โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

เกือบ 9 ปีสลายม็อบท่อก๊าซ สืบพยานยืดยาวคดีชาวบ้านฟ้องตำรวจ

Posted: 17 Jun 2011 03:10 PM PDT

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 ที่ห้องพิจารณาคดี 204 ศาลจังหวัดสงขลา นายวินัย หนูโท ออกนั่งบัลลังก์ผู้พิพากษา ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.1818/2546 เลขแดงที่ 1804/2547 ที่นายสักกริยา หมะหวังเอียด กับพวกรวม 25 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พลตำรวจเอกสันต์ ศรุตานนท์ กับพวกรวม 38 คน ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ จากเหตุสลายการชุมนุมกลุ่มคัดค้านท่อก๊าซธรรมชาติไทย – มาเลเซีย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 บริเวณสะพานจุติ - บุญส่ง อุทิศ ทางเข้าโรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ทนายความของพันตำรวจเอกสุรชัย สืบสุข จำเลยที่ 4 ถามนายสักกริยาว่า ทราบหรือไม่ว่า โครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซ ธรรมชาติไทย-มาเลเซีย เป็นแผนสาธารณูปโภคขั้นด้านพลังงานขั้นพื้นฐานรองรับ 14 จังหวัดภาคใต้ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษปีนัง – สงขลา ที่เรียกกันว่า แลนด์บริดจ์ปีนัง – สงขลา นายสักกริยา ตอบว่า ไม่ทราบ

ทนายจำเลยถามต่อว่า เห็นหรือได้ยินพลตำรวจตรีสัณฐาน ชยนันท์ จำเลยที่ 3 และพันตำรวจเอกสุรชัย จำเลยที่ 4 สั่งการห้ามไม่ให้ชาวบ้านเดินทางยื่นหนังสือต่อเข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อให้ทบทวนการดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซโรงแยกก๊าซ ธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ซึ่งมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หรือไม่ และเห็นหรือได้ยิน จำเลยทั้ง 2 ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการณ์ชุมนุม หรือทำร้ายชาวบ้านหรือไม่

นายสักกริยา ตอบว่า ไม่เคยเห็น และไม่เคยได้ยิน แต่ทราบจากพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยทั้ง 2 ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดการเดินทางของชาวบ้าน โดยการตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ 4 แยกอำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา อีกทั้งมีการเอารถผู้ต้องขัง จอดขวางไว้กลางถนน เพื่อสกัดรถยนต์ของชาวบ้านในวันดังกล่าว รวมถึงการให้สัมภาษณ์ของพลตำรวจเอกสันต์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 1 ผ่านสื่อมวลชนว่า ได้รับรายงานว่ามีกลุ่มชาวบ้านฝ่าด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มุ่งสู่โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ แต่ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นผู้รายงานให้ทราบ ว่ามีกลุ่มชาวบ้านฝ่าด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นายสักกริยา เปิดเผยว่า คดีนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์แล้ว 2 ปาก คือ นายบรรจง นะแส และนางสาวศุภวรรณ ชนะสงคราม โดยสืบพยานโจทก์ปากแรก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552 การสืบพยานทั้ง 2 ปากใช้เวลาถึง 2 ปี

นายสักกริยา เปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้ตนได้มาเบิกความในฐานะพยานโจทก์แล้วเมื่อวันที่ 18 – 20 พฤษภาคม 2554 และ 15 – 16 มิถุนายน 2554 เป็นการหามูลเหตุของการคัดค้านโครงการ ซึ่งเป็นการสืบพยานที่วกวน แทบไม่เกี่ยวข้องกับเหตุสลายการชุมนุมเลย และตนจะมาสืบพยานอีก ในวันที่ 20 – 22 สิงหาคม 2554

สำหรับเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งนี้ ผ่านมาแล้วเกือบ 9 ปี แต่การต่อสู้คดียังไม่สิ้นสุด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เจรจา–ยุติธรรม–กระจายอำนาจ นโยบายที่อยากเห็นของผู้นำสายปอเนาะ

Posted: 17 Jun 2011 03:05 PM PDT

สัมภาษณ์ 3 ผู้นำศาสนาอิสลามสายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อความเห็นต่อนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554

 

อับดุลเลาะ หะยียามา

นายอับดุลเลาะ หะยียามา ผู้จัดการโรงเรียนนะห์ฎอตุลซูบาน หรือปอเนาะปือดอ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ในฐานะนายกสมาคมปัญญาชนมุสลิมชายแดนใต้ เปิดเผยว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทำอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการผลักดันการพูดคุยเจรจาเป็นลำดับแรกกับฝ่ายก่อความไม่สงบ เพราะที่ผ่านมาจะได้เห็นว่า รัฐได้ทุ่มทั้งกองกำลังและงบประมาณมาอย่างมโหฬารเพื่อแก้ปัญหา แต่กลับไม่มีอะไรดีขึ้น จะเรียกว่าพูดคุยหรือเจรจาก็แล้วแต่ แต่รัฐต้องถามฝ่ายต่อต้านต้องการอะไร

“การเจรจาเป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทำเป็นสิ่งแรก เพราะกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐก็เปรียบเสมือนคนที่ไม่ชอบอาหารที่รัฐเคยทำให้กิน รัฐจึงต้องถามเขาว่า เขาอยากกินอะไร ไม่ใช่ไปทำอาหารมาให้ แล้วเขาก็ไม่ยอมกินอีก ปัญหามันก็เกิดขึ้นไม่จบ” นายอับดุลเลาะ กล่าว

นายอับดุลเลาะ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจตามที่พรรคการเมืองต่างๆ นำเสนอเป็นนโยบายนั้น เป็นสิ่งที่ดีที่จะมาช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบได้ อย่างเช่น “นครปัตตานี” ของพรรคเพื่อไทย ที่จะให้อำนาจคนในพื้นที่ปกครองเอง

“ส่วนทบวงกิจการจังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคมาตุภูมิ ก็ไม่มีอะไรใหม่ เพียงแต่เป็นการตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพิ่ม ส่วนการสานต่อศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ของพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีการเกณฑ์คนมาเป็นสภาที่ปรึกษาก็ไม่มีอะไรมากกว่าเดิม”

นายอับดุลเลาะ กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จำเป็นต้องมีการยกเครื่องกระบวนการยุติธรรมใหม่ทั้งหมด คือ ต้องให้มีการปฏิบัติให้เท่าเทียมกันทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ การลงโทษคนทำผิดต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

ฮัสซัน ดาตู

นายฮัสซัน ดาตู โรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ หรือปอเนาะมลายูบางกอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ในฐานะรองนายกสมาคมศิษย์เก่าต่างประเทศจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นจากรัฐบาลชุดใหม่ คือการให้คนในพื้นที่เป็นผู้นำในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และถ้าเป็นไปได้อยากเห็นพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของคนในพื้นที่ อย่างเช่น พรรคประชาธรรม เข้ามาเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา

นายฮัสซัน กล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายการปกครองในรูปแบบพิเศษ นครปัตตานี ของพรรคเพื่อไทย ส่วนตัวเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะจะให้คนในพื้นที่ได้บริหารกันเองก็เหมือนกรุงเทพมหานครหรือเมืองพัทยา โดยการเลือกตั้ง

“การตั้งนครปัตตานีของพรรคเพื่อไทย เป็นนโยบายที่ดีในตอนนี้ แต่ยังไม่ดีที่สุด บางครั้งมันอาจดูเหมือนความเพ้อฝัน แต่ถ้าทำได้ก็จะดีที่สุด” นายฮัสซัน กล่าว

นายฮัสซัน กล่าวว่า ส่วนการสานต่อ ศอ.บต.ของพรรคประชาธิปัตย์ และการตั้งทบวงกิจการจังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคมาตุภูมิ ต่างก็เป็นนโยบายดีทั้งคู่ แต่สิ่งสำคัญที่สุด อยู่ที่ความจริงใจในการแก้ปัญหา

นายฮัสซัน กล่าวต่ออีกว่า เรื่องที่ดีของ ศอ.บต.คือการให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา คือ การตั้งสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมาจากตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ จำนวน 49 คน ถือเป็นสิ่งที่ดี ถ้าความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษานี้ถูกนำมาใช้จริง

นายฮัสซัน กล่าวด้วยว่า ส่วนบางพรรคที่จะให้มีการยุบ ศอ.บต.หลังจากได้รับเลือกตั้งแล้วนั้น กังวลว่า ยุบแล้วจะไม่มีหน่วยงานใดมารองรับ ซึ่งจะทำให้ขาดความต่อเนื่องในการพัฒนา ดังนั้นจึงต้องคิดถึงหน่วยงานที่จะมาแทนที่ด้วย

นายฮัสซัน กล่าวต่อไปว่า ในประเด็นความยุติธรรมในพื้นที่ที่มีอยู่ในตอนนี้ ถือว่าดีกว่าปีที่ผ่านๆ มา แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจมากนัก ดังนั้นรัฐบาลใหม่ยังต้องปรับปรุงและพัฒนาในเรื่องกระบวนการยุติธรรมอีกมาก

นายฮัสซัน กล่าวต่ออีกว่า ในเรื่องการเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบ เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนมาก เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นมาตลอดระยะ 7 ปี มันเกินพอแล้ว โดยอาจจะใช้คำว่าพูดคุยหรือเจรจาก็แล้วแต่ แต่ต้องมีการพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหา

“การใช้อาวุธในการต่อสู้ ไม่ใช่ความสำเร็จของทุกฝ่าย สุดท้ายต้องจบด้วยการนั่งโต๊ะมาพูดคุยเจรจากัน เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก ที่มีปัญหาความขัดแย้งกัน ดังนั้นทุกฝ่ายทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายต่อต้านรัฐ ก็ต้องลดความแข็งกร้าวลง แล้วหันหน้ามาคุยกัน” นายฮัสซัน กล่าว

นายฮัสซัน กล่าวด้วยว่า อีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้รัฐบาลชุดใหม่สานต่อ คือ สานต่อนโยบายเรียนฟรี 15 ปี เพราะช่วยแบ่งเบาภาระแก่ผู้ปกครองนักเรียนได้มาก

 

นายอาดุลวาฮับ ดาตู โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดอัลอามีน บ้านพงยือไร ตำบลบันนังสาเรง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และอุสตาซ(ครูสอนศาสนาอิสลาม)โรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งผลักดันเรื่องการแก้ปัญหาความยุติธรรมในพื้นที่เป็นสิ่งแรก โดยเฉพาะหลายคดีในอดีตที่ยังเป็นที่ค้างคาใจของคนในพื้นที่ เช่น คดีกรณีตากใบ

“สิ่งเหล่านี้ต้องเคลียร์ให้ได้ ต้องให้ประชาชนเกิดความสบายใจ เพราะก่อนที่จะพูดถึงเรื่องอื่น ต้องทำเรื่องที่ผ่านมาให้เรียบร้อยก่อน” นายอาดุลวาฮับ กล่าว

นายอาดุลวาฮับ กล่าวอีกว่า อยากให้ ส.ส.เข้าไปดูแลให้กำลังใจผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวในคดีความมั่นคงด้วย เพื่อให้เขารู้สึกว่า ผู้แทนของเขาไม่ได้ทอดทิ้ง ส่วนเรื่องการกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับความไม่สงบ ให้ยึดตามหลักฐานไม่ใช่ยึดจากความรู้สึกหวาดระแวง

นายอาดุลวาฮับ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องเขตปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษที่มีบางพรรคเสนอเป็นนโยบายในการหาเสียงนั้น ต้องให้มีความชัดเจนในหลายเรื่องว่ามีความพิเศษอย่างไร เช่น ด้านการศึกษา เศรษฐกิจ และประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร เพราะวันนี้ประชาชนไม่รู้จะเชื่อใคร เพราะที่ผ่านมา นักการเมืองส่วนใหญ่ มักพูดอย่างเดียวแต่ทำไม่ได้

“นโยบายของแต่ละพรรคไม่ควรเป็นแค่เครื่องมือหาเสียง แต่ควรพูดจริงทำจริง เพราะถ้าทำไม่ได้ตามที่พูด ก็เท่ากับเป็นการหลอกลวงประชาชน เรื่องเขตปกครองพิเศษมีการพูดกันมานานแล้ว แต่ก็ทำไม่ได้สักที ถ้าทำได้จริงก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่คนในพื้นที่จะมีสิทธิบริหารจัดการพื้นที่ด้วยตัวเอง” นายอาดุลวาฮับ กล่าว

นายอาดุลวาฮับ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการพูดคุยเจรจากับฝ่ายขบวนการนั้น เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะทุกที่ทั่วโลกที่มีความขัดแย้ง ปัญหาก็จบลงด้วยการเจรจา ไม่มีที่ไหนในโลกที่ต้องต่อสู้ด้วยอาวุธไปตลอด

“ประชาชนก็สนับสนุนการเจรจาอยู่แล้ว เพราะทุกคนก็ต้องการสันติภาพ อยากได้ความสงบสุขกลับคืนมา แต่โจทย์ก็คือใครที่จะมาเป็นตัวแทนในการเจรจา คนที่จะมามานั่งโต๊ะเจรจากันนั้น เป็นตัวแทนของทั้งฝ่ายรัฐหรือฝ่ายขบวนการจริงหรือไม่ มีอำนาจในการสั่งการหรือไม่” นายอาดุลวาฮับ กล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไฟแนนเชียล ไทมส์:สัมภาษณ์อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

Posted: 17 Jun 2011 02:48 PM PDT

ไฟแนนเชียลไทมส์ ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์นายกอภิสิทธิ์ โดยผู้สื่อข่าว David Pilling and Tim Johnston เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2554 ว่าด้วยเรื่องการเลือกตั้งที่จะมาถึง รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่ยังค้างคาใจใครหลายคน เช่น การสลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 และบทบาททหารในการเมืองไทย โดยประชาไทเลือกบทสัมภาษณ์บางส่วนที่น่าสนใจมาแปลและนำเสนอ ดังนี้

                                                                       00000

ไฟแนนเชียล ไทมส์:
บรรยากาศในการหาเสียงครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

อภิสิทธิ์: ดีครับ ผมเอ็นจอยกับการได้ออกไปพบปะผู้คนจากหลายกลุ่ม เช่น ชาวนา คนงานในโรงงาน ชาวบ้านในตลาด และอื่นๆ แต่มีคนบอกว่าคุณไม่ค่อยชอบอยู่กับชาวนาและคนงานนะ แต่นั่นอาจจะเป็นการป้ายสีก็ได้ ผมก็เห็นด้วย ครั้งนี้เป็นการสมัครรับเลือกตั้งครั้งที่ 8 ของผมแล้ว ยังไม่นับครั้งอื่นๆที่ผมลงสมัครเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นที่ผมต้องไปหาเสียงอีก ที่มีคนพูดว่าผมไม่ค่อยชอบพบปะผู้คน ผมว่าคงไม่ค่อยจริงเท่าไหร่ เพราะผมทำมาเป็น 20 ปีแล้ว

ไฟแนนเชียล ไทมส์:โพลล์ดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่เลยนะ (สำหรับประชาธิปัตย์)

อภิสิทธิ์:ผมว่าก็ดูโอเคนะ ก็เป็นการแข่งขันที่เฉียดฉิว และจริงๆผมก็ชอบเป็นม้ารองบ่อน เพราะทำให้เราได้ทำงานกันแข็งขันมากขึ้น แต่ดูแล้วท่าทางคุณไม่น่าจะได้เป็นเสียงข้างมาก ผมว่าไม่จริง ยังเป็นไปได้อยู่ ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นประเด็นในตอนนี้ คือโครงการประกันรายได้สำหรับชาวนา ที่พรรคเพื่อไทยบอกว่าเขาค่อนข้างมั่นใจ แต่จริงๆ แล้วชาวนาจำนวนมากรู้สึกว่านโยบายดังกล่าวน่าจะเป็นภัยมากกว่า

ไฟแนนเชียล ไทมส์:โพลล์ของพรรคปชป.ว่ายังไงบ้าง..?

อภิสิทธิ์: เราตามหลังอยู่นิดหน่อย การจัดสรรที่นั่งซับซ้อนนิดหน่อยในระบบแบบนี้ แต่เราก็ประเมินว่า สองพรรคใหญ่จะได้เสียงรวมกันราว 400 เสียง ซึ่งแต่ละพรรคก็น่าจะได้ประมาณ 200 ที่นั่ง

ไฟแนนเชียล ไทมส์:คุณคิดว่าประเด็นหลักๆในช่วงอาทิตย์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งคืออะไร คิดว่าจะแย่ลงไหม??

อภิสิทธิ์:ผมคิดว่าทางเลือกก็ค่อนข้างชัดเจนนะ ในแง่ของนโยบาย ที่ผมพูดถึงเรื่องชาวนาไป ผมว่าอันนี้เป็นความแตกต่างที่ชัดเจน เราจะดีใจมากถ้าชาวนาได้ตัดสินใจในเรื่องนั้น แต่ผมคิดว่าประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดในตอนนี้ก็คือ เพื่อไทยมุ่งไปที่การนิรโทษกรรมและการฟอกตัวทักษิณค่อนข้างมาก เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุดของประเทศและของประชาชน ประชาชนต้องการจะแก้ไขปัญหาปากท้องมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น และประชาชนก็อยากจะเห็นการแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติดอย่างเร่งด่วน สิ่งที่ประชาชนไม่น่าอยากจะเห็น ก็คือความขัดแย้งและปัญหาที่ไม่จบสิ้นต่างหาก

ไฟแนนเชียล ไทมส์:แต่ถ้ามองว่านี่เป็นการทำประชามติเรื่องทักษิณล่ะ ซึ่งจริงๆแล้วก็เหมือนจะใช่...

