โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

มหาวิทยาลัยสงฆ์หายไปไหน?

Posted: 09 Oct 2011 02:42 PM PDT

 

บางทีผมก็รู้สึกว่า ศาสนาเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณส่วนตัวของปัจเจกแต่ละคนล้วนๆ ศาสนาที่เผยแผ่กันอยู่เป็นเรื่องของความเชื่อ พิธีกรรม สถาบัน องค์กรที่ถูกสถาปนาขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับการสถาปนา/ปกป้อง "อำนาจทางศีลธรรม" ที่มีลักษณะครอบงำไม่มากก็น้อย และโดยลักษณะครอบงำนั้น มันทำลายความเชื่อมั่น และเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่จะค้นพบศาสนาที่เป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณด้วยตัวเขาเอง

นอกจากศาสนาที่เผยแผ่กันอยู่ จะสถาปนาอำนาจทางศีลธรรมที่มีลักษณะครอบงำปิดกั้นเสรีภาพในการตัดสินถูกผิดทางศีลธรรมเป็นต้นแล้ว อำนาจทางศีลธรรมนั้นยังถูกใช้เป็น “อาวุธ” ฟาดฟันฝ่ายที่มีความเชื่อแตกต่างทั้งในระหว่างศาสนา นิกายศาสนา ระหว่างศาสนากับภูมิปัญญาอื่นๆ และภายในศาสนานิกายเดียวกันอีกด้วย

ดังที่เคยมีสงครามระหว่างศาสนา ระหว่างนิกายศาสนาในนามของพระเจ้า มีการปิดกั้นความคิดทางวิทยาศาสตร์ การล่าแม่มดในนามของการรักษาคำสอนที่ถูกต้อง และในการต่อสู้ปกป้องคำสอนที่ถูกต้องทำให้ศาสนาแต่ละศาสนาแตกออกเป็นนิกายต่างๆ มากมาย

ในบ้านเราที่เรียกกันว่าเป็น “สังคมพุทธ” นั้น แม้จะไม่ปรากฏความขัดแย้งและความรุนแรงทางศาสนาอย่างชัดแจ้ง แต่บรรยากาศของการถกเถียงแลกเปลี่ยนในทางศาสนา ทั้งภายในศาสนาของตนเอง และระหว่างศาสนาก็ดูจะไม่ราบรื่นนัก

แม้แต่ในหมู่ชาวพุทธเองก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ง่ายมากที่ใครก็ตามแสดงความคิดเห็นแตกต่าง ตีความคำสอนของพุทธศาสนาแตกต่าง หรือวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของผู้ที่สังคมยกย่องว่าเป็น “ปราชญ์ทางศาสนา” ความคิดต่าง ความเห็นต่าง หรือการตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์นั้นๆ จะถูกพิพากษาว่าเป็น “มิจฉาทิฐิ” และเป็นมิจฉาทิฐิที่เกิดจากเจตนาที่มุ่งทำลายพุทธศาสนาทันที

ดูเหมือนท่านพุทธทาส ก็เคยตั้งข้อสังเกตว่า ชาวพุทธเชื่ออย่างผิดๆ ว่าศาสนาเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องที่แตะไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ การตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาเป็นเรื่องผิดบาป ความเชื่อผิดๆ เช่นนี้ทำให้ชาวพุทธขาดเสรีภาพในการตั้งคำถาม ตีความ วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งในทัศนะของท่านพุทธทาสเห็นว่า การที่พระพุทธเจ้าสอน “หลักกาลามสูตร” นั้น คือการให้เสรีภาพสูงสุดในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ และค้นพบสัจธรรมด้วยตนเอง

ความจริงแล้วเสรีภาพในการตั้งคำถามทางศาสนาเกี่ยวโยงโดยตรงกับการเข้าถึงศาสนาที่เป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ หากเจ้าชายสิทธัตถะไม่ได้ใช้เสรีภาพในการตั้งคำถามกับความเชื่อและวิถีปฏิบัติของศาสนาต่างๆ ในเวลานั้น การค้นพบความจริงที่ต่างออกไปก็คงเป็นไปไม่ได้ และหากท่านพุทธทาสไม่ได้ใช้เสรีภาพในการตั้งคำถามกับระบบการศึกษาพุทธศาสนาของสังคมสงฆ์ที่เป็นอยู่ การขบถและการค้นพบวิถีการศึกษา การตีความ การวิพากษ์วิจารณ์ การปรับใช้คำสอนของพุทธศาสนาที่เป็นตัวของตัวเอง หรือเป็น “เอกลักษณ์แบบสวนโมกข์” ก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้

อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (และผมเคยได้ยินจากหลายคน) เล่าว่า ท่านพุทธทาสจะมีความสุขเมื่อมีคนถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของท่าน แม้เรื่อง “วิวาทะพุทธทาสกับคึกฤทธิ์” ท่านก็มองว่าเป็นประโยชน์ในเชิงส่งเสริมวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์แก่สังคม ซึ่งข้อมูลนี้ต่างจากที่ผมเคยได้ยินมาว่า มีบางสำนักเมื่อถูกวิจารณ์แล้วจะออกอาการ “ดิ้นพล่าน” (พูดให้เห็นภาพพจน์ในเชิงการออก actions ที่เป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น ไม่มีความหมายเชิงคุณค่าเป็นบวกหรือลบ) ทั้งอาจารย์และบรรดาลูกศิษย์เลยทีเดียว

จะอย่างไรก็ตาม แม้พระสงฆ์และชาวพุทธจะพยายามโปรโมทความสวยงามของพุทธธรรม ทั้งในแง่ความเป็นสัจธรรมที่มีเหตุผลทนต่อการพิสูจน์ เป็น “อกาลิโก” ใช้ได้กับทุกยุคสมัย เป็นสัจธรรมเพื่ออิสรภาพทางจิตวิญญาณ เพื่อการมีปัญญาและกรุณา สังคมสงฆ์ในอุดมคติคือแบบอย่างของสังคมที่มีเสรีภาพทางความคิด มีความเสมอภาค เป็นแบบอย่างของความเป็นประชาธิปไตย และสังคมพุทธบริษัทสี่คือสังคมที่มีภราดรภาพ เกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม เป็นสังคมที่มีความพอเพียง ไม่มุ่งตอบสนองกิเลส ความฟุ้งเฟ้อ ไม่ตามกระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยม

แต่ทว่าเมื่อพระสงฆ์และชาวพุทธตื่นจากโลกแห่งจินตนาการในอุดมคติดังกล่าว เผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริงกลับพบว่า ตนเองถูกดูดเข้าไปใน “หลุมดำ” ของปัญหาแห่งยุคสมัยที่สลับซับซ้อน จนถูกหลอมละลายรวมเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งตรงข้ามกับความสวยงามของพุทธธรรม สังคมสงฆ์ที่เป็นจริงคือสังคมศักดินาพระ เผด็จการ อำนาจนิยม ส่วนวัตถุนิยม บริโภคนิยมนั้นไม่ใช่จะเป็นเพียงวิถีที่เป็นจริงของสังคมพุทธฆราวาสเท่านั้น หากยังแทรกซึมเข้าไปในทุกอณูของสังคมสงฆ์ ชนิดที่แนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกันจนไม่รู้สึกแปลกแยกอีกต่อไป

แม้แต่พุทธธรรมที่โปรโมทว่า เป็นสัจธรรมเพื่ออิสรภาพทางจิตวิญญาณ เพื่อปัญญาและกรุณานั้นก็ถูกแปรสภาพเป็น “เครื่องมือ” หรือเป็น “วิถี” (means) สู่ความสำเร็จทางโลก ดังกระแสธรรมะฮาวทู รูปแบบการปฏิบัติธรรม การทำบุญ พิธีกรรมเพื่อความสำเร็จ ความเจริญก้าวหน้าในชีวิตการงาน ความมีชื่อเสียง การทำมาค้าขึ้น โชคลาภ ฯลฯ ที่กำลังมาแรง เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา

คำถามทางศาสนาแบบที่ท่านพุทธทาสเคยถาม เช่น เราเกิดมาทำไม ขีวิตคืออะไร คุณค่าชีวิตคืออะไร ควรดำเนินชีวิติย่างไรจึงจะมีคุณค่าสูงสุดสมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์ หรือสังคมที่ดี ที่มีความเป็นธรรมควรเป็นสังคมเช่นไร ถูกแทนที่ด้วยคำถามประเภท ทำย่างไรชีวิตจึงจะประสบความสำเร็จ (ทางโลก) ดังที่พระเซเลบริตี้แห่งยุคสมัยต้องเดินทางไปไข “ปริศนาธรรม” ถึงมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดว่า “ทำไมคนที่ไอคิวสูงกว่าไอน์สไตน์จึงไม่ประสบความสำเร็จ?”

