โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

พลังงานผวาไฟฟ้าขาด เร่งเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชน 6 พันเมกะวัตต์

Posted: 05 Apr 2012 03:33 PM PDT

กระทรวงพลังงาน เตรียมเปิดประมูล "ไอพีพี" รอบใหม่ 6,000 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564 ทดแทนลดโรงไฟฟ้าถ่านหินจากแผนเดิม 50% ชะลอนิวเคลียร์ 6 ปี

 
เว็บไซต์ suthichaiyoon.com รายงานว่า นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 จะมีการเปิดประมูลให้เอกชนผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเป็นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งแผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ จะนำเข้าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาในเร็วนี้
 
อย่างไรก็ตาม การกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยเพิ่มพลังอื่นมากขึ้นนั้น เขากล่าวว่ายังเห็นว่ามีความสำคัญ เพราะปัจจุบัน ไทยผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติกว่า 70% ขณะที่ถ่านหินมีการพัฒนาเทคโนโลยีช่วยควบคุมการปล่อยมลภาวะไปได้มาก ดังนั้นจึงเห็นว่าจำเป็นต้องผลักดันให้มีการใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
 
“ตอนนี้มีบางพื้นที่ ก็สนับสนุนให้พัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะมีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีที่ช่วยลดมลภาวะ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับจดหมายจากกำนันผู้ใหญ่บ้าน พร้อมรายชื่อชาวบ้าน ใน จ.กระบี่ หลายสิบคน ที่ต้องการให้พัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้ากระบี่ที่ใช้น้ำมันเตาในปัจจุบัน และเป็นโรงไฟฟ้าที่ปลดระวางแล้ว ซึ่งเห็นว่าเมื่อมีคนในพื้นที่สนับสนุนอย่างนี้ จึงต้องเร่งสร้างระบบจัดสรรผลประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างชัดเจน เพื่อนำรายได้จากการขายไฟฟ้ามาพัฒนาชุมชน และต่อไปเมื่อชุมชนมีเงินมากขึ้น ก็จะเปิดโอกาสให้เข้ามาถือหุ้นในโรงไฟฟ้าได้เลย เพื่อทำให้ชุมชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าอย่างแท้จริง ซึ่งกระบี่และพื้นที่อื่นๆ จะต้องใช้โมเดลนี้ทั้งหมดในอนาคต ส่วนนิวเคลียร์นั้น คาดว่าคงจะต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจไปก่อน”
 
 
เผยเปิดประมูล 6 พันเมกะวัตต์
 
แหล่งข่าว จาก กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับแผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 จะมีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ ไอพีพี ประมาณ 5,000 - 6,000 เมกะวัตต์ เพื่อให้เข้าระบบในปี 2564 เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซฯ กระจายตามพื้นที่แนวท่อส่งก๊าซฯ ที่กำลังขยายโครงข่ายไปทั่วประเทศ
 
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าก๊าซฯ ที่เพิ่มขึ้น เพื่อมาแทนที่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปรับลดลง และนิวเคลียร์ที่เลื่อนเขาระบบออกไป 6 ปี ในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำหนดในแผนพีดีพี ปรับปรุงครั้งที่ 3 ปรับลดลงกว่า 50% เหลือ 5 โรง รวมประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเข้าระบบในปี 2562 เป็นต้นไปจนถึงสิ้นสุดแผนในปี 2573
 
 
ชี้ภาคใต้จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม
 
สำหรับสิ่ง ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงในเวลานี้ คือ โรงไฟฟ้าในภาคใต้ที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้เติบโตใกล้เคียงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากการขยายตัวของการท่องเที่ยว และภาคธุรกิจที่มาพร้อมกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรือเฉลี่ยโตปีละประมาณ 5 % หรือมีความต้องการ 2,000 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 2,000 เมกะวัตต์เช่นเดียวกัน
 
ขณะนี้ โรงไฟฟ้าที่ป้อนในพื้นที่ภาคใต้เป็นแหล่งพลังงานหลักมาจากโรงไฟฟ้าจะนะ ขนาด 700 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนอม กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำรวมอีก 500 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันต้องดึงไฟฟ้าจากภาคกลางและตะวันออกมาช่วยเสริม ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าขนอมจะต้องปลดจากระบบในปี 2559
 
ดังนั้น กำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้จำเป็นต้องขยายเพิ่ม โดยใช้พื้นที่โรงไฟฟ้ากระบี่ที่ปลดระวางแล้ว ซึ่งล่าสุดโรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้น้ำมันเตา จากก่อนหน้านี้ใช้ลิกไนต์ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ขนาด 800 เมกะวัตต์ที่นี่ และใช้ลิกไนต์จากเดิมมีกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์
 
ส่วนโรง ไฟฟ้าขนอม ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ที่ต้องปลดออกจากระบบในปี 2559 ล่าสุดกระทรวงพลังงานจะให้ใช้พื้นที่เดิมพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่รองรับก๊าซฯ จากอ่าวไทยอยู่แล้ว และมีระบบสายส่งรองรับ ประกอบกับเป็นโรงไฟฟ้าที่จะสามารถผลิตรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ได้ เร็วที่สุด
 
อย่างไรก็ ตาม โรงไฟฟ้าเหล่านี้เข้ามาแทนที่กำลังผลิตเดิมเท่านั้น ไม่ได้รองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในภาคใต้ ดังนั้นยังจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มในภาคใต้อยู่ต่อไป ซึ่งในพื้นที่นี้ ตามแผนให้ กฟผ.พัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่หากทำไม่ได้ตามแผน ก็ต้องปรับให้สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่เดินเครื่องด้วยดีเซลหรือน้ำมันเตาแทน ส่วนต้นทุนที่สูงขึ้นจะเป็นต้นทุนรวมของระบบ
 
 
ราชบุรีโฮลดิ้งพร้อมร่วมประมูล
 
นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าหากกระทรวงพลังงานเปิดประมูลไอพีพีรอบใหม่ ทางบริษัทก็มีความพร้อมในการเข้าประมูลประมาณ 800 เมกะวัตต์ เนื่องจากที่ตั้งโรงไฟฟ้าราชบุรีในปัจจุบันมีพื้นที่กว่า 2,015 ไร่ หรือกว่า 50% ที่ยังไม่ได้ใช้งาน ขณะเดียวกันมีความพร้อมในเรื่องสายส่งและมีความได้เปรียบ เนื่องจากโรงไฟฟ้าราชบุรีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนรอบข้างอยู่แล้ว
 
"การสร้างโรงไฟฟ้าในปัจจุบันเป็นเรื่องยาก และใช้เวลามากขึ้น ซึ่งหากเปิดประกาศในวันนี้ กว่าขั้นตอนจะแล้วเสร็จต้องใช้เวลากว่า 2 ปี หรือรวม 10 ปีกว่าจะผลิตได้เชิงพาณิชย์"
 
เขากล่าวว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าก็เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเห็นว่าภาครัฐจะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้ารองรับ ความต้องการในอนาคต ซึ่งมองว่าการสร้างในพื้นที่เดิมจะได้เปรียบมากกว่าหาพื้นที่ใหม่ ส่วนเรื่องมวลชนนั้นจะต้องพยายามเข้าหาชุมชนและพูดคุยเพื่อให้ทราบว่าชุมชน มีความกังวลในเรื่องใดบ้าง เพื่อหาแนวทางลงตัวของทั้งสองฝ่าย โดยโรงไฟฟ้าราชบุรีมีความพร้อมมากทั้งฐานะการเงินที่ดี สามารถกู้ได้ 2 หมื่นล้านบาท
 
 
โกลว์กรุ๊ปชี้เปิดประมูลสัญญาต้องชัด
 
นายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ โกลว์กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลไอพีพีครั้งนี้อย่างแน่นอน โดยในการประมูล 2 รอบที่ผ่านมา บริษัทชนะการประมูลโรงไฟฟ้าก๊าซและถ่านหิน 2 สัญญา ขนาดกำลังผลิต 713 เมกะวัตต์ ที่ อ.บ่อวิน จ.ชลบุรี และที่มาบตาพุด 660 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเร็วนี้
 
ไอพีพี ถือเป็นธุรกิจหลักของบริษัท สร้างรายได้ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งการประมูลรอบนี้ มองว่าภาครัฐน่าจะกระจายเชื้อเพลิงที่หลากหลาย ทั้งก๊าซและถ่านหิน เนื่องจากถ่านหินต้นทุนต่ำและมีสำรองถ่านหินทั่วโลกกว่า 100 ปี
 
ขณะที่ก๊าซธรรมชาติมีข้อจำกัด โดยปัจจุบันไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่การผลิตไฟฟ้าก็ต้องพึ่งพาก๊าซถึง 70% ดังนั้น เพื่อความมั่นคงในระยะยาว การประมูลในรอบนี้ควรจะกระจายเชื้อเพลิง
 
"หลักเกณฑ์ในการพิจารณาผู้ที่สมควรได้รับ การพิจารณา ควรดูประวัติและผลงานที่ผ่านมาด้วยว่าสามารถดูแลพื้นที่ ดูแลชุมชนหรืออยู่ร่วมกับชุมชนอย่างไร และเกิดการต่อต้านจากชุมชนหรือไม่ โดยส่วนตัวแล้วมองว่ากรอบสัญญาไอพีพี ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และผู้ผลิตถือว่ามีความชัดเจนและโปร่งใส เป็นที่ยอมรับ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมประมูลหลายราย"
 
เขากล่าวว่า ประเด็นอยู่ที่มีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้การประมูลไม่สามารถเดินหน้าได้ และต้องเจรจาเป็นรายกรณี ซึ่งยังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น รัฐต้องยึดตามกรอบสัญญาให้ชัดเจน กรณีเหตุสุดวิสัยที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงสัญญาได้ ควรมีหลักเกณฑ์อย่างไร แต่หากมีการต่อต้านจากมวลชนหรือความเสี่ยงใดๆ ให้รัฐเป็นผู้ออก
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อุดรูรั่วพลังงานชีวมวล (1) : ตอบโจทย์ปัญหานโยบายพลังงานทางเลือก เพื่อไปต่อ

Posted: 05 Apr 2012 12:49 PM PDT

ความท้าทายในการอยู่ร่วมกันของ “โรงไฟฟ้า” กับ “ชุมชน” จากคำยืนยันของนักวิชาการที่ว่าทรัพยากรชีวมวลไทยศักยภาพสูง แต่ไม่ใช่เรื่องต้องเร่งรีบ สู่ข้อเสนอเพื่อเดินหน้าต่อ ขณะที่นักกฎหมายชี้ช่องสะท้อนปัญหาที่เกิดในพื้นที่ เพื่อการแก้ไขกฎระเบียบ
 
 
 
ต่อคำถามถึงทิศทางพลังงานชีวมวลไทยว่าจะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไรดี เมื่อการส่งเสริม “โรงไฟฟ้าชีวมวล” กลายเป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่โครงการต้องเผชิญหน้ากับฝุ่นละออง การแย่งชิงน้ำ ความขัดแย้งในชุมชน ความเครียด และความกังวลกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น หากต้องการให้พลังงานทางเลือกกลายเป็นทางรอดได้ ความผิดพลาดที่ต้องเร่งแก้ไขเหล่านี้ควรอยู่ที่นโยบาย กฎหมาย หรือตัวโรงงาน
 
วันที่ 3 เม.ย.55 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดอภิปรายหัวข้อ “อุดรูรั่วพลังงานชีวมวล” ส่วนหนึ่งในการสัมมนา “ผลกระทบต่อสุขภาพจากนโยบายพลังงานชีวมวล” ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามา การ์เด้น กรุงเทพมหานคร โดยมีประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลกว่า 8 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ ร้อยเอ็ด ยะลา สุรินทร์ เชียงราย สระแก้ว ปราจีนบุรี อุบลราชธานี ตาก ร่วมแสดงความเห็น
 
 
ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยด้านพลังงาน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพลังงาน เมื่อเดือนกันยายน 2554 ระบุตัวเลขโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งที่อยู่ในกระบวนการเริ่มต้นพิจารณา มีการตอบรับจากรัฐแล้ว และมีการลงนามในสัญญาแล้วรวมทั้งหมดจำนวนทั้งสิ้น 306 โครงการทั่วประเทศ โดยเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) คือกำลังการผลิตน้อยกว่า 10 เมกะวัตต์ ซึ่งการก่อสร้างไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีถึง 297 โครงการ ซึ่งตรงนี้เป็นโครงการส่วนใหญ่ที่มีปัญหากับชุมชนในขณะนี้
 
ศุภกิจ กล่าวต่อมาถึงข้อเสนออุดรูรั่วพลังงานชีวมวล 3 เรื่อง คือ (1) เรื่องการเลือกที่ตั้งโรงไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันเอกชนเลือกได้ตามที่เห็นเหมาะสม ตรงนี้คิดว่าต้องแก้โดยการมีกรอบแนวทางก่อน คือให้มีผังเมืองบังคับใช้ก่อนตัดสินใจโครงการ โดยโครงการที่จะเข้ามาสร้างในพื้นที่ต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดในร่างผังเมือง หากยังไม่มีผังเมืองบังคับใช้ อย่างน้อยก็ให้นำร่างการใช้ประโยชน์ที่ดินมาพิจารณา 
 
(2) เรื่องพื้นที่ที่เหมาะสม ในรายละเอียดต้องกำหนดระยะห่างเป็นข้อกำหนด-กฎระเบียบที่ชัดเจนก่อน เช่น ระยะห่างจากบ้านเรือนประชาชนอย่างน้อยเท่าไหร่ อาจกำหนดตามขนาดของโครงการ ซึ่งปัจจุบันไม่มีตรงนี้จึงพบกรณีที่โครงการอยู่ชิดบ้านชาวบ้าน โดยห่างเพียง 10 เมตร
 
(3) เรื่องการประเมินผลกระทบ ข้อเสนอคือให้ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทุกโครงการ และต้องมีการตรวจสอบโดยสาธารณะ ซึ่งการดำเนินการตั้งไว้ 2 ทางเลือก คือ 1.ปรับข้อกำหนดเรื่อง EIA จากตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน ให้เป็น 1 เมกะวัตต์ ขึ้นไปต้องทำ EIA ทุกโครงการ ซึ่งโครงการขนาดเล็กมีความซับซ้อนน้อยก็ใช้เวลาน้อย ควรปรับให้ชัดเพื่อลดผลกระทบต่อสาธารณะ 2.หากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไม่ปรับเรื่องข้อกำหนด EIA ด้วยเหตุผลว่าตามข้อกำหนดเดิมมีโครงการ 9.9 เมกะวัตต์เกิดขึ้นนับ 100 โครงการแล้ว ก็ให้สังคมกำหนดแนวทางร่วมกัน โดยประชาชน เจ้าของโครงการ หน่วยงานรัฐ มาตกลงกันว่าแนวทางการประเมินผลกระทบสำหรับทุกโครงการควรเป็นอย่างไร ที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับและเดินหน้าไปด้วยกันได้
 
ส่วนช่องทางบังคับใช้ ทั้ง 3 เรื่อง แบ่งเป็น 3 ช่องทาง คือ 1.คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องช่วยกันเสนอการปรับปรุงระเบียบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน รวมทั้งการหยุดและเพิกถอนใบอนุญาตฯ ให้นำเรืองเหล่านี้เข้าไปด้วยตามอำนาจ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน 2.กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยเสนอการปรับปรุงระเบียบการพิจารณาอนุญาตโรงงาน ซึ่งปัจจุบันข้อกำหนดเรื่องระยะห่างอยู่ภายใต้อำนาจกรมโรงงานอุตสาหกรรม 
 
