โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์

TCIJ: ชาวอุบลฯ พบผู้ว่าฯ ค้านเปิดช่องเอกชนขนเครื่องจักรสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล

Posted: 21 Jul 2011 02:36 PM PDT

แฉ บ.บัวสมหมายหวังเดินหน้าโครงการต่อ ขุดบ่อน้ำขนาดยักษ์ 15 ไร่ ทำชาวบ้านขาดแคลนน้ำใต้ดิน ข้าวนาปรังเสียหาย ร้องผู้ว่าฯ ส่งคนลงสอบความเดือดร้อน ด้าน อก.จังหวัดชี้ ครม.มีมติระงับก่อสร้าง การขนเครื่องจักรเข้าพื้นที่ต้องยื่นเรื่อง

 
 
 
สืบเนื่องจากกรณีที่ชาวบ้านใน ต.ท่าช้าง และต.บุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ได้รวมตัวกันคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทบัวสมหมายไบโอแมส จำกัดซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 17 บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง มาตั้งแต่ปี 2551 เนื่องจากมีการทำประชาคมที่ไม่โปร่งใส และกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน
 
วานนี้ (21 ก.ค.2554) เวลา 10.00 น.ชาวบ้านหมู่ที่ 3 บ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 12 บ้านคำนกเปล้า หมู่ที่ 17 บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง หมู่ที่ 9 บ้านโนนเจริญ และหมู่ที่ 11 บ้านหนองเลิงนา ต.บุ่งมะแลง รวมกว่า 20 คน เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อคัดค้านการขออนุญาตขนย้ายเครื่องอุปกรณ์การก่อสร้างและเครื่องจักรเข้าพื้นที่ของบริษัทบัวสมหมายฯ โดยชาวบ้านได้ถือป้ายข้อความว่า หยุดโรงไฟฟ้า คืนน้ำให้ชุมชน คืนชีวิตให้คน เพื่อบอกเล่าถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น
 
นางทองคับ มาดาสิทธิ์ แกนนำชาวบ้านให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ได้รับการบอกเล่าจากองค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้างว่า บริษัทบัวสมหมาย ได้ยื่นขออนุญาตนำเครื่องอุปกรณ์การก่อสร้างและเครื่องจักรเข้าพื้นที่โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ แต่ทาง อบต.ท่าช้างได้แจ้งแก่ตัวแทนบริษัทฯ ว่าอำนาจการให้อนุญาตอยู่ที่จังหวัด และขอให้บริษัทฯ ยื่นขอต่อจังหวัดอุบลราชธานี ดังนั้นชาวบ้านจึงได้เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดเพื่อคัดค้านไม่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ อนุญาตให้บริษัทขนเครื่องจักรเข้าไปในพื้นที่ เนื่องจากตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบและหาแนวทางแก้ไขโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใด
 
นางทองคับกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันทางบริษัทได้พยายามเดินหน้าโครงการต่อ ด้วยการปรับพื้นที่และทำการขุดสระน้ำขนาดใหญ่เนื้อที่กว่า 15 ไร่ มีความลึกกว่า 20 เมตร ทำให้ชาวบ้านต้องประสบปัญหาน้ำไม่พอใช้ในการทำข้าวนาปรัง จนผลผลิตที่ได้ลดลงจากปีที่แล้วเป็นจำนวนมาก เกิดการแย่งชิงน้ำในการทำนา เนื่องจากน้ำใต้ดินที่ชาวบ้านใช้ไหลไปรวมที่บ่อน้ำของบริษัท ทำให้หนองธรรมชาติ และบ่อน้ำของชาวบ้านที่ขุดไว้เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคมีปริมาณน้ำลดน้อยลงมาก ทั้งที่ดูจากสถิตปริมาณน้ำฝนแล้วพบว่า ปีนี้มีฝนตกมากกว่าปีที่แล้ว แต่น้ำในหนองและบ่อของชาวบ้านกลับมีน้ำน้อยมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่บ่อน้ำของบริษัทมีน้ำอยู่เต็มบ่อ
 
อีกทั้งช่วงที่ฝนตกหนักยังทำให้ดินที่บริษัทถมที่ไหลลงไปที่นาของชาวบ้าน และไหลลงหนองน้ำธรรมชาติที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ ซึ่งทางชาวบ้านก็ได้เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ว่าชาวบ้านเดือดร้อนอย่างไรบ้าง
 
หลังจากชาวบ้านรอหน้าศาลากลางประมาณ 30 นาที นายประวัติ รัฐิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงมาสอบถามชาวบ้าน และเมื่อทราบวัตถุประสงค์ของชาวบ้านแล้วจึงได้ประสานให้นายสมชาย เสงี่ยมศักดิ์ อุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี มาร่วมพูดคุยกับชาวบ้าน
 
นายสมชายได้กล่าวกับชาวบ้านว่า ตอนนี้บริษัทบัวสมหมายฯ ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ เนื่องจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ระงับและยุติการก่อสร้างเอาไว้ก่อน ส่วนการขนย้ายเครื่องจักรเข้าในพื้นที่นั้น ทาง อบต.ต้องส่งหนังสือมาที่จังหวัดเพื่อนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งจะขอความคิดเห็นของอุตสาหกรรมจังหวัดประกอบการตัดสินใจ
 
ชาวบ้านได้ร้องขอทราบข้อมูลต่อมาว่าทาง อบต.ท่าช้าง ได้ส่งเรื่องดังกล่าวเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วหรือยัง ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ยืนยันว่าตอนนี้ทางจังหวัดยังไม่ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด และจะพิจารณาเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนประกอบการตัดสินใจอย่างแน่นอน
 
ด้านนางศิริภัสร สิทธิสา แกนนำชาวบ้านกล่าวว่า เมื่อรู้ว่าบริษัทบัวสมหมายฯ ยังไม่สามารถขนเครื่องจักรเข้าในพื้นที่ได้ก็รู้สึกสบายใจขึ้น อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็ยังคงต้องติดตามการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป และหากเป็นไปได้ตนก็อยากให้หน่วยงานมีอำนาจในการอนุมัติเดินทางลงไปตรวจสอบความจริงที่ว่าชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เพื่อที่จะได้ยกเลิกการอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัทบัวสมหมายฯ
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผลสำรวจระบุลูกจ้างสหรัฐฯ ยอมถูกลดเงินเดือนแลกกับการทำงานที่บ้าน

Posted: 21 Jul 2011 02:09 PM PDT

18 ก.ค. 2011 เว็บไซต์ Business News Daily นำเสนอผลการสำรวจเรื่องการรับงานไปทำที่บ้านในสหรัฐฯ ด้วยข้อสรุปว่า การทำงานทางไกลจากที่บ้าน (Telecommuting) อาจจะเป็นสิ่งที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย 

Business News Daily ระบุว่า มีลูกจ้างชาวสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งที่ต้องการอิสรภาพและสวัสดิการที่พึงได้จากการทำงานที่บ้าน ขณะที่ฝ่ายนายจ้างก็สามารถประหยัดค่าเช่าสำนักงานและอาจรวมถึงเงินเดือนส่วนหนึ่งด้วย

จากผลสำรวจโดย Staples Advantage บริษัทขายเครื่องสำนักงานออฟฟิศพบว่า ร้อยละ 40 ของลูกจ้างยอมให้มีการตัดค่าจ้างเพื่อที่จะได้ทำงานที่บ้าน โดยร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสำรวจยอมให้หักเงินเดือนระหว่างร้อยละ 2 ถึงร้อยละ 5 ต่อเดือน ขณะที่ผู้ตอบแบบสำรวจอีกร้อยละ 20 รายยอมให้หักเงินเดือนถึงร้อยละ 10 ผลสำรวจยังได้ระบุอีกว่า พวกเขายอมยกเลิกดูรายการโทรทัศน์รายการโปรด (ร้อยละ 54) ลดเวลานอน (ร้อยละ 48) หรือยอมเลิกทานอาหารจานโปรด (ร้อยละ 40) แทนการถูกสั่งให้เลิกทำงานที่บ้าน

ผลสำรวจบอกอีกว่า ร้อยละ 86 ของผู้ทำงานที่บ้านบอกว่าพวกเขารู้สึกดีกว่าและสร้างผลผลิตได้มากกว่าเมื่อได้ทำงานที่บ้าน

สิ่งต่อไปนี้คือความคิดเห็นจากผู้ทำงานที่บ้าน

- พวกเขารู้สึกว่ามีความสุขและมีสุขภาวะที่ดีกว่า เมื่อถูกซักถามให้เปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย ผู้ทำงานที่บ้านบอกว่าระดับความเครียดของพวกเขาลดลงร้อยละ 25 โดยเฉลี่ย และความสุขโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ตั้งแต่ที่ทำงานที่บ้าน มีร้อยละ 73 ถึงขั้นบอกว่าพวกเขาทานอาหารอย่างถูกสุขลักษณะมากขึ้นเมื่อได้ทำงานที่บ้าน

