โพสต์แนะนำ

ประชาไท Prachatai.com

ประชาไท Prachatai.com พท.-ปชป จัดประชุมแก้ไขข้อบังคับพรรคฯ ส่วนรัฐบาลคสช. เตรียมฉีดเงินตำบลละ 5 แสน คพศ. ขอ ตร.เรียกตั...

ซิตี้แบงก์ ให้คุณสมัครบัตรเครดิต citibank ออนไลน์ ด้วยวิธีสมัครบัตรเครดิตง่ายๆ รู้ผลอนุมัตทันใจภายใน 5 วัน อยากทำบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ สมัครออนไลน์ได้ทันทีที่นี่.

วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

ประชาไท | Prachatai3.info

ประชาไท | Prachatai3.info

Link to ประชาไท

มาร์คแนะยิ่งลักษณ์ทำความเข้าใจเสื้อแดงหลังเข้าพบ "เปรม"

Posted: 27 Apr 2012 04:52 AM PDT

เพราะเคยปลุกระดมเอาไว้จนทำให้เกิดความเกลียดชัง และไม่เคยมีการไปทำความเข้าใจ ทำให้ตอนนี้ผู้สนับสนุนรัฐบาลรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น

วอยซ์ทีวี รายงานวันนี้ (27 เม.ย. 55) ว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯเข้าขอพรและรดน้ำดำหัว พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เป็นเรื่องวัฒนธรรม หรือเรื่องการเมือง ว่า ต้องถามทางรัฐบาล

ถามนายกฯ เพราะว่าถ้าเป็นเรื่องของการไปคารวะผู้หลักผู้ใหญ่ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาคือความพยายามที่จะทำให้มันเป็นเรื่องการเมืองตอนแรก เลยทำให้ภาพที่ออกมาไม่แน่ใจว่าในที่สุดแล้วเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะแสดงหรือพยายามจะพูดหรือไม่ ตนเคยย้ำว่าถ้าจะเป็นเรื่องการปรองดองจริงก็คงจะต้องมีความพร้อมของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะที่เข้าไป โดยเฉพาะคนที่เคยตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับพล.อ.เปรม อย่างเช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ เอาเข้าจริงเห็นว่าอาจจะเป็นการเลี่ยงไม่ได้พาเข้าไป

ขณะเดียวกันก็ไม่เคยมีการไปทำความเข้าใจกับผู้สนับสนุนของตนเอง ที่ไปปลุกระดมเอาไว้มากให้เกิดความเกลียดชัง จึงทำให้ขณะนี้ผู้สนับสนุนของรัฐบาลเองก็ยอมรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งก็เข้าใจ ปลุกระดมกันมารุนแรงมาก วันดีคืนดีมีอำนาจก็มีท่าทีอีกอย่าง ผู้สนับสนุนเขาก็ต้องสับสนเป็นธรรมดา ก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าปัญหามันมีอยู่ แล้วก็มันไม่ควรจะมีเลย เพราะท่านประธานองคมนตรีก็ไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ตามที่ทางเสื้อแดงพยายามกล่าวหามาโดยตลอด"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ส่วนการที่นายกฯ หารือกับ พล.อ.เปรม นายกฯ ควรออกมาเปิดเผยหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเห็นว่า คงไม่ค่อยเหมาะสมในเชิงมารยาท เพราะอาจจะเป็นการปรึกษาหารือ ได้รับคำแนะนำจากผู้หลักผู้ใหญ่ก็เป็นเรื่องภายใน

 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

กะเหรี่ยง DKBA จี้ "เฉลิม" รองนายกฯ โชว์หลักฐานผู้นำค้ายา ขู่ฟ้องกลับหากไม่มีมูล

Posted: 27 Apr 2012 03:53 AM PDT

กองกำลังกะเหรี่ยง DKBA เรียกร้องร.ต.อ.เฉลิม รองนายกฯ ไทย แสดงหลักฐานการค้ายาเสพติดของผู้นำ หลังประกาศตั้งค่าหัว 1 ล้านบาท ระบุ ทางกลุ่มยินดีให้ตรวจสอบ และขู่หากไม่มีหลักฐานจะฟ้องกลับตามหลักกฎหมายสากล
 
27 เม.ย. 55 - มีรายงานว่า เมื่อวานนี้ (26 เม.ย.) กองบัญชาการ กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ DKBA  (Democratic Karen Buddhist Army) ภายใต้การนำของ พ.อ.ซอละปอย หรือ นะคานมวย ที่ถูกทางการไทยประกาศตั้งค่าหัว 1 ล้านบาท เหตุเป็นนักค้ายาเสพติด ได้ออกแถงการณ์เรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ของไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ ให้แสดงหลักฐานการเกี่ยวข้องยาเสพติดของผู้นำ DKBA
 
ทั้งนี้ แถลงการณ์ระบุว่า กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ DKBA เป็นกลุ่มมีจุดยืนและมีอุดมการณ์ทางการเมืองชัดเจน มุ่งแก้ไขปัญหาการเมืองด้วยวิธีการการเมือง เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 54 ทางกลุ่มได้เจรจาตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า โดยในข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลพม่าข้อที่ 5 ระบุชัดว่า ทาง DKBA จะร่วมมือกับรัฐบาลพม่าปราบปรามยาเสพติด แต่เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2555 ทางการไทย โดยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ได้ประกาศตั้งค่าหัวนักค้ายาเสพติด 25 ราย ในนั้นมีผู้นำ DKBA รวมอยู่ด้วย
 
"การเอาชื่อคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งมากล่าวหานั้น ควรมีหลักฐานบ่งบอกถึงการกระทำผิดมาแสดง ไม่ใช่เอาเพียงชื่อมาประกาศ กองกำลัง DKBA ยินดีรับการพิสูจน์และขอเชิญเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ของ DKBA ได้ทุกที่ หากพบหลักฐานทางกลุ่มยินดีจะเข้าสู่กระบวนการศาล จะเป็นศาลไหนก็ยินดี แต่หากตรวจแล้วไม่พบหลักฐาน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จะต้องรับผิดชอบ เพราะข้อกล่าวหากระทบต่อเกียรติผู้นำและกลุ่ม DKBA" ถ้อยแถลง ระบุ
 
ถ้อยแถลงการณ์ฉบับเดียวกันระบุอีกว่า กองกำลังกะเหรี่ยง DKBA ขอเรียนเชิญ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ DKBA ภายในวันที่ 30 เม.ย. 2555 นี้ หากไม่เข้าไปตรวจสอบภายในกำหนดวันดังกล่าว ทางกลุ่ม DKBA จะฟ้องร้องดำเนินคดีกลับตามหลักกฏหมายสากล
 
 
 
 
ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

“ถกจีวรคุย” เตือน พ.ร.บ.คุ้มครองพุทธฯ อาจเป็นเครื่องมือทำลายกันเอง

Posted: 27 Apr 2012 03:27 AM PDT

 
เมื่อวันที่ 22 เม.ย.55 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ กลุ่มประชาคมศิลปากรเพื่อประชาธิปไตย (SCFD) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) และ กลุ่ม Atheist Thai ได้ร่วมกันจัดงาน โดยผู้ร่วมเสวนาคือ ผศ.ดร.ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ อ.สุรพศ ทวีศักดิ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

พระสงฆ์ควรยุ่งกับการเมืองหรือไม่ ?

ชาญณรงค์ บุญหนุน

ถ้ามองจากพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าแสดงท่าทีเหมือนไม่อยากเข้าไปยุ่งกับการเมือง เวลาพระองค์ตรัสเรื่องการเมืองจะตรัสผ่านผู้อื่น ไม่ค่อยตรัสกับพระราชาโดยตรง แม้จะสนิทสนมกับกษัตริย์หลายพระองค์ แต่ก็วางระยะห่างไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของรัฐ และมีการบัญญัติศีลที่ห้ามภิกษุพูดเรื่องเดรัจฉานวิชา เช่น การเกณฑ์ทหาร กองทัพ การรบ อำมาตย์ พระราชา โจร ไว้ในมัชฌิมศีล จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าวางระยะระหว่างพระสงฆ์กับรัฐไว้ห่างพอสมควร
 
แต่ในกรณีองคุลีมาล พอพระพุทธเจ้าทราบว่าพระเจ้าปเสนทิโกสนจะยกทัพไปปราบองคุลีมาล พระพุทธเจ้าก็เข้าไปช่วยองคุลีมาล ทั้งที่องคุลีมาลในสายตาชาวเมืองสาวัตถีคือฆาตกรที่ต้องกำจัดทิ้ง ถ้ามองจากมุมของการเมืองจะเห็นว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญที่สุดคือรักษาชีวิตผู้คน จุลศีลข้อแรกระบุไว้ว่าพระสงฆ์จะต้องให้ความสำคัญกับการรักษาชีวิตผู้คน ไม่ว่าคนนั้นจะเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม เมื่อตีเข้ากับบริบทสังคมไทยในกรณีเสื้อเหลืองเสื้อแดง ทำให้เราเห็นภาพของคนดีมีศีลธรรมในสังคมไทยที่พอเห็นว่าคนบางกลุ่มไม่ดี ก็ไม่อยากรักษาชีวิตไว้ ให้ใช้กองทัพจัดการ ซึ่งตรงข้ามกับวิธีที่พระพุทธเจ้าทำ
 
สุรพศ ทวีศักดิ์

เรื่องพระพุทธศาสนากับการเมือง ชาวพุทธมักมองว่า ถ้าพระเข้ามายุ่งกับการเมืองในแง่มาสอนธรรมะให้นักการเมืองเป็นคนดีสามารถทำได้ แต่ในระดับปฏิบัติการเช่นชุมนุมเรียกร้องเรื่องต่างๆ ไม่สามารถทำได้ ในความเป็นจริงก็มีพระออกมาชุมนุมเรียกร้องให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ หรือผลักดันให้มีร่าง พ.ร.บ. อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา ในสมัยพุทธกาล พระยุ่งกับการเมืองในประเด็นที่ซีเรียสกว่านี้มาก พระเทวทัตยุยงให้เจ้าชายอชาตศัตรูทำรัฐประหารและฆ่าบิดาตัวเอง มีข้อสังเกตว่าพระพุทธเจ้ากลับมิได้ประณามว่าพระเทวทัตมีความผิดเพราะไปยุ่งกับการเมือง เพียงแต่ให้พระอานนท์ไปพูดที่กรุงราชคฤห์ว่าสิ่งที่พระเทวทัตทำนั้นไม่เกี่ยวกับคณะสงฆ์ของพระองค์ พระพุทธเจ้าไม่ได้ฟันธงว่าพระจะยุ่งกับรัฐประหารไม่ได้ จึงไม่มีมาตรฐานหรือขอบเขตที่ชัดเจนว่าพระสามารถยุ่งกับการเมืองเรื่องใดได้บ้าง
 
กรณีสงครามแย่งน้ำ หรือ สงครามที่พระเจ้าวิทูฑภะยกทัพมาโจมตีศากยวงศ์ พระพุทธเจ้าก็เสด็จมาห้ามทัพ เป็นการยุ่งกับการเมืองในเชิงปฏิบัติการ คือหยุดไม่ให้ฆ่ากัน ครั้งหนึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูเคยส่งที่ปรึกษาของตนไปถามพระพุทธเจ้าถึงวิธีทำให้ยกทัพไปตีแคว้นวัชชีสำเร็จ แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตอบตรงๆ เพียงแต่ตอบว่าตราบที่ชาวแคว้นวัชชียังปฏิบัติเคร่งครัดในธรรมมะที่พระองค์สอนนั้นก็ไม่มีใครจะไปทำลายได้ ที่ปรึกษาของพระเจ้าอชาตศัตรูจึงได้วิธีวางแผนยุยงให้ชาวแคว้นวัชชีเกิดความแตกแยกจึงรบชนะ เรื่องนี้แสดงว่ากษัตริย์ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าให้คำปรึกษาด้านการเมืองไม่ได้ คนสมัยพุทธกาลเข้าใจว่าไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนเรื่องพระกับการเมือง และเป็นแบบนี้มาตลอด ในสังคมไทยเรา พระก็ยุ่งกับการเมืองมาตลอด เช่นพระครูธรรมโชติในสมัยบางระจัน หรือตอนประกาศสงครามโลกครั้งที่ 1 สมเด็จพระมหาสมณเจ้าก็มาเทศน์สนับสนุนสงครามด้วยเรื่อง “ธรรมาธรรมะสงคราม” ที่หมายถึง สงครามที่ธรรมะไปปราบอธรรมนั้นมีความชอบธรรม
 
กรณีคำกล่าวของพระกิตติวุฒโทที่ว่า ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป เพราะเหมือนการฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ ถือว่าได้บุญมากกว่าบาป ก็คือการสร้างวาทกรรมมาเพื่อรับใช้อำนาจรัฐ พระที่พูดแบบนี้จะมีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจรัฐ ทำให้แสดงความเห็นในลักษณะที่บิดเบือน

คำถามก็คือ การใช้วาทกรรมแบบฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปก็ดี ฆ่าเวลาบาปมากกว่าฆ่าคนก็ดี ทำไมสังคมไทยไม่ค่อยรู้สึกว่ามันผิด หรือตื่นตัวมาเรียกร้องให้มีมาตรการเอาผิด แต่เวลาใครตั้งคำถามกับองค์กรสงฆ์ กับพระพุทธศาสนา ฯลฯ คือความผิด อย่างเช่นคุณคำ ผกา ที่วิจารณ์องค์กรศาสนา พระสงฆ์ต้องไปยื่นร้องเรียนกับกรรมาธิการศาสนาและวัฒนธรรมให้ตรวจสอบและเอาผิด รวมทั้งกดดันให้ออกมาขอโทษ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ววาทกรรมแบบฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปมันส่งกระทบต่อสังคม เป็นการอ้างอิงพระพุทธศาสนาไปสนับสนุนความรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อสังคม แต่คณะสงฆ์ผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาเหล่านี้ไม่ออกมาเรียกร้องให้คำผิดกับคำพูดแบบกิตติวุฒโทหรือ ว.วชิรเมธีที่ผ่านมา

เป็นคำถามที่ต้องย้อนกลับไปหาชาวพุทธที่อ้างว่ารักพระพุทธศาสนา ปกป้องพุทธศาสนาทั้งหลาย ทำไมคุณไปแคร์คำด่า คำจาบจ้วง ล่วงละเมิดอะไรต่อมิอะไรต่างๆ คุณจะออกกฎหมายมาปกป้อง แต่การเอาพระพุทธศาสนามาใช้เพื่อสนับสนุนเผด็จการ เพื่อให้ความชอบธรรมกับความรุนแรง ชาวพุทธไม่แคร์

 
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

จริงๆ แล้วในทางรัฐศาสตร์ ทุกๆ สถาบันในสังคมล้วนแต่เกี่ยวกับการเมืองไม่มากก็น้อย แม้เราจะบอกว่าไม่เกี่ยว อย่างการเมืองในที่ทำงานหรือการเมืองในระดับประเทศ เราเล่นการเมืองในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการอ้างว่าสถาบันทางสังคมบางสถาบันไม่เกี่ยวกับการเมือง เป็นกลางทางการเมือง หรืออยู่เหนือการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันกษัตริย์ หรือสถาบันพระพุทธศาสนา หรือแม้กระทั่งสถาบันครอบครัว จึงเป็นเรื่องของ “การเมือง” อย่างยิ่ง เพราะอ้างว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองในการมีปฏิบัติการทางการเมืองบางอย่าง
 
การเมืองคือการแยกมิตรและศัตรู สถาบันทางสังคมไหนเล่นการเมืองจึงหมายความว่าสถาบันนั้นๆ กำลังเลือกข้างทางการเมือง หรือมีแนวโน้มจะไปจบที่การเลือกข้างทางการเมืองเสมอ ถ้าความขัดแย้งทางสังคมระดับชาติพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง สถาบันทางสังคมต่างๆ ย่อมแสดงออกว่าตนเองเลือกข้างทางการเมืองเป็นเรื่องปกติ จึงไม่ใช่เรื่องผิดที่สถาบันสงฆ์ซึ่งเป็นสถาบันทางสังคมหนึ่งในสังคมจะมีจุดยืนทางการเมือง เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะมีจุดยืนทางการเมืองหมดไม่ว่าจะเป็นสถาบันอะไรก็ตาม

แต่ที่เป็นปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันก็คือ พระสงฆ์จำนวนมากโดยเฉพาะพระสงฆ์ดังๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับฝ่ายชนชั้นนำในปัจจุบัน เลือกข้างทางการเมืองที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยของทั่วโลก
 
ไทยควรกำหนดในรัฐธรรมนูญให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่?
 
