โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

‘3 สนช.’ ขึ้นศาล สืบพยานโจทก์ คดี 10 เอ็นจีโอ ปีนสภา

Posted: 21 Feb 2012 12:55 PM PST

ศาลสืบพยานนัดแรกคดีปีนสภา สมัย สนช.ค้านออกกฎหมายอันตราย ‘มีชัย ฤชุพันธุ์-วัลลภ ตังคณานุรักษ์-เตือนใจ ดีเทศน์’ เบิกความฐานะพยานโจทก์ ประธาน สนช.ยัน สนช.มีหน้าที่ออกกฎหมาย โดยการรับรองของ รธน.

วานนี้ (21 ก.พ.55) ที่ศาลอาญารัชดาภิเษก ห้อง 801 มีการสืบพยานโจทก์นัดแรก คดีหมายเลขดำ อ.4383/2553 ที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจอน อึ้งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน กรณีเหตุการณ์ในปี 2550 ที่ผู้ชุมนุมนับพันคัดค้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เร่งผ่านกฎหมายสำคัญก่อนหมดวาระ อาทิ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน และ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพยากรน้ำ ฯลฯ โดยมีการปีนรั้วเข้าไปนั่งชุมนุมบริเวณหน้าห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภา
 
 
 
ภาเหตุการณ์เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.50 อันเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องคดี
 
คดีดังกล่าว ศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.53 โดยฟ้องร้องว่า ผู้ชุมนุมละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กระทำการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน, มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, มาตรา 362 เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น, มาตรา 364 เข้าไปในเคหะสถานโดยไม่มีเหตุอันควรและไล่ไม่ยอมออก, มาตรา 365 ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้ายในการกระทำตามมาตรา 362, 364
 
‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ ยัน สนช.มีหน้าที่ออกกฎหมาย โดยการรับรองของ รธน.
 
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พยานโจทก์ปากที่หนึ่ง เบิกความต่อศาลว่า สนช.มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ในช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นช่วงที่ สนช.ทำการออกกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากไม่ดำเนินการ การเลือกตั้งก็จะไม่สามารถทำได้ ส่วนรัฐบาลในขณะนั้นและ สนช.ก็จะต้องอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตามภายหลังเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น สนช.ก็ได้ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 50 อย่างครบถ้วน
 
สำหรับในวันเกิดเหตุ สนช.เข้าร่วมครบองค์ประชุม และต้องเลิกการประชุมเพราะคิดว่าสถานการณ์ไม่น่าจะมีความปลอดภัย เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากมาปิดทางเข้าออกห้องประชุม โดยอ้างเหตุผลว่าไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายบางฉบับของ สนช. เช่น ร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ซึ่งกฎหมายนี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้แสดงความประสงค์ และให้ สนช.เป็นผู้พิจารณา ส่วนตัวเห็นว่าหากมีผู้ไม่เห็นด้วยก็ควรไปโน้มนาวให้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปลี่ยนใจ หรือคุยกับสมาชิกสภาเป็นรายบุคคลเพื่อให้มีความเห็นคล้อยตาม การห้ามไม่ให้ สนช.ทำหน้าที่นั้นเป็นไปไม่ได้
 
 
ชี้กฎหมายออกโดย สนช.แก้ได้ แต่ผ่านมา 5 ปียังบังคับใช้
 
เมื่อทนายจำเลยซักค้านถึง กรณีที่ นายมีชัย เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน (พ.ศ.2535) ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2534 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเสียงค้านจำนวนมากเนื่องจากมาคณะปฏิวัติ (รัฐธรรมนูญฉบับ ร.ส.ช.) โดยนายมีชัยเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งมีบทบัญญัติให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมือง ร่วมทั้งการบัญญัติกฎหมายนั้น นายมีชัย กล่าวว่า ขณะนั้นมีความพยายามในการปฏิรูปการเมือง ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้นจึงนำมาสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนอันถือเป็นวิธีการ ซึ่งโดยส่วนตัวไม่มีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว
 
นายมีชัย กล่าวตอบคำซักค้านด้วยว่า ตามมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ ประชาชนมีสิทธิต่อต้านการรัฐประหาร หรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยสันติวิธี แต่ สนช.มีขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และได้ทำหน้าที่ออกกฎหมายลูกมาบังคับใช้ถึงปัจจุบัน โดยที่กฎหมายให้ สนช.ทำหน้าที่ดังกล่าวในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย นอกจากนั้น กฎหมายลูกที่ออกโดย สนช.ได้บังคับใช้มาถึง 5 ปีแล้ว แต่ก็ไม่มีใครเสนอแก้กฎหมายดังกล่าวแต่อย่างไร ซึ่งผู้คัดค้านสามารถทำได้
 
“การเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกฎหมายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีใครสามารถบังคับให้ใครเห็นด้วยได้” นายมีชัย กล่าว
 
ประธานสภา สนช.กล่าวถึงกฎหมายต่างๆ ที่ถูกคัดค้านว่า กฎหมายเหล่านั้นเป็นเรื่องยากของ สนช. โดยหลายเรื่องเป็นเรื่องที่องค์กรพัฒนาเอกชนเรียกร้องให้ทำ ขณะที่มีคนอีกส่วนหนึ่งไม่ต้องการให้ทำ แต่สิ่งที่ทำให้ สนช.เชื่อว่าเป็นความต้องการของคนจำนวนมาก เพราะมีการพูดคุยจนรัฐบาลตกลงให้มีการเสนกฎหมายนั้น ส่วนกฎหมายพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร รวมทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพยากรน้ำ เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล
 
ส่วนประเด็นเรื่องข้อเรียกร้องที่ประชาชนเป็นกังวล นายมีชัย กล่าวว่า การพิจารณาใน สนช.ไม่ได้ละเลย ขึ้นอยู่กับว่าจะแสดงออกหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ อย่างไรก็ตามส่วนตัวไม่ทราบว่ามีการชี้แจงของ สมาชิก สนช.ต่อข้อกังวลต่างๆ หรือไม่ และไม่ทราบว่ามีการเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาออกกฎหมายสำคัญต่างๆ
 
‘ครูหยุย’ รับไม่เห็นด้วยกฎหมายบางฉบับ เหตุเวลากระชั้น ทำพิจารณาไม่ถี่ถ้วน
 
 
ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เบิกความต่อศาลโดยสรุปความได้ว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.50 ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์โดยตลอด แต่เป็นผู้ทำหน้าที่ประสานนายนายมีชัยเพื่อไปพูดคุยกับกลุ่มผู้คัดค้านที่รวมตัวกันอยู่บริเวณหน้าห้องประชุมชั้น 2 อาคารหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการประชุมสภาผ่านร่างกฎหมายหลายฉบับ เนื่องจากรู้จักคุ้นเคยกับผู้ชุมนุมบางคน คือ นายจอน อึ๊งภากรณ์ นายศิริชัย ไม้งาม นายไพโรจน์ พลเพชร และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง อีกทั้งยังรับที่จะนำข้อเอาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมไปเสนอยังที่ประชุม
 
นายวัลลภกล่าวว่า กลุ่มผู้ชุมนุมระบุข้อเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาผ่านร่างกฎหมายออกไปก่อน ซึ่งเมื่อนำข้อเรียกร้องดังกล่าวกลับไปพูดคุยในที่ประชุม สนช.และเสนอให้พักการประชุม หลังจากนั้นก็มีการยกเลิกการประชุมในวันดังกล่าว ซึ่งตนเองไม่ทราบเหตุผล แต่โดยปกติการยกเลิกการประชุมจะเกิดขึ้นเมื่อองค์ประชุมไม่ครบ หรือประธานในที่ประชุมสั่งยกเลิก อย่างไรก็ตามไม่ทราบว่าหากไม่มีการชุมนุมในวันนี้แล้วการประชุมจะดำเนินไปโดยปกติหรือไม่ เนื่องจากส่วนตัวไม่พึงพอใจกฎหมายหลายฉบับที่เข้าสู่การพิจารณา และคิดว่าจะทำการเสนอให้นับองค์ประชุม
 
ส่วนเหตุผลที่ทำให้ไม่เห็นด้วยกับการผ่านกฎหมายบางฉบับนั้น นายวัลลภกล่าวว่า สนช.มีกฎหมายจำนวนมากต้องพิจารณา และกฎหมายหลายฉบับไม่สมควรให้ผ่านไปได้โดยง่าย แต่ระยะเวลาที่จำกัดทำให้ไม่มีการกลั่นกรองโดยถี่ถ้วน ในขณะที่คนบางกลุ่มที่เสนอกฎหมายของตนเองได้ ก็พยายามเร่งรัดให้กฎหมายของตนเองผ่านการพิจารณา นอกจากนั้นยังห่วงเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในวงกว้างจากการออกกฎหมายบางฉบับ เช่น กฎหมายทรัพยากรน้ำ และการแปรรูปรับวิสาหกิจ
 
นอกจากนั้น นายวัลลภยังเห็นด้วยที่สภารักษาการอย่าง สนช.ไม่ควรพิจารณากฎหมายสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเวลากระชั้นชิด เพราะในขณะนั้นมีกฎหมายลูกออกมาเพื่อรองรับการเลือกตั้งแล้ว และใกล้จะมีการเลือกตั้งใหม่
 
พยานโจทก์เผยการชุมนุมไม่รบกวน ไม่มีความรุนแรง
 
นายวัลลภ กล่าวด้วยว่า ปกติการเคลื่อนเรื่องกฎหมายมี 2 ทาง คือในสภาและนอกสภามาโดยตลอด และในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนสามารถร่วมแก้ไขกฎหมายได้ 3 ทาง คือ 1.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 2.การร้องเรียนกับคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวของกับการพิจารณากฎหมาย 3.ตามกฎหมายระบุให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นกรรมาธิการ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจำเลยทั้ง 10 คนในคดีนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำกฎหมายสำคัญหลายฉบับ
 
สมาชิก สนช.ยังกล่าวถึงสถานการณ์ในวันเกิดเหตุว่า การชุมนุมในวันนั้นเป็นการเคลื่อนตัวปกติของขบวนการม็อบ ผู้ชุมนุมไม่มีใครเข้าไปในที่ประชุม ไม่มีเหตุรุนแรงจากการปะทะกัน และไม่มีการส่งเสียงรบกวนไปถึงในห้องประชุม ทั้งนี้ส่วนตัวคิดว่าการชุมนุมไม่ได้เป็นผลให้เกิดความหวาดกลัวจนต้องเลิกการประชุม
 
‘เตือนใจ ดีเทศน์’ เชื่อ สนช.ไม่รับข้อเรียกร้อง เพราะยังไม่ได้หารือจริงจัง
 
นางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวเบิกความต่อศาลว่า ในวันเกิดเหตุได้เสนอให้ปิดประชุมเพื่อให้เกิดการเจรจาและรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มประชาชนที่มาชุมนุม เพราะเห็นว่าหากสภายังดื้อดึงที่จะประชุมต่อไปจะไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และเมื่อออกมาจากห้องประชุมก็เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมนั่งอยู่หน้าห้อง โดยได้เข้าไปพูดคุยกับนายจอน อึ๊งภากรณ์ และนายไพโรจน์ พลเพชร ซึ่งมีความรู้จักคุ้นเคยกันในฐานะคนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งนี้ส่วนตัวมีความเห็นว่าหากมีการเจรจากันก่อนหน้านั้น ผู้ชุมนุมก็ไม่ต้องบุกเข้าพบ สนช.ถึงในอาคาร
 
นางเตือนใจ กล่าวถึงการทำงานของ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ซึ่งเป็นตัวหลักในการออกมาเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า กป.อพช.ทำงานด้วยความเสมอภาค รับฟังความเห็นของกันและกัน โดยมีผุ้ประสานงานเชื่อมโยงระหว่างเครือข่าย แต่ในเรื่องการสั่งการให้เกิดการเคลื่อนไหวใดๆ ไม่เคยทำได้ ในการชุมนุมจึงไม่มีผู้สั่งการ แต่มีผู้ทำงานเรื่องการสร้างความเข้าใจ ส่วนโฆษกบนรถเครื่องขยายเสียงไม่ใช่ผู้สั่งการ แต่การพูดส่วนใหญ่เป้นการให้ข้อมูลและขอความเห็นจากผู้ร่วมชุมนุม
 
อย่างไรก็ตาม การที่มีความพยายามรักษาความปลอดภัยในอาคารรัฐสภาอย่างเต็มที่ เนื่องมาจากเจ้าหน้าที่หวั่นวิตกเรื่องความรุ่นแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะถือเป็นครั้งแรกที่คนตื่นตัวในเรื่องนี้ แต่หากมีการประสานงานที่ดี ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเชื่อว่าไม่เกิดความวุ่นวายขึ้น
 
นางเตือนใจกล่าวด้วยว่า การที่ สนช.ไม่รับข้อเรียกร้องให้ระงับการพิจารณากฎหมายนั้น เป็นเพราะยังไม่ได้มีการหารือกันอย่างจริงจัง และคิดว่าหากมีเวลามากพออยากเชิญภาคประชาชนเข้าหารือกับ สนช.เพื่อเสนอข้อวิตกกังวล
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาคดีในวันนี้ได้มีการนัดหมายนางพจนีย์ ธนวรานิช รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นประธานในการประชุมขณะเกิดเหตุการณ์เข้าสืบพยานโจทย์ด้วย แต่นางพจนีย์ไม่ได้เดินทางมาที่ศาล
 
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาแจ้งความฟ้องร้องนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และพวกรวม 10 คน ประกอบด้วย นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการ ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายพิชิต ไชยมงคล นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท นายนัสเซอร์ ยีหมะ นายอำนาจ พละมี นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.
 
สำหรับกำหนดการพิจารณาคดี ฝ่ายโจทก์นัดสืบพยานทั้งสิ้น 24 ปาก ตั้งแต่วันที่ 21-24, 28-29 ก.พ.55 และ 1-2, 13-16 มี.ค.55 ส่วนฝ่ายจำเลยนัดสืบพยานทั้งสิ้น 24 ปาก ตั้งแต่วันที่ 20-23, 27-30 มี.ค.55 และ 3,5 และ 10 เม.ย.55 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อิสราเอลเตรียมปล่อยตัวนักโทษปาเลสไตน์ที่อดอาหารประท้วง

Posted: 21 Feb 2012 09:44 AM PST

ชาวปาเลสไตน์ อาชีพทำขนมปัง ซึ่งถูกทหารอิสราเอลจับกุมตัวโดยไม่ตั้งข้อหาหรือดำเนินคดี แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ได้ทำการอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 66 วัน ก่อนที่ทนายของเขาจะระบุว่าทางศาลอิสราเอลมีแผนปล่อยตัวเขา

21 ก.พ. 2012 - สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่าทางการอิสราเอลจะยอมปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์หลังจากที่เขาอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 66 วัน

หนึ่งในทนายความของ คาเดอ อัดนัน คนทำขนมปังชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสท์แบงค์ที่ถูกกักขังโดยไม่มีข้อกล่าวหาเปิดเผยว่า ทางการอิสราเอลมีแผนจะยอมปล่อยตัวเขาหลังจากที่เขาประท้วงด้วยการอดอาหารมานานกว่า 9 สัปดาห์

หลายชั่วโมงถัดมาศาลสูงของอิสราเอลก็ได้รับฟังคำอุทธรณ์เร่งด่วนในเรื่องการขอปล่อยตัวอัดนัน ซึ่งทางทนายบอกว่าทางศาลได้ตกลงให้มีการปล่อยตัวอัดนัน

การกักขังผู้ต้องหาของทางการโดยปราศจากการดำเนินคดีในครั้งนี้ ส่งผลให้มีผู้ประท้วงจนเกิดการปะทะกับตำรวจในวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา

ทางการอิสราเอลได้จับกุมตัวอัดนัน คนทำขนมปังวัย 33 ปี ที่เมืองเจนินทางตอนเหนือของเขตเวสค์แบงก์เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2011 โดยหาว่าเขาเป็นโฆษกกลุ่มอิสลามมิกญีฮาดของปาเลสไตน์

อัดนันเปิดเผยต่อทนายและองค์กรสิทธิมนุษยชนว่ามีทหารสวมหน้ากากและใช้ความรุนแรงบุกเข้ามาในบ้านเขา ในขณะที่มีแม่ของเขาและเด็กๆ ยังคงอยู่ในบ้าน

อัดนันเล่าเหตุการณ์อีกว่า เขาถูกจับใส่กุญแจมือไพล่หลังก่อนจะถูกโยนลงไปที่พื้นรถจี๊ปของทหาร เขาถูกทหารตบและเตะใส่ขณะที่รถนำตัวเขาไปยังนิคมเมโว โดทาน

อัดนันปฏิเสธไม่ยอมทานอาหารหลังจากที่เขาถูกจับได้ 1 วัน เขาอดอาหารมาจนกระทั่งในขณะนี้อยู่ในอาการน่าเป็นห่วง

ก่อนหน้านี้ ซาเอ็บ เอรากัต หัวหน้าผู้เจรจาของปาเลสไตน์เรียกร้องให้ผู้นำโลกช่วยกันกดดันให้อิสราเอลปล่อยตัวอัดนัน

"ผมส่งข้อความไปให้กับฮิลลารี่ คลินตัน รมต.ต่างประเทศของสหรัฐฯ และแคทเธอรีน แอซตัน หัวหน้าฝ่ายนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป แล้วยังได้พูดคุยกับทางตัวแทนของจีนและของสหภาพยุโรปด้วย" เอรากัต กล่าว "ผมเรียกร้องให้พวกเขาช่วยเหลือในคดีของอัดนัน พวกเขาต้องกดดันให้อิสราเอลปล่อยตัวเขา"

โดยก่อนหน้านี้ ผู้นำโลกให้แสดงความเป็นห่วงต่อชะตากรรมของผู้ต้องขัง ที่ถูกขังโดยปราศจากการข้อกล่าวหาในนามของ “การควบคุมตัวด้วยคำสั่งของฝ่ายบริหาร” (administrative detention) ที่ทางการอิสราเอลใช้ควบคุมตัวชาวปาเลสไตน์ 300 คน โดยไม่มีข้อกล่าวหาหรือการดำเนินคดีในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยที่พวกเขาไม่มีหนทางในการต่อสู้คดีด้วยตนเอง

