โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

อภิปราย: บาดแผลของความรุนแรงกับการแปลงความทรงจำ (จบ)

Posted: 15 Apr 2012 10:30 AM PDT

ในการอภิปรายหัวข้อ บาดแผลของความรุนแรงกับการแปลงความทรงจำ ในการประชุมทางวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 "อาเซียน: ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้ง และความหวัง" ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) เมื่อวันที่ 28 มี.ค.55

อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิปรายในหัวข้อ "ตูม ยะลาก็ตูม นราก็ตูม ตานีก็ตูม" โดยเล่าถึงความทรงจำของชาวมลายูมุสลิมกลุ่มหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แปลงเข้ากับตำนานการตั้งหมู่บ้าน ตำนานบรรพบุรุษ ช่วงการเกิดขบวนการแยกดินแดน ประสบการณ์ส่วนตัว ความทรงจำในครอบครัว และบทเพลง อันสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้ากับโครงเรื่องหลักที่วางอยู่กับจุดยืนหรือจินตนาการทางการเมืองที่กลุ่มต่างๆ ไม่ว่า รัฐ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือภาคประชาสังคม พยายามจะชู (อ่านที่นี่)------ใส่ลิ้งก์ของชิ้นก่อน

ด้าน พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายในหัวข้อ "แปลงความทรงจำบาดแผลให้เป็นพลัง: ไม่มีบทเรียนนี้ในอุษาคเนย์" โดยเล่าถึงการจัดการกับบาดแผลความรุนแรงหลังเหตุการณ์ ปี 1965-1966 ในอินโดนีเซีย ที่มีการปราบปรามผู้ที่เชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง เปรียบเทียบกับการต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มแม่ๆ ในอาร์เจนตินาหลังจากรัฐบาลเผด็จการทหารอุ้มฆ่าแกนนำคนหนุ่มสาวจำนวนมาก นำไปสู่บทสรุป—ไม่มีบทเรียนการแปลงความทรงจำบาดแผลให้เป็นพลัง ในอุษาคเนย์

“ประชาไท” ถอดความมานำเสนอ โดยในส่วนนี้จะนำเสนอช่วงของ พวงทอง ภวัครพันธุ์ และช่วงแลกเปลี่ยน

พวงทอง ภวัครพันธุ์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อนึกถึงความรุนแรงของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ แล้วสามารถทำให้ความทรงจำบาดแผลหรือประสบการณ์บาดแผลที่เกิดจากความรุนแรงของรัฐเป็นพลังได้ มักนึกถึงกรณีอาร์เจนติน่า ในปี 1976-1982 เมื่ออยู่ใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งเรื่องนี้เมื่ออ่านทีไรก็เกิดแรงบันดาลใจ ว่านี่เป็นพลังในการต่อสู้ของเหยื่อที่จะเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในเอเชียโดยรวม

เหตุการณ์ Dirty War ในอาร์เจนตินา ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร มีการอุ้มฆ่าคนจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาว ด้วยความโหดเหี้ยม พ่อแม่บอกว่าเป็น They are the best of their generation ที่สังคมสูญเสียไป ประมาณ30,000คน บางคนถูกขนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ถูกถอดเสื้อผ้าทิ้งหมด แล้วโยนทิ้งลงทะเลทั้งที่ยังไม่ตาย หลังจากนั้นศพก็ลอยไปติดชายฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน

การรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิ ความยุติธรรมให้กับตัวเอง ให้กับเหยื่อที่ตาย ทั้งนี้ ในเวลาที่พูดถึงเหยื่อนั้นไม่ใช่แค่คนที่ตายหรือคนที่ถูกทรมาน แต่รวมถึงครอบครัวของพวกเขา คนที่ต้องสูญเสียคนรักไปด้วย การเรียกร้องนี้ กลุ่มที่มีความสำคัญมาก คือกลุ่มแม่ของเหยื่อสามหมื่นกว่าคนที่หายไป ทุกวันพฤหัสบดี บ่ายสามโมง หลังจากทำงานบ้านเสร็จแล้ว แม่ๆ เหล่านี้จะรวมตัวกันที่จัตุรัสมาโยหรือ Plaza de Mayo อยู่ใจกลางเมืองอันเป็นที่ที่ผู้คนจะมาขายของและมีทำเนียบรัฐบาลตั้งอยู่ด้วย จะมีการเดินขบวนและใช้สัญลักษณ์เป็นผ้าเช็ดหน้าสีขาว ด้านหลังจะปักชื่อว่า Mothers of the Plaza de Mayo การต่อสู้ของพวกเขาเหล่านี้กลายเป็นข่าวไปทั่วโลก นักข่าวต่างชาติให้ความสนใจ คนอาร์เจนตินาที่พอรู้เรื่องการอุ้มฆ่าอยู่บ้างก็ให้ความสนใจมากขึ้น นี่เป็นพลังสำคัญที่วางอยู่บนพลังของความรักของความทรงจำที่ให้กับคนรักที่หายสาบสูญไป ทำให้พวกเขาไม่ย่อท้อที่จะต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูก ตัวเองและครอบครัว ข้อสำคัญคือ การต่อสู้นี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลเผด็จการทหารอาร์เจนตินายังเรืองอำนาจ การอุ้มฆ่าเกิดขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีแรกแต่ระบอบทหารยังมีชีวิตอยู่มาได้อีกประมาณ 12 ปี แต่พวกเขาก็สู้ ทั้งๆ ที่ภัยคุกคามเห็นอยู่ชัดเจน แม่บางคนถูกอุ้มไปด้วยและเสียชีวิตด้วย เพราะทหารต้องการสร้างความกลัวให้แม่เหล่านี้ยุติการเรียกร้องร้อง แต่คนที่เหลือก็ยังยืนยันที่จะสู้ต่อไป

ในที่สุดการต่อสู้ของพวกเขาก็ทำให้ผู้นำทหารนายพล 9 คนถูกตัดสิน บางส่วนถูกจำคุกตลอดชีวิต บางส่วนถูกจำคุกหลายปี ทั้งๆ ที่ทหารเหล่านี้ได้รับการนิรโทษกรรมถึงสองครั้ง แต่พวกเขาก็สามารถทำให้กฎหมายนิรโทษกรรมเหล่านี้ถูกยกเลิกไปได้ และก็ยังมีอีกหลายรายอยู่ระหว่างดำเนินคดี แล้วยังทำให้มีการตรวจสอบทหาร ระบบกองทัพ ความยุติธรรม ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาเหล่านี้ยังส่งผลให้สังคมอาร์เจนตินาสามารถตรวจสอบ ควบคุมกองทัพได้รอบด้าน ทั้งการตัดงบทหาร ลดจำนวนนายพล ดูการเรียนการสอน ตำราเรียนของทหาร เพื่อไม่ให้กองทัพกลายเป็นเครื่องมือในการทำรัฐประหารเข่นฆ่าประชาชนได้อีก

รายงานNunca Mas หรือในภาษาอังกฤษ never again หมายถึง “พอแล้ว ไม่เอาอีกแล้ว” รายงานชิ้นนี้เป็นผลของคณะกรรมการการค้นหาความจริงเกี่ยวกับผู้หายสาบสูญในอาร์เจนตินา เป็นต้นแบบสำคัญที่รัฐบาลอื่นๆ ในหลายประเทศทั่วโลกเอามาใช้เป็นต้นแบบเรียนรู้การค้นหาความจริง ข้อมูลเหล่านี้ถูกใช้ในการดำเนินคดีกับทหารในปัจจุบันด้วย โดยมีการรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคนตายและให้ข้อมูลอย่างละเอียดยิบ เพราะในระหว่างที่เกิดเหตุมีคนเห็นเหตุการณ์ เพื่อนบ้านเห็นเด็กหนุ่มถูกลากออกไปจากบ้านกลางดึก เมื่อเข้าไปดูในบ้านแล้วค้นพบหลักฐานของการใช้ความรุนแรงภายในบ้าน

สำหรับคนที่ตกเป็นเหยื่อ การเปิดเผยความจริง ว่าใครเป็นคนกระทำ ใครสั่ง ใครบ้างที่อยู่เบื้องหลัง คนที่ตายไปอย่างไร ถูกทรมานอย่างไร มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแปลงความเจ็บปวดเป็นพลังในการต่อสู้ และฟื้นฟูศักดิ์ศรีของคนที่เป็นเหยื่อ ที่ถูกย่ำยี เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมด้วย

ในหลายสังคมที่ผ่านความรุนแรงทั้งอาร์เจนตินา บราซิล แอฟริกาใต้ ผู้ตกเป็นเหยื่อมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับตัวเอง ซึ่งมีความสำคัญกว่าการที่ความยุติธรรมเกิดขึ้นจากพลังภายนอก กรณีกัมพูชา กระบวนการไต่สวนผู้นำกัมพูชาจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการกดดันจากภายนอก การต่อสู้ด้วยตัวเองมีผลทำให้เปลี่ยนสถานะเหยื่อกลายเป็นผู้กระทำ เป็นการปฏิเสธฐานะความเป็นเหยื่อ เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเอง การต่อสู้ให้เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นและผลกระทบของความยุติธรรมได้ปรากฏต่อสังคมในวงกว้าง เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้สังคมได้เรียนรู้ และหาทางป้องกันไม่ให้ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นได้อีก ดังเช่นที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินา ส่งผลให้สังคมอาร์เจนตินาตระหนักและยอมรับว่าสังคมตนเองนั้นไม่ได้สวยงามอย่างที่เคยคิด ไม่ได้เงียบสงบอย่างที่เข้าใจ ทำให้คนจำนวนมากที่รู้เห็นเหตุการณ์แล้วเงียบ หรือปฏิเสธว่าไม่มี ต้องจัดการกับสิ่งเหล่านี้ในตัวเองด้วย ซึ่งจะสรุปบทเรียนไม่ได้ ถ้าไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ตาม กรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ใช้คำว่า “ไม่มีบทเรียนในอุษาคเนย์” ก็บอกได้ชัดเจนว่าคิดอย่างไร ในระดับปัจเจกชน เราอาจจะเห็นคนที่เคยเป็นเหยื่อลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมของตัวเอง เช่น คุณอังคณา นีละไพจิตร ซึ่งที่สุดก็เปลี่ยนตัวเองจากผู้หญิงธรรมดามาเป็นนักต่อสู้ทางสังคมและต่อสู้ให้กับคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐ แต่การต่อสู้นี้ก็ยังไม่สามารถทำให้ความทรงจำของตัวเองเกลายเป็นประวัติศาสตร์หรือความเข้าใจกระแสหลักได้ จนถึงไม่สามารถกระทั่งเรียกร้องความยุติธรรมให้กับครอบครัวของเธอได้ ไม่ต้องพูดถึงว่าจะสามารถท้าทายอำนาจรัฐ

ในกรณีอินโดนีเซีย เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 1965-1966 เกิดขึ้นในช่วงพีคของสงครามเย็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหตุการณ์เริ่มจากนายพล 6 คนถูกสังหารโหด ศพถูกโยนทิ้งลงบ่อ ฝ่ายทหารที่นำโดยซูฮาร์โตบอกว่าเป็นฝีมือของคอมมิวนิสต์ที่ต้องการจะทำรัฐประหารยึดอำนาจ แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครยืนยันได้แน่ว่าเหตุการณ์นี้คืออะไร นักวิชาการบางคนบอกว่าเป็นแผนของทหารที่จะยึดอำนาจ แต่หลังจากการสังหารนายพล6คนนี้แล้วก็นำไปสู่การล่าสังหาร จับกุมคอมมิวนิสต์กันอย่างกว้างขวาง นำไปสู่การปูทางสู่อำนาจของซูฮาร์โตในปี 1966อย่างเป็นทางการ

ความรุนแรงเกิดขึ้นทั่วอินโดนีเซีย แต่พื้นที่ที่รุนแรงมากที่สุดคือชวาส่วนกลาง ชวาตะวันออก บาหลีและทางเหนือของสุมาตรา มีการประเมินตัวเลขการตายไว้หลายตัว แต่ที่มีการอ้างถึงบ่อยๆ คือประมาณ5 แสนถึง 1 ล้านคน อ.เบน แอนเดอร์สันก็ใช้ตัวเลขนี้ ไม่นับคนที่ถูกจับอีกประมาณ2ล้านคน ซึ่งส่วนมากเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลหรือในชนบทแต่ไม่ค่อยมีภาพเท่าไรนัก เพราะในขณะนั้นสื่อตะวันตกในอินโดนีเซียก็มีไม่มากนัก หลังการสังหารหมู่ การจับกุมคุมขังยังดำเนินต่อเนื่องอีกเป็นสิบปี บางคนโดนมากที่สุดถึง 33ปีหลังซูฮาร์โตลงจากอำนาจถึงได้รับอิสรภาพ การจับกุมนี้มีจำนวนมากที่ไม่มีการไต่สวนดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม คนที่ถูกจับกุมที่มีชื่อเสียง เช่น ปราโมทยา อนันตา ตูร์ นักเขียน มีนักการเมือง ชาวนา มีทั้งคนที่เป็นคริสเตียน มุสลิม เป็นฮินดู หลายคนเสียชีวิตขณะจับกุมคุมขัง

ประการสำคัญคือ การตายเยอะขนาดนี้ไม่ใช่ฝีมือรัฐอย่างเดียว แต่เรียกว่าเป็นการล่าแม่มดได้ เพราะชาวบ้านเข้ามีส่วนร่วมในความรุนแรงอย่างชัดเจน กลุ่มที่เข้ามามีส่วนร่วมมากเป็นส่วนใหญ่คือกลุ่มมุสลิมที่เคร่งคัมภีร์ ปากคำของเหยื่อคนหนึ่งบอกว่าสิ่งที่รู้สึกว่ามันชั่วร้ายมากที่สุดคือคนที่เริ่มต้นใช้ความรุนแรงเป็นเพื่อนบ้านของตัวเอง หรือบางที่ก็เป็นญาติตัวเองด้วยซ้ำไปที่ร่วมกระทำ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลนี้โทษอำนาจรัฐอย่างเดียวไม่ได้ ชาวบ้านช่วยกันชี้ ชาวบ้าน คนในชุมชนรู้ว่าใครเป็นใคร ใครเป็นผู้นับถือศาสนาอะไร มีญาติอยู่ที่ไหนอย่างไร ซึ่งอันนี้ก็เป็นลักษณะร่วมของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในหลายพื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการสังหารคนในชุมชนด้วยกันเอง สำหรับคนที่ถูกจับกุม เมื่อถูกปล่อยออกมาแล้วก็ยังได้รับผลกระทบต่อ ทรัพย์สินถูกยึด ไม่สามารถกลับไปทำงานเดิมได้ ไม่มีบัตรประชาชน บางคนไม่มีบัตรประชาชนเลยจนกระทั่งหลังจากซูฮาร์โตลงจากอำนาจ โดยเฉพาะถ้าเป็นข้าราชการครูไม่มีสิทธิที่จะกลับเข้าไปทำงานในระบบราชการเลย ครอบครัวถูกกันออกจากชุมชน จากเครือญาติด้วยกันเองเพราะกลัวว่าตัวเองจะถูกกล่าวหาว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์

