โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

เครือข่าย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยื่นหนังสือนายกฯ ห่วงผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี

Posted: 25 Dec 2011 09:24 AM PST

 

25 ธ.ค.54 ที่จังหวัดศรีสะเกษ เครือข่ายสภาชุมชนลุ่มน้ำโขง (คสข.) ได้เข้ายื่นหนังสือกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ซึ่งเดินทางมาปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นประเด็นสืบเนื่องจากการรณรงค์ที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการประชุมของคณะรัฐมนตรีอาเซียน ที่เสียมเรียบ ประเทศเขมร และมีมติให้เลื่อนการพิจารณาออกไป และให้ประเทศญี่ปุ่นทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งยังไม่ชัดเจนในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในลุ่มน้ำโขง 

 

เนื้อหาในหนังสือเรียกร้องให้ประชาชนในลุ่มน้ำโขงมีส่วนร่วมในการในการกำหนดกรอบในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อ พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี

 

00000

 

ที่ คสข.พิเศษ/๒๕๕๔                                                                            เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง (คสข.)

                                                                                                              ๒๗๔ หมู่ ๒ ตำบลบุ่งคล้า

                                                                                                              อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ

                                                             วันที่ ๒๕  ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔

 

เรื่อง ขอให้ยุติการสร้างเขื่อนไซยะบุรี

 เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

ในนามของเครือข่ายประชาชน ๘ จังหวัดลุ่มน้ำโขง อันประกอบด้วยจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ได้ทำงานติดตามกรณีเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขง ในพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชนลาว แม้ว่าเขื่อนจะตั้งอยู่ในสปป.ลาว แต่โครงการเขื่อนไซยะบุรีก็เกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง เนื่องจากมี บริษัท ช การช่าง (มหาชน) จำกัด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารไทย ๔ แห่งในการพัฒนาโครงการ ขณะที่ผู้รับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนดังกล่าว คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ทั้งไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จะแสดงเจตจำนงต่อพันธกรณีตามกฎหมายตามความตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.๒๕๓๘ ในการแบ่งปันการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงและป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ และวิถีชีวิตของประชาชนกว่า ๖๐ ล้านคนในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ซึ่งได้พึ่งพาอาศัยแม่น้ำโขงทั้งโดยตรง และโดยอ้อม

จากข้อค้นพบของการศึกษาต่างๆ จากนักวิชาการ ยังแสดงให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกโครงการนี้ โดยเฉพาะรายงานการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ ของ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พบว่าเขื่อนไซยะบุรีจะส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตการอพยพของพันธุ์ปลา และอาจเป็นเหตุให้มีการสูญพันธุ์ของพันธุ์สัตว์น้ำกว่า ๔๑ ชนิดในแม่น้ำโขง รวมทั้งปลาบึกด้วย ดังนั้น จึงมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลได้ตระหนัก และดำเนินการในประเด็น ดังต่อไปนี้

 

๑.        ควรให้ประชาชนในพื้นที่เครือข่ายลุ่มน้ำโขง ๘ จังหวัด ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกรอบการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเขื่อนไซยะบุรี และมีส่วนร่วมในการศึกษาผลกระทบดังกล่าวนี้ทุกขั้นตอนในกระบวนการศึกษา

๒.        ควรมีการจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเขื่อนไซยะบุรีใหม่ ให้สอดคล้องกับความคาดหวังในระดับสากลที่มีต่อเขื่อนขนาดใหญ่ที่สร้างในแม่น้ำที่ไหลข้ามพรมแดน ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์อย่างละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากโครงการนี้

๓.        เนื่องจากการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมีข้อบกพร่อง และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะทราบก่อนกระบวนการรับฟังความเห็นและมีส่วนร่วมของประชาชน จึงถือได้ว่ากระบวนการเหล่านี้มีข้อบกพร่องอย่างฉกรรจ์ เมื่อจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจนเสร็จแล้ว ก็ควรนำผลการวิเคราะห์นั้นมาเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อจัดให้มีการรับฟังความเห็นและมีส่วนร่วมของประชาชนเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนในสปป.ลาวและประเทศอื่นๆ อีกสามแห่งในแม่น้ำโขงตอนล่าง

๔.       การตัดสินใจให้สร้างเขื่อนไซยะบุรีตามโครงการที่เสนอมีแนวโน้มทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นทรัพยากรร่วมของประเทศต่าง ๆ และยังขัดกับการปฏิบัติหน้าที่ของ สปป.ลาว ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity)

๕.       การตัดสินใจให้สร้างเขื่อนไซยะบุรีตามโครงการที่เสนอมีแนวโน้มทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อรัฐเพื่อนบ้าน ซึ่งขัดกับการปฏิบัติหน้าที่ของ สปป.ลาว ในการป้องกันอันตรายข้ามพรมแดน

๖.        การตัดสินใจให้สร้างเขื่อนไซยะบุรีตามโครงการที่เสนอขัดกับหลักการป้องกันไว้ก่อน เนื่องจากการตัดสินใจดังกล่าวไม่คำนึงความไม่แน่นอนและข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของเขื่อน และไม่แสดงให้เห็นว่าจะสามารถนำมาตรการลดผลกระทบเหล่านี้ไปปฏิบัติได้จริง

๗.       ประเทศกัมพูชา ไทย และเวียดนามมีสิทธิและหน้าที่ในการป้องกันผลกระทบร้ายแรงจากเขื่อนไซยะบุรีที่มีต่อแม่น้ำโขง  รัฐบาลประเทศเหล่านี้มีสิทธิได้รับการเยียวยาด้านการเงินเนื่องจากผลกระทบร้ายแรงที่เกิดขึ้นในเขตอำนาจของตน

๘.       ให้รัฐบาลไทยยกเลิกแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

 ดังนั้น เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง (คสข.) หวังว่ารัฐบาลไทย จะไม่คำนึงถึงผลประโยชน์เชิงธุรกิจของคนส่วนน้อย แต่ทำลายวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำโขงหลายล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ควรเคารพภูมินิเวศวัฒนธรรมชุมชน โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน เพื่อให้สังคมสุวรรณภูมิอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขต่อไป

 

ขอแสดงความนับถือ

(....................................................)                  (....................................................)

 ตัวแทนจังหวัดเลย                                            ตัวแทนจังหวัดหนองคาย

 

 

(....................................................)                  (....................................................)

ตัวแทนจังหวัดบึงกาฬ                                         ตัวแทนจังหวัดนครพนม

 

 

(....................................................)                  (....................................................)

          ตัวแทนจังหวัดมุกดาหาร                                        ตัวแทนจังหวัดอำนาจเจริญ

 

 

(....................................................)                  (....................................................)

        ตัวแทนจังหวัดอุบลราชธานี                                         ตัวแทนจังหวัดเชียงราย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นิติราษฎร์ เดินหน้า ลบล้างผลพวงรัฐประหาร แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112

Posted: 25 Dec 2011 08:33 AM PST

นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ ประกาศกิจกรรมทางวิชาการใหญ่ รับปีใหม่ 15 ม.ค. 2554 รณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และอาทิตย์ที่ 22มกราคม 2555 อภิปราย “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง”

ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ เผยกับประชาไทถึงเหตุผลในการจัดเสวนาใหญ่ทั้ง 2 ครั้งว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการที่คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำข้อเสนอเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 18 กันยายน ปรากฏว่าข้อเสนอทั้ง 4ประเด็นได้รับความสนใจจากสังคมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประเด็นแรก เรื่องการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

“เรารับฟังทุกความคิดเห็น รับทราบถึงกำลังใจ แรงสนับสนุน ตลอดจนเสียงตำหนิติเตียน ตั้งใจว่า จะขับเคลื่อนข้อเสนอทั้ง 4 ประเด็น อย่างต่อเนื่อง แต่ก็เกิดเหตุการณ์อุทกภัย จึงจำเป็นต้องหยุดพักเรื่องนี้ไปเสียก่อน ในระหว่างนั้น เราก็ได้ยินเสียงถามไถ่ตลอดว่า คณะนิติราษฎร์จะทำอะไรต่อ บางท่านบ่นเสียดายว่าถ้าไม่เกิดน้ำท่วม ก็อาจได้เดินหน้ามากขึ้น ขออนุญาตเรียนว่า เราไม่เคยหยุดคิดเรื่องดังกล่าว นั่งพิจารณา ทบทวน จัดทำข้อเสนอให้เป็นรูปธรรมและละเอียดมากขึ้น และจะขับเคลื่อนทางความคิดนี้ให้สำเร็จจงได้”