ที่พึงตั้งข้อสังเกตอย่างเป็นพิเศษคือ ท่ามกลางสภาวะขัดแย้งระว่างอุดมคติกับความเป็นจริงของพุทธศาสนาดังกล่าว กระแสความเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดและอุดมการณ์ทางสังคมการเมืองที่เรียกร้องเสรีภาพและความเสมอภาค เริ่มปรากฏเด่นชัดมากขึ้นๆ ทว่าสังคมสงฆ์และชาวพุทธจารีตนิยมส่วนใหญ่ยังหลับใหลอยู่ภายใต้โครงสร้างและดุมการณ์เก่า อันเป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตย ยังใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสนับสนุนความคิดและอุดมการณ์เก่า เพื่อปกป้อง “อำนาจทางศีลธรรม” และสถานะแห่ง “อภิสิทธิชนทางศีลธรรม” ให้ครอบงำประชาชนอยู่ต่อไป

ในท่ามกลางสภาวการณ์ดังกล่าวมานี้ คำถามที่สังคมอาจไม่นึกถึงเลยคือ มหาวิทยาลัยสงฆ์หายไปไหน? เวลาเกิดปัญหาด้านต่างๆ ขึ้นในสังคม เรามักเห็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ออกมาอธิบาย ให้ความเห็น เสนอทางออกให้กับสังคม แต่เวลามีปัญหาเกี่ยวกับพระสงฆ์ พุทธศาสนา ปัญหาจริยธรรม แม้แต่ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองของพระสงฆ์เอง เรากลับไม่เห็นว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ได้แสดงบทบาททางวิชาการ หรือการเสนอแนะทางออกแก่สังคมแต่อย่างใด

มีการตั้งคำถามกันมาอย่างน้อยกว่ายี่สิบปีแล้วว่า เวลาเกิดปัญหาทางจริยธรรม ปัญหาในวงการสงฆ์และพุทธศาสนา สื่อและสังคมมักนึกถึงพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงเป็นรายบุคคลเท่านั้น ไม่ได้นึกถึง หรือ “คาดหวัง” ว่าจะหาคำอธิบาย คำแนะนำจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ หรือแม้แต่จากองค์กรปกครองสงฆ์ได้อย่างไร

ยิ่งเรามาคิดว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ควรมีบทบาทในการสร้างการศึกษาพุทธศาสนาแบบวิชาการ เพื่อจุดประสงค์สำคัญประการหนึ่งคือ การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบศาสนาแบบพิธีกรรม องค์กร สถาบันที่สถาปนาอำนาจทางศีลธรรมเชิงครอบงำ ให้ก้าวไปสู่การสถาปนา “ศาสนาเชิงเสรีภาพทางปัญญา” หรือการทำให้ศาสนาเป็นสิ่งที่คนธรรมดาทั่วไปเข้ามาร่วมสนทนาถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างเสมอภาค ไม่มี “อภิสิทธิชนทางศีลธรรม” แต่เป็นศาสนาที่มีบรรยากาศ “เสรีชนทางศีลธรรม” เพื่อแต่ละปัจเจกบุคคลจะมีโอกาสเรียนรู้แลกเปลี่ยนจนตกผลึกทางความคิด และค้นพบทางเลือกเพื่อค้นพบศาสนาที่เป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ ด้วยความเชื่อมั่นและเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง

สังคมที่จ่ายงบประมาณให้มหาวิทยาลัยสงฆ์ หวังว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ควรจะมีบทบาทดังกล่าวนี้ แต่เสียดายที่ปัจจุบันเราไม่รู้ว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์หายไปไหน!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปักหลักรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญหน้าสภา เปิดทางตั้ง สสร.ยกร่างทั้งฉบับ

Posted: 09 Oct 2011 02:29 PM PDT

กลุ่มกิจกรรมรวมตัวในชื่อ สภาประชาชนไทย ปักหลักรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่หน้ารัฐสภา เรียกร้องประชาชนร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

9 ต.ค.54 สภาประชาชนไทยเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ประกอบขึ้นจากกลุ่มเสื้อแดง นำโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ (สนนท.) สมัชชาสังคมก้าวหน้า สหภาพครูแห่งชาติ กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 40 องค์กรเลี้ยวซ้าย ได้เปิดการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 โดยมีการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา

โดยเอกสารรณรงค์ระบุว่า สืบเนื่องจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้ทิ้งมรดกพิษไว้หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ได้วางโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติและการบริหารจากองค์กรต่างๆ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ดังนั้น สภาประชาชนไทยเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 จึงรวมตัวจัดการรณรงค์เพื่อรวบรวมรายชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และได้การจัดการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมรายชื่อเสนอร่างแก้ไข มีการจัดเวทีสภาอาชีพทุกวันพุธและพฤหัสบดี เวลา 18.30 – 20.00 น. และเวทีสำหรับประชาชนจากทุกกลุ่มอาชีพเพื่อปราศรัยถึงผลพวงของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่สร้างปัญหาสารพัดให้กับชีวิตและปากท้องของประชาชนทุกวันศุกร์ และเสาร์ เวลา 18.30 – 22.00 น.

นอกจากนี้ยังได้ประกาศให้ประชาชนที่สนับสนุน สามารถลงชื่อและเสนอร่างแก้ไข ผ่านเครือข่ายในพื้นที่ หรือส่งมาที่ ตู้ ปณ.291 ปณ.ศ. ราชดำเนิน 10120 หรือ ส่ง SMS แสดงความคิดเห็น พิมพ์ VT1 เห็นด้วย, VT2 ไม่เห็นด้วย ส่งไปที่ 4712277

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนาเรื่องปรีดี: ชี้ไม่ว่ารัฐประหารกี่ครั้ง ไทยก็ไม่ย้อนกลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชอีก

Posted: 09 Oct 2011 02:21 PM PDT

ธเนศมองกรณีข้อถกเถียงนิติราษฎร์ ทำให้เห็นว่า 70 ปีการเมืองไทยยังไม่นิ่ง ระบุรัฐประหาร 2490 ต้นตอปัญหาปัจจุบัน มรกต ชี้ไม่ว่ารัฐประหารกี่รอบ แต่ยังไม่มีใครย้อนกลับไประบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แนะรื้อประวัติศาสตร์ช่วง 2475-2490 ใหม่

(9 ต.ค.54) วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์จัดเสวนาหัวข้อ "ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์กับสังคมการเมืองและประชาธิปไตยไทย" ณ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า กรณี "คณะนิติราษฎร์" ออกมาเสนอว่ารัฐประหารเป็นสิ่งไม่ดี เพราะทำลายระบบนิติรัฐและเสนอลบผลพวงรัฐประหาร โดยที่มีอีกกลุ่มตั้งคำถามไปถึงว่าให้ลบผลพวงตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ด้วยหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่า เป็นมิติที่ดี เพราะทำให้เห็นว่าการเมืองไทยในรอบ 70 กว่าปียังไม่นิ่ง ยังไม่เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบที่ อ.ปรีดีเรียก

เขามองว่า คำถามที่จุดขึ้นมานี้ ไม่ว่าจากกลุ่มไหนก็ตาม นำไปสู่การทำให้ทุกคนต้องหันมามองปัญหาทางการเมืองว่าตกลงพัฒนาการปัจจุบันเราอยู่ตรงไหน และกำลังไปสู่อะไร นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า 70 กว่าปีที่ผ่านมา ข้อถกเถียงว่าการปฏิวัติรัฐประหารคือการเข้าสู่อำนาจรัฐถูกต้องหรือไม่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ

ทั้งนี้ ธเนศกล่าวว่า วิวาทะครั้งล่าสุดนี้ น่าสนใจตรงที่ดึงประเด็นที่เป็นรูปธรรมชัดขึ้นมา โดยนิติราษฎร์เสนอออกกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญเพื่อทำให้รัฐประหารครั้งล่าสุดไม่มีผล ถือเป็นการหลุดจากกรอบของการถูกขนบธรรมเนียมของรัฐประหารกดทับไว้

สำหรับภาพความรับรู้เรื่อง อ.ปรีดีนั้น ธเนศแสดงความเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงขึ้นและลงตามการเมืองไทยและความหมายของประชาธิปไตยที่เปลี่ยนไป โดยภาพลักษณ์นั้นเกิดผ่านการเล่าเรื่อง (narrative) ซึ่งมีการเล่าเรื่องสองชุด คือ หนึ่ง ภาพลักษณ์ผู้ทำลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชหรือระบอบกษัตริย์ ภาพลักษณ์นี้ถูกสร้างผ่านข่าวลือ เช่น ปรีดีอยู่เบื้องหลังคดีสวรรคต การสร้างภาพลักษณ์นี้เกิดในช่วงหลังรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 ส่วนชุดที่สองคือ ภาพลักษณ์มันสมองคณะราษฎร ผู้นำระบอบประชาธิปไตยเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งภาพลักษณ์นี้เกิดในช่วงใกล้ๆ เหตุการณ์ 14 ต.ค.2516

ธเนศกล่าวว่า เมื่อศึกษาการเมืองไทยพบว่า เรื่องที่ยังมีปัญหาจนปัจจุบัน มีต้นกำเนิดจากการรัฐประหาร 8 พ.ย.2490 ซึ่งรวมถึงความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วย พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า พรรคประชาธิปัตย์มีปัญหากับประชาธิปไตยที่สุด โดยทุกครั้งหลังรัฐประหาร ทหารต้องให้พรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลแทน

ธเนศกล่าวว่า รัฐประหาร 2490 เป็นต้นกำเนิดของปัญหาประชาธิปไตยไทยจนถึงวันนี้ แม้จะมีรัฐประหารที่สำคัญมากคือ ในปี 2500-2501 ของจอมพลสฤษดิ์ แต่ก็เชื่อว่า ถ้าไม่มีรัฐประหาร 2490 ก็ไม่มีรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ และจะไม่มีรัฐประหาร 17 พ.ย.14 สมัยจอมพลถนอม รวมถึงเหตุการณ์ 14 ต.ค.16 ด้วย

ทั้งนี้ ธเนศ ระบุว่า การยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ (ในปี 2501) ซึ่งให้เหตุผลของการรัฐประหารว่าเพราะ "กลไกไม่ดี" นำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับก่อน และตั้งเครื่องมือใหม่ เช่น สภา ส.ส.ร. รวมถึงยกระดับคำประกาศคณะปฏิวัติให้มีศักดิ์เท่ากับกฎหมาย เป็นต้นแบบของรัฐประหารครั้งต่อๆ มา ซึ่งเขามองว่า การที่นักกฎหมายยอมรับว่าศักดิ์ของประกาศคณะปฏิวัติเทียบเท่ากฎหมายปกตินั้นเป็นจารีตที่มีปัญหา