หลังซูฮาร์โตล่มสลายไป มีการพยายามที่จะรื้อฟื้นความทรงจำคนเหล่านี้ขึ้นมา มีการไปสัมภาษณ์ ลูกหลานบางคนเพิ่งรู้ว่าทำไมญาติบางคนไม่ได้รับเชิญร่วมงานบุญต่างๆ พวกเขาต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทุกเดือน แปลว่าจะออกจากพื้นที่ไม่ได้ เพราะอำนาจรัฐอินโดนีเซียไม่ต้องการให้คนในสังคมลืมเหตุการณ์เหล่านั้น ต้องการตอกย้ำความเป็นภัยคอมมิวนิสต์ของพวกเขา ตอกย้ำว่ารัฐยังเฝ้าติดตามอยู่และไม่ไว้ใจ และพร้อมจะลงโทษ

การกระทำของรัฐอินโดนีเซียแบบนี้ ถ้าคิดแบบคอมมอนเซนส์ของคนที่เป็นเหยื่อ ถ้าไม่สามารถทำให้สังคมรับรู้ความเจ็บปวด หรือจดจำได้ ก็ควรลืมเสีย แต่กรณีเหยื่อความรุนแรงในอินโดนีเซีย รัฐไม่ยอมกระทั่งให้ลืม แต่ต้องการให้ฝังลึกอยู่ในความทรงจำของเหยื่อ ซึ่งเป็นความโหดร้ายมาก

ด้านหนึ่ง ซูฮาร์โตเองก็หากินกับภัยคอมมิวนิสต์มาตลอดช่วงอายุขัยของตัวเอง 32ปีที่อยู่ในอำนาจ แม้ว่าจริงๆ คอมมิวนิสต์ถูกปราบอย่าสิ้นซากแล้วตั้งแต่ปี 1966 ในสงครามล่าแม่มดนี้ แต่ก็ยังใช้โฆษณาชวนเชื่อนี้เป็นข้ออ้างตลอดเวลา ซึ่งได้ผลดี ฉะนั้นเรื่องคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อตลอด30ปีในยุคซูฮาร์โตไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้เลย เพราะแค่จะเล่าเรื่องให้คนรู้จักฟังยังไม่กล้า นักวิชาการหลายคนในอินโดนีเซีย บอกว่าเข้ามาในอินโดนีเซีย 2-3 ทศวรรษ บ่อยครั้งที่ต้องการจะถามเรื่องนี้ แต่ชาวบ้านรวมถึงเหยื่อเองก็บอกว่าอย่าถาม อย่าพูดเรื่องนี้ แต่เรื่องนี้ก็เริ่มมีการพูดกันมากขึ้นหลังซูฮาร์โตลงจากอำนาจ

ในทางกลับกัน รัฐผลิตความทรงจำประวัติศาสตร์ในเวอร์ชั่นของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ตลอด เด็กนักเรียนในโรงเรียนต้องดูหนังเกี่ยวกับการปราบคอมมิวนิสต์ ในปี 1965-1966 ปีละหน มีการออกอากาศทางโทรทัศน์ทุกปี โดยเฉพาะในวันที่ 30 ก.ย.ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการปราบคอมมิวนิสต์ รัฐเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการต่อสู้ของผู้รักชาติ อธิบายว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีลักษณะไปเอง รัฐไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่เกิดขึ้นจากความโกรธแค้นที่มีคุณธรรมของประชาชนอินโดนีเซียที่ไม่สามารถยอมรับคอมมิวนิสต์ได้ รัฐสร้างนิยามเกี่ยวกับการสังหารโหดขึ้นมา หนังสือพิมพ์ของทางการตีพิมพ์เรื่องราวความวิปริตของเหยื่อ เช่น ชอบมีเซ็กส์หมู่ ชอบเต้นระบำเปลือยกาย ทำลายศพ ซึ่งหมายความว่าเกือบ4 ทศวรรษหลังจากการตามล่าคอมมิวนิสต์ หลังจากที่ถูกทำให้เป็นเหยื่อ เหยื่อจำนวนมากยังถูกทำให้เป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่องมาอีกกว่า 4ทศวรรษ เพราะพวกเขาถูกทำให้เป็นปีศาจ เป็นผู้ก่อความรุนแรง ขณะที่ผู้กระทำกลายเป็นวีรบุรุษของชาติ ฉะนั้น เหยื่อเองก็อยู่ในภาวะของความเงียบ นี่คือวัฒนธรรมแห่งความสะพรึงกลัวที่ซูฮาร์โตสร้างขึ้นมาปกครองอินโดนีเซียและได้สร้างวัฒนธรรมแห่งความกลัวขึ้นมาปกครองประชาชน

หลังระบอบซูฮาร์โตล่มสลาย ก็มีการสัมภาษณ์เหยื่อมากขึ้น หลายรายเต็มไปด้วยความโกรธแค้น เวลาให้สัมภาษณ์ บางคนบอกเลยว่า ฉันต้องการที่จะฆ่าพวกมัน ที่มันทำกับครอบครัวของฉันแบบนี้ ต้องการทรมานแบบเดียวกับที่มันทำกับครอบครัวฉัน เสียงของพวกเขาเต็มไปด้วยความแค้น แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่า4ทศวรรษแล้วก็ตาม

มีความพยายามรื้อฟื้นความทรงจำบาดแผลเหล่านั้น หลังซูฮาร์โต รัฐสภามีการตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงและสมานฉันท์ขึ้นมาเพื่อจะค้นหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ในที่สุดศาลสูงอินโดนีเซียก็ตัดสินให้ยกเลิกคณะกรรมการฯ มีการผลิตตำราเรียนซึ่
งเอ่ยถึงเหตุการณ์นี้สั้นๆ ในปี 2004 แต่สองปีจากนั้น อัยการของรัฐให้ยุติการเผยแพร่และเผาหนังสือ มีกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการพยายามจะรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ความรุนแรงเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นอดีตนายทหาร สมาชิกพรรครัฐบาลของซูฮาร์โตซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีอิทธิพลในปัจจุบัน รวมถึงพวกผู้นำอิสลามบางกลุ่มซึ่งมีลักษณะที่เคร่งคัมภีร์อยู่

อีกตัวอย่างหนึ่งการพยายามคัดค้านการรื้อฟื้น ครั้งหนึ่งที่เมืองยอกจากาตาร์ ชาวบ้าน ครอบครัวของคนเสียชีวิต รู้ว่ามี mass grave ใกล้หมู่บ้านซึ่งมีศพฝังอยู่ประมาณ20กว่าศพ แต่ตลอด30 กว่าปี ไม่มีใครกล้าขุด แต่ตอนที่เกิดเหตุการณ์มีคนรู้ว่ามีการกวาดต้อนคนมาฝังไว้ที่นี่ หลัง 2002 เขาต้องการขุดศพเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนาให้ถูกต้อง เพราะศพเหล่านี้ หลายคนเป็นมุสลิม ตอนนั้นไม่มีการทำพีศพ จึงถือว่าเป็นการให้เกียรติ เมื่อขุดศพขึ้นมาแล้วมีการแห่กระดูกไปฝังในสุสานที่เตรียมไว้ ระหว่างทางที่แห่ศพมีคนเข้าทำลายขบวน ทำให้กระดูกกระจัดกระจายบนท้องถนน โดยบอกว่าห้ามเอากระดูกของคอมมิวนิสต์เข้ามาฝังในสุสานของคนมุสลิม

อย่างไรก็ตามเมื่อระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซียเริ่มมีเสรีภาพมากขึ้น นักวิชาการตะวันตกเริ่มเขียน กลุ่มสิทธิมนุษยชนในประเทศเริ่มให้ความสนใจเรื่องพวกนี้ เริ่มมีงานเขียนต่างๆ ออกมามากยิ่งขึ้น มีการสัมภาษณ์เหยื่อมากยิ่งขึ้น คนรุ่นใหม่จำนวนมากเริ่มให้ความสนใจการสังหารหมู่ในปี 1965 เริ่มตระหนักว่าประวัติศาสตร์ฉบับทางการมีปัญหามาก ส่งผลให้กลุ่มอิสลามบางกลุ่มที่เคยมีส่วนร่วมในการตามล่าคอมมิวนิสต์ในปี 1965 ผู้นำกลุ่มมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดซึ่งมีสมาชิกกว่าสามสิบล้านคนทั่วอินโดนีเซียออกมากล่าวขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามยังไม่มีการคืนความยุติธรรมทางกฎหมายให้กับเหยื่อ นักการเมืองแต่ละรุ่นที่เข้ามาต่างสัญญาว่าจะรื้อฟื้น แต่เอาจริงๆ ก็ไม่มีใครกล้าผลักดันกฎหมาย อย่างมากที่สุดสำหรับเหตุการณ์นี้ในอินโดนีเซียจะคล้ายกับกรณีหกตุลาของไทย ที่เริ่มมีการพูดถึงเมื่อครบรอบยี่สิบปี มีการจัดงานใหญ่ โดยที่ผ่านมา ทุกปี มีงานเล็กๆ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็ไม่เคยมีปัญหารัฐคุกคามไม่ให้มีการจัดงานรำลึก เหตุการณ์รุนแรงในอินโดนีเซียถ้าจะขยาย ก็ขยายในพื้นที่ที่จำกัด และเชื่อว่าจะไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้

การปรองดองในระดับชุมชนเกิดขึ้นบ้าง ในลักษณะอ้อมมากๆ ไม่ตรงไปตรงมา เพราะคนในชุมชนเห็นหน้ากัน การขอโทษเป็นเรื่องยากกว่าการเป็นผู้นำศาสนาซึ่งอาจจะนั่งอยู่ที่จากาตาร์ ซึ่งไม่ต้องเกี่ยวข้องกับชุมชน ขอโทษได้ง่ายกว่า แต่คนในชุมชนก็อาจจะใช้สัญลักษณ์เพื่อแสดงความยอมรับ เช่น อนุญาตอดีตนักโทษการเมืองร่วมงานบางอย่างของหมู่บ้านได้ แสดงว่ามุสลิมที่เคยต่อต้านเหล่านี้ยอมรับสถานะที่เท่าเทียมกันของเหยื่อ ที่สำคัญ นี่เป็นลักษณะ practicalในเอเชีย ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากรู้สึกว่าถ้ามีเรื่องเช่นนี้มากๆ จะทำให้เกิดความไม่มั่นคง สังคมอินโดนีเซียมีเรื่องอีกเยอะที่จะต้องแก้ไขปัญหาเสถียรภาพการเมืองเป็นสิ่งที่สำคัญ

ในแง่นี้เราเรียนรู้อะไรบ้าง ความทรงจำบาดแผลที่ถูกกดไว้เป็นความอ่อนแอของสังคมซึ่งไม่สามารถที่จะท้าทายอำนาจรัฐได้เลย ระบอบซูฮาร์โตสามารถที่จะดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องเจอกับการท้าทายของเหตุความรุนแรงเหล่านี้ ความเงียบต่อความทรงจำบาดแผลไม่สามารถเยียวยาบาดแผลของความรุนแรงได้เลย ต่อให้เวลาเนิ่นนานเท่าไรก็ตาม

กรณีอินโดนีเซีย ไม่เพียงแต่ไม่ให้ลืม แต่ไปตอกย้ำความเจ็บปวดตลอดเวลา ด้วยประวัติศาสตร์ฉบับราชการ ที่ทำให้พวกเขาเป็นปีศาจต่อเนื่องเกือบ40ปี สังคมโดยรวมอยู่ในภาวะที่ความทรงจำเลอะเลือน จำเรื่องราวกลับหัวกลับหาง ความทรงจำแบบราชการนี้ยังส่งผลให้เหยื่อต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัวอย่างต่อเนื่อง ถูกดูถูกเหยียดหยาม ถูกจับตามอง เพราะฉะนั้น ความเป็นเหยื่อของอดีตคอมมิวนิสต์ ซึ่งคนจำนวนมากก็ไม่ได้เป็น คนจำนวนมากก็เป็นคนธรรมดาซึ่งถูกสงสัยในยุคของการปราบปรามคอมมิวนิสต์ เป็นลักษณะของการปูพรมเต็มไปหมด นอกจากนี้ คนในสังคมนอกจากร่วมมือในการตามล่าแม่มด ยังเป็นโซเชียลแซงชั่นต่อเนื่องไปอีกในสี่สิบปีให้หลังเช่นกรณีต่อต้านการขุดกระดูก สมาชิกในสังคมทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐอย่างต่อเนื่อง หมายความว่าระบอบประชาธิปไตยในอินโดไม่มีทางที่จะเข้มแข็งขึ้นได้

ถามว่าเรียนรู้อะไรอีกบ้างในกรณีนี้ ก็ทำให้เข้าใจลักษณะร่วมบางอย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การใช้ความรุนแรงของรัฐกับประชาชน การไม่ยอมรับอดีตแม้ว่าจะผ่านไปเนิ่นนานแล้วก็ตาม ปล่อยให้อดีตหลอนทั้งเหยื่อและรวมถึงผู้กระทำบางคนที่เกี่ยวข้อง ถ้ายังมีจิตสำนึกหลงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักจะอึดอัดกับหลักการตะวันตกเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย เรื่องความโปร่งใส การตรวจสอบ เพราะรู้ว่ามันมีโครงกระดูกที่ซ่อนอยู่เต็มไปหมด มันเป็นวัฒนธรรมของการไม่ต้องรับผิด ผู้กระทำผิดสามารถลอยนวลต่อไปได้ ถ้าจะพูดถึงอัตลักษณ์ร่วมบางอย่างของอาเซียน เราต้องยอมรับว่านี่คืออัตลักษณ์หนึ่งของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ความมั่นคงของรัฐสำคัญกว่าความมั่นคงของประชาชน

