โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

TCIJ: กสม.ลงพื้นที่เปิดเวทีเคลียร์ใจ กฟผ.- ชาวบ้าน - ราชการ ร่วมสางปัญหาสายส่งไฟฟ้า

Posted: 23 Jun 2011 02:00 PM PDT

เวทีเคลียร์ปัญหาแนวสายส่งไฟฟ้า น้ำพอง2-อุดรธานี3 ชาวบ้านแจงความกังวลใจต่อผลกระทบ แถมการรังวัด-จ่ายค่าทดแทนไม่ชัดเจน เผยไม่ขัดหากจะเข้ามาก่อสร้างเสาในที่นา ด้าน กฟผ.นัดชาวบ้านแจงผลประเมินค่าทดแทน 27 มิ.ย.นี้

 
 
 
วานนี้ (23 มิถุนายน) เวลาประมาณ 13.00 น. ณ ห้องประชุมคำชะโนด ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เชิญตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทย (กฟผ.) คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง (คชส.) รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พนักงานอัยการ ปลัดอำเภอเมือง และผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอกุมภวาปี เพื่อประชุมติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่ คชส.ได้ทำหนังสือร้องเรียนไป
 
เวทีของ คณะกรรมการสิทธิฯ ในครั้งนี้ จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 3 ในการติดตามแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่าง กฟผ.กับ กลุ่มชาวบ้าน อันเนื่องมาจากการดำเนินโครงการแนวสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ (KV) น้ำพอง 2 – อุดรธานี 3 พาดผ่านที่ดินทำกินของชาวบ้าน จึงรวมตัวกันคัดค้านการดำเนินการของ กฟผ.ด้วยเหตุผลที่ละเมิดสิทธิชุมชน และกังวลใจต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ แต่สถานการณ์ลุกลามบานปลายจนนำไปสู่เหตุการณ์ กฟผ.นำเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมชาวบ้านและนักศึกษา จำนวน 15 คน ที่ร่วมกันปกป้องสิทธิชุมชน ในวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิฯ จึงได้จัดเวทีเจรจาไกล่เกลี่ยแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น
 
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กล่าวถึงการลงมาจัดเวทีของคณะกรรมการสิทธิในครั้งนี้ว่า กรรมการสิทธินั้นมีบทบาทหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จึงอยากให้ กฟผ. และชาวบ้านได้มีทางออกของปัญหาร่วมกัน
 
“กรรมการสิทธิไม่ได้มีหน้าที่ในการคิดแทนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทั้งสองฝ่ายต้องคุยกันให้รู้เรื่อง ให้ได้ข้อสรุปร่วมกันมันถึงจะเดินหน้าต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นแล้วการดำเนินการของ กฟผ. ก็จะเป็นไปได้ยาก ส่วนฝ่ายชาวบ้านก็จะร้องเรียนมาที่กรรมการสิทธิฯ อีก ปัญหาก็จะไม่ยุติสักที” นพ.นิรันดร์ กล่าว
 
ด้าน นายสุเทศ จารุสาร หัวหน้าโครงการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินขยายระบบส่งไฟฟ้าที่ 10 ได้ชี้แจงการดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ว่า เรื่องของคดีความหลังจากเวทีประชุมที่คณะกรรมการสิทธิในครั้งที่ผ่านมา ผู้กำกับสถานีตำรวจกุมภวาปีได้มาเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย โดยทาง กฟผ.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนแล้วว่าไม่ประสงค์จะให้ผู้ต้องหาทั้ง 15 คน ได้รับโทษ
 
ส่วนการดำเนินงานของ กฟผ.นั้น ได้ทำการลงสำรวจที่ดินและทรัพย์สินที่แนวสายส่งพาดผ่านแล้วเสร็จ และจะส่งข้อมูลให้กับชาวบ้านเจ้าของที่ดิน ซึ่งชาวบ้านเจ้าของที่ดินก็ได้ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของ กฟผ. ด้วยดี อย่างไรก็ดี เมื่อพูดคุยกันเสร็จในวันนี้ กฟผ.ก็จะขอลงพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างเสาที่เหลืออยู่เพียงเสาเดียวในที่นาของพ่อบุญเลี้ยงในวันพรุ่งนี้ ตามที่ได้ตกลงกันไว้
 
ในส่วนของ พ.ต.อ.สมชาย พิมพ์ชู ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอกุมภวาปี ได้กล่าวว่า ส่วนตัวรู้สึกอึดอัดใจเป็นอย่างมากที่พี่น้องประชาชนซึ่งปกป้องสิทธิชุมชนของตนเองต้องมาถูกจับกุม และยังกล่าวด้วยว่า ในวันนั้นทาง สภ.กุมภวาไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการจับกุมชาวบ้านและนักศึกษา แต่ก็มีตำรวจจากหน่วยอื่นจับกุมชาวบ้านมาส่งไว้ที่สถานี
 
“ผมก็จะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดและให้ความเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย ตัวผมเองก็มีความเข้าใจชาวบ้านที่อยู่เฉยๆ ก็สายไฟมาผ่านหลังคาบ้านตนเอง ย่อมต้องมีความกังวลใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น” พ.ต.อ.สมชาย ให้ความเห็น
 
สำหรับ นายบุญเลี้ยง โยธทะกา แกนนำคณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง(คชส.) ได้แสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ว่า ตนรู้สึกเห็นใจพี่น้องชาวบ้านและนักศึกษาที่ต้องมาถูกคดี ซึ่งพวกตนไม่ได้ขัดขวาง กฟผ. แต่อย่างใด แต่ที่ผ่านมา กฟผ. ไม่ได้สร้างความกระจ่างชัดให้กับกลุ่มชาวบ้านเลยในเรื่องของรายละเอียดของโครงการฯ และปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
 
“ผมก็มีความกังวลใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และเรื่องการสำรวจรังวัดและจ่ายค่าทดแทน กฟผ.ก็ไม่มีความชัดเจน จึงอยากให้มีการคุยกันให้รู้เรื่องด้วย ส่วนทาง กฟผ. จะเข้ามาก่อสร้างเสาในที่นาของผม ก็ไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด” นายบุญเลี้ยงกล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการพูดคุยแลกเปลี่ยน และซักถามข้อคิดเห็นร่วมกันในเวทีแล้วเสร็จ กฟผ.ได้นัดหมายกับ กลุ่มชาวบ้าน เพื่อที่จะชี้แจงผลการประเมินราคาค่าทดแทนจากการลงพื้นที่สำรวจที่ดินและทรัพย์สินของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ โดยจะมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นสักขีพยานด้วย และในส่วนของคดีความตำรวจนัดหมายฟังผลการสรุปสำนวนในวันที่ 6 ก.ค.54
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อดีต ส.ว.ซัด ลาวลักไก่สร้างเขื่อนไซยะบุรี

Posted: 23 Jun 2011 12:11 PM PDT

24 มิ.ย.54 องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) เปิดเผยเอกสารของทางการลาวและบริษัทลูก ของบริษัท ช.การช่าง รับรองเขื่อนไซยะบุรีผ่านข้อตกลงแม่น้ำโขงแล้ว เปิดทางเร่งลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ.

เอกสารฉบับแรกซึ่งเป็นจดหมายจากรัฐบาลสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ถึงบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของช.การช่าง ลงวันที่ 8 มิ.ย. ระบุว่าทางการลาวได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาข้อมูล และรับรองว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรีผ่านกระบวนการตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) แล้วหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเมื่อวันที่ 19 เม.ย.

เอกสารอีกฉบับเป็นจดหมายจากบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ ถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงวันที่ 9 มิถุนายน ลงนามโดยนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ช. การช่าง ระบุว่าทางการลาวรับรองโครงการแล้ว และเร่งให้ดำเนินการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ. ซึ่งคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติได้เห็นชอบในร่างสัญญาแล้ว

องค์กรแม่น้ำนานาชาติระบุว่าการตัดสินใจของลาวเพื่อเดินหน้าโครงการเขื่อนไซยะบุรีจะสร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของประเทศที่ใช้แม่น้ำโขงร่วมกัน และข้อตกลงเอ็มอาร์ชีระบุชัดเจนว่าทุกประเทศต้องเห็นชอบร่วมกัน มิใช่ประเทศใดประเทศหนึ่งตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว

นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒสภา กล่าวว่าการรับรองกระบวนการแจ้งและปรึกษาหารือของโครงการเขื่อนไซยะบุรี เป็นหน้าที่ของเอ็มอาร์ซี ไม่ใช่บริษัทที่ปรึกษาต่างชาติที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง

“การประชุมเอ็มอาร์ซีเมื่อเดือนเมษายนระบุชัดเจนว่า ยังไม่สามารถข้อตกลงร่วมกันได้ว่าจะทำอย่างไรต่อกับเขื่อนไซยะบุรี ทั้งไทย กัมพูชา และเวียดนาม ต่างทักท้วงในประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนเนื่องจากเขื่อนจะสร้าง กั้นแม่น้ำโขง และจะยกเรื่องนี้ไปประชุมกันอีกครั้งในระดับรัฐมนตรี”

นายประสารกล่าวว่า ลาวไม่มีสิทธิที่จะประกาศว่าเขื่อนไซยะบุรีผ่านเงื่อนไขข้อตกลงแม่น้ำโขงแล้ว เนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนใดๆ บนแม่น้ำโขงต้องตกลงกันให้ได้ทั้ง 4 ประเทศก่อนดำเนินการ ซึ่งกัมพูชาเห็นว่าข้อมูลโครงการยังไม่เพียงพอดังนั้นกระบวนการ ปรึกษาหารือล่วงหน้าควรยืดออกไปอีก ส่วนเวียดนามเองก็ยืนยันชัดเจนว่าต้องศึกษาผลกระทบเพิ่มเติมอีก อย่างน้อย 10 ปี จึงจะมีข้อมูลเพียงพอว่าเขื่อนบนแม่น้ำโขงควรก่อสร้างหรือไม่

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า บริษัทเร่งตัดตอนกระบวนการเพื่อรีบลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมาเขื่อนไซยะบุรีถูกคัดค้านอย่างกว้างขวางและ ธนาคารไทยบางแห่งเริ่มลังเลที่จะให้เงินกู้

“การที่ลาวออกมาประกาศแบบนี้ เท่ากับว่าบทบาทของเอ็มอาร์ซีถูกลบออกไปโดยสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่เอ็มอาร์ซีคือองค์กรระดับภูมิภาคที่มีหน้าที่จัดการแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ตอนนี้กลายเป็นว่าช.การช่างรีบต่อสายตรงกับรัฐบาลลาวและกฟผ. โดยไม่สนใจกฎระเบียบของทั้ง 4 ประเทศที่ตกลงกันไว้”    

องค์กรแม่น้ำนานาชาติยังเปิดเผยรูปภาพการก่อสร้างถนนไป ยังหัวงานเขื่อนไซยะบุรี และระบุว่าการก่อสร้างเตรียมการในพื้นที่ยังดำเนินการอยู่ตลอด และล่าสุดได้เตรียมอพยพชาวบ้านหมู่บ้านห้วยซุย 70 ครัวเรือน ออกจากพื้นที่หัวงานเขื่อนในเร็วๆ นี้

 

ที่มา: โพสต์ทูเดย์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประกายไฟ ‘นอนตาย’ หน้าวัดปทุม ก่อนประชาธิปัตย์ปราศรัยใหญ่

Posted: 23 Jun 2011 12:02 PM PDT

23 มิ.ย.54 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า ที่วัดปทุมวนารามราชวิหาร  เมื่อเวลา 17.00 น. นายเทวฤทธิ์   มณีฉาย  สมาชิกกลุ่มประกายไฟ พร้อมด้วยสมาชิก 4 คน เดินทางมาที่วัดปทุมวนารามฯ เพื่อแสดงออกแนวความคิดทางการเมืองโดย นอนเรียงกัน 3 คน ทำเหมือนคนตาย  พร้อมนำป้ายข้อความต่างๆ ยกคำพูดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่พูดถึงเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกับกรณีมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การเมืองในโอกาสต่างๆ ที่มีความหมายว่า ต้องมีผู้รับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชน มาแสดงด้วย ส่งผลให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวต้องเดินหลบและเดินผ่านอย่างทุลักทุเล ขณะเดียวกันก็มีผู้ให้ความสนใจมุงดูเป็นอันมาก แต่บางคนก็แสดงอาการไม่พอใจ และต่อว่า “ไร้สาระ” “อัปมงคล”

นายเทวฤทธิ์ กล่าวว่า พวกตนตั้งใจมาทำกิจกรรมเพื่อเสนอข้อมูลอีกด้านให้สังคมรับรู้ ว่า ที่ตรงนี้มีคนถูกทำให้เสียชีวิตจริงๆ ให้คนที่ผ่านไปมาได้เห็นว่ายังมีข้อมูลอีกด้าน มีความจริงนอกเหนือจากคำปราศรัยในวันนี้ ถ้าถามว่าการจงใจมาทำกิจกรรมบริเวณวัดปทุมฯ ซึ่งใกล้กับจุดที่พรรคประชาธิปัตย์ปราศรัยจะเป็นการยั่วยุหรือไม่ คำตอบของพวกตนก็คงเหมือนคำตอบของนายอภิสิทธิ์ที่มาจัดการปราศรัยบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของคนเสื้อแดง อย่างไรก็ตาม พวกตนจะไม่เข้ายุ่งกับการปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน ปล่อยให้หาเสียงไป เรามาทำกิจกรรมแค่นี้ก็พอแล้ว 
 

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า จากนั้นเวลา 17.45 น.  มีกลุ่มสหายแดง โดยนำป้ายแสดงภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 และข้อความเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิต พร้อมนำธูป เทียนมาจุด เพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อวิญญาณผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฟังเสียงแรงงานข้ามชาติที่ "ทำงานในบ้าน"

Posted: 23 Jun 2011 10:25 AM PDT

แรงงานข้ามชาติที่ทำงานรับใช้ในบ้านร่วมเฉลิมฉลองข่าวการรับรองร่างอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานที่ทำงานในบ้าน

