โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

"ทักษิณ" ที่เสียมราฐ: ชี้การเมืองเป็นแบบเดิมไม่ได้แล้ว แม้แต่เด็กยังฟ้องครูอังคณา

Posted: 14 Apr 2012 11:51 AM PDT

หมายเหตุ: วานนี้ (14 เม.ย.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางโดยเที่ยวบินมาจากเมืองจำปาสัก สปป.ลาว มายังเมืองเสียมราฐ หรือเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เพื่อร่วมกิจกรรมรดน้ำดำหัวและร้องเพลงกับกลุ่มผู้สนับสนุนในช่วงเย็นที่ลานวัฒนธรรมเมืองเสียมราฐ โดยในช่วงเย็น พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กล่าวปราศรัยกับผู้สนับสนุนมีรายละเอียดดังนี้

ที่มาของภาพ: Asia Update

ทำไมพี่น้องเดินทางมาไกลถึงขนาดนี้ เพราะหัวใจเราผูกพันกันใช่ไหมครับ ตลอดเวลา 6 ปีที่ผมทำงานมาผมเอาหัวใจให้ท่าน วันนี้ท่านจึงเอาหัวใจมอบให้ผมใช่ไหมครับ

6 ปีที่ผมทำงานมา ผมทำด้วยหัวใจที่รักพี่น้องคนไทยทุกคน ทำทุกเรื่อง ทำทุกอย่าง เพราะผมรักและอยากให้คนไทยมีความสุข แต่วันนี้ผมไปได้ทั่วโลก ยกเว้นประเทศที่เป็นแผ่นดินเกิดของตัวเอง พี่น้องเห็นใจจึงมาให้กำลังใจกัน หลายกันเดินทางมาจากเหนือสุด บางคนมาจากตะวันตก เมืองกาญจน์ หาดใหญ่ เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ และมาที่นี่ ที่เสียมเรียบแห่งนี้พี่น้องก็ยังตามมาให้กำลังใจผมทุกที่ ผมถือว่าเป็นบุญคุณอันยิ่งใหญ่ในชีวิตที่ผมชดใช้ไม่หมด

บางคนต้องเสียชีวิต บางคนต้องบาดเจ็บ บางคนต้องติดคุก บางคนต้องหมดเนื้อหมดตัว บางคนเป็นหนี้เป็นสิน ก็เพราะว่าอยากจะช่วยผมตามกำลังที่มีอยู่ พี่น้องครับ ทุกวันนี้ ไม่ว่าผมจะเดินทางไปที่ไหน ไปเห็นอะไร หรือมีเวลาคิดอยู่บนเครื่องบิน ก็จะคิดว่าจะทำอะไรให้พี่น้องคนไทย ให้มีความสุขเสียที

พี่น้องครับ นับตั้งแต่ผมถูกปฏิวัติ พี่น้องก็ออกมาแสดงพลัง ในตอนต้นๆ ก็ยังงงๆ อยู่ นับตั้งแต่คนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ จนมาถึงลุงนวมทอง (ไพรวัลย์) ซึ่งวันที่ 30 ต.ค. นี้ก็จะครบรอบที่เสียชีวิต 6 ปี ลุงนวมทองยอมเสียสละชีวิตของตนเองเพื่อจะบอกว่าประชาธิปไตยของข้าอย่าเอาไป

และเมื่อวันที่ 3 ก.ค. ทีผ่านมา พี่น้องคนไทยก็ได้แสดงพลังให้ชัดเจนแล้วว่า เอาพรรคเพื่อไทย เพื่อที่จะเอาประชาธิปไตยกลับคืนมา ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นตัวแทนผมลงสมัครรับเลือกตั้ง พี่น้องก็ไปแสดงพลังไปเลือกกันอย่างถล่มทลาย และวันนี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ทำให้พี่น้องผิดหวังใช่ไหมครับ ผมเองยังคิดไม่ถึงว่า น้องสาวของผมคนนี้จะเข้มแข็งขนาดนี้ แล้วสิ่งที่เขามีดีกว่าผมเยอะ คือการไม่ไปต่อล้อต่อเถียงกับฝ่ายค้าน ของผมมันเป็นโรคที่ ฟึดมาก็ฟึดไปล่ะ

แล้วก็เหมาะครับ พี่น้องคงจำได้ว่า ผมบอกว่า เราจะต้องเข้าสู่การปรองดองถึงเวลาที่คนในชาติหันหน้าเข้าหากัน สามัคคีกันได้แล้ว นายกฯ ควรจะเป็นผู้หญิง พี่น้องก็เห็นด้วย และในที่สุดเราก็มีนายกฯ เป็นผู้หญิงครั้งแรก ในประวัติศาสตร์ชาติไทย และทำงานเข้มแข็งไม่แพ้ผู้ชาย

พี่น้องครับ ตราบใดที่ผมยังมีชีวิตอยู่ ผมจะไม่เลิกคิด และใช้สมองเพื่อคืนความผาสุกให้กับพี่น้องคนไทยให้ได้เร็วที่สุดครับ ถึงแม้อายุปีนี้ใกล้จะ 63 แล้ว วันก่อนไปจุดเทียนที่เวียงจันทน์ ใช้เวลานานมากเพราะเขาเอาเท่าอายุ ก็เลยรู้ว่าแก่มากแล้ว แต่ว่าใจ พลังใจที่ได้รับจากพี่น้องทั้งหลาย สมองที่รู้สึกว่าเป็นหนี้บุญคุณพี่น้อง ต้องทดแทน ไม่หยุดคิด ไม่หยุดทำงาน ต้องทำให้ได้ครับ

พี่น้องมาวันนี้ พี่น้องครับ พี่น้องได้เสียสละมาก บางคนยืนร้องไห้ แล้วก็กวักมือเรียกผมบอก ว่า "กลับบ้านเราเถิด" ผมฟังแล้ว ตื้นตันใจครับ

