โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท (เฉพาะกิจ)

ศาลฎีกาไม่ให้ประกัน ‘อากง’

Posted: 15 Mar 2012 10:58 AM PDT

"ศาลฏีกาไม่ให้ประกันอากง ย้ำเหตุเดิม โทษร้ายแรงเกรงหลบหนี ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องก่อนหน้านี้ก็ชอบแล้ว"

15 มี.ค.55 อานนท์ นำภา ทนายความของนายอำพล (สงวนนามสกุล) หรือ “อากง” ผู้ต้องขังคดีส่ง SMS หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ระบุว่าศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนายอำพล โดยระบุเหตุผลว่า "พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี และเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องร้ายแรงประกอบกับศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยถึง ๒๐ ปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างความป่วยเจ็บนั้นเห็นว่า จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวชอบแล้ว ยกคำร้อง"

สันติภาพปาตานีใต้เงื้อมมือ ‘ทวี สอดส่อง’

Posted: 15 Mar 2012 10:48 AM PDT

ดอน ปาทาน
Patani Forum

 

สันติภาพปาตานีใต้เงื้อมมือ 'ทวี สอดส่อง'

ด้วยการหนุนหลังจากนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรจากอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ทวี สอดส่อง ย่อมคิดว่าโชคเข้าข้างเขาแน่นอนงานนี้

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทวี ทำงานอย่างหนักเพื่อหาทางเริ่มกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ ที่ซึ่งความไม่สงบได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 5000 คนนับแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547

ทวี ได้ส่งตัวแทนไปประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศเพื่อขอความช่วยเหลือให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการเจรจาลับกับหัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของไทย

สิ่งที่ทวีได้ยื่นเป็นข้อเสนอคือ ให้มีการเลือกตั้งคนท้องถิ่นไปเป็นผู้นำของ ศอ.บต. นี่เป็นข้อเสนอที่ไล่หลังกันมากับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยที่จะทำให้พื้นที่ของคนที่พูดภาษามาเลย์เป็นเขตปกครองพิเศษ

ข้อเสนอของทวีที่จะให้คนท้องถิ่นได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้นำ ศอ.บต.นั้นฟังดูดีมากเลยทีเดียว เพราะคนมาลายูซึ่งเป็นประชากรประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดในจังหวัดชายแดนใต้ย่อมปรารถนาที่จะให้คนในท้องถิ่นของตัวเองเข้ามาเป็นหัวหน้าศูนย์ราชการแห่งนี้แน่นอน

แต่บรรดาผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนและสมาชิกของบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional-Coordinate) บางคนเห็นว่า ทวีและกลุ่มทักษิณน่าจะกำลังหาทางล้างมือจากปัญหาภาคใต้เสียมากกว่า

พวกผู้นำท้องถิ่นหลายคนพูดว่า คำว่าเขตปกครองตนเองนั้นอาจจะหมายถึงว่า อำนาจการเมืองการปกครองอาจจะตกอยู่ในมือของพวกผู้นำมาลายูกลุ่มเล็กๆ ที่พวกเขาสงสัยว่าอาจจะทำตัวเป็นขี้ข้าของกรุงเทพฯก็เป็นได้

หัวหน้าศอ.บต. คนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในท้องถิ่นอาจจะต้องกลายมาเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อการดำเนินการบางอย่างที่ผิดพลาดก็เป็นได้ บรรดาทหารพรานที่มาจากคนท้องถิ่นอาจจะกลายเป็นเป้าของผู้ก่อความไม่สงบแทนทหารหลักซึ่งจะถอนกำลังกลับไปสู่ที่ตั้งเดิมก็ได้

ถ้าหากปราศจากการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงหรือการปฎิรูปโครงสร้างเพื่อให้ ศอ.บต.มีอำนาจทางการบริหารและทางด้านความมั่นคงอย่างจริงจังแล้ว หัวหน้าที่มาจากการเลือกตั้งของคนในท้องถิ่นอาจจะกลายเป็นแค่เสือกระดาษ

อย่างไรก็ตาม ทวียังคงเดินหน้าแผนงานของเขาต่อไปและเตรียมที่จะกระจายข่าวนี้ไปยังผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ

บรรดาเจ้าหน้าที่ซึ่งสังเกตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้มานานและบรรดาผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ลี้ภัยในต่างประเทศต่างพากันคิดว่าแนวทางตามตำราของทวีนี้คงจะใช้ไม่ได้ผล เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เขายังหาทางเอาชนะไม่ได้

สมาชิกบีอาร์เอ็นคนหนึ่งพูดว่า “แนวทางของทวีนั้นง่ายๆ ซื่อๆ เกินไป เขาคิดว่าจะเอาผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนมานั่งโต๊ะเจรจาแล้วตกลงยุติความขัดแย้งกันรวดเดียวจบแล้วแก้ปัญหาทุกอย่าง มันคงไม่ได้ผลอย่างนั้นหรอก ความคับแค้นใจที่เกิดจากความไม่เป็นธรรมนั้นมันฝังรากลึกในหัวจิตหัวใจของชาวมุสลิมปัตตานีทุกคน ในที่สุดคนรุ่นใหม่จะโผล่ขึ้นมาสืบทอดการต่อสู้อีกจนได้”

ผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ลี้ภัยอีกคนหนึ่งบอกว่า ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของทวีคือ บรรดาผู้นำเหล่านั้นไม่เพียงแต่จะแตกแยกและขัดแย้งกันด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง แถมยังควบคุมเด็กรุ่นใหม่ที่ก่อความไม่สงบอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้อีกด้วย แน่นอนว่าพวกผู้นำรุ่นเก่าอาจจะคุยกับจูแว (นักรบรุ่นใหม่) ได้ แต่บังคับบัญชาอะไรพวกเขาไม่ได้เลย

อีกอย่างหนึ่ง พวกที่ต่อสู้รุ่นเก่าๆ นั้นก็ไม่ได้เป็นเอกภาพกันสักเท่าใด มีความคิดที่แตกต่างกันระหว่างพวกที่ต้องการเอกราชโดยสมบูรณ์กับพวกที่ต้องการรูปแบบการประนีประนอมอย่างใดอย่างหนึ่ง

ผู้นำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ลี้ภัยในต่างประเทศและนักสังเกตุการณ์หลายคนอาจจะให้น้ำหนักกับบีอาร์เอ็นโคออดิเนท (BRN-Coordinate) ค่อนข้างมากว่าเป็นที่ยึดโยงและวางรากฐานให้กับนักรบจูแวรุ่นใหม่ แต่สมาชิกบีอาร์เอ็นหลายคนก็ยอมรับว่า สายการบังคับบัญชายังไม่แข็งแกร่งนัก และคงจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสร้างระบบการสั่งการบังคับบัญชากันได้ พูดอีกอย่างหนึ่งช่องว่างระหว่างรุ่นและวัยเป็นปัญหาสำคัญ และถ้าเป็นหากการสื่อสารระหว่างผู้นำรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มีปัญหาอย่างนั้น ความพยายามของทวีที่จะไปพูดคุยกับผู้นำรุ่นเก่าก็คงไร้ความหมาย

ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งสำหรับบีอาร์เอ็นตามที่สมาชิกรายหนึ่งกล่าว คือ บรรดานักรบรุ่นใหม่ที่เรียกตัวเองว่าจูแวส่วนหนึ่งนั้นได้ขายตัวให้กับขบวนการและกลุ่มอาชญากรรม พวกค้าของเถื่อนทั้งหลายไปแล้วก็มี

เรื่องที่ยังไม่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งคือ ยังไม่ทราบว่ากองทัพมองความพยายามสร้างสันติภาพของทวีครั้งนี้อย่างไร แต่ถ้ามองจากมุมของผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะเห็นว่า มีอีกหลายประเด็นปัญหาที่ทวีจะต้องเอาชนะให้ได้ นอกจากนี้แล้วตัวทวีเองก็ยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนท้องถิ่นเท่าใดนัก อันเนื่องมาจากชื่อเสียงและผลงานของเขาในอดีตนั่นเอง