แรงงานที่ทำงานในบ้านชาวพม่าในจังหวัดเชียงใหม่กำลังเฉลิมฉลองแสดงความยินดีเมื่อได้รับทราบข่าวว่าร่างอนุสํญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานที่ทำงานในบ้าน ได้รับการรับรองในการประชุมประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สมัยที่ 100 โดยมีการลงคะแนนเสียงเห็นชอบ 396 เสียง ไม่เห็นชอบ 16 เสียง และงดออกสียง 63 เสียง “มีแต่ฉันที่รู้ว่าฉันทำงานมาหลายปีแล้ว แต่ในวันนี้ ทุกคนก็ได้รู้แล้วว่างานรับใช้ในบ้านก็เป็นงานอย่างหนึ่ง ฉันหวังว่า สิ่งนี้จะแสดงความหมายว่า เรา แรงงานทำงานรับใช้ในบ้าน จะได้รับการยอมรับนับถือ” Hseng Moon คนงานที่ทำงานในบ้านสัญชาติพม่าซึ่งทำงานในเมืองไทยมาเกือบจะ 10 ปีกล่าว

อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศดังกล่าวได้มีการตั้งมาตรฐานสภาพการทำงานและชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานและรับรองให้แรงงานที่ทำงานในบ้านมีสิทธิในการเจรจาต่อรองต่างๆ หากประเทศไทยปรับกฎหมายภายในประเทศตามบทบัญญัติในอนุสัญญา ก็จะเป็นการสร้างเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของแรงงานซึ่งปัจจุบันเผชิญกับการกดขี่เอารัดเอาเปรียบในการทำงานเสมอมา เรื่องราวดังต่อไปนี้ได้รับการบอกเล่าสู่มูลนิธิแมพขณะที่เราได้มีโอกาสเก็บข้อมูลสำหรับจัดทำรายงาน “ก้าวย่างสู่แสงสว่าง (Stepping into the Light)” ของเราที่จะจัดทำขึ้นในมาช้านี้

“ฉันเริ่มทำงานเป็นคนรับใช้ทันทีที่มาถึงเชียงใหม่ นายจ้างของฉันไม่อนุญาตให้ฉันนั่งในระหว่างชั่วโมงการทำงานและบังคับให้ฉันทำงานตลอดเวลา ที่เลวร้ายที่สุดก็คือฉันไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะไปห้องน้ำ ถ้าฉันพยายามจะไปห้องน้ำ นายจ้างก็จะตะคอกใส่ฉัน แม้ว่าฉันจะทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน แต่ฉันได้รับเงินเพียงเล็กน้อยและไม่มีวันหยุด จนในที่สุดฉันก็ไม่สามารถทนต่อสถานการณ์เช่นนี้ได้ จึงได้ลาออก”

Ma Myo, คนงานที่ทำงานในบ้านอีกคนหนึ่งที่ผ่านประสบการณ์กดขี่ข่มเหงในลักษณะเดียวกันในจังหวัดพังงา เล่าว่า “ฉันประสบความยากลำบากในการติดต่อสื่อสารกับนายจ้างเพราะปัญหาทางด้านภาษา ฉันต้องช่วยงานในครัว ทำความสะอาดบ้านทั้ง 3 ชั้นตลอดทั้งวัน ฉันต้องตื่นนอนตั้งแต่ตีห้าและทำงานตลอดทั้งวันจนถึงเวลา 3 ทุ่ม จากนั้นฉันจะต้องนวดให้กับนายจ้างทุกคืน จึงจะได้เข้านอนหลังจาก 4 ทุ่มไปแล้ว ฉันได้รับค่าแรงเพียง 2,500 บาทต่อเดือน ฉันทำงานที่นั่นกว่าหนึ่งปี โดยที่นายจ้างจะหักเงินเดือนจำนวน 500 บาทเป็นค่าใบอนุญาตทำงาน ฉันไม่สามารถรับภาระดังกล่าวนี้ได้จึงออกมา”

อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศทั้งหมดจะกล่าวถึงการปกป้องแรงงานทุกประเภท รวมถึงผู้ย้ายถิ่น แต่อนุสัญญาฉบับนี้ได้เพิ่มเติมข้อกำหนดในการรับรองการคุ้มครองขึ้นเป็นพิเศษโดยเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก ให้ความร่วมมือกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปรับใช้บทบัญญัติของอนุสัญญาเพื่อแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ ประเด็นที่สำคัญยิ่งต่อแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในบ้านก็คือ มาตรา 9 ซึ่งเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกร่วมสร้างความมั่นใจว่าแรงงานที่ทำงานในบ้านจะได้รับสิทธิในการครอบครองเอกสารการเดินทางและเอกสารแสดงตนของตนเอง (รายงานที่ 4 (2B) งานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานที่ทำงานในบ้าน, การประชุมประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สมัยที่ 100 ปี 2011).

แรงงานทำงานในบ้านในประเทศไทยกำลังจับตาดูว่ารัฐบาลไทยจะมีแผนงานเพื่อที่จะขับเคลื่อนกับกรณีนี้อย่างไรและพวกเขายินดีเสนอจะให้ความช่วยเหลือในการที่จะทำให้มาตรา 8 ซึ่งระบุให้ประเทศสมาชิกหามาตรการในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแรงงานที่ทำงานในบ้านได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบและความรุนแรงในทุกรูปแบบ เป็นความจริงขึ้นมาให้ได้ ทุกวันนี้ เราแทบจะไม่เห็นการปกป้องคุ้มครองนัก และจำเป็นที่จะต้องมีการปกป้องคุ้มครองเพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์เช่นว่านี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

สาวใช้คนหนึ่งไดัรับว่าจ้างจากชายไทยให้ทำงานในอพาร์ทเม้นท์หรูแห่งหนึ่งในกรุงเทพซึ่งมีสาวใช้ 6 คน ได้หนีออกจากสถานที่แห่งนี้มาแล้ว ชายคนนี้ซึ่งเป็นอัมพาตครึ่งล่างได้ให้ผู้ช่วยของเขาข่มขืนเธอโดยที่ชายคนนี้เป็นผู้ดู อีกทั้งยังให้ผู้ช่วยของเขาผลัก ตบตีเธอ ถ่มน้ำลายใส่หน้าเธอและปัสสาวะใส่เธอ ในระหว่างวันทำงานเธอจะต้องคุกเข่าและถูกบังคับให้คุกเข่าจนกระทั่งเข่าทั้งสองข้างของเธอหลุด

ในเดือนมิถุนายน 2554 เธอได้หลบหนีออกมาจากความช่วยเหลือจากองค์กรท้องถิ่น นอกจากนี้ เด็กสาวอีกคนได้กล่าวถึงประสบการณ์ในการ “ก้าวย่างสู่แสงสว่าง” ในจังหวัดพังงาของเธอว่า ฉันมาที่เมืองไทยกับสามีและได้ทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านหลังหนึ่ง ฉันทำงานในบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตให้พัก ทั้งที่คนสวนจะได้รับอนุญาตให้พักได้บ่อยครั้ง นายจ้างบอกว่างานบ้านไม่ได้ยากหรือหนักจนถึงขนาดจะต้องพัก ฉันได้รับเงินเดือน 2,000 บาท ขณะที่คนสวนได้รับ 2,500 บาท วันหนึ่งนายจ้างได้ลวนลามฉัน ฉันจึงบอกสามีและออกจากงาน

มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงานที่ทำงานในบ้านขอแสดงความยินดีต่อรัฐบาลไทยและประเทศสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ได้ตระหนักในความสำคัญและงานชิ้นใหม่ของกฎข้อบังคับระหว่างประเทศซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะนำมาซึ่งการยุติการเอารัดเอาเปรียบการกดขี่ข่มเหงที่แรงงานที่ทำงานในบ้านได้เผชิญมาเป็นระยะเวลายาวนาน เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไทยจะขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายและกฎหมายภายในประเทศเพื่อการปกป้องคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในบ้านทั้งที่เป็นแรงงานชาวไทยและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย เราหวังอีกด้วยว่า รัฐบาลไทยจะสละเวลาและทรัพยากรในการดำเนินการเพื่อเพิ่มความตระหนักในแรงงานที่ทำงานในบ้านให้เกิดขึ้นในหมู่แรงงานทำงานรับใช้ในบ้านและนายจ้าง ในประเด็นสิทธิแรงงานและการปกป้องคุ้มครองที่มีการรับรองไว้ในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับแรงงานที่ทำงานในบ้าน
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘อภิสิทธิ์’ แจงเหตุนองเลือด ประกาศเลือกเบอร์10 ‘ถอนพิษทักษิณ’ ลั่นราชประสงค์

Posted: 23 Jun 2011 09:33 AM PDT

 23 มิ.ย.54 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มกล่าวปราศรัยเป็นคนสุดท้าย ที่เวทีหาเสียงบริเวณหน้าห้างเซ็นทรัลเวิร์ล แยกราชประสงค์ ในเวลาประมาณ 21.00 น. โดยเริ่มต้นให้ประชาชนยืนสงบนิ่ง 1 นาทีเพื่อรำลึกถึงความสูญเสียที่เกิดกับทุกๆ คน กับประเทศชาติ และตั้งสติร่วมกันพาประเทศเดินไปข้างหน้า พร้อมย้ำว่า พื้นที่ในประเทศไทยทุกตารางเมตรเป็นของคนไทยทุกคน จึงจัดการปราศรัยที่นี่ และยังต้องการให้ประชาชนตัดสินว่าตนและพรรคเหมาะจะให้พาประเทศไทยเดินไปข้างหน้าอีก 4 ปีหรือไม่

อภิสิทธิ์ระบุว่าช่วงที่มีความสูญเสียทีเกิดขึ้นกับชีวิตประชาชนทุกคน เจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุม หรือประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่โดนลูกหลง ความสูญเสียที่เกิดกับธุรกิจ เศรษฐกิจ ชื่อเสียงของประเทศ นั่นคือความทุกข์มากที่สุดของในช่วงที่ผ่านมา โดยต้องการจะมาพูดให้ชัดว่าสาเหตุของปัญหาที่พยายามแก้มาสองปีอยู่ที่ไหนและจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

เขากล่าวว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่เคยได้ยินจากปากตนเองเลยว่าเป็น “ชัยชนะ” ตนพยายามเอื้อมมือไปหาพี่น้องโดยพร้อมให้ตรวจสอบในสภา โดยคณะกรรมการอิสระ ให้ประชาชนสบายใจว่าคนอย่างตนไม่เคยคิดทำร้ายประชาชน แต่ในที่สุด เขาก็ไม่ลดความพยายาม อุตสาห์ไปตัดต่อเสียงของตนเอง เป็นคลิปเสียงเผยแพร่ในกลุ่มมวลชนว่าอภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชน ทั้งๆ ที่ไม่มีคนเสียชีวิต ถ้ารับข้อมูลไปผิดๆ ก็ย่อมนำไปสู่การตัดสิน การกระทำหลายอย่าง ที่พวกเราที่ฟังความรอบด้าน รู้ความเป็นจริงจะเข้าใจไม่ได้เลยว่าเขาทำได้อย่างไร

เขากล่าวว่า มีการปลุกปั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ระดมคนจำนวนมาก และมีการเตรียมกองกำลังติดอาวุธด้วย การแก้ปัญหาจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก ประชาชนจำนวนมากที่มาร่วมเป็นคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม แต่ไม่ใช่เพราะรัฐบาลชุดนี้ แต่เป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานาน การมาร่วมกันเยอะๆ ชักธงแดง ทำให้เขารู้สึกว่ามีอำนาจบ้างในบ้านนี้เมืองนี้ เราต้องเข้าใจเขา แต่คนที่ปลุกระดม ชักจูงเขามามีเจตนาจะช่วยเขาจริงหรือไม่ หรือต้องการใช้เป็นเครื่องมือสู่สิ่งอื่น

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การดำเนินการนั้นเป็นไปอย่างระมัดระวังเพราะมีคนเยอะ มีคนด่าตนทุกวันว่าทำไมไม่จัดการ ก็ได้แต่พยายามอธิบายว่าเขาวางแผนไว้หลายชั้น อาศัยการเผยแพร่ข่าวไปยังต่างประเทศ เคยเห็นไหมว่าการชุมนุมครั้งไหนมีป้ายภาษาอังกฤษเยอะไปหมด เขาต้องการให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลโดยอ้างว่ารัฐบาลเป็นเผด็จการเข้าไปสลายการชุมนุมพี่น้องประชาชนด้วยความรุนแรงทั้งที่มาเรีกยร้องประชาธิปไตย หลายคนเพิ่งเข้าใจปีนี้และกลับมาขอบคุณตน เพราะที่ได้เห็นเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง แอฟริกา ที่กลายเป็นสงครามกลางเมือง

อภิสิทธิ์กล่าวว่า แม้การดำเนินการต่างๆ จะดำเนินการไปตามโครงสร้างของ ศอฉ.แต่ก็มีการคุยกันตั้งแต่วันแรกกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในขณะนั้นว่าจะหลีกเลี่ยงความสูญเสียให้ถึงที่สุด

“เราเปิดใจคุยกัน หัวใจของท่านตรงกับผม คือ จะปฏิบัติการอะไรต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรงและการสูญเสียจนถึงที่สุด และคิดตรงกัน ผมบอกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ว่า ท่านทำหน้าที่ของท่านไม่ใช่อุ้มรัฐบาลแต่อุ้มประเทศและความถูกต้องและระบอบประชาธิปไตย”

อภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ 10 เม.ย.ด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทหารไปถึงพื้นที่ตั้งแต่บ่ายโมงถึงหกโมง ห้าชั่วโมงเต็มไม่มีความสูยเสียเลย เพราะมีวินัยของกฎการใช้กำลัง แต่พอตอนค่ำ ขณะถอนกำลังกลับมาก็เกิดเหตุการยิงเอ็ม79 ใส่ จนนายทหารเสียชีวิต ความวุ่นวายสับสนจึงเกิดขึ้น วันนั้นตนเห็นผู้บังคับบัญชาหลายคนน้ำตาซึม เขาแค่ยิงคุ้มครองให้ออกมาโรงพยาบาลได้ ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดความสูญเสียกับทหารในเหตุการณ์ทางการเมืองมากเท่ากับเหตุการณ์ 10 เมษามาก่อน

“คืนวันที่ 10 เมษาคือคืนที่ผมทุกข์ที่สุดตั้งแต่เป็นนายกฯ มาจนถึงวันนี้...คืนนั้นเป็นคืนที่ผมร้องไห้อยู่นานมาก”

