โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ประชาธิปัตย์เรียกร้องรัฐบาลห้ามแตะ 3 เรื่องในการแก้ รธน.

Posted: 03 Mar 2012 12:07 PM PST

โฆษก ปชป. เรียกร้องรัฐบาล ห้ามแตะหมวดกษัตริย์ ห้ามยุบหรือแทรกแซงองค์กรอิสระ ห้ามแก้กฎหมายเพื่อคนเพียงคนเดียวในการแก้ รธน. พร้อมนำข้าวกระเพราไข่ดาวจานละ 45 บาทมาโชว์ผู้สื่อข่าว เป็นหลักฐานว่าประชาชนกำลังเดือดร้อนเรื่องค่าครองชีพ วอนรัฐบาลอย่าใช้การตลาดมาแก้ปัญหาปากท้อง

เว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ รายงานว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์ วานนี้ (3 มี.ค.) นายชวนนท์ อินทรโกมลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เตือนรัฐบาลว่าความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้นั้นว่ากำลังส่งผลกระทบถึงสังคมไทยในวงกว้าง และกำลังจะทำให้เกิดความแตกแยกครั้งใหม่ขึ้นในสังคมไทย โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชนวนเหตุของความรุนแรงกำลังเริ่มก่อตัวขึ้นในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม นายชวนนท์ โดยกล่าวประณามการกระทำของผู้ที่ทำร้าย นายวรเจตน์ โดยกล่าวว่า ในสังคมระบอบประชาธิปไตยนั้น ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น และทุกคนจะต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นไม่ว่าจะชอบหรือไม่ และการเห็นต่างจะต้องกระทำอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่ใช่การกระทำที่ป่าเถื่อนเช่นนี้

นอกจากนี้นายชวนนท์ ยังได้แถลงถึงข้อเรียกร้องของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการให้รัฐบาลแถลงจุดยืน ใน 3 เรื่องให้ชัดเจนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำลังจะมีการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้น 1) รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องไม่มีการแตะต้องมาตราที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ 2) จะไม่มีการยุบหรือแทรกแซงองค์กรอิสระ 3) จะไม่มีการแก้กฎหมายเพื่อคนเพียงคนเดียว

โดยเฉพาะในเรื่องของหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ นั้น โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ได้เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ และกล่าวถึงคำพูดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์นั้นใจร้อนนั้น นายชวนนท์กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องใจร้อนเพราะเป็นเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงรัฐบาลว่าเหตุใด จึงยังสามารถใจเย็นกับประเด็นที่มีความสำคัญเช่นนี้ได้อยู่ เพราะเวลานี้สังคมกำลังสับสนกับการกระทำของรัฐบาล ที่ยืนยันจะไม่มีการแตะต้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กลับมีการเคลื่อนไหวของมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาล เรียกร้องให้แก้มาตรานี้ โดยโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำภาพการตั้งโต๊ะลงชื่อสนับสนุนการแก้ มาตรา 112 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน การชุมนุมคนเสื้อแดง ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์นั้น พร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้านตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ที่ผ่านมาหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ขณะนี้ประชาชนกำลังเดือดร้อนกับปัญหาค่าครองชีพ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมัน ซึ่งขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยอ้างว่าจำเป็นต้องปรับตามราคาตลาดโลก ทั้งๆที่ขณะนี้ บริษัท ปตท. มีกำไรมหาศาล และสามารถลดสัดส่วนกำไรลงเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้

ทั้งนี้นายชวนนท์ได้ยกตัวอย่างถึงราคาอาหาร ที่แพงขึ้นมาจนน่าตกใจพร้อมทั้ง นำอาหารที่ซื้อมาจากศูนย์อาหาร มาแสดงให้สื่อมวลชนดู ซึ่งข้าวผัดกะเพรา ใส่ไข่ดาวที่รัฐบาล กล่าวอ้างว่าราคาไม่เกิน 30 บาทนั้น มีราคาถึง 45 บาท ส่วนข้าวแกงราดกับข้าวสองอย่างนั้นมีราคา 35 บาท ส่วนมะนาวหนึ่งลูกในขณะนี้ มีราคาถึงลูกละ 8 บาท โดยนายชวนนท์ได้ตำหนิว่ารัฐบาล ว่าอย่าใช้การตลาดมาแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน พร้อมทั้งยกตัวอย่างข้าวแกง ธงฟ้า ในตลาดมีนบุรี ซึ่ง นายกฯ ได้ไปเยี่ยมชมเมื่อสัปดาห์ก่อน ว่าขณะนี้ทุกร้าน ได้เก็บธงฟ้าไปหมดแล้วหลังจากที่ นายกฯ กลับไป เพราะไม่สามารถจะจำหน่ายอาหารในราคาธงฟ้าโดยไม่ขาดทุนได้

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงการที่รัฐบาล จะเก็บภาษี  7% กับค่าผ่านทาง ของการทางพิเศษนั้น เป็นการภาระ และซ้ำเติมประชาชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนคิดจะทำมาก่อน แต่รัฐบาลนี้กลับตัดสินใจทำ

นอกจากเรื่องปัญหาค่าครองชีพแล้ว นายชวนนท์ ยังกล่าวถึงความล้มเหลว ของรัฐบาลในโครงการ จำนำ ผลผลิต ในกรณีของการจำนำข้าวในขณะนี้ มีการสวมสิทธิ์แทนชาวนาแล้วเอาข้าวมาจำนำอยู่เป็นจำนวนมาก และ ชาวนาที่เอาข้าวเป็นจำนำส่วนมาก ก็มักจะไม่ได้รับเงินจำนำ จำนวนเต็ม 15000 บาท เพราะถูกอ้างว่าข้าวนั้นมีความชื้นมากเกินไป

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวตำหนิรัฐบาล ถึงความไม่ชัดเจนในการแก้ปัญหาอุทกภัย โดยเล่าถึง เหตุการณ์ที่ตนและ นายอภิสิทธิ์ ได้เข้าพบผู้บริหารของบริษัทชั้นนำขณะไปเยือนที่ประเทศญี่ปุ่น ว่าหลายๆ บริษัทขณะนี้ ยังคงไม่เชื่อมั่นในแนวทางแก้ปัญหา อีกทั้งการที่รัฐบาลสามารถกู้เงินได้นั้น ไม่ได้ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อย

นายชวนนท์ ยังกล่าวถึงการกู้เงินรอบแรก 6 หมื่นล้านบาท ในสัปดาห์หน้าว่าจนถึงขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มีการชี้แจงรายละเอียดกับประชาชน ว่าจะทำโครงการอย่างไร ที่ไหนบ้าง ซึ่งหมายความว่า บ้านของตน หรือสื่อมวลชนทุกคนในห้องแถลงข่าวนี้ มีโอกาสที่จะกลายเป็นแก้มลิงได้

นายชวนนท์ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาชี้แจงเรื่องเหล่านี้ แก่ประชาชนโดยทั่วกัน เพราะจะทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมทั้งกล่าวว่า การที่เอาแผนป้องกันอุทกภัยไปชี้แจงในโรงแรม แทนที่จะชี้แจงให้ประชาชนทั่วไปทราบนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้คนบางกลุ่มฉกฉวยโอกาส จากวิกฤติของประชาชน ซึ่งถือเป็นการทำร้ายประเทศ และประชาชนอย่างยิ่งยวด

นายชวนนท์ ได้ทิ้งท้าย ถึงประเด็นที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปลงทุนสร้างเหมืองอยู่ทวีปแอฟริกา โดยกล่าวย้อนถึงคราวที่ตนเคยตั้งคำถาม ถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าการที่ตั้ง นางนลินี ทวีสิน เป็น รัฐมนตรี นั้นมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเหมืองแห่งนี้หรือไม่ เพราะนางนลินี นั้นมีสัมพันธ์อันดีกับเครือข่ายธุรกิจในทวีป แอฟริกา ซึ่งในครั้งนั้น นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกมาชี้แจงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เคยไปที่เหมืองจริง แต่ได้ทำการถอดทุนออกมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายชวนนท์ ได้นำข่าวจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับ วันที่ 2 มีนาคม 2555 มาแสดงให้ สื่อมวลชน เห็นซึ่งในเนื้อข่าวมีการพูดถึงความคืบหน้าในการก่อสร้าง เหมืองถ่านหิน มูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท ที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ไปลงทุน ในทวีปแอฟริกา  โดยนายชวนนท์ ได้กล่าวถึงนายนพดล ว่ากำลังทำตัวเป็นทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยการออกมาตอบโต้ทุกข้อกล่าวหา โดยไม่คำนึงความเป็นจริง

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทุนนิยาม101: ชะตากรรมแรงงานไอที

Posted: 03 Mar 2012 11:40 AM PST

4 มี.ค. 55 - รายการทีวีออนไลน์ "ทุนนิยาม 101" (Capitalism 101) โดยกลุ่มทุนนิยมที่สังคมกำกับ (Embedded Capitalism) ดำเนินรายการโดย "เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร" นำเสนอตอน "ชะตากรรมแรงงานไอที” ได้เชิญ พัชณีย์ คำหนัก นักวิจัยจากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign) ซึ่งทำงานวิจัยเรื่อง “สภาพการทำงานของแรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งเรียบเรียงเป็นหนังสือ “จะทำยังไงให้พวกคุณรู้ว่า “ฉันป่วย” How can I tell you when I’m ill?: เบื้องหลังคนงานผลิตสินค้าไอที” มีเนื้อหาเป็นการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของแรงงานภาคอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนสินค้าไอทีในประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสุขภาพความปลอดภัยของแรงงานหญิง ซึ่งในอุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนแรงงานหญิงมากกว่า 80%

พัชณีย์ กล่าวว่า แรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย มีปัญหาสุขภาพ และถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่องค่าจ้าง ได้รับสวัสดิการต่ำ โดยการผลิตในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ มักจะเรียกห้องทำงานว่า “คลีนรูม” ซึ่งมักออกแบบให้สภาพห้องมีความสว่าง สะอาด ปลอดฝุ่น มีการวัดฝุ่นตลอดเวลา มีการตรวจสุขภาพคนงาน คนงานในห้องผลิตจะสวมหน้ากาก แต่ในโรงงานหลายแห่ง ก็มีกรณีที่คนงานไม่ยอมสวมแว่นตาป้องกัน หรือไม่สวมถุงมือเมื่อถึงเวลาต้องเร่งผลิตให้ทันคำสั่งซื้อ นอกจากนี้ในหลายแผนกเช่น แผนกประกอบฮาร์ดดิสก์ แผนกซ่อมแซมงาน ที่ต้องใช้สารตะกั่วในการบัดกรี ก็มักมีคนงานป่วยเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากสารตะกั่วและโลหะหนักเช่นกัน

นักวิจัยจากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวด้วยว่า โรงงานอิเล็กทรอนิกส์มักจะจ้างผู้หญิงมาทำงาน โดยในงานวิจัย ผู้จัดการโรงงานแห่งหนึ่งให้ข้อมูลว่าเพราะคนงานหญิงมีความอดทนในการทำงาน นั่งนาน สามารถอดทนทำงานชิ้นเล็กน้อยจุกจิก

อย่างไรก็ตามค่าจ้างแรงงานอิเล็กทรอนิกส์มักอยู่ในระดับเทียบเท่าค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้คนงานต้องทำงานล่วงเวลาหรือโอทีเพิ่มอีก 4 ชั่วโมง รวมชั่วโมงทำงานอยู่ที่ 12 ชั่วโมงต่อวัน หากไม่ทำงานล่วงเวลา ก็จะส่งผลต่อการได้เบี้ยขยัน และการประเมินงานเพื่อปรับเงินเดือนช่วงสิ้นปี้ นอกจากนี้ผู้วิจัยยังพบว่าคนงานหญิงที่ตั้งครรภ์จำนวนมากตัดสินใจที่จะไม่แจ้งนายจ้างว่าตั้งครรภ์เพื่อที่จะได้ทำงานต่อไปได้อีก เพราะนายจ้างมักใช้เหตุนี้ในการให้พักงานโดยไม่ได้รับเบี้ยขยัน ซึ่งทำให้ได้คนงานมีรายได้น้อยลง

นอกจากนี้ยังพบว่าบริษัทหลายแห่งที่ประกาศว่ามีจรรยาบรรณทางการค้า แต่ข้อกำหนดเหล่านี้ไม่มีผลในทางปฏิบัติเช่น ในกรณีที่คนงานต้องทำงานกับสารเคมีอันตราย มีการกำหนดให้คนงานทำงานไม่เกิน 33 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ในทางปฏิบัติคนงานในหลายโรงงานต้องทำงานสัปดาห์ละ 60 ชั่วโมง

โดยพัชณีย์สรุปว่า โครงสร้างการจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นั้น มักจะมีระดับการเลื่อนขั้นคนงานไม่มาก และคนงานมักไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเนื่องจากไม่มีวุฒิการศึกษา คนงานต้องอยู่กับค่าจ้างขั้นต่ำตลอด และกว่าค่าแรงขั้นต่ำจะขึ้นแต่ละบาทก็ใช้เวลาหลายปี คนงานมักจะระบุว่าต้องทำงานหนัก เสี่ยงอันตรายมากขึ้น ต้องทำงานด้วยชั่วโมงทำงานที่ยาวขึ้น แต่ได้ค่าจ้างนิดเดียว โดยพัชณีย์เสนอว่า ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทผู้ผลิตในประเทศมักจะเป็นบริษัทที่รับเหมาช่วงมาจากแบรนด์ใหญ่ๆ เมื่อผลิตชิ้นส่วนเสร็จก็ส่งออกไปบรรจุในต่างประเทศและส่งมาขายเป็นผลิตภัณฑ์ไอทีในไทยอีกทีหนึ่ง โดยที่มูลค่าการส่งออกนั้นเติบโตมาก ขณะที่ค่าแรง เงินเดือนที่คนงานได้รับกลับไม่สัมพันธ์กัน ถือว่าคนงานไม่ได้อะไรมากนักหากเทียบกับตัวเลขการเติบโตของมูลค่าส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ส.ศิวรักษ์: จากนิติราษฎร์สู่อำนาจของราษฎร

