โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ชนเผ่า-คนไร้สัญชาติ ค้างคืนข้างทำเนียบ เดินหน้าดัน "เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ"

Posted: 29 Mar 2012 02:17 PM PDT

เครือข่ายคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง เข้ากรุงฯ หวังดันนโยบายเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง ผิดหวังยิ่งลักษณ์ไม่มารับเรื่อง เหตุเพิ่งกลับจากต่างประเทศ-กำหนดงานยาว

 
 
ภาพบรรยากาศการชุมนุมโดย: มูลนิธิ ชุมชนไท
 
29 มี.ค.55 ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองกว่า 800 คน รวมตัวผลักดันนโยบายเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง ก่อนเปิดเสรีอาเซียน เพื่อเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขระดับนโยบายต่อรัฐบาล รวมทั้งเป็นการรณรงค์เพื่อผลักดันข้อเสนอต่อสังคม
 
สืบเนื่องจาก ที่ผ่านมากลุ่มคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาที่ไม่สมดุล ถูกละเลย ถูกแย่งชิงทรัพยากร ถูกละเมิดสิทธิชุมชน เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมทั้งถูกเอารัดเอาเปรียบเป็นอย่างมาก ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองถึง 36 เผ่า มีประชากรรวมกันมากกว่า 1,200,000 คน และในจำนวนนี้เป็นผู้ไร้สัญชาติถึง 400,000 คน ทั้งที่ผลการศึกษาระบุว่าส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้อาศัยมายาวนาน บางกลุ่มตั้งถิ่นฐานกว่า 300 ปี
 
ในปี 2553 มีมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับ แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษที่เอื้อต่อกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีลักษณะสังคมวัฒนธรรมจำเพาะเหล่านี้ ให้ครอบคลุมทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน การฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกด้าน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเพราะปัญหาเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง
 
 
ภาพบรรยากาศการชุมนุมโดย: มูลนิธิ ชุมชนไท
 
ทั้งนี้ ข้อเสนอของเครือข่ายคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อให้เกิดรูปธรรมในการแก้ปัญหา คือ
1.ให้มีมติคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง “คณะกรรมการนโยบายแก้ปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ” โดยมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน และมีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน คือ ผู้แทนชนเผ่า องค์กรพัฒนาเอกชนที่ร่วมดำเนินงาน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
 
2.ให้มีมติคณะรัฐมนตรี จัดตั้งกอง “แก้ปัญหาและฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง” โดยสนับสนุนงบประมาณอย่างน้อยปีละ 500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน การศึกษาวิจัย การฟื้นฟูวัฒนธรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิตและอาชีพ รวมทั้งการแก้ปัญหาอื่นๆ ฯลฯ โดยให้กองทุนอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการนโยบายแก้ปัญหาฯ
 
3.เสนอให้คณะกรรมการนโยบายแก้ปัญหาฯ เร่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 2553 เรื่องการแก้ปัญหาชาวเลและกะเหรี่ยง โดยเร่งประกาศพื้นที่นำร่อง “เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ” ชุมชนชาวเล 8 พื้นที่ และกะเหรี่ยง 4 พื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องที่ดินอยู่อาศัย และที่ทำกิน เป็นลำดับแรก พร้อมสนับสนุนการศึกษาวิจัย สำรวจรวบรวมข้อมูลของพื้นที่กลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกกลุ่มเพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาระยะยาว
 
อีกทั้ง ให้คณะกรรมการดังกล่าวสนับสนุนการศึกษาพัฒนาให้เกิดการจัดตั้ง “องค์กรหรือสถาบัน” ที่ดูแลคนไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ตามแนวทาง “เขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษ” ภายใน 6 เดือน และหาแนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วน ในกรณีความขัดแย้งในปัญหาที่ดินอยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน เรื่องสัญชาติ และการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ อย่างเท่าเทียม
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชุมนุมมีการตั้งเวทีด้านข้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และได้จัดกิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วประเทศ สลับกับการปราศรัย โดยมีกำหนดการค้างคืนที่ข้างทำเนียบ และเตรียมขบวนแต่งชุดประจำชนเผ่าเดินทางเข้าร่วมเวทีวิชาการและตลาดนัดในงานสมัชชาชาติที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ในวันที่ 30 มี.ค.นี้
 
ขณะที เว็บไซต์ข่าวคมชัดลึกรายงานว่า การชุมนุมในวันนี้ (29 มี.ค.55) ตัวแทนเครือข่ายฯ 15 คน ได้เข้าหารือภายในทำเนียบรัฐบาล กับ นพ.ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะตัวแทนรัฐบาล ถึงปัญหาเกี่ยวกับชาติพันธุ์ และชนเผ่าอย่างกว้างขวาง ตัวแทนชนเผ่าพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลดูแลที่อยู่ดั้งเดิมของแต่ละชนเผ่าในพื้นที่ ซึ่งพวกตนอยู่มาก่อนนับร้อยปี แต่ถูกกลุ่มนายทุนรุกล้ำ ทำลายทรัพยากร และไม่สามารถต่อกรอะไรได้ อีกทั้งยังถูกภาครัฐใช้กฎหมายบีบคั้นในหลายด้านเนื่องจากเป็นกลุ่มบุคคลที่ขาดสัญชาติ และสิทธิพื้นฐาน และการเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลครั้งนี้ เนื่องจากปัญหาที่เรียกร้องเป็นปัญหาเก่าค้างมาหลายรัฐบาล แต่ขาดการเหลียวแล จึงต้องการให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้มารับเรื่องด้วยตนเอง เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจ
 
ด้าน นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวยอมรับว่าไม่ทราบปัญหาในเชิงลึก ซึ่งต้องขอศึกษาดูก่อน และจากนั้นจะนำเรียนนายกฯให้ แต่หากจะให้นายกฯ ออกมาพบในวันนี้เลยคงเป็นไปไม่ได้เนื่องจากนายกฯ เพิ่งกลับจากต่างประเทศ และมีภารกิจต้องประชุม ครม. อีกทั้งกำหนดงานของนายกฯ ยังแน่นยาวเหยียดตลอดทั้งวัน คงไม่สามารถมารับเรื่องด้วยตัวเองได้จึงมอบหมายให้ตนมาเป็นตัวแทน และยืนยันว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ให้เป็นรูปธรรม เพราะอะไรที่เกี่ยวกับคนจนเราจะต้องดำเนินการให้เต็มที่    
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เรียนรู้ ‘ฮอด’ ชุมชนเก่าแก่ บทเรียนก่อนและหลังกำเนิดเขื่อนภูมิพล (ตอน 4)

Posted: 29 Mar 2012 12:13 PM PDT

“ถ้าเป็นรุ่นเดี๋ยวนี้ ก็อาจจะไม่ได้สร้างเขื่อน อาจจะมีการเดินขบวนประท้วง แต่รุ่นนั้นคนเฒ่าสมัยก่อนนั้นเกิดความกลัว แต่รัฐบาลก็มาพูดว่าเราจะได้มีแสงสว่าง คนเฒ่าเมื่อก่อนก็เลยยอมเซ็น ลงชื่อลงนาม ก็เลยเกิดการสร้างเขื่อนขึ้นมา”

 


ผลกระทบหลังสร้างเขื่อน
เจอปัญหาเรื่องเวนคืน-การล่มสลายของชุมชน

พ่อหนานไล อุ่นใจ ได้บอกเล่าเหตุการณ์ช่วงปี 2506-2507 หลังจากมีการสร้างเขื่อนภูมิพล ว่าได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและวุ่นวายตามมาอย่างมากมาย

“แต่ก่อนการสร้างเขื่อน ก็มีคนมาพูดมาบอกกล่าวว่า วันหน้าเราจะมีไฟฟ้าใช้ บ้านเราจะมีความสุขสบาย และมีการจ่ายค่าชดเชยให้ ซึ่งคนเฒ่าเมื่อก่อนเล่าว่า ค่าบ้านเขาก็จะจ่ายให้เป็นเมตร โดยการวัดจากความสูงของบ้าน ส่วนที่ดินก็จะคิดเป็นไร่ ไร่ละ 4-5 ร้อยบาท หลังจากนั้นรัฐบาลก็จะเอาเงินมาจ่าย ก็เลยมีการโยกย้ายขึ้นมาอยู่ที่นี่ ณ ปัจจุบัน” พ่อหนานไล บอกเล่า

เช่นเดียวกับนายพรรณ์ ฮิกิ ชาวบ้านบ้านห้วยทราย หมู่ 4 บอกเล่าให้ฟังว่า“จากคำบอกเล่า เขาบอกว่าจะมีการเวนคืนที่ดิน ในราคาละ 400 บาทต่อหลังคา แล้วมีการจ่ายค่าเสียหายไร่นา ไร่ละ 400 บาท ทุกคนก็พากันหนีขึ้นมาอยู่บนพื้นที่ที่สูงกว่าพื้นที่น้ำท่วม”

“ที่จริงแล้ว เขาจะให้บ้านเราไปอยู่ที่โต้งทรายคราม แต่พวกเราไม่ไป เพราะถ้าไปก็ไม่มีที่ทำกิน ไร่นาก็ไม่มี โดยการโยกย้ายของทางรัฐบาลก็จะให้เฉพาะที่อยู่อาศัย แต่ที่ทำกินไม่ได้ อย่างแพะดินแดง ก็มาอยู่ด้วยกัน หลังคาชนกัน ก็อยู่กันไป วัดวาอารามของเรานั้นอยู่ที่วังลุง โต้งทรายคราม แต่เราไม่ไปกัน ที่บ้านเดิมเราเองมีการเซาะว่าหากินกันง่ายกว่า” พ่อหนานไล อุ่นใจ บอกเล่าให้เห็นภาพเหตุการณ์ในอดีต

โต้งทรายคราม หมายถึง โต้งเหนือ หรือทุ่งเหนือ ที่อยู่ในเขตพื้นที่ของอำเภอจอมทองและดอยหล่อในปัจจุบัน

โดยก่อนหน้านั้น ทางการอยากให้ชาวบ้ายอพยพย้ายไปอยู่ในพื้นที่จัดเตรียมไว้ให้ แต่ชาวบ้านเลือกที่จะย้ายขึ้นไปสู่ที่สูงไม่ใกล้ไม่ไกลจากพื้นที่ชุมชนเดิมของตน ทว่าหลังเกิดน้ำท่วม ก็มีหลายครอบครัว บางคนก็หนีน้ำไม่ทัน น้ำท่วม ขนของไม่ทันก็ขึ้นอยู่บนหลังคาก็มี

ชาวบ้านจากตำบลฮอด บอกเล่าให้ฟังอีกว่า หลังจากที่ต้องหนีน้ำท่วม อพยพไปอยู่ที่แห่งใหม่นั้น ได้มีการจัดการเรื่องค่าชดเชย ค่าเวนคืนด้วยวิธีการแปลกๆ แต่ก็เต็มไปด้วยปัญหานานาประการ

“เรื่องของค่าชดเชยของต้นไม้ มีการจ่ายค่าชดเชย เฉพาะต้นไม้ฉำฉาโดยการถากเอากาบไม้ไปแลกเอาเงิน โดยได้ต้นละ 2 บาท (1 กาบต่อ 1 ต้น) และจะดูว่าไม้แก่หรือว่าไม้หนุ่ม ถ้าเป็นไม้แก่ก็จะมีการชดเชยให้มากหน่อย แต่ถ้าเป็นไม่หนุ่มก็ไม่ชดเชยให้เลย”

“คนเฒ่าสมัยก่อนนั้นกลัว ใครมาบอกก็เชื่อ ก็ไปกัน คนที่มีเงินก็มาซื้อเอาไร่เอานาเราไปเสีย แต่เราได้มาก็กินก็จ่ายกันไปอย่างนั้น”