พี่น้องครับ คงไม่นานเกินรอ ถ้าคนไทยที่รักบ้านรักเมือง รักประเทศชาติทั้งหลาย เห็นว่าบ้านเมืองถึงเวลาที่ต้องปรองดองหันหน้าเข้าหากันแล้ว วันนั้นผมจะกลับมาอยู่กับพี่น้องต่อไปครับ

แล้วผมเชื่อว่า ไม่นานเกินรอหรอกครับ มันไม่นานแน่ เพราะวันนี้ มันปรากฏชัดเจนแล้วครับ เรื่องที่กล่าวหาทั้งหลายมันไม่จริง เรื่องที่กล่าวหาทั้งหลายมันเป็นการทำขึ้นมา วันนี้พี่น้องครับ ประเทศไทยบอบช้ำมา 6 ปี ทุกคนรู้ แล้ววันนี้ทุกคนก็บอกว่า อยากเห็นบ้านเมืองกลับสู่สภาพเดิมเร็วๆ เพราะฉะนั้นผมจึงยืนยันได้ว่ามันไม่นานแล้วครับ ที่เราจะกลับไปอยู่ด้วยกัน

พี่น้องจำไว้นะครับ ผมเป็นหนี้บุญคุณพวกท่าน ไม่ว่าท่านที่เสียชีวิตไปแล้ว ท่านที่บาดเจ็บ ท่านที่จำคุก และพี่น้องทั้งหลายที่โชคดี ไม่มีอันตราย แต่ก็มีความตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างทุกวันนี้ ผมเป็นหนี้บุญคุณท่านทุกคน

ผมเติบโตขึ้นมาในชีวิต เพราะเป็นคนกตัญญู ไม่ว่าใครทำอะไรให้ผม ผมจำได้ผม ผมจะรอวันไหนที่ผมจะตอบแทนบุญคุณเท่านั้นเอง สำหรับพี่น้องทั้งประเทศ โดยเฉพาะพี่น้องเสื้อแดงผมถือว่าเป็นหนี้บุญคุณหลายเท่า พี่น้องครับ ปีนี้เป็นปีพิเศษ แล้วเราเริ่มต้นมาเจอกันในวันสงกรานต์ เป็นวันสงกรานต์ที่ผมมาอยู่ใกล้ ได้ทำบุญตามพิธีศาสนาพุทธ ซึ่งผมเป็นคนพุทธ ซึ่งผมมีความสุขใจมาก ได้กอดคนไทย ได้กลิ่นอายประเทศไทย แม้ไม่ได้เหยียบบนแผ่นดิน ผมกอดพวกท่านทั้งหลาย ผมมีความสุขครับ เพราะผมถือว่าผมได้กอดคนที่มีหัวใจผูกพันกันครับ

ผมอยู่เวียงจันทน์ได้กลิ่นอายประเทศไทยเต็มปอด ได้สูดกลิ่นเต็มปอด อยู่ใกล้แค่ข้ามโขง เป็นปีที่ผมมีความรู้สึกว่า และมั่นใจว่าน่าจะเป็นปีที่ดีของพวกเราทุกคน เราจะอยู่กันแบบนักสู้ที่มีแต่สันติสุข ไม่มีการรุนแรงท้าทายใดๆ ทั้งสิ้น แต่เราอยากจะสู้เพื่อบอกว่าเราขอความเป็นธรรมเถอะ

พี่น้องครับ ปีนี้เป็นวาระสำคัญ วันที่ 28 ก.ค. นี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา ซึ่งถือเป็นรอบที่สำคัญ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรงเจริญพระชนมมายุครบ 80 พรรษา 12 ส.ค. นี้เช่นกัน

เพราะฉะนั้นมีอะไรที่บอกเหตุหลายอย่างแล้วว่า ผมจะได้กลับไปอยู่กับพี่น้องแล้วล่ะ (ผู้ชุมนุมตะโกน กลับบ้านๆ)

เมื่อกี้นี้ ก่อนออกมา น้องสาวผมคนหนึ่งคือเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ภรรยาท่านสมชาย บินมาจากเชียงใหม่ แล้วเอาตระกร้าพร้อมน้ำอบไทย พร้อมผ้าตามประเพณีไทย เอามาจากเชียงใหม่ บอกว่า นายกฯ ปูส่งมาให้ผม ได้ประดิษฐ์เอง ฝากมาด้วยหัวใจของน้อง เพราะผมเป็นคนทางเหนือ เราถือเป็นเรื่องสำคัญ เราจะไปมาหาสู่กันตลอด แต่ปีนี้เขาเป็นนายกฯ เลยไม่มีโอกาสมาเจอผม ปกติก็เจอกันประจำ

พี่น้องครับ พอพูดคำว่า "พี่น้อง" ไม่ได้เจอกันมันก็แปลกดี แต่ "พี่น้อง" ของเราได้เจอกันเนาะ ไม่ได้พูดกับพี่น้องนาน พูดแต่ทางสไกป์ไม่ได้ออกรสออกชาติ วันนี้มาพูดต่อหน้า ได้ความรู้สึกดีมาก ก็ดีใจครับ