เจ้าหน้าที่ของปาเลสไตน์ได้เคยเตือนว่า หากอัดนันเสียชีวิตในเรือนจำอาจก่อให้เกิดการตอบโต้ด้วยความรุนแรงตามมาได้ ขณะที่โฆษกประจำเรือนจำอิสราเอลกล่าวเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาคอยตรวจสอบสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา

แต่เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมาโฆษกของนายกรัฐมนตรี เบนยามิน เนธานยาฮู ก็ออกมาบอกว่าอัดนันเป็น "ผู้ก่อการร้ายอันตราย" โดยแม้ว่าตัวอัดนันเองยังไม่ได้ถูกตั้งข้อหาล่วงละเมิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลเลย

จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการตั้งข้อหากับอัดนัน และทางศาลทหารที่ยอมให้มีการกักขังตัวอัดนันก็ปฏิเสธจะให้ข้อมุลเพิ่มถึงสาเหตุของการจับกุมตัวอัดนันหรือในเรื่องการกุมขังตัวเขา

 

ที่มา: Israel to 'free' Palestinian hunger striker, Aljazeera, 21-02-2012 http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/02/201222111152882633.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปอเนาะผวาประชาคมอาเซียน หวั่นมาเลย์-อินโดฯตั้งโรงเรียนแข่ง

Posted: 21 Feb 2012 08:00 AM PST

ปอเนาะผวาประชาคมอาเซียน หวั่นมาเลย์-อินโดฯตั้งโรงเรียนแข่ง ถกหาทางปรับตัว ชี้มุสลิมกัมพูชาพร้อมรับมากกว่าไทย ศอ.บต.หนุน 149 ล้าน พัฒนาตาดีกา

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อำเภอเมือง จังหวัดยะลา สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา และบริษัทสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช จำกัดสัมมนานานาชาติ “บทบาทการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเวทีประชาคมอาเซียน”  “ The role of Islamic Education Institutions of Southern Thailand in ASEAN Community 2015” เพื่อให้ความรู้ด้านการศึกษา เตรียมความพร้อมของสถานศึกษาเพื่อสู่ประชาคมอาเซียน มีผู้บริหารโรงเรียน ประธานศูนย์ตาดีกาในจังหวัดยะลาเข้าร่วม กว่า 180 คน

ว่าที่ ร.ต.อับดุลฮาฟิซ หิเล ผู้จัดการโรงเรียนลุกมานูลฮากีม อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ในฐานะนายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเปิดโลกทัศน์ของผู้เกี่ยวข้องในการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยเฉพาะผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและประธานศูนย์ตาดีกา รวมทั้งกระตุ้นให้เห็นความสำคัญของอาเซียน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ว่าที่ ร.ต.อับดุลฮาฟิซ เปิดเผยอีกว่า ประเทศมาเลเซียหรืออินโดนีเซียเตรียมที่จะมาเปิดสถาบันการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามหรือเรียกว่าโรงเรียนปอเนาะแน่นอน เพราะคุณภาพการศึกษาของมาเลเซียดีกว่า เด็กและเยาวชนในพื้นที่จะเข้าไปเรียนในสถาบันการศึกษาเหล่านั้นมากขึ้น ส่วนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจะมีผู้เข้าเรียนน้อยลง จนอาจถึงขั้นต้องปิด

ว่าที่ ร.ต.อับดุลฮาฟิซ กล่าวว่า ดังนั้นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องปรับตัวและเร่งพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีผลสำฤทธิ์ที่ดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันยังมีคุณภาพต่ำ เช่น ภาษามลายู แม้จะเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เมื่อสอบเข้าเรียนปริญญาตรีในมาเลเซีย กลับต้องเรียนภาษาใหม่อีกครั้ง

“การศึกษาของมาเลเซีย ไปไกลแล้ว มาเลเซียกำลังคิดที่จะเปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ส่วนการศึกษาของคนชายแดนใต้ไม่ได้พัฒนามาก ทำให้ต้องออกไปเรียนที่อื่น ยังไม่ต้องคิดเรื่องการออกไปเปิดสถานศึกษาที่อื่น” ว่าที่ ร.ต.อับดุลฮาฟิซ กล่าว

ว่าที่ ร.ต.อับดุลฮาฟิซ เปิดเผยต่อไปว่า ประชาคมอาเซียน มีเรื่องการเปิดเสรีในด้านบริการการศึกษาด้วย ทำให้หลายประเทศในกลุ่มอาเซียนสามารถมาเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวระหว่างเปิดพิธีว่า ศอ.บต.ได้เตรียมงบประมาณ 149 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนครูผู้สอนอิสลามศึกษา ปรับปรุงสถานที่และพัฒนาศักยภาพของผู้สอนตาดีกา(โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามขั้นพื้นฐาน) จำนวน 609 แห่ง

ผศ.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณะบดีคณะศิลปะศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา กล่าวในการบรรยายเรื่อง การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่า ตนเคยบอกกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่า การพัฒนาการศึกษาเพื่อเตรียมเข้าสู่อาเซียนต้องมองที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะคนในพื้นที่กำลังเรียนในหลักสูตรเดียวกับที่คนอีก 300 กว่าล้านคนในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ภาษามลายู อิสลามศึกษา เป็นต้น

ผศ.สุกรี กล่าวว่า สถานศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจุดแข็งคือ ภาษามลายู  ดังนั้นบุคลากรทางการศึกษาจะต้องมีทักษะด้านการใช้ภาษาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการเตรียมการสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม พร้อมๆกับการพัฒนาบุคลากรและการประเมินผล

ผศ.สุกรี กล่าวด้วยว่า สำหรับมุสลิม ประเทศกัมพูชามีความพร้อมเข้าสู่อาเซียนมาก เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญ เช่น จัดสรรงบประมาณถึง 2,000 ล้านบาท สำหรับกิจการฮัจญ์ นอกจากนี้ ต่างประเทศเช่น มาเลเซีย ได้เข้าไปเปิดโรงเรียนในกรุงพนมเปญของกัมพูชาเพื่อช่วยพัฒนามุสลิมในกัมพูชา

 ผศ.สุกรี เปิดเผยด้วยว่า ประเทศกัมพูชามีปลัดกระทวงที่เป็นชาวมุสลิมถึง 5 คน รองปลัดกระทรวงอีก 8 คน หนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิง

รศ.ดร.อิบราเฮม ณรงค์รักษาเขต รองผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี กล่าวในการบรรยายเรื่อง “การเตรียมความพร้อมของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาเพื่อสู่อาเซียน” ว่า ชาวมาเลเซียมีความภูมิใจที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีการใช้ภาษามลายูอักษรยาวี ซึ่งน่าจะเป็นที่เดียวในกลุ่มประเทศอาเซียน ในฐานะที่ภาษามลายูอักษรยาวี เป็นอารยธรรมหนึ่งของอิสลามในภูมิภาค

รศ.ดร.อิบราเฮม กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยกับต่างประเทศในด้านการพัฒนาการศึกษา 10 ฉบับ แต่ฝ่ายไทยไม่ทำอะไรเลย เพราะไม่รู้จะทำอะไร

ส่วนในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เป็นการบรรยายของนักวิชาการจากองค์กรมูฮัมมาดียะห์ และมหาวิทยาลัยมูฮัมมาดียะห์ ประเทศอินโดนีเซีย

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กต.ปัดผู้ตรวจยูเอ็น สอบรัฐไทยปิดกั้นสิทธิแสดงออก

Posted: 21 Feb 2012 07:58 AM PST

มูลนิธิศักยภาพชุมชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เข้าพบรองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ร้องขอให้พิจารณาลำดับการตอบรับคำขอเยือนของผู้ตรวจฯยูเอ็น เพื่อเข้าตรวจสอบและติดตามสถานการณ์สิทธิในประเทศไทย

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 มูลนิธิศักยภาพชุมชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และตัวแทนสื่อมวลชน รวม 9 คน เข้าพบนายชุตินทร คงศักดิ์ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อยื่นจดหมายร้องขอให้พิจารณาลำดับการตอบรับคำขอเยือนอย่างเป็นทางการของผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติ เพื่อเข้าตรวจสอบและติดตามสถานการณ์สิทธิในประเทศไทย

นายอกนิษฐ์ หอรัตนคุณ เจ้าหน้าที่โครงการรณรงค์สหประชาชาติ มูลนิธิศักยภาพชุมชน เปิดเผยหลังการเข้าพบว่า ที่ผ่านมามีผู้ตรวจการพิเศษสหประชาชาติ ขอเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ 14 คณะ แต่รัฐบาลไทยไม่เคยตอบรับ คณะที่เข้าพบต้องการให้จัดลำดับความสำคัญ โดยให้ผู้ตรวจการณ์พิเศษด้านสิทธิการแสดงความคิดและการแสดงออกได้มาเยือนประเทศไทยเป็นลำดับแรก เนื่องจากได้ยื่นคำขอมาตั้งแต่ ปี 2547

นายอกนิษฐ์ เปิดเผยว่า นายชุตินทร ชี้แจงว่า เหตุที่ยังไม่ตอบรับคำขอของผู้ตรวจการณ์พิเศษด้านสิทธิการแสดงความคิดและการแสดงออก เนื่องจากเกรงว่า จะกลายเป็นประเด็นทางการเมือง แต่ในอนาคตอาจมีการตอบรับ เพราะขณะนี้ยังมีความตึงเครียดทางการเมืองอยู่ อีกทั้งการยื่นจดหมายดังกล่าวไม่มีผลใดๆ แล้ว เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศได้นำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว

นายอกนิษฐ์ เปิดเผยด้วยว่า ส่วนคณะผู้ตรวจการพิเศษที่ประเทศไทยต้องการให้มาเยือนก่อน ได้แก่ ผู้ตรวจการณ์พิเศษด้านการค้าประเวณีเด็ก ผู้ตรวจการพิเศษด้านการทรมาน และผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขอนามัย

สำหรับจดหมายดังกล่าว มี 9 องค์กรที่ร่วมลงนาม ได้แก่ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมาคมเครือข่ายสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน กลุ่มอัญจารี มูลนิธิศักยภาพชุมชน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ค่าจ้างที่เป็นธรรม: “เปลี่ยนมุมคิด พลิกคุณภาพชีวิตแรงงาน”

Posted: 21 Feb 2012 07:43 AM PST


-1
-

ย้อนไปสมัยเรียนปริญญาตรีเมื่อหลายสิบกว่าปีที่แล้ว ครั้งหนึ่งต้องลงเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ 

ฉันจำได้แม่นยำว่านักศึกษาทุกคนต้องผ่านตาคำพูดหนึ่งของ Henry Ford ผู้ก่อตั้งบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ ที่พูดไว้ว่า “Quality means doing it right when no one is looking"  ซึ่งคำพูดนี้เป็นที่มาของ “วิถีการผลิตแบบฟอร์ด (Fordism)” บริษัท Ford เป็นโรงงานผลิตรถยนต์ที่ใหญ่มากในสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1913 (พ.ศ.2456) โรงงานผลิตรถยนต์แห่งนี้มีคนงานสูงกว่าหนึ่งหมื่นคน แต่กลับพบว่ามีการประท้วงของคนงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ครั้งหนึ่งมีคนงานเข้าร่วมถึงแปดพันกว่าคน ที่นี่มีคนงานหมุนเวียนเข้าออกจากงานมากถึงห้าหมื่นกว่าคน เนื่องเพราะอัตราการลาออกอยู่ในระดับที่สูงมาก

ฉันไม่รู้ว่าขณะนั้นในฐานะ CEO บริษัท Henry Ford คิดอะไรอยู่ พอๆกับ Walter Reuther ประธานสหภาพแรงงานที่ต้องดูภาพคนงานที่เดินเข้าออกจากโรงงานเป็นว่าเล่น อย่างไรก็ตาม 5 มกราคม ค.ศ.1914 Henry Ford ตัดสินใจประกาศขึ้นค่าจ้างให้คนงานหนึ่งเท่าตัวจากที่เคยได้รับจากเดิม พร้อมๆไปกับการลดชั่วโมงทำงานของคนงานลง คำประกาศดังกล่าวในช่วงเวลานั้นได้สร้างความตกตะลึงให้แก่สังคมทุนนิยมอเมริกันอย่างมโหฬาร กำไรของบริษัท Ford ทะยานขึ้นอย่างก้าวกระโดด อัตราการลาออกของคนงานลดลงจากเดิมเหลือเพียงหนึ่งในสิบ ขณะที่อัตราการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นถึงสามเท่าตัว

เกิดอะไรขึ้นเมื่อ “นายทุน” ตัดสินใจยอมลด “กำไร” หรือ “ส่วนเกิน” เพื่อขึ้นค่าจ้างให้คนงาน หรือนี้คือการนำมาซึ่ง “กำไร” ที่สูงกว่าในอนาคต Henry Ford รู้ดีว่า การ “จ่ายงาม” มักมาพร้อมกับ “งานที่ดี” ที่จะได้กลับคืนมาในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเสมือนเป็นเครื่องบังคับทางอ้อมให้ลูกจ้างต้องขยันทุ่มเททำงานหนักเพื่อรักษางานนี้ไว้ เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่างานอื่นๆ ความขยันทำงานหนักของลูกจ้างจึงส่งผลประโยชน์ให้นายจ้างในบั้นปลาย รวมทั้งยังสามารถทำให้คนงานในโรงงานสามารถซื้อรถฟอร์ดที่โรงงานผลิตออกมาได้อีกด้วย

-2-

แม้ฉันจะเป็นลูกทะเลที่คุ้นชินกับกลิ่นทะเลมาแต่อ้อนแต่ออก แต่กลิ่นคาวของปลา ปลาหมึก กุ้งสดๆ ที่สะพานปลาแห่งนี้ กลับชวนให้คลื่นเหียนและต้องรีบวิ่งออกไปอาเจียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนหมดแรง
ที่นี่เต็มไปด้วยแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่ากว่า 300 คน ที่จ้างงานด้วยค่าแรงไม่ถึง 150 บาทต่อวัน ภาพของการใช้รองเท้าบู้ทย่ำและเหยียบไปบนอาหารทะเลสดๆเหล่านี้ก่อนจะถึงมือผู้บริโภคอย่างฉัน ทำให้คนโปรดปรานอาหารทะเลไม่กล้าแตะไปอีกหลายเดือน

ด้วยค่าแรงต่ำต้อยเพียง 150 บาท แลกกับการทำงานตั้งแต่ตี 3 จนถึง 3 โมงเย็น กว่า 12 ชั่วโมง แม้จะเป็นที่โปร่ง แต่กลับอับชื้น และเต็มไปด้วยกลิ่วคาวคละคลุ้งของฟอร์มาลีนซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ บางแพมีการแอบใช้แรงงานเด็ก อีกหลายคนก็ต้องทำงานหนักติดต่อกันหลายชั่วโมง ยิ่งถ้าเรือเข้าติดๆกันยิ่งไม่มีเวลาพัก ไม่มีวันหยุด แต่แรงงานข้ามชาติทุกคนกลับต้องยอมอดทนและก้มหน้ารับชะตากรรมที่ไม่ได้ร้องขอนี้

การลงแรงทำงานหนักไม่ได้ช่วยให้นายทุนเพิ่มค่าแรงให้แต่อย่างใด ดูเหมือนว่าการทำงานแต่ละวันๆเพื่อให้เวลาเดินผ่านไปเร็วที่สุดเป็นทางเลือกที่หล่อเลี้ยงความหวังของแรงงานที่นี่ หลายต่อหลายครั้งที่เรือลำแล้วลำเล่าแล่นเข้ามาเทียบท่า สองมือก็ระวิงไม่ได้หยุดพัก รถรับส่งอาหารทะเลจากโรงแรมคันแล้วคันเล่าทยอยเข้ามารับของไม่ขาดสาย แต่ค่าแรงคนงานก็กลับคงที่เท่าเดิมและกลายเป็นเรื่องปกติของนายจ้างแถบนี้ไป

“ดำ” แรงงานข้ามชาติชาวมอญที่ทำงานที่นี่มากว่าสิบปีแล้ว เล่าให้ฉันฟังว่า “ถ้าผมมีบัตรถูกกฎหมาย ผมไม่อยู่ที่นี่แล้วพี่ แม้ผมจะขยันทำงานมาก แพปลามีอาหารทะเลส่งออกไปตามร้านอาหารใหญ่ๆมากขึ้น แต่ชีวิตพวกผมก็เหมือนเดิม ค่าแรงเท่าเดิม จะทำมากทำน้อยไม่ต่างกัน ค่าแรงเท่ากับการทำงานตามมีตามเกิด พวกผมถึงทำไปแบบให้หมดเวลาไปวันๆ งานอย่างนี้ไม่มีคนไทยคนไหนมาทำหรอก ถ้าไม่จ้างพวกผม เจ๊จะไปจ้างใครมาทำ ไม่มีหรอกครับ แม้ขยันทำงานมาก หนัก ทุ่มเท ทำให้แพได้กำไรมากขึ้น แต่ก็ไม่เคยตกถึงพวกผมแม้แต่น้อย ที่พี่เห็นหลายคนใช้เท้าเหยียบไปบนอาหารทะเล เพราะไม่มีใครอยากใช้มือหรอกครับ กลัวฟอร์มาลีนกันทั้งนั้น และเจ๊ก็ไม่สนใจอยู่แล้ว ขอมีอาหารทะเลส่งออกเป็นพอ พวกผมมีหน้าที่ใช้เท้าคัดแยกเป็นกองๆตามขนาดอย่างเดียว ที่เหลือเจ๊ก็ไปจัดการเอาเอง สกปรก ไม่สกปรก กินได้ กินไม่ได้ ผมไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องของผม”

-3-

“ปิดกิจการ ปลดคนงาน ย้ายฐานการผลิต ภาคธุรกิจกระอัก แรงงานตกงาน นายทุนพังแน่”

การเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันจะเป็นแรงกดดันให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวหันไปใช้เครื่องจักรแทนคนงานมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นห่วงอนาคตแรงงานไทยที่อาจจะลำบากในการหางาน แม้ว่าระยะสั้นนี้จะยังไม่เกิดปัญหาก็ตาม (นายพากร วังศิลาบัตร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

หากเป็นไปได้รัฐบาลควรจะชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันใน 7 จังหวัดนำร่อง เม.ย.55 นี้ออกไปอย่างน้อยสิ้นปี เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ประสบภาวะน้ำท่วม เนื่องจากคาดว่า มิ.ย.55 โรงงานต่างๆจึงจะกลับมาฟื้นตัวผลิตได้ 100% ซึ่งสิ่งที่เป็นห่วงคือธุรกิจเอสเอ็มอีที่อาจไม่สามารถรักษาคนงานเอาไว้ได้ หากมีการขึ้นค่าแรงซ้ำ (นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)

