งเบาบางลงยิ่งกว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงหรือการรัฐประหารซึ่งยังทำให้ปัญหาค้างคามาจนถึงปัจจุบัน

ผมไม่เชื่อว่าพลังที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ทั้งหลายนั้นจะสามารถแก้ไขปัญหาความแตกแยกได้ดีกว่าการเลือกตั้ง เพราะประวัติศาสตร์การเมืองของได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพลังของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงนั้นเองจะเป็นผู้ตัดสินว่าเขาจะเลือกอนาคตของเขาอย่างไร

เขาอาจจะเลือกเพื่อไทย เขาอาจจะเลือกประชาธิปัตย์ เขาอาจจะเลือกภูมิใจไทย เขาอาจจะเลือกชาติไทยพัฒนา เขาอาจะเลือกพรรคของคุณชูวิทย์ ฯลฯ เขาอาจจะ Vote No หรือ เขาอาจจะ No Vote หรืออาจจะตั้งใจออกไปเลือกตั้งแล้วไม่กาในช่องใดใดเลยเพื่อทำให้เป็นบัตรเสีย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิทธิของประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาเลือกที่จะใช้การเลือกตั้งเป็นการแสดงเจตจำนงของเขาในการแก้ไขปัญหาการเมือง

ยิ่งจำนวนของผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งหรือเปอร์เซ็นต์สูงมากเท่าใดยิ่งจะทำให้ผู้ที่คิดแหกกฎกติกาของการแก้ปัญหาตามวิถีทางประชาธิปไตยคิดหนัก ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงทั้งทางอ้อมหรือทางตรง ซึ่งก็คือการออกมายึดอำนาจและโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งต้องคิดหนักถึงความตื่นตัวของประชาชนที่ออกมาแสดงเจตจำนงของเขา

หมดยุคสมัยที่คนที่ถือตัวเองว่ามีการศึกษา ฐานะ หรือมีอาวุธอยู่ในมือที่คิดว่าบ้านเมืองนี้เป็นของกลุ่มชนของเขาเท่านั้น ประชาชนที่เหลือล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ด้อยการศึกษา เสียงหรือคะแนนที่ได้มาล้วนแล้วมาจากการซื้อสิทธิขายเสียงทั้งนั้น บ้านเมืองจะต้องอยู่อุ้งมือของพวกเขาทั้งนั้น เพราะคนอื่นล้วนแล้วแต่มีจิตสำนึกทางการเมืองต่ำทั้งนั้น

ประเทศไทยสมัยนี้ไม่เหมือนเดิมแล้วครับ ชนชั้นหลงยุคทั้งหลายว่างๆลองเดินไปคุยกับแม่ค้า/พ่อค้าในตลาด แท็กซี่ คนประกอบอาชีพรับจ้าง แม่บ้าน คนใช้ ฯลฯ เดี๋ยวนี้เขาไม่คุยกันแล้วเรื่องละครน้ำเน่าหรือถึงจะคุยกันก็น้อยลง แต่ประเด็นที่พวกเขาคุยกันนั้นล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นการเมือง ทั้งการเมืองในระบบและการเมืองนอกระบบที่ไม่ปรากฏในสื่อกระแสหลักหรือแม้กระทั่งในสื่อออนไลน์

จริงอยู่การซื้อสิทธิขายเสียงก็คงยังมีอยู่จะมากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่โอกาสของการซื้อเสียงขายเสียงจะเอื้ออำนวย แต่ผมไม่เชื่อว่าคนที่จ่ายมากกว่าจะได้คะแนนมากกว่าคนที่จ่ายน้อยกว่าเสมอไป และผมก็ไม่เชื่อว่าคนที่ตนเองและครอบครัวที่ไม่เคยทำอะไรให้แกสังคมเลยตั้งหน้าตั้งตามาซื้อเสียงอย่างเดียวจะได้รับการเลือกตั้ง แต่ถึงอย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าคนที่มาจากการซื้อเสียงจะชั่วดีถี่ห่างอย่างไร เขาก็เป็นคนที่ประชาชนเลือกแล้ว มิใช่คนที่มาจากการแต่งตั้งหรือใช้ภาษาสวยๆว่า “สรรหา” จากบรรดาเหล่าเทวดาและคุณพ่อ/คุณแม่รู้ดีทั้งหลาย และผลจากการลงคะแนนของเขาก็ย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของเขาที่ได้ตัดสินใจไปแล้ว และไปแก้ตัวด้วยการตรวจสอบถอดถอนหรือการเลือกตั้งครั้งต่อไปหากเกิดความผิดพลาดในการตัดสินใจที่เกิดขึ้น

อย่าลืมว่า “ประชาชนเป็นอย่างไร ผู้แทนไทยก็เป็นอย่างนั้น” ไม่ว่าคุณจะเป็นคนวิเศษวิโสมาจากไหน ในเมื่อคุณอยู่ในสังคมที่คนส่วนใหญ่เป็นอย่างไร คุณอยู่ในสังคมที่คนส่วนใหญ่ตัดสินใจอย่างไร คุณต้องพร้อมที่จะรับผลของการตัดสินใจนั้น หากคุณต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามความประสงค์ของคุณ คุณก็ต้องเสนอแนวความคิดให้คนส่วนใหญ่ในสังคมนี้ตัดสินใจ มิใช่อาศัยช่องทางลัดนอกเหนือจากวิถีทางของระบบประชาธิปไตยดังเช่นที่ผ่านๆมานี้ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงหรือใช้กำลังฉีกรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดแล้วตั้งคณะกรรมการมาดำเนินการเอาผิดคนอื่นด้วยการอ้างว่ายอมไม่ได้ที่ปล่อยให้คนอื่นทำผิดกฎหมาย(แต่ตัวกูพวกกูฉีกกฎหมายไม่เป็นไร)

ผมเบื่อเต็มทีแล้วกับการที่บางคนบางกลุ่มออกมาพร่ำสอนให้ประชาชนทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ มิหนำซ้ำวันดีคืนดีก็ออกมาชี้หน้าผู้คนผ่านทางสื่อมวลชนราวกับว่าประชาชนเป็นข้าทาสบริวารของเขา ทั้งที่กินเงินเดือนจากภาษีอากรของประชาชนอยู่แท้ๆ

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องออกมาแสดงพลังด้วยการออกไปเลือกตั้งให้มากที่ที่สุด เพื่อให้อำนาจนอกระบบทั้งหลายได้สำนึกว่าอย่าฝืนเจตจำนงของประชาชนในการแก้ไขปัญหาตามวิถีทางประชาธิปไตยอย่างเด็ดขาด

ประวัติศาสตร์การเมืองของโลกได้ให้บทเรียนอย่างเด่นชัดว่า ผู้ใดที่ฝ่าฝืนเจตจำนงของประชาชน ผู้นั้นจะไม่สามารถยืนอยู่ในสังคมนั้นได้ จะต้องถูกกวาดตกเวทีไปในที่สุด

------------------------
หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 15 มิถุนายน 2554

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: Politics of Poll – บทเรียนความคลาดเคลื่อนของ “โพลล์” ก่อนเลือกตั้ง

Posted: 15 Jun 2011 07:59 AM PDT

โพลล์ไม่ได้ทำมาเล่นๆ แต่บางครั้งก็ผิดพลาดได้ ..วิเคราะห์บทเรียนความคลาดเคลื่อนของ “โพลล์” ก่อนการเลือกตั้ง 2550 สาเหตุ-ปัจจัย และสมมติฐานว่าด้วยการสร้างโพลล์ให้เป็นเครื่องชี้นำนั้นอาจจะเป็นผลร้ายต่อ “สำนักวิชาการ” ที่โพลล์เหล่านั้นสังกัดอยู่ และหากโพลล์ก่อนการเลือกตั้งปี 2554 นี้จะ “แม่นยำขึ้น” มีปัจจัยใดบ้าง

 
0 0 0
 
ประเด็นการโจมตีเรื่องการจัดทำและเผยแพร่ผลโพลล์ ถูกกล่าวขวัญถึงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อผลโพลล์ก่อนการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่เป็นใจให้กับคนที่เชียร์พรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายอนุรักษ์นิยม นั่นคือโพลล์หลายสำนักได้ประเมินว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้
 
ซึ่งการออกมาโจมตีในครั้งนี้ก็มีน้ำหนักพอสมควร เมื่อย้อนไปดูการทำโพลล์ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2550 ที่โพลล์ส่วนใหญ่ได้คาดการณ์ผิดอย่างล็อคถล่มว่า พรรคประชาธิปัตย์จะสามารถเอาชนะพรรคพลังประชาชนได้ แต่ผลการเลือกตั้งกลับออกมาตรงกันข้าม
 
ในการเลือกตั้งครั้งนี้เราจะได้เห็นสิ่งนอกเหนือจากการที่พรรคการเมืองขับเคี่ยวอย่างดุเดือดเพื่อไปถึงเป้าหมายสูงสุดในวันเลือกตั้ง นั่นก็คือการแข่งขันกันของสำนักโพลล์ต่างๆ ที่พยายามขับเคี่ยวเพื่อ “รักษา” ความเป็นโพลล์คุณภาพ และ “แก้หน้า” จากการทำนายที่ผิดพลาดครั้งใหญ่เมื่อการเลือกตั้งในปี 2550
 
บทเรียนความคลาดเคลื่อนของ “โพลล์” ก่อนการเลือกตั้ง 2550
และดังที่ได้เคยนำเสนอไปแล้วว่า ในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วในปี 2550 มีโพลล์ที่ทำการสำรวจและเผยแพร่โดยมีการระบุชื่อหัวหน้าพรรคการเมืองหรือพรรคการเมืองที่เกี่ยวโยงกับการเลือกตั้ง ในเรื่องของความคาดหวังว่าใครจะได้เป็นนายกฯ หรือเป็นพรรครัฐบาล จำนวน 12 โพลล์  (ดูเพิ่มเติม : Politics of Poll : ดู “โพลล์” ก่อนการเลือกตั้ง 2550)
 
รามคำแหงโพลล์: ภาพลักษณ์นักการเมืองไทยในสายตาประชาชน (30 ส.ค. 2550)
กรุงเทพโพลล์: ทิศทางการเมืองไทย หลังกำหนดวันเลือกตั้ง (4 ก.ย. 2550)
กรุงเทพโพลล์: การเลือกตั้งครั้งใหม่ในสายตาเยาวชน (19 ก.ย. 2550)
สวนดุสิตโพลล์: ผู้สมัคร ส.ส.” แบบไหน “พรรคการเมือง” แบบใด ที่ “คนไทย” อยากเลือก (22 ต.ค. 2550)
รามคำแหงโพลล์: ความเชื่อเรื่องตัวเลขกับความรู้ด้านการเลือกตั้ง (12 พ.ย. 2550)
สวนดุสิตโพลล์: ความนิยมต่อพรรคการเมือง ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (12 พ.ย. 2550)
ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์: คนกรุงเทพฯ กว่าครึ่งยกให้อภิสิทธิ์เป็นนายก และเกินครึ่งคิดว่านายกอาจจะไม่ใช่หัวหน้าพรรคก็ได้ (13 พ.ย. 2550)
กรุงเทพโพลล์: คนไทยกับการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม (สำรวจครั้งที่ 1) (22 พ.ย. 2550)
เอแบคโพลล์: สำรวจความตื่นตัวในการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนและบทบาทของแกนนำชุมชนในการเลือกตั้ง 2550 (6 ธ.ค. 2550)
เอแบคโพลล์: ศึกษาความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนใจเลือกพรรคการเมืองของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการเปลี่ยนแปลงในผลแพ้ชนะของการเลือกตั้ง 2550 (11 ธ.ค. 2550)
กรุงเทพโพลล์: คนไทยกับการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม (สำรวจครั้งที่ 2) (13 ธ.ค. 2550)
ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์: การเมืองไทยอยากได้ใครเป็นนายก (13 ธ.ค. 2550)
 
