โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักข่าวพลเมือง: แห่ 6 ศพ เสื้อแดงก่อนฌาปนกิจ

Posted: 15 Oct 2011 12:32 PM PDT

เสื้อแดงจัดฌาปนกิจ 6 ศพ ผู้เสียชีวิต 10 เมษา 2553 ณ วัดบำเพ็ญเหนือ มีนบุรี 16 ตุลาคม นี้ เวลา 10.00น.-17.00น.

เช้ามืดวันนี้ (15 ตุลาคม 2554) กลุ่มญาติวีรชน 10 เมษา แห่ขบวนศพจากวัดพลับพลาไชยผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถนนราชดำเนิน

กลุ่มญาติวีรชนแต่ละครอบครัวได้ประกอบพิธีรำลึก ณ จุดที่วีรชนเสียชีวิต จากนั้นจึงมุ่งหน้าไปยังวัดบำเพ็ญเหนือ เขตมีนบุรี เพื่อประกอบพิธีประชุมเพลิงศพวีรชนคนเสื้อแดงในเวลา 10.00น.-17.00น. ของ วันที่ 16 ตุลาคม 2554 ต่อไป

ศพวีรชนคนเสื้อแดงทั้ง 6 นี้ประกอบด้วย สวาท วางาม ทศชัย เมฆงามฟ้า จรูญ ฉายแม้น บุญธรรม ทองผุย สยาม วัฒนนุกูล และมนต์ชัย แซ่จอง ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตเนื่องจากเหตุสลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน 2553 บริเวณสี่แยกคอกวัว

อนึ่งในงานแห่ศพผู้เสียชีวิตที่ได้จัดขึ้นในครั้งนี้นอกจากนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ นางสาวกมนเกด อัคฮาด อาสาพยาบาลที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิตในเขตอภัยทาน ที่วัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 แล้วไม่ปรากฎว่ามีแกนนำ นปช.เข้าร่วมเลยแม้แต่คนเดียว

ตำแหน่งที่มนต์ชัย แซ่จองถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: ชาวบ้านสวนปาล์ม รุกพบรองนายกฯ ยงยุทธ จี้แก้ปัญหาที่ดิน-กลุ่มอิทธิพล

Posted: 15 Oct 2011 11:34 AM PDT

 
วันนี้ (15 ต.ค.54) ตัวแทนชาวบ้านสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เข้าพบและยื่นหนังสือต่อ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เดินทางมาทอดกระถินที่วัดเขาพระนิ่ม อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฏร์ธานี พร้อมชี้แจงเกี่ยวกับกรณีปัญหาที่ดินทำกิน และเรื่องความไม่ปลอดภัยจากกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่สวนปาล์ม โดยหลังการพูดคุยชี้แจงประมาณ 5 นาที นายยงยุทธรับปากดูแลปัญหาของชาวบ้านอย่างเร่งด่วน
 
 
ต่อเนื่องจาก วานนี้ (14 ต.ค.54) ชาวบ้านชุมชนไทรงามพัฒนา พร้อมสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้เข้ายื่นเรื่องที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อส่งหนังสือถึง นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอคัดค้านการประกันตัว นายสุนทร ช่วยบำรุง และนายพงศักดิ์ สุขขาทิพ ผู้ต้องหา หมายเลขคดี ป.2261/54 พร้อมรายชื่อของชาวบ้านเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ 255 คน ที่ร่วมคัดค้านการประกันตัวดังกล่าว และเอกสารลำดับเหตุการณ์ที่ผู้ต้องหาก่อเหตุก่อนหน้านี้ เนื่องจากถึงวันครบกำหนดการฝากขัง 7 วัน
 
หนังสือดังกล่าวระบุเหตุผลการคัดค้านการประกันตัวว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และ อ.เขาพนม จ.กระบี่ เกรงออกมาใช้อิทธิพล ข่มขู่ทำลายพยานหลักฐาน และอาจเกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน เพราะโกรธแค้นที่สมาชิกชุมชุมแจ้งความทำให้โดนจับกุม อีกทั้งที่ผ่านมา ผู้ต้องหาเคยนำอาวุธสงครามเข้าไปข่มขู่คุกคามและก่อรุนแรงต่อชาวบ้านในชุมชนคลองไทร และชุมชนไทรงามพัฒนา ซึ่งเป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้อย่างต่อเนื่อง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ผู้ต้องหาทั้งสองคนยังคงขังถูกฝากขังต่อที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
ทั้งนี้ การจับกุมผู้ต้องหาดังกล่าวสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 7 ต.ค.54 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ชัยบุรี ได้รับแจ้งเหตุจากชาวบ้านชุมชนไทรงามพัฒนา หมู่ที่ 5 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี ว่ามีกลุ่มอิทธิพลเข้าไปคุกคามชาวบ้านในพื้นที่ จึงลงพื้นที่ดูเหตุการณ์ พบรถกระบะต้องสงสัยจึงเรียกตรวจแต่ผู้ต้องหาขับหนี จึงเกิดการไล่ล่าและยิงต่อสู้กันขึ้น สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมคนร้าย 2 คน พร้อมอาวุธปืนขนาด 11 มม. จำนวน 1 กระบอก, ปืนขนาด .22 แม็กนั่ม 1 กระบอก, ปืนลูกซองยาว ชนิดบรรจุกระสุน 3 นัด และปืนไรเฟิลจำนวน 1 กระบอก อีกทั้งยังมีกระสุนจำนวนมาก
 
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ฯ ร้องทุกข์ให้แก้ปัญหากลุ่มอิทธิพลสวนปาล์ม อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากมีกลุ่มชาวบ้านไร้ที่ดินทำกินซึ่งเข้าไปทำการเกษตรและจัดตั้งเป็นชุมชนในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) ในหมู่ที่ 5 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี ถูกคุกคามด้านความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินจากกลุ่มอิทธิพลดังกล่าว
 
ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา คือ 1.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ช่วยดูแล กำกับ นายอำเภอชัยบุรีให้ควบคุมกำกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หมู่ที่ 2 และหมู่ 5 ต.ไทรทอง และการปฏิบัติหน้าที่ของชุดรักษาความสงบหมู่บ้านที่หลายครั้งปฏิบัติการผิดวัตถุประสงค์2.ให้นายอำเภอชัยบุรีควบคุมกำกับการยิงปืนและพลุไฟตอนกลางคืนในแคมป์ของผู้ประกอบการสวนปาล์มซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับชุมชน
 
3.ให้ตรวจค้นอาวุธในแคมป์ของผู้ประกอบการจำนวน 3-4 แห่ง ในพื้นที่หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 2 ต.ไทรทอง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฏร์ธานี 4.ให้หน่วยงานระดับอำเภอและสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฏร์ธานีเร่งดำเนินการรื้อประตูเหล็กที่กลุ่มอิทธิพลนำมาปิดกั้นถนน ซึ่งเป็นทางสัญจรสาธารณะในเขต ส.ป.ก.
 
5.ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฏร์ธานีดำเนินการให้อัยการผู้ดำเนินคดีฟ้องขับไล่ นายเกษม เจริญพานิชย์ ออกจากพื้นที่กว่า 1,700ไร่ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัย และทำการเกษตรของกลุ่มชาวบ้าน 5 ชุมชน พร้อมยื่นเรื่องให้มีการบังคับคดีรื้อถอนแคมป์ที่พักคนงาน เนื่องจากศาลชั้นต้นได้พิพากษาขับไล่นายเกษม (จำเลย) และบริวารพร้อมทั้งให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้าง ที่พักคนงาน, สำนักงาน ออกจากพื้นที่ดังกล่าว โดยคดีนี้จำเลยได้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับคำขออุทธรณ์ จึงถือว่าคดีได้สิ้นสุดแล้ว 
 
 
 
 
๑๔    ตุลาคม ๒๕๕๔
 
เรื่อง ขอคัดค้านการประกันตัว นายสุนทร ช่วยบำรุง และนายพงศักดิ์ สุขขาทิพ ผู้ต้องหา หมายเลขคดี ป.๒๒๖๑/๕๔
 
เรียน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. รายชื่อผู้ร้องคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา จำนวน ..................... คน
๒. ลำดับเหตุการณ์ความรุนแรงที่คุกคามชุมชนคลองไทรพัฒนาและเหตุการณ์ที่ชุมชนไทรงาม 
                พัฒนา
 
เนื่องจาก ผู้ต้องหาเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานีและอำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ได้นำอาวุธสงครามมาข่มขู่คุกคามและก่อเหตุการณ์ความรุนแรงกับชาวบ้านในชุมชนคลองไทร และบ้านไทรงามพัฒนาที่เป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) อย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านทำได้แค่แจ้งความร้องทุกข์ ลงบันทึกประจำวัน ไว้ที่ สภ.ชัยบุรี และบางเหตุการณ์ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับลงบันทึกประจำวันและจากการให้ข้อมูลของชาวบ้านในพื้นที่ว่ากลุ่มนายสุนทรยังเป็นกลุ่มอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และผลประโยชน์จากผลอาสิน
 
จากเหตุร้ายที่เกิดขึ้นหลายครั้งนี้จะ เห็นได้ว่ากลุ่มนายสุนทรเป็นกลุ่มอิทธิพลที่ไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง จึงได้ขยายพื้นที่เข้าไปคุกคามชาวบ้านในชุมชนไทรงามพัฒนา หมู่ที่ ๕ ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เหตุการณ์ล่าสุดนายสุนทรและพวกรวม ๔ คน ได้เข้ามาพูดจาข่มขู่สมาชิกในชุมชนจนมีปากเสียงกันกลุ่มนายสุนทรได้ชักอาวุธปืนจ่อศีรษะชาวบ้านที่มีปากเสียงกัน ทางตัวแทนชุมชนเห็นเหตุการณ์ไม่น่าไว้วางใจจึงได้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ชัยบุรี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ หลังจากรับแจ้งเหตุ ได้พบกับรถของนายสุนทร จนเกิดเหตุการณ์การขัดขวางการจับกุมขึ้นตามรายละเอียดที่แนบมา เพื่อท่านได้พิจารณา 
 
ดังนั้น ชาวบ้านจึงมีความเห็นร่วมกันว่าถ้านายสุนทร และพวกได้ประกันตัวออกไป จะใช้อิทธิพล ข่มขู่ทำลายพยานหลักฐานได้ และอาจใช้อิทธิพลทำลายชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านเพราะโกรธแค้นที่ชาวบ้านสมาชิกแจ้งเหตุไปที่โรงพัก อันเป็นเหตุให้โดนจับ ชาวบ้านในชุมชนทั้ง 5 ชุมชนจึงขอร้องเรียนมายังท่านโปรดพิจารณาคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คนตามหมายเลขคดี ป. 2261/54 พรอ้มทั้งเอกสารประกอบการพิจารณาของท่านตามที่เรียนมาข้างต้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะกรุณามองเห็นถึงความเดือดร้อน และความปลอดภัยในชีวิตของชาวบ้านในครั้งนี้
 
            จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา          
 
                                                      ขอแสดงความนับถือ
                                             
ชื่อ……………………..ตัวแทนชุมชน
(……………………………)
 
ชื่อ………………………ตัวแทนชุมชน
(……………………………)
 
ชื่อ……………………….ตัวแทนชุมชน
(……………………………)
 
ชื่อ………………………….ตัวแทนชุมชน
(……………………………)
 
ชื่อ……………………..ตัวแทนชุมชน
(……………………………)
 
 
 
 
 
 
๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๔
 
เรื่อง  ร้องทุกข์ให้แก้ปัญหากลุ่มอิทธิพลสวนปาล์มอำเภอชัยบุรีจังหวัดสุราษฎร์ธานี
 
เรียน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฏร์ธานี
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย. รายงานการปฏิบัติการของกลุ่มอิทธิพลสวนปาล์มอำเภอชัยบุรี
. รายงานเหตุการณ์และสถานการณ์ล่าสุด การปฏิบัติการของกลุ่มอิทธิพลสวนปาล์มอำเภอชัยบุรีที่เข้ามาข่มขู่ ขับไล่กลุ่มเกษตรกร ๖ ชุมชนให้ออกจากพื้นที่
. เอกสารการแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มอิทธิพลสวนปาล์มที่กระทำต่อกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ๖ ชุมชน
. เอกสารการอนุญาตให้กลุ่มเกษตรกร ทำการเกษตร และอยู่อาศัยในพื้นที่ชั่วคราวจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินแห่งชาติ
. มติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ โดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่วนที่ ๖ ข้อที่ ๖.๒.๑ คณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน    
          
เนื่องจากมีกลุ่มชาวบ้านไร้ที่ดินทำกินได้เข้าไปทำการเกษตรและจัดตั้งเป็นชุมชนในที่ดินที่เป็นพื้นที่ เขตปฏิรูปที่ดิน (สปก.) ในหมู่ที่ ๕ ตำบล ไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฏร์ธานี กำลังประสบกับปัญหาภัยคุกคามด้านความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินจากการปฏิบัติการของกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่กลุ่มนี้
 
จากสาเหตุเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐขาดการปฏิบัติการที่เข้มแข็ง จริงจัง ในการแก้ปัญหาดังกล่าว และจากความไร้ประสิทธิภาพทางปฏิบัตินี้เองที่ทำให้กลุ่มอิทธิพลเหิมเกริม ไม่เกรงกลัวกฎหมายในการกระทำผิดครั้งแล้วครั้งเล่าในรูปแบบต่างๆ จากสภาพความเป็นจริงที่พบเห็นในปัจจุบันพื้นที่ หมู่ที่ ๕ , หมู่ที่ ๒ ในตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี ได้พัฒนาการกลายเป็นที่ซ่องสุมของคนที่หนีคดี และกลุ่มมือปืน รวมถึงการพัฒนาการของกลุ่มค้ายาเสพติดด้วย อนึ่ง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๕ และกำนัน ในตำบล รวมทั้งข้าราชการบางส่วนในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงทำให้เกิดเป็น พื้นที่อันตรายขึ้นในหมู่ที่ ๕ ซึ่งเป็นสวนปาล์มน้ำมันที่มีอาณาเขตกว้างขวางหมื่นกว่าไร่และเป็นพื้นที่รอยต่อ ๓ จังหวัด คือ กระบี่ นครศรีธรรมราช และสุราษฏร์ธานี โดยเฉพาะการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของกลุ่มอิทธิพลยาเสพติดได้โยงใยสัมพันธ์กับกลุ่มนักการเมืองบางกลุ่ม ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งเป็นเหตุให้พี่น้องเกษตรกร ที่เรียกร้องที่ดินทำกินจากภาครัฐต้องเผชิญกับปัญหา กลุ่มอิทธิพลที่ซับซ้อนและเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตมากยิ่งขึ้น
 
ดังนั้นกลุ่มเกษตรกรจึงขอร้องทุกข์ต่อท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านธีระยุทธ เอี่ยมตระกูลให้ช่วยแก้ปัญหานี้ด้วย
 
ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหามีดังนี้
 
ข้อที่ ๑. ให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยดูแล กำกับ นายอำเภอชัยบุรีให้ควบคุมกำกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หมู่ที่ ๒ และหมู่๕ ตำบลไทรทอง และการปฏิบัติหน้าที่ของชุดรักษาความสงบของหมู่บ้านที่หลายครั้งปฏิบัติการผิดวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย
 
ข้อที่๒. ให้นายอำเภอชัยบุรีควบคุมกำกับการยิงปืนและพลุไฟในแคมป์ของผู้ประกอบการยามค่ำคืนซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับชุมชน
 
ข้อที่ ๓.ให้ตรวจค้นอาวุธในแคมป์ของผู้ประกอบการจำนวน ๓-๔ แคมป์ในพื้นที่หมู่ที่ ๕ และหมู่ที่ ๒                      ตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี จังหวัดสุราษฏร์ธานี
 
ข้อที่๔. ให้หน่วยงานอำเภอและสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฏร์ธานีเร่งดำเนินการรื้อ ประตูเหล็กที่กลุ่มอิทธิพลนำมาปิดกั้นถนนซึ่งเป็นทางสัญจรสาธารณะในเขต สปก.
 