และ 3.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 กำหนดให้โรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นกิจการที่อาจเป็นอันตราย แล้วออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการขออนุญาตและติดตามตรวจสอบโครงการได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีองค์กรปกครองท้องถิ่นใดใช้ช่องทางนี้
 

ทรัพยากรพลังงานชีวมวลศักยภาพสูง ความท้าทายเพื่อการอยู่ร่วมกันได้จริง
 
ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า ในนโยบายพลังงานโดยรวม เรายังมีศักยภาพพลังงานชีวมวลอีกจำนวนมาก ตรงนี้กระทรวงพลังงานจึงมีการปรับแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ฉบับล่าสุดที่ออกในปี 2554 โดยปรับเพิ่มเป้าหมายจากเดิมใน 15 ปี (2551-2565) 5,600 เมกะวัตต์ เป็น 9,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564 ซึ่งหากดูในส่วนชีวะมวลจะพบว่าลดลงเล็กน้อยจากเป้าหมาย 3,700 เมกะวัตต์ เหลือ 3,630 เมกะวัตต์
 
 
ยกตัวอย่างมาตรการสำคัญในแผนที่เพิ่งออกมา อาทิ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมผลิตอย่างกว้างขวาง กำหนดมาตรการสนับสนุนสำหรับชุมชนโดยเฉพาะ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมรณรงค์ให้ความรู้ พัฒนาเทคโนโลยี Gasification เพื่อกังหันแก๊ส (Gas Turbine) และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการพลังงานชีวมวล 
 
“เวลาที่เราพูดถึงโรงงานไฟฟ้าชีวมวลระดับชุมชน ชุมชนนึกไม่ออก เพราะว่ามันไม่เกิดสักที มันมีแต่เอกชนพัฒนามา 300 กว่าโครงการแล้ว” ศุภกิจกล่าวถึงสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 
 
นักวิจัยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวต่อมาถึงแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ซึ่งระบุเรื่องการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมเรียนรู้ โดยเสนอให้ลองตั้งเป้าหมายให้มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในระดับจังหวัดก่อนที่จะมีความขัดแย้งจากโครงการจะเป็นไปได้หรือไม่ หรือในพื้นที่ที่ไม่ต้องพูดถึงโครงการ ให้ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน หน่วยราชการ และภาควิชาการ มาร่วมกันพิจารณาว่าพลังงานชีวมวลสามารถเป็นทางเลือกหนึ่งในระดับจังหวัดได้หรือไม่ หรือมีศักยภาพทางพลังงานในด้านต่างๆ อย่างไร แล้วทำเป็นแผนของจังหวัด ก่อนไปพิจารณาว่าจะรับโครงการต่างๆ ที่จะเข้ามาหรือไม่
 


แนะมาตรการหนุน “โรงไฟฟ้าชุมชน” พร้อมย้ำชีวมวลไม่ใช่เรื่องเร่งรีบ 
 
สำหรับข้อเสนอต่อมาตรการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน ศุภกิจ กล่าวว่า 1.เรื่องส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ขณะนี้มีให้เพียงไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบเท่านั้น ไม่มีสำหรับไฟฟ้าชุมชน เพราะฉะนั้นจากการที่กระทรวงพลังงานระบุไว้เรื่องการเร่งกำหนดมาตรการสนับสนุนโครงการระดับชุมชนเป็นการเฉพาะจะดำเนินการได้ไหม 2.มาตรการเงินสนับสนุนที่มีการเปลี่ยนแปลงตามการตัดสินใจของรัฐบาล ทำให้เอกชนที่พัฒนาโครงการมีความเสี่ยง ดังนั้นการเปลี่ยนอัตราสนับสนุนควรมีระบบที่ชัดเจน เช่น ตามอัตราการเรียนรู้และการลดลงของต้นทุน เอกชนจะได้คิดถึงโครงการอีกแบบหนึ่งได้
 
3.ปัจจุบันส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าขึ้นกับวันที่ยื่นใบสมัคร แทนที่จะกำหนดจากวันที่เริ่มผลิตไฟฟ้า เมื่อประกอบกับข้อ 2 ส่วนหนึ่งจึงกลายเป็นกรอบที่ทำให้เอกชนที่สนใจทำพลังงานชีวมวล เร่งพัฒนาโครงการไปก่อน โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน แทนที่จะมีความคิดไปพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับชุมชนโดยใช้่เวลาอีก 5 ปี ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงหลายเรื่อง ดังนั้นจึงมีการปรับให้กำหนดจากวันที่เริ่มผลิตไฟฟ้า
 
“เรามีเวลา เราไม่ได้เร่ง เรื่องไฟฟ้าประเทศยังไม่ได้ขาด เรามีเวลาที่จะพัฒนา จะอุดรูรั่ว จะหาทางออกร่วมกันว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง อันนี้เป็นข้อเท็จจริงจากข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยว่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นจริงมันต่ำกว่าที่พยากรณ์และเตรียมการไว้ในแผน ปีทีแล้วก็ต่ำไป 668 เมกะวัตต์ เพราะฉะนั้นเรายังคงมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเหลืออยู่ เราไม่ได้ต้องเร่งโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นมา” 
 
 

ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาพสะท้อนปัญหากระบวนการบังคับใช้กฎหมาย
 
ด้านสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ นักกฎหมายโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม สรุปปัญหาของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ปรากฏในปัจจุบันจากมุมมองด้านกฎหมายว่า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนโรงไฟฟ้าเริ่มดำเนินการ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในหลายพื้นที่ในเรื่องการมองความเหมาะสมของพื้นที่ที่ต่างกัน โดยชาวบ้านมองว่าที่ริมน้ำเหมาะสมกับการเกษตร แต่เอกชนมองว่าเหมาะทำอุตสาหกรรม ในขณะที่หน่วยงานรัฐเห็นพ้องตามเอกชนทำให้ออกใบอนุญาตได้ เพราะคนกลางที่มีหน้าที่ชี้ขาดคือหน่วยงานรัฐ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามข้อกำหนดเรื่องพื้นที่ที่เหมาะสมนี้ตามกฎหมายแล้วมีเพื่อคุ้มครองเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ต้องการระบุว่ามีความเหมาะสมกับทางเศรษฐกิจหรือการขนส่ง 
 
สำหรับการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีปัญหา เพราะในหลายพื้นที่แม้มีการเปิดรับฟังความเห็น และชาวบ้านมีความเห็นคัดค้านโครงการ แต่หน่วยงานของรัฐก็ยังสรุปความเห็นว่าเหมาะสมแก่การสร้างอยู่ดี โดยให้ความเห็นว่าข้อทักท้วงของคนในพื้นที่แก้ไขได้ ทำให้เดินหน้าต่อในการให้ใบอนุญาต ทั้งที่หากพิจารณาว่าเหตุผลของคนในพื้นที่รับฟังได้ก็สามารถให้ระงับการก่อสร้างในพื้นที่ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
 
ส่วนที่ 2. ปัญหาเมื่อโรงไฟฟ้าเปิดดำเนินการแล้ว ที่พบมากคือการไม่ดำเนินการตามสัญญาประชาคมหรือสิ่งที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชน เมื่อโครงการเดินหน้าจึงก่อให้เกิดผลกระทบขึ้น ตรงนี้ส่วนตัวเห็นว่าเป็นหน้าที่หลักของหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้ให้ใบอนุญาตและกำหนดให้มีมาตรการลดผลกระทบต้องตรวจสอบ ควบคุม เพื่อให้เกิดผลบังคับให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเมื่อมีการร้องเรียนของประชาชน กรณีที่หน่วยงานรัฐจะเข้ามาแก้ไขมีน้อย และส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่มีผลกระทบชัดเจน ตรงนี้คือปัญหาเรื่องการบังคับใช้
 
ชาวบ้านถ่ายรูปหมู่หน้าศาลปกครอง ในวันที่ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว หยุดโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเชียงราย
อ่านเนื้อหา: http://prachatai.com/journal/2011/09/36799

 

ชี้ช่องสะท้อนจากปัญหาที่เกิดในพื้นที่ สู่การแก้ไขกฎระเบียบ
 
“ผมคิดว่ากฎหมายสมควรจะเป็นจำเลย เพราะถ้าเราดู ที่เราต่อสู้ในกติกาที่มันเป็นอยู่ กติกาที่ไม่เป็นธรรมต่อสู้อย่างไรชาวบ้านก็ต้องแพ้ เพราะฉะนั้นเราจะไม่พูดเรื่องกฎหมายไม่ได้” สงกรานต์ กล่าวและว่าที่ผ่านมาอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐคือกฎหมาย ดังนั้นเพื่อปลดล็อคจึงต้องแก้กฎหมาย
 
นักกฎหมายโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หากมองปัญหาจริงๆ จากมุมมองของกฎหมาย อันดับแรก เขาคิดว่ากฎเกณฑ์กฎระเบียบของหน่วยงานรัฐที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบันมีปัญหา ซึ่งควรต้องแก้ไข เช่น กฎเกณฑ์ที่กำหนดให้ทำหรือไม่ทำ EIA การที่ไม่มีข้อกำหนดระยะห่างโครงการกับชุมชน และการเปิดช่องให้มีการพิจารณาโดยใช้ดุลยพินิจของผู้อนุมัติอนุญาตที่กว้าง ส่วนการแก้ปัญหาโดยการแก้กฎหมายนั้นทำได้ และกฎหมายเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวลแก้ได้ง่าย เพราะเป็นกฎหมายในระดับรองคือเป็นกฎกระทรวงซึ่งในระดับคณะรัฐมนตรีออกกฎหมายได้ ไม่จำเป็นต้องผ่านสภา 
 
นอกจากนี้ โดยส่วนตัวเขามีข้อเสนอต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ให้มีการจัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าวให้มีความชัดเจน โดยสะท้อนจากปัญหาที่เกิดจากโรงไฟฟ้าหลายๆ แห่ง ในหลายๆ พื้นที่ ว่าจะต้องมีการแก้ไขเรื่องดังกล่าว แล้วก็ทำการติดตาม หากคำตอบไม่มีเหตุผลเพียงพอก็อาจต้องใช้มาตรการทางสังคมกดดันเพิ่มเติม เพราะหลายพื้นที่เห็นตรงกันว่ากฎเกณฑ์มีปัญหา ก็ต้องแก้
 
ส่วนการแก้ปัญหาในระดับการบังคับใช้ สงกรานต์ กล่าวว่าในหลายพื้นที่มีการฟ้องคดีไปที่ศาลยุติธรรมและศาลปกครอง และคาดว่าคดีส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการพิจารณา อีกส่วนหนึ่งศาลได้ยกฟ้องไปแล้ว พร้อมยกตัวอย่างกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลเชียงราย ที่ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งตรงนี้จำเป็นมาก เพราะการพิจารณาคดีของศาลใช้เวลา 5 ปี ในระยะเวลานี้โรงไฟฟ้าสามารถดำเนินได้จนกระทั่งปล่อยมลพิษออกมา หากมาตรการคุ้มครองชั่วคราวไม่ถูกบังคับใช้ ผลของคดีจะไม่มีประโยชน์เลย
 
ทั้งนี้ จากตัวอย่างดังกล่าว พบว่าชาวบ้านจะต้องมีพันธมิตรและมีการเก็บข้อมูลผลกระทบอย่างจริงจัง โดยขอความร่วมมือจากนักวิชาการในการศึกษาว่าพื้นที่ไม่เหมาะกับการสร้างโรงไฟฟ้าโดยอ้างอิงหลักการทางวิชาการ ซึ่งตรงนี้จะเป็นน้ำหนักในการชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมต่อศาลได้
 
 
 “สุรินทร์” บทเรียนความเจ็บปวดจากทางเลือกชีวมวล 
 
“เราพูดถึงกลไกลการพัฒนาที่สะอาด เราพูดถึงการขายคาร์บอนเครดิต เราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วเราก็พูดถึงพลังงานชีวมวลเป็นพลังงานทางเลือก แต่โจทย์ที่สำคัญก็คือว่า เราพูดมิตินี้ต้องพูดว่ามันต้องสร้างความเป็นธรรมให้คนในชุมชนด้วย มันถึงจะครบสมบูรณ์” วิจิตรา ชูสกุล เครือข่ายพลังงานยั่งยืน จ.สุรินทร์ กล่าว
 
วิจิตรา กล่าวว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผู้ประกอบการได้ประโยชน์ เพราะได้เงินจากการขายคาร์บอนเครดิต แต่ประชาชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้ากลับเป็นคนที่ได้รับผลกระทบได้ ดังนั้น เมื่อสิ่งที่พูดถึงไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือเรื่องพลังงานทางเลือก หากเป็นสิ่งที่ได้เลือกแล้วก็ควรสร้างความเป็นธรรมให้คนที่อยู่โดยรอบด้วย
 
ในส่วนการต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดสุรินทร์ วิจิตรา กล่าวว่า อาจไม่ค่อยเห็นภาพการต่อสู้ ซึ่งอาจจะด้วยว่ากระบวนการที่ผ่านมาเบื้องต้นเครือข่ายทำงานเรื่องพลังงานชุมชน และมิติช่วงที่ผ่านมาก็สนับสนุนเรื่องพลังงานชีวมวล เพราะถือว่าเป็นทรัพยากรในท้องถิ่น 
 
“ณ บัดนี้เรารู้สึกเศร้าใจมาก เศร้าใจมากกับทางเลือกที่เราคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีแล้ว เพราะกระบวนการจัดการที่เกิดขึ้นเราไม่ได้มองคนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า”  เครือข่ายพลังงานยั่งยืน จ.สุรินทร์ กล่าว
 
 
ร้องชุมชนลุกขึ้นส่งเสียง “ชีวมวล 10 โรง” เกินกำลังที่การผลิตจะรับได้
 
วิจิตรา ให้ข้อมูลว่า จ.สุรินทร์ ขณะนี้มีโรงไฟฟ้าชีวมวล 2 โรง โดย 1 โรงขายคาร์บอนเครดิตด้วย แต่จากการเก็บข้อมูลของชุมชนก็พบว่ามีผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่โดยรอบทั้ง 2 โรง และยังจะมีตามมาอีก 8 โรง รวมกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด 124.90 เมกะวัตต์ ซึ่งก็มีการเก็บข้อมูลต่อมาว่าผลผลิตชีวมวลในจังหวัดมีเพียงพอหรือไม่ พบว่าพื้นที่ผลิตใน จ.สุรินทร์ ราว 1.3 ล้านไร่ ได้แกลบไม่เพียงพอ แต่ในปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวลมีการใช้ไม้สับจากโรงงาน และเง้ามันสำปะหลังมาผสม โดยการเลือกใช้พิจารณาจากต้นทุน
 
“ทุกอย่างที่ใช้มาจากต้นทุน เมื่อไหร่ที่อะไรที่เป็นต้นทุนที่ถูก อันนั้นคือสิ่งที่จะต้องเลือกใช้เป็นอันดับแรก เพราะฉะนั้นอนาคตข้างหน้าเราไม่รู้ว่าอะไรจะถูกกว่าชีวมวล ซึ่งอาจมาเป็นส่วนหนึ่งในการผสมได้” วิจิตรากล่าว
 
โรงไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์
ที่มาภาพ: http://www.mcgreenpower.com
 
ตัวแทนเครือข่ายพลังงานยั่งยืน จ.สุรินทร์กล่าวด้วยว่า กระบวนการเลือกก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่หนึ่งๆ นอกจากเรื่องผังเมือง และเรื่องที่ตั้งแล้ว ทรัพยากรชีวมวลในท้องถิ่นนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นแกลบ มัน อ้อย ใน จ.สุรินทร์ ทั้งหมดผลิตไฟได้ราว 100 เมกะวัตต์ ไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าทั้ง 10 โรง ซึ่งการคำนวณตรงนี้ยังไม่ได้หักปริมาณชีวมวลที่อาจต้องเอาไปใช้ในเรื่องอื่นๆ เช่น ทำปุ๋ย ใช้ไม้ในการก่อสร้าง เผาอิฐ รองพื้นเลี้ยงไก่ ฯลฯ 
 