หลายท่านก็คงได้เคยฟังปราศรัยผมตอนหาเสียง หลายท่านเคยฟังสไกป์ที่ส่งจากภาพวิดีโอ วันนี้เห็นตัวเป็นๆ ก็พี่น้องก็คงสบายใจขึ้น เพราะผมตัวอ้วนขึ้น เพราะถูกนินทา ปล่อยข่าวว่าเป็นมะเร็ง ถ้าเป็นมะเร็งมันต้องผอม แต่นี่ผมมันเป็น "มาเล็ง" เขาเอาอาหารมาเสิร์ฟก็คอยเล็ง จานไหนอร่อยก็กินเยอะเลยอ้วน เลยเป็นโรคมาเล็ง ไม่ใช่เป็นมะเร็ง พี่น้องครับ วันนี้ถ้ายังไม่ได้ผมกลับบ้าน ก็เอาหน้ากากผมกลับไปก่อนก็แล้วกัน แล้วตัวจริงจะตามไป แต่รับรองว่า อย่างที่ผมบอก เขาว่าผมจะใส่หน้ากากเดินข้ามเขตไป ผมบอกข้ามอย่างนั้นไม่เท่ จะกลับทั้งทีต้องกลับเท่ๆ เพราะผมไม่ใช่ผู้ร้าย ถ้าผู้ร้ายต้องกลับไม่เท่ ถ้าพระเอกต้องกลับเท่หน่อยสิ

พี่น้องเคยดูหนังไทยไหมครับ บางทีเขากล่าวหากันว่าตั้งแต่ต้นจนจบ กว่าจะรู้ว่าไม่ใช่ เล่นเอาสะบักสะบอมเหมือนกัน วันนี้ผมโดนกล่าวหาสะบักสะบอม แต่ในที่สุด พี่น้องครับ พี่น้องก็ตัดสินแล้วนี่ครับ 265 เสียงนี่ขนาดเบี้ยวไปตั้งเยอะแล้วนะ 3 อาทิตย์ก่อนเลือกตั้ง ผมบอกกับพวกที่คอยจะไปช่วยอีกฝ่ายหนึ่ง ผมบอกน้องเอ้ย พี่ชนะไม่น้อยกว่า 100 เสียงน้องเอ้ย เพราะฉะนั้นอย่าไปยุ่งเลย ทำตัวเป็นกลางดีกว่า บ้านเมืองจะได้ปรองดองได้ เขาย้อนถาม 100 เสียงเลยหรือครับพี่ นี่ 104 เสียง

คือผมทำงานเป็นวิทยาศาสตร์ ผมนั่งเทียนไม่เป็น ผมเช็คตลอดเวลาครับว่าพี่น้องรู้สึกอย่างไร แล้ววันนี้ผมบอกผู้แทน บอก ส.ส. ด้วยนะ ว่า ผมจะถามพี่น้องประชาชนว่า พี่น้องพอใจ ส.ส. แค่ไหน เพราะฉะนั้นทุกคนจะได้รู้ว่าต้องใกล้ชิดกับประชาชน

คนเป็นนักการเมือง ต้องเป็นนักการเมืองที่รักประชาชน นี่คือสิ่งที่ผมบอกน้องสาวผมไว้ ถ้าไม่รักประชาชนอย่าคิดมาเป็นนักการเมือง เพราะจะเสียเวลาทั้งสองฝ่าย ประชาชนต้องการโอกาส ถ้าเราเป็นนักการเมืองที่รักประชาชน เราจะแสวงหาโอกาสช่วยประชาชนตลอดเวลา

ผมจึงบอก ส.ส. ทุกคนว่า ผมต้องรู้อุณหภูมิว่าประชาชนรักท่าน ท่านรักประชาชนไหม ถ้าไม่เช่นนั้น เราจะไม่ให้ท่านเป็นตัวแทนอีกต่อไป การเมืองต้องพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งแล้วครับ เพราะประเทศกำลังจะมีรถไฟความเร็วสูง การเมืองเป็นอย่างเดิมไม่ได้แล้ว ประเทศไม่ทันโลกเขาหรอก อีกไม่นานเราจะมีรถไฟความเร็วสูง มีตึกระฟ้าตามจังหวัดต่างๆ ตามบ้านนอก ความเจริญไปแล้วทางวัตถุ เด็กประถมกำลังจะมีแท็บเล็ตพีซี มีคอมพิวเตอร์ใช้แล้ว หมู่บ้านต่างๆ จะมีไวไฟใช้ เด็กยังฟ้องครูอังคณาทาง Youtube เลย

เพราะฉะนั้นพี่น้องครับ ต่อไปนี้ ประเทศไทยจะฉลาดขึ้นอีกเยอะ ถ้านักการเมืองโง่กว่าประชาชนไม่ได้แล้ว นักการเมืองต้องพัฒนาตัวเอง ถ้าหลุดจากวังวนเดิมๆ ไม่ได้ ประชาชนจะบอกเองว่าไม่เอาแล้ว

พี่น้องครับ วันนี้ จากนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย หลังจากที่งบประมาณที่พรรคเพื่อไทยตั้งเองแล้ว นโยบายต่างๆ จะถูกผลักดันสู่พื้นที่อย่างเต็มที่ นายกฯ บอกกับผมว่าหลังสงกรานต์นี้เราจะพักหนี้แล้ว แล้วท่านนายกฯ ไปจีนเที่ยวนี้ จะมีการลงนามข้อตกลง ที่จีนจะรับทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลังไม่อั้น วันนี้พี่น้องครับ เราเสียเวลามา 6 ปีแล้ว ถึงเวลาที่เราต้องเร่งพัฒนาประเทศ ถึงเวลาที่เราจะปรองดอง เราไม่วอแวกับใครแล้ว ใครวอแว เราไม่ได้ยินนะ เราจะทำอย่างเดียว ทำงาน ทำงาน ให้ประชาชนให้ได้

