โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

"อ.วีระ" แนะคนโทรเข้ารายการ-ให้ค้นคว้าข้อมูลก่อนด่า "นิติราษฎร์"

Posted: 01 Feb 2012 11:10 AM PST

เมื่อ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ในรายการ "คุยได้คุยดี Talk News & Music" ทางคลื่น 96.5 MHz อสมท. ดำเนินรายการโดยนายวีระ ธีระภัทรานนท์ หรือ "อาจารย์วีระ" ช่วงหนึ่งได้มีผู้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความเห็นในเชิงตำหนิและระบุว่าต้องการจะทำร้ายกลุ่มนิติราษฎร์

ทำให้นายวีระรีบตัดบท และถามผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาว่ารู้จักกลุ่มนิติราษฎร์หรือไม่ว่าสมาชิกประกอบด้วยใคร และถามด้วยว่ารู้ข้อความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ และยังแนะนำให้กลับไปค้นคว้าข้อมูลจะได้มีพื้นฐานในการแสดงความรู้สึก ก่อนวางสาย โดยท้ายรายการนายวีระระบุด้วยว่าการเคลื่อนไหวแก้ไขมาตรา 112 อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาไม่ใช่รัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญามาตราดังกล่าวเคยมีการแก้ไขมาแล้วในปี 2519

สำหรับรายละเอียดการสนทนาระหว่างนายวีระกับผู้โทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็น มีดังต่อไปนี้

ที่มา: MrDejavu750/Youtube

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ศาสตร์ก็ขาดจากธรรม"

Posted: 01 Feb 2012 10:22 AM PST

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "ศาสตร์ก็ขาดจากธรรม"

Rachel Harrison

Posted: 01 Feb 2012 10:11 AM PST

เป็นการแสดงให้เพื่อนชาวไทยที่กำลังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกฎหมายนี้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว และเรื่องนี้จะถูกติดตามอย่างใกล้ชิดจากประชาคมนานาชาติ

1 ก.พ. 55, นักวิชาการ นักเขียน และนักกิจกรรมทางสังคมนานาชาติกว่า 200 คน ลงชื่อหนุนแก้ ม.112

ผู้บริหารยันมธ.ยัง "มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว"

Posted: 01 Feb 2012 09:15 AM PST

ผู้บริหารมธ.ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ชี้แจงเหตุผลการสั่งห้ามใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเคลื่อนเรื่องม. 112 ยัน ธรรมศาสตร์ยังมีเสรีภาพทุกตารางนี้ว และแสดงออกทางการเมืองอย่างอื่นได้ แต่ขอห้ามเรื่องม. 112 ไว้เพราะกลัวสร้างความแตกแยกในสังคม  

วันที่ 1 ก.พ. 55 คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่แถลงการณ์อย่างเป็นทางการ  ต่อเรื่องมติการไม่อนุญาตให้กลุ่มบุคคลเข้ามาใช้สถานที่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อทำ "กิจกรรมเคลื่อนไหวชี้นำมวลชน"

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่าไม่ต้องการให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สนับสนุนการเคลื่อนไหวที่สร้างความแตกแยก และย้ำว่า มติดังกล่าวมิได้เป็นไปเพื่อการจำกัดสิทธิและเสรีภาพทางวิชาการ เนื่องจากมหาวิทยาลัยยังสนับสนุนการแสดงออกทางการเมืองเรื่องอื่นๆ แต่เรื่องมาตรา 112 จำเป็นต้องห้ามเพราะอาจเป็นการขยายความขัดแย้ง 

ในวันเดียวกัน ผู้บริหารคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ได้เผยแพร่แถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์  www.jc.tu.ac.th เรื่อง จุดยืนในการใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการแสดงออกทางความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 โดยย้ำว่า จะปฏิบัติตามคำสั่งมหาวิทยาลัยที่ห้ามกลุ่มบุคคลใช้พื้นที่เพื่อเคลื่อนไหวกรณีม.112 พร้อมสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกเชิงวิชาการ ตราบใดที่ไม่รุนแรงและละเมิดสิทธิ  

ทั้งนี้ แถลงการณ์ดังกล่าวออกมาภายหลังจากการประกาศของสมคิด เลิศไพฑูรย์เมื่อวันที่ 30 มกราคมว่า ที่ประชุมกรรมการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมติห้ามกลุ่มบุคคลใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยเพื่อเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ ม.112 และเมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่ม "วารสารฯ ต้านนิติราษฎร์" ซึ่งเป็นกลุ่มศิษย์เก่าคณะวารสารฯ มธ. ได้ประกาศว่าจะชุมนุมต่อต้านกลุ่มนิติราษฎร์ที่หน้าคณะวารสารศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ในวันที่ 2 ก.พ. นี้ เวลา 14.00 ด้วย

0000

 

ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรื่อง การไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวชี้นำมวลชน

ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเสนอให้มีการแก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒

--------------------------

ตามที่ได้มีคณะบุคคลขออนุญาตใช้ห้องประชุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัด

กิจกรรมทางการเมืองเคลื่อนไหวมวลชนหลายครั้งต่อเนื่องกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้

สาธารณชนเห็นชอบ และร่วมกันเข้าชื่อเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒

ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่รับผิดชอบได้อนุมัติให้ใช้สถานที่มาโดยตลอด

ทำให้ในปัจจุบันได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและในหมู่ประชาชน

ทั่วไปว่า การจัดกิจกรรมของคณะบุคคลในลักษณะดังกล่าวเป็นการเปิดช่องให้มีการแสดงความ

คิดเห็นที่เป็นการล่วงละเมิดให้ร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จนทำให้เกิดข้อขัดแย้งอย่างรุนแรง

ในระหว่างกลุ่มบุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้สร้างความ

แตกแยกในหมู่ประชาชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังที่ปรากฏชัดเจนในรายงานข่าวของสื่อต่าง ๆ อยู่

ในขณะนี้

 

ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ก.บ.ม.) ในการประชุม

ครั้งที่ ๒/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๕ ได้พิจารณาสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงดังกล่าวแล้ว

มีความเห็นร่วมกันว่า การอนุญาตให้มีการใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถานที่ราชการ เพื่อ

จัดกิจกรรมทางการเมืองเคลื่อนไหวชี้นำมวลชนในประเด็นที่ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทและ

พระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ไปในทางที่เสียหายนั้น อาจทำให้สาธารณชนเกิดความ

เข้าใจผิดว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นส่วนราชการเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีการเคลื่อนไหว

เช่นนั้นขึ้น หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว และโดยที่การจัด

กิจกรรมที่มีเนื้อหากระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพเทิดทูนของประชาชน อาจนำ

มาซึ่งความขัดแย้งในระหว่างกลุ่มบุคคลที่แสดงตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนถึงขั้นมีการใช้ความรุนแรง

ภายในบริเวณมหาวิทยาลัย จนมหาวิทยาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของ

มหาวิทยาลัยได้ ที่ประชุม ก.บ.ม. จึงมีมติเอกฉันท์ให้ทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือ

ปฏิบัติว่า จะไม่อนุญาตให้คณะบุคคลใดใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวชี้นำ

มวลชนในเรื่องที่เกี่ยวกับการเสนอให้มีการแก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒

เช่นที่ผ่านมาอีก

 

อนึ่ง มหาวิทยาลัยขอยืนยันว่า มติ ก.บ.ม. ข้างต้น ไม่ใช่การจำกัดเสรีภาพของอาจารย์

เจ้าหน้าที่ หรือนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือบุคคลใด ในอันที่จะใช้เสรีภาพในการแสดง

ความคิดเห็น หรือใช้เสรีภาพในทางวิชาการ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของแต่ละบุคคล มหาวิทยาลัย

มิได้ห้ามการใช้เสรีภาพทั้งสองประการของบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นการคิด การเขียน เพื่อแสดงออก

ซึ่งความคิดเห็นต่อสาธารณะผ่านสื่อ หรือผ่านวิธีการอื่นใด อันเป็นสิ่งที่แต่ละบุคคลจะกระทำได้

ภายใต้ความรับผิดชอบตามกฎหมายในการใช้เสรีภาพของตนเอง มติดังกล่าวจึงเป็นเพียงการไม่

สนับสนุนการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เสี่ยงต่อการขยายความขัดแย้งในหมู่ประชาชน

และนำมาซึ่งความเสียหายต่อมหาวิทยาลัยและกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมือง

โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เท่านั้น

ส่วนการดำเนินการใช้สิทธิและเสรีภาพในประเด็นอื่น ๆ ไม่เว้นแม้จะเป็นประเด็นทางการเมือง

มหาวิทยาลัยก็ยังคงสนับสนุนให้ดำเนินการได้ อันสอดคล้องกับปรัชญาของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย

และสอดคล้องกับหลักการที่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว

 

จึงประกาศมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

 

0000



แถลงการณ์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สืบเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการนำเสนอความเห็นทางวิชาการของกลุ่มนิติราษฎร์เพื่อแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ให้สังคมทั่วไปได้แสดงความคิดเห็น พบว่าจากข้อเสนอดังกล่าวได้มีกลุ่มประชาชนในแวดวงต่างๆ ที่มีความ เห็นสนับสนุนและคัดค้านข้อเสนอทางวิชาการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

 

ในการนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันกับสาธารณชน ผู้บริหารคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ขอชี้แจงถึงจุดยืนในเรื่องดังกล่าว ดังนี้

 

ประการที่หนึ่ง เรื่องการใช้พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นเรื่องกฎหมายมาตรา 112 ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ผู้บริหารคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะปฏิบัติตามมติจากที่ประชุมคณะ กรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2555 ในการไม่อนุญาตให้บุคคล/กลุ่มบุคคลต่างๆใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อเคลื่อนไหวในกรณีที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในมหาวิทยาลัย จนอาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยไม่ได้ เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ราชการ อีกทั้งการอนุญาตต่อไปอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น

 

ประการที่สอง จุดยืนเรื่องการแสดงออกทางความคิดเห็นคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาทางด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงวิชาการ ตราบใดที่ความคิดเห็นนั้นๆเป็นการแลกเปลี่ยนในเชิงสร้างสรรค์  ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่ใช้ความรุนแรง อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และไม่ขัดต่อหลักการของสังคมประชาธิปไตย

 

ผู้บริหารคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ขอแสดงจุดยืนทั้ง 2 ประการข้างต้น และขอทำความเข้าใจว่า คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนและคัดค้านการแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ

 

ทั้งนี้คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาด้านวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มุ่งให้เกิดสังคมที่มีความเข้าใจ ใช้ตรรกะและเหตุผลในการแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การสื่อสารที่สมานฉันท์ในระยะยาว

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ขอ (คืน) พื้นที่บ้าง

Posted: 01 Feb 2012 08:41 AM PST

 

เมื่อกล่าวถึงการมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน หากเป็นการร่วมกันทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งเฉพาะเจาะจงแล้วก็คงไม่ยากที่จะทำให้งานนั้นมีความสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หากแม้นว่างานทุกสิ่งอย่างเป็นการกระทำที่ง่ายแบบเดียวกันทั้งหมด ก็คงทำให้สังคมนั้นมีลักษณะเป็นเส้นตรงขนานกับพื้นราบเป็นแน่ และนำไปสู่ความไม่ขัดแย้งซึ่งเป็นอุดมคติของผู้ในสังคมที่คาดหวังกันอยู่แล้ว

หากกล่าวถึงในประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ยาวนาน การมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในสังคมเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้นทุกคนก็จะมุ่งไปสู่การแสวงหาจุดมุ่งหมายปลายทางของตัวเอง และพร้อมที่จะทำลายผู้ที่อยู่รอบข้างเพื่อตัวเองจะได้เป็นผู้ชนะ

เช่นเดียวกันกับ “ประชาธิปไตย” ในความรู้สึกนึกคิดของชาวตะวันตกในศตวรรษที่ 13 ประชาธิปไตย ก็ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งเพราะในที่สุดแล้วผู้ที่มีอำนาจซึ่งมาจากข้างมากของผู้คนในสังคมอาจนำไปสู่การกดขี่ ข่มขู่ เสียงข้างน้อยและท้ายที่สุดก็มักจะจ้องทำลายร้างผู้ที่เห็นต่าง จึงเป็นบ่อเกิดของ ทรราช นั่นเอง

ดังนั้นจากสองกรณีที่กล่าวมาทั้งหมด สะท้อนถึงมุมมองความคิดเกี่ยวกับการรวมหมู่ โดยการรวมหมู่คนที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ผลสะท้อนที่ออกมาอาจกล่าวได้ว่ามักจะเต็มไปด้วยความรุนแรงและขัดแย้งกันอยู่เสมอ เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มุ่งแสวงหาก็คือ ความสงบสุขในชีวิตนั่นเอง เพราะในที่สุดแล้วมนุษย์ทุกคนก็รักตัวกลัวตายมากที่สุด

เมื่อมนุษย์มีความต้องการความสงบสุข จึงต้องมอบความคาดหวังนี้ไปสู่ “รัฐ” เพื่อให้ทำหน้าที่รักษาชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง แต่ก็ย้อนกลับมาสู่อดีตอีกครั้งเมื่ออำนาจรัฐถูกสร้างจากเสียงข้างมาก ก็น่ากลัวอีกว่าจะเกิด ทรราช แบบเดิมๆออกมาอีกได้

