โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

PRACHATAI ASEAN WEEKLY: สถานการณ์น้ำท่วมในอุษาคเนย์ นายกฯ เยือนเพื่อนบ้าน และความเชื่อเรื่องน้ำ

Posted: 16 Oct 2011 09:55 AM PDT

คุยข่าวและบริบทสังคมการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกสัปดาห์ กับนักวิชาการด้านอุษาคเนย์ศึกษา อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. สัปดาห์นี้คุยกันเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน การเยือนประเทศสมาชิกอาเซียนของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และความเชื่อ-พิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำของไทยและเพื่อนบ้าน

ช่วงที่ 1

ช่วงที่ 2

ช่วงที่ 3

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมื่อ 'สลาวอย ชิเชก' มาเยือนขบวนการ 'ยึดครองวอลล์สตรีท'

Posted: 16 Oct 2011 09:02 AM PDT

'สลาวอย ชิเชก' นักปรัชญาฝ่ายซ้ายสายวิพากษ์อย่างถึงราก มาเยือนขบวนการ 'ยึดครองวอลล์สตรีท' กลางกรุงนิวยอร์ก พร้อมปราศรัยกับผู้ชุมนุมนับพัน "...เราไม่ใช่พวกเพ้อฝัน แต่เราคือผู้ตื่นจากฝัน ที่ได้กลายเป็นฝันร้าย"

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา  'สลาวอย ชิเชก' นักปรัชญาฝ่ายซ้ายสายวิพากษ์อย่างถึงราก ชาวสโลวีเนีย มาเยือนขบวนการ 'ยึดครองวอลล์สตรีท' และปราศรัยกับผู้ชุมนุมนับพันใจกลางกรุงนิวยอร์ก ชวนตั้งคำถามต่อตนเองถึงระบบที่เป็นอยู่และเตือนใจถึงจุดประสงค์ของผู้คนที่มาชุมนุมหน้าวอลล์สตรีท  ประชาไท จึงขอนำบทแปลภาษาไทยที่แปลโดยทีมงานของกลุ่มเฟซบุ๊ก "Newer Left Preview" มานำเสนอ ดังนี้...
 

0000

เราทั้งหมดคือผู้แพ้ แต่ผู้แพ้ที่แท้จริงอยู่ตรงวอลล์สตรีทนั่น พวกเขาได้รับการเติมลมหายใจเฮือกสุดท้ายให้ล้มละลายอย่างนุ่มนวลด้วยเงินเป็นพันล้านของพวกเรา เราถูกเรียกว่าพวกสังคมนิยม แต่มันก็มีสังคมนิยมเฉพาะสำหรับพวกคนรวยเสมอ พวกเขาว่าพวกเราไม่เคารพทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่ในปี 2008 การล่มสลายทางการเงินสร้างความเสียหายมากกว่าไอ้สิ่งที่พวกเราทำๆอยู่ทั้งวันทั้งคืนหลายอาทิตย์ที่นี่เสียอีก พวกเขาบอกว่าพวกเราเป็นพวกเพ้อฝัน แต่พวกที่เพ้อฝันจริงๆ คือพวกที่คิดว่าสิ่งต่างๆมันจะดำเนินไปอย่างที่มันเป็นได้เรื่อยๆ ต่างหาก เราไม่ใช่พวกเพ้อฝัน แต่เราคือผู้ตื่นจากฝันที่กลายเป็นฝันร้าย

เราไม่ได้ทำลายอะไรเลย เราแค่เป็นประจักษ์พยานว่าระบบมันทำลายตัวมันเองอย่างไร เราทั้งหมดรู้จักฉากคลาสสิคจากการ์ตูนกันดี ฉากที่แมวเดินมาถึงหน้าผาแล้วยังเดินต่อไปโดยไม่สนใจว่าไม่มีอะไรรองรับอยู่ใต้เท้า และกว่ามันจะได้มองลงไปและสังเกตเห็น มันก็ร่วงลงไปเสียแล้ว นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ เรากำลังบอกผู้คนในวอลล์สตรีทว่า “เฮ้ยมองลงข้างล่างสิ”

ในกลางเดือนเมษายน 2011 รัฐบาลจีนแบนทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับโลกคู่ขนานและการเดินทางข้ามเวลา ทั้งในทีวีภาพยนตร์ และวรรณกรรม นี่เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับจีน ผู้คนเหล่านี้ยังคงฝันถึงทางเลือกอื่นๆ คุณก็เลยต้องห้ามเขาฝัน ที่นี่เราไม่ต้องการการห้ามใดๆทั้งสิ้น เพราะระบบที่ครอบงำเราอยู่กดกระทั่งศักยภาพในการฝันของเราเอาไว้ ดูหนังที่เราดูกันตลอดเวลานี่สิ มันง่ายที่จะจินตนาการถึงจุดจบของโลกอย่างอุกกาบาตพุ่งชนโลกอะไรพวกนี้ แต่คุณไม่สามารถจินตนาการถึงจุดจบของทุนนิยมได้เลย

