โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

นักกิจกรรมร่วมหนุนข้อเสนอยูเอ็น "แก้ไข ม.112" – "พ.ร.บ.คอมพ์ฯ"

Posted: 16 Dec 2011 09:21 AM PST

เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ร่วมเครือข่ายพลเมืองเน็ต กลุ่มประกายไฟ ยื่นจดหมายเปิดผนึกส่งถึงหน้ายูเอ็น สนับสนุนข้อเรียกร้องให้แก้ไข กฎหมายอาญา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

 
 
วันนี้ (16 ธ.ค.54) เวลา 11.00 น.ที่อาคารองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ตัวแทนจากเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย เครือข่ายพลเมืองเน็ต และกลุ่มประกายไฟ รวมตัวเข้ายื่นหนังสือแสดงความขอบคุณ และสนับสนุนข้อเรียกร้องของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และแฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติ ด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก ที่เรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง
 
เวลาประมาณ 11.30 ทางเจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติได้เชิญตัวแทน 3 คนเข้าไปยืน จดหมายเปิดผนึก ด้านใน โดยมี Ms.Indali Panchitkaew National Human Rights Officer  ตัวแทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights ,Regional Office for South East Asia) มารับจดหมายดังกล่าว พร้อมทั้งพูดคุยแลกเปลี่ยนเป็นเวลาประมาณ 30 นาที
 
ภาพกิจกรรมสนับสนุน UN ภาพจาก facebook : Sora Wong
 
เทวฤทธิ์ มณีฉาย นักกิจกรรมกลุ่มประกายไฟกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังเข้ายื่นจดหมายว่า ตัวแทนที่มารับจดหมายระบุว่าจะส่งต่อจดหมายฉบับดังกล่าวไปให้ United Nations Human Rights Council ส่วนทางเครือข่ายที่ทำกิจกรรมครั้งนี้จะร่วมรณรงค์รวบรวมรายชื่อผู้เห็นด้วยกับข้อเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และจะนำรายชื่อดังกล่าวส่งให้ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ (ติดตามการล่ารายชื่อเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/events/281822748530040/)
 
“บ่ายวันนี้ก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านท่าทีของทางยูเอ็น (เครือข่ายสยามสามัคคี) ภายใต้ความคิดที่ว่าคนไทยทั้งหมดคิดแบบเขา ซึ่งทางพวกผมยืนยันว่าคนไทยมีความหลากหลายทางความคิดในประเด็นนี้ และทางกลุ่มไม่ได้เรียกร้องให้ทางยูเอ็นมาสนับสนุน แต่อยากให้ทางยูเอ็น หนักแน่นในหลักการสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกที่เป็นสากล ซึ่งทางตัวแทนยูเอ็นก็ยืนยันในหลักการนี้ว่าไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดข้างหนึ่งหากแต่ยึดหลักกฎหมายสากล” เทวฤทธิ์กล่าว
 
เทวฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ตัวแทนที่ร่วมพูดคุยได้ฝากให้ทางยูเอ็น ได้ตรวจสอบ กรณีที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้แถลงว่าคดีของนายโจ กอดอน และคดีของนายอำพล (อากง SMS) ได้ตัดสินยุติธรรมแล้ว และได้รับสิทธิตามกฎหมายแล้ว แต่จำเลยทั้ง 2 คดีนี้ ไม่ได้รับสิทธิในการได้รับการประกันตัว ทั้งที่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในของไทยให้สิทธิไว้ และในกรณีผู้ต้องหาตามความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นมักไม่ได้รับสิทธิตรงนี้ เช่นเดียวกับสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก รวมทั้งสถานการณ์ขณะนี้ที่รัฐบาลได้มีความเข้มงวดในการปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นฯ ซึ่งอาจจะกลายเป็นโอกาสในการละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยรัฐ
 
ทั้งนี้ เนื้อหาของจดมายเปิดผนึกของกลุ่มที่ออกมาร่วมกันเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นการแสดงความขอบคุณและสนับสนุนข้อเรียกร้องการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง พร้อมทั้งเรียกร้องให้กระตือรือร้นในการตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดหลักสิทธิดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้สังคมไทยเคารพในหลักการดังกล่าว
 
จากกรณี เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.54 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ราวินา แชมดาซานิ (Ravina Shamdasani) รักษาการโฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights - OHCHR) ได้ออกมาแถลงข่าวแสดงความกังวลต่อการพิจารณาคดีและการลงโทษที่ร้ายแรงด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันในประเทศไทย พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการจับกุมและดำเนินคดีบุคคลด้วยกฎหมายดังกล่าวที่มีความคลุมเครือ การลงโทษที่อย่างเกินกว่าเหตุโดยศาล และการคุมขังผู้ต้องหาซึ่งมีระยะเวลานานต่อเนื่องในช่วงก่อนการไต่สวนคดีด้วย
 
รวมถึงเมื่อวันที่ 10 ต.ค.54 แฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก ยังได้เคยแถลงข่าวย้ำถึงความจำเป็นของทางการไทยในการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง
 
อนึ่ง เวลา 10.30 น.วันเดียวกัน ตัวแทนส่วนหนึ่งจากเครือข่างนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ได้เข้ายื่น จดหมายถึง เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ กรุงเทพ เพื่อแสดงความขอบคุณในการแสดงท่าทีของ Darragh Paradiso โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฝ่ายเอเชียตะวันออก เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.54 ต่อการตัดสินคดีของนายอำพล หรือ ‘อากง SMS’ ที่ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 20 ปี ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่าไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลด้านเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงกรณี ที่ อลิซาเบ็ธ แพร็ต ตัวแทนสถานทูตสหรัฐที่ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า ในกรณี โจ กอร์ดอน ว่า “เรายังคงเคารพสถาบันกษัตริย์ของไทย แต่ในขณะเดียวกันเราก็สนับสนุนสิทธิในการแสดงออก ซึ่งเป็นหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับการรับรองในทางสากล” ด้วย
 
 
ภาพกิจกรรมตัวแทนจากเครือข่างนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยเข้ายื่นจดหมายขอบคุณเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา
 
 
 
จดหมายขอบคุณและสนับสนุนข้อเสนอแก้ ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
 
 
16 ธันวาคม พ.ศ.2554
 
เรื่อง ขอขอบคุณและสนับสนุนข้อเรียกร้องการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง
 
เรียน คุณ Navanethem Pillay ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน (UN High Commissioner for Human Rights),  คุณแฟรงค์ ลา รู (Frank La Rue) ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพ (Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression)และ คุณ โฮมายูน อลิซาเด  โฮมายูน อลิซาเด  สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Office of High Commissioner for Human Rights - UNOHCHR)
 
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมา ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คุณราวินา แชมดาซานิ (Ravina Shamdasani) รักษาการโฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(Office of the High Commissioner for Human Rights - OHCHR)[1]ได้ออกมาแถลงข่าวแสดงความกังวลต่อการพิจารณาคดีและการลงโทษที่ร้ายแรงด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันในประเทศไทย และผลกระทบของกฎหมายดังกล่าวซึ่งสร้างความหวาดกลัวที่มีต่อเสรีภาพในการแสดงออกภายในประเทศ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการจับกุมและดำเนินคดีบุคคลด้วยกฎหมายดังกล่าวที่มีความคลุมเครือ การลงโทษที่อย่างเกินกว่าเหตุโดยศาล และการคุมขังผู้ต้องหาซึ่งมีระยะเวลานานต่อเนื่องในช่วงก่อนการไต่สวนคดีด้วย นั้น
 
รวมทั้งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554 ทางคุณแฟรงค์ ลา รู ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก[2]  ยังได้เคยแถลงข่าวย้ำถึงความจำเป็นของทางการไทยในการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง
 
เราในฐานะพลเมือของประเทศไทย ที่มีความสนใจและกังวลต่อปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ขอแสดงความขอบคุณและสนับสนุนข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง  โดยเฉพาะสิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งได้รับการรับรองในทางสากล
 
ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราตระหนักมาโดยตลอดและพยายามเคลื่อนไหวผลักดันให้สังคมไทยยอมรับในหลักการดังกล่าวอย่างแท้จริง ซึ่งพวกเราก็เห็นปัญหาของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ทั้งในตัวกระบวนการในการดำเนินคดีและอุดมการณ์ที่อยู่เบื้อหลังกฎหมายนี้ที่ไม่สอดทั้งในหลักการอันเป็นสากลและความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมไทยขณะนี้
 
ทั้งนี้เราหวังว่าทางท่านจะกระตือรือร้นในการตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากลด้านเสรีภาพในการแสดงออกอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมให้สังคมไทยเคารพในหลักการดังกล่าว เพื่อให้พลเมืองไทยสามารถสร้างสรรค์สังคมที่เป็นอารยะ เป็นประชาธิปไตยและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนสากลด้านเสรีภาพในการแสดงออกต่อไป
 
จึงเรียนมาเพื่อแสดงความขอบคุณและสนับสนุนข้อเรียกร้อง
ขอแสดงความนับถือ
 
ลงชื่อ(องค์กร)
1. เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network)
2. เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย(คกป.)Activists for Democracy Network(ADN.)
3. กลุ่มประกายไฟ (Iskra Group)
 
ลงชื่อ(ปัจเจคบุคคล)
ลงชื่อ(ปัจเจคบุคคล)
เกษียร เตชะพีระ / Kasian Tejapira
ภัควดี วีระภาสพงษ์  นักเขียนและนักแปล
จิตรา คชเดช
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์/Pipob Udomittipong
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
เทวฤทธิ์ มณีฉาย / Tewarit Maneechai
วิจักขณ์ พานิช / Vichak Panich
ชุตินาถ ชุนวิมลศิริ Chutinart Chunwimonsiri
พิรุณ น้อยอุ่นแสน
ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง
จิระยุทธ คงหิ้น
กานต์ ทัศนภักดื์ (Karnt Thassanaphak)
สรวุฒิ วงศ์ศรานนท์
นายวุฒิชัย วงษ์ชู
ชยณัฐ เกษเจริญคุณ (Chayanat Ketchareonkhun)
ภมร ภูผิวผา
วิชญา ศิระศุภฤกษ์ชัย
Chaisiri Jiwarangsan
ตรี ฮัตเจสสัน (Three Hutchesson)
นายสุวรรณ พุฒพันธ์
พัชรี พาบัว Patcharee Pabua
โชติช่วง มีป้อม Chotchuang Meepom
อานนท์ ตันติวิวัฒน์
ยุทธนา ลุนสำโรง
วิภาวดี พันธุ์ยางน้อย
ณิชกร ความหมั่น
รจเรข วัฒนพาณิชย์
เอื้อบุญ จงสมชัย  Ua-boon Chongsomchai
ธีรมล บัวงาม
วีรวุธ พรชัยสิทธิ์ Werawut Phornchaisit
เทิดพันธุ์ พวงเพ็ชร
ณัชพล ชูตลาด
ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม
Somkid Thara
อธิคม จีระไพโรจน์กุล
ธิติพงษ์ ก่อสกุล Thitipong Korsakul
วันวิวัฒณ์ เต็มปลื้ม
พลิศ ลักขณานุรักษ์
กิตติศักดิ์ ทุมมา
พลอยชมพู ชมภูมิ่ง
นาวิน โลหิตนาวี  Nawin Lohitnavy
อดิราช ท้วมละมูล Adirach Toumlamoon
กิจจพัฒน์ โตจำเริญ Kichapatt Tochamroen
ไชยรัตน์ ชินบุตร
วินัย ผลเจริญ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
ดาราณี ทองศิริ
Anuraj Singh Dhindsa
ธนเดช ธรรมนาคิน Tanadej Tamanakin
อานนท์ ชวาลาวัณย์ Anon Chawalawan
วรายุส ทองคำแท้ ( Warayus Tongkumtae )
ภรณ์ทิพย์ มั่นคง กลุ่มประกายไฟ
วุฒิชัย แสนอุบล วิทยาลัยการเมืองการปกครอง
ประเวศ ประภานุกูล ทนายความอิสระ
Varut Veluvarna
ปัณมาสน์ อร่ามเมือง
ณัชชา ตินตานนท์
วรัญญา เกื้อนุ่น
สพลดนัย เชยล้อมขำ (Sapoldanai Choeylomkum)
คณาวุฒิ ครองรักษา Kanawut Krongraksa
ไพโรจน์ พฤกษ์ปาริชาติ Pairoj Prukparichat
ฉัตรฐิยะ แหวนเพชร
สยาม ธีรวุฒิ Siam Theerawut
กนกนาถ พิมพ์เภา
เฉลิมพันธุ์ หวันชิตนาย Chaloempan Wanchitnay
จักรกฤษณ์ ระวังสำโรง
สุดไผท เมืองไทย
พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ เครือข่ายพลเมืองเน็ต
ฝ้ายคำ หาญณรงค์ (Faikham Harnnarong)
ธณัฐพล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา Thanatbhol Palakavangsa Na Ayudhaya
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล
ปิลันกานต์ ฤทธิโต  Pilankan Ritthito
ปฐมพร ศรีมันตะ
จิระพงษ์ ชัยยะสมบูรณ์
พัชรี แซ่เอี้ยว Patcharee Sae-eaw
ไพศาล ลิขิตปรีชากุล Paisarn Likhitpreechakul
ชูธรรม สาวิกันย์ Chutham Sawigun
พรเทพ สงวนถ้อย Pornthep Sanguanthoi
ดวงทิพย์ ฆารฤทธิ์
เฉลิมเกียรติ ผาพิมพ์
ธรรมชาติ กรีอักษร Thammachart Kri-aksorn
Pongsiri Poorintanachote
ต่อศักดิ์ สุขศรี Torsak Suksri
นิพาดา ทองคำแท้ Nipada Tongkumtae
Janejira Buakhao
วรกร ฤทัยวาณิชกุล Vorakorn Ruetaivanichkul
กิตติ ใจน้อย   Kitti Jainoi
จิตร โพธิ์แก้ว Jit Phokaew
อดิศักดิ์ พุ่มเจริญ
นฤดล คงทน
Arpawee Lumlertsuk
ไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ
ศิริวัฒน์ โปษะยานนท์
Anyakan Jeeraanyakan
ภูวนาถ สิงห์ชัย (Phuwanart Singchai)
เอื้อการย์ อารามรักษ์
Kingkorn Narintarakul
Romphaeng Khanthagan
ภาณุวัฒน์ ศรีขลา นิสิต วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มมส.
พรหมพิริยะ เกลื่อนกลางดอน
Channarong Sereepiwat
Natee Ngamwat
อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์
Teerakit Vichitanakul
Pichayon Chayakornchotiwut
ทศพร อุดมชัยพร Tossaporn U-domchaiyaporn
วิษณุ ตะวัน
Punapak Jeammana
Pearless Paritybitz
Thanakorn Passananon
Pimrawee Siangwarn
Ekkapong Netthawon
วรเทพ อรรคบุตร
Pawarawan Waramongkolsathit
ยุวดี ฟูเฟึ่อง
pitchaya pitchsamarn
วัลลภ ธรรมโชติ
ธรัญญา สัตตบุศย์
ธันยนันท์ อ่อยอารีย์ Tanyanun Aoiaree
ธิติบดี รุ่งธีรวัฒนานนท์ Thitibodee Rungteerawattananon
ชาตรี มงลศรีสวัสดิ์ Chatree Mongkolsrisawat
Sarun Jiravaranant
Pongnaret Intapanya
วชิราช ทองกลัด Wachirach Tongglad
ศุภวุฒิ ศรีมหาราชา (Subhavuddhi Srimaharaja)
วิศิษฐ์ เฟื่องศิลา
จักรพันธ์ บานชื่น Chakkapan Banchuen
เงาดาว สุขศรีดากุล
Akaradet Chunjiwank
Worapon Sammanon
Dheerawan Boonyawan
Tinarom Poonnapaka
Worapoth Kongngern, Chiangmai Thailand.
Siriluk Sriprasit, Chiang Mai, Thailand
วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ Wirapa Angkoontassaniyarat
วีระพันธุ์ ตรีรัตน์พันธุ์
Wiraphan Treeratphan
Jaturong sanghong , Lamphun Thailand
Asrin Sanguanwongwan
ธีระพล คุ้มทรัพย์ เชียงใหม่ / Theeraphon Khoomsap, Chiangmai
กิรพัฒน์ เขียนทองกุล
ฐิติภ้ทร์ รจนากร
อัศวิน สิริเสนาณรงค์
ชัยพงษ์ สำเนียง
ศุภกร สกุลนุ่ม / Supakorn Sakulnoom
มนตรา พงษ์นิล / Montra Pongnil
ณัฐกมล โตวนิชย์ / Natkamon Tovanich
อาทิตย์ ศรีจันทร์
ขวัญ ศรีเกตุ
อาภาพรรณ ปลั่งสิริสุนทร
ชญานี ขุนกัน / Chayanee Khunkan
อดิศร เกิดมงคล / Adisorn Kerdmongkol
ขวัญชัย เพ็งผอม
ปวงชน รังสิประภัศร
ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ / Parichat Jungwiwattanaporn
กนกกาจณ์ ศรีขาว / Kanokkarn Sreekhow
 
