โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ทักษิณให้สัมภาษณ์พบตานฉ่วย – เต็งเส่ง ปูทางยิ่งลักษณ์เยือนพม่า

Posted: 21 Dec 2011 10:40 AM PST

สรุปข่าวพม่ารอบสัปดาห์ ทักษิณให้สัมภาษณ์พบตานฉ่วย – เต็งเส่ง ปูทางยิ่งลักษณ์เยือนพม่า, พม่าอาจอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติท่องเที่ยวในเนปีดอว์ปีหน้า, ชาวบ้านส่วนใหญ่คัดค้านโครงการท่าเรือนำ้ลึกทวาย

ทักษิณให้สัมภาษณ์พบตานฉ่วย – เต็งเส่ง ปูทางยิ่งลักษณ์เยือนพม่า

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยได้ออกมายอมรับว่าเดินทางเยือนพม่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อปูทางให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยในการเดินทางเยือนพม่าให้ราบรื่นยิ่งขึ้น พร้อมทั้งกล่าวว่า การเยือนพม่าของนางสาวยิ่งลักษณ์ น่าจะได้หารือกับผู้นำพม่าเกี่ยวกับประเด็นเรื่องพลังงาน ที่น่าจะให้ผลประโยชน์กับประเทศไทยด้วย ขณะที่หลายฝ่ายแสดงกังวลว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่าอาจจะพัวพันเกี่ยวกับผลประโยชน์ของทักษิณอีกครั้ง

ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ว่า ได้เดินเยือนพม่าเมื่อวันพฤหัสบดี(15 ธันวาคม) ที่ผ่านมา เพื่อพบกับนายพลอาวุโสตานฉ่วย และประธานาธิบดีเต็งเส่ง ทั้งนี้ก็เพื่อปูทางให้กับการเยือนพม่าของนางสาวยิ่งลักษณ์ แหล่งข่าวในกรุงเนปีดอว์ยังรายงานว่า ทักษิณยังได้เดินทางไปยังพื้นที่โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย

มีรายงานอีกด้วยว่า ประธานบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)และรัฐมนตรีของไทยได้เดินทางโดยเครื่องบินเพื่อให้การต้อนรับทักษิณ โดยทั้งหมดได้ค้างคืนในพื้นที่เป็นเวลาหนึ่งคืน ขณะที่ทักษิณได้บินมากับสายการบินพิเศษมาจากประเทศกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการหารือระหว่างทักษิณและผู้นำพม่า

ด้านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เดินทางเยือนพม่าเมื่อวันที่ 19 – 20 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ครั้งที่ 4 ที่ กรุงเนปิดอว์ ก่อนจะเดินทางมาเพื่อพบกับนางอองซาน ซูจี ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงย่างกุ้งเมื่อวานนี้ โดยทั้งสองได้พูดคุยหารือกันเป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง

“ทั้งสองดูเป็นกันเองและพูดกันอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับผลกระโยชน์ของทั้งสองประเทศ ” โอน ข่าย เจ้าหน้าที่พรรคเอ็นแอลดีกล่าว ขณะที่ก่อนหน้านี้ นางซูจีได้พูดถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ว่า “ฉันชอบที่เธอเป็นผู้หญิง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศและประชาชนของเรา” ขณะที่ทักษิณให้สัมภาษณ์ว่า พม่าไม่เคยอนุญาตให้มีการพบปะระหว่างผู้นำระดับสูงเช่นนี้มาก่อน

ขณะที่ดูเหมือนการเยือนพม่าของนางสาวยิ่งลักษณ์กับนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นการสานประโยชน์ให้แก่ทักษิณหรือไม่ ด้านกวี จงกิจถาวร คอลัมนิสต์แห่งหนังสือพิมพ์ The Nation ระบุว่า การเจรจาด้านพลังงานครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆของการเยือนพม่าของยิ่งลักษณ์ และสำคัญยิ่งกว่าการเยือนพม่าเพื่อพบปะนางอองซาน ซูจี ในการส่งเสริมความเป็นธรรมทางการเมืองเสียอีก

อย่างไรก็ตาม นางสาวยิ่งลักษณ์ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การเยือนพม่าในครั้งนี้ เป็นไปตามขั้นตอนการเตรียมการของกระทรวงการต่างประเทศ ไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และปฎิเสธทักษิณปูทางให้ได้พบกับนางซูจี พร้อมกันนี้ระบุว่า การออกมาให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล เพราะการเจรจาทุกอย่างทำภายใต้รัฐบาล และผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ก่อนทุกครั้ง ยืนยันว่าไม่มีเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้องตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ พร้อมระบุ มีความคืบหน้าด้านการเจรจาความร่วมมือในด้านพลังงานก๊าซธรรมชาติกับผู้นำพม่า

แปลและเรียบเรียงจาก Irrawaddy , Mizzima ,DVB,www.siamintelligence.com  21 ธันวาคม 54

 

พม่าอาจอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติท่องเที่ยวในเนปีดอว์ปีหน้า

สำนักข่าวชินหัวของจีนรายงานว่า รัฐบาลพม่าอาจอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถท่องเที่ยวในกรุงเนปีดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ได้ในปีหน้า ขณะที่ปัจจุบัน รัฐบาลพม่าปฎิเสธไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปเที่ยวในกรุงเนปีดอว์ ยกเว้นนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจในพม่าและเดินทางไปเนปีดอว์ในช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น

มีรายงานว่า กลุ่มผู้ประกอบด้านการท่องเที่ยวพม่าได้ยื่นเสนอให้รัฐบาลพม่าพิจารณาออกวีซ่าท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในฐานะที่พม่าจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์ในปี 2556 และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในปี 2557

ทั้งนี้ มีโรงแรมในกรุงเนปีดอว์จำนวน 24 แห่ง และมีห้องรองรับนักท่องเที่ยวกว่า 1,600 ห้อง อาจกล่าวได้ว่า กรุงเนปีดอว์นั้นตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของพม่า โดยอยู่ห่างจากกรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าไปราว 390 กิโลเมตร และอยู่ไม่ไกลจากรัฐฉานและรัฐอื่นๆ ทั้งนี้ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวตะนุ ไทใหญ่ พม่า ปะโอ ปะหล่อง คะฉิ่นคะเรนนีเป็นต้น โดยมีประชากรอาศัยอยู่ราว 9 แสนคน

 

ชาวบ้านส่วนใหญ่คัดค้านโครงการท่าเรือนำ้ลึกทวาย

ชาวบ้านใน 19 หมู่บ้านในเมืองทวาย ภาคตะนาวศรีที่กำลังได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายได้ร่วมตัวกันเปิดแถลงข่าวที่กรุงย่างกุ้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการเผยแพร่ข้อเรียกร้องความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงการเรียกร้องคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมและชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ในเขตโครงการ รวมไปถึงการเรียกร้องจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวบ้านที่ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น

งานแถลงข่าวครั้งนี้จัดขึ้นโดยกลุ่มชาวบ้านในเมืองทวาย ซึ่งเรียกตัวเองว่า กลุ่มพัฒนาเขตทวาย(Dawei Region Development Group) โดยทางกลุ่มได้เรียกร้องให้องค์กรอิสระเข้ามาศึกษาวิจัยผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม และในด้านสุขภาพของคนในพื้นที่จากโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย รวมทั้งเรียกร้องให้คุ้มครองด้านวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มีท่าทีประท้วงทางการพม่าที่ยึดที่ดินของตนไปทำโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย รวมทั้งร้องเรียนว่าไม่ได้รับเงินชดเชยที่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ ขณะที่หมู่บ้านมะยิน จี และหมู่บ้านกะเลาก์ตา ในเมืองทวายกำลังถูกคุกคามจากโครงการท่าเรือน้ำลึกแล้

จากการเปิดเผย ของกลุ่ม Dawei Region Development Group ชี้ว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายจะทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวน 32,279 คน โรงเรียน 21 แห่ง และวัด 23 แห่ง จากทั้ง 19 หมู่บ้านต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของพระอู ออบาตา เจ้าอาวาสวัดมะยิน จี กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ดูแลรักษาสวนผลไม้ของตนเป็นอย่างดี เพื่อหวังให้ผลิตรายได้และเป็นมรดกสืบทอด แต่ต้องมาถูกทางการยึดไปทำโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย

“ชาวบ้านได้บอกกับอาตมาว่า ถึงแม้ทางการจะจ่ายเงินชดเชยให้ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถที่จะพึ่งเงินชดเชยนั่นไปตลอดชีวิต พวกเขาไม่สามารถมอบเงินชดเชยนั่นเป็นเหมือนมรดกให้กับลูกหลาน และพวกเขาก็ไม่ต้องการที่จะย้ายออกไปจากที่ดินของตน พวกเขาไม่ต้องการเงินชดเชยเสียด้วยซ้ำ แต่ต้องการไร่สวนและต้นไม้ที่พวกเขาปลูก ” พระอู ออบาตากล่าว ทั้งนี้จากการสำรวจเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเผยให้เห็นว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการย้ายออกจากที่ดินและบ้านของตน

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของนักสิ่งแวดล้อมที่ทำงานกับชาวบ้านเปิดเผย ชาวบ้านบางส่วนไม่ได้รับเงินชดเชยจากการถูกยึดที่ดิน กลุ่ม Dawei Region Development Group ยังเปิดเผยว่า บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทของไทยที่เข้าไปลงทุนในโครงการนี้ให้สัญญาว่าจะสร้างงานให้ กับคนในพื้นที่ แต่กลับพบว่า ค่าแรงกลับน้อยกว่าค่าแรงของแรงงานทั่วไป รวมทั้งมีรายงานว่า แรงงานได้ออกมาร้องเรียนปัญหาต่างๆเป็นจำนวนมาก

“เงินเดือนของแรงงานพม่าและแรงงานไทยแตกต่างกัน ในขณะที่ตัวเลขแรงงานเพิ่มขึ้นมากในพื้นที่ นั่นทำให้มีคดีอาชญากรรมและปัญหาเกิดขึ้นมากมายในพื้นที่ตอนนี้”

ขณะที่ท่าเรื่อน้ำลึกทวายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลไทยและพม่าในการพัฒนาอ่าวทวาย ซึ่งตั้งอยู่ทางภาคใต้ของพม่าติดทะเลอันดามัน ให้เป็นประตูการค้า (Gate Way) และตั้งพื้นที่นี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่ขึ้น ซึ่งประกอบด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รอบท่าเรือนำลึกทวาย การตัดถนนและสร้างทางรถไฟจากเมืองทวาย ประเทศพม่า เข้าสู่บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ของไทย รวมไปถึงการสร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากทวายส่งตรงมายังประเทศไทย ภายใต้เงินลงทุนมากกว่า 3 แสนล้านบาท โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทไทยเข้าไปลงทุนและก่อสร้างในโครงการนี้

แปลและเรียบเรียงจาก Mizzima/DVB 19 ธันวาคม 54

 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สหวิริยาเดินเครื่องผลิตที่อังกฤษไม่ทันต้นปี 55 เหตุคนงานประท้วง

Posted: 21 Dec 2011 10:09 AM PST

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมาสำนักข่าว BBC รายงานว่าบริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI ยังไม่สามารถเดินเครื่องเตาเผาที่โรงงานใน Teesside ได้ทันในกำหนดเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดการเดินเครื่องเตาเผาอาจจะล่วงเลยไปถึงเดือนมกราคมปีหน้า สำหรับสาเหตุความล่าช้านั้นเกิดมาจากปัญหาด้านสภาพอากาศ รวมถึงการผละงานประท้วงของคนงานรับเหมาก่อสร้างของโครงการ

ด้านนายนายวิน วิริยประไพกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของสหวิริยา ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในประเทศวันเดียวกัน (21 ธ.ค.) ว่าตามที่มีกำหนดการว่าโรงงานของสหวิริยา ที่อังกฤษจะเริ่มเดินเครื่องในวันที่ 6 มกราคม 2555 นั้น ปัจจุบันกิจกรรมปรับปรุงหน่วยผลิตอื่นๆของโรงงานได้เสร็จเรียบร้อยตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม ยังมีงานในส่วนของเตาถลุงเหล็กที่อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุง ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องมาจากในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย การนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานบริษัทผู้รับเหมาช่วง และการพบกิจกรรมหน้างานเพิ่มเติมจากที่วางแผนไว้ จึงทำให้ไม่สามารถเริ่มเดินเครื่องจักรได้ในวันที่ 6 มกราคมตามที่กำหนดไว้

แต่อย่างไรก็ตามวินทิ้งท้ายไว้ว่า SSI UK จะพยายามอย่างเต็มความสามารถที่จะลดระยะเวลาในการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้โดยเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“สหวิริยา” มหาอำนาจทุนเหล็กไทยบุกอังกฤษแล้ว

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายปกป้องสถาบันฯ ชุมนุมหน้ากงสุลสหรัฐฯ เชียงใหม่

Posted: 21 Dec 2011 09:04 AM PST

อ้างไม่พอใจทูตสหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยแก้ กม.หมิ่น - พรบ.คอมฯ ก่อนถูกคนเสื้อแดงชุมนุมต้าน "ดีเจอ้อม" ยันไม่ได้ต่อต้าน ม.112 แต่ไม่ต้องการให้อีกฝ่ายนำพระมหากษัตริย์ลงมาเกี่ยวข้องการเมือง

สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่า เมื่อวานนี้ (21 ธ.ค.) เครือข่ายคนเชียงใหม่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ นำโดยนางนิตยพร สุวรรณชินและนางชมพูนุท  โทสินธิติ รวมตัวที่ด้านหน้าสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือถึงนางคริสตี้  เคนนีย์  เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผ่านนายทอดด์ เบทโพซอน รองกงสุลอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ โดยอ้างว่าเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2551 ให้ปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกอยู่ด้วย

กลุ่มผู้ชุมนุมกล่าวว่าประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คดีที่เกิดขึ้นเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่ให้ความปกป้องคุ้มครองประมุขและรัชทายาท ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยอมรับระดับสากล มาตรา 112 ของไทยมีรากมาจากจารีต วัฒนธรรม ระหว่างประชาชนกับพระมหากษัตริย์ เป็นฉันทานุมัติของคนไทยที่ต้องการให้คงอยู่ ของสภาพบังคับของกฎหมายนี้

จึงขอเรียกร้องให้ขอโทษประชาชนไทย ที่ได้แทรกแซงกิจการภายใน หมิ่นหยามลบหลู่กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยโดยทันที ยุติการกระทำใดๆ อันเป็นผลกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศไทย และยุติการดำเนินการใด ๆ อันมีผลกระทบต่อฉันทานุมัติของประชาชนไทยในการดำรงซึ่งสิทธิเสรีภาพแห่งจริยธรรม จารีตประเพณี วัฒนธรรม และความมั่นคงอันแนบแน่นระหว่างประชาชนไทยกับพระมหากษัตริย์ที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ขณะเดียวกันกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 นำโดยนางกัญญาภัค มณีจักรหรือดีเจ.อ้อม ได้รวมตัวไปชุมนุมเช่นกันจนเกือบปะทะกับกลุ่มเครือข่ายคนเชียงใหม่ ฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าควบคุม โดยนางกัญญาภัคฯ กล่าวว่ากลุ่มเสื้อแดงไม่ได้ต่อต้านมาตรา 112 แต่ไม่ต้องการให้นำพระมหากษัตริย์และสถาบันมาข้องเกี่ยวกับการเล่นการเมือง และไม่ต้องการให้นำพระบรมฉายาลักษณ์ มาใช้เป็นเกราะป้องกันการปราศรัยทางการเมือง

ก่อนหน้านี้ หลังจากศาลมีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน นายโจ กอร์ดอน ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้แปลหนังสือ The King Never Smiles นางคริสตี้ เคนนีย์ (Kristie Kenney) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ทวีตข้อความว่า “สถานฑูตอเมริกามีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นอย่างสูงสุด แต่รู้สึกเป็นกังวลต่อการตัดสินที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในด้านเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็น” และ “กรณีคดีนายโจ กอร์ดอน สหรัฐฯ จะสนับสนุนเขาต่อไป โดยจะไปเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือ” โดยไม่ได้มีข้อความใดกล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามที่ผู้ประท้วงยกเหตุผลมาแต่อย่างใด

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปิดแล้วเกือบ 400 ยูอาร์แอล ตั้งอนุฯ-ศูนย์มอนิเตอร์กลางปิดเว็บหมิ่นเบื้องสูง-ไม่เหมาะสม

Posted: 21 Dec 2011 08:42 AM PST

21 ธ.ค.54 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า คณะกรรมการปิดเว็บหมิ่น โดยครั้งนี้นับเป็นการประชุมครั้งที่ 3 หลังจากมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้โดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ลงนามโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่  7 ธ.ค.54

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวภายหลังการประชุมเพียงสั้นๆ ว่า ที่ประชุมไม่มีการหารือเรื่องการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาแต่อย่างใด เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ขณะที่พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา (สบ.10) เลขานุการคณะกรรมการ กล่าวถึงรายละเอียดของการประชุมว่า ตั้งแต่มีการแต่งตั้งกรรมการชุดนี้ ได้ดำเนินการปิดกั้น URLs ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมไปแล้วกว่า 300 URLs และกำลังจะขอคำสั่งศาลในการปิดเพิ่มอีก 87 URLs ซึ่งแต่เดิมกว่าจะผ่านกระบวนการทั้งหมดเพื่อดำเนินการปิดกั้นอาจใช้เวลาเกือบสัปดาห์ แต่ปัจจุบันเมื่อมีการบูรณาการหน่วยงานต่างๆ มาทำงานร่วมกันภายใต้กรรมการชุดนี้ ทำให้ใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น และยังมีการสืบสวนสอบสวนต่ออย่างเป็นระบบ

พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการในส่วนต่างๆ ด้วย คือ ชุดตรวจสอบและติดตามการกระทำผิด มีพล.ต.อ.วรพงษ์ เป็นประธาน ชุดตรวจสอบเนื้อหาว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ มี พล.ต.อ.เอก อังศนานนท์ เป็นประธาน ชุดสืบสวน มี พล.ต.อ.ภาณุพงษ์ สิงหรา ณ อยุธยา เป็นประธาน และชุดสอบสวน มี พล.ต.อ.ปานสิริ ประภาวัต เป็นประธาน

เมื่อถามว่าคณะอนุกรรมการนี้จะทำงานซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีอยู่เดิมหรือไม่ พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า ไม่ซ้ำซ้อน เนื่องจากกรรมการชุดนี้เน้นเนื้อหาในคอมพิวเตอร์ ไม่ได้ครอบคลุมคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เผยแพร่ผ่านสื่ออื่น อีกทั้งคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นที่มีอยู่เดิมนั้นจะพิจารณาเมื่อเป็นสำนวนเรียบร้อยแล้ว

สำหรับการทำงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายนั้น ได้มีการจัดตั้งศูนย์ติดตามและเฝ้าระวังการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้วย ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะบูรณาการเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน รวมแล้วราว 28 คน เพื่อติดตามตรวจสอบเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลร้องเรียนที่ได้จากหน่วยงานอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวมี 22 คนประกอบด้วยประธานคณะกรรมการคือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี และมีคณะกรรมการคือ
-พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม
-นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
-นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม
-นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงไอซีที
-นายธีรกุล นิยม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
-พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
-พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
-นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
-พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
-พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
-นายสุกิจ เจริญรัตนกุล อธิบดีกรมการปกครอง
-นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
-นายธีระพงษ์ โสดาศรี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์
-พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
-พล.ต.ท.สมเดช ขาวขำ ผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
-พล.ต.ต.สุรพล หอมชื่นชม ผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี
-พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี ผู้บังคับการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง2
-พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา (สบ10)
-พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
-ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ 

มีอำนาจหน้าที่

1) กำหนดนโยบายป้องการและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสมผ่านระบบคอมพิวเตอร์
2) อำนวยการและสั่งการให้หน่วยงานรัฐ องค์กร หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนผู้ให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) และบุคคลอื่นใด ให้ดำเนินการป้องกันมิให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสม
3) สั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น ตลอดทั้งขอเอกสารต่างๆ เพื่อประกอบการปฏิบัติภารกิจ
4) ออกระเบียบตลอดจนข้อปฏิบัติอื่นใด เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องปฏิบัติภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย
5) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือบุคคลเพื่อมอบหมายให้ดำเนินการใดตามที่คณะกรรมการกำหนด เพื่อช่วยปฏิบัติงานตามความจำเป็น