ข้อที่๕.ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฏร์ธานีดำเนินการให้อัยการผู้ดำเนินคดีฟ้องขับไล่ นายเกษม เจริญพานิชย์ได้นำคำบอกกล่าว ให้ศาลบังคับคดีรื้อถอนแคมป์ที่พักคนงาน เนื่องด้วยคดีของนายเกษม เจริญพานิชย์ศาลชั้นต้น ได้พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมทั้งให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้าง ที่พักคนงาน, สำนักงาน ออกจากพื้นที่ดังกล่าว คดีนี้จำเลยได้อุทธรณ์แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับคำขออุทธรณ์จึงถือว่าคดีได้สิ้นสุดแล้ว (แปลงพื้นที่ นายเกษม เจริญพานิชย์มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๗๐๐ กว่าไร่ ปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัย และทำการเกษตรของกลุ่มชาวบ้าน ๕ ชุมชน)
 
            จึงเรียนมาเพื่อทราบและขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดโปรดพิจารณาดำเนินการด้วย
                                                     ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
 
ลงชื่อ…………………………………………………ผู้แทนชุมชนไทรงามพัฒนา ๑
(………………………………………………)
 
ลงชื่อ ……………………………………………… ผู้แทนชุมชนไทรงามพัฒนา ๒
(……………………………………………...)
 
ลงชื่อ ……………………………………………… ผู้แทนชุมชนไทรงามพัฒนา ๓
(……………………………………………….)
 
ลงชื่อ…………………………………………….. ผู้แทนชุมชนไทรงามพัฒนา ๔
(……………………………………………….)
 
ลงชื่อ …………………………………………… ผู้แทนชุมชนสันติพัฒนา
(……………………………………………….)
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เลิกมองพระสงฆ์กับการเมืองแบบโรแมนติกเสียที

Posted: 15 Oct 2011 11:12 AM PDT

มีเพื่อนๆ ทาง fb วิจารณ์การแสดงความเห็นทางการเมืองของพระรูปหนึ่ง เป็นคำบรรยายและบทสนทนาใต้ภาพที่ขึ้นสเตตัสของท่าน ผมเห็นว่าความเห็นดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว จึงนำเสนอให้ช่วยกันคิดต่อ
 
 
ภาพที่ 1 และคำบรรยายใต้ภาพ
 
 
 
 
เล่นกันแต่คุณไสย ตั้งแต่เทเลือด-สาดเลือด ยันทาสีแดงทั่วองค์พระพรหม ไหนว่าก้าวหน้ากันนัก เสรีนิยมกันนัก อยากให้เท่าเทียม เสมอภาค ประชาธิปไตย สุดท้ายก็ไม่พ้นผี ไม่พ้นเทพ แถมชนะเลือกตั้งท่วมท้น พี่ชายก็ยังไม่มีแผ่นดินอยู่ อยู่ดี...พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ไม่กระดิก แต่ทะลึ่งจะไปสะกดเทพเทวดา...ไม่มีใครสั่งสอนหรือว่า..จะเป็นนักการเมืองที่ดี ต้องบริหารให้โปร่งใส ซื่อตรงและมุ่งเอาประโยชน์ของประเทศชาติประชาชนเป็นหลัก
 
หากอยู่ในศีลในธรรม ธรรมะและความสามารถในการทำงานก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในงานการเมือง โดยไม่ต้องมีพี่บอกบทและไม่ต้องจ้างผีไอ้ตู่ไอ้เต้นมาโม่แป้งเพราะหวังเศษเงิน และต่อให้มีมวลชนยี่สิบสามสิบล้าน หากไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสุดท้ายอนาคตก็คงไม่ต่างจากพี่ชาย หรือผู้นำประเภทเดียวกัน



ฝากใครไปบอกนายกฯยิ่งลักษณ์ด้วยเถิด ว่าตอนนี้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชาติบ้านเมือง ไม่ใช่ไสยศาสตร์มนต์ดำ แต่คือการ "ยอมลาออก" และให้คนมีฝีมือเข้ามาแก้วิกฤติให้บ้านเมือง ถ้ากลัวว่าจะเสียผลประโยชน์ของตนและพรรคพวกก็ลองหาดูในพรรคเพื่อไทยนั่นแหละ คงพอหาได้บ้าง อย่ามัวหวงเก้าอี้กระทั่งยอมให้บ้านเมืองล่มจมอยู่เลย
 
 
ภาพที่ 2 : บทสนทนาธรรมในสถานการณ์น้ำท่วม
 
 
จากปกมติชน พระรูปนั้นแสดงความเห็นว่า "ไร้รสนิยม" พระไพศาล วิสาโล ก็เข้ามาแสดงความเห็นว่า "เขาอาจต้องการบอกก็ได้ว่า ตอนนี้เดือดร้อนไปทั่ว แม้แต่พระก็ต้องหนีน้ำมาฉันเพลบนถนน" พระรูปนั้นตอบไปว่า “สงสัยนิดๆ ครับหลวงพี่เตี้ย ว่าหากน้ำท่วมบ้านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และนายกกับสามีกำลังจะช่วยกันขนของ โดยนายกยิ่งลักษณ์กำลังนุ่งกระโจมอก (เป็นเรื่องสมมติชนิดเหนือจริงมาก) บก.เสถียรกับหนุ่มเมืองจันทร์ จะมีอารมณ์ขัน เอารูปมาขึ้นปก ทำนองว่า.. "ยิ่งปู ก็ยิ่งเปลือย" อะไรประมาณนี้หรือเปล่า?...
 
ภาพที่ 3 (โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม)
 
เพื่อนถามผมว่า พระแสดงความเห็นทางการเมืองจะแจ้งแบบนี้ได้หรือ? ผมตอบไปว่าปกติพระก็แสดงความเห็น หรือเกี่ยวข้องกับการเมืองแบบจะแจ้งอยู่แล้ว เพียงแต่เราอาจมองเห็นบางเรือง แต่ทำเป็นมองไม่เห็นในบางเรื่อง เช่น เรื่องอวยเจ้า การเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรในวันสำคัญ การเทศนายอพระเกียรติ หรือสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรสก็แสดงธรรมสนับสนุนการส่งทหารไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นผู้วางระบบการศึกษาสงฆ์และการศึกษาฝ่ายบ้านเมือง เพื่อปลูกฝังอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นต้น
 
เรื่องที่เป็นบวกแก่รัฐหรือผู้มีอำนาจรัฐดังกล่าวเป็นต้นนี้ สังคมไทยถูกปลูกฝังให้ยอมรับกันเป็นปกติ ไม่รู้สึกว่าพระยุ่งกับการเมือง แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์เจ้า หรือผู้มีอำนาจรัฐ สังคมจะรู้สึกทันทีว่าพระยุ่งการเมือง และเห็นว่าพระไม่ควรจะยุ่ง
 
จะเห็นว่าเป็นพระสงฆ์ไทยค่อนข้างวางตัวลำบาก ถ้าเป็นการเมืองที่รัฐหรือผู้มีอำนาจรัฐต้องการให้ยุ่ง พระสงฆ์จะไม่ยุ่งก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะถูกหาว่าไม่ให้ความร่วมมือ กระทั่งกระด้างกระเดื่อง ถ้าเป็นการเมืองที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบรัฐที่พระสงฆ์เห็นว่าควรทำ รัฐหรือสังคมก็บอกว่าไม่ควรมายุ่ง
 
ตกลงพระไทยก็ยุ่งการเมืองทั้งสองแบบเลย แต่ส่วนใหญ่จะยุ่งการเมืองที่เป็นการสนับสนุนผู้มีอำนาจรัฐ โดยเฉพาะชนชั้นนำในวงการสงฆ์มักจะเข้ากันได้กับทุกฝ่ายที่เข้ามามีอำนาจรัฐเพื่อรักษาสถานภาพของตนเอง
 
ที่ว่ามานี้คือข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น แต่โดยหลักการแล้วก็ไม่มีวินัยสงฆ์ห้ามพระยุ่งการเมืองเอาไว้โดยตรง มีแต่ต้องดูแบบอย่างการปฏิบัติของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์เกี่ยวข้องกับการเมืองในบทบาทของผู้สอนจริยธรรมแก่ผู้ปกครอง บางคราวก็เข้าไปยุติความขัดแย้งในบางเรื่องที่พอจะทำได้เท่านั้น
 
ส่วนในทางกฎหมายมีคำสั่งมหาเถรสมาคม (มส.) เรื่อง “ห้ามพระภิกษุสามเณรเกี่ยวข้องกับการเมือง พ.ศ.2538” ที่มีบางข้อห้ามพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการเมืองเอาไว้ว่า…
 
ข้อ 4 ห้ามพระภิกษุสามเณรเข้าไปในที่ชุมนุม หรือในบริเวณสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใด หรือในที่ชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่ากรณีใดๆ  
 
ข้อ 5 ห้ามพระภิกษุสามเณรกระทำการใดๆ อันเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่การหาเสียง เพื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาเทศบาล หรือสภาการเมืองอื่นใดแก่บุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ 
 
ข้อ 6 ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมชุมนุมในการเรียกร้องสิทธิของบุคคลหรือคณะบุคคลใดๆ 
 
ข้อ 7 ห้ามพระภิกษุสามเณรร่วมอภิปราย หรือบรรยายเรื่องเกี่ยวกับการเมืองซึ่งจัดตั้งขึ้นทั้งในวัดและนอกวัด
 
แต่คำสั่งที่ว่ามานี้ก็แทบไม่มีผลบังคับได้จริง แค่ดูเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองกว่า 5 ปี ที่ผ่านมา ก็มีพระสงฆ์ที่เป็นพระเกจิอาจารย์ตั้งแต่ระดับ “พ่อแม่ครูบาอาจารย์” พระราชาคณะ (ว่ากันว่ามีพระผู้ใหญ่บางรูปคุยโทรศัพท์สายตรงกับคุณทักษิณอยู่บ่อยๆ) ลงมาจนถึงหลวงตา พระเล็กพระน้อยจากวัดในชนบท ต่างก็ออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง และชุมนุมทางการเมือง โดยไม่แยแสต่อคำสั่งดังกล่าวแต่อย่างใด
 
ฉะนั้น เราควรจะเลิกหลอกตัวเอง หรือเลิกมองอะไรอย่างแมนติกเสียที เช่นว่าพระสงฆ์บริสุทธิ์จากการเมือง อยู่เหนือการเมือง คือไม่ว่าสถาบันไหนที่เราบอกว่า “อยู่เหนือการเมือง” นั่นก็เป็นเพียงมายาคติ ในความเป็นจริงมันไม่ใช่
 
เมื่อไม่ใช่ เราก็ต้องมีกติการองรับให้ชัดว่าควรจะเป็นอย่างไร เมื่อพระสงฆ์มายุ่งกับการเมืองได้สถานะในทางสังคมการเมืองของพระสงฆ์ต้องอยู่ภายใต้หลักเสรีภาพ และหลักความเสมอภาคเหมือนพลเมืองคนอื่นๆ คือพระมีเสรีภาพวิจารณ์หรือด่าคนอื่นได้ คนอื่นๆ ก็มีเสรีภาพวิจารณ์หรือด่าพระได้อย่างเสมอภาคเช่นกัน
 
เมื่อถูกชาวบ้านวิจารณ์หรือด่ากลับ พระไม่ควรออกอาการ “ดิ้นพล่าน” หรือจะมาอ้างสถานะพิเศษใดๆ ไม่ได้ จะมาบอกว่าชาวบ้าน “กำเริบเสิบสาน” หรือไม่ให้ความเคารพนบนอบในความเป็นพระของตนไม่ได้ ถ้าไม่อยากถูกวิจารณ์ ถูกด่า ก็อย่าเสร่อมาแสดงความเห็น หรือยุ่งเกี่ยวกับการเมืองก็เท่านั้นเอง  
 
ในโลกของความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าพระจะรู้เรื่องธรรมะดีกว่า ลึกซึ้งกว่า มีศีลธรรมสูงส่งกว่าชาวบ้านเสมอไปหรอกครับ หรือต่อให้รู้ธรรมะดีกว่า มีศีลธรรมสูงกว่า กระทั่งถูกยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ ก็ไม่ได้หมายความว่า มุมองทางการเมืองของพระเช่นนั้นจะมีเหตุผลดีกว่า ถูกต้องกว่ามุมองของคนขับแท็กซี่ แม่ค้าขายส้มตำ หรือชาวบ้านธรรมดาๆ ทั่วไปหรอกครับ ฉะนั้น ในทางการเมืองจึงไม่มีใครมีอภิสิทธิ์ทางศีลธรรมเหนือใคร
 
ที่สำคัญพระที่สอนชาวบ้านว่าไม่ควรมีอคติ และมักตัดสินคนเลือกสีเหลือกฝ่ายว่ามีอคติ เอาพวกเหนือความถูกต้องอะไรต่างๆ นั้น (ทั้งที่เป็นไปได้ว่าเขาอาจเลือกพระยึดหลักการ) บางรูปก็ “มือถือสากปากถือศีล” (หมายถึงการกระทำขัดแย้งกับสิ่งที่สอน) เช่น เราไม่อาจมองได้ว่า ความเห็นทางการเมืองของพระที่ยกมาข้างต้นนั้นเป็นความเห็นที่ปราศจากอคติใดๆ เป็นต้น
 
จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านอย่างเราๆ จะวิจารณ์หรือด่า “ความเห็นทางการเมือง” บางความเห็นของพระบางรูปทาง fb กลับไปว่า เป็นความเห็นแบบตรรกะวิบัติ ที่ออกมาจากมโนธรรมชำรุด ผมรับรองครับว่า การวิจารณ์หรือด่ากลับประมาณนี้ “ไม่บาปมากว่าการฆ่าเวลา” อย่างแน่นอน!
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผุด ‘ดีอามานเซ็นเตอร์’ 600 ล้าน อีกหนึ่งธุรกิจใหญ่ในชายแดนใต้

Posted: 15 Oct 2011 10:35 AM PDT

มุสลิมเตรียมระดมทุนชายแดนใต้ ผุดโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ‘ดีอามานเซ็นเตอร์’ มูลค่า 600 ล้าน เริ่มพฤศจิกายน 2554 ขายหุ้นละ 300,000 บาท


ทันตแพทย์อับดุลกอเดร์ ยูโซะ

ทันตแพทย์อับดุลกอเดร์ ยูโซะ กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิโรรส จังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ตนพร้อมกับบุคคลที่มีชื่อเสียงใน 3 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 30 คน กำลังจะดำเนินโครงการดีอามานเซ็นเตอร์ (D-AMAN CENTER) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ มูลค่า 600 ล้านบาท บริเวณริมทางหลวงหมายเลข 418 สายยะลา-ปัตตานี บนพื้นที่กว่า 200 ไร่

ทันตแพทย์อับดุลกอเดร์ เปิดเผยต่อไปว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการใหญ่ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ โดยเริ่มจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ของแต่ละคน กระทั่งสุดท้ายจึงเกิดแนวคิดที่จะทำโครงการดีอามานเซ็นเตอร์ขึ้นมา

ทันตแพทย์อับดุลกอเดร์ เปิดเผยว่า สำหรับโครงการดีอามานเซ็นเตอร์ แบ่งการพัฒนาพื้นของเป็น 4 ส่วน ส่วนที่ 1 ศูนย์การค้าจำน่ายสินค้าที่ได้รับการรับรองฮาลาลทุกประเภท ส่วนที่ 2 สวนสนุก สวนน้ำ สปอร์ตคลับที่แยกระหว่างชายกับหญิง ส่วนที่ 3 ห้องประชุมสัมมนาและการจัดเลี้ยง ความจุ 500 คน และส่วนที่ 4 รีสอร์ทและสปา นอกจากนี้ยังมีศูนย์กระจายสินค้า ศูนย์ส่งเสริมสินค้าเกษตรและสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิม

