โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

มท.1 รับข้อเรียกร้อง "คนไทยพลัดถิ่น" ชี้อาจต้องเปลี่ยนตัว "กก.รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น"

Posted: 18 Apr 2012 01:57 PM PDT

คนไทยพลัดถิ่นเยือนมหาดไทย ชุมนุมจี้ทบทวนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น พร้อมเสนอชื่อตัวแทนของเครือข่ายฯ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ด้าน มท.1 รับต้องเปลี่ยนตัวกรรมการฯ เหตุบางคนไม่มีพื้นฐานจริงๆ
 
 
 
วันที่ 18 เม.ย.55 เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยพร้อมคนไทยพลัดถิ่นราว 100 คน เดินทางร่วมชุมนุมที่หน้ากระทรวงมหาดไทยเรียกร้องการทบทวนคำสั่งการแต่งตั้งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ตามกฎหมายคืนสัญชาติ จากกรณีที่ได้รับทราบข้อมูลว่าคณะกรรมการรับรองคนไทยพลัดถิ่นที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 เม.ย.55 จะมีการประชุมนัดแรกในวันที่ 20 เม.ย.นี้ โดยได้มีการตั้งเต็นท์บริเวณด้านหน้าคลองหลอดกระทรวงมหาดไทยฝั่งกรมการปกครอง และยืนยันว่าหากไม่ได้รับคำตอบจะปักหลักชุมนุมต่อเนื่อง
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยได้มีโอกาสพบกับนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมกับยื่นจดหมายเปิดผนึกขอให้ทบทวนการแต่งตั้งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยผลัดถิ่น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของภาคประชาชนและตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
 
ด้านนายยงยุทธ แสดงความเห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง และได้ลงมาพบปะพูดคุยพร้อมให้กำลังใจกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น พร้อมรับปากจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งนี้หลังได้พบปะและเจรจากับนายยงยุทธ ผู้ชุมนุมพอใจและได้สลายตัวในเวลาต่อมา
 
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (19 เม.ย.55) เครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยมีกำหนดพบกับ นายพระนาย สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้ทำหนังสือเพื่อเสนอชื่อคณะกรรมการรับรองคนไทยพลัดถิ่นที่มีตัวแทนของเครือข่ายฯ อย่างเป็นทางการ
 
 
จดหมายเปิดผนึก ร้องทบทวนตั้ง “กก.รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น”
 
ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนึกถึงนายยงยุทธ มีเนื้อหาระบุว่า ตามที่เครือข่ายของคนไทยพลัดถิ่น ใช้เวลาถึง 10 ปี ในการผลักดันกฎหมายสัญชาติ ว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยให้คนไทยพลัดถิ่น และวันที่ 3 เม.ย.55 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกคำสั่งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น นั้น แต่ คำสั่งดังกล่าวขัดต่อตัวบทและความมุ่งหมาย แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 ดังนี้
1. กฎหมายสัญชาติ ดังกล่าว มุ่งหมายที่จะแก้ไขปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่ คนไทยพลัดถิ่น ด้วยการคืนสัญชาติไทย ซึ่งได้กำหนดให้มีคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น โดยกำหนดองค์ประกอบไว้ใน มาตรา 9/1 (3) ประกอบไปด้วย 
 
1.1 มาตรา 9/1 (1) และ (2) ได้แก่ ผู้แทนจากหน่วยงานในฐานะกรรมการ 7 คน คือ (1) ปลัดกระทรวงมหาดไทย (2) ผู้แทนกลาโหม (3) ผู้แทนกระทรวงต่างประเทศ (4) ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม (5) ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (6) ผู้แทนสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (7) ผู้แทนตำรวจแห่งชาติ
 
1.2 มาตรา 9/1 (3) มีสามส่วนย่อยในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 7 คน คือ
ส่วนที่หนึ่ง - นักวิจัยหรือนักวิชาการ ในสามด้าน (1) ด้านกฎหมายสัญชาติหรือสถานะบุคคล (2) ด้านสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา (3) ด้านประวัติศาสตร์หรือกลุ่มชาติพันธุ์
ส่วนที่สอง - ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน
ส่วนที่สาม - ผู้แทนภาคประชาชน
 
2. การที่เครือข่ายฯ เสนอกฎหมายให้มี “คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น” ที่แยกจากคณะกรรมการกลั่นกรองสัญชาติเดิมที่กระทรวงมหาดไทยมีอยู่แล้ว โดยเน้นใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ก็เพื่อให้การแก้ไขปัญหาตามกฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการระบุให้มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน และ ผู้แทนภาคประชาชน เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการประสานงานและข้อมูล รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับสภาพความจริงในพื้นที่ซึ่งถูกละเลยมายาวนาน ทั้งนี้เพื่อเติมเต็มช่องว่างของระบบเดิมที่มีอยู่ และให้สามารถสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการฯ ได้อย่างแท้จริง ดังนั้นการแต่งตั้งบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง จึงขัดต่อเจตนารมณ์กฎหมายนี้
 
อนึ่ง ในการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของกระทรวงมหาดไทย เครือข่ายฯ และภาคีความร่วมมือที่ได้ร่วมกันผลักดันกฎหมายนี้ ได้ทำบันทึกเสนอรายชื่อทั้ง 7 คนไปแล้ว แต่การแต่งตั้งเกือบทั้งหมดไม่เป็นไปตามข้อเสนอ และไม่มีการหารือร่วมกับ เครือข่ายฯ แต่ประการใด ซึ่งมีข้อเท็จจริงแต่ละบุคคล ดังนี้
 
1. รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ได้รับแต่งตั้งเป็นนักวิชาการด้านชาติพันธุ์ ข้อเท็จจริง รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ เป็นอาจารย์ประจำวิชากฎหมาย ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นสถานะบุคคลและสิทธิ และสนับสนุนการออกกฎหมายนี้มาโดยตลอด ดังนั้นควรแต่งตั้ง เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายสัญชาติหรือสถานะบุคคล
 
2. ศาสตราจารย์วิทิต มันตาภรณ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนักวิชาการด้านสถานะบุคคลข้อเท็จจริง ศาสตราจารย์วิทิต เป็นอาจารย์สอนกฎหมายระหว่างประเทศ และมีประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิเด็กมาเป็นเวลานาน ผลงานด้านสถานะบุคคลไม่เป็นที่ประจักษ์และไม่ได้ทำงานกับไทยพลัดถิ่น
 
3.นายปริญญา อุดมทรัพย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนภาคประชาชน ข้อเท็จจริง นายปริญญา เป็นอดีตข้าราชการ และเป็น กกต. จังหวัดเพชรบุรี ที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อแก้ปัญหาคนไทยพลัดถิ่น หรือผลักดันกฎหมายสัญชาตินี้แต่ประการใด รวมทั้งจังหวัดเพชรบุรีไม่ได้มีกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่ 
 
4.นายวิชช์ จิระแพทย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการโดยไม่ระบุความชำนาญ ข้อเท็จจริง เป็นอดีตอัยการ และเป็นกรรมาธิการปกครองของวุฒิสภา ฯ ที่อภิปรายโต้แย้งกฎหมายคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่นมากที่สุด และไม่เคยมีการประสานงานกับเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นแต่อย่างใด
 
5.ศาสตราจารย์ ดร.ชุมพร ปัจจุสานนท์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนักวิชาการด้านกฎหมายสัญชาติ ข้อเท็จจริง ศาสตราจารย์ ดร.ชุมพร เป็นนักวิชาการกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและธุรกิจระหว่างประเทศ และไม่เคยทำงานร่วมกับเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น แต่อย่างใด
 
ด้วยความเคารพในบุคลากร ทั้ง 5 ท่านข้างต้น และเคารพในความมุ่งหมายแห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 รวมทั้งเพื่อให้การปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นไปตามมาตรา 9/1 (3) , เพื่อเป็นการแก้ไข และป้องกันมิให้คำสั่งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิฯ มีเนื้อความที่ขัดต่อความมุ่งหมายแห่งตัวบท ความมุ่งหมายแห่งกฎหมาย อันหมายถึงการใช้อำนาจโดยบิดเบือน (Abuse of Power) และส่งผลให้คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 9 วรรค 1 (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542) และส่งผลให้คณะกรรมการฯ ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงตามความมุ่งหมายแห่งกฎหมาย
 
จึงขอให้ท่านดำเนินการทบทวนคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 246/2555 และขอให้มีคำสั่งแต่งตั้งรายชื่อตามที่เครือข่ายฯ และภาคีความร่วมมือเสนอ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
 
 
“ยงยุทธ” รับคงต้องเปลี่ยนตัวกรรมการฯ เหตุบางคนไม่มีพื้นฐานจริง
 
ขณะที่ เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า นายยงยุทธ กล่าวว่า ได้มอบอำนาจให้นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายสุกิจ เจริญรัตนกุล อธิบดีกรมการปกครอง เป็นผู้เสนอแต่งตั้งคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น แต่ปรากฏว่ากลับไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่น เมื่อพิจารณาแล้วคงต้องเปลี่ยนตัวกรรมการ เพราะบางคนไม่มีพื้นฐานด้านนี้จริงๆ
 
นายยงยุทธ กล่าวยกตัวอย่างว่า นายวิทิต มันตาภรณ์ นักวิชาการด้านสถานะบุคคล ที่ตอนนี้ทำงานให้กับสหประชาชาติ ได้มาบอกกับตนว่า จะขอลาออกจากกรรมการเพราะไม่ถนัด แต่สำหรับนางเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้แทนภาคองค์กรเอกชนพัฒนาเอกชนยอมรับได้ไม่ต้องเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม รายชื่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเสนอขึ้นมา ก็จะนำมาพิจารณาก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่
 
ภายหลังจากที่ได้เจรจากับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นแล้ว นายยงยุทธ ได้เรียกนายสุกิจ อธิบดีกรมการปกครอง เข้าพบกรณี เรื่องการเปลี่ยนตัวคณะกรรมการชุดดังกล่าว
 
สำหรับกรรมการทั้ง 7 คนนั้น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย ได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 246/2555 เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2555 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้ง มีดังนี้ 1.ศ.วิทิต มัณตาภรณ์ นักวิชาการด้านสถานะบุคคล 2.ศ.ดร.ชุมพร ปัจจุสานนท์ นักวิชาการด้านกฎหมายสัญชาติ 3.ศ.สุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการด้านสังคมวิทยา 4.รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นักวิชาการด้านชาติพันธุ์ 5.นางเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้แทนภาคองค์กรพัฒนาเอกชน 6.นายปริญญา อุดมทรัพย์ ผู้แทนภาคประชาชน 7.นายวิชช์ จิระแพทย์ 
 

หมายเหตุ: ภาพจาก Cha Aecha Khaewnobparath และ ไทย พลัดถิ่น

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เปิดจดหมายเครือข่ายนักวิชาการ-นักกฎหมาย จี้ทบทวนตั้ง กก.รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น

Posted: 18 Apr 2012 01:10 PM PDT

จดหมายเปิดผนึกถึง มท.1 ชี้คำสั่งขัดต่อกฎหมาย คณะกรรมการฯ ขาดองค์ประกอบผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วน ‘อ.แหวว’ ขอลาออกจากตำแหน่งแจงไม่ได้ถูกแต่งตั้งตามคุณวุฒิที่เป็นอยู่

 

 
 
วันที่ 18 เม.ย.55 เครือข่ายนักวิชาการและนักกฎหมาย ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อกรณีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น โดยขอให้ทบทวนคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 246/2555 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ลงวันที่ 3 เม.ย.55
 
จดหมายระบุว่า คำสั่งกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ปรากฏเนื้อหาที่ขัดต่อตัวบทและความมุ่งหมายแห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 และ พ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 อันหมายถึงการใช้อำนาจโดยบิดเบือน (Abuse of Power) และส่งผลให้คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 9 วรรค 1 (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542) และส่งผลให้คณะกรรมการฯ ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงตามความมุ่งหมายแห่งกฎหมาย กล่าวคือ
 
1.คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 246/2555 ขาดความสมบูรณ์ในแง่เนื้อหาหรือองค์ประกอบ เนื่องจากขาดองค์ประกอบของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในส่วนนักวิจัยหรือนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์หรือกลุ่มชาติพันธุ์ 
 
นอกจากนี้ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้จะทำงานด้านสถานะบุคคลและสิทธิที่เจ้าของปัญหาหรือผู้ทรงสิทธิ ได้แก่ บุคคลผู้มีชาติพันธุ์ต่างๆ หลากหลายที่ปรากฏตัวในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ อันรวมถึงคนไทยพลัดถิ่นด้วยก็ตาม แต่ต้องกล่าวว่า รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์เป็นอาจารย์ประจำวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งที่สำคัญของวิชาเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นสถานะบุคคล และสิทธิ (โดยกฎหมายสัญชาติเป็นเนื้อหาอย่างหนึ่งของสถานะบุคคลตามกฎหมาย) มิได้เป็นนักวิชาการหรือนักวิจัยที่มีความรู้ ประสบการณ์ด้านประวัติศาสตร์หรือชาติพันธุ์แต่อย่างใด
 
2.ผู้ทรง คุณวุฒิฯ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระบุหรือยืนยันถึงการมีอยู่ของข้อเท็จจริงอันเป็น องค์ประกอบที่กฎหมายกำหนดคุณสมบัติไว้ คือ บุคคลหนึ่งๆ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยเพราะมีคุณสมบัติใดกล่าวคือ เป็นนักวิจัยหรือนักวิชาการในด้านหนึ่งด้านใด หรือเป็นผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเป็นผู้แทนภาคประชาชน
 
จดหมายดังกล่าวยังระบุข้อเสนอแนะว่า เนื่องจากคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น คือ กลไกสำคัญที่จะคุ้มครองและผลักดันให้คนเชื้อสายไทยสามารถเข้าถึงและใช้สิทธิ ในสัญชาติไทยของพวกเขา โดยขอให้มีการดำเนินการทบทวนคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 246/2555 และมีคำสั่งฯ ฉบับใหม่เพื่อแต่งตั้งนักวิจัยหรือนักวิชาการผู้มีข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ ประกอบที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วน โดยมีความจำเป็น ทั้งยังเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบที่กฎหมายได้กำหนดเป็นคุณสมบัติไว้ว่า ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งนั้น จำเป็นต้องระบุหรือยืนยันว่าบุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง หรือระบุว่าเป็นผู้แทนของภาคส่วนใด
 
วันเดียวกัน รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านชาติพันธุ์ ได้ส่งจดหมายขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นแล้ว โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้แต่งตั้งตามคุณวุฒิที่เป็นอยู่
 