ขณะที่เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของนายณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ว่า ขณะนี้มีเว็บไซต์เกือบ 200 URLs ที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามายังกระทรวงไอซีทีให้ตรวจสอบการเผยแพร่ข้อความหมิ่นเบื้องสูงตลอดเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ยังไม่ทันการ เนื่องจากการกระทำผิดสามารถทำได้เร็วมาก ดังนั้น ความจำเป็นในการจัดหาเครื่องตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อสกัดกั้น URLs ที่ไม่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักป้องกันและปราบปราบการกระทำผิด กระทรวงไอซีที พบว่า การเผยแพร่ข้อความหมิ่นเบื้องสูงในครึ่งปีแรกของปี 2554 พบว่าอยู่ในลำดับ 4 หรือเฉลี่ย 5% ต่อวันของจำนวนที่มีผู้ร้องเรียน ส่วนอันดับสูงสุดยังเป็นเรื่องหมิ่นประมาทส่วนบุคคล 60% รองลงมาคือการเจาะข้อมูลหรือปลอมบัญชี และรหัสผ่านอีเมล 15% ต่อมาคือล่อลวงและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ยกฟ้องอีก 1 จำเลยคดีป่วนใต้ ศาลไม่เชื่อคำซัดทอดช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

Posted: 21 Dec 2011 08:23 AM PST

วันนี้ (21 ธ.ค.54) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ห้องพิจารณาคดี 1 ศาลจังหวัดปัตตานี นายศรัณย์ ดุลยมาศ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานีออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา คดีพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอุสมาน กาเซ็งกับพวกรวม 2 คน เป็นจำเลยข้อหาก่อการร้าย เป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฯลฯ หมายเลขคดีดำที่ 1427/2552

คำพิพากษาสรุปว่า คดีนี้ จำเลยถูกฟ้องเนื่องมาจากผลการซักถามผู้ถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ ได้แก่ กฎอัยการศึก และพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดนั้น เป็นเพียงพยานที่บอกเล่า จึงไม่มีน้ำหนักที่จะลงโทษจำเลยได้ อีกทั้งโจทก์ไม่มีพยานแวดล้อมอื่นๆ มาประกอบ เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยมีความผิดจริง จึงพิพากษายกฟ้องนายอุสมาน
 
ทั้งนี้ คำฟ้องในคดีระบุว่า นายอุสมาน กาเซ็งกับพวกรวม 2 คนถูกฟ้องจากกรณีคนร้ายก่อเหตุยิงนายสว่าง จันทรเกตุ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2551 เหตุเกิดในท้องที่ตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
 
ส่วนจำเลยอีก 1 คน ศาลได้สั่งจำหน่ายคดีไปก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากถูกยิงได้รับบาดเจ็บจนสมองพิการ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แรงงานนอกระบบเสนอ 12 มาตรการเยียวยาหลังน้ำลด

Posted: 21 Dec 2011 08:14 AM PST

แรงงานนอกระบบบุกกระทรวงแรงงานขอความช่วยเหลือหลังวิกฤตน้ำท่วม ชี้เป็นกลุ่มเปราะบางสุดในสังคม ขณะ รมว.แรงงาน รับประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(21 ธ.ค.54) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่กระทรวงแรงงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ พร้อมด้วยแรงงานนอกระบบกว่า 20 คน เข้าพบเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเสนอมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม หลังวิกฤตน้ำท่วม 12 ข้อ โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็นใหญ่ คือ (1)การชดเชยและฟื้นฟูค่าเสียหายของบ้านเรือนจากน้ำท่วม (2)การช่วยเหลือคุ้มครองทางสังคม อาทิ การประกันสังคม (3)การชดเชยด้านอาชีพ การสร้างงานและการชดเชยความเสียหายของเครื่องมือทำกิน และ (4)การมีส่วนร่วมในการวางแผนจัดการภัยพิบัติในอนาคต (อ่านที่ด้านล่าง)

รมว.แรงงานระบุว่า ข้อเสนอส่วนใหญ่นั้นไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน แต่รับจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ อาทิ เรื่องเงินช่วยเหลือค่าเสียหายที่อยู่อาศัย การควบคุมราคาสินค้า การให้ใช้ไฟ-น้ำฟรี เป็นต้น

ทั้งนี้ เผดิมชัย กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานชดเชยการขาดรายได้ของแรงงานนอกระบบเช่นเดียวกับแรงงานในระบบว่า ส่วนนี้อยู่ในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและมนุษย์ซึ่งจะจ่ายให้ผู้ที่อยู่นอกระบบประกันสังคม 2,000 บาท ขณะที่กระทรวงแรงงาน จะดูแลแรงงานในระบบประกันสังคม โดยมีการทำสัญญากับนายจ้างของแรงงานเหล่านั้นให้จ่าย 75% ของค่าจ้างระหว่างยังไม่เปิดงาน เพื่อรักษาสภาพการจ้าง

อย่างไรก็ตาม ต่อประเด็นนี้ เว็บไซต์ผู้จัดการรายงานว่า ทางกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไม่ได้มีเงินช่วยเหลือ 2,000 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมโดยตรง เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือนี้มีมติจากทางคณะรัฐมนตรีไม่ให้ผ่าน เพราะจะซ้ำซ้อนกับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ของทางกระทรวงมหาดไทยแต่เงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ทาง พม.ได้มีเงินช่วยเหลืออยู่แล้ว สำหรับผู้ยากจน ซึ่งเป็นงบประมาณของทาง พม.ที่เป็นงบจำนวนไม่มาก

ส่วนเรื่องที่ขอให้ยกเว้นการเก็บเงินสมทบประกันสังคมตามมาตรา 40 ในเดือน ต.ค.-ธ.ค. โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดส่งเงินสมทบและได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิม รวมถึงลดเงื่อนไขให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถกู้เงินเพื่อซ่อมแซมบ้านได้รายละไม่เกิน 50,000 บาทนั้น รมว.แรงงานได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมไปพิจารณาอนุโลมเรื่องสิทธิประโยชน์และลดเงื่อนไขการกู้ต่างๆ ลง เช่นเดียวกับให้กรมการจัดหางานพิจารณาลดเงื่อนไขของการขอกู้เงินจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านด้วย

ขณะที่ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ชี้แจงกรณีขอให้จ้างงานคนในชุมชนเพื่อซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงานไม่สามารถทำได้ แต่มีส่วนที่น่าจะช่วยได้คือ การจัดคลีนิกเคลื่อนที่เบื้องต้น และจัดฝึกอบรมซ่อมสร้างบ้านซึ่งจะรับได้ 100 รุ่นรุ่นละ 20 คน โดยมีค่าอาหาร 120 บาทต่อวัน

นอกจากนี้ ในการประชุมดังกล่าว สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ยังได้ทวงถามความคืบหน้าเรื่องการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 ด้วยเนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว แต่ล่วงเลยมา 7 เดือนก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าใดๆ ซึ่ง รมว.แรงงานได้ขอให้กรมสวัสดิการและสังคมเร่งดำเนินการ

อนึ่ง จากการสำรวจแรงงานนอกระบบปี 2553 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีจำนวนผู้ทำงานทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน โดยเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง และไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน หรือแรงงานนอกระบบ จำนวน 24.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62.3 และที่เหลือเป็นผู้ทำงานในระบบหรือแรงงานในระบบ 14.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.7

 

///////////
ข้อเสนอของเครือข่ายแรงงานนอกระบบและมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ

1.ขอให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนเงินช่วยเหลือค่าเสียหายเรื่องที่อยู่อาศัย ให้เป็นการช่วยเหลือ โดยพิจารณาจากระยะเวลาที่น้ำท่วมขัง เพราะระยะเวลาที่น้ำท่วมขังมีผลต่อความเสียหายมากหรือน้อยต่างกัน ได้แก่
น้ำท่วมขัง 7 วัน จ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท
น้ำท่วมขัง 8-15 วัน จ่ายเงินช่วยเหลือ 10,000 บาท
น้ำท่วมขัง 16-30 วัน จ่ายเงินช่วยเหลือ 15,000 บาท
น้ำท่วมขังตั้งแต่ 31 วันขึ้นไป จ่ายเงินช่วยเหลือ 20,000 บาท

2.ขอให้มีการกำหนดรายละเอียดในการขอรับความช่วยเหลือกรณีทรัพย์สินที่เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพและหรือทุนประกอบอาชีพเสียหายให้ชัดเจน ควรให้ความช่วยเหลือเท่าที่เสียหายจริง และควรเพิ่มวงเงินช่วยเหลือจากครอบครัวละไม่เกิน 10,000 บาทเป็นครอบครัวละไม่เกิน 30,000 บาท

3.แรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ควรได้รับเงินชดเชยการขาดรายได้ เช่นเดียวกับแรงงานในระบบ รัฐควรชดเชยการขาดรายได้ไม่น้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามจำนวนวันที่ได้รับความเสียหาย โดยขอให้พิจารณาช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่ไม่มีน้ำท่วมขังในบ้านเรือน แต่มีน้ำท่วมขังปิดล้อมเส้นทางคมนาคม จนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ด้วย

4.หลังน้ำลดควรมีการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้มีราคาสูงขึ้น และมีการกระจายสินค้าอย่างทั่วถึง

5.รัฐควรให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ใช้น้ำ และไฟฟรี โดยไม่มีเงิ่อนไข เป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 54-มีนาคม 55

6.ผู้สูงอายุและผู้พิการควรได้รับความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมเป็นพิเศษจากภาครัฐ โดยขอให้จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยยังชีพคนพิการ เพิ่มขึ้น 3 เท่าตามระยะเวลาที่มีน้ำท่วมขัง เนื่องจากผู้สูงอายุและผู้พิการมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในระหว่างน้ำท่วมขัง

7.ขอให้สำนักงานประกันสังคมยกเว้นการเก็บเงินสมทบประกันสังคมตามาตรา 40 ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม โดยไม่ถือเป็นการขาดส่งเงินสมทบและไม่ขาดสิทธิในการรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ

8.ขอให้สำนักงานประกันสังคมเจรจากับทางธนาคารพิจารณาลดเงื่อนไขที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะสามารถกู้เงินเพื่อซ่อมแซมบ้านรายละไม่เกิน 50,000 บาท และคงไว้เพียงผู้มีรายได้ตั้งแต่เดือนละ 7,500 บาทเป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้น เพื่อให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 สามารถเข้าถึงเงินกู้นี้ได้จริง

9.ขอให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครกำหนดให้มีนโยบายกองทุนเพื่อการประกอบอาชีพ ให้เงินยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยแก่กลุ่มอาชีพต่างๆ ของแรงงานนอกระบบที่รวมตัวกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เช่น กลุ่มแม่ค้า คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือกลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้าน จำนวนไม่เกินกลุ่มละ 100,000 บาท เป็นเวลา 6 ปี โดยให้ปลอดเงินต้นเป็นเวลา 3 ปี และเริ่มส่งเงินคืนในปีที่ 4

10.องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครควรส่งเสริมให้คนในชุมชนรวมกลุ่มกันเพื่อทำงานซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายระหว่างน้ำท่วม รวมทั้งงานอื่นๆ ของหน่วยงานนั้นๆ เช่น การปูตัวหนอนใหม่ งานลอกท่อ การตีกรอบไม้ตามต้นไม้ในสวนสาธารณะ หรือการทาสีใหม่พื้นที่สาธารณะ งานตัดชุดนักเรียน ชุดกีฬา หรือเครื่องแบบของหน่วยงาน เป็นต้น

11.กระทรวงแรงงานควรเป็นเจ้าภาพในการประสานงานและส่งเสริมให้โรงงาน บริษัทต่างๆ พบปะกับกลุ่มอาชีพในชุมชนเพื่อให้เกิดการจ้างงานและให้กระทรวงฯ จัดมาตรการพิเศษแก่โรงงานหรือบริษัทที่จ้างงานกับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ประสบอุทกภัยนี้

12.ภาครัฐต้องให้มีตัวแทนภาคประชาชนร่วมอยู่ในคณะกรรมการที่วางแผนจัดการภัยพิบัติที่ตั้งขึ้น เพื่อให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการวางแผน และการตัดสินใจในการจัดการน้ำ หรือการกำหนดเส้นทางน้ำในอนาคต

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ฟ้องศาลปกครอง “คดีน้ำท่วม” ร้องตั้งกองทุนฟื้นฟู-เยียวยา ปีละไม่ต่ำกว่า 2 พันล้าน

Posted: 21 Dec 2011 07:23 AM PST

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้อง 11 หน่วยงานรัฐ ให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามจริงเป็นรายบุคคล ชี้บริหารน้ำผิดพลาด ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ จนส่งผลให้เกิดความเสียหายของประชาชน

วันนี้ 21 ธ.ค.54 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้รับมอบอำนาจ จากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านพื้นที่ต่างๆ รวม 352 คน ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ต่อแผนกคดีสิ่งแวดล้อมศาลปกครองกลาง เรื่องเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการละเมิด 

อนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.นายกรัฐมนตรี 2.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) 3.นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ 4.นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย 5.นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน 6.อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) 7.อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ 8.อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ 9.อธิบดีกรมโยธาและผังเมือง 10ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และ 11.ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
 
คำฟ้องคดีดังกล่าว ระบุว่า ผู้ถูกฟ้อง กระทำการละเมิดที่มีลักษณะความผิดพลาด ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการบริหารจัดการน้ำ จนก่อให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งผู้ถูกฟ้องเพิกเฉย ไร้ประสิทธิภาพ และประมาทเลินเล่อในการบริหารจัดการน้ำตามอำนาจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
 
ผู้ฟ้องจึงขอให้ศาล มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องร่วมกันรับผิดชอบ โดยจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ฟ้องตามความเป็นจริงทุกคน ตามบัญชีเสียหายที่แนบมาท้ายฟ้อง และให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้อง กำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรม แก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ - ไกล ภายใต้กรอบการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และประชาสังคม โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง
 
รวมทั้ง ให้นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1 สั่งการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณปีละ ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นทุกๆ 5 เปอร์เซ็นต์ของอัตราเงินเฟ้อของประเทศ ให้บริหารจัดการโดยภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
 
ซึ่งศาลรับคำฟ้องไว้คดีหมายเลข ส.401/2554 เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งต่อไปว่าจะประทับรับฟ้องเพื่อมีคำพิพากษาหรือไม่
 
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ทางสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนได้รับการร้องเรียนจากประชาชนหลายจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากการจัดการน้ำที่ผิดพลาดของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด อีกทั้งการชดเชยของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ชดเชยตามจริง ทางสมาคมจึงได้รวบรวมรายชื่อของประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนมายื่นต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าจะมีการรวบรวมรายชื่อมายื่นเพิ่มเติมอีก 
 
 
เรียบเรียงจาก: มติชนออนไลน์ และ เนชั่นทันข่าว
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธงชัย วินิจจะกูล (2): ความตอแหลอันเป็นเอกลักษณ์ และ 1984 แบบไทยที่ Orwell ไม่รู้จัก

Posted: 21 Dec 2011 07:11 AM PST

ภาคต่อของการอภิปราย “เมื่อความจริง (นิยาย) โดนดำเนินคดีในยุคกษัตริย์นิยมล้นเกิน” โดยธงชัยพูดเรื่องภาวะ “Hyper Royalism” และภาวะตอแหลในสังคมไทย พร้อมอธิบายเรื่อง “1984 แบบไทยๆ” ที่ George Orwell ไม่รู้จัก 

เรื่องก่อนหน้านี้
ธงชัย วินิจจะกูล (1): เมื่อความจริง(นิยาย) โดนดำเนินคดีในยุคกษัตริย์นิยมล้นเกิน, 20 ธ.ค. 54

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ผ่านมา ร้าน Book Re:public จ.เชียงใหม่ ได้จัดการเสวนาหัวข้อ “เมื่อความจริง (นิยาย) โดนดำเนินคดีในยุคกษัตริย์นิยมล้นเกิน” โดยมีผู้อภิปรายคือธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ดำเนินรายการโดย “ภัควดี ไม่มีนามสกุล” นักแปลและคอลัมน์นิสต์ โดยก่อนหน้านี้ ประชาไทได้นำเสนอส่วนหนึ่งของการอภิปรายของธงชัย วินิจจะกูล ไปแล้ว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) และต่อไปนี้เป็นส่วนต่อเนื่องของการนำเสนอโดยธงชัย ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ (หมายเหตุ: ข้อความในวงเล็บและคำเน้น เป็นการเน้นโดยประชาไท)

 

ธงชัย วินิจจะกูล

 

"(George) Orwell ไม่เคยเจอสังคม 1984 ที่เป็นจริงนอกไปจากสังคมนาซี Orwell ไม่เคยเจอ 1984 แบบตะวันออก พูดง่ายๆ ว่า สังคมที่ใช้ Thought Control เป็นหลัก มันเวิร์คยังไงในความเป็นจริง Orwell ไม่เคยเจอ

ในกรณีของ 1984 ในสังคมไทย มีคนฉลาดมากมายที่ไม่ได้บิ๊กนัก ทั้งบิ๊กทั้งไม่บิ๊ก บิ๊กระดับพอสมควร ไม่บิ๊กที่สุด พร้อมจะปกปักรักษา 1984 หรือทำตัวเป็นคนสอดส่องพวกเราแทน มีคนพร้อมจะออกหนังสือเพื่อ Whitewash อยู่เป็นประจำ อยู่เต็มไปหมด พวกเขาจึงมีเสรีภาพเต็มที่ที่จะเขียนงานวิจัย พิมพ์หนังสือ ทำตัวฉลาด ทำตัวเป็นผู้รู้ผู้ดีและเฉลิมฉลองไป ในขณะที่คนจำนวนมากทำอย่างนั้นไม่ได้ มีคนอย่างนี้เต็มไปหมด ไม่ใช่ Big Brother เท่านั้น

 

... ประเด็นหนึ่งที่เดวิดมองข้าม มองข้ามเลย แล้วผมไม่คิดว่าเขาผิด เพียงแต่ผมอยากจะหยอดให้เขาเพิ่ม ให้เขาคิด คือ เมื่อเขาอธิบายถึง Defamation Regime ที่เกิดขึ้นในภาวะที่ไม่ปกติที่กลายเป็นปกติบนรากฐานของวัฒนธรรมเกี่ยวกับการจัดการความจริงแบบพุทธเถรวาท เขาอภิปรายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สฤษดิ์ (ธนะรัชต์) ถึงปัจจุบัน โดยที่ไม่ได้แยกแยะอย่างชัดเจน โดยที่เขาอธิบายว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นแยะเป็นธรรมดา แต่มีอะไรไหมที่เป็นลักษณะเฉพาะและเป็นเงื่อนไขเป็นพิเศษในช่วงประมาณ 50 ปีนี้

สิ่งที่ผมอยากจะเพิ่ม นี่เป็นส่วนของผมแล้วนะ ไม่ใช่หนังสือเล่มนี้ คือ ผมคิดว่าสังคมไทยมี Royalism เป็นปกติ แต่ภาวะที่ผมเรียกว่า “Hyper Royalism” เป็น “อีกภาวะหนึ่งซึ่งไม่ปกติที่กลายเป็นปกติ” ตรงนี้เป็นสิ่งที่เดวิดมองข้าม และเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าไม่ต้องการ Schmitt กับ Agamben (Carl Schmitt และ Giorgio Agamben) คุณต้องการความรู้ประวัติศาสตร์ไทยธรรมดาๆ

ผมเคยอธิบายแล้วในที่อื่นว่า 14 ตุลาฯ คือจุดเปลี่ยนผ่านให้อำนาจของ Monarchists ผมพูดถึง Monarchists มีตัว S ข้างหลังด้วยนะ เพราะฉะนั้นผมพูดถึง “พวกนิยมเจ้า” ทั้งหลาย ผมไม่ได้พูดถึงเจ้าด้วยซ้ำไป

ผมพูดทุกครั้ง เวลาพูดเรื่องนี้ต้องบอกว่า ตัวอย่างของพวกนิยมเจ้าที่ชัดเจนคือ พล.อ.เปรม (ติณสูลานนท์) ถ้าคุณไม่เชื่อ ไปถามท่านดูว่าท่านนิยมเจ้าไหม ท่านก็ต้องบอกว่า “ท่านนิยมเจ้า”

14 ตุลา คือจุดพลิกผันที่พวกนิยมเจ้าขึ้นมามีอำนาจ ไม่ใช่เปรม ตอนนั้นไม่ใช่เปรม ผมยกตัวอย่างแค่นั้น มีคนอื่นเยอะแยะ มีทั้งที่เป็นเจ้า และไม่เป็นเจ้า กลุ่มนิยมเจ้าพยายามขึ้นมาเถลิงอำนาจนับตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2490 ร่วมมือกับกองทัพ ผมจะไม่อธิบายเพิ่มคุณไปหาอ่านเอง ตอนนั้นยังระหกระเหิน สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ภายในเวลาแค่ 4-5 ปี ก็ถูกเตะออกไป แต่ในระหว่างนั้นก็เริ่มต้น รวมถึงวางฐานทางความคิดซึ่งพัฒนาต่อมาในยุคสฤษดิ์ หรือหลังสฤษดิ์เป็นต้นมา ตั้งแต่ 2490 หรือ 2492 เช่น รัฐธรรมนูญที่บอกว่าประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข, มาตรา 8 ในปัจจุบัน, กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีมาก่อน แต่ไม่แน่ใจว่ามาปรับหนักในปี 2492 หรือไม่ กฎหมายเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สิน (ส่วนพระมหากษัตริย์) ก็ออกปี 2492