"ระบบยุติธรรมไทยที่เรามีวางอยู่บนการถักทอของอำนาจนอกระบบทั้งนั้น" ธเนศกล่าวและว่า หลายปีที่ผ่านมา ระบอบปฏิวัติอยู่ได้เพราะสร้างความพอใจให้ฐานเสียง ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์จากรัฐบาลปฏิวัติทุกสมัยคือคนในเมือง โดยยกตัวอย่างการปฏิวัติสมัยจอมพลถนอม มีการลดดอกเบี้ย ค่าไฟ ซึ่งคนในเมืองได้ประโยชน์ แต่ไม่เกี่ยวกับชาวบ้านรอบนอก สมัยจอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญ ฆ่าคน ซึ่งคนในกรุงก็ไม่เดือดร้อน ขณะที่ถ้าได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ทำอะไรก็ไม่เสร็จ

ธเนศชี้ว่า เรามีรัฐบาลที่ให้ผลประโยชน์กับคนในเมืองเยอะ แต่วิธีการเข้าสู่อำนาจนั้นเป็นสีเทา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลัง นักกฎหมายอธิบายว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายและนิติรัฐ นี่คือความเพี้ยนของกระบวนการกฎหมายของไทย

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ในช่วง 4-5 ปีที่มีเสื้อแดง มีกลุ่มการเมืองต่างๆ ทำให้เห็นว่ามีแรงโต้รัฐประหารจากคนรอบนอกกรุงเทพฯ ซึ่งจะเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในรัฐธรรมนูญ ระบอบรัฐสภา และการเลือกตั้ง ไม่ปล่อยให้คนกรุงเทพฯ และนักกฎหมายในกรุงเทพ ตัดสินฝ่ายเดียวอีกแล้ว ซึ่งหาก อ.ปรีดีสามารถรับรู้ได้ คงมองว่าอย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เริ่มจากคณะผู้ก่อการในตอนนั้นไม่หายและขยายไปทั่วทุกที่ในประเทศ เป็นการเมืองของภาคประชาชน

 


"ไม่ว่าจะรัฐประหารกี่ครั้ง
แล้วก็ทำให้การปกครองไทยเป็นแบบครึ่งใบ เสี้ยวใบ
แต่ไม่เคยมีใครก็ตามกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช
อันนี้คือสิ่งที่คณะราษฎรทำ"

มรกต เจวจินดา ไมยเออร์ โครงการไทยศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ เจ้าของวิทยานิพนธ์ปริญญาโท “ภาพลักษณ์ปรีดี พนมยงค์ กับการเมืองไทย พ.ศ.2475-2526” กล่าวว่า ความทรงจำในสังคมไทยถูกผูกขาดโดยรัฐไทย หรือพูดให้ชัดคือรัฐบาลรัฐประหาร กลุ่มอนุรักษนิยม พรรคการเมืองที่เข้าบริหารประเทศ พร้อมระบุว่า ความสับสนเรื่องรัฐประหาร, ปฏิวัติกับการเมืองไทย เกิดจากปัญหาการสร้างความทรงจำตั้งแต่ปี 2475

"รัฐไทยได้พยายามทำให้การลืมเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย" มรกตกล่าวและยกตัวอย่างการลืมการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ทำให้ไม่ค่อยมีใครรู้จักว่าสมาชิกของคณะราษฎรคือใครบ้างและทำอะไร พร้อมยกตัวอย่างนิทรรศการนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ที่ต้นถนนราชดำเนินว่า เป็นการสร้างความทรงจำแบบเดียวเท่านั้นในสังคมไทยและก่อให้เกิดปัญหา โดยเรื่องราวของคณะราษฎรนั้นมีเพียงรูปใบเดียวและระบุว่า คณะราษฎรก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 2475 แต่ไม่มีรายละเอียดว่าใครทำอะไร

"ความจริงแล้วดูง่ายๆ ว่า [การเปลี่ยนแปลง 2475]เป็นการปฏิวัติและอภิวัฒน์ตามที่อาจารย์ปรีดีเสนอไว้จริงหรือไม่ เอาง่ายๆ นับตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบัน มีการรัฐประหารจำนวนมาก มีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ แต่ว่าคณะรัฐประหาร คณะทหารโดยทั่วไป แม้แต่กลุ่มอำนาจนิยม ไม่เคยมีใครต้องการที่จะกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชอีกเลย อันนี้คือความสำคัญอันหนึ่งซึ่งไม่เคยมีใครพูดถึง" มรกตกล่าวและย้ำว่า "ไม่ว่าจะรัฐประหารกี่ครั้ง แล้วก็ทำให้การปกครองไทยเป็นแบบครึ่งใบ เสี้ยวใบ แต่ไม่เคยมีใครก็ตามกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช อันนี้คือสิ่งที่คณะราษฎรทำ"

มรกต กล่าวถึงสาเหตุที่ปรีดีถูกพูดถึงตลอดเวลา ไม่ว่าในช่วงที่สังคมไทยเกิดวิกฤต ช่วงรัฐประหาร ช่วงพรรคการเมืองอยากชนะเลือกตั้ง หรือหลัง พ.ค.35 เพราะนับตั้งแต่ 24 มิ.ย.2475 ปรีดี คือสตีฟ จอบส์ของสยาม เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ซึ่งมีความสำคัญเพราะเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของคณะราษฎร โดยจุดแข็งคือ มันสมองในแง่ที่ว่าพยายามทำให้การอภิวัฒน์ 2475 เป็นการอภิวัฒน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหยั่งลึกเต็มที่ ทั้งการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์การผลิตและการเปลี่ยนแปลงโครสร้างเศรษฐกิจ นั่นคือต้องการให้คนธรรมดาสามารถกินดีอยู่ดี ประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรตั้งแต่เกิดจนตาย ส่วนจุดอ่อนคือ ความต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ แต่ต้องการลดอำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชลง ทำให้กลุ่มที่ไม่ต้องการเสียอำนาจใช้แนวคิดเรื่องคอมมิวนิวส์มาโจมตีปรีดี

มรกต ทิ้งท้ายว่า คณะราษฎร-การเปลี่ยนแปลง 2475 ไม่เคยมีเนื้อที่ในความทรงจำของสาธารณชนชาวไทยอย่างสมศักดิ์ศรี ไม่เคยมีพิพิธภัณฑ์คณะราษฎร ไม่เคยมีอะไรเลย พร้อมเสนอว่า ควรจะต้องมีความพยายามที่จะทำความเข้าใจการเมืองไทยเสียใหม่ โดยเฉพาะในช่วง 2475-2490 โดยชี้ว่าหากยังเป็นแบบเก่า จะไม่สามารถช่วยเป็นทัพหน้าในการสร้างให้เรามองอนาคตไปได้ไกล โดยเมื่อไหร่ที่ปัจจุบันและอนาคตถึงทางตัน เพราะเราไม่รู้จะไปทางไหน ปัญหาประการหนึ่งที่เกิดทั่วโลกคือความทรงจำได้กักขังพวกเราไม่ให้มองอนาคตในรูปแบบอื่น เพราะว่าอดีตทำให้เรามองความเป็นมาหรือปัญหาของเราในรูปแบบเฉพาะที่เราจะแหวกกรงล้อมไปไม่ได้
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จากพี่ๆ ถึงน้องธรรมศาสตร์กับความกล้าหาญทางจริยธรรม

Posted: 09 Oct 2011 02:04 PM PDT

สืบเนื่องจากกรณี ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตั้งคำถามต่อแถลงการณ์คณะนิติราษฏร์ ก่อนหน้านี้หนึ่งในคำถามนั้นได้พาดพิงถึงการอภิวัฒน์ 2475 และอ.ปรีดี โดยจัดให้ อ. ปรีดีมีฐานะเดียวกันกับ สฤษดิ์ ถนอม ประภาส และสุจินดา คำถามดังกล่าวย่อมกระทบต่อฐานะทางประวัติศาสตร์ของ อ.ปรีดี และทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดได้ว่า อ.ปรีดีไม่ได้แตกต่างจากเผด็จการที่ผ่านมา พวกเรากลุ่มเพื่อนรุ่นพี่ อ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ขอโอกาสแนะนำน้องสักครั้งเถอะ ก่อนที่น้องจะสูญเสียจิตวิญญาณธรรมศาสตร์จนไม่เหลืออีกต่อไป