“คำสั่งดังกล่าวได้แต่งตั้งให้ดิฉันทำหน้าที่กรรมการผู้ทรงวุฒิในส่วนที่ เกี่ยวกับวิชาการด้านชาติพันธุ์ อันเป็นหัวข้อศึกษาในวิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ซึ่งดิฉันเองไม่เคยเรียนหรือทำวิจัยในสาขาวิชาดังกล่าว ดิฉันจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการผู้ทรงวุฒิที่อาจรับผิดชอบงานวิชาการด้าน ชาติพันธุ์”
 
“ด้วยว่า ดิฉันเป็นผู้สอนในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมากว่าสามสิบปี และการศึกษากฎหมายสัญชาติไทยเป็นหัวข้อที่สำคัญในสาขาวิชานี้ จริยธรรมของผู้สอนกฎหมาย ก็คือ การเคารพเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากผู้สอนกฎหมายเอง เป็นบุคคลหนึ่งที่ไม่เคารพเจตนารมณ์ของกฎหมาย ลูกศิษย์ของผู้สอนก็คงไม่มีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิของกฎหมายเช่นกัน จึงเป็นจริยธรรมของผู้สอนวิชาชีพกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของ กฎหมาย และผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่มนุษย์ในสังคม” จดหมายระบุ
 
ทั้งนี้จดหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
 
 
จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ต่อกรณีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น
(คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๕)
 
ที่  พิเศษ ๒/๒๕๕๕
 
วันที่  ๑๘ เมษายน  ๒๕๕๕
 
เรื่อง           ขอให้ทบทวนคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๕
เรียน          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
สำเนาถึง     ๑) ปลัดกระทรวงมหาดไทย
                 ๒) อธิบดีกรมการปกครอง
                 ๓) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
                 ๔) สภาทนายความ
                 ๕) สื่อมวลชน
 
สืบเนื่องจากการใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการออกคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๕
ในฐานะอาจารย์ประจำวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นักวิชาการ นักกฎหมายที่ทำงานวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านสถานะบุคลและสิทธิ ซึ่งมีรายนามข้างท้ายจดหมายฉบับนี้ มีความเห็นว่า คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ฯ อันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา ๙/๑ (๓) แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ ประกอบกับมาตรา ๖ แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ นั้น ปรากฎเนื้อหาที่ขัดต่อตัวบทและความมุ่งหมายแห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ และพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ อันหมายถึงการใช้อำนาจโดยบิดเบือน (Abuse of Power) และส่งผลให้คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา ๙ วรรค ๑ (๑) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒) และส่งผลให้คณะกรรมการฯ ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงตามความมุ่งหมายแห่งกฎหมาย กล่าวคือ
(๑)      คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ฯ ขาดความสมบูรณ์ในแง่เนื้อหาหรือองค์ประกอบ เนื่องจากขาดองค์ประกอบของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในส่วนนักวิจัยหรือนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทยของคนไทยพลัดถิ่น รวมถึงมีส่วนอย่างสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นในการคืนสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่น
นอกจากนี้ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้จะทำงานด้านสถานะบุคคลและสิทธิที่เจ้าของปัญหาหรือผู้ทรงสิทธิ ได้แก่ บุคคลผู้มีชาติพันธุ์ต่างๆ หลากหลายที่ปรากฏตัวในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ อันรวมถึงคนไทยพลัดถิ่นด้วยก็ตาม แต่ต้องกล่าวว่า รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ฯ เป็นอาจารย์ประจำวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ซึ่งเนื้อหาส่วนหนึ่งที่สำคัญของวิชาเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นสถานะบุคคลและสิทธิ (โดยกฎหมายสัญชาติเป็นเนื้อหาอย่างหนึ่งของสถานะบุคคลตามกฎหมาย) มิได้เป็นนักวิชาการหรือนักวิจัยที่มีความรู้ ประสบการณ์ด้านประวัติศาสตร์หรือชาติพันธุ์แต่อย่างใด
(๒)      ผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๙/๑ (๓) ที่จะมาทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระบุหรือยืนยันถึงการมีอยู่ของข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบที่กฎหมายกำหนดคุณสมบัติไว้ คือ บุคคลหนึ่งๆ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยเพราะมีคุณสมบัติใดกล่าวคือ เป็นนักวิจัยหรือนักวิชาการในด้านหนึ่งด้านใด หรือเป็นผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเป็นผู้แทนภาคประชาชน
ข้อเสนอแนะ
(๓)      นักวิชาการ นักกฎหมายด้านสถานะบุคคลและสิทธิฯ ขอเรียนย้ำต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครองว่า ภายใต้ความมุ่งหมายของพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ นั้น ประสงค์ที่จะแก้ไขเยียวยาปัญหาความไร้สัญชาติ ความไร้สิทธิที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและศักยภาพของตนเองในฐานะมนุษยคนหนึ่ง ด้วยเพราะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่คนเชื้อสายไทยไร้สัญชาติต้องเผชิญอย่างต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น คือ กลไกสำคัญที่จะคุ้มครองและผลักดันให้คนเชื้อสายไทยสามารถเข้าถึงและใช้สิทธิในสัญชาติไทยของพวกเขา
                               ดังนั้น ความครบถ้วนขององค์ประกอบในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นจำเป็นต้องประกอบดังนี้
(๓.๑)  ผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญฯ ต่อข้อเท็จจริงหรือ สถานการณ์ข้อเท็จจริงต่างๆ ของคนเชื้อสายไทยฯ หรือคนไทยพลัดถิ่นกลุ่มต่างๆ อันหมายถึง ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมาจากนักวิจัยหรือนักวิชาการด้านสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา ด้านประวัติศาสตร์หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการฯ ในการคืนสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาหลักเกณฑ์ กระบวนการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทยของคนไทยพลัดถิ่นในเชิงเนื้อหา
(๓.๒) ผู้แทนจากองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาชน อันเป็นไปตามหลักการการมีส่วนร่วม ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนสถานการณ์ข้อเท็จจริงของคนไทยพลัดถิ่นในแต่ละพื้นที่ รวมถึงการประสานงานกับเครือข่ายต่างๆ ของภาคองค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาชนเพื่อร่วมผลักดันการบังคับใช้กฎหมาย
(๓.๓) ผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทยของคนไทยพลัดถิ่น อันหมายถึง นักวิจัยหรือนักวิชาการด้านกฎหมายในประเด็นสถานะบุคคลและสิทธิ (โดยกฎหมายสัญชาติเป็นหนึ่งในกฎหมายสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชน หรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกฎหมายสถานะบุคคล) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการฯ ในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกระบวนการการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทยของคนไทยพลัดถิ่น ในเชิงเนื้อหาและรูปแบบ โดยทำหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย ความเป็นไปได้จริงของทางปฏิบัติในการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทย
นอกจากนี้ ในระหว่างทางของกระบวนการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทยของคนไทยพลัดถิ่น ยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมือง กฎหมายการทะเบียนราษฎร รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่างๆ ของผู้ทรงสิทธิ ดังนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายสถานะบุคคลและสิทธิจึงสามารถช่วยสนับสนุนงานของคณะกรรมการฯ ในการพิจารณา ตรวจสอบความสอดคล้องกับกฎหมายด้านสถานะบุคคลและสิทธิฉบับต่างๆ รวมถึงกฎหมายด้านสถานะบุคคลและสิทธิทุกลำดับชั้น
(๓.๔)  หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ มีความเกี่ยวข้องกับคนไทยพลัดถิ่นทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการฯ ในการบังคับใช้กฎหมายโดยการสั่งการไปตามสายบังคับบัญชา รวมถึงสายการกำกับดูแล
(๔)      เพื่อเป็นการเคารพต่อความมุ่งหมายของตัวบท และเจตนารมณ์แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ และพ.ร.บ.สัญชาติ ฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ นักวิชาการ นักกฎหมายด้านสถานะบุคคลและสิทธิฯ จึงเรียนมาเพื่อขอให้มีการดำเนินการทบทวนคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ฯ  และมีคำสั่งฯ ฉบับใหม่เพื่อแต่งตั้งนักวิจัยหรือนักวิชาการผู้มีข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบที่กฎหมายกำหนดให้ครบถ้วน โดยมีความจำเป็น ทั้งยังเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบที่กฎหมายได้กำหนดเป็นคุณสมบัติไว้ว่า ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งนั้น จำเป็นต้องระบุหรือยืนยันว่าบุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง หรือระบุว่าเป็นผู้แทนของภาคส่วนใด
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
 
ขอแสดงความนับถือ
 
 
 
 
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บงกช  นภาอัมพร
นักวิชาการด้านสถานะบุคคล มหาวิทยาลัยมหิดล
 
 
 
จุฑิมาศ สุกใส
นักศึกษาปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กรกนก วัฒนภูมิ
นักกฎหมาย
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ
 
 
พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์
นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักกฎหมายโครงการบางกอกคลินิก ในกองทุนศ.คนึง ฦาไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นายสุมิตรชัย หัตถสาร
ทนายความ และ
ผู้อำนวยการ ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
 
 
นายชาติชาย อมรเลิศวัฒนา
นักกฎหมาย คลินิกกฎหมายด้านสิทธิและสถานะบุคคล
ศูนย์สังคมพัฒนา มูลนิธิคาทอลิก สุราษฎร์ธานี
                   นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงาน       เครือข่ายชนเผ่าและชาติพันธุ์แห่งประเทศไทย
 
 
 
 
จดหมายขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ของ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร 
 
 
วันพุธที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕
 
เรื่อง      ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามมาตรา ๙/๑ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕
 
เรียน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
 
อ้างถึง
 
คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ เรื่องแต่งตั้งผู้ทรงวุฒิเป็นกรรมการในคณะคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ณ วันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕
 
ดังที่ท่านได้มีคำสั่งแต่งตั้งดิฉันให้ทำหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามมาตรา ๙/๑ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ ตามปรากฏตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๒๔๖/๒๕๕๕ เรื่องแต่งตั้งผู้ทรงวุฒิเป็นกรรมการในคณะคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ณ วันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ นั้น ดิฉันขอแสดงความขอบคุณอย่างยิ่งที่ท่านเห็นในความเชี่ยวชาญของดิฉันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติไทยของคนไทยพลัดถิ่น แต่ด้วยว่า คำสั่งดังกล่าวได้แต่งตั้งให้ดิฉันทำหน้าที่กรรมการผู้ทรงวุฒิในส่วนที่เกี่ยวกับวิชาการด้านชาติพันธุ์ อันเป็นหัวข้อศึกษาในวิชามานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ซึ่งดิฉันเองไม่เคยเรียนหรือทำวิจัยในสาขาวิชาดังกล่าว ดิฉันจึงไม่มีคุณสมบัติเป็นกรรมการผู้ทรงวุฒิที่อาจรับผิดชอบงานวิชาการด้านชาติพันธุ์
 
ขอให้ตระหนักว่า การที่ มาตรา ๙/๑(๓)  ข้างต้นบัญญัติให้คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นประกอบด้วย “ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินเจ็ดคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยต้องมีนักวิจัยหรือนักวิชาการทางด้านกฎหมายสัญชาติหรือสถานะบุคคล ด้านสังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยา ด้านประวัติศาสตร์หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนรวมอยู่ด้วย เป็นกรรมการ” ก็เพราะบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ที่จะให้มีนักวิชาการ ๒ ประเภทเพื่อทำหน้าที่รับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น อันเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิต กล่าวคือ (๑) นักวิจัยหรือนักวิชาการที่มีความรอบรู้เกี่ยวกับความเป็น “ผู้ซึ่งมีเชื้อสายไทยที่ต้องกลายเป็นคนในบังคับของประเทศอื่น โดยเหตุอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยในอดีต” ซึ่งเป็นบุคคลเป้าหมายของการรับรองสิทธิดังที่กำหนดในมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ และ (๒) นักวิจัยหรือนักวิชาการที่มีความรอบรู้เกี่ยวกับกฎหมายสัญชาติหรือสถานะบุคคล ซึ่งเป็นศาสตร์ที่จะต้องใช้ในการปรับสถานะคนต่างด้าวของคนไทยพลัดถิ่นหรือบุตรของคนดังกล่าวให้มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตดังบุพการี  โดยเหตุผลของเรื่อง การมีผู้ทรงวุฒิอย่างครบถ้วนที่จะจัดการปัญหาย่อมนำไปสู่การรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นอย่างถูกต้องและไม่ล่าช้าจนเกินสมควร การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงวุฒิตามมาตรา ๙/๑ (๓) อย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ของการยกร่างกฎหมายเท่านั้นจึงจะนำไปสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่คนไทยพลัดถิ่นที่ประสบความยากลำบากที่ต้องอพยพหนีภัยการสู้รบกลับจากดินแดนที่ประเทศไทยเสียไปในอดีต
 
นอกจากนั้น ด้วยว่า ดิฉันเป็นผู้สอนในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมากว่าสามสิบปี และการศึกษากฎหมายสัญชาติไทยเป็นหัวข้อที่สำคัญในสาขาวิชานี้ จริยธรรมของผู้สอนกฎหมาย ก็คือ การเคารพเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากผู้สอนกฎหมายเอง เป็นบุคคลหนึ่งที่ไม่เคารพเจตนารมณ์ของกฎหมาย ลูกศิษย์ของผู้สอนก็คงไม่มีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิของกฎหมายเช่นกัน จึงเป็นจริยธรรมของผู้สอนวิชาชีพกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่มนุษย์ในสังคม
 
ดิฉันจึงจำเป็นที่จะต้องขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นตามมาตรา ๙/๑ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ หากท่านมิได้แต่งตั้งดิฉันในคุณวุฒิที่ดิฉันเป็นอยู่
 
ท้ายที่สุด ดิฉันขอความกรุณาที่ท่านจะรักษาการตาม พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ เพื่อให้คนไทยพลัดถิ่นจำนวนไม่มากนักที่ยังประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติทั้งที่อพยพกลับจากดินแดนที่เสียไปมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว พวกเขาประสบความยากลำบากในชีวิตด้วยมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย อันทำให้มีอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ดิฉันขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมาล่วงหน้า
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
 
 
 
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
 
(รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร)
รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

นายกรัฐมนตรีจีน-ไทยลงนามความตกลง 7 ฉบับหวังขยายความร่วมมือเศรษฐกิจ-ยุทธศาสตร์

Posted: 18 Apr 2012 12:18 PM PDT

จีนไทยลงนามข้อตกลง 7 ฉบับ ขยายความร่วมมือทางยุทธศาสตร์-เศรษฐกิจ-การค้า เป็นเวลา 5 ปี นายกรัฐมนตรีจีนหวังไทย-จีน ค้าขายใช้เงินบาท-หยวนมากขึ้น "ยิ่งลักษณ์" หวังสองชาติร่วมมือกันมากขึ้น พร้อมรับติดตามกรณีลูกเรือจีนถูกยิงที่แม่น้ำโขง หวังจะสามารถรักษาความปลอดภัยเส้นทางเดินเรือน้ำโขงอย่างจริงจัง