ทันตแพทย์อับดุลกอเดร์ เปิดเผยด้วยว่า การลงทุนโครงการดีอามานเซ็นเตอร์ จะมาจากการระดมของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบการขายหุ้นๆ ละ 300,000 บาท เพื่อให้ครบ 600 ล้านบาท โดยจะเริ่มขายหุ้นในเดือนพฤศจิกายน 2554 นี้

“ตั้งเป้าว่าจะมีคนมาซื้อหุ้น 80% หากไม่ถึงก็ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ เนื่องจากไม่ได้ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ฉะนั้นต้องรอจนกว่าจะขายหุ้นได้เกือบหมดจึงจะเริ่มโครงการได้ แต่ไม่อยากบังคับประชาชนให้มีส่วนร่วม อยากให้ประชาชนเข้าร่วมด้วยตนเอง” ทันตแพทย์อับดุลกอเดร์ กล่าว

ทันตแพทย์อับดุลกอเดร์ เปิดเผยด้วยว่า เหตุที่เลือกบริเวณริมทางหลวงหมายเลข 418 เนื่องจากที่ดินมีราคาไม่สูง ต่างจากเขตเมืองที่มีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีกำลังซื้อน้อย เกรงว่าจะไม่ใครกล้าซื้อหุ้น เพราะจะต้นทุนสูงขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับคนลงทุนทำธุรกิจขนาดใหญ่ในพื้นที่นี้น้อยลง ไม่มีใครกล้าเสี่ยงใช้เงินลงทุนสูง

ทันตแพทย์อับดุลกอเดร์ กล่าวว่า การรวมหุ้นเพื่อประกอบธุรกิจประเภทอสังหาริมทรัพย์ จะเป็นการส่งเสริมให้คนมีงานทำ โดยการดำเนินงานจะให้สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถผนึกกำลังคนมุสลิมรุ่นใหม่ได้มาก เพราะมีความเชื่อมั่นว่าไม่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม เป็นการสร้างความสามัคคีปรองดองจากการทำธุรกิจร่วมกัน รวมทั้งเป็นการเตรียมรับการเปิดเสรีการค้าอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในระยะอันใกล้ การสร้างโอกาสเชิงธุรกิจให้คนในพื้นที่และสร้างภาพลักษณ์ในสายตาบุคคลภายนอก หลังจากเกิดปัญหาความไม่สงบมานานกว่า 8 ปี
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รวบมือทวิตแอบอ้างหลอกประชาชนบริจาคช่วยน้ำท่วมกับเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

Posted: 15 Oct 2011 09:55 AM PDT

รมว.ไอซีที เผยจับกุมผู้ใช้ทวิตเตอร์แอบอ้างว่าช่วยเหลือน้ำท่วมกับเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ชี้ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 54 ที่ผ่านมา ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวว่าเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมาหลังจากกระทรวงไอซีที ได้รับรายงานว่า ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ @tepwadol18 ใช้สถานการณ์ช่วงเกิดอุทกภัยขณะนี้ ทวีตข้อความและเลขที่บัญชีเพื่อรับบริจาคเงิน โดยเชิญชวนบริจาคเงินช่วยเหลือน้ำท่วมกับเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร โอนผ่าน ธ.กรุงเทพ สะสมทรัพย์ 589-0-87461-2 ชื่อบัญชี เทพวดล สิริธาดานุกูล สาขานิคมพัฒนา โดยเป็นข้อความที่เข้าข่ายหลอกลวงและหมิ่นเบื้องสูงนั้น

ล่าสุด กระทรวงฯ ได้ประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน และสามารถจับกุมผู้ต้องหากรณีดังกล่าวได้แล้ววันที่ 12 ต.ค. เวลาประมาณ 19.00 น. ชื่อ นายเทพวดล สิริธาดานุกูล อายุ 25 ปี อยู่ใน จ.ระยอง ส่วนกรณีที่สามารถจับกุมได้เร็วนั้น เพราะมีเอกสารและหลักฐานที่ระบุถึงตัวผู้กระทำความผิดได้ชัดเจน โดยเบื้องต้น อยู่ในขั้นตอนของพนักงานสืบสวนสอบสวน

รมว.ไอซีที กล่าวต่อว่า การกระทำดังกล่าวผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือ พ.ร.บ.คอม 2550 เป็นมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายหลอกลวงอ้างอิงเบื้องสูง ซึ่งผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ระบุว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย (1) พระมหากษัตริย์ (2) พระราชินี (3) รัชทายาท หรือ (4) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี

อย่างไรก็ตาม ไอซีทีส่งจดหมายไปยังผู้ให้บริการทวิตเตอร์เพื่อขอให้ปิดการใช้งานแล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วันที่อยู่อาศัยโลก’54 ภาคใต้ กลางเสียงเพรียกหาความมั่นคงในที่ดิน

Posted: 15 Oct 2011 09:31 AM PDT

ขบวนแรลลี่วันที่อยู่อาศัยโลก 2554 ภาคใต้ ร้องขอความมั่นคงในที่ดินอยู่อาศัยและที่ทำกิน จากพัทลุงสู่ตรังเข้าพังงาสู่ภูเก็ต ปิดงานวันที่อยู่อาศัยโลก’54ภาคใต้ ขบวนองค์กรชุมชน ขอหลักประกัน ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน


แรลลี่คนจน – ขบวนแรลลี่วันที่อยู่อาศัยโลก 2554 ภาคใต้ ร้องขอความมั่นคง
ในที่ดินอยู่อาศัยและที่ทำกิน จากพัทลุงสู่ตรังเข้าพังงา ไปปิดงานที่ภูเก็ต

จบสิ้นลงไปด้วยดี สำหรับงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2554 ภาคใต้ ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 10–12 ตุลาคม 2554 ในรูปแบบขบวน Car Rally เดินทางมาจากจังหวัดพัทลุง–ตรัง–พังงา กระทั่งจบลงที่ภูเก็ต

แม้ว่าการจัดงานที่พัทลุง และตรังฝนจะไม่ตก แต่การจัดงานที่พังงา ฝนกลับกระหน่ำตกอย่างหนัก จนขบวน Car Rally ต้องเดินทางฝ่าสายฝนมายังภูเก็ต ฝนมาหยุดตกก็ตอนใกล้รุ่งของวันที่ 12 ตุลาคม 2554 แทบไม่มีใครคาดคิดว่า การจัดงานวันสุดท้ายที่สนามหญ้าหน้าชุมชนท่าเรือใหม่รัษฎา จะรอดพ้นจากสายฝน

เต็นท์ในสนามหญ้าที่เปียกแฉะไปด้วยโคลน ขณะน้ำทะเลเอ่อปริ่มเต็มป่าชายเลน แต่นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้ร่วมงานก็ช่วยกันปลูกป่าชายเลน และปล่อยปู จนพิธีการสิ้นสุดลง ชาวบ้านจึงร่วมกันได้กินข้าวกลางวัน ก่อนแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา

ทุกพื้นที่มีการเสวนาแลกเปลี่ยนและพูดคุย พร้อมกับยื่นข้อเสนอในเชิงนโยบายต่อรัฐบาลผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ในประเด็นที่แตกต่างกัน

เริ่มจากช่วงเช้าของวันที่ 10 ตุลาคม 2554 ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง พื้นที่เปิดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2554 ภาคใต้

ที่นี่มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “ลำสินธุ์ตำบลแห่งการเรียนรู้” นายอุทัย บุญดำ ผู้ประสานงานเครือข่ายสินธุ์แพรทอง นำเสนอความเป็นมาของการลุกขึ้นมาจัดการตนเองของชาวลำสินธุ์ว่า ทุกวันที่ 9 ของทุกเดือน ชาวลำสินธุ์จะนัดกันมานั่งแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงปัญหาของชาวบ้านตำบลลำสินธุ์ โดยเน้นกระบวนสร้างคนเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาสาธารณะ โดยไม่เน้นการแก้ปัญหาเฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

“มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานของแต่ละกลุ่มในแต่ละชุมชน กระทั่งเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้หลักสูตรเกษตรพอเพียง เป็นศูนย์กลางของการอบรมเรียนรู้แลกเปลี่ยนของคนในตำบลลำสินธุ์ นำไปสู่การสามารถจัดการตนเองได้” นายอุทัย กล่าว

จากนั้นนายวิเชียร มณีโชติ ตัวแทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดพัทลุง ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล ผ่านนายประดิษฐ์ ทิพย์สุมาลัย ปลัดจังหวัดพัทลุง มีเนื้อหาว่าให้จังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมบูรณาการของขบวนองค์กรชุมชนระดับจังหวัด โดยมีองค์ประกอบจากภาคส่วนในจังหวัดตามสัดส่วนที่เหมาะสม เน้นการมีส่วนร่วมของขบวนองค์กรชุมชน และให้จังหวัดจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการปฏิบัติงาน

ให้จังหวัดให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล รวมทั้งประสานงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญ และสนับสนุนงบประมาณสมทบร่วมตามความเหมาะสม, ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปรับโครงสร้างคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัด (กบร. จังหวัด) โดยให้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้ามามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และให้ตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการแก้ปัญหาที่ดินในระดับพื้นที่อำเภอ ตำบล โดยมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วม เสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่อคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐระดับจังหวัด

ให้จังหวัดตั้งคณะทำงานประสานงานข้อมูลระหว่างเครือข่ายองค์กรชุมชนและภาครัฐในจังหวัด ทำหน้าที่ประสานข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง กับการแก้ปัญหาชุมชน หรือโครงการต่างๆ ของรัฐ ที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างมาก แม้จะเป็นโครงการที่ทำร่วมกับชุมชน เช่น การร่วมจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินเขตป่าก็ตาม, ให้จังหวัดจัดระบบสนับสนุนการดำเนินงานตามข้อเสนอการปฏิรูปประเทศไทย ในเรื่องสำคัญเร่งด่วน เช่น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มาตรการภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชนบท

และให้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโครงการของรัฐ ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เช่น โครงการขุดลอกคลอง อ่างเก็บน้ำ เขื่อน โรงไฟฟ้า และการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น รวมทั้งต้องศึกษาผลกระทบต่อระบบสิ่งแวดล้อมชุมชน ระบบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ขบวนแรลลี่วันที่อยู่อาศัยโลก 2554 ภาคใต้ ก็เคลื่อนขบวนมายังบ้านปากคลอง ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ที่นี่มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อสิทธิชุมชน การจัดการทรัพยากรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอะไรคือคำตอบ มีนายธรรมฤทธิ์ เขาบาท นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน นายเกษม บุญญา ประธานองค์กรชุมชนตำบลบ่อหิน นายอะเหร็น พระคง ประธานเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง นำเสวนา

นายเกษมเล่าถึงกระบวนการขับเคลื่อนในการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยขบวนองค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นความร่วมมือระหว่างเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง สภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อหิน และองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน

“ผลจากการร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและภาครัฐ นำไปสู่การออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อหิน กำหนดกฏเกณฑ์การแบ่งแนวเขตการทำประมงพื้นบ้าน ไม่ให้ใช้อุปกรณ์ประมงประเภททำลายล้าง ทั้งยังขับเคลื่อนปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ที่เกิดจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์” นายเกษม กล่าว

นายธรรมฤทธิ์ เปิดภาพบทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่นว่า จากการที่ตนเป็นคนพื้นที่ที่รู้ปัญหา จึงรู้ว่าคนในตำบลรวมตัวต่อสู้เรื่องทรัพยากรชายฝั่ง ก่อนเคลื่อนมาสู่ประเด็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย จึงนำองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นขับเคลื่อนร่วมกันไปกับชุมชน โดยคอยหนุนเสริมในส่วนที่สามารถช่วยได้ เพื่อแก้ปัญหาให้กับคนในตำบล

จากนั้นนายอะเหร็น พระคง ประธานเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ผ่านนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เน้นให้มีการจัดการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยมาตรการโฉนดชุมชน และเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินตามหลักฐานตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และมีการจัดทำผังชุมชน สนับสนุนการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการบ้านมั่นคง และให้มีการเฝ้าระวังการเผชิญภัย และฟื้นฟูหลังประสบภัยธรรมชาติ

ขบวนแรลลี่วันที่อยู่อาศัยโลก 2554 เคลื่อนมาถึงโรงเรียนเทศบาลบ้านท้ายช้าง อำเภอเมือง จังหวัดพังงา ตอนบ่ายของวันที่ 11 ตุลาคม 2554 ที่นี่ตั้งวงเสวนาเรื่อง “กระบวนชุมชนบทเรียนการแก้ปัญหาที่ดิน” มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นางทัศนา นาเวศน์ นายสัญชัย ครุฑธามาศ นายวิษณุ เหล่าธนถาวร และนายแนบ ชามทอง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา มีนายไมตรี กงไกรจักร นำเสวนา

นางทัศนา นำเสนอกรณีปัญหาชุมชนทับยาง ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงาว่า เดิมเป็นพื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ ที่เอกชนนำไปออกเอกสารสิทธิ์ทับที่อยูอาศัยและที่ทำกินของชาวบ้าน ต่อมาชาวบ้านเรียกร้องให้มีการพิสูจน์สิทธ์ที่ดิน จนพิสูจน์ได้ว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ ชาวบ้านต้องการที่จะครอบครองที่ดินภายใต้กรรมสิทธิ์ร่วมในรูปของโฉนดชุมชน ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการผลักดันในระดับนโยบายอยู่กับทางรัฐบาล

นายสัญชัย นำเสนอกรณีปัญหาชุมชนแหลมป้อม ตำบลน้ำเค็ม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงาว่า เดิมชุมชนแหลมป้อมเป็นพื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ เช่นเดียวกับชุมชนบ้านทับยาง มีการออกโฉนดทับที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน รวมทั้งเส้นทางสัญจรภายในชุมชน จนชาวบ้านไม่สามารถเข้า–ออกจากชุมชนได้ มีการพิสูจน์สิทธิ์จนพบว่า มีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ พอเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยในชั้นศาล ชาวบ้านยอมรับข้อเสนอของนายทุน ที่รับว่าจะคืนที่ดินบางส่วนให้กับชาวบ้าน โดยแบ่งแยกโฉนดยกให้ชาวบ้านแต่ละหลัง

“ต่อมานายทุนคู่พิพาทก็มากว้านซื้อกลับไป บีบให้ชาวบ้านต้องขาย ปัจจุบันชาวบ้านชุมชนแหลมป้อม ย้อนกลับไปเจอปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอีกครั้ง” นายสัญชัย กล่าว

นายวิษณุ นำเสนอกรณีปัญหาที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยของชาวบ้านอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังาว่า อำเภอคุระบุรีอยู่ในเขตที่ดินของรัฐเกือบทั้งอำเภอ นับตั้งแต่เขตอุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวน เขตป่าชายเลน ฯลฯ ปี 2550 ชาวบ้านเข้าไปโค่นยางพาราเพื่อปลูกใหม่ ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก

“ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่ดินจังหวัดพังงา มีการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ ทั้งในระดับส่วนกลางและระดับจังหวัด มีมติให้พิสูจน์สิทธิ์โดยการกันพื้นที่ป่าชายเลนออกจากชุมชน ทำให้สามารถออกเอกสารโฉนดที่ดินได้แล้ว 1 หมู่บ้าน” นายวิษณุ กล่าว

จากนั้น นายสมาน ทองเทือก ตัวแทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดพังงา ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ผ่านนางพิมพร ขอศานติวิชัย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพังงา มีเนื้อหาระบุว่า ให้จังหวัดกำหนดการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยเป็นวาระจังหวัด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2554 โดยร่วมกันดำเนินการสำรวจ กั้นแนวเขตป่าออกจากที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยให้ชัดเจนภายในปี 2560