- ซื่อสัตย์มากขึ้น ก่อนหน้าที่พวกเขาต้องทำงานที่บ้าน ผู้ตอบแบบสำรวจเหล่านี้ต้องเดินทางไปกลับที่ทำงานโดยเฉลี่ยระยะทาง 77 ไมล์ ร้อยละ 76 ของผู้ทำงานที่บ้านบอกว่า พวกเขารู้สึกได้ให้เวลากับงานมากขึ้น และบอกว่ารู้สึกซื่อสัตย์ต่อบริษัทมากขึ้นตั้งแต่ได้ทำงานที่บ้าน

- บริหารเวลาได้สมดุลกว่า มากกว่าร้อยละ 80 บอกว่าในตอนนี้พวกเขาจัดสรรเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวได้สมดุลมากขึ้น

Business News Daily เปิดเผยอีกว่า บริษัทที่อนุญาตให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านยังได้ประหยัดทั้งค่าเช่าสำนักงานและเงินเดือนด้วย คนทำงานที่บ้านกล่าวในหารสำรวจว่าพวกเขาสรรหาเผอร์นิเจอรืทำงาน (ร้อยละ 87)และเครื่องใช้สำนักงาน (ร้อยละ 60) และพัสดุอุปกรณ์ (ร้อยละ 57) ด้วยตัวเอง

เทรนด์ดังกล่าวนี้เป็นไปในทางเดียวกับการวิจัยของฟอร์เรสเตอร์ที่ทำนายว่าในปี 2016 ร้อยละ 43 ของแรงงานสหรัฐฯ จะกลายเป้นผุ้ทำงานที่บ้าน

ที่มา
Employees Willing to Cut Pay to Work from Home, 18-07-2011, Business News Daily
http://www.businessnewsdaily.com/telecommuting-saving-businesses-money-1539/

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักรัฐศาสตร์ชี้ รบ.ยิ่งลักษณ์อยู่ได้นานสุด 1 ปี

Posted: 21 Jul 2011 02:01 PM PDT

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษา (ISIS) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “Post Election Thailand: Conflict or Compromise?” ว่าด้วยสถานการณ์การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง โดยนักวิชาการต่างมีข้อสรุปคล้ายกันว่า รัฐบาลชุดใหม่ น่าจะต้องเผชิญกับสัญญาณความขัดแย้งที่ยังคงมีมาอีกเป็นระยะ พร้อมทั้งฝากข้อเสนอแก่ชนชั้นนำ พรรคการเมือง รวมถึงสังคมบางประการ เพื่อให้สร้างความประนีประนอมให้เกิดขึ้นได้ในการเมืองไทย

 
“ฐิตินันท์” ชี้ ความกดดันอาจบีบให้รบ. ยิ่งลักษณ์อยู่ได้ 6 เดือน – 1 ปี
รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันความมั่นคงและนานาชาติศึกษา วิเคราะห์แนวโน้มการเมืองไทยหลังเลือกตั้งว่า ถึงแม้ว่าผลการเลือกตั้งจะแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ชัยชนะของพรรคเพื่อไทย เป็นอาณัติจากประชาชนที่ชัดเจนแต่รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ไม่นาน เนื่องจากจะเผชิญแรงกดดันและการท้าทายจากหลายฝ่าย ซึ่งอาจทำให้เธออยู่ได้เพียง 6 เดือน ถึง 1 ปีเท่านั้น และมองว่าแรงกดดันที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการที่ฝ่ายที่แพ้การเลือกตั้ง ไม่ยอมรับผลที่ออกมา มิฉะนั้นสัญญาณเหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น พร้อมทั้งตั้งคำถามด้วยว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งที่ผ่านมา จะมีสัญญาณที่ท้าทายจากฝ่ายต่างๆ มากเท่ากับพรรคเพื่อไทยหรือไม่
 
“หากการเลือกตั้งในประเทศอื่น มีพรรคที่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ชัดเจนขนาดนี้ พรรคนั้นก็คงจะขึ้นมามีอำนาจอย่างชัดเจนไปแล้ว หากแต่ในประเทศไทย อาณัติที่เพื่อไทยได้รับมากลับค่อยๆ หมดลงไปเสียแล้ว” ฐิตินันท์ตั้งข้อสังเกต
 
“ประชาธิปัตย์” ต้องหัดเอาชนะทางการเมืองให้ได้โดยไม่หวังพึ่งผู้อยู่เบื้องหลัง
นอกจากนี้ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ยังได้ถอดบทเรียนถึงความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า ถึงแม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์มีเงื่อนไขที่เอื้อให้กับการเอาชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้หลายอย่าง เช่น การแก้กฎหมายเลือกตั้ง แต่ก็ยังทิ้งห่างพรรคเพื่อไทยอย่างขาดลอย พรรคประชาธิปัตย์จึงจำเป็นต้องกลับไปทบทวนว่าข้อผิดพลาดคืออะไร และพยายามแข่งขันทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทยให้ได้ โดยที่ใช้วิธีที่ใสสะอาดและปราศจากการแทรกแซงจากอำนาจนอกระบบรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพและสมดุลของการเมืองในระบบเลือกตั้ง
 
“พรรคประชาธิปัตย์ ควรใช้ประโยชน์จากความสามารถที่มีอยู่ให้มากที่สุดในการเอาชนะการเลือกตั้ง  และแข่งขันทางนโยบายกับพรรคเพื่อไทย โดยไม่หวังพึ่งความช่วยเหลือพิเศษจากนอกระบบ” ฐิตินันท์เสนอแนะ
 
ชนชั้นนำไทย จำเป็นต้องปรับตัวก่อนความขัดแย้งจะลุกลาม
ฐิตินันท์ ยังวิเคราะห์ความขัดแย้งในการเมืองไทยว่า มีที่มาจากขั้วระหว่างฝ่ายสถาบันกษัตริย์นิยม และฝ่ายนิยมประชาธิปไตย อันเป็นผลจากซากที่ตกค้างสมัยสงครามเย็น โดยเขาอธิบายว่า การดำรงอยู่ของฝ่ายอำนาจเก่าหรือฝ่ายที่นิยมสถาบันฯ ตั้งแต่ในทศวรรษที่ 20 ในแง่หนึ่ง นับว่าเป็นการรักษาไว้ซึ่งการพัฒนา ระเบียบความสัมพันธ์ และป้องกันประเทศจากภัยจากคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงทศวรรษที่ 21 การขึ้นมาของทักษิณ ก็ได้ท้าทายระเบียบอำนาจเก่า ที่ทำให้ชนชั้นนำเกรงกลัวว่าความสัมพันธ์ในระบบการเมืองอาจเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ต้องอาศัยการปรับตัวและการทำงานร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อการประนีประนอม และป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้นอีก
 
“พิชญ์” วิเคราะห์พลังประชาธิปไตยในสังคมไทยสี่แบบ
ทางด้านพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  ได้แบ่งประเภทพลังประชาธิปไตยในไทยออกเป็นสี่แบบ ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างแข่งขัน และช่วงชิงพื้นที่ทางการเมือง อันประกอบด้วย ประชาธิปไตยแบบไทย ซึ่งมีที่มาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ มีลักษณะเป็นชาตินิยม เน้นความมีเสถียรภาพ และศีลธรรมเชิงพุทธศาสนาเป็นตัวกำกับสังคม ประเภทที่สองคือ ประชาธิปไตยในระบบเลือกตั้ง ซึ่งมีจุดอ่อนตรงที่เน้นประโยชน์ระยะสั้นมากกว่าในระยะยาว และไม่สามารถรักษาความยั่งยืนได้เสมอไป นอกจากนี้ พิชญ์ยังกล่าวถึง ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมแบบชนชั้นกลาง โดยในส่วนนี้ จะไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เป็นฝ่ายที่นับว่ามีพลังและอำนาจมากกลุ่มหนึ่ง และมักมีทัศนคติว่า ประเทศไทยควรตัดสวัสดิการให้น้อยลง และเน้นการต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยคนเสื้อเหลืองและเสื้อหลากสี จัดอยู่ในพลังกลุ่มนี้ ส่วนประเภทสุดท้าย คือ ประชาธิปไตยแบบปฏิรูป ซึ่งประกอบด้วยเหล่าเอ็นจีโอ และภาคประชาสังคม ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่าประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง โดยพลังกลุ่มนี้ ประสบข้อกังขาในเรื่องความเป็นตัวแทน ความโปร่งใส และการตรวจสอบ
 
เสนอแนะ ต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกกลุ่มอยู่ร่วมกันได้ พร้อมปฏิรูปกองทัพ-ศาล
นักวิชาการประจำภาคปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้มีข้อเสนอสี่ประการต่อข้อท้าทายที่ดำรงอยู่ในการเมืองไทย โดยเน้นว่า หากจะให้พลังทางการเมืองกลุ่มต่างๆ เข้าสู่กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย(Democratization)  ร่วมกันได้ จำเป็นต้องมีพื้นที่ที่เปิดให้สำหรับทุกฝ่าย เช่น การทำให้การต่อต้านปัญหาคอร์รัปชั่น เป็นเรื่องที่จำเป็นทางการเมือง มิใช่โยงอยู่กับศีลธรรมอันดีเช่นที่เคยเป็นมา นอกจากนี้ ต้องทำให้ฝ่ายที่นิยมประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งเข้าใจด้วยว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ทุกอย่าง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้อย่างหมดสิ้น นอกจากนี้ ได้เสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ โดยไม่ใช่ให้เพียงทหารกลับกรมกองอย่างเดียว เช่นในสมัยพฤษภาคม 2535 แต่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปให้โปร่งใส และมีการสานเสวนาและความร่วมมือระหว่างฝ่ายประชาชน รวมถึงการค้นหาความจริงเพื่อสร้างความยุติธรรม และให้มีการปฏิรูปอำนาจศาลให้มีความเป็นธรรมทางการเมือง
 