ดังนั้น ฝ่ายนิยมเจ้าช่วงนั้นกระทำการหลายอย่างถึงแม้ว่าจะถูก Kick out ตอนปี พ.ศ. 2495 เขาได้เริ่มทำอะไรบางอย่างแล้ว บางอย่างไม่ได้ถูกยกเลิกตามไปด้วย กฎหมายเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นต้นไม่ได้ถูกยกเลิก ออกมาในปี 2492 ให้สิทธิพิเศษ ข้อยกเว้นต่างๆ มากมาย และก็อยู่อย่างนั้นมา ถึงแม้ว่าอำนาจพวกเขาตกลง พวกเขาก็พยายามฟื้นมาใหม่ตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ แล้วก็มาจนถึง 14 ตุลาฯ ซึ่งเป็นจุดพลิกผัน จุดพลิกผันอาจจะยังไม่ถึงขั้นที่ทำให้ฝ่ายเจ้ามีอำนาจอย่างเด็ดขาด ยังต่อรอง ยังปะทะ ขึ้นๆลงๆอยู่กับทหารพักใหญ่ๆ จนกระทั่งหลังพฤษภาทมิฬ 35 ถึงจะกุมอำนาจเด็ดขาด

เอาเป็นว่าประมาณแค่ 30–40 ปีนี้เองแหละ 50 ปี ที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมพยายามที่จะมีบทบาททางการเมือง ค่อนข้างสามารถพลิกผันได้นับตั้งแต่ 14 ตุลาฯ สุดท้ายแล้วตรงไหนที่บอกว่าสำเร็จจริง เหนือกว่าจริง ตรงนั้นไปเถียงกันเอง ผมเองกลับให้ความสำคัญกับจุดพลิกผันคือเมื่อ 14 ตุลาฯ

ผมอยากเรียกอันนี้ว่า “Royalist Democracy” สองคำนี้ในโลกภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า “Oxymoron” คือ “ขัดแย้งในตัวเอง” ช่างมัน ผมเองในแง่นักประวัติศาสตร์บางครั้งผมอยากได้คำพวกนี้ คือเวลาคนเขาแย้งเขาบอกว่า “คำพวกนี้ขัดแย้งในตัวเอง” แล้วในความเป็นจริงมันไม่ขัดแย้งในตัวเองหรือ ใช่ไหมครับ ผมคิดว่าความเป็นจริงในสังคมไทยก็มีสิ่งที่ขัดแย้งกันเองเต็มไปหมด ใครอย่าบอกว่าสังคมไทยไม่เดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ไม่ได้นะ 30-40 ปีมานี้เราเปลี่ยนไปเยอะในทางที่เป็น Democratization แต่ในภาวะเดียวกันนี้ ความนิยมเจ้า “Royalism” กลับเพิ่มสูงด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นการใช้คำว่า “Royalist Democracy” ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการคำที่ Consistency หรือ Logical ผมกลับคิดว่าเป็นคำที่อธิบายภาวะที่มันขัดแย้งในตัวเองของสังคมไทย แล้วถามว่าในความเป็นจริงในสังคม ที่เป็นอยู่ในสังคมนี้มันไม่ขัดแย้งในตัวเองหรือ ผมว่าเต็มไปหมดเยอะแยะ เราทุกคนมีเรื่องขัดแย้งเต็มไปหมด

มนุษย์ Humanity อย่างหนึ่ง คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรีบอกว่ามนุษย์ต้อง Consistent ... ผมว่ามนุษย์ไม่ Consistent คุณสุชาติหาคนที่ Consistent อย่าหาเลย มนุษย์ปกติไม่ Consistent ขนาดนั้น

คือในภาวะที่การเมืองที่ Royalist Democracy พยายามก่อตัว เพียงแค่จุดเริ่มต้น เขาเผชิญกับการท้าทายอย่างสำคัญที่สุด เมื่อปี 1975 (พ.ศ. 2518) เกิดอะไรขึ้น เกิดการคุกคามของคอมมิวนิสต์ ... พยายามอย่าคิดแบบเรา พยายามคิดแบบพวกนิยมเจ้า ไม่ใช่แต่เพียงขบวนการนักศึกษา ขบวนการฝ่ายซ้ายในประเทศไทยที่ Turn Left หรือ Turn Radical แต่สิ่งที่พวกเขาตกใจมาก ผมเชื่อว่าอย่างนั้นนะ สิ่งที่พวกเขาตกใจมากกว่าคือ “การปฏิวัติอินโดจีน” ทันทีที่เกิดปฏิวัติทุกคนพูดเลยว่าประเทศไทยเป็น “Next Domino”

ผมไม่รู้พวกเราจินตนาการได้ไหม เพราะการขอให้คุณจินตนาการเป็นเจ้า เหาอาจจะขึ้นหัว แต่พยายามนึกถึงว่าคุณเจอข่าวอย่างนั้นผมว่าคุณช็อก แล้วหลังจากเจอข่าวนี้ เมื่อมองดูในประเทศ พวกฝ่ายซ้ายอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง เอเยนต์ของคอมมิวนิสต์อยู่ในประเทศไทย ถึงต้องออกรายการโฆษณาชวนเชื่อ ถึงต้องแต่งเพลง ถึงต้องอะไรต่ออะไรอย่างที่เรารู้จักกัน

กลัวคอมมิวนิสต์ ... แล้วมองย้อนมาจากปัจจุบันเราอาจจะบอกเป็นเรื่องตลก คอมมิวนิสต์ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัว ทุกวันนี้ก็ล่มไปหมดแล้ว ตอนนั้นไม่ใช่อย่างนั้นครับ ตอนนั้นคอมมิวนิสต์มีสิทธิ์ที่จะโค่นสังคมไทย โค่นสังคมทุนนิยม เราอย่าคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ ยิ่งมองจากฝ่ายนั้น เขาเชื่อว่ามันเป็นไปได้ พอเชื่อว่าเป็นไปได้เขาก็ต้องสู้

การใช้ Royalism สู้กับคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เพิ่งคิดค้นขึ้นเมื่อปี 2518 สังคมไทยใช้กษัตริย์นิยมสู้กับคอมมิวนิสต์มาอย่างน้อยๆ ตั้งแต่ประมาณต้น 1960 หรือถ้าย้อนจริงๆ อาจจะย้อนไปได้ไกลกว่านั้น คือท่ามกลางบรรยากาศที่จะสู้คอมมิวนิสต์ตั้งแต่หลังสงครามเย็น อ่านบทความของคุณณัฐพล ใจจริงดู สหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญก็คือ กษัตริย์นิยมและสถาบันกษัตริย์น่าจะเป็นปัจจัยทางวัฒนธรรมที่ใช้สู้กับคอมมิวนิสต์ได้ Effective (มีประสิทธิภาพ) ได้ลงมือเริ่มต้นอย่างนิดๆ หน่อยๆ ตั้งแต่ปลาย 1950 แต่มาลงมือจริงในปี ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505)

การใช้สถาบันกษัตริย์ และกษัตริย์นิยม ในการสู้กับคอมมิวนิสต์มีมาตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น ช่วงพีคของสงครามของสงครามเย็นด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นพีคของสงครามเย็นในประเทศไทย ไม่ใช่ในโลกนะ ตอนนั้นในโลกเริ่มจะลง ก็คือว่าล่ม แต่ในประเทศไทยกลัวคอมมิวนิสต์กันสูงที่สุดตั้งแต่ประมาณปี 2518 เป็นต้นมา สิ่งที่เขาต้องสู้ก็คือยิ่งต้องเพิ่ม Royalism เข้าไปอีก ผมเรียกภาวะที่เพิ่ม Royalism เข้าไปนี้ว่า “Hyper Royalism”

“Hyper Royalism” ขอย้ำนะผมกำลังพูดถึง “Royalism” ผมไม่ได้พูดถึง Royal คนไหน นี่ไม่ใช่เพื่อเลี่ยงกฎหมาย แต่พูดตามความเป็นจริงว่า Hyper Royalism สามารถอยู่ในสมอง อยู่ในกิจกรรม อยู่ใน Ideology ของคนที่ไม่ใช่เจ้าได้ด้วยซ้ำไป Royalism ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับคนที่เป็นจ้า ต้องเป็น Blue Blood ไม่จำเป็น เกิดขึ้นกับใครก็ได้ เพราะฉะนั้นผมกำลังพูดถึง “Ism” หรือพูดอีกอย่างหนึ่งผมกำลังพูดถึง “ลัทธิ”

ผมไม่ทราบว่าจะแปล “Hyper Royalism” นี้อย่างไร ผมเขียนเป็นบทความเมื่อการสัมมนาที่สิงคโปร์เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังจากนั้นอาจารย์ปวิน (ชัชวาลพงศ์พันธุ์) เอาไปใช้บ้าง แต่หลายครั้งอาจารย์ก็ใช้เหมือนผมคือใช้ภาษาอังกฤษ เพราะถ้าผมแปลแบบชาวบ้านเลยผมไม่มันใจว่ามันถูก แต่มันสะใจ คือ “คลั่งเจ้า” ถ้าหากผมแปลให้ลิเกหน่อยเพื่อที่จะให้พวกเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ ไม่ถูกใจ และเผื่อคุณจะได้ช่วยผมคิด ก็คือ “กษัตริย์นิยมล้นเกิน”

 

000

“Hyper Royalism” หมายถึงอะไร ต้องอธิบายก่อนว่าผมเคยเขียนว่า Modern Monarchy คือสถาบันกษัตริย์สมัยใหม่มีลักษณะต่อไปนี้

หนึ่ง เป็นธรรมราชา พยายามบอกว่าตัวเองไม่มีด้านที่เป็นเทวราชา พูดอย่างให้ง่ายซึ่งไม่ถูกนัก แต่เอาเพื่อเข้าใจง่าย ก็เน้นด้านพระคุณ ไม่ใช่ด้านพระเดช ถ้าพูดอย่างให้ Strict (เคร่งครัด) แบบนักประวัติศาสตร์ผมไม่เคยคิดว่าธรรมราชากับเทวราชาในสังคมไทย ในสถาบันกษัตริย์ไทยในประวัติศาสตร์เป็นต้นมา แยกขาดจากกัน แยกไม่ได้ด้วยซ้ำไป ตรงนี้อธิบายแบบนักประวัติศาสตร์ได้

เพราะฉะนั้นคุณจะเจอว่า กิจกรรมอันหนึ่ง Mission หนึ่งของคุณอานันท์ (ปันยารชุน) ที่เที่ยวพูดทั่วโลก คือพยายามเน้นด้านที่เป็นธรรมราชาของสถาบันกษัตริย์ไทย ผมคิดว่านั่นคือการพยายามสร้าง Modern Monarchy แต่นั่นไม่ถูกต้องในประวัติศาสตร์ ในประวัติศาสตร์สองอย่างนี้ไม่เคยแยกกัน

ตัวอย่างของการเป็นธรรมราชา และเทวราชาที่คู่กัน ผมมีตัวอย่างให้ดูง่ายๆที่พวกเรารู้จักดี

หนึ่ง คุณจำประวัติพระเจ้าอโศกได้ไหมครับ? พระเจ้าอโศกนี่ถือเป็นโมเดลของสถาบันกษัตริย์แบบพุทธนะ ตามตำนาน จริงหรือเปล่าช่างมัน พระเจ้าอโศกต้องไปปราบคนเขาทั่วแล้วถึงค่อยกลายเป็นธรรมราชาใช่ไหมครับ คำตอบก็คือพระเจ้าอโศกต้องเป็นทั้ง 2 อย่าง โมเดลของกษัตริย์พุทธที่ดีต้องเป็นทั้ง 2 อย่าง

สอง ก็คือเจ้าชายสิทธัตถะไง ตอนเจ้าชายสิทธัตถะประสูตินี่ คำทำนายคืออะไรครับ? โหรพราหมณ์ทั้งหลายบอกท่านจะเป็นจักรพรรดิหรือไม่ก็เป็นพระพุทธเจ้า นั่นหมายความว่าในบุญบารมีของทารกคนนี้พระองค์นี้ บุญบารมีมากขนาดนี้ของทารกพระองค์นี้ สามารถจะเป็นจักรพรรดิก็ได้ สามารถจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้

ใน Concept แบบพุทธนี่อำนาจกับธรรมะไม่ได้ตรงข้ามกันนะ ฝรั่งต่างหากที่บอก “Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely” ใช่ไหมครับ Concept แบบพุทธแต่โบราณ “Power is virtuous.” คือ “อำนาจเป็นธรรม”

“Absolute power is Absolute virtue.” “อำนาจสูงสุดก็คือเป็นธรรมสูงสุด” นี่ผมไม่ได้ประชด Conceptพุทธแต่โบราณเป็นอย่างนั้น ฮินดูพุทธเป็นอย่างนั้น คนสมัยใหม่เท่านั้นแหละที่ดัดจริตอยากจะแยก 2 อย่างออกจากกัน แล้วก็บอกว่าพระองค์เป็นแต่ธรรมราชาไม่มีด้านที่เป็นเทวราชา นี่คือ Mission ของการสร้าง Modern Monarchy

ข้อสองคือต้องเป็น Popular Monarchy ไม่ใช่เพราะว่าสังคมไทยเป็นประชาธิปไตยแต่เพราะว่า Public sphere คือปริมณฑลสาธารณะกว้างขว้างใหญ่โตขึ้น สถาบันกษัตริย์จึงต้อง engage กับ public การ engage กับ public จึงทำให้มีลักษณะเป็น Popular หรือ Populism ในลักษณะดีกรีต่างๆกัน อันนี้เป็นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว

อันที่สาม ต้องเป็น Royal Capitalism ก็คือไม่มีสตางค์อยู่ไม่ได้ ง่ายแค่นั้นเอง

อันที่สี่ สุดท้ายแล้ว หลัง 2475 คือต้องอยู่เหนือการเมือง Modern Monarchy นะครับ ความเป็นจริงเป็นอย่างไรก็แล้วแต่เราจะเข้าใจว่าความเป็นจริงแปลว่าอะไร แต่ Modern Monarchy ของไทยคือภาวะ Royalism ตามปกติ “Hyper Royalism” เป็นภาวะ Royalism ที่ยิ่งกว่าปกติ มีลักษณะต่อไปนี้ ... มีอีกคำที่ผมแปล Hyper Royalism แปลว่าลัทธิกษัตริย์นิยมแบบเว่อร์ก็ได้ ง่ายๆ นะครับ

 

000

Hyper Royalism ลักษณะต่อไปนี้

หนึ่ง การเป็น Royalism แบบหนักหน่วงขึ้น แบบมากขึ้น แบบหนักหนามากขึ้น ดูจากอะไรครับ คุณกลับไปหาข้อมูลง่ายนิดเดียว ผมคิดว่าหนังสือพิมพ์หรือเผลอๆ วิกิพีเดียอาจจะมีด้วยซ้ำไป ผมไม่แน่ใจนะ ผมเดาเล่นๆ จำนวน ขนาด และความถี่ของพิธีการเฉลิมฉลองทั้งหลายที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ แทบทั้งหมดเป็น “Invented Tradition” (ประเพณีประดิษฐ์) แล้วคุณจะพบว่าทั้งจำนวน ขนาด ความถี่ ผมอุตส่าห์ไม่ใส่งบประมาณนะครับ มันเว่อร์ขึ้นทุกที การพูดอย่างนี้นี่ผมมั่นใจว่าไม่ผิดกฎหมายเพราะผมกำลังว่าคนที่จัดงานเหล่านี้

คุณกลับไปดู Fact ธรรมดา วันแม่เกิดเมื่อไหร่? 2519 ครับ วันแม่เกิดขึ้นครั้งแรกนานมาแล้วสมัยจอมพล ป. (ป. พิบูลสงคราม) ก็มี ใช้วันแม่ตามสากล วันแม่ที่เป็นวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของสมเด็จพระราชินีครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2519 ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ถึง 2 เดือน

หลังจากนั้นมีการเฉลิมฉลองพิธีอภิเษกของฟ้าชาย หลังจากนั้นวันพ่อมาปี 2523

หลังจากนั้นงานใหญ่อันหนึ่งที่ผมเองยังไม่แน่ใจ เป็นเรื่องที่ต้องคิดอีกที แต่ผมคิดว่า Trigger การเฉลิมฉลองอย่างเรียกว่ามโหฬาร พูดง่ายๆ ว่าวันพ่อวันแม่ครั้งแรกก็ฉลองแต่ยังไม่สาหัสสากรรจ์นัก รายการที่สาหัสสากันและเป็น Pattern คือการสมโภช 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์

หลังจากนั้นมาคุณก็จะมีครบ ครบ 10 ปี ครบรอบ แค่เฉลิมพระชนม์พรรษาคุณนับไป ครบ 10 หรือครบ 12 นี่ คุณนับให้หมดนี่นับทั้งแบบ 10 นับทั้งแบบ 12 คือทั้งฝรั่งทั้งจีนนะ คุณจะเจอว่ามีเท่าไหร่ แล้วไหนจะมีอะไรนะครับ ผมเรียกไม่ถูกนะครับ รัชดาภิเษก กาญจนาภิเษก ไหนจะมีอย่างนี้อีกเยอะแยะนะครับ

เรื่องเหล่านี้นี่สมัยโบราณเขาไม่ทำนะหรือมีไม่กี่อย่างที่ทำ แล้วส่วนใหญ่เวลาทำมันไม่เป็น Public ritual เพราะของเหล่านี้ไม่ใช่ Public ritual พิธีกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องของเจ้า ประชาชนอย่างเราไปเกี่ยวอะไรด้วย สมัยนี้ต้องเป็นอย่างนั้น

สอง คือความศักดิ์สิทธิ์ Hyper Royalism ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือศักดิ์สิทธิ์ ไม่กี่วันก่อน อ.สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) โพสต์และมีคนส่งมาให้ผมอ่าน บอก Max Weber บอกว่ายิ่งเป็นสมัยใหม่ยิ่งควรจะ Rational และ Secular ... ไม่เห็นจริงเลย

อ.สมศักดิ์พูดถูกนะครับผมขอเติมแค่ว่าเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาเขาสังเกตมาประมาณ 20 กว่าปีแล้ว นักมานุษยวิทยาเขาอธิบายแล้วหลายคน เริ่มต้นจาก... ใครรู้จัก Jean Comaroff และ John Comaroff ที่อธิบายเรื่อง Occult (เวทย์มนต์) ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ แล้วมีการศึกษาพิธี Occult คือลัทธิพิธีที่เป็น Magic พวกนี้ เกิดขึ้นเยอะมากในโลก ยิ่งเป็นทุนนิยมยิ่งเป็น Neo-Liberal ยิ่งเกิด Occult

Weber ผิด ทุกคนเห็นกันทั้งโลกแล้ว ในอเมริกาคุณดูสิยิ่งเป็นศาสนาจัดเข้าไปใหญ่เลย จะอธิบายอย่างไร นักมานุษยวิทยาได้อธิบายเรื่องนี้ ในกรณีสังคมไทย Christine Gray อธิบายไว้ในวิทยานิพนธ์ภาษาอังกฤษเมื่อปี 1986 ว่ายิ่งเป็น Capitalism สถาบันกษัตริย์ดีลกับเรื่องนี้อย่างไร คำอธิบายของ Christine Gray ถ้าจะสามารถสรุปสั้นๆ 2 ประโยคแค่นั้นเองแปลว่าอะไรเดี๋ยวคุณไปคิดกัน ก็คือว่าเพราะพิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์ถูก Commodify และเพราะความกินดีอยู่ดีถูกทำให้กลายเป็น Magic เขาบอกปัจจัย 2 อย่างนี้รวมกันทำให้เกิด Occult ของโลกทุนนิยม ในกรณีของสังคมไทยปรากฏในรูปของ Royalism

แต่ Christine Gray ไม่ได้อธิบาย Hyper Royalism คือภาวะเว่อร์ Peter Jackson อธิบายไว้ในบทความบทแรกของหนังสือเรื่อง “Saying the Unsayable” (Saying the Unsayable Monarchy and Democracy in Thailand) ออกมาเมื่อปี-2 ปีนี้เอง

บทความบทแรกของ Peter Jackson อธิบายเรื่องนี้ เขายังพยายามอธิบายด้วยการใช้ว่าสัดส่วนหรือระดับของ “เทวราชา” และ “ธรรมราชา” มีมากน้อยต่างกันอย่างไร ขึ้นและลงอย่างไร ผมไม่ค่อยชอบอย่างนี้ แต่ไม่เป็นไร แต่ประเด็นใหญ่คือ Peter Jackson พยายามอธิบายภาวะที่ยิ่งเกิดความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ ผมว่าน่าอ่าน แล้ว Peter Jackson ใช้ Christine Gray เป็นฐานในการอธิบายหลายอย่างเช่นเดียวกับ David Streckfuss นะครับ ในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์นะครับ

