โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

มติ ครม.เตรียมนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ 4 หมื่นตัน

Posted: 17 Apr 2012 02:28 PM PDT

โดยทยอยนำเข้าทีละ 1 หมื่นตัน เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มแพง พร้อมเตรียมออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ รถใช้แล้วนำเข้าห้ามจดทะเบียนชิ้นส่วน และห้ามนำเข้าตัวถังรถ-โครงมอเตอร์ไซค์ใช้แล้ว

มติ ครม. นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ 4 หมื่นตัน แก้ปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลน

เมื่อวานนี้ (17 เม.ย.) สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 40,000 ตัน ตามมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลนและมีราคาแพง และไม่ให้ราคาขายปลีกในประเทศสูงเกิน 42 บาทต่อลิตร โดยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้ดำเนินการนำเข้า

ทั้งนี้จะมีการนำเข้าล็อตแรก 10,000 ตัน พร้อมประเมินผลกระทบทั้งต้นทางและปลายทางก่อนว่ามีกระทบต่อกลไกต่างๆ ในประเทศหรือไม่ หลังจากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบอีกครั้ง หากมีความจำเป็นและไม่มีผลกระทบจะทยอยนำเข้าในล็อตต่อๆ ไปครั้งละ 10,000 ตัน

ทั้งนี้ ไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขเรื่องจำนวนและระยะเวลา เพื่อเป็นการแก้ปัญหาปริมาณผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดลดลงและราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศสูงขึ้น รวมทั้งให้โรงกลั่นน้ำมันสามารถจำหน่ายปลีกน้ำมันปาล์มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตร 42 บาท โดยให้กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้จัดสรรน้ำมันปาล์มดิบให้กับโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม เพื่อจำหน่ายต่อไปยังโรงกลั่นน้ำมันปาล์มผลิตน้ำมันพืชปาล์ม เพื่อเป็นการควบคุมราคาขายปลีกไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพประชาชน

 

เตรียมออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ตัวถังรถใช้แล้วห้ามนำเข้า

นอกจากนี้ สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ออกร่างประกาศกระทรวง เรื่องกำหนดให้ตัวถังของรถยนต์นั่งที่ใช้แล้วและโครงรถจักรยานยนต์ที่ใช้แล้ว เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ... เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการนำชิ้นส่วนและโครงรถยนต์ที่ใช้แล้วเข้ามาประกอบในประเทศ เนื่องจากขณะนี้มีการนำเข้าชิ้นส่วนและโครงรถยนต์ที่ใช้แล้วเข้ามาประกอบหรือดัดแปลงเป็นรถยนต์ใหม่ในประเทศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และผู้ประกอบการกิจการรถยนต์ และป้องกันผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากนี้จะส่งร่างประกาศกระทรวงดังกล่าวให้คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาและดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี ยังเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมออกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการงดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วน อุปกรณ์ที่ใช้แล้ว พ.ศ....เพื่อป้องกันการนำชิ้นส่วนและโครงรถยนต์ที่ใช้แล้วมาประกอบหรือดัดแปลงเป็นรถยนต์ โดยกำหนดให้งดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถที่ใช้แล้วในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นๆ คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน , รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน , รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล โดยจะเสนอร่างประกาศดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและดำเนินการต่อไป

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เริ่มสืบคดี"สมยศ"ต่อพรุ่งนี้ ด้านองค์กรแรงงานเกาหลีร้องไทยปล่อยสมยศทันที

Posted: 17 Apr 2012 10:37 AM PDT

ศาลอาญา รัชดาเริ่มสืบคดี "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" ต่อวันพรุ่งนี้ ขณะที่สหภาพแรงงานเกาหลี-ออสเตรเลีย ร่อนจดหมายถึงศาลอาญา-นายกรัฐมนตรี ร้องปล่อยตัวสมยศและแก้ไขม. 112 ทันที

วันพรุ่งนี้ (18 เม.ย.) ที่ศาลอาญารัชดา จะมีการสืบพยานคดีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในคดีหมายเลขดำที่ อ. 2962/2554 ในข้อหาละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Thaksin ซึ่งทางการระบุว่ามีเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง โดยการสืบพยานจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 18-20, 24-26 เม.ย. และ 1-4 พ.ค. 55 ในขณะที่สหภาพแรงงานในเกาหลี-ออสเตรเลียส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทยปล่อยตัวสมยศทันที พร้อมให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อเสรีภาพในการแสดงออก

ทั้งนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้นัดสืบพยานโจทก์ในระหว่างวันที่ 18 เม.ย.- 26 เม.ย. และสืบพยานจำเลย ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.- 4 พ.ค. ในเวลา  9.00- 16.00 น. ณ ศาลอาญารัชดา กรุงเทพฯ

ขณะที่ในวันนี้ (17 เม.ย.) สมาพันธ์แรงงานเกาหลีซึ่งระบุว่ามีสมาชิกราว 800,000 คน ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกจากกรุงโซล ประเทศเกาหลี ถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และประธานศาลฎีกาประเทศไทย แสดงความกังวลต่อการดำเนินคดีของสมยศ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกทุกข้อกล่าวหาพร้อมปล่อยตัวสมยศทันที 

Screen Shot 2555-04-17 at 11.01.28 PM

เช่นเดียวกับสภาแรงงานแห่งรัฐวิคตอเรีย ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 400,000 คน ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ต่อเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศออสเตรเลีย ณ กรุงเเคนเบอร์รา เรียกร้องให้ทางการไทยให้ยกเลิกทุกข้อกล่าวหา และปล่อยตัวสมยศ รวมถึงนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ (ดูข่าวที่เกี่ยวข้อง)

นอกจากนี้ ทั้งสมาพันธ์แรงงานเกาหลีและสภาแรงงานจากออสเตรเลีย ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนและปรับแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย เนื่องจากมองว่าเป็นอุปสรรคต่อการแสดงความคิดเห็นและประชาธิปไตยในประเทศไทย

ทั้งนี้ สมยศถูกจับกุมที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย.54 ขณะพาคณะทัวร์เตรียมผ่านแดนไปกัมพูชา โดยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Vioce of Taksin ซึ่งตีพิมพ์บทความเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง 2 บทความ

เขาถูกคุมขังนับแต่นั้นและไม่ได้รับการประกันตัว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการสืบพยาน โดยที่ผ่านมามีการสืบพยานโจทก์ไปแล้ว 4 ครั้งในจังหวัดต่างๆ ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 21 พ.ย.54, จังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.54, จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 16 ม.ค.55, จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 13 ก.พ.55 แต่มีการเลื่อนมาสืบพยานที่กรุงเทพฯ เนื่องจากพยานอยู่กรุงเทพฯ

0000 

จดหมายเปิดผนึกจากสมาพันธ์แรงงานเกาหลี เรียกร้องให้ปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข

แปลโดย จรรยา ยิ้มประเสริฐ

17 เมษายน 2555
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

ในนามของสมาชิกสมาพันธ์แรงงานเกาหลี 800,000 คน ข้าพเจ้าเขียนจดหมายมายัง ฯพณฯ ท่าน เกี่ยวกับการการดำเนินคดีกับสมยศ พฤกษาเกษมสุขที่จะมีการไตร่สวนในไม่กี่วันนี้ รวมทั้งการคุมขังเขาด้วยข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

สมยศเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในขบวนการแรงงานเกาหลี ในการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยย่อท้อเพื่อจัดตั้งขบวนการแรงงานประชาธิปไตย และในความแข็งขันต่อการร่วมสร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนงานในเอเชีย พวกเรารู้สึกกังวลใจเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในทางที่ปิดกั้นการนำเสนอข้อเรียกร้องจากขบวนการแรงงานและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

เราขอเตือนความทรงจำ ฯพณฯ ท่านด้วยความนับถือยิ่งว่า ปฎิญญาสากลของสหประชาชาติ ว่าด้วยนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ระบุว่ามนุษย์ไม่ว่าจะในฐานะปัจเจกบุคคลหรือในนามกลุ่มองค์การทางสังคม ต่างได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมให้ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลและหลักการแห่งเสรีภาพ ที่ผ่านการลงมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 ซึ่งปฏิญญานี้ ยอมรับถึงสิทธิในการดำเนินกิจกรรมของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ในสิทธิในการรวมตัว และสิทธิในการเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างหลักประกันว่า นักต่อสู้เพื่อสิทธิสามารถดำเนินกิจกรรมโดยไม่ต้องกลัวการถูกปราบปราม พวกเราเชื่อว่าการคงใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่นั้น มีแรงผลักมาจากเหตุผลทางการเมือง และมันรังแต่จะสร้างความเสียหายให้กับขบวนการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย กฎหมายเช่นนี้จำเป็นจะต้องได้รับการทบทวนปรับแก้ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล 

ด้วยเหตุนี้ พวกเราขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยทุกฝ่าย ให้ยุติการดำเนินการทุกคดีกับสมยศ พฤกษาเกษมสุข และปล่อยเขาออกจากเรือนจำโดยทันทีและโดยปราศจากเงื่อนไข พวกเราเชื่อว่า นี่เป็นขั้นตอนพื้นฐานที่ควรจะทำ เพื่อก้าวสู่การฟื้นฟูและพัฒนาการของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและประชาธิปไตยในประเทศไทย

 ขอแสดงความนับถือ

 Kim Young-hoon 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

อดีต นศ.ชมรมอนุรักษ์ฯ ร่วมค้านเขื่อนแม่วงก์ ร้องเลิกมติ ครม.จี้รับฟังความเห็น

Posted: 17 Apr 2012 10:17 AM PDT

กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบัน ร่วมค้านเขื่อนแม่วงก์ ร้องรัฐบาลยกเลิกมติ ครม. 10 เม.ย.55จวกอาศัยสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่มาเป็นข้ออ้างเลื่อนลอย

 
 
วันนี้ (17 เม.ย.55) กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบัน (กคอทส.) ออกแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ฉบับที่ 1 จากกรณีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 เม.ย.55 อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี
 
กคอทส.ซึ่งเป็นการรวมตัวของประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพที่เคยทำกิจกรรมด้านอนุรักษ์ธรรมชาติในช่วงที่ศึกษาระดับอุดมศึกษา ในนาม คณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบัน (คอทส.) และกลุ่มชมรม ชุมชุม กิจกรรมนักศึกษาอื่นๆ ในอีกหลายมหาวิทยาลัย มีความเห็นร่วมกันว่า มติ ครม.ดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่เร่งด่วน และขาดความรัดกุมเกินไป อาศัยสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปลายปี พ.ศ.2554 มาเป็นข้ออ้างอย่างเลื่อนลอย
 
อีกทั้งยังขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคสังคมประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ทำให้การพิจารณาถึงผลได้ผลเสีย และผลกระทบในด้านต่างๆ ถูกละเลยมองข้ามไปอย่างเร่งรีบโดยเจตนาเคลือบแฝงบางประการ
 
“กคอทส. มีความเห็นว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อความสมดุลทางระบบนิเวศน์ การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าหายาก การสูญเสียผืนป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่น้อยเต็มที โดยเฉพาะป่าสักทองธรรมชาติหลายหมื่นต้น” แถลงการณ์ระบุ
 
แถลงการณ์ กคอทส.ยังได้ระบุข้อเสนอต่อสาธารณชนและรัฐบาล 2 ข้อ ดังนี้ 1.ให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.วันที่ 10 เม.ย.55 และควรพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2545 ที่มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ พร้อมเสนอให้กรมชลประทานกลับไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ
 
2.ในกรณีการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง รัฐจะต้องสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและจริงใจ เลิกความคิดการแก้ปัญหาแบบไร้ทางเลือกให้แก่คนในสังคม
 
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า กคอทส.จะดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเรื่องโครงการเขื่อนแม่วงก์และการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด
 
 
อนึ่ง แถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหา ดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ฉบับที่ ๑
โดย กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ๑๖ สถาบัน (กคอทส.)
๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕  (๑๗.๓๐ น.)
....................................................................
 