Posted: 03 Mar 2012 03:59 AM PST

 
 
ที่สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนออกแถลงการณ์ประนามการทำร้ายร่างกายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นับว่าเป็นการแสดงออกอย่างควรแก่การยกย่อง แต่เหตุไฉนสถาบันการศึกษาอื่นๆ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนจึงยังเงียบอยู่เล่า แต่เพียงแถลงการณ์เท่านั้นยังไม่เพียงพอ
 
ขอให้ถือว่านี่เป็นนิมิตหมายที่สำคัญ อันเราควรปรับวิกฤตให้เป็นโอกาส และที่มีผู้เสนอให้มีการหยุดเคลื่อนไหวล่ารายชื่อเพื่อแก้ไข มาตรา ๑๑๒ ว่า “กำลังของเรามีไม่พอจะรณรงค์เรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันฯ โดยเฉพาะประเด็นสำคัญ คือการที่ นปช เพื่อไทยยังไงก็คงไม่เอาด้วย” แสดงว่านี่เป็นการยอมแพ้อย่างง่ายๆ
 
ก็การแก้ไขมาตรา ๑๑๒ นั้น คณะนิติราษฏร์มุ่งประสงค์ จะดำรงสถาบันกษัตริย์ไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามเจตนารมณ์ของการอภิวัฒน์สยาม เมื่อปี ๒๔๗๕ ซึ่งจะครบ ๘๐ ปีในปีนี้ แต่แล้วเจตนารมณ์ดังกล่าวได้ถูกพลิกผันไปโดยผู้ที่มีจิตสำนึกทางเผด็จการและเสนาอำมาตยาธิปไตย ซึ่งรวมทั้งคึกฤทธิ์ ปราโมช  วิจิตรวาทการ และ ส.ธนรัชต์ ฯลฯ จนถึงธานินทร์ กรัยวิเชียร โดยที่ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ก็ไม่เห็นคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นกัน ทั้งนี้ก็ไม่ต่างกันไปเท่าไรนัก กับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถ้าเราศึกษาความเป็นมาของพรรคนี้แล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่าพรรคดังกล่าวสนับสนุนการรัฐประหารในปี ๒๔๙๐ ซึ่งทำลายสาระแห่งประชาธิปไตย โดยรักษารูปแบบไว้ หาก ส.ธนรัชต์ก็ทำลายแม้รูปแบบของประชาธิปไตย ต้องการยกเอาสถาบันกษัตริย์มาแทนที่ จนเสกสรรให้สถาบันดังกล่าวศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ด้วยประการต่างๆ และที่เป็นไปได้ก็เพราะความเป็นเผด็จการสุดๆ ของทรราชคนนั้น ซึ่งใช้อิทธิพลในทาง กิน กาม เกียรติ อย่างเลวร้ายยิ่งนัก เขามีวิจิตวาทการเป็นมันสมอง และมีคึกฤทธิ์ ปราโมช สยบยอมอยู่ห่างๆ หากใช้ข้อเขียนสนับสนุนเสนาอำมาตยาธิปไตย และโจมตีขบวนการประชาธิปไตยของคณะราษฎรอย่างแนบเนียนให้ผู้คนหลงเชื่อไปตามๆ กัน จนระบอบราชาธิปไตยกลับคืนมา อย่างอยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญทุกฉบับ โดยที่สถาบันกษัตริย์แนบแน่นอยู่กับกองทัพ ซึ่งไม่ได้มีไว้ปกป้องอริราชศัตรู หากมีไว้เพื่อปราบปรามราษฎร และสถาบันนี้ยังมีอิทธิพลเหนือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อย่างไม่โปร่งใส และไม่ให้ตรวจสอบได้อีกด้วย กองทัพเป็นตัวแทนของโทสจริต ในขณะที่สำนักงานที่เอ่ยชื่อมานี้เป็นตัวแทนของโลภจริต โดยมีสถาบันสงฆ์ที่ฝักใฝ่ไปในทางไสยเวทวิทยาและพุทธพาณิชย์เป็นตัวแทนของโมหจริต
 
ถ้าไม่แก้ไขให้สถาบันกษัตริย์พ้นไปจากอกุศลมูลทั้งสาม สถาบันอันสำคัญของบ้านเมืองจะดำรงคงอยู่ได้ละหรือ ทั้งนี้โดยไม่จำต้องกล่าวถึงตัวบุคคล ซึ่งดำรงสถานะอยู่ในสถาบันนั้น
 
การแก้ไขมาตรา ๑๑๒ เป็นเพียงประเด็นหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้สถาบันกษัตริย์มีความเป็นกลางทางการเมือง ให้องค์พระประมุขอยู่เหนือความขัดแย้งของฝ่ายต่างๆ จึงจำเป็นที่สถาบันสูงสุดต้องปลอดไปจากแหล่ง แห่งอกุศลมูลทั้งสามยิ่งๆ ขึ้นทุกที แม้คณะสงฆ์ ซึ่งเต็มไปด้วยอลัชชีที่ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์กันเรื่อยๆ นั้น ก็ทำลายสถาบันกษัตริย์ตลอดมา มิใยต้องเอ่ยถึงกองทัพและสำนักงานทรัพย์สินฯ
 
การตีพิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษออกมายกย่องเทิดทูนพระมหากษัตรย์องค์ปัจจุบัน อย่างปราศจากคำวิพากษ์วิจารณ์ถึงพระจริยวัตรด้วยประการใดๆ อย่างเป็นการตอบโต้กับหนังสือภาษาอังกฤษ ๓ เล่มที่ต้องห้ามเอาเข้าประเทศ แม้แปลเป็นไทยออกมา ถ้าจับได้ก็โดนคดีมาตรา ๑๑๒ ย่อมไม่ช่วยสถาบันกษัตริย์เอาเลย
 
น่าที่นักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา และปัญญาชนที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมจะออกมาแสดงจุดยืนยิ่งๆ ขึ้นว่า เราต้องการประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่พอพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากไม่รับข้อเสนอของเรา ด้วยความเขลา หรือความกลัว หรือเพราะเขาไม่ไยไพกับสถาบัน ที่เขาตีฝีปากว่าจงรักภักดี ก็ใช่ที่เราจะต้องก้มหัวให้เขา คำตอบอยู่ที่มวลชน และการปลุกมวลชนที่ดีที่สุด คือวิถีทางของสัจจะและอหิงสา
 
ถ้าถามต่อไป ว่าจะรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญทำไม่กัน ก็ขอให้คำตอบเป็นภาษาอังกฤษดังนี้
 
The function of the King in promoting stability and acting as a sort of keystone in a non-democratic society is, of course, obvious.  But he also has, or can have, the function of acting as an escape-valve for dangerous emotions.  A French journalist said to me once that the monarchy was one of the things that have saved Britain from fascism.  What he meant was that modern people can’t, apparently, get along without drums, flags and loyalty parades, and that it is better that they should tie their leader-worship onto some figure who has no real power.  In a dictatorship the power and the glory belong to the same person.  In England the real power belongs to unprepossessing men in bowler hats: the creature who rides in a gilded coach behind soldiers in steel breastplates is really a waxwork.  It is at any rate possible that while this division of function exists a Hitler or a Stalin cannot come to power.  On the whole the European countries which have most successfully avoided fascism have been constitutional monarchies.  The conditions seemingly are that the royal family shall be long-established and taken for granted, shall understand its own position and shall not produce strong characters with political ambitions.  These have been fulfilled in Britain, the Low Countries and Scandinavia.
 
 
อย่างน้อย ยอร์ช ออร์แวล ที่เขียนความข้อนี้ คงมีน้ำหนักพอสำหรับปัญญาชนหัวก้าวหน้า
 
วรเจตน์ เพียงถูกทำร้ายร่างกายจากคนสองคน ซึ่งอาจเป็นหน้าฉากให้ใครก็ยังได้ ในขณะที่ขบวนการของคานธี และขบวนการผ้ากาสาวพัสตร์ที่คัดค้านเผด็จการทหารในพม่า ได้รับทารุณกรรมมามากกว่าเป็นไหนๆ อย่างน้อยอินเดียก็ได้รับเอกราชและทรราชย์พม่าก็อาจปลาสนาการไปในเร็วๆ นี้  แล้วเรายังต้องการรักษาราชาธิปไตยในแนวทางของเทวราช ที่เปิดโอกาสให้นายทุนขุนศึก ปู้ยี่ปู้ยำราษฎรตาดำๆ ต่อไปอย่างไม่จบสิ้นต่อไปอีกละหรือ
 
ราษฎรตามท้องถิ่นต่างๆ ตื่นขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเป็นไทของชุมชนเขาและเพื่อพิทักษ์ธรรมชาติอย่างน่าทึ่งด้วยสัจจะและอหิงสา ถ้าปัญญาชนและนักวิชาการจะเรียนรู้จากคนข้างล่าง และร่วมมือกับพหูชน ชัยชนะก็จะเป็นของราษฎรสยามสมดังเจตนารมณ์ของคณะผู้อภิวัฒน์เมื่อ ๘๐ ปีที่ล่วงมานี้
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เรียกสอบมือชก "วรเจตน์" 12 มี.ค.นี้ ตร.เข้มความปลอดภัย 'จรัล' ชี้กระแสแก้ ม.112 สูงขึ้น

Posted: 03 Mar 2012 03:25 AM PST

ผบก.น.1 นัดพี่น้องแฝดมือชกอ.วรเจตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ที่เคลื่อนไหวแก้ ม.112 พบ 12 มีนาคมนี้ พร้อมสั่งดูแลความปลอดภัยของผู้เสียหายเข้ม ด้าน 'จรัล' ชี้คุกคาม 'วรเจตน์' ยิ่งให้กระแสแก้ ม.112 สูงขึ้น

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 55  ที่ผ่านมาเว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าเวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) พล.ต.ต.พชร บุญญสิทธิ์ ผบก.น.1 เปิดเผยถึงกรณีที่นายสุพจน์ ศิลารัตนายุ 30 ปี และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ อายุ 30 ปี สองพี่น้องฝาแฝด ชาว จ.ปทุมธานี ก่อเหตุรุมทำร้ายร่างกาย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนได้รับบาดเจ็บ สาเหตุจากการที่นายวรเจตน์เข้าไปเป็นแกนนำกลุ่มนิติราษฏร์และเคลื่อนไหวการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า สำหรับขั้นตอนจากนี้ทางคดีต้องรอผลการตรวจร่างกายจากแพทย์ จากนั้นจะรอตรวจสอบผลการพิมพ์มือของผู้ต้องหาทั้งสองคน ว่ามีประวัติต้องโทษที่ใดบ้าง เพราะจะเป็นประโยชน์กับการฟ้อง ต้องโทษคดี รวมถึงอาจมีผลในการเพิ่มโทษ โดยขณะนี้ได้ปล่อยตัวชั่วคราวและนัดหมายให้มาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 12 มี.ค.นี้ ซึ่งหากสำนวนเสร็จสิ้นแล้วก็จะส่งมอบให้พนักงานอัยการได้ทันที แต่หากยังไม่เสร็จก็จะนัดมาอีกครั้งอาจจะใช้เวลา 7 วัน 12 วัน 15 วัน หรือเท่าใดก็แล้วแต่ความเหมาะสม เพื่อดูว่าสำนวนเสร็จหรือไม่ ทั้งนี้ที่ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปเพราะไม่ได้ขอหมายจับก่อน แต่ผู้ต้องหาเข้ามามอบตัวก่อนเหมือนยอมรับที่ได้ก่อเหตุไป ทางตำรวจจึงได้แจ้งข้อหาและปล่อยตัว

ผู้สื่อข่าวถามว่าคดีในท้องที่อื่นๆมีที่ใดบ้าง พล.ต.ต.พชร กล่าวว่า ต้องรอผลการตรวจสอบจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร  เมื่อถามว่าพื้นฐานผู้ต้องหาเป็นคนที่ชอบทะเลาะวิวาทกับคนอื่นทั่วไปใช่หรือไม่ พล.ต.ต.พชร กล่าวว่า จากการสอบถาม นายสุพจน์ อ้างว่าเคยถูกจับเรื่องอาวุธปืนผิดมือ ส่วนนายสุพัฒน์ คนน้อง มีคดีทำร้ายร่างกาย 4 คดี และทำให้เสียทรัพย์ 1 คดี เคยถูกจำคุก 2 ครั้ง ซึ่งเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ผู้ต้องหาให้ปากคำ แต่ต้องรอตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง

เมื่อถามว่าดูแล้วคิดเองทำเองหรือมีคนจ้าง พล.ต.ต.พชรกล่าวว่า เบื้องต้นพบว่าทำเอง แต่จากการสอบสวนก็ต้องดูอีกครั้งว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังหรือไม่ โดยชั้นนี้ต้องเชื่อตามนั้น สาเหตุมาจากไม่พอใจที่ผู้บาดเจ็บไปสนับสนุนเรื่องมาตรา 112 โดยทางด้านคดีได้มุ่งเน้นในส่วนของคดีทำร้ายร่างกาย ส่วนการสืบสวนทางข้างนั้นก็ยังทำต่อเนื่อง เพราะผู้บังคับบัญชาสั่งการไว้แล้ว

ถามว่าเรื่องการดูแลความปลอดภัยของนายวรเจตน์หลังจากนี้เป็นอย่างไร พล.ต.ต.พชร กล่าวว่า มอบหมายให้ทาง สน.ชนะสงคราม  ดูแลเป็นพิเศษแล้ว.

