โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักข่าวพลเมือง: ชาวเน็ตนัดจุดเทียนรำลึก 5 ปี ‘นวมทอง ไพรวัลย์’

Posted: 31 Oct 2011 01:15 PM PDT

ชาวเน็ตนัดจุดเทียนรำลึก 5 ปี ครบรอบการเสียชีวิตของ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ คนขับแท็กซี่ที่ฆ่าตัวตายประท้วงการรัฐประหาร 19 กันยา ท้าทายคำพูดโฆษก คปค. “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้”

วานนี้ (31 ต.ค. 54) เวลา 20.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีการจัดกิจกรรมของประชาชนจำนวนหนึ่งที่รวมตัวทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพื่อร่วมรำลึก 5 ปีการจากไปของนายนวมทอง ไพรวัลย์ ซึ่งเป็นคนขับแท็กซี่ที่เสียชีวิตจากการประท้วงการรัฐประหาร 19 ก.ย. โดยกลุ่มดังกล่าวได้จัดกิจกรรมประกอบด้วยการจุดเทียนแดง การร้องเพลง “วันของเรา” ที่แต่งโดยจิ้น กรรมาชน และอุทิศให้นายนวมทอง

นอกจากนี้ มีรายงานว่า เครือข่ายโซเชียลมีเดีย เช่น ในเฟซบุ๊ก มีการนัดทำกิจกรรมรำลึกวาระดังกล่าว ผ่านทางออนไลน์ด้วย โดยมีบุคคลร่วมจุดเทียนรำลึกถึงนายนวมทองตามสถานที่พักของตนและได้นำรูปการรำลึกขึ้นแบ่งปันบนหน้าเฟซบุ๊ก 

ทั้งนี้ นายนวมทอง ไพรวัลย์ คือคนขับแท็กซี่ที่ฆ่าตัวตายด้วยการผูกคอตายใต้สะพานลอยถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อคืนวันที่ 31 ตุลาคม 2549 เพื่อประท้วงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยในการผูกคอตายในครั้งนั้นได้มีจดหมายลาตาย ระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พันเอก อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” ซึ่งก่อนหน้านั้น ในวันที่ 30 กันยายน 2549 นายนวมทอง ไพรวัลย์ได้ขับแท็กซี่พุ่งชนรถถังของ คปค. ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจนได้รับบาดเจ็บสาหัสแล้วด้วย 

 

Nuamthong 5 years commemoration
ที่มาภาพจาก Suwanna Tallek,Chivas Patrick,Tharanya Suttabusya และน้ำฝน รักใครที่ไม่เลว รักเชลซี

 

Nuamthong 5 years commemoration 2

ภาพกิจกรรมรำลึก 5 ปี การเสียชีวิตของนายนวมทอง ไพรวัลย์ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

การเมืองเรื่องแถลงการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้

Posted: 31 Oct 2011 12:49 PM PDT

‘มาร์ค แอสคิว’ วิพากษ์การเมืองเรื่อง ‘ออกแถลงการณ์’ ของ 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล' ที่ประณาม ‘ผู้ก่อความไม่สงบ’ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยตั้งคำถามว่า การหยิบยกโวหารเชิงหลักการกฎหมายสากลมาตีตราความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้จริงหรือ 

“การเมืองเรื่องแถลงการณ์ในจังหวัดชายแดนใต้”

โดย มาร์ค แอสคิว

แปลโดย Patani Forum จาก Asia Times Online. Politics of proclamations in south Thailand, Mark Askew. 25/10/54.  http://www.atimes.com/atimes/Southeast_Asia/MJ25Ae02.html

สมรภูมิแห่งการจำแนกแยกแยะ และตีความเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยนั้น มีมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 ควบคู่ขนานไปกับความน่าสะพรึงกลัวและความสับสนของความเป็นจริงในพื้นที่   ความรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่า 8 ปี ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนข้อโต้แย้งถกเถียงที่ผสมปนเปกันไปว่าด้วย ปัญหา และ แนวทางการแก้ปัญหา

มันคือเหตุการณ์ความวุ่นวาย ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐไทยจะไม่มีการแก้ปัญหาที่แน่วแน่และชัดเจน กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใต้ดินยังคงโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนพลเรือน  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของของการวางระเบิด และการยิง ที่ยังมาจากทั้งการใช้ความรุนแรงในส่วนบุคคล การกำจัดศัตรูทางการเมือง  และผลประโยชน์ทับซ้อน

องค์กรต่างๆ ที่ทำงานประเด็นเดี่ยว (single-issue organizations)  ได้ทำการรณรงค์อย่างแข็งขันเพื่อสร้างความรู้ และ ความเข้าใจต่อสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) และ ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ทำหน้าที่เป็นกลุ่มล็อบบี้ยิสต์ ที่ใช้โวหารของกฎหมายระหว่างประเทศ และ ปฏิญญาต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ มาใช้เพื่อสร้างน้ำหนักในคำแถลงการณ์ของกลุ่ม

องค์กรเอกชนอื่นๆ เช่น อินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (International Crisis Group) ที่มีฐานตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซล หรือ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ซึ่งอ้างความชอบธรรมด้านข้อมูลจากความเป็นอิสระ และความเชี่ยวชาญในการวิจัย (DSW มีชื่อเสียงในการเป็นหน่วยงานที่มีความก้าวหน้าในการประเมินจำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่งปัจจุบันประเมินว่ามีมากกว่า 4,800 คน นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2547 การประเมินของ SW ได้รับการอ้างอิงโดยสื่อต่างๆ แต่ทางการไทยเห็นว่าเป็นการคาดคะเนที่สูงกว่าการตายที่เกิดจากเหตุการณ์ไม่สงบจริงๆ  

เฉกเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐ   องค์กรเอกชนมีส่วนในสิ่งที่นักวิชาการชื่อ มาห์มูด แมมดามี (Mahmood Mamdami) เรียกว่า “การเมืองของการให้ชื่อ (Politics of naming)” เกมของการให้ชื่อ เป็นไปเพื่อที่จะสร้างความสนใจจากสาธารณชน และการควบคุม “วาทกรรม” หรืออย่างน้อยที่สุดก็ส่วนใดส่วนหนึ่งของวาทกรรม ซึ่งการเล่นกับภาษาและการให้คำจำกัดความ เป็นกุญแจสำคัญในเกมนี้ ตัวอย่างเช่น การเรียกสถานการณ์ในภาคใต้ว่าเป็น “การก่อความไม่สงบ” (insurgency) เป็นการลดทอนความซับซ้อนของสถานการณ์ในพื้นที่ ให้กลายเป็นเรื่องที่ผิวเผินและซ้ำซาก ที่ง่ายต่อการบริโภคสำหรับผู้อ่านต่างชาติ

การแทรกใส่คำที่แสดงอารมณ์แต่คลุมเครือ เช่น “อย่างเป็นระบบ” (systematic) นำหน้าคำว่า “การทรมาน” (torture) นั้น เพิ่มน้ำหนักการตำหนิเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทารุณข่มเหงผู้ต้องสงสัยที่ถูกคุมขัง และการเติมคำที่มีความหมายไปในทางเสื่อมเสียเช่นคำว่า “กองทหารอาสาสมัคร” (militias) ในหน่วยกองกำลังป้องกันหมู่บ้านนั้น เป็นการใส่ลูกเล่นทางโวหารเข้าไปยังวาทกรรมที่ประณามรัฐ ในเรื่องปัจจัยต่างๆ ที่ส่งเสริมความรุนแรง เรียกได้ว่า การออกแถลงการณ์ เป็นยุทโธปกรณ์ของกลุ่มผู้เคลื่อนไหว เพื่อกดดันให้สื่อผลักดันประเด็นดังกล่าวเป็นที่สนใจของสาธารณชน

เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนล หรือ “เอไอ” (Amnesty International) ที่ประจำในกรุงลอนดอนได้เปิดตัวรายงานที่กรุงเทพฯ โดยอ้างว่าความรุนแรงที่ก่อโดยผู้ก่อความไม่สงบต่อในภาคใต้ นับเป็น “อาชญากรรมสงคราม” ตามคำนิยามของอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) จากปี 2547 จนกระทั่งเร็วๆนี้ เอ็นจีโอสากลดังกล่าวมักจะเลือกกล่าวโทษรัฐไทยและทหาร ว่าเป็นสาเหตุของความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยประณามกรณีการซ้อมทรมานและเรียกร้องและยกเลิกพ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐกังขังและสวบสวนผู้ต้องสงสัยได้มากสุด 30 วัน (ขึ้นอยู่กับคำสั่งศาล) และยกเว้นการรับผิดแก่เจ้าหน้าที่

จนกระทั่งปี 2550 องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่เป็นที่รู้จักอย่าง ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ที่ประจำในนครนิวยอร์ก เผยแพร่รายงานประณามขบวนการก่อความไม่สงบที่โจมตีพลเรือน ซึ่งประกอบเป็นผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากความขัดแย้งอันมืดมนครั้งนี้ หากแต่แถลงการณ์ของแอมแนสตี้ อินเตอร์แนชั่นแนล ที่ออกมาเมื่อเร็วๆนี้ ไปไกลกว่าแถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์มาก ด้วยการนำเอาหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศและการจัดประเภทมาประกอบ

เอไอ ดำเนินการอย่างอาจหาญในการเรียกร้องความสนใจต่อพลเรือน (Non-combatants) ที่ต้องรับเคราะห์อันยาวนานในจังหวัดชายแดนใต้ แต่หากดูจากการวิจารณ์รายงานที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ณ. สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondent’s Club of Thailand) ความหวังในการเผยแพร่ประเด็นดังกล่าวสู่สาธารณชนอย่างพลุแตกอาจไม่ได้ผล เนื่องจากการประณามผู้ก่อความไม่สงบในรายงาน ขัดแย้งกับมุมมองของเอ็นจีโออื่นๆ ที่มองว่ารัฐไทยเป็นสาเหตุของความรุนแรง แม้แต่ทางการไทยก็ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดคำนิยามเหตุการณ์ของแอมเนสตี้

การแถลงข่าวของเอไอเริ่มด้วยคำกล่าวที่ตัดสินจำแนกประเภท โดย ดอนน่า เกสต์ (Donna Guest), รองผู้อำนวยการหน่วยเอเชีย-แปซิฟิก ว่าการโจมตีประชาชนพลเรือนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “อาชญากรรมสงคราม” (war crimes) ตามอนุสัญญาเจนีวา ซึ่งห้ามมิให้โจมตี “ผู้ไม่ได้มีส่วนในการต่อสู้”

เกสต์กล่าวว่า การกำหนดความทางกฎหมายของ “อาชญากรรมสงคราม” ตามกฎหมายมนุษยชนระหว่างประเทศนั้น ใช้ได้กับ “การขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธระหว่างประเทศและภายในประเทศเช่น สถานการณ์ในภาคใต้ของประเทศไทย” และมีพันธกรณีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง เธอกล่าวต่อไปว่า “ผู้ก่อความไม่สงบได้ละเมิดกฎหมายอย่างชัดเจน และต้องยุติการโจมตีโดยทันที”

เธอระบุว่า ความรุนแรงในภาคใต้ของประเทศไทยตรงกับคำจำกัดความว่า  “ความขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธภายในประเทศ” (Internal Armed Conflict) ซึ่งพิจารณาจากระยะเวลาและขนาดของความรุนแรง และวิถีการทำงานของกลุ่มติดอาวุธ

นายเบนจามิน ซาวัคกี  (Benjamin Zawacki) นักวิจัยด้านประเทศไทยและพม่าของเอไอ ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงาน มีความเห็นอีกทางหนึ่งว่า การมองเหตุการณ์ว่าเป็น “ความขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธภายในประเทศ” และนัยยะทางกฎหมายเพื่อบังคับให้มีการรับผิดต่ออาชญากรรมสงครามนั้นเกินขอบเขตไปแล้ว เขากล่าวว่ารายงานนี้ ได้ยกประเด็นความไม่สงบในภาคใต้ไปสู่อีกขั้นหนึ่ง