ผู้ประกอบการในนิคมฯ ภาพรวมยังคงจ่ายค่าแรง 75% แม้ว่าจะยังไม่กลับมาผลิตเพราะต้องรอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ได้ร้องผ่านมาเพื่อเสนอให้รัฐได้พิจารณาช่วยเหลือในการชะลอการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันออกไปก่อน เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ลงทุนอย่างมาก (นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูรประธานกรรมการบริหาร สวนอุตสาหกรรมบางกะดี่)

โรงงานประสบน้ำท่วมในนิคมฯสหรัตนนคร คาดว่าจะเดินเครื่องผลิต 1 มี.ค.55 แต่ที่ผ่านมาบริษัทได้จ่ายเงินเดือนพนักงานเต็ม 100% อย่างไรก็ตามการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนั้น หากรัฐบาลชะลอออกไปได้ก็จะดีต่อภาพรวมของนักลงทุน (นายยาสุโนริ ซาคูไร ประธาน บริษัททีเอสเทค ประเทศไทย จำกัด)

-4-

แง่คิดจากเวทีเสวนาเรื่อง “มหาอุทกภัยจากไป คำถามต่อชะตากรรมและอนาคตแรงงานหญิง?” เมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2555 จัดโดยกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และจากการแลกเปลี่ยนกับผู้นำแรงงานบางท่าน [2] ชี้ชวนให้ตระหนักชัดในอีกมุมของความจริงที่บางครั้งหลงลืม-ละเลย-และไม่พยายามมองเห็นว่า

(1) การที่ลูกจ้างยิ่งได้รับค่าจ้างสูงและเป็นค่าจ้างที่มีความเป็นธรรม มากพอที่ตัวเองและครอบครัวสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะยิ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจมหภาคตามมา เพราะเป็นการช่วยกระตุ้นความต้องการใช้จ่ายรวมของระบบเศรษฐกิจ เพราะเมื่อคนงานมีรายได้สูง ย่อมมีอำนาจซื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น เป็นการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปในตัว  ทำให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การผลิตและการจ้างงานของเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แม้ต้นทุนแรงงานจะสูงขึ้น แต่สินค้าก็ถูกผลิตเพิ่มมากขึ้น ภาคธุรกิจก็ได้ประโยชน์ตามไปด้วย เพราะแรงงานผลิตสินค้าได้มากขึ้น และสินค้าก็ขายได้มากขึ้น เพราะแรงงานมีอำนาจซื้อสูงขึ้น

(2) ค่าแรงขั้นต่ำมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพียงเท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานราคาถูกหรือกดค่าจ้างให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องมาพร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานควบคู่กันไป เช่น การลงทุนวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์, เทคนิคการผลิตแบบใหม่ ๆ หรือการลงทุนในการพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงาน

(3) แม้จะมีการอ้างว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศใกล้เคียงที่ยังมีอัตราค่าจ้างต่ำกว่ามาก คำถามสำคัญที่ต้องตอบอย่างตรงไปตรงมาต่อคือ ประสิทธิภาพแรงงานของประเทศที่มีค่าจ้างต่ำกว่า เท่ากับประสิทธิภาพและฝีมือของแรงงานไทยที่ทำอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ เพราะพบว่าประเทศที่มีค่าจ้างขั้นต่ำถูกจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพด้านฝีมือการผลิตสินค้าสู้ประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่าไม่ได้ รวมถึงความไม่พร้อมระบบสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน ความเสี่ยง ที่ดินในการตั้งโรงงาน และการขนส่งสินค้า และเมื่อพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำในประเทศแถบอาเซียนเมื่อเทียบกับค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อในประเทศนั้นๆ พบว่าเมื่อเรียงตามลำดับอัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดไปถึงต่ำที่สุดนั้น ยิ่งเป็นไปได้ยากที่นายทุนในประเทศไทยจะย้ายฐานการผลิต          

- ลำดับที่ 1  ประเทศสิงคโปร์มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน คือ ประมาณ 55,500 บาท/เดือน

- ลำดับที่ 2  ประเทศมาเลเซียมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 15,900 บาท/เดือน

- ลำดับที่ 3  ประเทศฟิลิปปินส์มีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 6,960 บาท/เดือน

- ลำดับที่ 4  ประเทศไทยมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 6,450 บาท/เดือน

- ลำดับที่ 5  ประเทศอินโดนีเซียมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 3,360 บาท/เดือน

- ลำดับที่ 6  ประเทศเวียดนามมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 1,650 - 1,800 บาท/เดือน  

- ลำดับที่ 7  ประเทศลาวมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 2,642 บาท/เดือน

- ลำดับที่ 8  ประเทศกัมพูชามีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 1,830 บาท/เดือน

- ลำดับที่ 9  ประเทศพม่ามีอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท/เดือน

(4) แน่นอนเรามักเข้าใจกันว่าเมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้น สินค้าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่มิได้หมายความว่าค่าแรงเพิ่มขึ้น 30 บาท สินค้าจะเพิ่มขึ้นชิ้นละ 30 บาทในอัตราที่เท่ากัน เพราะเมื่อเท่ากันจะกลายเป็นเรื่องผิดปกติอย่างแน่นอน ทางออกที่เหมาะสม คือ การที่รัฐบาลต้องเข้าไปหนุนช่วยในกลไกการผลิตส่วนอื่นๆ เช่น ลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอะไหล่ ลดภาษีรายได้บริษัท หรืออื่นๆ รวมถึงการหนุนช่วยในเรื่องของการพัฒนาการผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถของแรงงาน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้พ้นจากการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น ไปสู่การผลิตที่ใช้ความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น การสร้างศูนย์เรียนรู้ของกรมการศึกษานอกโรงเรียนใกล้แหล่งโรงงาน เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ของแรงงาน เป็นต้น

(5) อีกหลายคนก็กังวลใจว่าจะมีการหลั่งไหลการเข้ามาเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือระดับล่างจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม หรือจีน ในกรณีนี้ถึงเวลาแล้วที่การจ้างงานในประเทศไทยต้องยอมรับว่าเราไม่สามารปฎิเสธการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้ได้ นี้ไม่นับในปี 2558 ที่จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน การหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน โจทย์ที่ท้าทายมากกว่าคือ เหตุใดนายจ้างไทยจึงนิยมจ้างแรงงานข้ามชาติ? เพราะปัจจุบันทราบกันดีอยู่แล้วว่าแรงงานข้ามชาติยังคงรับค่าจ้างและสวัสดิการต่ำกว่าแรงงานไทย แม้กฎหมายไทย เช่น พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จะไม่ได้ยกเว้นแรงงานข้ามชาติจากสิทธิทั้งหลายที่กฎหมายกำหนด แต่ในความเป็นจริงนายจ้างก็กลับจ่ายค่าแรงต่ำกว่ามาก อีกทั้งไม่ได้ให้สวัสดิการใดๆที่กฎหมายกำหนด  ดังนั้นความท้าทายของขบวนการแรงงานไทย คือ ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถบังคับใช้กฎหมายให้ได้จริง เพื่อทำให้แรงงานข้ามชาติต้องได้รับค่าตอบแทนในทุกรูปแบบเท่ากับแรงงานไทย เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันในการจ้างงานที่ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกันเหมือนในปัจจุบันนี้

(6) นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักคาดการณ์หรือให้ข้อมูลว่า การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะนำมาซึ่งการจ้างงานที่ลดลง เพราะค่าแรงมีราคาสูงขึ้น เป็นการทำลายบรรยากาศในการลงทุน และมิพักต้องทำให้สินค้าราคาแพงขึ้นไปอีกเพราะต้นทุนสูงขึ้น จนส่งผลต่ออุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามมีผลการศึกษาของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มค่าจ้างจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา [3]

 ที่ชี้ชัดว่า ต้นทุนการจ้างแรงงานที่สูงขึ้นไม่ส่งผลให้เกิดการปลดคนออกจากงาน หรือการย้ายฐานการผลิตไปยังเมืองอื่นที่มีระดับค่าจ้างขั้นต่ำกว่าแต่อย่างใด ผลการศึกษาชี้ว่าต้นทุนของธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น ภาคธุรกิจจะปรับตัวโดยการขึ้นราคาสินค้ากับเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในกระบวนการผลิตแทน เพราะค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการพัฒนาผลิตภาพ (Productivity) มากขึ้น การเปลี่ยนงานมีแนวโน้มลดลง ช่วยลดต้นทุนการรับคนงานใหม่และลดต้นทุนการพัฒนาแรงงาน

(7) จากการที่แรงงานส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ เพราะมีรายได้ต่อเดือนไม่ถึง 9,000 บาท จึงทำให้แรงงานเหล่านี้ต้องดิ้นรนในการทำงานนอกเวลา โดยต้องทำงานถึงวันละ 10-14 ชั่วโมง เพื่อให้พอมีรายได้เพียงพอต่อรายจ่าย บางครั้งที่รายได้ไม่เพียงพอยิ่งส่งผลต่อปัญหาเรื่องภาระหนี้สินของแรงงานที่ไม่มีเงินออมต้องไปกู้ยืมหนี้นอกระบบมาใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงในเรื่องของการไม่มีเวลาในการดูแลครอบครัว ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาด้านครอบครัวอื่นๆติดตามมาเพิ่มขึ้น

(8) ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 กองทุนประกันสังคมมีผู้ประกันตนทั้งหมดจำนวน 10,283,689 คนล้านคน จากกำลังแรงงานที่มีงานทำในภาคอุตสาหกรรม 24.23 ล้านคน ตัวเลขนี้เป็นภาพสะท้อนว่า มีผู้ใช้แรงงานอีกจำนวนมากที่มีงานทำ แต่เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม คนเหล่านี้ก็จะไม่ได้รับสวัสดิการพื้นฐานของระบบประกันสังคมและจำนวนมากก็อาจไม่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ เพราะไม่มีอำนาจต่อรองอะไร กลุ่มที่เข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม ประกอบไปด้วย แรงงานในภาคเกษตรกรรม แรงงานนอกระบบ หรือกลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้น้อย เช่น กรรมกรก่อสร้างอิสระ รับจ้างทั่วไป หาบเร่แผงลอย ผู้ขับรถรับจ้างสาธารณะ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น ที่ผ่านมาการหยิบยื่นความช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์ให้กับผู้มีรายได้น้อยและคนยากจน ถือเป็นการช่วยเหลือที่ทำให้ผู้รับความช่วยเหลืออ่อนแอลง ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างเงินเดือน การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางด้านรายได้ที่ทำให้ผู้ได้รับประโยชน์มีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของตัวเอง และเป็นการเพิ่มสวัสดิการทางสังคมให้ภาครัฐในทางอ้อม

-5-

เมื่อสิงหาคม 2554 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้สำรวจค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงานจำนวน 3,660 คน ใน 16 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ทำงานขององค์กร พบว่ามีคนงานถึง
68.61 % ได้รับค่าจ้างไม่ถึง 300 บาทต่อวัน มีคนงาน 19.86 % ที่มีค่าจ้างมากกว่า 300 บาทต่อวัน (ในที่นี้มีผู้ไม่ตอบคำถาม 11.53 %) แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายรายวันสำหรับแรงงาน 1 คน ประกอบด้วย ค่าอาหารสามมื้อ ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่าโทรศัพท์ ค่าเครื่องอุปโภค ค่าใช้จ่ายอื่นๆ พบว่าเป็นเงินต่อวันรวมทั้งสิ้น 348.39 บาท ทั้งนี้ไม่รวมเงินที่ส่งให้พ่อแม่ ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเครื่องสำอางค์ ค่าผ่อนบัตรเครดิต ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ค่าเสื้อผ้า รองเท้า ทำบุญ กิจกรรมบันเทิง หาความรู้ และเงินออม ขณะที่หากคำนวณตามอนุสัญญาฉบับที่ 131 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นต้องครอบคลุมถึงครอบครัว รวม 3 คน จะมีรายได้อยู่ที่วันละ 561.79 บาท ที่พอจะทำให้มีชีวิตปกติสุขเพราะเวลาพูดถึง “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เรากำลังหมายถึง “อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างคนเดียวสามารถดำรงชีพอยู่ได้ (ไม่รวมสมาชิกในครอบครัว)” เท่านั้น

ในที่นี้สิ่งที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกำลังพูดถึง คือสิ่งที่เรียกว่า “ค่าจ้างเพื่อชีวิต หรือLiving Wage” ไม่ใช่แค่ “ค่าจ้างขั้นต่ำ-Minimum Wage” เท่านั้น เพราะ Living Wage คือ ค่าจ้างที่แรงงานจะสามารถสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีระดับมาตรฐานการครองชีพที่อยู่ได้อย่างภาคภูมิใจ สามารถธำรงความเคารพนับถือในตัวเอง อีกทั้งเป็นระดับค่าจ้างที่ทำให้แรงงานมีหนทางและเวลาว่างเพียงพอที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง

พี่คนหนึ่งที่หน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย เคยเล่าให้ฉันฟังว่า กลางทศวรรษที่ 1990 กระแสเรียกร้องเรื่อง Living Wage ก่อตัวและสั่นไหวสะเทือนทั่วสหรัฐอเมริกา เมื่อกลุ่มองค์กรด้านศาสนาคริสต์ที่เมือง Baltimore ซึ่งให้บริการที่พักสำหรับคนไร้บ้านและจัดการอาหารบริจาคฟรีแก่คนยากจน เริ่มสังเกตเห็นจำนวนผู้รับบริการเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่คนเหล่านั้นต่างมีงานทำปรากฏการณ์ที่แรงงานคนหนึ่งๆต้องพาครอบครัวมารับบริจาคอาหาร ย่อมแสดงให้เห็นว่าค่าจ้างที่พวกเขาได้รับมิอาจเลี้ยงตัวเองและครอบครัวในแต่ละสัปดาห์ได้โดยไม่ต้องดิ้นรน ต่อมามีการเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตของคนงาน จนในที่สุดเมื่อปี 1995 สภากฎหมายของเมืองแห่งนี้ได้ผ่านกฎหมายการปรับขึ้นค่าจ้าง โดยคำนึงถึงหลักการของ Living Wage เป็นสำคัญ ส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำในเมืองนี้เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8-11 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง เปรียบเทียบกับระดับค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศซึ่งรัฐบาลกลางกำหนดไว้ที่ 5.5 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง และไม่ได้ทำให้แรงงานตกงานแต่อย่างใด

ดังนั้นถึงเวลาแล้วเหรอยังที่เราต้องเปลี่ยน “จุดเริ่มต้น” ของการคิดใหม่ จากผลกระทบและความอยู่รอดที่จะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจ เปลี่ยนมาเป็นการมองถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของ “ผู้ใช้แรงงาน” ที่แรงงานคนๆ หนึ่งควรจะได้รับนั้นเป็นอย่างไร เพื่อสร้างชีวิตที่ดีและเสรีภาพที่แท้จริง

เราจะได้เข้าใจมากขึ้นว่า “300 บาท” เป็นเรื่องที่ “ควรฟัง” และ “ควรลงมือทำ” อย่างยิ่งตั้งแต่วันนี้

Let's Do It ++

 

 

 


[1] ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

[2] ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับคุณชาลี ลอยสูง คุณยงยุทธ เม่นตะเภา และคุณบุญสม ทาวิจิตร สำหรับแง่มุมที่ชวนให้คิดในเรื่อง “ค่าจ้าง” เพิ่มขึ้น

[3] ดูเพิ่มเติมที่ http://www.epinet.org/content.cfm/issueguides_livingwage_livingwagefaq

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

3 กองทุนขานรับนโยบายรัฐขจัดเหลื่อมล้ำ ทำราคากลางยา

Posted: 21 Feb 2012 07:35 AM PST

กรมบัญชีกลาง สปส. และสปสช. จับมือลงนามความร่วมมือจัดทำราคากลางยาและเครื่องมืแพทย์  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเท่าเทียมของ 3 กองทุน ให้ประชาชนเข้าถึงบริการและใช้จ่ายเงินภาครัฐอย่างเหมาะสม มีคณะกรรมการดำเนินการจัดทำราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์ และมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ธุรการ

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการประสานความร่วมมือระหว่างกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ภายหลังการประชุมมีการลงนามความร่วมมือเพื่อจัดทำราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์ โดย นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. และนายแพทย์เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ(สพคส.)