 
 
 
 
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงานเสวนา: วิเคราะห์ผลเลือกตั้ง และแนวโน้มรัฐบาลใหม่

Posted: 21 Jul 2011 01:17 PM PDT

 

(20 ก.ค.54) ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนาโต๊ะกลม "วิเคราะห์ผลเลือกตั้ง และแนวโน้มรัฐบาลใหม่" ดำเนินรายการโดย สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา สะท้อนความต่อเนื่องของเทรนด์บางประการของระบบการเมืองและการเลือกตั้งไทย ตั้งแต่หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา โดยมีแนวโน้มมุ่งสู่ระบบสองพรรคการเมืองใหญ่อย่างชัดเจน แต่การแข่งขันระหว่างสองพรรคยังไม่สูสี ซึ่งหากต้องการสร้างเสถียรภาพให้การเมืองไทย จะต้องช่วยให้ ปชป.อยู่ในสภาพที่แข่งขันได้จริง โดยย้ำว่า การใช้วิธีพิเศษ เช่น รัฐประหาร ตุลาการภิวัตน์ จะไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกตั้งและความนิยมต่อพรรคการเมืองของคนไทยได้อีกแล้ว

นอกจากนี้ จากผลการเลือกตั้งที่ทั้งสองพรรคใหญ่มีคะแนนกระจุกตัวตามภูมิภาค ประจักษ์เสนอว่า ถ้าต้องการความชอบธรรมในการบริหารประเทศ จะต้องพยายามกระจายฐานเสียงของตัวเองให้กระจายทั้งประเทศด้วย

ต่อคำถามว่า หากประเทศไทยเดินเข้าสู่การมีสองพรรคใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่ความหลากหลายจะอยู่ตรงไหน ประจักษ์ตอบว่า ระบบสองพรรคนั้นจะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อสองพรรคไม่ได้เสนอนโยบายที่แตกต่างกันให้ประชาชนเลือก พร้อมเสนอว่า ปชป. ต้องมีแพคเกจนโยบายที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจาก พท. เช่นเดียวกับพรรคขนาดเล็กที่จะปรับตัวมาเป็นขั้วที่สามได้ก็ต่อเมื่อเสนอนโยบายทางเลือกที่สาม เช่น พรรคกรีนในยุโรปที่เสนอนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม หรือพรรคที่เสนอนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นสวัสดิการสังคม ไม่เช่นนั้น พรรคเหล่านี้จะลำบากมากขึ้นทุกทีๆ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเล็กไม่มีอะไรนอกจากกระแสและกระสุน

"เราไม่จำเป็นต้องมีพรรคมากมาย ถ้าไม่ได้มีความแตกต่างทางนโยบาย" ประจักษ์ทิ้งท้าย


เวียงรัฐ เนติโพธิ์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งข้อสังเกตจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า มีเรื่องกลับตาลปัตร 3 ประการ ได้แก่ 1) คนส่วนใหญ่ที่เลือก พท.ถูกวิจารณ์ว่าเป็นคนโง่ ขาดข้อมูลข่าวสาร จึงเลือกนโยบายที่ตอบสนองผลประโยชน์เฉพาะหน้า อย่างไรก็ตามดูจากนโยบายของสองพรรคพบว่า มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แจกด้วยกันทั้งคู่

เวียงรัฐมองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกเชิงอุดมการณ์ของขบวนการคนเสื้อแดง "ปรากฏการณ์ยิ่งลักษณ์" คล้ายกับปรากฏการณ์ของผู้นำชาตินิยมของในหลายประเทศ ที่อาจไม่ได้มีผลงานหรือยังไม่มี แต่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้บางอย่างที่คนรู้สึกว่าต่อสู้มาด้วยกัน แม้ว่ายิ่งลักษณ์จะไม่ได้เคยต่อสู้ด้วยก็ตาม โดยจากผลสำรวจ กรณีที่ยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้รับการรับรองโดย กกต. มีผู้ไม่พอใจ 70% สะท้อนว่า พวกเขาไม่ได้สนใจนโยบาย แต่สนใจ พท.ในฐานะสัญลักษณ์บางอย่างของการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมบางอย่างที่เขาต้องการ

2) คนสามสิบกว่าล้านคนลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ กกต.เพียงสามในห้า สามารถเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งได้ โดยเวียงรัฐวิจารณ์การตัดสินรับรองผลการเลือกตั้งของ กกต. ว่า ไม่ควรรับเรื่องร้องเรียนกรณีผัดหมี่ แคะขนมครกตั้งแต่แรก และมองว่าเรื่องนี้เป็นโจ๊กที่กลายเป็นเรื่องตลกระดับนานาชาติ นอกจากนี้การตัดสินโดยที่ไม่มีความรับผิดรับชอบ (accountability) ต่อสังคม แต่สามารถเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งได้ จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ทำให้กระบวนการของระบอบรัฐสภาอ่อนแอลง

3) เรามักตอบว่าคนเลือก พท.เพราะนโยบายตอบสนองคนจน แต่จะพบว่าคนที่ออกมาทักท้วง-วิจารณ์ก่อนว่าจะทำได้หรือไม่ได้ คือฝ่ายที่ไม่ได้เลือก พท. ขณะที่กลุ่มที่เลือก พท.จะกดดันให้มีการปฏิรูปสถาบันทางการเมือง รวมทั้งหาความจริงว่าใครเป็นผู้ยิง 92 ศพ ใครเผา


อนุสรณ์ ธรรมใจ
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการแก้ไขปัญหาประเทศตามวิถีทางประชาธิปไตย สอง สะท้อนว่า ต้องการสันติภาพ จะเห็นว่ามีพรรคการเมืองขนาดกลาง ขนาดเล็กบางพรรคเสนอประเด็นที่อาจก่อความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่จำเป็น ไม่ได้ความสนใจและไม่ได้รับการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ มองว่า กลุ่มคนที่มีรายได้น้อย และชนชั้นล่าง ที่ผ่านมาได้รับข้อมูลมากขึ้น มีการจัดตั้งเครือข่ายทางการเมืองที่เข้มแข็งขึ้น และมีวาระทางการเมืองของตัวเอง นักวิชาการบางส่วนวิจารณ์ว่าคนเหล่านี้โง่และซื้อได้ ดูเหมือนเนื้อเดียวกับ พท. แต่ไม่ใช่ เพราะคนเหล่านี้ใช้ พท. เพื่อผลักดันวาระทางการเมืองของตัวเอง

อนุสรณ์มองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นจุดสูงสุดของพรรคเพื่อไทย หลังจากนี้จะขาลง ถ้ารัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ หรือดำเนินการขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชน รวมถึงยังเป็นขาลงของอำมาตยาธิปไตย รัฐประหาร และตุลาการภิวัตน์ด้วย

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างสื่อไทย-สื่อต่างประเทศในการรายงานและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และสภาพสังคมไทยที่ผ่านมาว่า สื่อต่างประเทศให้ความสนใจกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของคนจนชนบทมากเป็นพิเศษ ขณะที่สื่อไทยเหมือนจะจูนไม่ติด หรือไม่สนใจที่จะทำความเข้าใจว่าคนชนบทซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศว่าเปลี่ยนไปอย่างไร โดยยกตัวอย่างว่า ก่อนการเลือกตั้ง 2-3 สัปดาห์ โทมัส ฟูลเลอร์ ผู้สื่อข่าว นสพ.อินเตอร์เนชั่นแนลทริบูน ลงพื้นที่ต่างจังหวัดของไทย เสนอรายละเอียดแบบที่สื่อไทยไม่สามารถเสนอได้ เช่น ควายกลายเป็นสัตว์ที่อ้วน เด็กรุ่นใหม่ทำนาไม่เป็น เข้าแต่ร้านอินเทอร์เน็ต ไม่อยากทำนา ภรรยาที่ต้องเอาไก่ที่เลี้ยงให้คนอื่นเชือด เพราะสามีซึ่งทำงานขับรถรับจ้างสงสารไก่ เชือดเองไม่ลง

เขาวิจารณ์ว่า สื่อกระแสหลักไทยเหมือนรถไฟฟ้าบีทีเอสที่มีไว้เพื่อชนชั้นกลาง โดยชนชั้นกลาง และสำหรับชนชั้นกลาง อยู่แต่ในโลกของตัวเอง และวันที่ 3 ก.ค. ต่างก็เกิดอาการเซอร์ไพร์สเมื่อทราบผลการเลือกตั้ง พร้อมตั้งคำถามว่าเช่นนี้แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร เมื่อสื่อเป็นเช่นนี้