ด้านเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายจรัล ดิษฐาอภิชัย หนึ่งในแกนนำนปช. และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์  มิใช่มาจากความไม่พอใจของผู้ร้ายทั้งสอง น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนสร้างสถานการณ์ให้เลวร้าย เพื่อก่อประชามติว่า การรณรงค์แก้มาตรา 112 และแก้รัฐธรรมนูญ กำลังเกิดความขัดแย้งรอบใหม่แล้ว นำร่องให้กับการชุมนุมของกลุ่มสยามสามัคคีพรุ่งนี้

"ขอแสดงความเสียใจกับดร.วรเจตน์ การทำร้ายอาจารย์นั้น นอกจากเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกายอาจารย์คนหนึ่งเท่านั้น หากยังข่มขู่คุกคามเสรีภาพของนักวิชาการ อีกด้วย แล้วก็ยิ่งทำให้กระแสแก้ม.112 สู้ขึ้น"อ.จรัล กล่าว

อ.จรัล ยังเห็นว่า ผมเห็นด้วยกับความคิดเห็นของเพื่อนหลายคนที่ว่า สิ่งเลวร้ายกว่า มิใช่มีคนสองคนทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ หากการโห่ร้องไชโยของผู้จงรักภักดี

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การต่อสู้เพิ่งจะเริ่มต้น!

Posted: 03 Mar 2012 02:58 AM PST

ในที่สุดร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ทั้งสามฉบับก็ผ่านการเห็นชอบในวาระแรกจากที่ประชุมรัฐสภาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 จุดประสงค์ของการแก้ไขนี้ก็คือ ให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

แต่ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นการ “แก้ไข” หรือเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญ 2550 ในประเด็นใดบ้าง แม้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยได้ยืนยันหลายครั้งแล้วว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ถึงกระนั้น ก็ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่อาจถกเถียงได้ เช่น หมวด 10 ว่าด้วยศาล และหมวด 11 ว่าด้วย องค์กรตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญคือ กติกากลางของสังคมที่ระบุการจัดสรรปันส่วนอำนาจระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ในสังคมและวิธีการจัดการความขัดแย้งอย่างสันติหากการจัดสรรปันส่วนนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุต่าง ๆ ฉะนั้น รัฐธรรมนูญจึงมิใช่เอกสารทางกฎหมายที่ลอยอยู่ในสุญญากาศ หากแต่ถูกกำหนดจากดุลกำลังทางการเมืองที่ครอบงำอยู่ในขณะนั้น

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีเนื้อหาที่ “เป็นประชาธิปไตย” ยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มากน้อยเพียงใดจึงย่อมถูกกำหนดจากดุลกำลังในการเมืองไทยที่เป็นอยู่ขณะนี้

รัฐธรรมนูญ 2550 มีกำเนิดมาจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในเงื่อนไขที่ฝ่ายเผด็จการกุมอำนาจได้อย่างเด็ดขาด และไม่ต้องการซ้ำรอยกับรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เปิดช่องให้พลังที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็คือ พรรคการเมืองและนักการเมืองมีบทบาทเป็นอิสระนอกเหนือการควบคุมของพวกเขา รัฐธรรมนูญ 2550 จึงมีลักษณะเผด็จการแฝงเร้นที่เลวร้ายที่สุดฉบับหนึ่งเท่าที่เคยมีมาคือ โครงสร้างที่ให้พวกเผด็จการแฝงเร้นใช้อำนาจตุลาการ ผ่านสมาชิกวุฒิสภาประเภทสรรหา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรศาล มาควบคุมและกำหนดความเป็นความตายของนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่เมื่อฝ่ายประชาชนและพรรคฝ่ายประชาธิปไตยดำเนินการต่อสู้ขับเคี่ยวกับเผด็จการ ได้เติบใหญ่เข้มแข็งขึ้น ผ่านการสังหารหมู่เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน 2553 และชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ดุลกำลังทางการเมืองก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ฝ่ายเผด็จการแฝงเร้นประสบความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสาตร์ที่สำคัญ และจำต้องยอมประนีประนอมชั่วคราวเพื่อรอคอยโอกาส

นี่เป็นสภาวะของการพักรบชั่วคราวที่ฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่ได้ชัยชนะโดยเด็ดขาด ขณะที่ฝ่ายเผด็จการแฝงเร้นก็ยังคงกุมอำนาจรัฐที่แท้จริงไว้อย่างมั่นคง ฉะนั้น แม้ประชาชนจะตั้งความหวังไว้สูงเพียงใด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะยังไม่อาจเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นเพียง “ฉบับระยะผ่าน” เท่านั้นจนกว่า ดุลกำลังในอำนาจรัฐที่แท้จริงจะเปลี่ยนแปลงในขั้นรากฐาน

ถึงกระนั้น ฝ่ายประชาธิปไตยอาจคาดหวังประโยชน์จากการเคลื่อนไหวร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ในสองระดับ

ในระดับแรก ฝ่ายประชาชนอาจใช้โอกาสนี้ดำเนินการรุกทางความคิด เสนอประเด็นปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่แหลมคม โดยมุ่งเน้นไปที่เครือข่ายอำมาตยาธิปไตยคือ กองทัพ สมาชิกวุฒิสภาสรรหา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรศาล

รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยนั้นมีข้อจำกัดในการแสดงท่าทีต่อประเด็นรูปธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ แต่ประชาชนย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นและโต้แย้งได้ภายในกรอบของกฎหมายที่มีอยู่ทั้งในเวทีสาธารณะและเวทีสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ของคณะนิติราษฎร์ในกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่า การต่อสู้ทางความคิดประชาธิปไตยนั้นสามารถก่อผลสะเทือนได้อย่างกว้างขวาง และเป็นแนวรบที่ฝ่ายประชาชนมีความเหนือกว่าอย่างชัดเจน

ประเด็นการต่อสู้ทางความคิดที่สำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้คือ การวิพากษ์เครือข่ายอำมาตยาธิปไตย อันได้แก่ กองทัพ สมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และศาล ซึ่งเผด็จการใช้ควบคุมและบ่อนทำลายพลังที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นี่เป็นการรุกที่สำคัญ เพื่อบั่นทอนการครอบงำทางอุดมการณ์ของพวกเผด็จการแฝงเร้นในระยะยาว

ฝ่ายประชาธิปไตยเองก็มีอาวุธทางความคิดเหล่านี้อยู่ในมือแล้วระดับหนึ่ง จากผลงานของนักวิชาการทางกฎหมายที่เรียกว่า “คณะนิติราษฎร์” ซึ่งเสนอออกมาอย่างเป็นระบบในเรื่อง “การล้างผลพวงของรัฐประหาร” ครอบคลุมทั้งการลบล้างผลทางกฎหมายของรัฐประหาร 19 กันยายน และการเสนอหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในกรอบของรัฐธรรมนูญสามฉบับของคณะราษฎร ฝ่ายประชาธิปไตยจึงมีความพร้อมระดับหนึ่งที่จะดำเนินการต่อสู้ทางความคิดภายใต้การเคลื่อนไหวร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนประโยชน์ระดับสองที่ฝ่ายประชาธิปไตยอาจคาดหวังจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ก็คือ การลดทอนอำนาจของเผด็จการที่อยู่เหนือพลังจากการเลือกตั้งลงไประดับหนึ่ง และเป็นเป้าหมายที่อาจบรรลุได้ภายใต้ดุลกำลังสองฝ่ายปัจจุบัน นี่ยังเป็นเป้าหมายเฉพาะหน้าของรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งก็คือ การรื้อฟื้นดุลอำนาจในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยให้สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ปฏิรูปศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และศาลปกครอง เป็นต้น มิให้อำนาจตุลาการครอบงำเหนืออำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติอีกต่อไป เพื่อลดโอกาสที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องซ้ำรอยชะตากรรมของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเป็นโอกาสสำคัญยิ่งสำหรับฝ่ายประชาชนที่จะศึกษา อภิปราย ยกระดับความรับรู้ และต่อสู้ทางความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตย ช่วงชิงให้ได้รัฐธรรมนูญที่ลดทอนอำนาจบทบาทของเครือข่ายอำมาตยาธิปไตยที่เป็นมือเท้าของเผด็จการลงระดับหนึ่ง ตระเตรียมพร้อมรับกับศึกใหญ่ เพื่อบรรลุประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยอยู่ในมือของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เร่งสอบ 4 ศพ เหยื่อทรุดส่งรักษา มอ.หาดใหญ่

Posted: 03 Mar 2012 02:35 AM PST

 บุกโรงพยาบาล เร่งสอบเหตุยิง 4 ศพ ยกร่างรายงานให้ทันอีก 10 วัน เหยื่อมองไม่เห็น ส่งรักษา มอ.หาดใหญ่ 

สอบเหตุ 4 ศพ - นายอนุกูล อาแวปูเต๊ะ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมตรวจสอบกรณียิง 4 ศพที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พร้อมคณะกำลังสอบถามข้อมูลจากนายมะแอ ดอเลาะ ที่กำลังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานี เมื่อ 1 มีนาคม 2555

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 1 มีนาคม 2555 ที่อาคารผู้ป่วยประชาอุทิศ 1 โรงพยาบาลปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพ ที่บ้านกาหยี ตำบลปูโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จำนวน 6 คน ได้แก่ นายเสรี ศรีหะไตร รองประธานคณะกรรมการ นายอนุกูล อาแวปูเต๊ะ กรรมการและเลขานุการ พ.อ.ชุมพล แก้วล้วน นายยูโซะ ดอเลาะ นายอาหามะ หะยีหวัง และนายอัดนัน ดือราแม กรรมการ เข้าสอบถามข้อมูลจากผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว 2 ราย คือนายมะแอ ดอเลาะ และ ด.ช.มะรูดิง อาแวกาจิ 

นายอนุกูล เปิดเผยหลังการสอบถามข้อมูลว่า คณะกรรมการจะเดินทางไปสอบถามข้อมูลจากนายฐอบรี บือราเฮง ผู้ได้รับบาดเจ็บอีกคนที่ถูกส่งไปรักษาตัวต่อโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 6 มีนาคม 2555

นายอนุกูล เปิดเผยด้วยว่า ข้อมูลที่ได้ จะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของร่างรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ซึ่งจะต้องยกร่างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 มีนาคม 2555

นายแพทย์อรุณ ประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลปัตตานี เปิดเผยว่า ได้ส่งนายฐอบรีไปรักษาตาข้างขวาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เนื่องจากนายฐอบรีมองไม่เห็น จากการได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยถูกเศษกระจกบาด และไม่สามารถบอกได้ว่าจะใช้เวลารักษานานแค่ไหน 

นายแพทย์อรุณ เปิดเผยอีกว่า ส่วนนายมะแอ และ ด.ช.มะรูดิง ที่ยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลปัตตานีนั้น ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะได้กลับบ้านเมื่อไหร่

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กรณีโฟร์ซีซั่นกับเรื่องความเป็นหญิง

Posted: 03 Mar 2012 02:22 AM PST

เรื่องราวในกรณีที่ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่โรงแรมโฟร์ซีซัน ถนนราชวิถี ได้กลายเป็นเรื่องใหญ่อย่างไม่น่าเชื่อ และเป็นประเด็นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นปัญหาเรื่องโลกทัศน์เกี่ยวกับสิทธิสตรีในสังคมไทยอย่างชัดเจน
 
คงต้องอธิบายก่อนว่า กรณีโรงแรมโฟร์ซีซันนี้ ถูกเปิดเผยโดยนายเอกยุทธ อัญชัญบุตร นักธุรกิจและเจ้าของเว็บไซต์อินไซเดอร์ ในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นายเอกยุทธเผยแพร่ข้อมูลว่า เขาไปที่โรงแรมโฟร์ซีซัน และเห็นนายกรัฐมนตรีเดินออกมาจากโรงแรม จากนั้น ก็ถูกทำร้ายร่างกายที่ร้านกาแฟภายในโรงแรม ซึ่งดูเหมือนว่า นายเอกยุทธจะเน้นประเด็นเรื่องอำนาจเถื่อน แต่ต่อมา นายเอกยุทธกลับแถลงข่าวเปลี่ยนประเด็นเน้นไปสู่เรื่องที่ว่า เขาถูกคนของนายกรัฐมนตรีทำร้ายเพราะไปเห็นนายกรัฐมนตรีไปที่โรงแรมดังกล่าว เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. แล้วขึ้นไปชั้น ๗ ของโรงแรม อยู่ที่นั่นประมาณ ๒ ชั่วโมงเต็ม กับบุคคลที่สามที่เป็น “นักธุรกิจหนุ่มใหญ่ ด้านอสังหาริมทรัพย์คนหนึ่ง” นายเอกยุทธอธิบายว่า "มีคนกลัวว่าผมจะนำไปพูดต่อ สิ่งที่ผมเห็นนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องศีลธรรมและจรรยาบรรณ โดยเฉพาะช่วงกลางวันแสกๆ” และยังย้ำว่า  “ไม่รู้อะไรเกิดขึ้นในห้อง และไม่กล้าจะบอกว่านายกฯ กับบุคคลดังกล่าวจะไปเจอกันหรือเปล่า เพราะอาจจะเป็นเหตุบังเอิญ แต่จากที่เช็กมา ทางนายกฯ ก็ไม่ได้มีกำหนดการอะไร มีแต่บอกว่า ว.๕ แจ้งเพียงว่าเป็นเรื่องส่วนตัว”
 
การเปิดประเด็นของนายเอกยุทธ ได้กลายเป็นอาหารหลักให้สื่อมวลชนกระแสหลัก สื่อฝ่ายขวาจัด และ พรรคประชาธิปัตย์ เอามาโจมตีทันที โดยมุ่งไปที่เรื่องส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี และตีความให้เป็นประเด็นทั้งทางการบริหารและในทางศีลธรรม โดยเน้นถึงการที่นายกรัฐมนตรีหลบการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปที่โรงแรม และตีความและขุดคุ้ยให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรีไปพบกับนักธุรกิจชื่อ เศรษฐา ทวีสิน ด้วยเรื่องชู้สาว การโจมตีนำคำรหัสว่า ว.๕ ซึ่งมีความในทางการสื่อสารวิทยุว่า เป็นเรื่องส่วนตัวที่เปิดเผยไม่ได้ เพื่อสื่อให้ประชาชนมีความเห็นไปในลักษณะนั้น
 