เพราะเราต้องมั่นใจว่า พี่น้องประชาชนต้องดีขึ้น ทุกอย่างมันผ่านไป 6 ปี มันเสียหายไปเยอะ 30 บาทรักษาทุกโรคเอาไปเสียซะหมด อยากจะเท่ด้วยการยกไม่เอา 30 ปี ที่ไหนได้กระบวนการบริการเจ๊งหมด ไปดูถูกว่าพี่น้องเสียดาย 30 บาท แต่ยอมไปเข้าคิวแต่ตี 5 พี่น้องครับ สิ่งเหล่านี้พวกเรากำลังช่วยกันคิดช่วยกันแก้ ขอเวลาหน่อย เพราะว่าพอมาเป็นนายกฯ ใหม่ๆ ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็เจอน้ำท่วมเสียแล้ว แล้วก็เสียเวลาไปหลายเดือน สตางค์ที่จะเอามาบริหารประเทศ อ้าวต้องเอาไปฟื้นฟูน้ำท่วมอีก

แต่โชคดีพี่น้องครับ จีนเสนอมาดีมาก เสนอจะทำน้ำท่วมป้องกันน้ำท่วมน้ำแล้งให้เราใช้เงินนิดเดียว แถมยังรับสินค้าเกษตรผ่อนอีกต่างหาก รถไฟความเร็วสูงนี่วิ่ง 300 กม. ต่อชั่วโมง กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ 3 ชั่วโมงเท่านั้นเอง ไม่ถึงด้วยซ้ำมั้ง 2 ชั่วโมงกว่าๆ ของดีๆ กำลังจะมาแล้ว มาพร้อมกับเอาทักษิณกลับไปอยู่กับพี่น้องนั่นแหละ

พี่น้องครับ ผมไม่เคยขึ้นเวทีกับคุณเงาะ กับคุณจตุพร กับคุณณัฐวุฒิพร้อมกัน เคยแต่ลอยมาทางอากาศ เที่ยวนี้มาเจอตัวเป็นๆ หมด แหม ท่าจะสนุกนะวันนี้พี่น้อง นี่ ไหนๆ ก็ที่นอนไม่พอแล้ว อยู่กันสว่างเลยมั้ย มีอาหารกินหรือเปล่า มีน้ำพอไหม ที่เข้าห้องน้ำพร้อมนะพี่น้อง ข้างบนเขาบอกพร้อม ข้างล่างพร้อมหรือเปล่า (ทักทายผู้สนับสนุน)

ท่านนายกฯ ฮุนเซ็น ที่ผมปราศรัยเมื่อกี้นี้ ท่านฟังภาษาไทยไม่รู้หรอก แต่ท่านฟังอย่างเต็มที่ ท่านนายกฯ ฮุนเซ็นเป็นคนที่หัวใจยิ่งใหญ่มาก พี่น้องครับ นี่คือสปิริตเพื่อนบ้าน ไม่อย่างนั้น พี่น้องเอ้ยกว่าจะเข้ามาได้เป็นหมื่นๆ คน แต่ท่านก็ให้ท่านทั้งหลายมาอย่างสะดวกสบาย แถมส่งการ์ดมาเต็มไปหมด บางครั้งการ์ดอาจจะรุนแรงไปบ้างขออภัยนะครับ คือไม่มีใครเชื่อว่าผมมีหลวงพ่อหนังดี ตอนที่ผมกลับมาตอนที่พรรคพลังประชาชนชนะ ผบ.ตร.คนนี้ ตอนนั้นเป็นรอง ผบ.ตร. ก็ส่งเสื้อเกราะมาให้ผมลงเครื่อง ส่งพระเครื่องมาเต็มเลย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รือเสาะไม่หวั่นถูกจับตาผุดชมรมตาดีกาแทน ‘กลุ่มนะห์ฎอ’

Posted: 14 Apr 2012 11:33 AM PDT

10 ตำบลรือเสาะ จับมือตั้ง “ชมรมตาดีกา” หลังภัยไฟใต้ส่งผลกระทบกิจกรรมครูตาดีกา จนต้องยุบ “ชมรมตาดีกานะห์ฎอ” เหตุต้องสงสัยเป็นภัยความมั่นคง

นายมุสตอปา อูเซ็ง อายุ 62 ปี ครูสอนศาสนาโรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน เปิดเผยว่า เหตุการณ์ความไม่สงบ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อชมรมตาดีกานะห์ฎอ หรือ Pertanam (Persatua Tadika Nahdhah Maju) จนต้องยุติบทบาทของชมรมฯ ลง เนื่องจากสมาชิกของชมรมฯ ถูกเพ่งเล็งว่า เป็นแนวร่วมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ทำให้สมาชิกชมรมฯ ไม่กล้าเข้าไปสอนโรงเรียนตาดีกาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตนเชื่อว่าคงไม่สามารถฟื้นฟูชมรมฯ ขึ้นมาใหม่ได้อีก  

นางซารีปะ ดอเลาะ อายุ 49 ปี ประธานชมรมตาดีกา หรือ Putra และครูสอนศาสนาโรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน เปิดเผยว่า ชมรมตาดีกานะห์ฎอ เป็นชมรมที่อยู่ภายใต้โรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน มีอุสตาซ และอุสตาซะห์ของโรงเรียนนะห์ฎอตุลสูบาน เป็นผู้ดูแล สำหรับชมรมตาดีกานะห์ฎอดำเนินการมานานกว่า 20 ปี หลังจากเกิดเหตุการณ์ปี 2547 ชมรมตาดีกานะห์ฎอก็ถูกยุบ และไม่มีการรวมตัวกันอีก จนกระทั่งปี 2554 จึงมีการก่อตั้งชมรมใหม่ขึ้นมา ชื่อว่า Putra (Persatuan tadika Resok) ดูแลโรงเรียนตาดีกาในอำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีกระบวนการทำงานเหมือนเดียวกับ Pertanam เป็นการรวมตัวของครูโรงเรียนตาดีกาทั้ง 10 ตำบล โดยส่งตัวแทนตำบลละ 2 คน มาร่วมจัดกิจกรรมระหว่างโรงเรียนตาดีกาด้วยกัน ทำให้ง่ายต่อการประสานงานและจัดหลักสูตรโรงเรียนตาดีการ่วมกัน