ประวิตรวิจารณ์ว่า การที่สื่อเสนอแต่เพียงให้ปรองดองนั้นเป็นโจทย์ที่ผิด เนื่องจากเขามองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องสำคัญในสังคมประชาธิปไตย เพียงแต่ให้อยู่กันได้โดยที่ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญอีกก็พอ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เริ่มได้ที่สื่อ อย่างไรก็ตาม โครงสร้างสื่อกระแสหลักก็เป็นแบบบนลงล่าง ที่คนทำสื่อที่มีความเชื่อต่างสีกับผู้บริหารยากจะอยู่ได้ พร้อมยกปรากฏการณ์ที่ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ สื่อมวลชนในเครือมติชน บอกว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นเสาร์สุดท้ายที่จะได้ลงบทความในมติชน ซึ่งประวิตรตั้งคำถามว่า องค์กรสื่อจะต้องบังคับให้คนในองค์กรเห็นเหมือน บก. หรือไม่ ถ้าเช่นนั้น สังคมไทยจะไปต่อลำบาก

ประวิตรเสนอว่า สิ่งที่ท้าทายสำหรับสื่อและสังคมคือ การประคับประคองระบอบประชาธิปไตยให้ไปได้ก่อน โดยใช้ขันติและความอดทน การผลักดันทหารกลับกรมกอง และการตั้งคำถามกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งมีผลโดยตรงกับเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน พร้อมตั้งคำถามว่า ตอนนี้สื่อไทยแยกออกไหมว่า "จาบจ้วง" กับการพูดถึงนำเสนออย่างเท่าทัน มีเส้นแบ่งไหม หรือการประจบยกยออย่างไม่พอเพียงเท่านั้นที่รับได้

จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬา ซึ่งมาร่วมฟังการเสวนา ร่วมแสดงความเห็นโดยกล่าวถึงงานวิจัยในหัวข้อลักษณะเดียวกับประจักษ์ว่า พบว่า การตัดสินใจเลือกตั้งคราวนี้ของประชาชนไม่ต่างจากที่ผ่านมา โดยในอีสาน เหนือ ใต้ คะแนนที่ได้เสียงส่วนใหญ่เป็นคะแนนจัดตั้งทั้งหมด โดยมีหัวคะแนน ซึ่งไม่ได้อาจแจกเงินในช่วงเลือกตั้ง แต่ดูแลคนในเขตเลือกตั้งมาตลอด 3-4 ปี โดยเกือบทั้งหมดมีการใช้ระบบหัวคะแนนในการรักษาฐานเสียงของทั้งประเทศ ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้ที่ ดูได้ที่ http://www.tpd.in.th/

จรัส กล่าวเพิ่มเติมว่า คนแทบไม่สนใจว่าจะมีนโยบายอย่างไรแต่มีการคุมมาแล้ว ดังนั้น เมื่อถามถึงคุณภาพ ต้องบอกว่าคุณภาพต่ำพอๆ กับคราวที่ผ่านมา คนไม่ได้สนใจว่าจะเลือกอะไร ได้ข้อมูลด้านเดียวมาก ไม่ได้ตัดสินใจต่างไปจากเดิมเลย ดังนั้น ถ้าจะพัฒนาการเมืองของเรา ด้านการเลือกตั้ง จะต้องทำให้ข้อมูลไปถึงชาวบ้านจริงๆ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: พรรค ปชต.แรงงานเกาหลี “ยืนเดี่ยว” ปล่อย “สมยศ”

Posted: 21 Jul 2011 10:48 AM PDT

เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา องค์กรรณรงค์เพื่อเสื้อผ้าที่สะอาดปลอดการกดขี่ หรือ Clean Cloth Campaign (CCC) ส่งจดหมายเปิดผนึก พร้อมด้วยรายชื่อประชาชน 1,188 คนทั่วโลก ที่ได้จากการรวบรวมตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ถึงนาง​สาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกา เพื่อเรียกร้อ​งให้ปล่อยตัวหรือให้สิทธิกา​รได้รับการประกันตัวแก่สมยศ​ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานและสื่ออิสระ ซึ่งถูกจับกุมในข้อหาละเมิด​กฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 และปัจจุบันยังคงถูกคุมขังอ​ยู่ ณ เรือนจำพิเศษ

สำหรับ Clean Cloth Campaign (CCC) เป็นองค์กรที่ทำงานรณรงค์คุ้มครองการละเมิดแรงงาน ส่งเสริมการปรับปรุงสภาพการ​จ้างงานและหนุนช่วยการเสริม​สร้างศักยภาพของคนงานในอุตส​าหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าทั่วโ​ลก มีสำนักงานประจำอยู่ใน 15 ประเทศในยุโรปและทำงานกับเค​รือข่าย 250 องค์กรทั่วโลก

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา CCC ได้ส่งจดหมายถึงนาย David Lipman คณะผู้แทนจากสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยกรณีสมยศ พฤษาเกษมสุข ถูกจับและคุมขัง พร้อมเรียกร้องให้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนนายสมยศ และเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค นักกิจกรรมจากกว่า 10 เครือข่ายของ CCC ทั่วยูโรป จัดกิจกรรมหน้าสถานทูตไทย​เพื่อประท้วงการจับกุมคุมขั​งนายสมยศอย่างต่อเนื่อง (ดูเพิ่มเติม "สมยศ พฤกษาเกษมสุข")

นักกิจกรรมด้านแรงงานในเกาหลีใต้ยังคง “ยืนเดี่ยว” ประท้วง หน้าสถานทูตไทย ต่อเนื่อง
วันเดียวกันที่เกาหลีใต้ 2 นักกิจกรรมจากพรรคป​ระชาธิปไตยแรงงาน(Democratic Labour Party - DLP) "ยืนเดี่ยว" ประท้วงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ชั่วโมง หน้าสถานทูตไทย ประจำกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวหรือใ​ห้สิทธิในการได้รับการประกันตัว​แก่สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ พร้อมด้วยนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ

นักข่าวพลเมือง: พรรค ปชต.แรงงานเกาหลี “ยืนเดี่ยว” ปล่อย “สมยศ”

โดยในวันนี้มีตำรวจเกาหลีใต้ 2 นายมายืนในบริเวณดังกล่าวพร้อมโล่ปราบจลาจลด้วย แต่ไม่มีเหตุปะทะกันแต่อย่างใด

อนึ่ง กิจกรรมรูปแบบนี้เกิดขึ้นอ​ย่างต่อเนื่องในบริเวณดังกล่าวตั้งแต่ วันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนักกิจกรรม นักสหภาพแรงงานผลัดเปลี่ยนกันมา​ยืนประท้วง และจะดำเนินไปจนถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2554 นี้ (ดูเพิ่มเติม นักสหภาพแรงงานเกาหลี ‘ยืนเดี่ยว’ จี้ปล่อย ‘สมยศ’ ต่อ หลังหยุดเข้าพรรษา)

พรรคประชาธิปไตยแรงงาน (DLP) ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 โดยสมาพันธ์แรงงานเกาหลี หรือ KCTU (Korean Confederation of Trade Unions) ปัจจุบันมีสมาชิกพรรคกว่า 60,000 คน โดยในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2547 พรรคนี้มีถึง 10 ที่นั่งจาก 299 ที่นั่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่การเลือกตั้งในปี 2551 ลดเหลือ 5 ที่นั่ง โดยก่อนหน้านี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้เคยเข้าเยี่ยมผู้นำพรรคนี้​หลายครั้ง

AttachmentSize
Petition_Release_Somyot_July14-18-2011.pdf129.5 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

อภิรักษ์ โกษะโยธิน

Posted: 21 Jul 2011 10:39 AM PDT

เชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ดีที่ทำให้พรรคเกิดความเข้มแข็งมากขึ้น พร้อมสรุปบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ว่าเรื่องใดจะต้องปรับปรุงเพื่อให้พรรคกลับมาทำวานรับใช้ประชาชนได้ ส่วนจะใช้คำว่าปฏิรูปพรรคได้หรือไม่ก็ต้องขึ้นอยู่กับกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

อภิรักษ์เปิดตัวพร้อมเป็นเลขาฯ พรรคประชาธิปัตย์, 21 ก.ค. 2554

นักศึกษาประท้วงคณบดีศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่

Posted: 21 Jul 2011 10:19 AM PDT

นักศึกษา-อาจารย์ชุมนุมแห่โลงศพประท้วงคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เหตุคณบดีเตรียมยุบ 10 สาขาวิชาในคณะ ด้านรองอธิการบดีฯ จะนำเรื่องเข้าสภามหาวิทยาลัยเสาร์นี้

ที่มาของภาพ: เฟซบุคกลุ่มมั่นใจ ศึกษาศาสตร์ มช.ทุกเพศทุกวัย ไม่เอาคณบดี

ช่วงบ่ายวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประมาณ 200 คน รวมตัวกันที่อาคารกิจกรรมคณะศึกษาศาสตร์แล้วเดินขบวนแห่โลงศพ และถือพวงหรีดของสาขาวิชาต่างๆ ในคณะศึกษาศาสตร์ มาที่ตึกคณบดี มีการอ่านแถลงการณ์ และมีตัวแทนอาจารย์ และตัวแทนนักศึกษากล่าวเรียกร้องให้ รศ.ดร.นิ่มอนงค์ งามประภาสม คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ลาออกภายในวันที่ 22 ก.ค. จากนั้นจากนั้นก็เคลื่อนย้ายขบวนแห่ศพไปวนหอนาฬิกามหาวิทยาลัยเชียงใหม่สามรอบ