 
จากกรณีที่รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยจะใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น ๑๓,๒๘๐ ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง ๘ ปี โดยผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ ๒๕๖๒
 
ทั้งนี้ จากการติดตามปัญหาเรื่องเขื่อนแม่วงก์มาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี “กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ๑๖ สถาบัน (กคอทส.)” อันเกิดจากการรวมตัวของประชาชนหลากหลายสาขาอาชีพที่เคยทำกิจกรรมด้านอนุรักษ์ธรรมชาติในช่วงที่ศึกษาระดับอุดมศึกษา ในนาม คณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ๑๖ สถาบัน (คอทส.) และกลุ่มชมรม ชุมชุม กิจกรรมนักศึกษาอื่นๆ ในอีกหลายมหาวิทยาลัย  มีความเห็นร่วมกันว่ามติ ครม. ดังกล่าวเป็นการตัดสินใจที่เร่งด่วน และขาดความรัดกุมเกินไป โดยอาศัยสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ผ่านมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินการโครงการดังกล่าวอย่างเลื่อนลอย และขาดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคสังคมประชาชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ ทำให้การพิจารณาถึงผลได้ผลเสีย และผลกระทบในด้านต่าง ๆ ถูกละเลยมองข้ามไปอย่างเร่งรีบโดยเจตนาเคลือบแฝงบางประการ
 
กคอทส. มีความเห็นว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อความสมดุลทางระบบนิเวศน์ การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าหายาก การสูญเสียผืนป่าธรรมชาติที่เหลืออยู่น้อยเต็มที โดยเฉพาะป่าสักทองธรรมชาติหลายหมื่นต้น
 
ดังนั้น จึงมีข้อเสนอต่อสาธารณชนและรัฐบาลดังนี้
 
๑. ยกเลิกมติครม. วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕
ให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม. วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕ ที่อนุมัติให้ดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ รัฐบาลควรพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ พร้อมเสนอให้กรมชลประทานกลับไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ มากกว่าที่จะเสนอให้มีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น
 
๒. ในกรณีการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งนั้น รัฐจะต้องสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและจริงใจ เลิกความคิดการแก้ปัญหาแบบไร้ทางเลือกให้แก่คนในสังคม
หลายปีที่ผ่านมาโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ ถูกตั้งข้อกังขาจากสังคมมาโดยตลอดว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้จริงและคุ้มค่ากับทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไปหรือไม่ รวมทั้งการดำเนินโครงการเม็กกะโปรเจ็คของรัฐในหลายโครงการ โดยไม่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ได้สร้างปัญหาความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดของคนในสังคมมาโดยตลอด นั่นชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีประสิทธิภาพ ในการจัดการกับปัญหาความไม่ลงรอยทางความคิดเหล่านี้ได้ ในบรรยากาศที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนปรารถนาบรรยากาศการปรองดอง
 
กคอทส. จึงมีความปรารถนาจะเห็นนโยบายการแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ที่เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมศึกษารับฟังผลกระทบอย่างรอบด้านก่อนอนุมัติดำเนินโครงการจัดสร้าง
 
ทั้งนี้ กคอทส. จะดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเรื่องโครงการเขื่อนแม่วงก์และการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากที่สุด

ขอแสดงความนับถือ

 
กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ๑๖ สถาบัน (กคอทส.)
 
รายชื่อแนบท้าย
๑. ทิวา สัมฤทธิ์ พนักงานทำอาหาร
๒. นุชจรี ใจเก่ง Script Writer
๓. จักริน ยูงทอง นักกิจกรรมเพื่อสังคม
๔. ศิริรัตน์ กตัญชลีกุล นักวิจัยอิสระ
๕. นฤมล ไพบูลย์สิทธิคุณ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป / มูลนิธิสัมมาชีพ
๖. สมิทธิ ธนานิธิโชติ รับจ้างทั่วไป
๗. เฉลิมพล ปทะวานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไวท์ไดเมนชั่น จำกัด (นิตยสาร Sound Dimension)
๘. น้ำผึ้ง หัสถีธรรม แม่บ้าน/รับจ้างทั่วไป
๙. บัณฑิต ไกรวิจิตร อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อยู่ระหว่างลาศึกษาต่อปริญญาเอก
๑๐. ณัฐวุฒิ คำธรรม ประกอบอาชีพส่วนตัว
๑๑. คติ มุธุขันธ์ Copy Writer
๑๒. ฝ้ายคำ หาญณรงค์ นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ
๑๓. เพ็ญพรรณ อินทปันตี เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๔. ฆฤพร สาตราภัย ธุรกิจส่วนตัว
๑๕. วรรธนะ วันชูเพลา filmmaker
๑๖. วัชรินทร์ สังขารา พนักงานชั่วคราวที่ Institute for Human Rights and Peace Studies
๑๗. บารมี ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันสันติประชาธรรม
๑๘. รอมฎอน ปันจอร์ ผู้ปฏิบัติการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
๑๙. ดุจหฤทัย ณ ป้อมเพ็ชร Senior Engineering Manager, Business Continuity Management.
๒๐. กิตติชัย งามชัยพิสิฐ ผู้อำนวยการสถาบันต้นกล้า มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป
๒๑. ชัยพร นำประทีป นักดนตรีอิสระ
๒๒. เชาวรัช ทองแก้ว พนักงานราชการกระทรวงพลังงาน
๒๓. ปิยะวัฒน์ จิรเทียนธรรม ลูกจ้างกระทรวงพลังงาน
๒๔. ประดิษฐ์ ลีลานิมิต สถาบันต้นกล้า
๒๕. กุลธิดา สามะพุทธิ ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
๒๖. จิตรลดา โลจนาทร บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ชวนอ่าน
๒๗. สัญญา สุภาผล พนักงานบริษัท
๒๘. สุริยา โพธิมณี พนักงานรับจ้าง
๒๙. สาวิตรี พูลสุขโข โครงการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อการพัฒนา
๓๐. สามารถ เบญจอดุลย์ พนักงานรับจ้าง
๓๑. ธีรวัฒน์ ปิติยานานนท์ ลูกจ้างบริษัท
๓๒. จิตลดา ไวดาบ พนักงานรับจ้าง
๓๓. พัชรี อังกูรทัศนียรัตน์ รับจ้างทั่วไป
๓๔. พิชญา อนันตวงศ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๓๕. ณรงค์ จ่างกมล
๓๖. ปิยชาติ ไตรถาวร ช่างภาพนิตสาร SME THAILAND และเจ้าของร้านกาแฟGallery กาแฟดริป
๓๗. ณัฏฐ์ฐิติ อำไพวรรณ ช่างภาพหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และเจ้าของร้านกาแฟGallery กาแฟดริป
๓๘. ธารารัก รุจิราภา พนักงานบริษัท
๓๙. กฤช ทองเหลือง Field Director Greenasia Production
๔๐. ชัยวัฒน์ ไชยจารุวณิช นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๔๑. เพชร มโนปวิตร นักศึกษาและนักวิจัย University of Victoria
๔๒. จารุณี ธรรมยู ผู้กำกับภาพยนตร์ เรื่อง อสรพิษ
๔๓. สนั่น ชูสกุล โครงการทามมูล จ.สุรินทร์
๔๔. วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการทีวีไทย
๔๕. ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์
๔๖. จารวี อุ่นบุญเรือง ธุรกิจส่วนตัว
๔๗. เพียงกมล โลหิตหาญ พนักงานองค์กรของรัฐ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
๔๘. ธณัฐฌา หัสดินธร ณ อยุธยา
๔๙. กฤษณะ ศรีถนอมวงศ์ รับจ้าง
๕๐. ณัฎฐินี ชูช่วย อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
๕๑. ปกรณ์ จารุจิตติพันธ์
๕๒. พรชัย บริบูรณ์ตระกูล เสมสิกขาลัย โครงการฝึกอบรมผู้นำชุมชน สปป.ลาว
๕๓. ผกามาส คำฉ่ำ เจ้าหน้าที่สำนักงานแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชำนาญ จันทร์เรือง: ปัทมา มูลนิล เชลยศึกที่ถูกลืม

Posted: 17 Apr 2012 09:35 AM PDT

ในขณะที่ชนชาวไทยกำลังเริงสราญถ้วนหน้ามหาสงกรานต์กันอยู่ในเดือนเมษายนนี้ ยังมีนักโทษการเมืองที่ยังถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำพิเศษหลักสี่จำนวนเป็นร้อย นักโทษหญิงเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งถูกจับในขณะอายุเพียง 23 ปี 

ในขณะที่ชนชาวไทยกำลังเริงสราญถ้วนหน้ามหาสงกรานต์กันอยู่ในเดือนเมษายนนี้ ยังมีนักโทษการเมืองที่ยังถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำพิเศษหลักสี่จำนวนเป็นร้อย นักโทษหญิงเพียงหนึ่งเดียวในจำนวนนั้นคือ ปัทมา มูลนิล ซึ่งถูกจับในขณะอายุเพียง 23 ปี เธอเป็นลูกคนสุดท้องของครอบครัวแม่ค้าขายอาหารตามสั่งและกำลังเรียน กศน.ในระดับมัธยมต้น

ปัทมาเคยร่วมอุดมการณ์กับกลุ่ม ‘คนเสื้อเหลือง’ และติดตามข่าวสารผ่านช่องเอเอสทีวีมาโดยตลอด จนกระทั่งมีการยุบพรรคและเลือกตั้งใหม่ เธอเริ่มตั้งคำถาม จากนั้นเธอจึงติดจานดาวเทียมที่มี ‘ช่องเสื้อแดง’ ก่อนที่ความคิดจะค่อยๆ เปลี่ยนไป

ก่อนถูกจับแม่ของเธอได้โทรไปบอกว่ามีหมายจับมา ให้ไปมอบตัว เธอบอกกับแม่ว่า เธอไม่ได้ทำอะไรผิด เธอไม่ได้เผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เธอเข้าไปอย่างเดียว ไม่ได้ทำอะไร แม่ก็บอกว่า “ถ้าไม่ได้ทำอะไร ลูกก็กลับมามอบตัวสู้คดีซะลูก ให้โทรมาบอกอาให้อาพาไปมอบตัว” แต่ในที่สุดเธอก็ถูกตำรวจจับกุมเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 ที่สถานีขนส่ง จ.สุรินทร์

โดยเธอถูกล็อกตัวใส่กุญแจมือโดยถูกจับกดคอลงกับพื้นท่ามกลางสาธารณชน พร้อมทั้งมีปืนจ่อหัว และจับคอเสื้อลากขึ้นรถไปยัง สภ.เมืองสุรินทร์ เพื่อนที่ไปด้วยก็ร้องไห้และถูกบังคับให้เธอรับสารภาพเสีย จะได้ปล่อยเพื่อนไป และขู่จะยัดยาบ้าให้อีกหลายเม็ด และให้เซ็นรับสารภาพแต่โดยดีว่าเผาศาลากลาง เซ็นแล้วก็จะปล่อยตัวเพื่อนไป สุดท้ายเธอจึงยอมเซ็น

ตำรวจนำตัวเธอกลับมาถึงอุบลราชธานีตอนเที่ยงคืนและได้เอารูปภาพประมาณ 400 ภาพ ในวันเกิดเหตุมาให้ดูและถามว่า รู้จักใครบ้าง ให้รีบบอกมา เธอบอกว่า ไม่รู้จัก ตำรวจก็ตบหัวเธอทุกครั้งที่ถาม จนเกือบตี 3 กว่าก็พาเธอลงมาขังไว้ใต้ถุนสถานีตำรวจ โดยตั้งข้อหาหนักให้เธอ คือ 1) ร่วมกันวางเพลิงเผาศาลากลาง 2) ร่วมกันประทุษร้ายทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ด้วยอาวุธ ไม้, อิฐ, หิน, หนังสะติ๊ก 3) ชุมนุมกันเกิน 10 คน เพื่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

ตำรวจบอกว่าให้รับไปเถอะ แล้วไปแก้ข้อกล่าวหาเอาที่ศาล จากนั้นก็ส่งตัวเธอไปแถลงข่าว โดยตำรวจบอกว่าให้นั่งก้มหน้าลง อย่าพูดอะไรเป็นอันขาดและมีตำรวจพูดแทนว่า ได้ทำการจับกุมคนเผาศาลากลางจังหวัดได้อีกแล้ว 1 คน คือนางสาวปัทมา มูลนิล คนนี้

ทั้งๆที่เธอบอกว่า หลักฐานที่เจ้าหน้าที่ใช้คือภาพถ่ายของเธอในที่เกิดเหตุ ซึ่งหากเธอทำจริงเธอคงไม่เปิดเผยใบหน้าและไปยืนอยู่นานสองนานให้ถ่ายรูป แต่ในที่สุดเธอถูกคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต และลดโทษให้เหลือจำคุก 33 ปี 4 เดือน ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์

ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของบันทึกการให้ถ้อยคำของเธอต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