อันที่สาม ลักษณะของ Hyper Royalsim “ลัทธินิยมเจ้าแบบเว่อร์” ผมต้องเน้นคำว่าลัทธิ เพราะคำว่าลัทธิเป็นศัพท์บาลีเก่า แปลว่ามิจฉาทิฐิ เหมือนที่เขาใช้เรียกว่าลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิบริโภคนิยม ... เวลาเป็นความเชื่อที่ผิดนี่เขาเรียกว่าเป็นลัทธิ ในความเห็นของผม ผมไม่กระดากใจที่จะบอกว่าการเว่อร์ Royalism แบบเว่อร์นี่เป็นลัทธิชนิดหนึ่ง ไม่ว่าจะในทางวิชาการหรือในทางการเมืองผมคิดว่าพูดได้เต็มปากว่าเป็นลัทธิชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าบรรดาพวกเชียร์เจ้าเหล่านั้นกรุณาอธิบายหน่อยว่าพวกคุณไม่ใช่ลัทธินี่อย่างไร

คุณสมบัติประการที่สาม ก็คือ ผมเริ่มจากภาษาอังกฤษพวกนี้นะ ขออภัย เพราะว่าส่วนหนึ่งคือผมคิดอย่างนั้น กับอย่างที่สองผมยังหาคำแปลถูกใจไม่เจอ

คุณสมบัติที่สาม คือ “Hyperbolic Exaggeration” คือการ... (ผู้ฟัง: เว่อร์) เว่อร์ ไปๆ มาๆ มันก็เว่อร์อยู่ดี คือมันไม่รู้จะหา ... คำว่าเว่อร์มันคงเกินไปหน่อย

ในที่นี้ผมหมายถึงอะไร? หมายถึงง่ายๆ คือสิ่งที่หลายคนพูดกันอยู่ทั่วไปในสังคมไทย ไม่ใช่แต่เพียงคนที่มีความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ คนรักเจ้าก็พูด ปรากฏการณ์ความ Hyperbolic ก็คือปรากฏการณ์ทำให้คนนั้นคนนี้จำนวนมากเหนือมนุษย์ คงไม่ต้องอธิบายนะครับ มีความสามารถสารพัด แตะอะไรก็เป็นทอง ใช่ไหมครับ ถ้าคุณเป็น Royalsim ปกติคุณไม่ต้องทำให้เจ้าแตะอะไรก็เป็นทองหรอก เจ้าก็เป็นเจ้าเขาก็เหนือมนุษย์อยู่แล้วคุณจะทำให้อะไรมากกว่านั้นครับ

นับจำนวนปริญญาบัตรนี่ ผมว่ามันเป็นไปไม่ได้นะ จำนวนอาคารสถานที่ที่ตั้งชื่อทั้งหลาย ผมคิดว่าอาการเหล่านี้ อย่าลืมนะคือคนทำคือคนอย่างเรา คือชาวบ้าน คือราชการ คือรัฐ นี่เราก็ไม่ได้กำลังวิจารณ์เจ้าเลย ผมพูดถึง Hyper Royalsim ไม่ได้พูดถึงเจ้าพระองค์ไหน แต่เป็น Ism เป็นลัทธิ ที่อยู่ในสังคมไทย

Hyperbolic คือทำให้กลายเป็น คุณนึกเองแล้วกัน ซึ่ง Royalism โดยปกติโดยไม่จำเป็น แต่นี่คือ Hyperbolic คือ Hyper Royalism นะครับ

แล้วก็อันที่สี่ ก็คือว่า Hyper Royalism ต้องมี Public เกี่ยวข้อง ที่ผมพูดถึงนี่คือความหมายกว้าง ราชการ หน่วยงานรัฐ ไม่ใช่เจ้าทำเอง อาจจะมีบางอย่างเจ้าทำเอง มีบางอย่างที่ไม่ใช่เจ้าทำ ไม่ใช่เจ้าริเริ่มด้วยซ้ำไป เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม ผมไม่ได้กำลังบอกว่าเป็นความตั้งใจ เจตจำนงภายในของเจ้าพระองค์ไหน เพราะฉะนั้นการที่ Public Participate ก็คือว่าไม่ใช่รัฐ แต่คนที่เป็นราชายิ่งกว่าราชาเองนี่เต็มบ้านเต็มเมืองกันไปหมด คำของอาจารย์กิตติศักดิ์ (ปรกติ) ใช่ไหมครับ วันก่อนพูดในรายการตอบโจทย์

คุณดูหนังสือต่างๆ ที่อยู่บนแผงสิ จะบอกว่าหนังสือบนแผงเกิดจากเจ้าสั่งให้เขียน ... ไม่ใช่ เขียนกันเองหาเงิน หาหน้า หาเหรียญตรา ภาวะเว่อร์อย่างนี้แต่ก่อนไม่เกิดนะฮะ 20-30-40 ปีมานี้เกิด

การที่ Public จะ Participate ได้นี้ เพราะ Royalism ถูก Commercialized ปรากฏการณ์นี้จึงไม่เกิดในยุคของ Royalism ในยุคที่เกิดทุนนิยมหรือการเป็นการค้าไม่สูงเหมือนปัจจุบัน มันเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันเพราะมันถูก Commodified การ Engage ของ Public ได้จึงเกิดขึ้นจากการที่มันมีช่องให้เข้าไปร่วมได้ในการผลิตที่กลายเป็นสินค้า กับสองคือ สื่อมวลชน คุณโปรดสังเกตว่า การเกิดเติบโตของ Royalism และอย่างหนักเลย ควบคู่ ผมไม่ได้บอกว่าเป็นเพราะนะ แต่มันมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขยายตัวของทีวี

Hyper Royalism เติบโตไปคู่ขนานไปกับการเปลี่ยนแปลงของระบบโทรคมนาคมการสื่อสารฝ่ายเดียว ที่สำคัญจึงได้แก่ ทีวี

ผมยังไม่กล้าคิดถึงอินเตอร์เน็ตไม่ใช่เพราะกลัว แต่ขอคิดอีกหน่อยมันยังมีอะไรหลายๆ อย่างต้องคิด แต่ทีวีนี่ชัดเจนเหมาะสมอย่างยิ่งแก่การขยายตัวของ Hyper Royalism เพราะมันทั่วถึงบ้าน เห็นภาพ สมจริงและข้างเดียว ถ้าขาดคุณสมบัติเหล่านี้ มันไม่เกิด Effectiveness มันไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ทั่วถึง ไม่ข้างเดียว ต้องทั่วถึง สมจริงด้วย และข้างเดียว ใช่ไหมครับ ถ้าไม่เห็นภาพไม่สมจริงจะทำให้เกิดจินตนาการลำบาก “ทั่วถึง สมจริง ข้างเดียว” ทีวีจึงมีความสำคัญมากในช่วงการขยายตัวของ Hyper Royalism ในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา

ประการสุดท้ายของ Hyper Royalsim ก็คือว่า แต่ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาสี่ประการข้างต้นนั้น ต้องไปควบคู่กับการปราบปรามคนที่ไม่เห็นด้วยอย่างหนัก

ผลของมันคืออะไร ผลของที่กล่าวมาทั้งหมด “สภาวะยกเว้น” “Defamation Regime” “Hyper Royalism” ในความเห็นของผมเกิดระบอบทางสังคม การเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ที่ปกครองด้วยอุดมการณ์ ปลูกฝังยัดเยียดหรือบังคับอุดมการณ์ และการ Control ทางความคิด แต่ในสังคมไทยไม่ใช่ เผด็จการสุดกู่อย่างพม่า อย่างเกาหลีเหนือ เอาแล้วสิ แล้วมันเวิร์คอย่างไร ตรงนี้ผมเองก็ฝากให้คิด

ผมไม่ได้ไม่กล้ายืนยันสิ่งที่ผมเสนอที่บอกแล้วว่าผมคิดมานาน สุดท้ายผมก็ต้องคิดต่อ ไม่ใช่ว่าผมมีข้อสรุป

ประเด็นตรงนี้ก็คือว่า ผมตั้งคำถามกับตัวเองมานาน หลายเรื่อง อีกเรื่องที่จะตั้งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็คือว่า ขออภัยนะถ้าสิ่งที่ผมพูดต่อไปนี้ ฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่าน่าเกลียดมาก สเกลหรือขนาดของการฆ่ากันในสังคมไทย ไม่ใหญ่

ก่อนอื่นต้องขออภัยเพราะผมคิดว่า หนึ่งคนก็ใหญ่พอแล้ว แต่เราก็กำลังจะพูดถึงในทางที่เราจะถอยตัวห่างออกมาหน่อยเทียบกับอีกหลายสังคม สเกลการฆ่ากันในสังคมไทย ไม่ใหญ่ ขอย้ำนะครับ หนึ่งคนก็มากเกินไปแล้ว เรากำลังพูดถึงการทำงานในสังคมอย่างไรถึงต้องใช้การฆ่ามาก ไม่มากนี้ ผมคิดว่าสังคมไทยการคอนโทรลด้านหลักไม่ใช่การฆ่า ผมคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ A rule by ideology and thought control หรืออยากจะบอกว่า พูดในประสาคนรักเจ้าคือ “ควบคุมด้วยความจงรักภักดี” เพราะฉะนั้นถ้าคุณทำให้คนจงรักภักดี แล้วคุณคอนโทรลไม่ให้คนไม่จงรักภักดีคุณก็ไม่ต้องฆ่า ถ้าคุณยอมทำให้คนยอมสยบต่ออำนาจรัฐ และไม่ล่วงละเมิดและคิดกบฏต่ออำนาจรัฐ คุณก็ไม่ต้องฆ่า

เหตุที่เรามีการฆ่ากันน้อย โดยเปรียบเทียบ หนึ่งคนก็มากแล้ว แต่ถ้าเทียบกับหลายที่ สเกลเราไม่ใหญ่ มีหลายปัจจัย ผมไม่ได้บอกว่านี่มีปัจจัยเดียวนะฮะ ผมจะพูดถึงอีกเรื่องหนึ่งว่ามีปัจจัยอะไรบ้างแต่ไม่ใช่ที่นี่ แต่ปัจจัยหนึ่งผมคิดว่าด้านหลักของการคอนโทรลเราใช้ Thought control เราใช้ Ideology

สิ่งที่เขาทำก็ถือว่าฉลาดด้วยนะ ซับซ้อนมาก ไม่คอนโทรลทุกเรื่องแต่คอนโทรลจาก ... จุดนี้เป็นจุดที่ผมฝากไว้ ผมอาจจะผิดแต่ผมคิดว่าน่าจะถูกเยอะแล้วแต่ว่าต้องการการศึกษา ต้องการคนที่ช่วย ... ก็คือ คอนโทรลในเรื่องที่กระทบต่อเรื่อง Social Order ระเบียบทางสังคมสำคัญๆ จำนวนหนึ่ง

เวลาพูดเรื่องนี้คุณอาจจะคิดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ ใช่แน่นอนฮะ แต่มีอย่างอื่นด้วย ยกตัวอย่างเช่นเรื่องอะไรมีเรื่องเกี่ยวกับ “รัฐ” ไง “อำนาจของรัฐ” การที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐได้ขนาดไหน ไปจนถึงเรื่องที่เราพูดยกตัวอย่างเมื่อกี้เป็นเรื่องตลกๆ การพูดว่าพระเล่นกีตาร์ได้หรือไม่ หมอมีความรู้สึกทางเพศได้หรือไม่ คุณอาจจะนึกไม่ถึง แต่ผมว่าจุดนี้เป็นจุดที่จะคุณต้องคิด จะอธิบายแค่ไหนว่าบางเรื่องเขาไม่ต้องคอนโทรล เขาปล่อย บางเรื่องต้องคอนโทรลว่าไม่ให้ละเมิด มันไม่ใช่สักแต่เพียงว่า (คอนโทรล) เรื่องผู้มีอำนาจอย่างเดียว ผมคิดว่าไม่ง่ายแค่นั้น แต่ตรงนี้ผมขอทิ้งไว้ว่าขอเก็บไปคิดอีกทีว่าจะอธิบายอย่างไรว่าเรื่องบางเรื่องที่ดูเล็กก็ถูกคอนโทรล

ยกตัวอย่างเช่นความรู้ทางประวัติศาสตร์ “เขาคอนโทรลแต่ไม่คอนโทรล” ผมจึงพูดได้แต่ไม่ทีทางไปปรากฏในหนังสือเรียน ใช่ไหมฮะ แค่นี้ตัวอย่างให้เห็นเลยว่ามันไม่ได้ง่ายเพียงแค่ว่า “ห้าม” กับ “ให้” แต่อะไร “ห้าม” อะไร “ให้” นี้ อธิบายอย่างไรว่าแค่ไหน “ห้าม” แค่ไหน “ให้” เรื่องเหล่านี้ผมขอทิ้งไว้ทั้งหมดว่า ผมขอค่อยๆ คิด แต่จะพยายามอธิบายว่า นี่คือจุดที่ผมคิดว่า (เดวิด) สเตร็คฟัส ไปไม่ถึงแล้วผมอยากจะเห็น เพราะว่าถ้าจะมีใครคิดถึงเรื่องนี้ได้นี่ เขาน่าจะเป็นคนหนึ่งที่คิดถึงเรื่องพวกนี้ได้ เพราะเขามีฐานการเข้าใจเรื่องการจัดการ Truth มาอย่างไร

“Defamation Regime” จึงไม่คอนโทรลทุกเรื่อง ไม่คอนโทรลทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เกาหลีเหนือ ไม่ใช่ในพม่า ไม่ใช่ในนาซี และไม่ใช่ 1984 ของ Orwell (George Orwell) ต่างกันนะแต่เดี๋ยวจะบอกมีเรื่องหลายอย่างที่กลับร่วมกัน

ตรงนี้ผมก็เอาแค่ว่าผมไม่รู้หรอกว่าอะไรคือ “คอนโทรล”/“ไม่คอนโทรล” ทิ้งไว้แค่นี้นะ

ผมจะอธิบายต่อไปว่า เดวิด สเตร็คฟัส (David Streckfus) อธิบายการคอนโทรลในตัวอย่างสามอัน ซึ่งเขาใช้วิธียกตัวอย่าง สุดท้ายสามารถจะสร้าง Pattern สรุป Pattern ได้ไหมว่า “คอนโทรล” อะไร “ไม่คอนโทรล” อะไร เขายกตัวอย่าง 3 เรื่องนะครับ ก็คือข่าว ฟิล์ม ประวัติศาสตร์ ดูบทที่ 12 การจัดการกับ Truth ที่อยู่ในข่าว Information และ News ที่อยู่ใน Art, Film ที่อยู่ใน History โดยเขาใช้วิธีอธิบายว่าทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ แต่แน่นอนเขายังไม่ได้สรุปกฎเกณฑ์ออกมา ผมถึงบอกว่าถ้ามีใครจะพออธิบายเรื่องนี้ได้คนที่ใกล้หน่อยก็น่าจะเป็นสเตร็คฟัส แต่ผมคิดว่าเรื่องอย่างนี้ต่อให้สเตร็คฟัส คนเดียวคงไม่พอ คงต้องมีคนช่วย

เพราะฉะนั้น ภาพใหญ่ของระบบที่ปกครองด้วย Thought Control นี่มี 2 ด้าน ด้านหนึ่ง Ideological Indoctrination คือการปลูกฝังทางอุดมการณ์ และด้านที่สองคือการใช้ Social Sanction ภาษาไทยเขาแปลว่าการใช้การจัดการควบคุมทางสังคม ซึ่งในกรณี Social นี้ผมรวมถึงอำนาจรัฐด้วย คือในแง่หนึ่ง Positive บอกว่าอะไรควรทำ อีกด้านหนึ่งบอกว่าอะไรอย่าทำ ใช้ทั้ง 2 อย่าง

 

000

ผลคืออะไร? ในความเห็นของผม ผลคือต่อไปนี้ครับ

หนึ่ง สังคมไทยปัจจุบันในความเห็นผมเป็นสังคมที่เหลือเชื่อในเรื่องความตอแหล

อันนี้อย่างซีเรียสนะ ผมคิดอยู่นานคำว่า ... ผมรู้จักคำว่าตอแหลอย่างที่พูดกัน แล้วผมคิดถึงคำนี้ในภาษาอังกฤษ แล้วสุดท้ายผมมานึกว่าคำภาษาอังกฤษคำนี้เผลอๆ คำที่น่าจะอธิบายตัวนี้ดีที่สุดคือตอแหล ภาษาอังกฤษคือคำว่า “Suffocating Hypocrisy” หน้าไหว้หลังหลอกแบบจนโอ้ย ... เหลือเชื่อ

คือ คุณเจอคนหน้าไหว้หลังหลอกเต็มสังคมไปหมด ผมไม่พูดถึง ... พวกเราด้วยหน้าไหว้หลังหลอกหมด ผมไม่ได้กำลังพูดถึง “เจตนาภายใน” ไม่ได้กำลังพูดถึงนิสัย ผมกำลังพูดถึงปรากฏการณ์ทางสังคม Defamation Regime, Thought Control การบังคับที่บอกอะไรพูดได้พูดไม่ได้ ทำให้เราทุกคนจะอยู่รอดได้ต้องช่วยกันตอแหล ไม่ตอแหลอยู่ไม่ได้

ความตอแหลเป็นความจำเป็น เป็นเอกลักษณ์ไทย เพราะสังคมมันเป็นอย่างนี้ไง เพราะฉะนั้นผมพยายามที่จะย้ำคือไม่ได้บอกว่าพวกเรานิสัยเป็นอย่างไร นิสัยส่วนตัวคุณตอแหลมากน้อยผมไม่เกี่ยว ผมพูดถึงการใช้ชีวิตทางสังคมต้องตอแหล Suffocating Hypocrisy คือ หน้าไหว้หลังหลอก Suffocating แปลว่า “อึดอัดจนหายใจไม่ออก” ในความหมายนี้ก็คือ “มันตอแหลเสียจนน่าอึดอัด” แล้วเราจะไม่ตอแหลก็ไม่ได้

ทุกคนช่วยกันตอแหล ทุกคนรู้ว่าคนอื่นตอแหล ทุกคนเชิดชูการตอแหล ไม่ลงโทษ ไม่ห้ามปราม ไม่บอกว่าการตอแหลเป็นเรื่องที่ไม่สมควรทำ เชิดชูกันเข้าไป ตั้งแต่บนสุดจนถึงล่างสุด ตอแหลหมด นี่คือปรากฏการณ์ของ Defamation Regime ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ขอย้ำเป็นครั้งที่ 3-4 เพราะไม่ตอแหลอยู่ไม่ได้ เราทำให้ประชาชนคนไทยทุกคนเรียนรู้ที่จะต้องรู้จักหน้าไหว้หลังหลอก ปากอย่างใจอย่าง ปากว่าตาขยิบ คุณใส่เข้ามาให้หมด

ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นะ คุณจะเห็นว่าหลายเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจคุณต้องตอแหล ใช่ไหมครับ ในชีวิตประจำวันของเรานี่ต้องรู้จักตอแหล หลายเรื่องมาก

ถ้ากลับไปถึงเรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ผมขอพูดต่อหน้ากล้องนี้ด้วย เพราะผมไม่ได้กำลังว่าอะไรเจ้าเลย ผมอยากถามคนที่รักเจ้าทั้งหลาย จริงหรือไม่ว่าพวกคุณนี่นินทาเจ้านี่บ่อยมาก? คนที่บอกว่ารักเจ้าทั้งหลายมีใครกล้ายกมือไหมว่าพวกคุณไม่เคยนินทาเจ้าเลย? การที่คุณนินทาเจ้า ผมพูดต่อหน้ากล้องเผื่อคนที่รักเจ้าฟังอยู่นะครับ การพูดลับหลังนินทาเจ้าบางคนอย่างหนักนี่นะ พวกนิยมเจ้าจำนวนมากซุบซิบเป็นว่าเล่น เพราะเชียร์เจ้าคนนั้นไม่ชอบเจ้าคนนี้ แล้วพวกคุณยังออกมาตอแหล เทิดทูน ฟ้องคนอื่นเขา

และนี่คือปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ทั่วสังคมไทย ผมอยากถามคุณทหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย พวกคุณไม่เคยนินทาเจ้าหรือครับ? ผมอยากถามท่านผู้พิพากษาทั้งหลายว่าคุณเคยนินทาเจ้าไหมครับ? เวลาคุณนินทานี่สิ่งที่คุณพูดกันเองส่วนตัวนี่พูดกับภรรยา-สามีคุณนี่คุณคิดว่ามันกระทบกระเทือนความรู้สึกคนไทยทั่วประเทศไหม?