พยานหลักฐานที่ถูกลบหายอย่างตั้งใจ
อ.สมคิดต้องมีความกล้าหาญ เปิดเผย และเคารพตนเอง ไม่ควรหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ในเฟซบุ๊ค พอมีข้อความไหนที่เป็นผลร้ายก็ลบทิ้ง ส่วนข้อความไหนเป็นผลดีจึงเปิดเผยต่อสาธารณชน . กรณีอ.ดุษฏี บุญทัศนกุล (พนมยงค์)                        บุตรีท่านอ. ปรีดี พนมยงค์  โพสต์ข้อความเมื่อ 29 ก.ย. 54  สอบถามกรณีที่อ.สมคิดพาดพิงถึงท่านอ.ปรีดี โดยจัดให้ท่านอ.ปรีดีเป็นหนึ่งในคณะรัฐประหารรวมอยู่กับสฤษดิ์ ถนอม ประภาส สุจินดานั้น  ถามว่าทำไมต้องร้อนรนลบทิ้งไปเสียหมดเกลี๊ยงในเฟชบุ๊คของท่าน  [*** ดูรายละเอียดในมติชนออนไลน์ 29 ก.ย 54 ข่าวการเมือง]  ครั้นพออดีต สสร.ปี2550 คุณอภิชาติ ดำดี โพสต์ข้อความแก้ต่างปกป้องท่านกรณีถูกคณะศิษย์เก่าโจมตีเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2554  วันรุ่งขึ้นท่านก็รีบแผยแพร่ข้อความแก้ต่างทันที ทำไมท่านไม่เปิดเผยตัวตนและความคิดที่แท้จริงของตนเอง หากท่านมีหลักฐานข้อมูลและเหตุผลที่ดี สังคมย่อมให้ความเป็นธรรมต่อท่านแน่นอน  ยิ่งปกปิดซ่อนตัวหรือให้คนอื่นที่ไม่รู้ความคิดที่แท้จริของท่านมาแก้ต่าง ก็ยิ่งฟ้องต่อสาธารณชนว่าท่านซ่อนแร้นความผิดพลาดอะไรไว้แน่นอน

ต้องเป็นผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะและยอมรับความเป็นจริง
ท่านต้องเรียนรู้และรับฟังการท้วงติงคัดค้านกรณีที่ท่านพาดพิงท่านอ.ปรีดี ก่อนหน้านี้   เริ่มจากกรณีอ.ดุษฎีท้วงติงท่านจนนำไปสู่การก่อตัวประท้วงของคณะ ศิษย์เก่าธรรมศาตร์ ที่หน้าหอประชุมใหญ่ธรรมศาตร์เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา  บุคคลเหล่านั้นล้วนเป็น รุ่นพ่อ   รุ่นพี่ของท่าน ต้องให้เกียรติให้ความเคารพกันบ้าง ดูหน่อยสิครับว่าใครเป็นใครยังมีรายชื่ออีกหลายร้อยในช่วง 2-3วันที่ผ่านมา(ดูได้ที่www.tudemoc.comครับ)  ไม่ควรกล่าวลอยๆ  ในเฟซบุคส่วนตัวของท่านว่า “เป็นการบิดเบือน เอาเรื่องไม่จริงมาโจมตี”   ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ท่านออกอาการถึงขนาดโพสต์ข้อความว่า “หากวิญญาณท่านอ.ปรีดี มีอยู่จริงขอให้ลงโทษที่เอาชื่อเสียงของท่านมาใช้กลั่นแกล้งคนอื่น”  โปรดตั้งสติหน่อยครับอ.สมคิด จนป่านนี้ยังไม่รู้หรือว่าท่านทำท่านอ.ปรีดีเสียหายขนาดไหน? จนทายาทของท่านเองรับไม่ได้ต้องออกมาท้วงติงอย่างสุภาพมากๆ และรู้ไหมว่าในกลุ่มคณะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ที่มาประท้วงท่านนั้น ล้วนเป็นบุคคลที่มีเกียรติภูมิ ลูกศิษย์ท่านอ.ปรีดี สมัยตมธก.หลายยุคหลายสมัยก็มาร่วมด้วย คนเหล่านี้เขามาปกป้องคุณูปการท่าน อ.ปรีดี พนมยงค์ และมาร่วมต่อสู้เพื่อปรัชญา-จิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยนี้อย่างจริงใจ   คุณประสิทธิ์ ข้าราชการอาวุโส นักเรียนทุนฝรั่งเศส ได้ให้สัมภาษณ์ไว้สื่อทีวีช่อง 11 ที่ถามว่า “หากวิญญาณท่านปรีดียังวนเวียนอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้ คิดว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์นี้”  คำตอบคือ “ถ้าดวงวิญญาณอ.ปรีดียังสถิตย์และวนเวียนอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้ ท่านคงรู้สึกเสียใจ รวมทั้งลูกศิษย์ของท่านอีกจำนวนมาก”   เรื่องจริงเป็นอย่างไร อ.สมคิดย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ตัวเองพลาดไปเพียงวรรคเดียวเท่านั้น ไม่ใช่วรรคทอง แต่เป็นวรรคสีดำที่ทำให้ อ.สมคิด ไม่สามารถสู้ความจริงได้  จึงต้องหลบซ่อนไม่ยอมออกมาพูดหรือแถลงต่อประชาคมธรรมศาตร์และสาธารณชน  อย่าเอาแต่พร่ำเพ้อหรือเบี่ยงเบนประเด็นอีกต่อไป   ออกมาสู้ความจริงเสียเถิด ถ้าท่านคิดว่าท่านทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้วและ เป็นถึงศาสตราจารย์นักกฏหมายย่อมมีความรู้ความสามารถทางกฏหมายสูงอยู่แล้ว จะมัวกลัวอะไรอยู่ละครับ

หลักฐานทางเอกสารชัดแจ้ง โพสต์เองก็ปิดปากตัวเอง
ความผิดพลาดของอ.สมคิดคืออะไร?  ขอบอกตรงๆและเชื่อว่าท่านก็รู้เป็นอย่างดีแล้ว เราศิษย์สำนักเดียวกัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักกฏหมายด้วยกันย่อมอ่านทางกันออก แต่คนทั่วไปอาจยังไม่รู้หรืออาจสับสนได้ มาสะสางให้ความจริงปรากฎต่อสาธารณชนเสียทีดีไหม    อ.สมคิดรู้ดีอยู่แก่ใจตั้งแต่ต้นแล้วและตั้งใจโพสต์ข้อความพาดพิงท่าน อ.ปรีดีโดยหวังเอาสถานะของ อ.ปรีดีมาสนับสนุนความคิดของตนเองในการตอบโต้กับนักวิชาการ”คณะนิติราษฏร์” อย่างมีนัยยะแอบแฝง  กรรมย่อมส่อเจตนา วาจาย่อมส่อความคิด ใช่-ไม่ใช่ก็ดูหลักฐานที่อ.สมคิดโพสต์ข้อความตั้งคำถามถึงคณะนิติราษฏร์ไว้ว่า “ถ้าเรายกเลิกกฏหมายที่เรายกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอมประภาส สฤษดิ์ จอมพลป. อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกทักษิณ”

อ.สมคิดต้องกล้าหาญและเคารพตนเองโดยออกมาตอบต่อสาธารณชนเสียที่ว่า มีเหตุผลอย่างไรและหลักฐานทางประวัติศาตร์อะไรที่อ้างอิงได้ว่าท่าน อ.ปรีดีเป็นหนึ่งในคณะรัฐประหารและสมควรรวมท่านเข้าไปในกลุ่มสฤษฎิ์ ถนอม ประภาส สุจินดา  หากท่านตอบไม่ได้หรือไม่กล้าตอบด้วยตัวเอง   ข้อความดังกล่าวก็จะเป็นหลักฐานทางเอกสารผูกมัดเองว่าท่านเจตนาอย่างไร? บิดเบือนหรือไม่?  เราๆท่านๆที่ได้อ่านข้อความเหล่านี้มาแล้ว ย่อมเข้าใจและตีความได้เองด้วยสติปัญญาของเรา เพียงแต่ยังอยากให้โอกาส อ.สมคิดพูดความจริงอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่ใช่หลบๆซ่อนๆอย่างนี้  เป็นไปได้ไหมว่าอ.สมคิดจนแต้มหมดทางไปแล้ว  สาเหตุสำคัญเพราะได้โพสต์ข้อความตอบคุณดุษฎีไปว่า "ผมเข้าใจท่านครับ การรัฐประหารกับการปฏิวัติต่างกันครับ” ข้อความวรรคนี้ตอบในตัวเองว่า อ.สมคิดรู้เป็นอย่างดีว่า การปฏิวัติ 2475 หรือการอภิวัตน์  2475 ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยท่าน อ.ปรีดีและคณะราษฏรนั้น ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการทำรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญและล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตย   เเต่ที่ อ.สมคิดต้องเอาสองสิ่งนี้มายำรวมกันโดยเจตนาก็เพื่อเป็นการรองรับสนับสนุนความคิดเห็นส่วนตัวของอ.สมคิด โดยลืมไปว่าแล้วฐานะทางประวัติศาตร์กับคุณูปการของท่านอ.ปรีดีจะเป็นอย่างไร? จะเสียหายแค่ไหน?  ท่านจะเห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 จนกระทั่งได้เข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ให้กับคณะรัฐประหารอย่างไรนั้น เป็นสิทธิ์ส่วนตัวของท่าน  ในสังคมประชาธิปไตยย่อมต้องเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างและเหตุผลของปัจเจกบุคคล ท่านอาจเห็นว่าเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายกำจัดอดีตนายกทักษิณ  ไม่ว่าวิธีการอะไรก็ได้ไม่สำคัญ  ส่วนแนวคิด หลักการ อำนาจอธิปไตยของประชาชน หรือ หลักนิติรัฐ  ก็เก็บเข้าตู้หนังสือไปก่อน  กฏหมายกับการเลือกตั้งแก้ปัญหาไม่ได้ก็ต้องใช้ปืน ก็แล้วแต่จะคิด   แต่ท่านไม่มีสิทธิ์โดยสิ้นเชิงที่นำสถานะของท่าน อ.ปรีดี มาเป็นเครื่องมือรองรับสถานะตัวเองให้ชอบธรรมถูกต้องฝ่ายเดียว โดยท่าน อ.ปรีดีไม่สามารถมาท้วงติงอะไรได้อีกแล้ว