“อยากกลับบ้าน แค่มาเรียกร้องประชาธิปไตยทำไมต้องทำกับเราขนาดนี้ด้วย แล้วทำไมตำรวจต้องเอาเด็กผู้หญิงอายุแค่ 16 ปีมาข่มขู่เราด้วย ทำถึงขนาดตบหน้าเขา เพียงเพราะอยากได้ตัวเรา อยากให้เรารับสารภาพถึงขนาดจะยัดข้อหาเขา ตำรวจหัวใจเขาทำด้วยอะไร ยังเป็นคนอยู่เหรอ แล้วทำไมจะต้องบอกเพื่อนเราพี่น้องเราด้วยว่าเราซัดทอดคนอื่น ต้องการอะไร อยากได้อะไร เอาเราไปแถลงข่าว เราแค่มาเรียกร้องประชาธิปไตย ทำไมต้องทำเหมือนเราเป็นผู้ร้ายฆ่าคนตาย ขายยาบ้าระดับชาติด้วย พอเข้ามาอยู่ในเรือนจำ

ทุกคนที่นี่เกือบทั้งหมดก็เป็นมิตรดี แต่จะมีบางคนที่คอยหาเรื่อง สงสารคนที่บ้าน พ่อ แม่ พี่ ทุกคนก็ลำบากอยู่ข้างนอก เราก็หาเช้ากินค่ำกัน แต่เรามาอยู่ในนี้ทุกคนก็พลอยลำบากไปด้วย เงินก็ไม่มี เยี่ยมญาติก็มากันลำบาก เพราะไม่มีเงิน อาหารการกินภายในเรือนจำกับข้าวหลวงมีแต่แตงกับมะเขือ อย่าพูดถึงเรื่องรสชาติเลย แค่หน้าตายังดูไม่ได้ เอาให้สุนัขรับประทานยังไม่รู้ว่ามันจะรับประทานไหม มีอาหารขายก็แพงแสนแพง ถ้าไม่ซื้อก็ไม่รู้จะกินอะไร ต้องรอให้อดตายใช่ไหม คงต้องตายในคุกนี้แหละ คิดถึงทุกคนที่บ้าน คิดถึงคนที่รอเราอยู่ข้างนอก คิดถึงบ้าน อยากกลับบ้าน เบื่อหน่ายชีวิต ถ้าคนเสื้อแดงมันผิดเพราะอยากได้ประชาธิปไตยคืนมาก็ให้ฆ่ามันทิ้งซะ แล้วก็เชิญคุณมีอำนาจให้สาสมใจ ภายใต้ กองเลือด น้ำตา ความทุกข์ทรมาน ความยากจน

ก่อนหน้านี้ภูมิใจที่สุด ที่เกิดเป็นคนไทย แต่ตอนนี้เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า เป็นคนไทยควรดีใจหรือไม่ หากมีผู้ที่อยากได้อยากดีอยากมีอำนาจมากถึงขนาดฆ่าคนได้เป็นผักเป็นปลา เห็นชีวิตคนไม่มีค่า หากเป็นเช่นนั้น ก็เอาคนเสื้อแดงที่อยากได้ประชาธิปไตยมาฆ่าให้หมดซิ แล้วก็เชิญครองอำนาจให้สาสมใจ หากขอได้

อยากขอให้ศาลตัดสินประหารชีวิตเลย จะได้ไม่ต้องมาทนทุกข์ทนลำบาก แล้วยังให้คน   ทางบ้านลำบากด้วย เพียงเพราะคำว่าอยากได้อยากครองอำนาจของคนไม่กี่คน ช่วยตัดสินให้ตายไป เกิดชาติหน้าชาติไหนขอให้เกิดบนแผ่นดินที่มีแต่ความยุติธรรมและประชาธิปไตย

เรารักประชาธิปไตย เราอยากได้ความยุติธรรม หากไม่มีแล้วก็อย่ามีชีวิตอยู่เลยดีกว่า รักคนเสื้อแดง รักพ่อหลวง ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

อยากให้ช่วยเหลือเรื่องเงินบ้าง เพราะอยู่ข้างในไม่ค่อยมีตังค์ กินใช้จ่ายในนี้อย่างลำบาก

ในขณะที่ถูกจับกุมมีตำรวจประมาณ 10 นายขึ้นไปมาจับกุม ถูกจับกดหัวลงกับพื้น และมีปืนจ่ออยู่ตรงหน้า 1 กระบอก และลากคอเสื้อขึ้นรถทั้งๆ ที่รู้ว่าเราเป็นผู้หญิงแต่กระทำการกับเราเหมือนเป็นผู้ร้ายฆ่าคนตาย และใช้คำพูดเหมือนเราไม่ใช่คน การนำตัวเราไปแถลงข่าวเช่นกัน ก็กระทำเหมือนเราไม่ใช่คน ทั้งเราก็ไม่มีสิทธิไม่ให้เขานำตัวไปก็ไม่ได้ ตอนนี้รู้แล้วว่า เราเป็นพลเมืองชั้นล่างของประเทศไทย”

ในขณะที่ชนชั้นปกครองกำลังเสวยสุขจากการ “เกี้ยเซี้ยะ” บนความทุกข์ของเหยื่อของความขัดแย้งและกำลังถกกันอย่างเอาเป็นเอาตายหลังจากที่ “ติดกับ” กับคำว่า “การปรองดอง” ที่หาคำนิยามที่ชัดเจนไม่ได้ จนบานปลายเป็นความขัดแย้งใหม่ แต่ปัทมาต้องตกนรกทั้งเป็นในสถานะ “เชลยศึก” ที่ถูกลืมจากคู่สงคราม

ผมไม่รู้ว่าหัวจิตหัวใจของผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองทั้งสองขั้วหรือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับในกระบวนการยุติธรรมทำด้วยอะไร อย่าลืมนะครับว่าถ้าคนตัวเล็กตัวน้อยเช่นปัทมาอยู่ไม่ได้แล้ว ก็อย่าหวังว่าคนตัวใหญ่ๆทั้งหลายจะอยู่เย็นเป็นสุขเลยครับ

 

----------------------------

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 18 เมษายน 2555

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จม.เปิดผนึกถึงนายกฯ จาก ดร.โสภณ พรโชคชัย เรื่องผังเมือง กทม

Posted: 17 Apr 2012 08:38 AM PDT

หมายเหตุ: โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เรื่อง "ควรเปลี่ยนแนวคิดการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร และควรให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแทนกรุงเทพมหานคร" โดยมีรายละเอียดของจดหมายเปิดผนึกดังนี้

000

 

ที่ A.R.E.A. 04/255/55

17    เมษายน    2555

 

เรื่อง ควรเปลี่ยนแนวคิดการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร
และควรให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแทนกรุงเทพมหานคร 

เรียน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
 นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
 นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
 ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
 นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
 นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
 นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
 นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
 พลตำรวจโท ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 
 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
 นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
 นายอุดม พัวสกุล อธิบดี กรมโยธาธิการและผังเมือง
 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
 นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

 

เนื่องด้วยขณะนี้กรุงเทพมหานคร กำลังจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร กระผมเห็นว่าผังเมืองนี้ไม่สอดคล้องกับประโยชน์ของประชาชนและส่งผลร้ายต่อการพัฒนาเมืองในอนาคต  กรุงเทพมหานครเองก็มีอำนาจจำกัด  กระผมจึงขอเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้จัดทำผังเมืองเสียเอง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้: 

 

1. แนวคิดที่ไม่เหมาะสมในปัจจุบัน

กรุงเทพมหานครพยายามจำกัดการก่อสร้างทั่วกรุงเทพมหานคร เช่น ไม่อนุญาตให้อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (เกิน 10,000 ตารางเมตร) บนที่ดินที่อยู่ติดถนนกว้างน้อยกว่า 16 เมตร หรือจำกัดความสูงของอาคารสูงจาก 23 เมตรเหลือ 12 เมตร เป็นต้น แนวคิดในร่างผังเมืองใหม่นี้เท่ากับการสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเจ้าของที่ดิน ทำให้ที่ดินใจกลางเมืองที่มีสาธารณูปโภคครบถ้วนไม่ได้รับการใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพ กีดขวางการพัฒนาในเขตเมือง ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาแนวสูงให้มาก เพื่อไม่ให้เมืองขยายออกไปในแนวราบซึ่งจะกินหรือรุกทำลายสิ่งแวดล้อม และพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่สีเขียวชานเมือง อีกทั้งยังทำให้สาธารณูปโภคต้องขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศชาติ นอกจากนั้นการที่ประชาชนต้องถูกบังคับโดยผังเมืองให้ออกไปอยู่อาศัยนอกเขตกรุงเทพมหานครทำให้ต้องเดินทางต้องออกสู่นอกเมืองเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนส่วนใหญ่อย่างใหญ่หลวง

กรุงเทพมหานครอ้างว่ามีประชาชนจำนวนมากสนับสนุนร่างผังเมืองของกรุงเทพมหานครนั้น {1} แต่กรุงเทพมหานครคงไม่เคยเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิการใช้ที่ดินต่าง ๆ อย่างเข้มงวดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรให้ประชาชนได้รับทราบในระหว่างการทำประชาพิจารณ์แต่ละครั้ง 

นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังอ้างว่าที่พยายามจำกัดความสูงของอาคารก็เพราะมีปัญหาไฟไหม้บ่อยครั้งในซอยใจกลางกรุง  ข้ออ้างนี้ไม่เป็นความจริง ในกรณีอาคารสูง อาคารชุดและอะพาร์ตเมนต์ ในช่วง 5 ปีล่าสุด (พ.ศ.2550-2554) นั้น เกิดเพลิงไหม้ลดลงจาก 8% ของกรณีเพลิงไหม้ทั้งหมด เป็น 7% 4% 3% และ 2% ตามลำดับ {2} กรณีอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ (ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป) ในปัจจุบันก็มีระบบป้องกันไฟไหม้ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ระบบอาคารเก่าในอดีต อาคารสมัยใหม่จึงแทบไม่เกิดเพลิงไหม้  ในอีกแง่หนึ่งการดับเพลิงของกรุงเทพมหานครต้องได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ไม่ใช่อ้างความไร้ประสิทธิภาพมาเพื่อกีดขวางการพัฒนาประเทศ

ยิ่งกว่านั้นกรุงเทพมหานคร ยังอ้างว่าจะขยายและตัดถนนใหม่ ๆ ที่สามารถใช้ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ในเขตรอบนอกของเมือง  แต่ในความเป็นจริง ถนนตามร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครส่วนมากไม่ได้ก่อสร้างจริง  แนวถนนยังมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และไม่มีกรอบระยะเวลาที่แน่ชัด  นอกจากนี้ยังมีถนนจำนวนมากสร้างอยู่ในเขตรอบนอกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งขาดความเป็นไปได้ทางการตลาดและการเงินในการสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ดังนั้นที่ว่าจะมีการก่อสร้างถนนอีกมากมายจึงไม่เป็นความจริง

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางผังเมืองบางส่วนคงไปเลียนแบบประเทศตะวันตกที่กำหนดความสูงของอาคาร เช่น กรุงปารีส ที่แม้กำหนดความสูงเพียง 37 เมตร แต่ก็ไม่ได้กำหนดสัดส่วนพื้นที่ว่างมากเกินความจำเป็นเช่นกรุงเทพมหานคร จึงทำให้เมืองมีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความหนาแน่นของประชากรสูงถึง 22,000 ต่อตารางกิโลเมตร {3}

 

2. ผังเมืองไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ร่างผังเมืองนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในหลายเรื่อง เช่น

2.1 วางแผนก่อสร้างถนนในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น เช่น หนองจอก แต่บางบริเวณที่ถนนเล็กและคดเคี้ยวกลับไม่มีแผนการตัดถนน เช่นทางเข้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตบางขุนเทียน

 

2.2 กำหนดพื้นที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น พื้นที่ถนนนวมินทร์บริเวณหมู่บ้านปัฐวิกรณ์ ธนะสิน สราญรมย์ และเพิ่มพูนธานี ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยกลับกำหนดให้เป็นเขตพาณิชยกรรม เป็นต้น รวมทั้งกำหนดบริเวณอุตสาหกรรมถนนเทียนทะเลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะกำหนดสีผังเมืองให้เป็นเขตอุสาหกรรมเฉพาะ 200 เมตรแรกที่ติดถนน (ฝั่งซ้าย) และ ตลอดแนวคลองที่ขนานกับถนน (ฝั่งขวา)  แต่ในความเป็นจริง พื้นที่บริเวณนั้นทั้งหมดเป็นแหล่งอุตสาหกรรม มีโรงงานต่าง ๆ ตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก (ดังที่แสดงเป็นจุดสีแดงโรงงานเอาไว้)  การกำหนดสีให้แตกต่างกันโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง แสดงให้เห็นถึงการวางผังเมืองที่ไม่มีความละเอียดรอบคอบเพียงพอ ส่งผลเสียต่อเจ้าของกิจการอุตสาหรรมในพื้นที่