เอกสารประกอบ :
[1] ประชาไท, สหประชาชาติแถลงข่าวกรุงเจนีวา จี้ทางการไทยแก้ไขกม. หมิ่นฯ เผยแพร่เมื่อ Fri, 2011-12-09 20:51 (ออนไลน์) http://www.prachatai.com/journal/2011/12/38262 สืบค้นเมื่อ 15/12/2011
[2] ประชาไท, ‘ยูเอ็น’ ย้ำอีกครั้ง ไทยต้องแก้กฎหมายหมิ่นฯ – พ.ร.บ. คอมพ์ฯ เผยแพร่เมื่อ Tue, 2011-10-11 01:07 (ออนไลน์) http://prachatai.com/journal/2011/10/37339 สืบค้นเมื่อ 15/12/2011
 
 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สรุปบทเรียน: ความช่วยเหลือแรงงานช่วงน้ำท่วมและก้าวต่อไปหลังน้ำลด

Posted: 16 Dec 2011 08:14 AM PST

เมื่อวานนี้ ที่ย่านอ้อมน้อย จ.สมุทรสาคร ระหว่างกิจกรรมปิดศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) วาสนา ลำดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ให้สัมภาษณ์ประชาไทถึงภาพรวมความช่วยเหลือแรงงานในช่วงน้ำท่วมโดย คสรท. ว่า แม้เหตุการณ์น้ำท่วมจะกระทบกับแรงงานตั้งแต่ภาคเหนือ แต่ คสรท.ไม่มีเครือข่ายในภาคเหนือ แต่เมื่อน้ำเข้าในอยุธยา มีนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่งได้รับผลกระทบ ผู้นำสหภาพแรงงานได้ปรึกษากับ คสรท.เพื่อตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือแรงงาน โดยได้ตั้งศูนย์ระดมทุน เงิน ข้าวของ จากนั้นมีการตั้งศูนย์ที่รังสิต นวนคร ซึ่งนอกจากความช่วยเหลือเฉพาะหน้า ยังได้ทำแบบสอบถามประมวลปัญหาต่างๆ ของคนงาน จากนั้นเมื่อน้ำท่วมที่นครปฐม-สมุทรสาคร ก็ได้ตั้งศูนย์ขึ้น ซึ่งจะปิดศูนย์ดังกล่าวในวันนี้

วาสนา เล่าว่า ในพื้นที่ย่านอ้อมน้อย มีปัญหาต่างจากที่อื่น เพราะอยู่ในพื้นที่คนงานค่าแรงต่ำ แรงงานข้ามชาติจำนวนมาก โดยที่อื่นให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า แต่ที่นี่ รับแล้วต้องพาไปร้องทุกข์ด้วย โดยพบปัญหาที่แรงมาก ทั้งไม่ได้ค่าจ้าง ไม่มีอาหารกิน ไม่มีบัตรประจำตัว ถูกนายจ้างยึดบัตร เลิกจ้างหรือไม่ไม่ชัดเจน โดยคนงานไทยส่วนใหญ่โรงงานไม่ได้ปิด ทำให้คนงานไปทำงานลำบาก ถูกคัดชื่อออก ขณะที่อยุธยา ปิดโรงงานไปเลยเนื่องจากโรงงานน้ำท่วม ทั้งนี้ที่อ้อมน้อย แรงงานข้ามชาติจะถูกเลิกจ้างเป็นกลุ่มแรก ส่วนที่อยุธยา คนงานที่ได้รับผลกระทบกลุ่มแรกคือ คนงานเหมาค่าแรง

วาสนา กล่าวว่า หลังจากนี้ คสรท.จะนำปัญหาของแรงงานที่ประมวลแล้วมาเสนอต่อภาครัฐ เพื่อให้มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ชัดเจนกว่านี้ เพราะมาตรการช่วยเหลือของรัฐขณะนี้เป็นการช่วยเหลือผ่านสถานประกอบการซึ่ง ยังไม่มีระบบการตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้มาตรา 75 ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจริงไหม การทำบันทึกความเข้าใจ ให้นายจ้างไม่เลิกจ้าง 3 เดือน ว่าที่ทำไปหลังจาก 3 เดือนมีคนงานถูกเลิกจ้างไหม หรือเคยเลิกจ้างคนงานเหมาค่าแรงหรือไม่ การพัฒนาฝีมือแรงงานจะให้เขาทำอะไร อยู่รอดได้จริงไหม มีเงินทุนให้หรือไม่ หรือเพียงแค่ให้ได้เบี้ยยังชีพ 120 บาทเท่านั้น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยิง ‘มุคตาร์ กีละ’ หัวหน้าพรรคประชาธรรม เสียชีวิต

Posted: 16 Dec 2011 07:10 AM PST

4 คนร้ายกระหน่ำยิงนายมุคตาร์ กีละ หัวหน้าพรรคประชาธรรมเสียชีวิต ส่วนคนร้ายถูก ชรบ.ยิงสวนขณะหลบหนีตาย 2 พบประวัติโชกโชนร่วมสังหารครูจูหลิงและยิงพนักงานรถไฟตาย 4 ศพ

 

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 16 ธ.ค.2554 พ.ต.อ.สุชาติ อัศวจินดารัตน์ ผกก.สภ.ระแงะ จ.นราธิวาส ร.ต.ท.นัฐวิทย์ บำเพ็ญศรี รอง สว.กองพิสูจน์หลักฐาน จ.นราธิวาส ร.ต.ต.แชน วรงคไพสิฐ หัวหน้าชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด นปพ.นราธิวาส รวมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารจำนวนหนึ่งรุดไปตรวจสอบเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนสงครามยิงนายมุคตาร์ กีละ อายุ 47 ปีหัวหน้าพรรคประชาธรรม และเป็นผู้สมัคร ส.ส.นราธิวาส เขต 3 อยู่บ้านเลขที่ 173/2 บ้านลูโบ๊ะกาเยาะ ม.5 ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เสียชีวิตหน้าบ้านเลขที่ 267 ซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านพักและคนร้ายถูกชุด ชรบ.และ อส.ประจำที่ว่าการ อ.ระแงะ ยิงเสียชีวิต 2 รายโดยเหตุเกิดในช่วงคืนที่ผ่านมาเวลา 22.45 น.

จากการตรวจสอบในที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่พบปลอกกระสุนปืนอาร์ก้า และเอ็ม 16 ของคนร้ายตกอยู่ที่ถนนหน้าบ้านพักจุดเกิดเหตุกว่า 10 ปลอก พร้อมด้วยกองเลือดจำนวนหนึ่ง ส่วนศพนายมุคตาร์ ทางญาติได้นำศพไปประกอบพิธีทางศาสนาแล้ว

นอกจากนี้ ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 50 เมตร ซึ่งเป็นป้อมจุดตรวจของชุด ชรบ.บ้านลูโบ๊ะเยาะ เจ้าหน้าที่พบกองเลือดจำนวน 2 จุด บนถนนที่ชุด ชรบ.และ อส.ได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนประจำกายยิงใส่กลุ่มคนร้ายเสียชีวิต 2 คน หลังจากก่อเหตุยิงนายมุคตาร์เสียชีวิตแล้วคือ 1.นายดอรอโอ๊ะ ปีเยาะ อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 87 ม.4 บ้านกูจิงลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งมีหมาย ป.วิอาญา 4 คดี โดยเฉพาะร่วมสังหารโหดครูจูหลิง ปงกำมูล เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ค.49 และร่วมกับพวกยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำขบวนรถไฟเสียชีวิต 4 นาย เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.51 โดยข้างศพเจ้าหน้าที่พบอาวุธปืนเอ็ม 16 ที่คนร้ายบุกปล้นจากฐานปฏิบัติการพระองค์ดำ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ 1 กระบอกตกอยู่

ส่วนคนร้ายศพที่ 2 คือ นายซาฮีรัน วาดะ อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 86 ม.4 บ้านกูจิลลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยตามหมาย พรก.คดีร่วมกับพวกยิง ผช.ธกส.สาขาอำเภอรือเสาะเสียชีวิตเมื่อปี 50 ซึ่งมีอาวุธปืนอาร์ก้า.ตกอยู่อีก 1 กระบอก โดยศพคนร้ายทั้ง 2 คนทางญาติได้รับศพไปประกอบพิธีทางศาสนาแล้ว

สอบสวนทราบว่า หลังจากที่นายมุคตาร์ กินน้ำชาที่บ้านเพื่อนฝั่งตรงข้ามบ้านพักแล้วเสร็จ ได้ขอตัวเดินกลับบ้านพัก ทันใดนั้นได้มีคนร้าย 4 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ 2 คัน มาจอดเยื้องกับบ้านของนายมุคตาร์ คนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 และอาร์ก้า ยิงใส่นายมุคตาร์กว่า 10 นัดซ้อนจนล้มลงเสียชีวิตคาทีแล้วคนร้ายทั้ง 4 คนได้ขับขี่รถจักรยานยนต์วิ่งหลบหนีไปทางป้อมจุดตรวจ ชรบ.ที่ อส.และ ชรบ.ปฏิบัติหน้าที่อยู่ จึงถูก อส.และ ชรบ.ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงใส่กลุ่มคนร้าย จนคนร้ายทั้ง 2 คน ที่นั่งซ้อนท้ายเสียชีวิตและตกจากรถจักรยานยนต์ ส่วนคนร้ายที่ทำหน้าที่ขี่รถจักรยานยนต์ทั้ง 2 คัน สามารถหลบหนีไปได้

ส่วนสาเหตุในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นฝีมือการกระทำของกลุ่มผู้ไม่ก่อความไม่สงบ ที่นายมุคตาร์ได้ร่วมกันต่อต้านกับชาวบ้านเรื่อยมา จนตัดสินใจลงรับสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 3 เพื่อเป็นตัวแทนเสียงประชาชนในสภาในการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คลี่คลายถูกจุดและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ต่อมาเมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 16 ธ.ค. 2554 พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล ผบ.กรมทหารพรานที่ 45 ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหารจำนวน 50 นาย ใช้กฎอัยการศึกในการปิดล้อมตรวจค้นบ้านกูจิงลือปะ เพื่อไล่ล่าและกดดันคนร้ายอีก 2 คนที่สามารถหลบหนีมาได้ให้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่

สำหรับนายมุคตาร์ เป็นบุคคลในแวดวงการเมืองของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคสันติภาพไทย ซึ่งมีนายพิเชษฐ์ สถิรชวาล อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเป็นหัวหน้าพรรค และได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส.ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ.2548 แต่ไม่มีผู้สมัครได้รับเลือก

ต่อมาพรรคสันติภาพไทยถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการเปิดสาขาพรรคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด แต่นายมุคตาร์ก็ยังไม่ถอดใจ ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปในนามกลุ่มสันติภาพ

ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2550 นายมุคตาร์ ได้เข้าร่วมกับพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งอีกครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นเคย กระทั่งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 นายมุคตาร์ได้ตั้งพรรคใหม่ชื่อพรรคประชาธรรม ชูจุดขายว่าเป็นพรรคของคนมลายูแท้ๆ และขอโอกาสเป็นสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่สันติสุข เพราะปัญหาชายแดนใต้ต้องแก้โดยคนในพื้นที่เอง แม้เขาและผู้สมัครของพรรคจะไม่ได้รับการเลือกตั้งเลยอีกครั้ง แต่พรรคประชาธรรม

