โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

ยื่นประกัน 'สมยศ' รอบ 8 หลักทรัพย์ 3 ล้าน – จำเลยเบิกความ 1 พ.ค.

Posted: 26 Apr 2012 12:17 PM PDT

 

26 เม.ย. 55 ที่ศาลอาญารัชดาภิเษก นายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ รักษาการพนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ พยานฝ่ายโจทย์ในคดีหมิ่นตามมาตรา112 ของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ขึ้นเบิกความต่อศาลว่า ศูนย์อำนวยแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ตั้งขึ้นในขณะที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงปี 53 โดยมีการประชุมเพื่อหารือกรณีมีการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ จากนั้นจึงจะแจ้งมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ตรวจสอบพยานหลักฐานตาม “ผังล้มเจ้า” ของศอฉ. จากนั้นดีเอสไอจึงส่งเรื่องกลับไปให้เจ้าหน้าที่ใน ศอฉ. เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ สำหรับการตรวจสอบ รวบรวมหลักฐานในคดีนี้ พนักงานสอบสวนของดีเอสไอแบ่งการทำงานเป็น 3 กลุ่มคือ ทางเวทีปราศรัย ทางวิทยุชุมชนหรืออินเทอร์เน็ต และสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งตนมีหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์

เจ้าหน้าที่จากดีเอสไอ ระบุว่า ทางทหารได้มอบนิตยสาร Voice of Taksin ให้ดู 4 เล่มโดยระบุว่าทั้งหมดเข้าข่ายหมิ่น แต่เมื่อพนักงานสอบสวนตรวจสอบแล้วพบเพียง 1 เล่มซึ่งมี 1 บทความของนายจิต พลจันทร์ แต่จากพยานหลักฐานตรวจสอบไปไม่ถึงผู้เขียนและไม่สามารถเอาผิดได้ จากนั้นจึงได้หลักฐานเพิ่มอีก 1 เล่มระหว่างสืบสวนสอบสวน  อย่างไรก็ตาม การกล่าวหาครั้งนี้ไม่ได้เชื่อมโยงกับ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ฯ ที่ระบุว่า บรรณาธิการต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่เผยแพร่ เนื่องจากบก.ผู้จดแจ้งเป็นอีกคนหนึ่ง ซึ่งสืบสวนแล้วพบว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่สืบทราบจากพยานซึ่งเป็นพนักงานที่นิตยสาร Voice of Taksin เองว่านายสมยศเป็นผู้รับผิดชอบคัดสรรบทความ จึงดำเนินคดีกับนายสมยศ

ด้านนางสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยานายสมยศ ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 8 โดยใช้หลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินราคา 1.6 ล้าน และเงินสดของกรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรม 1.4 ล้าน รวม 3 ล้านบาท พร้อมทั้งยื่นเอกสารแถลงการณ์จากองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่เรียกร้องให้นายสมยศได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัว ไม่ว่าจะเป็น กลุ่ม Article 19, เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน, โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม, สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย, ศูนย์ข้อมูลชุมชน, เครือข่ายพลเมืองเน็ต, ศูนย์พัฒนาเด็กและเครือข่ายชุมชน, โครงการเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ รวมถึงจดหมายของ ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้ามาตรวจสอบกรณีของสมยศ โดยเฉพาะการไม่ได้รับสิทธิในการประกัน

ทั้งนี้ การสืบพยานฝ่ายจำเลยจะเริ่มต้นในวันที่ 1-4 พ.ค. โดยนายสมยศจะขึ้นเบิกความเป็นปากแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการสืบพยานวันนี้มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่างประเทศ เช่น อียู และ Clean Clothes Campaign ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานจากประเทศเนเธอแลนด์เข้าร่วมรับฟังการสืบพยานด้วย โดย Jenneke Arens จาก Clean Clothes Campaign กล่าวว่า คดีของนายสมยศ และคดีมาตรา 112 อื่นๆ ในประเทศไทยกำลังเป็นที่จับตามองของนานาประเทศ เนื่องจาก Free Speech เป็นพื้นฐานของเสรีภาพที่สำคัญที่สุด การถูกละเมิดในสิทธิพื้นฐานทำให้เป็นการง่ายที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิในการรวมกลุ่ม สิทธิในการจัดตั้งองค์กร ฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราพยายามรณรงค์กับคนงานมาโดยตลอด นอกจากนี้ประเทศไทยยังรับรองสนธิสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้แล้วด้วย หากประเทศไทยต้องการจะมีที่ยืนในเวทีระหว่างประเทศต่อไป รัฐบาลควรเผชิญหน้ากับเรื่องนี้แทนที่จะหลบหลีก โดยอาจเริ่มต้นจากการให้ special repporteur เข้ามาตรวจสอบเกี่ยวกับปัญหามาตรา 112 อย่างเป็นทางการ

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รำลึก 27 ปี “น้องเกด” พยาบาลอาสา ครอบครัวเสนอ “ปรองดอง” แบบที่ผู้สูญเสียรับได้

Posted: 26 Apr 2012 10:28 AM PDT

พะเยาว์ อัคฮาด จัดงานวันเกิด 27 ปี “กมนเกด” พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมฯ เสื้อแดงร่วมจำนวนมาก ตั้งโต๊ะแถลงข่าวไม่สนนิรโทษกรรมของนักการเมือง เสนอนิรโทษเฉพาะผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ส่วนแกนนำ นปช.-ระดับผู้บังคับบัญชา-ผู้สั่งการ หากพบผิดต้องดำเนินคดี “น้องเดียร์” ขึ้นเวที บอกไม่มีใครลืม แต่ขอให้ใจเย็น

 

นางพะเยาว์ (ซ้าย) และนายณัทพัช อัดฮาด (กลาง)  ขณะอ่านแถลงการณ์ข้อเสนอเพื่อที่จะนำไปสู่ความปรองดอง

 

26 เม.ย.55 เมื่อเวลา 17.00 น. บริเวณแยกราชประสงค์ มีการจัดงานรำลึกการเสียชีวิตและวันคล้ายวันเกิดของนางสาวกมนเกด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในเดือนพฤษภาคม 2553 โดยนางพะเยาว์ และนายณัทพัช อัคฮาด มารดาและน้องชายได้อ่านแถลงการณ์ข้อเสนอเพื่อที่จะนำไปสู่ความปรองดองเสนอต่อ รัฐบาล รัฐสภา และสารณชนพิจารณา โดยมีเนื้อหา ดังนี้

1. เสนอให้ออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมืองและผู้ที่ถูกดำเนินคดีอันมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทุกฝ่ายโดยเร่งด่วน เพื่อเป็นการลดเงื่อนไขความขัดแย้งในสังคมวงกว้าง

2. เร่งรัดให้การสืบสวนสอบสวน การไต่สวนการตาย และการพิจารณาคดีบนชั้นศาลกรณีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมดำเนินไปอย่างไม่ล่าช้า เพื่อฟื้นฟูระบบนิติรัฐในสังคมไทย หากปรากฏว่าแกนนำ นปช. เป็นผู้กระทำความผิดก็ให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม หากปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นผู้กระทำความผิด อาจพิจารณาให้นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ระดับล่าง แต่ต้องไม่ละเว้นการดำเนินคดีเอาผิดกับผู้สั่งการและผู้บังคับบัญชาในการสลายการชุมนุม เพราะการละเว้นความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิในชีวิตของประชาชนย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ในระบอบประชาธิปไตย

3. ให้รัฐบาลชดเชยค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายจากการชุมนุมทางการเมืองนับแต่การรัฐประหาร 19 กันยา ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุม และผู้ประกอบการเอกชน

4. สำหรับกรณีของคุณทักษิณและพวก ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบ 2 มาตรฐานหรือกระบวนการตุลาการภิวัตน์ที่สืบเนื่องจากการรัฐประหาร 19 กันยา ควรดำเนินการตามแนวทาง “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” ของคณะนิติราษฎร

นายณัทพัชกล่าวในแถลงการณ์ว่า กระบวนการสร้างความปรองดองที่ได้เสนอให้พิจารณานี้วางอยู่บนคุณค่า หลักการ และกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย เคารพในหลักนิติรัฐและสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ซึ่งจะเป็นหลักประกันว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนจำนวนมากเช่นนี้อีกในอนาคต

นางพะเยาว์กล่าวปิดการแถลงการณ์ไว้อาลัยนางสาวเกดว่า “วันนี้เมื่อ 27 ปีที่แล้ว น้องเกดได้เกิดมาเป็นลูกสาวในครอบครัวอัคฮาด แต่แล้วเธอก็ได้จากเราไป ขณะที่ทำหน้าที่พยาบาลอาสาสมัครในสถานการณ์ที่ฝ่ายหนึ่งกำลังชุมนุมเพื่อยืนยันในหลักความยุติธรรมที่ตนเชื่อ และอีกฝ่ายหนึ่งกำลังเคลื่อนกองกำลังติดอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุม

 วันนี้น้องเกดได้เกิดอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะลูกของผู้รักความถูกต้อง รักเสรีภาพ รักประชาธิปไตย

วันนี้คบเพลิงแห่งเสรีชนได้ถูกจุดขึ้นแล้ว ยังความสว่างไสวในดวงตาและในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนทั้งแผ่นดิน ท่ามกลางการต่อต้านรัฐประหาร คัดค้านระบบความยุติธรรม 2 มาตรฐาน และต่อสู้กับการเมืองแบบจารีตนานหลายปี

ดิฉันขอให้จิตวิญญาณของน้องเกดและของผู้ที่เสียสละคนอื่นๆ สถิตอยู่ในตัวเราทุกๆ คนในที่นี้ เพื่อนำทางไปสู่อนาคตที่เราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องเข่นฆ่ากันอีก ขอบคุณค่ะ”

นางพะเยาว์ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของคดีว่าในตอนนี้คดีได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และเธอยังคงมีกำลังใจในการที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ลูกของเธอ

หลังจากเสร็จสิ้นการกล่าวแถลงการณ์ก็ได้มีพิธีรดน้ำอัฐฐิของนางสาวกมนเกด เนื่องด้วยมีผู้มาแสดงความเสียใจเป็นจำนวนมากทำให้นางพะเยาว์ก็ถึงกับกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่  

 

 

จากนั้นเวลา 19.00 น. มีเวทีปราศรัยโดยนางพะเยาว์ ได้นำเค้กขึ้นมาบนเวทีพร้อมร้องเพลงวันเกิด และเป่าเทียนวันเกิดให้ลูกสาวที่เสียชีวิต และแจกเค้กให้ผู้ที่มาร่วมงานด้วย จากนั้นได้กล่าวบนเวทีว่า

"ที่ ส.ส.หลายคนบอกให้หันหน้ามาปรองดองและลืมๆไปซะ ก็อยากให้มองกลับกันว่าหากเป็นลูกหลานของท่านจะยอมหรือไม่ เพราะประชาชนได้ผ่านเหตุการณ์มาไม่นานและยังไม่ลืมเหตุการณ์ อยู่ดีๆ พล.อ.สนธิ (บุญยรัตกลิน) จะมาโยนเรื่องปรองดองลงมาใครจะทำได้ เพราะพี่น้องได้ร่วมต่อสู้กันมา ยืนยันว่าไม่ได้คัดค้านการปรองดอง แต่มีข้อแม้ว่าหากจะปรององต้องไม่เกี่ยวคดีความที่มีอยู่" นางพะเยาว์กล่าวและว่าไม่สนใจการให้สัมภาษณ์ของทักษิณ ชินวัตร เรื่องนิรโทษกรรม แต่มั่นใจใน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศ

นางพะเยาว์ กล่าวอีกว่าอยากฝากถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ว่าข้องใจว่าประเทศนี้พอมีอะไรกันก็เข้าพบพล.อ.เปรม อาทิ กองทัพก็ต้องเข้าไปรดน้ำ   และที่มีคนออกมาระบุว่า พล.อ.เปรมไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เหตุการณ์ที่ผ่านมา พล.อ.เปรมก็เคยการันตีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าประเทศไทยโชคดีที่มีนายกชื่ออภิสิทธิ์ แล้วทำไมตอนที่สั่งฆ่าประชาชน พล.อ.เปรมไม่ออกมา ตนมั่นใจว่าคนที่อยู่เบื้องหลังและยุ่งการเมืองคือ พล.อ.เปรม