2.3 ร่างผังเมืองไม่มีแผนการจัดการเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วมอย่างเป็นระบบที่เชื่อถือได้เท่าที่ควร  นอกจากนี้แม้แต่ในผังเมืองฉบับปี 2549 ก็ยังไม่มีการจัดสร้างสวนสาธารณะที่เป็นจริง และส่วนมากระบุไว้ในเขตรอบนอก ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวอยู่แล้ว และไม่ได้ดำเนินการจริง และขาดการวางแผนที่จะสร้างสวนสาธารณะที่ใช้สอยประโยชน์ได้ในเมือง ซึ่งต่างจากการวางแผนพัฒนามหานครที่ดีเช่นอารยประเทศ

 

3. ข้อเสนอการผังเมืองกรุงเทพมหานคร

หลักสำคัญของผังเมืองใหม่ของกรุงเทพมหานครก็คือควรมุ่งเน้นให้เกิดความหนาแน่น (High Density) ในเขตใจกลางเมืองโดยไม่ก่อให้เกิดความแออัด (Overcrowdedness) จะเห็นได้ว่ากรุงเทพมหานครมีความหนาแน่นประมาณ 3,600 คนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่สิงคโปร์มีความหนาแน่นสูงถึง 7,300 คน แต่กลับถือเป็น “Garden City” เพราะพัฒนาในแนวสูง  ในวงวิชาการผังเมืองสมัยใหม่เน้นการพัฒนาที่มีหนาแน่นแต่ไม่แออัด ไม่ให้เมืองเติบโตเติบโตแนวราบอย่างไม่มีประสิทธิภาพ (Smart Growth) {4}  โดยในทางปฏิบัติควรเป็นดังนี้:

3.1 ในพื้นที่เขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร อันได้แก่ พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพัน- ธวงศ์ บางรัก ยานนาวา ดุสิต พญาไท ห้วยขวาง พระโขนง ธนบุรี คลองสาน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ราชบูรณะ ควรอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ โดยกำหนดสัดส่วนพื้นที่ก่อสร้างอาคารต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio: FAR) เท่ากับ 10: 1 หรือก่อสร้างได้ 10 เท่าของขนาดที่ดิน ทั้งนี้ข้อกำหนดด้านพื้นที่ว่าง (Open Space Ratio) และพื้นที่สีเขียว ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร โดยไม่กำหนดให้พิเศษหรือแตกต่างจากพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อความไม่ซ้ำซ้อนในทางข้อกฎหมาย

3.2 ให้เก็บภาษีพิเศษสำหรับการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่ใจกลางเมือง ให้เสียภาษีพิเศษเป็นมูลค่าประมาณ 10% ของราคาประเมิน เช่น อาคารห้องชุดใจกลางเมืองหลังหนึ่ง มีราคาประเมินตามราคาตลาดเป็นเงิน 60,000 บาทต่อตารางเมตร ก็ให้เก็บภาษี 10% เป็นเงิน 6,000 บาท ในเวลา 1 ปี หากมีพื้นที่ก่อสร้างใหม่ 1 ล้านตารางเมตร ก็จะเก็บภาษีได้ เป็นเงินปีละ 6,000 ล้านบาท  รัฐบาลสามารถนำเงินภาษีนี้ไปเข้ากองทุนพัฒนาสาธารณูปโภคต่อไป

3.3 กองทุนที่ได้จากภาษีนี้สามารถนำมาก่อสร้างระบบคมนาคม เช่น รถไฟฟ้ามวลเบา ผ่านเข้าสู่ถนนหลายสายเช่น ถนนสุขุมวิท 3 (นานา เหนือ-ใต้) ถนนสุขุมวิท 49 ถนนสุขุมวิท 55 ถนนสุขุมวิท 63 ถนนสุขุมวิท 71 ถนนพระรามที่ 1ถนนพระรามที่ 4 ช่วงคลองเตย-กล้วยน้ำไท ถนนพระรามที่ 9 ถนนเจริญกรุง (สาทร-ถนนตก) ถนนจันทน์ ถนนลาดพร้าว ถนนรามคำแหง ถนนสามเสน ถนนเจริญกรุง ฯลฯ

 

นครซิดนีย์ แม้ถนนแคบก็ยังสามารถสร้างรถไฟฟ้ามวลเบาได้: http://mauricehyman.blogspot.com/2010/06/sydney-finalee.html

 

3.4 การวางผังเมืองเชิงรุก เช่น ประการแรกควรนำที่ดินของทางราชการใจกลางเมืองมาพัฒนาเป็นศูนย์ธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจมีการรวมศูนย์ สาธารณูปโภคไม่ต้องขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจด้วยกันเองในพื้นที่  ประการที่สองควรเวนคืนที่ดินเอกชนชานเมือง เช่น เขตหนองจอก ขนาดประมาณ 10,000 – 20,000 ไร่ สร้างเป็นเมืองใหม่แบบปิดล้อมแต่มีระบบขนส่งมวลชนเข้าสู่ใจกลางเมืองโดยตรง แล้วพัฒนาเป็นที่ดินที่มีสาธารณูปโภคครบ (serviced land) เพื่อจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัย ศูนย์ธุรกิจชานเมือง เป็นต้น และประการที่สามควรสร้างนิคมอุตสาหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งอุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมเสริม ฯลฯ เพื่อให้เช่าหรือขายในราคาถูกเพื่อมุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศโดยไม่อนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานนอกเขตที่กำหนด เป็นต้น

3.5 ผังเมืองควรมีการวางสวนสาธารณะต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานครให้ชัดเจน จะสังเกตได้ว่าในเขตใจกลางเมือง รวมทั้งเขตต่อเมือง ไม่มีการกำหนดหรือการจัดหาพื้นที่ทำสวนสาธารณะแต่อย่างใด ส่วนในเขตรอบนอกกลับจะมีแผนซื้อที่ดินเพื่อสร้างสวนสาธารณะทั้งที่ไม่จำเป็นเพราะอยู่ในเขตที่มีต้นไม้เป็นจำนวนมากตามธรรมชาติอยู่แล้ว ผังเมืองควรกำหนดให้มีพื้นที่สวนสาธารณะขนาดเล็ก ประมาณ 1-5 ไร่ จำนวนประมาณ 3-5 บริเวณในทุก ๆ แขวงของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะเขตพื้นที่ชั้นใน โดยซื้อที่ดิน รับบริจาคที่ดิน หรือใช้ที่ดินราชพัสดุ ตลอดจนการเช่าที่ศาสนสถาน  ข้อนี้แม้กรุงเทพมหานครจะเคยพยายามดำเนินการ แต่ยังไม่สำเร็จ ก็ควรจะดำเนินการให้สำเร็จเป็นรูปธรรม

 

4. การประสานการวางผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร

การวางผังเมืองในมหานครหนึ่ง ๆ นั้น ควรเป็นกรอบที่ยึดถือร่วมกันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการปกครอง สาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ  แต่กรุงเทพมหานคร ไม่มีอำนาจการควบคุม และไม่ได้ประสานงานกับหน่วยงานเหล่านี้ในการวางผังเมือง  จึงทำให้วางผังเมืองไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

รัฐบาลโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ควรประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อจัดตั้งขึ้นมาเป็นคณะกรรมการวางผังเมืองกรุงเทพมหานครหรือภาคมหานคร และให้หน่วยงานต่าง ๆ มีแผนแม่บทในการพัฒนาในพื้นที่กรุงทพมหานคร สอดคล้องไปกับผังเมืองนี้:

4.1 หน่วยงานข้อมูล ได้แก่ กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย (ระบบเอกสารสิทธิ์) และกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง (ประเมินค่าทรัพย์สิน) เพราะที่ผ่านมาการผังเมืองกับราคาที่ดินไม่ได้สอดคล้องไปในทางเดียวกันเท่าที่ควร

4.2 หน่วยงานการปกครอง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และหากขยายการวางผังเมืองไปครอบคลุมถึงเขตปริมณฑล ก็คงต้องประสานงานกับราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปริมณฑลด้วย

4.3 หน่วยงานสาธารณูปโภค ได้แก่ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ต้องถือผังเมืองนี้เป็นแผนแม่บทในการขยายการบริการ และหน่วยงานด้านสาธารณูปการ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาลในสังกัดต่าง ๆ ต้องประสานแผนการพัฒนาบริการสาธารณูปการไห้สอดคล้องกับผังเมืองโดยเคร่งครัด

4.4 หน่วยงานคมนาคม โดยควรให้แผนการจัดสร้างระบบคมนาคมสอดคล้องกับผังเมือง ทำให้การก่อสร้างระบบคมนาคมตามผังเมืองมีความเป็นจริงและมีกรอบเวลาที่แน่ชัด ดังนั้นจึงควรประสานและให้หน่วยงานเหล่านี้มีส่วนร่วมจัดทำผังเมืองด้วย ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท ขนส่ง จำกัด สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นต้น

4.5 หน่วยงานการวางแผนพัฒนาเมือง เพื่อให้เกิดชุมชนและเขตเมืองที่มีการวางแผนที่ดี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย  กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และการเคหะแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม จึงควรมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ของเมืองให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และให้ผังเมืองมีผลต่อการปฏิบัติ

4.6 หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยการประสานงานกับกรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการจัดทำแผนสิ่งแวดล้อมในผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร

 

5. การวางผังเมืองภาคปฏิบัติ

นายกรัฐมนตรีควรมีบัญชาให้ตั้งคณะกรรมการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นเลขานุการ และผู้แทนสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ และให้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ข้างต้นจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จในกำหนด 2 ปี ในระหว่างนี้ให้ใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2549 ไปพลางก่อน และในระหว่างการจัดทำผังเมือง ให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ที่ทุกภาคส่วนได้มีส่วนรับรู้และมีส่วนร่วมในการพิจารณาอย่างกว้างขวางจริงจังอย่างต่อเนื่อง และเมื่อจัดทำแล้วเสร็จให้รัฐบาลประกาศใช้ผังเมืองรวมผ่านประกาศกระทรวงมหาดไทยต่อไป

อนึ่งกระผมทำงานด้านการประเมินค่าทรัพย์สินและสำรวจวิจัยด้านการพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่ทำกิจการด้านนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ หรือไม่ทำกิจการด้านการพัฒนาที่ดินใด ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม   การที่กระผมจัดทำข้อเสนอนี้ก็เพื่อหวังให้การพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานครมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม โดยกระผมไม่ได้มีผลประโยชน์หรือมีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ กับการพัฒนาที่ดินทั้งสิ้น

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและขอขอบพระคุณท่านมา ณ โอกาสนี้

 

ขอแสดงความนับถือ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
ประธานกรรมการบริหาร

 

หมายเหตุ

{1} มท.ส่อไฟเขียวตึกสูงซอยแคบ วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2012 เวลา 21:45 น. ฐานเศรษฐกิจ ข่าวหน้า 1 http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=112780:2012-03-16-14-51-28&catid=85:2009-02-08-11-22-45&Itemid=417

 

{2}     สถิติ 2554 กรุงเทพมหานคร (ข้อมูลราย 6 เดือน) ด้านความปลอดภัย http://office.bangkok.go.th/pipd/07Stat(Th)/Stat(th)54%20(6%20Months)/stat54%20(6%20Months%20).htm

{3}     โปรดอ่าน การผังเมืองในกรุงปารีส หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 19-20 กันยายน 2554 หน้า 16 http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market359.htm

 

{4}     โปรดอ่าน “Smart Growth: วาทกรรมใหม่ในการผังเมือง?” http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market253.htm

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จากสงกรานต์เลือดเป็นสงกรานต์สามแผ่นดิน

Posted: 17 Apr 2012 07:56 AM PDT

สงกรานต์ปี 2555 สำหรับสังคมไทยมีความหมายเป็นพิเศษ แตกต่างจากสงกรานต์ทั่วไปที่มีนัยทางการเมืองในการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์