 

ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ต่างมุมกระแสเลิกจ้างหลังน้ำลด สภาอุตฯชี้ยังต้องการแรงงานจำนวนมาก

Posted: 16 Dec 2011 07:06 AM PST

สภาอุตฯชี้หลังน้ำท่วมยังต้องการแรงงานจำนวนมาก แนะคนงานอย่าย่ำอยู่กับที่ เร่งพัฒนาฝีมือ ผันตัวคุมเครื่องจักร ด้านนักวิชาการถาม เอาเวลาที่ไหนไปเรียน แค่ทำโอทีประทังชีวิต ก็หมดเวลาแล้ว

(16 ธ.ค.54) ในการเสวนาเรื่อง การส่งเสริมการจ้างงานหลังภัยพิบัติ ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค จิระพันธุ์ กัลลประวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนพัฒนาทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า ตลาดแรงงานในอนาคตจะไม่เหมือนเดิม เนื่องจากหลังน้ำท่วม มีการจูงใจให้ผู้ประกอบการที่เครื่องมือเครื่องจักรเสียหายจากน้ำท่วม ลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น โดยมีการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ลดภาษีให้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานอย่างสำคัญเนื่องจากจะใช้แรงงานในจำนวนที่ลดลง แต่มีทักษะมากขึ้น รวมถึงมาตรการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ก็จะส่งผลต่อการจ้างงานระดับล่างน้อยลง และคนงานที่ตกงานก็ยากจะกลับสู่ระบบอีก

ต่อคำถามว่าจะช่วยให้คนงานไม่ตกงานได้อย่างไรนั้น จิระพันธุ์กล่าวว่า ตลาดของไทยเป็นตลาดเสรี เป็นไปตามกลไกตลาดในระบบแพ้คัดออก ไม่เกี่ยวกับน้ำท่วม ดังนั้น การที่คนงานอายุ 40 ปีขึ้นไป และเรียนน้อย โอกาสที่จะขยับขึ้นไปทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นจึงเป็นเรื่องลำบาก แรงงานจะต้องพิจารณาตัวเอง เรียนรู้ตลอเวลา หาทางพัฒนาฝีมือ หรือออกไปเป็นเถ้าแก่ เป็นนายตัวเอง

จิระพันธุ์ระบุว่า ที่กำลังคิดตอนนี้คือการทำอย่างไรให้คนงานได้อัพเกรดการศึกษาให้สูงขึ้น โดยอาจเอางานที่ทำมาเทียบเกรด เพื่อทำให้สามารถอยู่ในตลาดแรงงานได้

เอกพร โฆษะครรชิต รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่จริงแล้วขณะนี้ ภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศในพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมกำลังขาดแคลนแรงงาน โดยต่างกำลังมองหาแรงงานเนื่องจากต้องผลิตงานให้ทันตามออร์เดอร์ พร้อมแนะนำให้ผู้ที่กำลังมองหางาน เข้าไปดูที่เว็บไซต์ของสภาอุตสาหกรรมฯ ซึ่งร่วมกับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยมีอัตราว่างทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ เขามองว่า หลังน้ำท่วม แรงงานหลายแสนคนที่หายไปจากระบบขณะนี้ เกิดจาก หนึ่ง กองทุนประกันการว่างงานของไทยที่ต่างจากประเทศอื่นๆ ตรงที่ให้เงินคนงานใช้ก่อน สอง คนงานกลับสู่ภาคเกษตรกรรมที่ตอนนี้มีความต้องการสูง สาม งานอิสระเข้ามาเยอะมาก เช่น งานก่อสร้าง ทำความสะอาด ฟื้นฟูหลังน้ำท่วม

ส่วนการพัฒนาฝีมือแรงงานนั้น เอกพรเห็นไปในทางเดียวกับจิระพันธุ์ว่า แรงงานไทยจะต้องไม่ย่ำอยู่กับที่ จะต้องพัฒนาตัวเองเป็นผู้คุมเครื่องจักรให้ได้ โดยยกตัวอย่างว่า หากมีการลงทุนเครื่องจักรราคา 2 ล้านบาทและจ้างคนคุมเครื่อง 2 คน จะแทนคนงานได้ 10-15 คน โดยได้งานที่ได้มีมาตรฐานสม่ำเสมอ ใช้เวลาคืนทุนไม่เกิน 2 ปี

ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เสนอว่า หลังน้ำท่วม อยากให้มี Work Fair โดยคำนึงถึงคนที่ตกงานก่อน เทศบาลต่างๆ จะต้องจัดการกับขยะโดยอาจรับซื้อหรือมีค่าตอบแทนให้ผู้ที่เก็บมาส่ง นอกจากนี้ เพื่อรับมือกับปีหน้า ต้องมีการขุดลอกคูคลองทั้งหมด โดยจ้างคนที่ตกงานก่อน และในระยะยาว จะต้องสำรวจที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมเสียใหม่ โดยต้องมีที่ให้น้ำด้วย ไม่ใช่สร้างขวางทางน้ำผ่านอย่างอยุธยาหรือปทุมธานี

ในประเด็นการพัฒนาฝีมือแรงงานนั้น ณรงค์ระบุว่าเขาเห็นด้วย แต่มีคำถามว่า จะให้คนงานเอาเวลาที่ไหนไปเรียนรู้ เนื่องจากค่าจ้างที่ต่ำ ทำให้คนงานต้องทำงานล่วงเวลา เพื่อให้สามารถยังชีพอยู่ได้ นอกจากนี้ การที่ต้องทำงานล่วงเวลาก็ส่งผลให้ไม่มีเวลาให้ครอบครัว การเกิดก็ลดลงน้อยลง ซึ่งก็จะส่งผลต่อตลาดแรงงานในอนาคต ดังนั้น การจะแก้ไขอะไรจะต้องคิดทั้งระบบ โดยอาจใช้ช่วงวิกฤตน้ำท่วมนี้เป็นโอกาส ในการรื้อโครงสร้างทั้งหมดใหม่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คณะเภสัช จุฬา ชี้แจงกรณีจัดการปัญหาสุนัขจรจัดใต้คณะ

Posted: 16 Dec 2011 03:07 AM PST

 
16 ธ.ค. 54 - คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีข่าวการจัดการปัญหาสุนัขจรจัด ในบริเวณพื้นที่คณะเภสัชศาสตร์ โดยรายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้
 
.........
 
แถลงการณ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการปัญหาสุนัขจรจัดในพื้นที่คณะเภสัชศาสตร์
 
เนื่องจากในพื้นที่คณะเภสัชศาสตร์ มีสุนัขจรจัดเข้ามาพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 50 ตัว การมีสุนัขจรจัดจำนวนมากเหล่านี้ อาจเป็นอันตรายต่อนิสิต คณาจารย์และบุคลากร รวมทั้งผู้สัญจรผ่านบริเวณคณะเภสัชศาสตร์ (ไปยังสยามแสควร์หรือพื้นที่ใกล้เคียง) เนื่องจากเคยมีเหตุการณ์ที่สุนัขเหล่านี้กัดนิสิตของคณะเภสัชศาสตร์มาแล้ว ทั้งนี้ในช่วงค่ำ สุนัขเหล่านี้จะออกมากระจายในพื้นที่ และคอยวิ่งไล่เห่าผู้ที่อยู่ในคณะ และผู้ที่เดินผ่านไปมา ก่อให้เกิดความหวาดกลัวและความรำคาญ
 
คณะเภสัชศาสตร์ ได้รับข้อร้องเรียนจากนิสิต คณาจารย์และบุคลากรเป็นจำนวนมาก จึงได้กำหนดแนวทางในการจัดการสุนัขจรจัดในพื้นที่คณะเภสัชศาสตร์ โดยมุ่งประสงค์ที่จะลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายกับ นิสิต คณาจารย์ และบุคลากร รวมทั้งผู้สัญจร โดยไม่ได้ต้องการที่จะทำร้ายสุนัข ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ แนวทางในการจัดการมีดังต่อไปนี้
 
1. ประกาศหาผู้ที่ประสงค์จะรับสุนัขไปเลี้ยง ให้มาติดต่อรับสุนัขเหล่านี้ไป
 
2. ประสานงาน กทม. คณะสัตวแพทย์ จุฬาฯและกลุ่มสานสายใยชีวิตที่ดูแลสัตว์เร่ร่อน เพื่อมาทำหมันสุนัข เพื่อไม่ให้มีการขยายจำนวนให้มากกว่าในปัจจุบัน
 
3. ขอความร่วมมือไม่ให้มีการให้อาหารสุนัขในบริเวณพื้นที่ เนื่องจากจะทำให้มีสุนัขจรเข้ามาเพิ่ม
 
4. ลดพื้นที่อาศัยของสุนัขจรจัดในคณะเภสัชศาสตร์
 
สำหรับประเด็นที่มีข่าวเกี่ยวกับ “การกำจัดสุนัขโดยการก่อปูนปิดโพรงใต้ฐานตึก” นั้น คณะเภสัชศาสตร์ขอชี้แจง ข้อเท็จจริงดังนี้
 
1. การก่อปูนปิดโพรงใต้ฐานตึกอาคารคณะเภสัชศาสตร์ เนื่องจากพื้นดินทรุด ทำให้เกิดเป็นรูโหว่และเป็นโพรง ที่ทำให้สุนัขเข้าไปอยู่อาศัยได้เป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องดำเนินการซ่อมแซม
 
2. ในการปิดโพรงใต้ฐานตึก ได้ใช้วิธีก่ออิฐเสริมฐานตึก แต่ได้เปิดช่องโดยทำเป็นประตูบานพับที่ทำด้วยเหล็กดัดเป็นช่วงๆ เพื่อให้สุนัขออกจากโพรงและไม่สามารถกลับเข้าไปในโพรงได้อีก
 
3. ตึกคณะเภสัชศาสตร์ มี 4 ปีก ขณะนี้ดำเนินการปิดโพรงเพื่อซ่อมแซมเสร็จจำนวน 2 ปีก ในการดำเนินการดังกล่าวพบว่า จำนวนสุนัขจรจัดมีปริมาณลดลง และไม่พบว่ามีสุนัขเสียชีวิตในโพรงใต้ตึกเลย
 
เนื่องจากข่าว การจัดการปัญหาสุนัขจรจัดในบริเวณพื้นที่คณะเภสัชศาสตร์อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในการดำเนินงานของคณะเภสัชศาสตร์ จึงขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงผ่านทางสื่อสารมวลชน  เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง หากท่านมีข้อสงสัยประการใด ติดต่อได้ที่ คณะเภสัชศาสตร์ โทร. 02-218-8251
 
วันที่ 16 ธันวาคม 2554
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายรักสถาบันเดินสายจี้ UN ขอโทษอย่าวิจารณ์ ม. 112 - ยื่นสอบ "ยิ่งลักษณ์" หมิ่นสถาบันฯ

Posted: 16 Dec 2011 02:49 AM PST

"ตุลย์-บวร" ระดมพล "เครือข่ายคนรักสถาบัน" สองสาย บุกยื่นหนังสือสหประชาชาติ หลังออกมาวิจารณ์กฎหมายหมิ่นสถาบัน จี้ขอโทษ - ยื่นวุฒิสภาสอบ “ยิ่งลักษณ์” โพสต์ภาพเฟซบุ๊ครูป ร.8 ชี้เข้าข่ายหมิ่น 
 
 
 
 
 
ที่มาภาพ: Bus Tewarit
 
16 ธ.ค. 54 - สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นรายงานว่าน.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ และภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี ได้เดินทางมาหน้าองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย เพื่อยื่นหนังสือต่อตัวแทนองค์การสหประชาชาติ เกี่ยวกับกรณีที่สหประชาชาติ ได้แสดงความคิดเห็นว่า กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มาตรา 112 ของไทย มีโทษหนักเกินไป และผิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดย น.พ.ตุลย์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการเข้ามาละเมิดอธิปไตยทางกฎหมายของไทย จึงขอให้ทางสหประชาชาติยุติเรื่องดังกล่าว และหากเป็นไปได้ ก็อยากให้ออกมาขอโทษประเทศไทย 
 
พร้อมทั้งยืนยันว่า ทุกประเทศมีกฎหมายปกป้องประมุขของตนเองทั้งนั้น และกฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้ขัดต่อกติการะหว่างประเทศ โดยได้ยกกติการะหว่างประเทศมาตรา 19 มายืนยันต่อสื่อมวลชนที่มารอทำข่าว และหลังจากนั้น ทางภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี จะเดินทางไปยื่นหนังสือในเรื่องเดียวกันต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยต่อไป
 
เครือข่ายอาสาปกป้องฯ ยื่นวุฒิสภาสอบ “ยิ่งลักษณ์” โพสต์ภาพเฟซบุ๊ครูป ร.8 ชี้เข้าข่ายหมิ่น
 
ด้านเว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าวันนี้ (16 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายบวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อนางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบัน พระมหากษัตริย์ วุฒิสภา เพื่อให้ตรวจสอบกรณีที่เฟชบุ๊ค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เขียนข้อความเพื่อถวายพระพรเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 3 ธ.ค. ว่า “ 5 ธันวา รวมพลังคนไทย รวมหัวใจถวายพระพรชัยมงคล” แต่แทนที่จะใช้พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 แต่กลับใช้พระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้า ร.8 แทนจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เพื่อให้นายรัฐมนตรีออกมาชี้แจงกับสังคมต่อไป
 
ภาคีสยามสามัคคีจี้รัฐแสดงจุดยืนยึดมั่นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมาสำนักข่าวไทยรายงานว่าที่โรงแรมสยามซิตี้ภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ออกแถลงการณ์จากกรณีรักษาการโฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และผู้แทนระดับสูงสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายด้านความมั่นคง เรียกร้องให้ไทยแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในฐานะที่ไทยเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อันสืบเนื่องจากคดีหมิ่นเบื้องสูงของนายอำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง และ นายเลอพงษ์ วิไชยคำมาตย์ หรือ โจ กอร์ดอน 
 