สำหรับชมรมตาดีกา หรือ Putra เป็นชมรมที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาด้านการศึกษาและจัดหลักสูตรโรงเรียนตาดีในระดับอำเภอ ผ่านสัมพันธ์ระหว่างครูด้วยกัน เพื่อให้ได้หลักสูตรที่เหมือนกัน มีจุดประสงค์เดียวกันคือพัฒนาสังคมให้มีความร่วมมือร่วมใจและส่งเสริมการทำความดี

 

หมายเหตุ 

โครงการค่ายอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการโดย โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) สนับสนุนโดย โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Projet)

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อภิปราย: บาดแผลของความรุนแรงกับการแปลงความทรงจำ (1)

Posted: 14 Apr 2012 03:57 AM PDT

อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิปรายในหัวข้อ "ตูม ยะลาก็ตูม นราก็ตูม ตานีก็ตูม" ในการอภิปรายหัวข้อ บาดแผลของความรุนแรงกับการแปลงความทรงจำ ในการประชุมทางวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 "อาเซียน: ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้ง และความหวัง" ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) เมื่อวันที่ 28 มี.ค.55 ประชาไท ถอดความมานำเสนอ    

00000  

อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชื่อหัวข้อที่จะพูดวันนี้เป็นสร้อยของเพลงชื่อ “ซือเสาะชารีมาแก” ซึ่งแปลว่าทำมาหากินลำบาก เนื้อหาส่วนหนึ่งจะเกี่ยวกับประสบการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงและความรับรู้ของเขา รวมไปถึงวิธีการที่เขาพยายามที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้กับสังคมสาธารณะฟัง ผมหยิบขึ้นมาเป็นหัวข้อในการพูด เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าบาดแผลของการแปลงความรุนแรงกับการแปลงความทรงจำของชาวมลายูมุสลิมกลุ่มหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในหมู่บ้านที่ไปศึกษาและทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกมีลักษณะอย่างไร โดยจะแบ่งเป็นเหตุการณ์ 3 ช่วงเวลาซึ่งชาวมลายูมุลสลิมในสามจังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่ไปศึกษาสัมพันธ์ด้วย ได้แก่

-สงครามระหว่างเมืองและอาณาจักรต่างๆ ในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะรามันณ์และปัตตานี

-ความขัดแย้งระหว่างขบวนการแยกดินแดนปัตตานีกับรัฐไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงต้นทศวรรษ 2520

-เหตุการณ์ความไม่สงบในปัจจุบันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา  

(1) เมื่อพูดถึงปัตตานี จังหวัดชายแดนใต้มักถูกเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานีตั้งแต่เดิม แต่มันถูกเชื่อมกับตำนานการตั้งหมู่บ้าน การตั้งถิ่น ตำนานบรรพบุรุษ ตำนานการตั้งหมู่บ้าน พยายามตั้งให้สอดคล้องกับการตั้งถิ่นฐาน ตำนานที่เลือกหยิบมาคือตำนานที่หนึ่ง โต๊ะกือเม็ง ประวัติศาสตร์ช่วงต้นทศวรรษ2300 เล่ากันว่าเจ้าเมืองปัตตานีแต่งตั้งให้โต๊ะนิครองเมืองรามันห์ แต่เมื่อผ่านไปสักพักหนึ่งโต๊ะนิกลับปกป้องตัวเองจากปัตตานี แข็งข้อ ไม่ยอมส่งส่วย ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อเจ้าเมืองปัตตานี เจ้าเมืองปัตตานีจึงกรีฑาทัพเอาช้างศึกม้าศึกมารบพุ่งกับเมืองรามันห์ แต่เมืองรามันห์ก็เข้มแข็งพอ ทำให้มีสงครามรบพุ่งกันระหว่างสองเมืองโดยตลอด
               
ครั้งหนึ่งเจ้าเมืองรามันห์หรือโต๊ะนิได้แต่งตั้งโต๊ะกือเม็ง ให้เลี้ยงช้างศึกม้าศึกเป็นหมู่บ้าน มีการตั้งถิ่นฐานใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นเกียรติกับคนที่ตั้งถิ่นฐานจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า กือเม็ง เพื่อรำลึกถึงผู้ตั้งหมู่บ้าน บ้างเล่าว่าโต๊ะกือเม็งเป็นผู้หญิงสาวสวย ผมยาวสลวย มีความฉลาดรอบรู้ รู้เวทมนตร์คาถา การใช้สรรพาวุธ หรืออาจจะมาจากชื่อกึมบัง ที่หมายถึงดอกไม้เบ่งบาน แต่เรียกยาก จึงเรียกว่ากือเม็งแทน จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน
               
การรบพุ่งระหว่างปัตตานีกับรามันห์สุดท้ายถูกแปลงชื่อผู้นำเป็นชื่อหมู่บ้าน อันที่สองเกี่ยวกับตำนานบรรพบุรุษ หลังจากที่โต๊ะกือเม็งไปตั้งถิ่นฐานที่นั่นเล่ากันว่า บิดาของทวดของชาวบ้านหลายๆ คนที่หมู่บ้านได้เป็นควาญช้างของเจ้าเมืองรามันห์ เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าเมืองรามันห์ สามารถเดินเข้าออกพระราชวังได้โดยสะดวก ได้ผ่านพิธีกรรมของราชสำนัก การต้อนรับเจ้าเมืองเมื่อเสด็จมา การเรียกตัวผู้ที่มีความสามารถไปทำงานในพระราชวัง ทำให้ความสัมพันธ์เช่นนั้นยังคงอยู่ มีความแนบแน่นมากขึ้น เจ้าเมืองรามันห์ได้พระราชทานต้นลองกอง ซึ่งตอนนี้ก็ปลูกอยู่ในสวนยางพาราของเอกชนแห่งหนึ่ง และมีการฝังศพโต๊ะกือเม็งไว้ริมแม่น้ำสายบุรี แม้ว่าจะไม่มีสัญลักษณ์ชัดเจน แต่ชาวบ้านก็สามารถชี้บอกได้ หรือแม้จะไม่มีพิธีกรรมรำลึกถึงเจ้าเมืองโต๊ะนิหรือผู้ก่อตั้งหมู่บ้านโต๊ะกือเม็งโดยเฉพาะ แต่ในหลายพิธีกรรมที่ประกอบขึ้น เกี่ยวกับวิญญาณบรรพบุรุษหรือไหว้ครูก็มีการรำลึกถึงทั้งสองคนนี้รวมอยู่ด้วย เช่น มีถาดที่เป็นเครื่องสังเวย อุทิศให้กับทั้งคู่ ช่วงเวลาสำคัญในบางกรณีก็จะมีการไปรดน้ำศพที่สุสานโต๊ะนิที่เมืองรามันห์ เป็นต้น  

ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักรามันห์กับหมู่บ้านที่แนบแน่นและมีความสำคัญเพราะเราถูกทำให้เชื่อว่าเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกหมายรวมให้หมายถึงเขตแดนของอาณาจักรปัตตานี โดยที่มีสยามเป็นคู่ปฏิปักษ์ อย่างไรก็ดี จะเห็นว่ารามันห์ในประวัติศาสตร์ชาตินิพนธ์เป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองของรัฐสยามในการสลายอาณาจักรปัตตานีให้กลายเป็นเพียงแค่หัวเมืองขนาดเล็ก ในปี 2358 อาณาจักรปัตตานีถูกแยกเป็น 7 หัวเมือง หนึ่งในเจ็ดหัวเมืองนั้นคือรามันห์  

ประวัติศาสตร์ฉบับแบบนี้ถูกชูในขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ผ่านมา แม้กระทั่งในปัจจุบันขบวนการก่อความไม่สงบก็พยายามจะลำเลิกประวัติศาสตร์ชุดนี้ มีงานศึกษากลุ่มหนึ่งเสนอว่า รามันห์ดำรงอยู่เป็นรัฐอิสลามโดยมีกิจการเหมืองแร่ดีบุกเป็นเส้นเลือดเศรษฐกิจหลักสำคัญก่อนที่สยามจะสลายปัตตานีและสถาปนาเจ็ดหัวเมืองขึ้นมา แต่รัฐภายในเหล่านี้ถูกหลงลืมเมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ปัตตานีซึ่งเป็นแผ่นใหญ่มาก และละเลยถึงสงครามรบพุ่งในระหว่างรัฐเล็กๆ ที่อยู่ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน
               
พอประวัติศาสตร์ปัตตานีถูกลำเลิกโดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนเมื่อ 3-4 ทศวรรษ รวมไปถึงที่บางส่วนถูกหยิบยกมาใช้โดยกระบวนการก่อความไม่สงบในปัจจุบัน เลยคล้ายกับว่าเพราะคนในพื้นที่มีความสำคัญแนบแน่บกับราชสำนักรามันห์ ในขณะที่ราชสำนักมีปัญหากับปัตตานีจึงสร้างความกระอักกระอ่วนเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมา คือไม่สามารถที่จะรับเอาประวัติศาสตร์ปัตตานีที่ไม่มีรายละเอียดปลีกย่อยหรือไม่ได้เล่าถึงความขัดแย้งนี้ได้อย่างสนิทใจ  

จากการที่เคยไปสัมภาษณ์ชาวบ้าน ชาวบ้านก็รู้สึกลำบากใจถ้าจะให้ยอมรับเฉพาะเรื่องความยิ่งใหญ่ของปัตตานีเพราะปัตตานีในอดีตเป็นศัตรูกับรามันห์และคนในหมู่บ้านก็มีเชื้อสายเจ้าเมืองรามันห์ หรือเคยทำงานในวังมาก่อน จริงๆ แล้ว คนในหมู่บ้านนี้เป็นพวกรักอิสระ นี่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นประเด็นที่เรามักถูกละเลยมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ชาติ ที่ขบวนการหรือกลุ่มอื่นยกขึ้นมาก็ตาม

(2) ช่วงเวลาที่สอง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดขบวนการแยกดินแดนปัตตานี ขบวนการนี้เป็นผลพวงมาจากเหตุสำคัญสองประการ หนึ่งคือสมัยสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐจำนวนหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกร้องเอกราช โดยเฉพาะในมาเลเซีย เกิดแนวคิดราชอาณาจักรมลายูที่ยิ่งใหญ่ เหนือคาบสมุทรมลายูรวมไปถึงหมู่เกาะบางส่วนที่เกี่ยวข้อง นี่เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกฮึกเหิมของคนในเขตสามจังหวัดที่เกิดกระแสสร้างชาติมลายู อยากรวมกับชาติที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ขณะเดียวกัน เมื่อรัฐไทยผ่านนโยบายชาตินิยม ที่เรียกกว่าการกลืนกลายแกมบังคับในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เป็นแรงผลักดัน พยายามผนวกรวมเข้ามา เกิดขึ้นกับในหลายๆ กรณี หลายกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนา สำคัญแต่เพียงว่าในกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นมลายูได้รับผลกระทบเป็นพิเศษเพราะมีธรรมเนียมยึดโยงกับศาสนาอิสลาม เช่น อาหาร การแต่งกาย จึงเกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา พุ่งถึงขีดสุดประมาณทศวรรษ 1960-1970 ก่อนจะแผ่วลงช่วง 1960-1990 ก่อนจะขึ้นมาอีกครั้งช่วงมิลเลนเนียม
               