ถึงแม้ว่าโวหารทางกฎหมายที่นำมาใช้จะดูมีน้ำหนักเพียงใด แต่ข้อเสนอของเอไอถูกวิพากษ์อย่างรุนแรง โดยตัวแทนนักศึกษามุสลิมจากภาคใต้คนหนึ่ง กล่าวว่า ข้อกล่าวหาเรื่อง “อาชญากรรม” ของผู้ก่อความไม่สงบ นั้นไม่ต่างอะไรกับข้อกล่าวหาจากฝ่ายรัฐไทย แต่สิ่งที่เป็นประเด็นมากกว่า คือ หลักฐานที่อ่อนในการระบุฝ่ายต่างๆ ที่อยู่ใน “ความขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธภายในประเทศ” 

ตัวแทนของคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists) ได้ตั้งคำถามว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” ถูกกำหนดในทางกฎหมายให้เป็นฝ่ายหนึ่งในความขัดแย้งได้อย่างไร ถ้าไม่มีกลุ่มใดออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น

อีกคำถามหนึ่งนั้นเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เป็นปัญหา คือ จะนิยามความรุนแรงว่ามาจาก “การก่อความไม่สงบ” ได้อย่างไรถ้าเหตุการณ์และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ (ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จาการคาดคะเนของตำรวจ) มีสาเหตุจากข้อขัดแย้งส่วนตัวและเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ต่อประเด็นดังกล่าว เอไอยังคงยืนยันว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบอย่างแน่นอน

โฆษกของพลโท อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์, แม่ทัพภาคที่ 4 ตัวแทนจากทางการไทยเป็นคนสุดท้ายที่ได้กล่าวในงานแถลงข่าววันนั้น เขาระบุว่า เหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ที่เกิดจากกลุ่มก่อความไม่สงบ มีเพียงราว 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เป็นที่ชัดเจนว่า”ผู้ก่อความไม่สงบ” ไม่ได้ปฏิบัติตามคำเรียกร้องจากเอไอในการยุติการโจมตีประชาชนพลเรือนแต่อย่างใด เห็นได้จากการสังหารที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องหลังจากการเผยแพร่รายงาน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือ เอไอยังได้แนบรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศซึ่งไม่เห็นด้วยกับการประเมิน ซึ่งเอไอจัดให้สถานการณ์อยู่ในจำพวก “การขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธภายในประเทศ”

กระทรวงการต่างประเทศโต้แย้งด้วยเหตุผลว่า ไม่มีกลุ่มใดแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรง  ผู้โจมตีอยู่ในที่ลับ  และไม่มีการนำที่ชัดเจนในกลุ่มติดอาวุธต่างๆ 

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้จำกัดวงอยู่ในบางพื้นที่ และ 80 เปอร์เซ็นต์ของเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งส่วนบุคคลและอาชญากรรมทั่วไป และการที่รัฐไทยจะไม่อนุญาตให้มีการแทรกแซงจากต่างชาติในกิจการภายในเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงของภาคใต้ แสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้อยู่ในระดับที่จะสามารถเรียกแรงกดดันจากนานาชาติได้ นอกจากนี้ ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) เพราะฉะนั้น จึงไม่อยู่ภายใต้อำนาจการตัดสินของศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ

 เป็นที่กระจ่างแจ้งว่าระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ถึงแม้ว่าจะลดลงจากระดับที่รุนแรงที่สุดในปี 2550 ก็ไม่สามารถยอมรับได้ในประเทศอารยะธรรมที่อ้างว่ายึดถือข้อกฎหมายและกฎระเบียบ ไม่ว่าสัดส่วนของความรุนแรงทีเกิดขึ้นจะเป็นการกระทำเพื่ออุดมการณ์ เพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล หรือ เป็นอาชญากรรม ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความจริงที่ว่าสถิติการสังหารที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว ในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา สูงเป็น 4-5 เท่าของจังหวัดอื่นๆ ในประเทศ

รายงานของแอมแนสตี้ (Amnesty) สะท้อนถึงข้อกังวลว่า เราจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อยุติความรุนแรงในภาคใต้ของประเทศไทย แต่การพยายามผลักดันประเด็นโดยการตราประเภทของหลักกฎหมายสากลที่ไม่สามารถทำงานได้จริง คงจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้มากนัก 

มาร์ค แอสคิว เป็นนักวิจัยอาวุโสประจำคณะมานุษยวิทยา ภาควิชาสังคมศาสตร์และรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบริ์น และ ดำรงตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ โครงการเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประเทศไทย ปัจจุบัน มาร์ค แอสคิว กำลังทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิศวะ จุฬาฯ เผยแพร่แผนที่ระดับความสูงของถนนในกทม. แบบละเอียด

Posted: 31 Oct 2011 12:39 PM PDT

ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่แผนที่แสดงระดับความสูงของผิวถนนในกรุงเทพฯ จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อประเมินระดับความสูงของน้ำท่วมในที่พักอาศัยได้อย่างละเอียด
 
รศ. ชัยยุทธ สุขศรี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาฯ กล่าวว่า แผนที่ฉบับนี้ ประมวลผลจากค่าระดับผิวถนนสายหลักที่ กทม. ได้สำรวจไว้เมื่อปี พ.ศ. 2550 ฉะนั้นจะมีความละเอียดมากกว่าแผนที่ต่างๆ ที่เคยถูกนำมาเผยแพร่ตามอินเตอร์เน็ท โดยอาจมีความคลาดเคลื่อนบวกลบไม่เกิน 30 ซม. เท่านั้น
 
นอกจากนี้ รศ. ชัยยุทธ ให้สัมภาษณ์ว่า แผนที่วัดระดับน้ำท่วมบางชิ้นที่เคยเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ตต่อๆ กันมานั้น คำนวนจากโมเดลทางคณิตศาสตร์ ซึ่งใช้ค่าเฉลี่ยอย่างหยาบๆ มาประมวล ทำให้อาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ถึง 5 เมตร และอาจทำให้ประชาชนจำนวนมากเข้าใจผิดได้
 
ทั้งนี้ ผู้ใช้สามารถเทียบข้อมูลของถนนที่อยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยของตัวเอง และเทียบกับค่าระดับคาดการณ์ที่น้ำจะท่วมจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เพื่อคำนวนความสูงของระดับน้ำที่จะท่วม เพื่อเตรียมตัวและประกอบการตัดสินใจการอพยพ
 
ผู้ที่สนใจ สามารถคลิกไปดูแผนที่ฉบับความละเอียดสูง หรือดาวน์โหลดได้ที่ http://www.chula.ac.th/flood_rest/contents/Bkk_road_elev_20cm.pdf
 

Bkk_road_elev_20cm

 แผนที่แสดงความสูงต่ำของผิวถนนในกรุงเทพฯ 
จัดทำโดยภาควิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นศ.เชียงใหม่ลากหุ่นจำลองรำลึกนวมทอง ไพรวัลย์

Posted: 31 Oct 2011 11:38 AM PDT

นักศึกษาที่เชียงใหม่จัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 5 ปีการเสียชีวิตของนายนวมทอง ไพรวัลย์ แท็กซี่ต้านรัฐประหาร 19 กันยา 49 

วันนี้ (31 ตุลาคม 2554) เวลา 15.00 น นักศึกษาใน จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกันทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 5 ปีเหตุการณ์ที่นายนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับรถแท็กซี่ผูกคอตายเพื่อต่อต้านการรัฐประหารบริเวณใต้สะพานลอยย่านวิภาดีรังสิต ภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

โดยกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาเสรีชนล้านนา และกลุ่มนักศึกษาหลายกลุ่มทำกิจกรรมรำลึกครั้งนี้ ร่วมกันหุ่นผ้าจำลอง พร้อมข้อความต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารบนตัวหุ่น จากนั้นได้มีการผูกเข้ากับท้ายรถมอเตอร์ไซต์ ก่อนนำหุ่นลากไปยังบริเวณต่างๆ ทั่วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมทั้งมีการแจกเอกสารรำลึกถึงและให้ข้อมูลเกี่ยวกับความตายของนายนวมทอง ไพรวัลย์ให้กับผู้ที่สนใจและผ่านไปผ่านมาในมหาวิทยาลัยด้วย อีกทั้งในตอนท้ายกิจกรรมยังได้นำหุ่นจำลองไปแขวนไว้บริเวณต้นไม้ใหญ่ตรงข้ามสำนักหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยด้วย ทำให้ผู้คนที่ขับรถผ่านไปมาให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก

นายปรีชาพล ชูชัยมงคล ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาเสรีชนล้านนา เล่าว่ากิจกรรมนี้กลุ่มนักศึกษาอยากสะท้อนให้เห็นถึงความตายของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร การต่อสู้ของสามัญชนจนยอมพลีชีพเพื่อประชาธิปไตยและอุดมการณ์ที่เขาเชื่อ หลังจากที่ในตอนแรก ลุงนวมทองได้เอาแท็กซี่พุ่งชนรถถัง แต่ไม่ตาย การผูกคอตายอีกครั้งจึงตอกย้ำถึงเจตนารมย์ของการไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร โดยกิจกรรมการแขวนคอหุ่นจำลองทำให้คนที่ผ่านไปเห็นและเกิดการตั้งคำถาม และอาจไปแสวงหาคำตอบถึงความตายของลุงนวมทอง

นายปรีชาพลกล่าวต่อว่าตนทำกิจกรรมนี้เพื่อย้ำเตือนให้คนนึกถึงว่าบุคคลแบบนี้ไม่ควรถูกทำให้เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ ในตอนแรกตนรู้ถึงการขับแท็กซี่ชนรถถังจากหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ แต่ก็ยังไม่ได้สนใจ จนกระทั่งมารู้สึกสะเทือนใจ เมื่อลุงนวมทองได้แขวนคอตายอีกครั้ง ทำให้ตนตั้งคำถามว่าสังคมและคนทำรัฐประหารในตอนนั้นไม่รู้สึกรับผิดชอบต่อความตายนี้เลยหรือ

สำหรับข้อความตอนหนึ่งในเอกสารที่กลุ่มนักศึกษาแจกได้ระบุว่า “จดหมายลาตายของ (นายนวมทอง) ระบุว่าต้องการลบคำสบประมาทของพันเอก อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคปค.ที่ว่า ‘ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้’...ความตายของเขาจึงไม่เพียงแต่สั่นคลอนโวหารที่ผูกขาดความกล้าหาญและความเสียสละไว้กับบุคคลในเครื่องแบบเพียงไม่กี่คนไม่กี่กลุ่ม หากแต่ยังท้าทายสถาบันจารีตที่ผูกขาดความจงรักภักดีด้วยการเสนอว่าหลักการอื่นๆ เช่น ความเสมอภาค และความเป็นธรรม ก็สามารถเป็นหลักยึดของผู้คนในแผ่นดินนี้ได้ไม่แพ้กัน

“เรามักจะถูกสอนให้จำ ในสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นจริง และถูกสอนให้ลืมในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หากต้องการให้ ประเทศมีความสงบและประชาชนอยู่ดีมีสุข ตามระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ควรย้อนกลับไปมองดูสิ่งที่สังคมได้สร้างและจรรโลงลงบนสังคมโดยชนชั้นนำ เพื่อครอบงำประชาชน ถูกผลิตซ้ำๆ เดิมๆ นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ควรหรือไม่ควร ที่ต้องมีการชำระประวัติศาสตร์แบบไทยๆ ให้ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม”

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: เตรียมรับมือภัยพิบัติ ภารกิจดูแลตัวเองของคนปักษ์ใต้

Posted: 31 Oct 2011 10:34 AM PDT

 

ตัวแทนจากองค์กรชุมชน,ภาคประชาชนจาก 14จังหวัดภาคใต้ระดมสมองหาแนวทางป้องกันภัยพิบัติจากธรรมชาติเพื่อไม่ให้ฝันร้ายจากเหตุการณ์สึนามิหรือโคลนถล่มเกิดซ้ำรอย