 
 
โดยมี 9 โพลล์ชี้เป็นผลบวกว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง และอีก 2 โพลล์ชี้เป็นผลบวกว่าพรรคพลังประชาชนจะได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง ส่วนอีกหนึ่งโพลล์เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนใจเลือกพรรคการ เมืองของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและการเปลี่ยนแปลงในผลแพ้ชนะของการเลือกตั้ง 2550 โดยโพลล์ที่คาดการณ์ได้ถูกต้อง 2 โพลล์นั้นมี
 
สวนดุสิตโพลล์ (เผยแพร่เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2550) ระหว่างวันที่ 1-10 พฤศจิกายน 2550 ทำการสุ่มตัวอย่างประชาชนผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวน 4,410 คน (กทม. 1,217 คน 27.60% ตจว. 3,193 คน 72.40%)
 
เอแบคโพลล์ (เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2550) ทำการสำรวจ 20 พฤศจิกายน - 5 ธันวาคม 2550 ทำการสุ่มตัวอย่างประชาชนผู้มี สิทธิเลือกตั้งใน 33 จังหวัดของประเทศ และแกนนำ อบต./อบจ. ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ” ครั้งนี้ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากตัวอย่าง ประชาชนจำนวน 7,589 ตัวอย่าง และแกนนำชุมชนจำนวนทั้งสิ้น 2,109 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 9,698 ตัวอย่าง
 
ทั้งนี้สามารถสรุปสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของ “โพลล์” ก่อนการเลือกตั้ง 2550 ได้ดังนี้
 
จำนวนการสุ่มตัวอย่าง
เมื่อนำสองโพลล์ที่คาดการณ์ได้ถูกต้องเทียบกับโพลล์อื่นๆ พบว่าปัจจัยที่ทำให้โพลล์นี้คาดการณ์แม่นยำมากกว่าก็คือการกระจายการสุ่มตัวอย่างมากกว่าโพลล์อื่นที่มีการกระจายการสุ่มตัวอย่างไม่ถึง 2, 000 ชุด (โพลล์ที่คาดการณ์ได้ถูกต้องมีการกระจายถึง 4,410 ชุด และ 9,698 ชุด)
 
ขาดการสำรวจอย่างต่อเนื่อง-สม่ำเสมอ
นอกจากนี้ยังพบว่าในขณะนั้นยังขาดการทำโพลล์อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเวลาก่อนการเลือกตั้งระยะเวลา 4 เดือน (30 สิงหาคม – 13 ธันวาคม 2550) มีโพลล์ที่ระบุชื่อหัวหน้าพรรคการเมืองหรือพรรคการเมืองที่เกี่ยวโยงกับการคาดการณ์ผลการเลือกตั้งเพียง 12 โพลล์
 
สมมติฐานเรื่องการประเมินผิดพลาดเนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองในขณะนั้น
1.     สมมติที่ว่าการกระจายตัวอย่างให้ผู้กรอกโพลล์ ผู้กรอกโพลล์นั้นอาจให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่พึ่งเกิดการรัฐประหาร มีความเกรงกลัวต่ออำนาจรัฐในการให้ข้อมูลแก่หน่วยงานต่างๆ ที่มีการลงรายละเอียดสูง (เช่น โพลล์ หรือแบบสอบทางจากฝ่ายความมั่นคง เป็นต้น) แต่การลงคะแนนเลือกตั้งที่เป็นการลงคะแนนลับในคูหาอาจจะตัดสินใจอีกแบบ
 
2.     สมมติฐานที่ว่าการกระจายตัวอย่างให้ผู้กรอกโพลล์ ผู้กรอกโพลล์นั้นอาจจะเล่นบทบาทผู้ประเมินความเป็นไปได้ทางการเมืองว่าจะมีแนวโน้มไปทางไหน (และโพลล์ของสำนักที่ผิดพลาดที่กระจายแบบสอบถามได้น้อย อาจจะเลือกผู้ทำโพลล์แบบนี้ ที่ภาษาชาวบ้านเรียก “คอการเมือง” หรือ “เซียนการเมือง” ) โดย “คอการเมือง” หรือ “เซียนการเมือง” ได้ประเมินภาพรวมจากผลการลงประชามติรับรัฐธรรมนูญปี 2550 และอำนาจรัฐในมือ คมช. ในตอนนั้นที่ดูเหมือนว่าจะมีประโยชน์แก่ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคพลังประชาชน
 
สมมติฐานเรื่องความพยายามชี้นำด้วยผลโพลล์
การเผยแพร่โพลล์อาจจะเป็นเครื่องจูงใจให้ผู้รับรู้สารมีอารมณ์ร่วมไปในทางใดทางหนึ่งเช่นเดียวกับการเผยแพร่ข่าวสารโดยทั่วๆ ไปเกี่ยวกับพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้ง (เรียกคะแนนสงสารให้กับพรรคการเมืองที่ผลโพลล์ไม่ค่อยดี หรือสร้างความมั่นใจให้คนลงคะแนนพรรคที่น่าจะชนะการเลือกตั้ง – เป็นไปได้ทั้งสองทาง)
 
ส่วนการพยายามชี้นำอย่างเป็นระบบตามทฤษฏีสมคบคิดนั้น (เมคโพลล์เข้าข้างพรรคการเมืองที่ตนเองเชียร์และเผยแพร่ต่อสาธารณชน) เชื่อว่าพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง หน่วยงานความมั่นคงต่างๆ อาจจะทำไว้สองชุด คือผลโพลล์ที่เป็นจริงที่ใช้สำหรับประเมินและวางแผนกลยุทธ์ การเลือกตั้ง และผลโพลล์หลอกที่นำมาข่มคู่แข่งหรือชี้นำประชาชน
 
ทั้งนี้ประเด็นนี้ถูกนำมาโจมตีการทำโพลล์เกือบทุกครั้งแม้แต่ในการเลือกตั้งปี 2550 ซึ่งถึงแม้ในขณะนั้น สื่อ สำนักวิชาการต่างๆ มีทัศนคติที่ไม่สู้จะดีนักต่อพรรคพลังประชาชน (เอแบคโพลล์หนึ่งในสองสำนักโพลล์ที่คาดการณ์ถูกว่าพรรคพลังประชาชนจะชนะเลือกตั้ง ก็เคยถูกฝ่ายคนที่นิยมชมชอบพรรคพลังประชาชนโจมตีหลายครั้งเช่นกันก่อนการเลือกตั้งปี 2550)
 
แต่สมมติฐานนี้อาจจะไม่มีน้ำหนักเท่าไรนัก เพราะว่าอาจจะเป็นผลร้ายต่อ “สำนักวิชาการ” ที่โพลล์เหล่านั้นสังกัดอยู่ และไม่คุ้มค่าต่อการใช้โพลล์เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดๆ “ในระยะยาว” ที่การทำโพลล์ยังจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือสำคัญทั้งในภาคธุรกิจ และภาคการเมือง สถาปนาเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญอีกแขนงเช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว
 
 
 

Bottom Line

ปัจจัยง่ายๆ ของโพลล์ที่จะทำนายผลการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 นี้ได้อย่างแม่นยำ จะต้องมีการกระจายการสุ่มตัวอย่างไปสู่กลุ่มประชาชนที่หลากหลาย (ระวังพวกเซียนการเมือง) และต้องทำการสำรวจอย่างต่อเนื่อง-สม่ำเสมอ เป็นระยะๆ  และสำหรับคนอ่านโพลล์ นอกจากการดูผลโพลล์เพียงอย่างเดียวแล้ว ภาคผนวกที่แสดงถึงวิธีการระเบียบวิธีวิจัยก็สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการประเมินความน่าเชื่อถือของโพลล์นั้นๆ
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ประชาธรรม’ พรรคมลายู... ‘วัดใจ’คนมลายู!!

Posted: 15 Jun 2011 07:03 AM PDT

ถึงนาทีนี้ ต้องนับว่าการเลือกตั้งปี ’54 ได้ทะยานใกล้ถึงโค้งสุดท้ายเต็มทีแล้ว!!

และในขณะที่ทุกสายตากำลังโฟกัสไปยังภาพรวมการเลือกตั้งทั่วประเทศ ว่าพรรคไหนจะได้คะแนนเสียงข้างมากและเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล หรือได้คะแนนเสียงข้างมากแล้วจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่??

หากแต่ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นอกจากบรรยากาศเลือกตั้งที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดของผู้สมัครซึ่งไม่ต่างจากส่วนอื่นๆ ของประเทศแล้ว 

พร้อมๆ กับการเลือกตั้งหนนี้ มีปรากฎการณ์ใหม่ที่ได้บังเกิดขึ้นเป็นพิเศษ!!

นั่นคือ การออกมาสู้ศึกเลือกตั้งของพรรคการเมืองใหม่เอี่ยมที่ประกาศตนเป็นพรรคของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในนาม ‘พรรคประชาธรรม’ !

โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ ‘ประชาธรรม’ ได้ส่งผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อ 25 คน ในระบบเขตได้ส่งผู้สมัครลงสู้ศึกครบทุกเขต 3 จังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และอีก 1 เขตที่จังหวัดสตูล

ความไม่ธรรมดาของ ‘พรรคประชาธรรม’ ที่นอกจากจะมาพร้อมสโลแกนที่ดึงดูดใจอย่าง ‘สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นแล้ว’ ซึ่งน่าจะมีนัยประหวัดไปยัง ‘ความสันติสุข’ ที่จักมีขึ้นพร้อมๆ การมาของพรรคประชาธรรม

แต่ที่น่าจับตาคือ การประกาศตนชัดเจนผ่านใบปลิว และแผ่นป้ายหาเสียงต่างๆ ของพรรคทั้งภาษาไทยและภาษายาวี ว่า ตนคือ ‘พรรคของคนมลายู’

และเป็นพรรคคนมลายูเพียง ‘หนึ่งเดียว’ ที่มีอยู่ในประเทศนี้!!

การอาจหาญฝ่าวงล้อม ‘กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า’ จุดกระแสหาเสียงด้วยประเด็น ‘เซ็นซิทีฟ’ ที่ยังไม่เคยมีใครในสามจังหวัดชายแดนกล้าทำมาก่อน โดยเฉพาะในวันที่ไฟใต้ยังคงลุกโชนแบบจับมือใครดมไม่ได้

จึงก่อให้เกิดคำถามว่าพวกเขาเป็นใคร??

เมื่อเข้าไปไล่เรียงค้นหาดูรายชื่อผู้ก่อตั้งและกรรมการบริหารพรรคแล้ว ก็พบว่า ที่พอจะมีชื่อชั้นบ้างก็เพียงหัวหน้าพรรคที่ชื่อ ‘มุคตาร์ กีละ’ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำงานการเมืองในตำแหน่งเลขาธิการ ‘พรรคสันติภาพไทย’ ร่วมกับ ‘นายพิเชษฐ สถิรชวาล’ อดีต รมต.หลายสมัย แต่นอกนั้นล้วนเป็นรายชื่อที่ ‘โนเนม’ทางการเมืองทั้งสิ้น

กระนั้น ความไร้เดียงสาทางการเมือง ก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่พวกเขาล้วนเป็นคนจาก ‘จังหวัดชายแดนภาคใต้’ จนกล่าวได้ว่า นี่คือการรวมตัวครั้งสำคัญของคนมลายูจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเดินเกมทางการเมืองอย่างเป็นระบบที่สุดเท่าที่เคยมีมา!!

หากแต่การหาญกล้าประกาศตนเป็นพรรคของคนมลายูที่มีนัยชัดเจนถึงความเป็นพรรค ‘มุสลิม’ รวมทั้งผู้ก่อตั้งล้วนเป็นมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่สถานการณ์กำลังอยู่ในห้วงร้อนระอุจากความไม่สงบ นัยคำถามมากมายจึงพุ่งไปยัง ‘พรรคประชาธรรม’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ !!