ที่กล่าวข้างต้นก็ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและบ่อเกิดของความขัดแย้งในสังคมที่ก่อกำเนิดจากการมีจุดมุ่งหมายเดียวกันของผู้คน ในสังคมทั่วไปมักจะมีแบบแผนซึ่งในที่นี้อาจจะมาจากวัฒนธรรม ประเพณี หรือแม้แต่การโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งเมื่อเกิดการผลิตซ้ำบ่อยๆก็อาจก่อรูปก่อร่างหรือทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรม ประเพณีของสังคมก็เป็นได้ จากนั้นผู้คนก็มักจะยึดหลักปฏิบัตินั้น (ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องจริงหรือวาทกรรมก็ได้) ปัญหามันอยู่ที่ว่า หากว่าประเพณีและวัฒนธรรมนั้นปฏิบัติกันต่อมาแล้วเกิดเป็นบรรทัดฐานของสังคม หากมีคนจำนวนหนึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยแล้วจะต้องทำอย่างไร

โดยในที่นี้ “ปริมณฑลสาธารณะ” (Public Sphere) มีความสำคัญและเป็นที่กล่าวถึงเป็นอย่างมากในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน การให้พื้นที่แก่เขาเหล่านั้นหากมองกันในด้านเสรีภาพเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นแล้วก็มองได้ว่าเป็นการเสริมกันกับระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างดี ถือว่าเป็นหลักการพื้นที่ฐานที่สำคัญเลยก็ว่าได้ หากมองอีกแง่ การเปิดพื้นที่สาธารณะก็เป็นตัวการสำคัญที่ลดความขัดแย้งในสังคม ดังเช่น หากเราไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาเหล่านั้น เป็นการผลักดันให้เขาเหล่านั้นไปสู่พื้นที่ใหม่ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เมื่อเปิดเผยบนดินไม่ได้ก็คงต้องเป็นวิธีการใต้ดิน ดังเช่นการต่อต้านที่ใช้กำลังในลักษณะสงครามกองโจร ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าความขัดแย้งอาจจะยิ่งดำดิ่งฝังลึกลงสู่สังคมก็เป็นได้

หลายครั้งสังคมมักแก้ปัญหาด้วยอารมณ์และไม่ได้ยึดหลักของเสรีภาพมากนัก การผลักดันและกดดันคนเหล่านั้นให้คิดเช่นเดียวกันหากไม่ทำเช่นนั้นแล้วคุณก็ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในสังคม สิ่งนี้สะท้อนชัดเจนถึงการไม่คำนึงถึงเสรีภาพส่วนบุคคลที่พึงมีในฐานะมนุษย์ ทั้งที่จากในอดีตที่ผ่านมา การต่อสู้เพื่อให้ได้เสรีภาพมานั้นมีความสำคัญกว่าจะได้มาต้องแลกกับอะไรต่อมิอะไรมากมาย ก็เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่มิได้นำมาใช้

อีกเรื่องหนึ่ง การมองข้ามหลักที่สำคัญอีกหลักหนึ่งของประชาธิปไตย นั่นก็คือ “ความทนกันได้” (Tolerance) ความทนกันได้ที่เป็นตัวผนึกสังคมที่มีความขัดแย้งกัน สังคมเราอาจลืมเรื่องนี้ไปสนิท ช่วงเวลาหลังๆมานี้เรามิได้ใช้หลักการนี้มากนัก หากแต่เปิดหน้าชกกันอย่างชัดเจนหรือในช่วงเวลาหนึ่งสองฝ่ายก็พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงต่อกันทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ดังเช่นปรากฏการณ์ที่ชายแดนของประเทศ (ในที่นี้ไม่ได้บอกว่าใครผิดถูกอย่างไร แต่จะสะท้อนถึงความรุนแรงที่สองฝ่ายกระทำเท่านั้น)

การเปิดพื้นที่ให้มีการโต้เถียงกันด้วยหลักการและเหตุผล จึงมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เรื่องบางเรื่องเกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองและเข้าใจกันและกันมากขึ้น บางครั้งการคิดอยู่เพียงฝ่ายเดียวก็อาจทำให้ขาดความรอบด้านของข้อมูล หากแม้นว่าเริ่มแรกอาจจะแข็งกร้าวแต่ในบ้างครั้งเมื่อได้รับข้อมูลอีกด้านหนึ่งก็อาจจะทำให้เริ่มอ่อนลงและนำไปสู่การแสวงหาจุดร่วมกันก็เป็นได้ ดังเช่นหลักการของ "ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

แล้วในสังคมนี้ล่ะ เราได้เลือกแบบแผนหรือวิธีการใดที่ทำให้สังคมที่เป็นหนึ่งเดียวกันแบบหลอกๆผ่านพ้นความต่างนี้ไปได้อย่างไร เราเลือกรับฟังความคิดเห็นเหล่านี้หรือไม่ มีวิธีการต่างๆมากมายที่ผ่านการคิด ผ่านมุมมองที่ทางประวัติศาสตร์ ประสบการณ์ หรืออื่นๆอีกมาก เหตุใดสิ่งที่เลือกกลับกลายเป็นแบบแผนเดิมโดยผ่านการข่มขู่ กดดัน ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหรือบางทีบางคนอาจจะตีความว่าสิ่งเหล่านี้ก็เท่ากับเกิดความรุนแรงขึ้นแล้ว ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้นก็น่าเสียดายที่เมื่อมีความคิดที่ดี วิธีการให้เลือกใช้ แต่กลับไม่ได้นำมาใช้ ก็คงไม่ต่างอะไรกับคนที่มีทองคำในมือแล้วไม่รูว่าเป็นทองคำ สุดท้ายค่าของมันก็เป็นแค่ก้อนหินธรรมดาเท่านั้น

หากแต่เราอ้างเสมอว่า เราอยู่ในสังคมที่เป็นเสรีให้เสรีภาพกับทุกคนโดยเสมอภาค แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า เสรีภาพที่ให้นี้เป็นเสรีภาพที่อยู่ในกรอบ แล้วเสรีภาพที่อยู่ในกรอบนี้จัดเป็นเสรีภาพจริงๆ หรือไม่  สิ่งที่ควรมองมากที่สุดก็คือ มองทุกเรื่องแบบสองด้านเสมอ คงยากที่ทุกคนทุกฝ่ายจะเห็นเช่นเดียวกัน ขอให้เปิดกว้าง ใจกว้าง รับความจริง และขอพื้นที่ให้กับเขาเช่นเดียวกับที่คุณเองมีและใช้พื้นที่อยู่ขณะนี้เช่นเดียวกัน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วิชาการกับการเมือง

Posted: 01 Feb 2012 08:33 AM PST

"ผมไม่ได้ห้ามไม่ให้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือเสรีภาพในทางวิชาการใน มธ แต่ต้องแยกเสรีภาพทั้งสองนี้ออกจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการขยายความขัดแย้ง และนำมาซึ่งความวุ่นวายใน มธ.และประเทศ"

                      (สมคิด เลิศไพฑูรย์, อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
                       ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 31 มกราคม 2555

มติฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 ประกอบกับความเห็นของอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบันดังข้างต้น ทำให้เกิดความสงสัยว่า คณะบุคคลดังกล่าวคงไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “วิชาการ” (โดยยังไม่ต้องเอ่ยถึงเสรีภาพ) หรือคำว่า “การเมือง” หรืออาจจะไม่เข้าใจทั้งสองคำ

ความไม่เข้าใจ “วิชาการ” และ “การเมือง” สะท้อนผ่านวิธีคิดที่จะแยกวิชาการออกจากการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้โดยแก่นสาร

ทำไมจึงแยกวิชาการออกจากการเมืองไม่ได้?

ความขัดแย้งกับฉันทามติเป็นแก่นสารสำคัญของ “การเมือง” หมายความว่า ‘การยึดประโยชน์ของกลุ่มหรือของบุคคลยัดเยียดให้ผู้อื่นด้วยกำลังโดยปราศจากความยินยอมใด ๆ ย่อมมิใช่การเมือง และในทางกลับกันสถานการณ์ที่กลุ่มมุ่งหน้าคืบไปสู่เป้าหมายของตนด้วยความเห็นพ้องทั้งมวลย่อมมิใช่กระบวนการทางการเมือง’ (Tansey and Jackson; 2008, p.7)  “การเมือง” จึงเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ระหว่างความขัดแย้งกับความเห็นชอบ

โสเครตีสใช้การตั้งคำถามเป็นแนวทางแสวงหาสัจธรรม เพลโต้ศิษย์โสเครตีสก่อตั้ง the Academy อันมีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกสืบต่อแนวทางครูในการทำงาน academic นับจากนั้นโลกก็รุดหน้าทางศิลปวิทยาการในอัตราเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน

การตั้งคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นฐานสำคัญของ “วิชาการ” ซึ่งหมายความว่าองค์ความรู้และตัวบุคคลผู้ผลิตความรู้ย่อมสามารถมีความเห็นแย้งแตกต่างและสามารถยอมรับในเหตุและผลของกันและกันได้ “วิชาการ” จึงงอกงามในพื้นที่ “การเมือง” และยากที่จะเติบโตบนพื้นที่ปลอด “การเมือง” เช่น ในปริมณฑลของศาสนาหรือปริมณฑลของอำนาจที่ยินยอมให้ผลิตสิ่งที่เรียกว่า “ความรู้” ที่สอดคล้องกับความเชื่อ/อำนาจเท่านั้น ความรู้ที่ผลิตโดยสวามิภักดิ์ต่อความเชื่อ/อำนาจ ย่อมขาดคุณสมบัติของความเป็นวิชาการ นักวิชาการผู้พยายามผลิตงาน “วิชาการ” ในสังคมดังกล่าวมักประสบความยากลำบากในชีวิต เช่น โสเครตีสถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยข้อหาทรยศชาติ แม้แต่งานวิชาการทางวิทยาศาสตร์ เช่น งานวิชาการของคอปเปอร์นิคัสที่ต้องตีพิมพ์เมื่อเขาใกล้จะเสียชีวิต การค้นพบว่าดวงอาทิตย์คือศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาลทำให้กาลิเลโอถูกกักขังในบ้านตนเอง เป็นต้น

ด้วยมิตินี้ ความงอกเงยทางวิชาการแนบแน่นกับการเมืองอย่างยิ่ง การแยกวิชาการออกจากการเมืองจึงเท่ากับการบังคับให้สังคมยอมรับความเชื่อโดยไม่ต้องตั้งคำถามและสยบต่ออำนาจ

นี่ใช่ไหมที่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องการ?

“การเมือง” สำคัญอย่างไรต่อสังคม?

ประโยคที่ฝ่ายรัฐชอบเอ่ยว่า “บัดนี้มาตรการทางการเมืองใช้ไม่ได้ผลแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางทหาร” ซึ่งหมายถึงการใช้ความรุนแรงนั้น เป็นตัวอย่างสำคัญของ “การเมือง” ในฐานะวิถีทางแห่งสันติในยามที่สังคมกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งรุนแรง

ในบริบทของความขัดแย้งรุนแรง เมื่อการเมืองสิ้นสุดความรุนแรงจึงมักเข้ามาแทนที่

ด้วยเหตุผลดังกล่าว การเมืองจึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสังคมมนุษย์ เพราะสังคมมิได้อยู่โดยปราศจากความขัดแย้ง ความขัดแย้งนั้นเป็นส่วนสำคัญของสังคมมนุษย์โดยธรรมชาติ การเมืองมีส่วนช่วยให้ความขัดแย้งไม่แปรไปเป็นความรุนแรง การเมืองมีความหมายมากในฐานะของการเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงรับฟังและยอมรับกันและกันได้ ตราบใดที่ยังมีการเมืองความขัดแย้งย่อมมีพื้นที่ดำรงอยู่ในสังคมโดยสันติ ตราบใดที่คู่ขัดแย้งมีพื้นที่ในการสนทนาและสามารถสนทนากันได้ ความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ย่อมไม่มีความจำเป็น

เนื่องจากการเมืองคือการมีทั้งความขัดแย้งและฉันทามติ ดังนั้น การปฏิเสธ “การเมือง” คือการยอมรับการดำรงอยู่ของความขัดแย้งหรือความเห็นในทิศทางเดียวกันอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ในแง่นี้ “ความไม่มีการเมือง” ต่างหากที่อันตราย เพราะสามารถทำลายชีวิตและความคิดลงทั้งสองสิ่ง ชุมชนที่ไม่มีการเมือง คือชุมชนที่มนุษย์ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจนเหลือทางเลือกเพียงสองทางคือ ความตายกับความเงียบ (เพราะโง่หรือเพราะเชื่อง)

นี่ใช่ไหมที่คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องการ?

มหาวิทยาลัยกับการเมืองสัมพันธ์กันอย่างไร?

การเมืองเป็นเรื่องของเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ สังคมการเมืองดำรงอยู่เพื่อช่วยให้มนุษย์บรรลุศักยภาพของตน หากมหาวิทยาลัยใดถูกตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเปลื้องพันธนาการและเปิดทางเสรีภาพแก่บุคคล มหาวิทยาลัยนั้นย่อมไม่ปฏิเสธ “การเมือง”  ในฐานะที่เป็นวิถีทางแสวงหาคำตอบต่อเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของมนุษย์

หากเปรียบความรู้คือแสงไฟ มหาวิทยาลัยย่อมเป็นสรรพแสง นอกจากผลิตวิชาหาเลี้ยงชีพ ดวงประทีปสุดท้ายในรั้วโดมเกิดขึ้นเมื่อใด?