ให้รัฐยกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องโฉนดชุมชนเป็นพระราชบัญญัติโฉนดชุมชน ให้รัฐชะลอแผนพัฒนาภาคใต้ โดยต้องให้ประชาชนร่วมกำหนดแผนพัฒนาที่เหมาะสม ก่อนการดำเนินงานต่อไป ให้มีการยุบรวมหน่วยงานแก้ปัญหาและฟื้นฟูภัยพิบัติให้เหลือเพียงหน่วยงานเดียว ให้รัฐกระจายการจัดการระบบการป้องกัน และฟื้นฟูภัยพิบัติ ทั้งสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัยพิบัติระดับตำบลทุกพื้นที่ ให้ภาครัฐแยกการฟื้นฟูชุมชนหลังภัยพิบัติออกจากปัญหาที่ดิน หรือข้อพิพาทเดิมของชุมชนอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังเสนอเกี่ยวกับประเด็นสวัสดิการ แรงงาน ผู้พิการ ประเด็นอาชีพ การเกษตร ประเด็นเกี่ยวกับสตรี เด็ก เยาวชน ทรัพยากรและการท่องเที่ยวด้วย

แม้ว่าการจัดงานที่พัทลุง และตรังฝนจะไม่ตก แต่การจัดงานที่พังงา ฝนกลับกระหน่ำตกอย่างหนัก จนขบวน Car Rally ต้องเดินทางฝ่าสายฝนมายังภูเก็ต ฝนมาหยุดตกก็ตอนใกล้รุ่งของวันที่ 12 ตุลาคม 2554 แทบไม่มีใครคาดคิดว่า การจัดงานวันสุดท้ายที่สนามหญ้าหน้าชุมชนท่าเรือใหม่รัษฎา จะรอดพ้นจากสายฝน แต่ก็รอดมาได้ชนิดหวุดหวิด

ที่ภูเก็ตมีการจัดเวทีเสวนา “ย้อนมองการพัฒนา สังคม ชุมชน ท้องถิ่น นโยบายกับความเป็นจริง” เกี่ยวกับการจัดการที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย สู่การจัดการกองทุนเมือง สวัสดิการชุมชน และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นายขนิฐ คงทอง ตัวแทนเครือข่ายที่ดินภาคใต้ นางวารุณี ธารารัตนากุล ตัวแทนเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต นางละออ ชาญกาญจน์ ตัวแทนเครือข่ายเมืองสงขลา นายสมยศ วิจักขณาวุธ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต มีนายสุวัฒน์ คงแป้น ผู้ชำนาญการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน นำเสวนา

บนเวทีเสวนานายขนิฐ พูดถึงระบบราชการที่ยุ่งยาก รัฐบาลแต่ละชุดค่อนข้างอ่อนแอ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องเริ่มจากชาวบ้าน ด้วยการจัดทำฐานข้อมูลของชุมชน ถ้าชาวบ้านไม่ลุกขึ้นผลักดัน ปัญหาทุกอย่างแทบจะไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากลุกขึ้นมาผลักดันแล้ว ชาวบ้านยังต้องร่วมกันติดตาม และเร่งรัดให้หน่วยงานภาครัฐ และรัฐบาลแก้ไข

ขณะที่นางละออมีความเห็นว่า ชาวบ้านควรหาแนวทางในการประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด และหน่วยงานรัฐ เพราะถึงแม้ชุมชนจะผลักดันอย่างไร ถ้าหากไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในท้องถิ่นต่างๆ ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข

ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอที่น่าสนใจจากนางวารุณีว่า ชุมชนควรจะเข้าร่วมทำแผนพัฒนาทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และระกับประเทศ เธอยกตัวอย่างเรื่องกระจายอำนาจ ที่ทางจังหวัดภูเก็ตกำลังผลักดัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกระจายงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น นั่นหมายถึงการดึงงบประมาณกลับมาพัฒนาชุมชน

“การดำเนินการของชุมชน ควรมองแผนพัฒนาของตำบล อำเภอ จังหวัด และคำนึงถึงการวางผังเมืองด้วย ที่ชุมชนบ้านน้ำเค็มมีการสร้างถนนใหม่รอบชุมชน ทำให้ชุมชนกลายเป็นแอ่งน้ำ เนื่องจากชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมวางแผนพัฒนา และจัดทำผังเมืองมาตั้งแต่ต้น” เป็นความเห็นของนายศักดา พรรณรังษี เลขานุการสหกรณ์เคหสถานบ้านน้ำเค็มพัฒนา จำกัด

นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ชาวบ้านต้องเรียนรู้กฎหมาย เพื่อจะได้รู้ว่ามีช่องทางไหนทำได้ ช่องทางไหนทำไม่ได้ ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตพร้อมจะให้การสนับสนุนชุมชน ถ้าเป็นไปได้อยากคุยกับชาวบ้านทุกเดือน เพื่อทำความเข้าใจและแก้ปัญหาร่วมกัน

นางสาวฒุฒิพร ทิพย์วงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ผ่านนายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต มีเนื้อหาขอให้ชุมชนในเครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต สามารถขอรับการพัฒนาที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ได้

ให้ยุติการดำเนินคดีกับชาวชุมชน ในการแก้ปัญหาของแต่ละชุมชนให้มีการเจรจาโดยมีตัวแทนของเครือข่ายฯ เข้าร่วมทุกครั้ง ให้ยุติการไล่รื้อชุมชนในทันที โดยเฉพาะการใช้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เป็นเครื่องมือในการไล่รื้อชุมชน

ชุมชนที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีให้สามารถพัฒนาชุมชนได้ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น และให้ดำเนินการตามมติที่มีการพิสูจน์สิทธิที่ดินแล้ว โดยหน่วยงานของรัฐบาลและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และให้ใช้มาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ สำหรับกลุ่มชาวเล (5 ชุมชนในจังหวัดภูเก็ต) ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนดั้งเดิมของเมือง และมีการพัฒนาและแก้ปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553

เต็นท์ในสนามหญ้าที่เปียกแฉะไปด้วยโคลน ขณะน้ำทะเลเอ่อปริ่มเต็มป่าชายเลน แต่นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้ร่วมงานก็ช่วยกันปลูกป่าชายเลน และปล่อยปู จนพิธีการสิ้นสุดลง ชาวบ้านจึงร่วมกันได้กินข้าวกลางวัน ก่อนแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาน

เป็นอันเสร็จสิ้นการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2554 ภาคใต้ ท่ามกลางเสียงร้องขอหลักประกัน “ความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน” ที่หล่นออกจากปากชาวบ้านตลอดรายทาง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กัมพูชายกเลิกงานเทศกาลประจำปีเหตุน้ำยังท่วมหนัก

Posted: 15 Oct 2011 09:02 AM PDT

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา ประกาศยกเลิกการจัดงานเทศกาลประจำปี ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบทศวรรษพุ่งขึ้นเป็น 247 คน

15 ต.ค. 54 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า นายกฯฮุนเซน ระบุว่า เงินงบประมาณที่นำไปใช้ในการจัดเตรียมงานเทศกาลน้ำ ที่กำหนดให้มีขึ้นในกรุงพนมเปญระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. จะนำไปช่วยเหลือประชาชนหลายหมื่นครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ
      
"หากเราไม่นำเงินงบประมาณไปเตรียมงานเทศกาลในกรุงพนมเปญ เราจะสามารถนำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนและซ่อมแซมความเสียหาย" นายกฯฮุนเซน แถลงผ่านสถานีโทรทัศน์ของประเทศวานนี้ (13 ต.ค.) และว่าระดับน้ำในแม่น้ำตนเลสาบตอนนี้สูงมาก เมื่อไหลผ่านเมืองอาจเป็นอันตรายกับผู้ที่มาร่วมงาน
      
เจ้าหน้าที่กัมพูชาระบุว่า บ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชนมากกว่า 270,000 ครอบครัวในทั่วประเทศ ต้องจมอยู่ใต้น้ำจากน้ำท่วมในช่วง 2 เดือนนี้ เพราะฝนที่ตกอย่างหนักติดต่อกันจนทำให้แม่น้ำโขงเอ่อล้นฝั่ง
      
นายกฯฮุนเซน กล่าวว่า รัฐบาล กาชาดกัมพูชา และองค์กรบรรเทาทุกข์ต่างๆ ได้ช่วยกันจัดส่งสิ่งของช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับผู้ประสบภัย จนถึงขณะนี้ความช่วยเหลือถึงมือผู้ประสบภัยแล้ว 76,000 ครอบครัว
      
ยอดผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมในกัมพูชาครั้งนี้นับเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 พื้นที่ปลูกข้าวจมน้ำเสียหายกว่า 2,437,500 ไร่ แต่รัฐบาลกัมพูชายังไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติแต่อย่างใด
      
เทศกาลน้ำของกัมพูชา เป็นงานประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงวันเพ็ญเดือน พ.ย. ประชาชนกว่า 2 ล้านคนเดินทางมายังเมืองหลวงเพื่อร่วมเฉลิมฉลองงานเทศกาลที่ประกอบไปด้วยการแข่งเรือยาวหลากสีสัน การแสดงพลุดอกไม้ไฟ และคอนเสิร์ต

อนึ่งเมื่อปี 2553 ได้เกิดเหตุโศกนาฎกรรมที่มีชาวกัมพูชาหลายร้อยคนเหยียบกันในงานเทศกาลน้ำ โดยเหตุเกิดขึ้นที่ไดมอนด์ ไอแลนด์ ใกล้สะพานตอนเหนือของกรุงพนมเปญ

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชาประกาศผ่านการประชุมทางวิดิโอยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิต 339 ราย และบาดเจ็บอีก 329 ราย (อ่านเพิ่มเติม: กัมพูชาดับ 339 คน เหตุชุลมุนงานเทศกาลน้ำ)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชี้สถานประกอบการในอยุธยาทยอยปิดทำการเหลือไม่ถึง 10%

Posted: 15 Oct 2011 07:04 AM PDT

 
(15 ต.ค.54) จำลอง ชะบำรุง กรรมการกลุ่มผู้ใช้แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง กล่าวถึงสถานการณ์ของคนงานในอยุธยา สืบเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมจังหวัดพระนครศรีอยุธยาขณะนี้ว่า ยังเหลือที่ยังทำงานอยู่ไม่ถึง 10% และเริ่มทยอยปิดทำการ ขณะที่มีแรงงานที่บริษัทปิดทำการอยู่ที่ 2 แสนกว่าราย โดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน

จำลอง ให้ข้อมูลว่า ในสถานประกอบการที่มีสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานก็อาจเข้าไปพูดคุยกับนายจ้างเพื่อขอความช่วยเหลือได้ เช่น ฮอนด้าออโตโมบิล ซึ่งให้หยุดงาน โดยจ่ายค่าจ้าง 100% ขณะที่บางบริษัทประกาศใช้มาตรา 75 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 โดยจ่ายค่าจ้าง 75% ทั้งนี้ จำลองระบุว่า มีสถานประกอบการจำนวนมากที่จ่ายค่าจ้างเพียง 75% แต่ยังสำรวจข้อมูลได้ยาก เพราะคนงานรวมถึงผู้นำแรงงานยังอยู่กันกระจัดกระจาย

เขากล่าวว่า ลูกจ้างส่วนใหญ่ต้องการให้นายจ้างคิดวันหยุดเป็นวันทำงาน และจ่ายค่าแรง เพราะลำพังในสถานการณ์ปกติ ค่าครองชีพรายวันก็ไม่พอกินแล้ว ยิ่งในสถานการณ์น้ำท่วม ค่าครองชีพก็ยิ่งสูงตามน้ำ โดยเป็นค่าใช้จ่ายเกือบเท่าตัว

จำลอง ระบุว่า เบื้องต้นยังไม่มีสถานประกอบการใดประกาศเลิกจ้างพนักงาน อย่างไรก็ตาม มีความกังวลกันว่า หลังน้ำลดจะมีการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มแรกที่ถูกเลิกจ้างมักเป็นสหภาพแรงงาน

เขาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือลูกจ้าง โดยให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง 100% หรือนายจ้างอาจจะจ่าย 75% แล้วรัฐช่วย 25% เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกจ้าง ทั้งนี้ ฝากถึงนายจ้างว่า หลังน้ำลด ไม่ควรเลิกจ้าง เพราะลูกจ้างส่วนใหญ่ มีอายุงานเยอะ และเป็นแรงงานที่มีฝีมือ

ทั้งนี้ จำลองฝากว่า กลุ่มสหภาพแรงงานในอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง รวมตัวตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานประสบอุทกภัย อยู่ที่ใต้สะพานลอยแรกหลังจากลงสะพานต่างระดับบางปะอิน เบื้องต้น ได้รับของบริจาคแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ยังขาดพาหนะ เช่น รถยกสูงหรือรถโฟร์วิล  เรือ ในการนำของเข้าไปในพื้นที่ประสบภัย ผู้ที่ต้องการช่วยเหลือติดต่อได้ที่ 0847619357, 0859957195, 0899203967

 

มาตรา 75 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ
“ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน

ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำการ”


น้ำท่วมอยุธยากระทบชิ่ง ฮิตาชิ ปราจีน ให้หยุดงาน จ่าย 75%

เว็บไซต์ VoiceLabour.org รายงานว่า บริษัท ฮิตาชิ คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่นิคมอุสาหกรรมกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ประกาศให้พนักงานทุกคนทราบว่ามีความจำเป็นต้องหยุดสายการผลิตชั่วคราว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18-24ต.ค. นี้ โดยระหว่างหยุดงานจะจ่ายเงินให้แก่พนักงานในอัตรา 75% ของค่าจ้างตามมาตรา 75 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทั้งนี้ เนื่องจากโรงงานบริษัท อิตาชิ คอมเพรสเซอร์ (ประเทศไทย) ซึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา ได้รับความเสียหายไม่สามารถที่จะผลิตชิ้นส่วนส่งได้

หนึ่งในกรรมการสหภาพแรงงานฮิตาชิ ประเทศ ระบุว่า ในการประกาศของบริษัทฯในครั้งนี้ ที่ไม่มีการปรึกษาหารือร่วมเพื่อที่จะหาทางออกร่วมกันกับทางสหภาพแรงงานฮิตาซิ ประเทศไทย อีกทั้งยังมีผลต่อพนักงานที่เงินเดือนค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำ และบางฝ่ายแผนกเท่านั้น สหภาพแรงงานฯ เห็นว่า บริษัทฯควรใช้การลดต้นทุนจากผู้บริหารหรือผู้จัดการที่เงินเดือนมากกว่าเสียก่อน เพราะจะสามารถช่วยเหลือพนักงานได้อีกหลายร้อย

ทั้งนี้ทางคณะกรรมการสหภาพแรงงานได้ทำหนังสือขอคัดค้านการประกาศของบริษัทฯ เพื่อขอมีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบว่าจริงหรือไม่ บริษัทประสบภาวะขาดทุนและผลประกอบการที่ย่ำแย่แล้วหรืออย่างไร

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: “มหา’ลัย” มหาหลอก ความคับแค้นของชาวนา ปมปัญหาแย่งชิงที่ดิน

Posted: 15 Oct 2011 06:31 AM PDT

 
ท้องทุ่งกว้างใหญ่นับพันไร่ เป็นแหล่งผลิตข้าว และที่เลี้ยงวัว ของชุมชนบ้านท่าช้างและบ้านใสกลิ้ง มายาวนานนับร้อยปี ชุมชนดังกล่าวได้สั่งสมและถ่ายทอดภูมิปัญญาในการทำนา รวมทั้งการรักษาพันธุ์ข้าว และฐานอาหารจากรุ่นสู่รุ่น เสมือนเป็นวิทยาลัยภูมิปัญญาชาวนา
 