นายแพทย์เทียม เปิดเผยว่า  แนวทางการบริหารจัดการยา จ (2) ร่วมกันของ 3กองทุนหลักประกันสุขภาพ เป็นยาที่มีความจำเป็นใช้สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย โดยยามีความเหมาะสมที่จะใช้เพียงบางข้อบ่งใช้ หรือมีแนวโน้มจะมีการสั่งใช้ยาไม่ถูกต้องหรือเป็นยาที่ต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญเฉพาะโรค หรือใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และเป็นยาที่มี่ราคาแพงมาก หรือส่งผลอย่างมากต่อความสามารถในการจ่ายทั้งสังคมและผู้ป่วย จึงต้องมีระบบกำกับและอนุมัติการสั่งใช้ยาที่เหมาะสม  โดยต้องมีหน่วยงานสิทธิประโยชน์หรือหน่วยงานกลางที่ได้รับมอบหมายดูแล ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามข้อบ่งใช้และเงื่อนไขการสั่งใช้ยา จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกันหน่วยบริการที่ใช้ยาจะต้องมีระบบการกำกับ ประเมินและตรวจสอบการช้า และมีการเก็บข้อมูลการใช้ยาเหล่านี้ เพื่อตรวสอบโดยกลไกกลางในอนาคตได้  

“  ได้เริ่มในกลุ่มยาบัญชี จ(2) โดยเฉพาะยา Immunoglobulin G (IVIG)  ใช้ในการรักษาโรคยากๆ เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำที่เกิดจากภูมิคุ้มกันต่อต้านเกล็ดเลือดของตนเอง   โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคคาวาซากิ  โรคภูมิต้านทานตั้งแต่กำเนิด ชนิดที่ร่างกายไม่สร้างอิมมูโนโกลบูลิน(เป็นโรคทางพันธุกรรม) เป็นต้น” ผอ.สพคส.กล่าว

นายแพทย์เที่ยมกล่าวว่า การจัดทำราคากลางของยาและเครื่องมือแพทย์ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1.การจัดทำราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นมาตรฐานในการจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลซึ่งให้บริการแก่ผู้ป่วยซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับกลไกการจ่ายเงินเป็นไปตามแนวปฏิบัติ วิธีการ ของแต่ละหน่วยงาน 2.การจัดทำราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์ให้ดำเนินการในรูปของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของทั้งสี่หน่วยงานและผู้แทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยอธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และเลขาธิการสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ มอบหมายให้หน่วยงานกลางที่สามหน่วยงานเห็นชอบร่วมกัน เป็นประธานกรรมการและมีอำนาจลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงาน

และ 3.ให้หน่วยงานกลาง ที่สามหน่วยงานเห็นชอบร่วมกัน เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการ มีหน้าที่ประสานกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้การจัดทำราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

นพ.วินัยกล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีของการสร้างความเท่าเทียมของระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบของไทย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และการเริ่มต้นด้วยการทำให้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพมีราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์นั้น เป็นการตระหนักถึงความสำคัญในการเข้าถึงยาและเครื่องมือแพทย์ของประชาชนคนไทยจะต้องได้รับบริการอย่างมีมาตรฐาน และการจ่ายเงินในเรื่องดังกล่าวเป็นไปด้วยความเหมาะสม เกิดความยั่งยืนในระบบสุขภาพของประเทศ ซึ่งต่อจากนี้ก็จะมีความร่วมมือระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพเพื่อสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมให้เกิดขึ้นต่อไป

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานทูตไทยในสหรัฐฯ ร่อนจม. โต้ ‘ฟอร์บส์’ สร้างภาพสถาบันฯไทยรวยเกินจริง

Posted: 21 Feb 2012 05:49 AM PST

สถานทูตไทยในวอชิงตันดีซี ส่งจดหมายถึงนิตยสารฟอร์บส์ แจง สนง.ทรัพย์สินฯ เป็นสมบัติของชาติซึ่งแยกออกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระเจ้าอยู่หัว มูลค่าทรัพย์สินของสถาบันฯ ที่ฟอร์บส์ตีพิมพ์จึงสูงเกินจริง พร้อมติง ไม่ได้เปิดเผยวิธีการได้มาซึ่งตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 55 นิตยสารฟอร์บส์ ได้เผยแพร่จดหมายที่ส่งมาจากสถานทูตไทยในกรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งมีเนื้อหาชี้แจงต่อประเด็นต่างๆ ในบทความของฟอร์บส์ “In Thailand, A Rare Peek At His Majesty's Balance Sheet” ซึ่งเขียนโดย Simon Montlake เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2555 (ดูข่าวที่เกี่ยวข้อง) เกี่ยวกับสถานะทางการเงินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จดหมายดังกล่าวชี้แจงว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นแยกส่วนออกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ และมีการกำกับดูแลที่เป็นระบบ พร้อมทั้งเกื้อกูลสังคมและพสกนิกรไทยตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไม่ตรงกับภาพลักษณ์ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในบทความนิตยสารฟอร์บส์ ที่ชี้ว่ามีรายได้ถึงเดือนละ 9-11 พันล้านบาท ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้

จดหมายดังกล่าวซึ่งลงชื่อโดย อาจารี ศรีรัตนบัลล์ อัครราชทูตที่ปรึกษาประจำสถานทูตไทยในวอชิงตัน ชี้แจงว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของไทย (Crown Property Bureau) ถูกก่อตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับ พ.ศ. 2479 พ.ศ. 2484 และ พ.ศ. 2491 ซึ่งได้แบ่งแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์อย่างชัดเจน และตามกฎหมายก็ระบุไว้ชัดเจนว่า ถึงแม้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี เช่นเดียวกับทรัพย์สมบัติของสาธารณะ แต่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ก็ต้องชำระภาษีเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังระบุว่า การดูแลกำกับสำนักงานทรัพย์สิน ซึ่งดำรงสถานะเป็นองค์กรนิติบุคคล จะมีคณะกรรมการซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นประธานโดยตำแหน่ง โดยคณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ พร้อมทั้งสนับสนุนกิจกรรมเพื่อคุณประโยชน์ของ “พสกนิกร” (Thai subjects) และสังคมไทย ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามความเหมาะสม

จดหมายดังกล่าวระบุด้วยว่า การที่ฟอร์บส์ได้ประมาณยอดทรัพย์สินรวมของสถาบันกษัตริย์ไทยเป็นตัวเลขราว 30 พันล้านดอลลาร์นั้น ฟอร์บส์มิได้เปิดเผยถึงการคำนวณตัวเลขดังกล่าวหรือคำอธิบายที่ชัดเจน จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด ทั้งนี้ จดหมายจากสถานทูตไทย ชี้แจงว่า ทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นับเป็นของแผ่นดิน ซึ่งไม่ควรถูกคำนวณรวมไปกับทรัพย์สินของพระองค์ พร้อมทั้งชี้ว่า รายงานของนสพ.ซันเดย์ ไทมส์ ของวันที่ 29 พฤษภาคม 2554 ได้คำนึงถึงความไม่ถูกต้องนี้ และไม่ได้จัดให้พระมหากษัตริย์ไทย อยู่ในประมุขที่รวยที่สุดในโลกสามลำดับแรก

ในตอนท้ายของจดหมาย ระบุว่า “ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ที่รวยสุดขั้ว (ultra-rich) ของสถาบันกษัตริย์ไทยที่ฟอร์บส์พยายามจะสร้างขึ้น ใครที่รู้จักประเทศไทยและเคยขับผ่านพระราชวังจิตรลดาในกรุงเทพฯ ก็คงจะเห็นการวิจัยทางเกษตรกรรมที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นในบริเวณพระราชวัง ห้องวิจัยดังกล่าวทำหน้าที่เป็นแหล่งพัฒนาทดลองเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาในพระราชดำริทั่วประเทศกว่า 4 พันแห่ง

“พระราชวังในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวน่าจะเป็นพระราชวังของพระมหากษัตริย์แห่งเดียวในโลกที่เต็มไปด้วยการทดลองปลูกนาข้าว บ่อปลา คอกหมูคอกวัว โรงสีข้าว และโรงงานเล็กๆ อีกหลายแห่ง” จดหมายจากสถานทูตไทยระบุ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อาจารี ศรีรัตนบัลล์

Posted: 21 Feb 2012 05:06 AM PST

การดูแลกำกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งดำรงสถานะเป็นองค์กรนิติบุคคล จะมีคณะกรรมการซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นประธานโดยตำแหน่ง โดยคณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ พร้อมทั้งสนับสนุนกิจกรรมเพื่อคุณประโยชน์ของพสกนิกรและสังคมไทย ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามความเหมาะสม

อัครราชทูตที่ปรึกษาประจำสถานทูตไทยในวอชิงตัน ดี.ซี., เขียนชี้แจงเว็บไซต์ฟอร์บส์ กรณีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, 20 ก.พ. 55

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: ทางเลือกสู่อนาคตของสังคมไทย

Posted: 21 Feb 2012 04:53 AM PST

คำถามที่คนถามไถ่เพื่อนฝูงและตนเองมากที่สุด อันแสดงให้เห็นถึงความกังวลอย่างยิ่งของคนจำนวนมากในสังคมไทยได้แก่ อนาคตของสังคมไทยจะเป็นอย่างไร

ผมก็ตอบไม่ได้ว่าอนาคตสังคมไทยจะเดินไปทางไหน  หากแต่ก่อนที่เราจะตอบคำถามนี้ได้บ้าง เราก็ต้องเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันให้ชัดเจน  คนแต่ละกลุ่มก็จะต้องทบทวนตนเองว่าเหตุใดกลุ่มของตนจึงคิดในลักษณะอย่างที่คิด เพื่อที่จะทำให้เห็นและเข้าใจได้ว่าความคิดและความกังวลทั้งหมดเกิดขึ้นจากการดำรงอยู่ในเงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจและพัฒนาการความเป็นมาทางประวัติศาสตร์กลุ่มของตนมาอย่างไร การทำความเข้าใจระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนแต่ละกลุ่มให้แจ่มชัดก็จะช่วยทำให้แต่ละกลุ่มมองเห็นคนอีกกลุ่มหนึ่งชัดเจนมากขึ้นไปด้วย  การ”เห็นซึ่งกันและกัน” ชัดเจนมากขึ้นของคนในสังคมก็จะทำให้การปลุกเร้าด้วยวาทกรรม (จูงใจ) เกิดได้ยากมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรม “ คนจนโง่และถูกซื้อเสียง” “ มีคนต้องการโค่นล้มสถาบันพระมหากษัตริย์” หรือวาทกรรม “ ไพร่-อำมาตย์”

วาทกรรมสั้นๆเหล่านี้มีพลังเพราะไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำพูดเท่านั้น  หากแต่เป็นการยกระดับปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ทางสังคมการเมืองตลอดชีวิตที่ผ่านมาของคนรุ่นหนึ่งๆให้กลายเป็นชุดความรู้ที่อธิบายความสัมพันธ์ทางสังคมการเมืองที่ดำเนินมาว่าเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมการเมืองที่เหมาะสมที่สุด ดีที่สุดเพื่อจะจรรโลงระบบที่เป็นอยู่ให้เดินหน้าต่อไปหรือเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมการเมืองที่เลวร้ายที่สุดเพื่อที่จะต้องเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

ผมคิดว่าเราทั้งหลายไม่เคยถามตนเองเลยว่าทำไมเราถึงรู้สึก “อิน” กับวาทกรรมปลุกเร้าเหล่านี้  และเมื่อเราไม่ถามตนเองเช่นที่ว่า  เราก็จะแสดงตนไปตามวาทกรรมนั้นโดยไม่รู้ตัวโดยยึดถือเอาแกนกลางของวาทกรรมนั้นมาเป็นแนวทางปฏิบัติการณ์ทางสังคมการเมืองและสามารถละทิ้งหลักการบางอย่างที่ตนเองเคยยึดถือไปได้

ความที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นการนำเสนอทบทวนเงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจและพัฒนาการความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของคนสองกลุ่มใหญ่ๆในสังคมว่ามีความเป็นมาอย่างไรจึงทำให้พวกเขามีความแตกต่างในระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอย่างมากมายและลึกซึ้ง  อันก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันนี้

แต่อย่างไรก็ตามต้องกล่าวในที่นี้ก่อนว่าแม้จะจัดแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ แต่ในความเป็นจริงนั้น แต่ละกลุ่มก็ไม่ได้มีเอกภาพทางความคิดกันอย่างแท้จริงหรือเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันทั้งหมด   ในแต่ละกลุ่มก็มีลักษณะเฉพาะของตนซึ่งคงจะต้องศึกษากันต่อไป  เช่น การแยกแยะในลักษณะที่คนทั่วไปทราบกันดีอยู่แล้วว่าในกลุ่มสีแดงก็มีทั้งแดงเอาเจ้าและแดงไม่เอาเจ้าหรือกลุ่มสีเหลืองก็มีทั้งเหลืองเอาเจ้าทั้งหมดหรือเหลืองเอาเจ้าแต่ไม่ทั้งหมด เป็นต้น  ดังนั้น การทำความเข้าใจระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนแต่ละกลุ่มภายใต้เงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจในที้นี้จึงจะเป็นการมองภาพรวมๆเท่านั้น

คนสองกลุ่ม-สองสีที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเป็นกลุ่มก้อนในปัจจุบันนี้เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน กล่าวคือ ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนกลางคน โดยมีอายุประมาณสี่สิบปีขึ้นไป  ( แน่นอนว่ามีวัยรุ่นร่วมด้วยแน่ๆ แต่ต้องบอกว่าการพิจารณาจำเป็นต้องพิจารณาคนส่วนใหญ่) ซึ่งคนทั้งสองกลุ่ม-สองสีมีชีวิตร่วมกันในช่วงเวลาความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างน้อยสามช่วงเวลา ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ทศวรรษ ๒๕๐๐ การเข้าสู่ชีวิตการทำงานในช่วงทศวรรษ ๒๕๒๐-๒๕๓๐  และช่วงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลังทศวรรษ ๒๕๔๐  แม้ว่าในจังหวะของประวัติศาสตร์เป็นช่วงเวลาเดียวกันนี้  แต่คนสองกลุ่ม-สองสีอยู่กันคนละมุมของความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ ความแตกต่างของคนสองกลุ่มสองสีได้แก่ ระยะเวลาที่ได้รับการศึกษา  ลักษณะของงานที่ทำ และการปรับตัวหลังทศวรรษ ๒๕๔๐

การพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจทศวรรษ ๒๕๐๐ ไม่ได้เป็นการพัฒนาบนสูญากาศ หากแต่ทศวรรษ ๒๔๙๐ ได้เกิดการขยายตัวของการลงทุนทำพาณิชย์กรรมของกลุ่มคนจีนที่ต้องตัดสินใจที่จะอยู่ในเมืองไทยเพราะกลับประเทศจีนไม่ได้เนื่องจากจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์  กลุ่มพ่อค้าจีนเหล่านี้ได้ดัดแปลงตนเองกลายนมาเป็นไทยพร้อมกันนั้นก็ได้เริ่มส่งลูกเข้าสู่การศึกษาของไทยอย่างจริงจัง ( ผมสรุปความคิดและข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ปริญาโท ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของอาจารย์ ณัฏฐพงษ์ สกุลเลี่ยว เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมกับการเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ถึงการรัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๒๐ )

นักเรียนที่สามารถเข้าสู่มหาวิทยาลัยในช่วงหลังทศวรรษ ๒๕๐๐ส่วนใหญ่แล้วเป็นลูกหลานคนจีนและลูกหลานข้าราชการที่อยู่ในเขตเมือง  งานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงทศวรรษ ๒๕๒๐ พบว่าสัดส่วนนักศึกษาที่มาจากชนบทหรือคนจนนั้นมีเพียงร้อยละห้าเท่านั้น 

ช่วงเวลาที่คนกลุ่มนี้เข้าสู่มหาวิทยาลัยเป็นช่วงเวลาที่จอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอมได้มีอำนาจเผด็จการครองประเทศ และรัฐบาลเผด็จการได้พยายามรักษาอำนาจของตนด้วยการประนีประนอมกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมโดยการถวายบทบาทให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์มากยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับพระมหากษัตริย์ใกล้ชิดกันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

อัตลักษณ์ของนักศึกษาขณะนั้นเป็นกลุ่มอภิสิทธิชนที่สามารถปิดถนนเพื่อร้องเพลงเชียร์ในงานแข่งบอลประเพณี ขณะเดียวกันก็ผูกตนเองเข้ากับสถาบันพระมหากษัตริย์มากยิ่งขึ้น  ก่อนการเคลื่อนไหวเดือนตุลา ๒๕๑๖ ข่าวลือเรื่องจอมพลประภาสมีเจตนาร้ายต่อพระมหากษัตริย์ระบาดไปทั่วในทุกกลุ่มนักศึกษาซึ่งก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจในบทบาทของสองจอมพล-หนึ่งนายพันสูงยิ่งขึ้น 

ความรู้สึกสำนึกผูกพันระหว่างนักศึกษากับสถาบันพระมหากษัตริย์ยังแสดงออกในการเคลื่อนขบวนในเหตุการณ์ตุลาคม ๒๕๑๖ ที่เน้นการอัญเชิญพระบรมรูปของพระมหากษัตริย์และพระราชินีนำขบวน   รวมไปถึงการเคลื่อนขบวนไปพึ่งพระบารมีในช่วงที่วิกฤติสูงสุด

ลูกหลานคนจีนที่เติบโตในสังคมไทยราวทศวรรษ ๒๔๙๐ ได้โอกาสในการศึกษาและการทำงานในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทห้างร้าน รวมทั้งส่วนหนึ่งได้มีส่วนในการขยายบทบาทธุรกิจของครอบครัวตนเอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสังคมดำเนินมาอย่างดีตลอด คนกลุ่มนิ้จึงสามารถที่จะสร้างฐานทางเศรษฐกิจและสร้างสถานทางสังคมของตนได้อย่างมั่นคง

การที่พวกเขาเติบโตมาในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว  ที่สำคัญการเมืองถูกทำให้นิ่งสงบด้วยอำนาจรัฐเผด็จการ  แม้ว่าจะมีรอยปะทุของความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๙ แต่ก็เป็นเวลาสั้นๆ   ความคิดทางการเมืองเรื่อง “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ( Stability ) จึงกลายมาเป็นหลักในการคิดและรู้สึก เพราะ “เสถียรภาพ-ความมั่นคง” เป็นฐานที่สำคัญของชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขา

“เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ได้ถูกสร้างให้ยึดโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้นหลังเหตุการณ์ปี พ.ศ. ๒๕๑๖  โดยเริ่มจากการยุติการนองเลือดในปี พ.ศ. ๒๕๑๖, ยุติความขัดแย้ง พ.ศ. ๒๕๑๙, การต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย    ที่สำคัญ ภายหลังจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้สร้างระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบซึ่งต้องการความชอบธรรมลักษณะใหม่มารองรับ ระบอบการเมืองช่วงสมัยพลเอกเปรมจึงได้ทำให้เกิดการยึดโยงสถาบันพระมหากษัตริย์กับ “เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ทางสังคมการเมืองมากขึ้น

การยุติการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นนำในระบบราชการระหว่างพลเอกเปรม กับกลุ่มทหารหนุ่มและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนายทหารรุ่นห้ากับบางส่วนของนายทหารรุ่นเจ็ดในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ยิ่งทำให้หลักการ “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ถูกโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากขึ้น

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในฐานะผู้ทรงรักษาเสถียรภาพทางการเมืองท่ามกลางความขัดแย้งภายในกองทัพในช่วงของรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์  ในหนังสือเรื่อง “พระผู้ทรงปกเกล้าฯประชาธิปไตย: ๖๐ ปี สิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย” ความว่า

“ชัยชนะของพลเอกเปรม และการดำรงอยู่ของดุลยภาพทางการเมืองที่ถูกคุกคามโดยคณะปฏิวัติคงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย  หากปราศจากการสนับสนุนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เหตุการณ์ความไม่สงบยุติลงอย่างรวดเร็วโดยปราศจากความรุนแรง”