อย่างไรก็ตามหากรวมผลผลิตจากโรงงานไม้สับซึ่งนำเข้าไม้จากนอกพื้นที่ และโรงสีขนาดใหญ่ที่รับซื้อข้าวจากนอกจังหวัด จะมีวัตถุดิบมากพอที่จะใช้ผลิตไฟฟ้าได้ แต่ก็ต้องคำนึงถึงการดำเนินกิจการเหล่านี้ด้วยว่าอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่นกรณีของโรงสีที่สีข้าวทั้งวันทั้งคืนเพื่อส่งออกที่ส่งผลกระทบเรื่องฝุ่นในชุมชน ซึ่งก็ควรมีมาตรการดูแลด้วย
 
“ณ วันนี้ ถ้าสุรินทร์จะมีโรงไฟฟ้าชีวมวล 10 โรง พี่น้องสุรินทร์คิดว่าน่าจะต้องลุกมาประท้วงแล้วว่า นี่มันไม่ได้แล้ว มันเกินกำลังที่การผลิตของเราจะรับได้แล้ว อันนี้ยังไม่มองถึงผลกระทบ” วิจิตรากล่าวและว่าในเรื่องผลกระทบนั้น โรงงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นมองข้ามความเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ มองข้ามสิทธิของชุมชนที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าเขาจะดำรงชีวิตอย่างไร ดังนั้นมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจึงเป็นมาตรการเพื่อให้โครงการเดินหน้าได้
 
วิจิตรา กล่าวถึงกระบวนการทำ  EIA ด้วยว่า มีปัญหาทั้งในเรื่องที่ผู้ประกอบการเป็นผู้ดำเนินการและจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการจัดทำ และเรื่องการมีส่วนร่วม เพราะประชาชนกลายเป็นเพียงผู้ตอบคำถาม แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งควรต้องมีการแก้ไขต่อไป อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาชาวบ้านมีการทำรายงานประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) เป็นเครื่องมือใช้สิทธิของชุมชน และพบว่าผลกระทบนั้นเกิดขึ้นจริง
 
“เวลาเราพูดรับฟังความคิดเห็น บางทีไปไม่ถึงมิติของการตัดสินใจ ถ้าเราจะพูดถึงอนาคตด้วย เราจะต้องมีองค์ประกอบของข้อมูลที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจได้ แต่ช่วงที่ผ่านมามันเร็วมาก ข้อมูลปุ๊บๆ เอกสารหนึ่งฉบับ ฟังหนึ่งเวทีแล้วก็มาบอกว่าได้รับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่ว่ากระบวนการตัดสินใจที่ประชาชนรู้สึกว่า ฉันได้ตัดสินใจว่ามันเหมาะ มันสมแล้ว มันยังขาดกระบวนการตรงนี้ไป” วิจิตรากล่าวถึงโจทย์ที่สำคัญ พร้อมเสริมว่า เมื่อประชาชนตัดสินใจว่าไม่เอาก็ควรเคารพสิทธิของชุมชน
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

Aof Dent

Posted: 05 Apr 2012 08:38 AM PDT

"อ่านการดีเฟนท์จากผู้สร้างเชคสเปียร์ต้องตายแล้วก็ยืนยันว่ายังไงเราก็ต้องดีเฟนท์ให้หนังมันได้ฉาย .... เพื่อที่เราจะได้เลือกด่ามันด้วยสมองของตัวเอง"

สเตตัสในเฟซบุ๊ก อนุญาตให้ประชาไทเผยแพร่

"การท่องเที่ยวโดยชุมชน" (Community-Based Tourism): การสร้าง ขยายเศรษฐกิจและวิถีชีวิตท้องถิ่น

Posted: 05 Apr 2012 06:32 AM PDT

“ลำปางหนาวมาก” คำนี้เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยิน เป็นวลีที่คุณอุดม แต้พานิช พูดล้อเลียนคนที่ส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นไปยังรายการๆหนึ่ง แต่พอหลังจากที่การแสดงของคุณอุดมสิ้นสุดลง คำพูดที่ว่า ลำปางหนาวมาก กลับกลายเป็นกระแสนิยมและสร้างจุดขายให้กับการท่องเที่ยวของจังหวัดลำปางได้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยด้วยกันเอง ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการดำเนินมาตรการและแผนงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งความเข้มแข็งของปัจจัยพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวของไทย เช่น แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ วิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณี ซึ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสกับกิจกรรมเหล่านั้น

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันประเทศไทยให้ความสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวมาโดยตลอด โดยเฉพาะภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ที่รัฐบาลกำหนดให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของภาคการขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจ และได้ประกาศให้ปี 2541 -2542 เป็นปีส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย (Amazing Thailand) ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้อ้างถึงสถิตินักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่เดินทางมาประเทศไทยระหว่างปี 2548– 2553 มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7.5 % และในปี 2554 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยทั้งสิ้น 19,089,323  คน โดยเพิ่มขึ้น 19.84 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทำให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมีมูลค่าเท่ากับ 734,519.46 ล้านบาท เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของคนในชุมชนท้องถิ่นในหลากหลายด้าน เช่น ภาคการบริการโรงแรม มัคคุเทศก์  โฮมสเตย์  ร้านอาหาร ฯลฯ  ซึ่งสร้างรายได้ให้คนหลากหลายกลุ่มตั้งแต่ชาวบ้าน ถึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่

การท่องเที่ยวในประเทศไทยก็มีหลากหลายรูปแบบ เช่น การท่องเที่ยวแบบแนบชิดธรรมชาติ  การท่องเที่ยวสถานเริงรมย์  ท่องเที่ยวโบราณสถานโบราณวัตถุ ซึ่งการท่องเที่ยวแต่ละชนิดก็มีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการส่งเสริมให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว  ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเป็นเครือข่ายมากขึ้น บ่อยครั้งใช้คำว่า "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" (Community-Based Tourism) หรือ "การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ" (Ecotourism) หรือ "การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์"(Conservation tourism) ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพพจน์ของการท่องเที่ยว

"การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ" หรือ "การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์" จากการให้คำนิยามของสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน คือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้ให้ธรรมชาติเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยว ชุมชนเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง ส่วน "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" เน้นให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการทำงาน คือ การที่มุ่งพัฒนาให้คนในชุมชนเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการท่องเที่ยว  และไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ได้เน้นถึงการสร้างศักยภาพของคนในท้องถิ่นให้ใช้ความรู้ของตนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชน เพื่อนำไปสู่การดูแลรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติโดยให้มีความสมดุลกับภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งการเกื้อกูลต่อเศรษฐกิจของชุมชนในอนาคต เพราะการดูแลทรัพยากรเหล่านั้นเป็นหน้าที่ของคนในชุมชนซึ่งเป็นของส่วนรวมไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง

ดังนั้นการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วยคนในชุมชน จึงเป็นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวให้มีความหมายมากกว่าการพักผ่อน เป็นการพัฒนาคนในชุมชนให้มีบทบาทที่สำคัญในการอนุรักษ์ความเป็นชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนชุมชนเป็นเหมือนบ้านของตนเองที่คอยต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยความยินดี

ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวได้สร้างรายได้ อาชีพ และการมีส่วนร่วมของคนกลุ่มต่างๆ และเป็นการขยายภาคเศรษฐกิจของไทยให้ขยายตัวมากขึ้น  แต่ผลอีกด้านของการท่องเที่ยวก็ได้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศไทยเช่นเดียวกัน ดังที่เราได้รับรู้รับฟังตามข่าวสารต่างๆ ซึ่งต้องพึงระวังในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ

ถึงกระนั้น "การท่องเที่ยวโดยชุมชน" (Community-Based Tourism) อาจเป็นการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยว สร้างอาชีพให้ชุมชน และในขณะเดียวกันก็เป็นการอนุรักษ์ไปในตัว เพราะ “เขา”(ชาวบ้าน) เหล่านั้นที่เคยเป็นแต่ผู้เฝ้ามองได้เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการท่องเที่ยวแบบใหม่นี้ ซึ่งเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ  และเป็นพื้นที่ในการแสดงอัตลักษณ์  ตัวตน ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆให้รับรู้ในวงกว้างมากขึ้น

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คำพิพากษาเหมืองทองพิจิตร: ทุนนิยมชนะ

Posted: 05 Apr 2012 06:21 AM PDT

 

สืบเนื่องจากเมื่อ วันที่ 27 มี.ค.55 ที่ผ่านมาตุลาการศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลกออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีดำเลขที่ 228/2553 คดีแดงเลขที่ 163/2555 ระหว่าง น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ผู้ฟ้องชาวบ้านในตำบลเขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และจำเลยร่วม 5 คน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ คณะกรรมการเหมืองแร่ อธิบดีกรมป่าไม้ และองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก ซึ่งชาวบ้านฟ้องมาเมื่อปลายปี 2553 โดยมีบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด เป็นผู้ร้องสอด

การฟ้องคดีดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประทานบัตรของบริษัทฯผู้ประกอบการเป็นจำนวน 5 แปลงในพื้นที่ภูเขาหม้อแหล่งหาอยู่หากินของชาวบ้านเพราะถือว่าเป็นป่าชุมชน แต่เนื่องจากประทานบัตรที่หน่วยงานรัฐร่วมกันออกให้นั้นชาวบ้านฟ้องว่าอนุญาตออกมาโดยมิชอบ เพิกถอนใบอนุญาตของกรมป่าไม้ที่อนุญาตให้บริษัทฯ เข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ป่าเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำและเหมืองแร่เงิน และเพิกถอนมติสภา อบต.เขาเจ็ดลูก ลงวันที่ 3 มิ.ย.48 อีกทั้งได้มีการยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวให้ศาลสั่งระงับการดำเนินการใดๆ ในเขตพื้นที่ประทานบัตรทั้ง 5 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายเป็นการชั่วคราวก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

กรณีปัญหาเกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯดังกล่าวที่ดำเนินการอยู่ในบริเวณใกล้เคียงชุมชน ทำให้ชาวบ้าน ต.เขาเจ็ดลูก ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมานานกว่า 2 ปี ทั้งเสียงดัง มีฝุ่นฟุ้งกระจายจากการระเบิดหินอย่างต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน น้ำดื่มน้ำใช้น้ำใต้ดินไม่สามารถใช้น้ำสาธารณะได้ดังเดิมเพราะมีสารโลหะหนักเจือปน เช่น สารหนู สารปรอท และไซยาไนด์ และชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง ชาวบ้านพยายามร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดพิจิตรและส่วนกลางให้เข้ามาช่วยเหลือแก้ไขปัญหา แต่ก็ไม่สามารถจัดการปัญหาใด ๆ ได้ ชาวบ้านทนไม่ไหวจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลก เมื่อวันที่ 10 พ.ย.53 เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คดีนี้สู้กันในศาลมาปีกว่า ๆ ตุลาการเจ้าของสำนวนจึงได้นัดอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ถอนประทานบัตรทั้ง 5 แปลง โดยให้การเพิกถอนมีผลในวันที่ผู้ร้องสอดไม่จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองแร่ทองคำให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (EHIA) ลงวันที่ 29 ธ.ค.52 ให้เสร็จสมบูรณ์ภายในกำหนด 1 ปี หรือเมื่อรายงานนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบ ทั้งนี้นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คำขออื่นให้ยก

ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 มี.ค.55 ที่ผ่านมา ศาลปกครองพิษณุโลกได้นัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีได้มีความเห็นว่าแปลงประทานบัตรจำนวน 4 แปลง ควรให้บริษัทฯผู้ร้องสอด ไปดำเนินการทำ EHIA ภายใน 1 ปี ให้เรียบร้อยก่อน เพราะถือว่าเหมืองแร่ทองคำเป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงตามมาตรา 67 กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ถ้าภายใน 1 ปี ถ้าบริษัทผู้ร้องสอดไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จก็ให้เพิกถอนประทานบัตรทั้ง 4 แปลง แต่แปลงบนเขาหม้ออีก 1 แปลงนั้น ไม่ควรเพิกถอนเพราะจะมีผลกระทบกับบริษัทที่ได้ลงทุนทำไปแล้วและไปกระทบกับค่าภาคหลวงแร่ที่บริษัทได้จ่ายให้กับรัฐไปแล้ว

ดูแนวคิดของตุลาการผู้แถลงคดีในศาลนี้ดูสิครับ ว่าแนวคิดนี้ยึดหลักกฎหมายหรือยึดอะไรเป็นหลัก

พิเคราะห์ดูจากคำพิพากษาดังกล่าว ดูเหมือนชาวบ้านจะชนะคดี แต่จริง ๆ แล้วชาวบ้านแพ้คดีต่างหาก เพราะการที่ศาลจะให้เพิกถอนประทานบัตรตามคำขอท้ายฟ้องได้ ก็ต่อเมื่อบริษัทฯดังกล่าวไม่จัดทำรายงาน EHIA ให้แล้วเสร็จและไม่ได้รับความเห็นชอบภายในระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา เพราะวันนี้บริษัทคู่พิพาทยังสามารถเปิดดำเนินกิจการในพื้นที่ได้ต่อไป ยังสามารถสร้างความเดือดร้อนและเสียหายให้กับชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมได้ต่อไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น และกว่าจะครบกำหนดเวลา 1 ปีบริษัทอาจจะเร่งขุดเจาะทำเหมืองจนหมดพื้นที่ทำเหมืองก่อนแล้วก็ได้ หรือถ้าไม่หมดก็เหลือน้อยเต็มทีแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวจะมีประโยชน์อันใดต่อการการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชาวบ้านดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ที่ต้องได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม ตามที่รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 บัญญัติไว้

คำพิพากษาดังกล่าวหากเทียบเคียงกับคำพิพากษาคดีมาบตาพุด ที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้าน 43 คนฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อปี 2552 แล้วค่อนข้างจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้จะเป็นกรณีที่ใกล้เคียงกันและเป็นข้อกฎหมายเดียวกัน คือการขอให้ศาลบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง โดยทันทีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ ซึ่งศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดก็เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งและคำพิพากษาไปตามคำขอท้ายฟ้อง ที่สำคัญคือ การสั่งให้ผู้ประกอบการจัดทำรายงาน EHIA ให้แล้วเสร็จโดยไม่กำหนดระยะเวลาและต้องได้รับความเห็นชอบแล้วเสียก่อน จึงจะสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ ในขณะที่คดีเหมืองทองพิจิตร ศาลสั่งให้ผู้ประกอบการจัดทำ EHIA ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี แต่ยังสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ นี่คือความแตกต่างและมุมมองขององค์คณะตุลาการของศาลปกครองกลาง และศาลปกครองพิษณุโลก ที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ใกล้เคียงกันแต่ใช้กฎหมายมาตราเดียวกัน

เราคงไม่อาจตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์การใช้ดุลยพินิจขององค์คณะตุลากาแต่ละองค์คณะได้ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละองค์คณะ แต่บริบทของสังคมนั้นเราต้องสร้างบรรทัดฐานและความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลให้จงได้ เพราะสังคมยังเชื่อมั่นว่าอำนาจตุลาการศาลที่เป็นดุลอำนาจ 1 ใน 3 ของระบบการปกครองของไทย จะยังสามารถฝากผีฝากไข้ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและให้การคุ้มครองวิถีชีวิตและปกปักรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของแผ่นดินได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ผ่านคำพิพากษาได้ แต่หากศาลมองแต่ประโยชน์ของผู้ประกอบการ ทุนนิยม ประโยชน์ทางธุรกิจ ทางเศรษฐกิจ เป็นตัวตั้ง กลัวผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบ ต้องคอยประคบประหงมเอาไว้ ส่วนชาวบ้านตัวน้อย ๆ ที่ไม่มีปากมีเสียง จะตาย เสียหาย หรือฉิบหายอย่างไร ก็ชั่งมัน ความขัดแย้งในสังคมไทยก็ไม่มีวันสิ้นสุดหรือลดลงมาได้