จากเหตุการณ์สึนามิ ถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้ริมฝั่งทะเลอันดามัน จากสตูล ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต และระนอง เมื่อเช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547 คร่าชีวิตผู้คนไปไม่น้อยกว่า 2 แสนคน สู่เหตุการณ์น้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ และจังหวัดใกล้เคียง บวกรวมกับพายุครั้งใหญ่ ตลอดแนวชายฝั่งจังหวัดปัตตานี ไปจนถึงชายฝั่งจังหวัดสงขลา เมื่อปลายปี 2553 กระทั่งปิดท้ายด้วยอุทกภัยในจังหวัดภาคใต้ตอนกลาง เมื่อเดือนมีนาคมต่อเดือนเมษายน 2554
 
ตามด้วยเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 3.5 ริกเตอร์ กลางดึกวันที่ 24 มิถุนายน 2554 มีจุดศูนย์กลางที่อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง
 
นับเป็นฝันร้ายที่ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของคนทั้งภาคใต้
 
เหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมด นำมาสู่การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหารือเตรียมความพร้อมเผชิญภัยธรรมชาติภาคใต้ ระหว่างวันที่ 24–25 ตุลาคม 2554 ที่หอประชุมโดม ลำปำรีสอร์ท ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง
 
การสัมมนาที่จัดโดยสถาบันพัฒนาชุมชนเที่ยวนี้ มีตัวแทนจากสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรชาวบ้านจาก 14 จังหวัดภาคใต้ เข้าร่วมประมาณ 150 คน
 
ทั้งหมดเห็นตรงกันว่า ควรพัฒนาหลายพื้นที่ให้มีความพร้อมในการเตรียมแผนรับมือภัยพิบัติ ที่อาจเกิดขึ้นในฤดูมรสุมของภาคใต้ช่วงปลายปี 2554
 
ในการบรรยายเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ความเสี่ยงภัยพิบัติ จะตั้งหลักรับมืออย่างไร” นายสมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บอกว่า คนไม่มีทางเอาชนะภัยพิบัติได้ ไม่ว่าโดยวิธีการใด มีแต่จะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับภัยพิบัติให้ได้
 
“ปกติภัยพิบัติจะเกิดขึ้นตอนที่ชาวบ้านไม่มีข้อมูลอะไรเลย เพราะฉะนั้นประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่เราจะเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างไร ทำอย่างไรที่จะเข้าใจธรรมชาติ เราเตรียมความพร้อมอะไรแล้วหรือยัง เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะตั้งเป้าว่า ปี 2554 คนภาคใต้ไม่มีใครตายจากภัยพิบัติ” นายสมพรตั้งคำถามสำคัญต่อผู้เข้าร่วมสัมมนา
 
สิ่งที่นายสมพรให้ความสำคัญนำมาเน้นย้ำต่อที่สัมมนาคราวนี้ก็คือ การเตรียมฐานข้อมูลชุมชน การจัดทำฐานข้อมูลคนป่วย คนแก่ เด็ก ผู้หญิง เรือ อุปกรณ์ช่วยชีวิต สถานที่หลบภัย นวัตกรรมภูมิปัญญา ระบบการเตือนภัยธรรมชาติ โรงพยาบาลอยู่ที่ไหน ข้อมูลเสี่ยงภัยมีอะไรบ้าง การจัดเตรียมอาหารการกิน น้ำดื่ม กลไกการการขอความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ
 
“ชาวบ้านจะต้องจัดการดูแลตัวเองก่อน ควรวางแผนรับมือภัยพิบัติในระดับชุมชน ไม่ใช่รอขอความช่วยเหลือคนอื่น ถ้าไม่ไหวแล้วค่อยขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ควรนำบทเรียนปี 2553 มาสรุปว่าสูญเสียอะไรไปบ้าง” นายสมพรยิงคำถามชวนคิด สำหรับเตรียมการรับมือ
 
“ผมอาจจะทำแบบจำลองน้ำท่วม ส่งให้ศูนย์สารสนเทศของชุมชนใช้แจ้งเตือนภัย เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการสังเกตข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา ผมพร้อมที่จะสอนหรืออบรมให้” นายสมพรเสนอแนวทางดูแลตัวเองในยามเผชิญภัยพิบัติ
ขณะที่การพูดคุยในหัวข้อ “การเตือนภัยเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติภาคใต้ก่อนภัยมา” นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ได้ถอดประสบการณ์ขึ้นไปช่วยเหลือสถานการณ์อุทัยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยยกตัวอย่างกรณีจังหวัดนครราชสีมา ที่มีการสำรวจพื้นที่ขวางทางน้ำ มีการลอกคลอง เอาผักตบชวาออกจากร่องน้ำ
“คนจังหวัดนครราชสีมาเปิดประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผลักดันให้ตั้งคณะกรรมการร่วมระดับจังหวัด วางแผนด้วยกันว่า ถ้าน้ำในเขื่อนลงมา จะปล่อยให้มาในระดับเท่าไหร่…
 
“ขณะที่จังหวัดอุบลราชธานีมีการฝึกอบรมรับมือภัยพิบัติ โดยเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ มีการฝึกสังเกตุระดับน้ำ เช่น ถ้าน้ำสูง 8 เมตร จะท่วมกี่ชุมชน พวกเขาจัดทีมขนย้าย 70 คน พร้อมเข้าไปช่วยผู้ประสบภัยอพยพไปกางเต็นท์พักพิงอยู่บนถนน มีการประสานกับเทศบาลของบประมาณสร้างอาคารชั่วคราวสำหรับทำศูนย์อพยพ มีการซื้อเรือเป็นของตัวเอง มีการทำหนึ่งบ้านหนึ่งแพ เนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก….
 
“จากการไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติที่เคยตั้งที่ท่าอากาศยานดอนเมือง บริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจ ของบริจาคยังกองเต็ม กระบวนการจัดการยุ่งยากสับสน ศูนย์พักพิงวุ่นวายโกลาหล ไม่มีใครเข้าไปบริหารจัดการ ทั้งยังมีเกมการเมืองมากับน้ำท่วม…
 
“ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ภาคใต้เป็นแบบนั้น” เป็นคำถามปิดท้ายจากนางปรีดา คงแป้น ในวันนั้น
นายศิริพล สัจจาพันธ์ ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา  แสดงความคิดเห็นและเสนอว่า มีแนวโน้มเป็นไปได้ว่าภายใน“3 เดือนนี้ ภาคใต้มีโอกาสน้ำท่วมสูง” เป็นคำคาดการณ์จากนายสิริพล สัจจาพันธ์
เพราะฉะนั้นการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายในระดับชุมชน ตำบล และจังหวัด ที่มีการประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ เพื่อบูรณาการรับมือภัยพิบัติร่วมกัน จึงนับเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ในสายตาของนายสิริพล สัจจาพันธ์
 
อันตามมาด้วยข้อเสนอให้จัดตั้งศูนย์ประสานเพื่อขอความช่วยเหลือในระดับกลุ่มจังหวัด แยกเป็น กลุ่มจังหวัดสตูลกับสงขลา, กลุ่มจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส, กลุ่มจังหวัดชุมพร พังงา ภูเก็ต กระบี่ ระนอง และกลุ่มจังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง แต่ละกลุ่มต้องมีคณะประสานงานสื่อสารระหว่างกันและกัน จังหวัดที่มีความพร้อมและเข้มแข็ง ต้องช่วยกระตุ้นจังหวัดที่ยังไม่พร้อม
 
“เราจะต้องกลับไปทำแผนในระดับหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด รวมถึงอาจมีแผนระดับภาค ผมคาดหวังว่าจังหวัดต่างๆ จะกลับไปดำเนินการ ในแต่ละพื้นที่ควรจะมีนักพัฒนาเอกชน (NGOs) มีเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ช่วยกระตุ้นให้มีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง” เป็นการบ้านที่มอบให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา จากนายสิริพล สัจจาพันธ์
 
นายไมตรี กงไกรจักร ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ เป็นอีกผู้หนึ่งที่ร่วมให้การบ้านชิ้นโตกับผู้เข้าร่วมสัมมนาในวันนั้น
 
“กรณีเร่งด่วนเฉพาะหน้าถ้าเกิดภัยพิบัติคือ การส่งข้อความผ่านโทรศัพท์เพื่อให้ข้อมูลเตือนภัยเบื้องต้น ระยะต่อไปควรจัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือระดับภาคใต้ ที่จำเป็นต้องมีข้อมูลพื้นฐานของแต่ละจังหวัด นั่นหมายความว่า เบื้องต้นจังหวัดต่างๆ ต้องกลับไปตรวจสอบว่า ในแต่ละจังหวัดมีพื้นที่เสี่ยงภัยกี่พื้นที่ มีกี่พื้นที่ที่มีแผนชุมชน มีอาสาสมัครภัยพิบัติอยู่กี่หมู่บ้าน แบ่งความพร้อมของพื้นที่ต่างๆ เป็นระดับๆ ตามความเข้มแข็ง มีการประสานงานกับสาธารณสุขจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น...
 
“ควรมีการวิเคราะห์บทเรียน สาเหตุภัยพิบัติ ค้นหาอาสาสมัครจิตอาสา ทำข้อมูล พัฒนาคนตามบทบาทในแผน ทีมอพยพ ทีมกู้ภัย โรงครัว ทีมรักษาความปลอดภัย มีการซ้อมแผน พัฒนาแผน พัฒนาอาสาสมัครด้านกู้ภัย จราจร วิทยุเครื่องแดง ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ข้อมูลสารสนเทศน์เพื่อเตือนภัย พัฒนาระบบบัญชาการเหตุการณ์
 
“สิ่งที่ควรนำไปคิดต่อประกอบด้วย 4 เรื่องหลักๆ คือ จัดทำแผนชุมชน ตำบล และลุ่มน้ำ เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัย จัดแบ่งคนไปดำเนินการ กำหนดวันเวลาดำเนินการ จะใช้ภูมิปัญญาอะไรแก้ไขปัญหาภัยเฉพาะหน้าไปพลางก่อน...
 