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

ขอเกริ่นถึงหลักการ Secularization ก่อน กระบวนการ Secularization คือการแยกศาสนาออกจากรัฐ ก่อนหน้าโลกสมัยใหม่ที่เราอาศัยกันอยู่ถือว่าอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดอยู่ในมือของศาสนจักร ศาสนามีอำนาจมากกว่ากษัตริย์หรืออำนาจของรัฐ มีอำนาจที่จะแต่งตั้งผู้มีอำนาจทางการเมืองได้ การที่โลกพัฒนาเข้าสู่สมัยใหม่ เกิดกระบวนการ Secularization คือการทำให้รัฐแต่ละรัฐมีอำนาจอธิปไตยของตัวเองโดยที่ไม่อิงความชอบธรรมจากศาสนจักร โอนถ่ายอำนาจอธิปไตยจากมือของพระเจ้ามาสู่มือของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ ประชาชน หรือรัฐธรรมนูญ นี่คือลักษณะของรัฐสมัยใหม่ เวลาที่เราคุยกันเราต้องคุยบนฐานของความเป็นรัฐสมัยใหม่ เว้นแต่ใครบอกว่าเราต้องการอยู่ในรัฐโบราณ นั่นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

เวลาเราพูดถึง Secularization ไม่ได้แปลว่าสถาบันทางศาสนาจะไม่มีจุดยืนทางการเมือง แต่ Secularization หมายถึงการที่สถาบันทางศาสนาไม่สามารถอ้างอำนาจสูงสุดทางการเมืองได้ เพราะอำนาจสูงสุดอยู่ในมือของรัฐซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย สถาบันต่างๆ อาจมีจุดยืนทางการเมืองหรือเล่นการเมืองได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กติกาที่โครงสร้างอำนาจรัฐสมัยใหม่ซึ่งอำนาจสูงสุดอยู่ที่กษัตริย์หรือประชาชนเป็นตัวกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจอธิปไตยแบบ Nation state หรือรัฐชาติซึ่งอำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชนโดยแสดงออกผ่านรัฐธรรมนูญและสถาบันทางการเมือง

Concept ที่ 3 ความคิดเรื่องเสรีนิยม Liberalism เราต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเป็นโลกสมัยใหม่ เป็นการต่อสู้กันของอุดมการณ์ทางการเมืองชุดหนึ่ง อุดมการณ์ที่ถือว่าเป็นสากลในปัจจุบันคืออุดมการณ์เสรีนิยม งานของนักปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ โทมัส ฮอบส์ , จอห์น ล็อค , และฌองฌาค รุสโซ หลักการสำคัญที่ทำให้ผู้อยู่ภายใต้ปกครองมอบอำนาจ จริงๆ แล้วในโลกของธรรมชาติทุกคนเท่ากัน แต่การที่เราทุกคนเท่ากันจะอยู่ในสภาวะสงคราม เพราะคนต่างแก่งแย่งต่อสู้กัน ไม่มีระเบียบทางการเมือง ก็ต้องแก้ปัญหาโดยการมอบอำนาจส่วนหนึ่งของเราซึ่งเป็นอำนาจในการปกครองให้กับรัฐ โดยการมาตกลงว่าเรามอบอำนาจส่วนหนึ่งในการออกกฎหมาย ในการบริหารจัดการการปกครองให้กับรัฐ แต่สิ่งที่รัฐจะต้องทำคือ รัฐคือต้องปกป้องชีวิต นี่คือเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด เพราะในสภาวะสงคราม การเสียชีวิตไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ แต่การเข้าสู่สภาวะภายใต้ความเป็นรัฐแล้ว สภาวะสงครามถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติ และรัฐจะต้องปกป้องชีวิตของผู้ที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ เพราะรัฐได้แลกเปลี่ยนคำสัญญาแล้วโดยการเอาอำนาจในการออกกฎหมายมาอยู่ที่ตัวเอง แต่สิ่งที่รัฐจะต้องทำคืนให้กับผู้ที่มอบอำนาจให้รัฐก็คือการคุ้มครองชีวิต มากกว่านั้นคือการปกป้องทรัพย์สิน และสิทธิเสรีภาพ

โลกที่เราอยู่ในปัจจุบันเป็นโลกสมัยใหม่ซึ่งวางอยู่บนความคิดแบบเสรีนิยม สิ่งที่สำคัญมากคือศาสนาไม่มีสิทธิอ้างอำนาจอธิปไตย ความชอบธรรมทางการเมืองจะต้องไม่อ้างอิงกับความเชื่อทางศาสนาโดยตรง

หลักการหนึ่งที่สำคัญของโลกสมัยใหม่คือเสรีนิยม สถาบันทางการเมืองหรือสถาบันทางสังคมใดๆ ที่อยู่ภายใต้รัฐสมัยใหม่จำเป็นจะต้องยอมรับหลักการสากลอันนี้ คือคุณสนับสนุนให้มีการฆ่าใครไม่ได้ เพราะนี่คือกติกาของโลกที่เป็นสากลที่เราอาศัยอยู่ ต่อให้เป็นสถาบันทางสังคมที่มีอำนาจต่อการเมืองมากแค่ไหนก็ตาม หรือได้รับแรงสนับสนุนจากประชาชนมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิสนับสนุนให้เกิดการฆ่าในสังคมการเมืองแบบนี้

ถ้าดู 3 หลักการนี้ การเมือง Secularization เสรีนิยม จะพบว่าทุกสถาบันทางการเมืองสนับสนุนหรือมีบทบาททางการเมืองและเลือกข้าง แต่รัฐสมัยใหม่มีหน้าที่ในการกำหนดกติกาให้สถาบันทางการเมืองต่างๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างทัดเทียมกัน และรัฐแบบนี้จะไม่สนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจำชาติอย่างชัดเจน และไม่กดขี่ศาสนาอื่น

ที่สำคัญคือรัฐแบบนี้ต้องดูแลคุ้มครองไม่ให้สถาบันทางการเมืองสถาบันใดสถาบันหนึ่งยุยงให้เกิดการฆ่า รวมถึงพรากทรัพย์สินและเสรีภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเรามีสถาบันทางสังคมจำนวนมากที่สนับสนุนให้เกิดการฆ่า หลักการ การเมือง Secularization เสรีนิยม เหล่านี้ยังไม่สถาปนาในสังคมการเมืองไทย เป็นข้อจำกัดที่ทำให้เรายังไม่ชัดเจนหรือยังไม่ออกมาประณามการยุยงให้เกิดการฆ่า เพราะไม่รู้ว่าการฆ่ามันขัดกับหลักการซึ่งถูกสถาปนาในโลกตะวันตกมา 2-3 ร้อยปีแล้ว เหล่านี้เป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างมาก

 
สุรพศ

พระสงฆ์มักเอาจุดยืนทางศาสนามาเป็นจุดยืนทางการเมือง เช่นต้องการให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เอาอุดมการณ์ของพุทธไปเป็นอุดมการณ์ของชาติ ยังคิดว่ารัฐมีหน้าที่สอนคนให้มีศีลธรรมเหมือนรัฐโบราณ แต่รัฐประชาธิปไตยเป็นอีกแบบ
 
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

การมีศาสนาประจำชาติขัดกับรัฐฆราวาสอยู่แล้ว รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ยึดหลักสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค การที่เรายกให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเหนือกว่าศาสนาอื่น มันก็ขัดหลักความเสมอภาค แม้แต่มีกฎหมายส่งเสริมอุปถัมภ์ศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะเป็นพิเศษ โดยอ้างว่าคนนับถือศาสนานี้มากที่สุด ก็ยังไม่มีความชอบธรรมตามหลักการสากล
 
ถ้าจะมีกฎหมายมาคุ้มครองศาสนา ก็ควรจะออกกฎหมายคุ้มครองทุกศาสนาอย่างเสมอภาค แต่มันจะเลยเถิดไปถึงเอาอุดมการณ์ศาสนามาเป็นอุดมการณ์ของรัฐ แม้แต่การคุ้มครองอุปถัมภ์ศาสนาเป็นพิเศษก็ยังถูกตั้งคำถามได้ว่า แล้วถ้าคนที่ไม่นับถือศาสนาหละ เพราะเวลาที่บอกว่าอุปถัมภ์ศาสนามันก็ต้องใช้ภาษี ปัจจุบันนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติใช้ปีละ 4,000 ล้านบาท ไม่รวมกรมการศาสนา ภาษีก็มาจากประชาชนทุกคนทุกศาสนาและทั้งที่ไม่มีศาสนา มองว่าถ้าตามหลักการสากลจริงๆศาสนาควรจะเป็นเรื่องของเอกชน หมายความว่าเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่จะนับถือ การอุปถัมภ์ ถ้าวัดไหนสำนักไหนที่พวกเขาเชื่อถือเขาก็สนับสนุนเองหรือเข้มแข็งขึ้นมาด้วยตัวเอง ไม่ใช่เข้มแข็งขึ้นมาจากการที่รัฐเข้ามาอุปถัมภ์
 
ปัจจุบันมีกระแสที่เรียกว่า Fundamentalism คือความเคร่งศาสนาที่เชื่อว่ามีศาสนาบริสุทธิ์ เป็น movement อันหนึ่งในโลก ไม่ได้เฉพาะในประเทศไทย เช่น จำแนกว่าพุทธแท้ พุทธไม่แท้ ประณามพุทธเทียม พิธีกรรมของเจ้าก็ไม่มีอะไรเป็นพุทธแท้ มีผี พุทธ พราหมณ์ ผสมตีลังกาไปหมด ความคิดเรื่อง Fundamentalism คือเชื่อว่ามีอะไรที่มันเป็น pure ของเรื่องศาสนา และใครที่มีความเชื่อไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เขาเชื่อว่า pure ก็จะเป็นศัตรู เราแบ่งมิตรและศัตรูผ่านการจำแนกว่าใคร pure และไม่ pure ปรากฏการณ์นี้เกิดทั่วโลก กระแสการกลับขึ้นมาของความเคร่งศาสนา Fundamentalism เกิดขึ้นในบริบทของสงครามเย็น ซึ่งสหรัฐอเมริกาและฝ่ายพันธมิตรเป็นคนโปรโมทอุดมการณ์ศาสนา และอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมขวาจัดเช่นอุดมการณ์เรื่องเจ้า เรื่องศาสนา เรื่องชนชั้นนำเดิม เพื่อใช้ต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ หลายประเทศในตะวันออกกลางมีกระแสฝ่ายซ้ายเข้มแข็งมากช่วงหนึ่งในทศวรรษ 60-70 สหรัฐอเมริกาสนับสนุนฝ่ายตาลีบัน หรือฝ่ายที่เป็น Fundamentalism เพื่อจะสู้กับฝ่ายซ้าย ในกรณีของไทย สหรัฐอเมริกาก็สนับสนุนกลุ่มศาสนาบางกลุ่ม กลุ่มชนชั้นนำบางกลุ่ม เช่นสถาบันกษัตริย์ เพื่อใช้ต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ เกิดขึ้นในกัมพูชา ลาว เวียดนาม และอีกหลายๆแห่งในโลก นี่เป็นปรากฏการณ์ทั่วไป

อ.ธงชัย (วินิจจะกูล) ได้พูดในปาฐกถาเรื่องมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประเด็นสำคัญคือปัจจุบันนี้เรายังอยู่ภายใต้มรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้สถาปนาธรรมยุติกนิกาย เอาความเชื่อว่ามีศาสนาแบบบริสุทธิ์ กีดกันศาสนาในระดับท้องถิ่น ความเชื่อแบบท้องถิ่น ว่าเป็นเรื่องสามานย์ เป็นเรื่องไสยศาสตร์ เป็นเรื่องความเชื่อภูตผี และไม่ยอมให้มีอุดมการณ์หรือความคิดการตีความพระพุทธศาสนาแบบที่แตกต่างออกไป ถ้าเราอิงกับงานของ อ.ธงชัยจะพบว่าลักษณะความเชื่อมโยงกันของศาสนาพุทธหรือโครงสร้างพระพุทธศาสนาแบบนี้ยังอยู่ และยังเชื่อมโยงกับฝ่ายที่เป็นชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม เราจะเห็นว่าทำไมสังคมไทยถึงไม่อนุญาตให้เรามีวัดแบบธรรมกาย สันติอโศก หรือความเชื่อที่เราคิดว่าเป็นเรื่องนอกรีตทั้งหลาย ผมรู้สึกหงุดหงิดมากตอนที่วัดธรรมกายเดินธุดงค์ครั้งล่าสุด ไม่ใช่เรื่องรถติด แต่เป็นแวดวงปัญญาชนเสื้อแดงทั้งหลายที่ออกมาด่าว่าทำไมมหาเถรสมาคมไม่เข้ามาจัดการวัดพระธรรมกายซะที พวกนอกรีตพระพุทธศาสนา ผมรู้สึกว่าถ้ามีความคิดแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับความเชื่อแบบ Fundamentalism จริงๆแล้วถ้าใครจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองหรือตีความพระพุทธศาสนาแบบไหน ก็น่าจะเป็นเสรีภาพในโลกสมัยใหม่หรือโลกของ Secular State เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ย้ำว่ามาตรฐานที่สำคัญมากก็คือความคิดแบบเสรีนิยม ซึ่งเชื่อในเรื่องเสรีภาพของคนและปกป้องชีวิตของมนุษย์ ใครก็ตามที่พูดว่าฆ่าได้ไม่บาปนี่เป็นเรื่องผิดปกติแล้ว รัฐไม่สามารถอ้างศาสนาเป็นแหล่งอ้างอิงความชอบธรรมทางการเมืองของตนเองได้เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ตรงตามหลักการของโลกสมัยใหม่

 
ทำไมพระสงฆ์ทำไมพยายามเอาพระพุทธศาสเป็นศาสนาประจำชาติ รวมทั้งเสนอ พรบ.

ชาญณรงค์ บุญหนุน

คิดว่าผมจินตนาการอันหนึ่งของพระสงฆ์ไทย อิงกับประวัติสตร์ พงศาวดารที่ถูกสร้างขึ้น พงศาวดารนี้ก็จะผูกสถาบันกษัตริย์กับพระพุทธศาสนาไว้ด้วยกัน พอผูกไว้ด้วยกันมากๆมันทำให้จินตนาการอย่างอื่นไม่ออก จินตนาการเกี่ยวกับแผ่นดินไทยถูกผูกกับพุทธศาสนา ความเป็นไทยถูกผูกกับความเป็นพุทธมาตลอด เราถูกสอนมาลักษณะนี้ แต่พอยุคสมัยซึ่ง การสื่อสารขยายตัว ความคิดอะไรต่ออะไรมากขึ้น คนเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น ทำให้พระสงฆ์รู้สึกว่ามันมีภัยคุกคามบางอย่าง ภัยคุกคามมีลักษณะเฉพาะที่ผูกกับแผ่นดินไทยซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นตัวตั้ง อ้างประวัติศาสตร์อินเดียตอนที่พระพุทธศาสนาล่ม เอามาหลอนว่าต้องมีคนนอกศาสนามาทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อม
 
ความคิดเรื่องในไทยภัยคุกคามมีตั้งแค่ 2525 พูดถึงภัยคุกคามจากอีกศาสนาหนึ่ง พอเกิดกรณีสามจังหวัดภาคใต้ ภัยคุกคามเป็นจากอีกศาสนาหนึ่ง เป็นภัยที่ชาวพุทธโดยเฉพาะคนในวัดในวาพระสงฆ์ตระหนกกับบทบาทของอีกศาสนา การต้องการกลับมารักษาที่มั่นของตัวเองทำให้เกิดกลุ่มศาสนานิยมในปัจจุบัน การที่เขาคิดแบบนี้มันเป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย จินตนาการของพระสงฆ์ที่ว่าเกี่ยวกับแผ่นดินไทยเป็นของพุทธเท่านั้นยังไม่เปลี่ยนและเปลี่ยนยากเพราะมันฝังแน่นมาก อาจจะต้องกับไปศึกษาประวัติศาสตร์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับพระสงฆ์

กรณีพระมหาโชว์ ใช้ตรรกะที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลมาอธิบายคุณค่าความเป็นมนุษย์

ชาญณรงค์ บุญหนุน

คนที่คิดแบบท่านพระมหาโชว์ แนวคิดสำคัญเกิดจากการที่เขากลัวว่าแผ่นดินนี้จะเป็นแผ่นดินของคนอื่น เวลาเขานึกถึงภัยของพระพุทธศาสนา มันคล้ายๆผังล้มเจ้า มีบางเรื่องที่พระหรือแวดวงชาวพุทธจินตนาการถึงภัยบางอย่าง เช่น แผนนารีพิฆาต ที่เชื่อว่ามีกระบวนการทำลายพระพุทธศาสนาโดยให้ผู้หญิงเข้าไปที่กุฏิพระเพื่อให้เป็นข่าว แนวคิดนี้มีมานานมาก เวลามีใครทำอะไรที่ส่งต่อพระพุทธศาสนา ชาวพุทธที่เลื่อมใสศรัทธาพระพุทธศาสนามากๆอย่างพระมหาโชว์รู้สึกไม่มั่นคง ทำให้ต้องแสดงปฏิกิริยารุนแรง
 
กรณีการเรียกร้องศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญก็เป็นบทบาทหนึ่งของพระมหาโชว์ เป็นจุดยืนซึ่งไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย กรณีหนึ่งคือภาพภิกษุสันดานกา ท่านก็ออกมาพูด หรือกรณีคุณคำ ผกาที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าอธิบายในเชิงจิตวิทยา อาจกล่าวได้ว่าพระท่านไม่ได้ขัดเกลาตัวเองให้ไม่มีความโกรธ ความเกลียด ซึ่งเป็นมาจากความรักพระพุทธศาสนายิ่งชีวิต พอใครวิจารณ์ก็โกรธ ยิ่งคำผกาวิจารณ์มากๆกลายเป็นเกลียด ยิ่งถ้าใครมีปฏิบัติการมากๆ ในที่สุดแล้วเค้าจะผลักคนเหล่านี้ให้อยู่ในกลุ่มผู้ไม่ปรารถนาดีต่อศาสนา พระจะคิดว่าวิธีการอะไรก็ได้ซึ่งจะจัดการกับคนที่เป็นภัยต่อสถาบัน ต่อศาสนา ในศรีลังกา พระสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยมาจากเรื่องชาติพันธุ์และเรื่องศาสนา ในเกาหลีสมัยที่ต่อสู้กับญี่ปุ่นญี่ปุ่นพระออกมาต่อสู้ผู้เป็นศัตรูกับประเทศชาติและศาสนา
 
เหมือนสังคมไทยในปัจจุบัน เวลาเราสนับสนุนแก้ 112 กลายเป็นต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่จริงอาจจะไม่ใช่ อาจจะทำโดยปรารถนาดี แต่คนซึ่งมองจากอีกแง่มุมหนึ่ง อย่างที่ อ.วรเจตน์พูดเมื่อเร็วๆนี้ เมื่อรักอะไรมากๆ ใครก็ตามที่เป็นปฏิปักษ์มักถูกผลักให้กลายเป็นคู่ตรงข้าม แล้วเราก็จะเห็นชีวิตของคู่ตรงข้ามด้อยค่าลง ความเป็นอื่นทำให้เรารู้สึกว่าคนนั้นไร้ค่า ยิ่งเข้ามาอยู่ในบริบทศาสนายิ่งรู้สึกว่าพวกนี้เป็นมารศาสนา ตรรกะที่ดีจะไม่ค่อยเกิด เรามืดบอด เวลาเรารักใครมากๆ เราก็จะลืมตัว

พุทธศาสนา เป็นไปตามวิทยาศาสตร์ เหตุผล หรือไม่

ชาญณรงค์ บุญหนุน

ผมไม่รู้ว่าประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธจริงหรือเปล่า ในบ้านเราสถาบันกษัตริย์กับสถาบันพระพุทธศาสนายังกำหนดตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ไม่ถูก การวางตัวเองไม่ถูกของทั้ง 2 สถาบัน เวลาเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นมา ก็เกิดปรากฏการณ์ที่ทั้ง 2 สถาบันนี้มาสนับสนุนกัน จะว่าไปแล้ว ความขัดแย้งที่ผ่านมาก็ยังมีพระเสื้อแดงเกิดขึ้น แต่พระที่มีชื่อเสียงหรือพระเซเล็บก็ไปสนับสนุนสถาบันฯ ออกมาพูดในทีวีไทยที่บอกว่าเราเอาอำนาจมาจากพระมหากษัตริย์ แต่ไม่เอาทศพิธราชธรรมมา บอกว่าอำนาจเป็นของประชาชน แต่ประชาชนมีศักยภาพจะใช้อำนาจหรือยัง ตัวโครงสร้างของสถาบันกษัตริย์ ถ้าเป็นประชาธิปไตยจริงๆหมายความว่าเราสามารถ apply หลักสิทธิเสรีภาพสู่ทุกคนในสังคมได้เท่าเทียมกัน ถ้าเราวิจารณ์นักการเมืองได้ กษัตริย์ก็เป็นบุคคลสาธารณะเราก็วิจารณ์ได้เหมือนกัน สามารถถูกตั้งคำถามตรวจสอบได้ถ้าเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับสังคมการเมือง
 