หลายคนยังนึกถึงวันเวลาและวิธีการที่ทวีใช้ในการไล่ล่าบรรดาผู้ต้องสงสัยและครูสอนศาสนาในท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสแปอิง บาซอ ผู้นำทางจิตใจของพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้นแม้แต่พวกเจ้าหน้าที่ด้วยกันเองยังพากันกระซิบกระซาบว่า ข้อกล่าวหาที่มีต่อสแปอิงนั้นเป็นเรื่องกุขึ้นมาทั้งสิ้น

และไม่ใช่แค่ว่ายังไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนท้องถิ่นเท่านั้น ทวีเจอปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ กองทัพก็ไม่ค่อยพอใจนักกับการที่จะมีใครสักคนไปพูดคุยกับศัตรูของพวกเขา ยกเว้นเสียแต่ว่าคนในกองทัพจะเป็นคู่เจรจาเสียเอง

ความคิดเรื่องการปกครองตนเองหรือให้มีการเลือกตั้งหัวหน้า ศอ.บต.จากคนในท้องถิ่นอาจจะเป็นที่ชอบใจของบรรดาชนชั้นนำหลายคน แต่คนท้องถิ่นจำนวนมากคงไม่ชอบ เพราะเมื่อคราวเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยซึ่งเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาในการรณรงค์หาเสียงกลับไม่ได้รับเลือกตั้งสักที่นั่งเดียวในเขตจังหวัดชายแดนใต้

คนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งพูดว่า พวกนักการเมืองควรจะสนใจประเด็นเรื่องความยุติธรรม ความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมทางสังคมของชาวบ้านมากกว่า เรื่องการปรับปรุงโครงสร้างเพื่อหวังจะเปลี่ยนแปลงส่วนหัวขององค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ นั้นไม่มีความสำคัญอะไรเลย

สมาชิกระดับปฎิบัติการของบีอาร์เอ็นคนหนึ่งกล่าวว่า สันติภาพอาจจะมีทางเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนในระดับชาติ รัฐไทยและสังคมไทยจะต้องยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความรู้ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ของชาวมาลายู ซึ่งแตกต่างแบบคนละชุดกันเลยกับสิ่งที่คนส่วนอื่นของประเทศรับรู้ ไม่ว่าเรื่องพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ วีรบุรุษ วีรสตรี ล้วนแล้วแต่เป็นคนละเรื่อง

สมมติว่าทวีและกลุ่มของทักษิณประสบความสำเร็จในการตกลงสันติภาพกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ได้จริง ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้เลยว่า ความเข้าใจประวัติศาสตร์ชุดนี้จะผลิตนักสู้รุ่นใหม่ขึ้นมาอีกในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่เหมาะสม

สมาชิกระดับปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นกล่าวว่า บรรดานักสู้จูแวรุ่นปัจจุบันนี้ได้รับการฟูมฟักขึ้นมาประมาณ 10 ปีก่อนที่ทักษิณจะก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี พ.ศ.2544 ก็เป็นประวัติศาสตร์ปัตตานีนั่นเองที่หล่อหลอมพวกเขาให้เข้าสู่ร่มธงของบีอาร์เอ็นโคออดิเนท

นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกหรอกที่ตัวแทนรัฐไทยได้มีโอกาสได้พูดคุยกับบรรดาผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดน อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มหาธีร์ โมฮัมหมัด ก็เคยเป็นตัวกลางการเจรจาในปี พ.ศ. 2548 และผลที่ได้จากการเจรจาไม่ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อสถานการณ์ในภาคใต้เลยแม้แต่น้อย

คราวนี้ก็เหมือนกัน ผู้ที่ให้การสนับสนุนทวีหลายคนก็พูดว่า ทวีหวังเอาไว้มาก แต่ปัญหาคือมีเหตุและปัจจัยจำนวนมากที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเขาที่ทำให้การสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ยากพอๆ กับการย้ายภูเขาเลยทีเดียว

เดินหน้า 200 เวทีถกกระจายอำนาจดับไฟใต้

Posted: 15 Mar 2012 10:26 AM PDT

มูฮำหมัด ดือราแม สำนักข่าวประชาไท
อารีด้า สาเม๊าะ โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

 

นายรอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล เลขานุการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 มีนาคม 2555 สภาประชาสังคมชายแดนใต้จะจัดประชุมคณะทำงานพัฒนาเครื่องมือเพื่อดึงข้อเสนอในประเด็นกระจายอำนาจเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 200 เวทีในปี 2555 “ถอดรหัส เครื่องมือ 200 เวที กระจายอำนาจ” ณ เทพาบีช รีสอร์ท อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป

นายรอซีดี เปิดเผยต่อไปว่า คณะทำงานพัฒนาเครื่องมือ ประกอบด้วย ทีมรับฟังความเห็นเรื่องการกระจายอำนาจ นำโดยพล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ นายมันโซร์ สาและ รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ คณะทำงานผลิตคู่มือ Issue Book นำโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ และคณะบริหารสภาประชาสังคมชายแดนใต้ นำโดยนายประสิทธิ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ มาถกเถียงกันเพื่อหาข้อสรุป ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ในวันที่ 24 มีนาคม 2555

นายรอซีดี เปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมจะมีการหารือกันว่า การจัดรับฟังความเห็นใน 200 เวทีดังกล่าว จะใช้ Issue Book และวิธีการ Deliberative หรือประชาหารืออย่างไรที่เหมาะสมในการดึงข้อเสนอและความคิดเห็นจากรากหญ้าในเรื่องการกระจายอำนาจ

นายรอซีดี เปิดเผยว่า สำหรับวิทยากรกระบวนการในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น 200 เวที ดังกล่าว สภาประชาสังคมชายแดนใต้ จะเปิดรับสมัครจากนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ในพื้นที่สมัครประมาณ 100 คน จากนั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ทีม ได้แก่ ทีมรับฟังความเห็นจากเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายความมั่นคง อีกทีมจะรับฟังความเห็นจากประชาชนและกลุ่มเฉพาะ เช่น สตรี เยาวชน เป็นต้น

“ส่วนการรับฟังความเห็นจากฝ่ายตรงข้ามรัฐ จะมีการเตรียมแผนพิเศษ ซึ่งต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุม” นายรอซีดี กล่าว

นายรอซีดี กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งทหารและรัฐบาลออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับแนวคิดปัตตานีมหานคร เป็นเรื่องของพรรคการเมือง ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเรื่องปัตตานีมหานคร

“เป็นเรื่องธรรมดาที่มีการต่อต้านจากฝ่ายความมั่นคง แต่ประเด็นนี้เป็นวาระประชาชน ซึ่งนักการเมืองของพรรคเพื่อไทยอาจมองไม่เห็นกระบวนการขับเคลื่อนมาก่อนหน้านี้ ดังนั้น การเดินหน้ารับฟังความเห็นจาก 200 เวที จะทำให้รัฐบาลเห็นกระบวนการไปด้วย” นายรอซีดี กล่าว

พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามภาคใต้ ในฐานะเครือข่ายประชาสังคมเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า การประชุมถอดรหัส เครื่องมือ 200 เวที กระจายอำนาจ เป็นการประชุมเพื่อกำหนดกรอบในการรับฟังความเห็น ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2555 จัดโดยสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ร่วมกับสำนักงานปฏิรูป (สปร.)

พล.ต.ต.จำรูญ เปิดเผยว่า แนวคิดเรื่องปัตตานีมหานคร เกิดขึ้นจากภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา รวม 52 เวที ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,600 คน รวมถึงกลุ่มผู้ที่เห็นต่างกับรัฐ ผลจากการจัดเวทีรับฟังความเห็นดังกล่าว มี 7 ประเด็น ซึ่งนำมาสู่การร่างพระราชบัญญัติปัตตานีมหานคร พ.ศ.....