“กระบวนการทั้งหมดนี้ จะต้องพัฒนาคน พัฒนาแผน พัฒนาระบบบัญชาการในการประสานงานให้ความช่วยเหลือ จัดเตรียมพื้นที่อพยพ จัดทำขั้นตอนการอพยพ วิเคราะห์เส้นทางหนีภัย กำหนดจุดปลอดภัยในแต่ละพื้นที่ การจัดทำศูนย์ข้อมูลก่อนเกิดภัย ใครเป็นคนรับข้อมูลจากศูนย์ไปใช้ รับด้วยวิธีไหน
“เฉพาะหน้านี้ใครจะเข้าอบรมการดูข้อมูลในเว็บไซต์อุตุนิยมวิทยาก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้นเดือนพฤศจิกายน 2554 จังหวัดต่างๆ ควรส่งรายชื่อผู้ที่จะเข้าอบรมจังหวัดละ 2 คน ที่จะข้าอบรมการอ่านข้อมูลเตือนภัยจากภาพถ่ายดาวเทียม และอุตุนิยมวิทยา 2 วัน กับนายสมพร ช่วยอารีย์ ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554”
 
ประเด็นการพูดคุยเหล่านี้ล้วนเป็นการบ้านที่ชาวองค์กรชุมชน จะต้องนำกลับไปขบคิดและเตรียมการทั้งสิ้น
คำถามของนายไมตรี จงไกรจักร ว่า“ศูนย์ประสานความช่วยเหลือภัยพิบัติระดับภาคใต้จะตั้งกันตอนนี้เลยหรือไม่ ถ้าตั้งโครงสร้างการทำงานควรเป็นอย่างไร” ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ค้างคาใจอีกหลายๆคน
 
ถึงแม้จะยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดจากวงสัมมนาในวันนั้น แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของการลุกขึ้นมาเตรียมรับมือกับภัยพิบัติด้วยตัวเองของคนภาคใต้โดยรวม ได้เริ่มขึ้นแล้ว ณ บัดนี้

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ศปภ. ภาคประชาชน – จัดการปัญหาผ่านงานอาสาสมัคร”

Posted: 31 Oct 2011 09:59 AM PDT

 

ทันทีที่รัฐบาล ประกาศตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบทุกภัย หรือ ศปภ. ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศไทยในปีนี้   ภาคเอกชนนำโดย มูลนิธิกระจกเงา ก็ได้เชื่อมโยงองค์กรเครือข่ายด้านจิตอาสาและอาสาสมัครจำนวนมาก  จัดตั้ง ศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ภาคประชาชน หรือ ศปภ. ภาคประชาชน ขึ้นมาเช่นกัน  ด้วยหวังว่าจะเป็นการหนุนเสริม ทั้งในด้านของการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ  การเยียวยา และการบริหารจัดการอาสาสมัคร  ให้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ  และนี่ คือการรายงานจากสถานี ศปภ. ภาคประชาชน ว่าเราเป็นใคร คิดอะไร และกำลังทำอะไรอยู่ 

มูลนิธิกระจกเงากับการจัดการภัยพิบัติ          

เมื่อ 7 ปีก่อนเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ถล่มภาคใต้ของประเทศไทย มูลนิธิกระจกเงา ลงพื้นที่ประจำการที่จังหวัดพังงา   โดยมีภารกิจสำคัญในการฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยใช้กระบวนการจัดการอาสาสมัครเข้าไปดำเนินงานในพื้นที่ จนกระทั่งมีการจัดตั้ง ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ  เป็นสำนักงานส่วนภูมิภาคของ มูลนิธิกระจกเงา ในภาคใต้ และทำงานในพื้นที่มากกว่า 3 ปี  บริหารจัดการงานฟื้นฟู และงานด้านสิทธิ โดยมีอาสาสมัครหมุนเวียนกันไปปฏิบัติงานในพื้นที่มากกว่า 10,000 คน  งานจัดการภัยพิบัติภาคประชาชน จึงถือเป็นภารกิจที่มูลนิธิกระจกเงา มีประสบการณ์ และพร้อมที่จะเป็นกระจกสะท้อนมุมมองที่เกิดขึ้นในอุทกภัยใหญ่ครั้งนี้เช่นกัน

ก้าวแรก ศปภ. ประชาชน          

8 ตุลาคม 2554  รัฐบาลได้จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ศปภ. ที่สนามบินดอนเมือง โดยมูลนิธิกระจกเงา ได้เข้ามาสำรวจหน้างานในพื้นที่ทันที  และภารกิจแรกในการประเดิมงานภาคประชาชน คือ การช่วยทหารประสานงานเหตุฉุกเฉิน กรณีการอพยพคนป่วยและผู้สูงอายุ ที่โทรมาขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน ศปภ. 1111 กด 5  โดยวันแรกรับเคสที่ต้องประสานงานการช่วยเหลือมา 7 กรณี จนกระทั่งทุกวันนี้ประสานการช่วยเหลือเรื่องอพยพผู้ประสบอุทกภัยมาแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 กรณี

นวัตกรรมภาคประชนต่อการจัดการอุทกภัย          

ศปภ.ภาคประชาชน บริหารจัดการงานโดยผ่านอาสาสมัคร ทั้งแบบชั่วคราวและแบบระยะยาว โดยมีองค์กรเครือข่ายจิตอาสาเป็นแนวร่วม  มีอาสาสมัครจากทุกสาขาวิชาชีพมาร่วมกิจกรรม  ศปภ.ภาคประชาชน แบ่งโครงสร้างการทำงานออกเป็นสองส่วน คือ  ฝ่ายปฏิบัติการส่วนหน้า และ  ฝ่ายสนับสนุนส่วนหลัง  โดยปฏิบัติการส่วนหน้า คือ การระดมอาสาสมัครปฏิบัติภารกิจในหน้างานที่ต้องเผชิญเหตุเฉพาะหน้าและเร่งด่วน เช่น อาสาสมัครจัดทำกระสอบทราย  กองเรืออพยพประชาชน  กองรถอพยพประชาชน และอาสาสมัครประจำศูนย์อพยพ  ส่วนฝ่ายสนับสนุนส่วนหลัง เป็นเสมือนฐานการบัญชาการและบริหารจัดการ เชื่อมโยง งานส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น  ศูนย์ประสานเหตุฉุกเฉินที่รับแจ้งเรื่องการขออพยพประชาชนจาก สายด่วน 1111 กด 5 ของรัฐบาล ,   ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยระดับตำบล (ศปภ.ตำบล) ที่จัดทำฐานข้อมูลตำบล เพื่อค้นหาผู้ประสานงานหลักและทรัพยากรในพื้นที่ในการตอบโต้กับปัญหาอย่างรวดเร็ว  และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการปฏิบัติภารกิจของหน่วยกู้ชีพ ที่ออกช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการอาสาสมัครในการทำเสื้อชูชีพและแพจากขวดน้ำ  สำหรับจ่ายแจกให้ประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในการจมน้ำ ซึ่งตลอดระยะเวลาการตั้ง ศปภ.ภาคประชาชนที่ผ่านมา มีอาสาสมัครมาร่วมงานกับเราไม่น้อยกว่า 6,000 คน

ศูนย์อาสาสมัครลอยฟ้า เดินหน้าภารกิจภารประชาชน          

แม้ว่าน้ำจะได้ไหลเข้าท่วมสนามบินดอนเมือง จนทำให้ ศปภ. และศปภ.ภาคประชาชน จำเป็นต้องย้ายฐานปฎิบัติการออกจากที่นั่น   แต่ภารกิจยังคงต้องดำเนินต่อไป  ศปภ.ภาคประชาชน เตรียมเปิดศูนย์อาสาสมัครลอยฟ้า บนทางด่วนโทลเวย์ เพื่อเป็นชุมชนอาสาสมัครที่จะให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานทีมกองเรืออพยพผู้ประสบภัย  อาหารสมัครจัดทำเสื้อชูชีพและแพจากขวดน้ำ  ตลอดจนแนว ขยายแนวคิด การทำ Flood Shop ร้านค้าราคายุติธรรมในพื้นที่ประสบภัย สำหรับประชาชนในเมืองที่ไม่ประสงค์จะอพยพ เพื่อให้สามารถซื้อสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตได้ในระหว่างที่น้ำท่วมบ้าน และไม่เป็นภาระของหน่วยงานรัฐในการไปส่งอาหารในพื้นที่  เรียกว่า ใช้เศรษฐกิจ แก้วิกฤติผู้ประสบภัย      

ร่วมเป็นอาสาสมัครภาคประชาชน          

ศปภ.ภาคประชาชน ยังพร้อมจะเปิดรับอาสาสมัครจำนวนมาก ทั้งอาสาสมัครระยะสั้น-อาสาสมัครระยะยาว และนักศึกษาฝึกงาน  มาลุยทั้งงานระดมแรงงาน  งานระดมความคิด  งานช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบภัย  สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ สายด่วนมูลนิธิกระจกเงา  โทร 090-41805-25 ถึง 29  หรือสนับสนุนภาคประชาชนในการปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย กับ กองทุนภัยพิบัติภาคประชาชน  ชื่อบัญชี “มูลนิธิกระจกเงา”  เลขที่บัญชี 040-2-37446-1 ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาซอยไชยยศ.                        

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อาหารราคาขึ้น เกษตรกรหนี้สินพอกพูน และเศรษฐีระดับโลกของไทย

Posted: 31 Oct 2011 06:21 AM PDT

 

นโยบายที่รัฐไทยมักใช้ในการแก้ไขปัญหาอาหารราคาแพงในยามปกติ คือ การปฏิเสธใช้อำนาจรัฐและกฎหมายในการควบคุมราคาอาหารและวัตถุดิบ แต่จะใช้วิธีการขอร้องให้ผู้ประกอบการทั้งหลายร่วมมือในการลดราคาสินค้าลงมาอยู่ในระดับที่ประชาชนไม่เดือดร้อนมากนัก เว้นกรณีเกิดภัยพิบัติร้ายแรงที่รัฐอาจใช้อำนาจในการควบคุมราคาพร้อมกับป้องกันการกักตุนอาหาร เพราะสถานการณ์บังคับ

ปรากฏการณ์ราคาอาหารและวัตถุดิบผันผวนมิใช่ปัญหาเล็กๆ ระดับที่มีเพียงแม่บ้านได้รับความเดือดร้อนแล้วต้องมานั่งคิดว่า หากหมูแพง เราจะทำข้าวผัดใส่ไก่ กุ้ง หรือปลา แทน เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในบ้าน เพราะแท้จริงแล้วอาหารเป็นรายจ่ายสำคัญที่สุดของครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งก็เป็นจำนวนกว่าครึ่งของประเทศไทย ซึ่งก็คือผู้บริโภคที่ในอีกฐานะหนึ่งก็เป็นแรงงานซึ่งต้องหารายได้มาให้พอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ไม่พักต้องพูดถึงการกักตุนอาหารที่ทำให้ราคาแพงขึ้นในยามฉุกเฉิน

เมื่อราคาอาหารขึ้นเสียงก่นด่าหรือการแสดงความอิจฉาส่วนมากมาตกแก่เกษตรกรผู้ผลิตอาหารและวัตถุดิบ ในทำนองที่ว่า เกษตรกรไม่เห็นใจคนกิน หรือเกษตรกรรวยกันใหญ่แล้วอยากเปลี่ยนไปเป็นเกษตรกรบ้าง ซึ่งเป็นการมองข้ามประเด็นสำคัญคือ เกษตรกรได้รับผลกำไรจากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด และใครกันแน่ที่ร่ำรวยขึ้นมาจากสถานการณ์นี้

ผลงานวิจัยไทบ้านของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในระบบพันธนาการ (Contract Farming) พบว่ารูปแบบสัญญาที่ผูกมัดเกษตรกรเข้ากับเงื่อนไขของบรรษัทธุรกิจเกษตร มิได้ทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเพิ่มเติมในกรณีที่ราคาอาหารในช่วงนั้นเพิ่ม แต่อาจจะต้องเจ๊งหากราคาอาหารในตอนนั้นตกต่ำ

สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างเกษตรกรกับบรรษัทจะเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนต้นของการเริ่มผลิต โดยส่วนใหญ่เกษตรกรจะรับปัจจัยการผลิตมาจากบรรษัทหรือนายหน้า(เริ่มเป็นหนี้) และจะมีการกำหนดว่าปลายฤดูกาลบรรษัทจะรับซื้อจำนวนเท่าไร ในราคาเท่าไหร่ และมีการตกลงว่าต้องขายเพื่อใช้หนี้สินก่อนที่เหลือจึงจะเป็นของเกษตรกร

หากบังเอิญว่าในตอนที่ผลผลิตออกมานั้นราคาอาหารสูงมาก เกษตรกรก็ยังขายได้ในราคาเท่าเดิมเพราะบรรษัทอ้างสัญญาที่ทำ ฝ่ายบรรษัทก็นำออกขายสู่ตลาดในราคาที่แพง ทำให้เกษตรกรสูญเสียโอกาสในราคาสินค้าเพราะบรรษัทจะอ้างว่ากรรมสิทธิ์ในอาหารเป็นของบรรษัทแล้ว เช่น กรณีผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่ให้ไข่แก่ญาติไม่ได้ เพราะบรรษัทจะฟ้องร้องฐานขโมยไข่ของบรรษัท ทั้งที่เกษตรกรเป็นคนเลี้ยงไก่มากับมือ