แต่สถาบันกษัตริย์หรือฝ่ายนิยมเจ้าก็จะไม่ยอมรับเรื่องการยกเลิกหรือแก้ไข ม.112 หรือปฏิรูปสถาบันฯ ให้เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ในส่วนพระสงฆ์เองก็เหมือนกัน อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างหนึ่งว่า ความผิดพลาดของคณะราษฎรที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การไม่ยกเลิกสมณศักดิ์ ระบบสมณศักดิ์คือฐานันดรศักดิ์ของพระที่มีพระราชาคณะ อันนี้อิงกับสถาบันกษัตริย์ด้วย ความดีความชอบ การเลื่อนสมณศักดิ์ก็เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ ฉะนั้นพระชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลายจึงต้องสนับสนุนพระมหากษัตริย์ด้วย โดยโครงสร้างกำหนดให้สนับสนุนอย่างนั้น พรบ. ปกครองคณะสงฆ์ 2505 ก็เป็น พรบ เผด็จการในยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ โครงสร้างการปกครองสงฆ์ที่เรียกว่ามหาเถรสมาคมมันไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ยังเป็นเผด็จการอยู่ นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

ปัญหาเชิงความคิดอุดมการณ์ จากที่เคยทำวิจัยเกี่ยวกับพระ พบว่าพระสงห์ไม่ว่าจะสีอะไรจะมีความคิดแบบ Fundamentalism คือคิดว่าประเทศเราไม่ได้สำเร็จบริบูรณ์อยู่ที่ประชาธิปไตย หรือสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค แต่คุณค่าที่เหนือกว่าคือธรรมาธิปไตย ถ้าจะเป็นประชาธิปไตยที่ดีคือต้องมีธรรมาธิปไตยกำกับ นี่เห็นได้ชัดในวาระของเสื้อเหลือง คุณสนธิ ลิ้มทองกุลมักใช้คำว่า ธรรมนำหน้า ถ้าพระเลือกข้างทางการเมืองสนับสนุนฝ่ายต่างๆ ก็เป็นจุดยืนทางการเมืองที่สังคมประชาธิปไตยยอมรับได้ แต่ถ้ามันเลยไปถึงว่าต้องมีอุดมการณ์ทางศาสนาหรือธรรมาธิปไตยอะไรต่างๆมาอยู่เหนืออุดมการณ์ประชาธิปไตยอีกที ถ้ามันเป็นประชาธิปไตยที่ยังไม่มีธรรมาธิปไตย เราสามารถตั้งอุดมการณ์ธรรมาธิปไตยมาเรียกร้องรัฐประหารได้ ถ้าคิดแบบนี้ก็เพี้ยน ปัญหาของบ้านเราคือยังมีการคิดแบบนี้อยู่ เพื่อให้เป็นธรรมาธิปไตยเราใช้วิธีเผด็จการได้ นี่คือปัญหาความสับสนเชิงอุดมการณ์และเชิงโครงสร้างที่มีอยู่ในพระสงฆ์ ซึ่งคล้ายกับสถาบันกษัตริย์ ตกลงจะเป็นกษัตริย์ในสังคมประชาธิปไตยสมบูรณ์ หรือจะทำให้ประเทศเราเป็นประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกที เรายังเป็นประชาธิปไตยภายใต้การกำกับของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้าคิดในทางศาสนาคือเราเป็นประชาธิปไตยภายใต้กำกับของธรรมาธิปไตย แล้วธรรมะที่เราพูดถึงกันมันไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าธรรมะของพระพุทธเจ้าอย่างอริยสัจ 4 กาลามสูตร หลักอะไรต่างๆ มันเป็น แต่ธรรมะที่เราพูดถึงคือธรรมะที่เป็นของศักดิ์สิทธิ์ อิงอยู่กับพระสยามเทวาธิราช ถ้าใครเป็นคนดีมีคุณธรรม พระสยามเทวาธิราชจะคุ้มครอง ถ้าใครไม่กตัญญูต่อแผ่นดิน ไม่จงรักภักดีต่อชาติศาสน์ กษัตริย์ พระสยามเทวาธิราชจะสาปแช่ง ธรรมะของเราก็เหมือนกัน เวลาที่เราพูดถึงทศพิธราชธรรมก็คือธรรมะที่ไปสนับสนุนสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันกษัตริย์ แต่ถ้าเป็นเนื้อหาจริงๆ ทศพิธราชธรรมเป็นธรรมะที่เรียกร้องให้ตรวจสอบกษัตริย์ ไม่ว่ามีศีล มีความยุติธรรม ยุติธรรม วิหิงสา ไม่เบียดเบียน ไม่โกรธ เสียสละ จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นอย่างนั้นจริงก็ต้องให้ตรวจสอบได้ ถ้าตรวจสอบไม่ได้ก็รู้ไม่ได้ เอาไว้ยกไว้อวยกันอย่างเดียว เพราะฉะนั้นธรรมะที่เราพูดถึงก็จะมีความหมายเหมือนกันเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เป็นวิทยาศาสตร์

ธรรมะมีความหมายซับซ้อนมาก ธรรมะเป็นคำที่ใช้กันในวัฒนธรรมทางศาสนาของอินเดีย ตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ ใช้กันมาเป็น 5,000-6,000 ปี คำคำนี้มันเดินทางมาถึงพวกเรา ความหมายมันสลับซับซ้อนมาก เราจะเข้าใจธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างไร ถ้าถอดความหมายออกมาจากบุคลิกภาพของพระพุทธเจ้า ธรรมมะคือเสรีภาพ เสรีภาพจากอิทธิพลของพ่อ คือไม่ทำตามพ่อ เพราะพ่ออยากให้เป็นกษัตริย์ แสรีภาพเกิดจากการใช้เหตุผล เห็นว่าสิ่งที่ถูกต้อง คือการแสวงหาเสรีภาพทางจิตวิญญาณ เสรีภาพที่จะเลือก ไปศึกษาเรียนรู้กับสำนักต่างๆแล้วรู้สึกไม่ใช่ก็มีเสรีภาพที่จะหลุดออกไป ลองปฏิวัติตามค่านิยมความเชื่อนี้แล้วรู้สึกไม่ใช่ก็มีเสรีภาพที่จะหลุดออกไป จนกระทั่งไปเจอทางของตัวเอง ค้นพบตัวเอง แล้วก็ตรัสรู้ เสรีภาพนี้เป็นเสรีภาพที่มีอยู่ภายในเรา แล้วเบ่งบานจนถึงจุดสูงสุด คือหลุดพ้นจากกิเลส คำว่าหลุดพ้นจากกิเลสในพระพุทธศาสนาเรียกว่า วิมุตติ เจ้าคุณประยุทธ์ท่านแปลว่า freedom หรือเสรีภาพจากกิเลส หมายความว่า วิมุตติเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นเสรีภาพคือแก่นของธรรมะ ธรรมใดก็แล้วแต่ที่ขัดแย้งกับเสรีภาพก็ไม่ใช่ละ ศาสนาพุทธอาจจะเน้นเสรีภาพทางจิตใจแต่ย่อมไม่ปฏิเสธเสรีภาพทางสังคม ไม่เช่นนั้นจะเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันในตัวเอง ความเป็นเหตุเป็นผลของพุทธมาจากการเคารพหลักเสรีภาพ เราก็จะไม่มีวาระทางศาสนามาเป็นจุดยืนในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อผลักดันให้ศาสนาตัวเองเด่นกว่าคนอื่น จุดยืนทางการเมืองจุดยืนทางศาสนาไม่ผิดถ้าเป็นสันติวิธี แต่ถ้าเลยไปถึงว่าเลือกฝ่ายเพื่อมีวาระซ่อนเร้นให้ศาสนาพุทธมาเป็นอุดมการณ์ของชาติเหนือศาสนาอื่น มันผิดหลักการประชาธิปไตย หลักความเสมอภาค

ในเชิงปัจเจกบุคคล ธรรมาธิปไตยเป็นเรื่องการหลุดพ้นจากกิเลส แต่ถ้าในสังคมการเมืองก็ต้องยึดระบบของสังคมการเมือง พระพุทธเจ้าไม่ได้สร้างระบบธรรมาธิปไตยขึ้นมาเป็นระบบการเมืองอีกแบบหนึ่ง ท่านสอนธรรมะในระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวกับการเมือง แต่ไม่ได้สร้างทฤษฎีการเมืองเฉพาะแบบรีพับบลิกของเพลโต มันจึงไม่มีทฤษฎีการเมืองที่เป็นธรรมาธิปไตยโดยเฉพาะ ถ้าถามว่าธรรมาธิปไตยในระบอบประชาธิปไตยคืออะไร ก็คือหลักสิทธิเสรีภาพเสมอภาค มันจะไม่มีธรรมาธิปไตยอะไรมาอยู่เหนือตรงนี้อีก พระแต่ละคนยังพูดไม่ตรงกันสักรูปว่าธรรมาธิปไตยคืออะไร
 
ไสยศาสตร์?
 
สุรพศ ทวีศักดิ์

กรณี มันมี 2 มาตรฐานในเรื่องความงมงายของไสยศาสตร์ ถ้าพิธีไสยศาสตร์ที่เป็นทางการ เราไม่ได้ตั้งคำถามว่ามันงมงายหรือเปล่า ถ้าเป็นแบบชาวบ้านเราบอกว่ามันงมงาย เวลารายการเรื่องเล่าเช้านี้เสนอเรื่องชาวบ้านที่เห็นอะไรประหลาดๆแล้วจุดธูปขอหวยเราก็จะบอกว่าชาวบ้านงมงาย แล้วถามว่าเวลารัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่งใหม่แล้วไปจุดธูปศาลพระพรหมณ์มันก็เป็นไสยศาสตร์ แต่เป็นไสยศาสตร์ของระดับชนชั้นกลางชั้นสูงเขายอมรับก็ถือว่าไม่งมงาย แต่ถ้าเป็นชนชั้นล่างชาวบ้านเชื่อก็เป็นความงมงาย ประชาธิปไตยภายใต้สมบูรณญาสิทธิราชย์ทำให้เกิด 2 มาตรฐานไปหมด ไม่ว่าจะเป็น 2 มาตรฐานทางกฎหมาย อย่างรายงานของสถาบันพระปกเกล้าระบุว่าไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดคณะรัฐประหาร ไม่ควรพูดถึงประเด็นอ่อนไหวเรื่อง ม.112 หรือเรื่องสถาบันเลย แต่ข้อเสนอเรื่องคุณทักษิณที่มี 3-4 ทางเลือก ทั้งนิรโทษกรรม ไม่นิรโทษกรรม ให้คตส.เป็นโมฆะแล้วเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ ถูกโจมตีว่าเอื้อประโยชน์ให้คุณทักษิณ แต่ทำไมไม่ตั้งคำถามว่าเอื้อประโยชน์ให้กับคณะรัฐประหารในเมื่อมีการระบุว่าไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดคณะรัฐประหาร แล้วบอกว่าไม่ควรพูดถึงสถาบันเลย ความจริงต่างๆก็เอามาพูดไม่ได้เลย  2 มาตรฐาน รายงานนี้มากันฝ่ายอำมาตย์ออกไปเลยคือต้องไม่ผิด แต่ทักษิณอาจจะผิดก็ได้ไม่ผิดก็ได้ ถามว่าทำไมทัศนะของคนถึงเบี่ยงเบนอย่างนี้ ก็เพราะภายใต้ระบบนี้ที่เราไม่สามารถพูดความจริงเบื้องหลังรัฐประหารได้ มันทำให้ทุกอย่างเบี่ยงเบนไปหมด เบี่ยงเบนทั้งในเรื่องการพูดความจริงก็เป็น 2 มาตรฐาน ความยุติธรรมทางกฎหมาย แม้แต่เรื่องไสยศาสตร์ และเรื่องอื่นก็ 2 มาตรฐานอีกมากมาย

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

ผู้คนมักเดือดร้อนตลอดในการที่มีคนเอาพระพุทธรูปไปตั้งที่ประตู หรือพระมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก คือรู้สึกว่าทำไมพวกนี้มันชั่วร้ายจัง แต่ศีล 5 ที่เป็นหลักการเบื้องต้นของพระพุทธศาสนาก็แทบไม่มีใครปฏิบัติได้ อย่างการตบยุง กินเหล้า โกหก แต่ทุกคนเดือดร้อนใหญ่โตเกี่ยวกับเรื่องไม่มีศีลธรรมของคนอื่น จริงๆแล้วคนไม่ได้จริงจังกับหลักการศาสนา แต่ศาสนาเป็นเครื่องมือที่ใช้พูดอะไรบางอย่างให้ดูดี

ในรัฐโบราณ รัฐมีหน้าที่ทำให้คนเป็นคนดีซึ่งอิงกับหลักการศาสนา แต่ในรัฐสมัยใหม่ รัฐไม่ได้มีหน้าที่ให้การศึกษาเพื่อให้คนเป็นคนดี แต่มีหน้าที่ทำให้คนเรียนรู้ความเป็นพลเมืองดี พลเมืองดีกับคนดีอาจจะไม่ใช่คนคนเดียวกัน คนดีแบบศาสนาอาจจะไม่ได้เป็นพลเมืองดีก็ได้ ความเป็นพลเมืองดีถูกสนับสนุนหรือให้เงื่อนไขโดยกฎหมาย รัฐธรรมนูญ หรือสถาบันทางการเมืองอื่นๆที่ทำให้คนประพฤติอยู่ในโครงสร้างสถาบันการเมืองนั้น ความเป็นพลเมืองดีไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว เพราะในทางปรัชญาการเมือง มนุษย์มีเสรีภาพ และเสรีภาพคือหัวใจความเป็นมนุษย์ แปลว่ายิ่งมนุษย์คิดค้นหรือครีเอทเสรีภาพแบบใหม่ๆได้ หรือขยายความสามารถในการจินตนาการการใช้ชีวิตของตนเองได้มากขึ้น สังคมการเมืองก็ต้องถูกปรับเปลี่ยน ปฏิรูป หรือปฏิวัติ เพื่อทำให้ตัวเองขยายกลไกสถาบันของตัวเองที่ครอบคลุมกับเสรีภาพที่ขยายตัวมากขึ้นด้วย  ความเป็นพลเมืองดีคือการปฏิวัติตามกฎกติกาของรัฐ แต่รัฐเองก็ต้องปรับตัวเพื่อจะขยายคอนเซปต์ความเป็นพลเมืองดีของตัวเองออกไปด้วยเมื่อสถานการณ์หรือบริบทโลกเปลี่ยนไป แต่ในปัจจุบันนี้เราเอาพลเมืองดีไปโยงกับคนดี ซึ่งคนดีโยงกับพระพุทธศาสนา ความเป็นพลเมืองของรัฐถูกบีบให้แคบลงจนกระทั่งเราไม่สามารถพูดถึงเรื่องการปฏิรูปกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงสถาบันทางการเมืองที่สอดคล้องกับเสรีภาพของเรา เพราะความเป็นพลเมืองมันจำกัดมากจนกระทั่งเชื่อมโยงกับศาสนา เชื่อมโยงกับคนดี ซึ่งจริงๆแล้ว คนดีไม่จำเป็นต้องเป็นคนดีแบบศาสนา และพลเมืองดีก็ไม่จำเป็นต้องเท่ากับคนดี คำว่าพลเมืองดีก็ยังมีลักษณะที่ขยายออกไปได้เมื่อเสรีภาพของมนุษย์ขยายออกไป มีข้อจำกัดมากในการพูดถึงมนุษย์ในยุคปัจจุบันเพราะเราอิงกับมนุษย์ในแบบที่แคบมาก จนคนอื่นๆที่ไม่ตรงกับเกณฑ์แบบนี้กลายเป็นคนที่ไม่ใช่มนุษย์ไปหมด
 
พ.ร.บ.อุปถัมภ์ คุ้มครองพระพุทธศาสนา
 
ชาญณรงค์ บุญหนุน

พระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินำมาปรับมีเนื้อหาการลงโทษที่เบาลงกว่าร่างของ สนช. มาก ตนต่อต้านความคิดเรื่องการบัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ชาวพุทธต้องคิดคือเราจะเติบโตอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย การเอาระบอบประชาธิปไตยเป็นตัวตั้งอาจทำให้ชาวพุทธรู้สึกไม่มั่นคง เพราะบทบาทของกษัตริย์หรือบทบาทของรัฐในสมัยราชาธิปไตยหายไป เป็นธรรมดาที่พระหรือคณะสงฆ์จะตกใจ เพราะเคยได้รับการอุปถัมภ์แบบเดิมๆหายไปจากรัฐสมัยใหม่ แต่สังคมก็เปลี่ยนแบบนี้เรื่อยๆ
 
รายละเอียด พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา วัตถุประสงค์มี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเพื่ออุปถัมภ์ คือสนับสนุนให้กิจการของพระพุทธศาสนาดำเนินไปด้วยดี และอีกส่วนหนึ่งคือต้องการจัดการกับใครก็ตามที่มาทำให้พระพุทธศาสนามีปัญหา ใครมีกิจกรรมอะไรก็ตามที่ทำให้พระพุทธศาสนาได้รับเสียหาย วัตถุประสงค์ที่ต้องการให้การทำงานของสำนักงานพระพุทธศาสนาสะดวกขึ้นนั้นไม่ขัดข้อง เพราะหากไม่มีกฎหมายรองรับชัดเจน สนง จะไม่มีอิสระในการทำงานในระบบราชการที่ยุ่งยาก แต่มีปัญหาในประเด็นเรื่องการคุ้มครองที่บัญญัติมาเพื่อการกำจัดคนที่เป็นปัญหาของศาสนาในความคิดของชาวพุทธ เวลามีปัญหาบางเรื่องยังสามารถใช้กฎหมายทั่วไปในปัจจุบันได้ เช่นการบิดพลิ้วพระพุทธศาสนามาหากิน ก็มีกฎหมายเรื่องการหลอกลวงอยู่แล้ว บางเรื่องเช่นการปลอมบวชก็ใช้เรื่องเทคโนโลยีอย่างบัตรสมาร์ทการ์ดมาบันทึกประวัติได้

มาตรา 11 กล่าวถึงรูปแบบคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้มีนกยกฯ ปลัดที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงสำคัญๆเป็นกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ทางพระพุทธศาสนามีอยู่ไม่กี่คน ถ้านายกเป็นคริสต์ หรือมุสลิมยังจะยอมให้มีมาตรากำหนดเช่นนี้หรือไม่ หรือมีนัยยะว่าผู้ที่จะขึ้นเป็นนายกไม่สามารถเป็นศาสนาอื่นได้หรือไม่ แต่ความคิดสำคัญคือการนำศาสนามาผูกกับรัฐ กรรมการกองทุนประกอบด้วยพระเป็นส่วนใหญ่ พระกับเงินเป็นปัญหาทางพระธรรมวินัยหรือไม่

“มาตรา 37 ผู้กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นเหยียดหยามพระศาสดา เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่พระพุทธศาสนา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดตามวรรคแรก เป็นการกระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด แผ่นเสียงหรือสิ่งบันทึกเสียงอย่างอื่น กระทำโดยการกระจายเสียง หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นต้องระวางโทษเป็น 2 เท่า”