ที่มา: สถานีวิทยุสากลแห่งประเทศจีน

เว็บไซต์ของสถานีวิทยุสากลแห่งประเทศจีน ภาคภาษาไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายนนี้ นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนหารือข้อราชการกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยที่เดินทางมาเยือนจีนที่กรุงปักกิ่ง หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายลงนามความตกลงและเอกสาร 7 ฉบับ เช่น โครงการความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ และแผนการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และการค้าระยะ 5 ปี

นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไทยมีพื้นฐานที่มั่นคงมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ทั้งสองประเทศยืนหยัดในการเคารพกันและกัน ปฏิบัติต่อกันอย่างเสมอภาคเท่าเทียม และเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เปี่ยมด้วยมิตรไมตรีต่อกัน ในยามที่ประสบกับความยากลำบาก รัฐบาล และประชาชนของทั้งสองประเทศได้ช่วยเหลือ และสนับสนุนกัน จึงเป็นมิตรและหุ้นส่วนที่เชื่อถือกันได้ จีนยินดีเสริมการแลกเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์กับไทยต่อไป ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการรับมือกับการท้าทายต่างๆ และจะขับเคลื่อนความร่วมมือด้านต่างๆให้มีความคืบหน้ามากขึ้น

นายเวิน เจียเป่า ให้ข้อเสนอว่า จีน ไทยต้องประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ปฎิบัติตามโครงการความร่วมมือทางยุทธศาสตร์จีน-ไทยฉบับที่ 2 และแผนการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และการค้าระยะ 5 ปีอย่างจริงจัง พยายามขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการค้า และการลงทุน เพิ่มการใช้สกุลเงินหยวนและสกุลเงินบาทในการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ พยายามให้เป้าหมายการให้มูลค่าการค้าทวิภาคีสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2015 นั้นสำเร็จก่อนเวลากำหนด ต้องเสริมความร่วมมือด้านการสร้างทางรถไฟ ส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายการเชื่อมต่อด้านคมนาคมระหว่างจีน-อาเซียน เพิ่มความร่วมมือด้านมหาสมุทร การสื่อสารโทรคมนาคม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี พลังงาน และการเกษตร กระชับการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม

นายเวิน เจียเป่า ยังกล่าวว่า จีนจะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทยต่อไปอีกในการบูรณะสร้างสรรค์บ้านเมืองภายหลังประสบอุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างจีน ลาว เมียรมาร์ และไทยในการบังคับใช้กฎหมายตามเส้นทางการเดินเรือแม่น้ำโขง เสริมการประสานงานความร่วมมือในเอเชียตะวันออก และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง อีกทั้งต้องปฏิบัติตามแถลงการณ์ว่าด้วยหลักการปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ ในทะเลจีนใต้อย่างจริงจัง เพื่อร่วมกันพิทักษ์สันติภาพ และความมั่นคงของทะเลจีนใต้

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยขอบคุณจีนให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนไทยในการต่อต้านอุทกภัย และการบูรณะสร้างสรรค์บ้านเมือง และกล่าวว่า ความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือทางยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างไทย-จีนนั้นสองคล้องกับประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ ประเทศไทยยินดีเสริมการแลกเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์กับจีน ใช้กลไกทวิภาคีต่างๆ ที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ เพิ่มการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านต่างๆ ให้มากขึ้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรยังกล่าวว่า ไทยจะเร่งดำเนินคดีเกี่ยวกับลูกเรือจีนที่ประสบเคราะห์ร้ายในเหตุการณ์แม่น้ำโขงตามกระบวนการของระบบกฎหมาย ลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด และจะรักษาความปลอดภัยของเส้นทางการเดินเรือแม่น้ำโขงอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ไทยยินดีส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน และแสดงบทบาททางบวกในการพิทักษ์สันติภาพ และความมั่นคงของทะเลจีนใต้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'ฟิลิปปินส์' เชื่อในพระเจ้ามากที่สุดในโลก

Posted: 18 Apr 2012 11:52 AM PDT

เว็บไซต์มติชน นำเสนอรายงานผลการสำรวจล่าสุดที่จัดทำโดย NORC รีเสิร์ช กรุ๊ปแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1991 ใน 30 ประเทศ ซึ่งเกือบทั้งหมดมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์ ที่ใช้ชื่อรายงานว่า "Belief About God Across Time and Countries" พบว่า "ฟิลิปปินส์"กลายเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากร"เชื่อถือในพระเจ้า"มากที่สุดในโลก ขณะที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเลื่อมใสในศาสนามากที่สุด

ผลสำรวจระบุว่า ชาวฟิลิปปินส์ร้อยละ 94 กล่าวว่า เชื่อมั่นอยู่เสมอในพระเจ้า ตามมาด้วยชาวชิลีร้อยละ 88 และชาวอเมริกันร้อยละ 81 ส่วนประเทศที่มีประชาชนเชื่อมั่นในพระเจ้าน้อยที่สุดคืออดีตเยอรมนีตะวันออกร้อยละ 13 และสาธารณรัฐเช็กร้อยละ 20

ผลสำรวจพบด้วยว่า การไม่เชื่อในพระเจ้ามีอยู่อย่างกว้างขวางที่สุดในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย และอดีตสหภาพโซเวียต ยกเว้นโปแลนด์ ความเชื่อในพระเจ้ามีแนวโน้มลดลงทั่วโลก แต่ไม่ใช่ที่รัสเซีย สโลเวเนียและอิสราเอล

นอกจากนั้น ประชากรสูงวัยมีแนวโน้มเชื่อมั่นในพระเจ้าอย่างแรงกล้า ซึ่งโดยเฉลี่ยพบว่า ร้อยละ 43 ของผู้ที่มีอายุ 68 ปีขึ้นไป "เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง"  ขณะเพียงร้อยละ 23 ของคนวัยหนุ่มสาวที่มีอายุ 27 ปีลงมา ที่เชื่อเช่นนั้น  และเมื่อเปรียบเทียบคนทุกกลุ่มอายุ พบว่าคนในวัย 58 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อในพระเจ้าเพิ่มขึ้นมากที่สุด บ่งบอกว่าความเชื่อในพระเจ้าจะเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งบางทีอาจเป็นเพราะความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นในชีวิตหลังความตาย

ในสหรัฐฯ ร้อยละ 54 ของคนที่มีอายุต่ำกว่า 28 ปี กล่าวว่าพวกเขาเชื่อมั่นในการมีอยู่จริงของพระเจ้า  เปรียบเทียบกับร้อยละ 66 ของคนที่มีอายุ 68 ปี ขึ้นไป  ขณะที่ ร้อยละ 8 ของคนหนุ่มสาวในฝรั่งเศส กล่าวว่าเชื่อในพระเจ้า เปรียบเทียบกับร้อยละ 26 ในกลุ่มผู้ใหญ่

การสำรวจดังกล่าวทำขึ้นในปี 1991 1998 และ 2008  ส่วนใหญ่สำรวจในประเทศยุโรป นอกนั้นคือชิลี ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: ข้อสังเกต 'ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา' (ฉบับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ)

Posted: 18 Apr 2012 11:20 AM PDT

หลังจากบันทึกเทปสนทนา “ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา” ในรายการ “คม ชัด ลึก” วิทยากรจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปรยขึ้นว่า “ผมเป็นคนหนึ่งที่รับผิดชอบกรณีของคำ ผกา อยู่ กำลังพิจารณากันว่าจะมีแง่มุมเอาผิดทางกฎหมายได้หรือเปล่า”

อันที่จริงนี่เป็นการ “สนทนานอกรอบ” โดยมารยาทแล้วผมไม่ควรนำมาเปิดเผย แต่ผม “สะดุด”กับคำพูดนี้มาก และเห็นว่ากรณีคำ ผกา เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว การดำเนินการใดๆ ในส่วนของผู้เกี่ยวข้องต่อจากนี้ย่อมเป็นเรื่องที่สาธารณะควรรับทราบเช่นกัน หาก “ท่านที่ถูกพาดพิง” ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผมเขียนต่อไปนี้ ย่อมสามารถโต้แย้งผ่านสื่อสาธารณะได้เช่นกัน

ผมเพิ่งทราบว่า “ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ฉบับ สนช.” ที่ผมวิจารณ์ในบทความชื่อ “ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาทำให้พระกลายเป็นอภิสิทธิชนยิ่งกว่าเจ้า” นั้นตกไปแล้ว ยังเหลือเพียงร่างของ พศ.กับของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปไตยเท่านั้นที่อยู่ระหว่างรอบรรจุวาระเพื่อพิจารณาของสภา

เฉพาะร่างของ พศ.เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอุปถัมภ์พุทธศาสนา ส่วนที่เป็น “บทกำหนดโทษ” ที่สำคัญมี 2 มาตราคือ

มาตรา 37 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นเหยียดหยามพระศาสดาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดตามวรรคแรก เป็นการกระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ หรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียงอย่างอื่น กระทำโดยการกระจายเสียงหรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นต้องระวางโทษเป็นสองเท่า

มาตรา 38 ผู้ใดก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในศาสนธรรม เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อสังเกตคือ อัตราโทษเท่ากับมาตรา 44 ทวิ แห่ง พรบ.คณะสงฆ์ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ.2535 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราช และมาตรา 44 ตรี ผู้ใดใส่ความคณะสงฆ์หรือคณะสงฆ์อื่นอันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือความแตกแยก ซึ่งอัตราโทษดังกล่าวเท่ากับอัตราโทษในกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา (ที่จริงกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาก็ครอบคลุมสมเด็จพระสังฆราชและพระสงฆ์ทั่วไปอยู่แล้ว)

ส่วนเนื้อหา เมื่อย้อนกลับไปดูนิยามคำว่า “ศาสดา” (ในมาตรา 3) หมายถึง “พระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนา” ส่วน “ศาสนธรรม” หมายถึง “พระธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก”

จะเห็นว่า “ศาสดา” หมายถึงพระพุทธเจ้าที่เป็น “บุคคล” ไม่ใช่ “พระพุทธรูป” เพราะ “พระพุทธรูป” น่าจะหมายถึง “วัตถุอันเป็นที่เคารพ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 206 “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมการกระทำผิดต่อพระพุทธรูปจึงมีอัตราโทษสูงกว่าพระศาสดาซึ่งเป็นบุคคล?

ส่วนความผิดต่อ “ศาสนธรรม” นั้น ถ้าร่างกฎหมายนี้ถูกบังคับใช้ วัดพระธรรมกายก็ต้องมีความผิด เพราะสอนว่า “นิพพานเป็นอัตตา” หรือบรรดาลูกศิษย์ที่ถือตามหลวงพ่อฤษีลิงดำที่สอนว่า “นิพพานเป็นอัตตา” ก็มีความผิด เพราะคำว่า “นิพพานเป็นอัตตา” ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก บรรดาลูกศิษย์ที่ยึดถือคำสอนของหลวงตามหาบัวที่อธิบายนิพพานเป็น “สถานที่” ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์และพระอรหันต์ทั้งหมดที่ปรินิพพานแล้วไปสถิตอยู่ และวันดีคืนดีพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เหล่านั้นก็มาปรากฏกายยังโลกมนุษย์ได้ ดังที่เคยลงมาแสดงความยินดี (อนุโมทนา) กับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในคืนที่ท่านบรรลุธรรม ข้อมูลทำนองนี้ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก บรรดาศิษย์หลวงตาบัวที่ยึดถือต่อๆ กันในเรื่องนี้ก็ต้องมีความผิด แม่ชีทศพร และ ฯลฯ ก็ต้องมีความผิด

เผลอๆ ถ้าใช้มาตรา 38 เพื่อ “คุ้มครองพระพุทธศาสนา” กันจริงๆ อาจต้องจับชาวพุทธกว่าครึ่งประเทศเข้าคุก เพราะมีเป็นจำนวนมากที่สอนผิดจากพระไตรปิฎก “ฆ่าเวลาบาปมากกว่าฆ่าคน” มีในพระไตรปิฎกไหม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป” มีในพระไตรปิฎกไหม หรือเอาเข้าจริงๆ “เผด็จการโดยธรรม” อาจไม่มีในพระไตรปิฎกเลย

เห็นหรือไม่ว่า “เจตนาดี” ที่จะใช้กฎหมายคุ้มครองพุทธศาสนา แต่กฎหมายที่เขียนออกมาแบบนี้แหละจะกลายเป็น “อาวุธ” ที่ชาวพุทธใช้ฟาดฟันกันเองจนเลือดท่วมจอ!

ที่สำคัญข้อความว่า “ผู้ใดก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในศาสนธรรม เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา” นั้น สามารถตีความได้ “ครอบจักรวาล” มาก ย่อมเป็นไปได้ง่ายที่ข้อความตามหนังสือศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยที่ให้กรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมของสภาฯตรวจสอบเนื้อหารายการ “คิดเล่นเห็นต่าง กับคำ ผกา” ข้างล่างนี้จะถูกตีความให้เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 38

ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบแล้วทำให้พบประเด็นการแสดงความคิดเห็นที่แสดงความไม่รู้จริงในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และมีการกล่าววาจาลบหลู่ต่อพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา มีการกล่าวให้ร้ายรัฐบาลต่อนโยบายซึ่งเป็นไปตามมาตรา 37 และมาตรา 79 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมีการกล่าวพาดพิงถึงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาในพระราชพิธี ซึ่งประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะซึ่งปรากฏในมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสถาบันหลักทั้ง 2 ของราชอาณาจักรไทย (ดูเว็บไซต์ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย)

ซึ่งหมายความว่า มาตรานี้ย่อมกระทบต่อ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน (นี่ขนาดกฎหมายนี้ยังไม่เข้าสภาผู้มีส่วนเกี่ยวรับผิดชอบกรณีคำ ผกา ยัง “กำลังพิจารณากันว่าจะมีแง่มุมเอาผิดทางกฎหมายได้หรือเปล่า”)

เราคงคุ้นกับคำว่า “รัฐคือความชั่วร้ายที่จำเป็น” หมายความว่า รัฐสามารถใช้ความรุนแรง เช่น กำกัดอิสรภาพ ริบทรัพย์ วิสามัญฆาตกรรมฯลฯ แก่บุคคลใดๆ ที่ละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ฯลฯ ของพลเมือง คำถามคือกรณี “ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในศาสนธรรม” เช่น สอนผิดจากพระไตรปิฎก ฯลฯ สมควรที่รัฐต้องใช้ “ความรุนแรง” เข้ามาจัดการเช่นนั้นหรือ?