นี่คือ ปัญหาเรื่องการสูญเสียอธิปไตยในอาหาร เกษตรกรเอาอาหารไปให้ญาติพี่น้องเพื่อบรรเทาปัญหาอาหารแพงไม่ได้ และเสียโอกาสในการขายอาหารเอง ไม่ได้ร่ำรวยขึ้นเลย แต่กลับต้องซื้ออาหารที่แพงขึ้นเช่นกันเพราะตนก็เก็บผลผลิตไว้กินเองไม่ได้ ต้องขายทั้งหมด แล้วเอาเงินไปแลกอาหารที่ราคาแพง

ในทางกลับกัน หากราคาอาหารในตอนนั้นตกต่ำ เพราะมีปริมาณผลผลิตล้นเกินความต้องการ บรรษัทและนายหน้าหลายรายกลับ “ปฏิเสธการรับซื้อ” ทั้งที่มีสัญญากันอยู่ และถากถางให้เกษตรกรไปแต่งทนายฟ้องร้องเอาเอง หรือบางกรณีก็ใช้อิทธิพลระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติบังคับให้เกษตรกรสยบยอม หรือใช้เงื่อนไขของหนี้สินที่คงค้างกันอยู่มาบีบว่าถ้าเรื่องมาก จะบังคับหนี้เดิมที่มีกันอยู่

นั่นคือ ปัญหาเรื่องอำนาจต่อรองด้อยกว่า อย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะความสามารถในการบังคับสัญญามิได้อยู่ที่เกษตรกร ในหลายกรณีก็ไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือมีการทำสัญญาแต่ไม่ให้เกษตรกรถือสัญญาไว้ แม้จะมีกฎหมายข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่เกษตรกรก็ต้องแต่งทนายขึ้นสู้ในศาลให้ศาลเพิกถอนข้อสัญญา ซึ่งบริการทางกฎหมายก็มีราคาและเสียเวลาเสียสุขภาพจิตมาก

ความทุกข์ของเกษตรกรจึงหลบซ่อนอยู่ภายใต้ “พันธนาการ” ที่มีระหว่างผู้ที่มีอำนาจไม่เท่ากัน และสังคมก็ไม่ได้รับรู้เรื่องราว เพราะข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ของบรรษัทธุรกิจโถมทับอยู่ในหน้าสื่อกระแสหลักทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์ต่างๆ เป็นอันมาก

ที่น่าตกใจคือ สื่อมวลชนบางคน นักวิชาการบางกลุ่ม และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ร่วมด้วยช่วยกันปิดบัง หรือบางรายก็ไร้เดียงสาไปพบแต่เกษตรกรที่บรรษัทเลี้ยงไว้เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร โดยขาดข้อมูลสืบสวนสอบสวนเชิงลึกที่เจาะไปสู่กลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในภาวะล้มละลายหวาดกลัว และไม่กล้าให้ข้อมูลในที่แจ้ง เพราะเกรงอำนาจอิทธิพลของเจ้าหนี้ทั้งบรรษัทและนายหน้า

หากจะตอบโจทย์ให้ได้ว่า เกษตรกรมีหนี้สินได้อย่างไรในภาวะที่ราคาอาหารมีแต่จะเพิ่มขึ้น ก็ต้องดู ราคาที่เกษตรกรได้รับ เทียบกับ ราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย

สมการของราคาอาหารในตลาด เท่ากับ ต้นทุนที่ไร่นาโรงเรือน+ราคาที่สัญญารับซื้อ+ราคาที่บรรษัทรายใหญ่ขาย+กำไรที่ผู้ค้ารายย่อยขาย = ราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย ซึ่งผู้บริโภคที่ว่าก็หมายถึงเกษตรกรที่ต้องควักเงินมาซื้อเอง

แม้มีผู้เสนอให้ตัดวงจรของ “คนกลาง” ออกไปเลย แล้วสถาปนาระบบเศรษฐกิจชุมชนขึ้นมาดุจดังปรากฏในกรณีของ ชุมชนพอเพียงในหลายแห่ง แต่ปัญหาที่แก้ไม่ตกคือ การเชื่อมโยงข้อมูล ช่องทางการกระจายสินค้า และการบริหารจัดการ เพื่อให้อาหารจากไร่นาโรงเรือนไปสู่ผู้บริโภคในเมือง ที่ยังเป็นปัญหาสำคัญที่แก้ไม่ตก ตั้งแต่ตอนที่จะแก้ปัญหาการล้มตายของโชว์ห่วยจากการรุกคืบของทุนข้ามชาติที่มีเทคโนโลยีในการบริหารจัดการที่เหนือกว่า

แต่สิ่งที่สังคมมิได้ตระหนักนัก คือ ปัจจุบันมีทุนไทยบางกลุ่มใช้กำลังเงินที่มีซื้อเทคโนโลยีการบริหารจัดการแบบเอกชนต่างด้าว ผสานกับเส้นสายทางธุรกิจการเมืองที่มีกับพรรคการเมือง และราชการ เข้ามาผูกขาดระบบอาหาร และเป็นผู้ครองตลาดอาหารทั้งด้านการผลิต การกระจายสินค้า การขายส่งขายปลีก และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ในสื่อครบวงจร ทำให้คนในประเทศไทยชินชากับสภาพความเป็นไป

อย่างไรก็ดีปัญหานี้มิได้อยู่นอกเหนือความรับรู้ในการเป็นไปของสังคมไทย รายงานประจำปีที่กล่าวอ้างถึง “ความร่ำรวย” ของมหาเศรษฐีในประเทศไทย และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงย่อมแสดงนัยยะให้คนจำนวนหนึ่งสงสัยว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันหรือไม่

หากนำเอาตัวเลข “หนี้สินเกษตรกร” ทาบทับกับ “กำไรของบรรษัทเกษตร” อาจจะได้ตัวเลขที่ชวนสนเท่ห์ คำถามคือ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปเป็นอำนาจทางการเมืองที่ชักใยอยู่เบื้องหลังหรือไม่

ดังนั้น การที่ภาครัฐทั้งฝ่ายการเมืองและราชการไม่มีมาตรการแทรกแซงตลาดเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดกับเกษตรกรและผู้บริโภค โดยปล่อยให้บรรษัทร่ำรวยขึ้น ย่อมทำให้สังคมสงสัยในสายสัมพันธ์ที่มีต่อกัน และความสัมพันธ์นี้ก็ผิดจริยธรรมทางการเมือง และเป็นการทำบาปหนักต่อคนทั้งชาติ

ทางเลือกของสังคมไทยจึงอาจมาถึงขั้นสุดท้ายแล้วว่าจะปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้แล้วเราก็ค่อยกลืนกลายไปเป็นพวกเดียวกับเขา หรือลุกขึ้นมาทวงถามความรับผิดชอบทางสังคมจากนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และบรรษัท อย่างตรงไปตรงมา เพื่อทวงคืนอำนาจในการกำหนดชีวิตของเราทุกคน



 

หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก olly301  (CC BY-SA 2.0)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน’ เปิดตัวแคมเปญ ไทยแลนด์ - ‘แดนสวรรค์การเซ็นเซอร์’

Posted: 31 Oct 2011 02:24 AM PDT

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters without Borders) ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่รณรงค์สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก เปิดตัวแคมเปญใหม่ รณรงค์ปัญหาเสรีภาพการแสดงออกและการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารในประเทศไทย เวียดนาม และเม็กซิโก เน้นเป้าหมายการรณรงค์เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว

‘ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน’ เปิดตัวแคมเปญ ไทยแลนด์ - ‘แดนสวรรค์การเซ็นเซอร์’
ที่มา:
www.censorship-paradise.com

แคมเปญดังกล่าว เปิดตัวด้วยรูปภาพแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามทั้งสามประเทศ และมีข้อความ เช่น “Fuck Democracy. Book a Vacation in Thailand” (ช่างมันประชาธิปไตย มาพักร้อนที่ประเทศไทยดีกว่า) โดยมีคำอธิบายประกอบว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะดูเป็นประเทศที่สวยงามและน่าไปพักร้อน แตในความเป็นจริง การบอกความจริงแก่ผู้อื่นในประเทศนี้ อาจทำให้คุณเผชิญการจำคุกได้ถึง 20 ปี โดยเฉพาะนักข่าวและบล็อกเกอร์ และมีข้อความเรียกร้องให้ผู้อ่านอย่าเพิกเฉยต่อการเซ็นเซอร์ในประเทศเหล่านี้

โปสเตอร์ดังกล่าว จะถูกนำไปเผยแพร่และรณรงค์ตามป้ายโฆษณาต่างๆ ทั่วอินเตอร์เน็ต และจะถูกนำไปตีพิมพ์ลงในนิตยสารต่างๆ ทั่วประเทศฝรั่งเศสด้วย

ชอง ฟรองซัวส์ จูลยาร์ด เลขาธิการองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน กล่าวว่า เป้าหมายของการรณรงค์นี้ คือเพื่อให้ผู้คนตระหนักรู้ก่อนที่จะเดินทางไปพักร้อนยังประเทศดังกล่าว

“เราไม่ได้เรียกร้องให้มีการบอยคอตต์ประเทศเหล่านี้ แต่เราอยากให้นักท่องเที่ยวรู้ว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลัง เราได้เลือกมาสามประเทศ ซึ่งเป็นแดนสวรรค์ของนักท่องเที่ยว แต่เป็นแดนนรกสำหรับผู้สื่อข่าว นั่นคือ เม็กซิโก เวียดนาม และไทย” เขากล่าว

ทั้งนี้ จากการจัดลำดับเสรีภาพสื่อขององค์กรดังกล่าว ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในลำดับ 153 จากทั้งหมด 178 ประเทศ โดยลำดับ 1 หมายถึงประเทศที่มีเสรีภาพสือสูงสุด ส่วนเม็กซิโกและเวียดนาม ถูกจัดอยู่ในลำดับ 136 และ 165 ตามลำดับ

ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน รายงานว่า ในปีที่ผ่านมา ในประเทศไทย มีพลเมืองเน็ตสองรายแล้วที่ถูกจับด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หลังจากรัฐบาลใหม่รับตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม 2554 คือ สุรภักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) ที่ถูกจับในเดือนกันยายน ด้วยข้อความและรูปภาพในเฟซบุ๊ก และอำพล (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความทางมือถือที่มีเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง (sms) ไปยังอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์

ส่วนในประเทศเวียดนาม ปรากฎว่า สถานการณ์ด้านเสรีภาพสื่อหลังการประชุมสมัชชาครั้งใหญ่ครั้งที่ 11 ของพรรคคอมมิวนิสค์เวียดนาม ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนผูนำในเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น ยังไม่ดีขึ้นแต่อย่างใด การจับกุมฝ่ายค้านยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนสื่อทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ อยู่ภายใต้การควบคุมโดยรัฐบาลทั้งหมด

ฝ่ายที่เห็นต่างจากรัฐบาล เช่น เลอ คอง ดินห์ ทนายความที่แสดงความเห็นต่างในอินเตอร์เน็ต และเงียน เทียน ทรึง บล็อกเกอร์และนักเคลื่อนไหวฝ่ายค้าน ถูกตัดสินให้จำคุก 5 ปี และ 7 ปีตามลำดับ หลังจากถูกจับกุมด้วยข้อหา “หมิ่นประมาทพรรค” “โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ” และ “เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ”

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธงทอง จันทรางศุ

Posted: 31 Oct 2011 02:16 AM PDT

ผมเป็นสมาชิกเฟซบุ๊กอยู่ มองว่ามันไม่ได้สะท้อนเรื่องน้ำท่วมเลยนะ มันสะท้อนสติของสังคมไทยในช่วงเวลา 4-5 ปี เราสร้างความเกลียดชังทางการเมืองระหว่างกัน คนบางจำนวนผมไม่บอกว่าใคร ผมไม่รู้ใคร คนบางจำนวน มีวิธีการ หรือเชื่อ..ว่าการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประเด็นในโซเชียลมีเดียจะทำให้มีการได้เสียในทางการเมืองกันเกิดขึ้น อาจจะหลายฝ่ายทุกฝ่ายไม่รู้ แต่ในฐานะคนไทยคนหนึ่งไม่มีใครบอกได้ว่าตัวเองเป็นผู้ที่จงรักภักดีมากกว่าคนอื่น