โทษไม่มาก แต่ประเด็นคือเวลาพูดอะไรเป็นภาพอย่างภิกษุสันดานกาเข้าตรงนี้ ในอนาคต คนที่สร้างสรรค์งานศิลปะเสร็จเลย ถ้าออกมาในลักษณะนี้ทำให้การสร้างสรรค์งาน หรือความคิดสร้างสรรค์หายไปในสังคมไทย ภูมิปัญญาไทยตีบตันลงไหม การตีความพระพุทธศาสนาซึ่งมีความลมายหลายจะยังอยู่ไหม

สุรพศ ทวีศักดิ์


พระราชบัญญัติอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาเดิมมีอยู่ 4 ฉบับ ฉบับที่วิจารณ์กันมากคือฉบับของ สนช ที่ได้วิจารณ์ไปแล้วว่าเป็นกฎหมายเผด็จการยิ่งกว่ามาตรา 112 เพราะว่าการกำหนดโทษจาบจ้วงล่วงละเมิดพระศาสดากับพระธรรม 10-25 ปี แต่ทราบมาว่าร่างตัวนี้ตกไปแล้วเพราะไม่ผ่านกฤษฎีกา ร่างที่เหลืออยู่ก็คือร่างฉบับของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งตอนนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ส่งไปที่นายกรัฐมนตรีทั้ง 3 ฉบับแล้ว กำลังรอบรรจุวาระเข้าสภา คงใช้เวลาอีกนาน มีการผลักดันตรงนี้มาประมาณ 10 กว่าปีแล้ว ร่างที่มีน้ำหนักน่าจะเป็นร่างของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติฉบับนี้ เพราะมีการบอกว่าไปทำประชาพิจารณ์มาแล้วทั่วประเทศทั้ง 4 ภาค และผ่านความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมแล้ว ถือว่ามีการผลักดันให้เข้มข้นกว่าฉบับอื่น

หลักการอ้างอิงรัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติไว้ว่ารัฐต้องอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา รวมทั้งต้องสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อเสริมสร้างเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

ต้องมีคณะกรรมการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาแห่งชาติโดยมีนายกฯเป็นประธานกรรมการ มีพระนั่งเป็นกรรมการ เวลาประชุมมีนายกนั่งหัวโต๊ะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง ตัวแทนมหาเถรสมาคมมานั่ง มองในเชิงอำนาจได้ว่าคณะสงฆ์ขาดความมั่นใจในอำนาจทางพระธรรมวินัยของตัวเอง ยกให้อำนาจรัฐมากำหนดตัวเองในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องของรัฐที่ต้องมาดูแลหมดตั้งแต่ออกนโยบาย จัดการศึกษา จัดงบประมาณ แม้แต่พัฒนาให้พระมีความสามารถในการเทศน์
 
การมีสื่อทีวีวิทยุให้พระได้แสดงธรรม รัฐเข้ามาจัดการหมด ถ้าเป็นเช่นนี้หมายความว่าคณะสงฆ์จะอ่อนแอ เพราะข้อเท็จจริงคือพระสงฆ์ที่มีความเข้มแข็งในการเผยแผ่ คือพระสงฆ์ที่เป็นอิสระจากรัฐมากที่สุดอย่างเช่น สวนโมกข์ หลวงพ่อชา หรือสันติอโศก แต่พระสงฆ์ที่มีระบบโครงสร้างการบริหารจัดการใกล้ชิดกับรัฐ อย่างมหาเถรสมาคมที่เป็นพระสมเด็จต่างๆ ถามว่าชาวบ้านรู้จักผลงานของพระในมหาเถรสมาคมแต่ละรูปไหม เคยอ่านหนังสือท่านไหม มีหนังสือมากเท่า ว.วชิรเมธีไหม เราแทบไม่รู้จักผลงานทางปัญญาของท่านเลย ก็เลยไม่ทราบว่าผลงานที่เป็นการเผยแผ่ธรรมะของท่านอยู่ตรงไหน แต่ถ้ามีตำแหน่ง ไปไหนก็มีรถเบนซ์ มีรถหวอนำขบวน ถ้ารัฐต้องไปเฝ้านำทั้งหมดแบบนี้จะทำให้สถาบันสงฆ์เหมือนกับหน่วยงานราชการ คำถามคือ พระจะสามารถวิจารณ์รัฐได้ไหม สามารถมาตั้งคำถามในเชิงศีลธรรมกับรัฐได้ไหมถ้าต้องอยู่ภายใต้รัฐมากๆแบบนี้
 
ในเรื่องบทกำหนดโทษ ถ้าคิดตามรัฐประชาธิปไตยเราไม่สามารถมีกฎหมายคุ้มครองพระศาสดาได้ เพราะเราไม่รู้ว่าพระศาสดามีตำแหน่งแห่งที่ตรงไหนในรัฐ พระศาสดาท่านปรินิพพานไปแล้ว 2,500 กว่าปี ถ้าออกกฎหมายคุ้มครองประมุขของรัฐยังพออธิบายได้ว่ามีตัวตนอยู่ แต่ว่าศาสดาตอนนี้ไม่มีตัวตน นี่ตั้งคำถามในแง่ของหลักประชาธิปไตย และถ้าถามต่อไปว่า ถ้าไปถามพระพุทธเจ้าเอง ท่านต้องการให้มีกฎหมายคุ้มครองท่านไหม ฟันธงได้เลยว่าไม่ต้องการ เพราะพระพุทธเจ้าก็ถูกคนด่าเยอะ พระเทวทัตก็ลอบสังหารอะไรต่างๆ แต่ท่านไม่เคยโกรธ และไม่เคยเรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการอะไรกับพระเทวทัตเลย
 
แล้วจะต้องคุ้มครองหลักธรรมคำสอนไหม มาตรา 38 ระบุไว้ว่าผู้ใดก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในศาสนธรรม ศาสนธรรมหรือพระธรรมวินัยก็คือที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ถ้าเป็นจารีตของพุทธแบบเดิม พระพุทธเจ้าจะบอกว่าถ้าใครมากล่าวโจมตีใส่ร้ายพระรัตนตรัยพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ชาวพุทธต้องมีสติ อย่าโกรธ และชี้แจงไปตามความเป็นจริง จบ จะไม่มีบทลงโทษว่าต้องไปติดคุก พูดง่ายๆว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้สร้างนักโทษทางความคิดขึ้นมา อันนี้คุณกำลังจะไปสร้างสร้างนักโทษทางความคิดขึ้นมาเหมือนมาตรา 112 ในสังคมอารยประชาธิปไตยเขาไม่มีนักโทษทางความคิด ไม่มีกรณีคุณสมยศที่ประกันตัวก็ไม่ได้
 
เวลาคนมาด่าพระพุทธเจ้าพระองค์บอกว่าเหมือนคนเอาปลามาถวาย ถ้าเราไม่รับ ก็เป็นของคนเอาถวาย คำด่าก็เหมือนกัน เขาด่าเรา เราไม่รับ ก็เป็นของคนด่า พระองค์ไม่ได้ให้ชาวพุทธเก็บคำด่ามาเป็นอารมณ์เลย แต่ทีนี้ชาวพุทธปัจจุบันกำลังจะเก็บมาเป็นโทษ เก็บมาลงโทษในทางกฎหมาย ผมถึงบอกว่าคุณกำลังสร้างกฎหมายมาปกป้องอะไร ผมอยากตั้งคำถามแบบซีเรียสเลยว่า ชาวพุทธเชื่อในธรรมะที่ตัวเองสอนไหม
 
คุณสอนเรื่องอนิจจัง ความเปลี่ยนแปลง ทำไมคุณไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง สังคมจะเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยทำไมคุณไม่ยอมรับ ทำไมชาวพุทธไม่มาเรียกร้องให้ผลักดันให้การเปลี่ยนแปลง แต่บางทีชาวพุทธเรียกร้องให้สิ่งที่ขัดกับประชาธิปไตยคงอยู่ แต่ไม่ยอมรับผลอนิจจังตรงนี้
 
ศาสนาพุทธเชิดชูสัจจะ เชิดชูความเป็นจริง คุณจะดับทุกข์ได้ คุณต้องรู้ความจริงของสาเหตุแห่งทุกข์ แต่ทำไมพูดความจริงเรื่องเบื้องหลังรัฐประหารไม่ได้ แล้วพระมาเทศน์เรื่องสัจจะเรื่องความจริง ถ้าคุณเชื่อตรงนี้ว่าจะแก้ปัญหาได้ต้องพูดความจริงของปัญหาได้ หลักธรรมสอนแบบนี้แล้วคุณก็เชื่อหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ ทำไมผมไม่เห็นชาวพุทธชั้นนำดังๆ พระเซเล็บทั้งหลาย ออกมาเรียกร้องออกมาต่อสู้ให้พูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาสังคมการเมือง แค่เอาความจริงออกมาพูด เมื่อมีความจริงแล้วมันถึงจะนำไปสู่ความเป็นธรรม ความถูกต้องได้ แต่เราไม่แคร์เลยว่าความจริงจะเป็นอะไร คำถามก็คือว่าที่คุณบอกว่าต้องเชิดชูเอาธรรมมะมาอบรมอะไรต่ออะไรมากมาย ถามว่าคุณเชื่อธรรมะจริงหรือเปล่า ถ้าคุณเชื่อธรรมะทำไมคุณไม่ต่อสู้ให้ธรรมะเวิร์ค ตอนนี้ธรรมะเรื่องความเป็นจริงเรื่องสัจจะมันไม่เวิร์ค
 
การเอาโทษเรื่องที่จะมาลบหลู่ดูหมิ่นพระศาสดาหรือสร้างความเข้าใจผิดพระธรรมวินัย ในระบบของศาสนาไม่มีระบบว่า คนมาโจมตีให้ร้าย สอนผิดอะไรต่างๆต้องติดคุก และการสอนผิดก็มีมาตลอด ตัวอย่างที่ภิกษุแตกแยกกันคราววัชชีหลังจากเขามาปรองดองแล้ว อนาถบิณฑิกเศรษฐีไปถามพระพุทธเจ้าว่าจะต้องปฏิบัติต่อสงฆ์สองฝ่ายอย่างไร พระพุทธเจ้าให้ปฏิบัติแก่สงฆ์ทั้งสองฝ่ายเสมอภาคกัน และถ้าสงฆ์ฝ่ายไหนสอนถูกตามหลัก ก็จงยอมรับศรัทธาสนับสนุนสงฆ์ฝ่ายนั้น แต่ถ้าสงฆ์ฝ่ายไหนสอนผิดไม่ไม่ต้องศรัทธาไม่เชื่อถือไม่สนับสนุน จบ พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่าจงไปบอกพระราชาให้ออกกฎหมาย โทษที่รุนแรงที่สุดในการทำความผิดต่อศาสนาก็คือคว่ำบาตร หมายถึงให้คณะสงฆ์หรือสังคมชาวพุทธประกาศว่าคนนี้ได้ทำผิดจาบจ้วงล่วงละเมิดพระรัตนตรัยอะไรต่างๆ มีการตักเตือน 2-3 ครั้งแล้วไม่ยุติพฤติกรรม คือตัดการคบค้าสมาคม เพื่อเขาเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วก็ประกาศหงายบาตร คือคบค้าสมาคมกับเขาเหมือนเดิม ฉะนั้นบทลงโทษของพระพุทธศาสนาเป็นบทลงโทษในเรื่องของจิตสำนึก คือการใช้เหตุผล เน้นในเรื่องของการฟื้นฟู แต่คำถามก็คือว่ามันมีเหตุผลอะไรที่จะต้องจับคนที่สอนผิดไปเข้าคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท มันไม่มีเหตุผลอะไรรองรับเลยไม่ว่าจะเป็นเหตุผลทางประชาธิปไตยหรือเหตุผลของพระพุทธศาสนา
 
และถ้ากฎหมายมาตรา 38 ผ่าน คุณคำ ผกาโดนความผิดตามมาตรานี้ คำว่าผู้ใดก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อพระธรรมวินัย คำว่าพระธรรมวินัยมันกว้างมาก แล้วสันติอโศกอาจต้องโดน พระธรรมกายก็ต้องโดน หมายความว่ากฎหมายที่มีเพื่อคุ้มครองพระพุทธศาสนาจะกลายเป็นเครื่องมือให้ชาวพุทธเล่นกันเอง ที่สอนว่านิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา โชคดีที่กฎหมายนี้ยังไม่ผ่าน ถ้ากฎหมายนี้ผ่านเด๊ดกันไปแล้ว เพราะว่านิพพานเป็นอัตตา ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎก ถ้าคุณสอนอะไรที่ไม่มีอยู่ในพระไตรปิฎก คุณโดนหมด แม้แต่หลวงตาบัวที่บอกว่าพระพุทธเจ้ามาแสดงความยินดีในวันที่หลวงปู่มั่นบรรลุธรรม อันนี้ก็ไม่มีในพระไตรปิฎก ถ้ากฎหมายนี้ออกมาก็เสร็จ พระพุทธศาสนาสอนมาตลอดว่า ถ้ามีความเหก็นต่างกันก็แยกนิกายไป นิกายไหนเพี้ยนมากสังคมก็ไม่สนับสนุนก็จตบไป นิกายไหนที่ชาวบ้านเห็นว่าถูกต้องก็นับถือสืบทอดกันมา ไม่ต้องมีกฎหมาย

เก่งกิจ กิตติเรียงลาภ

โมเดลของเราคือรัฐประชาชาติ (nation state) ซึ่งชาติคือประชาชน ถ้าเราบอกว่าอธิปไตยอยู่ที่ประชาชน การกำหนดกติกาหรือออกกฎหมาย รวมทั้งสถาบันทางการเมืองทั้งหลายต้องอิงกับหลักการว่าประชาชนคือใคร และมีความต้องการอะไร ประชาชนที่เป็นคนไทยมีทั้งคนที่นับถือพุทธนิกายต่างๆมากมาย และไม่นับถือพุทธ นับถืออิสลาม คริสต์ ฯลฯ การคิดจากเกณฑ์ว่าชาติเท่ากับประชาชน ประชาชนคืออำนาจสูงสุดที่เป็นแหล่งที่มาของสถาบันทางการเมืองและกฎหมายทั้งหลาย การระบุให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติก็ขัดกับหลักการชาติเท่ากับประชาชนอยู่แล้ว คิดยังไงก็ทำไม่ได้ในทางรัฐศาสตร์
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

คปก.สางปัญหาแรงงาน จุดติดอนุสัญญา87/98 ILO ชี้นโยบายขึ้นค่าแรงทดแทนสิทธิต่อรองไม่ได้

Posted: 27 Apr 2012 03:16 AM PDT

 
27 เม.ย. 55 – คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงานัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ (SC) องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท(FES) จัดการเสวนา “มาตรการลดช่องว่างทางสังคมในกลุ่มแรงงาน : อนุสัญญา 87/98 และกลไกแรงงานสัมพันธ์” ที่โรงแรมอิสติน มักกะสัน
 
นางสุนี  ไชยรส รองประธานกรรมการการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องบทบาทกฎหมายกับการลดช่องว่างทางสังคมในกลุ่มแรงงานว่า ช่องว่างทางสังคมที่สำคัญคือ ปัญหาที่ดินและทรัพย์สินกระจุกตัวอยู่กับคนจำนวนน้อย จึงไม่สามารถแก้ปัญหาช่องว่างทางสังคมได้ ดังนั้นรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงคือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนนิยม การให้ความสำคัญกับตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การส่งออกและรายได้ของประเทศ รวมถึงการยึดหลักแรงงานราคาถูก เมื่อกฎหมายร่างขึ้นโดยใครก็มักจะรับใช้คนกลุ่มนั้น ขณะเดียวกันยังพบว่ายังมีกฎหมายหลายฉบับที่ยังมีปัญหาทั้งกฎหมายประกันสังคม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานบ้าน รวมถึงอนุสัญญาต่างๆที่เกี่ยวข้อง ขณะที่รัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการแก้ไขก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะนำไปสู่ผลในทางบวกหรือลบ และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการลดช่องว่างทางสังคมได้หรือไม่ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
 
นางสุนี กล่าวว่า จะต้องสร้างองค์ความรู้ที่ชัดเจน และมีองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับนโยบายนักการเมือง ให้สังคมยอมรับในความชอบธรรม อย่าปล่อยให้คนจำนวนหนึ่งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการริดรอนสิทธิของประชาชน ภาคประชาชนจึงต้องมีความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงานอย่างจริงจัง โดยเรื่องเร่งด่วนที่คปก.จะดำเนินการคือ การเร่งสร้างฐานสวัสดิการสังคมที่มีกฎหมายเอื้ออำนวย และส่งเสริมประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปกฎหมาย
 
นายทิม เดอ เมเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานแรงงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) กล่าวอภิปราย “อนุสัญญา 87/98 และกลไกด้านแรงงานสัมพันธ์”ว่า ความไม่เท่าเทียมกันทำให้การรวมตัวในสังคมน้อยลง และสะท้อนถึงความล้มเหลวและการไร้ธรรมาภิบาลของสังคม ขณะเดียวกันก็มองว่าความไม่เท่าเทียมกันดังกล่าวจะนำมาสู่นโยบายประชานิยมต่างๆ จึงมีข้อเสนอว่า นโยบายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำและการเพิ่มผลิตภาพทั้งสององค์ประกอบจะต้องไปด้วยกัน  เพราะแม้ว่านโยบายค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นผลประโยชน์ของแรงงาน แต่นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเดียวไม่สามารถทดแทนสิทธิในการต่อรองได้
 
นายทิม กล่าวว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศค่อนข้างให้ความสำคัญกับความยุติธรรมในสังคมโดยจะต้องมีเสรีภาพอย่างทั่วถึงจึงต้องหากลไกต่างๆมารองรับเพื่อให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้ถ้ามองความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างคงต้องหาจุดที่จะประนีประนอมกันได้ ซึ่งอนุสัญญา87/98 ได้ระบุไว้ และล่าสุดมีรายงานของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย(เอดีบี) รายงานว่าภูมิภาคอินเดียและจีนยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่มาก แม้ประเทศไทยเมื่อเทียบกับอินเดียและจีนแล้วจะไม่ถือว่าไม่อยู่ในระดับที่รุนแรงนัก แต่เอดีบีมองว่า ความไม่เท่าเทียมกันเป็นเรื่องที่อันตรายสำหรับประเทศไทย
 