แล้วเรามาทำอะไรกันที่นี่? ผมขอเล่าเรื่องตลกเรื่องเยี่ยมเก่าๆ จากสมัยคอมมิวนิสต์ ชายคนหนึ่งถูกส่งจากเยอรมันตะวันออกไปทำงานที่ไซบีเรีย เขารู้ว่าจดหมายของเขาที่ส่งกลับมาบ้านกิดจะถูกอ่านและเซ็นเซอร์ เขาเลยบอกเพื่อนเขาว่า “มาตั้งรหัสกันดีกว่าว่ะ ถ้ามึงได้จดหมายจากกูแล้วหมึกเป็นสีน้ำเงินแสดงว่าสิ่งที่กูพูดเป็นความจริง แต่ถ้าหมึกเป็นสีแดงก็แสดงว่ามันไม่จริง” หลังจากนั้นหนึ่งเดือนเพื่อนเขาก็ได้จดหมายฉบับแรกหมึกเป็นสีน้ำเงินทั้งหมด มีข้อความว่า “ทุกอย่างที่นี่เยี่ยมยอดเลยเพื่อน ร้านอาหารอร่อยๆ เพียบเลยว่ะ โรงหนังก็มีหนังดีๆ จากตะวันตกฉายเต็มไปหมด อพาร์ตเมนต์ที่กูอยู่ก็ใหญ่โตหรูหรา แต่สิ่งที่กูหาซื้อไม่ได้เลยคือหมึกสีแดง” 

นี่คือสภาวะที่เราอยู่ เรามีเสรีภาพทุกอย่างที่เราต้องการแต่เราไม่มีหมึกสีแดง เราไม่มีภาษาที่จะใช้พูดถึงความไม่มีเสรีภาพของเรา วิธีที่เราได้รับการสั่งสอนให้พูดถึงเสรีภาพอย่างการพูดถึงสงครามก่อการร้าย และเรื่องอื่นๆ ล้วนทำให้เสรีภาพเป็นเรื่องหลอกลวงและนี่คือสิ่งที่พวกคุณทำ กันอยู่ที่นี่ พวกคุณกำลังมอบหมึกสีแดงให้กับพวกเราทั้งหมด

 มันมีความอันตราย พวกคุณอย่าได้หลงรักตัวเองไปกับเวลาดีๆ ที่พวกคุณมีที่นี่ งานคาร์นิวาลอย่างนี้น่ะได้มาไม่ยากหรอก สิ่งที่เป็นประเด็นมันคือหลังจากนี้เมื่อเรากลับไปมีชีวิตปกติ ว่ามันจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมั้ย? ผมไม่อยากให้พวกคุณจำวันเหล่านี้ในทำนองว่า “โอเรายังเป็นหนุ่มสาวและมันช่างเป็นวันที่งดงาม” จงจำไว้ว่าสารเบื้องต้นของเราคือ “เราสามารถคิดถึงทางเลือกอื่นๆได้” เมื่อกฎได้พังไปแล้ว เราไม่ได้อยู่ในโลกที่ดีที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้หรอก แต่หนทางข้างหน้าก็ยังอีกยาว เรายังต้องเผชิญหน้ากับคำถามที่ยากจริงๆ อีกมากมาย เรารู้ว่าเราไม่ต้องการอะไร แต่เราต้องการอะไรล่ะ? ระเบียบสังคมแบบไหนที่จะมาแทนที่ทุนนิยม? เราต้องการผู้นำใหม่แบบไหน?

 จงจำไว้ว่า ปัญหาไม่ใช่การคอร์รัปชั่นหรือความละโมบ ปัญหามันคือระบบ มันทำให้คุณจำต้องคอร์รัปชั่นถึงจะอยู่รอด จงระวังไม่ใช่แค่ศัตรู แต่ระวังพวกมิตรเทียมๆ ที่กำลังทำให้กระบวนการประท้วงนี้เจือจางลง เช่นเดียวกับที่คุณมีกาแฟที่ไร้คาเฟอีน เบียร์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ ไอศกรีมไม่มีไขมัน พวกเขากำลังจะเปลี่ยนการประท้วงของพวกคุณให้กลายเป็นการประท้วงทางศีลธรรมที่ไร้พิษภัย มันคือกระบวนการสกัดคาเฟอีน แต่เหตุผลที่เราอยู่ที่นี่คือเราพอแล้วกับโลก ที่เรารู้สึกดีกับการรีไซเคิลกระป๋องโค้ก การบริจาคเงินสองสามเหรียญกับการกุศล หรือการซื้อคาปุชชิโนของสตาร์บัคที่เงิน 1 เปอร์เซ็นต์ของเราจะไปสู่เด็กหิวโหยในโลกที่สามและทำให้เรารู้สึกดีเหนือคณานับ หลังจากที่เราโอนถ่ายให้คนอื่นทำงานแทนและการทรมานนักโทษแทนเรามาแล้ว หลังจากที่เราโดนถ่ายชีวิตรักของเราให้บริษัทหาคู่จัดการแทนมาแล้ว ตอนนี้เราประจักษ์แล้วว่า เราได้ถ่ายโอนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเราให้คนอื่นมานานแล้ว และเราต้องการมันกลับมา

เราไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ถ้าคอมมิวนิสต์หมายถึงระบบที่ล่มไปในปี 1990 จงจำไว้ว่าวันนี้พวกคอมมิวนิสต์เหล่านั้นแหละที่เป็นนายทุนที่มีประสิทธิภาพที่สุด และเหี้ยมโหด ในจีนทุกวันนี้เรามีทุนนิยมที่มีพลวัตยิ่งกว่าทุนนิยมอเมริกัน แต่ก็ไม่ต้องการประชาธิปไตยด้วยซ้ำ นี่หมายความว่า เมื่อคุณวิจารณ์ทุนนิยมคุณก็อย่าไปกลัวการถูกแบล็คเมล์ว่าคุณต่อต้านประชาธิปไตย การสมรสของประชาธิปไตยและทุนนิยมมันจบแล้ว การเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นได้

ทุกวันนี้เรามองว่าอะไรเป็นไปได้บ้าง? ลองมาดูในสื่อสิ ในมิติเทคโนโลยีและเพศทุกอย่างดูจะเป็นไปได้ คุณเดินทางไปดวงจันทร์ได้ คุณเป็นอมตะได้ด้วยไบโอเจเนติกส์ คุณร่วมเพศกับสัตว์หรืออะไรก็ได้ แต่คุณลองกลับมาดูในมิติสังคมและเศรษฐกิจสิ คุณจะเห็นว่าไม่มีอะไรเป็นไปได้เลย คุณอยากจะเพิ่มภาษีพวกคนรวยนิดหน่อยพวกเขาก็จะบอกคุณว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราจะเสียศักยภาพในการแข่งขัน คุณต้องการเงินด้านสาธาณสุขมากขึ้นพวกเขาก็จะบอกคุณว่า “เป็นไปไม่ได้มันหมายถึงรัฐเผด็จการ” มันมีอะไรผิดพลาดในโลกใบนี้ที่มันสัญญากับคุณว่าคุณจะเป็นอมตะ แต่คุณไม่สามารถเพิ่มงบประมาณอีกนิดๆ หน่อยๆ เพื่อการบริการสุขภาพของประชาชน เราอาจจะต้องจัดลำดับก่อนหลังของความต้องการเราอย่างตรงไปตรงมาตรงนี้ เราไม่ได้ต้องการมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น แต่เราต้องการมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น ความหมายเดียวของการเป็นคอมมิวนิสต์ของเราในตอนนี้คือเราใส่ใจสิ่งที่เป็นของส่วนรวม ธรรมชาติของส่วนรวม ทรัพย์สินทางปัญญาของส่วนรวม ไบโอเจเนติกส์ของส่วนรวม เราควรจะสู้เพื่อสิ่งเหล่านี้ และโดยเฉพาะสิ่งเหล่านี้เท่านั้น

ลัทธิคอมมิวนิสม์ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แต่ปัญหาของทรัพย์สินส่วนรวมยังอยู่กับเรา พวกเขาบอกว่าพวกเราไม่ใช่คนอเมริกัน แต่พวกอนุรักษ์นิยมรากฐานนิยมที่อ้างว่าตัวเองเป็นอเมริกันต้องถูกเตือนในบางอย่าง อะไรคือความเป็นคริสเตียน? มันคือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์? อะไรคือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์? มันคือชุมชนที่เท่าเทียมกันของผู้มีศรัทธาซึ่งเชื่อมกันด้วยความรักต่อกัน และมีเสรีภาพและความรับผิดชอบที่จะทำแบบนั้น ในแง่นี้ วิญญาณศักดิ์สิทธิ์อยู่กับเราที่นี่ และที่วอลล์สตรีทนั่นมันก็มีพวกนอกรีตที่บูชารูปเคารพอันน่าดูหมิ่น ดังนั้นพวกเราจึงต้องการความอดทนในการต่อสู้ สิ่งเดียวที่ผมกลัวก็คือว่า สักวันพวกเราจะกลับบ้านกันไป และจะเจอกันปีละครั้ง กินเบียร์กันและนึกโหยหาอดีตว่า “เราช่างมีวันคืนที่ดีเหลือเกินในช่วงที่เราอยู่ที่นี่” จงสัญญากับตัวเองว่ามันจะไม่เป็นแบบนี้ เรารู้ว่าเรามักจะปรารถนาในสิ่งที่เราไม่ได้ต้องการมันจริงๆ แต่จงอย่ากลัวที่จะปรารถนาในสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ ขอบคุณครับ

หมายเหตุ:  สลาวอย ชิเชก เป็นปัญญาชนแนวหน้าของฝ่ายซ้ายถึงราก (Radical leftist) ซึ่งเขียนงานวิพากษ์ทุนนิยม อุดมการณ์ทางการเมือง ศาสนา โลกาภิวัฒน์ ฯลฯ ในแนวจิตวิเคราะห์ และมาร์กซิสม์ ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์และบรรยายในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในยุโรปและสหรัฐ


 

ต้นฉบับของคำปราศรัย อ่านได้ที่ http://www.criticallegalthinking.com/?p=4415#more-4415

คลิปการปราศรัยของ Zizek
http://youtu.be/eu9BWlcRwPQ  และ 
http://youtu.be/7UpmUly9It4

ที่มา: เฟซบุ๊กกลุ่ม Newer Left Preview.  "...เราไม่ใช่พวกเพ้อฝัน แต่เราคือผู้ตื่นจากฝันที่กลายเป็นฝันร้าย" Zizek กล่าวกับผู้ชุมนุม Occupy Wall Street. 15/10/54

