โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พันธมิตรเตรียมประชุมวันเสาร์นี้ ที่สวนลุมพินี

Posted: 09 Mar 2012 10:06 AM PST

ประชุมกันในหัวข้อ "หยุดเผด็จการรัฐสภา รวมพลังปฏิรูปประเทศไทย" โฆษกพันธมิตรเชิญพันธมิตรระดมปัญญา แสดงพลังเพื่อปรามรัฐบาล ด้าน "สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์" เห็นด้วยกับที่ "สนธิ" เสนอให้เอาชนะอำนาจรัฐ ยึดอำนาจรัฐให้ได้ จะต้องปฏิรูปประเทศ โดยพรุ่งนี้จะเป็นการพิสูจน์ทองเนื้อแท้พันธมิตร

เว็บไซต์เอเอสทีวี ผู้จัดการออนไลน์ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จัดจัดการประชุมในหัวข้อ  "หยุดเผด็จการรัฐสภา รวมพลังปฏิรูปประเทศไทย" ที่ลุมพินีสถาน อาคารลีลาศ สวนลุมพีนี ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีการลงทะเบียนในเวลา 09.00 น. และเริ่มประชุมในเวลา 10.00 น

โดยนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมแสดงความคิดเห็นในรายการ "คนเคาะข่าว" ถึงการนัดประชุม 10 มี.ค. ดังกล่าว โดยนายสมเกียรติ กล่าวว่า กลัวแต่ว่าจะไปกันถึงพันคนตามที่สื่อเสื้อแดงพูดไว้หรือเปล่า อยากให้ไปนั่งนับดูเลย ตนชอบที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล พูดไว้เมื่อตอนวันปีใหม่ ว่าการเคลื่อนไหวต่อไปต้องเอาชนะอำนาจรัฐ ยึดอำนาจรัฐให้ได้ จะไม่เคลื่อนไหวทีละประเด็นๆ อีก ต้องปฏิรูปใหญ่ประเทศไทย และเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจกัน ให้ความรู้ประชาชน การไปพรุ่งนี้เป็นการพิสูจน์ทองเนื้อแท้พันธมิตรฯ และเชิญชวนคนทุกกลุ่ม รวมทั้งผู้ที่สนใจด้วย

นายปานเทพ กล่าวว่า พรุ่งนี้เป็นการประชุม ภายใต้หัวข้อ "หยุดเผด็จการรัฐสภา รวมพลังปฏิรูปประเทศไทย" โดยจะเป็นการระดมความคิด ระดมปัญญา แม้ใช้คำว่าประชุมแต่ก็จะได้พิสูจน์ เพราะเว็บไซต์มติชนได้ข่มไว้ว่าจะมีคนน้อยมาก รวมถึงยังได้พยายามนำความคิดของนักวิชาการ และสัมภาษณ์นายปรีดา เตียสุวรรณ ให้เห็นว่าวันนี้พันธมิตรฯ อ่อนแอ เสื่อมแล้ว วันนี้ก็ออกอีกว่าเอเอสทีวีไม่มีใครน่าเชื่อถือแล้ว เพื่อทำให้พันธมิตรฯดูไม่น่าเชื่อถือ อีกทั้งพยายามทำให้แตกแยกระหว่างมวลมิตรด้วยกัน ด้วยการเสี้ยมนายปรีดา จากคำถามในการสัมภาษณ์ เขาพยายามทำทุกวิถีทางก่อนถึงวันที่ 10 มีนาคม (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดหน้าหาชื่อชายนิรนามเหยื่อสลายการชุมนุม 19 พ.ค.53

Posted: 09 Mar 2012 09:44 AM PST

ยังคงเหลือชายนิรนามที่ถูกยิงเสียชีวิตช่วงสายวันที่ 19 พ.ค.53 จากการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่บริเวณศาลาแดงที่ยังไม่ทราบชื่อ เป็นคนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้นชี้แจงในสภาว่าเสียชีวิตก่อนทหารเข้า

 

ภาพ 1 ใบหน้าชายนิรนามที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม 19 พ.ค. 53 บริเวณแยกศาลาแดง

 

ภาพ 2 : ชายนิรนามขณะช่วยผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมบริเวณศาลาแดง เช้าวันที่ 19 พ.ค.53 จุดที่ถ่ายคือแยกสารสิน ที่มาภาพ : http://masarugoto.photoshelter.com/gallery-image/Thailand-Divided-part-2-May-17th-to-20th/G0000UZM5HmF2HSM/I000020xEVlUC.Xw ภาพโดย Masaru Goto

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 55 ซึ่งเป็นวันที่มีการลงทะเบียนของรับเงินเยียวยาวันแรก ในส่วนของผู้เสียหายในกลุ่มที่ 1 จากเหตุชุมนุมทางการเมืองระหว่างปี 2548 - 2553 ซึ่งประกอบด้วยผู้บาดเจ็บ ทุพพลภาพ และเสียชีวิต โดยในจำนวน 96 ศพที่เป็นผลมาจากความรุนแรงทางการเมืองในช่วง เมษา-พ.ค.53 (โดยมีนายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง ที่เสียชีวิตเมื่อ 24 ก.พ.55 เป็นรายที่ 96 ดู http://prachatai.com/journal/2012/02/39403)นั้น ยังคงมีศพที่สาธารณะชนยังไม่ทราบชื่ออีก 1 คน ซึ่งเป็นชายรูปร่างผอมผิวคล้ำ ถูกกระสุนปืนเข้ากะโหลกศรีษะ ทำให้สมองฉีกขาดและบริเวณข้อเท้าขวา ที่นอนเสียชีวิตบริเวณเต้นท์กลางถนนราชดำริ ใกล้ตึก สก.รพ.จุฬาลงกรณ์ และแยกศาลาแดง ซึ่งมีหน่วยกู้ชีพไปรับศพเวลา 10.00 น. โดยประมาณ และที่บริเวณดังกล่าวใกล้ๆยังมีศพของ นายถวิน คำมูล ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตในช่วงเช้านอนอยู่ด้วย(ดูภาพ 3 ) จากคลิปนี้(http://www.youtube.com/watch?v=E8Ggv0IWBvQ)นาทีที่ 0.30 เป็นต้นไป ของ จะเห็นศพชายไม่ทราบชื่อและนายถวิลนอนอยู่ ขณะที่ทหารเข้ามา

 

ภาพ 3 : เปรียบเทียบตำแหน่งถวิล คำมูล กับชายไม่ทราบชื่อ ที่นอนเสียชีวิตบริเวณ เต้นท์กลางถนนราชดำริ ใกล้ตึก สก.รพ.จุฬาลงกรณ์ และแยกศาลาแดง

 

ภาพ 4 : ภาพศพชายไม่ทราบชื่ออีกมุมนอนเสียชีวิตขณะทหารเดินผ่าน ภาพโดย Paula Bronstein ที่มาภาพ http://www.gettyimages.com/detail/news-photo/thai-soldiers-march-by-the-body-of-a-redshirt-protester-news-photo/99982247

 

แผนที่ 1: จุดที่นายถวิล คำมูล และชายไม่ทราบชื่อนอนเสียชีวิตอยู่

โดยการเสียชีวิตของทั้ง 2 ศพนี้ ได้ถูกนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี(ในขณะนั้น) ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อกับการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ทหารเนื่องจากเลือดได้แห้งหมดแล้ว ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2554 โดยนายสุเทพ ได้ชี้แจงต่อรัฐสภากรณีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในวันที่ 19 พ.ค.53 ว่า ".. มีคนเสียชีวิตจริงๆ 6 คน นับรวมคนที่เสียชีวิตมาก่อนตอนที่เราเข้าไปถึงตอน 7-8 โมงเช้า เห็นนอนอยู่แล้ว ที่ข้องเต้นที่สวนลุมพินีเลือดแห้งหมดแล้ว 2 คนด้วย.." (ดูได้จาก VDO Clip นี้ในนาทีที่ 1.25.12 ประกอบ http://www.youtube.com/watch?v=gjrw_GkzewY )

ทั้งๆที่นายถวิล คำมูล ศพแรกของวันที่ 19 พ.ค. เสียชีวิต ในเช้าวันนั้น ถูกยิงขณะที่ทหารกำลังเข้าสลายบริเวณแยกศาลาแดงและมีทหารเข้าไปในบริเวณสวนลุม(ดูคลิปตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าทหารเข้าไปในสวนลุมตั้งแต่ 6 โมงเช้า(เสียงนาฬิกา) http://vimeo.com/11922381 คลิปโดย reporterinexile.com สวนคลิปของ RussiaToday http://www.youtube.com/watch?v=R4sdHXgcN0M จะเห็นปฏิบัติการของทหารตรงแยกศาลาแดง ที่นอกจากมีการยิงปืนมาในที่ชุมนุมในระดับตัวแล้วในนาทีที่ 0.25 ยังมีเสียงบทสนทนาว่า “มีคนหรอยิงเลย” และตามด้วย “ไม่เอาๆ ยิงอย่างนี้ไม่เอา”  อีกทั้งยังมีภาพที่แสดงให้เห็นว่ามีทหารเคลื่อนที่มาตามรางรถไฟฟ้าซึ่งเป็นเส้นทางที่อยู่บนถนนราชดำริด้วย) โดยมีภาพปรากฏในช่วงระหว่างก่อนและหลังถูกยิง (ดูภาพ 5)