นายสมชาย วงษ์ทอง รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า  อนุสัญญา87/98 จะมีผลเมื่อมีการรับรองแล้วและทุกส่วนจะต้องแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญา87/98 โดยคาดว่าเร็วๆนี้กระทรวงแรงงานจะประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็นเพิ่มเติมในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาต่อไป  อย่างไรก็ตามส่วนตัวคิดว่ากระทรวงแรงงานได้มีมติและความเห็นไว้แล้วว่า ประเทศไทยมีความพร้อมและเห็นควรให้รับรองอนุสัญญาดังกล่าว ก็ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ให้เกิดความรอบคอบอีกครั้งหนึ่งซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่นาน ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าการดำเนินการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งเป็นกระบวนการที่ถอยหลังหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงคือ เป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆให้ความเห็นและเป็นการดำเนินการที่รอบคอบ
 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า โดยกระบวนการไม่จำเป็นต้องให้หน่วยงานใดไปพิจารณาให้ความเห็นอีกครั้ง ซึ่งมีข้อสังเกตว่า หากวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ทุกกระทรวงไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไร คิดว่าการรับรองอนุสัญญา87/98 ไม่ได้เป็นสิ่งที่เสียหาย จึงคิดว่าการเคลื่อนไหวหลังจากนี้คงไม่มีการขับเคลื่อนและรณรงค์เฉพาะเครือข่ายแรงงานในกรุงเทพฯอย่างเดียวแล้วอาจจะต้องมีการรณรงค์ให้มีการรับรองอนุสัญญา87/98 กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆด้วย
 
นายสาวิทย์  แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยอยูในฐานะประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอนุสัญญา87/98  ขณะที่ฝ่ายแรงงานได้ใช้งบประมาณเพื่อดำเนินการเคลื่อนไหวให้มีการรับรองไปแล้ว 100  ล้านบาทแต่รัฐยังไม่มีการให้สัตยาบันแต่อย่างใด ดังนั้นปัญหาของการรับรองส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการเมือง แม้ส่วนตัวไม่เชื่อว่าอนุสัญญา87/98 จะทำให้ชีวิตแรงงานดีขึ้นแต่อนุสัญญานี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เกิดการรวมตัว และเกิดพลังอำนาจในการต่อรองของแรงงาน โดยสถานการณ์ของไทยที่ผ่านมาผู้นำแรงงาน และสมาชิกสหภาพมักจะถูกกลั่นแกล้งด้วยการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไม่มีเสรีภาพในการรวมตัวได้จริงและถูกกีดกันแบ่งแยกกำลังจากภาครัฐ
 
“จากการศึกษาพบว่า ประเทศที่รับรองอนุสัญญา87/98 จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลจะต้องมีความเข้มแข็งหรือมีพรรคแรงงานในรัฐบาล  จึงเห็นว่าสิทธิเสรีภาพตามอนุสัญญา87/98 คือพลังอำนาจต่อรองแต่กระบวนการรับรองมีความสลับซับซ้อนเพื่อกันไม่ให้ลงสัตยาบัน ส่วนตัวเชื่อว่ามีหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยกับการรับรองอนุสัญญา87/98 โดยเฉพาะสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวที่มีความกังวลเรื่องการรวมตัวของแรงงาน จึงไม่เชื่อว่ากระบวนการรับรองต่อจากนี้จะราบรื่นอย่างที่หน่วยงานรัฐให้ความเชื่อมั่น” นายสาวิทย์ กล่าว
 
นายชฤทธิ์ มีสิทธิ์  นักวิชาการกฎหมายแรงงาน กล่าวว่า การรับรองอนุสัญญา87/98 ควรจะพิจารณาบนพื้นฐานของคุณค่าการผลิต หลักการของILO จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการรวมตัว ส่วนตัวเห็นว่าสถานการณ์ในประเทศไทยพร้อมที่จะให้สัตยาบัน เพราะรัฐไม่มีกำลังคนและเครื่องมือ ไม่มีการตรวจสอบและดูแลแรงงานที่ดีพอ แต่อนุสัญญา87/98 จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะทำให้สิ่งดังกล่าวเกิดขึ้น จึงไม่อยากให้มองการรวมกลุ่มของแรงงานในด้านไม่ดีเพียงด้านเดียว
 
นายชฤทธิ์ กล่าวว่า หากรัฐไม่ให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว กลุ่มแรงงานอาจจะกระบวนการระหว่างประเทศแทน ทั้งนี้หากพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานปัจจุบันที่มีอยู่ 14 ฉบับค่อนข้างล่าหลังและไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา87/98 จึงมองว่าอนุสัญญา87/98 เป็นการเปลี่ยนแนวคิดของแรงงานสัมพันธ์ คือ กรอบนิยาม ความสัมพันธ์ของนายจ้างและลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานค่อนข้างแคบ และระบบการเจรจาต่อรองต้องให้ครอบคลุมทั้งด้านสวัสดิการความปลอดภัย และความมั่นคงของชีวิต อนุสัญญา87/98 จึงเป็นการให้สิทธิและเสรีภาพทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
 
นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า มิติการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันมีสองรูปแบบ คือ การบังคับใช้เพื่อควบคุม และการบังคับใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการร่างพรบ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ โดยตั้งอยู่บนหลักการที่สอดคล้องกับอนุสัญญา87/98 เช่น เปลี่ยนความสัมพันธ์นายจ้างลูกจ้างเป็นแบบหุ้นส่วนทางสังคม การเปลี่ยนนิยามนายจ้างลูกจ้าง โดยนิยามลูกจ้างเป็นคนทำงาน และนิยามนายจ้างเป็นผู้จ้างเพื่อให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตามควรมีกระบวนการแรงงานสัมพันธ์เพื่อความเป็นธรรม รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรแรงงานให้มีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

สภาที่ปรึกษาฯ เปิดประเด็น “ประชาธิปไตย โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน”

Posted: 27 Apr 2012 03:08 AM PDT

สภาที่ปรึกษาฯ จัดสัมมนารับฟังความเห็นเรื่องประชาธิปไตย ประธานคณะทำงานการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ยกพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แนะให้รัฐบาลไปปฏิบัติตาม
 
27 เม.ย.55 - คณะทำงานการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนารับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “การส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตย เพื่อสู่ประชาธิปไตยโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน” โดยมีวิทยากรเข้าร่วมการสัมมนา ได้แก่ ศ.ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี,ดร.วิชัย ตันศิริ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และนายสมพร เทพสิทธา ประธานคณะทำงานการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยและการสร้างประชาธิปไตยโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ณ สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ
 
ศ.ดร.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ กล่าวเปิดประเด็นการสัมมนาในเรื่องของวัฒนธรรมประชาธิปไตยว่า ก่อนอื่นควรต้องสอนความเป็นพลเมืองให้คนในสังคม โดยให้มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของความเป็นชาติ ประวัติศาสตร์ ศาสนาและวัฒนธรรมอันดีงาม และการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดปัญญา ยกตัวอย่างเช่นสังคมไทยทุกวันนี้ แทนที่จะใช้งบประมาณเพื่อการป้องกันการเกิดโรคหรือการสร้างเสริมสุขภาพที่แข็งแรง กลับใช้งบประมาณเหล่านั้นเพื่อการเยียวยารักษา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ระบุถึงสิทธิเสรีภาพมากกว่าหน้าที่ที่พึงกระทำของประชาชน ทั้งที่ทั้งสองอย่างนี้ต้องมีความเสมอภาคกัน วัฒนธรรมประชาธิปไตยนั้นต้องอาศัยความมีจิตอาสา การไม่หวังผลตอบแทน คนไทยส่วนใหญ่ยังกลัวการเป็นพยานในกระบวนการยุติธรรม ไม่กล้ายื่นมือเข้าไปแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงต้องปลูกฝังแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพและหน้าที่ที่พึงกระทำของประชาชนให้ได้ เพื่อการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในอนาคต
 
ด้านนางปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล กล่าวอภิปรายประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมและประชาธิปไตยว่า วัฒนธรรมคือวิธีคิด วิธีปฏิบัติที่รวมตัวกันก่อให้เกิดวิถีชีวิตของคน รวมถึงค่านิยมและบรรทัดฐานทางสังคม ส่วนประชาธิปไตย คือ รูปแบบการปกครองที่ยึดหลักความเท่าเทียมกัน ในการที่ประชาชนจะสามารถตัดสินใจนโยบายสาธารณะ กฎหมายและการดำเนินการของรัฐ ประชาชนทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็น วัฒนธรรมประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการก่อให้เกิดการพัฒนาในทางการเมือง หมายถึง ถ้าหากมีวิธีคิด วิธีปฏิบัติในวิถีการเมืองที่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ก็จะเกิดสำนึกต่อหลักการทางการเมืองเดียวกัน
 
นางปริศนาฯ กล่าวเสริมว่า ในประเทศที่มีประชาธิปไตยงอกงาม รัฐธรรมนูญไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ต้องเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร แต่จะปลูกฝังวิธีคิดและวิถีชีวิต การให้สิทธิเสรีภาพของคนและสื่อมวลชน เพราะฉะนั้น การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในประชาธิปไตย ต้องเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ได้แก่ สันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ
 
ดร.วิชัย ตันศิริ กล่าวในประเด็นวัฒนธรรมการเมืองว่า ปัญหาใหญ่ๆ ของสังคมไทยมีอยู่สองประการคือ หนึ่ง การทุจริตคอร์รัปชั่น และสอง ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 เพราะฉะนั้น ปัจจัยพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ ประกอบด้วย 3 ประการคือ หนึ่ง เศรษฐกิจและสังคมในประเทศต้องมีประสิทธิภาพ ต้องลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน สร้างชนชั้นกลางให้มากขึ้น สอง การปรับโครงสร้างสถาบันการเมือง ใช้หลักคุณธรรมในการเลือกตั้งและปรับวิถีชีวิตของนักการเมือง และสาม การสร้างวัฒนธรรมพลเมือง อย่างที่คุณปริศนากล่าวในตอนต้นว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยเจริญงอกงาม จะมีรัฐธรรมนูญอยู่ในหัวใจ ไม่มีใครสามารถฉีกรัฐธรรมนูญในหัวใจนั้นออกไปได้
 
ด้านนายสมพร เทพสิทธา กล่าวเสริมในหัวข้อการสัมมนาว่า อยากให้รัฐบาลจัดตั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาคน เพราะคนคือผู้ที่ทำให้เกิดปัญหาในสังคม การจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ก็ต้องแก้ที่สาเหตุ นอกจากนี้นายสมพรยังได้ยกพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมากล่าวว่า พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานที่จะยกย่องพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นรัฐบาลในปัจจุบันจึงควรจะนำแนวคิดดังกล่าวนี้มาใช้ในการบริหารประเทศ
 
หลังเสร็จสิ้นการอภิปราย จะเป็นการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ คณะทำงานการศึกษาฯ จะนำมาสังเคราะห์ วิเคราะห์ เพื่อจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อยื่นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จี้เปิดผลสอบน้ำมันรั่วปากแม่น้ำไนเจอร์

Posted: 27 Apr 2012 03:02 AM PDT

 
27 เม.ย. 55 - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์ "เปิดโปงผลการสอบสวนปัญหาการรั่วไหลของคราบน้ำมันในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ของบริษัทเชลล์ซึ่งมีข้อมูลไม่เที่ยงตรง" โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ..
 
แถลงการณ์
 
เปิดโปงผลการสอบสวนปัญหาการรั่วไหลของคราบน้ำมันในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ของบริษัทเชลล์ซึ่งมีข้อมูลไม่เที่ยงตรง
 
ปัญหาการรั่วไหลของคราบน้ำมันในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์เลวร้ายกว่าข้อมูลที่เชลล์เคยยอมรับไว้มาก ทั้งนี้จากการประเมินผลจากหน่วยงานอิสระที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและศูนย์เพื่อสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (Centre for Environment, Human Rights and Development - CEHRD) ได้รับ ซึ่งเผยให้เห็นว่าบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ประเมินปริมาณความเสียหายต่ำกว่าความจริงมาก
 
การรั่วไหลของคราบน้ำมันในปี 2551 เกิดจากความผิดพลาดในระบบท่อส่งของเชลล์ ส่งผลให้มีการรั่วไหลของน้ำมันหลายหมื่นบาร์เรล สร้างมลพิษบนดินและในแหล่งน้ำรอบตัวเมืองโบโด (Bodo) สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ ซึ่งมีประชากรประมาณ 69,000 คน
 
จากการประเมินผลกระทบที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ของบริษัท Accufacts Inc จากสหรัฐอเมริกา พบว่ามีการรั่วไหลของน้ำมัน 1,440 - 4,320 บาร์เรลต่อวันที่เมืองโบโดนับแต่เริ่มการรั่วไหล หน่วยงานควบคุมของไนจีเรียยืนยันว่ามีการรั่วไหลนานถึง 72 วัน
 
ในขณะที่รายงานการสอบสวนอย่างเป็นทางการของเชลล์กลับอ้างว่ามีการรั่วไหลของน้ำมันเพียง 1,640 บาร์เรล แต่จากการประเมินผลจากหน่วยงานอิสระ จำนวนน้ำมันที่รั่วไหลทั้งหมดในช่วงเวลา 72 วันน่าจะอยู่ระหว่าง 103,000 - 311,000 บาร์เรล
 
“เป็นความแตกต่างมหาศาล แม้จะใช้ค่าการประเมินขั้นต่ำของบริษัท Accufacts ปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันที่เมืองโบโดก็น่าจะมากกว่าปริมาณที่เชลล์อ้างถึงกว่า 60 เท่า” Audrey Gaughran ผู้อำนวยการประเด็นรณรงค์ระดับโลกแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลกล่าว
 
รายงานสอบสวนการรั่วไหลของคราบน้ำมันที่เชลล์เป็นผู้จัดทำยังอ้างอีกว่า มีการรั่วไหลเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2551 แต่ในความเป็นจริงชาวบ้านและหน่วยงานควบคุมในไนจีเรียยืนยันว่าการรั่วไหลเริ่มตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2551
 
แต่ไม่มีความเห็นที่แย้งกันต่อประเด็นที่ว่าเชลล์ไม่สามารถยุติการรั่วไหลของน้ำมันได้จนกระทั่งวันที่ 7 พฤศจิกายน สี่สัปดาห์หลังจากวันที่เชลล์อ้างว่าเริ่มมีการรั่วไหล และ 10 สัปดาห์หลังจากวันที่ชาวบ้านและหน่วยงานควบคุมระบุว่าเริ่มมีการรั่วไหล
 
“ขนาดว่าเราใช้วันที่เริ่มต้นการรั่วไหลตามที่เชลล์อ้าง ปริมาณของน้ำมันที่รั่วไหลออกมากก็ยังมากกว่าที่เชลล์อ้างถึงมาก” Audrey Gaughran กล่าว
 
เมื่อแปลงเป็นหน่วยลิตร เชลล์อ้างว่ามีการรั่วไหลของน้ำมันกว่า 260,000 ลิตร ในขณะที่ถ้าใช้ตัวเลขประมาณการณ์ขั้นต่ำของบริษัท Accufacts และใช้วันเริ่มต้นการรั่วไหลตามที่เชลล์อ้าง ต้องถือว่ามีการรั่วไหลของน้ำมันออกมาถึง 7.8 ล้านลิตร
 
อย่างไรก็ตาม ถ้าใช้วันที่มีการรั่วไหลตามที่ชาวบ้านและหน่วยงานควบคุมยืนยัน และใช้ประมาณการณ์ขั้นสูง เป็นไปได้ว่ามีการรั่วไหลของคราบน้ำมัน 49 ล้านลิตรที่เมืองโบโด
 
การตีพิมพ์ผลการประเมินผลจากหน่วยงานอิสระมีขึ้นในช่วงสัปดาห์การรณรงค์ระดับโลก ประชาชนทั่วโลกเรียกร้องให้เชลล์ยุติการปกปิดข้อมูลผลกระทบที่หายนะของธุรกิจของตนที่มีต่อชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อมที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์
 
ผลการรายงานความเสียหายที่ต่ำกว่าความจริงมากยังส่งผลกระทบมากกว่านั้น เชลล์มักอ้างต่อนักลงทุน ลูกค้า และสื่อมวลชนว่า การรั่วไหลของคราบน้ำมันที่เมืองโบโดในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ มีสาเหตุมาจากการก่อวินาศกรรม
 
ข้ออ้างดังกล่าวเป็นผลมาจากกระบวนการสอบสวนกรณีการรั่วไหลของคราบน้ำมันที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่องและขาดความน่าเชื่อถือ ในรายงานไม่ได้ระบุถึงสาเหตุที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับการรั่วไหลของคราบน้ำมัน ปริมาณการรั่วไหล และปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น วันที่เริ่มต้นการรั่วไหลเลย
 
ปัญหาที่เมืองโบโดเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ในขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและ CEHRD ยังเปิดโปงให้เห็นความล้มเหลวที่ร้ายแรงเกี่ยวกับการสอบสวนกรณีการรั่วไหลของคราบน้ำมัน
 
หน่วยงานทั้งสองได้เรียกร้องครั้งแล้วครั้งเล่าให้มีกระบวนการสอบสวนที่เป็นอิสระต่อปัญหาการรั่วไหลของคราบน้ำมัน และให้ยุติระบบที่ปล่อยให้บริษัทน้ำมันเข้ามาแทรกแซงกระบวนการดังกล่าว
 
ในเบื้องต้นเชลล์อ้างกับสื่อมวลชนว่า 85% ของน้ำมันที่รั่วไหลในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ในปี 2551 มีสาเหตุมาจากการก่อวินาศกรรม ต่อมาบริษัทยอมรับว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ได้รวมอยู่ในการรั่วไหลครั้งใหญ่ของคราบน้ำมันซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิบัติงานที่ผิดพลาดของบริษัทเอง
 
จากหลักฐานใหม่ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและ CEHRD ได้รับเกี่ยวกับปัญหาการรั่วไหลของคราบน้ำมันที่เมืองโบโดพบว่า การรั่วไหลของคราบน้ำมันกว่าครึ่งในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ในปี 2551 เป็นผลมาจากการปฏิบัติงานที่ผิดพลาดของบริษัทเอง และอาจจะมากถึง 80% ด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากข้อบกพร่องร้ายแรงในกระบวนการสอบสวนกรณีการรั่วไหลของคราบน้ำมัน ทำให้ต้องมีการประเมินผลกระทบของการรั่วไหลของคราบน้ำมันจากหน่วยงานอิสระ เพื่อให้ได้ตัวเลขความเสียหายที่แท้จริง
 
“การก่อวินาศกรรมเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและร้ายแรงในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์ แต่เชลล์จะต้องไม่ใช้ประโยชน์จากประเด็นนี้อย่างผิด ๆ โดยไม่ควรนำมาอ้างเพื่อสร้างภาพตนเองและไม่ปล่อยให้มีการตรวจสอบจริงจัง” Audrey Gaughran กล่าว
 
กว่าสามปีหลังจากการรั่วไหลของคราบน้ำมันที่เมืองโบโด เชลล์ยังคงไม่จัดการทำความสะอาดพื้นที่ หรือจ่ายค่าชดเชยอย่างเป็นทางการให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ หลังจากพยายามฟ้องร้องต่อศาลในประเทศไนจีเรียเป็นเวลาหลายปี ในที่สุดประชาชนในเมืองโบโดก็ตัดสินใจฟ้องคดีต่อศาลในสหราชอาณาจักร
 