สำหรับคนเสื้อแดง ความเป็นจริงตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ในระยะก่อนสงกรานต์และระหว่างสงกรานต์ตลอดจนหลังสงกรานต์ ล้วนอยู่ในระหว่างเวลาการต่อสู้กับกลไกรัฐและรัฐบาลของระบอบอำมาตยาธิปไตยมาตลอด ปี 2552 เราอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลโดยสงบ เขาเริ่มกระชับพื้นที่เพื่อปราบปราม หลังจากวันที่ 7, 8 เมษายน เราเข้ามาร่วมชุมนุมนับแสนคนเขาก็ไม่สนใจ แต่กลับเตรียมล้อมปราบในเวลาสงกรานต์ เพียงเพราะเราไม่เลิกชุมนุม สงกรานต์ปี 2553 เราถูกปราบปรามเข่นฆ่านับจากวันที่ 10 เมษายน จนถึง 19 พฤษภาคม นี่ก็อยู่ในช่วงเวลาสงกรานต์ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมองเห็นและหวาดกลัวสงกรานต์ปี 2554 จึงต้องยุบสภาเพื่อเตรียมเลือกตั้งทั่วไป ทำให้ต้องรำลึกเหตุการณ์สงกรานต์เลือดสงกรานต์อำมหิตปี 2552, 2553 ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ภายใต้ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง จึงไม่อาจจัดการโจมตีพรรคประชาธิปัตย์และขุนพลที่เข่นฆ่าประชาชนได้ สงกรานต์ 2554 จึงเป็นเวลาพลิกฟื้นยุทธวิธีในการรุกทางการเมืองของคนเสื้อแดง ในการใช้ขาทางยุทธศาสตร์ 2 ขาเพื่อสนับสนุนและตรวจสอบการเลือกตั้ง ให้การเลือกตั้งดำเนินไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ให้ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและโดยมติของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้นสงกรานต์ปี 2554 จึงเป็นสงกรานต์แห่งการต่อสู้อย่างสร้างสรรค์ทางการเมืองของคนเสื้อแดง และได้รับชัยชนะพลิกกลับให้การต่อสู้ของประชาชนอยู่ในฐานะรุก และสถานการณ์ทางการเมืองโดยรวมประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้ในขั้น “ยัน” ทางการเมืองการปกครอง ประกาศเจตนารมณ์ที่จะใช้มติของประชาชนสู้กับการรัฐประหารปล้นอำนาจประชาชน เพื่อเอาอำนาจประชาชนคืนมาให้ได้ นี่เท่ากับว่าคนเสื้อแดงใช้เวลาในช่วงสงกรานต์ตั้งแต่ปี 2550 ต่อสู้ทางการเมืองเข้มข้นยิ่งขึ้น ๆ โดยตลอดมา

น่าสนใจที่ปี 2555 กลุ่มเครือข่ายระบอบอำมาตยาธิปไตยกลัวว่าคนเสื้อแดงจะก่อการใหญ่เพื่อทวงความยุติธรรมให้คนตายคนติดคุก (แสดงว่าพวกเขาก็รู้ว่าปัจจุบันคนเสื้อแดงยังเผชิญความอยุติธรรมอยู่) แม้แต่คนในพรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งก็กลัวเช่นนี้ จึงมีการแสดงหวาดระแวงออกหลายแบบจากหลายกลุ่ม โหรหลายคนก็บอกจะนองเลือดครั้งใหญ่

ข้อดีก็คือ มีการเร่งทำงานจากซีกรัฐสภาทั้งปัญหาการเยียวยา การประกันตัว การจัดคุกใหม่ให้ผู้ถูกคุมขังในคดีอันเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง และการพยายามเดินหน้าแก้ปัญหาภาพรวมโดยการเร่งเรื่องการปรองดอง และการให้มี สสร. เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับอำมาตย์ 2550 ให้เป็นฉบับประชาชน 2556 โดยเร็ว

พูดกันตรง ๆ ไม่ใช่เฉพาะซีกอำมาตย์ที่กลัวคนเสื้อแดงจะลุกฮือขึ้นมา นักการเมืองและพรรคการเมืองซีกรัฐบาลก็ไม่อยากเผชิญกับปัญหาความไม่พึงพอใจของประชาชนที่ยังถูกกระทำจากความยุติธรรมที่ไร้มาตรฐาน (เกินกว่า 2 มาตรฐาน) สงกรานต์ปีนี้กลับกลายเป็น สงกรานต์แห่งการต่อสู้ทางการเมืองในรูปแบบใหม่ ในเขตยุทธศาสตร์ต่างประเทศ คนเสื้อแดงขยายขอบเขตการต่อสู้ทางการเมือง ก้าวข้ามพรมแดนประเทศไทยไปสู่การจัดงาน “สงกรานต์สามแผ่นดิน” แสดงสัญลักษณ์การต่อสู้การสืบสานประเพณีสงกรานต์ร่วมกันระหว่างประเทศของประชาชนทั้งสามแผ่นดิน ที่มีศาสนา วัฒนธรรมร่วมกันในประเพณีสงกรานต์อันเป็นประเพณีปีใหม่ที่แสดงออกถึงรากเหง้าสังคมที่มีอดีตไปมาหาสู่ร่วมกัน เป็นเพื่อนบ้านญาติพี่น้องในละแวกนี้ นี่ไม่ใช่เป็นเพียงการต่อสู้แบบใหม่ของประชาชนไทยและคนเสื้อแดง แต่นี่เป็นเรื่องใหม่ของการต่อสู้ของประชาชนในทางสากลด้วย เพราะเป็นครั้งแรกที่มีประชาชนหลายหมื่นคนเดินทางไปพบผู้นำทางการเมืองที่ถูกตามล่าไม่อาจเข้าประเทศได้ถึงต่างประเทศ แล้วจัดงานชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนการแสดงความเคารพคิดถึงตามประเพณีถึงต่างแดน ผู้เขียนยังไม่เคยทราบว่ามีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อนที่ไหนในโลก เพราะการเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศเพื่อชุมนุมทางการเมืองแล้วเดินทางกลับประเทศของตนไม่ใช่เรื่องจะเกิดได้ง่าย ๆ ทางสากล ประการแรก หากเป็นเรื่องปกติเขาจะไม่ยินยอมให้ทำ โดยกลัวความขัดแย้งกับรัฐบาลและประชาชนหรือผู้มีอำนาจในประเทศนั้น ๆ แต่นี่แสดงว่าประเทศต่าง ๆ เขารู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร ใครผิดใครถูก มีกลุ่มที่ปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน เขารู้ความจริงกันทั้งโลกแล้ว เขาถึงยอมให้คนเสื้อแดงมาพบปะกับคุณทักษิณได้ในต่างประเทศอย่างเปิดเผยถูกต้องตามกฎหมาย ใครจะมาจับคุณทักษิณข้อหาผู้ร้ายข้ามแดน? ใครจะมาจับประชาชนในข้อหาไปพบคุณทักษิณ? และสุดท้ายใครจะมาโจมตีประเทศอื่นว่าให้ที่พักและต้อนรับคุณทักษิณเยี่ยงคนสำคัญระหว่างประเทศ? แล้วนี่มิใช่ชัยชนะและเป็นการรุกทางการเมือง ยกระดับสู่สากลของคนเสื้อแดงและคุณทักษิณหรอกหรือ?

ในประเทศลาวเน้นงานบุญ งานศาสนาและประเพณีเป็นหลัก แต่ภาพประชาชนที่ไปรอพบคุณทักษิณหลายพันคนก็เป็นภาพประทับใจยิ่ง การจัดงานบุญ พิธีสงฆ์ พิธีบายศรีสู่ขวัญในสถานที่สำคัญ ก็บ่งถึงการให้เกียรติยศตามแบบฉบับประเทศลาวที่อ่อนน้อม เยือกเย็น ไม่เป็นศัตรูกับกลุ่มใด ก็ขอกันภายในไม่ให้ใส่สีแดงเพื่อไม่ให้เป็นภาพการเมืองเรื่องเสื้อแดง รัฐมนตรีที่มาต้อนรับดูแลก็บอกผู้เขียนว่า ความจริงรัฐบาลลาวกังวลก็เฉพาะเรื่องความปลอดภัยของคุณทักษิณ แสดงว่าอะไร? สองประเทศเหมือนกันในประเด็นนี้ คือเขาเป็นห่วงความปลอดภัยคุณทักษิณมาก ๆ ก็แสดงว่าเขารู้ว่าเครือข่ายอำมาตย์ที่อาฆาตพยาบาทเกลียดชังคุณทักษิณ มีอยู่จำนวนหนึ่งที่คิดว่าจัดการคุณทักษิณแล้วทุกอย่างจะเรียบร้อยมีอยู่จริง เขาจึงต้องป้องกันเต็มที่ ชนชั้นนำในประเทศไทยตระหนักไหม? ว่าคนต่างประเทศเขารู้เรื่องดีกว่าพวกคุณ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศห่างไกลออกไป เพราะฝ่ายการเมืองเขาลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับประชาชนไทยหาข้อมูลกันทั้งนั้นเลยรู้เรื่องดีกว่าชนชั้นนำและปัญญาชนในประเทศไทยที่อยู่บนหอคอย

ประเทศกัมพูชานั้นเต็มที่ที่จะเปิดเวทีทางการเมืองให้การต่อสู้ของประชาชนไทย ของคนเสื้อแดงก้าวข้ามพรมแดนระหว่างประเทศไปใช้สถานที่ในกัมพูชาได้ ตอนจัดฟุตบอลครั้งนั้นสมเด็จฮุนเซนลงมาเล่นเองเลยทีเดียว สำหรับเวทีให้คุณทักษิณพบปะคนเสื้อแดงก็เต็มที่ มีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนกัมพูชาเฝ้าดูได้ด้วย ตอนเย็นกว่าพวกเรารวมคุณจตุพรและณัฐวุฒิจะได้ไปขึ้นเวทีกับคุณทักษิณก็ช้าไปหน่อย เพราะหลายคนถูกต้อนรับอย่างดีจากเจ้าภาพคนสำคัญของกัมพูชา ปล่อยให้คุณทักษิณขึ้นเวทีไปก่อน สมเด็จฮุนเซนต้องโทรตามหาเองเพราะรอดูภาพณัฐวุฒิและจตุพรเคียงคู่ขนาบข้างคุณทักษิณยังไม่เห็นสักที

ต้องขอเรียนว่าประชาชนในประเทศลาวและกัมพูชาเป็นคนเสื้อแดง และเชียร์คนเสื้อแดงจำนวนมาก คนใกล้ชิดสมเด็จฮุนเซนมักจะพูดหยอกล้อกับผู้เขียนว่า เขาเป็นประธาน นปช.พนมเปญ ส่วนในประเทศลาวผู้เขียนได้พบคนลาวและผู้ใหญ่จำนวนมากเข้ามาทักทาย โดยเฉพาะคนลาวฟังเราเข้าใจ เขาเฝ้าดูทีวีเอเชียอัพเดทกัน เป็นแฟนคลับ สำหรับผู้เขียนมีคนมาผูกข้อมือทักทายเป็นจำนวนมาก มีแม่หญิงลาวสำคัญ ๆ มาทักทายยินดีที่ได้พบปะ มีคนสำคัญทั้งหญิงชายมาบ่นเสียดายที่ไม่ไปร่วมงานกลางคืนที่เวียงจันทร์คืนวันที่ 11 รัฐมนตรีคนหนึ่งบอกว่าขาดนักร้องสำคัญไป 1 คน (แสดงว่าดูรายการทีวีเสื้อแดงและรายการของผู้เขียน สามทุ่มวันศุกร์, เสาร์, อาทิตย์)

นี่ก็แปลว่า สงกรานต์ 3 แผ่นดินปี 2555 นี้ เรายกระดับการต่อสู้ของประชาชนสู่เวทีโลกอย่างเต็มภาคภูมิ ทั้งได้รับความสุข สนุกสนาน และดีใจที่ได้พบปะและทำบุญร่วมกับคุณทักษิณ ได้จัดคอนเสิร์ต งานบุญหน้านครวัดของราชอาณาจักรกัมพูชา ไม่ธรรมดานะ สำหรับแกนนำ นปช. ก็ถูกต้อนรับจากผู้ใหญ่ในกัมพูชาแบบจัดหนักไปหน่อย แต่ก็แสดงถึงมิตรภาพแบบสุด ๆ ของกัมพูชา

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แกนนำพันธมิตรฯ เตรียมแถลงข่าวพุธนี้ - ปัดร่วมชุมนุม 21 เม.ย.