ทางออกที่ง่ายที่สุด สุดแต่ท่านจะเลือก
ไม่มีใครกลั่นแกล้งใครหรอกครับ รุ่นพี่ไม่ทำกับรุ่นน้องแบบนั้นแน่นอน ลูกศิษย์ย่อมไม่ทำกับอาจารย์อย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้เช่นกัน เรายังเชื่อในความเป็นสุภาพบุรุษธรรมศาตร์ ถ้าท่านเอาแต่พร่ำพูดอยู่เสมอว่า ”ผมรักและยกย่องท่าน อ.ปรีดีตลอดชีวิตและจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป” หากคำพูดนี้มีความจริงใจหลงเหลืออยู่จริง ก็ขอให้พิสูจน์ด้วยการกระทำอย่างจริงใจและเป็นรูปธรรมด้วยเถิด ขอร้องเถอะครับ ทำอะไรก็ได้ โปรดอย่าเอาท่าน อ.ปรีดีไปปะปนแปดเปื้อนกับพวกรัฐประหารเลยครับ ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลกไปแล้วให้ท่านอยู่กับประวัติศาตร์ตามความเป็นจริงของท่านเถิด  จะบอกทางให้อ.สมคิดสักทางง่ายมากๆเลยครับ  แทนที่จะต้องลบข้อความเพื่อปิดบังข้อเท็จจริงอย่างที่แล้วมา ขอให้อ.สมคิดไปลบชื่อ อ.ปรีดีออกจากรายชื่อหัวหน้าคณะรัฐประหารในคำถามที่โพสต์ถามไปยังคณะนิติราษฏ์ก็แล้วกัน  แอบทำเงียบๆโดยไม่ต้องไปขอโทษ หรือรับผิดชอบอะไรก็ได้ แต่ขอสักอย่างเถิด อ.สมคิดต้องเคารพตัวเอง เคารพจิตวิญญาณชาวธรรมศาสตร์และเคารพต่อบรรพชนที่ต่อสู้เพื่อเอกราขและประชาธิปไตยของปวงชนชาวไทยกับเผด็จการทุกรูปแบบ

                                                                                             กลุ่มรุ่นพี่ธรรมศาสตร์
                                                                                                     8 ต.ค. 2554

ป.ล. เพื่อนรุ่นน้องที่เรียนและรู้จักกับ อ.สมคิดฝากมาถามว่า “แค่คำขอโทษ คำเดียวก็จบแล้ว ทำไมไม่ทำ”

 

..........................................

วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 18:34:00 น.{มติชนออนไลน์ 29ก.ย54 ข่าวการเมือง}

ลูกสาว "ผู้ประศาสน์การมธ." ถาม "อธิการฯสมคิด" - "ปรีดี" เกี่ยวข้องรปห.อย่างไร? ล่าสุดข้อความถูกลบแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ตั้งคำถาม 15 ข้อ ฝากไปยังนักวิชาการ "คณะนิติราษฎร์" ในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีคำถามข้อหนึ่งระบุว่า "ถ้าเรายกเลิกกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปแล้วได้ เราจะล้มเลิกการกระทำทั้งหลายและลงโทษคณะรัฐประหารกี่ชุด สุจินดา ถนอม ประภาส สฤษดิ์ จอมพล ป. อ.ปรีดี หรือจะลงโทษเฉพาะคณะรัฐประหารที่กระทำต่อนายกฯทักษิณ"

ส่งผลให้นางดุษฎี บุญทัศนกุล บุตรสาวนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถูกนายสมคิดกล่าวอ้างถึงในคำถามดังกล่าว เข้ามาโพสต์ข้อความในหน้ากระดานเฟซบุ๊กของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบันว่า

"อาจารย์เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่าคะ ที่พูดพาดพิงถึงนายปรีดีเกี่ยวกับการรัฐประหาร ( เห็นข่าวจากนสพ.หลายฉบับ ) โปรดอธิบายด้วย"

ต่อมา นายสมคิดได้เข้ามาตอบคำถามของนางดุษฎีว่า "ผมเข้าใจท่านปรีดีดีครับ การรัฐประหารกับการปฏิวัติต่างกันครับ แต่อยากให้ผู้คนได้คิดหาเหตุผลตรึกตรองในเรื่องต่างๆ"

จากนั้นบุตรสาวนายปรีดีจึงเข้ามาพิมพ์โต้ตอบกลับอีกสองข้อความว่า "กลับไปอ่านคำให้สัมภาษณ์ของอาจารย์ต่อสาธารณชนก่อนค่ะ" และ "ขอบคุณค่ะ ที่นำปรีดี มาเทียบเท่ากับ สุจินดา ถนอม ประภาส สฤษดิ์ จอมพลป."

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในเวลาประมาณ 18.00 น. ของวันที่ 29 กันยายน เมื่อตรวจสอบไปที่หน้ากระดานเฟซบุ๊กของนายสมคิดอีกครั้งหนึ่ง พบว่า ข้อความโต้ตอบระหว่างนางดุษฎีและนายสมคิดได้ถูกลบหายไปแล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รำลึก 100 ปีปฏิวัติซินไห่ ปธน.จีน เรียกร้องรวมชาติจีน-ไต้หวัน

Posted: 09 Oct 2011 07:41 AM PDT

ประธานาธิบดีจีนกล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสครบรอบ 100 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจีนเป็นระบอบสาธารณรัฐ ชี้สองชาติจีน-ไต้หวันต้องยุติการเป็นปรปักษ์ เยียวยาความเจ็บปวดในอดีต และร่วมมือกัน พร้อมยกคำพูด “ซุนยัดเซ็น” การรวมชาติเป็นความหวังของชาวจีนทุกคน

พิธีรำลึกครบรอบ 100 ปีการปฏิวัติซินไห่ ที่ศาลามหาประชาชน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อ 9 ต.ค. 54 (ที่มา: สำนักข่าวซินหัว)

พิธีรำลึกครอบรอบ 100 ปีการปฏิวัติซินไห่ (ที่มา: cctvdrama22/youtube.com)

ข่าวพิธีรำลึกครบรอบ 100 ปีการปฏิวัติซินไห่ ทางสถานีโทรทัศน์ CCTV ของจีน (ที่มา: TheChineseNews/Youtube)

 

ปักกิ่ง - สำนักข่าวซินหัว รายงานวันนี้ (9 ต.ค.) ว่า ที่ศาลามหาประชาชน กรุงปักกิ่ง ประธานาธิบดีหูจิ่นเทาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันครบรอบ 100 ปี การปฏิวัติซินไห่ ปี 1911 (พ.ศ. 2454) โดยนายหูจิ่นเทากล่าวว่า ความพยายามที่จะทำให้ความเห็นพื้นฐานร่วมทางการเมืองในการคัดค้าน “เอกราชของไต้หวัน” มีความจำเป็น และจะต้องชูฉันทามติ “1992”

เราควรยุติการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างสองฟากฝั่ง เยียวยาความเจ็บปวดในอดีต และทำงานร่วมกันเพื่อการฟื้นฟูพลังอันยิ่งใหญ่ของชาติจีน” นายหูจิ่นเทากล่าว

นโยบายฟื้นฟูจีน (Rejuvenating China) เป็นนโยบายสำคัญของ ดร.ซุนยัดเซ็น และผู้ร่วมการปฏิวัติในปี 1911 นี้ ควรเป็นความปรารถนาร่วมกันของคนร่วมชาติทั้งสองฟากฝั่งของช่องแคบไต้หวัน นายหูจิ่นเทากล่าว

ทั้งนี้ การปฏิวัติในปี 1911 เริ่มต้นในวันที่ 10 ตุลาคมปี 1911 เป็นการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ และสิ้นสุดโดยทำให้การปกครองระบบจักรพรรดิกว่า 2,000 ปีของจีนและราชวงศ์ชิง (1644 – 1911) ต้องยุติลง และทำให้จีนกลายเป็นรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งแรกของทวีปเอเชีย

ในปาฐกถาในวันอาทิตย์ของนายหูจิ่นเทา เขาได้ยกคำพูดของ ดร.ซุนยัดเซ็นที่ว่า “การรวมชาติเป็นความหวังของชาวจีนทุกคน ถ้าการรวมชาติประสบผลสำเร็จ ประชาชนจะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข แต่ถ้าไม่ ประชาชนก็จะได้รับผลกระทบ”

นายหูจิ่นเทา กล่าวด้วยว่า “การรวมชาติโดยสันติวิธีคือวิธีรับใช้ผลประโยชน์พื้นฐานของประชาชนชาวจีนทุกคน รวมทั้งเพื่อนร่วมชาติที่ไต้หวัน” นายหูจิ่นเทากล่าว

นายหูจิ่นเทาเรียกร้องให้มีความพยายามในการแลกเปลี่ยนและร่วมมือระหว่างสองฟากฝั่ง แบ่งปันผลประโยชน์และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองฟากฝั่งอย่างสันติ เพิ่มขยายความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน ยึดถือธรรมเนียมอันดีของวัฒนธรรมจีน ปรับปรุงเอกลักษณ์ร่วมกันของชาติ และคลี่คลายปัญหาอย่างสม่ำเสมอ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ตั้งอยู่บนแนวคิด "กฎหมายธรรมชาติ (Natural Law)" จริงหรือ?

