โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ความมั่นคง(?)ที่แลกด้วย 'ความเป็นมนุษย์'

Posted: 04 Mar 2012 08:22 AM PST

 

(ก) เรื่องสั้น เมืองแห่งความสุข

ในชั้นใต้ดินของอาคารสาธารณะอันสวยงามแห่งหนึ่ง มีห้องห้องหนึ่งบานประตูปิดล็อก ไม่มีหน้าต่าง ในห้องมีเด็กคนหนึ่ง เป็นเด็กปัญญาอ่อน ขาดสารอาหาร ไม่มีใครเหลียวแล ใช้ชีวิตไปวันๆ ด้วยความทุกข์ทรมานแสนสาหัส

ทุกคนในเมืองโอเมลาสรู้ว่ามีเด็กคนนี้อยู่...พวกเขารู้ว่ามันต้องอยู่ตรงนั้น... พวกเขาเข้าใจดีว่าความสุข ความงดงามของเมือง ความนุ่มนวลของมิตรภาพ สุขภาพของลูกหลานของพวกเขา...กระทั่งความอุดมสมบูรณ์ของเรือกสวนไร่นา และอากาศอันอ่อนโยนของท้องฟ้า ทั้งหมดนั้นตั้งอยู่บนความทุกข์ทรมานของเด็กน้อยคนนี้...ถ้าหากเด็กคนนี้ถูกนำออกมาจากห้องอันน่าชิงชัง สู่แสงตะวัน ไปอาบน้ำและป้อนข้าวป้อนน้ำและปลอบโยน มันก็จะเป็นสิ่งที่ดีแน่นอน แต่ถ้าหากทำลงไปในวันนั้นและเวลานั้น ความรุ่งโรจน์งดงามและผ่องอำไพทั้งหมดของโอเมลาสจะเหี่ยวเฉาและถูกทำลาย นั่นคือ “เงื่อนไข”

จากหนังสือ “ความยุติธรรม” โดย Michael J.Sandel สฤณี อาชวานันทกุล แปล หน้า 60)

 

เรายอมรับเงื่อนไขเช่นนี้ได้หรือไม่? เงื่อนไขที่ว่าอิสรภาพ และ “ความเป็นมนุษย์” ของเด็กคนหนึ่งถูกทำลายไปเพื่อให้คนทั้งมวลมีความสุขสมบูรณ์พร้อม

(ผมค่อนข้างแน่ใจว่า เราส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเสื้อเหลือง แดง หลากสี ฯลฯ จะตอบว่า ยอมรับเงื่อนไขเช่นนี้ไม่ได้ เพราะมันฝืนต่อมโนธรรมของเรา มันไร้มนุษยธรรม ผิดศีลธรรม)

..........................................................................

(ข) เรื่องจริง “เมืองแห่งความขัดแย้ง”

เมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง นับเฉพาะปี 2475 เป็นต้นมา มีการทำรัฐประหาร และมีการ “อ้างอิง” สถาบันกษัตริย์ทำรัฐประหาร ปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งแล้วครั้งเล่า จนผู้คนเสียชีวิตและสูญหายนับไม่ถ้วน

แต่เมืองแห่งนี้ยังคงรักษา “กฎหมายพิเศษ” (เช่น ม.8 ม.112) เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ เพราะถูกปลูกฝังกันมาว่า สถาบันมีบุญคุณแก่ประเทศชาติ และประชาชนมายาวนาน เป็นศูนย์รวมจิตใจ ความสามัคคี ความมั่นคงของชาติ จำเป็นต้องปกป้องให้มั่นคงอยู่ตราบนิรันดร์

ภายใต้กฎหมายพิเศษนั้น จำเป็น “ต้องแลก” ด้วยการยอมให้มี “นักโทษทางความคิด” และ/หรือแลกด้วยสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่น สิทธิเสรีภาพที่จะพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ

เมื่อใครถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายพิเศษนี้ก็มีแนวโน้นที่จะไม่ให้ประกันตัว  และแน่นนอนว่า พวกเขาย่อมไม่มีเสรีภาพที่จะพูดความจริงเพื่อปกป้อง “ความบริสุทธิ์” และ “อิสรภาพ” ของตนเอง

ในเมืองแห่งความขัดแย้งนี้ ประชาชนที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งเพราะการอ้างอิงสถาบันกษัตริย์ ต่างทราบดีว่า มีคนอย่างอากง สมยศ สุรชัย ดา ตอร์ปิโด เป็นต้น ที่ถูกละเมิดสิทธิการประกันตัวบ้าง สิ้นไร้เสรีภาพที่จะพูดความจริงเพื่อปกป้อง “ความบริสุทธิ์” และ “อิสรภาพ” ของตนเองบ้างอยู่จริง ซึ่งหมายถึง “ศักดิ์ศรีความเป็นคน” ของพวกเขาเหล่านี้ถูกทำลายลง โดยที่คนทั้งเมืองต่างรับรู้โศกนาฏกรรมนี้

ศักดิ์ศรีความเป็นคนของพวกเขาถูกทำลายลงตามกฎหมายพิเศษ ที่ “เป็นเงื่อนไข” ของการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งภายใต้เงื่อนไขนี้ (1) ไม่ใช่เด็กน้อยปัญญาอ่อนคนเดียวเท่านั้น (ดังในเรื่องสั้น) ที่ต้องถูกทำลายศักดิ์ศรีความเป็นคน แต่ประชาชนทุกคนถูกทำลายศักดิ์ศรีความเป็นคน สิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดความจริงเกี่ยวกับสถาบันที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ (2) ไม่ใช่การถูกทำลายความเป็นคนเพื่อความสุขสมบูรณ์ของทุกคน แต่เพื่อปกป้องสถาบันให้คง “สภาพ” ที่มีสถานะ อำนาจ บทบาทอันอาจถูกอ้างอิงเพื่อสร้างความขัดแย้ง และทำรัฐประหารได้ต่อไป

เรายอมรับเงื่อนไขเช่นนี้ได้หรือไม่? เงื่อนไขที่ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพที่จะพูดความจริงเกี่ยวกับเรื่องที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะของประชาชนถูกจำกัด และ/หรือถูกทำลายลงเพื่อปกป้องสถาบันหลักใดๆ ให้คง “สภาพ” ที่มีสถานะ อำนาจ บทบาทอันอาจถูกอ้างอิงเพื่อสร้างความขัดแย้ง และทำรัฐประหารได้ต่อไป

โดยที่การปกป้องนั้นก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า สมาชิกของสังคมทุกคนจะมีแต่ความสุขเต็มที่(เหมือนในเรื่องสั้น) มิหนำซ้ำยัง (1) อาจเกิดความขัดแย้งเช่นที่เคยเกิดมาแล้วหลายครั้งดังประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เพราะการคงไว้ซึ่งกฎหมายพิเศษนี้ และ (2) การยกเลิกกฎหมายพิเศษนี้อาจเป็น “ทางเลือกที่ดีกว่า” ที่จะทำให้สังคมเราสามารถปกป้องสถาบันกษัตริย์ ควบคู่กับการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพที่จะพูดความจริงของประชาชนให้มั่นคงไปด้วยกันได้ หรือให้สังคมเราเป็นสังคมที่หยุดการอ้างอิงสถาบันสร้างความขัดแย้ง และการเข่นฆ่าผู้เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างถาวร

แต่เป็นเรื่องแปลกประหลาดไหม ที่เราไม่อาจยอมรับเงื่อนไขในกรณีตัวอย่างในเรื่องสั้นได้เลย ทว่ากลับยอมรับเงื่อนไขในเรื่องจริงที่เป็นอยู่นี้ได้!

หมายความว่า พวกเรายอมรับให้มี “กฎ” ที่นอกจากจะไม่ใช่หลักประกันความสุขสมบูรณ์พร้อมของทุกๆ คน (ดังในเรื่องสั้น) แล้ว ยังเป็นกฎที่ทำลาย “ความเป็นมนุษย์” ของเรา และเป็นกฎที่ดำรงการอ้างอิงสถาบันเพื่อสร้างความขัดแย้งในสังคมให้คงอยู่ตลอดไปอีกด้วย

ตกลงว่า พวกชาวเมืองที่เสพสุขสำราญบนเงื่อนไขของการทำลายความเป็นมนุษย์ของเด็กปัญญาอ่อนคนหนึ่งในเรื่องสั้น กับพวกเราที่มีชีวิตอยู่ในความขัดแย้งบนเงื่อนไขของการยอมให้มีการทำลายความเป็นคนของประชาชน เพื่อปกป้องสถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันอันอาจถูกอ้างอิงเพื่อสร้างความขัดแย้งได้อีกต่อไปนั้น

ระหว่างพวกเรากับ “ชาวเมืองแห่งความสุข” ในเรื่องสั้น ใครมีเหตุผล มีมโนธรรม มีสำนึกปกป้อง “ความเป็นมนุษย์” มากกว่ากัน?

หรือมันเป็นเรื่องเหลือเชื่อเกินไปไหมที่ “มโนธรรม” ของเรารับไม่ได้เลยกับ “ความอยุติธรรม” ในเรื่องสั้น แต่กลับรับได้อย่างปราศจากการตั้งคำถามต่อ “ความอยุติธรรม” ในเรื่องจริง!

ตกลงว่า ระหว่างเรื่องราว (ก) กับ (ข) อันไหนสะท้อนสภาพสังคมที่ “อยุติธรรม” มากกว่ากัน?

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แม่ทัพ 4 มั่นใจคุมสถานการณ์อยู่หมัด ไม่เกิน 2 ปี ไฟใต้สงบ

Posted: 04 Mar 2012 07:28 AM PST

แม่ทัพภาค 4 มั่นใจ 2 ปีไฟใต้สงบ กุมสถานการณ์อยู่หมัด เผยแกนนำป่วนใต้ทยอยเข้าหารัฐ ชาวบ้านเบื่อความรุนแรงหันช่วยเจ้าหน้าที่

พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์

 

พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระดับแกนนำหลายคน เนื่องจากเห็นว่า เป็นการต่อสู้ที่ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม เนื่องจากศาสนาอิสลามห้ามฆ่าคน

พล.ท.อุดมชัย เปิดเผยด้วยว่า ยังมีสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบระดับแกนนำอีกหลายคนที่ต้องการเข้ามาอยู่กับฝ่ายรัฐ แต่เนื่องจากเกรงว่าจะเสียหน้า เพราะเคยประกาศตัวที่จะต่อสู้กับรัฐไทย โดยเฉพาะระดับผู้ใหญ่ๆ จึงจะเป็นต้องหาทางออกในทางที่เหมาะสมให้กับกลุ่มคนเหล่านั้น

พล.ท.อุดมชัยกล่าวว่า ข้อผิดพลาดของขบวนการก่อความไม่สงบที่ทำให้ฝ่ายรัฐสามารถกุมสภาพทั้งงานการข่าวและการปรามปราม คือการใช้ความรุนแรงกับผู้บริสุทธิ์ที่ทำให้กินเนื้อของขบวนการเอง และการใช้ศาสนาเป็นเงื่อนไขในการปลุกระดม ทั้งที่ศาสนาอิสลามห้ามการฆ่าคน

พล.ท.อุดมชัย เปิดเผยด้วย ส่วนการแก้ปัญหาความไม่สงบที่สามารถจับกุมตัวผู้กระทำผิดได้อย่างถูกต้องมากขึ้น รวมทั้งสามารถตรวจยึดอาวุธได้เพิ่ม เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากขึ้น เพราะชาวบ้านเบื่อกับรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้งานการข่าวของรัฐดีขึ้นตามไปด้วย

พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ตนมั่นใจว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะลดลงภายใน 1 – 2 ปี แต่ที่ยังเห็นว่ามีความรุนแรงอยู่ เพราะมีเหตุระเบิด ซึ่งเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนของขบวนการก่อความไม่สงบ

“ผมต้องการเร่งให้สามารถสร้างความสงบได้ภายในปีสองปี เพราะผมเห็นแนวโน้มจากการทำงาน ผมมั่นใจว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสงบลงภายในเวลา 2 ปี” พล.ท.อุดมชัย กล่าว

พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมามีการจับกุมและตรวจยึดอาวุธได้จำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถสกัดการก่อเหตุได้ทั้งหมด เนื่องจากผู้ก่อความไม่สงบอาศัยลักษณะการเกื้อกูลกันในสังคมช่วยให้ผู้ก่อความไม่สงบหลบหนีไปได้ และทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถทำได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์

พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาต้องใช้ความเข้าใจ ความอดทน ไม่ใช้วิธีการฆ่าเด็ดขาด และต้องขจัดภัยแทรกซ้อนออกไปให้หมด เช่น ยาเสพติด ต้องเคารพกฎหมายและให้ทุกคนมีส่วนร่วม ในขณะที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เพิ่มศักยภาพของคนในพื้นที่ ส่วนตนทำเฉพาะการนำคนที่อยู่ในขบวนการออกมา