อภิสิทธิ์:
ถ้าเพื่อไทยอยากให้การเลือกตั้งเป็นการทำประชามติเรื่องทักษิณ ก็ให้เปิดเผยพูดกันตรงๆไปเลย แล้วก็หยุดหาเสียงโดยนโยบายอย่างขึ้นค่าแรงวันล่ะ 300 บาทได้แล้ว เพราะคนจะได้รู้กันว่าเลือกตั้งไปแล้วจะได้อะไร

ไฟแนนเชียล ไทมส์:แต่สโลแกนหาเสียงของเพื่อไทยที่ว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ยังชัดเจนไม่พออีกหรือ

อภิสิทธิ์:ก็ใช่ แต่คนงานในโรงงานอาจจะคิดว่า ทักษิณจะทำให้ค่าแรงขึ้นได้เป็น 300 บาท แต่จริงๆแล้วทักษิณคิดแต่เรื่องของนิรโทษกรรมตนเอง ซึ่งมันไม่แฟร์ต่อผู้เลือกตั้ง

ไฟแนนเชียล ไทมส์:แต่ถ้าเขาอยากจะนิรโทษกรรม...

อภิสิทธิ์:แล้วอีกกี่เดือนล่ะกว่านิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นได้ ทำไมปัญหาของประชาชนต้องมาทีหลังปัญหาส่วนตัวของทักษิณล่ะ?

ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเพื่อไทยต้องหยุดการดำเนินงานทางด้านนโยบายนี่

อภิสิทธิ์:ทักษิณกลับมาไม่ได้

ไฟแนนเชียล ไทมส์:แต่ถ้าเพื่อไทยสามารถดำเนินการนำเขากลับมาได้ และบริหารรัฐบาลไปได้พร้อมๆ กัน?

อภิสิทธิ์:
พวกเขาก็เคยลองแล้วในช่วงรัฐบาลสมัคร(สุนทรเวช) และรัฐบาลสมชาย(วงศ์สวัสดิ์)

ไฟแนนเชียล ไทมส์:ที่คุณได้ไปพูดที่ FCCT ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกระหว่างประชาธิปัตย์ และความวุ่นวาย…

อภิสิทธิ์: ผมพูดว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกระหว่างการนำประเทศก้าวไปข้างหน้า ก้าวข้ามพ้นความขัดแย้งเก่าๆ และการกลับไปสู่ความขัดแย้ง แน่นอนว่าข้อเสนอเรื่องการนิรโทษกรรมจะเป็นข้อเสนอที่สร้างความวุ่นวาย และจะทำให้สังคมเราแตกแยกอีกครั้ง

ไฟแนนเชียล ไทมส์:แต่ถ้าคนไทยส่วนใหญ่อยากได้นิรโทษกรรม และเลือกเช่นนั้น...

อภิสิทธิ์:
แล้วเราจะรู้ได้ยังไง..?

ไฟแนนเชียล ไทมส์: ก็มันเป็นส่วนหนึ่งของการไปออกเสียงนี่

อภิสิทธิ์:ก็อย่างที่ผมบอก คุณอาจจะทำลายความเชื่อใจของประชาชนก็ได้ เพราะผมได้ไปพูดคุยกับคนที่บอกว่าจะเลือกเพื่อไทย เขาบอกว่าที่เลือกเพราะอยากได้ค่าแรงขึ้นเป็น 300 บาท ดังนั้นคุณจะฟันธงว่าอย่างนั้นก็ไม่ได้

ไฟแนนเชียล ไทมส์: ....ว่าคนเลือกเพราะอยากให้มีการนิรโทษกรรม?

อภิสิทธิ์:ถูกต้อง พรรคเพื่อไทยหาเสียงด้วยนโยบายที่เป็นไปไม่ได้ เพราะจะเรียกคะแนนเสียงอย่างเดียว ดูอย่าง นโยบายแจกไอแพดให้เด็กนักเรียน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท โครงการจำนำข้าว นโยบายที่ว่านี้ ใช้งบประมาณราวๆ ทั้งหมดสามเท่าของงบที่มีอยู่

ไฟแนนเชียล ไทมส์:สมมุติว่าเพื่อไทยได้ตั้งรัฐบาลพรรคร่วม หรือเป็นเสียงข้างมาก คุณคิดว่า คุณเอง และคนรอบข้างจะยอมรับผลที่ว่าได้หรือไม่

อภิสิทธิ์:
เรายอมรับผลการเลือกตั้งเสมอ

ไฟแนนเชียล ไทมส์:แต่ในประวัติศาสตร์มีเหตุการณ์ที่มีการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งโดยการรัฐประหาร

อภิสิทธิ์:จริงหรือ เมื่อไหร่ล่ะที่การเลือกตั้งไม่ถูกยอมรับ และถูกรัฐประหาร เรามีรัฐประหารในระหว่างการเลือกตั้งต่างหาก

ไฟแนนเชียล ไทมส์: ก็มีเหตุการณ์ในอดีตที่ว่า ฝ่ายต่อต้านทักษิณ ใช้วิธีนอกเหนือจากประชาธิปไตยเข้ามาจัดการ...

อภิสิทธิ์:
ไม่จริง ที่จริงแล้วพรรคการเมืองของทักษิณมีการกระทำผิดกฎหมาย นี่คือเหตุผลที่พรรคไทยรักไทยถูกตัดสินยุบพรรค เช่นเดียวกับพรรคพลังประชาชน จะเห็นว่าการรัฐประหารเกิดขึ้นในระหว่างการหาเสียงต่างหาก เราคิดว่าการรัฐประหาร เป็นการทำให้ประเทศเดินถอยหลัง เราไม่ได้สนับสนุนการรัฐประหาร

ไฟแนนเชียล ไทมส์: คำถามคือว่า ฝ่ายตรงข้ามทักษิณจะยอมรับผลการเลือกตั้งที่เพื่อไทยชนะได้หรือไม่ คุณได้พูดไปชัดเจนว่าคุณจะยอมรับผลที่ออกมา แต่ผู้เล่นอื่นๆ ในการเมืองไทยล่ะ เช่น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือกองทัพ จะยอมรับหรือไม่

อภิสิทธิ์:พวกเขาก็ควรจะยอมรับ

ไฟแนนเชียล ไทมส์: แล้วคุณเชื่อว่าพวกเขาจะยอมไหม

อภิสิทธิ์:
ก็คิดว่าคงยอมนะ ตอนสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่มีอะไรผิดปรกติเกิดขึ้น จนกระทั่งเขาเริ่มพูดถึงการนิรโทษกรรม เพราะประชาชนรู้สึกว่ามันเป็นข้อเสนอที่ขัดกับหลักนิติรัฐ เราไม่เคยมีข้อตัดสินศาลหรือกรณีใด ๆ ที่ทำไปเพื่อฟอกตัวคนใดคนหนึ่ง ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาสนใจผลประโยชน์ส่วนตัว ก่อนผลประโยชน์ของประเทศชาติ

ไฟแนนเชียล ไทมส์:ถ้าทางเพื่อไทยเริ่มดำเนินการแผนนิรโทษกรรม คุณคิดว่าจะนำไปสู่ความวุ่นวายไหม

อภิสิทธิ์:ก็มีความเสี่ยงอยู่ ถ้าพวกเขาไม่กระทำผิดกฎหมาย พวกเขาก็คงจะไม่ถูกยุบพรรค

ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณเห็นหลักฐานว่าพวกเขาทำผิดกฎหมายบ้างหรือไม่

อภิสิทธิ์:ตอนนี้เรายังไม่รู้ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งก็พูดถึงสองสามกรณีที่อาจเกิดการตัดสิทธิผู้ลงสมัครได้ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร

ไฟแนนเชียล ไทมส์:แต่ว่าจริงๆ แล้ว เขาก็พูดกันว่าทุกพรรคการเมืองก็ใช้วิธีการแบบเดียวกันหมด ?

อภิสิทธิ์:เราเองก็มีผู้สมัครที่ถูกตัดสิทธิเหมือนกัน ทุกพรรคก็อยู่ภายใต้กฎนี้

ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณคิดว่ามันเป็นกฎหมายที่ดีหรือเปล่า

อภิสิทธิ์:
ก็คิดว่าดีนะ และคิดว่าต้องมีการบังคับใช้ที่ดีกว่านี้ด้วยซ้ำ ไม่ต้องถึงกับยุบพรรคการเมือง แต่ผมคิดว่าคณะกรรมการบริหารพรรคควรจะต้องรับผิดชอบกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะว่าที่ทำผิดไปก็ทำในนามของพรรค

ไฟแนนเชียล ไทมส์:ควรจะรับผิดชอบในฐานะปัจเจกบุคคล ไม่ใช่ทั้งพรรค?

อภิสิทธิ์: แต่ก็ควรจะมีความรับผิดชอบร่วมในหมู่คณะกรรมการบริหารพรรค ถ้าการกระทำดังกล่าวทำไปเพื่อผลประโยชน์ของพรรคมากกว่าเพื่อปัจเจกบุคคล

ไฟแนนเชียล ไทมส์:แต่มีความรู้สึกในหมู่ประชาชนว่ากฎหมายบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียม

อภิสิทธิ์:ก็นั่นเป็นเพราะว่าคุณฟังความข้างเดียวน่ะสิ ลองคิดถึงกรณีที่ทักษิณและเสื้อแดงชนะบ้าง พอเป็นอย่างนั้น แล้วทำไมไม่เห็นเขาบ่นเรื่องความไม่ยุติธรรมบ้าง

ไฟแนนเชียล ไทมส์:สงสัยเพราะพวกเขาคิดถึงแต่กรณีที่พวกเขาแพ้กระมัง

อภิสิทธิ์:แล้วก็ไม่เห็นพูดถึงกรณีที่ตัวเองชนะบ้าง ถ้าคุณดูกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายแพ้แล้ว.... ก็เราไม่ได้ทำอะไรผิดนี่ ถ้ามีคนเดินมาหาแล้วต่อยหน้า แล้วถูกลงโทษ คุณสมควรต้องถูกลงโทษไปด้วยหรือ..?

ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่ประชาธิปัตย์ก็หลุดพ้นการตัดสินในกรณีทีพีไอ โพลีนได้...

อภิสิทธิ์:ผมก็จะบอกให้ว่าในกรณีนั้น ตอนแรกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) บอกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด จนกระทั่งเสื้อแดงไปชุมนุมที่สำนักงานกกต. เขาจึงเปลี่ยนผลการตัดสิน

ไฟแนนเชียล ไทมส์:คุณกำลังบอกว่าผลการตัดสินกกต. ขึ้นอยู่กับแรงกดดันหรือ

อภิสิทธิ์:ใช่..! และคุณจะเห็นว่าคำร้องที่ส่งไปร้องเรียนให้ตรวจสอบพรรคไทยรักไทย และเพื่อไทย ไม่ได้ดำเนินการจากพวกเราเลย เราไม่เคยไปแทรกแซงหรือข่มขู่ใครทั้งนั้น หลายๆ กรณีที่โจมตีพรรคประชาชาธิปัตย์นั้นมาจากพรรคของทักษิณทั้งนั้น แม้กระนั้นพวกเขากลับบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค

ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณคิดว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ที่ไปตราหน้าแกนนำเสื้อแดงบางคนที่ลงสมัครเลือกตั้งในพรรคเพื่อไทย ว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

อภิสิทธิ์:เราใช้คำนิยามตามกฎหมายสากลระหว่างประเทศ คิดว่ากำหนดขึ้นหลังช่วง 9/11 (เหตุการณ์ถล่มตีกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์)

ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณไม่คิดว่าเป็นเรื่องแปลกหรือ ที่คนระเบิดสถานีตำรวจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังถูกมองว่าเป็นอาชญากรธรรมดา?

อภิสิทธิ์:ก็ไม่ใช่ทั้งหมด บางส่วนก็ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นการก่อการร้าย

ไฟแนนเชียล ไทมส์:อืม.. ไม่เคยได้ยินกรณีหลังเลย

อภิสิทธิ์:ก็นั่นไง

ไฟแนนเชียล ไทมส์:คุณรู้ไหมว่ามีจำนวนเท่าไหร่

อภิสิทธิ์:
ไม่นะ แต่ผมก็ได้สอบถามไป เขาว่าขึ้นอยู่กับกรณีๆไป ว่าตรงตามคำนิยาม (ว่าด้วยการก่อการร้าย) หรือไม่ ปัญหาเกี่ยวกับภาคใต้ที่ทำให้การดำเนินข้อหาการก่อร้ายเป็นเรื่องยาก เพราะความรุนแรงถูกเชื่อมโยงกับข้อเรียกร้องบางอย่าง ส่วนข้อเรียกร้องที่ว่านั้นจะเป็นอะไรก็อีกเรื่อง

ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณค่อนข้างกระตือรือร้นในการเปิดช่องทางที่จะสื่อสารกับผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ความคืบหน้าเป็นยังไงบ้าง

อภิสิทธิ์:
ผมคิดว่าการพูดคุยเพื่อรับฟังมุมมอง และปัญหาจากพวกเขาเป็นประโยชน์มาก และผมก็รู้ว่าเจ้าหน้าที่ในหลายหน่วยงานพยายามจะเปิดช่องทางสื่อสารดังกล่าว

ไฟแนนเชียล ไทมส์:แต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจดำเนินการอะไรใช่ไหม

อภิสิทธิ์:
ยัง...อย่างน้อยเพราะในจังหวัดชายแดนใต้มีกลุ่มต่างๆที่หลากหลาย และไม่ได้มีเอกภาพเท่าแต่ก่อน และเมื่อสถานการณ์เกิดขึ้น ก็ไม่มีใครออกมารับผิดชอบ ไม่ได้มีข้อเรียกร้องอะไร

ไฟแนนเชียล ไทมส์:คุณมองอย่างไรต่อสถานการณ์ต่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว มีคนจำนวนมากเสียชีวิต ในคนหลายพันคนที่ไม่มีอาวุธ ถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มติดอาวุธอยู่ข้างในบ้าง

อภิสิทธิ์:เราก็พยายามเต็มที่เพื่อที่จะแยกสองกลุ่มออกจากกัน เราใช้ความอดทนอดกลั้น และได้เสนอทางออกทางการเมือง ที่มักถูกปฏิเสธจากฝ่ายนั้นเสมอ

ไฟแนนเชียล ไทมส์:คุณพูดถึงข้อเสนอให้มีการเลือกตั้ง ?

อภิสิทธิ์:ใช่ ซึ่งก็จะเป็นหกเดือนก่อนหน้าจากปัจจุบัน เราไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย และรับมือสถานการณ์ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ คุณรู้ไหม เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในตะวันออกกลาง มีหลายคนมาบอกกับผมว่า “เราเข้าใจ ว่ามันเป็นเรื่องซับซ้อน”

ไฟแนนเชียล ไทมส์:คุณรู้สึกเสียใจในสิ่งที่ทำไปไหม มีอะไรที่อยากจะทำต่างออกไปบ้าง

อภิสิทธิ์:ผมไม่แน่ใจว่าเราจะทำอะไรต่างออกไปได้หรือเปล่า แต่ผมเสียใจเสมอในความสูญเสีย

ไฟแนนเชียล ไทมส์:ทำไมการสืบสวนเหตุการณ์ไม่คืบหน้าเร็วกว่านี้

อภิสิทธิ์:ควรจะไปถามคนที่เกี่ยวข้องโดยตรงมากกว่า เขาจะบอกคุณเรื่องอุปสรรคที่เจอ และผมเองก็คิดว่ามันก็น่าจะเป็นเรื่องยากในการค้นหาความจริงเบื้องลึกได้ ในเมื่อยังมีสถานการณ์ความวุ่นวายยังคงอยู่

ไฟแนนเชียล ไทมส์:ทำไมเขาไปมองที่เหตุการณ์ในตะวันออกกลางแล้วบอกว่าเขาเข้าใจล่ะ

อภิสิทธิ์:เพราะคุณจะเห็นว่ามันมีความรุนแรงและความสูญเสียมากมายที่เกิดขึ้น

ไฟแนนเชียล ไทมส์: แต่ในกรณีนั้นฝ่ายที่ผิดน่าจะเป็นพวกรัฐบาลเผด็จการไม่ใช่หรือ คุณคงไม่อยากถูกนำไปเปรียบเทียบกับรัฐบาลพวกนั้นหรอกนะ ? 

อภิสิทธิ์: ใช่... แสดงว่าคุณก็คิดได้ว่าเราไม่ได้เป็นรัฐบาลเผด็จการ

ไฟแนนเชียล ไทมส์:คุณคิดว่าการใช้สไนเปอร์เพื่อจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นเรื่องเหมาะสมหรือไม่ ฮิวแมนไรท์วอทช์บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ conflict zone (พื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ซึ่งไม่อนุญาตให้รัฐใช้อาวุธสงครามได้ - ผู้แปล)

อภิสิทธิ์:ตอนนี้มีหลักฐานชัดเจนแล้วหรือ??ว่ามีการใช้สไนเปอร์?

ไฟแนนเชียล ไทมส์:เรามีรูปของคนที่ใช้อาวุธสไนเปอร์ และพลแม่นปืน

อภิสิทธิ์:ผมได้อธิบายไปแล้วว่าคนในรูปกำลังทำอะไร คุณก็เห็นคลิปแล้ว มีรูปผู้ชายคนหนึ่งที่กำลังจะจุดไฟเผารถยนต์ เขาจึงถูกยิงเข้าที่ขา

ไฟแนนเชียล ไทมส์:ฉะนั้นการยิงเข้าที่หัวก็ไม่ได้มาจากปืนสไนเปอร์เลย ?