Posted: 09 Oct 2011 07:08 AM PDT

 
ภาพจาก Joe Gratz
(CC BY-NC 2.0)

 

อ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ เขียนบทความลงเว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชนเรื่อง "กฎหมายธรรมชาติ (Natural Law)" (อ่านที่นี่) ในบทความนั้น อ.โกวิท แยกความต่างระหว่างแนวคิด "กฎหมายธรรมชาติ (Natural Law)" กับแนวคิด "กฎหมายบ้านเมือง (Legal Positivism)" แล้ว อ.โกวิท ก็บอกว่าแนวคิดของคณะนิติราษฎร์นั้นตรงกับแนวคิด Natural Law ส่วนแนวคิดของผู้ที่เชื่อว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์และสามารถออกกฎหมายได้อย่างชอบธรรม เป็นแนวคิดแบบ Legal Positivism ...อ.โกวิท ยังกล่าวด้วยว่า คนที่เชื่อแนวคิด Legal Positivism "คงเป็นพวกที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิติราษฎร์"

ในบทความนี้ผมโต้แย้ง อ.โกวิท ผมจะอธิบายว่าข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวคิด Natural Law เลย และแนวคิดที่ว่าคณะรัฐประหารมีอำนาจออกกฎหมายอย่างชอบธรรม ก็ไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้ที่เชื่อแนวคิด Legal Positivism ในปัจจุบันอย่างที่ อ.โกวิท เข้าใจ


1. แนวคิดกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) และแนวคิดกฎหมายบ้านเมือง (Legal Positivism) คืออะไร?

แนวคิด "กฎหมายบ้านเมือง (Legal Positivism)" เชื่อว่า การที่กฎเกณฑ์หนึ่งๆ จะเป็นกฎหมายหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของกฎเกณฑ์นั้น (ว่าดีหรือเลว ยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม) แต่ขึ้นอยู่กับที่มาของกฎเกณฑ์นั้น ...กล่าวคือ กฎเกณฑ์หนึ่งๆ จะมีสถานะเป็นกฎหมายก็ต่อเมื่อมันถูกประกาศและบังคับใช้ผ่านกระบวนการที่สังคมยอมรับว่าเป็นกระบวนการออกกฎหมายอันเหมาะสม เนื้อหาของกฎเกณฑ์นั้นจะดี(ยุติธรรม)หรือเลว(อยุติธรรม)ไม่ได้เป็นปัจจัยกำหนดว่ามันมีสถานะเป็นกฎหมายหรือไม่ ...ดังนั้นตามแนวคิด Legal Positivism แล้ว คำถามที่ว่ากฎเกณฑ์หนึ่งๆ มีสถานะเป็นกฎหมายหรือไม่ จึงแยกขาดจากคำถามที่ว่ากฎเกณฑ์นั้นดี (ยุติธรรม) หรือไม่

แนวคิด "กฎหมายธรรมชาติ (Natural Law)" เชื่อว่า การที่กฏเกณฑ์หนึ่งๆ จะมีสถานะเป็นกฎหมายหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเฉพาะที่มาของกฎหมายเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับว่ากฎเกณฑ์นั้นมีเนื้อหาที่ดี (ยุติธรรม) หรือไม่ ตามแนวคิดนี้กฎเกณฑ์ที่มีเนื้อหาเลว (อยุติธรรม) นั้น ไม่สามารถเรียกว่าเป็นกฎหมายได้ (แน่นอนผู้ที่เชื่อในแนวคิดนี้ ย่อมต้องเชื่อว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ นั้นสามารถมีเนื้อหาที่ดีหรือเลวอย่างเป็นภาวะวิสัยได้)


2. ทำไมเราต้องสนใจว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์ตั้งอยู่บนแนวคิด Natural Law หรือ Legal Positivism?

แนวคิด Natural Law นั้นไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักกฎหมายสมัยใหม่เท่าไรนัก นักกฎหมายสมัยใหม่จำนวนมากเชื่อในแนวคิด Legal Positivism ที่ว่า คำถาม "กฎเกณฑ์นี้นับว่าเป็นกฎหมายหรือไม่?" นั้นแยกขาดจากคำถาม "กฎเกณฑ์นี้ดี(ยุติธรรม)หรือไม่?" ดังนั้นหากข้อเสนอของนิติราษฎร์ตั้งอยู่บนแนวคิด Natural Law (อย่างที่ อ.โกวิท เข้าใจ) ย่อมหมายความว่านักกฎหมายจำนวนมากที่ปฏิเสธแนวคิด Natural Law จะต้องปฏิเสธข้อเสนอของนิติราษฎร์ด้วย


3. ข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่ให้ลบล้างกฎหมายที่เกิดจากการทำรัฐประหาร ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิด Natural Law หรือไม่?

ข้อเสนอนี้ของนิติราษฎร์ไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวคิด Natural Law ...ข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่ให้ลบล้างกฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐประหารและองค์กรลูกทั้งหลายนั้น ไม่ได้อ้างเหตุผลว่าเนื้อหาของกฎหมายเหล่านั้นเลว(อยุติธรรม)แต่อย่างใด แต่คณะนิติราษฎร์ให้เหตุผลว่ากฎหมายเหล่านี้มีที่มาที่ขัดกับกฎหมาย ขัดกับหลักนิติรัฐ และขัดหลักประชาธิปไตย

ณ จุดนี้ เราอาจตีความข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ได้สองแบบ แบบแรกคือ นิติราษฎร์ต้องการเสนอว่ากฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐประหารและองค์กรลูกทั้งหลาย ถูกประกาศและบังคับใช้ผ่านกระบวนการที่สังคมไม่ได้ยอมรับว่าเป็นกระบวนการการออกกฎหมายที่เหมาะสม ดังนั้นกฎเกณฑ์เหล่านี้จึงไม่เคยมีสถานะเป็นกฎหมายอยู่ตั้งแต่แรก ฉะนั้นผลของกฎหมายเหล่านี้จึงควรถูกลบล้าง ในแง่นี้ข้อเสนอของนิติราษฎร์จึงเป็นข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนแนวคิดแบบ Legal Positivism อย่างยิ่ง (ไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวคิด Natural Law อย่างที่ อ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ เข้าใจ) เพราะนิติราษฎร์อ้างเหตุผลเกี่ยวกับที่มาของกฎ ไม่ใช่เนื้อหาของกฎ

การตีความแบบที่สองคือ เราอาจมองว่านิติราษฎร์ไม่ได้ตั้งคำถามต่อสถานะความเป็นกฎหมายของบรรดากฎเกณฑ์ที่ออกโดยคณะรัฐประหาร แต่นิติราษฎร์เพียงแค่ชี้ว่ากฎเกณฑ์เหล่านี้ ถึงแม้ว่ามันจะมีสถานะเป็นกฎหมาย ก็ยังเป็นกฎหมายที่มีที่มาขัดกับหลักประชาธิปไตย ดังนั้นถ้าหากเราเชื่อในประชาธิปไตย เราก็ย่อมต้องปฏิเสธความชอบธรรมของกฎหมายเหล่านี้ โดยการประกาศให้มันเสียเปล่า เสมือนว่าไม่เคยถูกประกาศใช้มาก่อน ...ในแง่นี้ ข้อเสนอของนิติราษฎร์ไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวคิด Natural Law หรือ Legal Positivism ใดๆ เลย เพราะนิติราษฎร์ไม่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานะความเป็นกฎหมายของกฎเกณฑ์ที่ประกาศใช้โดยคณะรัฐประหาร แต่เพียงแค่ตั้งคำถามต่อความเป็นประชาธิปไตยของกระบวนการออกกฎเกณฑ์เหล่านั้นเท่านั้น

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าเราจะตีความข้อเสนอของนิติราษฎร์แบบใดในสองแบบข้างต้น ข้อเสนอของนิติราษฎร์ก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวคิด Natural Law อย่างที่ อ.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ เข้าใจเลย


4. ข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่ให้แก้ไขมาตรา 112 ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิด Natural Law หรือไม่?

จริงอยู่ที่ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่ให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะตั้งอยู่บนเหตุผลเกี่ยวกับตัวเนื้อหาของกฎหมาย (ไม่ใช่ที่มาของกฎหมาย) แต่นิติราษฎร์ไม่ได้ให้เหตุผลว่ามาตรา 112 มีเนื้อหาที่เลว(อยุติธรรม)ในตัวของมันเอง นิติราษฎร์เพียงแค่ให้เหตุผลว่ามาตรา 112 ควรถูกแก้ไขเพราะเนื้อหาของมันขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ (ว่าด้วยความเหมาะสมของโทษต่อการกระทำผิด)

แต่ถึงต่อให้คณะนิติราษฎร์เสนอว่าเนื้อหาของมาตรา 112 นั้นเลว(อยุติธรรม)จริง ก็ไม่ได้หมายความว่าคณะนิติราษฎร์จะต้องเชื่อในแนวคิดแบบ Natural Law อยู่ดี ทั้งนี้เพราะคณะนิติราษฎร์ไม่ได้อ้างเหตุผลเกี่ยวกับเนื้อหาของมาตรา 112 เพื่อปฏิเสธสถานะความเป็นกฎหมายของมาตรา 112 แต่อย่างใด (ในความเป็นจริงแล้ว การที่คณะนิติราษฎร์ไม่ได้เสนอให้ประกาศให้มาตรา 112 เสียเปล่าไปพร้อมกับกฎหมายที่ออกโดยคณะรัฐประหาร แต่เพียงแค่เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมตามวิธีปกติ ย่อมแสดงให้เห็นว่าคณะนิติราษฎร์ยังยอมรับสถานะความเป็นกฎหมายของมาตรา 112 อยู่) คณะนิติราษฎร์เพียงแค่ชี้ให้เห็นถึงความอยุติธรรม และความขัดต่อหลักสิทธิพื้นฐานและหลักประชาธิปไตยของมาตรา 112 เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจนิติบัญญัติ และผู้ที่รับอำนาจนิติบัญญัติจากประชาชน ได้พิจารณาเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ตามวิธีปกติเท่านั้น

ดังนั้น ข้อเสนอของนิติราษฎร์ที่ให้แก้ไขมาตรา 112 ก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของแนวคิด Natural Law แต่อย่างใด


5. แนวคิดที่ว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฎฐาธิปัตย์ มีอำนาจชอบธรรมในการออกกฎหมาย เป็นแนวคิดแบบ Legal Positivism หรือไม่?