ปิยบุตรกล่าวถึงรายละเอียดการจัดกิจกรรมทั้ง 2 งานว่า งานแรก 15 มกราคม 2555 เป็นการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คณะนิติราษฎร์ได้จัดทำข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2554 แต่ปรากฏว่าก็ยังไม่มีการถกเถียงในประเด็นดังกล่าวมากเท่าไรนัก ในขณะที่สถานการณ์การใช้มาตรา 112 ก็ไม่ได้ลดความผิดปกติลง ยังคงมี “เหยื่อ” ของมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเขาเห็นว่ากลุ่มนักวิชาการ นักคิด นักเขียน กวี ศิลปิน สื่อมวลชน นักกิจกรรม นิสิตนักศึกษา ตลอดจนประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรม จำนวนหนึ่ง เห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงคิดอ่านรณรงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 โดยรวมตัวกันเป็น “คณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม.112” ชื่อย่อ คือ ครก. 112 เพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์รวบรวมรายชื่อบุคคลเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยใช้ร่างฯตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์

งานวันที่ 15 มกราคม 2555 เป็นการเปิดตัว “คณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม.112 ” อย่างเป็นทางการ มีการจัดกิจกรรมวิชาการ กิจกรรมรณรงค์ กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม และการรณรงค์ครั้งนี้จะดำเนินการต่อเนื่องไป ภายใต้การบริหารจัดการของคณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม.112

งานที่สอง 22 มกราคม 2555 เป็นงานต่อเนื่องจากข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554
“พอดีว่าปี 2555 เป็นปีครบรอบ 100 ปี คณะ ร.ศ.130 และเข้าสู่ปีที่ 80 ของการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 เราจึงถือโอกาสนี้ เดินหน้าจัดกิจกรรมวิชาการที่สนับสนุนประชาธิปไตย สนับสนุนให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ไปเรื่อยๆตลอดปี โดยเน้นไปที่ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19กันยายน 2549

ทั้งนี้ ในวันจัดงาน นอกจากการอภิปรายประเด็น “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง” แล้วก็จะมีการแจกเอกสารแนวคำถาม-คำตอบ เรื่อง “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549”

“เราคิดทำเอกสารนี้ขึ้นก็เพราะตระหนักดีว่า ในข้อเสนอของเรานั้นเป็นภาษากฎหมาย อ่านแล้วอาจเข้าใจยาก จึงลองทำในรูปถาม-ตอบ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประกอบการโต้แย้งด้วยเหตุผลได้อย่างไม่ยากจนเกินไปนัก นอกจากนี้ จะมีการแจกคู่มือลบล้างผลพวงรัฐประหารด้วย

“ตอนที่เราเผยแพร่ข้อเสนอเรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหาร ก็มีคำถาม มีข้อวิจารณ์ตามมาจำนวนมาก ทั้งประเภทที่ไม่เข้าใจจริงๆ ทั้งประเภทที่แกล้งไม่เข้าใจ ทั้งประเภทที่ไม่อ่านแต่ขอด่าไว้ก่อน งานวันที่ 22 มกราคม 2555 เราจะตอบประเด็นเนื้อหาให้หมด พูดง่ายๆ ก็คือ งานวันนั้น เราตั้งใจ “โต้” ปฏิกิริยาที่มีต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมานั่นเอง”

ปิยบุตรเพิ่มเติมว่าเพื่อให้สดใหม่ และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทางกลุ่มนิติราษฎร์จะเผยแพร่ข้อเสนอวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยในข้อเสนอนี้ จะตั้งโมเดลการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามโมเดลนิติราษฎร์ ให้ประชาชนได้พิจารณา

“ขออนุญาตเรียนปิดท้ายว่า กิจกรรมทั้งสองวัน เป็นการทำงานทางความคิด เป็นการขับเคลื่อนทางความคิด และเราจะทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และ “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ” ตามเจตนารมณ์การก่อตั้งคณะนิติราษฎร์” ปิยบุตรกล่าวในที่สุด

สำหรับรายละเอียดของการเสวนาวิชาการ ที่จัดโดยคณะนิติราษฎร์ ทั้ง 2 ครั้ง มีดังนี้

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2555
การรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
• เปิดตัว คณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม. 112 (ครก. 112) เพื่อรวบรวมรายชื่อบุคคล เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์
• กิจกรรมทางวิชาการ และกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ

ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
ณ หอประชุมศรีบูรพา (หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2555
เนื่องในโอกาสครบรอบ 100ปี คณะ ร.ศ. 130 และโอกาสเข้าสู่ปีที่ 80 ของการอภิวัตน์ 24 มิถุนายน 2475 เพื่อให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” คณะนิติราษฎร์ จัดเสวนาทางวิชาการขับเคลื่อนข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
• อภิปราย “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง”
• แนวคำถาม-คำตอบ เรื่อง “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549”
• “โต้” ปฏิกิริยาที่มีต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ และเผยแพร่คู่มือลบล้างผลพวงรัฐประหาร
• ข้อเสนอวิธีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT 1) และ ห้องปรีดี เกษมทรัพย์ (LT 2) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้

Posted: 25 Dec 2011 07:44 AM PST

ร่างผลการศึกษาของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ที่ได้ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาข้อมูลสถิติคดีและข้อค้นพบในคดีความมั่นคง ด้านความชอบด้วยกฎหมายของคดีความมั่นคงในภาคใต้จำนวน 100 คดี ที่ผ่านการพิพากษาของศาลชั้นต้นระหว่างปี 2553 ถึงต้นปี 2554 สามารถสรุปได้ว่าในจำนวนคดี 100 คดีนั้น คดีที่ศาลยกฟ้องมีถึง 72 คดี มีเพียง 28 คดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ

การบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่เป็นที่รับรู้ว่าเกิดการปฏิบัติด้วยความไม่เป็นธรรมต่อชาวมลายูมุสลิมชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ หลายองค์กรหลายสถาบันวิจัยที่ออกมาเผยแพร่ถึงผลที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ (พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และพ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และกฎหมายธรรมดา(ป.วิ.อาญา) แต่กลับไม่ได้กระเพื่อมไปถึงผู้ปกครองส่วนกลางเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังแต่อย่างใด 72 คดีที่ยกฟ้องนักกฎหมายมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้ให้เหตุผลที่มีส่วนทำให้มีคดียกฟ้องเกินกว่าครึ่งนั้นเนื่องจากการขาดน้ำหนักของพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่นำเสนอในชั้นศาล หรือนับได้ว่าจำนวนคดีที่ยกฟ้องมาจากเหตุผลนี้ร้อยละร้อย

ผลของการศึกษาคดีความมั่นคงเพียงช่วงเวลา 1 ปี จำนวน 100 คดี ได้สะท้อนให้เห็นถึงความพร่องของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ขั้นของการเชิญตัว การกักตัว และซักถามตัวผู้ต้องสงสัย ด้วยกฎหมายพิเศษทั้ง 2 ฉบับ และกฎหมายธรรมดา การปฏิบัติต่อบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยและเป็นผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง มีการข่มขู่ และทำร้ายร่างกาย ด้วยการใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพและขู่เข็ญตั้งแต่ในขั้นตอนการจับกุม การกักหรือคุมตัวไปจนถึงการซักถามหรือสอบสวนตามกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ

ข้อมูลระบุว่าในการเชิญตัวภายใต้การบังคับใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามกฎอัยการศึก ใน 100 คดีมีผู้ถูกทำร้ายร่างกาย 33 คดี มีการใช้วาจาที่ไม่สุภาพ 35 คดี ถูกข่มขู่ 25 คดี เทียบกันกับการบังคับใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในขั้นการเชิญตัวหรือจับกุมปรากฏว่ามีผู้ถูกทำร้าย และใช้ถ้อยคำไม่สุภาพด้วยเช่นกันในจำนวนพอๆกันคือกรณีละ 16 คดี ถูกขู่เข็ญ 12 คดี และในการจับกุมในชั้นของการใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ปรากฏว่ามีบุคคลถูกทำร้ายร่างกายถึง 23 คดี มีการใช้วาจาไม่สุภาพด้วย 12 คดีและ ถูกขู่เข็ญ 13 คดี

ขั้นการซักถาม ภายใต้กฎหมายพิเศษ และการสอบสวนชั้น ป.วิ.อาญา เป็นขั้นของการได้มาซึ่งคำรับสารภาพแต่ขั้นตอนนี้กลับเป็นขั้นตอนที่มีการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายมีการทำร้ายร่างกาย และขู่เข็ญ เช่นเดียวกัน พฤติกรรมเหล่านี้ผู้เชียวชาญด้านกฎหมายเป็นกังวลอย่างมาก การทำร้ายร่างกายในระหว่างการซักถามภายใต้กฎอัยการศึก พบว่ามีถึง 39 คดี การขู่เข็ญ 27 คดี และการใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ 25 คดี ยังมีการทำร้ายร่างกายและใช้ถ้อยคำไม่สุภาพระหว่างการซักถามภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินกรณีละ 25 คดี และการขู่เข็ญ 37 คดี และเหตุที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือการถูกทำร้ายในระหว่างการสอบปากคำภายใต้ขั้นตอนตาม ป.วิ.อาญา ซึ่งสถิติระบุว่า มีผู้ถูกควบคุมตัวถูกข่มขู่ถึง 24 คดี ถูกทำร้ายร่างกาย 18 คดี และการใช้วาจาไม่สุภาพต่อผู้ถูกสอบปากคำจำนวน 17 คดี แต่ข้อมูลที่ได้มาในขั้นตอนนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำสำนวนคดีส่งฟ้องต่อศาลและศาลก็รับสำนวนฟ้องด้วยการประเมินว่าเจ้าหน้าที่และอัยการมีการสอบสวนและซักถามข้อมูลก่อนส่งมาแล้ว ส่งผลให้เกิดคดีที่ยกฟ้องชั้นไต่ส่วนมูลฟ้องเป็นจำนวนมาก