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดเอกสาร ‘กฟผ.’ โต้ฝ่ายค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง

Posted: 04 Mar 2012 07:18 AM PST

 
 

พลันที่กลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ได้แจกจ่ายเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมาสร้างในจังหวัดตรัง

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็ผลิตเอกสารตอบโต้ข้อมูลของกลุ่มคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ในแทบจะทันทีทันใด

ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลการตอบโต้กลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ถอดออกมาจากเอกสารข้อต่อข้อ ประโยคต่อประโยค

ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
กลุ่มคัดค้านระบุว่า การใช้ถ่านหินซับบิทูมินัส นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย มีคุณภาพต่ำกว่าบิทูมินัส และมีมลภาวะมากกว่า

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า คุณสมบัติของถ่านหินซับบิทูมินัสและบิทูมินัส มีปริมาณกำมะถันหรือก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์น้อยกว่า 1% ซึ่งเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพดีใกล้เคียงกัน และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะมากกว่ากัน

กลุ่มผู้คัดค้านระบุว่า สารปนเปื้อนที่เป็นองค์ประกอบของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ร้อยละ 0.1–1 แต่มีสารหนู 0.73–0.85 แคดเมียมต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปรอทต่ำกว่า 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และตะกั่วต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีโครเมียม และซีรีเนียม

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า สารเจือปนต่างๆ ขึ้นอยู่กับแหล่งของถ่านหิน ซึ่งถ่านหินบิทูมินัสและซับบิทูมินัสมีความเจือจางน้อยมาก ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยตามหลักวิทยาศาสตร์

พร้อมกับยืนยันว่า กรมควบคุมมลพิษได้กำหนดค่ามาตรฐานของสารที่เจือปนในสิ่งแวดล้อมไว้ว่า สารหนู (Arsemic) ต้องไม่เกิน 3.9 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แคดเมี่ยมและสารประกอบแคดเมี่ยม (Cadmium and compounds) ต้องไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

กลุ่มผู้คัดค้านระบุว่า กองถ่านหินใช้น้ำดิบเพื่อฉีดพ่นประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น และควบคุมอุณหภูมิของถ่านหินไม่ให้ลุกไหม้ น้ำพ่นถ่านหินใช้หมุนเวียนโดยนำกลับมาใช้ใหม่ แต่ต้องมีการเติมเพิ่มในระบบวันละ 360 ลูกบาศก์เมตร น้ำชะกองถ่านหินปนเปื้อนสารโลหะหนักและอื่นๆ ซึ่งต้องบำบัดด้วยสารเคมี หากจะระบายออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องระบายน้ำทิ้ง

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การจัดเก็บถ่านหินมีโรงจัดเก็บ มีหลังคาคลุมและผนังโดยรอบ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย และป้องกันการชะล้างจากน้ำฝน เนื่องจากเป็นระบบปิด ทำให้ต้องใช้น้ำบางส่วนฉีดพรมป้องกันการฟุ้งกระจาย โดยน้ำดังกล่าวจะหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ไม่มีการปล่อยลงสู่ทะเลและแหล่งน้ำธรรมชาติ

กลุ่มผู้คัดค้านระบุว่า โครงการมีการดึงน้ำจากทะเลมาใช้เพื่อดูดซับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากอากาศที่เกิดจากหม้อไอน้ำ หรือเรียกว่า Seawater FGD ซึ่งอาจทำให้โลหะหนักบางส่วนปนเปื้อนลงน้ำทะเล เช่น สารหนู แคดเมียม ปรอท และตะกั่ว

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ใช้ระบบดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยน้ำปูน ไม่ใช้ระบบ Seawater FGD (ระบบดักจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ด้วยน้ำทะเล) โดยใช้น้ำจืดจากกระบวนการผลิตน้ำในโรงไฟฟ้า ซึ่งน้ำดังกล่าวจะนำกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่มีการปล่อยลงทะเลและแหล่งน้ำธรรมชาติ

กลุ่มคัดค้านระบุว่า สารสูบน้ำทะเลจากตะแกรงกรองน้ำขนาด 1 เซนติเมตร จะมีแพลงก์ตอนพืชและสัตว์เข้าสู่ระบบ และตายเนื่องจากความร้อนจากน้ำร้อนที่ทิ้งสู่ทะเลจำนวนมาก จากการต่อท่อน้ำทิ้งออกไปในทะเล 500–1,000 เมตร จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำเป็นบริเวณกว้างหรือไม่

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การสูบน้ำเข้าสู่ระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า จะสูบน้ำที่ระดับลึกจากท้องน้ำ 1 เมตร เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสัตว์หน้าดิน แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ รวมทั้งลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน ติดเข้าระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า เนื่องจากที่ระดับลึกของน้ำจะพบแพลงก์ตอนพืชในปริมาณน้อย เพราะแพลงก์ตอนพืชจะใช้แสงในการสังเคราะห์อาหารเพื่อการดำรงชีวิต ประกอบกับแพลงก์ตอนพืชมีวงจรชีวิตสั้น แต่มีการเพิ่มปริมาณได้ในระยะเวลาอันสั้น จึงพบแพลงก์ตอนพืชอาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำเป็นส่วนมาก ส่วนแพลงก์ตอนสัตว์และลูกสัตว์น้ำวัยอ่อน ก็จะอาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำเป็นส่วนมากเพื่อกินแพลงก์ตอนพืชเป็นอาหาร ดังนั้นการสูบน้ำจากกระดับน้ำลึกจึงไม่กระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอนแต่อย่างใด

น้ำทะเลที่ผ่านการใช้หล่อเย็น ไม่ได้ต่อท่อออกไปในทะเล มีการควบคุมอุณหภูมิของน้ำที่หอหล่อเย็น การปล่อยน้ำลงสู่ทะเลนั้น กฎหมายกำหนดไว้ว่า ณ จุดปล่อยอุณหภูมิของน้ำต้องไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส และวัดรัศมีออกไป 500 เมตร จากจุดปล่อย อุณหภูมิบริเวณปะการังต้องไม่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิบริเวณอนุรักษ์เปลี่ยนแปลงได้บวกลบ 1 องศาเซลเซียส และบริเวณชุมชนอุณหภูมิเปลี่ยยนแปลงได้บวกลบ 2 องศาเซลเซียส

กลุ่มคัดค้านระบุว่า การเผาไหม้ของถ่านหินของโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์จะก่อให้เกิดเถ้าหนัก 22,500 ตันต่อปี เถ้าลอย 202,000 ตันต่อปี เถ้าลอยเป็นฝุ่นขนาดเล็กมากขนาดต่ำกว่า 10 ไมครอน กระจายได้ไกล และระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ไม่สามารถดักจับได้ และปัจจุบันประเทศไทยไม่มีเครื่องมือตรวจวัดได้

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ จะมีฝุ่นขี้เถ้า ประกอบด้วย เถ้าหนักประมาณ 19,250 ตัน/ปี เถ้าลอยประมาณ 76,950 ตัน/ปี จะถูกดักจับโดยเครื่องดักจับฝุ่นที่มีประสิทธิภาพในการดักจับฝุ่นขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ไมครอนอยู่ที่ 99.9 % ทั้งนี้เถ้าหนักสามารถนำไปทำปุ๋ยได้ และเถ้าลอยจะนำไปใช้ในระบบการผลิตปูนซิเมนต์ต่อไป

กลุ่มคัดค้านระบุว่า จะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการเผาน้ำมัน 29% และมากกว่าก๊าซธรรมชาติถึง 80% ซึ่งเป็นเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และภัยธรรมชาติตามมา

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า จากผลการศึกษาโรงไฟฟ้าลิกไนต์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติประมาณ 10% อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดที่ใช้ถ่านหินคุณภาพดี เทคโนโลยีในกระบวนการเผาไหม้มีประสิทธิภาพสูง จะช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปอีก

ข้อมูลการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละประทศในปี 2551 เรียงตามลำดับดังนี้ ประเทศจีน 21.1% ประเทศสหรัฐอเมริกา 20.2% ประเทศรัสเซีย 5.5% ประเทศอินเดีย 5.3% ประเทศญี่ปุ่น 4.6% ประเทศเยอรมัน 2.8% ประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ 2.0% ประเทศแคนาดา 1.9% ประเทศเกาหลีใต้ 1.7% ประเทศอิตาลี 1.7% ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับ 22 ที่ 0.95%

กลุ่มคัดค้านระบุว่า กรณีปะการังอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 0.5 องศาเซลเซียส ในเวลาประมาณ 1 เดือน จะทำให้เกิดปะการังฟอกขาว

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า กรณีปล่อยน้ำหล่อเย็นออกจากโรงไฟฟ้า จะมีการควบคุมอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นไม่ให้มีอุณหภูมิน้ำสูงเกิน 1 องศาเซลเซียส จากค่าอุณหภูมิน้ำเข้าสู่ระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ห่างไกลจากแนวปะการัง ดังนั้นการระบายน้ำหล่อเย็นออกจากโรงไฟฟ้า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงค่าอุณหภูมิน้ำในแนวปะการังแต่อย่างใด จึงมั่นใจได้ว่าน้ำหล่อเย็นที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้าจะไม่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำในแนวปะการัง จนก่อให้เกิดปะการังฟอกขาวแต่อย่างใด

กลุ่มคัดค้านระบุว่า ปริมาณสารคลอรีนความเข้มข้นเพียง 0.1 มิลลิกรัม/ลิตร ที่หลงเหลือจากกระบวนการผลิต เมื่อปล่อยลงสู่น้ำทะเลจะส่งผลกระทบทำให้แพลงก์ตอนตาย และกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศน์ทางทะเล

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ปริมาณสารคลอรีนตกค้างในน้ำหล่อเย็นที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้ามีค่าน้อยกว่า 0.1 มิลลิกรัม/ลิตร และเป็นสารที่สลายตัวได้ง่ายเมื่อโดนความร้อน ดังนั้นเมื่อระบายออกจากโรงไฟฟ้าจึงสลายตัวได้รวดเร็ว และไม่ตกค้างในน้ำทะเลจนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และระบบนิเวศน์ทางทะเล

กลุ่มคัดค้านระบุว่า น้ำทะเลที่ผ่านการใช้หล่อเย็น มีอุณภูมิสูงกว่าน้ำทะเล 2–6 องศาเซลเซียส

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การปล่อยน้ำลงสู่ทะเล กฏหมายกำหนดไว้ว่า อุณหภูมิของน้ำ ณ จุดปล่อยและในรัศมี 500 เมตร ต้องไม่เกิน 40 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิบริเวณปะการังต้องไม่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิบริเวณอนุรักษ์เปลี่ยนแปลงได้บวกลบ 1 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิบริเวณชุมชนเปลี่ยนแปลงได้บวกลบ 2 องศาเซลเซียส

กลุ่มคัดค้านระบุว่า ความเสี่ยงจากโรงไฟฟ้าและสารเคมีที่ใช้ การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และออกไซด์ของไนโตรเจนที่เกิดจากการเผาไหม้ อาจก่อให้เกิดฝนกรด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ได้แก่ ดินเสื่อมคุณภาพ การเจริญเติบโตของพืช และการให้ผลผลิตยางพารา ผลไม้ การสะสมโลหะหนักในดิน น้ำกิน น้ำใช้ และอาหาร ส่งผลต่อมนุษย์ และทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจต่างๆ

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ โรงไฟฟ้ามีการติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ เครื่องดักจับฝุ่น และเครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ ที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ยังติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่องที่ปลายปล่อง และติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณชุมชนรอบโรงไฟฟ้า รวมทั้งได้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพดิน และแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดฝนกรด หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจต่างๆ

 กลุ่มคัดค้านระบุว่า ความจริงที่แม่เมาะ การทำเหมืองและโรงไฟฟ้ามีปัญหาขัดแย้งกับชุมชน ด้านมลภาวะจนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีจำนวนมาก ดัง  3 กรณีต่อไปนี้

คดีที่ 1 ศาลจังหวัดลำปางมีคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 11960/2542 และ 1945/2542 คดีหมายเลขแดงที่ 354/2547 และ 431/2547 เมื่อปี 2547 ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะทำให้เกิดมลภาวะฝนกรดจริง ทำให้ผู้ป่วย 868 ราย ศาลสั่งให้ชดใช้ค่าพืชผลที่เสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี

คดีที่ 2 ศาลปกครองเชียงใหม่ มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 140/2546 คดีหมายเลขแดง 60/2552 เมื่อเดือนมิถุนายน 2542 ว่า ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายค่าเสียหายให้กับชาวบ้านรอบพื้นที่เหมืองและโรงไฟฟ้า 112 ราย โดยแต่ละรายจะได้รับค่าเสียหายตามที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่ได้บำบัดอากาศเสียให้มีค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดก่อนปล่อยสู่บรรยากาศ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2535–สิงหาคม 2541 ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสื่อมทั้งสุขภาพอนามัยและจิตใจ