ประเด็นสำคัญที่พรรคประชาธรรมถูกโฟกัสมากที่สุดในตอนนี้ คือ ‘ความเชื่อมโยง’ กับกลุ่มขบวนการฯ หรือ แนวร่วม??

แล้วยิ่งเมื่อเพ่งพินิจไปยังป้ายหาเสียงของผู้สมัครในพื้นที่ รวมทั้งโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในเฟสบุ๊คที่ชื่อ ‘ประชาธรรม ซับพอร์ท’ และ ‘พรรคมลายู พรรคประชาธรรม’ ที่ยิงสโลแกน “กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า คือหนึ่งในความอยุติธรรม” “คนมลายูมีอยู่ในทุกพรรค แต่พรรคคนมลายูมีเพียงหนึ่งเดียว” หรือ “พรรคอื่นเป็นเพียงของประดับ แต่พรรคเรา คือสายเลือด...ทายาทแห่งมาตุภูมิ” เหล่านี้เป็นต้น ยิ่งทำให้คนทั่วไปอดเข้าใจไม่ได้ว่า นี่คือ การส่งสัญญาณ ‘SOS’หรือสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังแนวร่วมฯ และคนมลายูที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ให้สนับสนุนพวกเขาเพื่อเข้าไปเป็นตัวแทนและกระบอกเสียงในระบบรัฐสภา

ที่ผ่านมา การเดินเกมและยุทธศาสตร์หาเสียงของพรรคประชาธรรมแม้จะเป็นไปอย่างเงียบๆ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจของพวกเขา หรือถูกมองข้ามละเลยจากสื่อกระแสหลักหรือแม้กระทั่งสื่อในพื้นที่เอง ว่าพรรคประชาธรรมเป็นเพียงพรรคเล็กหรือพรรคไม้ประดับ แทบจะไม่ได้ถูกนำเสนอในหน้าสื่อ

หากแต่เบื้องลึก เมื่อพิเคราะห์อย่างละเอียดก็พบว่าพวกเขามิใช่เป็นเช่น ‘ตะเกียงไร้น้ำมัน’ ตามภาพที่ปรากฏภายนอกแต่อย่างใด!!

ทว่าก้าวเดินของ ‘พรรคประชาธรรม’ เป็นไปอย่างเป็นระบบ และมิใช่เพิ่งเริ่มเดินเกมมวลชนเพียง 2 ปีที่จดทะเบียนพรรคตามที่คนทั่วไปเข้าใจเท่านั้น หากแต่พวกเขาได้วางรากฐานมาก่อนหน้านั้นผ่าน ‘มูลนิธิ ฮิลาลอะห์มัร’ ซึ่งทำงานด้านอาสาสมัครกู้ภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรถกู้ภัยกว่า 10คันที่วิ่งช่วยเหลือชาวบ้านหรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐก็เคยได้รับความช่วยเหลือจากพวกเขาอยู่เนืองๆ จึงนับได้ร่วม 7 ปี ที่พวกเขาได้เข้าไปทำงานภาคประชาสังคมจนได้รับความยอมรับและไว้วางใจจากคนในพื้นที่

และที่สังเกตได้ชัด จากการที่พวกเขาได้ออกสตาร์ทตั้งแต่ก่อนหน้าการประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้ง โดยเริ่มเดินสายหาเสียงก่อนพรรคใดๆ ด้วยการตั้งเวทีปราศรัยมาแล้ว 3 จังหวัดกว่า 15 จุด และปรากฏว่าทุกจุดมีผู้สนใจร่วมรับฟังมากกว่า 3,000-7,000 คนเลยทีเดียว

ซึ่งอย่างน้อยๆ นี่ก็เป็นเครื่องการันตีได้ว่า พวกเขามิได้ละอ่อนทางการเมือง อย่างที่ใครๆ เข้าใจ!!

ถึงวันนี้ จึงกล่าวได้ว่าเสียงสนับสนุนของพวกเขานั้นมาแรงซึมลึกอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเขต ‘พื้นที่สีแดง’ ชายป่าเชิงเขานั้นแทบไม่ต้องกล่าวถึง เพราะในขณะที่ผู้สมัครจากพรรคอื่นไม่กล้าลงพื้นที่หาเสียง อาทิตย์ใกล้พลบค่ำเป็นต้องรีบชิ่งเข้าเมือง แต่กลับกันผู้สมัครจากพรรคประชาธรรมกลับสามารถเดินตะลอนๆ เข้าไปร่วมละหมาดค่ำ กินข้าวเย็นกับชาวบ้าน จนดึกดื่นค่อยกลับก็มิเป็นไร

กล่าวได้ว่าพวกเขาถูกตอบรับอย่าง ‘อบอุ่น’ เลยทีเดียว!!

เอาเป็นว่าความแรงของพวกเขา ทำให้พรรคการเมืองขนาดกลางอีกพรรคหนึ่งที่วางตัวเป็นพรรคมุสลิมด้วย ถึงกับนั่งไม่ติดก็แล้วกัน ทำให้ในการหาเสียงที่จังหวัดสตูล หัวหน้าพรรคดังกล่าวเผลอหลุดอัดพรรคประชาธรรมตรงๆ ว่า

“พรรคนี้เป็นพรรคของแนวร่วมขบวนการ”!!

ถึงนาทีนี้หลายฝ่ายจึงสงสัยว่า หรือนี่คือ การออกมาจากที่ลับสู่ที่แจ้ง เพื่อสู้ทางการเมืองในระบบ ซึ่งหมายถึงเพียงเปลี่ยนยุทธวิธี แต่เป้าหมายยังคงเดิม ใช่หรือไม่??

‘มุคตาร์ กีละ’ หัวหน้าพรรคประชาธรรม เคยให้สัมภาษณ์ใน นสพ.พับลิกโพสต์ ซึ่งเป็นนสพ.รายเดือนที่เป็นที่นิยมของชาวมุสลิม เล่าถึงที่มาของการก่อตั้งพรรคประชาธรรมว่า

“การทำงานในนามองค์กรอาสาสมัครทำได้แค่บรรเทา แต่ไม่สามารถนำเสนอหรือผลักดันนโยบายสำคัญๆ ในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหารุมเร้าซับซ้อนที่คนภายนอกไม่สามารถเข้าใจดีเท่าคนในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการคิดก้าวไปสู่การตั้งพรรคการเมืองที่เป็นของคนพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาให้คนพื้นที่เอง”(พับลิกโพสต์ ฉบับที่ 28 พ.ค.2553)

และเมื่อผู้สื่อข่าว นสพ.พับลิกโพสต์ ถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคประชาธรรมและแนวร่วมฯ มุคตาร์ กีละ ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ เพียงบอกว่า

“วันนี้ทำยังไงให้ชาวบ้านเห็นว่าการเกิดขึ้นของพรรคประชาธรรมใครได้ประโยชน์สูงสุด ประชาชนสองล้านได้ประโยชน์ไหม หรือฝ่ายรัฐได้ประโยชน์ หรือฝ่ายขบวนการได้ประโยชน์ เราไม่ได้ปฏิเสธว่าเรารู้จักพิราบทั้งสองฝ่าย และทุกฝ่ายก็รู้จักกลุ่มเราดี แต่เมื่อเรากำหนดชัดเจนว่าเราจะยืนอยู่เคียงข้างกับประชาชนในงานทางการเมือง ซึ่งเป็นรูปแบบสันติวิธีแบบหนึ่ง ทุกฝ่ายก็ต้องดูแล ก็ต้องไม่ทำร้าย เพราะเราพยายามเป็นที่พึ่งของประชาชน” (พับลิกโพสต์ ฉบับที่ 28 พ.ค.2553)

พร้อมกันนั้นเขาได้ยืนยันว่า “แม้เราเป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยชาวมลายู แต่เราอาสาเป็นแกนกลางให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพเพื่อที่นี่”(วารสารประชาธรรม)

ในหลายๆ วาระ มุคตาร์ กีละ หัวหน้าพรรคประชาธรรม ได้พูดถึงความพยายามอย่างหนักของพวกเขาในการก่อร่างสร้างพรรคประชาธรรมจนสามารถนำสู่การลงสู้ศึกในการเลือกตั้งหนนี้ ว่า “วันนี้ เราคือคนมลายู ที่ได้เดินมาไกลกว่าที่คนมลายูใดเคยเดินมาถึง และนับจากนี้ อนาคตเบื้องหน้าของเราได้อยู่ในลิขิตของพี่น้องมลายูแล้ว”

ดังนั้น เมื่อการคงอยู่หรือไปของพวกเขา ได้ฝากความหวังไว้กับคนมลายู ซึ่งนั่นหมายความว่า เพียงไม่วันข้างหน้านี้ ก็จะเป็นที่ประจักษ์ว่าพี่น้องมลายูของพวกเขาเองจะเลือกเป็น ‘ผู้ตัดสายสะดือ’ หรือ ‘ทำแท้ง’

แจ้งเกิดหรือถูกฝังจมดิน ชะตาพวกเขาจึงถูกฝากไว้ในกำมือมลายูที่พวกเขาไว้ใจ และคำตอบที่ชัดเจน จะอุบัติในวันที่ 3กรกฎาคมนี้ !!

ส่วนการกำเนิดของพรรคประชาธรรมสู่สารบบพรรคการเมือง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมขบวนการฯ ที่ออกมาทำงานการเมืองอย่างเปิดเผย หรือ นี่คือความตั้งใจจริงของคนพื้นที่ ซึ่งไม่อาจทนนิ่งดูดายกับความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดของพวกเขา

และไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใคร แต่การที่พวกเขาออกมาทำงานการเมืองในที่แจ้งก็เป็นเรื่องดีสำหรับคนในพื้นที่ชายแดนใต้ เหมือนที่ปรมาจารย์ด้านสงครามเคยกล่าวไว้ว่า

“การเมืองคือสงครามที่ไม่หลั่งเลือด ส่วนสงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด”...

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เรียกร้องอินโดฯยุติการเอาผิดต่อการชุมนุมโดยสันติในปาปัว

Posted: 15 Jun 2011 06:42 AM PDT

 

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษมโนธรรมสำนึก 7คน โดยทันทีและปราศจากเงื่อนไข พวกเขาเหล่านี้ถูกจับกุมเพียงเพราะการชูธงและร่วมการชุมนุมทางการเมืองโดยสันติ คดีของพวกเขาแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลอินโดนีเซียล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่าในการแยกแยะระหว่างกลุ่มผู้ใช้อาวุธ และกลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองที่ยึดหลักสันติวิธี

กลุ่มนักกิจกรรม ซึ่งรวมไปถึงนักเรียน นักศึกษา ได้เดินชุมนุมโดยสันติในวันที่14 ธันวาคม 2553 เพื่อต่อต้านความอยุติธรรมและการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองกำลังรักษาความปลอดภัยอินโดนีเซียต่อชาวปาปัว การเดินชุมนุมเสร็จสิ้นลงที่สนามปีนีรันกัน ซังเก็ง ในมาน็อกวาริ ซึ่งเป็นที่นัดหมายกันระหว่างนักกิจกรรมอื่นๆให้ได้มาร่วมกันเฉลิมฉลองวันครอบรอบการประกาศเอกราชของ“เมลานีเซียตะวันตก”นักกิจกรรมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ถือกำเนิดขึ้นในปาปัวในช่วงกลางปี 1980 ที่ส่งเสริมการประกาศอิสรภาพของปาปัวในชื่อ “เมลานีเซียตะวันตก”