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาไทบันเทิง: AV ที่รัก 3 ตอน AV ทะลุจอ (ตอนจบ)

Posted: 16 Oct 2011 07:56 AM PDT

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก็เกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในวงการจอเงินคือ “หนังโป๊สามมิติ” จากภาพยนตร์เรื่อง Sex and Zen 3 แม้จะจัดอยู่ในประเภท “หนังอีโรติก” ไม่โจ่งครึ่มแบบหนัง AV แต่ก็สร้างความฮือฮาตั้งแต่ภาพยนตร์ยังถ่ายทำไม่เสร็จ

Sex and Zen 3 ถือเป็นหนังอีโรติกเรื่องแรกของโลกที่มีสาว AV สัญชาติญี่ปุ่น SAORI HARA และ YUKIKO SUO ร่วมแสดง โดยเฉพาะฉากที่สองสาวแสดงนั้นถูกตัดออกไปเมื่อเข้าฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเรา ได้แก่ฉากที่ SAORI รับบทเป็น หลิวซื่อยั่วยวนหลวงจีนจนตบะแตกแล้ว XXX กับเธอ และฉากที่องค์ชายร่วมรักกับตงเหม่ยจนขาดใจตาย ซึ่งผู้รับบทเป็นตงเหม่ยคือ YUKIKO และ YUKIKO เองก็เล่นฉากรักพิสดารโดยที่ขณะแสดงต้องห้อยตัวบนลวดสลิง ถึงจะใช้สลิงแต่เธอก็ไม่ใช้ตัวแสดงแทน ความใจกล้าของสาวๆ จึงเป็นที่เล่าขานกันในโลกไซเบอร์มากพอสมควร

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สาวๆ AV เมืองปลาดิบได้ตบเท้าเดินก้าวออกจากโลกหนังผู้ใหญ่มาสู่โลกจอเงินทั้งในและนอกประเทศ ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่น้อง SORA AOI จากเรื่อง “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น” จะสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้น ในประเทศอินโดนีเซียหนู MARIA OZAWA หรือที่แฟนๆ เรียกเธอว่า MIYABI หนู RIN SAKURAGI และ หนู LEAH YAZUKI ก็ไปเล่นหนังปกติในแดนอิเหนายังมีหนังสือพิมพ์ลงข่าวหลายวันติดต่อกัน ถึงขั้นพาดหัวข่าวว่าราวกับว่าสาว AV ทำให้สิ้นชาติ !

“บร๊ะเจ้ายอด มันจอร์จมาก !” ผู้เขียนอุทานในใจ “อีกหน่อยจะมีพาดหัวข่าวว่า “สาวจะ AV ครองโลก”

แต่ก็เป็นเรื่องที่สามารถคาดเดาว่าจะเกิดขึ้นได้ในประเทศเทศที่มีความอ่อนไหวกับเรื่องทางเพศ

อย่างไรก็ตาม กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบให้ผู้ชมไปชมภาพยนตร์ที่พวกเธอร่วมแสดงน้อยลง แต่กลายเป็นการสร้างการประชาสัมพันธ์ทางอ้อม (ตลอดจนส่งเสริมยอดขายหนัง AV ของเธอมากขึ้นด้วยซ้ำ) และในอุตสาหกรรมบันเทิงผู้ใหญ่ของญี่ปุ่นก็ก้าวไปมากกว่าการผลิตสื่อบันเทิงชวนสยิว อย่างเช่น บริษัท Soft on Demand ที่มีการประกอบธุรกิจในเครือหลายบริษัทย่อย ตั้งแต่ค่ายหนังที่ผลิตหนังเฉพาะทางสำหรับผู้มีรสนิยมทางเพศที่หลากหลาย ไปจนถึงการผลิต “ของเล่นผู้ใหญ่” หรือ Sex Toy ยี่ห้อ TENKA ซึ่งเป็นแบรนด์ของเล่นคลายเหงาชื่อดัง โดยออกแบบสินค้าสำหรับท่านชายดีไซน์ล้ำสมัย หรือก็มีบริษัทอื่นที่ผลิตสินค้าบำบัดอารมณ์เปลี่ยวโดยที่นำดารา AV มาผลิตเป็นรุ่นที่ให้สัมผัสราวกับได้หลอมรวมกับเธอด้วยเช่นกัน งานนี้เรือล่มในหนองทองจะไปไหน ทั้งซื้อมาดู ทั้งซื้อมาใช้ บริษัทรับทรัพย์ไปเรียบร้อยโรงเรียน AV ค่ะ อร๊างงงง ....