อย่างไรก็ตาม จะขอตั้งข้อสังเกตในขั้นแรกว่า การสร้างกระแสโหมกระพือข่าวในลักษณะเช่นนี้ เกิดขึ้นโดยไม่มีการตั้งข้อสงสัยเลยว่า นายเอกยุทธนั้นเป็นแหล่งข่าวที่มีปัญหา ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นเจ้าพ่อแชร์ชาร์เตอร์ที่ถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกงประชาชน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น จอร์จ ตัน หนีคดีไปอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานานถึง ๑๙ ปี แต่ในฐานะที่แสดงตัวเป็นศัตรูกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาโดยตลอด และล่าสุด ก็เป็นเจ้าของเว็บไซต์ไทยอินไซเดอร์ ที่โจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และขบวนการคนเสื้อแดงเสมอ และที่ร้ายแรงมากคือ การแสดงทัศนะดูถูกสตรี เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ โดยนายเอกยุทธได้โพสต์ข้อความ โจมตีนายกรัฐมนตรีและลามไปถึงสตรีทางภาคเหนือ ว่า "ไม่อยากจะกล่าวคำแบบนี้ เพราะจะดูเสมือนดูถูกสตรี..แต่ในความเป็นจริงนั้น..สาวเหนือที่ไร้การศึกษาหรือขี้เกียจ และด้อยปัญญา จะมาทำงานสบายที่หญิงปกติไม่ทำกัน..หลักๆ ก็คือขายบริการ..ฉะนั้นสาวเหนือที่ไร้สติปัญญาและโง่เขลาขนาดหนักแต่หน้าด้านมารับตำแหน่ง ก็ควรจะรู้นะว่าอาชีพอะไรที่เหมาะแก่คุณ ?" ข้อความดังกล่าวทำให้นายเอกยุทธถูกกลุ่มสตรีภาคเหนือตอบโต้อย่างหนักมาแล้ว
 
และในกรณีนี้ คงจะต้องย้ำว่า นายเอกยุทธ สื่อความหมายโจมตีนายกรัฐมนตรีในเชิงของการประพฤติไม่งามทางศีลธรรม ด้วยการแสดง”ความเห็น โดยไม่มีข้อพิสูจน์เลย แต่ต่อมา นักการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ๓ คน คือ ศิริโชค โสภา เทพไท เสนพงศ์ และ ชวนนท์ อินทรโกมาลสุต ได้นำเอาเรื่องนี้ไปออกรายการสายล่อฟ้า ทางสถานีโทรทัศน์บลูสกาย ในวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ โดยแสดงการดูถูกนายกรัฐมนตรีในเรื่องเพศอย่างปราศจากหลักฐาน แต่มีลักษณะในการแสดงโวหารแบบสองแง่สองง่าม กักขฬะ และหยาบโลก ซึ่งเป็นการหมิ่นฐานะความเป็นสตรีอย่างยิ่ง
 
กลับกลายเป็นว่า น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ โดยไม่โจมตีกระบวนการละเมิดสิทธิสตรี แต่กลับโจมตีนายกรัฐมนตรีว่า ประเด็นเรื่องที่ นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ร่วมการประชุมสภา และไปโรงแรมโฟร์ซีซั่นนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และอ่อนไหวในเรื่องเพศ ที่”ผู้หญิงมีความแตกต่างจากผู้ชายมาก” ดังนั้น นายกรัฐมนตรีต้องออกมาชี้แจงให้สังคมรับทราบว่า มีความจำเป็นขนาดไหน ไปทำอะไร หากขอไปทำในเรื่องส่วนตัว ก็ถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะเป็นเวลาราชการ แต่หากไปทำในเรื่องบ้านเมือง ก็ควรทำในสถานที่ราชการ ก็จะเหมาะสมมากว่า
 
 ส่วนนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แสดงความเห็นว่า เรื่องดังกล่าวคงไม่ใช่เรื่องหญิงชายแน่นอน แต่เรื่องอยู่ที่ว่านายกฯ ไปทำอะไร เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ คำตอบนี้ก็ต้องมีให้ชัด 
 
 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงได้กล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ว่า บทบาทสตรีไทยมีความสำคัญ ซึ่งทุกคนมีส่วนช่วยพัฒนาและส่งเสริมพลังสตรีให้เข้มแข็งและยั่งยืน เพราะสตรีไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะบทบาทการเป็นแม่ของลูก การเป็นภรรยา รวมทั้งการเป็นผู้นำและผู้ตามในครอบครัว นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า “สังคมไทยยังมีช่องว่างความไม่เสมอภาคของสตรี เนื่องจากยังมองว่าเพศหญิงด้อยกว่าเพศชาย และถูกปลูกฝังให้สตรีต้องเป็นผู้ตามหรือช้างเท้าหลังมาโดยตลอด ดังนั้นจึงทำให้เป็นตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง และขาดโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงควรหันมาช่วยกันเพื่อยกระดับให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ แต่การที่จะให้เพศหญิงมีความเท่าเทียมกับเพศชายนั้น ไม่ใช่ต้องการที่จะให้เป็นคู่แข่ง เพียงแต่เป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน” และได้กล่าวโดยอ้อมถึงกรณีที่ถูกกล่าวหาว่า "อยากให้สังคมไทยให้เกียรติซึ่งกันและกันโดยไม่คำนึงถึงเพศ สีผิว หรือถิ่นกำเนิด ตลอดจนการเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ที่เศร้าใจกว่านั้นคือการที่คนไทยด้วยกันดูถูกดูแคลนกันเองเพื่อความได้เปรียบในเรื่องทางเพศ การงานหรือแม้แต่ประโยชน์ของตนเองและทางการเมือง"
 
ความจริงแล้วเนื้อหาเรื่องปัญหาสตรีตามที่นายกรัฐมนตรีกล่าว เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวว่า ขอเรียกร้องสิทธิสตรีและเกียรติของผู้หญิงไทยคืนมาจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่าบิดเบือนประเด็นและเอาผู้หญิงทั้งประเทศเป็นเกราะกำบังการตรวจสอบ มัลลิกากล่าวว่า “น.ส.ยิ่งลักษณ์รู้ตัวไหมว่ากำลังละเมิดสิทธิของสตรีอื่น กำลังละเมิดความเป็นสตรีอย่างพวกเราทั้งหลายที่ไม่ได้ไปทำอะไรลับๆล่อๆ” และว่า “อย่าโยนความน่าสงสัยที่ผู้นำตัวเองไปกระทำแล้วให้ผู้หญิงคนอื่นต้องรับผิดชอบ ถ้าทนการตรวจสอบไม่ได้ก็โปรดออกไปเสียจากการเมืองหรือลาออกจากตำแหน่งไปเลย”
 
ต่อมา ในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ได้มีนักวิชาการและบุคคล ๑๗๒ คน ได้ออกจดหมายเปิดผนึกผ่านศูนย์ข่าวอิสรา โจมตีนายกรัฐมนตรีว่า นำ" ความเป็นหญิง" มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยจดหมายเปิดผนึกเสนอว่า “กลุ่มผู้มีรายชื่อแนบท้ายใคร่ขอความร่วมมือสื่อมวลชน เผยแพร่ทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นหญิงความเป็นชายบนพื้นฐานความคิดอย่างใช้สามัญสำนึกว่า การอ้างความเป็นหญิงด้วยเจตนาหลีกเลี่ยงตอบข้อซักถาม เบี่ยงเบน บิดเบือนประเด็นข้อเท็จจริง และอาจถึงกับปกปิดความผิดพลาดอันเนื่องจาก ความไม่เดียงสาไร้ประสบการณ์ ด้อยประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคมประเทศชาติ อีกทั้งยังเป็นการทำให้สถานภาพสตรีไทยประสบภาวะถอยหลังเข้าคลองอย่างยิ่ง” ในจดหมายเปิดผนึกได้อธิบายต่อไปว่า ในบรรดาผู้นำหญิงในโลกตะวันออก ตะวันตก รวมถึงทวีปแอฟริกา ทั้งในยามสถานการณ์ปกติ หรือในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อขัดแย้ง ก็หาได้มีผู้ใดอ้างถึง "ความเป็นหญิง" ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และว่า “การเรียกร้องโอกาส การกล่าวอ้างทวงสิทธิ ทวงเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้หญิงให้เป็นที่ยอมรับ สมควรกระทำอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้หญิงถูกเลือกปฏิบัติ หรือกีดกันจากกฏหมาย สังคม การเมืองและวัฒนธรรม แต่มิใช่และไม่สมควรกระทำเพื่อเรียกร้องความเห็นใจต่อความประพฤติส่วนตัวที่มิได้เกี่ยวกับการถูกกีดกันใดๆ หรือที่ร้ายยิ่งกว่านี้ ก็คือ สร้างสิทธิพิเศษหลีกหนีหน้าที่อันพึงปฏิบัติต่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและตรวจสอบ” และ”เมื่อไม่เข้าประชุมสภา ก็ต้องชี้แจงสาเหตุอย่างตรงไปตรงมา นายกรัฐมนตรีไม่มีสิทธิกล่าวอ้างว่าเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรี หรือสาเหตุอื่นใดในอันที่จะไม่ชี้แจงการไม่เข้าประชุมสภา” จดหมายเปิดผนึกเห็นว่า นายกรัฐมนตรีใช้ข้ออ้างความเป็นหญิง มาเป็นเหตุผลอย่าง "เอาสีข้างเข้าถู" ซึ่งไม่สมควรเป็นเยี่ยงอย่างแก่ลูกผู้หญิงคนใด ทำให้ประชากรหญิงซึ่งรวมถึงผู้นำสตรีในทุกวงการ เศรษฐกิจ การศึกษา การเมืองและวัฒนธรรม ต้องพลอยเสื่อมเสียเกียรติภูมิ ที่บรรพบุรุษสตรีไทยได้สะสมสร้างมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน ยังอาจนำสังคมประเทศชาติไปสู่วิธีคิดที่เบี่ยงเบนและเดินผิดทางจนอาจหายนะได้ในที่สุด
 
ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่า เรื่องสิทธิสตรีดูจะกลายเป็นประเด็นสำคัญในการวิจารณ์ถึงบทบาทของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย โดยเฉพาะในเรื่องจดหมายเปิดผนึกที่วิจารณ์บทบาทขนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าพิจารณากรณีนี้โดยทั้งหมดแล้ว จะเห็นว่า การอธิบายเรื่องสิทธิสตรีของนายกรัฐมนตรีมิได้มีขื้นเพื่อปกปิดการไม่บริหารประเทศ แต่มีขึ้นเพื่ออธิบายตอบโต้การให้ร้ายป้ายสีอย่างหยาบช้าไร้ยางอาย โดยกระบวนการของพวกขวาจัด พลพรรคแมลงสาบ และสื่อกระแสหลัก ซึ่งสะท้อนความจนตรอกในการหาประเด็นมาโจมตีรัฐบาลด้วยเหตุผล นักสิทธิสตรี นักสิทธิมนุษยชนที่มีใจเป็นธรรม ควรจะต้องหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมในการโจมตีลักษณะนี้ ต้องเข้าใจว่า การเปิดโรงแรมเพื่อเจรจาพูดคุยกับนักธุรกิจ เป็นปรากฏการณ์ปกติที่นายกรัฐมนตรีคนอื่นที่เป็นชายก็ทำมาแล้วทั้งสิ้น และนายกรัฐมนตรีคนอื่นไม่เคยมีใครที่อยู่ในที่ประชุมสภาตลอดเวลา
 
การต่อสู้ทางการเมืองไทยจะเป็นอารยะมากขึ้น จะต้องเลิกนำเอาเรื่องส่วนตัวที่ปราศจากสาระมาโจมตีทำลายกัน
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผย สปสช.ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังกว่า 1.9 หมื่นราย

Posted: 03 Mar 2012 01:29 AM PST

สปสช.เผยยอดผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพกว่า 19,000 รายครอบคลุมทั้งการล้างไตช่องท้อง การปลูกถ่ายไต  และการฟอกเลือดซึ่งการฟอกเลือดผู้ป่วยต้องร่วมจ่ายครั้งละ  500 บาทตั้งเป้ารณรงค์ใช้วิธีการล้างไตช่องท้อง เพราะผู้ป่วยทำได้เอง
 
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 55 ที่ผ่านมานายแพทย์วินัย สวัสดิวร  เลขาธิการเสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า การบริหารจัดการกองทุนโรคไต ในปีงบประมาณ 2555 ได้ครอบคลุมการให้บริการบำบัดทดแทนไตทุกประเภท ได้แก่ การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การผ่าตัดปลูกถ่ายไต และการให้ยากดภูมิคุ้มกันหลังการปลูกถ่ายไตรวมถึงการพัฒนาระบบทั้งในด้านการพัฒนาวิชาการและกำลังคนเพื่อรองรับการให้บริการ สำหรับในปีงบประมาณ 2555 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีที่ผ่าน โดยหน่วยบริการ/ สถานบริการที่เข้าร่วมให้บริการบำบัดทดแทนไต เบิกจ่ายชดเชยค่าบริการจากกองทุนโรคไตวายได้
 