ต้นโตนด ยืนต้นในพื้นที่บ้านใสกลิ้ง ม.6 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นพยานการทำกินของชุมชน 
 
“ตอนนั้นมีควายฝูงใหญ่มากเป็นของนายเทพ มีป่าบางส่วน แต่บางส่วนก็เป็นพื้นที่ว่างเปล่า และมีต้นไม้ใหญ่ หลายครอบครัวเข้าไปทำกิน พอฉันอายุ 9 ปี เขามาก่อสร้างเรือนจำไว้ขังนักโทษ และมีโรงเรียน ฉันเรียนที่นี่ ชาวบ้านทำไร่ ทำนา ปลูกข้าว มีพันธุ์ช่อจังหวัด ข้าวนางกราย ข้าวจำปาทอง” ยายพลับ หนูสิน อายุ 92 ปี ชาวบ้านใสกลิ้ง ม.6 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง บอกเล่าถึงสภาพของชุมชนในอดีต ยืนยันความเก่าแก่ของชุมชน
 
แต่แล้ววันหนึ่ง ชุมชนชาวนาแห่งนี้ก็ถูกสถาบันการศึกษาเข้ามาแย่งยึดที่นา โดยมุ่งหมายจะใช้พื้นที่บริเวณนี้ก่อตั้งคณะที่เรียกว่า “วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน” สร้างความแปลกใจให้ชุมชนและสังคมว่า ทำไมมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนวิชาเกี่ยวกับภูมิปัญญาชุมชน โดยเฉพาะภูมิปัญญาในการทำนาจึงปฏิเสธการอยู่ร่วมกับชุมชนชาวนา ซึ่งเป็นผู้สรรค์สร้างองค์ความรู้ดังกล่าว
 
“เราถูก มหา’ลัย รังแก” “เราถูก มหา’ลัย หลอก” : ความคับแค้นของชาวนา 

ป้าเนิม หนูบูรณ์ อายุ 62 ปี ชาวบ้านชุมชนใสกลิ้ง เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวของป้าได้ทำนาในพื้นที่บริเวณนี้ตั้งแต่รุ่นพ่อ ทำกินกันมาหลายสิบปี ต่อมา พ.ศ.2528 กระทรวงมหาดไทยได้ออกหนังสือสำคัญที่หลวงทับซ้อนพื้นที่ทำกิน เรียกว่า ที่สาธารณะประโยชน์ “ทุ่งสระ” อยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลพนางตุง อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ชาวบ้านยังคงสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ทำกินได้ตามวิถีชีวิตปกติ 
 
หลังจากนั้น พ.ศ.2533 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือ มหาวิทยาลัยทักษิณ ในปัจจุบัน ได้ขอใช้พื้นที่จำนวน 1,500 ไร่ เพื่อขยายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยฯ เพิ่มเติม จังหวัดพัทลุงเห็นชอบ และได้ส่งเรื่องการขอใช้ที่ดินให้กระทรวงมหาดไทยอนุมัติ แต่กระทรวงมหาดไทยไม่ได้อนุมัติ เพราะมีชาวบ้านทำกินในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยฯ ได้เดินหน้าก่อสร้างอาคาร โดยไม่รอให้ผ่านขั้นตอนการอนุญาตในทางกฎหมาย
 
“ปี 2537 มหา’ลัยได้เข้ามาขุดที่ดินที่ชาวบ้านทำกินอยู่ เพื่อทำแนวเขต เขาทำลายเหมืองและรางลำเลียงน้ำ ที่สูบน้ำมาจากคลองให้ชาวบ้านทำนา แล้วขุดลอกคลองขึ้นมาใหม่ กว้าง 20 เมตร ลึก 6 เมตร ยาวประมาณ 2 กิโลเมตรครึ่ง แล้วก็ก่อกำแพง ทำให้เกิดน้ำท่วมในปี 2539 แล้วยังขาดน้ำทำนาและเลี้ยงสัตว์ ชาวบ้านใสกลิ้งได้คัดค้าน จึงชะลอโครงการก่อสร้างมหา’ลัย ไปพักหนึ่ง” ป้าเนิม เล่าให้ฟังด้วยสีหน้าและแววตาที่บ่งบอกถึงความคับแค้นใ
 
ต่อมา พ.ศ.2541 มหาวิทยาลัยฯ ได้ย้ายสถานที่ก่อสร้างวิทยาเขตพัทลุง ไปยังที่สาธารณประโยชน์ “ทุ่งลานโย” เนื้อที่ 3,500 ไร่ อยู่ในพื้นที่ ต.บ้านพร้าว อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง แต่ก็ยังเข้ามาใช้พื้นที่ทุ่งสระในปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้พื้นที่ก่อสร้างอาคารไปแล้วประมาณ 300 ไร่ ทั้งนี้ ได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างจากเป็นสถานที่จัดตั้งวิทยาเขตพัทลุง เป็นสถานที่จัดตั้งวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ซึ่งมีสถานะเทียบเท่าคณะ 

“เราถูกมหา’ลัยรังแก เขามีที่ดินเยอะแยะ ที่ป่าพะยอมตั้ง 3,500 ไร่ แต่ไม่รู้จักพอ ยังจะมาเอาที่ดินของคนจนๆ ที่นี่อีก เรามีที่ดินทำกินแค่ตรงนี้ คนละไร่ 2 ไร่ มากสุดก็ 10 ไร่ ยังจะมาเอาที่ดินเราไปอีก อ้างว่าเป็นวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน แต่มาทำให้ชุมชนเดือดร้อน คนในชุมชนไม่เห็นด้วยแล้วเป็นวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนได้พรื่อ ” ป้าสมพิศ ใจดำ อายุประมาณ 60 ปี ชาวบ้านชุมชนใสกลิ้ง ผู้ได้รับผลกระทบอีกคนหนึ่ง ทวงถามถึงความชอบธรรมในการก่อสร้างวิทยาลัย
 
เมื่อชาวบ้านชุมชนใสกลิ้งคัดค้านการก่อสร้างวิทยาลัยมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีการไปก่อสร้างอาคารของวิทยาลัยที่ชุมชนท่าช้าง ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับบ้านใสกลิ้ง และอยู่ในพื้นที่ทุ่งสระเช่นเดียวกัน ในช่วงแรกชุมชนท่าช้างยินยอมให้มีการก่อสร้างวิทยาลัย พร้อมทั้งสละที่ดินให้ เนื่องจากคิดว่าการจัดตั้งวิทยาลัยจะช่วยให้เศรษฐกิจในชุมชนดีขึ้น แต่ต่อมาก็คัดค้านการก่อสร้างวิทยาลัยเช่นเดียวกัน
 
ภาวนา ช่วยราย อายุประมาณ 40 ปี ชาวบ้านชุมชนท่าช้าง เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวของตนและชาวบ้านในชุมชนท่าช้างประมาณ 30 ครัวเรือน ยินยอมสละที่ดินให้วิทยาลัย เพราะคิดว่ามีวิทยาลัยแล้วชุมชนจะเจริญขึ้น คนในชุมชนจะมีงานทำ จะได้ค้าขาย ได้ทำหอพัก ลูกๆ หลานๆ จะได้เรียนใกล้ๆ บ้าน
 
“พี่ถูกมหา’ ลัยหลอก เขาบอกว่าจะให้ครอบครัวเจ้าของที่ดินทำงานด้วย ที่นี่จะมีหลายคณะ นักศึกษาจะมาเรียนที่นี่เยอะ อยู่ไปๆ ก็รู้ว่ามันไม่เป็นไปตามที่เขาพูด มหา’ลัยไปอยู่ที่ป่าพะยอม เขาสร้างที่นี่เป็นอาศรม เป็นที่พัก ไม่มีนักศึกษามาเรียนเลย เจ้าของที่ดินไม่ได้ไปทำงานกับเขาสักคน เขามาหลอกเอาที่ดินของเรา พี่ผิดหวังมาก ปี 52 พี่น้องท่าช้างเลยคัดค้านด้วย พี่คัดค้านไม่ให้ที่ดินที่เหลือถูกมหา’ลัยยึดไปอีก” ภาวนา บอกเล่าถึงความเจ็บปวดจากการสูญเสียที่ดิน
 
 
คูคลองที่มหา'ลัย ขุดลอกขึ้นใหม่ เพื่อกันแนวเขต ทำให้ชาวบ้านขาดน้ำในการทำนา
 
จัดทำโฉนดชุมชน รักษาที่ดินให้ลูกหลาน
 
จากความเดือดร้อนดังกล่าวส่งผลให้ชาวบ้านชุมชนใสกลิ้งและชุมชนท่าช้าง มีการรวมกลุ่มเรียกร้องสิทธิมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้หารือถึงแนวทางแก้ปัญหากับเทศบาลพนางตุง และส่วนราชการต่างๆ ในหลายครั้ง รวมทั้งมีการร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นตัวกลางในการแก้ปัญหา ในช่วงปี พ.ศ.2551 - 2552
 
ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2552 ให้มหาวิทยาลัยฯ ยุติการก่อสร้างใดๆ จนกว่าจะได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย โดยเคารพต่อสิทธิชุมชน และสิทธิองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ และให้มหาวิทยาลัยฯ ดำเนินการก่อสร้างวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชนเฉพาะพื้นที่ที่มีการก่อสร้างไปแล้วเท่านั้น โดยให้เทศบาลพนางตุงดูแลพื้นที่สาธารณะประโยชน์ต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยฯ ไม่ได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิฯ แต่อย่างใด ยังคงเดินหน้าก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม พร้อมทั้งปักป้ายประกาศห้ามชาวบ้านเข้าไปทำกินในที่ดินดังกล่าว และฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านในข้อหาทำลายทรัพย์สินของมหาลัยฯ จำนวน 2 คดี 20 ราย โดยมีชาวบ้านตกเป็นจำเลยซ้ำซ้อน 2 คน คือ นายวิน ผอมหนู และ นางเนิม หนูบูรณ์
 
“หยุดเถอะ มหา’ลัย พอได้แล้ว ให้ชาวบ้านทำกินมั่ง ถ้าเอาหมดแล้วชาวบ้านทำกินพรื่อ เราทำโฉนดชุมชน ตั้งใจให้เป็นที่ทำกิน สืบทอดไปถึงลูกหลาน วางกฎระเบียบไม่ขาย ไม่จำนอง เรามีที่ดินทำกินเฉพาะตรงนี้ ถ้าเสียไปจะไม่มีอะไรให้ลูกหลานเลย” ป้าเนิม จำเลย 2 คดี กล่าวถึงเจตนารมณ์ในการต่อสู้ของชาวบ้าน
 
ป้าเนิม บอกว่า แม้จะถูกดำเนินคดีถึง 2 คดี แต่ก็มีกำลังใจเต็มร้อย เพราะไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว มีกลุ่มในชุมชน ซึ่งเรียกว่า “เครือข่ายรักแผ่นดินทุ่งสระ” ร่วมกันคิดหาทางแก้ปัญหา โดยยึดแนวทางการจัดการทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน เพื่อปกป้องที่ดินของชุมชนไว้ให้ลูกหลาน และมี “เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด” เป็นเพื่อนร่วมชะตากรรม และที่ปรึกษา
 
นายบุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ ควรพัฒนาชีวิตคนให้ดีขึ้น ควรต่อยอดความรู้ให้ชุมชน แต่กลายเป็นว่าเข้ามาไล่ล่าที่ดินของชุมชน และทำลายความรู้ของชาวบ้าน ปล้นคำว่าภูมิปัญญาชุมชนมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการทำธุรกิจการค้าของตนเอง
 
“ที่นาของเขาเป็นวิทยาลัยที่มีชีวิต กลับไปไถ ไปถมจนไม่มีน้ำทำนา พอชาวบ้านไปใช้สิทธิ ก็ไปฟ้องร้องให้จับกุมเขา เขาคือชาวนา ทำนามาทั้งชีวิต ปลูกข้าวให้เรากิน อยากถามด็อกเตอร์ทั้งหลายว่าภูมิใจนักหรือที่ได้แย่งที่ดินและฟ้องร้องชาวนา” ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวทิ้งท้ายให้หวนคิด
 
กรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัยไม่ได้เกิดขึ้นที่นี่เป็นที่แรก หากแต่ได้เกิดขึ้นมานับสิบปีและเกิดขึ้นบ่อยขึ้นเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยบางแห่งหันมาทำธุรกิจ จนลืมไปว่ามหาวิทยาลัยเกิดขึ้นได้เพราะภาษีของประชาชน มีหน้าที่พัฒนาคนและสังคม ไม่ใช่ทำลายชุมชน! 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนงานอยุธยาตั้งศูนย์ขอรับบริจาคช่วยน้ำท่วม-สภาอุตฯ คาดคนงานนิคมอยุธยาอาจตกงาน 3-10 เดือน

Posted: 15 Oct 2011 06:26 AM PDT

คนงานอยุธยา "ตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบอุทกภัย" ช่วยคนงานประสบภัยน้ำท่วม ขอรับบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องใช้ ต้องการรถยกสูงและเรือยนต์ด่วน ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุถึงปัญหาที่น่ากังวลหลังจากวิกฤตน้ำท่วมผ่านพ้นไป คือจะมีแรงงานถึงหลักแสนคนในพื้นที่จังหวัดพระนครอยุธยาอาจต้องหยุดงานนาน 3 -10 เดือน

15 ต.ค. 54 - กลุ่มผู้ใช้แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและใกล้เคียงจะจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบอุทกภัย โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือพี่น้องแรงงานที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติในครั้งนี้

โดยทางกลุ่มอยุธยาฯ จึงขอความช่วยเหลือจากพี่น้องแรงงานในกลุ่มย่านต่าง ๆ และพี่น้องประชาชนจากทุกภาคส่วน ร่วมบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องใช้ หากต้องการจะช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่

นาย อุดม ไกรยราช ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและใกล้เคียง 081-9295205
นาย สมเกิยรติ ลอยโต รองประธานกลุ่ม 081-8166884
นาย จำลอง ชะบำรุง กรรมการกลุ่ม 085-9957195
หรือบริจาคเงินได้ที่หมายเลขบัญชีออมทรัพย์ 013-0-3-0032-0 ธนาคารกรุงเทพ
ชื่อบัญชี อุดม ไกรยราช, ประวิทย์ โพธิหอม, ขณิกพรรษ รักษาดี

ล่าสุด (15 ต.ค. 54) ทางกลุ่มยังระบุว่าต้องการรถยกสูงและเรือยนต์เพื่อนำข้าวของไปช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องที่ติดอยู่ทางด้านในพื้นที่เขตน้ำท่วมเป็นจำนวนมาก

น้ำเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินแล้ว

ด้านสำนักข่าวไทยรายงานว่านายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ขณะนี้น้ำไหลเข้าสู่พื้นที่ภายในนิคมสูง 80 เซนติเมตรแต่ยังไม่ท่วมโรงงาน โดยน้ำไหลจากคันดินส่วนที่ไม่แข็งแรง แม้คันดินจะมีความสูงกว่าระดับน้ำ 90 เซนติเมตร ขณะนี้กำลังเร่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรแก้ไขสถานการณ์ด้วยการใช้ Sheet pile ซึ่งเป็นเหล็กช่วยซ่อมและเสริมความแข็งแกร่งคันดิน พร้อมเร่งสูบน้ำออก