โดยทั่วไปเรามักรับรู้เรื่องราวผ่านขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายๆ กลุ่มอย่างไม่จบสิ้น แต่ในพื้นที่กลับมีความทรงจำเกี่ยวกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอีกแบบหนึ่ง เพราะพื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่ที่ที่ขบวนการแยกดินแดนเข้ามาทำงาน คนในพื้นที่จึงมีความทรงจำเลือนราง ห่างไกล สถานที่ที่มีความเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนคือเทือกเขาบูโด ซึ่งห่างหมู่บ้านไปหลายสิบกิโลเมตร มีคนที่ชื่อปอเยะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ ที่เคลื่อนไหวอยู่แถบนั้น ซึ่งไม่ได้มีอะไรกับคนในพื้นที่ แต่มีตัวเชื่อมระหว่างปอเยะซึ่งเป็นคนของขบวนการแยกดินแดนกับคนในพื้นที่ คือครูเป๊าะสู ซึ่งคนตำบลท่าธง อำเภอรามันห์ ยะลา มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับครูเป๊าะสูแบบชาวบ้านทั่วไปว่า ช่วงที่เขาเข้าร่วมกับขบวนการหรือช่วงที่หนีเจ้าหน้าที่รัฐ เดือนละครั้งก็จะเห็นครูเป๊าะสูมากับรถปิกอัพ รถเก๋ง พร้อมลูกน้องและอาวุธปืน ขับรถผ่านถนนหน้าหมู่บ้านไป นั่นเป็นการพบเห็นโดยทั่วไป ที่เห็นความยิ่งใหญ่ปนความน่าสะพรึงกลัว  

นอกจากนี้ที่น่าสนใจ คือ มีการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับครูเป๊าะสูในภาคประชาสังคม สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ ครูเป๊าะสูจะถูกเรียกว่าเป็นโจรเรียกค่าไถ่ แต่ในกลุ่มภาคประชาสังคม กลางทศวรรษ 2530 ช่วงที่กลุ่มจัดการทรัพยากรกำลังมีขบวนการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดกรณีการสร้างสร้างกั้นแม่น้ำสายบุรี ครูเป๊าะสูถูกชูขึ้นมาในฐานะที่เป็นต้นแบบของบุคคลในท้องถิ่นที่คัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐ ในขณะเดียวกัน ครูเป๊าะสูก็ถูกยกให้เป็นผู้นำในการพัฒนา เป็นคนสร้างโรงเรียน เป็นคนที่รู้จักกับเจ้าหน้าที่รัฐระดมคนทำถนน ว่ากันว่าถนนรามันห์รายอนี้ริเริ่มโดยครูเป๊าะสู ครูเป๊าะสูถูกวาดภาพในกลุ่มนี้ขึ้นมา กลายเป็นเรื่องเล่าในกลุ่มของประชาสังคมว่าท้องถิ่นควรมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรอย่างไร แล้วพูดถึงประวัติของครูเป๊าะสูแบบที่กลายเป็นนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมภาคใต้                  

ขณะที่ในภาพความทรงจำระดับบุคคล ครูเป๊าะสูออกปล้น โดยมีเป้าหมายหลักคือคนจีนที่ร่ำรวยในเขตเมืองเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงเรียกค่าไถ่คนไทยบางคน แต่ก็มีคนในหมู่บ้านที่มีความทรงจำที่ขมขื่นกับครูเป๊าะสู เขาเล่าว่า สมัยเด็ก ยืนดูพ่อมอบยางให้ลูกน้องของครูเป๊าะสูเดือนละแผ่น โดยทำอะไรไม่ได้ ว่ากันว่าวัวควายที่เลี้ยงไว้ริมคลองก็หายไป ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะลูกน้องครูเป๊าะสูลักไป ทั้งหมดนี้ ลูกน้องครูเป๊าะสูอาจทำไปโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และครูอาจรู้หรือไม่รู้ก็ตาม พล็อตแบบนี้ไม่เข้ากับพล็อตที่ถูกเล่าโดยภาคประชาสังคม แต่เป็นพล็อตระดับครัวเรือน เป็นประสบการณ์ของบุคคลในพื้นที่ที่ได้ศึกษา  

(3)เหตุการณ์ความไม่สงบในปัจจุบันพื้นที่ที่ได้ศึกษา หากจะนับจริงๆ ก็เกิดความไม่สงบมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็รวมไปกับกระแสใหญ่ คือเริ่มต้นตั้งแต่ปี 47 เกิดการฆ่าขึ้นกับกลุ่มผู้นำ ผู้นำทางการ ผู้ใหญ่บ้าน มีการยิง เผา ใบปลิวเสียบตามศาลาซึ่งปัจจุบันไม่ทำแล้ว แชร์ลักษณะความรุนแรงกับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งไม่แตกต่างกัน แต่ที่น่าสนใจคือ มีการให้ความหมายและจดจำความไม่สงบในระดับบุคคลที่น่าสนใจและไม่เข้ากับโครงเรื่องที่คุ้นเคย ปกติแล้วเมื่อมีคนประสบความรุนแรง ก็จะมีเหยื่อ รัฐเข้ามาเยียวยา ภาคประชาสังคมเข้ามาทำงาน มีสานเสวนา

ผมไปเจอกรณีหนึ่ง น่าสนใจมาก สามีเป็น ชรบ. ถูกยิงเสียชีวิต ผู้หญิงคนนี้ไม่รับคำอธิบายการตายของสามีที่เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าเกี่ยวกับขบวนการ แต่ไปหาหมอผี ถามว่าใครฆ่าสามี เอาเรื่องไสยศาสตร์ ความลี้ลับเข้ามาเกี่ยวข้อง ใช้วิธีบรรเทาความเจ็บปวดที่ไม่ใช่ผ่านสิ่งที่รัฐ-ภาคประชาสังคมทำแบบวิทยาศาสตร์ แต่ไปทำบุญ วิธีการจัดการความเจ็บปวด สูญเสียของบุคคลแบบนี้จึงไม่เข้ากับพล็อตใหญ่ที่คนพยายามจะทำ ดังนั้นคนที่ทำงานด้านเยียวยาจึงต้องตระหนักถึงกลวิธีด้านวัฒนธรรมด้วย  