“ถ้าเป็นรุ่นเดี๋ยวนี้ ก็อาจจะไม่ได้สร้างเขื่อน จะมีการเดินขบวนประท้วง แต่รุ่นนั้นคนเฒ่าสมัยก่อนนั้นเกิดความกลัว แต่รัฐบาลก็มาพูดว่าเราจะได้มีแสงสว่าง คนเฒ่าเมื่อก่อนก็เลยยอมเซ็น ลงชื่อลงนาม ก็เลยเกิด การสร้างเขื่อนภูมิพลขึ้นมา”

“สมัยก่อนมีการต่อต้านเขื่อนภูมิพลเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีการให้อะไรกับฮอดเลย โดยการขอไปสองอย่าง คือท่าน้ำ แต่ก็ไม่มีการตั้งให้”

ประเด็นปัญหาที่ตามมาหลังจากนั้น ก็คือว่า น้ำท่วมทั่วทุกพื้นที่ แต่มีการเวนคืนเฉพาะในบางพื้นที่

“พื้นที่ที่น้ำท่วมขังมีทั้งพื้นที่ที่เวนคืนและพื้นที่ที่ไม่ถูกเวนคืน ในส่วนพื้นที่ของบ้านดงดำ จะมี 30 กว่าแปลง ที่ได้มีการเรียกร้องกับทางคณะรัฐมนตรี ส่วนที่ท่วมก็จะเกิดพิกัด 260 ที่หลวงฮอด 49 แปลง อีกพื้นที่ 19 แปลง รวมทั้งหมดก็ 98 แปลง แต่ถ้ารวมกับบ้านห้วยทราย บ้านวังลุง ก็มีทั้งหมด 100กว่าแปลง”

นั่นคือคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลฮอด


ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากต่อเนื่อง ส่งผลต่อวิถีชีวิตคนฮอดมายาวนาน
นอกจากประเด็นเรื่องปัญหาการเวนคืน ค่าชดเชยแล้ว ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ของฮอดก็เป็นปัญหาใหญ่ ที่กระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของคนตำบลฮอดเป็นอย่างมาก

มีการสำรวจของชุมชนในตำบลฮอด พบว่า หลังมีการสร้างเขื่อนภูมิพลได้เกิดน้ำท่วมมาอย่างต่อเนื่อง

ปีพ.ศ.2507 เกิดภาวะน้ำท่วม
ปีพ.ศ.2517-2518 เกิดภาวะน้ำท่วม
ปีพ.ศ.2538 เกิดภาวะน้ำท่วม
ปีพ.ศ.2545 เกิดภาวะน้ำท่วม
ปีพ.ศ.2549 เกิดภาวะน้ำท่วม
และปีพ.ศ.2554-2555 เกิดภาวะน้ำท่วม


นายจงกล โนจา
รองนายก อบต.ฮอด

นายจงกล โนจา รองนายก อบต.ฮอด บอกเล่าให้ฟังว่า ภาวะน้ำท่วม หรือการท่วมขังในพื้นที่ของฮอดนั้น จะเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน ถึง เดือนมกราคม ก็ยังมีน้ำท่วมอยู่ แต่จะลดลงก็ประมาณ 6 เดือน และเป็นช่วงของเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็จะมีระยะห่างของการถูกน้ำท่วมประมาณ 4-5 ปี น้ำจะท่วมครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ที่สภาพอากาศและการกักเก็บน้ำในเขื่อนภูมิพลอีกส่วนหนึ่ง

“ซึ่งปีที่พูดมาข้างต้นนี้เป็นปีที่คนฮอดได้รับอุทกภัยจากน้ำเขื่อนภูมิพลที่ร้ายแรงที่สุด ช่วงระยะเวลาของน้ำท่วมก็จะอยู่ในช่วงระยะเวลา 3-6 เดือน แต่หนักสุดก็จะเป็น 6 เดือนของการท่วมขังของน้ำเขื่อน ก็ไม่สามารถทำนาได้”

ส่วนในช่วงที่น้ำลดน้ำแห้งนั้น ปกติน้ำจะลดลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม ของแต่ละปี
“แต่ถ้าไม่มีน้ำเขื่อน พื้นที่เกษตรของเราก็สามารถทำได้ตลอดทั้งปี”

“ในช่วงที่ยังไม่มีเขื่อนภูมิพล ไม่มีสิ่งที่กีดขวางทางน้ำ น้ำท่วมในช่วงสมัยก่อน แต่ไม่เกิดความเสียหาย คือท่วมเสร็จแล้วก็ไหลลงไปและน้ำเองก็แห้งเป็นปกติ และสมัยก่อนนั้นผู้เฒ่าผู้แก่ ก็เล่าเรื่องของลำน้ำปิงว่ามีความลึกมาก อีกทั้งยังเป็นวัง และช่วงเวลาน้ำไหลหลาก น้ำก็จะไหลไม่ท่วมมากสักเท่าไหร่และมีการแห้งของน้ำอย่างรวดเร็ว แต่พอหลังจากมีการสร้างเขื่อนก็จะมีน้ำหนุนขึ้นมา เกิดการเอ่อของน้ำ ทำให้ดินทรายที่เป็นตะกอนนั้นไม่ได้ไหล ก็เกิดการมูนของหน้าดินในลำน้ำปิง จนทำให้เกิดการตื้นเขิน” ชาวบ้านจากชุมชนฮอด บอกเล่าให้ฟัง


เผยชาวบ้านประสบปัญหาขาดพื้นที่ทำกิน หลังเกิดเขื่อนภูมิพล
ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของชาวบ้านหลังน้ำท่วม

นายจงกล โนจา รองนายก อบต.ฮอด ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านในเขตพื้นที่ตำบลฮอด ยังบอกอีกว่า ปัญหาขาดพื้นที่ทำกิน ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของชาวบ้านหลังน้ำท่วม

“ในขณะพื้นที่ราบก็กลายเป็นเขตน้ำท่วม แต่ถ้าขึ้นเหนือจากเขตน้ำท่วมขึ้นมาก็จะเป็นเขตของป่าสงวนแห่งชาติ เลยจากป่าสงวนก็เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีการกันเขตเหล่านี้ไว้หมดแล้ว ดังนั้น พื้นที่ที่เป็นของชาวบ้านเองนั้นไม่มีเหลือแล้ว แต่ก็ต้องมีการอาศัยพื้นที่ที่เป็นของป่าไม้ ส่วนพื้นที่ทำกินของชาวบ้านเองก็จะอยู่ในพื้นที่ของเขตป่าสงวนทั้งหมด แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ ส่วนพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธินั้นถูกเวนคืนไปก็เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่า และชาวบ้านมีการทำมาหากินอยู่มาก่อนแล้ว”

นั่นทำให้กลายเป็นปัญหาหนึ่งที่ทับซ้อนมาจนถึงทุกวันนี้

นายจงกล โนจา บอกอีกว่า “ตั้งแต่การประกาศเขต ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเป็นเขตอุทยาน เขตป่าสงวน ซึ่งเพิ่งมีการประกาศ ในส่วนของอุทยานแห่งชาติออบหลวง ก็มีการประกาศเมื่อปีพ.ศ. 2536 แต่ประเด็นก็คือ อุทยานแห่งชาติออบหลวงประกาศเป็นเขตของเขา ในขณะที่ชาวบ้านได้มีการทำมาหากินในพื้นที่นั้นมาก่อนแล้ว ก็ต้องถูกขับไล่ ซึ่งเรื่องนี้ ยังเป็นโจทย์ในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาอยู่มาทุกวันนี้”

นอกจากนั้น ยังอีกพื้นที่หนึ่ง คือพื้นที่ที่เกินระดับ 260 ของระดับน้ำทะเลที่เขื่อนกักเก็บ ซึ่งชาวบ้านนั้นก็ยังไม่ได้สิทธิในเรื่องของการครอบครอง การถือครองนั้นยังไม่มี ก็ยังอยู่ในเขตป่าสงวน ซึ่งไม่ได้อยู่พื้นที่ที่ชาวบ้านต้องใช้ประโยชน์เลยแม้แต่น้อย

“ทุกวันนี้ ถ้าเรามีการสู้ในแง่ของกฎหมาย เขาก็อ้างว่าเรานั้นเป็นผู้บุกรุก” นายจงกล โนจา ตัวแทนชาวบ้านในชุมชนตำบลฮอด บอกเล่าให้ฟังถึงปัญหาที่ชุมชนกำลังได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักข่าวพลเมือง: กก.สิทธิเรียกผู้เกี่ยวข้องชี้แจง กรณีมีข้อร้องเรียน "แผนพีดีพี" ไม่โปร่งใส

Posted: 29 Mar 2012 11:34 AM PDT

การประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีปัญหาในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) แนะทำแผนพลังงานไทยให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายต้องชัดเจนและเป็นจริง

 

วันที่ 29 มีนาคม 2555 เวลา 9.00 - 12.30 น. คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ภายใต้้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัด “ประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีปัญหาในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP)” สืบเนื่องจากกรณีร้องเรียนจากราษฎร (ตามคำร้องที่ 91/2555) ว่าการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (แผน PDP) ของรัฐมีความไร้ประสิทธิภาพขาดธรรมาภิบาลและความโปร่งใส โดยมีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานในการประชุม

หน่วยงานที่เข้าร่วมชี้แจงได้แก่ กระทรวงพลังงาน โดยนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยสำนักนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยนายสุเทพ ฉิมคล้าย ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายแผนงาน แทนผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ส่วนประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม ทางด้านพยานผู้เชี่ยวชาญได้แก่ นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ, ดร.เดชรัต สุขกำเนิด, นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ โดยมีชาวบ้านกรณีปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ชีวมวล และนิวเคลียร์ ที่มีเรื่องร้องเรียนต่อ กสม. เข้าร่วมชี้แจงด้วยประมาณ 30 คนจากพื้นที่ต่างๆ เช่น ทับสะแก, บางสะพาน, บ่อนอก, บ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์, หนองแซง จ.สระบุรี, เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา, แม่เมาะ จ.ลำปาง, โพธาราม จ.ราชบุรี, จ.ตรัง, จ.ตราด, จ.อุบลราชธานี เป็นต้น

เรียกร้องสังคมร่วมวางแผนพลังงานของประเทศให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสยิ่งขึ้น
นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล จากกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าเหตุที่ทำให้เชื่อว่าการวางแผน PDP ไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใสดังที่ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไป ได้แก่ (1) การวางแผนพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าผิดพลาดซ้ำซากและการกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองเกินจำเป็น (2) การวางแผนซ่อมโรงไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนของ กฟผ. ทำให้ดูเหมือนกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในระบบไม่พอสำหรับช่วงที่มีความต้องการสูงสุด จึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าช่วงความต้องการสูงสุดประจำปีจะเกิดขึ้นในฤดูร้อน และ (3) แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (2553-2573) ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 12,000 เมกะวัตต์ เทียบเท่าโรงไฟ้า ถ่านหิน 9 โรง นิวเคลียร์ 5 โรง ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 2553 แล้วแต่กลับไม่ถูกนำมาใช้ในการวางแผนฯ

“ทั้งหมดนี้นำไปสู่การวางแผน PDP เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าเกินจำเป็น ซึ่งหมายถึงความขัดแย้งภายในและนอกชุมชนและการละเมิดสิทธิชุมชนในทุกพื้นที่ซึ่งเป็นเป้าหมายการสร้างโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ การใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพยังหมายถึงความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศลดลง” นางสาวสุรีรัตน์ กล่าว

ต่อเรื่องการจัดทำแผน PDP ใหม่ นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่ายังไม่มีการดำเนินการ เนื่องจากยังไม่ได้รับนโยบายจากรัฐบาล และว่า หากจะมีการจัดทำแผน PDP ใหม่ (2012) ก็น่าจะมีการพิจารณาปรับพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าให้เป็นจริงขึ้น และรวมแผนพลังงานทดแทน และแผนอนุรักษ์พลังงานของกระทรวงฯเข้าไปด้วย