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน มีพื้นที่ 1,386 ไร่ จำนวนโรงงานทั้งหมด 90 โรงงาน จำนวนแรงงานทั้งหมด 60,000 คน จำนวนเงินลงทุน 60,000 ล้านบาท ประเภทกิจการ อันดับ 1 คือร้อยละ 30.43 เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิยาศาสตร์ อันดับ 2 ร้อยละ 14.13 คือ ยาง พลาสติกและหนังเทียม อันดับ 3 เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะร้อยละ 9.78 และอันดับ 5 ยานยนต์และการขนส่ง ในขณะที่ส่วนอุตสาหกรรมนวนคร คันดินสูง 3 เมตร น้ำยังไม่ได้เข้าไปในนิคม ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอย่างเต็มที่ นิคมอุตสาหกรรมบางกระดี มีทหาร 150 นายเข้าไปช่วยเสริมกระสอบทรายเพิ่มความแข็งแกร่งให้คันดินป้องกันน้ำ

สภาอุตฯ คาดแรงงานนิคมอยุธยาอาจตกงาน 3-10 เดือน

วันเดียวกัน (15 ต.ค.) ทีวีไทยทีวีสาธารณะ (TPBS) รายงานว่าสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยระบุถึงปัญหาที่น่ากังวลหลังจากวิกฤตน้ำท่วมผ่านพ้นไป คือจะมีแรงงานถึงหลักแสนคนในพื้นที่จังหวัดพระนครอยุธยาอาจต้องหยุดงานนาน 3 -10 เดือน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของแต่ละโรงงานที่ฟื้นฟูให้สายงานการผลิตกลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมระบุว่ากลุ่มแรงงานที่น่าห่วงมากที่สุด คือพนักงานรับเหมาช่วง ที่มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 30 ของการจ้างงาน เพราะไม่มีสัญญาจ้างระยะยาว

ด้านกระทรวงแรงงานระบุถึงการเตรียมงานไว้ 60 ประเภท เพื่อรองรับแรงงาน ซึ่งมีสถานประกอบการเกือบ 70 แห่ง ที่พร้อมรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีอัตราจ้างงานเกือบ 90,000 ตำแหน่ง

ขณะที่การช่วยเหลือผู้ประกอบการกระทรวงอุตสาหกรรรมเตรียมเสนอมาตรการเยียวยาระยะยาว โดยจะขอให้รัฐบาลพิจารณาผ่อนผันการเสียค่าสาธารณูปโภคของโรงงานที่ได้รับผลกระทบออกไปอีก 6 เดือน โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ รวมถึงยกเว้นค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาตโรงงานและให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักปรัชญาชายขอบ: กระแสน้ำ กระแสประชาธิปไตย และกลุ่มชนชั้นนำเก่า

Posted: 15 Oct 2011 05:30 AM PDT

การเกิดพายุ ฝนตกหนักเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่ภาวะน้ำท่วมเกือบครึ่งประเทศ และท่วมอย่างยาวนาน ย่อมไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติล้วนๆ หากแต่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับปัญหาระบบการจัดการน้ำที่จำเป็นต้องถูกหยิบยกขึ้นมาทบทวนอย่างหนัก และต้องเป็นการทบทวนอย่างหนักไม่น้อยไปกว่าปัญหาการจัดระบบสังคมการการเมือง

เพราะเมื่อว่าโดยพื้นฐานทางความคิด ปัญหาการจัดการน้ำกับปัญหาการจัดระบบสังคมการเมืองของบ้านเราอยู่บนฐานคิดเดียวกัน คือฐานคิดที่ว่าประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมและจากนโยบายทางการเมืองโดยตรงไม่จำเป็นต้องมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเอง วันนี้กระแสน้ำทะลัก กระแสประชาธิปไตยบ่าล้น กลุ่มชนชั้นนำเก่าที่ถนัดแก้ปัญหาด้วยการแจกสิ่งของ และการอบรมสั่งสอนไม่รู้จะทำอย่างไรดี

ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ น้ำก็ไหลบ่าท่วมทะลัก โดยไม่เกี่ยวข้องกับกับนโยบายการสร้างเขื่อน การเก็บกักน้ำ การปล่อยน้ำ การเปิด-ปิดทางน้ำ การสร้างเขื่อนกั้น ขุดคลอง การสร้างถนน การวางระบบผังเมือง และ/หรือนโยบายการจัดการน้ำโดยรวมที่ขึ้นอยู่กับความคิดของเบื้องบนที่ประชาชนผู้อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะน้ำท่วม หรือภาวะขาดแคลนน้ำไม่มีส่วนในการรับรู้ แลกเปลี่ยนถกเถียง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ นักศึกษา ประชาชน นักวิชาการ จะออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาค หรือเรียกร้องอำนาจในฐานะเจ้าของประเทศ หากความเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเสมอภาค และอำนาจในฐานะเจ้าของประเทศของพวกเขาไม่ได้ถูกฉ้อฉลโดยกลุ่มชนชั้นนำเก่าที่รวบอำนาจในการจัดการระบบสังคมการเมืองของประเทศมาอย่างยาวนาน ด้วย “อุดมการณ์สามรัก” คือรักชาติ รักศาสนา รักพระมหากษัตริย์

ดูๆ ไป เสมือนว่าประเทศนี้จะเป็น “ประเทศล้นรัก” เพราะแทบทุกอย่างถูกอธิบายได้ด้วยความรัก นโยบายการจัดการน้ำ การสร้างเขื่อน การป้องกันน้ำท่วม ฯลฯ ก็ถูกอธิบายว่ามาจากความรักของเบื้องบนที่มีต่อประชาชน และเมื่อเป็นนโยบายที่มาจากความรักของเบื้องบน ประชาชนจึงต้องน้อมรับ ไม่อาจตั้งคำถาม ไม่มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนถกเถียง และตัดสินใจร่วมกัน

เป็นเรื่องยากมากที่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ ในแต่จังหวัดจะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องควรจะสร้างหรือไม่สร้างเขื่อน ควรจะเปิดหรือปิดน้ำจากเขื่อนแค่ไหนอย่างไร ในแต่ละฤดูกาล ทั้งที่พวกเขาคือผู้ที่แบกรับความเสี่ยง ต้องรับผลกระทบโดยตรงในการทำมาหากิน และปัญหาน้ำท่วม

ในทำนองเดียวกัน ภายใต้ “อุดมการณ์สามรัก” การกระทำที่ถูกหรือผิดในการต่อสู้ทางการเมืองก็ขึ้นอยู่กับเรื่อง “รัก-ไม่รัก” หากใครต่อสู้ทางการเมืองภายใต้วาระการเรียกร้องให้คนรักชาติ รักศาสนา รักพระมหากษัตริย์ เขาก็เป็นฝ่ายทำถูก เป็นคนดี แม้โดยการเรียกร้องนั้นจะนำไปสู่รัฐประหาร หรือแม้กระทั่งการเข่นฆ่านักศึกษาและประชาชนก็ตาม

แต่ถ้าการต่อสู้ทางการเมืองเป็นการเรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม หรือเรียกร้องการจัดระบบสังคมการเมืองที่อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชนจริงๆ ก็อาจเป็นการต่อสู้ที่ผิด เป็นภัยต่อความมั่นคง (แห่งระบบอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำเก่า) ที่อาจถูกล้อมปราบได้ง่ายๆ

ฉะนั้น ในประเทศที่อยู่ภายใต้ “อุดมการณ์สามรัก” จึงเรียกร้องการอยู่ร่วมกันด้วยความรัก มากกว่าที่จะเรียกร้องให้อยู่ร่วมกันด้วยความยุติธรรมบนหลักเสรีภาพ ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างเท่าเทียม

แม้แต่ข่าวน้ำท่วม สื่อก็สร้างกระแส “ดราม่า” จนแทบไม่ตั้งคำถามต่อสาเหตุที่แท้จริง เช่น คนไทยรักกัน คนไทยไม่ทิ้งกัน นายกฯ พบผู้นำฝ่ายค้านเป็นสัญญาณความปรองดอง ฯลฯ ส่วนเรื่องที่ชาวบ้านพังคูกั้นน้ำกลับถูกนำเสนอเสมือนว่าเป็นความไม่เข้าใจสถานการณ์ ความไม่เสียสละของชาวบ้านกลุ่มนั้นๆ โดยที่สื่อไม่ตั้งคำถามถึงความเป็นธรรมไม่เป็นธรรม

ที่สำคัญสื่อแทบไม่ตั้งคำถามต่อปัญหาการจัดการน้ำตั้งแต่ระดับแนวคิด นโยบาย การปฏิบัติที่เป็นการผลักภาระให้คนบางกลุ่มต้องจำทนต่อสภาพน้ำท่วมแทนคนกลุ่มอื่นๆ หรือภาคธุรกิจสำคัญๆ โดยที่พวกเขาไม่มีหลักประกันความเสี่ยงและการชดเชยใดๆ

เมื่อน้ำบ่าทะลักท่วมเกือบครึ่งประเทศ เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลแล้วหากเราจะยังไว้วางใจใน “ความรัก” จากเบื้องบนในเรื่องการจัดการปัญหาน้ำ ต่อไปเรื่องการจัดการปัญหาน้ำจะต้องเป็นนโยบายของรัฐที่ครอบคลุมการจัดการน้ำในภาพรวมระดับประเทศ ขณะเดียวกันก็กระจายอำนาจให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาน้ำท่วม ปัญหาภัยแล้งมีส่วนร่วมในการถกเถียงแลกเปลี่ยน และตัดสินใจร่วมกัน

พูดในเชิงหลักการปัญหาการจัดการน้ำ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของ “ความรัก” ความเมตตา ความชาญฉลาดจากเบื้องบน แต่เป็นเรื่องที่ต้องจัดการบนพื้นฐานของ “ความเป็นธรรม” แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม เป็นเรื่องของความมีประสิทธิภาพที่ตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมร่วมของประชาชน

เช่นเดียวกัน ปัญหาการจัดระบบสังคมการเมือง ก็ไม่จำเป็นต้องถกเถียงในกรอบของ “อุดมการณ์สามรัก” หรือเถียงกันแค่รักคือถูกไม่รักคือผิดอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ต้องจัดการเพื่อตอบโจทย์ความเป็นธรรมในเชิงอำนาจต่อรองทางการเมือง การวางระบบให้ทุกอำนาจสาธารณะถูกตรวจสอบได้ หรือระบบประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว การล้างผลพวงของรัฐประหาร การแก้กฎหมายหมิ่นฯ การสร้างกติกาเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้เป็นไปตามหลักเสรีภาพและความเสมอภาค และการปฏิรูปกองทัพให้เป็นกองทัพภายใต้การควบคุมของรัฐบาลที่ประชาชนเลือก จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จะว่าไปแล้ว กระแสน้ำท่วมทะลัก กระแสประชาธิปไตยบ่าล้น คือกระแสท้าทายสังคมไทยว่า เราจะสามารถจัดการกับภัยธรรมชาติ และจัดการระบบสังคมการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพที่ตรวจสอบได้ บนจุดยืนที่พ้นไปจากเรื่องรัก-ไม่รัก สู่จุดยืนเรื่องความเป็นธรรม เสรีภาพ ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้อย่างไร
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยูเอ็นเตือนซีเรียเข้าใกล้ภาวะสงครามเต็มรูปแบบ

Posted: 15 Oct 2011 05:02 AM PDT

ฝ่ายทหารย้ายข้างเริ่มได้รับการสนับสนุนจากผู้ประท้วงมากขึ้น นักกิจกรรมบางส่วนเริ่มสรรหาอาวุธ ระบุเมื่อโลกไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยแบบลิเบีย พวกเขาก็ต้องสู้ร่วมกับกลุ่มติดอาวุธ  ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเรียกร้องให้ประชาคมโลกเคลื่อนไหวอย่างสันติเพื่อยับยั้งความรุนแรง เตือนซีเรียเข้าใกล้สงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ

14 ต.ค. 2011 - เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหประชาชาติเตือนว่าซีเรียกำลังเข้าใกล้ภาวะสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทางการซีเรียย้ายข้างมาอยู่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น

สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน รายงานว่า ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ กลุ่มนักกิจกรรมในซีเรียเริ่มมีลักษณะของกลุ่มติดอาวุธมากขึ้น จากการที่นักกิจกรรมพากันสรรหาอาวุธและกลุ่มทหารที่ถอนตัวออกจากกองทัพเปิดฉากสู้รบกับทหารฝ่ายรัฐบาล

ซึ่งทางการซีเรียเปิดเผยว่าจนถึงตอนนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลซีเรียเสียชีวิตรวมแล้วราว 1,100 ราย ขณะที่ตัวเลขฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่เสียชีวิตรวมแล้วราว 3,000 ราย

ในวันที่ 14 ต.ค. ผู้ชุมนุมประท้วงได้แสดงการสนับสนุนทหารที่ย้ายข้างมาอยู่ฝ่ายต้านรัฐบาล นักกิจกรรมในซีเรียบอกว่าทหารกลุ่มนี้เป็นอนาคตของการลุกฮือโค่นล้มรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการต่อสู้อย่างยากลำบาก

"พวกเรารู้ว่าโลกจะไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเรา" ชายผู้หนึ่งจากเมืองฮอมกล่าวจากโทรศัพท์ "พวกเราจะทำในสิ่งที่พวกเราควรทำ พี่น้องของพวกเราที่เป็นเจ้าหน้าที่กำลังเริ่มมองเห็นความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่นานนักพวกเขาก็จะสู้เคียงบ่าเคียงไหล่พวกเรา"

ทางด้านนาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเรียกร้องให้ช่วยยับยั้งการใช้ความรุนแรง "หน้าที่นี้เป็นของสมาชิกประชาคมโลกทุกท่านในการร่วมกันเคลื่อนไหวในเชิงสันติ ก่อนที่การปราบปรามและสังหารอย่างๆร้ความปราณีซึ่งกำลังดำเนินอยู่นี้จะผลักให้ประเทศ (ซีเรีย) เข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ"

"จากการที่มีทหารปฏิเสธจะสังหารประชาชนแล้วย้ายข้างมากขึ้นเรื่อยๆ วิกฤติในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงแล้วว่าอาจจะนำพาไปสู่การสู้รบกันด้วยอาวุธ" นาวีกล่าวในแถลงการณ์

ก่อนหน้านี้ทางสหประชาชาติและประชาคมโลกได้ถูกประณามว่าพากันนิ่งเฉยต่อวิกฤติการณ์ในซีเรียซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในลิเบียที่มีการแทรงแซงอย่างแข็งขัน ทำให้มุมมาร์ กัดดาฟี ถูกโค่นล้มไปในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

โดยสหรัฐฯ และยุโรปต่างไม่ยอมรับการใช้กองทัพเข้าแทรกแซงสถานการณ์ในซีเรีย และความพยายามคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ก็ถูกยับยั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจากการที่รัสเซียและจีนใช้สิทธิค้าน

สหรัฐฯ และอังกฤษร้องซีเรียหยุดคุกคามนักกิจกรรมนอกประเทศ

อย่างไรก็ตามทางสหรัฐฯ และอังกฤษก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียหยุดข่มขู่คุกคามนักกิจกรรมภายนอกประเทศ โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้จับกุมตัวชาวซีเรียไว้ได้หนึ่งรายโดยอ้างว่าเขาได้บันทึกภาพและข่มขู่นักกิจกรรมในสหรัฐฯ จากนั้นจึงเดินทางกลับไปยังกรุงดามากัสเพื่อหารือเรื่องนักกิจกรรมฝ่ายต่อต้านในสหรัฐฯ กับประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด และคนสนิทของเขา

ขณะที่รัฐบาลอังกฤษได้เรียกตัวเอกอัครราชฑูตซีเรียเพื่อเตือนไม่ให้ใช้สถานฑูตในการข่มขู่คุกคามนักกิจกรรมในอังกฤษ ทางด้านองค์กรนิรโทษกรรมสากลอ้างว่ารัฐบาลซีเรียกำลังจับตามองนักกิจกรรมใน 30 ประเทศทั่วโลก