“เราพยายามหลีกเลี่ยงความสูญเสียทุกอย่าง แต่ผมรู้ตั้งแต่คืนนั้นแล้วว่าไม่ว่าผมจะตัดสินใจอย่างไร ชีวิตผมไม่มีทางเหมือนเดิม"

อภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ตนคิดไม่ตกว่าจะต้องทำอย่างไร คนที่ให้สติคือภรรยาซึ่งแนะนำว่า ถ้าเรามั่นใจว่าถ้าเราไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ ไม่ได้เป็นเงื่อนไขให้เกิด ทางเดียวที่จะรับผิดชอบคือ แบกรับปัญหาและแก้ปัญหานั้นให้สำเร็จลุล่วงต่อไป ห้ามหนี หลังจากวันนั้นผมก็เดินหน้า เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจอีกหลายครั้ง

เขากล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาพยายามเจรจากับฝ่ายตรงข้ามบอกว่า ความขัดแย้งทั้งหลายเป็นเรื่องการเมือง อย่าเอาสถาบันใดที่อยู่เหนือการเมืองมากเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด และไม่ใช่มารับปากกันว่าจะไม่ทำเท่านั้น แต่นอกจากไม่ทำ ยังต้องสอดส่องดูแลไม่ให้มีใครทำด้วย, ปัญหาของประชาชนที่มีความเหลื่อมล้ำไม่ได้รับความเป็นธรรมมาทำกันเป็นระบบจริงๆ จังๆ อย่างที่ประเวศ อานันท์กลังดำเนินการอยู่ , สื่อมวลชนมาปฏิรูปกันเถิด สิทธิเสรีภาพมี แต่ทำอย่างไรไม่กลายเป็นเครื่องมือให้คนเกลียดชังกันมากขึ้น, เหตุการณ์ 10 เมษา ยินดีให้ตรวจสอบ เพราะมั่นใจว่าเราปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ และสุดท้ายขอให้ทุกฝายถอยหลังตั้งสติไปสู่การเลือกตั้ง

“ในที่สุดเขาปฏิเสธ เพราะแผนนี้ไม่ได้ตอบโจทย์คนคนหนึ่งเท่านั้นเอง ที่ไม่ต้องการปฏิบัติตามกฎหมาย คำพิพากษาของศาล แล้วต้องการให้คนที่มีอำนาจรัฐมาลบล้างตรงนี้ออกไปให้เขา” อภิสิทธิ์กล่าว

เขากล่าวว่า สุดท้าย เจ้าหน้าที่ต้องเริ่มกระชับวงล้อม เมื่อมีความสูญเสียให้นายกอร์ปศักดิ์ประสานงานอยู่ตลอด เราพยายามทำแล้วมันไม่สำเร็จเพราะอะไร มีการอ้างว่า มี ส.ว.มาร่วมเจรจาด้วย แต่ตนไม่ยอมทำตาม หักหลัง ไม่ใช่ เขาพยายามจะบอกว่าทหารหยุดยิง ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง

“ข้อเท็จจริงผมบอกว่า ทหารเขาตั้งด่านอยู่เขาไม่เข้ามาที่นี่ แต่เขาต้องป้องกันตัวเมื่อมีคนโจมตีเขา ที่บ่อนไก่ ราชปรารภ เขามาเจรจา บอกว่า คนที่มีการมายิง ปะทะกับเจ้าหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับเขา แต่เขาจะพยายามสื่อสารไปให้หยุด แต่ขอแก้ปัญหาว่าให้ทหารเลิกด่าน เอาทุกคนเข้ามาชุมนุมที่นี่มากขึ้น ซึ่งมันไม่ได้ทำให้บ้านเมืองแก้ไขปัญหาในขณะนั้นเลย ผมลองทดสอบบอก ถ้าอย่างนั้นจริง คุณให้หยุดก่อนสิ หยุดโจมตี หยุดยิง กำหนดเวลาชัดเจน แต่มันไม่เป็นไปตามนั้น ในที่สุด เราก็ต้องเข้าไปเพื่อแก้ปัญหาที่สวนลุม เพราะเป็นที่ซ่องสุมอาวุธและกองกำลังติดอาวุธ”

“ผมเจรจาทราบว่า ถ้าในที่สุดเขาจะสลายการชุมนุม เราจะบริหารจัดการให้เรียบร้อยอย่างไร วันนั้น เขามีการเสนอว่า ขอพื้นที่วัดปทุม เป็นเขตอภัยทาน ผมบอกกับผู้เสนอความคิดนี้ผ่านคุณกอร์ปศักดิ์ ผมขอร้องเถอะ ถ้าจะใช้พื้นที่วัดปทุม  เลยไป ข้ามไปอีกนิดเดียว มันพ้นพื้นที่การชุมนุมแล้ว ไปตั้งตรงนั้นให้พี่น้องเตรียมตัวกลับบ้านเถอะ เขาบอกว่าไม่ต้องห่วง พื้นที่อภัยทานจะมีเฉพาะเด็กผู้หญิง คนแก่ ผมบอกเขาผ่านคุณกอร์ปศักดิ์ว่าไม่คิดว่าจะควบคุมได้ ใครจะเป็นคนหยุดถ้าเป็นผู้ชายเดินเข้าไป มากับแม่ กับลูก ใครจะห้ามได้ ถ้ามีคนเอาอาวุธเข้าไปใครจะห้ามเขา ผมกลัวที่สุด ถ้ามีเหตุการณ์ความสุญสียในวัด ใครจะรับผิดชอบ แต่เขาตัดสินใจเดินหน้า เขาเชื่อว่าไม่มีปัญหา”

“วันสุดท้ายที่มีการสลายการชุมนุม เรายังขอ บอกแกนนำก่อนที่คุณจะมอบตัว คุณส่งพี่น้องของคุณกลับบ้านก่อนได้ไหม เพราะเราไม่แน่ใจว่า ถ้าพวกคุณไปมอบตัวแล้ว ไม่มีแกนนำในการชุมนุมแล้ว การบริหารจัดการให้พี่น้องกลับบ้านจะเป็นไปอย่างราบรื่น เขาก็ไม่ได้ทำ เหตุการณ์วันที่ 19 ที่เกิดขึ้นจึงเกิดอย่างที่พี่น้องเห็น เปลวไฟ ควันไฟที่ลุกโชนตรงนี้ ที่ศาลกกลาง สยามสแควร์ ช่องสาม ดินแดง บ่อนไก่ เราพยายามไม่ให้เจ้าหน้ที่มีปัญหากับผู้ชุมนุมที่อาจหวาดกลัวและกำลังจะกลับบ้าน แต่เลี่ยงไม่ได้เพราะเจ้าหน้าที่ก็มีหน้าที่เข้ามาดับไฟ”

“ที่วัดปทุม ช่วงค่ำ มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศติดต่อไปที่ราบ 11 บอกว่าถูกยิงขอให้เอาตัวไปส่งโรงพยาบาล กว่าจะเอารถพยาบาลเข้ามาได้หลายชั่วโมง เพราะรถพยายาลเหมืนรถดับเพลิง ถูกยิงตลอดเวลา เหตุการณ์เหล่านี้ต้องสอบข้อเท็จจริงต่อไป”

“แต่ถึงวันนี้ ผมสงสัยเจ้าหน้าที่มีเหตุผลอะไรที่จะปยิงประชาชน รถดับเพลิง รถพยาบาล เรื่องนี้ต้องพิสูจน์ แต่การมายัดเยียดว่าความตายที่เกิดที่วัดปทุม เป็นเพราะผมสั่งฆ่า หรือความสูญเสียนับรวมไปถึง 91 คน มันเป็นธรรมแล้วหรือที่จะบอกว่าเป็นเรื่องของผม ที่เป็นฆาตรกรสั่งฆ่า มือเปื้อนเลือด” อภิสิทธิ์กล่าว

เขากล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้พยายามมเสนอขั้นตอนปรองดองตลอด แต่ไม่เข้าใจว่าทำไม “นายใหญ่” ของพวกเขาจึงปฏิเสธการประนีประนอมปรองดองที่ผ่านมา พร้อมทั้งระบุว่า สามารถทำตามขั้นตอนการปรองดองที่ประกาศไว้ทั้งหมด แต่ยืนยันว่าไม่สามารถนิรโทษกรรม คืน 4.6 หมื่นล้านให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้

อภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ยังพยายามกลับมาและมีเป้าหมายเดิมคือ ต้องการลบล้างความผิดของตนเอง  

เขาระบุด้วยว่า ตอนนี้สังคมเริ่มเห็นปัญหาของคนเสื้อแดงที่จัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง และนิยมความรุนแรง ต้องการสิ่งที่ขัดกับหลักกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนทั้งประเทศต้องตัดสินใจว่าจะให้คนเหล่านี้และพรรคเพื่อไทยเป็นผู้เดินหน้าประเทศไทยหรือ

“ผมอยากจะบอกว่าโอกาสนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่เราจะถอนพิษทักษิณออกจากประเทศไทยอย่างถาวร(คนโห่ร้อง)  นี่คือโอกาสที่เราจะได้บอกชาวโลกว่าประเทศไทยเป็นอิสระจากความกลัวจากการโดนข่มขู่ นี่คือโอกาสที่เราจะบอกชาวโลกว่าประเทศไทยไม่ใช่ของคนคนเดียว” อภิสิทธิ์กล่าว

การปราศรัยเสร็จสิ้นในเวลา 22.30 น. จากนั้นมีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี ก่อนจะยุติการปราศรัยอย่างเป็นทางการ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘สุเทพ’ ยันเสื้อดำฆาตรกรตัวจริง – ‘ชวน’ เผยมีขบวนการสอนชาวบ้านด่าสถาบันหลัก

Posted: 23 Jun 2011 08:50 AM PDT

 

23 มิ.ย.54 เวลาประมาณ 18.00 น. เวทีปราศรัยหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้หัวข้อ "ดับไฟประเทศ" เริ่มต้นขึ้นท่ามกลางประชาชนที่เข้าร่วมฟังอย่างหนาแน่นและฝนที่โปรยปรายในช่วงแรก และไม่มีการปิดการจราจรแต่อย่างใด ภายในงานมีแกนนำพรรคเดินทางเข้าร่วมงานหลายคน เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, นายชวน หลีกภัย, นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ, นายกรณ์ จาติกวณิช, นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย, นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ปราศรัยว่า การปราศรัยครั้งนี้ไม่มีเจตนาพูดเพื่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อกัน แต่มุ่งหวังให้ประชาชนได้ทราบความจริง เพราะว่าขณะนี้มีขบวนการออกไปใส่ร้ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อย่างเป็นระบบว่าเป็นฆาตรกรสั่งฆ่าประชาชน

นายสุเทพ ย้ำว่า การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 นั้นไม่มีคนตาย แม้แต่คนเดียวที่สี่แยกราชประสงค์แต่ยอมรับว่าจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงมีคนตายตามเหตุการณ์ต่างๆ

การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ติดต่อกัน เหตุการณ์แรกที่มีคนตาย เกิดบนถนนราชดำเนิน 10 เมษายน 2553 มีคนตายวันเดียว 26 คน เป็นทหาร 5 คน พลเรือน 20 คน ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่น 1 คน คนที่ทำคือคนเสื้อดำ ที่ชุมนุมอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดง ฆ่าและทำร้ายทั้งสองฝ่าย มีพยานยืนยันว่า รถฮอนด้า ซีอาร์วีสีดำ ขนคนเสื้อดำมาปฎิบัติการ หลังเกิดเหตุกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) จับกุมผู้ต้องหา 3 ราย พร้อมรถยนต์และอาวุธสงครามจำนวนมากที่ซอยอ่อนนุช ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดี

นายสุเทพ แสดงภาพคนเสื้อดำ และคลิปวีดีโอ ถึงปฎิบัติการของคนชุดดำ  จนเป็นเหตุทำให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เสียชีวิต ไม่นับทหารและพลเรือน เสียชีวิต

"พื้นที่ชุมนุมมีการ์ด นปช.คุ้มกันหนาแน่น ไม่มีใครเข้าไปในพื้นที่ได้ แต่ทำไมคนชุดดำจึงเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมได้ โดยไม่มีใครขัดขวาง"นายสุเทพ กล่าวบนเวทีปราศรัย

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ปราศรัยตอนหนึ่งว่า  ไม่ใช่ 91 ศพ เท่านั้นที่ตาย แต่มีคนตายมากกว่านั้น มีตัวเลขคนตายอีกเท่าไรที่ไม่ได้ถูกนับ ทั้งนี้ การกระชับพื้นที่ของเจ้าหน้าที่มีคนเสียชีวิตเพียง 4 คน เท่านั้น ไม่มีผู้ชุมนุมที่เวทีราชประสงค์ตายสักคนเดียว การตายมาจากที่อื่น ไม่ใช่ตายที่ราชประสงค์  และคนเสื้อแดงยุติการชุมนุม เพราะคนเสื้อดำแตกกัน เขาจึงเผาเมือง การเผาไม่ได้เกิดการความแค้นที่ยุติการชุมนุม จากนั้นนายสุเทพได้เปิดคลิปวีดีโอของแกนนำเสื้อแดง ผู้หนึ่งที่ประกาศว่า" เผาไปเลยพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง"

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ที่ตนเสียใจคือศพของผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ถูกคนนำออกมาแห่เพื่อให้เกิดความรุนแรง

รองนายกฯ ยังกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนที่นายอภิสิทธิ์เจรจากับแกนนำ นปช. ด้วยเสียงสั่นเครื่อว่า ตนกลัวว่านายอภิสิทธิ์ยอมรับเงื่อนไขของ แกนนำ นปช. โดยการตัดสินใจยุบสภา เพราะว่าหากมีการยุบสภาตอนนั้นบ้านเมืองจะวุ่นวายขนาดไหน

"ส่วนการที่เสธ.แดงถูกยิงนั้น ผมสงสัยว่าฝ่ายคุณจตุพรนั้นแหละเป็นคนยิง เพราะต้องการให้เป็นข่าวใหญ่โตเพื่อต่างประเทศจะได้สนใจ และเพราะว่าฝ่ายผมเป็นฝ่ายรักษากฎหมาย ผมสงสัยเช่นนี้ ขณะนี้ไม่มีหลักฐานที่จะไปกล่าวหาใคร" นายสุเทพกล่าว