นักศึกษาที่ร่วมการประท้วงกล่าวว่า สาเหตุที่มีการชุมนุมเกิดจาก คณบดีจะสั่งยุบสาขาวิชาในคณะศึกษาศาสตร์จากเดิมที่มีอยู่ 15 สาขาวิชาจะยุบเหลือ 5 สาขาวิชา โดยจะปิดบางสาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาภาษาไทย อังกฤษ ศิลปะ ฝรั่งเศส คหกรรม เป็นต้น เพื่อให้ผ่านระบบเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการศึกษา โดยมีนักศึกษาเสียใจที่สาขาของตนจะถูกยุบ บางสาขาวิชาจึงถามคณบดีให้ชี้แจง โดยคณบดีให้เหตุผลว่าเพื่อให้บุคลากรครูอาจารย์มีเพียงพอต่อนักศึกษาปริญญาตรี แต่นักศึกษาก็ยังไม่พอใจเหตุผลของคณบดี

แหล่งข่าวในคณะศึกษาศาสตร์ ระบุว่า ก่อนหน้านี้ทางสภามหาวิทยาลัยรับทราบเรื่องในคณะศึกษาศาสตร์แล้ว และแต่งตั้งคณะกรรมการมาดำเนินการ โดยจะประเมินผลจนถึงปลายเดือนตุลาคม ขณะที่ฝ่ายต่อต้านคณบดีเห็นว่าปลายเดือนตุลาคมเป็นเวลานานเกินไป ควรชุมนุมเพื่อให้คณบดียุติบทบาท

ทั้งนี้ นพ.ศุภชัย เชื้อรัตนพงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมารับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มอาจารย์และนักศึกษา ได้ยืนยันว่าจะตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยจะนำเข้าที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเป็นวาระเร่งด่วนในวันเสาร์ 23 ก.ค.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

SIU: จากพุ่มพวง ดวงจันทร์ ถึง "คันหู" และปัญหาการมองวัฒนธรรมแบบไม่พลวัตร

Posted: 21 Jul 2011 10:16 AM PDT

“ตั้ง แต่ เป็นสาวเต็มกาย หา ผู้ชาย ถูก ใจ ไม่มี
เมื่อ คืน ฝันดี น่าตบ ฝันฝัน ว่าพบ ผู้ชาย ยอด ดี
พาไปเที่ยว ดู หนัง พาไปนั่ง จู๋ จี๋”

จากเนื้อเพลง “ผู้ชายในฝัน”ขับร้องโดย พุ่มพวง ดวงจันทร์

ภาพปกอัลบั้ม ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์

เพลงของพุ่มพวง ดวงจันทร์เพลงดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นเพลงเอกในการประกอบหนังชีวประวัติของ เธอในชื่อ “พุ่มพวง”ที่กำลังจะเข้าฉายในวันพฤหัสบดีนี้ โดยเนื้อร้องพูดถึงผู้หญิงที่มีความฝันว่าจะพบกับชายในฝันได้ขับกล่อมแฟนๆมา นานกว่า 20 ปี โดยเฉพาะท่อนที่อยู่ในความทรงจำของแฟนๆคือ “เสียบหล่นๆตั้ง 5 – 6 ที” กลายเป็นอะไรที่ชวนตีความได้หลากหลาย และกลายเป็นมุกตลกในวงเหล้า

เพลงของพุ่มพวงนั้นหลายๆเพลงมีความแสดงความ “ก๋ากั่น และเจ้าชู้” ในจังหวะสนุกสนาน ถือว่าได้สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการเพลงลูกทุ่งในช่วง 20-30 ปีก่อนเป็นอย่างมาก อยู่ในเพลง เช่น “นัดพบหน้าอำเภอ” ที่กล่าวถึงการพบรักกันโดยบังเอิญและหวังว่าจะพบกับหนุ่มที่เคยหมายตาอีก ครั้ง หรืออย่างเพลง หรืออย่างเพลง “หนูไม่รู้” เพลงที่ผู้หญิงแอบไปปิ๊งกับคนมีเจ้าของ

เพลงผู้ชายในฝัน

ซึ่งต่อมาได้เป็นแนวทางให้กับลูกทุ่งหญิงรุ่นใหม่อย่าง ยุ้ย ญาติเยอะ ในเพลงสุดเปรี้ยว “เลิกเมียบอกมา” หรือ อาภาพร นคร สววรค์ ในเพลง “เชฟบ๊ะ” หรือ “ชอบมั้ย” ก็มีสีสันฉูดฉาดไม่แพ้กัน

เรียกได้ว่าถ้าเพลงเหล่านี้มาออกในช่วงเวลานี้ ผู้มีอำนาจในกระทรวงวัฒนธรรมอาจจะตีอกชกหัวกันร้องกรี๊ดลั่นเหมือนนางร้าย ละคร 3 ทุ่ม (เวลาที่ละครติดเรทฉาย และคิดว่าเด็กๆนอนไปแล้ว) ภาพพจน์ของกระทรวงวัฒนธรรมหลังจากมีการก่อตั้งมาร่วม 10 ปีในสายตาคนในวงการศิลปะถือว่ามีความ “อนุรักษ์นิยม”ค่อนข้างสูง แทนที่จะมีหน้าที่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย การกระทำส่วนใหญ่กลับเป็นการ “อนุรักษ์นิยมแบบเกินกว่าอนุรักษ์นิยม” กล่าวคือการอธิบายในหลายๆบริบทนั้นมีความอนุรักษ์นิยมเกินกว่าบริบทและช่วง เวลาที่ผลงานเหล่านั้นได้เริ่มออกสู่สายตาประชาชนครั้งแรก

ยกตัวอย่างเช่นในขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมบอกว่า เพลง “คันหู” ที่มีเนื้อหาเพลงสองแง่สามง่ามโดยมีเนื้อร้องประกอบท่าเต้นที่ยั่วยวนว่า

เพลงคันหู

“อู๊ยคันหู
ไม่รู้ ว่าเป็นอะไร เอาสำลี มาปั่น ก็ไม่หาย
คันจริ๊ง มันคันอยู่ข้างใน คันหูทีไร ขนลุก ทุกที”

จากเนื้อเพลง “คันหู” ขับร้องโดย Turbo Music

เพลงอาจจะถูกนำเสนอผ่านการเป็นตัวแทนของชนชั้น ในขณะที่คนมีเงินสามารถไปเที่ยวโคโยตี้ ค็อกเทลเล้านจ์ที่มีระดับ ปรนนิบัติโดยสาวๆนุ่งน้อยห่มน้อย แต่คนหาเช้ากินค่ำอาจจะสามารถเข้าถึงกับวีซีดีโคโยตี้ หรือการแสดงสดที่มีความวาบหวิวกับถูกมองจากผู้มีการศึกษาว่า “อนาจาร” อะไรคือเส้นแบ่งระหว่าง “ศิลปะ” “งานบันเทิง” และ “อนาจาร”

กลับเลือกอธิบายว่าเพลงลูกทุ่งสมัยก่อนเช่นเพลงของ พุ่มพวง ดวงจันทร์นั้นมีความ “รักนวลสงวนตัว” และ “ไม่ขัดศีลธรรมอันดีงาม” ทั้งๆที่ในช่วงเวลาที่เพลงฮิตของพุ่มพวงออกอากาศนั้นถือว่าเป็นเรื่องฮือฮา และแปลกใหม่ไม่น้อยในแนวที่เรียกว่า “ลูกทุ่งสตริง” โดยเนื้อหาที่ผู้หญิงจะมาพูดถึงความรักแบบเปิดเผยตรงไปตรงมามากขึ้น หรือแม้กระทั่งไปรักคนมีเจ้าของแล้ว (หรือเพลง “ฉันเปล่านะเขามาเอง” ที่พูดถึงมีหนุ่มมาดักรอสาวนักร้องขี้เหงาตอนผับเลิก ไม่ต่างอะไรกับปัจจุบัน)

หรือการยกตัวอย่างว่าเพลงสุนทราภรณ์นั้น มีความถูกต้องตามขนบธรรมเนียมเพลงไทย มีเนื้อร้อง ทำนองที่ไพเราะด้วยอักขระวิธีประพันธ์ และเนื้อหาละเมียดละไม แต่ถ้าเราไปค้นจริงๆเนื้อหาของเพลงมีลักษณะที่ “วาบหวาม”มากกว่าเสียด้วยยกตัวอย่างเช่น เพลง “ขอให้เหมือนเดิม” ที่เรียกได้ว่าบรรยายโดยไม่ต้องจินตนาการเพราะเห็นภาพชัดเจน

“ก่อนจากกัน คืนนั้นสองเรา
แนบซบเนาเคล้าคลอพ้อพรอดภิรมย์
หวานล้ำบำเรอ เธอให้ชิดชม
ฉันกอดเล้าโลม ชื่นใจ
จูบแก้มนวล ช่างยวนเย้าตรึง”