 

 

ภาพ 5 : ถวิล คำมูลก่อนและหลังถูกยิง ภาพโดย หงส์ศาลาแดง ที่มาภาพ https://picasaweb.google.com/102385756505229418524/NewFolder#

และหลังจากที่นายถวิล คำมูลถูกยิงก็มีความพยายามเข้าไปช่วยนำร่างออกมา ตามที่เห็นในภาพต่อเนื่องหลังจากนายถวิลถูกยิงจากอัลบั้มของ “หงส์ศาลาแดง” ข้างต้น จนมีผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บหลายคนและไม่สามารถนำร่างนายถวิล ออกมาจากจุดเกิดเหตุได้ (สามารถดูได้ที่ VDO Clip เหตุการณ์ดังกล่าวได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=LrXx0l_2BzE  และ http://vimeo.com/23938362 )

ด้านชายไม่ทราบชื่อนี้ถูกยิงหลังจากที่นายถวิล ถูกยิงไปแล้วซึ่งคาดว่าจะเข้าไปช่วยนำร่างของนายถวิลออกมาเหมือนในคลิปก่อนหน้านี้ เนื่องจากเช้าวันที่ 19 พ.ค.53 ในบริเวณดังกล่าว ก่อนที่เขาจะถูกยิงก็มีภาพปรากฏการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บคนอื่นๆ (ดูภาพ 6 และ7)

 

ภาพ 6 : ชายไม่ทราบชื่อขณะช่วยลำเลียงคนเจ็บ ภาพโดย NICOLAS ASFOURI ที่มา http://www.gettyimages.com/detail/news-photo/buddhist-monks-carry-an-injured-red-shirt-anti-government-news-photo/99973938

 

ภาพ 7 ชายไม่ทราบชื่อขณะช่วยคนเจ็บ (ไม่ปรากฏที่มาภาพ)

โดยในภายหลังทั้ง 2 ศพดังกล่าวหน่วยกู้ชีพที่มากับทหารได้เก็บศพไป สามารถดูได้ตาม clip นี้ นาทีที่ 0.44 http://www.youtube.com/watch?v=1DDYTfsEdEA ตามภาพ 8

 

ภาพ 8 ขณะที่หน่วยอาสากู้ชีพนำศพชายไม่ทราบชื่อไป ภาพโดย PEDRO UGARTE ที่มาภาพ http://www.gettyimages.com/detail/news-photo/rescue-personnel-carry-the-body-of-a-protester-killed-news-photo/99981680

ภาพอื่นที่เกี่ยวข้องขณะที่ชายไม่ทราบชื่อนี้ได้เสียชีวิตแล้ว http://www.gettyimages.com/detail/99977338/AFP , http://www.gettyimages.com/detail/99977131/AFP , http://www.gettyimages.com/detail/99982247/Getty-Images-News , http://www.gettyimages.com/detail/99981686/AFP , http://www.gettyimages.com/detail/99981680/AFP 

ทั้งนี้ในเวลานั้นนอกจากชายไม่ทราบชื่อและนายถวิล คำมูล ที่ถูกยิงเสียชีวิตแล้ว ยังมีนายธนโชติ ชุ่มเย็น, นายนรินทร์ ศรีชมภู, MR.Polenchi Fabio( นักข่าวชาวอิตาลี ) ที่ถูกยิงเสียชีวิต และ ส.อ. อนุสิทธิ์ จันทร์แสนตอ ที่ถูกสะเก็ดระเบิดเสียชีวิตในเวลาต่อมาอีกด้วย 

โดยกรณี “ชายไม่ทราบชื่อ” ท่านนี้ศพถูกฝังอยู่ที่สุสานสว่างประทีปธรรมสถานศรีราชา จ.ชลบุรี อยู่ในฐานะศพไร้ญาติ ทางทีมข้อมูลศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุมเม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) อยากเชิญชวนท่านที่ทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้อกับชายคนดังกล่าวแจ้งข้อมูลมายัง ศปช. ผ่านทาง http://www.peaceandjusticenetwork.org/?page_id=109 เพื่อให้ผู้เสียชีวิตได้รับความยุติธรรมและการชดเชยเยียวยาให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง :

- ผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุ 7 ต.ค. 51 ขอรับการเยียวยาตามมติ ครม. http://prachatai.com/journal/2012/03/39585

- นักข่าวพลเมือง: นักกิจกรรม-เสื้อแดงรำลึก 1 ปี การเสียชีวิตชายชุดดำนิรนาม http://prachatai.com/journal/2011/05/34662

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ในหลวง” ทรงย้ำผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม-ซื่อสัตย์สุจริตตลอดชีวิต

Posted: 09 Mar 2012 08:11 AM PST

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ผู้พิพากษาประจำศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ทรงย้ำผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม-ซื่อสัตย์สุจริตตลอดชีวิต
 
9 มี.ค. 55 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าเมื่อเวลา 17.45 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯออก ณ ห้องประชุมสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
 
ในการนี้ ได้มีพระบรมราโชวาทเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้รักษาความยุติธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ตามที่ได้ปฏิญาณอย่างเคร่งครัด ตลอดชีวิต ประเทศชาติจะได้มีความสงบสุข
       
“... ผู้ที่จะเข้าปฏิบัติงานในศาลยุติธรรมมีความสำคัญมากสำหรับประเทศชาติ เพื่อประชาชนจะหวังในความยุติธรรมของผู้พิพากษานั่นเอง ในประเทศมักจะมีปัญหาอยู่เสมอ ก็ต้องมีคนที่มีความยุติธรรม ปฏิบัติอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตอยู่เสมอ ถ้าประชาชนสามารถที่จะหวัง มีความหวัง มีความไว้ใจในผู้พิพากษาได้ ประเทศชาติก็จะมีความสงบสุขมากขึ้น ฉะนั้นท่านต้องมีหน้าที่ที่สำคัญ ท่านต้องเสียสละในหน้าที่อย่างยิ่ง ถ้าทำตามที่ปฏิญาณ ก็สามารถที่จะช่วยประเทศให้มีความสงบสุขได้อย่างดี
       
ดังนั้น ท่านก็จะต้องรักษาคำปฏิญาณนี้อย่างเคร่งครัด ตลอดชีวิต เพราะว่าเป็นบุคคลสำคัญในประเทศ ขอให้ท่านรักษาคำปฏิญาณอย่างเคร่งครัด เท่ากับได้ช่วยประเทศให้มีความสงบสุข มีความยุติธรรมโดยแท้ตลอดไป ก็ขอให้ท่านปฏิบัติงานด้วยความเคร่งครัดเป็นเวลาตลอดชีวิต เพื่อที่จะรักษาความยุติธรรมในประเทศ ทั้งในหน้าที่การงานในโรงศาล ทั้งในตลอดเวลา ทั้งในศาล ทั้งนอกศาล ถือได้ว่าท่านได้ช่วยประเทศให้อยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งเป็นสำคัญ หน้าที่ที่สำคัญมาก ก็ขอให้ท่านได้สามารถรักษาคำปฏิญาณที่ท่านเปล่งขึ้นมาอย่างเคร่งครัด และท่านก็จะสามารถมีความภูมิใจในตัวเองว่า เป็นคนดีของชาติ เป็นคนที่รักษาความยุติธรรมของชาติ ซึ่งเป็นงานที่สำคัญ และงานที่มีเกียรติมาก”
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สู่วันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ (5) ว่าด้วยการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อสันติภาพ

Posted: 09 Mar 2012 08:04 AM PST

งานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2  ประจำปี 2555  “เชื่อมร้อยเครือข่าย ผสานกำลังสื่อ สร้างพลังต่อรอง” Bargaining Power : Civil Networking and Synergy Meedia ในวันที่ 12-13 มีนาคม 2555 ที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ใกล้เข้ามาทุกชั่วขณะ

เครือข่ายสื่อภาคประชาสังคมต่างๆ อันประกอบไปด้วย 3 ภาคี คือ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และสื่อสาธารณะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างมีการจัดกิจกรรมและนิทรรศการของตัวเองภายในงานวันสื่อทางเลือกครั้งนี้