พล.ต.ต.จำรูญ กล่าวว่า รัฐบาลไม่เข้าใจที่มาของแนวคิดปัตตานีมหานครว่า มาจากประชาชนระดับรากหญ้าจริงๆ ซึ่งที่ผ่านมามีนักการเมืองกลุ่มหนึ่งของพรรคเพื่อไทยให้ความสนใจเรื่องปัตตานีมหานคร และเห็นว่ามีความเป็นไปได้ จึงเสนอต่อรัฐบาล

พล.ต.ต.จำรูญ เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติปัตตานีมหานคร จะถูกนำไปใช้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง ใน 200 เวที ดังกล่าวร่วมกับรูปแบบการปกครองจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามข้อเสนอของคนอื่นๆ รวม 6 รูปแบบ หากประชาชนเห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติปัตตานีมหานคร และร่วมลงชื่อสนับสนุนครบ 10,000 ชื่อ ก็จะเสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ต่อประธานรัฐสภา เพื่อเข้ากระบวนการออกกฎหมายต่อไป แต่หากไม่เห็นด้วยก็ต้องหารูปแบบที่เหมาะสมต่อไป

“การขับเคลื่อนเรื่องปัตตานีมหานครเป็นการดำเนินการภายกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ไม่ใช่วิธีการที่ผิดกฎหมาย หากใครที่ไม่เห็นด้วยก็สามารถแสดความคิดเห็นได้ แต่ไม่ควรมาตำหนิว่าไม่รักชาติ หรือ บอกว่าเป็นพวกที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน” พล.ต.ต.จำรูญ กล่าว

พล.ต.ต.จำรูญ เปิดเผยว่า สำหรับ 7 ประเด็นจากการจัดเวทีที่ผ่านมา คือ 1.ประชาชนในพื้นที่เห็นว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องให้คนในพื้นที่มีที่ยืนทางการเมือง 2.ผู้นำสูงสุดในพื้นที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง 3.ผู้นำทางการเมืองต้องผ่านกระบวนการคัดสรร 4.ยอมรับภาษามลายูและให้มีการศึกษาภาษามลายูทุกระดับการศึกษา 5.คนในพื้นที่มีสิทธิในการกำหนดหลักสูตรการศึกษาด้วยตัวเอง โดยการบูรณาการระหว่างวิชาศาสนาและสามัญ 6.มีการบังคับใช้กฎหมายอิสลามและมีศาลชารีอะห์ 7.ยอมรับในความแตกต่างทางชาติพันธ์ของคนในพื้นที่ ทั้ง 7 ประเด็น นำมาพิจารณารวมกับการวิเคราะห์ของสถาบันพระปกเกล้าที่ระบุว่า คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการกำหนดอนาคตของตัวเอง จากนั้นจึงเป็นร่างพระราชบัญญัติปัตตานีมหานคร พ.ศ.....

นายสุธิพันธ์ ศรีริกานนท์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์) และผู้ประสานงานพรรคเพื่อไทยประจำจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้นโยบายการกระจายอำนาจให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร และจะทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้สงบลงหรือไม่ โดยหนึ่งในคณะทำงานคือนายประสพ บุษราคัม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย

นายสุธิพันธ์ เปิดเผยด้วยว่า อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินครปัตตานี พ.ศ.... เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เนื่องจากหลังจากรัฐบาลบาลพรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประเทศ ต้องดำเนินการ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งผ่านพ้นไปแล้ว ปัจจุบันรัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังจะดำเนินการเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงยังไม่มีเวลาพิจารณาในเรื่องนครปัตตานีในตอนนี้ แต่ก็ยังมีเวลามากพอที่จะนำมาพิจารณาในโอกาสต่อไป

เปิดนโยบายดับไฟใต้ ปี 2555 – 57: ให้กระจายอำนาจ

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 เว็บไซด์ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้นำเสนอ‘นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557’ จัดทำโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยระบุเงื่อนไขหนึ่งของการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ โครงสร้างการปกครองและการบริหารราชการยังไม่สนองตอบกับลักษณะเฉพาะทางอัตลักษณ์ ความต้องการและความคาดหวังของประชาชนได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ นำมาซึ่งความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติ และขาดอำนาจในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองอย่างแท้จริง อาทิ การพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของพื้นที่ การศึกษาที่ไม่สามารถเอื้ออำนวยให้ประชาชนส่วนใหญ่มีพลังเอาชนะการท้าทายทางสังคมในรูปต่างๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม

กรอบแนวคิดของนโยบายในประเด็นนี้ คือ การสร้างสมดุลของโครงสร้างอำนาจการปกครองและการบริหารราชการระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ โดยการกระจายอำนาจภายใต้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และยึดหลักการบริหารจัดการบนพื้นฐานของความหลากหลายในความเป็นพหุสังคม

วัตถุประสงค์ข้อที่ 8 ของนโยบายฉบับนี้ คือ เพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ

การดำเนินนโยบายตามวัตถุประสงค์ข้อนี้ มี 2 ประการ ได้แก่

  1. ส่งเสริมการพูดคุยระหว่างกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องหลักการ  เป้าหมาย และรูปแบบของการกระจายอำนาจที่เหมาะสมบนพื้นฐานความเป็นพหุสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อยู่ภายใต้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นหลักสากลที่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน โดยเปิดพื้นที่และสร้างสภาวะแวดล้อมที่มีความเชื่อมั่น และเป็นหลักประกันความปลอดภัยในเสรีภาพต่อการแสดงความคิดเห็นและพูดคุยของทุกกลุ่มอย่างรอบด้าน สะท้อนถึงข้อกังวลของประชาชนทุกชาติพันธุ์และศาสนา
  2. ส่งเสริมความต่อเนื่องของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นและอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐที่เลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพและเพิ่มความร่วมมือกับต่างประเทศ หรือองค์กรที่ไม่ใช่ภาครัฐ เพื่อสนับสนุนกระบวนการพูดคุยดังกล่าว

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: พูดไทยหรืออังกฤษ--จิตสำนึกไทหรือทาส?

Posted: 15 Mar 2012 10:23 AM PDT

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
16 มีนาคม 2555

 

นับแต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเด็นหนึ่งที่ถูก “พวกสลิ่มแพ้เลือกตั้ง” เยาะเย้ยเสียดสีต่อเนื่องมาคือ เป็นถึงนายกรัฐมนตรี แต่พูดอังกฤษไม่เก่ง เริ่มมาตั้งแต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศทั้งก่อนและหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การกล่าวคำปราศรัยเป็นภาษาไทย ณ ที่ประชุมเสวนาเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส จนถึงล่าสุด ในการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ คนพวกนี้ทำราวกับว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนั้น คุณสมบัติสำคัญที่สุดคือ ต้องพูดอังกฤษได้เก่ง พูดเหมือนเจ้าของภาษาได้ยิ่งดี! ยิ่งพูดไหลลื่น ผิดเป็นถูก ดำเป็นขาว ก็ยิ่งเก่ง! ปล้นชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาด้วยวิธีการสกปรกก็ไม่เป็นไร บริหารราชการแผ่นดินมีแต่ล้มเหลวก็ไม่ว่า!