ส่วน น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  ได้กล่าวปราศรัยกับผู้ชุมนุมว่า ไม่ได้มาร่วมงานในฐานะ ส.ส. แต่มาร่วมงานในฐานะผู้สูญเสีย เชื่อว่าเสื้อแดงทุกคนไม่ลืมการสูญเสียในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อยากให้ทุกคนมั่นใจ และเชื่อใจกระบวนการยุติธรรม เพราะถ้าเราไม่เชื่อ เราก็ไม่สามารถเชื่อใครได้นอกจากตัวเอง

"เดียร์รู้สึกไม่แตกต่างจากแม่น้องเกด แต่อยากให้ทุกคนใจเย็นเหมือนเดียร์ และเชื่อว่าคุณพ่อของเดียร์ และน้องเกดจะใจเย็นไปกับพวกเรา" น.ส.ขัตติยากล่าว

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: จากปทุมธานี ถึงพรรคเพื่อไทย

Posted: 26 Apr 2012 10:08 AM PDT

การพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยทั้งในการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 5 ปทุมธานี และการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี (อบจ.) ได้ให้บทเรียนที่สำคัญยิ่ง

สาเหตุเฉพาะหน้าของความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ก็คือ มวลชนคนเสี้อแดงปทุมธานีจำนวนมาก “พร้อมใจกัน” ไม่ไปลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยนั่นเอง เป็นผลให้ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์แม้จะไม่ได้คะแนนเสียงเพิ่ม แต่ก็สามารถชนะการเลือกตั้งในที่สุด

นัยหนึ่ง คนเสื้อแดงปทุมธานีกำลัง “สั่งสอนบทเรียนสำคัญ” ให้กับพรรคเพื่อไทย

สาเหตุสำคัญคือ ปัญหาระบบของพรรคเพื่อไทยในการคัดสรรคนเพื่อลงสมัครเป็น ส.ส. ที่ยังเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์และลัทธิพรรคพวก ในแต่ละเขต จะมี “เจ้าของพื้นที่” อยู่เพียงไม่กี่คนที่งุบงิบตัดสินใจกันเองว่า จะเอาญาติ พี่น้อง ลูกเมียใครลงสมัครบ้าง โดยไม่สนใจความคิดความรู้สึกของประชาชนในท้องถิ่น

ผลที่ได้คือ ในหลายพื้นที่ พรรคเพื่อไทยจะได้แต่ประเภท “ส.ส.หลังยาว” ที่เกาะกระแส พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามา โดยแทบไม่ได้หาเสียงด้วยตนเอง ไม่มีผลงานอันใด ไม่ใส่ใจประชาชนในพี้นที่ ไม่เป็นที่พึ่งพาของประชาชนในยามเดือดร้อน เอาแต่วิ่งเต้นในพรรค คอยเดินตามรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีเพื่อตำแหน่งต่างๆ ให้ตนเองหรือพรรคพวกญาติพี่น้อง

ในการเลือกตั้งใหญ่ 3 กรกฎาคม 2554 ประชาชนจำต้องกล้ำกลืนทั้งน้ำตา ยอมลงคะแนนให้ “ส.ส.หลังยาว” พวกนี้เข้าไปเพราะต้องการเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นตัวแทนเผด็จการจารีตนิยม ให้พรรคเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยชนะคะแนนเด็ดขาดแล้วได้จัดตั้งรัฐบาล

แต่ในการเลือกตั้งซ่อมและเลือกตั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น เป็นคนละปริบท ประชาชนสามารถตัดสินใจได้กว้างขึ้นโดยรู้ดีว่า จะไม่กระทบภาพใหญ่ระดับประเทศ พวกเขาจึงเลือก ส.ส.ตามลักษณะและคุณภาพอย่างแท้จริง ในกรณีเขต 5 ปทุมธานี ส.ส.ที่ลาออกไป คือพวกหลังยาว ซึ่งประชาชนเอือมระอาเต็มทน ส่วนผู้ที่มาลงแทน ก็ถูกคัดสรรมาจาก “เจ้าของพื้นที่” โดยไม่สนใจความคิดเห็นของประชาชน ดูถูกประชาชนว่า นี่คือพื้นที่สีแดง ต่อให้พวกตนเอา “เสาไฟฟ้า” มาลง คนเสื้อแดงก็ต้องเลือกวันยังค่ำ เพราะถึงอย่างไร มวลชนก็จะไม่หันไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ แต่เขาหารู้ไม่ว่า คนเสื้อแดงเป็นมวลชนที่ตื่นตัวทางประชาธิปไตยอย่างสูง ฟันฝ่ากระสุน ระเบิด และกองเลือดเพื่อประชาธิปไตยมาแล้ว มวลชนจึงคิดได้ว่า พวกเขาไม่ได้ถูกกำหนดจากพรรคเพื่อไทย แต่เป็นพวกเขาต่างหากที่กำหนดชะตากรรมของพรรค

บทเรียนสำคัญคือ พรรคเพื่อไทยจะต้องปฏิรูปกระบวนการคัดสรรตัวบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้ง ลดเลิกระบบอุปถัมภ์และลัทธิพรรคพวก ให้ประชาชนระดับฐานรากเข้ามามีส่วนโดยตรงในการเสนอชื่อและคัดสรรผู้สมัคร สร้างให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคมวลชนอย่างแท้จริง ค่อยๆ ลดความเป็นพรรคเถ้าแก่ใหญ่ แน่นอนว่า สิ่งนี้จะต้องเผชิญกับแรงต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มก๊วนต่าง ๆ ในพรรค แต่นี่คือปัจจัยชี้ขาดข้อเดียวว่า พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคการเมืองเชิงสถาบันในระยะยาวต่อไปได้หรือไม่เมื่อพ้นยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแล้ว

พรรคเพื่อไทยแม้จะชนะเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรในระดับชาติ แต่กลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในระดับท้องถิ่น คือพ่ายแพ้การเลือกตั้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในเกือบทุกท้องที่ โดยมี อบจ. ปทุมธานี เป็นกรณีล่าสุด การเมืองระดับชาติกับการเมืองระดับท้องถิ่นนั้น มีลักษณะเนื้อหาที่แตกต่างกันโดยพื้นฐาน จะเอาวิธีการของการเลือกตั้งระดับชาติไปใช้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้ คือไม่สามารถชูภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนางสาวยิ่งลักษณ์แล้วชนะเลือกตั้ง

การเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องผลประโยชน์โดยตรงของคนพื้นที่และการพัฒนาท้องถิ่น ประชาชนจึงต้องการคนพื้นที่ที่ทำงานทุ่มเทให้กับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่ได้ต้องการคนที่เป็น “เพื่อไทย” หรือ “เสื้อแดง” การเมืองระดับชาติแทบไม่มีผล ระบบการคัดสรรคนของพรรคเพื่อไทยจึงใช้ไม่ได้กับการเมืองท้องถิ่นอีกเช่นกัน เพราะไปตัดสินกันที่ความสัมพันธ์โยงใยกับ “เจ้าของพื้นที่” เป็นหลัก โดยมีผลงานและความสัมพันธ์กับประชาชนในท้องถิ่นเป็นประเด็นรอง

บทเรียนจากกรณี อบจ.ปทุมธานีจึงเป็นเรื่องของความเข้าใจต่อการเมืองท้องถิ่น ซึ่งแบบวิธีคิด วิธีการทำงาน การหาเสียง การจัดตั้งเครือข่ายและสร้างผลงานในท้องถิ่น เป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะต้องเรียนรู้ หัวใจสำคัญจึงยังคงอยู่ที่ระบบการคัดสรรคนของพรรคเพื่อไทยอีกนั่นเอง

แต่ยังมีเหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้งที่ปทุมธานี และเป็นเหตุผลที่ทั้งแกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช.ปฏิเสธเสียงแข็งและไม่ยอมพูดถึง นั่นคือ นโยบายปรองดองของพรรคเพื่อไทยและท่าทีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมุ่งประนีประนอมกับฝ่ายเผด็จการจารีตนิยมโดยไม่คำนึงถึงหลักการความยุติธรรม  เป็นการ “หย่าศึก” “ลืมอดีตทุกอย่าง” “ยกโทษให้ทุกฝ่ายทุกคน” บนกองเลือดและความเจ็บช้ำของมวลชนคนเสื้อแดง

คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เสียมเรียบ ที่บอกให้ แม่น้องเกด (นางพะเยาว์ อัคฮาค มารดานางสาวกมลเกด อัคฮาค พยาบาลอาสาที่ถูกทหารพลแม่นปืนฆ่าอย่างโหดเหี้ยมขณะปฏิบัติหน้าที่ในวัดปทุมวนาราม) และญาติผู้เสียชีวิตควร “เสียสละ” “เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม” นั้น เป็นคำพูดที่ทำร้ายจิตใจคนเสื้อแดงอย่างสาหัส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับญาติพี่น้องของคนที่ตาย บาดเจ็บ พิการ และติดคุกถึงทุกวันนี้ เป็นนัยว่า เขาเหล่านี้ไม่รู้จัก “เสียสละ” ที่ไม่เห็นด้วยกับ “การปรองดอง” ของพรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยอย่าได้คิดว่า “ให้เงินเยียวยาไปคนละหลายแสนหรือหลายล้าน แล้วจบกัน” จะต้องเข้าใจว่า การที่คนเหล่านี้ก้าวออกมาต่อสู้ ฝ่ากระสุน ระเบิด และความตาย เสียชีวิตและอวัยวะ สูญทรัพย์สิน เงินทอง อาชีพการงาน ต่อเนื่องมาหลายปีนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้าน แต่จุดหมายหลักคือ เพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง ส่วนเรื่องอื่น ๆ เป็นผลพลอยได้ เขาเหล่านี้แหละที่ “เสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริงมาตลอดหลายปี” สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องในวันนี้ไม่ใช่การล้างแค้น พวกเขาต้องการแค่ “ความยุติธรรม” เท่านั้น และก็ไม่มีใครหน้าไหนมีสิทธิ์มาบอกให้พวกเขา “เสียสละ” เพิ่มขึ้นอีก ยิ่งไม่มีสิทธิ์มาบอกพวกเขาว่า “ให้นึกถึงส่วนรวม”

การปฏิเสธความจริงข้อนี้คือ “การทรยศ” ต่อการเสียสละอันใหญ่หลวงของพวกเขา ถึงวันนี้ พรรคเพื่อไทยและแกนนำยังไม่เข้าใจอยู่อีกหรือ?

เรื่อง “การปรองดอง” ที่ไร้หลักการและไม่ยุติธรรมนี้แหละคือความคับแค้นใจอย่างแท้จริงในหัวใจของคนเสื้อแดงทั่วประเทศ พวกเขารู้สึกว่า “ถูกหักหลัง” นี่จะเป็นเครื่องชี้ชะตากรรมหนึ่งเดียวของพรรคเพื่อไทยกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรว่า จะยังคงได้รับการอุ้มชูและคุ้มครองจากประชาชนผู้รักประชาธิปไตยต่อไปหรือไม่

หากปราศจากมวลชนคนเสื้อแดงแล้ว อย่าว่าแต่จะชนะเลือกตั้งเลย แม้แต่ตัวพรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณเอง ก็ไม่อาจอยู่รอดได้แม้แต่วันเดียวในกรงเล็บของเผด็จการจารีตนิยม!