ธรรมศาสตร์กำลังย่ำสนธยา ตามแสงไต้ไว้สักดวงดีไหมครับ

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จดหมายจากผู้อ่าน: ความในใจสุดท้ายจากคนเสื้อแดงคนหนึ่ง ถึงจตุพร พรหมพันธ์

Posted: 01 Feb 2012 08:27 AM PST

ฟังจตุพรจัดรายการชูธง และการแถลงข่าวครั้งล่าสุดแล้ว ยังวนเวียนอยู่แต่กับประเด็น

1.ขอให้นิติราษฎร์หยุดการเคลื่อนไหว เพื่อไม่ให้เกิดเงื่อนไขการทำรัฐประหาร

2.ถึงเดินหน้าต่อไป ก็ไม่มีทางสำเร็จได้ เพราะไม่มี ส.ส.หรือ ส.ว.คนไหน จะกล้ายกมือโหวตให้ในสภาแม้แต่คนเดียว ( แม้แต่หัวหมู่ทะลวงฟัน ที่ไม่เคยกลัวสิ่งใดแม้แต่ความตาย ) 

ถ้าหากท่านใดก็แล้วแต่ จะเข้าไปฟังการแถลงข่าว ( อีกครั้ง ) ของท่านตู่ในวันพรุ่งนี้ อยากฝากคำถามไปแถมแทนสักสามสี่ข้อ ( เนื่องจากผมอยู่ต่างประเทศ ไปถามเองไม่ได้ )

1.ที่ท่านตู่มาขอร้องให้นิติราษฎร์หยุดการเคลื่อนไหว เพื่อหยุดเงื่อนไขการปฏวัตินั้น เอ่อ...ท่านตู่ครับ นึกหรือครับ ว่าถ้าไม่มีเรื่องนี้แล้วเขาจะไม่หาเรื่องอื่น มาหาเรื่องปฏิวัติรัฐบาลของท่านได้ โง่หรือซื้อบื้อครับ

2.ที่ท่านตู่บอกว่า ไม่มีใครกล้ายกมือโหวตให้กฏหมายข้อนี้แม้แต่คนเดียว แม้แต่หัวหมู่ทะลวงฟันที่ไม่เคยกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมแบบท่าน แล้วอุดมการณ์ที่ท่านและพรรคพวกพร่ำเพ้อวันละสามเวลาหลังอาหารและก่อนนอน ให้พวกเราเสื้อแดงต้องออกไปเจ็บไปตายแทนพวกท่าน ที่ว่าจะต่อสู้เพื่อความเสมอภาค ภราดรภาพ และความเท่าเทียมกันของคนไทยทุกคน

และสิ่งที่กลุ่มนิติราษฎร์เคลื่อนไหวทั้งหมด มันตอบโจทย์ได้ทุกข้อสำหรับที่พวกเราเสียเลือดเสียเนื้อต่อสู้กันมา แล้วทำไมท่านไม่ร่วมสู้ไปกับนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะทำที่สุดในตอนนี้ ความห้าว ความกล้า ความบ้าบิ่นไม่กลัวตาย ของจตุพร พรหมพันธ์ คนเดิมมันหายไปไหนหมด  คนเราเมื่อถึงคราวต้องสู้ มันก็ต้องดับเครื่องใส่ ไสช้างชนให้มันรู้ดีรู้ชั่วกันไป

3.แทนที่จะมัวกลัวซ้ายกลัวขวาว่าจะโดนปฏิวัติ ก็ในเมื่อพวกท่านมีอำนาจรัฐอยู่ในมือแล้ว ทำไมถึงไม่หาทางป้องกันหรือหยุดยั้งมันละครับ มัวแต่มาเกรงใจ หรือเกี้ยเซี้ยกับหอกข้างแคร่ ที่คิดจะปฏิวัติท่านอยู่ทำไม ผบ.ทบ.ถ้าไม่เป็นที่น่าไว้ใจก็ย้ายสิครับ นายกฯมีอำนาจย้ายได้นี่ จะรอให้เขาปฏิวัติเสียก่อน แล้วค่อยมาสั่งปลดกลางอากาศ เหมือนตอนทักษิณสั่งปลดสนธิ เกิดเขาตัดสัญญาณโทรทัศน์ได้ ก่อนที่คำสั่งปลดจะสมบูรณ์ ก็จะเสียค่าโง่เหมือนอ้ายแม้วของผมไง จะหกปีอยู่แล้วยังไม่ได้กลับบ้านเลย นี่แหละผลของการไว้ใจศัตรูละ

4.และสุดท้าย หัวหมูทะลวงฟันอย่างท่านตู่ จะออกมาทำหน้าซีด ปากสั่น ละล้าละลังกลัวการปฏิวัติให้เสียภาพลักษณ์ ก็ทำไมไม่ยกมืออธิษฐานให้มันรีบปฏิวัติไว ๆ ทุกอย่างจะได้จบลงไปในคราวเดียว ไม่ต้องเหนื่อยกันหลายครั้ง เหมือนที่ท่านพี่เคยพร่ำบ่น ( สร้างภาพ..หรือเปล่า ) พอท่านตู่ได้เป็น ส.ส.แล้ว ความรู้สึกนึกคิดแบบนั้นอาจจะหายไป แต่พี่น้องเสื้อแดงทุกคนเขาไม่ได้หายตามท่านไปด้วย แต่ยังหนักแน่น และยิ่งเข้มข้น รอให้มันเขี่ยลูก ถ้าเริ่มเขี่ยเมื่อไหร่ รับรองได้บิวตี้ฟูลกันแน่นอน (เลียนสำนวนท่านณัฐวุฒิ ซึ่งก็ไม่รู้ว่า จะยังจำคำพวกนี้ได้หรือเปล่า )

สุดท้ายที่อยากฝากเตือนให้รู้สำนึก ที่ท่านตู่ ท่านเต้น ได้รับความรัก ความศรัทธา และการอุ้มชูจากพี่น้องเสื้อแดง ก็เพราะ ( ที่ปากบอกว่า ) ความใจสู้ ไม่กลัวเกรงต่อสิ่งใด และไม่ละทิ้งมวลชน ไม่เช่นนั้น ท่านก็จะไม่ต่างอะไรกับวีระ หรือวิสา ที่ได้ตายไปจากใจคนเสื้อแดงหมดแล้ว ก็ชวนเขามาสู้ตาย จนเขาทุ่มให้หมดใจ แต่ดันเสือกมาโดดรถหนีตอนเกิดการสู้รบแบบนั้น

และการออกมาลอยแพ (แถมยังแอบกระทืบซ้ำ) คณะนิติราษฎร์นั้น มันคือการทรยศต่ออุดมการณ์ ในการต่อสู้ของพี่น้องเสื้อแดงทั้งหมด เพราะทุกข้อที่อาจารย์นิติราษฎร์คิดและเขียนออกมา มันคือความต้องการ และความในใจของคนเสื้อแดงทั้งนั้น จะพูดว่านิติราษฎร์พูดและเขียนออกมาแทนใจคนเสื้อแดงทั้งหมดก็ว่าได้

อยากจะกลายเป็นคนที่โดนทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะตามรถไฟขบวนก้าวหน้าไม่ทันไปอีกคนหรือไง จริงอยู่ ก่อนเลือกตั้งเราคือคนสำคัญของพวกท่าน แต่พอหลังเลือกตั้ง แม้แต่กฏหมายที่ประชาชนต้องการแก้ที่สุด ท่านยังกล้าประกาศว่าจะคว่ำเสียตั้งแต่ไม่ทันจะเริ่ม มันไม่ทำร้ายจิตใจกันไปหน่อยหรือ

อยากรู้เหมือนกัน ว่าถ้าตอนนี้นิติราษฎร์ถูกบีบให้ต้องตั้งพรรคการเมือง เพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอให้กลายเป็นจริง ( เพราะพี่ ส.ส.เพื่อไทยไม่เอาด้วย ) ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ส.ส.เพื่อไทยที่สุดแสนจะปากดีในวันนี้ ( เช่นเฉลิมและประชา ประสพดี ) จะได้กลับมาเป็นท่าน ส.ส.ที่เคารพสักกี่คน

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กก.อิสลามหวั่น 4 ศพบานปลาย สั่งทุกมัสยิดปัตตานี ‘ละหมาดฮายัต’

Posted: 01 Feb 2012 08:19 AM PST

 

 


แม่ทัพภาคที่ 4 ขอโทษ ทหารพรานยิงชาวบ้าน 


สาหัส-สภาพนายมะรูดิง แวกาจิ หนึ่งในผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี

 

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 31 มกราคม 2555 ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัช แม่ทัพภาคที่ 4 ได้นำคณะกรรมการตรวจสอบกรณีชาวบ้านถูกยิงตาย 4 ศพ ที่บ้านกะหยี ตำบลลิปะสาโง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ประกอบด้วย ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง มาประชุมร่วมกับผู้เสียหายบางคน ญาติผู้เสียหาย และผู้อยู่ในเหตุการณ์

พล.ท.อุดมชัย ได้นำเจ้าหน้าที่ทหารพรานจากฐานทหารพรานที่ 4302 บ้านน้ำดำ ตำบลปุโล๊ะปุโย อำเภอหนองจิก 5 นาย พร้อมนายยา ดือราแม คนขับรถคันเกิดเหตุ ซึ่งได้รับบาดเจ็บ มาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนเกิดเหตุ บรรยากาศการพูดคุยเต็มไปด้วยความตึงเครียด ขณะที่พล.ท.อุดมชัย ได้ขอโทษชาวบ้านต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยอมรับที่จะให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเต็มที่ ไม่ว่าผลการสอบสวนจะออกมาแบบใดก็ตาม ตนจะให้ความเป็นธรรมและยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย การนัดให้พบกันครั้งนี้ เพราะต้องการให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความเข้าใจกันต่อกัน

พล.ท.อุดมชัย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ทั้งสองฝ่ายให้ข้อมูลตรงกันบางส่วนคือ เจ้าหน้าที่ทหารพรานให้ข้อมูลว่า เวลาประมาณ 20.05 น.วันที่ 29 มกราคม 2555 มีคนร้ายโยนระเบิด M 79 ลงที่ฐานบ้านน้ำดำ 3 นัด แต่ระเบิดทำงานเพียง 1 ลูก ขณะที่ฝ่ายชาวบ้านเล่าว่าได้ยินเสียงระเบิด 1 ครั้ง ขณะที่การให้ข้อมูลในที่เกิดเหตุยิงชาวบ้านเสียชีวิต ของทั้งสองฝ่ายไม่ตรงกัน โดยฝ่ายทหารพรานเล่าว่า เจอรถยนต์ชาวบ้านแล่นผ่านจุดเกิดเหตุ จึงบอกให้หยุด แต่คนขับกลับใส่เกียร์ถอยหลัง จากนั้นมีคนลงจากรถ พร้อมกับมีเสียงปืนดังขึ้น เป็นเหตุให้เกิดการปะทะกัน 

“ส่วนชาวบ้านเล่าว่า กำลังเดินทางไปละหมาดคนตาย โดยเลี่ยงไปใช้เส้นทางที่ไม่ผ่านฐานบ้านน้ำดำ แต่กลับมาเจอทหารพรานชุดดังกล่าวเรียกให้หยุด จึงหยุดรถ จากนั้นมีผู้ใช้ปืนยิงใส่ชาวบ้านที่มากับรถ ขณะที่ตำรวจระบุว่า จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่า มีเหตุปะทะกัน มีคนตาย คนบาดเจ็บ และเจออาวุธปืน” พล.ท.อุดมชัย กล่าว

พล.ท.อุดมชัย เปิดเผยอีกว่า หลังรับฟังข้อมูล กลุ่มชาวบ้านและญาติผู้เสียชีวิตได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ 1.ให้สับเปลี่ยนทหารพรานชุดดังกล่าวออกนอกพื้นที่ 2.แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนข้อเท็จจริง 3.ให้แก้ไขกรณีที่นายทหารบางคนให้ข่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการปะทะกันของแนวร่วมก่อความไม่สงบ เพราะทำเกิดความเข้าใจผิดว่า ชาวบ้านเป็นคนร้าย

“ตอนนี้ผมได้สับเปลี่ยนกำลังขุดดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อลดความหวาดระแวง ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผมมองว่า เจ้าหน้าที่ทำตามแผนเผชิญเหตุ ผมยังยึดมั่นที่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าใครผิดใครถูก ทุกอย่างต้องรอผลการพิสูจน์หลักฐาน และการสอบสวน ซึ่งอาจจะไม่ถูกใจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม้ว่าจะเป็นอย่างไร ผมต้องฟังเสียงประชาชน” พล.ท.อุดมชัย กล่าว

เหยื่อเล่านาทีระทึก
นายมะรูดิง แวกาจิ อายุ 15 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนแสงประทีปวิทยา ตำบลปุโละปุโย หนึ่งในผู้บาดเจ็บที่กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี เล่าว่า ก่อนเวลา 20.00 น. วันที่ 29 มกราคม 2555 ที่บ้านของนายยา ดือราแม อายุ 58 ปี คอเต็บมัสยิดบ้านตันหยงบูโล๊ะ ตำบลปุโล๊ะปุโย มีการทำบุญเลี้ยงอาหารเนื่องในวันเมาลิดนบี ขณะนั้นได้ยินเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้น บริเวณฝั่งตรงกันข้ามหมู่บ้าน

นายมะรูดิง เล่าว่า หลังเสร็จละหมาดที่มัสยิดในหมู่บ้าน นายยาได้ชวนไปละหมาดคนตายที่บ้านทุ่งโพธิ์ ตำบลลิปะสะโง โดยไม่มีใครพูดถึงเสียงระเบิด โดยตนขึ้นไปนั่งที่ท้ายกระบะรถยนต์ เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งมืดมาก ได้ยินเสียงคนพูดเป็นภาษาไทยให้หยุดรถ แต่มองไม่เห็นตัวคน มีคนตอบกลับไปว่า จะไปละหมาดคนตาย ขณะที่กำลังชะลอความเร็วของรถ มีเสียงปืนดังขึ้นโดยไม่ทราบทิศทางหลายนัด ญาติที่มาด้วยกันกระโดดลงจากรถ ขณะนั้นตนเห็นทหารถือปืนไล่ยิงญาติคนดังกล่าว