คดีที่ 3 ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 44/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 44/2552 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ สรุปว่า

1.ให้อพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร

2.ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุด และให้ปลูกป่าทดแทน ในพื้นที่ฟื้นฟูขุมเหมืองที่ไปทำสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ

3.ยื่นแก้ไขมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมาตรการในพื้นที่ชุ่มน้ำ

4.วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดิน ไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดไปยังชุมชน และกำหนดพื้นที่แนวกันชนจุดปล่อยดินให้ห่างจากชุมชนไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำกำแพงกันฝุ่นให้จุดปล่อยดินต่ำกว่าความสูงของกำแพง ให้จัดทำรายงานการตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อมทุก 2 ปี

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า คดีที่ 1 สิ้นสุดการพิจารณาคดี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยชดเชยค่าเสียหายแก่ประชาชนตามคำสั่งศาล คดีที่ 2 และ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ ซึ่งคดีที่ 3 เป็นคดีที่เกี่ยวกับการทำเหมืองลิกไนต์ โดยโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะสร้างในพื้นที่ จะไม่มีการทำเหมืองลิกไนต์

ระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยมิได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยได้ช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อดักจับมวลสาร ตลอดจนมีมาตรการตรวจสอบติดตามอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันสภาพอากาศของแม่เมาะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา

ปัจจัยด้านเทคโนโลยี
กลุ่มคัดค้านระบุว่า ขณะที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิตไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์ ต้องใช้ถ่านหิน 1,968,600 ตัน/ปี ถ้าต้องการผลิตไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ จะต้องใช้ปริมาณถ่านหินเพิ่มขึ้น

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนประเภทผลิตพลังงานไฟฟ้าฐาน ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าสุทธิ 800 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินซับบิทูมินัสจากต่างประเทศ ปริมาณวันละประมาณ 8,000 ตัน หรือประมาณ 2.5 ล้านตันต่อปี

กลุ่มคัดค้านระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยไม่มีข้อมูลเรื่องท่าเรือว่า จะดำเนินการอย่างไร การขนส่งถ่านหินด้วยเรือบรรทุกลำละ 10 ตัน จะมีการขนส่งประมาณ 250,000 เที่ยว/ปี หรือ 685 เที่ยว/วัน จำเป็นต้องมีการขุดลอกร่องน้ำเป็นประจำ

ข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อยู่ในระหว่างการศึกษาการออกแบบท่าเรือ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็น เพื่อปรับรูปแบบของท่าเรือให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชน

เรือขนส่งถ่านหินขนาดบรรทุกประมาณ 8,000–10,000 ตัน/เที่ยว (ประมาณวันละ 1 เที่ยว) ปัจจุบันในแม่น้ำตรังมีการขุดลอกร่องน้ำเป็นประจำอยู่แล้วทุกปี

แหล่งน้ำที่ใช้ในระบบหล่อเย็น ควบคุมอุณหภูมิน้ำหล่อเย็นด้วยหอหล่อเย็น (Cooling Tower) โดยใช้น้ำทะเลในระบบหล่อเย็นไม่เกิน 200,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน และน้ำทะเลปล่อยกลับของระบบหล่อเย็นประมาณ 190,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ใช้ระบบจากผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยใช้ปริมาณน้ำทะเลในการผลิตน้ำจืดประมาณ 4,5000 ลูกบาศก์เมตร/วัน

ระบบขนส่งถ่านหิน ใช้ระบบปิดตั้งแต่การขนส่งทางทะเล จนถึงกระบวนการผลิตในโรงงานไฟฟ้า การควบคุมสภาพอากาศ โดยติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (SCR) ประสิทธิภาพสูง ติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่น (ESP) ประสิทธิภาพสูง ติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ (FGD) ประสิทธิภาพสูง และติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ

การควบคุมคุณภาพน้ำ โดยก่อสร้างหอหล่อเย็นเพื่อลดอุณหภูมิน้ำ ให้มีระดับใกล้เคียงแหล่งน้ำธรรมชาติ ก่อสร้างโรงบำบัดน้ำทิ้ง และเก็บกักในบ่อพัก ส่วนการควบคุมระบบตรวจวัดคุณภาพเสียง ติดตั้งอุปกรณ์ดูดซับเสียง และปลูกต้นไม้รอบพื้นที่โครงการ

กลุ่มคัดค้านระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ต้องใช้น้ำหล่อเย็นมากกว่า 4,000 ล้านลิตร/วัน โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ต้องใช้น้ำหล่อเย็นมากกว่า 4,000 ล้านลิตร/วัน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ใช้ระบบหล่อเย็น โดยสูบน้ำทะเลมาระบายความร้อนในโรงไฟฟ้าเพียงวันละไม่เกิน 200,000 ลูกบาศก์เมตร และปล่อยน้ำทะเลกลับคืนประมาณ 190,000 ลูกบาศก์เมตร จึงมีน้ำทะเลที่หอคอยหล่อเย็น (Cooling Tower) บางส่วนระเหยกลายเป็นไอน้ำขึ้นไปในอากาศ

กลุ่มคัดค้านระบุว่า โรงไฟฟ้าใช้น้ำจืดในกระบวนการผลิตมากกว่า 1,062 ลูกบาศก์เมตร/วัน เดือนละ 31,860 ลูกบาศก์เมตร และต้องมีน้ำจืดอีกจำนวนหนึ่งสำหรับสาธารณูปโภคในโรงงาน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะใช้ระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล โดยใช้ปริมาณน้ำทะเลประมาณ 4,500 ลูกบาศก์เมตร/วัน เพื่อไม่ให้กระทบแหล่งน้ำจืดของชุมชน

กลุ่มคัดค้านระบุว่า มีข้อสงสัยว่า 1.จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นหรือไม่ 2.จำเป็นต้องมีบริบทบริหารน้ำแบบจังหวัดระยอง เพื่อนำน้ำไปใช้ในอุตสาหกรรมหรือไม่

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า 1.ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อน เนื่องจากใช้น้ำทะเลในกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้า 2.ไม่จำเป็นต้องมีบริษัทน้ำแบบจังหวัดระยอง เนื่องจากโรงไฟฟ้ามีระบบผลิตน้ำใช้เป็นของตัวเองอย่างเพียงพอ จึงไม่กระทบการใช้น้ำของชุมชน

กลุ่มคัดค้านระบุว่า แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ต้องรอนสิทธิในที่ดินที่เป็นเส้นทางสายส่งไฟฟ้ากว้าง 30 เมตร ห้ามปลูกไม้ยืนต้นทุกชนิด

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายค่าชดเชยการรอนสิทธิประมาณ 90% ของราคาประเมิน ส่วนความกว้างเขตแนวสายส่งขึ้นอยู่กับระดับแรงดันไฟฟ้า เช่น ระดับแรงดัน 230 กิโลโวลต์ แนวเขตใต้สายส่งสามารถปลูกพืชบางชนิดได้ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น

กลุ่มคัดค้านระบุว่า ยังไมมีข้อมูลการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะดำเนินการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงอย่างไร

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ในเบื้องต้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะใช้สายส่งระดับแรงดัน 230 กิโลโวลต์ 4 วงจร เชื่อมต่อไปยังที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงทุ่งสง ระยะทางประมาณ 95 กิโลเมตร

ปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า

1.กองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ระบุว่า ระหว่างก่อสร้าง (ระยะเวลาประมาณ 5 ปี) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ตามกำลังการผลิตติดตั้งในอัตรา 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะจ่ายเงินเข้ากองทุนประมาณ 40 ล้านบาท/ปี

ระหว่างการผลิตไฟฟ้า (ระยะเวลาประมาณ 25 ปี) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะจ่ายเงินเข้ากองทุนในอัตรา 2.0 สตางค์/หน่วย เป็นรายเดือนตามปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น โรงไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะจ่ายเงินเข้ากองทุนประมาณ 112 ล้านบาท/ปี

2.ชุมชนร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) และคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล (คพรต.) ได้รับภาษีเกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้า เช่น ภาษีโรงเรือน และที่ดิน เป็นต้น ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต วิถีชีวิตชุมชน อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชน (ไตรภาคี) ได้รับการจ้างงาน ส่งเสริมอาชีพ และกระจายรายได้ในพื้นที่ มีแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ทันสมัยของจังหวัด

กลุ่มคัดค้านระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต้องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ 9 โรง เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักตามแผนพัฒนาภาคใต้ของรัฐบาล

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย วางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2010 พ.ศ.2553–2573) แผนดังกล่าวจัดทำโดยภาครัฐร่วมกับทุกภาคส่วน รวมทั้งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้นทุกปี

กลุ่มคัดค้านระบุว่า มีพลังงานทางเลือกอื่นหรือไม่ ที่สามารถกยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ภาครัฐให้ความสำคัญและส่งเสริมสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นทุกปี ตามศักยภาพของแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในประเทศ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ศึกษา และพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนมีข้อจำกัด เช่น ถ้าไม่มีลมและไม่มีแสงแดดจะไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ทำให้ใช้เป็นพลังงานหลักไม่ได้ รวมทั้งมีต้นทุนต่อหน่วยสูง

กลุ่มคัดค้านระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยปรับพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานสูงเกินจริงมีการบวกสำรองสูงถึงร้อยละ 15 ทำให้ต้องวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าเกินจริง ผลักภาระการลงทุนที่เกินความจำเป็นบวกกับค่าประกันกำไรของผู้ผลิตไฟฟ้าให้กับประชาชน ผ่านระบบต้นทุนผันแปร หรือค่าเอฟที

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ในส่วนค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า จัดทำขึ้นโดยคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพลังงานกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยประมาณ 2–3 ปี/ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้พลังงาน สภาพเศรษฐกิจและข้อสมมุติฐานต่างๆ ในการจัดทำค่าพยากรณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อมิให้การจัดหาไฟฟ้าสูงหรือต่ำเกินไป จนเกิดผลเสียต่อประเทศชาติและผู้ใช้ไฟฟ้า

ถ้าหากพยากรณ์สูงเกินจริง จะต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง และระบบจำหน่ายไฟฟ้าสูงเกินความต้องการ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะถูกผลักสู่ค่าไฟฟ้า ทำให้ประชาชานต้องเป็นผู้แบกรับภาระในที่สุด ถ้าหากพยากรณ์ต่ำกว่าความเป็นจริง จะทำให้ไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ ส่งผลเสียต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯ จึงติดตามสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าและสภาพเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การปรับปรุงค่าพยากรณ์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนค่าเอฟทีกำหนดโดยอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและบริการ เสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้อนุมัติ โดยค่าเอฟทีจะพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเชื้อเพลิงเป็นหลัก

กลุ่มคัดค้านระบุว่า จังหวัดตรังใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 100 เมกะวัตต์ ขณะที่จังหวัดภูเก็ตใช้ไฟฟ้ามากที่สุดประมาณ 350 เมกะวัตต์ แต่จังหวัดตรังกลับมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ ซึ่งตามพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป จึงเท่ากับจังหวัดตรังมีโครงการรุนแรง 8 โครงการอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า ตามพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 100 เมกะวัตต์ขึ้นไป ซึ่งมีค่ามาตรฐานที่ใช้ควบคุมการปล่อยมวลสาร และเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใช้ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ว่าจะขนาด 100 เมกะวัตต์ หรือ 800 เมกะวัตต์ เท่ากับมีโครงการรุนแรง 1 โครงการเท่านั้น

จากสถิติความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคใต้ มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งรับพลังงานไฟฟ้าจากภาคกลาง และรับซื้อจากประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้โรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมเริ่มทยอยหมดอายุการใช้งาน

จังหวัดตรังมีศักยภาพในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในอนาคตของภาคใต้ และเกื้อหนุนไปในพื้นที่ภาคอื่นๆ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

กลุ่มคัดค้านระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เรียงลำดับพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังดังนี้ 1.บ้านทุ่งไพร ตำบลวังวน อำเภอกันตัง 2.ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง 3.ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประทศไทยระบุว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นในพื้นที่ที่มีศักยภาพ 3 พื้นที่ เพื่อคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมเพียง 1 พื้นที่เท่านั้น

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 ก.พ. - 3 มี.ค. 2555

Posted: 04 Mar 2012 12:25 AM PST

กลุ่มผู้ใช้แรงงานบริษัทผลิตรถยนต์ เรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ให้กับแรงงานที่มีฝีมือด้วย 