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุรพศ ทวีศักดิ์: ปมความมั่นคงของพุทธศาสนา

Posted: 26 Apr 2012 04:51 AM PDT

ผมเคารพ ‘เจตนาดี’ ของพระสงฆ์และชาวพุทธที่รักพุทธศาสนา ต้องการปกป้องพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงคู่สังคมไทยและสังคมโลกตลอดไป ที่พยายามต่อสู้ขับเคลื่อนให้ระบุในรัฐธรรมนูญว่า ‘พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย’ และต่อสู้ผลักดันให้รัฐออกกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาว ผมเข้าใจดีว่า การต่อสู้ผลักดันเรื่องดังกล่าวทำกันมาอย่างเหนื่อยยาก และผมเองก็เคารพเสรีภาพ เหตุผล ของทุกฝ่ายที่พยายามผลักดัน 

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอุดมการณ์ เป้าหมาย แนวคิดเบื้องหลังของการต่อสู้ผลักดันเพื่อให้เกิดสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็น ‘ความมั่นคงของพุทธศาสนา’ นั้น ผมกลับพบว่ามีปัญหาน่ากังวลซึ่งอยากตั้งข้อสังเกตไว้

ปัญหาน่ากังวลที่ว่านี้ คือ เรากำลังติด ‘ปมความมั่นคงของพุทธศาสนา’ ในจินตนาการแบบอดีต และกำลังผูกปมใหม่ๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่? ซึ่งในที่สุดปมต่างๆ ที่พยายามผูกเพิ่มขึ้นมากมายนั้น อาจไม่ได้ทำให้เกิด ‘ความมั่นคงของพุทธศาสนา’ เลยก็ได้

‘ปมความมั่นคงของพุทธศาสนา’ ที่ผมสังเกตเห็นในการแสดงออกของกลุ่มเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความมั่นคงของพุทธศาสนาในบ้านเรามีสามปมหลัก คือ

ปมหนึ่ง - ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองมาได้เพราะกษัตริย์อุปถัมภ์ ฉะนั้น รัฐประชาธิปไตยปัจจุบันต้องทำหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนาแทนรัฐราชาธิปไตย

แต่ปมนี้บดบังความจริงที่ว่า พุทธศาสนาที่ไม่ใช่ในเชิงพิธีการ แต่เป็นพุทธศาสนาในเชิงเนื้อหาสาระหรือเชิงวิถีชีวิตนั้น มักเป็นพุทธแบบบ้านๆ ที่เป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐ พระสงฆ์และชุมชนพุทธที่เข้มแข็งทางปัญญาและการปฏิบัติธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน มักเป็นฝ่ายที่ขบถหรือเป็นอิสระจากอิทธิพลครอบงำของอำนาจรัฐส่วนกลาง

เช่น เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ที่อ้างหลักธรรมคัดค้านการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของ รัชกาลที่ 6 ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา เรื่อยมาถึงพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงพ่อชา สุภัทโท พุทธทาสภิกขุ พระไพศาล วิสาโล สมณสันติอโศก และสำนักปฏิบัติธรรมอื่นๆ ที่เข้มแข็งได้ด้วยการสร้างตัวเองให้เป็นที่เชื่อถือ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

และบดบังความจริงว่า รัฐประชาธิปไตยไม่อาจทำหน้าที่เหมือนรัฐราชาธิปไตยได้ เพราะรัฐประชาธิปไตยอ้างอิงความเป็นกลางทางศาสนา (และทางอื่นๆ) โดยอิงแนวคิดแบบ secularism และ liberalism ซึ่งหมายถึงความเป็นกลางของรัฐอ้างอิง ‘ความชอบธรรม’ อยู่บนเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เช่น เสรีภาพทางเพศ ทางการเมือง การนับถือศาสนาฯลฯ

ฉะนั้น รัฐประชาธิปไตยจึงมีหน้าที่เป็นกลางทางศาสนา โดยต้องพิทักษ์เสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการนับถือศาสนาและอื่นๆ จะนำอุดมการณ์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาเป็นอุดมการณ์ของรัฐในการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมแก่พลเมืองไม่ได้

ปมสอง - ศาสนาพุทธถูกทำลายโดยกองทัพมุสลิมจึงสูญสิ้นจากอินเดีย ฉะนั้น ศาสนาอิสลามที่กำลังรุกในภาคใต้และภาคอื่นๆ ของประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของพุทธศาสนาในระยะยาว

แต่ปมนี้บดบังความจริงว่า ก่อนจะถูกกองทัพมุสลิมรุกรานนั้น พุทธศาสนาอ่อนแอมากแล้ว มีการแตกแยกเป็นนิกายต่างๆ การศึกษาสงฆ์ในมหาวิทยาลัยนาลันทาตัดขาดจากสังคม จากปัญหาของโลกภายนอก สนใจถกเถียงและชื่นชมความดีงามสูงส่งของหลักธรรมพุทธศาสนาเฉพาะในแวดวงเดียวกัน (เหมือนมหาวิทยาลัยสงฆ์ปัจจุบันที่แทบจะปิดกั้นตัวเองจากความเห็นต่าง ไม่มองฝ่ายที่ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์เป็น ‘กัลยาณมิตร’ หรือ ‘ผู้ชี้ขุมทรัพย์’ อย่างที่พุทธะแนะนำให้มอง)

และบดบังความจริงว่า การเผยแผ่ศาสนาในโลกปัจจุบัน ไม่ได้ใช้กองทัพหรือความรุนแรงนำทางอีกแล้ว แต่เป็นการใช้เหตุผลเสรีภาพ ใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความเคารพระหว่างศาสนาและเกิดความร่วมมือที่จะสนับสนุนความเป็นธรรมและสันติภาพใน ‘สังคมพหุวัฒนธรรม’ ร่วมกัน

ฉะนั้น ศาสนิกที่มีวุฒิภาวะทางศาสนาควร ‘ก้าวนำ’ ในการขจัดความหวาดระแวงระหว่างศาสนา สร้างความเข้าใจและความเคารพเชื่อถือระหว่างศาสนา อย่างที่ท่านพุทธทาสทำเป็นตัวอย่าง และอย่างที่พุทธะทำเป็นตัวอย่างมาแล้วในสมัยพุทธกาล

ปมสาม - ศาสนาอิสลามออกกฎหมายคุ้มครองตัวเอง ฉะนั้น พุทธศาสนาต้องมีกฎหมายคุ้มครองอย่างเขาบ้าง

แต่ปมนี้บดบังความจริงว่า หลักการพื้นฐานของศาสนาอิสลามกับพุทธศาสนานั้นแตกต่างกัน ขณะที่ศาสนาอิสลามไม่ได้แยกความเป็นนักบวชกับความเป็นฆราวาสออกจากกัน ไม่ได้แยกกฎของพระเจ้ากับกฎหมายอย่างเป็นอิสระจากกัน แต่พุทธศาสนาแยกเรื่องดังกล่าวออกจากกันอย่างชัดเจน

และบดบังความจริงว่า พุทธศาสนามี ‘จุดแข็ง’ ในเรื่องการแสวงหาสัจจะ เสรีภาพ และความเสมอภาค เพราะพุทธะถือว่า ปัจเจกบุคคลต้องมีเสรีภาพจึงจะค้นพบสัจจะได้ สัจจะที่ค้นพบทำให้พ้นทุกข์ได้ และทุกคนต่างมีความเสมอภาคในการใช้เสรีภาพแสวงหาสัจจะหรือคุณค่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้พุทธศาสนาสามารถอยู่ร่วมในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้อย่างยืดหยุ่นและสร้างสรรค์

ฉะนั้น โดยหลักการพื้นฐานแล้ว พุทธศาสนาจึงไม่ควรมีกฎหมายเอาผิดในเรื่องลบหลู่ศาสดา หรือสอนผิดจากพระไตรปิฎก เพราะการมีกฎหมายเช่นนี้ย่อมขัดต่อความเสมอภาคในการใช้เสรีภาพแสวงหาสัจจะ เพราะการศึกษาและปฏิบัติธรรมย่อมเป็นเสรีภาพอย่างสูงสุดของปัจเจกบุคคลที่จะตีความคำสอนผ่านการเรียนรู้และประสบการณ์เฉพาะตน การออกกฎหมายให้อำนาจบางองค์กรมาคอยตรวจสอบเอาผิดจึงเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติของการแสวงหาสัจจะ และเป็นการทำลายมิติที่หลากหลาย มีชีวิตชีวาของพุทธศาสนาให้หายไป

เพราะยึดติด ‘สามปม’ ดังกล่าว (เป็นอย่างน้อย) จึงทำให้เกิดการพยายาม ‘ผูกปมใหม่ๆ’ ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เช่น ปมให้รัฐประชาธิปไตยต้องทำหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนาแทนรัฐราชาธิปไตย ปมพุทธศาสนาประจำชาติ ปมให้มีกฎหมายคุ้มครองศาสดา ศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนพิธี ปมให้รัฐรับผิดชอบการจัดการศึกษาพุทธศาสนา การจัดกองทุนอุดหนุนต่างๆ การใช้อุดมการณ์พุทธศาสนาเป็นอุดมการณ์ในการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของประชาชน ปมจัดกิจกรรมทางศาสนาแบบมหกรรม ฯลฯ

ซึ่งการผูกปมเหล่านี้คือการทำให้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือของรัฐ องค์กรสงฆ์เป็นกลไกรัฐ ทำให้เสรีภาพในการศึกษา การตีความคำสอนพุทธถูกจำกัด คับแคบ ทำให้พุทธที่มีมิติหลากหลายมีสีสันมีชีวิตชีวาแบบชาวบ้านๆ กลายเป็น ‘พุทธทางการ’ แบบแข็งทื่อที่เน้นพิธีการ พิธีกรรมแบบแห้งแล้ง ไม่ประเทืองปัญญา และไร้ชีวิตชีวา

จะว่าไปแล้ว ความมั่นคงของพุทธศาสนาจะเป็นไปได้จริงเมื่อคลายปมเหล่านั้นเสีย ให้พุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าจะให้สอดคล้องกับแนวทางของพุทธะจริงๆ ควรยกเลิกระบบสมณศักดิ์ (ระบบขุนนางพระ) ยกเลิกกฎหมายปกครองสงฆ์ที่เป็นเผด็จการซึ่งขัดต่อหลักการของธรรมวินัยที่เป็นประชาธิปไตยเสีย

ให้คณะสงฆ์ปกครองตนเองด้วยหลักธรรมวินัย และให้พุทธศาสนาเป็นเรื่องของเอกชน เป็นเรื่องของชาวบ้านที่เขามีเสรีภาพจะศรัทธาเชื่อถือและสนับสนุนอุปถัมภ์ ไม่ต้องมีอำนาจศาสนจักรที่ใช้กฎหมายเป็น ‘ดาบ’ คอยควบคุม กำกับ และครอบงำทางความคิดของผู้คน

อย่างที่ไปบีบให้ปัจเจกบุคคลที่ใช้เสรีภาพตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ต้องออกมาขอโทษดังที่ทำกันอยู่!