ดูเหมือนว่า การมีนายกรัฐมนตรีที่พูดอังกฤษได้เก่ง จะได้รับความนิยมเป็นครั้งแรกเมื่อนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรีจากรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2534 ด้วยพื้นภูมิหลังที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษและเป็นอดีตนักการทูต สามารถโต้ตอบกับนักข่าวต่างประเทศได้อย่างคล่องแคล่วและชาญฉลาด หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งแทบทุกคนจะถูกวิจารณ์ว่า “พูดอังกฤษไม่เก่ง” เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อครั้งเดินทางไปปราศรัยที่องค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2538 แม้แต่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังถูกค่อนแคะว่า พูดอังกฤษสำเนียงไม่ได้ดี (คือไม่เหมือนเจ้าของภาษา)

ความจริงแล้ว การพูดภาษาต่างประเทศได้เก่งหรือเหมือนเจ้าของภาษานั้น เป็นปมสำคัญประการหนึ่งมาแต่ไหนแต่ไรของชนชั้นปกครองไทย แต่กลับตกทอดมาเป็นปมด้อยของคนชั้นกลางที่มีการศึกษาในกรุงเทพปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถพูดอังกฤษให้ดีได้ ในขณะเดียวกัน ปมด้อยของคนพวกนี้ก็สะท้อนกลับเป็นเครื่องมือในการดูถูกดูแคลนคนชั้นอื่นที่ตนเชื่อว่า ต่ำกว่า คือ คนชั้นรากหญ้าทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด

ในยุคล่าเมืองขึ้น ชนชั้นปกครองสยามถูกคุกคามจากภัยจักรวรรดินิยมตะวันตก พวกเขาจึงได้เร่งสร้างกลไกอำนาจรัฐสมัยใหม่ขึ้น คือ ระบบราชการ ตุลาการ และกองทัพ ตลอดจนนำเอาเทคโนโลยี ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา โทรเลข และวัฒนธรรมตะวันตก ทั้งภาษา อาหาร และการแต่งตัว เข้ามาเผยแพร่ภายในกลุ่มของพวกตน เพื่อให้จักรวรรดินิยมตะวันตกยอมรับว่า พวกเขาในฐานะผู้ปกครองสยามก็ “เป็นศิวิไลซ์” เหมือนกัน ดังจะเห็นได้ว่า ข้อคิด ข้อเขียนจำนวนมากของผู้ปกครองสยามจนถึงก่อนปฏิวัติ 2475 จะกังวลอยู่กับเรื่อง “การยอมรับนับถือจากชาติตะวันตก” “การทำประเทศสยามให้ศิวิไลซ์” แม้แต่ภาษาตะวันตกก็ได้รับการถ่ายทอดผ่านครูต่างชาติและการส่งบุตรหลานของพวกตนไปศึกษาต่างประเทศโดยตรง จนสามารถผูกขาดความรู้ภาษาต่างประเทศไว้ได้ระยะหนึ่ง

แต่ผู้ปกครองสยามก็มิได้ส่งเสริมการศึกษาภาษาต่างประเทศในหมู่ราษฎรอย่างจริงจัง นี่เป็นความจงใจที่สำคัญ เพราะการปิดกั้นทางภาษาก็คือการปิดกั้นทางความคิดและวัฒนธรรม ทำให้ผู้ปกครองสามารถผูกขาดและเป็นผู้กำหนดว่า จะรับเอาเทคโนโลยีและความรู้วัฒนธรรมตะวันตกใดบ้างเข้ามาสู่สังคมไทย จำกัดให้ราษฎรได้รับแต่ความคิดและวัฒนธรรมที่ชนชั้นปกครองคัดกรองมาแล้วว่า “สอดคล้องกับสังคมไทย” ซึ่งก็คือ ไม่เป็นภัยต่อระบอบการปกครองและการครอบงำทางความคิดของพวกเขา

การผูกขาดความรู้ภาษาต่างประเทศ ก็คือการผูกขาดการเข้าถึงเทคโนโลยี ความรู้และวัฒนธรรมใหม่ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของชนชั้นปกครองสยามนั่นเอง

ปมทางวัฒนธรรมนี้ได้ตกทอดมาที่คนชั้นกลางที่มีการศึกษาในกรุงเทพปัจจุบัน แต่ด้วยความด้อยคุณภาพของระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ตกทอดมายาวนาน ความสามารถทางภาษาอังกฤษของคนพวกนี้ส่วนใหญ่จึงยังเป็นเพียงแค่ “เอบีซีดี” กลายเป็น “ปมด้อยทางภาษา” ของชนชั้นกลางไทยในกรุงเทพ แต่เพื่อชดเชยและปิดบังปมด้อยนี้ พวกเขาก็หันมาดูถูกดูแคลนคนชั้นรากหญ้าและนายกรัฐมนตรีคนแล้วคนเล่าที่เลือกตั้งโดยคนชั้นรากหญ้าว่า “พูดอังกฤษไม่ได้หรือพูดได้แต่ไม่ดี” ตั้งแต่นายบรรหาร ศิลปอาชา จนถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้กลุ่มจารีตนิยม ภารกิจของพวกเขาในยุคแรกคือการทำลายล้างคณะราษฎร และในปัจจุบันก็คือ อาศัยฐานคนชั้นกลางในเมืองที่เป็นไพร่หางแถวจารีตนิยม มาทำลายรัฐบาลทุกรัฐบาลที่เลือกมาจากคะแนนเสียงข้างมากของ “ประชาชนคนรากหญ้า” ตั้งแต่รัฐบาลพรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนถึงปัจจุบันคือ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย

จึงไม่น่าแปลกใจที่มีนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งเพียงคนเดียวที่ไม่เคยถูกวิจารณ์ตรง ๆ ในเรื่องการพูดอังกฤษ ยิ่งกว่านั้น พรรคประชาธิปัตยก็ยังฉวยใช้ “ปมด้อยทางภาษา” ของคนชั้นกลางในกรุงเทพมาเป็นอาวุธ ดังที่ปรากฏครั้งแรกเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจนายบรรหาร ศิลปอาชาเมื่อปี 2539 ด้วยการให้ผู้อภิปรายบางคนเสียดสีเยาะเย้ยนายบรรหารเรื่องภาษาอังกฤษ ถ่ายทอดโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ

เมื่อแพ้เลือกตั้งยับเยินในปี 2554 พรรคประชาธิปัตย์และคนชั้นกลางในกรุงเทพจำนวนหนึ่งก็หันมาย้ำคิด ย้ำค่อนแคะเรื่องภาษาอังกฤษของนายกรัฐมนตรีอีก โดยมีนัยเปรียบเทียบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคที่เกิด เติบโตในประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด

การค่อนขอดนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ในเรื่องนี้ ก็เป็นเพียงการแสดงออกอีกครั้งของอาการกลบเกลื่อนปมด้อยทางภาษาที่คนพวกนี้ใช้ทิ่มแทงนายกรัฐมนตรีที่เลือกมาโดย “ประชาชนคนรากหญ้า” เท่านั้น ปมด้อยทางภาษาอังกฤษทำให้คนพวกนี้โหยหานายกรัฐมนตรีที่ “พูดอังกฤษเก่ง” เพื่อชดเชยปมด้อยของตัวเองว่า ถึงพวกตนจะ “พูดอังกฤษแย่กว่าเด็กอนุบาลในประเทศอังกฤษ” แต่ก็ “ฉลาดพอ” ที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีที่ “พูดอังกฤษเก่งเหมือนเจ้าของภาษา” แล้วก็ไปเที่ยวดูถูกคนอื่นว่า โง่ที่ไปเลือกนายกรัฐมนตรีที่ “พูดอังกฤษไม่ได้”

คนพวกนี้แหละที่มีความเป็นทาสทางวิญญาณอย่างแท้จริง แม้ปากจะพร่ำพูดแต่เรื่อง “ความเป็นไทย รักชาติไทย” สักเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่เคยภาคภูมิใจในความเป็นไทยและภาษาไทยอย่างแท้จริง เอาแต่กังวลหนักหนาว่า “ผู้นำประเทศพูดอังกฤษไม่เก่ง เป็นที่อับอายขายหน้าแก่ชาติที่เจริญกว่า”