ที่สำคัญตามหลักการของพุทธศาสนาจริงๆ นั้น พระพุทธเจ้ายอมรับได้กับการใช้ความรุนแรง เช่น การจำคุก ปรับ แก่การกระทำที่ “ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในศาสนธรรม” หรือไม่?

ผมนึกถึงข้อความที่พระพุทธเจ้าตอบคำถามอนาถบิณฑกเศรษฐีที่ถามพระพุทธเจ้าว่า ควรปฏิบัติต่อพระภิกษุชาวเมืองโกสัมพีที่ทะเลาะแตกแยกกันแล้วกลับมาปรองดองกันอย่างไรดี? ท่านตอบว่า “ให้ถวายทานและฟังธรรมจากทั้งสองฝ่ายอย่างเสมอภาคกัน เมื่อฟังธรรมแล้วเห็นว่าฝ่ายใดเป็นธรรมวาที จงพอใจในความเห็นและเชื่อถือฝ่ายธรรมวาทีนั้น”

ความหมายง่ายๆ คือถ้าฝ่ายไหนสอนธรรมถูกต้องก็ให้พอใจและเชื่อถือฝ่ายนั้น ซึ่งหมายความว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้แนะนำให้ฆราวาสบัญญัติกฎหมายจำคุกแก่ฝ่ายที่ “ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในศาสนธรรม” (หากมีภิกษุที่สอนผิดก็อาจมีการเรียกมาซักซ้อมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง) และหมายความต่อไปว่า 1) พระพุทธเจ้าเคารพในวิจารณญาณชาวบ้านว่าตัดสินใจด้วยวิจารณญาณของตนเองได้ 2) พระสงฆ์ที่สอนถูกจะได้รับความเชื่อถือและสนับสนุนจากชาวบ้านเอง

ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาแตกแยกออกไปว่าร้อยนิกาย หลายนิกายที่ไม่ได้รับความเชื่อถือและสนับสนุนจากผู้คนก็สูญสลายไป ส่วนนิกายที่มีคนศรัทธาสนับสนุนก็คงอยู่ต่อมา จนกระทั่งยุคพระเจ้าอโศกมหาราชที่พุทธศาสนาถูกผนึกเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ ในแง่หนึ่งก็เป็นยุคที่พุทธรุ่งเรืองสุดขีดเพราะมีอำนาจรัฐหนุนในการศึกษา การเผยแผ่ศาสนาธรรมทั้งในและนอกอาณาจักร แต่ในแง่หนึ่งก็สะท้อนถึงความอ่อนแอของคณะสงฆ์เองที่ต้องพึ่งพาอำนาจรัฐเข้ามาจัดการตั้งแต่ปัญหาความแตกแยกในวงการสงฆ์ การลงโทษพระที่ทำความผิดตั้งแต่การจับสึก กระทั่งประหารชีวิต การส่งเสริมการศึกษา การกำหนดนโยบายว่าพระสงฆ์ควรสอนอะไรแก่ประชาชน เป็นต้น

กลายเป็นว่า ความเชื่อมั่นในความเป็นอิสระที่จะปกครองตนเองด้วยหลักพระธรรมวินัยที่เคยเป็นมาตั้งแต่ยุคก่อนพระเจ้าอโศกย้อนไปถึงยุคพุทธกาลค่อยๆ ลดน้อยถอยลงโดยลำดับ แน่นอนว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาในรัฐราชาธิปไตยในอุษาคเนย์ ต่างยึดถือ “โมเดลอโศกมหาราช” เป็นโมเดลในอุดมคติตลอดมา

สำหรับรัฐไทยได้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐมาจนกระทั่งองค์กรสูงสุดของสงฆ์มีสถานะเป็น “บริวารของพระราชา” ในรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า “ราชาคณะ” ซึ่งได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์และการอุปถัมภ์จากพระราชา รวมทั้งพุทธศาสนาถูกผนึกรวมเป็นอุดมการณ์หลักของรัฐที่เรียกว่า “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ที่มีความศักดิ์สิทธิ์หากใครไม่กตัญญูรู้คุณก็จะถูก “พระสยามเทวาธิราช” สาปแช่ง!  

โมเดลความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาดังกล่าวย่อมปรากฏใน “หลักการและเหตุผล” แห่งร่างฯของ พศ.ที่ว่า “...และโดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติให้รัฐต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งต้องสนับสนุนการนำหลักธรรมของมาเพื่อใช้เสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

หมายความว่า ต้องการให้ “รัฐประชาธิปไตย” ทำหน้าที่อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาเฉกเช่น “รัฐราชาธิปไตย” นั่นเอง!

ยิ่งไปดูใน “หมวดอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา” เห็นได้ชัดว่า รัฐมีบทบาททั้งกำหนดแนวนโยบายการศึกษา การสอนคุณธรรมจริยธรรม การบริหารของสงฆ์ และจัดงบประมาณสนับสนุน (ซึ่งปัจจุบัน พศ.ได้งบฯปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท นัยว่า 20% จ่ายเงินเดือนเบี้ยเลี้ยงสวัสดิการแก่ข้าราชการเจ้าหน้าที่ของ พศ.80% สนับสนุนคณะสงฆ์ [ทั่วประเทศประมาณ 250,000 รูป บวก-ลบเล็กน้อย] ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจัดโครงการปฏิบัติธรรมของวัดต่างๆ ทั่วประเทศ)

และยิ่งนึกภาพ “คณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” ที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานอยู่หัวโต๊ะ และกรรมการอีก 18 คน ซึ่งในนั้นมีพระสงฆ์ที่เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง และพระสงฆ์ผู้แทนมหาเถรสมาคนอีก 3 รูป อยู่ด้วย ยิ่งมองเห็นภาพชัดว่า “อำนาจแห่งพระธรรมวินัย” ในการจัดการเกี่ยวกับพุทธศาสนานั้นขึ้นต่อ “อำนาจรัฐ” อย่างชัดเจน

ผมนึกถึงภาพรัฐมนตรีต้องออกมาให้สัมภาษณ์เป็นรายวันเกี่ยวกับการ “ทำผิดวินัยสงฆ์” ของนิกร ยันตระ กรณีสันติอโศกเรื่อง “อวดอุตตริมนุสสธรรม” ถูกหรือผิด กรณี “วิวาทะ” เรื่อง “นิพพานเป็นอัตตา-อนัตตา” และกรณี “รัฐมนตรีไปนั่งเถียงกับแม่ชีทศพร” ทั้งที่ตัวเองก็ไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องพระธรรมวินัยและมีงานบริหารราชการแผ่นดินอื่นๆ ล้นมืออยู่แล้ว

ลองนึกดูนะครับ หากชาวพุทธเชื่อว่าอำนาจรัฐและกฎหมายมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาพุทธศาสนาดีกว่าพระธรรมวินัย ต่อไปถนนทุกสายอาจมุ่งสู่ “นายกรัฐมนตรี” เมื่อเปิดรายการข่าว “เรื่องเล่าเช้านี้” หรือ “เก็บตกจากเนชั่น” เป็นต้น เราอาจเห็นภาพผู้สื่อข่าวเอาไมค์ไปจ่อปากนายกฯ ถามปัญหาจิปาถะเช่น ในฐานะที่น่าเป็นประธานคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะเอายังไงกับเรื่องพระตุ๊ดไปแย่งผัวชาวบ้าน พระที่ถูกกล่าวหาว่าทำสีกาท้องจะให้พิสูจน์ดีเอ็นเอหรือไม่ มีในพระไตรปิฎกเล่มไหนหรือเปล่าที่พระพุทธเจ้าสอนให้แขวนเปลือกหอยหน้าห้องนอนแก้กรรม ท่านนายกคะนิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ฯลฯ (สมมติเล่นๆ แต่อย่าคิดว่าปรากฏการณ์แบบนี้จะเป็นไปไม่ได้ เพราะเคยเกิดมาแล้วดังตัวอย่างในอดีตที่ยกมา)

ถึงตรงนี้ผมนึกถึงคำพูดของ อาจรารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่ว่า “ความผิดพลาดอย่างหนึ่งของคณะราษฎรคือการไม่ยกเลิกระบบสมศักดิ์” และความผิดพลาดนี่แหละครับที่ทำให้ “รูปการณ์จิตสำนึก” ของคณะสงฆ์และชาวพุทธบ้านเรายังไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แม้ว่าเราจะอยู่ในโลกยุคประชาธิปไตยแล้ว

เสียดายเหลือเกินครับที่พุทธศาสนาซึ่งมีพระศาสดาที่ไม่ยอมรับการมี “นักโทษทางความคิด” ให้เสรีภาพทางความคิดอย่างสูงสุด (ตามหลักกาลามสูตรเป็นต้น) ใครจะปฏิเสธไม่เชื่อพระศาสดาก็ได้ วิจารณ์ได้ ด่าได้ สอนผิดสอนถูกได้

การกระทำที่ “ถูก” หรือ “ผิด” ต่อพระศาสดา พระธรรม และพระสงฆ์ มีผลในทางศีลธรรมเพียงแค่การเชื่อถือ/สนับสนุน หรือไม่เชื่อถือ/ไม่สนับสนุนของผู้คนและสังคมเท่านั้น ไม่มีโทษอาญา ทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น

เสียดายจริงๆ ครับที่หลักการของพระพุทธเจ้าดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นปรัชญาแห่งการดำรงอยู่ของพุทธศาสนาอย่างกลมกลืน และสนับสนุนกับความเป็นสังคมอารยประชาธิปไตย!

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กอ.รมน.- นักศึกษานิติ มธ. เบิกความสืบพยานโจทก์ คดี ‘สมยศ’

Posted: 18 Apr 2012 10:00 AM PDT

วันแรกของการสืบพยานต่อเนื่องในกรุงเทพฯ หน่วยงานความมั่นคงระบุ มอนิเตอร์ละเอียดสื่อแดง 3 ฉบับ กอ.รมน.ยังงงกระบวนการ ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษแล้วส่งกลับมา ศอฉ.ให้ กอ.รมน.ไปร้องทุกข์กล่าวโทษตามหลัง ด้านนักศึกษานิติ มธ.อดีตนักศึกษาฝึกงานดีเอสไอเป็นพยานโจทก์ยันบทความเข้าข่ายหมิ่น ส่วนทนายจำเลยเตรียมเบิกพยานอาจารย์จากรั้วเดียวกัน

18 เม.ย.55 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดา มีการสืบพยานโจทก์คดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบก.นิตยสาร Vioce of Taksin ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาความผิดหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 58, 91

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์นัดที่ 5 แต่เป็นนัดแรกที่สืบพยานที่กรุงเทพมหานคร และมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการสืบพยานราว 20 คน รวมถึงนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ด้วย ทั้งนี้ ในวันนี้มีการสืบพยาน 5 ปาก โดยเป็นนายทหารในหน่วยงานของกองทัพบก 3 ปาก และเป็นนักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งไปฝึกงานที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อีก 2 ปาก

นายสุวิทย์ หอมหวน ทนายจำเลย กล่าวว่า วันที่ 1-4 พ.ค.ซึ่งเป็นวันสืบพยานจำเลยนั้น ตามบัญชีพยานคาดว่าจะมีพยานทั้งหมด 13 ปาก เช่น นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ , สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ , ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, สุนัย จุลพงศธร  ส.ส.พรรคเพื่อไทย, จิตรา คชเดช นักกิจกรรมด้านแรงงาน, ประวิตร โรจนพฤกษ์ สื่อมวลชน รวมถึงจำเลยเองด้วย

ด้านนายสมยศ ซึ่งถูกเบิกตัวจากเรือนจำมาศาลพร้อมโซ่ตรวน ให้สัมภาษณ์โดยตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนไทยที่ไม่นับสมยศเป็นสื่อมวลชนว่า เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะคดีมีความเกี่ยวพันกับสถานบันกษัตริย์ ซึ่งสื่อโดยทั่วไปก็ไม่กล้าแม้แต่จะรายงานเรื่องนี้อย่างจริงจังอยู่แล้วภายใต้การครอบงำของกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และบรรยากาศในสังคมแห่งความกลัว เมื่อถามถึงบทบาทของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มีต่อนักโทษทางมโนสำนึก สมยศระบุว่า เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจยังขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม  

สำหรับการสืบพยานปากแรก พ.อ.วิจารณ์ จดแตง ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เบิกความว่า ระหว่างเกิดเหตุอยู่ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นผู้ดูแลหลักเรื่องการหมิ่นสถาบัน โดยหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ทำการรวบรวมหลักฐาน และส่งเรื่องให้คณะกรรมการคดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณา จากนั้นเมื่อคณะกรรมการรับเป็นคดีพิเศษแล้ว จึงได้ส่งเรื่องกลับมาให้ ศอฉ. และ ศอฉ.ได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษ

ทนายจำเลยถามว่า การดำเนินคดีกับนายสมยศมีส่วนเกี่ยวพันกับพ.อ.สรรเสริญ ที่เป็นโฆษก ศอฉ. และเป็นไปตามผังล้มเจ้าของศอฉ.หรือไม่ พ.อ.วิจารณ์ระบุว่า คณะทำงานที่พิจารณาเนื้อหาในคดีนี้มี 30 กว่าคนจากหลายหน่วยงาน ไม่วาจะเป็น ดีเอสไอ คณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น และหากจำไม่ผิดก็มี พ.อ.สรรเสริญร่วมอยู่ด้วย ส่วนการประกาศผังล้มเจ้าของ ศอฉ.นั้น ตนไม่ได้อยู่ด้วยและไม่มีการปรึกษาหารือกันก่อน เมื่อถามว่ามีเรื่องไหนหรือไม่ที่ผ่านการพิจารณาของฝ่ายความมั่นคงแล้วไม่มีการดำเนินคดี พ.อ.วิจารณ์ตอบว่า ไม่มี ส่วนพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.48 ที่ในหลวงรับสั่งว่ากษัตริย์ถูกวิจารณ์ได้นั้น พ.อ.วิจารณ์ระบุว่าไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.อ.วิจารณ์ กล่าวภายหลังให้การแก่ศาลว่า ไม่ทราบเหตุผลเช่นกันว่าทำไมดีเอสไอซึ่งรับคดีของนายสมยศเป็นคดีพิเศษแล้วจึงไม่ดำเนินการต่อเลย แต่กลับส่งเรื่องกลับมายัง ศอฉ. และศอฉ.ก็มอบหมายให้ตนเป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษโดยที่ตนยังไม่เคยอ่านบทความทั้ง 2 เรื่องซึ่งเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องร้อง ขณะที่ทนายจำเลยพยายามชี้ว่าคดีดังกล่าวมีความพิเศษทางการเมืองเนื่องจากเป็นคดีที่ทหารเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผิดกับคดีหมิ่นฯ อื่นๆ ที่ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นประชาชนทั่วไปหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ

พ.อ.วิจารณ์ระบุด้วยว่า ในการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษนั้นระบุถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีพฤติกรรมจาบจ้างสถาบัน แต่ไม่ได้ระบุชื่อใครเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ทราบว่าฝ่ายความมั่นคงได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ของบุคคลที่ปรากฏชื่อตามแผนผังของ ศอฉ.ส่งให้ดีเอสไอไปทั้งหมดแล้ว แต่มีการดำเนินคดีกับบุคคลเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงได้ส่งข้อมูลเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคดีพิเศษของดีเอสไอเมื่อ 29 เม.ย.53 จากนั้นคณะกรรมการมีมติรับเป็นคดีพิเศษในเดือนพ.ค.53 ก่อนที่ พ.อ.วิจารณ์จะได้รับมอบหมายให้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษเมื่อวันที่ 30 ส.ค.53 และพนักงานสอบสวนของดีเอสไอเรียกเขาไปสอบสวนในวันที่ 3 ก.ย.53

ขณะที่พ.อ.นุชิต ศรีบุญส่ง จากกรมยุทธการทหารบก กองทัพบก ให้การต่อศาลว่า หลังปี 2549 สถานการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงนั้นรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หน่วยงานความมั่นคงมีการติดตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะสิ่งพิมพ์หรืออินเตอร์เน็ตตลอดจนการปราศรัยทางการเมืองโดยตลอดว่ามีข้อความใดหมิ่นเหม่ต่อการผิดมาตรา 112 หรือไม่ โดยสิ่งพิมพ์ที่ฝ่ายความมั่นคงเฝ้าจับตาเป็นพิเศษคือ Thai Red News, Voice of Taksin และความจริงวันนี้  โดยเมื่อมีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ, กอ.รมน., สันติบาล, หน่วยข่าวกรอง, ไอซีที ฯลฯ แล้วก็จะส่งข้อมูลพร้อมความเห็นเบื้องต้นให้ ศอฉ.ดำเนินการต่อ โดยยอมรับว่าแผนผังของ ศอฉ.นั้นเป็นเครื่องช่วยในการวางแผนและวิเคราะห์ข้อมูล ส่วนว่าใครจะมีความผิดบ้างตามแผนผังนั้นขึ้นอยู่กับการสอบสวนพนักงานสอบสวน เมื่อทนายจำเลยถามว่า ทราบหรือไม่ว่าผังล้มเจ้าของศอฉ.นั้นอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้ว พ.อ.นุชิตกล่าวว่า ไม่ทราบ  

ทนายจำเลยถามอีกว่า ทราบหรือไม่ว่าผู้ใช้นามแฝงว่า ‘จิต พลจันทร์’ ในบทความตามฟ้องคือใคร พ.อ.นุชิตตอบว่า ไม่ทราบ แต่ยืนยันว่า เนื้อหาในบทความนั้นเป็นการดูหมิ่นสถาบัน โดยเปรียบเปรยถึงเหตุการณ์ต้นราชวงศ์จักรีและการสวรรคตของพระเจ้าตากสินมหาราช แม้ไม่มีการระบุชื่อก็ทำให้เข้าใจได้ แต่ไม่เคยนำบทความดังกล่าวไปสอบถามบุคคลอื่นนอกเหนือจากหน่วยงานความมั่นคง

พ.อ.นุชิต ตอบอัยการถามติงว่า อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยชี้ขาดว่าข้อความในบทความเข้าข่ายหมิ่นหรือไม่นั้นเป็นอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการใน ศอฉ. ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวหน้าคณะ ตนและทีมงานเป็นเพียงผู้นำเสนอข้อมูลและความเห็นเบื้องต้น

ส่วนพยานอีก 2 ปาก เป็นนักศึกษาชั้นปี 4 จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเคยฝึกงานที่ดีเอสไอในช่วงเวลาดังกล่าว เบิกความต่อศาลว่า ระหว่างฝึกงาน ผู้ดูแลซึ่งก็คือพนักงานสอบสวนในคดีนี้ได้นำนิตยสาร Voice of Taksinฉบับที่ใช้ฟ้องร้องมาให้อ่าน รวมทั้งบทความที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงดังกล่าว ซึ่งเมื่ออ่านข้อความดังกล่าวแล้วก็ทำให้เข้าใจได้ตามฟ้อง เมื่อทนายถามถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการแสดงความคิดเห็น พยานตอบว่า ประชาชนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไฟใต้ไม่กระทบ ‘นักเรียนธรรมวิทยา’ ทำสถิติดีสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้

Posted: 18 Apr 2012 07:44 AM PDT

วิกฤติไฟใต้ไม่กระทบโรงเรียนธรรมวิทยาฯ สมศ.รับรองมาตรฐานอยู่ในระดับดี นักเรียนชักแถวสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้ต่อเนื่อง หลังพบปัญหาจำนวนนักเรียนลดลงไปมาก ตั้งแต่ปี ปี 2547

 
 
ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิประสบปัญหาอันเนืองมาจากการถูกจับตาจากรัฐว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่ถึงถูกจับตาอย่างไร มาตรฐานการเรียนการสอนของโรงเรียนก็ยังอยู่ในระดับดี
 
นางแวรอเมาะ เจ๊ะดาแม หัวหน้าฝ่ายวิชาการสามัญ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 เม.ย.55 ที่ผ่านมาว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ ระหว่างปี 2547–2549 จำนวนนักเรียนในโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิลดลงไปมาก กระทั่งปี 2550 จำนวนนักเรียนกลับมาเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2547
 
นางแวรอเมาะ ให้ข้อมูลด้วยว่า ตามสถิติของโรงเรียน เด็กที่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประมาณ 60% ศึกษาต่อในประเทศไทย อีก 40% ศึกษาต่อต่างประเทศ นักเรียนที่ศึกษาต่อในประเทศสามารถสอบเข้าศึกษาต่อที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอื่นๆ ส่วนต่างประเทศที่นักเรียนของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิไปศึกษาต่อ มีอียิปต์ ซูดาน มาเลเซีย เป็นต้น
 
“เหตุผลที่นักเรียนของเราศึกษาต่อในประเทศคือ ค่าใช้จ่ายในการเรียนและความเป็นอยู่น้อยกว่าไปเรียนต่างประเทศ และผู้ปกครองเป็นห่วงไม่ต้องการให้ไปอยู่ห่างไกลจากบ้าน ส่วนเหตุผลที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เพราะนักเรียนของเรามีพื้นฐานภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับอยู่ในระดับที่ดี และมีญาติอยู่ในประเทศนั้นๆ” นางแวรอเมาะ กล่าว ทั้งนี้เป็นธรรมดาของเด็ก 3 ชายแดนใต้ ที่มุ่งเรียนด้านศาสนาในตะวันออกกลาง
 
ด้านนายรอซี เบ็ญสุหลง ผู้อำนวยการโรงเรียนธรรมมูลนิธิ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา กล่าวว่า โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ได้รับการรับรองคุณภาพการเรียนการสอนจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) อยู่ในระดับดี และได้จัดระบบมาตรฐานของเด็กนักเรียนไว้ 7 มาตรฐาน ได้แก่ 1.นักเรียนต้องมีคุณธรรมและจริยธรรม 2.นักเรียนต้องมีความเป็นเลิศทางวิชาการ
 
3.นักเรียนต้องเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี 4.นักเรียนต้องมีสุขภาพกายและใจที่ดี 5.นักเรียนต้องมีความสามารถในการสื่อสาร 6.นักเรียนต้องมีบุคลิกภาพที่ดี และ 7.นักเรียนต้องมีความเคารพในระบอบประชาธิปไตย
 
 
หมายเหตุ: โครงการค่ายอบรมข่าวนักเรียน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการโดย โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) สนับสนุนโดย โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Projet)
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชาวบ้านลาเวงระดมเงินล้าน สร้างมัสยิดตั้งเป้า 1 ปีเสร็จ

Posted: 18 Apr 2012 05:10 AM PDT

ชาวลาเวงเดินหน้าต่อเติมมัสยิด ตั้งเป้า 1 ปี เก็บเงินสมทบทุนสร้างแล้วเสร็จ หลังจากค้างคามานานหลายปี เหตุต้องขยายพื้นที่รองรับจำนวนประชาชากรในหมู่บ้านที่เพิ่มขึ้น

 
 
นายมาหะมะ มะลี บิลาลประจำมัสยิดบ้านลาเวง หมู่ที่ 3 ต.เชิงคีรี อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2555 คณะกรรมการประจำมัสยิดบ้านลาเวง มีมติให้สานต่อการก่อสร้างมัสยิดบ้านลาเวงให้แล้วเสร็จ โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างอีกกว่าหนึ่งล้านบาท ด้วยการเก็บเงินสมทบทุนสร้างมัสยิดครัวเรือนละ 200 บาทต่อเดือน ส่วนครอบครัวยากจนจะจัดเก็บเพียง 100 บาทต่อเดือน รวมทั้งหมด 375 ครัวเรือน
 
มีกำหนดจะเริ่มเก็บเงินตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป ใช้เวลาในการเก็บประมาณ 1 ปี จะได้เงินประมาณ 900,000  บาท ส่วนที่เหลือจะขอให้รัฐสมทบทุน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี
 
สำหรับมัสยิดบ้านลาเวงจดทะเบียน เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2504 ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2524 มัสยิดก่อสร้างแล้วเสร็จมีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ 2 งาน ต่อมาปี 2551 มีการขยายต่อเติมเป็นสองชั้น แต่หยุดชะงักไปเนื่องจากงบประมาณบานปลาย
 
มัสยิดบ้านลาเวงได้จัดเลี้ยงน้ำชามาแล้วสองครั้ง ล่าสุดเมื่อปี 2551 ได้เงินประมาณ 2,000,000 บาท สาเหตุที่ต้องต่อเติมหรือขยาย มาจากประชากรในหมู่บ้านมีจำนวนเพิ่มขึ้น ล่าสุดเมื่อปี 2551 จำนวนประชากรในหมู่บ้านมีประมาณ 2,000 กว่าคน เมื่อถึงเวลาละหมาดรายอ ผู้คนล้นมัสยิดต้องปูเสื่อละหมาดนอกมัสยิด โดยเฉพาะช่วงฝนตกชาวบ้านจะลำบากในการประกอบศาสนกิจ
 
 
หมายเหตุ: โครงการค่ายอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการโดย โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) สนับสนุนโดย โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Projet)
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

หวั่น ‘ไก่เบตง’ สูญ วอนรัฐช่วยลดต้นทุน - หนุนเปิดตลาดใหม่

Posted: 18 Apr 2012 05:01 AM PDT

ฟาร์มไก่บ่นอุบ รัฐไม่ส่งเสริม หวั่นไก่เบตงสูญพันธุ์จากเบตง เจอปัญหาคนเลิกเลี้ยง เหตุขยายพันธุ์ยาก วอนช่วยหาทางลดภาระค่าอาหาร หนุนเปิดตลาดส่งออกลูกไก่

 
 
นายสิทธิ์ จารีลาภรักษา อายุ 56 ปี ผู้ดูแลฟาร์มเพาะลูกไก่พันธุ์เบตงของนายสมพร ธรรมชาติ อายุ 58 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 7 ต.ยะรม อ.เบตง จ.ยะลา เปิดเผยว่า ขณะนี้ในพื้นที่ อ.เบตง จำนวนไก่เบตงลดลงอย่างมาก เนื่องจากชุมชนเมืองส่วนมากเลี้ยงไก่เบตงน้อยลง มีแต่ชุมชนในชนบทที่ยังคงเลี้ยงไก่เบตงอยู่ โดยบางรายได้รับแจกจากส่วนราชการต่างๆ
 
ส่วนสาเหตุที่ชาวอำเภอเบตงเลี้ยงไก่เบตงน้อยลง นายสิทธิ์ กล่าวว่า เพราะคนเปลี่ยนอาชีพไปทำธุรกิจค้าขาย อ.เบตงจึงเสี่ยงที่จะสูญเสียพันธุ์ไก่เบตง ภาวะเสี่ยงที่ชาวเบตงจะสูญเสียพันธุ์ไก่เบตงมีหลายประการ นอกจากมีคนเลี้ยงน้อยแล้ว ยังมีปัญหาการขยายพันธุ์ไก่เบตง เพราะการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติอย่างในปัจจุบันนั้น ขยายพันธุ์ได้ยากมาก ขณะที่วิธีการฟักไข่ด้วยตู้ฟักมีโอกาสขยายพันธุ์ได้มากกว่า
 
“ปัญหาคือรัฐไม่ค่อยจะส่งเสริมการเลี้ยงไก่ ทางที่ดีทางรัฐควรหาตลาดส่งขายลูกไก่ให้กว้างขงางมากกว่าปัจจุบัน ช่วยหาอาหารไก่ที่มีต้นทุนต่ำ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ถูกลง ขณะนี้ฟาร์มที่ผมดูแลอยู่ มีเงินทุนหมุนเวียนน้อยมาก ทำให้ขาดโอกาสซื้ออาหารไก่ในราคาถูกกว่าท้องตลาดเบตง” นายสิทธิ์ กล่าว
 
ทั้งนี้ ไก่เบตงเดิมเรียกว่าไก่กวางไส เป็นไก่พื้นเมืองที่คนจีนอพยพจากมณฑลกวางไส สาธารณรัฐประชาชนจีน นำเข้ามาที่ อ.เบตง เมื่อประมาณ 80 ปีมาแล้ว ขณะที่ไก่พันธุ์เหลียงซาง และไก่พันธุ์คอล่อน หมดไปจาก อ.เบตง ในช่วงคนจีนย้ายถิ่นออกจากหมู่บ้านไปอยู่ในเมือง ต้องเปลี่ยนอาชีพจากการเลี้ยงไก่หรือทำสวนยางพาราไปค้าขาย ปัจจุบันพันธุ์ไก่เบตงที่เหลืออยู่ 2 สีคือ สีแดงกับสีเหลืองทอง มีจุดเด่นตรงหางสั้น หรือไม่มีหาง ไม่มีขนปีก หงอนเป็นกงจักร ขาสีเหลือง ปากเหลือง เนื้อนุ่ม ตัวผู้มีนิสัยดุ
 