ประชาไทบันเทิง: AV ที่รัก 3 ตอน AV ทะลุจอ (ตอนจบ)

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของเล่นผู้ใหญ่ยี่ห้อ TENGA

ประชาไทบันเทิง: AV ที่รัก 3 ตอน AV ทะลุจอ (ตอนจบ)

ตัวอย่างจิ๋มกระป๋อง หรือเรียกสั้นๆ ว่า “จ๋อง” AV
ที่ผลิตออกมาเฉพาะรุ่น โดยอ้างว่าให้สัมผัสเหมือน “ข้างใน” ของสาวเจ้าของรุ่น

การออกผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกจากหนัง AV นั้น บริษัทต้องมั่นใจในระดับหนึ่งว่าดาราที่เป็นพรีเซนเตอร์จะได้รับความนิยมหรือมีแฟนคลับในระดับหนึ่ง อย่างเช่น Soft on Demand มีการทำวิจัยตลาดในเรื่องรสนิยมเพศ ในขณะเดียวกันทางบริษัทต้นสังกัดดารา AV หรือ เอเจนซีก็มีวิธีการสร้างแฟนคลับด้วยเช่นกัน วิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมคือการสร้าง “เว็บบล็อก” ที่ให้สาวเจ้าอัพเดทเรื่องราวต่างๆ นานา ตั้งแต่เรื่องชีวิตประจำวันไปจนถึงเล่าเรื่องการถ่ายทำหนัง และผู้ที่ชื่นชอบตัวเธอก็สามารถกดเข้าไปสั่งซื้อหนังที่เธอแสดงได้ผ่านแบนเนอร์ที่เชื่อมกับหน้าสั่งซื้อสินค้าของบริษัทได้ทันที แต่สำหรับการสมัครเป็นสมาชิกแฟนคลับอย่างเป็นทางการของดารา AV บางคนจะต้องจ่ายค่าสมัครด้วยถึงจะสามารถดาวน์โหลดภาพและคลิปวีดิโอของเธอได้

ประชาไทบันเทิง: AV ที่รัก 3 ตอน AV ทะลุจอ (ตอนจบ)

Prime Agency หนึ่งในเอเจนซีดารา AV ชื่อดังของญี่ปุ่น

สีสันของโลก AV ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือ การมอบรางวัลแก่คนในวงการ AV โดยมีการมอบรางวัลแก่คนในวงการอยู่ 3 งานใหญ่ๆ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี ได้แก่ Adult Broadcasting Awards, AV OPEN และ AV Grand Prix Awards โดยรางวัลที่มอบให้ได้แก่ นักแสดงหญิงยอดเยี่ยม (Best Actress) นักแสดงหญิงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม (Best New Actress) นักแสดงหญิงผู้มีผลงานมากที่สุดประจำปี (The Most Appearances) นักแสดงสาวใหญ่ยอดเยี่ยม (Best Mature Actress) ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สุดประจำปี (Best Seller) นอกจากนี้ยังมีรางวัลย่อยอีกคือรางวัล Excellence Awards เช่น สาขารักร่วมเพศยอดเยี่ยม สาขา Fetish ยอดเยี่ยม สาขา Mosaic หรือการเซนเซอร์ยอดเยี่ยม และทุกรางวัลตัดสินด้วยการลงคะแนนจากผู้ชมทางบ้านเท่านั้น

ด้วยความหลากหลายมิติในวงการหนัง AV ของญี่ปุ่นทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านเพศวิธีของคนญี่ปุ่น เมื่อสื่อบันเทิงผู้ใหญ่เผยแพร่ในโลกไร้พรมแดนย่อมส่งผลแก่สังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก จนบางประเทศพอพูดถึงผู้หญิงญี่ปุ่นก็จะนึกถึงสาวหน้ามนในหนัง AV โดยอัตโนมัติ และการชมหนังแนวนี้ย่อมส่งผลต่อเจตคติทางเพศต่อเพศตรงข้ามไปจนถึงลีลาการร่วมรักบ้างไม่มากก็น้อย จนมีนักวิชาการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังในหลายประเทศ โดยล่าสุดมหาวิทยาลัยในฮ่องกงมีคลาส “Japanese Sex Culture” ในหลักสูตรภาษาญี่ปุ่นระดับมหาวิทยาลัย [1] เลยทีเดียว

ไม่ว่าจะชอบดู จะชอบตำหนิ อุตสาหกรรม AV ยังเติบโตต่อไป มีความหลากหลายและความซับซ้อนมากขึ้น ยังคงทรงเสน่ห์ยั่วยวนให้ค้นหา ตลอดจนสร้างความฮือหาได้ตลอดไม่มีเบื่อแน่นอนค่ะ อร๊างงงงง

อ้างอิง:

  1. http://hkuspace.hku.hk/file/programme/38568/jkt2011S.pdf

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กานดา นาคน้อย

Posted: 16 Oct 2011 07:06 AM PDT

การแจกถุงยังชีพนั้นนิยมแจกกันรอบละ 500 ถุง หรือ 1,000 ถุง ดังนั้นถ้าจะให้ครอบคลุมผู้ประสบภัย 8 ล้านคนก็ต้องขนถุงยังชีพไปแจกกัน 8,000 - 16,000 รอบ นอกจากนี้ถุงยังชีพราคา 500 บาทคงจะประทังชีวิตได้ไม่กี่วัน ถ้าจะแจกซ้ำให้ได้กันคนละ 2 ถุงก็ต้องขนถุงยังชีพเพิ่มอีกให้ถึง 16,000-32,000 รอบ

 

16 ตุลาคม 2554

กานดา นาคน้อย: เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก ตอน น้ำท่วม เขื่อน และประกันอุทกภัย

Posted: 16 Oct 2011 06:49 AM PDT

ศึกษากรณีการทำประกันอุทกภัยและการรับมืออุทกภัยในสหรัฐอเมริกา ข้อสังเกตต่อการจัดการของประเทศไทยที่การบริจาคและถุงยังชีพไม่ใช่คำถตอบ และคำถามหลักๆ อาทิ ทำไมไทยแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ทั้งๆ ที่สร้างเขื่อนกันมากมาย? คนไทยจะร่วมกันรับภาระจากอุทกภัยในอนาคตอย่างไร?