31 ต.ค. 2554

รำลึก7ปีตากใบ จี้เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

Posted: 30 Oct 2011 11:36 PM PDT

 

เกือบเที่ยงวันที่แดดจ้า ของวันที่ 25 ตุลาคม 2554 นักศึกษากลุ่มหนึ่งราว 100 กว่า ทยอยลงจากรถสองแถวรับเหมาจากสายต่างๆ เดินมุ่งหน้าไปยังบริเวณที่ตั้งสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งบัดนี้เหลือเพียงที่โล่งว่างเปล่าภายในรั้วกั้น

 

ด้านหน้าคือสนามเด็กเล่น มีพื้นที่ไม่ถึง 1 ไร่ เป็นจุดหมายปลายทางของนักศึกษาชายหญิงจากมหาวิทยาลัยต่างๆในภาคใต้กลุ่มนี้ พวกเขาเข้าไปจัดแถวยืนรอเป็นระเบียบบนผืนเสื่อที่หยิบยืมมา ต่างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก


ตำรวจนายหนึ่งเข้ามาร่วมในแถวด้วย ส่วนเหล่าทหาร ตำรวจและชายฉกรรจ์นอกเครื่องแบบอีกหลายสิบต่างก็ยืนมอง “ต้องขอโทษพวกเราด้วย ตอนนี้โรงพักถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่ ทำให้นักศึกษาที่จะอาบน้ำละหมาดไม่สะดวก” เจ้าของสถานที่อย่าง พ.ต.อ.นิตินัย หลังยาหน่าย ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ แจ้งให้นักศึกษาทราบ


ครั้งหนึ่งเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ที่นี่มีแต่คนนอนหมอบถอดเสื้อเรียงรายไปจนถึงในแม่น้ำ

ก่อนหน้านั้นไม่กี่นาที ผู้คนเรือนพันต่างมาชุมนุมที่นี่ ต่างตะโกนโห่ร้องให้ปล่อยตัวชาวบ้านที่ถูกจับ บ้างก็ชูป้ายข้อความโจมตี การเจรจาเกิดขึ้นหลายครั้ง คำประกาศป่าวร้องของเจ้าหน้าที่ให้เลิกชุมนุมดูจะไม่เป็นผล

ทันใดนั้น ความโกลาหลก็เกิดขึ้น เมื่อรถดับเพลิงเริ่มฉีดน้ำเข้าใส่ผู้ชุมนุม เสียงปืนดังรัวขึ้นเป็นระยะๆ อย่างน่ากลัว สิ้นเสียงปืน ผู้คนที่นอนหมอบถูกสั่งให้ถอดเสื้อ แล้วถูกสั่งคลานขึ้นไปนอนหมอบต่อบนรถบรรทุกทหาร มีทั้งถูกผลัก ถูกดึงขึ้นรถยีเอ็มซี แต่บางคนนอนแน่นิ่งและมีเลือดไหล

“รออีกห้านาที ถึงเวลาเราจะละหมาดปกติก่อน จากนั้นก็จะละหมาดฮายัต เพื่อขอพรแก่พระเจ้า ตามด้วยการอ่านอัรวาฮ
หรืออ่านบทสวดเพื่ออุทิศผลบุญแด่ผู้สูญเสีย” เสียงจากแกนนำนักศึกษาป่าวประกาศ

พิธีละหมาดฮายัต

“ส่วนวัตถุประสงค์ของการละหมาดฮายัตครั้งนี้ คือการขอพรจากพระเจ้าให้ประธานสันติภาพแก่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว ขอให้พระเจ้าดลใจให้รัฐบาลและมีผู้มีอำนาจยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว และขอให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้โดยเร็ว” แกนนำนักศึกษาประกาศ

เมื่อถึงเวลา เสียงอาซานก็ดังขึ้น เพื่อป่าวประกาศว่าถึงเวลาละหมาดแล้ว นักศึกษาผู้ทำหน้าที่โต๊ะอิหม่ามก็ยืนนำหน้าเป็นผู้นำละหมาด ต่อเนื่องไปจนถึงการละหมาดฮายัติจนเสร็จ แล้วจึงให้นักศึกษาทุกคนนั่งล้อมเป็นวงกลมแยกกันชายหญิง บทสวดซึ่งมาจากโองการในคำภีร์อัลกุรอ่านก็เริ่มขึ้น

พิธีอ่านบทสวดรำลึกผู้เสียชีวิต

ส่วนนักศึกษาหญิงอีกกลุ่มนั่งถือป้ายข้อความที่สื่อถึงการเรียกร้องให้มีการยกเลิกการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 รวมทั้งกฎหมายพิเศษอื่นๆ ที่มีการบังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งสองกิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการหยุดละเมิดมนุษยชนยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “7 ปี รำลึกตากใบ……ละหมาดฮา
ยัตอหิงสา” จัดโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)

มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งวิทยาเขตปัตตานีและวิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นต้น เข้าร่วมประมาณ 120 คน

กิจกรรมนี้เริ่มจากการรวมตัวกันที่สำนักงานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมของโครงการฯ จากนั้นเวลาประมาณ 11.00 น. จึงออกเดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรตากใบ


หลังเสร็จพิธีนายกิตติศักดิ์ ปัตตานี ประธานโครงการ กล่าวกับผู้เข้าว่า กิจกรรมนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่า ความรุนแรงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ การใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เท่ากับลืมความเป็นมนุษย์ ตนต้องการให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดสันติสุขโดยเร็ว แต่สันติภาพก็ไม่ได้มาด้วยการรอคอย


จากนั้นจึงเชิญพ.ต.อ.นิตินัย หลังยาหน่าย มาพบปะกับกลุ่มนักศึกษาอีกครั้ง โดยยืนยันว่า การทำกิจกรรมของนักศึกษาที่อยู่ภายใต้กฎหมาย สามารถกระทำได้ สำหรับการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นนโยบายของรัฐบาล ตนเป็นเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง สำหรับตนต้องการให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบโดยเร็วที่สุด

ถึงเวลาแยกย้ายกันแล้ว นักศึกษาทุกคนต่างก็ไปตั้งแถวบนถนนที่คั่นกลางระหว่างโรงพักตากใบกับสนามเด็กเล่น แล้วเดินหันหน้าไปทางทิศตะวันตกมุ่งสู่ที่จอดรถสองแถว


เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ถนนสายนายมีรถบรรทุกทหารขนาดใหญ่จอดเรียงรายกว่า 100 คัน แต่ละคันอัดแน่ไปด้วยผู้ชุมนุมที่อ่อนล้าจากการถือศีลอด โดยเฉพาะคันท้ายๆ ที่ออกเดินทางในช่วงเวลาตะวันกำลังจะตกดิน โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ไกลออกไปกว่า 130 กิโลเมตร คือค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี


เป็นเหตุการณ์ที่นำมาสู่การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมระหว่างการขนย้ายถึง 78 คน กลายเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้คนในพื้นที่ รวมทั้งคนต่างประเทศเป็นอย่างมาก แผ่นซีดีบันทึกเหตุการณ์ถูกนำไปเผยแพร่กระจายต่อๆ กันไป เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ยังคงค้างคาใจคนในพื้นที่มาจนทุกวันนี้



เอกสารโครงการหยุดละเมิดมนุษยชนยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “7 ปี รำลึกตากใบ……ละหมาดฮายัดอหิงสา”   ระบุว่า เหตุการณ์นี้ ยังเป็นบาดแผลในใจของผู้ได้รับผลกระทบ ประชาชนส่วนใหญ่ยังตั้งข้อสงสัยกับการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ทหารว่า ทำไมต้องใช้มาตรการแข็งกร้าว ด้วยการสลายการชุมนุมเรียกร้องด้วยสันติวิธี เป็นความผิดพลาดที่โทษใครไม่ได้หรือ


เอกสารโครงการระบุอีกว่า สิ่งที่ทำให้ประชาชนสิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐคือ คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลา ในคดีไต่สวนการตายของทั้ง 78 คน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 คือการระบุว่า พวกเขาเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะนำเสนอกิจกรรมในเชิงสัญลักษณ์สันติวิธี มีรูปแบบที่สร้างสรรค์ เพื่อให้สังคมตระหนักถึงการใช้ความรุนแรงว่า มีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไร


หลังจากศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในคดีนี้แล้ว ปรากฏว่าพนักงานอัยการเองก็ไม่สั่งฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ทั้งหมด


เหตุการณ์ตากใบ เป็นเหตุการณ์ใหญ่ไม่กี่เหตุการณ์ที่มีคนจัดงานรำลึกทุกปี แม้กระทั่งกับเหตุไม่สงบ เพราะทุกครั้งที่ถึงวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบ มักมีเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้นด้วยเสมอ


วันครบรอบเหตุการณ์ตากใบปี 2554 ก็เช่นกัน นับตั้งแต่เหตุระเบิดร้านสะดวกซื้อในตัวเมืองนราธิวาส ก่อนวันครบรอบ 1 วัน ซึ่งนำมาสู่การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านรวม 7 คน ถัดมาอีกวันซึ่งตรงกับวันครบรอบพอดี เกิดเหตุระเบิด 30 กว่าจุดในตัวเมืองยะลา มีคนตายไป 3 คน เจ็บอีกว่า 50 คน ยังไม่นับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวันเดียวกัน

ใช่ว่า 25 ตุลาคม จะเป็นวันครบรอบเหตุการณ์ตากใบเพียงวันเดียว แต่ยังมีอีกวันที่ตรงกับวันครบรอบเหตุการณ์นี้ด้วย ตามปฏิทินอิสลาม ซึ่งยึดตามการโคจรของดวงจันทร์ หรือเรียกว่า จันทรคติ ทำให้มีจำนวนวันน้อยกว่าปีที่ยึดตามการโคจรของดวงอาทิตย์ หรือสุริยคติ อยู่ 11 วัน


การรำลึกเหตุการณ์ตากใบของปี 2554 ตามปฏิทินอิสลาม จึงตรงกับวันที่ 11 สิงหาคม 2554 หรือวันที่ 11 เดือนรอมฎอน ปีฮิจเราะห์ศักราช 1432


ในวันนี้ ซึ่งตรงกับเดือนแห่งการณ์ถือศีลอดของชาวมุสลิม กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ร่วมกับ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ จัดงานทำบุญ(อัรเวาะห์) เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ เนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปีเหตุการณ์ตากใบ ที่โรงเรียนตาดีกาบ้านจาเราะ ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

“และพวกเจ้าจงอย่าท้อแท้ และจงอย่าเสียใจ และพวกเจ้านั้นคือผู้ที่สูงส่งยิ่ง หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา” วรรคหนึ่งในคำภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อาละอิมรอน (3:139) ปรากฏบนป้ายไวนิล ในงานรำลึกเหตุการณ์ตากใบครบรอบ 7 ปี มุมหนึ่งของงานก็มีชาวบ้านอีกกลุ่ม ต่างช่วยกันทำอาหารด้วยความทุ่มเท เพื่อเลี้ยงต้อนรับ ทั้งร่วมกันละศีลอดสำหรับแขกผู้มาเยือนและทั้งพี่น้องร่วมชะตาชีวิตเดียวกัน


“ในการทำบุญ(อัรเวาะห์) ครั้งนี้ เราตั้งใจอุทิศผลบุญนี้ให้ผู้สูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบทุกคน”นางแยน๊ะ สะแลแม หรือ ก๊ะแยน๊ะ ตัวแทนชาวบ้านและผู้ได้รับผลกระทบ ระบุ


ลูกชายของก๊ะแยนะ เป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาเป็นแกนนำผู้ชุมนุม ร่วมกับคนอื่นอีก 57 คน แม้คดีนี้ถูกถอนฟ้องในเวลาต่อมา แต่นั่นก็เป็นผลกระทบอย่างหนึ่ง