ช่วงแลกเปลี่ยน

ประจักษ์ ก้องกีรติ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่สุดแล้ว อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รัฐในเอเชีย หรือสังคมในอาเซียนมีลักษณะร่วมเช่นนี้ เพราะเมื่อลองดู น่าสนใจที่ว่าเมื่อดูตัวอย่างประเทศอื่นๆ อาร์เจนตินา ที่เกิดความรุนแรงโดยรัฐในช่วงใกล้เคียงกัน คือทศวรรษ1960-1970 หรือรวันดาซึ่งใกล้กว่าในช่วง1990 ปรากฏว่ากระบวนการสร้างความยุติธรรมหรือเขียนประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างยอมรับความทรงจำของเหยื่อกลับมามากกว่าและก้าวหน้ากว่า ล่าสุดมีการตั้งกลุ่มศึกษาเรื่องความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน ในสังคมเอเชียอาคเนย์ พยายามจะเอาคนที่ทำเรื่องไทย อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ มาศึกษาประเด็นนี้แล้วค้นพบข้อสรุปคล้ายๆ กับที่ อ.พวงทองเสนอว่า สังคมเอเชียอาคเนย์ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมต่ำมาก เกือบจะไม่มีประเทศไหนทำสำเร็จที่เอาผู้นำมาลงโทษพิจารณาคดีได้เลย ยกเว้นกัมพูชา ที่มีศาลอยู่ตอนนี้ เป็นกรณีเฉพาะมาก เป็นศาลแบบลูกผสม ที่มีบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซงเยอะ แต่ไม่ได้มีการริเริ่มจากในประเทศเลย นำมาสู่ข้อสรุปหรือม็อตโต้ใหม่จับใจมาก ว่าอาเซียนเป็นสวรรค์ของนักเผด็จการทั่วโลก คือใครทำผิดอะไรแล้วมาฝังตัวอยู่ที่ได้ เป็นแหล่งทดลองการเขียนประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนอย่างน่าสนใจ หาที่อื่นได้ยาก จึงถามว่าอะไรที่ทำให้เราเผชิญกับสภาวะแบบนี้ คือไม่มีประวัติศาสตร์ และไม่มีความยุติธรรมที่เกี่ยวกับความรุนแรง

พวงทอง ภวัครพันธุ์

ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็ต้องบอกว่าสังคมอาเซียนเป็นพวก practical เน้นการปฏิบัติ ประโยชน์นิยม มองไปข้างหน้า ผ่านไปแล้ว อย่าไปรื้อเพราะจะทำให้เดินไปข้างไม่ได้ ลำบากกันมาแล้ว ความลำบากนี้ลืมไปซะ ถ้ายังไม่ยอมเลิกถึงเรื่องอดีต อนาคตจะลำบากต่อไปอีก นี่เป็นสิ่งที่เจอในหลายๆ ประเทศ

ในกัมพูชา ที่ความตายเกิดขึ้นอย่างมหาศาล ก่อนตั้งศาลระหว่างประเทศ คนกัมพูชาจำนวนไม่น้อยบอกว่าเอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า เพราะการตั้งศาลใช้เงินก้อนแรกไปถึง3ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ กัมพูชาขณะนั้นเป็นประเทศยากจน จึงคิดว่าเอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่เมื่อเกิดแล้วคนที่เป็นเหยื่อก็พอใจกับความยุติธรรมที่จะเห็นผู้นำเขมรแดงถูกลงโทษ

ในกรณีของลาตินอเมริกา อันหนึ่งที่รู้สึกว่ามีพลังบางอย่าง ซึ่งเวลาที่อ่านเรื่องพวกนี้แล้วรู้สึกไม่เห็นพลังเหล่านี้ในสังคมแบบเอเชีย กลุ่มแม่เหล่านี้ มีความหัวชนฝาที่จะไม่ยอม แม้ว่าบางคนจะถูกอุ้มไป มีการต่อสู้อย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 1976 ที่ลูกเริ่มหาย ก็รวมตัว เพิ่มมากขึ้นมาเรื่อยๆ จนระบอบทหารถูกดำเนินคดีแล้ว ก็ยังไม่พอใจแค่ระดับผู้นำ ต้องเอาระดับกลางที่เกี่ยวข้องเท่าที่จะหาได้มากที่สุดมาด้วย ปัจจุบันก็ยังรวมกันอยู่ เพื่อที่จะต่อสู้ ผลักดันสิ่งเหล่านี้

ด้านหนึ่ง สิ่งที่รู้สึกว่าหายไปจากสังคมแบบเอเชีย ก็คือเหยื่อโดดเดี่ยวในทุกกรณี มีแต่เหยื่อที่รู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่สังคมโดยรวมไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องเข้าไปช่วย เข้าไปทำหน้าที่ปกป้อง ในการที่จะทำให้เดินหน้าไปได้

ธงชัย วินิจจะกูล
อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน

อยากจะลองตอบคำถามประจักษ์ แต่คำตอบที่เสนอ มีจุดอ่อนคือเราจะไม่มีทางหลุดพ้นภาวะนี้ ในสังคมโลก ถ้าแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ในความเป็นจริงมันมีหลายประเภทกว่านั้นเยอะ อย่างหนึ่งคือสังคมที่เรียกว่าเป็นorganic society หรือสังคมที่ต้องไปด้วยกัน การแตกของแต่ละส่วนออกมาจะทำให้สังคมไปไม่ค่อยรอด แถมในสังคมแบบนี้จะมีลักษณะเชื่ออำนาจ power เป็นสิ่งที่มีค่า absolute power ยิ่งมีค่าสูงสุด ตรงข้ามกับสิ่งที่เราเคยได้ยินอยู่ สังคมแบบนี้ มีลักษณะที่พ่วงมาคือให้ความสำคัญกับปัจเจกชนต่ำกว่า ทำให้เกิดสิทธิเสรีภาพที่ต่ำกว่า สิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างไรก็ยังอยู่บนหลักของปัจเจกชน เทียบกับสังคมอีกชนิดหนึ่ง สังคมเคลื่อนด้วยการที่คนมีผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน เป็นสังคมที่มีความริษยา ไม่ยอมให้ใครได้เปรียบกว่ากัน สังคมก็โต เพราะยืนอยู่บนข้อที่ว่าทุกคนสามารถแข่งขันต่อสู้อยู่ภายใต้กรอบกฎเกณฑ์อย่างมีความยุติธรรม สังคมชนิดนี้อนุญาตให้แต่ละคนเคลื่อนไป แปลว่าให้ความสำคัญกับปัจเจกชนมากกว่า สิทธิเสรีภาพมีมากกว่า ความยุติธรรมก็เป็นความยุติธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของปัจเจกชน อยู่บนพื้นฐานของสังคมรวมหมู่

ไม่รู้ว่านี่เป็นคำตอบไหม เพราะเลยไปไกลไปหน่อย เพราะในความเป็นจริง โลกนี้ไม่ได้มีสองสังคมที่แยกกันเด็ดขาดอย่างนั้น และแต่ละอย่างยังมีดีกรี มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน ตรงนี้คือจุดอ่อน แต่อยากเริ่มต้นจากตรงนี้ว่าตรงนี้หรือเปล่าที่ทำให้รากของสังคมไม่ใช่เฉพาะเอเชียอาคเนย์ ตัวอย่างในเกาหลี ในไต้หวัน หลังจากค้นหากรณี 28 ก.ย. ได้ ปี 1948 สุดท้ายลงโทษคนไม่กี่คนก็จบ ไม่มีการสะสางกรณีที่เกิดการทำร้ายชนพื้นเมืองของไต้หวันอย่างจริงจัง กรณีเกาหลี ก็ลงโทษผู้นำไม่กี่คน ไม่ต่อเนื่องไปกว่านั้น ลงโทษอย่างจำกัด เพราะต้องการให้สังคมโดยรวมตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ต้องอยู่ในกรอบ ก็ตะล่อมกันไป สุดท้ายไม่มีการสะสางเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเห็น collective good คือองค์รวมของสังคม collective good ไม่ใช่อยู่ที่การสร้างมาตรฐานที่ไม่ให้ปัจเจกชนละเมิด ไม่อนุญาตให้ใครละเมิดต่อปัจเจกชน ไม่ได้อยู่ที่การสร้างบรรทัดฐานนิติรัฐ แต่อยู่ที่ว่าอะไรเป็นผลที่ collective good ในความหมายเชิงประชด แต่นี่เป็นความหมายที่สังคมนั้นคิด ตรงนั้นสำคัญกว่าเรื่องความยุติธรรมและเรื่องปัจเจกชน

พวงทอง

ความจริงเกี่ยวกับความรุนแรง ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อที่ไม่มีความหมาย แต่เปลี่ยนระบอบ เปลี่ยนสังคมได้อย่างมหาศาล ในลาตินอเมริกาคิดว่าโอกาสที่จะเกิดการรัฐประหารโดยทหารยากมากๆ แล้ว และเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองของคนในสังคม ตอนที่เราเกิดเหตุรัฐประหาร19 ก.ย.49 ใหม่ๆ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดงานสัมมนาการเมืองไทย มีนักวิชาการไทย นักการทูตของลาตินอเมริกามาด้วย นักวิชาการไทยบอกว่าการรัฐประหารก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไปใช่ไหม อย่างในลาตินอเมริกาเองก็มีรัฐประหารหลายครั้ง ปรากฏว่าทูตของลาตินอเมริกาก็ยกมือบออกว่า เราไม่ชอบการรัฐประหารแล้ว เราไม่ต้องการรัฐประหารอีกต่อไปแล้ว เมื่อได้นั่งดูแผนที่ของประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ ในลาตินอเมริกาเหลืออยู่แค่ประเทศเดียว ไม่แน่ใจว่าโยงกันไหม แต่รู้สึกว่าจะต้องเกี่ยวโยงกับการให้คุณค่าของมนุษย์ ซึ่งรัฐไม่สามารถเอาชีวิตมนุษย์ได้ง่ายดายอย่างในอดีตอีกต่อไปแล้ว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "Let it be"

Posted: 15 Apr 2012 10:26 AM PDT

ไทยขื่นขัน อันหาที่สิ้นสุดมิได้ "Let it be"

ความงามของศิลปะ การอ่านเชคสเปียร์ และความล่องลอยฟุ้งซ่านในจิตสำนึกส่วนบุคคล

Posted: 15 Apr 2012 10:15 AM PDT

ข้อเขียนชิ้นนี้คือปฏิกิริยาต่อบทความ ‘ประวัติศาสตร์ไทยแบบ Plot Based History กับการอ่านเชคสเปียร์แบบไทยๆ’ ของ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ที่ได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไทไปเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2012

ผมอยากตั้งคำถามอย่างจริงจังถึงความย้อนแย้งทางทัศนคติ โดยเฉพาะในมุมมองเกี่ยวกับศิลปะที่ษัษฐรัมย์นำมาเพื่อวิพากษ์โจมตีภาพยนตร์เรื่อง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ (สมานรัชฏ์ กาญจนวณิชย์, 2012) ในประเด็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และหน้าที่ของงานศิลป์ ซึ่งเพียงการออกตัวว่า “ไม่มีความรู้เรื่องภาพยนตร์ หรือละครเวทีมากมายนัก” ไม่ได้ช่วยให้บทความนี้สมเหตุสมผลและสมควรแก่เหตุขึ้นแต่อย่างใด เพราะปัญหาที่แท้จริงของบทความไม่ได้อยู่ที่รสนิยมหรือความรู้และโลกทัศน์ทางศิลป์

คุณพลาด (หรือจงใจพลาด?) ในคอนเซปต์ที่ง่ายและพื้นฐานที่สุดในการเข้าถึงภาพยนตร์ นั่นคือไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่าง ‘ภาพยนตร์’ และ ‘ตัวอย่างภาพยนตร์’ ได้ ทั้งๆ ที่คอนเซปต์นี้ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ถึงขั้นระดับนักวิชาการ (ไม่ว่าจะสายวิชาไหน) แต่แค่ระดับคนเสพงานบันเทิงเชิงตลาดทั่วโลกต่างก็รู้ข้อเท็จจริงข้อนี้

ถ้าหากเพียงการดูตัวอย่างภาพยนตร์ที่มีเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต ประกอบกับการอ่านบทความหรือ Director’s Statement (สารจากผู้กำกับ) ของหนังเรื่องใดๆ แล้วเอามาตีประเด็นอย่างที่คุณทำสามารถเรียกได้ว่า ‘วิพากษ์หนัง’ แล้วล่ะก็ คนดูหนังก็ไม่จำเป็นต้องถ่อสังขารไปดูหนังถึงที่โรง ไม่ต้องขวนขวายตะเกียกตะกายหาโหลดหนังที่ประเทศนี้ไม่ซื้อมาฉายผ่านเว็บบิทเว็บฝากไฟล์ โรงหนังที่มีอยู่ก็ควรปิดกิจการเผาทิ้งเป็นซากตึก เพราะต่อจากนี้คนทำหนังแค่ตัดอะไรยาว 2-3 นาทีมาอัพลงเน็ตก็ทำให้เกิดการวิพากษ์หนังได้

ง่ายจัง

ถ้าคุณเชื่อแบบนั้นจริงๆ งั้นคุณอย่าโกรธเชียวถ้าเกิดมีนักวิจารณ์หรือใครสักคน (อาจเป็นผม หรือ ตุลย์ สิทธิสมวงศ์) เขียนบทความบริภาษก่นด่าไม่มีชิ้นดีว่าหนังเสื้อแดงลงขันอย่าง ‘นวมทอง’ นั้นเลวร้ายเพราะบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ด้วยการตีความเข้าข้างตัวเองให้เสื้อแดงเป็นบิดาแห่งประชาธิปไตย ทั้งยังฉวยใช้ประวัติศาสตร์นองเลือดทางการเมืองมาเหยียบย่ำคนอื่นทั้งทหารทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง โดยอาศัยแค่การอ่านเรื่องย่อในเว็บ, อ่านบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับ ธัญสก พันสิทธิวรกุล ในประชาไท หรือฟัง วัฒน์ วรรลยางกูร, ทองขาว ทวีปรังษีนุกูล, พงษ์ศักดิ์ ภูสุทธิสกุล, อภิรักษ์ วรรณสาธพ ให้สัมภาษณ์ออก Voice TV

ในเมื่อคุณยังไม่มีโอกาสได้ดู ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ แล้วจะเอาอะไรไปตัดสินการอ่านเชคสเปียร์ของสมานรัชฏ์? คุณรู้ได้อย่างไรว่าการผลิตซ้ำฉาก ‘ฟาดเก้าอี้’ ในภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพื่อ “เชื่อมขบวนการคลั่งเจ้าย่างสดนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กับขบวนการเสื้อแดงที่ถูกชักนำโดยนักการเมืองว่ามีลักษณะร่วมกัน” ที่ไปสนับสนุนการอ่านเชคสเปียร์แบบชนชั้นนำ? คุณทราบได้อย่างไรว่าหนังเรื่องนี้ “ผลิตซ้ำการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ตามโครงร่างแบบจารีตของไทย ตามด้วยการลดค่าของประชาชนที่ย่อมมีสิทธิเสรีในการดำเนินชีวิตและศรัทธาในอุดมการณ์ทางการเมืองให้เป็นเพียงทาสแก่การชักนำของ ‘ท่านผู้นำ’”? คุณทราบได้อย่างไรว่าหนังเรื่องนี้ “ผลิตซ้ำความคิดที่นำสู่การลดทอนความเป็นคนของอีกฝ่าย”?