วิกฤตอุทกภัยฤดูฝนปีนี้ขณะนี้มีผลกระทบพื้นที่ 61 จังหวัด 600 อำเภอ มีประชากรได้รับผลกระทบมากกว่า 8 ล้านคนหรือมากกว่า 2 ล้านครัวเรือน [1] สื่อมวลชนจัดอันดับว่าเป็นอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี แสดงว่าถ้าย้อนประวัติศาสตร์ไปเกิน 50 ปีก็จะพบอุทกภัยที่สาหัสกว่านี้ แล้วทำไมผ่านไปหลายสิบปีแล้วรัฐไทยยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้?

ทำไมไทยแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ทั้งๆ ที่สร้างเขื่อนกันมากมาย?
หน้าที่หลักของเขื่อนไทยคือการผลิตไฟฟ้า ส่วนชลประทานและการป้องกันน้ำท่วมเป็นหน้าที่รอง

ไทยเริ่มสร้างเขื่อนพลังน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าในยุคสงครามเกาหลีเมื่อ 60 ปีที่แล้วเพื่อส่งเสริมการร่วมทุนอุตสาหกรรมกับบริษัทอเมริกัน จำนวนเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการร่วมทุนอุตสาหกรรมกับบริษัทญี่ปุ่นซึ่งย้ายฐานการผลิตเพราะเงินเยนแข็งค่าขึ้นหลังสงครามเวียดนาม เขื่อนใหญ่ทั่วไทยบริหารโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กฟผ.บริหาร 14 เขื่อนจากเหนือลงใต้ดังต่อไปนี้ [2] เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล (เชียงใหม่) เขื่อนสิริกิติ์ (อุตรดิตถ์) เขื่อนภูมิพล (ตาก) เขื่อนน้ำพุง (สกลนคร) เขื่อนอุบลรัตน์(ขอนแก่น) เขื่อนจุฬาภรณ์ (ชัยภูมิ) เขื่อนปากมูล (อุบลราชธานี) เขื่อนสิรินธร (อุบลราชธานี) เขื่อนวชิราลงกรณ์ (กาญจนบุรี) เขื่อนศรีนครินทร์ (กาญจนบุรี) เขื่อนท่าทุ่งนา (กาญจนบุรี) เขื่อนแก่งกระจาน (เพชรบุรี) เขื่อนรัชชประภา (สุราษฎร์ธานี) และเขื่อนบางลาง (ยะลา)

ชัดเจนว่ารัฐไทยมอบหมายให้วิศวกรไฟฟ้าบริหารน้ำโดยยึดหลักว่าน้ำมีหน้าที่ผลิตไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองโรงงานอุตสาหกรรมสำคัญต่อการพัฒนา แต่การบริหารน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมสำคัญกว่าการผลิตไฟฟ้าและเกินความสามารถของวิศวกรไฟฟ้า เพราะถ้าน้ำท่วมโรงงานอุตสาหรรม เขื่อนผลิตไฟฟ้ามากมายเท่าไรก็ผลิตสินค้าและขนส่งสินค้าไม่ได้ แม้ว่ากรมชลประทานมีส่วนร่วมในการสร้างเขื่อนแล้วยกให้กฟผ.บริหาร การบริหารน้ำไม่สิ้นสุดในปีที่สร้างเขื่อนเสร็จ นอกจากปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนแล้วไทยก็มีปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูร้อนด้วย

เนเธอร์แลนด์และอิสราเอลในอดีตมีปัญหาคล้ายไทย กล่าวคือ เนเธอร์แลนด์ในอดีตโดนน้ำทะเลท่วมซ้ำซากจึงลงทุนสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลซึ่งป้องกันน้ำท่วมได้จริงๆ กรุงเทพและสมุทรปราการอาจต้องใช้วิธีเดียวกันในอนาคตอันใกล้ แต่วิธีนี้ไม่ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดอื่นโดยเฉพาะภาคกลางและเขตปริมณฑลที่รับภาระน้ำ(จืด)ท่วมแทนกรุงเทพ ส่วนอิสราเอลในอดีตมีปัญหาขาดแคลนน้ำเพราะภูมิศาสตร์แบบทะเลทราย แต่วิศวกรชลประทานของอิสราเอลก็สามารถบริหารน้ำจนทำการเกษตรได้

ในกรณีของไทย ตราบใดที่กฟผ.บริหารน้ำด้วยหลักการว่าหน้าที่หลักของน้ำคือเป็นปัจจัยผลิตไฟฟ้า และตราบใดที่วิศวกรชลประทานไม่มีส่วนร่วมบริหารเขื่อนใหญ่ 14 เขื่อน ก็ยากที่จะป้องกันน้ำท่วมได้ ในสหรัฐฯก็มีเขื่อนพลังน้ำที่ทำหน้าที่เพื่อผลิตไฟฟ้า ป้องกันน้ำท่วมและชลประทาน เช่น เขื่อนฮูเวอร์ที่อยู่ระหว่างมลรัฐเนวาดาและมลรัฐอริโซนา เขื่อนฮูเวอร์ทำหน้าที่ทั้ง 3 อย่างได้ดีถึงแม้ว่าทำให้ปลาบางชนิดสูญพันธุ์ไป

คนไทยจะร่วมกันรับภาระจากอุทกภัยในอนาคตอย่างไร?