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deepsouthwatch)  องค์กรประสานงานกับเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาควิชาการทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้ภารกิจการสร้างกระบวนการเรียนรู้ความขัดแย้งและความรุนแรงในชายแดนภาคใต้โดยใช้ข้อมูล และการคิดค้นหาเหตุผลเพื่ออธิบายปรากฏการณ์จากมิติต่างๆ พร้อมทั้งทำหน้าที่เตือนภัยต่อสังคม

มีการจัดบรรบรรยายสาธารณ College of Deepsouthwatch หรือโรงเรียนวิชาการเมือง DSW โดยนำนักวิชาการด้านสันติวิธีจากประเทศต่างๆ ที่มีประสบการณ์อยู่ในประประเทศที่มีสถานการณ์ความขัดแย้งมาสนธนาแลกเปลี่ยนกับผู้ที่สนใจปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้รับฟัง แลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็น

สำหรับงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ ครั้งที่ 2  ประจำปี 2555  ในช่วงบ่ายเวลา 13.30 – 15.30 น. ของวันที่ 12 มีนาคม 2555 ที่ห้อง B103 ชั้น 1 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มีการจัดบรรบรรยายสาธารณะ College of Deepsouthwatch หรือโรงเรียนวิชาการเมือง DSW ห้องเรียนสัญจร ครั้งที่ 7 ในหัวข้อ “Jurgen Habermas: The structural transformation of the public sphere” แนวคิดว่าด้วยพื้นที่สาธารณะของเจอร์เกน ฮาเบอร์มาส นักปรัชญาและนักทฤษฎีสังคมศาสตร์ชาวเยอรมัน โดย ดร. นอร์เบิร์ธ โรเปอร์ส ผู้อำนวยการองค์กรสนับสนุนสันติภาพเบิร์กฮอฟ และนักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้

โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลายเป็น พื้นที่สาธารณะในการเรียนรู้ของสังคม พร้อมทั้งให้สื่อมวลชน นักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปช่วยกันเฝ้ามองปัญหาและเข้าใจปัญหาผ่านกระบวนการเรียนรู้ ร่วมกัน

ด้านเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ (Deep South Photojournalist-DSP) ซึ่งเป็นการร่วมกลุ่มของนักถ่ายภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่เป็นช่างภาพสื่อมวลชน ช่างภาพสื่อทางเลือก ช่างภาพอิสระ ช่างภาพอาสาสมัคร รวมถึงช่างภาพสมัครเล่น จะจัดนิทรรศการภาพถ่าย "บ้านฉัน...วันนี้" ซึ่งถ่ายเมื่อช่วงวันเด็กแห่งชาติ ที่โรงเรียนบ้านโคกเหรียง ตำบลบ้านโคกเหรียง อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ตลอดทั้ง 2 วัน

นายปิยศักดิ์ เชื่อว่า ภาพถ่ายจะสามารถสะท้อนเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงไปตรงมา และจะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง ในการกระตุ้นหรือชักชวนสังคมให้เกิดการสนทนาถึงแนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้ง รวมถึงความต้องการของทุกฝ่ายโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้h Photojournalist-DSP)

“สังคมนอกพื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงรับรู้ความเป็นไปของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ผ่านภาพความรุนแรง เครือข่ายช่างภาพฯ จึงขับเน้นการถ่ายภาพเชิงวัฒนธรรมเพื่อจะลดทอนบรรยากาศความไม่สงบ ส่งผลให้ภาพวิถีชีวิตของผู้คนที่ดำรงอยู่ตามความเป็นจริงในมิติต่างๆ เช่น เชิงสังคม สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตหรืออื่นๆ ที่มักถูกมองผ่าน” นายปิยศักดิ์ แสดงความเห็น

ส่วนโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (Deep South Journalist-DSJ) ภายใต้แนวคิดกึ่งสถาบันสอนทำข่าว กึ่งสำนักข่าว ที่ต้องการฝึกคนที่ต้องการทำงานข่าวเจาะเพื่อนำเสนอข่าวที่อยู่ในมุมของสังคมมองไม่เห็นทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาคใต้ตอนบน โดยยึดมั่นในจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัดของนายสุพจ จริงจริง บรรณธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ จะมีการยกนักข่าวในกองบรรณธิการทั้งหมดนำเสนอข่าวอัพเดทเป็นระยะๆ รวมถึงมีการจัดนิทรรศการ “ข่าวของเราไปที่ไหน” ตลอดทั้ง 2 วัน

ทว่าไฮไลต์จะอยู่ที่เวลาประมาณ 16.30 น. ของวันที่ 12 มีนาคม 2555 จะมีการเปิดตัวเว็บ http://www.deepsouthwatch.org/dsj “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)” และนำเสนอความคืบหน้าในการพัฒนาเว็บ www.deepsouthwatch.org 3.0 โดย นายรอมฎอน ปันจอร์ คณะทำงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และกองบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ 

 

ภูมิหลังของดร. นอร์เบิร์ธ โรเปอร์ส นั้นเคยทำงานในสถาบันเพื่อการพัฒนาและสันติภาพ (มหาวิทยาลัยดุยส์เบิร์ก, เยอรมนี), ราชสถาบันแห่งกิจการระหว่างประเทศ (แชทแธม เฮ้าส์ - อังกฤษ) และสถาบันวิจัยสันติภาพแห่งแฟรงค์เฟิร์ต (PRIF) และเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิชาการกุสตาฟ สเตรซิมานน์

ต่อมาได้ร่วมก่อตั้งองค์กรสนับสนุนสันติภาพเบิร์กฮอฟ (BPS) ซึ่งมีฐานอยู่ในนครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการมาตั้งแต่ปี 2547 เขายังเป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการของศูนย์วิจัยเบิร์กฮอฟเพื่อ การจัดการความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ (ปัจจุบันคือศูนย์วิจัยความขัดแย้งเบิร์กฮอฟ - BCR) ซึ่งเป็นองค์กรพี่น้องของ BPS ในห้วงปี 2544-2551 เขาเป็นประธานเครือข่ายทรัพยากรเพื่อการศึกษาคามขัดแย้งและการแปรเปลี่ยน ความขัดแย้ง (RNCST) ในศรีลังกา

ปัจจุบัน ดร. นอร์เบอร์ธเป็นนักวิจัยอาวุโส (Senior Research Fellow) ประจำสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (Center for Conflict Studies and Cultural Diversity-CSCD) และที่ปรึกษาพิเศษของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch-DSW) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

 

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ไทยยุคบ้านป่าเมืองเถื่อน

Posted: 09 Mar 2012 07:53 AM PST

แม้ว่า จะมีมิตรสหายหลายคนแล้ว ที่เขียนถึงกรณีที่ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ฝ่ายนิติราษฎร์ ถูกคนร้ายดักชก เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ที่คณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ผมก็ยังอยากจะเขียนถึง เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยของเราได้ถอยไปจากความเป็นอารยะ ย้อนกลับไปเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนมากขึ้นทุกที
 
ย้อนกลับไปทบทวนเหตุการณ์คือ ได้มีคนร้าย ๒ คน คอยดักรอ อาจารย์วรเจตน์ที่บริเวณคณะนิติศาสตร์ ในเวลาราวเที่ยง อาจารย์วรเจตน์มาถึงที่จอดรถของคณะ คนร้ายคนหนึ่งก็ตรงเข้าชกทันที ส่วนอีกคนหนึ่งได้นำรถมอเตอร์ไซด์มาคอยรับ และนำกันหนีไป เล่ากันว่า คนร้ายไม่ได้วิตกต่อการกระทำการละเมิดกฏหมายเช่นนี้ เพราะยังประกาศท้าทายว่า “ถ้าอยากรู้กูเป็นใครให้ไปดูในวีดิโอ” ผลของการชกทำกให้อาจารย์วรเจตน์บาดเจ็บเล็กน้อย แว่นตาแตก และหน้าบวม
 
หลังจากข่าวนี้แพร่ออกไป ปรากฏว่า พวกสลิ่ม และฝ่ายพันธมิตรกลับแสดงความสะใจ บ้างก็ว่าน้อยไปด้วยซ้ำ แต่ที่ร้ายกว่านั้น คือการกล่าวหาว่า ฝ่ายอาจารย์วรเจตน์จัดฉากทำร้ายตนเอง เช่น รายหนึ่งใช้นามแฝงว่า “เกลียดแม้ว+เสื้อแดง”ให้ความเห็นว่า “ไอ้วรเจตน์เองแหล่ะ ไปจ้างพวกมันมาชกตัวเอง เพื่อสร้างข่าวสร้างราคา ขึ้นค่าตัวจากไอ้เแม้ว ถ้าเป็นคนที่เกลียดมันจริงๆ เค้าไม่ไปชกในที่แจ้งกลางวันแสกๆอย่าง มธ.หรอก เค้าดักชกมันหน้าบ้านหรือริมถนนตรงไหนก็ได้ หรือไม่ก็ยิงมันทิ้งไปแล้ว” ส่วนผู้ใช้นามว่า วรกร จาติกวณิช ได้โพสต์ว่า "ข่าวแว่วๆมาแล้วว่า คนต่อยวรเจตน์คือ เพื่อนสมัยมัธยมที่ไม่ชอบหน้ากันมา งานนี้อำมาตย์ไม่เกี่ยว สลิ่มก็ไม่เกี่ยว..." โดยคุณวรกรไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มาของข่าวหรือข้อมูลเลยว่า ทราบมาได้อย่างไร หรือว่าจะเป็นเธอนั่นเองที่เป็นผู้ที่จ่ายเงินจ้างคนร้ายมาชก
 