ด้านนางสาวสุรีรัตน์ กล่าวยินดีที่มีแนวทางจะปรับปรุงนโยบายให้ดีขึ้น แต่ในทางปฏิบัติชาวบ้านก็ยังคงจะติดตามตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมไทยร่วมกันตรวจสอบและหาทางออกให้การวางแผนพลังงานของประเทศ มีประสิทธิภาพและโปร่งใสยิ่งขึ้น โดยอยากเห็นการนำแผนมาถกเถียงกันในเวทีสาธารณะ ไม่ให้การวางแผนเป็นเรื่องของหน่วยงานเช่นกระทรวงพลังงานและ กฟผ. เท่านั้น

เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และความรับผิดชอบต่อการวางแผนผิด
นางบุญยืน ศิริธรรม จากเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวถึงปัญหาความไม่โปร่งใสและขาดความรับผิดชอบของผู้กำหนดนโยบายพลังงาน ซึ่งมีชาวบ้านหลายกลุ่มในที่ประชุมสนับสนุนดังนี้

ผลประโยชน์ทับซ้อนของ กฟผ. ในฐานะผู้ผลิตและจัดหาไฟฟ้ามาเป็นผู้เขียนแผนกำหนดการสร้างโรงไฟฟ้าเอง และในเมื่อการสร้างโรงไฟฟ้าและลงทุนเพิ่มของ กฟผ.ถือเป็นการทำกำไรให้องค์กร จึงมีแรงจูงใจให้เขียนแผนที่มุ่งเน้นการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

ผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้วางนโยบาย เมื่อข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. เข้าไปนั่งเป็นบอร์ดผู้บริหารของบริษัทเอกชนด้านพลังงานต่างๆ ทำให้ต้องตั้งคำถามกับความโปร่งใสในการเขียนนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนแทนผลประโยชน์ประชาชน

เมื่อมีการเขียนแผน/นโยบายที่ส่งผลให้เกิดการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าล้นเกิน กลับไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนเงินลงทุนที่เสียไปซึ่งต้องเอามาจากภาษีประชาชนและคนจ่ายค่าไฟ และในแง่ความขัดแย้งในชุมชนที่เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่โรงไฟฟ้ายังไม่เริ่มสร้าง

ต้องกำหนดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ชัดเจนในการทำแผน PDP
นายชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กสม. ตั้งคำถามต่อผู้แทนกระทรวงพลังงานและ กฟผ. ว่าการจัดทำแผน PDP มีกระบวนการและระเบียบในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างไร และหากเกิดการวางแผนผิดพลาด หรือมีความเห็นแย้งจากประชาชนแล้ว จะมีแนวทางในการปรับปรุงแผนฯ เพื่อตอบสนองต่อความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้แทนกระทรวงพลังงานตอบว่า ที่ผ่านมา การทำแผน PDP 2010 เคยมีการทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็น แม้จะเป็นการเร่งรัดแต่ก็มีการสรุปบทเรียน ทั้งนี้ นายชาญวิทย์ ให้ความเห็นต่อจากการชี้แจงว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการทำกระบวนการรับฟังฯ “ก่อน” การทำแผนฯ ทั้งนี้ มองว่าหากมีการทำแผน PDP ครั้งใหม่ แล้วไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่เริ่มต้น จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน

ประเด็นดังกล่าว ดร. เดชรัตน์ สุขกำเนิด จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการจัดทำแผน PDP 2010 ในครั้งนั้นมีการสรุปบทเรียนจากแผนก่อนหน้า (PDP 2007) ว่ากระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนในการจัดทำแผน PDP ควรดำเนินการด้วยกันทั้งสิ้น 3 ขั้นตอน คือ (1) ขั้นพยากรณ์ความต้องการ (2) ตั้งสมมติฐานต่างๆ (3) จัดทำทางเลือกแผน PDP ต่างๆ กัน (scenarios) เพื่อนำมาให้สังคมร่วมกันเปรียบเทียบในแง่ต้นทุนและผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วกระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในการจัดทำแผน PDP 2010 เมื่อมีการเมืองเข้าแทรก กระบวนการถูกเร่งรัด และเมื่อแผนที่ออกมาถูกคัดค้านนำไปปฏิบัติจริงไม่ได้ นักการเมืองก็ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่จะรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น จะทำอย่างไรให้กระบวนการมีส่วนร่วมเกิดอย่างแท้จริงโดยไม่มีมือที่มองไม่เห็นเข้ามาแทรก สุดท้ายแล้วอาจต้องมีการตั้งเกณฑ์หรือกำหนดระเบียบกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำแผน PDP ให้ชัดเจนเลย ว่าอย่างไรจะผิดหรือไม่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ความขัดแย้งเกิดจากขาดความเข้าใจและความจริงใจของ กฟผ.
ต่อเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน นายสุเทพ ฉิมคล้าย ผู้แทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฟผ. มีหน่วยงานซึ่งทำเรื่องมวลชนสัมพันธ์ที่มีความพร้อม ถ้าชุมชนไม่เอาโรงไฟฟ้า เราก็ไม่ได้ไปดื้อดึงอะไร ทั้งนี้ กฟผ. ก็ให้ความสำคัญกับชุมชน และการทำ CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น เข้าไปช่วยช่วงน้ำท่วม

อย่างไรก็ดี ชาวบ้านจากหลายพื้นที่สะท้อนว่า การกำหนดพื้นที่เป้าหมายสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั้งกระบวนการและวิธีการทำงาน กลับก่อให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน และการออกมาคัดค้านโครงการของชาวบ้าน ทำให้โครงการต่างๆ ในแผน PDP เกิดไม่ได้จริง เช่น การลงพื้นที่แจกของ พาไปดูงานต่างประเทศ แต่ไม่บอกกับชาวบ้านว่าวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าอะไร และพูดถึงแต่ข้อดีของโรงไฟฟ้าเพียงด้านเดียว ซึ่งสะท้อนโดยผู้ร่วมประชุมจากหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดตราด (เป้าหมายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหิน) และจังหวัดตรัง (เป้าหมายโรงไฟฟ้าถ่านหิน)

ทางด้านนางสาวสดใส สร่างโศก ผู้ประสานงานเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.อุบลราชธานี ย้ำว่า การพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าใดๆ นอกจากความเหมาะสมทางเทคนิคและเศรษศาสตร์แล้ว ต้องคำนึงถึงความเห็นของประชาชนด้วย การที่ กฟผ. อ้างว่าคนอุบลไม่ค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็เพราะ กฟผ. เข้าไปแจกแว่นตาชาวบ้านที่อุบลฯ เหมือนที่ได้ไปแจกทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย แต่ไม่บอกว่าจะมาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชื่อว่าหากคุณเข้าไปให้ความเข้าใจให้ข้อมูลที่แท้จริงทั้งสองด้าน ชาวบ้านต้องไม่เอาแน่ เพราะอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนสิรินธรมาเป็นเวลา 44 ปีแล้วแต่ชาวบ้านยังไม่เคยได้รับการเยียวยาหรือชดเชย ชาวอุบลฯ มีบทเรียนมากพอ

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กสม. ให้ความเห็นว่า คำตอบจากผู้แทน กฟผ. สะท้อนว่าภายในหน่วยงานเดียวกันเอง (กฟผ.) ยังมีปัญหาในเรื่องการสื่อสาร คือ คุณสุเทพซึ่งทำในส่วนการวางแผน/นโยบายในภาพรวม ก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจว่าในพื้นที่ต่างๆ มีสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างไร และชาวบ้านมีข้อกังวลอะไรบ้าง ดังนั้นหน่วยงานจะรับประกันว่าข้อมูลในพื้นที่จะไปถึงผู้กำหนดนโยบายได้อย่างไร”

กรรมการสิทธิสรุป รธน. ให้อำนาจประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่กำหนดนโยบาย
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกล่าวสรุปการประชุมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่เป้าหมายการสร้างโรงไฟฟ้ามาจากกระบวนการในการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ กฟผ. จะต้องไปทบทวนว่าทำอย่าไรสื่อสารอย่างไรให้เปิดเผยและโปร่งใส จึงจะไม่เกิดความขัดแย้ง ต้องลงไปฟังคนในพื้นที่อย่างแท้จริง และต้องให้ข้อมูลรอบด้าน สุดท้าย การมีส่วนร่วมของประชาชน คือการมีส่วนร่วมต่อกระบวนการตัดสินใจ ทั้งในระดับการกำหนดนโยบาย และระดับโครงการ ซึ่งรัฐธรรมนูญให้อำนาจเหล่านี้แก่ประชาชน ส่วนในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจากการสวมหมวกหลายใบของข้าราชการระดับสูงและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ เป็นเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องร่วมกับคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลของวุฒิสภา ตรวจสอบต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดข้อสอบวิชารธน. คณะนิติศาสตร์ มธ. ลำปาง ถาม ‘สุรเจต – นิติโรส’ ตั้งกลุ่มได้โดยสอดคล้อง รธน. หรือไม่!

Posted: 29 Mar 2012 10:40 AM PDT

ผู้สื่อข่าวประชาไทได้รับข้อมูลจากนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มธ. ศูนย์ลำปาง เผยมีการนำกรณีเปรียบเทียบคล้ายกรณีวรเจตน์-นิติราษฎร์ไปออกข้อสอบ โดยข้อสอบดังกล่าวเป็นข้อสอบวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ( น.251 ) ของ ‘รศ.ดร.วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม’ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพิ่งสอบไปเมื่อวันพุธที่ 21 มีนาคม 2555 เวลา 13.00 - 16.00 น. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

โดยเนื้อหาข้อสอบมีดังนี้

[สำเนาเนื้อหาของข้อสอบ]

“นายสุรเจตเป็นนักวิชาการที่สนใจการเมืองและมีบทบาทเรียกร้องให้ประชาชนได้รับความเสมอภาคโดยต้องการให้องค์กรศาลได้รับการตรวจสอบจากผู้แทนของประชาชน จึงได้รวมกลุ่มนักวิชาการจำนวนหนึ่งตั้งเป็นกลุ่มนิติโรสและทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตน อันทำให้กลุ่มคนอีกพวกหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิติโรสเพราะเห็นว่า จะทำให้มีการแทรกแซงการใช้อำนาจฝ่ายตุลาการของศาลซึ่งย่อมทำให้คู่ความในคดีที่มีความขัดแย้งกันไม่ได้รับความเป็นธรรม อันจะนำไปสู่ความไม่สงบสุขในสังคม กลุ่มคนดังกล่าวนี้จึงรวมตัวกันเผาหุ่นประท้วงนายสุรเจต และหลังจากเหตุการณ์เผาหุ่นนายสุรเจตไม่นาน นายสุรเจตก็ถูกรุมทำร้าย ขอให้ท่านตอบคำถามดังต่อไปนี้พร้อมให้เหตุผลประกอบด้วย


1) นายสุรเจตมีสิทธิจัดตั้งกลุ่มนิติโรสได้โดยสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
2) การที่นายสุรเจตถูกรุมทำร้ายเป็นการถูกละเมิดสิทธิประเภทใดตามรัฐธรรมนูญ
3) เมื่อพิจารณาประเภทของสิทธิโดยพิจารณาตามผู้ทรงสิทธิถือว่าสิทธิของนายสุรเจตตาม 2) เป็นสิทธิประเภทใด
4) ความต้องการของนายสุรเจตในการตรวจสอบองค์กรศาลดังกล่าวสอดคล้องกับหลักอิสระของผู้พิพากษาอันเป็นหลักย่อยหลักหนึ่งของหลักนิติรัฐหรือไม่”

ภาพถ่ายธงคำตอบวิชา กฎหมายรัฐธรรมนูญ( น.251 ) ของ ‘รศ.ดร.วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม’ 

นักศึกษาศูนย์ลำปาง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้สื่อข่าวว่า ธงคำตอบของ รศ.ดร.วิจิตราฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

1) สอดคล้องรัฐธรรมนูญเพราะเป็นเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง
2) เป็นสิทธิในร่างกาย เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรี จึงมีสิทธิในร่างกาย ผู้ใดจะละเมิดมิได้
3) เป็น สิทธิมนุษยชน เพราะเป็นสิทธิที่ผูกติดมากับความเป็นมนุษย์
4) ขัดหลักนิติรัฐเพราะแทรกแซงอำนาจตุลาการ ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมและก่อความไม่สงบสุขในบ้านเมือง
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สำนวนไต่สวนการตายถึงมืออัยการแล้ว ตร.ตั้งข้อหาพยายามฆ่าชาวบ้าน-ทหารพราน