ข้อหาหรือฐานความผิดในคดีความมั่นคงที่พบมากที่สุดในจำนวนคดีที่หยิบยกมา 100 คดี เป็นข้อหาก่อการร้ายมีทั้งสิ้น 76 คดี ในคดีนี้มีการยกฟ้องถึง 57 คดี และกลุ่มคดีก่อการร้ายก็มีการถูกตัดสินลงโทษจำนวน 19 คดี ข้อหารองลงมาคืออั้งยี่ซ่องโจรจำนวน 62 คดี ยกฟ้อง 45 คดี ตัดสินลงโทษ 17 คดี และข้อหาความผิดต่อชีวิต 54 คดี มีการยกฟ้อง 42 คดี ตัดสินลงโทษในคดีความผิดต่อชีวิต 12 คดี ข้อที่น่าสังเกตในส่วนของข้อหากบฏที่มีจำนวนการฟ้องเพียง 2 คดี ซึ่งถูกตัดสินลงโทษว่ามีความผิด ที่น่าสนใจคือสถิติของการตั้งข้อหาในคดีกบฏลดลงจากเดิม เมื่อเทียบกับอดีตที่องค์กรที่เคลื่อนไหวในพื้นที่มีการแสดงตัวตนและจุดประสงค์การออกมาเคลื่อนอย่างชัดเจนเพื่อแบ่งแยกดินแดน แต่ขบวนการที่ออกมาเคลื่อนไหวในปัจจุบันไม่เห็นตัวตน และไม่ได้ระบุจุดหมายทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน แม้ว่าในทางการสอบสวนทางลับจะมีข้อมูลที่ชัดเจนว่าเพื่อเป้าประสงค์ใด และการเป็นสมาชิกของขบวนการในอดีตมีบัตรสมาชิกและทราบตัวผู้นำที่แน่นอน ซึ่งต่างจากสมาชิกที่เข้าร่วมขบวนการในปัจจุบันไม่มีบัตรสมาชิกและไม่ทราบถึงตัวผู้นำขององค์กรแต่อย่างใด และการเคลื่อนไหวอย่างลับๆ นับว่าเป็นกระบวนขั้นตอนที่ถูกวางไว้ของขบวนการที่มองถึงอนาคต และส่งผลให้หลักฐานการเอาผิดฐานกบฏไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

เมื่อข้อมูลออกมาเป็นเช่นนี้การให้ปากคำ หรือคำรับสารภาพของผู้ต้องสงสัย และผู้ต้องหาในขั้นตอนไม่ว่าขั้นซักถามภายใต้กฎหมายพิเศษทั้ง 2 ฉบับ หรือการสอบสวนชั้น ป.วิ.อาญา เจ้าหน้าที่สอบสวนไม่ได้ระบุถึงวิธีการได้มาซึ่งคำให้การหรือคำรับสารภาพ ระบุเพียงว่าผู้ต้องสงสัย หรือผู้ต้องหารับสารภาพเท่านั้น ส่งผลให้ศาลมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาตามข้อมูลที่อัยการส่งสำนวนคดี และคดียกฟ้องตามมาเป็นจำนวนมาก

การให้การของผู้ต้องหาหรือจำเลยในชั้นสอบสวนตามกระบวนการ ป.วิ.อาญา มีผลต่อการไต่ส่วนในชั้นศาล การให้การรับสารภาพและปฏิเสธของจำเลยพบปรากฏว่าในจำนวน 100 คดี มีการรับสารภาพจำนวน 26 คดี ปฏิเสธ 72 คดี และภาคเสธหรือสารภาพบางส่วน 2 คดี เมื่อแบ่งสถิติของการรับสารภาพมีคดีที่ถูกยกฟ้องจำนวน 14 คดี จำเลยให้การปฏิเสธคดีตัดสินยกฟ้อง 57 คดี จำเลยสารภาพบางส่วนและคดียกฟ้อง 1 คดี ส่วนคดีที่ถูกลงโทษในส่วนของการรับสารภาพ 12 คดี ปฏิเสธ 15 คดี สารภาพบางส่วน 1 คดี

สังเกตได้ว่าการให้การรับสารภาพที่ได้มาจากในชั้นการซักถามภายใต้กฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึกหรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นพยานหลักฐานที่ศาลไม่รับฟัง แต่ปรากฏมากในสำนวนฟ้องของเจ้าหน้าที่มักจะเป็นเรื่องของการอาศัยคำรับสารภาพที่ได้จากชั้นซักถาม นักกฎหมายระบุว่า ที่ศาลไม่รับฟังนั้นส่วนหนึ่งเพราะถือว่า การได้มาซึ่งคำสารภาพหรือหลักฐานเช่นนี้อยู่นอกเหนือวิธีการได้มาซึ่งพยานหลักฐานที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้ในการพิจารณาคดี นั่นคือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

และนักกฎหมายระบุด้วยว่า ยังมีเหตุผลอื่นๆอีกหลายประการที่มีส่วนทำให้พยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่นำเสนอในชั้นศาลขาดน้ำหนัก ส่งผลให้ตัวเลขการยกฟ้องอันเนื่องมาจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอมีสัดส่วนสูง หากเทียบแล้วถือได้ว่าอัตราส่วนของคดีที่ยกฟ้องด้วยเหตุผลเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอเท่ากับ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม

ผลการศึกษายังพบด้วยว่า ในการปฏิบัติต่อบุคคลที่เป็นผู้ต้องสงสัยและเป็นผู้ต้องหาของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง แม้ในหลายกรณีเจ้าหน้าที่จะให้ความเคารพในเรื่องความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา แต่กลับพบว่ามีการข่มขู่ทำร้ายทั้งทางร่างกายและวาจา ด้วยการใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพและขู่เข็ญตั้งแต่ในขั้นตอนการจับกุม การกักหรือคุมตัวไปจนถึงการซักถามหรือสอบสวนไม่ว่าตามกฎหมายพิเศษหรือภายใต้กฎหมายธรรมดาก็ตาม

ประเด็นควรจะขับเคลื่อนกันต่อไปคือ ภายใต้กฎหมายพิเศษทั้ง 2 ฉบับ ปัญหาที่ทำให้เกิดพฤติกรรมอันมิชอบด้วยกฎหมายที่มาจากผู้มีอำนาจละเมิดสิทธิของความเป็นมนุษย์ มาจากตัวคนหรือตัวบทกฎหมายที่มีความผิดพลาด ที่ผ่านมาการถกเถียงกันในประเด็นนี้ ความผิดได้ถูกโยนไปยังตัวคนที่บังคับใช้กฎหมาย แต่ไม่ได้ลงลึกไปดูที่ตัวกฎหมายที่บังคับใช้ ว่าควรแก้ไข ยกเลิก หรือปฏิรูปหรือไม่

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์:“ความยุติธรรม” ตามทัศนะของพุทธศาสนา

Posted: 25 Dec 2011 07:13 AM PST

ดูเหมือนพุทธเถรวาทไทยพยายามเสนอคำตอบของพุทธศาสนาแก่ปัญหาชีวิตและสังคมแทบทุกเรื่อง แต่เริ่มจะถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่า เป็นการเสนอมั่วๆ หรือสับสนหรือไม่? โดยเฉพาะข้อเสนอทางแก้ปัญหาสังคมการเมืองที่อยู่บนพื้นฐาน “ศีลธรรมเชิงปัจเจก” (individual morality) ที่ว่า “ถ้าแต่ละคนเป็นคนดีแล้วสังคมก็จะดีเอง”

หลักการ “ถ้าแต่ละคนเป็นคนดีแล้วสังคมก็จะดีเอง” ถูกขยายความว่า “คนดี” หมายถึง คนที่คิดดี พูดดี ทำดี หรือที่พูดภาษาพระว่า “คนที่ทำดีด้วยกาย วาจา ใจ” นั่นเอง ฉะนั้น ข้อเรียกร้องในทางสังคมการเมืองที่ออกมาจากพระสงฆ์ หรือฝ่ายที่อ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาในการต่อสู้ทางการเมืองในช่วง 5 ปี มานี้ จึงไม่ใช่ข้อเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง กติกาของสังคมให้เป็นประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคมากขึ้น แต่เป็นการเรียกร้องไปที่ “ตัวบุคคล” ว่า นักการเมืองต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม ประชาชนต้องเลือกคนดี คนไทยต้องไม่โกรธ ไม่เกลียดกัน ต้องรักกัน สามัคคี สมานฉันท์ ปรองดองกัน กระทั่งให้ปล่อยวางอคติ ปล่อยวางความยึดมั่นในตัวกู ของกู ฯลฯ