 

 

หมายเหตุ: บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากที่ฟัง ‘วิจักขณ์ พานิช’ พูด ใน ‘สันติประชาธรรมเสวนา’ ที่ ‘สวนเงินมีมา’ เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

'เขื่อน' ได้เวลาออกกฎหมายจำกัดการสร้าง

Posted: 26 Apr 2012 04:32 AM PDT

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมการสร้างเขื่อนนั้นมักเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง นับแต่มีโครงการก่อสร้างเขื่อนขึ้นในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2467 (เขื่อนพระราม 6 จ.อยุธยา) ในยุคแรก ๆ ของการสร้างเขื่อนในประเทศไทย อาจจะไม่ได้รับการต่อต้านมากนัก เพราะประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบที่จะตามมา และไม่เคยเห็นตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรมมาก่อน ที่สำคัญได้รับการโฆษณาชวนเชื่อจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งแต่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคยันท้องถิ่น ว่าเขื่อนนั้นดีเลิศประเสริฐศรียิ่งนัก

ข้ออ้างของการสร้างเขื่อนที่สำคัญ คือ เพื่อการชลประทาน การผลิตไฟฟ้า การประมง การป้องกันอุทกภัย และการผลักดันน้ำเค็ม แต่ทว่าอีกด้านหนึ่ง เขื่อนก็ก่อให้เกิดหายนะทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมนุษย์ สัตว์น้ำและสัตว์ป่า ที่ดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ของผืนน้ำและผืนป่า หลายพื้นที่ต้องไล่รื้ออพยพชาวบ้านให้ไปอยู่ที่อื่น หรือต้องหลีกทางอันเป็นที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารให้กับสิ่งปลูกสร้างขนาดยักษ์ แต่กลับสร้างประโยชน์ให้มีการคอรัปชั่นกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ตัวใหญ่ยันถึงตัวเล็ก เพราะฉะนั้นจึงเกิดการต่อต้าน การสร้างเขื่อนที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

หลายเขื่อนในประเทศไทยได้รับการคัดค้านการก่อสร้างอย่างรุนแรง เช่น เขื่อนเหวนรก เขื่อนแก่งกรุง เขื่อนน้ำโจน เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนคลองนางน้อย เขื่อนบาโหย เขื่อนรับร่อ เขื่อนแม่ละเมา เขื่อนน้ำปาย 1-3 และเขื่อนแม่ลามาหลวง จนรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ ที่ต่อต้านเขื่อนอย่างเข้มแข็ง

นักสร้างเขื่อนทั้งหลายมักไม่ค่อยสนใจต่อผลกระทบที่จะตามมา หรือสภาพที่ควรอนุรักษ์หรือรักษาไว้ในบริเวณพื้นที่ที่เสนอที่จะสร้างเขื่อนเลย คิดอยู่อย่างเดียวว่าจะผลาญงบประมาณโดยใช้เขื่อนเป็นข้ออ้างได้อย่างไร  เช่น “เขื่อนน้ำโจน” ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันพื้นที่เหล่านั้นได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกไปแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นมีความพยายามที่จะก่อสร้างเขื่อนบริเวณนั้นให้ได้ แต่ก็ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากภาคประชาชน จนคณะรัฐมนตรีต้องมีมติระงับการสร้างเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2531 ซึ่งเขื่อนดังกล่าว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้พยายามผลักดันให้มีการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าปิดกั้นลำน้ำแควตอนบน บริเวณเขาน้ำโจน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ. กาญจนบุรี แต่ฝ่ายนักอนุรักษ์คนสำคัญ เช่น สืบ นาคะเสถียร หมอบุญส่ง เลขะกุล ได้เข้าคัดค้านอย่างเต็มที่ เนื่องจากการสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 85,625 ไร่ ที่ระดับความสูง 370 ม. น้ำจะท่วมใจกลางป่าทุ่งใหญ่ฯ เป็นพื้นที่ประมาณ 80,000 ไร่ ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างและตัดไม้ออกจากบริเวณอ่างเก็บน้ำนานถึง 3 ปีครึ่ง เงินทุนที่ใช้ในการก่อสร้างกว่า 12,000 ล้านบาท เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 3.6 ของประมาณการความต้องการพลังงานไฟฟ้าปี 2532 การสร้างเขื่อนน้ำโจนก็คือ การทำลายป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งได้รับการประกาศจากองการณ์ยูเนสโกให้เป็น พื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลกในปัจจุบัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการให้มีการก่อสร้าง “เขื่อนแม่วงก์” ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และกำแพงเพชรได้ โดยมีข้อสมอ้างว่า เพื่อป้องกันน้ำท่วม และเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง โดยที่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายก่อนเลย และที่สำคัญเหตุผลของการอนุมัติให้ก่อสร้าง ไม่สามารถตอบโจทย์หรืออรรถาธิบายเหตุผลที่แท้จริงในการก่อสร้างได้

โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งกั้นขวางสายน้ำบริเวณต้นลุ่มน้ำสะแกกรัง มีปริมาณพื้นที่รองรับน้ำสูงสุดได้เพียง 258 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ในขณะที่ปริมาณน้ำที่ท่วมภาคเหนือตอนล่างถึงภาคกลางในปี 2554 ที่ผ่านมามีปริมาณนับหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร เทียบกันไม่ได้กับปริมาฯน้ำที่เขื่อนแม่วงก์จะใช้เพื่อการป้องกันน้ำท่วมได้ ในขณะเดียวกันในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีเขื่อนเดิมอยู่แล้วหลายเขื่อน เช่น เขื่อนทับเสลา เขื่อนคลองโพธิ์ เขื่อนแม่กวง ซึ่งพื้นที่ที่กรมชลประทานใช้เป็นข้ออ้างในการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรก็อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันของเขื่อนแม่วงก์ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องสร้างเขื่อนเพิ่มเติมเข้าไปอีกในพื้นที่ดังกล่าว ที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวก็มิใช่พื้นที่แล้งซ้ำซากเหมือนภาคอีสาน แต่เกษตรยังสามารถทำนาได้ปีละ 2-3 ครั้ง เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์จึงไม่มีโดยสิ้นเชิง แต่ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในโครงการถึง 13,280 ล้านบาท และต้องสูญเสียพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ในความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ไม้เศรษฐกิจที่มีค่าสูง เช่น ไม้สัก และพันธุ์สัตว์ป่ามากกว่า 564 ประเภทในพื้นที่ดังกล่าวไปกว่า 13,000 ไร่

เหตุผลดังกล่าวสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงได้มีข้อเสนอสำคัญขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การลดปัญหาของความขัดแย้งกันของภาคประชาชนกับรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ นั่นคือ “การจำกัดการสร้างเขื่อน” โดยใช้มาตรการทางกฎหมายขึ้นมาเป็นข้อกำหนด เพื่อมิให้นักสร้างเขื่อนทั้งหลายเลิกคิดที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ได้อีกต่อไป ซึ่งจะได้หันไปพัฒนาหรือวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับเขื่อนหรืออ่างขนาดเล็กที่มีพื้นที่รองรับน้ำไม่เกิน 50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อไป ซึ่งพื้นที่เขื่อนหรืออ่างขนาดเล็ก มักเป็นที่พอใจของชาวบ้านและไม่ได้รับการต่อต้านจากนักอนุรักษ์มากนัก ร่างกฎหมายดังกล่าวมีทั้งหมด 7 มาตรา ซึ่งมาตราที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

มาตรา 5  ห้ามหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอื่นใดของรัฐและหรือเอกชน เสนอหรือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมการก่อสร้างเขื่อนที่มีขนาดความจุของน้ำเกินกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไป

มาตรา 6  ห้ามก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ หรือพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่อนุรักษ์ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าตามกฎหมายเพื่อการนั้น

มาตรา 7 การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมการสร้างเขื่อนทุกประเภทจะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อนดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใด ๆ และต้องจัดกระบวนการให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจโครงการหรือกิจกรรมทุกขั้นตอน และให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นก่อนดำเนินการด้วย

ร่างกฎหมายดังกล่าวสมาคมจะเชิญชวนภาคประชาชนที่เห็นด้วยร่วมกันใช้สิทธิตามมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญในการเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐสภาต่อไป ซึ่งสมาคมและเครือข่ายนักอนุรักษ์ นักกฎหมาย จะได้ออกไปจัดเวทีเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ที่ดิน ให้กับประชาชนทั่วประเทศในเร็ว ๆ นี้ และจะตั้งโต๊ะล่ารายชื่อของประชาชนที่สนับสนุนแผนงานดังกล่าว จะได้มีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมายดังกล่าวร่วมกันต่อไป ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการปกป้องผืนป่าของชาติร่วมกันในอนาคต

ขณะเดียวกันในส่วนของมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์ หากคณะรัฐมนตรีไม่ทบทวนโครงการดังกล่าวตามข้อเสนอของภาคประชาชน ก็จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการทางศาลปกครองในการฟ้องร้องเพื่อระงับโครงการดังกล่าว และหากประชาชนท่านใดต้องการมีส่วนร่วมในการยับยั้งโครงการดังกล่าวสามารถมอบอำนาจให้สมาคมเป็นตัวแทนไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ โดยไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มหนังสือแต่งตั้งผู้แทนคดีได้ในเว็บไซด์ของสมาคมที่ www.thaisgwa.com แล้วกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนพร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง และรีบส่งมาที่สมาคมตามที่อยู่ในแบบฟอร์มโดยเร็ว เพื่อที่เราจะได้หยุดยั้งโครงการเขื่อนแม่วงก์ของรัฐบาลร่วมกันต่อไป...

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รายงาน 'ปะนาเระ' เดือด : จากวิสามัญ 3 ศพถึงกราดยิงมัสยิด

Posted: 26 Apr 2012 04:29 AM PDT

จุดยิง - บาลาเซาะห์ (อาคารละหมาดขนาดเล็ก) ซาบีลุลค็อยร์ บ้านนาพร้าว อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
จุดที่คนร้ายแต่งชุดดำ กราดยิงชาวบ้านเสียชีวิต เมื่อคืนวันพุธที่ 11 เมษายน 2555

 

ถนนสายเล็กๆ ในบ้านนาพร้าวที่ขนานไปกับชายหาด แทบไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา เรื่องราวความรุนแรงสะเทือนขวัญ เกิดขึ้นในหมู่บ้านที่มีทั้งคนพุทธและมุสลิมแห่งนี้ มาอย่างต่อเนื่องนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา

ทีมข่าวของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ลงไปเจาะลึกถึงความเป็นไปในหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่ในตำบลปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี แต่ดูเหมือนว่า ความจริงของแต่ละฝ่ายยังต่างกันลิบลับ

เหตุรุนแรงอันเป็นหมุดหมายสำคัญที่คนหมู่ที่ 2 ตำบลปะนาเระ กล่าวขวัญถึงคือเหตุยิงปะทะกันระหว่างทหารพรานกับกลุ่มที่รัฐเรียกว่าผู้ก่อความไม่สงบ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555

ครั้งนั้น ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศจฉ.กอ.รมน. ภาค 4 สน.) ระบุว่า มีคนร้ายประมาณ 6 คนใช้อาวุธสงครามและปืนพกยิงใส่จุดตรวจร่วมบนถนนในหมู่บ้าน หลังเสียงปืนสงบลง พบผู้เสียชีวิต 3 คน ส่วนทหารพรานและสมาชิกชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) บาดเจ็บเล็กน้อย

ถัดมาอีกเดือนกว่าๆ กำลังทหารพรานจากกรมทหารพรานที่ 44 ได้ควบคุมตัวครูสอนศาสนาหรืออุสตาซ 7 คนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอปะนาเระ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก พวกเขาถูกสงสัยว่าเป็นแกนนำในระดับความคิดของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

จากนั้นความรุนแรงในหมู่บ้านยิ่งถี่ขึ้น เริ่มจากวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2555 เกิดเหตุคนร้ายยิงสองพ่อลูกชาวมุสลิม โดยนายฮะ สาเระ เจ้าของร้านคาร์แคร์ผู้พ่อเสียชีวิต ส่วนลูกชายบาดเจ็บ

วันเสาร์ที่ 7 เมษายน 2555 นายเอกชัย ทองใหญ่ ชาวพุทธในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นลูกจ้างแขวงการทางอำเภอปะนาเระถูกยิงเสียชีวิต

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน 2555 ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ชาวไทยพุทธถูกยิงบาดเจ็บเล็กน้อย

วันพุธที่ 11 เมษายน 2555 คนร้ายซุ่มยิงชาวบ้านบริเวณบาลาเซาะห์ (อาคารละหมาดขนาดเล็ก) ซาบีลุลค็อยร์ประจำหมู่บ้าน ช่วงหลังละหมาดอีซา (ละหมาดตอนค่ำ) ทำให้นายยาลี ตาเห อายุ 51 ปี และนายรอมลี หะยีดอเล็ง อายุ 50 ปี เสียชีวิต ส่วนภรรยาของนายรอมลีถูกยิงบาดเจ็บสาหัส

เสียงจากชาวบ้าน และขบวนการ?
“คนมุสลิมไม่มีทางที่จะยิงไปในมัสยิดแน่นอน” นายมะแอ กาเจ อดีตโต๊ะอิหม่ามวัย 65 ปีที่รอดชีวิตมาจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นกล่าว แม้ว่าจะไม่ได้มีหลักฐานใดๆ มะแอก็เชื่อว่าทหารพรานอาจเป็นคนที่ลอบเข้ามาทำร้ายคนมุสลิมในหมู่บ้าน