นายมะรูดิง เล่าอีกว่า ส่วนตนกระโดดไปหลบอยู่บนพื้นใกล้ล้อรถ เห็นนายยาเปิดประตูรถลงมา แล้วคลานลงไปในป่าข้างทาง ตนจึงคลานตามไป แต่ก็ถูกตามไล่ยิง ตนจึงหนีเข้าไปหลบที่บ้านญาติที่อยู่ไม่ห่างมากนัก ตอนนั้นรู้สึกเจ็บที่แขน จึงรู้ว่าถูกยิง หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อเสียงปืนสงบ ตนถูกนำตัวส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลหนองจิก ก่อนจะถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลปัตตานี

นายมะรูดิง เล่าด้วยว่า ก่อนเดินทางทุกคนขึ้นรถที่บ้านของนายยา และนายยกก็ไม่ได้ขับรถแวะรับใครระหว่างทาง ประกอบกับตอนขึ้นรถ ตนไม่เห็นว่ามีสิ่งของอะไรอยู่ท้ายกระบะ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครพกพาอาวุธสงครามขึ้นมากับรถ ตามที่เจ้าหน้าที่บอกว่าพบอาวุธปืนสงครามในรถ ส่วนในห้องคนขับด้านหน้า ก็ไม่น่าจะมีอาวุธสงคราม

นายแวมะกรี แวกาจิ บิดาของนายมะรูดิง เปิดเผยว่า ขณะเกิดเหตุตนและภรรยาอาศัยอยู่ที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เนื่องจากมีอาชีพรับจ้างกรีดยาง หลังทราบเหตุจึงเดินทางกลับทันที สำหรับนายมะรูดิงเป็นลูกชายคนเดียว มีน้องสาวอีก 2 คน ทั้งหมดอาศัยอยู่กับย่า

แพทย์ยันพ้นขีดอันตราย
นายแพทย์อรุณ ประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ได้รับบาดเจ็บยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี 3 คน ได้แก่ นายฐอบรี บือราเฮง อายุ 19 ปี ถูกยิงที่ท้องทะลุกระเพาะ แพทย์ได้ผ่าตัดและพ้นขีดอันตรายแล้ว คนไข้รู้สึกตัวดี ส่วนคนที่ 2 นายมะแอ ดอเลาะ อายุ 79 ปี ถูกยิงที่เท้า กระดูกเท้าแตกทั้งสองข้าง แพทย์ได้ผ่าตัดเย็บแผล อาการปลอดภัยแล้ว คนที่ 3 นายมะรูดิง ถูกยิงที่กระดูกแขนซ้าย แพทย์ผ่าตัดแล้ว ขณะนี้อาการปลอดภัย ส่วนผู้บาดเจ็บอีก 2 ราย แพทย์ให้กลับบ้าน

สำหรับผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ดังกล่าว ประกอบด้วย นายรอปา บือราเฮง อายุ 18 ปี นายอิสมัน ดือราแม อายุ 55 ปี นายสาหะ สาแม อายุ 62 ปี นายหะมะ สะนิ อายุ 65 ปี สภาพศพถูกยิงที่บริเวณลำตัวและขาเป็นแผลฉกรรจ์ ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ประกอบด้วย นายยา ดือราแม อายุ 58 ปี คอเต็บมัสยิดบ้านกะหยี มีบาดแผลถูกอาวุธเฉียด 1 แผล มีรอยฟกช้ำตามลำตัวจำนวนมาก, ด.ช.มะรูดิง อาแวกือจิ อายุ 15 ปี ถูกยิงเข้าที่แขนขวาหัก 1 นัด, นายมะแอ ดอเลาะ อายุ 76 ปี และนายฐอบรี บือราเฮง อายุ 19 ปี ทั้งหมดเป็นชาวตำบลปุโล๊ะปูโย

กรรมการอิสลามร้องทุกมัสยิดละหมาดฮายัต
นายอาหะมะ หะยีดือราแม เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อลงพื้นที่สอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากชาวบ้าน และมอบเงินค่าจัดการศพผู้เสียชีวิตรายละ 2,000 บาท

นายอาหะมะ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่า มีผู้ปล่อยข่าวลือสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เรียกประชุมผู้นำศาสนาเตรียมเดินขบวนประท้วงที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต ซึ่งไม่เป็นความจริง เพียงแต่มีการส่งหนังสือเชิญชวนให้ผู้นำศาสนาทุกมัสยิดร่วมประกอบพิธี อารวาฮฺ หรือ การขอพรเพื่อนำส่งผลบุญแก่ผู้ตาย และให้ร่วมละหมาดฮายัตวันศุกร์ เพื่อขอพรจากพระเจ้าให้คุ้มครองประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

นายอาหะมะ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กังวลว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดการลุกฮือของผู้ที่ไม่พอใจ เนื่องจากเห็นชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ จึงได้ประกาศทางสถานีวิทยุและส่งหนังสือถึงผู้นำศาสนา หมู่ที่ 1 ตำบลปูโล๊ะปูโย ซึ่งเป็นบ้านของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ ให้อยู่ในความสงบ พร้อมกับส่งหนังสือเรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบด้านกระบวนการยุติธรรมดำเนินการต่อไปแล้ว

ศูนย์นิติวิทย์ฯตรวจวิถีกระสุน
วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ศูนย์นิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกำลังตำรวจ นำรถกระบะคันเกิดเหตุไปตรวจวิถีกระสุน โดยรถมีสภาพถูกยิงบริเวณกระจกด้านหน้า และด้านข้างคนขับแตกทั้งหมด กระบะด้านซ้ายมีรูจำนวนมากทะลุด้านขวา ส่วนรูกระสุนเจ้าหน้าที่ได้นำเหล็กมาเสียบไว้ แสดงวิถีกระสุนยิงจากที่สูงลงจากที่ต่ำ กระสุนที่ยิงเป็นอาวุธปืนเอ็ม 16 และอาก้า

ผบ.ทบ.ยันไม่เข้าข้างทหาร
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ผู้เสียชีวิตเป็นผู้ก่อความไม่สงบหรือเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ หากเป็นประชาชนอาจจะไม่เข้าใจคำถามและคำสั่งที่บอกให้หยุดรถ ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ให้กองทัพภาคที่ 4 ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เบื้องต้นให้ย้ายกำลังพลที่ถูกกล่าวหาออกนอกพื้นที่แล้ว เพื่อไม่ให้มีผลต่อการสอบสวน แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ด้วย เนื่องจากฝ่ายตรงข้ามมีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการโจมตี และเพิ่มการโจมตีมากขึ้น พร้อมพยายามปลุกปั่นชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบและพร้อมชดใช้และเยียวยาผู้ที่สูญเสียด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว เรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และจะไม่เข้าข้างผู้ใต้บังคับบัญชา หากทำเกินกว่าเหตุจะถูกลงโทษ

นายกฯ ปูสั่ง ผบ.ทบ.ลงพื้นที่ตรวจสอบ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนมอบหมายให้พล.อ.ประยุทธ์ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เบื้องต้นต้องให้การดูแลประชาชน และให้ความยุติธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย เบื้องต้นขอเวลาให้กองทัพตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดก่อน

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คณบดี มมส. แจงหวั่นเหตุรุนแรง นศ.จัดกิจกรรมไว้อาลัย

Posted: 01 Feb 2012 06:39 AM PST

ตัวแทนนักศึกษาและศิษย์เก่า วิทยาลัยการเมืองการปกครองเผย เดินหน้าทำกิจกรรมไว้อาลัยต่อ โต้คณบดีกรณีหวั่นเหตุรุนแรง-ห้ามใช้พื้นที่จัดเสวนากฎหมายหมิ่น สะท้อนให้เห็นว่าไม่เชื่อมั่นในการใช้เหตุผลของนักศึกษา

ภายหลังจากที่นักศึกษาและศิษย์เก่า วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามส่วนหนึ่งเปิดเพจเพื่อระดมรายชื่อ ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน และบุคคลทั่วไปเพื่อเตรียมยื่นจดหมายต่อคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง กรณีไม่อนุญาตให้ให้สถานที่จัดเวทีเสวนาเรื่อง “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ตามทีประชาไทรายงานไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา

วันนี้ ร.ศ.สีดา สอนศรี คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ชี้แจงเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในวิทยาลัยการเมืองการปกครองเนื่องจากหวั่นเกรงเหตุรุนแรงอันอยู่นอกเหนือการแสดงความเห็นทางวิชาการ โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“จากการพิจารณาถึงสภาวการณ์ความขัดแย้งทางความคิดที่เพิ่มมากขึ้น ภาวะสับสนของข้อมูลข่าวสารบรรยากาศของการแสดงออกถึงความรุนแรงของคู่ปรปักษ์ทางความคิดหรืออุดมการณ์ที่ยากต่อการควบคุมเหตุดังตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงเหตุการณ์วิวาททำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยจากบุคคลภายนอก ซึ่งแม้จะไม่ได้มีผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองก็ตามแต่ทางผู้บริหารมีความกังวลและเมื่อประเมินศักยภาพในการรักษาความปลอดภัยและความสงบของวิทยาลัยการเมืองฯ แล้วคาดว่าหากเกิดการกระทำรุนแรงต่อร่างกายหรือทรัพย์สินหรือร่างกายขึ้นภายในบริเวณอาคารวิทยาลัยการเมืองการปกครองหรือพื้นที่โดยรอบแล้ว วิทยาลัยการเมืองฯ อาจไม่สามารถที่จะปกป้องหรือระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงอันอยู่นอกเหนือการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ”

ด้านนายโอภาส สินธุโคตร ตัวแทนนักศึกษาและศิษย์เก่าวิทยาการเมืองการปกครองที่ดำเนินการล่ารายชื่อเพื่อทวงถามคำตอบจากผู้บริหารวิทยาลัยฯ เปิดเผยกับประชาไทว่าแถลงการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารไม่เชื่อมั่นในการใช้เหตุผลของนักศึกษา และยืนยันจะจัดกิจกรรมไว้อาลัยที่หน้าวิทยาลัยฯ ต่อไปตามกำหนดเดิม แต่อาจจะปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมเล็กน้อย

โดยเขาเผยว่า ขณะนี้มีนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งที่แสดงตัวว่าจะออกมาต้านการจัดกรรมดังกล่าว พร้อมเตรียมพระสงฆ์มาปัดรังควานกลุ่มของเขาด้วย หากมีการวางพวงหรีดที่หน้าวิทยาลัยฯ

“คำชี้แจงของคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครองที่ให้เหตุผลไม่อนุญาตให้ใช่สถานที่เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงนั้นแสดงให้เห็นว่า คณบดีไม่มีความเชื่อมั่นว่านักศึกษาของวิทยาลัยมีความเป็นอารยะ และสามารถพูดกันได้ด้วยเหตุผล วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ปวารณาตัวว่าเป็นสถาบันที่ให้การศึกษาด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และรัฐประศาสน์ศาสตร์ แต่กลับไม่สามารถใช้พื้นที่สำหรับการจัดกิจกรรมวิชาการในประเด็นกฎหมายได้ ทั้งๆ ที่คณะศิลปศาสตร์นั้นสามารถจัดงานในลักษณะดังกล่าวได้” ตัวแทนกลุ่มนักศึกษาและศิษย์เก่าวิทยาลัยการเมืองการปกครองกล่าวในที่สุด

สำหรับรายละเอียดคำชี้แจงจากคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคามมีดังนี้

ข้อชี้แจงต่อกรณีการไม่อนุญาตให้จัดเวทีเสวนาวิชาการเรื่อง “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์”

ตามที่ได้มีการแถลงการณ์การระดมรายชื่อ ศิษย์เก่า-ปัจจุบัน และบุคคลทั่วไปเพื่อยื่นจดหมายต่อคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กรณีไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่จัดเวทีเสวนาเรื่อง “สิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยภายใต้กฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์” ดังที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์และหนังสือพิมพ์บางฉบับนั้น คณบดีและผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองฯ จึงขอชี้แจงดังนี้

สืบเนื่องจากที่คณบดีได้พบข้อความประชาสัมพันธ์ใน Face-book เรื่องการจัดเสวนาดังกล่าว คณบดีและผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองฯ จึงได้ดำเนินการ

1) คณบดีได้เชิญผู้จัดสัมมนาเข้ามาพบถึงเรื่องที่จะจัดกิจกรรมในวันที่ 30 มกราคม 2555 คณบดีและผู้บริหารที่ร่วมชี้แจงด้วย ได้แจ้งถึงความจำเป็นในการไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรม โดยเหตุผลที่ยังไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมในขณะนี้ กล่าวคือ จากการพิจารณาถึงสภาวการณ์ความขัดแย้งทางความคิดที่เพิ่มมากขึ้น ภาวะสับสนของข้อมูลข่าวสารบรรยากาศของการแสดงออกถึงความรุนแรงของคู่ปรปักษ์ทางความคิดหรืออุดมการณ์ที่ยากต่อการควบคุมเหตุดังตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร รวมไปถึงเหตุการณ์วิวาททำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้มหาวิทยาลัยจากบุคคลภายนอก ซึ่งแม้จะไม่ได้มีผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองก็ตามแต่ทางผู้บริหารมีความกังวลและเมื่อประเมินศักยภาพในการรักษาความปลอดภัยและความสงบของวิทยาลัยการเมืองฯ แล้วคาดว่าหากเกิดการกระทำรุนแรงต่อร่างกายหรือทรัพย์สินหรือร่างกายขึ้นภายในบริเวณอาคารวิทยาลัยการเมืองการปกครองหรือพื้นที่โดยรอบแล้ว วิทยาลัยการเมืองฯ อาจไม่สามารถที่จะปกป้องหรือระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที หากเกิดสถานการณ์ความรุนแรงอันอยู่นอกเหนือการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ

2) โดยเหตุที่คณบดีและผู้บริหารยังคงคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพในทางวิชาการ โดยไม่ได้คิดปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการของผู้จัด ตามคำแถงการณ์ที่ปรากฏในสื่อต่างๆ แต่ด้วยเล็งเห็นถึงความเป็นกลางซึ่งต้องรักษาไว้อย่างเคร่งครัดไม่เอนเอียงไปทางหนึ่งทางใด เนื่องจากนิสิตและบุคลากรของวิทยาลัยการเมืองฯ มีความคิดเห็นทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อประเด็นดังกล่าว คณบดีและผู้บริหารจึงเสนอความเห็นและความไม่สบายใจต่อผู้จัดเป็น 2 ประการ ได้แก่

ประการแรก ขอร้องให้ผู้จัดดำเนินการจัดกิจกรรมในนามของกลุ่มบุคคล โดยไม่ใช้นามของหน่วยงาน ทั้งนี้เพื่อไม่เป็นการล่วงสิทธิ์ของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ และ

ประการที่สอง ขอร้องให้ผู้จัดดำเนินการจัดกิจกรรมได้ในสถานที่อื่นที่เหมาะสมกว่า เพื่อให้สามารถระดมความคิดได้อย่างหลากหลายและไม่เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรงที่ไม่อาจประเมินการณ์ได้ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งในประเด็นอันละเอียดอ่อน ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ก็คือ ผลกระทบต่อความสมัครสมานสามัคคีของนิสิตและบุคลากรในภาพรวมองค์กรวิทยาลัยการเมืองฯ

ทั้งนี้ ข้อเสนอความเห็นและความไม่สบายใจทั้งสองประการนั้น ผู้จัดงานได้รับทราบแล้วในการเข้าพบในวันดังกล่าว

ในฐานะคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอทำความความเข้าใจอย่างชัดเจนถึงเจตนารมณ์และอุดมการณ์ในการปฏิบัติงานที่ยึดถือมาตลอดชีวิตการทำงาน ทั้งก่อนหน้านี้และปัจจุบัน ว่าหลักสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่เมื่อมารับผิดชอบเป็นผู้บริหารวิทยาลัยการเมืองการปกครองนั้น ให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมทางวิชาการในรูปแบบต่างๆ โดยถือว่าคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และการพัฒนากระบวนการคิดระหว่างคณาจารย์กับนิสิต รวมไปถึงการเผยแพร่เกียรติภูมิของวิทยาลัยการเมืองฯในฐานะตลาดทางวิชาการแก่สังคม ซึ่งคณบดีวิทยาลัยการเมืองฯ ตระหนักในภารกิจนี้เป็นอย่างดี เห็นจะได้จากการจัดงานหรือร่วมกิจกรรมทางวิชาการในหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในวิทยาลัยการเมืองการปกครองตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ที่มีความครอบคลุมในทุกสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอนและสาขาวิชาต่างๆ โดยรวมทั้งจัดตั้งคลินิกรัฐศาสตร์ที่เป็นผู้จัดเวทีเสวนานี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างการบริหารงานของวิทยาลัยการเมืองฯ ที่ทางวิทยาลัยการเมืองฯ เปิดโอกาสให้คณาจารย์ บุคลากรและนิสิตที่เข้าร่วมโครงการในทุกโครงการ มีเสรีภาพในการสร้างสรรค์กิจกรรมและความงอกงามทางปัญญา ทั้งยังอุดหนุนงบประมาณเพื่อสนับสนุนต่างๆ ของนิสิตและบุคคลากรทุกท่านอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าการจัดกิจกรรมบางครั้งอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดกิจกรรม ความขัดแย้งภายในวิทยาลัยการเมืองฯ ก็ตาม ดังเช่น กรณีของกิจกรรมการรับน้องในปี พ.ศ. 2554 แต่ทางวิทยาลัยการเมืองฯ ก็ยังคงอนุญาต และให้การสนับสนุนจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น หากประเมินแล้วว่าสามารถควบคุมให้อยู่ในกรอบของระเบียบ และความสามัคคีในหมู่นิสิต

อย่างไรก็ดี แม้จะมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้จัด ให้จัดกิจกรรมในอาคารวิทยาลัยการเมืองการปกครองได้ในขณะนี้ แต่ทางผู้บริหารขอยืนยันอีกครั้งว่าไม่เคยคิดที่จะจำกัดหรือห้ามการแสดงออกทางความคิด การแลกเปลี่ยนความเห็นทางวิชาการของอาจารย์หรือบุคลากร ผู้หนึ่งผู้ใด ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชา หากแต่คณบดีในฐานะผู้บริหารที่รับผิดชอบต่อองค์กรอันเป็นที่รักของเราชาววิทยาลัยการเมืองฯทุกคนทุกรุ่นทุกสมัย ที่สืบทอดปณิธาน “ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน” จึงจำเป็นต้องดำเนินการทุกวิถีทางอย่างรอบคอบและระมัดระวังโดยปราศจากอคติใดๆ มาเกี่ยวข้อง เพื่อปกป้อง ดูแลความปลอดภัย ในชีวิต ทรัพย์สิน ของนิสิต บุคลากร ตลอดจนทรัพย์สินของทางราชการในวิทยาลัยการเมืองฯ อันเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุดที่พึงกระทำในการทำหน้าที่คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง

(รองศาสตราจารย์ สีดา สอนศรี)

คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

องค์กรสิทธิแถลงร้องรัฐ สอบกรณี 4 ศพหนองจิกโปร่งใส คุ้มครองพยาน

Posted: 01 Feb 2012 06:33 AM PST

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมออกแถลงการณ์ ขอแสดงความเสียใจต่อญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และได้รับบาดเจ็บ 4 ราย เหตุเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2555 โดยขอประณามผู้ที่กระทำจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหาย

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ ข้อมูลในพื้นที่ที่ได้จากการสอบข้อเท็จจริงจากผู้อยู่ที่ร่วมในเหตุการณ์ เป็นข้อมูลที่แตกต่างกับทางโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่ได้มีการแถลงทางสื่อมวลชน  มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจึงขอเรียกร้องให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังมีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ยังมีผู้รอดชีวิตอยู่ และได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงที่ยังมีความรู้สึกหวาดกลัวกับเหตุการณ์ และความปลอดภัยของตนเอง  ซึ่งบุคคลเหล่านั้นล้วนเป็นบุคคลที่มีอายุมากและเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้เรื่องกับเหตุการณ์

“การที่หน่วยงานของรัฐรีบด่วนออกมาแถลงและสรุปโดยรับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติฝ่ายเดียว ย่อมไม่เป็นธรรมต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ  ซึ่งบุคคลเหล่านั้นล้วนแต่เป็นคนในพื้นที่ และต้องใช้ชิวิตอยู่อย่างหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่”

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเหตุการณ์แรกแต่ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทำนองนี้  และทุกเหตุการณ์ล้วนแต่เป็นการสร้างเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนในพื้นที่ (อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม ด้านล่าง)

ด้านมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยแถลงแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ รวมถึงประชาชนในชุมชนอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอเรียกร้องต่อรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังต่อไปนี้

1.    รัฐบาลต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องไม่ปกปิดพยานหลักฐานและให้ผู้ที่ประชาชนไว้วางใจเข้ามีส่วนร่วมในการตรวจสอบดังกล่าวโดยเร็วที่สุดและแถลงให้ประชาชนทราบ

2.   ต้องจัดให้มีการคุ้มครองพยานคือผู้รอดชีวิตอย่างเต็มที่เพื่อให้พยานสามารถให้ข้อเท็จจริงได้อย่างอิสระโดยปราศจากความกังวลในการถูกคุกคาม

3.   หากปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิดรัฐบาลต้องไม่ปล่อยให้มีการงดเว้นโทษ (Impunity) ต่อผู้ใดไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นราษฎรสามัญหรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

ทั้งนี้มูลนิธิฯมีความเชื่อมั่นว่าสันติภาพคงไม่อาจเกิดขึ้นได้หากประชาชนที่บริสุทธิ์ยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรม และมีชีวิตอยู่ในความไม่รู้สึกปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สกไม่ปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่รัฐ

 0 0 0

 

แถลงการณ์มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
กรณีเหตุการณ์ที่ ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี


จากเหตุการณ์ทหารพรานยิงรถกระบะคันหมายเลขทะเบียน บท 3105 ปัตตานี กำลังเดินทางไปร่วมละหมาดมายัต (พิธีละหมาดศพผู้นับถือศาสนาอิสลาม) จนเป็นเหตุให้คนแก่และเยาวชนที่โดยสารในรถยนต์คันดังกล่าวเสียชีวิต 4 ราย และได้รับบาดเจ็บ 4 ราย เหตุเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม 2555 เวลาประมาณ 20.30 น. ที่หมู่ที่ 1 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี นั้น ทางมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ในฐานะองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม  ขอแสดงความเสียใจต่อญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว และขอประณามผู้ที่กระทำจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหาย

จากกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะต้องแยกเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุ  เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น มีคนร้ายไม่ทราบกลุ่มและจำนวนใช้เครื่องยิงลูกระเบิดแบบเอ็ม 79 ยิงใส่ฐานปฏิบัติการทหารพรานที่ 4302 ที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านน้ำดำ หมู่ที่ 2 ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นคนละเหตุการณ์ที่ทหารพรานยิงรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ สีบรอนซ์เงิน คันหมายเลขทะเบียน บท 3105 ปัตตานี  เพราะเหตุการณ์ยิงฐานปฏิบัติการทหารพรานที่ 4302 กับเหตุการณ์ยิงใส่รถยนต์กระบะคันหมายเลขทะเบียน 3105 ตั้งอยู่คนละหมู่บ้านและเกิดขึ้นคนละช่วงเวลา  จากการที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้สอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ได้ความว่า ชาวบ้านที่ถูกยิง กำลังเดินทางจากจากหมู่บ้าน กาหยี (ตันหยงบูโละ) หมู่ที่ 1ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อจะไปละหมาดมายัตยังมัสยิดบ้านตอโป หมู่ที่ 4 ตำบลตะลิปะสาโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งการละหมาดมายัติ เป็นพิธีกรรมทางศาสนาในการจัดการศพก่อนนำไปฝั่งซึ่งช่วงเวลาที่ญาติของผู้ตายกำหนด   แต่เนื่องจากทางออกของหมู่บ้านมีสองทางคือทางที่ต้องผ่านฐานปฏิบัติการทหารพรานที่ 4302 ที่เกิดเหตุมีการยิง เอ็ม 79 ถล่ม กับทางด้านหน้าหมู่บ้าน รถคันดังกล่าวจึงได้หลีกเลี่ยงและเลือกใช้เส้นทางดังกล่าวแม้ระยะทางจะไกลแต่เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร

ในขณะที่นายยา ดือราแม ผู้ขับรถยนต์กำลังขับรถยนต์จะขึ้นเนินได้มีทหารพราน เรียกให้หยุดรถ และได้สอบถามว่าจะไปไหน ทันใดนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นอีกชุดหนึ่งใช้อาวุธปืนกราดยิงใส่คนในรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บท 3105 เป็นเหตุทำให้คนที่อยู่ในรถต้องวิ่งหลบหนีกระสุนปืนเพื่อเอาตัวรอด จนเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บ ดังกล่าว

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นข้อมูลในพื้นที่จากการสอบข้อเท็จจริงจากผู้อยู่ที่ร่วมในเหตุการณ์  ซึ่งเป็นข้อมูลที่แตกต่างกับทางโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้มีการแถลงทางสื่อมวลชน

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจึงขอเรียกร้องให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังมีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ยังมีผู้รอดชีวิตอยู่ และได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงที่ยังมีความรู้สึกหวาดกลัวกับเหตุการณ์ และความปลอดภัยของตนเอง  ซึ่งบุคคลเหล่านั้นล้วนเป็นบุคคลที่มีอายุมากและเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้เรื่องกับเหตุการณ์ การที่หน่วยงานของรัฐรีบด่วนออกมาแถลงและสรุปโดยรับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติฝ่ายเดียว ย่อมไม่เป็นธรรมต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ  ซึ่งบุคคลเหล่านั้นล้วนแต่เป็นคนในพื้นที่ และต้องใช้ชิวิตอยู่อย่างหวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่  มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจึงขอเรียกร้องต่อผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อย่างไร  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเหตุการณ์แรกแต่ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ อีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทำนองนี้  และเหตุการณ์ทุกเหตุการณ์ล้วนแต่เป็นการสร้างเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนในพื้นที่  เมื่อเป็นดังนี้ความสงบในพื้นที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

                                                มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม
                                                31 มกราคม 2555

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จม.เปิดผนึกอาจารย์ มธ. จี้มหาลัยจัดถก 112 เอง

Posted: 01 Feb 2012 06:17 AM PST

1 ก.พ.55  อาจารย์จากหลากหลายคณะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึง สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เห็นด้วยกรณีกรรมการบริการมหาวิทยาลัยมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อการเคลื่อนไหวมาตรา 112 ระบุเป็นลักษณะ “อธรรมศาสตร์” การเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงสาธารณะเป็นเกียรติภูมิแก่มหาวิทยาลัย การปิดพื้นที่เท่ากับผลักมาตรานี้ออกจากวงวิชาการ พร้อมทั้งเสนอให้มหาวิทยาลัยเป็นตัวกลางจัดกิจกรรมวิชาการเรื่องนี้เอง เพื่อเป็นตัวอย่างการถกเถียงที่สร้างสรรค์ให้สังคม

0 0 0

 

จดหมายเปิดผนึก

ถึง นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี และกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กรณีมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อการเคลื่อนไหวมาตรา 112