คุณใช้วิธีนั่งทางใน กำหนดจิต มโนเพ้อฝันไปเอง หรือฟังต่อมาจากใคร จนรู้ขึ้นมาได้เองหรือว่าฉากฟาดเก้าอี้นี้ปรากฏอยู่ตอนไหนของหนัง ฉากก่อนหน้านี้คือภาพของใคร ภาพหลังจากนี้นำเสนออย่างไร ทั้งหมดทั้งมวลตลอดเวลาเกือบ 180 นาทีของหนังต้องการจะสื่ออะไร หนังเรียงลำดับจากอะไรไปสู่อะไร ภาพเปรียบเทียบและวิธีการเล่าเรื่องนั้นถูกจัดวางด้วยท่าทีลักษณะไหน คุณเห็นเพียงสีแดงเป็นอาภรณ์ของตัวละครในเรื่องผ่านฉากสั้นๆ ก็พลันตัดสินไปไกลลิบโลก (ยอมรับเถอะ คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวหนังจริงๆ พูดถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดงหรือเปล่า!)

ผมไม่ได้จะปกป้องสมานรัชฏ์ว่าเธอปลอดจากเจตนาว่าต้องการพูดถึงเสื้อแดงหรือการเมืองไทยร่วมสมัยอย่างบริสุทธิ์ (อย่างที่เธอพยายาม depoliticized ผลงานของตนผ่านการให้สัมภาษณ์ออกสื่อหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา หลังจากหนังได้รับคำสั่งห้ามฉายในราชอาณาจักร) ไม่ได้บอกว่าเราต้องเชื่อตามเธอเท่านั้นว่าเธอยึดสีแดงตามความหมายสากลทางศิลปะและควร exclude การตีความที่ว่า สีแดง = เสื้อแดง ออกไป แต่การยื่นมือเข้าไปตัดสินผลงานด้วยอคติล้นเหลือนั้นคือสิ่งที่ผมยอมรับไม่ได้

จริงๆ ผมว่าคุณก็แค่โกรธที่สมานรัชฏ์ใช้คำว่า ‘คนคลั่งที่ถูกปั่นหัวโดยเครื่องจักรทักษิณ’ และที่เธอพูดถึงเหตุการณ์ May 19 โดยโฟกัสแค่การเผาบ้านเผาเมืองและการล่มสลายของห้างสรรพสินค้ากับโรงภาพยนตร์มากกว่าคนตาย จากบทความของเธอที่เขียนขึ้นในเว็บไซต์ทางการของหนัง แล้วก็พาลตีโพยตีพายมาถึงตัวหนังด้วยอาการคิดฟุ้งซ่านล่องลอยรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคลของตน เหมือนที่เขาได้กล่าวหาผลงานของสมานรัชฏ์ รับใช้ความโกรธที่ว่าเธอต้องการใช้สีแดงเพื่อโจมตีและเหยียบย่ำความเป็นคนของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง แล้วก็ปักใจเชื่อเช่นนั้นโดยไม่คิดตั้งคำถามโต้แย้งกับตัวเอง

ถ้าคุณจะรับใช้ความโกรธของคุณด้วยการเขียนบทความตอบโต้ข้อเขียนของสมานรัชฏ์ไปเลยโดยไม่พยายามทำตัววิพากษ์หนัง หรือจะวิพากษ์การอ่านเชคสเปียร์แบบรับใช้ชนชั้นนำของคนไทยโดยมีพื้นจากละครเวทีของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ (หรือจากละครเวที ผลงานแปล และบทวิจารณ์งานเชคสเปียร์ในภาคภาษาไทยชิ้นอื่น) ผมก็จะได้อยู่เฉยๆ แต่คุณเปล่า คุณกลับพยายามใช้คำใหญ่โตมาหุ้มห่อความล่องลอยฟุ้งซ่านโกรธเกรี้ยวอคติของตัวเอง อ้างตั้งแต่เชคสเปียร์ไปถึงเยอรมันลามไปหาคนึง ฉัตรเท แสร้งว่ากำลังพูดถึงประวัติศาสตร์และศิลปะ ทั้งที่คุณก็แค่กำลังพิพากษาสมานรัชฏ์ผ่านตัวหนังสือโดยไร้หลักฐานสนับสนุนเป็นชิ้นเป็นอัน

ข้อที่ตลกอย่างร้ายกาจคือเมื่อคุณหาเหตุผลมาสนับสนุนการพิพากษาอันน่าละอายครั้งนี้ว่า “เพราะคนดูหนังก็จำเป็นต้องคิดให้มากกว่าสารของผู้สร้างอยู่แล้ว” แต่การ ‘คิดมากกว่าผู้สร้าง’ ที่อิงแอบอยู่กับทฤษฎีความตายของประพันธกร (Death of the Author) ไม่ได้ระบุว่าคุณคิดมากกว่าได้คนเดียว และคิดมากกว่าได้แค่แบบเดียว ที่ยิ่งเสียดเย้ยคือคุณนั่นแหละที่ยึดติดกับผู้สร้างเสียเต็มประดา คุณสลัดทัศนคติทางการเมืองของเธอออกไปไม่ได้แม้ชั่วขณะจิตที่คุณเขียนงาน และคุณก็ตัดสินทุกอย่างจากความคิดนั้น ราวกับว่าผีของสมานรัชฏ์ตามหลอกตามหลอนคุณไม่รู้จบ หลังจากที่คุณเผลอไปอ่านเจอว่าเธอเกลียดเครื่องจักรทักษิณมากเพียงใด และเธอมองเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 อย่างไร แล้วก็เริ่มตัดสินเธอกับผลงานของเธอจากจุดนั้น

ผมไม่ได้บอกว่าเราจะยึดการตีความหรือการวิพากษ์ในรูปแบบนี้ไม่ได้ แต่คุณจะทำได้ก็ต่อเมื่อได้ดูผลงานของผู้สร้างเสียก่อน สมมติสถานการณ์ให้ก็ได้ว่า คุณอาจด่าละครเวที ‘สี่แผ่นดิน เดอะ มิวสิคัล’ (ถกลเกียรติ วีรวรรณ, 2011) อย่างรุนแรงเพราะมันมีความคิดทัศนคติทางการเมืองที่ตรงข้ามกับคุณ ทั้งยังบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่คุณเห็นว่าสำคัญและเป็นการบิดเบือนเพื่อเสนอทัศนคติอันเลวร้ายทางการเมือง แต่ถ้าคุณจะวิพากษ์ว่าผู้สร้างมีความล้มเหลวทางทัศนคติอย่างไร หรือต้องการโจมตีการสร้างงานของถกลเกียรติว่าเลวร้ายต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แค่ไหน นอกจากคุณจะต้องดูละครเวทีเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเองแล้ว คุณยังต้องคัดกรองอย่างพินิจพิเคราะห์ด้วยว่าสิ่งที่ละครสื่อนั้น ส่วนไหนเป็นความคิดของถกลเกียรติโดยเนื้อแท้ และส่วนไหนตกทอดมาจากงานต้นฉบับของคึกฤทธิ์ ปราโมช

คุณอ้างอยู่ตลอดบทความว่าสังคมอารยะไม่ให้ศิลปะทำแบบนั้นแบบนี้ ศิลปะย่อมไม่มีความสวยงามถ้าเหยียบย่ำผู้คนว่าโง่เง่าคิดไม่เป็น ลากยาวไปถึงเรื่องฮิตเลอร์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก่อนจะวกกลับมาสู่บทสรุปว่าศิลปะแบบที่คุณยอมรับได้คือ “ศิลปะที่วางอยู่บนฐานข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มิใช่ล่องลอยรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคล” แต่คุณลืมไปหรือเปล่าว่าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์นั้นถูกโต้แย้งได้ เล่าใหม่ได้ และประวัติศาสตร์การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่คุณอ้างว่าเป็น ‘ข้อเท็จจริง’ นั้นก็ยังอยู่ในโมงยามของการแย่งชิงความหมายระหว่างคนที่คิดต่างกัน หรือมิใช่? แล้วเหตุใดคนที่มองข้อเท็จจริงเหล่านี้ด้วยมุมมองที่ต่างจากคุณจึงจะไม่มีสิทธิ์สร้างงานศิลปะเล่า? (โน้ตเพิ่มเสริมให้ว่าไม่มีใครสามารถบังคับให้คุณมองงานศิลปะทุกชิ้นเป็นสิ่งสวยงามอย่างไม่มีเงื่อนไขได้หรอก ชิ้นไหนที่คุณมองว่ามันต่ำช้า ขยะแขยง น่ารังเกียจทางทัศนคติ ใครเขาจะไปห้ามคุณไม่ให้มองอย่างนั้นได้ และที่สำคัญ ผู้คนในวงการศิลปะทุกแขนงต่างก็ทราบดีเป็นพื้นฐานว่าไม่ใช่แค่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ศิลปะ’ แล้วจะต้องแสนดีแสนงามเป็นสัจนิรันดร์)

ไม่ต้องคิดต่อยอดประเด็นไปไกลกว่านั้นเลยว่า หากศิลปินไม่ทำงานเพื่อรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคลแล้วศิลปินต้องรับใช้อะไร – จริยธรรม? ศีลธรรม? (แบบที่ทางผู้สร้างก็พยายามเคลมตัวเองว่าภาพยนตร์ดัดแปลงแมคเบธของฉันสร้างขึ้นเพื่อการนั้น) รัฐ? ทุนนิยม? ผู้มีอำนาจ? ความพอใจของคุณและคนที่คุณอ้างว่าเป็น ‘คนส่วนมาก’ ของประเทศ?

ถ้ายึดนิยามศิลปะตามที่คุณบอกว่าชอบธรรมตามแบบสังคมอารยะ บริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์ในฝรั่งเศสคงไม่กล้าซื้อสิขลิทธิ์หนังพรอพพากันดาร่วมสมัยที่สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูระบอบการปกครองของเกาหลีเหนือเรื่อง A Schoolgirl’s Diary (จางอินฮัค, 2007) ไปลงโรงฉายที่นั่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (พวกเอกชนฝรั่งเศสนี่ช่างไร้อารยะเสียจริงที่สนับสนุนศิลปะชวนเชื่อของรัฐเผด็จการ!) และหนังอย่าง Inglourious Basterds (เควนติน ตารันติโน่, 2009) ย่อมไม่มีทางเกิดได้ในสังคมอารยะแบบสหรัฐอเมริกา เพราะหนังบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อย่างร้ายกาจ ด้วยการบอกว่าฮิตเลอร์, เกอห์ริง และบรรดาคนสำคัญของพรรคนาซีถูกสังหารอย่างหฤโหดโดยกลุ่มต่อต้านตายอนาถคาโรงหนังในฝรั่งเศสระหว่างรอบปฐมทัศน์ของหนังพรอพพากันดาเรื่องใหม่ของพรรค (ถ้าจะบอกว่าหนังไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ผมก็ต้องถามว่าแล้วคุณจะ apply หน้าที่ของศิลปะแบบลักปิดลักเปิดเพียงเพื่อรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคลของคุณงั้นหรือ คือฮิตเลอร์ถูกฆ่าได้แต่ห้ามแตะ holocaust? หรือถ้าจะบอกว่าก็หนังมันสร้างขึ้นเพื่อเสียดสีโดยอาศัยพื้นจากประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกเท่านั้น ผู้ชมจึงรู้อยู่แล้วว่าการบิดเบือนนั้นคือการบิดเบือน แล้วทำไมคุณไม่อธิบายเช่นนี้กับ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ในเมื่อมันก็คือหนังการเมืองสยองขวัญ และสร้างขึ้นเพื่อเสียดสี โดยมีพื้นจากบทประพันธ์ของเชคสเปียร์)

ย้อนแย้งอยู่ไม่ใช่เล่น เพราะในขณะที่คุณบอกว่าต่อต้านการแบนหนัง แต่ความคิดแข็งทื่อของคุณนี่แหละที่เป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญของการเซ็นเซอร์หนังและงานศิลปะทั้งมวล รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ต้องการหนังที่ ‘ล่องลอยรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคล’ จึงสั่งให้คนทำหนังต้องส่งบทให้ตรวจสอบก่อนสร้างเพื่อที่รัฐจะได้ตรวจสอบความถูกต้อง ต้องส่งหนังให้ดูก่อนไปประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศอื่น (ใครไม่ทำตามนี้ถูกห้ามทำหนัง 5 ปี) รัฐบาลอิหร่านไม่ต้องการหนังที่ ‘ล่องลอยรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคล’ อันขัดต่อการปกครองแบบสาธารณรัฐอิสลาม เช่นเดียวกับรัฐบาลไทยที่ไม่ต้องการหนังที่ ‘ล่องลอยรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคล’ และพยายามจะพูดเรื่องการเมืองอย่างแข็งขันจนอาจก่อให้เกิดบรรยากาศไม่ปรองดอง ไม่ว่าผู้นำรัฐบาลจะมาจากพรรคการเมืองหรือกองทัพ และหนังที่ ‘ล่องลอยรับใช้จิตสำนึกส่วนบุคคล’ อันกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในท่วงทำนองที่ผิดจากจารีตประเพณีอันแข็งแกร่งของไทยก็ไม่มีวันได้เกิดเช่นกัน เพราะมันขัดต่อสิ่งที่เขายึดถือว่าเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ (‘แสงศตวรรษ’ (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, 2006) ถูกสั่งตัด 4 ฉากก็เพราะมันขัดกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของวิชาชีพแพทย์และพระสงฆ์ในไทยที่รัฐและผู้มีอำนาจสูงในวิชาชีพดังกล่าวยึดถือ หรือมิใช่?)

ความล่องลอยขั้นสูงสุดที่คุณเขียนออกมาคือประเด็นที่คุณเสนอมาว่าศิลปะนั้น “จำเป็นต้องวางอยู่บนฐานการยอมรับร่วมกันในสังคม” ผมอ่านแล้วนั่งหัวเราะอยู่หน้าคอมพ์เสียเป็นนาน จริงๆ ประโยคนี้ประโยคเดียวก็ทำลายความน่าเชื่อถือในบทความของคุณลงจนหมดสิ้นเลยทีเดียว ถ้ายึดถือเอาตามนี้คนอิหร่านก็ไม่สามารถทำหนังด่านาซีได้เพราะสังคมเห็นว่า (หรืออย่างน้อยที่สุดคือ ‘รัฐ’ ระบุไว้ว่า) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวนั้นไม่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ สังคมที่ยึดถือคุณค่าแบบ secular state ก็ไม่อาจมีใครสร้างหนังที่เชิดชูแนวคิดทางศาสนาออกมาสนับสนุนความเชื่อของตนเองได้ (ในทางกลับกันถ้าเป็นสังคมอุดมศาสนา หนังหรือผลงานที่มีแนวคิดวิพากษ์หรือจุดยืนตรงกันข้ามก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกันเพราะย่อมถูกตัดตอนด้วยเห็นว่าไม่สมควรมีที่ยืนในสังคม) ถ้าหากสังคม ‘ยอมรับร่วมกัน’ ในสิ่งที่ขัดกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ตามที่คุณอ้างเสียแล้ว คุณจะอธิบายหน้าที่อันงดงามของศิลปะในแบบที่คุณต้องการได้อย่างไร? แล้วถ้าสังคมไทยยอมรับร่วมกันในระบบชนชั้นแบบจารีต คุณจะโจมตีการอ่านเชคสเปียร์เพื่อสนับสนุนการดำรงคงอยู่ของชนชั้นนำ เช่นที่คุณเสนอมาได้อย่างไร? หากสังคมไทยยอมรับร่วมกันว่าเสรีภาพไม่ใช่สิ่งจำเป็นและจำต้องมีข้อยกเว้นเพื่อความสุขสงบของบ้านเมือง ศิลปินก็จำต้องทำหน้าที่แบบสงบเสงี่ยมเจียมตนไม่เผยออยากใช้เสรีภาพจนเกินงาม หรือมิใช่?