27 ก.พ. 55 - ตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน บริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ และบริษัทซิวเวอร์ไอซ์ จำนวนกว่า 200 คน ซึ่งมีนายมนัส โกศล ประธานองค์กรแรงงาน 7 องค์กร เป็นแกนนำ ได้ชุมนุมที่หน้ากระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลผ่าน นายเผดิมศักดิ์ สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ไปรับหนังสือข้อเรียกร้องด้วยตนเอง

โดยแรงงานส่วนใหญ่ที่มาชุมนุมในวันนี้ มีอายุงานมากกว่า 5 ปี ต้องการให้รัฐบาลทบทวนการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ที่จะเริ่มในวันที่ 1 เมษายนที่จะถึงนี้ ไม่เจาะจงเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำรายใหม่ แต่ควรรวมแรงงานเก่าที่มีฝีมือ และมีอายุงานมากกว่าด้วย เพราะการปรับขึ้นค่าแรงจะทำให้แรงงานใหม่ที่เพิ่งเข้าทำงานมีอัตราเงินเดือน มากกว่า หรือ ใกล้เคียงกับแรงงานเก่า

นอกจากนี้ยังขอความเป็นธรรม กรณีที่บริษัทบางแห่งจะใช้วิธีการปรับขึ้นค่าจ้างด้วยการรวมค่าครองชีพไว้ใน ฐานเงินเดือน เพื่อให้ค่าจ้างเพิ่มเป็นวันละ 300 บาทด้วย ซึ่งรัฐมนตรีรับปากจะดูแลให้

และในระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องได้เกิดข้อถกเถียงเรื่องความเหมาะสมใน การชุมนุมระหว่างรัฐมนตรีกับนายมนัส โกศล เพราะกระทรวงแรงงานเกรงว่าอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานไม่พอใจ และระบุว่า การยื่นข้อเรียกร้องครั้งต่อไปจะไม่ยื่นผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

(ครอบครัวข่าว, 27-2-2555)

"สภาพัฒน์" สรุปภาพรวมการจ้างงานปี 54 อัตราว่างงานต่ำ ชี้แรงงาน "ภาคเกษตร-นอกระบบ" ขาดประสิทธิภาพ

27 ก.พ. 55 - นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 4 และภาพรวมปี 2554 ว่า ในไตรมาส 4 อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.6% หรือมีผู้ว่างงาน 245,890 คน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับผลกระทบและลดลงมากในเกือบทุกสาขาทั้ง อุตสาหกรรมและภาคบริการ ภาพรวมเศรษฐกิจหดตัวถึง 9% สถานการณ์การจ้างงานและการว่างงานไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจและยังไม่สะท้อนผล กระทบที่ชัดเจนทันทีจากภาวะน้ำท่วม ส่วนการจ้างงานยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนถึง 0.9% แต่ไม่ได้ทำให้เกิดผลพวงทางเศรษฐกิจ

ส่วนรายได้ที่แท้จริงของแรงงานชะลอลง โดยค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบ แทนอื่นเพิ่มขึ้น 7.4% แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 4% ส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้นเพียง 3.2% ใกล้เคียงกับปีก่อนที่อยู่ที่ 3% โดยค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินโครงการป้องกันและ บรรเทาการเลิกจ้างที่ช่วยให้แรงงานบางส่วนที่ไม่ได้ทำงานในช่วงน้ำท่วมยังมี รายได้แม่จะต่ำกว่าปกติ

ตลอดปี 2554 การว่างงานเฉลี่ยอยู่ในระดับ 0.7% โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.1% มีค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 2.8% โดยตลาดแรงงานยังคงตึงตัว แต่ถ้าจำแนกตามจำนวนชั่วโมงการทำงานรายสาขาการผลิตพบว่า ยังมีการทำงานที่ไม่เต็มศักยภาพหรือนับว่าเป็นแรงงานแฝงอยู่ในรูปของการทำ งานที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มศักยภาพเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำงานต่ำระดับเนื่องจากคุณสมบัติของแรงงานไม่ตรงกับความ ต้องการของตลาด รวมทั้งแรงงานไร้ทักษะในภาคเกษตร ซึ่งเป็นผลจากการจัดการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน คุณภาพแรงงานต่ำที่เป็นผลจากการศึกษาและการฝึกอบรมและขาดการศึกษาอย่างทั่ว ถึงของประชาชนในอดีต ดังนั้นเฉลี่ยโดยภาพรวมแล้วผลิตภาพแรงงานของไทยจึงต่ำ โดยเฉพาะในภาคเกษตรและแรงงานนอกระบบซึ่งรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ในระดับต่ำ โดยที่ไทยยังมีประชาชนกลุ่มยากจนและกลุ่มเสี่ยงอยู่ถึง 10 ล้านคน

(เดลินิวส์, 27-2-2555)

ห่วงครึ่งปีแรกแรงงาน 1.6 แสนคนถูกลอยแพ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและนางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)แถลงภาวะ สังคมไทยไตรมาส4/2554 (จีดีพีสังคม) ระบุว่า อัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 4/2554 อยู่ที่ 0.6% หรือเท่ากับมีผู้ว่างงาน 245,890 คน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่การจ้างงานกลับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกันถึง 0.9% สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงถึง 9% เนื่องจากในส่วนของผู้ประกอบการด้านก่อสร้างและค้าปลีกค้าส่ง ยังคงมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการ
บางส่วนยังอยู่ในช่วงที่ขาดแรงงานและภาวะตลาดแรงงานตึงตัว

ทั้งนี้ โดยภาพรวมการจ้างงานทั้งปี 2554 ยังเพิ่มขึ้น 1.1%ขณะที่อัตราการว่างงานเฉลี่ยทั้งปี 0.7%และช่วงไตรมาส 4 รายได้แท้จริงของแรงงานเพิ่มขึ้น 3.2% ทั้งปีเพิ่มขึ้น 2.8% ซึ่งถือว่าชะลอตัว
เนื่องจากตลาดด้านแรงงานยังมีภาวะตึงตัวเช่นกัน

นายอาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ยังต้องติดตามในปี 2555 คือความเสี่ยงต่อการเลิกจ้างงาน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก ที่จะมีความชัดเจนจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมในการปรับ อัตราการจ้างงานและนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยพบว่าขณะนี้ มีแรงงานถึง 45,000 คน ที่ถูกเลิกจ้างงานจากสถานประกอบการ 122 แห่ง และอีก 284 แห่งที่ยังไม่สามารถ
เปิดกิจการได้

ส่งผลให้มีแรงงานที่เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง เนื่องจากยังรอการกลับเข้าทำงานของโรงงานที่ถูกน้ำท่วม อีกจำนวนถึง 164,552 คน และเมื่อรวมกับอัตราการจ้างงานที่จะมีการปรับขึ้น
อีก 40% ทั่วประเทศและ 40% ใน 7 จังหวัดนำร่อง ก็จะเป็นเหตุผลทำให้ผู้ประกอบการทบทวนนโยบายการจ้างงาน และอาศัยเหตุการณ์น้ำท่วมประกาศปิดบริษัท หรือ เลิกจ้างงาน

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงในการเลิกจ้างแรงงาน ประกอบด้วย การผลิตยานยนต์ เครื่องจักรสำนักงาน อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอเครื่องแต่งกาย เครื่องจักรที่ใช้ในงานทั่วไป โทรทัศน์ วิทยุ
เครื่องใช้ไฟฟ้า ยาง เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น

“ เชื่อว่าการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นแรงกดดันให้แรงงานและผู้ประกอบการ ต่างเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพราะผู้ประกอบการต้องปรับตัวจากอัตราโครงสร้างการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นทั้ง ระบบ
รวมถึงการพิจารณาการย้ายแหล่งผลิตเพื่อแก้ปัญหาด้านต้นทุนที่เพิ่มและ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่หากประสิทธิภาพานทำงานดีขึ้น และผลิตผลดีก็จะส่งต่อ GDP เช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีแรงงานที่ได้รับค่าจ่างขั้นต่ำต่ำกว่า 300 บาท ประมาณ 5.1-6.9 ล้านคน และต้องใช้ต้นทุนเพิ่มขึ้นในส่วนนี้ประมาณ 6.7-11.1 พันล้านบาทต่อเดือนหรือ 6.2-10.2% ของอัตราค่าจ้างเดิม

(กรุงเทพธุรกิจ, 27-2-2555)

เครือข่ายแรงงานฯ เรียกร้องค่าจ้าง 300 บาท ต้องเท่ากันทั่วประเทศทันที

ลานพระบรมรูปฯ 28 ก.พ.- เครือข่ายแรงงานฯ เรียกร้องค่าจ้าง 300 บาท ต้องเท่ากันทั่วประเทศทันที ชี้ค่าครองชีพต่างจังหวัดไม่ได้ถูกกว่า พร้อมแนะนายจ้าง ขยับขึ้นค่าจ้างตามฝีมือ-อายุงาน

เครือข่ายแรงงานเพื่อการปฏิรูปค่าจ้างที่เป็นธรรม ประกอบด้วย สภาองค์กรลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน สหภาพแรงงานในย่านอุตสาหกรรมต่าง ๆ และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จำนวนกว่า 1,000 คน ชุมนุมเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ขึ้นค่าจ้าง  300 บาทนำร่องใน 7 จังหวัด ตั้งแต่ 1 เมษายนนี้ ขณะที่จังหวัดอื่นปรับขึ้นอีกประมาณร้อยละ 40 โดยรวมตัวที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนเดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงน.ส.ลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่หน้าทำเนียบรัฐบาล

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวยืนยันว่า ค่าจ้างขั้นต่ำต้องปรับเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศทันที เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะปัจจุบันค่าครองชีพในต่างจังหวัด ไม่ได้ต่ำกว่ามากนัก การเลื่อนการขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท ในอีก 70 จังหวัดออกไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2556 ก็จะเจอปัญหาแบบเดิมอีก นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยที่คณะกรรมการค่าจ้างกลางออกมาระบุว่าหลังการปรับขึ้นค่าจ้าง ครั้งนี้ จะไม่มีการขึ้นค่าจ้างอีก 2-3 ปี เพราะจะไม่สะท้อนค่าครองชีพที่แท้จริง จึงขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนนโยบายดังกล่าว

นายชาลี กล่าวอีกว่า หลังการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทแล้ว นายจ้างควรจะมีการปรับโครงสร้างค่าจ้างให้เป็นธรรม โดยการปรับขึ้นค่าจ้างตามฝีมือและอายุงานให้คนงานเก่าด้วย ไม่เช่นนั้นอาจเกิดคลื่นใต้น้ำหรือปัญหาภายในองค์กรขึ้น ส่วนท่าทีของนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ออกมาตำหนิการชุมนุมของผู้ใช้แรงงานด้วยความรุนแรง และระบุว่าสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนนั้น ขอให้นายเผดิมชัย เปิดใจให้กว้าง เพราะกระทรวงแรงงานถือเป็นที่พึ่งของคนงาน ไม่ต้องการให้มาตำหนิกัน

(สำนักข่าวไทย, 28-2-2555)

โครงการป้องกันบรรเทาเลิกจ้างเฟส 2 สะดุด หลายโรงงานไม่คอนเฟิร์มจ้างคนงานต่อหรือไม่

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังมีสถานประกอบการจำนวนมาก โดยเฉพาะใน จ.พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ที่ยังไม่ยืนยันว่าจะร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างต่อหรือ ไม่ เนื่องจากยังไม่ตัดสินใจว่าจะเดินหน้าธุรกิจในอนาคตต่อไปอย่างไร

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วม ปลายปี 2554 โดยมีหลักการว่านายจ้างต้องไม่เลิกจ้างและจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 75% ของค่าจ้างเดิม ขณะที่ภาครัฐจะช่วยจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างรายละ 2,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน ใช้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท ปัจจุบันมีสถานประกอบการขอเข้าร่วมโครงการ 1,787 แห่ง ครอบคลุมลูกจ้าง 3.2 แสนคน

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้สิ้นสุดลงวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา และเหลืองบที่ใช้ไม่หมดอีก 158 ล้านบาท กสร.จึงมีแนวคิดนำเงินดังกล่าวมาช่วยเหลือสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ แล้วแต่ยังฟื้นฟูโรงงานไม่เสร็จ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะสรุปหลักเกณฑ์ว่าสถานประกอบการประเภทใดที่เข้าข่ายได้ รับการช่วยเหลือและจะช่วยเหลือต่ออีกกี่เดือนภายในวันที่ 15 ก.พ. แต่เนื่องจากสถานประกอบการหลายแห่งที่มีบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศ ตลอดจนบริษัทญี่ปุ่นซึ่งจะปิดปีงบประมาณในเดือน มี.ค.จึงยังไม่สามารถยืนยันการเข้าร่วมโครงการได้จนกว่าผู้บริหารในต่าง ประเทศจะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับโรงงานที่อยู่ในเมืองไทย