Posted: 29 Mar 2012 10:19 AM PDT

ตำรวจส่งสำนวนกรณีชาวบ้านถูกทหารพรานยิงเสียชีวิต 4 ศพให้กับอัยการปัตตานีเพื่อส่งให้ศาลไต่สวนการตายต่อไป พร้อมตั้งคดีอาญากับทั้งฝ่ายทหารพรานและชาวบ้าน คาดญาติผู้ตายได้เงินเยียวยา 7 ล้านบาท

วันนี้ (29 มี.ค.55) ในการประชุมคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญตัวแทนฝ่ายรัฐและประชาชนมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่ทหารพรานยิงชาวบ้านเสียชีวิตสี่ศพ และบาดเจ็บอีกสี่คนที่บ้านกาหยี อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในวันที่ 29 มกราคม 2555 โดยมีผู้ที่มาให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ พล.ท. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่สี่ พล.ท. มนตรี อุมารี หัวหน้าคณะทำงานเยียวยาและศาสนา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า นายลือชัย เจริญทรัพย์ นายอำเภอหนองจิก นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ต.อ. โพธ สวยสุวรรณ รองผู้บังคับการจังหวัดปัตตานี และ นายอนุกูล อาแวปูเตะ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิม

พ.ต.อ. โพธ เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพผู้ตายเสร็จสิ้นแล้วและได้ส่งให้พนักงานอัยการปัตตานีไปเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เพื่อทำคำร้องต่อศาลเพื่อให้ไต่สวนการตาย และได้มีคำสั่งว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน ตายอย่างไร

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดให้ศาลต้องทำการไต่สวนการตายในกรณีการวิสามัญฆาตกรรมและการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าพนักงานของรัฐในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ พ.ต.อ.โพธกล่าวว่าตำรวจยังได้ตั้งคดีอีกสองสำนวน ในสำนวนแรก เจ้าพนักงานถูกกล่าวหาว่ากระทำอันเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย โดยในคดีนี้มีผู้ต้องหาสี่คนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารพรานที่อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่งมีการตั้งข้อหาในประเด็นร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 และ 288 สำนวนที่สอง คือ เจ้าพนักงานกล่าวหาว่ามีคนร้ายพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ในสำนวนนี้ยังไม่ได้มีการระบุตัวผู้ต้องหาและข้อหาแต่อย่างใด

พ.ต.อ.โพธกล่าวว่าในการสอบปากคำ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำตามระเบียบทุกประการ เช่น มีล่ามให้ในกรณีที่ผู้ถูกสอบปากคำใช้ภาษามลายูถิ่นและมีผู้ที่ผู้ถูกสอบปากคำให้การไว้วางใจเข้าร่วมรับฟังทุกครั้ง ในกรณีการสอบปากคำเยาวชน จะมีบิดามารดาและนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมฟังการสอบสวนทุกครั้ง

นายกมลศักดิ์ แวลีเมาะ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายมุสลิมตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการดำเนินคดีกับชาวบ้านที่รอดชีวิต การเยียวยาที่ฝ่ายรัฐพยายามทำอยู่นี้จะไม่มีความหมาย

ทางด้านนายโกวิทย์ ธารณา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร กล่าวว่า เขาเกรงว่าผู้ไม่หวังดีจะเอาเรื่องนี้ไปเป็นประเด็น ถ้าหากว่าชาวบ้านถูกตัดสินว่ามีความผิด เรื่องนี้จะไม่จบ

ขณะที่ พล.ท.อุดมชัย กล่าวว่าโดยส่วนตัวแล้ว ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเดินไปถึงขนาดที่นายกมลศักดิ์กล่าว แต่จำเป็นที่จะต้องให้กระบวนการยุติธรรมเดินไป

ในการประชุม พล.ท.อุดมชัยได้สรุปถึงผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ท่านได้แต่งตั้งขึ้นให้กับคณะกรรมาธิการการทหารทราบ โดยคณะกรรมการได้สรุปว่าเหตุการณ์นี้เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ โดยฝ่ายประชาชนนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์  สาเหตุที่เกิดขึ้นก็เนื่องจากสำคัญผิดเพราะว่าสภาพแวดล้อมในขณะนั้นมืดและเวลาเกิดนั้นค่อนข้างดึก ในส่วนของการหาหลักฐานนั้นยังทำได้ไม่ถึงที่สุด เพราะชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ โดยแม่ทัพภาคสี่ได้แสดงความเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการในการจัดตั้งองค์คณะที่มีความเป็นอิสระในการดำเนินการด้านนิติวิทยาศาสตร์ขึ้นในพื้นที่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน รวมทั้งให้มีนักจิตวิทยาเข้าไปดูแลทหารที่ทำงานภายใต้ภาวะกดดันเป็นเวลานาน

นายอนุกูล หนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการชุดนี้มีคุณค่ามากในการเคลียร์ความคลางแคลงใจของชาวบ้าน แต่การหาหลักฐานก็อาจจะยังมีความติดขัดอยู่เพราะชาวบ้านไม่เชื่อมั่นและไม่อยากให้ความร่วมมือในการพิสูจน์หลักฐานกับรัฐ เขายกตัวอย่างเรื่องการผ่าศพชันสูตรที่หลายครั้งชาวบ้านปฏิเสธเพราะเชื่อว่าผิดหลักการทางศาสนา ชาวบ้านตั้งคำถามว่าเมื่อผ่าศพแล้วศพเสียหาย แต่ชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไร เขาไม่เชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรม

นายปิยะ กล่าวว่า ในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ ทางเลขาธิการ ศอ.บต. จะได้เสนอเรื่องให้กับทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) พิจารณาว่าผู้ที่เสียชีวิตสี่ศพในเหตุการณ์นี้เข้าข่ายที่จะได้รับเงินเยียวยาเจ็ดล้านบาทหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้เข้าเงื่อนไขทุกอย่าง แต่จะได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับมติของ กพต. โดยในเบื้องต้น ศอ.บต. ได้อนุมัติการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ที่เสียชีวิตทั้งสี่คนไปแล้วรายละห้าแสนบาท
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: การปรองดองต้องให้ได้ความจริงและยุติธรรม

Posted: 29 Mar 2012 10:00 AM PDT


ภาพโดย
pittaya (CC BY 2.0)
 

คำถามของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญชุด “ปรองดอง” เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้วว่า กระทำรัฐประหาร 19 กันยายนไปด้วยตนเองหรือมีผู้อยู่เบื้องหลังสั่งให้ทำนั้น แม้ความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชนจะพุ่งไปที่คำตอบของพล.อ.สนธิ และคำตอบโต้กันหลังจากนั้น แต่เหตุผลที่พล.ต.สนั่นอ้างในการถามคำถามดังกล่าวกลับสำคัญยิ่งกว่า

เหตุผลของพล.ต.สนั่นก็คือ ประชาชนต้องการรู้ความจริง กระบวนการปรองดองใดๆ จะไม่เป็นผลทั้งสิ้นหากความจริงทั้งหมดยังไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมาว่า ใครเป็นผู้สั่งให้กระทำรัฐประหาร และที่สำคัญคือ ตราบใดที่ยังไม่มีการยอมรับความจริง ความเคียดแค้นในหมู่ประชาชนก็จะยังคงอยู่

นี่คือมาตรฐานที่แท้จริงที่เป็นเครื่องวัดว่า การปรองดองใดๆ จะกระทำได้จริงหรือไม่? จะเป็นการปรองดองแห่งชาติที่แท้จริงหรือเป็นเพียง “การประนีประนอมกันชั่วคราว” ระหว่างพลังจารีตนิยมกับพรรคเพื่อไทย

การปรองดองแห่งชาติที่แท้จริงประกอบด้วยสองส่วนคือ การเปิดเผยความจริงทั้งหมด และการให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย (ซึ่งประกอบด้วยการเยียวยา การลงโทษ และการอภัยโทษ)

เพียงประการแรกคือ การเปิดเผยความจริงทั้งหมด ในปัจจุบันก็มิอาจกระทำได้ วิกฤตการเมืองทั้งหมดตั้งแต่ต้นปี 2549 ถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าห้าปี มิได้มีเพียง พล.อ.สนธิ กองทัพกับรัฐประหาร 19 กันยายนเท่านั้น แต่ยังมี “เครื่องมือของจารีตนิยมอื่นๆ” ที่เคลื่อนไหวสอดประสานกันคือ พวกอันธพาลบนถนนที่เรียกตัวเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย องค์กรตุลาการ พรรคประชาธิปัตย์ สื่อกระแสหลักบางค่าย นักวิชาการและนักกฎหมายบางจำพวก เป็นต้น

นัยหนึ่ง รัฐประหาร 19 กันยายน เป็นเพียงตัวแทนหนึ่งของเผด็จการและเป็นแนวรบชี้ขาดในเวลานั้น แต่ต้องพึ่งพาอาศัยแขนขาของจารีตนิยมอื่นๆ ในการตระเตรียมเงื่อนไขก่อนรัฐประหาร และช่วยซ้ำเติมให้ภารกิจเบ็ดเสร็จหลังรัฐประหาร

คำถามจึงไม่ใช่อยู่เพียงว่า ใครหรืออะไรที่บงการให้ พล.อ.สนธิกระทำรัฐประหาร 19 กันยายนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคำถามว่า ใครหรืออะไรที่บงการบุคคลและกลุ่มองค์กรเหล่านี้ได้ทั้งหมดให้เคลื่อนไหวสอดประสานกันเป็นแนวรบใหญ่ที่เป็นเอกภาพ ทำลายล้างรัฐบาลไทยรักไทยและรัฐบาลพลังประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งได้สำเร็จ ต่อเนื่องมาเป็นกรณีเมษาเลือด 2552 และการสังหารหมู่ประชาชนเมื่อเมษายน-พฤษภาคม 2553?

คำถามนี้จะมีคำตอบที่เปิดเผยได้ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนดุลกำลังทางการเมืองในอำนาจรัฐอย่างถึงรากเท่านั้น มิใช่ในวลานี้ที่แก่นแกนอำนาจรัฐทั้งหมดยังคงอยู่ในมือของกลุ่มจารีตนิยมอย่างเหนียวแน่น ในขณะที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยยึดกุมได้แต่เพียงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น!