แต่ที่เหนือไปกว่านั้นคือ ที่จริงแล้วคุณ(หรือใครก็ตาม)ไม่มีปัญญาจะหาตัวชี้วัดที่ชัดเจนได้หรอกว่า เราจะดูจากตรงไหนว่าแต่ละสังคมนั้นยอมรับอะไรร่วมกัน นอกจากสิ่งที่ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นผลจากการทำงานของรัฐ คุณไม่มีอะไรยืนยันว่าสังคมไทยยอมรับร่วมกัน(กับคุณ)ในประเด็นเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงหรือกระทั่งความเชื่อในเสรีภาพและระบอบประชาธิปไตย

สิ่งที่สังคมอารยะทำไม่ใช่การปฏิเสธงานศิลปะ หรือพยายามสร้างเงื่อนไขให้มันด้วยมาตรฐานแข็งทื่อด้านมนุษยธรรมหรือเชิดชูคุณค่าด้วยมุมมองแบบนักสังคมศาสตร์นักประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว (โดย treat มันในฐานะของวัตถุเพื่อการศึกษา ตำรา หนังสือ มากกว่าจะมองมันที่ form อย่างแท้จริง) แต่คือการยอมรับงานศิลปะในฐานะเครื่องมือหรือผลงานที่นำเสนอจิตสำนึกส่วนบุคคลของศิลปินที่ต่างพื้นเพ ต่างที่มา ต่างความคิด ต่างทัศนคติ อันก่อให้เกิดการวิพากษ์ โต้แย้งถกเถียงในประเด็นอันหลากหลาย ทั้งในเชิงสังคมการเมือง สุนทรียศาสตร์ หรือกระทั่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หากสังคมอารยะต้องยอมรับเงื่อนไขของศิลปะแบบเดียวกับที่คุณเสนอ โลกนี้ก็คงไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘สังคมอารยะ’ เป็นแน่

ภาพยนตร์ (และศิลปะแขนงอื่น) ไม่ใช่ศิลปะที่สร้างขึ้นแล้วมีความหมายตายตัวแช่แข็งไปตลอดกาล ความหมายของมันสามารถเลื่อนไหลเปลี่ยนแปรไปได้ตามกาลเวลา สถานที่ บริบทสังคมการเมืองที่แวดล้อมตัวชิ้นงานอยู่ นี่อาจเป็นคอนเซปต์ที่คุณไม่เข้าใจและไม่เคยนึกถึง แต่สมานรัชฏ์เข้าใจ form ของภาพยนตร์ เธอจึงไม่พยายามบอกให้คนยึดติดว่าหนังของเธอมีความหมายจริงแท้เพียงหนึ่งเดียวจนกระดิกตัวไม่ได้ เธอบอกว่าตัวละครแมคเบธในเรื่อง ถ้าคนกัมพูชาดูก็อาจนึกถึงฮุนเซน คนลิเบียดูก็อาจนึกถึงกัดดาฟี่ และถ้าคนไทยดูก็อาจนึกถึงทักษิณ (ไม่ยิ่งน่าคิดต่อไปหรือว่าคนไทยเองก็ใช่ว่าจะดูแล้วนึกถึงทักษิณกันไปหมด หรือต่อให้พวกเขาถอดรหัสว่าผู้คนสวมอาภรณ์แดงเหล่านั้นหมายถึงเสื้อแดง ก็ไม่ได้มีข้อยืนยันถาวรว่าเขาจะมองว่าการนำเสนอเช่นนี้เท่ากับกดทับบีฑาความเป็นคนของคนเสื้อแดงแต่อย่างใด ประเด็นนี้เรียนเชิญคุณษัษฐรัมย์ไปลองไล่อ่านคอมเมนต์ในคลิปตัวอย่างหนังเรื่องนี้ดูอย่างถี่ถ้วนสักเล็กน้อย อาจจะพอเห็นภาพมากขึ้น)

ตัวอย่างของการเลื่อนไหลนี้มีมากมาย ตั้งแต่ The Lady (ลุค เบซง, 2011) เมื่อฉายในประเทศฝั่งตะวันตกก็มีความหมายหนึ่ง เล็ดลอดหลุดเข้าไปให้คนพม่าดูแบบละเมิดลิขสิทธิ์ก็มีอีกความหมายหนึ่ง และคนไทยเองก็อธิบายมันด้วยความหมายใหม่ที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองและจริตส่วนบุคคลของผู้อธิบายซึ่งแน่นอนว่าอาจแตกต่างจากสารที่ผู้สร้างคิดไว้ตั้งแต่แรก (โปรดดูบทความ ‘The Lady ซูจี และยิ่งลักษณ์’ ที่นี่ http://www.siamintelligence.com/the-lady-suu-kyi-yingluck/), The Iron Lady (ฟิลลิดา ลอยด์, 2011) ก็ถูกแปรความหมายจากการเป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงชีวิตการเมืองของ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ ให้กลายเป็นภาพยนตร์แนว ‘สุภาษิตสอนผู้นำหญิง’ สำหรับกลุ่มผู้ไม่พอใจ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บางส่วน, หนังบล็อกบัสเตอร์ที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงศักยภาพของเทคโนโลยีสามมิติอย่าง Avatar (เจมส์ คาเมร่อน, 2009) ก็ยังถูกให้ความหมายทางการเมืองในไทยโดย ทักษิณ ชินวัตร (“พี่น้องชาวเสื้อแดง ว่างๆ ลองไปดูหนังเรื่อง Avatar อีกที มันสะท้อนการต่อสู้ของคนเสื้อแดงกับทหารรัฐบาลมาก ระหว่างการใช้อาวุธพื้นบ้านกับอาวุธทันสมัย” – ทวิตเตอร์) และทักษิณเองก็เคยใช้ Wag the Dog (แบร์รี่ เลวินสัน, 1997) มาให้ความหมายโจมตีอภิสิทธิ์ ส่วนฝั่งตรงข้ามกลุ่มคนเสื้อแดงและทักษิณก็หยิบมาตอกกลับ หรือ ‘อินทรีแดง’ (วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, 2010) ก็ถูกฉวยใช้นำไปอธิบายการเมืองไทยร่วมสมัยอย่างแพรวพราว ตามแต่ทัศนคติ ความเชื่อ และอุดมการณ์ของผู้อธิบายไม่ว่าจะสวมเสื้อสีใด บ้างก็ให้ความสำคัญกับสีแดง (‘เศก ดุสิต’ คงตะลึงกับการตีความแบบร่วมสมัยมากทีเดียวหากเขายังมีชีวิตอยู่) บ้างก็ให้ความสำคัญกับหน้าตาของท่านผู้นำว่าละม้ายคล้ายนายกรัฐมนตรีในสมัยที่หนังออกฉาย บ้างก็ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาสร้างที่คาบเกี่ยวกันหลายรัฐบาล บ้างก็ให้ความสำคัญกับวาทกรรม ‘นักการเมืองเลว’ – และไม่มีความหมายใดที่มีอำนาจพอจะยึดครองความชอบธรรมไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จสำหรับอธิบายหนังเรื่องใดๆ โดยสมบูรณ์

กระทั่งภาพยนตร์ที่เข้าข่าย ‘บิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์’ และ ‘ลดทอนคุณค่าความเป็นคน’ อย่างหนังพรอพพากันดาสมัยนาซีเรื่อง Triumph of the Will (เลนี่ รีเฟนชตาห์ล, 1935) ปัจจุบันก็ไม่ได้ถูกปฏิเสธจากโลกอารยะประชาธิปไตยที่คุณอ้างถึง ซ้ำยังได้รับการยอมรับในฐานะหนังเรื่องสำคัญของโลกในแวดวงภาพยนตร์ศึกษา (และไม่ได้มีเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวที่อยู่ในข่ายนี้) คุณคิดว่าผู้คนปัจจุบันจะดูหนังเรื่องนี้แล้วถอดรหัสในหนังได้เช่นประชาชนในยุคนาซีหรือ พวกเราจะยังดูหนังแล้วเชื่อในแสนยานุภาพของอาณาจักรไรช์ที่สาม ความดีงามของฮิตเลอร์ ความต่ำต้อยด้อยค่าของชนชาติยิว เหมือนในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองหรือ? ต่อให้คุณดูหนังพรอพพากันดาของเกาหลีเหนือ ของเวียดนามสมัยคอมมิวนิสต์ ของโซเวียตสมัยสตาลิน ของคิวบาสมัยคาสโตร ของอเมริกาและของไทยสมัยสงครามเย็น การถอดความหมายของคุณจะแช่แข็งตายตัวตามจุดประสงค์ทางการเมืองของงานเหล่านี้จริงหรือ?

การให้ความสำคัญกับความหมายที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงนี้ต่างหากที่เป็นสิ่งยืนยันหน้าที่ของงานศิลปะ แน่นอนว่ามันเกิดขึ้นจากจิตสำนึกส่วนบุคคลของศิลปิน หรือของหน่วยงานองค์กรและทัศนคติใดก็ตามที่ครอบงำศิลปินเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วมันไม่ยึดโยงตัวเองอยู่กับอะไรอย่างถาวร ไม่ว่าจะกับตัวศิลปิน ทฤษฎีวิชาการทางศิลปะ หน่วยงานองค์กรผู้อำนวยการสร้าง รัฐ ทัศนคติทางการเมือง หลักคิดทางศาสนาศีลธรรม ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ สถานที่ และแม้แต่กาลเวลา ความหมายของงานแต่ละชิ้นไม่ว่าจะเป็นศิลปะในแขนงใดล้วนเกิดจากการที่เรานำ ‘จิตสำนึกส่วนบุคคล’ ของเราเองเข้าไปจับและปรับรูปคำอธิบายต่อมันในแต่ละครั้งที่เราเข้าไปปะทะสังสรรค์กับชิ้นงานด้วยบริบทที่แตกต่างกันออกไป

‘ความสวยงามของศิลปะอย่างไม่มีเงื่อนไข’ นั้นไม่มีอยู่จริง แต่ศิลปะนั้นงดงามได้ก็เพราะการที่เราไม่ไปกำหนด ‘พระราชบัญญัติข้อพึงกระทำในฐานะงานศิลปะ’ ให้กับมันต่างหาก หาไม่แล้วก็เท่ากับคุณยอมรับว่าศิลปะนั้นต้องถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง (ไม่ว่าจะในทัศนะของคุณเอง หรือของผู้มีอำนาจใดๆ) และหากจะมีความหลากหลายเสรีใดๆ ก็ต้องเป็นไปตามแบบที่คุณ (หรือผู้มีอำนาจใดๆ) รับรองตราประกาศให้แล้วเท่านั้น ว่ามันรับใช้ในสิ่งที่คุณปรารถนาพึงใจ

ศิลปินแบบที่คุณอยากได้ ก็คือศิลปินประเภทที่ถ้าไม่ยอมสิโรราบให้กับอำนาจที่ทับอยู่บนแผ่นหลังของพวกเขาโดยดุษณี ก็มีแต่ศิลปินที่ถูกกดขี่มัดมือมัดเท้าปิดปากจนไม่อาจขยับเขยื้อนร่างกายและความคิดไปสู่เสรีภาพที่แท้จริงเท่านั้น

การผลิตซ้ำความฟุ้งซ่านล่องลอยด้วยอคติทางการเมืองแบบที่คุณทำในบทความนั้นเองคือสิ่งที่ควรละเว้นอย่างแท้จริงในการวิพากษ์ศิลปะ – แม้จริงๆ แล้วสิ่งที่คุณทำจะไม่ได้ใกล้เคียงกับคำนั้นเลยก็ตาม

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท - แรงงานไทยไม่ใช่แรงงานทาส

Posted: 15 Apr 2012 08:43 AM PDT

ในที่สุด มาตรการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ก็เริ่มปฏิบัติเป็นจริงตามมติคณะรัฐมนตรี โดยมีผลบังคับใช้ใน 7 จังหวัด รวมกรุงเทพ จังหวัดโดยรอบ และภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ส่วนที่เหลืออีก 70 จังหวัด ในเบื้องต้น ให้ขึ้นค่าจ้างตามสัดส่วนเดียวกัน คือเพิ่มร้อยละ 40 จากอัตราเดิม แต่จะต้องปรับเป็น 300 บาทต่อวันเช่นกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป

เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเพิ่มเติมให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไว้เป็นเวลาสองปี ซึ่งก็คือปี 2556 และปี 2557 จะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก ยกเว้นในกรณีภาวะเศรษฐกิจผันผวนอย่างรุนแรงจนกระทบต่อการครองชีพของลูกจ้างเท่านั้น

มาตรการดังกล่าวเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงมาตั้งแต่แรก และถูกต่อต้านอย่างหนักถึงปัจจุบันจากนายจ้างบางกลุ่ม รวมทั้งจากสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เสียงคัดค้าน นอกจากจะมาจากนายจ้างที่เดือดร้อนจริงแล้ว ยังมาจากกลุ่มนายจ้างนายทุนใหญ่ที่อิงแอบอยู่กับกลุ่มทุนขุนนางเก่า ทำมาหากินกับระบอบจารีตนิยมของไทยมานานหลายชั่วคน ผูกขาดตัดตอน เอารัดเอาเปรียบแรงงานไทยและผู้บริโภคไทยมานานจนเคยตัว แม้ในระบบการเมืองแบบเลือกตั้ง กลุ่มทุนพวกนี้ ซึ่งรวมศูนย์กันอยู่ในกรุงเทพ ก็มีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็เป็นพรรคการเมืองมือเท้าของพวกจารีตนิยมอีกเช่นกัน

ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มอันธพาลเสื้อเหลืองข้างถนนที่ขับไล่รัฐบาลไทยรักไทยปี 2549 และรัฐบาลพลังประชาชนปี 2551 ก็มีกลุ่มทุนเก่าพวกนี้บางส่วนเข้าไปให้การสนับสนุนทั้งอย่างลับ ๆ และเปิดเผย สอดประสานกับองคาพยพอื่น ๆ ของพวกจารีตนิยม จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในทางกลับกัน คนพวกนี้จึงออกมาเชียร์นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงปี 2552-53 แต่กลับแสดงอาการผิดหวังอย่างออกนอกหน้าเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเมื่อกรกฎาคม 2554 หลังจากนั้น คนพวกนี้ก็พากันเรียงหน้าออกมา “เตือนรัฐบาล” ในแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่การต่อสู้กับภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ นโยบายรถคันแรก การบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การลอยตัวราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้