“คุณอภิสิทธิ์ไม่ได้ร่วมสั่งการใดๆ ทั้งสิ้น ผมเป็น ผอ.ศอฉ. ผมเป็นคนสั่งการทุกอย่าง และผมรับผิดชอบ เขากล่าวหาว่าทำให้คนตาย ผมไปมอบตัวแล้ว ผมพร้อมสู้คดีพิสูจน์ความถูกความต้อง ไม่หนีไปต่างประเทศเหมือนทักษิณ (คนโฮ่ร้อง)” สุเทพยืนยันในตอนหนึ่งของการปราศรัย

เขายังกล่าวด้วยว่า ตนเห็นปัญหาสงครามคอมมิวนิสต์ วันนี้ไปจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง ชักธงแดง ทำให้นึกถึงหัวใจคนในหมู่บ้านที่ไม่กล้าแสดงตัว อยากจะให้ประชาขนช่วยพูดจา วิงวอนกับเขาให้สู้กันตามกฎเกณฑ์ สู้กันตามกติกา ทรัพย์สินเงินทองก็เยอะ ลูกน้องก็เยอะ สื่อเขาก็เยอะ สร้างข่าวโหนกระแสกันทุกวัน พวกตนสู้ยากอยู่แล้ว ไม่ต้องเอามวลชนจัดตั้งมาคุกคามพวกตน ไม่ต้องเอากองกำลังเสื้อดำมาข่มขู่กันอีก

“คุณยิ่งลักษณ์บอกไม่สามารถควบคุมคนเส้อแดงได้ เชื่อ เพราะที่เห็นมันเป็นเฉพาะยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ที่บงการอยู่ข้างหลังเป็นพวกมีอุดมการณ์ล้มล้างเปลี่ยนแปลงระบอบการปกปครองของประเทศนี้ เขาไม่เลิกหรอก ถ้าเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล เสื้อแดง ไม่ใช่มวลชน แต่พวกที่เป็นแกนนำจะขี่คอพรรคเพื่อไทย” สุเทพว่า และย้ำให้ประชาชนพิจารณาว่า ในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยนั้น มีผู้ต้องหาก่อการร้าย 22 คน ถ้าเพื่อไทยชนะ จตุพร พรหมพันธ์อาจได้เป็นรัฐมนตรี (คนโห่ร้อง)

“ผมทำใจไว้แล้ว ถ้าจตุพรเป็น รัฐมนตรีมหาดไทย หรือรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง สงสัยผมติดคุกแน่ครับพี่น้อง คนไทยอื่นๆ ก็ไม่ทราบต้องไปขุดรูอยู่กันอย่างไร ถึงเวลาเราต้องช่วยเหลือบ้านเมืองแล้ว” สุเทพกล่าว 

 

นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้ปราศรัยคนต่อมา กล่าวว่า ไม่ต้องกลัวการจัดปราศรัยที่นี่ เพราะพูดสี่แยกไหนความจริงก็ต้องเป็นความจริง พร้อมเล่าว่าในการหาเสียงภาคอีสานเดินทางจากจ.สุรินทร์มาจ.อุบล พบว่าป้ายหาเสียงของพรรคถูกทำลายมากกว่า 90% โดยมีการกรีดหน้าหัวหน้าพรรคอภิสิทธิ์ บางแผ่นประณีตมาก กรีดเอาเลข 0 ออกด้วย ไม่อยากบอกว่าใครทำ คนในพื้นที่ก็โกรธไม่พอใจ นี่คือการไม่กล้าสู้ตามวิถีทางที่ถูกต้อง

นายชวนยังระบุว่า มีการสอนให้ประชาชนในพื้นที่ด่าผู้หลักผู้ใหญ่ ด่าสถาบัน ด่ามาถึงตนด้วย ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย โชคดีที่ พล.ต.อ.เสรี เตมียเวส อดีต ผบ.ตร. บันทึกเสียงด่ามาให้ตนจึงได้ฟ้องสองคนคือ ชินวัฒน์ หาบุญพาด, สุรชัย แซ่ด่าน ข้อหาหมิ่นประมาท ทั้งสองคนรับสารภาพ โดยสุรชัยระบุว่าสิ่งที่พูดไม่ใช่เรื่องจริงแต่มีคนบอกให้พูด ด่านายชวนต้องด่าแบบนี้ ศาลตัดสินจำคุก รอลงอาญาสองปี นี่ทำให้รู้ว่าขบวนการเหล่านี้มีระบบสอนว่าควรด่าแต่ละคนว่าอย่างไร มีการให้ร้ายต่อสถาบันหลักของบ้านเมือง จึงอยากเตือนเจ้าหน้าที่ว่าอย่าละเลยมองข้ามสิ่งเหล่านี้ แต่อย่าเหมาว่าทุกคนเป็นอย่างนั้น เพราะส่วนหนึ่งเขาทำด้วยความกลัว เช่น หมู่บ้านธงแดง บางบ้านไม่อยากติด แต่ไม่กล้าเอาออก คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการเหล่านี้ ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่ปี 2548 ที่มีการใช้วิทยุชุมชนปลุกระดมคนเชียงใหม่ต่อต้านพรรคประชาธิปัตย์มาหาเสียงว่า “อย่าให้พวกนี้มาหาเสียงที่บ้านเรา”

“ใครทำผิดรับผิด ใครไม่ได้ทำผิดอย่าไปกลั่นแกล้ง ไม่มีวิธีใดดีกว่านี้ ท่านจะยกเว้นโทษให้คนเผาศาลากลางเหรอครับ จะยกเว้นโทษให้คนเจตนาฆ่าคนเหรอครับ ผมไม่เชื่อว่าคนในชาตินี้จะยอม” ชวนกล่าว

นายชวนยังกล่าวถึงคดียุบพรรคเพื่อไทยที่มีการตัดสินอย่างเป็นเอกฉันท์ของตุลาการรัฐธรรมนูญ และต่อมามีการเรียกร้องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งบทบาทของคนเสื้อแดงมีบทบาทกดดันกกต.อย่างมาก มีการข่มขู่ กกต.มีการเผาโลงศพ ความฮึกเหิมที่รู้สึกว่าทำอะไรรุนแรงแล้วคนกลัว แล้วไม่มีใครใช้มาตรการจัดการตามกฎหมายทำให้เขากล้าไปขู่ แล้วในที่สุดก็ขู่ตุลาการ แต่ก็ไม่มีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ สื่อมวลชนรายงานโดยส่วนใหญ่ไปเข้าใจว่า ปชป.ชนะด้วยเทคนิค ศาลยกเพราะเรื่องอายุความ แต่ที่จริงแล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทุกข้อ และทุกประเด็นไม่มีความผิดจึงยกคำร้องไม่ยุบ
ชวนยังกล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า ตนไม่ได้เป็นคนวางมาตรฐานว่าพรรคคะแนนเสียงอันดับแรกต้องได้ตั้งรัฐบาล แต่มันเป็นธรรมเนียม อย่างไรก็ตาม ถ้าพรรคที่หนึ่งตั้งไม่ได้ พรรคอื่นก็ต้องทำแทน

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ  กล่าวว่าถึงการทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในความขัดแย้งเมื่อปีที่แล้ว โดยระบุว่าประสานงานกับ “นายเหวง” เป็นคนแรก ซึ่งตอนนั้นคนเสื้อแดงกำลังเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งนายกฯ ก็ย้ำว่าต้องเปิดเต็มที่เพราะเราเป็นระบอบประชาธิปไตย

“เขาเดินทางมาเยอะมาก อยู่ที่มัฆวาน ผ่านฟ้า วันดีคืนดีก็ปราศรัยแบบนี้แต่เสื้อเขามีอยู่สีเดียว ปราศรัยเสร็จมองซ้ายมองขวา เห็นตำรวจ เห็นทหาร ยืนอยู่ข้างๆ เขาหงุดหงิด เขาบอกว่าทหารไม่อยากเห็นหน้าเลย อยู่ไกลๆ ได้ไหม ตำรวจพอไหวเพราะพูดกันรู้เรื่อง ผมคุยกับผู้บัญชาการวันนั้นเขาว่าไม่มีปัญหา ถอยทหารออกไป เราพยายามอย่างเหลือเกินที่จะอำนวยความสะดวก”

“นายกฯ บอกตราบใดที่เขายังชุมนุมอย่างสันติ เลขาฯ ไปประสานงาน พอวันไปเทเลือดบ้านนายกฯ ผมบอกเลิกประสานงาน” กอรป์ศักดิ์กล่าวและว่า การชุมนุมเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น จนมีการเจรากับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ขณะนำมวลชนราว 5,000 ไปอยู่หน้า ราบ 11และขู่จะเดินเข้าไป มีการตกลงกันว่าจะเจรจากันแบบถ่ายทอดสด

“พอได้คุย 3 ชั่วโมงนั้นแล้วรู้เลยว่าอยากออกทีวีเท่านั้นแหละ” กอร์ปศักดิ์กล่าวและว่า การเจราจารอบแรกและรอบสองก็ยังไม่เป็นผล พร้อมทั้งระบุถึงความพยายามเจรจาอย่างต่อเนื่องโดยยึดหลักการที่นายอภิสิทธิ์ได้มอบให้ 10 ข้อ เช่นต้องมีกรรมการกลาสืบสวนเหตุการณ์ 10 เมษา, ให้มีคณะกรรมการดูแลการแพร่ภาพพีทีวี, การประกันตัวรับปากไม่ได้แล้วแต่ศาลพิจารณา ซึ่งทั้งหมดแกนนำตอบตกลง รวมถึงการไม่ยอมให้มีการนิรโทษกรรมคดีอาญา แต่จะมีการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง นายกฯ จึงประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 14 พ.ย.

“ผมแอบเก็บไว้กระดาษนั้นไว้ มันเป็นประวัติศาสตร์ หลักฐานชัดเจนว่า คนที่ต้องการให้ทุกอย่างจบในลักษณะปรองดองคือ คนชื่อ อ. และกล้าพูดได้ชัดเจนว่า คนชื่อ ทักษิณ คนชื่อ ยิ่งลักษณ์ คนชื่อ จตุพร คนชื่อณัฐวุฒิ คนชื่อนายเหวง ไม่มีทางที่จะปรองดองกับพวกเราได้ เพราะเขาไม่ใช่คนมีนิสัยจะปรองดอง” กอร์ปศักดิ์

“ประธาน นปช.ตอบรับข้อตกลงทุกประการ แต่มันก็ไม่สำเร็จ เพราะมีคนคนหนึ่งใช้คำพูดว่า “ปรองดองกันยังไง ผมไม่เห็นได้อะไรเลย”” กอร์ปศักดิ์กล่าวและว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จะมีการยกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณคืนเงินให้ทักษิณ 4.6 หมื่นล้านบาท

 

ที่มาบางส่วน: เว็บไซต์มติชน เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"เอเชียอัพเดต" ช่วยถ่ายทอดสด "ประชาธิปัตย์" ปราศรัย

Posted: 23 Jun 2011 07:47 AM PDT

ทีวีดาวเทียม "เอเชียอัพเดต" "สปริงนิวส์" ถ่ายทอดสด "ประชาธิปัตย์" ปราศรัย โดยช่องเอเชียอัพเดตซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ผู้สนับสนุนคนเสื้อแดงนั้น มีการถ่ายทอดสดการปราศรัยดังกล่าวสลับกับการวิเคราะห์โดยแกนนำ นปช. ด้วย ขณะที่ "เอเอสทีวี" ยังคงถ่ายทอดสดจากเวทีพันธมิตรฯ สะพานมัฆวานรังสรรค์

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะระหว่างปราศรัยที่แยกราชประสงค์ มีการถ่ายทอดสดโดยสถานีโทรทัศน์ "เอเชียอัพเดต" ด้วย

สถานีโทรทัศน์ "วอยซ์ทีวี" รายงานข่าวการปราศรัยพรรคประชาธิปัตย์

การวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง ทางสถานีโทรทัศน์ "สปริงนิวส์"

ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ ปราศรัยที่ลานหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์แยกราชประสงค์ในวันนี้ (23 มิ.ย.) นั้น นอกจากทางพรรคประชาธิปัตย์จะถ่ายทอดทางอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ livestream โดยมีผู้ชมมากกว่า 20,000 รายแล้ว ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ยังมีการถ่ายทอดสดการปราศรัยของพรรคประชาธิปัตย์โดยสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม "เอเชียอัพเดต" ตัดสลับกับการวิเคราะห์โดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ และนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช.