สำหรับคดีเหมืองทองที่พิจิตรนั้น ในความคิดเห็นของชาวบ้าน เห็นว่าควรให้เพิกถอนประทานบัตรและให้ยุติการทำเหมืองในแปลงประทานบัตรทั้งหมดไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว น่าจะถูกต้องกว่า เพื่อหยุดยังผลกระทบที่เกิดกับชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550

คดีนี้ผู้ฟ้องคดียังสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษา และเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาเมื่อใด คงจะได้ใช้เป็นบรรทัดฐานของสังคมไทยได้ว่า ระหว่างสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่มีจำนวนมาก กับผู้ใช้อำนาจทางปกครอง และผู้ประกอบการทุนนิยมอุตสาหกรรม หรืออุตสาหกรรมข้ามชาติ ศาลปกครองของไทย จะมีจุดยืนหรือสร้างบรรทัดฐานไว้ให้กับสังคมไทยได้อย่างไร และเป็นไปในทิศทางใด...คงไม่นานเกินรอนะครับ


 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เชื่อ‘กลุ่มอุซตาสโซ๊ะ’บอมบ์ใต้–ตั้งค่าหัวมือบึ้มหาดใหญ่ 1 ล้าน

Posted: 05 Apr 2012 06:11 AM PDT

รวบผู้ต้องสงสัยมือคาร์บอมบ์ยะลาได้แล้ว 1 ตำรวจเชื่อฝีมือแกงค์ “อุซตาสโซ๊ะ” เพิ่มค่าหัวมือบอมบ์หาดใหญ่คนละ 1 ล้าน ห้าม “รถติดแก๊ส” จอดในห้าง–โรงแรม ระบุคาร์บอมบ์เหลืออีก 4 คัน ประชาสังคมชายแดนใต้ประกาศหนุนเจรจา

หาดใหญ่ห้าม“รถติดแก๊ส”จอดห้าง–โรงแรม
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 ที่หอการค้าจังหวัดสงขลา พล.ต.อ.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ฉัตรชัย โปตระนันท์ ที่ปรึกษาสัญญาบัตร 10 ด้านป้องกันและปราบปราม 5 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ได้ร่วมประชุมหอการค้าจังหวัดสงขลา และตัวแทนภาคธุรกิจในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า ธุรกิจส่งออก ธุรกิจนำเที่ยว และฝ่ายปกครองจังหวัดสงขลา เพื่อกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยอำเภอหาดใหญ่ และร่วมฟื้นฟูบรรยากาศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์

พล.ต.อ.ฉัตรชัย เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า มาตรการที่เจ้าหน้าที่และภาคธุรกิจเริ่มดำเนินการคือ การตั้งด่านตรวจบนถนนสายหลักทั้ง 4 สาย รวมทั้งสายรองและเส้นทางลัดอีกอย่างน้อย 40 เส้นทาง ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเน้นตรวจค้นรถยนต์และบุคคลต้องสงสัย โดยใช้กำลังตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง พร้อมกับกำหนดโซนนิ่งย่านเศรษฐกิจการค้ากลางเมืองหาดใหญ่ให้เป็นสัดส่วน รถยนต์ติดแก๊สห้ามลงไปจอดชั้นใต้ดินของโรงแรม หรือศูนย์การค้าเด็ดขาด รวมทั้งตรวจเช็คสภาพความพร้อมกล้องจรปิดทุกจุดในเมืองหาดใหญ่ว่า ยังอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานหรือไม่ และนำสุนัขเข้ามาตรวจหาวัตถุระเบิดด้วย ทั้งนี้จะจัดอบรมหน่วยรักษาความปลอดภัยสถานประกอบการต่างๆ เกี่ยวกับวิธีตรวจและสังเกตรถต้องสงสัย ป้ายทะเบียนปลอม ในวันที่ 10 เมษายน 2555

ยกระดับรถหายเป็นคดีสำคัญ–คุมมือถือ/ซิมการ์ด
พล.ต.อ.วรพงษ์ เปิดเผยว่า จากนี้ไปคดีรถยนต์หายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องยกเป็นคดีสำคัญ เนื่องจากรถยนต์ที่นำมาใช้ก่อเหตุเป็นรถที่ถูกขโมยมาทั้งสิ้น และรถที่แจ้งหายจะต้องรวบรวมทำเป็นพ็อกเกตบุ๊คแจกจ่ายให้ตำรวจสายตรวจและปราบปราม รวมทั้งป้ายไวนิลติดตามจุดตรวจต่างๆ เพื่อให้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น และต้องทำประวัติอู่ซ่อมรถทุกแห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะรถยนต์ที่ขโมยไปบางส่วนจะนำไปเปลี่ยนสีรถ ขณะที่สินค้าบางตัว เช่น ซิมการ์ดหรือโทรศัพท์มือถือ จะต้องปรับเป็นสินค้าควบคุม

นายสุรชัย จิตภักดีบดินทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ขณะนี้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเหตุระเบิดหาดใหญ่มีประมาณ 800 ล้านบาท เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวไทยยกเลิกการเดินทางทั้งหมด ส่วนมาเลเซียยกเลิกไปบางส่วน เช่นเดียวกับนักธุรกิจชาวต่างชาติที่มีแผนจะเข้ามาดูงานในหาดใหญ่ก็ยกเลิกการเดินทางทั้งหมดด้วย ขณะที่ภาคการขนส่งก็เรียกร้องเงินค่าเสี่ยงภัย และค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้น

แนะทำประกันภัยนักท่องเที่ยวคนละ 10 ล้าน
“ภาคธุรกิจและภาคการท่องเที่ยว ต้องการให้ภาครัฐประกันภัยให้แก่นักท่องเที่ยวคนละ 10 ล้านบาท จากเหตุวินาศกรรม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว การรักษาความปลอดภัยจะต้องครอบคลุมสถานที่สำคัญทุกแห่ง โดยเฉพาะสนามบินที่ค่อนข้างหละหลวม เรียกตรวจเฉพาะรถเก๋ง ส่วนรถยนต์กระบะ และรถตู้ปล่อยให้เข้าไปง่ายๆ หลังจากนี้จะเชิญสื่อมวลชนมาเลเซียมาดูพื้นที่จริง และมาตรการรักษาความปลอดภัยของไทย เพราะข่าวที่ออกผ่านสื่อมวลชนมาเลเซียคลาดเคลื่อนทำให้เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิตที่หาดใหญ่ สื่อมาเลเซียบอกว่าสูงถึง 14 คน

เพิ่มค่าหัวมือคาร์บอมบ์หาดใหญ่คนละ 1 ล้าน
วันเดียวกัน พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เปิดเผยว่า อีกไม่เกิน 2 วัน จะออกหมายจับ 2 คนร้ายก่อเหตุคาร์บอมบ์เมืองหาดใหญ่ รอรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมบางส่วนเท่านั้น 2 คนร้ายที่จะออกหมายจับ ได้มาจากกล้องวงจรปิดของโรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า ที่บันทึกภาพไว้ได้ขณะขับรถเก๋งคาร์บอมเข้าไปจอด และเดินออกจากโรงแรม เป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ก่อเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ในจังหวัดยะลา เนื่องจากสารประกอบระเบิดเป็นชนิดเดียวกัน และคนร้ายมาจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าขณะนี้ยังอยู่ในพื้นที่ ตำรวจได้ตั้งรางวัลนำจับคนร้ายทั้ง 2 คนละ 1 ล้านบาท จากเดิมที่นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ตั้งรางวัลนำจับไปแล้วคนละ 5 แสนบาท

ลีการ์เดนส์ เปิดให้เจ้าของร้านค้าเข้าห้าง
วันเดียวกัน ที่โรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่เกิดเหตุคาร์บอมบ์ ฝ่ายปกครองและตำรวจเข้าไปตรวจสอบความปลอดภัยภายในโรงแรมในส่วนของพลาซ่าอีกครั้ง ตั้งแต่ชั้นที่ 1 ถึงชั้นที่ 5 ก่อนให้เจ้าหน้าที่โรงแรมนำผู้ประกอบการในส่วนของพลาซ่ากว่า 200 ร้าน เข้าไปเก็บสิ่งของมีค่าภายในร้าน ส่วนรถจักรยานยนต์ยังคงทยอยนำออกมาจากชั้นจอดรถใต้ดินอย่างต่อเนื่อง สำหรับรถยนต์จะนำรถออกได้ในวันที่ 6 เมษายน 2555 ในส่วนโครงสร้างตัวตึก วิศวกรโยธากำลังตรวจตัวอาคารอย่างละเอียด

รับอาสาสมัครเยียวยาเหยื่อระเบิดลีการ์เดนส์
ทางด้านมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ ประกาศรับสมัครนักศึกษาหรือบุคลทั่วไปอายุ 18 ปีขึ้นไป ทำงานอาสาสมัครเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดที่ศูนย์การค้าลี การ์เดนส์ พลาซ่า ร่วมกับโรงพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้สนใจสามารถโทรศัพท์ หรือแฟกซ์ข้อมูลแจ้งชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ และช่วงเวลาที่สะดวกทำงานได้ที่ 074 455150 หรือส่งข้อมูลผ่านทางคุณกอล์ฟ (วพส.) ฝ่ายลงทะเบียนอาสาที่อีเมล์ golfgeb@hotmail.com หรือแจ้งผ่านเฟซบุ๊กเยาวชนจิตอาสา ม.อ.

เยียวยา “มาเลย์” กว่าครึ่งล้าน
เวลาบ่ายวันเดียวกัน ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ นายสุรพล พนัสอำพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นตัวแทนจังหวัดสงขลามอบเงินช่วยเยียวยาแก่ญาติของ MR. TAN PENG CHAN อายุ 54 ปี ชาวมาเลเซีย ซึ่งเสียชีวิตจากโดนเพลิงไหม้ในเหตุการณ์ระเบิดที่โรงแรมลี การ์เดนส์ พลาซ่า โดยรัฐบาลไทยมอบเงินเยียวยาผ่านจังหวัดสงขลารวม 434,000 บาท แยกเป็นเงินจากจังหวัดสงขลา 125,000 บาท จากกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา 309,000 บาท และห้างลี การ์เด้น พลาซ่า 150,000 บาท รวมแล้ว 584,000บาท ศพของนักท่องเที่ยวรายนี้จะบำเพ็ญกุศลในจังหวัดสงขลา และฌาปนกิจให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะนำเถ้ากระดูกกลับประเทศมาเลเซีย

นายสุรพล เปิดเผยว่า การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นครั้งนี้ จังหวัดสงขลาจ่ายเงินช่วยเหลือตามระเบียบกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในกรณีเสียชีวิต จ่ายค่าจัดการศพเป็นเงิน 25,000 บาท ถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัวจ่ายเพิ่มอีก 25,000 บาท กรณีได้รับบาดเจ็บรักษาตัวเกิน 3 วัน จ่าย 3,000 บาท บาดเจ็บเล็กน้อยจ่าย 2,000 บาท และจ่ายเงินช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายละ 2,000 บาท หากนักท่องเที่ยวที่เสียชีวิตกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาจะจ่ายเงินผ่านสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลาอีก 309,000บาท

“ในส่วนทรัพย์สินประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิด รัฐบาลมอบหมายให้จังหวัดรับดูแล ซึ่งจังหวัดมอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ตรวจสอบความเสียหายและให้การช่วยเหลือเยียวยา รวมไปถึงรถยนต์และจักรยานยนต์ของประชาชน ถือเป็นทรัพย์สินที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด” นายพนัส กล่าว

รวบผู้ต้องสงสัยมือคาร์บอมบ์ยะลาได้แล้ว 1
เวลา 08.45 น. วันเดียวกัน ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พล.ต.อ.วรพงษ์ เปิดเผยว่า ความคืบหน้าคดีคาร์บอมบ์กลางเมืองยะลา มีความคืบหน้ามาก โดยเฉพาะหลักฐานด้านคดีที่ทำให้ทราบจุดเริ่มต้นของรถที่ประกอบระเบิด จากการตรวจค้นเป้าหมายก็ได้พยานวัตถุจำนวนมาก น่าเชื่อว่าจะสามารถเชื่อมโยงถึงผู้กระทำความผิดได้ สำหรับเหตุเชื่อมโยงระหว่างยะลากับหาดใหญ่ พบว่ารถที่นำมาใช้ก่อเหตุเป็นรถที่ชิงมาจากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนการประกอบระเบิดยังไม่ยืนยันว่าเหมือนกันหรือไม่ ต้องรอให้หลักฐานชัดเจนก่อน พยานหลักฐานที่พบในขณะนี้ รอผลพิสูจน์เพิ่มเติมนิดหน่อย ก็สามารถออกหมายจับคนร้ายได้ จากข้อมูลที่มีอยู่ก็เป็นกลุ่มเดิมๆ ในพื้นที่ ตนมั่นใจว่าออกหมายจับและจับกุมผู้ก่อเหตุได้แน่นอน

รายงานข่าวศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนใต้แจ้งว่า หลังจากได้วัตถุพยานภาพจากกล้องวงจรปิด ตำรวจได้เชิญตัวผู้ต้องสงสัยแล้ว 1 รายคือ นายอนุวัฒน์ โต๊ะเจ๊ะ อายุ 22 ปี ชาวตำบลยุโป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดพบว่า เป็นผู้ขับรถติดตามรถยนต์กระบะที่ประกอบวัตถุระเบิดในจุดแรก จึงเชิญตัวบุคคลดังกล่าวไปซักถามว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ เบื้องต้นนายอนุวัฒน์ยังให้การปฏิเสธ

แกงค์“อุซตาสโซ๊ะ”บอมบ์ยะลา
พล.ต.ต.พีระ บุญเลี้ยง ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า คนร้ายที่ก่อเหตุคาร์บอมบ์กลางเมืองยะลา ตำรวจมุ่งเป้าไปยังกลุ่มนายอิสมาแอ ระยะหลง หรืออุซตาสโซ๊ะ แกนนำก่อเหตุรุนแรงระดับสั่งการ ที่สั่งการให้แนวร่วมที่มีความชำนาญการประกอบวัตถุระเบิด รวมตัวกันลงมือก่อเหตุ สำหรับมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยจะมีความเข้มกว่าเดิม 2–3 เท่า ในย่านการค้า และย่านชุมชน

พล.ต.ต.พีระ เปิดเผยต่อไปว่า พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้จุดตรวจ 4 มุมเมือง ประกอบด้วย จุดตรวจท่าสาป เส้นทางมาจาก อำเภอยะหา อำเภอกาบัง จุดตรวจมลายูบางกอก เส้นทางมาจากอำเภอรามัน อำเภอบันนังสตา อำเภอธารโต จุดตรวจขุนไว เส้นทางมาจากอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี และจุดตรวจเมืองทอง เส้นทางมาจากอำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ตั้งด่านตรวจเข้มรถยนต์ จักรยานยนต์ และบุคคลจะตรวจหมายเลข 13 หลักทุกคน เพื่อตรวจจับผู้มีหมายจับ ทั้งหมายตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก่อนจะเข้ามายังตัวเมืองยะลาอย่างละเอียด