อภิสิทธิ์:เราก็ไม่ได้มั่นใจ 100% แต่การที่คุณมีรูปกลุ่มคนอยู่บน (รางรถไฟฟ้า) ซึ่งกำลังควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุม และด่วนสรุปว่าพวกนั้นเป็นมือสไนเปอร์ที่ยิงประชาชน คงไม่ค่อยถูกต้องเท่าไรนัก เรามีหลักฐานชัดเจนว่าคนที่อยู่ด้านบน ยิงผู้ชายคนหนึ่งในที่ชุมนุมเข้าที่เท้า เพราะต้องการหยุดไม่ให้เขาไปจุดไฟเผารถเท่านั้น

ไฟแนนเชียล ไทมส์:การยิงคนเข้าที่ขา เพื่อหยุดคนไม่ให้ไปแตะต้องรถยนต์ เป็นเรื่องที่ยอมรับได้อย่างนั้นหรือ?

อภิสิทธิ์:แล้วถ้าเป็นคุณ คุณจะทำยังไง ?

ไฟแนนเชียล ไทมส์: ผมก็ไม่รู้

อภิสิทธิ์:ข้อกล่าวหาที่ใหญ่ที่สุดที่เกี่ยวกับการยิงสไนเปอร์ น่าจะเป็นกรณีวัดปทุม ไหนคุณลองบอกซิว่าแรงจูงใจในการยิงที่เกิดขึ้นคืออะไร ตอนนั้นการชุมนุมก็จบลงแล้ว ทำไมทหารถึงต้องอยากจะยิงประชาชนด้วยในเมื่อการชุมนุมจบลงแล้ว

ไฟแนนเชียล ไทมส์: คุณกำลังพูดว่าไม่มีใครถูกยิงในวัดอย่างนั้นหรือ

อภิสิทธิ์:ไม่ใช่! มีคนถูกยิงในวัดปทุม แต่ใครยิง เรายังไม่รู้ เป็นเรื่องของคณะกรรมการสืบสวนที่ต้องค้นหาความจริง แต่การสรุปว่าคนในวัดปทุมถูกยิงโดยทหารเป็นเรื่องที่ไม่แฟร์ ผมรู้ว่าคำสั่งในตอนนั้นชัดเจนมาก คือไม่ให้เข้าไปในพื้นที่นั้นเพราะมีคนอยู่ที่วัด เหตุผลเดียวที่ทหารต้องเข้าไปอยู่บริเวณนั้น เป็นเพราะเซ็นทรัลเวิร์ล และสยามสแควร์ถูกไฟเผา ทหารจึงต้องไปช่วยดูรถดับเพลิง นั่นเป็นสิ่งที่เขาทำ

ไฟแนนเชียล ไทมส์:ฉะนั้นคุณก็ค่อนข้างมั่นใจว่าทหารไม่ได้ยิงใคร?

อภิสิทธิ์:
ที่แน่ๆ คือทหารไม่ได้รับคำสั่งให้ยิงประชาชน นอกจากเป็นไปเพื่อป้องกันตัวเอง และผมเองคิดแทบตายก็ยังหาเหตุผลไม่ได้ว่า ทำไมทหารถึงอยากยิงประชาชน เพราะถ้าทำจริงก็จะส่งผลเสียต่อรัฐบาลและทหารเอง ทำไปแล้วจะได้อะไรขึ้นมา น่าจะมีเหตุผลที่เชื่อถือได้ว่า เมื่อทหารยิงปืนลงมาจากรางรถไฟฟ้าบีทีเอส เขากำลังสู้อยู่กับคนที่ยิงสวนมาจากรถดับเพลิงและรถพยาบาลมากกว่า มีนักข่าวต่างประเทศคนหนึ่งโทรมาหาผมแล้วบอกว่า เขาถูกยิงและต้องการรถพยาบาล เราพยายามจะส่งรถพยาบาลเข้าไป แต่เมื่อรถพยาบาลขับเราเข้าไปกลับถูกยิงโจมตี เราจึงต้องให้กำลังทหารไปคุ้มครองรถพยาบาล การปะทะเช่นนี้ก็เกิดขึ้น

ไฟแนนเชียล ไทมส์:คุณคิดว่า สิ่งที่ประสบความสำเร็จที่ได้ทำไปแล้วในการปรองดองคืออะไรบ้าง

อภิสิทธิ์:
ประเด็นหลักๆ ก็คือว่า เราต้องการรัฐบาลที่คำนึงถึงปัญหาของทุกฝ่าย ผมพยายามจะเข้าถึงทุกกลุ่ม เมื่อมีข้อเสนอแนะว่าเราควรจะให้ความช่วยเหลือแก่คนเสื้อแดง รวมถึงการให้ประกัน เราก็จัดการให้ ผมคิดว่า เราจัดให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาเสื้อแดงราว 50 คนได้ คนเหล่านี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากแกนนำเสื้อแดงเลยด้วยซ้ำ แต่พอพวกเขาออกมาได้ เขาก็คงไม่มาสนับสนุนผมเท่าไหร่ แต่นี่แหละคือการทำงานเพื่อประชาชนทุกคน คุณก็ต้องพยายามดูแลทุกฝ่ายให้เรียบร้อย ผมได้ตัดสินใจจะหมดวาระเร็วกว่ากำหนด เพื่อให้ประชาชนสามารถมีสิทธิตัดสินใจ นี่คือสิ่งที่เราได้ธรรมที่เป็นรูปธรรม แต่แน่ล่ะคุณไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ และถ้าการปรองดอง หมายถึงการยอมรับทุกอย่างและเข้าทางทักษิณล่ะก็ ผมไม่คิดว่ามันเป็นการปรองดองสำหรับประเทศนี้ได้ ทำไมเพื่อไทยเริ่มรู้สึกลังเลเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมตอนนี้ก็ไม่ทราบ

ไฟแนนเชียล ไทมส์:คิดว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นโอกาสในการยุติความแตกแยกได้หรือไม่

อภิสิทธิ์:
ผมคิดเช่นนั้น ถ้าเราได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาลอีก ก็จะเป็นสัญญาณว่าประเทศนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามปัญหาเรื่องทักษิณ และจะทำให้ดีที่สุดในสี่ปีข้างหน้า เพื่อพิสูจน์ว่าทุกคนมีสิทธิมีเสียง

ไฟแนนเชียล ไทมส์:คุณได้โพสต์บทความที่น่าสนใจในเฟซบุ๊กเมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา มีเหตุผลอะไรหรือเปล่าที่ทำเช่นนั้น

อภิสิทธิ์:ผมก็แค่อยากจะชี้แจงให้คนเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง มีการคาดเดาไปต่างๆนาๆ มีความคิดเห็น คำวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เยอะแยะไปหมด ผมได้เลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องดังกล่าวมาตลอดเพราะไม่อยากพูดถึง ผมแค่อยากทำงานของผมไป แต่เมื่อเวลาช่วงเลือกตั้งใกล้มาถึง มันน่าเหลือเชื่อมากที่มีคนก็เริ่มพูดกันในหลายเรื่องๆ ที่ไม่จริงเลย ผมจึงอยากชี้แจงให้คนเข้าใจถูกต้อง

ไฟแนนเชียล ไทมส์: มีความรู้สึกทั่วไปว่า กองทัพเป็นพลังทางการเมืองที่มีอำนาจสูงในประเทศนี้

อภิสิทธิ์:ผมว่าที่คุณพูดมามันแปลกๆ หน้าที่ของกองทัพระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว การรัฐประหารก็ชัดเจนว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เราไม่สนับสนุนการรัฐประหาร ความจริง ผมเป็นผู้นำพรรคคนแรกด้วยซ้ำที่ออกมาพูดวา เราคิดว่าการรัฐประหารเป็นสิ่งที่ผิด แต่หลังจากการเลือกตั้ง และอำนาจกลับมาสู่มือประชาชนแล้ว กองทัพก็ได้มีบทบาทช่วยรัฐบาลรักษากฎหมาย และผมก็แปลกใจทีทักษิณออกมาพูดว่า เขาเสียใจเรื่องนโยบายภาคใต้ ที่อนุญาตให้ตำรวจและทหารใช้นโยบายยุติธรรมแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ทางเราเป็นกลุ่มที่เข้าไปดูแลปัญหาดังกล่าว และชี้ว่าเราต้องลดอำนาจพิเศษของทหาร ต้องให้ทหารเป็นทหารอาชีพ ทำตามนโยบายของรัฐบาล ทำไมคนถึงตีความว่าทหารมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน ในเมื่อจริงๆแล้ว ควรจะมองว่า “มีตัวอย่างที่ชัดเจนว่ากองทัพทำตามนโยบายของรัฐบาล” ด้วยซ้ำ

ไฟแนนเชียล ไทมส์:คิดว่าเป็นไปได้ไหมว่าจะมีการรัฐประหารหากเพื่อไทยชนะ

อภิสิทธิ์:(หากเพื่อไทยชนะ) จะเสี่ยงต่อความไม่มีเสถียรภาพ คุณก็ลองถามตัวเองดู ในฐานะพรรคการเมือง และตัวแทนของประชาชน คุณจะเอาอนาคตของประเทศมาเสี่ยงเพียงเพื่อที่จะได้ฟอกตัวให้กับคนคนเดียวอย่างนั้นหรือ ผมคิดว่ากองทัพก็เห็นแล้วว่า พวกเขายังคงต้องแบกรับปัญหาจากการรัฐประหารคราวที่แล้ว ทำไมเขาถึงอยากจะหาเรื่องใส่ตัวอีก ทำไมกลุ่มพันธมิตรฯ ถึงตัดขาดกับคุณ ผมขอไม่แสดงความคิดเห็น  

 

 
 
 
 
 
 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทวิเคราะห์นโยบายการเกษตร เพื่อไทยVS ปชป.:จะเอาประกันราคาหรือรับจำนำกันดีพี่น้อง..?

Posted: 17 Jun 2011 01:21 PM PDT

 

 

การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในไม่กี่วันนี้ พรรคการเมืองหลายพรรคต่างก็มีนโยบายด้านการเกษตรออกมาหาเสียง ที่น่าสนใจคือ นโยบายประกันรายได้ และนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก  ที่ถือได้ว่าเกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั้งประเทศ  

จากข้อมูลเมื่อเดือน ตุลาคม 2553 มีตัวเลขผู้มาลงทะเบียนเกษตรกรแล้วกว่า 6,796,241 ครอบครัว มีจำนวนเกษตรกร 19,824,665 ราย   เกษตรกรจำนวนทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการนี้โดยตรง  เพราะปัจจุบันนโยบายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรจะดำเนินการโดยใช้ฐานข้อมูลจากทะเบียนเกษตรกรเกือบทั้งสิ้น

คำถามหลักที่น่าสนใจ ก็คือว่า เกษตรกรอยากจะได้ ประกันรายได้แบบรัฐบาลประชาธิปัตย์หรือว่า อยากจะได้แบบรับจำนำข้าวเปลือก ของพรรคเพื่อไทยกันแน่ ?

เริ่มจากนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่ให้เงินชดเชยส่วนต่างของราคาข้าวเปลือกกับเกษตรกรในลักษณะของการอิงกับพื้นที่ตามที่แจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยไม่เกินครอบครัวละ 30 ไร่  และจำกัดเพดานสูงสุดไม่เกิน 30 ตัน
 

เหตุผลความชอบใจของชาวบ้านต่อนโยบายนี้ก็คือ เมื่อเทียบกับแบบรับจำนำแล้ว เขาได้เงินทันทีหลังจากที่ขายข้าว และ ยังได้เงินส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า เงินตาม คือเงินชดเชยส่วนต่าง ตามมาทีหลังอีก แน่นอนว่า คนที่ชอบแบบนี้ ทุกคนมีความพอใจกับเงินตาม ที่ได้เป็นเงินก้อน   แม้ว่าราคาข้าวที่ขายจะไม่สูงนัก แต่พอรวมกับเงินตามที่ได้จากส่วนต่างแล้ว ก็อยู่ในเกณฑ์ที่พอรับได้ แม้ว่าเอาเข้าจริงๆแล้ว ราคาขายข้าวเมื่อรวมเงินตามแล้วจะต่ำกว่าราคาเกณฑ์อ้างอิงก็ตาม เช่น กรณีชาวนาปรัง โดยปกติชาวนาเกี่ยวข้าวขายสดเลย โรงสีก็จะหักค่าความชื้นออก แต่ราคาตามเกณฑ์เป็นราคาที่ความชื้น 15% ซึ่ง ในความเป็นจริงไม่น่าจะมีเกษตรกรนาปรังคนใดขายข้าวที่ความชื้น 15%แน่นอน
 
นอกจากนี้ความน่าสนใจอีกอย่างก็คือ ไม่ว่าจะมีข้าวขายหรือไม่มีข้าวขาย การประกันราคา ก็จะให้เงินชดเชยส่วนต่างกับชาวนาทุกคนอย่างทั่วถึง ต่างกับการรับจำนำ ที่เกษตรกรจะต้องมีข้าวไปขายโรงสีเท่านั้นจึงจะมีโอกาสได้ในราคารับจำนำ ถ้าเกิดข้าวเสียหาย เกิดโรคระบาด ผลผลิตได้น้อย กรณีนี้เกษตรกรก็อาจจะไม่ได้เงินมากนักแม้ว่าราคารับจำนำจะสูงก็ตาม
 
และยังน่าสนใจอีกว่าชาวนาที่มีที่นาน้อย อาจจะไม่เกิน 30 ไร่ มีแนวโน้มที่จะชอบการประกันรายได้มากกว่าการรับจำนำ
สำหรับเกษตรข้าวนาปี กรณีทางภาคอีสาน ชาวบ้านส่วนใหญ่น่าจะชอบประกันรายได้มากกว่ารับจำนำ เพราะเขาได้เงินเพิ่มขึ้นอีก ไม่ว่าจะขายข้าวหรือไม่ขายข้าวก็ตาม เพราะโดยมากแล้วชาวนาทางภาคอีสานจะเก็บข้าวไว้กินส่วนหนึ่งและขายบ้างบางส่วน เมื่อการประกันรายได้อิงเกณฑ์ตามพื้นที่ทำนา ทำให้เงินชดเชยส่วนต่างไปถึงทุกครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียน แม้ว่าจะมีส่วนต่างไม่มากนักก็ตาม
 
ที่กล่าวข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุผลความพอใจของเกษตรกรต่อนโยบายการประกันรายได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาจากโครงการนี้ ก็มีให้เห็นไม่ต่างจากโครงการอื่นๆของรัฐบาล แต่โครงการนี้ถือว่าสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับเกษตรกรเกือบยี่สิบล้านคนทั่วประเทศ
 
ปัญหาที่พบก็มีมากมาย เช่น ตั้งแต่ในช่วงเริ่มแรกโครงการมีเกษตรกรจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าร่วม ทำให้เสียสิทธิ์ไป ดังนั้นจึงพบว่าการเปิดลงทะเบียนในรอบต่อๆมา จะมีผู้มาแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรกันเพิ่มขึ้นเท่าตัว และในช่วงรอบแรกของโครงการที่การดำเนินงานยังไม่รัดกุม ในช่วงเวลานั้นพบว่านอกจากการแจ้งแปลงนาแล้ว ยังมีการแจ้ง ที่บ้าน ที่สวน ที่ไร่ ร่วมด้วย ทำให้ตัวเลขพื้นที่นาที่รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นในรอบหลัง จึงมีการกำหนดให้ต้องถ่ายรูปแปลงนาประกอบด้ว
 
นอกจากนี้การจำกัดพื้นที่และจำกัดเพดาน ซึ่งรอบแรกจำกัดไว้ที่ 25 ตัน และเพิ่มเป็น 30 ตันในรอบนาปีของปี 2553 การจำกัดในลักษณะนี้ส่งผลผระทบต่อคนที่ทำนามากกว่า 30 ไร่ ทำให้ชาวบ้านต้องมีความยุ่งยากมากขึ้นในการที่จะให้ได้เงินชดเชยตามพื้นที่ที่เขาทำนาจริงมากที่สุด จึงมีทั้ง แบ่งโฉนด ย้ายทะเบียนบ้าน หาคนมาลงทะเบียนแทน   เพราะเพดานที่จำกัดไว้นั้น หากชาวนาแจ้งตามเพดาน แต่ถ้าเขาทำนามากกว่านั้น แสดงว่าข้าวส่วนที่เหลือก็ต้องขายในราคาที่ถูกกว่าราคาประกันมาก ต่างกันอย่างน้อย 1,000-2,000 บาท เลยทีเดียว หนักเข้า ก็มักจะถูกหาว่าชาวบ้านโกง ทั้งที่ในความเห็นของชาวบ้านแล้ว เขารู้สึกว่านั่นเป็นเงินส่วนที่เขาควรจะได้มิใช่หรือ  นอกจากนี้แล้ว การขึ้นลงของราคาข้าวตามเกณฑ์อ้างอิงนั้นก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะหมายถึง เงินค่าชดเชยส่วนต่างที่แตกต่างกันในลักษณะนี้จึงทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเขาต้องคอยลุ้นว่าจะได้ราคาที่เท่าไหร่ ได้ส่วนต่างที่เท่าไหร่ ชาวบ้านหลายคนจึงบอกว่า ที่เขาเรียกเงินตามนั้นถูกแล้วเพราะเขาต้องคอยตามเงินว่าจะได้เท่าไหร่กันแน่
 
มาถึงนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกของพรรคเพื่อไทย แน่นอนว่าชาวบ้านที่ชอบนโยบายรับจำนำ พวกเขาฝันถึงข้าวราคาเกวียนละ 15,000 บาท ที่เขาเคยได้ และมั่นใจว่าถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลเขาจะได้ขายข้าวที่ราคานี้ หรือยังไงก็ไม่ต่ำกว่าเกวียนละหมื่นแน่ๆสำหรับข้าวนาปรัง  ส่วนพวกพ่อค้าโรงสีก็คงรอนโยบายนี้ด้วยใจจดใจจ่อด้วยเหมือนกันเพราะงบประมาณจากโครงการนี้นั้นมหาศาลทีเดียว ยิ่งในช่วงนี้ยังมีข่าวว่าบรรดาโรงสีพากันซื้อข้าวกักตุนไว้เพราะข้าวตามนโยบายประกันรายได้มีราคาถูก แล้ว รอเอาข้าวไว้ขายในช่วงหลังเลือกตั้งที่พวกเขาคาดว่าจะมีการรับจำนำข้าวเกิดขึ้นแน่นอน
 