หรือเอาเข้าจริงถ้าการนินทาเจ้าบางพระองค์เป็นการกระทบความรู้สึก การนินทาเจ้าบางพระองค์ไม่กระทบความรู้สึก? ใช่หรือเปล่าครับ? ถ้าอย่างนั้นนี่ บรรดาคนรักเจ้าทั้งหลายกรุณาคิดดีๆ นะ คิดให้ดีก่อนที่จะไปเล่นงานคนอื่น ก่อนที่จะไปเรียกร้องความรักเจ้าแบบ Hyper อย่างที่ทำกันอยู่ในสังคมไทย มันน่าอายไหมที่พวกคุณก็ทำในสิ่งที่คุณกำลังลงโทษคนอื่น? มันแฟร์ไหมที่พวกคุณก็ทำในสิ่งที่คุณกำลังลงโทษคนอื่น? เมื่อคนเขาต้องการพูดออกมาไม่ว่า ... บางคนเขาไม่ได้ทำด้วยซ้ำไป หรือบางคนเขาพูดมาจากสิ่งที่เขาคิดคุณก็ลงโทษเขา เพื่อยืนยันว่าสังคมไทยต้องตอแหลอย่างพวกคุณถึงจะได้ดิบได้ดี ใครจะบอกว่านั่นเป็นความผิดหรือไม่ผิดนั้นตามแต่จะตัดสินกันไป สำหรับผมตอบในแง่อย่างน้อยที่สุดมันไม่แฟร์

ข้อสอง ผลของสังคมนี้คืออะไร? Self-denial คือการหลอกตัวเอง หลงตัวเอง ผมดูคำอธิบายที่ออกมา 2-3 วันนี้เกี่ยวกับกรณีอากงนี่ เมื่อคืนผมดูรายการทีวีรายการหนึ่งของผู้นำกลุ่มคนอะไรที่ไปประท้วงหน้าสถานทูต (ผู้ฟัง – หมอตุลย์) ไม่ใช่หมอตุลย์ (ผู้ฟัง – สยามสามัคคี) กลุ่มนั้นแหละครับ...

ผมจำไม่ได้ชื่ออะไรผมดูรายการ เขาอธิบายว่าทำไมกฎหมายหมิ่นถึงจำเป็นอะไรต่ออะไร ผมนั่งนึก คืออันนี้ผมไม่ยืนยัน แต่ว่าเป็นข้อสังเกตแล้วกัน ผมเชื่อว่าคำอธิบายของเขาฟังได้เฉพาะในประเทศไทยแค่นั้นคือมีคนไทยจำนวนมากที่ยินดีจะคิดเท่าที่คุณคิด คุณไปอธิบายให้คนที่พอมีการศึกษาที่อื่นฟังนี่เขารู้สึกมันไม่ Make Sense แม้กระทั่งสิ่งที่คุณอานันท์พูดบ่อยๆ “สังคมไทยมีลักษณะพิเศษๆๆ” ปัญหาของคำพูดแบบนั้นไม่ใช่ว่าผิดนะ ปัญหาคือการพูดแบบนั้นมันไม่มีทางผิด ในทางปรัชญาการพูดอะไรที่ไม่มีทางผิดนี่เขาถือว่าไม่มีความหมายอะไรเลย

คุณไปถามพวก Logical positivism ดูสิ การพูดอะไรที่ไม่มีทางผิดนี่แปลว่าไม่มีความหมายอะไรเลย คำพูดนั้นไม่มีความหมายอะไรเลย ผมพูดว่าคนทุกคนต่างกันนี่ก็ไม่มีความหมาย ใช่ไหมครับ? มันก็ธรรมดา พูดทำไม? เว้นแต่ผมจะพูดต่อว่าต่างกันแล้วอย่างไรอีก

เราอยู่ในสังคมที่หลงตัวเอง คับแคบ Self-denial คือมีโน่นมีนี่มีปัญหาเต็มไปหมด มีพระที่เล่นกีตาร์ เราก็บอก “ไม่ พระไม่เล่นกีตาร์” ตำรวจคอรัปชั่นมีเท่าไหร่ผมไม่ทราบ แต่จำเป็นไหมที่กรมตำรวจต้องออกมาบอกว่าตำรวจไทยไม่คอรัปชั่น ทำไมคุณอานันท์ถึงต้องออกมาพูดแล้วพูดอีก? แล้วคนรักเจ้าอีกจำนวนมากออกมาพูดแล้วพูดอีกว่าสถาบันกษัตริย์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

พวกนี้คือ “ปรากฏการณ์หลอกตัวเอง” หลอกตัวเอง ผมหมายความว่าเขารู้นะ คุณคิดว่าตำรวจไม่รู้หรือว่าตำรวจคอรัปชั่น? คุณคิดว่าคนไทยไม่รู้หรือว่าพระก็มีดี มีไม่ดีเยอะแยะไปหมด? มีเล่นกีตาร์มีโน่นมีนี่เต็มไปหมด รู้ ... คนเหล่านั้น กองเซนเซอร์ หรือว่า คนดูเขาไม่ใช่คนโง่ รู้พอกัน แต่ทำไมจึงต้องพูดอย่างนั้น เพราะเขาถือความจริงคนละชุด แล้วตั้งใจตอแหลไปถึงความจริงอย่างนั้นเพื่อที่ตัวเองจะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาที่มีอยู่แล้วเพื่อเผชิญความจริงอีกแบบหนึ่ง แล้วบอกว่าจะจัดการอย่างไร หลอกตัวเองกันไป

สังคมไทยอยู่ในภาวะหลอกตัวเองอย่างน่ากลัวมาก การหลอกตัวเองที่สำคัญที่สุดก็คือคนที่ชอบถามว่าเอาเจ้าหรือไม่ คนทั้งหลายที่ถามคำถามเหล่านั้น ... ผมยกคุณภิญโญ (ไตรสุริยธรรมา) ไว้คน เพราะผมคิดว่าภิญโญเขาไปเอาจากคนอื่นถามเหมือนกันนะ แต่ถ้าภิญโญจะรับผมก็ไม่ว่าอะไรนะ คนเหล่านั้นถามตัวเองก่อนว่าตัวเองเอาเจ้าหรือไม่ แล้วถามต่อไปด้วยนะ ... เดี๋ยวถ้ามีโอกาสผมจะพูดเรื่องนี้แล้วกัน ถามต่อไปด้วยนะ เอาเจ้าคุณแปลว่าอะไร ก่อนที่จะไปถามคนอื่นเขา ถามตัวเองก่อนนะว่าการเอาเจ้าของคุณตอแหลหรือไม่ ถ้าคุณยังตอแหลคุณไม่มีสิทธิ์ไปถามคนอื่น เพราะถ้าคุณถามคนอื่น ย่อมชอบธรรมอย่างยิ่งที่คนอื่นจะตอแหลกลับมา

สาม ผลของมันคือในเรื่องที่ถูกควบคุม หมายถึงในปริมณฑลที่เกิดการถูกควบคุมนี้ คนในสังคมไทยจะขยายต่อไปจากการตอแหล เพราะตอแหลฟังดูเหมือนการด่าที่นิสัย ผมไม่ได้พูดถึงนิสัยผมพูดถึงพฤติกรรม คราวนี้เป็นเรื่องที่เรียกพฤติกรรมก็ได้แต่เป็นขององค์กร ของสถาบันทางสังคม ก็คือเรื่อง Self censored ผลของมันคือ Self Censorship ระบาดทั่วสังคมไทย

วงการสื่อมวลชนไทยทั้ง Print ทั้งทีวี ใช้คำว่าน่าผิดหวังยังน้อยเกินไปมาก ถ้าใช้คำว่า “ทรยศต่อวิชาชีพ” น่าจะใกล้เคียง พวกเขาทรยศต่อวิชาชีพกันเต็มไปหมด เพราะอะไร ทำไมจึงต้อง Self Censored คือนอกจากตอแหล ในกรณีของ Self Censored ... เพราะความกลัว ตรงนี้ผมไม่ด่ากัน พูดง่ายๆ การทรยศต่อวิชาชีพผมรับไม่ได้ มันต้องหาวิธีสู้ พวกเขาก็ไม่สู้ แต่การที่คนในสังคมกลัวเต็มไปหมด ความกลัวเราว่ากันไม่ได้ สังคมไทยอยู่ด้วยการตัว แค่ไหนจะข้ามเส้นไม่ข้ามเส้น

สี่ ลักษณะตอแหล หลอกตัวเอง หลงตัวเอง Self censored เหล่าคือ ประการสุดท้าย ที่ช่วยให้มันกลายเป็นระบบระเบียบอย่างชัดเจน คือ กระบวนการยุติธรรม

กระบวนการคำตัดสินหลายอย่าง สถาปนาให้เราเห็นว่าแค่ไหนเราพูดได้ พูดไม่ได้ แล้วคุณก็รู้อยู่ว่าคำตัดสินที่เกิดขึ้นจำนวนไม่น้อยมันยุติธรรมมากหรือน้อยแค่ไหน แต่เมื่อมันเกิดขึ้นปุ๊บ มันได้ขีดเส้น ให้เรารู้ว่าแค่ไหนควรจะกลัว ไม่กลัว ละเมิด ไม่ละเมิด

 

000

คุณลักษณะของ Hyper Royalism ที่กล่าวมาทั้งหมดยกเว้นการตอแหล มีอยู่ในหนังสือเล่มนี้ (1984) แล้วเดี๋ยวผมจะอธิบายว่าทำไม (George) Orwell พลาด ว่าไม่สามารถคาดการณ์ถึงเรื่องการตอแหลได้ ผมคิดว่ามีคำอธิบาย

เราอาจจะหัวเราะว่าเวลาเราบอกว่าไทยเราคล้ายพม่าหรือเกาหลีเหนือ เรามีข้อแตกต่างมากมายสาธยายไม่หมด แต่บางคนบอกว่าเกาหลีเหนือคือรูปธรรมที่เป็นชีวิตจริงของ 1984 ผมไม่อธิบายว่า 1984 คืออะไรนะ คิดว่าพอเข้าใจนะ พูดถึงสังคม Totalitarian ประการสำคัญ ที่ผมว่ามันคล้ายคือ สังคมที่ถูกอธิบายในหนังสือเล่มนี้อาศัย Thought Control

แน่นอนพอเป็นนิยาย หนังสือเล่มนี้อธิบายหลายอย่างจนเว่อร์ อันนั้นก็ว่าไป ถ้าใครจะมานั่งเทียบว่าไทยไม่เหมือน 1984 ผมก็จะหัวเราะ ก็ใครบอกว่าเหมือนหรือ ผมบอกว่าเราสามารถเข้าใจสังคมไทยได้โดยพยายามคิดออกไปจากหนังสือเล่มนี้ แล้วเราจะเข้าใจได้หลายๆ อย่าง ไม่มีทางที่ Degree จะขนาดนั้น มนุษย์เราไม่มีทางควบคุมได้ขนาดนั้น แม้คุณบอกว่าเกาหลีเหนือทำได้ ผมยังไม่แน่ใจ แต่ช่างมันผมไม่รู้จักเกาหลีเหนือขนาดนั้น

ประเด็นที่น่าสนใจกว่ากลับอยู่ตรงนี้ครับ ผมอยากจะเรียกว่า ของไทย ผมอยากจะเรียกเป็น“1984 แบบไทยๆ” นั่นหมายถึงว่า หลายๆ อย่างไม่เหมือนนะ ตัวอย่างที่ไม่เหมือนก็คือเราไม่มี Big Brother แต่เราเป็น 1984 ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

Orwell โชคร้าย ไม่เคยเกิดมาในสังคมที่มีพระมหากษัตริย์ ใช่ไหมฮะ รู้จักแต่ Big Brother รู้จักแต่ O’Brien สังคมไทยโชคดีกว่า ... ตรงนี้ผมกำลังประชด ใช่

อย่างน้อยที่สุดใน 1984 ไม่เคยเลยที่ประชาชนจะซาบซึ้งกับ O’Brien ไม่มี 1984 ใช้แต่พระเดช ใช้แต่อำนาจ กดปราบ แต่โปรดสังเกตว่า 1984 ก็ไม่ฆ่า เดี๋ยวจะกลับมาประเด็นนี้

1984 มีหลายอย่างที่ผมคิดว่าน่าตกใจมากเวลาอ่านถึงและเหมือนสังคมไทยเลยถ้าจะคิดหน่อย ยกตัวอย่างเช่นเขามี Ministry of Truth ที่ชาวบ้านเรียกชื่อย่อว่า “Minitrue” คุณลองนึกดูว่าถ้า Ministry of Information แล้วคุณเรียกย่อว่า MiniInfo ใช่ไหม แล้วสิ่งที่เขาทำคือ MiniInfo จริงๆ MiniInfo, MiniCommunication, MiniTechnology

อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ผมสารภาพว่า ผมอ่านผมไม่เข้าใจ จะภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยอะไรก็เถอะ 1984 เขาบอกว่า “สงครามคือสันติภาพ” คือสังคมนั้นนะครับ สังคมที่อยู่ภายใต้ Big Brother “สงครามคือสันติภาพ” “เสรีภาพคือความเป็นทาส” “อวิชชาคือกำลัง” ผมเอาอย่างเดียว “เสรีภาพคือความเป็นทาส” ... “อวิชชาคือกำลัง” ผมพอเข้าใจ “สงครามคือสันติภาพ” ผมไม่ค่อยแน่ใจ คิดไม่ค่อยออก

แต่พอผมคิดถึงคำว่า “เสรีภาพคือความเป็นทาส” ผมไม่เคยเข้าใจ จนกระทั่งผมคิดถึงสังคมไทยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ นี่คือคำอธิบายที่บอกว่า สังคมไทยเป็น 1984 ประเทศไทย คุณลองคิดอย่างนี้นะ

เวลาคุณวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็แล้วแต่ วิจารณ์พวกนิยมเจ้า วิจารณ์ 112 คุณจำได้ไหม จะมีปรากฏการณ์ Feedback มี Reaction หนึ่งประจำ เช่น “ถ้าคุณไม่ไปทำ ก็ไม่เห็นเดือดร้อนอย่างนั้นเลย” ใช่ไหมฮะ “ถ้าคุณไม่เป็นอย่างนั้น ไม่คิดอย่างนั้น ก็อยู่ประเทศนี้ได้” “ถ้าคุณไม่อยากอยู่ ถ้าคุณยังคิด ก็ออกไปอยู่ประเทศอื่นซะ”

โปรดสังเกตนะครับว่า ผมเข้าใจความหมายคืออะไร ถ้าคุณแสวงหาเสรีภาพ คุณตาสว่าง ปรากฏการณ์คือคุณอึดอัดกับชีวิตคุณไม่รู้ว่าจะพูดได้แค่ไหน ต้องกลัวการถูกปราบปรามไล่ล่า หลบๆ ซ่อนๆ สมัยก่อนเข้าใต้ดิน เข้าป่า ถูกเข้าคุก ถ้าคุณคิดมาก ออกจากข้อจำกัด อยากมีเสรีภาพทางความคิด ชีวิตคุณไม่เป็นสุขในความหมายว่าคุณว่าจะถูกไล่ล่า ไม่มีเสรีภาพ

แต่ถ้าคุณยอมตาบอดต่อไป อย่าคิดมาก อย่าแสวงหาเสรีภาพ อย่าสู้ อย่าพยายามมี Individualism อย่าพยายามมีปัจเจกภาพ ยอมเป็นเฟืองตัวเล็กๆ ที่สามัคคีกันทำตามหน้าที่ตัวเองดีที่สุด คิดถึงองค์รวมให้มาก ลดความขัดแย้ง เกิดบูรณาการ ถ้าเป็นอย่างนี้คุณสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติอย่างไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ไม่ต้องระวังตัว ไม่ต้องกลัวว่าจะพูดข้ามเส้น ไม่ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่ต้องเสี่ยงตำรวจ คุณมีเสรีภาพเต็มเปี่ยมที่จะดำเนินชีวิตปกติ

เห็นไหมครับ เสรีภาพคือการเป็นทาส การเป็นทาสต่างหากคือเสรีภาพ ผมไม่เคยเข้าใจประโยคนี้เลย จนกระทั่งผมมานั่งนึก ใช่ สังคมไทยแบบนี้ไง คนจำนวนมากจึงมีเสรีภาพ คนจำนวนน้อยต่างหากล่ะที่บ้า กระเสือกกระสน อยากจะมีเสรีภาพ แล้วไง ผลที่ได้คือการเป็นทาส

1984 มีอีกหลายอย่าง เช่น ลักษณะพิเศษของ 1984 คือ O’Brien มีความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างเป็นเอกลักษณ์มีไม่มีใครเหมือน Big Brothers ขณะนั้นยังลงมาคุยกับ Winston กับ Julia

อันนี้ก็มีใครพูดเป็นประจำนะว่า “สังคมไทยมีความสัมพันธ์ที่พิเศษ” ผมว่า 1984 ก็พิเศษเหมือนกันล่ะ อาจจะพิเศษคนละอย่าง แต่พิเศษเหมือนกัน Winston เป็นประชาชนธรรมดาสามัญที่เกิดอาการตาสว่างแล้วตั้งคำถาม ถึงที่สุดในกรณี 1984 จึงเกิดกรณีความเป็นปัจเจก พฤติกรรมการเป็นปัจเจกที่ง่ายที่สุดก็คือ Sex ที่ไม่ต้องการถูกคอนโทรลด้วย Big Brother

ผมเคยคิดมาตลอดว่าถ้า O’Brien ตาย 1984 จะมีรัชทายาทไหม แล้ว Big Brother จะอยู่ด้วยไหม นี่ผมไม่ได้พูดเล่นนะ ผมรู้ว่าเป็นนิยาย ผมตั้งคำถามเพื่อพยายามจะนึกว่า สังคมแบบนั้นมันเวิร์คอย่างไร โอเคผมก็ไม่มีคำตอบ เพราะสุดท้ายก็เป็นนิยาย แต่ว่า กลับกันนะฮะ ผมกลับคิดว่า หรือว่า Orwell กำลังบอกอะไรอยู่ แล้วเราหรือผมยังคิดไม่ถึง จนกระทั่งผมมาเจอกับ 1984 ที่มีชีวิตจริงกับตัวเอง ผมพอบอกได้ว่า Orwell น่าจะมีอยู่ในใจ แต่เขาไม่จำเป็นต้องสาธยายแน่ๆ หมายความว่าอย่างไรฮะ ผมก็คิดถึงนาซี สตาลิน แน่ๆ ระบอบทั้งสองจะอยู่อย่างไร ระบอบทั้งสองจะอยู่ได้ยาวไหม เขาเห็นอยู่ทั้งนาซี ทั้งสตาลิน ให้ยาวแค่ไหนก็ไม่ยาวได้ตลอดไป เขาจะคิดอย่างไรเมื่อเกิดการเปลี่ยน อันนี้ใช่ ผมเลยกลับมาคิดว่าสังคมไทยจะเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ คือการสืบทอดอำนาจในยุคนาซีซึ่งไม่เกิดเพราะนาซีล่ม ในยุคสตาลิน ซึ่งเกิดหลังจาก Orwell ตายไปแล้ว Orwell เลยไม่มีคำตอบพวกนี้

ผมเลยมาคิดถึง 1984 แบบไทยๆ ล่ะ ... คิดเอาเองก็แล้วกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นคำตอบเดียวกัน เพราะว่าอย่าลืมว่าในกรณีของไทย ไม่ได้มี O’Brien หนึ่งคนที่เป็น Big Brother เราเป็น Network เราเป็นกลุ่ม แล้วแต่ละคนไม่บิ๊กขนาดนั้น อาจจะมีบางคนบิ๊ก แต่บางคนไม่บิ๊ก เป็น Network ที่มีอำนาจมากน้อยต่างกันที่ช่วยสอดส่อง และดูแล Control Though ของประชาชนทั่วไป มันไม่เวิร์คเหมือนใน 1984 หรอก

แต่ในทางกลับกัน ผมกลับคิดอีกอย่างว่า สิ่งที่ Orwell อธิบายภาพในหนังสือเล่มนี้ไม่เนี้ยบเลย ไม่ประณีต ไม่เนี้ยบ ไม่ซับซ้อนOrwell ไม่เคยเจอสังคม 1984 ที่เป็นจริงนอกไปจากสังคมนาซี Orwell ไม่เคยเจอ 1984 แบบตะวันออก พูดง่ายๆ ว่า สังคมที่ใช้ Thought Control เป็นหลัก มันเวิร์คยังไงในความเป็นจริง Orwell ไม่เคยเจอ

ในกรณีของ 1984 ในสังคมไทย มีคนฉลาดมากมายที่ไม่ได้บิ๊กนัก ทั้งบิ๊กทั้งไม่บิ๊ก บิ๊กระดับพอสมควร ไม่บิ๊กที่สุด พร้อมจะปกปักรักษา 1984 หรือทำตัวเป็นคนสอดส่องพวกเราแทน มีคนพร้อมจะออกหนังสือเพื่อ Whitewash อยู่เป็นประจำ อยู่เต็มไปหมด พวกเขาจึงมีเสรีภาพเต็มที่ที่จะเขียนงานวิจัย พิมพ์หนังสือ ทำตัวฉลาด ทำตัวเป็นผู้รู้ผู้ดีและเฉลิมฉลองไป ในขณะที่คนจำนวนมากทำอย่างนั้นไม่ได้ มีคนอย่างนี้เต็มไปหมด ไม่ใช่ Big Brother เท่านั้น