“นอกจากนี้ ยังสั่งให้ควบคุมรถยนต์และจักรยานยนต์ที่ขาดการเสียภาษี ตลอดจนไม่สามารถนำหลักฐานการเป็นเจ้าของมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ ขณะที่หน่วยงานความมั่นคงยังประกาศแจ้งเตือนให้ระมัดระวังกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอาจจะก่อเหตุครั้งใหม่ โดยประกอบวัตถุระเบิดซุกซ่อนไว้ในรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อเตรียมก่อเหตุในเขตเทศบาลนครยะลาอีกครั้ง” พล.ต.ต.พีระ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ทางเข้าออกหน่วยงานสถานที่ราชการต่างๆ โดยเฉพาะทางเข้าออกภายศาลากลางจังหวัดยะลา มีการตรวจค้นรถยนต์และรถจักรยานยนต์อย่างละเอียด ขณะที่ทหารได้วางกำลังดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่รอบนอกเขตเทศบาลนครยะลา โดยตรวจค้นรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งบุคคลเป้าหมายอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ยังมีการกำชับไปยังอำเภอต่างๆ ให้ตรวจสอบรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และบุคคลเป้าหมายด้วย

เหลืออีก 4 คัน รถประกอบระเบิดคาร์บอมบ์
สำหรับรถประกอบระเบิด 10 คัน ที่มีการแจ้งเตือนมาก่อนหน้านี้ ขณะนี้กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ได้ออกปฏิทินภาพรถยนต์ 7 คัน ที่คนร้ายใช้ประกอบคาร์บอมบ์ โดยล่าสุดนำไปใช้ก่อเหตุระเบิดไปแล้ว 3 คัน ประกอบด้วย รถฮอนด้า ซีวิค สีดำ ก่อเหตุระเบิดที่โรงแรม ลี การ์เดนส์ พลาซ่า รถกระบะ 2 คัน ที่ระเบิดกลางเมืองยะลา

ส่วนที่เหลืออีก 4 คัน เป็นรถโตโยต้า สีเทา ทะเบียน บน 3384 ลำปาง รถกระบะสีเขียว ยี่ห้อมิตซซูบิชิ สตาด้า ทะเบียน ม 1137 ปัตตานี และรถกระบะสีน้ำตาล ยี่ห้ออีซูซุ ดีแมคซ์ ทะเบียน 9197 ปัตตานี อีกคันเป็นรถกระบะสีน้ำตาล ไม่ทราบทะเบียน หากใครพบเบาะแสให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้ตรวจสอบอย่างเร่งด่วนที่ โทร 0-7341-4688 / 0-7334-8555

ประชาสังคมชายแดนใต้ยืนยันเปิดพื้นที่กลางและเจรจา
วันเกียวกัน สภาประชาสังคมชายแดนใต้ องค์กรกลางของกลุ่มประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อผู้บาดเจ็บและสูญเสียจากเหตุการณ์คาร์บอมบ์ พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนการกำหนดปัญหาใจกลาง ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ทั้งระบบ เนื่องจากกว่า 8 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาโดยสิ้นเชิง

สภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้แสดงจุดยืนคัดค้านการใช้ความรุนแรง เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองของทุกกลุ่มในทุกรูปแบบ พร้อมทั้งเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศทุกองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ปล่อยให้นักการเมือง รัฐบาล หรือหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงแก้ปัญหากันเพียงลำพัง

“เรายังคงยืนยันการขยายการเปิดพื้นที่กลางสำหรับให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนและนำเสนอความคิดเห็นในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่อย่างเสมอภาคและเป็นธรรมพร้อมทั้งสนับสนุนหลักการเจรจาระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างสันติสุขและสันติภาพอย่างยั่งยืนต่อไป” แถลงการณ์ระบุ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กวีประชาไท: ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล

Posted: 05 Apr 2012 06:05 AM PDT

 
ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ดอกไม้อายุสั้นเติบโตในถุงดำ
ชูช่อเรียงรายบนเกาะกลางถนน
สูบเลือดและน้ำตาประชาชนเลี้ยงดอกใบ
บานสะพรั่งปลอบประโลมจิตใจทุกเทศกาล
 
แดดเดือนเมษาแผดเผาหัวใจไหม้หม่น
ในขณะเดียวกันพายุฝนก็โถมกระหน่ำซ้ำเติม
ประเดี๋ยวร้อน...ประเดี๋ยวหนาว
ผู้คนต่างถูกพิษไข้ ละเมอเพ้อไปเกินจินตนาการ
ว่าอีกไม่นาน ฟ้าฝนจะเข้ารูปเข้ารอย
 
 


 
เมื่อความจริงกับความลวงทำความตกลงกันได้
ตรรกะบิดเบี้ยวก็ถูกลากขึ้นมาบนเส้นสมมุติ
ความเป็นธรรมดูคล้ายว่าจะไร้ความหมาย
ความตายของใคร..ก็ดูคล้ายว่าจะไม่เคยปรากฏ
และพอฝุ่นควันตลบพลันจางลง
เสรีภาพก็ปลิวหายไปในกระแสแปรปรวนของกาลเวลา
 
ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล 
ผู้คนยังอดอยากปากแห้ง
เหลือบตาขึ้นมองยอดเมรุสูงเสียดฟ้า
หวังเพียงว่าควันไฟ...จะบอกใบ้เลขหวย!
 
 
....
 
ทางเท้า : กลุ่มกวีราษฎร์
 
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สัมภาษณ์ ‘กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา’ : นี่ไม่ใช่ทิศทางการพัฒนาอาหารที่เราอยากเห็น

Posted: 05 Apr 2012 05:58 AM PDT

รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ได้พูดถึงโลกกำลังวิกฤติเรื่องอาหาร กับการย้ำข้อเสนอให้เกษตรกรต้องพึ่งตนเอง ผู้บริโภคต้องตื่นตัว รัฐและทุนก็ต้องปรับ และฟังเสียงประชาชน

‘กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา’ รองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ได้พูดถึงโลกกำลังวิกฤติเรื่องอาหาร ประเทศกำลังเสื่อมเพราะระบบการเกษตรที่ผูกขาด พร้อมหนุนให้ทั้งเกษตรกรหันมาพึ่งตนเอง ผู้บริโภคต้องตื่นตัวออกมาส่งเสียงว่า นี่ไม่ใช่ทิศทางการพัฒนาอาหารที่เราอยากเห็น ซึ่งรัฐและทุนก็ต้องปรับ ต้องฟังเสียงประชาชน

 
 
 
 
อยากทราบกิจกรรมที่ทางมูลนิธิชีววิถีกำลังทำอยู่ในขณะนี้มีอะไรบ้าง ?
ตอนนี้เรามี 2 แคมเปญคู่กัน เป็นโครงการรณรงค์เรื่อง ‘กินเปลี่ยนโลก’ เป็นการรณรงค์ในเรื่องอาหารการกิน เราทำเรื่องคุยกับผู้บริโภค เริ่มต้นด้วยการคุยกับผู้บริโภคว่า จะกินยังไงให้มีคุณภาพ กินแบบรู้ที่มา กินแบบใส่ใจมากกว่าตัวเอง กินแบบใส่ใจผู้ผลิตด้วย กินแบบใส่ใจสิ่งแวดล้อม แล้วก็เริ่มต้นจากการถามถึงแหล่งที่มาของอาหารด้วย
 
พอมาระยะปีที่ผ่านมา เราก็ทำอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องเมล็ดพันธุ์ ทั้งพันธุ์พื้นบ้านและไม่พื้นบ้าน แต่เป็นพันธุ์แท้ แล้วก็ตั้งเป็นโครงการรณรงค์เรียกว่า เครือข่ายอิสรภาพทางพันธุกรรม คือจะจับกลุ่มทั้งบุคคลก็ได้ ชาวบ้านหรือกลุ่มเครือข่ายที่สนใจที่จะทำการเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน เก็บแล้วก็ขยายต่อ หรือว่าพัฒนามัน ปลูกมัน จริงๆ การเก็บเมล็ดพันธุ์นั้นเก็บในตู้เย็นอย่างเดียวไม่พอ มันต้องเก็บในดิน ปลูก คัด เก็บ กินไปแจกจ่ายกันไปนี่คือลักษณะของการทำเรื่องอิสรภาพทางพันธุกรรม
 
ทำไมถึงมาคิดและสนใจประเด็นเกี่ยวกับอาหารและเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ?
เพราะเราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คือถ้าบอกว่าหัวใจของระบบอาหาร ก็คือตัวระบบเกษตรกรรม คือตัวระบบการกิน แล้วหัวใจระบบอาหารที่ดีก็คือระบบการผลิต ที่เราคิดว่าต้องเกิดการยั่งยืน และความยั่งยืนของการผลิตมันอยู่ที่ความหลากหลายของพืชพันธุ์ธัญญาหารในแปลงหนึ่งๆ หรือในพื้นที่หนึ่งๆ
 
คุณกำลังจะเน้นเรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรม ?
ใช่ ความหลากหลายมันดีในแง่ของความหลากหลายของอาหาร ความหลากหลายในการต้านทานสรรพสิ่งต่างๆ ที่จะเข้ามาทำอันตรายโดยที่คุณไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา คุณไม่ต้องเพิ่มต้นทุน แล้วมันก็กระจายความเสี่ยงเวลาเราพูดถึงความหลากหลาย
 
เพราะฉะนั้น ระบบอาหารที่ดี ก็คือระบบอาหารที่หลากหลาย แล้วก็ไม่ได้ทำลายทั้งคนผลิต คนกิน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราเชื่ออย่างนั้น เราคิดว่าออร์แกนิคมันเป็นทางเลือก แล้วถ้าคุณเลือกมันก็โอเค ทีนี้ระบบอาหารวางอยู่บนระบบเกษตรกรรม หรือระบบการผลิต แล้วระบบการผลิตวางอยู่บนระบบพันธุกรรมเพราะฉะนั้น พันธุกรรมเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการผลิตอาหาร
 
ในขณะที่หลายกลุ่มทุนพยายามจะควบคุมความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้นเอาไว้ ?
ถูกต้อง ซึ่งถ้าเราดูจากต้นทุน ถ้าเกษตรกรยังอยู่ในระบบเคมี ระบบอุตสาหกรรมการเกษตร จะพบว่าต้นทุนเมล็ดพันธุ์จะมีสูงถึงประมาณ 1 ใน 4 ถ้าคุณยกระดับไปเป็นพันธุ์ลูกผสม มันจะไปเป็นเกือบถึง 1 ใน 3 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ซึ่งนอกเหนือจากมันเป็นปัจจัยสำคัญแล้ว มันยังมีกำไรสำคัญด้วย คือถ้าคุณคุมการค้าเรื่องเมล็ดพันธุ์ได้ หรือผูกขาดเมล็ดพันธุ์ได้ คุณก็คุมกำไร คุณก็คุมระบบ คุณก็กำหนดการผลิต เพราะว่าตัวเมล็ดพันธุ์ มันจะกำหนดว่าคุณจะผลิตมันยังไงได้มากกว่า ถ้าคุณซื้อเมล็ดพันธุ์ยี่ห้อนี้ มันก็จะตอบสนองดีต่อคุณประมาณนั้น
 
ถ้าคุณเลือกเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านมันก็จะทนทานตามสภาพ แล้วเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ก็คือว่า พอเราเอาไปปลูกตรงไหนมันก็จะปรับตัวเข้ากับตรงนั้น หรือว่าคุณเที่ยวไปเอามะเขือเทศจากภาคอีสานมาปลูกที่บนดอย มันอาจจะสู้เย็นไม่ไหว แต่ซักพักมันจะปรับตัวสู้ของมันไป เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์บริษัท มันก็จะปรับตัวให้สอดคล้องกับระบบการพัฒนาของมนุษย์ สิ่งที่บริษัทพัฒนามา มันก็จะตอบสนองต่อปุ๋ยสูตรนั้น สูตรนี้ ตามที่บริษัททำการทดลอง
 
แต่ถ้าคุณต้องการสร้างระบบอาหารที่ดี คุณต้องปรับระบบเกษตรกรรมให้มันหลากหลาย ระบบเกษตรกรรมที่หลากหลายจะอยู่ได้ต้องมีเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่หลากหลาย แล้วเมล็ดพันธุ์มันไม่ถูกครอบครองโดยใครคนใดคนหนึ่ง
 
แต่หลายคนก็รู้ว่าประเทศไทยในขณะนี้ พันธุกรรมทั้งพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ กำลังอยู่ในมือบริษัททุนไม่กี่กลุ่ม?
ตอนนี้ ถ้าเราสำรวจดู จะพบว่าอาหารหลักของเรา 60-70 เปอร์เซ็นต์จะอยู่ที่เนื้อสัตว์ อย่างเช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ซึ่งมันก็ผูกโยง ผูกขาดอยู่กับอาหารสัตว์ และ 60-70 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นข้าวโพด แล้วพันธุ์ข้าวโพดก็ผูกขาด 99.9 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงว่า เกษตรกรถูกกำหนดให้ปลูกเฉพาะเมล็ดพันธุ์ชนิดนี้ คือพันธุ์ลูกผสม ฉะนั้น ข้าวโพดอาหารสัตว์ที่ผลิตมาอยู่ภายใต้อุตสาหกรรมการเกษตรไปเรียบร้อยแล้ว 99 เปอร์เซ็นต์ โดยผ่านกระบวนการเมล็ดพันธุ์ เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์จากเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านมาเป็นเมล็ดพันธุ์ผลผลิตสูง
 
ในที่สุดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดพื้นบ้านก็สูญหาย เหลือเพียงเมล็ดพันธุ์ลูกผสมของกลุ่มทุน?
ใช่ ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดพื้นบ้าน มันยังเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้ต่อเองได้ เรียกง่ายๆ ว่าต่อเชื้อ สามารถเอาไปปลูกรุ่นต่อไปได้ แล้วถ้าคัดมัน มันก็จะคงตัวอยู่ไปได้เรื่อยๆ  แต่พอมาเป็นข้าวโพดพันธุ์ลูกผสมปุ๊บ เรียบร้อยเลย นั่นหมายความว่า เกษตรกรต้องซื้อทุกรอบ ไม่มีทางทำเก็บเองได้เลย นอกจากว่าต้องมีทักษะสูงพอสมควร ซึ่งอาจมีชาวบ้านบางคนเริ่มทำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมขายได้บ้าง แต่นี่ 99 เปอร์เซ็นต์เลย ที่คุณต้องซื้อทุกรอบ มันก็ปลูกไปแล้ว
 
คุณมองเรื่องพืชผักในบ้านเราตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?
ผักส่วนใหญ่ที่เรากินกันทุกวันนี้ ถ้าไม่กินผักพื้นบ้านเราก็จะกินผักจีน ทุกวันถ้าเราเข้าไปในตลาด เราก็จะเห็นแต่คะน้า กะหล่ำ ผักกาด แครอท บล็อกเคอรี่ แตงกว่า ถั่วฝักยาว มีไม่กี่อย่าง แล้วผักพวกนี้ ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดพันธุ์ลูกผสมทั้งนั้น เกษตรกรก็เก็บเองไม่ได้ ซื้อทุกรอบอีกเหมือนกัน หรือพวกเก็บเองได้ ก็รู้สึกไม่สะดวกอยู่ดี ก็ไปซื้อผักกระป๋องมาปลูกอยู่ดี เพราะฉะนั้นผัก 90 เปอร์เซ็นต์ ก็อยู่ในมือบริษัท ตัวเมล็ดพันธุ์นะ ซึ่งที่เราทำได้ในขณะนี้ ก็คือเรื่องการเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งในขณะนี้เราก็พยายามส่งเสริมให้ชาวบ้านจัดการเรื่องการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ยกเว้นผักบางชนิด ถ้าเขายังปลูกขายด้วย ก็คือพวกคะน้า กะหล่ำยังไงก็ต้องซื้อ
 