พร้อมกันนั้น หลังทศวรรษ ๒๕๐๐การอธิบายรวบยอด “ประวัติศาสตร์”ของคนจีน (ที่ตัดสินใจอยู่ในประเทศไทย) ก็ได้ปรากฏชัดเจนขึ้นในชุดคำกล่าวทำนองว่า “ คนไทยเชื้อสายจีนได้อพยพหนีความเดือดร้อนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร “ 

การให้ความหมายแก่ประวัติศาสตร์ของกลุ่มพี่น้องจีนเช่นนี้มีพลังอย่างมากในการทุ่มตนเองเพื่อรักษา “เสถียรภาพ-ความมั่นคง” อันมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแกนกลาง   เพราะนี่คือการทดแทนบุญคุณที่บรรพบุรุษตนเองได้รับจากการพึ่งพระบรมโพธิสมภาร   

“เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ของสังคมการเมืองในระบบความคิดเห็นชุดนี้ไม่จำเป็นต้องเป็น “ประชาธิปไตย” และหลังทศวรรษ ๒๔๙๐ การสร้างความคิดความเชื่อที่ว่านักการเมืองเป็นคนเลวที่เห็นแก่ตัวและเป็นผู้ที่ก่อกวน “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ยิ่งทำให้ความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยที่ผู้ปกครองมาจากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวนั้นมีไม่มากนัก     แต่หากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแสดงตนเองว่าเป็นผู้รักษา “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง “ได้ด้วยการทำอะไรที่เป็นเผด็จการก็จะได้รับการยอมรับจากคนกลุ่มนี้

อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรเคยได้รับความชื่นชมและชื่นชอบจากการปราบปรามยาเสพติด “ ฆ่าตัดตอน” เพราะคนกลุ่มนี้เห็นว่าการปราบยาเสพติดด้วยการ “ ฆ่าตัดตอน” เป็นการทำเพื่อรักษา “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ของรัฐ

แต่เมื่อเกิดข่าวลือ/ข่าวปล่อยจากหลายฝ่ายว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณเริ่มล้ำเส้นเข้ามาพื้นที่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์  ซึ่งทำให้เกิดการปะทุขึ้นของความกังวลในเรื่อง “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง”   จากนั้น  การสถาปนาตนเองเป็น “ลูกจีนรักชาติ-ลูกจีนกู้ชาติ” จึงก่อกำเนิดและแรงกล้าขึ้นทันที 

ปัญหาความกังวลในเรื่อง “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ที่ถูกทำให้ยึดโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ยังมีสาเหตุมาจากความไม่แน่นอนในเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องหลายประเด็น  แต่ทั้งหมดถูกทำให้รวมศูนย์ไปอยู่ที่อดีตนายกรัฐมนตรี ในระบบคิดชุดนี้จะมองว่าหากไม่มีอดีตนายกรัฐมนตรีเสียคนเดียวแล้ว ความไม่แน่นอนเรื่องอื่นๆก็จะสามารถคลี่คลายไปได้ด้วยตัวเอง

ความรู้สึกกังวลใน “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง” ของสังคมการเมืองไทยกลายมาเป็นกรอบการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เข้มข้นมากขึ้นหลัง พ.ศ. ๒๕๔๕ และดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน  กรณีล่าสุด ได้แก่ การต่อต้านข้อเสนอของกลุ่มอาจารย์ “ นิติราษฏร” ซึ่งหากอ่านและคิดกันให้ดีแล้ว ข้อเสนอนี้เป็นการเสนอที่ต้องการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ปลอดจากการถูกดึงเข้าไปยุ่งเกี่ยวการเมือง  เพราะนิติราษฏรเห็นว่าการถูกดึงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ว่าลักษณะใดก็ตาม ก็จะทำให้มีคนที่เสียประโยชน์และไม่พอใจ อันจะทำให้เกิดความระคายเคืองต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  รวมทั้งต้องการป้องกันการฟ้องร้องโดยใครก็ได้ซึ่งทำให้การฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งกันเกิดได้ง่ายมากขึ้น

แต่ข้อเสนอนี้กลับถูกโจมตีอย่างรุนแรง เพราะความปรารถนาดีของนิติราษฏรนี้ที่จะคลี่คลายปัญหา จำเป็นต้องยกเลิก/ตัดสายโยงใยสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ถูกใช้ไปในเรื่องการรักษา “เสถียรภาพ-ความมั่นคง “ทางสังคมการเมืองเสีย ซึ่งกลุ่มคนที่ต่อต้านดังกล่าวต่างวิตกกังวลกันมากในประเด็นที่หากไม่สร้างสายสัมพันธ์ให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงคอยรักษาเสถียรภาพแล้ว บ้านเมืองก็จะวุ่นวายและปั่นป่วน 

หากคนกลุ่มนี้พยายามทำความเข้าใจระบบการเมืองและความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายให้ดี ก็จะพบว่าหากจะถวายความจงรักภักดีเพื่อที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่แผ่นดินไทยก็จำเป็นที่จะต้องทำให้การเมืองเข้าไปแปดเปื้อนสถาบันฯให้น้อยที่สุด  ซึ่งทางออกในเรื่องนี้มีไม่มากนัก และหนึ่งก็คือข้อเสนอของนิติราษฏร์

จำเป็นที่จะต้องเตือนกันว่าในวันนี้ สังคมไทยต้องช่วยกันรักษา “ เสถียรภาพ-ความมั่นคง “สังคมการเมืองด้วยมือของพวกเราเองครับ อย่าทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องเหนื่อยกับปัญหาของพสกนิกรอีกเลยครับ

อีกภาคส่วนหนึ่งของสังคมไทยในช่วงเวลาเดียวกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสังคมไทยในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใน “พื้นที่ชนบท” อย่างลึกซึ้ง   การทำการเกษตรทั้งหมดไม่ใช่การทำการเกษตรในลักษณะเดิมที่ใช้แรงงานครอบครัวเป็นฐานและทำเพื่อบริโภคเองอีกต่อไปแล้ว การทำการเกษตรที่ดำเนินมาล้วนแล้วแต่เป็นการผลิตเพื่อขายและใช้แรงงานจ้าง/เครื่องจักรในทุกระดับ    ขณะเดียวกัน  รายได้หลักของครัวเรือนทั้งหมดที่ใช้ทั้งเลี้ยงชีพและจ้างแรงงานในไร่นานั้นมาจากนอกการทำงานนอกภาคการเกษตร

กล่าวได้ว่าคนส่วนใหญ่ก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่กล่าวข้างต้น   แต่ปัญหาสำคัญก็คือว่าเราจะเข้าใจทางเลือกสู่อนาคตของคนกลุ่มที่กำลังอยู่ในช่วงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของชีวิตเขาได้อย่างไร

หากแบ่งคนในสังคมไทยออกเป็นสองกลุ่มอย่างหยาบๆ คนกลุ่มแรกคือคนชั้นกลางรุ่นเก่าที่ได้รับผลพวงจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในทศวรรษ ๒๕๑๐ มาก่อนดังได้กล่าวมาข้างต้น   คนรุ่นราวคราวเดียวกันที่เติบโตมากับคตวามเปลี่ยนแปลงในชนบท ได้แก่ คนชั้นกลางกลุ่มใหม่ซึ่งเป็นคนรุ่นเดียวกัน( อายุสี่สิบขึ้นไป ) ส้วนใหญ่แล้วได้รับการศึกษาระดับภาคบังคับ ( ป.๔ และ ป.๗ ) ในช่วงทศวรรษ ๒๕๑๐ พวกเขาเป็นเพียงแรงงานระดับล่างที่เข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯหรือเมืองใหญ่ๆในช่วงว่างจากการเพาะปลูกแล้วก็กลับบ้านกลับสู่ไร่นาเหมือนเดิม   ต่อมาพวกเขาได้พบว่าช่องทางในการเลื่อนฐานะนั้นอยู่ที่การออกไปทำงานนอกภาคเกษตร  ในทศวรรษ ๒๕๒๐ เป็นต้นมา การอพยพเพื่อทำงานนอกภาคเกษตรจึงเข้มข้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานขายแรงงานต่างประเทศหรือในประเทศ  จนกระทั่งในสองทศวรรษหลัง ( ๒๕๓๐-๒๕๔๐ ) งานนอกภาคเกษตรเป็นหนทางเดียวในการเลื่อนชนชั้นหรือเปลี่ยนสถานะของพวกเขา

ความเปลี่ยนแปลงและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงยี่สิบปีที่ผ่าน ได้ทำให้สังคมชาวนาที่ผลิตแบบชาวนาไม่เหลืออยู่แล้วในสังคมไทย  คนกลุ่มใหม่นี้ได้เปลี่ยนตนเองจากชาวนาในสังคมชาวนามาสู่การดำรงชีวิตอยู่บนระบบเศรษฐกิจนอกภาคเกษตรกรรม   ซึ่งได้ส่งผลอย่างน้อยห้าด้านด้วยกัน

ด้านแรก คนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ ต้องมี “ ทักษะ” ส่วนตัวระดับหนึ่งเพื่อที่จะ “ขาย” หรือผลิตสินค้า  การที่จะต้องมีและสร้าง “ ทักษะหรือความสามารถ” เฉพาะตัวเช่นนี้ ได้ทำให้เกิดความสำนึกในศักยภาพของปัจเจกบุคคลสูงมากกว่าการทำงานร่วมหมู่ปลูกข้าวเพื่อกินแบบเดิม  ไม่ว่า “ ทักษะ” ส่วนตัวนี้จะอยู่ในระดับธุรกิจระดับกลางหรือ เล็ก ก็ล้วนแล้วแต่เป็นพลังของสำนึกในศักยภาพของบุคคลอย่างเต็มเปี่ยม

ด้านที่สอง การเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ ได้ทำให้พวกเขาได้มองเห็นธุรกิจของตนเองเชื่อมต่อกับส่วนรวมของสังคมมากขึ้น คนทำงานอาชีพต่างๆในชุมชนแออัดได้พบว่าในยี่สิบสี่ชั่วโมงนั้น พวกเขาทั้งหลายต่างหากที่ได้ทำงานหล่อเลี้ยงทุกชีวิตในเมือง แท็กซี่ย้อมตระหนักดีว่าหากปราศจากพวกเขาแล้ว การเดินทางในกรุงเทพฯก็จะหยุดชะงักทันที  สายใยแห่งจินตนาการเชื่อมต่อตนเองกับการผลิตส่วนรวมของสังคมเช่นนี้ ย่อมทำให้พวกเขาสำนึกได้อย่างแจ่มชัดถึงความเท่าเทียมกันในฐานะพลเมืองที่ทำงานในระบบเศรษฐกิจของสังคม

ด้านที่สาม การเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของการประกอบการหรือความเสี่ยงของการดำรงชีวิต เช่น เรื่องสุขภาพ ดังนั้นคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ต้องการให้รัฐเข้ามาช่วยรับภาระความเสี่ยงนี้ในฐานะพลเมืองที่เท่าเทียมกัน    เพื่อที่พวกเขาจะได้ดำรงชีวิตดำเนินธุรกิจต่างๆได้อย่างสบายใจมากขึ้น  เดิมนั้น พวกเขาต้องแบกรับความเสี่ยงทุกด้านด้วยตนเองในขณะที่ข้าราชการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในเรื่องนี้สูงมากกว่า พวกเขาในฐานะที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของจักรกลทางเศรษฐกิจแบบใหม่จึงเรียกร้องรัฐให้เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้มากขึ้น

ด้านที่สี่ การทำงานในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ได้ทำให้เกิดการจัดตั้งองค์กรหรือเครือข่ายอีกลักษณะหนึ่งที่มีความสัมพันธ์เชิงเสมอภาคและร่วมมือกัน  รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองท้องถิ่นที่ทำให้พวกเขาสามารถเข้าไปมีบทบาทในหน่วยการปกครองที่เท่าเทียมกันมากขึ้น  การจัดตั้งองค์กรหรือเครือข่ายที่มีลักษณะความสัมพันธ์เสมอภาคนี้ได้ทำให้เขามองย้อนกลับไปในอดีตที่พวกเขาเคยมีชีวิตอยู่ภายใต้องค์กรที่ไม่เสมอภาคและมีลำดับชั้นที่ชัดเจนและพบว่าชีวิตของพวกเขาดีขึ้นเมื่ออยู่ในองค์กรลักษณะใหม่

ด้านที่ห้า ความสามารถในการสร้างความเท่าเทียมกันในการบริโภค การขยายตัวของการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้ในชีวิตประจำวันทำให้สินค้าต่างๆราคาถูกลงมาก ประกอบกับการทำงานในระบบเศรษฐกิจแบบใหม่เอื้ออำนวยให้คนทั้งหมดสามารถที่ครอบครองสินค้าต่างๆได้อย่างเท่าเทียมกัน  พลังของการบริโภคที่เท่าเทียมกันนี้ได้ทำให้ความรู้สึกถุงการที่จะต้องยอมรับความแตกต่างทางสถานะภาพลดลงอย่างรวดเร็ว

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างน้อยห้าด้านที่กล่าวมานี้ ได้ส่งผลให้คนจำนวนมากในสังคมไทยที่ครั้งหนึ่งเคยยินยอม/ยอมรับ/สยบยอมกับความสัมพันธ์ทางสังคมและความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ไม่สามารถที่จะยอมรับและอยู่กับความไม่เท่าเทียมกันอีกต่อไป 

ความเปลี่ยนแปลงในระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมไม่ได้เกิดขึ้นในสูญญากาศหรือเกิดขึ้นเพียงเพราะถูกใครคนใดคนหนึ่งชักจูง  การที่ความคิดและความรู้สึกต่อบางสิ่งบางอย่างของเราเปลี่ยนแปลงไปก็เพราะเราอยู่ในเงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่แตกต่างจากเดิมมากจนเราได้รู้สึกถึงความหมายใหม่ของตัวของเราในตำแหน่งแห่งที่ใหม่ในเงื่อนไขของสังคม  และความหมายใหม่ของตัวตนของเรานี่เองได้นำให้เราต้องตีความและให้ความหมายแก่สรรพสิ่งรอบตัวแบบใหม่ให้สอดคล้องกันไป 

เมื่อการทำงานนอกภาคเกษตรของคนชั้นกลางกลุ่มใหม่นี้เป็นงานที่ต้องเข้าไปสัมพันธ์กับรัฐมากขึ้น และมักจะละเอียดอ่อนกับการถูก/ผิดกฏหมายหรือถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการตามกฏหมาย เช่น การทำการค้าตามท้องถนน การขนส่งอย่างไม่เป็นทางการ ( รถตู้ รถจักรยานยนต์รับจ้าง) ร้านค้าย่อย ( ร้านเสริมสวยเล็กๆในหมู่บ้าน ฯลฯ )

ความจำเป็นที่ต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับรัฐมากขึ้นกว่าชีวิตของชาวไร่ชาวนาปรกติ ทำให้พวกเขาพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมักจะใช้กฏหมายหรือการวินิจฉัยกฏหมายอย่างลูบหน้าปะจมูก  เอกสารการวิจัยเรื่องสภาพปัญหาทางกฏหมายในชีวิตประจำวันของประชาชนและแนวทางการใช้กฏหมายเบิ้องต้นในการแก้ไขปัญหา ของอาจารย์ทศพล ทรรศกุลพันธ์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าชาวบ้านจำนวนมากมีความเห็นว่าการวินิจฉัยกฏหมายของเจ้าหน้าที่นั้นมีความไม่ถูกต้องมากมาย และเป็นไปอย่างเข้าข้างคนบางกลุ่มมากว่าชาวบ้านธรรมดา

การดำเนินชีวิตนอกภาคเกษตรกรรมของคนชั้นกลางกลุ่มใหม่นี้จึงประสบกับความ “ เสี่ยง” หลายประการด้วยกัน นอกจากที่มาจากทางด้านเจ้าหน้าที่และกฏหมายของรัฐแล้ว ความไม่มั่นคงและแน่นอนของการค้าขายรายย่อยก็เป็นปัจจัย “เสี่ยง” อีกด้านหนึ่ง  เพราะพวกเขาไม่สามารถที่จะคาดการณ์ได้ว่าการค้าในวันรุ่งขึ้นจะดีหรือเลวอย่างไร  และหากเลวแล้ว พวกเขาจะไปหาเงินทุนมาลงทุนต่อในวันต่อไปอย่างไร 

ในช่วงแรกของการเข้าไปสัมพันธ์กับรัฐที่ถี่ขึ้นและเข้มข้นมากขึ้นและการดำรงอยู่ในสภาวะ “ คงวามเสี่ยงสูง” เช่นนี้ก่อให้เกิดความ “ตึงเครียด”ทางสังคมสูวขึ้น ลัทธิพิธีจำนวนมากได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อผ่อนคลายความ “ ตึงเครียด” ทางสังคมนี้ เช่น  ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร. ๕  ลัทธิพีธีจาตุคามรามเทพ ลัทธิพิธีแก้กรรม ฯลฯ เพราะพวกเขาไม่สามารถจะต่อรองและจัดการกับปัญหาต่างๆที่มีต้นต่อมาจากรัฐได้ เช่น กฎหมายเทศกิจกฏหมายการจราจร กฏหมายภาษีรายได้ ฯลฯ หรือ ปัญหาที่มาจากความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจรายย่อย

แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นก้าวพ้นกรอบของการสร้างความคิดนามธรรมมาสู่ความคิดรูปธรรมชัดเจนขึ้น  ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระบบอารมณ์ความรู้สึกของคนจำนวนมากในสังคมไทยที่ได้เคลื่อนตนเองออกจากการเป็นชาวนานั้นทั้งห้าด้าน ได้แก่ ความสำนึกในศักยภาพหรือทักษะเฉพาะด้านของตนเองในการดำเนินชีวิตทางเศรษฐกิจ, การจินตนาการเชื่อมต่อระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนเข้ากับส่วนรวมของสังคมมากขึ้น, การแบกรับความเสี่ยงของการดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยตนเอง, การจัดตั้งองค์กรหรือเครือข่ายที่มีลักษณะความสัมพันธ์ที่เสมอภาคมากขึ้นและความสามารถในการบริโภคที่เท่าเทียมกัน  จึงได้ส่งผลให้คนเหล่านี้เกิดความสำนึกว่าตนเองในสถานะปัจเจกบุคคลได้มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของชาติบนฐานความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันขณะเดียวกันก็ต้องการการ”ปกป้อง” ความเสี่ยงต่างๆจากรัฐอย่างเท่าเทียมกับคนอื่นๆในสังคม  ความสำนึกเช่นนี้ได้ประกอบกันทำให้เกิดความหวังที่จะสร้างชีวิตของตนให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นด้วยศักยภาพของตน เครือข่ายที่ตนมีส่วนร่วม และมี “ หลังพิง” หลบเลี่ยงความเสี่ยงได้ด้วยการบริการและการควบคุมโดยรัฐ

ความสำนึกต่อตัวตนและความสัมพันธ์ทางสังคมที่ก่อเกิดขึ้นในช่วงปัจจุบันเช่นนี้   ได้กลายเป็นฐานของการคิดและรู้สึกแบบใหม่ที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ  โดยความสำนึกนี้ทำให้คนจำนวนมากในสังคมไทยได้เริ่มทบทวนและอธิบายระบบความสัมพันธ์แบบเดิมที่ตนคุ้นเคยและอยู่ร่วมมาเนิ่นนานด้วย “ สายตา” ใหม่ 

ความไม่เท่าเทียมในเรื่องต่างๆที่ตนเองเคยได้รับจากการบริการของรัฐ  หรือ การที่ไม่เคยได้รับการบริการจากรัฐซึ่งเดิมนั้นจะถูกอธิบายให้ยอมรับได้ว่า “เพราะเรามันจน” หรือ  “เพราะเรามันเป็นชาวบ้าน“

การยอมรับความไม่เท่าเทียมด้วยความคิดนามธรรมว่า “เพราะเรามันจน” หรือ  “เพราะเรามันเป็นชาวบ้าน“ มาจากมรดกทางความคิดและทางสังคมไทยหลายประการ ได้แก่ ความคิดเรื่องบุญ-กรรมตามศาสนาพุทธ,  การดำรงอยู่ในระบบอุปถัมภ์มาเนิ่นนานจนยอมรับความไม่เท่าเทียมกันว่าเป็นปรกติธรรมดาธรรมชาติของสังคมไทย, การอยู่ในระบบความคิดการอธิบายรัฐด้วยทฤษฏีองคาพยพที่ชาวบ้านธรรมดาแม้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐหรือชาติ แต่ก็เป็นส่วนที่ไม่สำคัญแต่อย่างใด เช่น เป็นขนหรือผม, การมี” โลก” หรือ “ พื้นที่ ”ของชาวบ้านที่แยกออกจาก “พื้นที่” ของรัฐซึ่งนานๆครั้งชาวบ่นจะเข้ามาเผชิญหน้ากับรัฐ ดังนั้นจึงยอมทนได้.