สำหรับคนชาติที่ไม่มีปมด้อยทำนองนี้ เขาย่อมรู้ว่า เกียรติศักดิ์ศรีระหว่างประเทศ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า ผู้นำประเทศต้องพูดอังกฤษเก่งหรือพูดได้เหมือนเจ้าของภาษา แต่อยู่ที่ว่า ผู้นำประเทศต้องมาจากการเลือกตั้งอย่างชอบธรรม ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนส่วนข้างมาก บริหารราชการให้เป็นประโยชน์แก่ชนส่วนใหญ่ และสร้างความเจริญแก่บ้านเมืองโดยรวม และเมื่อผู้นำมีภารกิจต่างประเทศ หลักปฏิบัติที่เป็นสากลคือ ในการปราศรัยและเจรจาความเมืองที่เป็นทางการ ผู้นำแต่ละชาติจะใช้ภาษาราชการหลักของชาติตน โดยมีล่ามทำหน้าที่แปลหรือแจกเอกสารเป็นภาษาของคู่เจรจา เพราะถือว่า แต่ละชาติมีสถานะเอกราชเท่าเทียมกัน ผู้นำจึงย่อมมีสิทธิ์ใช้ภาษาราชการของตนได้อย่างภาคภูมิและสมเกียรติ ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาของชาติอื่น ดังจะเห็นได้ว่า ผู้นำบางประเทศ แม้จะพูดอังกฤษได้ดี แต่เมื่อปราศรัยหรือเจรจาความเมืองที่เป็นทางการแล้ว เขาจะใช้ภาษาราชการประจำชาติตน ต่อเมื่อเป็นการพบปะสังครรค์หรือสนทนาส่วนตัว จึงอาจใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาสากลอื่น เพื่อความเป็นกันเอง ก็ย่อมกระทำได้

ตัวแทนฟิลิปปินส์แถลงพอใจ "สาธารณรัฐประชาธิปไตยไทย" รับข้อเสนอยูพีอาร์

Posted: 15 Mar 2012 10:06 AM PDT

ผู้แทนถาวรฟิลิปปิน์ประจำสหประชาชาติครับแถลงพอใจทางการไทยตอบรับกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือยูพีอาร์ แต่พลาดเรียก "สาธารณรัฐประชาธิปไตยไทย"

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2555 ในการประชุมคณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกว่ากระบวนการ "ยูพีอาร์" 

ผู้แทนถาวรฟิลิปปินส์ประจำสหประชาชาติแถลงการณ์ระบุพอใจประเทศไทยตอบรับข้อเสนอของฟิลิปปินส์ที่เสนอให้ไทยดำเนินการพัฒนาด้านสิทธิทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ประเด็นสิทธิแรงงานข้ามชาติซึ่งเชื่อมโยงกับประเด็นการค้ามนุษย์

ผู้แทนถาวรฟิลิปปินส์ประจำสหประชาชาติ ยังแสดงความชื่นชมรัฐบาลไทยในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของอาซียนซึ่งมีประชาชนเป็นศูนย์กลางในการรวมตัวกันเป็นประชาคม

"โดยสรุป ฟิลิปปินส์ให้การสนับสนุนคณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยไทย"

สำหรับแถลงการณ์ดังกล่าว ตามกำหนดการแล้ว ผู้แทนถาวรฟิลิปปินส์ประจำสหประชาชาติ ต้องขึ้นกล่าวในที่ประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในวันที่ 15 มี.ค. แต่เนื่องจากหมดเวลาเสียก่อน จึงส่งแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นเอกสาร

ทั้งนี้ “ยูพีอาร์” นับเป็นกลไกตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) โดยประเทศสมาชิก 192 ประเทศต้องจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศของตนทุกๆ 4 ปีเพื่อรายงานให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้รับทราบ ซึ่งนอกจากรายงานระดับชาติ (national report) ที่มีรัฐบาลร่วมกับทุกภาคส่วนเป็นผู้จัดทำ และรายงานของสหประชาชาติเองที่รวบรวมข้อมูลโดยสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) แล้ว ทางสหประชาชาติยังเปิดรับรายงานจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือจากภาคประชาสังคม (stakeholder report) ด้วย และรายงานจากทั้งสามส่วนจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการยูพีอาร์ (ข้อมูลเพิ่มเติมจาก ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา)

ตัวแทนฟิลิปปินส์แถลงพอใจ "สาธารณรัฐประชาธิปไตยไทย" รับข้อเสนอยูพีอาร์

ตัวแทนฟิลิปปินส์แถลงพอใจ "สาธารณรัฐประชาธิปไตยไทย" รับข้อเสนอยูพีอาร์

ไฟล์แนบ: ดาวน์โหลดไฟล์ PDF

ยกเลิกสืบพยาน ‘10 เอ็นจีโอปีนสภา’ ค้าน สนช. นัดใหม่ปีหน้า

Posted: 15 Mar 2012 09:47 AM PDT

วันนี้ (15 มี.ค.55) มาเรียม ชันษา ทีมเลขาทนายจำเลย คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจอน อึ๊งภากรณ์ กับพวกรวม 10 คน กรณีเหตุการณ์ในปี 2550 ที่ผู้ชุมนุมนับพันคัดค้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร่งผ่านกฎหมายสำคัญก่อนหมดวาระ โดยมีการปีนรั้วเข้าไปนั่งชุมนุมบริเวณหน้าห้องประชุมภายในอาคารรัฐสภา เผยว่า ศาลได้ยกเลิกนัดสืบพยานที่เหลืออีก 12 วัน ไปสืบต่อในช่วงวันที่ 15 ม.ค.-15 มี.ค.56

มาเรียม กล่าวว่า ในวันนี้อัยการได้ขอเลื่อนสืบพยานโจทก์ 2 ปาก จากกำหนดนัดสืบพยานโจทก์เดิมเหลืออีก 1 วันคือวันพรุ่งนี้ออกไป และแถลงว่าติดใจสืบพยานเพิ่มอีกรวมเป็น 38 ปาก โดยที่โจทก์ไม่สามารถติดตามตัวพยานทั้งหมดให้ทันตามกำหนดนัดได้ จึงขอยกเลิกวันนัดสืบพยานโจทก์และวันนัดสืบพยานจำเลย และขอนัดวันสืบพยานโจทก์และสืบพยานจำเลยใหม่

ขณะที่ทนายจำเลยคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้คดีล่าช้า การนัดพยานจำเลยที่มีถึง 42 ปากนั้นกำหนดวันนัดได้ยาก อีกทั้งหมายเรียกพยานใหม่สามารถกำหนดล่วงหน้าได้ใน 3 วัน ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องยกเลิกนัด

อย่างไรก็ตาม ศาลให้ยกเลิกนัดสืบพยานที่เหลือโดยบันทึกเหตุผลระบุว่า อัยการยื่นขอสืบพยานเพิ่มเติม และทนายจำเลยใช้เวลาซักค้านยาวนานกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้กระบวนการเกิดความล่าช้า

มาเรียมให้ข้อมูลด้วยว่า ที่ผ่านมา คดีดังกล่าวมีการนัดสืบพยานโจทก์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ก.พ.55 เป็นต้นมา โดยสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 21 ปาก และตามกำหนดจะมีการนัดสืบพยานจำเลยปากแรก คือนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) จำเลยที่หนึ่ง ในวันที่ 20 มี.ค.นี้

คดีดังกล่าว ศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.53 เป็นคดีดำที่ อ.4383/2553 ฟ้องร้องว่าผู้ชุมนุมละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (กระทำการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน) มาตรา 215 (มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง) มาตรา 362 (เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น) มาตรา 364 (เข้าไปในเคหะสถานโดยไม่มีเหตุอันควรและไล่ไม่ยอมออก) มาตรา 365 (ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้ายในการกระทำตามมาตรา 362, 364)

จำเลยในคดีได้แก่ นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และเคยได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการภาครัฐ นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายพิชิต ไชยมงคล นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท นายนัสเซอร์ ยีหมะ นายอำนาจ พละมี นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ นักกิจกรรมด้านสื่อ ปัจจุบันเป็นหนึ่งใน กสทช.