มีความเห็นอย่างไรกับสถานการณ์พันธุ์ข้าวไทยในขณะนี้ ?
เรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว เวลานี้บางกลุ่มกำลังมีความพยายามอย่างใหญ่หลวงมาก เพราะตอนนี้ ระบบปลูกข้าวมันถูกปรับไปเป็นระบบผลผลิตสูง เมล็ดพันธุ์ผลผลิตสูงก็คือ กข ทั้งหลาย พวกที่มีตัวเลขต่อท้ายนั่นแหละ เป็นพันธุ์ที่ถูกปรับปรุงมาจากพันธุ์พื้นบ้าน มันก็ยังเป็นพันธุ์ที่ชาวบ้านเก็บไว้เองได้ ล่าสุด ตอนนี้มันมีความพยายามของบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างน้อย 2 บริษัท จะเข้ามาส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ลูกผสม แล้วอ้างว่าให้ผลผลิตสูงกว่ากันหลายเปอร์เซ็นต์ สูงถึงกว่า 1,000 กิโลต่อไร่ ซึ่งราคาก็เป็นราคาคุยอยู่ดี
 
แต่ก็นั่นแหละ พอเขาพูดถึงเรื่องผลผลิตสูง ชาวบ้านก็ตาโตตามปกติ แล้วราคาเมล็ดพันธุ์ลูกผสม มันจะสูงขึ้น เฉลี่ยปัจจุบันที่เขาใช้กันเมล็ดพันธุ์ธรรมดา 25-26 บาทต่อกิโลกรัม บางแห่ง ใช้ถึง 20 กิโลต่อไร่ แต่ว่าเฉลี่ยแล้วก็ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าเป็นลูกผสมมันจะขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 150 บาท ถ้าใช้ 10 กิโลต่อไร่ต้นทุนการผลิตก็ไป 1,500 บาท แล้ว 1,500 บาท ตัวเลขสมาคมชาวนา บอกต้นทุนการผลิตนาภาคกลาง เป็นนาประเภทแบบ 5 รอบต่อ 2 ปีประมาณนี้ ต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 6,000 บาท เฉพาะเมล็ดพันธุ์ก็ปาเข้าไป 1,500 บาทแล้ว ยังไม่รวมถึงค่านู่นค่านี่ที่มันเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด ต้นทุนมันก็จะกระฉูดขึ้นมามากเลย ถ้าใช้พันธุ์ลูกผสม คือบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ใช้ความพยายามสูงมากที่จะผลักดัน แล้วก็มีความพยายามที่จะใช้สถานการณ์เรื่องน้ำท่วมด้วยมาเป็นเงื่อนไข เป็นโอกาสในการส่งเสริม
 
หมายความว่าในระบบการเกษตรของไทยในขณะนี้ บริษัททุนยักษ์ใหญ่นั้นเกี่ยวโยงกับนโยบายของรัฐด้วยเสมอ?
ก็แน่ละ เขาก็อยู่ในองคาพยพของรัฐเยอะนะ ถ้าจะเอ่ยชื่อบริษัท ก็เอ่ยชื่อซีพีนั่นแหละ ที่เป็นคนโปรโมทข้าวลูกผสม คือทิศทางของรัฐ เวลาส่งเสริมเรื่องการพัฒนาพันธุกรรม มันก็จะมุ่งไปในทางให้ผลผลิตสูง เทคโนโลยีใหม่  คำว่าเทคโนโลยีเพื่อให้ผลผลิตสูงมันเป็นแพคเก็ตมันไม่ได้พูดว่าให้ผลผลิตสูงแบบลอยๆ ผลผลิตสูง แต่จริงๆ แล้วมันตามมาด้วยการลงทุนที่สูงขึ้น ใช้ปุ๋ย ใช้ยามากขึ้น การต้านทานโรคมันก็น้อยลง แล้วบางทีมันก็เป็นสาเหตุเหนี่ยวนำโรคระบาดที่ลงทีเหมือนห่าลง เพราะคุณเล่นทำไปชนิดเดียวกัน ปลูกไปเวลาเดียวกัน เวลาเกิดหนอนเกิดเพลี้ยระบาดมันก็ลงทีเหมือนกัน หนอนมันก็ฟักตัวมา มันก็โผล่มาเวลาเดียวกัน
 
โดยทิศทางการส่งเสริมของรัฐ มันมักจะมีแนวโน้มอย่างนี้ คือไปผูกพันตัวเอง กับสิ่งที่เรียกว่าผลผลิตสูงแล้วก็เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งมองแล้วมันมีความเสี่ยงเยอะ ในช่วงแรกมันอาจจะดูเร้าใจ แต่เอาเข้าจริง มันมีความเสี่ยง คือคุณต้องเพิ่มทุน สองมันก็ไม่ได้ต้านทานโรคอะไรที่มันเกิดใหม่ในปัจจุบัน ยิ่งในพื้นที่นาภาคกลาง คุณลองไปดูเลย มันมีความเสี่ยงต่อโรคแมลงเยอะมากที่จะแบบการเป็นห่าลง ฉะนั้น สิ่งที่กลุ่มชาวบ้านเคมีจะแก้ปัญหา คือทำให้มากครั้งเข้า ล้มก็ทำๆ อยู่อย่างนั้น ก็ตาดีได้ตาร้ายเสีย ก็จะปลูกอยู่กับราคาจำนำ มันก็เป็นวงจรที่ไม่รู้จะไปจบตรงไหน
 
แล้วตอนนี้ชาวบ้านกลุ่มที่เริ่มหันมาสนใจเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติหรือพืชผักพื้นบ้าน เขาตื่นตัวกันบ้างไหม ?
ตอนนี้ก็มีเกษตรกรหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นชาวนาขนาดเล็กที่ปรับระบบไปแล้ว เป็นกลุ่มเกษตรทางเลือก เป็นกลุ่มเกษตรที่ทำมานานแล้ว และมันก็เริ่มอยู่ตัว แต่มาช่วงระยะหลัง ก็มีกลุ่มใหม่ๆ ที่เราเข้าไปทำงานด้วย อย่างกลุ่มเกษตรกรที่ จ.นครสวรรค์ ชาวนาเขาทำนาเป็นร้อยๆ ไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง คือไม่เหมือนนากระจุ๋มกระจิ๋มแบบทางภาคเหนือ ไม่เหมือนนาทำกินเองของทางภาคอีสาน
 
ส่วนพืชไร่ ก็จะเป็นพืชไร่ที่ปลูกเพื่อเศรษฐกิจ อย่างภาคอีสาน กลุ่มที่ทำพืชไร่เพื่อเศรษฐกิจก็เจ๊งไปเยอะก็ได้ปรับระบบไปเป็นพืชไร่แบบผสมผสานก็พออยู่กันไปได้ แต่ภาคกลาง ชาวบ้านเขาก็พยายามปรับ มันก็มีคนที่พยายามกัน ในพื้นที่นาเพียงเล็กน้อยเอาไว้เริ่มทำเกษตรแบบไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยา เป็นการเริ่มขยับเรียกว่า นาลดต้นทุน ส่วนแปลงใหญ่ๆ ที่ยังเหลืออยู่ก็พยายามทำนาลดต้นทุน พยายามปรับ ส่วนตรงนาที่เป็นนาปีก็จะเน้นเอาไว้กินเอง หรือเอาไว้พยายามทำตลาดขายตรง
 
เกษตรกรตอนนี้ ก็คือเริ่มมีการปรับระบบ แต่เขายังไม่ทำ สอง เพราะว่าพื้นที่มีขนาดใหญ่ ไม่ใช่อยู่ๆ คนจะลุกขึ้นมาทำทีเป็นร้อยไร่ บางทีก็เอาไม่อยู่ เพราะว่ามันเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานมหาศาล แล้วระบบการผลิตบ้านเรามันได้เปลี่ยนไปเยอะแล้ว มันยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานมาก ดังนั้น จึงต้องใช้เครื่องจักร
 
ฉะนั้น การใช้เครื่องจักรบางเรื่อง มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้เคมี บางตัวก็ต้องยอมรับ แต่ถ้าถามว่าชาวบ้านตื่นตัวขึ้นไหม ชาวบ้านกลุ่มที่เราทำงานด้วย เขาเริ่มตื่นตัวกับการจัดการกับเมล็ดพันธุ์ กลุ่มที่เป็นชาวนาภาคกลางก็จะให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์ที่เขาปลูกเอง จะไม่ไปซื้อ หรือถ้าซื้อก็ต้องไปซื้อตรงจุดที่มั่นใจว่าเขาทำดี ไม่ได้ไปซื้อตามโรงสีทั่วๆ ไปที่ส่วนใหญ่ก็จะมีการปนเปื้อน ข้าวปน ข้าวดิบเยอะ ข้าวไม่ค่อยงอก มันจะมีปัญหาอะไรแบบนั้น ถ้าชาวบ้านเริ่มจัดการพันธุ์ที่เขาปลูกเอง มันก็จะทำให้ระบบการปลูกข้าวมันควบคุมได้มากขึ้น มันหวังผลได้มากขึ้น มันก็เป็นเกษตรที่เรียกได้ว่าประณีตมากขึ้น ถ้าคุณใส่ใจเมล็ดพันธุ์เพาะปลูก
 
มีความคิดเห็นอย่างไร กับการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พี่น้องชนเผ่าทางภาคเหนือ ดูเหมือนจะได้เปรียบคนกลุ่มอื่นหรือไม่?
มันอยู่ที่ระบบ ความหลากหลายมันผูกอยู่กับระบบอาหารจริงๆ ถ้าคุณยังทำการผลิต GMO มันจะหลากหลายมาก แล้วเป็นระบบไล่มาจากบนที่สูง มันจะหลากหลายสูงมาก ถ้าเขายังมีระบบแบบนั้นอยู่ส่วนใหญ่แล้วเขาจะเก็บเมล็ดพันธุ์ ทุกที่นะไล่มาตั้งแต่บนดอย บนดอยจะหนาแน่นหน่อย เพราะว่าระบบการผลิตอาหารเพื่อการยังชีพมันยังเข้มข้นอยู่ พอไล่ลงมาทางภาคอีสานก็ยังมีอยู่
 
คือถ้าคุณยังมีสวนหัวไร่ปลายนา สวนรอบบ้าน สวนรอบนาคุณอยู่ คุณก็เก็บเมล็ดพันธุ์ เพราะคุณยังปลูกพืชอาหารบางส่วนเอาไว้กิน ตราบเท่าที่ยังจัดการอาหารอยู่เอง ยังมีความหลากหลายทางพันธุกรรมอยู่ ลองสังเกตดู รวมทั้งชาวบ้านภาคเหนือที่ลุ่มลงมาหน่อย ที่ไม่ใช่คนดอย ไล่เรียงลงมา ถ้าคุณยังรักษาระบบอาหารรอบบ้านคุณ ยังเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ รวมทั้งชาวนาภาคกลาง เราก็พบว่าถ้าชาวนาภาคกลาง คนไหนไม่ได้ขี่กับรถพุ่มพวงทั้งเดือน ทั้งชั่วนาตาปีเขายังมีสวนรอบบ้านเอาไว้กิน เพราะฉะนั้น เขาก็ยังมีพันธุกรรม ยังมี พริก มีมะเขือ มีผักกาด มีผักใบไว้กิน แต่เราก็เห็นอยู่ว่า กรณีเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมนครสวรรค์ที่ผ่านมา มันพาเอาตัวอาหารรอบบ้านไปหมดเลย ทางเราก็เลยต้องพากันเอาพันธุกรรมกลับไปคืนให้เขาฟื้นกันใหม่ ชาวบ้านนี้พอน้ำลงปุ๊บ เขาเอาตะไคร้ไปเสียบแล้ว ชาวบ้านถ้าเขาก็ยังมีคุ้มอาหารรอบบ้านอยู่ เขายังเก็บพันธุกรรมอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ความหลากหลายอาจจะไม่เท่าบนดอย
 
 
แล้วถ้าชาวบ้านบอกว่า จริงๆ อยากกลับไปทำเกษตรแบบดั้งเดิม แต่มันยังมีวงจรอุบาทว์ ยังมีหนี้สินอยู่ แล้วทางมูลนิธิชีววิถีจะมีทางออกยังไง?
ที่ผ่านมา เราก็พยายามที่จะไม่สุดกู่ คือเรายังเห็นการผลิตการเกษตรเพื่อการค้า เพื่อตอบโจทย์เรื่องเงินมันก็ยังต้องมี แต่คุณต้องจัดการพื้นที่ เราคิดว่ามันไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่ทำเรื่องอาหารของตัวเอง เราคิดว่าปีที่ผ่านมาคุณให้ความสำคัญกับการจัดการที่ดิน แล้วปลูกเป็นเงินก้อน ก็ไม่ได้ว่าคุณ ยังจะทำอย่างนั้นก็ได้ แต่คุณควรจะกันพื้นที่บางส่วน และกันเวลาส่วนใหญ่ ซึ่งชาวบ้านมักคิดว่าตัวเองไม่มีเวลา โดยเฉพาะจะต้องไปดูแลแปลงนั้น ก็เลยไม่มาสนแปลงที่เป็นอาหารไว้กิน
 
หมายความว่า เกษตรกรต้องปรับตัว ต้องจัดสรรที่ดิน และต้องจัดสรรเวลาในการหันกลับมาทำเกษตรแบบพึ่งพาตัวเอง?
ใช่ คือต้องจัดการ ต้องแบ่งเวลา แบ่งทั้งที่ดิน มาจัดการเรื่องอาหาร ไม่ใช่เอาปากเอาท้องของตัวเองไปฝากไว้กับรถพุ่มพวง มันมีวิธีคิดนะ เพราะว่าชาวบ้านทางภาคอีสานพูดบ่อยๆ ให้เราได้ยิน พวกที่ไม่สนใจจะจัดการเรื่องระบบอาหารรอบบ้านของตัวเอง เพราะคิดว่าซื้อง่ายกว่า ราคาบาทสองบาท นิดๆ หน่อยๆ  ไม่ต้องปลูกมันเสียเวลา เขาก็ด่าใส่กันว่าเป็นเรื่องมักง่าย แต่เราไม่ว่าอย่างนั้นก็ได้ แต่คุณก็คิดว่าเสียเงินห้าบาท สิบบาทมันง่ายกว่าไปปลูกเอง เราคิดว่า ถ้าจัดการเรื่องวิธีการตรงนี้ไม่ได้ คุณก็มักจะมีข้ออ้างว่าไม่มีที่ทำ เราก็ไม่ได้บอกว่าให้เอาที่ดินทั้งหมดมาทำ เอามาปลูกให้ใครกิน ถ้าตลาดมันยังไม่โอเค คุณก็ปลูกไปสิ แต่คุณต้องปลูกเรื่องอาหารด้วย เอาแค่นี้ทำไม่ได้เหรอ
 
เพราะฉะนั้น เราคิดว่าเรื่องหนี้ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเรา คุณอยากจัดการอาหาร คุณก็จัดการที่ดินและจัดการเวลา แต่ถ้าบอกว่าที่ดินไม่พอ นี่เป็นโจทย์ ถ้าที่ดินมันน้อยมากอันนี้ต้องคิดกันใหม่ โจทย์เรื่องการจัดการอาหารและการพึ่งตนเอง มันก็จะตอบคำถามได้ ต่อเมื่อเราที่ดินเพียงพอ ถ้าน้อยเกินไปมันก็เอาไม่รอด สำหรับคนที่มีที่ดินไม่เพียงพอ เราก็ต้องมาคิดประเด็นกันใหม่
 
ตอนนี้โลกหรือสังคมมันวิกฤติมากจนต้องหันมามองเรื่องความมั่นคงทางอาหารอย่างเร่งด่วนแล้วใช่ไหม? 
ใช่ มันเห็นความสำคัญมาก ซึ่งเราเห็นว่าเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ถ้าใครพูดถึงเรื่องการพึ่งตัวเอง เรื่องอาหารเขาก็อาจจะรู้สึกว่าไม่ค่อยเข้าใจ มาเดี๋ยวนี้ เจอหลายๆ ที่แล้วมันเห็นภาพเลยนะ ว่าความขาดแคลนมันเกิดขึ้นจริง ของแพง อาหารแพง มันมีจริง อาหารด้อยคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ด้วยตาเปล่า ไม่ต้องไปแยกแยะด้วยวิทยาศาสตร์
 