ทั้งนี้ ทางภาคีเครือข่ายฯ เห็นว่ากรณีดังกล่าวเกิดจากการรับฟังข้อมูลเพียงบางส่วน ไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงไม่เข้าใจจารีตประเพณี วัฒนธรรม ความผูกพันอันแนบแน่นระหว่างประชาชนไทยและพระมหากษัตริย์ จึงไม่เข้าใจที่มาของกฎหมาย และไม่ตระหนักถึงผลร้ายที่จะตามมา ซึ่งความเห็นขององค์กรระหว่างประเทศดังกล่าวอาจมาจากการแสดงออกของรัฐบาลไทยที่ปล่อยให้มีขบวนการละเมิดกฎหมายและละเมิดกระบวนการยุติธรรม ทำลายความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อองค์พระมหากษัตริย์ โดยมุ่งเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น
 
ทางภาคีเครือข่ายฯ เห็นว่า การเรียกร้องของบุคคลดังกล่าว เป็นกระบวนการเพื่อล้มล้างความเป็นมาตรฐานสากลของกระบวนการยุติธรรมไทย และทำลายความเชื่อมั่นต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในไทย ไม่เคารพสิทธิ ความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และอาจทำให้เกิดความเกลียดชังในชาติ ยั่วยุให้เกิดการเลือกปฏิบัติ
 
ทางภาคีเครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงออกถึงการยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ชี้แจงให้บุคคลดังกล่าวและนานาประเทศเข้าใจและยอมรับการปกครองของไทย โดยให้มีหนังสือชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงแห่งคดีที่เกิดขึ้น ตลอดจนความสำคัญของกฎหมาย และผลร้ายที่จะตามมาหากมีการละเมิด พร้อมขอให้รัฐบาลทำหนังสือประณามการแทรกแซงกิจการภายใน ลบหลู่กระบวนการยุติธรรมของไทย และการแสดงออกที่มีผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทย 
 
พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (16 ธ.ค.) เวลา 13.30 น. ภาคีเครือข่ายฯ จะไปยื่นหนังสือที่องค์การสหประชาชาติ และสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อให้เข้าใจในเรื่องดังกล่าว และจะจัดเสวนาช่วงเย็นที่สวนลุมพินี เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในเรื่องนี้ด้วย
 
นพ.ตุลย์ ยืนยันว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และตรงตามข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่
 
 
 
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน "บัตรขาว" บัตรที่นำมาซึ่งหลักประกันสุขภาพ

Posted: 16 Dec 2011 02:12 AM PST

 “แค่อยากตื่น และฟื้นขึ้นมองเธอได้”[1]

เวลาไม่สบาย ฉันมักหวนนึกถึงเพลงนี้ ฉันไม่เคยกังวลในเรื่องภาระจากการเข้ารับการรักษาพยาบาล คงกังวลแต่เรื่องทานยาเท่านั้น แต่ถ้าเป็น “ชิชะพอ” หรือ “ไลโพ” จะคิดเหมือนฉันมั้ยนะ

ถ้าคุณเป็นข้าราชการ หรือเป็นบุคคลในครอบครัว[2]ของข้าราชการ เวลาเจ็บป่วยไปโรงพยาบาล ก็ไม่ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาล เพราะมีสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 หากเป็นพนักงาน ลูกจ้างบริษัทก็ใช้สิทธิรักษาพยาบาลตามประกันสังคม ผู้ที่ไม่ได้ใช้สิทธิตามสองแหล่งที่ว่ามาข้างต้น ก็ใช้สิทธตามหลักประกันสุขภาพ ..ดูเหมือนจะเป็นระบบที่ลงตัว แบ่งแยกกันชัดเจน แต่กลับมีปัญหาว่า ผู้ที่มีปัญหาสถานะบุคคลทั้งหลาย จะมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างไร

ก่อนที่จะมีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 มีนาคม 2553 เรื่องการให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ สำหรับคนที่ถือบัตรบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนสำหรับกลุ่มเด็กในสถานศึกษา คนไร้รากเหง้า ผู้ทำคุณประโยชน์ เดิมบุคคลผู้มีปัญหาสถานะบุคคล เมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล ก็ต้องเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตนเอง บางทีก็จะได้รับการอนุเคราะห์โดยฝ่ายสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาล ทำให้เกิดปัญหาในการเข้าถึงการรับการรักษาพยาบาล เพราะต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายที่ถือว่าสูง เมื่อเทียบกับรายได้จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างของคนเหล่านี้ เงิน กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล แต่เมื่อหมอคนหนึ่ง เห็นปัญหานี้ในพื้นที่ จึงพยายามที่จะให้หลักประกันสุขภาพแก่ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล โดยเริ่มต้นจากในพื้นที่ ..ที่อุ้มผาง

ที่มาของบัตรขาว[3]

“...เมื่อเริ่มหลักประกันสุขภาพปลายปี 2544 ตอนนั้นก็มีการให้บัตรทอง กับคนทุกคนในเขตอำเภอที่รับผิดชอบ ที่นี้มีบางคนที่ไม่มีทะเบียนบ้าน ตัวผมเองก็คิดว่า หลักประกันสุขภาพเป็นเรื่องที่ดี เป็นการให้สิทธิในการรักษา ก็จะไม่ต้องมาขึ้นกับโรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ ว่าจะได้รับการสงเคราะห์หรือไม่ ควรจะเป็นสิทธิของเขาที่จะได้รับการรักษา ตอนแรกจะออกเป็นบัตรเงิน กลัวคุณสุดารัตน์จะว่าไปเลียนแบบเค้า คนที่ไม่มีบัตรทอง ก็เลยเอาสีขาวเป็นหลัก เพราะเป็นสีของสันติภาพ เป็นกลาง ตอนนั้นผมคิดถึงจุดประสงค์อยู่ 2 อย่างคือหนึ่ง-ทำให้คนกลุ่มนี้เหมือนมีหลักประกันสุขภาพ คือเข้าถึงสถานบริการได้ (access to health care) จะได้แก้ปัญหา access to health care ตรงนี้ เพราะคนเหล่านี้มักกลัวว่าจะต้องเสียเงิน หากเขาเป็นโรคภัยไข้เจ็บ แล้วไม่ได้รับการรักษา หากเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ตรงนี้จะควบคุมยาก เพราะฉะนั้นต้องไม่มีกำแพง เงินเป็นกำแพงสำหรับคนที่ไม่มีหลักประกันทำให้เข้าไม่ถึงการรักษา เพราะข้ามกำแพงไปไม่ไหว ให้เป็น access to health care เพื่อจะจัดการปัญหาสุขภาพในพื้นที่ให้ง่ายขึ้น และเราให้ได้แต่ need(สิ่งที่จำเป็น)คือรักษาเขาให้หายป่วย ให้อาหารและที่พักกับทั้งผู้ป่วยและญาติ รวมถึงยานพาหนะในกรณีที่ต้องส่งต่อ เราไม่ได้ให้ want และคนเหล่านี้ก็ไม่ได้ want อะไร ขอแค่ปลอดภัย ไม่ได้เรียกร้องอะไรเลย

สอง-ไม่รู้ว่ามีคนจริงๆจำนวนเท่าไหร่ อยากจะบันทึก (register) จำนวนคนเหล่านี้ไว้ เพื่อในอนาคตหากมีการจัดการ ก็จะได้นำข้อมูลไปใช้ จริงๆน่าจะหลายหมื่นคน โดยเหตุผลข้อหนึ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่ผลักดันให้เกิดบัตรขาว...”


 

หมอตุ่ย หรือนายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัมนทรัพย์ ผอ.รพ.อุ้มผาง เล่าว่า ในช่วงแรก ที่เขาทำหน้าที่ควบตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลพบพระ ก็ทำบัตรขาวที่โรงพยาบาลพบพระด้วย แต่เมื่อกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลอุ้มผางแห่งเดียวในปี 2547 หมอตุ่ยก็ไม่ได้ตามต่อแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ขึ้นกับนโยบายของแต่ละโรงพยาบาล

บัตรที่นำมาซึ่งหลักประกันสุขภาพ

เมื่อพบคนป่วยที่ไม่มีบัตรแสดงตนใดๆ เลย หรือคนไร้รัฐ หรือคนที่ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก ทางโรงพยาบาลอุ้มผางจะจัดให้บุคคลเหล่านี้มาอยู่ในระบบบัตรขาว ผู้ป่วยจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เช่นเดียวกับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ ต่างกันเพียงแค่คนเหล่านี้ไม่ได้ถูกนับ หรือถูกนำไปคำนวณคิดเป็นเงินค่าหัวจาก สปสช.

บัตรขาวนี่เองที่ทำให้ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลมีหลักประกันสุขภาพขึ้นมา แต่ก็มีเฉพาะในพื้นที่นี้เท่านั้น เพราะหลักประกันสุขภาพนี้ให้โดยโรงพยาบาลอุ้มผาง

 




 

จำแนกข้อมูลผู้ป่วยบัตรขาว ณ โรงพยาบาลอุ้มผาง[4]

เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 มีนาคม 2553 เรื่องการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ สำหรับคนที่ถือบัตรบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน สำหรับกลุ่มเด็กในสถานศึกษา คนไร้รากเหง้า ผู้ทำคุณประโยชน์ ทำให้ต้องมีการคัดกลุ่มคนเหล่านี้ที่มีหลักประกันสุขภาพจากรัฐ ออกจากระบบบัตรขาว นอกจากนี้ยังมีโจทย์จาก รศ.ดร.พันธ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา หรืออาจารย์แหวว ที่ปรึกษา ที่ตั้งคำถามว่าอะไรคือความเร่งด่วน ฉุกเฉิน ร้ายแรงของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลอุ้มผางนี้

เรา-ทีมงาน SWIT และพี่แมว จันทราภา จินดาทอง เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลอุ้มผาง และผู้ประสานงานโครงการคลินิกกฎหมายอุ้มผาง รวมถึงพี่เปีย นันทัชพร กันทะวัง เจ้าหน้าที่ของคลินิกกฎหมายอุ้มผางจึงเริ่มลงมือแปลงร่างตัวเอง เป็นนักสถิติ มาจัดแจงข้อมูลกัน

หนึ่ง-จำแนกโดยดูว่าผู้ป่วยที่มาใช้บริการมีเลขสิบสามหลักหรือไม่

เราเริ่มจากฐานข้อมูลบัตรขาว (ข้อมูล ณ วันที่1 ต.ค .2553- 30 ก.ย. 2554) จากตัวเลขผู้มาใช้บริการ (Visit number) พบว่ามีคนไร้รัฐมาใช้บริการ 15,937 ครั้ง จากจำนวน 6,407 คน เราพบว่าในตัวเลขของผู้ใช้บริการกลุ่มนี้มีหลายคนที่มีเลข 13 หลักแล้ว จึงดึงคนกลุ่มนี้แยกออกไปได้จำนวน 460 คน โดยเลขประจำตัวที่พบมีทั้งเลข 1,2,5,8,0,6,7 เหลือเป็นจำนวนคนที่ไม่มีเอกสารอะไรเลย จำนวน 5,947 คน

ในกลุ่มคนที่มีเลข 13 หลักแล้ว จะเห็นได้ว่ามีการปะปนของคนสัญชาติไทย ซึ่งต้องได้สิทธิตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 คือคนที่ถือบัตรประจำตัวซึ่งขึ้นต้นด้วยเลข 1,2,5,8  ส่วนคนที่ถือบัตรบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  บัตรขึ้นต้นด้วยเลข 6,7 บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน สำหรับกลุ่มเด็กในสถานศึกษา(กลุ่ม2 ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล มติคณะรัฐมนตรี 18 มกราคม พ.ศ.2548) บัตรขึ้นต้นด้วยเลข 0 ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้หลักประกันสุขภาพตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 23 มีนาคม 2553 เรื่องการให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิไปแล้ว จึงต้องแยกออกจากฐานระบบบัตรขาว เพื่อจะได้รู้จำนวนผู้ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ และดูประเภทโรคที่พบบ่อย ค่าใช้จ่ายสูง เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลต่อไป

สอง-จำแนกตามประเภทผู้ป่วย

แยกได้เป็นผู้ป่วยนอก 5,391 คน และผู้ป่วยใน 1,016 คน

สาม-จำแนกตามประเภทของโรค แยกตามบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ฉบับทบทวนครั้งที่ 10 (ICD-10)[5] โดยเราแบ่งอีกเป็น 3 ลักษณะคือ สิบอันดับโรคที่พบบ่อย, สิบสามอันดับโรคร้ายแรง โรคที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง และแปดโรคติดต่อชายแดน

สิบอันดับของโรคพบบ่อย

- กรณีเป็นผู้ป่วยใน พบว่ามี จำนวน 740 ประเภทโรค

1.     คลอดปกติ 235 ครั้ง

2.     เด็กทารกเกิดปกติ 206 ครั้ง

3.     คลอดเอง 186 ครั้ง

4.     วัคซีนไวรัสตับอักเสบ 158 ครั้ง

5.     วัคซีนวัณโรค 155 ครั้ง

6.     มาลาเรีย PF 102 ครั้ง

7.     ไข้ไม่ระบุรายละเอียด 83 ครั้ง

8.     ไข้รากสาดใหญ่ 80 ครั้ง

9.     กระเพอาหารและลำไส้อักเสบ 77 ครั้ง

10.  ตรวจสุขภาพเด็กปกติ 76 ครั้ง

- กรณีผู้ป่วยนอก พบว่ามี 981 ประเภทโรค

1.     การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน 1,234 ครั้ง

2.     ติดตามผลการรักษาทั่วไป 971 ครั้ง

3.     ไข้ ไม่ระบุรายละเอียด 842 ครั้ง

4.     ดูแลการตั้งครรภ์ปกติ 794 ครั้ง

5.     ไข้หวัด 612 ครั้ง

6.     หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน 514 ครั้ง

7.     เย็บแผล 458 ครั้ง

8.     คอหอยอักเสบเฉียบพลัน 425 ครั้ง

9.     อาหารไม่ย่อย 398 ครั้ง

10.  บริการคลุมกำเนิด 339 ครั้ง

สิบสามอันดับโรคร้ายแรง โรคที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง p(เรียงตามจำนวนผู้ป่วยมากไปหาน้อย)