นายมะแอสะท้อนว่า ชาวบ้านในพื้นที่รู้สึกหวาดกลัวทหารชุดดำเป็นอย่างมาก เขาเล่าว่าทหารพรานเหล่านี้มักจะมาอยู่ในป่า หลบๆ ซ่อนๆ และคนที่มาเป็นทหารพรานก็มักเป็นพวกนักเลงหัวไม้ หรือคนไม่มีงานทำ “ตั้งแต่ทหารพรานมาอยู่ที่นี่ มีชาวบ้านเสียชีวิตหลายคนแล้ว” มะแอกล่าว

อดีตโต๊ะอิหม่ามผู้นี้ ไม่ได้ปฏิเสธการเข้ามาของทหารเสียทีเดียว เขาคิดว่าทหารก็มีหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ถ้าให้เขาเลือกได้ เขาอยากให้ “ทหารเขียว” (ทหารหลัก) มาอยู่ในหมู่บ้านมากกว่า

พ.อ.นิติ ติณสูลานนท์ ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 44 กล่าวว่า ทางกอ.รมน.ได้ปรับโครงสร้างการทำงาน เพื่อโอนงานให้ทหารพรานเข้ามารับผิดชอบพื้นที่แทนทหารหลักมากขึ้น โดยโอนพื้นที่อำเภอปะนาเระและยะหริ่ง จังหวัดปัตตานีจากมือของทหารหลักมาสู่ทหารพรานตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 เป็นต้นมา

นายเจ๊ะอิซอ ตาเห ซึ่งเสียพี่ชายคนโตในเหตุการณ์ยิงมัสยิดเป็นอีกคนหนึ่งที่เชื่อว่าทหารพรานน่าจะเป็นจำเลยที่หนึ่งในเหตุการณ์ในครั้งนี้

“คนมุสลิมไม่ฆ่าคนในมัสยิด เพราะว่ามัสยิดเป็นบ้านของพระเจ้า” เขากล่าวหลังจัดงานทำบุญครบรอบเจ็ดวันหลังการเสียชีวิตของยาลี “ความรู้สึกของประชาชนเจ็บปวดมาก จะมาละหมาดที่บาลาเซาะห์ก็ไม่กล้า”

เขาคิดว่าทหารไม่ว่าจะชุดสีอะไรก็ตามไม่ควรจะมีอยู่ในหมู่บ้าน “[ผม] รู้สึกกลัว ถ้ามีทหาร ประชาชนจะกลัว” เจ๊ะอิซอกล่าว

ชาวบ้านเล่าว่า มีใบปลิวกล่าวหาว่าทหารพรานเป็นผู้ก่อเหตุวางไว้อยู่หน้ามัสยิดในหมู่บ้านไม่กี่วันหลังเกิดเหตุ เอกสารที่ชาวบ้านนำมาให้ดูจั่วหัวเป็นภาษาไทยว่า “ข้อเท็จจริงการกราดยิงมุสลิมในมัสยิดบ้านนาพร้าว (ไอปาแย 2)”

“ในนามนักรบฟาตอนี ที่แซกซึม [สะกดตามต้นฉบับ] อยู่ในทุกพื้นที่เราขอสัญญาว่า เลือดทุกหยด ทุกชีวิตที่พี่น้องมุสลิมเรา อ.ปะนาเระต้องสูญเสีย ณ วันนี้และต่อจากนี้จะไม่มีวันสูญเปล่าแน่นอน มันต้องชดใช้เป็น 100 เท่า ไทยพุทธ เจ้าหน้าที่ และ คนที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ไม่ว่ามันจะใช้เส้นทางไหน ทำอะไร ที่ไหน เราพร้อมที่จะปลิดชีพมันแน่นอน...” เอกสารชิ้นนี้ลงชื่อเป็นภาษามลายู Pejuang fatoni (นักรบฟาตอนี) 

นายทหารชุดดำ “รู้ดีว่าต้องตกจำเลย”
พ.อ.นิติ ในฐานะทหารผู้รับผิดชอบสูงสุดในพื้นที่ปานะเระรู้ดีว่าทหารพรานตกเป็นจำเลยในเหตุการณ์สังหารโหดที่มัสยิด เขาได้ไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านหลังละหมาดใหญ่วันศุกร์ สองวันหลังเกิดเหตุการณ์

“ยืนยันว่าลูกน้องผมไม่ได้ทำ แต่เราบังคับให้คนเชื่อไม่ได้”  คือคำยืนยันจาก พ.อ.นิติ

พ.อ.นิติ มองว่า เหตุการณ์ยิงมัสยิดนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ทหารพรานยิงฝ่ายขบวนการเสียชีวิตสามศพเมื่อเกือบสองเดือนก่อน รวมถึงการควบคุมตัวเจ็ดอุสตาซไปซักถามด้วย

เหตุการณ์แรกนั้น ทหารพรานนับเป็นวีรกรรมของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานครั้งนั้นเลยทีเดียว เพราะภายในฐานของกรมทหารพรานที่ 44 มีการเขียนข้อความในบอร์ดติดผนังขนาดใหญ่สีแดงว่า “เชิดชูเกียรติของกำลังพล”

“พวกเขาต้องการลดความเชื่อมั่นและศรัทธากับทหารพรานในพื้นที่” ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 44 กล่าว

นอกจากนี้ยังระบุว่า การยิงมัสยิดเป็นจุดที่จะทำให้เกิด “การปลุกระดม” และสร้างความแตกแยกในชุมชน

พ.อ.นิติ กล่าวว่า ทหารพรานเองได้สืบสวนในเชิงลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างชัดเจน

ทว่า เรื่องยาเสพติดและการเมืองท้องถิ่น อาจเป็นประเด็นผสมโรงที่ทำให้เกิดความรุนแรงด้วยก็เป็นได้ นั่นคือ คำทิ้งท้ายฝากไว้ให้คิดของ พ.อ.นิติ

เสียงจากคนพุทธแห่งปะนาเระ
บ้านนาพร้าวมีคนนักถือศาสนาพุทธอยู่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรประมาณ 1,400 คน

ผู้นำชุมชนคนพุทธในหมู่บ้านคนหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยนาม กล่าวว่า เหตุรุนแรงระลอกล่าสุดนี้ดูเหมือนจะเป็นความพยายามของ “ฝ่ายโจร” ที่ต้องการจะดึงฐานมวลชนคืน หลังจากพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในเหตุโจมตีป้อมจุดตรวจทหารพราน ที่ทำให้สูญเสียสมาชิกไปถึง 3 คน

“เขาสร้างเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ แต่สร้างไม่ขึ้น แต่ถ้าชาวบ้านเล่นด้วย จะกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก” เขากล่าว

ชาวพุทธคนนี้สูญเสียคนในครอบครัวไปกับเหตุความไม่สงบเมื่อหลายปีก่อน มองว่าพี่น้องมุสลิมส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสร้างสถานการณ์รุนแรง เขาคิดว่า รัฐมองประเด็นผิดและพยายามจะเปลี่ยนแปลงคนที่ไม่ได้อยู่ในขบวนการ

“มีกลุ่มอยู่เพียงนิดหน่อยเท่านั้นที่เล่นอยู่ … เขาออกมาพูดไม่ได้ พูดคือตาย ต่อต้านคือตาย”

ชายหนุ่มคนนี้มองว่า สถานการณ์ในหมู่บ้านขณะนี้ กลุ่มที่เคลื่อนไหวด้วยอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด “ปัจจุบันนี้ พ่อค้ายาเสพติดกับแนวร่วมของขบวนการนั้นเป็นคนคนเดียวกัน” เขากล่าว

เขาอธิบายว่า พวกพ่อค้ายาเสพติดมีเงินก็เอาไปจ้างกลุ่มเหล่านี้ให้สังหารคู่แข่งหรือศัตรูของตนเอง ส่วนพวกขบวนการเองก็ต้องการรายได้

คำอธิบายเช่นนี้ สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของทหารในช่วงหลังๆ ซึ่งก็ยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่า เส้นทางของนักรบปาตานีที่ประกาศว่าตนต่อสู้เพื่อเอกราช ได้เดินทางมาบรรจบกับเส้นทางของกลุ่มอิทธิพลนอกกฎหมายจริงหรือ

ตำรวจกับการดำเนินคดี
พ.ต.ท.สมศักดิ์ สังข์น้อย พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรปะนาเระ ระบุว่า ข้อสรุปเบื้องต้นจากสอบสวนแต่ละคดี ดังนี้ เหตุยิงสองพ่อลูกคนมุสลิมน่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว โดยผู้ตายเป็นอดีตอาสาสมัครรักษาดินแดน (อ.ส.) เคยมีประวัติถูกฟ้องคดีฆาตกรรมในอำเภออื่น แต่ศาลยกฟ้อง

ส่วนเหตุยิงคนไทยพุทธน่าจะเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ เจ้าหน้าที่เชื่อว่า น่าจะเป็นการฉวยโอกาสเพื่อสร้างกระแสว่า เป็นการตอบโต้ระหว่างพุทธกับมุสลิม

ส่วนเหตุยิงช่างซ่อมจักรยานยนต์บาดเจ็บ ก็น่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งเกี่ยวข้องความไม่พอใจในการบริการซ่อมรถ

ส่วนเหตุการณ์ยิงมัสยิด(บาลาเซาะห์) ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า ใครเป็นผู้ที่กระทำผิด

“หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อาจช่วยไขความกระจ่างของเหตุการณ์ได้มากขึ้น คือ การพิสูจน์ปลอกกระสุนเอ็ม 16 จำนวน 19 ปลอกที่พบในที่เกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบว่า เป็นปืนเคยถูกใช้ก่อเหตุอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งเป็นกุญแจดอกสำคัญในการคลี่คลายคดี”

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคเพื่อไทย เกี้ยเซียะ

Posted: 26 Apr 2012 04:19 AM PDT

ในโอกาสวันสงกรานต์ พ.ศ.2555 นี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมายังประเทศลาว และพบปะกับคนเสื้อแดงจำนวนมาก ที่ข้ามพรมแดนไปเยี่ยม ในระหว่างนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่โรงแรมกรีน ปาร์ค บูติก โฮเต็ล นครเวียงจันทน์ โดยกล่าวอวยพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ขอให้ พล.อ.เปรม มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวด้วยว่า พล.อ.เปรม เป็นผู้ใหญ่ที่เคารพรัก ตอนที่อยู่เมืองไทยจะไปกราบคารวะเป็นประจำ แม้ พล.อ.เปรม จะอายุมาก แต่ยังแข็งแรง จึงอยากฝากความปรารถนาดีไปถึง และตั้งแต่เดินทางออกนอกประเทศ ไม่มีโอกาสได้พูดคุยหรือหารือปรึกษากันเลย

การแถลงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีต่อ พล.อ.เปรม อย่างมาก เพราะนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ท่าทีของขบวนการฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แสดงการต่อต้าน พล.อ.เปรม เสมอมา ด้วยเหตุผลว่า พล.อ.เปรมและองคมนตรีทั้งหลายเป็นกลุ่มสำคัญในการสนับสนุนการรัฐประหารทำลายประชาธิปไตย พ.ต.ท.ทักษิณเองก็เคยระบุในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2552 ว่า พล.อ.เปรม คือผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญตัวจริง และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร สำหรับ พล.อ.เปรมก็แสดงท่าทีหลายครั้งที่ชี้ให้เห็นแนวคิดอันสวนทางกับฝ่ายพรรคเพื่อไทยและขบวนการเสื้อแดง เช่น การแสดงความชื่นชมและสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการของ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ เมื่อ พ.ศ.2550 ต่อมา ตั้งแต่ พ.ศ.2552 ก็ได้กล่าวชื่นชมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหลายครั้ง โดยเฉพาะที่เคยระบุว่า “คนไทยโชคดีที่ได้นายกฯชื่ออภิสิทธิ์” ในทางตรงข้าม ในกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย พล.อ.เปรม กล่าวว่า เป็นการ “ทรยศชาติ” ดังนั้น การที่เป้าหมายในการเคลื่อนไหวของแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) และขบวนการคนเสื้อแดงในระยะที่ผ่านมา ที่มุ่งจะต่อต้านอำมาตยาธิปไตย และถือกันว่า พล.อ.เปรม เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายอำมาตย์จึงเป็นสิ่งที่เข้าใจได้