สืบเนื่องจากอธิการบดีธรรมศาสตร์แจ้งในเฟสบุ๊คเมื่อวันที่ 30 มกราคมว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีมติจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อการเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป  โดยอ้างว่าการอนุญาตอาจทำให้สาธารณะเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัยเอง หรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนมหาวิทยาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้

พวกเรานักวิชาการซึ่งมีรายชื่อด้านล่างนี้มีความเห็นว่า

1. มติดังกล่าวทำลายหลักเสรีภาพทางวิชาการและพื้นที่ในการแสดงออก ซึ่งเป็นหลักประกันให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถทำหน้าที่เป็นเสาหลักทางปัญญาและแก้ไขปัญหาสาธารณะให้กับสังคมผ่านการถกเถียงทางวิชาการ

หากขาดหลักประกันนี้แล้วมหาวิทยาลัยย่อมไม่มีเหตุผลแห่งการดำรงอยู่ต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น มติดังกล่าวยังขัดต่อปรัชญาการก่อตั้งและจิตวิญญาณของความเป็นธรรมศาสตร์ นับแต่การก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่เป็นปราการปกป้องสิทธิเสรีภาพมาโดยตลอด จนกระทั่งมีคำขวัญกล่าวว่า “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว”  มติดังกล่าวจึงมีลักษณะ “อธรรมศาสตร์” เป็นอย่างยิ่ง

2. ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่เป็นเวทีสาธารณะให้แก่กลุ่มต่างๆ ในการถกเถียง เคลื่อนไหว และดำเนินกิจกรรมทางสังคมและการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าสาธารณะชนจะเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว ในทางตรงข้ามการเปิดเวทีสาธารณะของธรรมศาสตร์กลับสร้างเกียรติภูมิให้แก่มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด

3. มติดังกล่าวเท่ากับเป็นการผลักให้การถกเถียงเรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อสังคม ออกจากพื้นที่มหาวิทยาลัย และหลุดลอยจากวงวิชาการออกไปสู่ท้องถนน ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าและความรุนแรงมากกว่าการที่มหาวิทยาลัยจะเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงด้วยเหตุด้วยผล และเป็นวิชาการ

4. เห็นได้ชัดเจนว่า สังคมไทยกำลังต้องการทำความเข้าใจให้กระจ่างยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 ทำให้เกิดฝ่ายที่หวาดระแวงว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และอีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงควรแสดงบทบาทนำในการให้ความรู้แก่ประชาชน โอกาสนี้จึงถือเป็นวาระสำคัญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีส่วนดับอุณหภูมิความร้อนของความแตกต่างทางความคิด ให้กลายปัญญาเพื่อความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

5. เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยห่วงใยข้างต้น เราขอเสนอรูปธรรมของการแก้ปัญหา โดยให้มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพและตัวกลางในการจัดกิจกรรมทางวิชาการหลากหลายรูปแบบในประเด็นมาตรา 112 เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เช่น การจัดเวทีให้แต่ละฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างกันผลัดกันนำเสนอความคิดของตน เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และเพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องตกอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของการโต้วาทีที่มุ่งเอาชนะซึ่งกันและกัน เป็นต้น 

กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการสร้างตัวอย่างให้แก่สาธารณะว่าการถกเถียงปมปัญหาใดๆ ก็ตาม และไม่ว่าจะอ่อนไหวต่อความรู้สึกนึกคิดของสังคมเพียงใด ก็สามารถทำได้อย่างสุภาพ สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม การจัดกิจกรรมเช่นนี้กลับจะเป็นการป้องกันความเข้าใจผิดของสาธารณะชนที่ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยกังวลได้เป็นอย่างดี

จึงเรียนมาเพื่อขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาธรรมศาสตร์ทบทวนมติดังกล่าว และส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นเรื่องมาตรา 112 ในมหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น

 

วันที่ 31 มกราคม 2555

ลงชื่อ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สลิสา ยุกตะนันทน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สายพิณ ศุพุทธมงคล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์)
พรรณราย โอสถาภิรัตน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อรอุมา เตพละกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มรกต ไมยเออร์ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จันทนี เจริญศรี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รัตนา โตสกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาดาดล อิงคะวณิช Centre for Research and Education in Arts and Media,University of Westminster
สร้อยมาศ รุ่งมณี คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศุพฤฒิ ถาวรยุติการต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กำกับพลังงานยันไม่ถอนใบอนุญาตบัวสมหมาย แนะให้ไปฟ้องศาลปกครอง

Posted: 01 Feb 2012 06:10 AM PST

1 ก.พ.55 เวลา 10.00 น. ตัวแทนชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล อำเภอสว่างวีระวงศ์  อุบลราชธานี ยื่นหนังสือคัดค้านการออกใบอนุญาตบริษัทบัวสมหมายฯ ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)  กกพ.ยันไม่เพิกถอนใบอนุญาต อ้างกรมโรงงานแจงว่าถูกต้องแล้ว  แนะให้ไปฟ้องศาลปกครองและให้ทำเรื่องค้านการออกใบผลิตไฟฟ้า    

ตัวแทนชาวบ้านบ้านคำสร้างไชยและบ้านใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล (แกลบ)ของบริษัทบัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ยื่นหนังสือคัดค้าน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่มีมติการประชุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2555 ไม่เพิกถอนการออกใบอนุญาตของบริษัทฯ

นายชูศักดิ์ วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย สำนักงานกำกับกิจการพลังงานเป็นตัวแทนมารับหนังสือแทน กกพ. กล่าวว่า การคัดค้านครั้งนี้ไม่สามารถทำได้เพราะถือว่าเป็นการสิ้นสุดการอุทรณ์แล้ว  กกพ.ไม่สามารถไม่เพิกถอนใบอนุญาตได้ และการออกใบอนุญาตให้บริษัทบัวสมหมายฯ ทำตามความเห็นของกรมโรงงาน  ส่วนใบผลิตไฟฟ้า ที่เป็นอำนาจของ กกพ.ยังไม่ออกเพราะบริษัทยังไม่ได้ยื่นเรื่องมา  หากต้องการจะให้ยกเลิกหรือเพิกถอนต้องไปฟ้องศาลปกครอง แต่ถึงอย่างไรการฟ้องศาลปกครองเราก็คิดว่าเราชนะเพราะ กกพ. จะอ้างว่า กกพ.ทำตามความเห็นชอบของกรมโรงงาน  ถ้าเราไม่อนุญาตก็จะมีคำถามว่า ทำไมที่อื่นสร้างได้ ไม่เห็นมีผลกระทบ หากเกินผลกระทบต่อชุมชนจริงสามารถมาฟ้องร้อง กกพ. เรามีกฎหมายคุ้มครองชาวบ้านอยู่แล้วแต่ที่ผ่านมายังไม่เคยใช้กฏหมายเพราะไม่มีชาวบ้านมาร้องเรียนและเป็นกฎหมายใหม่ 

ด้านน.ส.สดใส สร่างโศรก ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแกลบ กล่าวว่า กกพ.ตั้งขึ้นมาเพื่อมีวัตถุประสงค์ ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในด้านการผลิตพลังงาน สร้างความโปร่งใส ความเป็นธรรม และความมั่นคงด้านพลังงาน   แต่การกระทำของ กกพ.ในวันนี้ไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีความโปร่งใส และไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม  มุ่งเพียงจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และสร้างความมั่งคั่งให้กับนายทุนเท่านั้น  แต่ไม่คิดถึงความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน   ชาวบ้านยื่นเรื่องความไม่โปร่งใสของกระบวนการขอใบอนุญาตมาตั้งแต่ปี 2551 แต่กกพ.ไม่เคยให้น้ำหนักและสนใจปัญหาของชาวบ้าน แม้แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วจากการขุดบ่อน้ำของบริษัทบัวสมหมาย ที่ทำให้น้ำในชุมชนขาดแคลนในการทำนา  กกพ.อ้างว่าต้องให้บริษัทฯตอกเสาเข็มก่อนหรือต้องรอให้โรงงานเปิดใช้จริงถ้ามีปัญหาค่อยมาฟ้อง  ถ้าเป็นเช่นนั้นประชาชนตายก่อนเพราะต้องซื้อขายราคาแพงกิน เป็นโรคปอด หรืออุบัติเหตุเนื่องจากมีรถบรรทุกแกลบอย่างน้อยวันละ 30 คัน อย่างไรก็ตามชาวบ้านก็จะต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อปกป้องชีวิต ทรัพย์สินและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนเพื่อให้ลูกหลาน ได้อยู่อย่างไม่ลำบากและเป็นทุกข์    

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โฮยาตั้งโต๊ะเจรจาส่อแววคว้าน้ำเหลว สหภาพแรงงานเดินหน้าบุกกรุง

Posted: 01 Feb 2012 04:52 AM PST

1 ก.พ. 55 - เนชั่นแชลแนลรายงานว่าวันนี้ (1 ก.พ.55) เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุม สำนักงาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลำพูน อาคารศูนย์กระทรวงแรงงาน หมู่ 10 ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ นำโดยนายอัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพ ฯ ,นายชาตรี บุญมา , นายณัฐกร สีนันต๊ะ ,นายสุขสันต์ อิ่นคำ , นายนภดล พินธุ , นายชัยวัฒน์ ดอกคำ และ นายบิลลี่ ใจดี เข้าเจรจากับผู้แทนบริษัท โฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย)จำกัด โดยมีตัวแทนบริษัทฯประกอบด้วย นายทาเคมิ มิยาโมโตะ ประธานบริษัท , นายโทชิอะกิ โยชิมูระ ผู้จัดการทั่วไปการบัญชีและการเงิน , นางสาวสมถวิล จันทราช ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริหาร , นายสกล จินดาศิริโรจน์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายผลิต , นายไกรสร พันธุ์ดอน รองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตรวจสอบงาน , นายธันวา ทาหน่อทอง ผู้จัดการแผนกบริการทั่วไป และ นางวีรยา คำบุรี ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกทรัพยากรบุคคล ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปบันทึกภาพและร่วมการประชุม
 
นายอัครเดช ประธานสหภาพแรงงานฯ เปิดเผยว่า ข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ปี 2555 ขอให้ทางบริษัทโฮยาฯ ปรับอัตราการจ่ายโบนัสจากเดิมไม่ต่ำกว่า 1 เท่าของเงินเดือนเป็นไม่ต่ำกว่า 2.5 เท่าของเงินเดือน , ปรับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล สำหรับพนักงานรายวันเดิม 5,000 บาทต่อปีเป็น 10,000 บาทต่อปี และ พนักงานรายเดือน เดิม 6,000 บาทต่อปีเป็น 12,000 บาทต่อปี , ปรับเบี้ยขยันจากเดิม 550 บาท/เดือนเป็น 850 บาท/เดือน , ให้พิจารณาเพิ่มค่าความเสี่ยงประกอบด้วยด้วยค่าสายตา ค่าเสี่ยงภัยที่ทำงานากับสารเคมี ค่าทำงานในที่สูง , จัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ,ให้มีห้องหรือที่ทำการสหภาพแรงงานฯในบริษัทฯ ตลอดจนให้คณะกรรมการสหภาพแรงงานฯได้มีสิทธิลางานเพื่อเข้ร่วมกิจกรรมองค์กรต่าง ๆ ไม่มีผลต่อการพิจารณาเงินเดือน โบนัส และ ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง เปลี่ยนแปลงหน้าที่หรือกระทำใดๆอันเป็นเหตุให้สมาชิกสหภาพฯไม่สามารถทำงานอยู่ได้ ทั้งนี้เนื่องจากสหภาพแรงงานฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรให้มีการปรับปรุงสภาพการจ้างต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของพนักงานบริษัทฯตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518
 
ในขณะที่ทางบริษัท โฮยากลาสดิคส์(ประเทศไทย)จำกัด ได้ทำหนังสือเลขที่ HY*027-1/2555 วันที่ 23 ม.ค.2555 เรื่องขอการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของบริษัทในปัจจุบัน บริษัทฯจึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานของพนักงานที่ได้รับจากบริษัท จากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม เลขที่ ร.ส.9 ลงวันที่ 25 ม.ค.2555 ที่มีการยกเลิกค่าสายตา ค่าเสี่ยงภัย และ ค่ายืนทำงาน โดยทางบริษัทได้อ้างว่ามีหน่วยงานความปลอดภัยที่มีหน้าที่ในการดูแลงานด้านนี้อยู่แล้ว นอกจากนี้กำหนดให้ลูกจ้างลากิจโดยได้รับค่าจ้างและไม่นำการลากิจไปพิจารณาเบี้ยขยันไม่เกินวันละ 5 วันทำงานหากเกินไม่อนุญาตให้ใช้ลากิจ การจ่ายโบนัสขั้นต่ำเกรด ดี ที่บริษัทฯระบุของพนักงานรายวันอยู่ที่ 1 เท่าของค่าจ้าง และหากสามารถทำการผลิตได้ตามเป้าหมายของปี 55. จะได้รับเงินพิเศษ แต่ไม่ให้ทางสภาพแรงงานฯอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานของบริษัทในการทำกิจกรรมของสหภาพ รวมทั้งใช้เวลางานของบริษัทไปทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสหภาพฯ ถือเป็นข้อตกลงให้มีผลบังคับใช้ 3 ปี
 
นายอัครเดช กล่าวว่า สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ ปัจจุบันมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้วทั้งสิ้น 1,937 คน ส่วนหนึ่งจะเป็นของโฮยา อีกส่วนหนึ่งเป็นของบริษัทอื่นๆ ที่พนักงานได้รับผลกระทบใกล้เคียงกัน นับตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.2554 ที่ได้มีการรวมตัวเรียกร้อง ยื่นหนังสือ พบนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัด พบ นายสถาพร มณีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ลำพูน เขต 1 พรรคเพื่อไทย และล่าสุดได้ยื่นหนังสือถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ครั้นที่มาประชุมคณะรัฐมตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ หรือ ครม.สัญจร ครั้งที่ 1 ที่จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
 