นายแพทย์วินัยกล่าว่า  นโยบายสำคัญสิทธิประโยชน์โรคไตวายเรื้อรังนั้น สปสช.เน้นวิธีการล้างไตทางช่องท้องนั้น เป็นวิธีการที่ปลอดภัยโดยเฉพาะกับผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคหัวใจ และยังเป็นวิธีที่ช่วยรักษาสภาพการทำงานของไตได้นานอีกด้วย และยังเป็นวิธีการที่สะดวกที่สุด ผู้ป่วยทำเองได้ภายใต้การติดตามอย่างใกล้ชิดของรพ. ไม่ต้องมารอคิวฟอกเลือดที่รพ. เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันของระบบสาธารณสุขไทยที่ผู้ให้บริการมีน้อยกว่าผู้รับบริการ  จากผลการศึกษาทางวิชาการพบว่า อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องมีอัตราใกล้เคียงกับต่างประเทศคือมีอัตราการรอดชีวิตที่ 1 และ 3 ปีเท่ากับ 80 และ 55  ตามลำดับ  โดยการศึกษาในต่างประเทศพบว่าผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องมีอัตราการรอดชีวิตที่ 1 และ 3 ปีเท่ากับร้อยละ 70-95 และ 46-88 ตามลำดับ  สำหรับอัตราการติดเชื้อทางช่องท้องพบว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อเท่ากับ 0.47 ครั้งต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องจากต่างประเทศเช่น สกอตแลนด์ เท่ากับ 0.42 ครั้งต่อปี นิวซีแลนด์ เท่ากับ 0.60 ครั้งต่อปี ออสเตรเลีย 0.62 ครั้งต่อปี ญี่ปุ่น 0.22ครั้งต่อปี และ ประเทศสเปนเท่ากับ 0.38 ครั้ง ต่อปี  
 
สำหรับการศึกษาทางมิติทางสังคมพบว่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องมีคุณภาพที่ดีทางด้าน กำลังใจ, สุขภาพจิต, สุขภาพกาย, การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม  และเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว พบว่าผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องชาวไทยมีคุณภาพชีวิตไม่ต่างจากต่างประเทศ   สำหรับการรักษาที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดคือการปลูกถ่ายไต ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ให้ความสำคัญและคุ้มครองค่าใช้จ่ายทั้งหมด อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องการบริจาคอวัยวะซึ่งมีไม่เพียงต่อผู้ป่วยที่รอรับบริจาคอวัยวะ   โดยแนวทางการพัฒนาระบบบริการทดแทนไตในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น  จะให้ดำเนินการบริการทดแทนไต ควบคู่กับการป้องกันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะไตวาย พัฒนาระบบบริการทดแทนไตให้มีมากเพียงพอ ได้มาตรฐาน เป็นธรรมในการเข้าถึง รวมถึงการรณรงค์และสร้างทัศนคติที่ดีต่อการบริจาคอวัยวะ โดย สปสช. ได้เป็นภาคีร่วมกับองค์กรต่างๆ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข  มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย  ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย  สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย  สมาคมนักกำหนดอาหารแห่ง
 
ประเทศไทย และ ชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย  และจะส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ป่วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และสังคมมีส่วนร่วมการดูแลดำเนินการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต
 
เลขาธิการสปสช.กล่าวว่า   สำหรับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถได้รับบริการทดแทนไต ทุกประเภทโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งดำเนินการตามนโยบายส่งเสริมการล้างไตช่องท้อง (CAPD First policy ) ยกเว้นผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือดรายเก่า ที่เป็นโรคไตวายก่อนที่ระบบหลักประกันสุขภาพจะให้ความคุ้มครอง และไม่สมัครใจทำล้างไตผ่านช่องท้อง จะต้องร่วมจ่าย 1 ใน 3 ของค่าบริการฟอกเลือด ซึ่งไม่เกิน 500 บาท ขณะที่ผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือดรายใหม่ แต่ไม่สมัครใจทำการล้างไตผ่านช่องท้องจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดเอง  ปัจจุบันผู้ป่วยที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้รับบริการทดแทนไต มีประมาณ 19,000 คน แบ่งเป็น เป็นการล้างไตทางหน้าท้อง  (CAPD) ประมาณ  9,600 คน เป็นการฟอกเลือด (HD) ประมาณ 9,300 คน และต้องให้ยากดภูมิหลังผ่าตัดปลูกถ่ายไตประมาณ 800 คน   อย่างไรก็ตาม  สำหรับงบประมาณที่ใช้ในปี 2551 ประมาณ 160 ล้านบาท, ในปี 2552 ประมาณ 1,488 ล้านบาท, ในปี 2553 ประมาณ 2,704 ล้านบาท และในปี 2554 ประมาณ 3,226 ล้านบาท และในปี 2555 สปสช. ตั้งงบไว้ 3,857 ล้านบาท เน้นการให้บริการปลูกถ่ายไต และการล้างไตทางช่องท้องในระหว่างรอรับบริจาค ควบคู่ไปกับการป้องกันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง
 
ศ.นพ.ดุสิต ล้ำเลิศกุล  นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยกล่าวว่า     โรคไตวายเรื้อรัง เป็นโรคร้ายที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต และส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของไทย    ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในอดีตยังขาดการคุ้มครองดูแลในด้าน การรักษาพยาบาลจากภาครัฐอย่างครอบคลุม ทำให้ผู้ป่วยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมากซึ่งสำหรับผู้ยากไร้มีรายได้น้อยแล้วมักจะเสียชีวิตเสียก่อนเวลาอันควร เพราะไม่มีเงินรักษา ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์นี้ลุกลามต่อไปจะเป็นการสูญเสียทั้งทรัพยากรคนและเงินอย่างมหาศาล จึงเป็นปัญหาสาธารณสุข ที่บุคลากรทางแพทย์และผู้เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญและร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน
 
อย่างไรก็ตามปัจจุบันปัญหาประชากรป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะไทยเท่านั้น แต่ใน 46 ประเทศทั่วโลกที่พัฒนาแล้วทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ต่างให้ความสำคัญกับปัญหาของโรคนี้ที่คุกคามคุณภาพชีวิตของประชากร  สำหรับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจกล่าวได้ว่า ไทยเป็นประเทศแรกที่มีบทบาท สำคัญในการปลุกกระแสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ได้เล็งเห็นความสำคัญของโรคไตเรื้อรังโรคร้ายที่คร่าชีวิต คนในแต่ละปีไปเป็นจำนวนมาก   ทั้งนี้  สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และองค์กรภาครัฐ ผนึกกำลังจัดกงาน “วันไตโลกปี 2555” ในวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคมนี้ ณ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ชั้น 1 ลานโปรโมชั่น รามาฮอลล์ ผู้สนใจเข้าร่วมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: 300 บาท เป็นค่าแรงขั้นต่ำสุด ที่นายจ้างต้องจ่าย

Posted: 03 Mar 2012 01:16 AM PST

 

การประชุมคณะกรรม​การค่าจ้างกลาง ​เมื่อวันที่ 20 ​เมษายน 2543 ที่ประชุม​ได้พิจารณา​เห็นว่า ​ในปี 2543 ข้อมูลทาง​เศรษฐกิจปรับตัว​เล็กน้อย อัตรา​การ​เจริญ​เติบ​โตจะขยายตัว​ในกิจ​การบางประ​เภท อัตรา​เงิน​เฟ้อจะ​เพิ่มขึ้น​ ไม่สนับสนุน​ให้มี​การปรับอัตราค่าจ้าง​ในขณะนี้ . . . เห็นว่า ภาวะ​เศรษฐกิจ​และ​แรงงาน​ในปี 2542 ​ไม่อยู่​ใน​เกณฑ์ดี ​แต่ลูกจ้างสามารถครองชีพอยู่​ได้ ​และคาดว่า​ในปี 2543 ยังคงอยู่​ใน​เกณฑ์​เดียวกันกับปี 2542”  (มติคณะรัฐมนตรี — อังคารที่ 1 สิงหาคม 2543)

 

ทุกครั้งที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ มันจะถูกใช้เป็นเหตุข้ออ้างของรัฐบาลในการไม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ส่งผลให้ค่าจ้างถูกดองเป็นเวลาถึงสี่ปี  (ในขณะที่อินโดนีเซีย ปรับค่าแรงขึ้นร่วมสองเท่า หลังวิกฤติ 2540 เพราะค่าเงินแลกเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงมาก) แต่ในเมืองไทย วิกฤติ 2540 ถูกนายทุน โดยเฉพาะ ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ(เครื่องจักรล้าสมัย) และตัดเย็บเสื้อผ้าส่งออก (ไนกี้ รีบอค อดีดาส ลีวายห์ ฯลฯ) หาเหตุเลิกจ้างลูกจ้างหลายหมื่นคน แล้วย้ายฐานการผลิตไปลาว เวียดนามและจีน  เพียงเพื่อว่าจะประกาศรับลูกจ้างใหม่ กับเครื่องจักรใหม่ (มือสองจากต่างประเทศที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า) ในอีกสองสามปีต่อมา ด้วยเครื่องจักรให้ทันสมัยขึ้น การใช้แรงงานต่อเครื่องจักรน้อยลง จากที่เคยใช้คนงานอาจจะ 3- 4 คน ต่อ 1 เครื่อง มาสู่การให้คนงาน 1 คน คุมเครื่องจักร 1 หรือ 2 เครื่อง และเป็นคนงานหนุ่มสาวชุดใหม่ ที่มีพละกำลัง กับค่าแรงถูกกว่าลูกจ้างเก่าที่ถูกเลิกจ้างเพราะค่าแรงแพงขึ้นและพละกำลังก็ด้อยถอยลง
 
องค์กรนายจ้างในประเทศไทยรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งกว่าองค์กรลูกจ้างมาโดยตลอด พวกเขาต่างผลักดันให้การตัดสินใจขึ้นค่าแรงลอยตัวจาก 3 ระดับ (ที่เป็นโครงสร้างค่าจ้างที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2515 อย่างสวนกระแสข้อเรียกร้องขององค์กรแรงงานที่ให้มีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำในอัตราเดียวทั้งประเทศ) มาขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัด ในปี 2545
 
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ช่องว่างค่าแรงขั้นต่ำเมืองไทยก็ห่างออกมากขึ้นเรื่อยๆ และจะมีเพียง 6-7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งภูเก็ต เท่านั้น ที่อยู่ภายใต้ค่าแรงขั้นต่ำอัตราสูงสุด ในขณะที่จังหวัดส่วนใหญ่จะเกาะกลุ่มค่าแรงในอัตราต่ำสุดมากขึ้นเรื่อยๆ (แม้แต่อยุธยาและสมุทรสาครที่อยู่ห่างกรุงเทพเพียง 1 ชั่วโมง ก็มีค่าแรงต่างจากกรุงเทพฯ มากนัก)
 
พอมาถึงในปี 2554 ค่าแรงขั้นต่ำ ก็มีมากมายถึง 32 ระดับ
 
นโยบายพรรคเพื่อไทย: 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศทันที!
 
ทั้งนี้ ในสมัยการเลือกตั้ง 2554 พรรคที่ชนะการเลือกตั้งประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศโดยทันทีเมื่อชนะการเลือกตั้ง แต่ผลก็คือไม่สามารถทำตามนโยบายได้อย่างทันทีตามที่ประชาสัมพันธ์ไว้ (ซึ่งก็ไม่เหนือการคาดเดา)  โดยประกาศจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในวันที่ 1 เมษายน 2555 (8 เดือนหลังชนะการเลือกตั้ง) ในอัตรา 300 บาทใน 7 จังหวัด และที่เหลืออีกกว่า 70 จังหวัด ยังลอยตัวเป็นการตัดสินใจระดับจังหวัดและมีมากถึง 30 ระดับเหมือนเดิม
 
กระนั้นรัฐบาลประกาศว่าค่าจ้างขั้นต่ำอัตรา 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศจะมีผลบังคับใช้ในปี 2556 – 2558
 
 

ค่าแรงขั้นต่ำ

“ค่าแรงขั้นต่ำ” คือ ค่าแรงระดับต่ำสุดที่ขบวนการแรงงานและผู้บริโภคทั่วโลกทำใจยอมรับ แต่ค่าจ้างที่เหมาะสมเพื่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพของคนงานและครอบครัว อยู่ในคำนิยาม “ค่าแรงเพื่อการครองชีพ” ซึ่งมีการประเมินมูลค่าที่ยอมรับได้ไว้ที่ “ค่าจ้างหนึ่งคน” สามารถดูแลผู้อยู่ในอุปการะ “ได้อีก 2 คน”  ในปัจจุบันนี้แทบจะไม่มีค่าจ้าง 1 คน ในประเทศโลกใต้ประเทศใดเลย รวมทั้งประเทศไทย (ยกเว้นค่่าจ้างผู้บริหาร) ที่สามารถดูแลคนทำงานและสมาชิกในครอบครัวอีกสองคนได้โดยไม่ต้องอยู่อย่างอดยาก

ประเด็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำเมืองไทย ยามนี้ แม้จะขึ้นมาอยู่ในระดับ 300 บาทต่อวัน ก็ยังไม่ถือว่าอยู่ในมาตรฐานค่าแรงเพื่อการครองชีพ โดยเฉพาะเมื่อค่าแรงมีการต่างระดับกันถึงกว่า 30 ระดับ จาก 159 – 221 บาท (2554 – มีนาคม 2555) และจะขึ้นมาอยู่ที่ตั้งแต่วันละ  222  ถึง 300 บาท(ใน 7 จังหวัด) ต้ั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไปก็ตาม เพราะ เมื่อคำนวณเป็นค่าแรงรายเดือนบนฐานคำนวณที่ใช้กันคือ ค่าจ้างรายวัน x 26 วัน รายได้ที่คนงานได้รับก็จะตกอยู่ที่เพียงเดือนละ 5,772 บาท ถึง 7,800 บาท เท่านั้น

มิหนำซ้ำรัฐบาลแม้ว่าจะประกาศนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศ 300 บาท เป็นเวลาสามปี (2556-2558) แต่ก้ระบุเงื่อนไขว่าจะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างในช่วงสามปีนี้

กระนั้น การประกาศว่าค่าแรงขั้นต่ำจะเท่ากันทั้งประเทศที่ 300 บาทนับตั้งแต่ช่วงเวลานั้น ก็ยังน่ากริ่งเกรงว่าจะทำได้จริงหรือไม่? เมื่อระบบการขึ้นค่าจ้างเมืองไทย โดยเฉพาะนับตั้งแต่ปล่อยให้ลอยตัวในปี 2545 ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่คุมโดยสมาคมนายจ้าง ที่บีบให้ค่าจ้างลอยตัวต่ำลงเรื่อยๆ และเพิ่มระดับจากที่เคยเป็นแค่ 3 ระดับมาสู่สูงสุดถึง 32 ระดับ ในปี 2554 และ 30 ระดับในปี 2555