มาดูเหตุผลความชอบใจของเกษตรกรต่อโครงการรับจำนำข้าว แน่นอนว่ามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่พอใจและรู้สึกมั่นใจกับนโยบายรับจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทย เหตุผลความชอบใจประการหนึ่งคือ เขารู้สึกอย่างชัดเจนว่าข้าวที่เขาขายได้มีราคาสูงกว่าการประกันราคา และไม่รู้สึกว่าถูกจำกัดด้วยพื้นที่ แม้ว่าจะมีการจำกัดเพดานไว้ที่ 45 ตัน ก็ตาม ทั้งหมดนี้ทำให้เขารู้สึกมั่นใจว่าเขาได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงๆ จากการรับจำนำ โดยไม่ต้องมาคอยลุ้นว่าจะได้ส่วนต่างเท่าไหร่กันแน่  ชาวนาที่ทำนาหลายๆไร่ และทำนาได้ผลผลิต 80 ถัง หรือขึ้นไปถึงไร่ละตัน เขาย่อมพอใจและมีความสุขที่ได้ขายข้าวราคาสูงตามปริมาณข้าวที่เขาได้เก็บเกี่ยวจริง โดยไม่ต้องมาใช้วิธีพิเศษจนถูกเรียกว่า โกง อย่างที่มีข่าวกัน และอาจจะปล่อยให้คำนี้ตกไปอยู่ที่บรรดาพ่อค้าโรงสี ที่หัวดีกว่าชาวนา (ฮ่าฮ่า)  ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่ก็รู้ว่าส่วนใหญ่โรงสีก็มักจะมีวิธีพิเศษเช่นกัน แต่แน่นอนว่ามันไม่ได้สำคัญเท่ากับว่าข้าวที่เขาขายได้นั้นขอให้มีราคาสูงก็พอ
 
เมื่อพูดถึงขั้นตอนการขึ้นทะเบียน ลงทะเบียน เพื่อร่วมโครงการ ดูเหมือนว่าชาวนาส่วนใหญ่จะชอบ วิธีปฏิบัติแบบรับจำนำกันเสียมาก ด้วยเพราะเขาให้เหตุผลว่า ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องมีขั้นตอนซับซ้อน ไม่ต้องมีเอกสาร และขั้นตอนมากมายเหมือนการประกันราคา ที่ชาวนาต้องวิ่งถ่ายสำเนาโฉนดที่ดิน ซึ่งเจ้าของนาหวงนักหวงหนา ต้องถ่ายรูปแปลงนา ต้องรอประชาคม  แต่การรับจำนำเพียงแต่เอาใบขายข้าวจากโรงสีไปยื่นที่ ธกส. แล้วรอเงินโอนเข้าบัญชีเท่านั้น อย่างไรก็ตามชาวบ้านบอกว่า ทั้งการประกันรายได้ และการรับจำนำ นั้นชาวบ้านต้องรอการโอนเงินเข้าบัญชี ซึ่งอาจจะใช้เวลานานเกือบเดือนก็มี
  
ชาวบ้านส่วนหนึ่งเห็นว่าการรับจำนำเปิดโอกาสให้ชาวนาเลือกราคาข้าวได้มากกว่าการประกันรายได้ เช่น ในช่วงที่ข้าวราคาดี ชาวนาก็อาจจะตัดสินใจขายสด คือขายไม่เข้าโครงการ แต่เอาเงินสดไปเลย แต่ถ้ายังไม่พอใจราคา ก็อาจจะเข้าโครงการรับจำนำ แล้วรอราคาข้าวให้ข้าวราคาดี แล้วค่อยขายก็ได้  แต่กรณีนี้ชาวนาที่ต้องการเงินสดหมุนเวียนอาจจะไม่ชอบนักเพราะต้องรออีกระยะจึงจะได้รับเงิน แม้ว่าจะได้รับเงินมากกว่าขายสดก็ตาม
 
อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ผ่านมาดูเหมือนว่าจะมีปัญหาอยู่มากทีเดียว แม้ว่าราคาข้าวจะสูงขึ้น แต่เอาเข้าจริง ชาวนาก็ยังขายได้ต่ำกว่าราคารับจำนำ เพราะถูกหักค่าความชื้นอยู่ดี แต่ยังไงก็ถือว่าดีกว่าการประกันรายได้
 
แต่จุดที่เป็นปัญหาของโครงการรับจำนำนั้นดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับโรงสีเกือบทั้งสิ้น เพราะโครงการนี้ดำเนินการผ่านโรงสี ต่างจากการประกันรายได้ที่ดำเนินการผ่านชาวนาโดยตรง ทำให้ในขั้นตอนปฏิบัติการ มีวิธีพิเศษมากมายที่โรงสีสามารถทำกำไรจากโครงการลักษณะนี้ ในขณะที่การประกันรายได้ลดบทบาทของพ่อค้าโรงสีไป แต่ก็ทำให้พ่อค้ามีโอกาสกดราคารับซื้อได้มากขึ้น แต่การรับจำนำนั้นโรงสีมีบทบาทสำคัญ และเป็นการเปิดโอกาสให้โรงสีสามารถใช้วิธีพิเศษกับโครงการนี้ได้โดยไม่ยากนัก ดังที่เป็นข่าวทราบกันทั่วไป
 
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ นโยบายรับจำนำนั้นชาวบ้านที่ปลูกข้าวนาปีทั้งไว้กินและแบ่งขายบ้าง อาจจะไม่ได้ประโยชน์นักจากนโยบายรับจำนำ แม้ว่าจะมีการตั้งเกณฑ์รับซื้อไว้สูง แต่เอาข้าวจริงๆ แล้ว ข้าวที่ชาวนานำไปขายนั้นมีจำนวนไม่มากนัก และราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปีนั้น ก็จะถูกพ่อค้ากดราคารับซื้ออยู่แล้ว เช่น ข้าวหอมมะลิ ถ้าราคารับจำนำอยู่ที่ 15,000 บาท ราคาที่ชาวบ้านขายได้ในเวลานั้นก็น่าจะอยู่ที่ 11,000-12,000 บาท เท่านั้น แต่พอถึงช่วงข้าวแพง ชาวนาส่วนใหญ่ก็ไม่มีข้าวขาย ผลประโยชน์ของการรับจำนำจึงน่าจะไปตกอยู่กับโรงสีมากกว่า
 
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบการใช้งบประมาณระหว่างการรับจำนำกับการประกันรายได้ พบว่าการรับจำนำนั้นใช้งบประมาณมากกว่าการประกันรายได้อยู่มากทีเดียว เพราะการรับจำนำนอกจากต้องใช้งบสำหรับการรับซื้อข้าวแล้วยังต้องมีงบประมาณสำหรับการจัดเก็บอีกด้วย แต่ก็เถอะ รัฐบาลใช้งบประมาณไปอุดหนุนภาคธุรกิจอื่นๆ ก็ตั้งมากมาย แล้วถ้างบประมาณจะมาอุดหนุนชาวนารายย่อยบ้างจะเป็นไรไป แม่นบ่พี่น้อง
คำถามสุดท้าย แล้ววันเลือกตั้งชาวบ้านจะเลือกนโยบายแบบไหน จากการสอบถามเกษตรกรจำนวนหนึ่ง พบว่ามีทั้งคน ที่ชอบ และ ไม่ชอบ นโยบายการประกันรายได้ และนโยบายรับจำนำ และความชอบหรือไม่ชอบในสองนโยบายนี้ ก็อาจจะไม่เกี่ยวกันนักกับความนิยมในพรรคการเมืองนั้นๆ แต่อาจเกี่ยวข้องกับความพอใจกับรายได้ที่ได้จากการขายข้าวเป็นสำคัญ และเป็นไปได้อย่างมากที่ พี่น้องชาวอีสาน ถึงแม้ว่าจะชอบประกันรายได้ แต่ว่าจะกาเบอร์หนึ่ง (ฮา) 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: ทุนจีนบุกขุดเหมืองโปแตชภาคอีสาน เอ็นจีโอ-ชาวบ้านรุกโต้

Posted: 17 Jun 2011 12:47 PM PDT

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.54 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กว่า 60 คน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือกับอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อคัดค้านการทำแบบสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียต่อกรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี โดยมี นายวรากร บำรุงชีพโชต หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ มารับหนังสือและตอบข้อซักถามของกลุ่มชาวบ้าน

สืบเนื่องจาก กรณีที่บริษัท เอเชีย แปซิกฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ดำเนินการจัดทำแบบแสดงความคิดเห็นขนาดครึ่งหน้ากระดาษ A4 พร้อมเอกสารเผยแพร่โครงการฯ และกล่องรับเอกสาร นำไปวางตามหน่วยงานราชการ จำนวน 20 แห่ง ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม อาทิ ที่ว่าการอำเภอ, องค์การบริหารส่วนตำบล, สำนักงานเทศบาล และสถานีอนามัย ฯลฯ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยอ้างว่าจะนำไปประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)

นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่า การทำแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ของบริษัทเอพีพีซีทำให้เกิดความสับสนขึ้นในพื้นที่ เพราะการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้มีในขั้นตอนของกฎหมายแร่ แต่บริษัทจะเอาผลไปแอบอ้างกับการทำรายงาน อีเอชไอเอ ที่กำลังทำอยู่ และการเอาเอกสารไปวางตามหน่วยงานราชการเพื่อให้ประชาชนไปแสดงความคิดเห็นก็เป็นการให้ข้อมูลด้านเดียวของบริษัทฯ ดังนั้น จึงไม่มีความเหมาะสมใดๆ ที่จะนำผลไปประกอบ อ้างอิงในเชิงวิชาการได้

ด้านนายวรากร บำรุงชีพโชต หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ทางสำนักงานฯ ไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว และก็ไม่ทราบเรื่อง ซึ่งตอนนี้โดยหน้าที่ของตนก็รอเพียงเอกสารจากกรม (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ส่งมาให้ปิดประกาศเขตเหมืองก็จบ หมดหน้าที่ ขั้นตอนต่อไปก็เป็นเรื่องของบริษัทที่จะดำเนินการเอง ส่วนหนังสือของกลุ่มฯ ที่ยื่นมาวันนี้จะนำเรียนอธิบดีให้

เมื่อชาวบ้านสอบถามถึงข่าวมีนักลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาดูพื้นที่เพื่อจะทำเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน นายวรากร ตอบว่า ประเทศจีนให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุนเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสานจริง ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยเคมี และมีธุรกิจในประเทศลาว แต่เขาไม่ได้บอกชื่อบริษัท ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ทางกรมฯ ก็ได้พาลงไปดูพื้นที่จังหวัดขอนแก่น  มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด โดยมีวิศวกรที่ทำเหมืองแร่อยู่ในลาวร่วมเดินทางมาด้วย ก่อนที่จะมาคุยกับตนที่อุดร  

“เท่าที่คุยกันพบว่าจีนได้ให้ความสนใจที่จะขุดแร่โปแตชแทบทุกพื้นที่ในภาคอีสาน และในส่วนของอุดรฯ ผมก็บอกไปว่าถ้าไม่สร้างความกระจ่างชัดให้กับชาวบ้านในพื้นที่ก่อน คุณก็จะไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งเหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้”

ชาวบ้านถามต่อว่าจีนได้ให้ความสนใจที่จะซื้อกิจการหรือร่วมลงทุนกับบริษัทเอพีพีซี ที่เหมืองโปแตชอุดร หรือไม่

นายวรากร ตอบว่า คงไม่ ถ้าหากเขาจะทำเหมืองจริงก็คงยื่นขอสัมปทานแปลงใหม่ ที่ไม่ทับซ้อนกับเจ้าของเดิมที่กำลังยื่นขออยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่ขอนแก่น มหาสารคาม หรือที่จังหวัดใดก็ตามที่มีผู้ขอเดิมอยู่แล้ว

จากนั้น นายวรากร ได้เปิดเพิ่มเติมกับผู้สื่อข่าวว่า บริษัทจากประเทศจีนที่เข้ามาดูพื้นที่จะขุดเหมืองโปแตชในภาคอีสานนั้น เป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับสถานทูตจีน ซึ่งตนก็ได้พาลงไปดูจุดที่จะทำการสำรวจในพื้นที่อำเภอเพ็ญ (จ.อุดรฯ) และคาดว่าจะมีการขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจหาแหล่งแร่โปแตช ภายในปีนี้  โดยจะครอบคลุมพื้นที่ไปถึง จ.หนองคาย และสกลนคร  นายวรากรกล่าว

ด้านนายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.) อีสาน ให้ความเห็นว่า การที่ทุนจีนจะบุกเข้ามาลงทุนในภาคอีสานนั้น คงไม่ใช่แค่เรื่องเหมืองโปแตชเท่านั้น แต่จีนกำลังจะขยายพื้นที่ทางเศรษฐกิจมายังทางตอนใต้ บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะนำเอาเกลือไปใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งภาคอีสานถือว่าเป็นศูนย์กลางสำคัญที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพราะมีพื้นที่ราบเป็นบริเวณกว้างและสามารถต่อติดค้าขายออกสู่ทะเลไปทางประเทศเวียดนามได้

“ถ้ามีเหมืองแร่โปแตชผุดขึ้นมาอีกจะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสังคมตามมามากมาย เช่น ความเค็มของเกลือจะแพร่แผ่กระจายไปทั่วภาคอีสาน ปัญหาแรงงาน อาชญากรรม ยาเสพติด และอื่นๆ อีก ซึ่งรัฐควรศึกษาให้รอบด้าน ที่ผ่านมาเครือข่ายนักวิชาการและชาวบ้านในพื้นที่เรียกร้องให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมแร่โปแตช ระดับยุทธศาสตร์ทั่วภาคอีสาน หรือที่เรียกกันว่า เอสอีเอ แต่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือกพร.ก็ทำในส่วนของตัวเองจึงเกิดปัญหาเรื่องของความเป็นกลาง”

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า นักวิชาการ เอ็นจีโอ และนักศึกษาจะต้องร่วมกันติดตาม เพราะช่วงนี้เป็นช่วงเลือกตั้งพรรคการเมืองต่างๆ ก็มักพูดถึงแต่เรื่องอุตสาหกรรม การสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อหาเสียง แต่กระบวนการต่อหลังเลือกตั้งแล้วนั้นจะเป็นอย่างไรต้องติดตาม เพราะพรรคการเมืองจะต้องตอบแทนกลุ่มทุนที่ให้การสนับสนุนพรรคของตนอย่างแน่นอน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แนวหน้าสัมภาษณ์พิเศษ "สมศักดิ์ โกศัยสุข" ในวัน "แตกหัก" พันธมิตร

Posted: 17 Jun 2011 11:49 AM PDT

18 มิ.ย. 54 - เว็บไซต์แนวหน้าเผยแพร่บทสัมภาษณ์สมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตแกนนำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ในวันนี้สวมหมวก"หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่"อย่างเต็มตัว โดยเลือกที่จะหันหลัง แยกทางเดิน กับแกนนำเวทีมัฆวานฯหลายคนที่เคยเคียงบ่าเคียงไหล่ต่อสู้บนถนนการเมือง เปิดใจนั่งสนทนากับ "แนวหน้า" ถึงเบื้องลึก หนาตื้น ที่มาที่ไป ถึงวิกฤติซ้อนวิกฤติที่เขากำลังเผชิญ โดยมีรายละเอียดดังนี้ ..