แนวคิดที่ตกอยู่ภายใต้แบรนด์ "Legal Positivism" นั้นมีอยู่มากมาย แนวคิดหนึ่งกล่าวว่ากฎเกณฑ์ใดๆ ที่ประกาศใช้โดยผู้มีอำนาจย่อมถือว่าเป็นกฎหมาย แต่ในศตวรรษที่ผ่านมา H.L.A. Hart ได้แสดงให้เห็นว่าแนวคิดนี้ผิดพลาด ในปัจจุบันแนวคิดนี้ได้เสื่อมความนิยมจนกลายเป็นแนวคิดล้าหลัง ที่แทบไม่มีนักกฎหมายคนใดในโลกเชื่ออีกต่อไปแล้ว ...อีกแนวคิดหนึ่งภายใต้เแบรนด์ Legal Positivism ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ยอมรับมากกว่า กล่าวว่ากฎเกณฑ์ที่จะมีสถานะเป็นกฎหมายได้จะต้องถูกประกาศใช้ผ่านกระบวนการที่สังคมรับรู้ร่วมกัน (recognise) ว่าเป็นกระบวนการออกกฎหมายอันเหมาะสม ...ดังนั้น แนวคิดของนักกฎหมายไทยหลายๆ คน ที่เชื่อว่ากฎเกณฑ์ใดๆ ที่ออกโดยคณะรัฐประหารซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจย่อมต้องถือว่าเป็นกฎหมายนั้น เป็นแนวคิดแบบ Legal Positivism จริง แต่เป็น Legal Positivism ที่ล้าหลังและไม่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบัน

นอกจากแนวคิดที่ว่าคณะรัฐประหารมีอำนาจชอบธรรมในการออกกฎหมายจะตั้งอยู่บนแนวคิด Legal Positivism แบบล้าหลังแล้ว มันยังเป็นจริงแค่ครึ่งเดียวอีกด้วย ...ครึ่งที่เป็นจริงคือส่วนที่บอกว่ากฎเกณฑ์ที่ออกโดยคณะรัฐประหารนั้นมีสถานะเป็นกฎหมายได้ ส่วนครึ่งที่เป็นเท็จคือส่วนที่บอกว่ากฎเกณฑ์ที่ออกโดยคณะรัฐประหารนั้นเป็นกฎเกณฑ์ที่ออกอย่าง "ชอบธรรม" ...แนวคิด Legal Positivism เชื่อว่าคำถามเกี่ยวกับสถานะความเป็นกฎหมาย (Legality) นั้น แยกขาดจากคำถามเกี่ยวกับเนื้อหา ความดี ความยุติธรรม และความชอบธรรมของกฎเกณฑ์ ดังนั้น ถึงต่อให้เรายอมรับแนวคิด Legal Positivism แบบล้าหลังที่บอกว่าคณะรัฐประหารมีอำนาจออกกฎหมายจริง ก็ย่อมไม่ได้หมายความว่าอำนาจในการออกกฎหมายนั้นจะเป็นอำนาจที่ "ชอบธรรม" ...ในความเป็นจริงแล้ว คงแทบไม่มี Legal Positivist คนใดในโลกที่เชื่อว่าอำนาจการออกกฎหมายของคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจจากประชาชน เป็นอำนาจที่ชอบธรรม

ดังนั้น แม้แต่ในหมู่ผู้ที่เชื่อในแนวคิด Legal Positivism แนวคิดที่ว่าคณะรัฐประหารมีอำนาจออกกฎหมายได้อย่างชอบธรรมก็ไม่ได้รับการสนับสนุนแต่อย่างใด

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิคมโรจนะวิกฤตท่วมเรียบทุกโรงงาน

Posted: 09 Oct 2011 06:02 AM PDT

เขตอุตสาหกรรมโรจนะถึงขั้นวิกฤตหนักโรงงานทุกแห่งตกเป็นเหยื่ออุทกภัยไม่สามารถป้องกันได้ กระทบแรงงาน 90,000 คน  "วรรณรัตน์" เรียกเอกชนหารือผลกระทบน้ำท่วม ด้านผู้ผลิตเตรียมหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่นแทน

โรจนะวิปโยค-ท่วมเรียบทุกโรงงาน

9 ต.ค. 54 - นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม  กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ขณะนี้อยู่ในขั้นวิกฤตหนัก โดยน้ำได้เข้าไปท่วมโรงงาน 198 แห่งหมดแล้ว เพิ่มจากวันที่ 8 ต.ค. ที่ท่วมโรงงานเพียง 10-20 แห่งเท่านั้น  และไม่สามารถกู้ได้แล้ว  แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้เร่งสร้างคันกั้นน้ำให้สูงเพิ่มเป็น 6.5 เมตร จากเดิมอยู่ที่ 5.1 เมตรก็ตาม แต่กระแสน้ำแรงมาก  เบื้องต้นได้ประสานขอกำลังทหารช่างเข้ามาช่วยในพื้นที่แล้ว

นายประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า  มูลค่าลงทุนในเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะอยู่ในระดับที่ 70,000 ล้านบาท มีแรงงาน 90,000 คน  อย่างไรก็ตามหลายโรงงานได้ขนของรวมถึงสต็อกและเครื่องจักรที่มีราคาแพง และมีน้ำหนักไม่มากไปไว้ที่สูงเกือบหมดแล้ว โดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์ ฮอนด้าที่ขนรถยนต์ที่เพิ่งผลิตเสร็จ 3,000 คันได้ทันเวลา

อุตฯเรียกเอกชนถกเยียวยาโรงงานน้ำท่วม

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า  ในวันที่10 ต.ค. น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม จะเรียกภาคเอกชนทั้งส.อ.ท. และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เข้าพบเพื่อหารือถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ รวมทั้งหามาตรการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน

ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพราะโรงงานที่น้ำท่วมเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานประกอบ ทั้งในกลุ่มของยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต้องวางแผนการจัดหาวัตถุดิบมาป้อนโรงงานใหม่ ซึ่งอาจจะใช้จากแหล่งผลิตอื่นในประเทศ หรือนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย จีน เกาหลี เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโรงงานที่ได้รับความเสียหายในจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ นครสวรรค์ ลพบุรี โดยในลพบุรีมีโรงงานของบริษัทอินโดราม่า ผู้ผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ขนาดใหญ่ถูกน้ำท่วมเช่นเดียวกัน

สำหรับมาตรการเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจผู้ประกอบการต้องการให้มีการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วนหลังน้ำลด เช่น การทำงานของบริษัทประกัน ในการประเมินความเสียหายหลังน้ำท่วม การซ่อมแซมเครื่องจักร ถนน เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง และผู้ประกอบการจะได้กลับมาดำเนินการอย่างเร็วที่สุด

"ต้องการให้มีการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน เพราะผู้ประกอบการมีภาระมาก โดยเฉพาะในด้านแรงงาน ที่จำเป็นต้องรักษาไว้ โดยโรงงานในอยุธยาทั้งหมดมีการจ้างงานกว่า  2 แสนคน ซึ่งหากดำเนินการล่าช้าโรงงานขนาดเล็กจะต้องรับภาระมากที่สุด" นายพยุงศักดิ์ กล่าว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมหลังจากนี้อาจจะเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตได้  เนื่องจากโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดใหญ่หยุดผลิตกันหมดแล้ว ทั้งในจังหวัดอยุธยา และจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ภาคกลาง โดยในจังหวัดลพบุรีก็มีโรงงานที่ได้รับความเสียหายไปแล้วกว่า 20 โรง โดยเฉพาะโรงงานผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นสิ่งทอต้นน้ำก็ได้รับความเสียมาก

ดังนั้นในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมฯบ้านหว้า (ไฮเทค) ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมให้ดี เพราะในนิคมฯบ้านหว้า มีโรงงานผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นอยู่ หากรวมกับที่ลพบุรี 2 โรงงานนี้มีกำลังการผลิตรวมเป็น 40% ของประเทศ หากน้ำท่วมจะกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งหมด

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: เดลินิวส์, โพสต์ทูเดย์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศอส.เผยมีทางหลวงใช้สัญจรไม่ได้ 60 สายใน 17 จังหวัด

Posted: 09 Oct 2011 12:28 AM PDT

เผยทางหลวงใช้สัญจรไม่ได้ 60 สาย และมีทางหลวงชนบทใช้สัญจรไม่ได้ 154 สาย เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัย ขณะที่รถไฟสายเหนือยกเลิกทุกขบวน ยกเว้นช่วงพิษณุโลก-ชุมแสง-เด่นชัย ขณะที่ บขส. เปิดใช้ตามปกติโดยใช้เส้นทางเลี่ยง

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย หรือ ศอส. รายงานเส้นทางคมนาคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยประจำวันที่ 8 ต.ค. ว่า ทางหลวงเส้นทางที่ไม่สามารถสัญจรได้ 60 สาย ใน 17 จังหวัด (สอบถามเพิ่มเติม ที่สายด่วน 1586) ทางหลวงชนบท เส้นทางที่ไม่สามารถสัญจรได้ 154 สาย ใน 28 จังหวัด (สอบถามเพิ่มเติม ที่สายด่วน 1146)