ระหว่างการเฉลิมฉลองนั้น เมื่อมีการเชิญ"ธง 14 ดาว”ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความเป็นเอกราชของเมลานีเซียตะวันตก ตำรวจรักษาความสงบระดับเขตย่อยมาน็อกวาริ(Polres)ก็ตอบโต้ทันทีด้วยการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมและจับกุมนักเรียนจำนวน 5 คน คือ Jhon Wilson Wader, Penehas Serongon, Yance Sekenyap, Alex Duwiri และJhon Raweyai นอกจากนั้น ก็ยังได้จับกุมนักกิจกรรมทางการเมืองจากการชุมนุมอีก2คน ได้แก่ Melki BleskaditและDaniel Yenu

เป็นเวลาหลายเดือน ที่เหล่านักกิจกรรมต้องถูกบังคับให้นอนบนพื้นเปียกๆในที่คุมขังของสถานีตำรวจเขตย่อยมาน็อกวาริ (Mapolres) นักกิจกรรมทั้งเจ็ดคนติดโรคมาลาเรียจนร่างกายซูบผอมลงไปมาก อย่างไรก็ตาม สุขภาพและสภาวะความเป็นอยู่ของพวกเขาในขณะนี้ดีขึ้นแล้ว

ชายทั้ง 7 คน ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าก่อ "การกบฏ”ภายใต้มาตราที่106 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของอินโดนีเซีย ซึ่งมีโทษสูงสุดคือการจำคุกตลอดชีวิต และข้อหา"การปลุกระดม"ภายใต้มาตราที่ 160

การไต่สวนคดีของนักศึกษามหาวิทยาลัย 5 คน เริ่มขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน 2554

เสรีภาพทางความคิด, การแสดงความเห็น และการชุมนุมโดยสันติ ได้รับการคุ้มครองภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในภาคีที่ได้ลงนามและให้สัตยาบัน ไม่เพียงเท่านั้น เสรีภาพเหล่านี้ยังอยู่ในรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซียด้วย แม้ว่ารัฐบาลอินโดนีเซียมีสิทธิ์และหน้าที่ในการรักษาความสงบส่วนรวม พวกเขาต้องระวังมิให้การกระทำนั้นๆไปจำกัดเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และการชุมนุมโดยสันติ มากกว่าที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ผู้มีอำนาจของอินโดนีเซียเพิกถอนกฎเกณฑ์ของรัฐบาลปี 2550 ที่ประกาศห้ามการแสดงธงของท้องถิ่นที่ถูกใช้โดยกลุ่มสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่า กฎเกณฑ์นี้ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของกฎหมายพิเศษว่าด้วยเขตปกครองตนเอง (Special Autonomy Law) ปี2544 ที่ได้มอบสิทธิในการแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแก่ชาวปาปัว นอกจากนั้นแล้ว การสั่งห้ามโบกธงเหล่านี้ ยังไม่อาจถือเป็นเหตุผลสมควรที่จะยับยั้งเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมตามที่บัญญัติไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้ด้วย 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่มีจุดยืนใดๆทั้งสิ้น เกี่ยวกับสถานะทางการเมืองในจังหวัดต่างๆของอินโดนีเซีย รวมไปถึงการแบ่งแยกดินแดน อย่างไรก็ตาม องค์กรเชื่อว่า เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นนั้น ครอบคลุมไปถึงสิทธิในการส่งเสริมประชามติ, การประกาศเอกราช หรือการเสนอทางออกทางการเมืองอื่นๆโดยสันติ ที่ไม่ได้ยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติ, การเป็นปรปักษ์ หรือความรุนแรง

ในสองสามปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รายงานเกี่ยวกับการจับกุมนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวนมากจากการเรียกร้องการประกาศอิสรภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยมีประวัติการสนับสนุนการแบ่งแยก เช่น ปาปัวและมาลุกุ นักโทษมโนธรรมสำนึก Filep Karma กำลังอยู่ระหว่างการรับโทษการจำคุก 15 ปี จากการมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองโดยสันติ เดือนธันวาคม 2547 ที่อาบีปุระของปาปัว ซึ่งมีการเชิญธง“Morning Star”ที่ถูกประกาศห้ามใช้

ล่าสุด ในเดือนสิงหาคม 2553 ตำรวจ ที่รวมไปถึงหน่วย Special Detachment-88 (Densus-88) ได้จับกุมชาย 21 คนในเขตมาลุกุโดยพลการ เพียงเพราะพวกเขาวางแผนกิจกรรมทางการเมืองโดยสันติ ได้มีรายงานว่า ตำรวจได้ทรมานหรือทำร้ายชายจำนวน 15 คนในระหว่างการจับกุม, การคุมขัง และการสอบสวน เพื่อหวังที่จะให้พวกเขาสารภาพผิด ชายทั้ง 21 คน ถูกตั้งข้อหาก่อ "การกบฏ”และต้องจำคุกเป็นเวลาระหว่าง 9 เดือน ถึง 3 ปี 

 

ที่มา: http://www.amnesty.org/en/library/info/ASA21/012/2011/en

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชี้เลือกตั้งอีสานอัดเม็ดเงินสูงสุด 11,000 ล้านบาท

Posted: 15 Jun 2011 06:16 AM PDT

ศูนย์วิจัยกสิกร​ไทยคาด​เลือกมี​เม็ด​เงินสะพัดรวมประมาณ 39,000 ล้านบาท ภาคอีสานสะพัด11,000 ล้านบาท กทม. 6,300 ล้านบาท ภาคกลาง​และตะวันออก 5,000 ล้านบาท ภาค​เหนือ 6,500 ล้านบาท ภาคกลาง​และปริมณฑล 4,800 ล้านบาท ส่วนภาค​ใต้ประมาณ 5,400 ล้านบาท

15 มิ.ย. 54 - สำนักข่าวอิน​โฟ​เควสท์รายงานว่าศูนย์วิจัยกสิกร​ไทย คาดว่าศึก​เลือกตั้งครั้งนี้จะมี​เม็ด​เงินสะพัดประมาณ 39,000 ล้านบาท ​เพิ่มขึ้นจาก​การ​เลือกตั้งปี 50 ที่มี​เม็ด​เงินประมาณ 21,000 ล้านบาท ​เนื่องจากค่า​ใช้จ่าย​ใน​การหา​เสียง​เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับหลายพรรค​การ​เมือง​ได้​เตรียมตัวหา​เสียงล่วงหน้า​ไว้ก่อน​การประกาศยุบสภา รวม​ไป​ถึง​การ​เน้น​การ​โฆษณา​และประชาสัมพันธ์ของพรรค​การ​เมืองที่มุ่งชิง “ส.ส.​แบบบัญชีรายชื่อ" ที่มีจำนวน​เพิ่มมากขึ้น ส่งผล​ทำ​ให้​เม็ด​เงิน​ในศึก​เลือกตั้งครั้งนี้​เพิ่มสูงตาม​ไปด้วย

​เม็ด​เงินส่วน​ใหญ่จะกระจายอยู่​ในพื้นที่ภาคอีสานที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุด รองลงมา ​ได้​แก่ กรุง​เทพมหานคร ​และจังหวัดที่มี​การ​แข่งขันกันสูง​ใน​แต่ละภาค ​โดยคาดว่าภาคอีสานจะมี​เม็ด​เงินสะพัดประมาณ 11,000 ล้านบาท กทม.คาดว่าจะมี​เม็ด​เงินสะพัด 6,300 ล้านบาท ภาคกลาง​และตะวันออก 5,000 ล้านบาท ภาค​เหนือ 6,500 ล้านบาท ภาคกลาง​และปริมณฑล 4,800 ล้านบาท ส่วนภาค​ใต้ประมาณ 5,400 ล้านบาท

​การกระจายของ​เม็ด​เงิน​เลือกครั้งนี้จะส่งผล​ไป​ถึง ธุรกิจสิ่งพิมพ์ รถยนต์รับจ้าง ธุรกิจ​ให้​เช่า​เครื่องขยาย​เสียง ธุรกิจ​ให้​เช่า​เต็นท์​และ​เวที ร้านขายดอก​ไม้ ธุรกิจผ้า​ใบ ​ไวนิล ​และอิงค์​เจ็ท ​เป็นต้น นอกจากนั้น ยังกระจาย​ไปยังระบบหัวคะ​แนนของพรรค​การ​เมืองต่างๆ ผ่าน​ไปยัง​เครือข่ายจัดตั้ง ​เช่น ​เจ้ามือหวย ​โต๊ะพนันบอล ​และระบบขายตรง (Direct Sale) ​ซึ่งจะ​ได้รับ​เม็ด​เงินจาก​การ​เลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

ศูนย์วิจัยกสิกร​ไทย ระบุว่า ศึก​เลือกตั้งปี 54 ถือว่า​เป็น​การ​เลือกตั้งครั้ง​ใหญ่ที่มี​การ​เปลี่ยนยุทธวิธี​การหา​เสียง รวม​ไป​ถึงรูป​แบบ​ใน​การหา​เสียง​ใหม่ๆ มากขึ้น มี​การวาง​แผนสื่อ​โฆษณาอย่าง​เป็นระบบ ​โดย​เฉพาะอย่างยิ่งมี​การกำหนด​เป้าหมาย​ใน​การ​ใช้สื่อ​โฆษณา (Media objective) อย่างชัด​เจน ​ทั้ง​ในพรรค​การ​เมืองขนาด​ใหญ่​และพรรคขนาด​เล็ก

นอกจากนั้น ยังมี​การ“สร้างกระ​แสทาง​การ​เมือง" ​ในกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนพรรค​การ​เมืองอย่าง​เห็น​ได้ชัด ​ทำ​ให้​การหา​เสียงของพรรค​การ​เมืองบางพรรคต้อง​เผชิญหน้ากับมวลชนที่​เป็นฐานทาง​การ​เมืองของคู่ต่อสู้อย่าง​เห็น​ได้ชัด ​ซึ่ง​ในอดีต​ไม่ค่อยมี​การ​เผชิญหน้ากันอย่างรุน​แรง​เหมือน​การ​เลือกตั้งครั้งนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สนนท. หนุนปฏิรูปรับน้อง ลั่น “การรับน้องคือหน่ออ่อนของระบอบเผด็จการ”

Posted: 15 Jun 2011 04:19 AM PDT

15 มิ.ย. 54 – สืบเนื่องจากเหตุการณ์การประท้วงระบบโซตัสโดยกลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2554 และก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการรับน้องอย่างกว้างขวางนั้น ล่าสุด สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนสนับสนุนการคัดค้านโซตัส เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับตาการรับน้องที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในแถลงการณ์ระบุว่า จากเหตุการณ์รับน้องในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และคำพูดที่อธิการบดีออกมากล่าวถึงพวกต่อต้านโซตัสว่าเป็นพวก “ร้อนวิชา” นั้น สนนท.มองว่า เป็นเรื่องที่ขัดกับหลักสิทธิและเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตย และมีข้อเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คอยจับตาและตรวจสอบการกระทำที่ละเมิดสิทธิ พร้อมทั้งให้นิสิตนักศึกษา ตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของตนเอง และออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการรับน้องที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยม

แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
“สนับสนุนการรับน้องอย่างสร้างสรรค์ คัดค้านระบบเผด็จการอำนาจนิยม”

สืบเนื่องมาจาก นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการรับน้องเพื่อให้อยู่บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน แต่กลับถูกตอบรับด้วยระบบอำนาจนิยมที่มหาวิทยาลัยคุ้มครอง บังคับให้ต้องเชื่อฟังคำสั่งและการเกณฑ์นิสิตปีหนึ่งให้เข้าร่วมกิจกรรมโดยปราศจาก ซึ่งความสมัครใจของเหล่านิสิตดังกล่าว ทั้งหมดทั้งปวงเป็นเพียงคำกล่าวอ้างตามแบบแผนประเพณีที่สืบทอดการปฏิบัติจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเหตุผลเท่านั้น