ดังนั้น คณะกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์ฯจึงได้ตัดสินใจส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือถึง สถานทูตประเทศญี่ปุ่นประจำประเทศไทย , สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงาน วันที่ 9-12 ก.พ.นี้ เพื่อติดตามความคืบหน้ารวมทั้งขอให้พิจารณาให้ความช่วยเหลือพนักงานโฮยาทั้งหมดเนื่องจาก บริษัท โฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย)จำกัด เลขที่ 60/26 หมู่ 4 ต.บ้านกลาง อ.เมืองลำพูน มีพนักงานประมาณ 4 พันคน เลิกจ้างพนักงานฝ่ายผลิตโรงงาน 2 ที่มีผลสิ้นสุดในวันที่ 31 ม.ค.2555 จำนวน 1,609 พนักงานยินยอมพร้อมใจสมัครเข้าร่วมโครงการประสงค์ลาออก จำนวน 1,400 คน คงเหลือประมาณ 209 คน ส่วนที่เหลืออีก 2,500 คนคือพนักงานฝ่ายผลิตโรงงาน 1 ที่ทางบริษัทกำลังพยายามลดค่าสวัสดิการต่างๆ มีแต่เพียงเงินรายวันและรายเดือนเท่านั้น แนวโน้มพนักงานโรง 1 ก็จะมีชะตากรรมไม่ต่างกับโรง 2 อย่างแน่นอน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเจรจาระหว่างผู้แทนนายจ้างกับสหภาพฯ มีอันต้องสะดุดลงทันที เมื่อผู้แทนฝ่ายนายจ้างเห็นผู้สื่อข่าวเข้าไปทำข่าว อย่างไรก็ตามทางสหภาพแรงงานฯยังคงยืนยันจะเดินหน้าเจรจาให้ประสบความสำเร็จ หลังจากเมื่อวันที่ 20 และ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาการเจรจาทุกครั้งทำได้เพียงแค่รับทราบแต่ไม่สามารถติดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ส่วนผู้บริหารของบริษัทโฮยา พยายามที่เลี่ยงให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธรรมศาสตรา: สนทนาธรรมกับ อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แห่งคณะนิติราษฎร์ (ตอนที่ 2)

Posted: 01 Feb 2012 03:05 AM PST

"วิจักขณ์ พานิช" สัมภาษณ์ "อ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์" แห่งคณะนิติราษฎร์ ชวนคุยในประเด็นธรรมะกับการเมือง ตอนที่ 2 โลกย์ที่ไม่เสียหลัก
 
(2) โลกย์ที่ไม่เสียหลัก
 
วิจักขณ์: อย่างในศาสนาจะพูดถึงการยึดมั่นในหลักธรรม แล้วในทางนิติศาสตร์ อาจารย์ก็มักพูดอยู่เสมอๆ ว่าต้องยืนอยู่บนหลักการ ยึดมั่นในหลักวิชาที่ถูกต้อง การยึดมั่นในหลักสองแบบนี้มีความคล้ายกันอยู่มั้ยครับ
 
วรเจตน์: คงมีส่วนที่ร่วมกันอยู่นะ เพียงแต่ว่าหลักธรรมหรือหลักการพวกนี้ เวลาเอามาใช้จริงๆ มันก็ขึ้นอยู่กับบริบทของการตีความ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในทางพุทธศาสนา อย่างหลักธรรมที่อยู่ในพระไตรปิฎก พอนำมาใช้จริง มันก็ต้องถูกตีความ ปัญหาคือการตีความแบบไหนถึงจะเป็นการตีความที่ถูก ซึ่งตรงนี้บางทีมันก็เป็นปัญหานะ 
 
ในความเข้าใจของผม เวลาที่เราพูดถึงหลักธรรมหรือหลักการ คือ เรายอมรับว่าในการที่เราเป็นมนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลก เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญา คิดได้ มันคงต้องมีอะไรบางอย่างเป็นฐานยึดโยงสังคมของมนุษย์เอาไว้ด้วยกัน เราจะบอกว่าโอเค ไม่มีหลักการ อะไรเลย  งั้นปัญหาคือ สังคมที่เราอยู่ก็จะไม่เป็นสังคมของมนุษย์ที่มีความเป็นอารยะ
 
ดังนั้นผมเข้าใจว่าคำสอนทางศาสนา เวลาถูกสอนนั้นคงต้องมีหลักการอะไรบางอย่างอยู่ หลักการที่สอนให้เราอยู่ร่วมกันอย่างเป็นอารยะพอสมควร แต่ว่าแน่นอนว่าสภาพของโลกมันไม่ได้อยู่นิ่งหรอก มันวิวัฒนาการ มันผันแปร มันเปลี่ยนไป การยึดหลักธรรมในบางเรื่อง เวลาที่มันตีความ ผมเข้าใจว่าก็ต้องคำนึงถึงสภาพบางอย่างที่เปลี่ยนไปด้วย อย่างเช่น เวลาพระพุทธเจ้าวางกฎเกณฑ์ให้ภิกษุปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็ยอมรับว่าบางเรื่องก็เปลี่ยนแปลงได้ สิกขาบทเล็กน้อย พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เข้มงวดว่าจะต้องติดตรึงเอาไว้ แต่สามารถปรับหรือตัดทิ้งไปได้  แต่หลักใหญ่ใจความ อย่างหลักอริยสัจ ซึ่งโอเคมันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสัจจะแล้ว ไม่ต้องตีความอะไร เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอกว่าได้ค้นพบ เราก็ดูว่าจริงมั้ย ชีวิตมนุษย์เป็นทุกข์เนี่ย จริงหรือเปล่า
 
ผมคิดว่ามีบางอย่างที่แม้จะต่างบริบท มันก็เหมือนกันอยู่เหมือนกัน แต่เวลาที่คนเอามาใช้อ้างนี่แหละที่จะเป็นปัญหา ทุกอย่างมันเกิดจากการอ้าง อ้างในบริบทไหน มันเป็นเรื่องบริบทของการเอาหลักธรรมนั้นๆ มาอ้าง
 
วิจักขณ์: แล้วในกรณีพุทธศาสนาไทยที่เป็นพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งโดยหลักคือการพยายามปฏิบัติตามรูปแบบและคำสอนตามบริบทในอดีต คือในสมัยพุทธกาลให้มากที่สุด  มันจะกลายเป็นลักษณะของการพยายามย้อนอดีตอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่า ความพยายามเช่นนั้นจะเป็นปัญหาในตัวมันเองมั้ยครับ อย่างเรื่องสิกขาบทเล็กน้อยที่สามารถตัดหรือปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัย ซึ่งเอาเข้าจริงมันก็สามารถกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้เหมือนกัน
 
วรเจตน์: ส่วนหนึ่งก็ใช่  แต่เราอาจจะต้องพิจารณาแบบนี้ คือ เวลาที่เราพูดถึงพุทธในไทย มันก็มีปะปนกันอยู่หลายส่วน  อย่างแรกคือเราปฏิเสธไม่ได้ว่าพุทธศาสนาในชีวิตประจำวันมันปะปนด้วยลัทธิพิธีต่างๆ มากมาย อย่างผมก็โตมาในสังคมชนบท ก็เห็นถึงการมีอยู่ของความเชื่อที่หลากหลายปนๆ กันอยู่ และแน่นอนว่าบางคนอาจมองว่าความเชื่อเหล่านั้นเป็นผลร้ายกับพุทธศาสนา แต่ผมว่ามันก็ไม่ทั้งหมดหรอก เพราะบางทีกระพี้มันก็ห่อหุ้มตัวที่เป็นแก่นเอาไว้ หรือช่วยรักษาตัวแก่นเอาไว้ก็ได้ เพียงแต่ว่าคนธรรมดาทั่วไปก็อาจจะไปติดกับตรงนั้นเยอะ แทนที่จะทะลุไปถึงตัวแก่นตัวคำสอน แล้วบางทีมันก็เบี่ยงเบนไปจากคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า
 
แล้วในทางปฏิบัติ ผมว่าพระเถรวาทในบ้านเราหลายส่วนก็มีวัตรปฏิบัติที่ไม่เหมือนกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเอาไว้ ในความคิดเห็นของผม เรื่องวินัยถ้าเป็นไปตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้เป็นหลัก ผมว่ามันน่าจะดี ในเซ้นส์ของการรักษาตัววัตรปฏิบัติให้บริสุทธิ์ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งผมว่าในปัจจุบันมันไม่เป็นแบบนั้น มันเปลี่ยนอะไรไปเยอะมากๆ เลยในสังคมสงฆ์ แล้วก็ในทุกระดับ เพราะในความเข้าใจของผม สังคมของสงฆ์ในระดับหนึ่งก็พัวพันอยู่กับผลประโยชน์ในทางโลก เอื้อกันระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายศาสนา ฝ่ายราชอาณาจักรกับฝ่ายศาสนจักร เอื้อกันในทางผลประโยชน์ ซึ่งบางทีมันก็พัวพันกันในทางการเมืองอยู่ด้วย มันไม่ได้กลับไปในคำสอนแท้ๆของพระพุทธเจ้า ผมว่านี่เป็นปัญหา เพราะในด้านหนึ่ง ในแง่ของการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติย้อนกลับไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ผมว่าอันนี้เนี่ยดี แต่ในแง่ของการวินิจฉัยหรือการตีความศีล ในโลกปัจจุบันเนี่ย ผมว่าบางเรื่องมันก็อาจจะเป็นปัญหาอยู่
 
วิจักขณ์: อย่างที่อาจารย์ว่าบริบทมันแตกต่างออกไป ยิ่งโดยเฉพาะคำสอนเข้ามาสู่สังคมสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น…
 
วรเจตน์: ใช่… อย่างเช่นประเด็นของการทำแท้ง เวลาพูดเรื่องทำแท้ง ถามว่าทำแท้งบาปไหม? ผมว่าในทางศาสนาพุทธ มันก็ต้องบอกว่าบาป ปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว แต่อีกคำถามนึงคือ แล้วเราจะกำหนดกติกาเรื่องการทำแท้งยังไงในสังคมปัจจุบัน
 
โอเคล่ะ ในฐานะชาวพุทธ เราบอกว่าทำแท้งบาป เพราะว่าชีวิตมนุษย์ในทัศนะของพุทธศาสนาก็คือ เกิดขึ้นเมื่ออสุจิของพ่อไปเจอกับไข่ของแม่ ปฏิสนธิ วิญญาณจิตหยั่งลงในครรภ์ของแม่ วินาทีนั้นเกิดเป็นชีวิตแล้ว การทำให้ชีวิตล่วงไปตั้งแต่นั้น มันก็คือการฆ่า ก็ถือว่าเป็นบาป แต่ปัญหาก็คือว่าในบริบทสังคมสมัยใหม่แบบปัจจุบัน การวินิจฉัย หรือการกำหนดกติกาเกี่ยวกับเรื่องของการทำแท้ง มันจะเข้มงวดแบบในคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ไหม อันนี้ผมกำลังโยงคำสอนทางศาสนาเข้ากับหลักกฏหมายแล้ว  โอเค ถ้าจะเอาตามหลักศาสนา ตามการตีความเพียวๆ คุณก็บอกว่าอันนี้เป็นสิ่งที่บาป ซึ่งผมว่ามันก็ต้องยอมรับ เพราะมันคือคำสอน การกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา ก็ต้องยอมรับว่าไม่ถูกต้อง แต่ว่าไอ้สิ่งที่ไม่ถูกต้องในทางธรรมะ ในทางคำสอนของพระพุทธเจ้าเนี่ย ถามว่ามันจะต้องเป็นสิ่งที่ตัวระบบกฎหมายหรือกติกาในทางสังคมต้องเดินตามในทุกกระเบียดนิ้ว โดยที่ไม่สามารถปรับกติกาแบบนี้ให้มันอยู่กับชีวิตแบบโลกย์ๆ ได้ไหม ผมคิดว่าหลายเรื่อง บางทีเราไปเอาสองอย่างมาผสมปนกัน คือว่าเราจะไปเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเป็นเกณฑ์มาตรฐาน กับการมีชีวิตอยู่ในสังคมในทุกๆเรื่อง แล้วก็พยายามทำกฎหมายให้มันเป็นแบบนั้น ซึ่งผมคิดว่าอันนี้มันไม่น่าจะถูกนะ
 
วิจักขณ์: กลายเป็นว่าคำสอนทางศาสนาเลยมีอำนาจควบคุมโลกย์ไปเสียอย่างนั้น
 
วรเจตน์: ในความเห็นผม เวลาที่เราทำกติกาอยู่ร่วมกันแบบที่เรายังเป็นมนุษย์ ยังเป็นปุถุชนมีกิเลส มีปัญหาแบบโลกย์ๆ แบบนี้เนี่ย กฎเกณฑ์บางอย่างมันอาจจะต้องเบี่ยงเบนไปจากตัวคำสอนของพระพุทธเจ้าบ้าง บ้างในแง่ที่ว่า.. ยกตัวอย่างการทำแท้งเนี่ย.. มันก็เป็นเรื่องบาป อย่างในการสอนธรรมะ เราก็ต้องสอนว่ามันเป็นเรื่องบาป แต่ถามว่ารัฐจะเอาผิดกับคนทำแท้ง ไม่อนุญาตให้เค้าทำแท้งในทุกกรณี แล้วก็เอาผิดกับคนทำแท้ง เอาผิดกับแม่ที่ไปทำแท้งในทุกกรณีเนี่ย มันถูกต้องมั้ย ผมคิดว่ามันไม่น่าจะถูกต้อง เพราะว่าปัญหาในชีวิตประจำวันจริงๆ ของคนมันมีความซับซ้อน มีความหลากหลาย มันมีมิติในทางสังคมไปเกี่ยวพันอยู่เยอะ ระบบกฎหมายต้องพยายามหาจุดสมดุลระหว่างสองอันนี้ให้ได้ และการหาจุดสมดุลระหว่างสองอันนี้ มันไม่ใช่ว่าระบบกฎหมายกำลังส่งเสริมให้คนทำบาป แต่มันเป็นเรื่องของการพยายามหาทางแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นเวลาที่มันมีปัญหาแบบนี้ แล้วพวกที่เคร่งในศาสนามากๆ ออกมาต่อต้านเนี่ย ในหลายกรณีจึงเป็นเรื่องที่สุดโต่งจนเกินไป และก็เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรให้คนในสังคมเลย
 