และก็น่าห่วงใยจริงๆ นั่นแหล่ะ เพราะท่าทีของบรรดานายจ้างต่อเรื่องนี้มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ขบวนการนายจ้างก็เตรียมเล่นแง่ตั้งแต่ตอนนี้ด้วยการจะรวมค่าทำงาน ล่วงเวลา ค่าสิทธิประโยชน์และสวัสดิการพื้นฐานที่เคยจ่ายให้ลูกจ้างมาอยู่ในอัตรา 300 บาทต่อวัน

คนงานและสหภาพแรงงานเริ่มกังวลถึงกลโกงต่างๆ ของนายจ้างที่จะล้มโครงสร้างค่าจ้างที่เคยมีอยู่เดิม เฉลี่ยฐานมาอยู่ที่ 300 บาทหมด อันจะทำให้คนงานมีประสบการณ์ คนงานเก่าแก่ได้รับผลกระทบและไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการขึ้นค่าจ้างนี้ และอาจจะเสียสิทธิประโยชน์ที่เคยมีมาแต่เดิมด้วย

ค่าใช้จ่ายพื้นฐานของคนงานไทย

ขอยกตัวอย่างการศึกษาโรงงานญี่ปุ่นที่ผลิตสินค้าส่งออกแห่งหนึ่ง ที่ฝ่ายบริหารต้านสหภาพอย่างรุนแรง แกนนำรวมทั้งประธานสหภาพถูกเลิกจ้างหมดทุกคน และสหภาพก็ล้มไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ข้อมูลสวัสดิการเป็นข้อมูลเป็นสวัสดิการที่สหภาพต่อรองให้ได้มาก่อนสหภาพจะถูกทำลายโดยฝ่ายบริหารสำเร็จ (ปี 2549) แต่คนงานส่วนใหญ่ยังได้รับเงินค่าจ้างตามฐานค่าแรงรายวันตามอัตราขั้นต่ำ

สวัสดิการ

สมทบค่าเดินทาง                           10 บาท/วัน

เบี้ยขยัน (ไม่ขาด ไม่ลา ไม่สาย)     300-400 บาท/เดือน

พักร้อนปีละ                                     6 วัน

ลากิจปีละ                           4 วันโดยได้รับค่าจ้าง

ลาป่วย                             4 วันโดยได้รับค่าจ้าง

โบนัส                             2.5 เดือน

ชุดทำงานฟรีปีละ           2 ชุด

ค่าใช้จ่ายต่อ 1 คน ด้านอาหารประจำวันข้อมูลจากการพูดคุยและใช้ชีวิตอยู่กับแกนนำสหภาพสองสามวัน

เช้า

นม 1 กล่อง 10 บาท หรือ ข้าวราดแกง 1 จาน 15-20 บาท หรือหมูปิ้ง 2 ชิ้น ข้าวเหนียว 1 ห่อ 15 บาท และกาแฟ 1 แก้ว 10 บาท                  = 20 – 35 บาท

กลางวัน

ก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม                                     20 บาท

เย็น

ส้มตำ 15 บาท + กับข้าวถุง 1 ถุง (15 บาท)  + ข้าวเปล่า (5 บาท) + ส้ม 1 กก. (30 บาท)  = 65 บาท

รวมค่าอาหาร 1 วัน                            =  110 ถึง 120 บาท  (เดือนละ 3,300 ถึง 3,600 บาท)

ค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ค่าเช่าที่พัก (แชร์กับเพื่อน  5 คน จ่ายคนๆ ละ )    700 บาท/เดือน
ค่าน้ำ/ค่าไฟคนละ                                                  150 บาท/เดือน
ค่าเดินทางไปทำงาน  (วันละ 30 บาท)                  780 บาท/เดือน
ค่าใช้จ่ายส่วนตัว                                                 1,000 บาท/เดือน
ส่งเงินกลับบ้าน                                                   1,500 บาท/เดือน
รวม                                                                     4,130 บาท

รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 3,300 – 3,600 + 4,130 =  7,430 ถึง 7,730 บาท

เพียงแค่ค่าใช้จ่ายต่ำสุด ทานอาหารคุณภาพต่ำสุด พักอาศัยอยู่แบบแออัด (ตั้งแต่วัยสาวจนกลางคนก่อนที่จะถูกโล๊ะทิ้งจากโรงงานก่อนวัย 50 โดยไม่จ่ายค่าชดเชย)  คนงานแต่ละคนก็ต้องการรายได้อย่างต่ำเดือนละ 8,000 บาท

และนี่เป็นตัวเลขในปี 2549

ค่าจ้าง 300 บาท ก็ไม่เพียงพอเสียแล้วกับการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับคนงานเพียงคนเดียวในตอนนั้น  ไม่นับว่าค่าจ้างเหล่านี้ ไม่สามารถทำให้คนงานสามารถเก็บออมเพื่อการสร้างชีวิตได้เลย ถ้าพวกเธอมีลูก มีครอบครัวต้องดูแล หนทางเดียวที่จะเอาตัวรอดได้คือการทำล่วงเวลาให้มากที่สุด เพื่อรายได้เพิ่มอีกอย่างน้อยเดือนละ 5,000 – 6,000 บาท

มายาภาพเรื่องค่าแรง

มายาภาพของค่าจ้างในวิถีการกดค่าแรงขั้นต่ำให้ต่ำสุด  ไม่ว่าจะด้วยการสมัครใจ หรือถูกบังคับ คือการทำล่วงเวลา(โอที) ให้มากที่สุด หรือการทำงานพิเศษอื่นๆ

ในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ระบบการทำงานสามกะ หรือสองกะที่นิยมมากในอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิค (กะละ 12 ชั่วโมง – 8 ชั่วโมงทำงานปกติ  + 4 ชั่วโมงล่วงเวลา) และบางครั้ง คนงานจะควบกะหรือควงกะ คือทำงาน 24 ชั่วโมงรวด โดยไม่ได้พัก

ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะตัดเย็บเสื้อผ้า อาหาร อัญมณี ที่การทำงานล่วงเวลา 4 ชั่วโมงต่อวันก็ยังมีรายได้ไม่พอสำหรับการดำเนินชีวิต คนงานจึงเร่งทำงานล่วงเวลากันอย่างหนัก บางทีข้ามวันข้ามคืนกันเลยทีเดียว

กรณีโรงงานเบดแอนด์บาธที่ผลิตสินค้าให้ไนกี้และยี้ห้อดังทั่วโลกนั้นถึงขนาดเอายาบ้าใส่น้ำดื่มให้คนงานดื่มเพื่อให้ทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน (ปิดตัวและไม่จ่ายค่าชดเชยให้คนงาน 900 กว่าคน เมื่อเดือนตุลาคม  2545)

สาเหตุหนึ่งที่คนงานไทยยังไม่ถึงกับเป็นกับตายเพราะค่าจ้างขั้นต่ำ ก็เพราะว่าวิถีการจ้างงานอุตสาหกรรมมันบีบให้พวกเขาหยุดคิดไม่ได้ ดึงดูดให้พวกเขาต้องทำงานกันมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อรายได้ที่พอเพียง คนงานส่วนใหญ่เมืองไทยต้องทำงานกันสัปดาห์ละ 6 ถึง 7 วัน วันละ 12-16 ชั่วโมง เพื่อเงินค่าโอที และเพื่อแลกกับรายได้ที่ต้องการจริงๆ คือประมาณเดือนละ 8,000 – 10,000 บาท

มายาภาพเรื่องการอยู่รอดของคนงานไทยภายใต้ค่าจ้างขั้นต่ำสุด จึงถูกชดเชยด้วยเงินค่าล่วงเวลา และสิทธิประโยชน์นิดหน่อยจากบริษัท  อาทิ สมทบค่าเดินทางหรือจัดรถรับส่ง + ข้าวสวยฟรีกับข้าวซื้อ และการทำงานพิเศษอื่นๆ เสริม

ในโรงงานแต่ละโรงงานจะเต็มไปด้วยนายทุนเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน (ส่วนมากพวกหัวหน้างานและคนงานที่มีสายป่านดีหน่อย) มีการนำสินค้ามาเงินผ่อนขายกันสนั่นช่วงพักกลางวันให้กับผู้ร่วมงาน มีหมด ทั้งเครื่องสำอางค์ เสื้อผ้า อาหารแห้ง อาหารสด และอีกมากมายจิปาถะ ฯลฯ

ผู้ที่คลุกคลีกับปัญหาแรงงานจะรับรู้กันเป็นอย่างดีว่า การเลือกงานของคนงานในเมืองไทยนั้นจะดูกันที่ว่าโรงงานนั้น มีสหภาพแรงงานไหม มีงานล่วงเวลาเยอะไหม หรือมีสิทธิประโยชน์อะไรเพิ่มเติมบ้าง

แต่การทำงานล่วงเวลามาก และอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งปีทั้งชาติ  ก็ส่งผลกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนงานเหล่านี้เหมือนกัน โดยเฉพาะคนงานที่อยู่ในย่านนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ  พวกเขาและพวกเธอ(ผู้หญิงเยอะมาก)  จะเซื่องซึมเพราะพักผ่อนน้อย หน้าซีดเหลือง ไม่มีชีวิตชีวา โดยเฉพาะคนงานหญิงจะไม่มีเวลาสร้างชีวิตคู่ ไม่มีเวลาดูแลลูกของตัวเอง ต้องส่งไปให้ยายย่าเลี้ยงตามมีตามเกิดที่ต่างจังหวัด พบลูกเพียงปีละหนหรือสองหน เพราะเวลาที่มีทั้งหมดอยู่กับโรงงาน และถ้าจะมีเวลาบ้างในวันหยุด มันก็จะถูกใช้ไปกับการนอนตื่นเที่ยง แล้วลุกมาซักเสื้อผ้า หรือไปจับจ่ายซื้อของที่จำเป็นนิดหน่อยในตอนค่ำ

ปัญหาคุณภาพชีวิต การเปลี่ยนคู่ หย่าร้าง และคนงานหญิงถูกทิ้งให้รับภาระดูแลลูกตามลำพัง  เป็นภาพที่เห็นกันจนชินตา และเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมที่ไม่ได้รับการใส่ใจแม้แต่น้อย

สิ่งเหล่านี้คือมายาภาพและปัญหาที่เกิดจากประเทศที่ไม่ได้สนใจในคุณภาพชีวิตของคนชั้นล่าง

เรื่องการย้ายฐาน การปิดตัวหนี เป็นข้ออ้างที่ถูกใช้มาตลอดอยู่แล้ว

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนจากโรงงานรองเท้า เครื่องนุ่งห่ม ที่ใช้แรงงานเป็นหลักต้องทยอยปิด แม้แต่ไนกี้ อดิดาส ย้ายฐานผลิตไปหาแรงงานราคาถูกในเวียดนาม เขมร พม่า บางธุรกิจลดจ้างแรงงาน ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติแทน บางกลุ่มใช้วิธีจ้างรายวันแทนจ้างเป็นเงินเดือน (ข่าวสด, 1 มีนาคม 2555)

ข้อความที่ยกมาข้างบน คือข้ออ้างที่มีมาทุกยุคทุกสมัยในยามที่มีการเรียกร้องเรื่องการ ปรับค่าจ้าง  คือการขู่ว่าทุนจะย้ายหนีไปประเทศอื่นๆ ขู่มาตั้งแต่ปี 2515 ขู่มาตั้งแต่ปี 2530 ขู่มาตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ขู่ในทุกครั้งและก็ขู่กับคนงานทุกประเทศ

ขู่คนงานไทยว่าจะย้ายไปเวียดนาม . .

ขู่คนงานเวียดนามว่าจะย้ายไปจีน . .

และขู่คนงานจีนว่าจะย้ายไปอินเดีย . .