ความจริงข้อหนึ่งที่นายจ้างกลุ่มทุนเก่าเหล่านี้ไม่ยอมพูดถึงคือ นับแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา ค่าจ้างแรงงานไทยมีการปรับขึ้นช้ามากคือไม่ถึงร้อยละ 2 ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยสูงถึงร้อยละ 3-4 ต่อปี ผลก็คือ ค่าจ้างของคนงานไทยล้าหลัง ไล่ตามไม่ทันค่าครองชีพต่อเนื่องมากว่าสิบปีแล้ว

สิ่งที่เราสังเกตได้ตลอดหลายปีมานี้คือ คนงานลูกจ้างมีแนวโน้มต้องทำงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ได้รายได้เสริม ทั้งทำงาน “ล่วงเวลา” หรือ “โอที” ในที่ทำงานประจำ ไปจนถึงทำงานรับจ้างที่อื่นหรือค้าขายรายย่อยนอกเวลางานและในวันอาทิตย์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้รายได้ที่ไล่ทันกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทุกปีนั่นเอง

ยิ่งกว่านั้นคือ รายได้ประชาชาติของไทยที่วัดโดย ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตลอดกว่าสิบปีมานี้ ก็เติบโตขึ้นในอัตราร้อยละ 4-5 ต่อปี สูงกว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอีกเช่นกัน ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้แรงงานไทยได้รับส่วนแบ่งรายได้ของประเทศที่น้อยลงเรื่อย ๆ และมีรายได้เพิ่มขึ้นที่ช้ากว่าผู้ประกอบอาชีพและรายได้กลุ่มอื่น ๆ อีกด้วย

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงกว่าสิบปีมานี้จึงยืนอยู่บนฐานของการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานอย่างมาก โดยให้คนงานทำงานเพิ่มมากขึ้น แต่กลับมีรายได้ที่ไล่ไม่ทันค่าครองชีพและรายได้ของกลุ่มอาชีพอื่น ๆ

การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จึงมีเหตุผลในแง่ความเป็นธรรมทางสังคมอยู่ด้วย เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานไทยได้รับผลตอบแทนและส่วนแบ่งในความเจริญของประเทศกับเขาบ้าง

ความจริงแล้ว การขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานถือว่า เป็นแนวโน้มสำคัญที่ถึงอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้นกับประเทศที่กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมดังเช่นประเทศไทย ซึ่งทั้งรัฐบาลและนายจ้างเอกชนจะต้องรับมือและปรับตัวให้ได้

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ คือ เริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจจากพี้นภูมิหลังที่เป็นเกษตรกรรม มีแรงงานเหลือเฟือ การพัฒนาเศรษฐกิจยุคแรกของไทยในยุค 2500-2520 จึงเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น จ้างคนงานไร้ฝีมือและค่าแรงต่ำ ต่อเมื่อแรงงานล้นเกินเริ่มหมดไป คนงานมีการศึกษาและทักษะสูงขึ้น ค่าจ้างแรงงานก็จะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย อุตสาหกรรมก็จะต้องปรับตัวไปสู่การใช้กระบวนการผลิตที่ใช้แรงงานทักษะสูง ค่าจ้างสูง หันมาใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ประหยัดแรงงาน เน้นทุนเข้มข้นและเทคโนโลยีเข้มข้นมากขึ้น ชดเชยกับค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในญี่ปุ่น เกาหลี ใต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และกำลังเกิดขึ้นในจีนปัจจุบัน

อุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ยุคขาดแคลนแรงงานในช่วง 2530-40 เมื่อแรงงานไทยส่วนเกินเริ่มหมดไป คนงานไทยมีการศึกษาสูงขึ้นมาก ค่าจ้างก็เริ่มสูงขึ้น นายจ้างจึงหันไปใช้แรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงปัจจุบัน มีแรงงานต่างชาติทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายนับล้านคน แรงงานเหล่านี้เป็นการต่อชีวิตให้กับอุตสาหกรรมไทยที่ใช้แรงงานเข้มข้นราคาถูก นายจ้างนายทุนจำนวนมากคิดแต่ที่จะแสวงประโยชน์จากแรงงานราคาถูกไปเรื่อย ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ยอมปรับตัวไปสู่ยุคอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าขึ้น ขณะที่กลุ่มทุนเก่าบางจำพวกหากินอยู่กับพวกจารีตนิยมตลอดมา ก็หวังพึ่งแต่การคุ้มครองและสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ตนจะได้จากระบอบการเมืองเผด็จการ เห็นผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภคเป็นเพียงแค่บ่อเงินบ่อทองให้ขุดลอกไม่รู้จบเท่านั้น อีกต่อยังต่อต้านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ตั้งแต่ยุครัฐบาลไทยรักไทยถึงปัจจุบันอีกด้วย

ถึงเวลาแล้วที่นายจ้างและอุตสาหกรรมไทยจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ หยุดคร่ำครวญเรื่องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ได้แล้ว หยุดแบมือขอเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ยอมรับความจริงที่ว่า การเมืองประชาธิปไตยและทุนนิยมแข่งขันโลกาภิวัฒน์คือปัจจุบันที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับองค์กร กระบวนการผลิตและการตลาดไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานทักษะสูง จ่ายค่าจ้างแรงงานสูง กระบวนการผลิตเน้นการใช้ทุนและเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพราะอีกไม่นาน แม้แต่แรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะหมดไปเช่นกันเมื่อเศรษฐกิจประเทศเหล่านั้นพัฒนามากขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมไทยก็ต้องยกระดับไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูงขึ้นด้วยแรงงาน ทุน และเทคโนโลยี เพื่อความอยู่รอดในยุคทุนนิยมโลกาภิวัฒน์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ชะตากรรมของผังล้มเจ้า

Posted: 15 Apr 2012 08:36 AM PDT

ในที่สุด ก็เป็นที่แน่นอนว่า คดีผังล้มเจ้าได้มาถึงจุดจบ เพราะมีแนวโน้มอันชัดเจนว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ จะปิดสำนวนสั่งไม่ฟ้องคดีนี้

เหตุการณ์ชัดเจนเมื่อวันที่ 30 มีนาคม เมื่อ พ.อ.วิจารณ์ จดแตง ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายกองอำนายการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้เดินทางมาให้ปากคำกับดีเอสไอ ในเรื่องเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐด้วยการล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์ พ.อ.วิจารณ์ เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่สำคัญ ในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เมื่อ พ.ศ.2553 ซึ่งนำเสนอเรื่องผังล้มเจ้า พ.อ.วิจารณ์ได้ให้ปากคำอยู่ราว 2 ชั่วโมง และได้นำเอกสารมามอบให้เป็นหลักฐาน 1 ลัง และ ซีดี 8 แผ่น แต่หลังจากนั้น พ.ต.อ.ประเวช มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ กลับแถลงว่า ดีเอสไอได้สอบสวนพยานครบทุกปากแล้ว และจากการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด ก็ยังไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำผิดได้ เนื่องจากพยานหลักฐานไม่ชัดเจน จึงจะสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ และจะสรุปคดีให้เสร็จก่อนสงกรานต์

พ.ต.อ.ประเวศน์ยังอธิบายรายละเอียดว่า ไม่ปรากฏว่ามีพยานคนไหนให้การว่าใครเป็นคนจัดทำแผนล้มเจ้าขึ้นมา ประกอบกับข้อมูลที่กล่าวหากลุ่มบุคคลในผัง ก็ไม่ปรากฏชัดเจนว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ร่วมกันกระทำผิด ที่ไหน เมื่อไหร่  ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า "เรื่องนี้ไม่มีความชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มต้นที่รับเป็นคดีพิเศษมานานเป็นปีแล้ว และเมื่อมีการเปลี่ยนคณะทำงานสอบสวนฯ ผมก็พยายามจะทำให้มันมีอะไร แต่จนถึงขณะนี้ผู้ที่กล่าวหาก็ยังไม่มีมูลที่ชัดเจนให้ดีเอสไอนำไปขยายผลสืบสวนหาคนผิดได้ หรือที่พูดกันในภาษาชาวบ้านว่าการกล่าวหาลอยๆ"

ย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2553 พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกของ ศอฉ. ได้แถลงข่าวโดยเสนอถึงแผนผังเครือข่ายชื่อบุคคลที่ พ.อ.สรรเสริญอ้างว่า เป็นเครือข่ายที่ส่อถึงการล้มล้างสถาบันเบื้องสูง จากรายชื่อในแผนผัง จะมี ชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นใจกลาง และมีโครงข่ายต่างๆคอยแวดล้อมเชื่อมโยงอยู่ โดยหลักๆได้แก่ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อันประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายจักรภพ เพ็ญแข  นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวิสา คัญทัพ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นายอดิศร เพียงเกษ นายแพทย์เหวง โตจิราการ นายชูพงษ์ ถี่ถ้วน รวมทั้ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และโยงถึงนักวิชาการ เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เข้าไปด้วย

หลังจากนั้น สื่อมวลชนกระแสหลัก กลุ่มฝ่ายขวา และสลิ่มสารพัดสี ได้มุ่งเสริมกระแสและโจมตีบุคคลเหล่านี้ โดยอ้างกันว่าเป็นเครือข่ายของขบวนการล้มเจ้า ซึ่งเป็นการจงใจบิดเบือนให้ร้ายผู้ที่ปรากฏชื่อในผังล้มเจ้า และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาแถลงซ้ำว่าจะออกหมายจับบุคคลตามแผนผังนี้ด้วย แต่ต่อมา นายสุเทพก็ไม่ได้ดำเนินการเช่นนั้น เพียงแต่ในทางความเป็นจริง เรื่องผังล้มเจ้านี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสในการนำมาสู่การปราบปรามกวาดล้างประชาชนคนเสื้อแดง จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 93 คน และบาดเจ็บนับพันคน และมีประชาชนถูกจับกุมติดคุกอีกนับร้อยคน

เรื่องผ่านไปจนถึงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ เนื่องจากมีการฟ้องร้องดำเนินคดี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำให้ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ต้องยอมรับต่อศาลว่า การเผยแพร่ “ผังล้มเจ้า” มีขื้นด้วยเหตุ 3 ประการคือ ประการที่หนึ่ง ศอฉ. ในขณะนั้นเชื่อมั่นว่ามีขบวนการที่จ้องจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์จริง ประการที่สอง ในช่วงเวลานั้น มีข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเตอร์เน็ตกล่าวหาในลักษณะทำนองว่า ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ซึ่งเป็นราชเลขาธิการในพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โทรศัพท์มาสั่งการ ศอฉ. อยู่ตลอดเวลา ให้ดำเนินการนานัปการ กับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งหมายความว่ามีความพยายามยามจะสร้างภาพให้สังคมเห็นว่า พระองค์ท่านมีส่วนเกี่ยวพันกับเรื่องการเมือง ซึ่งมิได้เป็นความจริง ศอฉ. ก็มีความจำเป็นที่ต้องชี้แจงข้อมูลข่าวสารให้สังคมได้รับทราบความจริงเป็นเช่นไร ประการที่สาม เป็นไปตามมติของ ศอฉ. ที่ต้องการจะให้นำเสนอข้อมูลข่าวสารแก่สังคมเป็นลายลักษณ์อักษร

พ.อ.สรรเสริญอธิบายต่อไปว่า  เอกสารที่ไปแจกนั้นมิได้หมายความว่าผู้ที่มีชื่อในเอกสารเป็นผู้เกี่ยวข้องในฐานะอยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ ซึ่งให้สังคมพิจารณาและวินิจฉัยเอาเอง ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ในเอกสาร ว่าแต่ละคนเกี่ยวข้องกันในฐานะอะไร เช่น เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในฐานะญาติพี่น้อง เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในฐานะผู้ทำธุรกิจร่วมกันอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งมิได้แถลงเลยว่า บุคคลทั้งปวงเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้อยู่ในขบวนการ แต่หลังจากนั้นมีสื่อมวลชนนำเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ไปขยายผล ขยายความกันเอง

สรุปแล้วจากคำแถลงของ พ.อ.สรรเสริญต่อศาล ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ผังล้มเจ้าเป็นเพียงการแสดงเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เรื่องขบวนการล้มเจ้าเป็นเพียงความเชื่อ จึงไม่เคยปรากฏเลยว่า ฝ่าย ศอฉ. และรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เสนออะไรที่เป็นหลักฐานอันมีน้ำหนักในกรณีเรื่องนี้ หรืออธิบายได้อีกลักษณะหนึ่งว่า คดีผังล้มเจ้าเป็นเพียงความพยายามของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะใส่ร้ายป้ายสีผู้บริสุทธิ์ โดยการนำเอากรณีล้มล้างสถาบันมาเป็นเครื่องมือในการกล่าวหาศัตรูทางการเมืองของพวกตน และสร้างความชอบธรรมในหมู่ประชาชนด้วยการสร้างเรื่องโกหกระดับชาติขึ้นมานั่นเอง

แม้ความจริงเป็นเช่นนี้แล้ว แต่ดีเอสไอ.ในขณะนั้น ก็ยังยืนยันที่จะดำเนินคดีล้มเจ้าต่อไป โดยพยายามอ้างว่า มีหลักฐานแน่นหนาที่จะดำเนินคดี แต่ปรากฏว่า ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 เกิดการเปลี่ยนเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แนวโน้มของดีเอสไอ จึงมีการเปลี่ยนท่าทีต่อคดีล้มเจ้าอย่างสำคัญ เช่นการนำเสนอที่จะเรียกตัว นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคง และนายสุเทพ เทือกสุบรรณในฐานผู้อำนวยการ ศอฉ. มาให้การในกรณีผังล้มเจ้า และอ้างกันว่า นายสุเทพเป็นผู้อยู่เบื้องหลังจากจัดทำผังล้มเจ้าเอง จนทำให้นายสุเทพ ต้องตอบโต้ว่า ดีเอสไอชักจะทำอะไรเลอะเทอะ ไม่มีจุดยืนในการทำงาน “เพราะกรณีนี้ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยาน หลักฐาน ที่แสดงพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่มีเจตนาร้ายต่อสถาบัน และนำไปเสนอต่อ ศอฉ.” แต่วันนี้มาออกข่าวในลักษณะเหมือนจะกล่าวหาว่าตนเป็นต้นเรื่อง

ถ้าเป็นดังนี้ จึงกลายเป็นเรื่องแปลก เพราะในที่สุด ไม่รู้ว่าใครเป็นต้นเรื่อง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น จากการใส่ร้ายป้ายสี คงเลี่ยงไม่ได้ ที่นายสุเทพ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ศอฉ. จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ก็ต้องกล่าวว่า กรณีนี้ได้สะท้อนให้เห็นอีกครั้งของความเหลวไหลของชนชั้นนำไทย เป็นตัวอย่างของการใส่ร้ายป้ายสี ที่มุ่งทำลายฝ่ายตรงข้ามโดยไร้คุณธรรม