อนึ่ง การเคลื่อนไหวคัดค้านการเร่งผ่านกฎหมายของ สนช.ระบุเหตุผลว่า สนช.ซึ่งเป็นสภาที่ถูกแต่งตั้งขึ้นหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 ไม่สมควรและไม่มีความชอบธรรมเร่งผลักดันกฎหมายใดๆ อีกทั้งช่วงการชุมนุมดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนจะมีการเลือกตั้งใหม่ราวสองสัปดาห์ และได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดการเลือกตั้งแล้ว นอกจากนั้นเนื้อหากฎหมายยังขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย

ตัวอย่างกฎหมายที่ผู้ชุมนุมคัดค้าน ได้แก่ ร่างกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ร่างกฎหมายป่าชุมชน ร่างกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ ร่างกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ร่างกฎหมายว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ และร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เป็นต้น

งาน ‘แขวนเสรีภาพ’ ถูกแขวนอีก ลงตัวที่อนุสรณ์ 14 ตุลา

Posted: 15 Mar 2012 09:33 AM PDT

งานอภิปราย “แขวนเสรีภาพ” ย้ายสถานที่รอบสอง หลังจากถูกหอศิลป์กรุงเทพฯ และคณะอักษรศาสตร์-รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปฏิเสธ

15 ก.พ. 55 - สืบเนื่องจากการจัดงาน “แขวนเสรีภาพ” ของคณะนักเขียนแสงสำนึก ในอาทิตย์ที่ 18 ก.พ. ที่จะถึงนี้ ซึ่งเดิมกำหนดสถานที่ไว้เป็น ณ หอศิลป์กรุงเทพฯ และภายหลังเมื่อไม่ได้รับอนุญาต จึงได้ประกาศว่าย้ายมาจัดที่ตึกเทวาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น

ทาง “วาด รวี” หนึ่งในคณะผู้จัดงานเปิดเผยวันนี้ว่า หลังจากที่ทางตัวแทนของกลุ่มได้ติดต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อขออนุญาตจัดงานอภิปรายทางวิชาการในช่วงเช้าของวันนี้ ทั้งต่อคณะอักษรศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า กลับประสบความติดขัดและได้รับแจ้งว่าไม่ได้รับอนุญาตให้จัดงานอภิปรายทางวิชาการดังกล่าวเช่นเดียวกัน

ทางคณะผู้จัดงาน จึงตัดสินใจย้ายการจัดงาน “แขวนเสรีภาพ” ไปจัดที่บริเวณอาคารด้านหน้าของอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินแทน โดยมีกำหนดการตามเดิม ดังนี้

10.00 น.         ลงทะเบียน

10.30 - 11.00  ชมภาพยนตร์สั้น สองบวกสองเป็นห้า และเรื่องอื่น ๆ

11.00 - 11.15  ปาฐกถาโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ หัวข้อ "ว่าด้วยอำนาจพุทธ ผี เทวดา แต่โบราณ"

11.15 - 11.45  เปิดตัวแคมเปญ "แขวนเสรีภาพ"

11.45 - 12.30  มิตรภาพในท่ามกลางความขัดแย้ง สนทนากับนักเขียนหนุ่ม วรพจน์ พันธุ์พงศ์

12.30 - 13.00  เบรก

13.00 - 13.15  อ่านบทกวี

13.15 - 15.15  การบรรยายวิชาการโดย ปราบดา หยุ่น  กล่าวนำ "สิทธิ เสรีภาพ และ สามัญสำนึกในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ", ปิยบุตร แสงกนกกุล  บรรยาย  "หลักความรับผิด และจิตวิญญาณแห่งกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย" และ ยุกติ มุกดาวิจิตร  บรรยาย  "สิทธิ เสรีภาพ บนความสับสนปนเป ก่อน-เป็น-หลัง สมัยใหม่"

15.15 - 17.30   วิวาทะหัวข้อ หลักเอกสิทธิ์ของรัฏฐาธิปัตย์ อภิปราย โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, วาด รวี ดำเนินรายการ

18.00             ปิดงาน

ซูจี ปราศรัยผ่านช่องรัฐบาลพม่าได้เป็นครั้งแรก

Posted: 15 Mar 2012 09:07 AM PDT

14 มี.ค. 2012 - สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า ได้รับอนุญาตให้ปราศรัยทางการเมืองผ่านช่องโทรทัศน์ของรัฐบาลพม่าเป็นครั้งแรก

อองซาน ซูจี กล่าวปราศรัยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมืองและระบบตุลาการในประเทศ โดยขอให้มีการยกเลิกกฎหมายที่กดขี่ข่มเหง ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ มีระบบตุลาการที่เข้มแข็งกว่าเดิม มีสื่อที่เสรีมากขึ้น และปกป้องสิทธิที่เป็นประชาธิปไตยของประชาชน

การที่นางอองซาน ซูจี ได้รับอนุญาตให้ปราศรัยในครั้งนี้มาจากการที่รัฐบาลกำหนดเงื่อนไขให้พรรคการเมืองที่ลงแข่งขันในการเลือกตั้งซ่อม 1 เม.ย. ที่จะถึงนี้มีเวลาปราศรัย 15 นาที ผ่านทางโทรทัศน์หรือวิทยุ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญมากสำหรับพม่า

นางอองซาน ซูจี เป็นผู้นำการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยคนสำคัญของพม่าที่เคยถูกกักตัวเป็นนักโทษการเมืองมาราว 20 ปี ตอนนี้เธอได้ลงสมัคร ส.ส. ในเขคเมืองควอห์มู ซึ่งเป็นเขตชนบทอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของย่างกุ้ง

ในการปราศรัย ซูจี ได้เสนอแนวคิดกว้างๆ ที่เป็นใจความของการหาเสียงของเธอ เธอนั่งอยู่ที่โต๊ะโดยมีธงแดงของพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยอยู่เบื้องหลังเธอ

"กฏหมายที่กดขี่ข่มเหงประชาชนควรถูกยกเลิกไป" ซูจีกล่าว "และกฎหมายควรช่วยปกป้องสิทธิของประชาชน"

"กระบวนการยุติธรรมควรมีความเข้มแข็งขึ้น และต้องพ้นจากการแทรกแซงทางการเมือง"

ผู้สื่อข่าวของบีบีซี ให้ความเห็นว่า แม้คำกล่าวปราศรัยของซูจีจะดูเชื่องๆ ตามมาตรฐานของตะวันตก แต่พม่าก็ดูก้าวหน้ากว่าเก่า เนื่องจากโดยปกติแล้วพม่ามักจะปิดกั้นคำปราศรัยทางการเมืองที่มีการเผยแพร่ออกอากาศหรือตามสื่อสิ่งพิมพ์

แม้ว่าบทปราศรัยตันฉบับของซูจีจะถูกตัดทอนส่วนหนึ่งไป คือส่วนที่กล่าวถึงรัฐบาลทหารเก่า แต่คำวิจารณ์ระบอบการเมืองใหม่ในพม่าก็ยังมีการพูดถึง

ซูจีได้กล่าวถึงมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ที่ระบุให้มีการสงวนที่นั่งในสภาหนึ่งในสี่ไว้ให้กับกองทัพพม่า โดยวิจารณ์ไว้ว่านั่นหมายถึงรัฐสภาจะมีคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอยู่ด้วยซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย

ราเชล ฮาร์วี่ ผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบีบีซีกล่าวว่าอองซานซูจีปราศรัยในแนวคิดหลักๆ เน้นเรื่องประชาธิปไตยกับหลักนิติธรรม โดยที่ดูอึดอัดเล็กน้อยตอนอยู่หน้ากล้อง

"นี่เป็นก้าวใหม่สำหรับทุกคนในพม่า สตรีที่ถูกกันออกจากสายตาของประชาชนโดยรัฐบาลทหาร ในตอนนี้ได้ปรากฏตัวผ่านช่องโทรทัศน์และวิทยุของรัฐบาล" ราเชล ฮาร์วี่ กล่าว

ราเชล รายงานอีกว่า ซูจีคอยระมัดระวังในการแยกแยะการวิจารณ์การกระทำของกองทัพ กับตัวสถาบันกองทัพเอง โดยเธอกล่าวว่ารัฐบาลควรมีหน้าที่เตรียมพร้อมปกป้องและทำงานรับใช้ประเทศ และซูจีก็พูดชัดว่า ตามหลักประชาธิปไตยที่แท้จริงทหารไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

การเลือกตั้งซ่อมวันที่ 1 เม.ย. ถูกมองว่าเป็นการทดสอบสำคัญเรื่องพันธะกิจด้านการปฏิรูปประชาธิปไตยของรัฐบาลพม่า