พวกเขาชอบ อันนี้น่าสนใจนะฮะ คนประเภทนี้ชอบทำตัว Liberal เหมือนกับ O’Brien จำได้ไหมครับ O’Brien ทำตัว Liberal มากเอาเข้าจริงเป็น Big Brother เสียเอง คนพวกนี้มักจะเป็น Liberal ในขณะที่ Julia กับ Winston โดนคุกคามปราบปราม เขาทำตัวเข้ามาเข้าอกเข้าใจ O’Brien ทำตัวเข้าอกเข้าใจ Winston ตลอดเวลา แล้วสุดท้ายอย่างไร เอา Winston เข้าไปทรมาน เขาไม่ฆ่านะ ทรมานจนกระทั่ง Winston ยอมเปลี่ยนพฤติกรรม ภาษาไทยเขาเรียกการกระทำที่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรมว่า “สารภาพ”

 

Winston ยอมสารภาพ Winston จึงสามารถออกจากการถูกจองจำทรมานได้ คุณคิดเอาเองนะ ผมไม่ได้บอกนะ ว่าคุณคิดถึงใคร ผมว่าพวกเราคิดกันอยู่

คุณต้องยอมสารภาพ คุณจึงจะมีเสรีภาพอีกครั้ง เพื่อจะออกมาเป็นทาสตามเดิม ถ้าคุณไม่ยอมสารภาพคุณจะมีเสรีภาพได้ แต่คุณต้องอยู่ในคุก เสรีภาพอยู่ในใจ กับเสรีภาพ Physical มันตรงข้ามกัน อำนาจของ Big Brother หรือ O’Brien อันนี้ในโน้ตผม Big Brother ผมย่อว่า B.B. O’Brien ผมย่อว่า O.B. คือการทำลายความเป็นปัจเจกชน ทำลายความมุ่งมั่นของคนที่จะเป็นกบฏทางปัญญา โปรดสังเกตว่า O’Brien ไม่ฆ่า, 1984 ไม่ฆ่า แต่ทรมานทางใจจนหมดสภาพ สุดท้าย Winston สารภาพและได้ปล่อยออกมา ทั้งที่ Winston ยังคิดถึง Julia และคิดถึง Sex แปลว่าอะไรครับ Winston ต้องตอแหล Winston ต้องเก็บเสรีภาพที่เขามีอยู่ไว้ในใจ Winston หรือพูดกลับกัน Winston อยู่ในสภาวะ Suffocating Mind คือชีวิตจิตใจเขาจะหายใจไม่ออก เขาก็เลยอยู่กับมัน เขาจึงจะได้รับการอภัยโทษ

คุณต้องคุกเข่าก่อน ไม่งั้นคุณไม่มีเสรีภาพ

คุณคิดถึงชื่อหลายๆ คน ที่คุณนึกเอาเองก็แล้วกัน ผมไม่จำเป็นต้องบอก Orwell ไม่รู้จัก 1984 ชนิดนี้ เขาจึงบอกแค่ Winston ออกมา มีฉากตอนท้ายนิดเดียวว่า Winston ยังคิดถึง Julia และคิดถึง Sex อยู่ ผมกลับคิดว่าคนจำนวนมหาศาล Orwell คิดไม่ถึง ทั้งที่ติดคุกไปแล้ว และออกมา เขาไม่ได้เปลี่ยนง่ายๆ และคนอีกตั้งมากมายที่เขายังไม่ติดคุก แต่เขารู้จักตอแหล เขายอมเอาตัวเองไปอยู่ในจองจำของ Suffocating Mind เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกจองจำทาง Physical … Orwell ไม่รู้จักสังคมประเภทนี้ การบังคับและ Control ในกรณี Orwell จึงเป็นไปอย่างเถื่อนๆ ดิบๆ อ่านดูแล้วหลายคนบอกเรื่องนี้ไม่ควรเป็น Classic เลย เถื่อนๆ ดิบๆ ผมเห็นด้วย การใช้ภาษาที่งามกว่า Animal Farm ไม่ใช่เล่มนี้ แต่เรื่องนี้มีอะไรให้คิดอีกแบบหนึ่ง

Orwell ไม่รู้จัก 1984 ที่ประณีต เนียน และมีศิลปะ ไม่รู้จักสังคมที่ A rule by ideology and thought control อันนี้แหละครับคือลักษณะพิเศษของสังคมไทยที่สังคมอื่นเขาไม่เป็นกัน คือเรา Rule ด้วย Ideology และ Thought Control ได้อย่างมีประสิทธิภาพและแนบเนียนมาก ใครคิดว่าเมืองไทยมีลักษณะพิเศษอย่างอื่น ก็แก้มา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” นั่งเลขาธิการ กสทช.

Posted: 21 Dec 2011 06:34 AM PST

การลงคะแนนลับจากคณะกรรมการ กสทช. เลือก ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ รับตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. หลังผู้สมัคร 12 คน มาแสดงวิสัยทัศน์แค่ 8 คน รอตกลงเงื่อนไขสัญญาจ้าง คาดมกราคม 55 รู้ผล

20 ธ.ค.54 - คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประชุมนัดพิเศษ เพื่อคัดเลือกเลขาธิการ กสทช.โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติการคัดเลือกเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ทั้งหมด 8 คน จากผู้สมัคร 12 คน แสดงวิสัยทัศน์และตอบคำถามคนละ 15 นาที ใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง ในการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช.
 
ทั้งนี้ หลังจากรับฟังวิสัยทัศน์เสร็จสิ้น ที่ประชุม กสทช. จึงมีการลงคะแนนลับ โดย กสทช. 11 คน มีสิทธิ์ลงคะแนนได้ 10 คน เพราะประธาน กสทช.ไม่มีสิทธิ์ลงคะแนน เนื่องจากเป็นสายงานที่ต้องกำกับดูแลโดยตรง จากการลงคะแนนผลปรากฏว่านายฐากร ตัณฑสิทธิ์ รักษาการเลขาธิการ กสทช.ได้รับคัดเลือกให้เป็นเลขาธิการ กสทช. คนใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 2 คะแนน ส่วนเงินเดือนขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างนายฐากร กับ กสทช.แต่คาดว่าจะอยู่ในอัตรา 350,000-400,000 บาทต่อเดือน
 
ด้านน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.ในฐานะโฆษก กสทช.กล่าวว่า หลังจากได้รายชื่อเลขาธิการ กสทช.เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป พ.อ.อ.ธเนศ ปุณศรี ประธาน กสทช.จะเรียกนายฐากร มาทำสัญญา โดยเงื่อนไขในการดำรงตำแหน่ง จะมีระยะเวลาการทดลองงาน 6 เดือน และประเมินผลการทำงานทุก 1 ปี คาดว่าจะลงนามในสัญญาจ้างนายฐากร ได้ในเดือนมกราคม 2555
 
ทั้งนี้ หน้าที่หลักของเลขาฯ กสทช. คือ การดูแล และบริหารภายในสำนักงาน กสทช. เช่นในเรื่องการดูแลรายได้ และค่าใช้จ่าย โดยขึ้นตรงกับประธาน กสทช. รวมถึงหน้าที่ในการแถลงข่าวหลังการประชุมบอร์ด กสทช. ในแต่ละครั้ง ซึ่งจะมีระยะเวลาในตำแหน่งวาระละ 5 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัยติดต่อกัน
 
สำหรับ ผู้สมัครเลขาธิการ กสทช. มีทั้งหมด 12 คน แต่ที่ผ่านคุณสมบัติเข้ามาแสดงวิสัยทัศน์มีทั้งหมด 9 คน คือ 1.นายมนูญ์รัตน์ เลิศโกมลสุข 2.นายสุพจน์ เธียรวุฒิ 3.นายประเสริฐ อภิปุญญา 4.นายฐากร ตันฑสิทธิ์ 5.นายอธิคม ฤกษบุตร 6.นางกุลิสรา กฤตวรกาญจน์ 7.นายวันชัย หล่อวัฒนตระกูล 8.นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ 9.นายสมชาติ เจศรีชัย อย่างไรก็ตาม นายวันชัย หล่อวัฒนตระกูล สละสิทธิ์ ทำให้เหลือผู้ที่มาแสดงวิสัยทัศน์เพียง 8 คน
 

ที่มา: สำนักข่าวไทย, ASTV ผู้จัดการออนไลน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อนันตริยกรรม: พุทธศีลธรรมกับการไล่คนออกจากบ้าน

Posted: 21 Dec 2011 04:59 AM PST

อนันตริยกรรมคืออะไร?

อนันตริยกรรม หมายถึง กรรมหนักที่สุด หรือ ครุกรรม ที่ให้ผลต่อผู้กระทำกรรมในทันที ไม่มีระหว่างคั่น ในทางพุทธศาสนามีอยู่ด้วยกัน 5 อย่าง ได้แก่

1.มาตุฆาต - ฆ่ามารดา

2.ปิตุฆาต - ฆ่าบิดา

3.อรหันตฆาต - ฆ่าพระอรหันต์

4.โลหิตุปบาท - ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงขั้นเลือดตกยางออก

5.สังฆเภท - ทำให้ชุมชนสงฆ์แตกแยก

ซึ่งจะว่าไปแล้ว อนันตริยกรรมทั้งห้าข้อเป็นเพียงการขยายความจากข้อประพฤติปฏิบัติโดยทั่วไปของชาวพุทธ ทั้งของพระและฆราวาส กล่าวคือ ละเว้นจากการฆ่า การปองร้ายบุคคลอื่น ทว่าเพิ่มลักษณะการชี้เฉพาะให้เห็นถึงความรุนแรงของผล อันจะเกิดต่อจิตใจของผู้กระทำเองอย่างหนัก หากผู้ถูกกระทำเป็นบุคคลซึ่งผูกพันกับตนในทางสายเลือด (พ่อ-แม่)   และในทางจิตใจอันตื่นรู้และเปิดกว้างของตน (พุทธะ) อย่าง พระอรหันต์ และพระพุทธเจ้า

ส่วนสังฆเภทนั้นเป็นอนันตริยกรรมข้อเดียวที่จัดว่าไม่เป็นสาธารณะ (อสาธารณอนันตริยกรรม) กล่าวคือไม่ถือเป็นข้อปฏิบัติโดยทั่วไป  ภิกษุคือบรรพชิตเท่านั้น จึงจะสามารถกระทำสังฆเภทอนันตริยกรรมในชุมชนสงฆ์ที่ตนอยู่

หลักอนันตริยกรรม แม้จะพูดถึงการกระทำที่ถูกมองว่าร้ายแรงห้าประการในความสัมพันธ์เชิงบุคคล  แต่ก็ไม่ได้กำหนดขึ้นเพื่อแสดงถึง “สถานะความเป็นที่เคารพสักการะ และล่วงละเมิดไม่ได้” ของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ หรือบุพการีผู้ให้กำเนิด “ในทางสังคม” แต่อย่างใด  


การแก้ไขกฏหมายมาตรา ๑๑๒ เป็นอนันตริยกรรม?

 

ในบทความ “ต้องต่อสู้แม้กับอเมริกาและองค์กรสหประชาชาติ” โดย วสิษฐ เดชกุญชร   มีเนื้อความตอนหนึ่งเปรียบข้อเสนอให้แก้ไขกฏหมายอาญามาตรา ๑๑๒ หรือกฏหมายหมิ่นฯ ว่าเป็น “อนันตริยกรรม ที่คนไทยไม่อาจให้อภัยได้”  หากลองวิเคราะห์บทสรุปดังกล่าว อาจพอมองเห็นได้ว่า อนันตริยกรรมในทัศนะของผู้เขียนบทความดังกล่าว ตั้งอยู่บนสมมติฐานดังต่อไปนี้

1. การตีความหลักศีลธรรมทางสังคม รวมถึงหลักกฏหมายที่ถูกต้อง ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักคำสอนทางพุทธศาสนา

2. คำสอนทางพุทธศาสนาเป็นความจริงสูงสุด      

3. นัยของการตีความหลักศีลธรรมทางสังคมผ่านคำสอนทางพุทธศาสนา (ในที่นี้ คือ หลักอนันตริยกรรม)

     3.1 สะท้อนการมองสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นดั่งพ่อและแม่จริงๆ  ในแง่ตัวบุคคลที่ผูกพันกันทางสายเลือด ไม่ใช่ในเชิงสัญลักษณ์ หรือสถาบันทางสังคม

     3.2 สะท้อนการมองว่าการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะและล่วงละเมิดมิได้ เท่ากับกับการฆ่า 

     3.3 สะท้อนการเทิดทูนความบริสุทธิ์และสูงส่งของพระมหากษัตริย์ ดั่งพระอริยเจ้า พระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้า

     3.4  สะท้อนการมองราชอาณาจักรที่ประกอบด้วยคนหลากหลายเชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนา ดั่งชุมชนสงฆ์ และมองกฏหมายเป็นดั่งวินัยสงฆ์ ที่หากใครละเมิด หรือมีความคิดเห็นที่แตกต่าง จะถูกมองว่าทำให้สงฆ์แตกแยก (สังฆเภท) อันถือเป็นอนันตริยกรรมอย่างหนึ่ง

     3.5 สะท้อนการมองอนันตริยกรรม ว่าเป็นเรื่องเดียวกับการละเมิดอาบัติปาราชิกของสงฆ์  ผลคือ “ไม่สามารถให้อภัยได้”  ต้องถูกลงโทษสถานเดียว นั่นคือการถูกขับออกไปจากสังฆมณฑล (ซึ่งในที่นี้คือราชอาณาจักรไทย)

ในทางพุทธศาสนา หลักอนันตริยกรรมเป็นเพียงการชี้ให้เห็นถึงประเภทของกรรม ที่หากกระทำต่อผู้มีความผูกพันใกล้ชิดต่อจิตใจของตน (ในแง่ปัจเจกบุคคล) ย่อมส่งผลเป็นกรรมหนักในทันทีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  อนันตริยกรรมเป็นเพียงการสะท้อน “เหตุและผล” ตามประสบการณ์การลองผิดลองถูกของปุถุชนตามที่เป็นจริง โดยปราศจากนัยของการข่มขู่ การลงโทษ หรือการพิพากษาตัดสินความดี-เลวของบุคคลในทางสังคมเลยแม้แต่น้อย  แตกต่างจากกรณีการบังคับใช้กฏหมายมาตรา ๑๑๒ ในสังคมไทย อันประกอบด้วยนัยดังกล่าวอย่างครบถ้วน

นอกจากนั้นบทความของวสิษฐ ยังเป็นการพยายามนำเอาคำสอนทางศาสนามาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม  ในลักษณะ “ขู่ให้กลัว” โดยเปรียบกลุ่มคนที่ออกมาเสนอให้ทบทวนแก้ไขกฏหมายมาตรา ๑๑๒ ตามวิถีทางประชาธิปไตย ว่ากำลังก่ออนันตริยกรรม  ซึ่งถือเป็นตัวอย่างของการนำคำสอนทางศาสนา  มารับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองแบบราชาชาตินิยมล้นเกิน (Hyper-Royalism) จนทำให้คำสอนทางศาสนากลายส่วนหนึ่งของคำสาปและอาวุธสงครามที่ใช้ปราบปราม ประชาชนที่เห็นต่าง จนพวกเขาถูกประณามว่าเป็น “คนไทยอกตัญญูเนรคุณจำนวนหนึ่งที่กำลังพยายามทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามคำของวสิษฐ  ซึ่งก็ดูจะเป็นประชาชนกลุ่มเดียวกันกับที่ “หากคิดว่ากฏหมายไทยไม่เท่าเทียม ก็ให้ไปอยู่ต่างประเทศ” ตามคำสัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก นั่นเอง

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: ‘Truth’ and ‘Reality’ ในสังคมพุทธเถรวาทไทย

Posted: 21 Dec 2011 04:46 AM PST

 
ผมสนใจประเด็นที่ธงชัย วินิจจะกูล พูดในการเสวนาหัวข้อ "เมื่อความจริง (และนิยาย) โดนดำเนินคดีในประเทศไทยยุคกษัตริย์นิยมล้นเกิน" ที่ร้านหนังสือ Book Re: Public จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา (คลิกอ่านฉบับเต็ม) คือ ประเด็นเรื่อง ‘Truth’ and ‘Reality’ ในสังคมพุทธเถรวาทไทย: บุญบารมี การจัดลำดับชั้น และกระบวนการยุติธรรม
 
ธงชัยกล่าวว่า
 
ผมจะอธิบายประเด็นนี้ให้ง่าย เป็นการจุดประเด็นให้เราคิด พวกเราอยู่ในระบบการศึกษาแบบตะวันตก สัจจะ ความจริงขั้นสุดท้ายในทางฟิสิกส์ หรือวิทยาศาสตร์เรายังไปไม่ถึง การค้นคว้าวิจัยทำให้เรารู้มากขึ้นเพื่อสักวันเราจะได้รู้ถึงที่สุด นักประวัติศาสตร์บอกว่าอดีตมีมาก มีจิ๊กซอว์อยู่เต็มไปหมด เราต้องรู้จิ๊กซอว์ทีละชิ้นเพื่อที่สักวันเราจะต่อจิ๊กซอว์ครบทั้งอัน แต่ในแนวคิดพุทธบอกว่า "สัจจะ" ค้นพบแล้ว "อกาลิโก" ไม่ได้แปลว่ายังอยู่ข้างหน้า แต่แปลว่าอยู่เมื่อ 2,500 ปีก่อน และยัง "อกาลิโก" จนทุกวันนี้ "สัจจะ" เจอนานแล้ว แต่เราทั้งหลายบุญไม่ถึงจึงไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เราทั้งหลายเก่งอย่างไร หรือเป็นศาสตราจารย์หมด คุณก็ยังไม่ถึง Truth อยู่ดี
 
ในภาษาอังกฤษ คำที่เรียกว่า "Truth" not "Reality" เราแปลเป็นไทยว่าสัจจะความเป็นจริง ใน concept พุทธ จะแปลสัจจะทับความเป็นจริง มีการใช้คำมากกว่านั้นคือ คำว่า "ธรรมะ" ซึ่งคำนี้ไม่สามารถแยก"Truth" ออกจาก "Reality" ได้ แต่ "ธรรมะ" มีบุญหรือระดับตามขั้นตามแต่ระดับบุญที่เราจะเข้าถึง ธรรมะมีอันเดียวแต่เราล่วงรู้ธรรมมะได้ในดีกรีที่ต่างกันตามบุญบารมีและความสามารถ แต่ฝรั่งมี "Truth" กับ "Reality" ที่แยกกันและพยายามจะให้คำจำกัดความ
 
ผมคิดว่าคำอธิบายของธงชัยตรงกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “การใช้” พุทธศาสนาเถรวาทในสังคมไทย และผมเห็นด้วยว่านี่คือปัญหาของการใช้พุทธศาสนาที่เราจำเป็นต้องช่วยกันตั้งคำถาม แต่ถ้าถามว่าคำอธิบายนี้ตรงกับคำสอนของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมหรือไม่ อันนี้คือสิ่งที่ผมอยากแลกเปลี่ยน
 
1. การเปรียบเทียบความจริงทางศาสนากับความจริงทางวิทยาศาสตร์เพื่อสรุปว่าอันไหนน่ายอมรับมากกว่า ผมว่าอาจเป็นการเปรียบเทียบแบบ “ผิดฝาผิดตัว” หรืออาจเป็นการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบที่เป็น fallacy ได้ง่ายๆ เนื่องจากความจริงทางศาสนา กับความจริงทางวิทยาศาสตร์มีขอบเขตและความมุ่งหมายที่แตกต่างกันใน “สาระสำคัญ” อยู่มาก
 
เช่น ศาสนาทุกศาสนาพูดถึงความจริงสูงสุด หรือความจริงขั้นสุดท้าย แต่วิทยาศาสตร์ไม่พูดถึง การแสวงหาความจริงทางศาสนามีความมุ่งหมายเพื่อคุณค่าทางศีลธรรม ขณะที่วิทยาศาสตร์อาจไม่ได้สนใจคุณค่าทางศีลธรรม เป็นไปได้ว่าพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์อาจมองเห็นสัจจะอันเดียวกัน เช่นเห็น “ความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง” (อนิจจัง) ที่ดำเนินไปอย่างมีกฎเกณฑ์ มีความเป็นระเบียบสม่ำเสมอ แต่พุทธศาสนามอง “คุณค่า” (value) ของความจริงนี้ในแง่ที่ทำให้เราเข้าใจความเป็นไปของโลกและชีวิต เพื่อให้มีคุณธรรม คือความไม่ประมาท การปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น หรือปล่อยวางความปรารถนาที่สวนทางกับความเป็นจริงที่ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นต้น ขณะที่วิทยาศาสตร์อาจไม่สนใจคุณค่าดังกล่าวนี้เลย แต่เห็นประโยชน์จากการรู้ความจริงนี้ในแง่อื่น
 