จากเนื้อเพลง “ขอให้เหมือนเดิม” ขับร้องโดย สุนทราภรณ์

ยิ่งแล้วใหญ่หากจะยกไปเทียบกับบทพระราชนิพนธ์ “ลิลิตพระลอ”ที่มีความสวยงามในแง่ของวรรณศิลป์ก็ยังแฝงฉากอัศจรรย์ที่แทบจะ หลุดออกมาจากหนังสือปกขาวให้ได้ครางฮือ เช่นฉากที่หลังจากร่วมรักในน้ำเสร็จก็มาต่อบทรักรอบต่อไปบนบกต่อ ที่ว่า

“สรงสนุกน้ำแล้วกลับ…………..สนุกบก เล่านา
สองร่วมใจกันยก…………………..ย่างขึ้น
ขึ้นพลางกอดกับอก………………..พลางจูบ
สนุกดินฟ้าฟื้น……………………….เฟื่องฟุ้งฟองกาม”

จาก “ลิลิตพระลอ”

การทำเรื่องเพศ ให้กลายเป็นสินค้า (commodofication) นั้นมีมาอยู่ทุกสมัยอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าเรื่องเพศนั้นเป็นความบันเทิงของคนทุกระดับชั้นไม่ว่าจะเป็นเจ้า นาย ขี้ข้า ไพร่ หรืออำมาตย์ ย่อมไม่ห่างหายจากเรื่องเพศ ทั้งในวงเหล้าข้างทางหรือในรั้วในวัง เรื่องเพศคาวโลกีย์นั้นย่อมเป็นความสุขของมนุษย์ปุถุชนสะท้อนผ่านจิตรกรรมฝา ผนัง หรือ เพลงพื้นบ้านต่างๆ

ปัญหาก็คือเราควรจะมองวัฒนธรรมเป็นลักษณะพลวัตร(dynamic) ไม่ใช้แข็งตัว(stable) หรือการสร้างกรอบศีลธรรมอันดีงามขึ้นมาเพื่ออธิบายบริบทสังคมโลกที่มัน เปลี่ยนไปแล้ว การอนุรักษ์คือการเปิดใจรับศิลปะร่วมสมัย มิใช่การใช้กรอบอนุรักษ์นิยมในแบบที่อนุรักษ์นิยมเกินงานประพันธ์ในระยะเวลา นั้นซึ่งน่าแปลกใจว่ายิ่งสังคมพัฒนาไปข้างหน้า ความเป็นอนุรักษ์นิยมก็ยิ่งเข้มข้นและเข้มงวด ทุกอย่างยังคงตั้งอยู่บนมิติประวัติศาสตร์แบบ”ราชาชาตินิยม”มาอธิบายในบริบท ต่างๆ ซึ่งวัฒนธรรมส่วนใหญ่ติดกรอบความคิดแบบ “วัดๆวังๆ”อยู่ตลอดเวลา ผิดไปจากนี้ดูเหมือนจะเลวทรามต่ำช้าทั้งที่เป็นการนำเสนอตัวแทนของคนกลุ่ม น้อยในสังคม

ถ้าเป็นอย่างนั้นสิ่งแรกๆที่เราควรจะทำในรัฐบาลใหม่ ก็คือการทบทวนบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมและปรับปรุงเสียใหม่ เราจะเป็น Creative Economy ได้อย่างไรถ้าหากเรายังมองวัฒนธรรมทุกอย่างหยุดนิ่ง กระทรวงวัฒนธรรมสุดท้ายก็จะไม่พ้นเป็นขี้ปากให้คนทุกหมู่เหล่าล้อเลียนในวง ข้าวและวงเหล้าต่อไป

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.siamintelligence.com/culture-should-to-be-dynamic/

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: ยึดรถนายทุนใหญ่สุราษฎร์ บุกขุดคูแบ่งแนวเขตเตรียมซื้อขายที่ ส.ป.ก

Posted: 21 Jul 2011 09:53 AM PDT

ตัวแทน ส.ป.ก.ลุยแจ้งความบริษัทจิวกังจุ้ย ผิดละเมิดคำสั่งศาลห้ามทำการใดๆ ที่ทำให้เกินผลเสียหายต่อพื้นที่ ส.ป.ก. เข้าขุดดินเป็นร่องคูแบ่งแนวเขต หวังขายเปลี่ยนมือ

วันที่ 19 กรกฎาคม 2554 เมื่อเวลา 14.00 น.นายฉลอง มณีโชติ หัวหน้า ปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.ชัยบุรีว่า ได้มีการซื้อขายพื้นที่ของ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และได้ทำลายพื้นที่ให้เสียหาย จากนั้น เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมกำลังตำรวจกว่าสิบนายได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว และได้พบรถบรรทุกสิบล้อ 1 คัน รถแบคโฮ 1 คัน และรถไถ 1 คันพร้อมคนขับ ตำรวจจึงได้จับกุมและเชิญตัวไป สภ.ชัยบุรีเพื่อดำเนินคดี

เมื่อเวลา 18.00 น.นายฉลอง ในฐานะตัวแทนของ ส.ป.ก.จังหวัดสุราษฏร์ธานี เข้าให้ปากคำกับร้อยเวร สภ.ชัยบุรีเพื่อลงบันทึกประจำวัน ถึงกรณีนี้ว่า บริษัทจิวกังจุ้ยพัฒนา จำกัด มีเนื้อที่ 1,051 ไร่ เป็นบริษัทที่ ส.ป.ก.ฟ้องขับไล่ให้ออกจากพี้นที่ ส.ป.ก. แต่บริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ผลอาสินไว้กับศาลภาคแปด อย่างไรก็ตาม บริษัทได้กระทำผิดต่อคำสั่งศาลนอกจากนั้นยังละเมิดคำสั่งศาลที่ระบุว่าห้ามทำการใดๆ ที่ทำให้เกินผลเสียหายต่อพื้นที่ ส.ป.ก. โดยบริษัทได้ว่าจ้างให้ไปขุดดินเป็นร่องคูแบ่งแนวเขต เพื่อทำการขายเปลี่ยนมือ

คดีนี้นายฉลองได้แถลงว่าจะดำเนินคดีในฐานทำลายทรัพย์ให้เสียทรัพย์
 
ทั้งนี้ ในปี 2551 ส.ป.ก.ได้กำหนดมาตรการที่จะดำเนินการกับผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูป 4 กลุ่ม คือ1.กลุ่มเกษตรกรรายแปลง ที่ได้รับการจัดที่ดินจาก ส.ป.ก.ไปแล้วจำนวน 1.69 ล้านราย เนื้อที่กว่า 27.6 ล้านไร่ โดยจะเร่งเจรจาลดขนาดการใช้ประโยชน์ที่ดินรายแปลงตามศักยภาพของเกษตรกร พร้อมดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบ หากตรวจพบว่ามีการโอนเปลี่ยนมือหรือไม่เข้าทำประโยชน์2.กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อกิจการสาธารณูปโภค เช่น ขอใช้ที่ดินสร้างสถานที่ราชการ สถานศึกษา วัด ฯลฯ หากตรวจสอบพบว่า มีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตหรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ จะสั่งเพิกถอนการอนุญาตหรือลดขนาดพื้นที่
 
3 กลุ่มภาคเอกชน ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ ในที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภค หรือกิจการเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดิน หรือได้รับความยินยอมให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินตามกฎหมายอื่น เช่น การขอสำรวจแร่ ทำเหมืองแร่ หากพบว่าใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรและ สิ่งแวดล้อม จะดำเนินการเพิกถอนทันที 4 กลุ่มเกษตร/บุคคล ที่ไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน เช่น นายทุนที่ถือครองที่ดินแปลงใหญ่ จะเร่งเจรจาและดำเนินการตามกฎหมาย ดังนั้น จึงขอความร่วมมือผู้ถือครองที่ดินแปลงใหญ่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ให้เข้าร่วมกระบวนการปฏิรูปเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กองกำลังไทใหญ่ SSA ปะทะทหารพม่าดับ 4 เจ็บ 2 ในรัฐฉานตอนใต้

Posted: 21 Jul 2011 09:11 AM PDT

กองกำลังไทใหญ่ SSA กลุ่มเจ้ายอดศึก ปะทะทหารพม่าคุ้มกันการสร้างทางในเมืองปั่น รัฐฉานตอนใต้ ผลฝ่ายพม่าดับ 4 เจ็บ 2 และมีคนงานก่อสร้างถูกลูกหลงดับอีก 2 คน

มีรายงานจากแหล่งข่าวในพื้นที่ว่า เมื่อบ่ายวันที่ 18 ก.ค. ทหารกองทัพรัฐฉาน SSA (Shan State Army) กลุ่มพล.ท.เจ้ายอดศึก อันมีองค์การการเมืองชื่อ สภากอบกู้รัฐฉาน RCSS (Restoration Council of Shan State) หรือ กองกำลังไทใหญ่ "ใต้" (SSA 'South') ได้ปะทะกับทหารพม่าในพื้นที่เมืองปั่น รัฐฉานภาคใต้ ซึ่งทำหน้าที่คุ้มกันการก่อสร้างเส้นทางระหว่างเมืองปั่น ไปยังท่าสบป้าด (ท่าข้ามแม่น้ำสาละวิน) การปะทะเกิดขึ้นตรงบริเวณระหว่างบ้านน้ำตอง และ บ้านตองควาย อยู่ห่างจากเมืองปั่นไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 13 ไมล์