มีการชิงตำแหน่งส.ส. 48 ที่นั่ง แต่พรรค NLD ถูกตัดสิทธิ์ไป 1 รายทำให้สามารถชิงได้แค่ 47 ที่นั่ง และแม้ว่าพรรค NLD จะชนะการเลือกตั้งทั้งหมด รัฐบาลที่มีทหารคอยหนุนก็จะได้รับเสียงข้างมากในสภาอยู่ดี

ที่มา: แปลจาก Burma's Aung San Suu Kyi makes landmark campaign speech, BBC, 14-03-2012
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-17363329

"ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน" จับตาเสรีภาพเน็ตไทย พบคดีหมิ่น-บล็อคเว็บพุ่งต่อเนื่อง

Posted: 15 Mar 2012 08:57 AM PDT

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) เผยแพร่รายงานสถานการณ์สื่อของประเทศไทย ระบุเสรีภาพในการแสดงออกทางออนไลน์เสื่อมถอยลงภายใต้รัฐบาลใหม่ การใช้กฎหมายหมิ่นโดยมิชอบเพื่อเล่นงานทางการเมืองก่อให้เกิดคดีความและการเซ็นเซอร์ที่เข้มงวดขึ้น การตัดสินคดีอากง (อำพล) หรือที่รู้จักกันในชื่อ "อากงเอสเอ็มเอส" สร้างปฏิกิริยาลูกโซ่อย่างดุเดือดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลไทยลืมคำสัญญาที่เคยให้ไว้ว่าจะแก้มาตรา 112 เสียแล้ว

โดยรายงานขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุถึงคำกล่าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (10 ส.ค.54) ซึ่งระบุว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ควรถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม พร้อมชี้ว่า ท่าทีของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ซึ่งให้ความสำคัญกับการจัดการกับคดีหมิ่นฯ นั้นตรงข้ามกับสิ่งที่ยิ่งลักษณ์กล่าว

รายงานระบุว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์แสดงให้เห็นว่าแย่กว่ารัฐบาลก่อนหน้าในเรื่องของการกรองเว็บ โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) ได้สั่งบล็อคเว็บเพจกว่า 60,000 ยูอาร์แอลในเวลาไม่ถึงสามเดือน ขณะที่รัฐบาลที่ผ่านมา ปิดไป 70,000 ยูอาร์แอลในเวลาสามปี ซึ่ง น.อ.อนุดิษฐ์คิดว่านี่เป็นการพิสูจน์แสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ของรัฐบาล

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ระบุว่า จำนวนยูอาร์แอลที่ถูกปิดกั้นที่เพิ่มสูงขึ้น สัมพันธ์กับการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่เพิ่มขึ้นและความสามารถในการกระจายข่าวสาร โดยในงานแถลงข่าวเปิดตัว “ศูนย์ปฏิบัติความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์” เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.54 รัฐมนตรีไอซีทีอ้างว่า กระทรวงไอซีทีรัฐบาลก่อนขอให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ปิดกั้นเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล ขณะที่ น.อ.อนุดิษฐ์เองร้องขอให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ดูแลเว็บไซต์ซึ่งอยู่ในต่างประเทศ ทำการปิดหรือบล็อคหน้านั้นๆ เสีย เพื่อที่ผู้ที่อยู่ต่างประเทศก็จะไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาดังกล่าวได้ด้วย

นอกจากนี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้อ้างอิงเอกสารราชการจากขวัญระวี วังอุดม นักวิชาการศูนย์สิทธิมนุษย์และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าระหว่าง ม.ค.-ต.ค.2554 มีคดีหมิ่นฯ ในศาลชั้นต้น 122 คดี (ทั้งที่อาจมีหรือไม่มีการตัดสินแล้ว) 8 คดีในศาลอุทธรณ์ และ 3 คดีในศาลฎีกา

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ได้ประกาศว่าการสอดส่องอินเทอร์เน็ตจะเข้มงวดมากขึ้นเนื่องจากกฎหมายหมิ่นฯ โดยจะมีการจับตาตลอด 24 ชม. นอกจากนี้รัฐบาลวางแผนจะลงทุน 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับระบบการกรองเนื้อหาเพื่อบล็อคเว็บหมิ่นฯ

อีกตัวอย่างของการใช้กฎหมายหมิ่นฯ ในทางมิชอบ และผลที่ตามมาคือการประกาศของกระทรวงไอซีที ไม่ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกดไลค์ หรือกดแชร์ลิงก์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นฯ มิเช่นนั้น อาจถูกดำเนินคดีได้

ทั้งนี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนรายงานถึงสถานการณ์การใช้กระบวนการทางกฎหมายจัดการกับพลเมืองเน็ตในคดีหมิ่นฯ ที่มีมากจนนับไม่ถ้วนด้วย โดยระบุถึงคดีที่โจ กอร์ดอน บล็อกเกอร์ชาวไทยสัญชาติอเมริกัน ที่ถูกศาลตัดสินเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.54 ให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปีครึ่งด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการแปลเนื้อหาบางส่วนของหนังสือ The King Never Smiles ของพอล แฮนด์ลีย์ ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้าม ลงในบล็อกของเขา โดยรายงานระบุว่า เขารับสารภาพโดยหวังว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ

นอกจากนี้ ยังมีคดีของนายอำพล หรือ อากงเอสเอ็มเอส ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 20 ปี เมื่อวันที่ 23 พ.ย.54 จากการส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถูกตัดสินว่าเป็นการดูหมิ่นสถาบันฯ ขณะที่นายอำพลปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความดังกล่าว รายงานระบุว่า คดีของนายอำพลก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่เข้มข้นในประเทศ และนับเป็นครั้งแรกที่สื่อไทยติดตามประเด็นนี้อย่างลงลึก นอกจากนี้ยังเกิดกระแสความไม่พอใจจากนานาชาติด้วย โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาและสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติที่ระบุว่ากฎหมายหมิ่นฯ ส่งผลสะเทือนต่อเสรีภาพในการแสดงออกอย่างรุนแรง

นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงคดีที่จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บประชาไท ซึ่งมีการสืบพยานที่เหลืออีก 5 ปากเมื่อวันที่ 14-16 ก.พ.55 และศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 เม.ย.55 จากข้อหาละเมิดมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จีรนุชเผชิญกับความเป็นไปได้ที่จะถูกจำคุก 20 ปีจากการปิดความเห็นที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่เร็วพอ โดยรายงานระบุว่าการพิจารณาคดีนี้จะช่วยทำให้เห็นถึงความรับผิดชอบของตัวกลางทางเทคนิคที่ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ยังมีคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ ซึ่งถูกปิดไปในปี 2553 ถูกควบคุมตัวกว่า 7 เดือนด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนกล่าวถึงการที่ชาวเน็ตหลายคนยังถูกจองจำจากข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อาทิ สุรภักดิ์ ซึ่งยังรอคำตัดสินคดีของเขาจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ธันย์ฐวุฒิ ซึ่งถูกตัดสินจำคุกเมื่อวันที่ 15 มี.ค.54 เป็นเวลา 13 ปีจากการเผยแพร่บทความในเว็บ นปช.ยูเอสเอ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับคนเสื้อแดง นรเวศย์ นักศึกษาที่เขียนบล็อก ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 ส.ค.54 ก่อนจะได้ประกันตัวในสามวันถัดมา เอกชัยและวิภาส ซึ่งได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติระหว่างรอขึ้นศาล