- กรณีผู้ป่วยใน

1.     มาลาเรีย PV ที่มีภาวะแทรกซ้อน 30 ครั้ง

2.     มาลาเรียชนิดรุนแรง (PF ชนิดรุนแรง) 54 ครั้ง

3.     ไตระยะสุดท้าย 19 ครั้ง

4.     โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง COPD ในผู้ป่วยใน 16 ครั้ง

5.     การเป็นพิษจากยาศัตรูพืชและสัตว์ T60.3-การสัมผัสโดยไม่ตั้งใจ 12 ครั้ง

6.     การตั้งใจทำร้ายตัวเองด้วยพิษจากยาศัตรูพืช X68.99 เนื่องจากความอ่อนไหวที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ 12 ครั้ง

7.     โรคหืด Asthma 8 ครั้ง

8.     มะเร็งตับ 4 ครั้ง

9.     มะเร็งทวารหนัก 2 ครั้ง

10.  มะเร็งต่อมน้ำเหลือง 1 ครั้ง

11.  มะเร็งปอด 1 ครั้ง

12.  มะเร็งเม็ดเลือดขาว 1 ครั้ง

13.  HIV 2 ครั้ง

 - กรณีผู้ป่วยนอก

1.     ความดันโลหิตสูง (ค่าใช้จ่ายตลอดชีวิต) 332 ครั้ง

2.     มาลาเรีย PF 158 ครั้ง

3.     มาลาเรีย PV 148 ครั้ง

4.     โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง COPD ในผู้ป่วยนอก 136 ครั้ง

5.     โรคหืด Asthma 89 ครั้ง

6.     ลมชัก 56 ครั้ง

7.     เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน  (กินยาตลอดชีวิต) 34 ครั้ง

8.     ภาวะไขมันในเลือดสูง 25 ครั้ง

9.     คลอเรสเตอรอลสูง 8 ครั้ง

10.  เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน 6 ครั้ง

11.  HIV 30 ครั้ง

แปดโรคติดต่อชายแดน (แม่สอด อุ้มผาง ท่าสองยาง พบพระ แม่ระมาด)[6]

1.     มาลาเรีย

2.     ไข้รากสาดใหญ่

3.     ไข้เลืดออก

4.     อหิวาตกโรค

5.     ไข้กาฬหลังแอ่น (พบเฉพาะอุ้มผาง)

6.     วัณโรค

7.     หัด (พบเฉพาะอุ้มผาง)

8.     โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น ไอกรน โปลิโอ

ข้อสังเกต

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าในพื้นที่อำเภออุ้มผางมีปัญหาในเรื่องโรคติดต่อ เช่น มาลาเรีย และด้วยมีกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะบุคคล โดยเฉพาะชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งมีความอ่อนไหวทางจิตใจ ทำให้พบการตั้งใจทำร้ายตัวเองด้วยพิษจากยาศัตรูพืช ( ICD-10 คือX68.99 )  ดูจะเป็นโรคที่เกิดจากความเฉพาะของพื้นที่จริงๆ

 

ต่อมา ‘หมอตุ่ย’ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่องานของพวกเรา ในความเห็นของเขาแล้ว กลุ่มโรคที่ต้องได้รับการดูแลรักษา โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่ แบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ[7]

หนึ่ง-โรคติดต่อร้ายแรง เช่น อหิวาตกโรค วัณโรค ไข้กาฬหลังแอ่น เอดส์ เพราะคนไทยก็ไม่ได้สุขสบายมาก ถ้าจะเอาทรัพยากรณ์ไปใช้กับคนชาติอื่น หรือคนไม่มีสัญชาติ คนไทยก็อาจจะปฏิเสธ ดังนั้นการที่มักจะอ้างโรคติดต่อร้ายแรงมีเหตุผลสองข้อคือ เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมและหลักจรรยาบรรณการแพทย์ของเรา และสอง-มันจะควบคุมโรคไม่ได้

สอง-โรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา (เป็น need จริงๆ) เช่น คลอดลูก ไส้ติ่งที่ต้องผ่า โรคหืด ลมชัก ผู้พิการ ที่ต้องการการดูแล

สาม-โรคเรื้อรัง ต้องรักษาตลอด เช่นคนที่ต้องฟอกไตอย่างเช่นกรณีนายไลโพ  อาจจะเน้นในประเด็นที่ว่าเป็นคนที่มีความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เป็นคนที่ต้องทำงานหาเลี้ยงดูครอบครัว เป็นที่พึ่งของลูกๆอยู่

สี่-บริการส่งเสริมสุขภาพ เช่น การฝากท้อง บริการคุมกำเนิด  ฉีดวัคซีนเพื่อเป็นการป้องกันโรค เช่น โปลิโอ ซึ่งต้องฉีดวัคซีนให้ทุกคน ถ้าเกิดมีผู้ป่วยก็อาจจะต้องฉีดกันใหม่หมดทั้งจังหวัด หรือประเทศ เพราะโรคนี้แพร่กระจายได้ง่าย เพราะโรคภัยที่ร้ายแรงจึงมีการทำวัคซีนเพื่อป้องกันตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้สปสช.สนับสนุนวัคซีนทุกประเภทให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายได้อย่างไม่จำกัด เพราะเดิม อย่างวัณโรค สปสช.ให้กรอกเลข 13 หลัก ถ้าไม่มีก็ส่งข้อมูลไม่ได้ ถูกเด้งกลับ ทำให้ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้  เพราะเดิม สปสช.ติดปัญหาว่าต้องให้เฉพาะคนสัญชาติไทย กลัวทำผิด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 แต่เรื่องวัคซีน ทางโรงพยาบาลอุ้มผางได้คุยกับทาง สปสช.ว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ โรคภัยไข้เจ็บไม่เข้าใครออกใคร อย่างเมื่อก่อน PV, HIV สปสช.ก็ไม่ได้ให้ ให้กรอกเลข จึงบอก สปสช.ไปว่าไม่อย่างนั้นพื้นที่นี้จะยุ่งแน่นอน

 

 

บทสรุป

ไม่น่าเชื่อว่าผ่านไปเกือบสิบปีวัตถุประสงค์แห่งการเริ่มต้นบัตรขาวทั้งสองข้อนั้นได้บรรลุแล้ว เพราะบัตรขาว เป็นเสมือนสัญลักษณ์หลักประกันสุขภาพของผู้มีปัญหาสถานะบุคคลที่ไม่มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพประเภทต่างๆ เป็นบัตรที่นำมาซึ่งหลักประกันสุขภาพอย่างแท้จริงโดยไม่มีข้อแม้ และฐานข้อมูลบัตรขาวก็ทำให้ผู้คนได้เห็นถึงตัวตน จำนวนคนที่มีปัญหาสถานะบุคคล ไม่ว่าจะเป็นคนไร้รัฐ (stateless person) หรือคนไร้สัญชาติที่อยู่ระหว่างการพัฒนาสถานะของตนเอง ซึ่งเป็นประโยชน์กับงานแก้ไขปัญหาของผู้มีปัญหาสถานะบุคคลได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงตัวบุคคล สอบถามข้อเท็จจริง ให้คำแนะนำในการพัฒนาสถานะ ตลอดจนถึงเป็นฐานข้อมูลในการผลักดันเชิงนโยบายต่อไป

และแม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา โรงพยาบาลจะแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาลกับการให้หลักประกันสุขภาพผ่านทางบัตรขาว ไม่ใช่แค่ค่ารักษาพยาบาล แต่รวมไปถึงค่าเดินทาง ค่าอาหาร ที่พักญาติผู้ป่วยด้วย หากคุณไม่เคยเดินทางมาเห็นพื้นที่อำเภออุ้มผาง คุณคงนึกภาพไม่ออกเลยว่า การเดินทางยากลำบากเพียงไร[8] แต่การช่วยด้วยทั้งกายและใจ ของชาวโรงพยาบาลอุ้มผางก็คงไม่เสียเปล่า เมื่อเห็นผู้คนในพื้นที่อยู่ดีมีสุข สุขภาพแข็งแรง ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ

ให้ได้เพียงเท่านี้ ก็สุขใจแล้ว

-----------------------------------------------------------

 



[1] เนื้อเพลงวันที่ฉันป่วย วงอาร์มแชร์

[2] ความหมาย บุคคลในครอบครัว ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553

[3] เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์นายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ณ โรงพยาบาลอุ้มผาง โดยดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, กรกนก วัฒนภูมิ และจันทราภา จินดาทอง

[4] ข้อมูลจากแผนภาพสรุปความคืบหน้าการจัดการฐานข้อมูลบัตรขาวของรพ.อุ้มผาง บันทึกโดยดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล วันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 และเรียบเรียงจากการสัมภาษณ์นายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ณ โรงพยาบาลอุ้มผาง โดยดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, กรกนก วัฒนภูมิ และจันทราภา จินดาทอง

[5] ICD คือบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง (International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problems มีชื่อย่อว่า ICD) เป็นรายละเอียดของโรคและการบาดเจ็บต่างๆ จัดพิมพ์เผยแผ่โดย องค์การอนามัยโลก และใช้ข้อมูลเป็นสถิติพยาธิภาวะและอัตราตาย จากทั่วโลก มีการแก้ไขปรับปรุงเป็นช่วงๆ ปัจจุบันจัดพิมพ์ครั้งที่ 10 แล้ว ทุกๆ โรคหรือกลุ่มของโรคที่มีความสัมพันธ์กันจะอธิบายด้วยการวินิจฉัยและมีรหัสกำหนดให้เป็นการเฉพาะด้วยตัวอักษรถึง 5 หลัก โดยหลักแรกเป็นตัวอักษร A-Z หลักที่ 2-3 เป็นเลข 00-99 ตามด้วยจุดแล้วอาจตามด้วยตัวเลข 0-9 อีก 1-2 หลักhttp://th.wikipedia.org/wiki/บัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง

[6] ข้อมูลจากสไลด์การเข้าถึงบริการสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับกลุ่มคนไร้หลักประกันสุขภาพ ของงานประกันสุขภาพ โรงพยาบาลอุ้มผาง

[7] นายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์, สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ณ โรงพยาบาลอุ้มผาง โดยดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล, กรกนก วัฒนภูมิ และจันทราภา จินดาทอง

[8] ดูหนังสั้น ตามลิงค์http://www.facebook.com/photo.php?v=258094150896319

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“บทสะท้อนสังคมไทย” ผ่านคำชี้แจงของโฆษกศาลยุติธรรมต่อคดีอากง

Posted: 16 Dec 2011 01:59 AM PST

“หากผู้วิจารณ์คนใดยังศึกษาภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ไม่ลึกซึ้งถึงแก่นแท้หรือมีข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน เพียงพอ ไม่เข้าใจในขนบธรรมเนียม ประเพณี สังคมประเทศใดแล้ว การแสดงความเห็นว่าศาลหรือ กระบวนการยุติธรรมของประเทศอื่นในทำนองห่วงใยว่าจะไม่มีมาตรฐานสากลนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน  ลึกซึ้ง และหมิ่นเหม่ต่อการกล่าวหากันอย่างไม่เป็นธรรม อาจทำให้คิดไปว่าผู้วิพากษ์ เจือปนด้วยอคติที่ผิด หลงมีวาระซ่อนเร้น ประเทศไทยมีเอกราชทางการปกครองและการศาลมาช้านาน และประชาชนมีเสรีภาพใน การแสดงความคิดเห็นภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”


สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ – โฆษกศาลยุติธรรม
 
(http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/analysis/20111214/424435/news.html)
 
ปัจจุบันประเด็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับคดีอากง หรือ นายอำพล ตั้งนพคุณ กลายมาเป็นประเด็นร้อนที่ได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วน กระทั่งนำมาสู่การเคลื่อนไหวจากผู้คนหลากหลายกลุ่มและสถานภาพให้มีการปฏิรูปกฎหมายมาตรานี้ เนื่องด้วยมองเห็นปัญหานานัปการ โดยเฉพาะการที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กลายมาเป็นอาวุธทางการเมืองที่ใช้ห้ำหั่นกัน จนส่งผลกระทบต่อผู้คนและสถาบันต่าง ๆ ในสังคมไทย อาทิ ศาล และสถาบันกษัตริย์
 
แม้จะมีความเคลื่อนไหวต่าง ๆ นานาอย่างไรก็ตาม เช่น การเสนอให้ตั้ง “คณะกรรมการ” เพื่อกลั่นกรองกฎหมายดังกล่าว ทว่ามาตรการเหล่านั้นล้วนเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้า เนื่องด้วยหากสังคมไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงวิธีคิดเกี่ยวกับ “สิทธิมนุษยชน” “ความเป็นไทย” และ “ประวัติศาสตร์” แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับกรณีองกงก็ยังจะดำเนินอยู่ต่อไป
 
ผมขออาศัย “วาทะ” ของท่านโฆษกศาลยุติธรรม ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นภาพสะท้อนความคิดของคนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อย ในการวิพากษ์ความคิด ความเชื่อที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย เพื่อนำไปสู่การพินิจพิจารณา ปัญหาตรรกะวิธีคิดและความเชื่อที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย 2 ประเด็นใหญ่
 
1.ความเป็นไทยกับการแก้ปัญหาแบบไทย ๆ
 
นักวิชาการจำนวนมาก ได้พูดถึงความคิดความเชื่อของคนไทยว่า คนไทยมองตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล “ความเป็นไทย” มีความเฉพาะแตกต่าง ที่พวกฝรั่งไม่มีทางเข้าใจ อะไรที่มันเกิดในประเทศนี้เป็นเรื่องของไทย ฉะนั้นท่านทั้งหลาย “กรุณาอย่างยุ่ง”
 
ในแถลงการณ์ของท่านโฆษกศาลได้กล่าวถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีเมื่อปี พ.ศ. 2539 ท่านได้กล่าวว่ากติกาดังกล่าวสอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 ซึ่งต่อมาท่านได้พัฒนาตรรกะวิธีคิด เพื่อเชื่อมโยงสู่ความคิดที่ว่า “ประเทศไทยให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน มีกฎหมาย ที่ความก้าวหน้าทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ เพียงแต่ภายใต้ระบอบการปกครองบ้านเมืองที่แตกต่างกัน ทุกประเทศจึงควรที่จะต้องให้เกียรติเคารพในความต่างที่เป็นจุดแข็งทางวัฒนธรรมและสังคมของแต่ละประเทศ” 
 
ผมไม่ปฏิเสธเรื่องความต่างระหว่างไทยกับประเทศอื่น ๆ เพราะยอมเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่จริงแน่ ๆ ปัญหาคือวิธีคิดในเรื่องความแตกต่างดังนี้ ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะกลบเกลื่อน “ความเหมือน” กับมนุษย์คนอื่น ๆ ในโลก ซึ่งนำไปสู่การปฏิเสธ “คุณค่าในเรื่องสิทธิมนุษยชน” สากล โดยอ้างว่า “ต้องบริหารจัดการกันเองบนความต่างแบบไทย ๆ”
 
ในการแก้ปัญหาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ประเทศจีนมักอ้าง “วาทกรรมความเป็นจีนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว” นี้ ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ไทยเราจะดำเนินรอยตามจีนกระนั้นหรือ? 
 