ขอเรียกร้องทำนองนี้กลายเป็น “กระแส” ในสื่อหลักตลอดมา แต่ก็มีปัญหาที่น่าพิจารณา คือ 1) ข้อเรียกร้องทำนองนี้ จะบรรลุผลได้อย่างไรภายใต้โครงสร้างสังคมการเมืองที่ให้อำนาจนอกระบบอยู่เหนือการตรวจสอบ และเครือข่ายของอำนาจนอกระบบนั้นยังแทรกแซงอำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ (เป็นต้น) ได้ 2) ที่สำคัญข้อเรียกร้องทำนองนี้มันเหมือนจะมีสมมติฐานล่วงหน้าว่า นักการเมืองและประชาชนเป็น “คนไม่ดี” (มีกิเลส โกง โกรธ เกลียด ไม่สามัคคี ไม่รักกัน ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ฯลฯ) จึงทำให้ละเลยปัญหาเชิงระบบ หรือปัญหาเกี่ยวกับกติกา โครงสร้างของ “อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”

ฉะนั้น การที่พระสงฆ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อ้างพุทธศาสนา อ้างธรรมะนำการต่อสู้ ได้เสนอข้อเรียกร้องทำนองนี้ให้เป็นทางออกของปัญหาสังคมการเมือง มันจึงเท่ากับเป็นการเสนอข้อเรียกร้องที่ไปขับเน้น “ปัญหาปลอม” ขึ้นมากลบเกลื่อน “ปัญหาจริง” แล้วก็เสนอ “ทางออกเทียม” ทำให้สังคมละเลยที่จะถกเถียงเกี่ยวกับ "ปัญหาที่แท้จริง" เพื่อให้เกิดการทุ่มเทพลังทางสังคมไปสู่การแสวงหา “ทางออกที่แท้จริง” ร่วมกัน

ยิ่งกว่านั้น การที่พระสงฆ์และชาวพุทธนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเสนอข้อเรียกร้องเทียมๆ ขับเน้นปัญหาเทียมๆ หรือทางออกเทียมๆ แก่สังคมเช่นนั้น กลับทำให้คุณค่าของพุทธศาสนาต่อสังคมลดความหมายลงอย่างที่ไม่น่าจะเป็น ซ้ำร้ายข้อเสนอเทียมๆ การขับเน้นปัญหาเทียมๆ และทางออกเทียมๆ ดังกล่าวนั้น ยังกลายเป็นการเอื้อประโยชน์แก่การดำรงรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างเผด็จการ หรือ “โครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรง” ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเรียกร้องเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนตลอดมาอีกด้วย

เราจึงจำเป็นต้องตั้งคำถามอย่างจริงจังได้แล้วว่า ทำไมการอ้างธรรมะและพุทธศาสนามาขับเคลื่อนสังคมการเมือง พระสงฆ์และชาวพุทธจึงไม่ขับเคลื่อนบนจุดยืนของ “ศีลธรรมทางสังคม” (social morality) ของพุทธศาสนาเองที่สอดคล้องกับหลักเสรีภาพ ความเสมอภาคในสังคมประชาธิปไตยมากกว่า

ผมหมายความว่า ถ้าจะอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาในทางที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมการเมือง ทำไมจึงไม่นำทัศนะทางสังคมการเมืองของพุทธศาสนามาอ้างถึง หรือเป็นจุดยืนในการต่อสู้!

ทัศนะทางสังคมการเมืองของพุทธศาสนาที่สำคัญเรื่องหนึ่ง คือทัศนะเรื่อง “ความยุติธรรม” หรือทัศนะที่ว่า สังคมการเมืองที่มีความเป็นธรรมควรกำหนดโครงสร้างอำนาจ กติกาการอยู่ร่วมกันบน “หลักความยุติธรรม” (the principle of justice) อะไร

ทัศนะดังกล่าวนี้ เราสามารถเห็นได้จากข้อโต้แย้งของพระพุทธเจ้าต่อแนวคิดเรื่องความยุติธรรมของศาสนาพราหมณ์ ที่ถือว่าสังคมที่ยุติธรรมคือสังคมที่จัดระบบความสัมพันธ์ของสมาชิกแห่งสังคมแบบ “อินทรียภาพ” (organism) เช่น ระบบวรรณะ 4 คือ การกำหนดชนชั้นสูง-ต่ำทางสังคมตามโครงสร้างของร่างกายว่า คนในวรรณะพราหมณ์เกิดจากปากของพรหม กษัตริย์เกิดจากแขน (หรือไหล่) ของพรหม จึงเป็นชนชั้นสูง มีอภิสิทธิ์ต่างๆ เหนือคนทั่วไป แพศย์เกิดจากสะดือเป็นสามัญชน ขณะที่ศูทรเกิดจากเท้าของพรหมจึงเป็นคนชั้นต่ำ

คนในแต่ละชนชั้นต่างมีหน้าที่ที่แน่นอนของตนเอง เช่น กษัตริย์เป็นนักรบ พราหมณ์สอนศาสนาและจัดการศึกษา แพศย์ค้าขาย สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ ศูทรเป็นคนรับใช้ หรือผู้ใช้แรงงาน ในทัศนะของศาสนาพราหมณ์การที่คนแต่ละชนชั้นไม่เสมอภาคกันไม่ใช่ความไม่ยุติธรรม เพราะความยุติธรรม หมายถึง การที่คนในแต่ละชนชั้นต่างทำหน้าที่ของตนเอง ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน เหมือนนิ้วมือแต่ละนิ้วแม้ไม่เท่ากัน แต่ต่างทำหน้าที่ของตนไม่ก้าวก่ายกัน

พระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วยกับทัศนะดังกล่าว จึงเสนอข้อโต้แย้งว่า 1) ไม่มีมนุษย์คนไหนเกิดจากพรหม ทุกคนล้วนเกิดจากโยนีของมารดา 2) ระบบวรรณะ 4 ไม่ได้ถูกำหนดไว้โดยพระพรหม แต่เป็นผลของวิวัฒนาการทางสังคม 3) คุณค่าของคนไม่ได้ขึ้นกับชาติกำเนิดแต่อยู่ที่ “กรรม” หรือการกระทำ ฉะนั้น ทุกคนเสมอภาคกันโดยกรรม หรือการกระทำ

การที่พระพุทธเจ้าถือว่า ทุกคนเสมอภาคกันโดยกรรมหรือการกระทำมีความหมายสำคัญว่า “บุคคลเสมอภาคกันภายใต้กฎศีลธรรม” คือ ภายใต้กฎศีลธรรมเดียวกันทุกคนทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว เสมอเหมือนกัน ไม่สามารถอ้างสถานะสูง-ต่ำทางชนชั้นมาเป็นข้อยกเว้น หรือเป็นข้อซ้ำเติมได้

และในเรื่อง “กรรม” หรือการกระทำนั้น พุทธศาสนาถือว่า การกระทำเกิดจาก “เจตนา” หรือเสรีภาพในการเลือกกระทำของแต่ละบุคคล เมื่อเราเลือกทำสิ่งที่ดี หรือชั่วอย่างอิสระด้วยตนเอง เราจึงต้องรับผิดชอบต่อผลการกระทำที่ตามมา การที่เรามีเสรีภาพเลือกการกระทำเท่ากับเรามีเสรีภาพเลือกปกครองตนเองได้ด้วย อย่างที่เรียกว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ซึ่งหมายถึง เราสามารถเลือกกระทำสิ่งที่ดีทางศีลธรรมได้ด้วยเสรีภาพของตนเอง การเลือกทำสิ่งที่ดีด้วยตนเองได้ เท่ากับเลือกปกครองตนเองให้เดินตามครรลองที่ถูกต้องได้

แน่นอนว่า พุทธศาสนาสอนว่ามนุษย์มีกิเลส แต่พุทธศาสนาก็สอนด้วยว่า มนุษย์สามารถมีเสรีภาพจากกิเลส (วิมุติ) ได้ ซึ่งเสรีภาพจากกิเลส ก็คือผลขั้นสุดท้ายของการใช้เสรีภาพในการเลือกทำความดีนั่นเอง

ฉะนั้น ความคิดที่ว่ามนุษย์เสมอภาคกันโดยการกระทำ หรือเสมอภาคกันภายใต้กฎศีลธรรม และมนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกกระทำ หรือมีเสรีภาพปกครองตนเอง (พึ่งตนเอง) ได้ สะท้อนว่า “หลักความยุติธรรม” ตามทัศนะของพุทธศาสนา คือหลักความเสมอภาคและเสรีภาพ รูปธรรมของชุมชนทางพุทธศาสนาที่ยึดหลักความยุติธรรมดังกล่าวนี้คือ “สังฆะ” หรือชุมชนสงฆ์ในสมัยพุทธกาล