ผลจากการปะทะทำให้ฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บ 2 นาย และมีคนงานก่อสร้างทางถูกลูกหลงเสียชีวิตอีก 2 คน ทั้งนี้ ทหารพม่าที่เสียชีวิตทราบว่าเป็นนายทหาร 3 นาย ชื่อ ส.อ.จอเต็งยุ้น ส.ท.จ่อเท และส.ต.เมียวมิ้น ขณะที่ฝ่ายทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA มีเสียชีวิต 2 นาย

ด้านเว็บไซท์ข่าว Taifreedom สื่อกองทัพรัฐฉาน SSA รายงานข่าวนี้เช่นกันโดยระบุว่า เมื่อเวลา 15.50 น. วันที่ 18 ก.ค. เกิดเหตุทหาร SSA ได้ปะทะกับทหารพม่าสังกัดกองพันทหารราบเบาที่ 332 และ 520 ทำหน้าที่คุ้มกันก่อสร้างเส้นทางในพื้นที่เมืองปั่น รัฐฉานตอนใต้ โดย SSA เป็นฝ่ายโจมตีเข้าใส่ก่อนส่งผลให้ทหารพม่าเสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บ 1 นาย ส่วน SSA ไม่มีการสูญเสียแต่อย่างใด

สำหรับการก่อสร้างเส้นทางระหว่างเมืองปั่น-ท่าสบป้าด (ท่าข้ามแม่น้ำสาละวิน) ของทางการพม่าซึ่งมีกำหนดมุ่งหน้ามายังเมืองทา กิ่งอำเภอใหม่ ตรงข้ามชายแดนไทยด้านอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ได้เริ่มก่อสร้างมาตั้งช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยเกิดการปะทะระหว่างทหาร SSA และทหารพม่าที่คุ้มกันการก่อสร้างเส้นทางนี้แล้วครั้งหนึ่งซึ่งทำให้การก่อ สร้างได้หยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง


ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"กลุ่มฮักเมืองกก" ค้านเหมืองถ่านหิน-โรงไฟฟ้าอิตัลไทยในพื้นที่รัฐฉาน

Posted: 21 Jul 2011 04:39 AM PDT

"อิตัลไทย" ผุดเหมืองถ่านหินแบบเปิด-โรงไฟฟ้า 400 เมกกะวัตต์ในพื้นที่รัฐฉาน ห่างชายแดนเชียงราย 40 กม. กลุ่มอนุรักษ์ในรัฐฉานแฉตั้งแต่เริ่มก่อสร้างมีชาวบ้านย้ายออกไปแล้ว 2,000 คน เหตุเพราะทหารพม่าที่เข้ามาคุ้มกันโครงการได้บังคับใช้แรงงานชาวบ้าน ขณะที่มีการบังคับย้ายที่ดินทำกินของชาวบ้านมาตั้งแต่เมษายน โดยจ่ายค่าชดเชยเพียงไร่ละ 240 บาท

แผนที่จากเอกสารของกลุ่ม "ฮักเมืองกก" แสดงพื้นที่ซึ่งจะถูกยึดเพื่อโครงการเหมืองถ่านหิน และโรงไฟฟ้าในเมืองกก รัฐฉาน ซึ่งติดกับ จ.เชียงราย

ภาพจากเอกสารของกลุ่ม "ฮักเมืองกก" แสดงภาพรถตักสำหรับโครงการก่อสร้างเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้า โดยการก่อสร้างดำเนินอยู่ข้างชุมชนทุกวัน

แผนที่จากเอกสารของกลุ่ม "ฮักเมืองกก" แสดงที่ตั้งของกองกำลังกลุ่มต่างๆ ที่อยู่รอบพื้นที่โครงการเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้า

วันนี้ (21 ก.ค. 54) "กลุ่มฮักเมืองกก" ชุมชนที่ได้รับผลกระทบเริ่มรณรงค์ต่อต้านแผนการพัฒนาโครงการเหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหินของนักลงทุนจากไทย ในภาคตะวันออกของรัฐฉานที่เต็มไปด้วยการสู้รบ ได้จัดพิมพ์คู่มือ "ปกป้องเมืองกกจากถ่านหิน" ทั้งในภาษาไทย อังกฤษ ไทใหญ่และพม่า วิพากษ์วิจารณ์แผนของบริษัทอิตัลไทยที่จะพัฒนาเหมืองถ่านหินแบบเปิดและโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เมืองกก 40 กิโลเมตรทางตอนเหนือจากพรมแดนจังหวัดเชียงราย ทั้งนี้เพื่อนำเข้าถ่านหินและพลังงานสู่ประเทศไทย

ในเอกสารของกลุ่มระบุว่า คนงานไทยเริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เมืองกก ในพื้นที่รัฐฉาน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 มีการไถที่ดินทำกินของสามหมู่บ้านในรัฐฉาน โดยทหารพม่าสั่งการให้ชาวบ้านย้ายออกไปตั้งแต่หนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น และพวกเขาได้รับค่าชดเชยเป็นเงินจำนวน 20,000 จ๊าด (ไม่ถึง 600 บาท) ต่อที่ดินหนึ่งเอเคอร์ (2.5 ไร่) หรือไร่ละ 240 บาท

โดยบริษัทอิตัลไทยได้จัดทำความตกลงกับรัฐบาลทหารพม่าที่จะ ขุดเจาะถ่านหิน 1.5 ล้านตันต่อปีที่เมืองกกเป็นเวลา 10 ปี และจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 405 เมกะวัตต์เพื่อจ่ายไฟฟ้าจำนวน 369 เมกะวัตต์ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นเวลา 25 ปี

บริษัทอิตัลไทยต้องพึ่งพาทหารพม่าเพื่อความปลอดภัยของโครงการ เพราะโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งยังมีการสู้รบ โดยมีการปะทะกันระหว่างทหารกลุ่มกองทัพรัฐฉานใต้กับกองทัพพม่าอยู่เสมอ ทั้งยังมีการละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นการบังคับใช้แรงงานโดยทหารพม่า เป็นเหตุให้ครึ่งหนึ่งของชาวบ้านที่มีเชื้อสายอาข่าและละหู่จำนวน 2,000 คนในเมืองกกได้หลบหนีออกจากพื้นที่ไปแล้ว

“ทหารพม่า ครอบครัวของพวกเขา และตำรวจมีจำนวนมากกว่าชาวบ้านดั้งเดิมที่อยู่ในเมืองกกเสียอีก” คู่มือการรณรงค์ที่จัดทำโดยกลุ่มฮักเมืองกก (ชื่อในภาษาไทใหญ่) ระบุไว้

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว ประชาชนในประเทศไทยได้ประท้วงต่อแผนการนำเข้าถ่านหินจากเมืองกกผ่านอำเภอแม่ฟ้าหลวงที่มีทิวทัศน์สวยงามของเชียงราย และยังคงมีการต่อต้านแผนที่จะเปลี่ยนเส้นทางขนส่งเข้ามาทางด่านแม่สาย พวกเขายังกังวลถึงมลพิษที่มีต่อแม่น้ำกกเพราะเป็นแม่น้ำที่ไหลจากเมืองกกเข้าสู่ประเทศไทยและเป็นแหล่งน้ำสำคัญสำหรับชุมชนในภาคเหนือของไทยและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง

ขณะที่ในวันนี้ (21 ก.ค.) หน่วยงานของไทย นักวิชาการ และนักกิจกรรมจึงได้จัดเวทีสาธารณะที่วัดเจ็ดยอด จ.เชียงรายเพื่ออภิปรายถึงผลกระทบจากโครงการเมืองกก โดยใช้ชื่อการรณรงค์ว่า “การฉลองครบรอบ 750 ปีของเชียงรายท่ามกลางฝุ่นถ่านหินและมลพิษของแม่น้ำ?”

หมายเหตุ: ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ: กลุ่มฮักเมืองกก harkmongkok@gmail.com

AttachmentSize
เอกสาร_SaveMongKokFromCoal1.99 MB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

ศาลเยอรมันสั่งถอนอายัดเครื่องบินพระราชพาหนะ แลกมัดจำ 852 ล้านบาท

Posted: 21 Jul 2011 12:34 AM PDT

ศาลเยอรมันตัดสินถอนอายัดเครื่องบินพระราชพาหนะโบอิ้ง 737 แลกกับเงินมัดจำ 852 ล้านบาท (20 ล้านยูโร) หลังจากได้รับเอกสารยืนยันกรรมสิทธิ์เจ้าของเครื่องบินจากรัฐบาลไทย โดยศาลเยอรมันย้ำ หลักฐานดังกล่าวเป็นเพียง “ข้อสันนิษฐานเบื้องต้น” และจะได้รับเงินมัดจำคืนหลังจากศาลพิสูจน์ความเป็นเจ้าของได้แท้จริงแล้วเท่านั้น

จากกรณีที่มีการอายัดเครื่องบินพระราชพาหนะของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร โดยศาลเยอรมัน เมื่อวันที่ 12 กรกฏาคมที่ผ่านมา เนื่องมาจากกรณีพิพาทระหว่างบริษัทวอลเตอร์ บาว และรัฐบาลไทยนั้น ทำให้กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปเยอรมนี เพื่อหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมนี และเร่งดำเนินการทางด้านกฎหมาย โดยได้เบิกความต่อศาลเยอรมันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเพื่อนำเสนอหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