“เราพบหลักฐานมากขึ้นมากมายเกี่ยวกับการปฏิบัติที่เลวร้ายของเชลล์ที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์” Patrick Naagbanton ผู้ประสานงาน CEHRD กล่าว “เชลล์ดูเหมือนจะสนใจประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพตนเองมากกว่าจะมุ่งชำระล้างมลพิษ ปัญหาจะยังไม่หมดไป รวมทั้งความทุกข์ยากของประชาชนในเมืองโบโด”
 
ในสัปดาห์นี้ นักกิจกรรมหลายพันคนจากกว่า 15 ประเทศ ตั้งแต่ญี่ปุ่นจนถึงสวีเดน เซเนกัลจนถึงสหรัฐฯ รวมทั้งที่ประเทศที่เป็นหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทเชลล์คือเนเธอร์แลนด์กับสหราชอาณาจักรเอง และที่ประเทศไทย (ในวันที่ 27 เมษายน) พวกเขาจะเข้าร่วมในกิจกรรมและการประท้วง ทั้งที่จัดขึ้นหน้าสำนักงานและปั๊มน้ำมันเชลล์ เพื่อเรียกร้องให้เชลล์แก้ไขความผิดพลาดจากการกระทำของตนเองที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์
 
ที่สำคัญสูงสุดในสัปดาห์นี้คือการชุมนุมประท้วงอย่างสงบของชุมชนที่ได้รับผลกระทบนอกสำนักงานบริษัทเชลล์ที่ Port Harcourt ที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนเจอร์
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

รมว.สาธารณสุข เปิดงานมหกรรมกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่

Posted: 27 Apr 2012 02:46 AM PDT

ดึงท้องถิ่นดูแลสุขภาพคนไทยจัดงานใหญ่มหกรรมกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.เทศบาลปี 55 ชี้ อบต./เทศบาลกลไกสำคัญพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน
 
27 เม.ย. 55 - ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานมหกรรมกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.และเทศบาล) “เสริมศักยภาพท้องถิ่น สร้างสุขภาพชุมชนให้ยั่งยืน” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานของแต่ละกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.เทศบาล ค้นหาและนำเสนอนวัตกรรมที่มีผลงานดีเด่น รวมถึงประสานความร่วมมือการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิ การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพในระดับชุมชน โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 8,000 คน พร้อมทั้งมอบโล่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.เทศบาลที่มีผลงานดีเด่น และปาฐกถาพิเศษ “บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนให้ยั่งยืน” 
 
ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ร่วมดูแลสุขภาพในพื้นที่ครั้งนี้มีทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และ สปสช. ที่ได้ร่วมกันดำเนินงานให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาลขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันครอบคลุมร้อยละ 99 ทั่วประเทศ หรือประมาณ 7,700 แห่ง ดำเนินการด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนกว่า 57 ล้านคน และมีผลการดำเนินงานและกิจกรรมที่เป็นนวัตกรรมสุขภาพชุมชนสามารถเป็นตัวอย่างให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพื้นที่ต่างๆได้เป็นอย่างดี
 
“เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการพัฒนา และเป็นจุดคานงัดที่สำคัญในการพัฒนาประเทศไทย ขณะที่นโยบายด้านสาธารณสุขของรัฐบาลชี้ชัดว่ารัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ สะดวกรวดเร็ว และเป็นธรรม รวมทั้งจัดให้มีมาตรการลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพที่นำไปสู่การเจ็บป่วยเรื้อรัง นโยบายของรัฐบาลด้านสาธารณสุขนี้ จะสำเร็จได้ด้วยการร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอาสาสมัครสาธารณสุข โดยมีกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล เป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาที่สำคัญ”นายวิทยากล่าว
 
อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพของประชาชนจะต้องฝากให้อบต.และเทศบาลทุกแห่งใช้กลไกของกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.เทศบาล โดยเน้นการดำเนินการต่อไปนี้ 1.สำรวจและช่วยเหลือผู้ที่ถูกทอดทิ้งทุกคนในชุมชน เช่น คนแก่ คนพิการไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู ต้องอดมื้อกินมื้อ หรือเด็กๆ ที่ถูกทอดทิ้งอยู่ตามลำพัง ประการที่ 2.ให้มีการดูแลรักษาโรคง่ายๆในชุมชน โดยการสนับสนุนให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง ดูแลคนในครอบครัวหรือในชุมชน โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล หากทำได้จะช่วยให้โรงพยาบาลลดภาระลง และมีเวลาดูแลผู้ป่วยหนักที่ซับซ้อนอื่นๆ ได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น และ 3. เร่งดำเนินการตรวจคัดกรองคนเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงในประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ทุกคน ประการที่ 4.มีระบบดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังได้ที่บ้าน ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เป็นอัมพาต ปวดข้อ หายใจไม่สะดวก ถ้ามีพยาบาลหรือหมอประจำครอบครัวไปเยี่ยมถึงบ้าน ดูแลและแนะนำจะมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างทันตาเห็น ประการที่ 5.ควบคุมโรคที่พบบ่อย เช่น ไข้เลือดออก ชุมชนเข้มแข็งจะสามารถป้องกันไข้เลือดออกได้ และควบคุมโรคอื่นๆ อีก เช่น ไข้หวัดนก ติดยาเสพติด เป็นต้น และสุดท้ายต้องให้ชุมชนเข้มแข็งจะสร้างเสริมสุขภาพด้วยมาตรการต่างๆ เช่น ขจัดความยากจน สร้างเศรษฐกิจพอเพียง อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อนุรักษ์วัฒนธรรม และสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพ เช่น ออกกำลัง ไม่สูบบุหรี่ ควบคุมการดื่มเหล้า มีโภชนาการที่ดี เป็นต้น
 
รายงานข่าวเปิดเผยว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. เทศบาลทั้ง 36 แห่งที่ได้รับรางวัล ดังนี้
 
เขต 1 เชียงใหม่ ได้แก่ เทศบาลตำบลศรีษะเกษ อ.นาน้อย จ.น่าน, เทศบาลตำบลวังชิ้น อ.วังชิ้น จ.แพร่,องค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
 
เขต 2 พิษณุโลก ได้แก่ เทศบาลตำบลนางั่ว อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์, องค์การบริหารส่วนตำบลคลองยาง อ.สวรรคโลก จ. สุโขทัย, เทศบาลตำบลไทรย้อย อ. เนินมะปราง จ. พิษณุโลก
 
เขต 3 นครสวรรค์ ได้แก่ เทศบาลตำบลบางไผ่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร, เทศบาลตำบลวังตะเคียน อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท, องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหลวง อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร
 
เขต 4 สระบุรี ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล คูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี, องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขุนราม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี, เทศบาลตำบลบางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี
 
เขต 5 ราชบุรี ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อ.เมือง จ.เพชรบุรี, องค์การบริหารส่วนตำบลเหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม, เทศบาลตำบลหนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
 
เขต 6 ระยอง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง, องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโสม อ.เขาสมิง จ.ตราด, เทศบาลเมืองหนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
 
เขต 7 ขอนแก่น ได้แก่ เทศบาลตำบลดงสิงห์ อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด, เทศบาลเมืองเมืองพล อ.พล จ.ขอนแก่น, เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
 
เขต 8 อุดรธานี ได้แก่ เทศบาลตำบลโนนสัง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู, องค์การบริหารส่วนตำบลชัยพฤกษ์ อ.เมือง จังหวัดเลย, เทศบาลเมืองหนองคาย อ.เมือง จ.หนองคาย
 
เขต 9 นครราชสีมา ได้แก่ เทศบาลตำบลหนองบัวใหญ่ อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ, องค์การบริหารส่วนตำบลสะเดา อ.พลับพลาชัย จ.บุรีรัมย์, องค์การบริหารส่วนตำบลด่านขุนทด อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
 
เขต 10 อุบลราชธานี ได้แก่ เทศบาลตำบลโพนทราย อ.เมือง จ.มุกดาหาร, เทศบาลตำบลเปือย อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ, เทศบาลตำบลโพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ
 
เขต 11 สุราษฎร์ธานี ได้แก่ เทศบาลนครภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต, เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี, เทศบาลเมืองชุมพร อ.เมือง จ.ชุมพร
 
เขต 12 สงขลา ได้แก่ เทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา, เทศบาลเมืองปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี, เทศบาลนครตรัง อ.เมือง จ.ตรัง
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ทำไมจึงเป็นเรื่องยากที่จะหามือระเบิดพลีชีพสักคน (ตอน 2)

Posted: 27 Apr 2012 02:35 AM PDT

นับตั้งแต่ 9/11 ระดับของการจัดตั้งผู้ก่อการร้ายดูเหมือนว่าจะลดลงไปอีก จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ตลอดระยะเวลาห้าปีที่ตาลิบันปกครอง มีผู้สมัครเรือนหมื่นได้รับการฝึกในค่ายขององค์กรก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน แต่หลัง 9/11 จำนวนผู้ได้รับการฝึกในค่ายเหล่านี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในถ้อยแถลงเมื่อไม่นานมานี้ของเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯประมาณการว่ามีนักรบไม่มากไปกว่า 2,000 นายที่ได้รับการฝึกในเขตป่าเขาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน เขตที่มีค่ายผู้ก่อการร้ายที่หนาแน่นที่สุดในโลก นักรบที่ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวปากีสถานกล่าวว่าแคมป์ส่วนใหญ่จะมีคนอยู่ประมาณ หนึ่งถึงสามโหล (ถ้าแคมป์ใหญ่เกินไปจะเป็นเป้าที่ชัดเจนของดาวเทียมสอดแนมของสหรัฐฯและเสี่ยงต่อการถูกโจมตีด้วยมิสไซล์) ข้อมูลของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังระบุว่า นักรบต่างชาติจำนวนหลักร้อยได้รับการฝึกในอิรัก แต่เส้นทางไปยังเขตดังกล่าวปิดกั้นโดยชนเผ่าต่างๆ ในจังหวัดอันบาร์ (Anbar) ที่ยอมวางอาวุธเมื่อปี 2006 ส่วนนักรบอีกหลายร้อยคน กล่าวกันว่าได้รับการฝึกในค่ายผู้ก่อการร้ายในเยเมนและโซมาเลีย ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าในโลกนี้แม้จะมีผู้ก่อการร้ายมุสลิมเป็นจำนวนหลายพันคน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นจำนวนที่มากอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็นับว่าลดน้อยลงมากจากเมื่อทศวรรษก่อนอย่างชัดเจน
 
ผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมพบว่าเป็นเรื่องยากเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดตั้งในสหรัฐฯ ผู้นำอัลกออิดะห์ประกาศเชื้อเชิญให้คนอเมริกันมุสลิมโจมตีสหรัฐจากภายใน และรัฐบาลสหรัฐเองเคยระบุถึงความเป็นไปได้ของการก่อการร้ายอิสลามนิยมภายในประเทศที่จะเป็นภัยคุกคามที่รุนแรง ตัวอย่างเช่นเมื่อต้นปี 2003 โรเบิร์ต มูลเลอร์ (Robert Mueller) ผู้อำนวยการ FBI กล่าวต่อรัฐสภาว่า “จากการสืบสวนของ FBI พบว่ามีการเคลื่อนไหวของอิสลามนิยมสู้รบในสหรัฐ เราสงสัยว่าพวกสุดโต่งหลายร้อยคนเหล่านี้จะมีส่วนเกี่ยวพันกับอัลกออิดะห์” พวกตื่นตูมนอกรัฐบาลขยายจำนวนผู้ก่อการร้ายมุสลิมในสหรัฐให้มากขึ้นไปอีก เป็นจำนวนหลักพัน อย่างไรก็ตาม จำนวนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นจำนวนที่มากเกินความเป็นจริงทั้งสิ้น จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรม มีเพียงหนึ่งโหลเท่านั้นที่พอจะพิสูจน์ได้ว่ามีความเกี่ยวพันกับอัลกออิดะห์ในรอบห้าปีหลังกรณี 9/11 จากการสืบค้นข้อมูลจากข่าวและเอกสารกฎหมายของผม เดวิด ชานเซอร์ (David Schanzer) และอิบราฮิม มูซา (Ebrahim Moosa) แห่งมหาวิทยาลัยดูค พบว่ามีอเมริกันมุสลิมไม่เกิน 40 คนที่วางแผนและปฏิบัติการก่อการร้ายภายในประเทศ แทบทั้งหมดนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอัลกออิดะห์เลย 
หนึ่งเดือนหลังจากตาฮรี-อซาร์โจมตีที่ชาเปล ฮิลล์  ผอ. มูลเลอร์ มาที่นอร์ท คาโรไลนา และเตือนภัยความรุนแรงของอิสลามนิยมที่จะเกิดขึ้น “ทั่วทั้งประเทศ” แต่ก็โชคดีที่การคาดการณ์นี้ก็ยังคงผิดพลาดอยู่ดี
 
ถ้าเราเชื่อมโยงกรณีเหล่านี้กับบริบทที่กว้างกว่า การฆ่ากันตายทั้งหมดในสหรัฐหลัง 9/11 จนถึงสิ้นปี 2010มีจำนวน 150,000 ครั้ง หรือประมาณ 14,000 ครั้งต่อปี มีสาเหตุจากการก่อการร้ายอิสลามนิยมน้อยกว่า 3 โหล ส่วนหนึ่งที่มาของตัวเลขนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและสมาชิกของชุมชนที่ช่วยกันป้องกันไม่ให้แผนการก่อการร้ายประสบความสำเร็จ แต่เมื่อพิจารณาว่ามีชาวอเมริกันมุสลิมจำนวนไม่ถึง 200 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงหลัง 9/11 และส่วนมากมาจากต่างประเทศนั้น ที่มาของตัวเลขที่เป็นอยู่ต้องให้เครดิตส่วนใหญ่ให้กับมุสลิมหลายล้านคนที่ไม่ปฏิบัติตามคำเรียกร้องให้ก่อการร้าย
 
แน่นอนว่า ยังคงมีผู้ก่อการร้ายที่ยังคงหลบซ่อนหรือถูกติดตามอยู่ หรือถูกเนรเทศหรือจำคุกด้วยคดีอื่นๆ ซึ่งไม่มีทางที่เราจะรู้จำนวนที่แท้จริงได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จะขจัดความกลัวอย่างตื่นตระหนกเกี่ยวกับภัยคุกคามอย่างลับๆ ได้อย่างสิ้นเชิง ในทุกกรณี แผนการใช้ความรุนแรงเพียงครั้งเดียวก็นับว่ามากเกินไป และผมไม่สงสัยเลยว่าคนกลุ่มเล็กๆ เหล่านั้นสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ดังที่มากาเร็ต มีด นักมานุษยวิทยาเคยกล่าวในทำนองเดียวกันนี้ ผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมดูเหมือนจะยังคงฆ่าและทำร้ายคนทั่วโลกอยู่ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตามการก่อการร้ายเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ทุกๆ วันทั้งโลกมีคนเสียชีวิตราว 150,000 คน ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติของรัฐบาลสหรัฐระบุว่า การก่อการร้ายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตไม่ถึง 50 คนต่อวัน ถ้าไม่นับอิรัก ปากีสถานและอัฟกานิสถาน ตัวเลขก็จะลดลงไปอีกไม่ถึง 10 คนต่อวัน โดยเปรียบเทียบแล้ววันหนึ่งๆ ประชากรโลก 1,500 คนเสียชีวิตจากความรุนแรงที่ก่อโดยพลเรือนด้วยกันเอง ประมาณ 500 คนเสียชีวิตจากสงคราม ราว 2,000 คนจากการฆ่าตัวตาย และ 3,000 คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน นอกจากนี้ประมาณ 1,300 คนเสียชีวิตเพราะภาวะทุโภชนาการ แม้กระทั่งในอิรักที่มีอัตราการก่อการร้ายสูงที่สุดในโลก การก่อการร้ายคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของสาเหตุการเสียชีวิตจากความรุนแรงทั้งหมด กล่าวอีกนัยหนึ่ง การก่อการร้ายไม่ใช่สาเหตุหลักของการเสียชีวิตของประชากรโลก ถ้าพวกเราต้องการรักษาชีวิตของมนุษยชาติไว้ เป็นเรื่องที่เหมาะสมยิ่งกว่าที่จะเอาเงินจากงบประมาณต่อต้านการก่อการร้ายมาซื้อมุ้งกันยุงให้กับประชาชน
 
ตาฮรี-อซาร์ เป็นอาสาสมัครเข้าร่วมญีฮาด ไม่มีใครจัดตั้งเขา ไม่มีองค์กรไหนต้อนรับเขา ไม่มีสหายร่วมสาบาน ตาฮรี-อซาร์ได้พบกับลัทธิก่อการร้ายอิสลามนิยมผ่านสื่อสารมวลชน แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้เขามีศรัทธาที่จะสละชีพเพื่อการนี้
 
อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่ความรู้ด้านศาสนาอิสลามของเขาที่มีอย่างจำกัดและสับสนอย่างที่สุด ตาฮรี-อซาร์ไม่สามารถระบุความแตกต่างระหว่างซุนนีย์และชีอะฮฺได้ และไม่ตระหนักว่าอัลกออิดะห์และนักรบซุนนีย์อื่นๆ ไม่ถือว่าเขาเป็นมุสลิมเพราะเขาเป็นชีอะฮฺ ตาฮรี-อซาร์ไม่รู้ภาษาอาหรับและในจดหมายที่เขียนด้วยมือจากเรือนจำเขาสะกดคำว่าอัลกออิดะห์ผิด เป็น “al-Quaeda” (ตัว “e” เป็นตัวอักษรที่ถูกต้องในการเขียนถ่ายทอดจากอักษรอาหรับ  “u” นั้นผิดอย่างชัดเจน เป็นไปได้ว่าเขาเขียนผิดจากความเคยชินที่โปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ดแก้ตัวสะกดให้ ซึ่งทำให้เห็นว่าตาฮรี-อซาร์เชื่อถือมากกว่าข้อมูลฝ่ายอิสลามใดๆ) ตาห์ริ-อซาร์อ้างอิงอัลกุรอ่านจากฉบับแปลภาษาภาษาอังกฤษโดยราชาด คาลิฟา(Rashad Khalifa) ผู้ที่ถูกลอบสังหารในอาริโซน่าเมื่อปี 1990 ซึ่งลูกศิษย์ของคาลิฟา กล่าวหากลุ่มอัลกออิดะห์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนี้ จดหมายของตาฮรี-อซาร์จากเรือนจำได้ให้รายชื่อเพลงและอัลบัมที่เขาชอบฟัง ทั้งที่นักรบอิสลามนิยมมองว่าเพลงตะวันตกนั้นเป็นเรื่องผิดศีลธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่ง ตาฮรี-อซาร์ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับอุดมการณ์อิสลามนิยมที่เขาปรารถนาที่จะฆ่าเพื่อและอุทิศชีวิตให้
 
ถ้าผู้ก่อการร้ายอย่างตาฮรี-อซาร์ได้รับการจัดตั้งผ่านอินเตอร์เน็ตและหนังสือ ทำไมจึงไม่มีการโจมตีมากกว่านี้? อะไรหยุดประชาชนไม่ให้เข้าร่วม? ผมคิดว่ามีสาเหตุ 5 ประการด้วยกัน
 