Posted: 17 Apr 2012 07:28 AM PDT

โฆษกพันธมิตรฯ เผย แกนนำเตรียมหารือ-พร้อมแถลงจุดยืน 18 เม.ย. นี้ที่บ้านพระอาทิตย์ ปัดไม่เกี่ยวกับกลุ่ม "บวร ยสินทร" ที่เตรียมชุมนุม 21 เม.ย. ที่สโมสรทหารบก

วันนี้ (17 เม.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์สถานะในเฟซบุคว่า "จากสถานการณ์บ้านเมืองที่เห็นและเป็นอยู่ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงให้มีการประชุมแกนนำในวันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ.2555 ณ บ้านพระอาทิตย์ แถลงข่าวเวลา 10.00 น. จึงเรียนให้ทุกท่านทราบและขอเชิญผู้สื่อข่าวทุกค่ายเข้าร่วมซักถามการแถลงข่าวในวันและเวลาดังกล่าวมา ณ โอกาสนี้ครับ"

และต่อมาได้โพสต์สถานะเพิ่มว่า "ตามที่มีการอ้างว่าพันธมิตรประชาขนเพื่อประชาธิปไตยจะเข้าร่วมงานชุมนุมหรือประชุมเสวนาในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2555 ที่หอประชุมสโมสรทหารบกร่วมกับกลุ่มประชาชนกลุ่มหนึ่งนั้น ขอเรียนให้ทราบว่าเรื่องดังกล่าวแกนนำพันธมิตรฯขอปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าร่วมและไม่ได้เกี่ยวข้องๆ ใดกับกิจกรรมดังกล่าวแต่ประการใด จึงเรียนมาเพื่อทราบครับ"

สำหรับการชุมนุมในวันที่ วันที่ 21 เม.ย. ทีสโมสรทหารบกนั้น เป็นการจัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ “ประชุมรัฐสภามหาชน เรียกคืนอำนาจจากนักการเมืองเนรคุณแผ่นดิน” โดยมีนายบวร ยสินทร อดีตคนเดือนตุลาและแกนนำเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบันเป็นแกนนำการชุมนุม โดยเป็นไปเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เกาหลีเหนือลือ-ก๊กต้านคิม จอง อึน ในรัฐบาลขวางการส่งจรวด

Posted: 17 Apr 2012 06:45 AM PDT

จากกรณีที่การปล่อยดาวเทียมกวางเมียงซง-3 ของเกาหลีเนหือเกิดความผิดพลาด มีข่าวลือว่าฝ่ายคนในรัฐบาลที่ต่อต้านคิมจองอึนผู้นำใหม่ของเกาหลีเหนือเป็นผู้ขัดขวางการปล่อยดาวเทียม แต่ส่วนหนึ่งก็เชื่อว่าเป็นแค่ความผิดพลาดทางเทคนิค และเป็นไปได้ว่าคิมจองอึนอาจปล่อยข่าวลือนี้เองเพื่อกำจัดเสี้ยนหนามในพรรค

17 เม.ย. 2012 - หลังจากที่ทางการเกาหลีเหนือได้ปล่อยจรวดเพื่อส่งดาวเทียมกวางซง-3 ขึ้นสู่วงโคจรแต่เกิดล้มเหลว โดยสถานีภาคพื้นดินไม่สามารถตรวจสอบวงโคจรของดาวเทียมได้ ทำให้มีข่าวลือว่าอาจมีการสกัดกั้นไม่ให้เกาหลีเหนือส่งดาวเทียมได้สำเร็จ ซึ่งข่าวลือเกิดขึ้นจากการที่ทางรัฐบาลเกาหลีเหนือเองก็ยังไม่ได้เปิดเผยเหตุผลของความล้มเหลวครั้งนี้อย่างเป็นทางการ

มีข้ออ้างจำนวนมาก ที่นำมาใช้อ้างสาเหตุที่เกาหลีเหนือไม่สามารถส่งดาวเทียมได้สำเร็จ ทางรัฐบาลเกาหลีเหนือประกาศผ่านสถานีโทรทัศน์โชซอนเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมา หลังจากการส่งดาวเทียมผ่านไปหลายชั่วโมง ดาวเทียมก็เกิดความล้มเหลวไม่สามารถเข้าสู่วงโคจรได้

ประชาชนชาวเกาหลีเหนือ กำลังรอให้ทางรัฐบาลประกาศถึงสาเหตุของความล้มเหลวในครั้งนี้อยางเป็นทางการ คนส่วนใหญ่มองว่าเหตุดังกล่าวนี้เกิดจากความผิดพลาดทางเทคนิค ขระที่อีกส่วนหนึ่งก็มองว่ามี "การพยายามขัดขวางจากภายนอก" หรือไม่ก็ "มีปฏิบัติการของกลุ่มคนระดับสูงที่ต่อต้านระบอบของคิม จอง อึน" โดยข่าวลือนี้ก็แพร่สะพัดในกรุงเปียงยางบอกว่าความล้มเหลวในการส่งจรวดครั้งนี้มาจากการกระทำของกลุ่มพลังที่ต่อต้านคิม จอง อึน

แหล่งข่าวจากเปียงยางเปิดเผยในวันนี้ว่า "มีข่าวลือว่า สาเหตุที่เกิดความล้มเหลวในการส่งจรวดไม่ใช่เพราะเหตุขัดข้องทางเทคนิค แต่มาจากกลุ่มคนระดับสูงที่ต่อต้านระบอบของคิมจองอึน ได้พยายามทำการควบคุมจรวด"

แหล่งข่าวเปิดเผยอีกว่า "ในตอนนี้กำลังมีการสืบสวนว่ากลุ่มคนระดับสูงที่ต่อต้านคิมจองอึนได้ทำการแทรกแซงจนเกิดความล้มเหลวในการส่งจรวดสู่วงโคจรจริงหรือไม่ เพื่อจะได้ประจานพวกเขา" และด้วยสาเหตุนี้เอง ทำให้คาดว่าจะมีการกวาดล้างกลุ่มคนผู้ทรยศในพรรครัฐบาลที่มีส่วนในการส่งจรวด หากสามารถตรวจพบสาเหตุของความล้มเหลวแล้ว

"ปัญหาคือกลุ่มคนระดับสูงก็กำลังพูดถึงเรื่องนี้ เราได้ยินเรื่องนี้มาจากคนระดับสูง (หัวหน้า) พรรคในกรุงเปียงยาง" แหล่งข่าวกล่าว

ผู้ให้ข่าวบอกอีกว่าข่าวลือกำลังแพร่กระจายเร็วมากเพราะว่ายังไม่มีกฏข้อบังคับใดๆ ที่จะดำเนินการต่อคนที่พูดถึงความล้มเหลวในการยิงจรวด เนื่องจากเรื่องนี้รัฐบาลออกมายอมรับเอง

"คนที่มีโทรศัพท์มือถือเป็นคนที่ยืนยันข่าวลือนี้ จากการพูดคุยกับคนในกรุงเปียงยาง" แหล่งข่าวกล่าว "ประชาชนกำลังพูดกันว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายในตอนนี้ที่จะยอมรับ 'สหาย คิมจองอึน' ว่าเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพได้"

"ในตอนนี้การฉลองวันหยุดผ่านไปแล้ว (วันแห่งพระอาทิตย์ ซึ่งวันวันคล้ายวันเกิดของ คิม อิล ซุง ตรงกันวันที่ 15 เม.ย.) จากนี้จะต้องมีการลงโทษอย่างถึงที่สุดเกิดขึ้นเป็นแน่"

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ว่าคิมจองอึนอาจจะเป็นผู้ปล่อยข่าวลือด้วยตัวเองเพื่อกล่าวหากลุ่มต่อต้านในพรรคว่าทำให้การปล่อยจรวดล้มเหลว แหล่งข่าวระบุว่า "ในหมู่ประชาชนมีการต่อเติมข่าวลือถึงขั้นว่าเป็นการ 'ต่อต้านขัดขืนจากเจ้าหน้าที่ระดับสูง' แต่คนส่วนหนึ่งก็สงสัยว่า รัฐบาลเองจะสร้างข่าวลือขึ้นมาเพื่อทำให้เห็นว่าระบอบของคิมจองอึนขาดสเถียรภาพจริงหรือ"

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า "หากข่าวลือนี้ไม่มีการควบคุม มันจะแพร่สะพัดไปเรื่อยๆ จนทำให้ต่อมาฝ่ายรัฐเองจะเป็นผู้ควบคุมข่าวลือ และจะจัดการกับผู้เผยแพร่"

 
 
ที่มา: Who to Blame for Failed Launch, DailyNK, 17-04-2012
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

บล็อกเกอร์เวียดนามถูกดำเนินคดีอีกข้อหาเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ

Posted: 17 Apr 2012 06:32 AM PDT

บล็อกเกอร์ในเวียดนามสามคนจาก "ชมรมผู้สื่อข่าวเสรี" ถูกดำเนินคดีในข้อหาเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อที่ต่อต้านรัฐ และอาจเผชิญโทษจำคุกได้ 20 ปีหากตัดสินว่าผิดจริง

 
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 เม.ย. 55) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อัยการในเวียดนามได้ตัดสินใจสั่งฟ้องบล็อกเกอร์ชื่อดังสามคนในข้อหาเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อที่ต่อต้านรัฐ และหากว่าพบว่ามีความผิดจริง อาจถูกตัดสินจำคุก 20 ปี
 

นายฮา ฮุย ซัน (Ha Huy Son) ทนายความของบล็อกเกอร์ กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า ลูกความที่เป็นบล็อกเกอร์ของเขาคือนายเหงวียน วัน ไฮ (Nguyen Van Hai) นายฟาน ตัน ไฮ (Phan Thanh Hai) และ นายทา ฟอง ตัน (Ta Phong Tan) ถูกแจ้งข้อหาแล้ว ในขณะที่หนังสือพิมพ์ของรัฐบาล โฮจิมินห์ ซิตี้ ลอว์ ระบุว่า พวกเขาถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเนื่องจากโพสต์บทความ 421 บทความในบล็อก ซึ่งมีเนื้อหา "บิดเบือนและต่อต้านรัฐ" นอกจากนี้ ยังระบุว่า บล็อกเกอร์สองคนได้เข้ารับการฝึกอบรมสันติวิธี ซึ่งมีเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลด้วย

บล็อกเกอร์ทั้งสามคน ซึ่งเป็นสมาชิก "ชมรมผู้สื่อข่าวเสรี" ที่ผิดกฎหมาย ยังอยู่ในระหว่างการคุมขังจนกว่าการพิจารณาจะเสร็จสิ้น 

อนึ่ง สื่อต่างๆ ของรัฐบาลเวียดนามล้วนอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐทั้งสิ้น

ทางเว็บไซต์ Electronic Frontier Foundation ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามเรื่องเสรีภาพอินเทอร์เน็ตและดิจิตอล รายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลเวียดนามพยายามปราบปรามบล็อกเกอร์และนักเขียนผู้มีความคิดเห็นแตกต่างกับระบอบคอมมิวนิสต์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเว็บไซต์ข่าวทางเลือกอย่าง Vietnam Redemptorist News ก็ตกเป็นเป้าที่จับตามองจากรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และนักเขียนของเว็บหลายคนถูกจับกุม เช่น Paulus Le Son วัย 26 ปี เป็นบล็อกเกอร์ที่แอคทีฟที่สุดคนหนึ่งและถูกจับกุมโดยไม่มีหมายศาล

รายงานระบุว่า เวียดนามใช้กฎหมายความมั่นคงที่มีความคลุมเครือเพื่อปิดกั้นฝ่ายค้านทางการเมือง และการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ทั้งนี้ บล็อกเกอร์อย่าง Paulus Le Son เป็นเพียงหนึ่งใน 17 คนที่ถูกจับกุมตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 ในข้อหาประทุษร้ายต่อประเทศ และดำเนินกิจกรรมที่มุ่งโค่นล้มรัฐบาล ในขณะที่องค์กรระหว่างประเทศอย่าง คณะกรรมการเพื่อพิทักษ์ผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists), ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) และ Front Line ได้รณรงค์และเรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามปล่อยตัวบล็อกเกอร์ที่ถูกจับกุมโดยทันที

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จีนยันมีอธิปไตยเหนือเกาะสการ์โบโรห์ เรียกร้องฟิลิปปินส์เลิกอ้างสิทธิ์

Posted: 17 Apr 2012 04:42 AM PDT

โฆษกสถานทูตจีนประจำฟิลิปปินส์แถลงการเรียกร้องสิทธิของฟิลิปปินส์เหนือเกาะสการ์โบโรห์ผิดกฎหมายและไม่มีผล ยันเป็นดินแดนของจีนมาแต่โบราณกาล เรียกว่า "เกาะหวงเหยียน" หลังจากที่ก่อนหน้านี้เรือประมงจีนถูกจับเนื่องจากถือว่าเข้าสู่น่านน้ำฟิลิปปินส์