และนี่คืออุปสรรคสำคัญที่สุดของการปรองดอง แม้แต่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ก็ยังไม่สามารถบรรลุความจริงของเหตุการณ์ทั้งหมดได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญชุด “ปรองดอง” ข้างต้น ซึ่งจนกระทั่งบัดนี้ เมื่อพูดถึงสาเหตุความขัดแย้งทั้งหมด ก็ยังคงวนไปเวียนมาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอยู่นั่นแหละ!
ที่ยังไม่อาจเปิดเผยความจริงได้ทั้งหมดก็เพราะ “อำนาจรัฐยังไม่เปลี่ยนมือ” ก็เท่านั้นเอง

ในเมื่อไม่สามารถเปิดเผยความจริงได้ทั้งหมด การให้ความยุติธรรม ซึ่งเป็นขั้นตอนต่อไปของการปรองดองที่แท้จริง จึงไม่อาจกระทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงโทษผู้บงการที่แท้จริงและผู้รับคำสั่งระดับบนสุดที่กระทำอาชญากรรมการเมืองต่างๆ ตลอดหลายปีมานี้ ก่อนที่จะไปอภัยโทษให้กับผู้รับคำสั่งระดับล่างและมวลชนที่เข้าร่วม ตลอดจนเยียวยาชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย

พรรคเพื่อไทยรู้ดีว่า การปรองดองแห่งชาติที่แท้จริงและรอบด้านนั้นยังไม่อาจกระทำได้ในขั้นปัจจุบัน ทางออกของพรรคเพื่อไทยจึงเป็นการปรองดองที่มุ่งประนีประนอมเป็นสำคัญ แต่ “ปราศจากความจริง” คือไม่มีความพยายามที่จะสืบสวนหาความจริงทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นวิกฤตปี 2549 ให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่กระบวนการยุติธรรม

ด้วยเหตุนี้ การให้ความยุติธรรมของพรรคเพื่อไทยจึงหดแคบลงมาเหลือแค่การเยียวยาด้วยการชดเชยให้กับมวลชนทุกฝ่าย และที่น่าขบขันคือ เป็นการเยียวยาครอบคลุมถึงการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดตั้งแต่ปี 2549 ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ความจริงทั้งหมดด้วยซ้ำว่า ใครทำอะไรบ้าง ใครผิด ใครถูก

แม้แต่แผนการของรัฐบาลที่จะออกกฎหมายสองฉบับคือ พระราชบัญญัติการปรองดองแห่งชาติ และพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ก็มีแนวโน้มลูบหน้าปะจมูกเหมือนกรณีความขัดแย้งอื่นๆ ในอดีต คือ “ยกเลิกคดีของ คตส. ทั้งหมด หลับหูหลับตานิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่ายแล้วจบกัน”

การเคลื่อนไหวเรื่อง “ปรองดอง” โดยแกนนำพรรคเพื่อไทยในวันนี้ จึงไม่ใช่การปรองดองแห่งชาติที่แท้จริง แต่เป็นความเพ้อฝันลมๆ แล้งๆ ที่จะประนีประนอม “หย่าศึก” กับเผด็จการจารีตนิยม อีกรอบก็เท่านั้นเอง

สิ่งที่พวกเขาจะเผชิญก็เหมือนความพยายามประนีประนอมครั้งก่อนๆ คือ “การสะดุ้งตื่นจากฝันหวาน” มาพบโลกความจริงอันขมขื่นเมื่อฝ่ายจารีตนิยมตอบโต้กลับด้วยอำนาจรัฐในมือเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะสิ่งที่ฝ่ายนั้นไม่ยินยอมอย่างเด็ดขาดคือ การยกเลิกคดี คตส.ทั้งหมด ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดทางให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับสู่ประเทศไทย และกลับสู่อำนาจการเมืองไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง

ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่า การลงทุนลงแรงของฝ่ายจารีตนิยมตลอดหกปีมานี้ “สูญเปล่า” และประสบความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง มิหนำซ้ำ พวกเขายังได้สูญเสียการครอบงำทางความคิดอุดมการณ์ต่อสังคมไทยไปจนเกือบหมดอีกด้วย

ฉะนั้น ทั้งพรรคเพื่อไทยและประชาชนที่รักประชาธิปไตยจะต้องไม่อยู่ในความประมาท ต้องไม่เพ้อฝันไปกับการประนีประนอมในขั้นตอนปัจจุบัน มองให้เห็นถึงธาตุแท้ของพวกเผด็จการ เก็บรับบทเรียนจากคณะราษฎร เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่เพื่อรับการตอบโต้ของฝ่ายจารีตนิยมที่อาจจะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ติงประชุมวิจัยความเสี่ยงภูมิอากาศ "เมกะโปรเจ็กต์ใต้" ที่ตรัง ยังขาดส่วนร่วม

Posted: 29 Mar 2012 09:59 AM PDT

 

เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ห้องธนาธร โรงแรมธรรมรินทร์ธนา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อภูมิอากาศและข้อเสนอยุทธศาสตร์การปรับตัว กรณีศึกษาการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลภาคใต้ ภายใต้โครงการศึกษามาตรการที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีตัวแทนส่วนราชการจากจังหวัดสงขลา ตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวจากจังหวัดตรัง ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล ตัวแทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ร่วมเวทีประมาณ 20 คน

นายพนมศักดิ์ พรหมบุรมย์ หัวหน้าโครงการฯ ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ว่า เพื่อระบุประเด็นหรือภาคส่วนของการพัฒนาประเทศที่มีความเสี่ยงสูงต่อภูมิอากาศในอนาคตที่จำเป็นต้องมีมาตรการรับมือและปรับตัวที่ชัดเจน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทั้งชุมชนที่ได้รับผลกระทบ หน่วยงานภาครัฐ ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบและปรับตัวได้อย่างเหมาะสม

 

 

นายนพรัตน์ กายเพชร นักวิชาการโครงการฯ ชี้แจงว่า กรณีภาคใต้มีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ อาทิ แผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern SeaBoard) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2518 ผ่านการขับเคลื่อนของรัฐบาลหลายยุคสมัย โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ ได้แก่ โครงการสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล) เชื่อมโยงระบบขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่างฝั่งอ่าวไทย-ฝั่งอันดามัน และการพัฒนาอุตสาหกรรม 4 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร อุตสาหกรรมเกษตรและพลังงานชีวภาพ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการผลิตไฟฟ้า

“ในการศึกษาได้ดำเนินการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากปัญหาและผลกระทบในปัจจุบัน คือภาคท่องเที่ยว และการผลิตปาล์มน้ำมันในภาคใต้ และวิเคราะห์ความเสี่ยงจากการพัฒนาใหม่ คือ พื้นที่โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา คาดว่าจากการมีส่วนร่วมทั้งท้องถิ่น ระดับภาค และระดับชาติ จะทำให้มีการเพิ่มเติมเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงและค้นหาแนวทางการปรับตัวที่เหมาะสมต่อไป” นายนพรัตน์ กล่าว

เวลาประมาณ 16.30 น. ผู้เข้าร่วมได้ช่วยกันยกร่างผังความเสี่ยงในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายฝั่งภาคใต้ เช่น ความเสี่ยงต่อภูมิอากาศของเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว ภาพอนาคตของเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลภาคใต้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและแนวโน้มความเสี่ยงต่อภูมิอากาศ และข้อเสนอยุทธศาสตร์การปรับตัวเพื่อรับมือกับภูมิอากาศในอนาคต โดยจำกัดเฉพาะพื้นที่จังหวัดสงขลา สตูล พัทลุง และตรัง

สำหรับการยกร่างผังความเสี่ยงต่อภูมิอากาศพบปัญหาของภาคการท่องเที่ยว คือ การเมืองของประเทศที่มีปัญหา นโยบายการพัฒนาของรัฐพื้นที่สงขลา-สตูล ไม่มีการจัดการร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการกับภาครัฐ การขนส่งสาธารณะ-เส้นทางคมนาคมที่ไม่สะดวก ขาดการโฆษณาประชาสัมพันธ์เชิงรุกต่อการท่องเที่ยว

ปัจจัยภายนอกเปิดรับ คือ การเมืองที่ผันผวน ข้อตกลงทางการค้าเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) นโยบายการพัฒนาของรัฐ รัฐไม่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงรุก ทั้งด้วยงบประมาณ และการประชาสัมพันธ์ แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งยังไม่พัฒนา ภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง

ปัจจัยความอ่อนไหวภายใน คือ เคยเป็นพื้นที่ภัยพิบัติสึนามิ รัฐขาดวิสัยทัศน์ในการพัฒนา ค่านิยมไม่เที่ยวเมืองไทย ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ไม่เน้นการศึกษาเพื่อการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการขาดวิสัยทัศน์

ความเสี่ยง คือ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง การตกงาน การเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคท่องเที่ยวไปภาคธุรกิจอื่น ผู้ประกอบการขาดทุน โดยมีกลไกการรับมือ คือ การจัดการพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว การดำเนินงานอนุรักษ์ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพิ่มการประชาสัมพันธ์

นายบรรจง นฤพรเมธี ตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวจากจังหวัดตรัง ได้คาดคะเนความเปราะบางของภาคท่องเที่ยวไว้ 50% แต่ถูกทักท้วงจากผู้ร่วมเวทีว่า ไม่ควรใช้ความรู้สึกคาดการณ์ ควรใช้ข้อมูลมาสนับสนุน อีกทั้งการยกร่างผังความเสี่ยงฯ มีแต่ตัวแทนการท่องเที่ยวจังหวัดตรังเท่านั้น ไม่มีจังหวัดสตูล สงขลา และพัทลุง จึงไม่อยากนำผลจากเวทีนี้ไปนำเสนอเพราะเป็นการพูดแทนภาคการท่องเที่ยวจังหวัดอื่นๆ ที่ไม่ร่วมเวที

นายพนมศักดิ์ พรหมบุรมย์ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ตอนส่งรายงานการศึกษาวิจัยโครงการศึกษามาตรการที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะบันทึกแนบไปว่าการวิจัยโครงการนี้เป็นแค่กิจกรรมหนึ่งเท่านั้น ไม่มีความสมบูรณ์รอบด้านเพราะมีคนอีกหลายพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชง ครม. จ่าย 133 ล้าน เยียวยาชาวบ้านผลกระทบราษีไศล

Posted: 29 Mar 2012 09:30 AM PDT

(28 มี.ค.55) เมื่อเวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล ครั้งที่ 1/2555 โดยมี นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุมเห็นชอบผลการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิที่ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการระดับจังหวัด ศรีสะเกษ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด และได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิครบ 30 วัน ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดคัดค้าน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ราษฎรต่อไป โดยขอใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่ถือปฏิบัติในการจ่ายทุกครั้งที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด ศรีสะเกษ สุรินทร์และร้อยเอ็ด ได้มีหนังสือแจ้งฝ่ายเลขานุการว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัด ศรีสะเกษ สุรินทร์และร้อยเอ็ด มีมติเห็นชอบ รวม 2 กรณี คือ 1. บัญชีรายชื่อราษฎรที่ผ่านการตรวจสอบจากคณะทำงานแก้ไขปัญหาฯ ระดับอำเภอ ซึ่งประกาศรับรองการทำประโยชน์แล้วไม่มีผู้ใดคัดค้าน แยกเป็นจังหวัดศรีสะเกษ 4 แปลง เนื้อที่ 29-1-83.40 ไร่, สุรินทร์ 22 แปลง เนื้อที่ 49-1-98 ไร่ รวมจำนวน 26 แปลง เนื้อที่ 78-3-81.40 ไร่ ๆ ละ 32,000 บาท เป็นเงิน 2,526,512 บาท

2. บัญชีรายชื่อราษฎรที่ผ่านการตรวจสอบของคณะทำงานพิจารณาคำร้องคัดค้านประกาศอำเภอ (อุทธรณ์) ว่าได้ทำประโยชน์ในลักษณะท้องถิ่นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 ประกอบกับมติการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล กับคณะทำงานพิจารณาคำร้องคัดค้านประกาศอำเภอ (อุทธรณ์) ทั้งสามจังหวัด เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 แยกเป็น จังหวัดศรีสะเกษ 528 แปลง เนื้อที่ 1,844-1-26.20 ไร่ สุรินทร์ 273 แปลง เนื้อที่ 1,440-1-79 ไร่, ร้อยเอ็ด 315 แปลง เนื้อที่ 809-2-00.10 ไร่ รวมจำนวน 1,116 แปลง เนื้อที่ 4,094-1-05.30 ไร่ ๆ ละ 32,000 บาท เป็นเงิน 131,016,424 บาท รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,142 แปลง เนื้อที่ 4,173-0-86.70 ไร่ อัตราไร่ละ 32,000 บาท เป็นเงิน 133,542,936 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการจ่ายค่าชดเชยในแต่ละจังหวัด เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการจ่ายค่าชดเชยให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้อง ตามที่เสนอคณะรัฐมนตรีและได้ให้ความเห็นชอบมาแล้ว ดังนี้ องค์ประกอบ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด อัยการจังหวัด คลังจังหวัด นายอำเภอท้องที่ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน ผู้แทนกลุ่มสมัชชาเกษตรภาคอีสาน ผู้แทนกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรอีสาน ผู้แทนกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรฝายราษีไศล ผู้แทนกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนกลุ่มอิสระ ผู้แทนกลุ่มสมัชชาลุ่มน้ำมูล ผู้แทนกลุ่มสมัชชาคนจน ผู้แทนกลุ่มชาวนา 2000 โดยมี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง เป็นกรรมการและเลขานุการ