นอกจากนี้ยังมีการรายงานข่าวการปราศรัยสลับการวิเคราะห์ที่สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม "สปริงนิวส์" ด้วย ด้านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม "วอยซ์ทีวี" มีรายงานข่าวการปราศรัยเป็นระยะ  ขณะที่สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม "เอเอสทีวี" ของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ได้ถ่ายทอดสดการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บทพิสูจน์การเมืองนำการทหาร

Posted: 23 Jun 2011 07:40 AM PDT

จากข้อมูลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน) ที่วิเคราะห์บทบาทผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส โดยมีการระบุพฤติกรรมผู้สมัครที่เคยถูกขึ้นบัญชีดำของทางการ เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่ 4 ปี 2547 และมีบางคนเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมายและยาเสพติด (อ้างจากคอลัมน์: ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด : ว่าที่ ส.ส.ใต้พันก่อการร้าย ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน 2554)

ข้อมูลดังกล่าวนอกจากทำให้สังคมตื่นตระหนกตกใจแล้ว ยังสร้างความกังขาให้คนในพื้นที่ เกิดคำถามมากมายตามมาว่า กระบวนการของการต่อสู้ในทางการเมืองของนักการเมือง และพรรคการเมืองมุสลิมซึ่งมีอยู่หลายกลุ่มในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับกลุ่มก่อความไม่สงบหรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้น มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญ และเป็นโจทย์หนึ่งในการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนคาดหวังต่อนักการเมืองในการที่จะมีส่วนในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบซึ่งเกิดขึ้นมายาวนาน

เมื่อนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน วันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน มีการเลือกตั้งแล้ว 2 ครั้ง ไม่นับการเลือกตั้งที่มีเหตุการณ์วุ่นวาย เมื่อปี 2549 คือ การเลือกตั้งทั่วไป ภายหลังที่รัฐบาลทักษิณดำรงตำแหน่งครบวาระ โดยมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 หลังจากนั้น ก็ได้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายหลังปฏิวัติโดยพลเอกสนธิ บุญรัตกลิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คือ การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550

ย้อนไปการเลือกตั้ง เมื่อปี 2548 ในขณะนั้น ส.ส.มุสลิมในนามกลุ่มวาดะห์ นำโดยนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา สังกัดพรรคไทยรักไทย ในรัฐบาลทักษิณ มีตำแหน่งเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ถูกรุมเร้าอย่างหนักโดยมรสุมทางการเมือง เพราะเป็นการเลือกตั้งภายหลังที่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน เหตุการณ์ฆ่าในมัสยิดกรือเซะ และเหตุการณ์ชุมนุมที่ตากใบ ซึ่งทำให้มุสลิมที่เข้าร่วมชุมนุมในเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอด) เสียชีวิตขณะที่ถูกขนย้าย ไปส่งที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จำนวน 78 คน

นอกจากปัญหารุมเร้าจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ในช่วงนั้นสิ่งที่ถูกท้าทายอย่างหนักของกลุ่มวาดะห์ ก็คือมีข้อมูลว่า นักการเมืองที่อยู่ในกลุ่มมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ภายหลังที่กำนันโต๊ะเด็งได้ถูกจับกุมในคดีปล้นปืน แล้วออกมาแถลงข่าวทางสื่อมวลชนว่า มีนักการเมืองในกลุ่มของวาดะห์เป็นผู้ร่วมวางแผนในการปล้นปืน โดยนำไปชี้ถึงสถานที่มีการประชุม และพาดพิงถึงนักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่สุดท้ายออกมายอมรับว่า เหตุที่ตนเองต้องกระทำเพราะถูกซ้อมทรมาน และบีบบังคับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ต่อมากำนันโต๊ะเด็งได้กลับคำให้การในชั้นศาล จนเป็นคดีความมีการฟ้องร้องกับตำรวจชั้นผู้ใหญ่ถึงทุกวันนี้

จากผลพวงดังกล่าว นำไปสู่การดำเนินคดีนายนัจมุดดิน อูมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสพร้อมกับพวกอีกจำนวน 50 กว่าคน ในข้อหาร่วมกันปล้นปืน เป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยบุคคลที่ถูกดำเนินคดีก็ล้วนแต่เป็นคนใกล้ชิดและเป็นหัวคะแนนผู้สนับสนุน แต่โชคดีที่พนักงานอัยการโดยสำนักงานอัยการสูงสุดในขณะนั้น ใช้หลักเมตตาธรรม มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาจำนวนหลายคน และได้ปล่อยตัวไป แต่นายนัจมุดดิน อูมา ถูกดำเนินคดี ตกเป็นจำเลยที่ศาลอาญา และมีการต่อสู้คดีจนศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในที่สุด

จากการถูกกล่าวหาของนัจมุดดิน ดังกล่าว ทำให้สังคมเข้าใจว่า เหตุการณ์ในสามจังหวัด มีนักการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยมีแนวร่วมในการก่อความไม่สงบในพื้นที่ และเข้าใจต่อไปอีกว่ากลุ่มขบวนการดังกล่าวมีชาวบ้านที่เป็นแนวร่วมจำนวนมาก ที่นำโดยนักการเมืองเป็นผู้วางแผนและบงการอยู่เบื้องหลัง คนทั่วประเทศเข้าใจว่า มุสลิมในสามจังหวัดคือกลุ่มขบวนการที่สนับสนุนการก่อการร้าย ขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยมีนักการเมืองเป็นแกนนำ แต่เมื่อผลการเลือกตั้งเมื่อ ปี 2548 ออกมา ปรากฏว่า แกนนำของขบวนการสอบตกหมด พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ในสามจังหวัดยกทีม ดังเช่นคลื่นสึนามิโหมกระหน่ำ

จากข้อเท็จจริงในอดีต เมื่อนำมาพิจารณากับข้อมูลของ กอ.รมน.ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่ข้อมูลใหม่ แต่ข้อมูลของ กอ.รมน.ในครั้งนี้ หากไม่เปิดเผยภาพให้ชัดเจน ก็จะยิ่งสร้างความสับสนกับประชาชนและบรรดานักการเมือง รวมทั้งผู้สนับสนุนนักการเมืองเหล่านั้น

อย่าลืมว่าการวิเคราะห์ข้อมูลของ กอ.รมน.ย่อมมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของนักการเมือง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และในขณะเดียวกัน ย่อมทำให้พรรคการเมืองบางพรรคได้ประโยชน์จากผลการวิเคราะห์ดังกล่าว และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สังคมจะเข้าใจว่า ปัญหาในสามจังหวัดแท้จริงแล้วคือปัญหาการเมือง นอกจากปัญหาขบวนการยาเสพติด และน้ำมันเถื่อน ดังที่มีการเปิดเผยโดยแม่ทัพภาคที่ 4 มาแล้ว

หากฝ่ายความมั่นคง หรือ กอ.รมน. ต้องการใช้นโยบายการเมืองนำการทหารจริง ต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจนว่ากระบวนการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในทางการเมืองโดยการปลุกจิตวิญญาณ อุดมการณ์ของการสำนึกความเป็นมลายูของคนในสามจังหวัด ซึ่งเป็นเส้นที่บางมาก ๆ กับอุดมการณ์ของการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนนั้น มีเส้นแบ่งอย่างไร เพราะข้อมูลของ กอ.รมน.ย่อมทำให้เกิดความไม่มั่นใจของประชาชนในสามจังหวัดว่า จะต้องวางตัวอย่างไรในการเป็นหัวคะแนน หรือสนับสนุนผู้สมัครของตนเอง

กระบวนการเลือกตั้งทางการเมืองควรเป็นวิธีหนึ่งที่มีส่วนในการส่งเสริมให้คนในสามจังหวัด เปิดพื้นที่ของการต่อสู้ตามแนวทางตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ดีกว่าเลือกต่อสู้นอกระบบ มิเช่นนั้นก็จะเรียกร้องรูปแบบการปกครองอื่น ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจให้กับฝ่ายความมั่นคงอีกเช่นกัน เพราะหากคนระดับนักการเมืองยังต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาความมั่นคงซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนี้แล้ว ประชาชนตาดำๆ จะเหลืออะไร และต่อไปก็จะมีการให้ข้อมูลกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง สุดท้ายแล้วคดีความมั่นคงก็จะไหลเข้าสู่ศาล สร้างความเดือดร้อนให้กับคนมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ: คนหลอกผี ? (ตอบจดหมายคุณอภิสิทธิ์ฉบับที่ 6)

Posted: 23 Jun 2011 05:20 AM PDT

1. คุณอภิสิทธิ์ไม่เคยเอ่ยคำว่าขอโทษหรือแม้แต่เสียใจต่อความตายของประชาชน 91 ชีวิต จึงไม่มีทางเข้าใจหัวอกของพ่อที่อยากมาร่วมงานแต่งงานของลูกสาว คำพูดง่ายๆกับความรู้สึกธรรมดาๆของพ่อคนหนึ่งจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลาย ล้างทางการเมืองอย่างเอาเป็นเอาตาย แค่บอกว่าอยากมาแต่มาไม่ได้กลายเป็นเรื่องนิรโทษกรรมเรื่องเอาเงินคืน หัวใจแบบนี้คนตายมากกว่า 91 ศพ ก็คงเฉยๆ

2. คำว่าปรองดองของพรรคเพื่อ ไทยคือมีการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ทุกฝ่ายยอมรับมติประชาชน พรรคอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาลไม่มีการแทรกแซงจากอำนาจใดๆแล้วรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ คุยกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างความปรองดอง จะทำยังไงขั้นตอนแบบไหนเป็นเรื่องที่ต้องเปิดใจหารือกันยังไม่มีสูตรสำเร็จ เรื่องนิรโทษกรรมยังถือว่าไกลเกินไป ไม่มีใครปรองดองได้โดยลำพังหรอกมีแต่การปองร้ายเท่านั้นที่คิดเองเออเองแล้ว ใส่ไฟกันอยู่ทุกวัน

3. ปัญหาก่อนรัฐประหารที่ยกมาถ้ามีจริงระบบแก้ไข ตัวมันเองได้ไม่ต้องปล้นอำนาจคนทั้งประเทศแล้วบอกว่าทำเพื่อประชาธิปไตย ผมคิดว่าปัญหาใหญ่วันนี้คือมีพรรคการเมืองที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแต่ไป อิงแอบกับฝ่ายเผด็จการแล้วรับผลประโยชน์ทางการเมือง คุณอภิสิทธิ์จะปฏิเสธก็ได้แต่ผมมั่นใจว่าหาคนเชื่อยากเต็มที

4. คิดได้ ยังไงเอาเรื่องนิรโทษกรรมเรื่อง 46,000 ล้านมาโยงกับ 91 ศพ ไม่รู้จริงๆหรือว่าสิ่งที่คนทั้งโลกอยากได้ยินจากคุณคือใครสั่งฆ่าประชาชน ปีกว่าแล้วนายกฯยังเฉไฉรายวันไม่คิดจะพูดความจริงกับสังคมเลยหรือ เรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณฯ กับ 91 ศพ แม้จะเกี่ยวข้องแต่เป็นคนละเรื่องเดียวกันไม่มีใครอำมหิตขนาดจะผูกเป็นเรือ พ่วงเพื่อผลประโยชน์หรอก บอกมาตรงๆดีกว่า ใครสั่งฆ่าประชาชน ใครสั่งฆ่าประชาชน

5. คดีปี 52-53 กับคดี 7 ต.ค.51 ต่างจนเทียบกันไม่ได้ 7 ต.ค.มีคนหนึ่งตายเพราะระเบิดปิงปองในกระเป๋า อีกคนตายเพราะเอาระเบิดใส่รถมาเอง แต่ปีที่แล้วตายด้วยสไนเปอร์ด้วยอาวุธสงครามมีกำลังทหารเกือบแสนนายพร้อม ยุทโธปกรณ์เต็มอัตรา ผมมั่นใจว่านายกฯสมชายไม่มีความผิดและมั่นใจด้วยว่านายอภิสิทธิ์ผิดฉกาจ ฉกรรจ์ ที่ยังยิ้มอยู่ได้พราะมั่นใจว่ามีเส้น พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่ต้องห่วงน้องเขยว่าจะติดคุกหรอกแต่อดคิดแทนน้องมาร์คไม่ ได้ว่าถ้าพ้นจากตำแหน่งนายกฯแล้วจะเดินถนนยังไง

6. เมื่อคุณอภิสิทธิ์ กับพวกชิงอำนาจด้วยวิธีนอกระบบสำเร็จก็เอาเสื้อคลุมประชาธิปไตยมาสวมว่าตัว เองมาจากเสียงข้างมากในสภาโดยไม่แคร์สายตาประชาชนที่เห็นความจริงมาตลอดทาง ปราบปรามประชาชนตายเรียบแล้วก็ยังสนุกอยู่กับการปั้นข้อหาใส่ร้ายหนักเข้า ถึงขั้นไปเปิดเวทีเหยียบย่ำคนตาย ทั้งหมดนี้เพื่ออำนาจเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองแล้วอ้างว่าจะสร้างความ ปรองดอง เราต้องการน้ำใจครับไม่ใช่น้ำลาย

7. วันนี้มาเขียนบันทึก เหมือนจะทวงถามความเป็นธรรมให้คนเสื้อแดง ผมเชื่อไม่ลงจริงๆว่าจะมีฆาตกรที่ไหนมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนตายนอกจากจะเลือดเย็นเป็นน้ำแข็งเท่านั้นจึงทำได้ พี่น้องของคนตายเขาไม่ได้คิดอะไรอย่างที่คุณพยายามหรอก เงินทักษิณก็ส่วนเงินทักษิณไม่เกี่ยวกับความตายของประชาชน คนสั่งยังลอยหน้าคนฆ่ายังลอยนวลอย่างนี้จะมาบอกให้ลืมได้อย่างไร เพิ่งมาห่วงใยพวกเขาตอนนี้เองหรือ เพื่อคะแนนเสียงทำได้ขนาดนี้เชียวหรือ คนเป็นๆเขียนบันทึกหลอกผีไม่คิดถึงเรื่องบาปกรรมเลยหรือ

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ: คนหลอกผี ? (ตอบจดหมายคุณอภิสิทธิ์ฉบับที่ 6)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอนดรูว์ มาร์แชล

Posted: 23 Jun 2011 05:01 AM PDT

ผมได้ทำแล้ว ผมกลายเป็นอาชญากรแล้วในประเทศไทย เสียใจอย่างที่สุดที่ผมไม่อาจกลับไปยังประเทศที่น่าอัศจรรย์เช่นนั้นได้อีก แต่ผมจะเสียใจยิ่งกว่าหากว่ามีโอกาสที่จะบอกความจริงแล้วกลับล้มเหลวที่จะใช้โอกาสนั้น มันคือหน้าที่ของสื่อมวลชน

อดีตผู้สื่อข่าวรอยเตอร์, 23 มิ.ย. 2554

วิกีลีกส์’1: อ้างปลัด ยธ. ในหลวงทรงขอให้อภิสิทธิ์ทบทวนการใช้ ม.112

Posted: 23 Jun 2011 04:36 AM PDT

เว็บไซต์ไทยเคเบิล เผยแพร่เอกสารลับทางการทูตของสหรัฐอเมริกา ในช่วงหลังรัฐประหารเป็นต้นมา โดยมีเนื้อหาการพบปะและพูดคุยกับบุคคลระดับนำ ทั้งฝ่ายราชสำนัก ข้าราชการระดับสูง นายทหาร และผู้นำรัฐบาล ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น การล้มรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช บทบาทของราชสำนักต่อการเมือง และการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ทั้งนี้ เว็บไซต์ดังกล่าว เผยแพร่เอกสารชั้นต้นที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้นจำนวนหลายสิบชิ้นต่อเนื่องกันตลอดช่วงเช้าของวันนี้ (23 มิ.ย.) โดยมีคำอธิบายที่หน้าแรกของเว็บว่า เอกสารที่หลุดมาจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทยมีทั้งสิ้นราว 3,000 ชิ้น และเชิญชวนให้เว็บไซต์ต่างๆ นำไปเผยแพร่ต่อ ทั้งนี้ มีข้อความเจาะจงถึงกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศว่า “นี่คือคำเตือน เมื่อใดก็ตามที่คุณบล็อกเว็บไทยเคเบิ้ล เราจะเปิดใหม่ทันทีอีก 3 เว็บ”