ที่ตั้งของหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ (Scarborough shoal) หรือหมู่เกาะหวงเหยียน ในทะเลจีนใต้ (ที่มา: Map.google.com)

เว็บไซต์ของ สถานีวิทยุสากลแห่งประเทศจีน ภาคภาษาไทย รายงานว่า เมื่อวานนี้ (16 เม.ย.) นายหลิว เหวยหมิน โฆษกสถานทูตจีนประจำฟิลิปปินส์กล่าวขณะตอบคำถามเกี่ยวกับหมู่เกาะหวงเหยียน หรือหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ว่า การเรียกร้องสิทธิใดๆ เกี่ยกับหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ของฟิลิปปินส์ผิดกฎหมายและไม่มีผล ฟิลิปปินส์ควรกลับไปยังจุดยืนที่ยอมรับและเคารพอธิบไตยเหนือดินแดนบริเวณหมู่เกาะหวงเหยียนของจีน และว่าหมู่เกาะหวงเหยียนเป็นดินแดนของจีนมาตั้งแต่โบราณกาล จีนพบและเป็นผู้ตั้งชื่อหมู่เกาะหวงเหยียนก่อนใคร จึงเป็นดินแดนของจีน

โดยก่อนหน้านี้เมื่อเช้าวันที่ 10 เม.ย. จีนอ้างว่า เรือประมงของจีน 12 ลำถูกเรือรบของฟิลิปปินส์ก่อกวน ขณะทำการประมงที่หมู่เกาะพิพาทดังกล่าว ขณะที่ฟิลิปปินส์อ้างว่าเรือประมงจีน 8 ลำถูกจับกุมเนื่องจากจับสัตว์น้ำอย่างผิดกฎหมาย และบังคับให้ทอดสมออยู่ในอาณาเขตของฟิลิปปินส์ ใกล้กับหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ (Scarborough shoal) ในทะเลจีนใต้ ซึ่งห่างจากชายฝั่งตะวันตกของเกาะลูซอน 124 ไมล์ทะเล

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ที่ผ่านมาเว็บไซต์ของ สถานีวิทยุสากลแห่งประเทศจีน รายงานว่า โฆษกสถานทูตจีนประจำฟิลิปปินส์เรียกร้องให้เรือรบฟิลิปปินส์ถอนตัวออกจากน่านน้ำดังกล่าวทันที เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นไปอีก ขณะเดียวกัน เขาแนะนำว่า จีนได้ส่งเรือกิจการทางรัฐบาล โดยไม่ใช่เรือรบไปยังน่านน้ำเกาะหวงเหยียน เพื่อประกันความปลอดภัยและการประมงที่ชอบด้วยกฎหมายของเรือประมงจีน

ทั้งนี้มี 3 ชาติอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะปะการังดังกล่าว ได้แก่ จีน ไต้หวัน และฟิลิปปินส์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สันติภาพปาตานี: บทสนทนาอันไม่รู้จักจบ?

Posted: 17 Apr 2012 04:21 AM PDT

 

 

เมื่อกล่าวถึงประเด็นของความรุนแรงในภาคใต้  ปฏิกิริยาของทั้งกองทัพไทยและผู้นำทางการเมืองซึ่งยืนคนละขั้วทางการเมืองต่างก็แย่พอๆ กัน

พวกเขาต่างพยายามที่จะโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือมากกว่าที่จะมองถึงการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างจริงจัง

พรรคประชาธิปัตย์และกองทัพไม่ได้รีรอที่จะโจมตีรัฐบาลหลังจากที่ได้รู้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรซึ่งยังคงหลบหนีอยู่นอกประเทศนั้นได้พบกับกลุ่มผู้นำรุ่นเก่าของขบวนการแบ่งแยกดินแดนของปาตานีหลายกลุ่ม

ควรจะกล่าวไว้ในที่นี้ว่า  รัฐบาลในอดีตหลายรัฐบาล ตัวแทนองค์กรหลายแห่ง และแม้กระทั้งเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงได้พยายามที่จะพูดคุยหรือเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนตั้งแต่ช่วงปีทศวรรษที่ 1980

ในครั้งแรก กองทัพเป็นผู้ริเริ่ม  แต่ว่าการพบปะกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ไปได้ไม่ไกลเกินกว่าการเป็นข่าวและการแสวงหาข่าวกรอง

ในช่วงปลายปีทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 ปีกที่ติดอาวุธของขบวนการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนได้ล้มเลิกการเคลื่อนไหว ผู้นำของพวกเขาหลายคนก็ยังคงลี้ภัยอยู่นอกประเทศ ซึ่งตั้งแต่ปี 2004 กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ซึ่งได้เคยพบกับทหารเมื่อกว่าสองทศวรรษที่แล้ว ได้กลับมาสร้างบทบาทให้ตัวเองอีกครั้ง พวกเขาพยายามที่จะเข้าไปให้ถึงขบวนการรุ่นใหม่ที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเรียกกันในท้องถิ่นว่า “ยูแว” และกลุ่มประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่ว่ากลุ่มที่มีความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกับกลุ่มยูแวได้ดีที่สุดนั้นเชื่อว่าคือกลุ่มบีอาร์เอ็น-โคออดิเนท  ความท้าทายสำหรับรัฐบาลไทยก็คือการระบุว่าใครคือคนของบีอาร์เอ็น-โคออดิเนทที่ “แท้จริง” เพราะว่ามีมากกว่าหนึ่งกลุ่มซึ่งใช้ชื่อเดียวกัน   พวกเขาอาจจะมีเอกภาพร่วมกันเมื่อสามทศวรรษก่อน  แต่ว่าในทุกวันนี้มีแกนนำหลายคนที่มากล่าวอ้างว่าเป็นหัวหน้าของกลุ่มนั้นกลุ่มนี้   ดูตัวอย่างกลุ่มพูโลเป็นต้น  มีแกนนำสามคนที่อ้างว่าตัวเองนั้นเป็นประธานของพูโล ส่วนกลุ่มบีอาร์เอ็น-โคออดิเนทก็ไม่ต่างกันเท่าใดนักในประเด็นนี้ 

นายฮัสซัน  ตอยิบเป็นคนหนึ่งที่นั่งอยู่ข้างๆ อดีตนายกฯ ทักษิณในการประชุมลับเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2555 เขาเป็นคนหนึ่งที่อ้างตนว่าเป็นแกนนำของกลุ่มบีอาร์เอ็น-โคออดิเนทและเขาก็ได้พยายามที่จะเข้าหาทางการไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการผ่านอดีตนายกรัฐมนตรีชวลิต ยงใจยุทธ เพราะเขาต้องการที่จะมีบทบาทในการพูดในฐานะตัวแทนของคนปาตานี

แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าความพยายามของทักษิณนั้นสูญเปล่าก็คือข้อเท็จจริงที่ว่าแกนนำของกลุ่มในบีอาร์เอ็น-โคออดิเนทซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพวกยูแวที่สุดนั้นตัดสินใจคว่ำบาตรการประชุมร่วมกับตัวแทนของพรรคเพื่อไทย/กลุ่มเสื้อแดง

เมื่อถามว่าทำไมพวกเขาจึงปฏิเสธที่จะพบทักษิณ  ตัวแทนของบีอาร์เอ็น-โคออดิเนทกลุ่มนี้กล่าวว่าพวกเขาไม่เคยให้อภัยกับสิ่งที่อดีตนายกฯ ทักษิณได้ทำไว้กับคนมลายูปาตานี  นโยบายของทักษิณในกรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

กลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบันได้ปรากฏตัวตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งเป็นช่วงที่ทักษิณขึ้นสู่อำนาจ  แต่ว่าทักษิณไม่ได้ยอมรับการดำรงอยู่ของพวกเขาและได้เรียกพวกเขาว่า “โจรกระจอก”  ทัศนคติเช่นนั้นเปลี่ยนไปหลังจากที่พวกเขากลุ่มหนึ่งได้บุกโจมตีค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาสในวันที่ 4 มกราคม 2547 พร้อมทั้งขโมยปืนทหารไปอีกกว่า 350 กระบอก

ในปลายปี 2548 ทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เปิดไฟเขียวให้มีการเจรจาหลายรอบกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ลี้ภัยอยู่นอกประเทศ  ในส่วนของรัฐบาลไทยนั้นก็มี พล.ท. ไวพจน์ ศรีนวล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) และพล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นตัวแทน  การพบกันนั้นเรียกกันว่า “กระบวนการลังกาวี” ซึ่งตั้งชื่อตามเกาะซึ่งเป็นสถานที่ที่การประชุมกันได้เกิดขึ้น

กระบวนการลังกาวีได้นำไปสู่ข้อเสนอจำนวนหนึ่งซึ่งได้ส่งถึงมือของนายกรัฐมนตรีทักษิณในขณะนั้นผ่านอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์  ปันยารยุน แต่ว่าทักษิณนั้นมัวแต่ยุ่งอยู่กับการประท้วงของกลุ่มเสื้อเหลืองซึ่งกำลังปะทุขึ้นในกรุงเทพฯ

หลังจากการรัฐประหารในปี 2549  พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ให้ไฟเขียวกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อหาหนทางยุติความขัดแย้ง นอกเหนือจากการใช้วิธีทางการทหาร  ซึ่งหมายถึงว่าหากจำเป็นที่จะต้องเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็ควรจะทำ

ในเดือนกันยายน 2551 นายยูซุฟ  คัลลา ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีอินโดนีเซียในขณะนั้นได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการพูดคุยระหว่างกลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในปาตานีและตัวแทนของกองทัพไทย แต่เมื่อการประชุมถูกเปิดเผยกับสาธารณะ  รัฐบาลไทยก็ยุติการดำเนินการในทันที

พล.อ.สุรยุทธ์เองก็ได้ไปพบกับบุคคลคนหนึ่งที่อ้างตัวเองว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มพูโลในเดือนธันวาคม 2550 ก่อนที่เขาจะก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงไม่กี่เดือน

ในช่วงของรัฐบาลสมัคร สุนทรเวชและสมชาย วงศ์สวัสดิ์ การพูดคุยเพื่อสันติภาพอยู่ในภาวะชะงักงัน  เพราะว่าพวกเขาวุ่นวายอยู่กับการแก้ไขปัญหาการชุมนุมประท้วงที่กรุงเทพฯ

ในยุคที่นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี  ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติได้ทำหน้าที่ดำเนินการเรื่องพูดคุยอีกครั้งหนึ่งซึ่งต่อมาได้ถูกระงับภายหลังจากที่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตรหันไปสนับสนุนให้นายทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นข้าราชการที่เป็นที่ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทยได้ทำหน้าที่นี้แทน

นับแต่กระบวนการลังกาวีในปี 2548 จนถึงการพูดคุยระหว่างทักษิณกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนเมื่อเร็วๆ นี้  พวกยูแวและกลุ่มบีอาร์เอ็น-โคออดิเนทไม่ได้เข้าร่วมวงพูดคุยเหล่านี้เลย  แหล่งข่าวในบีอาร์เอ็น-โคออดิเนทได้พูดว่าพวกเขาไม่เคยให้อภัยทักษิณและสิ่งที่เขาทำกับคนมลายูในปาตานี  แต่ว่าพวกเขาไม่ได้ปฏิเสธการพูดคุยกับพวกคนไทย

ถ้าหากว่าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทยและกองทัพนั้นเชื่อว่าชีวิตของประชาชนในภาคใต้นั้นสำคัญกว่าอีโก้ของพวกเขา พวกเขาจะต้องหยุดทำให้เรื่องการพูดคุยกับผู้เห็นต่างเป็นเรื่องการเมือง  ถึงที่สุดแล้ว พวกเขาทั้งหมดต่างก็ทำเช่นนั้น

สิ่งที่ควรจะทำในตอนนี้ก็คือการลดความเป็นการเมืองของกระบวนการนี้เพื่อให้การพูดคุยกับพวกกลุ่มเก่าผู้อาวุโสเหล่านี้ดำเนินไปได้  โดยหวังว่าพวกเขาจะสามารถที่จะทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อกับกลุ่มยูแวในพื้นที่ได้   สมาชิกของภาคประชาสังคมและข้าราชการที่เกษียณแล้วควรที่จะเป็นผู้ที่ทำให้กระบวนการนี้เดินต่อไป  แทนที่จะเป็นนักการเมือง เพื่อที่จะทำให้กระบวนการนี้เป็นเรื่องซึ่งไม่ลำเอียงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