แม้งานนี้เป็นการรำลึกเหตุการณ์ตากใบ แต่ในงานไม่ได้มีเพียงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบอย่างเดียว ยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อื่นๆด้วย


นางสาวดวงสุดา นุ้ยสุภาพ คือหนึ่งในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่เข้าร่วมงานนี้ เธอนับถือศาสนาพุทธ สูญเสียพ่อจากการถูกลอบยิงในปี 2547 จากนั้นก็สูญเสียปู่กับตาจากด้วยการถูกลอบฆ่าอย่างโหดเหี้ยม เมื่อปี 2550


เธอมองว่า เธอสามารถก้าวข้ามความห้วงเวลาแห่งความทุกข์ได้ ด้วยการให้อภัย มองทุกคนในฐานะความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าผู้นั้นจะนับถือศาสนาใด ทุกคนยังคงมีทุกข์ สุข เจ็บหรือตายเหมือนกัน


ค่ำลง เสียงอาซานดังขึ้น ได้เวลารับประทานอาหาร แต่รอมฎอนเมื่อ 7 ปีที่แล้ว บางคนไม่มีแม้โอกาสได้ละศีลอด

คดีตากใบไปถึงไหนแล้ว
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดทำสรุปความคืบหน้าของคดีสำคัญๆ ไว้ในหนังสือแถลงข่าวผลงานรอบ 6 เดือน ของศอ.บต.ใหม่ 9 งานก้าวหน้าเพื่อชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ซึ่งรวมถึงคดีตากใบด้วย ดังนี้
สถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ได้ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุจากการชุมนุมที่สถานีตำรวจภูธรตากใบ   จำนวน 99 คน สามารถจับกุมตัวได้ 58 คน ผู้ต้องหาหลบหนีและได้ออกหมายจับ 34 คน ผู้ต้องหาเสียชีวิต 7 คน ต่อมามีคำสั่งงดการดำเนินคดี และถอนฟ้องจำเลย
 
การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ
1) การดำเนินการทางอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐกรณีผู้ต้องหาเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม คณะกรรมการสอบสวน เห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ และตามคำสั่งของผู้มีอำนาจ มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือกลั่นแกล้งบุคคลใดให้ได้รับความเสียหาย พนักงานสอบสวน มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา เพราะไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด และอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง และมีคำสั่งให้งดการสอบสวนแล้ว
2) การดำเนินการทางอาญากับเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีการตายระหว่างการควบคุมตัวผู้ก่อเหตุจากอำเภอตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ศาลฎีกามีคำสั่งโอนการพิจารณาคดีไปยังศาลจังหวัดสงขลา และศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่ง เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ว่า ผู้ตายทั้ง 78 คนตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่
พนักงานสอบสวนได้สอบสวนชันสูตรพลิกศพแล้ว มีความเห็นว่า การเสียชีวิตไม่ได้เป็นผลมาจากการกระทำผิดอาญา จึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องและผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี มีความเห็นชอบตามความเห็นของพนักงานสอบสวน จึงไม่มีการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ ส่วนสำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า ถ้าดำเนินคดีแล้วไม่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงมีคำสั่งยุติการดำเนินคดี
 
การดำเนินคดีแพ่ง
ญาติผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม 30 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 22,637,999.57 บาท จากกระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง และจังหวัดนราธิวาส จำเลยที่ 1 - 6
กรณีกระทรวงมหาดไทย  โจทก์และจำเลยร่วมกันไกล่เกลี่ยเป็นเงิน 6,935,500 บาท (เฉลี่ยได้รายละประมาณ 23,000 บาท) เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2550 และได้ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 - 6 และได้ทำสัญญาประนีประนอมกับจำเลย 1, 2 ด้วยคดีจึงยุติทุกคดี
ในส่วนของกระทรวงกลาโหมและกองทัพบก ได้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตกลงยินยอมชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 42,201,000 บาท จำนวน 79 ราย เพื่อเป็นค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นและค่าขาดไร้อุปการะ มีหลักเกณฑ์ คือ ให้คู่สมรสเดือนละ 1,500 บาท จนอายุครบ 60 ปี ให้บิดามารดา เดือนละ 1,500 บาท  คนใดคนหนึ่งจนอายุครบ 70 ปี กรณีอายุเกิน 70 ปี ให้ 2 ปี  ให้บุตรเดือนละ 1,500 บาท จนอายุครบ 20 ปี ค่าปลงศพให้รายละ 30,000 บาท
กรณีความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่  คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงทางละเมิดของกองทัพบก เห็นว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้ใดกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว จึงไม่มีการดำเนินคดีแพ่งเรียกให้ชดใช้เงินแก่รัฐกับเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ คณะกรรมการมีมติยุติเรื่อง
 
การเยียวยาค่าเสียหาย
หลังเกิดเหตุ มีหน่วยงานรัฐเข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยได้จ่าเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ดังนี้
กรมบัญชีกลาง ออกสลากพิเศษ ช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 85 ศพ ครอบครัวละ 100,000 บาท รวม 85,000,000 บาท
กองทัพภาค 4 ส่วนหน้า จ่ายเงินช่วยเหลือค่าจัดการศพทั้ง 85 ศพ ศพละ 10,000 บาท เป็นเงิน 850,000 บาท กรณีผู้เสียชีวิตไม่มีญาติมารับศพให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสเป็นผู้รับเงินช่วยเหลือ แทน
จังหวัดนราธิวาส จ่ายเงินสงเคราะห์ครอบครัวและการศึกษาของบุตรแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต จำนวน 64 ศพ ครอบครัวละ 6,000 บาท เป็นเงิน 384,000 บาท
 

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักเคลื่อนไหวเน็ตสากลร้อง ทั่วโลกหยุดส่งออกเทคโนโลยีปราบปรามประชาชน

Posted: 30 Oct 2011 10:08 PM PDT

ตัวแทนจากภาคประชาสังคมเรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกสั่งห้ามส่งออกเทคโนโลยีที่นำไปใช้ปราบปรามพลเมือง โดยออกกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ในประเทศปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณขององค์กรที่จะไม่ทำลายพลเมืองประเทศอื่นๆ และคุ้มครองให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม

 

เมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในการประชุมระดับโลกว่าด้วยธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต (Internet Governance Forum - IGF) ณ สหประชาชาติ ประเทศเคนยา กลุ่มตัวแทนจากภาคประชาสังคมร่วมกันออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกเกี่ยวกับนโยบายด้านอินเทอร์เน็ตในฐานะเครือข่ายอันทรงพลังเพื่อส่งเสริมขบวนการประชาธิปไตยดังที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ

Amira Yahyaoui บล็อกเกอร์และนักเคลื่อนไหวด้านเสรีภาพอินเทอร์เน็ตจากประเทศตูนิเซีย เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ในนามกลุ่มภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งมาจาก บาห์เรน เบลารุส บราซิล แคนาดา จีน ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย อิหร่าน มาเลเซีย ไนจีเรีย ปากีสถาน รัสเซีย ไทย และสหรัฐอเมริกา

ใจความหลักในแถลงการณ์ เรียกร้องต่อรัฐบาลประชาธิปไตยทั่วโลกให้สั่งห้ามมิให้ส่งออกเทคโนโลยีที่นำไปใช้ปราบปรามพลเมือง โดยขอให้รัฐบาลออกกฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ในประเทศของตนเองสามารถปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณขององค์กรที่จะไม่ทำลายพลเมืองประเทศอื่นๆ และคุ้มครองให้เกิดสนามการแข่งขันที่เท่าเทียม

นอกจากนี้ ตัวแทนภาคประชาสังคมจากประเทศต่างๆ ยังเรียกร้องให้ผู้ให้บริการร่วมส่งเสริมขบวนการประชาธิปไตย ซึ่งต้องเปิดให้มีการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย นั่นคือต้องรักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิที่จะไม่เปิดเผยชื่อด้วย


แถลงการณ์ตัวแทนภาคประชาสังคมโลก ว่าด้วยธรรมาภิบาลด้านอินเทอร์เน็ต ปี 2554

แถลงการณ์นี้จัดเตรียมให้ Amira Yahyaoui แห่งตูนิเซียเป็นผู้กล่าวในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคมจากหลายภูมิภาค
30 ก.ย. 2554 กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา

ก่อนอื่น เราขอแสดงความยินดีที่มีโอกาสได้มาประชุมในที่ประชุมว่าด้วยธรรมาภิบาลด้านอินเทอร์เน็ต (Internet Governance Forum - IGF) ที่ประเทศเคนยา ในฐานะชาวตูนิเซีย ดิฉันมีโอกาสได้เห็นกับตาถึงขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพในทวีปแอฟริกาที่ได้รับประโยชน์จากวิธีการสื่อสารใหม่ๆ เมื่อมีการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยสังคมสารสนเทศ (World Summit on the Information Society - WSIS) ที่ประเทศดิฉันเมื่อปี 2548 รัฐบาลในสมัยนั้นคิดว่าเป็นการประชุมที่จะสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบเผด็จการของตนเอง แต่เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนั้นจำนวนมาก เช่นเดียวกับคนจำนวนมากในห้องประชุมแห่งนี้ พวกเราที่มาจากตูนิเซียและต้องการอนาคตใหม่จึงได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากเพื่อนต่างชาติที่คอยให้กำลังใจและสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพของพวกเรา ในโอกาสที่มีผู้เข้าประชุมจากทั่วโลก และต่างคนต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างหลากหลาย เป็นเหตุให้การประชุมครั้งนั้นส่งผลสะเทือนต่อรัฐบาลที่กดขี่ปราบปราม ตรงข้ามกับความคาดหวังของระบอบเผด็จการ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์ให้กับเผด็จการในที่อื่นๆ ว่าพวกเขาจะไม่ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของชุมชนโลกที่มีการสื่อสารกันอย่างงดงาม

เป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้เข้าร่วมการประชุม IGF ในฐานะส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้สนับสนุนเสรีภาพด้านอินเทอร์เน็ต เรามาจากประเทศต่าง ๆ อย่างเช่น บาห์เรน เบลารุส บราซิล แคนาดา จีน ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย อิหร่าน มาเลเซีย ไนจีเรีย ปากีสถาน รัสเซีย ไทย ตูนิเซีย และสหรัฐอเมริกา

ในท่ามกลางความหลากหลาย เราเห็นชอบร่วมกันดังนี้

เราขอเรียกร้องให้ประเทศประชาธิปไตยทั้งหลาย นำนโยบายและกฎหมายมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบเผด็จการกดขี่ประชาชนได้ต่อไป ซึ่งรวมถึงการสั่งห้ามอย่างเป็นระบบไม่ให้ส่งออกเทคโนโลยีไปยังรัฐบาลที่นำเทคโนโลยีเหล่านั้นไปใช้ปราบปรามพลเมืองของตนเอง จรรยาบรรณที่กำหนดขึ้นโดยสมัครใจของบริษัทขนาดใหญ่นับเป็นก้าวย่างในเชิงบวก แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลในแต่ละประเทศก็ควรออกกฎหมายที่เข้มแข็งเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณเหล่านั้นด้วย บางบริษัทได้ให้ความเห็นว่า ยินดีหากจะมีกฎหมายเช่นนั้นเพื่อให้สนามแข่งขันเท่าเทียมกัน