วันรุ่งขึ้นที่ ๑ มีนาคม คนร้าย ๒ คน ก็เข้ามอบตัวต่อทางการตำรวจที่โรงพักชนะสงคราม คือ นายสุพจน์ และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ อายุ ๓๐ ปี เป็นพี่น้องฝาแฝด ผู้ต้องหาทั้ง ๒ คนไม่ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว และเมื่อถูกถามก็ตอบในเชิงกวนประสาทว่า “อยากเตะนักข่าว” ทั้งที่อยู่ต่อหน้าตำรวจ แต่ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแถลงว่า มูลเหตุที่จูงใจให้ก่อเหตุในครั้งนี้เกิดจากความไม่พอใจและเห็นต่างในความคิดเห็น ซึ่งก็มาจากเรื่องที่อาจารย์วรเจตน์และคณะนิติราษฎร์เสนอแนวคิดแก้มาตรา ๑๑๒ นั่นเอง ทางการตำรวจจึงได้แจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยไตร่ตรองไว้ก่อน  รวมทั้งพิมพ์ลายนิ้วมือและทำการลงบันทึกประวัติไว้เป็นหลักฐาน แต่เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งสองได้เข้ามอบตัว จึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แล้วนัดใหม่ในวันที่ ๑๒ มีนาคม เพื่อจะดำเนินการต่อไป
 
จะเห็นได้ว่า ท่าทางของคนร้ายทั้งสองไม่ได้แสดงเลยว่า จะเกรงกลัวกฏหมาย หรือวิตกในอาชญากรรมที่ตนก่อขึ้น เพราะคงเป็นที่ทราบว่า โทษในทางกฏหมายของการทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ใช่โทษรุนแรง เพราะไม่ใช่มาตรา ๑๑๒ และในกรณีที่มอบตัวและรับสารภาพเช่นนี้ ศาลก็คงจะให้ความเมตตาปรานี น่าจะลงโทษปรับ หรือถ้าจำคุกก็คงรอการลงอาญา เพราะทำไปภายใต้ข้ออ้างของความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์
 
เมื่อข่าวการมอบตัวแพร่ออกไป ในสื่อฝ่ายขวาและเฟซบุคสลิ่ม ก็ยังคงแสดงปฏิกิริยาในโหมกระหน่ำโจมตีคณะนิติราษฎร์ โยงเข้ากับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บ้างก็โจมตีว่า อาจารย์วรเจตน์ฉวยโอกาสสร้างราคาให้ตัวเอง ทั้งที่กระแสตกไปแล้ว ในทางตรงข้าม กลับแสดงท่าทีเชิงบวกต่อคนร้ายท้งสอง บางส่วนยกย่องราวกับว่าทั้งสองเป็นวีรบุรุษ บ้างก็แสดงเจตนาที่จะบริจาคเงินช่วยเหลือ จนกระทั่ง ๑ ใน ๒ คนร้ายได้ใช้นามว่า “สุพจน์รักในหลวง”โพสต์ข้อความขอบคุณต่อผู้แสดงน้ำใจดีเหล่านั้น และยืนยันว่า “ทำเพื่อชาติ เพื่อสถาบัน ที่ผมรัก” และขอไม่รับเงินช่วยเหลือ เพราะ “อดเยี่ยงอย่างเสือ...สงวนศักดิ์ โซก็เซาะใส่ท้อง...หาเนื้อกินเอง”
 
ด้วยเหตุนี้กระมังที่ สื่อผู้จัดการได้อธิบายว่า “ปกติแล้วสองฝาแฝดที่ตกเป็นผู้ต้องหาทำร้ายอาจารย์วรเจตน์เป็นคนที่มีอุปนิสัยดี ไม่เคยเห็นทั้งสองไปเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อก่อนทำงานส่งของทั่วๆไป หลังเกิดเหตุน้ำท่วมไม่ได้ทำงานอีก มาทราบข่าวอีกทีว่าไปก่อเหตุชกอาจารย์ธรรมศาสตร์ รู้สึกงง เนื่องจากธรรมดาแล้วคนที่ก่อเหตุอย่างนี้น่าจะเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง” และลงท้ายจากรายงานข่าวต่อมาถึงขณะที่เขียนอยู่นี้ ปรากฏว่า ทนายความของผู้ต้องหาทั้งสอง แจ้งว่า  “ระหว่างนี้ สุพจน์, สุพัฒน์ และครอบครัวจะไปพักผ่อนที่ฮาวาย และจะบินกลับมาวันที่ ๑๑  มีนาคมนี้ ช่วงนี้จึงจะไม่เข้ามาโพสต์ในเว็บครับ”
 
สรุปแล้ว การดำเนินการทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นเพราะผู้ต้องหาทั้งสองมั่นใจว่า ถ้ากระทำเพราะความรักในหลวงแล้ว ก็เป็นการถูกต้อง ผู้สนับสนุนด้วยความสะใจก็เพราะรักในหลวง ที่จะช่วยกันบริจาคให้คนร้ายก็เพราะรักในหลวง ที่โจมตีใส่ร้ายคณะนิติราษฎร์ก็เพราะรักในหลวง จึงเป็นไปตามที่ใบตองแห้ง ตั้งคำถามในบทความชื่อ “รักในหลวงต้องคลั่ง” ด้วยข้อความว่า “นี่รักในหลวงแบบไหนกัน ทำไมความรักในหลวงต้องมาพร้อมกับความโกรธ เกลียดชัง คลั่งแค้นผู้ที่มีความเห็นต่าง มาพร้อมกับความคับแคบ ไร้สติ ไม่ฟังอะไรทั้งสิ้น” สะท้อนให้เห็นความคิดในแบบเดียวกับมวลชนฝ่ายขวาที่ถูกปลุกในข้ออ้างเรื่องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วลุกขึ้นขึ้นมาเข่นฆ่านักศึกษาเมื่อกรณี ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ และเป็นไปตามที่นักเขียน คือ คำผกา สะท้อนให้เห็นความหน้าไหวหลังหลอกของสังคมว่า “แฝดคู่นั้นและกองเชียร์ของเขาคือผลผลิตของสังคมอุดมปัญญา สังคมเชิดชูคุณธรรม สังคมจิตอาสา สังคมล้างถนน สังคมที่เต็มไปด้วยเพลงรักอ่อนหวาน สังคมที่ขอเป็นกลางแต่ไม่ยืนข้างความจริง”
 
กล่าวให้ชัดเจนขึ้นคิอ การทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ เกิดขึ้นหลังจากที่สื่อมวลชนฝ่ายขวา พวกสลิ่มสารพัดสี พลพรรคแมลงสาบ สื่อกระแสหลัก และแม้กระทั่งบางปีกในพรรคเพื่อไทย ได้พยายามสร้างกระแสใส่ร้ายป้ายสีว่า คณะนิติราษฎร์เป็นพวกล้มเจ้า คนที่เสนอให้แก้ไขมาตรา ๑๑๒ เป็นพวกไม่จงรักภักดี และมีการข่มขู่คุกคาม ปลุกระดมให้ทำร้ายมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยไม่เคยเสนอให้ชัดเจนเลยว่า คณะนิติราษฎร์เสนออะไร และที่ไม่เห็นด้วยนั้น มีเหตุผลอย่างไร มีแต่การปลุกเร้าความรู้สึกให้ชิงชัยต่อต้านพวกล้มสถาบัน เป็นในลักษณะที่เกษียร เตชะพีระใช้คำว่า “หว่านเพาะเชื้ออวิชชา มุสาวาทาและความเกลียดชังเพิ่มพูนขึ้นแก่สังคมไทย” ซึ่งถ้าพิจารณาในลักษณะนี้ คนร้ายทั้งสองคนนี้ คือเหยื่อของการปลุกระดมในลักษณะนี้ด้วยซ้ำ มีความเป็นไปได้ว่า ทั้งสองคนนี้ ไม่เคยอ่าน และไม่รู้อย่างจริงจังในข้อเสนอและเหตุผลของฝ่ายนิติราษฎร์ มีแต่ความเกลียดชังว่า อาจารย์วรเจตน์จะมาล้มสิ่งที่เขารักและหวงแหน เขาจึงต้องตอบโต้ และกระทำด้วยความพากพูมใจ
 
กระแสทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งเดียวกับเหตุผลที่ยอมรับในความชอบธรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ใช้กำลังทหารเข่นฆ่าประชาชนคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ โดยอ้างกันว่า “เพราะคนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง” หรือแกล้งเชื่อในข้อมูลแบบสุเทพ เทือกสุบรรณที่ว่า ทหารไม่ได้สังหารประชาชน แต่เป็นคนชุดดำเป็นผู้เข่นฆ่าจึงทำให้เกิดการเสียชีวิตถึง ๙๓ ศพ คำอธิบายในลักษณะได้ข้ามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจำนวนมากโดยไม่ต้องตั้งคำถาม เช่น การที่เกิดเพลิงไหม้อาคารทั้งหลาย เกิดขึ้นก่อนหรือหลังการเข่นฆ่าคนเสื้อแดง หรือถ้ามีคนชุดดำมาฆ่าคนกลางเมือง เหตุใดทหารจึงเสียชีวิตน้อยมาก และกระสุนของกองทัพที่ใช้ไปนับแสนนัด ไปใช้ทำอะไ/ร
 
เหตุผลอันกลับหัวกลับหางเหล่านี้ ทำให้เหยื่อต้องกลายเป็นผู้กระทำผิด ขณะที่ฆาตกรลอยนวล และที่สำคัญเป็นการชี้ว่า สังคมไทยย้อนกลับไปสู่ยุคบ้านป่าเมืองเถื่อน การใช้กำลังเข่นฆ่าสังหาร หรือทำร้ายคนที่คิดต่างจึงกลายเป็นความชอบธรรมของสังคม นี่เป็นเรื่องที่น่าสลดหดหู่ยิ่งนัก
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักปรัชญาชายขอบ: ไม่ apply หลักการสากลกับ xxx ทำให้การวิจารณ์นักการเมืองไร้ความหมาย (?)

Posted: 09 Mar 2012 07:45 AM PST

มีประเด็นที่ถกเถียงกันในเฟซบุ๊กของผมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่ผมอยากนำมาแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยกันคิดต่อ คือประเด็นที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอ(ที่จริงอาจพูดมานานพอสมควรแล้ว) ว่า “ถ้าไม่ apply หลักการสากลกับ xxx การวิจารณ์นักการเมืองก็ไร้ความหมาย” ต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมจะอธิบายหลักการนี้ตามความเข้าใจของผม (ซึ่งอาจผิดหรือต่างจากที่อาจารย์สมศักดิ์มุ่งเสนอได้)

A. หลักการสากลคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ต้อง apply กับทุกคน เพราะการ apply หลักการดังกล่าวกับทุกคนคือ “ความเป็นประชาธิปไตย”

B. การไม่ apply หลักการสากลกับ xxx คือความไม่เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้น การวิจารณ์นักการเมืองโดยไม่ apply หลักการสากลกับ xxx จึงเป็นการวิจารณ์ที่ไร้ความหมาย

 “ไร้ความหมาย” ในที่นี้ หมายถึง ไม่มีความหมายว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นประชาธิปไตย เพราะไม่ใช่การกระทำบนหลักการประชาธิปไตยที่ต้องยืนยันการ apply หลักการสากลกับทุกคนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

ข้อโต้แย้ง 1

 

จะไร้ความหมายได้ย่างไร เพราะการวิจารณ์นักการเมืองย่อมก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีบางอย่างตามมาเสมอ เช่น ทำให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบในการทำตามนโยบาย ลดการคอร์รัปชัน หรือทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหาของการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดเช่น ฆ่าตัดตอนยาเสพติด กรือเซะ ตากใบ ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ใครมาเป็นรัฐบาลจะไม่ทำผิดพลาดเช่นนั้นอีก เป็นต้น

 

ตอบข้อโต้แย้ง 1

 

ต่อให้การวิจารณ์นักการเมืองทำให้ปัญหาตามตัวอย่างดังกล่าวไม่เกิดขึ้นอีกได้จริง แม้กระทั่งจับนักการเมืองโกงมาเข้าคุกได้ แต่ตราบใดที่ไม่ apply การวิจารณ์นั้นกับ xxx คือไม่ทำให้หลักการวิจารณ์นี้เป็นหลักการสากลที่ใช้กับทุกคน ผลลัพธ์ที่ดีนั้นๆ ก็ไม่ได้ทำให้การวิจารณ์นั้นเป็นสิ่งที่ “ถูกต้อง” ได้ เพราะมันยังคงเป็นการ “ทำผิด” หลักการประชาธิปไตยอยู่ดี

 

ข้อโต้แย้ง 2

 

เราจะอ้างแต่ “หลักการบริสุทธิ์” โดยมองข้ามความจริง ตัดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมจริงๆ ทิ้งไปได้อย่างไร เราจะสรุปว่า ที่สังคมเรายังไม่ apply หลักการสากลกับ xxx ได้ การวิจารณ์นักการเมืองที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ทั้งหมดเป็นเรื่องไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิงกระนั้นหรือ

 

ตอบข้อโต้แย้ง 2

 

ไร้ความหมายต่อความเป็นประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง ต่อให้วิจารณ์นักการเมืองแล้วทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น คนจนน้อยลง คนรวยมากขึ้น ฯลฯ แต่ตราบที่ไม่ apply หลักการสากลกับ xxx ก็เท่ากับ “ไม่ apply หลักการสากลกับทุกคน” เท่ากับทำผิดหลักการประชาธิปไตย หรือเท่ากับทำให้ “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” ดำรงอยู่ต่อไป

 

ข้อโต้แย้ง 3

 

ตกลงต้องวิจารณ์ xxx ให้ได้ก่อนเท่านั้นหรือ จึงจะเป็นประชาธิปไตย และจึงควรจะวิจารณ์นักการเมือง

 

ตอบข้อโต้แย้ง 3

 

แน่นอน เพราะข้อเรียกร้องให้ apply หลักการในการวิจารณ์นักการเมืองกับ xxx ได้ ย่อมหมายถึงการเรียกร้องให้ apply หลักเสรีภาพอย่างสากลกับทุกคน ซึ่งนี่คือความเป็นประชาธิปไตย เวลาเราวิจารณ์นักการเมือง เราวิจารณ์บนฐานของความเป็นประชาธิปไตย หรือบนฐานของ “หลักการสากล” ไม่ใช่หรือ

ฉะนั้น จะชอบธรรมได้อย่างไรที่เราจะยืนยันการใช้หลักการสากลนี้เฉพาะกับนักการเมืองเป็นต้น แต่ไม่ใช้กับ xxx

ข้อโต้แย้ง 4

 

ต้องวิจารณ์ xxx ได้ก่อนเท่านั้นหรือ จึงจะทำให้เรามี “ความชอบธรรม” ที่จะวิจารณ์นักการเมือง สมมติว่ากฎหมายเปิดให้วิจารณ์ xxx ได้ คนที่ไม่วิจารณ์ xxx (ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ หรือไม่อยากวิจารณ์เป็นต้น) ก็ต้องสรุปว่าเขาไม่มีความชอบธรรมที่จะวิจารณ์นักการเมืองใช่ไหม

 

ตอบข้อโต้แย้ง 4

 

ประเด็นมันไม่ใช่การเรียกร้องให้ “กระทำการวิจารณ์ xxx ที่เป็นตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้วจึงจะมีความชอบธรรมในการวิจารณ์นักการเมือง” แต่การเรียกร้องให้ apply หลักการสากลกับ xxx หมายความว่าให้ “apply หลักการสากลกับทุกคน”

เมื่อการ apply หลักการสากลกับทุกคนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสมมติว่ากฎหมายเปิดให้ทำเช่นนี้ได้ ถ้าในปัญหาเดียวกันที่ทั้งนักการเมืองและ xxx ต่างมีส่วนเกี่ยวข้อง การที่ใครก็ตามเลือกวิจารณ์เฉพาะนักการเมือง ก็แสดงว่าเขาไม่ยุติธรรม ใช้สองมาตรฐาน

แต่เรายอมรับหรือไม่ว่า ภายใต้ระบบที่กฎหมายไม่เปิดให้วิจารณ์ xxx การวิจารณ์นักการเมืองแต่ไม่วิจารณ์ xxx ในกรณีเดียวกัน เรากำลังกระทำสิ่งที่ไม่ยุติธรรม หรือกำลังใช้สองมาตรฐานโดยปริยาย

 

ข้อโต้แย้ง 5   

 