ปัญหาคือ การปรับเปลี่ยนท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณเช่นนี้ สะท้อนสถานการณ์อย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อขบวนการประชาชนอย่างไร

ก่อนอื่นคงต้องอธิบายว่า การเปลี่ยนท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประนีประนอม ที่ดำเนินมาแล้วนับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยได้เข้าเป็นรัฐบาล และเป็นท่าทีเดียวกับนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2555 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ได้ไปร่วมงานงานเลี้ยงรับรองเนื่องในวันกองทัพบก ที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต เป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  รายงานข่าวแจ้งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ได้ยกมือไหว้ พล.อ.เปรม 2 ครั้ง โดยที่ พล.อ.เปรม รับไหว้ และมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ระหว่างกลาง ทั้ง 2 ได้พูดคุยกันประมาณ 2-3 นาที ก่อนที่ พล.อ.เปรมจะเดินไปลงนามในสมุดอวยพร โดยมี น.ส. ยิ่งลักษณ์ เดินประกบคู่ไปด้วย จากนั้น พล.อ.เปรมได้เดินย้อนกลับมาและพูดคุยกับนายกฯ พร้อมใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ในครั้งนั้นเป็นที่ฮือฮาของสื่อมวลชนอย่างมาก

ต่อมา วันที่ 10 กุมภาพันธ์ รัฐบาลได้จัดงาน ’รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย“ ที่ตึกสันติไมตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับเชิญมาเป็นประธานในงาน ในครั้งนี้ พล.อ.เปรมและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สนทนากัน เดินเคียงคู่กันอย่างชื่นมื่น ซึ่งเห็นได้ว่าการจัดงานครั้งนี้เป็นความตั้งใจของฝ่ายรัฐบาลที่จะสร้างภาพแห่งความปรองดอง

ถ้าจะให้วิจารณ์กระบวนการเหล่านี้ คงไม่อาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์กระทำผิด เพราะต้องเข้าใจกันว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่รัฐบาลปฏิวัติโค่นล้มอำมาตย์ แต่เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีแนวทางประนีประนอม ยิ่งกว่านั้น เป้าหมายแห่งการปรองดองเพื่อความสามัคคีภายในชาติ น่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกฝ่าย ดังนั้น พรรคเพื่อไทย และ นปช.จึงยุติการโจมตี พล.อ.เปรมมานานแล้ว เพราะอาจจะถือได้ว่า การมุ่งกล่าวถึงการล้มล้างฝ่ายอำมาตย์จะไม่เป็นผลดีต่อความสามัคคีที่รัฐบาลจะต้องสร้างขึ้น เพียงแต่ว่าการปรองดองที่เกิดขึ้นนั้น ต้องมีการดำเนินการอีกหลายอย่างซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยน เช่น

  1. การที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีท่าทีไม่แตะต้องกองทัพบกเลย ในกรณีปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.2553 เป้าหมายของการโจมตีกรณีนี้ มุ่งไปที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่านั้น การไม่แตะต้องกองทัพ ไม่ขัดแย้งกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะผ่อนปรนไม่ให้เป็นศัตรูกับกองทัพ
  2. รัฐบาลพรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีชัดเจนในการไม่สนับสนุนข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 และนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เคยขอต่อฝ่ายนิติราษฎร์เสียด้วยซ้ำ ให้ยุติการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ทั้งที่ การที่รัฐบาลไม่ดำเนินการเรื่องนี้ หมายถึงการละเลยปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ผลักดันในเรื่องเสรีภาพทางความคิด และเมินเฉยต่อคำตัดสินอันละเมิดหลักยุติธรรมของผู้พิพากษาทั้งหลาย
  3. รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ดำเนินการอย่างเชื่องช้าในการช่วยเหลือประชาชนคนเสื้อแดงจำนวนมากที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกัน และยังคงติดอยู่ในคุก ในขณะนี้ ทั้งที่รัฐบาลบริหารประเทศมาแล้วถึง 8 เดือน ก็ยังมีมิตรสหายที่ถูกคุมขังอยู่เกือบ 60 คน
  4. แม้ว่าจะมีกระแสในการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่การดำเนินการของพรรคเพื่อไทยในขั้นนี้ ก็มีเพียงแค่การผลักดันให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. โดยไม่มีการกล่าวถึงเนื้อหาแห่งการแก้ไข ซึ่งหมายถึงว่า พรรคเพื่อไทยกำลังและเขียน ”เช็คเปล่า” ให้แก่คณะบุคคลที่จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันข้างหน้า หลักประกันที่จะสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยจึงไม่ชัดเจน

ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองเช่นนี้ ฝ่ายขบวนการประชาชนคงจะต้องพิจารณาบทบาทของพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นจริง และคงต้องยอมรับว่า การผลักดันให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงท่าทีเชิงปฏิวัติสังคมคงจะเป็นการยาก ในส่วนรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็คงต้องแสดงบทบาทเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ต่อไป แต่ยังน่าจะต้องถือว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยยังคงเป็นมิตรในแนวร่วม จึงยังไม่จำเป็นถึงขนาดที่จะต้องคว่ำบาตรหรือต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคงต้องเข้าใจสถานะของ พ.ต.ท.ทักษิณที่ไม่สามารถชูธงต้านอำมาตย์ได้เหมือนเดิม

ท่าทีของฝ่ายประชาชนในขณะนี้ คือ ควรจะต้องเป็นอิสระจากพรรคเพื่อไทย สามารถที่จะเลือกสนับสนุนนโยบายบางด้าน และแสดงท่าทีไม่สนับสนุนนโยบายบางด้านได้ การปรองดองหรือการประนีประนอมกับฝ่ายอำมาตย์อย่างไร้หลักการ เราก็คงจะต้องไม่เห็นด้วย และยังต้องเรียกร้องผลักดันให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไปต่อสู้ในเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน การต่อสู้กับพวกขวาจัด หรือผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญให้นำมาซึ่งหลักการที่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง เป็นต้น

แต่การสนับสนุนข้อเสนอของนิติราษฎร์ ทั้งในเรื่องการลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร และการปฏิรูปกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 คงต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ พรรคเพื่อไทย หรือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีท่าทีอย่างไร เพราะบทบาทในการสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในสังคมไทยอยู่ในมือของประชาชน ยิ่งเสียกว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทย

 

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสิน ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 'คดียิงเอ็นจีโอสงขลา'

Posted: 26 Apr 2012 04:06 AM PDT

วันนี้ 25 เมษายน 2555 เวลา 09:30 น. ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุก นายฤทธิ์ณรงค์  อารมณ์ฤทธิ์ เป็นเวลา 13 ปี ซึ่งเป็นจำเลย “เรื่องความผิดต่อชีวิต พยายาม ความผิดต่อต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ลหุโทษ” กรณียิงนายสิทธิชัย  แพทย์พงศ์ เอ็นจีโอสงขลาได้รับบาดเจ็บสาหัส  และเสียชีวิตภายหลังจากคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาชั้นศาล

สืบเนื่องจากนายสิทธิชัย  แพทย์พงศ์ อุปนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ ถูกประกบยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552  เหตุเกิดบริเวณหน้าหมู่บ้านทรัพย์ปรีชา ถนนลพบุรีราเมศวร์ ต.คลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ต่อหน้าแม่ค้าและประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นจำนวนมาก
 
โดยนายสิทธิชัย แพทย์พงศ์ เป็นเอ็นจีโอรับผิดชอบงานเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรประชาชนด้วยการสนับสนุนจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในพื้นที่เป้าหมายขององค์กร  และมีบทบาทสำคัญในชุมชนบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากนำหลักการทำงานเดียวกันนั้นมาจัดตั้งกลุ่มรับซื้อน้ำยางพารา ในพื้นที่หมู่ 6 ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อลดการผูกขาดและการเอาเปรียบของพ่อค้า ส่งผลให้นายทุนเดิมในชุมชนเสียผลประโยชน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเองมีข้อมูลว่าในรอบ 2 ปีก่อนเกิดเหตุ มีความขัดแย้งในพื้นที่นี้มาโดยตลอด และมีบุคคลสำคัญทั้งผู้ใหญ่บ้านและผู้บริหารกลุ่มน้ำยางสดในหมู่ 6 ถูกยิงเสียชีวิตและบาดเจ็บมาแล้ว 4 ราย
 
นายสิทธิชัยเองก็ถูกข่มขู่มาโดยตลอด และทราบล่วงหน้าว่ามีการวางแผนฆ่าตนเองจึงได้บันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้อย่างละเอียด รวมทั้งไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ จนเป็นเบาะแสให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตามจับกุมนายฤทธิ์ณรงค์  อารมณ์ฤทธิ์  ได้
 
ต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม 2554ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ในระหว่างอุทธรณ์ ริบของกลาง
ทางญาตินายสิทธิชัย ซึ่งเป็นโจทก์ร่วมจึงได้ยื่นอุทธรณ์ และวันนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษา เมื่อเวลา 09:30น. โดยศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลย โดยสรุปดังนี้
 
“ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน  พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80,371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ 2490 มาตรา7,8 ทวิ วรรค 1 ,72 วรรค3, 72 ทวิ วรรค2 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83  การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นจำคุก 12 ปี  ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มี  และใช้ไว้ในครอบครองจำคุก 6 เดือน  ฐานร่วมกันพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง  หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต และโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต  ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 12 ปี 12 เดือน และริบของกลาง คำขออื่นจากนี้ให้ยก”
 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ลือสะพัด! "หน่อคำ" หัวหน้าโจรสลัดน้ำโขง ถูกจับกุมแล้ว

Posted: 26 Apr 2012 03:05 AM PDT

มีข่าวลือแพร่สะพัด "หน่อคำ" หัวหน้าโจรสลัดแม่น้ำโขงและเจ้าพ่อยาเสพติดแห่งสามเหลี่ยมทองคำ ที่หลายฝ่ายเชื่ออยู่เบื้องหลังสังหารลูกเรือจีน 13 ศพ ถูกจับกุมตัวแล้ว

 
แหล่งข่าวจากชายแดนไทย-พม่า (รัฐฉาน) รายงานว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวลือหนาหูว่า นายหน่อคำ ผู้ถูกขนานนามว่าเป็นหัวหน้าโจรสลัดแม่น้ำโขง บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ และเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังสังหารลูกเรือจีน 13 ศพ เมื่อ 5 ตุลาคม 2554 ได้ถูกจับกุมตัวแล้วเมื่อวานนี้ ขณะหลบหนีอยู่ในประเทศลาว โดยเขาได้ถูกนำตัวข้ามเข้าไปในประเทศจีนผ่านชายแดนลาว – จีน ด้านบ่อเตียน – บ่อหาน
 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำคนหนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าวฉาน SHAN ว่า ได้ยินข่าวหน่อคำถูกจับเช่นกัน แต่ไม่ทราบรายละเอียดว่าเขาถูกจับที่ไหน เมื่อใด และใครเป็นผู้จับกุมเขา
 
นายหน่อคำ อายุ 50 ปี เชื้อสายไทใหญ่ เป็นอดีตนายทหารในกองทัพเมืองไตย MTA - Mong Tai Army ของขุนส่า หลังขุึนส่าวางอาวุธแก่ทางการพม่าในปี 2539 ได้รับอนุญาตจากทางการพม่าจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครอยู่ในจังหวัดท่าขี้เหล็ก โดยหน่อคำมีความสนิทสนมกับนายทหารระดับสูงของพม่าในฝั่งท่าขี้เหล็ก
 
เมื่อปี 2549 นายหน่อคำ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ปปส. พม่าเข้าตรวจค้นบ้านพักในหมู่บ้านตอก้อ ฝั่งท่าขี้เหล็ก โดยเจ้าหน้าที่ปปส.พม่าซึ่งได้รับข้อมูลจากทั้งจีนและไทย สามารถตรวจยึดยาบ้านับล้านเม็ด แต่นายหน่อคำ ได้หลบหนีเข้าไทยและเข้าไปกบดานอยู่ในฝั่งลาว จนกระทั่งข่าวคราวเงียบลงจึงกลับเข้าไปเคลื่อนอยู่ในฝั่งพม่า
 
ทั้งนี้ กลุ่มของนายหน่อคำ มีพฤติกรรมเป็นโจรสลัดเก็บค่าคุ้มครองเรือลำเลียงสินค้าในแม่น้ำโขงและจับเรียกค่าไถ่ลูกเรือบ่อยครั้ง โดยทางกลุ่มอ้างว่าเป็นการเก็บค่าคุ้มครองผ่านในพื้นที่ นอกนั้นยังคอยจัดเก็บภาษีกลุ่มผู้ค้าสิ่งผิดกฎหมายที่ผ่านเข้าออกในพื้นที่คุ้มครองแถบสามเหลี่ยมทองคำด้วย
 
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมา ทางการไทย โดยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ (ผอ.ศพส.) แถลงข่าว “ประกาศจับนักค้ายาเสพติดรายสำคัญ” (Most Wanted) จำนวน 25 ราย ในจำนวนนี้มีชื่อนายหน่อคำ รวมอยู่ด้วย โดยเขาถูกตั้งค่าหัวไว้ 2 ล้านบาท
 
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

 


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: จะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญของทหาร ?