คิดว่าคนเริ่มคิดค้นเทคนิคมากขึ้นว่า ทำยังไงถึงจะเข้าถึงอาหารที่ดี ซึ่งนี่อาจจะเป็นโจทย์ของคนชั้นกลาง เราพบว่ามีคนรวยหรือคนชั้นกลางที่เบื่อจำนวนไม่น้อยอยากไปจัดการที่ดิน อยากมีที่ดินเพื่อที่จะปลูกนั่นปลูกนี่ไว้กินเองมากขึ้น เรียกว่าเป็นกระแสเห่อหรือไม่ก็ตาม แต่ว่าเราพบว่าส่วนลึกๆ แล้วมันเห็นความจริงข้อนี้มากขึ้น เห็นวิกฤติอาหารที่มีมากขึ้นในขณะเดียวกัน การทำงานกับชาวบ้านที่ให้ความสำคัญกับการปลูกพืชเพื่อการค้ามาก จนแทบไม่เหลือเวลาการคุยกับเขา มันก็เริ่มคุยกันรู้เรื่องมากขึ้น ว่าถ้าคุณจะแบ่งเวลาสักหน่อย เขาก็เริ่มเห็นด้วยมากขึ้น แล้วก็ให้ความสำคัญกับมันมากขึ้น
 
มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น?
ก็มีแนวโน้มที่ดีมากขึ้น คือคนเริ่มเห็นความสำคัญของการพึ่งพาตนเอง ด้านอาหาร ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องปลูกเอง แต่คุณต้องนึกให้ออกว่า คุณจะหาอาหารมาจากไหน คุณจะหาจากเพื่อนบ้าน คุณจะหาซื้อจากที่ไหนที่มันโอเคทั้งในแง่ราคา แล้วก็คุณภาพ คนต้องคิดเรื่องนี้
 
เพราะว่าช่องทางที่ได้มาซึ่งอาหาร มันไม่เหมือนกัน ชาวบ้านที่มีที่ดิน คุณก็ใช้ที่ดินของคุณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำไมคุณต้องไปซื้อส่วนเราไม่มีที่ดิน ไม่มีความสามารถ ไม่มีปัญญา ไม่มีพลังแรงงาน เราก็ต้องมาเริ่มคิดว่า เราจะหาอาหารดีดีที่เราพอจะซื้อไหวได้ที่ไหน นี่คือวิธีการคิดเรื่องการพึ่งพาตนเอง
ด้านอาหาร ไม่ใช่ถือเงินข้ามไปซุปเปอร์มาร์เก็ต เราคิดว่าแบบนี้ เป็นชีวิตที่ไม่ได้คิดเรื่องการพึ่งพาในด้านอาหาร ถึงแม้ว่าเราไม่ได้เป็นคนเพาะปลูก แต่เราก็ซื้อได้ ว่าเราจะจัดการอาหาร ข้าวเราจะมาจากไหน กะปิ น้ำปลา ผักเราควรจะมาจากไหน เราคิดได้ หรือเราจะหาหมูดีๆ ไก่ดีๆ  ไก่พื้นบ้านมาจากไหน เราต้องเริ่มคิดเอง
 
กิจกรรมผักสวนครัวคนเมือง ที่มูลนิธิชีววิถีกำลังทำอยู่ผลรับเป็นอย่างไรบ้าง?
ก็ถือว่าโตเร็ว กิจกรรมมีแฟนคลับเยอะมาก เขาเปิดหน้าเพจ แฟนเพจเป็นห้าพันคน ก็มีคนมาคุยกัน มีคนมาปลูกผักปลูกหญ้ากัน คนในเมืองปลูกผักปลูกหญ้าเยอะขึ้นนะ คือเปลี่ยนจากสวนหย่อม เปลี่ยนจากของที่กินไม่ได้มาเป็นของกินได้มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งดี ตอนที่เราเริ่มคิดเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเราคิดว่าถ้าคนในเมืองลองปลูกของกินดูเอง เขาก็จะรู้ว่าของกินมันปลูกขึ้นได้ง่าย มันก็จะได้รู้ แล้วก็ได้รู้จริงๆ รู้เรื่องวิถีการผลิตมากยิ่งขึ้น คิดว่าน่าจะได้ผล
 
ซึ่งกิจกรรมสวนผักคนเมือง เราก็มีสองหมวด หมวดหนึ่งก็มาจากชนชั้นกลางบ้านจัดสรรทั่วไป อีกหมวดหนึ่งคือหมวดชุมชน ชุมชนอีกอันหนึ่งที่เราเรียกว่าชุมชนนอกระบบที่จะอยู่กันตามสลัม เขาก็จะมีพื้นที่ส่วนการที่มาทำด้วยกันแล้วแบ่งผักกันไปกิน กลุ่มนั้นก็เวิร์ค แล้วก็ทำกันต่อเนื่อง ผักก็งาม ก็ได้กิน ได้ขายกันบางส่วน เราคิดว่ามันต้องเพิ่มพื้นที่อาหารในทุกๆ จุด ไม่ใช่ให้อาหารเดินทางไกลเกินไป อันนี้ตอบโจทย์ข้างหน้าด้วย กรุงเทพที่มีสิบกว่าล้านคนน่าจะเลี้ยงตัวเองได้ ผักมันควรจะมาอยู่ใกล้ๆ จะต้องเป็นผักดีด้วยนะ อาจจะต้องไปจัดการกับพื้นที่รอบๆ เหมือนกับพอน้ำท่วม เราน่าจะเห็นแต่ถนน เราเห็นคลองมากขึ้นพอเราเห็นคลอง เราก็เห็นคนที่อยู่ตามคลองก็ยังทำสวนกันอยู่พื้นที่เกษตรรอบๆ ที่อยู่ตามคลองต่างๆ ที่มีน้ำมีดินทำการเกษตรก็เป็นพื้นที่เกษตรจำนวนไม่น้อยเลย
 
ตอนนี้เรากำลังทำกิจกรรมระดมเมล็ดพันธุ์ ระดมกล้าพันธุ์ ระดมเงินสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่เกษตรรอบกรุงเทพมหานคร มันก็จะทำให้เกิดพื้นที่อาหารใกล้ๆ กรุงเทพมากขึ้น ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปทำกับที่ไกลๆ อยู่ตรงไหนก็ทำตรงนั้น คนเชียงใหม่ก็จัดการเรื่องระบบอาหารที่เชียงใหม่ ระบบอาหารก็เกี่ยวข้องกับระบบตลาด การแลกเปลี่ยนก็ต้องผ่านระบบการค้า ไม่ได้เอามาแบ่งๆ กันกินเฉยๆ
 
ถ้าหากชาวบ้านชุมชนหันกลับมาพึ่งพาตนเองได้แล้ว แนวคิดแบบนี้ฟื้นฟูกลับมาแล้ว แต่ว่ามันยังติดขัดกับนโยบายของรัฐ ซึ่งยังถูกผูกขาดอยู่กับนายทุนบริษัทยักษ์ใหญ่ เราจะกระตุ้นหรือหาทางออกยังไง?
นึกภาพไม่ออกเหมือนกัน คือเวลามองอำนาจส่วนบน ทั้งอำนาจที่มองเห็นและมองไม่เห็น มันก็ประกอบส่วนไปด้วยอำนาจรัฐกับอำนาจทุน มันจับมือกันเหนียวแน่นมาก ถ้าพูดเรื่องระบบอาหารเรื่องเดียวแล้วพบว่าอำนาจรัฐและทุนมันครอบงำ วิธีคิดกระบวนการอาหารเยอะมาก แล้วมันก็มีแนวโน้มพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารมากกว่าพัฒนาระบบอาหารแบบที่เราอยากเห็น
 
ซึ่งเราเห็นทางออกอยู่ทางเดียวในเวลานี้ คือผู้บริโภคต้องตื่นตัวกว่านี้ แล้วมาส่งเสียงบอกว่า นี่ไม่ใช่ทิศทางการพัฒนาอาหารที่เราอยากเห็น ถ้าผู้บริโภคไม่ลุกขึ้นมา เราไม่สามารถทำอะไรได้
 
คือถามว่า ตอนนี้กระบวนการลอบบี้พยายามที่จะไปมีส่วนในการกำหนดนโยบายต่างๆ ก็ไปทุกที่ แต่สุดท้ายในทางปฏิบัติ หลังจากออกมาเป็นนโยบายออกมาแล้ว ก็ไม่มีอะไร กลไกการส่งเสริมภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า พันธุ์ข้าวควรจะส่งเสริมพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีศูนย์จัดการเมล็ดพันธุ์ของตนเองให้ดูแลตนเอง หรือส่งเสริมให้ระดับตำบลทำศูนย์พันธุกรรมท้องถิ่นของเขาเอง ซึ่งพันธุ์นี้ต้องเป็นพันธุ์พื้นบ้านล้วนๆ ไม่ได้บอกอย่างนั้น แต่พันธุ์ต้องเป็นพันธุ์ที่ชาวบ้านจัดการเองได้แนวทางแบบนี้ก็เสนอไปตั้งเยอะตั้งแยะ แต่ก็ไม่มีใครทำ
 
รัฐไม่ทำ ชาวบ้านต้องลุกมาทำเอง?
ใช่ ชาวบ้านก็ต้องลุกขึ้นมาทำเอง ฉะนั้น ด้านหนึ่ง สิ่งที่ทำได้ก็คือ การปฏิบัติการแนวราบที่สร้างเครือข่าย แล้วให้เกิดการปฏิบัติการอันนี้ ยังไงก็ต้องทำ ส่วนในเรื่องนโยบายก็ลอบบี้ไป แต่ว่าไม่ได้หวังผลอะไรมาก แต่ด้านหนึ่ง เราก็หวังผลกับขบวนการผู้บริโภค ฝันไว้ว่ามันควรจะมีประเทศที่คิดว่าตัวเองก้าวหน้า แต่อย่างว่า ประเทศที่คิดว่าตัวเองก้าวหน้า แต่คิดผิดมากเลย เพราะเราดูๆ แล้ว พบว่าเป็นประเทศที่ล้าหลังแบบสุดกู่
 
แต่ว่าเราก็ยังคิดว่ามันมีความเป็นไปได้ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ล้วนออกมาบอกว่า ตัวเองต้องการระบบอาหารแบบไหน เราคิดว่ารัฐและทุนก็ต้องปรับ ก็ต้องฟังเสียงประชาชน เราคิดว่ามันมีโอกาส เพราะคนสนใจสิ่งที่มันหายไป ถ้ามันยังมีอยู่ คุณก็จะไม่รู้สึก แต่ถ้ามันหายไป คุณก็จะเริ่มรู้สึก เราคิดว่ามันเป็นโอกาสวิกฤติที่คุณมองเห็นมากขึ้น เราคิดว่ามันน่าจะเป็นโอกาสสื่อสารกับผู้บริโภคได้มากขึ้น แล้วให้ผู้บริโภคแอคทีฟมากขึ้น
 
เราคิดว่าผู้บริโภคนั้นจะมีพลังได้ คุณต้องลุกขึ้นมาออกแรง ที่เราบอกว่าชาวบ้านก็ต้องออกแรง ใช้เวลาในการจัดการอาหารและจัดการเวลาให้ดีขึ้น ผู้บริโภคเองก็ต้องจัดการเวลา ให้เวลากับการไปขวนขวายแสวงหามากขึ้น ไม่ใช่เข้าที่เดียวแล้วจะได้ทุกอย่างมีที่เดียว ที่ทำให้คุณได้คือ ซุปเปอร์มาเก็ต แต่ถึงเวลาเกิดวิกฤติ ขึ้นมาทั้งซุปเปอร์มาเก็ตก็ไม่มีให้คุณเหมือนกัน
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปาตานีและกรุงเทพฯ: ประชาชาติที่ไร้รัฐและความเป็นรัฐประชาชาติใหม่

Posted: 05 Apr 2012 05:15 AM PDT

บทวิเคราะห์แรงขับของระเบิดใต้ ปัญหาอยู่ที่  อุดมการณ์ชาตินิยมแบบอนุรักษ์ ซึ่งหมายถึง “ความเป็นรัฐที่อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชนและปวงชนไม่ใช่ชาติ และชาติในทัศนะของอุดมการณ์นี้ คือผู้นำสูงสุดหรือผู้ปกครองสูงสุด” 

ตลอดระยะเวลา 8 ปีของสถานการณ์การสู้รบกันระหว่างกองทัพไทยกับกองกำลังติดอาวุธอุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานี เป็นที่ชัดเจนในตัวของมันเองแล้วว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างจุดยืนในอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันอย่างคู่ขนานของความเป็นปาตานีและความเป็นกรุงเทพฯ

แต่แค่เพียงรู้ชัดเจนว่าใครกำลังสู้อยู่กับใครเท่านั้น คงไม่เพียงพอสำหรับการที่จะมองเห็นภาพแนวทางการคลี่คลายการสู้รบที่ชายแดนใต้ของประเทศไทย ณ ปัจจุบัน

กล่าวคือในทุกปรากฏการณ์ความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมมีสิ่งที่เรียกว่า “แรงขับ” เป็นตัวผลักให้เกิดขึ้นแทบทั้งสิ้น กรณีของปรากฏการณ์การสู้รบกันที่ชายแดนใต้ก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีแรงขับให้เกิดขึ้นแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะหาเจอหรือไม่และตั้งโจทย์ของปัญหาถูกหรือไม่ แค่นั้นเอง

แรงขับแรก เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1786 ตรงกับปี พ.ศ.2329 เกิดเหตุการณ์การก่อสงครามล่าอาณานิคมโดยอาณาจักรสยามหรือรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพฯต่ออาณาจักรปาตานี ปรากฏว่าอาณาจักรปาตานีเป็นฝ่ายแพ้และกลายเป็นเมืองขึ้น โดยที่อำนาจอธิปไตยยังมีอยู่

แรงขับที่สอง เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1808 ตรงกับปี พ.ศ.2351 เกิดเหตุการณ์การแบ่งแยกและปกครองอาณาจักรปาตานีเป็นเจ็ดหัวเมือง

แรงขับที่สาม เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1821 ตรงกับปี พ.ศ.2364 เกิดเหตุการณ์การโยกย้ายอพยพคนสยามนับถือศาสนาพุทธมาตั้งรกรากในพื้นที่ของหัวเมืองทั้งเจ็ด

แรงขับที่สี่ เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1902 ตรงกับปี พ.ศ.2445 เกิดเหตุการณ์การผนวกหัวเมืองทั้งเจ็ดเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯภายใต้โครงสร้างแบบมณฑลเทศาภิบาล

แรงขับที่ห้า เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1909 ตรงกับปี พ.ศ.2452 เกิดเหตุการณ์การทำสนธิสัญญาแบ่งปันการยึดครองดินแดนอาณานิคมระหว่างสยามกับบรีทิช ภายใต้สัญญาที่เรียกว่า Anglo-Siamese Treaty

ถือได้ว่าแรงขับทั้งห้าข้างต้นเป็นต้นเหตุให้คนปาตานีต้องกลายเป็น “ประชาชาติที่ไร้รัฐ” จนถึงทุกวันนี้