แต่ชุมชนสงฆ์เถรวาทไทยปัจจุบันกลับมีระบบชนชั้นเข้มข้นมาก คือ “ระบบสมณศักดิ์” ที่เป็นเช่นนี้เพราะพุทธศาสนาเกิดขึ้นในยุคราชาธิปไตยและมีวิวัฒนาการมาภายใต้ระบบราชาธิปไตยและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พุทธศาสนาเองนอกจากไม่มีพลังเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองให้มีความเสมอภาคและมีเสรีภาพตามหลักคำสอนครั้งพุทธกาลแล้ว คำสอนของพุทธในระยะต่อมายังถูกตีความ ถูกใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนระบบชนชั้นตามวัฒนธรรมทางสังคมการเมืองแบบราชาธิปไตย และสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกด้วย

พุทธศาสนาเถรวาทไทยในปัจจุบันนี้ก็คือ “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่ยังถูกใช้สนับสนุนอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่อย่างเข้มข้น ฉะนั้น พระสงฆ์และชาวพุทธที่อ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนา ในการต่อสู้ทางการเมืองในระยะ 5 ปี มานี้ จึงเป็นการอ้างธรรมะและพุทธศาสนาเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้อยู่เหนือประชาธิปไตยทั้งโดยตรง และโดยปริยาย

ฉะนั้น การอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาในทางการเมืองอย่างที่ทำๆ กันมานี้ จึงควรถูกตั้งคำถามว่า ในเมื่อหลักความยุติธรรมซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของศีลธรรมทางสังคมของพุทธศาสนานั้น คือ “หลักเสรีภาพ” และ “ความเสมอภาค” ซึ่งเป็นหลักที่พุทธศาสนาใช้ปฏิเสธระบบวรรณะ 4 มาก่อน แต่ทำไมหลักการดังกล่าวนี้จึงไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นจุดยืนในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสนับสนุนอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทว่าการอ้างธรรมะและพุทธศาสนากลับเป็นไปในทางสนับสนุนอุดมการณ์ทางชนชั้นมากกว่า

ผมคิดว่านี่เป็นคำถามที่พระสงฆ์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ชอบอ้างธรรมะ อ้างพุทธศาสนาต้องตอบ และเป็นปัญหาที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ และ/หรือระบบการศึกษาสงฆ์ควรทบทวนให้ชัดเจนว่า การประยุกต์พุทธศาสนากับปัญหาสังคมการเมืองนั้น ทำอย่างไรจะไม่เป็นการนำศีลธรรมเชิงปัจเจกมาเสนอ “ทางออกเทียมๆ” แก่สังคม และทำอย่างไรจึงจะอ้างอิงหลักศีลธรรมทางสังคม หรือ “หลักสังคมที่มีความยุติธรรม” ตามทัศนะของพุทธศาสนามาสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสังคมให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เวียงรัฐ เนติโพธิ์: ประชาสังคมแบบไทย และไม้เกี๊ยะของการปฏิวัติ

Posted: 25 Dec 2011 04:27 AM PST

เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อธิบายลักษณะสิ่งที่เรียกว่า “เอ็นจีโอ/ประชาสังคม” ในไทย พร้อมชี้ให้เห็นข้อจำกัด และอธิบายว่ามีปัจจัยใดบ้างที่จะเปลี่ยนแปลงประชาสังคมแบบไทยๆ ไปสู่ “ไม้เกี๊ยะ” ของการปฏิวัติ 

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมาที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเสวนาหัวข้อ "6 ทศวรรษ กับการเปลี่ยนแปลงในสังคมท้องถิ่นล้านนา" เนื่อง ในโอกาสเกษียณอายุราชการ ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง โดยในช่วงหนึ่งมีการอภิปรายโดย ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้อภิปรายถึงลักษณะของ “ประชาสังคมไทย” โดยมีรายละเอียดการอภิปรายต่อไปนี้

000

การอภิปรายโดยเวียงรัฐ เนติโพธิ์ เมื่อ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาัลัยเชียงใหม่ ในงาน "6 ทศวรรษ กับการเปลี่ยนแปลงในสังคมท้องถิ่นล้านนา"

เวียงรัฐ เนติโพธิ์

"ประการสำคัญที่ทำให้ (ประชาสังคมไทย) แตกต่างจาก Civil Society ของตะวันตก คือ ต้นทุนทางสังคมของประชาสังคมของไทย เป็นต้นทุนทางสังคมที่ผูกพันกับลักษณะเครือญาติและลักษณะพรรคพวก หรือ Family and Kinship ที่ลักษณะของ ฝรั่งเรียกว่า “Backward Society” ที่เป็นสังคมก่อนสมัยใหม่ และเอา Element นี้มาใช้รวมคน มันไม่ใช่รวมกันในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมหนึ่งที่จะรวมกันเพื่อปกป้อง สิทธิทางการเมืองของตัวเอง แต่เป็นการรวมกันในเครือข่ายแบบเครือญาติ พรรคพวก เพราะมีความเป็นไทยปนอยู่ด้วย ซึ่งไม่แตกต่างจาก Hegemony หลักของรัฐนิยม หรือราชาชาตินิยมของไทย"

 

การอภิปรายในวันนี้จะพยายามอธิบายเอ็นจีโอว่าเป็นอย่างไรในฐานะนักรัฐศาสตร์ และ จะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในอายุราชการของอาจารย์ธเนศวร์ (เจริญเมือง) ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ Civil Society แบบใหม่ ที่เป็นการเมือง และการเปลี่ยนแปลงนั้นได้นำไปสู่อะไร หรือเป็นไม้เกี๊ยะของการปฏิวัติอย่างไร

ซึ่งขอออกตัวว่าอาจจะพูดให้ดูง่าย และสองอาจจะ Stereotype เหมารวม เอ็นจีโอมีความหลากหลาย วิธีคิดแบบปฏิวัติมีความหลากหลาย นิยามของ Civil Society มีความหลากหลายการศึกษาหลายเรื่อง อาจจะขอข้ามไปหรือไม่ได้ทบทวน โดยจะถือว่าพูดในฐานะที่มาจุดประกายทางความคิด

000

มายาภาพของประชาสังคม ไทยๆ’

จากคนนอกที่มองคำว่าประชาสังคม อาจจะมีปัญหานิดหน่อย การพูดในวันนี้ขอใช้คำว่า "Civil Society" คือส่วนรวมนอกภาครัฐ ที่ไม่ใช่อยู่ในภาครัฐ ซึ่งอาจารย์อัจฉราอธิบายว่าตอนนี้องค์กรนอกภาครัฐ กำลังจะไปรวมกับภาครัฐ หรือองค์กรที่ต่อต้านภาครัฐ จะเป็น Civil Society หรือไม่ องค์กรที่มีการใช้ความรุนแรงจะเป็น Uncivil Society เป็นองค์กรของการปฏิวัติหรือไม่ จะไม่ขอแจกแจง

คำว่า Civil Society ที่ใช้ในเมืองไทย มีการใช้มาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ 1990 และต่อเนื่องมาในทศวรรษที่ 2000 ต้นๆ มันมีพลังในการอธิบายการเคลื่อนไหวและเครือข่ายของเอ็นจีโอ Civil Society ไม่เคยรวม อสม. เครือข่ายแม่บ้าน หัวคะแนน นักปฏิวัติที่ซ่อนเร้นที่สักวันหนึ่งอาจลุกขึ้นมาทำการปฏิวัติ ไม่เคยรวมพวกที่มีจิตใจฝักใฝ่ชาตินิยมทั้งชาตินิยมแบบราชาชาตินิยม และแบบไม่ราชาชาตินิยม

คำว่า "ประชาสังคม" ที่ใช้ในเมืองไทย จึงไม่รวมนิยามพวกนี้ จึงทำให้ตกหล่นไป แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ประชาสังคมที่มีพลังในสังคมไทย หมายถึงอะไรบ้าง ดิฉันคิดว่า หลักๆ เลยหมายถึง เอ็นจีโอ และกิจกรรมของเอ็นจีโอ

จากการสังเกต ปฏิบัติการของเอ็นจีโอ มีลักษณะเป็นเครือข่ายที่ทำกับผู้ปฏิบัติงานด้วยกัน ไม่ใช่เครือข่ายที่ทำกับประชาชนกับประชาชน แต่เป็นเครือข่ายที่ผู้ปฏิบัติงานในภาคเหนือจะร่วมมือกับเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานในภาคอีสาน เครือข่ายเอ็นจีโอภาคใต้ ในรูปแบบต่างๆ ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ดังนั้นเราจึงมี "ผู้ใหญ่เอ็นจีโอ" คือคนที่สามารถประสานรวมเอาเอ็นจีโอเชียงใหม่ไปคุยกับเอ็นจีโออีสาน ไปคุยกับเอ็นจีโอทางใต้ได้