“ผมสั่งให้สวัสดิการจังหวัดเร่งติดตามสถานประกอบการเพื่อยืนยันว่าจะ เลิกจ้างคนงานหรือเข้าโครงการต่อ ซึ่งหลายแห่งยังไม่คอนเฟิร์มเพราะรอตัดสินใจอนาคตทางธุรกิจเสียก่อน อย่างไรก็ตามคาดว่าตัวเลขต่างๆจะมีความชัดเจนภายในเดือน มี.ค.นี้ ”นายอาทิตย์ กล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2554 โดยระบุว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 มีแรงงาน 1.64 แสนคน ที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้ เนื่องจากผลกระทบน้ำท่วมมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างหรือตกงาน

ขณะที่การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทใน7 จังหวัด และจังหวัดอื่นๆ70 จังหวัด ที่มีการเพิ่มค่าจ่างขั้นต่ำ ในอัตรา 39.5% ในเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้สถานประกอบการบางส่วนทบทวนนโยบายจ้างงานและอาจอาศัย เหตุการณ์น้ำท่วมเป็นสาเหตุในการปิดบริษัท เลิกจ้าง หรือไม่จ่ายค่าจ้างอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการเลิกจ้างประกอบด้วย การผลิตยานยนต์ เครื่องจักรสำนักงานอิเล็ก ทรอนิกส์ สิ่งทอ เครื่องแต่งกายเครื่องจักรใช้งานทั่วไปโทรทัศน์และวิทยุ เครื่องใช้ไฟฟ้ายาง เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ในบ้านเรือนและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม

ขณะเดียวกัน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยรายงานการเตือนภัยด้านแรงงานฉบับล่าสุด ระบุว่าการวิเคราะห์โอกาสของการเกิดวิกฤตการจ้างงานด้วยแบบจำลองโพรบิต (Probit Model) พบว่า โอกาสที่จะเกิดวิกฤตในตลาดแรงงาน ในไตรมาส 2 สิ้นเดือน มิ.ย.สูงถึง 86.94% ซึ่งอยู่ในระดับอันตราย

(โพสต์ทูเดย์, 28-2-2555)

บอร์ดค่าจ้างมีมติขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือทั้ง 22 สาขา ให้สอดคล้องกับค่าจ้าง 300 บาท

ก.แรงงาน 1 มี.ค.- นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน  กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) เพื่อพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติใน 22 สาขาอาชีพ ที่ได้มีการประกาศใช้แล้ว ให้สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทที่จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ ว่า คณะกรรมการค่าจ้างกลาง มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในทุกระดับ โดยระดับ 1  ปรับค่าจ้างขึ้นอีกร้อยละ 11.7-42.9  หรือเพิ่มขึ้นอีก 35-140 บาท สาขาที่ได้ปรับขึ้นต่ำสุด คือ ช่างเครื่องเรือนไม้ จากเดิมมีค่าจ้างระดับ 1 วันละ 300 บาท เพิ่มเป็น 335 บาท สาขาที่ได้ปรับขึ้นสูงสุด  คือ สาขาผู้ประกอบอาหารไทย จากเดิมค่าจ้างระดับ 1 วันละ 280 บาท ปรับเพิ่มเป็น 400 บาท ส่วนค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่ต่ำสุดใน 22 สาขาอาชีพ คือ ช่างเย็บและช่างบุครุภัณฑ์ มีค่าจ้างระดับ 1 วันละ 320 บาท ค่าจ้างสูงสุด คือ นวด สปาตะวันตก มีค่าจ้างวันละ 490 บาท

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือครั้งนี้ มีการปรับขึ้นในทุกระดับ โดยค่าจ้างระดับ 2 มีการปรับเพิ่มขึ้นวันละ  35-190 บาท ทำให้ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่วันละ 370 บาท สูงสุดที่ 650 บาท ส่วนระดับ 3 ปรับเพิ่มขึ้นวันละ 35 ถึง 210 บาท  ทำให้ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่วันละ 420 บาท สูงสุดที่ 775 บาท โดยค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานอัตราใหม่นี้ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ พร้อมกับค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2555

(สำนักข่าวไทย, 1-3-2555)

เตือนแรงงานไทยทำงานมาเลเซียผิดกม.เจอกวาดล้าง

จัดหางานจังหวัดตรัง เตือนแรงงานไทยที่จะไปทำงานในมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย? เจอมาตรการทางกฎหมาของประเทศเพื่อนบ้านกวาดล้างทั้งปรับเงินและจำคุก

นายอรุณ หมัดเหล็ม จัดหางานจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า สำนักงานแรงงานในประเทศมาเลเซีย แจ้งว่า ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2555 เป็นต้นไป ทางการมาเลเซียจะดำเนินการกวาดล้าง ตรวจจับ และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ที่ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย และผู้ที่อยู่อย่างผิดกฎหมายในมาเลเซียที่ไม่ได้ลงทะเบียนในแผนการนิรโทษ กรรมแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย โดยได้จัดเจ้าหน้าที่จากกรมตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจและกองทัพมาเลเซีย จำนวน 4 ล้านคน เพื่อดำเนินการกวาดล้างและตรวจจับแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด

"ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมาเลเซียอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งผู้ที่เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย แต่อยู่เกินกำหนดที่ได้รับอนุญาตจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกน 5 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่ได้เดินทางเข้าไปโดยวีซ่าท่องเที่ยวหรือใบผ่านแดน (Border Pass) แล้วทำงานโดยผิดกฎหมายจะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 ริงกิต หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ"นายอรุณ กล่าว

จัดหางานจังหวัดตรัง กล่าวต่อว่า ขอเตือนประชาชน คนหางานที่จะเดินทางไปทำงานในมาเลเซีย ให้งดการเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียอย่างไม่ถูกต้องหรือเดินทางเข้าไปแล้ว ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต มิฉะนั้นจะถูกทางการมาเลเซียจับกุมและถูกดำเนินคดีดังกล่าว ทั้งนี้หากต้องการเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายให้ติดต่อลงทะเบียน แจ้งความประสงค์จะเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดตรัง ศาลากลางจังหวัดตรัง หลังใหม่ ชั้น 2 อำเภอเมือง จังหวัดตรัง หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หมายเลขโทรศัพท์ 075-214027-8 ในวันและเวลาราชการ

(เนชั่นทันข่าว, 1-3-2555)

ปรับเพดานค่าจ้างตามฝีมือแรงงาน 6 กลุ่ม 1 เม.ย. นี้

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง มีมติเห็นชอบ ให้ปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติใน 6 กลุ่ม 22 สาขาอาชีพ ตามที่คณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือนำเสนอตัวเลขผลการศึกษา เนื่องจากอัตราเดิมในบางสาขา มีอัตราค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติปรับค่า จ้างขั้นต่ำเพิ่ม ร้อยละ 40 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ 7 จังหวัด ค่าจ้างขั้นต่ำปรับเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ซึ่งมีผลในวันที่ 1 เม.ย.นี้

การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ยึดหลักการให้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งจะต้องสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และการจ่ายค่าจ้างตามาตรฐานฝีมือจะต้องเป็นไปตามสภาพการจ้างงานของแต่ละสาขา อาชีพ และความสามารถในการจ่ายของนายจ้างในตลาดแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 6 กลุ่มใน 22 สาขาอาชีพ ที่คณะกรรมการค่าจ้างเห็นชอบให้ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่

1. กลุ่มช่างเครื่องกล ให้ปรับเพิ่มขึ้น 85 บาท ในทุกสาขา/ทุกระดับ เช่น ช่างสีรถยนต์ ค่าจ้างใหม่ 400-530 บาทต่อวัน ,ช่างเคาะตัวถังรถยนต์ 420-590 บาทต่อวัน, ช่างซ่อมรถยนต์ เพิ่มเป็นวันละ 360 -530 บาทต่อวัน

2. กลุ่มภาคบริการ ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.5 ทุกสาขา/ทุกระดับ เช่น ผู้ประกอบอาหารไทย เพิ่มเป็นวันละ 400-510 บาทต่อวัน , พนักงานนวดไทย เพิ่มเป็นวันละ 440 -720 บาทต่อวัน และนักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันออก หรือ หัตถบำบัด เพิ่มเป็นวันละ 490 - 650 บาทต่อวัน

3. กลุ่มช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ ให้ปรับเพิ่มขึ้น 100 บาท ทุกสาขา/ทุกระดับ แยกเป็น ช่างซ่อมไมโครคอมพิวเตอร์ , ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร , ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม , ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก และช่างอิเล็กทรอนิกส์ ซ่อมโทรทัศน์ เพิ่มเป็นวันละ 400 บาท ระดับ 2 เดิมได้วันละ 400 - 600 บาท

4. กลุ่มช่างอุตสาหการ ปรับค่าจ้างแตกต่างกันตามความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและตลาดแรงงาน แยกเป็น ช่างเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ เพิ่มเป็นวันละ 460-670 บาท, ช่างแม็ก เพิ่มเป็นวันละ 400-600 บาท และ ช่างเชื่อมทิก เพิ่มเป็นวันละ 455-775 บาทต่อวัน

5. กลุ่มช่างก่อสร้าง ให้ปรับเพิ่ม 85 บาท ทุกสาขา/ทุกระดับ เช่น ช่างไม้ก่อสร้าง เพิ่มเป็นวันละ 385 - 605 บาท ,ช่างก่ออิฐ เพิ่มเป็นวันละ 345-585 บาท ,ช่างฉาบปูน เพิ่มเป็นวันละ 385-605 บาทต่อวัน และช่างอะลูมิเนียมก่อสร้าง เพิ่มเป็นวันละ 365-585 บาท

6. กลุ่มช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ให้ปรับเพิ่มตามสภาพการจ้างงานของแต่ละสาขาอาชีพ แยกเป็น ช่างเย็บเพิ่มเป็นวันละ 320-500 บาท ,ช่างเครื่องประดับ หรือช่างเครื่องประดับอัญมณี เพิ่มเป็นวันละ 400-750 บาท , ช่างเครื่องเรือนไม้ เพิ่มเป็นวันละ 335 - 435 บาท และช่างบุครุภัณฑ์ เพิ่มเป็นวันละ 320-420 บาทต่อวัน

ทั้งนี้ การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในครั้งนี้ สาขาที่ปรับเพิ่มต่ำสุดคือ สาขาช่างเครื่องเรือนไม้ ระดับ 1 เดิมได้วันละ 300 บาท เพิ่มเป็นวันละ 335 บาท คิดเป็นร้อยละ 11.7 ส่วนสาขาที่ได้ปรับสูงสุดคือ ผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 1 เดิมได้วันละ 280 บาท เพิ่มเป็นวันละ 400 บาท คิดเป็นร้อยละ 42.9 การปรับครั้งนี้เพื่อให้ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ได้รับการขยับเพดานเพิ่มสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ พร้อมการปรับค่าแรงขั้นต่ำ

ส่วนกรณีที่เครือข่ายแรงงานเสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ในที่ประชุมไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องนี้ แต่เข้าใจว่า ในประเด็นนี้ได้มีความชัดเจนพอสมควร ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจดี และ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจดีแล้ว

 (ไทยพีบีเอส, 3-3-2555)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

"เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ" ตัวการขัดขวางกระบวนการเป็นประชาธิปไตย

Posted: 04 Mar 2012 12:22 AM PST

ชุดความรู้คำอธิบายต่อปัญหา “หมอกและควัน” ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีของทุกปี มักจะมีคำอธิบายเดิมๆ ซ้ำๆ เช่นไฟป่าตามธรรมชาติ[1] ไฟจากน้ำมือมนุษย์ และแน่นอนว่าปรากฏการณ์ไฟจากน้ำมือมนุษย์น่าจะเป็นชุดความรู้คำอธิบายที่เกิดขึ้นหลังจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ชนบท ซึ่งอย่างน้อยก็เข้มข้นและหนักหน่วงขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา[2] ชุดความรู้คำอธิบายจากช่วงเวลาดังดังกล่าวก็อาจมาจาก “วาทกรรมการพัฒนา”[3] ด้วย ที่ได้จัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้ผู้คนในสังคมเป็น 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่ม “คนในเมือง” ซึ่งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมหรือพื้นที่เจริญกว่าคนอีกกลุ่มคือ “คนชนบท” ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่เกษตรกรรม