แม้ว่าในช่วงก่อนหน้าการยอมรับความไม่เท่าเทียมนี้จะก่อให้เกิดความตึงเครียดอยู่ไม่น้อย  แต่ชาวบ้านก็ไม่กล้าที่จะเผชิญหน้าหรือทุ่มกำลังเข้าแก้ไขความไม่เท่าเทียมกัน ชาวบ้านมักจะเลือกใช้ “อาวุธของผู้อ่อนแอ” ( Weapon of the weak) ได้แก่การเสียดสีนินทาในเพลงพื้นบ้านหรือในที่ลับตา

แต่เมื่อคนจำนวนมากในชนบทหรือชาวบ้านทั่วไปเริ่มเกิดความสำนึกแบบใหม่จึงได้ทำให้เกิดการหลุดพ้นออกจากกรอบการอธิบายความไม่เท่าเทียมด้วยความคิดว่า “ เพราะเรามันจน” หรือ “เพราะเรามันเป็นชาวบ้าน”  กระบวนการการสสัดหลุดออกจากกรอบนี่เริ่มต้นในราวทศวรรษ ๒๕๓๐ ที่เด่นมากที่สุดได้แก่ การแสดงออกในเพลง “ คนจนมีสิทธิไหมครับ” ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจนศิลปินดนตรีหลายประเภทนำไปขับร้องใหม่

เพลง “คนจนมีสิทธิไหมครับ” ได้เชื่อมต่อให้เห็นถึงการอธิบายโอกาสของคนจนที่มีน้อยนั้นไม่ใช่เพราะไม่มีความสามารถ หากแต่ระบบอุปถัมภ์ทำให้กลับทำให้ไม่มีโอกาส ที่สำคัญของเพลงนี้ได้สะท้อนให้เห็นการเชื่อมต่อระหว่าง “คนจน” กับ “สิทธิ” ขึ้นมาอย่างแจ่มชัดขึ้น

ความสำนึกแบบใหม่ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาเริ่มแรงกล้ามากขึ้นและได้เปลี่ยนความหมายของ “ คนจน” ว่าไม่ใช่เกิดมาจนเพราะเหตุผลแบบเดิมอีกต่อไป  แต่ว่า “ จน “ เพราะระบบของสังคมที่ทำให้คนจนไม่ได้สิทธิอย่างที่ควรจะได้ หากคนจนได้รับสิทธิตามที่ควรจะได้ก็ย่อมที่จะ “ ลืมตาอ้าปาก” ได้ตามสมควร

ความสำนึกใหม่ที่ก่อเกิดขึ้นเช่นนี้ได้ทำให้คนจำนวนมากในสังคมไทยหวนกลับไปให้ความหมายต่อ “ อดีต” ของตนและของสังคมใหม่   “อดีต” ของตนจึงเป็นโครงเรื่องของการถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มผู้มีอำนาจและอิทธิพล ซึ่งพวกตนจะต้องช่วยกันขจัดการเอารัดเอาเปรียบนี้ให้ได้เพื่อที่จะได้ก้าวหน้าต่อไป

หลังทศวรรษ ๒๕๔๐ การขยายตัวของรัฐทางด้านการบริการ ได้ทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าตนเองมี “หลังพิง” ที่จะต่อสู้/ต่อรองกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกับ “ ความเสี่ยง” ที่ต้องเผชิญทุกเมื่อเชื่อวันได้   การจัดการในเรื่องคิวรถจักรยานยนต์รับจ้างทำให้คนขัยรถจักรยานยนต์รับจ้างลดต้นทุนที่จะต้องจ่ายรายเดือนและรายวันลงไปทันที   การแปลงสินทรัพย์และเปิดธนาคารออมสินให้แก่สินเชื่อประชาชนเป็นการเอื้อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่อนคลายความเสี่ยงของการค้าขายรายย่อย  รวมทั้ง “หลังพิง” ที่สำคัญได้แก่ การรักษาพยาบาลที่ถูกลงอย่างมากที่ทำให้พวกเขามีโอกาสได้เข้ารับการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น

ทางเลือกของคนชั้นกลางกลุ่มใหม่ไม่ใช่การแบมือของจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว   หากแต่เป็นความต้องการที่จะให้รัฐบาลสร้าง “ หลังพิง” ให้แก่การลงแรงในการดำรงชีวิตและเพื่อที่จะสร้างสรรค์ชีวิตให้ก้าวหน้ามากขึ้นต่อไป คนชั้นกลางกลุ่มนี้ไม่ใช่เรียกร้องต่อรัฐเหมือนคนในประเทศที่ขอความช่วยเหลือจากสวัสดิการของรัฐแล้วไม่ทำอะไร  หากแต่คนกลุ่มนี้ได้พยายามเลื่อนฐานะตนเองด้วยแรงกายและแรงใจอย่างมากทีเดียว ลองคิดถึงเจ้าของอู่แท็กซี่ดูซิครับ เมื่อยี่สิบปีก่อนนั้น เป็น “ เจ๊กดาวน์ ลาวผ่อน ”  ตอนนี้กว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็น “ ลาวดาวน์ พี่น้องลาวผ่อน ” ครับ

ทางเลือกที่สำคัญของคนชั้นกลางใหม่กลุ่มนี้ ได้แก่ ความต้องการได้รับการบริการจากรัฐที่แตกต่างออกไป  เพราะเมื่อก่อนนั้น การบริการของรัฐจะจำกัดอยู่เฉพาะผู้ที่มีรายได้สูงหรือข้าราชการเท่านั้น  แต่หลังจากพวกเขาได้สร้างเนื้อสร้างตัวได้ระดับหนึ่งแล้ว พวกเขาเริ่มตระหนักว่าได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่มีความหมายต่อรัฐ  พวกเขาจึงควรได้รับการบริการที่ดีขึ้นกว่าเดิม

การสร้าง “ หลังพิง” ให้แก่คนชั้นกลางกลุ่มใหม่นี้ไม่ได้ทำให้คนชั้นกลางรุ่นเก่าเสียผลประโยชน์แต่ประการใด ในทางกลับกัน หากคนชั้นกลางใหม่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากขึ้น พวกเขาก็จะค่อยๆเลื่อนตนเองเข้าสู่ภาคการผลิตที่เป็นทางการและเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของสังคม ซึ่งก็จะทำให้กลุ่มคนชั้นกลางเก่าได้รับผลประโยชน์ร่วมเพิ่มมากขึ้นไป

ทางเลือกของคนชั้นกลางกลุ่มใหม่นี้จึงไม่ใช่การเปลี่ยนสังคมให้ผลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน  เพราะพวกเขาเองก็ตระหนักดีว่าชีวิตที่ดีกว่าเดิมของพวกเขารออยู่ข้างหน้าในสังคมนี้ ไม่ใช่สังคมที่เป็น “ สังคมนิยม” หรือ “สังคมเพ้อฝัน” อะไรทั้งสิ้น  เพียงแต่พวกเขากำลังต้องการความเท่าเทียมจากการบริการจากรัฐเท่านั้นเอง

หากเราเข้าใจในทางเลือกของคนชั้นกลางรุ่นใหม่นี้  พยายามให้กลไกอำนาจรัฐทุกระดับโปร่งใส และปฏิบัติต่อคนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมไม่ลูบหน้าปะจมูก ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มก็จะลดลงทันที

เราไม่มีทางที่จะแช่แข็งสังคมเอาไว้ให้อยู่ในระบบความสัมพันธ์ทางสังคมหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเดิมที่เคยจรรโลงความไม่เท่าเทียมไว้ได้  ความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้วและได้กำลังก่อตัวแรงมากขึ้นเพี่อจัดความสัมพันธ์ทางสังคมและอำนาจกันใหม่  หากเราทั้งหมดต้องการจะนำพาสังคมให้ก้าวพ้นความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังปะทุอยู่นี้ ทางใดที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาคก็จะต้องทำกันในเร็ววัน         


สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผย 5 หมู่บ้านสงขลาอันตราย หมายจับ–แนวร่วมคดีความมั่นคงพุ่ง

Posted: 21 Feb 2012 04:44 AM PST

สถานการณ์ความมั่นคงสงขลายังระอุ เผย 5 หมู่บ้านอันตราย มีหมายจับ ป.วิอาญา 31 หมาย ยอดแนวร่วมในพื้นที่อีก 297 คน เร่งจัดตั้งชุดคุ้มครองหมู่บ้านหยุดความรุนแรงในพื้นที่ 

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องประชุมหน่วยเฉพาะกิจสงขลา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา นายกฤษฏา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานและสถานการณ์ด้านความมั่นคงในพื้นที่ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย หลังจากทางจังหวัดสงขลาประกาศใช้มาตรา 21 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 เพื่อให้ผู้หลงผิดกลับสู่ภูมิลำเนาด้วยกระบวนการยุติธรรม มีพล.ต.ธฤทธิ์ สุนทร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจสงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอำเภอ ทหารและตำรวจในพื้นที่ 4 อำเภอ เข้าร่วมประชุม

นายกฤษฎา กล่าวว่า สถานการณ์ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ขณะนี้มีกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงอยู่ในพื้นที่ ตามหมายจับภายใต้ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (กลุ่ม A ) 31 คน แนวร่วมที่ยังไม่มีหมายจับ 297 คน มีพื้นที่รุนแรงที่ต้องเฝ้าระวัง 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้ายเกาะแลหนัง บ้านควนหรัน บ้านห้วยบอน บ้านแกแดะ และบ้านโคกสิเหรง ทั้งหมดได้จัดเป็นหมู่บ้านพัฒนาสันติ จากการปฏิบัติงานดูแลรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านร่วมกันกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายปกครองที่เข้าไปจัดตั้งชุดคุ้มครองหมู่บ้าน (ชคบ.) สามารถปฏิบัติงานได้เป็นผลดีเป็นที่ประจักษ์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดคุ้มครองหมู่บ้านเกาะแลหนัง ที่ได้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในเหตุการณ์ถูกลอบโจมตีจากผู้ก่อเหตุรุนแรง เมื่อปลายปี 2554

“ฝ่ายทหารมีแนวคิดจะส่งคืนพื้นที่ที่ไม่มีเหตุการณ์ให้กับฝ่ายปกครอง หรือกองกำลังฝ่ายพลเรือนเข้รับผิดชอบแทนฝ่ายทหาร ที่ถอยออกไปเป็นพี่เลี้ยง และเสริมสร้างกำลังประชาชนให้มีความเข้มแข็ง โดยจัดตั้งชุดคุ้มครองหมู่บ้าน ที่จัดตั้งแล้ว 2 หมู่บ้านคือ บ้านเกาะแลหนังกับบ้านห้วยบอน อีก 3 หมู่บ้านอยู่ระหว่างดำเนินการ” นายกฤษฎา กล่าว

ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงของจังหวัด มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการการเข้าสู่ขั้นตอนมาตรา 21 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2550 เพื่อยกเว้นโทษให้กับผู้กระทำผิด

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คปก.ยื่นประธานสภาเลื่อนพิจารณาร่างแก้ไข รธน. รอตรวจสอบร่างประชาชน

Posted: 21 Feb 2012 04:39 AM PST

ติงในการกำหนดระยะเวลาสำหรับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญทั้งกระบวนการไม่ควรเร่งรัดระยะเวลาให้สั้นเกินไปอย่างที่เสนอไว้ 180หรือ 240 วัน แต่ควรเป็นระยะเวลาที่ยาวกว่านั้น คือ 300  วัน 

22 ก.พ.55 นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....ต่อประธานรัฐสภา ลงวันที่ 21 ก.พ. 2555 ความว่า เนื่องจากขณะนี้ได้มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ต่อรัฐสภาจำนวน 6 ร่าง ประกอบด้วยร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (โดยกระทรวงยุติธรรม)ร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย ร่างที่เสนอโดยพรรคชาติไทยพัฒนา ร่างของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยการเข้าชื่อที่เสนอโดยนายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ ร่างของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยการเข้าชื่อที่เสนอโดยนายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ และร่างของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยการเข้าชื่อที่เสนอโดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ์

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้พิจารณาแล้วมีความเห็น ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะว่า ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ทั้ง 6 ฉบับ ต่างกำหนดให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงเป็นส่วนใหญ่ และมีที่มาจากการคัดเลือก โดยประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ รัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ ในสัดส่วนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน โดย สสร.ทั้งสองส่วนมีจำนวนรวมตั้งแต่ 99 ถึง 379 คน   คปก.เห็นว่า ประเด็นที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ  เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่สำคัญของกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เพราะหากที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับจากประชาชนทุกฝ่ายที่มีอุดมการณ์และความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความชอบธรรมมากขึ้น

ดังนั้น คปก.เห็นว่าควรมีหลักการ ในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฯ ฉบับแก้ไข 3 ข้อ  คือ

1.การกำหนดที่มาขอ งสสร.ควรอยู่บนพื้นฐานความต้องการ และเป็นหลักประกันเพื่อให้สสร.มีความหลากหลายของบุคคลที่มีความแตกต่างในความคิดเห็น หรือกลุ่มทางการเมืองให้มากที่สุด โดยควรกำหนดให้จำนวนสสร.มีจำนวนตามสัดส่วนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เท่าเทียมกัน โดยกำหนดเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกได้หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ซึ่งจะทำให้หนึ่งจังหวัดมีสสร.ได้หลายคนตามสัดส่วนจำนวนประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

2.คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... แต่ละฉบับ ต่างกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระหว่างการดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และให้ลงประชามติหลังจากที่สสร. ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ โดยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ของพรรคชาติไทยพัฒนากำหนดให้ทำประชามติเฉพาะกรณีที่รัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....) 

คปก.เห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการทำประชามติเป็นกระบวนการที่สำคัญและจำเป็นต้องมี หากการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องการให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับ และเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง จึงมีข้อเสนอแนะว่าควรกำหนดให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการทำประชามติเป็นช่องทางของการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชน  ขณะเดียวกันในการกำหนดระยะเวลาสำหรับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญทั้งกระบวนการไม่ควรเร่งรัดระยะเวลาให้สั้นเกินไปอย่างที่เสนอไว้ 180หรือ 240 วัน แต่ควรเป็นระยะเวลาที่ยาวกว่านั้น คือ 300  วัน

3.ตามที่ได้รับคำชี้แจงจากตัวแทนกระทรวงยุติธรรม ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา และผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฯ แก้ไขเพิ่มเติมฯ ได้ทราบว่า รัฐสภามีกำหนดการจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ในวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์2555 ซึ่งจะทำให้การพิจารณาของรัฐสภาจำกัดอยู่เฉพาะร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ของรัฐบาล พรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาเท่านั้น เนื่องจากร่างของภาคประชาชนทั้ง 3 ฉบับที่เสนอต่อประธานรัฐสภายังไม่ได้รับการตรวจสอบรายชื่อผู้เข้าชื่อเสนอ   

คปก.มีความเห็นว่า รัฐสภาควรปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 291 ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และถือเป็นความรับผิดชอบต่อเจตจำนงของประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีจำนวนมากกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นคน ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญในการสนองตอบต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเสนอกฎหมาย

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงขอเสนอให้ประธานรัฐสภาเลื่อนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ออกไปก่อน เพื่อรอให้กระบวนการตรวจสอบรายชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....  ของประชาชนทั้ง3 ฉบับแล้วเสร็จ เพื่อที่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....โดยภาคประชาชนมีโอกาสได้รับการพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตาม คปก.เห็นว่าประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาแนวทางการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างกันจนนำไปสู่ปัญหาด้านต่างๆ รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มีความรุนแรง ลึกซึ้งและกว้างขวางระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ยังคงดำรงอยู่และยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลงได้ แม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่องจากหลายฝ่าย

จึงเห็นว่า การเสนอและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ทุกฉบับโดยรัฐสภา และการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่หากเกิดขึ้น โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงควรมีเจตจำนงที่มุ่งไปเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้จริงและเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ ไม่ใช่เป็นไปโดยมุ่งประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายใด   ฝ่ายหนึ่งซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาวและจะเป็นการเพิ่มปัญหาความขัดแย้งให้มากยิ่งขึ้น

อนึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ในมาตรา 81(3) บัญญัติให้มีกฎหมายเพื่อการจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบด้วย ซึ่งต่อมามีการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรดังกล่าว คือ พระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.2553 กำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย โดยมีอำนาจในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ประกอบกับมีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนการตรากฎหมายที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามนโยบายและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หรือสิ้นไร้ซึ่งแล้วความเป็นธรรม

Posted: 21 Feb 2012 04:29 AM PST

 

หรือสิ้นไร้ซึ่งแล้วความเป็นธรรม

 

 บนบัลลังก์..
สถิตย์ความเกลียดกลัว ชิงชัง ระแวงหวาดหวั่น
พิพากษาอาญาโทษโหดมหันต์
หมายจองจำปัจจุบัน ไว้ในอดีตกาลสมัย

ในห้องตัดสิน..
อัดแน่นอคติ มลทิน มิสิ้นสงสัย
ยุติธรรม..ยุติธรรม..พร่ำบ่นไป
ทั้งดวงตาทั้งดวงใจ บอดใบ้ด้วยอำนาจหนาหนัก

นอกกรงขัง..
ร้องเรียกอย่าบิดเบือน ปิดบัง กีดกันกั้นกัก
หยุดเข่นฆ่า..หยุดทำร้าย..ด้วยความรัก
เซ่นบูชาซากปรัก ซึ่งใกล้แตกหักเสื่อมสลาย

ในคุกเรือนจำ
ทับถมความเจ็บช้ำ ปวดร้าว กว่าคาดคิดหมาย
โซ่ตรวนนั้น..พันธนาการใจกาย
สิทธิเสรีภาพสูญหาย ทำลายคุณค่าความเป็นคน

หรือสิ้นไร้ซึ่งแล้วความเป็นธรรม
จึงป้ายสีปรักปรำ (เลวระยำ) ปราศจากเหตุผล
ในคุกนั้น..นั่นคือผู้ทุกข์ทน
และนั่นคือประชาชน บนแผ่นดินไหม้หม่นผืนเดียวกัน 

...................