ประการแรกและสำคัญที่สุด คือ ชาวมุสลิมต่อต้านความรุนแรงของการก่อการร้าย จากการสำรวจ ความคิดเห็นของแกลลอปและพิว (Gallop and the Pew Global Attitudes Project) ชี้ให้เห็นว่ามีคนจำนวนน้อยในชุมชนมุสลิมเท่านั้นที่สนับสนุนการโจมตีพลเรือน (ในทางกลับกัน การสำรวจเมื่อปี 2006 พบว่า มีชาวอเมริกันถึง 24 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าการโจมตีพลเรือนเป็นสิ่งที่ชอบธรรม) หากแม้นเพียง10 เปอร์เซ็นต์ของมุสลิมพันล้านคนสนับสนุนการก่อการร้าย เราคงจะพบการก่อการร้ายมากกว่าที่เป็นอยู่ก็เป็นได้
 
คำตอบที่สองคือ การสนับสนุนความคิดราดิกาลของอิสลามนิยมส่วนใหญ่มักเป็นการสนับสนุนที่อ่อนแอ อัลกออิดะห์และบิน ลาเดนอาจจะเป็นชีค (sheik) แบบเดียวกับที่เชกูวาราและมัลคอมเอ็กซ์นั้นชิก (chic) คือเป็นวัตถุแห่งแรงบันดาลใจของวัฒนธรรมป๊อปมากกว่าที่จะเป็นแรงบันดาลใจของการต่อสู้ปฏิวัติ เจสสิกา สเทิน(Jessica Stern) ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการก่อการร้ายเปรียบเทียบเรื่องนี้กับวัฒนธรรมแรพแบบแก๊งสเตอร์ว่า “คนหนุ่มส่วนใหญ่ชื่นชมความคิดเรื่องญีฮาดแต่ไม่ได้กลายเป็นผู้ก่อการร้าย เหมือนกับเด็กหนุ่มจำนวนน้อยเท่านั้นที่ฟัง gangsta rap แล้วจะไปก่ออาชญากรรมอย่างที่เนื้อเพลงบอก” ความเป็น “ราดิกาลชีค” ปรากฏเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเวปบอร์ดภาษาอาหรับหนึ่งที่มีการตั้งกระทู้เล่าประวัติของบินลาเดนในวัย 9 ขวบ ที่ในความฝันของเขามีเทวทูตมาบอกว่าเขาจะมีบทบาทสำคัญในการทำลายตะวันตก นักปฏิวัติอิสลามนิยมไม่ใช่ผู้ที่นำเสนอเรื่องราวอันน่าประทับใจนี้เพียงฝ่ายเดียว ผู้ตอบกระทู้ออนไลน์ที่ประทับใจเรื่องราวดังกล่าว แสดงความชื่นชมด้วยการโฟสต์ ภาพนางแบบหญิงที่มีผมยาวสลวยและนายแบบหนุ่มผมบลอนด์ลงในกระทู้ หรือผู้เขียนข้อความแสดงความคิดเห็นว่า “Hallelujah” ก็มีภาพลาย
เซ็นเป็นผู้หญิงผมบลอนด์ที่เปลือยหน้าท้อง เหล่านี้คือราดิกาลชีคในภาคปฏิบัติจริง ผู้คนที่ประทับใจบินลาเดนแต่ไม่จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติหรือมาตรฐานทางศีลธรรมแบบอิสลามเดียวกันก็ได้และดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่ได้แปลเปลี่ยนการสนับสนุนทางสัญลักษณ์เป็นการปฏิบัติการทางยุทธศาสตร์ในโลกของความเป็นจริง
 
แม้กระทั่งในหมู่นักรบที่มีเป้าหมายสถาปนารัฐอิสลามแบบเดียวกัน อัลกออิดะห์ยังประสบกับการแข่งขันในขบวนปฏิวัติ นักปฏิวัติอิสลามนิยมก็ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน และนี่คือสาเหตุประการที่สามของสาเหตุที่ทำให้พวกเขามีจำนวนไม่มากนัก คู่แข่งที่สำคัญของอัลกออิดะห์คือนักปฏิวัติอิสลามนิยมท้องถิ่น อย่างพวกทาลิบันในอัฟกานิสถานหรือฮามาสในปาเลสไตน์ ซึ่งมีเป้าหมายที่ต่างไปจากเป้าหมายระดับสากลของอัลกออิดะห์และช่วงชิงเอาการสนับสนุนและฐานปฏิบัติการจากอัลกออิดะห์ พวกทาลิบันและฮามาสมีเป้าหมายในระดับพื้นที่ที่ชัดเจนและไม่ต้องการขยายความขัดแย้งที่จะรวมเอาชาติตะวันตกที่อยู่นอกอาณาเขตของพวกเขามาเข้าไว้ด้วย
 
นอกจากคู่แข่งที่เป็นนักปฏิวัติแล้ว อัลกออิดะห์ยังเจอคู่แข่งจากขบวนการอิสลามที่เสรีนิยมกว่า สาเหตุประการที่สี่ที่ทำให้ผู้ญีฮาดจำนวนน้อยคือส่วนผสมของการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและลักษณะอนุรักษ์นิยมทางวัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวมุสลิมมากกว่าความรุนแรงที่ต่อต้านประชาธิปไตยของนักปฏิวัติ ผู้สังเกตการณ์บางคนมองว่าองค์การอิสลามที่สนับสนุนประชาธิปไตยเป็นไส้ศึกที่บ่อนทำลาย การใช้ความรุนแรงปฏิวัติ ในหลายกรณีก็เป็นดังนั้นจริงๆและพวกเขาก็ตกเป็นเป้าของความรุนแรงปฏิวัติมากกว่าเสียด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่นเมื่อเดือนมิถุนายน 2009 ชายหนุ่มคนหนึ่งพร้อมด้วยระเบิดเดินเข้าไปในอาคารของกลุ่มจาเมีย เนอีเมีย (Jamia Naeemia) ในลาฮอร์ ปากีสถาน หลังละหมาดตอนเที่ยงวัน เขามุ่งตรงไปยังห้องของผู้อำนวยการ คือซาร์ฟราซ เนอีมิ (Sarfraz Naeemi) นักวิชาการอิสลาม และจุดระเบิดซึ่งคร่าชีวิตของเนอีมิ และคนอื่นๆ พร้อมด้วยตัวเขาเองด้วย เนอีมิเป็นเป้าของการโจมตีเพราะเขาเป็นฝ่ายค้านการปฏิวัติอิสลามนิยมที่มีชื่อเสียง หลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้นเขาเข้าร่วมในการประชุมใหญ่ของนักวิชาการอิสลามที่ประณาม “การฆ่าผู้ที่มีความคิดไม่เห็นด้วย” ว่าเป็นการ “ต่อต้านอิสลาม” ถึงสองครั้ง และเนอีมิ มีบทบาทอย่างแข็งขันในพรรคการเมืองอิสลามที่พยายามสนับสนุนให้ใช้ชารีอะห์เป็นกฎหมายของประเทศ แต่ผ่านกระบวนการทางการเมืองแบบเลือกตั้ง ไม่ใช่ด้วยวิธีการปฏิวัติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามนักปฏิวัติ
 
ความกระวนกระวายต่อความไม่เป็นที่นิยมได้แบ่งแยกความเป็นเอกภาพของนักปฏิวัติ บางส่วนตอบรับกระแสด้วยการหันไปในแนวทางเสรีนิยมมากขึ้น ในขณะที่อีกฝ่ายยิ่งหันไปในทางที่จะทำให้สังคมบริสุทธิ์ผ่านความรุนแรงมากยิ่งขึ้น พวกเขามุ่งเป้าไปโจมตีร้านกาแฟซึ่งนักปฏิวัติมองว่าเป็นความเสื่อมทราม งานแต่งงานที่ไม่เป็นไปตามพิธีกรรมของพวกนักปฏิวัติและมัสยิดที่ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางของพวกเขา แนวโน้มดังกล่าวเป็นความพยายามอย่างตั้งใจที่จะ "ดึงมวลชนเข้าสู่สนามรบ” ตามคำของนักกลยุทธของอัลกออิดะห์นาม อาบู บัคร์ นาจิ (Abu Bakr Naji) ว่าไว้ “เราจะต้องทำให้การต่อสู้ครั้งนี้มีความรุนแรงอย่างถึงที่สุด ความตายดังกล่าวจะกระชากหยุดการเต้นของหัวใจ และคนทั้งสองกลุ่มจะตระหนักว่าการเข้าสู่การต่อสู้นั้นจะต้องนำไปสู่ความตาย นี่เองจะเป็นแรงขับที่ทรงพลังให้แต่ละคนเลือกที่จะต่อสู้เคียงข้างประชาชนที่ยึดถือสัจธรรมเพื่อให้ความตายเป็นความตายที่มีค่ายิ่งกว่าตายอย่างผิดที่สูญเสียทั้งชีวิตในโลกนี้และโลกหน้า”
 
แต่ยุทธศาสตร์นี้ก่อให้เกิดผลในแง่ลบเพราะยิ่งผู้ก่อการร้ายมีเป้าโจมตีเป็นมุสลิมมากเท่าไร ความนิยมในการก่อการร้ายก็ยิ่งลดน้อยลง นี่คือเหตุผลประการที่ห้าที่ทำให้จำนวนผู้ก่อการร้อยมีจำนวนไม่มาก ภายหลังผู้ก่อการร้ายระเบิดงานเลี้ยงแต่งงานในอัมมาน ความนิยมอัลกออิดะห์ในจอร์แดนลดลงถึงสองในสาม เมื่อผู้ก่อการร้ายระเบิดร้านกาแฟในคาซาบลังกา ความนิยมตัวบินลาเดนในโมร็อคโคลดลงถึงครึ่งหนึ่ง และนับตั้งแต่มีการก่อการร้ายในปากีสถาน การเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนขยายตัวขึ้นเป็นสองเท่า จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ขบวนการปฏิวัติที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในตะวันออกกลางทุกวันนี้ไม่ใช่ขบวนการก่อการร้ายอิสลามนิยมแต่เป็นการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยในอาหรับสปริงค์ ที่เสนอแนวทางในการขับไล่รัฐบาลที่กดขี่และฉ้อฉลผ่านการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ จะระเบิดพลีชีพทำไมในเมื่อการนั่งชุมนุมและเดินขบวนมีประสิทธิภาพมากกว่า
 
ข่าวร้าย โดยเฉพาะสำหรับคนอเมริกัน ก็คือ ผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมจะยังคงมีอยู่ต่อไป การจับกุมคุมขัง การสอบสวน “แบบเข้มข้น” หรือแม้กระทั่งความตายมิอาจหยุดยั้งพวกเขาได้ พวกเขายังคงถือว่าสหรัฐเป็นศัตรูตัวสำคัญและยังต้องการฆ่าคนอเมริกันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และด้วยวิธีการที่เร้าอารมณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยิ่งผมเข้าไปดูในเวปไชต์ วิดีโอ อ่านถ้อยแถลงและกระทู้ในเวปบอร์ด ผมก็ยิ่งตระหนักถีงความโหดร้ายของคนเหล่านี้ เรายังคงต้องจำการกับปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังอยู่ต่อไป
 
แต่ข่าวดีก็มีเช่นกัน ซึ่งเรามักมองข้าม คือ พวกผู้ก่อการร้ายมีไม่มากเท่าไรนักและโดยมากมักไร้ความสามารถ พวกเขาต่อสู้กันเองมากกว่าจะสู้กับคนอื่น และพวกเขาสู้กับรัฐที่สนับสนุนพวกเขาเป็นอันดับแรก พวกเขาต้องอยู่อย่างนอกกฎหมายในเกือบทุกประเทศในโลก และฐานที่มั่นของพวกเขาก็ถูกเบียดขับให้อยู่ในพื้นที่ที่แสนกันดารห่างไกล ที่ซึ่งยังต้องถูกจำกัดกิจกรรมการฝึกเพื่อไม่ให้เป็นเป้าของดาวเทียมสอดแนม ทุกปีหรือสองปีที่พวกเขาต้องออกปฏิบัติการโจมตี ณ บางแห่งบนโลก อันเป็นจุดหนึ่งของความรุนแรงที่เกิดขึ้นประจำวัน และยังต้องอาศัยโชคอย่างมากที่จะทำให้การปฏิบัติการในระดับเดียวกับ 9/11 ประสบความสำเร็จสักคราหนึ่ง เพราะไม่มีการโจมตีในประวัติศาสตร์การก่อการร้ายอิสลามนิยมที่จะสามารถฆ่าผู้คนได้มากถึง 400 คนที่คราวเดียวและมีการโจมตีเพียงสิบกว่าครั้งที่สามารถฆ่าผู้คนได้มากกว่า 200 คน การโจมตีความอาวุธทำลายล้างสูงจะนำความหายนะมากกว่านี้ แต่ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะปฏิบัติการเช่นนั้น นี่ก็เป็นเหตุหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมมันจึงไม่เคยเกิดขึ้นเลย
 
เราจะยังคงเจอการก่อการร้ายและบางครั้งก็อาจจะประสบความสำเร็จที่การสังหารผู้คนนับร้อยหรือเป็นพันๆ คน ปีที่แล้ว ไฟซาล ชาห์ซาด (Faisal Shahzad) เกือบปฏิบัติในระดับนี้สำเร็จ ด้วยการขับรถที่อัดแน่นไปด้วยระเบิดไปจอดที่ไทม์สแควร์ นิวยอร์ค แต่ก็เหมือนผู้ก่อการร้ายที่ขับรถชนคนที่วิทยาเขตชาเปล ฮิลล์ ที่โอกาสเป็นตัวช่วยรอดพ้นมาได้ ชาห์ซาดใช้ประทัดที่ด้านเป็นตัวจุดชนวน เราอาจจะไม่โชคดีอย่างนี้ในอนาคต แต่ถึงแม้ว่าพวกเขาจะสังหารคนเรือนพันสำเร็จ การโจมตีอย่างนี้คงจะไม่ได้ทำลายวิถีชีวิตของเรา นอกเสียจากว่าเราจะยอมเปลี่ยนแปลงมันเสียเอง
 

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

โพลล์ชี้หลังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 แรงงานเกือบ 40% บอกชีวิตไม่ได้ดีขึ้น

Posted: 27 Apr 2012 02:25 AM PDT

กรุงเทพโพลล์เผยผลสำรวจผู้ใช้แรงงานเกือบ 40% ชี้ ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทไม่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น พร้อมวอนให้รัฐบาลเข้ามาดูแลสวัสดิการของผู้ใช้แรงงานและดูแลให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน
 
27 เม.ย. 55 - เนื่องในวันที่ 1 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ชีวิตของแรงงานหลังได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” โดยเก็บข้อมูลจากผู้ใช้แรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,180 คน พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 79.1 ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันแล้ว ขณะที่ร้อยละ 20.9 ยังไม่ได้รับ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า กิจการยังไม่อนุมัติปรับขึ้นค่าจ้างให้   เมื่อสอบถามผู้ที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทว่า  ชีวิตการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้  ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 82.4 ระบุว่ามีชีวิตการทำงานเหมือนเดิม ขณะที่ร้อยละ 15.4 ระบุว่าต้องทำงานหนักขึ้น  มีเพียงร้อยละ 1.3 ที่ระบุว่าทำงานน้อยลง 
 
ทั้งนี้ผู้ใช้แรงงานเกือบครึ่ง (ร้อยละ 49.9) ไม่เชื่อว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันจะทำให้กิจการที่ทำงานอยู่ต้องประสบกับภาวะขาดทุนหรือเลิกกิจการ  ตรงกันข้ามร้อยละ 23.0 เชื่อว่าจะทำให้กิจการมีกำไรจะเพิ่มขึ้น และร้อยละ 26.9 เห็นว่าจะกระทบทำให้กำไรลดลงเท่านั้น  มีเพียงร้อยละ 1.4 เห็นว่าขาดทุน  และร้อยละ 0.8 เห็นว่าจะเลิกกิจการ 
 
สำหรับความเห็นต่อค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่รัฐบาลปรับขึ้น จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 39.3  เห็นว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทไม่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น    ในจำนวนนี้ร้อยละ 36.5 เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะยังเหมือนเดิม และร้อยละ 2.8 เห็นว่าจะแย่ลง  ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าราคาสินค้าที่เพิ่มทำให้แรงงานไม่ได้ประโยชน์จากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทอย่างที่ควรจะเป็น  ส่วนร้อยละ 60.7 เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่จะดีขึ้น   ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้หรือไม่ ร้อยละ 54.9 เห็นว่าจะไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ  ขณะที่ร้อยละ 45.1 เห็นว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ
 
เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ  ร้อยละ 93.2 ระบุว่า “เห็นด้วย”  ขณะที่ร้อยละ 6.8 ระบุว่า “ไม่เห็นด้วย”  และเมื่อถามต่อว่ากังวลมากน้อยเพียงใดเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่อาจจะเข้ามาแย่งงานคนไทย ร้อยละ 51.4 ระบุว่า “ไม่กังวลเลย”  ขณะที่ร้อยละ 31.1 ระบุว่า “กังวลมากถึงมากที่สุด”  และร้อยละ 17.5  ระบุว่า “กังวลน้อยถึงน้อยที่สุด”
   
ส่วนเรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแล ปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด เกี่ยวกับผู้ใช้แรงงาน พบว่าอันดับแรก คือ สวัสดิการ (ร้อยละ 32.3) รองลงมาคือ ดูแลให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน (ร้อยละ 29.7) และดูแลคุณภาพชีวิต (ร้อยละ 14.9) 
 
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

เครือข่ายพลเมืองเน็ต: สรุปความเคลื่อนไหว คดีอินเทอร์เน็ตกับภาระรับผิดของตัวกลาง “ผอ.ประชาไท”

Posted: 27 Apr 2012 02:07 AM PDT

 

ศาลอาญา รัชดา ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท (prachatai.com) เป็นจำเลย ในคดีความผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ โดยจีรนุชถูกกล่าวหาว่า มีเจตนาจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีข้อความที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดประชาไท

การอ่านคำพิพากษาจะมีขึ้นในวันที่ 30 เม.ย.55 เวลา 10.00 น. บัลลังก์ 910 ณ ศาลอาญา รัชดา

 

 

ความสำคัญของคดี Internet กับภาระรับผิดของตัวกลาง :
จีรนุช มีฐานะเป็น “ตัวกลาง” ซึ่งเปรียบเสมือนท่อหรือช่องทางผ่านของเนื้อหาเท่านั้น (mere conduit) ตัวอย่างของตัวกลาง เช่น ศูนย์ข้อมูล ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เสิร์ชเอนจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ก เว็บบอร์ด บล็อก ตัวกลางเหล่านี้เปรียบเสมือนสวนสาธารณะที่อำนวยพื้นที่ให้ผู้คนมาทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจเป็นกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ และในบางครั้งเอาจป็นกิจกรรมที่ละเมิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลสวนสาธารณะมิอาจรู้ล่วงหน้าได้ว่า จะเกิดกิจกรรมใดๆ ขึ้นบ้าง และคงมีผู้คนจำนวนมากมายมาทำกิจกรรมในพื้นที่นั้น จนผู้ดูแลสวนสาธารณะมิอาจดูแลได้ทั่วถึง