ส่วนทางด้านอาณาจักรสยามหรือกรุงเทพฯ เมื่อแผนการของการล่าอาณานิคมสำเร็จ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะปาตานีเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ ล้านนาและล้านช้างก็ตกเป็นเหยื่อด้วยเหมือนกัน จึงจำเป็นที่กรุงเทพฯ จะต้องมีแผนการใหม่ในการที่จะรักษาดินแดนอาณานิคมที่ยึดมา ด้วยการสรรค์สร้างชุดความคิดที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองให้กับปวงชนที่มีความหลากหลายอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์และศาสนา ให้รู้สึกมีความเป็นเจ้าของร่วมในอธิปไตยของประเทศที่คิดค้นและสร้างขึ้นมาใหม่ซึ่งครอบคลุมตัวตนของปวงชนทุกคน นั่นคือ จากชื่อประเทศเดิมว่า “สยาม”เปลี่ยนเป็น “ประเทศไทย” ในสมัยของนายกรัฐมนตรีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ.2482 ตรงกับปี ค.ศ.1939 ภายใต้ระบอบการปกครองแบบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งแผนการดังกล่าวรวมเรียกว่า “อุดมการณ์ชาตินิยมแบบอนุรักษ์”

อุดมการณ์ชาตินิยมแบบอนุรักษ์ หมายถึง “ความเป็นรัฐที่อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของปวงชนและปวงชนไม่ใช่ชาติ และชาติในทัศนะของอุดมการณ์นี้ คือผู้นำสูงสุดหรือผู้ปกครองสูงสุด”

กรุงเทพฯ ในปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนว่ามีสถานะทางการเมืองที่ถูกหล่อหลอมจากอุดมการณ์ชาตินิยมแบบอนุรักษ์อย่างมีพัฒนาการ โดยผ่านสถิติที่ไล่เลี่ยกันของปรากฏการณ์การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยประชาชนและการทำรัฐประหารเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีโดยทหาร ซึ่งอำนาจฝ่ายบริหารคุมไม่อยู่

เมื่อการสู้รบระหว่างปาตานีกับกรุงเทพฯต่างฝ่ายต่างก็รู้ว่า ถ้าจะให้จบโดยผลลัพธ์นั้นตัวเองเป็นฝ่ายชนะ ตัวแปรสำคัญคือ “ความจริง” เมื่อไหร่ความจริงได้ปรากฏสู่สังคมสาธารณะ เมื่อนั้นแหละการสู้รบจึงจะยุติ

แต่ในความเป็นจักรวรรดินิยมกรุงเทพฯที่มีความเป็นรัฐประชาชาติใหม่ซึ่งถูกหล่อหลอมจากอุดมการณ์ชาตินิยมแบบอนุรักษ์ ความเป็นไปได้น้อยมากที่จะรู้ความจริงจากโครงสร้างการปกครองแบบ “ลับ ลวง พราง” ซึ่งถือว่าอำนาจสูงสุด นั่นคืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนจริงหรือไม่ หรือจะเป็นไปตามพลพรรคคนเสื้อแดงเรียก นั่นคือ “ประชาธิปไตยซ่อนรูปเผด็จการ” จึงเป็นการยากที่จะรู้ความจริงจากฝ่ายขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานีเหมือนกัน ตราบใดที่ท่าทีของกรุงเทพฯ ยังใช้การลับ ลวง พราง ในการบอกว่า “เรามาพูดคุยเพื่อสันติภาพกันนะ”

เพราะถ้าสมมติว่าขบวนการฯ เปิดเผยตัวออกมาพูดคุยเพื่อสันติภาพ ในขณะที่โครงสร้างการปกครองของรัฐไทยโดยการนำของกรุงเทพฯ นั้น ไม่มีความชัดเจนว่าใครคือผู้มีอำนาจสูงสุดและเป็นที่สิ้นสุดในการตัดสินใจ นายกรัฐมนตรี หรือ ผู้บัญชาการทหารบก หรือ มือที่มองไม่เห็น แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับขบวนการฯโดยเฉพาะตัวคนที่ออกมาเปิดเผยตัวเอง  ทางขบวนการฯ ก็เลยใช้การ “ลับ ลวง พราง” ตอบโต้อย่าง “หนามยอกเอาหนามบ่ง”

ก็เลยไม่แปลกที่จนถึงปัจจุบันทางขบวนการฯ ก็ยังไม่เปิดเผยตัวเอง เพราะสถานการณ์ความเป็นจริงของทางกรุงเทพฯ นั้นอยู่ในสถานะที่ไม่พร้อมจะมาพูดคุยเพื่อสันติภาพ ที่เป็นกระแสครึกโครมว่ามีการพูดคุยกันในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียนั้น เป็นแค่ยุทธการที่เรียกว่า “โยนหินถามทาง” และ “แหวกหญ้าให้งูตื่น” แล้วงูก็ตกใจวิ่งหนีตกเข้าไปในบ่อที่ขุดไว้

ถ้ามองในหลักการมีความเป็นไปได้บ้างของการพูดคุยเพื่อสันติภาพแล้ว ตัวแปรสำคัญอยู่ที่ท่าทีความจริงใจและมีความลึกซึ้งกับความหมายของคำว่า “สันติภาพ” มากน้อยแค่ไหนของกรุงเทพฯ หรือรัฐไทย มีแต่แนวทางนี้เท่านั้นจึงจะสามารถเปิดพื้นที่การพูดคุยเพื่อสันติภาพ ที่ไม่มีการ “ขุดบ่อล่อปลา” เหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ถ้าทางกรุงเทพฯ สามารถพิสูจน์ความจริงใจแบบนี้ได้จริง เชื่อว่าทางฝ่ายขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานีเอง ก็คงรู้สึกว่ามันถึงเวลาของการพูดคุยเพื่อสันติภาพจริงๆ แต่ปัญหาก็อยู่ที่ว่า “ใครหละจะกล้าการันตีว่ากรุงเทพฯ จะไม่หลอกปาตานีอีก”

 

 

เผยแพร่ครั้งแรก:  http://www.deepsouthwatch.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

‘สมยศ’ ยันสู้ต่อคดีหมิ่นฯ เฮือกสุดท้ายพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมไทย

Posted: 05 Apr 2012 04:43 AM PDT

 

5 เม.ย.55  รายงานข่าวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แจ้งว่าสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ยืนยันว่าจะไม่รับสารภาพและขอพระราชทานอภัยโทษเช่นเดียวกับผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรายอื่นๆ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ หากรับสารภาพก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจ

“เขาชวนมาต่อสู้ในชั้นศาลก็อยากจะลองดู คนที่เขารับสารภาพเพราะเขาไม่เชื่อมั่น สิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรมแล้ว แค่สิทธิในการประกันตัวก็ยังไม่มี ฝ่ายผู้เสียหายก็ยังไม่เคยปรากฏตัวในชั้นศาลซักครั้ง ที่เราสู้ เพราะอยากรู้ด้วยตัวเองว่า ความยุติธรรมสำหรับคดี 112ยังหลงเหลืออยู่ไหม” สมยศกล่าว

“ที่เข้ามาไม่ได้เข้ามาเพื่อรอวันออก แต่เข้ามาเพื่อสู้ อย่างน้อยจะได้เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์” สมยศกล่าว

เขากล่าวอีกว่า ผลการแพ้ชนะคดีสำหรับเขาแล้วมีค่าเท่ากัน เพราะหากได้ออกจากเรือนจำก็ยังเจอกรงขังที่ใหญ่กว่า ที่ผ่านมาถือว่าได้ทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของประเทศแล้ว มีส่วนร่วมทางการเมือง ใช้สิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างที่พลเมืองที่ดีควรจะเป็น

“ปัญหาสำคัญคือ ผู้บริสุทธิ์ต้องมารับสารภาพเพื่อหาทางรอด มันแปลว่าอะไร มันปวดลึกยิ่งกว่าอีก  เลยคิดว่าสู้ดีกว่า อย่างน้อยให้เขาเป็นฝ่ายพิพากษา” สมยศกล่าว

ทั้งนี้ สมยศถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย.54 ขณะพาคณะทัวร์เตรียมผ่านแดนไปกัมพูชา โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Vioce of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง 2 บทความ

เขาถูกคุมขังนับแต่นั้นและไม่ได้รับการประกันตัว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสืบพยาน โดยที่ผ่านมามีการสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 4 ครั้งในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พ.ย.54, จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.54, จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.55, จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 13 ก.พ.55 แต่มีการเลื่อนมาสืบพยานที่กรุงเทพฯ เนื่องจากพยานอยู่กรุงเทพฯ

หลังจากนี้จะมีการสืบพยานโจทก์ที่ศาลอาญา รัชดา ต่อเนื่องอีกในวันที่ 18-20, 24-26 เม.ย.55 และสืบพยานโจทก์ในวันที่ 1-4 พ.ค.55

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สรส.ชี้ไทยยังไม่ยอมให้สิทธิ "แรงงานข้ามชาติ" เข้าถึงกองทุนเงินทดแทน

Posted: 05 Apr 2012 12:59 AM PDT

(5 เม.ย.55) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานและหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ให้ยกเลิกหนังสือเวียนที่ รส.0711/ว751 ที่ปฏิเสธแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนเนื่องจากการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยจากการทำงาน เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับที่แรงงานทั้งหมดพึงได้รับ โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านสัญชาติและสถานะการเข้าเมือง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐบาลไทยได้ประกาศว่าจะยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบในประเทศไทยและจะเชิดชูสิทธิของแรงงานข้ามชาติในระหว่างที่มีการรายงาน Universal Periodic Review ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

รายละเอียดแถลงการณ์ มีดังนี้...

 

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทยอย่างรุนแรงสำหรับการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานข้ามชาติ แค่เพียงหนึ่งอาทิตย์หลังจากที่รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาต่อหน้าคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติถึงการป้องกันสิทธิของแรงงานข้ามชาติว่าให้มีสิทธิพิเศษก่อน ชื่อเสียงของประเทศไทยในด้านการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานข้ามชาติยังคงเป็นจุดสนใจของประชาชน

ในรายงานสมัยประชุมที่ 101 ของการประชุมด้านแรงงานระหว่างประเทศ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศด้านการอนุมัติให้เป็นไปตามอนุสัญญาและคำแนะนำ ระบุว่าการปฏิเสธอย่างต่อเนื่องของประเทศไทยถึงการที่แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าจะเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนเนื่องจากประสบอุบัติเหตุจากการทำงานจากสำนักงานประกันสังคมนั้น เป็นการละเมิดพันธกรณีในฐานะรัฐภาคีสมาชิกที่ลงนามในอนุสัญญาที่ 19 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ คำตัดสินขององค์การแรงงานระหว่างประเทศนับเป็นครั้งที่สองในรอบสองปีที่มาสนับสนุนการรณรงค์อย่างยาวนานโดยสหภาพและกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ต้องการให้ยกเลิกเพิกถอนนโยบายที่เป็นการเลือกปฏิบัตินี้

นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าววันนี้ว่า “แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยยังคงประสบความทุกข์ร้อนจากระบบการเลือกปฏิบัติ ทั้งๆ ที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับแรงงานไทยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แทนที่จะให้แรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย รัฐบาลไทยกลับปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ สรส. จึงขอเรียกร้องอีกครั้งให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่เป็นการเลือกปฏิบัติเหล่านี้เสีย เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเฉกเช่นเดียวกับที่ ‘แรงงานทั้งหมด’ พึงจะได้รับ โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยด้านสัญชาติและสถานะการเข้าเมือง”

นายสาวิทย์กล่าวต่อไปว่า “เราขอเรียกร้องโดยทันทีให้ยกเลิกหนังสือเวียนที่ รส.0711/ว751 ที่ปฏิเสธแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทนเนื่องจากการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยจากการทำงาน รัฐบาลได้ประกาศต่อหน้าสาธารณะว่าจะยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบในประเทศไทยและจะเชิดชูสิทธิของแรงงานข้ามชาติในระหว่างที่มีการรายงาน Universal Periodic Review ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในนครเจนีวา การยกเลิกนโยบายที่ล้าสมัยและข้อจำกัดในการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำงานควรเป็นการดำเนินการอย่างแรกๆ ที่รัฐบาลควรทำเพื่อให้เป็นไปตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ แต่แทนที่รัฐบาลจะทำ หนังสือเวียนฉบับดังกล่าวนี้กลับยังคงมีผลอยู่”

กระทรวงแรงงานยังคงปฏิเสธอย่างเหนียวแน่นที่จะยกเลิกหนังสือเวียนที่ รส.0711/ว751 ทั้งๆ ที่มีการอุทธรณ์โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศในปี 2553 และผู้รายงานพิเศษองค์การสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนของผู้ย้ายถิ่นและลัทธิเหยียดหยามชนชาติในปี 2554 การที่ศาลไทยยังคงปฏิเสธที่จะสั่งเพิกถอนหนังสือเวียนฉบับนี้และมีกรณีศึกษาอีกสามตัวอย่างเช่นกันที่กำลังค้นหาการยกเลิกเพิกถอนหนังสือเวียนที่ รส.0711/ว751 ซึ่งยังคงค้างอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกา รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุเพิ่มเติมว่า “คณะกรรมการเสียใจที่รัฐบาล…ยังคงเพิกเฉยต่อความต้องการที่จะให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกหนังสือเวียนฉบับนี้…”

ตามที่รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า “คณะกรรมการขอกระตุ้นให้รัฐบาลให้ความมั่นใจว่า…มาตรการที่ให้มีผลบังคับเพื่อเป็นการกำจัดกรณีของการปฏิเสธการรักษาพยาบาลยามฉุกเฉินเร่งด่วนและสิทธิประโยชน์อย่างอื่นที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนที่จะต้องทนทุกข์ทรมานจากอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน… รัฐบาลควรจะใช้มาตรการเร่งด่วน (สร้างมาตรการ) ในความปลอดภัยทั้งหมดให้ครอบคลุม เข้าใจได้อย่างกว้างขวางโดยจัดหาให้มีการป้องกันขั้นพื้นฐานแก่แรงงานข้ามชาติทั้งหมดในกรณีที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน และควรที่จะเรียกร้องให้นายจ้างใช้นโยบายการประกันภัยสำหรับแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้างในแต่ละคนของนายจ้าง บังคับให้เป็นไปตามกฎหมายโดยมีมาตรการลงโทษที่เป็นกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด”

ในเรื่องการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้แผนการรับประกันภัยเอกชนรายหนึ่ง ที่ไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายได้ ที่ว่านายจ้างสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงานให้กับแรงงานข้ามชาติได้ เช่นเดียวกับนโยบายด้านแรงงานในประเทศไทยส่วนใหญ่

การตัดสินใจครั้งนี้ได้กระทำไปโดยปราศจากการประชุมปรึกษาหารือกับสหภาพ คนงาน หรือกลุ่มสิทธิมนุษยชน และ ‘ยังคงเป็นนโยบายที่อยู่บนฐานของการเลือกปฏิบัติ’ เฉกเช่นเดียวกับที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้ระบุไว้เป็นพิเศษในรายงานเมื่อเร็วๆ นี้

นับตั้งแต่มกราคม 2555 มีแรงงานข้ามชาติประมาณ 3,000 รายเท่านั้นที่ถูกครอบคลุมโดยแผนการรับประกันภัยเอกชนนี้ ยังมีแรงงานข้ามชาติมากกว่าหนึ่งล้านคนจากประเทศพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนามที่ยังคงไม่สามารถเข้าถึงค่าทดแทนที่ต้องได้รับการชดเชยจากอุบัติเหตุจากการทำงานได้ คนงานพร้อมกับครอบครัวของเขายังคงต้องประสบกับชะตาชีวิตของความไม่แน่นอนอยู่อย่างต่อเนื่องและกำลังทนทุกข์ทรมานถ้าพวกเขาได้รับอุบัติเหตุจากที่ทำงานต่อไป
 

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
5 เมษายน 2555

 

 

หมายเหตุ: ประชาไท แก้ไขพาดหัวข่าวตามการท้วงติงของผู้อ่าน 5 เม.ย.55 เวลา 16.20 น.

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น