วิจักขณ์: ดูเหมือนมันก็คล้ายๆ กันนะครับ ระหว่างหลักศีลธรรมกับหลักกฎหมาย คือก็อาจมีคุณค่าในเชิงอุดมคติของมันอยู่ แต่เอาเข้าจริงมันก็เป็นเรื่องของศิลปะของการนำมาใช้ทำความเข้าใจชีวิต และปรับใช้ให้เข้ากับความเป็นจริง โดยหาจุดที่สมดุลระหว่างอุดมคติกับความเป็นจริง คนในสังคมจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด
 
วรเจตน์: ใช่ คือทั้งกฎหมายและศีลธรรมจริงๆ มันก็เป็น norm ทั้งคู่ คือเป็นบรรทัดฐานกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ความเหมือนกันอยู่ตรงนี้ แต่ความแตกต่างมันอยู่ตรงที่ว่า ศีลธรรมเนี่ยมันกำหนดลึกเข้าไปถึงในจิตใจคน มันไปมากกว่ากฏหมาย ดังนั้นการเรียกร้องในทางศีลธรรมมันจึงเรียกร้องได้มากกว่า เพราะมันเข้าไปถึงภายในใจของคน ในขณะที่กฎหมายเนี่ย มันเป็นเรื่องของกฏเกณฑ์กติกาในการทำให้สังคมพออยู่ร่วมกันได้ในมาตรฐานขั้นต่ำ แล้วก็มีสภาพบังคับ โดยปกติสภาพบังคับตามกฏหมาย คือ สภาพบังคับในทางกายภาพ ถ้าทำผิดกฎหมาย ก็ถูกจับ เอาไปขังคุกอะไรแบบนี้  มันไม่ใช่สภาพบังคับแบบรู้สึกผิด รู้สึกเป็นบาป มันเป็นสภาพบังคับในแง่ของการต้องเสียค่าปรับ ต้องไปติดคุก ตรงไปตรงมาประมาณนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราบัญญัติกฏหมาย เราจึงไม่บัญญัติล้วงลึกเข้าไปถึงในใจของคน
 
อย่างในศาสนาพุทธ เวลาที่เราพูดถึงการกระทำ มันมีทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม สามอย่าง ลึกเข้าไปถึงความคิดนึกเลย  แต่ในทางกฎหมายเนี่ย มันคุมแค่กายกรรมกับวจีกรรม คือสิ่งที่แสดงออกมาภายนอก มันไม่ได้ล้วงลึกเข้าไปถึงตัวมโนกรรม นี่คือความแตกต่างกันของตัวกฎหมาย
 
ที่นี้เอาล่ะ ศาสนาก็คุมกายกรรมเหมือนกัน กฏหมายก็คุมเหมือนกัน แต่ว่าระดับของการคุมมันอาจจะต่างกัน หรือระดับของ sanction หรือสภาพบังคับมันอาจจะต่างกัน เพราะฉะนั้นเมื่อระดับมันต่างกัน เวลาที่เราคิดกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา มุมหรือมิติที่จะมองมันก็อาจจะต่างกัน เช่น ศาสนาอาจจะปรารถนาไม่ให้มีการพรากชีวิตเลยในทุกมิติ ในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ เพราะมันเป็นชีวิตเท่ากัน และต้องการรักษาชีวิตเอาไว้  และตามหลักศาสนาการพรากชีวิตนั้นเป็นบาป นั่นคือในข้อที่ศาสนาเคร่งครัด แต่ว่าพอในทางกฏหมายปุ๊บ เอาล่ะเราไม่พรากชีวิตทั่วๆ ไป ชีวิตที่คลอดออกมาแล้ว เป็นทารกแล้วเนี่ยโอเค แต่พอมาถึงชีวิตในครรภ์มารดาปุ๊บเนี่ย มันมีความเหลื่อมกันอยู่ อีกทั้งยังมีมิติที่ต้องคิดว่า โอเค ลูกเนี่ย ตอนที่ยังไม่เกิดมาก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของแม่ ศาสนาจะเรียกร้องว่าแม่ไม่ควรจะฆ่าลูก ...แต่ว่าเราจะไปรู้เหรอ ชีวิตของคนน่ะมันมีอะไรตั้งหลายอย่างที่มันเกิดเป็นปัญหา  แล้วเราไปเรียกร้องกับคนในทางกฎหมาย มากเท่ากับในทางศาสนานั้นมันเป็นไปไม่ได้ แล้วการพูดในมุมนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เอาศาสนา แต่กำลังจะบอกว่าฟังก์ชั่นมันคนละแบบ แล้วระบบกฎหมายต้องพยายามหาทางจัดการปัญหานี้ให้ได้ดุลยภาพกัน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กลุ่มแรงงานไทยที่กลับจากลิเบียปี 2553 ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจนถึงขณะนี้

Posted: 01 Feb 2012 02:48 AM PST

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 เวลา 10.00 น. กลุ่มแรงงานไทยที่กลับจากประเทศลิเบียจำนวน 5 คน นำโดยนายมานะ พึ่งกล่อม เข้าพบนายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อติดตามความชัดเจนจากกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงานว่า ตนและเพื่อนได้เคยร้องทุกข์เกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบของบริษัทจัดหางานต่างๆ ต่อกองตรวจและคุ้มครองคนหางาน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 และต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่นด้วย ในเรื่องของการเก็บค่าหัวคิวไปทำงานต่างประเทศเกินที่กฎหมายกำหนด การทำผิดสัญญาจ้าง การไม่ได้รับเงินค่าล่วงเวลา การทำงานไม่ตรงตำแหน่ง ไม่ได้รับรายได้ตามที่บริษัทแจ้งไว้ สภาพการทำงานที่ลำบาก ไม่มีสวัสดิการที่เพียงพอ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมีสงครามกลางเมืองของประเทศ  จึงต้องการมาทวงถามความคืบหน้าว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้ดำเนินการถึงขั้นตอนใดแล้ว เพราะระยะเวลาล่วงเลยมาถึง 1 ปี แต่ไม่มีการแจ้งความคืบหน้าและคำสั่งใดๆ ออกมา [1]

อีกทั้งในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่นายมานะ พึ่งกล่อมและเพื่อนรอผลคำวินิจฉัยจากกองตรวจฯ ดังกล่าว ได้ถูกบริษัทจัดหางาน เงินและทองพัฒนา จำกัด ฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาททั้งทางแพ่งและทางอาญา จำนวนถึง 7-8 คดี  ซึ่งบางคดีบริษัทถอนฟ้องไปแล้ว แต่บางคดีล่าสุดวันที่ 23 ธันวาคม 2554 ศาลแขวงพระนครเหนือ กรุงเทพฯ พิพากษาตัดสินยกฟ้องนายมานะ พึ่งกล่อม เพราะไม่มีความผิดใดๆ [2]

ทางกลุ่มแรงงานดังกล่าวรู้สึกน้อยใจและผิดหวังต่อกลไกการทำงานของกระทรวงแรงงาน เพราะไม่ได้ช่วยเหลือแรงงานและปล่อยให้ฝ่ายบริษัทจัดหางานฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตนถึง 140 ล้านบาท อันเป็นการบั่นทอนกำลังใจและทำลายเสรีภาพในการทำมาหากินจนหนี้สินล้นพ้นตัว  ล่าสุดนายมานะและเพื่อนอีก 1 คนถูกข่มขู่ จึงรุดเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธร อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2555  กล่าวคือ มีบุคคลโทรศัพท์เข้ามาบอกว่า “ให้หยุดดำเนินการเกี่ยวกับคดีแรงงานของประเทศลิเบีย  ต้องการค่าเสียหายเท่าไร ถ้าไม่หยุดจะได้อย่างอื่นแทน”  นายมานะไม่ทราบว่าเป็นใคร และเกรงว่าตนจะไม่ปลอดภัยจึงแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน  อีกทั้งตนเองไม่เคยมีศัตรูอื่นใด นอกไปจากคดีที่กำลังฟ้องร้องบริษัทจัดหางานต่างๆ อยู่ [3]

สำหรับเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เมื่อได้รับฟังปัญหาของกลุ่มแรงงานจึงเรียกให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ซึ่งฝ่ายรับเรื่องและวินิจฉัยร้องทุกข์ชี้แจงว่า ได้ออกหนังสือให้บริษัทจัดหางานรวบรวมหลักฐานมาให้เจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่ได้เรียกมาไกล่เกลี่ยกับคนงาน  ดังนั้นทางเลขานุการฯ จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการติดตามบริษัทจัดหางานมาไกล่เกลี่ยกับคนงานก่อน  และเมื่อเวลา 13.00-15.30 น. ทางหัวหน้าฝ่ายรับเรื่องและวินิจฉัยคำร้องทุกข์และนักวิชาการแรงงานชำนาญการที่รับผิดชอบกรณีลิเบียนี้ ได้เรียกให้ตัวแทนจากบริษัทจัดหางาน 2 แห่ง ได้แก่  บ.มิลเลี่ยน เอ็กซ์เพรส จำกัด และบ.เงินและทองพัฒนา จำกัด เข้ามาไกล่เกลี่ยกับกลุ่มแรงงาน โดยบ.มิลเลี่ยนเสนอเงินช่วยเหลือให้แก่มานะและเพื่อน แต่ไม่ระบุจำนวนเงิน ส่วนบ.เงินและทองฯ ยืนยันความถูกต้องของตัวเองและจะสู้คดีในชั้นศาล  ส่วนกลุ่มแรงงานก็ปฏิเสธการยอมรับเงินช่วยเหลือจากบ.มิลเลี่ยนฯ เพราะบริษัทยังไม่ได้นับรวมเงินค่าล่วงเวลา ค่าเสียโอกาสต่างๆ [4]

นอกจากนี้ การฟ้องร้องบริษัทจัดหางานต่างๆ ต่อศาลแรงงานกลาง ศาลได้นัดไต่สวนสืบพยานฝ่ายโจทก์ในวันที่ 21-23 มีนาคม 2555  หลังจากที่บริษัทจัดหางานไม่ยินยอมตามข้อเรียกร้องของกลุ่มคนงานไทยไปลิเบียในขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ย [5] ซึ่งจะต้องพิสูจน์ความถูกผิดในชั้นศาลต่อไป.

 

..............................

[1] พัชณีย์ คำหนัก เข้าร่วมประชุมติดตามความคืบหน้ากับกลุ่มแรงงานไทยไปทำงานลิเบีย ณ กระทรวงแรงงาน  วันที่ 31 มกราคม 2555

[2] พัชณีย์ คำหนักเข้าฟังคำพิพากษาของศาลแขวงพระนครเหนือ วันที่ 23 ธันวาคม 2554

[3] สำเนาใบแจ้งความ รายงานประจำวันเป็นหลักฐาน สถานีตำรวจภูธร เมืองขอนแก่น กองบัญชาการ/ภาค 4 ลงวันที่ 27 มกราคม 2555

[4] กลุ่มคนงานไทยถูกจัดส่งไปทำงานที่ประเทศลิเบีย ประมาณวันที่ 11 มกราคม 2553 โดยบริษัทจัดหางานต่างๆในเมืองไทย แต่มีปัญหาในช่วงระหว่างการทำงาน เช่น ปัญหาการเซ็นสัญญาฉบับที่ 2 ในภาษาอาหรับที่แตกต่างไปจากฉบับภาษาไทยที่ตกลงกันแล้ว ปัญหาการเก็บค่าหัวคิวเกินที่กฎหมายกำหนด ปัญหาไม่ได้รับค่าล่วงเวลา การจ่ายเงินเดือนล่าช้า สภาพความเป็นอยู่ที่ลำบาก ไม่มีรถรับ-ส่ง เดินเท้าฝ่าทะเลทรายไปไซด์งาน  คนงานร่วมกันล่ารายชื่อและร้องเรียนต่อสถานทูตไทยในลิเบียแล้ว และเมื่อกลับมาเมืองไทยในช่วงเกิดสงครามกลางเมืองของประเทศลิเบีย ก็ได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนตุลาคม 2553 และเข้าร้องเรียนต่อกองตรวจและคุ้มครองคนหางานเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2554 แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ.  

แหล่งที่มา:  1. จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ.  แรงงานไทยในลิเบียร้องขอความเป็นธรรมจากเอ็นจีโอ.  21 มิถุนายน 2554.  เว็บไซด์ประชาไท http://prachatai.com/journal/2011/06/35591 

2. กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน.  สำเนาจดหมายเรื่อง รายงานกรณีหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” เสนอข่าวของนายมานะ พึ่งกล่อม  ถึงอธิบดี เลขที่ รง 0311/3047 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2554.

3. เว็บไซด์ประชาไท.  รายงาน: สรุปสถานการณ์ “คนงานไทย” หนีตายจลาจล “ลิเบีย”.  13 มีนาคม 2554. 

http://prachatai.com/journal/2011/03/33518

[5] สัมภาษณ์มานะ พึ่งกล่อม วันที่ 31 มกราคม 2555 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น