ภาคเหนือและภาคอีสานกลายเป็นพื้นที่ๆ ถูกจัดวางไว้ในเขตชนบท แม้ว่าปัจจุบันชนบทจะเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ตาม แต่ในจินตนาการของ “คนชั้นกลางในเมือง” ชนบทก็ยังเป็นชนบทแบบในละครอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ในความเป็นจริงถึงแม้ว่าพื้นที่ในภาคเหนือและภาคอีสานจะเป็นเขตเกษตรกรรม แต่ก็ไม่ใช่การทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม (ที่ทำเพื่อยังชีพ) เพราะพวกเขาที่เป็นเกษตรกรจะต้องข้องเกี่ยวกับทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนต้องคำนวณต้นทุนอย่างเป็นระบบ และอีกอย่าง พืชเงินสด (cash crops) ทั้งหลาย ที่ปลูกกันในภาคเหนือภาคอีสานก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่สะท้อนความต้องการบริโภคแบบสังคมสมัยใหม่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในการผลิตโปรตีนจากสัตว์ และน้ำตาลก็เป็นพืชที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตอาหารอีกหลากหลายชนิดที่ตอบสนองต่อความต้องการการบริโภคแบบสมัยใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงบอกได้ว่าภาคเหนือและภาคอีสานคือพื้นที่รองรับการผลิตอาหารเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของ “คนในเมือง” ที่ไม่สามารถผลิตอาหารเองได้

“การเผา” เพื่อผลิตพืชเงินสดทั้งหลาย ก็เป็นหนึ่งในกระบวนการตอบสนองการบริโภคแบบสังคมสมัยใหม่ที่คำนวณต้นทุนการผลิตอย่างดีแล้วว่า “คุ้มค่า” มากที่สุด อย่างน้อยก็ในระบบคิดของเกษตรกรซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับระบบคิดของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป

“คนชั้นกลางในเมือง” ที่อ่อนไหวต่อปัญหานี้ตามหลักสากล หรือไม่ก็อ่อนไหวเพราะรู้สึกว่าขาดแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมไป 2 พื้นที่ หรือพวกเขาแกล้งลืมไปว่าพวกเขาก็เป็นต้นตอของปัญหา ซึ่งพวกเขาเป็นแหล่งกำเนิดของอุปสงค์ต่อสินค้าที่สนองตอบต่อรูปแบบการบริโภคสมัยใหม่ จึงทำให้พวกเขาหลับหูหลับตาและเชื่อว่าสาเหตุหลักของการเกิดหมอกควันคือเป็นเพราะชาวบ้าน “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” ว่าเป็นสาเหตุหลัก

“เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” ช่างเป็นคำอธิบายถึงสาเหตุควันไฟที่ดูถูกวิถีชีวิตของคนเหนือและอีสานจริงๆ ในที่นี้ไม่แน่ใจว่าคำกล่าวอ้างนั้นเป็นจริงหรือไม่ แต่ดูโดยเหตุผลแล้วมันไม่น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดหมอกควันได้เลยเพราะจากรูปที่1 ภาพถ่ายแสดงพื้นที่ไฟป่าปีพ.ศ.2545 – 2550

รูปที่ 1 ภาพถ่ายแสดงพื้นที่ไฟป่าปี พ.ศ.2545 – 2550[4]

 

จากรูปที่ 1 แสดงให้เห็นว่าในช่วงเวลาเดียวในระยะเวลาห่างกัน 5 ปีการเกิดไฟป่ากินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างมากจากปีพ.ศ.2545 – 2550 จึงทำให้เกิดคำถามว่า ในเมื่อสังคมใน 5 ปีมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การบริโภคแบบสมัยใหม่ก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น แล้วการบริโภคในรูปแบบสมัยใหม่เข้มข้นขึ้นมันจะกระตุ้นอุปสงค์ต่อของป่าอย่างผักหวานและเห็ดเผาะให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร? จนทำให้ชาวบ้านเกษตรกรซึ่งก็มีรูปแบบการผลิตที่ใช้ทุนเข้มข้นขึ้นทุกวันรู้สึกว่าการเผาเพื่อหาของป่านอกฤดูทำนามันคุ้มค่าได้อย่างไรในเมื่ออุปสงค์ต่อรูปแบบการบริโภคสมัยใหม่เพิ่มขึ้น? คำตอบในขั้นต้นคือ อุปสงค์ต่อของป่าน่าจะลดลงตามความเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทไปสู่สังคมเมือง ดังนั้น เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” จึงไม่น่าจะใช่สาเหตุหลักแน่นอน แต่การเผาเพื่อผลิตพืชเงินสดเช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอ้อยยังจะฟังมีเหตุผลมากกว่า

ดังนั้นจึงเกิดคำถามตามมาว่า แล้วทำไมคำอธิบายว่า เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” เป็นสาเหตุหลักของหมอกควันในปีพ.ศ.2555 จึงยังคงมีน้ำหนักอยู่? ดังเช่นคำอธิบายที่มาจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นจากแหล่งข่าวหนึ่งว่า

อธิบดีกรมคบคุมมลพิษชี้สาเหตุคนเผาป่าภาคเหนือเพื่อหาเห็ดเผาะและเก็บผักหวาน หากไม่เผาผักหวานจะไม่แตกยอด เผยปัญหาหมอกควันเริ่มลดลง แต่นิ่งนอนใจไม่ได้ กำชับผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดกวดขันเต็มที่[5]

ข้อความจากแหล่งข่าวดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคำอธิบายเผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” อาจเกิดขึ้นในหัวของเจ้าหน้าที่รัฐหรือเป็นสมมติฐานเบื้องต้นที่เชื่ออย่างสนิทใจว่าชาวบ้านเกษตรกรเป็นตัวปัญหาเนื่องจากพวกเขาไม่มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่มีความรู้ในเรื่องการเกษตร และไม่คิดถึงผู้อื่นหรือคิดแต่ผลประโยชน์ระยะสั้นเป็นต้นดังข้อความจากแหล่งข่าวหนึ่งดังนี้

“…มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการดูแลและป้องกันไฟป่าในเขตภาคเหนือมาให้ความรู้ว่า สาเหตุที่เกิดไฟไหม้ป่าหลายจุดทั่วไปในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง มีสาเหตุหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักมาจากคนท้องถิ่นบุคคลเหล่านี้ทำมาหากินอยู่กับการทำไร่ทำนาที่ติดกับป่าเขา เมื่อหมดหน้าไร่นาย่างเข้าสู่ฤดูแล้ง คนเหล่านี้จะออกหาของป่ามาขายอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านต้องการคือยอด ผักหวาน ที่เกิดขึ้นตามความเชื่อของชาวบ้าน คือภายหลังจากไฟไหม้ป่า... แต่ในความเป็นจริงนั้นเจ้าหน้าที่ป่าไม้บอกว่าแม้ไม่มีไฟไหม้ป่าผักหวานก็ถอดยอดเมื่อมีฝนตกหลังฤดูแล้งอยู่ดี แต่ความรู้นี้บอกให้ตายก็ยังถอนความเชื่อผิดๆ ออกจาสมองชาวบ้านไม่ได้ จนเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่รู้จะทำยังไง ก็ได้แต่ระวังป้องกันและให้ความรู้กันต่อไปจนกว่าความรู้เรื่องผลเสียหายของการเผาป่าจะเป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน…”[6]

ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะทำลายความเชื่ออัน หนักแน่น” ดังกล่าวได้ ยิ่งคำอธิบายนั้นๆ ออกมาจากปากของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นผู้ที่มี “ความรู้” และ “ใกล้ชิดกับปัญหา” นอกจากนั้นคำอธิบายในหัวของ “คนชั้นกลางในเมือง” พวกเขาก็ยิ่งเชื่ออย่างสนิทใจว่า พวกคนชนบทชอบเผา เมื่อผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองในเดือนพฤษภาคมปีพ.ศ.2553 ที่มีเหตุการณ์เผากลางเมือง ด้วยอารมณ์ความรู้สึกและความเข้าใจต่อคนชนบทเดิมที่มีอยู่แล้วว่าเป็นพวก “โง่ จน เจ็บ” ป่าเถื่อน และ ไร้ “วุฒิภาวะทางการเมือง” ก็ยิ่งทำให้พวกเขาพร้อมที่จะโยนความผิดให้กับคนเหนือและอีสานว่าเป็นสาเหตุของมลพิษทางอากาศ

ประกอบกับหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคมปี พ.ศ.2554 ได้มีการแสดงความคิดเห็นในเครือข่ายเฟสบุคของนักศึกษาระดับปริญญาเอกคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษต่อผลการเลือกตั้งผ่านรูปภาพเปรียบเทียบระหว่าง GDP ต่อหัว หรือ (GDP per capita) กับจำนวนที่นั่ง ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคมปีพ.ศ.2554 ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ส.เป็นเสียงข้างมากดังรูปที่2 GDP ต่อหัวเปรียบเทียบกับจำนวนที่จำนวนที่นั่ง ส.ส. (หมายเหตุ: สีแดงคือพรรคเพื่อไทย สีฟ้าคือพรรคประชาธิปัตย์ และสีน้ำเงินเข้มคือพรรคภูมิใจไทย)

 

รูปที่ 2 GDP ต่อหัวเปรียบเทียบกับจำนวนที่จำนวนที่นั่ง ส.ส.[7]

จากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่าพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยเท่ากับพื้นที่ๆ มี GDP ต่อหัวต่ำ นั่นก็คือพื้นที่ภาคเหนือกับภาคอีสาน หากนำรูปที่1 กับรูปที่2 มาเทียบกันก็จะเห็นว่าพื้นที่ๆ เกิดไฟป่ากับพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยคือพื้นที่ๆ เดียวกัน จึงทำให้มีถ้อยคำแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดของเสรีไทย (webboard.serithai.net) ในหัวข้อชื่อกระทู้ เชียงใหม่ วันนี้” โดย 1[8] 26 กุมภาพันธ์ 2555 20:07 ซึ่งมีคำอธิบายเกี่ยวกับหมอกควันเชื่อมโยงกับ “อคติทางการเมือง” เข้าด้วยกันดังข้อความที่จะยกมาต่อไปนี้

“1 : พอดีมีธุระด่วนที่เชียงใหม่ เกี่ยวกับผักของโครงการ ได้เห็นสภาพของป่าไม้ นั่งดื่มกาแฟกับเพื่อนที่ริมเขื่อนแม่กวง เห็นไฟไหม้ป่า จึงถามมันว่าไฟมาจากไหน ชาวบ้านเผา เพราะต้องการให้หวานมันแตกยอด เพราะคิดอย่างนี้จึงเลือกทักษิณ... คิดแต่ผลประโยชน์สั้นๆ วันนี้ แต่วันหน้าต้องแลกกับอะไรไม่สนใจ  

1 : ชาวบ้านอีสานก็คิดเหมือนกัน ป่าสงวนที่เป็นป่าเต็งรังที่ชาวบ้านเข้าถึงโดนเผาก็เพราะเหตุผลนี้ ต้นไม้ในป่าเต็งรับโดนไฟลวกจะใบร่วงแล้วแตกใบใหม่ ไม้พื้นล่างของป่า ส่วนใหญ่จะเป็นต้นเพ็ก (เหมือนต้นไผ่แต่สูงประมาณเอว) พอไหม้เตียนแล้วจะเดินหาของป่าสะดวก

2 : ตายห่ายกจังหวัดเลยก็ได้ครับ ผมจำได้ม่ะเหตุการณ์เผาเมือง ผมเรียนอยู่เค้าเดินถือขวดเอ็ม 150 มาพร้อมน้ำมัน มาหน้าตึกเรียนพิเศษแล้วยามถามว่ามาจากไหนกันเนี๊ย เค้าบอกว่ามาไกลจากเชียงใหม่แน่ะ เค้าบอกว่ามาเพื่อความยุติธรรม ผมล่ะเห้อสมองเน้อ สมอง

3 : แรงไปครับ อย่างเหมารวมดิครับเชียงใหม่ฉลาดๆ ก็มีนะครับ

4 : แดงควายเยอะ ถนัดเรื่องเดียว เรื่องเผา อ้ายโปก อยากตาย

1 : ไม่เป็นไร เดี๋ยวพ่อแม้วเนรมิตทีมบอลเชียงใหม่ให้ (ทั้งที่มันทำแมนซิร่อแร่ คิดดู) ไม่เป็นไร เดี๋ยวพ่อแม้วโยกเงินมาลงทุนรถไฟไปเมืองจีนให้ (ระวังจะเหมือนโครงการถมทะเล ป่านนี้ไปลงหลุมไหนแล้วล่ะ) ไม่เป็นไร เดี๋ยวพ่อแม้วจะสร้างความเจริญทดแทนให้ (ทุ้ยยยย) เบื่อจะเคลียร์ อ่อนเพลียจะพูด หน้าผมเป็นตรูดทุกครั้งที่พูดถึงไอ้แม้วมัน