ในเมื่อกฎหมาย “ไม่เปิด” ให้วิจารณ์ xxx ได้ หรือการวิจารณ์ xxx ก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว (โดยเฉพาะภายใต้ระบบกฎหมายที่ไม่มี “มาตรฐานที่ชัดเจน” ระหว่าง “วิจารณ์” กับ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย”) การเรียกร้องให้วิจารณ์ xxx ย่อมเท่ากับเรียกร้องให้ทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ และการที่วิจารณ์ xxx ไม่ได้นั้น ต้องเป็นเหตุผลให้เราไม่ควรวิจารณ์นักการเมือง จะปล่อยให้นักการเมืองทำผิดในเรื่องต่างๆ ได้ตามอำเภอใจเช่นนั้นหรือ

 

ตอบข้อโต้แย้ง 5

 

แล้วไง การที่เราแคร์มากเลยกับการทำอะไรๆ ตามอำเภอใจของนักการเมือง ตั้งคำถามทุกเรื่อง วิจารณ์ทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องในมุ้ง บุคลิกภาพ จริยธรรม และ ฯลฯ แต่เรา (ทำเหมือน) ไม่แคร์ที่จะตั้งคำถามกับอีกฝ่ายเลย

การยืนยันการวิจารณ์นักการเมืองภายใต้ระบบเช่นนี้ว่า เป็นการกระทำที่ถูกต้อง ก็เท่ากับการยืนยันว่า “การไม่ apply หลักการสากลกับทุกคนเป็นหลักการที่ถูกต้อง” ซึ่งเท่ากับเราได้สร้าง “หลักการที่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย” ขึ้นมา และยึดถือปฏิบัติเสมือนว่ามันเป็นหลักการประชาธิปไตยไปแล้ว

 

คำถามคือ ทำไมเราไม่ยอมรับความจริงว่า การกระทำของเราเท่ากับเป็นการยืนยันหลักการที่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยโดยปริยาย และโดยการยืนยันเช่นนี้ ย่อมทำให้ปัญหา “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” ไม่ถูกแก้ไขตลอดไป

 

เป็นไปได้ไหมที่ถ้าเราต่าง “ตระหนักอย่างชัดแจ้ง”ว่า “เรากำลังทำผิดหลักการประชาธิปไตยอยู่จริงๆ” แล้วเราจะไม่ร่วมกันต่อสู้เพื่อที่จะไม่ต้องทำผิดอีกต่อไป หรือไม่ร่วมกันต่อสู้เพื่อให้การ apply หลักการสากลกับทุกคนเป็นไปได้จริง ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อ “ความเป็นประชาธิปไตย” จริงๆ

แน่นอนว่า เป็นไปไม่ได้หรอกที่มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีเหตุผลและเสรีภาพที่ตระหนักว่าตนกำลังทำผิดอย่างชัดแจ้งแล้ว จะยอมทำผิดหรือยอมถูกระบบบังคับให้ต้องทำผิดตลอดไป นอกจากเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะยอม เขาย่อมต้องถือเป็น “หน้าที่ที่ต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง” นั่นคือ หน้าที่ที่ต้องต่อสู้เพื่อสร้างระบบสังคมการเมืองที่ apply หลักการสากลกับทุกคน

 

สรุป

 

ถ้า “การ apply หลักการสากลกับทุกคน” คือ “ความถูกต้อง” ตามระบอบประชาธิปไตย หรือคือ “ความเป็นประชาธิปไตย” การตั้งคำถามต่อ “การไม่ apply หลักการสากลกับ xxx” ต่อใครก็ตามที่ยืนยัน และ/หรือกำลังกระทำการใดๆ ในนามของประชาธิปไตย จึงเป็นการตั้งคำถามที่ “เหตุผล” หรือตรรกะบังคับให้ต้องตั้งคำถามโดยจำเป็น

 

เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในการยืนยันว่าเรากำลังทำตามหลักการประชาธิปไตย และ/หรือกำลังต่อสู้เพื่อความเป็นประชาธิปไตย ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ยืนยัน “การ apply หลักการสากลกับทุกคน”

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วันที่ 9 มีนาคมเป็นวันคล้ายวันเกิด ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์

Posted: 09 Mar 2012 07:01 AM PST

"คุณจะเลือกอยู่ข้างทหารเผด็จการมือเปื้อนเลือด อยู่ข้างสองมาตรฐานทางกฏหมาย อยู่ข้าง ASTV และ “ดาวสยาม” และอยู่ข้างนักการเมืองอย่างเฉลิม อยู่บำรุง และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ...คุณจะอยู่ข้าง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปรีดี พนมยงค์ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 และคณะนิติราษฎร์"
 
วันที่ 9 มีนาคมเป็นวันคล้ายวันเกิด ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณพ่อของผม และในวันนี้ ทุกๆ ปี มักจะมีการจัดงาน“รำลึกถึงอ.ป๋วย” ตามสถานที่ต่างๆ เช่นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเป็นมหาวิทยาลัยที่พ่อผมเคยเป็นอธิการบดีก่อนเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และหลายคนที่ตั้งตัวเองขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงพ่อผม มักจะเป็นคนที่มีอุดมกาณ์ตรงข้ามกับ อ.ป๋วยโดยสิ้นเชิง
 
ปีนี้ผมได้ข่าวว่าญาติผมชื่อ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์จะไปพูดใน งาน “40 ปี สันติประชาธรรม สู่ 1 ศตวรรษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ดร.ยงยุทธ เคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ในรัฐบาลเผด็จการทหารหลัง ๑๙ กันยา ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อผมไม่มีวันทำ และหลังจากรัฐประหาร ๑๙ กันยาไม่นาน แม่ผมได้รับโทรศัพท์จากคนที่เขารู้จักในไทยซึ่งบอกแม่ผมว่า “ลุงป๋วยคงภูมิใจที่หลานได้เป็นรัฐมนตรี” แม่ผมตอบทันทีว่า “ไม่... คุณเข้าใจผิดแล้ว”
 
ผมไม่เคยอ้างว่าตัวผมเองมีความคิดเหมือนพ่อ ผมเป็นมาร์คซิสต์สังคมนิยม เขาเป็นคนที่มีอุดมกาณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย และจุดยืนของเราแตกต่างกันในอีกหลายๆ เรื่อง แต่ผมถูกพ่อแม่สอนมาให้คิดเองและมีอุดมการณ์ของตนเอง ผมจึงไม่มีสิทธิ์ไปพูดที่ไหนในฐานะ “ผู้แทนความคิดของ อ.ป๋วย”
 
อย่างไรก็ตามผมอยากเน้นบางสิ่งบางอย่าง เพื่อสร้างความชัดเจนกับคนที่ชอบอ้างพ่อผมแล้วทำตรงข้าม
 
อ.ป๋วย ต้องบินออกจากประเทศไทยในเย็นวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เพราะพวกขวาจัดที่อ้างว่าปกป้องสถาบัน เช่นลูกเสือชาวบ้าน ขู่จะฆ่าพ่อผมหลังจากที่พวกนี้ไปฆ่านักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ และลูกเสือชาวบ้าน “จงรักภักดี” เหล่านี้ ก็ตามพ่อไปที่สนามบินดอนเมืองเพื่อทำร้ายเขา อ.ป๋วยต้องออกจากประเทศไทยเพราะทหารเผด็จการทำรัฐประหารอีกครั้ง บนซากศพนักศึกษาในธรรมศาสตร์ และพวกทหารเหล่านี้เกลียดชังดร.ป๋วย และด่าอ.ป๋วยว่าเป็น “คอมมิวนิสต์ล้มเจ้า” ทหารระดับสูงสมัยนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากนั้น
 
ไม่ต้องเชื่อผมหรอก กรุณาอ่านบทความเรื่อง ๖ ตุลา ที่พ่อผมเขียนเอง
 
อ.ป๋วยเคารพรักอ.ปรีดี เหมือนเป็นพี่ และมองว่าการที่ อ.ปรีดีต้องออกจากประเทศไทยเป็นเรื่องแย่ พ่อผมเข้าใจดีว่าอ.ปรีดีเป็นแกนนำคณะราษฎร์ที่ปฏิวัติล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อเริ่มสร้างประชาธิปไตยในไทย ตอนที่เกิดการปฏิวัติ ๒๔๗๕ พ่อผมไม่ค่อยมีจิตสำนึกทางการเมืองเพราะอายุอ่อน
 
อ.ป๋วยไม่เห็นด้วยกับการคุมขังพลเมืองอันเนื่องมาจากการแสดงความเห็นทางการเมือง โดยที่คนเหล่านั้นไม่เคยใช้ความรุนแรงกับใคร ดังนั้นใครอยากตั้งตัวขึ้นมาชม อ.ป๋วย กรุณาพูดถึงปัญหานักโทษการเมือง 112 ด้วย
 