ทั้งนี้โดยมีอำนาจหน้าที่ 1. พิจารณาและควบคุมการโอนจ่ายเงินค่าชดเชยให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ จำนวนเนื้อที่ และจำนวนเงินค่าชดเชย ตามคณะรัฐมนตรีอนุมัติ 2. ปฏิบัติงานอื่นที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล เนื่องจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 65/2552 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 หมดวาระจากโครงการฝายราษีไศล ทั้ง 3 จังหวัด (ศรีสะเกษ, สุรินทร์, ร้อยเอ็ด) ที่แต่งตั้งโดยประธานกรรมการฯ ชุดเดิมหมดวาระตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาของโครงการฝายราษีไศลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ที่ประชุมจึงเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ในแต่ละจังหวัดทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้ องค์ประกอบ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ อนุกรรมการประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 8 ธนารักษ์พื้นที่จังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ปฏิรูปที่ดินจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน นายอำเภอท้องที่ที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนกลุ่มสมัชชาเกษตรภาคอีสาน ผู้แทนกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรอีสาน ผู้แทนกลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย ผู้แทนกลุ่มเกษตรกรฝายราษีไศล ผู้แทนกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนกลุ่มอิสระ ผู้แทนกลุ่มสมัชชาลุ่มน้ำมูล ผู้แทนกลุ่มสมัชชาคนจน ผู้แทนกลุ่มชาวนา 2000 โดยมีหัวหน้าฝ่ายจัดหาที่ดิน 8 กรมชลประทาน เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

อำนาจหน้าที่ 1. ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ พิจารณาแก้ไขปัญหา 2. แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อมอบหมายให้ดำเนินการตรวจสอบการครอบครองและการทำประโยชน์ของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล 3. รายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศลเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป 4. ปฏิบัติงานอื่นที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการนี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คปก.ชงร่าง พรฎ.ตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ

Posted: 29 Mar 2012 12:49 AM PDT

เสนอนายกฯแก้ที่มาประธาน ชี้ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการประจำ แนะใช้วิธีเลือกตั้งกรรมการฝ่ายลูกจ้าง ตามสัดส่วนลูกจ้างในสถานประกอบการ

 

(28 มี.ค.55) นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ....เสนอต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อประกอบการพิจารณาการให้ความเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ฯ

จากการศึกษา วิเคราะห์ และรับฟังความคิดเห็นร่วมกันกับผู้แทนฝ่ายต่างๆ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... โดยเห็นด้วยให้จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี ตามมาตรา 52 ของพระราชบัญญัติความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 โดยให้เป็นองค์การมหาชน ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 เพราะองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัตินี้ต้องการให้เป็นหน่วยงานอิสระที่จัดทำบริการสาธารณะ ไม่แสวงหากำไร และอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรี จึงสอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่ต้องการให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน

ขณะที่กระบวนการได้มาของคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เห็นควรให้กำหนดจำนวน ที่มา และคุณสมบัติ โดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ประธานกรรมการบริหาร ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ เนื่องจากภารกิจของคณะกรรมการบริหาร ไม่ใช่คณะกรรมการกำหนดนโยบาย หรือวางแนวทางของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เท่านั้น แต่เป็นคณะกรรมการที่ต้องทำหน้าที่บริหารเพื่อให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ซึ่งข้าราชการประจำโดยเฉพาะข้าราชการระดับสูง ยังมีข้อจำกัดด้านเวลาในการทำงานในฐานะประธานกรรมการบริหาร อีกทั้งหากประธานกรรมการบริหารเป็นข้าราชการจะทำให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ที่ต้องการให้เป็นอิสระในการดำเนินงาน

สำหรับกรรมการโดยตำแหน่ง ในร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกระทรวงแรงงานเสนอให้มีจำนวน 3 คน สมควรลดจำนวนเหลือ 2 คน ได้แก่ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวมีภารกิจหน้าที่ในการปฏิบัติงานที่เชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ ภารกิจ อำนาจหน้าที่ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ

ส่วนกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละสองคน คปก.เห็นว่า หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการผู้แทนฝ่ายลูกจ้างสมควรเป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วนของจำนวนลูกจ้างในสถานประกอบการ และลูกจ้างที่อยู่นอกสถานประกอบการ เช่น ลูกจ้างจำนวนไม่เกิน 50 คน เลือก 1 คนมาเป็นผู้แทนไปเลือก โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการให้ใช้ฐานข้อมูลเบื้องต้นจากผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมโดยใช้สถานประกอบการเป็นหน่วยเลือกตั้ง สำหรับลูกจ้างที่อยู่นอกสถานประกอบการ ให้ลูกจ้างมาขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ คปก.เห็นว่า ควรเพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากจำนวน 2 คนเป็น 3 คน

ในแง่อำนาจหน้าที่ของสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ คปก.เห็นว่าควรแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. .... ในมาตรา 8 โดยกำหนดให้เป็น มาตรา 8 (7/1) การรับเรื่องร้องเรียนเพื่อเสนอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ไขปัญหา และศึกษาวิเคราะห์เพื่อเสนอมาตรการส่งเสริมการป้องกันความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

หากพิจารณาในบทเฉพาะกาล คปก.เห็นว่า ควรกำหนดให้คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทำหน้าที่ดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริหารปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ซึ่งถือเป็นภารกิจเร่งด่วนเพื่อการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ โดยไม่มีเหตุจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปควรจะพัฒนาพระราชกฤษฎีกาสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เป็นพระราชบัญญัติแทนพระราชกฤษฎีกา เพื่อจัดตั้งสถาบันที่มีความเป็นอิสระ และมีทรัพยากรมากพอ ให้สามารถดำเนินการเพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหา จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประกันสิทธิของบุคคลที่จะได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพการทำงาน รวมถึงหลักประกันในการดำรงชีพ ทั้งในระหว่างทำงานและพ้นภาวะการทำงาน

 

บันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของ คปก.ต่อร่างดังกล่าว

AttachmentSize
noteforlabourlaw.pdf58.41 KB
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

This posting includes an audio/video/photo media file: Download Now

“วินัย”แจง แนวทางการเบิก-จ่ายกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน 3 กองทุนของ รพ.เอกชน

Posted: 29 Mar 2012 12:18 AM PDT

         
(28 มี.ค.55) ที่โรงแรมริชมอนด์  จังหวัดนนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบให้นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดประชุมผู้บริหาร และหัวหน้าห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลเอกชน  จำนวนกว่า 500 คน  เพื่อชี้แจงแนวทางการขอรับค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาลเอกชนที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินของ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ  ประจำปีงบประมาณ 2555 ผู้เข้าและชี้แจงการวิเคราะห์และตัดสินอาการของผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งแนวทางการเบิกเงินชดเชย
         
นายแพทย์วินัย กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายการสร้างความเสมอภาคของระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ต้องการให้คนไทยได้รับการบริการสุขภาพอย่างเท่าเทียมกันทั้ง 3 กองทุน คือสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้ง พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพและรวดเร็ว  ซึ่งจะเริ่มบูรณาการร่วมกันในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 นี้เป็นต้นไป   เมื่อประชาชนที่อยู่ภายใต้หลักประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถไปรับบริการที่ใดก็ได้ที่อยู่ใกล้ที่สุด  ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน จะได้รับบริการตรวจรักษาทันที  โดยไม่ต้องถูกถามสิทธิ ไม่ต้องสำรองเงินจ่ายล่วงหน้า และต้องได้รับการส่งต่อไปรับบริการที่มีศักยภาพสูงขึ้นหากจำเป็น หรือรักษาจนกว่าอาการจะหายหรือทุเลา  เนื่องจากการได้รับอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน เป็นนาทีวิกฤติเร่งด่วนของชีวิต เป็นตายเท่ากัน การรักษาที่รวดเร็ว จะช่วยให้รอดชีวิตหรือลดความพิการได้  
 
ในการจ่ายค่าชดเชยบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินให้แก่โรงพยาบาลเอกชน   กรณีเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายของทั้ง 3 กองทุน ให้ดำเนินการตามปกติ  กรณีเข้ารับบริการนอกเครือข่าย หากเป็นผู้ป่วยนอก  ไม่ได้รับไว้ในโรงพยาบาล ให้ใช้อัตราการเบิกจ่ายที่เรียกเก็บของกรมบัญชีกลาง และในกรณีที่รับผู้ป่วยรักษาเป็นผู้ป่วยใน จะจ่ายในอัตรา 10,500 บาทต่อน้ำหนักสัมพัทธ์    ตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือดีอาร์จี

นายแพทย์วินัยกล่าวต่อว่า  ขณะนื้ ทั้ง 3 กองทุน ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการเบิกจ่าย  โดยมีการปรับปรุงกฏระเบียบต่างๆ   โดยกรมบัญชีกลางได้แก้ไขพระราชกฤษฎีกา  ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการไม่ต้องสำรองจ่าย และสามารถชดเชยในอัตรา 10,500 บาท ต่อน้ำหนักสัมพัทธ์  สำนักงานประกันสังคม ได้ปรับระบบการเบิกจ่ายกลางทางอิเลคทรอนิค  และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสปสช.ได้ปรับปรุงประกาศเพื่อให้ใช้อัตรากลาง   โดยให้สปสช.เป็นหน่วยเบิกจ่ายกลาง (Clearing house) ให้แก่โรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศที่ให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน 

ส่วนโรงพยาบาลเอกชนระดับพรีเมี่ยม หรือเอกชนชั้นหนึ่ง    เช่นโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์    ได้ยินดีร่วมให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าขั้นวิกฤติหรือเร่งด่วนที่ไปใช้บริการ ภายใต้มาตรฐานและรับการชดเชยในอัตรา 10,500 บาทต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก   นอกจากนี้จะให้ สปสช.จัดระบบประสานงานการชดเชยกับกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ และให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติพัฒนาศักยภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉินของโรงพยาบาล และระบบส่งต่อผู้ป่วยให้เข้มแข็งขึ้น  ะบบปกติของทั้ง 3 กองทุนยังดำเนินไปตามปกติ และจะมีการปรับ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สปสช.จะได้เร่งประชาสัมพันธ์ สื่อสารเรื่องภาวการณ์ป่วยฉุกเฉิน เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประชาชน และวิธีการรับบริการโรงพยาบาลเพื่อให้เข้าใจตรงกัน          
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อาเซียนภาคปชช.เริ่มแล้วที่กัมพูชา-ฮอร์นัมฮงระบุไม่สนับสนุนงานนี้

Posted: 28 Mar 2012 10:07 PM PDT

วันนี้ (29 มี.ค. 55) องค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคอาเซียนจัดการประชุมอาเซียนภาคประชาชนครั้งที่ 8 ที่โรงแรมลักกี้สตาร์โฮเต็ล กรุงพนมเปญ กัมพูชา โดยการประชุมอาเซียนภาคประชาชนครั้งนี้นับเป็นปีที่ 8 ที่ภาคประชาสังคมจัดเวทีล้อไปกับการประชุมอาเซียนของภาครัฐ ซึ่งหลังจากที่มีการประชุมอาเซียนภาคประชาชนแล้ว จะนำเสนอข้อเสนอต่อภาครัฐต่อไป

อย่างไรก็ตาม การจัดงานครั้งนี้ไมได้เป็นไปอย่างราบรื่นนัก เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลกัมพูชา รวมถึงมีการจัดเวทีภาคประชาชนโดยรัฐบาลกัมพูชาเองเป็นเวทีคู่ขนาน

Yuyun Wah Yuningurum ตัวแทนภาคประชาชนจากอินโดนีเซีย กล่าวว่า เป็นเรื่องตลกมากที่ภาคประชาชนในอาเซียนพยายามที่จะเข้ามารวมตัวกันเพื่อเป็นประชาคม แต่กลับไม่ได้รับการต้อนรับจากรัฐบาลของตนเอง