5 : ต้องขอโทษคนเหนือที่ยังเป็นคนอยู่ ผมและครอบครัวหลงใหลเชียงใหม่และภาคเหนือ ปีหนึ่งๆ ต้องไปไม่ต่ำกว่าสี่ครั้ง แต่ละครั้งจะพักหลายวันเพราะมีที่พักดีๆ เกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอด ตั้งแต่ปีที่แล้วไม่ได้ไปเลย เพราะไม่ชอบแนวความคิดนิยมเผาบ้านเผาเมืองและเห็นการจาบจ้วงสถาบันฯ อย่างเปิดเผย คนที่เคยหลงใหลภาคเหนือเป็นเหมือนผมหลายคน คงมีคนนิยมเผาฯ หลายคนพูดว่าไม่เห็นต้องง้อให้ผมไปเที่ยวเชียงใหม่เลย ซึ่งผมก็ว่าไม่ผิดอะไรเพราะเป็นท้องที่ของท่าน แต่ที่อยากจะฝากบอกคือเงินที่มันได้มาง่ายๆ มักหมดเร็ว ไม่ว่าจะมีบางตระกูลหยิบยื่นให้เพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า หรือการลงทุนเผาป่าให้ได้ผักหวานและให้เดินเข้าไปเก็บของป่าโดยสะดวกที่จะหมดไปพร้อมเงินคือความรู้ผิดชอบชั่วดี ถึงตอนนั้นจะไม่มีใครสงสารเห็นใจ”[9]

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าแม้แต่คำอธิบายที่ว่า เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” ก็ได้กลายเป็นสาเหตุหลักของหมอกควันซึ่งเต็มไปด้วยความรู้สึกเหยียดหยามราวกับว่าประเทศเรายังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชีวิตหาของป่าล่าสัตว์ ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และนอกจากนั้นคนกลุ่มดังกล่าวยังเป็นฐานเสียงให้กับพรรคการเมืองที่พวกเขา (คนชั้นกลางในเมือง) “ไม่รัก

อคติทางการเมืองเหล่านี้ใช่หรือไม่? ที่ทำให้เรายังไม่เข้าใจกันและเป็นตัวการณ์สำคัญในการกลบเกลื่อนปัญหาที่แท้จริงของหมอกควันอันจะทำให้ภาครัฐและสังคมเข้าใจและร่วมกันแก้ปัญหาอย่างตรงจุด อีกทั้งปัญหาหมอกควันจากการชุดความรู้คำอธิบาย “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ” ยังเป็นคำอธิบายที่ตลกร้ายซ่อนนัยขัดขวางความเป็นประชาธิปไตยซึ่งควรจะเป็นสังคมที่มนุษย์มองมนุษย์ด้วยกันอย่างมีคุณค่าเท่าเทียม



[1] เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากสภาพอากาศในช่วงต้นปีค่อนข้างจะแห้งประกอบกับป่าไม้สะสมเชื้อเพลิงไว้ในตัวเองในระดับ แต่สาเหตุนี้เหมือนกับว่าถูกลืมไป และถูกกลบเกลื่อนด้วยคำอธิบาย “เผาป่าเพื่อหาผักหวานและเห็ดเผาะ”
[2] โปรดดู ผาสุก พงษ์ไพจิตร คริส เบเคอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. เชียงใหม่: ซิลค์วอร์ม. 2546, หน้า 65 ตารางแสดงเนื้อที่ปลูกพืชไร่แยกรายภาคปีพ.ศ.2493 – 2542 แสดงให้เห็นว่าการขยายตัวของเนื้อที่ปลูกไร่เช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปลูกอ้อยในภาคเหนือและภาคอีสาน ขยายตัวในอัตราที่ก้าวหน้าหากเทียบกับภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ฤดูกาลผลิตปีพ.ศ.2523/2524 เป็นต้นมาถึงปีพ.ศ.2542 ในที่นี้ไม่มีตัวเลขใกล้เคียงกับปัจจุบันแต่คาดว่าอาจมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น
[3] วาทกรรมการพัฒนาของไทยเกิดขึ้นในทศวรรษ 2500 เป็นต้น ซึ่งมีผู้ผลิตคำอธิบายและเริ่มจัดวางตำแหน่งแห่งที่ให้กับคนในสังคมเป็น 2 กลุ่มดังกล่าวคือพระยาอนุมานราชธนวิเคราะห์จากงาน สายชล สัตยานุรักษ์. ประวัติศาสตร์วิธีคิดเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมไทยของปัญญาชน (พ.ศ.2435-2535). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สกว. 2550, หน้า 309 - 455
[4] ไฟมา-ป่าหมด ไฟป่าปี 50 รุนแรงที่สุด...มีหลักฐาน [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา http://www.gotoknow.org/blogs/posts/84281 (3 มีนาคม 2555)
[5] แฉสาเหตุใหญ่เผาป่าภาคเหนือหวังหาเห็ด-ผักหวาน (จริงไหมครับ?) [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา Chttp://www.chiangraifocus.com/forums/index.php?topic=191754.0 (3 มีนาคม 2555)
[6] ฤาจะเผาป่าเพียงเพราะให้ได้ผักหวาน !!!! [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา http://www.oknation.net/blog/print.php?id=409798 (3 มีนาคม 2555)
[7] จากเฟสบุคของนักศึกษาระดับปริญญาเอกคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นการแชร์ลิงค์กันหลังผลการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 กรกฎาคมปีพ.ศ.2554
[8] นามสมมติ
[9] เชียงใหม่ วันนี้ [ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา เสรีไทย (3 มีนาคม 2555)
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน: ‘บึ้ม 3 ห้างปัตตานี’ ไม่ได้มุ่งชีวิตแค่ต้องการวางเพลิง

Posted: 03 Mar 2012 11:28 PM PST

แกะปมลอบวางระเบิด 3 ห้างดังปัตตานีกลางดึก ตำรวจยันคนร้ายไม่ได้มุ่งชีวิต เพียงแค่ต้องการลอบวางเพลิง โยงเผาโรงงานไม้ยางพาราร่วมทุน 5 ชาติคืนเดียวกัน เชื่อเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ 

“นี่เป็นการวางระเบิดที่มีวัตถุประสงค์ต้องการวางเพลิงเป็นครั้งแรก”

เป็นคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด ถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่ห้างบิ๊กซี ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันกับห้างซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ หรือซุปเปอร์ศรีเมือง และเคพีมินิมาร์ท 3 ห้างสรรพสินค้าในจังหวัดปัตตานี เมื่อเวลาประมาณ 24.00 น. คืนวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555

“การจุดระเบิดในลักษณะนี้ ป้องกันได้ค่อนข้างยาก เพราะระเบิดมีขนาดเล็ก สามารถซุกซ่อนในกล่องขนาดเล็กๆ เห็นได้จากคราวนี้วงจรระเบิดซุกอยู่ในกล่องคียบอร์ด ที่ตกแต่งให้มีขนาดประมาณกล่องยาสีฟัน วัสดุที่ใช้ก็เป็นวัสดุที่หาได้ในชีวิตประจำวัน” เจ้าหน้าที่หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด กล่าว

สำหรับเหตุเพลิงไหม้ห้างบิ๊กซีปัตตานี ร.ต.ท.ฟาฮามี เฮ็งปิยา พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี สันนิษฐานว่า คนร้ายซุกระเบิดไว้สองจุดภายในอาคารขายสินค้า จุดแรกที่ชั้นวางของแผนกขายผ้าอ้อม อีกจุดที่แผนกขายผงซักฟอก เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสามารถดับเพลิงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความเสียหายไม่มากนัก

จากการสำรวจสถานที่เกิดเหตุพบว่า ทางห้างบิ๊กซีได้นำแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดสีขาวขนาดใหญ่มาปิดทับชั้นวางของแผนกผ้าอ้อม ทำให้มองบริเวณที่เกิดเหตุไม่ชัด ขณะที่ห้างยังคงเปิดดำเนินการตามปกติ

ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัดซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ปัตตานี หรือซุปเปอร์ศรีเมือง คนร้ายได้วางระเบิดไว้สองจุดเช่นกัน แต่เพลิงลุกไหม้เพียงจุดเดียวคือ ด้านหลังอาคาร ซึ่งเป็นบริเวณขายส่งสินค้าประเภทเครื่องดื่ม ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมอยู่ด้วย มูลค่าความเสียหายประเมินเบื้องต้นประมาณ 3 ล้านบาท

“คาดว่าเป็นระเบิดแสวงเครื่องตั้งเวลาโดยนาฬิกาปลุก ใช้ไม้ขีดประมาณหนึ่งกำมือเป็นตัวจุดชนวน  ไม่ได้มุ่งเอาชีวิต” ร.ต.ท.ฟาฮามี เฮ็งปิยา กล่าว

ส่วนเหตุเพลิงไหม้ที่เคพี มินิมาร์ท อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ร.ต.อ.พิชัย วรรธนะวลัญช์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี สันนิษฐานว่า ผู้ก่อความไม่สงบได้นำระเบิดไปวางที่บริเวณชั้นวางขายน้ำยาระงับกลิ่นกาย มูลค่าความเสียหายโดยรวมประมาณ 3 ล้านบาท

ถึงแม้ร.ต.อ.พิชัย วรรธนะวลัญช์ เชื่อว่าเหตุระเบิดเคพี มินิมาร์ท มีความเชื่อมโยงกับเหตุวางเพลิงในตัวเมืองปัตตานี ทว่า ระเบิดที่เคพี มินิมาร์ท ทำงานได้สมบูรณ์จนไม่พบซากวัตถุระเบิด จึงไม่แน่ชัดว่าใช้ไม้ขีดเป็นเชื้อปะทุหรือไม่

“ผมอยู่จังหวัดปัตตานีมาแล้ว 5 ปี นี่เป็นการวางระเบิดร้านมินิมาร์ทเป็นครั้งแรก” ร.ต.อ.พิชัย วรรธนะวลัญช์ กล่าว

เจ้าหน้าที่ทำลายล้างวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ระบุว่า การต่อวงจรระเบิดในเหตุการณ์ทั้ง 3 แห่ง มีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ เป็นวงจรระเบิดที่จุดชนวนด้วยนาฬิกาปลุก เพื่อให้เกิดประกายไฟ โดยใช้น้ำมันบรรจุขวดเป็นเชื้อปะทุแทนดินระเบิด ถ้าจะตรวจหาวัตถุระเบิดเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องใช้เครื่องเอกซเรย์แบบที่ใช้กันในสนามบิน ซึ่งทำได้ยาก

ตำรวจเชื่อว่าเหตุการณ์ระเบิดห้างสรรพสินค้าทั้ง 3 แห่ง เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ ด้วยเพราะในคืนเดียวกันนี้ มีเหตุการณ์ระเบิดที่อำเภอโคกโพธิ์อีกจุด และที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานีก็เกิดเหตุด้วยเช่นกัน

สำหรับเหตุการณ์ที่อำเภอโคกโพธิ์ เป็นการลอบวางเพลิงโรงเก็บไม้ยางพาราของบริษัท เคเอ็มไพรเวท จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง 5 ประเทศคือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า และฟิลิปปินส์ ก่อนหน้านี้โรงงานแห่งนี้เป็นกิจการของบริษัท ธานินทร์พาราวู้ด จำกัด ซึ่งปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้ว

ร.ต.อ.พิชัย วรรธนะวลัญช์ สันนิษฐานว่า คนร้ายลอบวางเพลิง ด้วยการราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผา เนื่องจากเจ้าหน้าที่พบแกลลอนวางอยู่ในที่เกิดเหตุ  คาดว่าใช้น้ำมันประมาณสองแกลลอนในการวางเพลิง

ส่วนที่อำเภอสายบุรี เป็นเหตุการณ์คนร้ายลอบวางเพลิงเผารถยนต์ ในบ้านพักแขวงการทาง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คนกันตังชักธงรบ ‘กฟผ.’ ต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง

Posted: 03 Mar 2012 11:22 PM PST

เครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิดจัดเวทีเสวนา “ร่วมปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด” ชี้โรงไฟฟ้าถ่านหินทำลายสิ่งแวดล้อม คนในพื้นที่ค้าน กฟผ.สุดตัว ระบุไม่อยากเห็นแก่เงินทองและสิ่งของเพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่ กฟผ.เอามาแจกแล้วแลกกับวิถีชีวิต

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 3 มีนาคม 2555 ที่โรงเรียนบ้านแหลม ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เครือข่ายชุมชนรักษ์บ้านเกิดจัดเวทีเสวนา “ร่วมปกป้องแผ่นดินถิ่นเกิด” ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีชาวบ้านตำบลวังวน และตำบลที่เป็นพื้นที่ศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่จะตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง เข้าร่วมประมาณ 200 คน 

สำหรับบริเวณหน้าเวทีมีการขายเสื้อ และเปิดรับบริจาคเพื่อเป็นกองทุนในการขับเคลื่อนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังด้วย ขณะที่ตามหน้าบ้านของชาวบ้านบ้านแหลม หลายบ้านต่างติดป้ายคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