 

ทางเท้า : กลุ่มกวีราษฎร์

 

เพื่อร่วมเรียกร้อง
ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและผู้ต้องคดี ม.112
โดยไม่เป็นธรรมทุกราย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

มารู้จัก 'เอ็ม' ผู้อดอาหาร 168 ชม.เพื่อสิทธิการประกันตัวนักโทษการเมือง

Posted: 21 Feb 2012 04:21 AM PST

ชื่อเดิม: ทำความรู้จัก "เอ็ม"  ฤทธิพงษ์ มหาเพชร ก่อนอดอาหารครบ 168 ชม.เพื่อสิทธิการประกันตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด

 

 

คุยกับผู้ที่กระเพาะว่างเปล่าแต่หัวใจเต็มเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น "เอ็ม"  ฤทธิพงษ์ มหาเพชร ลูกศิษย์ 'สุรชัย แซ่ด่าน'  กับภารกิจการอดอาหาร 7 วัน เพื่อสิทธิการได้รับการประกันตัวจากผู้ต้องหาทางการเมือง จากคนตกงานจากการทำรัฐประหาร เรียนรู้ผ่านแคมฟร็อก สู่อาสาพยาบาล เพื่อ “ได้ช่วยคนที่อยากออกมาแสดงความคิดเห็น” รวมไปถึงการเป็นฝ่ายศิลป์สร้างความบันเทิงปลุก-ปลอบเยียวยาจิตใจผู้ถูกปราบปราม

21 ก.พ.55 เข้าสู่วันสุดท้ายของ "เอ็ม"  ฤทธิพงษ์ มหาเพชร ลูกศิษย์ 'สุรชัย แซ่ด่าน'  กับการอดอาหาร 7 วัน หรือ 168 ชั่วโมง ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวบริเวณบาทวิถีหน้าศาลอาญา รัชดา เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) และนักโทษทางการเมืองทั้งหมด โดยในวันนี้เอ็มดูอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับวันแรกๆ

“เอ็ม”  ฤทธิพงษ์ มหาเพชร ได้ทำการอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวนักโทษการเมืองต่อจาก “ไท” ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข และ ผุสดี งามขำ ที่ทำการอดอาหารในลักษณะดังกล่าวมาก่อนหน้า 112 ชม.

ทั้งนี้ก่อนที่การอดอาหาร 168 ชั่วโมง ของเขาจะสิ้นสุดภายใน 8 โมงเช้าวันที่ 22 ก.พ. นี้ เรามาทำความรู้จักชาย 37 ปีที่ชื่อ "เอ็ม"  ฤทธิพงษ์ มหาเพชร กัน

0000

 

ภูมิหลังเป็นใครมาจากไหน
จริงๆ แล้วก่อนที่จะมานี่ ผมเตรียมตัวไปทำร้านอาหารที่อมก๋อย เพราะเพื่อนทำร้านอาหารที่โน้น แล้วอยากไปช่วย  เป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด คุณพ่อเป็นคนอุดร ส่วนคุณแม่เป็นคนโคราช

ทำไมถึงเริ่มมาทำกิจกรรมทางสังคมและการเมือง
ก่อนหน้าเคยทำที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างแห่งหนึ่ง โดยบริษัทต้องปิดตัวไปเพราะว่าเกิดการรัฐประหาร (19 ก.ย.49) จึงนั่งคิดว่าทำไมต้องเป็นอย่างนี้ ก็มีวันหนึ่งเห็นมีการชุมนุมที่สนามหลวง เราก็ยังไม่เข้าไปร่วม จับพลัดจับผลูมีเพื่อนบอกว่าให้เข้าไปดูในโปรแกรมแคมฟรอก(camfrog)สิ เขามีห้องการเมืองนะ เขาไม่ได้มีแต่โป้ๆ เต้นๆ นะ ตอนนั้นเราก็คิดว่าแคมฟรอกนี่แง่ลบตลอด แต่ว่าเพื่อนเขาบอกว่ามีการเมือง อยู่บ้านก็ฟังได้ เราก็เข้าไปฟังมันก็ให้ความรู้เราดี พอเข้าไปเสร็จเราก็ถามพี่ๆ ที่เขารู้เรื่องการเมือง พอเข้าไปถามเสร็จพี่ๆ เขาก็สอนเราเรื่องโน้นเรื่องนี้ เราไม่รู้เรื่องการเมืองมาก่อนเลย เขาก็สอน

แล้วก็ได้มีโอกาสได้เข้าไปเป็นดีเจ(ในแคมฟรอก) แต่ยังไม่ได้พูดนะครับ เป็นดีเจเปิดจากสถานีวิทยุนี้เข้ามาในแคมฟรอกบ้าง มีอยู่วันหนึ่งก็อยากออกสนาม ก็ขออาสาไปถ่ายทอดหลังเวทีของชุมนุมของเสื้อแดง ก็หิ้วคอมไปเขาให้เข้าไปหลังเวทีก็เข้าไปถ่ายทอดออกห้องแคมฟรอก นั้นคือจุดเริ่มต้นเลยที่ผมได้เข้าไปร่วมประมาณปี 51 แคมฟรอกที่เล่นคือห้อง “ราชดำเนิน” เพราะเดิมทีพวกผมเข้าไปเล่นใน(เว็บบอร์ด)ที่พันทิปราชดำเนิน แล้วมีการถูกยึด “อมยิ้ม” (แบนไอดี) กัน ก็เลยอึดอัด ตั้งห้องแคมฟรอกราชดำเนินกัน ก็ได้เข้าไปร่วมด้วยกับพวกพี่ๆ เขา

ก่อนหน้านี้สนใจการเมืองแต่ไม่รู้เรื่องเลย ทางเราไม่ใช่ทางการเมืองเลย ชอบทางศิลปะ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง จนได้เข้ามาเรียกรู้เพราะโดนผลกระทบจากบริษัทเก่าที่รับเหมาก่อสร้าง คิดว่ามันต้องเกี่ยวกับการเมืองแน่ๆ ก็เลยไปลองหาศึกษาดู

พอเริ่มศึกษาการเมืองแล้วมีเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมอะไรบ้าง
พอผมกระโดดเข้ามาสนใจการเมือง ผมคิดว่าผมรู้ไม่พอที่จะไปพูดหรือออกความเห็นได้ ผมก็เลยไปสมัครเป็นพยาบาลอาสาให้กับทุกที่ แต่พอดีพยาบาลอาสาที่ฟาเรด(FARED)เขารับสมัคร ก็เลยสนใจสมัครเข้าไป ตอนนั้น Thai Free News ก็เปิดรับสมัครอาสาพยาบาลก็ลองสมัครเข้าไปดู ก็มีคุณหมอหลายๆ ท่านช่วยอบรม ปี 52 ก็สมัครเป็นอาสาพยาบาล ก็รู้สึกว่ามันใช่เรา เราได้ฟังการเมืองด้วย ได้ช่วยคนที่อยากออกมาแสดงความคิดเห็น ก็เป็นอาสาพยาบาลฟาเรด(FARED)มาตลอดเลยคราวนี้ เป็นอาสาพยาบาลให้กับม๊อบเสื้อแดงโดยตลอด

ทำไมถึงชอบอาสาพยาบาล
คือผมมีใจด้านนี้อยู่แล้ว จริงๆ ก็อยากเป็นกู้ชีพ เข้าไปมันรู้สึกดี เวลาเข้าไปช่วยเหลือคนก็รู้สึกดี ชอบด้วย แล้วก็อยู่ได้ฟังการเมืองด้วยก็เลยชอบ

การเลือกเป็นอาสาพยาบาลนี่ต้องเจอกับคนเจ็บคนป่วย มีเหตุการณ์ที่คิดว่าสะเทือนใจที่สุดไหม

ที่สะเทือนใจที่สุดตอนอยู่หน้าทำเนียบตอนปี (เมษา) 52 ผมอยู่ตรงสะพานมัฆวานเป็นอาสาสมัครพยาบาลของฟาเรดนี่ล่ะ ช่วงนั้นมีการสลายการชุมนุมมีทหารเข้ามาแล้วผมก็อยู่ตรงนั้นเลย อยู่ตรงที่ทหารเขามีการยิงกัน มีการยิงเข้าเต้นท์พยาบาล มีกระสุนเต็มเลย ผมก็หลบกันอยู่แถวนั้น สะเทือนใจก็คือเห็นคนโดนยิงนี่ล่ะ ภาพที่สะเทือนใจมี 2 เรื่อง มีคนชราคนหนึ่งที่ผมดูแลเขาตลอดเพราะว่าเขาสุขภาพไม่ค่อยดี แล้วผมก็ดูแลตลอดเลย วันที่สลายการชุมนุมผมไม่เจอเขา ไม่รู้เขาหายไปไหน แล้วผมพยายามติดต่อทุกคนก็ไม่ได้ ก็มีแต่ชื่อจริง ไม่มีเบอร์โทรศัพท์อะไรเลย โทรติดต่อทุกที่เลยก็ไม่เจอ วันนั้นก็รู้สึกเสียใจที่ว่าทำไม เขาหายไปไหน ทำไมเราดูแลเขาไม่ได้

อีกครั้งหนึ่ง(ปีเมษา 52)มีน้องคนหนึ่งผู้ชาย เขาเป็นลูกแม่ค้าขายข้าวโพด เขาก็มาเข้าขายข้าวโพดที่ม๊อบทุกวัน เขาจะตามแม่เข้ามาขายข้าวโพด เขาเห็นเราเป็นพยาบาลเขาก็ดูเราเป็นมิตร น้องก็จะมานั่งที่เต๊นท์ทุกวัน ผมก็จะเป็นคล้ายๆ พี่เลี้ยงน้องเขา เพราะสงสารน้องเขา วันสลายการชุมนุมอีกเหมือนกัน น้องคนนี้วิ่งร้องไห้ทั่วทั้งม๊อบเลยเพราะว่าแม่หายไป แล้วทุกคนก็ต่างวิ่งหนีทหาร เพราะว่าเข้ามาแล้ว เด็กคนนี้ก็วิ่งอยู่ ผมมีของหนักถือกระเป๋ายา ก็วิ่งไปตามเด็กไม่ได้ ก็เป็นภาพที่สะเทือนใจ เพราะว่าบางคนเขาอาจไม่รู้เรื่องก็ต้องมาอยู่ในเหตุการณ์นี้

หลังจากนั้นทำกิจกรรมอะไรอีกบ้าง
ผมไปทำข่าวให้ UDD Thailand อีก ตอน (มีนา-พ.ค.) ปี 53 เป็นข่าว นปช.ภาคภาษาอังกฤษ ก็เข้าไปร่วมกับเขาด้วยจนสลายการชุมนุม ต่างคนต่างแยกย้าย ผมก็อยู่บ้านไม่ได้ทำอะไร ผมชอบเล่น Photoshop ทำรูปทำอะไรแบบนี้ พอดี บก.ลายจุด หรือคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ เขาเล่น facebook กับผม แล้วเวลาเขาอยากได้รูปอะไรนี่ผมก็จะทำให้เขาดู แล้วผมก็ทำล้อการเมืองบ้างทำอะไรอย่างนี้บ้างจน บก.เขาสนใจผม ผมเสนอตัวเองล่ะ ถ้าทาง บก.ลายจุด อยากได้ฝ่ายศิลป์ทำอะไรเรียกผมได้นะครับ แล้วเผอิญ บก.ลายจุด เขากำลังจะตั้ง กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง (ปี 53 หลังสลายการชุมนุม) บก.เขาก็อยากได้ฝ่ายศิลป์พอดี ทั้งทำเสื้อ ทำป้าย ผมก็อาสาไปก่อตั้งกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง มีผม มี บก.ลายจุด และพี่ป๊อกกี้ ร่วมกันก่อตั้ง ผมก็เป็นฝ่ายศิลป์ในนั้น

พอมาอยู่กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงมีกิจกรรมอะไรที่ประทับใจหรือไม่
อยู่กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงผมค่อนข้างประทับใจทุกๆ กิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมปั่นจักรยานที่สวนรถไฟ วิ่งที่สวนสันติภาพ ผมรู้สึกว่ามันอบอุ่นดี

ที่มีเจตจำนงการอดข้าวเพื่อคุณสุรชัย แซ่ด่าน นี้เป็นมายังไง
จุดเริ่มต้นคือผมเห็นน้องไท(ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข) ทำเพื่อพ่อเขาเหมือนส่งความรักในวันวาเลนไทน์ รู้สึกดี ก็อยากส่งแบบนี้ให้อาจารย์สุรชัย มีกำลังใจในการรออิสรภาพ นั่นคือจุดเริ่มต้น แต่พอกระโดดเข้ามาตรงนี้ ถ้าเราทำขนาดนี้ เรียกร้องให้ อ.สุรชัย คนเดียว อ.สุรชัย ท่านรู้คงด่าผมว่าทำไมทำเพื่อท่านคนเดียว ก็เลยคิดว่าเราน่าจะทำเพื่อนักโทษการเมืองทุกคน น่าจะมีการได้สิทธิการประกันตัว ถึงขั้นปล่อยนักโทษการเมืองเลยก็ดีครับ แล้วคิดว่าสิ่งที่เราเรียกร้องคงต้องเป็นอย่างนั้น

คุณสุรชัย มีความสำคัญอย่างไร
ตอนแรกที่ผมฟังการเมืองกับทุกคน บางคนก็ฟังแล้วก็เฮฮาดี บางคนก็เป็นวิชาการ แต่ว่าสำหรับผมคิดว่า อ.สุรชัย นี่แกเป็นนักวิชาการที่เก่งมาก ย่อยวิชาการจนทำให้ผมเข้าใจได้ง่ายๆ เลย แกย่อยวิชาการจนเป็นภาษาชาวบ้านได้เลย มันทำให้ผมสัมผัสแกได้  แต่ว่าถ้าฟังแกจริงๆ แล้ว แกเป็นนักวิชาการนะ แต่ว่าแกย่อยมาให้ผมแล้วไง จนผมไม่รู้ตัว ผมรับข้อมูลข่าวสารจากอาจารย์มันรับง่าย เห็นภาพ มันใช่เลย แล้วรู้สึกว่าใช่ตั้งแต่ตอนนั้น รู้สึกว่าผมต้องติดตาม อ.สุรชัยแล้ว

การอดอาหารนี้จะมีไปถึงเมื่อใด
ตอนแรกผมประกาศไว้ไม่มีกำหนดนะ พอดีวันที่ 22 นี้เป็นวันที่ อ.สุรชัย ถูกคุมขังครบรอบ 1 ปีพอดี ผมก็เลยอยากประกาศตรงนี้ วันที่ 22 ครบรอบ 1 ปีแล้วนะ แต่ถ้าเกิดมีคนมาร่วมกับผมด้วยมากขึ้น เลยวันที่ 22 อาจไม่มีกำหนดก็ได้ แต่ขอให้มาร่วมด้วยกันเพื่อสิทธิในการเป็นมนุษย์ เพื่อสิทธิการประกันตัวหรือปล่อยนักโทษการเมือง ถ้ามาร่วมกับผมๆ ยอมอดข้าวต่อไปเรื่อยๆ เลยก็ได้

เป้าหมายหรือความมุ่งหวังของการอดข้าวครั้งนี้คืออะไร
คือหวังไว้นะว่าได้สิทธิการประกันหรือปล่อยตัวนักโทษเลย หวังไว้ แต่ว่ามันหวังมากไม่ได้ ก็ขอเพียงให้สังคมได้รู้ว่านักโทษคดีเหล่านี้ เขาไม่ใช่อาชญากรเลย อยากให้สังคมคิดถึงจุดนี้มากกว่า อยากให้สังคมมองเขาไม่ใช่เป็นอาชญากร ให้มองเขาเป็นคนเหมือนเขาเป็นเพื่อนบ้านคุณ อยากได้ตรงจุดนี้ก่อน เรื่องความหวังก็หวังอยู่แล้วครับ แต่อาจจะใช้เวลาสักหน่อยก็ไม่เป็นไร ขอให้สังคมเห็นก่อนก็ได้