“เวทีประชาสังคมอาเซียนนั้นเป็นการสะท้อนความปราถนาของภาคประชาชนที่จะรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน แต่น่าเสียดายที่ว่ารัฐบาลของพวกเรากลับไม่ยอมรับการเป็นภาคประชาคมของเรา”

ด้าน Chhit Sam Ath ตัวแทนภาคประชาชนจากกัมพูชากล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจากภาคประชาสังคมหลายประเทศ โดยความมุ่งหวังว่าประชาคมอาเซียนจะเป็นหนึ่งเดียว และตัวแทนเอ็นจีโอจากกัมพูชานั้นได้รับการคัดเลือกมาโดยแนวทางที่เป็นประชาธิปไตย

ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ตัวแทนภาคประชาชนไทยกล่าวว่า การจัดงานอาเซียนภาคประชาชนนั้นเป็นเรื่องยากจริง แต่สุดท้ายก็สามารถจัดขึ้นได้ซึ่งเธอรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง โดยเธอกล่าวว่าภาคประชาสังคมไทยต้องการแสดงออกถึงการสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ โดยสวมเสื้อพิมพ์ข้อความ "I’m here no matter what"  หรือ "ฉันอยู่ที่นี่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น" โดยชลิดา กล่าวขอขอบคุณภาคประชาชนกัมพูชาที่สามารถจัดงานขึ้นมาได้ พร้อมทั้งแสดงความหวังว่าตัวแทนจากภาคประชาชนที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้จะสามารถเข้าพบกับตัวแทนของภาครัฐเพื่อหารือในข้อเสนอที่ได้จากการประชุมในกัมพูชาได้  พร้อมทั้งระบุว่า ตามกำหนดการเดิมนั้น นายสุรินทร์ พิศสุวรรณจะพบปะกับตัวแทนจากการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเธอหวังด้วยว่ากำหนดการจะเป็นไปเช่นเดิม

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวจากพนมเปญโพสต์ได้ถามตัวแทนผู้จัดการประชุมอาเซียนภาคประชาชนว่า เช้าวันนี้นายฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กัมพูชา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าไม่ได้รับเชิญจากผู้จัดงานภาคประชาชน และไม่สนับสนุนการจัดงานครั้งนี้

Thida Khus ตัวแทนผู้จัดงานฝ่ายกัมพูชาระบุว่า ผู้จัดงานได้พยายามสื่อสารและเรียนเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว แต่ได้รับคำปฏิเสธว่าไม่ว่าง

สำหรับการจัดงานอาเซียนภาคประชาชนยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีเหตุติดขัด โดยกำหนดการเดิมจะมีการหารือจนได้ข้อเสนอต่อภาครัฐในวันที่ 1 มี.ค. นี้ อย่างไรก็ตามไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลกัมพูชาเข้าร่วม

โดยการประชุมครั้งนี้ ตัวแทนภาคประชาชนจากภูมิภาคอาเซียนจะร่วมแลกเปลี่ยนกันในหลายประเด็น อาทิเช่น ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่เป็นปัญหาร่วมของภูมืภาคนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามตะเข็บชายแดนที่แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานขาดทักษะ ซึ่งไม่มีอำนาจต่อรองเรื่องค่าแรง และลักษณะการจ้างงาน แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ปัญหาการถือครองที่ดินซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในภาคเกษตรที่ยากจน ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน และขาดความมั่นคงในการดำรงชีพขณะที่ต้องเผชิญกับการลงทุนและการพัฒนาของรัฐ

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อภิปราย "ปริศนาอุษาคเนย์: จุดกำเนิด ความเป็นการเมือง และพรมแดนวัฒนธรรม"

Posted: 28 Mar 2012 10:07 PM PDT

ไชยันต์ รัชชกูล ถามถึงการเป็นฮับของอาเซียน-รวมศูนย์แล้วจะเอายังไงกับการกระจายอำนาจ คนทั่วไปจะได้ประโยชน์ไหม ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ชำแหละแนวคิดอุษาคเนย์ศึกษา เรายังจะศึกษากันต่อไปไหม วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ เสนอศึกษาอุษาคเนย์ ไม่สนใจจีนไม่ได้

 

(28 มี.ค.55) ในการอภิปรายหัวข้อ "ปริศนาอุษาคเนย์: จุดกำเนิด ความเป็นการเมือง และพรมแดนวัฒนธรรม" ในการประชุมทางวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 "อาเซียน: ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้ง และความหวัง" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มี.ค.ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน)

ไชยันต์ รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า อาเซียนเหมือนพยายามสร้างอัตลักษณ์ใหม่ มีธงอาเซียน มีเพลงอาเซียน มีงานศึกษาเปรียบเทียบอาเซียนกับสหภาพยุโรป (อียู) จำนวนมาก มีการพูดถึงการเป็นเขตศุลกากรเดียวกัน (Custom union) ไปจนถึงการมีเงินตราสกุลเดียวทั้งภูมิภาค (Single currency) หรือการ regionalisation ซึ่งเขาตั้งคำถามว่า การทำเช่นนี้ จะขัดกันกับที่เคยโปรโมทแนวคิดท้องถิ่นภิวัตน์ (Localization) ในอดีตหรือไม่

ทั้งนี้ ไชยันต์ตั้งคำถามต่อว่า การเป็น Hub หรือศูนย์กลางต่างๆ เพื่อตอบสนองต่ออาเซียน เช่น ฮับของการรักษาพยาบาล การท่องเที่ยว การขนส่ง จะขัดกับแนวคิดการกระจายอำนาจของท้องถิ่นหรือไม่ และจะตอบสนองอะไรกับราษฎรตาดำๆ โดยยกตัวอย่างการเป็น Medical hub ว่า ขณะที่โรงพยาบาลบางแห่งเริ่มรับคนไข้จากประเทศอื่นเช่นตะวันออกกลาง รพ.ศิริราช มี รพ.รักษานอกเวลา ที่อุบลราชธานีก็มีรถรับคนไข้กระเป๋าหนักจากลาวมารักษา เช่นนี้แล้ว การเป็น hub จะมาแทนที่การแพทย์ชนบทหรือไม่ ประชาชนทั่วไปจะรับบริการได้หรือไม่ จะมีการกีดกันชาวพม่าบริเวณชายแดนแม่ฮ่องสอนไม่ให้มารักษาในโรงพยาบาลไทยหรือเปล่า

นอกจากนี้ ไชยันต์ยังพูดถึง ASEAN harmonisation หรือการปรับประสานกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน โดยยกตัวอย่างเรื่องยาสีฟันว่าแต่ละประเทศมีมาตรฐานไม่เหมือนกันว่าต้องมีปริมาณฟลูออไรด์เท่าไหร่ ขณะที่บริษัทที่ผลิตยาสีฟันก็ต้องการผลิตให้ขายได้ทุกประเทศในการผลิตครั้งเดียว ตั้งคำถามว่ามาตรฐานแบบนี้จะสอดคล้องกับแต่ละจุดในแต่ละประเทศไหม เฉพาะในประเทศไทย ค่าฟลูออไรด์ 0.5 PPM อาจโอเคในภาคอื่นๆ ยกเว้นภาคเหนือที่มีฟลูออไรท์ในปริมาณมาก ดังนั้น จะเห็นว่าแม้แต่ในประเทศเดียวกัน มาตรฐานยังไม่เท่ากัน เช่นนี้จะมี harmonisation ของสินค้าในอาเซียนอย่างไร

"กลัวว่าในนามของอาเซียนจะทำให้เราละเลยความสำคัญของท้องถิ่นและราษฎรพื้นฐาน" ไชยันต์กล่าว
 

เรายังต้องมีอุษาคเนย์ศึกษาต่อไปไหม
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาว่าด้วยการประกอบสร้างความเป็นอุษาคเนย์เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างมากในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่สหัสวรรษ ซึ่งน่าจะมีสาเหตุจาก หนึ่ง บริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอุษาคเนย์ปัจจุบันไม่เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการเมืองดังยุคสงครามเย็นอีกต่อไป สอง โลกเกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนข้ามวัฒนธรรม ข้ามชาติ ข้ามพรมแดน ที่ทวีความเข้มข้นขึ้น ก่อให้เกิดการพลัดที่ พลัดถิ่น และลูกผสมทางวัฒนธรรมทั่วโลก เกิดการตั้งคำถามต่อวิธีคิดการผูกความหมายของอัตลักษณ์และวัฒนธรรมเข้ากับถิ่นที่ และคำถามว่าอุษาคเนย์คืออะไร สาม กระแสคิดรื้อถอน ที่ไม่เพียงแต่ไม่เชื่อในการสร้างความรู้แบบสารัตถนิยมของสิ่งที่เรียกว่าภูมิภาค แต่ยังตั้งคำถามต่อการเมืองเรื่องการสร้างความรู้เกี่ยวกับอุษาคเนย์ด้วย เพราะมองกันว่าไม่เพียงแต่อุษาคเนย์จะไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง แต่ยังมีการเมืองเบื้องหลังการสร้างอุษาคเนย์ด้วย

ปิ่นแก้ว กล่าวต่อว่า เหล่านี้นำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงความจำเป็นต่อแนวทางแบบอาณาบริเวณศึกษาในการเข้าใจหน่วยที่ถูกเรียกว่า "อุษาคเนย์" หรือก็คือคำถามว่า เรายังต้องมีอุษาคเนย์ศึกษาอยู่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามสำคัญ เพราะอาเซียนตั้งอยู่บนอุษาคเนย์ ถ้าไม่มีอุษาคเนย์แล้วอาเซียนจะตั้งอยู่บนอะไร

ปิ่นแก้ว ชี้ว่า ในวงการวิชาการตะวันตก ปลาย ศต.20 อุษาคเนย์ไม่ใช่สิ่งที่ดึงดูดใจสำหรับนักวิชาการตะวันตกอีกต่อไป แต่ความสนใจกลับย้ายมาอยู่ในมือของนักบริหารในอาเซียน ภายใต้การส่เสริมวัฒนธรรมอาเซียนอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อสร้างปึกแผ่นของสิ่งที่เรียกว่าความเป็นอุษาคเนย์

ปิ่นแก้ว เล่าถึงข้อถกเถียงของนักวิชาการตะวันตกที่มีบทบาทสถาปนาอุษาคเนย์ศึกษาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น 2 สำนัก คือ Realist's view ซึ่งมองว่าอุษาคเนย์มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากที่อื่น กับกลุ่ม Constructionist's view ซึ่งมองว่าอุษาคเนย์เป็นสิ่งประดิษฐ์ด้วยฝีมือมนุษย์ จากความสนใจเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เพื่อแทนที่อำนาจรัฐอาณานิคมของยุโรป ดังนั้น อัตลักษณ์จึงสร้างขึ้นจากภายนอกและเปลี่ยนไป ตามบริบททางการเมือง

ทั้งนี้ หากจะดูว่าวิวาทะเหล่านี้เปิดมุมมองอะไร ปิ่นแก้วระบุว่า กลุ่มที่มองว่า อุษาคเนย์เป็นสิ่งที่มีมาอยู่แล้ว เป็นการมองแบบหน่วยปิด ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ เพราะแม้จะเน้นความแตกต่างจากภูมิภาคอื่น แต่ต้องไม่ลืมว่า อุษาคเนย์ไม่เคยเป็นหน่วยปิดทางประวัติศาสตร์ โดยเป็นทั้งประเทศนำเข้าและส่งออก ไม่ว่าภาษา ผู้คน พืช หรือวัฒนธรรม ขณะที่ข้อเสนอของฝ่ายประกอบสร้างก็มีปัญหา เพราะการประกอบสร้างย่อมมีพลวัตของมันเอง วาระการสร้างความรู้ย่อมไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามการเมืองที่สร้างวิชาการนั้นแต่เริ่มแรก พร้อมเสนอว่า การจะเข้าใจอุษาคเนย์ไม่ควรเริ่มต้นที่หน่วยพื้นที่หรืออัตลักษณ์ที่เชื่อว่าเกาะติดกับดินแดน แต่ควรค้นหาโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจระหว่างรัฐ ผู้คนและอำนาจภายนอก ที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย

ปิ่นแก้ว ตั้งคำถามกับแนวคิดแบบอาเซียนที่ว่า "หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม" ว่าเป็นอาเซียนเพื่อใคร

"อัตลักษณ์ร่วมแบบอาเซียน หรือวัฒนธรรมร่วมแบบอาเซียนซึ่งถูกโปรโมทกัน ประชาสัมพันธ์กันในที่สาธารณะ มัน arbitrary คือมันเป็นวัฒนธรรมอำเภอใจ วัฒนธรรมที่ depoliticize ไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่กำลังถูกคุกคาม ไม่เกี่ยวกับชาวกะเหรี่ยงที่ถูกป่าไม้ไล่เตะ" ปิ่นแก้วกล่าวและว่า วัฒนธรรมที่อาเซียนหยิบขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมอะไรก็ได้ที่ต้องปลอดพ้นการเมือง ถอดความเป็นการเมืองออกไป ถอดความเป็นวัฒนธรรมในชีวิตจริงที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ไม่ตอบสนองต่อปัญหาที่แท้จริงของวัฒนธรรมประชาชน ไม่ว่าสิทธิทางวัฒนธรรม ชนกลุ่มน้อย

ปิ่นแก้ว ย้ำว่า อุษาคเนย์ไม่ใช่อาเซียน และอาเซียนก็ไม่ใช่อุษาคเนย์ อาเซียนเป็นการรวมตัวของชนชั้นนำตั้งแต่ปลายยุคการต่อสู้กับรัฐอาณานิคม เพราะความจำเป็นทางการเมือง และอยู่ได้จนปัจจุบันเพราะผลประโยชน์เฉพาะหน้า อย่าทึกทักเอาว่าเป็นเพราะมีอัตลักษณ์ร่วมกัน

 

มุมมองจากจีนที่หายไปในการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้าน วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อัตลักษณ์ที่ทุกชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีร่วมกันคือความเป็นจีน เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่รองรับชาวจีนโพ้นทะเลมากที่สุดในโลก แต่กลับไม่ค่อยเห็นการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมุมมองจากจีน

วาสนา ชี้ว่า การที่เราละเลยมุมมองจากจีนหรือมุมมองเรื่องจีนโพ้นทะเล อาจทำให้เราละเลยอัตลักษณ์หรือความเป็นจริงที่สำคัญอย่างหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไป พร้อมยกตัวอย่างการศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องการทำป่าไม้ในไทยกับพม่าของนักวิชาการท่านหนึ่ง ซึ่งศึกษาจากเอกสารของอังกฤษ ที่ระบุว่าอังกฤษเข้ามาทำไม้ในสยาม ขณะที่ในเอกสารของจีนระบุว่าจีนควบคุมการทำไม้ในสยาม ซึ่งนั่นมาจากการที่คนจีนที่ทำโรงเลื่อยเป็นคนจีนในบังคับของอังกฤษ เราจะไม่เห็นภาพนี้ ถ้าไม่ดูเอกสารของจีน

วาสนา กล่าวต่อว่า แม้ในปัจจุบันที่เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เราก็ยังต้องใส่ใจจีน เพราะอาเซียนขณะนี้ไม่ใช่เพียงแค่อาเซียน แต่ยัง +3 มีจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งประเทศที่จะมาพัฒนาสาธารณูปโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือจีน นอกจากนี้ จีนยังมาแรงถึงขนาดที่มีคำกล่าวว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของจีน และประชากรเชื้อสายจีนในประเทศต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

"เราคุยกันเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยที่เรา ignore จีน มันเป็นปัญหาใหญ่มาก เราเปรียบเทียบกับอียูตลอดเวลา เราเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาตลอดเวลา เราเรียกร้องสิทธิมนุษยชน เราเรียกร้องความเท่าเทียมกัน เราเรียกร้องประชาธิปไตย ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลมาก และกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคนี้ ไม่มีประชาธิปไตย ไม่สนใจสิทธิมนุษยชน แล้วก็ไม่มีการแบประวัติศาสตร์ของตัวเองแลกเปลี่ยนกันใดๆ ทั้งสิ้น...ไม่มี และนี่คือศตวรรษจีน ศตวรรณที่ 21 เราจะทำอย่างไร คือ เราไม่ควรจะคุยเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยที่เราละเลยในส่วนนี้ ทั้งแง่มุมประวัติศาสตร์และแง่มุมของโลกปัจจุบันนี้ด้วย" วาสนากล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ผบ.กองทัพพม่ายืนยัน “ตั๊ดมาดอ” จะยังคงมีบทบาททางการเมือง

Posted: 28 Mar 2012 09:50 PM PDT

ผู้บัญชาการกองทัพพม่ากล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันครบรอบ 67 ปีการก่อตั้งกองทัพพม่าว่า กองทัพจะยังดำรงบทบาททางการเมืองเหมือนที่เคยทำมาในอดีต จะปกป้องรัฐธรรมนูญ แต่พร้อมจะสนับสนุนการทำงานรัฐบาล และพร้อมปฏิบัติตามผลการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลและกองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์

การสวนสนามของทหารพม่า เนื่องในวันกองทัพพม่าปีที่ 67 ที่กรุงเนปิดอว์ (ที่มา: MRTV)

หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับวันที่ 28 มี.ค. รายงานข่าวการสวนสนามเนื่องในวันกองทัพพม่าปีที่ 67 พาดหัวว่า “เพื่อขีดความสามารถในการป้องกัน รัฐ ประชาชน และตั๊ดมาดอ (กองทัพ) จะต้องร่วมมือกัน ตั๊ดมาดอว์จะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสร้างรัฐอุตสาหกรรม”

ภาพจากหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ฉบับ 28 มี.ค. เป็นภาพ พล.อ.มิ้น อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่า กำลังตรวจแถวทหารระหว่างพิธีสวนสนามเพื่อรำลึกวันกองทัพพม่าปีที่ 67 เมื่อ 27 มี.ค. 55 (ที่มา: นิวไลท์ออฟเมียนมาร์, 28 มี.ค. 55)

ผู้บัญชาการกองทัพพม่า พล.อ.มิ้น อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) กล่าวสุนทรพจน์ในวันกองทัพพม่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าจะปกป้องบทบาททางการเมืองที่ดำเนินมาอย่างยาวนานของกองทัพพม่า

ในการกล่าวสุนทรพจน์ระหว่างการสวนสนามของกองทัพพม่า ที่กรุงเนปิดอว์เมื่อ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ฉบับวันที่ 28 มี.ค. 55 รายงานว่า พล.อ.มิ้น อ่อง หล่าย กล่าวตอนหนึ่งว่า กองทัพมีหน้าที่จะต้องปกป้องรัฐธรรมนูญและจะมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างที่กองทัพพม่าหรือ “ตั๊ดมาดอ” (Tatmadaw) เคยทำมาในอดีต

เขาเน้นย้ำด้วยว่า กองทัพจะต้องพยายามบรรลุเป้าหมายของตน ด้วยการมีความรอบรู้การทหาร การเมือง เศรษฐกิจ และการบริหารรัฐกิจ เพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพของดินแดน น่านน้ำ และน่านฟ้า

เขากล่าวด้วยว่าในขณะที่ประเทศกำลังก้าวไปสู่ระบบใหม่ที่ทันสมัย กองทัพพม่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ ตามที่ระบุในวัตถุประสงค์ 4 ข้อของการจัดงานวันกองทัพปีที่ 67 คือ หนึ่ง ยึดหลักสามประการคือ ไม่ทำให้สหภาพแตกสลาย ไม่ทำให้ความสามัคคีของชาติแตกสลาย และทำให้มีอธิปไตยถาวร สอง บทบาทของกองทัพในการเมืองของชาติ ที่จะต้องมีจิตวิญญาณแห่งสหภาพ และความรักชาติอย่างแท้จริง สาม ปกป้องรัฐธรรมนูญ อันเป็นหน้าที่หลักของกองทัพในการสร้างชาติที่ทันสมัย พัฒนา และเป็นประชาธิปไตย และสี่ เพื่อสร้างกองทัพที่เข้มแข็ง แข่งขัน ทันสมัย รักชาติ เพื่อปกป้องเอกราชและอธิปไตยของชาติ

สำหรับวันกองทัพพม่า ตรงกับวันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี เพื่อรำลึกการต่อต้านทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในปีนี้ถือเป็นการรำลึกเป็นปีที่ 67

ทั้งนี้ พล.อ.มิ้น อ่อง หล่ายย ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพพม่าต่อจาก พล.อ.อาวุโสตานฉ่วยเมื่อปีที่แล้ว ภายหลังจากที่ พล.อ.อาวุโสตานฉ่วย ถ่ายโอนอำนาจไปยังรัฐบาลพลเรือนที่เป็นตัวแทนของกองทัพ

สำนักข่าวอิระวดี ยังรายงานด้วยว่า กองทัพพม่าภายใต้การนำของ พล.อ.มิ้น อ่อง หล่าย ถูกสงสัยว่าต่อต้านแผนการปฏิรูปประชาธิปไตยของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง อย่างไรก็ตามเขาได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยช่วงหนึ่งของสุนทรพจน์เขากล่าวว่า “ขณะที่ประเทศกำลังก้าวไปสู่ประชาธิปไตย ตั๊ดมาดอจะสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล”

เขากล่าวด้วยว่ากองทัพกำลังปฏิบัติตามผลการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลและกองทัพของชนชาติต่างๆ ในพม่า

ทั้งนี้กองทัพพม่าถูกกล่าวหาว่าเพิกเฉยต่อคำสั่งของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่สั่งให้หยุดยิงกับกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของพม่า

กองทัพพม่ามีกำลังพลประจำการราว 400,000 นายโดยภายใต้รัฐธรรมนูญพม่าปี 2551 กำหนดให้กองทัพพม่ามีเขตอำนาจศาลของตัวเองและเป็นอิสระจากศาลพลเรือน นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังกำหนดโควตาให้กองทัพพม่าแต่งตั้งคนในกองทัพเข้าไปนั่งในสภาแห่งชาติ และสภาท้องถิ่น ได้ร้อยละ 25 จากจำนวนทั้งหมด มีผลทำให้กองทัพมีอำนาจในการใช้สิทธิวีโต้ หรือลงมติยับยั้งในญัตติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งต้องการมติเห็นชอบมากกว่าร้อยละ 75

โดยการตัดสินใจทางนโยบายทั้งหมดของรัฐบาล เชื่อว่ามาจากการกำหนดโดยสมาชิก 11 คนในสภาความมั่นคงและการป้องกันประเทศ (National Defense and Security Council) ซึ่งนับเป็นองค์คณะที่มีอำนาจสูงสุด โดยในสภาดังกล่าวมีผู้บัญชาการกองทัพพม่า รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และนายทหารอาวุโสอีก 3 นายรวมอยู่ด้วย

อิระวดี ยังอ้างอิงแหล่งข่าวที่ระบุว่า นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดี ซึ่งคาดหมายว่าจะชนะการเลือกตั้งซ่อมในวันอาทิตย์นี้ เตรียมยื่นญัตติในสภาขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดทอนบทบาทของกองทัพในทางการเมืองลง

 

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

To possess high defence power, State, people & Tatmadaw will have to join hands, New Light of Myanmar, 28 March 2012

Burmese Army Chief Defends Political Role, By BA KAUNG / THE IRRAWADDY, Tuesday, March 27, 2012

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พะเยาว์ อัคฮาด

Posted: 28 Mar 2012 08:38 PM PDT

ขอให้ไปสอบถาม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะกรรมปรองดองแห่งชาติ ว่าจะปรองดองไปเพื่ออะไร ในเมื่อยังหาคนที่มายิงประชาชนเสียชีวิตมากมายไม่ได้

มติชนออนไลน์, 28 มี.ค. 55

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น