อาลี อับดุล คาริม เอกอัครราชฑูตซีเรียประจำเลบานอนปฏิเสธว่ารัฐบาลซีเรียไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวนักกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล 3 รายใกล้กรุงเบรุต โดยเจ้าหน้าที่ของเลบานอน พลตรี อัชราฟ รีฟี กล่าวว่าทางการมีหลักฐานที่สรุปได้ว่าทางสถานฑูตกระทำการลักพาตัวทั้งภาพวิดิโอ หลักฐานลายลักษณ์อักษร และหลักฐานราชการลับ ซึ่งทูตซีเรียท้าทายให้เปิดเผยหลักฐานเหล่านี้ต่อสาธารณะ

อดีตปธน. เลบานอนเผย หากประชาชนเลิกกลัวอัสซาดเขาก็หมดความชอบธรรม

ประธานาธิบดีอัสซาดของซีเรียอ้างว่า "ช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด" ของการลุกฮือผ่านพ้นไปแล้ว กลุ่มผู้สนับสนุนเขาออกมาเดินขบวนภายในกรุงดามากัส ซึ่งดูราวกับเป็นการเดินพาเหรดฉลองชัยชนะ

อย่างไรก็ตาม การประท้วงในวันที่ 14 ต.ค. ก็ปะทุขึ้นในเขตที่รัฐบาลเห็นว่าควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้วในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขณะที่เมืองฮอมนั้นรัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ประท้วงที่ติดอาวุธคอยคุ้มกันประชาชนในพื้นที่ ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตรึงกำลังอยู่สุดขอบเมือง

อามิน เกเมเยล อดีตประธานาธิบดีเลบานอน ให้ความเห็นว่าอัสซาดเหลือทางเลือกน้อยมากนอกจากการปราบปรามด้วยความรุนแรง เนื่องจากรัฐบาลอัสซาดสร้างขึ้นมาด้วยความกลัวและการปราบปราม หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ตัวอัสซาดเองก็จะขาดความชอบธรรมในการปกครอง เมื่อประชาชนเลิกกลัวเขาแล้ว เขาก็จบสิ้น

ผู้ประท้วงรายหนึ่งจากเมืองฮอมบอกว่าเขาไม่กลัวใครอีกแล้ว "บอกบาชาร์ว่าเขาจบสิ้นแล้ว และพวกเราจะชนะ"

ที่มา:

Syria is heading for full-blown civil war, top UN official warns, The Guardian, 14-10-2011
http://www.guardian.co.uk/world/2011/oct/14/syria-protesters-defections-security-forces

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนฯ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองในพม่าทั้งหมด

Posted: 15 Oct 2011 03:41 AM PDT

"กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่า" ออกแถลงการณ์ระบุยังมีนักโทษการเมืองในพม่าที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ชี้จะแก้ปัญหาหลักสิทธิมนุษยชนได้ต้องปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยควบคู่กัน พร้อมเรียกร้องให้พม่าปล่อยนักโทษการเมืองที่เหลือทั้งหมด

เมื่อวานนี้ (13 ต.ค.) กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่า ได้เผยแพร่แถลงการณ์ "หนึ่งก้าวย่างบนหนทาง ที่ยาวไกล" โดยชี้ว่าแม้ทางการพม่าจะปล่อยตัวนักโทษกว่า 6 พันคนและในจำนวนนี้มีนักโทษการเมืองรวมกว่า 200 คน แต่ยังมีนักโทษจำนวนมากที่ไม่ได้รับการปล่อยตัว โดยขอเรียกร้องให้ทางการพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด ทั้งยังระบุด้วยว่าการนิรโทษกรรมที่เกิดขึ้นจะถือว่าได้แก้ไขปัญหาหลักด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการควบคู่กับการปฏิรูปทางการเมืองและประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเท่านั้น  สำหรับแถลงการณ์ของกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่ามีรายละเอียดดังนี้

000

หนึ่งก้าวย่างบนหนทางที่ยาวไกล

ตามที่รัฐบาลพม่าประกาศว่าจะนิรโทษกรรมแก่นักโทษในพม่า จำนวน 6,359 คน และได้เริ่มปล่อยตัวนักโทษแล้วเมื่อวานนี้ ในจำนวนนี้ มีนักโทษการเมืองรวมอยู่ด้วยมากกว่า 200 คน อย่างไรก็ตามยังมีนักโทษการเมืองอีกจำนวนมากที่ยังคงไม่ได้รับการปล่อยตัว กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่าจึงขอเน้นย้ำข้อเรียกร้องของเราให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด

กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่ามีความ ยินดีต่อการ ดำเนินการนิรโทษกรรมของรัฐบาลพม่าในครั้งนี้ แต่เราขอให้ประชาคมโลกโดยเฉพาะอาเซียนระมัดระวังอย่าได้ถือเอาการ ปล่อยตัวนักโทษที่พ้นกำหนดมานาน ว่าคือการปฏิรูปการเมืองและประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาคมโลกต่างทราบดีว่าแต่ละปีพม่าจะมีการปล่อยตัวนักโทษจำนวน หนึ่ง แต่เราเกรงว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่มีผลให้เกิดการปฏิรูปที่สำคัญด้านประชาธิปไตยในพม่า

เนื่องจากอาเซียนมีปฏิสัมพันธ์กับพม่าอย่างต่อเนื่อง เราขอให้อาเซียนใช้โอกาสนี้ร่วมสนับสนุนข้อเรียกร้องของประชาคมโลกในการกระตุ้นให้รัฐบาลพม่าแน่ใจว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้ได้ ครอบคลุมถึงนักโทษการเมืองทั้งหมด

การนิรโทษกรรมครั้งนี้จะถือว่าได้แก้ไขปัญหาหลักด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าก็ต่อเมื่อได้ดำเนินการควบคู่กับการปฏิรูปทางการเมืองและประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเท่านั้น รัฐสมาชิกของอาเซียนมีบทบาทที่เฉพาะเจาะจงในการให้การสนับสนุน กระบวนการนี้ด้วยการร้องขอให้พม่าทำการเจรจาแบบเปิดให้มีส่วนร่วม กับภาคส่วนต่างๆ นอกเหนือจากรัฐ ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มฝ่ายค้านและชนกลุ่มน้อย ด้วยการดำเนินดังนี้เท่านั้นกระบวนการประชาธิปไตยที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้น อนึ่ง การปฏิรูปทางการเมืองต้องครอบคลุมไปถึงการงดจับกุมผู้มีบทบาททางการเมืองตามอำเภอใจและการประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย

ประการต่อมา เราขอให้รัฐบาลพม่าชี้แจงต่อสาธารณะ ถึงสถานที่อยู่ของนักโทษการเมืองที่ยังไม่ถูกปล่อยตัว เนื่องจากเรามีความกังวลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษภายใน เรือนจำ

จากรายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากล สภาพของเรือนจำในพม่า “อยู่ห่างไกลจากมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำ หรือการรักษาพยาบาล นักโทษการเมืองจำนวนมากถูกจองจำอยู่ในสถานที่ห่างไกลจากครอบครัว และส่วนใหญ่เป็นเป้าในการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายรวมไปถึง การขังเดี่ยวเป็นระยะเวลานาน สภาพการคุมขังดังกล่าวได้ลดทอนศักดิ์ศรีของนักโทษอย่างต่อเนื่อง และขัดต่อกฏหมายและข้อปฏิบัติระหว่างประเทศทุกรูปแบบ

สุดท้ายนี้เราขอย้ำเตือนข้อเรียก ร้องต่อรัฐบาลพม่าให้ปิดเรือนจำหลายแห่งที่มีสภาพทารุณโหดร้าย เช่นเรือนจำ อินเส่ง มีการกล่าวถึงการกักขังในค่ายกักกันผิดกฏหมายที่มีอยู่มากมายหลาย แห่งในพม่า ว่า ราวกับส่งนักโทษการเมืองหรือนักโทษทางความคิดไปสู่ “นรก” หรือ “เทียบเท่ากับส่งไปตาย”

เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลพม่ากำลัง พยายามสร้างความประทับใจให้แก่ประชาคมโลกเกี่ยวกับการปฏิรูป ประชาธิปไตยในประเทศ  ดังนั้นรัฐบาลพม่าควรชี้ แจงสถานที่ที่นักโทษการเมืองถูกคุมขังและปรับปรุงสภาพในเรือนจำ อีกทั้งปิดค่ายกักกัน ที่โหดร้ายเสียก่อน จึงค่อยมุ่งหน้ารื้อฟื้นประชาธิปไตยในประเทศ ซึ่งย่างก้าวนี้ของพม่า จะเป็นเพียงหนึ่งก้าวสู่กระบวนการประชาธิปไตยที่ยังอีกยาวไกล

========================================================================

หมายเหตุ: กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อพม่า ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2547 โดยสมาชิก รัฐสภา ในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ที่ มีความสนใจและมีอุดมการณ์ร่วมกันในการ ติดตามกระบวนการ พัฒนาประชาธิปไตยในประเทศพม่า มีวัตถุประสงค์หลักในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปประชาธิปไตยและ สิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า ปัจจุบันมีสมาชิกจาก 6 ประเทศคือ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

รายชื่อคณะกรรมการ

Eva Sundari , MP (Indonesia) President
Charles Chong, MP (Singapore) Vice-President
Dadoes Soemarwanto, MP (Indonesia) Member
Kraisak Choonhavan (Thailand) Vice President
Lorenzo Tanada, MP (The Philippines) Vice President
Son Chhay, MP (Cambodia) Vice-President
Lim Kit Siang, MP (Malaysia)Vice-President
Teresa Kok, MP (Malaysia) Secretary

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เสวนา: ตัวกลางกับภาระรับผิด พ.ร.บ.คอมฯ ฝืนธรรมชาติเน็ต?

Posted: 15 Oct 2011 01:42 AM PDT

 

สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA), เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ร่วมจัดเสวนาเรื่อง “ตัวกลางกับภาระความรับผิด” พ.ร.บ.คอมฯ ฝืนธรรมชาติเน็ต? เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต และปรับปรุงกฎหมายของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานสากล ณ อาคารอมรินทร์พลาซ่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา

แดนนี่ โอ’เบรียน (Danny O’Brien) จากคณะกรรมการเพื่อพิทักษ์ผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists -CPJ) กล่าวว่า เราไม่สามารถสร้างกฎหมายที่ไม่เข้ากับธรรมชาติ ถ้าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป อาชญากรรมเปลี่ยนไป กฎหมายจำเป็นต้องเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่แนวคิดพื้นฐานของอาชญากรรมไม่ได้เปลี่ยน นี่จึงเป็นความท้าทายทั่วโลกในการสร้างกฎหมายคอมพิวเตอร์

ในโลกแบบเก่า การหาว่าใครเป็นผู้เผยแพร่เนื้อหาทำได้ง่าย แต่ในอินเทอร์เน็ต มีจุดรวมศูนย์อยู่ระดับหนึ่ง เช่น ไอเอสพี ซึ่งทำหน้าที่เท่ากับผู้กระจายเสียงออกอากาศ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา เมื่อเอาวิธีการในโลกออฟไลน์ไปใส่ในโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้กฎหมายบางฉบับพุ่งไปที่ตัวกลาง ซึ่งเห็นได้จาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ของไทย

แดนนี่ขยายความโดยสาธิตการใช้คำสั่ง tracert เพื่อติดตามดูเส้นทางการเชื่อมต่อของคอมพิวเตอร์ไปยังจุดหมายปลายทาง เพื่อแสดงให้เห็นว่าการจะเข้าถึงเว็บไซต์ อาทิ ประชาไทดอทคอม ต้องวิ่งผ่านคอมพิวเตอร์ตัวใดบ้าง โดยคอมพิวเตอร์แต่ละตัวนอกจากทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลแล้วยังทำสำเนาชั่วคราวของสิ่งที่เราเข้าไปขอดูด้วย

เขาชี้ว่า ความท้าทายคือ หากเราใช้วิธีการคิดแบบในโลกออฟไลน์ว่า ผู้ที่มีข้อมูลผิดไว้ในครอบครองเท่ากับเป็นผู้กระทำผิด แปลว่าทุกคนมีสิทธิทำผิด ซึ่งจะทำให้เกิดการฟ้องผู้อยู่ที่ปลายน้ำเช่น กูเกิล ไอเอสพี ที่เป็นผู้ส่งผ่านข้อมูล กลายเป็นเอาผิดกับตัวกลางที่อยู่ห่างออกไป โดยไม่สนใจไปที่คนผิดจริงๆ ทำให้ไอเอสพีต้องรับผิดชอบตรงต่อผู้บริโภค

แดนนี่ชี้ว่า การเชื่อมต่อเหล่านี้ไม่มีใครตรวจสอบเฝ้าระวังทุกไบต์ที่ผ่านคอมพิวเตอร์ หรือคอยฟังตลอดว่ามีอะไรที่ผิดกฎหมายบ้างเพื่อทำการปิดกั้น พร้อมยกตัวอย่างว่า ทุก 1 นาที เว็บไซต์ยูทูปจะได้รับอัพเดตวิดีโอเท่ากับความยาว 48 ชม. จึงไม่สามารถตรวจเนื้อหาที่เยอะขนาดนี้ได้ หรือเฟซบุ๊ก หากต้องตรวจทุกคอมเมนต์ จะต้องผ่านกำแพงของผู้ใช้เฟซบุ๊ก 800 ล้านราย ซึ่งหากทำเช่นนั้นจริง โครงสร้างอินเทอร์เน็ตคงพังละลาย และนี่คือสิ่งที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กำหนดไว้ นั่นคือให้ตัวกลางมีโทษเท่ากับผู้กระทำผิด (มาตรา15)

แดนนี่ระบุว่า กฎหมายของประเทศอื่น จะแยกแยะกลุ่มตัวกลางกับกลุ่มคนที่โพสต์เนื้อหา เพื่อเปิดให้คนที่อยู่ในฐานะที่สามารถบล็อค-ตรวจสอบได้ หากได้รับแจ้งจากตำรวจหรือศาลออกคำสั่งว่าเนื้อหาในเว็บไซต์ถูกใช้ไปในการกระทำความผิด ตัวกลางก็จะลบหรือบล็อคเนื้อหาไป แทนการตกเป็นเป้าของการดำเนินคดีอาญา

เขาย้ำว่าตัวกลางไม่สามารถตรวจสอบเชิงรุกได้ และไม่สามารถรับภาระรับผิดสำหรับเนื้อหาทุกอย่างที่ผ่านเข้ามา เพราะเนื้อหาที่ถูกแจ้งว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบ พร้อมยกตัวอย่างเว็บไซต์บางกอกโพสต์ bangkokpost.com ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนที่บางกอกโพสต์เองควบคุมไม่ได้ตามวิธีการดูแลบรรณาธิกรณ์แบบเก่า เช่น เนื้อหาส่วนที่ดึงมาจากผู้ให้บริการเนื้อหารายอื่นๆ อาทิ โฆษณาจากกูเกิลแอด ชาร์ตจากตลาดหลักทรัพย์ เมื่อนำเนื้อหาทั้งหมดมาประกอบกัน จึงเกิดความท้าทายในการแจกแจงว่า ผู้เผยแพร่หรือ บก.เป็นผู้นำเข้าข้อมูลข่าวสารหรือไม่

ทั้งนี้ สำหรับคดีของประชาไท (กรณีจีรนุช เปรมชัยพร ในฐานะผู้ดูแลเว็บบอร์ด ถูกฟ้องด้วยข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 15 เนื่องจากมีข้อมูลในเว็บบอร์ดที่น่าจะเข้าข่ายมีความผิด) เว็บบอร์ดที่พูดกันนี้ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างหนังสือพิมพ์ เพราะมีซอฟต์แวร์อีกชุดในการนำเสนอ มีความใกล้เคียงกับการแชทออนไลน์ ซึ่งบทบาทตรงนี้เชื่อมโยงกับตัวกลางทางเทคนิคมากกว่า กฎหมายสหรัฐฯ จึงกำหนดให้ผู้ให้บริการการสื่อสารระหว่างกัน ไม่ถือว่าเป็นผู้พิมพ์ผู้เผยแพร่ในการสื่อสารแบบเก่า