คุณค่าบางอย่างมีความเป็นสากลที่มนุษย์ทั่วโลกรับรู้ได้เหมือนกัน ความรู้สึก เจ็บปวด ทรมานทางกายภาพและจิตใจ จากการถูกลิดรอนอิสรภาพด้วยการคุมขัง ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทั่วโลกมีร่วมกัน การอ้างความเฉพาะแบบไทย ๆ โดยไม่ฟังเสียงวิจารณ์จากมนุษย์คนอื่นที่ไม่ใช่คนไทยไม่สามารถกลบเกลื่อนลบเลือนความเหมือนนี้ได้ ในทางกลับกันการดันทุรังแก้ตัวน้ำขุ่น ๆ รังแต่ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยตกต่ำลงไป
 
นอกจากนี้วิธีคิดที่ปฏิเสธคุณค่า ความคิด ความรู้บางอย่าง เพราะไม่ใช่ของไทย เมื่อเอามาใช้แล้วจึงไม่เหมาะสมกับไทย เพราะประเทศไทยมีสังคมวัฒนธรรมเฉพาะของตัวก็เป็นวิธีคิดที่มีปัญหา หากคิดเช่นนั้นอะไรที่เป็นฝรั่งก็ต้องปฏิเสธให้หมด ไม่เว้นแม้แต่การแพทย์แผนตะวันตก แล้วหันกลับไปกินยาหม้อกันแทน 
 
2. ความรู้ประวัติศาสตร์แบบมักง่าย และขี้ลืม
 
คนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า ความรู้ประวัติศาสตร์คือการกล่าวถึงสิ่งที่เป็นจริง “จริง ๆ” แน่นอนว่าความเข้าใจดังกล่าวย่อมไม่ผิด แต่แท้จริงหัวใจของการศึกษาประวัติศาสตร์ในโลกสมัยใหม่คือการ “ตั้งคำถาม” และคิดอย่างวิพากษ์โดยมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ปัจจุบันวงการประวัติศาสตร์เกิดการตั้งคำถามถึงความจริงว่ามีได้หลายมุมมอง เช่น ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักที่ไม่มี “สามัญชน” อยู่ในประวัติศาสตร์ก็เริ่มถูกตั้งคำถามจากนักประวัติศาสตร์ จนนำไปสู่การศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ที่เป็น “ประวัติศาสตร์สังคม” ซึ่งเป็นการมองความจริงจากจุดยืนของคนสามัญ
 
การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจึงไม่ใช่เรื่องของการท่องจำว่าใครทำอะไรที่ไหนเท่านั้น หากแต่ต้องมีทัศนะวิพากษ์ที่ทำให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อย่างสลับซับซ้อน เพราะการท่องจำโดยปราศจากความเข้าใจย่อมนำมาสู่การจำถูกจำผิดได้ เช่น “ประเทศไทยมีเอกราชทางการปกครองและการศาลมาช้านาน” ผมอยากจะเตือนความทรงจำว่าเราเสีย “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ไปในสมัยรัชกาลที่ 4 ภายใต้สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ประเทศไทยเพิ่งได้รับเอกราชทางการศาลกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2481 ด้วยความพยายามของคณะราษฎรภายหลังการปฏิวัติ โดยคณะราษฎรได้ทำการต่อสู้เพื่อให้ไทยได้รับเอกราชทางการศาลอย่างสมบูรณ์ ประจักษ์พยานหรือหลักฐานที่สะท้อนถึง “ความจริง จริง ๆ” ดังกล่าวคือ “อาคารศาลฎีกา” ที่ตั้งตระหง่านแถวสนามหลวง โดยเจ้า พระยาศรีธรรมาธิเบศร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในปีพ.ศ.2481 ได้บันทึกถึงเหตุผลในการก่อสร้างอาคารศาลนี้ไว้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2481 มีความตอนหนึ่งว่า
 
".....บัด นี้ประเทศสยามได้เอกราชในทางศาลคืนมาโดยสมบูรณ์แล้ว จึ่งเป็นการสมควรที่จะมีศาลยุติธรรมให้เป็นสง่าผ่าเผยเยี่ยงประเทศที่เจริญ แล้วทั้งหลาย เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการที่ได้อำนาจศาลคืนมา....."
 
(รายละเอียดใน บทความของชาตรี ประกิตนนทการ http://prachatai.com/journal/2008/05/16793)
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิชาการเสนอเฉพาะหน้า “คณะกรรมการกลั่นกรองคดีหมิ่นฯ”

Posted: 16 Dec 2011 01:51 AM PST

16 ธ.ค.54  นักวิชาการ 15 ราย ออกแถลงการณ์เสนอข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยมีรายละเอียดดังนี้

เนื่องจากในขณะนี้ มีการขยายตัวอย่างมากของการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อสำเร็จประโยชน์ของหลายฝ่าย ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ทั้งต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นโดยบริสุทธิ์ใจ ต่อผู้เคราะห์ร้ายที่ต้องตกเป็นเหยื่อโดยมิได้เกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่ง และต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองขยายตัวขึ้น และเกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของพลเมืองจนความเป็นประชาธิปไตยของสังคมไทยถดถอยลงไป ส่งผลให้สังคมการเมืองไทยสูญเสียโอกาสที่จะใช้ความเป็นประชาธิปไตย ทั้งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและการสร้างความเป็นธรรมในสังคมไปอย่างน่าเสียดาย

เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยมิชอบ ในบริบทที่หลายฝ่ายยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันและยังคงถกเถียงกันเกี่ยวกับการคงไว้หรือการยกเลิกมาตราดังกล่าว ผู้มีรายชื่อข้างล่างนี้ใคร่ขอเสนอทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” ที่ประกอบด้วยหลายฝ่าย เช่น ข้าราชการที่เป็นตัวแทนฝ่ายบริหาร, ส.ส. และ สว. ที่เป็นตัวแทนจากรัฐสภา, กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, อัยการ, นักวิชาการ, ผู้นำชาวบ้าน, ผู้แทนจากสหภาพแรงงาน ฯลฯ คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่กลั่นกรองทุกคดีที่ฟ้องร้องกันในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเลือกสรรเฉพาะคดีที่เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการฯ เห็นว่ามีมูล เพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป

กระบวนการกลั่นกรองคดีความที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังกล่าวข้างต้นนี้ จะช่วยป้องกันมิให้ผู้ใดสามารถใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้อย่างสะดวก และยังเอื้อให้เกิดพื้นที่ทางสังคมที่ปลอดภัยสำหรับการถกเถียงทางวิชาการอย่างกว้างขวางเพื่อหาทางออกให้แก่ความขัดแย้งในเรื่องนี้อย่างสร้างสรรค์อีกด้วย ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งรัดให้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” โดยเร็วที่สุด

 

ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

รองศาสตราจารย์ ฉลอง สุนทราวาณิชย์

รองศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ

รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรัตน์ โหราชัยกุล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์

ศาสตราจารย์ สายชล สัตยานุรักษ์

รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

รองศาสตราจารย์ ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย

อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง

อาจารย์สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์

อาจารย์ชาญกิจ คันฉ่อง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไฟใต้สวนกระแสโลก นักวิจัยมึนวิเคราะห์ยาก

Posted: 16 Dec 2011 01:44 AM PST

นักวิจัยสันติภาพแถวหน้าของโลกยอมรับความขัดแย้งในประเทศไทยทวีสูงขึ้นทวนกระแสโลก เหตุไฟใต้ปะทุขึ้นต่อเนื่องยืดเยื้อ ระบุยากแยกแยะประเภทของความรุนแรง 
 
เวลา 13.00 น. วันที่ 15 ธันวาคม 2554 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD)  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับสถาบันเศรษฐศาสตร์แห่งสต้อคโฮม (Stockholm School of Economics) และ โครงการสันติภาพเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยอุปซาลา (Uppsala University) ร่วมจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลความขัดแย้ง (Conflict Data Analysis Workshop) โดยมีนักวิชาการด้านสันติภาพและความขัดแย้งจากสถาบันวิจัยระดับโลกและในพื้นที่เป็นผู้นำการอภิปรายแก่ผู้สนใจปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ห้องประชุมเช็คอะหมัด อัลฟาตอนี อาคารวิทยาลัยอิสลามศึกษา (ตึกเก่า) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมอย่างคับคั่ง
 
ดร.สเตน ทอนเนสสัน หัวหน้าโครงการสันติภาพเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยอุปซาลา นำเสนอว่า ฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยอุปซาลามุ่งเน้นไปที่การวิเคราะห์ความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธทั่วโลก ซึ่งจากฐานข้อมูลพบว่าการเกิดความขัดแย้งประเภทดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงในระดับโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก นับตั้งแต่มองโกเลียจนถึงติมอร์เลสเต ยกเว้นกรณีประเทศไทยที่กลับมีแนวโน้มสวนทางกับกระแสดังกล่าว โดยที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการการปะทุขึ้นของเหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
 
ดร.สเตน กล่าวด้วยว่า การวิเคราะห์ข้อมูลความขัดแย้งพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดสภาวะสงครามและสันติภาพ เช่น ในกรณีภูมิภาคเอเชียที่ดูเหมือนว่าการค้าขายระหว่างประเทศที่มีมากขึ้นจะเอื้อให้เกิดสันติภาพ แต่การวิเคราะห์ข้อมูลกลับพบว่ามีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะดังกล่าวมากกว่า เช่น การเรียงลำดับความสำคัญในทางนโยบายของผู้นำประเทศ เป็นต้น
 
ในขณะที่ ดร.เอริค เมลานเดอร์ รองผู้อำนวยการโครงการฐานข้อมูลความขัดแย้ง (UCDP) มหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน เปิดเผยว่า การวิเคราะห์ฐานข้อมูลจำเป็นต้องมีการนิยามเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนว่าเป็นความขัดแย้งประเภทใด สำหรับ UCDP นั้นแบ่งประเภทของเหตุการณ์ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ความขัดแย้งที่มีรัฐเป็นผู้กระทำการฝ่ายหนึ่ง ความขัดแย้งที่กระทำโดยคู่ขัดแย้งที่เป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ และการใช้ความรุนแรงโดยฝ่ายเดียว ซึ่งในประเภทสุดท้ายนั้นรวมไปถึงการซ้อมทรมาน การจับอีกฝ่ายเป็นเชลย เป็นต้น 
 
ดร.เอริค กล่าวว่า ปัญหาในการวิเคราะห์ความขัดแย้งในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้คือความยากที่จะระบุข้อมูลของผู้กระทำการ เพราะความชัดเจนของบางเหตุการณ์ยังไม่เพียงพอ และการก่อเหตุในพื้นที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใดได้ชัดเจน เมื่อมีข้อมูลที่ขัดแย้งกัน ทาง UCDP จะไม่นำมาวิเคราะห์ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฐานข้อมูลดังกล่าวจึงมีจำนวนที่น้อยกว่าหลายแหล่ง สิ่งนี้เป็นข้อจำกัดประการหนึ่งที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลกับสถาบันในพื้นที่
 
ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นำเสนอข้อมูลจากฐานข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ว่าสถานการณ์ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะเป็นความขัดแย้งยืดเยื้อเรื้อรัง พลเรือนตกเป็นเป้าโจมตีมากที่สุด และพบว่าสัดส่วนความสูญเสียต่อจำนวนเหตุการณ์กลับมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นความรุนแรงเชิงคุณภาพ
 
ดร.ศรีสมภพ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ได้การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันเศรษฐศาสตร์แห่งสต้อกโฮมเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเดิมซึ่งจะทำให้การวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ได้ดีขึ้นพัฒนาขึ้น ซึ่งคาดว่างานวิจัยชิ้นนี้จะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และเผยแพร่ต่อสาธารณะในปีหน้ามีกระบวนการวิจัยเสร็จสิ้น
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เพ็ญ ภัคตะ: ปล่อยโคม... ปล่อยอากง

Posted: 16 Dec 2011 01:32 AM PST

 
(กาพย์ฉบัง 16)
 
โคมลอยปล่อยฝันพันธนา สองมือไหว้สา
พระธาตุจุฬามณีสรวง
 
ไขแขแลเด่นเต็มดวง สาดไฟในทรวง
เผาห้วงเหมันต์ตัณหา
 
โคมเคลื่อนครืนครั่นสวรรคา สู่ดาวดึงสา
วันทาสัมมาพุทธองค์
 
ก่อเจดีย์ทรายทลายกรง เย้ยโลภโกรธหลง
ปลดปล่อย "อากง" ชั่วกาล
 
คืนเสรีภาพทาบผ่าน ทางช้างเผือกสาน
ตำนานกบฏครูบา
 
พญาผาบปราบยักษ์สยามา ผีบุญผีฟ้า
กดขี่ล้านนานานนม
 
คือคนชายขอบอกขม ระบอบระบม
โค่นล้มสมบูรณาญา
 
ปล่อยโคมโอม! เปล่งปณิธาน์ จบห้วงเวหา
ดินฟ้าคุ้มครองคนดี
 
ขอพรสถูปเกศี จุฬาโมฬี
โลกธาตุธาตรีแดนไตร
 
ปกปักรักษาธรรมไฉน ยุดเล่ห์เวไนย
คืนไทสู่ไทยเที่ยงธรรม
 
อ่านโองการแช่งความริยำ ป้ายขาวเป็นดำ
ปรักปรำแปดเปื้อนอัประมาณ
 
ดาบยื่นคืนดาบสนองศาล ปักอกประจาน
อหังการกองศพพิพากษา
 
นรกยื่นคืนนรกอมาตยา ตรวนแส้มุสา
ควรค่าโลกันตร์อวิจี
 
เปลวโคมโหมควันค่ำนี้ ย้ำถ้อยวาที
แผดเผาเหล่ากลีชั่วกาล....
 