ด้านข้อถกเถียงของการใช้กฎหมายหมิ่นฯ นั้น องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลก่อน สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ โดยลงความเห็นว่ากฎหมายที่มีอยู่เดิมรุนแรงเกินไป ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาบอกว่าไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายและไล่ให้ผู้ที่วิจารณ์ออกจากประเทศ ส่วนกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการด้านกฎหมาย 7 คนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เสนอร่างแก้ไขมาตราดังกล่าว โดยต่อมา มธ.ได้ห้ามไม่ให้มีการใช้สถานที่เพื่อทำกิจกรรมดังกล่าว โดยอ้างว่าอาจเสี่ยงจะเกิดความรุนแรง แต่ก็ได้มีการพิจารณามตินี้ใหม่อีกครั้ง การสั่งห้ามครั้งนี้ก่อให้เกิดความตึงเครียดอย่างมาก โดยมีทั้งกลุ่มนักศึกษาที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมนิติราษฎร์ออกมาแสดงจุดยืน และเมื่อต้นปี 2555 นักวิชาการ 224 คนจากทั่วโลก รวมถึงนอม ชอมสกี และพอล แฮนลีย์ ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกสนับสนุนข้อเสนอแก้มาตรานี้ มาตรา 112 ถูกวิจารณ์ว่า "วิธีที่ทรงพลังในการทำให้ผู้เห็นต่างทางการเมืองเงียบลง"

รายงานระบุว่า ขณะที่รัฐบาลไทยรักษาระยะห่างกับแนวความคิดนี้ โดยระบุว่ารัฐบาลไม่ต้องการแก้มาตรา 112 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นประเทศแรกที่ขานรับการออกมาตรการใหม่ของทวิตเตอร์ที่จะเซ็นเซอร์เฉพาะประเทศด้วย

องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนตั้งข้อสังเกตว่า นอกเหนือจากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แล้ว สื่อในประเทศไทยดูจะมีเสรีภาพ แต่ก็มีการคุกคามด้วยการดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างต่อเนื่องและเพิ่มมากขึ้น การเห็นต่างในรูปแบบใดก็ตามถูกตีความว่าเป็นการไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ประเทศไทยดูเหมือนจะส่งเสริมการกำจัดเว็บที่มีเนื้อหาหมิ่นฯ ไม่ว่ามากหรือน้อย ซึ่งวิธีการเช่นนี้จะนำไปสู่ความแตกแยกของประชาชนและกัดกร่อนความสามัคคีของชาติในที่สุด

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน เผยแพร่รายงาน "ศัตรูของอินเทอร์เน็ต" โดยยังคงจัดประเทศไทยอยู่ในหมวดที่ต้องเฝ้าจับตา พร้อมชี้ว่าหากยังมีการดำเนินคดีกับชาวเน็ตและปิดกั้นเนื้อหาด้วยเหตุผลของการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประเทศไทยอาจถูกจัดอยู่ในหมวด "ศัตรูของอินเทอร์เน็ต" เช่นเดียวกับ จีน อิหร่าน และพม่า ในไม่ช้า

นอกจากนี้ ในส่วนดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลก องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้จัดให้ไทยอยู่อันดับที่ 137 แต่ยังอยู่ในหมวดประเทศที่ต้องจับตา ขณะที่ประเทศในอาเซียนด้วยกัน กัมพูชาได้คะแนนเสรีภาพสื่อสูงที่สุดโดยอยู่ในอันดับที่ 117 ส่วนประเทศอื่นๆ ได้แก่ บรูไน อยู่ที่อันดับที่ 125 สิงคโปร์ อันดับที่ 135 ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 140 อินโดนีเซีย อันดับที่ 146 ลาว อันดับที่ 165 พม่า 169 และเวียดนาม 172

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: "ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน" จัดบาห์เรน-เบลารุส "ศัตรูรายใหม่ของอินเทอร์เน็ต"
http://www.prachatai.com/journal/2012/03/39643

เดินหน้าสืบพยาน คดีนายก อบต.ฟ้องหมิ่น 3 แกนนำชาวบ้าน ปมขัดแย้งโรงไฟฟ้าหนองแซง

Posted: 15 Mar 2012 05:51 AM PDT

ศาลแขวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยานัดสืบพยานคดีนายก อบต.หนองน้ำใน ฟ้อง 3 ชาวบ้านแกนนำต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซง ข้อหาดูหมิ่นซึ้งหน้าและด้วยการโฆษณา ต่อเนื่อง 14-16 มี.ค.นี้

สืบเนื่องจาก เหตุการณ์ตั้งแต่เมื่อปี 53 ที่นายก อบต.หนองน้ำใน ต.หนองน้ำใส อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยาแจ้งความกับร้อยเวร สภอ.ภาชี กับ 3 ชาวบ้านแกนนำต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าหนองแซงของบริษัท พาวเวอร์ เจเนอเรชั่น ซัพพลาย จำกัด ในเขต อ.หนองแซง จ.สระบุรี และเขต อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ในข้อหาดูหมิ่นซึ้งหน้าและด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 

เดินหน้าสืบพยาน คดีนายก อบต.ฟ้องหมิ่น 3 แกนนำชาวบ้าน ปมขัดแย้งโรงไฟฟ้าหนองแซง

เดินหน้าสืบพยาน คดีนายก อบต.ฟ้องหมิ่น 3 แกนนำชาวบ้าน ปมขัดแย้งโรงไฟฟ้าหนองแซง

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 ศาลแขวงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเรียกนัดในวันที่ 14 มีนาคม 2555 เพื่อสืบพยานโจทก์ พร้อมนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 15-16 มีนาคม 2555 เป็นการพิจารณาคดีต่อเนื่อง

คดีที่เกิดกับ 3 แกนนำชาวบ้านเป็นคดีที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่จะมีการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าหนองแซงตั้งแต่ปลายปี 50 ที่ผ่านมา และจากกรณีดังกล่าวมีชาวบ้านถูกแจ้งความและดำเนินคดีจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุผลในการคัดค้านโครงการดังกล่าวของชาวบ้านเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เกษตรกรรมปลูกข้าว 2 ปี 5 ครั้ง และเป็นพื้นที่เตรียมการประกาศผังเมือง เป็นเขตอนุรักษ์ชนบทเกษตรกรรม ซึ่งควรเป็นพื้นที่สงวนไว้ให้กับชาวบ้านไว้ทำการเกษตรกรรมไม่ใช่สร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ สำหรับชาวบ้านการรณรงค์คัดค้านโรงไฟฟ้าคือการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิชุมชุนซึ้งเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมาย

ปัจจุบันโครงการโรงไฟฟ้าหนองแซงได้เริ่มดำเนินการปรับพื้นที่ถมดินกว่า 570 ไร่โดยแบ่งเป็น 2 ฝั่งได้แก่ฝั่ง หนองแซง 300 ไร่ และฝั่งภาชี 270 ไร่ เพื่อปักเสาเข็ม โดยเครือข่ายอณุรักษ์วิธีเกษตรกรรมได้ใช้สิทธิตามครรลองของกฎหมายดังนี้ 1.ยื่นหนังสือเพื่อเพิกถอดใบอนุญาตการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่อศาลปรกครอง 2.ฟ้องศาลปกครองให้เร่งออกประกาศผังเมืองร่วมจังหวัดสระบุรีให้ประกาศและบังคับคับใช้ หลังใช้เวลากว่า 9 ปี

ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานให้กับโรงไฟฟ้าหนองแซงแล้ว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 2 เดือนก่อนผังเมืองจังหวัดสระบุรีประกาศใช้และมีผลในทางกฎหมาย

ทั้งนี้ จำเลยในคดีดังกล่าว ประกอบด้วย จำเลยที่ 1 นายตี๋ ตรัยรัตนแสงมณี ชาวบ้านที่ยืนหยัดต่อสู่กับทุนที่เขามาล้วงล้ำพื้นที่เกษตรกรรรม และพื้นที่อณุรักษ์วิธีเกษตรกรรมหนองแซง (พื้นที่สีขาวมีกรอบทแยงเขียว) จำเลยที่ 2 นางปฐมมน กัญหา อดีตผู้ใหญ่บ้านหญิงนักพัฒนาที่ใช้สิทธิปกป้องบ้านเกิด และจำเลยที่ 3 นายพินิจ (ไม่ทราบนามสกุล) นักวิชาการข้าราชการน้ำดีที่ไม่ยอมก้มหัวให้นักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูง
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น