สถาบันการศึกษาเป็นแหล่งบ่มเพาะปัญญาชนให้มีความรู้ หรือเป็นเพียง “คอกขังทางปัญญา คิดอยู่ในกรอบเท่านั้น” ไม่กล้าแม้กระทั่งที่จะตั้งคำถามต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งแนวคิดนี้เป็นหน่ออ่อนของระบบเผด็จการและลัทธิยอมจำนนที่จะสร้างความคิดแบบ “ห้ามถามห้ามสงสัย ทำตามคำสั่งได้อย่างเดียว” มิหนำซ้ำ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ออกมาแสดงทัศนะว่า “มหาวิทยาลัยของเราไม่มีระบบโซตัส” และดูหมิ่นนิสิต ว่าเป็นพวกร้อนวิชา เอนเอียงไปในทางสนันสนุนพฤติกรรมการรับน้องแบบอำนาจนิยม ซึ่งในความเป็นจริงกลุ่มนิสิตที่ออกมาเรียกร้องล้วนเป็นกลุ่มคนที่ตระหนักในสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคล ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมหาวิทยาลัยควรยอมรับในการแสดงความคิดเห็น และให้ความสำคัญกับนิสิตกลุ่มนี้ด้วย

ถึงวันนี้เราต้องตระหนักถึงการรับน้องที่สร้างสรรค์อย่างจริงจัง ให้ศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่าเทียมกัน ไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัยมหาสารคามเท่านั้น การรับน้องของสถาบันการศึกษาต่างๆทั่วประเทศก็ไม่ได้แตกต่างกันเลย จะเห็นได้จากการปรากฏตามหน้าสื่อต่างๆ เพียงเพราะมายาคติ “รักและเชิดชูสถาบันฯ เคารพรุ่นพี่ ต้องสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” จนเกิดการบาดเจ็บหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตก็หลายครั้ง ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับลัทธิชาตินิยม แต่มหาวิทยาลัยก็ยังคงจัดให้มีกิจกรรมที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ จนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.)ซึ่งมีจุดยืนที่ชัดเจนในการคัดค้านระบบเผด็จการอำนาจนิยมที่ปลูกฝังและครอบงำในระบบการศึกษาไทยมาอย่างยาวนาน สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.)จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

  1. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการดูแลการรับน้องในมหาวิทยาลัยอย่างจริงจังหากพบว่ามีการละเมิดสิทธิ์ขั้นพื้นฐานให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้รับผิดชอบทั้งหมด
  2. สนับสนุนการปฏิรูปรับน้องอย่างสร้างสรรค์ในมหาวิทยาลัยและขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดูแลการรับน้องให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  3. ให้พี่น้องนิสิตนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยตระหนักต่อสิทธิและเสรีภาพของตนเองและผู้อื่นหากพบเห็นกิจกรรมการรับน้องที่เป็นการละเมิดสิทธิทั้งร่างกายและจิตใจ ออกมาเคลื่อนไหวด้วยวิธีการต่างๆเช่น การชูป้ายต่อต้าน ยื่นหนังสือต่ออธิการบดีตลอดจนรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ต่อสังคม

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.)

15 มิถุนายน 2554

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิเคราะห์นโยบายที่เกี่ยวกับการเกษตรและข้อเสนอทางนโยบาย

Posted: 15 Jun 2011 03:19 AM PDT

นโยบายของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ เป็นนโยบายประชานิยมที่มุ่งจูงใจเกษตรกรให้ลงคะแนนให้ แต่อย่างไรก็ตามก็มีความแตกต่างอยู่บ้างระหว่างระบบการสนับสนุนเกษตรกรของพรรคการเมืองต่างๆและจำนวนเงินที่ใช้ในการสนับสนุน

ในการพิจารณานโยบายการเกษตรของพรรคการเมือง มีประเด็นที่มีความสำคัญที่ควรพิจารณา 4 เรื่อง ได้แก่  หนึ่งนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่ดิน  สองนโยบายการสนับสนุนราคาสินค้าเกษตร สามนโยบายการชลประทาน และสี่เรื่องการปรับโครงสร้างการเกษตรเพื่อรับมือกับปัญหาวิกฤตอาหาร พลังงานและสิ่งแวดล้อม
 
1. พรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์มีจุดแข็งเรื่องนโยบายประกันรายได้ ซึ่งดีกว่านโยบายประกันราคาหรือรับจำนำซึ่งเข้าไปแทรกแซงระบบตลาดและนำไปสู่การคอรัปชั่นและเงินมักจะร่วงหล่นไม่ถึงมือเกษตรกรอย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญก็คือการประกันรายได้ซึ่งมีวงเงินถึง 56,000 ล้านบาทนั้น  มิได้นำไปสู่การปรับโครงสร้างการเกษตร และการลดต้นทุนการผลิต พูดง่ายๆก็คือจำนวนเงินที่สนับสนุนการเกษตรในที่สุดจะไหลไปสู่นายทุนบริษัทปุ๋ย สารเคมีการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทหลายแห่งที่จะได้ประโยชน์เป็นพวกที่เคยซื้อโต๊ะสนับสนุนเงินให้กับพรรคการเมืองต่างๆนั่นเอง
 
นโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาที่ดินของประชาธิปัตย์ดูเป็นรูปธรรมและชัดเจนกว่าหลายพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโฉนดที่ดินในที่ดินของรัฐ ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้ได้ประมาณ 250,000 ราย การดำเนินการดังกล่าวของพรรคนี้อาจทำให้แก้ปัญหาที่ดินของเกษตรกรได้ประมาณ 10% ของเกษตรกรที่มีปัญหาที่ดินในปัจจุบัน แต่คำถามสำคัญก็คือ เมื่อประชาธิปัตย์ดำรงตำแหน่งรัฐบาลนั้นทำไมโฉนดชุมชนจึงทำได้แค่พื้นที่เดียวคือคลองโยง นครปฐมเท่านั้น

นโยบายการหาเสียงของประชาธิปัตย์จึงไม่ได้นำไปสู่การปรับโครงสร้างคือการปฏิรูปที่ดินเลย แม้แต่เรื่องกฎหมายภาษีที่ดินที่ถูกนำเสนอโดยพรรคนี้ก็มีปัญหาขัดแย้งกันเองภายใน เพราะคนที่ลุกขึ้นมาค้านก็คือคนในประชาธิปัตย์เองและมิได้มีการนำกฎหมายนี้เข้าไปสู่การพิจารณาของรัฐสภาในสมัยที่พรรคยังเป็นรัฐบาล
 

2. พรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยควรจะมีนโยบายการเกษตรที่เกี่ยวกับเกษตรกรที่ดีกว่าประชาธิปัตย์ แต่กลับแย่กว่า ทั้งๆที่มีฐานเสียงที่เป็นเกษตรกรและประชาชนในท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก และการที่ใกล้ชิดกับขบวนการคนเสื้อแดง พรรคนี้ควรจะมีนโยบายที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างการเกษตรและปัญหาที่ดินและการขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคมแต่กลับละเลยเรื่องสำคัญที่ควรทำไปแทบทั้งหมด
 

การกลับไปหานโยบายรับจำนำนโยบายนี้จะทำลายกลไกการตลาด เปิดช่องให้มีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ และเปิดช่องให้มีการคอรัปชั่นเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนนโยบายการพักชำระหนี้สำหรับผู้ที่มีหนี้ไม่เกินห้าแสนบาท ไม่น้อยกว่า 3 ปี และสำหรับผู้ที่มีหนี้เกินห้าแสนแต่ไม่เกินหนึ่งล้านให้ปรับโครงสร้างหนี้ อาจบรรเทาปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้ชั่วระยะเวลาสั้นๆแต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรเลย ที่สำคัญนโยบายบัตรเครดิตเกษตรกรของพรรคนี้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้สินชาวนาเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเฉพาะยิ่งการกำหนดให้นำเงินกู้ไปซื้อปุ๋ยและสารเคมีการเกษตร เพราะในที่สุดแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัทปุ๋ย สารเคมีการเกษตร และบริษัทเมล็ดพันธุ์ที่ยักษ์ใหญ่และบรรษัทข้ามชาติ

นโยบายการผันน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแก้ปัญหาชลประทานของพรรคเพื่อไทยสะท้อนความอับจนของแนวความคิดการชลประทานของประเทศไทยที่ไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศแต่กลับพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านหายใจ
 
อย่างไรก็ตาม นโยบายที่พรรคเพื่อไทยพูดควรได้รับคำชมคือนโยบายการส่งเสริมการการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ อย่างเป็นธรรมและสมดุลรวมถึงการให้ความสำคัญกับการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประชาชนควรจับตาดูว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร หากพรรคเพื่อไทยสามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
 
3.พรรคภูมิใจไทย

ข้อเสนอเกทับพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทยโดยเพิ่มเงินประกันรายได้ถึงข้าวเปลือกตันละ 20,000 นั้น แม้จะสร้างความพอใจต่อชาวนา แต่จะเกิดปัญหาระยะยาวเพราะมุ่งแต่หาเสียงเพราะนโยบายประเภทนี้ไม่ทำให้เกษตรกรได้พัฒนาตนเองและไม่ได้นำไปสู่การปรับโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรเลย อีกทั้งทำให้ประเทศต้องแบกรับภาระงบประมาณเกินความจำเป็น

ข้อเด่นของพรรคภูมิใจไทยคือนโยบายเรื่องชลประทาน ซึ่งเน้นที่การจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยไม่ต้องสร้างเขื่อน ฝาย หรืออ่างเก็บน้ำขึ้นมาใหม่ ปัญหาคือว่าโครงการเหล่านี้จะถูกนำไปปฏิบัติแค่ไหน เพราะที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยซึ่งมีบทบาทในการบริหารกระทรวงเกษตรก็มิได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย เมื่อเปรียบเทียบการบทบาทในการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ และการสร้างถนนปลอดฝุ่น เป็นต้น
 
พรรคภูมิใจไทยยังคงส่งเสริมการขยายพื้นที่การปลูกยางออกไปในภาคเหนือและอีสานแต่สิ่งที่พรรคการเมืองต่างๆต้องคิดใคร่ครวญอย่างรอบคอบก็คือการส่งเสริมการปลูกยางตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจะเผชิญกับความผันผวนทางการตลาด เพราะปริมาณการผลิตยางที่เพิ่มขึ้นของหลายประเทศทั่วโลกจะเกินความต้องการของตลาดในอีก 7-10 ปีข้างหน้า อีกทั้งต้องรับมือกับการผันผวนของราคาอันเกิดจากปัญหาความผันผวนทางเศรษฐกิจ ทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างสมดุลระหว่างการปลูกพืชเศรษฐกิจ/พืชทดแทนน้ำมันกับความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งแทบไม่ปรากฎอยู่ในนโยบายพรรคการเมืองทุกพรรครวมถึงพรรคภูมิใจไทยด้วย
 
4. พรรคชาติไทยพัฒนา

พรรคนี้เป็นพรรคเดียวที่กล่าวถึงนโยบายการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังน่ากังขาว่าจะทำได้เพียงใดเพราะในขณะที่พรรคมีรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังไม่ปรากฎว่าได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืนแต่ประการใด มิหนำซ้ำยังปล่อยให้มีการผ่อนผันการนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้แก่บริษัทสารเคมีการเกษตรสามารถขายต่อได้อีก 2 ปี ทั้งๆที่ควรดำเนินการให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีใหม่ให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
พรรคนี้มีความพยายามที่จะผลักดันนโยบายการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม แต่ก็ทำได้เพียงแค่อักษรในกระดาษเหมือนนโยบายภาษีที่ดินของประชาธิปัตย์ เพราะไม่สามารถขับเคลื่อนให้ผ่านสภาได้สำเร็จ
 