วานนี้ (20 ก.ค.) ศาลเยอรมันได้ตัดสินให้มีคำสั่งถอนอายัดเครื่องบินพระราชพาหนะ โดยให้รัฐบาลไทยวางเงินมัดจำ 852 ล้านบาท (20 ล้านยูโร) หลังจากที่มีการยื่นเอกสารยืนยันจากกรมการบินพลเรือนว่า เครื่องบินดังกล่าวเป็นของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์เป็นของรัฐบาลไทยแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ทางรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลลานด์ชูตของเยอรมนี คริสโตเฟอร์ เฟลเนอร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เอกสารที่ทางรัฐบาลไทยยื่นต่อศาล เป็นเพียง “ข้อสันนิษฐานเรื่องกรรมสิทธิ์” เท่านั้น รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องวางเงินมัดจำ 20 ล้านยูโร และจะไม่ได้เงินมัดจำคืน จนกว่าทางศาลจะสามารถพิสูจน์ได้จริงว่าเครื่องบินดังกล่าวเป็นของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และไม่ใช่ของรัฐบาลไทย พร้อมทั้งแจงว่า “ถ้ายืนยันกรรมสิทธิ์ไม่ได้ ก็เอาเครื่องบินออกไม่ได้”

มีรายงานว่า หนึ่งในเอกสารสำคัญที่ทางรัฐบาลไทยยื่นต่อศาลเยอรมนี อาทิ เอกสารการถอนชื่อโบอิ้ง 737 ลำดังกล่าวออกจากบัญชีของกระทรวงกลาโหม กองทัพอากาศ รวมถึงเอกสารใบสมควรเดินอากาศ ใบจดทะเบียนอากาศยาน และใบใช้อากาศยานส่วนบุคคล ซึ่งทั้ง 3 ฉบับ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงลงพระนามาภิไธยด้วยพระองค์เองเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ หลังจากกองทัพอากาศน้อมเกล้าฯ ถวายเมื่อปี 2550

ก่อนหน้านี้ ทางคอร์นีเลีย พีเพอร์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนี ได้แสดงความเสียใจต่อความไม่สะดวกดังกล่าวที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม เธอได้ชี้แจงต่อกษิต ภิรมย์หลังจากการหารือในเยอรมนีเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ เนื่องจากคำตัดสินขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลเท่านั้น

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 บริษัทก่อสร้างสัญชาติเยอรมัน วอลเตอร์ บาว ได้อายัดเครื่องบินพระราชพาหนะโบอิ้ง 737 ที่สนามบินมิวนิค ประเทศเยอรมนี โดยแวร์เนอร์ ชไนเดอร์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของวอลเตอร์ บาว กล่าวว่า “เป็นหนทางสุดท้ายในการเร่งรัดหนี้” ให้รัฐบาลไทยชำระค่าชดเชยที่ยังค้างชำระราว 30 ล้านยูโร อันเป็นผลมาจากข้อพิพาทเกี่ยวกับทางยกระดับดอนเมือง โดยทางบริษัทวอลเตอร์ บาว ระบุว่า การเปลี่ยนเงื่อนไขการดำเนินการของทางด่วนดอนเมืองโดยรัฐบาลไทย ทำให้บริษัทต้องขาดทุนและล้มละลายในปี 2548 และต่อมาได้ฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งมีคำตัดสินในปี 2552 ให้รัฐบาลไทยชำระค่าเสียหายให้บริษัทวอลเตอร์ บาวกว่า 30 ล้านยูโร

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เวียงรัฐ เนติโพธิ์

Posted: 21 Jul 2011 12:21 AM PDT

การรับเรื่องเช่น เรื่องผัดหมี่ แคะขนมครก ไม่ควรรับตั้งแต่ทีแรก มันเป็นเรื่องโจ๊กที่ทำให้มันเป็นเรื่องที่ตลกในระดับนานาชาติ และการตัดสินโดยที่ไม่มี accountability ต่อสังคมเลย แต่สามารถเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งได้ ... จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่ทำให้กระบวนการของระบอบรัฐสภาอ่อนแอลง

20 ก.ค. 2554, กล่าวถึงการตัดสินรับรองผลการเลือกตั้งของ กกต.

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "พระนเรศวรช่วยด้วย"

Posted: 20 Jul 2011 11:02 PM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "พระนเรศวรช่วยด้วย"

สมาคมสตรีคะฉิ่นระบุความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในรัฐคะฉิ่นเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน

Posted: 20 Jul 2011 05:42 PM PDT

เผยหลังทหารพม่าเริ่มใช้กำลังทางทหารในรัฐคะฉิ่นมาตั้งแต่ 9 มิ.ย. ขณะนี้มีผู้ลี้ภัยแล้วกว่า 16,000 คน และมีรายงานทหารพม่าใช้ "การข่มขืน" และทรมานสังหารต่อพลเรือนในรัฐคะฉิ่นด้วย

วิดีโอสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่น เผยแพร่ใน youtube ของสมาคมสตรีคะฉิ่น ประเทศไทย เมื่อ 19 ก.ค. 54

เมื่อวานนี้ (20 ก.ค.) สมาคมสตรีคะฉิ่น ประเทศไทย (Kachin Women's Association Thailand - KWAT) ออกแถลงการณ์ด่วน เรื่อง "ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเป็นสิ่งจำเป็นต่อผู้ลี้ภัยที่หนีภัยการสู้รบและ "คำสั่งข่มขืน" ในรัฐคะฉิ่น" โดยระบุว่า ผู้ลี้ภัยมากกว่า 16,000 คน ได้หนีภัยการสู้รบและการใช้ความรุนแรงทางเพศอย่างเป็นระบบที่ทวีขึ้นในรัฐคะฉิ่น โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้อาศัยในค่ายชั่วคราวตามแนวชายแดนจีน-พม่า และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ในคำแถลงของ KWAT ระบุว่า นับตั้งแต่ที่กองทัพพม่าเปิดฉากโจมตีกองทัพอิสรภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Army - KIA) มาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2554 นับเป็นการทำลายสัญญาหยุดยิงที่ทำกันมา 17 ปี การต่อสู้ขยายตัวไปในพื้นที่ 10 อำเภอในรัฐคะฉิ่น และตอนเหนือของรัฐฉาน และทหารพม่ามีการใช้การทรมาน สังหาร และการข่มขืนอย่างเป็นระบบ

KWAT ยังได้บันทึกเหตุการณ์ข่มขืนเด็กและสตรี 32 คน ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 8 อำเภอ ระหว่างที่เกิดสงคราม ในจำนวนนี้มีสตรี 13 รายถูกสังหารด้วย และมีกรณีที่หญิงสาวคนหนึ่งถูกข่มขืนและฆ่าต่อหน้าพ่อแม่ โดยผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่นระบุว่าทหารเหล่านี้ประกาศว่า "ได้รับคำสั่งให้มาข่มขืนผู้หญิง"

ทั้งนี้ชาวบ้านที่ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนทหารคะฉิ่น KIA จะถูกทรมานในหลายรูปแบบ มีผู้นำชุมชน 2 คนถูกตัดหู มีชาย 4 คนถูกทุบตีและจับใส่กระสอบก่อนโยนลงแม่น้ำฉ่วยลี

KWAT แถลงด้วยว่าทางการจีนปฏิเสธไม่ให้ผู้ลี้ภัยเขามาในพื้นที่ ทำให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องอาศัยในเพิงพักชั่วคราวในพื้นที่ซึ่งดูแลโดยองค์กรแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (Kachin Independence Organization - KIO) ในพื้นที่ตอนในของพม่า ผู้ลี้ภัยกลุ่มที่ไม่สามารถอพยพมาที่ชายแดนได้ ก็จะหนีเข้าไปอยู่ในเมืองตอนในของรัฐคะฉิ่น

"ผู้ลี้ภัยชาวคะฉิ่นมีสภาพเหมือนติดกับ พวกเขาไม่สามารถหลบหนีออกมาได้" ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ KWAT ระบุ

นางเชอรี่ แสง โฆษกของ KWAT กล่าวว่า "เครือข่ายชุมชนของชาวคะฉิ่นและโบสถ์ได้ให้ความช่วยเหลือ แต่ขณะนี้ยังไม่เพียงพอ ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากนานาชาติเป็นสิ่งที่จำเป็น"

KWAT ระบุด้วยว่า อาหารและยารักษาโรคไม่เพียงแค่จะมีความจำเป็น หากแต่เพื่อความอยู่รอดของพวกเขาในระยะยาวเนื่องจากพวกเขาต้องอพยพละทิ้งไร่นาของพวกเขาอีกด้วย

"วิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมได้ก่อเค้าลางขึ้นในรัฐคะฉิ่น" เชอรี่ แสงระบุ "พวกเราต้องการให้มีการกดดันจากนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีนในการกดดันให้รัฐบาลพม่าทำให้การหยุดยิงบังเกิดผลในทางปฏิบัติ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไปกว่านี้"

หมายเหตุ: สำหรับรายละเอียดของสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐคะฉิ่นสามารถดูเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ของสมาคมสตรีคะฉิ่น ประเทศไทย (www.kachinwomen.org)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น