ไก่เบตงเลี้ยงง่าย สามารถเลี้ยงตามธรรมชาติได้ การเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติเอง จะให้เนื้อที่มีรสชาติดีกว่าเลี้ยงแบบขังคอกให้อาหารสำเร็จรูป ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 6–7 เดือนก็สามารถขายได้มีราคาสูงถึง 200–220 บาท/กิโลกรัม ตัวผู้อายุประมาณ 5 เดือน จะมีน้ำหนักประมาณ 2–2.5 กิโลกรัม ตัวเมียอายุประมาณ 5 เดือน มีน้ำหนัก 1.5–1.7 กิโลกรัม
 
สำหรับฟาร์มเพาะลูกไก่เบตงของนายสมพรนั้น อยู่ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไก่เบตงครบวงจรในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จ.ยะลา และเทศบาลเมืองเบตง เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ไก่เบตง
 
ปัจจุบันฟาร์มเพาะลูกไก่เบตงต้นแบบมีพ่อพันธุ์ประมาณ 60 ตัว และแม่พันธุ์ประมาณ 260 ตัว แต่ละสัปดาห์จะได้ไข่ไก่ประมาณ 100 ฟอง แต่ละเดือนส่งขายลูกไก่ประมาณ 400–500 ตัวต่อเดือน ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นส่วนราชการต่างๆ และลูกค้าทั่วไป นอกจากนี้ยังส่งออกไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ สมุทรปราการ สงขลา สตูล และกรุงเทพฯ เป็นต้น
 
 
หมายเหตุ: โครงการค่ายอบรมข่าวนักเรียน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการโดย โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) สนับสนุนโดย โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Projet)
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ตาดีกาปูโปร์แก้เกมเด็กไม่เข้าเรียน จัดสารพัดกิจกรรมดึงความสนใจ

Posted: 18 Apr 2012 04:52 AM PDT

โรงเรียนตาดีกาปูโปร์เผย 2 สาเหตุสำคัญ เด็กไม่ยอมเรียนตาดีกา หนึ่งเด็กไม่สนใจ สองพ่อ-แม่ทำงานนอกหมู่บ้าน โรงเรียนแก้เกมจัดกิจกรรมเสริมดึงความสนใจ

 
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2555 นายอัดฮา โล๊ะมะ ครูตาดีกาบ้านปูโปร์ หมู่ที่ 1 ตำบลสามัคคี อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ในหมู่บ้านปูโปร์ มีเด็กอายุประมาณ 3–12 ปี จำนวน 125 คนที่เข้าเรียนตาดีกา และมี 5 คน ที่ไม่ยอมเข้าเรียนตาดีกา เนื่องจากผู้ปกครองไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนตาดีกา บางส่วนต้องตามผู้ปกครองไปทำงานนอกหมู่บ้าน
 
นายอัดฮา เปิดเผยว่า เหตุที่โรงเรียนตาดีกาปูโปร์ มีเด็กมาเรียนเยอะ เนื่องจากโรงเรียนมีกิจกรรมในการดึงดูดเด็กให้มาเรียนมี 3 ประการ คือ 1.เป็นแหล่งการเรียนรู้ 2.เป็นที่คบเพื่อน 3.เป็นที่ทำกิจกรรมเพื่อสร้างความสมานสามัคคี และเพิ่มทักษะของนักเรียน สำหรับกิจกรรมที่โรงเรียนตาดีกาบ้านปูโปร์จัดขึ้น ได้แก่ กิจกรรมตาดีกาสัมพันธ์ กิจกรรมกีฬาสี งานเมาลิด กิจกรรมบัณฑิตน้อย จัดงานฮารีรายอ และทัศนศึกษา ทุกครั้งที่มีกิจกรรม เด็กที่ไม่มาเรียนก็มาร่วมกิจกรรมด้วย
 
นางนูอายาตี วาแม ชาวบ้านปูโปร์ เปิดเผยว่า ตนมีลูก 4 คน คนโตไม่ยอมเข้าเรียนตาดีกา ซึ่งไม่อยากบังคับให้ลูกไปเรียน
                      
ด้านนางนิไซหม๊ะ ติโย ผู้ปกครองที่ส่งลูกเรียนตาดีกาบ้านปูโปร์ เปิดเผยว่า เหตุที่ส่งลูกเรียนตาดีกา เพราะอยากให้ลูกฉลาด มีงานทำที่ดี มีอนาคตที่ดี มีความสำเร็จในชีวิต และไม่อยากให้ลูกลำบากในอนาคต
 
 
หมายเหตุ: โครงการค่ายอบรมข่าวนักเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดำเนินการโดย โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ) สนับสนุนโดย โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย (STEP Projet)
 
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สมาคมโลกร้อนเปิดเฟซบุ๊ค-ตั้งโต๊ะล่าชื่อฟ้องศาล ด้านสังคมออนไลน์ปลุกกระแสหนุน-ต้านเขื่อนแม่วงก์

Posted: 18 Apr 2012 04:39 AM PDT

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเปิด Facebook ระดมแนวร่วม เผยเตรียมตั้งโต๊ะหาแนวร่วมฟ้องศาลปกครอง 13,280 รายชื่อ หวังให้เป็นคดีประวัติศาสตร์ ส่วนในสังคมออนไลน์ เริ่มสร้างกระแสคนค้าน-หนุนเขื่อน

 
 
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเปิดเฟซบุ๊ค ระดมแนวร่วมต้านเขื่อนแม่วงก์   
 
เมื่อวันที่17 เม.ย.55 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลเห็นชอบในหลักการให้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อทำลายป่าไม้และสัตว์ป่าด้วยวงเงินงบประมาณที่แพงเกินจริงกว่า 13,280 ล้านบาทเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการตื่นตัวของประชาชนและผู้ที่รักและแหนหวงทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ออกแถลงการณ์คัดค้านและตอบโต้มติหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวไปแล้ว ทำให้มีประชาชนทั่วประเทศสอบถามข้อมูลเข้ามายังสมาคมฯ อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
 
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ติดตามและประสานงานกันอย่างใกล้ชิดของกลุ่มแนวร่วมภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวของรัฐบาล สมาคมฯ จึงได้เปิดเฟซบุ๊ค (Facebook) โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มต่อต้านเขื่อนแม่วงก์” ขึ้นมา ซึ่งจะใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารกันมากขึ้นในระบบสารสนเทศออนไลน์ของกลุ่มแนวร่วมเดียวกัน
 
หากประชาชนท่านใดที่อยากจะร่วมหยุดยั้งโครงการดังกล่าวด้วยการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ก็สามารถไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจหรือหนังสือแต่งตั้งผู้แทนคดีได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมฯ ที่ www.thaisgwa.com
 
 
เตรียมตั้งโต๊ะลงชื่อฟ้องศาลปกครอง 13,280 รายชื่อ หวังให้เป็นคดีประวัติศาสตร์
 
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวด้วยว่า ทางสมาคมฯ ยังได้นำทีมนักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมออกเดินสายจัดเวทีสัมมนาให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่ดิน สัตว์ป่า และสิทธิชุมชนทั่วประเทศอีกด้วย โดยในแต่ละเวทีจะตั้งโต๊ะรับหนังสือมอบอำนาจฟ้องคดีของประชาชนที่คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ของรัฐบาลด้วย โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะรวบรวมหนังสือมอบอำนาจการฟ้องคดีให้ได้ 13,280 ฉบับ เพื่อนำไปฟ้องระงับหรือเพิกถอนโครงการดังกล่าวต่อไป
 
นายศรีสุวรรณ กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า การฟ้องร้องดังกล่าวจะเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ของศาลไทย ที่มีชาวบ้านมาร่วมลงชื่อฟ้องร้องในคดีเดียวกันมากที่สุดในประเทศเลยทีเดียว ซึ่งชุมชนใด ตำบลใด อำเภอใด หรือจังหวัดใด ประสงค์ที่จะให้สมาคมฯ ไปจัดเวทีสัมมนาดังกล่าวให้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ 
 
จังหวัดเป้าหมายที่สมาคมฯ จะเดินสายจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วประเทศ และตั้งโต๊ะรับหนังสือมอบอำนาจฟ้องคดี มีดังนี้ ภาคเหนือ เชียงใหม่ พะเยา ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ เชียงราย แพร่ น่าน ลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น ศรีษะเกษ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย ภาคตะวันออก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ภาคกลาง-ตะวันตก กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อุทัยธานี ราชบุรี นครสวรรค์ เพชรบุรี กำแพงเพชร และ ภาคใต้ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา ชุมพร ระนอง พังงา พัทลุง
 
 
สังคมออนไลน์ เริ่มสร้างกระแสคนค้าน-หนุนเขื่อน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าในเฟซบุ๊ค เองก็เริ่มมีการปลุกกระแสทั้งการคัดค้านและสนับสนุนเขื่อนแม่วงก์ โดยนอกจากเฟซบุ๊คของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนที่ชื่อว่า “กลุ่มต่อต้านเขื่อนแม่วงก์” แล้ว ยังพบว่ามีสมาชิกเฟซบุ๊คได้สร้างหน้าเพจ “หยุด!!! เขื่อนแม่วงก์ STOP DAM” ที่มีคนกดไลค์แล้ว 350 รายชื่อ และเพจ “คัดค้านเขื่อนแม่วงก์” ที่มีคนกดไลค์ 73 รายชื่อ เพื่อรวบรวมข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ และใช้เป็นสื่อเพื่อสื่อสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ของแต่ละกลุ่ม  
 
สำหรับในกลุ่มผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ก็มีการตังกลุ่มเปิด “เราต้องการเขื่อนแม่วงก์” ชี้แจงไว้ว่า “พวกเราพอจะมีเสียงกันในอินเตอร์เน็ตบ้าง ควรจะส่งเสียงกันบ้างน่ะครับ ไม่ปล่อยให้คนนอกพื้นที่มาคัดค้านแล้วปล่อยให้พ่อแม่พี่น้องเราอยู่กันลำบาก” อีกทั้งระบุถึงโครงการเขื่อนแม่วงก์ไว้ด้วยว่า ข้อดี1.ชาวนาชาวไร่ ในแม่วงก์ ลาดยาว จะมีน้ำใช้ตลอดปี2.ปัญหาน้ำท่วม ในแม่วงก์ ลาดยาว3.เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ล่องแก่งได้ตลอดปี ส่วนข้อเสียคือการสูญเสียพื้นที่ป่าไปบางส่วน
 
ตัวอย่างโพสต์ข้อความในกลุ่มนี้ อาทิ “ตอนนี้กระแสคนอนุรักษ์นอกพื้นที่ พยายามที่จะใช้ social network สร้างกระแสว่าเขื่อนแม่วงก์น่ากลัวอย่างไร โดยที่เขาไม่ได้บอกว่าพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนนั้นจำกัดอยู่บริเวณไหน เป็นพื้นที่ทำไม้เก่า ซึ่งมันไม่ใช่ป่าอุดมสมบูรณ์ขนาดที่พวกเขาพยายามสร้างภาพขึ้นมา และอีกทั้งคนในพื้นที่แม่วงก์ ลาดยาว ที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมตอนหน้าฝนหรือหน้าแล้งต้องใช้น้ำบาดาลทำนากันก็ไม่ได้กล่าวถึง ยังไม่นับรวมถึงคนทัพทัน สว่างอารมณ์อีกว่ามันแล้งขนาดไหน”
 
“เขื่อนแม่วงก์มีขนาดเล็ก ช่วยแก้ปัญหาขอบเขตลุ่มน้ำสะแกกรังเท่านั้น แต่กลับถูกกลุ่มคัดค้านนำไปเชื่อมโยงถึงลุ่มน้ำภาคกลาง ซึ่งมันคงไม่ส่งผลได้ขนาดนั้น”
 
 
 
อดีต นศ.ชมรมอนุรักษ์ฯ ออกโรงร่วมค้าน จี้รัฐสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็น
 
ในวันเดียวกัน กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบัน (กคอทส.) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ฉบับที่ 1 เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.วันที่ 10 เม.ย.55 โดยควรพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2545 ที่มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ พร้อมเสนอให้กรมชลประทานกลับไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ และในกรณีการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง รัฐจะต้องสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและจริงใจ เลิกความคิดการแก้ปัญหาแบบไร้ทางเลือกให้แก่คนในสังคม
 
นอกจากนั้น กคอทส. (กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับ คอทส.) ยังใช้ช่องทางเฟซบุ๊คในการทำกิจกรรม “ร่วมลงชื่อคัดค้านเขื่อนแม่วงก์” ตั้งแต่วันที่ 17-30 เม.ย.55 หวังสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อคักค้านโครงการดังกล่าว
 
 
 
 
โครงการเขื่อนแม่วงก์
 
ที่ตั้ง : ลำน้ำวงก์ ที่เขาสบกก ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
ประเภท : เขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว
ขนาดของสันเขื่อน : ความสูง 57 เมตร ยาว 794 กว้าง 10 เมตร
ความจุอ่างเก็บน้ำ : 250 ลบ.ม.
พื้นที่น้ำท่วม : 11,000 ไร่ (17 ตร.กม.)
ประโยชน์ที่จะได้รับ : พื้นที่ชลประทานเพื่อการเกษตรกรรม 291,000 ไร่
ระยะเวลาการก่อสร้าง :  8 ปี แล้วเสร็จภายในปี 2562 มีผลผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2562
งบประมาณ : ครม.อนุมัติงบเพื่อดำเนินการก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280.445 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณด้านต่างๆ ดังนี้ 1.งบด้านบุคลากร 100.146 ล้านบาท 2.งบดำเนินการ 43.857 ล้านบาท 3.งบลงทุน 12,007.674 ล้านบาท 4.งบดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม 560.850 ล้านบาท และ 5.งบด้านอื่นๆ กรณีสำรองงบประมาณ 567.918 ล้านบาท
 

 
 

ตัวแทน SSA พบเจรจาพม่าอีกเรื่องพื้นที่ปกครอง แต่ยังไร้ข้อสรุป

Posted: 18 Apr 2012 04:39 AM PDT

ตัวแทนกองกำลังไทใหญ่ SSA พบหารือกองทัพพม่าเรื่องพื้นที่ปกครอง "เมืองทา" ด้านกองทัพพม่าอ้างไม่สามารถตัดสินใจ ระบุ สองฝ่ายเข้าใจข้อสัญญาต่างกัน แนะให้ไปหารือรัฐบาล