Posted: 26 Apr 2012 02:03 AM PDT

ที่เขียนถึงต่อไปนี้เป็นเรื่องพม่า แต่จะไม่ห้ามปรามผู้อ่านคิดถึงหรือคำนึงสถานการณ์และบริบทในประเทศอื่นโดยเทียบเคียง

พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของอองซานซูจี ได้เสนอประเด็นเกี่ยวกับท่าทีต่อรัฐธรรมนูญที่ทหารเป็นผู้อำนวยการสร้างไว้อย่างน่าคิด เมื่อพรรคการเมืองซึ่งมีสมาชิกได้รับเลือกตั้งใหม่ 43 คนหลังการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ได้ปฎิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมสภาครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 23 เมษายน ด้วยเหตุผลว่า พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนคำปฎิญาณตนก่อนปฎิบัติหน้าที่ว่า จากคำว่าจะ “ปกป้อง” เป็น “เคารพ” ซึ่งรัฐธรรมนูญ

บังเอิญว่าไม่มีความรู้ภาษาพม่าพอจะทำความเข้าใจได้ว่าโดยพื้นฐานแล้วคำสองคำนี้มีความหมายแตกต่างกันเพียงใด แต่ในภาษาอังกฤษซึ่งชาวพม่าแปลได้ว่า “Uphold” (พวกฝรั่งแปลว่า Safeguard)และ “Abide”(ฝรั่งแปลว่า Respect) นั้นให้ความหมายแตกต่างกันทีเดียว คำแรกนั้นแปลได้ว่าปกป้องหรือในภาษาไทยอาจจะใช้คำว่า “รักษาไว้ซึ่ง” ส่วนคำหลังแน่นอนแปลว่าเคารพเชื่อฟังและกินความได้ว่าต้องปฏิบัติตามด้วย

ความจริงพรรคเอ็นแอลดีไม่ได้ขอเปลี่ยนคำปฎิญาณหรอก แค่ขอตัดทิ้งคำหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะในตัวบทของคำปฎิญาณคำทั้งสองคำนี้อยู่ด้วยกันในประโยคเดียวกัน คือแปลความได้ว่า สมาชิกสภาจะต้องรักษาไว้ซึ่งและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพ และปรากฎว่าผู้รับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าต้องปฏิญาณด้วยถ้อยคำแบบเดียวกันนี้ด้วย

ชาวพม่าให้ความเห็นในเรื่องนี้แตกต่างกันหลายทางบ้างก็ว่าเรื่องนี้มันหยุมหยิมเกินกว่าเอ็นแอลดีจะหยิบมาเป็นประเด็นหาเรื่องไม่เข้าสภา บ้างก็ว่าพรรคนี้ควรรู้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าคำปฏิญาณตนเป็นแบบนี้ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่ควรไปลงสมัครรับเลือกตั้ง บ้างก็ว่าอย่าให้เรื่องเล็กน้อยนี้มาเป็นอุปสรรคการปรองดองแห่งชาติเลย บ้างก็ว่าคำว่า Abide นั้นความหมายหนักหน่วงกว่า Uphold เสียอีกเพราะมันมีสภาพบังคับอยู่ด้วยแต่ถึงอย่างไรเรื่องพวกนี้ก็เป็นประเด็นเล็กน้อยเมื่อประชาชนเลือกให้เข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนในสภา ยังไงก็ต้องเข้าไปทำหน้าที่จะเกี่ยงงอนทำไมกับเรื่องแค่นี้คำสาบานจะมีความหมายอะไรหากใจคนไม่เอนเอียง

พรรคเอ็นแอลดีหรือแม้แต่ตัวอองซานซูจีไม่ได้ให้เหตุผลเรื่องนี้ชัดเจนนักว่าทำไมจะปฏิญาณว่าจะปกป้องหรือรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญของประเทศตัวเองไม่ได้ บางทีเรื่องนี้ทั้งหมดอาจจะไม่ใช่ความคิดของเธอตั้งแต่ต้นก็เป็นได้ แต่ดูจากรายงานข่าวทั้งที่ชาวพม่าเขียนเองและที่ฝรั่งเขียน เห็นว่าพรรคนี้ไม่อยากจะปฏิญาณเช่นนั้นเพราะมีนโยบายจะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่แล้ว

แต่เชื่อว่านี่คงไม่ใช่เหตุผลสำคัญเพราะมันฟังดูแปร่งๆ ด้วยว่ารัฐธรรมนูญที่ไหนในโลกมันล้วนแล้วแต่แก้ไขได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะแก้ไขง่ายหรือแก้ไขยาก แต่ต้องแก้ไขได้แน่นอน ทุกประเทศล้วนแก้ไขและรักษารัฐธรรมนูญเอาไว้ด้วย ไม่ว่าอย่างไร รัฐสมัยใหม่ในโลกปัจจุบันล้วนแล้วแต่ต้องมีรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีแบบเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม บางประเทศอย่างพม่าเองว่างเว้นการใช้รัฐธรรมนูญถึง 20 ปี แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมีกับเขาเหมือนกัน การแก้ไขความจริงก็คือการรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญแบบหนึ่งนั่นแหละ เพราะหากรัฐธรรมนูญฉบับใดแข็งขืนต่อสถานการณ์หรือไม่สอดคล้องกับยุคสมัยแล้วไม่แก้ไข เดี๋ยวก็จะมีคนมาฉีกมันทิ้ง

เชื่อว่าเหตุผลสำคัญที่พรรคเอ็นแอลดีไม่อยากจะเปล่งวาจาว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญของประเทศตัวเองนั้นเป็นเพราะไม่ชอบที่มาของมันมากกว่าเหตุผลอย่างอื่น

รัฐธรรมนูญในอุดมคติที่หลายๆคนอยากจะได้นั้น จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยมหาประชาชนหรือผู้แทนที่ประชาชนเลือกมาเป็นสำคัญ และจะต้องร่างในเงื่อนไขและบรรยากาศที่ปราศจากการบงการของใครทั้งสิ้น นั่นจึงสมควรเป็นรัฐธรรมนูญที่มีค่าควรแก่การปกป้อง หรือ หากจะมีใครต้องพลีชีพเพื่อรักษามันไว้ก็นับว่าคุ้มค่า

ในชีวิตจริงนั้นรัฐธรรมนูญแบบอุดมคติหาได้ยาก ในบางประเทศเคยมีรัฐธรรมนูญแบบนี้ แต่พอมีคนฉีกจริงๆ ปรากฎว่าคนที่สาบานว่าจะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญเองนั่นแหละ เอาดอกไม้ไปให้คนฉีกรัฐธรรมนูญก่อนใครเพื่อน คนที่พลีชีพเพื่อมันจริงๆกลับไม่ปรากฎว่าเคยสาบานอะไร รัฐธรรมนูญจำนวนไม่น้อยที่บังคับใช้ในปัจจุบันก็ร่างโดยคณะบุคคลกลุ่มเล็กๆที่ไม่มีใครเลือกตั้งมาเลย อย่างดีหน่อยก็เอามาถามความเห็นว่าคนอื่นจะยอมรับได้ด้วยหรือไม่

ทั้งนี้การมีรัฐธรรมนูญอาจจะไม่เท่ากับว่ามีประชาธิปไตยก็ได้ มีรัฐธรรมนูญจำนวนมากในโลกนี้มีเนื้อหาขัดกับหลักการประชาธิปไตย แม้ว่าวิธีการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญจะดูเป็นประชาธิปไตยอย่างมากก็ตาม

รัฐธรรมนูญพม่าฉบับปัจจุบันไม่ได้เป็นรัฐธรรนูญในอุดมคติของประชาชนพม่าเพราะมันถูกสร้างขึ้นโดยการอำนวยการของทหารและใช้เวลายาวนานมากนับแต่ปี 1993 แม้จะปรากฎว่าสมาชิกสมัชชาแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง เช่นผู้แทนของพรรคเอ็นแอลดีแต่ก็ได้ถอนตัวออกไปตั้งแต่ปี 1995และสมาชิกกว่า 1000 คนของสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นล้วนแล้วแต่ทางกองทัพสรรหามาทั้งสิ้น

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของพม่าถูกโจมตีตั้งแต่ต้นมือว่าเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการสืบทอดอำนาจของทหารในการเมืองพม่าต่อไป เพราะเขียนรับรองฐานะและบทบาทของกองทัพและนายทหารในสภานิติบัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจน สมาชิกสภา 25 เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากการสรรหาของกองทัพทั้งหลายทั้งปวงรวมความแล้วรัฐธรรมนูญของทหารพม่านั้นวิธีการได้มาและมีเนื้อหาแบบไม่สู้จะเป็นประชาธิปไตยเท่าใดนัก แม้ว่าจะผ่านการลงประชามติในปี 2008 แต่ก็ช่างเป็นการลงประชามติที่น่ากังขามาก เพราะมันเกิดขึ้นท่ามกลางห่าพายุนากีสเลยก็ว่าได้

จำได้คลับคล้ายคลับคลา แต่ไม่ค่อยแน่ใจนัก ว่ามีนักการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือพวกนิยมทหารคนไหนออกมาพูดทำนองว่าให้ประชาชนลงมติรับๆกันไปก่อนแล้วค่อยแก้ไขใหม่ทีหลังก็ได้หรือเปล่า ถ้าจำผิดก็ขออภัยเพราะอาจจะไปปนเปกับเหตุการณ์ในประเทศอื่น

ด้วยที่มาและเนื้อหาที่ไม่ต้องด้วยระบอบประชาธิปไตยเช่นว่านั้นเอง ทำให้พรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจี ไม่อยากจะเปล่งวาจาว่าจะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย

ในทางอุดมคติแล้วต้องถือว่า ท่าทีทางการเมืองแบบนี้ของเอ็นแอลดี น่าสรรเสริญยิ่งนัก เพียงแต่ปัญหาว่าเรื่องมันไม่ได้จบแค่นั้น เรื่องของเรื่องคือ พรรคเอ็นแอลดี ซึ่งปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมืองกับฝ่ายทหารมาโดยตลอด เกิดเปลี่ยนใจมาลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาแล้วประสบชัยชนะเหนือพรรครัฐบาลอย่างท่วมท้นเสียด้วย

คำถามคือ ถือว่าพรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจียอมรับความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับทหารเขียนแล้วหรือยัง? คำตอบก็น่าจะเป็นว่ายอมรับไปแล้วตั้งแต่ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งนั่นแหละ ถ้าเป็นเช่นนั้น พรรคเอ็นแอลดีจะฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปกล่าวคำปฏิญาณแบบอื่นได้หรือไม่ คำตอบในทางกฎหมายต้องบอกว่าไม่ได้ และผลในทางกฎหมายสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีที่ได้รับการเลือกตั้งก็ยังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภาแห่งสหภาพไม่ได้ด้วยเพราะยังไม่ได้สาบานตนเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