ต่อคำถามเรื่องภาระความรับผิดต่อการมีไฮเปอร์ลิงก์นั้น เขามองว่า ไม่ควรมีความผิด เพราะตัวกลางไม่มีสิทธิทำอะไรกับเนื้อหาที่ไฮเปอรลิงก์ไปเลย เพราะสิ่งที่ลิงก์โยงไปนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ครั้งแรกที่เช็คลิงก์อาจพาไปที่เนื้อหาถูกกฎหมาย แต่เมื่อตำรวจไปเปิดอาจเจอเนื้อหาผิดกฎหมายก็เป็นได้

แดนนี่กล่าวว่า ในประเทศอื่นนั้น มีกรณีที่ตัวกลางต้องรับผิดชอบ จากการที่ไม่ได้ดำเนินการเร็วพอ แต่ไม่เคยเจอกรณีที่ต้องรับผิดชอบทันทีที่มีข้อความในระบบโดยไม่สนใจเลยว่าจะได้มีการลบหรือจัดการแล้ว เกิดแล้วผิดเลย แบบของไทย แม้แต่ในอังกฤษที่กฎหมายหมิ่นประมาทเคร่งครัดมาก การถอนและขอโทษที่ดำเนินการโดยพลันก็ไม่ต้องรับผิด

เขาย้ำว่า การตีความเจตนาหรือความจงใจนั้น ควรมีนัยยะว่าผู้ให้บริการหรือตัวกลางนั้นรับรู้ว่ามีข้อมูลนั้นอยู่ในระบบ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากระบบโดยอัตโนมัติ

แดนนี่มองว่า การใช้ชื่อกฎหมายว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น เป็นการตั้งชื่อที่ทำให้เข้าใจผิด เพราะคอมพิวเตอร์ไม่ได้ทำผิด พร้อมยกตัวอย่างว่า ถ้าจะจับเจ้าของภัตตาคารเนื่องจากเหตุอาญาในภัตตาคาร หรือ จับบุรุษไปรษณีย์ เพราะส่งจดหมายที่มีเนื้อหาที่มีความผิด นอกจากไม่ถูกต้องแล้ว ยังเบนเป้าออกไปจากคนที่ผิดด้วย

แดนนี่ เสนอว่า หากต้องการป้องกันการกระทำความผิดก็ควรพุ่งเป้าไปที่คนผิดโดยตรง และบังคับใช้กฎหมายที่ประชาชนจะช่วยสร้างและสนับสนุนโครงสร้างที่ถูกต้อง โดยชี้ว่าในโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตนั้น มีทั้งผู้เขียนเพจ ผู้ดำเนินการระบบโทรศัพท์ ผู้ให้บริการเว็บต่างๆ ไม่ว่า กูเกิล เฟซบุ๊ก ยูทูป เว็บไซต์ข่าว เป็นผู้ให้บริการเพื่อให้สังคมสมัยใหม่เดินไปได้ การใช้กฎหมายที่ตีความแบบผิดๆ ไม่เพียงจับคนผิดไม่ได้ แต่จะบั่นทอนศรัทธาของคนในระบบกฎหมายและทำลายโครงสร้างพื้นฐานข้างต้นที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยด้วย

 

มาตรา 15 ผู้ให้บริการใดสนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในการควบคุมของตน มีโทษเช่นเดียวกับมาตรา 14

 

เย็บ สวี เซ็ง (Yap Swee Seng) ผู้อำนวยการฟอรั่มเอเชีย (Forum Asia) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงในการรายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือกระบวนการยูพีอาร์ ที่สหประชาชาติ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา คือ เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกโดยเฉพาะ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าประเทศสมาชิกอาเซียน ส่วนใหญ่ชื่นชมความคืบหน้าของรัฐบาลไทย ในการลดความยากจนและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ แต่ไม่พูดถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกเลย เว้นแต่ประเทศอินโดนีเซีย ที่เสนอให้รัฐบาลไทยทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออก ขณะที่ประเทศตะวันตก อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สวีเดน บราซิล ต่างเสนอแนะในประเด็นนี้

เย็บ กล่าวว่า ข้อเสนอของประเทศต่างๆ มีตั้งแต่ให้ทบทวนกฎหมายไปจนถึงเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ซึ่งผู้แทนรัฐบาลไทย ตอบว่ารัฐบาลไทยดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.คอมฯ โดยรับฟังความเห็นจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี)และโฮสติ้ง

ทั้งนี้ เย็บตั้งข้อสังเกตด้วยว่า จากข้อเสนอ 172 ข้อที่เสนอโดยประเทศต่างๆ ไทยรับแล้ว 100 ข้อ โดยไม่มีข้อใดเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าข้อเสนอให้แก้ พ.ร.บ.คอมฯ และกฎหมายหมิ่นพระเดชานุภาพเลย โดยหลังจากนี้ รัฐบาลไทยมีเวลาพิจารณาว่าจะรับไม่รับข้อเสนอที่เหลืออีก 72 ข้อภายในเดือนมีนาคมศกหน้า ซึ่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะมีการประชุมตามวาระปกติ

ผู้อำนวยการฟอรั่มเอเชียกล่าวว่า ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งอยู่ระหว่างรอการพิจารณานั้น ประเทศส่วนใหญ่เสนอให้มีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเชิญผู้ตรวจการพิเศษเช่นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกมาเยือนประเทศไทย

เย็บ กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม ข่าวดีคือคณะผู้แทนถาวรไทยประกาศว่ารัฐบาลไทยอาสาว่าจะออกคำเชิญให้ผู้ตรวจการพิเศษต่างๆ ของสหประชาชาติมาเยือน ซึ่งขณะนี้ต้องรอดูว่าจะมีการตอบรับอย่างเป็นทางการหรือไม่

ทั้งนี้ เย็บ เสนอว่า ระหว่างนี้ ภาคประชาสังคมควรดำเนินการผลักดันให้รัฐบาลรับพิจารณาข้อเสนอของประเทศต่างๆ และมองว่า การเชิญผู้แทนด้านเสรีภาพในการแสดงออกของสหประชาชาติมาเยือนประเทศไทยน่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะผู้แทนพิเศษฯ ได้ไปเยือนหลายประเทศที่เผชิญความท้าทายแบบเดียวกัน ซึ่งน่าจะช่วยให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลไทยในการทบทวนกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลไทยระบุว่าอยู่ระหว่างทบทวนด้วย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิวยอร์กไทมส์: น้ำท่วมไทยเกิดจากฝีมือมนุษย์

Posted: 14 Oct 2011 05:12 PM PDT

เซธ เมย์เดนส์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติของไทย ชี้อุทกภัยที่เกิดขึ้นและลามไปหลายพื้นที่ในเวลานี้ ไม่ได้มาจากปริมาณน้ำฝนที่มากผิดปกติ หากแต่เป็นเพราะการวางแผนการจัดการน้ำและผังเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ

กรุงเทพ - ท่ามกลางอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย ที่ส่งผลให้จังหวัดต่างๆ และนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงโบราณสถานกลายเป็นเมืองบาดาลอยู่ใต้น้ำ ผู้เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำชี้ว่า สาเหตุของหายนะครั้งนี้ เป็นผลมาจากฝีมือของมนุษย์

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัจจัยหลักๆ ของอุทกภัยในครั้งนี้ คือการตัดไม้ทำลายป่า การปลูกสิ่งก่อสร้างที่มากเกินไปในเขตพื้นที่รับน้ำ การสร้างเขื่อนและการหันเหธารน้ำธรรมชาติ การเจริญเติบโตของเมืองที่กระจัดกระจาย รวมถึงคูคลองในเมืองที่เริ่มอุดตันและการขาดการวางแผน เขาชี้ว่า เขาเคยเตือนทางการไปแล้วหลายครั้งในเรื่องนี้ หากแต่ก็ไม่มีผล

“ผมได้พยายามจะบอกทางการไม่รู้กี่ครั้งกี่หน แต่เขาบอกผมว่าผมน่ะบ้าไปเอง” ดร. สมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ผู้ซึ่งโด่งดังจากการคาดการณ์ภัยพิบัติสึนามิหลายปีก่อนที่คลื่นยักษ์จะเข้าถล่มชายฝั่งในพ.ศ. 2547

ฤดูพายุร้อนในปีนี้ นำหายนะมาสู่กัมพูชา ฟิลลิปินส์ เวียดนามและไทย ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 283 คน

ในฟิลิปปินส์ มีหลายพันคนที่ต้องอพยพเนื่องจากพายุไต้ฝุ่นที่เข้าถล่มประเทศ ส่วนนาข้าวขั้นบันไดขนาfใหญ่ที่เมืองบานาวของฟิลลิปินส์ ก็ถูกโคลนถล่มทำลายเสียหายย่อยยับ

เช่นเดียวกับในกัมพูชา  มีรายงานว่าที่กรุงเสียมราฐ เมืองหลวงของกัมพูชา ระดับน้ำก็สูงขึ้นมาระดับเข่า และกระแสน้ำเริ่มท่วมนครวัดแล้ว

ทางการไทยได้แจ้งเตือนว่า ในไม่อีกกี่วันนี้ กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมด้วยน้ำหลากจากภาคเหนือ น้ำหนุนและน้ำฝนจากพายุฤดูร้อน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ก็ได้เริ่มขนกระสอบทรายมากั้นไว้เพื่อเตรียมความพร้อม และกว้านซื้ออาหารแห้ง น้ำดืม แบตเตอรี่ และเทียนไขมากักตุน

ส่วนการเตรียมการในกรุงเทพฯ ก็เป็นที่วุ่นวายมากทีเดียว กระสอบทรายเรียงรายกันยาวกว่า 45 ไมล์ ถูกวางกั้นตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนแนวกั้นนำและคูคลองก็กำลังสร้างขึ้นมารองรับกระแสน้ำ และประชาชนก็ได้รับคำเตือนจากทางการให้เตรียมพร้อมอยู่เสมอ

ในขณะที่น้ำไหลบ่าลงจากทิศใต้จากจังหวัดนครสวรรคและอยุธยา ทำให้โบราณสถานจมอยู่ใต้น้ำ สื่อท้องถิ่นรายงานว่าทหารก็ได้เตรียมขนย้ายกระสอบทรายกว่า 150,000 ถุง ไล่ลงตามกระแสน้ำจากที่ที่ประสบความเสียหายแห่งหนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งซึ่งมีความเสี่ยงต่อไป

ในขณะที่รัฐบาลพยายามปกป้องพื้นที่ในตัวเมืองและพื้นที่อุตสาหกรรมโดยการหันเหน้ำไปทางอื่นเท่าที่จะทำได้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องเผชิญกับการตัดสินใจว่าจะเลือกช่วยเมืองไหน และเมืองไหนที่จะต้องเสียสละ

ในอยุธยา มีรายงานว่ามีชาวบ้านสองกลุ่มเกิดการทะเลาะวิวาทเนื่องมาจากทำนบที่กั้นน้ำจากฝั่งหนึ่ง ไม่ให้ไหลเข้าไปอีกฝั่งหนึ่ง ชาวบ้านฝั่งที่โชคร้ายรับน้ำท่วมเกิดความไม่พอใจ ได้ขุดรูตรงคันกั้นน้ำเพื่อปล่อยน้ำให้ไหลไปยังอีกฝั่งหนึ่ง จึงเกิดการยิงต่อสู้กัน ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ ยังมีรายงานว่า ทหารได้ถูกส่งไปยังคันกั้นน้ำในบริเวณต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังคันกั้นน้ำด้วย

เอวา นาร์คีวิกซ์ ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารองค์กร Elephantstay ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรที่ดูแลช้างสูงอายุ ให้ข้อมูลว่า มีช้างราว 15 ตัวในอยุธยาที่ถูกปล่อยเกาะ โดยพวกมันหนีเอาตัวรอดโดยการปีนขึ้นหนีน้ำบนกำแพงยอดสูง ช้างโขลงนั้นประกอบด้วยแม่ช้างเจ็ดตัว และลูกๆของมัน ในจำนวนนั้น ยังรวมถึงช้างอายุ 9 ปีตัวหนึ่งที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้วยทักษะการวาดภาพด้วยงวง

“ถ้าหากความช่วยเหลือที่เหมาะสมยังไม่มาถึงเร็วๆ นี้ แม่และลูกช้างจะอยู่ในอยู่ในอันตรายมาก” นาร์คีวิกซ์กล่าว เธอเสริมว่า ช้างแต่ละตัวบริโภคอาหารมากถึง 440 ปอนด์ (ราว 200 กิโลกรัม) ต่อวัน แต่เรือที่อาจใช้ขนส่งกล้วย สับปะรดและอ้อย จำเป็นต้องกู้ภัยและช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ตามที่ต่างๆ 

นายสมิทธ นักอุตุนิยมวิทยากล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ถูกทำให้เลวร้ายกว่าเดิม เป็นเพราะแผนการจัดการน้ำที่ไม่ดี

“พวกเขาคำนวณระดับน้ำผิดไป และไม่ได้ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนให้เร็วพอในฤดูฝน” เขากล่าว “และตอนนี้ระดับน้ำในเขื่อนก็เกือบจะเต็มหมดแล้ว พอเมื่อเขาปล่อยน้ำในเวลานี้ น้ำก็ไหลลงมายังพื้นที่ราบต่ำ”

เขากล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวได้กลายเป็นอุปสรรคต่อกระแสการไหลของน้ำ เนื่องจากนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลายยังคงดำเนินการการปลูกสร้างต่อไปไม่หยุดหย่อน

“พวกเขาสร้างอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ควรจะเป็นอ่างเก็บน้ำ” เขากล่าว “และเมื่อพวกเขาสร้างเขื่อนหรือทำนบกั้นน้ำตรงนั้นขึ้นมา มันก็จะปิดกั้นการไหลของกระแสน้ำ ทั้งๆ ที่มันควรจะเป็นทางผ่านของน้ำในฤดูฝน”

เมื่อกระแสน้ำท่วมไหลบ่าเข้ามายังกรุงเทพฯ มันก็จะไหลเข้ามายังมหานครที่สูญเสียปราการกั้นน้ำตามธรรมชาติไปแล้ว กล่าวคือ คูคลองต่างๆ ที่ควรจะรองรับน้ำ ได้อุดตันไปด้วยเศษขยะต่างๆ ที่มาพร้อมกับประชากรที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่นในเมือง

“การวางผังเมืองของเรานั้นไร้ประสิทธิภาพ” นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

“ฤดูกาลมิได้เปลี่ยนไปมากเท่าไหร่หรอก” เขากล่าว “เรามักจะมีน้ำเยอะมากเป็นพิเศษในฤดูฝน แต่ถ้าหากเรายังไม่มีแผนการจัดการน้ำที่ดี เราก็จะเผชิญกับปัญหานี้อีกในปีหน้า” 

เขากล่าวต่อว่า มนุษย์และธรรมชาติเริ่มขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ และการอยู่ร่วมกันก็กลายเป็นสมรภูมิขนาดย่อย “นี่เป็นสัญญานที่เตือนให้เรารู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะอนุรักษ์ผืนป่า... เราทำลายธรรมชาติไปมากพอแล้ว และตอนนี้ ก็เสมือนว่าเป็นเวลาที่ธรรมชาติจะขอเอาคืน” 

ที่มา

แปลและเรียบเรียงจาก Seth Mydans. As Thailand Floods Spread, Experts Blame Officials, Not Rains. New York Times. 13/10/54
http://www.nytimes.com/2011/10/14/world/asia/a-natural-disaster-in-thailand-guided-by-human-hand.html

 

หมายเหตุ: ประชาไทได้แก้ไขข้อความและสำนวนตามคำท้วงติงจากผู้อ่านเพื่อความถูกต้องและสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 54 เวลา 7.50 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น