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา ตัวแทนสภากอบกู้รัฐฉาน RCSS (Restoration Council of Shan State) กองทัพรัฐฉาน SSA (Shan State Army) ได้เดินทางไปเจรจากับกองทัพภาคสามเหลี่ยมของพม่า ที่เมืองเชียงตุง รัฐฉานภาคตะวันออก เกี่ยวกับเรื่องพื้นที่ครอบครองที่ทหารสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันได้ตามข้อสัญญาที่สองฝ่ายได้ลงนามกันไว้ก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ตัวแทนของ RCSS/SSA ได้พบหารือกับพลจัตวา เหว่ยลิน รองผบ.กองทัพภาคสามเหลี่ยมพม่า (บก.เชียงตุง) โดยตัวแทนของ RCSS/SSA ได้ชี้แจงเรื่องพื้นที่ครอบครองเมืองทา (ตรงข้าม อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่) ที่ขณะนี้ทหารพม่าในพื้นที่ยังไม่มีการถอนกำลัง ซึ่งทาง RCSS/SSA ไม่สามารถเข้าไปจัดการกำหนดพื้นที่อยู่อาศัยของทหารและประชาชนดังที่สองฝ่ายได้มีการตกลงกั

ด้านพลจัตวา เหว่ยลิน ได้ชี้แจงว่า กองทัพภาคสามเหลี่ยมไม่สามารถตัดสินใจเรื่องนี้ ในส่วนของข้อตกลงก็ยังเห็นไม่ตรงกัน ฝ่ายกองทัพพม่าเห็นอย่างหนึ่ง ฝ่าย SSA เข้าใจอย่างหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องนำเสนอขึ้นไปเบื้องบนก่อ

"ที่พวกท่าน (SSA) มาพบหารือกับเรา เป็นเพียงการพบกันของทหารสองฝ่ายเท่านั้น ซึ่งอาจจะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ หากได้พบเจรจากับอูอ่องมิน (รมต.กระทรวงการขนส่งทางรถไฟ ผู้นำคณะเจรจาฝ่ายพม่า) ให้นำเรื่องนี้ไปหารือกันอีกครั้ง ซึ่งระหว่างนี้หน้าที่ของเรามีอะไรเราก็จะปฏิบัติไปตามเดิม" พลจัตวา เหว่ยลิน กล่า

มีรายงานว่า คณะเจรจาของ RCSS/SSA และรัฐบาลพม่ามีกำหนดพบหารือกันอีกครั้งในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่า RCSS/SSA จะหยิบยกเรื่องพื้นที่ปกครอง เมืองทา และ หัวเมือง รวมถึงเรื่องการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับทหารไทใหญ่ SSA ที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องไปหารือ

ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าและกองทัพรัฐฉาน SSA ซึ่งมีองค์กรการเมืองชื่อสภากอบกู้รัฐฉาน RCSS พบเจรจาสร้างสันติภาพระหว่างกันครั้งแรกเมื่อ 19 พ.ย. 54 และตัวแทนทั้งสองฝ่ายได้พบหารือกันอีกครั้งที่เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน มีการลงนามข้อสัญญาหยุดยิงระหว่างกันอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 54 โดยสองฝ่ายเห็นชอบจะร่วมกันแก้ไขปัญหาทางการเมืองและร่วมมือกันปราบปรามยาเสพติด ขณะที่ฝ่ายพม่าตกลงให้พื้นที่เมืองหัวเมือง และ เมืองทา เป็นเขตพื้นที่พัฒนาสำหรับ RCSS/SSA

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/


 

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ชง ครม.อนุมัติ 2 พันล้าน 24 เมษาเยียวยาเหยื่อไฟใต้ รวมคาร์บอมบ์-4 ศพ

Posted: 18 Apr 2012 04:30 AM PDT

 

ศอ.บต. ส่งสรุปการประชุม กพต. เตรียมนำเข้า ครม. เยียวยาตั้งแต่ปี 2547 รายละ 7.5 ล้าน แบ่ง 4 กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ 4 ศพปุโละปุโยให้ก่อน 3 ล้าน ที่เหลือทยอยจ่ายรายปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ทำบันทึกข้อความ เรื่องสรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2555 ที่ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

ที่ประชุมกพต.ครั้งดังกล่าว มีมติทั้งหมด 12 เรื่อง โดยมี 3 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ 1.เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และขออนุมัติเงินงบประมาณ 2,080 ล้านบาทจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2.เห็นชอบการช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ถูกยิงเสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บ 5 ราย และ 3.เห็นชอบการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ 3 จุด เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555

นายสมเกียรติ อ้นทอง ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 ว่า ผลการประชุมกพต.ครั้งดังกล่าว จะมีการนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 24 เมษายน 2555

นายสมเกียรติ เปิดเผยว่า สำหรับ เรื่องแรก มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และขออนุมัติเงินงบประมาณเยียวยา 2,080 ล้านบาท จากคณะรัฐมนตรี

นายสมเกียรติ เปิดเผยต่อไปว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าว มีสาระสำคัญ คือ ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ประชาชนทั่วไป 2.เจ้าหน้าที่รัฐ 3.ผู้ที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกลุ่มเฉพาะที่คณะกรรมการมีมติให้ช่วยเหลือเยียวยา หรือคนที่ถูกบังคับให้สูญหาย และ 4.ผู้ถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังหรือถูกดำเนินคดี ซึ่งต่อมาปรากฏหลักฐานว่าผู้นั้นมิได้เป็นผู้กระทำผิด หรือมีการถอนฟ้อง หรือมีคำพิพากษายกฟ้อง

นายสมเกียรติ เปิดเผยว่า ในจำนวนวงเงินงบประมาณ 2,080 ล้านบาท จะแบ่งงบประมาณให้กับกลุ่มที่ 1 จำนวน 500 ล้านบาท กลุ่มที่ 2 จำนวน 200 ล้านบาท กลุ่มที่  3 จำนวน 1,000 ล้านบาท และกลุ่มที่ 4 จำนวน 300 ล้านบาท

นายสมเกียรติ เปิดเผยอีกว่า เรื่องที่ 2 การช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านตำบลปุโละปุโย ถูกยิงเสียชีวิต 4 ศพ บาดเจ็บ 5 ราย ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้ช่วยเหลือเยียวยา รายละ 3 ล้านบาท และให้เป็นเงินออมระยะยาว รายละ 4 ล้านบาท โดยจ่ายเป็นรายปี ปีละ 1 ล้านบาท

นายสมเกียรติ เปิดเผยอีกว่า เรื่องที่ 3 การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ 3 จุด เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 คือบริเวณถนนรวมมิตร อำเภอเมือง จังหวัดยะลา บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรแม่ลาน อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และบริเวณศูนย์การค้าลีการ์เดนส์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นายสมเกียรติ เปิดเผยว่า ที่ประชุม กพต.เห็นชอบให้ ศอ.บต.ขอขยายวงเงินช่วยเหลือเยียวยาจากกรมบัญชีกลางจาก 230 ล้านบาท เป็น 400 ล้านบาท ให้ ศอ.บต.ร่วมกับทางจังหวัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายและขอรับการจัดสรรงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

ส่วนด้านมาตรการรักษาความปลอดภัย เห็นชอบตามข้อเสนอของจังหวัดสงขลา ที่ขอให้มีตำรวจ ทหาร เข้ามาสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง ขอเพิ่มอัตรากำลังของฝ่ายปกครอง รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ในงานความมั่นคง เช่น กล้องวงจรปิด โดยมอบให้จังหวัดสงขลา ร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และกระทรวงมหาดไทยไปพิจารณา

ที่ประชุมยังเห็นชอบที่จังหวัดยะลาเสนอขอรับการสนับสนุนโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่เสี่ยงและในเขตเทศบาลนครยะลา จำนวน 138 จุด 150 ตัว งบประมาณ 99 ล้านบาท

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ประชุมมอบให้กระทรวงการคลัง ร่วมกับสำนักงบประมาณ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จังหวัดสงขลา และ ศอ.บต. พิจารณาสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยว เป็นเวลา 5 ปี ให้กระทรวงมหาดไทยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาลดภาษีโรงเรือนและภาษีป้าย ลงร้อยละ 30 เป็นเวลา 2 ปี เป็นต้น

 


เปิด มติ กพต.ว่าด้วยการเยียวยาเหยื่อไฟใต้

ต่อไปนี้ เป็นบันทึกข้อความของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ นร 5202.1 เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 2/2555 ที่ส่งถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้

.....................

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)/สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ได้จัดประชุม กพต. ครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันพุธที่ 11 เมษายน 2555 ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ โดยมี รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) ปฏิบัติหน้าที่ประธาน กพต. เป็นประธานการประชุม สรุปผลการประชุม ได้ดังนี้

          เรื่องเพื่อพิจารณา จำนวน 12 เรื่อง โดยมี 3 เรื่องที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเนื้อหาดังนี้

 

เห็นชอบหลักเกณฑ์–ขอ 2,080 ล้านช่วยเหยื่อ

ขอความเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และขออนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

สาระสำคัญ
            1. หลักเกณฑ์และวิธีการ ให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงปัจจุบัน ดังนี้

1.1 บุคคลที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบที่จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟู แบ่งเป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ประชาชนทั่วไป

กลุ่มที่ 2 เจ้าหน้าที่ของรัฐ

กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ก่อเหตุรุนแรงที่คณะกรรมการฯมีมติช่วยเหลือเยียวยาเฉพาะกรณี ที่ต้องช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายที่ถึงแก่ความตาย หรือทุพพลภาพ หรือกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย  ให้นำระเบียบ กพต. ว่าด้วยการช่วยเหลือเยียวยาฯ  พ.ศ. 2555 ข้อ 7 (1) และ (2) มาใช้โดยอนุโลม

กลุ่มที่ 4 กรณีผู้ถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังหรือถูกดำเนินคดีเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย และถูกควบคุมตัวหรือคุมขัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาโดยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว  ต่อมาปรากฏหลักฐานว่าผู้นั้นมิได้เป็นผู้กระทำผิด หรือมีการถอนฟ้อง หรือมีคำพิพากษายกฟ้องและคณะกรรมการเยียวยาฯ  พิจารณาว่าต้องได้รับการเยียวยา

 

2. หลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายและได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ ได้แก่ การรักษาพยาบาล การส่งต่อฟื้นฟูผู้พิการหรือฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านจิตวิญญาณ

3. กรอบวงเงินงบประมาณสำหรับการช่วยเหลือ จำนวน 2,080 ล้านบาท

4. การขับเคลื่อนงาน : คณะกรรมการเยียวยาฯ ได้แต่งตั้งอนุกรรมการ จำนวน 8 คณะ เมื่อคณะกรรมการเยียวยาฯ หมดวาระ ให้อำนาจหน้าที่และการดำเนินงานของคณะกรรมการเยียวยาฯ เป็นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.)

มติที่ประชุม

1. ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

2. อนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,080 ล้านบาท

3. ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติต่อไป

 

เยียวยา 4 ศพให้ก่อน 3 ล้านที่เหลือปีละล้าน

            การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ตามระเบียบ กพต. ว่าด้วยการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่อง   มาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555

          สาระสำคัญ

            1) เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555  ชาวบ้านตำบลปุโล๊ะปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ถูกยิงถึงแก่ความตาย จำนวน 4 ราย และได้รับบาดเจ็บ 5 ราย กอ.รมน. ภาค 4 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ 10/2555 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555  และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้มีมติและความเห็นเป็นเอกฉันท์ สรุปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น  เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ กระทำต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์

          2) ตามระเบียบ กพต. ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจังหวัดปัตตานี ในการประชุม ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2555  พิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยารายละ 500,000 บาท และครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 ได้มีมติ เสนอเลขาธิการ ศอ.บต. ให้นำเสนอ กพต. ตามระเบียบ กพต. ข้อ 7 (1) และรายการท้ายระเบียบ กพต. ว่าด้วยอัตราค่าช่วยเหลือ (1) และ(2) กพต. โดยการเสนอของเลขาธิการ ศอ.บต.  กรณีการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเฉพาะกรณี ให้ช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมอีกไม่เกิน จำนวนเงิน 7.0000 ล้านบาท ทั้งนี้ กพต. อาจจะกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือด้วยก็ได้

            มติที่ประชุม

            เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเฉพาะกรณี กพต. มีมติให้ความเห็นชอบช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม กรณีผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ราย รายละไม่เกินจำนวนเงิน 7.0000 ล้านบาท โดยกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการจ่าย ดังนี้

            1. ช่วยเหลือเยียวยา รายละ 3.0000 ล้านบาท

            2. ช่วยเหลือเยียวยา เป็นเงินออมระยะยาว เช่น พันธบัตรรัฐบาลหรือตั๋วเงินธนาคาร    ในวงเงินอีกรายละ 4.0000 ล้านบาท โดยจ่ายเป็นรายปี ปีละ 1.0000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพ หรือใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาของทายาท ครอบครัวผู้เสียชีวิต หรือประโยชน์อื่น เช่น อุปการะบุตร หรือ ประกอบพิธีฮัจญ์

 

เยียวยาเหยื่อคาร์บอมบ์หาดใหญ่ – ยะลา

           การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555

          สาระสำคัญ
          1) ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ลอบวางระเบิด เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 จำนวน 3 จุด คือ 1) บริเวณถนนรวมมิตร อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 2) บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรแม่ลาน อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และ 3) บริเวณศูนย์การค้าลีการ์เดนส์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

          2) ข้อเสนอของจังหวัดสงขลาและจังหวัดยะลา

          2.1) ด้านการช่วยเหลือเยียวยา
                    2.1.1) จังหวัดสงขลาได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเยียวยา จำนวน 100 ล้านบาท
                    2.1.2) จังหวัดยะลา ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเยียวยา จำนวน 70 ล้านบาท
          2.2) ด้านมาตรการรักษาความปลอดภัย
                    2.2.1) จังหวัดสงขลาเสนอขอรับการสนับสนุน ดังนี้
          - ขอปรับสถานะของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดจังหวัดสงขลา จากประเภทที่ 2 เป็นประเภทที่ 1 เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เข้ามาสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง

          - ขอปรับเพิ่มกรอบอัตรากำลังปลัดอำเภอและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือพนักงานราชการประจำตำบลทุกตำบลจำนวน 39 อัตรา

          - ขอปรับเพิ่มอัตรากำลังสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนของกองร้อย อส.จ.สงขลา จาก 60 อัตรา เป็น 120 อัตรา กองร้อย อส.อ.สะเดา และกองร้อย อส.อ.เมืองสงขลา จากที่มีอยู่กองร้อยละ 24 อัตรา เป็นกองร้อยละ 120 อัตรา เพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในเขตเมืองชายแดนและศูนย์ราชการ

           - ขอสนับสนุนอุปกรณ์ ในงานความมั่นคง เช่น กล้องวงจรปิด รถจักรยานยนต์ อาวุธปืนพกสั้น เสื้อเกราะประจำกาย