ถ้าหากพรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจีประสงค์จะเป็นผู้แทนนอกสภา แล้วจะมาลงสมัครรับเลือกตั้งทำไม เป็นพรรคนอกกฎหมายอยู่อย่างเดิมไม่ดีหรือจะกระเสือกกระสนเข้าไปทำไมให้เปลืองตัว ตรรกแบบนี้ดูเหมือนเคยมีนักการเมืองและนักนิยมทหารในประเทศอื่นใช้เพื่อตีกันคู่แข่งทางการเมืองของตัวในการเลือกตั้งเช่นกันแต่บังเอิญว่าไม่ค่อยมีคนเชื่อถือเท่าไหร่ เพราะเอาเข้าจริงการแสดงการยอมรับหรือไม่ยอมรับสิ่งใดอาจจะใช้ได้แค่ระดับกลยุทธทางการเมืองระยะสั้นเท่านั้นในที่สุดเอ็นแอลดีก็กลับเข้าสู่การเมืองในระบบเมื่อเห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทั้งๆที่กฎเกณฑ์เดิมที่ตัวเองรังเกียจก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อย

ถ้าเช่นนั้นการเกี่ยงงอนเรื่องคำสาบานเล็กๆน้อยๆ ซึ่งไม่มีผลในทางปฎิบัติอะไรเลยแบบนี้จะทำไปทำไม ในทางการเมืองก็มีความหมายแค่ว่า พรรคเอ็นแอลดี ไม่ได้ยอมรับกฎเกณฑ์ของทหารโดยดุษฎี ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงมันยังจะไม่หมดไป

เรื่องนี้พอจะทำให้มีความหมายในเชิงสัญญลักษณ์ความเป็นประชาธิปไตยในพม่า หรือเห็นเป็นทางทางออกได้หรือไม่ ความจริงก็พอมีทางอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับว่าพลเอกเต็งเส่งและพรรครัฐบาลจะอยากรักษาความเป็นพลังประชาธิปไตยที่บริสุทธิผุดผ่องของเอ็นแอลดีและอองซานซูจีเอาไว้แค่ไหน ถ้าเต็งเส่งใจกว้างหน่อยอาจจะต้องยอมเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในสภาแห่งสหภาพบางประการ กล่าวคือยอมให้สมาชิกกล่าวคำปฏิญาณตนอย่างใดก็ได้ตามใจชอบหรือตามอุดมการณ์ทางการเมืองของพวกเขา

ถ้าทำอย่างนั้นพม่าก็ไม่ใช่ประเทศแรกในโลกหรอกที่ทำกันแบบนี้ ในสภาอังกฤษมีคำปฏิญาณมากกว่า 1 แบบให้สมาชิกเลือกเปล่งวาจาสาบานตามความเชื่อของตัวเอง เรื่องสบถสาบานอะไรนี่มันก็เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลอยู่แล้วจะบังคับกันได้อย่างไร

ในปี 2010 สภาอังกฤษยอมให้สมาชิกพรรค Sinn Fein ของไอร์แลนด์เหนือเขียนคำสาบานก่อนเข้ารับตำแหน่งเอง เพราะพวกเขาไม่สบายใจที่จะเปล่งวาจาว่าจะจงรักภักดีต่อสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ

อันที่จริงนี่ก็น่าจะเป็นหลักการแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริง ประเทศประชาธิปไตยจริงๆนั้นอุดมการณ์หลายแบบสามารถอยู่ด้วยกันได้ มันเป็นเรื่องขัดกับหลักการพื้นฐานในการปกครองมากเลยหากจะบังคับให้สมาชิกซึ่งไม่นับถือศาสนาคริสต์วางมือบนพระคัมภีร์แล้วเปล่งวาจาว่าจะเชื่อถือในพระเจ้าหรือขอให้พระเจ้าคุ้มครอง หรือ จะให้สมาชิกซึ่งมีอุดมการณ์แบบสาธารณรัฐเปล่งวาจาว่าจะจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ต่อให้ประเทศนั้นเป็นราชอาณาจักรเรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ สมาชิกรัฐสภาสามารถทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของชาติได้โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีความจงรักภักดีต่อประมุขของรัฐ แต่ในหลายประเทศก็ไม่ยอม เพราะถือว่าการจงรักภักดีต่อประมุขของรัฐเป็นการทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าพฤติกรรมอย่างอื่นเขาจะสารเลวเพียงใดก็รับกันได้ หากเขาเหล่านั้นอ้างว่าตัวจงรักภักดี

ในกรณีของพม่า อองซานซูจีและพรรคเอ็นแอลดี จะไม่เปล่งวาจาสาบานว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญซึ่งพวกเขาไม่ชอบก็ไม่เห็นเป็นไร ตราบเท่าที่เขาพูดว่าเขาจะยังเคารพมันอยู่ หรือ ต่อให้ไม่พูดอะไรเลย ในฐานะกฎหมายพวกเขาก็หนีสภาพบังคับของมันไปไม่พ้นอยู่แล้ว

คำถามต่อไปคือ ถ้าเต็งเส่งยอมให้มีคำปฏิญาณในรัฐสภาได้หลายแบบ และพรรคเอ็นแอลดีเลือกเอาแบบที่ไม่ต้องปกป้องรัฐธรรมนูญ วันข้างหน้าเกิดบังเอิญจะด้วยอะไรก็ตามที เกิดมีการแก้ไขเนื้อหา ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ ลดบทบาททหารลงได้ตามที่อองซานซูจีต้องการ หรือ เอาถึงขนาดว่าแก้ไขคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีให้คนที่เคยสมรสกับชาวต่างชาติเป็นประมุขของรัฐและประมุขรัฐบาลได้ ถึงวันนั้นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้จะมีค่าสำหรับพรรคเอ็นแอลดีที่ควรจะ “ปกป้อง” มันหรือไม่ และถ้าหากมีคณะนายทหารรุ่นหนุ่มอยากจะฉีกมันเพื่อพาประเทศกลับไปเป็นอย่างเก่าในอดีต หรือ ปกครองแบบไม่มีรัฐธรรมนูญเลยเหมือนช่วงปี 1988-2008 พรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจีก็จะไม่ปกป้องรัฐธรรมนูญที่ตัวเองอุตส่าห์ลงทุนลงแรงแก้ไขมันมาเลยหรือ

ไม่มีใครรู้หรอก ถึงวันนั้นอองซานซูจีอาจจะออกมาเรียกร้องให้ประชาชนพม่าทั้งมวลปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้ก็ได้

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

จี้รัฐสภาเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับคนงาน

Posted: 25 Apr 2012 11:14 PM PDT

(26 เม.ย.55) เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ....ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งของนักการเมือง จำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ โดยระบุว่า แม้จะมีขยายการประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. 2555 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่ายังมีร่าง พ.ร.บ.ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะร่างฯ ที่เสนอผ่านการเข้าชื่อโดยภาคประชาชน แต่กลับปรากฏว่า ยังไม่มีการหยิบยกกฎหมายภาคประชาชนขึ้นมาพิจารณาตามที่อ้างแต่อย่างใด ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐสภานำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ขึ้นมาพิจารณาโดยทันทีในสมัยวาระการประชุมนี้ตามที่ได้อ้างถึง เพื่อแสดงความจริงใจและแสดงความรับผิดชอบในฐานะตัวแทนจากประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในกระบวนการทางนิติบัญญัติ

เนื้อหาจดหมายเปิดผนึกมีดังนี้

 

ขอเรียกร้องความจริงใจรัฐสภาจากการพิจารณากฎหมายของภาคประชาชน
อย่าเป็นเพียง "ข้ออ้างเพื่อผลประโยชน์"

สืบเนื่องจากการขยายเวลาประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ พ.ศ. 2555 ออกไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2555 เป็นต้นมาจนกว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาปิดประชุม และอ้างถึงจดหมายลงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555 ของเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เรื่องขอให้ประธานรัฐสภาเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ให้ทันการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติที่ขยายออกไปโดยยังไม่มีกำหนดปิด
 
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ในฐานะประธานคณะทำงานผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,624 รายชื่อของผู้ใช้แรงงาน  และเครือข่ายแรงงานได้เดินรณรงค์ไปที่รัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือให้มีการหยิบยกร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของฝ่ายแรงงานเข้าสู่การพิจารณามาแล้ว 3 ครั้ง  เมื่อวันที่ 8, 22 มีนาคม และวันที่ 5 เมษายน นั้น  ถือว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนในการรับรู้ความต้องการของฝ่ายแรงงานแล้ว  เพราะผู้มารับเรื่องมีทั้งรองประธานสภาฯ  ประธานวิปรัฐบาล  ประธานวิปฝ่ายค้าน  กรรมาธิการการแรงงาน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  รวมทั้งหัวหน้าและ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน   และสื่อมวลชนก็ได้มีการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันดังกล่าวจวบจนปัจจุบันกลับพบว่า ทางสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีความชัดเจนว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ในการประชุมครั้งใด แม้ว่าจะมีการบรรจุวาระการประชุมทุกครั้ง และทางรัฐสภาได้ขยายเวลาเปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่ายังมีร่างพระราชบัญญัติที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติที่เสนอผ่านการเข้าชื่อโดยภาคประชาชน

เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน อันประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่ง ประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย มีความเห็นร่วมกันว่า

(1) จากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติรับรองและให้ความสำคัญต่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เสนอต่อรัฐสภาโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถือว่าเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางตรงของประชาชน ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการใช้สิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางอ้อม ดังนั้นจึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของประธานรัฐสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบและปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งยังถือว่าเป็นการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

(2) การที่รัฐสภาอ้างเรื่องการมีกฎหมายในส่วนของภาคประชาชนที่ต้องพิจารณาจำนวนมาก ทำให้มีการขยายการเปิดประชุมรัฐสภาออกไปไม่มีกำหนด แต่อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2555 เป็นต้นมา กลับพบว่าสภาผู้แทนราษฎรไม่มีการหยิบยกกฎหมายภาคประชาชนขึ้นมาพิจารณาตามที่ได้อ้างแต่อย่างใด นี้เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญว่า นักการเมืองได้ใช้ข้ออ้างดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์และเป้าหมายทางการเมืองของตนมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน

ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางรัฐสภาจะต้องแสดงความจริงใจและแสดงความรับผิดชอบในฐานะตัวแทนจากประชาชนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปทำหน้าที่ในกระบวนการทางนิติบัญญัติ จึงขอเรียกร้องให้นำร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ....ฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ขึ้นมาพิจารณาโดยทันทีในสมัยวาระการประชุมนี้ตามที่ได้อ้างถึง

 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ประชาธิปไตยในสายน้ำและลมหนาว

Posted: 25 Apr 2012 07:11 PM PDT

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยให้ประชาชนเลือกตั้งผู้บริหารโดยตรง ดำเนินต่อเนื่องมา 13 ปีแล้ว หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ประกาศใช้ แต่ความกังขาถึงความเติบโตของประชาธิปไตยระดับย่อยที่สุดและศักยภาพขององค์กรท้องถิ่นว่าจะตอบสนองต่อประชาชนในพื้นที่ได้ดีเพียงใดอาจถูกหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์วิจารณ์ผ่านการจัดการปัญหาในหลายๆ ประเด็น

การจัดการภัยพิบัติก็เป็นหนึ่งในนั้น แน่นอนมีข้อจำกัดทั้งเรื่องระเบียบการทำงานและงบประมาณที่ทำให้ท้องถิ่นต้องปรับตัวหาช่องทางที่จะตอบสนองต่อปัญหาของประชาชน ขณะเดียวกัน เราพบว่า ประชาชนในท้องถิ่นแสดงความพึงพอใจต่อการตอบสนองขององค์กรท้องถิ่นที่พวกเขาเลือก แม้จะยังทำหน้าที่ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น