นางสาวศยามล  ไกรยูรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการจิตสำนึกนิเวศวิทยา นำเสนอว่า รายงานการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรังระบุว่า เป็นโรงไฟฟ้าขนาด 800 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินซับบิทูบินัสวันละ 7,144 ตันต่อวัน ปีละ 2.23 ล้านตัน เพื่อผลิตไฟฟ้า สูบน้ำทะเลมาใช้วันละ 2,190,836 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แล้วปล่อยกลับลงทะเล น้ำทะเลสำหรับผลิตน้ำจืด 4,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่มีท่าเรือขนส่งถ่านหิน โดยเรือขนลำละ 8-9 พันตัน ปีละ 279 เที่ยวต่อปี

“พื้นที่ศึกษาสถานที่ตั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ประกอบด้วย บ้านหัวหิน ตำบลบ่อน้ำร้อน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง บ้านเกาะแลน ตำบลกันตังใต้ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง บ้านหาดทรายขาว ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง บ้านนายอดทอง ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และบ้านทุ่งค่าย ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง” นางสาวศยามล  นำเสนอ

นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ นักวิชาการจากกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต นำเสนอว่า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (PDP 2010) ของกระทรวงพลังงาน ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ 5 โรง รวมทั้งสิ้น 5,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 15 โรง  รวมทั้งสิ้น 16,670 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 โรง รวมทั้งสิ้น  8,400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 4,617 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าจากเขื่อน 512 เมกะวัตต์ ขณะที่ซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 7,137 เมกะวัตต์ และซื้อต่างประเทศ 11,669 เมกะวัตต์

“ปัญหาของแผน PDP คือมีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าปี 2554 สูงเกินจริง โดยมีการคาดการณ์ความต้องการอยู่ที่ 24,568 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดจริงอยู่ที่เพียง 23,900 เมกะวัตต์ การพยากรณ์อยู่บนพื้นฐานของสมมติฐานของอัตราการเติบโตของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ต่อปีของไทยจะเพิ่มขึ้นในอัตรา 4.4% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า และเพิ่มเป็น 4.11% ใน 20 ปีข้างหน้า ในขณะที่อัตราเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่แค่ 2.9%” นายสันติ นำเสนอ

นายศักดิ์กมล แสงดารา ชาวบ้านตำบลบางสัก กล่าวในเวทีว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ตอนนี้ที่ตำบลบางสักมีการรวมกลุ่มกันแล้วประมาณ 1 พันกว่าคนที่จะคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน 

“คนตรังหากินกับทะเล ทะเลตรังมีพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีปู ปลา กุ้ง หอย นานาชนิด แล้วหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นจะมีอะไรมารับประกันว่าจะไม่ส่งกระทบกับทะเล และสภาพอากาศของจังหวัดตรัง เพราะขนาดเกิดเหตุไฟไหม้ป่าที่อินโดนีเซียยังส่งผลกระทบมาถึงจังหวัดสตูลเลย” นายศักดิ์กมล กล่าว

นายวุฒิชัย หวังบริสุทธิ์ ชาวบ้านตำบลวังวน กล่าวในเวทีว่า จุดยืนของตนคือไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง ก่อนได้ถามชาวบ้านในเวทีว่า เอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดตรัง โดยมีชาวบ้านในเวทีต่างกล่าวขานตอบกลับมาว่า ไม่เอา

“ถ้าไม่เอา เราจะต้องมีการรวมกลุ่มกันระหว่างชาวบ้านในตำบลที่เป็นพื้นที่ศึกษาของกฟผ. ที่จะตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินตรัง ทั้ง 5 พื้นที่ โดยหารือวางแผนร่วมกันว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป” นายวุฒิชัย กล่าว

นายย่าเด็น โต๊ะมา ชาวบ้านตำบลกันตังใต้ กล่าวในเวทีว่า ตนทราบมาว่าก่อนหน้านี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีการแจกสิ่งของให้กับคนชรา มีการอุดหนุงบประมาณให้กับมัสยิด วัด โรงเรียน องค์การบริหารส่วนตำบล และชุมชนในตำบลวังวน ขณะเดียวกันตนทราบมาว่าในเดือนมีนาคม 2555 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะนำผู้นำชุมชน และชาวบ้านในตำบลกันตังใต้ไปดูงานที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

“ผมจึงไม่อยากให้พี่น้องเห็นแก่เงินทองและสิ่งของเพียงเล็กๆ น้อยๆ ที่กฟผ.เอามาแจกแล้วแลกกับวิถีชีวิตของเรา ชีวิตของลูกหลานในวันข้างหน้า เราต้องช่วยกันคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินร่วมกัน” นายย่าเด็น กล่าว

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เมื่อขั้วอนุรักษ์นิยมประชันกันในการเลือกตั้งอิหร่าน

Posted: 03 Mar 2012 11:08 PM PST

การเลือกตั้งส.ส. ครั้งล่าสุดในอิหร่าน ฝ่ายค้าน ฝ่ายปฏิรูปส่วนใหญ่บอยคอตต์ จนเหลือแต่ขั้วอำนาจของอนุรักษ์นิยมที่สัมพันธ์ร้าวฉานมาประชันกัน โดยเฉพาะฝ่ายประธานาธิบดีอามาดิเนจาดกับฝ่ายผู้นำสุงสุด อาลี คาเมนี

 
3 มี.ค. 2012 - สื่อรัฐบาลอิหร่านรายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งล่าสุดอย่างไม่เป็นทางการหลังจากที่มีการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าพรรคแนวหน้าอนุรักษ์นิยม (UFC) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านได้รับคะแนนเสียงข้างมาก
 
ทางรัฐบาลอิหร่านได้เลื่อนเวลาการเลือกตั้งออกไปอีก 5 ชั่วโมงในวันศุกร์ (2 มี.ค.) ที่ผ่านมาเพื่อให้มีประชาชนลงคะแนนเสียงเพิ่มมากขึ้น สื่อของรัฐบาลอิหร่านเปิดเผยว่ามีผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนร้อยละ 65 ของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดซึ่งมีมากกว่าการเลือกตั้งในปี 2008 ร้อยละ 10
 
ประเทศอิหร่านเกิดภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ มีอัตราการว่างงานสูงและประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ผนวกรวมกับการถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรในกรณ๊โครงการนิวเคลียร์ด้วย
 
มีคนมองว่าการจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างพรรคแนวหน้าอนุรักษ์นิยม (UFC) ซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนคาเมนี ผู้นำสุงสุดของอิหร่าน กับพรรคแนวหน้าปฏิวัติอิหร่านเพื่อความมั่นคง (FIS) ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมฝ่ายต่อต้าน นำโดย โกแลม ฮอสเซน เอลฮาม อดีตเสนาธิการของประธานาธิบดี มาห์มูด อามาดิเนจาด
 
กลุ่มผู้นำอนุรักษ์นิยมของอิหร่านต่างออกมาเรียกร้องให้ประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้เพื่อความมั่นคงของประเทศ ขณะที่ฝ่ายนักปฏิรูปที่เคยกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งในปี 2009 มาก่อน ก็เป็นฝ่ายเรียกร้องให้บอยคอตต์การเลือกตั้งครั้งนี้
 
เซนา โคดร์ นักข่าวอัลจาซีร่ารายงานจากกรุงเตหรานว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการทำประชามติการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี มาห์มูด อาร์มาดิเนจาด
 
ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีบทวิเคราะห์จากอัลจาซีร่าซึ่งระบุว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้เกิดจากความขัดแย้งของกลุ่มอนุรักษ์นิยมภายในรัฐบาลอิหร่านเอง โดยนักศึกษาที่ชื่อฟาริเดห์ ฟาร์ฮี ให้ความเห็นว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมหลายแบบ ทั้งกลุ่มแบบกฏเกณฑ์-ประเพณีนิยม กลุ่มปฏิบัตินิยม และกลุ่มยึดมั่นในหลักการ
 
ช่วงกลางปี 2011 ที่ผ่านมาก็มีข่าวเรื่องความแตกแยกระหว่างประธานาธิบดีอามาดิเนจาดกับผู้นำสูงสุดคาเมนีในเรื่องทางการเมือง ทำให้ฝ่ายศาสนาซึ่งเคยหนุนอามาดิเนจาดมาก่อนเริ่มตีตัวออกห่าง
 
 
นับผลด้วยมือ
 
การเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่มีผู้สังเกตการณ์อิสระ มาคอยตรวจเช็คผลการนับคะแนน ซึ่งการนับคะแนนผลการเลือตั้งในครั้งนี้เป็นการนับด้วยมือและผลการเลือกตั้งทั้งหมดจะออกมาในเวลา 3 วัน
 
สำนักข่าวเมหร์รายงานว่า พาร์วิน อามาดิเนจาด น้องสาวของประธานาธิบดี ไม่สามารถคว้าเก้าอี้เอาไว้ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ซึ่งเธอได้ลงสมัครในเขตเมืองการ์มซาร์ บ้านเกิดของอามาดิเนจาด
 
ขณะที่จากผลอย่างไม่เป็นทางการในตอนนี้ระบุว่า อาลี ลาริจานี โฆษกรัฐสภาคนปัจจุบันคว้าตำแหน่งส.ส. เมืองควอม มาได้ ส่วนส.ส. ฝ่ายหนุนปฏิรูปอย่าง โมฮัมมัดเดรซา ทาเบช ก็สามารถชนะคะแนนเลือกตั้งได้ในเมืองอาดาคาน บ้านเกิดของอดีตประธานาธิบดีฝ่ายปฏิรูป โมฮัมหมัด คาตามี
 
ส่วนผลการเลือกตั้งจากเมืองใหญ่ๆ เช่นกรุงเตหรานยังไม่มีการประกาศออกมา
 
คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน กล่าวผ่านสื่อโทรทัศน์หลังหย่อยบัตรลงคะแนนเสียงว่า เมื่อใดก็ตามที่มีอริศัตรูต่ออิหร่าน เมื่อนั้นการเลือกตั้งก็ยิ่งสำคัญมากยิ่งขึ้น
 
"พลังฝ่ายยโสโอหังกำลังรังแกพวกเราเพื่อรักษาบารมีของตัวเองไว้ การที่คนยิ่งมาใช้สิทธิมากก็ยิ่งเป็นผลดีต่อชาติบ้านเมืองเรา ... และเพื่อธำรงไว้ซึ่งความมั่นคง" คาเมนีกล่าว
 
 
การบอยคอตต์ของฝ่ายค้าน เหลือขั้วอนุรักษ์นิยมชนกัน
 
ด้าน กลุ่มฝ่ายค้านของอิหร่านคือ มีร์ ฮอสเซน มูซาวี กับ เมห์ดี คาร์รูบี ถูกบริเวณอยู่ในบ้านนาน 1 ปี ขณะที่นักปฏิรูปคนอื่นๆ เรียกร้องให้มีการบอยคอตต์การเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้ผู้ลงสมัครทั้งหมด 3,400 คนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม
 
ก่อนหน้านี้ โมฮัมหมัด คาตามี อดีต ปธน. อิหร่าน และเป็นผู้ที่ต่อต้านอามาดิเนจาด ได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมดเขาถึงจะยอมรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่ตัวเขาเองก็ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแม้ว่าข้อเรียกร้องจะยังไม่บรรลุผล
 
เรย์ฮานผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านอายุ 25 ปี ให้ความเห็นว่า "ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้มีการเตรียมการไว้แล้ว ดังนั้นจึงไม่ต่างกันว่าผมจะลงคะแนนเสียงหรือไม่ ผมเรียกรู้เรื่องนี้จากการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เมื่อผลลงคะแนนของพวกเราถูกขโมยเอาไป"
 
สำนักข่าวอัลจาซีร่ารายงานว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้มีผลกระทบต่อเรื่องนโยบายนิวเคลียร์และการต่างประเทศของอิหร่านน้อยมาก เนื่องจากคาเมนีได้กล่าวยื่นคำขาดในกรณีนี้ไปแล้ว แต่การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการชี้วัดเรื่องสมดุลอำนาจระหว่างขั้วฝ่ายคาเมนีกับฝ่ายอามาดิเนจาด และจะช่วยทำให้อำนาจของผู้นำสูงสุดเข้มแข็งขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในปีหน้า ซึ่งอามาดิเนจาดจะไม่ได้เป็นประธานาธิบดีต่อในสมัยที่ 3
 
"สภาได้วิพากษ์วิจารณ์อามาดิเนจาดอย่างหนักอยู่แล้วก่อนหน้านี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ประธานาธิบดีสมัยนี้จะต้องรักษาอำนาจฝ่ายบริหารเอาไว้ ในปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง" ผู้สื่อข่าวอัลจาซีร่าให้ความเห็น
 
 
เรียบเรียงจาก

Iran election's initial results trickle in, aljazera, 03-03-2012
 
 
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Vote to test unity of Iran's conservatives, Mujib Mashal, aljazeera, 24-02-2012
 
Iran: Ahmadinejad vs Khamenei, Geneive Abdo, 06-07-2011
 
Face-Off : What caused a recent spat between Ahmadinejad and Khamenei?, Abbas Milani, 06-05-2011
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น