2. เรื่องความจริง (ในบางเรื่อง) ที่ถูกค้นพบเมื่อ 2,500 กว่าปี หรือเมื่อกี่พันปีไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่ามันจริงอย่างนั้นหรือไม่ หรือว่ามันยังใช้ประโยชน์ได้อยู่หรือไม่ เช่น สัจพจน์ (axiom) ทางคณิตศาสตร์ที่ว่า “ผลรวมของส่วนย่อยย่อมใหญ่กว่าส่วนย่อยนั้นๆ” ผมไม่รู้ว่าใครค้นพบเป็นคนแรก ค้นพบกี่พันปีมาแล้ว แต่ถ้านี่มันจริงก็คือจริง มันยังใช้ประโยชน์ได้ก็โอเค เช่นเดียวกันความจริงตามหลักอริยสัจสี่ที่ว่า “ความทุกข์มีสาเหตุ จะแก้ทุกข์ได้ ต้องแก้ที่สาเหตุ” หากมันยังจริงและใช้ประโยชน์ได้ มันจะถูกค้นพบเมื่อกี่พันปีที่แล้วไม่ใช่ประเด็นเลย
 
3. ที่จริงแล้วพุทธศาสนาแยก "Truth" กับ "Reality"ออกจากกันชัดเจนคือ "Reality" คือความจริงที่เกิดจากการนำข้อเท็จจริงต่างๆ ที่กระจัดกระจายกันอยู่มาต่อจิ๊กซอว์แล้วสรุปว่าอะไรเป็นอะไรเป็นต้น หรือกล่าวรวมๆ ว่าความจริงของโลกปรากฏการณ์ พุทธศาสนาเรียกความจริงเช่นนี้ว่า “สมมติสัจจะ” และสมมติสัจจะย่อมแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและบริบททางสังคม ส่วน"Truth" คือความจริงแท้ที่อยู่เบื้องหลังความจริงสมมติ หรือความจริงที่อยู่เบื้องหลังโลกปรากฏการณ์ พุทธเรียกว่า “ปรมัตถสัจจะ”
 
ส่วนที่ว่าความจริง หรือ “ธรรมะ” มันจัดระดับชั้นคนเข้าถึงว่า ขึ้นอยู่กับระดับมาก-น้อยของบุญบารมีนั้น ผมคิดว่าประเด็นนี้เราอาจตั้งคำถามได้ ทั้งกับตัวบทในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา และกับการใช้พุทธศาสนาเถรวาทไทย
 
แต่อย่างไรก็ตาม เวลาพูดถึงเรื่องบุญบารมีที่สัมพันธ์กับการเข้าถึงธรรมะ ดูเหมือนตามหลักพุทธศาสนาจริงๆ แล้วจะมองไปที่พัฒนาการทางจิตใจหรือปัญญาของคนแต่ละคนมากกว่าที่จะมองไปที่ “สถานะ” ของบุคคล เช่น พุทธศาสนาถือว่าทุกคนไม่ว่าจะมาจากชนชั้น (วรรณะ) ไหน หรือเป็นเพศใดก็สามารถบรรลุธรรมได้ ถ้าเขามีความพากเพียรและทุ่มเทสติปัญญาเพื่อประจักษ์แจ้งอริยสัจอย่างเพียงพอ (ไม่ใช่ “พอเพียง”)
 
อีกประเด็นหนึ่งที่ธงชัยพูดถึง คือ
 
"ศาลจึงสามารถพูดเรื่องล่วงรู้เจตนาภายใน" พอผมอ่านตรงนี้ ผมไม่ได้คิดถึงคำว่า "Intension" เลย ผมคิดกลับไปหาพุทธทันที นี่เป็นจารีตเดิม ที่พูดกันว่า "บริสุทธิ์ก่อนจะรู้ว่าผิด" เป็นธรรมเนียมสมัยใหม่ ธรรมเนียมแต่เดิมคือ "คุณผิดก่อนที่จะพิสูจน์ว่าตัวเองบริสุทธิ์" คุณจะถูก Assume ว่าผิดหรือบริสุทธิ์ก่อนขึ้นอยู่กับบุญบารมีของคุณ ปัญหาเกิดขึ้นเราอยู่ในโลกสมัยนี้ แล้วยังมีมรดกของโลกสมัยเก่าหลงเหลืออยู่ในสมองและจิตสำนึกเราเต็มไปหมด
 
ข้อสรุปดังกล่าวนี้ของธงชัยมาจากตรรกะที่ว่า พุทธศาสนามองว่า มนุษย์มีเจตนาภายในที่เป็นกุศลหรืออกุศลก็ได้ แต่การตัดสินเจตนาว่า เป็นอกุศลหรือกุศลนั้นขึ้นอยู่กับสถานะทางสังคม ดังที่ธงชัยกล่าวว่า “คนที่อยู่ใน Position สูง เราก็มองว่าเขาไม่แย่ คนที่อยู่ใน Position ที่ต่ำลงมา เราก็ Assume ว่าเขาแย่กว่า คนที่อยู่ใน Position ที่ห่างไกลจากแวดวงอำนาจและบารมี เราก็ Assume ว่าเขาเต็มไปด้วยอกุศล” แน่นอนว่าธงชัยกำลังหมายถึงการใช้พุทธศาสนาในสังคมไทยว่ามีปัญหาแบบนี้จริงๆ ซึ่งผมเห็นด้วย
 
แต่ตามหลักพุทธศาสนาจริงๆ เมื่อเราพูดถึง “เจตนา” เท่ากับเรากำลังพูดถึงเรื่อง “กรรม” ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม” หากมองบริบททางประวัติศาสตร์ของคำสอนเรื่องกรรม จะพบว่าพุทธศาสนาสอนเพื่อปฏิเสธระบบวรรณะ 4 ที่ถือว่าความสูง-ต่ำของชาติกำเนิดเป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าของคน แล้วเสนอว่า “กรรม” หรือการกระทำทางศีลธรรมต่างหากเป็นเกณฑ์ตัดสินค่าของคน กล่าวคือ คนเราไม่ว่าจะสังกัดชนชั้นไหนหากทำดีหรือชั่วในสิ่งเดียวกันก็ดีหรือชั่วเสมอภาคกัน เช่น กษัตริย์ฆ่าคน กับศูทรฆ่าคนก็ผิดศีลห้าข้อที่ 1 เหมือนกัน เป็นต้น
 
อีกอย่างหนึ่ง ในเมื่อกรรมหรือการทำดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับ “เจตนา” ก็แสดงว่ามนุษย์มี “free will” คือมีเจตจำนงอิสระในการเลือกกระทำ ฉะนั้น ในทัศนะของพุทธศาสนามนุษย์จึงมีเสรีภาพในการปกครองตนเองด้วยการเลือกการกระทำกรรม หรือการกระทำทางศีลธรรม เมื่อเราเลือกกระทำสิ่งที่ดีทางศีลธรรม จึงหมายถึงเราสามารถเลือกปกครองตนเองได้
 
ที่กล่าวมาทั้งหมด ผมไม่ได้โต้แย้งว่า ธงชัยตีความหลักคำสอนของพุทธศาสนาถูกหรือผิด แต่ผมเข้าใจว่าธงชัยกำลังพูดถึง “ข้อเท็จจริง” ของการใช้พุทธศาสนาเถรวาทในสังคมไทย ซึ่งผมเห็นด้วยว่ามีปัญหาเช่นนั้นจริงๆ ข้อแลกเปลี่ยนของผมเพียงแต่ต้องการเสนอแง่มุมของพุทธศาสนาตามการตีความของผมให้เห็นมุมมองอีกด้านเท่านั้นเอง
 
แต่ถ้าถามว่าทำไมพุทธศาสนาจึงถูกใช้อย่างที่ธงชัยอธิบาย คำตอบกว้างๆ ก็เพราะว่าพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะในไทยคือพัฒนาการพุทธศาสนาภายใต้ระบอบราชาธิปไตย ฉะนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่พุทธศาสนาจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของระบอบดังกล่าว มันจึงอยู่ในสภาพ “กลับหัวกลับหาง” เพราะขณะที่หลักคำสอนของพุทธศาสนาในยุคพุทธกาลถูกใช้ปฏิเสธระบบชนชั้น แต่พุทธศาสนามรดกราชาธิปไตยถูกใช้สนับสนุนระบบชนชั้น
 
และมันยิ่งแย่หนักเข้าไปอีกที่แม้สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยมาจะเกือบศตวรรษแล้ว พุทธศาสนายังถูกใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนระบบชนชั้นอยู่อีก จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องช่วยกัน “ถอดรื้อ” สภาวะผิดปกติ หรือ “สภาพกลับหัวกลับหาง” ดังกล่าวนี้ให้เป็นปกติ หรือให้เข้าที่เข้าทางอย่างสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อนุสรณ์ อุณโณ:คิดใหม่ทำใหม่เพื่อไทยทุกคน (เสียที)

Posted: 21 Dec 2011 04:26 AM PST

พรรคเพื่อไทยให้ “สัญญาประชาคม” ไว้หลายข้อในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และ “สัญญาประชาคม” บางข้อ เช่น การแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุมปี 2553 การเร่งคืนความยุติธรรมให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาลในที่ สุด ทว่าในช่วงระยะเวลาประมาณ 5 เดือนที่ผ่านมาหลังจากเป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยไม่ได้ดำเนินการตาม “สัญญาประชาคม” ที่ให้ไว้อย่างหนักแน่นพอ ขณะที่ “สัญญาประชาคม” บางข้อ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีแนวโน้มที่จะมีการดำเนินการในอนาคตอันใกล้นี้ ในทางกลับกัน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลับทุ่มเทให้กับการดำเนินการบางอย่างที่ไม่เพียงแต่ไม่ อยู่ใน “สัญญาประชาคม” ที่เคยให้ไว้ หากแต่ยังมีความขัดแย้งตรงข้ามกับหลักการสำคัญ เช่น สิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรมที่อยู่ข้างหลัง “สัญญาประชาคม” ดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงมีท่าทีแข็งกร้าวต่อกรณีหมิ่นสถาบันตั้งแต่ แรกเข้ารับตำแหน่ง  เขากล่าวว่าจะดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 อย่างเฉียบขาด โดยเฉพาะหลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบาย การป้องกันและปราบปรามการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายหรือไม่เหมาะสม ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เขาขอให้เจ้าของเว็บไซต์ที่เข้าข่ายหมิ่นสถาบันเลิกพฤติกรรมเสียมิฉะนั้นจะ ถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด พร้อมกับฝากไปยังนักสิทธิมนุษยชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านการกระทำดังกล่าวว่า ต้องเคารพกฎหมายไทย และกล่าวอย่างมั่นใจว่าจะไม่ผิดใจกับ “เสื้อแดง” เพราะเชื่อว่า “คนเสื้อแดงรักพรรคเพื่อไทยชั่วฟ้าดินสลาย” พร้อมกันนี้ เขากล่าวว่าจะให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจัดซื้อเครื่องมือ ตัดสัญญาณมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาทเพื่อจะได้สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ต่างประเทศที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบัน ได้ เขากำหนดให้วันที่ 13 ธันวาคม 2554 เป็นวัน “ดีเดย์” ในการปิดเว็บไซต์ในประเทศไทยที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นสถาบันเพิ่มอีกจำนวน 200 เว็บไซต์ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารก็มีทัศนะและท่าทีต่อ กรณีนี้ในทิศทางเดียวกันแม้จะไม่แข็งกร้าวเท่า เขาให้สัมภาษณ์นับแต่วันเข้ารับตำแหน่งว่าจะดำเนินการควบคุม ตรวจตรา และปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหมิ่นสถาบันในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์อย่างเข้มงวด เขาได้ขยายโครงการลูกเสือไซเบอร์ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลชุดที่แล้วด้วยการจัด อบรมหลักสูตรใหม่ 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับผู้นำ และหลักสูตรผู้บริหารลูกเสือไซเบอร์ ขณะที่ต่อมาเขาได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นการยกระดับจากศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ต มีวัตถุประสงค์เพื่อปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเป็นหลัก นอกจากนี้ เขาได้ประกาศห้ามกด Like กด Share หรือ Comment ข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันใน Facebook เพราะถือว่าเป็นการเผยแพร่เนื้อหาทางอ้อมและมีความผิดเช่นเดียวกับเจ้าของ ข้อความ ขณะเดียวกันเขาได้ขอความร่วมมือไปยัง Facebook และ Youtube ให้ทำการลบข้อความในลักษณะดังกล่าวเสีย เขากล่าวว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลสามารถปิด URL ที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันไปได้ประมาณ 60,000 แห่ง เปรียบเทียบกับในช่วงปี 2551 – 2554 ที่สามารถปิดไปได้เพียงประมาณ 70,000 แห่ง รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงสามารถปกป้องสถาบันได้มีประสิทธิภาพกว่ารัฐบาลพรรคประ ชาธิปัตย์มาก

อย่างไรก็ดี การเผชิญปัญหาการหมิ่นสถาบันของรัฐมนตรีทั้งสองข้างต้นไม่ถูกต้อง (ไม่ว่าจะอ้างว่าเป็นกลวิธีทางการเมืองหรือเป็นการเล่นละครตบตาฝ่ายตรงข้าม ก็ตาม) เพราะนอกจากเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำรวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ มาตรการดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองในรัฐ ประชาธิปไตยอย่างสำคัญ ทั้งนี้ก็เพราะว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศในปัจจุบันทำให้การปิด กั้นทำได้ยากมาก ทุกครั้งที่ใครสามารถคิดค้นเทคนิคหรือวิธีการในการปิดกั้นได้ก็จะมีผู้คิด ค้นเทคนิคและวิธีการแบบใหม่ให้ตามไล่จับอยู่เรื่อยไป รัฐบาลจีนทุ่มเงินไปหลายหมื่นล้านบาทก็ยังไม่สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ที่ รัฐบาลเห็นว่าเป็นภัยคุกคามตนเองให้หมดไปได้ การที่รัฐบาลไทยจะทุ่มเงินอีก 400 ล้านบาทเพื่อซื้ออุปกรณ์สำหรับปิดกั้นเว็บไซต์จากต่างประเทศจึงเป็นสิ่งที่ เทียบกันไม่ได้ และต่อให้รัฐบาลไทยลงทุนด้านเทคโนโลยีจนหมดตัวก็อย่าคิดว่าจะควบคุม ตรวจตรา และปิดกั้นการสื่อสารในโลกอินเตอร์เน็ตได้หมด ไม่นับรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจรวมทั้งสังคมและการเมืองที่จะเกิดขึ้นตามมา  

การแก้ไขปัญหาหมิ่นสถาบันด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีสารสนเทศดังกล่าวไร้ความ หมายเพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะสาเหตุที่การตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์สถาบันขยายตัวอย่างมากในโลกออ นไลน์ไม่ได้เป็นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ หากแต่เป็นความคับข้องใจทางการเมืองที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ทว่าไม่สามารถแสดงออกในที่สาธารณะได้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา เพราะความที่มีกฎหมายเช่นมาตรา 112 กั้นขวางอยู่ โลกออนไลน์จึงเป็นช่องทางสาธารณะเพียงไม่กี่ช่องทางที่เหลืออยู่ (นอกเหนือจากการซุบซิบนินทา) ให้ผู้คนสามารถระบายความคับข้องใจนั้นได้ หากรัฐบาลไม่หาวิธีการบรรเทาความคับข้องใจที่ว่านี้ให้ตรงจุด หรือไม่หาที่ทางให้ความคับข้องใจที่ว่านี้ได้แสดงออกอย่างเหมาะสม ก็เป็นการยากที่จะหยุดยั้งกระแสการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันในโลกออนไลน์ได้   

ขณะเดียวกันการที่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกลายเป็นปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ถูกอีกฝ่ายใช้เป็นเครื่องมือในการขจัดศัตรูทางการเมือง การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันจำนวนมากวางอยู่บนข้อเท็จจริง มีเหตุมีผล และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ได้เป็นการปั้นน้ำเป็นตัว ใส่ร้ายป้ายสี หรือดูหมิ่นถิ่นแคลนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ด้วยความที่กฎหมายอาญามาตรา 112 มีปัญหาหลายระดับและมีความหละหลวมอย่างมาก ก็เปิดโอกาสให้ถูกหยิบใช้เป็นเครื่องมือในการหมายความการวิพากษ์วิจารณ์ สถาบันในเชิงสร้างสรรค์ดังกล่าวให้เป็นเรื่องของการหมิ่นประมาทหรือแสดงความ อาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันเสีย หากรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่หาวิธีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้มีความรอบคอบรัดกุมกว่านี้ ก็อย่าหวังว่าการกล่าวหาและการดำเนินคดีเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันจะลดจำนวนลง ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้ การดำเนินคดีผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันในช่วงที่ผ่านมามีความรุนแรงและบิด เบี้ยวเพิ่มขึ้นอย่างมาก “อากง” ถูกตัดสินจำคุก 20 ปีเพียงเพราะถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความหมิ่นสถาบันไปยังโทรศัพท์ของเลขานุการ ส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ แม้ฝ่ายโจทก์จะยังไม่สามารถ “พิสูจน์ให้สิ้นสงสัย” ได้ว่าข้อความดังกล่าวส่งจากโทรศัพท์ของ “องกง” จริงหรือไม่ หรือถึงจะใช่โทรศัพท์ของ “อากง” ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อยู่ดีว่า “อากง” เป็นคนส่ง นอกจากนี้ แม้ “อากง” กระทำการดังกล่าวจริง (ซึ่งเขาปฏิเสธและขออุทธรณ์) โทษที่เขาได้รับก็ไม่ได้สัดส่วนกับความผิดที่เขาก่อ ในทำนองเดียวกัน “โจ กอร์ดอน” ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือนเพียงเพราะแปลบางส่วนของหนังสือ The King Never Smiles ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทย แต่ด้วยข้อจำกัดของวิธีการดำเนินคดีภายใต้กฎหมายมาตรา 112 ก็ทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่าเขาแปลเนื้อหาส่วนไหนและเนื้อหาดังกล่าวเข้าข่าย หมิ่นสถาบันอย่างไร ขณะที่หนังสือเล่มดังกล่าวตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัย Yale ประเทศสหรัฐอเมริกาและได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านในมหาวิทยาลัย หลายแห่งในประเทศนี้  

ความรุนแรงและความบิดเบี้ยวของการดำเนินคดีหมิ่นสถาบันด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ข้างต้นละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองรัฐ ประชาธิปไตยอย่างรุนแรง จนกระทั่งทั้งสหประชาชาติ สหภาพยุโรป องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ต่างพากันออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยพร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไข กฎหมายมาตรา 112 อย่างเร่งด่วน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงไม่สามารถแก้ปัญหาหมิ่นสถาบันด้วยวิธีการที่ผ่านมาได้ อีกต่อไป เพราะวิธีการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาบานปลายอย่างที่เป็นอยู่ใน ขณะนี้ จำเป็นต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน” อย่างแท้จริงเสียที เพราะคงไม่มีใครหรือแม้กระทั่ง “คนเสื้อแดง” รักพรรคเพื่อไทย “จนชั่วกัลปาวสาน” อย่างที่รองนายกรัฐมนตรีโอ้อวดหากพรรคเพื่อไทยบิดพลิ้ว “สัญญาประชาคม” ที่เคยให้ไว้              

 

 

[บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ คิดอย่างคน หนังสือรายสัปดาห์ มหาประชาชน ฉบับวันที่16-22 ธันวาคม 2554]

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โพลล์เผย 'หลังน้ำลด' คนกรุงเกือบครึ่งคาดใช้จ่าย 'งานปีใหม่' น้อยลง

Posted: 21 Dec 2011 03:17 AM PST

กรุงเทพโพลล์สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ กับเทศกาลปีใหม่หลังน้ำลด เกือบครึ่งใช้งบประมาณจัดงานปีใหม่น้อยลง และจะนับถอยหลังปีใหม่ที่บ้านตัวเอง ปี 55 ห่วงเรื่องความแตกแยก วุ่นวายทางการเมืองมาอันดับหนึ่ง ตามติดด้วยเรื่องเศรษฐกิจ

 
ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,188 คน พบว่า ประชาชนชน ร้อยละ 68.1 รู้สึกเฉยๆ กับเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วัน โดยให้เหตุผลว่า เหมือนเดิมทุกๆ ปี ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เศรษฐกิจไม่ค่อยดี และปีนี้น้ำท่วม ขณะที่ร้อยละ 23.5 รู้สึกตื่นเต้น ยินดี และ ร้อยละ 8.4 รู้สึกแย่ โดยกิจกรรมที่ตั้งใจว่าจะทำในวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 คือ ทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม ร้อยละ 26.6 รองลงมาคือ จัดกิจกรรมอยู่ที่บ้าน ร้อยละ 25.5 และเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเอง ร้อยละ 17.4 มีเพียงร้อยละ 11.1 ที่ระบุว่าจะไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด
 