อุทกภัยและภัยธรรมชาติต่างๆคือความเสี่ยงประเภทหนึ่งที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงต่ออุทกภัยจึงคล้ายคลึงกับการประกันความเสี่ยงด้านอื่น ในประเทศที่พัฒนาแล้วพลเมืองซื้อประกันจากรัฐและเอกชนเพื่อประกันความเสี่ยงได้สารพัด อาทิ ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ ประกันพิการ ประกันอัคคีภัย ประกันขโมย รวมถึงประกันภัยธรรมชาติ เช่น ประกันแผ่นดินไหว ประกันลมแรง ประกันพายุ ประกันอุทกภัย

ประกันอุทกภัยป้องกันอุทกภัยไม่ได้แต่สร้างแรงจูงใจเพื่อลดความเสียหายได้ ด้วยการบังคับให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมแบกภาระ เช่น พื้นที่ริมแม่น้ำ ริมคลอง ริมทะเลสาบ และริมชายทะเลทางผ่านของพายุ แต่จุดอ่อนของระบบประกันอยู่ตรงที่ว่า ถ้าความเสี่ยงสูง ภาระความเสียหายสูง และจำนวนลูกค้าที่ซื้อประกันมีน้อย เอกชนจะทำกำไรไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาว่าเอกชนไม่ยอมขายประกันความเสี่ยงที่มีความน่าจะเป็นสูงและความเสียหายสูง ในกรณีนี้รัฐต้องรับภาระประกันความเสี่ยงและต้องใช้กฎหมายบังคับให้คนจำนวนมากเข้าร่วมจ่ายเบี้ยประกัน ประกันอุทกภัยและประกันสุขภาพเข้าข่ายนี้

ในสหรัฐฯเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในเขตที่เสี่ยงต่ออุทุกภัยโดนกฎหมายบังคับให้ซื้อประกันอุทกภัย ถ้าไม่อยู่ในเขตที่เสี่ยงต่ออุทกภัยจะซื้อประกันอุทกภัยเผื่อไว้ก็ได้ ตามสถิติแล้วไม่ถึง 50% ของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในเขตที่เสี่ยงต่ออุทกภัยซื้อประกันจากเอกชน ที่เหลือซื้อไม่ได้เพราะเอกชนไม่ยอมขายให้เนื่องจากประเมินว่าเสี่ยงเกินไปและค่าเสียหายสูงเกินไป รัฐบาลกลางก็ต้องขายประกันอุทกภัยด้วย ประเด็นสำคัญคือรัฐบาลกลางเป็นผู้นิยามว่าเขตไหนคือเขตที่เสี่ยงต่ออุทกภัยโดยใช้ข้อมูลจากรัฐบาลท้องถิ่น

กรณีอุทกภัยจาก“เฮอริเคนคาทรีนา”ที่สหรัฐฯในปี 2548 ฝนตกหนักจนเขื่อนกั้นทะเลสาบพังทำให้น้ำทะเลสาบท่วมที่อยู่อาศัยในมลรัฐหลุยเซียนากว่า 70,000 ยูนิต ที่อยู่อาศัยที่เสียหายส่วนมากไม่อยู่ในเขตที่นิยามว่าเสี่ยงต่ออุทกภัยจึงไม่มีประกันอุทกภัย แต่ผู้เสียหายก็ได้เงินชดเชยจากจากประกันประเภทอื่น เนื่องจากสินเชื่อเพื่ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯบังคับให้ซื้อประกันที่อยู่อาศัยในวงเงินอย่างต่ำเท่าราคาประเมินของสิ่งปลูกสร้าง ประกันที่อยู่อาศัยมักครอบคลุมอัคคีภัย ลมแรงและฝนตกหนัก และมีราคาไม่แพงนักเพราะบริษัทประกันแข่งกันขายมากพอๆกับประกันรถยนต์ (ดิฉันจ่ายเบี้ยประกันที่อยู่อาศัยปีละ 0.35% ของมูลค่าบ้านเท่านั้น) รัฐบาลกลางก็ให้เงินช่วยเหลือแต่ไม่ให้เท่าคนที่มีประกันอุทกภัย