เปลวโคมโหมควันค่ำนี้ ตอกย้ำปณิธี
ปลดปล่อยคนดีชั่วกาล....
 
หมายเหตุ: การปล่อยโคมลอยของชาวล้านนานั้่นมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ไปกราบสักการะพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า ณ เจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

MAP จี้ค่าแรง 300 บาทแรงงานข้ามชาติต้องได้ด้วย

Posted: 16 Dec 2011 01:27 AM PST

 
16 ธ.ค. 54 - มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP) ละชุมชนแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสวันแรงงานข้ามชาติสากล พ.ศ.2554 ระบุค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทแรงงานข้ามชาติต้องได้ด้วย
 
.............
 
วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็นวัน “วันแรงงานข้ามชาติสากล” (International Migrant Day) เป็นวันที่ทางองค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิเป็นแรงงาน
 
จนถึงปัจจุบัน ผ่านมาแล้ว 21 ปี นับแต่การจัดทำอนุสัญญาฯ สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติโดยส่วนใหญ่ ยังห่างไกลจาก การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและ สิทธิแรงงาน อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็น พม่า ลาว กัมพูชา มีจำนวนประมาณ สามล้านคน ทำงานในภาคการผลิตของประเทศหลายภาคส่วนและนับเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจและการพัฒนา แต่ทว่า สภาพความเป็นอยู่อาศัยในชีวิตประจำวันของแรงงานข้ามชาติและครอบครัวยังพบเจออุปสรรคต่างๆ มากมาย ในเส้นทางแห่งการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า
 
ค่าจ้างที่ได้รับนั้น ถึงแม้จะยังทำให้พวกเขา มีชีวิตอยู่ได้ แต่ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมและน้อยนิดเกินกว่าจะสรรหาเครื่องอุปโภค บริโภค และการบริการเพื่อ การมีชีวิตที่ดี   แรงงานข้ามชาติยังไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างทั่วถึง นอกจากนั้นยังมีการเลือกปฏิบัติจ่ายค่าจ้างแรงงงานหญิงน้อยกว่าแรงงานชาย  การจ่ายค่าจ้างล่าช้า หรือแม้กระทั่ง ไม่จ่ายค่าจ้างเลย  ส่วนรายจ่ายนั้น ราคาสินค้าและบริการที่แรงงานข้ามชาติต้องซื้อหาก็ไม่ได้น้อยไปกว่าคนอื่น แต่ต้องได้มาในราคาเท่ากัน
 
นอกจากนั้น ถึงแม้แรงงานข้ามชาติต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนบัตรอนุญาตทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายใหม่เกี่ยวกับการพิสูจน์สัญชาติและการเข้าสู่กระบวนการจ้างงานอย่างถูกกฎหมาย  แต่ยังไม่มีหลักประกันใดให้ความมั่นใจพวกเขาถึงการคุ้มครองสิทธิอย่างแท้จริงเลย  อีกทั้งช่วงภัยพิบัติน้ำท่วม การเยียวยาช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติก็ไม่อยู่ในแผนงานระดับนโยบาย ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างที่มนุษย์พึงจะได้รับเหมือนกันอย่างไม่แบ่งแยก
 
เป็นที่น่ายินดีที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท โดยจะบังคับใช้จริงในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555 โดยจะปรับให้เท่ากันทั่วประเทศภายในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556
 
ในโอกาสวันแรงงานข้ามชาติสากลปีนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเฉลิมฉลองจะเริ่มต้นด้วยหลักประกันว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายแรงงานอย่างจริงจัง ให้แรงงานทุกภาคส่วนรวมทั้งแรงงานข้ามชาติจะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท อย่างทั่วถึง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
 
ขอเชิญท่านเข้าร่วมกิจกรรมงานวันแรงงานข้ามชาติสากล วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554 นี้ เวลา 13.00-16.00 น. ที่โรงแรมฮอลิเดย์การ์เด้น จ. เชียงใหม่  ภายในงานท่านจะพบกับการเสวนาโดยวิทยากรจาก สนง. สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน , นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ตัวแทนแรงงงานข้ามชาติ  นอกจากนั้นยังมีการเปิดตัวดีวีดีสารคดีสั้นรณรงค์“ค่าจ้างที่อยู่ได้ ไม่ใช่ค่าจ้างที่ได้อยู่”
 
มูลนิธิ MAP และชุมชนแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฮิวแมนไรท์วอทช์ เผยคำให้การของทหารย้ายข้าง ถูกสั่งให้ยิงสังหารผู้ชุมนุมซีเรีย

Posted: 16 Dec 2011 01:13 AM PST

ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนจากสหรัฐฯ เปิดเผย 74 รายชื่อเจ้าหน้าที่ทหารรวมถถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพซีเรีย ที่มีส่วนในการสั่งการให้สังหารผู้ชุมนุม และเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีพวกเขาในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
 
15 ธ.ค. 2011 - ฮิวแมนไรท์วอทช์ เปิดเผยข้อมูลที่ได้จากปากคำของทหารย้ายข้างว่า มีผู้นำกองทัพและเจ้าหน้าที่ทหารของซีเรียมากกว่า 70 ราย สั่งการให้โจมตีผู้ประท้วงที่ปราศจากอาวุธ
 
รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนจากสหรัฐฯ ระบุรายชื่อผู้นำกองทัพและเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรอง 74 นาย ว่าเป็นผู้ที่ "ออกคำสั่ง มอบอำนาจ และไม่เอาผิดกับการสังหาร ทรมาน และจับกุมประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม" ในช่วงที่ประเทศซีเรียมีการชุมนุมประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด มาตลอด 9 เดือน
 
ทางกลุ่มฮิวแมนไรท์วอทช์ยังได้เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินำกรณีของซีเรียไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ และให้มีการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ตามรายชื่อที่ระบุในรายงาน
 
รายงานระบุว่า รายชื่อเหล่านี้ควรถูกนำมาสอบสวน เนื่องจากคำสั่งของพวกเขามีความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
 
เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ถูกระบุในรายงานได้แก่ อิหมาด ดาวูด ราจิฮา รมต.กลาโหมของซีเรีย, อิหมาด ฟาเฮด อัล-จาเซ็ม เอล-ฟรีจ์ เสนาธิการเหล่าทัพ และหัวหน้าหน่วยข่าวกรองเช่น อับดุล ฟาตาห์ คุดสิเยด์, จามิล ฮัสซาน และ อาลี มามลุค 
 
ทางการซีเรียยังไม่ได้แสดงท่าทีตอบโต้ใดๆ ต่อแถลงการณ์นี้
 
รายงานฉบับนี้นำข้อมูลมาจากการสัมภาษณ์ทหารย้ายข้าง 60 นาย ซึ่งมาจากหน่วยทหารและหน่วยข่าวกรองในซีเรีย
 
"ด้วยวิธีการใดก็ได้"
 
แอนนา เนสแตท จากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์หนึ่งในผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าวว่า ทหารย้ายข้างเหล่านี้ได้ให้ชื่อ ยศ และตำแหน่งของผู้ที่ออกคำสั่งให้ยิงสังหารผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ผู้ที่มีรายชื่อในนี้ทุกคน รวมไปถึงผู้ที่มีตำแหน่งสูงสุดในรัฐบาลซีเรีย ควรยอมรับว่าตนได้ก่ออาชญากรรมต่อประชาชนชาวซีเรีย
 
กลุ่มทหารย้ายข้างเปิดเผยว่าในช่วงที่มีการสรุปทบทวนภารกิจก่อนออกปฏิบัติการ ผู้บัญชาการของพวกเขามีคำสั่งให้ควบคุมผู้ชุมนุมที่ชุมนุมโดยสันติ "ด้วยวิธีการใดก็ได้" 
 
พวกเขาตีความวลีดังกล่าว ว่าหมายถึงการอนุญาตให้ใช้กำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาได้รับแจกกระสุนจริง แทนที่จะเป็นกระสุนยาง หรือเครื่องมือสลายการชุมนุมอื่นๆ
 
องค์กรสิทธิฯ กล่าวว่ามีอดีตนายทหารและเจ้าหน้าที่ครึ่งหนึ่งที่ได้รับคำสั่งโดยตรงว่าให้ยิงใส่ผู้ชุมนุม
 
นาวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกมาบอกว่า สถานการณ์ในซีเรียนั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจทนได้ มีผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่เดือน มี.ค. แล้วมากกว่า 5,000 คน ขณะที่รัฐบาลซีเรียปฏิเสธตัวเลขดังกล่าว โดยบอกว่าประเทศซีเรียเป็นเหยื่อของ "แผนสมคบคิดใหญ่โต" โดยรัฐบาลซีเรียบอกเสมอมาว่าความรุนแรงเกิดขึ้นจากกลุ่มติดอาวุธที่ก่อความวุ่นวายและโจมตีเจ้าหน้าที่รักษาความสงบ
 
ทางองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์เองก็ได้บันทึกเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่ฝ่ายผู้ต่อต้านรัฐบาลและกลุ่มคนในพื้นที่เป็นฝ่ายใช้ความรุนแรง และการจู่โจมเจ้าหน้าที่รักษาความสงบโดยฝึมือของทหารย้ายข้างก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา
 
ข้อกล่าวหาเรื่องการทรมาน
 
กลุ่มทหารย้ายข้างยังได้บอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์อีกว่า พวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับ "การใช้อำนาจจับกุมผู้คนจำนวนมากอย่างไร้เหตุผล" ในช่วงที่มีการประท้วงและตามจุดตรวจต่างๆ จากคำสั่งให้มีปฏิบัติการ "กวาดล้าง" ตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ
 
กลุ่มทหารบอกว่าพวกเขาได้ทุบตีและกระทำทารุณกับผู้ถูกจับกุม รวมถึงการใช้เครื่องช็อตวัว โดยมีผู้บัญชาการคอยส่งเสริมให้ใช้วิธีการดังกล่าว
 
"หน่วยของผมมีส่วนในการทุบตีผู้คน หัวใจผมเดือดดาลอยู่ภายใน แต่ผมไม่สามารถแสดงออกมาได้ เพราะผมรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับผม" ฮานี (นามสมมุติ) กล่าว เขาเป็นทหารในหน่วยข่าวกรองแผนกปฏิบัติการพิเศษของกองทัพอากาศ
 
กลุ่มทหารย้ายข้างยังอ้างด้วยว่ามีทหารและเจ้าหน้าที่ถูกสังหารเนื่องจากไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งในการปราบปรามผู้ชุมนุม และระบุว่ามีจำนวนผู้ถูกฆ่าตัดตอนและทรมานจนเสียชีวิตทั้งหมด 19 ราย
 
พันโท กัสซาน (นามสมมุติ) ผู้เคยเป็นองครักษ์ของประธานาธิบดีกล่าวว่า ในช่วงราววันที่ 7 ส.ค. เขาพบเห็นการฆ่าตัดตอนผู้ถูกจับกุมที่ด่านตรวจในเมืองโดวมา
 
"มีทหาร 7 รายทุบตีชายผู้หนึ่งที่ถูกพวกเขาจับกุมตัว เมื่อผมไปถึง เขายังมีชีวิตอยู่ เขากรีดร้องในขณะที่ทหารสบถคำหยาบคายและหัวเราะ มันเกิดขึ้นนานประมาณ 5 นาที ก่อนที่ชายผู้นั้นจะเสียชีวิต เขาหยุดเคลื่อนไหว แล้วผมก็เห็นเลือดออกจากปากเขา" กัสซาน (นามสมมุติ) กล่าว
 
นักกิจกรรมภายในประเทศซีเรียบอกว่ามีคนมากกว่า 197 คนถูกสังหารในการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐบาล ขณะที่คำให้การของพยานในรายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่าหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลซีเรียได้ทำการทรมานผู้ต้องขัง (ทั้งในเรือนจำและในโรงพยาบาล) และทหารยังมีส่วนในการปล้นละดมบ้านเรือนต่างๆ ด้วย
 
พยานบางส่วนยังบอกด้วยว่ามีเจ้าหน้าที่กระทำลวนลามต่อผู้ถูกจับกุมที่เป็นสตรี โดยการจับต้องพวกเธออย่างไม่เหมาะสม
 
ที่มา:
Syrian troops 'ordered to shoot to kill', Aljazeera, 15-12-2011
http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2011/12/2011121554026147645.html 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Fearlessness Talk: เสวนาเพื่อก้าวข้ามความกลัว

Posted: 16 Dec 2011 12:58 AM PST

เสวนาในงานเปิดตัวหนังสือรณรงค์ปล่อยตัว ‘อากง’ โดยปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการส่งสารไปยังคนในกระบวนการยุติธรรม นักการเมือง และชนชั้นนำ ชี้ ยิ่งใช้กฎหมายมาบีบคั้นมากเท่าไร ประชาชนยิ่งจนตรอกและลุกขึ้นสู้มากเท่านั้น 