นักกิจกรรมและพลเรือนทั่วโลก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในประเทศเผด็จการ ต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัยและเปิดเผยเพื่อการสื่อสาร รวมทั้งการสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ เราได้เห็นแล้วว่าเครือข่ายเช่นนั้นเป็นเครื่องมืออันทรงพลังเพื่อต่อต้านการปราบปราม ผู้ให้บริการจึงควรพยายามส่งเสริมให้ขบวนการประชาธิปไตยสามารถสื่อสารกันในลักษณะที่ปลอดภัยได้ ด้วยเหตุดังกล่าว สิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิที่จะไม่เปิดเผยชื่อจึงเป็นปัจจัยหลักเพื่อประกันความปลอดภัยดังกล่าว การจำกัดสิทธิเหล่านั้นให้กระทำได้โดยกำหนดเป็นข้อยกเว้น โดยเฉพาะกรณีที่มีเงื่อนไขพิเศษและมีการกำหนดเป็นกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิอย่างชัดเจนและเป็นไปโดยสอดคล้องกับหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ผู้เผด็จการมักมีข้ออ้างสวยหรูเพื่อจำกัดเสรีภาพของเรา บ้างก็อ้างความมั่นคงในราชอาณาจักร บ้างก็อ้างการต่อต้านฝ่ายหัวรุนแรง บ้างก็อ้างการปกป้องศีลธรรม การคุ้มครองวัฒนธรรม การเคารพต่อศาสนา หรือการคุ้มครองเจ้าพนักงานจากการดูหมิ่น ข้ออ้างเหล่านี้ได้ถูกใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนการจำกัดสิทธิมนุษยชนของเรา ทั้งโดยผ่านการเซ็นเซอร์และการปิดกั้นการเข้าถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางเวทีธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ตควรแสดงจุดยืนคัดค้านอย่างเข้มแข็ง

ข้อเรียกร้องที่สำคัญเหล่านี้ไม่ใช่เป็นข้อกังวลทั้งหมดของประชาคมสิทธิมนุษยชน แต่หากได้รับการตอบสนอง ย่อมจะมีส่วนส่งเสริมบรรยากาศธรรมาภิบาลด้านอินเทอร์เน็ตอย่างชัดเจนในโลก


ขอบคุณค่ะ Asante sana



ที่มา: http://www.ilaw.or.th/node/1248
ที่มาภาพ: freefotouk  (CC BY-NC 2.0)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชี้รัฐล้มเหลวใช้ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ อนุ กสม.ย้ำต้องเจรจาดับไฟใต้

Posted: 30 Oct 2011 02:39 PM PDT

 

ชี้รัฐล้มเหลวใช้ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ ศูนย์ทนายเผยเหตุคดียกฟ้อง มาจากผลซักถาม เวทีประชาชนชายแดนใต้จี้ยกเลิก อนุกสม.ย้ำต้องเจรจาดับไฟใต้

 

 

 จี้เลิกพ.ร.ก. - เครือข่าวประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 19 องค์กร ร่วมอ่านแถลงการณ์ ขอให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใน 30 วัน ที่ห้องห้องประชุมอาคารวิทยนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554 ที่ห้องห้องประชุมอาคารวิทยนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จัดเวทีสาธารณะ วาระประชาชน : ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีนักศึกษาและประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,500 คน



เวลา 10.30 น. มีการเสวนาในหัวข้อ ชะตากรรมประชาชนใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วจะเอาไงต่อ? โดยนายสุทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวเสวนาว่า ที่ผ่านมามูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ว่าความทั้งหมดประมาณ 600 คดี เป็นคดีความมั่นคงทั้งหมด ปัจจุบันเหลือประมาณ 400 คดี โดยร้อยละ 90 ของจำเลยทั้งหมด มาจากผลการซักถามระหว่างถูกควบคุมตัวในชั้นการควบคุมตัวตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และมีถึงร้อยละ 80 ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง



“คดีที่ผู้ถูกควบคุมตัวถูกซ้อมทำร้ายร่างกายเพื่อให้รับสารภาพ ระหว่างถูกควบคุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือแม้แต่การทำร้ายร่างกายให้รับสารภาพระหว่างที่ตกเป็นผู้ต้องหาแล้วก็ตาม การใช้คำรับสารภาพมาเป็นหลักฐานนั้น ศาลจะไม่รับฟัง จึงทำให้มีคดีความมั่นคงถึง 80% ที่ศาลยกฟ้อง และ 99% ของจำเลยเป็นหัวหน้าครอบครัวและส่วนใหญ่เป็นอุสตาซ (ครูสอนศาสนาอิสลาม)” นายสุทธิพงษ์ กล่าว



นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2554 ประธานศาลฎีกาได้ออกแนวปฏิบัติตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าการขอขยายเวลาการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยต้องนำตัวมาที่ศาลด้วย รวมทั้งการปล่อยตัวก็ต้องนำตัวมาแสดงตัวที่ศาลด้วย แต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตาม แต่ที่ผ่านมาการขอขยายเวลาควบคุมตัวเจ้าหน้าที่นำเพียงเอกสารมาชี้แจงต่อศาล จึงทำให้ผู้ถูกควบคุมตัวไม่มีโอกาสมาแถลงคัดค้านการขยายเวลาควบคุมตัว



นางสาวภาวิณี ชมศรี เจ้าหน้าที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวในวงเสวนาว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาแล้วถึง 6 ปี ไม่บรรลุเป้าหมายเพื่อการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน เพราะทุกวันนี้ยังมีเหตุการณ์ไม่สงบอยู่ ถามว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่เหมาะสม และสามารถช่วยประชาชนได้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการใช้อำนาจเพื่อใช้ควบคุมคนมาซักถาม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ



นางสาวภาวิณี กล่าวว่า การควบคุมตัวคนในช่วงแรก เจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ซึ่งไม่ต้องมีการออกหมายใดๆ เมื่อได้ข้อมูลมาชุดหนึ่งแล้ว จึงออกหมายควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถามว่า ใช้เพื่อเพื่อการรักษาความปลอดภัยของประชาชนตรงไหน



นางสาวภาวิณี กล่าวว่า ที่ประเทศฝรั่งเศสมีการใช้กฎหมายฉุกเฉินเช่นกัน ในสถานการณ์ที่กฎหมายปกติใช้ไม่ได้ แต่การขอขยายเวลาการใช้กฎหมายพิเศษ รัฐบาลต้องขอความเห็นจากรัฐสภาด้วย โดยต้องนำผลการปฏิบัติตามกฎหมายพิเศษมาแถลงต่อรัฐสภา และต้องชี้แจงด้วยว่ามีความจำเป็นอะไรที่ต้องขอขยายเวลาการใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งการขอความเห็นจากที่ประชุมสภานั้น จะทำให้ประชาชนทราบด้วย การขยายเวลามีความเหมาะสมหรือไม่ แต่ในประเทศไทยไม่มี เพราะการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นอำนานของนายกรัฐมนตรีคนเดียว แล้วแต่นายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ใคร



พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ กล่าวในวงเสวนาว่า เหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมาตั้งแต่อดีต ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบ รัฐบาลไม่เคยประกาศใช้กฎหมายพิเศษ แต่หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็สงบลงไปเอง เช่น เหตุการณ์หะยีสุหลง เหตุการณ์ดูซงญอ เป็นต้น



พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า การยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำได้ 2 วิธี คือการสร้างกระแสให้การเมืองเห็นด้วยกับการยกเลิก และการใช้กระบวนการทางนิติบัญญัติ โดยการออกกฎมายยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อเพื่อขอแก้ไขกฎหมาย โดยการออกกฎหมายยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินสามารถทำได้ แต่จะเริ่มเมื่อไหร่ ใครจะเป็นคนเริ่ม หรือมีคนเริ่มแล้วแต่ยังไม่มีผู้ตาม ซึ่งกลุ่มนักศึกษาเป็นแกนนำเริ่มเรื่องนี้ได้



นายสงวน อินทร์รักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตาบา อำเอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในฐานะประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจภาคใต้ ประจำจังหวัดนราธิวาส คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวในวงเสวนาว่า ตนมองในมุมของชาวพุทธและเป็นข้าราชการ มองว่า แม้มีการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประชาชนไม่ว่าพุทธหรือมุสลิม ก็ยังสามารถดำรงชีวิตได้ตามวิถีปกติ



นายสงวน กล่าวว่า การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินของเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบกับคนที่ไม่หวังดีต่อประเทศและต่อคน แต่คนที่ถูกควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังไม่ใช่คนผิด ยังไม่ใช่ผู้ต้องหา แต่สิ่งที่ตนได้เข้าไปดูสถานที่ควบคุมตัวทั้งในค่ายทหาร หรือที่ควบคุมอื่นๆ พบว่าบางคนไม่ทำผิด แต่ถูกเชิญตัวมาสอบสวน ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้หลายวิธีที่จะให้สารภาพ เช่น บังคับ ขู่เข็ญ มีการละเมิดสิทธิโดยการตบ ต่อย



นายสงวน กล่าวว่า มีคนหนึ่ง ถูกควบคุมตัวที่หน่วยเฉพาะที่ 32 อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ถูกเจ้าหน้าที่ทรมาน เอาผ้าพันแล้วทุบ ทำให้ไม่มีรอยแผล นอกจากนี้ยังมีการละเมิดด้วยคำพูด มีการดูถูก ดูแคลนคนในพื้นที่ ซึ่งนี่เป็นเงื่อนไขที่สร้างความเจ็บแค้นในคนในพื้นที่ ตนเคยบอกแม่ทัพภาคที่ 4 ว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้ปัญหาไม่จบ แม้เวลาผ่านไป เหตุการณ์สงบลงแล้วก็ตาม เพราะยังคาอยู่ในใจ



“การล่ารายชื่อเพื่อเสนอยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินสามารถทำได้ เพราะมีมวลชน แต่คนที่ไม่อยากให้ยกเลิก คือทหาร ส่วนนายกรัฐมนตรีไม่รู้เรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จริงอยู่ว่า รัฐบาลคือการเมือง ต้องคุยกับการเมือง เราก็เอาการเมืองมาเป็นเครื่องมือคุยกับทหาร น่าจะได้ผลกว่า” นายสงวน กล่าวว่า



นายสงวน กล่าวว่า วันนี้มีครูเสียชีวิตเป็นรายที่ 149 จากเหตุระเบิด ถามว่า ครูที่โดนฆ่า เพราะอะไร ความจริงถ้าจะฆ่าครูวันหนึ่งเป็นร้อยคนก็ได้ ทำไมเขาต้องฆ่าทีละคน ถามว่าทำไมวันนี้ ต้องฆ่าประชาชน วันนี้ฆ่าครู วันนี้ระเบิดทหาร วันนี้ฆ่าพระ ต้องวิเคราะห์ให้ได้ คนไม่หวังดีต้องการอะไร



“ผมเชื่อว่า คนไม่หวังดีมี 10% อีก 90% เป็นคนที่ต้องการความสงบ เพราะคน 90% ต้องผลักดัน ต้องเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐให้ได้ หลายคนบอกผู้นำในรัฐว่า เจรจากันเถอะ เจรจากันเถอะ วันนี้ตำรวจและผู้นำบอกว่า ไม่รู้จะเจรจากับใคร ผมไม่เชื่อ วันนี้เห็นว่า มีการเลี้ยงไข้ปัญหาความไม่สงบ เพื่อรักษาผลประโยชน์ ถามว่างบประมาณเป็นแสนล้านที่ใช้ในการแก้ปัญหาจังหวัดแดนภาคใต้ ประชาชนได้อานิสงเท่าไหร่และงบส่วนนั้นไปไหนบ้าง



นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวแสดงความเห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน.มีข้อดี คือ ทำให้คนหายลดลง เพราะเจ้าหน้าที่สามารถคุมคนได้ 30 วัน เป็นการยืดเวลาการควบคุมตัวต่อจากกฎอัยการศึกได้ เพราะถ้าควบคุมตัวในเวลาสั้นๆ เพียง 7 วัน ตามกฎอัยการศึกอย่างเดียว ทำให้มีหลายคนหายตัวไป เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวต่อได้ ดังนั้นงานหนักคือ ถ้ายกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วยังมีกฎอัยการศึกอยู่



ในช่วงบ่าย เครือข่าวประชาสังคมคัดค้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 19 องค์กร ได้อ่านแถลงการณ์ ขอให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2554 ซึ่งจะครบกำหนดในอีกไม่กี่วัน หากรัฐบาลยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ทางเครือข่ายจะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไปอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น