 

000

 

10BANGKOK287 KING BHUMIBOL RESUMES A MORE VISIBLE ROLE – IN HIS HOSPITAL RECEPTION ROOM

http://thaicables.wordpress.com/2011/06/23/10bangkok287-king-bhumibol-resumes-a-more-visible-role-%E2%80%93-in-his-hospital-reception-room/

“246944″,”2/3/2010 10:47″,”10BANGKOK287″,”Embassy

 

KING BHUMIBOL กลับมาดำเนินบทบาทที่ชัดเจนขึ้น จากห้องพักในโรงพยาบาล

วิกิลีกส์หมายเลข 10BANGKOK287 วันที่ 2 มีนาคม 2553 เวลา 10:47

 

ข้อสรุปและความคิดเห็น

——————-

1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (หมายเหตุ: ต้นฉบับใช้คำว่า ‘KING BHUMIBOL’) ได้เป็นประธานในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณสามครั้ง ณ โรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่กลางเดือนมกราคม และพระราชทานพระบรมราโชวาทต่อคณะรัฐมนตรีและคณะผู้พิพากษาในที่สาธารณะ และต่อนายกรัฐมนตรีเป็นการส่วนตัว

นอกจากการถวายสัตย์ปฏิญาณของรัฐมนตรีใหม่จำนวน 5 คน ในวันที่ 18 มกราคม (อ้างอิง A) พระองค์ยังเป็นประธานในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะผู้พิพากษาอีกสองกลุ่มในวันที่ 25 มกราคม และ 1 กุมภาพันธ์ และพระราชทานพระราชดำรัสสด ซึ่งในส่วนหลังได้ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ทั้งสองครั้ง

ในโอกาสสองครั้งดังกล่าว พระองค์ตรัสค่อนข้างยาว (10 นาที) เท่าๆ กัน ในลักษณะที่กำกวมตามปรกติ และยากในการทำความเข้าใจ ซึ่งเป็นลักษณะที่รู้กันโดยทั่วไป

ในวันที่ 18 มกราคม ในการเข้าเฝ้าอย่างเป็นส่วนตัวกับนายกฯ อภิสิทธิ์ พระองค์ได้ตั้งใจพูดคุยถึงความกังวลต่อการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และให้นายกฯ อภิสิทธิ์ดำเนินการแก้ไข หลังจากให้มีการทบทวนขั้นตอนและกระบวนการในปัจจุบัน (เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว)

ถึงแม้ว่าจะมีตัวบ่งชี้ว่าพระองค์ทรงกระฉับกระเฉงมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็ยังทรงได้รับการรักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ที่ซึ่งทรงพำนักอยู่มาตั้งแต่เดือนกันยายน

2. (ความคิดเห็น) นอกจากพระวรกายดีขึ้นแล้ว การพบปะกับบุคคลในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงได้ฟื้นฟูทางจิตใจ หลังจากมีข่าวลือว่าทรงป่วยเป็นโรคซึมเศร้า นอกเหนือไปจากการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น พาร์กินสัน และโรคปอดบวม

ความสามารถในการพระราชทานพระราชดำรัสต่อรัฐมนตรีและผู้พิพากษา เป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างมากกับการพระราชทานพระราชดำรัสด้วยความยากลำบาก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม เนื่องในวันพระราชสมภพ และวันปีใหม่ โดยเฉพาะการพูดคุยเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับอภิสิทธิ์ ดูเหมือนจะบ่งชี้ว่าพระองค์รับทราบถึงการถกเถียงที่กว้างขวางเกี่ยวกับบทบาทของกษัตริย์ในปัจจุบันและในอนาคต

คำถามที่ยังคงอยู่คือ ทำไมพระองค์ยังทรงรับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เหตุผลที่ว่าต้องการให้พระองค์มีพระวรกายและพระพลานามัยแข็งแรงขึ้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในวัง หรือที่กรุงเทพฯ หรือที่พักที่พระองค์โปรดปรานที่หัวหินก็ได้

บางคนอาจจะคิดว่ามีเหตุผลอื่น แต่จะเป็นอะไรก็ยังไม่ชัดเจน (จบการสรุปและความคิดเห็น)

 

การสาบานตนของรัฐมนตรีใหม่

——————————–

3. สมาชิกคณะรัฐมนตรีใหม่จำนวน 5 คน เดินทางไปโรงพยาบาลศิริราชเมื่อวันที่ 18 มกราคม ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัวฯ (อ้างอิง A) หลังจากการสาบานตนอย่างเป็นทางการแล้ว พระองค์มีพระราชดำรัสต่อคณะถึงการยืนหยัดต่อหลักการความซื่อตรง ทรงขอให้คณะดังกล่าวรักษาผลประโยชน์ของชาติไว้ในจิตใจเมื่อทำงาน และเน้นย้ำความสำคัญของความซื่อสัตย์ และศักดิ์ศรีในทุกขั้นตอน

พระองค์เน้นย้ำว่า ในฐานะบุคคลสาธารณะ การทำงานของรัฐมนตรีจะเป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิด และถือเป็นแบบอย่างของการประพฤติที่เหมาะสม ในการกล่าวสรุป พระองค์กล่าวว่า หากรัฐมนตรีทำงานให้สอดคล้องกับความคาดหวังของสาธารณชน ก็จะช่วยให้เกิดความสงบสันติและความก้าวหน้ามาสู่ประเทศไทย

 

คำกระซิบ (WHISPERS)สำหรับอภิสิทธิ์

————————–

 

4. หลังจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณของรัฐมนตรีสิ้นสุดลง พระองค์ได้ขอให้อภิสิทธิ์อยู่ต่อเพื่อการพูดคุยสองต่อสอง ยาวหนึ่งชั่วโมง โดยเน้นที่การใช้ข้อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ข้อมูลดังกล่าวมาจากผู้ที่ไว้ใจได้และติดต่อกับสถานทูตมาอย่างนาวนาน ซึ่งได้ยินมาจากบุคคลซึ่งอภิสิทธิ์มักเล่าสรุปหลังจากได้เข้าเฝ้ากษัตริย์อยู่เสมอๆ คือ ปลัดกระทรวงยุติธรรม กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์, กิตติพงษ์มีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการที่อภิสิทธิ์ก่อตั้งขึ้น ในเดือนพฤศจิกายน 2552 เพื่อทบทวนการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากข้อมูลของกิตติพงษ์ พระองค์บอกอภิสิทธิ์ว่า เขาต้องทบทวนการใช้กฎหมายเพื่อมุ่งสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ

การทบทวนดังกล่าวต้องทำอย่างระมัดระวัง พระองค์น่าจะได้กล่าวต่ออภิสิทธิ์ แต่พระองค์ก็ทรงทราบว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ คงจะกระทบบุคคลหลักๆ หนึ่งคน คือตัวพระองค์เอง มีรายงานว่า พระองค์ยังทรงเตือนอภิสิทธิ์ด้วยว่า ในฐานะพระมหากษัตริย์ พระองค์มีพระราชอำนาจในการให้อภัยโทษใครก็ได้ที่ถูกตัดสินด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมราชานุภาพ

5. บันทึก: ในพระราชดำรัสเนื่องในวันพระราชสมภพซึ่งเผยแพร่แก่สาธารณะเนื่องในวันพระราชสมภพ พ.ศ. 2548 ตรัสชัดเจนว่า ไม่ทรงอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ และที่จริงแล้วก็ทรงยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ด้วย ความคิดเห็นในตอนนั้นและตอนนี้ของพระองค์เป็นตัวชี้ให้เห็นว่า ทรงเข้าใจว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพถูกใช้ในลักษณะที่ทำให้สถาบันกษัตริย์อ่อนแอลง และไม่ได้ปกป้องสถาบันกษัตริย์

พระองค์ทรงมีรายชื่อของคนที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ขณะนี้ยังมีกรณีของคนไทยสองคนที่เพิ่งถูกตัดสินไปเมื่อเร็วๆ นี้ แต่ฎีกาขออภัยโทษยังไม่ได้ถูกทูลเกล้าฯ ให้พระองค์ ซึ่งสองกรณีดังกล่าวระบุอยู่ในรายงานสิทธิมนุษยชนปี 2551 และ 2552

 

การให้โอวาทแก่ผู้พิพากษา

————————- 

6. หนึ่งสัปดาห์ถัดมา พระองค์เป็นประธานในพิธีสาบานตนเมื่อวันที่ 25 มกราคม สำหรับผู้พิพากษาศาลสูงสูดด้วยน้ำเสียงที่สม่ำเสมอ ถึงแม้จะดังกว่าการกระซิบเพียงเล็กน้อย อันเป็นผลจากความเจ็บป่วย พระองค์แนะนำต่อผู้พิพากษาให้ยึดถือหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาในการทำงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่พระองค์มักตรัสมาอย่างสม่ำเสมอ ทรงเน้นให้ผู้พิพากษาต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม และเป็นกลาง ซึ่งเป็นความยุติธรรมในแง่ของพุทธศาสนาในเรื่องความดีงาม โดยเน้นเรื่องความเป็นกลางเป็นพิเศษ

7. ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พระองค์ได้พบกับคณะผู้พิพากษาสูงสุดอีกกลุ่มหนึ่ง และเช่นเดียวกันก็ได้พระราชทานพระราชดำรัสสดในหัวข้อเดียวกัน พระองค์ทรงย้ำให้ผู้พิพากษาทำงานด้วยความยุติธรรมและความถูกต้อง เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและศักดิ์ศรีของศาล และเพื่อให้ดำรงไว้ซึ่งความสงบของชาติบ้านเมือง ความเจริญรุ่งเรืองและความเรียบร้อย มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า “ถึงแม้โจรก็ยังต้องการความยุติธรรม” ทรงจบพระราชดำรัสโดยแสดงความยินดีในโอกาสที่จะได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบอย่างมากและยาวนานต่อชีวิตคนอื่นๆ

8. ข้อความของพระองค์ต่อคณะผู้พิพากษาทั้งสองคณะ คงเป็นที่คุ้นเคยกันดีสำหรับคนที่เคยได้ยินพระราชดำรัสของพระองค์ก่อนหน้านี้ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับหลักการพุทธศาสนา มีลักษณะคลุมเครือ หากแต่ก็ดูเหมือนจะเข้ากับสถานการณ์การเมืองของไทยได้ในหลายแง่ กล่าวอีกทางก็คือ การที่กษัตริย์มีพระราชดำรัสต่อรัฐมนตรี ผู้พิพากษา และประชาชนมาหลายสิบปี –ความจริงข้อนี้ ถ้าคำนึงถึงการเข้ารักษาพยาบาลของพระองค์ที่นานต่อเนื่อง และความกังวลเรื่องปลายรัชกาล ทำให้สองเหตุการณ์ดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมาก และพระราชดำรัสดังกล่าวที่เน้นให้ผู้พิพากษาทำงานให้ดีตามหน้าที่ ซึ่งตรัสก่อนการตัดสินคดีการยึดทรัพย์ของผู้หลบหนีคดี อย่างอดีตนายกฯ ทักษิณ ไม่กี่สัปดาห์ จะมีนัยยะอะไรสำคัญที่ลึกไปกว่านั้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่ยังคงต้องพิจารณาและประเมินต่อไป

จอห์น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดใจแอนดรูว์ มาร์แชล ทำไมลาออกรอยเตอร์หันมารายงาน ‘ความลับ’ ในการเมืองไทย

Posted: 23 Jun 2011 03:53 AM PDT

แอนดรูว์ มาร์แชล ผู้กุมข้อมูลวิกิลีกส์เรื่องเมืองไทยเปิดใจ เป็นหน้าที่ในฐานะสื่อและในฐานะมนุษย์ที่ต้องเผยแพร่ให้คนไทยได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ระบุ สยามเมืองยิ้มเป็นแค่เทพนิยาย แต่ความจริงไทยคือดินแดนแห่งความลับ นายทหาร และข้าราชบริพารบ่อนทำลายประชาธิปไตย โดยอ้างว่ากระทำการในนามของราชสำนัก

แอนดรูว์ มาร์แชล เป็นผู้สื่อข่าวสังกัดรอยเตอร์มากว่า 17 ปี และตัดสินใจลาออกจากรอยเตอร์หลังจากเขาประสงค์จะเผยแพร่ข้อมูลจากวิกิลีกส์ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทยถึง 3,000 ฉบับ โดยเขาเริ่มเขียนรายงานเชิงวิเคราะห์จากข้อมูลในเอกสารลับของทางการสหรัฐ โดยเผยแพร่ผลงานชิ้นแรกพร้อมๆ กับที่เว็บไซต์ไทยเคเบิลก็ปล่อยข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยที่รั่วไหลจากทางการสหรัฐมาจำนวนหลายสิบฉบับในเช้าวันนี้ (23 มิ.ย.)