5. พรรคการเมืองอื่นๆ

พรรคกิจสังคมผลักดันนโยบายชลประทานระบบท่อ ซึ่งใช้งบประมาณมหาศาล โครงการชลประทานในลักษณะนี้เป็นระบบชลประทานรวมศูนย์ไร้ประสิทธิภาพ และเท่าที่ผ่านมา โครงการทดลองชลประทานระบบท่อถูกทิ้งร้างเป็นอนุสาวรีย์ เพราะมีปัญหามากมาย ทั้งท่อแตก ท่อตัน น้ำไม่พอ และขาดการดูแล เป็นโครงการขายฝันที่ไม่น่าสนับสนุน
พรรคชาติไทยพัฒนาเพื่อแผ่นดินที่มีนโยบายนำโครงการจำนำข้าวกลับมาใช้ใหม่ นโยบายนี้จะทำให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย
 
พรรครักษ์สันติมีนโยบายที่ดีในการสร้างข้อกำหนดและข้อจำกัดการลงทุนทางการเกษตรต่างชาติเพื่อประโยชน์เกษตรกรไทย แต่นโยบายการโซนนิ่งทางการเกษตรที่เสนอโดยพรรคนี้นั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะหากทำแบบรวมศูนย์จะสร้างผลกระทบทางลบมากกว่า
 
ข้อเสนอนโยบายเกษตรของมูลนิธิชีววิถี
 
ข้อเสนอทั้งหมดอยู่ภายใต้ฐานคิดของการลดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในระบบการผลิตทางการเกษตร อีกทั้งปรับปรุงการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนเกษตรกรและภาคเกษตรเพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างเพื่อรับมือกับวิกฤติอาหาร พลังงาน และสิ่งแวดล้อมซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วและมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
 
1.ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปที่ดินและการจัดสรรที่ดินแก่เกษตรกร
ให้มีการจัดซื้อที่ดินจากเอกชนเพื่อนำมาจัดสรรแก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน โดยควบคู่กับการมีนโยบายภาษีที่ดินก้าวหน้า และการจำกัดขนาดการถือครองที่ดินของผู้ประกอบการรายใหญ่ส่งเสริมการนำโฉนดชุมชนมาใช้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายการดำเนินการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรได้ทั้งหมดอย่างน้อย 1 ล้านรายในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า หรือปีละ 250,000 ราย
 
2.การประกันรายได้แก่เกษตรกรเพื่อการปรับโครงสร้างการเกษตร
สนับสนุนนโยบายประกันรายได้ของเกษตรกรและการพักชำระหนี้ โดยให้มีการกำหนดเกณฑ์ประกันรายได้ของเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืนและเกษตรกรรมอินทรีย์ต้องมีส่วนต่างมากกว่าเกษตรกรทั่วไป 25% พักชำระหนี้ทันทีให้กับเกษตรกรที่เปลี่ยนจากเกษตรทั่วไปมาเป็นเกษตรกรรมยั่งยืน พร้อมเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 5-10 ปี  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ต้องปล่อยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรที่ประสงค์จะปรับโครงสร้างการเกษตรมาเป็นเกษตรยั่งยืน (Green Credit) อย่างน้อยให้ได้ 25% ของยอดการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด
 
3.ส่งเสริมระบบชลประทานในไร่นาและการจัดการน้ำขนาดเล็กโดยชุมชน
จัดสรรงบประมาณต่อปีเทียบเท่ากับงบประมาณการก่อสร้างรถไฟฟ้า 1 สาย (ประมาณ 50,000 – 60,000 ล้านบาท) เพื่อส่งเสริมการจัดหาแหล่งน้ำในไร่นาของเกษตรกร ในรูปสระเก็บน้ำ บ่อบาดาล ฯลฯ และสนับสนุนการดำเนินการของชุมชนหรือกลุ่มชุมชนในการจัดระบบชลประทานของตนเอง และมีการบริหารน้ำเป็นของตนเอง
 
การลงทุนด้านการชลประทานถือเป็นการ “ลงทุน” ที่คุ้มค่า เพราะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการชลประทานที่มักให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองมากกว่าชนบท อย่างไรก็ตามการลงทุนด้านชลประทานต้องควบคู่ไปกับการปฏิรูปที่ดินด้วย เพราะมิฉะนั้นงบประมาณด้านชลประทานจะกลายเป็นการสนับสนุนเจ้าของที่ดินรายใหญ่และกลุ่มทุนทางการเกษตรที่ถือครองที่ดินไว้ในมือเป็นจำนวนมาก
 
4.กำหนดนโยบายความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาตนเองทางอาหารให้เป็นวาระของประเทศ
ยกระดับการพึ่งพาตนเองทางอาหารของครอบครัวเกษตรกรและชุมชนให้เพิ่มขึ้น กำหนดนโยบายความมั่นคงทางอาหารโดยกำหนดให้ “การผลิตอาหารต้องมาก่อนการผลิตพืชพลังงาน” (Food First Policy)  สนับสนุนให้เกิดวิสาหกิจชุมชนในการผลิตเมล็ดพันธุ์ พ่อแม่พันธุ์สัตว์เลี้ยง ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ การผลิตอาหารสัตว์ เพื่อลดการผูกขาดของบริษัทขนาดใหญ่ทางการเกษตร รวมถึงมาตรการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดจากความแปรปรวนของภูมิอากาศ และการระบาดของโรคแมลง
 
ลดปัญหาสารเคมีและสารพิษตกค้างในอาหารและการเกษตรลงโดยการลดปริมาณการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้ได้ครึ่งหนึ่ง ให้มีพื้นที่การผลิตแบบอินทรีย์ให้ได้อย่างน้อย 50% ในอีกสิบปีข้างหน้า พร้อมๆกับการพัฒนาระบบตลาดในท้องถิ่น ตลาดเกษตรกร หุ้นส่วนการผลิตระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค (Community Supported Agriculture) และความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างเกษตรกรกับกรรมกร โดยการขายผลผลิตอาหารจากกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจท้องถิ่นให้กับสหภาพแรงงานหรือสหกรณ์ของผู้ใช้แรงงานในเขตอุตสาหกรรมในราคาที่ยุติธรรม

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลไม่ให้ประกันตัว2ผู้ต้องขังเสื้อแดงอุบลฯ

Posted: 15 Jun 2011 02:42 AM PDT

ศาลจังหวัดอุบลราชธานียืนกรานไม่ให้ประกันตัว 2 ผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดง แม้จะ “จับผิดตัว” หรือ “เส้นเลือดในสมองตีบ-อัมพฤกษ์ครึ่งซีก” เพราะเครียดก็ตาม ฟากทนายความเตรียมยื่นอุทธรณ์เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง 

ความคืบหน้าของ 21 ผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงอุบลราชธานีล่าสุด เช้าวันที่ 15 มิถุนายน 2554 นายเกตุปัญญา วงศีล ที่ปรึกษาทนายความและนายวัฒนา จันทศิลป์ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว 2 ผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงอุบลราชธานี คือ นายธนูศิลป์ ธนูทอง จำเลยที่ 14 และนายคำพลอย นะมี จำเลยที่ 20 ในคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีโดยเหตุได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม2553 ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี

การยื่นคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวแก่จำเลยทั้ง 2 คนนั้น ผู้ร้องได้ยกเอาเหตุผลเรื่อง “การจับผิดตัว” ในกรณีนายธนูศิลป์ ซึ่งพ.ต.อ.ไอยศูรย์ สิงหนาท รอง ผบก.ตร.ภ.เมืองอุบลราชธานีเคยให้ข้อมูลกับคณะกรรมการการประชุมของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 ว่า กรณีของนายธนูศิลป์นั้นเป็นการจับผิดตัว


 

ส่วนกรณีนายคำพลอยนั้น อ้างเหตุอาการเจ็บป่วยด้วยอาการเส้นเสื้อในสมองตีบเพราะเครียดจนเป็นเหตุให้เป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีกจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานีตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2554 จนถึงวันที่ 14 มิถุนายนจนอาการทุเลาจึงถูกส่งตัวเข้าควบคุมที่เรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานี โดยแพทย์ได้วินิจฉัยอาการว่า เส้นเลือดในสมองตีบ แขนขาไม่มีเรี่ยวแรง
 
ต่อมานายสันติ สงห้อง ผู้พิพากษา ได้วินิจฉัยคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่ 14 ที่ว่า เป็นการจับผิดตัวนั้น เพราะศาลต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนเป็นหลัก ส่วนจำเลยที่ 20 นั้น การที่แพทย์อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลมาพักรักษาตัวได้นั้น เชื่อได้ว่า อาการคงจะดีขึ้นและภายหลังหากอาการถึงขั้นที่จะไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลอีก ทางเรือนจำมีหน้าที่ดำเนินการให้อยู่แล้ว อีกทั้งทางเรือนจำมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์คอยดูแลอยู่ด้วย หรือไม่อีกทางหนึ่งสามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ดังเช่นที่ผ่านมา จึงยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งให้ผู้ขอและจำเลยทราบโดยเร็ว”
 
หลังจากรับทราบคำวินิจฉัยของศาล นางปรารถนา นะมี ภรรยาของนายคำพลอยได้ร้องไห้ออกมา ส่วนนายเกตุปัญญา ที่ปรึกษาทนายความเปิดเผยว่า จะเร่งอุทธรณ์คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้กับผู้ต้องขังทั้งสองคนในเร็ววันและกล่าวว่า ไม่มีทางที่พวกเขาจะหลบหนี เพราะในขั้นตอนจับกุมพวกเขาก็ไม่ได้หลบหนี เพราะเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตัวเองและหลักฐานตามข้อกล่าวหาก็ไม่ได้ชัดเจน ที่สำคัญ นี่เป็นคดีการเมืองไม่ใช่คดีอาญา

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผบ.ทบ.ขอให้ประชาชนเลือกคนที่ทำให้บ้านเมือง-สถาบันปลอดภัย

Posted: 15 Jun 2011 12:39 AM PDT

ถ้าปล่อยให้การเลือกตั้งเป็นแบบเดิมจะได้อะไรแบบเดิมๆ คนที่มาเลือกตั้งให้ใช้สติมีเหตุผล รู้จักคิดว่าจะเลือกอย่างไรให้บ้านเมืองปลอดภัย สถาบันปลอดภัย ได้คนดีมาบริหาร อย่าให้ใครมาดูถูกว่าถูกชักจูงง่าย อัดถ้านักการเมืองกิริยาไม่เหมาะสมจะเลือกเข้าไปทำไม ต้องเลือกคนดี สุภาพ ตั้งใจทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง

ประยุทธ์ออกทีวีช่อง 5 ช่อง 7 ยันกองทัพมีภารกิจสำคัญ

เมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวชี้แจง “บทบาทของกองทัพต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน” ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และช่อง 7

โดย พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า ภารกิจหลักของกองทัพบกในสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ความเข้าใจทั้งในและนอกกองทัพ ตนคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าจากสถานการณ์ภายนอกได้เข้ากดดันกองทัพหลายเรื่องด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง การทหาร หรือแม้กระทั่งจัดตั้งรัฐบาล หรือการทำงานตามพันธกิจต่างๆ ของกองทัพก็ได้ถูกกล่าวไปในทางที่จะทำให้เกิดความไม่เข้าใจขึ้นได้ในกองทัพด้วยกัน หน้าที่โดยตรงในการรักษาอธิปไตยตามแนวชายแดน ซึ่งมี 7 กองกำลังในการดูแลโดยปฏิบัติร่วมกันระหว่างทหารหลัก ทหารพราน และตำรวจตระเวนชายแดน ภารกิจอื่นๆ คือ การจัดระเบียบพื้นที่ตามแนวชายแดน การรักษาความมั่นคงภายใน การรักษาสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นพันธกิจ 4 ประการ ที่กองทัพบกได้ดำเนินการอยู่

 