                    2.2.2) จังหวัดยะลาเสนอขอรับการสนับสนุนโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่เสี่ยงและในเขตเทศบาลนครยะลา จำนวน 138 จุด 150 ตัว งบประมาณ 99.3753 ล้านบาท

         2.3) ด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสาธารณะภัย
         จังหวัดสงขลา ขอสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน ดังนี้

          (1) เงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ MLR –2.75

          - วงเงิน 3,000.0000 ล้านบาท สำหรับกิจการเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยว ตั้งแต่โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าย่อย ในจังหวัดสงขลา ระยะเวลา 5 ปี

          - ธนาคารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลาม และ SME แบงค์

          (2) การขอยกเว้นภาษีโรงเรือน และภาษีป้ายร้อยละ 30 เป็นระยะเวลา 2 ปี

          (3) การจ่ายสินไหมประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวในจังหวัดสงขลา ที่มีวีซ่าหรือหนังสือเดินทางถูกต้องจำนวน 1.0000 ล้านบาท ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 จำนวน 100,000 บาท ระเบียบกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 25,000 บาท ถ้าเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้เพิ่มอีก 25,000 บาท ระเบียบกระทรวงพัฒนาสังคมฯ จำนวน 6,000 บาท และสินไหมประกันภัยจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 309,000 บาท รวม 440,000 บาท โดยจะขอให้รัฐบาลเพิ่มในส่วนการเยียวยาตามมติคณะรับมนตรี พ.ศ.2548 จ่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่มีวีซ่าและหนังสือเดินทางถูกต้องเพิ่มจากเดิมจนครบ 1.0000 ล้านบาท คือจ่ายเพิ่ม 560,000 บาท 

          (4) ขอลดค่า Landing fee ที่ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ให้กับเครื่องบินเช่าเหมาลำหรือสายการบินจากต่างประเทศให้เป็นกรณีพิเศษ

          มติที่ประชุม
           1. ด้านการช่วยเหลือเยียวยา เห็นชอบให้ ศอ.บต. ขอขยายกรอบวงเงินทดรองราชการ ไปยังกรมบัญชีกลางจากเดิม 230 ล้านบาท เป็น 400 ล้านบาท สำหรับงบประมาณที่ขอจัดสรรจำนวน 170 ล้านบาท ให้ ศอ.บต. ร่วมกับทางจังหวัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายและขอรับการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งสำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้ในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปอยู่แล้ว

           2. ด้านมาตรการรักษาความปลอดภัย
           2.1 ให้ความเห็นชอบตามข้อ 2.2.1 และมอบให้จังหวัดสงขลา ร่วมกับ กอ.รมน. และกระทรวงมหาดไทย ไปพิจารณาในรายละเอียดและเสนอขอตั้งกรอบอัตรากำลังและงบประมาณ ในปีงบประมาณ 2556 ต่อไป

          2.2 ให้ความเห็นชอบตามข้อ 2.2.2 โดยขออนุมัติงบประมาณ จากงบกลางปี 2555 จำนวน 99.3753 ล้านบาท รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นและให้ประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้ดูแลระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้เน้นเพื่อการป้องกันและการเตือนภัยมากกว่าการใช้เป็นหลักฐานทางคดีหลังเกิดเหตุ

          3. ด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสาธารณะภัยเห็นชอบดังนี้
          3.1 มอบให้กระทรวงการคลัง ร่วมกับสำนักงบประมาณ สศช. จังหวัดสงขลา และ ศอ.บต. พิจารณาสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยว ตั้งแต่ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าย่อย ระยะเวลา 5 ปี

          3.2 ให้กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาลดภาษีโรงเรือน และภาษีป้าย ลงร้อยละ 30 ระยะเวลา 2 ปี

          3.3 ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิจารณาการการจ่ายค่าสินไหมประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมตามที่เสนอ

          3.4 ให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาลด Landing fee ที่ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ ตามที่เสนอ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เผยหลังทำซีแอลยาในอินเดีย ราคายารักษามะเร็งตับลดลงถึง 97%

Posted: 18 Apr 2012 03:22 AM PDT

นักกฎหมายสิทธิฯ จากอินเดีย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำซีแอล ชี้ราคายารักษามะเร็งตับลดฮวบ 97% บริษัทยาอื่นๆ แห่ยื่นข้อเสนอลดราคา คาดอีกไม่นานจะเห็นซีแอลเพิ่มในยาต้านไวรัสเอดส์และยารักษามะเร็งอื่นๆ

 

(18 เม.ย.55) นางสาวคาจัล บาร์ดวัจ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยาจากอินเดีย ได้กล่าวในเวทีเสวนา ‘เรียนรู้ประสบการณ์การทำซีแอลยามะเร็งจากอินเดีย’ ว่า ปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญการเข้าไม่ถึงยาหลังจากต้องทำตามความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ทริปส์ ขององค์การการค้าโลก ทำให้เราเห็นประเทศต่างๆ เริ่มทยอยใช้มาตรการยืดหยุ่นทางกฎหมายซึ่งอนุญาตไว้ในข้อตกลงทริปส์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) และล่าสุดเกิดขึ้นที่อินเดีย ซึ่งสำนักงานสิทธิบัตรของอินเดียได้มีคำตัดสินให้บริษัทแนทโก้ (Natco) ซึ่งเป็นบริษัทยาชื่อสามัญในอินเดียผลิตยารักษามะเร็งตับ Sorafenib Tosylate (Nexavar) ที่ติดสิทธิบัตรของบริษัทไบเออร์ เยอรมนีได้ ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงถึงร้อยละ 97 โดยจ่ายค่าชดเชยให้กับบริษัทไบเออร์สูงถึงร้อยละ 6 ของราคาขายยาชื่อสามัญซึ่งถ้าไบเออร์ เจ้าของสิทธิบัตรไม่พอใจก็สามารถอุทธรณ์ได้หากมีหลักฐานมากพอว่า ราคายาของบริษัทฯ ลดลงมากจนทำให้ประชาชนเข้าถึงได้แล้ว หลังจากนั้นบริษัทยายักษ์ใหญ่ อย่างโรช ก็มามีข้อเสนอเพื่อลดราคายามะเร็งอีก 2 ตัว คือ Herceptin และ MabThera แต่ข้อเสนอยังไม่น่าสนใจ เพราะต้องดูที่ว่า ราคาเป็นธรรมไหม จะลดแค่ 10-20% คงไม่พอ

“การทำซีแอลตัวแรกของอินเดียครั้งนี้ สำนักสิทธิบัตรได้ชี้เหตุผลสำคัญคือ ยามีราคาแพงมากจนผู้ป่วยที่สามารถหาซื้อยานี้ได้มีแค่ 2% ของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาทั้งหมด และหลังจากได้สิทธิบัตรไปแล้วบริษัทไบเออร์ไม่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่อินเดียเลย ซึ่งได้สร้างกระแสความตื่นตัวในอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของอินเดียอย่างมาก เพราะมีความชัดเจนว่ากฎหมายในเรื่องการประกาศใช้สิทธิที่จริงแล้วปฏิบัติอย่างไร ฉะนั้นตอนนี้เริ่มมีบริษัทที่สนใจที่จะร้องสำนักงานสิทธิบัตรเพื่อขอให้ประกาศซีแอลเพิ่มในยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ และ ยารักษามะเร็งอื่นๆ ที่มีราคาแพงมากจนทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา และยิ่งมีความตื่นตัวมากในกลุ่มผู้ป่วย เพราะพวกเขาเริ่มเล็งเห็นว่า หนทางที่ทำให้มียาดี ราคาถูก คนเข้าถึงได้ มีความยั่งยืนกว่ารอรับบริจาคจากบริษัทยาข้ามชาติ”

นักกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยาจากอินเดีย ยังกล่าวว่า การทำซีแอลของอินเดีย ยังทำให้บริษัทยาข้ามชาติตระหนักว่า ในกฎหมายสิทธิบัตรมีสองด้าน คือด้านรักษาผลประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิและด้านรักษาประโยชน์ของสาธารณะ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ดูแลให้สมดุลกัน ซึ่งประเด็นนี้ได้เขียนในคำประกาศซีแอลของอินเดียอย่างชัดเจน

“ถึงคุณจะมีสิทธิบัตรผูกขาดก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะใช้มันแสวงหากำไรบนชีวิตมนุษย์อย่างไร้ขอบเขต แน่นอนว่า ประสบการณ์ของเราก็คล้ายคลึงกับไทย ถูกกระแสโจมตีทางสื่อจากการทำประชาสัมพันธ์ของบริษัทยาข้ามชาติ แต่ด้วยความโปร่งใส ชัดเจน เช่นที่รัฐบาลไทยเคยทำก็ทำให้การโต้แย้งหรือการโกหกในที่สาธารณะฟังไม่ขึ้น แม้แต่รัฐมนตรีพาณิชย์ สหรัฐฯ ก็มาขู่รัฐมนตรีพาณิชย์ของเราฯ ว่า เขาไม่พอใจ ซึ่งรัฐบาลอินเดียชี้แจงไปว่า กลไกยืดหยุ่นนี้มีไว้เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงยาของประชาชน อันเนื่องมาจากการตั้งราคายาที่แพงสุดขีดโดยบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตร”

ทั้งนี้นักกฎหมายจากอินเดียยังชี้ว่า จากประสบการณ์การประกาศซีแอลของไทยจนมาถึงปัจจุบันก็ชี้ชัดว่า ข้ออ้างที่การทำซีแอลจะไปทำลายการวิจัยและพัฒนายาใหม่ และการลงทุนต่างๆ ก็ไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมไบโอเทคเล็กๆ และการวิจัยในมหาวิทยาลัยยังทำวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่เท่านั้นที่ไม่ทำวิจัยยาใหม่ แต่มักหากินด้วยการเปลี่ยนแปลงยาเก่าเล็กน้อยเพื่อจดสิทธิบัตรผูกขาดไปเรื่อยๆที่เรียกว่า evergreening patent

ทางด้าน รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการบริหารแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จุฬาฯ กล่าวว่า ภายหลังการประกาศบังคับใช้สิทธิของไทยมีการทำงานต่อเนื่องทางด้านนโยบายและพัฒนากลไกต่างๆ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาและพัฒนางานวิจัย โดยเฉพาะที่กำลังดำเนินอยู่ตามนโยบายแห่งชาติด้านยา แต่ก็จะพบว่า อุตสาหกรรมยาข้ามชาติพยายามแทรกเข้าไปในทุกองคาพยพเพื่อขัดขวางกลไกเหล่านี้ เพราะเกรงว่าจะไปทำให้กำไรของพวกเขาลดลง ซึ่งเป็นหน้าที่ของเครือข่ายผู้ป่วยและประชาสังคมต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ดังนั้น ประสบการณ์ของอินเดียจึงเป็นแรงกระตุ้นที่จะทำให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยพิจารณาใช้มาตรการยืดหยุ่นที่มีอยู่ในกฎหมายเพื่อสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิและประโยชน์สาธารณะ และกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยาตระหนักว่า อย่าเอาแต่แสวงหากำไรสูงสุดโดยไม่นึกถึงประโยชน์ของประชาชน

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ภาพข่าวเด็กหญิงชาวอัฟกันหลังเหตุระเบิด คว้ารางวัลพูลิตเซอร์

Posted: 18 Apr 2012 02:57 AM PDT

ภาพข่าวเด็กหญิงที่กรีดร้องหลังเกิดเหตุระเบิดในกรุงคาบูล ได้รับรางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยมของพูลิตเซอร์ประจำปี 2012 โมไซนีช่างภาพเป็นชาวอัฟกันที่เติบโตในอิหร่านและกลับมาทำข่าวสงครามในบ้านเกิด

 

17 เม.ย. 2012 - ช่างภาพจากสำนักข่าวเอเอฟพีของฝรั่งเศสได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สาขาภาพข่าวดีเด่น จากภาพข่าวของเด็กผู้หญิงชาวอัฟกันกำลังกรีดร้องหลังเกิดเหตุระเบิดพลีชีพในกรุงคาบูล อีฟกานิสถาน

มาสเซาด์ โมไซนี ได้รับรางวัลภาพข่าวดีเด่นจากภาพของข่าวที่มีเด็กหญิงชื่อทารานา อัคบารี กำลังกรีดร้องหลังจากเกิดเหตุโจมตีกลุ่มฝูงชนในสุเหร่าอาบุลฟาเซลเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2011

คณะกรรมการกล่าวว่ารูปนี้ให้ความรู้สึก "เจ็บปวดใจ"

ทางด้าน โมไซนีกล่าวว่าเขารู้สึกภูมิใจที่สามารถเป็นเสียงให้กับชาวอัฟกัน

"เมื่อฉันยืนขึ้นมา ฉันเห็นทุกคนรอบตัวฉันอยู่บนพื้น เต็มไปด้วยเลือด ฉันกลัว กลัวมากจริงๆ" เด็กหญิงทารานากล่าว เธออายุ 11 ปี ชื่อเธอแปลว่า "ทำนองเพลง" หรือเมโลดี้

ทารานายังคงฝันร้ายเกี่ยวกับวันเกิดเหตุ และไม่สวมชุดเขียวที่เปื้อนด้วยเลือดจากการถูกโจมตีอีกต่อไป

เหตุการณ์ระเบิดดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 70 คน เหตุเกิดในช่วงที่กำลังมีเทศกาลอาชูราของมุสลิมนิกายชีอะห์ และเป็นเหตุระเบิดครั้งร้ายแรงที่สุดในกรุงคาบูลปีนั้น

มาสเซาด์ โมไซนี เป็นชาวอัฟกัน โตมาในอิหร่านก่อนที่จะกลับมาทำข่าวสงครามในอัฟกานิสถาน เขาบอกว่าภาพข่าวนี้ทำให้ความทรงจำที่เลวร้ายกลับคืนมา

"ผมไม่มองภาพนี้อีกแล้ว เพราะมันทำให้หัวใจของผมเต้นรัว และทำให้อารมณ์ความรู้สึกในวันนั้นกลับคืนมา" โมไซนีกล่าว

"ผมรู้ว่าใครก็ตามที่เห็นภาพนี้จะนึกถึงช่างภาพ แต่ผมหวังว่าพวกเขาจะไม่ลืมความเจ็บปวดของชีวิตประชาชนชาวอัฟกานิสถาน" โมไซนีกล่าว

รางวัลพูลิตเซอร์ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 1917 เป็นรางวัลที่มอบให้กับงานข่าวและงานศิลปะที่ยอดเยี่ยม ทรงคุณค่า

 



ที่มา

Photo of Afghan girl after bomb attack wins Pulitzer, BBC, 17-04-2012
http://www.bbc.co.uk/news/world-asia-17738249
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น