ข้อสังเกตก็คือ แกนนำหรือคนที่มีบทบาทในเอ็นจีโอ ในเกือบทุกองค์กรคือคนเดือนตุลา ทั้ง 14 ตุลา, 6 ตุลา และอดีต พคท,, อดีต สมาชิก พคท. ซึ่งคนเหล่านี้มีประสบการณ์ร่วมกันคือต่อสู้กับเผด็จการและต่อสู้กับทุนนิยม และหรือไม่ใช่คนเดียวกัน ถึงออกเฉดหลายเฉด หลังจากยุคพีคของเอ็นจีโอ มาเป็นยุคเสื้อเหลืองเสื้อแดงคือมีหลายเฉด ซึ่งอาจารย์ธเนศวร์เองก็เป็นคนหนึ่งในนั้นที่เป็นนักวิชาการ เรียกว่าเอ็นจีโอ หรือสายที่มีแนวคิดพัฒนาสังคมแบบยั่งยืนเป็นทางเลือก

อีกอันหนึ่งที่คิดว่าเป็นข้อสังเกต จากการศึกษาเปรียบเทียบกับเอ็นจีโอในประเทศต่างๆ เอ็นจีโอในประเทศญี่ปุ่นเอง คิดว่าการมีส่วนร่วมมีน้อยกว่าผลสะเทือนทางสังคม หมายความว่า จำนวนคนมีไม่มากเท่ากับภาพพจน์ที่ออกมา ดิฉันพยายามที่จะหาสมาชิกของเอ็นจีโอที่ส่งผลสะเทือนในเรื่องของการเคลื่อนไหวเรื่องกำจัดขยะ โรงงานกำจัดขยะในเชียงใหม่ เคลื่อนไหวต่อต้านกระเช้าลอยฟ้าขึ้นดอยสุเทพ ขึ้นดอยหลวงเชียงดาว ถ้านับจำนวนคนกับมองภาพจากสื่อมวลชน ดิฉันคิดว่าจำนวนการมีส่วนร่วมน้อยกว่าผลสะเทือน แล้วเวลาไปวิเคราะห์ในแต่ละเคส เคสที่จบลงได้ สำเร็จได้ ไม่ได้ด้วยการเอาจำนวนคนมากดดัน คุณกดดัน สามารถตั้งเต็นท์อยู่ได้ 99 วัน หรือมากกว่านั้นก็ได้ แต่ผลสะเทือนจริงๆ อยู่ที่การลอบบี้และต่อรอง นั่นคือการปฏิบัติงานของเอ็นจีโอที่ผ่านมา ก่อนที่จะถึงปลายสมัยอายุราชการอาจารย์ธเนศวร์

ส่วนวาทกรรมคำว่า “Civil Society” หรือ “ประชาสังคม” ไปผูกพันอยู่กับภาคประชาชน ซึ่งยิ่งช่วยทำให้ขยายผลสะเทือนของการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอให้มันใหญ่ขึ้นไปอีก โดยใช้คำว่า "ภาคประชาชน" ซึ่งทำให้เห็นว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งหมด มีความชอบธรรมในการที่จะเป็นตัวแทนของส่วนรวมที่ไม่ใช่รัฐทั้งหมด ซึ่งมันทำให้เกิดความยิ่งใหญ่มากไปกว่าเดิมเสียอีก

และนอกไปจากนั้น ถ้าคุณไม่ลงพื้นที่เลย ไม่ดูการเมืองในระดับท้องถิ่นเลย และดูเฉพาะข่าวจากสื่อมวลชน จะเห็นว่าการให้พื้นที่ข่าว ถือว่าใหญ่พอสมควรเมื่อเทียบกับจำนวนคนที่เข้าร่วม ดังนั้นวาทกรรมที่เกี่ยวกับภาคประชาชนถูกส่งเสริมโดยสื่อมวลชน ดิฉันเข้าใจว่าสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งคืออดีต Activist ที่มีเครือข่ายกัน ไม่เพียงเท่านั้นนักวิชาการก็มีส่วนที่ทำให้ภาพของเอ็นจีโอ หรือกิจกรรมของเอ็นจีโอ ในการปฏิบัติการ ทำให้ภาพของ Civil Society ใหญ่มากยิ่งขึ้น โดยมีนักวิชาการสายเอ็นจีโอ ศึกษาเรื่อง Civil Society ก็มักจะยกตัวอย่าง เอ็นจีโอ เมื่อนักศึกษาทำรายงานเรื่อง Civil Society ตัวอย่างที่เขามีคือ “99 วันสมัชชาคนจน” “เขื่อนปากมูน” และการเคลื่อนไหวประท้วงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสายสมัชชาคนจน

นั่นก็คืองานวิชาการทั้งหมดไปสนับสนุนการเคลื่อนไหวหรือปฏิบัติการของเอ็นจีโอ ซึ่งสิ่งที่อาจารย์อัจฉรา(รักยุติธรรม) พูดไว้ก็ชัดเจนว่าทำไม (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

000

ประชาสังคมกับ Royal Hegemony

ดิฉันคิดว่า Ideology สำคัญของสิ่งที่เรียกว่า "Civil Society/ประชาสังคม" มันคือส่งเสริมชุมชนนิยม (Communitarianism) และมีพื้นฐานของความคิดวัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นรากฐานสำคัญ ของความคิด/อุดมการณ์ของเอ็นจีโอเหล่านี้ และไม่เพียงเท่านั้นยังมีลักษณะพุทธศาสนาของเถรวาท มีลักษณะของ Morality หรือจริยธรรมต่างๆ ความเป็นคนดี ทำดี ทำในสิ่งที่ดี จึงกลายเป็นความคิดที่มากำกับการปฏิบัติการของเอ็นจีโอ และกำกับแนวคิดของ Civil Society ไปพร้อมๆ กันด้วยด้วย

โดยสรุปแล้ว Ideology ของเอ็นจีโอ หรือ Civil Society ที่ผ่านมาในยุคก่อนปลายอาจารย์ธเนศวร์ คือการต่อต้านทุนนิยม ต่อต้านอำนาจรัฐ ไม่เพียงเท่านั้น เลยไปถึงการต่อต้านนักการเมือง เพราะนักการเมืองคือตัวแทนของคนที่ไม่มีจริยธรรม คือตัวแทนของความไม่ถูกต้อง เพราะนักการเมืองคือสัญลักษณ์ของการคอรัปชั่น ซึ่งทำให้ คละเคล้ากันไปก็กลายเป็นการไม่เห็นด้วย ต่อต้านประชาธิปไตยแบบตัวแทน แบบไม่รู้ตัว (หรือจะรู้ตัวก็ตาม ซึ่งอาจจะรู้ตัวก็ได้) อันนี้ ถ้ามองในเชิงเปรียบเทียบ หรือภาพกว้าง ประชาสังคมในความหมายของไทย จะสอดคล้องกับ “Royal Hegemony” หรือการครองความเป็นใหญ่ทางความคิดแบบราชาชาตินิยม ได้แก่แบบเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งตรงข้ามกับทุนนิยม พุทธศาสนาซึ่งเป็นชุมชนนิยม หรือแบบดั้งเดิม ความถูกต้อง ความดีงาม นอกจากนั้นสิ่งสำคัญคือ ความเป็นไทย หรือ Thainess คือ กรอบวิธีคิดแบบไทย วัฒนธรรมแบบไทย ความเป็นชุมชน

ซึ่งประการสำคัญที่ทำให้แตกต่างจาก Civil Society ของตะวันตก คือ ต้นทุนทางสังคมของประชาสังคมของไทย เป็นต้นทุนทางสังคมที่ผูกพันกับลักษณะเครือญาติและลักษณะพรรคพวก (Family and Kinship) ที่ลักษณะของ ฝรั่งเรียกว่า “Backward Society” ที่เป็นสังคมก่อนสมัยใหม่ และเอา Element นี้มาใช้รวมคน มันไม่ใช่รวมกันในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมหนึ่งที่จะรวมกันเพื่อปกป้องสิทธิทางการเมืองของตัวเอง แต่เป็นการรวมกันในเครือข่ายแบบเครือญาติ พรรคพวก เพราะมีความเป็นไทยปนอยู่ด้วย ซึ่งไม่แตกต่างจาก Hegemony หลักของรัฐนิยม หรือราชาชาตินิยมของไทย

 

000

ประชาสังคมที่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ทีนี้ทำไม Civil Society แบบนี้จึงไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ดิฉันขอยกประโยคของ Hannah Arendt ที่กล่าวว่า มนุษย์จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติได้ ก็ต่อเมื่อมนุษย์ตระหนักว่าความยากจนไม่ได้อยู่เป็นมรดกที่อยู่ในสายเลือดของมนุษย์ แต่เกิดจากการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง

พูดง่ายๆ ว่า ความยากจนสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ แต่สำนึกของประชาสังคมที่เป็นสำนึกแบบที่ดิฉันอธิบายมาทั้งหมด มันเป็นสำนึกที่ไม่ทำให้มนุษย์เข้าใจได้ว่า ตัวเองมีความยากจนเป็นปัญหาของโครงสร้างรัฐที่ตัวเองสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และยังอยู่ในกรอบเดียวกันกับกรอบของรัฐ ซึ่งการที่บอกว่าเป็น “กรอบความคิดแบบทางเลือก” จึงไม่สามารถชัดเจนขึ้นมาได้ ในบริบทของรัฐไทยและสังคมไทยแบบนั้น