กองทัพบกรักษาสิ่งแวดล้อม ตามที่ในหลวง-ราชินีรับสั่ง

ปัจจุบันสถานการณ์ภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ มีมากหลายประการ กองทัพบกจำเป็นที่จะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเกี่ยวข้อง เช่น การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงรับสั่งมาเป็นเวลา 30 ปีแล้วในการรักษาสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นหลัก และต้องพึ่งพาน้ำ ซึ่งมาจากฝนที่เกิดมาจากป่า หากเราไม่รักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ ก็จะเกิดภัยพิบัติตามมาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมีผลมาจากไม่รักษาสภาพแวดล้อมที่เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ สิ่งที่กองทัพบกทำอยู่ทุกวันนี้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในเรื่องการดูแลพื้นที่ป่า จัดกำลังเข้าไปดูพิสูจน์ทราบ รวมถึงการป้องกัน และปราบปรามเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่โดยตรง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งโครงการต่างๆ ขึ้นมา เช่น โครงการพลิกผืนป่าด้วยพระบารมี โครงการดับไฟฟ้าด้วยพระบารมี โครงการ 8,400 คูคลองสนองพระปณิธาน ปัจจุบันมีโครงการปลูกต้นไม้ สร้างฝาย ขยายคูคลอง สนองพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งได้เปิดโครงการไปเมื่อเร็วๆ นี้ จะเห็นว่ากองทัพพยายามเข้าไปดูแลมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เราก็จะทำแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้ โดยมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้ 3 ส่วน มาพบกันในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ส่วนทหารก็มีหน้าที่ประสานงาน และส่วนสุด ท้ายคือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่จะเข้าไปดูแลในการพิทักษ์ปกป้อง หากมารวมกันก็จะทำให้ภารกิจต่างๆ สำเร็จได้ด้วยดี

 

กองทัพบกส่งทหารลงไปแก้ปัญหายาเสพย์ติดด้วย ลั่นประชาชนพอใจผลงาน

ส่วนเรื่องการป้องกันยาเสพติดมีอยู่หลายทีมงาน ทั้งศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก โดยมีทั้ง 7 กองกำลังตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกันของรัฐบาล เรามีอยู่ 5 รั้วที่เข้าไปเกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้มีการลักลอบนำสิ่งของผิดกฎหมายเข้ามา ที่ผ่านมาเราได้มีการจับกุมมีการปะทะอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการร่วมมือกันระหว่างพลเรือน ตำรวจ และทหาร แต่ปัจจุบันจากการพิสูจน์ทราบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามยาเสพติด (ปปส.) ที่รับผิดชอบโดยตรง ก็ได้ หารือมาว่าปัจจุบันว่าทำมีการแพร่หลายของยาเสพติดในพื้นที่ตอนในมากขึ้น มีการจับกุมมากขึ้น จึงได้มาสำรวจดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น โดยปริมาณยาเสพติดที่แพร่ หลายในประเทศประมาณ 35% ส่วนที่เหลือก็อยู่บริเวณรอบนอกที่รอจะเข้ามาในพิ้นที่ตอนใน ดังนั้นเมื่อส่วนหนึ่งมีการเข้ามา เราจึงจะต้องมีกองกำลัง หรือมีการทำงานร่วมกันของชุดปฏิบัติการพิเศษ หรือ 315 ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่าง ป.ป.ส. ทหาร และ ตำรวจ โดยเป็นการริเริ่มของรัฐบาล และ ป.ป.ส.

เดิมมีการพูดคุยกันตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า จะทำอย่างไรให้ลดการแพร่ระบาด 35% ที่ว่า ที่แพร่ระบาดในพื้นที่ กทม. ชุมชมต่างๆ เกือบ 2,000 แห่ง และ ปริมณฑล โดยเรามีฐานข้อมูล และลงไปดูว่าจะทำวิธีใดที่เร็วที่สุดให้ซื้อขายกันไม่ได้ ถ้าซื้อขายกันไม่ได้อย่างอื่นก็จะเบาลงบ้าง ในส่วนการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน คือ การบำบัดรักษา โดยมีอยู่ 2 อย่าง คือราชการ หรือสังคมตัวเอง โดยจะต้องใช้เวลา สถานที่ เราก็มามองว่าเร็วที่สุดเพื่อสนองต่อประชาชนว่าจะทำให้ยาเสพติด หมดไปจากชุมนุม เนื่องจากมีสิ่งของหาย มีการทุจริตผิดกฎหมายมากขึ้น ก็มาจากสาเหตุดังกล่าว เราจึงได้ลงไปช่วย แต่เรียนว่าทั้งหมดภายใต้การดูแลควบคุมเป็น ของตำรวจ และ ป.ป.ส. เป็นหลัก ทหารไปเพิ่มเท่านั้นเนื่องจากกำลังมีไม่เพียงพอ จึงได้ขอทหารลงไปช่วย และทหารลงไปก็ได้มีการอบรม และแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายโดยทาง ป.ป.ส. เป็นผู้แต่งตั้ง ดังนั้นทุกคนไปทำงานมีอำนาจตามกฎหมาย เราไม่ได้ลงไปปราบปราม แต่ลงไปทำหน้าที่จัดทำฐานข้อมูล ระบบ การป้องกันให้เข้มแข็งกับสังคม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การที่ลงไปทำงานในครั้งนี้เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย และได้รับการตอบสนองจากประชาชน ว่าเขาพอใจกับผลงานที่ทหารลงไปปฏิบัติ การทำ หน้าที่ของทหารทำอย่างนิ่มนวล และลงไปพบปะพูดคุยไปทำความรู้จักกัน และขอร้องว่าหากพบใครกระทำผิดกฎหมายก็แจ้งให้เจ้าหน้าที่ได้รับทราบ ไม่เคยไปข่มขู่ ใครทั้งสิ้น และไม่เคยไปดูว่าพื้นใดเป็นหัวคะแนนนั้นคะแนนนี้ ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ แต่สนใจว่าจะทำอย่างไรให้ปัญหายาเสพติดหมดไปจากชุมชนดังกล่าว และจะทำ อย่างไรให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เราไม่ต้องการที่จะไปต่อต้าน หรืออะไรต่างๆ ทำอะไรก็ทำไป แต่ท่านอย่าทำผิดกฎหมายเท่านั้นเอง ตนขอร้องแค่นั้น

 

ลั่นสนับสนุนเลือกตั้ง แต่ประชาชนถูกชักจูงโดยกลุ่มคนบางประเภท

พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 ก.ค.นี้ว่า เราจะสนับสนุนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ อยากให้ประเทศชาติผ่านพ้นห้วงเวลาที่ไม่สงบสุขไปได้ด้วยดี สิ่งที่ตนเป็นห่วงคือ เรื่องสื่อ ตนเรียนว่าสื่อเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประชาชนได้รับรู้ความเป็นไปมาของบ้าน เมือง เป็นฐานันดรหนึ่งที่สำคัญ แต่ตนเรียนว่าปัจจุบันนั้นมีผลกระทบมากกับสังคม และประชาชน เพราะว่าประชาชนถูกชักจูงไปโดยกลุ่มคนบางประเภท บางจำพวกที่ไม่ได้ปรารถนาดี หรือคิดว่าปรารถนาดีก็ตาม แต่สิ่งที่กลับมาทำให้เกิดผลตอบสนองย้อนกลับมาทำให้กองทัพมีปัญหากับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย การ ดูแล ดังนั้นสื่อจะต้องช่วยเรา และช่วยประเทศชาติให้ผ่านพ้นเวลาวิกฤตนี้ไปให้ได้

 

อัดทีวีดาวเทียมทำให้เกิดความแตกแยก ถ้าต้องการให้ประเทศไปได้ ต้องหยุดได้แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปัจจุบันเราจะมีสื่อในระบบ และนอกระบบ สื่อในระบบจะเห็นได้จากทั่วไปสื่อสิ่งพิมพ์ โฆษณาทีวี ส่วนอีกสื่อหนึ่งที่รับจากดาวเทียมที่ออกอากาศอยู่ทุกวันนี้ทำให้เกิดการแตกแยกกันหรือเปล่า แต่ตนก็ไม่แน่ใจตรงนี้ แต่ถ้าเราต้องการให้ประเทศชาติไปได้ และปรองดอง คิดว่าสื่อทั้งสองฝ่ายจะต้องเลิก หยุดได้แล้ว วันเวลาที่ผ่านมา สื่อบางสื่อทำให้เกิดเหตุต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ตนไม่ได้บอกว่าอันไหนถูกหรือผิด แต่ตนถามว่าความควรหรือไม่ควร เหมาะสมหรือไม่ เหมาะสม ถ้าต่างฝ่ายต่างบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกันและไม่เอื้อประโยชน์ให้ใครก็ไม่น่าจะ มาออกอากาศในตอนนี้ และที่ผ่านมาก็ทำให้ประชาชนเป็นสองฝักสองฝ่าย ตน คิดว่าวันนี้ต้องไม่มีฝักฝ่ายกันได้แล้ว ฉะนั้นอย่ามาบอกว่าตนเป็นทหาร มาห้ามสื่อ มีอำนาจบาตรใหญ่ไม่ใช่ แต่เป็นความคิดส่วนตัวในฐานะประชาชน เรื่องนี้ทางคณะ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องมาดูแลหรือเปล่าตนไม่รู้

การออกมาพูดทุกวันนี้ ผมพยายามฟังบ้างไม่ฟังบ้าง บางวันเวลาก็ไม่ค่อยเป็นธรรมกับผมเท่าไหร่ ไม่เป็นธรรมกับกองทัพ แต่ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธอะไรทั้งสิ้น หรือยอมรับ แต่ผมไม่ได้ให้ความสนใจมากกว่า แต่ประชาชนอีกระดับหนึ่งส่วนหนึ่งเขาฟังอยู่ ผมยกตัวอย่างว่าเคยได้รับโทรศัพท์จากต่างประเทศโทรมาหาผม และตำหนิผม ในฐานะที่เป็นผู้บัญชาการทหารบก ในการปกป้องดินแดนไม่ได้ เรื่องของการทำร้ายประชาชน ผมพยายามอธิบายแต่ก็ไม่เข้าใจ และบอกว่าฟังมาจากสื่อที่ผมระบุ 2-3 สื่อที่ว่านี้ เขาคิดว่าเป็นแบบนี้ ผมถือว่าอันตราย เพราะมันไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่ต่างประเทศด้วย และเราคิดว่าเราจะอยู่กันแบบนี้ต่อไปหรือ ฉะนั้นสังคมจะต้องมาดู และลงความเห็นว่าจะปล่อยให้มีสื่อแบบนี้ต่อไปหรือไม่ทั้งสื่อ ผมรู้ผมพูดวันนี้ก็จะต้องมีใครมาโจมตีผมแน่นอน แต่ก็ไม่เป็นไรผมยอมอยู่แล้ว ไม่เป็นไร ผมเรียนตรงนี้และก็อย่าย้อนกลับไปอีก 6 เดือนนี้ กับก่อนหน้านี้มันคนละเรื่อง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