ที่บ้าน อ.ป๋วย ในวันหยุดประจำชาติ ไม่ว่าจะเป็นวันไหน จะไม่มีการประดับหน้าบ้านด้วยธงชาติหรือธงอื่นหรือไฟสี แต่พ่อผมมองว่าการพัฒนาสถานภาพชีวิตประชาชนธรรมดาเป็นเรื่องที่มีสาระมากกว่า เขายอมทนทำงานในระบบเผด็จการทหารของสฤษดิ์ ถนอม ประภาส ที่โกหกในยุคนั้นว่าเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะเขาเคยรับทุนรัฐบาล เพื่อไปเรียนที่อังกฤษ และเขามองว่าผู้ที่ออกเงินให้เขามีโอกาสไปเรียนนอกคือประชาชนไทยคนธรรมดาผ่านการเสียภาษี เขาจึงต้องตอบแทนประชาชน
 
พ่อผมไม่เคยสนับสนุนรัฐประหาร ไม่เคยชมรัฐประหาร และไม่เคยรับตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลใด ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย เขาเพียงแต่ทำงานเป็นข้าราชการประจำเท่านั้น และเมื่อจอมพลสฤษดิ์มีอำนาจ เขากล้าเถียงกับสฤษดิ์เมื่อสฤษดิ์อยากจะโกงชาติ ต่อมาเขาผิดหวังเมื่อจอมพลถนอมใช้มาตรการเผด็จการ เขาก็กล้าวิจารณ์ จนต้องไปอยู่ต่างประเทศพักหนึ่งก่อนกลับมาหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
 
ขณะที่พ่อผมทำงานเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการในตอนนั้น พ่อผมยินดีร่วมมือกับองค์กร ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก เพราะ อ.ป๋วยเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจที่ดีที่สุดคือทุนนิยมที่ผสมกลไกตลาดกับการแทรกแซงโดยรัฐ ตอนนั้นกระแสหลักทั่วโลก รวมถึงไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก ไม่ได้ชื่นชมกลไกตลาดเสรีอย่างในปัจจุบัน
 
ในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ พ่อผมในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่อยากให้มีการชุมนุมและความรุนแรงเกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ เพราะสามเดือนก่อนพวกคลั่งเจ้า พวกกะทิงแดง เคยบุกเข้าไปเผามหาวิทยาลัยตอนที่ประภาสกลับมาไทย เขาอยากให้นักศึกษาหยุดกิจกรรมเพราะเป็นช่วงสอบไล่ แต่อย่ามาอ้างว่าพ่อผมทำเหมือนคณะบริหารมหาวิทยาลัยปัจจุบันเลย เพราะจะเป็นการโกหกแบบไม่อาย พ่อผมรักประชาธิปไตย เขาแต่งงานกับหญิงอังกฤษที่มีอุดมกาณ์ประชาธิปไตย ที่ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจหรือตำแหน่งผ่านสายเลือด และพ่อผมไม่เคยห้ามการจัดเสวนาเพื่อปฏิรูปประเทศไปสู่ประชาธิปไตยเลย
 
ในเรื่อง ๖ ตุลา พ่อผมเขียนเกี่ยวกับละครแขวนคอที่ลานโพธิ์ ที่เป็นละครเพื่อเปิดโปงการฆ่านักกิจกรรมโดยตำรวจที่นครปฐมว่า... “จากปากคำของอาจารย์หลายคน ที่ได้ไปดูการชุมนุมกันในเที่ยงวันจันทร์ที่ ๔ ตุลาคม นั้น ผู้แสดงแสดงได้ดีมาก ไม่มีอาจารย์ผู้ใดที่ไปเห็นแล้วจะสะดุจใจว่าอภินันท์แต่งหน้า หรือมีใบหน้าเหมือนเจ้าฟ้าชาย” ...
 
และโดยทั่วไป เขาอธิบายว่าความรุนแรงในวันที่ ๖ ตุลา และรัฐประหารที่ตามมา เกิดขึ้นจากการกระทำของ  “ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ได้แก่ ทหาร และตำรวจบางกลุ่ม ผู้เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป ได้แก่นายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม และผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นประชาธิปไตยในประเทศไทย.... วิธีการของบุคคลเหล่านี้คือ...การอ้างถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือในการป้ายสี ถ้าใครเป็นปรปักษ์ก็แปลว่าไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”
 
นอกจากนี้ พ่อผมเคยเขียนบทความสั้นเพื่อสนับสนุนการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศไทย โดยในบางส่วนเขียนว่า...
 
“ในฐานะที่ผมเป็นชาวไร่ชาวนา ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควรสำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมเงินมาขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีการทำกินแบบใหม่ ๆ มีตลาดดี และขายสินค้าได้ราคายุติธรรม
 
ในฐานะที่ผมเป็นกรรมกร ผมก็ควรจะมีหุ้นมีส่วนในโรงงาน บริษัท ห้างร้านที่ผมทำอยู่
 
เรื่องอะไรที่ผมทำเองไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ดี ผมก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนฝูงในรูปสหกรณ์ หรือ สโมสร หรือสหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน เรื่องที่ผมจะเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ
 
ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ”
 
อ. ป๋วยไม่ใช่คนแรกที่เสนอว่าไทยควรมีรัฐสวัสดิการ เพราะก่อนหน้านั้นมีการเสนอโดย อ.ปรีดี คนที่พ่อผมเคารพรัก
 
อ. ป๋วยเคยพูดถึง “สันติประชาธรรม” แต่อย่าลืมด้วยว่าในวัยนักศึกษาที่อังกฤษ เขาอาสาสมัครเป็นทหารในกองทัพเสรีไทย เพื่อรบกับญี่ปุ่นและรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ป. คนเราเปลี่ยนแปลงตามอายุ ตามสมัย ไม่มีอะไรหยุดนิ่งเสมอ
 
การบิดเบือน และฉวยโอกาสอ้างชื่อ ดร.ป๋วย เพื่อผลประโยชน์ตนเองของบางคนในประเทศไทยในปัจจุบันหลังจากที่เขาตายและตอบไม่ได้ ทำให้ผมระลึกถึงประโยคหนึ่งของ เลนิน นักปฏิวัติรัสเซียที่ผมชื่นชม ตอนต้นๆ ของหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” เลนิน เขียนไว้เกี่ยวกับ คาร์ล มาร์คซ์ ว่า “ในยุคที่นักปฏิวัติหรือนักต่อสู้ยังมีชีวิต ฝ่ายชนชั้นปกครองจะคอยปราม ด่า ทำร้าย อย่างต่อเนื่อง แต่พอตายไปแล้วก็นำความคิดมาบิดเบือนให้เป็นเรื่องตรงข้าม เพื่อไม่ให้อันตรายต่อผู้มีอำนาจ”
 
เมื่อพ่อผมโดนไล่ออกจากประเทศไทย มีคนสามกลุ่มในไทยเท่านั้นที่ชื่นชมปกป้องพ่อผมคือ กลุ่มอ.สุลักษณ์ นักศึกษากับอาจารย์ฝ่ายซ้ายในธรรมศาสตร์ และพรรคคอมมิวนิสต์ แต่พ่อผมไม่ยอมร่วมมือกับพรรค คนทีเหลือในสังคมไทยไม่เอ่ยปากปกป้องพ่อผมแต่อย่างใด
 
หลายคนในขบวนการเสื้อเหลืองพันธมิตรฯ มักจะเคยขึ้นเวทีเผด็จการ แล้วอ้างว่าเขา “เคารพ อ.ป๋วย” ปัจจุบันคนที่จะทำให้กลุ่มนิติราษฎร์ไม่มีพื้นที่ยืนในสังคมบางคน ก็หน้าด้านอ้างพ่อผมอีก
 
แต่เมื่อผมเล่าให้คุณแม่ฟังว่านักศึกษาที่รักประชาธิปไตยไปวางพวงหรีดที่หน้ารูปปั้นอ.ป๋วยที่ธรรมศาสตร์รังสิต แม่ผมตอบผมทันทีว่า “ดีแล้ว”
 
ขอย้ำอีกครั้งว่าพ่อผมต้องออกจากประเทศไทยเพราะมีอุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเสมอภาค และเพื่อรัฐสวัสดิการ ปัจจุบันก็ยังมีพวกนายพลล้าหลังและพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัด ที่ชอบไล่คนคล้ายๆ ดร.ป๋วยในยุคนี้ ให้ “ไปอยู่ที่อื่น” คำถามคือเราต้องทนรอนานแค่ไหนให้เมืองไทยพัฒนาจากยุคมืด
 
วันนี้เรามีทางเลือก คุณจะเลือกอยู่ข้างทหารเผด็จการมือเปื้อนเลือด อยู่ข้างสองมาตรฐานทางกฏหมาย อยู่ข้าง ASTV และ “ดาวสยาม” และอยู่ข้างนักการเมืองอย่างเฉลิม อยู่บำรุง และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
หรือ...คุณจะอยู่ข้าง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปรีดี พนมยงค์ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 และคณะนิติราษฎร์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

วันสตรีสากลและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์ไทยที่ถูกเลิกจ้าง