การมาเคลื่อนไหวกับ นปช. กับเสื้อแดง กับแดงกลุ่มย่อย มีความมุ่งหวังที่จะเห็นสังคมเป็นอย่างไร
ช่วงนั้นยอมรับตรงๆ ว่าผมเข้ามาร่วมกิจกรรมกับกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงเพราะว่าอยากเยียวยา เพราะว่าผมเป็นพยาบาลอาสามาก่อน ผมก็อยากเยียวยาทุกคนที่มาเพื่ออุดมการณ์ อยากเยียวยาเขาว่าเป็นอย่างไร เพราะตอนนั้นหลายคนต้องสูญเสียชีวิต เราก็เอาชีวิตเขากลับคืนมาไม่ได้ เรียกร้องจับผู้ทำผิดตอนนั้นก็ยากแสนเข็ญ ก็มีวิธีเดียวคือเยียวยาเขาให้เห็นว่าเขายังมีค่าอยู่นะ  เห็นเห็นว่าการต่อสู้ของเขายังถูกต้องนะ ก็เลยทำความบันเทิง สังเกตกิจกรรมกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงจะเน้นบันเทิง ก็พยายามบันเทิงเขา เอาหน่าๆ คุณยังโอเคอยู่นะ คุณยังได้อยู่ ก็พยายามปลุกเขาแล้วก็ปลอบเขาด้วย

อยากเห็นสังคมการเมืองมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ผมก็ยังถือว่าผมรู้น้อยทางการเมืองอยู่ ก็อยากเห็นเรื่องสิทธิการประกันตัว เรื่องการเมืองระยะยาวผมคงต้องดูวันต่อวัน ผมคงไม่สามารถพูดได้ลึกซึ้งถึงขนาดนั้น แต่อย่างน้อยคนเราน่าจะมีโอกาส ควรได้รับโอกาสเท่าๆ กันทุกคน ผมคิดอย่างนั้น สังคมปัจจุบันก็อย่างที่เห็น บางทีอาจจะอยู่ข้างหนึ่งได้รับการประกันตัว อาจจะเป็นอิสระได้เฉยเลย กลับบางทีอยู่อีกข้างหนึ่งทำไมขังลืมไปเลยอะไรแบบนี้ มันก็จะเห็นความแตกต่างอยู่นะครับ อยากเป็นสังคมที่มีบทสรุปคือความยุติธรรม

 

เสียงจาก บก.ลายจุด (สมบัติ บุญงามอนงค์) แกนนอนกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง

“ในบรรดาเหล่าสหายสีแดง เอ็มจัดได้ว่าเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดคนหนึ่ง มักมีไอเดียและทำอะไรแหวก ๆ เมื่อเขาใช้คุณสมบัติข้อนี้มาผสมกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็จะทำให้ดูมีสีสันมากขึ้น

เอ็มผ่านเหตุการณ์ในช่วง เม.ย. พ.ค. 53 โดยแฝงตัวเป็นช่างภาพ ดังนั้นเขาได้เข้าไปอยู่ท่านกลางสมรภูมิ ได้เห็นการใช้อำนาจรัฐที่คุกคามประชาชน โดยที่ไม่ปรากฏอยู่ในสื่อกระแสหลัก และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เขายังไม่เคยหยุดเคลื่อนไหว แม้จะผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้วก็ตาม”

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทหารพม่า – กองกำลังไทใหญ่ SSA ปะทะกันในพื้นที่ท่าขี้เหล็ก

Posted: 21 Feb 2012 04:16 AM PST

กองกำลังไทใหญ่ SSA และทหารพม่ายังคงปะทะกัน แม้สองฝ่ายจะลงนามหยุดยิง ล่าสุดปะทะกันอีกในเขตพื้นที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก จากเหตุทหารพม่าออกไล่ล่า
 

 

ทหารกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army - SSA) ระหว่างการเดินสวนสนามในวันกองทัพรัฐฉานปีที่ 53 ที่ฐานทัพดอยไตแลง ทางใต้ของรัฐฉาน เมื่อ 21 พ.ค. ปี 2554 ล่าสุดสำนักข่าวฉานรายงานการปะทะกันระหว่างทหารพม่ากับทหารกองทัพรัฐฉาน SSA ในพื้นที่ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงใหม่ (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

 

มีรายงานจากแหล่งข่าวในพื้นที่ว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้เกิดการปะทะกันระหว่างทหารพม่ากับทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA สังกัดหน่วยภาคพื้นเชียงตุง บริเวณพื้นที่เมืองไฮ จังหวัดท่าขี้เหล็ก รอยต่อระหว่างท่าขี้เหล็กและเมืองพยาก ในรัฐฉานภาคตะวันออก การปะทะเกิดจากทหารพม่าออกลาดตระเวนไปพบทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA เป็นเหตุสองฝ่ายเกิดการปะทะกัน ผลฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 3 นาย

ด้าน พ.ท.เจ้ากอนจื้น ผบ.หน่วยภาคพื้นที่เชียงตุง (SSA) กล่าวว่า การปะทะสองฝ่ายเกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายเวลาประมาณ 15.00 น. จุดปะทะอยู่ห่างจากดอยก่อวัน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 20 ไมล์ ผลการปะทะฝ่าย SSA ไม่ได้รับการสูญเสีย ส่วนฝ่ายทหารพม่ายังไม่ได้รับรายงาน

"หลังจากลงนามหยุดยิงกัน ทหารพม่ายังไม่หยุดเคลื่อนไหวการทหาร เขาออกทำการลาดตระเวนกดดันทหารของเราอย่างต่อเนื่อง ก่อนนั้นเขาใช้กำลังเพียง 1-2 กองพัน ขณะนี้เพิ่มเป็น 4-5 กองพัน พยายามกดดันให้เราถอนกำลังไปอยู่ในพื้นที่ที่เขากำหนด ซึ่งเราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ แผ่นดินรัฐฉานเป็นของเรา เรามีสิทธิอยู่ได้ทุกที่" พ.ท.เจ้ากอนจื้น กล่าว

กองกำลังไทใหญ่ SSA ภายใต้การนำของพล.ท.เจ้ายอดศึก ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าเมื่อ 2 ธ.ค. 54 เพื่อสร้างสันติภาพตามนโยบายสร้างความปรองดองของประธานาธิบดีเต็งเส่ง แต่นับจากนั้นสองฝ่ายยังคงปะทะกันอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ทหาร SSA หน่วยภาคพื้นเชียงตุง และทหารพม่าปะทะกันในพื้นที่เมืองไฮ จังหวัดท่าขี้เหล็กครั้งหนึ่ง ฝ่ายทหารพม่าเสียชีวิต 5 นาย ต่อมาวันที่ 7 ก.พ. ซึ่งตรงกับวันชาติรัฐฉาน ครบ 65 ปี ทหารพม่าสนธิกำลัง 3-4 กองพัน บุกโจมตีฐานทหาร SSA ในพื้นที่ตำบลเมืองปูหลวง เมืองเป็ง รัฐฉานภาคตะวันออก ฝ่าย SSA ต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ ขณะที่มีชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุถูกลูกหลงเสียชีวิต 2 คน และมีเด็กอายุ 10 ขวบได้รับบาดเจ็บอีก 1 คน

ล่าสุดมีรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. วันนี้ (21 ก.พ.) ทหารกองกำลังไทใหญ่ SSA หน่วยภาคพื้นเชียงตุง และทหารพม่าได้ปะทะกันอีกในเขตพื้นที่เมืองไฮ จังหวัดท่าขี้เหล็ก การปะทะใช้เวลานานกว่าครึ่งชั่วโมง ขณะนี้ยังไม่มีรายงานการสูญเสียจากทั้งสองฝ่าย

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


 "คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ธงทอง จันทรางศุ: คึกฤทธิ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์

Posted: 21 Feb 2012 03:22 AM PST

การอภิปรายหัวข้อ “คึกฤทธิ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์” ในงานสัมมนา: ปราชญ์สยาม นาม "คึกฤทธิ" เนื่องในโอกาสครบ 100 ปี ชาตกาล "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช" อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อ 20 ก.พ. ที่ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์

วิทยากรในการบรรยายหัวข้อ คึกฤทธิ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในภาพจากซ้ายไปขวา  พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ผศ.ดร.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์และ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

วิดีโอการอภิปรายหัวข้อ “คึกฤทธิ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์” โดยธงทอง จันทรางศุ ในงานสัมมนา: ปราชญ์สยาม นาม "คึกฤทธิ" เนื่องในโอกาสครบ 100 ปี ชาตกาล "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช" อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อ 20 ก.พ. ที่ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์

 

เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.) มีงานสัมมนา: ปราชญ์สยาม นาม "คึกฤทธิ์" เนื่องในโอกาสครบ 100 ปี ชาตกาล "ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช" อดีตนายกรัฐมนตรี จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สถาบันคึกฤทธิ์ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ห้องคอนเวนชั่น โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีการบรรยายหัวข้อ คึกฤทธิ์กับการเมืองระหว่างประเทศ คึกฤทธิ์กับสื่อมวลชน คึกฤทธิ์กับศิลปะการแสดง และคึกฤทธิ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยในช่วงเช้า นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีได้มาอภิปรายในหัวข้อ คึกฤทธิ์กับการเมืองระหว่างประเทศด้วย

สำหรับในช่วงบ่าย มีการบรรยายหัวข้อ: คึกฤทธิ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้อภิปรายประกอบด้วย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร นักเขียนและอดีตนายตำรวจราชสำนักประจำ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

ในการอภิปรายช่วงหนึ่ง ธงทอง กล่าวว่า หนังสือเรื่องแรกของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ที่ได้อ่านคือ "สี่แผ่นดิน" อ่านเมื่อเรียนอยู่ชั้น ป.7 ในเวลานั้นราคาไม่แพง เล่มละ 8 บาท มีทั้งหมด 4 เล่ม รวมทั้ง 4 เล่มราคา 32 บาท สมัยนี้คงไปหาซื้อสี่แผ่นดินราคา 32 บาทสุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชรไมได้แล้ว โดยโครงเรื่องทั้งหมด ยึดโยงความรู้สึกคนไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งคือ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ เคยกล่าวว่า เมื่อนิยาย 4 แผ่นดินตีพิมพ์เป็นตอนในหนังสือสยามรัฐมีคนนับญาติกับแม่พลอยมาก รวมทั้งแม่ของ ม.ร.ว.อคิน และวิธีที่แม่พลอยมองสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่แตกต่างจากผู้ใหญ่ในสมัยนั้น

ธงทองเล่าต่อว่า ในปี 2533 เดือนธันวาคม ได้รับทาบทามจากทางช่อง 9 อสมท. ว่าอยากทำรายการพิเศษในวันรัฐธรรมนูญ โดยติดต่อให้เป็นพิธีกร และทางสถานีอยากสัมภาษณ์อาจารย์คึกฤทธิ์เป็นรายการพิเศษยาวประมาณ 45 นาที เรื่องพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย และอาจารย์คึกฤทธิ์กรุณานัดให้ไปสัมภาษณ์ที่บ้านริมปิง ที่เชียงใหม่ โดยตนเป็นผู้ดำเนินรายการ และตนได้ถอดเทปการสนทนาในวันดังกล่าว กลายเป็นงานชิ้นสำคัญจากโอกาสที่ได้พบอาจารย์คึกฤทธิ์

ธงทองกล่าวต่อไปว่า “ทั้งที่สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่อยู่คู่มากับเมืองไทยอย่างประมาณไม่ถูก 700 ปี  800 ปี เป็นอย่างน้อย หรืออาจจะกว่า 1,000 ปีด้วยซ้ำไป แต่จะหาผู้ที่อยู่ในฐานะที่สามารถสังเคราะห์สกัดเอาแก่นสารสำคัญๆ ของความเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ มาอธิบายให้คนไทยด้วยกันเองให้เข้าใจ ในภาษาที่เข้าใจง่ายและถูกต้องตรงกับความเป็นจริง ไม่ง่ายนักที่จะมีใครทำได้เช่นนั้น วิทยานิพนธ์ยาวๆ ใครก็เขียนได้ แต่คนที่เก่งคือคนทำบทคัดย่อสำหรับผู้บริหาร "Executive Summary" พูดกันเป็นปีๆ ก็พูดกันได้ แต่สิ่งที่อาจารย์คึกฤทธิ์ได้ทำให้เราดูก็คือ อย่างเมื้อกี้เราพูดถึงเรื่องหนังสือ "ลักษณะไทย" ซึ่งมีความตอนต้นที่พูดถึงภูมิหลังของสังคมไทยว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย ในสายตาของผมอาจจะเป็นบทคัดย่อสำหรับผู้บริหารที่ดีมากที่สุดเรื่องหนึ่งในการที่จะเล่าถึงเรื่องเมืองไทย และสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผูกพันกันมา 700-800 ปี และสรุปในข้อความไม่กี่หน้า ในหนังสือเล่มดังกล่าวนั้น อาจารย์ได้เล่าวิวัฒนาการสถาบันพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกที่เรามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ในสมัยสุโขทัยเรียงลำดับลงมาถึงรัชกาลปัจจุบัน

และไม่ใช่การเล่าเฉพาะแต่ตัวองค์ประกอบและความเป็นมาของสถาบัน แต่อาจารย์ได้แสดงความยึดโยงกับระบบสังคมไทยว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีความเชื่อมโยงกับการดำรงอยู่ของสังคมไทยทั้งหมด ระบบไพร่ ระบบศักดินา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นร่วมยุคร่วมสมัยเมื่อหลายร้อยปีก่อน และห่างไกลจากความเข้าใจของคนในยุคปัจจุบัน แต่อาจารย์ได้อธิบายลงในงานเขียนชิ้นสำคัญชิ้นนั้น

การที่พูดถึงเรื่องของสถานะของพระมหากษัตริย์ในสายตาคนไทยยังมีความซ้อนกันอยู่ในหลายๆ ถ้อยคำเช่น การเป็น "พระมหากษัตริย์" สื่อความหมายถึงหน้าที่สำคัญในการที่เป็นผู้นำในการรักษาเอกราชของประเทศ ในการรบทัพจับศึก เป็น "ขัตติยะ" เป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ การเป็น "ธรรมราชา" การดำรงรักษาไว้ซึ่งธรรมะของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งมีมากมายหลายข้อ และยิ่งกว่ากฎกติกาใดๆ ทั้งสิ้น พูดถึงเรื่องการเป็น "พระเจ้าแผ่นดิน" ซึ่งเป็นคำๆ หนึ่งที่เราหลายคนชอบใช้ หรือนิยมรู้จักกันอยู่ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นเจ้าของแผ่นดิน เมื่อเป็นเจ้าของพื้นแผ่นดิน และเมื่อเป็นเจ้าของ ก็ทรงทำนุบำรุงแผ่นดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วย อีกหลายๆ ที่อาจารย์ยกตัวอย่างมาในงานเขียนชิ้นสำคัญนั้น ผมว่าน่่าจะเป็นการปูพื้นความเข้าใจสำหรับคนทั้งหลาย และน่าจะได้ใช้เป็นประโยชน์ในหลายๆ เวทีในหลายๆ แง่มุม ผมเข้าใจว่างานวิชาการที่อ้างอิงงานเขียนดังกล่าวเราจะพบว่ามีการอ้างอิงพอสมควร เมื่อผมทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทผมก็อ้างอิงงานเขียนชิ้นที่ว่านั้นด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ธงทองได้ไปสัมภาษณ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ที่บ้านริมปิง และได้หยิบยกมากล่าวถึงโดยธงทองระบุว่าถือเป็นความเมตตาที่อาจารย์คึกฤทธิ์ได้อธิบาย โดยคำถามของธงทองนั้นเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 “ผมได้ตั้งคำถามไว้ในเรื่องที่คณะราษฎรซึ่งเป็นคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนั้นไม่ได้ตัดสินใจที่จะเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังคงเดินอยู่บนแนวทางที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยผมในฐานะผู้น้อยจึงตั้งคำถามไปว่าอย่างนี้”

โดยคำถามของธงทองคือ "ในเวลาที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 นั้น คณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองก็คงจะมีศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยก็จริงอยู่ แต่คงเห็นคุณงามความดีและความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเริ่มการปกครองระบอบนี้ ในขณะที่บางประเทศเวลาเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นก็เปลี่ยนชนิดขุดรากถอนโคนไปเลยทีเดียว"

โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ตอบว่า "ถูกครับ อย่างอาจารย์ว่ามาก็ถูก แต่ผมว่ามันยิ่งกว่าอะไรที่เขาประมาณกันเอาไว้ เพราะหมายถึงความมั่นคงของผู้ก่อการเปลี่ยนแปลง ถ้าทิ้งไปเสียเลยทีเดียวก็ลำบากครับ อาจจะเกิดการจลาจล อาจจะเกิดความไม่เชื่อถืออะไรอีกมากมาย ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ ต้องใช้เวลานาน แก้ไม่ได้ แต่ถ้าคงสถาบันนี้ไว้ พระมหากษัตริย์ยังอยู่ ความมั่นคงก็จะเกิด"

ธงทอง กล่าวว่า “สิ่งเหล่านี้เป็นมุมมองที่ผมไม่เคยมองมาก่อนนะครับ เราอาจจะพูดกันไว้ว่า "คงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์" มีประโยชน์ ซึ่งนั่นก็จริงอยู่ แต่สิ่งที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้สรุปให้ผมคือ ได้ทำให้คณะราษฎรเกิดความมั่นคงและสามารถก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อนั้นได้ เพราะในสมมติฐานที่ว่าหากพลิกกลับไปอีกข้างหนึ่ง ก็คือว่าถ้าคณะราษฎรตัดสินใจที่จะไม่เลือกการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ต่อไปแล้ว สิ่งทึ่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้ความเห็นไว้บอกว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นความจริง คือตัวคณะราษฎรเองจะเอาตัวไม่รอด ไปไม่รอด ความไม่เชื่อถือตั้งแต่เบื้องต้นก็จะปรากฏ”

“อันนี้เรามานั่งคิด ย้อนกลับไปดูเอกสารก็จะพบว่า สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ดูเหมือนว่าจะมีพระราชดำริที่สอดคล้องกับแนวคิดนี้นะครับ เพราะในเวลาที่คณะราษฎรไปกราบบังคมทูลของพระราชทานอภัยโทษที่วังสุโขทัย ก็ทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์เพื่อให้ช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านนี้ผ่านไปได้”

นอกจากนี้ธงทอง ยังได้กล่าวถึงบทสนทนากับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชในปี 2533 อีกหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องพระมหากษัตริย์กับการเป็นพุทธมามกะในรัฐธรรมนูญด้วย โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้ในวิดีโอคลิป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น