ในกรณีของไทย ถ้าจะนำระบบประกันอุทกภัยเข้ามาใช้ ประเด็นสำคัญคือการนิยามว่าเขตไหนเสี่ยงต่ออุทกภัยแค่ไหน ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางภูมิศาสตร์และชลประทานช่วยวัดความเสี่ยงต่ออุทกภัย“โดยธรรมชาติ” เราอาศัยประวัติน้ำท่วมอย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าอาศัยประวัติน้ำท่วมอย่างเดียวจะกลายเป็นว่ากรุงเทพฯมีความเสี่ยงต่ำกว่าอยุธยา จะทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในอยุธยาต้องจ่ายเบี้ยประกันมากกว่าเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพ ทั้งๆที่อยุธยาโดนผันน้ำเข้าเพื่อไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพ นอกจากนี้การใช้ประวัติน้ำท่วมมาตัดสินก็เข้าข่าย“วัวหายแล้วล้อมคอก” คือรอให้น้ำท่วมเสียก่อนถึงเรียกว่าเสี่ยงต่ออุทกภัย

ไทยได้เปรียบสหรัฐฯเรื่องประกันอุทกภัยตรงที่ว่าสัดส่วนพื้นที่ที่เสี่ยงต่ออุทกภัยน่าจะมีอัตราสูงกว่าสหรัฐฯ ดังนั้นถ้ามีกฎหมายบังคับประกันอุทกภัยก็จะมีคนจำนวนมากโดนบังคับซื้อประกัน จะตั้งกองทุนเพื่อรับภาระอุทกภัยได้ง่ายกว่าสหรัฐฯ ในแง่นี้อาจดูเหมือนว่าระบบประกันอุทกภัยคล้ายกับการเสียภาษี เช่น การเสียภาษีน้ำมันเพื่อเข้ากองทุนน้ำมัน แต่เบี้ยประกันต่างจากภาษีตรงที่ว่าเบี้ยประกันคำนวณด้วยสถิติด้านความน่าจะเป็น โรงแรมริมแม่น้ำและคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำมีความเสี่ยงต่ออุทกภัยมากกว่าพื้นที่ไกลจากแม่น้ำ ดังนั้นเจ้าของก็ควรรับภาระประกันมากกว่าโรงแรมและคอนโดมิเนียมที่ไกลจากแม่น้ำ ระบบประกันดังกล่าวจะช่วยชะลอการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไรด้วย

การบริจาคทดแทนระบบประกันไม่ได้
ดิฉันอ่านข่าวพบว่าการแจกถุงยังชีพนั้นนิยมแจกกันรอบละ 500 ถุง หรือ 1,000 ถุง ดังนั้นถ้าจะให้ครอบคลุมผู้ประสบภัย 8 ล้านคนก็ต้องขนถุงยังชีพไปแจกกัน 8,000 - 16,000 รอบ นอกจากนี้ถุงยังชีพราคา 500 บาทคงจะประทังชีวิตได้ไม่กี่วัน ถ้าจะแจกซ้ำให้ได้กันคนละ 2 ถุงก็ต้องขนถุงยังชีพเพิ่มอีกให้ถึง 16,000-32,000 รอบในระยะเวลาภายในเวลาไม่กี่วันที่ถุงยังชีพล็อตแรกช่วยประทังชีพไว้ ตัวเลขนี้มากจนไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะมีข้อจำกัดทางเวลาและเทคโนโลยีขนส่งซึ่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัยด้วย การบริจาคมีนัยยะทางศีลธรรมว่าเป็นสิ่งดีงาม น่าชื่นชมและน่าสนับสนุน แต่เราต้องยอมรับความจริงว่าการบริจาคไม่สามารถทดแทนกลไกจัดการความเสี่ยงด้วยระบบประกัน เพราะการบริจาคและถุงยังชีพไม่ช่วยแก้ปัญหาด้านภาระฟื้นฟูอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันยังไม่มีข่าวว่าเศรษฐีเจ้าของหมู่บ้านจัดสรรแห่งใดบริจาคบ้านจัดสรรให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ประสบอุทกภัย ตราบใดที่ไม่มีเศรษฐีใจบุญแจกบ้านให้ผู้ประสบภัยย้ายไปอยู่อย่างถาวร การบริจาคแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น

จุดมุ่งหมายหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจคือการลดความผันผวนของรายได้และรายจ่ายด้านต่างๆ ความผันผวนของรายได้และรายจ่ายด้านต่างๆมีผลเชิงลบต่อดัชนีความสุขตามหลักเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลกจึงใช้ระบบประกันเพื่อบริหารความเสี่ยงในด้านต่างๆดังที่อธิบายไปแล้ว ดัชนีความสุขดังกล่าวต่างจากดัชนีความสุขประชาชาติที่เสนอโดยรัฐบาลภูฎานต้นตำรับแดนสุขาวดี(ในฝัน) ถ้านักท่องเที่ยวที่ซาบซึ้งกับ“การท่องเที่ยวแดนสุขาวดี”ที่อำนวยการสร้างโดยรัฐบาลภูฏานลองไปโฮมสเตย์กับชาวบ้านและกินอยู่แบบชาวบ้านซัก 2 เดือนนักท่องเที่ยวก็จะกลับสู่โลกแห่งความเป็นจริง เพราะคนภูฎานยังเข้าไม่ถึงการประกันความเสี่ยงในหลายด้าน

ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะได้ฤกษ์ตัดริบบิ้นวางเสาเข็มระบบประกันอุทกภัย หรือว่าต้องรอให้น้ำท่วมรัฐสภาและกองบัญชาการทหารบกก่อน?
 

หมายเหตุ

[1] ศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 

[2] ข้อมูลเขื่อนและโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น