Posted: 09 Mar 2012 06:44 AM PST

“วันสตรีสากล” ในสังคมไทย ปัจจุบันมิอาจถูกนิยามความหมายผูกขาดเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานเท่านั้น ผู้หญิงหลากหลายสาขาอาชีพ ได้ตระหนักถึงความสำคัญความหมายของผู้หญิงที่มีความเป็นมนุษย์เสมอภาคกับผู้ชาย  การเรียกร้องและการมีข้อเสนอทางสังคมจึงเกี่ยวข้องกับมิติความหลากหลายในมุมของผู้หญิงแต่ละกลุ่มแต่ละองค์กรแต่ละสาขาอาชีพแต่ละความคิด  

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์การก่อกำเหนิด”วันสตรีสากล” นั้นเกี่ยวข้องกับชนชั้นผู้ใช้แรงงานอย่างมิอาจปฏิเสธได้และล้วนเป็นผู้ใช้แรงงานที่รักประชาธิปไตยมิใช่อำมาตยาธิปไตยเป็นแน่

“8 มีนาคม” ความหมายผู้หญิงและชนชั้นผู้ใช้แรงงาน

จุดเริ่มต้นวันสตรีสากล  เริ่มจากเมื่อวันที่ 8 มีนาคม  พ.ศ.2400   กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกาได้พากันลุกฮือประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คนต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ ด้วยการที่มีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่ 

ในปี พ.ศ.2450 กรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาทนไม่ไหวต่อการเอารัด เอาเปรียบ กดขี่ ทารุณ ของนายจ้างที่ใช้งานพวกเธอเยี่ยงทาส เนื่องจากกรรมกรหญิงเหล่านี้ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใดๆ เป็นผลให้เกิดความเจ็บป่วยล้มตายตามมาในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด และหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก 

จึงมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืนมา  และมี "คลาร่า เซทคิน" ชาวเยอรมัน  เป็นผู้นำสำคัญในการเคลื่อนไหว 

บทบาทของ"คลาร่า เซทคิน"  นั้น เป็นแกนนำสำคัญในการต่อต้านอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แห่งพรรคนาซี และต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการ 

“คลาร่า เซทคิน”  มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคให้กับสตรี อีกทั้งยังทำงานเพื่อสตรีมาโดยตลอด ทำให้คลาร่า ได้รับการขนานนามจากกลุ่มองค์กรสตรีนานาชาติว่าเป็น "มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล"

ในการเคลื่อนไหวของคนงานหญิง ได้มีการนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย

อย่างไรก็ตามแม้การเรียกร้องครั้งนี้ จะไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ทำให้สตรีทั่วโลกสนับสนุนการกระทำของ "คลาร่า เซทคิน" และเป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น 

ต่อมา วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2453 ความพยายามของกรรมกรสตรีกลุ่มนี้ก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ  ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก  ได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย 

ทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของ "คลาร่า เซทคิน" ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล 

ผู้หญิง  สหภาพแรงงานด้านอิเลคทรอนิคส์  และปัญหาการเลิกจ้าง

งานศึกษาของ  วรวิทย์ เจริญเลิศ  เรื่อง“วิกฤตของการพัฒนา โลกาภิวัตน์ส่งผลกระทบต่อแรงงาน”   พบว่า   กระบวนการผลิตในโรงงาน เน้นระบบสายพานการผลิต ค่าจ้างขั้นต่ำ  ชั่วโมงการทำงานยาว (ปกติ+โอที)  ระหว่าง 60-72 ชม. ต่ออาทิตย์  และโรงงานที่ผลิตเกี่ยวข้องกับด้านอิเลคทรอนิคส์ มักใช้แรงงานส่วนใหญ่ 80-90% เป็นหญิง โสด อายุน้อย   เนื่องจากมีความอดทนสูงทำงานบนสายพานการผลิต    ที่เน้นการแข่งขันที่ราคา ต้นทุนค่าแรงต่ำ และ รับ Order จากบรรษัทข้ามชาติ เพื่อผลิตแล้วส่งออก

แม้ว่าแรงงานสตรีความสำคัญของในการผลิต  แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ถึงเงื่อนไขการควบคุมแรงงานหญิงของนายทุนบริษัทโรงงานต่างๆ  โดยใช้ทัศนะคติครอบงำแบบอำมาตย์ศักดินา ต่อ “ความเป็นผู้หญิง”ในสังคมไทยที่ถูกกดทับหลายซ้อนมากกว่าแรงงานผู้ชาย

แต่แรงงานผู้หญิงจำนวนมากก็หายอมจำนนแต่อย่างไร ได้เข้าร่วมสิทธิเรียกร้องความยุติธรรมและเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซี่งหลายคนเป็นประธาน เป็นกรรมการสหภาพแรงงานที่สะท้อนถึงความเป็นผู้นำที่เท่าเทียมกับแรงงานผู้ชายเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่นานมานี้ งานศึกษาของ พัชณีย์ คำหนัก เรื่อง  ระบบทุนนิยมเสรี เสรีของใครกัน ? : กรณีการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงาน 4 แห่ง AGC, Ricoh, Hoya และ MMI  ได้วิเคราะห์ปัญหาการเลิกจ้างคนงานในช่วงวิฤตการน้ำท่วมไว้ว่า   

ปัญหาการเลิกจ้างที่นำไปสู่ภาวะสั่นคลอน/ไร้เสถียรภาพของสหภาพแรงงาน 4 แห่ง ได้แก่ 1) สหภาพแรงงานเอจีซีสัมพันธ์แห่งประเทศไทย  2) สหภาพแรงงานริโก้ประเทศไทย  3) สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์  (Hoya) และ 4) สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ (MMI) และตั้งคำถามต่อนายทุนเอกชนถึงความรับผิดชอบต่อชีวิตผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคน ส่วนใหญ่ของสังคม การใช้กลไก CSR (Corporate Social Responsibility) จรรยาบรรณทางการค้าของบรรษัทข้ามชาติ รวมถึงกลไกรัฐในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่า ทำไมไม่สามารถรองรับปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อแรงงานในภาวะปกติและไม่ปกติ

การแก้ไขปัญหาการเลิกจ้างพนักงาน 4 บริษัทนี้ เจ้าหน้าที่รัฐควรต้องรับออกมาปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้แรงงาน และสร้างความเป็นธรรมให้แก่คนส่วนใหญ่อย่างทันท่วงที โดยต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของพนักงานในระยะเฉพาะหน้า ดังนี้

ข้อเรียกร้องของพนักงานอิเล็กทรอนิกส์ 4 บริษัท มี 3 ประการ ได้แก่

1. ขอให้พนักงานทั้ง 4 แห่งกลับเข้าไปทำงาน ซึ่งจะเป็นการรักษาสถานภาพการเป็นลูกจ้างและผลประโยชน์ที่สั่งสมมาจากการทำ งานหลายปี  โดยจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์และตำแหน่งตามเดิม

2. ปรับปรุงสภาพการจ้างงานให้ดีขึ้น (กรณีริโก้) และตรวจสอบการใช้มาตรา 75 ของนายจ้างว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (กรณีเอจีซี)

3. หยุดการกลั่นแกล้ง ขัดขวางการจัดตั้งและดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานทั้ง 4 แห่ง

4. กรณีพนักงานเอ็มเอ็มไอที่ไม่ขอกลับเข้าทำงาน ขอค่าชดเชยพิเศษที่มากกว่าที่กฎหมายกำหนด และขอให้บริษัทจ่ายเงินค้างจ่ายบางส่วนให้ครบถ้วน พร้อมกับขยายสิทธิประกันการว่างงานเป็น 10 เดือนเพื่อขยายเวลาแก่พนักงานอายุมาก คนงานหญิงที่ตั้งครรภ์ในการหางานทำใหม่  เนื่องจากบริษัทหลายแห่งไม่นิยมรับพนักงานใหม่ที่อายุ 35 ปีขึ้นไปรวมทั้งคนงานที่กำลังตั้งครรภ์

2  ข้อเรียกร้องในระดับนโยบาย  มี 2 ประการ ได้แก่ 

1. รัฐบาลจะต้องให้สัตยาบัน รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศข้อ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการรวมตัว และเสรีภาพในการเจรจาต่อรองร่วม 

2. รัฐจะต้องปรับปรุงกลไกการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้รองรับสภาพความเป็นจริง ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อป้องกันการเลิกจ้าง การละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเสรี และตรวจสอบโรงงานให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

ดังนั้นไม่เพียงแต่แรงงานผู้หญิงยังไม่ได้มดำรงชีวิตในระบบสามแปดดั่งเจตนารมย์ของวันสตรีสากล  แรงงานหญิงจำนวนมากยังไม่มีความมั่นคงด้านสิทธิเสรีภาพอันขัดกับหลักการประชาธิปไตย  และไม่มีความมั่นคงด้านการทำงานด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น