ปมขัดแย้ง กับแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

"เป้าหมายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯที่สะพานมัฆวานฯ คือต้องการให้ไม่มีการเลือกตั้ง ถามว่าไม่มีการเลือกตั้งแล้วยังไง ก็ต้องยึดอำนาจ รัฐประหาร แล้วถามว่าใครจะทำ เราคิดว่าการทำให้ไม่มีการเลือกตั้ง มันไม่ถูกต้อง ในฐานะพรรคการเมือง เพราะผิดกฎหมาย แต่เป้าหมายของเขาคือต้องการเอาคะแนนเสียงที่ได้จากรณรงค์ในเรื่องโหวตโน นั้น มาเป็นข้ออ้างเพื่อที่จะชุมนุมต่อต้านอะไรอีกครั้งหนึ่งในวันข้างหน้า"

"หากมองจากข้อเท็จจริง กระแสสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยตั้งแต่กลุ่มพันธมิตรฯเริ่มชุมนุมเมื่อวันที่25ม.ค. เพราะข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ชัดเจน กลับไปกลับมา เดี๋ยวเรื่องข้อพิพาทไทย-เขมร เดี๋ยวขับไล่รัฐบาล ไปๆมาๆกลายเป็นโหวตโน สังเกตดูได้จากผู้เข้าร่วมชุมนุมที่สะพานมัฆวานฯมีจำนวนเพียงหลักร้อย และนอกจากนั้น คงจำกันได้เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผบ.เหล่าทัพออกบอกว่าใครปฏิวัติในตอนนี้ เป็นกบฏ เมื่อพวกเขาประเมินแล้วว่าไม่สามารถยับยั้งให้ไม่มีการเลือกตั้งได้ ก็เลยหยุด แล้วหันมารณรงค์เรื่องของ"โหวตโน"

"จากนั้นก็มาบอกพรรคการเมืองใหม่ พรรคจึงประชุม กรรมการบริหารพรรค ผลสรุปจากที่ประชุมพรรคคือมีมติให้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ก็เลยเป็นปัญหา เพราะเกิดความขัดแย้ง แล้วเขาก็โจมตี ใส่ร้าย และคนที่พูดบนเวทีนั้นผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งถ้าประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ออกมา จะผิด พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 53 ฐานกลั่นแกล้ง ใส่ร้าย ให้พรรคดูไม่น่าเชื่อถือ และทางพรรคก็เตรียมที่จะดำเนินการเอาผิดเป็นรายบุคคลกับผู้ที่ขึ้นเวที แล้วปราศรัยใส่ร้ายพรรค เพราะพรรคเสียหาย"

อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯบอกกับ แนวหน้า ถึงพัฒนาการความขัดแย้งจนถึงปะทุถึงจุดแตกหักระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯที่เป็น"ร่างต้น"กับ"ร่างแยก"อย่างพรรคการเมืองใหม่

"โหวตโนไม่มีประโยชน์ ไม่มีผล เขาบอกว่าเป็นการปฏิรูปการเมือง แต่คนที่มีความคิด เขาก็บอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะเอาคะแนนเสียงไปทิ้ง แต่ถ้าไปลงคะแนนให้พรรคหรือผู้สมัครคนใดที่เห็นว่าดีกว่า ตามที่ผู้มีสิทธิ์รู้สึก เพื่อให้เข้าไปในสภาฯ ภาคประชาชนก็มีสิทธิ์ตรวจสอบ แต่หากยังดึงดันโหวตโน หลายฝ่ายก็พอจะมองออกว่า พรรคไหนจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล จึงเกิดคำถาม หรืออดคิดไม่ได้ว่า แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯคนที่จุดกระแสเรื่องโหวตโน มีเป้าหมาย หรือรับงานอะไรมาหรือเปล่า"

"รหัสลับ" ที่สมศักดิ์ถอดได้จากแนวทางโหวตโน ที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯชู และเคลื่อนไหวรณรงค์ อย่างสุดแรงเกิด คือสิ่งที่สมศักดิ์ไม่ไว้ใจ และเชื่อว่าการเคลื่อนไหวเช่นนี้"มีอะไรในกอไผ่"ก่อนจะสรุปประเด็นเรื่องการ แตกหัก โดย"ฝากคำทิ้งท้าย"ไปยังแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯผู้จุดกระแส"โหวตโน"ว่า

"แนวคิดแบบนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย เป็นแนวคิดของเถ้าแก่ แสดงความเป็นเจ้าของ ทำสิ่งนี้มาเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง สั่งขวาหันซ้ายหัน คนที่เขาเห็นด้วยก็อาจมีผลประโยชน์ร่วมกัน แต่พรรคไม่เห็นด้วย เพราะต้องการมีอิสระของพรรค และต้องเคารพกฎหมาย ถ้าจะมาบอกว่าพรรคการเมือง กับนักการเมืองเหล่านี้ แย่ เป็นสัตว์นรก ถามว่าเพิ่มรู้หรือ รู้จักพวกนี้มาก่อนใช่ไหม ก่อนที่จะขอมติตั้งพรรค เมื่อรู้มาก่อนว่าเป็นอย่างนี้แล้วมาตั้งพรรคทำไม"

อุดมการณ์ และแนวทางผลักดันการเมืองใหม่ในรัฐสภา

"การปฏิรูปการเมืองต้องมีทั้ง 2 แนว ต้องยอมรับว่าสมัยที่ต่อสู้กับรัฐบาลทักษิณ มันมีทั้งข้างนอก และข้างในสภาฯ อย่าง ในขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์เขาก็หวังผลว่าจะได้เป็นรัฐบาลหากไล่รัฐบาลทักษิณ ได้ ส่วนภาคประชาชนอย่างกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ต้องการทำหน้าที่ตรวจสอบให้สังคมเห็นว่าใครโกง และควรถูกลงโทษ และถึงแม้ว่าการยึดอำนาจเมื่อ19ก.ย.จะเป็นบทสรุปของการต่อสู้กับรัฐบาล ทักษิณ แต่เราไม่ได้ไปเชื้อเชิญให้ใครมายึดอำนาจ เราตรวจสอบไปตามหน้าที่ของภาคประชาชน แต่การยึดอำนาจมันมีหลายครั้งแล้ว ก็ถือเป็นวงจรอุบาศก์ของการเมือง ยึดอำนาจ โกง โกงแล้วก็ยึดอำนาจ บ้านเมืองมันก็จมปรักดักดานอยู่อย่างนี้ การปฏิรูปการเมืองมันต้องใช้ระบบรัฐสภาด้วย ทำอย่างไรที่จะให้มาตราฐานส.ส.เป็นมาตรฐานสัตบุรุษ ให้รู้อับอายตัวเองบ้างว่าการที่ไม่เข้าประชุม การพูดจาไม่สุภาพออกทีวี ไม่สร้างผลประโยชน์ เล่นพรรคเล่นพวก เป็นพฤติกรรมที่ควรกำจัด หรือลงโทษสถานหนัก"

"แนวทางสำคัญในการผลักดันการเมืองใหม่ให้เกิดในรัฐสภา คือ การทุจริตคอรัปชั่นมันต้องแก้กฎหมายให้เป็นวาระแห่ชาติ โดยให้ประชาชนทุกคนเป็นผู้เสียหาย เมื่อเจอเรื่องทุจริตที่ไหนสามารถนำเรื่องสู่ศาลได้เองเลย ถ้าศาลตัดสินว่าผิด ว่าโกง ควรจะมีรางวัลให้ประชาชนยี่สิบ หรือสามสิบเปอร์เซ็นต์ และอายุความต้องไม่หมด ถ้าทำอย่างนี้ไม่นานคอรัปชั่นจะหมดไป

"นอกจากนี้ยังมีนโยบายเกี่ยวกับสิทธิชุมชนในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ตามรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจน แต่ไม่ทำ นั่นคือเมื่อจะสร้างอะไร จะขุดคลอง จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ต้องไปถามชาวบ้านว่าเขาจะเอาไหม ถ้าประชาชนเขาศึกษา ตามที่เสนอมาแต่ต้องเสนอด้วยความบริสุทธิ์ ถ้าเขาเห็นว่าเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองก็ทำ แต่ถ้าเขาไม่ต้องการ ก็ต้องไม่"

"ถือเป็นการสร้างอำนาจรัฐโดยอำนาจประชาชน อะไรที่เป็นประชาธิปไตยทางตรงได้ก็ให้เป็น เช่นกระบวนการร่างกฎหมาย ประชาชนมีสิทธิเป็นกรรมาธิการได้ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องให้เขามาเริ่มตั้งแต่ต้น อีกด้านคือเรื่องการปกครอง คิดว่าการปกครองส่วนภูมิภาคต้องยกเลิก ค่อยๆยกเลิกไป ยกตัวอย่างป่าไม้ควรขึ้นกับพื้นที่ ถ้าชุมชนเขาเข้มแข็งก็สามารถรักษาป่าไว้ได้ อำนาจต่อรองจะมากขึ้น แต่อุปสรรคก็คือคนที่มีอำนาจเก่าจะไม่ชอบ แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงต้องกล้าเปลี่ยนแปลงสิ่งเก่า ถ้ามีของใหม่แล้วของใหม่ต้องมีประโยชน์ เราต้องกล้าเสนอ แม้สิ่งที่เสนออาจมีใครที่ชอบหรือไม่ชอบ แต่ถ้าเราเห็นว่ามีประโยชน์กับประชาชนอันนั้นคือสิ่งสำคัญ"

ความคาดหวังกับการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมีขึ้น

"แม้เสียงในสภาฯเราอาจจะได้ไม่มากนัก แต่หน้าที่สำคัญที่เราต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่องคือ การทำความเข้าใจกับประชาชน ชี้แจงให้เห็นถึงประโยชน์ในเรื่องนโยบายที่ผลักดัน แล้วสามารถล่ารายชื่อจากชาวบ้านได้ ซึ่งต้องใช้เวลา พรรคการเมืองที่มีพัฒนาการ พรรคที่ดี ไม่มีวันที่จะได้คะแนนเสียงเยอะ อย่างที่มี ที่เห็นกันอยู่คือพรรคเฉพาะกิจ ที่เอาคนนู้นคนนี้มา มีเงิน มีทุน แล้วตั้งพรรคเพื่อหวังอะไรบางอย่าง พรรคการเมืองต้องมีหน้าที่ไปประสานกับชุมชน ให้ทราบความต้องการ หรือข้อเรียกร้อง ให้เกิดความเข้มแข็ง โดยไม่ต้องไปหวังคะแนนเสียง แต่เพื่อไปเอาภูมิปัญญาของเขามาบริหารจัดการ"

"ในส่วนของพรรคการเมืองใหม่ ส่งผู้สมัครใน กทม.3เขต ส่วนระบบปาร์ตี้ลิสต์ส่งทั่วประเทศทั้งหมด 24 คน โดยส่วนใหญ่เป็นอดีตนักกิจกรรมที่เคยต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องเกษตรกรรมเกือบทั้งหมด ยอมรับว่าสมาชิก และผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นนักเคลื่อนไหว ไม่ใช่นักการเมืองมาก่อนในเรื่องหาเสียงจึงยังกระท่อนกระแท่น การเลือกตั้งต้องใช้เงิน แต่เราก็มีไม่มาก โปสเตอร์แนะนำผู้สมัครก็มีบ้าง ก็อาศัยเดินทำความรู้จักกับชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ เทคนิควิธีการ หรือความชำนาญในพื้นที่ก็ยังอ่อนอยู่ เป้าหมายคือพยายามทำให้เต็มที่ จึงยังไม่สามารถพูดได้ว่าจะได้คะแนนเสียง หรือที่นั่งในสภาเท่าไหร่

"เท่าที่ดูแนวโน้มน่าจะเป็นฝ่ายค้านมากกว่า เพราะเราไม่น่าจะไปรวมอะไรกับใครง่ายๆตรงนี้ให้มันถึงเวลาก่อน ยากที่จะไปรวมกับใคร เพราะแนวคิดเราต้องการสร้างการเมืองใหม่ เป้าหมายของเราไม่คิดว่าจะเป็นนุ่นเป็นนี่ แต่ต้องการโฆษณาทิศทาง ความเชื่อ และอุดมการณ์ของเราให้คนเข้าใจ หากวันนี้เขายังไม่เข้าใจ ก็อาจจะใช้เวลาอีกหลายปี แต่นั่นคือความหวังของเรา ที่จะใช้การเมืองทำความเข้าใจกับประชาชน แม้เลือกตั้งหนนี้จะไม่ได้ส.ส.สักคนก็จะทำต่อไปเรื่อยๆ เมื่อผ่านวิกฤตแบบนี้ หลุดพ้นจากกระบวนการสะเปะสะปะมันจะพัฒนาไปสู่ทิศทางที่ยั่งยืน
อดีต นักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน แกนนำมวลชนผู้เคยร่วมเขียนประวัติศาสตร์บางหน้าให้กับการเมืองไทย ในวันที่นั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเล็กๆที่มีอุดมการณ์ขนาดใหญ่ กล่าวสรุปทิ้งท้ายกับ แนวหน้า

"พรรคเรามีรากฐานมาจากเกษตรกร มาจากแรงงาน มาจาการต่อสู้เรียกร้อง เราต้องทำให้ประชาชนเห็นว่าการเมืองแบบเก่าเป็นอย่างไร และเราจะไม่เกี่ยวข้อง เราต้องพูดกับญาติพี่น้องที่ต่อสู้กันมาให้เข้าใจซึ่งเป็นงานเฉพาะหน้าที่จำ เป็น การไปประกาศโฆษณาว่าตัวเองดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ แบบที่พรรคอื่นทำไม่ใช่ประเด็นสำคัญ"สมศักดิ์ โกศัยสุข กล่าว

ที่มา: สัมภาษณ์โดย สิทธิชน กลิ่นหอมอ่อน เว็บไซต์แนวหน้า 18/6/2011
http://www.naewna.com/news.asp?ID=266570

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: ทาสรัก : เจ้าหญิงโคมเขียว

Posted: 17 Jun 2011 11:00 AM PDT

ช่วงนี้หลิ่มหลีติดละครช่องสามค่ะ ทุกวันจันทร์กับอังคาร เรื่องทาสรัก

เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหญิงเมืองเชียงน้อยซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของสยามที่กำลังมีปัญหาที่ เจ้าอาอยากจะยึดบัลลังค์ไว้เป็นของตัวเอง ในขณะที่รัชทายาทชายที่แท้จริงหายสาบสูญแต่ยังเด็กเมื่อตอนลี้ภัยหลบมาเมืองสยาม

เจ้าหญิงผู้ไม่เคยทำอะไรให้กับประเทศชาติตัวเองเลยในชีวิต วันๆเอาแต่อาบน้ำอบผิวด้วยดอกไม้นานาพันธ์ จนกลิ่นดอกหลายดอกติดตัว ไปที่ไหนก็มีกลิ่นดอกหลายดอก เจ้าหญิงก็เกิดจิตอันเข้มแข็งที่จะปกป้องบัลลังค์ของพ่อและพี่ให้พ้นเงื้อมมือของเจ้าอา จึงตัดสินใจหนีจากเมืองเชียงน้อย ไปตกระกำลำบากในการหารัชทายาทเจ้าพี่ที่หายในเมืองสยาม

ออกพเนจรลำบากตรากตรำไป ท่องเที่ยวไป เล่นน้ำเล่นดอกไม้ไป ดูขัดหูขัดสิ้นดี แต่ไม่เป็นไร เจ้าหญิงสวยน่ารักไร้เดียงสา มันทำให้หลิ่มหลีทำใจได้ เพราะคนน่ารักทำอะไรก็ไม่ผิด ดูดีไปหมด หลิ่มหลีก็คล้ายๆแบบนั้นค่า จริงไหมคะ จริงไหมคะ

สลับฉากมาที่เมืองสยาม บ้านเจ้าคุณหมอหลวง นางทาสจองหองหยาบคาย ผู้มีไหวพริบและทะเยอทะยานอยากจะหลุดพ้นจากความเป็นทาส หลงระเริงลืมตัวคิดว่าตนเองนั้น ฉลาด เรียนรู้การผสมยาได้เก่ง แล้วเกิดไปรู้ทันเจ้าคุณหมอหลวงว่า เจ้านายของตนเองนั้น เลี้ยงทาสไว้เพื่อเป็นหนูทดลองยา แล้วก็ดันเก็บอาการรูัทันของตัวเองไม่อยู่ เจ้าคุณหมอหลวงก็เอาตัวนางทาสผู้นี้ไปขายให้ซ่องโสเภณี ของคุณพระเชื้อสายจีน แต่นางทาสก็หนีหลบไปก่อน เหล่าผู้คุมทาสจากซ่องจึงต้องออกตามหานางทาสคนนี้กลับมาให้ได้

เรื่องของเรื่องก็คือ เจ้าหญิงเป็นเป้าหมายการลอบสังหาร เลยให้นางทาสผู้นี้ปลอมเป็นเจ้าหญิงไปอยู่ที่วังของหม่อมเจ้าแห่งสยามซึ่งเป็นพระคู่หมั้นของเจ้าหญิง จนทำให้ผู้คุมทาสจับผิดตัว ดันไปจับเจ้าหญิงซุกซนที่เปลี่ยนเสื้อผ้าไปใส่ชุดนางทาสไปเป็นโคมเขียวที่ซ่อง

หลังจากนั้น ก็มีเหตุผลมากมายที่ทำให้เจ้าหญิงยังไม่ยอมออกจากซ่อง ส่วนนางทาสก็ใฝ่สูงหลงรักหม่อมเจ้าอยากได้เป็นหม่อม

อุเหม่ ทำไมเป็นเช่นนี้ไปได้

เรื่องของเรื่องคือ เจ้าหญิงผู้เลอโฉมกลายไปเป็นนางโคมเขียว ส่วนนางทาสชั้นต่ำก็กลายมาเป็นเจ้าหญิง

หลิ่มหลีขอตบมือชมคนคิดจริงๆเลย คิดพล็อตได้เก่งมากๆๆๆๆ

มันเป็นการสร้างจินตนาการชั้นสูงทีเดียว

มันทำให้คนอย่างหลิ่มหลีมีฝันที่อาจจะเป็นอย่างในละครได้

ผู้หญิงชนชั้นไพร่อย่างหลิ่มหลีที่ไม่มีโอกาสได้เป็นไฮโซ ก็อาจจะจับผลัดจับพลูได้เป็นเจ้าหญิง ถึงจะแค่ชั่วครู่ ได้เป็นแค่ตัวปลอม ไม่ได้เจ้าชายมาเป็นคู่ผัว แต่ก็ได้องครักษ์ซึ่งเป็นชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง โอ้ย แค่นี้ก็ดีถม

ผู้ชายเองเวลาไปเที่ยวซ่องหรืออาบอบนวด ก็อาจจะจับผลัดจับพลูได้เจอเจ้าหญิง ที่จำเป็นต้องมาเป็นหญิงบำเรอชายชั่วครู่ เธอทำเพราะความจำเป็น เพราะต้องการหาเจ้าพี่ของเธอซึ่งเบาะแสนั้นอยู่ในซอง แต่ไม่ต้องห่วงหรอก เธอยังบริสุทธิ์อยู่

ถึงแม้เรื่องราวมันจะไม่ค่อยเป็นความจริงนัก เช่น ผู้ชายที่มาเสพความสำราญกับนางโคมเขียว ก็มักจะไม่คิดอะไรมาก ขอให้สุขสมก็พอแล้ว เจ้าหญิงโคมเขียวผู้อยากอยู่ในซ่องแต่ไม่อยากเสียตัวก็ได้ยาวิเศษจากเพื่อนร่วมซ่องให้เอามาป้ายลูกค้า ลูกค้าก็จะสลบไสลไป ตื่นมาอีกที ก็มีความสุขเรียบร้อยเพราะความกระสันนั้นสิ้นสุดแล้ว