รายงานขนาดยาววิเคราะห์การเมืองไทยเรื่อง ไทย: ห้วงยามแห่งความจริง (Thailand: Moment of Truth) มีทั้งหมด 4 ตอน โดยตอนแรก ซึ่งเผยแพร่เช้าวันนี้ มีเนื้อหา 108 หน้า เขายกเอาภาษิตไทยมาอ้างไว้ในงานเขียนหน้าแรกว่า

“ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวปิดไม่มิด”

 

 

Andrew MacGregor Marshall: Why I decided to jeopardise my career and publish secrets

ที่มา: The Independent

 

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ผมทำงานหนักกว่า 16 ชั่วโมงต่อวันโดยที่ไม่ได้รับค่าจ้าง เพื่อเขียนเรื่องที่ดูเหมือนว่าจะไม่มีการพูดถึงในวงกว้าง เป็นเรื่องราวที่ผมแลกมาด้วยการลาออกจากรอยเตอร์ งานที่ผมรักอย่างยิ่งและทำมากว่า 17 ปี เมื่อเรื่องนี้ได้รับการนำเสนอ ผมก็คงเสียโอกาสที่จะเดินทางกลับไปยังประเทศที่ผมชอบมากในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เพราะว่ามีความเสี่ยงอยู่ ซึ่งแม้จะเล็กน้อย แต่ก็เป็นจริงนั่นก็คือผมจะต้องเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายระหว่างประเทศ และคนจำนวนหนึ่งที่ผมนับถือในฐานะเพื่อนก็อาจจะรู้สึกหวาดหวั่น และอาจจะไม่พูดกับผมอีก

คำถามสำคัญก็คือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

คำตอบก็คือ -อย่างไม่น่าเชื่อ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในศตวรรษที่ 21 นี่คือราคาที่ต้องจ่ายเมื่อคุณพยายามที่จะพูดความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศที่ทันสมัยและเปิดกว้างอย่างประเทศไทย

ประเทศไทยอ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตย และจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค. ที่จะถึงนี้ ประเทศไทยอ้างว่าปกครองในระบอบ กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy), ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีพระชนมายุ 83 พรรษา ทรงเป็นที่รักยิ่งของประชาชน ไม่ทรงมีบทบาทในทางการเมือง แต่ทรงเป็นผู้ชี้แนะทางศีลธรรมจรรยา

ไม่เป็นที่สงสัยเลยถึงความเคารพรักเทิดทูนที่ประชาชนไทยมีต่อกษัตริย์ของพวกเขา แต่เรื่องเศร้าของประเทศไทยก็คือว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ นายทหารและข้าราชบริพารได้บ่อนทำลายประชาธิปไตยโดยอ้างว่ากระทำการในนามของราชสำนัก

ประเทศไทยนั้นถอยหลังเข้าสู่ลัทธิเผด็จการและการกดขี่ และเครื่องบ่งชี้อย่างตายตัวก็คือ แม้แต่การพูดถึงอุดมการณ์ชนิดนี้ก็ผิดกฎหมายแล้ว

ไทยเป็นประเทศที่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรุนแรงที่สุดในโลก การหมิ่นประมาทใดๆ ต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินิ  หรือองค์รัชทายาท มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี การใช้กฎหมายดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหาร 2549 นักวิชาการและสื่อมวลชนที่ได้รับการยอมรับจำนวนหนึ่งถูกฟ้องร้องด้วยกฎหมายนี้ ใจ อึ๊งภากรณ์ นักวิชาการสัญชาติไทย-อังกฤษ ก็อยู่ระหว่างลี้ภัยในลอนดอนเนื่องจากถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทราชสำนัก

ผมอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2543 ในฐานะหัวหน้าฝ่ายข่าวของรอยเตอร์ สำนักงานสาขากรุงเทพฯ ผมตกหลุมรักในความงามของวัฒนธรรม และวิถีชีวิตอันเปี่ยมสุขและอบอุ่นของผู้คนอย่างรวดเร็ว ที่นี่ดูไม่เหมือนประเทศที่ตกอยู่ภายใต้การกดขี่ ทว่าสิ่งที่เห็นนั้นต่างจากสิ่งที่เป็น เรื่องบอกเล่าอย่างเป็นทางการว่าที่นี่คือ “ดินแดนแห่งรอยยิ้ม” คือเทพนิยาย ประเทศไทยคือประเทศแห่งความลับ

คนไทยจำนวนมากวาดภาพ XXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXX ไปในทางหวาดกลัว ส่วน XXX XXXXXX ดูเหมือนว่าจะมีระยะห่างกับประชาชนมากกว่าพระเจ้าอยู่หัวฯ และคนจำนวนหนึ่งก็เข้าใจว่า มีความเห็นอกเห็นใจฝ่ายขวาสุดโต่ง “เสื้อเหลือง” ซึ่งยึดสนามบินเมื่อปี 2551 และไม่ว่าอย่างไรก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างต่อการโค่นรัฐบาลขณะนั้น กองทัพนั้นก็ใช้กฎหมายจัดการอย่างต่อเนื่องกับการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทอันร้ายกาจของตนที่บ่อนทำลายประชาธิปไตย

สื่อมวลชนภายในประเทศไม่สามารถรายงานสิ่งเหล่านี้ได้เลย และสื่อต่างประเทศก็เซนเซอร์ตัวเองอย่างชัดแจ้ง สื่อมวลชนจำนวนมากหันมาใช้วิธีบอกเป็นนัยๆ เมื่อต้องนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับประเทศไทย เช่นประวิตร โรจนพฤกษ์ หนึ่งในผู้สื่อข่าวที่ดีที่สุดคนหนึ่งของไทยเขียนในรายงานของเขาเดือนนี้ โดยใช้คำว่า “มือที่มองไม่เห็น”, “อำนาจพิเศษ”, “อำนาจที่ปฏิเสธไม่ได้” ถ้อยคำเหล่านี้ถูกเอ่ยอ้างโดยประชาชน สื่อ และนักการเมืองบ่อยขึ้นในช่วงเวลาไม่นานมานี้ เมื่อพวกเขาอภิปรายเกี่ยวกับการเมืองไทย และการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

3 เดือนที่แล้ว ผมมีโอกาสเข้าถึง “ช่องทาง” ข้อมูลลับของทางการสหรัฐ ที่พลทหารแบรดลีย์ แมนนิง ดาวโหลดเก็บไว้ระหว่างที่ประจำการอยู่ในอิรัก มีเอกสารมากกว่า 3,000 ฉบับที่เกี่ยวกับประเทศไทย สิ่งที่แตกต่างจากการรายงานส่วนใหญ่ในบรรดาข่าวเกี่ยวกับประเทศแห่งนี้ก็คือ ในเอกสารลับเหล่านั้น ไม่พูดอ้อมค้อมเมื่อกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อผมได้อ่าน ผมก็ได้ตระหนัก 2 ประการคือ เอกสารเหล่านี่จะช่วยปฏิวัติความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทย และประการที่สองคือ ผมไม่มีทางที่จะเขียนถึงเรื่องเหล่านี้ได้หากอยู่ในฐานะผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์

รอยเตอร์จ้างพนักงานชาวไทยมากกว่า 1,000 คน ความเสี่ยงที่จะเกิดกับพวกเขาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในระยะเวลา 17 ปีที่ผมทำงานกับรอยเตอร์ ผมได้พบกับความขัดแย้งหลายอย่าง ผมใช้เวลา 2 ปีในแบกแดดในตำแหน่งหัวหน้าสำนักสาขา ขณะที่อิรักตกอยู่ในสถานการณ์สงครามกลางเมือง เพื่อนร่วมงานหลายคนถูกฆ่าตาย ผมภูมิใจเสมอมาที่ได้ทำงานให้รอยเตอร์ และเมื่อผมได้รับคำอธิบายว่างานของผมตีพิมพ์ไม่ได้ ผมก็เข้าใจ

แต่ผมก็ไม่สามารถจะเลิกล้มหรือเพิกเฉยต่อความจริงเกี่ยวกับประเทศไทย ประชาชนไทยสมควรที่จะมีสิทธิรับรู้ข้อมูลอย่างครบถ้วน เพื่อการถกเถียงเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขาเองโดยปราศจากความกลัว ผมลาออกจากรอยเตอร์ด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง เมื่อผมเริ่มเผยแพร่บทความของผมเพื่อใครก็ได้ที่ต้องการอ่าน

วันนี้ ผมได้ทำแล้ว ผมกลายเป็นอาชญากรแล้วในประเทศไทย เสียใจอย่างที่สุดที่ผมไม่อาจกลับไปยังประเทศที่น่าอัศจรรย์เช่นนั้นได้อีก แต่ผมจะเสียใจยิ่งกว่าหากว่ามีโอกาสที่จะบอกความจริงแล้วกลับล้มเหลวที่จะใช้โอกาสนั้น มันคือหน้าที่ของสื่อมวลชน และหน้าที่ของมนุษย์ที่จะทำให้ดียิ่งกว่า และนั่นคือเหตุผลที่ผมเผยแพร่ผลงานของตนเอง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผู้ลี้ภัยคะฉิ่นทะลักชายแดนจีนเกือบ 2 หมื่นคน

Posted: 23 Jun 2011 03:18 AM PDT

สงครามรอบใหม่ระหว่างทหารพม่าและทหาร KIA (Kachin Independence Army) ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่นทะลักมายังชายแดนจีนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 หมื่นคนแล้ว ขณะที่ชาวคะฉิ่นในประเทศไทยระดมทุนช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

ชาวคะฉิ่นหวั่นสงครามรอบใหม่ระหว่างทหารพม่าและทหาร KIA (Kachin Independence Army) ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่นทะลักมายังชายแดนจีนเพิ่มขึ้นเกือบ 2 หมื่นคนแล้ว ส่วนสถานการณ์ล่าสุด ได้เกิดเหตุระเบิด 2 ครั้งในเมืองมิตจีนา ครั้งแรกเกิดขึ้นที่สถานนีตำรวจพม่า ส่วนครั้งที่สองเกิดขึ้นบนเส้นทางจาก อ.บาหม่อไปมิตจีนา เบื้องต้นยังไม่มีรายความเสียหายจากระเบิดครั้งนี

ขณะนี้มีผู้ลี้ภัยกว่า 1,300 คน อาศัยอยู่ใน 5 ค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองไลซา สำนักงานใหญ่ของ KIA ซึ่งใกล้กับชายแดนจีน ส่วนผู้ลี้ภัยอีกราว 800 คน ได้อาศัยอยู่ในวัดและในโรงเรียนคริสเตียน ในเขตชุมชนไวหม่อ เมืองมิตจีนา นอกจากนี้ผู้ลี้ภัยอีก 5 พันคนขณะนี้อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในหมู่บ้านลายิง ในฝั่งประเทศจีน

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ผู้ลี้ภัยบางส่วนได้หลบซ่อนตัวอยู่ในป่าใกล้ชายแดนจีน และขณะนี้กำลังเผชิญกับโรคท้องร่วงและมาเลเรีย และยังต้องเผชิญกับฝนที่ตกหนักเนื่องจากไม่มีที่พักใช้หลบฝน

ส่วนสถานการณ์ล่าสุด KIA ได้ทำลายสะพานกว่า 25 แห่งแล้ว และได้ใช้ระเบิดมือโจมตีสถานีตำรวจพม่าในเขตเมียวม่า เมืองผากั้น และสถานีตำรวจในหมู่บ้านโลนขิ่น ส่วนเหตุระเบิด 2 ครั้งในเมืองมิตจีนาเมื่อคืนวันอังคาร (21 มิถุนายน) ที่ผ่าน KIA ออกมายอมรับแล้วว่าเป็นฝีมือของตน แต่ระบุไม่มีแผนที่จะโจมตีประชาชน ขณะที่ทหารพม่าได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดในเมืองมิตจีนา

แปลและเรียบเรียงจาก KNG /Mizzima 23 มิถุนายน 54

 

หมายเหตุ: สามารถบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่นได้ที่ องค์กร Kachin Center ชื่อบัญชี RENU TUNGPAO เลขที่บัญชี 675-007649-6 ธนาคารกรุงเทพ สาขาตลาดรวมโชค เชียงใหม่ สอบถามโทร 081 -0310230, 080 -6765383

 
แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสียงร่ำไห้จากหลุมศพ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา

Posted: 23 Jun 2011 03:07 AM PDT

ชื่อเดิม : A Cry from the Grave เสียงร่ำไห้จากหลุมศพ
เผยแพร่ครั้งแรกใน Facebook

 

เมื่อวานไปดูภาพยนตร์ที่ทางสถาบันศาสนาและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพจัดฉายเรื่อง A Cry from the Grave เกี่ยวกับการสังหารหมู่ครั้งใหญ่สุดในยุโรปนับแต่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีผู้นำการสนทนาคือคุณ Igor Blazevic ซึ่งเกิดขึ้นประเทศบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา และปัจจุบันทำงานเป็นนักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน

เป็นภาพยนตร์ที่ดูแล้วหมดแรงกับความป่าเถื่อนโหดร้ายที่มนุษย์จะสามารถกระทำได้ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง

บอสเนียเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลางระหว่างสามรัฐที่มีปัญหาต่อกันคือโครเอเชียกับเซอร์เบีย บอสเนียจึงเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนามาก คงเพราะว่าอยู่ตรงกลางนั่นเอง ในความเห็นของคุณอิกอร์ เหตุที่ทั้งสามรัฐไม่เคยมีปัญหาต่อกันในแง่ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนา คงเป็นเพราะสมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวียภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ของนายพลเผด็จการติโต้ (ที่คนไทยคนหนึ่งชื่นชอบและแปลหนังสือเผยแพร่) ศาสนาไม่เคยเป็นประเด็นแห่งความขัดแย้ง

ความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์และศาสนาจึงเริ่มขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ที่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกเริ่มประกาศตนเป็นอิสระ ในฝ่ายของประชาชนชาวบอสเนียเชื้อสายเซิร์บ ซึ่งเป็นชาวคริสต์ก็มีความพยายามสถาปนาอาณาจักรของตนเอง ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือเมืองเซเบรนิกา (Srebrenica) ซึ่งเดิมอยู่ในเขตของบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาติดกับพรมแดนของประเทศเซอร์เบียพอดี เมืองแห่งนี้เคยเลื่องชื่อเรื่องการเป็นเมืองอาบน้ำแร่แช่น้ำร้อน เป็นสปาแห่งการท่องเที่ยวที่สำคัญในยุโรป สืบเนื่องจากทิวทัศน์ทางธรรมชาติอันเป็นช่องเขาที่สวยงาม และแหล่งบำบัดตามธรรมชาติอื่น ๆ

ใครจะรู้บ้างว่าภายในเวลาเพียงสิบวัน สงคราม ความทะยานอยากที่จะประกาศเชื้อชาติตนและศาสนาตนว่าเหนือเชื้อชาติและศาสนาอื่น จะเป็นชนวนเหตุให้ผู้คนเกือบทั้งเมืองเสียชีวิต เป็นการเสียชีวิตอย่างเลือดเย็น ในขณะที่กลไกสหประชาชาติและประชาคมนานาชาติต่างนิ่งเฉยปล่อยให้การสังหารล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเอาโทษต่อผู้กระทำผิดได้ทั้งหมด

ประชากรส่วนใหญ่ในเมืองเซเบรนิกาเป็นชาวมุสลิม ในช่วงก่อนหน้าการสังหารหมู่ในเดือนกรกฎาคม 2538 มีความพยายามจากนานาชาติที่จะคุ้มครองชีวิตประชาชนในเมืองนี้อยู่บ้าง โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้พื้นที่แห่งนี้เป็น “พื้นที่คุ้มครอง” (Safe Area) และต่อมามีการส่งทหารของยูเอ็นเข้ามาประจำการ ภาพยนตร์เรื่องนี้เสนอภาพฟุตเทจหลายส่วนที่ไม่เคยมีการเผยแพร่มาก่อน ภาพของนายพลชาวเนเธอร์แลนด์พร้อมกองทัพยูเอ็นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยทหารจากเนเธอร์แลนด์ยาตราเข้ามาในเมือง ท่ามกลางเสียงโห่ร้องของประชาชน กลายเป็นความหวังว่าชีวิตของพวกเขาคงได้รับความปลอดภัย