การระวางโทษกับตัวกลาง ก็เปรียบเหมือน การระวางโทษกับผู้ดูแลสวนสาธารณะ หากผู้ดูแลสวนสาธารณะรู้ว่าตนอาจต้องรับโทษหนัก ด้วยการกระทำของผู้อื่น (ผู้ที่มาใช้สวนสาธารณะ) ผู้ดูแลสวนก็จะมีแนวโน้มที่จะปิดสวนสาธารณะนั้นเสีย เพื่อตนจะได้ไม่ต้องรับความเสี่ยงใดๆ อีก หรือคัดกรองคนก่อนเข้ามาใช้พื้นที่ ด้วยการขอดูบัตรประชาชน เก็บข้อมูลชื่อและหมายเลขบัตรประชาชน และก่อนจะทำกิจกรรมใดๆ ได้นั้นต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ดูแลเสียก่อน (เปรียบเหมือนคอนเมนต์บนเว็บบอร์ด ที่ต้องมีการตรวจสอบก่อนอนุญาตให้เผยแพร่ได้) อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนี้ก็ต้องอาศัยทรัพยากร เวลา และบุคลากรสูง ในระดับที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

ดังนั้นผลการตัดสินคดี จีรนุช เปรมชัยพร จะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐาน ของการกำกับดูแล และการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ย่อมจะส่งผลต่อตัวกลาง การประกอบการด้านอินเทอร์เน็ตในไทย สังคมผู้ใช้เน็ตไทยและสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกของประเทศไทย อย่างมีนัยยะสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม:
อย่าโทษคนนำสาร: ภาระรับผิดทางกฎหมายของสื่อตัวกลางและการคุ้มครองหลักการของอินเทอร์เน็ต โดย ซินเธีย หว่อง (Cynthia Wong)


ข้อบกพร่องของ พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15:
พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 15 ความว่า ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทําความผิดตามมาตรา 14 ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทําความผิดตามมาตรา 14

คดีของจีรนุชชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 15 ในหลายประเด็นสำคัญ อาทิ

  1. ภาระของ “ท่อ” มาตรา 15 ปฏิบัติกับผู้ให้บริการ หรือ “ตัวกลาง” (intermediary: เช่น ศูนย์ข้อมูล ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เสิร์ชเอนจิน โซเชียลเน็ตเวิร์ก เว็บบอร์ด บล็อก) เสมือนหนึ่งเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ผู้มีทั้งหน้าที่และความสามารถในการคัดกรองเนื้อหาทั้งหมดก่อนตีพิมพ์ แต่คุณลักษณะที่สำคัญที่ทำให้อินเทอร์เน็ตมีประโยชน์เช่นทุกวันนี้คือ ข้อมูลทุกอย่างไหลผ่านอย่างรวดเร็ว ตัวกลางจึงเป็นเพียง “ท่อข้อมูล” หรือช่องทางผ่านของเนื้อหาเท่านั้น (mere conduit) หากผู้บังคับใช้กฎหมายไทยจะถือว่าตัวกลางต้องรับผิดชอบต่อข้อมูลและเนื้อหาทั้งหมดที่ผ่านตัวกลางแล้ว นั่นย่อมหมายความว่า ตัวกลางจะต้องกลั่นกรองข้อมูลทั้งหมดก่อนการเผยแพร่ ซึ่งด้วยความเร็วและปริมาณข้อมูลจำนวนมาก สิ่งดังกล่าวยากที่จะทำให้เป็นไปได้ โดยไม่กระทบกับการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต
  2. ตัวกลางกลายเป็น “แพะ” ในการดำเนินคดีกับ “ตัวกลาง” ดังเช่นในคดีของจีรนุชทั้งสองคดีนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีผู้โพสต์ข้อความเพียงรายเดียวที่ถูกดำเนินคดี และศาลชั้นต้นได้มีคำตัดสินไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2554 โดยศาลพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่าฝ่ายโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยคือผู้ที่โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง ซึ่งในกระบวนการสอบสวนเกี่ยวกับผู้โพสต์รายนี้นั้น เว็บไซต์ประชาไทได้ให้ความร่วมมือตามที่กฎหมายกำหนดทุกอย่าง ดังนั้นที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐไม่ควรพยายามเอาผิดกับตัวกลาง ทั้งที่ได้รับความร่วมมือจากตัวกลางซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบอินเทอร์เน็ตแล้วแต่ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดตัวจริงได้

ในประเทศที่กฎหมายเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะมีการกำหนดข้อยกเว้นความรับผิด (safe harbour) โดยถือว่าตัวกลางเป็นผู้บริสุทธิ์ถ้าหากไม่สามารถพิสูจน์เจตนาการกระทำความผิดได้ เนื่องจากตัวกลางคือพื้นที่ที่โดยปกติไม่มีส่วนรู้เห็น หลักการนี้จึงมีไว้เพื่อคุ้มครองตัวกลางจากภาระทางกฎหมายที่ไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ไม่ได้ให้เสรีภาพแก่ตัวกลางจนเกินขอบเขต เนื่องจากเจ้าหน้าที่สามารถแจ้งตัวกลางเมื่อพบเนื้อหาที่เป็นความผิด และขออำนาจศาลเพื่อสั่งให้มีการลบเนื้อหานั้นได้ ทั้งนี้ต้องเป็นไปในระยะเวลาที่เหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด (notice and take down procedures) เป็นต้น และที่สำคัญอยู่บนหลักการซึ่งถือว่าตัวกลางนั้นบริสุทธิ์โดยพื้นฐาน (by default)

คดีของจีรนุช และหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท ในฐานะที่เป็นนักปกป้องสื่ออินเทอร์เน็ตจึงเป็นที่สนใจของแวดวงสิทธิเสรีภาพสื่อออนไลน์ทั่วโลก เพราะเป็นคดีที่ไม่ได้กระทบต่อการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นบรรทัดฐานของสิทธิเสรีภาพสื่ออินเทอร์เน็ตในระดับสากลอีกด้วย องค์กรที่มีจุดยืนเพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิมนุษยชน จึงได้ออกแถลงการณ์ แสดงความกังวล ต่อคดีของจีรนุชจำนวนมาก เช่น

[Electronic Frontier Foundation: EFF] Thailand Awaits Pivotal Verdict on Liability for Internet Intermediaries
[Human Rights Watch] Thailand: Internet Provider Faces Lese Majeste Conviction
[Frontline Defenders] Thailand –UPDATE: Verdict on the case of human rights defender Ms Chiranuch Premchaiporn to be delivered on 30 April 2012
[UN] Report of the Special Rapporteur on the promotion and protection of the right to freedom of opinion and expression
[The International Federation for Human Rights: FIDH] Situation of Human Rights Defenders

ภูมิหลังของคดี

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ออนไลน์ประชาไท
ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ: มาตรา 15
ข้อหาอื่นๆ: ไม่มี
ผู้ฟ้อง: กองปราบปราม

รายละเอียด:
วันที่ 6 มีนาคม 2552 เวลาประมาณ 14.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม น.ส.จีรนุช ที่สำนักงานประชาไท โดยแสดงหมายค้นก่อนแสดงหมายจับในเวลาต่อมา จีรนุชถูกแจ้งข้อกล่าวว่ากระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 เนื่องจากมีข้อความในกระทู้หนึ่งบนกระดานสนทนาโพสต์โดยสมาชิกเว็บบอร์ดวันที่ 15 ตุลาคม 2551 จีรนุชปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดคอมพิวเตอร์ของ จีรนุชและทำสำเนาข้อมูลเพื่อใช้ในการพิสูจน์หลักฐาน โดยทำสำเนาเก็บไว้ทั้งสองฝ่ายเพื่อป้องกันการแก้ไขข้อมูล

6 มี.ค. 52 เวลาประมาณ 14.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม น.ส.จีรนุช ที่สำนักงานประชาไท

7 เม.ย. 52 เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 9 ข้อ จาก 9 กระทู้ในกระดานสนทนาระหว่างเดือนเมษายน-สิงหาคม 2551

1 มิ.ย. 52 เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งสำนวนคดีให้อัยการยื่นฟ้อง ด้านน.ส.จีรนุช ยื่นประกันตัวต่อเนื่องในชั้นอัยการ ระหว่างนั้นน.ส.จีรนุช ต้องรายงานตัวต่อสำนักงานอัยการอย่างต่อเนื่องทุก 30 วันในระยะแรก และ 60 วันในระยะหลัง

31 มี.ค. 53 อัยการยื่นฟ้อง น.ส.จีรนุชเพิ่มอีก 1 ข้อกล่าวหา รวมทั้งสิ้น 10 ข้อหา ด้าน จีรนุช ถูกคุมตัวที่ศาลอาญา ต่อมาได้รับการประกันตัวในชั้นศาล

31 พ.ค. 53 ศาลนัดพร้อม สอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน กำหนดวันนัดสืบพยาน

8 พ.ย. 53 ศาลนัดตรวจสอบพยานหลักฐานเป็นครั้งสุดท้าย

4 -11 ก.พ. 54 ศาลสืบพยานฝ่ายโจทก์ 5 ปาก

20 -21 ก.ย.และ 11-14 ต.ค. 54 ศาลสืบพยานจำเลย 4 ปาก

11 ต.ค. 54 ศาลเลื่อนการสืบพยานจำเลยที่เหลืออยู่ 3 ปาก จากวันที่ 11, 12 และ 14 ต.ค. 54 เปลี่ยนเป็น 14 – 16 ก.พ. 55 เนื่องจากบ้านผู้พิพากษาน้ำท่วม

14 – 16 ก.พ. 55 สอบพยานปากที่เหลือ ผู้พิพากษานัดฟังคำพิพากษา 30 เม.ย. 55

 

ที่มา: https://thainetizen.org/2012/04/roundup-jiew-case/

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ปิดจัตุรัสเมอร์เดก้า ศาลมาเลย์สั่งห้ามใช้ชุมนุม "Bersih 3.0"

Posted: 27 Apr 2012 02:06 AM PDT

ศาลมาเลเซียมีคำสั่งห้ามเข้าจัตุรัสเมอร์เดก้า - นายกเทศมนตรีกัวลาลัมเปอร์สั่งล้อมรั้ว ปิดตายศุกร์ถึงอาทิตย์ ขวางการชุมนุม "Bersih 3.0" รณรงค์ปฏิรูปการเลือกตั้ง ที่เตรียมจัดวันเสาร์นี้

ตามที่ผู้ชุมนุมกลุ่ม "พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม" หรือ "เบอเซะ" เตรียมจัดการชุมนุมเพื่อรณรงค์การเลือกตั้งสะอาด เป็นครั้งที่ 3 หรือ "เบอเซะ 3.0" (Bersih 3.0 หรือ เบอเซะ ทรี-พอย-โอ) ในวันเสาร์นี้ (28 เม.ย.) ที่จัตุรัสเมอร์เดก้า กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย และอีกหลายเมืองทั่วประเทศนั้น

ล่าสุด ในช่วงบ่ายวันนี้ (27 เม.ย.) ศาลมาเลเซียมีคำสั่งห้ามผู้ชุมนุมกลุ่มเบอเซะ 3.0 (Bersih 3.0 หรือ เบอเซะ ทรี-พอย-โอ) ใช้พื้นที่จัตุรัสเมอร์เดก้า หรือจัตุรัสเอกราช เพื่อชุมนุมในวันเสาร์นี้ (28 เม.ย.) ขณะที่นายอาหมัด ฟูอัด อิสมาอิล นายกเทศมนตรีกัวลาลัมเปอร์แถลงเมื่อค่ำวานนี้ (26 เม.ย.) ว่า จะปิดจัตุรัสเมอร์เดกาและถนนทุกสายที่มุ่งไปยังจัตุรัสนี้ตั้งแต่เวลา 06.00 น.วันศุกร์จนถึงเวลา 06.00 น.วันอาทิตย์ 

ทั้งนี้พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม หรือกลุ่มเบอเซะ (Bersih แปลว่า สะอาด ในภาษามลายู) เป็นแนวร่วมกับกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (the Pakatan Rakyat ในภาษามลายู หรือ the People’s Pact) ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน 3 พรรคการเมืองใหญ่สุดในมาเลเซีย และองค์กรภาคประชาสังคมในมาเลเซีย ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2549 เรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งในมาเลเซีย เช่น ให้ชำระระเบียบการเลือกตั้ง ให้ปฏิรูประบบลงคะแนนทางไปรษณีย์ เนื่องจากเกรงว่าจะไม่โปร่งใส เรียกร้องให้ใช้หมึกที่ลบไม่ออกในการลงคะแนน ให้มีการหาเสียงเลือกตั้ง 21 วันเป็นอย่างน้อย และอนุญาตให้ทุกพรรคการเมืองเข้าถึงสื่อสารมวลชน และยุติการเมืองสกปรก

ล่าสุดกลุ่มเบอเซะยังรณรงค์ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในมาเลเซียออกไปลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งให้ครบ 100% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 ซึ่งคาดหมายว่ารัฐบาลนายนาจีป ราซัค จะยุบสภาและประกาศเลือกตั้งก่อนกำหนดเร็วๆ นี้ โดยขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว 70%

โดยการชุมนุม "Bersih" ครั้งแรกเมื่อ 10 พ.ย. 2550 และการชุมนุม "Bersih 2.0" เมื่อ 9 ก.ค. ปี 2554 จบลงด้วยการสลายการชุมนุมโดยตำรวจมาเลเซีย และมีผู้ถูกจับกุมนับพันคน ขณะที่ในการชุมนุม "Bersih 3.0" ผู้จัดการชุมนุมวางแผนจัดการประท้วงในหลายเมืองในของมาเลเซียได้แก่ กัวลาลัมเปอร์, อิโปห์, ยะโฮร์ บารู, มะละกา, ปีนัง, โกตากินาบาลู, เซเรมบัน, กูชิง, มีรี, ซีบู นอกจากนี้ผู้จัดการชุมนุมกำลังพิจารณาว่าจะจัดชุมนุมที่เมืองกวนตัน เมืองหลวงของรัฐปาหังด้วยหรือไม่

สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

แม่ลูกแปดจากนิวซีแลนด์ ตายเพราะดื่มโค้กมากเกินไป

Posted: 26 Apr 2012 08:55 PM PDT

นาตาชา แฮร์ริส แม่ลูกแปดชาวนิวซีแลนด์ที่เสพย์ติดการดื่มน้ำอัดลมโคคา โคล่า วันละ 8-10 ลิตร ถูกตรวจพบว่าเธอเสียชีวิตจากพฤติกรรมนี้ รวมถึงการสูบบุหรี่จัด และได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

เวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ - ผู้เชี่ยวชาญสรุปว่าผู้หญิงชาวนิวซีแลนด์รายหนึ่งเสียชีวิตจากพฤติกรรมการดื่มน้ำโค้ก 8 ถึง 10 ลิตร ต่อวัน

ในวันหนึ่ง นาตาชา แฮร์ริส คุณแม่อายุ 30 ปี กำลังเตรียมตัวให้ลูกทั้ง 8 คนไปโรงเรียน แต่เธอก็ล้มลงพิงกับกำแพง สามีของเธอ คริส ฮอจกินสัน เรียกหน่วยพยาบาลฉุกเฉินและพยายามทำให้เธอฟื้นด้วยการผายปอดแบบปากต่อปาก อย่างไรก็ตามความพยายามไม่เป็นผลเมื่อเธอเสียชีวิตในเดือน ก.พ. ปี 2010

รายงานทางการแพทย์ระบุว่า เธอเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย อย่างไรก็ตามพยานผู้เชี่ยวชาญให้ปากคำในการพิจารณาคดีว่าพฤติกรรมการดื่มโค้ก 2 แกลลอนต่อวัน รวมถึงการได้รับสารอาหารอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดภาวะโปแทสเซียมในเลือดต่ำ (hypokalemia) ภาวะโปแทสเซียมในเลือดต่ำ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ด้วย

นักพยาธิวิทยา ดร.แดน มอร์นิน กล่าวเพิ่มเติมว่า จำนวนคาเฟอีนระดับสูงในโค้ก ทำให้ระดับพิษในร่างกายของเธอสูงขึ้น อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเสียชีวิต

ฮอจกินสัน ให้การว่า แฮร์ริส จะดื่มโค้กทุกวัน วันละราว 2.1 ถึง 2.6 แกลลอน เธอจะดื่มโค้กทันทีที่ตื่น แล้วดื่มอีกก่อนเข้านอน

ฮอจกินสัน ยอมรับว่าแฮร์ริสเสพย์ติดโค้ก และเธอจะรู้สึก 'คลั่ง' เวลาที่ไม่มีโค้กดื่ม กลายเป็นคนหงุดหงิด ฉุนเฉียว และหดหู่

ครอบครัวของเธอจะซื้อโค้กมา 2.5 ลิตรทุกวัน ซึ่งเป็นปริมาตรสูงสุดของราคาโฆษณา นอกจากโค้กแล้ว แฮรฺ์ริสยังทานอาหารน้อยและสูบบุหรี่ราว 30 มวนต่อวันด้วย

ก่อนเธอจะเสียชีวิต เธอมีปัญหาเรื่องความดันเลือดและมีอาการเหนื่อยง่าย และมักจะอาเจียน 6 ครั้งต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ตามครอบครัวเธอพูดถึงปัญหาสุขภาพของเธอว่ามาจากความเครียดที่ต้องดูแลลูกทั้ง 8 คน และปัญหาเชิงนรีเวช

ดร. มอร์นิน ไม่ใช่คนเดียวที่เชื่อในเรื่องนี้ นักพยาธิวิทยาอีกคนหนึ่งให้การว่าการดื่มโคล่ามากเกินไปไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว ก็อาจเกิดอันตรายในรายบุคคล

คาเรน ทอมสัน โฆษกบริษัท โคคา โคล่า สาขาหมู่เกาะทางแปซิฟิกยืนยันว่าสินค้าของบริษัทปลอดภัย

คาเรนชี้ว่า "การบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารใดๆ ก็ตามจำนวนมากเกินไป" โดยไม่มีการบริโภคตามโภชณาการที่เหมาะสม รวมถึงการไม่รับความช่วยเหลือทางการแพทย์ในเวลาที่ต้องการ ทำให้เกิดผลในทางลบได้

โฆษกโคคา โคล่า ยกตัวอย่างว่า แม้แต่น้ำเปล่า ถ้าดื่มมากเกินไปก็อาจทำให้เสียชีวิตได้

 
 
ที่มา: New Zealand woman dies from drinking too much Coke, AsiaOne, 20-04-2012 http://www.yourhealth.com.sg/content/new-zealand-woman-dies-drinking-too-much-coke
สมัครรับข่าวความเคลื่อนไหวจากประชาไท ผ่านทางอีเมล ดูรายละเอียดที่ http://groups.google.com/group/prachatai-newspaper

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น