บทความนี้จะลงท้ายด้วยความเห็นในโลกไซเบอร์ เช่น ความเห็นหนึ่งเสนอว่า “มั่วแมป ล้มเจ้า ความจริงเริ่มปรากฏ ที่แท้ก็เป็นวิธีการใส่ความฝั่งตรงข้ามแบบมั่ว ๆ และแล้ว ผังล้มเจ้า จาก ศอฉ. ในยุคนั้น มีแนวโน้มว่าจะเป็นคดีปาหี่ เอาฮาในที่สุด” หรือ ผังล้มเจ้า ที่ได้รับการเปิดเผยโดย โฆษก ศอฉ. ในขณะนั้น ได้รับการกล่าวขานมากว่า "ใครแม่มนั่งทางในเขียน" และอีกรายหนึ่งเสนอว่า “ไม่แน่นะ ในวันสองวันนี้เราอาจเห็น พนักงานสอบสวนในคดีนี้ เชิญจิตแพทย์ร่วมสอบการให้ปากคำ คำให้การของนายอภิสิทธิ และนายสุเทพ ก็เป็นได้ ใครจะไปรู้”

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สลักธรรม โตจิราการ: ข้อเท็จจริงจากการชันสูตรศพผู้เสียชีวิต 10 เมษา 53

Posted: 15 Apr 2012 06:40 AM PDT

ชื่อบทความเดิม: สลักธรรม โตจิราการ: ข้อเท็จจริงบางประการที่พบเห็นจากการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553

 

13 เมษายน 2555

แม้ว่าการสลายการชุมนุมของประชาชนที่บริเวณสี่แยกคอกวัวจะผ่านมา 2 ปี แม้ว่าทุกฝ่ายจะเห็นพ้องต้องกันว่าการค้นหาความจริงว่าใครเป็นผู้ใช้ความรุนแรงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งในการทำให้ประเทศไทยพัฒนาสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ก็ตาม ยังมีความไม่ชัดเจนว่าผู้เสียชีวิตนั้นถูกผู้ใดสังหาร ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ก็กล่าวหาว่า “ชายชุดดำ” ซึ่งถือปืนอาก้าทำการสังหาร ในขณะที่ฝั่งประชาชนผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมากลงความเห็นว่าทหารเป็นผู้สังหารประชาชน

2 ปีที่แล้วหลังเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมชันสูตรพลิกศพที่เสียชีวิตเนื่องจากเหตุการณ์ปะทะกันในวันที่ 10 เมษายน 2553 โดยมีคณาจารย์ด้านนิติเวชวิทยาจากหลายสถาบัน เช่น โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และโรงเรียนแพทย์อื่นๆเป็นกรรมการร่วมกันชันสูตรพลิกศพเพื่อให้การชันสูตรพลิกศพเป็นไปด้วยความโปร่งใส นอกจากนั้น คณะกรรมการดังกล่าวได้เชิญตัวแทนจาก นปช. ไปร่วมชันสูตรศพที่เสียชีวิตซึ่งมี อ.เชิดชัย ตันติสิรินทร์ และ อ.ชลน่าน ศรีแก้ว ไปร่วมชันสูตร ส่วนผมก็เข้าไปเป็นผู้ช่วยทั้ง 2 ท่านด้วย โดยศพของประชาชนนั้น คณะกรรมการชันสูตรพลิกศพทำการชันสูตรที่โรงพยาบาลตำรวจ ส่วนศพของทหารนั้นคณะกรรมการชันสูตรพลิกศพทำการชันสูตรที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ผมจึงได้เห็นผู้เสียชีวิตทุกคนในเหตุการณ์ 10 เมษายน ทั้งฝั่งประชาชนและฝั่งทหาร โดยศพของประชาชนนั้นได้รับการชันสูตรพลิกศพโดยคณะกรรมการร่วมชันสูตรฯที่โรงพยาบาลตำรวจทุกราย ส่วนศพของทหารที่เสียชีวิตก็ได้รับการชันสูตรโดยคณะกรรมการร่วมชันสูตรพลิกศพชุดเดียวกันนี้

ยกเว้น พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่คณะกรรมการร่วมชันสูตรพลิกศพไม่ได้เป็นผู้ชันสูตรศพ เพราะศพถูกนำไปฌาปนกิจเสียก่อน หลายคนจึงตั้งข้อสงสัยว่าทำไมจึงต้องรีบฌาปนกิจศพของ พ.อ.ร่มเกล้า โดยไม่นำศพเข้าร่วมการชันสูตรโดยคณะกรรมการร่วมชันสูตรพลิกศพจากหลายสถาบันเพื่อความโปร่งใสในขั้นตอนการชันสูตรพลิกศพเช่นเดียวกับศพอื่น ?

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ผมได้เข้าร่วมกระบวนการชันสูตรด้วย จึงขอนำเอาสิ่งที่ได้พบเห็นมาเล่าให้ประชาชนได้รับฟังเพื่อจะเป็นประโยชน์ในการค้นหาความจริงมากขึ้น

จากการตรวจศพของประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมกับ นปช. ในวันที่ 10 เมษายน คณะกรรมการชันสูตรฯ ลงความเห็นว่าผู้เสียชีวิตในฝั่งของประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมกับ นปช. นั้น มี 1 คนที่หัวใจวายตาย และอีก 1 คนที่เสียชีวิตเนื่องจากถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วต่ำ ส่วนคนที่เหลือทั้งหมดเสียชีวิตจากการถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง เนื่องจากมีการแตกสลายของอวัยวะภายในอย่างรุนแรง และมีอาจารย์แพทย์ด้านนิติเวชจากโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งให้ความเห็นเป็นการส่วนตัวว่าแผลจากกระสุนปืนความเร็วสูงนั้นน่าจะเป็นแผลจากกระสุนปืน M16 มากกว่าอาก้า แต่ว่าเนื่องจากไม่พบหัวกระสุน แพทย์นิติเวชจึงไม่สามารถระบุชนิดของหัวกระสุนไปในรายงานตรวจศพได้ทันที ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานนิติวิทยาศาสตร์และพนักงานสอบสวนในการนำข้อมูลจากการสอบสวนไปพิจารณาลงความเห็นเพิ่มเติมว่าเกิดจากกระสุนชนิดใด แต่ถ้าลองดูภาพที่ผมหามาเปรียบเทียบแผลภายในร่างกายที่เกิดจากกระสุนชนิดต่างๆ (ขอบคุณ www.firearmstactical.com) ดังที่ปรากฏข้างล่าง แผลของกระสุน 5.56x45 mm มาตรฐาน NATO อย่างที่ใช้ใน M16 HK33 และTavor ที่ทหารใช้ตอนปราบปรามประชาชน (รูปที่ 1 กรอบบน) จะเห็นว่าแผลภายในจะเกิดการทำลายเป็นช่องกว้างขึ้นมามากเหมือนกับที่พบในศพของประชาชน ในขณะที่แผลจากกระสุน 7.62x39 mm มาตรฐานรัสเซียอย่างที่ใช้ในอาก้า (รูปที่ 1 กรอบล่าง) ที่อ้างว่าชายชุดดำใช้ จะไม่เกิดการทำลายอวัยวะภายในเป็นช่องกว้าง แต่จะทะลุร่างกายออกไปได้มากกว่า M16

ฉะนั้นในความเห็นผมสรุปได้ว่าแผลที่เกิดขึ้นในร่างกายของผู้เสียชีวิตฝั่งประชาชนในวันที่ 10 เมษายน ส่วนใหญ่น่าจะเกิดจากกระสุน 5.56x45 mm มาตรฐาน NATO ซึ่งทหารใช้มากกว่ากระสุน 7.62x39 mm มาตรฐานรัสเซียที่มีคนอ้างว่าชายชุดดำใช้ ถ้าเชื่อตามรูปว่าชายชุดดำมีปืนอาก้าตามรูปที่เอามาลงกันจริงๆ ก็แปลว่าชายชุดดำไม่มีส่วนในการฆ่าประชาชนเลย เพราะชายชุดดำไม่ได้ถือ M16 HK33 หรือ Tavor ในขณะที่ทหารที่เข้าปฏิบัติการสังหารประชาชนในวันที่ 10 เมษายนมีหลักฐานชัดเจนว่ามีปืน M16 Tavor และปืนซุ่มยิง

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือร่างผู้เสียชีวิตเกินครึ่งหนึ่งแผลกระสุนเข้าอยู่ที่ศีรษะ ปกติศีรษะคนมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดร่างกายมนุษย์ทั้งหมด ถ้าไม่เล็งยิงโอกาสโดนน้อยมาก แปลว่าคนยิงมีเจตนายิงให้เสียชีวิตอย่างแน่นอน

นอกจากนั้นยังมีศพที่ถูกยิงเข้าที่อกด้วยกระสุน 5.56x45 มิลลิเมตรมาตรฐาน NATO แต่วิถีกระสุนพุ่งดิ่งจากบนลงล่างด้วยมุมชันมาก ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการโดนกระสุนที่ยิงขึ้นฟ้าแล้วตกลงมา

 


รูปที่ 1 รูปเปรียบเทียบระหว่างแผลที่เกิดจากกระสุน 5.56x45 mm มาตรฐาน NATO อย่างที่ใช้ใน M16 และ Tavor ที่ทหารใช้ในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน (ในกรอบบน) เมื่อเปรียบเทียบกับ ผลจากกระสุน 7.62x39 mm มาตรฐานรัสเซียอย่างที่ใช้ในอาก้า (AK47) อเซกาเซ (SKS) (ในกรอบล่าง)

 

สำหรับกรณีทหารที่เสียชีวิตนั้นผมได้ร่วมการตรวจศพนายทหารชั้นประทวนที่อยู่กับ พ.อ.ร่มเกล้า ตอนเสียชีวิต แต่ไม่ได้ร่วมการตรวจศพ พ.อ.ร่มเกล้า ซึ่งไม่ได้รับการชันสูตรจากคณะกรรมการร่วมชันสูตรพลิกศพเหมือนศพอื่นๆ ในช่วงวันที่ 10 เม.ย. ศพทหารที่เสียชีวิตนั้นนั้นตายจากสะเก็ดระเบิดที่เป็นโลหะรูปร่างบิดเบี้ยวเป็นแผ่นที่แตกออกมาด้วยความเร็วสูงพุ่งทะลุเข้าไปในสมอง ถ้าถามความเห็นผม ทหารที่เสียชีวิตนั้นน่าจะเสียชีวิตจากระเบิดมือมากกว่า M79 เพราะว่า กระสุนระเบิดขนาด 40 mm ที่ใช้กับ M79 หรือ M203 ส่วนมากเป็นกระสุนที่มีอำนาจการทำลายจากตัวแรงระเบิดเอง (High Explosive) มากกว่า ยกเว้นจะใช้หัวกระสุนชนิดคล้ายปืนลูกซองซึ่งจะให้ลูกปรายออกมาเป็นลูกกลม ในขณะที่ระเบิดมือชนิดทำลายบุคคลจะใช้การแตกสะเก็ด (Fragmentation) เพื่อให้สะเก็ดระเบิดพุ่งตามแรงระเบิดไปทำลายบุคคล จากการชันสูตรพบว่าทหารที่เสียชีวิตนั้นไม่ได้เสียชีวิตจากตัวแรงระเบิดเอง แต่เสียชีวิตจากสะเก็ดระเบิด สะเก็ดระเบิดที่พบในศีรษะทหารที่เสียชีวิตมีลักษณะเป็นแผ่นแบบที่แตกออกมาจากผิวของระเบิดมือชนิดแตกสะเก็ด ไม่ใช่หัวลูกปรายในกระสุน M79 แบบพิเศษ (นอกจากนั้น คุณภาพของกระสุนระเบิดสำหรับ M79 ที่ใช้ในราชการกองทัพไทยมีประวัติปัญหาการใช้งาน เคยมีบุคคลากรทางทหารเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ลูกน้องในทีมของเขายิง M79 ไปตกกลางวงเด็กที่เล่นกันอยู่ ปรากฏว่าไม่มีเด็กบาดเจ็บเลย มีแต่ร้องไห้กันเพราะเสียงระเบิด)


หากเราคะเนว่าทหารที่เสียชีวิตเพราะว่าโดนระเบิดมือแบบแตกสะเก็ด แปลว่าผู้ลงมือต้องอยู่ใกล้กับพื้นที่มาก เพราะว่าระยะขว้างของระเบิดมือนั้นโดยปกติจะไม่เกิน 50-100 เมตร ยกตัวอย่างเช่นระเบิดขว้างแบบแตกสะเก็ดชนิด M67 ของสหรัฐอเมริกามีระยะขว้างปกติ 40 เมตร เพราะฉะนั้นผู้ที่ทำการสังหารต้องอยู่ใกล้แนวหลังหรือกองบัญชาการของ พ.อ.ร่มเกล้า และทีมงาน ตามปกติแล้วการรักษาความปลอดภัยในบริเวณแนวหลังหรือกองบัญชาการนั้นจะต้องเข้มงวดมาก โอกาสที่บุคคลภายนอกจะเล็ดรอดเข้าไปยังพื้นที่แนวหลังหรือกองบัญชาการในระยะไม่เกิน 40 เมตรในสถานการณ์สงครามและสามารถขว้างระเบิดมือแล้วหลบหนีออกจากพื้นที่โดยไม่ถูกตรวจจับหรือมีการปะทะถือว่าน้อยมาก ยกเว้นการรักษาความปลอดภัยย่อหย่อนอย่างร้ายแรง หรือเป็นการกระทำจาก “คนใน” ด้วยเหตุนี้ทฤษฎีที่ฝั่งกองทัพและรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้นออกมาเผยแพร่จึงกล่าวอ้างว่าทหารเหล่านี้เสียชีวิตจากกระสุนระเบิดที่ยิงโดย M79 เพื่ิอไม่ให้เกิดการเสียหน้า


สำหรับสิ่งที่ผมได้พบเห็นมาเหล่านี้ หวังว่าจะเป็นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ความจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 ปรากฏออกมาสู่สังคม คืนความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตทุกคนในเหตุการณ์นี้ และผู้ที่สั่งการให้ปราบปรามประชาชนโดยใช้อาวุธสงครามในยามค่ำคืนจนเกิดความสูญเสียจะต้องรับผิดชอบต่อคำสั่งของตนในที่สุด

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ASEAN Weekly: “กัมพูชา” อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

Posted: 15 Apr 2012 06:01 AM PDT

สัปดาห์นี้ ช่วงแรกตามติดและวิเคราะห์ข่าวสำคัญ 2 เรื่อง คือ ผลการเลือกตั้งพม่าซึ่งออกมาพลิกความคาดหมายของบรรดาผู้นำรัฐบาล เมื่อ กกต.พม่าประกาศผลอย่างเป็นทางการว่า พรรคเอ็นแอลดี หรือพรรคฝ่ายค้านพม่า ซึ่งนำโดยนางอองซาน ซูจี ชนะแบบถล่มทลาย ได้ สส. 43 จาก 45 ที่นั่ง และเจาะพื้นที่เมืองเนปิดอว์ได้ถึง 4 เขต พรรค USDP ของรัฐบาลพม่า และพรรค SNDP หรือพรรคเสือเผือกของไทใหญ่ได้ไปแค่คนละ 1 ที่นั่ง เรื่องนี้สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้กับผู้นำพม่าพอสมควร