ได้ไง ....มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ในเมื่อการมีเพศสัมพันธ์ มันไม่ได้แค่เป็นการให้ฝ่ายชายเท่านั้นที่มีความสุข ความสุขจริงๆมันคือการมันส์ด้วยกัน ไหนจะต้องมีรูดเสา ไหนจะต้องมีเล้าโลมพลิกแพลงท่าพิศดาร ถ้าไอ้ยาชนิดนี้มีจริง หลิ่มหลีก็ไม่มีวันใช้มันเด็ดขาด วุ้ย ....บ้าหรอ ..ถึงหลิ่มหลีจะไม่ใช่เจ้าหญิงโคมเขียว หลิ่มหลีก็อยากมันส์นะคะ นะคะ

หลายต่อหลายฉากที่หลิ่มหลีดูละครจ้องมองเจ้าหญิงโคมเขียว เวลาเจ้าหญิงโคมเขียวมองหม่อมเจ้าพระคู่หมั้น(ที่ไม่ได้รู้ว่านางโคมเขียวที่ตัวเองมานอนด้วยเป็นพระคู่หมั้น) มันมีสายตาของ..ความกระสับกระส่าย อยากได้ใคร่รู้ ห่วงหาอาลัย อยากลองอยากรู้ อะน่า ผู้หญิงด้วยกัน มองตากันแว่บเดียวก็รู้ หึหึ

ส่วนนางทาสนั้น เห็นแล้วหลิ่มหลีก็เหนื้อยเหนื่อยแทน เพราะตลอดทั้งเรื่อง ก็เอาแต่เรียกร้องตะโกนกู่ก้องแต่ความเป็นธรรม ความเท่าเทียมกัน การเอาชนะ การได้มาซึ่งความยุติธรรม พยายามจะขัดสีฉวีวรรณยังไง ก็ไม่มีวันสำเร็จ

ทาสไพร่ก็จงเป็นทาสไพร่ไปเถอะ แหกปากอยู่ได้ ต่อให้ทำดี ต่อให้ฉลาด มีวิชาความรู้เยี่ยงหมอคนหนึ่ง มันก็ต้องเจียมกันบ้างอะไรบ้าง ซึ่งทำให้หลิ่มหลีรู้ว่า สังคมไทยไม่ว่ายุคไหนต่อยุคไหน ถ้าเราจะอยู่ให้รอด ก็ต้องทำตัวให้เจี๋ยมเจี้ยมไว้ก่อน ไม่งั้นก็โดนโขกสับกันน่าดู

แต่ละครก็คือละคร

คู่ใครก็คู่มัน เจ้าหญิงก็ต้องคู่กับเจ้าชาย (ถึงจะแอบไปรับจ๊อบโคมเขียวอยู่ชั่วขณะ ก็ไม่เป็นไร ไม่น่ารังเกียจ ถือว่า ขยันทำมาหากิน) ส่วนชาติไพร่กับนางทาสก็ได้คู่กัน (อย่างน้อยองครักษ์ก็รู้จักเจียมตัว เลือกหญิงที่เหมาะสมกับตัวเอง)

ยังไงเจ้าหญิงโคมเขียวก็ดีที่สุด สวย หอม งาม ทั้งร่างกายและจิตใจ

ละครเรื่องนี้เหมือนจะสอนให้รู้ว่า คนเราไม่ได้อยากจะเป็นนางโคมเขียว แต่มันมีเหตุจำเป็น เข้าใจกันบ้างนะคะ นะคะ

มันเป็นอะไรที่ทำให้เหล่าสาวๆไทยที่ประกอบอาชีพขายประเวณีทั้งหลายได้รับรู้ เรียนรู้ว่า ถึงแม้หนูๆจะประกอบอาชีพที่เหมือนจะโดนดูถูกเหยียดหยามจากคนทั่วไป แต่ถ้าหนูขยัน เก็บเงินเก็บทองได้เยอะๆ แม่ผัวก็จะรักใคร่หนูเอง เหมือนแม่ผัวในเรื่องนี้ที่เห็นว่าหนูมีบ่อทองบ่อพลอย ต่อให้หนูไปทำงานที่ซ่องมา แม่ผัวก็ไม่ได้รังเกียจรังงอนอะไร พ่อผัวเองก็คงจะเอ็นดู วันไหนหนูมีปาร์ตี้เพื่อนๆที่ทำงานหนูก็คงจะมาสนุกสนานให้ป๋าได้ชื่นใจ

ละครเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เมื่อชายใดติดต้องใจหญิงโคมเขียวแล้ว เสียเท่าไรไม่ว่า ขอให้ได้เป็นพอ ครั้นเสียหน้าแค่ไหนก็ยอมทน เพื่อรักแท้รักมันส์ ถึงแม้เจ้าหญิงจะรับจ๊อบเป็นนางโคมเขียว แต่เธอจะพูดอะไร ชายก็จะเชื่อว่า เธอนั้น จำเป๋น จำเป็น

ละครเรื่องนี้เหมือนจะสอนให้รู้ว่า ถ้าเขาจะปั้นดินให้เป็นดาว เขาก็ทำได้ เขาก็จะทำให้ดู นางทาสได้ทดลองมาเป็นเจ้าหญิง เพราะองค์รักษ์กับนางกำนัลคนสนิทช่วยกันทำเนียน แต่ตลอดเวลาบ่มสอนไปก็กดขี่ให้เจียมตัวไว้ว่า หล่อนนั้นเป็นใคร อย่ามาคิดฝันเฟื่อง อย่ามาเผยอหน้าใฝ่สูง ต่อให้ปั้นดินเป็นดาว แต่ครั้นจะกระทีบดาวกลับไปเป็นดินก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร

กระซิกๆๆๆๆ มันทำให้หลิ่มหลีกลัวการไต่เต้าโดยเอาเต้าไต่ไปเป็นดาวไฮโซจังเลยค่ะ กระซิกๆๆๆๆ

ตอนจบของละครเรื่องนี้ อุ้ยยยยยยย ไม่อยากสปอยเลย ..แต่แบบว่า หลิ่มหลีไปแอบอ่านหนังสือเฉลยละครที่ขายอยู่หง่ะค่ะ พอดีไปร้านทำผม เลยได้อ่าน

เฮ้อ..ตอนจบหลิ่มหลีไม่เล่ารายละเอียดนะคะ แค่อยากบอกว่า …….

(ประชาไทเซ็นเซอร์ขอความส่วนนี้สำหรับผู้อ่านที่ไม่ประสงค์รับรู้เกี่ยวกับตอนจบของละคร แต่ถ้าอยากอ่าน สามารถไฮไลท์ข้อความเพื่ออ่าน ขออภัยในความไม่สะดวก)

ท้ายสุดหนังเรื่องนี้ก็ทำให้คนเห็นความรักสำคัญกว่าชาติบ้านเมือง เจ้าหญิงผู้ควรจะช่วยเหลือบ้านเมืองบ้างตามฐานันดรของตนเอง กลับเห็นความรักสำคัญกว่า ไปเป็นหม่อมของหม่อมเจ้าอยู่ที่วังน้ำเขียวเมืองสยามซะ แล้วก็ยกบ้านยกเมืองให้คนอื่นไปครอง

ฮ่าๆๆๆๆ ขำค่ะ ขำ ... รักแท้สำคัญกว่ารักชาติบ้างเมืองและหน้าที่ บอกให้รู้ว่า ความสุขส่วนตัวสำคัญกว่าความอยู่รอดของส่วนรวม .. อ่ะน่า ละคร แม่หลิ่มหลี นี่แค่ละครย่ะ (หลิ่มหลีสอนตัวเอง)

ส่วนนางทาสก็ไต่เต้าได้เพราะผัว ถ้าไม่ได้ผัวมียศฐาบรรดาศักดิ์ หรือไม่ได้ทำความดีความชอบเอาไว้บ้าง ที่ช่วยเหลือเจ้าหญิง ก็คงยังคงความเป็นทาสไว้ ที่ได้มาเป็นหมอหลวงกะเขาบ้างอะไรบ้าง ก็เป็นการตอบแทนความดีความชอบที่จงรักภักดี ถ้าไม่จงรักภักดี ก็ไม่รู้ว่าจะได้ตำแหน่งหมอหลวงไหม เพราะตลอดเรื่อง โดนกด โดยขี่จากนางกำนัลตลอด เป็นหลิ่มหลีก็หมดหวังไปแล้ว ...

ก็ไม่มีอะไรหรอกค่ะ มาคุยละครไทยให้ฟังบ้าง ...ขำๆ

ละครเขาคงแค่อยากสอนใจว่า เจ้าหญิงโคมเขียว เป็นที่ยอมรับได้เพราะเธอนั้นเข้าซ่องไปเพราะความจำเป็น ไม่มีใครอยากทำอาชีพนี้หรอกค่ะ หลิ่มหลีเข้าใจแบบนี้

และอยากให้เห็นใจกันบ้าง

เข้าใจกันบ้าง นะคะ นะคะ

ได้โปรด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อนุสรณ์ อุณโณ:สังคมและรัฐรับน้อง

Posted: 17 Jun 2011 10:13 AM PDT

พิธีรับน้องที่มีลักษณะ “ป่าเถื่อน” ถูกต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในมหาวิทยาลัยและสังคมในวงกว้างมาเป็น เวลานานแล้ว ล่าสุดการประท้วงพิธีรับน้องที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ถูกนำมาเผยแพร่ทาง YouTube ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในวงกว้างอีกครั้ง มีการเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์จำนวนหลายชิ้น รวมทั้งมีการรวบรวมรายชื่อและรณรงค์ให้มีการปฎิรูปวิธีการรับน้องเสียใหม่ ทว่าในทางกลับกันไม่เพียงแต่อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคามจะออกมาให้ สัมภาษณ์ในเชิงปกป้องพิธีรับน้องพร้อมกับกล่าวหานักศึกษาที่ต่อต้านว่าเป็น พวก “ร้อนวิชา” หากแต่ยังมีนักศึกษาและบุคคลทั่วไป (ซึ่งล้วนแต่ผ่านพิธีรับน้องของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในประเทศไทย) จำนวนไม่น้อยเช่นกันที่จาระไนให้เห็นว่าพิธีรับน้องมีประโยชน์ทั้งต่อปัจเจก บุคคล สถาบัน และสังคมอย่างไร ฉะนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าพิธีรับน้องที่ดู “อนารยะ” ในมหาวิทยาลัยไทยจะไม่อันตรธานหายไปอย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้นี้

ในทางมานุษยวิทยา พิธีรับน้องสามารถเทียบเคียงได้กับพิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน (Rite of Passage) หรือพิธีกรรมเลื่อนสถานภาพ (Initiation Rite) ของบุคคลในสังคมชนเผ่า ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวประกอบด้วย 3 ช่วง คือ ช่วงแยกตัว ช่วงเปลี่ยนผ่าน และช่วงผนวกรวม โดยช่วงแยกตัวหมายถึงการแยกตัวผู้เข้าพิธีออกจากชีวิตปกติ คือ จากพ่อแม่และญาติพี่น้องไปอยู่ยังสถานที่อีกแห่ง เช่น กระท่อมกลางป่านอกเขตหมู่บ้าน เป็นเวลาชั่วคราวเพื่อเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในช่วงนี้ผู้เข้าพิธีทุกคนจะถูกปลดเปลื้องสถานภาพดั้งเดิมจนหมดสิ้น ไม่ว่าจะเป็นลูกหัวหน้าเผ่าหรือลูกคนธรรมดาต่างมีสถานะเท่าเทียมกันและขึ้น ต่อผู้มีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว โดยผู้มีอำนาจสูงสุดมักเป็นผู้อาวุโสของเผ่า สวมหน้ากากสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของวิญญาณบรรพบุรุษพร้อมกับถือไม้เรียว เฆี่ยนตีผู้เข้าพิธีที่ไม่เชื่อฟัง มีหน้าที่ถ่ายทอดตำนานชนเผ่าและอบรมสั่งสอนระบบคุณค่าและระเบียบกฎเกณฑ์ ต่างๆ ของเผ่าให้ผู้เข้าพิธีได้ซึมซับเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นผู้เข้าพิธีจะเดินทางกลับหมู่บ้านเพื่อเข้าสู่ช่วงการผนวกรวม ซึ่งพวกเขาจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในฐานะสมาชิกคนใหม่ที่สมบูรณ์ของ เผ่า มีการเฉลิมฉลองด้วยการกิน ดื่ม ขับร้อง และเต้นรำเป็นเวลาหลายวันหลายคืน

นอกเหนือจากระบบความเชื่อ สัญลักษณ์ และภาวะกลับหัวกลับหางในช่วงเปลี่ยนผ่าน พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านหรือพิธีกรรมเลื่อนสถานภาพ (เช่นเดียวกับพิธีกรรมโดยทั่วไป) มักถูกวิเคราะห์ในกรอบของการทำหน้าที่จรรโลงโครงสร้างสังคม กล่าวคือ พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านให้หลักประกันว่าสมาชิกใหม่จะไม่ท้าทายหรือรื้อทำลาย ระบบคุณค่าและระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ดำรงอยู่ เพราะกิจกรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านเน้นการอบรมสั่งสอนผู้เข้าพิธีให้เคารพเชื่อ ฟังมากกว่ากระตุ้นให้ตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ และเน้นให้ผู้เข้าพิธียอมรับความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานแทนที่จะต่อต้านขัดขืน ขณะเดียวกันความที่ช่วงเปลี่ยนผ่านเน้นความเสมอภาคในหมู่ผู้เข้าพิธีและมี การกลับหัวกลับหางระเบียบกฎเกณฑ์ก็ส่งผลให้ความตึงเครียดซึ่งเกิดจากความ เหลื่อมล้ำในโลกปกติลดลงหรืออยู่ในระดับที่ไม่เป็นภัยคุกคามระเบียบสังคม ภราดรภาพในหมู่ผู้เข้าพิธีแม้จะเกิดขึ้นในเวลาสั้นแต่ก็อาจส่งผลช่วยระงับ ความบาดหมางระหว่างคนที่มีสถานภาพต่างกันในโลกปกติได้ นอกจากนี้ พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านช่วยให้ผู้เข้าพิธีผ่านพ้นความสับสนกระวนกระวายใจกับการ เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของตนได้ ผู้ผ่านพิธีมีความมั่นใจว่าชีวิตใหม่ข้างหน้าไม่อ้างว้างเพราะรู้ว่าตัวเอง เป็นใคร อยู่ตรงไหน สังกัดอะไร มีใครเป็นเพื่อน รวมทั้งไม่รู้สึกเคว้งคว้างเพราะมีหลักให้ยึดและมีกรอบให้เดินตาม และเพราะเหตุที่มีหน้าที่ทั้งต่อปัจเจกบุคคลและสังคมเช่นนี้ พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านหรือพิธีกรรมเลื่อนสถานภาพจึงมีให้เห็นในแทบทุกสังคมและ วัฒนธรรม เช่น พิธีบวชในสังคมพุทธ และพิธีขลิบปลายหนังหุ้มอวัยวะเพศในสังคมมุสลิม เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การอธิบายพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านในเชิงโครงสร้าง-หน้าที่เช่นนี้มีข้อจำกัด เพราะไม่เห็นความตึงเครียดที่แฝงอยู่รวมทั้งแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง และข้อจำกัดดังกล่าวทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในสังคมขนาดใหญ่หรือสังคมร่วมสมัย ที่ไม่มีระบบคุณค่าหรือระเบียบกฎเกณฑ์ใดเป็นตัวแทนของสังคมโดยรวมได้อีก ขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ได้ส่งผลให้สถาบันทางสังคมตามประเพณี (ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการประกอบพิธีกรรมส่วนใหญ่) ปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก ดังกรณีรัฐไทย สถาบันทางสังคมตามประเพณี เช่น วัด ส่วนใหญ่หากไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกเชิงอุดมการณ์ของรัฐ ก็หันเข้าสู่โลกภายในมากขึ้นหรือไม่ก็มุ่งแสวงหาความมั่งคั่งจนมีเวลาให้กับ พันธกรณีทางสังคมน้อยลงอย่างมาก ในทางกลับกัน กลไกรัฐที่สร้างขึ้นใหม่ เช่น สถานศึกษา และกองทัพ ก็ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นสถาบันทางสังคมเพื่อเป็นกลไกเชิงอุดมการณ์ของรัฐ มาตั้งแต่ต้น การณ์จึงกลายเป็นว่าพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันทางสังคมเหล่านี้ไม่ได้ทำ “หน้าที่” จรรโลงสังคมโดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับความตระหนักรู้ของผู้ปฏิบัติ หากแต่ถูกจงใจใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์จำเพาะของสถาบันซึ่ง มักสอดคล้องกับผลประโยชน์ของรัฐ

พิธีกรรมในสถาบันเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดความตึงเครียดมากนักหากว่าเป็นไปใน ทิศทางเดียวกับสภาวะปกติของสถาบัน เช่น โรงเรียนนายร้อยทหารและตำรวจมีประเพณี “รับน้อง” และระบบอาวุโสที่เข้มงวด นักเรียนปีหนึ่งต้องเคารพเชื่อฟังและปรนนิบัติรุ่นพี่ในระดับที่นักศึกษา มหาวิทยาลัยไม่สามารถเทียบได้ แต่สาเหตุที่ไม่สู้จะมีข่าวคราวการต่อต้านหรือการประท้วงประเพณีรับน้องใน สถานศึกษาประเภทนี้ นอกจากจะเป็นเพราะประเพณีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเครือข่ายความ สัมพันธ์เชิงพึ่งพาที่สำคัญในอนาคต ยังเป็นเพราะประเพณีเหล่านี้สอดคล้องกับการจัดความสัมพันธ์แบบลำดับขั้นหรือ ตามสายการบังคับบัญชาของสถานศึกษาและสถาบันที่รองรับผู้สำเร็จการศึกษาซึ่ง มีสถานะเป็นกลไกความมั่นคงของรัฐโดยตรง ในทางกลับกัน พิธีรับน้องในมหาวิทยาลัยในลักษณะ “ป่าเถื่อน” มักเป็นข่าวคราวขึ้นมาส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามหาวิทยาลัยถูกคาดหวังให้เป็นดิน แดนแห่งสิทธิและเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก ไม่ใช่สถานที่บังคับฝึกฝนพลเมืองให้อยู่ในระเบียบกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด ประเพณีรับน้องที่เน้นการเคารพเชื่อฟังหรือการยอมจำนนต่ออำนาจดิบหยาบของ รุ่นพี่ (ผู้มาแทนครูและอาจารย์ในระบบโรงเรียน) โดยดุษณีแม้จะเป็นลักษณะชั่วคราวจึงไปไม่ได้กับอุดมคติของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยไทยจึงเป็นแหล่งของความลักลั่นเรื่อยมาเมื่อมาถึงปัญหาว่าสมาชิก ในชุมชนแห่งนี้จะจัดความสัมพันธ์กันอย่างไร 

กล่าวอีกนัยหนึ่ง พิธีรับน้องไม่ได้ดำรงอยู่โดดเดี่ยว หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของการที่สถานศึกษาในฐานะสถาบันทางสังคมถูกแปรสภาพให้ เป็นกลไกเชิงอุดมการณ์ของรัฐ เพราะนอกจากความกลัวในอำนาจตามกฎหมาย รัฐไทยปกครองและควบคุมพลเมืองโดยอาศัยการปลูกฝังความซื่อสัตย์และจงรักภักดี ผ่านทางพิธีกรรม พิธีรับน้องอาจมีความเข้มข้นในช่วงแรกของการมีชีวิตเป็นนักศึกษา ทว่าพิธีกรรมที่นิสิตนักศึกษามักถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมอย่างต่อเนื่องมากกว่า มักเป็นเรื่องที่มีรัฐมาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ การยกเลิกการ “ว้าก” ที่ดู “ป่าเถื่อน” ไร้ “อารยธรรม” และเป็นเผด็จการแทบจะไม่มีความหมายหากการบังคับให้แสดงความรักและความภักดี ที่ดูวิจิตรบรรจงในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ถูกตั้งคำถามไปพร้อมๆ กัน   

 

ที่มา:คอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน เดือน มิถุนายน 2554
ที่มาภาพ:http://blog.spu.ac.th/spufcontent5/2008/11/03/entry-14

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์อ้างว่ามีการชักธงแดงรูปช้างที่เชียงใหม่เพื่อเรียกร้องรัฐอิสระ

Posted: 17 Jun 2011 07:42 AM PDT

แม่ทัพภาค 3 เรียกนักศึกษาวิชาทหารประชุมที่เชียงใหม่ เพื่อชี้แจงเรื่องสถานการณ์ยาเสพย์ติด-การเลือกตั้ง-การปกป้องสถาบันกษัตริย์ พร้อมสั่งการ ผบ.มณฑลทหารบกที่ 33 ลงไปคุยกับหมู่บ้านเสื้อแดงที่แม่วางว่าใช้พระราชบัญญัติอะไรจัดตั้งหมู่บ้าน ขณะที่สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์อ้างว่ามีบ้านเสื้อแดงบางแห่งในเชียงใหม่ชักธงสีแดงรูปช้างเป็นสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องรัฐอิสระ

แม่ทัพภาค 3 ชี้แจงนักศึกษาวิชาทหารที่เชียงใหม่เรื่องการเลือกตั้ง-การปกป้องสถาบันกษัตริย์

มีรายงานว่า พล.ท.วรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาคที่ 3  ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3  ได้เดินทางมาที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นประธานการประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจสถานการณ์ยาเสพติด ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเทิดทูนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้กับผู้บริหารสถานศึกษาวิชาทหารและนักศึกษาวิชาทหาร

 

หวั่นคนรุ่นใหม่ไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จึงให้นำพระราชกรณียกิจมาเผยแพร่

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานคำกล่าวของ พล.ท.วรรณทิพย์ ที่ระบุว่า การเดินทางมาในครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะพูดคุยและชี้แจงกับกลุ่มนักศึกษาวิชาทหารเกี่ยวกับภัยคุกคามความมั่นคงในรูปแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด การแย่งชิงทรัพยากร หรือการค้ามนุษย์ เพื่อให้เยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตมีความเข้าใจ และสามารถเตรียมตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

และจะมีการนำเสนอพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  โดย พล.ท.วรรณทิพย์ ให้เหตุผลว่าเนื่องจากคนรุ่นใหม่ๆ ไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น จึงอาจจะไม่เข้าใจ ไม่ศรัทธา หรือไม่เห็นประโยชน์ของสถาบัน จึงได้นำเอาพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกระทำมาเผยแพร่ เพื่อให้เยาวชนเกิดความเข้าใจว่าพระองค์ได้ทำประโยชน์เพื่อประเทศเป็นอย่างมาก และหวังว่าประชาชนจะเกิดความรู้สึกเทิดทูนและช่วยกันปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไป

 

สั่งการ ผบ.มทบ.33 พูดคุย-สอบถามหมู่บ้านแดงที่แม่วางใช้พระราชบัญญัติอะไรจัดตั้งหมู่บ้าน

รายงานเพิ่มเติมจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ระบุว่า พล.ท.วรรณทิพย์ ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องหมู่บ้านแดงในภาคเหนือ ล่าสุดหลังจากทราบเรื่องการติดธงแดงตามบ้านเรือนประชาชน รวมทั้งการจัดตั้งหมู่บ้านแดงที่บ้านดอยยาว อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม พล.ท.วรรณทิพย์ ได้สั่งการให้พลตรีประตินันท์ สายหัสดี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เข้าตรวจสอบ และพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อรับทราบข้อเท็จจริง ว่าหมู่บ้านดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และใช้พระราชบัญญัติอะไรในการจัดตั้ง เพื่อรับทราบข้อเท็จจริง ถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งหมู่บ้านดังกล่าว และดำเนินการถูกกฎหมายหรือไม่ โดยให้รายงานให้ทราบโดยด่วน

 

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ระบุบ้านเสื้อแดงบางแห่งมีการชักธงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องรัฐอิสระ

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานเพื่มเติมว่า สำหรับหมู่บ้านแดงในเชียงใหม่ที่มีกระแสข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการคือที่บ้านดอยยาว อำเภอแม่วาง ขณะเดียวกันยังพบมีประชาชนจำนวนมากทั้งเขตเมืองและอำเภอรอบนอก ที่ติดธงแดงแสดงสัญลักษณ์ไว้ที่หน้าบ้านจำนวนมาก

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ ยังอ้างรายงานของ "หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่" ซึ่งระบุว่ากำลังให้ความสนใจกับการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยเฉพาะการนำธงพื้นสีแดงที่มีรูปช้างสีขาวประทับอยู่ มาติดปะปนอยู่กับธงแดง ที่นำมาประดับตามที่อยู่อาศัยสำหรับธงพื้นสีแดง มีรูปช้างสีขาวประทับตรงกลาง โดยอ้างว่าธงดังกล่าวคือธง "ช้างปูเล้ย" ซึ่งเป็นช้างโบราณของชาวล้านนาที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ของการแยกเชียงใหม่ให้ปกครองตัวเองเป็นรัฐอิสร

 

เนชั่นอ้างมีการนำเสนอแนวคิดให้ "ทักษิณ" ที่ "ดูไบ" ด้วย

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อ 14 มิ.ย. มีรายงานข่าวทำนองนี้ในเนชั่นทันข่าวด้วยเช่นกันโดยอ้าง "แหล่งข่าว" ซึ่งระบุว่าในช่วงเวลาที่เชียงใหม่ครบรอบ 700 ปี หรือเมื่อ 15 ปีก่อน มีการเสนอความคิดจากนักวิชาการกลุ่มก้าวหน้าที่เสนอให้แยกเชียงใหม่ออกจากกรุงเทพฯ และให้มีการปกครองตัวเองแบบเป็นรัฐอิสระ ต่อเนื่องมาถึงการการรณรงค์ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่โดยตรง และยังกล่าวว่าหลังปี 2544 ถึงปัจจุบัน นักวิชาการผู้เสนอแนวคิดนี้ได้เข้าร่วมอุดมการณ์กับพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย อย่างเต็มตัว จนทำให้ในช่วงหลังใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงขั้นเดินทางไปพบที่ดูไบหลายครั้ง และกลายเป็นที่มาของการผลักดันแนวความคิดให้เชียงใหม่เป็นรัฐอิสระ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: เปิดหลักสูตรรู้ทันสื่อในอีสาน หวังยกมาตรฐานประชาชนให้เหนือสื่อ

Posted: 17 Jun 2011 05:34 AM PDT

ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดหลักสูตรรู้ทันสื่อในอีสาน ป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็น “เหยื่อ” หรือได้รับผลกระทบจากการนำเสนอเนื้อหาสาระของสื่อ

 

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา โรงแรมธนินธร  กรีนปาร์คร้อยเอ็ด : ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับ แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน  เมื่อวันที่ 14-15 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา  หวังสร้างความตื่นตัว  รู้เท่าทันและเฝ้าระวังปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้านสื่อ  ทั้งการโฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริงจนถึงขั้นหลอกลวงประชาชนที่มีอยู่มากมายในปัจจุบันนี้  หรือการละเมิดสิทธิบางอย่างที่สื่อมีการก้าวล่วงทั้งความเป็นส่วนตัวและสิทธิอันชอบธรรมทางกฎหมาย  ซึ่งหลังจากผ่านการอบรมครั้งนี้แล้วจะสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้

สำหรับผู้เข้าร่วมอบรม มีทั้งนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดร้อยเอ็ด (เทคนิค,ราชภัฏร้อยเอ็ด) เครือข่ายสมาคมผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด  และเครือข่ายจากจังหวัดมหาสาคาม กาฬสินธุ์ ยโสธร รวม 50 คน  พวกเขาจะได้เรียนรู้ประโยชน์ โทษ และปัญหาการละเมิดสิทธิของสื่อ 6 ประเภทที่ผู้บริโภคเคยประสบคือ วิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี ฟรีทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และอินเตอร์เน็ต  ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาได้เมื่อพบเจอกับสถานการณ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น กรณีสาวสีลม กรณีสาวซีวิค ข่าวการข่มขืนผู้หญิงบนรถไฟ ในประเด็นด้าน พฤติกรรม ภาษา ภาพ เสียง ที่รุนแรงหรือไม่เหมาะสม ผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซ้ำเติมความทุกข์ของเหยื่อ  บทเรียนจากละครดอกส้มสีทอง เอ็มวีสวรรค์เบี่ยง เอ็มวีน้ำผึ้งขมในประเด็นด้านเพศ การแต่งกาย เน้นสัดส่วน สัมพันธภาพทางเพศ หรือการโฆษณาแฝงในรายการเกมส์โชว์ ละครซิทคอม  เป็นต้น

การดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในรูปของพลังประชาชนเช่นนี้ เป็นทางออกที่สำคัญซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็น “เหยื่อ” หรือได้รับผลกระทบจากการนำเสนอเนื้อหาสาระของสื่อในด้านที่มีพิษภัยได้ง่ายเกินไป จึงได้มีการจัดตั้งเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนในระดับภูมิภาคขึ้น 10 จังหวัด ในพื้นที่ 5 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เชียงราย  , ภาคใต้  2 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ตรัง  , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  2 จังหวัดได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด , ภาคกลางและตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี ตราด และ ภาคตะวันตก 2 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี และราชบุรี

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สำนักงานทรัพย์สินฯ แจง "ในหลวง" ไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

Posted: 17 Jun 2011 05:06 AM PDT

สำนักงานทรัพย์สินฯ ชี้แจงย้ำอีกครั้ง พระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นคือทรัพย์สินส่วนพระองค์ ส่วนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นทรัพย์สินของรัฐและของแผ่นดิน ซึ่งมีรัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบ โดยสำนักงานฯ เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดิน

17 มิ.ย. 54 - มติชนออนไลน์รายงานว่าตามที่นิตยสารฟอร์บสเคยลงข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เพราะเป็นเจ้าของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รายงานประจำปีล่าสุดของสำนักงานฯ ปฏิเสธเรื่องดังกล่าว

โดยในรายงานประจำปี พ.ศ. 2553 ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในบทส่งท้ายระบุว่า ตามที่นิตยสารฟอร์บสได้เคยลงข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เพราะสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีทรัพย์สินโดยเฉพาะที่ดินมีมูลค่ามากมายมหาศาล ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ชี้แจงไปยังนิตยสารนี้แล้วว่าข้อมูลนี้ไม่เป็นความจริง เพราะในประเทศไทยมีกฎหมายแบ่งแยกทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน

ถึงแม้ว่าจะชี้แจงไปแล้วว่าพระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นคือทรัพย์สินส่วนพระองค์ ส่วนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นทรัพย์สินของรัฐและของแผ่นดิน ซึ่งมีรัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการเป็นผู้รับผิดชอบ โดยสำนักงานฯ เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดิน และมีนโยบายที่ได้รับมอบหมายมาจากคณะกรรมการ ซึ่งเป็นเรื่องการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมมาโดยตลอด แต่ยังมีผู้เข้าใจผิดเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย

รายงานดังกล่าว ยังระบุว่าที่ดินที่ได้มอบให้สำนักงานทรัพย์สินฯดูแลตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงานปี 2479 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักงานปฏิรูปที่ดิน(สปก.) นำที่ดินประมาณครึ่งหนึ่ง(ประมาณ 44,000 กว่าไร่) ไปจัดสรรให้ประชาชนได้มีที่ทำกิน และได้ทรงตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบนที่ดินเหล่านี้ ส่วนที่ดินที่เหลือที่ยังอยู่ในความดูแลของสำนักงานฯ ก็ไม่ได้ถูกใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดอย่างเช่นเอกชนทั่วๆไป แต่มีการบริหารจัดการโดยมีนโยบายการพัฒนาระยะยาวเพื่อประโยชน์สังคมเป็นเป้าหมายหลัก

โดยที่ที่ดินร้อยละ 93 ให้เช่ากับหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม และประชาชนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางในอัตราค่าเช่าที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก มีเพียงร้อยละ 7 ที่ให้เอกชนเช่าออกไปพัฒนาในทางธุรกิจโดยได้ค่าเช่าในอัตราใกล้เคียงกับอัตราตลาด

รายงานฉบับดังกล่าว ยังระบุถึงทรัพย์สินที่เป็นเงินลงทุน ว่าปัจจุบันมีการลงทุนหลักในสองกิจการ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) ซึ่งมีนโยบายที่เข้มงวดในการบริหารกิจการโดยมีหลักธรรมาภิบาลและรับผิดชอบต่อสังคม

โดยปี 2553 สำนักงานได้เพิ่มบทบาทการดำเนินการและสนับสนุนกิจการด้านสังคมที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งบนพื้นที่ของสำนักงานและโดยทั่วไป โดยผลสำเร็จของงานหลายๆประการได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ ซึ่งสามารถจำแนกเป็นหมวดหมู่ดังต่อไปนี้

1.การพัฒนาศักยภาพและมอบโอกาสให้เยาวชนที่จะเป็นคนเก่งคนดี เป็นคนมีความสุขในสังคม

2.การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนที่อาศัยบนพื้นที่ของสำนักงานฯ

3.การบรรเทาปัญหาสังคมอันเกิดจากความด้อยโอกาส การเข้าไม่ถึงบริการหรือสวัสดิการของรัฐ

4.การรักษาและอนุรักษ์คุณค่าทางศิลปะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมและทางศาสนา

5.การสนับสนุนการวิจัยเชิงกลยุทธ์เพื่อการพัฒนา และเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญของประเทศ

รายงานประจำปีล่าสุดของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ยังระบุว่าปี 2553 สำนักงานฯพอใจกับผลงานที่กิจการและโครงการต่างๆก้าวหน้าตามพันธกิจและนโยบายอย่างดี และปลายปี 2553 ได้ริเริ่มกระตุ้นรณรงค์ให้ผู้บริหารมุ่งสร้างความสำนึกและพัฒนาความใส่ใจใฝ่รู้ของบุคลากร นำไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อคุณภาพการบริหารจัดการทุกๆด้านให้อยู่ในระดับมาตรฐานโลกภายในปี 2554 .