มันคงจะไม่ได้เป็นเรื่องง่ายนัก  เหตุการณ์ระเบิดคาร์บอมบ์สามลูกในยะลาและหาดใหญ่ซึ่งทำให้มีคนบาดเจ็บหลายร้อยคนและเสียชีวิตมากกว่าสิบคนแสดงให้เห็นว่าพวกยูแวนั้นไม่ได้อยู่ในภาวะที่ต้องการจะพูดคุย   การไล่ล่าและเอาชีวิตพวกเขาก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะว่าทหารและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของเรานั้นไม่มีความสามารถ

แต่แทนที่จะยอมรับถึงความบกพร่องและการถือเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง  นายทหารระดับสูงและผู้กำหนดนโยบายกลับมองถึงแต่การหาแต้มทางการเมืองแทนที่จะมองถึงความเป็นจริงที่ว่าพวกเขาต่างก็แย่พอๆ กันในเรื่องของความสามารถในการรักษาความมั่นคง

 

หมายเหตุ : สำหรับรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย  โปรดดู http://seasiaconflict.com/

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เตรียมพิจารณาคำอุทธรณ์ "เชคสเปียร์ต้องตาย" ฉายได้หรือไม่ 25 เม.ย. นี้

Posted: 17 Apr 2012 04:07 AM PDT

ทีมผู้สร้าง "เชคสเปียร์ต้องตาย" ยื่นอุทธรณ์คำสั่งแบนที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว ชี้คำสั่งแบนไม่เป็นธรรม และหวังว่าในอนาคตจะไม่มีภาพยนตร์ถูกแบนอีก ด้านกระทรวงวัฒนธรรมเผยเตรียมพิจารณาคำอุทธรณ์ "เชคสเปียร์ต้องตาย" 25 เม.ย. นี้

วันนี้ (17 เม.ย.) วอยซ์ทีวี รายงานว่า นายมานิต ศรีวานิชภูมิ และ นางสาวสมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ผู้อำนวยการสร้างและผู้กำกับภาพยนตร์ "เชคสเปียร์ต้องตาย" หรือ "Shakespeare Must Die" พร้อมด้วยทีมนักแสดงนำ เข้ายื่นหนังหนังสืออุทธรณ์ต่อ นาวสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในฐานะผู้เป็นประธานคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ให้ยกเลิกมติห้ามเผยแพร่ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว และอนุญาตให้ "เชคสเปียรส์ต้องตาย" มีสิทธิ์เผยแพร่และจัดจำหน่ายในราชอาณาจักรเช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายสาทิตย์ สุทธิเสริม รองผู้อำนวยการฝ่ายประสานมวลชน ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่องอุทธรณ์

นายมานิต กล่าวว่า เหตุผลในการห้ามฉายไม่เป็นธรรม และรุนแรงเกินไป และการเรียกร้องความเป็นธรรมครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงทำเพื่อภาพยนตร์ "เชคสเปียร์ต้องตาย" เท่านั้น แต่เป็นการต่อสู้และเรียกร้องสิทธิให้กับวงการภาพยนตร์ไทย และหวังว่าในอนาคตจะไม่มีภาพยนตร์ถูกแบนเช่นนี้อีก  

ต่อมา สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานด้วยว่า นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่ผู้สร้างภาพยนตร์ ได้ทำหนังสือยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติที่มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานนั้น หลังจากนี้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ จะประชุมพิจารณาคำอุทธรณ์ และลงมติว่าจะยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และอนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ดังกล่าวในประเทศไทยหรือไม่ในวันที่ 25 เมษายนนี้ 

ทั้งนี้ เมื่อ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 3 ที่มี พล.ต.ต.เอนก สัมพลัง เป็นประธาน มีมติไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ เรื่อง เชคสเปียร์ต้องตาย โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวง กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552 ข้อ 7 (3) และ ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รณรงค์ปล่อยตัว "สมยศ พฤกษาเกษมสุข" สร้างเสริมเสรีภาพของผู้ใช้แรงงาน

Posted: 17 Apr 2012 03:45 AM PDT

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 สภาแรงงานแห่งรัฐวิคตอเรีย (Victorian Trades Hall Council) ประเทศออสเตรเลีย ที่ประกอบด้วยสมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 400,000 คน [1] ได้ออกจดหมายเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงาน ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งถึงสถานทูตไทยประจำประเทศออสเตรเลีย

ทั้งนี้  ก่อนหน้าทางโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยได้ประชุมพูดคุยกับคุณลุค ฮิลาคารี เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์และฝ่ายอุตสาหกรรมของสภาแรงงานฯ ดังกล่าว  พร้อมกับนักกิจกรรมด้านแรงงานจากเครือข่ายแรงงานเอเชียออสเตรเลีย (Australia Asia Worker Links) และองค์กรสังคมนิยมทางเลือก (Socialist Alternative) ร่วมประชุมผลักดันการรณรงค์ครั้งนี้ด้วย

เนื้อหาของจดหมายรณรงค์ปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุข ลงชื่อโดยนายไบรอัน บอยด์ เลขาธิการสภาแรงงานแห่งรัฐวิคเตอเรีย  แปลเป็นภาษาไทยโดยละเอียดดังนี้ [2]

……..

ถึง เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศออสเตรเลีย
นายมาริษ  เสงี่ยมพงษ์
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา
111 Empire Circuit
Yarralumla ACT 2600

ถึง สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเมลเบิร์น
กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ดร.ศรีมน เอ วอลเลซ
Suite 301, 566 St Kilda Road
Melbourne VIC 3004

ข้าพเจ้าในนามของสภาแรงงานแห่งรัฐวิคตอเรีย ขอแสดงความสมานฉันท์ไปยังคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมด้านแรงงานที่กำลังถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554 ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เรารู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่งต่อการจองจำคุมขังเขา ซึ่งถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการประกันหลายครั้ง

คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะที่ทำงานจัดตั้งสหภาพแรงงานส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศไทย  ในปี 2550 เขาเป็นบรรณาธิการนิตยสารวอยส์ออฟตากสิน ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ทางการเมืองที่คัดค้านการทำรัฐประหารของทหารเมื่อปี 2549   เขายังเป็นประธานเครือข่ายองค์กรแรงงานเพื่อประชาธิปไตยและเป็นหัวหน้ากลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ที่ก่อตั้งขึ้นหลังจากการทำรัฐประหาร 2549

เราตกใจมากเมื่อมีการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมแดชานุภาพเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ปิดปากนักกิจกรรมทางสังคมและผู้ที่คัดค้านเห็นต่างจากเผด็จการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา  เราเชื่อว่าการใช้กฎหมายไปในทางที่ผิดอย่างต่อเนื่องนี้จะก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทยใหม่  กฎหมายดังกล่าวจึงต้องถูกนำมาทบทวน ตรวจสอบ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล

ดังนั้น  เราจึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐไทย

1. ยกเลิกข้อกล่าวหาทุกข้อที่กระทำต่อคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขโดยทันที และปล่อยตัวเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข

2. ยกเลิกข้อกล่าวหาทุกข้อที่กระทำต่อนักกิจกรรมทางการเมือง นักหนังสือพิมพ์ และทุกคนที่เป็นเหยื่อของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  และ

3. รื้อฟื้นเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นในประเทศไทยเพื่อสร้างคุณประโยชน์ และยกระดับประชาธิปไตยในประเทศต่อไป

นอกจากนี้ทางโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยยังได้พบปะพูดคุยกับคุณหลุยส์ คอนเนอร์ เลขาธิการสาขารัฐวิคตอเรีย เครือข่ายการสื่อสาร บันเทิงและศิลปะ (Media, Entertainment and Arts Alliance) และเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดตั้งของสหภาพแรงงานเสื้อผ้าสิ่งทอและรองเท้า สาขารัฐวิคเตอเรีย (Textile Clothing and Footware Union of Australia (Victorian Branch) เพื่อรณรงค์ออกจดหมายเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยปล่อยตัวสมยศ พฤกษาเกษมสุขเช่นเดียวกัน  ในช่วงระหว่างที่จะมีการไต่สวนสืบพยานฝ่ายโจทก์วันที่ 18-26 เมษายน 2555 และฝ่ายจำเลย วันที่ 2-4 พฤษภาคม 2555 ที่ศาลอาญา รัชดา  ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองว่า กระบวนการยุติธรรมแบบไทยจะพิจารณาคดีออกมาเช่นคดีของผู้ต้องหาคนอื่นๆ และมีโทษหนักถึง 20 ปีหรือไม่

จะเห็นว่าสหภาพแรงงานในประเทศออสเตรเลียไม่ได้เงียบเฉยต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพในประเทศไทยที่เป็นไปอย่างกว้างขวาง และรู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งที่เสรีภาพของนักกิจกรรมแรงงานถูกคุกคาม  ทั้งนี้เสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างมีคุณต่อการปกป้องผลประโยชน์ของพี่น้องแรงงานทั่วโลก และเป็นหลักประกันไม่ให้เผด็จการรัฐประหารมาทำลายสถาบันประชาธิปไตยอีกครั้ง

……………….

[1]  โครงสร้างของสภาแรงงานแห่งรัฐวิคตอเรีย ประกอบด้วยสมาชิกเครือข่ายสหภาพแรงงาน 60 องค์กร ซึ่งมีสมาชิกสหภาพอยู่ราว 400,000 คน และสภาแรงงานระดับจังหวัด 8 จังหวัด.  แหล่งที่มา: เว็บไซด์ของสภาแรงงานแห่งรัฐวิคเตอเรีย  http://www.vthc.org.au/inside-trades-hall/what-we-do/our-structure/index.cfm

[2]  ฉบับภาษาอังกฤษในเว็บไซด์ของเครือข่ายแรงงานเอเชียออสเตรเลีย Australia Asia Worker Links  http://aawl.org.au/files//pdf/vthc_free_somyot_12_04_10.pdf หรือตามไฟล์ภาพข้างล่างนี้

 

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ออสเตรเลียผ่อนคลายคว่ำบาตรพม่า ข้อมูลปี 54 พบจีนลงทุนพม่าอันดับ 1 ไทยอันดับ 2

Posted: 17 Apr 2012 03:22 AM PDT

ออสเตรเลียเตรียมยกเลิกข้อจำกัดทางการเงินและยกเลิกการสั่งห้ามไม่ให้บุคคลในพม่าจำนวน 260 คนเข้าประเทศ ส่วนอียูเตรียมพิจารณามาตรการคว่ำบาตร 23 เม.ย. ด้านข้อมูลการลงทุนในปี 2554 พบ จีน ไทย ฮ่องกง เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร ลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 เม.ย.) นายบ๊อบ คารร์รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศออสเตรเลียเปิดเผยว่า ออสเตรเลียเตรียมจะยกเลิกข้อจำกัดทางการเงินและยกเลิกการสั่งห้ามไม่ให้บุคคลในพม่าจำนวน 260 คน เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีเต็ง เส่ง

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลออสเตรเลียจะยังคงข้อจำกัดสั่งห้ามไม่ให้บุคคลอีก 130 คนเดินทางเข้าประเทศ ในจำนวนดังกล่าวรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการทหาร เพื่อพยายามกดดันให้พม่าเดินหน้าเพิ่มการปฏิรูปประเทศสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น

การเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนของอังกฤษเดินทางเยือนพม่า และได้พบปะหารือกับนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า โดยทั้งคู่ต่างสนับสนุนการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติที่มีต่อพม่า

ด้านสหภาพยุโรป (EU) เตรียมพิจารณามาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าในวันที่ 23 เมษายนนี้ มีการคาดการณ์ว่าอียูอาจจะผ่อนปรนมาตรการที่เข้มงวด และอนุญาตให้นักลงทุน ลงทุนในพม่า ในอุตสาหกรรมพลังงาน (น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ) รวมถึงอุตสาหกรรมอัญมณี

ทั้งนี้ข้อมูลจากคณะกรรมการการลงทุนต่างชาติของพม่า (Myanmar Foreign Investment Commission : MIC ) ณ เดือนพฤศจิกายน  2554 พบว่า ประเทศที่มีการลงทุนในพม่าสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ อันดับ 1 จีน (33 โครงการ มูลค่าการลงทุน 13,947.146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อันดับ 2 ไทย (61 โครงการ มูลค่าการลงทุน 9,568.093 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อันดับ 3 ฮ่องกง (38 โครงการ มูลค่าการลงทุน 6,308.495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อันดับ 4 เกาหลีใต้ (47 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2,938.857 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และอันดับ 5 สหราชอาณาจักร ใต้ (51 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2,659.954 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

 

ที่มาข่าวบางส่วน:

Australia eases sanctions on Myanmar (aljazeera.com, 16-04-2012)

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น