การแปลงความรุนแรงในสื่อ
               
เมื่อทำงานในพื้นที่ ประสบการณ์เหล่านี้ถูกแปลงเป็นสื่อในท้องถิ่นอย่างไร ในปัจจุบันมีสื่อชนิดหนึ่งในท้องถิ่น เรียกว่าดังดุท เทียบเคียงได้กับลูกทุ่งของไทย ที่น่าสนใจคือมีการเล่าเหตุการณ์เต็มไปหมด จึงพยายามจะดูว่ามีการเล่าถึงความรุนแรงหรือเล่าประสบการณ์หรือไม่ ปรากฏว่าไม่ค่อยมี ที่ร่วมสมัยที่สุด เป็นเรื่องเช่น มี อบต. ผู้ใหญ่บ้าน การต้มน้ำใบกระท่อม ผู้ใหญ่บ้านไปจับต้มน้ำใบกระท่อม จะทำเป็นฉากเล่าเรื่องยาเสพติด แต่การแสดงความเห็นเชิงวิจารณ์การเมืองไม่ค่อยปรากฏ   มีชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวข้องที่สุดแบบตรงไปตรงมาที่สุด คือ เพลงซือเสาะชารีมาแกของวงมะนีเลาะ มีสมญานามว่าสามสาวเซ็กซี่ดังดุท ชื่อเพลงซือเสาะชารีมาแก แปลว่าทำมาหากินลำบาก โดยคำแปลของเนื้อเพลงคือ ปัจจุบันอยู่ด้วยความยากลำบาก ทำมาหากินยาก ดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วรู้สึกกังวลไม่สบายใจ มันเกิดอะไรขึ้นในสามจังหวัด อีกท่อนหนึ่งว่า มันง่ายเหลือเกินที่จะทำอะไรไม่ถูกสักอย่าง กลัวว่าจะไปทำอะไรให้คนอื่นโกรธ ไม่รู้พระเจ้าลงโทษด้วยเรื่องอะไร เกิดเหตุการณ์[ระเบิด]จะรู้สึกกลัว จะไปกรีดยางก็ไม่กล้า  เรื่องราวที่เกิดขึ้นเรากลายเป็นคนไม่รู้อะไร ไม่กล้าไปทำงาน

ข้อสังเกต
                 
ที่เล่ามาความทรงจำตั้งแต่ช่วงประวัติศาสตร์ที่แปลงเข้ากับตำนานการตั้งหมู่บ้าน ตำนานบรรพบุรุษ ช่วงที่เกิดขบวนการแยกดินแดน เกิดประสบการณ์ส่วนตัว ความทรงจำในครอบครัว จนปัจจุบัน แปลงเป็นเพลงที่ไม่มีบทวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้มากนัก เพราะไม่เข้ากับโครงเรื่องหลักที่วางอยู่กับจุดยืนหรือจินตนาการทางการเมืองที่กลุ่มต่างๆ พยายามชู ไม่ว่าจะเป็นรัฐ ขบวนการหรือกลุ่มที่เรียกว่าภาคประชาสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ แม้ว่าจะมีจุดเรียกร้องที่ต่างกัน แต่ก็ยังเสนอรูปแบบรัฐหรือการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองที่ไม่ต่างกันเลย คือมีลักษณะที่ค่อนข้างจะแข็งตัว เป็นรัฐเดี่ยวหรือเอกรัฐ คือถ้าขบวนการแบ่งแยกได้จริง ก็จะสร้างรัฐแบบนั้น ไม่ต่างกัน และด้วยรัฐลักษณะนี้ มันแข็งตัว ไม่ยืดหยุ่นต่อความทรงจำเล็กๆ น้อยๆ  

อีกหนึ่งข้อสังเกต คือ การที่ความทรงจำผ่านสื่อวัฒนธรรมไม่มีลักษณะการเมือง ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีการตั้งข้อสังเกต ไม่ได้แปลว่าชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ไม่รู้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แต่เพราะลักษณะเฉพาะของความเป็นการเมืองของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เขาต้องถอดเรื่องการเมืองออกไปจากสื่อวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นจึงเป็นผลกระทบจากการเมืองโดยตรงซึ่งเล่าไม่ได้  

เช่นนี้ ถ้าเกิดยึดโยงกับเรื่องอาเซียน อาเซียนจะมีความหมายอะไรกับคนเหล่านี้ กับอาเซียนซึ่งยังยึดโยงกันบนไทยที่ยังไม่แปรงสภาพของรัฐที่ยังเป็นเอกรัฐ รัฐที่ยังไม่รู้จักการใช้อำนาจอธิปไตยในพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษเช่นนี้ อำนาจอธิปไตยที่แยกย่อยยืดหยุ่นกว่านี้ซึ่งไม่ใช่เอกรัฐ เพราะฉะนั้นการเป็นอาเซียนจึงอาจจะไม่ใช่คำตอบถ้าเกิดรัฐไทย ไม่เปลี่ยนความคิดเรื่องรัฐของตัวเองเสียใหม่ โดยเฉพาะอย่ายิ่งในการตอบโจทย์กับคนเหล่านี้      


หมายเหตุ:
ติดตามการอภิปราย "แปลงความทรงจำบาดแผลให้เป็นพลัง: ไม่มีบทเรียนนี้ในอุษาคเนย์" โดยพวงทอง ภวัครพันธุ์ ได้ที่นี่ เร็วๆ นี้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น