ถ้ามัวแต่กลัวคำขู่ของทุนซึ่งมีเสรีภาพมากมายนักที่จะเคลื่อนย้ายไปไหนก็ได้ ก็อย่าส่งเสริมการลงทุนเลยจะดีกว่า เพราะถ้าไม่สามารถต่อรองกับทุนได้ ก็ไม่สามารถคุ้มครองคนในประเทศได้

รัฐบาลก็ทำหน้าที่เพียงส่งคนในประเทศตัวเองเข้าไปเป็นแรงงานทาสให้กับทุนไทยและทุนต่างชาติอยู่เช่นนี้ต่อไป เพียงเพื่อดำรงชนชั้นอภิสิทธิชนที่ใช้ชีวิตหรูหรา ขับรถเบนซ์ ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมใบละ 3 แสน ที่สามารถเปลี่ยนถือได้วันละใบ ผูกนาฬิกาโรเล็กซ์เรือนละสามสี่แสน วันละเรือน กันต่อไป

แล้วปล่อยให้คนงานกินเพียงหมูปิ้งกับข้าวเหนียวนึ่งเป็นอาหารทุกเช้าอยู่ต่อไป

กินเพียงเพื่อให้มีกำลังอยู่บ้างในวัยยังหนุ่มยังสาวเพื่อทำงานให้ทุน และเตรียมถูกโล๊ะทิ้งอย่างไม่ใยดี เมื่อปอดเธอหายไปข้างหนึ่ง สายตาเธอไม่เห็นเพชรเม็ดเล็กอีกต่อไป และเธอเริ่มเป็นโรคจากสารตะกั่ว สารแคชเมี่ยม และฝุ่นสี ฝุ่นโลหะจากโรงงาน  ที่แพทย์ไทยยังไม่ยอมรับว่าเป็นโรคจากการทำงานอยู่จนบัดนี้

ช่องว่างรายได้ในเมืองไทยเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข

 

ช่องว่างทางรายได้นี้ เกิดจากการรวบรวมอัตราค่าจ้างจาก 3 แหล่ง คือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงาน, จากบทความ “ค่าตอบแทน” ของ “คน” ในประเทศนี้,” ในมติชนออนไลน์ เมื่อ 4 เมษายน 2554,  และจากเอกสารการสัมมนา “รายงานผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2552/2553″  โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพันธ์ ชัยกิจอุราใจ แห่งมหาวิทยาลัยศรีปทุม

ผู้เขียนได้ลองเอามาทำแผนผังเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราเงินเดือนของข้าราชการระดับสูง สส. และผู้บริหารธุรกิจ พบว่า อัตราเงินเดือนสูงสุดของข้าราชการและนักการเมืองสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำถึง  22-24 เท่า และอัตราเงินเดือนผู้บริหารกิจการร่วมทุนสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ถึง 111 เท่า  อันเป็นตัวเลขที่น่าตระหนกยิ่งนัก

Hay Group เผยแพร่รายงานค่าตอบแทนผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกในปี 2551 ปรากฎว่าผู้บริหารไทยมีค่าตอบแทนสูงสุดติดอันดับ 10 ของโลก และอันดับสองในเอเชีย เป็นรองเพียงฮ่องกง ในขณะที่ประเทศที่ได้ชื่อว่าร่ำรวย มีเศรษฐกิจมั่นคง และมีระบบสวัสดิการดีเยี่ยมในโลก อยู่ในอันดับท้ายๆ ทั้งนั้น โดยสองอันดับสุดท้ายคือ ฟินแลนด์ (ลำดับที่ 50) และสวีเดน (ลำดับที่ 51) ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศสวัสดิการประชาชนดีเยี่ยมที่สุดในโลก และเศรษฐกิจมั่นคงที่สุดในโลก

The Economist, April 20th, 2011

ตามมาด้วย  The Economist ที่ได้รายงานว่าช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนของประเทศไทยทิ้งช่วงห่างเป็นอันดับสองของโลก เป็นสองรองจากประเทศค้ายาเสพติดโคลัมเบียเท่านั้น  “ในประเทศไทย ประเทศที่ไม่เท่าเทียมมากที่สุดในเอเชีย มีอัตราส่วน 15  ต่อ 1​( In Thailand, one of Asia’s most unequal countries, the ratio is 15:1.)”

การต่อต้านสหภาพแรงงานและไม่ยอมเจรจาต่อรองกับลูกจ้างคือหนึ่งในต้นตอปัญหาช่องว่างทางชนชั้นในเมืองไทย

การต่อต้านการรวมตัวเป็นสหภาพและการเจรจาต่อรองของบรรดานายจ้างในเมืองไทย คือ สาเหตุหลักที่ช่องวางทางชนชั้นของไทยทิ้งห่างอย่างน่าตกใจ และส่งผลต่อเรื่องการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ค่าจ้างตามจริงต่ำกว่าค่าจ้างที่ควรจะเป็น เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้นายจ้างและผู้บริหาร รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ต่างก็็ขัดขวางลูกจ้างในเมืองไทยไม่ให้ตั้งสหภาพแรงงานทุกช่องทาง นายจ้างนั่นชัดอยู่แล้วว่าทำไมต้องต่อต้าน

แต่เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ที่ลูกจ้างเรียกว่า “กระทรวงนายทุน” นั่นก็เพราะเชื่อผิดๆ ว่า เพราะนักลงทุนไม่ชอบสหภาพ จึงจะต้องช่วยสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ด้วยการป้องกันไม่ให้คนงานรวมตัวเป็นสหภาพและต่อรองกับนายทุนตามวิถีสหภาพแรงงาน

ความคืบหน้าการชุมนุมของคนงานบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ และบริษัท ซิลเวอร์ ไอซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องประดับส่งออกต่างประเทศ ย่านประเวศ รวมกว่า 1,000 คน ที่ชุมนุมเรียกร้องให้ ก.แรงงานเร่งหาทางช่วยเหลือเพราะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท . . นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน งมารับหนังสือร้องเรียน โดยระหว่างการเจรจา นายเผดิมชัยได้ตำหนิการออกมาเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานอย่างรุนแรง เพราะมองว่าทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหายและส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน (27 กุมภาพันธ์ 2555, Sanook.com)

เมื่อคนงานในโรงงานใดพยายามตั้งสหภาพแรงงาน ฝ่ายบริหารจะจัดการแกนนำทันทีด้วยไม้อ่อนและไม้แข็ง เมื่อไม้อ่อนไม่สำเร็จก็ด้วยไม้แข็งทันที่โดยเฉพาะต่อแกนนำและสมาชิกที่เข้มแข็ง ด้วยการหาเหตุเลิกจ้าง ไล่ออกจากงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ส่งคนทำร้ายร่างกายแกนนำ ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงมีจำนวนแรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในสถานประกอบการเอกชน ที่ฝ่าดงตีนของรปภ. และแรงต้านทุกรูปแบบของนายจ้างและฝ่ายบริหารมาได้เพียง 0.95% (เพียง 378,813 คน) เมื่อเทียบกับกำลังแรงงานทั้งประเทศ 39.5 ล้านคน น้อยติดอันดับโลกอีกเช่นกัน

ในขณะที่กำลังแรงงานทั้งประเทศร่วมสี่สิบล้านคน มีคนงานอยู่ในระบบประกันสังคมที่จ่ายสมทบโดยนายจ้างและลูกจ้างเพียง 9 ล้านคน (และคุ้มครองเพียง 6 เดือนหลังถูกเลิกจ้าง) รัฐบาลจึงแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนประกันตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ

จะสรุปได้ว่าประชาชนในประเทศไทย ที่อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคมในระดับใดระดับหนึ่งมีเพียง 15% ของประชากรทั้งประเทศกว่า 66 ล้านคน หมายความว่ามีประชาชนอีกถึง 85% ที่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคมที่ดูแลพวกเขาทั้งชีวิต

ในขณะที่จำนวนสถานประกอบการเพิ่มขึ้นร่วม 4 แสนแห่ง แต่ศักยภาพการตรวจสถานประกอบการว่าปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ของกระทรวงแรงงาน ทำได้เพียงปีละประมาณ 20,000 กว่าแห่ง คนงานส่วนใหญ่ในประเทศจึงอยู่ในสภาพการทำงานและการใช้ชีวิตที่น่าเป็นห่วงยิ่ง

ปี พ.ศ. รวม จำนวนผู้ประกันตน (คน) จำนวนสถานประกอบการ (แห่ง)
ตามมาตรา 33 ตามมาตรา 39 ตามมาตรา 40
2537 4,970,805 4,970,805     65,181
2538 5,184,441 5,184,441     73,604
2539 5,589,855 5,589,855     82,582
2540 6,108,534 6,084,822 23,712   90,656
2541 5,465,405 5,418,182 47,223   93,093
2542 5,749,921 5,679,567 70,354   100,360
2543 5,899,519 5,810,140 89,379   107,228
2544 5,983,441 5,865,208 118,231 2 110,814
2545 7,047,642 6,900,223 147,415 4 301,518
2546 7,609,378 7,434,237 175,131 10 324,079
2547 8,031,768 7,831,463 200,298 7 346,936
2548 8,467,410 8,225,477 241,929 4 362,559
2549 8,860,183 8,537,801 322,379 3 375,705
2550 9,182,170 8,781,262 400,905 3 381,506
2551 9,293,600 8,779,131 514,422 47 382,170
2552 9,424,555 8,744,795 679,700 60 389,953
2553 9,702,833 8,955,744 747,005 84 395,924

ที่มา : กองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกันสังคม อ้างต่อจาก: สำนักงานวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

หมายเหตุ:
1. มาตรา 33 ผู้ประกันตนภาคบังคับ ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
2. มาตรา 39 ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ซึ่งเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้ลาออกหรือสิ้นสุดการจ้าง และมีความประสงค์เป็นผู้ประกันตนต่อและมีความประสงค์เป็นผู้ประกันตนต่อ
3. มาตรา 40 ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ซึ่งเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่ลูกจ้างตามมาตรา 33 ที่สมัครใจเข้าเป็นผู้ประกันตนตาม พรบ.ประกันสังคม (ไม่คุ้มครองเรื่องการรักษาพยาบาล) ผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม

ทั้งนี้ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การกำหนดลักษณะสถานประกอบการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543 ที่ได้กำหนดลักษณะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีหลักเกณฑ์ตามตารางข้างล่าง

ลักษณะวิสาหกิจ จำนวนการจ้างงาน(คน) จำนวนสินทรัพย์ถาวร(ล้านบาท)
ขนาดย่อม ขนาดกลาง ขนาดย่อม ขนาดกลาง
กิจการผลิตสินค้า ไม่เกิน 50 51-200 ไม่เกิน 50 51-200
กิจการค้าส่ง

 

กิจการค้าปลีก

ไม่เกิน 25

 

ไม่เกิน 15

26-50

 

16-30

ไม่เกิน 50

 

ไม่เกิน 30

51-100

 

31-600

กิจการให้บริการ ไม่เกิน 50 51-200 ไม่เกิน 50 51-200

ซึ่งการส่งเสริม SMEs ทำให้ตัวเลขสถานประกอบการพุ่งทะยานเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2545 และประสิทธิภาพของรัฐในการตรวจสอบก็ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และคนงานจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ถูกเอาเปรียบและทำงานโดยไร้สวัสดิการอื่นใด นอกจากเพียงค่าจ้างเท่านั้น ก็มีจำนวนมากจนยากที่จะประเมิน

ไม่นับรวมการเอาเปรียบลูกจ้างแรงงานต่างชาติในประเทศไทยร่วม 3 ล้านคน โดยเฉพาะจากพม่า เขมร และลาว ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ขูดรีด ถูกโกงค่าแรงและที่มีสภาพการทำงาน และการอยู่การกินที่ย่ำแย่กว่าแรงงานไทยมากมายนัก

คนงานอยู่ดี – ทุนอยู่ได้

 

 

เมื่อดูกร๊าฟข้างบน จะเห็นว่านับตั้งแต่ 2538 ถ้าการขึ้นค่าจ้างเป็นไปตามขั้นต่ำที่ควรจะขึ้นทุกปี โดยไม่ถูกดองเพราะวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ถึง 4 ปี และถูกทำให้ลอยตัวนับตั้งแต่ปี 2545 ตามการกดดันของสมาคมนายจ้าง และตามความเชื่อผิดๆ ของรัฐบาลว่าต้องกดค่าจ้างขั้นต่ำให้ต่ำเพื่อดึงดูดนักลงทุน นำมาซึ่งปัญหาค่าจ้างขั้นต่ำไม่สอดคล้องกับสภาวะเงินเฟ้อและความจำเป็นด้านรายได้ที่เพียงพอต่อการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

ผู้เขียนได้ทดลองทำกร๊าฟเปรียบเทียบการขึ้นค่าจ้างจริงกับการขึ้นค่าจ้างที่ควรจะเป็นขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นว่ามันจำเป็นจะต้องขึ้นค่าแรง ทั้งนี้ผู้เขียนได้อิงฐานการขึ้นค่าจ้างแค่ปีละ 6% ตามอัตราการขึ้นเงินเดือนประจำปีของข้าราชการ

ผลที่ได้คือ ถ้าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกระทำทุกปีต่อเนื่องและมั่นคง ค่าจ้างขั้นต่ำสุดของไทยในปี 2554 จะอยู่ที่ 307 บาท/วัน และค่าจ้างขั้นต่ำอัตราสูงสุดแห่งปี 2554 จะอยู่ที่ 377 บาท/วัน และในปี 2555 ค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราสูงสุดจะตกอยู่ที่ 400 บาทพอดี

ดังนั้น การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียง 300 บาท จึงเป็นอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว  และไม่ใช่เป็นการขึ้นแบบก้าวกระโดดดังที่สมาคมนายจ้าง หรือบรรดาผู้ให้คำปรึกษาทางธุรกิจพากันเล่นละครบีบน้ำว่ามากเกินไป และพวกเขาจะ “อยู่ไม่ได้อีกครั้งแล้ว”

ทั้งนี้ ประเทศจะพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งไม่ได้แน่นอน ถ้าความต่างทางรายได้ระหว่างคนงานกับผู้บริหารสูงถึง 66 – 111 เท่าเช่นนี้  และค่าจ้างขั้นต่ำกับเงินเดือนข้าราชการสูงสูด และสส. ต่างกันถึง 22-24 เท่าเช่นนี้

การคงช่องว่างทางชนชั้นและความรวย-จนที่ต่างกันจนสุดกู่นี้ไว้ คนจนก็มีแต่ความทุกข์ยากและอดยาก และปัญหาสังคมทั้งเรื่องยาเสพติด ความรุนแรงในครอบครัว การค้าหญิงและเด็กเพื่อการบริการทางเพศ การคอรัปชั่น ก็ไม่มีทางยุติ และจะรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนจะดิ้นรนทำทุกทางมากขึ้นเพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว

ไม่มีประเทศประชาธิปไตยใดในโลกนี้ ที่ดูแลประชาชนและเอาประชาชนเป็นหัวใจของการพัฒนา จะปล่อยให้ช่องว่างรายได้ และช่องวางทางชนชั้นติดอันดับโลกทุกการจัดอันดับเช่นนี้ มันไม่ใช่เรื่องน่ายินดีแม้แต่น้อย แต่มันเป็นข้อเท็จจริงที่ตบหน้านักการเมืองไทยที่อ้างว่าเข้ามาบริหารบ้านเมือง เพื่อความอยู่ดีมีสุขของคนจน

และมันแสดงให้เห็นถึงการขาดวิสัยทัศน์ของนักการเมือง ขาดความเข้าใจต่อสภาพความเป็นจริงแห่งการถูกเอารัดเอาเปรียบของคนชั้นล่าง ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่พากันเทคะแนนเสียงให้รัฐบาล

ปรับค่าจ้างเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

แม้แต่นายทุนเองอย่างเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ก็ยังพูดว่า “ค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมควรอยู่ที่วันละ  500 บาท ไม่ใช่ 300 บาท โดยดูจาก 25 เท่า ตามสัดส่วนของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากในอดีต”

มันถึงเวลาที่บรรดานายจ้างเมืองไทยที่ถูกตามใจและโอบอุ้ม ให้กดขี่ขูดรีดแรงงานได้ตามสะดวก จะต้องปรับตัว ลดความละโมบและจัดสรรปันส่วนผลกำไรให้กับลูกจ้างอย่างเท่าเทียมตามประเทศอารยะทั้งหลาย

ปัญหาค่าแรงเมืองไทยจึงไม่ใช่เรื่องค่าแรงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ต้องดองเอาไว้ เดี๋ยวทุนจะหนีหมด  แต่เป็นปัญหาที่กลไกรัฐ และกลไกการเมืองตกอยู่ในการกำกับของทุนมาอย่างยาวนาน และทุนก็สั่งสมความมั่งคั่งและเก็บเกี่ยวผลกำไรอย่างบ้าคลั่งและตะกละตะกลามมายาวนาน มากเกินพอแล้ว!