แต่อนิจจา ความหวังของพวกเขาเป็นเพียงความฝันลมๆ แล้งๆ เพราะเมื่อกองทัพของชาวบอสเนียเชื้อสายเซิร์บที่นำโดยนายพลรัตโก มลาดิช (Ratko Mladić) ได้เคลื่อนเข้ามาตีเมืองเซเบรนิกา ทหารยูเอ็นได้แต่งอมืองอเท้า แม้จะมีการส่งข่าวเพื่อขอความช่วยเหลือให้ทางกองทัพยูเอ็นที่กรุงซาราเจโวส่งเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดใส่กองทัพของนายพลมลาดิชก็ไม่เป็นผล สิ่งที่องค์การสหประชาชาติทำ แทนที่จะเร่งให้ความช่วยเหลือคุ้มครองประชาชน กลับพยายามเอาตัวรอดและปกปิดข่าวการสังหารหมู่เหล่านี้

วันที่ 11 กรกฎาคม 2538 กองทัพของนายพลมลาดิชที่กรีฑาเข้าสู่เมืองเซเบรนิกา เมื่อพบว่าประชาชนในเมืองหลบหนีไปอยู่ในค่ายทหารของยูเอ็นแล้ว ก็ได้ตามไปข่มขู่ให้ผู้บัญชาการทหารยูเอ็นยอมมอบอาวุธ และขับไล่ประชาชนเหล่านี้ออกจากค่ายทหารของยูเอ็น เพื่อแลกกับสวัสดิภาพของตนเอง น่าเสียใจที่กองทหารยูเอ็นซึ่งควรทำหน้าที่ปกป้องประชาชน กลับทำตามคำสั่งของนายพลมลาดิช มีการส่งมอบอาวุธยุทธภัณฑ์ให้ และขับไล่ประชาชนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นออกไป

สิ่งที่ทำให้สะท้อนใจถึงความป่าเถื่อนโหดร้ายที่เพื่อนมนุษย์กระทำต่อกันก็คือ อันที่จริงแล้วทหารบอสเนียเชื้อสายเซิร์บเหล่านี้ รวมทั้งตัวนายพลมลาดิชเองก็เป็นชาวบอสเนียเหมือนกับคนที่เขากำลังจะฆ่า ประชากรกลุ่มเหล่านี้แม้จะมีเชื้อชาติและศาสนาต่างกัน แต่ก็มีภาษาพูดที่คล้ายคลึงกันมาก สื่อสารกันรู้เรื่อง ในช่วงเย็นวันที่ 11 กรกฎาคม 2538 ที่นายพลมลาดิซกับทหารของเขาไปที่ค่ายทหารยูเอ็นนั้น เขายังได้พูดปลอบใจชาวเมืองเซเบรนิกาว่า ทุกคนจะปลอดภัย “ไม่มีใครคุ้มครองคุณได้ นอกจากมลาดิช” เขากล่าวกับชาวเมืองเหล่านั้นพร้อมกับโยนแท่งช็อกโกแลตหลายแท่งให้กับเด็ก ๆ จึงเป็นเรื่องออกจะเหลือเชื่อที่ในอีกไม่เกินสิบวันต่อมา ตัวเขาจะเป็นผู้สั่งการให้ทหารบอสเนียเชื้อสายเซิร์บสังหารพลเมือง ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เป็นประชาชนร่วมชาติเป็นจำนวนมากขนาดนี้

วันต่อมาจึงเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการสังหารหมู่อย่างแท้จริง มีการแยกผู้หญิงและเด็กผู้หญิงออกไป จัดส่งขึ้นรถบัสไปยังเขตของชาวมุสลิม ส่วนผู้ชายและเด็กผู้ชายอายุ 12 ขวบขึ้นมาถูกกวาดต้อนไปกักขังตามโรงเรียนร้างบ้าง โรงงานร้างบ้าง และมีการรุมสังหารหมู่อย่างทารุณ ทั้งการยิงทิ้งและโยนระเบิดใส่

เพียงชั่วเวลาแค่สิบวัน มีผู้เสียชีวิตจากน้ำมือของกองทัพบอสเนียเชื้อสายเซิร์บมากถึงเกือบ 8,000 คน ที่โหดร้ายกว่านั้นคือ ในเวลาต่อมามีการขุดหลุมฝังศพเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ ตัดแยกอวัยวะส่วนต่าง ๆ และนำไปกลบฝังยังพื้นที่ที่แตกต่างกันกว่า 70 แห่ง ทั้งนี้เพราะผู้กระทำความผิดต้องการป้องกันไม่ให้มีการขุดเอาหลักฐานเหล่านี้ขึ้นมาใช้เพื่อเอาผิดทางอาญากับตนได้ง่าย ๆ จนถึงปัจจุบันแม้จะมีความพยายามจากนานาชาติเพื่อพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลของซากศพเหล่านี้ แต่ที่ผ่านมาก็คืบหน้าไปช้ามาก มีการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลได้ไม่ถึง 100 คน เหตุก็เพราะมีการพยายามทำลายหลักฐานดังที่กล่าวถึง

คุณอิกอร์ให้ความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับที่มาของความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์และศาสนา ซึ่งอันที่จริงแล้วนำไปสู่การสูญเสียชีวิตของเพื่อนมนุษย์ในรัฐเหล่านี้มากกว่านี้อีกมาก เพียงแต่เหตุการณ์ที่เซเบรนิกาถือว่าเป็นการสังหารประชาชนจำนวนมากสุดในช่วงเวลาอันสั้น เขาบอกว่าเดิมคนเชื้อสายต่าง ๆ ในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาก็อยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีหมู่บ้านชาวมุสลิมแทรกกับชาวคริสต์ในหลาย ๆ พื้นที่ ไม่เหมือนพื้นที่ในโครเอเชียหรือเซอร์เบียที่ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์อย่างชัดเจน ความพยายามสังหารเพื่อล้างเผ่าพันธุ์ (Ethnic Cleansing) เริ่มต้นจากนายพลมิโลเชวิซ (Slobodan Milošević) ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐสังคมนิยมเซอร์เบียและผู้นำกองทัพเซอร์เบียที่ต้องการประกาศศักดาของเชื้อชาติและศาสนาตน

วิธีการที่ทหารเซอร์เบียใช้เป็นวิธีที่ฝรั่งเรียกว่า “Hit and Run” หรือตีหัวแล้วเข้าบ้าน กล่าวคือกองทัพเซอร์เบียจะเข้าไปโจมตีทำร้ายหมู่บ้านชาวมุสลิมอย่างทารุณโหดร้าย จากนั้นก็จากไป ฝ่ายหมู่บ้านชาวมุสลิมที่ถูกกระทำก็หันไปสงสัยเพื่อนบ้านในหมู่บ้านข้างเคียงที่เป็นชาวคริสต์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ในขณะที่ฝ่ายเซอร์เบียก็ติดอาวุธให้กับหมู่บ้านที่เป็นชาวบอสเนียเชื้อสายเซิร์บเหล่านี้ สงครามระหว่างศาสนาจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยกลยุทธทางทหารเช่นนี้ เช่นเดียวกับสื่อมวลชนต่าง ๆ ก็กระพือฮือโหมความเกลียดชังด้านชาติพันธุ์และศาสนาจนลุกลามบานปลาย

ปัจจุบันทางรัฐบาลเซอร์เบียได้ยอมส่งมอบตัวนายพลมลาดิชให้กับทางศาลอาญาระหว่างประเทศแล้ว ภายหลังหลบลี้หนีหน้าไปถึง 16 ปี แน่นอนว่าเขาปฏิเสธข้อกล่าวหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงครามอย่างสิ้นเชิง แต่ที่เซอร์เบียยอมส่งมอบตัวนายพลผู้โหดเหี้ยมคนนี้ให้ ก็ไม่ใช่เพราะสำนึกผิด แต่เป็นเพราะต้องการใช้เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่จะได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปนั่นเอง

ส่วนหญิงชาวบอสเนียอีกหลายพันคนก็ต้องเป็นหม้ายเพราะสูญเสียสามีไป หลายคนต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปเกือบทั้งหมด นอกจากจะต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ (เพราะปัจจุบันเซเบรนิกาถูกผนวกกลายเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐสังคมนิยมเซอร์เบียไปแล้ว) หลายคนยังทำใจไม่ได้ว่าคนที่ตนรัก อาจไม่มีวันกลับมาหาพวกเธอได้อีก

  

หมายเหตุ ดูหนังเรื่องนี้ได้จาก http://www.youtube.com/watch?v=X-DUsQyklUM

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"สนธิ ลิ้มทองกุล" สอน ปชป. ปราศรัยที่ราชประสงค์เป็นการยั่วยุ-ไม่ควรทำ

Posted: 23 Jun 2011 02:55 AM PDT

ชี้ "สุเทพ" ไม่ต้องชี้แจงแล้ว เพราะผลการกระทำเกิดขึ้นว่าได้มีการชุมนุม เผาบ้านเผาเมืองจริง ถามก่อนที่จะมีการดำเนินการไปสู่ความรุนแรง ทำไมอภิสิทธิ์ถึงไม่ใช้อำนาจและจัดการให้เด็ดขาด ซึ่งยิ่งแก้ข้อกล่าวหาเท่าไร ก็ยิ่งเห็นความอ่อนแอของนายอภิสิทธิ์ แนะพรรคการเมืองไม่ควรใช้สถานที่สัญลักษณ์ความขัดแย้ง ราชประสงค์นี่ไม่ควร จะไปหาเสียงที่อื่นก็ไปหาเถอะ

สนธิขึ้นศาลคดีวิทยุการบินฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหาย ยันไม่ได้แทรกแซงการบิน

เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์สืบพยานจำเลยครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 6412/2552 ที่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กับพวกรวม 15 คน เป็นจำเลยในความเรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 103,483,142 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากกรณีที่แกนนำพันธมิตรฯ และกลุ่มชุมนุม ร่วมกันชุมนุมที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และสุวรรณภูมิ เมื่อเดือน พ.ย.51

โดยวันนี้ นายสนธิ ลิ้มทองกุล และนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ จำเลยร่วมคดีนี้ ขึ้นเบิกความเป็นพยานสองปากแรก ซึ่งนายสนธิเบิกความยืนยันว่า การดำเนินการใดๆ ของกลุ่มพันธมิตรฯ จะถามความเห็นจากประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมก่อนทุกครั้ง และจะดำเนินการตามที่ประชาชนเสนอมา ซึ่งการเดินทางไปสนามบินก็เพื่อกดดันรัฐบาล ขณะที่ตนเคยเดินทางไปสนามบินดอนเมืองเพียงครั้งเดียวเพื่อไปตรวจสอบความเรียบร้อยเนื่องจากมีคนร้ายใช้อาวุธลอบทำร้ายประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นฝีมือใคร ทราบเพียงแต่มีผู้เสียชีวิต โดยระหว่างที่กลุ่มพันธมิตรฯ ชุมนุมยังพบว่ามีเครื่องบินที่สามารถบินขึ้น-ลงได้ โดยการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงเกี่ยวกับการบิน เพราะผู้ชุมนุมรวมตัวกันอยู่บริเวณ “แลนด์ไซด์” ซึ่งเป็นจุดเดียวกับที่กลุ่มแท็กซี่เคยชุมนุม และกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้เข้าไปที่บริเวณ “แอร์ไซด์”

 

"สนธิ" สอนประชาธิปัตย์ ปราศรัยที่ราชประสงค์เป็นการยั่วยุ และไม่ควรทำ

ภายหลัง นายสนธิแกนนำพันธมิตรฯ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมืองว่า หากพรรคประชาธิปัตย์จะปราศรัยก็น่าจะหาสถานที่อื่นที่ไม่ใช่สี่แยกราชประสงค์ ส่วนที่บอกว่าจะไม่กีดขวางจราจรนั้น เมื่อเป็นพรรคการเมืองไม่ได้เป็นภาคประชาชนก็ควรไปใช้สนามหลวง เรื่องนี้ประเด็นอยู่ตรงที่ทำไมต้องใช้สถานที่บริเวณราชประสงค์ การกระทำเช่นนี้น่าจะกลายเป็นการยั่วยุมากกว่าซึ่งตนไม่เห็นด้วย และไม่ควรทำอย่างยิ่ง และเหตุผลที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อ้างว่าใช้สถานที่เพื่อจะชี้แจงข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น เรื่องนี้ไม่ต้องชี้แจงแล้ว เพราะผลการกระทำเกิดขึ้นว่าได้มีการชุมนุม เผาบ้านเผาเมืองจริง

 

ก่อนจะเกิดเรื่องรุนแรง ทำไมอภิสิทธิ์ไม่จัดการให้เด็ดขาด ยิ่งแก้ตัวยิ่งสะท้อนความอ่อนแอ

“คำถามมีอยู่ว่า ก่อนที่จะมีการดำเนินการไปสู่ความรุนแรง ทำไมนายอภิสิทธิ์ถึงไม่ใช้อำนาจและจัดการให้เด็ดขาด ซึ่งยิ่งแก้ข้อกล่าวหาเท่าไร ก็ยิ่งเห็นความอ่อนแอของนายอภิสิทธิ์ ไม่ว่าจะพรรคการเมืองใด ก็ไม่ควรใช้สถานที่นี้ ไม่ถูกต้อง พรรคการเมืองไม่ควรใช้สถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ความขัดแย้ง ราชประสงค์นี่ไม่ควร จะไปหาเสียงที่อื่นก็ไปหาเถอะไม่เป็นไร” นายสนธิระบุ

สำหรับ พล.ต.จำลอง กับพวกซึ่งเป็นแกนนำ พธม.รุ่น 1 และ 2 นั้น ก็ถูกบริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ยื่นฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำที่ 6453 /2551 เรียกค่าเสียหายเช่นกัน ซึ่งศาลแพ่ง มีคำพิพากษาแล้วเมื่อวันที่ 25 มี.ค.54 ให้ชดใช้เงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.51 จนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น