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 15 ธันวาคม 54 ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานเปิดตัวหนังสือ “ก้าวข้ามความกลัว” โดยปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ มีวงเสวนาพูดคุยเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการตัดสินคดีของ “อากง” หรือนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 20 ปีด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ประเทศสิงคโปร์ และผู้ริเริ่มแคมเปญ “Free Akong” สาวตรี สุขศรี จากคณะนิติราษฎร์ และวรพจน์ พันธุ์พงศ์ นักเขียนอิสระ ดำเนินรายการโดยวันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปวิน กล่าวถึงที่มาของหนังสือเล่มนี้ว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแคมเปญ “อภยาคติ” ที่ริเริ่มโดยออง ซาน ซูจีเพื่อให้กำลังใจนักโทษการเมืองในพม่า และเมื่อเดือนที่ผ่านมา การรณรงค์ดังกล่าวที่เริ่มต้นขึ้นในเฟซบุ๊กของปวินได้รับการตอบรับจากผู้ที่สนับสนุนกว่าพันคน จึงอยากจะรวบรวมภาพถ่ายดังกล่าวมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ โดยท้ายปกหนังสือ มีจุดประสงค์บอกเล่าว่าเพื่อ “เรียกร้องให้ปล่อยตัวอากง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด และผลักดันให้มีการปฏิรูปหรือยกเลิกมาตรา 112 เพื่อให้ไทยได้เป็นอารยประเทศอย่างสมบูรณ์แบบ” 

การตัดสินคดีอากงเป็นการกลับหลักกฎหมาย

สาวตรี สุขศรี อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เนื่องจากการตัดสินคดีดังกล่าวยังมีสิ่งไม่ชัดเจนอยู่หลายประการ เช่น โทษที่สูงเกินไป การปฏิเสธการให้จำเลยประกันตัวในชั้นศาล และหลักฐานในการเอาผิดที่ไม่ชัดเจน ทำให้ประชาชนจำนวนมากเกิดข้อสงสัยและทำให้คดีนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

สาวตรี กล่าวถึงการปฏิเสธการให้ประกันของนายอำพลในชั้นศาล ว่าทำให้สิทธิของผู้ต้องหาในการสู้คดีถูกตัดตอนออกไป ซึ่งส่งผลให้เขาถูกจำคุกก่อนการตัดสินคดีไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม ทั้งๆที่เขาก็ได้รับการประกันตัวแล้วในชั้นตำรวจ และมาเข้ารับการพิจารณาคดีตามกำหนดทุกประการ และชี้ว่า แม้แต่คดีร้ายแรง เช่น การฆาตกรรม หรือคดีของผู้ที่มีอิทธิพล ก็ยังได้รับการประกันตัว

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของการพิสูจน์หลักฐานจนสิ้นข้อสงสัยและภาระหน้าที่ของการพิสูจน์ โดยสาวตรีชี้ว่า การพิจารณาคดีในกฎหมายอาญา จำเป็นจะต้องพิสูจน์หลักฐานอย่างแน่นหนา ถ้าหากว่าไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ จะต้องยกประโยชน์ข้อสงสัยให้กับจำเลย หากแต่ในคดีนี้ จะพบว่ามีข้อสงสัยในหลายจุด อาทิ ตัวเลขประจำเครื่องโทรศัพท์ หรือหมายเลข IMEI ที่ยังมีความคลาดเคลื่อน แต่นายอำพลก็ยังถูกตัดสินจำคุกถึง 20 ปี โดยศาลให้เหตุผลว่า จำเลยไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ ทั้งๆที่ตามหลักกฎหมายแล้ว ภาระของการพิสูจน์ความผิดจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้กล่าวหา หรือโจทก์นั่นเอง

“คำถามของในวงการกฎหมายก็คือว่า นี่คือการกลับหลัก มันไม่เป็นตามที่มันควรจะเป็น” อาจารย์จากคณะนิติราษฎร์กล่าว

ทั้งนี้ เธอชี้ว่า บทความที่เขียนโดยโฆษกศาลยุติธรรมซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการชี้แจงในเรื่องต่างๆ เช่น อากงจะถูกสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะถูกตัดสินถึงที่สุด เนื่องจากในขณะนี้คดียังอยู่ในศาลชั้นต้นและสามารถอุทธรณ์ได้ อย่างไรก็ตาม จากท่าทีของบทความ กลับสะท้อนว่า ผู้เขียนบทความเองก็ได้ปักใจเชื่อไปแล้วว่า อากงเป็นผู้กระทำความผิดจริง นอกจากนี้ ยังไม่มีการพูดถึงหลักการของภาระการพิสูจน์ความผิด ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นที่สำคัญในการตัดสินคดีนี้ 

สาวตรี กล่าวว่า การตัดสินคดีอากงซึ่งนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางนั้น ทำให้ในวงการกฎหมายเริ่มตั้งคำถามว่า ‘ดุลยพินิจ’ ของตุลาการ ควรถูกตรวจสอบและถ่วงดุลหรือไม่ เธอยกตัวอย่างการพิจารณาคดีของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในคดีอาญาที่มีโทษร้ายแรง จะมีการใช้ระบบลูกขุนผสมระหว่างนักกฎหมายและประชาชน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลดับดุลยพินิจของศาล

ลด-ละความคลั่งเจ้า เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ 

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ผู้จัดทำหนังสือ “ก้าวข้ามความกลัว” กล่าวว่า ในขณะนี้ ไม่เพียงแต่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะส่งผลกระทบแต่ภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับประเทศอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะในระยะหลังๆ ที่มีคนบางกลุ่มโจมตีสหรัฐอเมริกา สหประชาชาติ และหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ ปวินชี้ว่า ฝ่ายคลั่งเจ้าหรือ Hyper-royalistจำเป็นต้อง “เจ้านิยม” อย่างพอเพียง เพื่อทำให้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกัน และเป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่รอดได้

สาวตรีชี้ว่า คนในสังคมจำเป็นต้องเข้าใจว่า การเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่เป็นเรื่องเดียวกับการ “ล้มเจ้า” เพราะตัวกฎหมายไม่เท่ากับตัวสถาบันฯ หากแต่เป็นเพียงบทบัญญัติหนึ่งในประมวลกฎหมายเท่านั้น ถ้าหากสังคมยังไม่เข้าใจ โดยเฉพาะภาคการเมือง ก็จะไม่มีใครที่กล้าแตะต้องและเปลี่ยนแปลงในเรื่องความไม่สมเหตุสมผลของกฎหมายอาญามาตรา 112

นโยบายปราบหมิ่นของ รบ. จะยิ่งบีบคั้นประชาชน

ปวินกล่าวว่า การปรองดองระหว่างฝ่ายทักษิณ และฝ่ายเจ้าที่เกิดขึ้นในต้นปีที่ผ่านมา หรือ “ปฏิญญาบรูไน” ทำให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขบางอย่างที่ถูกกำหนดมา โดยเฉพาะการประกาศนโยบายต่างๆ ที่ยืนยันถึงความจงรักภักดี เพื่อแลกกับความอยู่รอดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างไรก็ตาม ปวินเชื่อว่า รัฐบาลเพื่อไทย ไม่ควรเล่นตามเกมของฝ่ายตรงข้าม เพราะไม่ว่าอย่างไร ชนชั้นนำก็ไม่มีวันยอมรับได้ ประชาชนจึงจำเป็นต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องและรณรงค์ในประเด็นกฎหมายหมิ่นฯ ตามที่ตนเองสามารถทำได้ และไม่ควรไปคาดหวังกับนักการเมืองมากนัก 

นักวิชาการจากกลุ่มนิติราษฎร์ ชี้ว่าการบังคับใช้กฎหมายที่กดขี่ประชาชนเช่นมาตรา 112 นี้ กลับมิได้ทำให้ประชาชนกลัวเกรงมากขึ้น กลับแต่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงภัยของกฎหมายหมิ่นฯ และลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง ดังจะเห็นจากในช่วงปีที่ผ่านมา มีการผลักดันข้อเสนอเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นฯ ในแบบที่แรงขึ้น กล้าขึ้น และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ดังนั้นจึงขอกล่าวไปยังฝ่ายชนชั้นนำด้วยว่า ให้ประเมินประชาชนให้ดี อย่าคิดว่าจะสามารถเชือดไก่ให้ลิงดูแล้วจะจัดการผู้ที่เห็นต่างได้อย่างง่ายๆ 

“สถาบันกษัตริย์นับเป็นองค์กรหรือหน่วยงานหนึ่งในสังคมที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึงต้องแยกให้ออกระหว่างการดูหมิ่นเหยียดหยามกับการอาฆาตมาดร้าย ถ้าเรายอมรับในจุดนี้ สังคมจะเดินไปได้ เสรีภาพจะไปด้วยกันได้ ทุกสถาบันจำเป็นต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์เพื่อปรับเปลี่ยนให้มันสอดคล้องกับระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ ทุกวันนี้เราไม่ได้อยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ไม่สามารถแตะต้องหรือพูดถึงสถาบันไม่ได้เลย เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นองค์กรที่เราต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้” สาวิตรีกล่าว 

 

 

fearlessness 01

 

fearlessness 02

fearlessness 03

fearlessness 04

fearlessness 05

fearlessness 06

fearlessness 10

fearlessness 11

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิชาการเสนอสถานการณ์แรงงานหลังน้ำท่วมและยุทธศาสตร์ขบวนการแรงงานไทย

Posted: 15 Dec 2011 10:28 PM PST

(16 ธ.ค.54) ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงาน กล่าวในการสัมมนาเรื่อง"ประเด็นแรงงานในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังภัยพิบัติน้ำท่วม"ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค ดินแดง กทม. ว่า จากกรณีอุทกภัยที่ผ่านมา น้ำเข้าท่วมในนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของโลก หลายอุตสาหกรรมต้องหยุดผลิตทั้งโลกส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เริ่มมีการพูดถึงการทบทวนการกระจายฐานการผลิตเพื่อไม่ให้มีการกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยข้อมูลความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง จมน้ำ838 โรงงาน มูลค่าความเสียหาย 237,340 ล้านบาท ขณะที่โรงงานนอกนิคมฯ 19,000 แห่งได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่า 240,000 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราการลงทุนเพิ่มในช่วงสองเดือนสุดท้ายของปีและต่อเนื่องถึงต้นปีหน้าลดลง สศช.คาดว่าน้ำท่วมครั้งนี้จะส่งผลให้มีคนว่างงานสูงถึง 700,000-920,000 คน ขณะที่กระทรวงแรงงานไม่กังวลกับปัญหาการเลิกจ้างแต่กลับเป็นห่วงว่าจะเกิดการขาดแคลนแรงงานหลังน้ำลด

นักวิชาการแรงงานกล่าวถึงปัญหาที่แรงงานในระบบกังวลมากที่สุดในช่วงน้ำท่วมว่าคือ การถูกเลิกจ้าง โดยกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างเป็นกลุ่มแรกคือแรงงานจ้างเหมาค่าแรงหรือซับคอนแทรก รวมถึงแรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน นอกจากนี้คนงานยังมีความไม่ชัดเจนในสภาพการจ้างของตนเองเนื่องจากขาดการติดต่อกับนายจ้าง มีการใช้มาตรา 75 ทำให้รายได้ไม่พอดำรงชีพ เกิดภาระหนี้สิน รวมถึงมีแนวโน้มเกิดความขัดแย้ง มีการพิพาทแรงงานสูง โดยนายจ้างอาจฉวยโอกาสเลิกจ้าง เพื่อผลประโยชน์บางอย่าง อาทิ เปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน ทำลายสหภาพแรงงาน

ศักดินากล่าวว่า ขณะที่แรงงานนอกระบบนั้น ขาดการจัดเก็บข้อมูลและสำรวจปัญหา ไม่มีการรวมตัว มีปัญหาสำคัญคือ บ้าน ทรัพย์สิน อุปกรณ์ประกอบอาชีพเสียหาย ทำให้ไม่มีรายได้ ภาคเกษตรพันธสัญญา บริษัทคู่สัญญาไม่เข้ามาดูแลให้ความช่วยเหลือ ส่วนแรงงานข้ามชาตินั้นมีข้อจำกัดด้านภาษาไม่มีเอกสารประจำตัวเนื่องจากสูญหายในช่วงน้ำท่วมหรือนายจ้างยึดเอกสารทำให้มีอุปสรรคในการเข้าถึงความช่วยเหลือ การเดินทางออกนอกพื้นที่และเดินทางกลับ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายสูง

ทั้งนี้ ศักดินา กล่าวถึงข้อเสนอต่อรัฐว่า ควรกำหนดมาตรการความช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการของคนงาน และเปิดให้คนงานมีส่วนร่วม โดยในส่วนของแรงงานในระบบเรียกร้องให้ยุติการเลิกจ้างให้ได้ ควบคุมการใช้มาตรา 75 มาตรการระยะยาว เรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 75 เพราะเป็นการซ้ำเติมคนงานให้รายได้น้อยลง รวมถึงดูแลข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งช่วงนี้คุยกันยากขึ้น ตั้งกองทุนดูแลหนี้สินคนงาน และยกเลิกการจ้างงานเหมาช่วง ซึ่งถือเป็นช่องทางเอาเปรียบคนงาน

ในส่วนแรงงานนอกระบบ เรียกร้องให้มีการจัดสินเชื่อและเจรจากับบริษัทเกษตรพันธสัญญาเพื่อช่วยเหลือแรงงาน และสำหรับแรงงานข้ามชาติ ขอให้มีการผ่อนผันเรื่องเอกสารประจำตัวต่างๆเพื่อให้คนงานได้เข้าถึงสิทธิและความช่วยเหลือที่ควรได้รับ รวมถึงผ่อนผันค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการเดินทางกลับเข้าประเทศ

ทั้งนี้ ศักดินา กล่าวถึงข้อเสนอต่อขบวนการแรงงานด้วยว่า ในระยะสั้น ต้องระดมความร่วมมือเท่าที่มีเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้เก็บข้อมูลและให้คำปรึกษาทางกฎหมาย รวมถึงกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันข้อเสนอของขบวนการแรงงาน ส่วนระยะยาว มองว่าจะต้องทวงสิทธิในความเป็นหุ้นส่วนทางสังคมกลับคืนมาและขยายการจัดตั้งขบวนการแรงงานด้วย
 
 

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน

ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทำการ

 

 

หมายเหตุ: แก้ไขเพิ่มเติม เมื่อ 16 ธ.ค.54 17.14น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น