ทางรถไฟในเส้นทางสายเหนือทุกขบวนถูกยกเลิก ยกเว้นขบวนรถท้องถิ่นสามารถวิ่งได้ในระยะสั้น ช่วงพิษณุโลก- ชุมแสง-เด่นชัย (สอบถามเพิ่มเติม ที่สายด่วน 1690) ส่วน การให้บริการของบริษัทขนส่งมวลชน จำกัด (บขส.) เส้นทางสายเหนือใช้ทางเลี่ยง บางบัวทอง - สุพรรณบุรี – อ่างทอง – นครสวรรค์ เปิดใช้บริการตามปกติ

ขณะที่เมื่อ 7 ต.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยผลกระทบจากอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 252 ราย สูญหาย 3 ราย กระทบ 60 จังหวัด 585 อําเภอ 4,154 ตําบล มีผู้ได้รับความเดือดร้อน 2,303,047 ครัวเรือน หรือ 8,078,769 คน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศอส.เผยมีทางหลวงใช้สัญจรไม่ได้ 60 สายใน 17 จังหวัด

Posted: 09 Oct 2011 12:18 AM PDT

เผยทางหลวงใช้สัญจรไม่ได้ 60 สาย และมีทางหลวงชนบทใช้สัญจรไม่ได้ 154 สาย เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัย ขณะที่รถไฟสายเหนือยกเลิกทุกขบวน ยกเว้นช่วงพิษณุโลก-ชุมแสง-เด่นชัย ขณะที่ บขส. เปิดใช้ตามปกติโดยใช้เส้นทางเลี่ยง

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย หรือ ศอส. รายงานเส้นทางคมนาคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยประจำวันที่ 8 ต.ค. ว่า ทางหลวงเส้นทางที่ไม่สามารถสัญจรได้ 60 สาย ใน 17 จังหวัด (สอบถามเพิ่มเติม ที่สายด่วน 1586) ทางหลวงชนบท เส้นทางที่ไม่สามารถสัญจรได้ 154 สาย ใน 28 จังหวัด (สอบถามเพิ่มเติม ที่สายด่วน 1146)

ทางรถไฟในเส้นทางสายเหนือทุกขบวนถูกยกเลิก ยกเว้นขบวนรถท้องถิ่นสามารถวิ่งได้ในระยะสั้น ช่วงพิษณุโลก- ชุมแสง-เด่นชัย (สอบถามเพิ่มเติม ที่สายด่วน 1690) ส่วน การให้บริการของบริษัทขนส่งมวลชน จำกัด (บขส.) เส้นทางสายเหนือใช้ทางเลี่ยง บางบัวทอง - สุพรรณบุรี – อ่างทอง – นครสวรรค์ เปิดใช้บริการตามปกติ

ขณะที่เมื่อ 7 ต.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยผลกระทบจากอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 252 ราย สูญหาย 3 ราย กระทบ 60 จังหวัด 585 อําเภอ 4,154 ตําบล มีผู้ได้รับความเดือดร้อน 2,303,047 ครัวเรือน หรือ 8,078,769 คน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“เจ้ากรมเซ็นเซอร์สื่อพม่า” เรียกร้องให้รัฐบาลยุบหน่วยงานของตนเพื่อเสรีภาพสื่อ

Posted: 08 Oct 2011 11:36 PM PDT

ผู้บริหารหน่วยงานเซ็นเซอร์ของรัฐบาลพม่าให้สัมภาษณ์วิทยุอาร์เอฟเอ ระบุการปิดกั้นควบคุมสื่อไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย จึงต้องยกเลิกในอนาคตอันใกล้นี้ ยันขณะนี้ไม่มีการเซ็นเซอร์ข่าว “ออง ซาน ซูจี” แล้ว เชื่อประเทศจะเปลี่ยนไปสู่ประชาธิปไตย ขณะที่องค์กรเฝ้าระวังสื่อยังคงห่วงสถานการณ์พม่าที่ขณะนี้มีผู้สื่อข่าวถูกจับกุมอย่างน้อย 14 ราย 

สถานีวิทยุเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia – RFA) รายงานเมื่อ 7 ต.ค. ว่า นายทิน ส่วย (Tint Swe) ผู้อำนวยกรมพิจารณาและลงทะเบียนสื่อ (Press Scrutiny and Registration Department - PSRD) ของรัฐบาลพม่า หน่วยงานหลักของประเทศพม่าซึ่งทำหน้าที่ควบคุมและเซ็นเซอร์สื่อ กล่าวว่าหน่วยงานที่เขาเป็นผู้รับผิดชอบควรถูกยุบหน่วยงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปโดยรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่

การเซ็นเซอร์สื่อไม่มีแล้วในประเทศอื่นๆ เช่นในประเทศเพื่อนบ้านของเรา และการเซ็นเซอร์สื่อนี้ไม่สอดคล้องกับการปกครองแบบประชาธิปไตย การเซ็นเซอร์สื่อต้องถูกยกเลิกในอนาคตอันใกล้นี้” นายทิน ส่วยให้สัมภาษณ์กับวิทยุเรดิโอฟรีเอเชีย

แต่นายทิน ส่วย ยังกล่าวด้วยว่า หนังสือพิมพ์และสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ ควรยอมรับเสรีภาพสื่อพร้อมๆ กับการมี “ความรับผิดชอบ”

สำหรับกรมพิจารณาและลงทะเบียนสื่อ (PSRD) ถูกจัดตั้งขึ้นมากว่า 4 ทศวรรษนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจการปกครองในประเทศ และต่อมาได้ยกเลิกข้อบังคับเข้มงวดต่อการทำงานของสื่อมวลชน นับตั้งแต่รัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีเต็งเส่งเข้ามามีอำนาจในปีนี้ ภายหลังจากรัฐบาลทหารพม่าซึ่งถูกกล่าวหาอย่างหนักในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้จัดการเลือกตั้งเมื่อ 7 พ.ย. ปีที่แล้ว

สำหรับระเบียบก่อนหน้านี้ สิ่งพิมพ์ทุกชนิดในพม่าจะต้องส่งต้นฉบับมายังกรม PSRD เสียก่อน ต่อมา หลังจากวันที่ 10 มิ.ย. เป็นต้นมากรมดังกล่าวอนุญาตให้สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับประเด็นข่าวบันเทิง กีฬา เทคโนโลยี สุขภาพ และเด็ก ทำการ ‘เซ็นเซอร์ตัวเอง’ โดยให้บรรณาธิการของสิ่งพิมพ์นั้นๆ ลบข้อความที่ละเอียดอ่อนออก แทนวิธีการเดิมที่ให้ส่งต้นฉบับมายังกรม

ขณะที่สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองและประเด็นอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าละเอียด ยังคงต้องส่งต้นฉบับมายังกรม PSRD ตรวจสอบเสียก่อน

นายทิน ส่วย กล่าวด้วยว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมก่อนที่สิ่งพิมพ์ทั้งหลายจะ “เป็นอิสระจากการเซ็นเซอร์ทั้งหมด” และเป็นครั้งแรกที่เอกชนจะได้รับอนุญาตให้ผลิตหนังสือพิมพ์รายวัน ภายใต้กฎหมายสื่อมวลชนฉบับใหม่ ซึ่งร่างของกฎหมายดังกล่าวกำลังจะเข้าสภา

ในการสัมภาษณ์กับวิทยุ RFA นายทิน ส่วย กล่าวด้วยว่าหนังสือพิมพ์ยังได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์รายงานเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างนางออง ซาน ซูจี โดยไม่มีการใช้ข้อห้ามที่ถูกกำหนดขึ้นก่อนหน้านี้โดยรัฐบาลทหาร

ทั้งนี้เมื่อเดือนก่อน นิตยสารรายสัปดาห์ “Messenger” ถูกยกเลิกการจำหน่ายเป็นเวลาสองสัปดาห์ เนื่องจากตีพิมพ์ภาพออง ซาน ซูจีที่หน้าปก (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

แต่ตอนนี้ ไม่มีข้อห้ามเรื่องการรายงานข่าวกิจกรรมของออง ซาน ซูจี และคาดว่าเสรีภาพน่าจะเพิ่มมากขึ้นภายในเร็ววันนี้ ขณะที่ประเทศก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีประชาธิปไตย” เขากล่าว

เมื่อเดือนที่แล้วเช่นกัน เจ้าหน้าที่พม่าได้ยกเลิกการปิดกั้นเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ เว็บไซต์ข่าวของสื่อมวลชนพม่าที่อยู่ในต่างประเทศ รวมทั้งเว็บไซต์ยูทิวป์ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชน (Committee to Protect Journalists - CPJ) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเฝ้าระวังสถานการณ์สื่อในพม่ายังคงระบุว่าพม่ายกคงเป็นประเทศที่เซ็นเซอร์สื่อขนาดใหญ่ และเข้มงวดมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และมีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 14 คน ถูกจับกุม

โดยในจำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกจับกุมมี "ซิตตู่ เซยะ" ช่างภาพสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยพม่า ซึ่งเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศาลพม่าได้เพิ่มโทษจำคุกเขารวมเป็นเวลา 18 ปี หลังรายงานข่าวเหตุระเบิดกลางเมืองย่างกุ้ง ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีก่อน ขณะที่พ่อของเขา "หม่อง หม่อง เซยะ" ก็ถูกศาลพม่าจำคุก 13 ปีเช่นกันในข้อหาติดต่อกับฝ่ายรัฐบาลพลัดถิ่นพม่าในประเทศไทย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ในรายงานของ CPJ เมื่อเดือนก่อนระบุว่ารัฐบาลยังคงดำเนินการ “ล่วงละเมิดอย่างเป็นระบบ, คว่ำบาตร, และควบคุมตัวสื่อมวลชน รวมทั้งต่อนักข่าวใต้ดินที่ทำงานให้กับสื่อมวลชนพม่าในต่างประเทศ”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น