ทั้งนี้คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 47.3 ระบุว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อกิจกรรมที่ตั้งใจว่าจะทำในช่วงปีใหม่ โดยระบุว่า ทำให้ต้องทำกิจกรรมที่ใช้งบประมาณน้อยลง ทำให้ต้องยกเลิกหรืองดกิจกรรมช่วงปีใหม่ และทำให้ต้องเปลี่ยนสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 52.7 ระบุว่าไม่ส่งผลกระทบ
 
สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วพบว่าร้อยละ 47.0 ใช้น้อยกว่า ประหยัดกว่าปีที่แล้ว รองลงมาร้อยละ 35.8 ใช้พอๆ กับปีที่แล้ว และร้อยละ 17.2 ใช้มากกว่าปีที่แล้ว โดยระบุว่าสถานที่ที่ตั้งใจจะไปนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ 2555 มากที่สุดคือ ที่บ้านตัวเองและบ้านญาติในกรุงเทพ ฯ ร้อยละ 55.1 รองลงมาคือบ้านที่ต่างจังหวัด ร้อยละ 16.1 และเซ็ลทรัลเวิลด์ ร้อยละ 5.4
 
ส่วนเรื่องที่เป็นห่วงและกังวลมากที่สุดในปีหน้าสำหรับประเทศไทย คือ เรื่องความแตกแยก ความวุ่นวายทางการเมือง ร้อยละ 36.8 รองลงมาคือ เรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ร้อยละ 31.3 และเรื่องภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ภัยแล้ง ร้อยละ 19.5
 
ส่วนพรปีใหม่ที่อยากขอให้ตัวเองมากที่สุดในปีใหม่นี้คือ ขอให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ไข้ร้อยละ 33.9 รองลงมาคือ ขอให้มีชีวิตที่มีความสุข ร้อยละ 13.6  และขอให้ร่ำรวยเงินทอง ร้อยละ 11.1
 
ดังรายละเอียดต่อไปนี้
 
1. เมื่อถามถึงความรู้สึกที่มีต่อเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ พบว่า
 
- รู้สึกตื่นเต้น ยินดี                        ร้อยละ 23.5
(โดยให้เหตุผลว่า จะได้เจออะไรใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ดีใจที่เปลี่ยน พ.ศ.ใหม่ เป็นต้น)
- รู้สึกเฉยๆ                                ร้อยละ   68.1
(โดยให้เหตุผลว่าเหมือนเดิมทุกๆ ปี ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น  เศรษฐกิจไม่ค่อยดี และปีนี้น้ำท่วม เป็นต้น)
- รู้สึกแย่                                    ร้อยละ  8.4
(โดยให้เหตุผลว่า ที่ทำงานไม่หยุด ไม่ได้เที่ยวตามที่ตั้งใจไว้ ต้องซ่อมบ้านหลังน้ำท่วม เป็นต้น)
 
2. กิจกรรมที่ตั้งใจจะทำในวันหยุดยาวช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ คือ
 
- ทำบุญ ตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม                                            ร้อยละ 26.6
- จัดกิจกรรมที่บ้าน                                                                        ร้อยละ 25.5
- กลับภูมิลำเนาของตนเอง                                                              ร้อยละ 17.4
- เลี้ยงฉลองเทศกาลปีใหม่ / เคาท์ดาวน์อยู่ในกรุงเทพ ฯ                        ร้อยละ 14.1
- ไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด                                                                ร้อยละ 11.1
- อื่นๆ อาทิ ไปงานการกุศลต่างๆ ขายของช่วงเทศกาลปีใหม่ ฯลฯ   ร้อยละ 5.3                                             
 
3. เมื่อถามถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นว่าส่งผลกระทบต่อกิจกรรมที่ตั้งใจว่าจะทำในช่วงปีใหม่หรือไม่  พบว่า
           
- ไม่ส่งผลกระทบ                                               ร้อยละ   52.7
- ส่งผลกระทบ                                                    ร้อยละ 47.3
            โดยระบุว่า
ทำให้ต้องทำกิจกรรมที่ใช้งบประมาณน้อยลง                           ร้อยละ 26.7
ทำให้ต้องยกเลิก /งด กิจกรรมช่วงปีใหม่                                ร้อยละ 11.8
ทำให้ต้องเปลี่ยนสถานที่ท่องเที่ยว                                        ร้อยละ 4.5
อื่นๆ อาทิ ทำให้ไม่ได้หยุดปีใหม่ การเดินทางลำบาก ฯลฯ          ร้อยละ 4.3
 
4. เมื่อถามถึงงบประมาณค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า
 
- ใช้น้อย / ประหยัดกว่าปีที่แล้ว               ร้อยละ 47.0
- ใช้พอๆ กับปีที่แล้ว                                  ร้อยละ 35.8
- ใช้มากกว่าปีที่แล้ว                                  ร้อยละ 17.2
 
5. สถานที่ที่ตั้งใจจะไปนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ 2555 มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ
   (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)
           
- บ้านตัวเอง และบ้านญาติในกรุงเทพ ฯ                                         ร้อยละ 55.1
- บ้านที่ต่างจังหวัด                                                                        ร้อยละ 16.1
- เซ็ลทรัลเวิลด์                                                                            ร้อยละ 5.4
- จังหวัดทางภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน                   ร้อยละ 3.8
- สวดมนต์ข้ามคืนตามวัดต่างๆ                                                         ร้อยละ 3.4
                                               
6. ความเห็นต่อเรื่องที่เป็นห่วงและกังวลมากที่สุดในปีหน้า สำหรับประเทศไทย คือ
 
- เรื่องความแตกแยก / ความวุ่นวายทางการเมือง                          ร้อยละ 36.8
- เรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน                                                    ร้อยละ 31.3
- เรื่องภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ภัยแล้ง                                                   ร้อยละ 19.5
- เรื่องปัญหาสังคม อาชญากรรม ยาเสพติด                                        ร้อยละ 10.2
- เรื่องโรคระบาด                                                                          ร้อยละ 2.2
 
7. พรปีใหม่ที่อยากขอให้ตัวเองมากที่สุดในปีใหม่นี้ 5 อันดับแรก คือ (เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)
           
- ขอให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บ ไม่ไข้                              ร้อยละ 33.9
- ขอให้มีชีวิตที่มีความสุข                                                               ร้อยละ 13.6
- ขอให้ร่ำรวยเงินทอง                                                                    ร้อยละ 11.1
- ขอให้คนในครอบครัว ปลอดภัย และมีความสุข                              ร้อยละ 5.3
- ขอให้ทำมาค้าขึ้น ค้าขายดี                                                           ร้อยละ 4.6
 
 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักวิจัยสงสัยไฉน ‘เฟซบุ๊ก’ ถึงไม่ใช่ ‘เครื่องมือเผยแพร่วัฒนธรรม’

Posted: 21 Dec 2011 02:24 AM PST

ขณะที่เด็กแนว เด็กฮิป อาจคิดว่าเฟซบุ๊กจะกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารทางวัฒนธรรมได้ แต่นักวิจัยก็เผยผลการสำรวจว่ามีแต่เพลงแนวคลาสสิกและแจ๊สเท่านั้นที่มีการแพร่กระจายทางรสนิยมในหมู่เพื่อนฝูง

19 ธ.ค. 2011 - ผลการวิจัยล่าสุดเสนอว่าแนวทางการ ‘ไลค์’ หรือการเลือก ‘เป็นเพื่อน’ กับใครก็ตามในเฟซบุ๊ก อาจขัดกับภาพลักษณ์แบบฮิปๆ ของเฟซบุ๊กเอง เนื่องจากเมื่อมีคนกดไลค์วงอัลเตอร์เนทีฟหรืออินดี้วงเดียวกับคุณ คุณก็คงเริ่มรู้สึกไม่ค่อยชื่นชอบวงเหล่านั้นแล้ว

 
ขณะเดียวกันรสนิยมทางดนตรีคลาสสิกดูจะแสดงผลในทางตรงกันข้ามคือมีการแพร่กระจายไปในหมู่เพื่อนฝูง แต่โดยรวมๆ แล้วนักวิจัยพบว่า รสนิยมส่วนใหญ่ไม่ได้แพร่กระจายไปในหมู่เพื่อน แต่เป็นตัวคนเล่นเฟซบุ๊กเองที่ส่วนใหญ่จะหาเพื่อนที่มีรสนิยมใกล้เคียงกันอยู่แล้ว
 
“ในช่วงสามปีที่ผ่านมาเราถูกทุบหัวด้วยความเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถแพร่กระจายได้เหมือนโรคติดต่อ เพื่อนของคุณมีอิทธิพลกับคุณในหลายๆ ทาง” เควิน ลูอิซ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าวถึงงานวิจัยหลายชิ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมถึงงานวิจัยที่บอกว่าโรคอ้วนแพร่กระจายได้ในทางสังคม “แต่เมื่อคุณลองคลายปมพวกนี้ออกดูแล้ว คุณก็จะพบว่าเพื่อนคุณมีอิทธิพลกับคุณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” อย่างน้อยก็ในเฟซบุ๊ก
 
“นักศึกษาที่มีรสนิยมทางดนตรีหรือภาพยนตร์เหมือนกันในบางด้านจะมีโอกาสเป็นเพื่อนกันมากกว่า แต่ก็มีน้อยกรณีมากที่นักศึกษาจะรับเอาความชื่นชอบแบบเดียวกับเพื่อนของตนมาด้วย” ลูอิซกล่าว
 
 
กด 'ไลค์' วงอินดี้เพื่อสร้างอัตลักษณ์เฉพาะ
 
นักวิจัยได้ทำการสำรวจการใช้งานเฟซบุ๊กของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาราว 200 คน เป็นเวลา 4 ปี เริ่มจากตอนที่เขาเป็นน้องใหม่ในเดือน มี.ค. 2006 โดยมีการรวบรวมข้อมูลเป็นรายปีเกี่ยวกับคนที่พวกเขาเลือก ‘เป็นเพื่อน’ ด้วย และสิ่งต่างๆ ที่พวกเขากด ‘ไลค์’ (ทั้งดนตรี ภาพยนตร์ และหนังสือ ที่พวกเขาเลือกแสดงผ่านโปรไฟล์ของพวกเขา) ข้อมูลนี้ยังได้เอามารวมกับข้อมูลด้านการศึกษาและที่อยู่อาศัยของตัวนักศึกษาเองอีกด้วย
 
พวกเขาพบว่า นักศึกษาที่มีรสนิยมทางดนตรีและภาพยนตร์ส่วนหนึ่งเหมือนกัน จะมีโอกาสเป็นเพื่อนกันมากกว่า ขณะที่รสนิยมเรื่องหนังสือนั้นไม่มีผล โดยแทนที่รสนิยมจะเผยแพร่ผ่านเพื่อนอีกคนไปยังอีกคน นักศึกษาจะเป็นฝ่ายขอเป็นเพื่อนกับคนที่มีรสนิยมดนตรีเหมือนกันเช่น ชื่นชอบในแนว ‘ไลท์/คลาสสิกร็อค’ หรือ ‘คลาสสิก/แจ๊ส’ หรือภาพยนตร์แนว ‘แนวเสียดสีมืดมน’ หรือ ‘ตลกงี่เง่า/เลือดสาด’
 
มีผลที่แตกต่างอยู่บ้างคือการที่รสนิยมดนตรี คลาสสิก/แจ๊ส จะแพร่กระจายไปในหมู่เพื่อนฝูง ขณะที่กลุ่มนักศึกษาที่ชื่นชอบแนว อินดี้/อัลเตอร์เนทีฟ จะไม่ค่อยแสดงออกในรสนิยมเหล่านี้ด้วยตัวเองเท่าไหร่
 
“การเข้าไปกด ‘ไลค์’ วงแนว อินดี้/อัลเตอร์เนทีฟ เหล่านี้ไม่เป็นเพียงแค่ว่าพวกเขาชอบมัน แต่เป็นการเข้าไป ‘ไลค์’ ก่อนที่คนจะ ‘ไลค์’” ลูอิซกล่าว “นักศึกษาพวกนี้รู้สึกว่า นี่มันทำให้ฉันแตกต่างจากคนอื่น และถ้ามีใครมากดไลค์เพจนี่ด้วยก็จะทำให้ฉันรู้สึกมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวน้อยลง”
 
 
เฟซบุ๊กก็เหมือน ‘ซุป’
 
ความเหมือนกันในด้านอื่นยังมีอิทธิพลต่อการเลือกเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กด้วยเช่นกัน เช่น ที่อยู่อาศัย วิชาเอก และกลุ่มเพื่อน ความเหมือนกันเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากในการที่นักศึกษาสองคนจะเป็นเพื่อนและยังคงความเป็นเพื่อนกันไปตลอด 4 ปี ในเฟซบุ๊ก
 
การวิจัยครั้งนี้สนับสนุนงานวิจัยชิ้นก่อนๆ ที่แสดงให้เห็นหลายครั้งหลายคราว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นเป็นแหล่งที่หลอมรวมสิ่งที่เหมือนกันราวกับ ‘ซุป’ สมาชิกของโซเชียลเน็ตเวิร์กมักจะเป็นคนที่มีความคล้ายคลึงกับคุณในด้านความชอบและภูมิหลัง
 
“พวกเราคันหาสิ่งที่เหมือนกันในหมู่เพื่อนของพวกเรา ในเฟซบุ๊กเองก็เช่นกัน พวกเรามองเห็นการแบ่งแยกกันทางเชื้อชาติ ฐานะทางสังคม และคนที่เรียนวิชาเอกตัวเดียวกันก็มีโอกาสเป็นเพื่อนกันมากกว่า” ลูอิซกล่าว “สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่นักสังคมวิทยาและนักสังคมศาสตร์ได้ศึกษามาก่อนหน้านี้แล้วเราก็ได้พิสูจน์ซ้ำ”
 
ความเหมือนกันในกลุ่มเพื่อนเช่นนี้บ่งบอกว่า การปฏิสัมพันธ์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้นทำให้การเชื่อมโยงกันทางสังคมของกลุ่มคนที่เหมือนกันเหล่านี้เหนียวแน่นขึ้น ผู้คนจะเลือกเป็นเพื่อนกับคนที่คล้ายกับพวกเขาแทนที่จะสร้างความคุ้นเคยให้มากขึ้นกับคนที่เป็นเพื่อนกับเขาอยู่แล้ว โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารการประชุมของสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐฯ (PNAS)
 
ที่มา:
Why Most Cultural Tastes Don't Spread on Facebook, Jennifer Welsh, Livescience, 19-12-2011
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ: กลุ่มอนุรักษ์ฯ จี้ผู้ว่าฯ อุดร ยกเลิกประทานบัตรเหมืองโปแตช

Posted: 21 Dec 2011 12:27 AM PST

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีชุมนุมร้องยกเลิกประทานบัตรเหมืองโปแตช ด้านรองผู้ว่าฯ เปิดห้องคุย เบื้องต้นรับดำเนินการตามข้อเสนอ เรียกกำนันในพื้นที่โครงการฯ สอบข้อเท็จจริงกรณีรายงานการไต่สวน

 
 
วันที่ 20 ธ.ค.54 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 400 คน เคลื่อนขบวนปักหลักชุมนุมที่บริเวณด้านหน้าอาคาร 2 ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดการยกเลิกรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี
 
ในการชุมนุม ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ใช้รถติดเครื่องขยายเสียงปราศรัยให้ข้อมูลข้อเท็จจริงแก่สาธารณชน พร้อมทั้งแจกเอกสารใบปลิวกับผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา จนกระทั่งถึงเวลา 14.00 น.รองผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้เปิดเวทีร่วมพูดคุยกับกลุ่มอนุรักษ์ฯ ณ ห้องประชุมคำชะโนด ศาลากลางชั้น 2
 
นางมณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวถึงการเคลื่อนขบวนมาปักหลักชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านในครั้งนี้ว่า ต้องการมาเพื่อที่จะพบกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อคัดค้านการขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่ดำเนินการด้วยความไม่ชอบธรรมในขั้นตอนการดำเนินการ และมีการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จในรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตร
 
“วันนี้เราพากันมาคัดค้านการขอประทานบัตรเหมืองโปแตช เพราะที่พวกเราได้เห็นในรายงานการไต่สวนที่ออกมานั้นว่าบริษัทได้พูดโกหก ข้อมูลไม่ตรงกับสภาพพื้นที่จริง อย่างเช่น ลักษณะของพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นพื้นที่ราบดังที่บริษัทระบุ แต่เป็นพื้นที่โนน แล้วก็มีข้อมูลของต้นน้ำและลำห้วย” นางมณีกล่าว
 
นางมณียังกล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมานั้น ขณะที่ร่วมกันล่ารายชื่อคัดค้านประกาศแล้วส่งหนังสือคัดค้านและหลักฐานประกอบไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่บริษัทและผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่โครงการก็ยังเร่งรัดจัดเวทีประชาคม โดยที่ไม่ครบองค์ประกอบของผู้เข้าร่วมที่ระบุไว้ในกฎหมาย ชาวบ้านจึงนัดหมายกันมาขอพบผู้ว่าฯ เพื่อให้ดำเนินการยกเลิกรายงานการไต่สวนฯ และการประชาคม และเอาผิดกับบริษัทและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรายงานการไต่สวนอันเป็นเท็จนี้
 
ด้าน นายวรากร บำรุงชีพโชติ หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ได้กล่าวถึง การจัดเวทีประชาคมประกอบการขอประทานบัตรในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตช ที่ได้ดำเนินการมาบางพื้นที่ในก่อนหน้านี้ว่า ที่ผ่านมาส่วนตัวได้มีโอกาสไปร่วมเวทีประชาคมของ ต.หนองขอนกว้าง แต่ไม่สามารถให้ข้อมูลในเวทีได้เพราะไม่มีความรู้ด้านการปักหมุดโดยใช้จีพีเอส และก็ไม่ได้ตอบคำถามในเวทีเพราะไม่มีชาวบ้านถาม มีแต่ฝ่ายบริษัทเท่านั้นที่เป็นผู้ตอบคำถามของชาวบ้าน ส่วนเวทีที่จัดในที่อื่นๆ ไม่ได้เข้าร่วม
 
“อันที่จริงการดำเนินการจัดประชาคมประกอบการขอประทานบัตรนั้น ผมมีความเห็นว่า ที่ผ่านมามันสวนทางกันระหว่างระเบียบวิธีปฏิบัติในข้อกฎหมาย กับการดำเนินการจริงของผู้นำชุมชนในแต่ละพื้นที่ จึงทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา ซึ่งถ้าหากว่าการการทำประชาคมไม่ถูกหลักการและไม่ครบองค์ประกอบของผู้เข้าร่วม ผมก็จะทำรายงานไม่เห็นชอบเสนอไปยังกรม” นายวรากรกล่าว
 
ด้าน นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในฐานะตัวแทนผู้ว่าราชการซึ่งติดภารกิจราชการ ได้ออกมารับฟังข้อมูลและรับหนังสือข้อเสนอ ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
 
“ต้องขอบคุณตัวแทนของกลุ่มพี่น้องชาวบ้านที่ได้ทำการชี้แจงข้อมูล และรายเอียด พร้อมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ผมเกิดความเข้าใจ ทำให้ทราบถึงเหตุผลที่พี่น้องพากันมาในวันนี้ ซึ่งข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านต้องมีการตรวจสอบพิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งหมดโดยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ในส่วนของผมก็จะรับเรื่องไว้ และดำเนินการต่อ” นายอดิศักดิ์ กล่าวในเวทีของการพูดคุยกันในห้องประชุม
 
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จจากการพูดคุยกันในห้องประชุม ในเบื้องต้นรองผู้ว่าฯ ได้ยอมรับดำเนินการตามข้อเสนอของกลุ่มชาวบ้าน โดยจะทำการเรียกกำนันตำบลหนองไผ่ ต.โนนสูง ต.หนองขอนกว้าง อ.เมือง และ ต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง อ.ประจักษ์ศิลปาคม มาสอบถามถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานการไต่สวนในวันที่ 21 ธ.ค.54 เวลา 10.00 น. และทำการนัดหมายสำหรับกลุ่มชาวบ้านกับผู้ว่าราชการจังหวัดในวันที่ 23 ธ.ค.นี้
 
ส่วนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ยังคงปักหลักชุมนุมบริเวณศาลากลางอีกต่อไปจนกว่าจะได้พบกับผู้ว่าฯ และบรรลุข้อเรียกร้องที่มาทำการชุมนุมในครั้งนี้
 
หนังสือคัดค้านของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี มีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น