Civil Society ที่จะพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับของการปฏิวัติได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบใดบ้าง ประการแรก มนุษย์ต้องตระหนักว่าตัวเองต้องต่อสู้เพื่อเสรีภาพ “Liberty” จึงเป็นคำสำคัญ ในการนำพามนุษย์เข้าสู่การปฏิวัติ Liberty แสดงว่าตัวเองต้อง ต้องตระหนักว่าตัวเองถูกกดขี่ หรือถูกกดทับเสรีภาพอยู่ หรือเป็นมนุษย์ที่ Partly liberated ส่วนหนึ่งถูกปลดปล่อยแล้ว แต่มีส่วนหนึ่งที่ยังไม่ถูกปลดปล่อย มนุษย์ต้องตระหนักว่าตัวเองต้องปลดปล่อยตัวเองจากกรงขังทางอำนาจที่มีพันธะของตัวเองอยู่และเขาไม่สามารถปลดปล่อยได้ แต่ต้องตระหนักใน Liberty อันนี้ แต่คิดว่าประชาสังคมที่ผ่านมาไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงเสรีภาพอันนี้

ประการที่สอง คือความเป็นพลเมือง หรือ Citizenship ซึ่งไม่ได้ตระหนัก แต่ตระหนักว่าเป็น ชุมชน คนไทย คำว่าชาติ มันไม่ได้หมายถึง เราเป็นสมาชิกพลเมืองของชาติ ความรักชาติจึงไม่ได้หมายถึงความรักในสังคมที่เราเป็นส่วนหนึ่ง ความรักชาติไม่ได้หมายถึงตัวเองมีสิทธิมีหน้าที่ในฐานะพลเมืองอะไรบ้าง แต่หมายถึงสิ่งที่มันอยู่เหนือ เป็นอุดมคติ เป็นอุดมการณ์ที่อยู่เหนือสูงส่งกว่าตัวเอง

ไม่ตระหนักว่าตัวเองคือหน่วยย่อยที่สุดที่จะสู้กับอำนาจรัฐที่มันใหญ่โต แต่ตระหนักว่าอำนาจรัฐเป็นอะไรที่ลอยอยู่ไกลจากตัวเอง ที่ตัวเองต้องต่อสู้และไม่เห็นด้วยอำนาจรัฐในทุกๆ รูปแบบ จนลืมตระหนักไปว่า อำนาจรัฐที่เป็นรูปแบบประชาธิปไตยก็เป็นอำนาจรัฐที่เราสามารถจับต้องได้ อย่างใกล้ชิด

และองค์ประกอบอีกประการคือ ไม่เห็นเห็นความสำคัญระหว่างตัวเองกับรัฐ คือความเป็นพลเมืองของ Civil Society ในแบบเดิม เมื่อมันไม่เกิดขึ้น มันจึงไม่ส่งผลให้เราตระหนักถึงตัวเองในการยืนอยู่ตรงข้ามกับรัฐ ในการยืนอยู่ใน Civil Society ที่อยู่นอกภาครัฐ และต้องการที่จะท้าทาย เปลี่ยนแปลง หรือสนับสนุนอำนาจรัฐแบบนั้น

พูดง่ายๆ โดยรวม ประชาชนไม่ถูก Activate หรือไม่ถูกกระตุ้นให้เกิดการเป็นมนุษย์ทางการเมือง ไม่ถูก Politicized ประชาชนในรูปแบบของ Civil Society ในแบบที่ผ่านมา ไม่ถูก Politicized ให้เป็นมนุษย์ทางการเมือง ไม่ให้เป็นสัตว์การเมือง ดังนั้นจึงไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ Civil Society แบบนั้นจึงไม่อาจเป็นมวลชนของนักปฏิวัติแบบอาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมืองได้ อาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง จึงต้องมีภารกิจ

 

000

ภารกิจของธเนศวร์: รัฐกระจายอำนาจ และรัฐรวมศูนย์

โดยเป็นภารกิจที่ดิฉันจำได้ติดตาคือ เรากำลังรณรงค์ให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย 2540 “ธงเขียว” ซึ่งเชียงใหม่มีมากกว่ากรุงเทพฯ ปี 2540 เชียงใหม่เขาจะปักธงเขียวที่มอเตอร์ไซค์จำนวนมาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นหัวหอกสำคัญในการรณรงค์นั้น

อาจารย์ธเนศวร์อาจจะไม่ได้คิดถึงการปฏิวัติจนถึงวันนี้ก็ได้ในการรณรงค์เรื่องธงเขียว เพราะในใจวันนั้นที่อาจารย์ธเนศวร์พูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่า การกระจายอำนาจ การให้ประชาชนมีส่วนร่วม การสร้างภาคประชาสังคมที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตย ก็อาจจะไม่ได้นึกไปไกลเหมือนตอนนี้ เพราะโครงสร้างอำนาจรัฐก็ยังไม่แจ่มชัดมากขึ้น

ทีนี้ในระหว่างการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดขบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มีลักษณะโครงสร้างอำนาจรัฐแบบไหน ซึ่งดิฉันไม่อยากพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก อาจารย์ในคณะที่เป็นเจ้าพ่อของ “รัฐรวมศูนย์” ที่เพิ่งเกษียณไปคืออาจารย์สุชาย ตรีรัตน์ พูดมาตลอดว่า "รัฐรวมศูนย์" อาจารย์ธเนศวร์ก็พูดว่า “รัฐรวมศูนย์”

ซึ่งจะขอเสริมว่า แน่นอนโครงสร้างอำนาจรัฐจำนวนมากเป็นแบบรวมศูนย์ ไร้ประสิทธิภาพ และตอนที่ตัวเองนำเสนอมาตลอดคือเป็นโครงสร้างอำนาจรัฐที่มีตัวกลางระหว่างรัฐกับสังคมแทรกอยู่ คือไม่สามารถที่อำนาจรัฐจะมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมโดยตรงได้ ตัวกลางเหล่านั้นคือเจ้าพ่อท้องถิ่น ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น หรือถ้าไม่อยู่ในเครือข่ายเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล ก็อยู่ในเครือข่ายของเอ็นจีโอ เครือข่ายของภาคประชาสังคมในแบบที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคมแบบนี้ คือโครงสร้างที่มันทำให้มนุษย์ไม่สามารถปลดปล่อยออกมาได้ ดังนั้นมนุษย์จึงไม่รู้ว่าความจนของตัวเองเป็นความจนส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่ครอบงำอยู่ มนุษย์ไม่อาจรู้ได้ว่าตัวเองมีเสรีภาพในการบริโภค เพราะมนุษย์อยู่ในโครงสร้างที่รัฐกับการบริโภคมันไม่เกี่ยวกัน จะซื้อมือถือ จะซื้อบัตรเติมเงิน จะไปรักษาพยาบาล มันไม่เกี่ยวกับโครงสร้างรัฐ ในโครงสร้างแบบรวมศูนย์ มนุษย์ไม่รู้เลยว่าถนนที่ตัวเองขับมอเตอร์ไซค์วิ่งผ่านมันคืออำนาจของตัวเอง และไม่อาจรู้ได้ว่า รัฐส่งผลประโยชน์ตัวเองอย่างไรบ้าง

แต่การเคลื่อนไหวของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งดิฉันก็ไม่ได้เป็นคนที่เชียร์ออกนอกหน้า ต้องยอมรับ ว่า มันก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม ที่ทำให้โปสการ์ดอาจารย์อรรถจักร (สัตยานุรักษ์) ถูกฉีดขาดฉะบั้น (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

มันเกิดขึ้นจากประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นที่มันอัดฉีดเข้ามา มันเกิดความขัดแย้งในชุมชน พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) แบ่งออกเป็นพ่อหลวงใหญ่ พ่อหลวงเล็ก มีบ้านนั้นบ้านนี้ ซุ้มนั้นซุ้มนี้ คุ้มนั้นคุ้มนี้ มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ในการทำวิจัยท้องถิ่น พนันได้เลยว่า คำว่า ผลประโยชน์” จะต้องเข้ามา ซึ่งกลายเป็นภาพโปสการ์ดได้ถูกทำลายไป นั่นคือความตื่นเต้นของระบอบใหม่ที่กำลังจะมาถึง ผลประโยชน์มันมาถึงประชาชน และมันผูกพันกับประชาธิปไตยในท้องถิ่น และคนเหล่านั้นมีความขัดแย้งที่ชัดเจนขึ้น มีผลประโยชน์ชัดเจนขึ้น ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของตัวเอง

นั่นคือประชาชนถูกทำให้เป็นพลเมือง ประชาชนถูกทำให้เป็นมนุษย์ทางการเมือง และประชาชนถูกทำให้เห็นว่าตัวเองถูกปลดปล่อยมาแล้วส่วนหนึ่ง แต่ต้องตระหนักว่ามีบางส่วนยังไม่ถูกปลดปล่อย Ideology ที่ครอบงำอยู่ คุณมีความเห็นต่าง คุณสามารถด่าผู้ใหญ่บ้านได้ แต่คุณไม่สามารถรัฐระดับชาติได้ คุณสามารถล้มนักการเมืองท้องถิ่นได้ในสี่ปี แต่คุณกำลังเห็นอำนาจที่มันใหญ่กว่านั้นคือรัฐส่วนกลาง สิ่งเหล่านี้เองคือเชื้อเพลิงแห่งการปฏิวัติ ซึ่งไม่อยาก Romanticize ว่ากำลังจะนำไปสู่อะไร แต่คิดว่า Civil Society ที่เกิดขึ้นมาใหม่ หลังจากผลพวงของรัฐธรรมนูญที่ทำก่อให้เกิดการกระจายอำนาจ และมีพรรคการเมืองที่อัดฉีดผลประโยชน์มาสู่ประชาชนอย่างชัดเจนนี้ ทำให้เกิด Civil Society แบบใหม่เสรีภาพของตัวเอง ที่ประชาชนตระหนักในเสรีภาพของตัวเอง ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับรัฐ ตระหนักในผลประโยชน์ของตัวเองที่ต้องต่อสู้ให้ได้มา นี่คือเชื้อเพลิงของการปฏิวัติ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

TCIJ : พ่อเมืองอุดรฯ พบกลุ่มอนุรักษ์ฯ อ้าง ยังไม่รู้เรื่องโครงการเหมืองโปแตช

Posted: 24 Dec 2011 10:26 PM PST

 

หลังชุมนุมยาวหน้าศาลากลางจังหวัด ร่วม 4 วัน ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เหตุผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีลงมาพบ พร้อมรับปากนำข้อเรียกร้องไปดำเนินการต่อ ด้านเอ็นจีโอย้ำต้นตอของปัญหามาจากโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

 

 

 
วันที่ 23 ธ.ค.54 ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 300 คน ที่ปักหลักชุมนุม บริเวณศาลากลางมาตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้ยุติการชุมนุมแล้ว หลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีได้มาพบกับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ เพื่อรับฟังข้อเรียกร้องข้อต่อกรณีปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ของชาวบ้านตามที่ได้นัดหมายไว้
 
ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ พบกับผู้ว่าฯ ที่ห้องประชุมคำชะโนด ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ จำนวน 30 คน ได้สลับกันนำเสนอปัญหาและข้อเรียกร้องต่อการแก้ไขปัญหาโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี โดยมี รองผู้ว่าราชการ อุตสาหกรรมจังหวัด นายอำเภอเมือง และอำเภอประจักษ์ ตลอดจนข้าราชการจังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมรับฟังการพูดคุยกันในครั้งนี้
 
นางมณี บุญรอด แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวถึงการมาปักหลักชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านเป็นระยะเวลากว่า 4 วัน 3 คืน ในครั้งนี้ว่า เพื่อต้องการนำเสนอปัญหาของโครงการเหมืองแร่โปแตชต่อผู้ว่าฯ 
 
“พวกเราต่อสู้มา 11 ปี พากันมาพบกับผู้ว่าเมืองอุดรคนนี้ ก็เป็นคนที่ 6 แล้ว แต่เหมืองแร่โปแตชก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ความแตกแยกของคนในชุมชนก็ยังคงมีอยู่ ผู้นำก็ยังวางตัวไม่เป็นกลาง เห็นได้จากการเซ็นใบไต่สวนของบรรดาผู้นำแต่ละตำบลที่ขัดกับข้อเท็จจริง โดยที่ผู้นำแทบจะไม่ได้ลงดูพื้นที่จริง ซึ่งที่มาของปัญหาก็มาจากการที่บริษัทโปแตช ได้เริ่มทำโครงการโดยที่ไม่ได้ถามและสร้างการมีส่วนร่วมให้กับชาวบ้านมาตั้งแต่แรก” นางมณี กล่าว
 
ด้านนายแก่นเพชร ช่วงรังษี ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ตนเองเพิ่งมารับตำแหน่งผู้ว่าฯ มาได้ไม่นาน จึงยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเหมืองแร่โปแตชมากนัก ส่วนข้อเรียกร้องที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เสนอมานั้น ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ จะรับดำเนินการให้ โดยจะกำชับให้หน่วยงานราชการในจังหวัดอุดรธานีวางตัวเป็นกลางต่อโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี 
 
“ผมก็จะวางตัวเป็นกลางต่อเรื่องนี้ด้วย ส่วนเรื่องไหนที่อยู่เหนืออำนาจของผม ผมก็จะนำเรื่องเสนอต่อไปยังปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม” นายแก่นเพชร กล่าว
 
ขณะที่ นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เปิดเผยถึงการชุมนุมของชาวบ้านในครั้งนี้ว่า กรณีที่กลุ่มชาวบ้านเรียกร้องให้ยกเลิกการไต่สวนที่เป็นเท็จนั้น สิ่งสำคัญที่เห็นได้ชัดคือบทบาทของผู้นำในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ผู้นำของทั้ง 4 ตำบล ในพื้นที่โครงการเหมืองซึ่งอ้างตัวเป็นตัวแทนของชาวบ้านได้เซ็นรับรองใบไต่สวนที่เป็นเท็จ บทบาทของผู้นำท้องถิ่นจึงสามารถชี้เป็นชี้ตายให้เกิดโครงการหรือไม่เกิดโครงการได้เลย ทำให้เห็นว่าผู้นำในท้องถิ่นยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับแร่
 
“สิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้นำส่วนท้องถิ่นขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับเหมืองแร่โปแตชนั้น สิ่งสำคัญเป็นประเพราะความด้อยประสิทธิภาพของกรมการปกครองที่ไม่มีการสร้างความรู้และปัญญาให้กับผู้นำส่วนท้องถิ่น มุ่งแต่สร้างให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการกดทับประชาชน ทั้งที่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 66 และ 67 เกิดเปิดโอกาสให้สิทธิกับชุมชนในการปกป้องทรัพยากร แต่กรมการปกครองเป็นเหมือนไดโนเสาร์ไม่เท่าทันต่อเนื้อหาสาระพวกนี้ เป็นที่มาให้กำนันทั้ง 4 ตำบลที่เซ็นใบไต่สวนที่เป็นเท็จต้องมารับผิดชอบในครั้งนี้ โดยเฉพาะผู้ว่านั้นยังขาดความรู้ต่อเรื่องเหมืองโปแตช เพราะเวลาชาวบ้านซักถามก็โยนให้กับอุตสาหกรรมจังหวัด ทำให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพของส่วนจังหวัดอุดรธานี ทั้งที่กลุ่มอนุรักษ์ต่อสู้เรื่องนี้มาเป็นระยะเวลากว้า 11 ปี แล้ว” สุวิทย์ กล่าว
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการพูดคุยภายในห้องประชุมแล้วเสร็จ ผู้ว่าฯ ได้ลงมาพบกับชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในบริเวณที่ชาวบ้านทำการปักหลักชุมนุมเพื่อพูดคุยกับกลุ่มชาวบ้าน พร้อมทั้งให้สัญญากับชาวบ้านว่า จะวางตัวเป็นการต่อเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตช หลังจากนั้นชาวบ้านจึงได้ยุติการชุมนุม เพราะบรรลุข้อเรียกร้องต่อการชุมนุมในครั้งนี้
 
 
 

 

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: ของขวัญยามฉันเติบโต

Posted: 24 Dec 2011 07:44 PM PST

 

ฉันโตแล้ว
ฉันจึงไม่ใฝ่ฝันถึงของขวัญวันคริสต์มาส
จากซานตาครอสเคราขาว
ผู้ขี่มาในเลื่อนพร้อมกวางเรนเดียร์

ฉันโตแล้ว
ฉันจึงไม่คิดว่าจะได้พบ
ซานตาครอสเคราขาวผู้ลงมาตาม
ปล่องไฟโบราณ
เพื่อบอกฉันว่าฉันเป็นเด็กดีเพียงใด

ฉันโตแล้ว
ฉันจึงหวังจะได้ของขวัญ
จากกรรมการสิทธิมนุษยชนในประเทศของฉันมากกว่า
กรรมการสิทธิผมสีขาวผู้มาพร้อมกับ
รถเบนซ์และน้ำมันฟรีเต็มถัง

ฉันโตแล้ว
ฉันจึงหวังจะได้ของขวัญจากกรรมการสิทธิ
ผู้ลงมาจากบันไดหอคอยงาช้าง
เพื่อบอกฉันว่า
พวกเขาได้แลเห็นและรับรู้
ถึงเหล่าผู้ถูกกระทำในประเทศ
มากเพียงใด

และเมื่อฉันคิดเช่นนั้น
ฉันจึงพบว่าฉันเป็นเด็กทารกมากเพียงใด
เด็กทารกที่ไม่กล้าจะเติบโต
เพื่อยอมรับความจริง
ในประเทศนี้

.........................................

หมายเหตุผู้เขียน: บทกวีวันคริสต์มาส ในวันที่ไม่มีอยู่ทั้งซานตาครอสและกรรมการสิทธิมนุษยชนในประเทศนี้
                               (แรงบันดาลใจจากบทความของ มุกหอม วงษ์เทศ)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น