ขอร้องประชาชน 60 ล้าน เรื่องสำคัญคือรักษากฎกติกาบ้านเมือง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทั้งหมดยืนหยัดด้วยกฎหมายใครผิดก็ว่าไปตามผิด กฎหมายเปิดโอกาสให้ต่อสู้ได้อยู่แล้วตามกระบวนการยุติธรรม ใครมีโทษมากโทษน้อย ก็สู้กันไป แก้กันไป แต่ท่านบอกว่ากลไกไม่ถูก ผมว่าไม่ได้ เพราะการดำเนินการกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดไม่ว่าจะตั้งอะไรมาก็จะต้องเข้า สู่กระบวนการยุติธรรม เราไปแตะต้อง หรือละเมิดไม่ได้ก็ต้องใช้ตามหลักฐานพยานต่างๆ ที่มีอยู่ใครผิด ใครถูกก็สู้กันไป ละเมิดไม่ได้ ขอร้องประชาชนทั้งหมด คนไทย 60 กว่าล้าน เรื่องสำคัญก็คือการรักษากฎกติกาของบ้านเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เอาละผมจะไม่พูดว่ามันจะยังไง แต่ผมพูดในฐานะเราเป็นเจ้าหน้าที่ เราเสียใจที่มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ มีทั้งเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ เสียชีวิต มันไม่ควรจะเกิดแม้แต่เพียงคนเดียว คนเดียวก็ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน แต่ถามว่าทำไมมันเกิดขึ้น ท่านต้องย้อนกลับไปดู เอาละเราจะไม่พูดว่ามันเพราะอะไร แต่ผมถามว่ามันควรเกิดขึ้นอีกได้ไหม มันไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีกแล้ว ต้องว่ากันไปตามผิดตามถูก ที่ผ่านมาใครผิดใครถูก ไปว่าตามกฎหมายดีกว่า ถ้าเราเถียงกันไปเถียงกันมา ถ้าโยนกันไปกันมาไม่ได้

 

การเลือกตั้งคือเลือกคนดี มีคุณธรรม คือรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี

สิ่งสำคัญนี้ก็คือการแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองด้วยการออกมาเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญ แล้วก็เลือกคนดีเข้ามา คนดีผมบอกแล้วว่า การที่มีคุณธรรมสำคัญ การที่คนทุกคนต้องมีคุณธรรม คือตัวของตัวเองมีคุณธรรม รู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี รู้อะไรถูก รู้อะไรผิด แล้วไม่ไปทำมัน นี่แหละมีคุณธรรม และสร้างจริยธรรมของท่านขึ้นมาในองค์กรของท่าน อย่างของผมก็ในกองทัพบกต้องมีคนดีๆ เยอะๆ แล้วช่วยกันประคับประคองสร้างวัฒนธรรมที่ดีในองค์กรให้เกิดขึ้น

นี่คือสิ่งที่อยากขอร้องประชาชนว่า เราเสียใจ เราไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ทั้งคู่น่ะ ไมว่ากี่คนก็ตาม ทั้งทหารเจ้าหน้าที่ ก็ต้องดูแลกันไป

เมื่อกี้เรียนไปแล้วว่า ทหารเรานั้นจะทำหน้าที่เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นทหารของประชาชนอย่างแท้จริง ก็จะทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศชาติผ่านพ้นวันเวลาที่ไม่เรียบร้อยไปให้ได้ ด้วยวิธีการอันถูกต้อง อันชอบธรรม ตามกฎหมาย”

 

มีคนทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้น แบบไม่ปกติ จึงต้องออกมาพูด

ในช่วงนี้ จากการติดตามของฝ่ายความมั่นคงเห็นว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันมากขึ้น ผมเรียนว่า อันที่จริงแล้วเรื่องนี้ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่า เรื่องสถาบันเราจะให้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ในเรื่องการดำเนินการตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในเรื่องนักวิชาการในเรื่องเกี่ยวกับสถาบัน คิดว่า มีมานานแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ก็มีเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ผมเรียนว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับสถาบันด้วยว่า ท่านก็ทรงทำทุกอย่าง อยู่ภายใต้กฎหมาย อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา

ในวิธีการตามปกติของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แน่นอนต้องมีคนกลุ่มหนึ่งต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ต้องอะไรต่างๆ แต่มันเป็นวิธีการตามปกติ แต่วันนี้ไม่ปกติ ที่ผมจำเป็นต้องออกมาพูด หรือทหารต้องออกมาเคลื่อนไหวบ้าง อะไรบ้าง ต้องมาทำความเข้าใจกับประชาชน ไม่ใช่ว่าทหารจะเป็นผู้ที่ผูกขาดความจงรักภักดี ไม่ใช่ แต่ในฐานะที่ทหารเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง แล้วเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่ต้องพิทักษ์ปกป้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 

อัดคนทำผิดเป็นกลุ่มซึ่ง ไม่ปกติ” และ “อยู่ต่างประเทศ”

สถาบันทรงมีคุณประโยชน์ต่อแผ่นดิน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นประเทศทุกวันนี้เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ รวบรวมผืนแผ่นดินผืนนี้ให้กับลูกหลานคนไทยทุกคนมาจนถึงทุกวันนี้ พระองค์ไม่เคยลงไปเกี่ยวข้องในเรื่องใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่พระราชกิจของพระองค์ท่าน ผมเรียนง่ายๆ ว่า ท่านดูแลแต่ทุกข์สุขของประชาชนโดยตลอด

ถึงวันนี้พระองค์ทรงมีพระชนม์พรรษามากขึ้น ท่านทรงทำพระราชกรณียกิจมากว่า 60 ปี วันนี้พระองค์ท่านน่าจะทรงพักผ่อนด้วยความสบายพระราชหฤทัย และเฝ้าทอดพระเนตรเห็นความก้าวหน้าของประเทศไทย เห็นความมั่นคง ยั่งยืน ความสุขของประชาชน แต่ผมก็เสียใจ ที่มีคนบางกลุ่มซึ่งไม่ปกติ เพราะในการกระทำผิดกฎหมายเรื่องนี้มีมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงนี้ ช่วงเลือกตั้ง มีมากขึ้น แล้วก็มีมากขึ้นโดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับกลุ่มคนที่อยู่ต่างประเทศทั้งสิ้น ที่อยู่ต่างประเทศผมไม่ได้พูดถึงระดับอื่นๆ ผมพูดถึงเอาแค่ง่ายๆ นายใจ (อึ๊งภากรณ์) ใช่ไหม อันนี้ นายจักรภพ (เพ็ญแข) ผมพูดได้ เพราะมันผิดกฎหมายอยู่แล้ว คนผิดกฎหมายผมไม่กลัวที่จะพูดน่ะ แล้วพยายามทำให้สถาบันเสียหาย แล้วเกี่ยวพันยึดโยงกับคนอีกหลายกลุ่ม ผมถือว่าเรายอมไม่ได้

 

พระองค์ท่านดูแลประชาชนมาหลายสิบปี แต่เด็กรุ่นหลังอาจไม่เข้าใจ

คำว่า ยอมไม่ได้ คือยอมให้คนทำผิดกฎหมายไม่ได้ เราจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นประชาชนทุกคนก็ต้องออกมาช่วยกัน ช่วยกัน ไม่ใช่ปกป้องในสิ่งที่ไม่ควรจะต้องทำ ปกป้องในสิ่งเป็นความผิด ไม่ใช่ ต้องช่วยกันดูแลพระองค์ท่าน เพราะพระองค์ท่านดูแลพวกเรากันมา ถ้าเป็นผมก็ 56-56 ปีเข้าไปแล้ว คนอื่นๆ ก็คงใกล้เคียงกันแหละมากกว่านี้ด้วยซ้ำ เพราะบางคนก็อายุมากกว่าผม แต่เด็กรุ่นหลังอาจจะไม่เข้าใจ อาจจะไม่ทันเท่าไหร่

 

อัดพวกแก้กฎหมายอาญา ม.112 “ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่อง”

แต่ท่านไม่เคยเรียกร้องความเข้าใจจากใคร ท่านไม่เคยมาตอบคำถามใครได้ เพราะสิ่งกล่าวอ้างทั้งหมดผมดูแล้วมันไม่เป็นธรรม ไม่สุภาพด้วยประการทั้งปวง เพราะฉะนั้นก็เป็นสิ่งที่สังคมต้องดูว่า เกิดจากที่ไหนอย่างไร แล้วมันเกี่ยวพันกับเรื่องอะไร ทำไมถึงมากขึ้นในตอนนี้ ไม่ว่าจะเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค หรือว่าสื่อสิ่งพิมพ์ โฆษณา ทั้งหมดน่ะมันระดมกันขึ้นมาในช่วงนี้มาก มันควรจะเกิดขึ้นไหมในช่วงเลือกตั้ง ผมถามมันควรจะเกิดขึ้นไหม แม้กระทั่งก่อนหน้านี้ก็ตาม ไม่ควรเกิดขึ้น แล้วก็สถาบันไม่เคยสั่งให้ใครทำโน่นทำนี่ ไม่เคย มีแต่ท่านมาช่วยเสริมว่าทำอย่างไรประชาชนจะมีความสุขอย่างยั่งยืน ท่านทำแค่นั้นแหละ เพราะฉะนั้นอยากให้ความเป็นธรรมกับสถาบันด้วย ไม่อยากให้คนไปละเมิดท่าน

กฎหมายมาตรา 112 อะไรที่ว่าก็มีคนจะมาล้มเลิกอะไรกันต่างๆ ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่อง ถ้าสถาบันท่านอยู่ของท่านดีๆ อยู่แล้ว แล้วท่านไม่ไปยุ่งกับสถาบัน ก็คือ ไม่ไปละเมิดหรือว่ากล่าวในสิ่งที่ไม่ถูกตามต้อง ผมถามว่าท่านจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วท่านก็เคยรับสั่งว่าท่านประสงค์ไม่ให้ดำเนินคดี แต่สิ่งที่ท่านทรงพระเมตตากลับกลายเป็นว่าทำให้คนเหล่านี้ได้ใจหรือเปล่าผมไม่แน่ใจนะว่า เออยังไงก็ไม่โดน ก็เลยละเมิดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนดีส่วนใหญ่เขายอมได้ไหม ก็ไม่ยอม เมื่อไม่ยอม พอเจ้าหน้าที่ทำงานก็ถูกดดันไปว่าทำไมเจ้าหน้าที่ไม่ทำงาน พอเจ้าหน้าที่ทำงานก็ถูกยกระดับมาว่าเออ อย่างนั้นต้องต่อต้านมาตรา 112 ผมถามว่ากลไกต่างๆ เกิดขึ้นอย่างไร เพราะใคร แล้วมันต้องแก้ด้วยอย่างไร ก็ฝากคำถามนี้ให้สังคมไปแก้ละกัน ช่วยกัน

 

ขอให้ประชาชนไปเลือกตั้งให้มากๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เรื่องสุดท้ายที่อยากฝากไว้คือ การเลือกตั้ง ความร่วมมือของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทุกพวกทุกฝ่ายนะ ช่วยกันไปเลือกตั้งเถอะครับ ผมทราบว่ายอดมีประมาณสัก 30-40 ล้าน ที่จะต้องออกมาเลือกตั้ง ตามที่มีสิทธิเลือกตั้ง ออกมาให้มากๆ แล้วเลือกตั้งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าท่านปล่อยให้การเลือกตั้งเป็นเหมือนเดิม คือกลุ่มที่มาเลือกก็เลือกเหมือนเดิม กลุ่มที่ไม่เคยเลือกก็ไม่เคยเลือกเหมือนเดิม เราก็ได้อะไรแบบเดิมๆ ตลอด เพราะฉะนั้นอยากฝากให้ทุกคนออกมาเลือกตั้ง ใช้สติมีเหตุผล รู้จักคิดว่า ว่าจะเลือกอย่างไร ทำอย่างไรบ้านเมืองปลอดภัย ทำอย่างไรสถาบันจึงจะปลอดภัย ทำอย่างไรคนดีจึงจะได้มาบริหารชาติบ้านเมือง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องคิดนะครับ อยากให้ประชาชน อย่าให้คนเขาดูถูก ดูถูกว่าท่านชักจูงง่าย ชักจูงไปไหนก็ได้ ไปเลือกใครท่านก็ไปเลือก โดยไม่ได้ดูว่าคนนั้นดีหรือไม่ มีคุณธรรมหรือไม่ เขาทำผิดกฎหมายหรือไม่ กิริยาที่นักการเมืองบางท่านใช้ไม่เหมาะสม แล้วจะเลือกเขาเข้าไปทำไม เลือกคนที่ดี คนที่สุภาพ ตั้งใจทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองเข้าไปทำงานแล้วกัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น