(จากสำนักข่าวอิศรา /รายงานประจำปี 2553  สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์)

คลิกอ่าน อ่านรายงานประจำปี 2553  สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่นี่!!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"วรวีร์ มะกูดี" ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมฟุตบอลสมัยที่ 3

Posted: 17 Jun 2011 04:46 AM PDT

นายวรวีร์ มะกูดี ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นสมัยที่ 3 ของตัวเอง หลังเอาชนะคู่แข่งทั้งนายวิรัช ชาญพานิชย์ และนายพิเชษฐ์ มั่นคง อย่างขาดลอย

17 มิ.ย. 54 - สำนักข่าวไทยรายงานว่าที่สมาคมฟุตบอลจัดประชุมใหญ่ สามัญประจำปี 2553 ที่ศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ หนองจอก วาระสำคัญคือการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอล โดยก่อนการเลือกตั้งมีปัญหาเล็กน้อย เมื่อสโมสรโรงเรียนพยุหพิทยา จากจังหวัดนครสวรรค์ มีผู้ถือใบมอบอำนาจมาลงคะแนน 2 คน ทำให้ถูกตัดสิทธิ์ไปเช่นเดียวกับสโมสรไทยฮอนด้า ที่ไม่มีผู้มาลงคะแนน รวมกับอีก 3 สโมสรที่คุณสมบัติไม่ครบ ทำให้มีสโมสรสมาชิกมีสิทธิ์ลงคะแนนรวม 149 เสียง รวมสภากรรมการอีก 19 เสียง เป็นทั้งหมด 168 เสียง
  
ส่วนชื่อที่ถูกเสนอให้รับเลือกเป็นนายกสมาคมฟุตบอล มีสโมสรสมาชิกเสนอทั้งสิ้น 3 คน คือ นายวรวีร์ มะกูดี, นายวิรัช ชาญพานิชย์ และนายพิเชษฐ์ มั่นคง ผลปรากฏว่าเป็นนายวรวีร์ที่ได้รับความไว้วางใจ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ของตัวเอง ได้คะแนน 123 เสียง ส่วนนายวิรัชได้ 44 เสียง และนายพิเชษฐ์ได้ไปเพียง 1 คะแนนเสียง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภาที่ปรึกษาฯ เดินหน้าเวทีสุดท้าย เร่งระดมความเห็นเรื่อง AC 4 ภูมิภาค

Posted: 17 Jun 2011 04:35 AM PDT

สภาที่ปรึกษาฯ เดินหน้าจัดเวทีสุดท้ายที่ชลบุรี การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AC) ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

17 มิ.ย. 54 - สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นภาคกลางซึ่งเป็นภาคสุดท้ายในเวที 4 ภูมิภาค ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จังหวัดชลบุรี เรื่อง “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AC) ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีนายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวต้อนรับ นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวรายงาน ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตร" และนายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวขอบคุณ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากภาคส่วนต่าง ๆ เกือบ 400 คน

ฯพณฯ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี กล่าวเปิดเปิดการสัมมนาความว่า ประเทศอาเซียนมี 10 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว เวียดนาม พม่า และกัมพูชา ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย สามเสาหลัก คือ 1) การเมืองความมั่นคง 2) สังคมและวัฒนธรรม 3) เศรษฐกิจ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศอาเซียนสู่ระดับโลก สามารถเคลื่อนย้ายฐานการผลิตได้อย่างเสรี ลดกำแพงภาษีระหว่างประเทศ และเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทในประเทศสมาชิกได้อย่างสันติ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น มีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศอาเซียนจะมีความเกี่ยวข้องกับสังคมในเกือบทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน สาธารณสุข ดังนั้น จึงต้องมีการบูรณาการระหว่างองค์กรภาครัฐ เอกชน ประชาชน สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย นักวิชาการ รวมถึงสื่อมวลชน ภายใต้การน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกโอกาส ตั้งแต่ระดับครอบครัว สังคม ตลอดจนประเทศและระหว่างประเทศ และต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของประชาชนให้มีความสำนึกในคุณธรรม จึงจะทำให้การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลต่อไป

หลังจากนั้นเป็นการอภิปรายเรื่อง “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AC) ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยวิทยากร ศาสตราจารย์ ดร. ณัฎฐพงศ์ ทองภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ อภิปรายในหัวข้อ “การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับโลกาภิวัตน์” โดยพูดถึงเรื่องของกระแสโลกาภิวัตน์ว่าอาเซียนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ คำว่าโลกาภิวัตน์ คือ การเชื่อมโยงของโลกกับประเทศต่างๆ โลกแคบลง มีการเข้าหากันได้ง่ายขึ้น ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้ง่าย เศรษฐกิจขยายตัว ลดความยากจนลงได้ แต่ในด้านการค้าระหว่างประเทศนั้นจะไม่ช่วยในด้านการกระจายรายได้ และการค้าให้มีความมั่นคง แข็งแรง การเตรียมตัวข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน คำว่าพอเพียงนั้นเป็นได้ทั้ง “ความสมดุล ยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้” และ “ความพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันในตนเองเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก” การประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในระดับประเทศ รัฐต้องสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐานที่ดีและแก้ไขปัญหาความยากจนเรื้อรังให้หมดไป ในระดับองค์กรต้องทำให้บุคลากรภายในองค์กรมีความพอประมาณและรู้จักออม และต้องกระทำอย่างมีประสิทธิภาพ มีความรอบรู้และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักการค้าบริการและการลงทุน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อภิปรายในหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” โดยกล่าวว่า อาเซียนจะกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนแล้วจะมีการเคลื่อนย้ายบุคลากรอย่างเสรี ดังนั้นไทยจึงต้องคิดว่า อยากจะได้บุคลากรจากประเทศใดเข้ามาหรือจะส่งบุคลากรจากไทยไปที่ประเทศใด นอกจากนั้นภาษีการนำเข้าจะเป็นศูนย์ การทำธุรกิจภาคบริการหรือการลงทุนสามารถกระทำในประเทศอื่นในอาเซียนได้อย่างเสรี ขณะเดียวกันไทยก็ต้องเปิดเสรีถึง 70% ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่ใช่ “made in Thailand” เพียงอย่างเดียว แต่อาจเปลี่ยนเป็น “made in ASEAN” ผลที่จะเกิดขึ้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ต้องกระตุ้น ต้องปรับตัวเตรียมรับมือ และควรแนะให้ภาคเอกชนใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกมากกว่าเชิงรับด้านนายกรกฎ ผดุงจิตต์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อภิปรายในหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้านอุตสาหกรรม” โดยเสนอแนะเรื่องการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่ AEC ว่า ควรพัฒนาด้านภาษาในการติดต่อสื่อสาร ตลอดจนผลิตสินค้าที่รักษาสิ่งแวดล้อมและต่อต้านโลกร้อน รวมถึงการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ควรศึกษากฎระเบียบและเงื่อนไขด้านการนำเข้าของประเทศคู่ค้า ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้สอดคล้องกับถิ่นกำเนิดสินค้าและมาตรฐานอาเซียน ควรปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การจัดการการผลิตและต้นทุน และการดำเนินธุรกิจ รวมถึงพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมของบุคลากร โดยเฉพาะแรงงานฝีมือและช่างเทคนิค

นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ ผู้อำนวยการสำรักเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อภิปรายในหัวข้อ การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้านการเกษตร” กล่าวว่า จุดเด่นของสินค้าเกษตรไทยในปัจจุบัน คือ มีการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานซึ่งสร้างความโดดเด่นและความแตกต่างจากประเทศคู่แข่ง มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วโลก แต่ยังมีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องของแรงงานภาคเกษตรในอนาคต เกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีการศึกษาน้อย อีกทั้งการผลิตยังต้องพึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้ นางสาวรังษิตฯ ยังเสนอแนวทางและมาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมของภาคเกษตรเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ หนึ่ง ด้านการนำเข้า ควรกำหนดมาตรฐานการผลิตและมาตรการด้านสุขอนามัย เช่น ต้องมีใบรับรองสุขอนามัย เป็นต้น และสอง ด้านการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ควรมีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินคาเกษตรสู่สากล ตลอดจนส่งเสริมการทำเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร

นางสาวดุริยา อมตวิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญ สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษา อภิปรายในหัวข้อ “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยสู่การเข้าร่วมประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ด้านการศึกษา” โดยกล่าวว่า การศึกษาเป็นกลไกหลักในการนำอาเซียนก้าวสู่ความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประเทศไทยต้องปรับตัวเชิงยุทธศาสตร์ในการสร้างเสริมความร่วมมือในอาเซียน เกิดความตระหนักร่วมกันถึงคุณค่าและความเป็นมนุษย์และพลเมืองอาเซียนร่วมกัน การก้าวสู่ประชาคมอาเซียนประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในการผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาหลัก 7 สาขา คือ วิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชีในช่วงบ่ายเป็นการสัมมนากลุ่มย่อย โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มย่อยคือ กลุ่มเกษตรกรรม, กลุ่มอุตสาหกรรมแรงงาน และโครงสร้างพื้นฐาน, กลุ่มเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง และการบริการ, กลุ่มศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์, กลุ่มสุขภาพ คุณภาพชีวิต และกีฬา และกลุ่มยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และการมีส่วนร่วมหลังจบการสัมมนาทั้ง 4 ภูมิภาค จะเป็นการสัมมนาประจำปีในเรื่องเดียวกันที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นสภาที่ปรึกษาฯ จะรวบรวมความคิดเห็นที่ได้จากการสัมมนาทั้งหมด มาสังเคราะห์และวิเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ซูจีเยี่ยมให้กำลังใจภรรยานักโทษการเมืองไทใหญ่

Posted: 17 Jun 2011 04:28 AM PDT

นางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านเอ็นแอลดีพร้อมสมาชิกเยาวชนพรรคเอ็นแอลดีอีก 20 คน ได้เดินทางไปยังบ้านพักของขุนทุนอู ในกรุงย่างกุ้งเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อไปเยี่ยมและให้กำลังใจภรรยาของขุนทุนอู ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย ( Shan Nationalities League for Democracy-SNLD) และภรรยาของผู้นำไทใหญ่คนอื่นๆที่ขณะนี้ถูกกุมขังอยู่ในเรือนจำ
 
มีรายงานว่า มีภรรยาของขุนทุนอู ภรรยาของจายนุดและภรรยาของจายล่าอ่องได้ให้การต้อนรับและพูดคุยกับนางซูจี ซึ่งนางซูจีได้แสดงความเป็นห่วงสุขภาพและความเป็นอยู่ของนักโทษการเมืองไท ใหญ่ทั้งหมด  พร้อมได้ฝากให้กำลังใจกับนักโทษการเมืองไทใหญ่ให้รักษาสุขภาพผ่านทางภรรยา อีกด้วย
 
ทั้งนี้ขุนทุนอูถูกรัฐบาลพม่าสั่งจำคุกเป็นเวลา 93 ปี และขณะนี้ถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำปูเตา ทางภาคเหนือของรัฐคะฉิ่น ขณะที่ผู้นำคนอื่นๆอย่างเจ้าเสือแท่น ถูกสั่งจำคุกเป็นเวลา 106 ปี โดยขณะนี้อยู่ในเรือนจำในจังหวัดมัณฑะเลย์ โดยที่ผ่านมา มีรายงานว่า ผู้นำทั้งสองต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านสุขภาพ โดยเรือนจำพม่าไม่อนุญาตให้ผู้นำไทใหญ่ทั้งสองเข้ารับการรักษาพยาบาล ในขณะที่สภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำก็มีสภาพเลวร้าย (เว็บไซต์ข่าวไทใหญ่ www.mongloi.org 14 มิถุนายน 54)

ทหารพม่าและ KIA ตึงเครียด ชาวบ้านนับหมื่นอพยพไปชายแดนจีน
 
มีรายงานว่า สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างทหารพม่าและทหาร KIA (Kachin Independence Army) ยิ่งตึงเครียดหนักและอาจปะทะกันอีกครั้งในเร็วๆนี้ โดยล่าสุด ทหารคะฉิ่นได้ระเบิดทำลายสะพานเชื่อม 6 แห่งทางภาคตะวันตกของรัฐคะฉิ่น เพื่อป้องกันไม่ให้ทหารพม่าข้ามมายังเขตควบคุมของตน โดยในจำนวนนี้พบว่ามีสะพานที่เชื่อมระหว่างมิตจีนาและบาหม่อ และสะพานที่เชื่อมไปยังเหมืองหยกผากั้นด้วย ขณะที่ทหารพม่าเคลื่อนกำลังพลเข้ามาใกล้เมืองไลซา ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ KIA แล้วด้วยเช่นกัน
 
ตามรายงานของแหล่งข่าวรายงานว่า กองทัพพม่าเตรียมส่งกำลังทหารราบอีก 77 กองพันที่ประจำอยู่ในภาคสะกายและในเมืองตาโถ่น รัฐมอญเข้าประชิดรัฐคะฉิ่นและรัฐฉาน หวังเปิดศึกรอบใหม่กับทหาร KIA และทหาร SSA (Shan State Army) และจะโจมตีทางอากาศด้วย ในขณะที่มีชาวบ้านกว่า 1 หมื่นคนได้อพยพไปใกล้กับชายแดนจีนแล้ว
 
ด้านสำนักข่าวอิรวดีรายงานว่า ทางการจีนได้อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยที่เป็นสตรี เด็กและคนชราเพียง 200 คนเท่านั้นให้ข้ามไปยังฝั่งจีน โดยเจ้าหน้าที่จีนยังได้ยึดเอาโทรศัพท์ของผู้ลี้ภัยและบอกกับผู้ลี้ภัยห้าม ติดต่อสื่อสารกับใครในระหว่างที่อยู่ในจีนอีกด้วย มีรายงานด้วยว่า ขณะนี้ราคาสินค้าบริโภคและอุปโภคในรัฐคะฉิ่นพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความไม่มั่นคงทางการเมือง
 
ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายยังลุกลามไปถึงในย่างกุ้ง เมื่อรัฐบาลพม่าสั่งให้นักเรียนและนักศึกษาชาวคะฉิ่นจำนวน 19 คน ที่กำลังศึกษาและอาศัยอยู่ในเมืองตานลิน เขตย่างกุ้งเดินทางกลับไปรัฐคะฉิ่น โดยจะไม่อนุญาตให้เด็กทั้งหมดอาศัยอยู่ในย่างกุ้ง  ซึ่งหากเด็กไม่ปฏิบัติติตามก็จะถูกจับเข้าคุก อย่างไรก็ตาม เด็กทั้งหมดปฏิเสธที่จะกลับไปรัฐคะฉิ่นในขณะนี้ เพราะต้องการเรียนหนังสือ
 
ทั้งนี้รัฐบาลพม่าและทหาร KIA ซึ่งทำสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลเมื่อปี 2537 เริ่มส่อเค้าตึงเครียดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว หลัง KIA ปฏิเสธเป็นกองกำลังรักษาชายแดน (ฺBorder Guard Force)
(KNG /Mizzima/Irrawaddy 16 มิถุนายน 54)
 
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โฆษก ทบ.ปัดขอรายชื่อหัวคะแนนเพื่อไทย

Posted: 17 Jun 2011 04:22 AM PDT

โฆษก ทบ.ปัดขอรายชื่อหัวคะแนนเพื่อไทย จะตรวจสอบหรือไม่เป็นความรับผิดชอบ กอ.รมน. เตรียมขนกำลังพลไปเลือกตั้ง ยันไม่มีชี้นำ ผบ.ทหารสูงสุด บอกให้การเมืองสบายใจ ทหารไม่ยุ่งเลือกตั้ง ลั่นไม่หวั่นไหวกระแสโจมตีทหาร

17 มิ.ย. 54 - พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก (ทบ.) กล่าวเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ว่าจะอำนวยความสะดวกโดยการสนับสนุนรถเพื่อขนกำลังพลและครอบครัวไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามสมควร เนื่องจากกำลังพลบางส่วนปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกล เช่น ตามแนวชายแดน เพราะอยู่ไกลจากหน่วยเลือกตั้ง แต่เพื่อป้องกันการเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการขนคนไปเลือกตั้ง ขอยืนยันว่าจะไม่มีการชี้นำใดๆ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 55

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวถึงกรณีที่กองทัพบกได้ส่งเอกสารไปขอรายชื่อหัวคะแนนของพรรคเพื่อไทย ว่า กองทัพบกไม่มีเอกสารดังกล่าว เราปฏิบัติงานตามปกติทั่วไป ส่วนจะตรวจสอบหรือไม่ เป็นความรับผิดชอบของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

ผบ.ทหารสูงสุด บอกให้การเมืองสบายใจ ทหารไม่ยุ่งเลือกตั้ง ลั่นไม่หวั่นไหวกระแสโจมตีทหาร

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 17 มิ.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.ทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพครั้งที่ 5/2554 ถึงบทบาทของกองทัพต่อสถานการณ์การเลือกตั้งที่กำลังมาถึงว่า ทุกคนรู้หน้าที่ของตนเองอยู่แล้ว ไม่ต้องมาพูดและย้ำกันแล้วในเรื่องการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง เพราะได้พูดไปหมดแล้ว ตั้งแต่การประชุม ผบ.เหล่าทัพเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทุกคนรู้หน้าที่ดี ส่วนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ตนไม่เป็นห่วงอะไร ส่วนกรณีที่มีการยิงนายสุบรรณ จิระพันธุ์วาณิช นายกฯ อบจ.ลพบุรี แกนนำพรรคภูมิใจไทย นั้น ตนไม่ทราบ แต่ขณะนี้สถานการณ์ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ส่วนกรณีที่ฝ่ายการเมืองพยายามโจมตีกองทัพ โดยมีการทำเอกสารลับถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอบัญชีรายชื่อหัวคะแนนพรรคเพื่อไทย จ.สมุทรสาคร นั้น ตนไม่ทราบว่าจะมีการโจมตีใคร ตนในฐานะที่เป็นผู้นำกองทัพรับผิดชอบกำลังพล 4 แสนกว่านาย ตนมั่นคงและยึดมั่น ไม่หวั่นไหว เรามีหน้าที่อะไรก็ทำไป ทั้งนี้เชื่อว่า คงไม่เกิดปัญหาอะไร ยืนยันว่า ไม่มีกำลังพลไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง วันนี้ตนเป็นผู้นำกองทัพ ยืนยันว่า ไม่มีใครเข้าไปข้องเกี่ยว ฝ่ายการเมืองน่าจะสบายใจได้ตั้งนานแล้ว ซึ่งที่ผ่านมามักพูดกันไปเอง

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์, ไทยรัฐ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น