เรื่องที่สอง ตัวแทนสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU เข้าเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลพม่า และยื่นข้อเสนอหยุดยิงต่อพลเอกเต็ง เส่ง ผู้นำพม่า ภายใต้ช่วงเวลาของการเจรจา กองทัพพม่ายังคงเสริมกำลังทหารเข้าไปในรัฐกะเหรี่ยงอย่างต่อเนื่อง ต้องจับตาดูว่าการเจรจาของ KNU รอบนี้จะนำไปสู่การถูกกลืนกลายจนไม่สามารถต่อรองเพื่อเรียกร้องเอกราชได้หรือไม่ และประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยแบบเดียวกับกองทัพเขมรแดงที่เคยเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลกัมพูชา จนนำไปสู่ความล่มสลายหรือไม่ และปิดท้ายกันด้วยบรรยากาศสงกรานต์ในประเทศเพื่อนบ้านว่าเหมือนหรือต่างจากของไทยอย่างไร

ช่วงที่ 2 มาทำความรู้จัก “กัมพูชา” เพื่อนบ้านที่มีประวัติศาสตร์บาดแผลร่วมกับไทยมาโดยตลอด ย้อนหลังไปยังสมัยที่อาณาจักรเขมรเรืองอำนาจ และค่อยๆ สู่ความล่มสลาย มาฟังประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์การเมืองกัมพูชาในยุคที่ปั่นป่วน สับสน รุนแรงที่สุดหลังการประกาศเอกราชและหลังสงครามเย็น เมื่อกัมพูชาเกิดสงครามกลางเมือง เกิดกองกำลังเขมร 3 ฝ่ายเข้ายื้อแย่งอำนาจทางการเมือง และเริ่มยุติลงเมื่อ เฮง สัมริน ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากเวียดนามเข้ายึดกรุงพนมเปญ และขับไล่เขมรแดงไปยังชายแดนกัมพูชา-ไทย และการเข้ามามีบทบาทผู้นำเดี่ยวของฮุน เซน จากการรัฐประหารในปี 2540 และทำความรู้จักกับ ฮุน มาเนต ทายาททางการเมืองคนต่อไปของฮุน เซน จากนั้นมองไปข้างหน้าอนาคตของกัมพูชาซึ่งมีศักยภาพและเตรียมความพร้อมในการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดดได้น่าสนใจ ซึ่งไทยต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับจากการเป็นมิตรและความร่วมมือกับกัมพูชา หรือเลือกที่จะเป็นคู่ขัดแย้งกับกัมพูชาจากกรณีเขาพระวิหารต่อไป

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นักปรัชญาชายขอบ: ก้าวข้าม ‘ทักษิณ’ และ ‘ความกลัว’

Posted: 15 Apr 2012 02:03 AM PDT

“สังคมไทยควรก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ไปได้แล้ว… ที่สำคัญ พ.ต.ท.ทักษิณ ควรที่จะยุติบทบาท ที่อาจสร้างความสับสน และเป็นปัญหาต่อสังคมไทยด้วย…ผมก็เห็นใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะที่เป็นคนไทย แต่ไม่ได้กลับประเทศไทย ทั้งที่อยากกลับบ้าน แต่หากมองลึกๆ แล้ว ยังมีคนที่ลำบาก และน่าเห็นใจกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจำนวนมาก เพราะได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ก็ควรเสียสละบ้าง เพื่อรักษาผลประโยชน์ภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งรุนแรงในสังคม ที่จะเป็นผลตามมาจากการเดินทางกลับ”  

โคทม อารียา ผุ้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล 
(
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail.politics.politics/20120413/446744/news...)

 

ตลอด 6 ปีมานี้ เรามักเห็น “นักสันติวิธี” ที่แสดงบทบาท “เป็นกลาง” แสดงความเห็นทำนองนี้เสมอ คือเสนอว่าให้ “ก้าวข้ามทักษิณได้แล้ว” แล้วก็เรียกร้องให้ทักษิณยุติบทบาทหรือ “เสียสละ” (ทั้งที่กลับบ้านไม่ได้มาแล้วกว่า 5 ปี) อะไรทำนองนี้ แต่ไม่เคยเรียกร้องกับฝ่ายทำรัฐประหาร (ซึ่ง “จับเสือมือเปล่า”) และสนับสนุนรัฐประหารเลยว่า พวกเขาควรรับผิดชอบในความผิดพลาดที่ผ่านมาอย่างไร ควรเสียสละอย่างไร ควรยุติบทบาทการใช้สถาบันกษัตริย์ปลุกกระแสความขัดแย้งแตกแยกอย่างไร

เช่นเดียวกับที่เราได้ยิน บวรศักดิ์ อุวรรโณ พูดถึง “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” เพื่อตั้งคำถามเฉพาะกับผู้ชนะที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ตั้งคำถามจากผู้ชนะที่มาจากรัฐประหารที่แต่งตั้ง คตส.ดำเนินคดีกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งว่า นั่นคือ “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” หรือไม่?

เหมือนกับแถลงการณ์เจตนารมณ์ของชมรม สสร.50 ที่ระบุว่า การแก้รัฐธรรม (โดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง) ที่กำลังเริ่มต้นกระบวนการในขณะนี้ “เป็นการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกเลิก ล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550” ทำผิดขั้นตอน กระทบต่อความมั่นคง เป็นการละเมิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในขณะที่คนเหล่านี้ไม่เคยแคร์กับการล้มล้างรัฐธรรมนูญของ คมช.ไม่ถือว่าการเข้ามาเป็น สสร.ร่างรัฐธรรมนูญให้คณะรัฐประหารเป็นการทำผิดขั้นตอนและละเมิดมาตรฐานทางจริยธรรมแต่อย่างใด

แน่นอนว่า “ท่วงทำนอง” ดังกล่าวดำเนินไปพร้อมๆ กับการตอกย้ำของพรรคประชาธิปัตย์ (พรรคการเมืองที่ยืนยันมาตลอดว่าตนเองไม่ใช่ “คู่ขัดแย้ง” ไม่เคยสร้าง “เงื่อนไขความขัดแย้ง” แต่ต้องการ “แก้ปัญหาความขัดแย้ง” เท่านั้น) ว่า ปัญหาทุกอย่างอยู่ที่ “ทักษิณคนเดียว” นปช.และคนเสื้อแดงไม่ได้สู้เพื่อประชาธิปไตย แต่สู้เพื่อทักษิณคนเดียว วันนี้ก็ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องการปรองดองก็เพื่อทักษิณคนเดียวเท่านั้น

กระทั่งนายอภิสิทธิ์ออกมาท้าทายว่า ให้นิรโทษกรรมทุกฝ่ายหมดเลย ยกเว้นเขากับนายสุเทพ และทักษิณ แต่นายณัฐวุฒิยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการนิรโทษกรรมให้ทักษิณ แต่ต้องการให้การดำเนินคดีโดย คสต.ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารเป็นโมฆะแล้วเอาคดีต่างๆ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ เนื่องจากการดำเนินการของ คตส.ไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐ-นิติธรรมตามหลักสากล

และวันนี้ (15 เม.ย.) พ.ต.ท.ทักษิณก็ให้สัมภาษณ์หลังทำบุญตักบาตรที่นครวัดนครธมว่า “ก้าวข้ามผมได้แล้ว ให้นึกถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ผมไม่ต้องการนิรโทษกรรม แต่เห็นว่า คสต.ที่มาจากรัฐประหารไม่ชอบธรรม ควรนำคดีต่างๆ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นสากล”

ฉะนั้น เมื่อไม่นิรโทษกรรมทักษิณก็หมายความว่า ต้องไม่นิรโทษกรรมอภิสิทธิ์ สุเทพ ทั้งทักษิณ และอภิสิทธิ์ สุเทพ ต้องพิสูจน์ตนเองตามกระบวนการยุติธรรมปกติอย่างแฟร์ๆ กันทุกฝ่าย!

นี่คือหนทางการก้าวข้ามทักษิณที่ควรจะเป็น คือต้อง “ยึดหลักการ” เป็นตัวตั้ง เมื่อทุกฝ่ายต่างยืนยันว่ารัฐประหารผิด ก็ต้องยอมรับว่ากระบวนการเอาผิดโดยรัฐประหารย่อมผิดด้วย หนทางที่ถูกก็คือให้ผู้ถูกเอาผิดโดยรัฐประหารได้รับสิทธิพิสูจน์ตนเองตามกระบวนการยุติธรรมปกติ เช่นเดียวกับคนที่ถูกกล่าวหาว่าสั่งฆ่าประชาชนก็ต้องพิสูจน์ตนเองตามกระบวนการยุติธรรมปกติด้วยเช่นกัน

การเสนอให้ก้าวข้ามทักษิณโดยเรียกร้องให้ทักษิณเสียสละอยู่ฝ่ายเดียว หรือให้ทักษิณต้องรับผิดตามกระบวนการเอาผิดโดยรัฐประหารเท่านั้น ย่อมเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้ในทางหลักการ ก็ในเมื่อเขาขอใช้สิทธิเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติซึ่งเป็นไปตามหลัก “ความเสมอภาคทางกฎหมาย” ฝ่ายที่ปฏิเสธสิทธินี้เอาแต่กล่าวหาว่าคนเสื้อแดงยึดติดตัวบุคคล “เห่อทักษิณ” ทำเพื่อทักษิณคนเดียวต่างหากเล่าที่เป็นฝ่ายที่ “ก้าวไม่ข้ามทักษิณ” เสียที

จะว่าไปแล้ว หากก้าวข้ามตัวบุคคลไปแล้ว “ยึดหลักการเป็นตัวตั้ง” จริงๆ ต้องทำให้สังคม “ก้าวข้ามความกลัว” ด้วย นั่นคือต้องนำคณะผู้ก่อรัฐประหารขึ้นศาลด้วย ต้องเปิดเผย “ความจริงเบื้องหลังรัฐประหาร” ให้สังคมทราบทั้งหมดด้วย

แต่รายงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าก็ระบุว่า “ไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดฝ่ายที่ทำรัฐประหาร” ด้วยข้ออ้างที่ว่าจะเกิดความขัดแย้ง นี่ขนาดรายงานวิจัยออกมาชัดๆ เลยว่าไม่ควรเอาผิดฝ่ายผู้ก่อรัฐประหาร แต่สำหรับทักษิณให้มีทางเลือกในการดำเนินการได้หลายทาง (ซึ่งหนึ่งในหลายทางเลือกนั้นคือให้ คตส.เป็นโมฆะและนำคดีทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ) กระนั้นรายงานนี้ก็ยังถูกโจมตีว่าเป็นเครื่องช่วยทักษิณ แต่ไม่มีใครตั้งคำถามว่ารายงานนี้เป็นเครื่องมือช่วยฝ่ายทำรัฐประหารหรือไม่?

ถ้าบรรดานักวิชาการ นักสันติวิธี บรรดาผู้แสดงบทบาท “เป็นกลาง” ทั้งหลายมองปัญหาด้วยใจเป็นธรรมโดย “ยึดหลักการเป็นตัวตั้ง” อย่างแท้จริงแล้ว ทำไมกับทักษิณจะไม่ยอมให้เขาได้รับสิทธิเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามหลัก “ความเสมอภาคทางกฎหมาย” เลย กับฝ่ายรัฐประหารก็ไม่ให้เอาผิด และไม่เรียกร้องให้เปิดเผย “ความจริงเบื้องหลังรัฐประหาร” เลย

แล้วเอาแต่ออกมาเรียกร้องให้สังคมก้าวข้ามทักษิณ ให้ทักษิณเสียสละ หลักการหรือความยุติธรรมที่รองรับข้อเรียกร้องเช่นนี้คืออะไร เคยย้อนถามตัวเองบ้างไหมครับว่าข้อเรียกร้องของท่านเองมีเหตุผลรองรับหรือไม่อย่างไร

ยิ่งกว่านั้นบรรดานักวิชาการ นักสันติวิธี บรรดาผู้แสดงบทบาท “เป็นกลาง” ทั้งหลาย เคยตั้งคำถามอย่างจริงจังหรือไม่ว่า “สังคมจะก้าวข้ามความกลัว” ไปได้อย่างไร ในเมื่อเราต้องอยู่ในสภาพยอมจำนนว่ารื้อฟื้นเอาผิดฝ่ายทำรัฐประหารไม่ได้ แม้แต่เปิดเผยความจริงเบื้องหลังรัฐประหารก็ไม่ได้ หรือพูดถึงความจริงของปัญหารัฐประหารให้ครบถ้วนทุกแง่มุมก็ไม่ได้

ที่แย่กว่านั้นคือ การรณรงค์ใดๆ หรือการดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขกฎหมาย และ/หรือปฏิรูประบบอำนาจของบางสถาบันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารอย่างถาวร หรือเพื่อให้เป็น “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ก็ไม่สามารถจะทำได้ ที่พยายามทำๆ กันอยู่ก็ทำกันด้วยความกลัว และเสี่ยงอย่างยิ่ง ซ้ำยังมองไม่เห็นทางว่าจะประสบความสำเร็จทั้งที่ประชาชนจำนวนมากสนับสนุนก็ตาม

“ความกลัวที่ควรก้าวข้าม” นั้นน่ากลัวขนาดไหน ลองนึกถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปหยกๆ ก็แล้วกันว่า ถ้าสึนามิเกิดขึ้นจริงๆ โดยที่ทีวีรู้อยู่แล้วแต่ไม่เสนอข่าวแจ้งเตือนประชาชนโดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วนสูงสุดเนื่องจากติดการถ่ายทอดสด “พิธีสำคัญ” ประชาชนจะล้มตายกันมากขนาดไหน แต่นี่โชคดีที่สึนามิไม่เกิด

ทว่าในความโชคดีนั้นก็สะท้อนให้เห็น “ความโชคร้าย” ของสังคมไทยที่จนป่านนี้ยังไม่สามารถจะเรียนรู้จาก “บทเรียน” สำคัญใดๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีปรีดีถูกใส่ร้าย เหตุการณ์สังหารนักศึกษาประชาชน 6 ตุลา จนถึงพฤษภา 53 เพื่อ “ก้าวข้ามความกลัว”

แล้วสังคมจะเดินต่ออย่างไร ทางก้าวข้ามทักษิณมีอยู่แล้วคือต้อง “ยึดหลักการเป็นตัวตั้ง” ให้เขากลับบ้านและได้รับสิทธิพิสูจน์ตนเองตามกระบวนการยุติธรรมปกติ แต่ทางก้าวข้ามความกลัวล่ะคืออะไร?

ภายใต้เมฆหมอกแห่งความกลัวที่แผ่ปกคลุมไปทั่ว แม้แต่การเดินทางกลับบ้านของทักษิณจะปลอดภัยหรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะตอบกันได้ง่ายๆ!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น