ถึงเวลาที่รัฐบาลไทยจะต้องแสดงความกล้าหาญ และมีวิสัยทัศน์ จะต้องประกาศขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศโดยทันที โดยไม่มีเงื่อนไขห้ามขึ้นค่าจ้าง 3 ปีเช่นที่เป็นอยู่นี้ และรัฐบาลต้องให้สัตยาบัน ILO 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันว่าลูกจ้างสามารถรวมตัวและต่อรองกับนายจ้างได้อย่างอิสระ โดยไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐ และการเล่นสกปรกจากบรรดานายจ้าง

กาประกาศว่าจะขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ 300 บาท จะถูกตอบโต้จากฝ่ายนายจ้างที่เห็นแก่การรักษาผลกำไรไว้เหมือนเดิมแน่นอน การหาเหตุเลิกจ้างคนงานก็จะเกิดขึ้นแน่นอน แต่รัฐบาลไม่ควรยอมสมาคมนายจ้างอีกต่อไป และต้องเตรียมมาตรการรองรับคนตกงานไว้แต่เนิ่นๆ  ทั้งมาตรการเรื่องสร้างหลักประกันว่านายจ้างจะไม่หนีจ่ายค่าชดเชย เตรียมเงินประกันว่างงานไว้รองรับผู้ตกงาน พร้อมเปิดให้คนตกงานได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือและส่งเสริมการสร้างอาชีพและการผลิตใหม่ เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงานแบบใหม่ที่เคารพคุณค่าของแรงงาน

ถ้ารัฐเตรียมมาตรการเหล่านี้ สร้างโครงสร้างประกันสังคมพื้นฐานที่ครอบคลุมกำลังแรงงานทั้งประเทศ เศรษฐกิจไทยจะไม่มีทางล่มสลาย และช่องว่างความรวย-จนจะแคบลงเรื่อยๆ และคนในประเทศจะมีหลักประกันแห่งความมั่นคงในชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ สันติสุข ปัญหายาเสพติด ปัญหาการขายบริการทางเพศก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ  ประเทศก็จะพัฒนาไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนและมั่นคง

- – - – - -

ท้ายนี้ขอนำเสนอรายชื่อและทรัพย์สินของ 40 นักธุรกิจที่รวยที่สุดในไทยปี 2554 ที่จัดทำโดยนิตยสาร “ฟอร์บส์” ที่มีทรัพย์สินรวมกันคิดเป็นถึง 65% ของงบประมาณแผ่นดินปี 2554

รายชื่อ                                             ดอลลาร์สรอ.                   ล้านบาท (x 30 บาท)

1. ธนินท์ เจียรวนนท์                             7,400                                      222,000

2. เฉลียว อยู่วิทยา                                5,000                                     150,000

3. เจริญ สิริวัฒนภักดี                             4,800                                    144,000

4. ตระกูลจิราธิวัฒน์                             4,300                                     129,000

5. กฤตย์ รัตนรักษ์ และครอบครัว          2,500                                       75,000

6. อาลก โลเฮีย                                 2,100                                        63,000

7. จำนงค์ ภิรมย์ภักดี                            2,000                                        60,000

8. วิชัย มาลีนนท์                            1,500                                       45,000

9. อิสระ ว่องกุศลกิจ                              1,400                                        42,000

10. คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล และครอบครัว           1,050                      31,500

11. ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์                    1,000                               30,000

12. วานิช ไชยวรรณ                             930                                27,900

13. ประยุทธ มหากิจศิริ                           900                                27,000

14. สุรางค์ เปรมปรีดิ์                            790                                23.700

15. อนันต์ อัศวโภคิน                           750                                 22,500

16. คีรี กาญจนพาสน์                           625                                18,750

17. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ                  620                                 18,600

18. สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ                            610                                18,300

19. ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว          600                                 18,000

20. บุญชัย เบญจรงคกุล                   550                                16,500

21. ไกรสร จันศิริ                             460                                 13,800

22. จำรูญ ชินธรรมมิตร์                             440                                13,200

23. วิลเลียม อี. ไฮเนคกี                   425                                 12,750

24. สรรเสริญ จุฬางกูร                             420                                12,600

25. วิทย์ วิริยะประไพกิจ                   380                                11,400

26. วรวิทย์ วีรบวรพงศ์                              360                                10,800

27. นิชิต้า ชาห์ เฟเดอร์บุช                   340                               10,200

28. พงษ์ศักดิ์ วิทยากร                             310                                 9,300

29. ประชัย เลี่ยวไพรัตน์                   300                                  9,000

30. วิชา พูลวรลักษณ์                             265                                  7,950

31. นิจพร จรณะจิตต์                              260                                  7,800

32. นิธิ โอสถานุเคราะห์                             255                                 7,650

33. รุ่งโรจน์ แสงศาสตรา                   250                                  7,500

34. พิชญ์ โพธารามิก                             245                                 7,350

35. เปรมชัย กรรณสูต                             240                                 7,200

36. ประทีป ตั้งมติธรรม                             230                                 6,900

37. เฉลิม อยู่วิทยา                            225                                 6,750

38. วิชัย รักศรีอักษร                             210                                 6,300

39. พรดี ลี้อิสระนุกูล                             200                                  6,000

40. วิโรจน์ ธนาลงกรณ์                              195                                 5,850

รวม                                          43,910                                      1,317,300

งบประมาณแผ่นดิน 2554 อยู่ที่ 2 ล้านล้านบาท

(อัตราแลกเปลี่ยน 30 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ สรอ.)

- – - – - – -

อ้างอิง

กรมคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน

กรมสรรพากร, วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises = SMEs), 13 มกราคม 2552

กองวิจัยและพัฒนา สำนักงานประกันสังคม http://www.sso.go.th/, 2554

ข่าวราชการ, การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะรัฐมนตรี, 1 สิงหาคม 2543

ข่าวสด, วิกฤต ‘แรงงาน’ ตั้งเค้า, 2 มีนาคม 2555

มติชนออนไลน์, ว่าด้วย “ค่าตอบแทน” ของ “คน” ในประเทศนี้”, 3 เมษายน 2554

มหาวิทยาลัยศรีปทุม, เอกสารการสัมมนา “รายงานผลการสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2552/2553″ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2552

Isarapost, นิตยสาร“ฟอร์บส์”เผย 40 อันดับเศรษฐีเมืองไทย, 1 กันยายน 2554

MThai, ธนินท์ เจ้าสัวซีพี ชี้ค่าแรงขั้นต่ำต้อง 500 บาท, 3 ตุลาคม 2554

Sanook, รมว.แรงงาน หวิดโดนม็อบรุม หลังตำหนิคนงานชุมนุม, 27 กุมภาพันธ์ 2555

The Economist, April 20th, 2011

Hay Group, report reveals global managers spending power and pay gaps, December 8, 2009

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กาชาดเผยถูกสกัดไม่ให้เช้าไปช่วยคนเจ็บในซีเรีย

Posted: 02 Mar 2012 10:22 PM PST

คณะกรรมการกาชาดสากล เผยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในย่านบับ อัมร์ ในเมืองฮอมเพื่อช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้คนในพื้นที่ปะทะอย่างรุนแรงนี้ได้ ด้านนักกิจกรรมซีเรียเผยว่ากองกำลังรัฐบาลไล่จับ ไล่เผา บ้านประชาชน มีการสั่งยืนเรียงแถวยิงรายตัว

 
2 มี.ค. 2012 - คณะกรรมการกาชาดสากล (ICRC) เปิดเผยว่า พวกเขาไม่สามารถเข้าไปในย่านบับ อัมร์ ของเมืองฮอม เพื่อให้ความช่วยเหลือในการอพยพผู้ป่วยและผู้ได้รับบาดเจ็บจากสถานที่นั้นออกมาได้

"ทางคณะกรรมการกาชาดสากล และสภาเสี้ยววงเดือนแดงของซีเรีย (SARC) ไม่ได้รับอนุญาตไม่ให้เข้าไปในย่านบับ อัมร์ ของเมืองฮอมในวันนี้" ยาคอบ เคเลนเบอเจอร์ ประธานคกก.กาชาดกล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงเจนีวาในวันที่ 2 มี.ค.

"นี่เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ กับการที่ประชาชนที่ต้องการการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนมาเป็นหลายสัปดาห์ยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ พวกเรายังคงอยู่ในเมืองฮอมคืนนี้ ด้วยความหวังว่าจะเข้าไปในย่าน บับ อัมร์ ได้ในระยะเวลาอันใกล้ นอกจากนี้แล้วยังมีครอบครัวหลายครอบครัวที่อพยพหนีออกจากย่านบับ อัมร์ และพวกเราจะเข้าช่วยเหลือพวกเราอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้"

ทางรัฐบาลซีเรียได้อนุญาตให้กลุ่มอิสระเข้าไปในพื้นที่แล้วเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในการแถลงข่าวก็ไม่ได้บอกรายละเอียดเพิ่มเติมว่าอะไรที่เป็นสาเหตุให้กลุ่มกาชาดสากลไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้

เวลาต่อมา ในวันเดียวกันนั้นเอง บังคีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลซีเรียอนุญาตให้มีการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเข้าไปในพื้นที่อย่างไม่มีเงื่อนไข

บังคีมูนกล่าวอีกว่า ภาพลักษณ์ของซีเรียที่ออกมาตอนนี้ดูเลวร้ายมาก

"มันเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ไม่สามารถทนได้ ว่าทำในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง คุณถึงสามารถทนกับสถานการณ์แบบนี้ได้" บังคีมูนกล่าว

บังคีมูนเปิดเผยอีกว่ารัฐบาลซีเรีย "กลัว" ที่จะอนุญาตให้วาเลเรีย อามอส หัวหน้าหน่วยบรรเทาภัยฉุกเฉินของสหประชาชาติเข้าไปในประเทศ ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมารัฐบาลซีเรียก็ได้ปฏิเสธวีซ่าของอามอสที่ต้องการเข้าไปในซีเรียเพื่อสังเกตการณ์สถานการณ์ด้านมนุษยธรรม

 

ความรุนแรงที่ดำเนินต่อไป

ในช่วงเช้าของวันที่ 2 มี.ค. นักกิจกรรมในซีเรียกล่าวหาว่ารัฐบาลได้ไล่สังหารและเผาบ้านเรือนประชาชน ซึ่งทางกองกำลังรัฐบาลซีเรียสามารถยึดย่านบับ อัมร์ ของเมืองฮอมเอาไว้ได้ แต่ก็ยังกลัวว่าจะมีการล้างแค้นจากกลุ่มกบฏที่หนีออกจากพื้นที่ไป

บาสเซล เฟาด์ นักกิจกรรมชาวซีเรียผู้หนีจากเตบับ อัมร์ ไปเลบานอนเมื่อสองวันที่ผ่านมากล่าวโดยอ้างข้อมูลที่ได้รับจากเพื่อนๆ ของเขาในพื้นที่ว่ากลุ่มทหารซีเรียและกลุ่มมือปืนที่สนับสนุนรัฐบาลซึ่งรู้จักกันในนาม ชาบีฮา ไล่จู่โจมบ้านเรือนประชาขนเป็นหลังๆ

"สถานการณ์มันแย่ยิ่งกว่าแย่ในบับ อัมร์" เฟาด์กล่าว "พวกชาบีฮาเข้าไปตามบ้านต่างๆ แล้วจุดไฟเผา"

เพื่อนของเฟาด์เล่าว่ามือปืนได้สั่งให้ชาย 10 คนยืนเรียงแถว แล้วยิงพวกเขาเสียชีวิตที่หน้าสหกรณ์ขายอาหารของรัฐบาล เขาบอกอีกว่ารัฐบาลซีเรียจะขังใครก็ตามที่อายุเกิน 14 ปีไว้ในตึก 3 ชั้น

"พวกเขาเริ่มต้นไล่ล่าไปตามท้องถนน แล้วก็เข้าไปค้นตามบ้านแต่ละหลัง" เฟาด์กล่าว "จากนั้นพวกเขาจึงเริ่มไปหาในถนนอีกสายหนึ่ง"

ในวันเดียวกันทางองค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนซีเรียก็บอกว่าได้รับรายงานเรื่องที่มีประชาชน 10 ราย ถูกสั่งเรียงแถวกันแล้วสังหารทิ้งหน้าสหกรณ์ฯ โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้กลุ่มกาชาดที่เข้าไปในเมืองฮอมช่วยตรวจสอบเรื่องที่ประชาชนถูกกักขังไว้ในอาคาร 3 ชั้นด้วย อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มแนวร่วม LCC ซึ่งเป็นกลุ่มหลักในการประท้วงรัฐบาลซีเรียรายงานว่ามีคนถูกสังหาร 14 ราย

 

ที่มา

Red Crescent blocked from Homs district, Aljazeera, 02-03-2012 http://www.aljazeera.com/news/middleeast/2012/03/20123215518519445.html

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น